แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
(เสียงท่านพุทธทาส) ท่านที่เป็นราชภัฏผู้ลาบวชทั้งหลายในรายการบรรยายครั้งที่ ๑๒ นี้ ผมจะได้กล่าวโดยหัวข้อว่าการเคารพตัวเอง เมื่อพูดถึงการเคารพตัวเอง บางคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นธรรมะชั้นเด็กอมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยนี้ ในยุคอวกาศยุคอะไรนี่ การบังคับตัวเองหรือว่าเคารพตัวเองนี่ เห็นว่าเป็นธรรมะเด็ก ๆ ธรรมะเด็กอมมือ หรือเป็นธรรมะโบราณเต็มที ก็เขาเคารพเงิน เขาบูชาเงิน เขาไม่ได้เคารพตัวเอง การเคารพตัวเองมีใจความสำคัญเนื่องไปถึงการบังคับตัวเอง ถ้าไม่บังคับตัวเองไม่ได้แล้วจะเอาอะไรมาสำหรับเคารพขอให้คิดดู ถ้าเราไม่บังคับตัวเอง มันก็ไม่เกิดอะไรขึ้นมาสำหรับที่จะเคารพตัวเอง ฉะนั้นใจความมันก็เนื่องถึงกัน เคารพตัวเองกับบังคับตัวเอง ทีนี้หาว่าชั้นเด็กอมมือ มันก็จริง มันเป็นธรรมะเบื้องต้น พื้นฐาน ของสิ่งที่มีชีวิต ที่ต้องรู้จักบังคับตัวเอง อย่าให้ไปในทางที่มันจะต้องตาย โบราณเต็มที เขาเรียกกันเดี๋ยวนี้ อย่างล้อ ๆ ว่าไดโนเสาร์เต่าล้านปี นี้ก็จริง ธรรมะนี้คงยืนตั้งแต่สมัยโน้น ก่อนพุทธกาลหรือก่อนอะไรหมด นี่ตรงกับคำว่าบำเพ็ญตบะ ทำให้เกิดการบังคับตัวเองและเคารพตัวเองได้ นั้นไอ้สิ่งที่เรียกว่าบำเพ็ญตบะนั้นมันเก่าจนไม่รู้ว่ามันมีมาตั้งแต่เมื่อไร ทีนี้เรายกเอาไอ้การบังคับ เอ้อ, การเคารพตัวเองขึ้นมาพูด เพราะมันมีลักษณะที่น่าดู เห็นจะเพื่อประกันความเข้าใจผิด คือบางคนอาจจะฟังไปถึงว่าเคารพตัวเอง แล้วก็ไม่ยอมใคร แล้วก็ยกหูชูหาง ถ้าอย่างนี้มันผิด มันไม่ใช่เคารพตัวเอง ถ้ามีการยกหูชูหางแล้ว ไม่ใช่การเคารพตัวเอง มันเป็นการเคารพต่อเมื่อ ไอ้เคารพตัวเองเป็นการเคารพต่อเมื่อมันถูกต้อง มันมีอะไรที่น่าเคารพ ส่วนท่านที่ถือมานะทิฏฐิ ไม่ยอมใคร ยกหูชูหางนั้น ไม่ ไม่ ไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าเคารพตัวเองในที่นี้ แม้ว่าตัวหนังสือมันอาจจะกำกวม ทำให้เข้าใจไปอย่างนั้นก็ได้ ขอให้เข้าใจดี ๆ คนสมัยปัจจุบันนี้ จะยิ่งไม่ค่อยได้ยินคำว่าเคารพตัวเองมากเข้า ๆ ทุกที เพราะไปสนใจแต่เรื่องอื่น เห็นได้แล้วก็เป็นดี เห็นประโยชน์แล้วก็เป็นดี แล้วก็จึงถือว่ามันไม่ใช่ ไม่ใช่เรื่องของเรา และคำนี้มันพูดกันมากเกินไป มันพูดกันมากในสมัยที่ล่วงมาแล้ว มันพูดกันมาตั้งแต่แรก ๆ ตั้งแต่เด็ก ๆ ดูคล้ายกับว่าเป็นธรรมะสำหรับเด็กอมมือ แต่ที่จริงไม่ใช่อย่างนั้น เป็นธรรมะที่จำเป็นตั้งแต่ต้นจนปลาย คนเดี๋ยวนี้เขาไม่เคยคิด จนกระทั่งมองเห็นว่าไอ้โลกนี้มันกำลังจะวินาศ เพราะมันขาดธรรมะข้อนี้ และคนในโลกมันไม่เคารพตนเองและก็คือปล่อยให้ตัวเองทำสิ่งที่ไม่สมควรแก่ความเป็นมนุษย์ ก็คือเอาเปรียบเบียดเบียนต่าง ๆ นั้น แล้วโลกมันก็วินาศ ไม่มีใครรับผิดชอบในความถูกต้อง ตัวเองก็ไม่รับผิดชอบในความถูกต้องสำหรับตัวเอง นี่คือไม่เคารพตัวเอง ต่างคนต่างก็ก้าวก่ายความเป็นธรรม ไม่ว่าประโยชน์หรืออะไรของกันและกัน อย่างที่โลกกำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่เคารพศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของตนเอง เอาแต่ได้แล้วก็เป็นดี แล้วก็หลอกลวงลึกซึ้งยิ่งขึ้นทุกที โลกก็กำลังจะวินาศเพราะมนุษย์มีจิตใจต่ำทราม เป็นโรคจิตทรามเพราะไม่เคารพตัวเอง
ทีนี้ความเคารพตัวเองนี้มันเป็นหนทางรอดของมนุษย์ แม้ในส่วนบุคคลแท้ ๆ ไม่เกี่ยวกับบุคคลอื่น เป็นคนที่สอง มันก็ การเคารพตัวเองจะเป็นการรอด ทางรอดของตัวเอง จะไม่ทำอะไรที่เป็นการทำอันตรายแก่ตัวเอง ทั้งทางกาย ทั้งทางจิต ทั้งทางวิญญาณ จะเนื่องกันหลายคน ในสังคมมนุษย์ก็ยิ่งต้องการให้ต่างคนต่างเคารพตัวเอง และรักษาความดีของตัวเอง ก็เลยไม่มีใครที่เลว ก็เป็นสังคมที่ดี มันก็รอดได้ เมื่อเราเห็นได้ว่าไอ้ความเคารพตัวเองมันทำให้มีความเป็นมนุษย์ มนุษย์ที่ถูกต้อง มนุษย์ที่แท้จริง มีจิตใจสูง เป็นพืชพันธุ์แห่งบุคคลที่มีจิตใจสูง นี่เรียกว่ามนุษย์ มันอยู่ได้ด้วยการเคารพตัวเองมันถึงจะสูงอยู่ได้ ถ้าไม่เคารพตัวเองก็เหยียบย่ำตัวเองลงไปและก็สูงไม่ได้ ในความเป็นมนุษย์ มันอยู่ที่เคารพตัวเอง และก็เราก็มีโลกแห่งมนุษย์ ถ้าเราไม่มีความเคารพตัวเอง เราก็มีโลกแห่งอมนุษย์ ลงไปถึงสัตว์เดียรัจฉานหรืออะไรด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นโลกนี้มันจึงไม่เป็นโลกของมนุษย์มากขึ้น ทั้งที่มนุษย์สมัยนี้เขาอวดว่ามีความเจริญ มีความก้าวหน้าสารพัดอย่าง แต่ในทางแห่งความเป็นมนุษย์นั้นน้อยลง น้อยลง ๆ มีกิน มีการกิน การอยู่ การ เช่น การหัว การใช้สอย มีเนื้อมีตัว ดูสวยงามอะไรมากขึ้น แต่ความเป็นมนุษย์มันน้อยลง ๆ มันไม่ใช่โลกแห่งความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่โลกแห่งมนุษย์ที่มีจิตใจสูง มันจึงเป็นโลกที่เดือดร้อนอยู่อย่างที่เห็นอยู่เดี๋ยวนี้ ถ้ามันเคารพตัวเอง มันก็ทำอะไรที่ล่วงละเมิดผู้อื่นไม่ได้ เพราะมันเสียความเคารพตัวเองไป ฉะนั้นเมื่อมีความเคารพตัวเอง ไอ้โลกนี้ก็ไม่มีวิกฤตการณ์ไหน ๆ วิกฤตการณ์ชนิดไหนก็ไม่มี เดี๋ยวนี้วิกฤตการณ์ทั้งหลายมากชนิด นับไม่ไหว กำลังมี เพราะมนุษย์ต่างเห็นแก่ตัวเอง เพราะฉะนั้นเราจะต้องระวังให้ดี คำนี้มันก็เลยปนกันยุ่ง เห็นแก่ตัวเอง เราถือเป็นความผิด ความเลว เห็นแก่ตัว แต่ถ้าจะเกิดดิ้นกันขึ้นในทางหนังสือ ทางตัวอักษร เห็นแก่ตัวมันก็รักตัวสงวนตัว ก็เคารพตัวกันได้เหมือนกัน การที่จะเคารพตัว มันก็ต้องมีการเห็นแก่ตัวชนิดที่ถูกต้อง ถ้าเห็นแก่ตัวชนิดที่ถูกต้องเราไปเรียกเสียอย่างอื่น ถ้าพูดเฉย ๆ ว่าเห็นแก่ตัว ก็หมายถึงคนเลว คนเห็นแก่ตัวคือคนเลว ฉะนั้นอย่าเอาไปปนกับว่า กับคำว่าเคารพตัว นั่นมันฝ่ายถูกต้อง เห็นแก่ตัวมันเป็นฝ่ายเลว เว้นแต่จำกัดความให้ชัดว่าเห็นแก่ตัวในทางที่ถูกต้อง ก็ยกตัวขึ้นมาให้ดี ก็มาสู่ความเคารพตัวเองอีกเหมือนกัน นี่ก็เป็นตัวอย่างแห่งหนังสือที่มันดิ้นได้ คำพูดมันดิ้นได้อย่างนี้ ถ้าไม่มีการเคารพตัวเองก็กลายเป็นเห็นคนแก่ตัว มันดิ้นได้ถึงขนาดนั้น และเห็นแก่ตัวในทางที่เลว เห็นแก่ตัวในทางที่ดี มันก็เกิดเคารพตัวเองขึ้นมา เดี๋ยวนี้เราหมายถึงความนับถือตัวเอง เคารพตัวเองที่ถูกต้อง ที่มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาก็รู้จักรักตัวสงวนตัวที่มีความสูงเอาไว้ ก็ไม่มีวิกฤตการณ์ ไม่มีแม้แต่โสเภณี พูดกันอย่างนี้เป็นตัวอย่าง เราจะยกตัวอย่างโสเภณีทั้งหลายคือผู้ไม่เคารพตัวเอง ถ้ามีการเคารพตัวเองขึ้นมา ในโลกนี้ก็ไม่มีโสเภณี ไม่อาจจะมีในโลกนี้ ทีนี้ก็ไม่อาจจะมีคอรัปชั่นหรืออะไรต่าง ๆ หรือการคดโกง หลอกลวง ขบถ มดเท็จ ก็มันก็ไม่มี นี่ก็ล้วนแต่พวกไม่เคารพตัวเองทั้งนั้น ฉะนั้นถ้าว่ารังเกียจคอรัปชั่นทั้งหลาย ก็ต้องรีบเคารพตัวเองก็แล้วกัน ทีนี้ในโลกมีปัญหาความเสื่อมทางศีลธรรมมากขึ้น ๆ โดยเฉพาะศีลธรรมทางเพศ ยิ่งเสื่อมเสียมากขึ้นๆ นั่นแหละคือเครื่องหมายลักษณะของความไม่เคารพตัวเอง ถ้าเคารพตัวเอง มันก็ตรงกันข้าม นับว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีอานิสงส์สูงสุด ควรแก่การสนใจ
นี่เราก็ได้พูดกันมาตามลำดับหัวข้อจนกระทั่งถึงว่าได้ชิมรสแห่งการอยู่อย่างไหว้ตัวเองได้ มาอยู่เป็นนักบวช ทำทุกอย่างที่จะต้องทำ จนกระทั่งยกมือไหว้ตัวเองได้ นี่เป็นลำดับของการบรรยายตามหัวข้อที่ได้กล่าวมาแล้ว ข้อที่แล้วมาเราพูดถึงความพอใจในศาสนา ในพระธรรม ในพระเจ้า นี้มันเนื่องกันกับข้อนี้ ถ้าพอใจในธรรม ในศาสนา ถือพระธรรม ถือพระศาสนา มันก็มีหิริโอตัปปะ เกลียดความชั่ว กลัวความชั่วขึ้นมาทันที พอมีหิริโอตัปปะ มันก็มีการเคารพตัวเองขึ้นมาทันที มันเลยเนื่องกันอย่างนี้ ควรจะพูดกันเสียเลยว่า ไอ้ธรรมะทั้งหลายที่เรียกว่า ๘๔,๐๐๐ อย่าง ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์นั้น มันเนื่องถึงกันหมด ไม่แง่นั้น ก็แง่นี้ ไม่มุมนั้น ก็มุมนี้ มันเนื่องถึงกันหมด นี่จำไว้ด้วย สำหรับไปศึกษาสังเกตเอาเองในเวลาข้างหน้า คือจะบอกไว้เป็นหลักว่า ถ้าเข้าใจธรรมะแล้ว จะมองเห็นไอ้ความที่มันสัมพันธ์เนื่องกันกับธรรมะทั้งหลาย แม้มันจะเป็นเหตุให้ทำอย่างตรงกันข้าม ก็ต้องยังเรียกว่าเนื่อง เนื่อง เนื่องกันอยู่นั่นแหละ ฉะนั้นความทุกข์นี้ต้องเนื่องด้วยการดับทุกข์ เพราะความทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ ต้องทำการดับทุกข์ มันเนื่องกันอยู่ไม่โดยตรงก็โดยอ้อมอย่างนี้ ถ้าพอใจในศาสนา ก็จะนำไปสู่ความเคารพตัวเอง โดยผ่านทางความ เกลียดความชั่ว รักความดี เพราะฉะนั้นจึงพูดอย่างติดต่อกันมาว่า พอใจในศาสนา แล้วก็มาสู่ความเคารพตัวเอง
ทีนี้ดูต่อไปอีกถึงคำว่าเคารพตัวเอง เป็นคำบ้าบอหรือเป็นคำที่ถูกต้อง หรือว่ามันเป็นคำที่ค้านกันกับไอ้คำอื่นที่พูดกันอยู่โดยมาก เราเป็นลูกเด็ก ๆ ก็ได้รับการสั่งสอนให้เคารพบิดามารดาครูบาอาจารย์ พระเจ้า พระสงฆ์ พระศาสนา หรือสิ่งสูงสุดคือพระเจ้า สอนให้เคารพสิ่งเหล่านั้น แล้วเดี๋ยวนี้ทำไมมาบอกให้เคารพตัวเอง มันค้านกันหรือเปล่า ถ้าไม่เข้าใจก็จะเห็นว่า อ้าว, นี่มันค้านกันแล้ว อย่างน้อยก็โดยคำพูด ถ้ารู้สึกมันค้านกันอย่างนี้คือไม่เข้าใจ ถ้าเข้าใจก็จะต้องเห็นชัดว่ามันไม่ค้านกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธเจ้า ท่านตรัสสอนให้เคารพธรรม จนถึงกับทรงยืนยันว่าพระองค์เองก็เคารพธรรม สอนให้เคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือจะใช้คำว่าเคารพพระเจ้าในคำพูดของศาสนาอื่น มีเคารพอะไรอีกหลายอย่าง แต่ไม่ได้พูดว่าเคารพตนเลย เดี๋ยวนี้มาพูดว่าเคารพตน มันก็ตรงกันข้ามกับเคารพฝ่ายโน้น มันค้านกันหรือเปล่า ควรจะมองเห็นว่ามันไม่ค้าน ด้วยเหตุอะไร ด้วยลักษณะอย่างไร มันจึงไม่ค้าน นี้ถ้าถามเด็ก ๆ ถึงแม้คนแรกเรียนนักธรรมก็อาจจะมองไปในทางที่เห็นว่ามันค้านกัน พอให้อธิบายว่าไม่ค้านกัน มันก็อธิบายไม่ถูก ต้องไปดูให้ดี มันเป็นการที่เนื่องกันอย่างที่กล่าวมาแล้ว ถ้าเคารพตน หมายความว่าเคารพความเป็นมนุษย์ ตามอุดมคติของมนุษย์ มนุษย์ควรจะเป็นอย่างไร มีอุดมคติของความเป็นมนุษย์อย่างไร ก็เคารพอุดมคตินั้น ทีนี้คนนั้นมันจะต้องสร้างความเป็นมนุษย์อย่างนั้นขึ้นมาให้ได้ ถ้ามันจะสร้างความเป็นมนุษย์อย่างนั้นขึ้นมาให้ได้ มันก็ต้องเคารพธรรมะนั่นเอง เคารพธรรมะและปฏิบัติตามหลักของธรรมะนั่นเอง มันจึงจะสร้างไอ้ความเป็นมนุษย์ขึ้นมาได้ และเขาเป็นมนุษย์สมความเป็นมนุษย์ ก็เรียกว่าเขาทำหน้าที่ของเขาสมบูรณ์ ก็เคารพในความเป็นมนุษย์ของเขา นี่ก็เรียกว่าเคารพตน นำไปสู่ความเคารพพระธรรม อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เป็นสิ่งสูงสุดที่ทุกคนควรจะเคารพ เคารพธรรมก็เพื่อสร้างตน เห็นอยู่ชัด ๆ ก็กลายเป็นเคารพตนในที่สุด เนื้อแท้หรือความจริงมันเป็นกัน มันมีอยู่อย่างนี้ มันไม่ค้านกัน แต่ถ้าเราเอาแต่คำพูด หรือเอาความหมายทาง Logic ทางบ้า ๆ บอ ๆ อย่างนั้น มันก็จะเห็นว่าค้านกัน เดี๋ยวให้เคารพฝ่ายโน้น เดี๋ยวให้เคารพฝ่ายนี้ ถ้าเห็นจริง มันจะเห็นว่ามันคือสิ่งที่เนื่องกันอยู่ และก็เป็นอันเดียวกันในที่สุด เคารพตนต้องสร้างความเป็นมนุษย์ด้วยความเคารพธรรม ก็เพื่อสร้างตน จึงบอกว่าไม่ได้ค้านกันเลย ฝ่ายนี้บอกว่าให้เคารพตน ฝ่ายโน้นบอกให้เคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เคารพพระเจ้า เคารพอะไรก็ตามใจ มันอยู่ข้างนอกทั้งนั้น นี้เราเคารพตนโดยไม่ขัดกันกับที่จะเคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หรือสิ่งทั้งหลายที่เป็นที่ตั้งแห่งความเคารพ ถ้าเด็ก ๆ ก็ฟังไม่ถูก เขาก็จองหอง เคารพตนและไม่เคารพบิดามารดา เขาคิดในทางที่จะตามใจตัวเขา ไม่เอาใจบิดามารดา ไม่เห็นแก่ความประสงค์ของบิดามารดา มันจะเป็นอย่างนั้น มันต้องพูดกันให้ดี ๆ ถ้าจะต้องไปพูดกับเด็ก ๆ
ทีนี้ก็ดูต่อไปถึงอาการอย่างไรที่เรียกว่าไม่เคารพตน ไอ้ภาวะซึ่งไม่ใช่รูปธรรม มันมองไม่เห็น เราจึงมองกันที่ภาวะที่เป็นรูปธรรม คือกิริยาอาการที่แสดงออกมา ฉะนั้นจึงดูอีกทีว่ากิริยาอาการอย่างไรที่แสดงออกมาเรียกว่า ไม่เคารพตัวเอง ข้อนี้พูดได้อย่างกำปั้นทุบดินไปที ก่อนว่า (นาทีที่ 21.22) ไม่ทำให้สมแก่อุดมคติของความเป็นมนุษย์ การไม่ทำให้สมแก่อุดมคติของมนุษย์หรือของความเป็นมนุษย์นั่นแหละ กิริยาอันนั้นเราเรียกว่าความไม่เคารพตนเอง ทีนี้มันมีอะไรบ้าง ต่าง ๆ กันออกไป และเราก็ดูได้ง่าย ทำอย่างไรเรียกว่าไม่เคารพอุดมคติของความเป็นมนุษย์ เอ้า, จะยกตัวอย่าง หนึ่ง ความเกียจคร้าน ความเกียจคร้าน เกียจคร้านนี่คือเกียจคร้านต่อหน้าที่ ต่อหน้าที่ก็คือเกียจคร้านต่อการรักษาความเป็นมนุษย์ ถ้าไม่ทำหน้าที่ของมนุษย์ มันก็ไม่เป็นมนุษย์ พอมันเกียจคร้านในการทำหน้าที่อย่างมนุษย์ มันก็ไม่เคารพความเป็นมนุษย์ นี่คืออาการที่ไม่เคารพตัวเอง จะเป็นการเกียจคร้านชนิดไหนก็ได้ คุณลองเกียจคร้านดู จะเป็นอาการที่ไม่เคารพตัวเองทั้งนั้น แต่มันเคารพกิเลส เช่นว่ามันอยากนอน มันเห็นแก่นอน มันไม่อยากทำงาน นี่มันก็เคารพกิเลส มันไม่ได้เคารพความเป็นมนุษย์ มันก็เลยนอนเสีย ขี้เกียจมากขึ้น ๆ ก็ปล่อยให้การงานเสียไป ยกตัวอย่างการเกียจคร้านคืออาการ คืออาการที่ไม่เคารพตัวเองหรือความเป็นมนุษย์
ทีนี้ต่อไปอีก ความไม่มุ่งในจุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์ จุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์ต้องฟังให้ดี ๆ ว่าเป็นมนุษย์ชนิดไหนที่เรียกว่ามนุษย์ที่สูงสุด ทีนี้คนก็เอาตามกิเลสของตัว ตัวชอบอย่างไรก็เรียกว่านั่นคือความสูงสุดของความเป็นมนุษย์ ซึ่งมันก็ผิด ก็ติดอยู่ที่นี่ แล้วก็ไม่เคยชะเง้อไปหาไปมองหาความสูงสุดของความเป็นมนุษย์ นี่พูดตรง ๆ กันแล้ว ไม่เกรงใจแล้ว ขอให้ทุก ๆ ท่านลองสังเกตดูตัวเองว่ามันชะเง้อไปหาจุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์หรือเปล่า หรือมันจะมองหาแต่ว่าทำอย่างไรจะได้เงินมาก ทำอย่างไรจะได้อำนาจวาสนามาก ทำอย่างไรจะได้มีเพื่อนเล่น เพื่อนกิน เพื่อนสนุกสนานมาก มันจะคิดกันอยู่แต่เพียงเท่านี้ อย่างสูงสุดก็ว่าเกียรติยศที่เขานิยมยกย่องกัน แต่มันเป็นเรื่องทางโลก ๆ มันไม่เป็นเรื่องฝ่ายจิตหรือฝ่ายวิญญาณเสียเลย ฉะนั้นจึงไม่ใช่จุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์ พวกเราเรียนมา มีปริญญา มีเกียรติ มีอะไร รวมกันเข้าทั้งหมด มันก็ไม่มากไปกว่าที่เขาทำกันอยู่หรือมีกันอยู่ในโลกนี้ รวมกันหมดอย่างนี้แล้วมันก็ยังมิใช่จุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์ ขอให้ดูให้ดี ฉะนั้นแปลว่าเราเอาเท่าที่เราอยากจะได้ อย่างที่เราชอบ หรืออย่างที่หลาย ๆ คนรวมกันชอบ มันไปหยุดเสียเพียงเท่านั้น ความไม่มุ่งไปยังจุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์คือการไม่เคารพตัวเอง เพราะว่าธรรมชาติสร้างมนุษย์มาให้ไปได้ถึงจุดสูงสุดเต็มตามความหมายของคำว่ามนุษย์ แล้วคน ๆ หนึ่งมันไม่มุ่งถึงจุดนั้น มันเอาแต่ที่ว่ามันจะเป็นที่สนุกสนานพอใจอยู่ที่นี่ ในระดับเท่านี้
ทีนี้ดูต่อไปเป็นอันดับที่สาม มันก็อยู่ที่การปล่อยไปตามอำนาจของกิเลสนั่นเอง กิริยาอาการอันใดมันเป็นการปล่อยไปตามอำนาจของกิเลส นั่นแหละคือการไม่เคารพตัวเอง ถ้าเคารพตัวเอง ก็ไม่ยอมให้กิเลสมาบัญชา มาควบคุม ทีนี้เรามันก็ปล่อยไปตามอำนาจของกิเลส ไม่ใช่ที่บ้านแล้ว ไม่ใช่ที่บ้านเรือน ในวัดวาอารามนี่ มันก็ยังมีการปล่อยไปตามอำนาจของกิเลสมากมาย โดยเฉพาะในการสมาทานศีล รักษาวินัย อะไรต่าง ๆ นี่ มันมีมากที่ปล่อยไปตามอำนาจของกิเลส และก็ไม่รักษาเอาไว้ได้ สิกขาหรือวินัยมันก็เสียไป ตลอดถึงระเบียบการปฏิบัติในวัด ปฏิบัติต่าง ๆ มันก็เสียไป เพราะปล่อยไปตามอำนาจของกิเลส ฉะนั้นแม้อยู่ในวัด มันก็มีการปล่อยไปตามอำนาจของกิเลสในระดับที่มันสูง หรือละเอียดขึ้นไปอีก กิเลสชั้นละเอียดขึ้นไปอีก อยู่ที่บ้านเรากิเลสจะหยาบกว่า ก็ปล่อยไปตามอำนาจกิเลสหยาบ มาอยู่ที่วัดประคบประหงมกันดี ก็ยังมีกิเลสชั้นประณีตละเอียดเหลืออยู่ มันก็ปล่อยไปตามอำนาจของกิเลสชั้นนี้ การปล่อยไปตามอำนาจของกิเลสนั้นก็ตรงกับคำว่าปล่อยไปตามธรรมชาติฝ่ายต่ำ พวกที่เขาอยากจะพูดบัญญัติง่าย ๆ เขาว่ามีธรรมชาติฝ่ายต่ำดึงไปสู่ต่ำ สู่ความต่ำ ธรรมชาติฝ่ายสูงดึงไปสู่ความสูง นี่เท่ากับว่าอำนาจกิเลสก็ล้วนแต่ดึงไปทางฝ่ายต่ำ ไปไหน ก็ไปสู่ความเป็นทาสของกิเลส เป็นทาสของกิเลสก็คือไปหลงอยู่ในเรื่องความเอร็ดอร่อยทางเนื้อ ทางหนัง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ทางความรู้สึกคิดนึก ก็โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็เรื่องเพศตรงกันข้ามก่อน ต่อมามันก็ไปในแบบของ ที่แม้จะไม่ใช่เกี่ยวกับเพศตรงกันข้าม มันก็ยังเป็นทาสของกิเลสอยู่นั่นเอง เช่นว่าไปหลงใหลในศิลปะ รูปปั้น รูปเขียน รูปอะไรก็ตาม หลงใหลอย่างคนเป็นบ้า นี่สำหรับคนที่ไม่หลงใหลในทางกาม มันก็เป็นทาสของสิ่งนั้นพอ ๆ กันน่ะ และก็เป็นเรื่องทางความคิดความรู้สึก ไปดูรูปศิลปะสวย ๆ นี่เราจะไม่ถือว่าเป็นทางตา เพราะทางตามันมีหน้าที่แต่เห็นว่าอะไรเป็นอะไรเท่านั้น แต่ศิลปะสวย ศิลปะ Abstract ศิลปะอะไรก็ตามนั้นมันทางความคิด มันเป็นเรื่องของจิตที่โง่ที่หลง และก็มีอร่อยในทางจิต อย่างนี้เป็นต้น ก็เรียกว่าเป็นทาสของวัตถุอยู่นั่นเอง การปล่อยไปตามอำนาจของกิเลสก็ไปทางที่จะเป็นทาสของวัตถุ คือเนื้อหนังนับตั้งแต่ทางกามขึ้นมาจนถึงทางอรูปที่ไม่เกี่ยวกับกาม ความละเมอเพ้อฝันในเกียรติยศชื่อเสียงซึ่งเป็นอรูป นี้ปล่อยไปตามอำนาจของกิเลส ก็เรียกว่าไม่ละอาย เป็นอหิริกะ แปลว่าคนที่ไม่ละอาย ดังนั้นจึงได้ลงไปในอบายที่นี่และเดี๋ยวนี้ เรื่องอบายที่นี่และเดี๋ยวนี้จะไม่ต้องพูดกันนักละมัง เพราะผมก็ได้อธิบายมาในที่ต่าง ๆ พิมพ์หรืออะไรกันแพร่หลายแล้ว แต่ยังอยากจะย้ำอยู่เสมอว่าขอให้มองถึงอบายที่นี่และเดี๋ยวนี้กันก่อน อย่าไปมองแต่อบายหลังจากตายเข้าโลงไปแล้วเพราะมันยังไกลนัก ที่มันตกอยู่ทุกวันนั่นหละ เป็นอบายที่น่ากลัวกว่า นรกก็คือร้อน ร้อน ร้อน เป็นทุกข์ เป็นร้อน เดรัจฉานคือโง่ โง่ แสนจะโง่ เปรตคือหิว หิว หิวทางจิต ทางวิญญาณ อสุรกายคือขี้ขลาดอย่างไม่มีความหมาย ก็สำรวจตัวเองดูว่ากำลังอยู่ในอบายหรือเปล่า ทั้งที่เป็นพระมีผ้าเหลืองคุ้มครองนี่แหละลงไปในอบายแล้วหรือยัง หรือเปล่า ก็มันร้อนใจด้วยเหตุของอะไร ก็ความชั่ว ความผิด หรืออะไรบาปกรรมอะไรก็ตาม มันลงอยู่ในนรกแล้ว ถ้ามันโง่อย่างไม่น่าโง่ในบางครั้งบางโอกาส มันเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้ว แม้จะอยู่ในผ้าเหลืองนี่มันก็เป็นสัตว์เดรัจฉานได้ โดยโอปปาติกะกำเนิดเกิดผลุดเดียว เกิดแว้บเดียวก็เป็น เป็นอะไรขึ้นมาแล้ว เปรตคือหิว หิวจนพูดพล่ามอยู่ในเรื่องนั้นเสมอแหละ ฉะนั้นระวังให้ดีไอ้เรื่องที่คุย ๆ กันไม่ค่อยขาดปาก นั่นจะเป็นเรื่องของความเป็นเปรต อสุรกายก็คือกลัว กลัวอย่างไม่มีเหตุผล กลัวอย่างไม่ ไม่มีความหมาย นี้อบาย ถ้าปล่อยไปตามอำนาจธรรมชาติฝ่ายต่ำ อย่าไปทำเล่น ๆ กับมันนะ มันก็พลัดไปในอบายโดยไม่รู้สึก โดยไม่ทันรู้สึก และก็มีคำที่เนื่องกัน คืออบายมุข ตราไว้อย่างสำหรับฆราวาสโดยตรง ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านทำการงานนี่ ๖ อย่างนี้เป็นอบายมุข คือปากช่องที่พลัดตกลงไปสู่อบาย นั่นก็ที่นี่ ในโลกนี่ เดี๋ยวนี้ ลองคิดดูว่าเป็นพระในผ้าเหลืองนี่จะทำอบายมุขเหล่านี้ได้ไหม ถ้าไม่ได้ดื่มเหล้าเข้าไปจริง ๆ มันก็ดื่มของเมาชนิดอื่นก็ได้ จะเมาลาภ เมาเกียรติ เมาอะไรก็ได้ เป็นพวกเมา นี้เที่ยวกลางคืนมีความหมายว่ามันไม่พักผ่อน มันมีกิเลสเป็นเหตุให้เที่ยวหาความเพลิดเพลินในโอกาสที่ควรพักผ่อน ไปเที่ยวที่กุฏิเพื่อนจนดึกจนดื่นเมื่อคืนนั้นแหละ บางคนไปนอนค้างที่กุฏิเพื่อนเลยไม่ได้กลับกุฏิของตัว จะไม่เรียกว่าอบายมุข ข้อนี้จะเรียกว่าอะไร ดูการเล่น มันก็ยังมี ยังแอบดูโทรทัศน์หรืออะไรที่ กระทั่งว่ามันทางหู ทาง ดูเพลง ฟังเพลงต่าง ๆ เล่นการพนัน ถ้าเกิดขั้นนั้นอะไรกันขึ้นมา มันก็เป็นการพนันทันที แม้แต่พนันอย่างที่เรียกว่าไม่ต้องเสียเงินเสียอะไร มันก็เป็นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตรนี่กว้างที่สุด เป็นไปได้ ไม่ว่าพระ ว่าเณร ว่าฆราวาส ว่า และก็เกียจคร้านทำการงาน ก็มาถึงเรื่องนี้ ไม่รับรู้ในเกียรติของความเป็นมนุษย์ของตัว ก็เกียจคร้านในหน้าที่ของตัว จะเป็นภิกษุนี้ ก็เกียจคร้านในหน้าที่ของความเป็นภิกษุ มันก็เป็นอบายมุขได้อย่างนั้น แล้วก็ต่ำลงไป เป็นพระ เป็นเณรที่ใช้ไม่ได้ หรือเกือบจะใช้ไม่ได้ กระทั่งใช้ไม่ได้ กระทั่งไม่เหลือเลย ก็เรียกว่าอบาย นี่ปล่อยไปตามอำนาจของกิเลสเป็นอย่างนี้ สรุปความว่ามันเป็นอหิริกะคือผู้ที่ไม่ละอาย
อันดับต่อไปอีก ก็คือ ระบุ ระบุไปยังความไม่บังคับตัวเอง ชัด ๆ ความไม่บังคับตัวเอง ไม่ควบคุมตัวเอง กินความไปถึงไม่รักษาตัวเอง ไม่สงวนตัวเอง ไม่พัฒนาตัวเอง ไม่รักษาตัวเองให้อยู่ในภาวะที่ปลอดภัยก่อน แล้วไม่รักษาไว้ในภาวะที่มันจะค่อยงอกงามเจริญขึ้นไป ที่เรียกว่าพัฒนาทำให้เจริญ ทีนี้เขาใช้คำนี้ ที่ใช้คำนี้ก็เพราะคำอื่นก็ไม่รู้จะใช้คำอะไร บาลีมันใช้คำว่า ภาวนา พูดว่าภาวนาก็ฟังไม่ถูก ก็เลยใช้คำว่าพัฒนาหรือ Develop ถ้าจะฟังคำไหนถูก ก็เอาคำนั้นก็แล้วกัน คนที่ไม่รักษาตัวเอง ไม่สงวนตัวเองให้ปลอดภัย และไม่ทำให้เจริญขึ้นมานี้ เรียกว่าเป็นคนไม่บังคับตัวเอง รวมเรียกว่ามันเป็น อโนตตัปปี อโนตตัปปี อโนตตัปปะ ไม่มีโอตตัปปะ คือไม่มีความกลัว คนที่ไม่มีความกลัว อหิริกะ คือไม่ละอาย อโนตตัปปะนี้ไม่กลัว ก็อยู่โดย โดยลักษณะที่ไม่บังคับตัวเองให้มันพัฒนาไปได้ แล้วก็เรียกว่าไม่เคารพตัวเอง เป็นผู้ไม่เคารพคุณค่าของตัวเอง
อันดับต่อไปอีก ก็อยากจะเรียกว่าไม่พิจารณาตัวเองอยู่เป็นปกติ คำว่าพิจารณานี่ก็พอจะเข้าใจกันได้ พิจารณาก็คือแยกแยะดู แล้วก็เลือกเอาฝ่ายที่ควรจะเอา คัดไอ้ฝ่ายที่ไม่ควรจะเอา ฉะนั้นมันมีลักษณะเหมือนกับรู้จักแบ่งแยกออกจากกัน Discriminate กริยาคำนี้ Discriminate แยกออกจากกันได้ระหว่างสิ่งที่มันปนกัน สิ่งที่มันปนกันอยู่ เดี๋ยวนี้เราก็มีอะไรปนกันอยู่ เช่น กิเลสกับความไม่มีกิเลส ความชั่วกับความดี แล้วก็ทำให้ปนกันมาเรื่อยโดยการสั่งสอนอบรมที่ไม่ถูกต้อง การคบหาสมาคมที่ไม่ถูกต้อง ทำให้สิ่งเหล่านี้ปนกันยุ่ง แล้วก็ไม่พิจารณาตัวเองหรือที่เกี่ยวกับตัวเองอยู่เป็นปกติ ถ้าไม่พิจารณาอยู่ในลักษณะอย่างนี้ เรียกว่าเขาเป็นผู้ที่ไม่เคารพตัวเอง อย่างบทสวดปัจจ เวกข์ (นาทีที่ 38:51) เราก็สวดกันอยู่ทุกวันนะ เป็นตัวอย่างว่า เววัณณิยัมหิ อัชฌูปะคะโตติ เดี๋ยวนี้เรามีเพศเป็นอย่างอื่นแล้ว คือแตกต่างกันจากคฤหัสถ์แล้ว อะไรเราจะต้องทำ ทำอย่างไรเราจึงจะมีความเหมาะสมสำหรับเพศนั้น นี่คือพิจารณาตัวเอง อย่างนี้เขาเรียก ปัจจเวกข์ ดูเฉพาะ ดูโดยประจักษ์ในปัจจเวกข์ ว่าอย่างนี้เป็นคฤหัสถ์ อย่างนี้เป็นบรรพชิต เดี๋ยวนี้เราเป็นบรรพชิตแล้ว เราจะต้องทำอย่างไร นี้เป็นตัวอย่างนะ มันมีมากเรื่อง มีหลายคู่เปรียบ จะต้องแยกออกไปเป็นคู่ ๆ เป็นฆราวาสเป็นอย่างไร เป็นบรรพชิตเป็นอย่างไร เป็นผู้บัณฑิตเป็นอย่างไร เป็นอันธพาลเป็นอย่างไร เป็นคนดีอย่างไร เป็นคนชั่วอย่างไร มากมายหลายสิบคู่ การพิจารณาอยู่เป็นปกติว่าเราอยู่ในสภาพที่ถูกต้อง ควรปรารถนาแล้ว ก็เรียกว่าเคารพตัวเองอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น เป็นอันว่ารู้พร้อมกันไปในคราวเดียวกัน อย่างไรเรียกว่าไม่เคารพตัวเอง อย่างไรเรียกว่าเคารพตัวเอง เขาเปรียบเทียบเอาโดยที่มันตรงกันข้าม ภาษาวัดเขาเรียกว่า ปฏิปักขนัย ถึงพิจารณาดูโดยปฏิปักขนัย นัยที่มันตรงกันข้าม ฉะนั้นเมื่อรู้สิ่งนี้แล้วก็รู้สิ่งโน้นได้โดยนัยที่มันตรงกันข้าม เพราะฉะนั้น ผู้ที่เคารพตัวเอง มันก็ไม่เกียจคร้าน มันก็มุ่งจุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์อยู่เสมอ มันไม่ยอมปล่อยไปตามอำนาจของกิเลส มันไม่เป็นทาสของกิเลส มันก็ควบคุมตัวเอง พัฒนาตัวเองอยู่เป็นปกติ เช่นว่าพิจารณาอยู่อย่างสุขุมรอบคอบละเอียดลออตลอดเวลา อย่างนี้ก็เรียกว่าเคารพความเป็นมนุษย์ของตนเอง เรียกสั้น ๆ ว่า เคารพตนเอง ถ้าเราจะพูดสำหรับชาวบ้าน เขาคงจะจำกัดความหมายสั้น ๆ เพียงว่า อย่าทำให้เสียชื่อ นั่นก็ถูกที่สุด ตามความหมายชาวบ้าน สั้นๆ ลุ่นๆ ว่าอย่าทำให้มันเสียชื่อ คือเคารพตัวเอง ลองอย่าทำให้เสียชื่อสิ มันจะมีอย่างนี้ครบหมดหละ เพราะคำว่าเสียชื่อมันมีความหมายกว้างขวางหลายอย่าง หลายสิบอย่าง อย่าทำให้เสียชื่อก็แล้วกัน อย่าให้เสียชื่อของใครล่ะทีนี้ ของตัวเอง ทีนี้ตัวเองเป็นอะไร มันก็แยกออกไปได้มาก ในฐานะที่เป็นมนุษย์ ก็อย่าให้เสียชื่อว่าไม่ได้เป็นมนุษย์ กระทั่งว่ามันเป็นบุตรที่ดี ศิษย์ที่ดี เพื่อนที่ดี และก็อย่าให้เสียชื่อ อย่าให้เป็นพลเมืองที่เลว
สมัยผมเป็นเด็ก ๆ ได้ยินคำนี้มากเหลือเกิน ไอ้เคารพตัวเองนี่ ในโรงร่ำโรงเรียน หรือในพวกฝรั่งมังค่า มันก็พูดถึงไอ้ Self respect อะไรนี้มากเหลือเกิน เคารพตัวเอง เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ยิน และคำว่าเสียชื่อตัวเองก็ไม่ค่อยได้ยิน เพราะว่าทุกคนมันไปพูดกันแต่เรื่องอื่น ไปพูดจากันแต่ในเรื่องอื่น เรื่องได้ เรื่องก้าวหน้า เรื่องอะไรต่าง ๆ นี้ โดยยอมว่าแม้แต่ว่ามันจะผิด มันจะเสียชื่อตัวเองก็ยอม เพราะว่าเมื่อมันเสียชื่อกันหมดแล้วทุกคน มันก็ไม่ต้องอายใคร ในโลกนี้มันจะเป็นอย่างนี้ เมื่อมันเสียชื่อว่าเอาเปรียบเพื่อน ไม่ยุติธรรมไปเสียกันหมดทุกคนทุกประเทศในโลก แล้วมันก็เลยไม่ต้องอายใคร ก็เลยไม่ต้องพูดถึงคำว่าเสียชื่อ หรือเสียเกียรติ หรือไม่เคารพตัวเอง ฉะนั้นในสถาบัน หรือว่าในสังคมสูงสุด ในรัฐสภาอะไร มันก็ไม่มีคนที่เคารพตัวเอง โลกมันก็เป็นไปอีกอย่างหนึ่ง ผิดไปอีกอย่างหนึ่ง
ทีนี้ดูกันต่อไปถึงว่าการเคารพตัวเองจะทำได้อย่างไร จะสำเร็จได้อย่างไร การเคารพตัวเอง ถ้าจะพูดโดยรายละเอียดเป็นชื่อของธรรมะหนึ่ง ๆ แล้ว มันก็มาก จะลำบากหรือเฝือในที่สุด ฉะนั้นเราจะแยกไปตามหลักของพระพุทธศาสนาดีกว่า ข้อที่หนึ่งคือการบังคับตัวเองให้เต็มรูปแบบของมัน นี้ข้อที่สองก็ทำให้มีปัญญาที่เต็มรูปแบบของมัน นี่จะช่วยให้เกิดการเคารพตัวเอง ที่ว่าบังคับตัวเองให้เต็มรูปแบบของมันนี่ มันมีอยู่เป็น ๒ ชั้นเป็นอย่างน้อย คือบังคับกาย วาจา ที่เรียกว่าศีล นี่ก็อย่างหนึ่ง และก็บังคับจิต ที่เรียกว่าสมาธิ นี่อย่างหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ผมไม่อยากจะแยกกัน เพราะการแยกกันนั้นมันแยกได้แต่ตัวหนังสือเท่านั้นแหละ คุณช่วยจำไว้ด้วยนะ ไอ้ที่เราแยกธรรมะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าแยกออกจากกันได้ นั่นมันตัวหนังสือทั้งนั้นแหละ ถ้าเป็นเรื่องจริงของธรรมะแล้ว มันไม่แยกกันได้ เช่น จะแยกศีลจากสมาธิ แยกสมาธิจากศีล นี่ทำไม่ได้ หรือแม้แต่ปัญญาก็เหมือนกัน มันแยกออกไม่ได้ เพราะว่าถ้าเราทำอะไรลงไปถูกต้องโดยเจตนาที่ตั้งใจกระทำแล้ว มันเป็นศีล สมาธิ ปัญญา แฝด ๓ อันติดกันอยู่ ฉะนั้นพูดว่าบังคับตัวเองอย่างนี้ มันก็มีทั้งศีล ทั้งสมาธิ นี้เราเอามาปนกันเสีย เอามารวมกันเสีย ให้มันเป็นการบังคับตัวเอง แล้วก็ไประบุนำเอาชื่อของธรรมะที่จะใช้ปฏิบัตินั่นล่ะดีกว่า ฉะนั้นถ้าบังคับตัวเองอย่างเต็มรูปแบบอย่างนี้ มันก็มีทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทีนี้พูดว่าปัญญา นั่นมันก็ไม่เกี่ยวกับการบังคับตัวเอง มันเกี่ยวกับความรู้นู้น มันเลยเป็นเรื่องของความรู้ไป ถ้าบังคับตัวเองเต็มรูปแบบแล้วก็มันคือการปฏิบัติศีลสมาธิเต็มที่ แล้วถ้าหากว่าเล็งไปถึงจุดสำคัญที่สุด มันอยู่ที่อยู่ที่จิตมากกว่าอยู่ที่กายหรือวาจา เพราะว่าไอ้กายหรือวาจานี้มันขึ้นอยู่กับจิตนั่นเอง ฉะนั้นตัวอย่างของธรรมะที่จะอธิบายให้ในที่นี้ก็ระบุไปทางธรรมะหญ้าปากคอก ๔ ประการ เดี๋ยวนี้ผมจะตั้งชื่อเรียกเสียใหม่ว่า สหกรณธรรม สหกรณ์นั่นแหละ สหกรณ์ที่ชาวบ้านเรียก สหกรณะ และก็ธรรม ธรรมะที่เป็นสหกรณ์แก่กันและกัน ที่ว่าหญ้าปากคอกนั้นน่ะ ทุกคนก็ได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน ได้ท่อง สัจจะ ทม ขันตี จาคะ ผมคงพูดคำ ๔ คำนี้นับได้หมื่นครั้งแล้วนะ เท่าที่ผมจำความได้มานะ สัจจะ ทม ขันตี จาคะ นี้ เทศน์สอนมาในพรรษาแรกที่แรกบวชนะ เขียนก็มาก อะไรก็มาก ถ้าใครยังไม่เคยได้ยินก็นับว่าประหลาดเต็มที นี่ผมจึงถือว่ามันเป็นธรรมะหญ้าปากคอกที่จะถูกจัดไว้เป็นหญ้าปากคอก แต่ด้วยเหตุที่ทั้ง ๔ อย่างนี้เป็นสหกรณ์แก่กันแยกกันไม่ได้ ถ้าทำเข้าแล้วจะบังคับทั้งกายและจิต เอ้อ, ทั้งกายและวาจา และทั้งจิตด้วย บังคับกาย วาจา จิต ด้วยพร้อมกันในตัว สัจจะ ทม ขันตี จาคะ
สัจจะก็แปลว่าจริง มีความจริงใจหรือมีใจจริง บังคับให้มีความจริงที่ใจ ในใจ นี้ทม นี่ก็คือบังคับลงไป ขันตีก็คืออดกลั้น ทนได้ จาคะก็ระบายรูรั่วไว้ให้สิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่มันรั่วไป ๆ มันไม่เกิดการอัดดันที่ทำให้เป็นทุกข์หรือถึงกับระเบิดแตกออกไป คือมันเนื่องกัน ทำสหกรณ์กันก็ต้องมีสัจจะก่อน จริงลงไปในธรรมะข้อใดข้อหนึ่ง แง่ใดแง่หนึ่งก่อน ให้มีสัจจะลงไป ตั้งสัจจะลงไปก่อน มันก็เป็นให้มีทม บังคับตัวให้เป็นไปตามสัจจะนั้น นี้เมื่อบังคับตัวอยู่อย่างนั้น มันต้องเกิดการเจ็บปวดเป็นธรรมดา ทางกายหรือทางจิตก็ตาม ฉะนั้นจึงต้องมีขันติหรือขันตีแล้วแต่จะเรียก ทนได้ อดกลั้นได้ ไม่ยอมสละสัจจะ ทมก็เป็นไปได้เรื่อยเพราะขันตีมันช่วย คือมันทนได้ ก็บังคับกันไปได้เรื่อย เกิดไม่ทนขึ้นมาเมื่อไร มันก็ทิ้ง ทิ้งการบังคับตัวเองเมื่อนั้น ทีนี้ก็มีจาคะ แปลว่า สละ สละ สละ นี่ คือสละไอ้ที่มันไม่ควรจะมีอยู่ในตัว อยู่ในใจ ให้ออกอยู่เรื่อย หรือจะเปรียบเหมือนกับว่าไอ้เครื่องยนต์มันต้องระบายควันเสีย ไอเสีย ที่ใช้แล้ว หมดประโยชน์แล้ว ระบายออกไปเรื่อย มันก็จะมีความถูกต้องอยู่ตลอดเวลา เราก็เลยเรียกว่าธรรมสหกรณ์แก่กันและกัน ๔ ข้อหรือ ๔อย่าง ถ้าไม่เกิดสหกรณ์ เอ้อ, ถ้าเกิดไม่สหกรณ์กันเมื่อไรก็ล้มเหลวเมื่อนั้น ก็ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ก็ล้มเหลวเมื่อนั้น
เอ้า, ทีนี้ดูกันให้ละเอียดหน่อย สัจจะ จริง จริงในทุกความหมาย นับตั้งแต่ว่าพูดจริง จริงต่อเพื่อนฝูง จริงต่อข้อสัญญา จริงต่อเวลา ในที่สุดมารวมอยู่ที่จริงต่อตัวเอง มันต้องจริงต่อตัวเอง ถ้าจริงต่อตัวเอง ก็คือจริงต่ออุดมคติของความเป็นมนุษย์ ต้องเป็นมนุษย์ให้ได้ ยอมตายดีกว่าที่ไม่ได้เป็นมนุษย์ นั่นคือจริงต่อความเป็นมนุษย์ ถ้าจริงต่อความเป็นมนุษย์ มันก็จริงหมดน่ะ จริงต่อเพื่อนฝูง จริงต่ออะไรไปหมด จริงต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จริงไปหมดเลย นี้จะต้องยกเอาสติสัมปชัญญะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไอ้จริงอย่างที่งมงาย ไอ้จริงอย่างสะเพร่าผลุนผลันนั้นใช้ไม่ได้ ไอ้จริงอย่างนั้นมันกลับจะตายเร็ว หรือมันจะล้มละลายไปเสียตั้งแต่ต้น มันไม่ได้จริง มันบ้าระห่ำหรือว่าอะไรแล้วแต่จะเรียก มันต้องเอาสติสัมปชัญญะเข้ามาประคับประคองอยู่ โดยอาศัยสติสัมปชัญญะมันก็รู้จักว่าจริงอย่างไร จริงอย่างถูกต้องนั้นจริงอย่างไร ทีนี้มันก็เนื่องไปถึงที่ว่าต้องมีอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น หิริและโอตตัปปะ ความละอายต่อความชั่ว ความกลัวต่อความชั่วนั้นมันมีลักษณะแห่งความจริงอยู่ในตัวมันเอง ไปสังเกตดูให้ดี ถ้าเราเกลียดความชั่ว และกลัวความชั่ว นั่นคือตัวความจริงชนิดหนึ่งที่มันจริงอยู่ในตัวมันเองและต่อความเป็นมนุษย์ของเรา หรือจริงต่ออุดมคติของเรา และเราก็จะต้องละอายหรือกลัว เมื่อมันผิดต่ออุดมคติ มันก็ดึงไปถึงหิริและโอตตัปปะ นี้เมื่อมีอุปกรณ์อย่างนี้แล้วเป็นต้น เราก็ปักลงไปให้มั่น เรียกว่าอธิษฐาน ภาษาไทยเรียกว่าอธิษฐาน บาลีก็เรียกว่าอธิษฐานะ คือตัวเดียวกันแหละ อธิษฐานก็แปลว่าตั้งทับ คำนี้แปลว่าตั้งทับลงไป อธิษแปลว่าทับ ฐานแปลว่าตั้ง อธิษฐานแปลว่าตั้งทับลงไป คือปักลงไปหมดที่นั่น เรียกอีกอย่างว่าลงศรัทธา เป็นอธิมุติดที่นั่นไปหใบลงไปนะ คือตัวเดียวกันแหละงือความจริงชนิดหนึ่ง ลงศรัทธาลงไปที่นั่น นี่คือคำว่าสัจจะ จริง มันก็มีธรรมะที่เนื่องกันอยู่กลุ่มหนึ่ง
ทีนี้ธรรมะที่สอง เรียกว่า ทม ทอทหาร มอม้า อ่านว่า ทะมะ แปลว่าข่ม ตัวหนังสือตัวนี้แปลว่าข่ม ข่มคือบังคับหรือว่าจับไว้ไม่ยอมให้เป็นอย่างอื่น ทม แปลว่าบังคับ บังคับกาย วาจา ใจ พร้อมกันไป มันจะไปบังคับอย่างเดียวทำไม่ได้ ไม่มีใครทำได้ ตัวหนังสือแยกกันได้ ทีนี้การบังคับก็อีก ต้องนึกหาสติสัมปชัญญะอีกตามเคย ขอให้จำไว้เลยว่าสติสัมปชัญญะนี้จะเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด ต้องการในที่ทุกหนทุกแห่ง ถ้าไม่มีทมบังคับอะไรลงไปอย่างรุนแรง ต้องมีสติสัมปชัญญะอยู่ด้วย ไอ้การบังคับนั้นมันก็จะไม่มีทางผิดพลาด ทีนี้ไอ้ธรรมะอุปกรณ์อื่น ๆ มันก็แล้วแต่มองไปยังข้อไหนมันได้ทั้งนั้น เช่นจะมองไปที่อิทธิบาททั้ง ๔ ซึ่งเป็นธรรมที่เรียกว่าอเนกประสงค์ ผมแกล้งเอาคำอย่างนี้มาใช้เพราะว่าท่านทั้งหลายเข้าใจดีอยู่แล้ว ถ้าใช้คำในภาษาวัดมากเกินไปก็ยังจะเสียเวลา อิทธิบาท ๔ ประการนั้นเป็นธรรมะอเนกประสงค์ ก็หมายความว่าไปใช้อะไรก็ได้เพื่อให้สำเร็จตามความต้องการ ไปใช้ในกรณีไหนก็ได้ ฉันทะ พอใจในสิ่งนั้น วิริยะ พากเพียรในสิ่งนั้น จิตตะ เอาใจใส่ในสิ่งนั้น วิมังสา สอดส่องอยู่แต่ในสิ่งนั้น คำว่าสิ่งนั้นไม่ได้จำกัดว่าสิ่งไหน คือสิ่งที่กำลังจะทำนั่นเอง ขอให้ไปเปิดดูในนวโกวาท คำอธิบายในหนังสือแบบเรียนนักธรรมมันมีอยู่แล้ว อิทธิบาท ๔ ประการนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในฐานะเครื่องให้สำเร็จ เป็นบาทฐานแห่งอิทธิ อิทธิคือความสำเร็จ นี่เป็นตัวอย่างเท่านั้น จะใช้ธรรมะหมวดอื่นก็ได้ แต่หมวดนี้เป็นอเนกประสงค์ที่สุด ใช้อะไรก็ได้ทุกอย่าง เช่นเดียวกับสติสัมปชัญญะเป็นผู้คุ้มครองไปได้ทุกอย่าง มันจะมีทมสักที ก็ต้องมีสติสัมปชัญญะ จะเป็นกำลังให้ถึงที่สุดด้วยเช่นอิทธิบาทนี้เป็นต้น
ทีนี้ธรรมะข้อถัดไปที่เรียกว่าขันตี จะเรียกขันตีก็ได้ ขันติก็ได้ ไอ้ภาพมันก็ภาพเดียว ๆ กับคำว่าขะมะ (นาทีที่ 56.57 ) แปลว่าอดกลั้น อดกลั้น ขันตีนี้มันอดกลั้น อ้าว, ก็เรียกหาสติสัมปชัญญะอีกแหละ สติสัมปชัญญะนี่เป็นเพื่อนที่ดีที่สุด เพื่อนที่จำเป็นที่สุด แต่อดกลั้นนั้นก็ต้องมีสติสัมปชัญญะ อดกลั้นนะ อย่าอดกลั้นในความโง่ ความงมงาย ความ มีสติสัมปชัญญะในการอดกลั้น มันก็ถูกต่อสิ่งที่ควรจะอดกลั้นในลักษณะที่ถูกต้อง คำว่าอดกลั้นนี่มาก มีความหมายมาก มีความหมายมาก อดกลั้นแบ่งเป็นภายใน ภายนอก ดีกว่า อดกลั้นภายในคือการบีบคั้นแห่งกิเลส กิเลสคือสิ่งที่จะพาไปให้ผิดทาง แต่ว่ามันไปหาเหยื่อ หาความเอร็ดอร่อย ในกิเลสนั้นมันมีเอร็ดอร่อย ทีนี้มันจะพาไปหาเอร็ดอร่อยซึ่งเป็นความเคยชินของคนทั่ว ๆ ไป พอไปอดกลั้นเข้า ไม่ไปตามอำนาจของกิเลส มันก็เกิดอาการที่จะเรียกได้ว่าเจ็บปวด แล้วก็ต้องอดกลั้นต่อการบีบคั้นของกิเลส อยากจะสูบบุหรี่ ไม่ได้สูบ จะอดกลั้นหรือไม่อดกลั้น อยากจะขี้เกียจ มันก็ไม่ได้ขี้เกียจ จะอดกลั้นหรือไม่อดกลั้น อยากกินเหล้า อยากดูหนัง อยากไปโสเภณี อยากไปอะไรต่าง ๆ เมื่อไม่ได้ไป มันก็จะต้องมีการบังคับหรืออดกลั้น นี่เรียกว่ามันต้องทน ถ้าไม่ทนมันก็ไป คือไปทำตามที่กิเลสมันต้องการ ทีนี้ถ้าไม่ไปมันก็ต้องทน ทนการบีบคั้นภายในของกิเลสนั่นเอง ถ้าเป็นความรู้สึกทางใจล้วน ๆ เราก็เรียกว่าอดกลั้นภายใน ทีนี้อดกลั้นภายนอก มันเนื่องมาจากภายนอก หรือว่านับเนื่องอยู่กับภายนอก อดทนต่อความหนาวร้อนซึ่งมีเป็นธรรมดา ยุงกัด เหลือบกัด หนาวร้อน นี่ก็ต้องอดทน หรือเพื่อนเขาด่า ดูถูก ดูหมิ่น ยั่วโทสะ ก็ต้องอดกลั้นอดทน กระทั่งแม้แต่ว่าเจ็บปวดเจ็บไข้ที่ร่างกายนี่เราก็ยังจะเรียกว่าเป็นภายนอก เป็นเรื่องที่รูปหรือที่กายก็ต้องอดทนอดกลั้น ถ้าไม่อดกลั้นอดทน ก็ต้องดิ้นรน และก็เพิ่มความทุกข์ขึ้นมาใหม่ หรือว่าครางให้คนอื่นเขารำคาญ พอไม่สบายขึ้นมาได้ครางนี้เขาอร่อย เขาจึงแกล้งคราง ถ้าอดทนมันก็เป็นเรื่องที่ไม่อร่อย แต่ว่าเรื่องครางนี้มี มีได้ตามปกติตามสัญชาติของสิ่งที่มีชีวิต ถ้ามันเคลิ้ม หรือมันเผลอสติ มันไม่มีสติควบคุมแล้วมันครางเองได้เหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้มันแกล้งคราง มันไม่อยากจะอดทนเสียเลย พอจะทนได้มันก็ไม่ทน และก็แถมว่าได้ครางแล้วก็สบาย ก็เลยไม่มีขันติเหลือ เพราะมันปล่อยไปตามอำนาจของความรู้สึกที่ไม่ถูกต้องหมด มันต้องอดกลั้นทั้งต่อความรู้สึกภายในที่มาจากภายนอก แล้วก็อยากให้ไปถึงว่ารอได้คอยได้ เพราะว่าเราต้องบังคับตัวเองและทนอยู่ตลอดระยะยาว มันต้องเป็นการรอได้คอยได้ เดี๋ยวนี้การปฏิบัติธรรมะไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะว่าคนมันจะเอาทันควันเกินไป รอไม่ได้ คอยไม่ได้ ทำดี ที่จริงมันดีเสร็จแล้วตั้งแต่เมื่อทำ แต่ผลพลอยได้มันยังไม่ได้ มันต้องรอได้บ้างกว่ามันจะมาถึง ทำดีทำชั่วนี้มันดีเสร็จแล้วชั่วเสร็จแล้วตั้งแต่เมื่อทำ เพราะได้บัญญัติลงไปแล้วนี่ว่าอย่างนี้เรียกว่าดี คือทำดี พอทำลงไปแล้วมันก็ดีแล้ว และก็ได้บัญญัติลงไปแล้วว่าอย่างนี้มันชั่ว พอทำไปแล้วมันก็ชั่วแล้ว แต่ผลพลอยได้ที่ว่าจะได้เงินหรือไม่ ได้ชื่อเสียงหรือไม่ ได้ลงโทษหรือไม่ นี่มันไม่แน่ มันมีระยะเวลาตามเหตุตามปัจจัยของมัน ฉะนั้นคำว่ารอได้คอยได้ก็รวมอยู่ในคำว่าขันตีนี้เหมือนกัน อดกลั้นอดทนรอได้คอยได้นี้เรียกว่าขันตี และก็ทำไปด้วยสติสัมปชัญญะ
ทีนี้ข้อสุดท้ายเรียกว่าจาคะ คำว่าจาคะนี้มันมาจากคำว่าสละ สละออกไป จะชะ (นาทีที่ 01.03.03) รากศัพท์ว่า จะชะ สำเร็จรูปเป็น จาคะ สละออกไป เรารู้จักจาคะกันแต่เรื่องการให้ทาน บริจาคทาน ให้สิ่งของ ให้อะไรจาคะ ทีนี้จาคะไม่ได้หมายแต่เพียงว่าให้ทาน อะไรก็ตามที่มันเป็นเรื่องในจิตใจที่สละออกไปได้จากจิตใจนั้นก็เรียกว่าจาคะด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นอะไรที่ไม่ควรมีอยู่ในจิตใจ ก็สละออกไป เป็นการให้ทานในทางนามธรรม คือสละสิ่งที่เป็นนามธรรมออกไปเสียจากจิตใจ เรียกว่าจาคะในที่นี้ เอ้า, ก็เรียกหาเกลอของมันคือสติสัมปชัญญะเสมอ จะสละอย่างไร เท่าไร เมื่อไร มันก็ต้องสติสัมปชัญญะมาช่วยให้มีจาคะที่ถูกต้อง นิสัยเลว ๆ นิด ๆ หน่อย ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็รีบสละ รีบสละ เปิดรูรั่วให้มันรั่วไปเสียให้หมด แล้วก็ที่มันเข้มข้นขึ้นมาก็เปิดให้มันออกไป ที่มันไม่ค่อยจะยอมออกและเราจะต้องทำอะไรที่เป็นการขับไล่สิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในใจออกไปเสียเรื่อย ๆ ฉะนั้นการขยันทุกอย่างในกิจวัตรของภิกษุสามเณรก็เป็นการขับไล่ไอ้สิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตัวให้ออกไปจากตัว ทำวัตรสวดมนต์ หรือว่าทำอะไรต่าง ๆ มันก็จะแก้ แก้ความขี้เกียจ ความเหลวไหล ความไม่แน่นอน ความน้อมไปในทางต่ำนั้นเอง ทุกอย่าง อย่างนี้ก็เป็นจาคะ ผลักดันออกไม่รับเข้าต่อสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในจิตใจ เรียกว่าจาคะ เป็นสิ่งที่ต้องใช้ตลอดเวลา ต้องมีอยู่ตลอดเวลา กระทั่งตลอดชีวิต
นี้ยกตัวอย่างธรรมะ ๔ ประการ คือ สัจจะ ทม ขันตี จาคะ มาในฐานะที่เป็นการบังคับตัวเองที่เต็มรูปแบบ นี่ก็อยู่ในลักษณะที่เป็นธรรมสหกรณ์ คือกี่อย่าง ๆ ก็มาทำหน้าที่ร่วมกัน จึงจะสำเร็จประโยชน์ ทีนี้ ข้อที่สองก็ปัญญา หมวดที่หนึ่งพูดไปแล้วเรื่องบังคับตัวเองด้วยลักษณะของศีลและสมาธิ นี่หมวดที่สอง มันเป็นเรื่องปัญญาที่ช่วยให้เกิดความเคารพตัวเอง คือความรู้ ปัญญาแปลว่ารู้ทั่วถึง ญา แปลว่ารู้ ปะ แปลว่าทั่วถึงครบถ้วน (นาทีที่ 01:06:10) ปัญญาแปลว่ารู้ครบถ้วนในสิ่งที่ควรจะรู้ ทีนี้จะพูดกันแต่ในกรณีของเรานี้ คือการเคารพตัวเอง จะต้องรู้อะไรบ้าง
หนึ่ง หรือ ก. ก็ตามใจ รู้อุดมคติอันสมบูรณ์ของเรื่องนั้น เรื่องนั้นมันมีอุดมคติสมบูรณ์อย่างไร ต้องรู้ เดี๋ยวนี้มันเป็นเรื่องของมนุษย์ ของความเป็นมนุษย์ และเราก็ต้องรู้ไอ้ความเป็นอุดมคติของความเป็นมนุษย์ว่ามันมีอยู่อย่างไรอย่างสมบูรณ์ มนุษย์คืออะไรนี่ ผมขอ ขออะไรดี ขอร้อง ขอวิงวอน ขออะไรก็ตามเถิด คุณอย่าคิดว่ามันเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่ามนุษย์นี้คืออะไร รู้อุดมคติของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นี้มันยังยากเกินไป เว้นไว้แต่จะฟัง ฟัง ฟัง ไปก่อน แล้วมันก็ไม่สมบูรณ์ เพราะมันเพียงแต่ฟัง มันไม่ ไม่ได้เข้าถึง เอาละ เอาแต่ฟังกันไว้ก่อนก็ได้ ศึกษาไว้ก่อนให้เข้าใจว่าอุดมคติของคำว่ามนุษย์โดยสมบูรณ์มันอย่างไร ที่จะเอากันอย่างย่อ ๆ ให้จำง่าย เข้าใจง่าย ก็เอาตามตัวหนังสือว่ามีใจสูง หรือว่าเหล่ากอแห่งผู้มีใจสูง พอถามว่าสูงถึงไหน เขาสูงกันที่สุดเขาสูงถึงไหน มันก็เป็นเรื่องหลุดพ้นกิเลส เป็นพระอรหันต์ ยังมีสูงอีกไหม อาจจะว่าสูงเป็นพระเจ้าไปเสียเลยก็ได้ เพราะในพวกที่เขามีพระเจ้า สั่งสอนเรื่องพระเจ้า เป็นลัทธิที่มีพระเจ้า เขาสอนกันว่าไอ้เราก็เป็นอันเดียวกับพระเจ้า พระเจ้าเป็นอย่างไรเราก็เป็นอย่างนั้น นี่อย่างปรัชญาของฮินดู ของเว ตันตระ (นาทีที่ 1.08.30) อะไรเขาก็ยอมรับว่าเมื่อเอาอะไรที่มันหุ้มห่อกีดขวางออกไปหมดแล้ว ไอ้มนุษย์นี่มันก็วิ่งเข้าไปเป็นอันเดียวกับพระเจ้าทันที นี่พูดโดยภาพพจน์เป็นอย่างนั้น ทีนี้อุดมคติของมนุษย์มันอยู่ที่ความเป็นอันเดียวกับพระเจ้า นี่อย่างพุทธศาสนาเราจะไม่พูดมากถึงอย่างนั้น เว้นไว้แต่จะเอาคำว่าพระเจ้านี้มาไว้ที่นิพพาน ในที่สุดเราจะนิพพาน เราจะเข้าถึงเป็นอันเดียวกับนิพพานอย่างนี้แล้วก็ได้ อุดมคติสูงสุดของความเป็นมนุษย์อยู่ที่นั่น ต้องรู้ รู้จนเชื่อ จนมีศรัทธา และมีความประสงค์ที่จะเป็นอย่างนั้น นี่เรียกว่ารู้อุดมคติอันสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์ด้วยปัญญาของตน
ทีนี้ขั้นที่สอง ก็รู้การกระทำที่ตรงไปยังอุดมคตินั้น ก็คือรู้การปฏิบัติ ถ้าอย่างพุทธบริษัทเราก็ ศีล สมาธิ ปัญญา รวมความแล้วก็คือการปรับปรุงทุกสิ่งทุกอย่างให้มันถูกต้อง แล้วมันก็จะมุ่งไปหาจุดสูงสุดนั้น และรู้ที่เป็นประโยชน์อีกอย่างหนึ่งก็คือรู้ว่าไอ้ทำหน้าที่นี้แหละคือทั้งหมดที่มนุษย์จะต้องทำ เรียกว่าการทำหน้าคือการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติพระธรรมคือการปฏิบัติหน้าที่ การปฏิบัติหน้าที่คือการปฏิบัติพระธรรม เพราะหน้าที่นั้นคือสิ่งที่จะช่วยให้หมดปัญหา หมดความทุกข์ หมดอันตราย หน้าที่เล็ก ๆ น้อย ๆ ต่ำ ๆ เตี้ย ๆ ก็เป็นการปฏิบัติธรรม เช่น ต้องหากินให้เป็น ต้องกินให้เป็น ต้องอาบให้เป็น ต้องถ่ายให้เป็น ต้องนอนให้เป็น นี่มันเป็นหน้าที่ตามธรรมชาติ ก็เป็นการปฏิบัติธรรมในระดับต่ำ ๆ อย่างนี้ หน้าที่สูงขึ้นมาก็ดู แต่เรื่องโลก ๆ มันก็ไม่ไกลไปจากนี้ เรื่องกินเรื่องนอนให้สบาย นี้สูงไปกว่าเรื่องโลก ๆ ก็คือ จะต้องมีจิตใจที่สะอาด สว่าง สงบ มีกาย วาจา ใจ อันสะอาด สว่าง สงบ กระทั่งมีทิฏฐิอันถูกต้องถึงที่สุด ถ้ามีทิฏฐิถูกต้องถึงที่สุดแล้ว กาย วาจา ใจ มันก็ถูกต้องถึงที่สุด ปฏิบัติอย่างไรจึงจะไปสู่จุดสูงสุด นั่นเป็นหน้าที่ ถ้าทำหน้าที่ก็คือการทำที่จะต้องทำ ไม่มีอะไรนอกไปจากนั้น เมื่อปฏิบัติเพื่อไปบรรลุมรรคผลนิพพานก็เรียกว่าหน้าที่ ปฏิบัติเพื่อให้รอดชีวิตอยู่ได้ในโลกนี้ก็หน้าที่ เจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา รักษาให้หายก็หน้าที่ นั่นเป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน นั่นเขาจึงลดลงไปตามหลักในธรรมะโบรมโบราณ โบราณธรรม แม้แต่การประกอบกิจกรรมระหว่างเพศให้ถูกต้องก็เรียกว่าปฏิบัติธรรมด้วยเหมือนกัน คือทำหน้าที่ให้ถูกต้อง นี่ก็เลยเป็นอันว่าทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมมันอยู่ที่การทำหน้าที่ แล้วแต่ว่ามันจะอยู่ในระดับไหน
นี้รู้ในอันดับที่สาม คือรู้ผลของการกระทำ ก็ต้องรู้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้เหมือนกัน แม้ว่ายังปฏิบัติไม่ถึงก็ต้องรู้ผลของการกระทำว่ามันจะเกิดขึ้นอย่างไร เช่นว่าเราเคารพตัวเองนี้ ผลมันจะเกิดขึ้นมาอย่างไร ก็ต้องรู้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่อยากจะเคารพตัวเอง มันจึงรู้ด้วยการ เรียนรู้ด้วยการ คำนึงคำนวณอย่างนี้ ด้วย Reasoning อะไรไปเรื่อย ๆ ก่อน ก็พอจะมองและเห็นรู้ได้ว่ามันจะมีผลอะไรเกิดขึ้น แล้วในที่สุด เมื่อปฏิบัติได้จริงมันก็รู้จากการที่เสวยผลนั่นเอง ไม่ต้องเชื่อคนอื่นแล้ว เชื่อตัวเองแล้ว สำหรับผลของการกระทำนี้ก็คือ สันติดีกว่า คำนี้ควรจะจำไว้อย่างยิ่ง เพราะมันเป็นคำที่กว้างและใช้ได้ในเรื่องของโลก ๆ เรื่องของธรรมะ เรื่องต่ำ เรื่องกลาง เรื่องสูง ให้ใช้คำนี้ได้ สันติ คือความสงบ หมายถึงสงบสุข ฉะนั้นผลของการกระทำที่ถูกต้องไม่ว่าอะไรหมด มันเป็นเรื่อง คือสันติ ผลของมันก็คือสันติ ก็แบ่งเป็นภายในและภายนอกเหมือนกัน สันติภายในก็คือผู้นั้นแหละ มันมีสันติสุขอยู่ในใจของเขา ทีนี้สันติภายนอกก็คือว่า นอกไปจากตัวเขา จะในครอบครัว หรือในสังคม หรือว่าทั้งโลกก็ตาม มันก็มีสันติด้วย เรียกว่าสันติภายนอกที่คนอื่นเขาจะพลอยได้รับ ถ้าสันติภายในตัวเองรู้สึกอยู่กับตน สันติทั้ง ๒ อย่างนี้เรียกว่าผลของการกระทำที่ถูกต้อง เดี๋ยวนี้มนุษย์ก็ต้องการสันติ แต่มันเหลือแต่ปากมากขึ้นทุกที เพราะคำว่าสันตินี้มันก็พอจะเข้าใจได้ว่าคืออะไร แต่แล้วบังคับตัวไม่ได้ มันก็ไม่ได้ มันก็ถอยห่างออกไป มันก็มีสันติไอ้ปลอม ๆ นี้เข้ามาแทน ถ้าเราฟังวิทยุตลอด ๒๔ ชั่วโมง เราจะได้ยินคำว่าสันติ สันติภาพนี้มากมายเหลือเกิน แต่จอมปลอมทั้งนั้น คือตามที่คนนั้นว่า ตามที่คนนั้นโฆษณาชวนเชื่อตามที่คนนั้นมันอ้างอิง ถ้าส่วนบุคคลเราจะเรียกว่าสันติสุข ถ้าส่วนสังคมหรือของโลก เราจะเรียกว่าสันติภาพ ก็พอจะเข้าใจได้ง่าย ๆ สันติสุขมันรู้สึกอยู่ในใจของคนแต่ละคน ๆ พอปรากฏออกมาเป็นปรากฏการณ์ภายนอกทั่วไปทั้งโลก เราจะเรียกว่าสันติภาวะ สันติภาพ ที่ว่าเขาทำเพื่อสันติภาพ แต่เขาทำเพื่อประโยชน์แห่งพวกของเขาเอง สันติภาพเดี๋ยวนี้ก็คือการที่ผู้อื่นเสียประโยชน์เพื่อตัวเองได้รับประโยชน์ สันติภาพของนักการเมืองในยุคปัจจุบันนี้ มันก็เลยไม่เข้ากันกับเรื่องนี้ เพราะว่าคนเหล่านี้ไม่เคารพตัวเอง ไม่เคารพตัวเอง ก็ไม่เคารพพระเจ้า ไม่เคารพธรรมะ ไม่เคารพความยุติธรรม ไม่เคารพอะไรหมด มันก็ไม่มีอะไรเหลือ เดี๋ยวนี้เราเรียนรู้ว่าถ้าจริง หรือตรง หรือบริสุทธิ์ มันก็ต้องเป็นสันติที่บริสุทธิ์ของบุคคลหรือของสังคม ถ้ามีปัญญารู้ว่าอุดมคติความเป็นมนุษย์เป็นอย่างไร เราทำอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร จึงจะได้ ครั้นได้แล้ว เราจะได้เสวยผลอะไร ถ้าเรามีความรู้ในเรื่องนี้ไม่เพียงพอ เราจะไม่เคารพตัวเอง คือไม่เคารพความเป็นมนุษย์ ถ้ามนุษย์ทุกคนในโลกมีความเป็นมนุษย์ถูกต้อง สันติภาพก็เป็นโดยอัตโนมัติ มันจึงเป็นเรื่องที่ควรจะสนใจในความรู้ที่ถูกต้อง หรือที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐินี้ก็อีกคำหนึ่งซึ่งขอร้องให้สนใจเป็นพิเศษ เพราะมันอยู่ที่ปลายปากที่จะเอ่ยถึงเมื่อไรก็ได้ ให้รู้ว่ามนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ขาดสัมมาทิฏฐิ จึงทำอะไรไปในทางที่ไม่เกิดสันติภาพขึ้นมาในโลกนี้ ฉะนั้นปัญหาของมนุษย์หรือของโลกนี้จะแก้ได้ด้วยสัมมาทิฏฐิ ตามความเป็นจริงจะต้องแก้ได้ด้วยสัมมาทิฏฐิ ทีนี้เขาก็มีความเห็นอย่างอื่นว่ามันจะแก้ได้ด้วยระบบการเมืองหรืออุดมคติ เศรษฐกิจอะไรก็ตามใจ เขาก็ว่าไปตามเรื่องของเขา ถ้าไปเพ่งเล็งแต่ระบบการเมืองหรือระบบเศรษฐกิจ มันก็เป็นเรื่องเห็นประโยชน์ส่วนตั วส่วนพวกของตัวเสียแล้ว ถ้าไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวของตัว ทุกคนตั้งใจทำไปตามหลักของพระธรรมก็ได้เหมือนกัน ระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ มันก็จะประกอบด้วยธรรมไปหมด เหมือนกับที่เราพูดกันในครั้งที่แล้วมาว่า ถ้าพอใจในพระศาสนา ในพระธรรม ในพระเจ้าเท่านั้นเอง ทุกอย่างที่มนุษย์กระทำอยู่ก็จะเป็นไปในทางถูกต้องและมีสันติภาพเป็นแน่นอน
นี่คือหนทางให้เกิดความสำเร็จในการพอใจตัวเอง เคารพตัวเอง ไหว้ตัวเองได้ในที่สุด โดยวิธีที่ว่าบังคับให้ถูกต้องตามรูปแบบและมีปัญญารอบรู้ในสิ่งนั้นอย่างเพียงพอ และในที่สุดก็ว่าเราจะต้องอยู่ มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ในลักษณะที่ยกมือไหว้ตัวเองได้เสมอ นี้มันจำง่ายดี ว่าขอให้ทุกคนไปมีชีวิตอยู่ในลักษณะที่ยกมือไหว้ตัวเองได้เสมอ ถ้าพอนึกจะไหว้ตัวเองแล้วมันไหว้ไม่ลง และมันจะกำปั้นโขกศีรษะตัวเองเสียด้วยซ้ำไป อย่างนี้มันก็เป็นยังไง มันก็คนละเรื่อง มันก็คนละแบบ มันจะต้องอยู่ในลักษณะที่ยกมือไหว้ตัวเองได้เสมอ ถ้าอยู่ในสภาพอย่างนั้นแล้ว นั่นแหละคือสวรรค์อันแท้จริง สวรรค์อันแท้จริง ไม่ใช่สวรรค์กามารมณ์อย่างที่เขาพูดกัน หรือว่าเขียนเป็นรูปภาพตามผนังโบสถ์
สวรรค์อันแท้จริงคือความชื่นใจเมื่อยกมือไหว้ตัวเองได้ และเป็นสวรรค์ที่แท้จริงและสูงสุด เราแยกออกมาเสียได้ด้วยคำว่าแท้จริงและสูงสุด สวรรค์อื่นมันก็มี ไม่แท้จริงและไม่สูงสุด ไอ้สวรรค์แบบชาวบ้านก็เรียกว่าชั้นปรนิมมิตวสวัตตี สวรรค์ชั้นสูงสุดในกามาวจร เป็นที่อยู่แห่งพญามารที่ขี่ช้าง ขี่คิริเมขล์ (นาทีที่ 1.20.35 ) มาผจญพระพุทธเจ้าเมื่อวันจะตรัสรู้ นั่นแหละสวรรค์ชั้นสูงสุด ที่อยู่ของมาร เรียกว่าสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี คำนี้กล่าวก่อนพุทธศาสนา ก่อนพระพุทธเจ้า เขาพูดกันอยู่ก่อนแล้ว ชาวบ้านก็มุ่งหมาย ชั้นปรนิม ปรนิมแปลว่าผู้อื่น ผู้อื่นทำให้ ผู้อื่นเนรมิตให้ ความหมายก็เหมือนอย่างที่เดี๋ยวนี้ ระบบที่ใช้คนอื่น Serve หมด ทุกอย่างทุกประการโดยไม่ต้องมีอะไรขาดตกบกพร่อง คือความหมายของคำว่าปรนิมมิตวสวัตตี ก็ถือว่าสวรรค์ชั้นสูงสุด มันของเด็กเล่น เด็กอมมือ แต่ถ้าไม่เข้าใจมันก็จะหลง ทั้งที่ไม่เข้าใจ ก็หลง หวัง เพราะได้ยินว่ามันสูงสุดในเรื่องของความเอร็ดอร่อยทางอายตนะ ก็เป็นสวรรค์บ้าของพวกนั้น ถ้าสวรรค์จริงของสัตบุรุษในพระพุทธศาสนาแล้วต้องเป็นสวรรค์ คือความชื่นอกชื่นใจจนยกมือไหว้ตัวเองได้ เมื่อไรก็เมื่อนั้น ที่นี่ก็ได้ ที่ไหนก็ได้ นี่ผมเรียกว่าความพอใจหรือความเคารพตัวเองมันเป็นสวรรค์อันแท้จริงอย่างนี้ ถ้าท่านทั้งหลายไม่เชื่อ ก็ไปลองดูสิ จริงหรือไม่จริง มาอยู่ในวัดนี่ก็ลองฝึกหัดปฏิบัติธรรมะให้เป็นที่พอใจตัวเองได้ ไหว้ตัวเองได้ ไม่มีอะไรก็เอากลับไป แล้วไปทำให้อย่างนั้นมันมากขึ้น แล้วก็จะรู้ได้ด้วยตนเองว่าอะไรมันครบหมดอยู่ในนั้น อยู่ในการที่ยกมือไหว้ตัวเองได้ ทุกอย่างก็เรียกว่าถึงที่สุด คนนั้นมีพระรัตนตรัยสมบูรณ์ มีไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา สมบูรณ์ มีมรรคผลนิพพานสมบูรณ์อยู่ในความที่เคารพตัวเองได้ถึงที่สุด มีธรรมะสูงสุดก็เคารพตัวเองได้ถึงที่สุด เรียกว่าภาวะที่ปราศจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงนี้ มันน่าปรารถนา พึงปรารถนา แล้วเมื่อถึงภาวะอันนั้นแล้ว ก็ควรจะพอใจตัวเองหรือเคารพตัวเองได้
วันนี้ก็พูดเลยเวลาไปหน่อย เพราะว่าถ้าเรื่องมันเนื่อง ๆ กัน ก็อยากจะพูดให้เสร็จไปเสียในคราวเดียว จึงได้พูดยาวไปหน่อย ก็เป็นว่ายุติการบรรยายในวันนี้ไว้ด้วยคำว่าพอใจ ด้วยเคารพตัวเอง
[T1]ฟังไม่ชัด
[T2]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T3]ไม่รู้ตัวสะกด
[T4]ไม่รู้ตัวสะกด
[T5]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T6]ไม่รู้ตัวสะกด
[T7]ไม่แน่ใจตัวสะกด