แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นราชภัฏผู้ลาบวชทั้งหลาย การบรรยายในวันนี้ ผมจะกล่าวในหัวข้อสั้นๆ ว่า ปรทัตตูปชีวี เป็นการทำความเข้าใจให้กว้างขวางออกไปเกี่ยวกับหัวข้อหลายๆ หัวข้อ ที่ได้กล่าวมาแล้วเมื่อวาน ซึ่งเป็นการกล่าวแต่โดยย่อเท่านั้น ผมเห็นว่าถ้าเข้าใจความหมายของคำเหล่านี้ ก็จะช่วยให้มีประโยชน์หลายทาง อย่างแรกก็คือให้มันประพฤติได้ดียิ่งขึ้น แปลว่ายังมีทางที่จะเป็นประโยชน์อย่างอื่น เช่น รู้ธรรมะ กว้างขวางออกไป รู้คำพูด คำที่สำคัญๆ กว้างขวางออกไป การพูดนี้ก็ปรารภการมาบวชของท่านทั้งหลายที่เป็นราชภัฏ นั้นจึงเลือกข้อความที่จะเป็นประโยชน์มากที่สุด เท่าที่จะเห็น เท่าที่จะเลือกได้ ในขอบเขตอันนี้ คือจะพูดจนว่าจะนำเอาความหมายของคำว่า ปรทัตตูปชีวี นี้ไปใช้ได้อย่างไร แล้วท่านเห็นว่ามันจำเป็นหรือไม่ เดี๋ยวนี้เราจะพูดกันโดยละเอียด โดยเฉพาะหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งนั้น มันก็ต้องดูกันหลายแง่หลายมุมให้มันละเอียดจริงๆ สิ่งแรกที่เขานิยมดูกันก็คือ ดูถ้อยคำนั้นๆ และความหมายของถ้อยคำนั้นๆ และจะเอาความหมายนั้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร เรียกตาม วิธีเรียกในภาษาบาลี เขาเรียกว่า โดยพยัญชนะ คือโดยตัวหนังสือของมัน โดยอัฏฐะ คือดูความหมายของมัน และดูอีกทีคือดูโดยประยุกต์ คือข้อที่จะเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร ขอให้จำไว้สำหรับใช้ในการศึกษาหรือว่าจะเอาไปดูความหมายของคำใดก็ตามที่เราจะศึกษาในทางธรรมะ หรือแม้แต่เรื่องทั่วไปที่ไม่ใช่เกี่ยวกับธรรมะ ถ้าจะศึกษาเรื่องใด โดยหัวข้อว่าอย่างไร นั้นก็จะต้องหาทางเข้าใจ สามประการนี้ จะเป็นเครื่องรับประกันว่ามันเพียงพอ ดูโดยพยัญชนะ ว่าตัวหนังสือมันว่าอย่างไร ดูโดยอัฏฐะ ว่าความหมายของมันเป็นอย่างไร ดูโดยประยุกต์ ว่าจะเอาไปใช้ได้อย่างไร จริงๆ ทีนี้ก็จะต้องทราบว่าคำพูดคำเดียว คำเดียว มันจะมีความหมายเป็นสองชั้น เรียกว่าสองความหมายก็ได้ เรียกว่าความหมายสองชั้นก็ได้ ความหมายในทางภาษาคนก็อย่างหนึ่ง ในภาษาธรรมก็อีกอย่างหนึ่ง ภาษาคนคือที่ชาวบ้านทั่วไปเขาก็พูด ก็เข้าใจกันได้โดยไม่ต้องศึกษาเล่าเรียนอะไรอีก ส่วนภาษาธรรมนั้นจะพูดเป็นแต่ผู้ที่มองเห็นลึกหรือศึกษาธรรมะมาอย่างเพียงพอ จึงจะเห็นความหมายในชั้นลึก ก็ต้องถือว่าทุกคำมีความหมายเป็นสองชั้นเสมอ เป็นธรรมดาสามัญกับชั้นลึก ซึ่งเป็นหรือพูดกันได้ไม่กี่คน ทีนี้ถ้าว่าจะเอา ถ้าจะดูตามที่มันมีอยู่จริง เรายังพบว่ามันมี ภาษา (นาทีที่ 07:07) ไปอีก ใช้พูดกันอยู่และมีความหมายได้เป็นสามชนิดหรือสามประเภทอีกอย่างหนึ่ง หนึ่งคือภาษาของคนอันธพาล คน แล้วก็ภาษาคนธรรมดา แล้วก็ภาษาของนักปราชญ์ ยกตัวอย่างให้ฟังก็ได้ ภาษาอันธพาลของคำว่าจิตว่าง ก็หมายถึงจิตที่คนอันธพาลแกล้งทำว่าว่าง เขาทำไปเพื่อจะเอาเปรียบ พอถึงคราวที่จะรับผิดชอบ มันก็ไม่รับผิดชอบ มันอ้างว่าทำจิตว่างเสีย ซึ่งหนังสือพิมพ์เอาคำว่าจิตว่างไปล้ออยู่บ่อยๆ มันเป็นจิตว่างภาษาคนอันธพาล เมื่อจิตว่างภาษาคนธรรมดา ตรงไปตรงมาก็คือว่าจิตที่ไม่คิดไม่นึกอะไร จิตที่อยู่เฉยปราศจากการคิดนึกรู้สึกอะไร เมื่อจิตว่างภาษานักปราชญ์ นักธรรม หรือภาษาพุทธศาสนาโดยแท้จริง คำว่าจิตว่างหมายความว่ามันเป็นจิตที่รู้สึกอยู่หรือคิดอยู่ไปตามปกติ แต่มันปราศจากความหมายแห่งตัวกูของกู นี่เป็นตัวอย่างสำหรับเข้าใจและขอให้จำไว้เป็นหลัก ว่าที่พูดกันอยู่ในโลกนี่ มันพูดกันอยู่สามชั้นอย่างนี้ ก็ทำความยุ่งยากลำบากให้แก่กัน หรือมันก็ทะเลาะวิวาทกัน อย่างง่ายที่สุดก็ช่วยทำประโยชน์ให้แก่กันและกันไม่ได้ เพราะมันพูดกันไม่รู้เรื่อง พูดกันคนละภาษา มันคือภาษาอย่างนี้ ภาษาไทยด้วยกัน แต่มันยังมีสามภาษาอยู่อย่างนี้ ทีนี้เราจะดู คำว่า ปรทัตตูปชีวี ตามตัวพยัญชนะ ว่า ปะ ระ ทัด ตะ อุ ปะ ชี วะ (นาทีที่ 10.06) ก็ไปมีชีวิตอยู่ด้วยสิ่งที่คนอื่นให้ นี่ตัวหนังสือ คือพยัญชนะว่ามีชีวิตอยู่ด้วยสิ่งที่บุคคลอื่นให้ก็ได้ หรือว่า มีชีวิตที่บุคคลอื่นให้ก็ได้ เป็นสองอย่าง อย่างน้อยเป็นสองอย่าง เรามีชีวิตชนิดที่คนอื่นเขาให้ ให้ชีวิต ก็อย่างหนึ่ง เรามีชีวิตอยู่ด้วยสิ่ง อุปกรณ์ต่างๆ ที่คนอื่นให้ เหมือนกัน (นาทีที่ 10.50) ก็ได้ ภาษา โดยพยัญชนะ โดยตัวหนังสือ มันเล่นตลกได้เป็นอย่างนี้ จนไม่รู้จะเอาอย่างไหนกันแน่ แต่เราก็ต้องรู้ไว้ ว่ามันเป็นได้อย่างนี้โดยทางตัวพยัญชนะ ทีนี้โดยอัฏฐะนี่ มันก็ถอดความออกมาจากพยัญชนะ แต่มาขยายให้ชัดกันไป จึงมองไปยังไอ้การเป็นอยู่ ชนิดที่อยู่ได้ด้วยความช่วยเหลือของผู้อื่น ได้แก่ คนนั้นคนนั้นคนนี้ เช่นได้แก่ภิกษุ หรือได้แก่ พวกเปรต ซึ่งตรงกันข้ามนะ แม้แต่คำว่าภิกษุเองจะแปลว่าขอทานก็ได้ หรือจะแปลว่าผู้ที่รับทานที่เขาถวายในฐานะเป็นเครื่องบูชาก็ได้ นี่ความหมายมันเป็นอย่างนี้ ปรทัตตูปชีวี ผู้ที่มีชีวิตอยู่ได้เพราะสิ่งที่ผู้อื่นให้ แม้สุนัขและแมวตามธรรมดามันก็ อยู่ด้วยของที่ผู้เลี้ยงให้ ภิกษุก็อยู่ด้วยของ ด้วยปัจจัยที่ทายกถวาย นี่เป็นเครื่องเปรียบเทียบ แต่ถ้าดูโดยประยุกต์ ถ้าดูโดยประยุกต์ ก็ดูว่าไอ้หลักการอันนี้จะเอาไปใช้ได้อย่างไร นี่มันหมายเลยไปถึงว่า ถ้าทุกคนยอมรับข้อเท็จจริงอันนี้ ถ้ามีหลักการที่มันเข้ากับข้อเท็จจริงอันนี้ แล้วมันจะเกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา แก่ผู้นั้น ให้แก่สังคม และแก่โลกทั้งโลก ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ควรจะพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคำคำนี้ สำหรับภาษาบาลี ถ้าเราพูดว่า ปรทัตตูปชีวี หมายถึงบุคคลผู้มีชีวิตอยู่ด้วยสิ่งของที่ผู้อื่นให้ แต่ถ้าพูดถึงสภาวะ คือไม่ใช่บุคคล คือความเป็นผู้มีชีวิตอยู่ได้ด้วยสิ่งที่ผู้อื่นให้ นี่ก็จะมีคำว่า ปรทัตตูปชีวีตา อย่างนี้เป็นต้น เกิดขึ้น มันแจกศัพท์โดยผันไปตามวิภัตติปัจจัยภาษา หมายถึงคนก็ได้ หมายถึงภาวะอันนั้นก็ได้ หมายถึง กริยาอาการที่กระทำอย่างนั้นก็ได้ มันแจกผันไป แต่เดี๋ยวนี้ เราเอาคำว่า ปรทัตตูปชีวี เป็นหลัก คำเดียวก็พอ คือ ผู้มีชีวิตอยู่ด้วยสิ่งที่ผู้อื่นให้ ถ้าจะให้เข้าใจยิ่งขึ้น ก็ขอให้ฟังต่อไป ภิกษุมีชีวิตด้วยสิ่งที่ผู้อื่นให้ แต่มันหลายความหมาย หลายระดับ ให้อย่างคนขอทาน ให้อย่างให้คนขอทาน หรือว่าให้อย่างบูชาคุณความดีที่ภิกษุได้กระทำ หรือให้ชนิดที่ผู้ให้จะได้บุญ เป็นต้น ภิกษุเป็น ปรทัตตูปชีวี ทีนี้ข้าราชการ ตามความหมายตรงไปตรงมาก็เป็น ปรทัตตูปชีวี มีชีวิตอยู่ได้ด้วยเงินเดือนที่พระราชาให้หรือที่องค์การที่ทรงอำนาจให้ คือทางราชการให้ เป็นต้น โดยส่วนที่มันเลี้ยงชีวิตเป็นอยู่ได้ด้วยเงินเดือนนั้นก็เป็นความหมายแห่ง ปรทัตตูปชีวี ทีนี้ขอทานที่เป็นทุพลภาพ ไม่เป็นปัญหา ขอทานโกง ขอทานปลอม ขอทานนั้นก็ไม่ต้องพูดถึง ถ้าพูดถึงขอทานจริงๆ โดยตรงก็เป็น ปรทัตตูปชีวี ทีนี้เปรตนั่นเป็นคำโบราณดึกดำบรรพ์ ไม่มีทางจะเลี้ยงชีวิตด้วยตนเองแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง เลี้ยงชีวิตอยู่ได้ด้วยส่วนบุญที่ญาติทั้งหลายอุทิศส่งไปให้ ทีนี้มาพูดถึงคำว่าราชภัฏ อย่างนี้เป็น ปรทัตตูปชีวี โดยสมบูรณ์ รา ชะ ภะ ตะ (นาทีที่ 16.36) แปลว่า ผู้อันพระราชาเลี้ยง ภะ ตะ นั้นแปลว่าถูกเลี้ยง เป็นกรรมวาจก ราชภัฏ แปลว่า ผู้ที่ถูกเลี้ยงโดยพระราชา ราชภัฏ เป็นปรทัตตูปชีวีโดยตรง ตามตัวหนังสือ แล้วก็จะพูดกัน นี่อย่างผมเรียกตัวเองว่า พุทธทาส ยิ่งเป็นปรทัตตูปชีวีหนักขึ้นไปอีก เพราะอาศัยพระพุทธเจ้ากิน ว่าอย่างนี้ดีกว่า พุทธเป็นคำธรรมดาสามัญ พุทธทาสเป็นทาสของพระพุทธเจ้า นั้นก็มีความหมาย ปรทัตตูปชีวี อยู่ในตัว ปรทัตตูปชีวี คืออะไร ตอบได้อย่างนี้ ผู้ที่เป็นอยู่ด้วยชีวิต ผู้มีชีวิตอยู่ด้วยสิ่งที่ผู้อื่นให้ นี่เป็นการมองตามธรรมดาสามัญ มองเห็นอะไรง่ายๆ ทีนี้บอกแล้วว่าไอ้คำนี่มันมีความหมายตื้น มีความหมายลึก จะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ามีความหมายทางกายวัตถุ เอาร่างกาย เนื้อหนังเป็นหลักนี่ก็มี เอาทางวิญญาณจิตใจเป็นหลักก็มี จะเป็นฟิสิกส์หรือเมตะฟิสิกส์ ถ้ามองให้ลึกทางฝ่ายวิญญาณ จะต้องพูดได้ว่า สิ่งที่มีชีวิตทั้งหมดเป็นผู้ที่พระเจ้าสร้าง พระเจ้าเลี้ยงอยู่โดยธรรมชาติ พระเจ้านี่ นับถือศาสนาพระเจ้า เอาพระเจ้าที่เขาถืออยู่นี้ ถ้าถือศาสนาที่ไม่มีพระเจ้า ก็ต้องหมายถึงพระธรรม หรือธรรมชาติหรือกฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติที่ทำให้เกิดเรา เกิดสิ่งที่มีชีวิตขึ้นมา หรือเขาสร้างมา และมันควบคุมดูแลเลี้ยงดูให้เป็นอยู่ได้โดยกฎของธรรมชาตินั้น ในความหมายลึกก็ทุกคนเป็น ปรทัตตูปชีวี ทั้งสัตว์มนุษย์ทั้งสัตว์เดรัจฉานด้วยซ้ำ แม้กระทั่งต้นไม้ต้นไร่มันก็เป็นเรื่องที่ พระเจ้าสร้าง พระเจ้าเลี้ยงด้วยทั้งนั้น ความหมายที่ลึกมันมองได้อย่างนี้ ส่วนจะมีประโยชน์อะไรหรือไม่ก็ค่อยดูต่อไป แต่ถ้าคิดแต่ว่ามันเตลิดเปิดเปิง บ้าๆ บอๆ ไม่สนใจดีกว่า อย่าคิดอย่างนั้น ถ้าคิดกันอย่างนั้นแล้วจะไม่เข้าใจอะไรนอกไปจากที่ตามองเห็น นั้นจึงถือว่า คำว่า ปรทัตตูปชีวีนี่ เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดที่จะต้องสนใจ มันจะทำให้เกิดสันติสุขแก่ทุกฝ่าย ถ้าเรายอมรับว่าเราเป็น ปรทัตตูปชีวี โดยบริสุทธิ์ใจนี่ ไม่มีทางที่จะทำอะไรกับใครได้ ในทางที่เป็นเบียดเบียน หรือเป็นวิกฤติการทั้งหลาย ทีนี้มันมองไม่เห็น ว่าตัวเป็น ปรทัตตูปชีวี ก็ยกหูชูหาง ก็เบียดเบียนผู้อื่น ทีนี้ขอให้จำไว้ก่อนว่ามันเป็นไอ้สิ่งๆ หนึ่งที่จำเป็นที่สุด ที่จะต้องมอง ที่จะต้องสนใจ และก็มองให้เห็น และจะนำมาซึ่งสันติ ทีนี้ดูต่อไปอีกว่า ถ้าเราเข้าใจ กฎแห่ง อิทัปปัจจยตา ซึ่งมีรายละเอียดที่ได้บรรยายไปมากมายแล้ว ไปศึกษาดูเถิด นี่ว่าโดยใจความ กฎอิทัปปัจจยตา นั้นมันมีอยู่ว่า เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี มันทยอยกันไปไม่มีที่สิ้นสุด กฎที่ทำให้เป็นอย่างนั้นเขาเรียกว่ากฎแห่งอิทัปปจัตตา นั้นมีอาการ คือ เมื่อทำให้สิ่งนี้มีโดยสิ่งนี้ และสิ่งนั้นทำให้สิ่งนั้นมี สิ่งนั้นทำให้สิ่งนั้นมี เป็นลำดับไป กฎแห่งอิทัปปจัตตา ถ้าดูโดยกฎนี้ นั้นก็ทุกอย่างหมดเลยเป็น ปรทัตตูปชีวี คือมีชีวิตอยู่เพราะสิ่งที่ผู้อื่นให้ ก็คือปัจจัย อย่างนี้มันทำให้เกิดผลอย่างนี้ เหตุอย่างนี้มันทำให้เกิดผลอย่างนี้ และผลอย่างนี้กลายเป็นเหตุก็ทำให้เกิดผลอย่างอื่น ผลอย่างอื่นนั้นก็กลายเป็นเหตุทำให้เกิดผลอย่างอื่นต่อไป ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ไม่เป็นอย่างนี้ ใช้คำว่าในโลกนี้นะ ไม่ได้หมายถึงนอกโลกนะ ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะไม่เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นทุกอย่างเป็น ปรทัตตูปชีวี มันตรงกับคำพูดที่ทุกคนยอมรับ แม้ในปัจจุบันนี้ว่าเราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ คำว่าเราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ นั้นอย่ามองสั้นๆ เพียงแต่ว่าไอ้เนื้อหนังร่างกายปากท้อง มันมีส่วนลึก ส่วนจิตใจ ส่วนอะไร อีกมากมาย ที่ว่าเราจะอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้โดยปราศจากความช่วยเหลือของสิ่งอื่นหรือผู้อื่น นี่มันไม่ลึกจนมองไม่เห็นหรอก มองเห็นแต่ไม่ยาก แต่ให้มองลึกไปถึงด้านจิตใจด้วย ถ้าเราไม่มีคนอื่นอยู่ในโลกร่วมกับเราด้วย เราก็จะต้องตายหรือสูญพันธ์ เดี๋ยวนี้เราต้องกินต้องใช้ ต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งมากมายหลายอย่างที่ผู้อื่นเขาทำให้หรือสร้างขึ้นมา ถ้ายอมรับว่าอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ ก็จะทำอย่างไรต่อไป ก็ต้องทำให้มันอยู่รวมๆ กันไปได้ โดยอาศัยอุดมคติที่ว่า ต่างฝ่ายต่างอาศัยสิ่งที่ผู้อื่นให้ ใครมันอยู่นอกขอบเขตอันนี้บ้างก็ไปพิจารณาดูเองก็แล้วกัน เหมือนอย่างที่เราจะพูดว่า ธรรมชาติหรือพระเจ้าก็ตาม สร้างเรามา กับเลี้ยงเอาไว้ และทำลายลงไปเมื่อถึงวาระที่ควรจะทำลาย แล้วก็สร้างขึ้นมาอีก แล้วก็เลี้ยงเอาไว้ และทำลายลงไปเมื่อถึงวาระที่ควรจะทำลาย นี่คือกฎแห่งอิทัปปจัตตา ที่มีแก่ทุกสิ่ง ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต หรือจะเรียกว่าที่มีชีวิตอยู่ตามปรกติก็เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น อะไรที่มันมีชีวิตและก็มันต้องมีอาการที่ว่าเกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นไปตามกฎ แล้วก็ดับลงไปตามกฎ แล้วก็เกิดขึ้นมาอีก เป็นไปตามกฎ แล้วก็ดับไปอีก เขาเรียกว่ากฎนั้นมันสร้าง มันเลี้ยง มันควบคุม และมันทำลาย ที่เขาให้ เขาต้องการจะให้มันขลัง มันศักดิ์สิทธิ เขาจึงใช้คำว่าพระเจ้า พระเป็นเจ้า มันน่ากลัวกว่า คนจะได้นับถือและยึดถือ เราถูกพระเจ้าสร้างมา พระเจ้าเลี้ยงไว้ พระเจ้ายุบเสีย พระเจ้าสร้างขึ้นใหม่ ไปตามเรื่องตามราว ทีนี้สำหรับคำว่าราชภัฎนั่นแหละ เป็นตัว ปรทัตตูปชีวี นี่ก็จะเห็นได้ ในความหมายทุกความหมาย ในความหมายภาษาคน เราก็อยู่ด้วยเงินเดือน พูดกันตรงๆ ในความหมายในทางภาษาธรรม มันก็อยู่ได้โดยการศึกษา โดยการคุ้มครอง โดยอะไรต่างๆ ที่เราจะได้รับจากที่มาที่เราจะได้รับ ผมจึงอยากจะพูดสักหน่อยว่าถ้าเป็นราชภัฎ หรือเป็นข้าราชการ ครั้นให้จริงตรงตามความหมาย ปัญหาต่างๆ ก็จะหมด จะไม่มีปัญหา ที่ว่าโกงบ้างอะไรบ้าง อย่างที่กำลังเป็นปัญหา นี่สรุปความในขั้นนี้ว่า แสดงให้เห็นว่า ปรทัตตูปชีวี นั้นคืออะไร คืออย่างนี้ ดูให้ครบในทุกแง่ทุกมุม ว่ามันเป็นอยู่ด้วยสิ่งอื่น มันสร้างขึ้น หรือมันหล่อเลี้ยงไว้ มิได้เป็นอิสระแก่ตัว การที่มาสอนกันผิดๆ เรื่องอิสรภาพ เสรีภาพ หรืออะไรชนิดที่ ถ้าให้ยกตัว เห็นแก่ตัว นั้นเป็นคำสอนที่เป็นอันตราย
ทีนี้ดูต่อไปในหัวข้อที่สอง ว่ามัน มันมาจากอะไร นี่เป็นหลักที่ผมใช้อยู่ในการศึกษาหรืออธิบายอะไรก็ตาม ก็คือเอาหลักในพระพุทธศาสนาง่ายๆ ที่มีอยู่เรื่องอริยสัจ ว่า คืออะไร มาจากอะไร มันเพื่อประโยชน์อะไร จะได้เช่นนั้นโดยวิธีใด ก็เป็นพวกโลจิก ก็เป็นโลจิกอย่างที่เราใช้กันอยู่ในวงพุทธศาสนา คืออะไร จากอะไร เพื่ออะไรโดยวิธีใด ทีนี้ก็จะดูว่าไอ้ลัทธิปรทัตตูปชีวี นี่มันมาจากอะไร มันเนื่องจากอะไร จึงต้องมีความรู้เรื่องนี้ หรือต้องมีหลักเกณฑ์อันนี้ขึ้นมา เขาตอบว่า เนื่องจากว่าถ้าโลกมันขาดคุณธรรมข้อนี้ มันก็จะมีแต่วิกฤติการณ์ คือถ้าเราไม่ยอมรับว่าชีวิตของเราเนื่องกับผู้อื่น หรือขึ้นอยู่กับผู้อื่น หรือมีผู้อื่นเลี้ยง ต่างคนต่างถือดื้อรั้นอย่างนั้นหมดนะ ไอ้โลกนี้ก็จะมีแต่ความแข็งกระด้าง และก็นำมาซึ่งวิกฤติการณ์ทั้งหลาย ในระหว่างมนุษย์กันเอง กล่าวกันในภาษาคนหรือภาษาธรรมก็ได้ ในภาษาคนธรรมดา ถ้าเราไม่ยอมแก่กันและกัน ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กันและกันในฐานะผู้มีบุญคุณแก่กัน โลกนี้มันจะเป็นอย่างไร ทีนี้ในชั้นที่ลึกขึ้นไป ถ้าเราไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ อย่างที่ว่าพระเจ้าสร้าง อะไรทำนองนี้ มันก็ยิ่งกระด้างมากไปกว่านั้นอีก มันยังจะดูได้ทั้งในแง่ของศีลธรรม ในแง่ของปรัชญา ในแง่ของศีลธรรมก็คือ ดู เห็นกันชัดๆ แล้วมาปฏิบัติให้ได้ มีตัวจริง เห็นอยู่ สำหรับปฏิบัติให้ได้ มันก็จะเกิดศีลธรรมขึ้นมา ไปดูในแง่ของปรัชญา นั่นคือไปดูกันในแง่ของสมมุติฐานเรื่อยไป ไม่รู้จบ แต่มันก็ยังมองเห็นได้ว่ามันเป็นอย่างนี้ ถ้าไอ้ผลทางปรัชญานั้นถูกเอามาปฏิบัติมันก็กลายเป็นศีลธรรมไป ไอ้ความรู้ที่กำลังวิ่งไป วิ่งไป วิ่งไป นี่มันอยู่ในรูปของปรัชญา พอมาหยุดอยู่ในการปฏิบัติ มันก็เป็นรูปของศีลธรรมหรือจริยธรรม ที่นี้เราจะศึกษาเรื่องความที่สัตว์มีชีวิตเป็นอยู่ได้ด้วยสิ่งที่ผู้อื่นหรือสิ่งอื่นให้ จะศึกษากันได้ทั้งในแง่ของปรัชญาและในแง่ของศีลธรรม ถ้าใครมันชอบปรัชญาก็เอาไปศึกษาดูบ้าง ก็จะได้นำมาสู่ศีลธรรมที่จะทำให้โลกนี้มันมีสันติ ที่นี้อยากจะให้ดูเลยไปถึงว่าทำไมเราจึงไม่มีความสำนึกในคุณธรรมข้อนี้ หรือในข้อเท็จจริงอันนี้ เราไม่เอาใจใส่กันเลย หรือว่าถ้าเราอยากจะเอาใจใส่ขึ้นมา เราก็อาจเอาใจใส่ในทางคัดค้านมากกว่า นี่เราจึงเลยไม่มีการใช้คุณธรรมข้อนี้สำหรับสร้างสันติภาพ ถ้าจะพูดก็พอจะแยกออกได้เป็นสัก 3 ตัวอย่าง เพราะเรามีทิฐิแห่งตัวกู เต็มปรี่อยู่ในหัวใจ เขาก็นึกว่ามันเสียเกียรติโว้ย ที่เราจะยอมเป็นผู้ที่ให้ผู้อื่นเลี้ยงหรือถูกเลี้ยงโดยผู้อื่น มันมีทิฐิ แห่งตัวกู มันแข็งกระด้าง อยู่ในจิตของคนทุกๆ คนในโลก เขาก็ไม่ยอมรับข้อนี้ และไม่อยากจะยอมรับ ที่นี้อีกอย่างหนึ่งก็ว่าเรามันเป็นทาสของอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกินไป มึนเมาในสิ่งนี้มากเกินไป จนลืมดู ลืมดูว่าไอ้เรานี่ มันเป็นอยู่อย่างไม่ใช่เป็นอิสระแก่เรา ไม่หยิบขึ้นมาดู ไอ้การที่เราไม่เป็นอิสระแก่ตน เพราะไปหลงใหลในเรื่องความเอร็ดอร่อยทางเนื้อทางหนังทางวัตถุ ที่เรียกว่าเป็นทาสของอายตนะ เป็นทาส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ก็ทำให้ไม่มองเห็นข้อเท็จจริงอันนี้ และไม่ยอมรับ ไม่เคารพ ไม่อยากจะรับ ไม่อยากจะเคารพ และอีกอย่างหนึ่งก็จะพูดว่า เพราะว่าเราไม่ได้รับการอบรมอย่างนี้ ตั้งแต่อ้อนแต่ออกมา เราไม่ได้รับการอบรมจากบิดามารดา ครูบาอาจารย์อะไร อย่างนี้ เว้นไว้แต่ผู้ที่ หนักอยู่ในศีลธรรม หรือวัฒนธรรมเก่าแก่ สมัยโบราณเขาจะสอนให้เรานึกอย่างนี้ ให้ง่ายที่สุด สำหรับเด็กๆ ว่าพระเจ้าสร้าง พระธรรมสร้าง พระธรรมปกครอง พระธรรมคุ้มครอง ได้รับการอบรมอย่างนี้ แล้วมันก็จะมีความคิดอย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้ ยุคนี้ สมัยนี้ ไม่อบรมกันอย่างนี้ เตลิดเปิดเปิงไปอย่างอื่น ให้มีมานะทิฐิ ให้มีความแข็งกระด้าง จนมัวเมาในอิสรภาพ เสรีภาพ อะไรก็ตาม ไม่ยอมลงหัวให้แก่ใครโดยคิดว่า เราอยู่ในโลกคนเดียวไม่ได้ เราต้องเป็นหนี้บุญคุณของคนทุกคนในโลก นี่คือคำตอบที่ว่ามันเนื่องมาจากอะไร เราจึงต้องมีคุณธรรมข้อนี้ คือการยอมรับว่าเราอยู่ได้ด้วยการให้ของผู้อื่น คือมันมาจากการที่โลกจะเต็มไปด้วยวิกฤตการณ์ ถ้าเราไม่มีคุณธรรมข้อนี้ เพราะฉะนั้นเราต้องมีคุณธรรมข้อนี้อยู่ในจิต อยู่ในโลก
ทีนี้ปัญหาต่อไปเป็นอันดับที่สามก็คือว่า มันเพื่ออะไร นี่ก็ต้องการจะชี้ให้ชัด เหมือนกับเป็นเครื่องชี้ชวนให้ ยินดี ศึกษา และปฏิบัติ โดยหลักการอันนี้ มีหลักการอันนี้ คือยอมรับข้อที่เรามีชีวิตอยู่ด้วยการเลี้ยงของสิ่งอื่น เพื่อประโยชน์ว่าถ้า มันเพื่อประโยชน์ว่า เราจะมีศีลธรรมขึ้นมา จะเป็นศีลธรรมที่จะช่วยให้โลกนี้มีสันติ เพื่อให้โลกนี้มีสันติ ก็จะมีหลักศีลธรรมข้อนี้ สันติสุขแบบโลกพระศรีอารย์กันก็ได้ แบบโลกพระศรีอารย์นั้นมันมีรายละเอียดมากนะ แต่ว่าโดยใจความก็คือ ไม่มีความเบียดเบียน มีแต่ความรักใคร่ และไม่มีความขาดแคลนอะไรเลย ถ้าเรายอมรับและนึกอยู่เสมอว่าเรามันมีชีวิตเนื่องด้วยผู้อื่น ต่างฝ่ายต่างเนื่องแก่กันและกัน อย่างนี้มันก็ไม่เบียดเบียน มีแต่รักใคร่ หัวอกเดียวกัน แล้วมันก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ก็เลยไม่ขาดแคลน ในโลกนี้ก็จะเป็นโลกของพระศรีอารย์ขึ้นมา ในทันที ถ้าเราถือหลักเกณฑ์อันนี้ มันก็เป็นศีลธรรม ที่ช่วยให้โลกมีสันติสุขส่วนบุคคล มีสันติภาพส่วนสังคมขึ้นมาได้ นี่เป็นข้อที่หนึ่ง ข้อที่สองผมอยากจะพูดว่า เศรษฐกิจก็ดี การเมืองก็ดี การปกครองเป็นต้นก็ดีในโลกนี้จะดีเลิศ เดี๋ยวท่านแต่ละคนจะฟังไม่ออก ผู้ฟังยังฟังไม่ออก มันจะดีเลิศได้อย่างไร เดี๋ยวนี้เรามีเศรษฐกิจคดโกง คือเครื่องมือสำหรับจะเอาเปรียบผู้อื่น มีการเมืองก็จะเอาเปรียบผู้อื่น มีการปกครองเพื่อประโยชน์แก่ตัว เพื่อทำนาบนหลังคนอื่น ถ้าเราไม่มีเมตตากรุณาต่อกัน ถ้าเราไม่ถือเสมือนหนึ่งว่ามันเป็นสหกรณ์กัน ทุกคนในโลกนี้ มันจะต้องให้ และจะต้องรับ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คือเอาปรัชญาที่ว่าเราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ นั่นน่ะมาเป็นหลัก ถ้าหัวใจมันดื่มด่ำอยู่กับไอ้ความจริงข้อนี้ละก็ ไม่มีใครโกงใครได้ ไม่มีใครสามารถจะเอาเปรียบผู้อื่นได้ คือมันทำไม่ลง เศรษฐกิจมันก็ไม่เป็นเครื่องมือสำหรับเอาเปรียบผู้อื่น แต่มันเป็นไปเพื่อช่วยทุกคนที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย ได้อยู่กันอย่างเรียบร้อย ผาสุก หรือถูกต้อง ไอ้การเมืองก็เหมือนกัน มันก็จะมีเจตนาอันบริสุทธิก็จะทำให้เกิดสันติสุข เดี๋ยวนี้ก็พูดกันอยู่แล้ว เห็นกันอยู่แล้ว ว่าการเมืองนี้มันสำหรับกวนเมือง หรือหนักขึ้นไปอีกก็สำหรับโกงเมือง ถ้าการเมืองระดับโลกก็สำหรับกวนโลกให้มันยุ่ง หรือว่าเป็นการโกงโลกเลย โกงธรรมชาติเลย ถ้าเรามีความรู้สึกข้อนี้นะ คือมันต้องให้แก่กันและกัน เพราะว่าเราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ก็ดี หรือว่าตามกฎแห่งอิทัปปัจจยตา ไม่มีสิ่งใดอยู่ได้ตามลำพังมันเอง ผลัดกันเป็นเหตุ และเป็นผลัดไป เป็นเหตุและเป็นผลแก่กันและกัน มันก็ทำสิ่งที่จะเรียกว่า เบียดเบียนผู้อื่น เอาเปรียบผู้อื่น ทำนาบนหลังผู้อื่น มันทำไม่ได้ เพื่อประโยชน์อันนี้ขอให้มีคุณธรรมข้อนี้ ทีนี้ข้อที่สามผมอยากจะพูดว่า จะมีครอบครัวแห่งสันติสุข คือผัวเมียจะรักใคร่กันอย่างสุดชีวิตจิตใจ ไม่ขบถ ไม่ทรยศ ถ้าเราเข้าใจข้อนี้ถูก ว่าเราจะต้องอาศัยว่า สามีก็เลี้ยงภรรยา ภรรยาก็เลี้ยงสามี ในน้ำหนักที่เท่ากัน แม้จะรูปร่างที่ต่างกัน ถ้าทั้งสองฝ่ายมันยอมรับ ว่าต่างฝ่ายต่างเลี้ยงดูซึ่งกันและกันมันจะเกิดอะไรขึ้น ถ้ามันเกิดแย่งว่ากูเลี้ยงมึง ฝ่ายโน้นก็ย้อนว่ากูก็เลี้ยงมึง มันจะเกิดอะไรขึ้น มันก็จะมีอาการเหมือนกับว่ากัดกัน นี่ขอให้สังเกตดูให้ดี ถ้ามีการทอดตนลงไปเป็นผู้ถูกเลี้ยงกันทั้งสองฝ่าย ทั้งสามีและภรรยา มันจะรักกันสักเท่าไหร่ มันจะเห็นอกเห็นใจกันสักเท่าไหร่ มันจะเป็นครอบครัวชนิดไหน จะขบถทรยศต่อกันและกัน คือทำสิ่งที่ไม่ชอบใจให้แก่กันละกันได้อย่างไร เหมือนกับที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในเวลานี้ ถ้าอย่างนั้นเรายอมรับในข้อที่ว่าเรามีชีวิตอยู่ด้วยสิ่งที่ผู้อื่นให้ สิ่งที่ผู้อื่นเลี้ยง มันจะนำมาซึ่งความปรกติสุข ไม่มีทางที่จะข่มเหงกัน
ทีนี้ข้อที่สี่ จะมองไปว่าในวงธุรกิจการงานทั้งหลายก็จะมีสันติ ตัวอย่างเช่นว่าระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา เรื่อยไปที่มันเป็นคู่ๆ คู่ๆ กันที่เขาต้องเกี่ยวข้องกันในวงธุรกิจทั้งหลาย ทั้งเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ถ้าเรายอมรับข้อนี้ก็หมายความว่าลูกจ้างก็ยอมรับว่านายจ้างเป็นผู้เลี้ยง แล้วก็นายจ้างก็ยอมรับว่าลูกจ้างเป็นผู้เลี้ยง หรือจะเป็นผู้บังคับบัญชากับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ก็จะต้องมองเห็นว่ามันต้องช่วยเลี้ยงซึ่งกันและกัน แก่กันและกัน ต่อกันและกัน มันก็เกิดไอ้ความรักใคร่ ไอ้สิ่งที่เรียกว่าสไตร์คหรืออะไรอย่างที่มันกำลังมีอยู่นี่ มันมีไม่ได้ เดี๋ยวนี้โลกกำลังลำบากด้วยปัญหาการสไตร์คนี้มากขึ้นๆ เพราะว่ามันไม่มีรากฐานอันลึกซึ้งในข้อนี้ มันเกิดตัวใครตัวมัน
ทีนี้ข้อห้า ไอ้พวกนักการเมืองทั้งหลายนี่ จะมีหน้าที่ทำโลกให้มีสันติโดยส่วนเดียว โดยอย่างเดียว ไม่มีเรื่องอย่างอื่น ที่เขาสามารถทำโลกให้มีสันติเพราะว่าจะซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ของตน เดี๋ยวนี้ทำไมเราจึงแยกให้นักการเมืองออกมาพูดเป็นคนเดียวโดยเฉพาะ ก็เพราะว่าเรามองดูนักการเมืองในฐานะเป็นบุคคลสำคัญในโลก โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ คือผู้ที่เขาสามารถจะจัดโลก เราเรียกว่านักการเมืองระดับโลก ถ้าจัดไปด้วยความโง่ มันก็ เป็นโลกนี้ โลกนี้ก็เป็นโลกนรก ถ้าเขาจัดด้วยความฉลาด คือถูกต้อง ไอ้โลกนี้มันก็เป็นโลกสวรรค์ซะ จะเอาอะไรมาเป็นรากฐานสำหรับการจัดให้มันถูกต้อง ผมคิดว่าต้องไอ้ความรู้ หรือความยอมรับรู้ และปฏิบัติ ในข้อที่ว่าเรามันเป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ต่างฝ่ายต่างเลี้ยงกัน ทีนี้ก็ไปดูไอ้นักการเมืองในเวลานี้ ในโลกนี้ มันต่างฝ่ายต่างจัดเพื่อประโยชน์แก่ตัวหรือพวกของตัว ไอ้ปากก็พูดว่าร่วมมือกันช่วยเหลือกัน แต่มันเพื่อประโยชน์ของตัว มันจะร่วมมือต่อเมื่อตัวได้ประโยชน์ หรืออย่างดีก็เพียงว่าเมื่อตัวจะตายถึงจะร่วมมือกัน
ข้อที่หก ข้าราชการกับประชาชน นี่จะไม่มีปัญหา แต่นี้ปัญหาที่มันมีอยู่ ข้าราชการเป็นที่เกลียดชังของประชาชน ประชาชนก็ไม่ไว้ใจข้าราชการ ข้าราชการก็ทำคอร์รัปชั่นหรือทำนาบนหลังประชาชน ประชาชนก็ยิ่งเกลียดข้าราชการ ไม่มีทางจะแก้ได้ ดูมันยิ่งรุนแรงยิ่งขึ้นทุกที ให้หลักธรรมมะนี้กลับมาว่าต่างฝ่ายต่างต้องเลี้ยงกัน มีคนพูดกันอยู่เสมอ ลั่นไปหมด รวมกันเราอยู่ หรือแยกกันเราตาย อะไรทำนองนั้น ทำไมไม่มองเห็นว่าทำไมจึงต้องเป็นอย่างนั้น ต้องมองให้ลึกลงไปว่า มันเป็นเช่นนั้น เพราะว่าโดยแท้จริงตามธรรมชาตินั้น เรามันเลี้ยงซึ่งกันและกันอยู่ ถ้าเราแยกกัน เราก็คือไม่เลี้ยงกัน แล้วเราก็ต้องตาย ถ้าเรารวมกันเราก็อยู่ ฉะนั้นเราจะมีประชาชนที่ดีที่สุดในโลก ทั้งโลกนี้ ประชาชนหรือประชาโลกก็ตามที่มันดีที่สุด คือ รักกันและหวังจะพึ่งพาอาศัยกันและกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และจะกอดคอกันทั้งในกรณีที่เป็นทุกข์และเป็นสุข เดี๋ยวนี้เราหาได้ที่ไหน ที่ว่ามันจะกอดคอกัน ทั้งในกรณีที่เป็นทุกข์และเป็นสุข แม้แต่ภายในประเทศเราก็ยังหายาก อย่าว่าไปถึงทั้งโลก บางทีในครอบครัวก็ยังหาไม่ค่อยจะได้ ถ้าเราไม่ยอมรับข้อที่ต้องเลี้ยงซึ่งกันและกัน นี่คือภาระหน้าที่ที่จะต้องทำ ในที่สุดนี่เป็นข้อสุดท้าย ก็จะสรุปความว่า มันจะเป็นรากฐานที่ดีที่สุด ชั้นลึกที่สุดชนิดหนึ่ง แบบหนึ่ง เพื่อมีอยู่แห่งศีลธรรม เพื่อศีลธรรมจำเป็นอย่างไร พูดกันมากแล้ว ไปหาอ่านดูได้ นี้โลกกำลังวินาศลงวินาศลง เพราะความเสื่อมไปแห่งศีลธรรม ฉะนั้นโลกจะรอดได้เพราะการกลับมาแห่งศีลธรรม มีเหตุปัจจัยที่จะให้มีศีลธรรมหรือการกลับมาแห่งศีลธรรม เพราะความรู้อันถูกต้องข้อนี้เอง เมื่อเราต้องอยู่ในลักษณะที่ว่าเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน มันจะทำให้เกิดความรัก ความกตัญญู หรือคุณธรรมอื่นๆ มากมายหลายอย่าง คือครบทุกอย่าง จะทำให้ไม่เกิดคำว่าศักดินา ระบบศักดินาขึ้นมา เดี๋ยวนี้ดูว่า ดูเหมือนว่าเกลียดกันนัก ไอ้คำว่า ศักดินา ระบบศักดินา มันก็มีแง่ที่ควรจะเกลียด แต่ถ้าเรายึดหลักอย่างนี้ มีศีลธรรมที่เกิดมา ที่เกิดขึ้นมาจากสัจธรรมอันนี้ และก็ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าศักดินาในโลกนี้ มีไม่ได้ มันลดลงมาเป็นผู้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยน้ำหนักที่เท่ากัน มันก็ไม่มีใครเอาเปรียบกัน แต่มันยึดหลักว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ได้อย่างง่ายดาย เดี๋ยวนี้เราไม่อาจจะยึดหลักอย่างนี้ด้วยเหตุหลายๆ ประการ เรากลัวอย่างนั้น เราระแวงอย่างนี้ เราไม่อาจจะทอดตัวลงไปยึดหลักว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เรามันถือเอาตัวเราไว้ก่อน เอาตัวเรารอดไว้ก่อน นั่นอย่างดีที่สุดนะ ทีนี้มันเลยไปถึงว่า เอาเปรียบผู้อื่น มากที่สุดที่เราจะเอาเปรียบได้ ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ธรรมสัจจะที่ว่าเราจะต้องเลี้ยงซึ่งกันและกัน จะทำให้เกิดศีลธรรมขึ้นมา อันนี้เป็นเรื่องทางศีลธรรม อย่าไปมองในแง่ของปรัชญาและค้างเติ่งอยู่ที่นั่น เรื่องปรัชญาทั้งหลายมันมองไปในแง่ที่ว่าทำให้ค้างเติ่งอยู่ ปฏิบัติไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นต้องมาในแง่ของวิทยาศาสตร์ดีกว่า คือมองเห็นอยู่อย่างนี้ ชัดๆ อย่างนี้ ถ้าอย่างนั้นก็เอามาใส่ฝ่ามือดู ถ้าเราสมัครเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ผูกพันกันอยู่อย่างนี้ มันก็เป็น เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ที่ไม่สร้างปัญหา ที่ไม่มีความเดือดร้อน อย่าต้องไปทิ้งไว้เป็นปัญหา ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น แล้วทำไมต้องเป็นอย่างนั้น แล้วทำไมต้องเป็นอย่างนั้น ไม่รู้จักจบ คือมันระแวงไว้ว่าจะมีอย่างอื่นดีกว่า หรือถูกต้องกว่า ตามแบบของปรัชญา ก็ขอโอกาสที่จะพูดเรื่องนี้สักนิดหนึ่งว่า เมื่อผมพูดว่าปรัชญา ก็หมายถึงไอ้คำว่า Philosophy เป็นความรู้และความคิดค้นเพื่ออยากจะรู้อันไม่รู้จบ philosophy คำว่าปรัชญาตามความหมายทางภาษาสันสกฤตหรือภาษาบาลีก็ตาม มันหมายถึงความรู้ที่จบลงไปแล้ว มีอันโตมติ (นาทีที่ 52.01) เด็ดขาด มี Conclusion เด็ดขาดแล้ว อย่างนี้คือปรัชญา ตามความหมายตัวหนังสือนี้ มันต่างกันลิบกับ Philosophy เดี๋ยวนี้เอามาปนกันจนหมดแล้ว รับเอามาใช้ในภาษาไทย จนเป็นอย่างนี้ไปเสียแล้ว มันจึงลำบากในการพูด เพราะพูดใช้คำว่าปรัชญาแล้วมันก็ขวางหูทันที เพราะว่า Philosophy มันไม่เป็นอย่างความหมายคำว่าปรัชญา ก็ทราบไว้ด้วย ฉะนั้นเราจะให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของศีลธรรม เป็นวิทยาศาสตร์ของศีลธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องของปรัชญาหรือ Philosophy ที่ไม่มีจุดจบ ไม่มีจุดยืน ไม่มีอะไรที่ตายตัวลงไป เราเป็นคนโบราณ โง่เง่าก็แล้วกัน มันมีจุดยืนที่แน่นอน มีเอกลักษณ์ ไอ้ที่เขาชอบเรียกชอบใช้กัน ที่มันแน่นอน ว่าเราจะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยหลักที่ว่าเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น แก่ทุกคน ไม่เฉพาะแต่แก่สามีกับภรรยา ภรรยากับสามี แม้อย่างนั้นก็ยังทำไม่ได้ ภรรยาสามีก็ยังกัดกันบนที่นอนนั่นเอง เพราะมันไม่มีหลักอะไรที่จะเป็นเครื่องรับประกันในทางจิตใจ นี่ขอให้ดูว่ามันมีประโยชน์อย่างไร เราใช้คำว่าเพื่อประโยชน์อะไร เพื่อประโยชน์อย่างนี้ จึงมีหลักเกณฑ์แห่ง ปรทัตตูปชีวีตา ทำตนเป็นผู้ที่เลี้ยงซึ่งกันและกัน เพราะว่าทุกคนจะต้องถูกผู้อื่นเลี้ยงมันจึงจะอยู่ได้
ทีนี้อันสุดท้าย ก็มีหัวข้อที่เป็นคำถามว่า โดยวิธีใด ในอุดมคติ วัตถุประสงค์อันนั้นจะสำเร็จได้โดยวิธีใด ถ้าว่าโดยหลักมูลฐานของพระพุทธศาสนา ใช้ได้แก่ทุกกรณี และมันตอบได้อย่างกำปั้นทุบดิน มันถูกยิ่งกว่าอะไร พอหมดตัวกู ก็จะเป็น ปรทัตตูปชีวี ถึงที่สุด ตัวกู ยกหูชูหางอยู่ตลอดเวลา เท่าไหร่มันก็ไม่มีทางที่จะยอมเป็น ปรทัตตูปชีวี นี่พูดภาษาง่ายๆ ภาษาลึกๆ ก็ยังไปไกล หมดกิเลศ หมดตัณหา หมดอะไรแล้ว เป็นพระอรหันต์ไปแล้ว ก็จะเป็น ปรทัตตูปชีวี อยู่ตามธรรมชาติ ตามธรรมชาติ มันต้องมีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง นี่เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นหลักมูลฐาน มันจะทำให้ตัวกู ความรู้สึกที่เป็นตัวกูหมดไป ก็จะเป็นอยู่ได้โดยเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ทุกชั้นทุกระดับ กระทั่งทั้งโลก ที่นี้จะแยก ซอยให้พอเห็นเป็นข้อปฏิบัติ เป็นข้อๆ ถ้าทำเป็นข้อหนึ่ง ข้อสองก็ว่า
หนึ่งเราต้องมีสัมมาทิฐิในข้อนี้ มีสัมมาทิฐิในข้อนี้ใช้ได้กับทุกเรื่องนะ ไม่เฉพาะเรื่องนี้ ในเรื่องนี้ก็พูดอย่างนี้ คือมีสัมมาทิฐิในข้อที่ว่าตามความเป็นจริงนั้นเราต้องเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน กฎอันนี้มันเป็นกฎของธรรมชาติ ผมอยากจะใช้คำที่เหมาะสมคำหนึ่งว่า เป็นธรรมสัจจะ ธรรมมะสัจจะ เป็นตัวสัจจะของธรรมชาติ ใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ใครจะแก้ไขไม่ได้ ไม่มีใครสร้างขึ้น มันเป็นของมันเอง มันเป็นตัวธรรมสัจจะของธรรมชาติ เราต้องรู้ว่าเป็นธรรมสัจจะของธรรมชาติข้อนี้ แล้วก็ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงมัน มีแต่จะประพฤติคล้อยตาม ถ้ารู้อย่างนี้ ก็เรียกว่ามีสัมมาทิฐิ คือมีความรู้ความเข้าใจความเห็นความเชื่อ อะไรที่ถูกต้องตามธรรมสัจจะของธรรมชาติ เรื่องที่เราต้องเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน เป็นปรทัตตูปชีวี ต่อกันและกันนี่เป็นธรรมสัจจะของธรรมชาติ เราไม่รู้ เราขาดสัมมาทิฐิในข้อนี้ เราจึงทำไปอย่างตรงกันข้าม โดยกิเลสมันชักจูงไปในทางที่ตรงกันข้าม เราจึงพร้อมที่จะเห็นแก่ตัวและเอาเปรียบผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา ข้อแรกจึงให้พูดถึงสัมมาทิฐิก่อนในทุกกรณี ให้ช่วยจำไว้เป็นหลักสากลของพระพุทธศาสนา คือทั้งเนื้อทั้งตัวของพระพุทธศาสนามันขึ้นอยู่กับสัมมาทิฐิ จนพระพุทธเจ้ายอมรับศัพท์ว่า คนเราล่วงความทุกข์ทั้งปวงได้เพราะสมาทานสัมมาทิฐิ คือมีสัมมาทิฐิอยู่ในกำมือตลอดเวลา เพื่อจะล่วงความทุกข์หรือปัญหาทั้งหมดทั้งสิ้นได้ ให้ใช้ในทุกกรณี ไม่ใช่เฉพาะหัวข้อนี้ ธรรมะข้อไหนก็ได้ ปัญหาข้อไหนก็ได้
ทีนี้ข้อที่สองอยากจะระบุว่า ขอให้ช่วยกันทำให้ชีวิตครองเรือนเป็นปรทัตตูปชีวีให้มากขึ้นมากขึ้นจนกว่าจะสมบูรณ์ ชีวิตครองเรือนนี่ก็ระบุไปอย่างความเป็นภรรยาสามีนั่นแหละ หรือว่าจะเป็นคู่ไหนก็ตาม พ่อแม่พี่น้อง ที่มันเป็นคู่ๆ คู่ๆ กันอยู่ที่บ้านที่เรือนตามประสาชาวโลก ชีวิตที่ครองเรือนนั้นยึดหลักปรทัตตูปชีวี คือต่างฝ่ายต่างเลี้ยงฝ่ายตรงกันข้าม ดังนั้นทุกฝ่ายต้องเป็นผู้ที่ถูกเลี้ยง อย่าอวดดีไป ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง พูดถึงว่าภรรยาเลี้ยงสามี สามีเลี้ยงภรรยา โดยสัดส่วนที่เท่ากัน แม้ในรูปลักษณะที่ต่างกันก็ไม่เป็นไรแต่ในสัดส่วนที่มันเท่ากัน ไอ้เรื่องที่บ้านที่เรือน เรื่องอย่างโลกๆ นั่นน่ะ ก็ต้องมีหลักนี้ชัดเจนแจ่มแจ้งอยู่ในจิตใจ เราต้องเลี้ยงซึ่งกันและกัน โดยอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ ในครอบครัวก็ยิ่งไม่ได้ จะแคบเข้ามาเท่าไหร่ก็ไม่ได้ กระทั่งมองเข้าไปข้างใน แล้วก็อย่าให้เกิดการทะเลาะกันในระหว่างอวัยวะของคนคนหนึ่ง เรื่องปากทะเลาะกับตีน นี่มัน ใครมีประโยชน์กว่าใคร เก่งกว่าใคร จำเป็นกว่าใคร ก็อย่าให้มันมี อวัยวะทุกส่วนในร่างกายของคนเราคนหนึ่งๆ นั้น มันหล่อเลี้ยงซึ่งกันและกัน มันจึงอยู่เป็นร่างกายเป็นชีวิตอยู่ได้
ทีนี้ข้อสามผมอยากจะพูดตามความเห็นส่วนตัว ยิ่งกว่าอย่างอื่นว่า ไม่ถือหลักที่ให้สิทธิเสมอภาคแก่สตรีอย่างบ้าหลังอย่างที่กำลังนิยมกันอยู่ในเวลานี้ คำว่าเสมอภาคนั้นน่ะ มันมีความหมายสองชนิด ความหมายของคนโง่ ก็คือทำอะไรเหมือนกัน เมื่อเช้านี้ ก็ได้ยินวิทยุประกาศถึงว่าจะให้สตรีเป็นผู้พิพากษาได้เต็มรูปเหมือนกับผู้ชาย เป็นนายทหาร เป็นอะไรได้เหมือนกับผู้ชายในรูปเดียวกัน โดยอ้างหลักว่าสิทธิเสมอภาคของสตรี อย่างนี้ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องหลับตามากขึ้น ในเรื่องทำไปอย่างบ้าหลัง ไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมากขึ้น มันควรจะพูดในทางที่ว่าให้สตรีก็ได้ทำหน้าที่ที่สตรีควรจะทำให้สุดเหวี่ยงของสตรี ผู้ชาย บุรุษก็ทำหน้าที่ของบุรุษให้สุดเหวี่ยงของความเป็นบุรุษ อย่าไปทำให้เหมือนกัน ถ้าเหมือนกันแล้วมันจะโง่ ในลักษณะที่ว่าเลี้ยงซึ่งกันและกันไม่ได้ มันจะเลี้ยงซึ่งกันและกันอย่างไรได้ ถ้ามันไปเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว นี่ความหมายธรรมดาสามัญต้องพูดอย่างนี้ มันต้องมีหน้าที่ที่จัดสรรไว้โดยเฉพาะ แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ธรรมชาติมันจัดสรร ผู้ชายมันคลอดลูกได้เมื่อไหร่ มันก็ต้องนึกถึงข้อที่ว่าธรรมชาติมันจัดสรร แต่เขาไปมองในแง่นี้ แล้วไปมองเตลิดไปถึงว่ามันไม่เท่ากัน มันควรจะเท่ากันโดยน้ำหนัก โดยสัดส่วน แต่ว่าไอ้รูปลักษณะที่ทำไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกัน ถ้าเราจะถือว่าให้เลี้ยงซึ่งกันและกัน มันก็ต้องมีการกระทำที่ไม่เหมือนกันน่ะ ถ้าไปทำเหมือนกันมันก็เป็นกระเทยกันไปหมดทั้งสองฝ่าย ไม่มีพ่อแม่ ไม่มีบุรุษสตรี มันจะเป็นกระเทยหรืออะไรกันไปเสียหมดทั้งสองฝ่าย แล้วใครจะเลี้ยงลูก แล้วในโลกนี้จะไม่มีมารดา โลกนี้มันจะเป็นบ้าเป็นหลังไปเลย เพราะไม่มีมารดาอบรมวิญญาณของลูกเด็กๆ หน้าที่มันต้องต่างกันโดยรูปลักษณะ มันถึงจะสามารถสนองให้แก่กันและกันอย่างครบถ้วน โดยเรียกว่าถูกต้องตามที่ธรรมชาติต้องการ มันน่าประหลาดที่ว่ามนุษย์เราในโลกยิ่งมีการศึกษามาก ไอ้ความคิดความรู้สึกมันยิ่งแล่นไปในลักษณะที่ขัดขวางต่อธรรมชาติมากขึ้น การศึกษาอะไรไม่รู้ ยิ่งทำไปทำไป จะยิ่งขัดขวางต่อธรรมชาติมากขึ้น แล้วมันสะท้อนกลับมาเป็นวิกฤติการอยู่ในโลกนั่นเอง นี่คอยดูเถอะ จะให้ผู้หญิงทำเหมือนผู้ชายทุกอย่าง จะมีปฏิกิริยาจากธรรมชาติเกิดขึ้นมาอย่างเป็นวิกฤติการณ์ ไม่มีสันติภาพ ไม่มีโอกาสที่จะเลี้ยงซึ่งกันและกันในลักษณะที่ถูกต้องตามหน้าที่
ทีนี้ข้อที่สี่ว่าถ้าจะเป็นภิกษุหรือจะเป็นอะไรก็ตาม ขอให้เป็นจริงตรงตามนั้น จะเป็นภิกษุหรือเป็นชาวบ้าน ก็ขอให้ตรงและจริงตามนั้น ภิกษุจะเลี้ยงชาวบ้าน ชาวบ้านจะเลี้ยงภิกษุ ชาวบ้านจะเลี้ยงเนื้อหนังของภิกษุ ภิกษุจะเลี้ยงวิญญาณของชาวบ้าน จะทำเหมือนกันก็ได้แต่มันเป็นการเลี้ยงด้วยกันนะ นี่เมื่อสรุปโดยย่อนะ ชาวบ้านจะเลี้ยงร่างกายของภิกษุ ภิกษุจะเลี้ยงจิตหรือวิญญาณของชาวบ้าน ฉะนั้นชาวบ้านก็จงเป็นชาวบ้านให้สมบูรณ์แบบ ภิกษุก็เป็นภิกษุให้สมบูรณ์แบบ การเลี้ยงซึ่งกันและกันมันก็จะมี ขอให้เข้าใจอย่างนี้ มันจะเป็นอะไรต่อไปอีกก็ได้ ในโลกนี้มันมีหน้าที่การงานกี่อย่างกี่แบบ ใครจะทำหน้าที่อะไร ก็ขอให้เป็นอย่างนั้นโดยสมบูรณ์ แล้วก็จะตรงตามธรรมชาติต้องการ ถ้าเป็นหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ก็จะว่าตรงตามพุทธประสงค์ เป็นพ่อก็ให้ถูกต้อง เป็นแม่ก็ให้ถูกต้อง เป็นลูกก็ให้ถูกต้อง เป็นหลานเป็นพี่เป็นน้องเป็นอะไรก็ให้มันถูกต้อง มันก็จะตรงตามธรรมชาติ มันจะเกิดการเลี้ยงซึ่งกันและกันอย่างถูกต้อง ไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น
ข้อที่ห้า ก็อยากจะพูดว่าอย่าสะเพร่าจนเข้าใจคำนี้ผิดๆ คือเห็นเป็นกาฝากสังคม เมื่อเขาพูดกันว่ากาฝากสังคม ก็หมายถึงเมื่อคนอื่นต้องเลี้ยง มันเป็นคำพูดที่แคบเกินไปและผิดต่อหลักการอันนี้ที่ว่า ทุกฝ่ายจะต้องเลี้ยงซึ่งกันและกัน ไม่มีใครเป็นกาฝากสังคมแก่กันและกัน ถ้าคิดอย่างสะเพร่า เหมือนที่คนโดยมากเหมือนกันคิดว่า ภิกษุนี่เป็นกาฝากสังคม ภิกษุสงฆ์เป็นกาฝากสังคม คุณก็ต้องเคยได้ยิน ในศาสนาอื่นก็เหมือนกัน ก็ถูกหาอย่างนี้ นี่เขาเข้าใจคำนี้ผิด ก็มองดูอย่างสะเพร่า จึงเห็นเป็นว่าปรทัตตูปชีวีนี้เป็นกาฝากสังคม เพราะมันมองด้านเดียว โดยแท้จริง ปรทัตตูปชีวี จะเป็นผู้เลี้ยงซึ่งกันและกันทั้งสองฝ่ายไม่มีใครเป็นกาฝากให้แก่ใคร ในเมื่อแต่ละฝ่ายทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง แต่ละฝ่ายทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง จะไม่มีกาฝากสังคมเลย อย่างว่าเราเลี้ยงแมวนี่ จะว่าแมวเป็นกาฝากของเราไม่ได้ มันทำหน้าที่ของความเป็นแมวอย่างสมบูรณ์ที่สุด และเป็นหน้าที่ที่เราทำไม่ได้ ครั้งหนึ่งเราเคยไม่มีแมว เดือดร้อนที่สุดเลย หนังสือหนังหาสิ่งของถูกทำลายลงไปวันหนึ่งคืนหนึ่งมากมายเหลือเกิน เพราะไม่มีแมวเท่านั้น พอเรามีแมวเท่านั้นแหละ ปัญหานี้ก็หายไป นี่เป็นแต่แมวเท่านั้นเองมันยังมีความหมายอย่างนี้ ดังนั้นขอให้ถือหลักให้ถูกต้อง แล้วก็จะไม่มีไอ้กาฝากสังคม กาฝากสังคมมันควรจะเป็นผู้ที่ไม่ทำให้ประโยชน์อะไรแก่สังคมโดยแท้จริง แต่นี้มองกันอย่างสะเพร่า ก็เห็นภิกษุสงฆ์เป็นต้นนี้เป็นกาฝากสังคม หรือรังเกียจความหมายของคำว่า ปรทัตตูปชีวี แล้วก็จัดปรทัตตูปชีวีเป็นกาฝากสังคมไปเสียเลย นี้เป็นตัวอย่างของการที่ไม่มีสัมมาทิฐิ เขาไม่เข้าใจคำนี้ เห็นแก่ตัวเกินไป กิเลสชักนำให้เห็นแก่ตัวมากเกินไป เป็นคนทารุณโหดร้ายบ้าง เป็นคนอกตัญญูบ้าง เป็นอะไรต่างๆ เท่านี้ก็ดูเหมือนว่าจะพอแล้ว และพอแก่เวลาด้วย ว่าเราจะต้องกระทำโดยวิธีนี้ จึงจะได้รับประโยชน์อันสูงสุดที่จะได้รับจากไอ้หลักการที่ว่า ทุกคนเป็นปรทัตตูปชีวีอยู่โดยธรรมชาติ โดยธรรมชาติอันเด็ดขาด อันเป็นนิรันดร เปลี่ยนไม่ได้ ทีนี้ก็ดูว่ามันคืออะไร ปรทัตตูปชีวีคือกฎเกณฑ์ที่ธรรมชาติกำหนดมาให้เราเป็นอย่างนั้น แล้วมันเนื่องจากอะไร ถ้าไม่มีหลักเกณฑ์อันนี้ เราก็อยู่อย่างไม่มีสันติสุขสันติภาพ เพื่อประโยชน์อะไร มันก็ตรงกันข้ามก็เพื่อสันติภาพสันติสุข ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นในหมู่มนุษย์ และจะสำเร็จได้โดยวิธีใด ก็คือยอมรับ ยอมรับความประสงค์ของธรรมชาติ ยอมรับความต้องการของพระเป็นเจ้า ที่ให้มนุษย์อยู่กันโดยหลักเกณฑ์ของ ปรทัตตูปชีวี ต่างฝ่ายต่างเลี้ยงซึ่งกันและกัน ที่จะนำมาประยุกต์อย่างสมัยนี้ก็เพื่อจะแก้ไขความเข้าใจผิดหรือวิกฤติการณ์ที่กำลังมีอยู่ในโลกนี้ คือการเห็นแก่ตัวของคนทุกคนมากขึ้นมากขึ้นมากขึ้นจนไม่รู้ว่าจะมากกันอย่างไร นี่คือปัญหาอันแท้จริงหรือวิกฤติการณ์อันแท้จริงที่กำลังมีอยู่ในโลกนี้ ท่านทั้งหลายก็ได้ลาบวช ในฐานะเป็นราชภัฎ เป็นปรทัตตูปชีวีมาในคำว่าราชภัฎ คือบวชแล้วได้ชิมรสของมันหรือไม่ เราจะชิมรสของปรทัตตูปชีวีที่สูงขึ้นไปแล้วเข้าใจมันจนถึงกับนำไปใช้ได้จนตลอดชีวิตในลักษณะอย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้ว และก็จะมองเห็นได้เองว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็นกี่มากน้อยที่มนุษย์จะต้องมีหลักการอันนี้ ถ้าทุกคนยอมถ่อมตัวถ่อมตัวถ่อมตัวลงเป็นปรทัตตูปชีวี ไม่ยกหูชูหาง โลกนี้ก็มีแต่สันติภาพเป็นแน่นอน เวลาก็หมด ฝนก็ตก พูดไม่ได้ยินละ ยุติกันสักที ถามปัญหาก็คงจะไม่ได้ยินอีก