แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นะโมตัสสะ ภควะโต อรหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโมตัสสะ ภควะโต อรหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโมตัสสะ ภควะโต อรหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ สุขาเวทนา ทุกขโต ทัฎฐัพพา ทุกขาเวทนา สังคะโต ทัฎฐัพพา อทุกขมสุขาเวทนา อนิจจโต ทัฎฐัพพา ปิธัมโม ปัจจัตตัง โสทะโพ ติ
ธรรมเทศนาเป็นสุภาปรรังดับ (นาทีที่ 00..57.00) สืบต่อจากธรรมเทศนาในตอนเย็นวันนี้ เป็นธรรมมิกถา สัมปยุต ด้วยเรื่องของพระอรหันต์ เนื่องด้วยเป็นวันมาฆบูชา อันจัดให้เป็นวันที่ระลึกแก่พระอรหันต์ดังที่กล่าวแล้ว ธรรมเทศนาอันเนื่องด้วยเรื่องของพระอรหันต์จึงเป็นสิ่งที่ควรจะนำมาวิสัชนาสืบไป ในบัดนี้จะได้กล่าวถึงธรรมที่ทำความเป็นพระอรหันต์สักเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องอันเกี่ยวกับพระอรหันต์ และ การปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์นี้ย่อมมีมากมาย แต่เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วก็เป็น การประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เห็นธรรม ที่เป็นความจริงของสิ่งทั้งปวง สำหรับสิ่งทั้งปวงนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือสิ่งที่เรียกว่า เวทนา เวทนาเป็นสิ่งที่มีอำนาจ เหนือความรู้สึกใดๆ บุคคลผู้ไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องเวทนาแล้ว ย่อมเห็นเวทนานั้น หรือรู้สึกต่อเวทนานั้นผิดไปจากความเป็นจริง ดังนั้นจึงมีพระพุทธภาษิตที่ตรัสถึงเรื่องนี้ไว้ ในลักษณะที่จะเป็นเครื่องช่วยให้สัตว์ทั้งหลาย ดู เวทนาให้เห็นตามที่เป็นจริง คือไม่ให้เกิดความยึดถือ หรือ ปรุงเป็นกิเลสขึ้นมา สำหรับเวทนานั้น แบ่งเป็นสามอย่าง คือ สุขเวทนา ความรู้สึกที่เป็นสุข ทุกขเวทนา ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ อทุกขมสุขเวทนา เวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข สิ่งที่เรียกว่าเวทนานี้ เริ่มเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ในวันหนึ่งๆ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดเรื่องราว ต่างๆนาๆ ได้หลายอย่างหลายประการ เกิดครั้งหนึ่งก็เพิ่มความเคยชินขึ้นอย่างหนึ่ง สำหรับผู้รู้ก็เกิดอย่างหนึ่ง สำหรับผู้ไม่รู้ก็เกิดอย่างหนึ่ง ที่มีอยู่เป็นหลักนั้นก็มีอยู่ว่า สุขเวทนาเกิดขึ้นแก่ผู้ไม่รู้ครั้งหนึ่ง ก็ย่อมเพิ่มความเคยชิน ประเภท ราคะ คือ ความกำหนัดยินดีให้ครั้งหนึ่ง เมื่อหลายครั้งเข้าก็เกิดเป็นนิสัย ที่จะให้เกิดความกำหนัดยินดีไอ้อย่างที่ละได้ยาก จึงได้เรียกว่า อนุสัยบ้าง สังโยชน์บ้าง แล้วแต่ว่าจะมองกันในแง่ไหน ถ้าเป็นเครื่องนอนเนื่องในสันดาน เป็นความเคยชินที่จะเกิดก็เรียกว่า อนุสัย ถ้าเป็นสิ่งผูกพันจิตใจ ให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของสิ่งนี้ก็เรียกว่า สังโยชน์ซึ่งแปลว่าเครื่องผูก ในที่นี้ก็ถือว่าเอาสิ่งที่เรียกว่า อนุสัยนั้นเป็นหลัก เกิดสุขเวทนาแก่บุคคลผู้ไม่รู้ ผู้เป็นคนเขลา ผู้ไม่ได้สดับธรรมมะของพระอริยะเจ้า ที่เกิดแก่ปุถุชนตามธรรมดาแล้วก็ให้เกิดราคานุสัยครั้งหนึ่ง ทุกขเวทนาเมื่อเกิดขึ้นก็ให้เกิดปฏิฆานุสัย เป็นความเคยชินในการที่จะเกิด จะหงุดหงิด จะเคียดแค้นครั้งหนึ่ง สำหรับอทุกขมสุขเวทนา เวทนาที่ไม่จัดว่าเป็นทุกข์หรือเป็นสุขนี้ เกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ก็เพิ่มอวิชชานุสัยคือความเคยชินที่จะไม่รู้สิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงครั้งหนึ่ง นั่นแหละลองพิจารณาดูว่าแม้เรียกว่าเวทนา เวทนาเหมือนกันก็ยังมีความผิดแปลกแตกต่างกัน ที่เป็นสุขก็ให้เกิดความเคยชินไปในทางความรักใคร่ยินดี ที่เป็นทุกข์ก็เกิดความเคยชินไปในทางที่จะให้โกรธ ให้เกลียด ให้คับแค้น ที่ยังไม่รู้ว่าทุกข์หรือสุข ที่มักจะเรียกกันว่า เฉยๆ นี่ไม่ได้หมายความว่า มันเฉยจนไม่มีอะไร แต่มันเฉยในลักษณะที่จะทำให้สงสัย ให้กังวล ให้ยึดถือไปตามแบบของไอ้สิ่งที่ยังไม่รู้สึกว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การยึดถือในเวทนานั้น ก็ต้องจัดเป็นอนุสัยที่เพิ่มขึ้นเป็นภัยสำหรับบุคคลนั้นจะไม่รู้ยิ่งๆขึ้นไป เมื่อเป็นดังนี้ ผู้ที่ศึกษาพิจารณาก็จะเห็นได้ว่า สิ่งที่เรียกว่าเวทนานั้น มีฤทธิ์มีเดช อยู่ถึงสองคราว หรือสองสถาน เกิดขึ้นเป็นความรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ วุ่นวายไปตามเรื่องนั้นเรื่องนี้ นี้ก็อย่างหนึ่ง และอีกทางหนึ่งนั้นมันเพิ่มความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้นยิ่งขึ้นในกาลต่อไป นี้ก็อีกอย่างหนึ่ง ขอให้สังเกตดูจนเข้าใจความจริงข้อนี้ ในที่สุดก็จะเห็นความจริงอันลึกซึ้งซึ่งบุคคลรู้สึกว่าเป็นปัญหาและมาถามกันอยู่เสมอ ที่ถามว่าทำไมมันจึงละ โลภะ โทสะ โมหะ นี้ได้แสนยาก ทั้งที่ระวังอยู่ก็ยังละไม่ค่อยจะได้ ระวังไม่ค่อยจะทัน นี้ก็เพราะสิ่งที่เรียกว่าอนุสัยหรือความเคยชินนั่นเอง คำนวณดูเถิดว่า ตั้งแต่เกิดมาจากท้องของบิดามารดา เติบใหญ่มาจนถึงบัดนี้ มันเคยเกิดเวทนา มาแล้วกี่สิบครั้ง กี่ร้อยครั้ง กี่พันครั้ง กี่หมื่นครั้ง แสนครั้งด้วยซ้ำไป คือมันเป็นเวทนาน้อยใหญ่ตามเรื่องของมัน ถ้าเป็นเวทนาที่น้อยก็รู้สึกได้ยาก แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นเวทนาที่จะเพิ่มให้เกิดความเคยชินเป็นอนุสัย เมื่อรู้สึกพอใจชอบใจอะไรครั้งหนึ่ง เป็นสุขเวทนาครั้งหนึ่ง ก็เพิ่มความเคยชินที่จะรักจะพอใจ จะกำหนัดยินดี หรือจะ กระทั่งจะเกิดความโลภอันใหญ่หลวงยิ่งขึ้นไปครั้งหนึ่งๆดังนี้ นี่ก็เป็นจำพวกหนึ่ง คือพวกสำหรับที่จะรักใคร่และพอใจ หรือดึงเข้ามาหาตัว ทีนี้ทุกขเวทนา ตรงกันข้าม แต่ก็เกิดมากเหมือนกันคือตั้งแต่น้อยคุ้มใหญ่ นี่มันเคยโกรธเคยไม่ชอบใจมากี่ร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้ง มันก็เป็นอนุสัย ความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้นได้ง่ายๆ ถ้าเกิดในสกุลที่ไม่มีธรรมะ มันก็ยิ่งเป็นมากกว่าเกิดในสกุลที่มีธรรมะ หรือว่ามีวัฒนธรรม คือคนทุกคนในสกุลนั้นมีการบังคับ กาย วาจา ใจ ดีอยู่เป็นประจำ เด็กๆในสกุลนั้นก็จะเป็นผู้ที่มีความรู้สึก เกิดอารมณ์อันร้ายกาจนั้นได้โดยยาก สำหรับอทุกขมสุขเวทนา ไม่รู้สึกว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์นั้น บางทีจะมากกว่า เมื่อตาเห็นรูป หูได้ฟังเสียง จมูกได้กลิ่น สักว่าเป็นความรู้สึกแล้วก็เลิกกันไป ไม่ได้พิจารณาว่าเวทนานั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นต้น ความเคยชินก็เกิดขึ้นในทางของอวิชชา ไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่พิจารณาสิ่งใด ไม่มีความรู้แจ้งในสิ่งใด คล้ายกับอบรมตนให้โง่ ยิ่งขึ้นทุกคราวไปที่มีเวทนาชนิดนี้ จะยก จะชี้ให้เห็นให้ง่ายๆว่า เช่นว่า เรามีตาที่เห็นอะไรอยู่ทุกวัน มีหูที่จะได้ยินอะไรอยู่ทุกวัน มีจมูกที่ได้กลิ่นอะไรอยู่ มีลิ้นที่สัมผัสรสอยู่เป็นประจำ มีผิวหนังที่สัมผัสทางผิวหนัง เพียงห้าอย่างนี้ วันหนึ่งๆ ก็มีมากมายแล้ว ได้สัมผัสกับสิ่งนั้นเกิดเวทนาชนิดที่ไม่เป็นทุกข์หรือเป็นสุข แล้วก็เลิกกันไป มันก็มีความเคยชินในการที่จะไม่คิดไม่นึก ไม่เห็นว่าสังขารอันนั้นมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่แหละคือข้อที่ว่า วันหนึ่งๆก็เห็นรูปอยู่เป็นอันมาก ฟังเสียงอยู่เป็นอันมาก ดมกลิ่นอยู่เป็นอันมาก แล้วก็เลิกกัน ไม่หยิบขึ้นมาพิจารณาให้เห็นว่า สิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่แหละคือการฝึกนิสัยให้มันไม่รู้อะไร ให้ไม่รู้จักคิดนึก พิจารณาจนเคยชินเป็นนิสัยอย่างนี้ก็เรียกว่าอวิชชานุสัย นั้นจึงเป็นคนที่ไม่ฉลาด ไม่เฉียบแหลม ไม่ไวต่อความรู้สึก ในพระธรรม ดังที่เป็นกันอยู่โดยมาก ถ้าจะพูดก็พูดได้ ว่าสิ่งทั้งหลาย มีอยู่รอบตัวเรา ที่จะให้เรารู้สึกทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางผิวหนังบ้าง แล้วมันก็ได้สัมผัสกับเรา คล้ายกับว่ามันจะมาสอนเราให้เข้าใจ ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นตามที่เป็นจริง แต่ความโง่ หรือความเป็นอันธพาลของเรา ไม่รับเอาในลักษณะที่เป็นการสั่งสอน เห็นอะไรก็เห็นเลยไป ได้ยินก็ได้ยินเลยไป ได้กลิ่นก็เลยไป นี่ยกเว้นเฉพาะไอ้เรื่องที่มันมาทำความรู้สึกถึงขนาดที่ว่าจะพอใจหรือไม่พอใจ ทีนี้เรื่องที่ทำให้เฉยๆนี่มันผ่านไปวันหนึ่งๆ ไม่รู้จักกี่สิบอย่าง หรือกี่ร้อยอย่าง ไม่มา ไม่ เราไม่ได้รับเอาสำหรับที่จะศึกษาให้รู้ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของสิ่งเหล่านั้น นี่สำหรับเวทนาชนิดนี้ รวมความว่า เมื่อสุขเวทนามา เราก็โง่ ไปหลงใหลมัน เมื่อทุกขเวทนามา เราก็โง่ ไปโกรธไปเกลียดมัน เมื่ออทุกขมสุขเวทนามา เราก็เฉยเสีย สำหรับให้มันโง่ยิ่งขึ้นไป เป็นอันว่าไม่ได้พิจารณาให้แจ่มแจ้งทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา จึงเพิ่มอนุสัยขึ้นในสันดานของตน ทุกครั้งที่เวทนาเกิดขึ้น สุขเวทนาก็เกิดราคา ก็เพิ่มราคานุสัย ทุกขเวทนาก็เพิ่มปฏิฆานุสัย อทุกขมสุขเวทนาก็เพิ่มอวิชชานุสัย ดังที่กล่าวแล้ว นั่นแหละมันคือคำตอบที่ตอบได้อย่างดีว่าทำไมเราจึงละกิเลสไม่ได้ ทำไมเราจึงฉงนอยู่ว่า มันช่างละยากเสียเหลือเกิน เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้พิจารณาให้เห็นว่า มันเป็นความผิดของตนเอง ที่ได้ละเลยมาตั้งแต่ต้น ทีแรกก็ไม่น่าจะ ถือว่าเป็นความผิด เพราะว่าตนยังเด็กเกินไป ยังเล็กเกินไป ไม่อาจจะรู้เองได้ แต่ควรจะถือว่าเป็นความผิดของผู้ใหญ่ หรือบิดามารดา ที่ไม่ได้อบรมสั่งสอนให้เด็กๆ มีความรู้ในข้อนี้ ข้อนี้เป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะว่าบิดามารดาก็ไม่รู้เหมือนกัน บิดามารดาของบิดามารดาก็ไม่รู้เหมือนกันและไม่ได้เอาใจใส่กันมาในลักษณะอย่างนี้ ถ้ามันเป็นไปได้ ถึงกับว่ามันเป็นตระกูลที่ประกอบอยู่ด้วยธรรม เช่นพระอริยะเจ้า ช่วยสั่งสอนเด็กๆให้รู้จักคิดจักนึก พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างนี้ก็จะมีบุญมาก หรือว่าจะง่ายในการที่จะรู้จักกิเลส และก็ละกิเลสเสีย ไม่ทำความยากลำบากเหมือนที่กำลังเป็นอยู่เดี๋ยวนี้ นี้คิดดูให้ดีว่าเราจะโทษใคร ถ้าจะพูดสุ่มๆไปก็ว่า มันเกิดมาในตระกูลที่ไม่มีธรรมะ ที่ชี้แจงชักชวนกันอยู่เป็นประจำ หรือว่าเกิดมาในโลกในสมัยที่เค้าหลงใหลกันในอารมณ์ต่างๆ แต่เมื่อพิจารณาดูอีกทีหนึ่ง ว่าเราจะปล่อยมันไปอย่างนั้น หรือว่าเราจะทำกันอย่างไรดี เดี๋ยวนี้ก็ปรากฏว่า ทุกคนอย่างที่มานั่งอยู่ที่นี่ ล้วนแต่ปฏิญาณตนเป็นพุทธบริษัท เป็นผู้นับถือพระพุทธเจ้า เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า แล้วจะทำอย่างไรดี จึงจะสมกันกับที่ตนเป็นพุทธบริษัท ทุกคนจะมองเห็นได้ว่า ไม่มีอะไรอื่น นอกจากทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้นเอง ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านได้สอนไว้อย่างไร ในเรื่องที่เกี่ยวกับเวทนานี้ คำสอนที่สำคัญที่สุดที่เกี่ยวกับเวทนานี้ ท่านสอนว่า สุขาเวทะนา ทุกขะโค ทัฏฐัพพา สุขเวทนานั้น พึงเห็นว่ามันเป็นทุกข์ ทุกขาเวทะนา สัลละโต ทัฏฐัพพา ส่วนทุกขเวทนา พึงเห็นว่า มันเป็นลูกศร อทุกขมสุขเวทะนา อนิจจา ทัฏฐัพพา (นาทีที่ 2001) ส่วนอทุกขมสุขเวทนา พึงเห็นว่า มันเป็นของไม่เที่ยง ข้อนี้อธิบายว่า พึงเห็นสุขเวทนาในความเป็นทุกข์ เห็นอย่างไร สุขเวทนาเป็นความสุขอยู่แท้ๆ จะเห็นเป็นความทุกข์ได้อย่างไร นี่มีคำอธิบายหลายนัย บางคนจะถือเอาความหมายทั่วไปว่าเห็นว่าเป็นทุกข์ แล้วมันก็เห็นไม่ได้ มันแกล้งเห็น มันก็เหมือนจะทำให้เป็นคนโง่มากขึ้น เมื่อสุขเวทนา พึงเห็นโดยความเป็นทุกข์นั้น พึงรู้ว่า คำว่าทุกข์นี้มันมีความหมายหลายอย่าง คำว่าทุกข์ แปลว่า ทนได้ยากเพราะมันเจ็บปวดอย่างนี้ก็มี อย่างนี้สุขเวทนามันไม่เป็นอย่างนั้น จะเห็นสุขเวทนาโดยความเป็นทุกข์ ทนยาก เจ็บปวด นี้มันเป็นไปไม่ได้ ขืนทำก็เหมือนกับแกล้งทำ แต่คำว่าทุกขะนี้ยังแปลอีกอย่างหนึ่งว่า ดูแล้วมันน่าเกลียด น่าระอาใจ สิ่งใดที่มองดูเข้าแล้วรู้สึกน่าเกลียด น่าระอาใจ นี้ก็เรียกว่าทุกข์เหมือนกัน หรือยิ่งไปกว่านั้นอีก ก็ว่าเห็นโดยความเป็นของว่าง อย่างน่าเกลียด คือมันว่างอย่างที่ไม่มีประโยชน์อะไร คือ ว่างจากสิ่งที่เป็นประโยชน์ นี่ก็คือคำว่าทุกข์ คนที่เรียนบาลีก็เข้าใจเรื่องนี้ได้ตามตัวหนังสือ แต่สำหรับชาวบ้านที่ไม่เคยเรียนบาลีนั้นมันคงจะยากบ้าง เพราะว่าตัวหนังสือนี่มันแยกกันได้เป็นอย่างๆหลายซับหลายซ้อน ทุแปลว่ายาก ขะคือขะมะ แปลว่า ทน ทุกขะ แปลว่า ทนยาก นี้คือเป็นทุกข์อย่างที่เรารู้ๆกันอยู่ว่ามันเจ็บปวด มันทนไม่ได้ นั้นก็เรียกว่าทุกข์เหมือนกัน ทีนี้คำว่าทุ แปลว่า น่าเกลียด คำว่าอักขะ อิกขะ (22.39) นี้แปลว่าดูหรือเห็น ถ้าอย่างนี้แล้วมันแปลว่าดูแล้วมันรู้สึกน่าเกลียด ทีนี้ถ้า ขะ แปลว่า ว่าง ทุกขะ ก็แปลว่า ว่างอย่างน่าเกลียด เช่น ดูไปที่ก้อนหินก้อนหนึ่ง ถ้าเห็นความหลอกลวงเปลี่ยนแปลงไม่เที่ยง หรือว่างจากสาระที่ควรยึดถือ ก็จะเห็นว่าก้อนหินนี้มีลักษณะแห่งความทุกข์ ก็เห็นก้อนหินนี่เป็นความทุกข์ได้ทั้งที่มันไม่ได้มีความรู้สึกอะไร แต่ผู้ดู ดูแล้วรู้สึกระอาใจที่ว่าแม้แต่ก้อนหินยังหลอกลวงคือไม่เที่ยงและเปลี่ยนแปลง ดังนั้นข้อที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส สุขาเวทะนา ทุกขะโค ทัฎฐัพพา สุขเวทนา อันเธอทั้งหลายพึงเห็นโดยความเป็นทุกข์ นี่เป็นเพราะว่า มันไม่เที่ยง เมื่อมันไม่เที่ยงมันก็เปลี่ยนแปลง มันก็แสดงอาการเห็นว่า มันน่าเกลียดน่าชัง หาความจริงอะไรไม่ได้ สุขเวทนาที่เกิดขึ้นนี้จึงถูกมองเห็นเป็นมายา เป็นของหลอกลวงอย่างน่าเกลียดที่สุด นี้ก็มีนัยยะอันหนึ่งซึ่งเป็นนัยยะที่กล่าวลงไปโดยตรงหรือตรงๆ ว่าสุขเวทนาเป็นของที่ว่าดูแล้วมันช่างน่าเกลียด น่าเกลียดที่ตรงไหน น่าเกลียดที่มันหลอกคนให้หลงจนตกเป็นทาสของเวทนานั้น ถ้าเวทนาที่เป็นสุข มีลักษณะเหมือนกับเหยื่อล่อทำให้คนหลงใหล เมื่อคนไม่รู้สึกก็หลงใหล เพราะเห็นเป็นของดีไป แต่เมื่อคนรู้สึกตามที่เป็นจริงก็จะรู้ว่ามันเป็นของหลอกลวงอย่างน่าเกลียดที่สุด ฉะนั้นเมื่อสุขเวทนาเกิดขึ้น ก็พึงเห็นว่าเป็นของที่ดูแล้วน่าเกลียดน่าชังอย่างนี้ จะปฏิบัติยากหรือปฏิบัติง่ายนั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง เดี๋ยวนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนไว้อย่างนี้ ก็เอาไปคิดดู ฉะนั้นก็ว่าคงจะเห็นลู่ทางที่จะปฏิบัติได้ เมื่อสุขเวทนาเกิดขึ้นคราวใด ให้มองเห็นไอ้ความที่มันหลอกลวงให้หลงใหล ให้ทันแก่เวลาเสมอ จะเป็นสุขเวทนาตามธรรมดาในระดับธรรมดา หรือเป็นสุขเวทนาที่เกี่ยวกับกามารมณ์เช่นเรื่องของเพศตรงกันข้ามอย่างนี้ก็ตาม ไม่ว่าสุขเวทนาชนิดไหนเกิดขึ้นพึงเห็นโดยความเป็นของอันตราย หลอกลวงให้หลงใหล จะทำสัตว์ให้ตกอยู่ในกองทุกข์ นี่แหละเรียกว่า เห็นเวทนาในความเป็นของน่าเกลียดน่าชังอย่างนี้เป็นข้อที่หนึ่ง ซึ่งจะต้องจำไว้สำหรับปฏิบัติต่อสิ่งที่เรียกกันว่า สุขเวทนา ที่นี้ก็มาถึงเวทนาที่สอง เรียกว่า ทุกขเวทนา เวทนาอันเป็นทุกข์ ได้ตรัสว่า ทุกขาเวทะนา สัลละโต ทัฎฐัพพา เวทนาอันเป็นทุกข์ เธอทั้งหลายพึงเห็นโดยความเป็นลูกศร ลูกศรนั้นคือของเสียดแทง เสียดแล้วเจ็บปวด ให้เห็นว่ามันเป็นของธรรมดากันบ้าง ว่าถ้าลูกศรเสียดแทงมันก็ต้องเจ็บปวด มันก็ต้องเป็นของธรรมดากันบ้าง อย่าคิดให้มันฟุ้งซ่านมากไป ก็จะรู้สึกว่าเป็นของธรรมดาที่จะต้องเป็นอย่างนั้น เพราะมันเป็นเหมือนลูกศร แต่ทีนี้ยังมีตรัสไว้ในที่อื่นว่า ยังจะต้องระวังเรื่องลูกศรนี้ ให้ดีขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง คือ มันเป็นลูกศรอยู่สองชั้น ชั้นแรกก็เหมือนกับลูกศรเล็กๆตามธรรมดา มาถึงก็เสียดเข้าแล้วก็เจ็บ นี้ก็ยังเป็นลูกศรธรรมดา ไม่น่าเกลียดน่ากลัวน่าตกใจอะไรนัก แต่ถ้าไปยึดถือทุกขเวทนา นั้นเข้าโดยความเป็นทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นแก่ตัวเรา มีตัวเราเป็นผู้เสวยทุกขเวทนานั้น เราเจ็บ เราจะตาย นี้เรียกว่า มีอุปาทานเกิดขึ้นในเวทนานั้นแล้ว มันกลายเป็นลูกศรที่สองมาอีกดอกหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกศรที่ใหญ่กว่าและอาบยาพิษมาทีเดียว ก็ทำความเจ็บปวดให้มากอย่างยิ่งหลายร้อยหลายพันเท่ากว่าลูกศรเล็กๆที่ไม่ได้อาบยาพิษ ถ้าคนเรามีความรู้ในเรื่องนี้ ปฏิบัติให้ถูกต้องในเรื่องนี้ ก็จะถูกกันแต่ลูกศรดอกเล็กๆไม่อาบยาพิษเท่านั้น แต่เพราะที่ เพราะเหตุที่เป็นคนไม่รู้ เป็นอันธพาล ไม่รู้ธรรมมะของพระอริยะเจ้า เคยชินแก่การยึดถือหรือรู้สึกในเวทนานั้น มันก็เห็นเป็นเวทนาของเรา รู้สึกเป็นเวทนาของเรา เรากำลังจะตาย กลัว จนถึงกับเป็นลมก็ได้แม้จะถูกหนามแทง เวทนาก็เลยกลายเป็นลูกศรชนิดที่ร้ายกาจขึ้นมาเพราะเหตุนั้น ถึงอย่างไรก็ดีเป็นอันสรุปความได้ว่า พระพุทธองค์ได้ทรงสอนให้มองดูเวทนาในฐานะเป็นลูกศร ผู้มีปัญญาก็รับเอาเพียงเป็นลูกศรเล็กๆตามธรรมดา พิจารณาว่ามันก็สักว่าความเจ็บ เป็นความรู้สึกเกิดขึ้นตามธรรมดาของสังขาร สักว่าเป็นความเจ็บเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเท่านั้นเดี๋ยวมันก็ค่อยๆหายไป ลูกศรอย่างนี้ ก็ไม่มีพิษร้ายอะไร แต่ถ้าคนไม่รู้ มันก็กลัวมาก มีความทุกข์มากเหมือนลูกศรอาบยาพิษ ก็เรียกว่าเป็นลูกศรอยู่นั่นเอง ดูเวทนาให้เห็นว่ามันเป็นลูกศร แล้วก็ระวังอย่าให้มันกลายเป็นลูกศรชนิดที่สอง คืออาบยาพิษ ให้มันเป็นสักว่าเวทนา มันเป็นเหมือนกับลูกศรเล็กๆ มันเสียดเข้ามันก็เจ็บบ้าง พิจารณาความเจ็บเป็นของธรรมดา ความเจ็บนั้นก็จะหายไป นี้คือข้อปฏิบัติสำหรับที่จะปฏิบัติต่อทุกขเวทนา ทีนี้่้้เวทนาที่สาม อทุกขมสุขเวทนา เวทนาที่ไม่เรียกได้ว่า เป็นทุกข์หรือเป็นสุขนั้น ได้ตรัสว่า อทุกขมสุขเวทะนา อนิจจโต ทัฏฐัพพา แปลว่า อทุกขมสุขเวทนา อันเธอทั้งหลายพึงเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง นี้หมายความว่าอย่าได้ประมาท ถ้ามีสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ตาม ถ้ามีเวทนาเกิดขึ้น ให้รู้ทันในเวทนานั้น ว่าล้วนแต่ไม่เที่ยง ความข้อนี้มันกำกวมกันอยู่ แม้ เพราะว่า แม้สุขเวทนาก็ไม่เที่ยง ทุกขเวทนาก็ไม่เที่ยง อทุกขมสุขเวทนา มันเห็นยากว่าไม่เที่ยง ไม่ค่อยจะรู้สึก ฉะนั้นจึงจะเน้นหนักในข้อนี้ คือเน้นเรื่อง อนิจจัง ไม่เที่ยง ในข้ออทุกขมสุขเวทนาเป็นพิเศษ นั่นก็คือ เป็นการสอนให้มีสติสัมปชัญญะทุกครั้งที่เกิดเวทนา แม้ว่าไม่ยินดีไม่ยินร้าย ให้เห็นความไม่เที่ยง ของสังขารเหล่านี้ ว่าตาไม่เที่ยง ไอ้รูปก็ไม่เที่ยง วิญญาณทางตาก็ไม่เที่ยง มาพบกันเข้าเป็นสัมผัส สัมผัสมันก็ไม่เที่ยง สัมผัสให้เกิดเวทนา เวทนามันก็เป็นของไม่เที่ยง นี้เท่ากับศึกษาความเป็นของไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ แล้วศึกษาอยู่อย่างละเอียดลออที่สุด คือกระทั่งแม้ในสิ่งที่เป็นอทุกขมสุข คือไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข ผู้ใดในกาลอันใดเห็นอยู่อย่างนี้ในกาลอันนั้น บุคคลนั้นจะเป็นอริยะ จะเป็นผู้มีความเห็นชอบ จะตัดตัณหาได้ จะหลุดพ้นจากสังโยชน์ จะทำที่สุดแห่งความทุกข์ได้ เพราะได้ผ่านมานะ ความยึดถือว่าตัวตนไปได้โดยชอบดังนี้ อานิสงค์เหล่านี้ก็คือความเป็นพระอรหันต์ ถ้าผู้ใดเห็นเวทนาทั้งสาม โดยอาการดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ผู้นั้นจักเป็นอริยะเจ้า หมายความผู้นั้นจักไม่เป็นคนธรรมดาสามัญ คนธรรมดาสามัญทั่วไปก็จะเห็นสุขเวทนาจะเป็นของสวยงาม เอร็ดอร่อย สนุกสนาน น่าพอใจ เห็นทุกขเวทนาแล้วก็ เป็นของยึดมั่นถือมั่นว่าจะตายขึ้นมา แล้วก็เป็นทุกข์ ก็อิดหนาระอาใจ ไม่มีเวลาสงบได้ แล้วก็ไม่สนใจกับเวทนาที่ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ไปดูกันทุกคนให้เห็น ไอ้ความประพฤติเป็นไปของตนของตนอยู่ตามปกติว่ามันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นพระอริยะเจ้าได้ ทีนี้ก็ไปทำเสียใหม่ตามที่ได้ทรงสอนไว้ว่าเห็นสุขเวทนาโดยความเป็นของน่าเกลียด แม้จะเป็นสุขอย่างไรก็ยิ่งน่าเกลียด ยิ่งขึ้นไปตามที่ว่ามันเป็นสุขมาก แล้วมันก็หลอกลวงมาก เห็นทุกขเวทนาว่ามันก็ต้องมีความรู้สึกเจ็บปวดบ้างเป็นธรรมดาอย่างนี้ อย่าให้เลยไปเป็นลูกศรที่เจ็บมาก เห็นอทุกขมสุขเวทนา ว่าเป็นกระแสของความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา นี่มันต่างกันตรงกันข้ามอย่างนี้ จึงกลายเป็นพระอริยะเจ้า ที่ว่าเห็นชอบนั้นก็คือเห็นถูกต้องตามที่เป็นจริงว่ามันเป็นอย่างนี้ ที่ว่าตัดตัณหาเสียได้นั้นก็หมายความว่า เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ตัณหาก็ไม่มีทางจะเกิด ที่ว่าหลุดพ้นจากสังโยชน์เครื่องผูกมัด ก็เพราะเมื่อไม่หลงใหลในเวทนาแล้วก็อะไรจะมาผูกมัด ที่ว่าทำที่สุดแห่งทุกข์ ก็เพราะเมื่อไม่มีตัณหาจะเกิดขึ้น ก็ไม่มีความทุกข์ที่จะเกิดขึ้น เพราะว่าความทุกข์นั้นย่อมเกิดจากตัณหา ตัณหาให้เกิดอุปาทานยึดมั่นถือมั่นแล้วก็เป็นความทุกข์ ที่ว่าพบผ่านมานะไปเสียได้โดยชอบนั้น ข้อนี้หมายความว่า คนเรามันมีมานะ คือความสำคัญตนว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ดีหรือชั่ว ดีมากหรือดีน้อย ชั่วมากหรือชั่วน้อย ดีกว่าหรือเลวกว่า ล้วนแต่สำคัญตนว่าเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง นับตั้งแต่สำคัญว่าเป็นสัตว์ เป็นคน แล้วก็เป็นดีเป็นชั่ว ชั่วกว่าหรือว่าดีกว่า อย่างนี้เรียกว่ามานะทั้งนั้น ถ้ามองเห็นเวทนาทั้งสามโดยลักษณะอย่างที่ว่ามาแล้ว ย่อมผ่านมานะทั้งหลายเหล่านี้ไปได้โดยชอบ เมื่อไม่มีมานะ ก็หมายความว่า ไม่มีตัวตน หรือของตน ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวกูหรือของกู ตัดมานะชนิดนี้ได้แล้วก็เป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นข้อปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ ก็มีอยู่อย่างที่ทรงแสดงไว้สั้นๆ สามประการดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง ซึ่งสรุปใจความได้ว่า เห็นสุขเวทนาว่าเป็นของน่าเกลียดน่าชัง เห็นทุกขเวทนาว่ามันก็ต้องเสียดแทงไปตามธรรมดา เห็นอทุกขมสุขเวทนาว่าเป็นกระแสแห่งความไม่เที่ยงคือความเปลี่ยนแปลง พระองค์ทรงสอนไว้อย่างนี้ เพื่อบุคคลจักเป็นพระอริยะ จักเห็นชอบ จักละตัณหา จักหลุดจากสังโยชน์ จะทำที่สุดแห่งความทุกข์ทั้งปวง ผู้ได้ฟังแล้วปฏิบัติอยู่ ก็จะทำที่สุดแห่งความทุกข์ได้ ทั้งพระบาลีที่ได้ตรัสไว้ในคัมภีร์เดียวกันนั้นว่า เย เยตัง ปะติปัชชันติ ยะถา พุทเธนะ เทสิตัง (นาทีที่ 3817) บุคคลเหล่าใดเหล่าใดปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้อย่างไร ทุกขะสันตัง กะริสสันติ ตะถุสาสะนะการิโน บุคคลนั้นๆจักกระทำที่สุดแห่งความทุกข์ได้ เป็นผู้ปฏิบัติอยู่ซึ่งพระสัตถุศาสตร์ คือศาสนาของพระศาสดา การปฏิบัตินั้นปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ซึ่งก็มีอยู่มากมาย ซึ่งเรียกกันว่าตั้งแปดหมื่นสี่พันข้อ สี่พันเรื่องหรือแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ แต่แล้วทั้งหมดนั้นมันสรุปลงไปเป็นคำๆเดียวว่า ไม่มีอะไรที่ควรยึดมั่้นถือมั่นโดยความเป็นของตน เป็นตัวตน หรือเป็นของๆตน คำสอนเรื่องเวทนาทั้งสามข้อนี้ ก็คือเป็นคำสอนที่ไม่เห็นเวทนานั้นโดยความเป็นตนหรือเป็นของตน เรียกว่า เป็นคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาอยู่ในตัวแล้ว ผู้ใดปฏิบัติตามพระธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้แล้วนี้ จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ และเป็นผู้ชื่อว่ากระทำอยู่ในพระสัตถุศาสตร์ สัตถุศาสตร์อาจจะฟังแปลกหูบ้าง สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยจะได้เล่าได้เรียน แต่ผู้ที่เคยเล่าเรียนโดยเฉพาะเรียนภาษาบาลี ก็เป็นคำธรรมดา สัตถุศาสนา คือ ศาสนาของพระศาสดา บุคคลนั้นรู้อยู่ประพฤติอยู่ตามพระสัตถุศาสตร์ แล้วก็จะถึงที่สุดแห่งความทุกข์ได้ นี้เป็นพระพุทธโอวาท ที่ทรงแสดงถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้ เป็นสิ่งที่ควรนำมาพูดจากัน ปรึกษาหารือกันในโอกาสเช่นวันนี้ คือวันมาฆบูชาอันเป็นวันที่ระลึกถึงพระอรหันต์ดังที่กล่าวแล้ว แล้วสิ่งที่จะต้องคิดดูให้ดีเพิ่มเติมออกไปอีก ก็คือว่า ไม่ต้องไปหาอะไรที่ไหนแล้วเพราะสิ่งที่เรียกว่าเวทนานั้น มันมีอยู่เป็นประจำวัน อยู่ที่เนื้อที่ตัว ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกของเวทนา หรือว่าอยู่ที่ใจ เพราะว่าใจนั้นมันเป็นสิ่งที่จะรู้สึกต่อเวทนา ที่พูดว่าอยู่ที่เนื้อที่ตัวนั้น มันก็คือ อยู่ที่กายที่ใจของบุคคลนั้นแล้ว ทุกคนก็มีสิ่งนี้ ก็ต้องใช้สิ่งนี้เป็นที่สำหรับดู สำหรับพิจารณาให้เห็น มัวแต่อ่านหนังสือ มัวแต่ฟังคนอื่นพูด แต่ไม่มาดูที่เนื้อที่ตัว มันก็ไม่มีทางจะเข้าใจได้ คือไม่มีทางที่จะเห็นได้ ฉะนั้นขอให้มาศึกษาที่เนื้อที่ตัว โดยเฉพาะก็คือสิ่งที่เรียกว่าเวทนานี้ ให้ยิ่งขึ้นไปกว่าที่แล้วๆมา เพราะว่าแล้วๆมานั้นก็เป็นผู้ไม่รู้ เป็นผู้ประมาท เป็นผู้ปล่อยเลยตามเลยไปวันหนึ่งๆ ขืนกระทำอยู่อย่างนี้ก็ตายเปล่า ทั้งที่เรียกตัวเองว่าเป็นอุบาสก อุบาสิกา นับถือพระพุทธศาสนาแล้วก็ต้องตายเปล่า เพราะว่าเป็นแต่ปาก ไม่ได้เป็นกันจริงๆ ถ้าจะเป็นกันจริงก็ต้องไปตั้งต้นพิจารณาดูสิ่งที่เรียกว่าเวทนา อย่างที่กล่าวมาแล้วนี้อยู่เป็นประจำวันเถิด เมื่อใดที่สุขเวทนาเกิดขึ้น ก็อย่าลืมตัวไปหลงใหลยินดี ให้เห็นให้เข้าใจ ให้รู้ทันทีว่า ว่าไอ้เวทนานั้นมันเป็นสิ่งที่หลอกลวงอย่างน่าเกลียด ถ้าเกิดทุกขเวทนาที่เจ็บปวดบ้าง ก็รู้สึกว่ามันเป็นอย่างนี้เอง มันเป็นสักว่าความรู้สึกว่าเจ็บเท่านั้น ไม่มีตัวกูผู้เจ็บก็แล้วกัน ส่วนเรื่องอื่นๆนั้น ที่ไม่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ก็ดูว่ามันเป็นกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง วนเวียนอยู่ที่นี่ ไม่มีอะไรส่วนไหนเหลืออยู่เลยสำหรับจะให้ยึดถือเอามาเป็นส่วนตนหรือเป็นของตนได้ สำหรับสิ่งที่เรียกว่าเวทนานี้ พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้มากกว่าสิ่งใด ในฐานะที่เป็นสิ่งที่ต้องหยิบขึ้นมาพิจารณา เพราะปัญหามันอยู่ที่ความรู้สึก ถ้าคนเราไม่มีความรู้สึกปัญหามันก็ไม่มี สำหรับคนที่ยังเป็นๆ ยังมีชีวิตอยู่นี้ ปัญหามันมีอยู่ที่ความรู้สึก ถ้าไม่มีความรู้สึกมันก็ตายแล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไร ถ้ายังเป็นอยู่มันก็มีความรู้สึก ปัญหามันก็เกิดขึ้นได้ต่างๆกัน ฉะนั้นจึง จงศึกษาไอ้ความรู้สึกคือเวทนาให้เข้าใจ จนไม่เป็นที่ตั้งเแห่งความยึดถือ ในเวลาอันไม่นานก็จะประสบผลตามความมุ่งหมายนั้นได้ คือจะมีสติ รู้สึกตัวอยู่เสมอ เป็นการถ่ายถอนกิเลสและอนุสัยอยู่เป็นประจำ สุขเวทนาเกิดขึ้นทีหนึ่ง เรารู้สึกตัวทีหนึ่งก็เป็นการบรรเทาราคานุสัยทีหนึ่ง ทุกขเวทนาเกิดขึ้นทีหนึ่ง เรารู้สึกตัวมันก็เป็นการถ่ายถอน ปฏิฆานุสัยได้ทีหนึ่ง อทุกขมสุขเวทนาเกิดขึ้น เรารู้สึกตัว ก็ถ่ายถอนอวิชชานิสัยได้ทีหนึ่ง ถ้าทำอย่างนี้่อยู่เป็นปกติแล้ว ราคานุสัยก็ค่อยเบาบางไป ปฏิฆานุสัยก็ค่อยเบาบางไป อวิชชานุสัยก็ค่อยเบาบางไป ในที่สุดก็มาถึงวันหนึ่งซึ่งสูญสิ้นไปไม่มีเหลือ คือ สูญสิ้นความเคยชิน ที่จะเกิดราคะ หรือ ปฏิฆะ หรืออวิชชาโดยนัยยะที่แสดงมานี้่เรียกว่า เป็นข้อปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ ซึ่งตรัสไว้สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือเป็นบรรพชิต ก็มีโอกาสที่จะเป็นปฏิบัติอย่างนี้ได้ และสมควรอย่างยิ่งที่จะปฏิบัติอย่างนี้ แม้ว่าเป็นฆราวาสอยู่ที่บ้านก็ยิ่งสมควร เพราะว่าฆราวาสอยู่ที่บ้านนั้นมันมีเรื่องที่จะให้เกิดสุขเวทนา ทุกขเวทนามากกว่าคนที่อยู่ที่วัด ซึ่งไม่ค่อยมีเรื่องอะไรรบกวน ฉะนั้นผู้ที่อยู่ในดงของสิ่งรบกวนคือพวกชาวบ้านทั้งหลาย ก็จงได้รู้จักถือเอาประโยชน์แห่งพระธรรมเทศนาที่ได้ตรัสไว้ เพื่อเป็นเครื่องมือต่อสู้กับสิ่งนั้นๆ ให้สุดความสามารถของตนกันทุกคนเถิด ก็จะได้ไม่เสียที่เกิดเป็นอุบาสกอุบาสิกาในพระพุทธศาสนา ที่ได้ก้าวหน้าไปตามทางของพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาซึ่งเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย โดยแท้จริง ธรรมเทศนาแสดงถึงข้อปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ในโอกาสแห่งมาฆบูชาก็สมควรแก่เวลาดังที่แสดงมานี้ เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้