แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
(เสียงท่านพุทธทาส) ท่านที่เป็นราชภัฏผู้ลาบวชทั้งหลาย ในการบรรยาครั้งที่ ๑๕ นี้ ผมจะกล่าวโดยหัวข้อว่า การส่งเสริมความมีอยู่แห่งศีลธรรม ขอให้ทบทวนถึงเรื่องที่ได้กล่าวมาตามลำดับ หลายเรื่องด้วยกัน ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่จะพลอยได้จากการบวชชั่วคราวของเรา บางอย่างนั้นมีผลโดยตรง แต่พร้อมกันนั้นก็มีผลโดยอ้อม หรือว่ามันเป็นผลที่อยู่ลึกลงไป ถ้าไม่ขุดข้นแล้วก็จะมองไม่เห็น สำหรับการบวชครั้งหนึ่งแล้วสึก แล้วลาสิกขาออกไปนี่ จะมีส่วนแห่งการส่งเสริมความมีอยู่แห่งศีลธรรมเป็นอย่างยิ่ง หากแต่ว่าต้องสังเกตดูให้ดี ๆ เนื่องจากเห็นกันเสียว่าเรื่องศีลธรรมเป็นเรื่องเล็กน้อย จะทั่วโลกก็ว่าได้ โดยเฉพาะพวกเราชาวพุทธประเทศไทยนี่ก็เหมือนกัน แล้วก็ยิ่งเป็นอย่างนั้นมากขึ้น โดยเฉพาะยุคปัจจุบันวันนี้ แล้วก็ยิ่งไม่มองเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีศีลธรรมหรือไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมในที่สุด ถ้ารู้ก็รู้อย่างผิวเผินตามที่เดาเอาเองว่าศีลธรรมนั้นเป็นอย่างไร ความสนใจมันก็น้อยลงทุกที และสิ่งอื่นที่เป็นข้าศึกของศีลธรรมมันก็ได้โอกาสมากขึ้นทุกที ๆ โดยไม่รู้สึกตัว มันเผลอยิ่งกว่าเผลอ จนในที่สุด จะต้องพูดว่าหาศีลธรรมทำยาหยอดตาก็ไม่ได้ เป็นสำนวนไทยเราบ้านนอกนั้น ถ้าพูดว่าหาทำยาหยอดตาไม่ได้ ก็หมายความว่ามีน้อยเกินไป นี่เขาใช้สำนวนอย่างนี้
ความเข้าใจผิดต่อศีลธรรมมีมากขึ้น ทั้งโดยชนิดและปริมาณ คือความสนใจมันน้อย และก็น้อยอย่างน้อยชนิด โดยความหมายที่มีขอบเขตมันแคบเข้า โดยน้ำหนัก โดยปริมาณก็น้อยไปด้วย ไม่รู้จักศีลธรรมในความหมายที่สมบูรณ์ และก็ไม่ประพฤติกระทำโดยน้ำหนักทั้งหมดทั้งสิ้น นี่ความเข้าใจผิดอย่างนี้เกี่ยวกับศีลธรรม ก็ทำให้ศีลธรรมนั้นสูญหายไป เดี๋ยวก็จะได้พูดกันว่าศีลธรรมคืออะไร ทำไมจึงเรียกว่าถึงกับสูญหายไป แต่เดี๋ยวนี้จะขอยืนยันล่วงหน้าอย่างที่เรียกว่าสมมุติฐานก็ได้ เพราะว่ายังพูดกันไม่รู้เรื่อง ก็ต้องมี สมมุติฐานกันก่อน คือจะมีสมมุติฐานว่าไม่มีอะไรที่มิใช่ศีลธรรมที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ ธรรมดาสิ่งที่มนุษย์ต้องทำ ต้องมี ต้องอาศัย ต้องอะไรต่าง ๆ นี่ไม่มีอะไรที่มิใช่ศีลธรรม จะเป็นศีลธรรมทั้งนั้น และไม่มีใครมองอย่างนี้ และถ้าพูดขึ้นก็ไม่มีใครยอมเชื่อในเหล่านี้ นี่จึงเป็นต้นเหตุให้ไม่มีความสนใจในศีลธรรม
นี้จะพูดถึงคำว่าศีลธรรม ก็ต้องสอนบาลีกันบ้างอีกเล็กน้อยตามเคย เพราะว่าบางท่านยังไม่รู้เรื่องเอาเสียเลยสำหรับคำว่าศี ละ (นาทีที่ 06:05) หรือ ศีลธรรม คำว่าศีลธรรมนี้ เป็นภาษาไทย ผูกขึ้นใช้ในประเทศไทย ในภาษาบาลี หรือในพระไตรปิฏก ไม่มีคำอย่างนี้ใช้ตรง ๆ (นาทีที่ คือไม่มีคำว่าศีลธรรมใช้ ศีล ก็ ศีล ธรรม ก็ ธรรม แต่มันก็มีความหมายชัดเจนอยู่ว่า ศีล คืออะไร ธรรมะ คืออะไร เดี๋ยวนี้เรามาเรียกกันในภาษาไทยว่า ศีลธรรม เพราะอิงอาศัยความหมายเดิม ๆ แต่มาประกอบคำขึ้นมาใหม่ว่าศีลธรรม และควรจะดูว่า แต่ละคำมันมีความหมายอย่างไร เอาคำว่า ศีละ กันก่อน ศีละ คำนี้แปลว่า ปกติ คือไม่ผิดไปจากปกติ ไม่ผิดไปจากสภาพปกติ จึงเรียกว่าปกติ ในทุกความหมาย ในทุกลำดับ คำว่าศีละ นี้ต้องแปลว่า ปกติ การที่มีศีล รักษาศีล ก็เพื่อทำให้ปกติหรือมีความปกติ ส่วนคำว่า ธรรม นั้นเป็นคำที่ประหลาดที่สุดในบรรดาคำพูด คือ มันแปลว่าอะไรก็ได้ ได้ทุกอย่าง อย่างในภาษาไทยก็จะตรงกับคำว่า สิ่ง สิ่ง สิ่งนั้นมีชีวิตก็ได้ ไม่ชีวิตก็ได้ เป็นเหตุก็ได้ เป็นผลก็ได้ อดีต อนาคต ปัจจุบันได้ทั้งนั้น ก็เป็นสิ่งก็แล้วกัน คำว่า ธรรม นั้นคืออย่างนั้นแหละ มีความหมายอย่างนั้น นี้มารวมกันเป็นศีลธรรม เกิดเป็นความหมายขึ้นมาได้อย่างน้อย ๓ ความหมาย อย่างแรกที่สุดก็คือ เหตุแห่งความปกติ ศีลธรรมคือเหตุแห่งปกติ เหตุแห่งความปกติ เมื่อเราพูดกันว่าจงประพฤติศีลธรรม มาประพฤติศีลธรรม มาส่งเสริมศีลธรรมอย่างนี้ ศีลธรรมคำนี้คือเหตุแห่งความปกติ เราจงปฏิบัติอย่างนั้นปฏิบัติอย่างนี้ และก็เป็นเหตุให้เกิดความปกติ นี้ความหมายที่สอง มันเป็นผล ผลคือความปกตินั่นเอง เช่นเราพูดว่า มีศีลธรรมดีอย่างนี้ คือเป็นอยู่เป็นสุขสบายดี ก็เรียกว่ามีศีลธรรมดี นี่มันคือ มีผลของการปฏิบัติศีลธรรมดี บ้านนี้มีศีลธรรมดีอยู่กันอย่างสงบผาสุก หมายความมันเป็นผลของการปฏิบัติศีลธรรม คำว่าศีลธรรมอย่างนี้มันเป็นผล คือผลแห่งความปกติ นี้ความหมายที่สาม ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับมนุษย์ เป็นภาวะที่เป็นไปตามธรรมชาติ อะไรมันเป็นไปตามธรรมชาติ ถูกต้องตามธรรมชาติ นั่นแหละคือปกติ จะเป็นแผ่นดิน ทะเล ป่าไม้อะไรก็ตาม ถ้ามันเป็นอยู่ของมันได้ตามธรรมชาติก็คือปกติ พอมีอะไรเข้าไปแทรกแซงกระทบกระทั่งมันก็ผิดปกติ ไอ้ภาวะที่มันเป็นปกติตามธรรมชาติ ก็เรียกว่า ศีลธรรมได้เหมือนกัน แต่ไม่เกี่ยวกับมนุษย์ แต่ถึงอย่างไร เราก็ชอบใช่ไหม เราชอบไอ้ภาวะในโลกนี้ทุกอย่างมันเป็นปกติ หรือว่ามันจะมีการเปลี่ยนแปลง ก็ขอให้มันเปลี่ยนแปลงตามปกติ เป็นปกติ
ทีนี้ความหมายอย่างที่หนึ่งนั่นแหละ มันเป็นตัวปัญหา ตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นตัวปัญหาในเรื่องที่เราจะพูดกัน คือเหตุแห่งความปกตินั่นเอง ได้แก่ ศีลธรรมในฐานะที่เป็นปัญหา ในปัจจุบันนี้ คือมันหายไป หายไป จนกระทั่งว่าหาทำยาหยอดตาก็แทบจะไม่ได้ นี้เหตุแห่งความปกตินี้ต้องหมายถึงการประพฤติปฏิบัติกระทำให้เป็นเหตุขึ้นมาก่อน แล้วถึงจะได้ผลของความปกติ ถ้ามีความปกติก็เรียกว่ามีศีลธรรม ฉะนั้นการไม่ฆ่าเขา ไม่ไปลักของเขา ไม่ไปประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมาอะไรก็ตาม ล้วนแต่เป็นเหตุให้เกิดความปกติทั้งนั้น กระทั่งศีลอีกกี่สิบข้อ กี่ร้อยข้อ มันก็ล้วนเป็นเหตุให้เกิดความปกติทั้งนั้น ถ้ามันมีการไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมาแล้ว มันก็คือมีศีลธรรม ในภาวะที่เรียกว่าเป็นผล นี้ส่วนที่เราต้องประพฤติ ต้องปฏิบัติ ต้องชวนกันทำให้มันเป็นอย่างนั้น เรียกว่าศีลธรรมโดยตรง เป็นเหตุแห่งความปกติ นี้ก็ขยายตัวไปอีกจาก ๔-๕ ข้อนี้ จนถึงการกระทำทุกอย่างที่ละเอียดปลีกย่อยออกไป ถ้าทำเพื่อปกติแล้วก็เป็นศีลธรรมทั้งนั้น เดี๋ยวมันก็จะมองเห็นเองว่าไม่มีอะไรหรอกที่ไม่ใช่ศีลธรรม หรือพูดอีกทีหนึ่งก็ว่าไม่มีอะไรที่เราไม่ได้ทำเพื่อความปกติ แม้แต่จะไปบ้ากิเลสตัณหา หลงใหลในกิจกรรมทางเพศที่เขาเรียกว่าสำเร็จความใคร่นั้นก็คือว่า ก็เพื่อหาความปกติเกี่ยวกับความใคร่ แต่มันเป็นชั่ว ชั่วขณะ ๆ นี่เราทำอย่างอื่นที่จะต้องทำอยู่เป็นประจำ ก็เพื่อให้มันอยู่ได้เป็นปกติ การกินอาหาร การนุ่งห่ม การอยู่อาศัย การบำบัดโรค มันเรื่องเพื่อให้มันปกติทั้งนั้น มันอยู่ในรูปแห่งศีลธรรมทั้งนั้น แต่ทำไมจึงไม่เรียกว่าศีลธรรม นี้มันเกี่ยวกับภาษาพูดของชาวบ้าน แต่ตามความเป็นจริงหรือว่าชาวบ้านที่มันมีการศึกษา มันมีลูกตา ฉลาด มันก็มองเห็นว่ามันเป็นศีลธรรมทั้งนั้น กินอยู่ เกี่ยวกับการกินอาหาร ที่เนื่องด้วยการกินอาหารให้มันถูกต้อง นุ่งห่ม เกี่ยวกับนุ่งห่มให้มันถูกต้อง เกี่ยวกับใช้สอย อาศัยให้มันถูกต้อง เกี่ยวกับบำบัดโรคให้ถูกต้อง นี่ก็เป็นศีลธรรมได้หมด
ทีนี้ไอ้คำว่าศีลธรรมนี้มันมีรูปแบบที่ต่างกันโดยการผันแปร แปรผันของมนุษย์นั่นเอง คือมนุษย์มันเกิดมีความคิดที่ก้าวหน้า แต่มันไม่ได้ก้าวหน้าไปในทางเดียวกัน มันก็แบ่งแยกกันไปตามที่เหตุปัจจัยมันจะส่งเสริม ฉะนั้นเราจึงมีความหมายที่เกิดขึ้น ขึ้นใหม่ ๆ หรือบัญญัติกันขึ้นให้มันชัดเจนลงไปเป็นส่วน ๆ เช่นคำพูดที่เราพูดว่าในแง่ของศาสนาก็อย่างหนึ่ง ในแง่ของสังคมก็อย่างหนึ่ง ในแง่ของการเมือง ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง หรือมันจะมีอีกกี่แง่ก็ตามใจ ยกตัวอย่างมาเพียง ๓ แง่ ในแง่ของศาสนา ในแง่ของสังคม ในแง่ของการเมือง แต่ละแง่มันคือศีลธรรม ทำให้ถูกต้องในแง่ของศาสนา ก็เป็นศีลธรรม ทำให้ถูกต้อง ในแง่ของสังคมธรรมดาสามัญนี่ก็เป็นศีลธรรม ทำให้ถูกต้องในแง่ของการเมืองก็ยังเป็นศีลธรรมอยู่แหละ นั้นจึงมีศีลธรรมในรูปของศาสนา ในรูปของสังคม ในรูปของการเมือง ที่จริงมันเป็นอย่างนั้น แต่แล้วมันค่อยละเลย ละเลย ละเลยไป ๆ จนไม่ค่อยจะ ไม่ค่อยจะเห็นชัด แล้วก็จะทิ้ง ทิ้ง ทิ้งคำว่าศีลธรรมออกไป ไกลออกไป ไกลออกไป ไปเหลือในแง่ของศาสนา หรือว่าสังคม หรือว่าการเมือง นี้ขอให้สังเกตดูให้ดี ศีลธรรมในแง่ของศาสนามันเนื่องอยู่กับศาสนา ตามแบบฉบับของศาสนา ตามคัมภีร์ของทางศาสนา ก็ฝังแน่นในจิตใจของมนุษย์มากที่สุดสมัยหนึ่ง ทั้งฝ่ายตะวันออก ฝ่ายตะวันตก หมายถึงยุคโบราณหน่อย นี้ต่อมามันมีแง่สังคม เมื่อมนุษย์มันรู้จักสังคมวิทยามากขึ้น มันมองกันในแง่ของสังคม แต่ถึงอย่างนั้นไอ้สิ่งที่เรียกว่าสังคมมันก็ต้องการศีลธรรม สังคมที่มันยังดีอยู่ มันต้องการศีลธรรม เมื่อสังคมมันเลวลง มันก็ไม่ต้องการศีลธรรม แต่ถึงอย่างไรก็ดีศีลธรรมในแง่ที่เกี่ยวกับสังคมนั้น ไม่เข้มข้นเท่ากับที่เกี่ยวกับศาสนา นี้ต่อมาในยุคที่ว่าการเมืองมันขึ้นสมอง ขออภัยนะผมใช้คำหยาบ ๆ เลว ๆ โสกกะโดก (นาทีที่ กับเขาเหมือนกัน เพื่อให้มันฟังง่ายหรือมันประหยัดเวลา ในยุคที่การเมืองหรือ Spirit ของการเมืองมันฟุ้งคลุ้งไปหมดในโลกนี้ มัว (นาทีที่ 18:12) ก็สนใจการเมืองนี้มากขึ้น แข่งขันหรือกวดขันกันในแง่นี้มากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ต้องการศีลธรรม ถ้ามันเป็นการเมืองที่บริสุทธิ์ มันก็มีศีลธรรมเต็มที่ นี้การเมืองมันบริสุทธิ์อยู่ไม่ได้ เพราะมันเป็นเครื่องมือแห่งการทำลายล้างกันมากขึ้นทุกที นั้นศีลธรรมในทางการเมือง มันก็เลยเป็นศีลธรรมจอมปลอม จนพวกนักการเมืองก็จะพูด รับ รับอย่างหน้าตาเฉยบอกว่า ถูกแล้วเราไม่อาจจะถือศีลธรรมอยู่ได้ในแง่ของการเมือง นั้นในที่ประชุมทางการเมือง ไปดู จะหาศีลธรรมยาก เพราะเห็นแต่ประโยชน์ทั้งนั้น ที่มีศีลธรรมบ้างก็จนตรอก หรือว่าเพียงแต่ปากพูดมากกว่า นี้ก็เลยแยก แยกทางกันเป็นสาย ๆ ไป ศีลธรรมในแง่ของศาสนา ศีลธรรมในแง่ของสังคมมนุษย์ ในแง่ ศีลธรรมในแง่ของการเมือง นี้ศีลธรรมในแง่ของการเมืองนี้จางเต็มที จาง จางความเข้มข้นแห่งศีลธรรม จนกระทั่งไม่มี
ทีนี้ก็ดูกลับ ดูย้อนกลับทีหนึ่งถึงสิ่งที่เรียกว่าเครื่องกระตุ้น Motive เขาแปลว่าอะไร ก็ไปแปลเอาเอง ผมก็ไม่ค่อยจะรู้ ไม่ค่อยจะรู้เรื่องนี้ Motive เหตุที่มันกระตุ้นให้มันมีอะไรขึ้นมา นี้เราก็จะพูดถึง Motive ของศีลธรรม ทุกสิ่งมันต้องมี Motive เป็นเครื่องกระตุ้น มันจึงได้ทำกันเต็มที่ ถ้าว่าในแง่ของศาสนา คือมองดูกันในแง่ของศาสนา ไอ้ Motive ของศีลธรรม ก็คือความกลัวบาป กลัวนรก อยากได้บุญ อยากไปสวรรค์นี่ นี่คือ Motive แห่งศีลธรรมในแง่ของศาสนา พูดเพียงเท่านี้ก็เข้าใจได้ดีไม่ต้องอธิบาย เพราะมันเห็น ๆ กันอยู่ ยิ่งกว่าที่จะเห็น และก็ไม่ว่าศาสนาไหนด้วยนะ ทีนี้ Motive ของศีลธรรมในแง่ของสังคมนั้น มันไม่ใช่อย่างนั้นเสียแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมปัจจุบันนี้ไม่ได้พูดถึงกลัวนรก อยากไปสวรรค์ มันเป็นเพียงอยากให้สังคมต้อนรับ อยากให้มีหน้ามีตา มีเกียรติ เป็นต้น ศีลธรรมในแง่ของสังคมมันมีเพียงเท่านี้ มันมี Motive เพียงเท่านี้ เพราะมันต้องการเพียงแค่นี้ ฉะนั้นคนอุตส่าห์ทำตนให้มีศีลธรรมในแง่ของสังคม เพื่อให้สังคมเขาต้อนรับหรือไม่รังเกียจ ให้เขาให้เกียรติ ให้เขาเชิดชูตน แต่แล้วมันก็เอาแน่ไม่ได้ ถ้าสังคมนั้นเป็นสังคมเลว มันก็ให้เกียรติเลว เกียรติผิด ๆ หรือไปคบหากันแต่ในพวกผิด ๆ ใช้ไม่ได้ แต่ถ้าพูดกันถึงสังคมดี ปกติ ก็ยังมีว่า Motive ของศีลธรรมของพวกนี้ก็มีแต่ความอยากจะให้สังคมต้อนรับ นั้นเดี๋ยวนี้เขาก็มีสังคมนั่นสังคมนี่ระหว่างชาติ จะไปออกชื่อเขาก็ไม่ดี สังคมโรตารีไลอ้อนอะไรก็ตาม ที่อุตส่าห์ทำดี ทำศีลธรรมกันนี้ก็เพื่อให้สังคมมันต้อนรับ หรือต้อนรับกันตามพวก จึงสรุปว่า Motive ของศีลธรรมในทางสังคมนั่นคือยากให้สังคมต้อนรับ
ทีนี้ Motive ของศีลธรรมในทางการเมือง ถ้าการเมืองมันจะมีศีลธรรมอยู่บ้าง หรือมันยังยึดถือศีลธรรมกันอยู่ ศีลธรรมในแง่ของการเมืองนี้ มันก็มี Motive ของมันแปลกออกไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ มันอยากจะเหนือกว่า ความอยากจะเหนือกว่าในแง่ของอำนาจ หรือว่าอำนาจทางเศรษฐกิจ ทางเงิน การเงิน อะไรก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องของการเมือง เขาก็นิยมศีลธรรมในส่วนที่จะทำให้เขามีอำนาจในแง่ของการเมืองหรือการเศรษฐกิจเป็นต้น นี่จึงพูดว่าศีลธรรมในแง่ของการเมือง ในสายของการเมืองนี้ มันจางลงไปทุกทีจนจะไม่เป็นศีลธรรม แต่เขาก็ยังพูดกันอยู่ ในที่ประชุมสหชาติหรืออะไรก็ตาม ที่เป็นที่รวมของนักการเมือง ก็มีการพูดถึงศีลธรรม แต่ในความหมายซึ่งไกลกันลิบกับในแง่ของศาสนา ก็จะอ้างไอ้ศีลธรรมนี้เพียงเป็นเครื่องบังหน้า หรือว่าเอาเปรียบผู้อื่น หรืออะไรไปตามเรื่องของเขา ถ้าจะไม่พูดถึงศีลธรรม ไม่ยอมรับศีลธรรมเสียทีเดียว มันก็เป็นนักการเมืองที่ ที่ไม่มีใครยอมรับ รับไม่ไหว บ้าบอเกินไป แต่พอพูดถึงศีลธรรม ก็มันศีลธรรมไม่ ไม่ ไม่บริสุทธิ์ ไม่ซื่อตรง ศีลธรรมแอบแฝง เพราะเจตนามันอยากจะข่มผู้อื่นตลอดเวลา อยากจะเอาเปรียบผู้อื่นตลอดเวลา คือมีศีลธรรมเพื่อจะอยู่เหนือผู้อื่นทั้งนั้น นี่เพียงเท่านี้มันก็เป็นตัวอย่างให้เห็นได้ในข้อที่ศีลธรรมมันมีหลายรูปแบบ ดังนั้น Motive ของศีลธรรมแต่ละแบบ ๆ มันจึงต่างกัน
นี้เรามีศีลธรรมอย่างไหนกันแน่หรือต้องมีทั้ง ๓ อย่างก็ได้ ถ้ามันบริสุทธิ์และมีได้ทุกอย่างเลย อย่าเล่นตลกก็แล้วแต่ควรมีได้ทุกอย่างไม่ว่าในแง่ไหน นี้ในแง่ของศาสนาที่ว่ากลัวบาป อยากได้บุญ อยากไปสวรรค์นี่ มันยังใช้ได้อยู่หรือเปล่า มันยังจำเป็นอยู่หรือเปล่า คงจะตอบได้เองทุก ๆ ท่านผมคิดว่านะ เพราะเดี๋ยวนี้มันไม่กลัวบาป ไม่อยากได้บุญ ศีลธรรมมันจึงเลวลงถึงขนาดที่เห็น ๆ อยู่ ในเรื่องกลัวบาป อยากได้บุญ แม้จะถูกประณามว่าเป็นของงมงายก็ยังมีความประหลาดพิเศษอัศจรรย์อยู่ ในข้อที่ว่าคนยังมีศีลธรรมชนิดนี้ และโลกนี้ก็ดีกว่านี้ โลกนี้ก็ไม่มีการเบียดเบียนอย่างเดี๋ยวนี้ ฆ่ากันไม่ลง อะไรกันไม่ได้ นี้เพราะเหตุที่มาดูถูกศีลธรรมในแง่ของศาสนา คือกลัวนรกอยากไปอยู่สวรรค์กับพระเจ้า มันดูหมิ่นดูถูกกันเสียหมด มันก็เปลี่ยนมาเป็น มาถือเนื้อหนัง ความเอร็ดอร่อยทางเนื้อหนังเป็นหลัก โลกมันก็เป็นอย่างนี้ นี้ศีลธรรมในแง่ของศาสนามันหมดไปเพราะ Motive ของมันหมดไป มันไม่กลัวบาป มันไม่อยากได้บุญ จะแก้ไขอย่างไรหรือ ก็ช่วยกันทำให้คำว่าบาป ว่าบุญ ว่านรก ว่าสรรค์ มีความหมายที่ดีที่ถูกต้องสิ ที่ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง ไม่รู้จักผิด นรกคืออะไร สวรรค์คืออะไร อธิบายกันเสียใหม่ให้ดี เช่นว่า นรกที่นี้และเดี๋ยวนี้นะ มันมีอยู่จริง และมันน่ากลัวยิ่งกว่านรกต่อตายแล้วเสียอีก เพราะไปคำนึงถึงนรกต่อตายแล้ว แล้วมันยังไม่มาถึง มันก็เลยไม่กลัว ก็เลยไม่มีนรกไปเสีย นี้ถ้าเห็นตามที่มันเป็นอยู่จริง นรกที่นี่ที่มันตกกันอยู่เป็นประจำวันน่ากลัวที่สุด ก็ดูเวลาที่เราเดือดร้อนใจ อย่าลืมเสีย เดือดร้อนใจเมื่อไร ก็เอื้อมศึกษาความหมายของคำว่านรกเมื่อนั้น แล้วคุณก็จะเข้าใจคำว่านรกดี ไอ้ที่มันใกล้ ๆ กัน เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย นี่ก็เหมือนกัน มีความหมายอย่างที่เคยพูดกันมาแล้ว ล้วนแต่น่ากลัวทั้งนั้น ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น ถึงกับยกมือไหว้ตัวเองได้ แล้วก็ นั้นแหละสวรรค์ ศึกษาให้เข้าใจให้ดีจริง ๆ แล้วจะชอบ ชอบสวรรค์ กลัวนรก Motive ของศีลธรรมในแง่ของศาสนาก็จะกลับมาใหม่ มากระตุ้นเตือนมนุษย์ให้มีศีลธรรมในแง่ของศาสนากัน
สำหรับศีลธรรมในแง่ของสังคมนี้ นี้เกือบไม่ต้องอธิบาย มันก็กำลังเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน ผมพูดในฐานะที่มีอายุ ๗๐ ปีกับพวกคุณที่มีอายุไม่เกิน ๔๐ - ๕๐ ปีนี้ พอเมื่อผมเด็ก ๆ นี้ ไอ้ความที่อยากให้สังคมต้อนรับ ต้องทำตัวให้ดีตามที่สังคมจะต้อนรับ มันผิดกับเดี๋ยวนี้มาก การที่ทำตัวให้ดี เพื่อให้สังคมสมัยนี้ต้อนรับ มันผิดกับการทำตัวให้ดีเพื่อให้สังคมสมัยโน้นต้อนรับ มันผิดกันมาก ชั่วไม่กี่สิบปี เช่นความหมายของคำว่าเป็นสุภาพบุรุษนี่ ครั้งกระโน้นความหมายไม่เหมือนกับเดี๋ยวนี้นะ ต้องเป็นสุภาพบุรุษในความหมายอย่างโน้นน่ะ สังคมจึงจะต้อนรับนับถือ เดี๋ยวนี้สังคมมันเปลี่ยน ความเป็นสุภาพบุรุษหายไปเลย เข้ากลีบเมฆเลย มันมีแต่ว่าใครมีเงินมาก มีกระเป๋าหนามันเป็นอย่างนี้ มันสังคมกระเป๋าหนาต้อนรับคนกระเป๋าหนา ไอ้คนที่จะให้สังคมต้อนรับ มันก็เลยทำตนเป็นคนกระเป๋าหนา Motive ทางสังคมมันก็เปลี่ยน ศีลธรรมมันก็เปลี่ยนจนดูไม่ได้ ศีลธรรมทางสังคมก็จอมปลอมไปมากยิ่งขึ้นไปกว่าแต่ก่อน เพราะ Motive มันเปลี่ยน ถ้าเราอยากจะให้สังคมสมัยนี้ต้อนรับก็ทำให้เหมือนเขาสิ และเขาก็ทำกันอย่างไร ก็เห็น ๆ กันอยู่
ทีนี้สังคมทางการเมือง มันก็เหมือนกันอีก เพราะการเมืองมันกลายเป็นเรื่องหลอกลวงมากขึ้นจนกระทั่งกลายเป็นเรื่องสกปรก เขาก็หา Motive สกปรกมาใช้กันอีก ที่จะเป็นเรื่องการเมือง มันก็คือการหลอกลวงกันอย่างไม่รู้สึก การข่มขี่กันอย่างไม่รู้สึก แต่ถ้าว่าโดยที่แท้ที่จริงตามกฎของธรรมชาติแล้ว ไอ้การเมืองมันก็เป็นศีลธรรม เพราะมันเป็นการจัดให้มนุษย์อยู่กันเป็นผาสุข คือสงบ หรือปกตินั่นเอง คือการเมือง เดี๋ยวนี้เขาก็ใช้คำอย่างนั้น ว่าไอ้การเมืองนี้จะจัดโลกให้มีสันติภาพ ก็คือปกติ หรือสงบสุข แต่ถ้าดูนี้มันเป็นอย่างไร มันกลับยิ่งไกลกว่าปกติ ยิ่งไกลต่อสันติภาพ เพราะ Motive ทางการเมืองมันก็เปลี่ยนมากเหมือนกัน มันมิได้มุ่งหมายจะให้ชนะผู้อื่นด้วยศีลธรรมดี เหมือนสมัยก่อน ในที่ประชุมทางการเมืองสมัยก่อนโน้น ถ้าเกิดอ้างศีลธรรมขึ้นมาอย่างมีเหตุผลแล้ว สมาชิกที่ประชุมจะยอมรับ จะยอมรับเหตุผลที่ถูกต้องทางศีลธรรม แต่ในที่ประชุมนักการเมืองแห่งยุคปัจจุบันนี้ไม่ยอมรับหรอก แล้วก็จะเล่นใต้ดิน บนดินอะไรกัน เพื่อเอาเปรียบกันอย่างไม่มี ไม่มีศีลธรรม นั้นศีลธรรมในแง่ของการเมืองสมัยนี้มันก็เลยเป็นเรื่องสกปรก ไม่เป็นศีลธรรม ถ้าว่ายังถูกต้องอยู่ บริสุทธิ์อยู่อย่างแบบเดิมความหมายเดิม มันก็ต้องมีศีลธรรมที่ดึงให้การเมืองนั้นมันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของศีลธรรมที่รับรองกันอยู่ เดี๋ยวนี้มันมีศีลธรรมกำปั้น ถ้าพูดอย่างโบราณก็ศีลธรรมกำปั้น เดี๋ยวนี้มันศีลธรรมปืนใหญ่ ศีลธรรมปรมาณู ศีลธรรมก็ต้องบิดบอมบ์นั่น (นาทีที่ นี้ศีลธรรมในโลกมีอย่างไร และแต่ละอย่าง ๆ ได้เปลี่ยนมาอย่างไร เพราะว่า Motive ของมันเปลี่ยน Motive มันเปลี่ยน เพราะว่าความต้องการของคนมันเปลี่ยน เราก็รู้ไว้ นี่ถ้าสมมุติว่าเราอยากเป็นผู้มีศีลธรรมขึ้นมาอีก ขึ้นมาแล้ว ก็ปรับปรุงสิ่งเหล่านี้ให้มันถูกต้อง แล้วก็กลัวบาป รักบุญให้มันถูกต้อง เรียกว่ามีศีลธรรมในแง่ของศาสนา แล้วเราก็ทำตัวให้สังคมที่ดีเขาต้อนรับ ต้อนรับอย่างถูกต้องโดยสังคมที่ดี ศีลธรรมในแง่ของสังคมมันก็มีมาหา หรือว่าเรายึดหลักที่ว่าจะถือความถูกต้องความจริงเป็นใหญ่ ยอมตายดีกว่าเสีย เสียความถูกต้องนั่นแหละ มันจึงจะมีศีลธรรมการเมืองที่ดี ที่ถูกต้องขึ้นมาได้ ถ้ามุ่งหมายแต่จะอยู่รอดหรือเอาเปรียบ มันถูกต้องไม่ได้ ถ้าจะส่งเสริมศีลธรรมก็ส่งเสริมในส่วนที่ Motive ให้มันถูกต้อง แก้ไขให้มันถูกต้อง สอนลูก สอนหลาน ชักจูงเพื่อนฝูง ให้มาเข้าใจในเรื่องศีลธรรมให้ถูกต้อง ตั้งต้นแต่ว่าถ้าไม่มีศีลธรรมแล้วเป็นไม่มีปกติ พิสูจน์กันอย่างไรก็ตาม ให้หัวเด็ดตีนขาดอย่างไร ก็พิสูจน์ได้ว่าถ้าไม่มีศีลธรรม แล้วก็ไม่มีปกติ ไม่มีปกติ คือไม่มีสันติสุข หรือสันติภาพ ให้ทำไปเถิด เอาศีลธรรมเป็นหลัก เป็นคอมมิวนิสต์ ก็ได้ ถ้ามันมีศีลธรรม จะเป็นประชาธิปไตยแบบไหนก็ได้ สังคมนิยมแบบไหนก็ได้ นายทุนแบบไหนก็ได้ ถ้ามันมีศีลธรรม ฟังดูแปลกดีนะ ถ้ามันมีศีลธรรม มันก็จะได้กันทั้งนั้น แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นไปไม่ได้ละมัง ถ้าให้นายทุนมีศีลธรรม มันจะเป็นไปไม่ได้ ถ้ามันเป็นไปได้ นายทุนมีศีลธรรมได้ มันก็ดี ไม่มีปัญหาอะไร ถ้าเราจะพูดกันอย่างนี้ดูจะพอมองเห็นว่าคนร่ำรวยเป็นจุดที่เพ่งเล็ง ถ้าคนร่ำรวยมีศีลธรรม ก็เป็นเศรษฐีใจบุญไป ถ้าคนร่ำรวยไร้ศีลธรรม ก็เป็นนายทุนโหดร้าย เขามีเงินเท่ากัน ถ้าเขามีศีลธรรม เขากลายเป็นเศรษฐีใจบุญคนอื่นก็พลอยได้รับความสุข ถ้าเขาเป็นคนไม่มีศีลธรรม ก็เป็นนายทุนที่ทารุณและโหดร้าย ฉะนั้นอย่าไปปรับ ปรักปรำการมีเงิน ไม่เป็นไรนี่ มี มันมีเงิน มันอยู่ที่มีเงินอย่างมีศีลธรรมหรือเปล่าเล่า ถ้าสมมุติว่ารังเกียจคอมมิวนิสต์ ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร ผมรู้มันรู้สึกอย่างนั้น ไม่รู้ว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร แล้วก็มารังเกียจ มาสอนกันอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เลยต้องพูดว่าถ้ามันมีศีลธรรมแล้วใช้ได้ มันจะมีได้หรือไม่ได้ก็ไปดู แล้วคอมมิวนิสต์มันก็หลายแบบ ถ้ามันรอดตัวอยู่ได้โดยปกติสุข มันก็ต้องมีศีลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เกิดมีคนพูดว่าศีลธรรมที่ประเทศจีนแดงขึ้นหน้าประเทศอื่นเสียแล้ว หมายถึงศีลธรรมตามถนนหนทาง ในสังคมต่าง ๆ นั้นน่ะ มันจะขึ้นหน้าประเทศอื่นทั้งนั้น นี้ไม่ใช่ส่งเสริมคอมมิวนิสต์ เอามาเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบให้ดูว่า ถ้ามันมีศีลธรรมก็จะใช้ได้หมด ยิ่งเผด็จการยิ่งดี มันเร็ว มันเร็วกว่าประชาธิปไตยโอ้เอ้ ประชาธิปไตยก็มีศีลธรรมได้ เผด็จการก็มีศีลธรรมได้ ถ้าว่ามีด้วยกันแล้วก็ อันหนึ่งมันก็จะอืดอาด อันหนึ่งมันก็จะรวดเร็ว ฉะนั้นค่าที่ประเสริฐที่เลิศ มันอยู่ที่ศีลธรรมต่างหาก มันไม่ได้อยู่ที่ระบบการเมืองที่มีชื่อว่าอย่างไร ถ้ามันมีศีลธรรมมันเป็นใช้ได้ ให้มองดูกันให้ดี ๆ พวกเราสมัยนี้ชี้แจงชักจูงกันให้ดูลงไปที่ศีลธรรม ถ้ามีศีลธรรมเป็นใช้ได้ ไอ้รูปแบบนั้นจะเรียกชื่อว่าอะไรก็ไม่แน่นอนหรอก คำว่าศีลธรรมก็ต้องจริงนะ ถ้าจะเป็นศีลธรรมในแง่ของศาสนาก็ต้องจริง อย่างที่ว่ากลัวบาป รักบุญ ในแง่ของสังคมก็ต้องสังคมดีเป็นหลัก เป็นเกณฑ์ ถ้าเรื่องการเมืองก็ต้องมีความถูกต้องของมนุษย์ ระหว่างประเทศ ถ้ามันมีศีลธรรมที่ถูกต้อง
ทีนี้อยากจะให้พิจารณาต่อไปถึงคำว่าศีลธรรม ที่เราพูดกันอยู่นี้มันหมายถึงศีลธรรมในรูปแบบของธรรมชาติ ที่ตั้งรากฐานขึ้นมาจากปกติภาวะของธรรมชาติ ฉะนั้นเราจึงมีศีลธรรมที่ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ทำชู้ ไม่อะไรต่าง ๆ เพราะพอมันผิดจากที่มันเคยมีตามธรรมชาติ มันก็วุ่นวาย ฉะนั้นเราเอาหลักของธรรมชาติที่ปกติขึ้นเป็นหลักเรื่อย ๆ ขึ้นมา เราจึงค่อยบัญญัติชื่อเสียงมันอย่างนั้นอย่างนี้ มีระบบศีลธรรม เข้ารูปกันได้กับธรรมชาติ แล้วเป็นเรื่องของการปฏิบัติโดยตรง ทีนี้มาดูถึงคำว่าศีลธรรมในปัจจุบันนี้ ที่เห็นอยู่ก็เช่นคำว่า Moral Moral Morality (นาทีที่ 40:00) อะไรต่าง ๆ หลาย ๆ คำนี้ เขาแปลกันว่าศีลธรรม แต่พอไปดูตัว ศีลธรรมตามที่อธิบายด้วยคำชนิดนั้น Moral Morality มันไม่ใช่ศีลธรรมในแง่ของการปฏิบัติ คือมิใช่ตัวศีลธรรมเลย เป็นปรัชญาของศีลธรรม เป็นคำอธิบายในทางปรัชญาของสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมทั้งนั้น ผมก็พยายามอย่างยิ่งที่จะเข้าใจความหมายของคำเหล่านี้ที่เขาใช้กันอยู่ในโลก ในพวกนักศีลธรรมของโลก ดูเท่าไรมันก็ไม่พบ ไอ้ตัวระบบการปฏิบัติโดยตรง มันไปพบ พบระบบการพูด การบัญญัติตามแบบของปรัชญาไปหมด ที่เขาเรียก Moral Morality นั้นไม่ใช่ตัวศีลธรรม ไม่ใช่อย่างเดียวที่เรากำลังพูด มันเป็นปรัชญาของศีลธรรม Philosophy of Morality บางทีแปลรวมเรียกกันเสียว่า Ethics เรียกให้มันสั้นก็เรียกว่า Ethics ที่แท้ก็คือ Philosophy ของ Morality ไม่มีรูปแบบของการปฏิบัติ แล้วก็ไม่ได้มุ่งหมายให้มันปกติลงไปตามธรรมชาติเหมือนความหมายสำหรับคำว่าศีลธรรมอย่างที่เรากำลังพูดกันอยู่ ในภาษาไทย เรามีคำว่าศีลธรรม อธิบายตามแบบวิธีของพุทธศาสนามันก็เป็นอย่างที่เราว่า คือการกระทำทุกอย่างที่ให้มันเป็นปกติลงไป จนสงบสุข นี่คำว่าศีลธรรมนี้ แปลเป็น Moral หรือ Morality พอไปเปิดดูที่คำนั้นมันกลายเป็นปรัชญาของศีลธรรม พูดเพ้อเจ้อไปแต่ในแง่ของปรัชญาไม่มีตัวการปฏิบัติ เช่น จะพูดถึงว่า ดีคืออย่างไร ชั่วคืออย่างไร ดีชนิดไหนจึงจะเรียกว่าดีอย่างนี้ ความดีที่สุดคืออะไร นี่มันพูดไปแต่อย่างนี้ แต่ก็น่าฟังเหมือนกัน น่าฟังอย่างยิ่งเหมือนกัน แม้มันจะพูดไปในแง่ของปรัชญามากมาย เพ้อเจ้ออะไร มันก็น่าฟัง เช่นว่า ความดียอดสุด หรือว่าจุดหมายของศีลธรรม ก็คือความสุข หรือความเต็มเปี่ยมของวิชาการ หรือของมนุษย์ หน้าที่เพื่อหน้าที่ และความรักสากล แต่ก็ไม่ได้บอกว่าทำอย่างไรจึงมีความสุข มีความเต็มเปี่ยมแห่งมนุษย์ ทำอย่างไรจึงจะบังคับตัวให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ได้ หรือว่าจะมีความรักสากล คือรักไม่เลือกหน้า รักหมด เพราะมันจึงเป็นเพียง Philosophy เป็นในแง่นั้น แง่นี้ แง่โน้น ของคำว่าศีลธรรมนั่นเอง อย่าไปเข้าใจว่าศีลธรรมในภาษาไทยเราที่เรากำลังพูดนี้คือสิ่งที่เรียกว่า Moral หรือ Morality ทั้งที่มันแปลว่าศีลธรรมเหมือนกัน มันอยู่ในรูปแบบของปรัชญาสำหรับพูด ตามวิธีปรัชญาบ้าง วิธีตรรกะบ้าง วิธี หลาย ๆ วิธี ถ้าโลกปัจจุบันนี้มันไปหลงใหลแต่ในเพียง Moral Morality แล้วไม่มีวันที่จะมีศีลธรรม ก็จะฟุ้งเฟ้ออยู่ในปรัชญาของศีลธรรม และก็ไม่ได้เอามาปฏิบัติเลย โลกเราก็ไม่มีศีลธรรมอย่างที่เห็น ๆ กันอยู่
คำว่าศีลธรรมในความหมายที่ว่ามาแล้วคือเหตุแห่งปกติ ต้องปฏิบัติเหตุแห่งปกติจนเกิดปกติขึ้นมา และมีผลเป็นภาวะปกติขึ้นมา จึงจะเรียกว่ามีศีลธรรม หนังสือที่ฝรั่งเขียนบางเล่มที่ผมเคยผ่านมา เขาว่านิพพานเป็นยอดสุดของศีลธรรมในพุทธศาสนา นี้ถูกอย่างยิ่ง ถ้าต้องตามตัวหนังสือมันถูกอย่างยิ่ง แต่ตามข้อเท็จจริงมันไม่ถูกเลย ที่เขาพูดด้วยความรู้สึกของพวกฝรั่งว่า นิพพานเป็นยอดสุดของศีลธรรมในพุทธศาสนา มันก็พูดในแง่ของปรัชญา ว่าศีลธรรมสำหรับปฏิบัติในหมู่พุทธบริษัทไปสุดอยู่ที่นิพพาน ก็เป็นในแง่ เอ้อ, เป็นในรูปของปรัชญาอีกเหมือนกัน ทั้งที่เขาไม่รู้ว่าปฏิบัติเพื่อไปนิพพานปฏิบัติอย่างไร ไม่รู้เอาเสียเลย ทีนี้ที่ผมว่ามันถูกเหมือนกัน ถ้าเรามาดูอย่างแบบวิธีดูของเรา คือศีลธรรมภาวะที่ปกติ เพราะฉะนั้นพระนิพพานน่ะยอดสุดของภาวะที่ปกติ ไม่มีเปลี่ยนแปลง มันถูกอย่างนั้น มันถูกอย่างยิ่ง พูดด้วยคำพูดอย่างเดียวกัน แต่ความถูกต้องมันอยู่กันคนละแง่ ฉะนั้นที่ฝรั่งเขาพูดแล้วระวังให้ดีเถิด มันจะไปในแง่ของปรัชญาไปเสียหมด ที่เราพูดมันก็จะเป็นในแง่ปฏิบัติธรรมหรือปฏิบัติศีลธรรมโดยตรง แล้วคำพูดก็ใช้รวมกัน เช่นว่านิพพานเป็นยอดของศีลธรรมอย่างนี้ ระวังให้ดี อย่าเป็นศีลธรรมทฤษฎีหรือปรัชญา ขอให้เป็นศีลธรรมที่ประยุกต์ ที่ปฏิบัติ และไม่อยู่ในรูปของความสงบแห่งจิตใจของคนเรา ฝรั่งเขาไม่เข้าใจคำว่าศีลธรรมตามแบบของเรา ตามความหมายของเรา เขาเข้าใจตามความหมายคำว่า Moral Morality หรือ Ethics หรืออะไรก็ว่าไปตามนั้น
ทีนี้เราก็ดูศีลธรรมตามแบบของเราต่อไปอีก ศีลธรรมที่จะช่วยได้ คือประพฤติปฏิบัติลงไปเพื่อให้เกิดภาวะปกติ นี้ก็ดูมาภายใน ภายใน ดูในวงของพุทธศาสนา ของพุทธบริษัทเราต่อไปอีก เพื่อประกันในความไขว้เขว คือศีลธรรมกับศาสนามันต่างกันอย่างไร นี้มันแล้วแต่ว่าเราจะกำจัดความให้แก่คำว่าศีลธรรมอย่างไร ถ้าเอาในแง่ของสังคม เป็นศีลธรรมแห่งสังคม มี Motive คือสังคมต้อนรับ นี้เป็นอยู่โดยมากในความหมายทั่วไปเรามีศีลธรรมกันในแง่นี้ ที่พูดจากันอยู่ตามถนนหนทาง ในภาษากฎหมายก็ดี ในภาษาการเมืองก็ดี ศีลธรรมมันอยู่เพียงเท่านั้น คือให้ทำความปกติกันในแง่ธรรมดาสามัญ แต่ถ้าให้คำนี้ไปใช้กับความหมายแท้จริงในพุทธศาสนาแล้ว มันก็เลื่อน เลื่อน เลื่อนน้ำหนัก เลื่อนความหมายของคำว่าปกตินี้สูงขึ้นไป ๆ สูงขึ้นไปจนเป็นนิพพาน คือปกติอย่างยิ่ง ไม่มีกิเลสเหลือก็ไม่มีอะไรวุ่นวาย มันเป็นได้อย่างนั้น แต่ถ้าถามว่าตามที่พูดกันอยู่ตามธรรมดา ในปทานุกรมธรรมดา ศีลธรรมมีความหมายอย่างไร นี่ก็ ต้องอย่างที่มันมีอยู่ในปทานุกรมนั่นแหละ คือแค่การประพฤติปฏิบัติ ก็อยู่กันเป็นผาสุกในสังคม ศีลธรรม แต่ทีนี้มันควรจะสังเกตกันอีกอย่างหนึ่งในข้อที่ว่าหลักธรรมะที่เป็นหลักศาสนาแท้ ๆ ที่ควรจะเรียกว่าหลักทางศาสนาแท้ ๆ สูงสุดขึ้นไปถึงนิพพาน ทุก ๆ หลัก ลดลงมา หรือว่าปรับปรุงดัดแปลงลงมาให้อยู่ในรูปของศีลธรรมก็ได้เหมือกัน อย่างที่ผมพูดถึงเรื่องนิพพานหลาย ๆ ความหมาย นิพพานในบางความหมายก็คือแง่ของศีลธรรม มันเย็น คือในความหมายของคำว่าเย็นก็เป็นนิพพานได้ แต่เดี๋ยวนี้เราอยากจะมองกันให้ชัดลงไปว่าหลักธรรมะข้อไหนก็ตามในพุทธศาสนาจะอยู่ในรูปแบบที่เป็นหลักธรรมะเต็มรูป เต็มตัวก็ได้ จะลดให้จางลง ให้เบาลงมาอยู่ในรูปของศีลธรรมตามถนนหนทางในบ้านในเรือนนี้ก็ได้ ก็ไปดูเอาเอง ทุกข้อมันจะมาได้ ธรรมะมีชื่อต่าง ๆ กัน นับตั้งแต่ สติสัมปชัญญะ สัจจะ ราคะ อะไรก็ทุก ๆ ข้อ มันใช้ในรูปแบบของศาสนา มันก็นำไปสู่นิพพาน แต่ทุกข้อนั่นแหละ ดึงมาให้มันต่ำมาใช้ที่บ้านที่เรือนมันก็ได้เหมือนกัน มันจึงมาอยู่ในรูปแบบของศีลธรรมตามบ้านเรือน นี้ถ้ามันชินเข้า หนักเข้า ๆ มันกลายเป็นวัฒนธรรมไปเสีย ต่างกันอยู่แต่ว่า ที่มันใช้จนเป็นประจำ เป็น ไม่เรียกว่าศาสนาไม่เรียกว่าศีลธรรม มันก็กลายเป็นวัฒนธรรม แต่แล้วมันก็มาจากศีลธรรม และศีลธรรมนั้นก็มาจากศาสนา เช่น ความรัก ความเมตตา กรุณา นี่มันตัวศาสนา ถ้าทำสูงสุดมันก็เป็นพรหมวิหาร ไปอยู่ในระดับพรหมโลก นี่ถ้าทำมาในระดับศีลธรรม มันก็คือรักใคร่กันในหมู่มนุษย์ทั่ว ๆ ไป ถ้ามาอยู่ในรูปของวัฒนธรรมมันก็กว้างออกไปกว่านั้น แม้จะจางลงไป แต่มันก็กว้างออกไปกว่านั้น เช่นจะพูดว่าคนไทยมีวัฒนธรรม เมตตาอารี เอื้อเฝื้อเผื่อแผ่ อยู่ในรูปของศีลธรรม เอ้อ, อยู่ในรูปของวัฒนธรรม นี้ถ้าว่ามันจะต่ำลงไปอีก มันก็จะไปอยู่ในรูปของประเพณีหรือพิธีอะไรต่าง ๆ ขนบธรรมเนียม ฉะนั้นไม่มีอะไรที่จะไม่ถอดรูปถอดแบบออกมาจากจุดลึกลับสูงสุดของศีลธรรมของธรรมชาติ ของธรรมชาติอันเร้นลับ และมาอยู่ในรูปของศาสนา และก็มาอยู่ในรูปของศีลธรรม และรั่วลงมาอยู่ในรูปของวัฒนธรรม ของขนบธรรมเนียมประเพณีไป นั้นเมื่อเกิดถามขึ้นว่า ศาสนากับศีลธรรมมันเหมือนกันหรือเปล่า ก็ต้องพูดกันให้ดี ๆ เพราะถ้าดูปรากฏการณ์ที่นี่เดี๋ยวนี้แล้วมันก็สูงต่ำกว่ากัน แต่ถ้าดูในความหมายอันลึกอยู่ในภายในแล้ว มันก็มาสายเดียวกัน ถึงกว่าจะเป็นอันเดียวกันได้ ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้เราจะเข้าใจศีลธรรมได้ง่ายขึ้น พร้อมทั้งเข้าใจศาสนาได้ถูกต้องยิ่งขึ้น ไม่มีขัดขวางกัน ยกตัวอย่างเช่นว่า เราให้ทานหรือทำทานอย่างนี้ ที่เป็นประเพณีก็มี ที่เป็นสักว่าวัฒนธรรมที่ต้องให้ต้องทำกันก็มี ที่เป็นศีลธรรมที่ทำกันอย่างขยันขันแข็งหน่อยก็มี ที่เป็นชั้นศาสนาจริง ๆ ก็คือให้ในภายใน ให้ทางจิตใจ ให้กิเลสหมดไป เป็นนิพพานก็ได้ การทำทานนั้นทำให้กิเลสหมดก็เป็นนิพพานก็ยังได้ นั้นสิ่งเดียวกันนั้นแหละ เช่นว่าบริจาค หรือให้ทาน มันอยู่ในศาสนา อยู่ในรูปแบบของศาสนาที่เป็นรูปก็ได้ มันอยู่ในรูปของศีลธรรมก็ได้ วัฒนธรรมก็ได้ ขนบธรรมเนียมประเพณีก็ได้ ฉะนั้นอย่าได้เถียงกันเลยว่ามันขัดแย้งกันหรืออะไรอย่างนี้ ให้จำไว้เป็นหลักสำหรับสังเกตต่อไปว่า ไอ้หลักธรรมะในศาสนาทุกข้อ ทุกแบบ ลงมาอยู่ในรูปของศีลธรรมได้ ทั้งนั้นทุกแบบ จนกระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี ก็เลยหมดปัญหากันทีว่าจะมีศีลธรรมกันดีหรือไม่มีศีลธรรม มีศาสนาดี มีศาสนาดีไม่ต้องมีศีลธรรม อย่าไปเถียงกันเลย
นี้จะดูต่อไปถึงว่าแนวปฏิบัติโดยสังเขป มันเป็นเพียงเค้าโครง จะพูดรายละเอียดก็ไม่ไหว ไอ้แนวปฏิบัตินี้มันเป็นศีลธรรมส่วนบุคคล และก็เป็นศีลธรรมส่วนสังคม นี้เป็นหลักทั่วไปที่เราจะแบ่งแยกอะไรก็มักจะใช้หลัก ๒ อย่างนี้ ที่เป็นส่วนบุคคล เป็นคน ๆ ไปก็อย่างหนึ่ง แล้วเป็นส่วนสังคมโดยรวม ๆ กันหลายคน หลายร้อย หลายหมื่นคน หรือประเทศ หรือทั้งโลกก็ได้ นี้ก็เรียกว่ามันส่วนสังคม ศีลธรรมมันก็อยู่ใน ๒ รูปนี้ แต่อย่าลืมว่ามันเนื่องกัน มันเกี่ยวข้องกันอยู่ โดยข้อเท็จจริงอย่างยิ่ง เพราะถ้าแต่ละคน ๆ มันดี แล้วก็มีสังคมดีขึ้นมาเอง จะเหลืออยู่สำหรับการปฏิบัติเพื่อสังคมบ้างก็เป็นส่วนน้อย เพียงแต่ทุกคนมันดี และมันอยู่ด้วยกัน แล้วมันก็เป็นสังคมดีขึ้นมา แต่ที่มันเหลืออยู่ คือหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อกันในฐานะที่อยู่ร่วมกันมันก็ยังเหลืออยู่บ้าง มันจะพูดถึงส่วนนี้ในฐานะที่เป็นศีลธรรมของสังคม ดังนั้นเราจึงมองเห็นได้ง่าย ๆ ว่าถ้าศีลธรรมส่วนบุคคลก็คือภาวะปกติ ในเรื่องส่วนบุคคล ถ้าเป็นศีลธรรมส่วนสังคม ก็คือภาวะปกติในส่วนสังคม หรือที่เกี่ยวกับสังคม ไอ้ภาวะปกติที่เกี่ยวกับบุคคลนี้ก็ดูเอาเองก็ได้ อะไรที่แต่ละคนจะต้องทำเพื่ออยู่รอดชีวิตและอยู่เป็นปกติ แล้วก็อยู่ในความสุขที่งดงามน่าดู ก็ต้องนึกถึงสิ่งที่มนุษย์ต้องมีต้องทำ เช่นเกี่ยวกับ ปัจจัย ๔ นี้มันหลีกไม่พ้น มันต้องนึกถึงก่อน เรื่องอาหาร เรื่องเครื่องนุ่งห่ม เรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องการบำบัดโรคนี่ อย่างปัจจัย ๔ ซึ่งมันขาดไม่ได้จริง ๆ ต้องเป็นภาวะปกติเกี่ยวกับปัจจัย ๔ ในการหามาก็ดี ในการมีไว้ก็ดี ในการบริโภคก็ดี ซึ่งปัจจัย ๔ ต้องถูกต้องจึงจะปกติ ถ้ามันไม่ปกติในปัจจัย ๔ มันก็ไม่มีอะไรเป็นปัญหาเหมือนกันคนเรา ถ้าเกินมันก็ต้องมีปัญหา ถ้าขาดมันก็ต้องมีปัญหา ถ้ามันถูกต้องพอดีมันก็ไม่มีปัญหา เดี๋ยวนี้ที่มันมีปัญหาก็มักจะเป็นไปทางเกิน แต่ละคนมันเข้าใจผิดหรืออะไรก็ตาม มันต้องการปัจจัย ๔ ในลักษณะที่เกิน มันก็เลยยุ่ง ถ้าขาดมันก็ทนอยู่ไม่ไหวอาจจะตาย ถ้าเกินมันก็ยุ่งอย่างอื่น ก็เลยไม่มีความปกติที่เกี่ยวกับศีลธรรม นั้นผมจึงพูด พูดอย่างที่เรียกว่าไม่เกรงใจ ไม่กลัวใครโกรธ ว่าพวกที่แสวงหาหรือมีไว้ซึ่งส่วนเกินนั้นบาปทั้งนั้น บางคนบาป แต่เขาไม่ค่อยฟังให้ดี ส่วนเกินนั้นคืออย่างไร ผมหมายความว่าอย่างไร ก็ไปหมายความเสียว่าให้กินข้าวจานแมวอย่างที่วัดนี้ มันก็ มันฟังไม่ดี เราไม่ได้หมายความอย่างนั้น ส่วนที่พอดีของแต่ละคน แต่ละพวก แต่ละอันดับ มันมีก็มีต่าง ๆ ต่าง ๆ กันไป ไม่ต้องกินข้าวจานแมวอย่างพระวัดนี้ ก็ไปดูเอาเอง เท่าไรเรียกว่าเกินสำหรับเรา ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในจิตใจมันจะบอกให้เอง ว่านี้มันเกินแล้วโว้ย, ลดเสียบ้าง ที่ไม่เกินและไม่ขาดนี่คือความถูกต้อง คือพอดีหรือสมดุล เรื่องเกี่ยวกับปัจจัย ๔ นี้จะเป็นรากฐานอันลึกซึ้งของความมีศีลธรรมในส่วนบุคคล
ทีนี้ปัจจัย ๔ นี้มันก็ยังมีแบ่งแยกได้หลายระดับ หลายชั้นเหมือนกัน ไปดูเอาเอง คำคำหนึ่งที่กว้างกว่าปัจจัย ๔ คือคำว่าอาหาร คำว่าอาหารในภาษาบาลีไม่ได้มีความหมายอย่างคำว่าอาหารในภาษาชาวบ้าน ในภาษาชาวบ้านเมื่อพูดถึงอาหาร ก็คืออาหารที่กินทางปาก ในภาษาบาลีคำว่าอาหารนั้นหมายถึงอย่างอื่นอีกด้วย ถ้ากวฬิงกา ราหาร (นาทีที่ 58:46) อาหารที่กินทางปาก ผัสสาหาร คืออาหารที่มากระทบทางผัสสะ มโนสัญเจตนาหาร นี่ยิ่งไปไกลละ เป็นเรื่องความคิดนึก กระทั่งวิญญาณาหาร วิญญาณนั้นเป็นอาหาร มันไปไกลอย่างนี้ เพียงแต่ ๒ อย่างแรกมันก็เข้าใจได้ว่าเรากินอาหารทางปาก ทางกายเป็นคำ ๆ นี่ก็อย่างหนึ่ง มันก็เป็น เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องมีผลทางร่างกายให้เนื้อหนังมันอยู่ได้ ถึงส่วนผัสสาหาร คือการกระทบทางอายาตนะนั้น เป็นอาหาร มันก็เลยเป็นอาหารที่เกี่ยวกับจิตใจเสียเป็นส่วนมาก เรามีอาหารกินทางปากอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีอะไรที่ทำให้สมองสบายด้วย ความคิด ความนึก การศึกษา หรืออะไรก็ตาม หรือแม้ที่สุดแต่เรื่องที่เกี่ยวกับความรู้สึกระหว่างกาย ระหว่างจิต เช่นว่า ความรู้สึก ความใคร่ทางเพศ ทางการสืบพันธุ์อย่างนี้ ถ้าทำอย่างมีศีลธรรมมันก็เป็นอาหารชนิดหนึ่ง และมันก็จำเป็นที่จะต้องมีอาหารชนิดนี้สำหรับคนธรรมดาสามัญ แต่เขาต้องทำให้ถูกศีลธรรม ในการที่สตรีจะบริโภครสของบุรุษหรือบุรุษจะบริโภครสของสตรีอย่างนี้ มันก็เรียกว่าเป็นอาหาร เป็นผัสสาหารได้เหมือนกัน มันก็ต้องมีศีลธรรม ต้องบริโภคอาหารนั้นอย่างมีศีลธรรม ถ้าลองไม่มีศีลธรรมนี้ก็เป็นเรื่องไร้ศีลธรรม ก็เกิดอันตราย ถึงกับวินาศฉิบหายไปได้ ที่ว่าความคิดเป็นอาหารนั่นก็ต้องคิดถูก มันจึงจะให้เกิดผลคือการกระทำที่ดี ที่ว่าวิญญาณเป็นอาหารนั้นก็หมายความว่าเมื่อเรารู้สึกทางตาทางหูอะไรขึ้นมาเป็นวิญญาณขึ้นมา แล้วก็ต้องควบคุมให้ดี เพราะต่อนี้ไป ต่อนี้ไปมันจะเป็นผัสสะ เป็นเวทนา และวิญญาณนี้จะต้องถูกควบคุมให้ดี มันก็จะเป็นผัสสะ เวทนาขึ้นมาอย่างถูกต้อง คือไม่เป็นอันตราย ไม่เป็นกิเลสตัณหา แต่นั้นมันไกลเกินไปแล้วสำหรับคำว่าอาหาร เดี๋ยวนี้จะรู้แต่เพียงว่าอาหารแท้ ๆ ที่กินโดยปาก คำข้าวอย่างนี้ แล้วอาหารที่เป็นผัสสะ ที่มากระทบทางผัสสะ ไม่ได้กินทางปาก ก็ต้องระวังให้ดี เรียกว่าอาหารทางระบบที่เหนือไปจากกาย ระบบจิต ระบบอะไรก็แล้วแต่จะเรียก คือต้องมีการเกี่ยวข้องตามสัดส่วน กับรูปที่สวย กับเสียงที่เพราะ กับกลิ่นที่หอม กับรสที่อร่อย ซึ่งมันจะต้องมี มันหลีกไม่ได้ แต่ให้มันมีสวยหรืออร่อยที่เป็นศีลธรรมยิ่งขึ้น ๆ ส่วนอาหาของมันสมอง นั้นก็คือความรู้สติปัญญา คือธรรมะนั่นแหละที่มันเหมาะสมแก่การศึกษา ก็ทำให้จิตหรือวิญญาณที่ไกลออกไปนู้นได้รับอาหารที่ดี เป็นดวงวิญญาณที่มันสูง ที่มันประเสริฐขึ้นมา นี่ต้องกินอาหารในความหมายต่าง ๆ เหล่านี้ถูกต้องจึงจะเรียกว่ามีศีลธรรม จะแสวงหาก็ดี จะกินก็ดี จะเก็บไว้ก็ดี ล้วนแต่ต้องเป็นความถูกต้อง ก็เรียกว่ามีศีลธรรม เกี่ยวกับอาหาร ผมได้พูดแล้วว่าพูดได้แต่เพียงเค้าโครง พูดโดยรายละเอียดไม่ได้ ฉะนั้นโดยเค้าโครงอันนี้ก็ไปแยกแยะเอาเอง จะมีกี่ กี่ร้อยกี่พันอย่างกี่พันชนิดแล้ว แล้ว แล้วแต่ที่มันจะเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไร ฉะนั้นแนวปฏิบัติเกี่ยวกับศีลธรรมส่วนบุคคลก็คือความประพฤติเป็นไปอย่างถูกต้อง เกี่ยวกับปัจจัย ๔ หรือในอีกความหมายหนึ่งก็คืออาหาร
ทีนี้ในแง่ที่สองก็คือ ศีลธรรมส่วนบุคคล เอ้อ, ส่วนสังคม อย่าลืมว่าที่พูดแล้วว่า ถ้าคนทุกคนมันดี มันก็เป็นสังคมดีขึ้นมาเอง อย่าห่วงอะไรมาก นี่ก็จำไว้ ทุกคนตั้งหน้าทำดีก็แล้วกัน แล้วมาอยู่ใกล้ ๆ กันรวมกันเป็นสังคมก็เป็นสังคมดี แต่เดี๋ยวนี้อยากจะให้มากไปกว่านั้นอีก เลยเกิดมีหน้าที่ที่จะต้องเข้มแข็ง แข็งขัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันขึ้นมาอีก ถ้าต่างคนต่างดี แล้วไม่ร่วมมือ ไม่ช่วยเหลือกัน มันยังมีผลน้อยกว่า ฉะนั้นเราจึงพูดถึงการร่วมมือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แม้แต่การทำให้บุคคลแต่ละคนดีนี้มันก็ยังจะเลวขึ้น ถ้าเราจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จึงมีศีลธรรมส่วนสังคม หรือหน้าที่ทางศีลธรรมของสังคม ที่ว่าจะต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบกระทั่งกัน ในการทำหน้าที่ส่วนบุคคลแต่ละบุคคลเกี่ยวกับปัจจัย ๔ ต่างคนก็ต่างขยันขันแข็งที่จะทำให้ตัว แต่ต้องระวังอย่าให้เกิดกระทบกระทั่งกันกับผู้อื่น มันก็เกิดเป็นศีลธรรมระบบที่เกี่ยวกับสังคมขึ้นมา แล้วสรุปความอยู่ที่ว่ามันจะไม่ปล่อยให้เกิดการเบียดเบียนขึ้นมาได้ เมื่อบุคคลที่สองเข้ามา แล้วก็สิ่งที่ต้องระวังก็คือ อย่าให้มันเกิดการเบียดเบียนขึ้นมาได้ นับตั้งแต่การอิจฉาริษยาหรือว่าอะไรก็ตามซึ่งมันมักจะมี คือมันเหลือ มันเหลือ เหลือ มันเหลืออยู่ นอกออกไปจากศีลธรรมส่วนบุคคล มันยังมีเหลืออยู่ เพราะยังไม่มีปัญหาที่เกี่ยวกับบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ต่อเมื่อมีปัญหาคือบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง มันจึงจะเกิดปัญหานี้ ฉะนั้นจึงจะต้องระมัดระวังศีลธรรมส่วนสังคม ฉะนั้นศีลธรรมส่วนสังคมเราจึงไปวางรากฐาน เข้าที่กฏเกณฑ์อันหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องทางศาสนาโดยเฉพาะ คือบทที่ผมพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เอาความหมายแห่งประโยคนี้มาวางไว้เป็นรากฐานของศีลธรรมทางสังคมแล้วก็หมดเรื่องแน่นอน นั่นก็ช่วยกันพิจารณาด้วย ช่วยกันนึกถึง ช่วยกันทบทวนสอบสวนให้อยู่เสมอว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น นี่มันมีความหมายอย่างไร และทำกันได้เพียงไร หรือว่าไม่มีเสียเลย ผมอยากจะพูดโดยไม่ขออภัย เพราะว่าสมัยนี้มันไม่มีใครที่จะนึกถึงประโยคนี้ คนสมัยนี้ไม่ฝันถึงไอ้ประโยคที่ว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น แม้ในขอบเขตของชาววัด ในวัดมันก็ไม่ค่อยนึกเสียแล้ว แล้วนับประสาอะไรคนกลางถนน ต่างบ้าน ต่างเมือง หรือในที่ประชุมการเมืองที่เขาจะมานึกถึงประโยคนี้ ถ้าในสังคมที่มีอิทธิพล เช่น สมาคมสหประชาชาติ เป็นต้นนะ เขารู้ถึงข้อนี้ เขานึกถึงข้อนี้กันอยู่ในจิตใจแล้ว โลกไม่เป็นอย่างนี้ พูดแล้วมันก็เหมือนกับด่า คือเขาไม่ฝัน ไม่อะไรกันเสียเลยว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ที่นั้นมันเป็นบ่อนแห่งการยื้อแย่งประโยชน์ ใครเก่งมันก็ยื้อแย่งประโยชน์ได้มากกว่าเท่านั้นเอง ไม่ได้มา มานั่งดูว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น แล้วทำไปถูกต้องกับการที่สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย คำว่าช่วยเหลือหรือสงเคราะห์ เฟ้อเหมือนกันในสังคมชนิดนี้ แต่มันช่วยเหลือแบบลงทุนทั้งนั้น เราไม่ยอมรับในแง่ของศีลธรรม เราไม่ยอมรับไอ้สิ่งเหล่านี้ว่าเป็นการช่วยเหลือ เพราะมันเป็นการลงทุนเพื่อเอาเปรียบ หรือลงทุนเพื่อซื้อหน้า ซื้อเกียรติ ซื้อเครดิตให้แก่ตัวอย่างนี้ เราไม่เรียกว่าการช่วยเหลือแท้จริงในส่วนศีลธรรม ได้ยินคำว่าช่วยเหลืออยู่บ่อย ๆ ระหว่างชาติ ระหว่างอะไรก็ตาม แต่ดูให้ดีมันเป็นช่วยเหลืออย่างศีลธรรม หรือว่าช่วยเหลืออย่างการเมือง
นี่เท่าที่พูดมานี้ มันจะพอเข้าใจได้บ้างว่าไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ศีลธรรม ไม่มีการกระดุกกระดิกเคลื่อนไหวชนิดไหนที่ไม่เป็นไปเพื่อศีลธรรม ถ้ามันทำไปด้วยเจตนาดี ฉะนั้นจึงต้องระมัดระวัง การดำรงชีวิต ในทุกแง่ทุกมุมต้องให้เป็นเรื่องของศีลธรรม นี่เป็นหลักใหญ่ และนอกนั้นก็เป็นบริวารของการดำรงชีวิตก็ให้เป็นเรื่องของศีลธรรม เช่น จะจับใครมาลงโทษ ก็ให้เป็นเรื่องศีลธรรม จะสั่งประหารชีวิตนักโทษ ก็ให้เป็นเรื่องของศีลธรรม จะรบราฆ่าฟันกันอย่างที่เรียกว่าทำสงคราม ก็ต้องให้อยู่ในขอบเขตของศีลธรรม ไม่เช่นนั้นเป็นการบ้าหลัง ชนิดหนึ่ง (นาทีที่ 01:10:03) เป็นการเลวร้ายชนิดหนึ่ง เดี๋ยวนี้ก็พวกค้าสงครามมันก็พูดเหมือนกันว่าสงครามนี้ทำเพื่อสันติภาพของโลก ก็จริงถ้าว่ามันทำเพื่อศีลธรรม ถูกต้องตามศีลธรรม มันจะเป็นไปเพื่อสันติภาพของโลก เพราะว่าการทำสงครามที่บริสุทธิ์นั้นมันเป็นศีลธรรม ผมพูดหลายหนแล้วก็มีคนไม่เข้าใจถามหรือแย้งอยู่เสมอว่าทำสงคราม มันจะเป็นศีลธรรมได้อย่างไร เราก็บอกว่า ไอ้สงครามชนิดที่เป็นศีลธรรมมันก็มีอยู่ เพื่อต่อสู้ เพื่อรักษา ความถูกต้อง ความเป็นธรรม อะไรเอาไว้ในโลกนี้ สงครามชนิดนี้จะเป็นศีลธรรม แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีใครทำสงครามอย่างนี้ มันทำสงครามเพื่อให้ตนได้ประโยชน์ทั้งนั้น ก็อย่างไม่เป็นธรรมด้วย นี่พูด ถ้าเข้าใจได้ ถึงกับว่าการทำสงครามก็เป็นศีลธรรมแล้ว ก็ไม่ยากจะที่เข้าใจได้ว่าแม้การเมืองนี้ก็เป็นศีลธรรม เพราะว่าเจตนารมณ์ของการเมืองทุกแขนงมันต้องการให้เกิดสันติภาพ สันติสุข ขึ้นในโลก คือมันต้องการความปกติเหมือนกัน มันจึงมีระบบการเมืองตั้งแต่โบรมโบราณมา โดยเจตนาจะให้เกิดปกติสุขในหมู่มนุษย์ แต่แล้วมันเกิดการจอมปลอมขึ้นมาเรื่อย เป็นการเมืองเรื่องหาประโยชน์แก่ตนแก่พวกตนเรื่อย จนไม่มีศีลธรรม นี้การเมืองกับศีลธรรมเลยแยกไกลกันจนไม่รู้จักกัน ทั้งที่แต่ก่อนมันเป็นสิ่งเดียวกัน เพราะมนุษย์ในยุคแรก ๆ ที่จะมีการตัดอะไรแปลกออกไป มันก็ทำเพื่อแก้ไขปัญหา คือความไม่สงบหรือไม่ปกติที่มันเกิดขึ้นมา เขาจึงจัดมีระบบนั้น ระบบนี้ แก้ไขปัญหาเหล่านั้น ฉะนั้นการจัดระบบการแก้ปัญหาเหล่านั้นขึ้นมาก็คือศีลธรรมทั้งนั้น มันจึงเป็นศีลธรรมทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่มนุษย์ทำไปเพื่อให้เกิดสันติสุข นับตั้งแต่ระดับต่ำที่สุด แล้วไปถึงขนาดกลาง ขนาดสูงสุดคือนิพพาน ก็ขอให้เหลือบดูตั้งแต่ต้นว่าที่เราเกิดมาต้องกินอาหาร ต้องหาอาหาร ต้องอาบน้ำ ต้องไปฐาน (นาทีที่ 01:12:25) ต้องไปทำทุกอย่างให้มันถูกต้อง นี่เป็นศีลธรรมเล็ก ๆ ส่วนบุคคล นั้นจึงมีบทบัญญัติทางศีลธรรมว่าจะกินอย่างนั้น จะอาบอย่างนั้น จะถ่ายอย่างนี้ จนกระทั่งว่าจะต้องประพฤติทางกาย ทางวาจา ทางใจที่มันสูงขึ้นไป ๆ จนเลยไปถึงว่าจะทำต่อเพื่อนมนุษย์กันอย่างไรต้องมีศีลธรรมหมด เราจึงมองกันลึก จนพูดได้ว่าไม่มีอะไรที่มิใช่ศีลธรรม ถ้ามันเป็นไปเพื่อความปกติ แม้ที่สุดแต่จะจัดระบบโสเภณีในโลกนี้ให้มันถูกต้อง มันก็จะเป็นศีลธรรมได้เหมือนกัน แต่นี้มันปล่อยอย่างกิเลสตัณหา มันก็เลยเป็นระบบที่สกปรก ในสมัยโบราณนั้นน่ะ เขามีเรื่องที่น่าคิดน่านึกคือว่ายกย่องระบบโสเภณีในฐานะเป็นเครื่องเชิดหน้าชูตาของประเทศนั้น ๆ โดยเฉพาะประเทศ วัชชี ของชาววัชชี (นาทีที่ 01:13:37) ระบบโสเภณีดีที่สุด ไม่เป็นของที่รังเกียจ หรือประณาม ใช้กันแต่ในหมู่กษัตริย์และเศรษฐีเท่านั้น แล้วก็หัวหน้าโสเภณีคนหนึ่งก็สร้างอัมพา ราม (นาทีที่ 01:14:00) ถวายพระพุทธเจ้า อย่างที่กรุงเทพฯ เขาก็ว่ามีอยู่วัดหนึ่ง วัด กันมาตุยาราม (นาทีที่ 01:14:04) ทำนองเดียวกันนั้น แต่คงไม่ใช่ระบบที่จัดเหมือนกันนี้ ผมพูดถึงตั้งพุทธกาล ซึ่งเขาเพ่งเล็งศีลธรรมเป็นหลักใหญ่ ทำอะไร ๆ ก็ทำไปให้มันเป็นเรื่องของศีลธรรม ให้มันเกิดความปกติสุข แม้ว่ามันจะจำกัดอยู่ในคนบางจำพวก ก็ให้มันเป็นความปกติสุขแก่คนทั้งเมือง ทั้งประเทศได้ นี่พูดเพื่อเปรียบเทียบ พูดให้ตัวอย่างที่เปรียบเทียบไม่ใช่ว่าจะส่งเสริมให้กลับมา พูดว่า จะพูดว่าให้มันเกิดความปกติ เขาก็เรียกกันเป็นศีลธรรมหมด มันเป็นธรรมที่กลางที่สุด นับตั้งแต่ว่าเป็นอยู่ส่วนบุคคลก็เป็นศีลธรรม นี้เกี่ยวข้องกัน เช่นว่า มีการปกครอง มีการถูกปกครองอะไรก็ตามก็เป็นศีลธรรม เศรษฐกิจนี้จัดให้เกิดปกติในหมู่ชนที่อยู่กันมาก ๆ ถ้าไม่จัดมันไม่เกิดความปกติได้ ฉะนั้นต้องจัดให้ถูกต้อง ให้มันเกิดความปกติทางปัจจัย ของการกินอยู่เป็นอยู่ที่เรียกว่าเศรษฐกิจ มันก็เป็นศีลธรรม เศรษฐกิจยุคนี้ ทีนี้เดี๋ยวนี้เขาไปจัดเศรษฐกิจสำหรับเป็นเครื่องมือที่จะทำลายผู้อื่น ที่จะสูบเลือดผู้อื่น มันก็เป็นเศรษฐกิจที่มิใช่ศีลธรรม เป็นเรื่องบาปกรรม หรือเรื่องอะไรไปเสีย ถ้าทำถูกต้อง ตามความมุ่งหมายเดิมแล้ว การจัดทุกอย่างของมนุษย์นี้มันจัดเพื่อปกติสุขของมนุษย์นั่นเอง จึงถือว่าเป็นศีลธรรม แม้ว่าจะเป็นความหวังที่เลื่อนลอย หรือยากเต็มทีที่ใครจะมามองเห็นอย่างนี้ ผมก็ต้องพูดเพราะว่าเท่าที่ศึกษามาหรือสังเกตค้นคว้ามาอะไรก็ตาม มันบ่งแต่อย่างนี้ จึงหมายมั่นอยู่แต่อย่างเดียวว่า ศีลธรรมเท่านั้นจะช่วยได้ การกลับมาแห่งศีลธรรมเท่านั้น พวกเราจึงจะไม่วินาศ ฉะนั้นขอให้มีศีลธรรมก็แล้วกัน จะเรียกมันว่าสังคมนิยมหรือประชาธิปไตย หรือ คอมมิวนิสต์ หรือ เผด็จการ หรืออะไรก็ตามใจ ขอให้มันมีศีลธรรมอย่างเดียวเท่านั้น แล้วมันจะช่วยได้ ส่วนปัญหาที่ว่า ถ้าอย่างนั้นมันไม่มีศีลธรรมนั้นค่อยไปพิสูจน์กันที่อื่น ทีนี้เราจะยืนยันกันแต่ว่าขอให้มันมีศีลธรรมเท่านั้น ให้เป็นข้อเท็จจริงของ ในตัวมันเอง แล้วก็จะช่วยให้รอดได้ ฉะนั้นขอให้ศีลธรรมเผด็จการเถิด ไม่ต้องให้มนุษย์เผด็จการก็ได้ ให้กฏแห่งศีลธรรมเป็นผู้เผด็จการ ให้มีผู้ใช้เผด็จการของศีลธรรม แล้วโลกนี้ก็จะคิดกลับมาสู่ โลกที่มีสันติสุข สันติภาพ ฉะนั้นระบบใด ๆ ที่มันจัดกันอยู่ในโลก ถ้าบริสุทธิ์ถูกต้อง ตามความหมายเดิมแล้วมันจะเป็นไปเพื่อปกติสุข พอมันเกิดกิเลสเห็นแก่ตัวมันก็บิดพริ้ว ดัดแปลงไปหาประโยชน์ส่วนตัว มันก็เป็นเรื่องไม่มีศีลธรรมไป ฉะนั้นการกระทำที่กระทำอยู่อย่างเดียวกันแท้ ๆ ในรูปแบบอย่างนี้ มันเป็นศีลธรรมก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ มันแล้วแต่เจตนา
ทีนี้เรามารู้เรื่องของศีลธรรมหรือความหมายของคำว่าศีลธรรมดี แล้วก็ช่วยกันหน่อย ช่วยเพื่อการกลับมาแห่งศีลธรรม ซึ่งตามหัวข้อนี้เราเรียกว่าการส่งเสริมความมีอยู่แห่งศีลธรรม ให้มีศีลธรรมอยู่ในโลก บางทีก็พูดว่าการกลับมาแห่งศีลธรรม เพราะมันหายไปมากจนหาทำยายาก ก็ช่วยให้กลับมาอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ฉะนั้นการได้บวชของท่านทั้งหลายทุกคน แม้ชั่วขณะเพลาสั้นนี้ก็ขอให้ได้ประโยชน์อันนี้ด้วย คือรู้จักสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมดีขึ้น ก็จะสามารถขยับขยายออกไปถึงกับว่าช่วยกันส่งเสริมความมีอยู่แห่งศีลธรรมได้ตามสมควร การบรรยายในวันนี้ก็ยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
[T1]ไม่แน่ใจว่าต้องมีสระอะ หรือไม่ค่ะ
[T2]ฟังไม่ชัด
[T3]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T4]ฟังไม่ชัด
[T5]ฟังไม่เข้าใจ
[T6]คำที่สองนี้ ไม่แน่ใจว่าท่านต้องการจะพูดคำว่าอะไร
[T7]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T8]ฟังไม่ชัด
[T9]ฟังไม่ชัด
[T10]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T11]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T12]ไม่แน่ใจตัวสะกด