แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
(เสียงท่านพุทธทาส) ท่านที่เป็นราชภัฏผู้ลาบวชทั้งหลาย การบรรยายเป็นครั้งที่ ๑๑ นี้ผมจะกล่าวโดยหัวข้อว่าความพอใจในศาสนา ทุกคนจะสังเกตเห็นได้ว่าเป็นหัวข้อที่เนื่องกันมาตามลำดับ ดังที่ได้ปรารภแล้วในการบรรยายครั้งแรกสุด โดยที่ตั้งปัญหาขึ้นมาว่า การเข้ามาบวชนี้ได้ชิมอะไรมากขึ้น รวมทั้งความพอใจในสิ่งที่เรียกว่าศาสนานั้นด้วย แต่เดี๋ยวนี้เรามาแยก หรือว่าเราแยกเอาออกมาพิจารณากันเป็นเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เรียกว่าความพอใจในศาสนา และในที่สุดก็จะรู้ได้เองว่า เรามีความพอใจในศาสนามากขึ้นหรือเปล่า ในการที่ได้มาบวชครั้งหนึ่งนี้ เราพอใจในสิ่งที่เรียกว่าศาสนามากขึ้นหรือเปล่า เนื่องจากมันเป็นการบวชเพียงชั่วคราว ก็ต้องดูกันเป็นพิเศษในระยะอันสั้นนี้
ถ้าว่ากันโดยที่จริงแล้วไอ้การพอใจในศาสนาที่แท้จริงนั้น มันต้องผ่านการปฏิบัติ หรือขึ้นอยู่กับการปฏิบัติในศาสนานั้นแล้ว จึงได้รับ จึงจะเกิดความรู้สึกพอใจในผลของการปฏิบัติ เดี๋ยวนี้เราทำได้มากเพียงแต่เรื่องของปริยัติ คือศึกษา เล่าเรียน พินิจพิจารณา และมันก็เป็นเหตให้เกิดความพอใจได้เหมือนกัน แต่ไม่ลงรากฐานอันมั่งคงเหมือนกับว่าได้ผ่านการปฏิบัติมาแล้วตามสมควร นี่จะเห็นได้ว่าความพอใจก็มีอยู่กันหลายชั้น พอใจเพราะว่า มันดูเข้าทีอยู่เว้ย อย่างนี้มันก็พอใจได้ หรือถึงกับว่ามันอาจจะนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้ในอนาคต นี่มันก็พอใจได้ แต่ถ้าได้ปฏิบัติธรรมะนั้น จนได้รับผลเป็นความสุข หรือเป็นความสะอาด ความสว่าง ความสงบ อะไรที่มันมากออกไป นั่นแหละความพอใจนั้นจึงจะแท้จริง นี้ความพอใจในศาสนา เป็นสิ่งที่จะต้องดูกันในหลายแง่หลายมุมอย่างนี้
ในชั้นแรก จะพูดถึงประโยชน์ หรืออานิสงส์ของความพอใจในศาสนาก่อน ตามวิธีของการโฆษณาชวนเชื่อ นี่ขอแทรกเป็นพิเศษ ขอบอกกล่าวให้ฟังเป็นพิเศษว่าตามที่ผมได้สังเกตมาตลอดเวลาหลายสิบปีในการเทศน์ในการสั่งสอน ว่าเราจะพูดเรื่องอะไรที่จะให้เขาสนใจมากที่สุดนั้น จะต้องพูดถึงประโยชน์ของสิ่งนั้นก่อน เหมือนกับโฆษณาขายของ ที่จะไปมัวตั้งต้นตามลำดับของเรื่องว่าสิ่งนั้นคืออะไร เป็นอย่างไรจากอะไร เขาจะไม่ค่อยสนใจ หรือถ้ายาวนักก็ง่วงแล้วหลับไปเสียก่อน ไม่สนใจในเรื่องที่เรากำลังจะพูด นั้นพระเณรองค์ไหนถ้าอยากจะเทศน์ให้คนสนใจมาก ให้สนใจไปตั้งแต่ต้น แล้วก็พยายามพูดให้เขาเกิด มองเห็นประโยชน์ของสิ่งที่เขากำลังฟัง กำลังจะฟังนั่นแหละ นั้นผมจึงใช้วิธีที่จะพูดถึงประโยชน์ของสิ่งนั้นก่อนซึ่งดูมันก็ขวางกันอยู่กับหลักทั่ว ๆ ไปที่เขาใช้ถือกันอยู่ในหมู่นักปราชญ์ แม้แต่พระพุทธเจ้าที่จะทรงแสดงเรื่องอริยสัจ ท่านก็ตรัสเรื่องทุกข์ซึ่งไม่น่ารักน่าพอใจเลยก่อน แล้วก็ตรัสเหตุของมัน ตรัสการดับทุกข์ และวิธีที่ให้ถึงการดับทุกข์ นี่เป็นเรื่องเฉพาะ คือว่าท่านพูดกับคนที่ต้องการจะดับทุกข์ ไม่ได้ยกเอาเรื่องประโยชน์ของการดับทุกข์ เรื่องของนิพพานมาพูดก่อน นี่จึงไม่รวมอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ว่านี้ ที่เราจะโฆษณา พระธรรมบทหนึ่ง ข้อหนึ่ง เป็นข้อ ๆ ไป การพูดถึงเรื่องความทุกข์ที่มันน่าเกลียดน่ากลัวก่อน ไม่ใช่คนอยากจะดับทุกข์ นี้มันก็เป็นปัญหาหนึ่ง และวิธีของท่านก็ยังมีการพูดจาแวดล้อมในขั้นริเริ่มมาอีกหลายอย่างกว่าจะได้พุดกันเรื่องความทุกข์ พูดถึงเรื่องความสุขที่มันยังหลง ๆ กันอยู่ เรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องสวรรค์ ก็แสดงโทษของสวรรค์ แสดงอานิสงส์ของการออกมาเสียจากสวรรค์นั่น นั้นมันจึงมาพบปะกับปัญหาของความทุกข์โดยตรง แต่พวกเราคงจะไม่มีโอกาสที่จะพูดทำนองนั้น โดยมากก็จะพูดโฆษณาพระธรรมบทใดบทหนึ่ง เป็นบท ๆ ไป ให้ละเอียดละออชัดเจนเต็มที่ แล้วก็จะดึงไปหาการปฏิบัติเพื่อได้รับผลจากการปฏิบัติธรรมะข้อนั้น นั้นสิ่งที่จะพูดเพื่อจูงความสนใจหรือความปรารถนา มันจะต้องเป็นเรื่องผลประโยชน์ของธรรมะข้อนั้น หรืออยากจะแนะเลยไปเป็นการแถมอีกสักหน่อยหนึ่งว่า อย่าพูดคราวเดียวให้มันหลายเรื่องนัก ผมฟังดูที่มาฝึกหัดการเทศน์การแสดงธรรมกันเป็นประจำคืน ก็รู้สึกว่าข้อบกพร่องส่วนใหญ่ที่สุดนั้นก็คือพูดคราวเดียวมันหลายเรื่องนัก ทำไมจึงไม่พูดแต่เรื่องเดียวให้มันละเอียดละออ ให้มันชัดเจนลงไป นี่เป็นหลักที่ผมถือปฏิบัติว่าจะพูดทีละเรื่องให้หมดทุกแง่ทุกมุม เพื่อให้เกิดความสนใจในเรื่องนั้น ก็จะพูดถึงประโยชน์ของสิ่งนั้นก่อนเสมอ
สำหรับการพูดให้ฟังในฐานะเป็นวิชาความรู้นี้ก็อย่างหนึ่ง แต่ถ้ามันเป็นการเทศน์ การแสดงธรรม ตามแบบ ตามประเพณี แล้วมันก็อีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน แม้ว่าโดยหลักทั่วไปจะคล้ายกันในข้อที่ว่าพูดจูงใจไปให้จนถึงที่สุด ให้เขาพอใจที่จะปฏิบัติ แต่ถ้าเป็นการเทศน์แล้วก็ จะต้องให้จบลงด้วยความน่ารัก น่าพอใจ น่าเลื่อมใส ของพระพุทธ ของพระธรรม ของพระสงฆ์ หรือจะสรุปว่าความน่าพอใจของสิ่งที่เรียกว่าศาสนานั้นเอง เพราะว่าพอเทศน์จบลงไปทายกทายิกาเขาก็สาธุการ สาธุ พุทธะสุโพธิตา สาธุ ธัมมะสุธัมมะตา สาธุ สังฆัสสุปะฏิปัตติ (นาทีที่ 11.43) ที่นี้คนเทศน์มันจบลงด้วยการยกยอตัวเอง แล้วมันจะเข้ากันได้อย่างไรกับคำสาธุการที่เขาสรรเสริญพระคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้นถ้าใครจะเทศน์เรื่องอะไรก็ตาม ขอให้มันจบลงด้วย นี่มันเป็นประโยชน์ หรือเป็นคุณ หรือเป็นลักษณะของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิ่งต่าง ๆ มันจึงสำเร็จประโยชน์ลงในลักษณะอย่างนี้ ทีนี้พอเอวังก็มีแต่ประการฉะนี้ ชาวบ้านก็สาธุ พุทธะสุโพธิตา (นาทีที่ 12.26) มันเข้ารูปกัน มันกลมกลืนกัน ควรจะระวัง กันเสียอย่างนี้ นี่เอามาพูดให้ดู มาพูดให้ฟังเป็นตัวอย่างว่ามันจะต้องกลมกลืนกันกับผู้ฟังทั้งเบื้องต้น ทั้งตรงกลาง ทั้งเบื้องปลาย นี่ถ้าเราพูดธรรมะจริง มันจะมีลักษณะน่าพอใจ น่าเลื่อมใส น่าบูชา จริงเหมือนกัน เช่นเดี๋ยวนี้เรากำลังจะพูดเรื่อง ความพอใจในศาสนา พระศาสนาเป็นที่น่าพอใจ ถ้าพูดให้เห็นชัด คนก็จะเกิดความพอใจในศาสนา นั้นใครจะสาธุ ก็สาธุในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อโห พุทโธ อโห ธัมโม อโห สังโฆ (นาทีที่ 13:12) มันก็ยังเข้ารูปกันอยู่นั่นเอง
ทีนี้ก็จะพูดถึงประโยชน์ หรือค่า หรืออานิสงส์ของความพอใจในศาสนา เพื่อว่าท่านทั้งหลายจะ จะได้สนใจที่จะได้มีความพอใจในสิ่งที่เรียกว่าศาสนา หรือว่าจะเพิ่มเติมจากที่มันมีอยู่แล้ว ความพอใจในศาสนา ก็คือความพอใจในธรรม จะเรียกว่าความรักก็ยังได้ มันรักพระธรรม มันรักพระศาสนา จะชื่อว่าความภักดีในพระธรรมก็ยังได้อยู่นั่นเอง กระทั่งมีความเชื่อทั้งหมดทั้งสิ้น ก็เพราะมันพอใจนั่นแหละ อย่างถ้ามันมีความพอใจ ความรัก ความเชื่อลงไปในศาสนา มันก็จะมีประโยชน์ตามมา อย่างที่จะเรียกว่าพรรณากันไม่หวาดไหว ถ้าอุปมาตามแบบของคนโบราณ ก็หมายความว่าพูดกันไม่รู้จักจบ พรรณาพระคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้มีปากพันปาก ในปากมีพันลิ้น พูดกันทั้งกัปป์ทั้งกัลป์ มันก็ไม่สิ้นสุดพระคุณของพระรัตนตรัย ซึ่งในที่นี้จะเรียกว่าคุณของพระธรรม ที่มันมาอยู่ในรูปของศาสนา อย่างแรกที่สุดหรือเรียกว่าขั้นต่ำที่สุด ความพอใจในศาสนานั่น จะทำให้มีความสุขเกิดขึ้น ทันตาเห็น คือทันควัน ในขณะนั้นอย่างหนึ่งแล้วเป็นแน่นอน ถ้าเราไม่รู้สึกเป็นสุข อิ่มอก อิ่มใจแล้ว อย่าเพิ่งอวดตัวเองว่าเราพอใจในพระธรรมหรือในพระศาสนาเลย จึงกล่าวอย่างกำปั้นทุบดินไม่ผิดว่าถ้ามันมีความพอใจในพระธรรมจริง ก็จะเกิดความสุขขึ้นมาในทันควันนั่นเองจริงเหมือนกัน นี่ก็เป็นกำไรในเบื้องต้น กำไรที่แน่นอน ที่ไม่อาจจะผิดพลาดได้ ขอให้ไปสังเกตดู ทุก ๆ ท่าน เพราะถ้าพอใจในอะไรก็จะเกิดความสุขจากสิ่งนั้น แม้เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องวัตถุสิ่งของอะไรก็ตาม ทรัพย์สมบัติ แก้ว แหวน เงิน ทอง บุตร ภรรยา สามี แต่เดี๋ยวนี้เราพูดถึงศาสนา หรือพระธรรม ถ้าพอใจจะรู้สึกเป็นสุขชนิดที่แปลกไปจากที่เคยรู้จักมาก่อน ซึ่งบางทีก็จะถึงขนาดที่เรียกได้ว่า พูดไม่ถูกบอกไม่ถูก มันเป็นความสุขที่ประหลาดหรือว่าสูงสุดหรืออะไรก็ตามแล้วแต่จะเรียก นี่เป็นของที่ให้ก่อนแน่นอน
นี้ข้อถัดไปมันทำให้เกิดความก้าวหน้าตามทางของธรรมะ ตามที่มันควรจะก้าวหน้า เดี๋ยวนี้เป็นที่รู้อยู่แล้วว่า เรายังไม่ก้าวหน้า กี่มากน้อย ยังก้าวหน้าไม่ถึงที่สุด ยังมีจะต้องก้าวหน้าอีกต่อไป นั้นจึงต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องกระตุ้นให้ก้าวหน้า นั้นความพอใจในพระศาสนานั่นเองจะเป็นเครื่องทำให้เกิดความก้าวหน้า ที่เราชอบพูดเป็นสำนวนเทศน์ว่าเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนา ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วเป็นความเจริญของมนุษย์ ชนิดที่แท้จริง ที่ควรจะเป็นไป จนกว่าจะถึงที่สุด แต่เราเรียกว่าความก้าวหน้าในทางธรรม เพราะว่าไอ้ความก้าวหน้าในทางเงิน ทางของ ทางทรัพย์สมบัติ ทางโลก ๆ นั้นมันมีอยู่ส่วนหนึ่ง ไม่ได้เอามาพูดในที่นี้ เดี๋ยวนี้พูดถึงความก้าวหน้าทางจิต ทางวิญญาณ เป็นความก้าวหน้าในทางธรรม อย่าให้คนนั้นมันตกจมไปอยู่ใต้อำนาจของความเจริญของวัตถุ ซึ่งมันยั่วกิเลส มันสร้างกิเลส ถ้ารู้ไม่ทันมันก็ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลส มันก็เป็นการเสียหาย ไม่ใช่ความเจริญ นั้นจึงมีความรู้ทางธรรมช่วยกำกับ หรือป้องกันเอาไว้ ไม่ให้พลาดลงไปเป็นทาสของวัตถุ นี่ก็เป็นเครื่องรับประกันในความปลอดภัย นี้ก็ก้าวหน้าเรื่อยไป ๆ ในทางของจิตใจ ต่างที่ว่าจะไปได้กันถึงไหน ซึ่งทุกคนก็ได้ยินได้ฟังกันมาแล้วว่า มันไปถึงสิ่งที่เรียกว่า นิพพานโดยสมบูรณ์ นี่ ๒ ข้อนี้ที่กล่าวมาแล้วมันเป็นเรื่องกว้าง ๆ เป็นหลักกว้าง ๆ ทั่ว ๆ ไป
นี้ข้อต่อไปก็อยากจะระบุให้แคบเข้ามาว่า ความพอใจในธรรมในศาสนานั้นเกิดผลแก่จิตใจโดยเฉพาะ คือทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ปัสสัทธิและก็สมาธิ และก็ญาน หรือปัญญาทั้งหลาย ถ้ายังไม่เคยทราบ ก็จะบอกให้ทราบว่า คือบางคนไม่ค่อยได้คุ้นเคยกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ไอ้หลักธรรมะที่เกี่ยวกับจิตใจโดยทั่วไปในพระพุทธศาสนานั้น มีหลักสำคัญอยู่อย่างหนึ่ง คือว่าจะต้องกระทำไป กระทำไป ถึงขนาดที่เรียกได้ว่า มีปีติในธรรมเกิดขึ้น ถ้าปีติในธรรมเกิดขึ้นแล้วมันแน่นอน ที่จะเกิดปัสสัทธิ คือความสงบระงับลงแห่งสิ่งฟุ้งซ่าน กระวนกระวายทั้งหลาย ด้วยอำนาจของปีตินั่นเอง เมื่อมีปัสสัทธิ แล้วก็จะมีสมาธิที่ต้องการอย่างยิ่ง อะไรก็จะสำเร็จด้วยอำนาจของสมาธิ เมื่อมีสมาธิแล้ว ทีนี้ก็เป็นเรื่องที่จะเป็นไปโดยอัตโนมัติ ไม่ยากนักคือปัญญา หรือญาน ความรู้ ตามที่เป็นจริง ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เพราะฉะนั้นอย่าดูถูก หรืออย่ามองข้ามสิ่งที่เรียกว่าปีติ คือผมกล้าท้าให้ใครที่ยังไม่เชื่อหรือยังสงสัยอยู่ ก็ให้ไปสำรวจดูเอาเอง ในพระคัมภีร์ ในพระไตรปิฏก หรือในแนวการปฏิบัติอะไรก็ตาม จะพบกับสิ่งที่เรียกว่าปีติมาคั่นตอนอยู่ตรงที่จะดำเนินต่อไปอย่างรวดเร็ว กับสิ่งที่มันติดตันอยู่เบื้องหลัง หรือการเริ่มต้น ตามเรื่องการเริ่มต้นอย่างเปะ ๆปะ ๆ ไม่เป็นที่พอใจ มันก็มีอยู่ระยะหนึ่ง เป็นระยะยาว ซึ่งจะปฏิบัติอะไรก็ตามใจ ทีนี้ถ้ามันไป ไปจนถึงขนาดที่เรียกว่าเกิดปีติในธรรม นี่เป็นจุดหลักเขตปันแดนที่ว่า จะแน่นอนในการที่จะบรรลุธรรมที่สูงต่อไปข้างหน้า อย่างที่ว่ามาแล้วว่า ถ้ามีปีติ ก็มีปัสสัทธิ มีสมาธิ มีอุเบกขา คือมีปัญญา หรือมีสิ่งที่เป็นความเจริญในทางธรรมโดยสมบูรณ์ ขอให้จำคำว่าปีติไว้ ว่าถ้ามีปีติในธรรมแล้วจะรู้สึกเป็นสุข นั้นในขณะที่รู้สึกว่าเป็นสุขนั้นจะง่ายที่สุด ในการที่จิตจะเป็นสมาธิ อย่างที่ทุกคนจะสังเกตเห็นได้เองว่า ถ้าจิตใจของเราขุ่นมัว ร้อนกระวนกระวาย มันก็เรียกว่าตายด้านอยู่ที่ตรงนั้นนะ แต่ถ้าเราพอใจ มีความพอใจ อะไรก็พอใจ รู้สึกพอใจ รู้สึกสนุกสนานไปหมด ความคิดก็โปร่ง อะไรก็ดี ก็มีความสุข คิดอะไรก็ทะลุปรุโปร่งไปหมดอย่างนี้ เป็นเรื่องที่คนโดยมากเขามีอยู่เป็นประจำวัน ไปสังเกตดูตัวเอง เพราะว่าจะไปดูคนอื่นนั้นไม่ ไม่สำเร็จแล้วก็ไม่ลึกซึ้งเท่าดูตัวเอง วันไหนโปร่งใจ สบายใจ แล้วก็ให้ดูอีกสักนิดหนึ่งก็จะพบว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าปีติ พอใจ อิ่มใจในตัวเอง หรือในธรรมนั้นนะ มันมีอยู่ด้วย ตอนนั้นถ้าจะทำสมาธิ ก็เป็นสมาธิ จะคิดเรื่องยากลำบากอะไรก็คิดออกเป็นว่าเล่น เฉียบแหลม นั้นความพอใจในศาสนานั้นเป็นปีติที่สูงสุด หรือว่าเป็นปีติที่กว้างขวาง เป็นปีติที่มั่นคง เป็นปีติที่ใช้ประโยชน์โดยรอบตัว นี่เจาะจงลงไปยังการปฏิบัติทางจิตใจ โดยเฉพาะการบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าศีลทำได้ดีก็มีปีติ ถ้าปีติดีก็มีสมาธิ สมาธิดีก็มีปัญญา ความพอใจในศาสนาก็รวมอยู่ในข้อนี้ คือข้อที่ปีติในธรรมนี้
นี้ดูต่อไปอีก ความพอใจในศาสนานั่น ถ้ามันเป็นความพอใจแท้จริง มันก็จะทำให้ไอ้ความเป็นมนุษย์ของบุคคลนั้นปลอดภัยเป็นแน่นอน ความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ว่าไม่ปลอดภัยนี่ คือว่ามันยังไม่ถูกต้อง และมันยังไม่แน่ว่ามันจะเดินไปตามทางที่ควรจะเดิน คือมันจะเดินไปในทางที่ไม่เป็นมนุษย์เสียเรื่อย จนกว่าเมื่อไรจะมีความพอใจในธรรมหรือในศาสนา ความเป็นมนุษย์ของบุคคลนั้นก็รับประกันได้ อย่างที่เรียกว่า ถ้าถึงพระโสดาบันแล้วก็รับประกันได้ว่าต้องถึงนิพพาน ในกรณีนี้ถ้าเรามีความพอใจในสิ่งที่เรียกว่าศาสนาโดยแท้จริงก็จะรับประกันได้ ว่าความเป็นมนุษย์ของเราต่อไปนี้จะปลอดภัยแน่ คือจะไม่ตกต่ำลงไปในทางที่ไม่พึงปรารถนา เพียงเท่านี้ก็ดูจะพอแล้ว ว่าความเป็นมนุษย์ของบุคคลนั้นมันแน่นอนแล้ว ปลอดภัยแล้ว เพราะมีความพอใจในสิ่งที่เรียกว่าศาสนา
ทีนี้จะแถมด้วยข้อสุดท้าย ที่เป็นข้อที่ว่ากว้างขวางที่สุด ถ้ามีความพอใจในธรรมะ ในศาสนาแล้ว มันจะห้ามกันความชั่วทุกชนิด เดี๋ยวนี้เรามีปัญหาอะไรบ้าง แยกออกดูเป็นส่วนตัว และส่วนสังคม ปัญหาในส่วนสังคมก็เรื่องการบ้านการเมือง กระทั่งเรื่องของโลก สถานการณ์ต่าง ๆ เต็มไปด้วยความชั่ว ที่ปรากฏอยู่ และแสดงออกมาเป็นผล คือความเดือดร้อน ความระส่ำระสาย มีอยู่ทั่วโลก เพราะมนุษย์ในโลกโดยเฉพาะในสมัยปัจจุบันนี้ มิได้พอใจในสิ่งที่เรียกว่าศาสนา โดยเฉพาะพวกคุณที่เพิ่งจะเกิดมาในยุคปัจจุบันนี้ด้วยแล้ว ยิ่งมีความพอใจในสิ่งที่เรียกว่าศาสนาน้อยมาก น้อยกว่าปู่ย่าตายายอย่างที่จะเปรียบกันไม่ได้ หรือว่าจะมองกันให้กว้างไปทั่วโลก ก็กล่าวได้อย่างนี้เหมือนกัน พวกฝรั่งมังค่าที่ไหนก็สุดแท้ ที่ไปนับถือศาสนาของตน ๆ ก็เสื่อมลงในส่วนที่ว่ามีความพอใจในศาสนา เพราะว่าถูกดึงไปในทางของเนื้อหนังหมด นี่จึงมีผลไปในทางที่ไม่พึงปรารถนา คือผลของความเห็นแก่ตัว เมื่อไม่มีศาสนา ก็ต้องเห็นแก่กิเลส ไม่เห็นแก่ศาสนา ก็ต้องเห็นแก่กิเลส ไม่ได้เห็นธรรมะ ก็ต้องเห็นแก่กิเลส นั้นจึงมีอาการเห็นแก่กิเลสนั้นมากขึ้นในโลกนี้ มันก็มีความก้าวหน้าไปตามวิถีทางที่จะเป็นทาสของกิเลส นั้นผมไม่เห็นด้วยหลาย ๆ อย่างในความคิดของคนสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการปกครองที่ได้พูดกันมาบ้างพอสมควรแล้วในการบรรยายครั้งที่แล้วมานี้ ก็ขอย้อนย้ำแต่ใจความอีกสักครั้งหนึ่งว่า ถ้าเป็นประชาธิปไตย ชนิดที่เป็นของประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชนที่มันมีกิเลส ที่มันไม่พอใจในศาสนาแล้ว นั่นก็คือวินาศของโลกนั่นเอง คือความวินาศของโลกนั่นเอง นั้นเพื่อประโยชน์ของประชาชนที่เห็นแก่ตัว เรียกว่ามีประโยชน์ของตน หรือมีประโยชน์พรรคพวกแห่งตนนั้นเป็นใหญ่ ไม่ใช่มีประโยชน์ของประเทศชาติเป็นใหญ่ หรือประโยชน์ของมนุษยชาติเป็นส่วนรวมทั้งหมดเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเป็นประชาธิปไตยอย่างของภิกษุสงฆ์ มันก็มีประโยชน์ของสงฆ์เป็นใหญ่ เห็นแก่สงฆ์ มีประโยชน์ของสงฆ์เป็นใหญ่ ไม่มีทางจะเห็นประโยชน์ของบุคคล นั่นเพราะมันมีธรรมเข้าไปเป็นหลัก นั้นถ้ามีธรรมเข้าไปเป็นหลัก มันก็จะเห็นแก่ประโยชน์ของธรรมะ ฟังดูให้ดี ๆ นะ เห็นแก่ประโยชน์ของธรรมะ เห็นแก่ธรรมะ เพื่อธรรมะ ไม่ใช่เพื่อตนหรือเพื่อกิเลสของตน นั้นการที่ฝากไว้กับธรรมะนั้นมันปลอดภัย
ถ้ามันไปตามเรื่องของคนธรรมดาสามัญนั้น มันยากที่จะมีธรรมะ นั่นก็เห็นแก่ตน ประโยชน์ส่วนบุคคลเป็นที่ตั้ง ถ้าว่ามันทำคนเดียวไม่ได้ มันก็รวมหัวกันเป็นพรรค เช่นเป็นพรรคการเมือง ก็ดูเอาเองก็แล้วกันว่า มันตรงต่ออุดมคติที่ว่าทำเพื่อสันติภาพของประเทศ หรือว่าสันติภาพของโลกหรือเปล่า มันทำแต่เพียงประโยชน์ของพรรคการเมืองพรรคนั้นเท่านั้น นี่มันไม่ได้มีธรรมะ เพราะทุกคนไม่ได้พอใจในธรรมะ ไม่ได้ฝากเนื้อฝากตัวไว้กับธรรมะ แต่ฝากไว้กับประโยชน์ของตน ถ้าเรามีบุคคลทุกคนที่พอใจในธรรมะหรือศาสนา ฝากชีวิตไว้กับธรรมแล้ว มันก็เปลี่ยนกันไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เช่นชอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย ก็หมายความว่า ผู้แทนทุกคนนั้นทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ หรือของมนุษยชาติเป็นส่วนรวม เช่นเดียวกับภิกษุสงฆ์ทำเพื่อประโยชน์ของสงฆ์ ทั้งพระพุทธศาสนา นั้นเราไปศึกษาดูว่าทางโลกนี่ ในวงการเมือง ในระบบประชาธิปไตย เขาทำเพื่อประโยชน์ของใครกัน และทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ก็ตอบในที่นี้ว่าเพราะแต่ละคนมิได้เป็นผู้พอใจในพระเจ้า หรือพอใจในพระธรรม หรือพอใจในพระศาสนา แต่พอใจในผลประโยชน์ที่เขาจะได้รับ ในส่วนที่อ้างว่าเพื่อประเทศชาตินั้นนะเป็นตามธรรมเนียม หรือบางทีก็เป็นเครื่องบังหน้า ถ้าไม่อ้างอย่างนั้นมันก็ทำไปไม่ได้ ไม่มีใครยอมให้ทำ ฉะนั้นถ้าว่าประชาชนแต่ละคน มีความพอใจในศาสนาแล้วก็โลกนี้ก็จะมีประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่เป็นธรรมาธิปไตย และประกอบไปด้วยธรรม มันลำบากอยู่ด้วยคำพูดบางอย่าง ซึ่งมันก็ตีกันอยู่ในทีนี้เอง ถ้าว่าเพื่อประชาชน โดยประชาชน ของประชาชน และก็ มันมียกเว้นพวกหนึ่งซึ่งมิใช่ประชาชน มันก็เลยไม่หมด ไม่หมดทุกคน เพราะมันยังมีผู้ที่อ้างตัวเป็นมิใช่ประชาชน เพราะประชาชนนั้นอยู่โดยที่มีผู้ปกครองประชาชน ก็เลยกันพวกผู้ปกครองประชาชนออกไป มันก็เลยไม่หมด นี้ก็ควรจะใช้คำอื่นที่ดีกว่านั้น คือประกอบไปด้วยธรรม เห็นแก่ธรรม แล้วก็สำหรับทุกคน อย่าเพื่อคนนั้น เพื่อพวกนี้ เพื่อ เพียงเท่านั้น เพียงเท่านี้ มันไม่พอ ให้เห็นแก่พระธรรมในภาษาไทยเรา ถ้าศาสนาอื่น ภาษาอื่นก็ใช้คำอย่างอื่น ซึ่งในที่นี้เราเรียกว่าศาสนา ผู้มั่นคงอยู่ในศาสนา แล้วก็จะไม่ทำอะไรที่เป็นเรื่องกระทบกระเทือนกัน ตัวอย่างที่ต่ำต้อยที่สุด ถ้าเขาเป็นผู้ที่พอใจในศาสนา รักศาสนา พวกแม่ค้าหาบเร่เหล่านั้นก็จะไม่วางของให้เกะกะตามทางเท้า ซึ่งเป็นปัญหาที่เล็กที่สุด บ้าบอที่สุด มันไม่ได้มีขึ้นมาสำหรับทำความยุ่งยากลำบาก แต่ถ้าเกิดมีธรรมะขึ้นมาโดยแท้จริง มันจะไม่มีอย่างนั้น ทุกอย่างมันจะเป็นระเบียบเรียบร้อย ทุกอย่างมันจะเห็นแก่ผู้อื่น เพราะเมื่อไม่เห็นแก่ผู้อื่น เอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว มันจึงเกิดอย่างนั้นขึ้นมา ปัญหามันจะหมดไป เพราะทุกคนกลัวบาป กลัวกรรม กลัวว่าถ้าไปทำลายประโยชน์ของผู้อื่นแล้วมันเป็นบาป เป็นกรรม นี่การที่พอใจในศาสนานี้มันป้องกันความชั่วทุกชนิด
ดูถึงปัญหาอีกปัญหาหนึ่งในปัจจุบันนี้ คือทั่วทั้งโลกมีวัยรุ่นอันธพาลทั่วทั้งโลก ทำปัญหายุ่งยากให้มากที่สุด นี่ก็จะเห็นชัดได้ทันทีว่าวัยรุ่นอันธพาลเหล่านี้ ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าศาสนาเลย ถ้าเขารู้จักบ้างเท่านั้นละ เขาจะไม่ทำอย่างนั้น เดี๋ยวนี้เขาไม่รู้จัก เพราะว่าการศึกษามันแยกสิ่งที่เรียกว่าศาสนาออกไปเสียแล้ว ไม่มารวม เอ้อ, ศาสนาไม่มารวมอยู่ในคำว่าการศึกษา ซึ่งยกให้เป็นของชาวบ้านล้วน ๆ แล้วก็ถือกันว่าดี ถือกันว่าฉลาดที่สุด ในการที่จะจัดการศึกษาแบบนี้ พวกฝรั่งเขานำก่อน พวกไทยก็ไปตามก้นเขา พวกการศึกษาแบบ Sectoralization นี่จัดให้เป็นทางชาวบ้านที่สุด ไม่มีทางธรรมะ ไม่มีทางศาสนา เข้ามาเกี่ยวข้องเลย มันก็แสดงผลออกมาอย่างนี้คือลูกเด็กๆเขาไม่รู้เรื่องธรรมะ ไม่รู้เรื่องศาสนา เห็นแต่กิเลส มันก็มีลักษณะที่เรียกว่า มีมานะทิฏฐิก็มี ไม่ยอมประพฤติ พูดกันฟังไม่รู้เรื่อง ภาษาบ้านนอกที่นี่เรียกว่าดื้อตาใส พูดกันไม่รู้เรื่อง ตายก็ไม่ยอม เพราะเขามีทิฏฐิมานะที่เขาสะสมมันขึ้นมา และอีกมุมหนึ่งเขาก็มั่วกามารมณ์ ซึ่งมันจะส่งเสริมให้ไม่รู้จักธรรมะ ไม่รู้จักศาสนายิ่งขึ้นไปอีก แล้วก็ยังมีความหลงใหลอย่างอื่น เช่น ยาเสพติดอย่างนี้ มันสอนกันอย่างไร ให้เรียนจบกันแล้วก็ชอบยาเสพติด การศึกษาสมัยนี้มันประหลาดอย่างนี้ สมัยผมเป็นเด็ก ๆ การศึกษาไม่เจริญ เด็ก ๆ กลัวยาเสพติด ไม่ต้องห้าม สมัยนี้การศึกษาเจริญ เรียกว่าเจริญที่สุด ยาเสพติดกลายเป็นของโปรดของพวกที่มีการศึกษาไป เพราะมันแยกธรรมะ ออกไปจากการศึกษานั่นเอง สมัยผมเด็ก ๆ จะโง่เง่าอย่างไรมันก็ยังแฝดกันอยู่กับวัด แฝดกันอยู่กับศาสนา มันมีคำว่า บาป บาป บาป คอยกระซิบอยู่ข้างหูเรื่อยไป ให้มันกลัว กลัวบาป อิทธิพลของสิ่งที่เรียกว่าศาสนามันเป็นอย่างนั้น ถ้าว่ามันมีความพอใจในศาสนากันแล้ว เราก็จะไม่มีวัยรุ่นในโลกที่กำลังเป็นปัญหาอยู่อย่างเดี๋ยวนี้ พูดอย่างแบบผม ผมพูดว่ามีบุตรที่ดีของบิดามารดา มีศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ มีเพื่อนที่ดีของเพื่อน มีพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ มีศาสนิกบริษัทที่ดีของพระศาสดาแห่งศาสนาของตน ๆ จะมีคน ๕ พวกนี้เต็มอยู่ในโลก แล้วโลกนี้จะเป็นอย่างไร นี่คือประโยชน์ของการที่มีศาสนาเป็นที่พอใจ คือมีศาสนาเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่ทะนุถนอม ประโยชน์มันมีอย่างนี้
ถ้าใครเห็นว่านี้เป็นประโยชน์ ผมก็จะพูดต่อไปในข้อที่ว่า ทำอย่างไรมันจึงจะเกิดขึ้นมา อยากจะพูดถึงคำพูดแท้ ๆ คำพูดล้วน ๆ กันอีกสักหน่อย ความพอใจในศาสนา ศาสนานั้นคืออะไรก็ต้องพูด ความพอใจในธรรม ธรรมนั้นมันคืออะไร มันก็ต้องพูด มันเป็นอันเดียวกับสิ่งที่เรียกว่าศาสนา ที่นี้เมื่อมีความพอใจหรืออะไรขึ้นในธรรมหรือในศาสนาแล้ว มันเรียกว่าอะไร มันก็เรียกว่า ธรรม กามะ ธรรมกาม (นาทีที่ 39:28) ไอ้คนที่มันมีกิเลสหนา มันก็จะฟังเป็นเรื่องของกามไปเสียอีก พูดว่าธรรมกาม มีกามในธรรม มีธรรมเป็นกาม ถ้าเป็นบาลีก็เป็นธัมมกาโม (นาทีที่ 39:42) เป็นผู้มีธรรมะเป็นกาม คือความใคร่ เมื่อพวกหนึ่งมันไปใคร่ต่อเพศตรงกันข้าม ไอ้พวกนี้มันใคร่กับสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ และก็จะเรียกได้ว่าธัมมกาโม ถ้าหมายถึงไอ้ตัวธรรมะ ก็จะเรียกได้ว่าธัมมกามย ตา (นาทีที่ 40:05) ความเป็นผู้ใคร่ในธรรม ถ้าเรียกธัมมกาโม ก็ผู้ใคร่ในธรรม นี่ก็ดูเอาเองจากคำที่พูดว่าทำไมต้องใช้คำว่ากามเหมือนกัน เพราะเราต้องการให้มันมีน้ำหนักเหมือนกัน มันไปใคร่ในกามรมณ์อย่างไร ก็มาใคร่ในสิ่งที่เรียกว่าพระธรรมนั้นอย่างเดียวกัน คำว่ากามใน เอ้อ, คำว่ากามโดยแท้จริงแล้วยังเป็นกลาง ๆ อยู่ คือว่ากามในของเลวก็ได้ กามในของดีก็ได้ ทีนี้มันก็มีคำที่รุนแรงกว่านั้นก็คือคำว่า ธรรมราคะ ธรรมนันทิ (นาทีที่ 40:51) ราคะนั้นเป็นที่น่าขยะแขยง ที่เราได้ยินได้ฟังมาก่อนนี้ ราคะ โทสะ โมหะ ราคะมันก็น่าขยะแขยง เดี๋ยวนี้มันเกิดมีคำว่าธรรมราคะขึ้นมา คือมีราคะในธรรม คำว่าราคะนี้ก็ใช้ได้ ในสิ่งที่ไม่ใช่กิเลสตัณหา ไม่ใช่เหยื่อของกิเลสตัณหา สมัยก่อนมีราคะในธรรม คือพอใจ ยินดี กำหนัด พอใจในธรรมะ เช่นเดียวกับในคนพวกหนึ่งเขากำหนัดยินดีในวัตถุแห่งกิเลส คือราคะนั่น ควรจะนึกถึงคำที่มันใช้กันอยู่ว่า กามราคะ ใคร่ในกาม กามวัตถุ นี้เรื่องเพศ และก็รูปราคะคือมีราคะในรูปธรรมอันบริสุทธิ์ หรือความสุขที่เกิดแต่รูปฌาน แล้วอรูปราคะ ราคะในอรูปธรรม คือความสุขที่เกิดมาแต่อรูปธรรม เดี๋ยวนี้เรามามีคำว่า ธรรมราคะขึ้น คือเกิดมีราคะในธรรม พอใจยินดีในธรรม ธรรมในที่นี้ก็หมายถึงสิ่งที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ได้ พวกที่พอใจในกาม มันก็ถือเอากามเป็นเครื่องปลดเปลื้องความทุกข์ แต่มันก็ประเดี๋ยวประด๋าว มันก็เป็นความโง่ นี้พอใจในรูปธรรมมันก็ปลดเปลื้องความทุกข์ประเดี๋ยวประด๋าว แต่ว่ายังนานกว่า หรือสะอาดกว่า อรูปราคะก็ทำนองเดียวกัน แต่ถ้ามาถึงธรรมราคะแล้วมันยืดยาว มันถาวร มันจริงแท้กว่านั้นเอง
ทีนี้ยังมีคำว่าธรรมนันทิ (นาทีที่ 42:46 ) นี้เพลิดเพลินในธรรม นันทิก็เป็นชื่อของกิเลส ตามความหมายหนึ่งเป็นชื่อของกิเลส ยินดีในอำนาจของความเพลิน นันทิราคะ กำหนัดในอำนาจความเพลิน ก็เลยเพลินในอารมณ์นั้น ๆ ที่เรียกว่าตัณหา ก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เดี๋ยวนี้มีคำว่าธรรมนันทิ ยืมคำนั้นมาใช้ในฝ่ายธรรมะ เพื่อจะเอาน้ำหนักของความยินดี หรือความเพลิดเพลินต่อสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ แต่อย่าลืมว่าภาษาบาลีนี่มันก็เปิดโอกาสให้อธิบายตามตัวหนังสือเป็นอย่างอื่นไปก็ได้ถ้าต้องการ เดี๋ยวนี้เราเอาตามตรง ตามที่ไม่ทุจริตต่อธรรมะ ก็มีคำว่าธรรมปีติในที่สุด นี่หมายถึงชั่วขณะที่มันรุนแรง อันเกิดความซาบซ่าน ยินดีพอใจอย่างขนลุกขนชันน้ำตาไหลเนื้อตัวสั่นและก็สุดแท้มันมีปีติในธรรม นี่คือคำว่าพอใจ ความหมายของคำว่าพอใจ และสิ่งที่ถูกพอใจนั้นก็คือสิ่งที่เรียกว่าธรรม แล้วก็เรามาเรียกรวม ๆ ในที่นี้ว่า ศาสนา เกี่ยวกับคำพูดชนิดนี้ได้อธิบายไว้ในเรื่องบางเรื่องที่เขาพิมพ์ไปแล้วก็มีให้หาอ่านดู คำว่าศาสนานั้นก็คือคำว่าธรรมะนั่นเอง เพียงแต่ใช้กันคนละยุค คนละสมัย สมัยโบราณไม่ได้ใช้คำว่าศาสนา ใช้คำว่าธรรม ท่านถือศาสนาอะไรก็คือท่านถือธรรมคนไหนของใคร ฉะนั้นคำว่าศาสนานั้น ก็คือคำว่าธรรม ในสมัยพุทธกาล เผยแผ่ศาสนาก็คือเผยแผ่ธรรม แล้วก็เลยไปถึงคำว่าพรหมจรรย์คือระเบียบประพฤติปฏิบัติที่สูงที่สุดที่ทำคนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ พรหมจรรย์อย่างนี้มีใช้ในบาลี ในภาษาบาลี แล้วก็ในคำสั่งสอนทางศาสนาในครั้งพุทธกาล เดี๋ยวนี้คำว่าพรหมจรรย์ในภาษาไทยนี้ รู้จักใช้กันในความหมายที่แคบ ๆ ไม่ได้หมายถึงตัวพระศาสนาทั้งหมด ถ้าพอใจในศาสนา ก็คือพอใจในสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ หรือในสิ่งที่เรียกว่าพรหมจรรย์ นี่เป็นตัวอย่างของคำที่ใช้แทนกันได้ ก็เรียกว่าไวพจน์ หรือ Synonym แล้วแต่ใครจะเข้าใจคำไหนดีกว่า Synonym หรือไวพจน์ หมายถึงคำที่ใช้แทนกันได้ พอใจในศาสนาคือพอใจในธรรม หรือพอใจในพรหมจรรย์ และมีคำอื่นอีก
ทีนี้เอาคำว่าศาสนาเป็นหลัก พอใจในศาสนาและก็ว่าศาสนานั้นคืออะไร จำกัดความหมาย บัญญัติความหมาย ช่วยจำไว้ให้ดี เพราะผมไม่ได้พูดอะไรเหมือนคนอื่น นั้นก็จำแต่เฉพาะที่ผมพูดไว้ในฐานะที่เป็นคำที่ผมพูด หรือที่คนอื่นเขาพูด หรือที่ในแบบเรียนมันก็มีไปคนละแบบ คนละอย่าง สำหรับในกรณีนี้ที่กำลังจะพูดกับพวกท่านทั้งหลายที่นี่ ผมจะบัญญัติความหมายของศาสนาว่า สิ่งที่ทุกคนถือเอาเป็นเครื่องอุ่นใจตามธรรมชาติ สิ่งที่ทุกคนถือเอาเป็นเครื่องอุ่นใจตามธรรมชาติ นั่นน่ะคือสิ่งที่เรียกว่าศาสนา มิได้เล็งถึงเพียงคำสั่งสอน ขั้นปฏิบัติหรืออะไรตามที ที่พูดกันอยู่อีกแบบหนึ่ง ทีนี้เราจะพูดให้ลึก ให้กินความหมด ว่าสิ่งใดที่มนุษย์ได้ถือเอาในฐานะเป็นเครื่องทำให้เกิดความอุ่นใจแก่เขาแล้ว สิ่งนั้นเป็นศาสนาของเขา และมีได้ตามธรรมชาติ คือรู้สึกได้ตามธรรมชาติ ถ้าพูดอย่างนี้เดี๋ยวก็จะไปถึงความหมายอีกอันหนึ่งว่า ศาสนาคือระบบหรือวิธีการสำหรับขจัดสิ่งที่เป็นอันตรายหรือเป็นความทุกข์ แต่เดี๋ยวนี้เราจะใช้ความหมายที่กว้างกว่านั้น ลึกลงไปกว่านั้น ก็ว่าไอ้สิ่งที่ทำจะความอุ่นใจให้แก่บุคคลที่มีความรู้สึกคิดนึก หรือสัตว์ก็ได้ ถ้ามันมีความรู้สึกคิดนึกตามธรรมชาติ ฉะนั้นมันจึงตรงกับคำว่าที่พึ่ง สรณะก็ดี ทีปะก็ ดี (นาทีที่ 48:27) ที่แปลว่าที่พึ่ง ถ้าเขารู้สึกว่าอะไรจะเป็นที่พึ่งได้ เขาก็จะหันไปหาสิ่งนั้น พอได้ที่พึ่งเขาก็อุ่นใจ นี้มันเกิดมีหลายความหมายสิ แล้วแต่ว่าสัตว์หรือบุคคลนั้น มันมีความรู้สึกอย่างไร นี้ที่กำลังพูดนี้คือกำลังพูดตั้งแต่โคนขึ้นมาหาปลาย ที่เราสอนกันอยู่ทุกวันนี้ มันสอนแต่ปลายไปหาโคน แล้วเราลงไปไม่ถึงโคนถึงรากด้วย ที่ว่าศาสนาคือปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างนั้น มันพูดแต่ปลายลงไปหาโคนแล้วไม่ลงไปถึงโคน นี้เราจะพูดมาตั้งแต่รากแต่โคน แล้วจะต้องว่าสิ่งที่มันทำให้เกิดความอุ่นใจ โดยรู้สึกว่าเป็นที่พึ่งได้ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วสัตว์เดรัจฉานมันก็มี มันก็มีวิธีการอันหนึ่ง หรือว่ามีวัตถุหนึ่ง หรือมีอะไรอันหนึ่งซึ่งจะช่วยให้มันเกิดความอุ่นใจ ถ้ามันเป็นสัตว์อยู่รู ไอ้รูนี่ก็เป็นที่พึ่ง เป็นที่อุ่นใจของมัน มันก็หวังแต่จะพึ่งรู หวังที่จะวิ่งลงรู นึกถึงแต่รู นี่มันระดับต่ำมากของสัตว์เดรัจฉาน หรือว่าถ้ามันเป็นตัวเล็ก มันก็พึ่งแม่ พึ่งพ่อ ไม่แม่หรือพ่อ เป็นที่พึ่งของมัน การวิ่งไปหาพ่อแม่ คือศาสนาของมัน นี้มันก็สูงขึ้นมาได้ถึงลูกมนุษย์ เกิดมาตัวแดง ๆ นี่ โตขึ้นมาได้ไม่กี่วัน มันก็รู้สึกพึ่งพ่อแม่ ที่มาทุกทีแล้วเป็นได้สบายใจ ได้อุ่นอกอุ่นใจ ได้กินนม ได้ถนอมอยู่ในระหว่างอกนี่ มันก็เกิดความรู้สึกถือเอาเป็นที่พึ่ง นั้นลูกแดง ๆ นั้นมันก็มีพ่อแม่หรือคนเลี้ยงนั้นแหละเป็นที่พึ่ง คือเป็นศาสนา นี้ถ้ามันโตขึ้นมา มันก็รู้ว่า เอ้า, มันยังมีสิ่งอื่นอีก หรือมันพ้นความจำเป็นที่ต้องพึ่งพ่อแม่อย่างนั้น มันก็ไปพึ่งอำนาจวาสนาหรือพึ่งเงิน นั้นส่วนใหญ่มันจะนึกถึงสิ่งที่เป็นปัจจัยให้สำเร็จความต้องการ มันจึงเฮไปถือศาสนาเงินกันโดยแท้จริง ลูกเด็ก ๆ ที่โตขึ้นมาเป็นหนุ่มเป็นสาว มันก็จะต้องเล็งถึงสิ่งที่ให้สำเร็จตามต้องการนั่นคือเงิน มันจึงหวังที่จะพึ่งเงิน ถือศาสนาเงิน ถ้ารับกันตรง ๆ ไม่โกหก ไม่หลอกลวง มันก็จะพูดอย่างนี้กันทั้งนั้นละ นี้ต่อมาอีกมันก็รู้ว่าไอ้เงินนี่มันแก้ปัญหาได้แต่เรื่องเนื้อหนังร่างกายวัตถุหรือเรื่องเป็นคน ๆ โลก ๆ นั้นมันยังมีอันตรายอันอื่นคือความร้อนใจ เป็นทุกข์ เป็นร้อนแสนสาหัส เหมือนกับไฟเข้าไปสุมอยู่ในอก ทั้งที่มีเงิน ทั้งที่มีลูก มีเมีย มีภรรยาสามี มีอำนาจวาสนา มันก็ยังร้อนอกร้อนใจ อ้าว, นี่จะพึ่งอะไร นั้นมันจึงจะไปถึงพึ่งธรรมะ ถือศาสนาชั้นที่เป็นตัวธรรมะ นี้จะจำแนกเป็นรายละเอียดเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นศีล สมาธิ ปัญญา ก็ค่อยว่ากันไปตามนั้น นี้มาถึงศาสนาที่จะเป็นที่พึ่งทางจิตใจ แต่ความหมายอันแท้จริงของคำ ๆ นี้คือที่พึ่ง มันกว้างลงไปได้กระทั่งถึงระดับต่ำสุดของสิ่งที่มีความรู้สึกคิดนึก และกลัวตาย กลัวทุกข์ กลัวยาก กลัวลำบาก และก็ต้องการที่พึ่งได้แล้วก็อุ่นใจ ระบบนี้คือศาสนา นั้นเราจึงต้องทำให้ถูกต้องทุกระดับ ไอ้ส่วนที่จะต้องมีเงิน ก็มีไปสิ มีบ้าน มีเรือน มีบุตร ภรรยาสามี อะไรก็เป็นส่วนหนึ่ง ส่วนหนึ่งในระดับหนึ่งๆ และก็มีส่วนสูงสุดซึ่งก็คือสิ่งที่จะแก้ หรือดับ หรือถอนความทุกข์ในทางจิตใจนี้เป็นตัวศาสนาที่สมบูรณ์ เดี๋ยวนี้อาจจะกล่าวได้ว่า มันยังไม่มีศาสนาที่สมบูรณ์ แม้ในระดับที่ต่ำเตี้ย ความประพฤติกระทำในโลกก็ยังไม่ถูกต้อง เงินก็ยังไม่มีพอกับที่มันต้องการ หรือถ้ามีมา กลับมีมาสำหรับทำให้เป็นทุกข์ มันจึงเห็นได้ว่าความรู้นั้นไม่พอแล้ว ความรู้นั้นไม่พอเสียแล้ว ความรู้ที่จะทำให้หาเงินมาเก็บไว้ให้มาก ๆ นั้นไม่พอเสียแล้วที่จะเป็นที่พึ่งได้ จึงจะมาหาความรู้ในส่วนที่จะมีเงินอย่างไร ใช้เงินอย่างไร หรือทำอะไรอย่างไรความทุกข์จึงจะไม่เกิดขึ้น ขอให้ถือว่าพวกราชภัฏทั้งหลายที่เข้ามาบวชนี่ ยังจะต้องการความรู้ในส่วนนี้ คือศาสนาในส่วนที่เป็นเรื่องของจิตใจโดยตรง ที่ต่ำกว่านั้นก็เป็นศาสนาที่ต่ำลงไป ต่ำลงไป ๆ และเขาก็มักจะไม่เรียกว่าศาสนา จะเรียกแต่เพียงว่าศีลธรรม เพราะว่าเรามีศาสนาถึงระดับสูงสุดกันเสียแล้ว แต่ถ้าพูดกันถึงในยุค ในสมัยหรือในถิ่นที่เขายังไม่มีศาสนาในระดับของสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งเหล่านั้นแหละเป็นศาสนา จึงมีการบัญญัติว่ากามารมณ์สมบูรณ์ก็เป็นนิพพาน สมาธิ สมาบัติหนึ่ง ๆ ก็เป็นนิพพานหนึ่ง คนผู้กล่าวอย่างนั้น หรือลัทธิที่บัญญัติอย่างนั้น มันก็ถือสิ่งนั้น หรือเพียงเท่านั้นเป็นศาสนาของเขา ถ้าเราจะระลึกย้อนไปถึงศาสนา จนถึงยุคสมัยคนป่า สมัยหิน สมัยแรกมาเป็นมนุษย์ มันก็มีศาสนาตามแบบของเขา เพราะเขาเริ่มรู้จักปัญหามากขึ้น มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็ต้องการจะแก้ปัญหานั้น ๆ ถ้ามันเป็นเรื่องที่น่ากลัว เขาก็ต้องหาวิธีขจัดความกลัวนั้น ๆ ก็เกิดเป็นศาสนาระดับหนึ่งขึ้นมา หรือระบบหนึ่ง ๆ ขึ้นมา จนกระทั่งทุกวันนี้ นี่ความหมายของคำว่าศาสนา ก็คือสิ่งที่ทุกคนจะถือเอาเป็นเครื่องอุ่นใจ หรือเป็นที่พึ่งได้ ในทุกความหมาย ในทุกระดับ และมีความรู้สึกที่เกิดเองโดยธรรมชาติ เพราะว่าเรามีสัญชาตญาณแห่งความกลัวติดมาแล้วในชีวิต ฉะนั้นสิ่งที่จะขจัดความกลัวได้นั้นคือศาสนา
ทีนี้เราดูเขยิบมานิดหนึ่ง เราก็จะพบว่าไอ้สิ่งนั้นมันมีวิวัฒนาการมาตามลำดับ กว่าจะมาถึงจุดสูงสุด หรือเรียกว่าจริงแท้ เพราะเรามีศาสนาขั้นลูกเด็ก ๆ มาก่อนอย่างที่กล่าวมาแล้ว มีพ่อแม่เป็นศาสนา แล้วก็เรื่อยมา ๆ สูงขึ้นมา จนกว่าจะถึงจุดสูงสุดหรือจริงแท้ สิ่งที่เรียกว่าศาสนาในความหมายที่กว้างขวางอย่างนี้ มีวิวัฒนาการเรื่อยมาจนมาถึงระดับสูงสุด ทีนี้มาดูต่อมาอีกว่า การที่มันจะมีวิวัฒนาการมาจนถึงระดับที่สูงสุดและจริงแท้นี้มันยากมาก เพราะเหตุไร เพราะว่ามัน มันทวนกระแส คือมัน มันมีการขัดขวางกันอยู่ในลักษณะที่เป็นการทวนกระแส คือจิตธรรมดาสามัญมีกิเลสนี่มันเอียงต่ำ มันมีลาดเอียงไปทางต่ำ เหมือนกับปลานี่ มันจะวิ่งลงน้ำเรื่อย ถ้าจับโยนขึ้นมาบนบก นี้จิตธรรมดาสามัญของปุถุชน มันมีลักษณะอย่างนั้น มันจะเอียงไปหาน้ำคือกามารมณ์ ของรัก ของอร่อย แก่อายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าศาสนาที่จะวิวัฒมาในทางสูงสุดจนถึงจริงแท้นั้น มันจึงยากกว่า ดูให้ดีที่คำว่ายากกว่า มันฝืน หรือมันทวนกระแส ขั้นที่จริงแท้เท่าไร มันยิ่งไม่สนุกแก่ปุถุชนคนธรรมดา ซึ่งมีกิเลส นี่ก็เพราะว่ามันทวนกระแสของกิเลส เพราะฉะนั้นจึงไม่สนุกแก่คนที่ยังมีกิเลส จึงยากที่จะวิวัฒนาการขึ้นมาสู่ระดับที่สูงสุด หรือจริงแท้ เมื่อถึงระดับที่สูงสุด หรือจริงแท้ มันก็เลยไม่มีเสน่ห์ ที่จะยั่วกิเลส ฉะนั้นมันจึงไม่ง่ายในการที่ทุกคนจะไปชอบมัน มันจึงยากแก่การที่ทุกคนจะไปชอบมัน นี่ก็ไปดูเอาเองก็แล้วกัน ว่าพวกที่เขาไม่สนใจศาสนานั้นนะ เพราะว่ามันยากที่เขาจะมาชอบมัน เพราะว่ามันทวนกระแสแก่กิเลสของเขา ตามที่มันเป็นจริงมันก็มีอยู่อย่างนี้
นี่ถ้าจะถามว่า ธรรมะหรือศาสนานี้ ไม่มีรสมีชาติเสียเลยอย่างนั้นรือ ก็จะตอบว่า ไม่ใช่อย่างนั้น มันมีรสสูงสุดของมันอีกแบบหนึ่ง และยังอาจจะพูดได้ว่าอร่อยหรือประเสริฐ มีเสน่ห์ที่สุดก็ได้ แต่มันอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไอ้คนปุถุชนสามัญ มันอร่อยไม่เป็น มันอร่อยไม่ถูก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าธรรมรส รสของพระธรรมนั้นมันจึงอร่อยแก่คนบางพวกเท่านั้น เหมือนกับน้ำหอมกับแมลงวันนี่เอา คุณจะคิดว่ายังไง แมลงวันพวกไหนมันจะชอบน้ำหอม มันจะชอบน้ำปลา น้ำเน่า น้ำอะไรอย่างนั้น ไอ้รสแห่งพระธรรมนี่ก็เหมือนกันแหละ มันก็เป็นน้ำหอมแก่แมลงวัน ฉะนั้นจึงหายากที่ว่าคนจะมาบูชาพอใจในรสของพระธรรม ทั้งที่พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสว่า สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ รสแห่งธรรมชำนะแห่งรสทั้งปวง แต่ก็มีแต่คนสั่นหัว เช่นเดียวกับเราจะเอาน้ำหอมไปให้แมลงวัน ถ้าเราเอาน้ำปลา น้ำหนอง น้ำเน่า ไปให้แมลงวัน มันก็ชอบใจ นี่คือความยากลำบากที่มันจะวิวัฒนาการขึ้นมาหาศาสนาในระดับที่จริงแท้สูงสุด
เอาละทีนี้ก็เข้าใจคำว่าศาสนาพอสมควรแล้ว ซึ่งจะทบทวนได้ง่าย ๆ ว่า คือสิ่งที่ทุกคนถือเอาเป็นเครื่องอุ่นใจ ตามภูมิตามชั้นแห่งระดับของจิตใจนั้น ๆ ก็วิวัฒนาการขึ้นมา ดีขึ้นมา สูงขึ้นมาตามลำดับ กว่าจะถึงระดับจริงแท้ แต่ว่ามันยากมากคือมันฝืนกันอยู่กับความรู้สึกของคนที่มีกิเลสอย่างคนธรรมดาสามัญ เพราะเขามีกิเลสสำหรับจะเอียงไปในทางต่ำ ทีนี้ศาสนามันมาในทางสูง จึงต้องปลุกปล้ำกันไปตามวิธีการที่จะดึงมาหาศาสนาในระดับสูง ทีนี้ก็ดูว่ามีข้อเท็จจริงที่ซ่อนอยู่ ในคำที่ได้กล่าวมาแล้ว คือข้อเท็จจริงที่พูดได้ว่าทุกคนมีศาสนา เอ้า, ใครค้านก็ค้าน ที่ผมยืนยันว่าทุกคนมันมีศาสนา จะอยู่โดยว่างศาสนานั้นไม่ได้ ไม่มีใครอยู่ได้โดยว่างศาสนา เพียงแต่ว่าเป็นศาสนาในระดับของเขาเท่านั้น เพราะเราพูดมาแล้วว่าศาสนาคือสิ่งที่ทุกคนถือเอาเป็นเครื่องอุ่นใจตามระดับของเขา ดังนั้นเมื่อมันถือศาสนาเงิน มันก็มีเงินเป็นศาสนา คนญี่ปุ่นคนหนึ่งที่เพื่อนเขาเล่าให้ฟังว่า เขาพูดจริงที่สุดละ เขาถือศาสนาฮิตาชิ เพราะเขาทำงานกับบริษัทฮิตาชิ เขาถือศาสนาฮิตาชิ นี่เขาพูดจริงที่สุดนะ เพราะเขาไม่รู้จักศาสนาอื่น ทีนี้มันก็เลื่อนเป็นระดับ ๆ ขึ้นมาแล้วแต่ว่าเขาจะมาได้เพียงไร เพราะฉะนั้นในชั้นแรกที่สุด เขาก็มีศาสนาในระดับต่ำสุดตามที่กิเลสจะพาไป เมื่อเขามีกิเลสอย่างไร เขาก็จะชอบศาสนาอย่างนั้น ทีนี้ศาสนาชนิดนั้นจะมีอยู่กี่รูปกี่แบบก็ตาม มันไม่ดับทุกข์ได้ มันไม่ดับทุกข์ได้ นี่มันเน้นกันอยู่ที่ตรงนี้ มันไม่เป็นนิย ยานิกธรรม (นาทีที่ 01:02:54) นำสัตว์ออกจากทุกข์ มันไม่เป็นนิยยานิกธรรม คือนำสัตว์ออกจากทุกข์ได้ ก็ไม่ควรจะเรียกว่าธรรมะสูงสุดอะไร แต่เขาก็ได้ยึดถือเอาอย่างเหนียวแน่นเป็นเครื่องอุ่นใจของเขาเท่านั้น นั้นมันอยู่ที่จะถอน ไถ่ถอนขึ้นมาอย่างไร จะดึงกันขึ้นมาอย่างไร กว่าจะมาถึงศาสนาที่เป็นนิยยานิกะ (นาทีที่ 01:03:22) คือเป็นเครื่องนำสัตว์ออกจากทุกข์ได้ ทีนี้ในระหว่างกลางตรงนั้นมันก็ยังมี มีศาสนาที่เป็นนิยยานิกะน้อยเกินไป ถ้าจะเกณฑ์ให้เงินเป็นศาสนา มันก็ดับทุกข์ได้ตามประสาของเงิน ที่จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร ความเป็นนิยยานิกะของเงินมันก็เป็นน้อยมาก เป็นแต่ในทางวัตถุ ความเป็นศาสนาที่แท้จริงมันมาก็อยู่ในระดับที่สูงสุดในทางจิตใจ คือสามารถกำจัดกิเลส และความทุกข์ออกไปเสียได้ มันก็ไม่มีความทุกข์ จึงเห็นได้ว่าศาสนานั้น มันจะต้องมีแก่ทุกคนตามสมัครใจของเขาโดยธรรมชาติ นี่เป็นระดับพื้นฐาน ต่อมาเขาได้ศึกษา หรือได้สังเกต หรือได้เห็นโดยวิธีใดก็ตามว่า มันยังมีปัญหาเหลืออยู่อีก มันก็เลื่อนขึ้นมา เลื่อนขึ้นมา จนถึงระดับสูงสุด เช่น พุทธศาสนา เป็นต้น นี่สรุปความกันทีหนึ่งก่อน เพราะศาสนาเป็นสิ่งที่ทุกคนมีหลีกไม่ได้ คนโง่ก็มีศาสนาโง่ คนฉลาดก็มีศาสนาฉลาด หลงใหลในวัตถุ ก็เอาวัตถุเป็นศาสนา หลงใหลในนามธรรม ก็มีนามธรรมเป็นศาสนา จนให้เรียกได้ว่ามีธรรมก็แล้วกัน เป็นศาสนา จะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม มันก็เป็นไปตามเรื่องของมัน หรือถ้ามีวิวัฒนาการเต็มตามความหมายก็ดับทุกข์โดยสิ้นเชิงได้ เราก็เรียกกันว่าพุทธศาสนา ทีนี้ที่เราพูดกันในวันนี้ว่าความพอใจในศาสนานั้นเราก็เล็งถึงพุทธศาสนา หรือศาสนาใดก็ได้ ขอแต่ให้มันดับความทุกข์หรือว่าตัดปัญหาทุกอย่างได้ และเราก็พอใจ เดี๋ยวนี้สำหรับพวกเราในสภาพอย่างนี้ ในฐานะอย่างนี้มันก็เล็งถึงพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาของตน ๆ ถึงอย่างนั้นก็ยังมีหลายระดับ หรือพุทธศาสนาในระดับแรก ๆ สำหรับคนแรก ๆ เข้ามา สูงขึ้นไป ๆ ถึงสูงสุด แต่ถ้าจะให้พูดอย่างที่เรียกว่าเป็นหลักลงไปแล้ว มันจะต้องถือว่าระดับสูงสุดนั้นน่ะว่าเป็นพุทธศาสนาที่สมบูรณ์ ทีนี้เราก็เข้ามาถึงริม ถึงตีน ถึงอะไรของศาสนานั้น ก้าวเข้าประตูเข้าไป จนกว่าจะถึงหัวใจของพุทธศาสนา เราต้องมีความชอบใจในศาสนานั้นเป็นกำลัง หรือเป็นทุน เป็นต้นทุน เป็นเดิมพัน อยู่ตลอดเวลา จึงจะเขยิบเข้ามา ๆ ตามอำนาจของความพอใจ ที่มันสูงขึ้นๆ
ทีนี้ก็มาดูพวกเราโดยเฉพาะที่ว่ามาบวชนี้ เราได้สร้างความพอใจในศาสนาให้เพิ่มขึ้นได้มากหรือเปล่า หรือเท่าไร นั่นคือปัญหาที่เรากำลังพูดกัน เอ้า, ก็ตั้งต้นมาด้วยปัญหาที่ว่าเข้ามาบวชในศาสนานี้ด้วยความรู้จักศาสนาในลักษณะอย่างไรและเพียงไร พวกท่านทั้งหลายแต่ละคน ๆ ไม่เหมือนกัน ขอให้ทุกคนหยิบไปเป็นคำถามเฉพาะตน ๆ ว่าได้เข้ามาบวชในศาสนา ในวัดนี่ ด้วยความรู้จักในสิ่งที่เรียกว่าศาสนามาเท่าไรและเพียงไร นี่อย่างนี้ผมบอกไม่ได้นะ เป็นของคุณ คุณรู้อยู่แก่ใจนะ ผมก็บอกไม่ได้ แล้วคุณก็ไปดูเอาเองว่าจะเข้ามาบวชนี่ คุณรู้จักศาสนาในลักษณะอย่างไรและเท่าไร เอ้า, ทีนี้มาบวช ปัญหาที่ ๒ มาบวชได้ ๓ เดือนแล้ว ก็เข้ามาพบศาสนาในลักษณะเช่นไรและเพียงไร ผมก็ตอบแทนคุณไม่ได้อีกเพราะมันอยู่ในใจของคุณ ทีนี้ก็มาถึงปัญหาที่ ๓ ว่าคุณจะกลับออกไปด้วยการนำเอาศาสนาชนิดไหนและอย่างไรออกไป กลับไปบ้าน ก็เป็นเรื่องในใจของคุณอีก ผมก็ตอบไม่ได้ ทีนี้มาถึงปัญหา ที่ ๕ ว่า (นาทีที่ 01:08:40) คุณจะใช้มันให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร และเพียงไร เมื่อคุณเอาไปบ้านแล้ว ผมก็ไม่ต้องพูดกันละทีนี้ มันแยกกันแล้ว แต่อยากจะถามในที่สุด ซึ่งเป็นที่รวมของปัญหาทั้งหมดว่า เราจะรัก จะพอใจ จะสงวน สิ่งที่เรียกว่าศาสนาไว้สืบไปจนตลอดชีวิตในลักษณะอย่างไร นี่ปัญหามันก็จบ ในส่วนที่เป็นปัญหา คำตอบก็ไปมีเอาเฉพาะตน เป็นคน ๆ ไปดีกว่า นี่คือคำบรรยายในวันนี้ที่ตั้งหัวข้อขึ้นมาว่าความพอใจในสิ่งที่เรียกว่าศาสนา แล้วก็ทดสอบด้วยการที่ว่าท่านทั้งหลายเข้ามาบวชแล้วได้มีความพอใจในสิ่งที่เรียกว่าศาสนาหรือไม่ เพิ่มขึ้นหรือไม่ อย่างไรและเท่าไร โดยอาศัยหลักเกณฑ์ที่ได้บรรยายมาพอสมควรแล้วว่าศาสนานั้นคืออะไร ขอยุติการบรรยายในวันนี้ไว้เพียงเท่านี้ นี่ถ้ามีปัญหาอะไรก็ถามได้มีเวลาเหลืออยู่บ้าง
[T1]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T2]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T3]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T4]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T5]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T6]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T7]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T8]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T9]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T10]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T11]เข้าใจว่าท่านพูดข้ามปัญหาข้อที่ 4 ไปค่ะ