แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อยากจะบอก เรื่องที่จะพูดกัน เมื่อวานนี้เราพูดกันถึงสิ่งที่เรียกว่าวัตถุนิยม ในวันนี้ อ้า, เราจะพูดถึงสิ่งที่เป็นคู่กัน ซึ่งเรียกว่า มโนนิยม โดยมาก เมื่อพูดว่าคู่กัน ก็ขอให้มองให้กว้างสักหน่อย ว่ามันเป็นคู่ปรปักษ์กัน หรือว่ามันเป็นคู่หูกัน เป็นคู่หู ภาษาธรรมดาสามัญของชาวบ้านเราคือต้องไปด้วยกัน ต้องอาศัยกัน เป็นเพื่อนกัน เป็นมิตรกัน อย่างนี้เรียกว่าเป็นคู่หูกัน แต่ถ้าเป็นคู่ปรปักษ์กัน ก็คือเป็นคู่รบรา ฆ่าฟัน ต่อต้าน อ้า, ซึ่งกันและกัน ทีนี้วัตถุนิยมกับมโนนิยมนี้ ถึงอย่างไรเสีย มันก็ต้องเป็นคู่กันแน่ ทีนี้มันมีอยู่ว่า อ้า, เราจะให้มันเป็นคู่ชนิดไหนกัน จึงจะเป็นประโยชน์ หรือว่าเราจะพิจารณากันในแง่ไหน จึงจะเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่มันเกี่ยวข้องกันอยู่กับปัญหาของเรา หรือของพวกเรา หรือของโลกปัจจุบันนี้ ซึ่งเราต้องการจะยื่นมือเข้าไปเกี่ยวข้อง นิสิต นักศึกษาทั้งหลายเหล่านี้ก็ ยื่นมือเข้าไปเกี่ยวข้อง บางคนก็ในลักษณะที่จะต้องเรียกว่าเบ่ง หรืออวดเก่ง หรืออวดดี ขนาดที่ว่าจะไปจัดสรรโลก อย่างนั้น อย่างนี้ทีเดียว ทีนี้บางพวกก็ไม่ถึงอย่างนั้น เพียงแต่ว่าจะศึกษาให้รู้ และจะร่วมมือกับฝ่ายไหน ที่จะเป็นประโยชน์ แก่ประเทศชาติของเรา หรือว่าเราจะสนับสนุนฝ่ายไหน จึงจะเป็นผลดี ทีนี้ยังมีบางพวก เพียงแต่จะศึกษา ในฐานะเป็นการศึกษาให้รู้ไว้ ยังไม่รู้ว่าจะใช้ประโยชน์อะไร แต่ถึงอย่างไรเสีย ก็คงจะเพื่อใช้ประโยชน์ที่เราชอบ แม้แต่สำหรับรู้ สำหรับเข้าใจ เอ้อ, เพื่อจะตอบคำถามเหล่านี้ก็ยังมี เพราะว่าไอ้เดี๋ยวนี้ โดยเฉพาะเวลานี้ คำสองคำนี้ กำลังอยู่ในความสนใจ โดยเฉพาะในทางการเมือง หรืออุดมคติทางการเมือง ทีนี้จะดูกันในลักษณะที่ว่าเป็นคู่ ว่าเป็นคู่ปรปักษ์กัน หรือจะเป็นคู่ที่จะต้องอาศัยร่วมมือไปด้วยกัน อย่างนี้ก็ตาม ก็จำเป็นที่จะต้องรู้จักสิ่งนั้นให้ดี แล้วจึงจะรู้ความเป็นคู่ ที่ถูกต้องว่ามันจะเป็นกันในแง่ไหน ทีนี้ สำหรับวัตถุนิยมนั้น ก็พูดกันมาพอสมควรแล้ว สรุปความสั้นๆ ก็ว่า คนเหล่านั้นเขาถือเอาวัตถุเป็นหลักสำคัญของปัญหาทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่จะจัดโลกให้มีสันติภาพนั้น เขาถือว่า จะต้องจัดในส่วนวัตถุให้ถูกต้องให้ดีเสียก่อน โลกจึงจะมีสันติภาพ นี้เป็นข้อเท็จจริง อ้า, อันหนึ่งซึ่งกำลังมีอยู่ แต่ทีนี้ข้อเท็จจริงมันมิได้มีเพียงเท่านั้น มันมีลึกลงไปถึงข้อที่ว่า ทำไมมันจัดไม่ได้ แม้ในทางวัตถุ ก็เพราะว่าคนมันไม่ได้ มันมัวเมาในวัตถุ ใน ในรสอร่อยทางวัตถุ ที่เรารวมเรียกกัน อ้า, ว่ากามารมณ์ ให้รู้ว่าสิ่งที่เรียกว่ากามารมณ์นั้นเป็นเรื่องทางวัตถุ ไม่อยู่ในพวกมโนนิยม แต่เป็นพวกวัตถุนิยม ทีนี้ คนเขาติดในกามารมณ์ หรือผลที่เป็น อ้า, ความยั่วยวน หรือเป็นเสน่ห์ของวัตถุนิยมกันเกินไป จนไม่เห็นหน้า เห็นใจคนอื่น ตัวเองก็มุ่งกอบโกย แล้วก็มีอุบายอันซ่อนเร้น ที่จะกอบโกย มันก็เกิดการต่อสู้ เกิดการเบียดเบียนกัน ในหมู่พวกวัตถุนิยมนั่นเอง ซึ่งชนกรรมมาชีพก็หลงวัตถุนิยม พวกนายทุนก็หลงวัตถุนิยม เขาก็ยื้อแย่งกันเพราะวัตถุนิยมเป็นเหตุ นี่เป็นวิกฤตการณ์ที่ถาวรของโลกในยุคปัจจุบันนี้ นี่ ดูวัตถุนิยมในแง่ที่ว่ามันเป็นสิ่งอันตรายอย่างนี้ ทีนี้พวกที่เขายึดหลักวัตถุนิยม เขาก็ถือว่า ถึงอย่างไรเสีย เราก็ต้องอาศัยวัตถุนิยมนี้เป็นหลักแก้ไขต่อไปอีก ไม่ ไม่ ไม่ไปพูดถึงจิต หรือมโนนิยม เพราะเขาถือเสียว่ามันไม่มีจิต มันมีแต่เรื่องของวัตถุ ปฏิกิริยาทางวัตถุก็คือจิต อย่างนี้เป็นต้น ก็มุ่งหมายจะแก้ทางวัตถุ ก็เลยไม่ได้ไปแตะต้องเรื่องทางมโนนิยม ถือเป็นของไร้สาระ หรือไม่มีค่าไปเลย ทีนี้พวกนี้เป็นนักวัตถุนิยมอย่างนี้แล้ว ก็บันทึกตำรับตำราการศึกษา หรือแม้แต่บันทึกประวัติศาสตร์ไว้สำหรับสอนกันต่อๆไป ก็บันทึกได้แต่เพียงทางวัตถุ คือทางรูปธรรม หรือทาง ไอ้วัตถุนิยมนี้ เขาไม่มีจิตใจลึกซึ้งพอที่จะสอดส่องลงไปถึงสิ่งที่เรียกว่าจิต หรือ มโน แล้วก็บัญญัติ ทำนองบัญญัติประวัติศาสตร์ฝ่ายทางจิต หรือทางฝ่ายมโนไว้ มันจึงรู้กัน รู้เรื่องกันแต่ฝ่ายวัตถุ ที่จริงถ้าพูดถึงเรื่อง ทางจิต ทางมโน ทางนามธรรมนี่ ทางศาสนาเขาบันทึกไว้ พวกคุณอย่ามองข้าม ว่าทางศาสนาทั้งหลายนี่ เขาไปแตะต้องพวกจิตหรือพวกมโน เขาค้นคว้าได้อย่างไร เขาก็บันทึกไว้ ด้วยการปฏิบัติสืบๆ กันมาจนบัดนี้ มันไม่ได้บันทึกในกระดาษก็จริง แต่มันบันทึกอยู่ที่รูปร่าง กริยาอาการของนักปฏิบัติที่ปฏิบัติกันมา จนถึงบัดนี้ ทีนี้อีกทางหนึ่งมัน มันก็บันทึกอย่างธรรมดาสามัญ บันทึกในกระดาษ บันทึกในใบลาน ที่เรียกกันว่าคัมภีร์ทางศาสนานั้น ถ้าดูในอีกแง่หนึ่งแล้ว มันก็คือประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ ทางฝ่ายมโนนิยมนั่นเอง แม้อย่างนั้น พวกวัตถุนิยมก็ไม่ยอมรับ ตัดทิ้งไปหมดเลย ไม่ให้คุณค่า หรือสาระอะไรที่จะเอามาแก้ไข จัดสรรโลกนี้ให้มันดีขึ้น นี่เรียกว่าวัตถุนิยมเขาเป็นกันอย่างนั้น คือถือว่าวัตถุเป็นหลักสำคัญสำหรับทุกสิ่ง ทุกสิ่งขึ้นแก่วัตถุ นี้อย่างหนึ่ง และเมื่อจะถือเอา เอาเป็นหลักเป็นแบบฉบับ ก็บันทึกปรากฏการณ์แต่ในทางวัตถุเท่านั้น ไว้เป็นหลักเป็นแบบฉบับ เป็นตำรับ ตำรา แล้วผลที่มุ่งหมายอันสุดท้ายก็คือ ความสุข สนุกสนาน เอร็ดอร่อย ทางวัตถุ และยิ่งให้มันมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น ขนาดว่าคนจะต้องอยู่ตึก อยู่วิมาน จะต้องมีอุปกรณ์เครื่องสะดวกสบาย หรูหราแข่งกันกับเทวดา ก็ยังไม่ ไม่รู้สึกว่ามันจะ จะเป็นชั้น เป็นชั้นที่สมบูรณ์ได้ นี่ถึงพวกวัตถุนิยมเดี๋ยวนี้มันก็ตอบไม่ได้ว่า จะเอากันอย่างไรจึงจะเรียกว่าสมบูรณ์ แต่ก็หวังความสมบูรณ์ทางวัตถุกันอยู่นั่นเอง นี่เราก็แยกทางกันพิจารณา ว่าพวกวัตถุนิยมเขาพิจารณากันอย่างนั้น ในสามแง่ คือสิ่งที่เป็นต้นเหตุ ได้แก่วัตถุ ปรากฏการณ์ที่ปรากฏอยู่ หรือจะเพื่อบันทึกไว้ก็ตาม มันก็คือความเคลื่อนไหวทางวัตถุ แล้วผลที่ประสงค์จำนงหมายในขั้นสุดท้ายก็คือผลที่ได้มาจากวัตถุ เป็นสามขั้น เมื่อมีหลักเป็นสามขั้นอย่างนี้ ทางฝ่ายวัตถุนิยม ไอ้ทางฝ่ายมโนนิยมมันก็ถือเอามาเป็นหลักสำหรับพิจารณาได้อย่างเดียวกันอีก ว่าเราจะถือว่า สิ่งทั้งปวงขึ้นอยู่กับจิต เช่นเดียวกับฝ่ายโน้นถือว่า สิ่งทั้งปวงขึ้นอยู่กับวัตถุ และก็ปรากฏการณ์ทั้งหลายที่ปรากฏออกมาให้เห็นในโลกนี้ทางวัตถุนั้น มันก็มาจากทางจิต คือจิตเป็นต้นเหตุ จิตจะทำให้เกิดวัตถุ นิมิต อันนี้ เหล่านี้ขึ้น เช่นรถยนต์จะเกิดมานี้ก็เป็นผลของความคิดในทางจิต ต้องคิดออกแล้ว ต้องมองเห็นแล้ว ต้องเห็นภาพของรถยนต์ล่วงหน้าเสร็จแล้ว มันจึงจะปรุงรถยนต์ขึ้นมาได้ กระทั่งปรากฏการณ์ทั้งหลาย เอ้อ, ที่เป็นธรรมชาติ ต้นไม้ ภูเขา โลกนี้ก็เหมือน ก็เหมือนกัน ก็ถือว่ามีพลังอันหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่วัตถุล้วนๆ ที่ทำให้ ที่ทำให้วัตถุล้วนๆ เป็นไปนี่ ก็ถือเป็นเรื่องฝ่ายนามธรรม ทีนี้พออันที่สาม คือผลที่จะประสงค์อันสุดท้าย เขาก็ประสงค์ความสุขทางจิต โดยไม่ต้องอาศัยวัตถุเลย คือไม่อาศัยวัตถุขนาดที่คน อ้า, สมัยนี้เขาต้องการกันนัก ต้องการไอ้วัตถุปัจจัยอะไรต่างๆ นัก ไอ้คนพวกโน้น ที่อยู่ป่า อยู่ดง อยู่ในสมาธิภาวนา อย่างบทประพันธ์ที่ว่า จำศีล กินวาตา เป็นผาสุก ทุกคืนวัน จำศีล กินวาตา ไม่ได้กินข้าว นี่ก็ไปได้สุดเหวี่ยงถึงขนาดนี้ เรียกว่าฝ่ายมโนนิยม เอาละ แม้ว่าเราจะไม่พูดได้โดยรายละเอียด เราก็พูดโดยท้าวความ โดยประเภทใหญ่ๆ แล้วมาจับคู่เทียบกัน เราจะเห็นได้ว่ามันตรงกันข้ามก็แล้วกัน ให้เห็นว่าวัตถุนิยมมีอยู่อย่างไร มโนนิยมมีอยู่อย่างไร แล้วต่อไปก็จะพบว่ามันจะเป็นคู่กันในลักษณะไหน และเราจะถือเอาความเป็นคู่กันในลักษณะไหน อีกอย่างหนึ่ง อ้า, ถ้อยคำที่พูดทำให้ลำบาก นั้นก็ควรจะพูดจำกัดกันไว้เสียบ้าง ป้องกันความสับสน เช่นคำว่ามโนนิยมนี่ บางทีเราจะใช้คำว่าจิตนิยม นามนิยม อะไรก็ได้ เช่นฝ่ายวัตถุนิยม บางทีก็จะใช้คำว่ารูปนิยม อย่างนี้ก็ได้ อย่างนี้อย่าเอามาเป็นปัญหา อย่า อย่าทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นเพราะคำที่เรียกต่างกัน เอาเป็นว่าฝ่ายหนึ่งเขาเอาวัตถุธรรมเป็นหลัก ฝ่ายหนึ่งเอาไอ้มโนธรรม หรือนามธรรมเป็นหลัก เมื่อเรารู้จักสิ่งทั้งสองนี้ ดีทั้งสองฝ่าย และก็ดูความเป็นคู่ ถ้ามันเป็นคู่ปรปักษ์กัน เราก็ยังดูได้ในหลายแง่ คู่ปรปักษ์ที่มันจะทำลายล้างกันให้วินาศไปเลย เช่นอย่างเดี๋ยวนี้ พวกวัตถุนิยมทำลายความสนใจทางธรรม ทางศาสนาให้สูญหายไปทีละน้อย ละน้อย จนจะหมดสิ้น จนว่าคนในโลกนี้จะไม่สนใจเรื่องทางมโนนิยม หรือทางศาสนากันอยู่แล้ว ก็ถือศาสนาวัตถุกันไปทั้งหมด แม้บางคนจะพูดว่าไม่ถือศาสนาอะไร มันก็พูดผิดโดยไม่รู้จักตัวเอง มันถือศาสนาเงิน ถือศาสนาได้ ถือศาสนาสิ่งที่มันต้องการ มันก็คือวัตถุนิยมเหมือนกัน ทีนี้ถ้ามันเป็นคู่ปรปักษ์แล้วต้องทำลายล้างกันอย่างนี้ มันก็มีอยู่อย่างหนึ่งซึ่งควรจะสนใจ เพราะว่ามันมีได้มากถึงขนาดที่จะทำให้โลกนี้วินาศได้ ลองสนใจกันแต่ทางวัตถุอย่างเดียว คนก็จะมีจิตใจทรามหนักขึ้น หนักขึ้น แล้วจะเกิดวิกฤตการณ์มากขึ้น อาชญากรรมมากขึ้น จนวินาศไป ความเสื่อมของศีลธรรม อ้า, ก็มีมูลมาจากคนนิยมแต่ทางวัตถุ เห็นแก่ปากแก่ท้อง ความสุขทางเนื้อหนังเท่านั้น นี่เรียกว่ามันเป็นคู่ปรปักษ์ทำลาย และมันจะทำลายโลกด้วย ทีนี้ถ้าเราจะมองในด้านดี ว่าคู่ปรปักษ์นี้ เอามาใช้แก้กัน ถ้าว่ามันมีความผิดพลาดเพราะว่าไปหลงในมโนนิยม เอ้อ, ในวัตถุนิยมมาก เราก็ใช้ไอ้เรื่องทางจิต ทางมโนมาช่วยแก้ คำว่าแก้นี้ มันก็ต้องเป็นของที่ ทำหน้าที่อย่างกับตรงกันข้าม อันหนึ่งมันจะช่วยให้ตาย อันนี้มันก็จะช่วยให้หาย ดังนั้น ถ้าเรารู้จักว่ามันเป็นคู่ปรปักษ์กันอย่างตรงกันข้าม เราก็ยังอาจจะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ โดยเอาอย่างหนึ่งมาแก้อีกอย่างหนึ่ง ถ้าทางวัตถุนิยมมันเดินไปผิดทาง ก็ให้ทางมโน ทางมโนนิยมมาช่วยแก้ ช่วยควบคุม ช่วยประคับประคอง หรือว่า ถ้ามันเป็นไปได้ ในบางยุค บางสมัยว่า ไอ้ทางมโนนิยม ทางจิต ทางวิญญาณ นี้มันเป็นไปหนักจนเฟ้อ จนไอ้ จะวินาศโดยทางวัตถุแล้ว ทางวัตถุนิยมมันก็จะช่วยแก้ได้เหมือนกัน เพราะ เพราะมันเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม ดังนั้น ถ้าเราจะดูว่าเป็นคู่ปรปักษ์กัน เราก็ยังดูได้ทั้งสองทาง มันจะทำลายล้างให้หมดไป หรือว่าจะช่วยแก้ไขซึ่งกันและกันให้มันยังคงอยู่ นี้เรียกว่าเป็นการดูในแง่ที่ว่ามันเป็นคู่ปรปักษ์ต่อกัน ทีนี้ก็มาดูในทางที่ว่ามันจะเป็นคู่หูกัน ขออภัยใช้คำโสกโดก ไม่รู้จะใช้คำว่าอะไรดี คู่มิตรสหายกัน ที่ต้องไปด้วยกัน นี้มันเป็นการดูอีกทางหนึ่ง ถ้าดูอย่างนี้แล้ว มันก็จะกระเดียดหรือใกล้เข้ามากับทางพุทธศาสนา คือทางพุทธศาสนานี้ เอ้อ, ไม่ได้ปฏิเสธวัตถุนิยม วัตถุนิยมก็วัตถุนิยม แต่อย่าให้มันเฟ้อ อย่าให้มันเกินหน้าที่ของมัน ส่วนมโนนิยมนั้นมันเป็นอีกทางหนึ่ง ซึ่งมันก็ขาดไม่ได้ เพราะว่าคนเรามันมีทั้งกายและจิต เมื่อกายมันได้อาหารทางวัตถุพอแล้ว จิตมันก็ควรจะได้อาหารทางนาม หรือทางมโนเพียงพอเหมือนกัน แต่เมื่อดูให้ดีแล้ว เราจะพบว่าในพระพุทธศาสนานี้ มีหลักเกณฑ์อันหนึ่งซึ่งสำคัญมาก คือต้องการให้ ไอ้ความรู้ในฝ่ายจิต หรือฝ่ายมโนนิยมนี้ เป็นเครื่องรางป้องกันไม่ให้ความผิดพลาด หรือความทุกข์ หรือความวินาศอะไรเกิดขึ้นได้จากทางวัตถุ แม้แต่เรื่องบุคคล คนหนึ่งๆ เถอะ ก็ยังต้องการความรู้ทางนามธรรม ทางจิต ทางวิญญาณนี้ มาช่วยแก้ไขไอ้ความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นเพราะวัตถุ ใครๆ ก็เห็นชัดอยู่แล้ว ว่าเราต้องกิน ต้องใช้ ต้องอาบ ต้องถ่าย ต้องนุ่งห่ม ต้องอยู่อาศัย ต้องอะไรด้วยเรื่องทางวัตถุ เพราะฉะนั้นมันหลีกไม่ได้ ที่เราจะไม่แสวงหาวัตถุ เราต้องหาวัตถุ ต้องสะสมวัตถุ ต้องมี ต้องใช้ ต้องบริโภควัตถุ ทีนี้ ในการหา การมี การใช้นี้ มันยังมีว่าผิดหรือถูก โง่หรือฉลาด ถ้าปล่อยไปตามกิเลสมันก็โง่ แล้วคนเราก็จะต้องมีความทุกข์เพราะการหาวัตถุ เช่นหาทรัพย์สมบัติ แล้วก็มีทรัพย์สมบัติ แล้วก็ใช้ทรัพย์สมบัตินั้นเอง เพราะฉะนั้น จึงอยากจะชี้ให้ทุกคนมองดูสักแง่หนึ่งว่า เดี๋ยวนี้เรามีอะไรครบทุกอย่างแล้ว เกินไปเสียแล้ว ยังขาดอีกอย่างหนึ่งคือสิ่งที่จะป้องกันไม่ให้เราต้องเป็นทุกข์ เพราะสิ่งทั้งหลายที่เรามี เรามีอะไรมากมายเหลือเกินในบ้านในเรือน เกี่ยวข้องกับเรา นึกจะเอาอะไรก็จะได้ ใช้คำรวมๆ กันว่า มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาได้ในโลกนี้ ให้มันเกินไปแล้ว มากเหลือเกินแล้ว แต่ยังขาดอีกอย่างหนึ่งคือสิ่งที่จะป้องกันไม่ให้เขามีความทุกข์เพราะสิ่งนั้นๆ เดี๋ยวนี้สิ่งที่เราทำขึ้นมาทางวัตถุ ก้าวหน้าเจริญนี้ มันให้ความทุกข์แก่เรา เราไม่มีปัญญาที่จะแก้ไข หรือป้องกันความทุกข์เหล่านั้น จึงมีวิกฤตการณ์ส่วนบุคคล ส่วนสังคม ส่วนโลก อาชญากรรมมากขึ้น การฆ่าตัวตายมากขึ้น เพราะความกลุ้มใจ เกี่ยวกับเรื่องมีวัตถุ เรื่องได้วัตถุ เรื่องเสียวัตถุ อะไรเหล่านี้ นี่คือสิ่งที่เราขาดอยู่ เพราะสิ่งที่ขาดอยู่ อ้า, เพราะฉะนั้นไอ้สิ่งที่ขาดอยู่นั่นแหละคือ มโนนิยม ความรู้ที่เป็นทางฝ่ายมโนนิยม พุทธศาสนาต้องการให้ความรู้อย่างนี้ เพื่อให้มนุษย์ได้มีความรู้ที่เต็ม สมบูรณ์ ดังนั้น ถ้าใครยังเข้าใจอยู่ว่า มโนนิยมหรือหลักธรรมะนี้ มันมีเพื่อจะทำลายล้างวัตถุนิยมแล้ว ก็ขอให้รู้เถิดว่ามันเข้าใจผิด แต่เรื่องทางธรรมะ ทางมโนนิยมนี้ มาเพื่อเสริมไอ้ส่วนที่ยังขาดอยู่ คือส่วนที่ฝ่ายวัตถุนิยมไม่อาจจะมี ไม่อาจจะหามาได้ ก็คือความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะการมี การหาวัตถุนั่นเอง เกี่ยวกับพระศาสนาหรือศาสนาทั้งหลายนี้ อยากจะขอโอกาสแทรกพูดสักหน่อย ตรงนี้ว่า อย่าได้เข้าใจว่ามันมาเพื่อทำลายล้างไปเสียตะพึด ถ้าพูดตามโวหารของพระศาสดาทั้งหลายโดยใจจริงแล้วท่านจะไม่พูดว่า เกิดขึ้นเพื่อทำลายศาสนาที่มีอยู่ก่อน แต่จะยืนยันว่าศาสนาที่เกิดขึ้นมาทีหลังนี้ก็จะช่วยทำให้สมบูรณ์ ให้เต็มขึ้น หรือให้สูงขึ้นไปตามแนวนั้น จากที่ศาสนาก่อนๆ ที่มันมีอยู่แล้ว ดังนั้น พุทธศาสนาจึงไม่จำเป็นจะต้องไปพูดถึงเรื่องที่ชาวโลกเขามีอยู่แล้ว เขารู้อยู่แล้ว หรือที่ศาสนาอื่นเขาพูดอยู่แล้ว ก็ต้องการจะพูดเรื่องที่สูงขึ้นไป จนบางทีจะให้ดีกว่านั้น จะยกตัวอย่างเช่นว่า พระเยซูบอกว่า ศาสนาก่อนหน้านี้ ซึ่งท่านเล็งถึงโมเสสว่า การประพฤติล่วงละเมิดในทางประเวณีนั้น มันเป็นบาป ผิดศีลข้อหนึ่ง แต่เราต้องการจะพูดว่า คือพระเยซูท่านว่า แต่ท่านต้องการจะพูดว่า แม้สักว่าคิดอยู่ในใจเท่านั้น ก็ถือว่าขาดศีลข้อนี้แล้ว ที่เขาบัญญัติกันไว้ก่อนนั้น เขาต้องไปทำกันจริงๆ จึงจะขาดศีลข้อกาเมฯ แต่พระเยซูนั้นอยากจะพูดว่า เพียงแต่คิดเท่านั้นก็ขาดศีลข้อนี้แล้ว นี่ลักษณะของการที่จะทำให้เต็ม ให้สมบูรณ์ ให้สูงยิ่งขึ้นไป เพราะฉะนั้นไม่ได้มาเพื่อทำลายศาสนาเก่าๆ แต่มาเพื่อเสริมให้มันสูงขึ้นไป พุทธศาสนาก็อย่างเดียวกัน แต่มันไปในแง่ ทางธรรมะที่ไกลกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสุญญตา เรื่องอนัตตานี้ เอามาเสริม เรื่องของความดี การกระทำความดี จนถือว่าเป็นตัวตน เป็นที่พึ่งของตน ให้มันสูงขึ้นไปอีกจนถึงกับว่า ไม่ต้องมีตัวตน นี่ที่พูดแทรกให้เสียเวลานี้ ก็เพื่อให้ทุกคนจับใจความได้สักอย่างหนึ่งว่า อย่าได้เข้าใจว่า อ้า, ศาสนานี่ หรือลัทธิ อุดมคติที่ถูกต้องนี่ เกิดมาเพื่อตีกัน หรือเพื่อทำลายกัน ที่มันเป็นการตีกัน ทำลายกันนั้น มันเป็นฝีไม้ลายมือของไอ้พวกลูกศิษย์ที่โง่ หรือ บรมโง่ มันจึงทำให้ศาสนาตีกัน หรือคัด คัดค้านกัน ขัดแย้งกัน ถ้าลูกศิษย์หรือสาวกในศาสนานั้นๆ รู้จักศาสนาของตนดีแล้ว จะพบแต่หนทางที่ว่าจะเสริมให้ดียิ่งขึ้นไป เพราะฉะนั้น เราน่าจะถือเป็นหลัก เพื่อโดยเหตุผลทาง Directic บ้างก็ได้ ว่ามนุษย์ทีแรกนั้น มันก็รู้แต่เรื่องทางวัตถุ เอาเป็นคนป่าสมัยหิน สมัยนู้นก็ตาม มันรู้แต่เรื่องทางวัตถุ แล้วมันก็ไม่พอ มันพิสูจน์ถึงความไม่พอ มันยังมีความทุกข์ยาก ลำบาก ด้วยสิ่งที่มันยังไม่รู้หรือมองไม่เห็นตัว คือเรื่องทางจิต ดังนั้น จึงค้นพบไอ้เรื่องทางจิตเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น เพื่อจะแก้ปัญหาเหล่านั้น เพื่อให้มีความสุข ความสบาย ทั้งทางกาย และทางจิต นี้ก็ต้องถือเป็นหลักไว้ทีก่อนว่า ไอ้ความรู้ทางจิตนี้จะต้องมาทีหลัง ต้องมาเพื่อเสริมไอ้ความรู้ ที่ทางวัตถุมันยังขาดอยู่ ถ้าอย่างนี้ก็ลองคิดดูเถิดว่า มันจะเป็นศัตรูกัน หรือว่ามันจะเป็นเพื่อนกัน ในระหว่างสิ่งทั้งสองนี้ คือวัตถุนิยมและมโนนิยม ทีนี้ เดี๋ยวนี้ก็เห็นได้ว่าไอ้เรื่องทางฝ่ายมโนนิยมนี้ก็สูงขึ้นมาตามลำดับจนเกิดศาสนานั้น ศาสนานี้ ลัทธินี้เรื่อยมาจนถึงครั้งสุดท้ายคือเกิดพุทธศาสนา ซึ่งพิสูจน์ในข้อที่ว่า ไม่มีใครจะพูดอะไรให้ดีกว่านี้ ให้สูงกว่านี้ไปได้อีกแล้ว นี่ที่พูดอย่างนี้ ไม่ใช่ดูถูกศาสนาอื่น ถ้ามันมีความแตกกัน อ้า, แตกต่างกัน ผิดกัน ระหว่างพุทธศาสนากับศาสนาอื่นมันเป็นเพียงวิธีการปลีกย่อย บางทีศาสนาอื่นเขาจะมุ่งสอนให้คนระดับหนึ่ง พวกหนึ่ง ซึ่งมีอยู่โดยมาก เขาก็ต้องสอน หรือบัญญัติไปอย่างหนึ่ง แต่เมื่อพุทธศาสนาต้องการจะสอนทุกระดับไม่ยกเว้น ตั้งแต่ต่ำที่สุดจนสูง สูงสุดจึงมีไว้อย่างนี้ คือนับตั้งแต่ว่า ไม่ทำความชั่วแล้วก็ทำความดี แล้วก็ไม่ยึดถือทั้งความชั่วและความดี มีจิตเป็นอิสระ ไม่ถูกผูกพันอยู่ด้วยอิทธิพลของความชั่วและความดี อย่างนี้มันก็หมด ไม่มีอะไรสูงไปกว่านี้ได้ ถ้าเราจะพูดกันโดยหลักใหญ่แล้วก็ต้องพูดว่า ทุกศาสนานี้ มีความมุ่งหมายเหมือนกัน มีการสอนให้กัน มีการปฏิบัติที่เหมือนกัน มีได้ อ้า, การได้รับผลสุดท้ายเหมือนกัน หมายความว่านัยยะเดียวกัน หลักเกณฑ์เดียวกัน คือทุกศาสนามุ่งหมายจะแก้ปัญหาเรื่องความทุกข์ของมนุษย์ทั้งนั้น ถ้าศาสนาไหน ไม่มุ่งหมายอย่างนี้แล้ว มันก็เป็นศาสนาบ้า ไม่ควรจะถือว่าเป็นศาสนา ทุกศาสนามันจะต้องมุ่งหมายแก้ปัญหาความทุกข์ของมนุษย์ ทีนี้พอมาถึงตัวการปฏิบัติ ทุกศาสนานั้นก็มีระเบียบปฏิบัติที่จะป้องกันไม่ให้ ความทุกข์เกิดขึ้น แม้ว่ามันจะต่างกัน อ้า, โดยลักษณะ ท่าทาง คำพูด มันไม่สำคัญ แต่ตัวแท้ของมันก็คือ การป้องกันไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้น พวกอาศัยความเชื่อ ก็ใช้ความเชื่อป้องกัน พวกอาศัยความเพียร ก็ใช้ความเพียรป้องกัน พวกอาศัยสติปัญญา ก็ใช้ สติปัญญาป้องกัน หรือพวกที่อาศัยรวมกันทั้งหมดนี้ ก็อาศัยรวมกันทั้งหมดนี้ ดังนั้น ทุกศาสนามันมีหลักปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้น หรือเมื่อความทุกข์เกิดขึ้น มันก็ทำลายความทุกข์นั้นไปได้ด้วยการปฏิบัตินี้ ทีนี้ผลสุดท้ายปลายทางมันก็เหมือนกันทุกศาสนา เพราะทุกศาสนาจะใช้คำว่าความรอดเหมือนกันหมดทุกศาสนา ความรอด จำไว้ด้วย จะได้ศึกษาต่อไปข้างหน้าว่าทุกศาสนา มีคำเรียกจุดหมายปลายทางนั้นว่าความรอดด้วยกันทั้งนั้น พุทธศาสนาเช่นคำว่า “ วิมุตติ ” รอดจากปัญหาทั้งหลาย รอดจากความทุกข์ทั้งปวง รอดจากไอ้สิ่งที่มนุษย์ไม่ชอบ แล้วก็มีจิตใจอยู่โดยสงบสุขถึงที่สุด นี่เราต้องมองแง่อย่างนี้ จึงจะเห็นว่าทุกศาสนาเหมือนกัน ถ้ามันแปลกกันก็เป็นการช่วยเพิ่มเติม ส่งเสริมไอ้ส่วนที่ยังขาดอยู่ให้ ให้บริบูรณ์ขึ้น ดังนั้น จึงไม่อยากจะให้ใครแต่ละคนไปคิดว่า ไอ้วัตถุนิยม กับ มโนนิยมนี้ มันเป็นข้าศึกที่ทำลายล้างกัน นั้นก็ มันก็เป็นไปได้เมื่อใช้มันผิดๆ ถ้าเราจะใช้มันถูกแล้วก็ พวกมโนนิยมนี้จะเสริมไอ้สิ่งที่วัตถุนิยมมันขาดอยู่ ดังนั้น สิ่งใดที่มันเป็นปัญหาเกิดขึ้นมาเพราะวัตถุ สิ่งนั้นมันก็แก้ได้ด้วยคุณค่าของจิตใจหรือมโนธรรม นามธรรม วันนี้ ตั้งใจจะพูดเรื่องจิต เรื่องมโนนิยม แต่มันพูดไม่ได้โดยแยกออกไป เป็นอย่างเดียวล้วน มันก็เลยต้องพูดคู่กันไป ให้รู้จักแยกเอาเอง อ้า, เลือกเอาเอง สังเกตเอาเองว่า อะไรเป็นมโนนิยม และเป็นชนิดที่ถูกต้อง ถ้าเป็นมโนนิยมอันธพาล มันก็ดีแต่จะคัดค้านวัตถุนิยม พวกเราชาวพุทธไม่เป็นอย่างนั้นเลย และชาวพุทธ หรือพุทธ อ้า, หลักพุทธศาสนานั้นไม่ต้องการแยกกันในระหว่างมโนนิยมกับวัตถุนิยมในฐานะเป็นปฏิปักษ์ เป็นศัตรูต่อกัน แต่มีความมุ่งหมายอยู่เป็นสองอย่าง คืออย่างหนึ่งซึ่งค่อนข้างจะต่ำหรือหยาบ ก็คือว่าจะใช้ไอ้ความรู้ทางฝ่ายมโนนิยมนี่ช่วยแก้ปัญหาที่มันเกิดขึ้น เพราะทำผิดในทางฝ่ายวัตถุนิยม มีความผิดพลาดบกพร่องทางฝ่ายมโน เอ้อ, ฝ่ายวัตถุนิยมแล้วก็ จะแก้ด้วยความรู้หรือความถูกต้องในฝ่ายมโนนิยม ซึ่งในเวลานี้ ในปัจจุบันนี้ ไอ้โลกนี้ กำลังต้องการมากที่สุด เพราะว่าโลกนี้มันกำลังเป็นไฟ ลุกเป็นไฟ เพราะอำนาจของความก้าวหน้าทางวัตถุ และคนในโลกก็นิยมวัตถุมากเกินไป จนละทิ้งศาสนา อยากจะอวด จะเบ่งว่าฉันเป็นผู้ไม่มีศาสนาเสียแล้ว ดังนั้น ไอ้หลักลัทธิทางฝ่ายนามธรรม ฝ่าย มโนธรรม หรือฝ่ายจิตนิยมนี้ยังขาดอยู่ ในโลกนี้จะต้องมีมา เพื่อช่วยแก้ปัญหานี้ ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้า ดังนั้น จึงขอให้สนใจสิ่งที่เรียกว่า อ้า, มโนนิยมในลักษณะนี้อย่างหนึ่ง แม้พุทธศาสนาก็ยอมรับในข้อนี้ และก็มีหลักธรรมประเภทนี้พร้อมอยู่เสมอที่จะช่วยแก้ นี้เป็นนัยยะอันแรก หรือทัศนะอันหนึ่ง ของพุทธบริษัทจะปรองดองกันระหว่างวัตถุนิยมกับมโนนิยม แต่มันยังมีอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งอยากจะใช้คำว่าหลักพระพุทธศาสนานั้น คือความรู้ที่ทำความพอเหมาะ พอดี ในระหว่างวัตถุนิยมกับมโนนิยม อย่างที่เราเคยพูดกันมาแล้ว พูดกันมาเล่าว่า มัชฌิมาปฏิปทา เป็นหัวใจของพุทธศาสนา การปฏิบัติที่อยู่ตรงกลาง มี มีในท่ามกลางนั้นนะ เป็นตัวพุทธศาสนา ในบาลีธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า นี้เป็นเรื่องที่ฉันไม่ได้เคยฟังจากใครมาก่อน เป็นเรื่องที่ได้ตรัสรู้เฉพาะขึ้นมา ด้วยปํญญาอันยิ่งเอง ของตนเองคือ มัชฌิมาปฏิปทา ทีนี้คำว่าระหว่างกลางนะ มันระหว่างกลางของอะไร คือมันระหว่างกลางของวัตถุนิยมสุดโต่ง กับ มโนนิยมสุดโต่ง ก็เรียกว่ากามสุขัลลิกานุโยค มันวัตถุนิยมสุดโต่ง อัตตกิลมถานุโยค นั้นมัน มันมโนนิยมสุดโต่ง จนยอม ทรมานร่างกาย ซึ่งเป็นที่ตั้งของความรู้สึกต่อวัตถุ ที่อยู่ตรงกลางก็หมายความว่า ความพอเหมาะ พอดี ของการสัมพันธ์กันระหว่างวัตถุกับจิตใจ เพราะว่าหลักพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธวัตถุ ก็ยอมรับว่าเรามีชีวิตรอดอยู่ได้ด้วยวัตถุ จึงต้องการปัจจัยสี่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยาแก้ไข้ เหล่านี้เป็นหลัก อันนี้มันก็เป็นเรื่องฝ่ายร่างกาย หรือฝ่ายวัตถุ ทีนี้ปัจจัย อ้า, เครื่องอยู่อาศัยของจิต ของวิญญาณนั้น มันเป็นไอ้ความรู้ สติปัญญาที่ถูกต้อง มันก็มีอยู่อีกส่วนหนึ่ง ต้องเอามาปรับให้เข้ากัน ให้กลมกลืนกัน ให้เข้ากันได้ ให้มีความพอดี ระหว่างวัตถุกับจิต ดังนั้น หลักธรรมะในพุทธศาสนา จะต้องอยู่ในรูปนี้ทั้งนั้น คือไม่ อ้า, ไม่รังเกียจวัตถุ หรือไม่ไปหลงจิต หรือไม่ ไม่รังเกียจจิต หรือไปหลงวัตถุ แต่เป็นความรู้ที่ถูกต้อง ที่ทำให้เกิดความเหมาะสมพอดีระหว่างวัตถุกับจิต ถ้าใครมองเห็นข้อเท็จจริงอันนี้แล้วคนนั้นก็จะหยุดด่าพุทธศาสนา ซึ่งมักจะด่ากันว่าพุทธศาสนานี้โง่เง่า ไม่รู้จักแสวงหาคุณค่า หรือรสชาติทางวัตถุ นั่นเขาตู่ว่าเอาเอง ตามชอบใจเอง ตามความโง่ของตนเอง ว่าพุทธศาสนานี้ อ้า, ปฏิเสธวัตถุ หรือประนามวัตถุ แต่โดยแท้จริงแล้วไม่เป็นอย่างนั้น มันต้องการแต่ความถูกต้องระหว่างสิ่งทั้งสอง ก็กลายเป็นว่า ถ้าพูดตามแนว แนวนี้แล้ว มันก็เป็นคู่ คู่ที่จะ ไปด้วยกัน อยู่ด้วยกัน อะไรด้วยกันนี่ ตลอดชีวิตของมนุษย์ คนหนึ่งๆ ต้องมีความถูกต้องทั้งทางฝ่ายวัตถุและทางฝ่ายจิต และหลักเกณฑ์ที่จะเป็นอย่างนี้คือพุทธศาสนานั่นเอง นี่คือข้อที่จะปรารภขึ้น ในวันนี้ ถ้าใครมีความสงสัยอย่างไรในขอบเขตของไอ้สิ่งทั้งสองนี้ ก็ขอให้ถามได้ หรืออภิปรายได้ นี่ก็เป็นเวลาที่จะถามหรืออภิปรายได้ตอนหนึ่ง ใครก็ได้ เอาสิ เจ้าของปัญหานะมาถามเอง อย่าใส่ ใส่เศษกระดาษให้คนอื่นถาม
เจ้าของปัญหา : ที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวไว้เมื่อกี้ว่า เรามี เรามีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุ จนอาจจะเรียกได้ว่ามากเกินไป ซึ่งในความคิดของดิฉันคิดว่า มันอาจจะจริงในระดับหนึ่ง ของคนที่มีความเป็นอยู่ดีและสามารถที่จะมีสิทธิ์ มีความสามารถที่จะใช้วัตถุนั้น แต่ในขณะที่สังคมส่วนใหญ่ของเราประกอบด้วย คนจนส่วนมาก แม้กระทั่งแบบว่า เกิดมาก็ขาดซึ่งปัจจัยทางด้านวัตถุขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอยู่ อย่างนั้นเราควรที่จะพัฒนาทางด้านจิต เพื่อที่จะเป็นเกราะป้องกันความทุกข์ที่เกิดจากทางด้านวัตถุที่เรามีอยู่แล้วหรือ
ท่านพุทธทาส : ฟังออกแล้ว นี่เห็นได้ชัดว่า คุณพูดในนามของชนกรรมาชีพ ชนกรรมาชีพทั้งหลาย ยังขาดแคลนวัตถุ เราก็ไม่พูดแทนในนามของนายทุนซึ่งสมบูรณ์ในวัตถุหรือเกินวัตถุ แต่เราจะพูด ในนามของไอ้สิ่งที่เป็นจุดรวมของทุกคน คือทั้งชนกรรมาชีพและนายทุน คือเราจะพูดว่ามนุษยชาติ คือมนุษย์ทั้งหลาย ในโลกนี้ เดี๋ยวนี้ได้ก้าวหน้าในทางความคิด สติ ปัญญา ฝีไม้ลายมือในการศึกษา ค้นคว้า ปฏิบัติ จนได้วัตถุ ที่แปลก ที่เป็นความเจริญทางวัตถุ จนจะเรียกว่าสูงสุด หรือจะแข่งกับเทวดาอยู่แล้ว เรียกว่าความเจริญทางวัตถุ และหลงในวัตถุจนเป็นวัตถุนิยม ส่วนข้อที่ อ้า, คนบางพวกโดยเฉพาะชนกรรมาชีพ ยังขาดวัตถุนั้น นั่นมันเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ไม่ใช่เป็น ไม่ใช่เป็นไอ้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของคำที่กล่าวรวมๆ กันว่ามนุษย์ หรือ มนุษยชาติกำลังก้าวหน้าทางวัตถุ นั่นเป็นเพียงไอ้สภาพ หรือภาวะ อ้า, เป็นจริงอย่างหนึ่งของคนที่ทำผิดด้วยตนเอง จนไม่สามารถจะมีวัตถุ จะสร้างวัตถุ แล้วก็ไปปรับให้ว่า มีพวกหนึ่งเอาเปรียบ แล้วเอาเปรียบสำเร็จ จนคนพวกนี้ยากจน หรือขาดแคลนทางวัตถุ ถ้าจะพูดกันอย่างนี้ก็ได้ มันก็ต้องตั้งปัญหาขึ้นมาในรูปใหม่ ว่าคนพวกไหนมันขาดแคลนวัตถุ อย่างที่ได้พูดไปเมื่อตะกี้นี้ หมายความว่ามนุษยชาติเป็นส่วนรวม ได้ก้าวหน้าทางวิทยาการ จนเจริญทางวัตถุ ส่วนที่เขาไม่อาจจะเฉลี่ยให้แก่ทุกคนเสมอกันได้นั้น มันไม่ใช่หน้าที่ของเขา และไม่ใช่ความผิดของเขา เขามีหน้าที่จะคิดค้นคว้าต่อไปเรื่อย จนความก้าวหน้าทางวัตถุจะยังมีต่อไปอีกมาก ส่วนที่จนบางพวก ไม่ได้รับหรือไม่มีวัตถุพียงพอนั้น มันเป็นความผิดของเขา และอยากจะพูดว่าเพราะเขาไม่รู้เรื่องทางวัตถุอีกเหมือนกัน เขาจึงไม่สามารถสร้างวัตถุ หรือหาวัตถุขึ้นมาแม้แต่สักว่าพอกินพอใช้ เมื่อวานนี้เราก็ได้พูดกันทีหนึ่งแล้วว่า คนจนนี่ทำอบายมุขมากเหลือเกิน มากกว่าคนมั่งมีมาก ไม่มีความอดกลั้น อดทน เหมือนกับคนที่เขาตั้งตัวได้ พ้นจากความจน นี่ต้องไปพูดกันเรื่องอบายมุข แล้วก็ไปดูว่าคนจนยังบูชาอบายมุข ซึ่งเป็นข้าศึกของความเจริญทางวัตถุ ดังนั้น เขาก็ต้องได้รับผลคือ ความขาดแคลนทางวัตถุ อย่าไปมุ่งตรงไปยังคนร่ำรวย ไปโกรธ ไปเกลียด ไปอาฆาต พยาบาทเขาเลย เพราะว่าไอ้คนร่ำรวย หรือนายทุนเหล่านั้น เมื่อก่อนนี้มันก็ยากจนเหมือนกับเราเหมือนกัน มันมาจากประเทศหนึ่ง มือเปล่าๆ หรือไม้คานอันเดียว ลักษณะนี้ ก็มาเป็นนายทุน เป็นอะไรขึ้นมา ดังนั้น ถ้ามองไปยังภาวะอันนี้แล้ว ก็ต้องถือเป็นปัญหา อ้า, ของการแย่งชิงระหว่างมนุษย์ ไม่ใช่เป็นปัญหาระหว่าง อุดมคติ วัตถุนิยมหรือมโนนิยม แล้วก็ให้เห็นว่าความก้าวหน้าทางวัตถุนั้นก็ยังคงมีต่อไป รุดหน้าไปเรื่อย จนคนบางพวกไม่อาจจะมีส่วนในความสร้างสรรค์อันนี้ มันก็เป็นปัญหาปลีกย่อย ดังนั้น คำที่พูดว่า เดี๋ยวนี้โลกกำลังก้าวหน้าทางวัตถุนิยมนั้น ก็ยังถูกอยู่ ก็ยกไอ้ปัญหานี้ ให้เป็นปัญหาของชนชั้นที่เขา อ้า, ขาดความรู้ ในการสร้างตัวเอง สร้างอำนาจ สร้างกำลังทางวัตถุ เก็บไว้เป็นปัญหาหนึ่งโดยเฉพาะ สำหรับคนที่ยังล้าหลัง ไอ้ส่วนคนที่เขากำลังก้าวหน้าต่อไป ก็ก้าวหน้าต่อไป แล้วก็จะเจริญทางวัตถุ ที่อยากจะชี้อีกแง่หนึ่งก็คือว่า ไอ้ความก้าวหน้า ความเจริญ ทางวัตถุนั้นมันเร็วเกินไป ยิ่งกว่าเร็วเกินไป มันจึงทำให้เฉลี่ยกันไม่ทัน มันสูงเกินไป มันดีเกินไป มันเร็วเกินไป อย่างไปโลกพระจันทร์ได้อย่างนี้ จะเอามาเฉลี่ยให้ใคร ทุกคนได้อย่างไร เพราะความก้าวหน้านั้นมันไปไกลเกินไปและเร็วเกินไป ทีนี้ถ้าพูดถึงไอ้วัตถุชั้นพื้นฐาน คนเจริญงอกงาม มีกินมีใช้เสมอกันนี่มันก็ยังทำไม่ได้ เพราะความบกพร่องของคนจำ อ้า, จำนวนหนึ่ง และก็เป็นโอกาสให้คนจำนวนหนึ่ง สูบหรือดูดเอาไอ้ประโยชน์เหล่านั้นไปเป็นของตนเสีย เป็นคนมั่งมี กลายเป็น การทำผิดด้วยกันทั้งสองฝ่าย เพราะว่าไม่เมตตา กรุณากัน และปัญหานี้จะแก้ได้ด้วยมโนนิยมอีกนั่นเอง คือถ้าทุกคนถือหลักว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน ทั้งหมดทั้งสิ้นแล้วก็ เอาเปรียบกันไม่ลง แล้วก็ไม่โทษใคร ไม่ซัดใคร ต่างคนต่างตั้งหน้าแก้ไขปัญหาของตนเองให้ถูกต้อง ทั้งทางฝ่ายวัตถุและจิตใจ ไม่เท่าไรความยากจนก็จะหายไป ด้วยเหตุที่ว่า ไอ้ฝ่ายที่มันมั่งมี มันมีจิตใจเป็นมโนนิยม มันก็เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ช่วยเหลือ ทางฝ่ายที่ขาดแคลนนี้ก็ขยันขันแข็ง ด้วยวิชาความรู้ทางฝ่ายจิตใจ บังคับจิตได้ ไม่กระทำอบายมุขอยู่หามรุ่งหามค่ำอย่างที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านทำการงาน ดังนั้น ขอให้ไปคิดดูเถอะว่า จริงไหมที่ว่ามนุษยชาติโดยส่วนรวมนั้นนะ ในนามของมนุษยชาติโดยส่วนรวมนี้ ก้าวหน้าทางวัตถุอย่างเหมือนกับวิ่ง หรือยิ่งกว่าวิ่ง แต่มันเฉลี่ยกันไม่ทัน แล้วก็เป็นโอกาสให้พวกหนึ่งขาดแคลนอยู่ ให้พวกหนึ่งร่ำรวยเกินไป อ้าว, มีปัญหาอะไรอีก
เจ้าของปัญหา : ดิฉันยอมรับในแง่ที่ว่ามโนนิยมจะแก้ปัญหาได้ แต่เมื่อเรามาคำนึงถึงสภาพที่เป็นจริงในปัจจุบัน อยากจะเรียนถามความเห็นของท่านว่าเราจะมีวิธีการใด ซึ่งจะทำให้ได้ผลดีที่สุด เพราะวิธีการในปัจจุบัน ที่กำลังกระทำอยู่นี้ มิได้เป็นแบบการกระทำที่เรียกว่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือคะ
ท่านพุทธทาส : ไอ้สิ่งที่มันจะแก้ได้ ก็อย่างหลักเกณฑ์ที่ว่ามาแล้ว ว่าความบกพร่องทางฝ่ายวัตถุ ความผิดพลาดทางฝ่ายวัตถุ ความโง่เง่าอะไรทางฝ่ายวัตถุนี่มันต้องแก้ได้ด้วยความถูกต้องทางฝ่ายมโนนิยม เพราะเราก็สอนธรรมะ ชนิดที่ทำให้จิตใจมันดีขึ้น ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่ร่ำรวยมันดีขึ้น จิตใจมันดีขึ้น มันก็สงเคราะห์ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ฝ่ายยากจนมันก็ขยันขันแข็งขึ้น เดี๋ยวนี้ เราไม่ทำกันอย่างนั้น ไม่ทำความประนีประนอมกันอย่างนี้ ดูเหมือนจัดนิทรรศการอะไรต่างๆ เพื่อชี้ความเลวทราม ความบกพร่องของฝ่ายหนึ่งเสมอ มันก็จะเพิ่มความเกลียดชังกันมากขึ้นเท่านั้น ไม่เป็นการแก้ไขได้เลย ดังนั้น ถ้าจะจัดนิทรรศการทางธรรม เอาไอ้สิ่งที่มันมา จะมาสื่อ อ้า, เป็นสื่อประสานให้เกิดความเมตตากรุณารักใคร่กันเร็วๆ นี่ จะดีกว่า ดีกว่า ต่างฝ่ายต่างจัดนิทรรศการเพื่อมุ่งประจานกัน ทำลายล้างกัน อะไรกัน เหมือนอย่างที่กำลังเห่อ กำลังตื่นกันอยู่ในเวลานี้ นั่นจึงขอสรุปสั้นๆ ที่ว่า ถ้าจะแก้ไขปัญหานี้ ก็ให้รีบจัดนิทรรศการชนิดที่ให้คนเข้าใจ ธรรมนิยม มโนนิยม จิตนิยม ในส่วนที่มันจะช่วยมนุษย์ได้นี่ให้มากขึ้น จะแก้ปัญหาทางวัตถุได้ มีอะไรก็ว่าไป แม้จะซักในข้อนี้อีกก็ได้ ในแง่ไหน มุมไหน
เจ้าของปัญหา : ยัง ยังติดใจอยู่กับตัวอย่างเจ๊กเมื่อวานนี้ ในนิทาน ที่ท่านบอกว่า ก็เริ่มจากการที่ไม่มีอะไรเลย แล้วมีความเป็นอยู่แบบกินข้าวกับใบมะขามต้มเกลือ แล้วจุดมุ่งหมายของเขาในบั้นปลายคือความร่ำรวย การดำเนินชีวิตแบบนั้นในขั้นแรก จะไม่เป็นวิธีการที่ตึงเกินไป และจุดมุ่งหมายซึ่งเป็นความร่ำรวยจะไม่เป็นไปในแง่วัตถุนิยมหรือคะ
ท่านพุทธทาส : อ้าว, เดี๋ยวนี้ก็เรากำลังพูดกันในซีก หรือภาคของวัตถุนิยม จะแก้ปัญหาทางวัตถุ คนที่ขาดแคลนทางวัตถุ กำลังมีปัญหาทางวัตถุ ขอให้เป็นคนมีธรรมะ ซึ่งจะต้องเรียกว่าธรรมนิยม มโนนิยม คือ จีนคนนี้มีสติปัญญา จีนคนนี้มีสัมมาทิฎฐิ มีความเห็นถูกว่าต้องทำอย่างนี้ และจีนคนนี้มีสัจจะคือความจริงใจ ต้องเอาให้ได้ และมีขันตี ความอดกลั้น อดทนเหลือประมาณที่ต้องกินข้าวกับมะขามต้มเกลืออยู่เป็นปีๆ แกยังมีธรรมะอย่างอื่นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอ้ธรรมะหลัก คือสัจจะ ทมะ ขันตี จาคะนี่ เขามีบริบูรณ์ เรียกว่าเขาแก้ปัญหาของเขาได้ แม้ที่เป็นปัญหาทางฝ่ายวัตถุนั้น ด้วยอาศัยพระธรรม หรือ ธรรมนิยม ดังนั้น เราจะมองดูให้ลึก ไม่ใช่เข้าข้าง คนๆ นี้ ก็จะเห็นว่าเขามี ไอ้ธรรมนิยม มโนนิยมอยู่โดยไม่รู้สึกตัว แล้วเขาก็ได้ใช้แก้ปัญหาทางวัตถุของเขาได้จริง ทีนี้เมื่อเขารอดตัว คือมีเงิน มีทรัพย์สมบัติ ซึ่งมันเป็นผลทางวัตถุ ก็ถูกแล้ว ทีนี้เขาจะทำอะไรต่อไปในทางจิตใจ ก็ได้ เดี๋ยวนี้ใครก็ยอม ยอมรับว่าปัญหาเฉพาะหน้า คือความขาดแคลนทางวัตถุ แก้ปัญหานี้เสียทีก่อน ให้มันมีทรัพย์สมบัติ พอกิน พอใช้ แล้วก็ทำความเจริญก้าวหน้าต่อไป จริงนะ เขาขาดแคลนทางวัตถุ และเขามุ่งหมายผลทางวัตถุ แต่เขาแก้ปัญหาของเขาได้โดยอาศัยหลักทางมโนนิยม เช่นมีจิตใจเข้มแข็ง เป็นต้น แล้วก็ไม่แยกออกจากกันในระหว่างสิ่งทั้งสองนี้ มีอะไรอีก
เจ้าของปัญหา : ดิฉันมีความเห็นว่าพวกที่ พวกที่นิยมวัตถุนะคะ ก็ยังมี ก็ยังมีมโนนิยมอยู่บ้าง และการที่เขาคิดจะแก้ไขปัญหาสังคมโดยทางแบ่งปันวัตถุให้ทุกคนนี่ ดิฉันก็คิดว่ามันไม่เป็นการที่เราจะเป็นการเสริมสร้าง ทำให้โลกนี้ขาดแคลนวัตถุยิ่งขึ้น เพราะในขณะที่คนบางคนมีวัตถุมาก อีกคนบางคนมีวัตถุน้อยนะคะ ดิฉันคิดว่าการแก้ปัญหาโดยทางวัตถุนิยม จะมีผลมากกว่าทางมโนนิยม และความคิดเห็นของดิฉันคิดว่า จากที่ เท่าที่ผ่านมานะคะ ทางมโนนิยมไม่เคยปรากฏผลให้เห็นว่าประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา คนจึงหันมาใช้วัตถุในการแก้ปัญหาที่คนหลงวัตถุกันมาก
ท่านพุทธทาส : อ้าว, ฟังถูกแล้วคำถามนี้ ก็รู้สึกว่าเป็นการมองด้านเดียว หรือชั้นเดียวมากเกินไป เช่นว่า มโนนิยมไม่สามารถจะแก้ปัญหา อ้า, ของโลก อย่างนี้ก็ผิดแล้ว เพราะมูลนิธิต่างๆ ซึ่งสงเคราะห์นี่ สงเคราะห์นั่น สงเคราะห์นี่ นี่ก็ต้องรู้ว่ามันมีมูลมาจากจิตใจที่ประกอบไปด้วยมโนธรรม หรือนิยมส่วนมโนนิยม ดังนั้น มูลนิธิการกุศลต่างๆ จึงเกิดขึ้น เพื่อช่วยเหลือเฉพาะหน้าไปทีก่อนในหมู่คนผู้ขาดแคลนทางวัตถุ มูลนิธิอะไรก็อย่าออกชื่อเลย มันมีมากเหลือเกิน แล้วไอ้ข้อที่ว่า ไอ้การประพฤติกระทำในทางวัตถุนั้น มันก็ต้องเจืออยู่ด้วยความรู้ สติ ปัญญา ทางมโนนิยมอยู่เสมอ นี้เป็นสิ่งที่แน่นอน ไม่ ไม่สามารถจะแยกให้เด็ดขาด จากกันได้ในความเป็นจริง หรือความเป็นอยู่จริงๆ ของคนเรา แต่ที่เราไปเรียกเขาว่าเป็นพวกวัตถุนิยมนั้น ก็เพราะว่าเขายกเอาวัตถุเป็นหลัก เป็นจุดเด่นแต่อย่างเดียว พวกนี้ก็ถูกจัดให้เป็นฝ่ายวัตถุนิยม แต่เขาก็มีส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของฝ่ายมโนนิยม ไม่มากก็น้อยอยู่แล้วโดยไม่รู้สึกตัว นี่ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ไม่มีใครสามารถจะเป็นอยู่ได้ โดยวัตถุอย่างเดียว หรือโดยจิตใจอย่างเดียว เพราะสองสิ่งนี้มันต้องแฝดกันอยู่เรื่อยไป อ้าว, มีอะไรอีก
เจ้าของปัญหา : อาจารย์คะ การสร้างนี่จะต้องมีการทำลายเสมอไปไหมคะ
ท่านพุทธทาส : นี่เป็น อ้า, คำพูด เป็นปัญหาทางคำพูด เรียกว่าเป็นปัญหาของวิชาอีกแขนงหนึ่งนะ เป็นเรื่องคำพูด เป็นนิรุกติ แน่นอน ที่ว่า ไอ้การกระทำที่สำเร็จไปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผลดีเกิดขึ้นมา ก็มีความหมายเป็นสองอย่าง รวมอยู่ในนั้น รวมอยู่ในความสำเร็จอันนั้น เช่นว่าเราจะมั่งมีอย่างนี้ เราก็ต้องทำลายความยากจน แล้วก็ต้องสร้างความมั่งมี เป็น positive เอ้อ, เป็น negative ซึ่งแฝดกันอยู่ สองอย่างเสมอไป อย่างเราจะหายจากโรคนี่ ส่วนหนึ่งมันเป็นการทำลายโรค ส่วนหนึ่งมันเป็นการสร้างไอ้ความหายจากโรค ดังนั้น อย่าไปแยกออก จนเป็นของที่เด็ดขาด อ้า, จากกันได้ จะทำให้เกิดปัญหาใหม่ ลำบากมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น ถ้าเราทำให้ถูกต้องตามวิถีทางของธรรมชาติ ของกฎของธรรมชาติ มันก็ย่อมจะเป็นการกำจัดฝ่ายหนึ่งออกไป แล้วให้โอกาสแก่ฝ่ายหนึ่งเกิดขึ้น แล้วก็ประสบความสำเร็จในสิ่งที่เราต้องการ นี้เป็นปัญหาทางคำพูด ทีนี้มโนนิยมกับวัตถุนิยม ถ้ามันตั้งอยู่ในฐานะเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน มันก็จะเป็นประโยชน์แก่กันและกัน คืออันหนึ่งจะขจัดส่วนที่ควรขจัด อันหนึ่งจะสร้างส่วนที่ควรสร้าง มันผลัดกันได้ ทั้งไอ้ ทั้ง ทั้งคู่นี้มันจะผลัดกันได้คนละที ทำงาน อ้า, ร่วมกันไป ขจัดไอ้ส่วนที่ควรขจัด สร้าง ส่วนที่ควรสร้าง คือส่วนไหนมันเกิน มันเป็นอันตรายก็ขจัดลงไป ส่วนไหนมันยังขาดอยู่ก็ต้องสร้างขึ้นมา ดังนั้น เราไม่เป็นทาสของวัตถุนิยม และเราไม่เป็นทาสของมโนนิยมชนิดที่แยกกันเด็ดขาด เพราะพุทธศาสนาไม่เป็นอย่างนั้น พุทธศาสนาเป็นความพอดีระหว่างสิ่งทั้งสอง ดังนั้น จึงมีทั้งส่วนที่ควรสร้างและส่วนที่ควรทำลาย เขาเรียกว่าส่วนที่ควรละ ก็ละไป ส่วนที่ควรเจริญ ทำให้มีขึ้น ก็ทำให้มันเจริญ ทำให้มันมีขึ้น ก็แก้ปัญหาได้ อ้าว, ใครมีอะไรอีก
เจ้าของปัญหา : หนูถามอีกข้อหนึ่งนะ คือว่ามีคำพูดที่ว่า วัตถุนี้สามารถกำหนดจิตใจของบุคคลได้ ซึ่งจิตใจของบุคคลที่ยังไม่รู้จักบังคับนะคะ และคนส่วนใหญ่จะบังคับจิตใจตนเองได้ยากนะคะ เพราะฉะนั้น การที่เราจะทำวัตถุให้น้อยลง โดยเรา เราเพ่งไปที่วัตถุก่อน โดยมีการอบรมทางจิตใจบ้าง แต่เราจะจำกัดวัตถุก่อน ก็ไม่เป็นความคิดที่ผิดใช่ไหมคะ
ท่านพุทธทาส : นั้นเป็นคำพูดที่ยังไม่ ไม่ถูกกับ logic อยู่ในคำพูดนั้น เราจะกำจัดความผิดพลาดทางจิตใจด้วยความถูกต้องทางวัตถุ เพราะมันรู้ได้ง่ายกว่า แตะต้องได้ง่ายกว่า อย่างนี้มันก็ยังไม่ถูก นั่นมันเป็นคำพูดตามหลักของฝ่ายที่นิยมวัตถุ ฝ่าย Directic Materialism ไม่ว่าอะไรๆ มันขึ้นอยู่กับวัตถุ ดังนั้น ไปจัดวัตถุให้ถูกต้อง ทุกอย่างรวมทั้งจิตด้วยจะถูกต้อง แต่ทางฝ่ายพุทธบริษัทนี่ไม่ถือว่าจิตขึ้นอยู่กับวัตถุ แต่ถือว่าวัตถุขึ้นอยู่กับจิต คือต้องมีทั้งสอง สองอย่างพร้อมกันแหละ แต่ว่าอย่างหนึ่งมันตามหลัง เราถือว่าจิตนี่เป็นนายนำหน้าวัตถุ วัตถุตามหลังจิต ถ้าปัญหาเกิดขึ้นมันก็ต้อง เพ่งเล็งไปยังจิต หรือแก้ไขส่วนที่เป็นจิตนั่นนะ ให้เกิดความถูกต้องขึ้นมา แล้วก็มาจัดการกับทางฝ่ายวัตถุให้ถูกต้องตามไป พุทธบริษัทมีหลักอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เราจึงไปกันไม่ได้กับพวก Directic Materialism สมัยใหม่ คุณจะชอบอย่างไหนก็ไปเลือกเอา อ้าว, มีอะไรอีกก็ว่ามา
เจ้าของปัญหา : หนูอยากจะเน้นว่า มัน ถ้าความจริงในสังคมเป็นแบบนี้แล้ว เราทำอย่างนี้จะเกิดประโยชน์มากกว่า การที่เราจะทำให้จิตใจของคนมาเท่ากัน เกือบเท่าๆ กันในเวลาเดียวกัน เป็นสิ่งที่ยากมาก
ท่านพุทธทาส : แต่การที่เราจะทำให้ทุกคนมีทรัพย์สมบัติเท่ากันก็ยากกว่าเสียอีก จะทำให้มีความรู้ ความเข้าใจ ถูกต้องตรงกันนี้อย่างหนึ่ง กับที่ทำให้คนทุกคนมีทรัพย์สมบัติเท่ากันนี้อันไหนยากกว่า หรือง่ายกว่า คุณลองคิดดู แล้วเรากำลังทำส่วนไหน หรือไม่ทำส่วนไหน หรือกำลังเข้าใจผิด จะไปทำในส่วนที่ไม่ควรทำหรือทำไม่ได้ นี่เป็นข้อที่ต้องคิด เราจะแจกวัตถุเพื่อแก้ปัญหาว่าขาดแคลนทางวัตถุนี้ มันจะยิ่งทำให้คนยิ่ง ยิ่งอ่อนแอ ยิ่งเหลวไหลลงไปอีก คงจะทำไม่ได้ มันจะต้องช่วยแก้ไขให้จิตใจเขาถูกต้องขึ้น แล้วเขาจะช่วยตัวเอง อย่างนี้มากกว่า ตนเป็นที่พึ่งแก่ตนนะ มีความหมายอย่างนี้ เรา เราให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เขา ให้เขาสามารถช่วยตัวเอง หรือแม้จะช่วยลงทุนให้บ้างก็ได้ ลงทุนทางวัตถุให้บ้างก็ได้ แต่มันจะสำเร็จอยู่ที่เขามีความรู้ ความเข้าใจถูกต้องในการแก้ไขปัญหาของเขาเอง
เจ้าของปัญหา : ท่านอาจารย์คะ คือ คือหนูอยากจะบอกว่า วัตถุ คนที่ คนที่อาจารย์เรียกว่า เขาวัตถุนิยม คือการที่เขา เขา เอาให้ชัดลงไปว่า สังคมนิยมนี่ คือการที่เขาจะทำอย่างนั้น เขาคิดจะจัดสรรวัตถุนี่ เขาต้องมีมโนนิยมอยู่ก่อนแล้ว คือเขามีความคิดที่จะให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ที่จะให้ทุกคนลดความเห็นแก่ตัวลง เพราะฉะนั้นเรา เราไม่ควรจะไปประนามว่า พวกนี้เป็นพวกวัตถุนิยม ที่แก้ไขปัญหาไม่ถูกทาง เพราะว่า เขา เขาก็มีมโนนิยม เขาจึงได้คิดที่จะจัดสรรให้ทุกคนเท่ากันทางวัตถุ
ท่านพุทธทาส : อ้าว, นี่มันเป็นอีกปัญหาหนึ่งแล้ว ตัวเราไม่ได้ไปประนามใคร อ้า, แต่เราพูดว่า มันไปไม่รอดในเมื่อเราจะเอาโดยส่วนเดียว วัตถุนิยมก็ดี มโนนิยมก็ดี ทีนี้ถ้าไปเอ่ยถึงสังคมนิยมขึ้นมาอีก มันก็เป็นการขยาย อ้า, ปัญหาให้กว้างออกไป สังคมที่กำลังผิดอยู่ หรือสังคมที่ถูกอยู่ หรือว่าภาวะสังคมในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร ถ้าว่าภาวะสังคมในปัจจุบันมันยังมีปัญหาด่วนในทางวัตถุ มันก็ถูกแล้วที่จะต้องแก้ทางวัตถุ แต่เราไม่สามารถจะแก้ปัญหาทางวัตถุโดยลำพังให้วัตถุหรือแจกวัตถุ หรือจัดทางวัตถุล้วนๆ เราจะต้องให้ความรู้ ความสามารถในฝ่ายนาม ฝ่ายจิต หรือฝ่ายมโนนิยมให้เพียงพอ แล้วเขาก็จะรู้จักรักใคร่กัน ที่จริงไอ้สังคมนิยมนี้ ถ้าเป็นไปถูกต้องแล้ว มันเป็นเรื่องของมโนนิยม ไม่ใช่วัตถุนิยม การที่คนจะเห็นแก่สังคมนั้น ต้องมีใจสูงพอที่จะไม่เห็นแก่วัตถุ ดังนั้น เขาจึงเสียสละวัตถุได้ ถ้าสังคมก็คือทุกคน ถ้าเห็นแก่ทุกคน ก็หมายความว่ายอมรับว่าทุกคนเป็นคนเดียวกัน หรือที่ทาง ทางวัดนี่ ทางศาสนานี่ เขาพูดว่าเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกัน ก็เลยไม่ อ้า, ไม่ใจไม้ ไส้ระกำต่อกัน นั่นมัน มัน เป็นเรื่องของมโนนิยม มันมาก่อนแล้ว มันจึงเกิดการเห็นอก เห็นใจกัน แล้วก็ช่วยเหลือกัน มันก็ทำให้เกิดความพอดี คือไม่มีใครที่จะไปมัวรวย ไม่รู้จะรวยไปจนถึงไหน แล้วก็ไม่มีใครถูกละทิ้ง อ้า, ทอดทิ้ง หรือว่าเหลวไหลจนยากจน จนไม่รู้จะจนไปถึงไหน ขอให้ความถูกต้องของสังคมนิยมเข้ามาเถอะ มันก็เป็นธรรมนิยม เป็นมโนนิยม โดยอาศัยหลักว่าใจนำหน้าวัตถุอยู่เสมอ มันถูกแล้วละ ที่จะช่วยกันทางวัตถุ แต่อะไรเป็นเหตุให้ช่วย ก็คือความนิยมในฝ่ายนามธรรม ในฝ่ายจิตใจคือเมตตา กรุณา อ้าว, มีอะไรอีก
เจ้าของปัญหา : ถ้าอย่างนั้น หนูอยากจะขอแก้ตัวว่า ที่พวกเราจัดนิทรรศการกัน หรือว่าอะไรพวกนี้ ก็เพราะว่าเรามีจุดมุ่งหมายอันนี้
ท่านพุทธทาส : ก็ดีสิ มีจุดมุ่งหมายอันนี้ ก็ดี จะมีปัญหาอะไร คือจะแก้ไขความผิดพลาดทางวัตถุ โดยการเพิ่มความรู้ ความเข้าใจถูกต้องในฝ่ายจิตใจให้แก่เขา มันก็ถูกแล้ว มันต้องเป็นอย่างนั้น
เจ้าของปัญหา : ก็ หมายความว่า ตอนนี้เรายังไม่ให้ ไม่ได้ให้ความรู้ทางจิตใจก็จริง นิทรรศการที่เราจัดขึ้น เรามุ่งหมายทางด้านวัตถุ เราพยายามจะบอกเขาถึงสภาพ คือบอกให้เขาถึงสภาพที่เป็นจริง บอกเขา บอกให้นายทุนเขาเลิกที่จะขูดรีด หรืออะไรอย่างนี้ หนูก็ไม่คิดว่ามันจะผิดนี่คะ เพราะว่า นั่นคือ เราพยายามให้เกิดความเป็นธรรมทางวัตถุ เมื่อความเป็นธรรมทางวัตถุเกิดขึ้นแล้ว เราจึงใช้มโนนิยม
ท่านพุทธทาส : กลัวว่า อ้า, ความเขลาของเรา จะมีอยู่โดยไม่รู้สึกตัว มันเหมือนจะไปแย่งอ้อยจากปากช้าง หลับตาเห็นภาพบ้างไหม จะดึงอ้อยที่มันคาบอยู่ในปากช้างออกมานะ คือเราจะไปเปลี่ยนนายทุน ให้มาช่วยคนจน มันต้องมีวิธีที่ ที่ดี ที่ดีกว่าหักด้ามพร้าด้วยหัวเข่า หรือแย่งอ้อยจากปากช้าง มันไม่มีทางจะเป็นไปได้ หรือต้อง ทำความเข้าใจถูกต้องลงไปในสังคมก็แล้วกัน ระหว่างคนจนกับนายทุนนี้ ให้มีมโนนิยมขึ้นมา และถ้า ถ้าช้างมันยินดีที่จะคายอ้อย มันก็ได้สิ แต่ถ้ามันไม่ยินดีจะคาย มันจะไปดึงออกมาอย่างไรได้ มันจะเป็นอันตรายกับตัวเองเสียมากกว่า เดี๋ยวนี้ กลัวว่า มันจะเป็นไปในทางที่ว่า เราจะไปประจานนายทุนมากกว่ากระมัง ไม่ใช่ไปประนีประนอม เราไปทำให้ไอ้ชนกรรมาชีพเกลียดนายทุนยิ่งขึ้น อย่างนี้มันไม่มีทางสำเร็จ มันไปสร้างให้เกิดความเกลียดชังกันขึ้นมา ไม่ใช่วิถีทางของพุทธบริษัทเลย ถ้าวิถีทางของพุทธบริษัท ข้อแรกต้องมาก่อนนั้นคือความไม่เบียดเบียนกัน ข้อนี้ต้องมาก่อน แล้วจึงให้เป็นไปตามหลักอันนั้นได้ ต้องยึดเอาความไม่เบียดเบียนกันขึ้นมาเป็นเบื้องหน้าก่อน จึงจะเกิดการประนีประนอม การปรองดอง การทำความเข้าใจที่ถูกต้อง จนไม่มีวิญญาณแห่งนายทุน หรือวิญญาณแห่งชนกรรมาชีพ มีแต่วิญญาณแห่งมนุษย์ที่ประกอบไปด้วยความรู้สึกอย่างมนุษย์ แล้วทุกอย่างมันก็จะค่อยเป็นไปเอง ในการที่ว่า ทางโน้นจะลดลงมา ทางนี้จะยกขึ้นไป ให้อาศัยความรู้ทางธรรมะนี่ ให้คนจนยกตัวขึ้นไปได้ เอาตัวรอดจากอบายมุขได้ แล้วคนมั่งมีก็ประกอบอยู่ด้วยความเมตตา กรุณา พร้อมที่จะช่วยลากคนจนขึ้นไปจากความตกต่ำ ก็แก้ปัญหาได้ แต่วิธีการอย่างนี้ไม่ใช่มโน อ้า,ไม่ใช่วัตถุนิยม ถ้าไปหลงวัตถุแล้วเขาจะไม่ทำอย่างนี้ ทั้งสองฝ่ายจะตั้งป้อมต่อสู้กันอย่างไม่มีทางจะมองหน้ากันได้ ดังนั้น ต้องมีมโนนิยมเข้ามา ไม่ ไม่ ไม่สร้างความรู้สึกที่เป็นศัตรู ทีนี้โลกกำลังสร้าง และเพิ่มความรู้สึกที่เป็นศัตรู ดังนั้นไม่มีหวังว่าจะจัดโลกให้มีสันติภาพได้ โดยเฉพาะโลกกำลังอยู่ในกำมือของพวกวัตถุนิยม มากเกินไป อ้าว, มีอะไรว่ามา อ้าว, ใครมีอะไรมา ว่าเร็วๆ เดี๋ยวจะ ฝนจะตก
เจ้าของปัญหา : ซึ่งท่านอาจารย์บอกว่า การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาคือควรจะมีทั้งวัตถุนิยมและมโนนิยมควบคู่กันไป ในสภาพที่เป็นจริง ในปัจจุบัน การที่เราจะให้มีทางด้านวัตถุนิยมให้พอดี คิดว่ามันเป็นไปได้ง่าย ถ้าหากเราจะครองเพศ ครองเพศนักบวช แต่ถ้า ในฐานะที่เป็นฆราวาส และ คือเป็นไปได้ยากที่เราจะให้มีความพอดีในทางด้านวัตถุ แต่ในกรณีที่เราจะแก้ปัญหาโดยใช้วัตถุเป็นเครื่องแก้ และเรามีความสามารถที่จะให้ได้มาซึ่งวัตถุนั้น จะเป็นการผิดหลักธรรมะหรือไม่คะ
ท่านพุทธทาส : เราจะต้องใช้คำพูดที่ถูกต้อง ถึงจะเป็น อ้า, คือว่า ทางหลักธรรมในพุทธศาสนานี้ไม่เป็นวัตถุนิยม ไม่เป็นมโนนิยมแต่เป็นอยู่ในระหว่างกลาง คือความถูกต้อง อ้า, ของการกระทำที่ไม่เกี่ยวกันระหว่างวัตถุกับจิตใจ ดังนั้น จะว่าวัตถุนิยมก็ไม่ได้ มโนนิยมก็ไม่ได้ คือมันนิยมไอ้ตรงกลาง มัชฌิมาปฏิปทา ดังนั้น อย่าใช้ไอ้คำว่า วัตถุนิยม หรือ มโนนิยมล้วนๆ แก่พุทธบริษัทเลย เราต้องการความถูกต้องระหว่างสิ่งทั้งสอง เพราะฉะนั้น เราไม่นิยมวัตถุ ไม่นิยมมโน แต่นิยมตรงกลาง คือความถูกต้องระหว่างวัตถุกับจิต ก็เป็นความรู้ที่ถูกต้องของธรรมชาติว่าอะไร ควรจะทำอย่างไร ควรจะพิจารณาดูกันถึงข้อที่ว่าไอ้ร่างกายกับจิตนี้ แยกกันไม่ได้ ดังนั้น ต้องมีความถูกต้องระหว่างสิ่งทั้งสองนี้ ทีนี้ถ้าว่าเกี่ยวกับเพศ บรรพชิต หรือว่าเพศฆราวาส นี่ มันก็ไม่เป็นอุปสรรคอะไร ที่จะถือหลักเกณฑ์คือความถูกต้องระหว่างสิ่งทั้งสองนี้ เขามีกันคนละระดับจริง แต่ว่าเจตนารมณ์ ไอ้ ไอ้ ไอ้หัวใจของเรื่องนั้นนะ เหมือนกันเลย คือความเป็นกลาง อันเป็นความถูกต้อง ระหว่างการสัมพันธ์กัน ระหว่างวัตถุกับจิต ทีนี้ ปัญหายังจะมีต่อไปอีกว่า แม้ฆราวาสด้วยกัน ยังมีฆราวาสเด็กๆ ฆราวาสรุ่นหนุ่มรุ่นสาว ฆราวาสผู้ใหญ่ แก่เฒ่า นี่มันก็ยังไม่เหมือนกันทีเดียว มันมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ก็ไปปรับเอาเองได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ทิ้งหลักว่า ต้องเป็นความถูกต้องพอดี ของการสัมพันธ์กัน ระหว่างสิ่งทั้งสองนี้ นี่ให้ ให้ไว้ได้แต่เพียงเป็นหลักการ ส่วนรายละเอียด หรือวัตถุที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องนั้นต้องไปดูเอาเอง ต้องไปแยกเอาเอง ต้องไปจัดเอาเอง ดังนั้น จึงยังคงยืนยันว่า หลักการอันนี้ยังถูกต้องอยู่เสมอ ทั้งในระหว่างบรรพชิตและฆราวาส แม้ในฆราวาสทุกระดับ ทุกชั้น ทุกวัย ก็ต้องถือหลักอันนี้ นี่หลักธรรมะที่จะช่วยมนุษย์ให้มันพ้นจากความทุกข์มันเป็นอย่างนี้ แต่ถึงอย่างไรก็ดี อ้า, ฝ่ายพุทธบริษัทนี้ยัง ยัง ยืนยันอยู่ว่าต้องหยิบเรื่องทางจิตขึ้นมาพิจารณาก่อน ในฐานะเป็นเรื่องนำหน้า อ้า, ฝ่ายวัตถุเสมอไป ดังนั้น พุทธบริษัทก็จะตั้งหน้าตั้งตา อบรมสั่งสอนเด็กๆ ลูกหลาน ตามวัฒนธรรมของพุทธบริษัท คือนิยมเรื่องทางจิตนี้เป็นหลัก ถ้ามีความถูกต้องทางจิตแล้ว ก็เรียกว่า ความถูกต้องทางวัตถุมันตามมาเอง โดยที่ถือไอ้จิตเป็นส่วนสำคัญ ก็จึงหนักกันไปในทางอบรมจิต ถ้าไม่เข้าใจก็อย่าเพิ่งติเตียนปู่ ย่า ตา ยาย หรือวัฒนธรรมเก่าแก่ของพุทธบริษัท เดี๋ยวนี้ อ้า, เกิดมาแทบจะไม่รู้เรื่องทางนามธรรม หรือทางจิต หรือทางศาสนา ก็พอพูดได้อ้อแอ้ออกมาก็ ถูกป้อนให้แต่เรื่องวัฒนธรรมทางวัตถุ ความก้าวหน้าทางวัตถุ ความดีเด่นทางวัตถุ อะไรวัตถุไปหมด มันก็เกิดโรคเรื้อรังขึ้นมาชนิดหนึ่ง ในจิตใจของไอ้คนยุคนี้ ซึ่งทำให้ยากที่จะไปมองเห็น หรือเข้าใจในเรื่องทาง นามธรรม ทางมโน หรือทางพระธรรม พระศาสนา อย่าลืมว่าพระศาสนาเป็นเรื่องมีไว้สำหรับแก้ปัญหาทางวัตถุ ทั้งๆ ที่พระศาสนานั้นไม่นิยมวัตถุ อ้าว, มีอะไร ว่าไป
เจ้าของปัญหา : ตอนนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอนิมนต์ท่านอาจารย์
ท่านพุทธทาส : อ้าว, เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งไป ถ้าอย่างนั้น จะถามว่า ตัวเธอเองเห็นว่า อ้า, จิตสำคัญกว่าวัตถุ หรือวัตถุสำคัญกว่าจิต ตอบแทนในนามทุกคนก็ได้
เจ้าของปัญหา : ในส่วนตัวคิดว่า การจะทำอะไร ควรจะพิจารณาที่จิตเป็นสำคัญ ถ้าจิตเร่าร้อน กระวนกระวาย และไม่ คือไม่เป็นธรรมชาติแล้ว เราก็ไม่ควรที่จะกระทำ
ท่านพุทธทาส : ถ้าจิตผิดปกติแล้ว ทำอะไรไม่ได้ใช่ไหมนี่ ทีนี้จะพูดถึงค่า ระบบจิตมีค่ามากกว่าระบบวัตถุหรือเปล่า หรือว่าจิตมีค่ากว่าร่างกายหรือเปล่า หรือว่าเท่ากัน หรือว่าตรงกันข้าม
เจ้าของปัญหา : ในความเห็นส่วนตัวคิดว่ามีค่ามากกว่าร่างกาย
ท่านพุทธทาส : เอาว่าจิตมีค่ามากกว่าร่างกาย เอาตามความรู้สึก สามัญสำนึก หรือที่เห็นๆ กันอยู่ก็ได้ ร่างกายที่ยังเป็นๆ อยู่นี้ อ้า, มันก็ดูยาก แต่ว่าร่างกายที่ตายแล้ว ปราศจากจิตแล้ว มันมีค่า กี่มากน้อย เพราะอะไรออกไปเสีย ไอ้ซากศพนั้นจึงไม่มีค่า นี่ก็เพราะว่าจิตนะ มันมีค่า ที่ทำให้ไอ้กลุ่มร่างกายทั้งกลุ่มนี้มันมีค่า ทีนี้ยังเป็นๆ อยู่นี่นะ ถ้าจิตที่อบรมดี กับจิตที่อบรมไม่ดี ร่างกายไหนมันจะมีค่า ร่างกายไหนมันจะเป็นปัญหา ร่างกายไหนมันจะไม่เป็นปัญหา นี่ ขอให้ดูอย่างนี้ไปตามสามัญสำนึกโดยไม่ต้องเชื่อใคร พุทธศาสนาต้องการให้เชื่อตัวเอง แต่ก็ต้องด้วยความบริสุทธิ์ใจ แล้วก็ต้อง เมื่อมันมีสติสัมปชัญญะ อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ใช่กิเลสมาครอบงำ เราจะรู้จักเลือก หรือจะรู้จักแยกว่า เราควรจะยึดถือหลักอันไหน ถ้าเราเห็นว่าจิตสำคัญกว่า เราก็จะต้องมุ่งอบรมจิต ฝึกฝนจิต ที่เรียกว่าพัฒนาจิต ให้มันถึงขนาดมาตรฐาน ส่วนร่างกายนั้น มันเป็นสิ่งที่อยู่ใต้อำนาจจิต ก็ให้จิตมันลากไปเอง พูดง่ายๆ เราชอบอะไรเราก็ทำนั้นแหละ เราก็ดึงมือดึงตีนไปให้ทำอันนั้นแหละ ถ้าเราชอบอะไร นี่คือร่างกายมันอยู่ใต้อำนาจของจิต ดังนั้น ต่อไปนี้ ก็อยากจะขอร้องว่าให้สนใจเรื่องจิต หรือมโน หรือว่านามธรรมนี้ให้มากขึ้นอีก เดี๋ยวนี้เรารู้จักเรื่องทางวัตถุนี้ มันมากเกินไป ดังนั้นไปจัดนิทรรศการ หรือสัมมนา หรืออภิปรายอะไรเพิ่มขึ้นในทางที่จะให้ อ้า, รู้จักจิตนี่มากขึ้น แม้ว่าเราจะใช้คำว่าวัตถุนิยม มโนนิยม ก็เพียงแต่เพื่อให้รู้จักสิ่งทั้งสองนี้เท่านั้น และเราก็จะไม่เป็นทาสของสิ่งทั้งสองนี้ แต่เราจะรู้จักความพอดี ที่ตรงกลางของสิ่งทั้งสองนี้ นั่นก็คือ รู้จักใช้สิ่งทั้งสองนี้ให้เป็นประโยชน์ที่สุด คำพูดทั้งหมดนี้ ถ้ารู้จักแยกแยะออกไปแล้วก็จะเข้าใจคำว่ามโนนิยมได้ดี เท่ากับที่เข้าใจวัตถุนิยมที่พูดมาแล้วเมื่อวานนี้ นี่เหนื่อยแล้วก็ปิดประชุมเสียที