แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
(เสียงท่านพุทธทาส) ท่านที่เป็นราชภัฎผู้ลาบวชทั้งหลาย ในการบรรยายครั้งที่ ๑๓ นี้ ผมจะได้กล่าวโดยหัวข้อว่าความมีปัจจัยแห่งนิพพานและวัฏฏะ ในการบรรยายครั้งที่แล้วมา เราพูดถึงการเคารพตัวเอง ถ้ามีการเคารพตัวเองกันจริง ๆ ก็ต้องสร้างปัจจัยแห่งนิพพานและก็มุ่งทำลายปัจจัยแห่งวัฏฏะ เดี๋ยวนี้คนในโลกนี้ไม่ได้รู้จักปัจจัยแห่งนิพพานหรือวัฏฏะกันยิ่งขึ้นทุกที ดังนั้นเขาจึงมิได้มีเจตนาที่จะสร้างปัจจัยแห่งนิพพาน หรือสร้างปัจจัยแห่งวัฏฏะก็ได้ แต่โดยที่แท้จริงแล้วเขาไม่ชอบปัจจัยแห่งนิพพาน คือไม่ได้สร้างปัจจัยแห่งนิพพาน เพราะไม่รู้จัก แต่กำลังสร้างปัจจัยแห่งวัฏฏะ หรือว่าดูดดื่มอยู่ในปัจจัยแห่งวัฏฏะ โดยไม่สร่าง ไม่ลืมตา นี่เขาทำไปทั้งที่ไม่เจตนา ไม่รู้สึกตัว คือไม่ได้ ไม่ได้ชอบหรือเกลียดปัจจัยแห่งนิพพานโดยเจตนา เพราะไม่รู้จัก และก็ไม่ได้รักปัจจัยวัฏฏะโดยเจตนาเพราะไม่รู้จัก แต่ว่าที่เขากระทำอยู่นั้นมันเป็นการพอใจในปัจจัยแห่งวัฏฏะ
ทีนี้เท่าที่เขารู้เรื่องพระนิพพานอยู่บ้างในเวลานี้ สำหรับคนที่มีการศึกษาอย่างปัจจุบันนี้ เมื่อพูดถึงปัจจัยแห่งนิพพาน เขารู้สึกขึ้นในใจว่ามันเป็นของคนโง่ คนงมงาย หรือเป็นของเก่าเกินสมัยแบบไดโนเสาร์เต่าล้านปีอีกตามเคย คือจัดไว้ในเรื่องชนิดนั้น อยู่ในจำพวกนั้น ทีนี้มันก็กลับกัน เขาเห็นว่าไอ้พวกพอใจในนิพพาน หรือในปัจจัยแห่งนิพพานเป็นคนโง่ แต่แล้วเขาก็เป็นคนโง่เสียเอง คือโง่ในข้อที่ไม่รู้ว่า นิพพานนั้นมันเก่าไม่ได้ นิพพานนี้เป็นสิ่งที่เก่าไม่ได้ คือเป็นของใหม่อยู่เสมอ ที่จริงก็ไม่ควรจะเรียกว่าใหม่ ถ้าไม่เรียกว่าใหม่ก็ฟังไม่ถูก เรียกว่ามันไม่เก่า มันไม่รู้จักเก่า มันไม่รู้จักเปลี่ยนแปลงเลยไม่รู้จะเก่าอย่างไรได้ แต่พูดอย่างสำนวนธรรมดา ๆ ก็ต้องว่าใหม่อยู่เสมอ คือเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ไม่มีความเป็นอดีตหรือเป็นอนาคตได้ คำพูดคำนี้ผมเชื่อว่าท่านทั้งหลายที่เป็นราชภัฎหรือนักศึกษาอย่างรุ่นนี้จะไม่เข้าใจ หรือบางทีจะไม่เคยได้ยินด้วยซ้ำไป คือไม่เคยได้ยินสิ่งที่เขาถือว่า ไม่เป็นอดีต ไม่เป็นปัจจุบัน เอ้อ, ไม่เป็นอดีต ไม่เป็นอนาคต แต่เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ คือมันมีอยู่เสมออย่างไม่เปลี่ยนแปลง เพราะสิ่งนั้นมิได้เปลี่ยนแปลง เพราะมันไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย มันจึงไม่เปลี่ยนแปลง ความที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุ ตามปัจจัย มันจึงมีอยู่อย่างนั้นเสมอไป จึงเรียกว่าไม่เก่า ไม่รู้จักเก่า หรือจะเรียกว่ามันใหม่อยู่เสมอก็ได้ ไอ้คำพูดนี้คงจะเข้าใจ แต่ก็ไม่รู้ว่าสิ่งชนิดนั้นคืออะไร เพราะฉะนั้นก็ไปสังเกตดูเอง ค้นคว้าหาดูเองว่าอะไรบ้าง ที่มันจะเป็นอย่างนั้นอยู่เสมอไม่มีการเปลี่ยน คือไม่มีอดีตกับเขา ไม่มีปัจจุบันกับเขา ในที่นี้ก็ได้แก่สิ่งที่เรียกว่าพระนิพพาน ฉะนั้นก็คงจะลึกลับมากอยู่ สิ่งสิ่งหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวก็ไปรู้กันว่ามันคืออะไร เดี๋ยวนี้ก็ต้องการจะให้สนใจ ในจุดตั้งต้นที่ว่านิพพานไม่มีเก่า แต่ใหม่อยู่เสมอ และพูดในทางประโยชน์ ถ้าใครเข้าถึงก็มีประโยชน์สูงสุด แต่มันยิ่งกว่านั้นไปเสียอีกคือว่ามันเข้าถึงอยู่ระดับใดระดับหนึ่งโดยอัตโนมัติ หรือว่าโดยธรรมชาติ โดยไม่รู้สึกตัว ฉะนั้นคนเราจึงไม่เป็นบ้า หรือไม่เป็นโรคประสาทชนิดที่จะต้องตาย เพราะมีสิ่งที่เรียกว่านิพพานนี่เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เป็นระยะ ระยะ ๆ คือความดับเย็นแห่งกิเลสและความรู้สึกที่เป็นกิเลสน่ะ มันมีได้โดยธรรมชาติ ตามธรรมชาติเป็นระยะ ๆ ถ้าไม่ฉะนั้นเราก็เป็นบ้า คือมันอัดอยู่ในความกดดัน เบียดเบียนของกิเลส เช่นอยากหิวเป็นเปรตอยู่เสมอ มันก็ต้องเป็นบ้าหรือเป็นโรคเส้นประสาทชนิดที่ว่าทำให้ต้องตายกันไปเลย นี่ประโยชน์อานิสงส์ของสิ่งที่ไม่รู้จักเก่านี้ หมายความว่าเรามีนิพพานชนิดหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือดับ หรือหยุด หรือพักผ่อน ความลุปรุโปร่งของกิเลสอยู่เป็นระยะ ๆ ถ้าว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ก็จะต้องพิจารณากันต่อไปตามลำดับ
พิจารณาถึงคำว่านิพพานก่อน คำว่านิพพาน ถ้าพูดอย่างกว้างขวางที่สุด และก็ตลอดกาลนิรันดรเลยก็ต้องพูดว่าคือสิ่งสูงสุด พูดถึงสิ่งสูงสุดก็คงจะเข้าใจยาก สิ่งสูงสุดกว่าสิ่งทั้งปวงที่เขาบัญญัติเรียกชื่อต่าง ๆ กันตามยุคตามสมัย ในกรณีนี้เราเรียกว่านิพพาน ยังมีพุทธสุภาษิตว่า ผู้รู้ทั้งหลายกล่าวนิพพานว่าเป็นบรมธรรม คือเป็นสิ่งสูงสุด ไม่มีอะไรจะเลยสิ่งนั้นไปได้ นี่มนุษย์จะรู้จักนึกคิดถึงสิ่งสูงสุดนี้เอง หรือว่าใครสอนให้ มันก็ไม่สำคัญ มัน มันเป็นไปได้ของมันเอง คือเมื่อมนุษย์รู้จักมากขึ้น ๆ เรื่องดี เรื่องชั่ว เริ่มต้นมาตั้งแต่แรกเริ่ม รู้จักดี รู้จักชั่ว รู้จักสูง รู้จักต่ำ ความคิดมันก็เป็นไปเอง มันต้องมีสิ่งที่ดีที่สุด สิ่งที่สูงที่สุด แล้วก็ไม่รู้ว่าอะไร ไอ้สิ่งที่ดีพอประมาณ พอดีพอร้ายหรือสูงกว่ามัน มันก็รู้อยู่ทุกวัน แต่ที่มันสูงที่สุด มันไม่รู้ว่าจะไปกันถึงไหน ดังนั้นจึงอยู่ในความหวัง นี่ถ้าใครเกิดมาอธิบายเป็นที่พอใจว่า นี่สิคือสิ่งสูงสุด ก็เอาสิ่งนั้นมาเป็นสิ่งสูงสุด พวกที่เรียกว่านิพพานก็เรียกว่านิพพาน พวกที่เรียกอย่างอื่นก็เรียกอย่างอื่น แต่มันตรงกันตรงที่ว่า เขาถือว่าเป็นสิ่งสูงสุดสำหรับคณะนั้นหรือลัทธินั้น เพราะฉะนั้นเราจึงพูดได้แต่เพียงว่านิพพานน่ะมันคือสิ่งสูงสุด ที่เรียกชื่อต่าง ๆ กัน ตามยุคตามสมัย ในสาขาของพุทธบริษัทนี่มันก็เรียกมาจนกระทั่งบัดนี้ และก็ไม่มีใครพิสูจน์สิ่งอื่นให้สูงสุดกว่านี้ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งสูงสุดตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญติไว้นั้นก็เลยกลายเป็นนิพพานที่แน่นอนลงไปจนเป็นลัทธิอันหนึ่งหรือศาสนาหนึ่ง นี่เรียกว่าเมื่อจะกล่าวกันอย่างกว้างขวางที่สุดหรือตลอดกาลนิรันดร คำว่านิพพานคือสิ่งสูงสุด ตามที่มนุษย์รู้จักและก็เรียกชื่อไปต่าง ๆ กันตามความเข้าใจ ตามความพอใจ ตามยุคตามสมัย ทีนี้คำว่านิพพานนี้เขาว่าโดยศัพท์ หรือตัวหนังสือพยัญชนะ มันแปลว่าความดับ เอ้อ, แปลว่าการดับ และก็แปลว่าความดับ แปลว่าเครื่องดับ แสดงดับก็ได้ หรือธรรมชาติแห่งความดับก็ได้ อะไรมันก็เกี่ยวกับดับทั้งนั้น การพูดอย่างนี้มันก็เป็นเรื่องสอนไอ้ภาษา สอนไวยากรณ์ไปในตัว แต่เกี่ยวกับคำว่านิพพาน ถ้าคำว่าการ ก็หมายถึงกริยา อาการที่เป็นตัวการกระทำ การดับ กริยาที่มันดับลงไปก็เรียกว่านิพพาน นี้ที่เรียกว่าความดับหมายถึงภาวะ คือความ ความเป็นอย่างนั้น หรือความที่มีกริยาอาการอย่างนั้น ก็เรียกว่าความ ความดับ มันจึงไม่ใช่สิ่งเดียวกับการดับ
ทีนี้คำว่า เครื่องดับ มันเป็นเครื่องมือ เป็นเครื่องมืออันหนึ่งซึ่งจะมาดับ ในที่นี้ก็คือดับกิเลส ก็เลยเรียกว่าเครื่องดับ บางทีก็เรียกอย่างอื่นว่าเป็นแดน เป็นเขตแดน หรือเป็นถิ่น นี่พูดโดยภาษาสมมติของวัตถุ เป็นเขต เป็นแดน เรียก อีกทีว่า (นาทีที่ 13:41) เป็นแดนที่ดับ ถ้าอะไรเข้าไปถึงนั่นแล้วก็จะต้องดับ อย่างนี้ว่าแดนดับ ทีนี้สรุปให้หมดสิ้นก็ว่า ธรรมชาติเป็นเครื่องดับ ธรรมหรือธรรมชาติที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เป็นธรรมชาติแท้ ๆ ก็เป็นเครื่องดับ นี่ธรรมชาติเป็นเครื่องให้เกิดก็มี ธรรมชาติเป็นเครื่องให้เป็นอะไรก็มี แต่ว่าในทีนี้หมายถึงธรรมชาติที่เป็นเครื่องดับ นี่หมายถึงตัวธรรมชาติซึ่งยากที่จะเอามาให้ดูได้ นี่เพียงเท่านี้ก็จะพอแล้วแก่ความคิด แก่แนวทางความคิด ถ้าการดับก็เป็นการดับของกิเลส ถ้าเป็นความดับก็เป็นภาวะแห่งการดับนั้นของกิเลส ถ้าเป็นเครื่องดับก็เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้กิเลสดับ ถ้าเป็นเขตที่เป็นแดนก็หมายความว่า เขตนั้น ขอบเขตนั้น ถ้ากิเลสเข้าไปถึงมันก็ต้องดับ นี่มันแยก มันแยกออกไปแง่มุมต่าง ๆ กันอย่างนี้ แต่ถ้าให้ลึกซึ้งหรือว่ากว้างขวางกว่านั้น ก็จะใช้คำว่าธรรมชาติ เป็นที่ดับ คือว่าเป็นถิ่นหรือเป็นแดน หรือเป็นอันสุดท้ายที่สิ่งทั้งหลายจะต้องสิ้นสุดลงไป ถ้าอยากจะพูดว่าเป็นพระเจ้า หรือเป็นโลกของพระเจ้าก็ได้ทั้งนั้นแหละ มันแล้วแต่จะสมมติ เพราะว่าถ้าพูดกันอย่างนี้มันลึกเกินไปฟังไม่ถูก พูดด้วยถ้อยคำที่ว่าเป็นเมืองพระเจ้า เป็นโลกพระเจ้า อาณาจักรของพระเจ้า แต่ถ้าพูดกันอย่างผู้รู้อย่างตรงตามหลักของพุทธศาสนา หรือว่าจะพูดกันอย่างวิทยาศาสตร์ก็ได้ แต่มันเป็นวิทยาศาสตร์ที่พิเศษออกไป ไม่ใช่วิทยาศาสตร์อย่างวัตถุนี้ คือมันเป็นสิ่งสิ่งหนึ่ง จนกระทั่งเรียกว่าเป็นธาตุอันหนึ่ง นิพพานธาตุก็เป็นธาตุอันหนึ่งซึ่งมีคุณสมบัติสำหรับดักสิ่งทั้งปวง ไม่ต้องเป็นผี เป็นเทวดา เป็นพระเจ้าอะไรที่ไหน เป็นธรรมชาติ อย่างธรรมดาสามัญนี่อันหนึ่ง ก็มีอำนาจ มีคุณสมบัติ มีแล้วแต่จะเรียก คือทำให้อย่างอื่นดับ เป็นที่ดับ ฉะนั้นควรจะสนใจคำว่า การดับ ความดับ เครื่องดับ แดนดับ ธรรมชาติเป็นเครื่องดับ
นี่มันดับกิเลสนั่น ดับกิเลสแล้วเป็น ก็เทียบได้กับว่าเมื่อดับไฟแล้วเป็นอย่างไร กิเลสมันเปรียบกับไฟ ดับไฟแล้วก็เป็นเย็น คำว่านิพพานตามปกติเขาจะแปลกันว่าเย็น ภาษาชาวบ้านเขาแปลว่าเย็น ถ่านไฟแดง ๆ เย็นก็มันนิพพาน ข้าวต้มหรือแกง ตักอะไร (นาทีที่ 17:51) มันเย็นลงไปก็เรียกว่านิพพาน ถึงขนาดที่จะกินได้ จนมันกินได้ ก็เรียกว่าเย็น ทีนี้ในทางศาสนานี่ก็เย็นเพราะดับไฟแห่งไฟ คือกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ นี่เปรียบเหมือนกับไฟต่างชนิดกัน ดับแล้วมันก็เย็น เย็นที่กาย วาจา ใจ เย็นที่วิญญาณ นี้ถ้าจะดูโดยไวพจน์คือคำที่แทนชื่อกันได้แก่คำว่านิพพานก็มีใช้อยู่มาก มากจนผมนับดูได้สักร้อยคำเห็นจะได้ จะยกตัวอย่างมาสัก ๔ - ๕ คำที่พูดถึงกันอยู่เสมอ เช่นคำว่า ศิวาลัย ศิวาลัย ศอ คอ นะ แปลว่า ที่อยู่แห่งศิวะ คำว่าศิวะนั้นก็แปลว่า เย็น แต่คำว่าศิวะ นี่แปลว่าพระอิศวร พระอิศวรอย่างของฝ่ายพราหมณ์ก็ได้ คำว่าอิศวรหรือศิวะ พระศิวะนั่นก็แปลว่าเย็นเหมือนกัน ฉะนั้นที่อยู่แห่งพระอิศวรคือนิพพาน แต่เดี๋ยวนี้คำว่าศิวะ นี่หมายถึงเย็นอย่างที่ไม่มีกิเลส และอะไรที่เป็นที่อยู่ที่อาศัย ที่ตั้งอยู่ของความเย็นนั่นเรียกว่าศิวาลัยคือนิพพาน ศิวะกับอาลัย รวมกันเรียกว่าศิวาลัย อาลัยแปลว่าที่อยู่ นี่บางทีก็เรียกว่าอมตะนคร อมตะนคร อมตะมหานคร แปลว่านครแห่งอมตะ อมตะแปลว่าไม่ตาย อมตะเป็นคำที่ประหลาด จะถือว่าเป็นภาษาอินโดอารยัน ไปทางตะวันตก ไปเป็น Immortal Immortal ที่แปลว่าไม่ตาย ที่อยู่ในอินเดีย มาบ้านเราก็เรียกว่าอมตะ นครแห่งอมตะ นครที่ไม่มีความตาย นี้บางทีก็เรียกว่าศิว โมกขสถาน ศิวโมกขสถาน (นาทีที่ 20:28) คำไพเราะใช้เทศน์ใช้สวด ศิวะก็เย็น โมกขะแปลว่าหลุดพ้น สถานก็คือสถานที่ สถานที่ที่เย็นและหลุดพ้น หลุดพ้นก็เย็น หลุดพ้นเพื่อจะเย็นก็ได้ ศิวโมกข์สถาน (นาทีที่ 20:50 ) ศิวโมกข์มหาสถาน นี่ตัวอย่างที่เป็นอุปมา ที่เป็นภาพพจน์มีแยะอย่างนี้ แต่ถ้าว่าเป็นไวพจน์ที่ตรง ๆ ไม่เกี่ยวกับอุปมา มันก็มีอีกหลายคำ เช่นคำว่า สัพพะทุกขะ นิสสะระณะ สัพพะทุกขะ นิสสะระณะ เป็นที่ออกไปจากทุกข์ทั้งปวง นิสสะระณะ แปลว่าออกไปเสียจาก สัพพะทุกขะ ทุกข์ทั้งปวง สัพพะทุกขะ นิสสะระณะ นี่ออกไปเสียจากทุกข์ทั้งปวง นี้ก็เป็นไวพจน์ของนิพพาน ฉะนั้นที่สุดแห่งความทุกข์ ทุกขะ อันโต หรือ ทุกขะสะอันโต ทุกขะ อันตะ ทุกขะ อันตะ (นาทีที่ 21:47) เหมือนกันที่สุดแห่งความทุกข์ ความทุกข์จบลงที่นั่น กิเลสจบก่อน ความทุกข์จึงจะจบลงไปตามที่นั้นก็เรียกว่า ทุกขะอันตะ ที่สุดแห่งความทุกข์ อย่างนี้ไม่ใช่สมมติ หรือไม่ใช่อุปมา ถ้าพูดว่าศิวาลัย ศิวโมกขสถาน อมตะนคร นั้นเป็นอุปมา
ทีนี้ค่าของมัน ค่าของคำนี้ก็คือเย็น ไม่เสียบแทง ไม่ผูกมัด ไม่ท่วมทับ เยอะแยะไปหมด สรุปแล้วก็ว่าหมดปัญหาก็แล้วกัน ไม่มีปัญหาอะไรเหลือ เย็นก็คือไม่ร้อน ทีนี้มันยังเหลือไว้ให้สงสัยอยู่ แล้วเสียบแทงล่ะว่าอย่างไร ก็ไม่เสียบแทง เหมือนของแหลมมันแทง แล้วก็ไม่ผูกพัน ไม่ผูกมัด ไม่กักขัง และก็ไม่ท่วมทับอย่างน้ำท่วมแบบนี้ ไปอยู่ใต้น้ำมันก็ทนไม่ไหว ไม่ท่วมทับ ไม่มีปัญหาโดยประการทั้งปวง ฉะนั้นควรจะพอใจในส่วนนี้มากกว่า พูดกับคนสมัยนี้พูดว่าไม่มีปัญหาดีกว่า มันฟังง่ายกว่า เพราะคำว่าปัญหานี่มันกำลังเต็มไปหมดในโลกนี้ หมดปัญหาด้วยประการทั้งปวงก็น่าสนใจ ไม่มีอะไรนอกจากนิพพาน บอกเขาอย่างนั้น
นี้เพื่อเข้าใจนิพพานดีขึ้น ก็ดูนิพพานกันในอันดับต่าง ๆ บ้าง นิพพานอย่างตรง ๆ เต็มตามความหมายก็อย่างหนึ่ง และก็นิพพานโดยอ้อมหรือว่าโดยปริยาย ยังไม่เต็มแห่งความหมายก็อย่างหนึ่ง ๒ อย่างเท่านี้ก็พอ นิพพานตรง ๆ ตามที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ให้เรารู้จักกันในชื่อนี้ ยกขึ้นเป็นสิ่งสูงสุด จะเรียกว่านิพพานที่สมบูรณ์ สมบูรณ์แบบ แล้วแต่จะเรียก คือนิพพานวาระสุดท้ายที่เรียกว่าอนุปาทิเสสนิพพาน คือพระอรหันต์ สิ้นอาสวะกิเลส ดับเย็นสนิทจนกระทั่งอินทรีย์ของท่าน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะไม่รู้สึกกระทบกระทั่ง เพราะเวทนาชนิดไหนหมด นี่เรียกว่าเย็นสนิท เป็นนิพพานสุดยอดหรือสมบูรณ์แบบ จะเรียกว่าอนุปาทิเสสนิพพาน คือนิพพานไม่มีเชื้อเหลือ นิพพานที่ดับสนิทไม่มีเชื้อเหลือ นิพพานของพระอรหันต์ที่สมบูรณ์ ทีนี้รองลงมาก็นิพพานของพระเสขะ คือพระอริยเจ้าที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ โสดา สกินาคา อนาคา ก็นิพพานที่ยังไม่สมบูรณ์ แต่มันก็แน่นอนต่อความสมบูรณ์ มันจึงจัดไว้ในพวกฝ่ายนู้น ฝ่ายโดยตรง โดยสมบูรณ์ ในกรณีอย่างนี้เราก็เรียกได้ว่านิพพานนั้นคือจุดหมายปลายทาง เพราะว่าสัตว์ที่เป็นอยู่ในวัฏสงสารนี่มีจุดหมายปลายทางที่นั่น มันจะรู้จักหรือไม่รู้จักก็สุดแท้แต่ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่รู้จักเลยก็ได้ แต่สิ่งนั้นจะเป็นจุดหมายปลายทาง ถ้ายังไม่ถึงนั่นจะยังต้องมีการเดินต่อไปอยู่เรื่อย นิพพานที่สมบูรณ์ก็คือจุดหมายปลายทางของมนุษย์ หรือเรียกว่าของสิ่งมีชีวิตก็แล้วกัน
ทีนี้พวกนิพพานโดยปริยาย คือโดยอ้อมหรือโดยปริยายที่ยังไม่สมบูรณ์ ที่ยังไม่แน่ว่าจะสมบูรณ์ก็มีอยู่มาก คือภาวะที่มีความหมายคล้าย ๆ กัน คือเย็น ไม่แผดเผา ไม่อะไรก็ตาม มีค่าอย่างยิ่งอยู่ตลอดเวลาที่ยังไม่ถึงนิพพานอันสมบูรณ์ มีค่าเต็มที่สำหรับผู้ที่ยังไม่ถึงนิพพานอันสมบูรณ์ ก็ต้องพยายาม ต้องสร้างปัจจัยเพื่อนิพพานชนิดนี้ด้วยเหมือนกัน นิพพานไม่สมบูรณ์หรือโดยอ้อมที่ว่าเมื่อกิเลสยังไม่เกิด และจิตยังประภัสสรอยู่ นี่คือนิพพานโดยอ้อมโดยปริยายและก็ไม่ตายตัว ไม่สมบูรณ์ ยังกลับไปกลับมา เวลาที่เราไม่รู้สึกว่ามีกิเลสเกิดขึ้น จิตว่างอยู่ ว่างจากกิเลสก็เรียกว่าจิตประภัสสร แต่มันจะกลับเป็นไม่ประภัสสรเมื่อไรก็ได้ ในเมื่อไม่มีเหตุปัจจัยอะไร มันก็ยังประภัสสรอยู่ ไม่มีกิเลสมากวน เวลานั้นก็สบายที่สุดเหมือนกัน ว่าเย็นสบายเหมือนกันแต่อาจเหมือนกันก็ได้ ผิดกันแต่เพียงว่ามันชั่วขณะ ฉะนั้นสังเกตไว้ให้มาก ให้รู้จักและพยายามสร้างปัจจัยเพื่อนิพพานแม้ชนิดนี้ด้วยเหมือนกัน มิฉะนั้นก็จะเป็นโรคเส้นประสาทง่ายหรือจะเป็นบ้าง่าย
ที่ให้ต่ำลงไปอีก คือนิพพานที่กิเลสจะเกิด ที่กิเลสมันเกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้น ให้เราข่มมันได้ ที่ข่มลงไปได้หมดกิเลส หมดนิวรณ์เหล่านี้ด้วยอำนาจของสมาธิระดับไหนก็ตาม ก็มีลักษณะแห่งนิพพานปรากฏ คือเย็น ไม่ทิ่มแทง ไม่อะไร เป็นนิพพานจากสมาธิ ก็จะเรียกว่าฌานนิพพาน นิพพานจากฌาน จากสมาธิ อันทีแรกนั้นเรียกว่านิพพานจากจิตประภัสสร อันนี้เป็นนิพพานจากฌาน หรือจากความเป็นสมาธิ ทีนี้ที่มันเล็กน้อยลงไปอีกเช่นว่า นิพพานว่าคิดตกหรือปลงตกเฉพาะเรื่อง ไม่ใช่ว่าคนทุกคนจะปลงตกหรือปลงตกเหมือนกันทุกเรื่องเท่ากันทุกเรื่อง มันก็แล้วแต่นิสัยปัจจัยของคนนั้นที่มันจะปลงตกได้กี่มากน้อย แต่ถ้ามันปลงอะไรตกไปแล้วมันก็เย็นขึ้นมาทันที พูดตามธรรมดาสามัญหน่อยก็สลัดความรู้สึกอันนั้นออกไปเสียได้ ด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นความปลงตก อย่างว่าลูกมันตาย ถ้ายังปลงไม่ตก มันก็ร้อน เป็นทุกข์ร้องไห้อะไรอยู่ พอมันเกิดปลงตกขึ้นมา มันก็หาย อย่างนี้เป็นต้น ขอให้สนใจไว้ด้วยเหมือนกันเพื่อสร้างความรู้จัก คุ้นเคยสามารถ ให้สามารถปลงตกได้เรื่อย ๆ ก็ดี
ทีนี้ก็นิพพานก็มีลัทธิความเชื่อเป็นต้นเข้ามาปิดบังความรู้สึกที่เป็นทุกข์ เช่นว่าลูกมันตาย แล้วมันก็เชื่อ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ว่าพระเจ้าต้องการ พระเจ้าเรียกร้องต้องการ มันไม่มีความทุกข์เหมือนกัน มันไม่ต้องปลงอย่างคนที่ว่าจำใจจะปลง นี่เขาระงับความร้อนด้วยอำนาจของความเชื่อ เป็นนิพพานจากความเชื่อ ในลัทธิที่ถือความเชื่อเป็นที่พึ่ง นี่อันสุดท้ายที่สุดอยากจะระบุถึงว่า สิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวธรรมชาติหรืออารมณ์อะไรก็ตาม มันแวดล้อม ธรรมชาติขับกล่อมอยู่ รู้สึกสบาย เย็นสบาย ไปนั่งตรงที่ที่เหมาะ ๆ ให้ธรรมชาติที่เป็นธรรมชาติแท้ ๆ มันมีอิทธิพลแก่จิตใจ ก็หยุด ก็สบายเดี๋ยวก็หลับไปเลย ซึ่งใคร ๆ ก็ชอบมาก แม้ว่าจะเป็นนิพพานเล็ก ๆ น้อย ๆ เด็ก ๆ อย่างนี้ก็ยังมีประโยชน์ ลองไม่มีนิพพานชนิดนี้เสียเลย มันก็เป็นบ้า ส่วนนิพพานอย่างอื่น บางอย่างนั้นไม่ต้องลองก็ได้ เช่นนิพพาน เพราะกามารมณ์สมบูรณ์ ซึ่งเขาก็มีกันอยู่ลัทธิหนึ่งเหมือนกันตั้งแต่ก่อนพุทธกาล จนกระทั่งพุทธกาล ให้มีอารมณ์แห่งกามเต็มเปี่ยมอยู่ เรียกว่านิพพาน แต่เดี๋ยวนี้เขาก็อธิบายเป็นอย่างอื่น นิพพานประเภทอย่างนี้ไม่ต้องลองก็ได้ ไม่ต้องสร้างปัจจัยเพื่อลอง เท่าที่เอามาพูดหรือเปรียบเทียบให้ฟัง นี่ก็เพื่อว่าจะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่านิพพานได้ดีขึ้น โดยพยัญชนะตัวหนังสือก็ตาม โดยความหมายของมันก็ตาม โดยคุณค่าของมันก็ตาม โดยอันดับของมันก็ตาม ถ้าเป็นนิพพานจริงก็ไม่มีเหตุปัจจัยที่เป็นเหยื่อล่อ ถ้าเป็นนิพพานที่ยังไม่จริงก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยที่เป็นเครื่องล่อ แต่ถ้ามันล่อไปในทางที่จะไปสู่นิพพานจริง มันก็ดีเพราะมันไม่ได้ล่อไปลงนรก ไปลงเหวอะไร ฉะนั้นนิพพานที่แท้จริงจะไม่เรียกว่ามีเหยื่อล่อ เพราะมันถึงที่สุดเสียแล้ว มันไม่ต้องไปที่ไหนอีก เรียกว่าไม่มีอัสสาทะหรือเสน่ห์ หรือรสอร่อยสำหรับล่อ แต่ถ้านิพพานโดยปริยาย ที่ยังจำเป็นแก่คนธรรมดาสามัญทั่วไปนี่ต้องมีต้องมีอัสสาทะ หรือมีรสอร่อย หรือมีเสน่ห์ มีเหยื่อล่อ เช่นมานั่งสงบอารมณ์สบาย ๆ อย่างนี้นั่นนะมันเป็นอัสสาทะ แล้วเราก็ชอบใจ ในข้อนั้น แล้วก็ชอบมานั่งบ่อย ๆ ในที่ที่ปราศจากสิ่งรบกวนทางกาย ทางจิต ทางความคิด ความรู้สึก นิพพานที่แท้จริงก็เลยเป็นพวกที่อยู่เหนือเหตุ เหนือปัจจัย ไม่กลับเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรปรุงแต่ง ส่วนนิพพานโดยอ้อม โดยปริยายนี่ มันจะมีปัจจัยปรุงแต่ง แล้วมันก็เปลี่ยนแปลง เพียงแต่ว่าเราได้ชิมรสของพระนิพพานเป็นตัวอย่าง เป็นเครื่องสร้างความพอใจแก่พระนิพพานอันแท้จริง ฉะนั้นนิพพานโดยปริยายโดยอ้อมทั้งหลายนี่ยังเป็นปัจจัยแก่พระนิพพานจริง คือช่วยสนับสนุน ช่วยกระตุ้น ช่วยดึงอะไรให้คนมาสนใจในนิพพานจริง เป็นการชิมลอง และการชิมลองนั้นก็เลยเป็นปัจจัยที่ให้ถึงนิพพานจริง
เรื่องชิมลองนี่เป็นของธรรมดาสามัญที่สุดและก็เป็นของจำเป็น คล้าย ๆ กับเป็นสัญชาตญาณอันหนึ่ง เรื่องลองดูก่อน ชิมลองดูก่อน เรื่องดีเรื่องร้ายอะไรก็ตาม มันจะมีสัญชาตญาณอันหนึ่งซึ่งทำให้คนเราไม่ผลุนผลันกระโจนพรวดออกไป มันต้องลองดูก่อน ไอ้ลูกปลาที่อายุไม่กี่เดือนนี่ แมลงตกลงไปไม่กล้ากิน มันคอยวนอ้อมดูอยู่นั่นแหละ ถ้าเป็นปลาตัวโต ๆ อายุ ๒ – ๓ ปี แมลงตกกินทันที เพราะมันเคยลองมาแล้ว รู้ว่ากินได้ ฉะนั้นสิ่งที่มันไม่เคยกิน มันก็ไม่ยอมกินทันที มันก็ลองดูก่อน หรือว่าเด็ก ๆ ที่มันจะกินอะไร มันก็มีลักษณะลองดูก่อน หรือมันจะไปจับไฟ มันก็ไม่จับทีเดียวเต็มที่ มันลองแหย่ดูก่อน ก็ต้องถือว่าไอ้เรื่องลองดูก่อน สิ่งที่ต้องมีตามสัญชาตญาณ ก็นำไปสู่ความรู้ที่ถูกต้องว่ามีประโยชน์ หรือไม่มีประโยชน์เป็นต้น จึงค่อยไม่ต้องลอง อยู่เหนือการลอง เราก็อยู่กันได้โดยนิพพานนี้ ให้มันสงบไปวันหนึ่ง ๆ แล้วก็พอใจว่าถ้ามันเป็นอย่างนี้ตลอด หรือเต็มขนาดเราก็พอใจ ถือว่าเป็นปัจจัยให้ก้าวหน้า จนกว่าจะถึงจุดที่สมบูรณ์
เอ้า, ทีนี้ก็มาถึงคำว่าปัจจัย พระเณรรู้จักปัจจัยแต่ที่ไปได้เมื่อไปบังสกุลมา นี่มันไม่ถูก นั่นมันนิดเดียว หรือว่าปัจจัย ๔ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช นี่ก็ถูกนิดเดียว มีความหมายที่ถูกนี้นิดเดียว คำว่าปัจจัยมันไม่ใช่ความหมายอย่างนั้น หมายถึงเหตุหรือสิ่งซึ่งเป็นเครื่องก่อขึ้น หรือดำรงอยู่ อะไรที่เป็นเหตุหรือเป็นเครื่องมือหรือเป็นอะไรที่มีการก่อขึ้นมา หรือดำรงอยู่ได้ หล่อเลี้ยงอยู่ได้ สิ่งนั้นเรียกว่าปัจจัย ไหน ๆ เล่าแล้วก็เล่าให้ฟังเสียให้หมด ทีแรกปัจจัยน่ะหมายถึง จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัชที่จำเป็น ๔ อย่างแก่ชีวิต นั้นเรียกว่าปัจจัย ไม่ได้หมายถึงเงินหรอก ทีนี้ต่อมาเพราะไม่สะดวกที่จะถวายและที่รับสิ่งเหล่านั้นไว้ ก็เอาเงินไปฝากไว้กับคนที่จะช่วยจัด จัดการให้ได้เมื่อต้องการ เขาจึงมาถวายปัจจัยเป็นมูลค่าราคาเท่ากับเงินจำนวนเท่านั้น ๆ เขาจึงเอาเงินฝากให้กับคนนั้นเท่านั้น แล้วพระก็ไปเรียกร้องเอาปัจจัย เอาสิ่งของราคาเท่านั้นมา นี้ความเข้าใจผิดมันก็ไปเกิดอยู่ที่เงิน เข้าใจว่าเงินนั้นเป็นตัวปัจจัย เพราะมันให้สำเร็จปัจจัยไอ้ ๔ อย่างนี้ และปัจจัย ๔ อย่างนี้มาสำเร็จแก่การเป็นอยู่ของคนนั้นอีกทีหนึ่ง นี้ต่อมามันสะเพร่าหรือว่าตกต่ำมากเข้า มากเข้า ๆ มันก็เอาเงินถวายพระเสียเอง ก็เลยปัจจัยมันก็เลยอยู่ที่เงินที่พระรับเอามา ก็เลิก เลิกเข้าใจผิดคิดว่าคำเหล่านี้ ปัจจัยมันเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดขึ้น หรือช่วยในการเกิดขึ้นช่วยในการหล่อเลี้ยงไว้คงอยู่ นี่คือคำว่าปัจจัย จะเป็นปัจจัยแห่งนิพพาน อะไรก็ตามก็เป็นปัจจัย ปัจจัยมีคำที่แทนกันได้เช่นคำว่าเหตุ บางทีก็ใช้แทนกันเลย บางทีก็แบ่งหน้าที่กัน เหตุนั้นเป็นปัจจัยโดยตรงและเป็นต้นเหตุ และปัจจัยนี้เป็นเหตุประกอบ แต่ในบางครั้งเป็นตัวเหตุเลย ไม่ได้ใช้คำว่าเหตุ แต่ใช้คำว่าปัจจัยแทนคำว่าเหตุอย่างนี้ก็มี นี่เท่าที่สังเกตดูพบในบาลีทั้งหลาย โดยที่แท้แล้วเหตุน่ะเป็นตัวการ และปัจจัยเป็นเครื่องช่วยอีกทีหนึ่ง ยกตัวอย่างที่จำง่าย ๆ เช่นว่ามีการปั้นหม้อขึ้นมา เหตุให้เกิดหม้อขึ้นมานั้นคือความต้องการของคน และปัจจัยนั้นคือว่าดินเหนียวบ้าง เครื่องมือบ้าง น้ำบ้าง อะไรบ้าง นี่เป็นปัจจัย ตัวเหตุจริง ๆ คือความต้องการของคนที่มันปั้นหม้อ แล้วมันก็ปั้น อาศัยปัจจัย เช่นดิน เช่นอะไรต่าง ๆ กระทั่งไฟเผาเข้าไป เป็นหม้อขึ้นมา ทีนี้ถ้าจะแยกเหตุ แยกปัจจัยออกจากกัน ก็คือความหมายอย่างนี้ อันหนึ่งเป็นตัวการ อันหนึ่งเป็นเครื่องช่วย แต่ในบางกรณีพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสอย่างนั้น ตรัสเป็นสิ่งเดียวกันก็มี แทนกัน แทนชื่อกันได้ก็มี นี้คำอื่นเช่นคำว่านิทาน คำว่านิทานนี่ก็แปลว่าเหตุเหมือนกัน เป็นที่ออกมา ที่ที่จะทำให้ออกมาก็เรียกว่านิทาน คำเดียวกับคำว่าเล่านิทานนั่นล่ะ แต่นิทานในที่นี้หมายถึงเหตุ ไอ้นิทานที่เขาเล่า ๆ กันมานั้นก็ไม่ทราบว่ามันจะมาเนื่องกันได้อย่างไร บางทีจะเล็ง จะยืมคำว่าเหตุไปใช้ คำว่านิทานนี่ใช้สำหรับเล่า เพราะหมายถึงไอ้ทีแรก ความต้องการของการเล่า เป็นต้นตอของการเล่า เป็นเหตุให้จำไว้ได้ เล่ากันต่อ ๆ มาก็ได้ นี่ก็ไม่แน่ใจ แต่บอกให้ทราบว่า ในทางภาษาธรรมะแล้ว คำว่านิทานแปลว่าเหตุ และยังมีคำที่เนื่องกันต่อไปอีกคำว่านิทานสัมภวะ สัมภวะก็เกิดขึ้นพร้อม นิทานสัมภวะ ก็เกิดขึ้นพร้อมแห่งเหตุ นี่คือความสมบูรณ์แห่งเหตุ เรียกว่านิทานสัมภวะ ซึ่งทำให้เกิดเป็นสัตว์ เป็นของ เป็นอะไรต่าง ๆ ขึ้นมา เพราะนิทานสัมภวะมันมี แม้สุดแต่คำว่าสมุทัย ทุกขสมุทัย สมุทัยคำนี้ก็แปลว่าเหตุ ตัวหนังสือแปลว่า เครื่องให้ตั้งขึ้นมาพร้อม ให้ตั้งขึ้นมาอย่างครบถ้วนก็คือเหตุ สมุทัย สมุฏฐานก็คล้ายกัน ก็แปลว่าเหตุ หรือรากฐาน ส่วนที่เป็นรากฐาน ฉะนั้นถ้าได้ยินคำอื่น ๆ ที่มีความหมายในทำนองอย่างนี้ ให้รู้เถิดว่ามันแทนกันได้กับคำว่าเหตุ ในที่นี้เราจะเรียกว่าปัจจัยซึ่งเป็นคำที่ใช้มากที่สุด คำว่าเหตุนี่ใช้น้อยที่สุด มันจะเพราะไม่น่าฟังด้วย
ทีนี้ปัจจัยนี่มันทำให้เป็นเหตุก็ตาม ยังมีแง่ที่จะต้องรู้ไว้อีกบางอย่าง คือมันมิได้มาก่อนอย่างเดียว มันมาทีหลังก็ได้ มาพร้อมกันก็ได้ สิ่งที่เราเรียกว่าเหตุหรือปัจจัยก็ตาม มันมาก่อนก็ได้ แล้วมันมาทีหลังก็ได้ ก็เป็นปัจจัยได้ และมันมาพร้อมกันเลยก็ได้ ถ้าสิ่งที่มีอยู่ก่อนเป็นเหตุให้เกิดสิ่งขึ้นมาอีกสิ่งหนึ่ง ก็เรียกว่าเหตุนั้นมาก่อน ไปเกิดสิ่งที่สองขึ้นมาก็เรียกว่าปัจจัยที่มาก่อนเช่นว่า แม่เป็นเหตุหรือเป็นปัจจัยว่ามีลูก ก็แม่มีอยู่ก่อน คือแม่ไก่ หรือไข่ไก่อะไรก็ตาม มันมีอยู่ก่อน เพราะว่ามันเป็นปัจจัยให้ลูกไก่ออกมา แต่ทีนี้ถ้ามันมีเรื่องต่อไปถึงกับว่าไอ้ลูกนั้นนะ มันกลับเป็นปัจจัยแก่พ่อแม่ เช่นพ่อแม่แก่ชราลงไป ลูกมันเลี้ยงอย่างนี้ ฉะนั้นสิ่งที่มาทีหลังกลับเป็นปัจจัยแก่สิ่งที่มาก่อน ทีนี้ว่าถ้ามันมาพร้อมกัน มันก็มีหลายอย่าง หมายความว่าสิ่งนั้นอาศัยแก่กันและกัน เป็นแน่นอน มันจึงจะเรียกว่าสำเร็จประโยชน์ เช่นไม่ฟืนกับไฟ ไฟกับไม้ฟืนอย่างนี้ยากที่จะรู้ว่า ใคร ใครมาก่อนมาหลัง ไม้ฟืนก็เป็นปัจจัยให้เกิดไฟ ไฟก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ไม้ฟืนหายไป มันทำพร้อม ๆ กันหรือจะมองให้ละเอียดไปกว่านั้นอีก ที่มันจะต้องอาศัยแก่กันและกันอยู่ ถ้าขาดแล้วมันล้มละลาย นั่นก็เรียกมันพร้อม ๆ กัน มันก็ทำพร้อมกันเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กัน ในร่างกายของคนเรานี้ก็มีเหตุปัจจัยในลักษณะอย่างนี้ บางอย่างมาทีหลัง บางอย่างมาก่อน บางอย่างพร้อมกัน ให้รู้ว่าไอ้ปัจจัยนี้บางอย่างมาก่อน บางอย่างมาทีหลัง บางอย่างมาพร้อมกัน ย่อมหมายความถึงว่าทำหน้าที่ก่อน ทำหน้าที่ทีหลัง ทำหน้าที่พร้อมกันอย่างนั้นด้วย และความเป็นปัจจัยนี่มีได้ทั้งเพื่อการเกิดขึ้น เพื่อการตั้งอยู่ เพื่อการดับไป เดี๋ยวจะไปเข้าใจเสียเองว่า ปัจจัยนั้นมีแต่เพื่อให้เกิดขึ้น ปัจจัยเพื่อให้ดับลงไปเขาก็เรียกว่าปัจจัย เพราะอันนี้ดับ อันนี้จึงได้ดับ นี่ปัจจัยแห่งการดับ ปัจจัยแห่งการเกิดน่ะเห็นง่าย นี้ปัจจัยแห่งการตั้งอยู่นี่ ก็มีอยู่ส่วนหนึ่ง เท่าที่ความตั้งอยู่มันจะมีอยู่เท่าไร ถ้าเป็นเรื่องของทางวัตถุ เราพอจะมองเห็นความตั้งอยู่ได้ว่ามันมีระยะยาวพอที่จะสังเกตเห็นความตั้งอยู่ แต่ถ้าเป็นความหมายในทางนามธรรม ไอ้เรื่องตั้งอยู่ดูจะเร็วจนไม่มี ไม่มี ไม่มีโอกาสที่จะระบุลงไปว่าตั้งอยู่ตรงไหนนานเท่าไร โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับจิตที่มันไว จนเราชี้ไม่ทัน จิตเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จนชี้ไม่ทันว่าตรงไหนเป็นเกิด ตรงไหนเป็นตั้งอยู่ ตรงไหนเป็นดับไป เอาละจะยอมให้ว่าเกิดขึ้นนี่พอ พอมีโอกาสที่พอจะชี้ หรือดับไปก็พอ แต่ชี้จะตั้งอยู่นี้ชี้ไม่ทัน เพราะขณะจิตหนึ่งมันไว กว่าที่จะชี้ เราไปชี้ ก็ดับไปเสียแล้ว อันนั้นมันก็ดับไปเสียแล้ว แต่ที่ปรากฏอยู่คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปที่สัมพันธ์กันอย่างไม่ขาดสาย เราจึงเห็นอะไรปรากฏอยู่ในโลกนี้ เช่นเราทอดสายตาไปทางนี้ เห็นต้นไม้ เห็นต้นหญ้า เห็นแผ่นดิน อย่า อย่าไปเข้าใจแต่เพียงว่ามันตั้งอยู่ มันแต่เพียงปรากฏอยู่ของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แต่มันละเอียด มันละเอียดจนมองไม่เห็น (นาทีที่ 49:44) ต้องไปศึกษาโดยเฉพาะ ถ้าเราจะเอาไอ้สัมพัทธ์ที่มีกันระหว่างภาพ ภาพยนตร์ที่ฉายออกไปตามปกติมัน ๒๔ ภาพต่อ ๑ วินาที เราจะเห็นว่ามันเป็นภาพ เหมือนกับตั้งอยู่ ที่จริงมัน ๒๔ ครั้งต่อวินาที ความตั้งอยู่ของมันจึงไม่อาจจะชี้ได้ที่ภาพไหน มันเป็นไปหมดทุกภาพ มันต่อกัน มันจึงเป็นความตั้งอยู่ที่กำลังไหลไปเปลี่ยนไป ทีนี้มาดูต้นไม้ ดูอะไร ก็ดูอย่างนั้นด้วยก็ได้ แต่มันช้ากว่านั้น ระยะแห่งการสัมพัทธ์ ระหว่างเวลากับสสารนั้น มันยาวกว่า ให้ถือว่าทุกสิ่งไหลเหมือนอย่างนั้น แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังพูดได้ว่ามีปัจจัยแห่งการตั้งอยู่ แม้จะสั้นมาก มีปัจจัยแห่งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ถ้าจะเอาทั้งหมดนั้นเป็นการตั้งอยู่ก็ยิ่งยาวออกไปหน่อย ก็ยังมีปัจจัยอยู่นั่นเอง เลยพูดได้เลยว่าปัจจัยนั้นมีทั้งเพื่อการเกิดขึ้น การตั้งอยู่ การดับไป ก็เลยไม่มีอะไรที่ ในโลกนี้นะ ไม่มีอะไรที่ไม่มีปัจจัย ยกเว้นแต่พระนิพพานอย่างเดียว เดี๋ยวก็จะพูดถึงคำว่านิพพานมีปัจจัย หรือไม่มีปัจจัย ถ้าพูดว่าความมีปัจจัยแห่งนิพพาน มันเป็นภาษาพิเศษเฉพาะ ไม่ใช่ว่าสร้างนิพพานขึ้นมา แต่เป็นปัจจัยแห่งการให้ลุถึงนิพพาน ฉะนั้นชาวบ้านเขาก็พูดกันถูกอยู่แล้ว ขอให้การกระทำอันนี้เป็นนิสัยปัจจัยแห่งพระนิพพานในอนาคตกาลเทอญ เขาไม่ได้หมายความว่าสิ่งนี้ไปสร้างพระนิพพานขึ้นมา มันทำไม่ได้ แต่ให้สิ่งที่เขากระทำอยู่นี่ให้มันเป็นปัจจัยแก่การที่เขาจะลุถึงพระนิพพาน นี่เรียกว่าปัจจัยแห่งนิพพานมันเป็นอย่างนี้ เราจะทำทุกอย่างให้มันเป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน แก่การลุถึงพระนิพพาน หรือให้พระนิพพานปรากฏแก่เรา หรือมักจะพูดว่าเรามีพระนิพพานอยู่กับเรา ก็อย่าได้ไปเข้าใจว่าเราสร้างมันขึ้นมา ถ้าเป็นนิพพานแท้จริงแล้วก็มันสร้างขึ้นมาไม่ได้ แต่เรามีการกระทำที่เป็นต้นเหตุหรือปัจจัยที่จะเปิดเผยจิตใจของเราออก ให้นิพพานเข้ามาถึงจิตใจอย่างนี้ก็ได้ นั้นก็เป็นปัจจัยแก่พระนิพพานหมายความอย่างนี้ เช่นว่าทำบุญให้ทาน ให้กิเลสมันออกไป ไม่มีอะไรกั้น นิพพานชนิดหนึ่งก็จะเข้ามาเพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก ก็ดูปัจจัยแห่งพระนิพพานโดยตรง สิ่งที่จะช่วยให้ผู้นั้นหรือจิตนั้นลุถึงนิพพาน พูดกันอย่างกว้าง ๆ พูดในลักษณะที่ว่าจะไปปฏิบัติกันได้ตลอดไปในยุคปัจจุบันนี้ ปัจจัยแห่งนิพพานนี้อย่างน้อยก็ควรจะแบ่งแยกออกไปเป็น ๑. เป็นความรู้ ๒. เป็นการปฏิบัติขั้นรากฐาน ๓.เป็นการปฏิบัติ ลงไปโดยตรงโดยเจาะจง ความรู้ก็หมายถึงปัญญา สัมมาทิฏฐิและสิ่งอื่น ๆ ธรรมะอื่น ๆ ที่มันเป็นบริวาร คือมันเนื่องกันอยู่ เราพูดถึงแต่ปัญญาก็ได้ สัมมาทิฏฐิก็ได้ ญาณก็ได้ มันเป็นตัวเดียว ส่วนสิ่งอื่น ๆ ที่มันเนื่องกันอยู่หรือช่วยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น มันก็มีอีกหลาย หลายลำดับ แต่เราก็พอจะรู้ได้ ถ้าจะเอาอย่างที่อธิบายกันมากที่สุดในพระบาลี ก็เช่นว่าอยู่ในประเทศที่ควรอยู่ อย่าไปอยู่ในป่าในดงในดอยอะไร หรือไปอยู่เสียที่ขั้วโลก ก็อยู่ในประเทศที่ควรอยู่ คือประเทศที่มีผู้รู้ มีสัตตบุรุษ เข้าไปคบหาสัตตบุรุษ ไปนั่งใกล้สัตตบุรุษ ฟังธรรมของสัตตบุรุษ ใคร่ครวญธรรมของสัตตบุรุษ ก็รู้ขึ้นมา ก็ได้ปัญญาออกมา ฉะนั้นน่ะสิ่งที่เป็นบริวารหรือเนื่องกันอยู่ คือสิ่งเหล่านี้ คบสัตตบุรุษหรืออยู่ในที่ที่มีโอกาสจะพบกับสัตตบุรุษเป็นต้น เราจึงระบุไปในปัญญาก็แล้วกัน มันจะมาได้ทางไหนก็สร้างขึ้นมา และปัญญาที่เกินก็ไม่เอา เอาปัญญาที่พอ พอ พอดี เรียกว่าสัมมาทิฏฐิเกี่ยวกับความดับทุกข์โดยตรง นี่เป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน เป็นปัจจัยเพื่อให้คนหรือว่าผู้นั้น หรือว่าจิตนั้นใกล้เข้าไปทางนิพพาน จนรู้สึกต่อพระนิพพาน เพราะปัญญามีความหมายกว้างอย่างนี้ โดยการเล่าเรียนก็ได้โดยการคิดพิจารณาก็ได้ โดยการทำให้มันจริงเข้าไปก็ได้
นี้ข้อที่เรียกว่าการปฏิบัติในอันดับรากฐานหรือริเริ่มนี่ ก็เป็นการปฏิบัติธรรมในชั้นที่ว่าเป็นหลักทั่วไป สำหรับจะดำรงชีวิตอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อการรู้พระนิพพาน มีอยู่มาก แต่ว่าหมวดที่เหมาะสมที่สุดก็คือหมวดที่เรียกว่าลักษณะแห่งธรรมวินัยของพระศาสดา อย่างในนวโกวาท ธรรมหมวด ๘ ที่เรียกว่าลักษณะตัดสินธรรมวินัย ไปศึกษาดูรายละเอียดจากที่นั่น ถ้าเป็นอยู่อย่างนั้นจะเป็นปัจจัยแก่พระนิพพานอย่างยิ่ง ๘ ประการนั้น เอาแต่หัวข้อมันก็เช่นว่าอยู่อย่างไม่กำหนัดในสิ่งใด คือไม่มีราคะในสิ่งใด ราคะนี่มันมาจากอุปาทาน มาจากความโง่ มาจากไม่รู้จักสิ่งนั้นมันก็ไปกำหนัด ฉะนั้นอยู่อย่างไม่กำหนัดในสิ่งใด อย่าไปหลงรักในสิ่งใดก็แล้วกัน เรียกว่าวิราคะ วิ ราคยะ (นาทีที่ 58:25) และก็ไม่เป็นไปเพื่อทุกข์ ถ้าสิ่งใดมันทำให้เกิดความทุกข์ เป็นไปเพื่อทุกข์ เป็นทุกข์เปล่า ๆ ที่ทำกันอยู่โดยมากเป็นทุกข์เปล่า ๆ อย่าไปทำมัน ส่วนใหญ่ก็เล็งถึงความโง่ ว่าไปทำให้ร่างกายลำบาก โดยไม่มีประโยชน์หรือโดยไม่มีเหตุผลอย่างพวกบำเพ็ญตบะอะไรต่าง ๆ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องถึงอย่างนั้น ไอ้เราที่อยู่ที่นี่ในบ้านในเมืองนี้ มันก็ไปหลง ทำสิ่งที่ไม่ควรทำและลำบากเปล่า ๆ มีอยู่มากเหมือนกัน ไปดูสังเกตดูให้ดี
ทีนี้ข้อที่สาม ไม่ให้กิเลสมันก่อรูปขึ้นมาได้ เป็นการกระจายกิเลสอยู่เรื่อย คือว่าอย่าให้โอกาสแก่การที่กิเลสมันจะก่อเป็นรูปเป็นร่างหนาขึ้นมา ๆ เป็นความเคยชิน ให้กิเลสนี้ถูกกระทำให้กระจัดกระจายตั้งตัวไม่ติดอยู่เรื่อยนั้นน่ะ เรียกว่าไม่สะสมกิเลส พอจะเข้าใจได้นะ เข้าใจ ว่าเพราะ (นาทีที่ 59:53) เพราะมันไม่ได้ตั้งใจพูดเรื่องนี้ ข้อที่สี่ อยากน้อย คือว่าอย่าเกิดอยากให้เกินจำเป็น อย่าไปอยากในสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องอยาก เดี๋ยวนี้มันอยู่ด้วยความอยากในสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องอยาก เพราะมันนิยมกันว่าใครมีอะไรมาก มีเกียรติมัง เก๋บ้างอะไรบ้าง ไอ้คนนั้นมันก็โง่ก็ครึ้มใจไปตาม มันก็อยากมีไม่มีขอบเขตจำกัด มันอยากมาก อยากน้อยนี่หมายความว่า อยากจะพอประมาณที่ควรจะอยาก ควรจะมีอะไร ควรจะได้อะไร จะกินอะไรเท่าที่มันควรจะอยาก เขาเรียกว่าอยากน้อย แปลว่าอยากที่เป็นส่วนเกินนั้นไม่มี
ทีนี้ข้อที่ห้าคือสันโดษ คือพอใจในสิ่งที่มี แม้จะมีน้อย อยากน้อยและก็มีน้อย น้อยเท่าไรก็ยินดีได้ในสิ่งที่มี ถ้ามันยินดีไม่ได้ก็เท่ากับไม่มี ทีนี้มันจะเป็นบ้าตาย ถึงคนที่มีอะไรมาก ๆ ก็เถิด ถ้ามันไม่ยินดีในสิ่งที่ตัวมี มันก็จะต้องเดือดร้อนหรือเป็นทุกข์ เป็นบ้าตาย เดี๋ยวนี้เราก็อยากแต่น้อย มีแต่น้อยคือเท่าที่จำเป็น ถ้ามีก็ยินดี ถ้ายินดีมันก็เหมือนกับว่าเป็นกำไรมีความสุข ได้รับประโยชน์ ต้องมีนิสัยยินดีได้ สนุกอยู่ได้ พอใจอยู่ได้กับสิ่งที่ตนมี ก็เลยเป็นคนรวยขึ้นมาทันที จะเหลียวไปทางไหนก็ยินดีได้ทั้งนั้นแหละ มีผ้าขี้ริ้วก็ยินดีได้ มันมีประโยชน์ ฉะนั้นยินดีได้ สามาถจะยินดีได้กับสิ่งที่มีอยู่ ฉะนั้นเรื่องลูกเรื่องเมียเรื่องผัว เรื่องอะไรมันก็ไม่มีปัญหาแล้ว
ทีนี้อันที่หก ชอบสงบ คือไม่ชอบคลุกคลี การเข้าไปผูกพันกันเป็นหมู่ สรวลเสเฮฮา หัวเราะอยู่เรื่อยนั้นอย่าเข้าใจว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องของเสียนิสัย ให้มีความตกต่ำทางจิต ไม่เท่าไรก็ชอบหัวเราะ ชอบสรวลเสเฮฮา ซึ่งเป็นการทำลายสมรรถภาพของจิต ทำลายคุณสมบัติไอ้ที่มีค่าของจิต ฉะนั้นชอบสงัดก็หมายความว่า ไม่ชอบคลุกคลี นั้นเข้าไปเกี่ยวข้องไปสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ตามที่สมควร อย่างนี้เขาไม่เรียกว่าคลุกคลี คลุกคลีคือไม่จำเป็นจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง มันก็ไปคลุกคลี หาความเพลิดเพลินด้วยการคลุกคลี ผมรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ในโลกนี้ ชอบความคลุกคลีกันมากเกินไป สติปัญญามันจึงน้อยหรือเลวหรือโง่ ไม่เห็นสิ่งที่ควรจะเห็น ก็เลยเกิดความนิยมเป็นทางแฟชั่นไปในทางที่จะให้คนมันโง่ต่อพระเจ้า โง่ต่อนิพพาน โง่ต่อความดับทุกข์ สงัดคือไม่คลุกคลีและก็พากเพียร ข้อที่เจ็ดพากเพียร ก็แปลว่าพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่พากเพียร คำนี้แปลยาก ผมเคยไปคิดดู มันแปลว่ากล้าหาญก็ได้ แปลว่าขยันก็ได้ แปลว่า Active ว่องไวเต็มที่ก็ได้ ก็เรียกว่าเพียร วิริยังค์ (นาทีที่ 01:04:13) เกียจคร้านก็แปลว่าล้มละลาย ขยันในหน้าที่เป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน
ข้อสุดท้ายเลี้ยงง่าย เป็นอยู่ง่าย ใช้ได้กับคำที่เราพูดกันว่าอยู่ต่ำ ๆ และก็ทำอย่างสูง มันเลี้ยงง่าย ทั้ง ๘ อย่างนี้เป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน เพราะมันเอียงไปทางพระนิพพาน ถ้าตรงกันข้ามก็เอียงไปทางวัฏฏะ ซึ่งเป็นของตรงกันข้าม ไปพิจารณาเอาเองก็ได้ว่าเรามีการเป็นอยู่อย่าง ๘ ประการนี้ มีการประพฤติ ประพฤติธรรมะ ๘ ประการนี้อยู่ มันจะไหลไปทางพระนิพพาน ไม่กำหนัดอะไรอยู่ที่นี่ ไม่ทำอะไรที่เป็นทุกข์เปล่า ๆ ไม่ให้กิเลสก่อตัวขึ้นมาได้ อยากแต่น้อยเท่าที่จำเป็นตามเพศวัยของตัว เช่นเพศคฤหัสถ์ เพศบรรพชิต มันคำว่าน้อยก็น้อยเลย สมควรแก่เพศ และก็ยินดีเป็นสุขอยู่ได้กับที่มันมี เพราะว่ามันมีพอดี มันมีไม่มากเกินจำเป็น และก็สงบสงัดอยู่ในความคิดนึกพิจารณาให้มาก และความพากเพียรตลอดเวลา อยู่อย่างง่าย ๆ เป็นอยู่อย่างง่าย ๆ ปัจจัยแก่พระนิพพาน แก่การที่บรรลุพระนิพพานในการปฏิบัติในระดับพื้นฐาน
ทีนี้ข้อที่สาม เป็นการปฏิบัติโดยตรง มีน้ำหนักหรือจุด จุดดิ่งลงไปยังพระนิพพาน นี่คือการปฏิบัติในลักษณะที่ไม่ให้โอกาสแก่กิเลสเกิดขึ้น มันมีธรรมะหลายอย่างหลายประการรวมกันอยู่ในนั้น แต่เราจะใช้คำว่าเป็นการต่อสู้หรือป้องกัน ไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นในประจำวัน ในชีวิตประจำวัน ข้อนี้มีความลับซับซ้อนอยู่ซึ่งก็เคยอธิบายแล้ว และก็อยากจะอธิบาย อยากจะย้ำโดยหลักอยู่บ่อย ๆ ถ้าเราไม่ตั้งใจจริง ก็ไม่ระมัดระวังจริง ไม่มีสติสัมปชัญญะจริง ไม่มีหิริโอตัปปะจริง เดี๋ยวกิเลสมันก็เกิดเท่านั้นแหละ มันจะเอาอะไรมาเป็นเครื่องข่มขู่ ให้มันเกิดความกลัวต่อกิเลส ความทุกข์ให้ละอายต่อการเกิดกิเลสและความทุกข์ มีความขยันขันแข็ง ระมัดระวังสังวร มีสติสัมปชัญญะไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นได้ เดี๋ยวนี้เราปล่อยกันตามสบาย เราไม่ตั้งใจจะทำอย่างนั้น วันหนึ่ง ๆ เราก็ชอบเล่น ชอบหัว ชอบสนุกสนานตามใจกิเลสเสียอีก ไอ้เรื่องที่จะต้องทราบนั้นมันมีอยู่ว่าถ้าเกิดกิเลสครั้งหนึ่ง มันก็มีการเพิ่มความชินที่จะเกิดกิเลสครั้งหนึ่ง เหมือนกับเราทำอะไรซ้ำ ๆ ซ้ำ ๆ มันก็มีความชินที่จะทำอย่างนั้นได้ ในทางที่มันจะเป็นประโยชน์ก็มี ถ้ามันเป็นไปในทางดี ชินไปทางดี หรือถ้าเป็นกลาง ๆ เช่นว่าเราจะหัดขับรถ ถ้าเราขับบ่อย ๆ เข้า ไอ้ความเคยชินชำนาญในการขับรถมันก็มี ไอ้การที่ขับรถมันอาการอันหนึ่ง ความสามารถ ความเคยชิน ความถนัดมันอีกอันหนึ่ง นี้ถ้ากิเลสเกิดขึ้น มันก็เป็นการเกิดแห่งกิเลส เกิดกิเลสทีหนึ่งมันทำให้เกิดความเคยชินที่จะเกิดเช่นนั้นอีก ความเคยชินส่วนนี้มันร้ายกาจ นี่ก็เรียกว่าอนุสัย คือสะสมความเคยชินไว้ ทีนี้ปล่อยให้กิเลสเกิดขึ้นทุกครั้งก็เพิ่มอนุสัยทุกครั้ง มันก็มีอนุสัยที่หนาแน่นและเข้มข้นขึ้นมา ทีนี้กิเลสที่เก็บไว้ ไอ้ความเคยชินของการเกิดกิเลสที่เก็บไว้อย่างอนุสัยนี่ มันพร้อมที่จะทะลักออกมา อย่างนี้ก็เรียกว่าอาสาวะ เช่นเราเอาน้ำใส่ไว้ในตุ่มทีละนิด ๆ ทีละนิด ไอ้การใส่น้ำ มันก็เป็นการใส่น้ำ และการเก็บน้ำไว้ในตุ่มมันคืออนุสัย และความที่น้ำมันพร้อมจะออกมาตามรูรั่ว ตรงไหนก็ตามใจมันเรียกว่าอาสาวะ ถ้าเรามีอนุสัยก็ต้องมีอาสาวะ ถ้ามีอาสาวะก็หมายความว่ามันมีอนุสัยที่จะให้ออกมาเป็นอาสาวะ เพราะฉะนั้นอย่าเข้าใจว่าเกิดกิเลสทีหนึ่งแล้วเลิกกันไปนะ เกิดกิเลสทีหนึ่งไม่ใช่แล้วกันไป เพิ่มอนุสัยให้มากขึ้น และเพิ่มอาสาวะให้แรงขึ้น เพราะฉะนั้นเราจึงโกรธง่าย รักง่าย เกลียดง่าย กลัวง่ายเพราะว่าอาสาวะมันเบ่งเต็มที่ พร้อมที่จะออกมา น้ำในตุ่มถ้าเราใส่ไว้มันมากเต็มปาก มันออกมาทางก๊อกแรงมาก ถ้าเราใส่ไว้น้อยมันก็ออกน้อย หรือถ้าไม่มีมันก็ไม่ออก เดี๋ยวนี้เราเติมน้ำลงไปเรื่อย เติมลงไปเรื่อย ๆ มันก็เต็มปรี่ ความที่มีมากก็มีมาก ความที่เบ่งจะออกมาอย่างรุนแรงมันก็มี อย่างนี้เรียกว่ามันมีกิเลสด้วย และก็มีอนุสัยด้วย มีอาสาวะด้วย เป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่งเรียกว่าความประมาท เป็นการอยู่อย่างประมาท มีกิเลสและก็สร้างอนุสัย แล้วก็มีอาสาวะสะสมหมักหมมที่จะทะลักออกมาในจิตในสันดาน มันเป็นอย่างนั้น ถ้าว่าเราระวังไม่ให้โกรธ ไม่ให้เกิดกิเลสได้ กิเลสรักก็ดี กิเลสโกรธก็ดี กิเลสโง่ก็ดี ถ้าระวังไว้เรื่อย ไม่ให้มันเกิดขึ้นมาได้ แล้วมันจะเอาอนุสัยมาจากไหน ถ้าสมมติว่าคุณทั้งหลายชินที่จะรัก จะโกรธ จะเกลียด เป็นอนุสัยมาแต่บ้าน ทีนี้มาบวชอยู่ที่วัด และพยายามอย่างยิ่งตลอด ๓ เดือน ไม่ให้มันกิเลสตัวไหนเกิดได้ อนุสัยที่เอามาแต่บ้าน มันจะร่อยหรอ จะร่อยหรอเพราะขาดปัจจัย จะน้อยลงไป อาสาวะมันก็จะน้อยลงไป นี้ถ้ามาอยู่ที่วัดแล้วมันยังมาโกรธ มาเกลียดอีก มันก็เพิ่มต่อไปอีก ถ้ามีอนุสัยและอาสาวะมาก ฉะนั้นอยู่ที่ไหนก็ตามในลักษณะที่จะไม่เกิดกิเลสและมันก็จะเป็นการไถ่ถอน ใช้คำว่าไถ่ถอน อนุสัยที่สะสมไว้เดิมให้มันน้อยลง หรือมันจะทำลายอาสาวะให้น้อยลง เมื่ออนุสัยน้อยลง อาสาวะก็น้อยลง เช่นว่ามีน้ำน้อยลง แรงเบ่งที่มันจะออกมามันก็น้อยลง ถ้าเราไม่เกิดกิเลส อนุสัยมันก็เกิดไม่ได้ และมันกลับจะน้อยลงเหมือนกับน้ำในโอ่งทิ้งไว้เฉย ๆ มันก็แห้งไปได้ ฉะนั้นเป็นอยู่อย่างที่ไม่เกิดกิเลสนั้นแหละ เป็นปัจจัยแก่พระนิพพานอย่างยิ่งในทางสูงสุด เพราะว่านิพพานคือที่สิ้นสุดของกิเลสนั่นเอง ไปศึกษาเรื่องราคะ โทสะ โมหะให้ดี เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โลภะ โทสะ โมหะไปศึกษาให้ดี จนรู้ว่ามันคืออะไร คืออย่างไร ป้องกันอย่างไร แล้วก็เป็นอยู่อย่างที่มันเกิดไม่ได้ก็ดีที่สุด ไม่เท่าไรมันจะไปสู่ความหมดกิเลส หรือมันเกิดแต่น้อยที่สุด ก็ยังดี ดีมาก มันเกิดแต่น้อยที่สุดคือเบาบาง เบาบาง เบางบาง นั้นจึงควรจะสนใจที่จะมีชีวิตเป็นอยู่ในลักษณะอย่างนี้ ทั้งหมดนี้มีได้ในชีวิตประจำวันที่นี่ เดี๋ยวนี้ เราอยู่กันวันหนึ่ง ๆ มันมีเกิดกิเลสได้หรือไม่เกิดกิเลสก็ได้ ถ้าจะทำปัจจัยแก่พระนิพพานก็ได้ หรือทำปัจจัยแก่กิเลสแก่วัฏสงสารก็ได้ เดี๋ยวนี้เราก็พูดเรื่องปัจจัยแห่งพระนิพพานแล้ว ทีนี้ก็อยากจะพูดถึงปัจจัยแห่งวัฏฏะที่ตรงกันข้าม เพราะว่าหัวข้อของเราในวันนี้มีอยู่ว่าความมีปัจจัยแห่งนิพพานและวัฏฏะ ทีนี้ปัจจัยแห่งนิพพานพูดไปแล้ว ทีนี้จะพูดปัจจัยแห่งวัฏฏะบ้าง
วัฏฏะนี่เอาความหมายง่าย ๆ คือตรงกันข้ามจากพระนิพพาน คือมันร้อน คือมันไหลเวียน มันเสียดแทง มันร้อนลน มันผูกมัด มันติดเต็มไปด้วยปัญหา อย่างนี้เรียกว่าวัฏฏะ ปัจจัยแห่งวัฏฏะก็คือตรงกันข้ามปัจจัยแห่งนิพพาน การไม่ทำให้เป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน ก็ย่อมเป็นปัจจัยแก่วัฏฏะอยู่ในตัวโดยอัตโนมัติ สำหรับปัจจัยแห่งวัฏฏะนี้ที่อยากจะพูดเพราะว่ามันมีความสำคัญ อยากจะให้ทราบไว้ก็คือการปราศจากสัมมาทิฏฐิ คือไม่รู้ แล้วก็อยู่อย่างผิด ๆ คือตรงกันข้ามกันเลย ตรงกันข้ามกับปัจจัยแห่งนิพพาน ทีนี้จะชี้ในส่วนที่ว่าน่าอันตรายคือไม่มีความรู้ก็มีอวิชชา มีมิฉาทิฏฐิ มันก็ไปทำปัจจัยแห่งวัฏฏะ แล้วก็ด้วยอาการอย่างเดียวกันกับปัจจัยแห่งนิพพาน เช่นให้ทาน ถ้าถูกต้องมันก็เป็นการทำลายกิเลส ถ้าไม่ถูกต้องมันก็เพิ่มกิเลส หรือเพิ่มวัฏฏะ เช่นว่าให้ทานก็เพื่อจะไปเกิดในสวรรค์ ในโลกเทวดา อย่างนี้ไม่ได้ไปเพื่อนิพพาน รักษาศีลก็เหมือนกัน ถ้าไปเกิดในสวรรค์ด้วยการรักษาศีล รักษาศีลนี้ก็ไปเพื่อวัฏฏะ ทำสมาธิเพื่อมีฤทธิ์มีเดชหรือเป็นพรหมก็ตาม มันก็เป็นไปในวัฏฏะ เป็นรูปพรหม เป็นอรูปพรหม เพราะว่าการทำอย่างนั้นมันทำให้ไปเกิดในกามโลก ในรูปโลก ในอรูปโลกล้วนแต่เป็นวัฏฏะทั้งนั้น ถ้าเราให้ทานเพื่อทำลายกิเลส ความเห็นแก่ตัว อันนี้จะไปเพื่อนิพพาน ให้ทานที่ไม่เป็นไปเพื่อนิพพานนั้นมีมาก เช่นให้ทานเพื่อเอาหน้า หรือให้ทานเป็นการลงทุนค้า หรือให้ทานเพื่อมีเกียรติ มีอำนาจวาสนากระทั่งว่าให้ไปเกิดในสวรรค์ ให้ทานอย่างนี้ยังไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน ไม่เป็นปัจจัยแก่นิพพาน รักษาศีลก็เหมือนกัน ถ้ามันมีเจตนาที่จะดี จะเด่น จะไปเป็นเทวดาในสวรรค์ มันก็ไม่เป็นปัจจัยแก่นิพพาน สมาธิก็เหมือนกัน ทีนี้ถ้าเป็นเรื่องของญาณ ของปัญญา มันก็กลายเป็นปัญญาปลอม ซึ่งอยากจะเรียกว่าเฉโกมากกว่า ความรู้ความเฉลียวฉลาดที่เป็นเฉโก นี่ก็จะพาไปสู่วัฏฏะ เฉโก หรือ Cunning Cunning แม้แต่คำว่า Intellect ก็ไม่ใช่ว่าไว้ใจได้ มีทางที่จะเฉโกได้ ถ้าถึงขนาด Cunning แล้วก็เรียกว่าไม่ไหวแล้ว มันต้องเป็น Inside หรือ Intuitive Wisdom อะไรทำนองนั้นมันจึงจะไปสู่นิพพาน นี่คำว่าปัญญามันก็หลายระดับหลายมาตราฐาน ฉะนั้นให้รู้ว่าคำว่าทานก็ดี ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาอย่างเฉโกก็ดี มันไม่ได้เป็นไปเพื่อนิพพาน ต่อเมื่อมันเป็นทาน ศีล สมาธิ หรือปัญญาบริสุทธิ์ มันจะเป็นไปเพื่อนิพพาน เมื่อมันไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน ก็เป็นไปเพื่อวัฏฏะไปเกิดในสวรรค์กามาวจร ไปเกิดในสวรรค์รูปาวจร อรูปาวจร ล้วนแต่เป็นวัฏฏะทั้งนั้น นี่มันจะไม่ได้เป็นไปในรูปเดียวกันกับปัจจัยแห่งพระนิพพาน แม้แต่สุดแต่การปฏิบัติ ๘ ประการนั้นมันก็ไม่ได้มี มันมีตรงกันข้ามไปหมด เช่นว่ามันอยู่ด้วยความหลงรักในนั่น ในนี่ มันสะสมความทุกข์ สะสมกิเลส อยากใหญ่ ไม่สันโดษ คลุกคลี ขี้เกียจ เลี้ยงยาก ตรงกันข้ามหมด อย่างนี้ไปในวัฏฏะหมด เพราะมันเป็นลักษณะแห่งความเอร็ดอร่อยอยู่ด้วยกิเลสก็เป็นไปเพื่อวัฏฏะ
ทีนี้คำว่าวัฏฏะ สำหรับคำว่าวัฏฏะ พิจารณาดูกันบ้าง วัฏฏะนี้แปลว่าวง วงมันก็ต้องกลมแหละ ไม่ต้องพูดว่าวงกลม ถ้ามันเป็นวงก็ต้องวงกลม จะรีก็ได้แต่มันก็บรรจบ ถึงจะเรียกว่าวง เมื่อวงมันก็ไม่มีที่สิ้นสุด มันก็เวียนเป็นวงอยู่นั่น ไม่มีที่สิ้นสุด อย่างน้ำวนนี้ก็มีลักษณะแห่งวัฏฏะ แต่เดี๋ยวนี้ในเรื่องทางจิตใจก็วนในจิตใจ ที่เป็นอยู่ในประจำวันของเราคือว่าอยากแล้วทำ แล้วได้ผล แล้วก็อยากแล้วก็ทำ แล้วก็ได้ผล อยากนี่มันอยากด้วยความโง่ จึงจะเรียกว่าอยาก ไม่ใช่ความต้องการหรือความปรารถนาที่ถูกต้อง เรียกว่าอยากด้วยกิเลสแล้วก็ทำ ทำตามความอยาก ก็ได้ผลตามความอยาก อร่อยหรือไม่อร่อยก็ตาม มันก็อยากอย่างอื่นอีก ก็ทำอีกได้ผลอีก เป็นวัฏฏะอย่างเลว ถ้าเป็นวัฏฏะอย่างดี ก็คืออยากดีหน่อย ทำดีหน่อย ได้ผลดีหน่อยเอร็ดอร่อยกว่า ปราณีตกว่า สุขุมกว่า แล้วมันก็อยากที่ปราณีตกว่าต่อไปอีก ฉะนั้นวัฏฏะมีทั้งอย่างดี และอย่างเลว เป็นวงกลมที่เป็นอย่างเลว เป็นกามาวจร เป็นอบายทั้ง ๔ เป็นมนุษย์เหงื่อไหลไคลย้อย ถ้าเป็นวัฏฏะอย่างดีอย่างสวยหรูหรา ก็เป็นเทวดา เป็นคนร่ำรวยในโลกนี้ และเป็นเทวดาในสวรรค์ เป็นพรหมในพรหมโลก เรียกว่าวัฏฏะสวย ๆ ดี ๆ ถ้าจะพูดกันแต่ในที่นี้ ไม่พูดถึงเรื่องโลกอื่นที่มองไม่เห็น ก็พูดได้ ก็คิดเลวทำเลว ได้ผลเลว ก็จมอยู่ในเรื่องเลว ๆ ร้องห่มร้องไห้เป็นทุกข์เป็นร้อนอยู่ที่นั่น ที่คิดมันถูก ที่เรียกกันว่าดี ทำดีได้ผลดี ได้กิน ได้กาม ได้เกียรติ อะไรก็หลงกันอยู่ในที่เรียกว่าดีในโลกนี้ นี่ก็คือวัฏฏะเหมือนกัน วัฏฏะที่แท้จริง คือจริงยิ่งกว่าวัฏฏะที่เราไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน เมื่อตายแล้ว ไม่ต้องไปพูดก็ได้ เพราะว่าถ้าข้ามวัฏฏะนี้ได้ที่นี้ วัฏฏะไหน ๆ ก็ข้ามได้หมด ไม่หลงสวรรค์ที่นี่ ก็ไม่หลงสวรรค์ที่ไหนหมด ฉะนั้นวัฏฏะคือวงกลมแห่งความอยากและการกระทำ และการได้ผล และก็อยากอีก และก็ทำอีก ได้ผลอีก ทีนี้รูปร่างของมันจะแบ่งเป็นกาม คืออร่อยทางเพศก็ได้ เป็นรูป รูปบริสุทธิ์ไม่เกี่ยวกับกามก็ได้ ถ้าละเอียดไปกว่านั้นอีกคืออรูป ไม่มีรูป ไม่ต้องมีรูปเป็นนามธรรมล้วนก็ได้ เขาเรียกว่า กามภพ รูปภพ อรูปภพ ล้วนแต่เป็นวัฏฏะทั้งนั้น
ทีนี้ทำไมไม่ค่อยจะข้ามวัฏฏะไปได้ ข้ามวัฏสงสารไม่ได้ เพราะมันมีอัสสาทะ ก็บอกกันหลายครั้งหลายหนแล้วว่าให้จำคำนี้ให้ดี ๆ อัสสาทะ อาทีนวะ สมุทัย อัตถังคมะ อัสสาทะคือเสน่ห์ ที่ยั่วยวนใจ วัฏฏะมีเสน่ห์มาก รุนแรงเหลือประมาณ สูงขึ้นไปตามลำดับชั้น อย่างเลว ๆ อย่างคนยากจน แล้วก็มีไอ้ที่สูงกว่าสำรองไว้ก็ทะเยอทะยาน แล้วถึงระดับนั้นก็ยังมีสูงกว่ารออยู่ แล้วก็ทะเยอทะยานต่อไปไม่ค่อยจะสิ้นสุด กว่าจะหลุดพ้น อันสูงสุดสุดท้ายจึงจะออกไปจากวัฏฏะได้ ทีนี้จะออกจากวัฏฏะต่ำ ๆ ไปสู่วัฏฏะชั้นสูง ๆ มันก็ต้องผ่านไปเท่านั้นแหละ คือได้ชิมรสของวัฏฏะที่สูงกว่า จึงจะเบื่อวัฏฏะที่ต่ำ หรือเลวกว่าแล้วค่อยเขยิบไป ขยับ เขยิบไปอีกระยะหนึ่ง เขยิบไปได้เฮือกหนึ่ง แล้วก็หลงอยู่ที่นั่นนานจนกว่าจะพบปะอะไรที่มันสูงกว่า ก็เลยเขยิบไปได้จนกว่าจะถึงสุด ระดับสุด เห็นแล้วไม่ไหวทั้งนั้น กามโลกก็ไม่ไหว รูปโลกก็ไม่ไหว อรูปโลกก็ไม่ไหว กินชนิดไหนก็ไม่ไหว กามชนิดไหนก็ไม่ไหว เกียรติชนิดไหนก็ไม่ไหว มันจึงจะออกไปจากวงกลมของอันนี้ แล้วลำพังความรู้ หรือศึกษาให้รู้ บอกกันให้รู้นี่ไม่พอที่จะเลื่อน เลื่อนชั้นในวัฏฏะ เช่นจะเลื่อนจากกามออกไปสู่ความมิใช่กาม พระพุทธเจ้าเคยตรัสความข้อนี้แก่ภิกษุว่าเราก็รู้ว่าไอ้กามนี้มีรสอร่อยน้อย มีทุกข์มาก มีไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงธรรมดา แต่เราก็ละจากกามนี้ไม่ได้ เพราะว่าไม่ได้เข้าถึงปีติสุขอันเกิดจากความไม่มีกาม เพราะฉะนั้นในโอกาสใดโอกาสหนึ่งที่ทำให้ไปพบเข้ากับปีติหรือความสุข อันไม่เกี่ยวกับกาม มันจะทำให้ละกามได้ทันที เพียงแต่เห็นอยู่ว่าไอ้กามแบบนั้นมีรสอร่อยน้อยไม่คุ้มกับความทุกข์ที่มีมากมาย มันจะมองเห็นว่าสกปรกน่าเกลียดอะไรก็ตาม มันยังละไม่ได้ จนกว่าจะไปได้เสพรสของความตรงกันข้ามจากกาม ทีนี้ก็จะกระโดดละไปจากกามไปอยู่ในระดับนู้น ผมก็กำลังนึกและสนใจอยู่เหมือนกันที่ว่ามีคนเขียนหนังสือฝรั่ง Reader’s Digest อะไรพวกนี้ ว่าจะละอำนาจของเฮโรอีนได้ ด้วยรสของสมาธิ เขาเขียนมาสรุปความว่าอย่างนั้น ตอนนี้คนทำสมาธิ รู้รสของสมาธิเอร็ดอร่อยตามแบบของสมาธิและมันจะเกลียดรสของเฮโรอีน โดยเหตุผลก็เป็นไปได้ แต่มันมีว่าจะทำอย่างไร ให้เขาไปเสพรสของฌานหรือสมาธิได้ นี่เพียงแต่มาบอกให้รู้ว่าลำพังความรู้ หรือความคิด การคำนวนการสังเกตนี้ไม่พอ ต้องเขยิบไปทำให้มันได้ชิมรสของสิ่งนู้น ฝ่ายนู้นที่ดีกว่า แล้วมันจะละไอ้สิ่งนี้เอง เหมือนการที่ละวัฏฏะขึ้นไปได้ตามลำดับ ต้องทำอย่างนั้น ต้องทำในลักษณะอย่างนั้น บริโภคไอ้รสของวัฏฏะชนิดที่ดีกว่า ปราณีตกว่า สูงกว่าหรือจะเรียกกันเสียอีกทีว่ามีเหยื่อกับไม่มีเหยื่อ ถ้าเราได้เสพรสของความสุขชนิดที่ไม่มีเหยื่อ เราก็จะเกลียดความสุขที่มีเหยื่อ นี่ก็ว่าสามิสสุข สุขที่มีเหยื่อ เช่น กามเป็นต้น นิรามิสสุข สุขที่ไม่เหยื่อ เช่นความสงบสงัด ในขณะแห่งวิเวก หรือฌาน หรือสมาบัติ สุขนั้นไม่มีเหยื่อ ถ้าเกิดได้ชิมไอ้สุขที่ไม่มีเหยื่อ จะเกลียดสุขที่มีเหยื่อขึ้นมาทันที ไม่ต้องมีการคำนวนหรือว่าใช้ปรัชญาอะไรกันอีกแล้ว มันกลายเป็นวิทยาศาสตร์ไป ต้องได้ชิมรสที่เหนือกว่าจึงจะละไอ้รสที่เลวกว่า โดยสรุปแล้วต้องได้ชิมรสที่ของความสุขที่ไม่มีเหยื่อจึงจะพอใจ และละความสุขที่มีเหยื่อ เดี๋ยวนี้โลกของเรามันจมอยู่ในความสุขที่มีเหยื่อกันทั้งโลกเลย โดยเฉพาะในสมัยนี้สมัยที่เทคโนโลยีมันรุ่งเรือง มันยิ่งฝังจมลงไปในความสุขที่มีเหยื่อมากขึ้น ๆ แล้วเหยื่อนั้นมันก็ปราณีต ละเอียดมากขึ้น มันก็ลึก หรือมันก็ผูกมัดลึกฝังลึก ยิ่งโลกก็ไม่มีวันชะเง้อหาปัจจัยแห่งพระนิพพาน เพราะฝังจมลึกลงไปในวัฏฏะ วัฏฏะ วัฏฏะเรื่อย จึงไม่มีใครพูดถึงพระนิพพานหรือพูดถึงสิ่งที่มันดีกว่าสิ่งที่เรากำลังมีอยู่ในบัดนี้ ถ้าเขาจะพูดว่าสิ่งที่ดีกว่าที่เรากำลังมี มันก็ไปในทางเดียวกันคือในทางวัตถุ ทางเนื้อ ทางหนังให้รุนแรงขึ้นเท่านั้น ไม่ทราบว่ามันจะเบื่อ หรือมันจะถึงขีดที่จะเลยไปถึงที่ไม่มีเหยื่อได้อย่างไร โลกเรานี้เต็มไปด้วยวิกฤตการณ์ทุกแบบ หลาย ๆ แบบ เพราะมันอยู่ในวัฏฏะที่เต็มไปด้วยเหยื่อ ไม่มีใครรู้จักสิ่งที่ตรงกันข้าม
ทีนี้เราก็รู้จากทั้งพระนิพพานและทั้งวัฏฏะ มีปัจจัยให้ถึงด้วยกันทั้งนั้น ปัจจัยอย่างนี้ไปเพื่อนิพพาน ปัจจัยอย่างนี้เป็นไปเพื่อวัฏฏะ บางทีทำเหมือน ๆ กันด้วย เช่น ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา ทำเหมือน ๆ กัน แต่เจตนาต่างกัน ผลก็ต่างกัน ให้ทาน รักษาศีลเพื่อวัฏฏะก็มี เพื่อนิพพานก็มี เราก็เลยคำนึงถึง มันก็เป็นความฝันหรือความหวังที่ว่าเมื่อไรเราจะมี ความไม่จมอยู่ในวัฏฏะ ความก้าวหน้าไปในทางของพระนิพพาน ถ้าคนอื่นเขาไม่เอาก็ควรจะตามใจเขา ไอ้เราเอาก็แล้วกัน เราศึกษาเข้าใจเรื่องนี้ รู้เรื่องที่คนอื่นเขาไม่รู้หรือไม่สนใจ ถ้าเราเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสูงสุดของมนุษย์ เราก็ควรจะสนใจและพยายามในเรื่องนี้ คือพยายามให้เป็นปัจจัยแก่พระนิพพานอยู่เรื่อยไป ถ้ามีครอบครัวก็มันเป็นครอบครัวที่ล้วนแต่สะสมปัจจัยแห่งพระนิพพาน ไม่เป็นครอบครัวที่จมอยู่ในวัฏฏะ รู้ ไหมธรรมชาติเขาสร้างมาอย่างนั้น (นาทีที่ 01:30:55) ไม่ได้สร้างมาเพื่อให้จมปลักดักดานอยู่ที่ระดับไหน ถ้ารู้ว่ามันมีการไปหรือต้องไปก็ไปให้ถูกทางและปลายทางของมันก็คือพระนิพพาน เหมือนการสนใจเรื่องปัจจัยแห่งพระนิพพาน ผมว่าถูกแล้ว สนใจเรื่องของวัฏฏะบ้างก็เพื่อจะหลบหลีกเสียไม่ไปหลงกับมัน
นี่การบวชชั่วระยะหนึ่ง จะเป็นการส่งเสริมสะสมปัจจัยเพื่อพระนิพพานหรือไม่ หรือเพื่ออย่างน้อยเป็นการศึกษาให้เข้าใจปัจจัยแห่งพระนิพพาน ทำได้หรือไม่ ก็รู้กันอยู่แก่ใจกันทุกคน ขอให้ทุกคนไปปรับปรุงของตัวเองตามที่ควรจะเป็น การบรรยายในวันนี้ก็ยุติไว้แต่เพียงนี้ มันเลยไปบ้างก็พูดให้มันจบ
[T1]ฟังไม่ชัด
[T2]ฟังไม่ชัด
[T3]ไม่แน่ใจว่าต้องมีการันต์ที่ ขอไข่หรือไม่ เพราะท่านออกเสียงว่า สิ-วะ-โมก-คะ-สะ-ถาน
[T4]ตรงนี้ ท่านออกเสียงว่า สิ-วะ-โมก- สะ-ถาน เลยเดาว่าคงไม่น่าจะมีการันต์ที่ ขอไข่
[T5]ไม่รู้ตัวสะกด
[T6]ฟังไม่ทัน
[T7]ไม่รู้ตัวสะกด
[T8]ฟังไม่ทัน
[T9]ไม่รู้ตัวสะกด
[T10]ฟังไม่ชัด