แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วัน ธรรมะปาติโมกข์ เรามีกันทั้ง ๘ ค่ำและ ๑๕ ค่ำ ถ้าเป็น วินัยปาติโมกข์ มีแต่ ๑๕ ค่ำ นี่หมายความว่า เรื่องของ ธรรมะ มีมากกว่าเรื่องของ วินัย มากทีเดียว เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นการมากเกินไป ว่าที่จริง วินัยปาติโมกข์ นั้นก็กล่าวซ้ำๆกันอยู่ในส่วน ปาติโมกข์ ส่วน ธรรมะ นี้ไม่ได้ซ้ำกัน แล้วยังมีแถมเวลาอื่นซึ่งไม่ใช่ ธรรมะปาติโมกข์ เราก็ยังมีแสดงธรรม นั่นก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า เรื่องธรรมนั้นมากกว่าเรื่องวินัย เรื่องธรรมะนั้นมากกว่าเรื่องวินัย เว้นเสียแต่ว่าเราจะตีความหมายของคำว่าวินัยเป็นพิเศษออกไปอีกอย่างหนึ่ง จนถึงกับว่าธรรม ธรรมะนี้ก็เป็นวินัยก็ได้ คือ จะแปลความหมายของคำว่าวินัยกันเสียนัยตามรูปศัพท์ วินะโย นี้ - นำออกไปกระทำให้สิ้นซาก เรื่องธรรมะนี้ก็เป็นการนำ กิเลส ออกไปกระทำให้สิ้นซาก อย่างนี้ก็เรียกชื่อว่า วินัย ได้เหมือนกันให้รู้ไว้ด้วย แต่ถ้าเราพูดกันตามธรรมดาสามัญ วินัย ก็หมายถึง กฎข้อบังคับธรรม / ธรรมะ นั้นหมายถึง หลักปฏิบัติทั่วไป ถึงแม้ว่าเราจะพูดเรื่อง ธรรม นี้กันอยู่บ่อยๆมันก็ยังไม่ค่อยจะพอ เพราะฉะนั้น จึงต้องตั้งใจทำกันเป็นพิเศษให้มันพอ
ทีนี้ สำหรับ ธรรมะปาติโมกข์ นั้น ได้บอกกล่าวกันมาแล้วตั้งแต่ทีแรก ตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีว่า เรื่องหัวข้อสรุปของ ธรรมะ ทั้งหมดนั้นไม่มีเรื่องอื่น นอกไปจากเรื่อง ตัวกู-ของกู ทีนี้ เรื่อง ตัวกู-ของกู นี้พูดกันได้หลายแง่หลายมุมไม่จำกัด แต่ความประสงค์มุ่งหมายอันแท้จริงนั้น คือ จะทำให้หมดความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกู นั่นเอง ทีนี้ จะทำให้หมดได้อย่างไร? มันก็ต้องรู้นั่น รู้นี่ รู้โน่นเรื่องเกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู ยังมีอีกมากอย่างนี้ แล้วก็ไปเข้าใจเอาเองได้ แล้วก็ไปคิดค้นเอาเองได้เป็นส่วนมาก ว่าเรื่องที่ทำให้หมดความยึดถือ ว่าตัวกู-ว่าของกู นั้นคือหัวใจของพุทธศาสนา แล้วเราก็เอามาเรียกว่า ธรรมะปาติโมกข์ คือ ประมวลธรรมะที่เป็นหลักเพียงอย่างเดียว ในครั้งที่แล้วมาก็ได้พูด เรื่องเกี่ยวกับ ตัวกู-ของกู มาตั้ง ๒-๓ ปี และในปีนี้เราก็ได้เริ่มขึ้นด้วยคำว่า อัตตา อนัตตา ซึ่งก็เป็นเรื่อง ตัวกู-ของกู ถึงกับบอกให้ทราบว่ามันมีภาษาที่ใช้อยู่ ๒ ชนิดสำหรับข้อความ ๒ ประเภทนี้ แม้ในพุทธศาสนา แม้ใน พระพุทธวัจนะ นั้นเอง บางทีก็ตัดไปในภาษา ตัวตน ก็แสดงหลักปฏิบัติเพื่อให้ปฏิบัติอย่างอย่างนี้ สำหรับผู้ที่จะต้องยึดถือ ตัวตน แต่สำหรับผู้ที่อาจจะ ละตัวตน เสียได้ ก็มีอีกระบบหนึ่งที่จะพูด ที่จะสอนให้เห็นว่ามันไม่มีตัวตน แล้วก็มีการปฏิบัติเฉพาะสิ่งนั้น เป็นอีกระบบหนึ่งต่างหาก เพื่อให้เห็นว่ามัน ไม่มีตัวตน
ทีนี้ สำหรับในวันนี้ก็จะบอกให้ทราบว่าภาษามันก็เกิดขึ้นเป็น ๒ ภาษา คือ ภาษาคน-พูดอย่างมีตัวตน ภาษาธรรม-พูดอย่างแท้จริง คือ ไม่มีตัวตน เพราะฉะนั้น หัวข้อในวันนี้ ก็คือ ข้อสังเกตเกี่ยวกับภาษาคนและภาษาธรรม คือ สิ่งที่เราจะต้องสังเกตเกี่ยวกับภาษา ๒ ภาษานี้ว่ามันมีอยู่อย่างไร? ถ้าเข้าใจสิ่งทั้ง ๒ นี้ดี ก็จะมีความกระจ่างชัดเจนที่สุดในการศึกษาพุทธศาสนา ที่แล้วมาพูดกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง จนบางคนยอมแพ้ไม่อยากจะสนใจอีกต่อไป นั่นก็เพราะเอาภาษาคนกับภาษาธรรมมาพูดปนกันในคราวเดียวกัน แล้วก็ไม่ได้บอกว่า ทีนี้ฉันจะพูดภาษาคน ทีนี้ฉันจะพูดภาษาธรรม เพราะมันไม่มีธรรมเนียมให้บอกอย่างนั้น แม้พระพุทธเจ้าเองก็ตรัสอย่างนั้น ในบางคราวก็โผล่ขึ้นมา ตนเป็นที่พึ่งของตน บางคราวก็บอกว่า ตนของตนก็ไม่มี แล้วลูกเมียทรัพย์สมบัติของตนจะมีมาแต่ไหน แต่ท่านก็ไม่บอกว่า นี่! ฉันจะอย่างพูดภาษาคน นี่! จะพูดอย่างภาษาธรรม เพราะฉะนั้น เราจะต้องสังเกตเอาเอง จึงขอแนะว่าให้ตั้งข้อสังเกต และก็ให้เห็น และให้หยั่งถึงด้วย ควรจะเป็นสัก ๓ ระดับ คือ ตั้งข้อสังเกต-นี่ยังไม่เห็นหรอก แต่พยายามตั้งข้อสังเกตว่ามันเป็นอย่างไรเพื่อจะให้เห็น ทีนี้ พอคอยสังเกต สังเกตไปไม่เท่าไรมันก็เห็นเค้าเงื่อน ยังไม่หมดเท่านั้นยังจะต้องทำต่อไป ต่อไปอีก จนกับหยั่งถึงข้อเท็จจริงอันนั้นเนื่องกันอยู่อย่างนี้ สังเกตให้เห็นจนหยั่งถึง คือ จิตใจมันซึมทราบแล้วมันถึง มันเปลี่ยนไป
ภาษา ๒ ภาษานี้
ภาษาคน ก็คือ ภาษาพูดของคนที่ยังไม่รู้ธรรม เขาก็ต้องพูดไปตามธรรมเนียม แล้วมันก็ถูก มันก็จริง มันก็ตรงไปตามความหมายที่เขาใช้ ใช้พูดกันอยู่ตามธรรมดาสามัญเป็นภาษาคน มันก็มีความจริงอย่างสมมติตามที่รับรองกัน ไม่ใช่จริงแท้โดยเด็ดขาดของธรรมชาติ นี่ เขาเรียก จริงสมมติ คือ Relative Truth. / Truth คือ สัจจะ / Relative Truth คือ จริงอย่างสมมติ
ทีนี้ อีกพวกหนึ่งตรงกันข้าม มันรู้ความจริงของธรรมชาติเหล่านั้นว่าเป็นอย่างไร? เพราะฉะนั้นภาษาพูดออกมามันก็จริงกว่า คือ จริงถึงที่สุด ก็เลยเรียกกันว่า Absolute Truth หรือ Ultimate Truth มันช่วยไม่ได้ที่ว่าจะให้คนพูดภาษาเดียวกัน คือ ให้พูดแต่ภาษาที่ถูกต้อง คือ ภาษาธรรม เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปพยายามหรอก ไปพยายามก็บ้าเอง ที่จะไปพยายามให้คนรู้จักพูดแต่ภาษาธรรม และใช้แต่ภาษาธรรมนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่เคยพยายามที่จะให้คนพูดแต่ในภาษา ปรมัตถสัจจ์ ยังคงพูด สมมติสัจจ์ ไปตามเดิม ทีนี้จะพูดในเรื่องไหนกรณีไหนใน ปรมัตสัจจ์ ก็เรียกมาพูดกัน ตามปกติพระพุทธเจ้าเองก็ต้องตรัสออกมาโดยภาษา สมมติสัจจ์ เพื่อพูดกับชาวบ้าน ตามโวหารที่ต้องใช้พูดกันให้มันฟังถูก พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงยืนยันอย่างนี้ ตถาคตก็ต้องพูดอย่าง โลกิยะโวหาร แต่ไม่ได้ถือเอาความหมายอย่างที่เขาถือกันอยู่แบบที่ เรียกว่า ปากอย่างใจอย่าง
นี่เรารู้ว่าภาษามันเป็น ๒ ภาษาอยู่อย่างนี้ในโลกนี้ และจะกล่าวได้ว่าไม่ว่าชาติไหน ภาษาไหน หรือศาสนาไหนด้วยซ้ำไป ในทุกชาติ ทุกภาษา ทุกศาสนาล้วนมี ๒ ภาษาอะไรทำนองนี้ เพียงแต่ว่ามันไม่ลึกซึ้งเท่ากันเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น เราจะต้องคอยสังเกตการพูดจา เห็นๆว่าพูดกันอยู่อย่างนั้น แล้วก็เข้าใจส่วนที่เป็นภาษาธรรมส่วนลึกซึ้ง จนมีผลทำให้เรารู้ความจริง มีจิตใจอันเปลี่ยนไปตามความจริงอันนั้น อันนี้เป็นคราวเงื่อนอันแรกที่จะต้องรู้ว่าภาษาคน–ภาษาธรรมนั้นมันคืออะไร? และภาษาคน-ภาษาธรรมนี้มันเกิดขึ้นมาอย่างไร? ถ้ามาถามว่าเกิดขึ้นมาอย่างไรนี้ก็พอที่จะมองเห็นได้ว่า ทีแรกมนุษย์ในโลกนี้ก็พูดอย่างภาษาธรรมชาติธรรมดาของคนธรรมดาที่ยังไม่รู้ ภาษาคนมันก็เกิดขึ้นก่อน เกิดขึ้นก่อนแล้วเป็นพื้นฐาน ทีนี้ ต่อมามีคนมารู้ความจริงของคำพูดนั้นๆลึกไปกว่าที่เขาใช้พูดกันอยู่แต่เดิม จึงมองเห็นในความหมายในระดับนี้ และก็พูดกันอยู่แต่ในหมู่คนที่มองเห็นด้วยกันเท่านั้น แล้วจึงพูดได้เลยว่าเป็น ภาษาพระอริยเจ้า ท่านพูดกันแต่ในหมู่พระอริยเจ้า ส่วนปุถุชนก็ว่าไปตามเดิม แล้วก็ค่อยๆพยายามช่วยกันให้เข้าใจภาษาของพระอริยเจ้า เช่นเดียวกับที่พุทธบริษัทกำลังสั่งสอน กำลังชักจูงกันนี้ ทีนี้ ข้อลำบากอีกอย่างก็คือว่า คำๆเดียวมันเกิดเป็น ๒ ความหมาย คำเดิมคำเดียวในภาษาคนนั้นเอามาใช้อย่างในภาษาธรรมในอีกความหมายหนึ่ง มันก็ทะเลาะกัน เมื่อคนๆหนึ่งก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น พยายามให้รู้จึงจะพูดกันรู้เรื่อง
ทีนี้ ที่ว่าให้ตั้งข้อสังเกตนั้น มีแนวที่จะสังเกตอย่างนี้ ว่าภาษาธรรมนั้นออกมาจากภาษาคน นี่ ประการแรก ทีนี้ ความหมายของคำๆนั้นเมื่อมาเป็นภาษาธรรมแล้วมันก็เปลี่ยน ทีนี้ การเปลี่ยนนี้มันจะเปลี่ยนได้เท่าที่นึกเห็นหรือนึกออกไม่น้อยกว่า ๔ ระดับ คือ เปลี่ยนมาก เปลี่ยนน้อย หรือเปลี่ยนตื้น เปลี่ยนลึกนี้ นี่ให้มองให้เห็นว่ามันเปลี่ยนมาได้ตั้ง ๔ ระดับ โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ที่เห็นอยู่
ระดับที่แรก ความหมายมันลึกไปกว่าเดิม แต่ยังคงใช้คำเดิมๆนั้นได้อยู่ เช่น คำว่า ทรัพย์สมบัติ ยกตัวอย่างคำที่เข้าใจได้ง่าย คำว่า ทรัพย์สมบัติ พอพูดออกไป คนหนึ่งมันก็มีความหมายอย่างที่มันรู้สึกอยู่ แก้ว แหวน เงิน ทอง วัว ควาย ไร่ นา อะไรต่างๆ มันรัก มันพอใจ มันหวงแหน มันถนอมมันด้วยความวิตกกังวล คำว่า ทรัพย์สมบัติ ก็มีความหมายอย่างนั้น
ทีนี้ พอเกิดมีผู้รู้ขึ้น ก็รู้ว่ามันเป็นอย่างไร สิ่งๆนั้นเป็นอย่างไร ความรู้สึกมันก็เปลี่ยน ทรัพย์สมบัติ ไม่ใช่เป็นเครื่องที่ควรจะ.... ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ควรจะหลงใหลขนาดนั้น ทรัพย์สมบัติ นี้เป็นเพียงเครื่องอำนวยความสะดวกให้เราเป็นอยู่เพื่อก้าวหน้าไปตามทางของจิตหรือวิญญาณ คนธรรมดามี ทรัพย์สมบัติ ด้วยความรู้สึกคล้ายๆกับกูเกิดนี้มาก็เท่านี้ เอาให้มันรวยที่สุดไม่มีขอบเขตแล้วมันก็เท่านี้ เราไม่มีหน้าที่อันอื่นที่ต้องทำต่อไปอีก-นี่คือคนปุถุชน ทีนี้ พระอริยเจ้ามองเห็นว่า ไม่ใช่! เราเกิดมาเพื่ออย่างนี้ เราเกิดมาเพื่อจะทำหรือจะไปสู่ภาวะสูงสุดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ทรัพย์สมบัติ นี้ก็เป็นเพียงเครื่องช่วยอำนวยความสะดวกให้เรามีชีวิตอยู่ได้ ให้เราเดินทางไปหาสิ่งนั้น นี่ ความหมายหรือน้ำหนักหรือคุณค่ามันก็เปลี่ยนทันที คือ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ควรจะหลงใหล ไม่ใช่สิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความหลงใหล แต่ก็ยังเรียกว่า ทรัพย์ กันไปตามเดิม ทีนี้ความหมายมันก็จะเปลี่ยนไปอีก จนถึงกับว่าใช้คำๆนี้แหละแต่มันมีความหมายเป็น ทรัพย์ภายใน เป็น อริยทรัพย์ ไปโน่น ในเมื่อคนชาวบ้านเขารู้กันแต่เรื่อง ทรัพย์ธรรมดา ทรัพย์ภายนอก พระอริยเจ้าก็มี ทรัพย์ ของท่าน ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา อันศรัทธาที่เรียกว่า อริยทรัพย์ ๗ นี้-ไปดูเอาเอง เป็น ทรัพย์ของพระอริยเจ้า ขึ้นมา ส่วน ทรัพย์ธรรมดา ก็เป็น ทรัพย์ของชาวบ้านปุถุชน ไป คำยังคงอยู่เป็นคำเดิม รูปคำเดิม แต่ความหมายเปลี่ยน
หรือจะยกตัวอย่างคำที่ควรจะสนใจและก็เคยพูดมาแล้ว เช่น การสมรส เป็นสามี-ภรรยาก็เรียกว่าบุคคลนั้นเป็น คู่ครอง บ้าง คู่สมรส บ้าง ปุถุชนคนธรรมดาก็มองเห็นความหมายของคำว่า คู่ครอง ว่าเป็นของประเสริฐ เป็นของสูงสุด เป็นคู่ชีวิต เป็นอะไรทำนองนั้น หาได้มองไม่ว่าคู่ครองชนิดนั้นมันนำมาซึ่งความยึดมั่น-ถือมั่น จนกระทั่งมีผลเป็น ความร้อนใจ เหมือนกับตกอยู่ในนรกก็ได้ เพราะฉะนั้น คู่ครอง ก็คือ ครองนรก นั่นเอง แต่เขาก็ไม่มองเห็นหรอกว่าเป็น ครองนรก มันเป็นที่รักสุดสวาทขาดใจ คู่ชีวิตชีวาอะไรต่างๆ นี่ ความหมายมันเปลี่ยนอย่างนี้ ถ้าใช้คำว่า คู่สมรส บางทีจะน่าดูกว่า แปลว่า มีรสอันเสมอกัน ต้องแปลตามตัวบาลีนี้ อย่าไปแปลว่า สมรส อย่างภาษาไทย มันจะกระเดียดไปทาง กิเลส อีก ผัว-เมียนี้มี การสมรส ด้วยการมีรสเสมอกัน สม (ออกเสียงว่า สะ-มะ) แปลว่า เสมอ รส ก็แปลว่า รส ถ้าไม่เสมอกัน ไม่เท่ากัน มันต้องกัดกันแน่ จะเป็นผัว-เมียที่รักใคร่กันอย่างไร? มันต้องกัดกันแน่ถ้ารสมันไม่เสมอกัน ที่มันอยู่ได้ก็เพราะรสมันเสมอกัน เลวก็เลวด้วยกัน พอใช้ได้ก็ใช้ได้ด้วยกัน ถ้าสูงก็สูงด้วยกัน ถ้าผัว-เมียมีความรู้สึกสูงถึงกับว่าจะไป นิพพาน ด้วยกัน มันก็เป็นเพื่อนที่เดินทางไป นิพพาน ด้วยกัน ความหมายของ คู่ครอง หรือ คู่สมรส มันก็เปลี่ยนได้อย่างนี้
หรือจะให้แคบเข้ามา เช่น คำว่า ภริยา อย่างนี้ ภรรยา นั้น ความหมายธรรมดาตามตัวหนังสือก็แปลว่า ผู้ซึ่งบุคคลจะต้องเลี้ยง ภาระ มันแปลว่า เลี้ยง ภริยะ แปลว่า ต้องเลี้ยง พึงเลี้ยง ควรเลี้ยง พูดตรงๆก็ ภรรยา คือ ผู้ที่สามี จะต้องเลี้ยง ความหมายก็คือ ผู้ที่จะต้องเลี้ยง สุนัขและแมว หมู หมา กา ไก่ก็เป็น ภรรยา ได้ เพราะมันต้องเลี้ยงเหมือนกัน ความหมายจะเปลี่ยนไปตามระดับของความรู้สึก และความนิยมที่ใช้ถ้อยคำๆนี้กันอย่างไร? แล้วก็บัญญัติตายตัวเป็นปทานุกรม แล้วคนก็โง่ลง โง่ลง คือ ไม่ต้องไปรู้ว่ารากศัพท์มันว่าอย่างไร? ความหมายไปถึงไหน? เอาตามปทานุกรม ผมคนหนึ่งไม่ยอม-ผมต้องมีอิสระจากปทานุกรมในการใช้คำ ใช้อะไรก็ตาม เพราะว่าเราเอาไปตามโวหารที่เขาพูดกันอยู่ บัญญัติไว้เป็นปทานุกรม มันก็รู้เท่านั้นแหละ มันจะรู้มากกว่านั้นไปไม่ได้
ตัวอย่างที่ว่าคำพูดในภาษาธรรมมันได้เกิดขึ้น มีความหมายลึกออกไปแต่ยังคงใช้คำๆเดิมนั้นได้ ที่เป็นภาษาธรรมที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่น คำว่า สมุทร คือ ทะเล / มหาสมุทร คือ ทะเลใหญ่ๆหรือมหาสมุทร คือ บทเรียนที่พวกคุณก็สวดมนต์อยู่ตอนเย็นๆใน ปรมัตถสภาวธรรม นี่ ผมก็ถือติดมือมาด้วย ใน ปรมัตถสภาวธรรม –
สมุทฺโท สมุทฺโทติ ภิกฺขเว อสฺสตฺวา ปุถุชฺชโน ภาสติ
ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนมีการสดับอย่างธรรมดาสามัญ กล่าวกันอยู่ว่าสมุทรๆ
เนโส ภิกขเว อริยสฺส วินเย สมุทฺโท
นั่นไม่ใช่สมุทรใน อริยวินัย นั่นคือ ในภาษาพระอริยเจ้า นั่นเป็นเพียงน้ำมากๆ น้ำลึกๆเท่านั้น
สนฺติ ภิกฺขเว จกฺขวิยฺยา รูปา สันติภิคเว จักขุวิญญา รูปา
ภิกษุทั้งหลาย รูปที่เป็นวิสัยรู้ได้ทาง จักษุวิญญู –
อิฐา กนฺตา มนาปา
น่ารักเป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดนี้ เราเรียกว่า สมุทร
มันแสดงชัดอยู่แล้วว่า แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงยืนยันว่า ฉันก็เรียกว่า สมุทร แต่มันคืออย่างนี้ ในเมื่อพวกโน้นเรียกกันอย่างโน้นว่า สมุทร คำไม่ต้องเปลี่ยน-แต่ความหมายเปลี่ยน
ทีนี้เราก็มาศึกษาดูคำว่า สมุทร / สมุทร นี้คือ น้ำ มันไม่ได้หมายความถึงน้ำก็ได้ แต่ความหมายเหมือนกัน คือ พลัดตกลงไปแล้วมันจมตาย คนๆแรกที่ไปเรียกชื่อทะเลใหญ่ๆว่า สมุทร นี้ มันมีความหมายว่า ที่จมลงไปตาย ถ้ามันใช้คำว่า ชล (ออกเสียงว่า ชะ-ละ) ทะเล นั่นมันก็ไปอีกเรื่องหนึ่ง ความหมายมันก็ไปอีกเรื่องหนึ่ง ที่เรียกกันว่า สมุทร นี้-มันเป็นที่ตกจม แล้วเมื่อจมถึงที่สุดมันก็ตาย-มันก็จมน้ำตาย มันต้องมีอันตรายอย่างนั้นจึงจะเรียกว่า สมุทร รวมความว่าถ้า สมุทร แล้วก็ตกลงไปตาย ทีนี้เราก็ดูสิ อย่างเราที่นี้ก็ไม่ตกมันก็ไม่ไปตกทะเล แม้ไปเที่ยวทะเลมันก็ไม่ตก แม้ตกลงไปมันก็จะไม่ค่อยตายกันแล้วมันมีทางช่วยได้ เอาล่ะเป็นว่า ทะเลอย่างนั้นมันไม่มีใครไปตกกี่คน อย่างเราอยู่ที่นี่ก็ไม่มีอันตรายจาก สมุทร นั้น แต่มันมีสิ่งที่เรากำลังตกอยู่ แล้วก็ตายอยู่ ตกแล้วตายอยู่ ตกแล้วตายอยู่ เกิดใหม่ตายอยู่ หรือว่าตกลงไปลอยคออ้อแอ้อยู่ นั่นแหละคือ สมุทร ซึ่งไม่ยกเว้นใครนะ ไม่ยกวันใคร พระ เณรก็ไม่ยกเว้น ชาวบ้าน อุบาสก อุบาสิกาก็ไม่ยกเว้น แล้วก็ตกอยู่จริงด้วยทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน วันละหลายๆครั้งเสียด้วย ทำไมถึงไม่เรียกสิ่งนี้ว่า สมุทร เล่า? ในเมื่อมันตกอยู่จริงทุกวัน-แล้วมันก็มีการตาย หรือเจียนตายในทางจิตทางวิญญาณอยู่ทุกวัน ทุกเวลา นาที แล้วมันยังจะตกทั่วลงไปถึงสัตว์เดรัจฉาน หมู หมา กา ไก่ กระทั่งปู ปลา มันก็ตกอยู่ใน สมุทร อันนี้
ทีนี้ปู-ปลาที่มันอยู่ในทะเลมันตกเมื่อไรเล่า ไปดูสิปลามันว่ายสบายมันไม่ได้ตกหรอก เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ สมุทร จริง ทีนี้ สมุทร จริงถึงขนาดที่แม้ปลามันก็ต้องตกนั้นก็คืออันนี้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่เป็นที่ตั้งแห่งความรัก-ความพอใจ เป็นที่ตั้งแห่งความหลงใหล แม้สัตว์เดรัจฉานมันก็ตก ตามมากตามน้อย ตามระดับของสัตว์เดรัจฉาน เราก็จะเห็นด้วยกับพระพุทธเจ้าทันทีว่า เออ! นี่ล่ะมัน สมุทร จริง มันตกแม้กระทั่งปลา-มันก็ตก เอาละ เรื่องสัตว์ไม่ต้องพูดนี่มันเรื่องคน คนมันตกจริง และตกลึก ตกรุนแรง ควรจะเรียกว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี้เป็น สมุทร นี่ คำไม่ต้องเปลี่ยน ยังใช้คำว่า สมุทร แม้นี้ฉันก็เรียกว่า สมุทร แต่ความหมายมันเปลี่ยนแล้ว คือ ความหมายเปลี่ยนมาเป็นสิ่งที่มันตกอยู่จริง เราก็ได้เป็น ๒ สมุทร สมุทร- ทะเล นี่เป็นของเด็กเล่น สมุทร - อายตนะ นี่คือ สมุทรจริง ระวังเถิดมันจะตก เผลอนิดเดียวมันก็ตก สมุทรอายตนะ - รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ สำหรับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจตกลงไป นี่เป็นตัวอย่างของ ภาษาธรรม ความหมายที่ ๑ นั้น คำยังคงเดิม-ความหมายเปลี่ยน
ทีนี้ ภาษาธรรมประเภทที่ ๒ คือ เห็นความหมายลึกลงไป ลึกลงไป จนเห็นความหมายอื่นที่ลึกกว่า จนต้องเปลี่ยนคำที่ใช้พูดอยู่ เห็นลึกลงไปจนถึงขนาดที่ต้องเปลี่ยนคำที่ใช้กันอยู่ คือ ใช้คำเดิมไม่ได้แล้ว-ต้องเปลี่ยนคำ ตัวอย่างเห็นง่ายๆประหยัดเวลานะ ยกตัวอย่างที่มันประหยัดเวลา เช่น คำว่า คน ตามธรรมดาก็หมายถึง คนที่เดินท่อมๆอยู่นี่ เรียกว่า คน แต่พอดูความจริงของสิ่งที่เรียกว่า คน ดูไป ดูไป ดูไปมันไม่ควรจะใช้คำว่า คน ควรใช้คำว่า จิต มากกว่า ใช้คำว่า รูป-นาม อะไรมากกว่า อะไรเป็น คน ที่แท้จริง? มันก็คือ จิต ของคน ละคำว่า คน เสียไปเอาคำว่า จิต นั้นแหละเป็น ตัวคนที่แท้จริง เกิดความรู้เป็น ตัวเจตภูติ - วิญญาณ อะไร ตัวตน อะไรขึ้นมาในสิ่งที่เรียกว่า คน คำว่า จิต ใช้ คำว่า วิญญาณ ก็ใช้ คำว่า บุรุษ / บุรุษะ / หรือ ปุคคละ ในภาษา เถรวาท เรานี้ใช้คำว่า ปุคคละ หรือ บุคคล แทนแต่เล็งถึง จิต เล็งถึงสิ่งที่เรียกว่า จิต หรือ วิญญาณ นะ ไม่ใช่เล็งถึงเนื้อหนัง ร่างกาย รูปร่างอย่างนี้ คำว่า บุรุษ - บุคคลไม่ได้หมายถึงรูปร่างนี้ หมายถึง อะไรอันหนึ่งที่สิงอยู่ในร่างนี้ ทีนี้ ถ้าจะพูดกันอย่างภาษาวิทยาศาสตร์บ้าง เกี่ยวกับภาษาศาสตร์ เมื่อถามว่าอะไรเป็น คน ? มันก็ต้องเล็งถึงสิ่งที่เป็นแกนกลาง หรือว่าเป็นสิ่งที่บันดาลเป็นแกนกลางอยู่ข้างใน มันก็คือ จิต เพราะถ้าไม่มี จิต มันก็ไม่มี คน มันตายแล้ว ก็ไม่เรียกว่า คน ก็เรียกว่า ผี เพราะมีอะไรอยู่ในนั้นมันถึงได้เรียกว่า คน มันคือ แก่นสาร ของคำว่า คน มันไปอยู่ที่ จิต ซึ่งเป็นตัวการให้คนมันทำอะไรได้ นี่ ลึกถึงขนาดที่จะต้องเปลี่ยนคำพูด ยกตัวอย่างภาษาธรรมที่เป็นธรรมะที่เราต้องศึกษาอยู่ ก็เช่นคำว่า สิ่งทั้งปวง บทสวดที่สวดกันอยู่นั้นก็มีเรื่อง สิ่งทั้งปวง
สพฺพํ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ
ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสิ่งทั้งปวงแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ภิกษุทั้งหลาย อันใดเล่าชื่อว่า สิ่งทั้งปวง จักษุ ด้วย รูป ด้วย โสตะ ด้วย สัพพะเสียง ด้วย คือว่า ตากับ รูป หูกับ เสียง จมูกกับ กลิ่น ลิ้นกับ รส กายกับ โผฏฐัพพะ ใจกับ ธรรมารมณ์ นี่คือ สิ่งทั้งปวง ถ้าชาวบ้านเขาพูดว่า สิ่งทั้งปวง เขาหมายถึงอะไรก็รู้กันอยู่แล้ว ว่าทุกสิ่งในโลกนับไม่ไหวไม่รู้กี่ล้าน กี่ล้านสิ่ง-สิ่งทั้งปวง นี่ ภาษาชาวบ้าน
ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านมีความเห็น มีการเห็น คือ มี ธรรมจักษุ เห็น เห็นธรรมว่า สิ่งทั้งปวง ไม่รู้กี่ล้าน ล้านสิ่งนี้มันมารวมอยู่ที่ ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น เพียง ๖ คู่เท่านั้นแหละ สิ่งทั้งปวง มันอยู่ที่นี่ เพราะฉะนั้น จึงตรัสใหม่ว่า สิ่งทั้งปวง คือ อายตนะ ๖ คู่ แทนที่จะไปเป็น สิ่งทั้งปวง ที่ทุกสิ่งจนนับไม่ไหว มาอยู่ที่ของ ๖ คู่ แล้วยังแถมอยู่ในคนที่ยาวประมาณวาหนึ่งเท่านั้นเอง แล้วก็เอาโลกทั้งโลกทุกๆโลกมาใส่ไว้ในคนได้ ที่ยาววาหนึ่งโดยมันมีอะไรที่จะรู้จัก หรือเข้าถึง หรือใช้สอยสิ่งเหล่านั้น ถ้าไม่มี อายตนะ ๖ คู่ นี้ สิ่งทั้งปวง ทั้งหลายมันก็ไม่มี นี่ ก็พูดลึกกว่า ทีนี้ มันต้องเปลี่ยนคำเพื่อให้ฟังง่ายขึ้น
ทีนี้ อันดับที่ ๓ - ลึกจนต้องเติมคำตรงกันข้าม ลึกจนถึงกับตรงกันข้าม พวกสิ่งที่มีความลึกชนิดตรงกันข้าม มันก็เลยต้องเติมคำ ปฏิเสธ คือ ไม่ หรือ ไม่ใช่ เข้าที่หน้าคำนั้น เช่น คำว่า อัตตา-ตัวตน มองเห็นว่าเป็นอะไร ลึกลงไป ลึกลงไปจน อ้าว! แล้วกัน-ไม่มี ไม่มี อัตตา ก็ต้องใช้คำปฏิเสธเติมข้างหน้า เป็น อนัตตา สิ่งที่เคยเห็นเป็น อัตตา มาแต่ก่อนนั่นแหละ เห็นจนใช้คำๆนั้นไม่ได้อีกแล้ว แล้วก็จะใช้คำอื่นก็ไม่ได้นอกจากให้ความหมายในทางปฏิเสธเข้าไปอย่างสมบูรณ์ จนกลับตรงกันข้าม เพราะฉะนั้น อัตตา กลายเป็น อนัตตา ร่างกายนี้ในบางคราวที่เห็นเป็น อัตตา นั้น ตัวตน รูป เห็นตัวตน ก็เห็นเป็น อนัตตา / เวทนา ที่บางคราวถูกเห็นเป็นตัวตนก็เป็น อนัตตา / สัญญา – สำคัญมั่นหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะรู้สึกว่าเป็นตัวตนเป็นผู้มั่นหมาย ก็เห็นเป็น อนัตตา / สังขาร ความคิดคือผู้คิดนี้เกิดขึ้นเห็นเป็น อัตตา ก็ต้องเป็น อนัตตา / วิญญาณ รู้แจ้งทาง อายตนะ ก็ดี หรือแม้แต่ วิญญาณ ที่มันจะมีสำหรับ จุติ-ปฏิสนธิ นั้นก็เป็น อนัตตา นี่ก็ลึกจนเกิดความหมายตรงกันข้าม คำพูดต้องเปลี่ยนเป็นนัยตรงกันข้าม ทุกอย่างที่เคยเห็น เคยรู้สึกเป็นอย่างไรเดี๋ยวนี้กลายเป็นตรงกันข้าม ที่เคยเห็นว่าเที่ยง ว่าสวย ว่างาม ว่าอะไรต่างๆนั้นมันก็เปลี่ยนไปหมด เป็นเอา อ (ออกเสียงว่า อะ) เข้ามาเติมข้างหน้า นิจจัง เป็น อนิจจัง / สุภัง เป็น อสุภัง ไปตามเรื่อง คำเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นภาษาธรรมทั้งนั้น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่ก็ตาม ทีนี้ ชาวบ้านก็พูดตามที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้รับคำสั่งสอนไม่รู้ว่าอะไร ชาวบ้านก็พูดเป็นนะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ไม่เห็นไม่รู้สึกโดยแท้จริง แล้วก็ไม่เห็นโดยแท้จริง พูดตามๆกันไป นี่กลายเป็นว่าต้องชดเชยกันแล้ว คือ ปุถุชนคนธรรมดาไปยืมภาษาพระอริยเจ้ามาใช้พูดโดยที่ตัวเองไม่รู้สึกเลย งมงายที่สุดเลย แต่ถ้าทีพระอริยเจ้ามายืมภาษาคนธรรมดาไปพูด ท่านรู้นะ ท่านรู้สึกและท่านไม่ได้หลงไปตามคำพูดที่พูดนั้น มียืมกันไป-มียืมกันมา เลยยุ่งกันใหญ่ คนชาวบ้าน ปุถุชน ไปเอาภาษาพระอริยเจ้ามาพูด ก็พูดอย่างละเมอๆไปอย่างนั้น แต่ถ้าพระอริยเจ้าไปเอาภาษาคนธรรมดาไปพูด-ไม่มีการละเมอเพราะท่านเห็นจริง
เมื่อเห็นลึกต่อไปอีกถึงระดับที่ ๔ นี่คือ จะยกเลิกหมด ไม่มีการพูดว่าอะไร ไม่มีการบัญญัติว่าอะไร ไม่มีสมมติ ไม่มีบัญญัติว่าอะไร นี่ มาถึง ระดับสุญญตา หรือระดับที่เรียกว่า อัพยากฤต / อัพยากะตา หรือ อัพยากฤต โดยสมบูรณ์ นี่เลิกพูดกันแล้วว่าอะไรเป็นอะไร ก็ต้องหุบปากกันตอนนี้เอง ถ้าเกณฑ์ให้พูดจริงๆว่านี่เป็นอะไร นี่เป็นอะไร นี่อย่างไรก็หุบปากมากกว่า ความหมายของ อนัตตา นั้นมีอยู่เป็น ๒ ชนิดนะ อนัตตา ที่คู่กับ อัตตา อยู่ในระดับคู่กับ อัตตา แต่ สุญญตา นี้ อนัตตา อยู่ในระดับสูงไปกว่านั้นไม่ลงไปคู่กับ อัตตา ได้ นี่มันความสับสน ความกำกวมของการใช้ภาษา ถ้าทำไปหรือพูดไปด้วยความยึดมั่นแล้วก็ อัตตา มันเป็น สัสสตทิฏฐิ / อนัตตา มันกลายเป็น อุจเฉททิฏฐิ หรือ นัตถิกทิฏฐิ ไป มันใช้ไม่ได้นะอย่างนั้น เหมือนที่เราพูด อนัตตา นี่คือ รู้ชนิดที่ว่าไม่ไปเกี่ยวกับ สัสสตทิฏฐิ หรือ อุจเฉททิฏฐิ เลย เพราะฉะนั้น ถ้าพูดให้ปลอดภัยมันก็สูงขึ้นมาถึงชั้น สุญญตา คือ ว่าง จากการที่เขาพูดว่า อัตตา หรือ อนัตตา หรืออะไรก็ตาม
แล้วสำหรับความหมายของคำว่า อัพยากฤต หรือ อัพยากะตะ นั่นคือ คำที่ดีที่สุดแล้ว คือ พยากรณ์ไม่ได้ พยากะตะ คือ พูดออกไปได้ว่าอะไร อัพยากะตะ คือ พูดออกไม่ได้ว่าอะไร เพราะมันว่างจนไม่ควรจะมีความหมายกำกับบัญญัติว่าอย่างนั้นอย่างนี้ นี่ เป็นระดับสูงสุดของภาษาธรรมที่จะใช้ได้แต่กับพระอรหันต์เท่านั้น เมื่อแสดงลักษณะของ นิพพาน ก็ต้องหุบปาก ขืนพูดออกไปนิดเดียวมันก็ผิดนิดเดียว พูดมากก็ผิดมาก มันอยู่พ้นวิสัยของการบัญญัติ แต่เดี๋ยวนี้เราก็พูด นี่พูดบรรยายลักษณะของพระนิพพานตั้งชั่วโมง มันเห่อ มันเพ้อ มันว่าไปตามความจำเป็นบังคับบ้าง หรือมันว่าไปตามความจำ ไม่ได้หยั่งเห็นตัวจริงแท้ของพระนิพพาน ถ้ามันเห็นจริงแท้โดยรู้สึกจริงๆ มันก็ต้องหุบปากอีกเป็นธรรมดา เพราะมันอยู่เหนือเหลือวิสัยของการบรรยาย การบัญญัติ การอธิบายนั้น ภาษาธรรมอันลึกซึ้ง ก็คือ ภาษาหุบปาก
ทีนี้ เรามาทบทวนดูว่ามันมี ๔ ระดับ
ที่ ๑ มันลึกลงไปบ้าง ในความหมายของคำๆนั้นไปตามเดิม แต่มันเปลี่ยนมันลึกเข้าไปแต่ยังใช้คำๆนั้นได้
อันดับ ๒ มันลึกไปจนใช้คำๆนั้นไม่ได้ ต้องเปลี่ยนคำ
อันดับ ๓ ลึกจนต้องเอาคำว่าไม่ๆๆเข้ามาใส่ข้างหน้า นี่เรียกว่า ปฏิเสธโดยสิ้นเชิง
แต่ลึกอีกระดับหนึ่ง ก็คือ หุบปาก
ผู้ที่รู้ความจริงมักจะถามกันว่า ต้นไม้นี้คืออะไร? เขาก็ต้องหุบปากเพราะไม่มีคำพูดจะบรรยายให้ถูกตามความรู้สึกที่เขามีความรู้สึกต่อต้นไม้นี้โดยสมบูรณ์ได้ จะว่า ธาตุ ๔ หรือ พฤติของธาตุ ก็พูดกัน มันก็ไม่หมดหรอกมันไม่หมด และมันเกินขอบเขตที่จะต้องพูดแล้ว เพราะมันไม่มีใครจะจำเป็นต้องใช้ภาษาอย่างนี้ลักษณะอย่างนี้ เพราะเราต้องการแต่เพียงให้รู้ว่า ต้นอะไร? เอาไปกินได้หรือไม่? ขายได้หรือไม่? มันต้องการเพียงเท่านี้ ก็อยู่ในวงจำกัดของ กิเลส-ตัณหา ของมนุษย์เท่านั้นที่เราพูดได้ เพราะเหนือจากนั้นขึ้นไปมันก็ไม่พูด-พูดไม่ได้
ทีนี้ ก็อยากจะชี้ว่า ตัวกู มันอยู่ที่ไหน? ตัวกู-ของกู มันอยู่ที่ไหน? มันอยู่ในระดับที่ธรรมดาสามัญของคนปุถุชน คือ จะไม่พูดให้มันต่ำกว่านั้นหรือเลวกว่านั้นนะ พูดอย่างธรรมดาสามัญเป็นไปตามธรรมดาสามัญ มันเป็นความรู้สึกอันหนึ่ง...ความคิด....ใช้คำว่าดีกว่า ความคิด เป็นความคิดที่คิดออกมาได้อันหนึ่งตามความรู้สึกของคนธรรมดาสามัญนั้น แล้วความรู้สึกหรือความคิดนั้นมันทำให้ปากพูดออกมาว่าอย่างนั้นในทีแรก ในชั้นแรก คำแรกในโลก จะว่า เรา หรือว่า กู นั้นก็แล้วแต่ภาษา แล้วแต่มันจะเป็นภาษาไทย หรือภาษาอินเดีย หรือภาษายุโรป ภาษาอะไรก็ตามใจเถิด แต่ความหมายเหมือนกันหมด คือ ตัวกู ตัวเรา ตัวฉัน ตัวข้าพเจ้า นี้เอง ทีนี้ ก็มีการถ่ายทอดคำพูดอันนี้พูดเป็นกันมาเรื่อย แล้วมันรุนแรงขึ้นในทางน้ำหนักหรือความหมาย พอมีการขยายตัวออกไปในทางความรู้สึกคิดนึก อย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกัน เช่น เกียรติยศ ชื่อเสียง พอไปรู้จักเข้า ความหมายแห่ง ตัวกู มันก็มากขึ้น เมื่อไปรู้จักทรัพย์สมบัติ บุตร ภรรยา สามี บ้านเรือนอะไรต่างๆ ความหมายของ ของกู มันก็เข้มข้นขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้ามนุษย์ไปยิ่งรู้ความหมายของสิ่งเหล่านี้มากขึ้นเท่าไร ความเข้มข้นของ ตัวกู-ของกู ความเข้มข้นแห่งความหมายของ ตัวกู-ของกู นี้ก็จะรุนแรงขึ้นเท่านั้น รุนแรงขึ้น รุนแรงขึ้น มันยิ่งฉลาด-ก็ยิ่งมี ตัวกู จัด ยิ่งสบายมาก-ก็ยิ่งมี ของกู จัด เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สักกายทิฏฐิ เป็นคำพื้นฐานทั่วไปที่ใช้แก่สัตว์ทั่วไปที่มันจะมีความรู้สึกชนิดนี้ เอาสิ่งที่มันรู้จักนี่แหละเป็น ตัวกู เป็น ของกู เพราะฉะนั้น สัตว์เดรัจฉานมันอยู่ในระดับที่ไม่รู้จักเกียรติยศ หรือไม่รู้จักเอร็ดอร่อยเป็นพิเศษเหมือนมนุษย์ มันก็มี ตัวกู-ของกู น้อย ความรู้สึกน้อย ความรู้สึกที่เป็นความมั่นหมายว่าเป็น ตัวกู-ของกู ก็มีน้อยมีกำลังน้อย ทีนี้ มนุษย์มีวิวัฒนาการทางมันสมองไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีหยุด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมนุษย์ ถ้าไม่มีวิวัฒนาการทางมันสมองก็ไม่ใช่มนุษย์ ทีนี้เมื่อมีวิวัฒนาการทางสมองมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น ก็รู้ความหมายแห่งอะไรต่างๆมากขึ้น จึงมีอะไรหลายๆอย่างที่สัตว์เดรัจฉานไม่มีหรือไม่เคยมี แล้วก็ที่มีอยู่ด้วยกันก็รุนแรงกว่า นี่ คือ ตัวกู-ของกู ในความหมายที่เป็นปัญหา คือ มันเกินระดับธรรมดาสามัญ จนเป็นเรื่องให้ทุกข์ให้ร้อนอย่างลึกซึ้ง จนต้องเกิดบุคคลชั้นพระพุทธเจ้าออกมาในโลกนี้ เพื่อจะช่วยแก้ปัญหานี้ คิดดูเพราะฉะนั้น จะถือว่าวิวัฒนาการของมนุษย์เป็นของดีหรือของชั่ว? เป็นโชคดีหรือเป็นโชคร้าย? คนที่เขามองลึกในทางภาษาธรรมเขามองเห็นเป็นโชคร้ายนะ ยิ่งฉลาดมากอย่างนี้จะยิ่งโชคร้าย คือ จะต้องได้รับความทุกข์มากขึ้น ทีนี้ เมื่อไรจะมีโชคดีเล่า? ก็ต้องต่อเมื่อรู้เรื่องนี้อีกทีหนึ่ง ทีนี้ คนที่ทำให้รู้เรื่องนี้ คือ คนที่มาโปรด มาโปรดให้สัตว์โลกผู้โง่เขลา ให้มันพ้นจากความโง่เขลา ให้ดับทุกข์ได้ พระพุทธเจ้าจึงต้องมาเกิด ถ้าปล่อยไปตามธรรมดาสามัญของปุถุชนนี้ มันก็ติดแน่นความหมายมั่นเป็น ตัวกู-ของกู อย่างรุนแรง รุนแรง รุนแรงจนจะฆ่ากันตายหมด หรือมันจะติดอยู่ในความหมายของคำว่าดี ว่าชั่ว ว่าได้ ว่าเสีย ว่าสุข ว่าทุกข์นี้จนเป็นบ้ากันไปหมด เดี๋ยวนี้มันมีขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมกำกับอยู่โดยไม่รู้สึกตัว เราจึงไม่เป็นบ้ากันมากถึงขนาดนั้น คือ พออยู่ได้ด้วยความทุกข์ในระดับหนึ่ง ซึ่งพอทนกันไปได้ไม่ถึงกับเป็นบ้าหรือตาย ยกเว้นแต่บางคนซึ่งมีไม่มากนักที่เป็นทุกข์จนขนาดเป็นบ้า หรือถึงกับตายเพราะความทุกข์นั้น
แต่ทีนี้ แม้เราที่ไม่ถึงขนาดเป็นบ้าหรือกับตายนี้มันสนุกอยู่เมื่อไหร่เล่า ลองคิดสิ มันเป็นการตกนรกแบบหนึ่งนะ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ผัสสายตนิกนรก - ตกนรกนั้นอยู่เสมอ นี่มันเป็นทุกข์ที่เร่าร้อนอยู่ด้วยสิ่งที่เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี่เป็นธรรมดา จะเป็นได้มากก็เพียงอย่างนี้ แล้วก็จะถูกรุมให้ร้อนอยู่พอทนไปได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องให้ทำโง่เสีย ถ้ามันไม่มีทางออกอย่างอื่น-ก็ให้ทำโง่เสีย ปุถุชนชาวบ้านธรรมดาเขาก็ไม่รู้ไม่ชี้เสีย กิลง กิเลส ไม่รู้ไม่ชี้มันเสีย-ทำมาหากินไป ด้วยการร้องไห้บ้าง หัวเราะบ้าง ร้องไห้บ้าง หัวเราะบ้าง จนเป็นธรรมดาไป ก็ได้ ถ้าชอบเพียงเท่านั้น-ก็ได้เหมือนกัน เป็นระดับปุถุชนตามธรรมดาสามัญ มีภาษาพูดของตนเองในระดับของตนเอง เรียกว่า ภาษาคน ถ้าท่านไม่ต้องการเลื่อนจากชั้นนี้ก็ไม่ต้องมาบวชก็ได้ ไม่ต้องมาเรียนพุทธศาสนาก็ได้ ทีนี้ ต้องการจะให้ได้ดีกว่านั้น ให้ดีที่สุดที่มนุษย์จะดีได้ เราจึงต้องมาเรียนเรื่องนี้ คือ เอาสิ่งที่มันรุมๆร้อนๆอยู่ตลอดให้ออกไปเสียด้วยให้มันหมดสิ้นเลย ให้มันเหลือแต่เย็นสนิท
ร้อน นั้นมันมาจากความหมายมั่นเป็น ตัวกู-ของกู พอหมดความหมายมั่นเป็น ตัวกู-ของกู มันก็ เย็นสนิท จะเห็นได้ทันทีว่าเรื่อง ตัวกู-ของกู นั้นมันเกี่ยวกับความมีชีวิตอย่าง เย็น หรืออย่าง ร้อน / เย็น ในที่นี้ก็ให้ทราบไว้ด้วยว่าเป็นความหมายพิเศษ มันใช้กับเรื่องทางจิตใจที่ปราศจากความทุกข์ ไม่ใช่ เย็น ทางวัตถุธรรม ทาง Physic ซึ่งมันตรงข้ามกับ ร้อน / เย็น อย่างนั้นเป็นภาษาไม่จริง เป็นภาษา Relative ไม่รู้ว่าเท่าไรเรียกว่า ร้อน? เท่าไรเรียกว่า เย็น? มันแล้วแต่การบัญญัติ ที่จริงมันก็มีความร้อนอยู่ระดับหนึ่ง ที่เรียกว่า เย็น มันก็มีความร้อนระดับหนึ่ง ที่เรียกว่า ร้อน ก็มีความร้อนสูงขึ้นไป นี่ภาษา Physic มันเป็นอย่างนั้น อย่างนี้เป็นภาษาวิญญาณ ภาษา Spiritual ที่เรียกว่า เย็น ก็คือ ปราศจากความทุกข์ ถือว่าตามมาตรฐานทั่วไปสัตว์ทั้งหลายมี กิเลส มันมีความทุกข์ เพราะฉะนั้น ก็มี ความร้อน อยู่ระดับใดระดับหนึ่ง เย็น ต่อเมื่อหมดสิ่งเหล่านี้ เย็น ในความหมายนี้จึงเป็นความหมายพิเศษ ไม่คู่กันกับ ร้อน นั้น ถึงแม้จะมีคนพูดว่า พระพุทธเจ้าเมื่อจะออกผนวชท่านออกไปด้วยความหวังว่าเมื่อมัน ร้อน มันก็ต้องมี เย็น แก้ เมื่อมี ทุกข์ มันต้องมี สุข แก้ นั่นก็ท่านพูดภาษาคนเพราะท่านยังไม่รู้เรื่องเรื่องพระนิพพาน เป็นเพียงความฝัน การคาดคะเนตามภาษาคนธรรมดา ตาม Logic ธรรมดาว่า มันมี ร้อน มันก็ต้องมี เย็น แก้ มีทุกข์มันก็ต้องมีสุขแก้ เมื่อท่านออกผนวช ตรัสรู้บรรลุพระอรหันต์แล้ว ท่านจึงรู้ว่ามี ความเย็น อีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่คู่กับ ความร้อน ท่านก็ต้องเก็บไว้ในใจ แต่ไม่พูดกับชาวเมือง ชาวเมืองรู้จักแต่ความเย็นที่มันคู่กับความร้อน ความเย็นชนิดนั้นเป็น Relative Truth อยู่ เป็น สมมติ เป็นบัญญัติ อยู่ แล้วก็ทำให้ ยึดถือ แล้วก็ ร้อน อีกแหละ ร้อนเพราะความยึดถือ ร้อนยึดถือเข้าว่าร้อน-มันก็เป็นทุกข์ เย็นยึดถือเข้า-มันก็เป็นทุกข์เพราะความยึดถือ เพราะฉะนั้น ต่อเมื่อหมดความยึดถือโดยประการทั้งปวง มันถึงจะเย็นชนิดที่ยึดถือไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องจำไว้ว่าเย็นชนิดหนึ่งยังเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ นี่ไม่เย็นแล้ว ต่อเมื่อไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือนั่นถึงจะเกิดความเย็นชนิดนั้นขึ้นมา คือ เย็นอย่างที่เรียกว่าพระนิพพาน พระนิพพานเป็นเย็น เป็น ศิวะเย็น เพราะฉะนั้น ก็เห็นได้ว่าพอพูดถึงพระนิพพาน ก็ขึ้นถึงภาษาธรรมสูงสุดจนต้องหุบปากอีกแล้ว เหนือสุญญตา ไปแล้ว นับตั้งแต่ สุญญตา ขึ้นไป คือ พ้นจากการบัญญัติการพูดจา
นี่ เรามองดูอีกทีหนึ่งว่าจากข้างต้น ตัวกู-ของกู มันตั้งต้นอย่างไร? ที่ตรงไหน? เหมือนกับที่ว่ามาแล้ว แล้วมีคนพบว่า ไอ้นี่เองที่เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งหลาย กระทั่งเป็นต้นเหตุแห่งความเวียนว่าย เวียนว่ายตายเกิด จะพูดกันในลัทธิไหน ศาสนาไหนก็ตาม ก็มีพูดเวียนว่ายตายเกิดทั้งนั้น รู้จัก ตัวกู-ของกู ให้ดี ว่ามันเป็นรากฐาน หรือเป็นมูลเหตุ เป็นที่ตั้งอะไรก็ตามแห่งปัญหาทั้งปวง คือ ความทุกข์ทั้งปวง จะต้องมีการทำให้มันหมดไป แล้วก็มีคนพบกับข้อเท็จจริงอันนี้แล้วเหมือนกัน เพราะมีคำว่า อหังการ - มมังการ ใช้ในลัทธิอื่นนอกจากพุทธศาสนา ลัทธิที่มีอยู่ก่อนพุทธศาสนามีคำว่า อหังการ - มมังการ ใช้ คือ เขารู้สึกว่านี่แหละคือความรู้สึกที่เป็นอันตราย อหังการ คือ ตัวกู / มมังการ คือ ของกู แต่เขาก็ไม่คิดจะดับมัน ในทีแรกก็จะหาที่ดีกว่า ดีกว่า ดีกว่า มันก็ได้ไปที่ดีกว่า ดีกว่า แต่มันก็ไม่ดับทุกข์ ทีนี้ มาระยะหนึ่งเกิดมีผู้รู้ขนาดที่จวนเจียนจะเป็นพระพุทธเจ้าแล้วขึ้นมา ไปพบวิธีข่มไว้ ปิดไว้ บังคับไว้ ไม่ให้ปรากฏ เป็นพวก ฌาณ พวก สมาบัติ ทั้งหลายในระดับสูงสุด อย่างที่เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ ถ้าอยู่ในความรู้สึกอัน ตัวกู-ของกู มันก็โผล่ไม่ได้ ก็ทำได้เพียงเท่านั้น ก็แปลว่า ระงับอิทธิพล ระงับพิษร้ายของ อหังการ - มมังการได้มากอยู่เหมือนกันแต่ไม่ถอนรากโดยสิ้นเชิง พระศาสดาที่สูงสุดในทางฝ่ายนั้นก็ได้แก่อาจารย์ของพระพุทธเจ้าคนสุดท้าย ที่เรียกว่า อุทกดาบสรามบุตร สั่งสอน เนวะสัญญานาสัญญายตนะ เสนอสิ่งนี้ให้แก่พระพุทธเจ้าว่าเป็นสิ่งสูงสุดเพื่อดับทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านไม่เอา ท่านไม่ยอมรับ ท่านจึงต้องออกไปหาของท่านเอง จึงพบในสิ่งที่เรียกว่า นิพพาน สิ้น กิเลส สิ้น ตัวกู-ของกู โดยสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น ระบบนี้ของพระพุทธเจ้าจึงเป็นการขุดรากถอนโคนต่อสิ่งที่เรียกว่า อหังการ - มมังการ โดยสิ้นเชิง ไม่ใช่เพียงแต่กลบไว้
ทีนี้ อีกทางหนึ่งซึ่งเขายังไม่ยอมเปลี่ยน เขาจะไปหา อัตตา หาอะไรใหม่ บัญญัติไปอีกทางหนึ่งก็มี เราก็ไม่ไปแตะต้องเขา แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังพูดว่าต้องละ อหังการ- มมังการ ด้วยเหมือนกัน บทบัญญัติของเขาก็ละอหังการ-มมังการ แล้ว ก็ไปพบ อัตตา / อาตมัน ที่สูงสุด แล้วหมดสิ้นกันเพียงเท่านั้น ทีนี้ ทางฝ่ายพุทธเราถ้าดับอหังการ - มมังการ หมดแล้วมันก็ว่างไปเลย ไม่เอาขึ้นมาเป็น อัตตา หรือเป็นอะไรอีก แต่มันกระเดียดเข้าไปใกล้กันมาก ที่ถ้าพูดภาษาคนอีกทีหนึ่งก็จะพูดว่าสิ่งนี้เป็นชีวิตนิรันดร เพราะฉะนั้น การจะพูดว่าพระนิพพานเป็นชีวิตนิรันดรไปในทำนองนี้ ขอให้เข้าใจว่าพูดอย่างภาษาคนเสียแล้ว ย้อนกลับมาหาภาษาคนอีกแล้ว หรือว่าจะใช้ภาษาคนอย่างที่มีความหมายอย่างภาษาธรรมก็ตามใจ แต่มันหวนกลับมาใช้ภาษาคนอีกทีหนึ่งแล้ว เกิดเป็น อมตะ ไม่รู้จักตาย เป็น นิจจัง เป็น ถาวร อะไรขึ้นมา อย่างนี้-เป็นภาษาคน ถ้าเป็นภาษาธรรมแท้ก็เลิกพูดกัน หมดความหมายแห่ง ตัวตน-ของตน แล้วจะมีอะไรเหลืออยู่สำหรับพูด ถ้าเกณฑ์ให้พูดก็เหลือแต่ความว่าง แล้วความว่างมันพูดได้เมื่อไร? จะพูดว่าความว่างเป็นอย่างไร?-มันก็ไม่ได้อีก เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาเราจึงบัญญัติได้เลยว่าเป็นพวก สุญญวาส สุญญตาวาส บัญญัติความว่างแห่งตัวตนเป็นที่มุ่งหมาย ความว่างจาก ตัวกู-ของกู นั้นเป็นที่มุ่งหมายของพุทธศาสนา ว่างแล้วก็เลิกกัน ไม่เอาที่ว่างนั่นเป็นตัวตนอีกทีหนึ่ง แต่ถ้าพวกอื่นเขาอยากจะเอาก็ตามใจเขา เราไม่ไปว่าเขา ไม่ไปทะเลาะกับเขา เพราะว่ามันอยู่กันคนละระดับ หรือมีวิธีการต่างกัน ถ้าเขาพอใจ-เขาไม่มีความทุกข์ก็ใช้ได้
แต่พอที่จะพูดได้ตรงกันหมดทุกๆลัทธิว่า ต้องขจัด อหังการ - มมังการ คือ ขจัด ตัวกู-ของกู เดี๋ยวนี้เราอย่ามองกันในฐานะเป็นศัตรูนะ เอายึดปัจจุบันนี้เป็นประมาณก็ได้ แล้วเราจะพบว่าทุกศาสนาในปัจจุบันนี้มุ่งจะขจัด ตัวกู-ของกู กันทั้งนั้น ระบบของคริสเตียนที่พระเยซูสอนก็มุ่งจะขจัด ตัวกู-ของกู ศาสดาทุกศาสดาจะต้องสอนว่า อย่าเห็นแก่ตัว กันทั้งนั้น คือ จะไม่มี ตัวกู-ของกู เพราะฉะนั้น ยอมรับเสียดีกว่าว่าทุกลัทธิทุกศาสนาที่เป็นศาสนานั้น ก็จะต้องมีหลักการที่จะกำจัดเสียซึ่ง ตัวกู และ ของกู เขาก็มีวิธีของเขา-เราก็มีวิธีของเรา และมันอยู่ที่มันมีระดับต่างกัน จะเหมือนกันได้อย่างไร จิตใจหรืออะไรก็ตามมันอยู่ในระดับที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น ก็ต้องต่างกันในผลที่จะได้ หรือการเดินทางที่จะไป หรือจะเปรียบเหมือนกับว่าเรามันอยู่ในทิศทางที่ต่างกัน จุดตั้งต้นมันอยู่ในทิศทางที่ต่างกัน แล้วก็มุ่งหมายจะไปสู่ที่เดียวกัน เพราะฉะนั้น การเดินจึงเหมือนกันไม่ได้แต่มันหวังเหมือนกันได้ คือ หวังจะหมดความเห็นแก่ตัว ก็เหลืออยู่แต่ว่าหมดจริงหรือไม่จริง หมดสิ้นเชิงหรือไม่สิ้นเชิง เท่านั้นแหละ ถ้าลงหมดความเห็นแก่ตัวแล้ว หมดความเห็นแก่ตัวนะ แม้จะไม่สิ้นเชิงมันก็เป็นสุขมาก ไปสังเกตเอาเอง
เดี๋ยวนี้ในวงพุทธบริษัทเรา แม้ยังไม่สิ้น กิเลส เป็นพระอรหันต์ความเห็นแก่ตัวมันเบาบางลงไปเท่าไร-ก็มีความสุขเท่านั้น ตั้งต้นตั้งแต่ว่า จิตที่คิดจะให้ มันสบายกว่าจิตที่คิดจะเอา เป็นหัวข้อบรรยายเรื่องหนึ่งซึ่งผมเคยบรรยาย..เมื่อไรลืมแล้ว แต่ยังนึกได้ว่านี่เป็นหลักที่ทุกคนควรจะถือ ถือปฏิบัติ จิตคิดจะให้ มันจะสบายกว่าจิตที่คิดจะเอา พูดสั้นๆว่า จิตให้สบายกว่าจิตเอา เพราะว่าจิตเอานั้นมันต้องมี ตัวกู-ของกู ในความรู้สึก ถ้ามันเป็นจิตให้ มันต้องลืม ตัวกู-ของกู ไว้คราวหนึ่งมันถึงจะให้ออกไปได้ ให้มากให้น้อยก็สุดแท้แต่ มันต้องลืม หรือไม่มี หรือว่างไปจาก ตัวกู-ของกู เสียก่อน มันจึงจะให้ออกไปได้ เพราะฉะนั้น จิตให้สบายกว่าจิตเอา จิตเอา-มันกลุ้มอยู่ใน ตัวกู-ของกู จิตให้-มันว่างไปจาก ตัวกู-ของกู ชั่วขณะ
ทีนี้ พิจารณากันถึงคำว่า ให้ ให้ของให้อะไรนี้-มันก็ให้ ก็ต้องให้ด้วยไม่มี ตัวกู-ของกู เหมือนกัน ทีนี้ มันสูงขึ้นไปถึงให้ลูก ให้เมีย อย่างพระเวชสันดร มันก็ให้ยิ่งขึ้นไปอีก ทีนี้ ให้สูงขึ้นไปกว่านั้น ก็คือ ให้ ตัวกู -ให้หมดเลย ให้ชีวิต ให้ตัวตน ให้อะไรนี่ ให้หมดเลยไม่มีอะไรเหลือ มันเป็น ให้ถึงที่สุด เพราะฉะนั้น มันจึงสบายถึงที่สุด เพราะมันเป็น ให้ถึงที่สุด มันสละถึงที่สุด มันเหวี่ยงคืน โยนไปถึงที่สุด มันก็เลยถึงที่สุดแห่งความทุกข์ ถึงที่สุดแห่งความทุกข์ คือ ไม่มีทุกข์ นะ ไม่ใช่ทุกข์เต็มที่ ภาษาพระบาลีมันแปลว่า ที่สุดแห่งทุกข์ ไม่ใช่ว่าเป็นทุกข์ที่สุด แปลว่า ทุกข์ไม่มีอยู่ เป็นที่สุดแห่งทุกข์ ที่สุดแห่งทุกข์ ที่สุดแห่ง ตัวกู-ของกู เพราะฉะนั้น จึงเป็นตัวแท้ของพระพุทธศาสนาทั้งดุ้นทั้งอัน ตั้งแต่ต้นจนปลาย การพยายามทำลาย ตัวกู นี้เสีย เมื่อใดเกิดขึ้นมาในความรู้สึก เป็น ตัวกู-ของกู เกิดขึ้นมาในจิตนิดหนึ่งก็เป็นทุกข์นิดหนึ่ง มาก-ก็เป็นทุกข์มากเมื่อใดก็เมื่อนั้นนั่นแน่นอน ตัวกู เกิดเมื่อใดก็มีความทุกข์
เพราะฉะนั้น ผมจึงถือว่าเรื่อง ตัวกู-ของกู นี้เป็น ปาติโมกข์ เป็น บทประธานแห่งการพูดจา เป็น หลักประธานแห่งการปฏิบัติ รู้เรื่องนี้แล้วปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อันนี้ ทำลาย ตัวกู-ของกู เสีย ก็พูดมาในแง่มุมต่างๆกัน ล้วนแต่เกี่ยวกับเรื่อง ตัวกู-ของกู ทั้งนั้น พูดมาหลายสิบครั้งแล้ว เรียกว่า ธรรมะปาติโมกข์ ไม่มีเรื่องอื่น มีแต่เรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า ตัวกู-ของกู มันอาจจะซ้ำ วนเวียน หรือซ้ำในบางประโยค บางแง่ เล็กๆน้อยๆกับที่พูดมาแล้ว แต่มันก็ไม่ได้ซ้ำทีเดียว มันยังมีส่วนที่จะให้พูดได้อีกมาก แล้วแต่จะเห็นว่าจะดึงเอาในส่วนไหนมาพูดกันในวันนี้ วันนี้ เป็นวันๆไป มันตรงกับหลักที่กล่าวไว้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น-ถือมั่น นี่แหละ มันเป็นหลักอันเดียวกันแล้ว มันจะวนอยู่ที่ตรงนี้ มันอาจจะล้อมรอบๆอยู่ที่นี่ ไม่ได้ออกไปจากนี้ สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น-ถือมั่น ก็คือ ไม่เกิดความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกู ยึดมั่น นี่คือ มันต้องมีที่ยึด และสิ่งที่จะถูกยึด คือ ตัวกู-ของกู มันเป็นเพียงลมๆแล้งๆ เป็นเพียงความเข้าใจผิด สำคัญผิดเกิดขึ้น อวิชชา มันตั้งต้นที่มี ผัสสะ ทางจิต ผัสสะ นี้ปรุงขึ้นมาเป็น เวทนา เป็น ตัณหา เป็น อุปาทาน ทางเรื่องทางใจ มันก็เป็น ตัวกู-ของกู ขึ้นมา ทีนี้ เป็นคิด ความเห็น ความอะไรอย่างนั้นอย่างนี้หลายๆอย่างหลายๆประการขึ้นมา ล้วนแต่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ
ทีนี้ จะกำจัด ตัวกู-ของกู กันอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่ต้องพูดกันอีกมาก ทีนี้ ถ้าต้องพูดมากมันก็ตายซะก่อน ไม่ทันจบ ไม่ทันรู้เรื่อง ไม่ทันได้ปฏิบัติ ก็เลยรวบรัดให้มันเหลือแต่ให้ระวัง ผัสสะ ให้ดีๆ ในขณะที่มีการกระทบทาง ผัสสะ อย่าให้ อวิชชา ได้โอกาส ตัวกู-ของกู ก็จะไม่เกิด ไม่เกิดบ่อยเข้ามันก็จะเอียงไปทางไม่เกิด จนกระทั่งหมดความเคยชินที่เกิด ก็เป็นพระอรหันต์ได้ เรื่องสำคัญที่สุด ก็คือ เรื่องควบคุมจุดตั้งต้นของการเกิด ตัวกู-ของกู ที่มันจะมีขึ้นมาในขณะแห่ง ผัสสะ
เราฟังเทศน์ พระองค์นี้มันเทศน์นาน แล้วเกิดโกรธขึ้นมา ทีนี้ มันก็ตั้งต้นที่ ผัสสะ ที่เราไม่ชอบที่ว่าเขามาเทศน์นาน ความรู้สึกว่าเทศน์นานมากระทบจิต-มันเป็น ผัสสะ และตอนนั้นมันก็เป็น อวิชชา / ผัสสะ ก็ประกอบ อวิชชา ก็ปรุง เวทนา ขึ้นมา คือ ความไม่ชอบ ปรุง ตัณหา ขึ้นมา คือ ความอยากให้มันเลิก แล้วมันก็มี ตัวกู ต้องการอย่างนั้น เรียกว่า อุปทาน ว่า ภพ ชาติ / ชาติ คือ ตัวกูที่กำลังมีความทุกข์ ขอให้จำไว้ว่า ไม่ว่าอะไรที่เป็นเรื่องทางจิตใจ ตั้งต้นที่ ผัสสะ ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น การเกิดแห่ง ตัวกู ก็เกิดที่ ผัสสะ การดับแห่ง ตัวกู ก็ดับที่ ผัสสะ ตั้งต้นที่ ผัสสะ เป็นบทเรียนลงไปที่ ผัสสะ ซึ่งจะต้องพูดกันอีกมากเกี่ยวกับ ผัสสะ นี้ ซึ่งเราจะเอาไว้พูดในโอกาสต่อไป
วันนี้ มันก็สมควรแก่เวลา จะยุติการบรรยายเท่านี้ก่อน