แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยาย ธรรมะปาฏิโมกข์ ในวันนี้ จะได้กล่าวด้วยเรื่องที่ติดต่อกันไป คือ เรื่อง ตัวกู - ของกู และจะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า ตัวกูตั้งต้นที่ผัสสะ ที่จริงเรื่องที่ว่าอะไรๆก็ตั้งต้นที่ ผัสสะ นี้ก็ได้เคยกล่าวมาบ้างแล้วแต่รู้สึกว่ายังไม่ชัดแจ้ง จึงตั้งใจที่จะกล่าวในวันนี้แค่เพียงข้อเดียวนี้เพื่อให้ชัดแจ้ง ความมุ่งหมายก็ต้องการจะกล่าวเฉพาะความรู้สึกว่า ตัวกู - ว่า ของกู นี้มันตั้งต้นที่ ผัสสะ แต่ข้อเท็จจริงมันมากกว่านั้น คือว่า อะไรๆมันก็ต้องตั้งต้นที่ ผัสสะ เพราะฉะนั้น จึงต้องกล่าวพร้อมกันไป และการที่อะไรๆก็ตั้งต้นที่ ผัสสะ นี้ยังไม่เป็นที่แจ่มแจ้งแก่คนโดยมาก และยิ่งกว่านั้นก็คือคนโดยมากไม่ค่อยยอมเชื่อว่าอะไรๆก็ตั้งต้นที่ ผัสสะ เพราะคำว่า ผัสสะ นี้มันเป็นคำที่เข้าใจยาก เพราะฉะนั้น ก็จะได้พูดกันให้เพียงพอเพื่อความเข้าใจ และก็คิดว่าควรจะอธิบายกันถึงข้อที่ไอ้ความรู้สึกว่า ตัวกู มันตั้งต้นที่ ผัสสะ กันเสียก่อน แล้วจึงค่อยนึกถึงสิ่งอื่นๆดูจะเข้าใจง่าย
โดยหลักใหญ่ ในพุทธศาสนาของเรามีหลักว่า มันเกิดที่ไหนก็ต้องดับที่ตรงนั้น ดังนั้น เราจึงต้องรู้ว่าไอ้ ตัวกู นั้นมันเกิดที่ไหน? แล้วก็จะได้ดับที่ตรงนั้น หรือป้องกันเสียที่ตรงนั้น นี่ก็เป็นประเด็นปลีกย่อยออกไปที่ว่า มันเกิดที่ไหน-มันต้องดับที่นั่น ถ้าคนโบราณพูดเขาจะพูดกันไว้สำหรับคนโบราณพูดง่ายๆว่า ขึ้นทางไหนให้ลงทางนั้น นี่ พูดอย่างอุปมา อย่างเราขึ้นต้นไม้นี้ขึ้นไปทางไหนมันก็ลงทางนั้น ก็มองเอาข้อนี้มาใช้เป็นหลักเกี่ยวกับหลักพุทธศาสนา ที่ว่ามันเกิดที่ไหน-ถ้าจะดับมันก็ต้องให้มันดับที่นั่น พระพุทธศาสนายืนยันในข้อที่ว่า สิ่งทั้งปวงที่มันเป็นปัญหากับมนุษย์เรานั้นก็มี เหตุ ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ต้องรู้จัก เหตุ นั้น จะได้รู้จักวิธีดับตัว เหตุ นั้น มันจึงจะดับส่วนที่เป็นปัญหาได้ โดยหลักใหญ่ๆก็คือ อริยสัจจ์ ๔ ประการ ความทุกข์เกิดจาก เหตุ คือ ตัณหา ก็ต้องดับที่ เหตุ คือ ตัณหา ความทุกข์นั้นก็ดับไป นี่มันเลยมีกฎเกณฑ์เป็น ๒ ชั้นกันอยู่ว่า
๒ ชั้นเป็นอย่างนี้ นี่ถือเป็นหลักทั่วไปจะต้องศึกษาให้เข้าใจ ให้แน่นอนอย่าให้พลาดได้ในข้อนี้ ไม่ว่าจะไปพูดจา โต้เถียง หรือว่าจะสั่งสอน หรืออะไรต่ออะไรนี่ อย่าให้พลาดได้ในข้อนี้ที่ว่ามันมี เหตุ ก็ไปตาม เหตุ ถ้าดับสิ่งนั้นต้องดับที่ เหตุ ทีนี้สำหรับเรื่อง ตัวกู มันก็เป็นไปตามกฎนี้มันเป็นสิ่งที่มี เหตุ เป็นไปตาม เหตุ ถ้าจะดับ ตัวกู ก็ต้องดับที่ เหตุ
ทีนี้มาถามว่า เหตุ ของ ตัวกู นั้นมันคืออะไร? ถ้าถามว่าคืออะไร? มันก็ตอบได้หลายอย่างหรือทุกระยะไป เพราะ ตัวกู นั้นมันคือ อุปาทาน ใน ปฏิจจสมุปบาท อุปาทาน มาจาก ภพ ก็ได้ ก็ตอบว่ามาจาก ภพ ก็ได้ ภพ มาจาก ตัณหา เพราะฉะนั้น ตัวกู มาจาก ตัณหา ก็ได้ ตัณหา ก็มาจาก เวทนา ที่มาจาก อวิชชาสัมผัส เพราะฉะนั้น ตัวกู มาจาก เวทนา ก็ได้ ทีนี้ เวทนา นี่มาจาก ผัสสะ ตรงนี้ที่สำคัญ ยึดเอาตรงนี้เป็นหลัก ก็ได้ความว่า ตัวกู ก็มาจาก ผัสสะ ถ้าอย่ามี ผัสสะ อย่างเดียว เวทนา ตัณหา อุปาทาน นี้มันก็มีไม่ได้ นี่ เราพูดตัดตอนกันแต่เพียง ผัสสะ ให้เกิด ตัวกู นี้ก่อน
ทีนี้ ผัสสะ นี้ก็เคยพูดแล้วว่ามันมีเรื่องของมันอย่างไร? ทีนี้ ก็ต้องย้ำกันให้ชัดลงไปอีกทีหนึ่ง ว่า ผัสสะ นั้นมีอยู่เป็น ๒ ชั้นหรือ ๒ ชนิด ผัสสะ สักว่าการกระทบในครั้งแรกนั้นก็เป็น ผัสสะ เหมือนกัน แต่ไม่ค่อยเรียกว่า ผัสสะ ในภาษาบาลีนั้นไม่เรียกว่า ผัสสะ แต่ในภาษาไทยนี้เราชอบเรียกกันว่า ผัสสะ เช่นว่า ตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่นนี้ กระทบ นั้นแหละคือ ผัสสะ ในภาษาไทยเราเรียกว่า ผัสสะ แต่ในภาษาบาลีจะจำกัดความดีกว่านั้นมาก ที่สักว่าตากระทบรูป หูกระทบเสียงนี้ บาลีใช้คำว่า ปฏิจจ / ปฏิจจ นี้แปลว่า อาศัยกัน อาศัยกันก็ต้องถึงกันมันจึงจะอาศัยกันได้ ไม่ถึงกันมันจะอาศัยกันได้อย่างไร? ก็ต้องใช้คำว่า ปฏิจจ อาศัย จักษุ ด้วย รูป ด้วย ย่อมเกิด จักษุวิญญาณ ทั้ง ๓ ประการนี้ คือ ทั้ง ตา ทั้ง รูป และทั้ง จักษุวิญญาณ นั้น มาถึงพร้อมกันเข้าแล้วก็เรียกว่า ผัสสะ มีคำว่า สังฆาฏิ - มาถึงกันเข้าแล้วจึงจะเรียกว่า ผัสสะ หรือนี่คือ ผัสสะ โดยสมบูรณ์ ให้กำหนดขั้นตอนให้ดีๆว่า ตากระทบกันเข้ากับรูปนี้ เรียกว่า มันได้อาศัยกัน มันก็ทำให้เกิด จักษุวิญญาณ คือ การเห็นทางตา ทีนี้ถามว่า จักษุวิญญาณ เกิดมาจากอะไร? มันก็ต้องเป็นว่าเพราะการกระทบระหว่างตากับรูป นี่พูดภาษาไทยธรรมดา ทีนี้ ๓ อย่างนี้ถึงกันเข้าจึงเรียกว่า ผัสสะ ก็คือ การกระทบ หรือถึงกัน เนื่องกัน ทำงานร่วมกันนี้ คือ ตากับรูป กับ จักษุวิญญาณ ที่มันเกิดขึ้นทางตา เพราะว่าก่อนหน้านี้ตายังไม่เป็น จักษุวิญญาณ เป็นเพียง จักษุประสาท หรือ จักษุ สำหรับเห็นอะไรได้ยังไม่มีการเห็นทางตา ต่อใดเมื่อมีการเห็นทางตาจึงจะได้ชื่อว่า จักษุวิญญาณ ขึ้นมา เพราะฉะนั้น เราอย่าไปเข้าใจผิดว่าเรามี จักษุวิญญาณ อยู่ตลอดเวลา มันจะมีก็ต่อเมื่อมีตากระทบกับรูป เพราะฉะนั้น ตาที่เรามีอยู่ตลอดเวลานี้ ก็คือ ดวงตาที่เป็นเนื้อ เป็นวัตถุในระดับที่เรียกว่า ประสาท / จักษุประสาท จะมีอยู่ แต่มันก็ไม่ได้ทำหน้าที่จนกว่ารูปมากระทบตาจึงจะทำหน้าที่ ทำหน้าที่ก็เกิด จักษุวิญญาณ คือ การเห็นทางตา เรื่องเหล่านี้สำคัญมาก-จำไว้ให้ดี เข้าใจให้ดี พอบอกแล้วฝรั่งงงกันไปทุกคน นี่ถ้าหากคุณจะเรียนพุทธศาสนานี้ คุณต้องตั้งต้นเรียนที่ ตา ที่ รูป ที่ จักษุวิญญาณ ถ้าคุณไปตั้งต้นเรียนที่พระไตรปิฎก ต่อให้เรียนจนตายก็ไม่รู้พุทธศาสนา เพราะมันไม่รู้ตัวจริงของสิ่งนั้นๆ ต้องมาตั้งต้นเรียน ตั้งต้นศึกษา สังเกต พิจารณากันตรงที่ ตากับรูปให้เกิดจักษุวิญญาณ หูกับเสียงเกิดโสตวิญญาณ กลิ่นกับจมูกเกิดฆานวิญญาณ ๖ คู่นี้ นี่ควรจะเรียกว่า เริ่มตั้งต้นเรียนพุทธศาสนาถูกตัวพุทธศาสนา แล้วก็จะมีผลดี นี่สำหรับคนเราคนไทยเราก็เหมือนกันแหละมันเป็นอย่างนั้นทุกคน ถ้าจะเรียนพุทธศาสนาต้องตั้งต้นเรียนที่ข้อเท็จจริงของสิ่งที่เรียกว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่มันมีคู่ของมันคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ และมันทำกันอย่างไร? เป็นอะไรกันมา? สำหรับในกรณีนี้ก็ยกตัวอย่างด้วยเรื่องของตา คือ ตากับรูปถึงกันเข้า อาศัยกันเกิดการเห็นทางตาขึ้นมา เรียกว่า จักษุวิญญาณ ๓ อย่างนี้คือ จักษุ ด้วย รูป ด้วย จักษุวิญญาณ ด้วย ถึงเข้าด้วยกันแล้วจึงจะเรียกว่า ผัสสะ
ทีนี้ ผัสสะ นี้มันก็เป็นเพียง ผัสสะทางตา คือ ตากระทำสัมผัสเท่านั้น มันก็ไม่ค่อยรู้สึกอะไรจึงได้เรียกว่า เป็นเพียง ปฏิฆสัมผัส / ปฏิฆสัมผัส คือ สัมผัสสักว่าการกระทบเท่านั้นนะ เหมือนเราโขกลงไปดัง โป๊ก! นี่มันก็เป็นการกระทบ เสียงโป๊ก! มันก็เกิดขึ้น มันเป็นการสัมผัสของตากับรูป ทีนี้ มันมีสัมผัสทาง มโน ที่เรียกว่า มโนวิญญาณ ทับลงไปอีกทีหนึ่ง ทีนี้มันก็แล้วแต่ว่ารูปที่ตาเห็นนี้ ถ้ารูปที่ตาเห็นมันสวย มันก็มีค่าเป็นความสวยของรูปนั้น นี่มันเป็นนามธรรมแล้ว-เป็นความสวยแล้ว ทีนี้ มโนวิญญาณ มันก็สัมผัส ก็จิตนี้มันก็พร้อมอยู่เสมอที่จะทำการสัมผัส จิตหรือ มโน ก็ตาม ก็สัมผัสความสวยนั้นอีกทีหนึ่ง นี่คือ สัมผัสที่แท้จริง ที่เรียกว่า อธิวจนะสัมผัส ถ้ารูปไม่สวย ก็คือ ความไม่สวย ถูก มโนสัมผัส รู้สึกเป็นความไม่สวย สัมผัสลงไปบนความไม่สวย โดยตาล้วนๆนั้นก็สัมผัสลงไปที่รูป ดังนั้นจึงเป็น ฝ่ายรูป แต่ถ้า มโนสัมผัส ลงไปที่ความสวยนี้มันจะเป็น ฝ่ายนาม ทั้ง รูป-ทั้ง นาม มันก็มีขึ้นมา เพราะฉะนั้น สัมผัสที่แท้จริง นี้คือ สัมผัสที่มโน มันสัมผัสลงไปในความหมาย หรือค่า หรืออะไรก็ตามของสิ่งที่ อายตนะ ข้างนอกมันได้สักว่ากระทบกันแล้ว เช่น ตากระทบรูป-รูปสวยหรือไม่สวย เสียงกระทบหู-เสียงเพราะหรือไม่เพราะ จมูกกระทบกลิ่น-เหม็นหรือหอม ลิ้นกระทบรส-อร่อยหรือไม่อร่อย กายสัมผัสกับ โผฏฐัพพะ ทางผิวหนัง-มันก็นิ่มนวลหรือแข็งกระด้างนี้เป็นส่วนใหญ่ ทีนี้ที่ มโน สัมผัส ธรรมารมณ์ - มันก็มีว่าเป็นที่พอใจหรือไม่พอใจ ทีนี้ ทำไมท่านไม่พูดถึงใน มโนสัมผัส ในตอนนี้ มันก็พูดยาก เพราะว่ามันมีคำว่า สัมผัส ใช้ในความหมายทั้ง ๒ ความหมายแต็มอยู่ในนั้นแล้ว นี่พูดให้เห็นชัด แยกออกไปให้ชัดว่าที่เรียกว่าสัมผัสของคนเรานั้นก็อย่าง เช่น ทางตานี้ ตาล้วนๆกระทบเข้ากับรูปเกิด จักษุวิญญาณ คือ การเห็นทางตา ๓ ประการนี้ทำหน้าที่ร่วมกันจึงจะเรียกว่า ผัสสะ ในขณะที่รูปกระทบตาเป็นเพียง ปฏิฆสัมผัส พอ มโนวิญญาณ มันรู้อันนั้นเข้าไป มีค่าอย่างไร? ความหมายอย่างไร? รู้สึกอย่างไร? ก็เป็นสัมผัสเต็มที่ สัมผัสอย่างนี้จะเป็นจุด สัมผัสตัวนี้-สัมผัสที่เรียกว่ารู้ความหมาย รู้ค่า รู้อะไรนี้มันจะเป็น ต้นเหตุ ของสิ่งทั้งปวง ในกรณี ตัวกู นี้ก็ศึกษาได้จากแนวของ ปฏิจจสมุปบาท นั้นเอง เมื่อมี ผัสสะ แล้วก็มี เวทนา ถ้า ผัสสะ นี้ไม่ใช่ ผัสสะ ของสติปัญญาหรือสติสัมปชัญญะ มันเป็นการสัมผัสของ อวิชชา คือ ปราศจากความรู้ เพราะฉะนั้น เวทนา นั้นก็เป็น เวทนา ที่มาจากสัมผัสที่ปราศจากความรู้ เพราะฉะนั้น เวทนา นั้นจึงไม่ถูกรู้ตามที่เป็นจริงว่าเป็นอย่างไร มันจึงไม่อาจจะรู้ว่า เวทนา สักว่า เวทนา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็น อนัตตา นี้-มันรู้ไม่ได้ มันก็รู้มาแต่ในทางที่ว่า สวยไม่สวย อร่อยไม่อร่อย หอม/เหม็นอะไรนี้ เวทนา นี้ก็ให้เกิด ตัณหา ให้ความรู้สึกอยากโดยสมควรแก่ เวทนา นั้น ถ้า เวทนา นั้นเป็นที่ถูกใจก็อยากได้ เวทนา นั้นไม่ถูกใจมันก็อยากจะไปเสีย หรือว่าอยากจะทำลายเสีย โกรธขึ้นมา แต่ถ้าว่าเป็นสิ่งที่ยังกล่าวไม่ได้ว่าถูกใจหรือไม่ถูกใจที่เขามักเรียกกันว่า อทุกขมสุขเวทนา นี้ มันก็มีความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งเหลืออยู่ มันสงสัยว่าจะมีค่าอย่างไร? มันก็เป็นความอยากชนิดหนึ่ง แม้แต่จะสงสัยไปในทางว่าจะมีค่าอย่างไร? หรือจะไม่มีค่าอย่างไร? เพราะฉะนั้น คนเรามันก็มีความสงสัยเพราะฉะนั้นจึงไม่ทิ้งเสียทีเดียว
แต่ว่า อทุกขมสุขเวทนา นี้มันไม่ค่อยมีปัญหา เขาจึงทิ้งเสียไม่พูดถึง พูดถึงแต่ว่าถ้ายินดี ถ้าเป็นที่พอใจก็ยินดีขึ้นมา ไม่พอใจก็ยินร้ายขึ้นมา มันจึงเหลือแต่ ๒ อย่าง คือ
นี่มันจึงเกิด ตัณหา ขึ้นตามสมควรแก่รสของ เวทนา นั้น เป็น อภิชฌา มันก็อยากได้ เป็น โทมนัส มันก็อยากทำลาย ก็คือ ตัณหา นั่นเอง นี่ก็คือความอยากได้เกิดขึ้นแล้วจาก เวทนา นั้น พอความอยากเกิดขึ้นแล้วมันก็ปรุงความอยากอันสำคัญที่สุด...ก็ปรุงความรู้สึกอันสำคัญที่สุด คือ อุปาทาน ยึดมั่นในสิ่งที่รู้สึกอยู่ นี่เรียกว่า ความรู้สึกเป็น ตัวกู เป็น ของกู ก็ทำให้เกิดขึ้น นี่ เคยบอกให้สังเกตว่ามันน่าแปลกที่มันขัดกับ Logic ฝ่ายวัตถุ ฝ่ายธรรมดาสามัญ ที่มันเกิดความอยากก่อน-แล้วจึงเกิด ตัวกู ผู้อยาก คนเขาก็ไม่ค่อยเชื่อ เกิดความอยากเสียก่อนจึงจะเกิดตัวผู้อยากนี้ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่เชื่อ นี่ก็เป็นข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นความเข้าใจยากของพุทธศาสนา...ของหลักพุทธศาสนาในส่วนนี้ เพราะฉะนั้น คนจึงไม่ค่อยเข้าใจพุทธศาสนา แล้วก็เหมาเอาเสียว่ายุ่งยาก ไม่สมเหตุเลยไม่สนใจเลย ตัดทิ้งไปเลย ความอยากเกิดขึ้นแล้วจึงเกิดความรู้สึกเป็น ฉัน เป็น กู / กูอยาก และก็มี ของที่กูอยาก คือ เป็น ของกู นี่คือ อุปาทาน และก็มีความหมายคือความรู้สึกว่า ตัวกู ว่า ของกู คือ ความยึดมั่น
เท่าที่กล่าวมาเพียงเท่านี้ก็มองเห็นได้ทันทีว่า ตัวกู-ของกู นั้นมันตั้งต้นมาจาก ผัสสะ ถ้าไม่มี ผัสสะ ก็ไม่มีจุดตั้งต้น-อะไรก็ไม่เกิด ขอให้ทบทวนกันอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าเรียนพุทธศาสนาต้องตั้งต้นเรียนที่นี่ จะเป็นฝรั่งต่างประเทศหรือเป็นคนไทยชาวพุทธก็ดี ถ้าจะเรียนพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ถูกตัวพุทธศาสนาจริง ต้องตั้งต้นเรียนที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ / รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ และเกิด วิญญาณ และ สัมผัส เอาจุดที่สัมผัสเป็นหลัก จึงพูดได้ว่า ตัวกู คือ ความรู้สึกว่า ตัวกู - ของกู ตั้งต้นมาจาก ผัสสะ หรือตั้งต้นที่ ผัสสะ ที่ประกอบด้วย อวิชชา ประกอบด้วย อวิชชา เพราะปราศจาก สติ-สัมปชัญญะ เพราะฉะนั้น จึงพูดอย่างธรรมดาๆว่า เมื่อตาเห็นรูป เป็นต้นโดยปราศจาก สติ-สัมปชัญญะ แล้วนั่นแหละคือ จุดตั้งต้นของ ตัวกู ในกรณีแห่งหูคู่กับเสียง จมูกคู่กลิ่น เป็นต้น ก็เหมือนกันในลักษณะเดียวกัน มีกรรมวิธีอย่างเดียวกัน
24.13 ทีนี้ก็ดูปัญหาของมัน คือ ความยุ่งยากลำบากเกี่ยวกับเรื่องนี้ อันที่ต้องสังเกตที่สุดก็คือความไวของมัน มันไวมากจนเราทำไม่ทัน แวบเดียวมันไปก็มี ตัวกู - ของกู เสียแล้ว โกรธหรือไม่ชอบใจเร่าๆอยู่แล้ว แวบเดียวไปถึงนั่นเสียแล้ว ได้ฟังเสียงที่ไม่พอใจนิดเดียว มันก็เป็น ตัวกู ที่โกรธหรือขัดใจแล้ว ทีนี้ จงสังเกตดูเมื่อเรารู้สึกว่าเราถูกด่า ถูกเขาดูหมิ่น แป๊บเดียวเราก็ไปอยู่ที่ความโกรธเสียแล้ว มี ตัวกู ผู้ถูกด่า มี ตัวกู ที่โกรธอยู่ แล้วมันจะแจกแจงอย่างไรทันเล่าว่า หูกับเสียงเกิด โสตวิญญาณ ๓ ประการนี้เรียกว่า ผัสสะ / ผัสสะ ให้เกิด เวทนา เกิดไม่ถูกใจเพราะเสียงด่านั้นแล้วเกิด ตัณหา ทีนี้อยากจะฆ่ามันเสียไอ้คนที่ด่าเรา แล้วความรู้สึกได้โกรธขึ้นแล้วนี้ได้หมายความว่า ตัณหา ได้เกิดขึ้นแล้ว อุปาทาน ได้เกิดขึ้นแล้ว มันเร็วจนเราจะเห็นได้ว่าพอ ผัสสะ เท่านั้นมันก็เป็น ตัวกู - ของกู เสร็จแล้ว ถ้าพูดอย่างหลักวิชามาแจกเป็นลำดับขั้นตอนของ ปฏิจจสมุปบาท มันก็หลายขั้นตอน แต่ที่มันรู้สึกกับจิตใจของคนเราจริงๆนั้นมันแวบเดียว วูบเดียว เร็วกว่าฟ้าแลบอีก เพราะฉะนั้นจึงพอถูกกระทบเข้าเท่านั้นแหละ เราจึงมีความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น คือ ชอบหรือไม่ชอบ ก็กำลังเร่าร้อนอยู่ด้วยความรู้สึกอันนั้น ทีนี้ปัญหามันคงจะเกิดขึ้นว่า มันเร็วถึงขนาดนี้เราจะทำอย่างไรจึงจะห้ามมันได้? ป้องกันมันได้? คิดดูเองก็จะเห็นได้ว่าที่จะไปห้ามมันนั้นมันไม่มีระยะ ไม่มีช่วงเวลาที่จะไปห้ามมัน เมื่อตาเห็นรูปแล้วนี้ มันก็มีวิธีเดียว คือ วิธีที่จะรู้สึกตัวไว้ล่วงหน้า ฝึกให้เคยชินไว้เสมอ ที่เขาเรียกกันว่า ฝึกวิปัสสนา ฝึกกรรมฐาน / ฝึกวิปัสสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง ฝึกสติ ต้อง ฝึกสติ อยู่เสมอ ฝึกสติ นี้มันมีใจความสำคัญว่า เราจะมีสติในลักษณะที่จะไม่พูด ไม่ทำ ไม่คิดอะไรก่อนจนกว่าจะมีสติเสียก่อน นั่นเป็นหลักใหญ่ของการฝึกสติมีหลักการใหญ่ว่า เราจะฝึกเพื่อให้เราเป็นบุคคลที่จะไม่คิดอะไร ไม่พูดอะไร ไม่ทำอะไร จนกว่าจะรู้สึกตัวเสียก่อน บทเรียนสำหรับฝึกสติเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น ที่เป็นเรื่องยุบหนอ-พองหนอ หรือเป็นเรื่อง อานาปานสติ โดยตรง ๑๖ ขั้นนั้น มันก็เป็นเรื่องฝึกสติให้สมบูรณ์ที่สุด และก็รวดเร็วที่สุด เคยชินที่สุด ก็เป็นคนที่จะไม่คิดหรือตัดสินใจอะไรลงไปทันทีที่ว่ามีการกระทบทาง อายตนะ
การกระทบก็สักว่ากระทบไปก่อน แล้วเราจะรวบรวมสติให้ได้เสียก่อนว่ามันคืออะไร? ถ้าตาเห็นรูปเกิด เวทนา จะมาทันกันตอนไหนก็แล้วแต่ มาทันตอน เวทนา ก็ยังดี เวทนา นี้ก็สักว่าเป็นผลของการกระทบเท่านั้น เกิด สติ-ปัญญา สัมปชัญญะให้รู้ขึ้นมาในขณะนั้นว่า เวทนา นี้สักว่ากระทบเท่านั้นยังไม่คิดอะไรก่อน ถ้ารู้สึกว่า เวทนา สักว่า เวทนา เท่านั้น มันก็จะหยุดกระแสของมันทันที การที่จะเกิดตัณหา อุปาทาน ตัวกู - ของกู มันก็ไปเกิดความคิดว่า อะไรกัน? จะต้องทำอย่างไร? ที่พูดนั้นมันช้ามาก แต่ที่เกิดขึ้นจริงมันเร็วมาก เมื่อรู้ว่า เวทนา สักว่า เวทนา ทีนี้จะทำอย่างไร? หรือไม่ต้องทำอะไร? มันก็รู้มาตามลำดับ
นี่เป็นเรื่องของการไม่เกิด ตัวกู - ของกู ซึ่งมันเป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่ง ไม่จำเป็นจะต้องพูดเดี๋ยวนี้อย่างละเอียด บอกให้รู้ว่ามันเนื่องกันอยู่ที่ตรงนี้ ในวันนี้จะพูดกันแต่ในแง่เดียวที่ว่า ตัวกู นั้นมันเกิดมาจาก ตัวกู นี่มันเกิดมาจากหรือมันตั้งต้นที่หรือแล้วแต่จะใช้คำไหนที่ ผัสสะ ผู้ที่สังเกตก็จะเห็นได้ว่า เราอาจจะพูดได้ว่า ตัวกู นี้ตั้งต้น หรือว่าเกิดมาจาก ตัณหา ก็ได้ เกิดมาจาก เวทนา ก็ได้ เกิดมาจาก ผัสสะ ก็ได้ กระทั่งเกิดมาจาก อวิชชา ก็ยิ่งถูกมากขึ้นไปอีก เพราะถ้าไม่มี อวิชชา - ตัวกู มันเกิดไม่ได้แม้ว่าจะมี ผัสสะ ถ้ามันเป็น ผัสสะ ของ วิชชา เสียแล้วมันก็ไม่เกิด ตัวกู - ของกู ทีนี้ ตัวกู เกิดมาจาก ผัสสะ ก็หมายความ ผัสสะ ที่ตามธรรมดาสามัญของปุถุชนทั่วไป มันไม่มีสติ-สัมปชัญญะ - แต่มันมี อวิชชา เพราะฉะนั้น ปฏิจจสมุปบาท ที่เราได้ยินได้ฟังหรือท่องกันอยู่มันจึงตั้งต้นที่ อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขา ระปัจจะยา วิญญานัง ที่ท่องกันอยู่มี
อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร
สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิด นาม ให้เกิด วิญญาณ
วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิด นาม-รูป
นาม-รูป เป็นปัจจัยให้เกิด อายตนะ
อายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิด ผัสสะ
มีขั้นตอนแทรกไปตรงนั้นหลายขั้นตอน ทีนี้คนก็ไม่เข้าใจ ทำไมพูด ผัสสะ ตรงนี้? แล้วก็เกิด เวทนา ตรงนี้? ที่จริงแล้วมันมีลึกจนถึงกับว่าถ้าไม่มี ผัสสะ แล้ว อวิชชา ก็ไม่มี อวิชชา ก็มาไม่ได้ในขณะแห่ง ผัสสะ เท่านั้น อวิชชา จึงจะมี หรือจะมา หรือจะเกิดขึ้น แล้วเป็นอันว่าอะไรเกิดก่อนเล่า? ผัสสะ เกิดก่อนหรือ อวิชชา เกิดก่อน? นี่มันก็แล้วแต่จะพูด ถ้าพูดอย่างที่เป็นวิชาเป็นทฤษฎีนั้นก็ อวิชชา ให้เกิด สังขาร คือ เกิดอำนาจการปรุงแต่ง ในกรณีนี้ให้เกิด วิญญาณ ขึ้นมา เป็น วิญญาณ ทำหน้าที่สมบูรณ์ ร่างกายกับจิตใจนี้ คือ นาม-รูป นี้จึงจะถูกปรุงแต่งขึ้นมาในลักษณะที่ทำหน้าที่สมบูรณ์ ไอ้ นาม-รูป ที่สมบูรณ์นั้น อายตนะ จึงจะทำหน้าที่ได้ ฟังแล้วกลายเป็นว่า เอาตากับรูปมาไว้หลังจาก นาม-รูป ทั้งนี้ก็เพราะมันพูดได้ทั้งนั้น โดยหลักของธรรมะชั้นสูง ชั้น ปรมัตถ นั้นเขามีหลักว่า เราจะไม่ถือว่าสิ่งนั้นมีจนกว่าสิ่งนั้นจะได้ทำหน้าที่เสียก่อน หรือว่าสิ่งนั้นต้องทำหน้าที่อยู่-จึงจะเรียกว่าสิ่งนั้นมี เช่น เรามิได้มี เรามิได้มีร่างกาย-ถ้าร่างกายยังมิได้ทำหน้าที่ เรามิได้มีจิตใจ-ถ้าจิตใจยังมิได้ทำหน้าที่ เรายังไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ - ถ้า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิได้ทำหน้าที่ เพราะฉะนั้น ในเวลานี้เราก็มิได้มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนกว่าตาจะทำหน้าที่เห็นรูปเสียก่อน-เราจึงจะมีตาขึ้นมา หรือว่ารูปที่ตาเห็นนี้จึงจะเกิดขึ้นมา พึ่งเกิดเดี๋ยวนั้นเองไม่ได้ถือว่า.....อย่างเราเห็นต้นไม้ ต้นไม้นี้เกิดอยู่ตลอดเวลา นั่นเป็นเรื่องทางธรรมชาติ ทางวัตถุ ถ้าทางธรรมะนั้นถือว่า ต้นไม้นั้นเกิดขึ้นมาเมื่อตาเหลือบไปเห็น ถ้าไม่เข้าใจข้อนี้จะไม่เข้าใจธรรมะในพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น คงทำความยุ่งยากลำบากให้แก่ฝรั่งมาก เพราะว่าเขามันมองหรือศึกษากันมาแต่ในแง่ของวัตถุ ของ Physic ของ Matter เขาก็จึงถือว่าต้นไม้มันมีอยู่ตลอดเวลา-ก็ถูกนี่ แต่หลักธรรมะเกี่ยวกับความทุกข์ทางจิตนี้ก็ถือว่า สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นมาต่อเมื่อมีการสัมพันธ์กันทาง อายตนะ เมื่อตาเหลือบไปเห็นต้นไม้-มีการเห็นต้นไม้ มีการรู้สึกต่อต้นไม้ จึงจะเรียกได้ว่าต้นไม้มันเกิดขึ้นมา เพราะฉะนั้น ต้นไม้นั้นก็เกิดมาจาก ผัสสะ ของเรา ต้นไม้ต้นนั้นก็เกิดมาจาก ผัสสะ ของเรา นี่เป็นเรื่อง นามธรรม มันเป็นเรื่องฝ่าย นามธรรม เราจึงว่าต้นไม้ต้นนี้นั้นเกิดมาจาก ผัสสะ ของเราเพราะเราไปเห็นมันเข้า ส่วนฝ่ายทางนั้นทางฟิสิกส์ เขาพูดว่ามันเกิดอยู่ตลอดเวลา เกิดอยู่ในดิน เกิดมาจากเมล็ดพืช มีอาหารในดินหล่อเลี้ยง มันก็อยู่ตลอดเวลาไปอย่างนั้นก็ตามใจมัน ทางเราไม่ได้พูดอย่างนั้น เพราะฉะนั้น มันไม่ได้มีความหมายอะไรแก่เรื่องนี้ เรื่องจิตที่เป็น ตัวกู - ของกู นี้ แล้วเมื่อใดเหลือบไปเห็นต้นไม้-มันก็เกิด เมื่อใดไม่สนใจตรงนั้น-ก็ดับไป เห็นอย่างอื่นอีกก็เหมือนกัน ฝ่ายภายนอกก็ว่าเกิดเมื่อมี ผัสสะ ทีนี้ ฝ่ายภายในก็เหมือนกัน ตานี้ก็เพิ่งเกิดเรามิได้มีตาอยู่ตลอดเวลา ตาเกิดเมื่อตาเห็นรูป มีรูปมาให้ตาเห็น เพราะฉะนั้น ตาเราก็เพิ่งเกิดเมื่อมี ผัสสะ อีก ถ้า ผัสสะ ไม่มี ไอ้ต้นไม้ ไอ้รูปที่เห็นนั้นก็ไม่มี ตานี้ก็ไม่มี จึงว่าอะไรก็ตามมันเกิดที่ ผัสสะ นี้เป็นของแปลกสำหรับคนที่ไม่เคยฟังมาอย่างนี้
ในภาษาที่ใช้อยู่ก็จะถือว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมนี้ เป็นหลักยืนพื้น จะเป็นธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ หรืออะไรทั้งหมดมีเพียง ๖ ธาตุ เป็นหลักวัตถุแห่งการศึกษา เราเรียกกันว่า ธาตุ จะแจกเป็น ๔ หรือ เป็น ๖ ก็ตาม เรียกว่า ธาตุ ทางฝ่ายวิชาวัตถุเขาก็ถือว่า ธาตุ มีอยู่ตลอดเวลา แต่ทางฝ่ายธรรมะชนิดนี้ ปรมัตถธรรม ชนิดนี้ยังพูดถึงกับว่า แม้แต่ ธาตุ ก็เพิ่งเกิด ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ ในที่ประกอบกันอยู่เป็นตัวเรานี้มันก็เพิ่งเกิด เมื่อธาตุมันทำหน้าที่ ทำหน้าที่ของมัน เรียกว่า ธาตุมันเกิด ธาตุดินมันเกิด ธาตุน้ำมันเกิด ธาตุไฟมันเกิด พอมันหมดหน้าที่-มันก็ดับไป แต่คนก็มิได้ตายใช่ไหม? สำนวนในภาษาธรรมมันเป็นอย่างนี้ ในภาษาวัตถุก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงฟังกันไม่ค่อยจะถูก ธาตุดินเกิด ธาตุน้ำเกิด ธาตุอะไรมันเกิด เดี๋ยวธาตุดินดับ ธาตุน้ำดับ มันก็ฟังไม่ถูก เพราะเอาภาษาวัตถุมาปนกับภาษานาม-ภาษา ปรมัตถ์ เพราะฉะนั้น อย่าได้เถียงกันเพราะเรื่องนี้ ถ้าใครจะพูดว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ มีอยู่ตลอดเวลาก็ได้ นั่นพูดอย่างภาษาคน แต่ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ธาตุเกิด-ปรากฏแห่งธาตุนี้ หมายถึง ทางภาษาธรรมเท่านั้น จะเป็นธาตุอะไรก็ตามมันมีเกิดดับ เกิดดับอยู่เสมอ จะทีเดียวทั้ง ๔ ก็ได้ จะดิน น้ำ ลม ไฟ รวมกันเป็น วัตถุเนื้อหนังนี้ ถ้าเนื้อหนังส่วนนั้นมันทำหน้าที่ เขาก็เรียกว่า ธาตุ มันเกิดเป็น อายตนะ ขึ้นมา อย่างลูกตานี้มันก็เป็นรูปธรรม ประกอบอยู่ด้วยดิน น้ำ ลม ไฟ นี้ เป็นก้อนเนื้อลูกตา ถ้าเรามองในแง่ของวัตถุก็มีอยู่ตลอดเวลา ดิน น้ำ ลม ไฟ มันมีลูกตาอยู่ตลอดเวลา แต่มองในฝ่าย ปรมัตถธรรม หรือทางที่สูงสุดของวิชาเรื่องจิตนี้ ก็มิได้เกิดอยู่ตลอดเวลา แต่เกิดเมื่อมันทำหน้าที่ เมื่อตาทำหน้าที่เห็นนั้น ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่เป็นก้อนลูกตานี้จึงทำหน้าที่อย่างตา อย่างกับว่าเป็นตาแล้วก็มีการเห็น เพราะฉะนั้น จึงรู้จักไว้ทั้ง ๒ ฝ่ายว่า
ฝ่ายที่พูดว่ามีอยู่ตลอดเวลาก็มีอย่างวัตถุ อย่างง่ายๆ อย่างภาษาธรรมดาของคนไม่รู้
ถ้าพูดอย่างผู้รู้โดยเฉพาะหลักของพุทธศาสนานี้ จะต้องพูดโผงออกไปเลยว่า มันมีเกิดและดับ มีเกิดและดับ มีเกิดและดับ จะถามว่าเมื่อไหร่-เกิด? ก็คือ มันทำหน้าที่ตามหน้าที่ของธาตุนั้นๆ ของ อายตนะ นั้นๆ และเมื่อไรมันดับเล่า? ก็เมื่อมันหยุดทำหน้าที่ เพราะว่าหน้าที่มันจะเปลี่ยนอีก มันจะเปลี่ยนหน้าที่อันอื่นอีก เป็นกรณีอื่นอีก จะตาจะไปเห็นรูปอื่นอีกก็ได้ หรือว่าเรื่องตาหมดไปแล้วเรื่องหูจะมา เรื่องหูหมดไปแล้วเรื่องกลิ่นจะมานี้ เพราะมันเปลี่ยนหน้าที่นี้มันต้องมีการดับในหน้าที่นั้นๆเสียก่อน
ทีนี้ มันจะเปลี่ยนไม่ได้ถ้าไม่มี ผัสสะ อันใหม่เข้ามา ที่โอกาสที่จะเปลี่ยนหน้าที่มันก็มีเรื่อย หน้าที่ทางตาหมดไป หน้าที่ทางหูเข้ามาแทน หน้าที่ทางจมูกทางลิ้นเข้ามาแทนวนเวียนกันไป แต่ข้อเท็จจริงมันยังคงอยู่ที่ว่าเพราะมี ผัสสะ ที่นั่นจึงเกิดมีอะไรขึ้นมา เกิดความรู้สึกขึ้นมาและเรียกว่าสิ่งนั้นๆมันก็เกิดขึ้นมา คือ ตาเกิด หูเกิด จมูกเกิด ลิ้นเกิด อะไรเกิด ก็เป็นเรื่องฟังไม่เข้าใจสำหรับคนที่ศึกษามาอย่างธรรมดา อย่างเรื่องวัตถุธาตุ-ทางนั้นเขาฟังไม่เข้าใจ นี่คือข้อแรกที่สุดที่ว่าฝรั่งจะฟังไม่เข้าใจ ในคำอธิบายพุทธศาสนาเรื่องเกิด-ดับ เกิด-ดับ แม้แต่คนไทยเราเองก็ฟังไม่เข้าใจ อย่าไปดูถูกฝรั่งนักเลยแม้แต่คนไทยเองก็ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น จึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะให้รู้ว่า ทุกอย่างนั้นตั้งต้นที่ ผัสสะ ให้รู้มันมีอะไรขึ้นมาก็เพราะว่ามันมี ผัสสะ อย่างว่ามีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ในภาษานามธรรมนี้มันจะมีต่อเมื่อมี ผัสสะ โน่น เพราะฉะนั้น ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ ที่มีอยู่ก่อนนั้นเป็นเรื่องรูปธรรม เป็นเรื่องที่ไม่มีความหมายอะไร เพราะฉะนั้น จึงต้องแยกออกเป็น ๒ ชนิด ธาตุดิน-น้ำ-ลม-ไฟ อย่างธรรมชาติแท้ๆอาจจะมีได้อยู่ตลอดเวลา แต่ที่จะมาเกี่ยวกับคน มาเกี่ยวกับจิตใจของคน เกี่ยวกับธรรมมะที่เป็นความทุกข์-ดับทุกข์แล้ว มันต้องเปลี่ยนรูปมาเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ที่มันกำลังทำหน้าที่เท่านั้นเอง ถ้าธาตุทำหน้าที่ก็ทำหน้าที่สร้าง อายตนะ ขึ้นมา ดิน-น้ำ-ลม-ไฟที่ประกอบกันเป็นลูกตานี้ก็ทำหน้าที่เป็น อายตนะตา ขึ้นมา ดิน-น้ำ-ลม-ไฟที่ประกอบกันขึ้นเป็นหู เป็นระบบหู เป็นประสาทหูนี้ มันก็ทำหน้าที่เป็น อายตนะหู ขึ้นมา ก็จะเห็นได้ว่า อายตนะตา อายตนะหู นี้เราไม่ได้มีตลอดเวลา แต่ว่าครูบาอาจารย์อาจจะสอนกันอย่างหละหลวม หรือได้ยินได้ฟังกันมาอย่างหละหลวมว่าเรามี อายตนะ อยู่ตลอดเวลา ถ้าดูตามหลัก ปฏิจจสมุปบาท แล้วมันมีไม่ได้ มันต้องมีตอนที่มันทำหน้าที่โดย ผัสสะ
ย้ำให้เข้าใจง่ายอีกหน่อยก็ว่า ธาตุ ทางวัตถุ ธาตุ ก็มีอยู่ตลอดเวลา ทีนี้ ธาตุ ที่จะมาประกอบกันเข้าทำหน้าที่เป็น อายตนะ นั้นมันเพิ่งมีเมื่อมันต้องทำหน้าที่อันนั้นทำหน้าที่เป็น อายตนะ เช่น อายตนะตา ขึ้นมาแล้ว มันมีการเห็นรูป มีความรู้สึกต่อรูป รับเอาอะไรของรูป มันจึงทำหน้าที่เป็น ขันธ์ ขึ้นมา คือ ขันธ์ ๕ นั้น ที่พูดกันอย่างหละหลวมว่าเรามี ขันธ์ ๕ ตลอดเวลาแม้กระทั่งนอนหลับนั้น-ไม่รู้ใครพูด แล้วก็ไม่รู้ใครเชื่ออย่างนั้นบ้าง หรือว่าเชื่อกันอยู่ทั่วๆไปก็ได้ว่าเรามี ขันธ์ ๕ ตลอดเวลา หรือเรามี ธาตุ ในความหมายที่แท้จริงอยู่ตลอดเวลา พอมี อายตนะ หรือว่า ธาตุทั้ง ๔ ทำ อายตนะตา ขึ้นมา ตาทำหน้าที่เห็นรูป ในขณะแห่ง ผัสสะ นั้นขณะนั้นขณะเดียวเท่านั้น ธาตุทั้ง ๔ ปรุงตาเป็น อายตนะ ขึ้นมา เห็นรูปข้างนอกซึ่งที่แท้มันมีอยู่แล้วแต่เรายังไม่เห็น เราเรียกว่า มันยังไม่เกิด พอตาไปเห็นเข้าเรียกว่า รูป มันเกิด รูปมันเกิดแล้วตาก็มี-ก็เห็นรูป ก็เกิดการเห็นทางตา คือ จักษุวิญญาณ ตอนนี้ก็พอจะเรียกได้ว่า รูปขันธ์ ได้เกิดขึ้นแล้ว รูปขันธ์ ที่เป็นตา หรือว่าที่เป็นร่างกายที่เป็นเนื่องกับตาอะไรก็ตามมัน รูปขันธ์ ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว มีการเห็นทางตาแล้ว วิญญาณขันธ์ มันก็ได้เกิดขึ้นแล้ว คือ จักษุวิญญาณ ในระดับแรกไม่ใช่ระดับสมบูรณ์ ทีนี้ เมื่อมี วิญญาณ รู้สึกต่อ รูป ขึ้นแล้ว มี ผัสสะ แล้วนะ มันก็เกิด เวทนาขันธ์ - รู้สึกว่าพอใจ / ไม่พอใจในรูปที่เห็นนั้น นี่ เวทนาขันธ์ เกิดขึ้นแล้ว สำหรับ ผัสสะ นั้นสงเคราะห์ไว้ในฝ่าย สังขารขันธ์ ก็ได้ คือ การเกิดขึ้นแต่ไม่สมบูรณ์ ยังไม่สมบูรณ์ เวทนา นี้เกิดขึ้นแล้วด้วยอำนาจของ ผัสสะ ทีนี้ มันก็จะเกิด สัญญา / เวทนา แล้วก็เกิด สัญญา - สำคัญมั่นหมายใน เวทนา นั้นว่าเป็นอย่างไร? แม้ที่สุดจะถือว่าจำได้ว่า เวทนา นี้เป็นอย่างไร? ก็เป็น สัญญา เหมือนกัน เขามักจะสอนกันว่า สัญญา คือ จำได้หมายรู้ ว่ารูปอะไร เสียงอะไร กลิ่นอะไร ถ้าอย่างนี้แล้ว สัญญา นั้นเกิดมาแล้วตั้งแต่เมื่อตากระทบรูป เมื่อหูกระทบเสียงโน่น นั้นไม่ใช่ สัญญา ที่แท้จริงหรอก สัญญา ที่แท้จริง คือ ความสำคัญมั่นหมายลงไปว่ามีอร่อยหนอ สุขหนอ ทุกข์หนอ เราหนอ ของเราหนอนี้ เวทนา นั้นได้เกิดขึ้นแล้ว ตามสำคัญมั่นหมายลงไปตามคุณค่าของ เวทนา นั้น ถ้าชอบใจก็ สุขสัญญา เกิดขึ้น ไม่ชอบใจก็ ทุกขสัญญา เกิดขึ้น ถ้าสวยงามก็ ศุภสัญญา เกิดขึ้น ไม่ได้งามก็ อศุภสัญญา เกิดขึ้น กระทั่งว่าเป็น อัตตสัญญา เกิดขึ้นว่า กูเสวยอยู่ใน เวทนา นั้น เวทนา นั้น ของกู สัญญา นี้เป็น สัญญา ที่สมบูรณ์ คือ มั่นหมายลงไปว่าเป็นอะไร ถ้าเพียงแต่จำได้หมายรู้อะไรเป็นอะไรนั้นไม่ใช่ สัญญา ที่สมบูรณ์และเป็น สัญญา ตามธรรมชาติด้วย เมื่อเกิดมาอายุหลายวันเข้ามันก็พอจะจำได้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่มันไม่ได้มั่นหมายในลักษณะคุณค่า จำได้ว่าดอกไม้ - สัญญา นั้นก็จำได้ว่าดอกไม้ แต่สัญญาที่หลังมันมั่นหมายลงไปว่าสวย ว่าน่ารัก น่าพอใจ และมาเป็น ของเรา นี่คือ สัญญาขันธ์ ที่สมบูรณ์ เกิดหลังจาก เวทนาขันธ์ เกิดขึ้นแล้ว ทีนี้มี สัญญา อย่างนี้แล้วก็เกิด สังขารขันธ์ โดยง่าย คือ มั่นหมายลงไปอย่างนี้แล้ว ก็คิดที่จะทำอย่างไรตามความมั่นหมายนั้น จะยึดครองหรือว่าจะบริโภค หรือว่าจะเสวยหรือว่าจะขโมย หรือว่าจะอะไรก็สุดแท้ ไอ้ความคิดตอนนี้เป็น สังขารขันธ์ หมด-เป็นความปรุงแต่ง เรียกว่า สังขาร แต่ก็หมายถึงความคิด นี่เราจึงได้ครบทั้ง รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์
วิญญาณขันธ์ นั้นมีได้หลายขั้นตอน อย่างตาเห็นรูป-ก็เป็น จักษุวิญญาณ นี่ก็ตอนหนึ่งแล้ว พอเกิด เวทนา เป็น สุขเวทนา ขึ้นมา มโน ได้สัมผัสลงไปบน เวทนา นั้นเป็น มโนวิญญาณ อะไรขึ้นมาอีกนี้ เป็น วิญญาณ ที่จริงกว่า จริงกว่า จักขุวิญญาณ เพราะฉะนั้น ในกรณีอย่างเห็นรูปทางตานี้มี วิญญาณ ชนิด จักษุวิญญาณ ก่อน แล้วก็ต้องเกิดไอ้พวก มโนวิญญาณ - รู้สึกต่อ เวทนา นั้นๆในขั้นสมบูรณ์ ดังนั้น เอา วิญญาณ มาเรียงไว้เป็นลำดับที่ ๕ นี้มันก็ถูกแล้ว แต่มันทำงานได้ในบางส่วนตั้งแต่ขั้นแรก คือ เมื่อตาเห็นรูปเกิด จักษุวิญญาณ ไปจนเกิด เวทนาขันธ์ เกิด สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ แล้ว วิญญาณ มารั้งท้ายไว้อีกทีก็ถูก เพราะมันจะรู้สึกต่อความรู้สึกต่างๆได้ทุกขั้นตอน นี่คือ การที่ ขันธ์ ทั้ง ๕ มิได้มีอยู่พร้อมกันทั้ง ๕ ขันธ์ เพราะจิตนี้มันจะให้โอกาสความรู้สึกได้ทีละอย่าง ละอย่างเท่านั้น ทีนี้ เราจึงมี ขันธ์ ๕ ตามลำดับ ตามขั้นตอนแห่งการเกิดของ ขันธ์ นั้น เราจะไม่มีโอกาสพร้อมกันคราวเดียวทั้ง ๕ ขันธ์ อย่างที่เขาเข้าใจกัน
ทีนี้ สิ่งที่อยากจะให้ดูพิเศษก็ว่าอะไรก็ตาม รูป มันก็มาจาก ผัสสะ ถ้าไม่มี ผัสสะ แล้วไอ้ตาจะเป็นอย่างนี้ไม่ได้ คือ ตามากระทบกับ รูป เป็น ผัสสะ และมันยังเกิดอะไรที่เป็นพวกรูปธรรม เป็นตา เป็นรูปอะไรขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ ท่านจึงได้ตรัสเป็นรูปพระบาลีว่า จกฺขุญฺจ ปฏิจฺจ รูเป จ เพราะอาศัยซึ่งตาด้วย ซึ่งรูปด้วย แล้วมันจึงเกิดเป็น ตาจริง ขึ้นมา จึงเกิดรูปก้อนเนื้อตาที่แท้จริงขึ้นมา คือ ที่กำลังทำหน้าที่ นี่ ในภาษาธรรมะก็เป็นอย่างนี้ และแม้แต่ รูปขันธ์ ก็เกิดขึ้น ..รูปขันธ์ ใน ขันธ์ ๕ นี้มันก็เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อมันมี ผัสสะ อะไรลงไปแล้ว ส่วน เวทนา นั้นก็เห็นชัดอยู่แล้วว่ามาจาก ผัสสะ / สัญญา มาหลังจาก เวทนา มันก็มาจาก ผัสสะ / สังขาร คิดนึกไปตาม สัญญา นั้นมันก็คือมาจาก ผัสสะ ไอ้ วิญญาณ นี้ทุกระดับไม่ว่า วิญญาณ ชั้นไหนก็มีได้เพราะมันมี ผัสสะ ก่อน เรียกว่า ขันธ์ทั้ง ๕ ดูแล้ว ในแง่ที่ละเอียดแล้วก็จะพบว่า มันมาจาก ผัสสะ ไม่แง่ใดก็แง่หนึ่ง
ทีนี้ ที่ละเอียดลึกไปอีก ก็คือ ไอ้พวกความเชื่อ ความเห็น คนเรามันก็มีความเชื่อว่าอย่างนั้น เชื่อว่าอย่างนี้ เชื่อพระพุทธ เชื่อพระธรรม พระสงฆ์ เชื่อกรรม เชื่ออะไรก็ตามที่เป็นความเชื่อ แม้ความเชื่อทุกชนิดมันก็มาจาก ผัสสะ เป็น ผัสสะ ชั้นลึกของ มโนวิญญาณ ที่ไปสัมผัส ธรรมารมณ์ อันนี้เข้า ก็ปรุงให้เกิดความคิดอย่างนี้ บ่อยๆเข้ามันก็เชื่อ ศรัทธาก็มาจาก ผัสสะ / ทิฏฐิ ความคิดเห็นผิด คิดเห็นถูก สัมมาทิฏฐิ / มิจฉาทิฏฐิ มันก็มาจาก ผัสสะ เพราะถ้าไม่มี ผัสสะ แล้วมันจะเกิดความมั่นหมายอะไรไม่ได้ ทิฏฐิ นี้ก็คือตัว สัญญา หรือว่าบางขั้นตอนก็มาจาก สัญญา-ความมั่นหมายว่าอะไร ถ้าไม่มี ผัสสะ ให้เกิดผลมันจะมั่นหมายลงไปที่ไหนได้ ความมั่นหมายก็ดี ความคิดเห็นผิด/ถูกก็ดีมันต้องมี ผัสสะ ของ มโนวิญญาณ ลงไปใน ธรรมะ นั้นๆ ในความผิด/ความถูก/ความหลอกลวง/ความจริงอะไรก็ตามก่อน แล้วมันจึงจะเกิดเป็นรูป ทิฏฐิ ขึ้นมาประจำบุคคลคนนั้นว่าเขามี ทิฏฐิ อย่างไร? เพราะฉะนั้น บรรดามิจฉาทิฏฐิ ทั้งหลาย หลายสิบอย่าง หลายร้อยอย่างมันก็มาจาก ผัสสะ ทีนี้ สัมมาทิฏฐิ ทั้งหลายมันก็มาจาก ผัสสะ ให้มอง ผัสสะ ในแง่นี้ก็จะพบความจริงอันลึกซึ้งที่สุด จนกระทั่งพูดได้ว่า รูปธรรม ก็ดี นามธรรม ก็ดี มันมาจาก ผัสสะ อย่างโลกทั้งโลกนี้มันมีเพราะว่าเรารู้สึกต่อมัน ถ้าเราไม่รู้สึกต่อมัน-มันก็ไม่มี โลกอย่างที่มันมีอยู่อย่างนี้ อย่างทุกวันนี้ ถ้าเราไม่รู้สึกต่อมัน-มันก็เท่ากับไม่มี ฟังถูกหรือไม่ฟังถูกไปคิดดูให้ดี ทำไมเราไปรู้สึกต่อมัน? ก็เพราะมันมี ผัสสะ ต่อโลกนั่นเอง เพราะฉะนั้น โลกนี้จึงมาจาก ผัสสะ ตั้งต้นที่ ผัสสะ เกิดขึ้นจาก ผัสสะ เมื่อใดไม่มี ผัสสะ โลกนี้ก็ไม่มี เมื่อเรานอนหลับ-โลกนี้ไม่มี ไอ้ลูกเด็กเล็กๆมันก็ว่าบ้า ก็มันยังมีอยู่ เห็นว่ามันยังมีอยู่ ไอ้เราบอกว่านอนหลับโลกนี้ไม่มี มันพูดกันคนละภาษา ภาษาวัตถุมันก็พูดไปอย่าง ภาษาธรรมมันก็พูดไปอย่าง ภาษาธรรมจะมีหลักว่าเมื่อมีสัมผัสรู้สึกอยู่ต่อสิ่งนั้น-ถือว่าสิ่งนั้นมี ส่วนข้างในของเรานี้ เช่น สัมผัสนี้ ก็เหมือนกัน เมื่อยังไม่ทำหน้าที่ ไม่อยู่ในขณะที่กำลังทำหน้าที่-ก็เท่ากับไม่มี เรามี ตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย-ใจ เฉพาะเมื่อมันทำหน้าที่ สัมผัส เท่านั้น เมื่อ สัมผัส รู้สึกอะไรอยู่-สิ่งนั้นมี
เพราะฉะนั้น เราก็พยายามฝึกฝนให้ดี ให้มันมีแต่สิ่งที่ควรจะมีซึ่งจะไม่เป็นทุกข์ ที่อยากจะพูด อยากจะพูดไอ้ที่ไม่อยากจะพูด หรือว่าลังเลว่าควรจะพูดหรือไม่ควรจะพูด เช่น จะพูดว่าบุญหรือบาปมี มันก็เฉพาะเมื่อมี ผัสสะ เท่านั้น เมื่อมี ผัสสะ ต่อบุญ-บุญมันก็มี เมื่อมี ผัสสะ ต่อบาป-บาปมันก็มี มันเป็นธรรมชาติแท้จริงเหลือเกิน แต่ถ้าพูดอย่างนี้มันทำลาย...ทำลายกำลังศรัทธา กำลังอะไรของคนที่ยังไม่ถึงธรรมะนี้ อาจจะเป็นอันตรายแก่เขา เดี๋ยวมันก็จะกลายเป็นไม่ถือบุญ-ไม่ถือบาปไม่ถืออะไรไปเสีย แต่โดยข้อเท็จจริง ให้พูดจริงก็พูดได้ว่าบุญ-บาปมันมีก็เมื่อมี ผัสสะ เท่านั้น เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านเป็นอะไร? เป็นนักวิทยาศาสตร์ มันก็วิทยาศาสตร์ยอดสุด สูงสุดตามแบบของท่านที่ท่านพูดลงไปอย่างนี้ มันเป็นวิทยาศาสตร์ยิ่งกว่าวิทยาศาสตร์ คือ ท่านพูดจริงยิ่งกว่าที่เขาพูดจริงกันอยู่ ท่านก็บัญญัติความจริงยิ่งกว่าความจริงที่เขาบัญญัติหรือพูดกันอยู่ จึงถึงกับสรุปอยู่ในประโยคสั้นๆว่า ทุกอย่างมันตั้งต้นที่ผัสสะ ปราศจาก ผัสสะ แล้วไม่มีอะไรตั้งต้นได้ หรือไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้ หรือมีอยู่ได้ ทีนี้ เราก็ไปหลงใหลในสิ่งซึ่งสักว่าเป็น ผลิตผลของ ผัสสะ คนโง่ก็ไปหลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงยินดียินร้าย ต่อผลิตผลซึ่งเป็นของ ผัสสะ เท่านั้นเอง เป็นของมายา ลมๆแล้งๆ นี่ พูดถึงเรื่องว่า ตัวกู ตั้งต้นที่ ผัสสะ ความมุ่งหมายต้องการจะพูดเพียงเท่านั้น แต่ว่าพูดแล้วมันก็เลยมาถึงว่า ทุกอย่าง มันตั้งต้นที่ ผัสสะ ให้เห็นไปด้วยในคราวเดียวกัน
ทีนี้ ก็กลับมาที่ไอ้เรื่อง ตัวกู ใหม่ มันตั้งต้นที่ ผัสสะ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ต้องการจะควบคุมหรือกำจัด ตัวกู ก็ต้องควบคุม ผัสสะ พระองค์นี้เทศน์ไม่พอใจ โกรธแล้ว มันตั้งต้นที่ไหนเล่า? - ที่ ผัสสะ ที่มันไม่พอใจที่พระองค์นั้นเทศน์ ตัวกู มันเกิดขึ้นมาแล้วจาก ผัสสะ นั้น เป็น ตัวกู ที่รู้สึกไม่พอใจอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้าจะควบคุม ตัวกู ต้องระวังให้มีการควบคุม ผัสสะ อยู่เสมอ อย่าให้ เวทนา นั้นมันหลอกเอาได้ พระองค์นี้เทศน์น่าฟัง องค์นี้เทศน์ไม่น่าฟัง ถึงคราวนั้นมันก็ไม่แน่ แม้เทศน์ไม่น่าฟังนั้นถ้าฟังเป็นแล้วมันจะยิ่งมีประโยชน์มากกว่าที่น่าฟังเสียอีก มันต้องมีความหมายหรือว่ามีอะไรที่มีค่า ที่เราได้ยินแล้วถ้าว่ามันเป็นฝ่ายผิด-ก็ทำให้เรารู้ถูก ถ้ามันเป็นฝ่ายที่ใช้ไม่ได้-ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้จักไอ้ฝ่ายมันใช้ได้ ไม่อย่างนั้นเราจะรู้จักฝ่ายที่ถูก ที่ดี ที่ใช้ได้ ได้อย่างไร? เพราะฉะนั้น เมื่อ ทุกขเวทนา เกิดขึ้นก็เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่เราจะรู้จักในสิ่งที่เราไม่ค่อยรู้จัก ทีนี้ เราก็ไปโกรธเสีย ไปกลัดกลุ้มเสียด้วยความโง่ ก็เลยไม่รู้จักว่าไอ้ ทุกขเวทนา นี้เป็นอย่างไร? จะเกิดอย่างไร? จะดับอย่างไร? เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรหรอกที่จะไม่มีค่าถ้าเรารู้จักต้อนรับให้ดี คำด่าก็มีค่ากว่าคำสรรเสริญ คำกระทบกระแทกแดกดันยิ่งมีค่าที่สุดถ้ารับเอาเป็น ทีนี้คนมันโง่มันรับเอาไม่เป็นมันรับเอามาโกรธ มันก็เลยยิ่งโกรธใหญ่ ตัวกู มันยิ่งขยายใหญ่ออกไป เพราะฉะนั้น มีหลักในเรื่องนี้กันเสียบ้างว่า ไอ้คำด่าเป็นคำชี้ขุมทรัพย์ คำขนาบเป็นคำชี้ขุมทรัพย์ และความโกรธมันก็จะมาน้อย แล้วก็จะฟังมากขึ้น แล้วจะเข้าใจในคำด่า คำประชดแดกดัน ว่าเป็นสักว่าเสียงเท่านั้น และก็ เวทนา เกิดขึ้นเพราะเสียงนี้ ถ้าศัตรูมา-ก็ให้ถือว่ามันมาสอบไล่ ไอ้คนที่เราเกลียด เกลียดน้ำหน้ามัน เห็นหน้ามันแล้วอยากจะตายเองได้ยินเสียงแล้วอยากจะตายเอง นั่นก็เรียกว่า ศัตรู เราก็เกลียดน้ำหน้ามัน ทีนี้ เราก็ไม่อยากพบอยากเห็นอยากไปหมด มันก็อยู่กันในโลกนี้อย่างนั้นมันก็มีศัตรู มันก็เดือดร้อนอยู่ด้วยโลกมันเต็มไปด้วยศัตรู ไม่ชอบอย่างนั้น ไม่ชอบอย่างนี้ ทีนี้ พอมาถึงเข้าจริง ไอ้คนนั้นมันก็ตกนรกทั้งเป็นเลย ทั้งที่ศัตรูมันยังไม่รู้อะไรก็ได้ สมมุติว่าศัตรูเดินผ่านมา มันยังไม่ทันเห็นเรา เราไปเห็นมันเข้าก่อน-เราก็ตกนรกก่อน ตกนรกหมกไหม้ยิ่งกว่าตกนรก อยากจะให้ถือเป็นหลักว่า ศัตรูนั้นแหละมันมาสอบไล่ก่อน มันมาสอบไล่ ศัตรู คือ ผู้ที่มาสอบไล่เรา ทีนี้ พอเราเห็นหรือว่าได้ยินเสียงศัตรู เราก็ตกนรกกันแล้วก็เลยไม่ต้องสอบไล่ ต้องรู้จักจะต้องต้อนรับศัตรูในฐานะที่มาเพื่อสอบไล่ ว่าใจคอของเราเป็นปกติไหม? ก็เพียงแต่สักว่าได้ยินเสียงไอ้คนที่เราไม่ชอบ หรือว่าเห็นหน้าคนที่เราไม่ชอบ หรือได้ยินคนเขาสรรเสริญคนที่เราไม่ชอบนี้ คือ ศัตรูของเราแล้วเรารู้สึกอย่างไร? มันก็ควรจะถือเป็นโอกาสที่ว่าเรามีจิตใจอย่างไร? มีธรรมะกี่มากน้อย? ถ้ายินดีทำกันอย่างนี้แล้วก็คงคิดว่าจะก้าวหน้าในทางธรรมะเร็วมาก ไม่มาเป็นหัวหลักหัวตอเฝ้า วัฏฏะ อยู่อย่างนี้ มัวแต่ยินดียินร้าย ยินดียินร้าย ยินดียินร้ายอยู่อย่างนี้ ก็เรียกว่า เป็นหลักตอใน วัฏฏะ ไม่มองเห็นแล้วมันจะถอย จะถอนออกไปได้อย่างไร? จะถอนออกไปได้อย่างไร? นี่ เพียงแต่ถือว่าศัตรูเป็นผู้มาสอบไล่นี่ก็วิเศษแล้ว เรื่องอื่นปัดไปทิ้งไปเสียก่อน ทำการสอบไล่กับมันก่อน เราชนะมันได้กี่มากน้อย? ทีนี้ เราทำการสอบไล่ได้อย่างนี้ ก็เรียกว่า มันมาให้ขุมทรัพย์ คือ มาเพื่อช่วยให้ลด กิเลส ลงไป ลด กิเลส ลงไป ก็จะเป็นผู้มี กิเลส เบาบาง
เดี๋ยวนี้ ถ้าเราไม่มีหลักอย่างนี้ก็ว่า คนนี้มันเป็นศัตรูกันแล้วมันก็เกลียด แล้วมันก็อยากจะทำลายซึ่งกันและกันอยู่เสมอไป-ไม่มีธรรมะเลย ไม่เจริญในทางธรรมะเลย ทีนี้ ก็ลองคิดดูว่าไอ้คนชนิดนี้ที่จะรู้ว่า ตัวกู เกิดจาก ผัสสะ คนที่เป็นหัวหลักหัวตอใน วัฏฏะ อย่างนี้ที่จะเป็นคนมารู้ว่า ตัวกู มันเกิดจาก ผัสสะ เท่านั้น ตัวสู ก็เหมือนกัน ตัวฝ่ายเขาก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ตัวกู ก็เป็น กิเลส ของแต่ละคน ของแต่ละฝ่าย ที่ล้วนเกิดมาจาก ผัสสะ ทีแรก ทำไมจึงเกิดไม่ชอบน้ำหน้าไอ้คนนี้ขึ้นมาเล่า? ก็เพราะว่ามันต้องมี ผัสสะ ครั้งหนึ่งแน่นอนก่อนหน้านี้ที่ทำให้เกิดไม่ชอบหน้าไอ้คนนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายอะไรก็ได้ ผัสสะ อันนั้นมันทำให้เกิดความสำคัญมั่นหมายเป็น ตัวกู และก็ศัตรู ของกู คือ ตัวสู ก็เป็นกันอย่างนี้เรื่อยๆไปจนตายเลย จึงรีบพูดเรื่อง ตัวกู - ของกู กันทุกครั้งที่มีการบรรยายที่เรียกว่า ธรรมะปาฏิโมกข์ ก็บอกให้ทราบว่า พูดกันมากี่ปีแล้ว? ๓-๔ ปีแล้ว ไม่รู้กี่สิบครั้งแล้ว ก็พูดแต่เรื่อง ตัวกู - ของกู เท่านี้ คนเขาก็ไม่ค่อยสนใจเอาไปศึกษา ก็ยังไม่ค่อยมีผลอะไรปรากฏ แต่ก็ต้องยังพูดเรื่อยไป อย่างวันนี้ก็พูดเรื่องว่า ตัวกู นี้ตั้งต้นที่ ผัสสะ เพราะฉะนั้น พอมีอะไรมา ผัสสะ ทางตา ทางหู ทางอะไรก็ระวังให้ดีเถิด ตัวกู มันจะเกิดแล้ว หรือถ้ามันเกิดแล้วก็ให้มันดับไปภายในพริบตาเดียว พอมีสติรู้ทันทีมันก็ดับไปทันที ภายในพริบตาเดียว ตัวกู มันก็ดับไปทันที อย่างนี้ก็ยังดียังวิเศษ ดีกว่าเก็บไปดองไว้เป็นนรกหมกไหม้อยู่ในใจทั้งวันทั้งคืน เพราะฉะนั้น เมื่อใดมี ผัสสะ - เป็นเวลาที่สำคัญที่สุดที่จะต้องต้อนรับ ผัสสะ นั้นให้ดี เพราะมันจะต้องเป็นจุดตั้งต้นแห่ง ตัวกู แน่ ถ้าเราต้อนรับมันไม่ดี ทีนี้ ถ้าพลาดไปบ้าง มันเกิดแล้วก็ให้มันดับตามไปในเวลาอันสั้นเพียง ๑ วินาทีบ้าง ๒ วินาทีบ้าง ให้มันดับไปเสียก็แล้วกัน ถ้าเราทำได้อย่างนี้เรื่อยๆไปมันก็จะเกิดความเคยชินในการที่จะดับได้เร็วเข้า ถ้าเรายังทำอย่างนั้นอยู่เรื่อยไปมันก็จะเกิดความเคยชินในการที่มันจะไม่เกิด มันจะไม่เกิด ตัวกู คือ สติมาทันเสียเรื่อยไป กระทั่งว่าจะป้องกันเสียก่อนแต่ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับอารมณ์นี้
ถ้าจะมานั่งฟังเทศน์ก็เตรียมสติสัมปชัญญะไว้เสียก่อนว่า พระบางองค์เทศน์ไม่น่าฟังนะ พระบางองค์เทศน์ดีนะ ถ้าเทศน์ดีมันก็ผิด-มันเกิดพอใจก็เป็น ตัวกู – บ้าชนิดหนึ่งเหมือนกันที่มันเทศน์ดี ที่ว่าเทศน์ไม่ดีมันก็ยิ่งมี ตัวกู ชนิดหนึ่งซึ่งสกปรกกว่าไปเสียอีก ในการที่เราจะเข้าไปสู่ที่ใดที่หนึ่งที่เขาเรียกว่า โคจร ที่ๆเราจะต้องไปนี้เขาเรียกว่า โคจร ก็มี สติสัมปชัญญะ เข้าไป มีอะไรเกิดขึ้นก็จะได้ไม่เป็นผลร้าย เหมือนอย่างกับว่านะ เอ้า! อุปมาหรือเปรียบเทียบเหมือนอย่างกับว่า จะไปศาลอย่างนี้ จะเป็นโจทย์หรือเป็นจำเลยนี่ก็ต้องคิดมาก คิดให้ดี หรือว่าจะไปหาครูที่เขาจะพอถูกฟ้องครูแล้วจะเข้าไปหาครู มันก็ต้องคิดมาก ระวังมาก อะไรมาก พร้อมในข้อแก้ตัวที่ตระเตรียมไว้บ้าง อย่างนั้นเราก็ทำได้เองตามธรรมชาติธรรมดา แต่เรื่องนี้ในกรณีที่มันไม่ใช่อย่างนั้น เรามักจะไม่ค่อยเตรียมตัวอย่างนั้น ดังนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนในข้อนี้มากว่า ภิกษุตอนเช้าถือบาตร-จีวรไปบิณฑบาตในหมู่บ้านนั้น-ให้ระวังให้ดี ให้มีสติสัมปชัญญะ เพราะมันมีเรื่องมากเหลือเกินเข้าไปในหมู่บ้าน ทั้งทางยินดี ทั้งทางยินร้าย ไปได้ยินนั่น-ไปได้ยินนี่ ไปได้เห็นนั่น-ได้เห็นนี่ ตัวอย่างในพุทธภาษิตนั้นท่านตรัสว่า ได้เห็น มาตุคาม ที่นุ่งไม่ดีห่มไม่ดี จะว่าในทำนองนั้นมันก็เกิดเรื่อง เรียกว่า เมื่อไปสู่ที่ โคจร คือ ไปบิณฑบาต แล้วก็มีสติไม่เพียงพอ พอกระทบอารมณ์นั้นเข้าก็ถูกปรุงแต่งไปตามอารมณ์นั้นๆ ทีนี้ เรื่องมันก็ลุกลามไปจนถึงว่าอยู่ไม่ได้ นี่ เป็นตัวอย่างที่มีอยู่ชัดในพระบาลีในรูปของพระพุทธภาษิตเกี่ยวกับ ต้องมีสติ ต้องเตรียม สติ ไว้ให้เพียงพอ ทีนี้ เรื่องปลีกย่อยมาก็เหมือนกัน จะกลับมาฉัน จะมาอาบน้ำ จะมาถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ทุกอย่างที่จะต้องทำ ล้วนแต่ต้องทำด้วย สติ-สัมปชัญญะ เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันว่าต้องใช้ สติ ต้องใช้ สัมปชัญญะในทุกกรณี ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทุกเหตุการณ์ จึงจะป้องกันการเกิดแห่ง ตัวกู - ของกู ได้ เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่า ผัสสะ นั้นมีได้ง่ายเหลือเกิน มันง่ายเหลือเกิน ทุกหนทุกแห่งพร้อมที่จะมี ผัสสะ เพราะฉะนั้น จึงต้องการ สติ-สัมปชัญญะ ทุกแห่งเหมือนกัน จึงจะป้องกันได้ อย่าเข้าใจว่าหนีมาอยู่วัดแล้วมันจะพ้นจากการรบกวนของ ผัสสะ ถูกแล้ว ผัสสะ บางอย่างที่รุนแรงอาจจะไม่ค่อยมีมารบกวน แต่มันก็มีมากเหลือหลายพอที่จะทำให้จิตฟุ้งซ่านได้ จะหนีมาอยู่ที่วัด มาบวชอยู่ที่วัด วัดป่าๆอย่างนี้ก็ยังไม่พ้นไปจาก ผัสสะ เพราะมันยังมีอะไรที่ยังต้องได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ได้ดม ได้กลิ่นอยู่ และที่สำคัญกว่านั้น คือ ยังมีจิตใจ - มโน นี้อยู่ พร้อมที่จะเอาสิ่งแต่หนหลังมาคิดมานึกมาสร้างเป็นอารมณ์กันเดี๋ยวนี้ก็ได้ และยิ่งอยู่กันมากคนเท่าไหร่ โอกาสแห่งการกระทบกระทั่งมันก็มีมากเท่านั้น เพราะฉะนั้น อยู่กันตั้งหลายสิบองค์นี้ต้องระวังให้ดี ระวังเรื่อง ผัสสะ ให้ดีๆ ผัสสะ ทางหูนี้จะเป็นปัญหามากถ้าอยู่กันหลายๆคน กระทั่ง ผัสสะ ทางตามันก็ไม่น้อย ในทางจมูก ทางลิ้นนี้มันจะน้อยลงมาหน่อย คอยระวังตา ระวังหูให้มาก เพื่ออย่าให้โอกาสแก่ ผัสสะ ที่ประกอบไปด้วย อวิชชา นี้สร้าง ตัวกู - ของกู ขึ้นมา
สรุปความว่า ปัญหาทั้งหลายเกิดมาจาก ผัสสะ ทีนี้ แม้ วิชชา จะแก้ปัญหา จะตัดปัญหามันก็ต้องออกมาจาก ผัสสะ มันศึกษา ผัสสะ กันไปคนละอย่าง คนละวิธี เราเกี่ยวข้องกับ ผัสสะ ผิดเรื่อง มันก็เกิดฝ่ายเสีย ฝ่ายทุกข์ ฝ่ายผิด นี่ ผัสสะ ทำให้เกิดปัญหา ทางฝ่ายผิด หรือฝ่ายทุกข์ ส่วน วิชชา หรือ ปัญญา อีกเหมือนกัน มันออกมาจากอื่นไม่ได้ มันต้องออกมาจาก ผัสสะ ที่มีการกระทบแล้วเรามี สติ-สัมปชัญญะ ป้องกันได้ แก้ไขได้ถูกต้อง มันก็เกิดเป็นระบบ ปัญญา หรือ วิชชา ขึ้นมา ทีนี้ จึงว่า สัมมาทิฏฐิ ก็มาจาก ผัสสะ เช่นเดียวกับ มิจฉาทิฏฐิ ทั้งหลายมันก็มาจาก ผัสสะ นั้นเอง นี่ ตัวกู นี้มันเป็นฝ่าย มิจฉาทิฏฐิ / ความดับเสียใน ตัวกู ก็เป็นฝ่าย สัมมาทิฏฐิ แล้วเราก็ยังต้องหวังพึ่ง ผัสสะ อยู่นั่นเอง สรุปความแล้วก็ว่า ผัสสะ เป็นจุดตั้งต้นของสิ่งทุกสิ่ง
เอาละ พอกันทีสำหรับวันนี้