แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นราชภัฏผู้ลาบวชทั้งหลาย ในการบรรยายครั้งที่ ๑๐ นี้ ผมจะได้กล่าวในหัวข้อว่า ประชาธิปไตยตามแบบแห่งพุทธศาสนา เกี่ยวกับข้อนี้ท่านทั้งหลายคงจะระลึกได้ว่าเราได้พูดกันมาตามลำดับถึงสิ่งที่ได้มีโอกาสชิมลองในระหว่างที่มาบวช สิ่งที่ได้ชิมลองนั้นมีมากมายหลายอย่าง และอย่างที่ไม่เคยสังเกตมาก่อน แม้สิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยหรืออะไร ๆ ที่มันมีความหมายอย่างนี้ ก็รวมอยู่ในเรื่องที่ได้ชิมลอง หรือว่าถ้าจะมองกันให้ดีอีกทางหนึ่งก็การมาบวชอยู่ในคณะสงฆ์ซึ่งมีระเบียบวินัยอย่างนี้ มันก็เป็นอยู่ มันก็เป็นการอยู่อย่างแบบประชาธิปไตยชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน ทั้งโดยธรรมะและโดยวินัย คนภายนอกหรือแม้แต่ชาวต่างประเทศก็ยังมองเห็นความเป็นประชาธิปไตยซึ่งเป็นเจตนารมณ์อยู่ในระบบการปกครองของคณะสงฆ์ในพุทธศาสนา แต่เดี๋ยวนี้ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าระบบประชาธิปไตยนั้นลงกันได้ เจตนารมณ์ของการปกครองสงฆ์แห่งพุทธศาสนา แต่เมื่อดูกันโดยรายละเอียดแล้วมันยังมีอะไรบางอย่างที่ยังจะน่าหัวเราะ คือมันไม่ได้เป็นไปตรงตามคำๆนั้น โดยเฉพาะก็คือคำว่าประชาธิปไตยนั่นเอง แต่ผมอยากจะทบทวนสิ่งที่ควรทบทวนอยู่เสมอกันอีกครั้งหรือหลายครั้ง คืออยากจะขอให้สังเกตให้ดีเป็นพิเศษในข้อที่ว่าเรามาบวชและก็ได้ชิม ลอง คือได้รู้อะไรหลายๆ อย่างนี่ มันมีผลที่เป็นความสำคัญอย่างหนึ่งคือการที่จะทำให้รู้ว่าไอ้โลกกับธรรมนั้น โลกกับธรรมะหรือโลกกับธรรมก็ได้ มันเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ ขอให้สังเกตดูจากสิ่งที่ได้เคยชิมลองในทุกแง่ทุกมุมอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว แล้วความเข้าใจความเชื่อลงไปก็จะค่อยๆ ชัดขึ้นมาว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่าโลกกับสิ่งที่เรียกว่าธรรมนั้น มันไม่ใช่เป็นเรื่องที่ต้องแยกกันเดินหรือว่าพายกันคนละที หรือว่ามันขัดกันอย่างที่เขาพูดกันโดยมาก นี่คือความประสงค์โดยเฉพาะที่ผมอยากจะให้ทุกคน ให้ทุกท่านสนใจเป็นพิเศษ และอีกอย่างหนึ่งก็ขอให้ทำความเข้าใจแตกแขนงออกไปจากทุกๆ เรื่องที่ได้พูดมาแล้วว่ามันมีความสัมพันธ์กันอยู่ในตัว แม้เราจะยกเอาคำว่าประชาธิปไตยขึ้นมาเป็นตัวเรื่องสำหรับจะพูด ก็ขอให้คิดดูเถิดว่า ถ้ามันมีการเป็นอยู่แบบปรทัตตูปชีวี คือยอมรับลัทธิอันนี้แล้วประชาธิปไตยนั้นจะบริสุทธิ์ขึ้นมา หรือมากกว่าที่มันจะเป็นต่างคนต่างถือมึงถือกูกัน หรือถ้าผู้ที่ถือหลักอยู่ต่ำๆ และทำอย่างสูง ดังนี้จะเป็นรากฐานของประชาธิปไตยที่ดี ถ้ามีความเสียสละทำให้มีความจริงใจให้ทุกๆ อย่าง แม้แต่คำว่าเป็นมุนี เป็นมุนีอยู่ในความเป็นมนุษย์ในความเป็นฆราวาส นั่นแหละก็ยิ่งเป็นที่ต้องการของสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยมันเป็นเรื่องของคนโง่ไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้เป็นเรื่องของ กำลังเป็นเรื่องของคนโง่ คนเอาเปรียบคน ไม่มีธรรมะโดยถือเสียว่าโลกมันต้องแยกจากธรรมะเอามานั่นกันไม่ได้อย่างนี้เป็นต้น หรืออุดมคติที่ว่าเป็นเกลอธรรมชาติจะส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่งและแท้จริง เพราะธรรมชาตินี้มันหมายถึงระดับต่ำราบหรือทั่วไป ไม่มีการอะไรมันเป็นพิเศษกว่าอะไร อยู่อย่างเป็นเกลอธรรมชาติมันก็จะเป็นประชาธิปไตยในตัวมันเองเสียแล้ว และข้อที่ว่าให้เก็บความโกรธใส่ยุ้งใส่ฉาง ก็มองเห็นทันทีว่ามันก็ส่งเสริมประชาธิปไตย หรือในที่ประชุมของสภามันเต็มไปด้วยการบันดาลโทสะ ไม่มีความสงบจนไม่เป็นสภา พูดตามหลักธรรมะก็ว่า ที่ใดไม่มีสัตบุรุษ ที่ประชุมใดไม่มีสัตบุรุษคือผู้สงบระงับ ที่ประชุมนั้นไม่ชื่อว่าสภา มันเป็นแต่เพียงคนมานั่งกันมากๆ ถ้าหัดบังคับความโกรธเก็บความโกรธไว้ได้ มันก็จะเป็นประชาธิปไตยในการประชุมอย่างยิ่ง แม้จะลงไปถึงคำว่าอยู่อย่างลดหัวลดหาง ไม่ชูหัวชูหาง ก็อย่างเดียวกันอีก จะช่วยความเป็นประชาธิปไตยนั้นมันง่ายหรือมันถูกต้องหรือมันบริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสที่จะเอาเปรียบหรือข่มขู่ซึ่งกันและกัน แม้ที่สุดแต่ว่าเรื่องชิมปรโลก รสของโลกหลายๆ อย่าง ถ้ามันทำได้ถึงอย่างนี้จะเป็นคนรู้จักหลบหลีก อดออม ปรับปรุงแก้ไขความกระทบกระทั่งได้ในระหว่างสังคมนั้น แม้ส่วนตัวก็ยังไม่มีความทุกข์ ก็รู้จักหลีกไม่ให้มันมีความทุกข์ ไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้นในใจได้
ทีนี้แม้จะใช้คำให้สูงสุดว่าชิมรสของพระนิพพาน ซึ่งมันก็คล้ายกับปรโลก แต่มันก็ยิ่งกว่าปรโลก คือในที่ใดมันไม่มีความร้อน มีแต่ความเย็น ดังนี้ก็เป็นสภาที่ดี นิพพานหรือความเย็นนี้ มันมีหลายอย่างและสรุปความได้ว่าจะเป็นอย่างไหนก็ตาม ในขณะนั้นมันต้องปราศจากตัวกูหรือของกู ความรู้สึกประเภทที่เป็นตัวกูของกูนี้เป็นความร้อน เป็นสิ่งที่ทำให้ไม่มีความเย็นหรือนิพพานในที่นั้น ดังนั้นที่ใดปราศจากตัวกูของกูที่นั่นก็เย็นเป็นนิพพาน แม้อย่างน้อยที่สุดมันก็เป็นนิพพานอย่างน้อยที่สุด ผมเคยแนะให้จำกันไว้ว่าเมื่อใดที่จิตไม่มีตัวกู นิพพานก็มีอยู่ในจิตนั้น ในจิตนั้นก็คือเมื่อตัวกูเกิดขึ้นมาในจิตนั้น สังสารวัตรก็พลันเกิดขึ้นแทน ในจิตไม่มีตัวกูก็เป็นนิพพานอยู่ พอมีตัวกูเกิดขึ้นในจิตนิพพานหายไปสังสารวัตรเกิดขึ้นแทน ดังนี้เรื่องไม่มีตัวกู เรื่องเย็นนี่หลายชนิดอย่างที่ได้พูดมาครั้งที่แล้วมานี้เอง มันเย็นกันได้สักกี่อย่าง ขอให้ทบทวนดูให้ดีจะมีประโยชน์มาก คือจะช่วยให้รู้จักนิพพานลึกซึ้งขึ้นและง่ายขึ้น ถ้าเย็นแล้วต้องเป็นไม่มีตัวกูของกูในความรู้สึก หรือตัวกูของกูมันดับไปได้ ไอ้นิพพานชนิดที่หมดกิเลส หมดอาสวะสิ้นเชิงของพระอรหันต์นั้น มันก็แสดงชัดอยู่แล้วว่าไม่มีกิเลสประเภทตัวกู ดังนี้นิพพาน นิพพาน ศีล นิพพานในลักษณะที่เป็นศีล เป็น Artificial ซึ่งจะทำขึ้นมาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือแสวงหาโอกาสเท่าที่จะแสวงได้ เมื่อจิตมันไม่ ไม่เกิดกิเลส แม้ว่าเป็นคนมีกิเลสแต่จิตมันไม่เกิดกิเลสก็เย็น และก็ตอนนั้นก็ไม่มีตัวกูของกูกวนอยู่ในจิต หรือว่าอยู่ในฌานในสมาธิข่มกิเลสไว้ เพราะตัวกูของกูก็ไม่เกิดขึ้นมาได้มันก็เย็น คิดตกปลงตกหรือมีความเชื่ออะไรมั่นคงข่มไอ้ตัวกูของกูไว้ได้มันก็เย็น หรือแม้ที่สุดแต่ธรรมชาติอันสงบอย่างนี้ ก็เข้ามานั่งตรงนี้ตัวกูของกูก็ไม่เกิด มันก็เย็น กระทั่งว่ากิเลสเกิดก็ให้มันกินเหยื่อของมัน มันก็หยุด ดังนี้เป็นอย่างเลวที่สุด เช่นการบริโภคกาม ให้ความใคร่แห่งตัวกูของกูดับไปขณะหนึ่งมันก็ยังเป็นเรื่องเย็น จนกลายเป็นลัทธิของคนบางพวก ที่ว่าความสมบูรณ์ด้วยกามนั้นเป็นนิพพานตามแบบของเขา ก็ขอให้พิจารณาดูให้ดีเถอะว่าในขณะนั้นมันก็เย็น เพราะไอ้ตัวกูของกูมันระงับ หรือมันนอนฟุบไปชั่วคราวก็สุดแท้แต่จะเรียก ถ้าจะเกิดมีการปรุงยาวิเศษขึ้นมาได้ กินเข้าไปแล้วมันหยุดระบบประสาทหรือส่วนนั้นเสีย มันก็สบายได้ด้วยอำนาจของยานั้นเหมือนกัน เพราะว่ามันไม่มีตัวกูของกูเกิดขึ้นมา ดังนี้ถ้าเรารู้จักนิพพานเผื่อไว้มากความหมายอย่างนี้ มันก็ดีกว่าจะไม่รู้ ดังนั้นการที่สามารถชิมรสพระนิพพานชนิดที่ควรจะชิม ถึงเป็นความดีอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ที่จะรู้จักความสงบ แล้วก็เกลียดความไม่สงบ เกลียดความมีตัวกูของกู จึงจะเป็นมนุษย์ที่เหมาะสำหรับลัทธิประชาธิปไตย ดังนี้ก็เป็นตัวอย่างที่จะต้องคิดกันหรือมองกันอีกทีหนึ่งว่า ไอ้ธรรมะนี้มันช่วยโลกอย่างจำเป็น มันไม่ได้ขัดกับโลก มันไม่ได้ขวางโลก ไม่ใช่เรื่องที่ต้องพายกันคนละที หรือใช้กันคนละที หรือมีกันคนละที ยิ่งเป็นโลกเท่าไรยิ่งเป็นโลกจัดเท่าไร ก็ยิ่งจะต้องมีธรรมะเข้าไปประคับประคองมากเท่านั้น มิฉะนั้นมันจะร้อนเป็นไฟเหลือที่จะทนได้ ดังนั้นขอให้ทบทวนหัวข้อที่พูดกันมาแล้วแต่ละครั้ง ละครั้งไว้เสมอไปจนมันเข้าใจ ถ้าเข้าใจมันจะรู้จักความเชื่อมโยงระหว่างกันและกันอย่างที่ไม่อาจแยกกันได้ แม้ที่สุดแต่คำว่าประชาธิปไตยที่เรากำลังจะพูดนี้มันก็เกี่ยวเนื่องกันกับธรรมะที่มีหลักเกณฑ์ต่างๆ อย่างที่ว่ามาแล้ว ซึ่งล้วนแต่จะเรียกได้ว่าเป็นอุดมคติอย่างหนึ่ง อย่างหนึ่งทั้งนั้น และมันไม่ไม่อาจจะขาดได้ในจำนวนใหญ่จำนวนนี้จะต้องมีกันครบ รวมความแล้วก็สรุป ก็พูดได้ว่าขาดธรรมะแล้วโลกก็ไปไม่รอด ช่วยเอาไปคิดให้มาก ๆ ว่าถ้าขาดธรรมะแล้วโลกนี้จะไปไม่รอด โดยส่วนบุคคลก็ดี โดยส่วนรวมเป็นสังคมใหญ่ก็ดี ฉะนั้นเราจึงจะดูกันต่อไปถึงคำว่าประชาธิปไตยซึ่งมันจะขาดธรรมะไม่ได้ จึงได้ตั้งชื่อหัวข้อของการบรรยายในวันนี้ว่า ประชาธิปไตยตามแบบแห่งพุทธศาสนา ซึ่งก็จะเป็นการเปรียบเทียบอยู่ในตัวว่าประชาธิปไตยทั่วไปกับหลักแห่งพุทธศาสนานั่นเอง ขอให้คอยสังเกตให้เข้าใจ
ในชั้นแรกนี้ขออย่านึกไปว่าเรากำลังพูดกันเรื่องการเมือง หรือเอาการเมือง หรือลัทธิการเมือง อุดมคติการเมืองของโลกมาวิพากษ์วิจารณ์ หรือว่ามุ่งจะตำหนิติฉิน ไม่ได้มีเจตนาอย่างนั้น มีเจตนาแต่จะให้รู้ว่าในพุทธศาสนานี้ก็มีเจตนารมณ์เป็นประชาธิปไตย และก็แท้ๆ กว่า จริงกว่า ใช้เป็นประโยชน์ได้มากกว่า และก็เพื่อจะดูว่าประชาธิปไตยของชาวบ้านทั่วทั้งโลกนั้นเป็นอย่างไร มันไปกันได้เท่าไรหรือมันขัดกันอยู่เท่าไรกับเจตนารมณ์แห่งประชาธิปไตยในพุทธศาสนา และเมื่อเราพูดถึงประชาธิปไตยหรืออะไรที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยก็ไม่ได้หมายความว่าเราเล็งถึงเฉพาะในประเทศไทย เราจะเล็งถึงประชาธิปไตยของทั้งโลก แล้วก็มาเปรียบเทียบกันดูกับประชาธิปไตยในเจตนารมณ์ที่เป็นพุทธศาสนา ดังนี้มันก็ต้องพูดไปตามลำดับ มันก็ต้องยกเอาประชาธิปไตยทั่วไปของชาวบ้านนั้นมาดูกันก่อนว่ามันเป็นอย่างไร แต่ขอให้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างหนึ่งก่อนกันความฝั้นเฝื้อ ปนเปกันยุ่งไปหมด เมื่อชาวบ้านเขาใช้คำว่าประชาธิปไตย ในพุทธศาสนานี้ใช้คำว่าสังฆาธิปไตย คุณก็ต้องได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่าสังฆาธิปไตยคือสงฆ์เป็นใหญ่ ในเมื่อชาวบ้านเขาจะพูดว่าประชาธิปไตย ประชาชนเป็นใหญ่ คือแต่ละคน ละคนเป็นใหญ่ ในวัดเรากลับพูดว่าสังฆาธิปไตยคือสงฆ์ คณะสงฆ์ หรือตัวสงฆ์นั้นเป็นใหญ่ แต่มันมี Spirit อะไรที่เป็นแบบประชาธิปไตย ถ้าดูประชาธิปไตยของชาวบ้านกันก่อน ไอ้คำแรกที่จะมาถึง ก็คำว่าประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนแต่ละคน แต่ละคนเป็นใหญ่ คอยดูต่อไปมันจะเป็นได้หรือไม่ และคำที่เขาชอบพูดกันนัก อ้างอิงกันนักก็คือว่า ของประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชน แล้วแต่จะวนอย่างไหน จะโดยประชาชน ของประชาชน เพื่อประชาชน หรือเพื่อประชาชน โดยประชาชน ของประชาชน วนกันอยู่แต่ ๓ นี้ ๓ ประชาชนนี้ ถ้าประชาชนหมายถึงแต่ละคน แต่ละคน แล้วก็คงจะลำบาก ถ้าประชาชนหมายถึงเป็นหมู่ๆ ก็ค่อยยังชั่ว ถ้าประชาชนหมายถึงทั้งหมดทุกคนรวมกันได้ก็จะดีขึ้นไปอีก แต่คำว่าประชาธิปไตยที่เขาพูดกันอยู่นั้นมันแต่ละคน แต่ละคนเป็นใหญ่ แสดงสิทธิ ใช้ความเป็นใหญ่ นั้นเขาพูดว่า เพื่อประชาชน โดยประชาชน ของประชาชน โดยที่เขาถือเสียว่า เดี๋ยวนี้ประชาชนนี่มันดีถึงขนาดที่ใช้ระบบนี้ ระบบให้พระราชาคนหนึ่งเป็นใหญ่หรืออะไรเป็นใหญ่มันใช้ไม่ได้แล้ว ก็มนุษย์มันดีถึงขนาดที่ให้ประชาชนเป็นใหญ่ แล้วมันเกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่าทำไมมันจึงกลายเป็นมีผลตรงกันข้าม คือในยุคที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ยังจะมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยเสียกว่า มีความสงบหรือสันติสุขมากกว่า พอมายุคประชาธิปไตยนี้มันเต็มไปด้วยวิกฤติการณ์ ยิ่งหาสันติภาพไม่ได้ ยิ่งเป็นยุคที่มีบาปมากที่สุดในโลกนี้ โลกแห่งยุคประชาธิปไตยที่ใครทำอะไรตามพอใจ และก็เรียกร้องเลยขอบเขตมากขึ้นๆ และก็มุทะลุดุดันยิ่งขึ้น จนกลายเป็นฆ่าฟันกันอย่างไม่มีความหมาย กลายเป็นเหมือนกับว่ายุคที่มีบาปอย่างยิ่ง ถูกสาปอย่างยิ่ง ถูกล่อลวงด้วยภูตผีปีศาจอะไรสักอย่างกระมั่ง ที่มนุษย์บูชาประชาธิปไตยแบบไหนกันก็ไม่รู้ ดังนี้เราจะเปรียบเทียบดูกับแบบของพุทธศาสนา แม้ว่าเขาจะไม่รู้จักและไม่เข้าใจและไม่ยอมรับ เมื่อพูดว่าประชาธิปไตยประชาชนเป็นใหญ่ ผมเชื่อว่าท่านทั้งหลายก็เข้าใจความหมายตามที่เขาประสงค์ ประสงค์กันตามธรรมดา ถ้าจะลองเงี่ยหูไปฟังคำอีกคำหนึ่งว่าธรรมะเป็นใหญ่ กับประชาชนเป็นใหญ่ ๒ คำนี้มันเหมือนกันหรือเปล่า เอาความรู้สึกของตัวเองเป็นประมาณก็ได้ ว่ามันเกิดพูดขึ้นมาว่าประชาชนเป็นใหญ่กับพระธรรมเป็นใหญ่นี่ มันเหมือนกันหรือเปล่า มันมีทางที่จะเหมือนกันได้หรือเป็นอันเดียวกันได้หรือเปล่า ถ้าเราดูตามสถานการณ์เดี๋ยวนี้มันไม่มีทางจะเป็นไปได้ ไอ้ประชาชนเป็นใหญ่นี่มันกิเลสของประชาชนแต่ละคนเป็นอย่างไร มันก็ต้องการอย่างนั้น แต่ถ้าพระธรรมเป็นใหญ่ มันก็ต้องเอาธรรมะหรือความถูกต้องเป็นใหญ่ เอาความต้องการของประชาชนเป็นหลักไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันก็ยึดที่ได้ว่า คำว่าประชาชนเป็นใหญ่นี่กับคำว่าพระธรรมเป็นใหญ่นี่ มันไม่ใช่อย่างเดียวกันเสียแล้ว แม้แต่ว่าจะฟังดู ก็ลองฟังดูเถอะ คำไหนมันลื่นหูกว่ากัน ประชาชนเป็นใหญ่กับพระธรรมเป็นใหญ่ คำไหนมันน่าฟังกว่า เอาใจของตัวเป็นหลัก ทีนี้ผู้ที่บัญญัติประชาธิปไตยอย่างที่ประชาชนเป็นใหญ่ ไอ้คนนั้นมันรู้จักธรรมะหรือเปล่า หรือมันมีธรรมะกี่มากน้อย คนที่มันจะตั้งลัทธิประชาชนเป็นใหญ่ขึ้นมา คนนั้นมันมีธรรมะกี่มากน้อย หรือว่าถ้าจะปล่อยไปตามประสาของประชาชน ประชาชนทั้งหลาย ประชาชนเหล่านี้มันมีธรรมะกี่มากน้อย มีหรือเปล่าซ้ำไป ก็ถ้ามี ก็มีกี่มากน้อย แล้วแต่ยังอยากจะรู้ว่าอะไรเป็นธรรมะของประชาชนเหล่านั้น เมื่อประชาชนเหล่านั้นยังเห็นแก่ตัวหรือว่ามันถูกยั่ว ถูกจูงไปด้วยอำนาจของสิ่งยั่วยวนในโลกปัจจุบัน เพื่อความสุขทางวัตถุ ทางเนื้อ ทางหนังมากขึ้นนี้ ประชาชนนี้มันจะมีธรรมะหรือเปล่า มีกี่มากน้อย แล้วอะไรคือธรรมะของเขา มันจะกลายเป็นว่า ไอ้ได้นั่นแหละดี ได้นั่นแหละคือธรรมะของเขา คือประชาชนที่ต่างคนต่างเห็นแก่ตัว ตัวได้นั่นแหละคือธรรมะ เกิดถือศาสนาได้ขึ้นมา เรื่องนี้เราก็เคยพูดกันมาหลายครั้งแล้ว ที่จะชี้ให้เห็นว่าประชาชนในโลกทั้งโลกเวลานี้กำลังถือศาสนาได้เป็นธรรมะ เป็นพระเจ้า ถือการได้ การมีสิ่งที่สนองความอยากของตนนั้น เป็นพระเจ้า เป็นศาสนา ก็เต็มไปด้วยประชาชนแต่ละคน แต่ละคนที่เห็นแก่ตัว ที่รู้จักแต่ประโยชน์ของตัวหรือการได้เพื่อตัว ดังนี้เมื่อประชาชนเป็นใหญ่ ก็ประชาชนเหล่านั้นก็มีสิทธิที่จะทำอะไรตามความต้องการของตน มันก็เลยเป็นประชาธิปไตยแห่งความเห็นแก่ตัว ใช่หรือไม่ใช่ ลองคิดดูให้ดี มันเป็นประชาธิปไตยแห่งความเห็นแก่ตัว ใช่หรือไม่ใช่ ถ้าว่ามันเป็นประชาธิปไตยแห่งการเห็นแก่ตัว มันก็เป็นประชาธิปไตยแห่งการยื้อแย่ง ใช่หรือไม่ใช่ เพราะถ้าเห็นแก่ตัวแล้วมันก็ต้องยื้อแย่งแน่ มันจึงเขยิบมาเป็นอันดับที่ ๒ มันเป็นประชาธิปไตยแห่งการยื้อแย่ง มีสิทธิที่จะยื้อแย่ง ยื้อแย่งโดยทุกอย่าง ทุกทาง ยื้อแย่งซึ่งหน้า ก็มือใครยาวก็สาวเอา ก็เป็นประชาธิปไตย ผู้ที่มีอำนาจมีอะไรมันก็บอกว่ามันมีสิทธิที่จะทำ ที่จะหา ที่จะมี ที่จะรวบรวม ไอ้คนยากจนมันก็มีสิทธิที่จะหา ที่จะทำ ที่จะรวบรวม เมื่อมันไม่ได้มันก็มีสิทธิที่จะต่อสู้ มันก็เลยเป็นประชาธิปไตยแห่งการยื้อแย่ง ประชาธิปไตยอย่างนี้มันจะเป็นธรรมาธิปไตยได้อย่างไร หรือจะเป็นสังฆาธิปไตยในหมู่อย่างที่มีในหมู่สงฆ์ว่าสงฆ์เป็นใหญ่ มันจะเป็นอย่างนั้นได้หรือไม่ เดี๋ยวนี้เราก็เห็นกันอยู่แล้วคงปฏิเสธไม่ได้ ว่าคนมันเห็นแก่ตัวยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะความก้าวหน้าทางวัตถุ ก็มาเป็นประชาชนผู้มีสิทธิมีเสียงในการปกครองแผ่นดิน ปกครองโลก เป็นสภาหรือเป็นอะไรขึ้นมา สมาชิกคือผู้เห็นแก่ตัว ดังนี้มันมีรัฐธรรมนูญของใครหรือว่ากฎหมายอันไหนที่มันสามารถป้องกันความเห็นแก่ตัว ไปคิดดูอีกทีว่ารัฐธรรมนูญฉบับไหนของประเทศไหนที่มันสามารถป้องกันความเห็นแก่ตัวโดยส่วนตัวของ ของประชาชนแต่ละคน แม้แต่กฎหมายมันยังทำไม่ได้ กฎหมายที่ใช้ความรุนแรง ตรงไปตรงมา มันก็ยังทำลายความเห็นแก่ตัวของคนไม่ได้ มันเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องของศีลธรรม เป็นเรื่องของศาสนา รัฐธรรมนูญก็ดี กฎหมายก็ดี มันไม่สามารถจะทำลายความเห็นแก่ตัวของคนได้ รัฐธรรมนูญเหล่านั้นมันก็ไม่สามารถที่จะป้องกันมิให้คนที่เห็นแก่ตัวนั้นเข้ามาเป็นสมาชิกของสภา มันก็ห้ามกันไม่ได้ตลอดไป ดังนั้นจึงมีสภาแห่งผู้เห็นแก่ตัวโดยที่รัฐธรรมนูญมันป้องกันไม่ได้ หรือกฎหมายมันก็ป้องกันไม่ได้ มันก็เลยมีสภาแห่งผู้เห็นแก่ตัว นี่คือประชาชนเป็นใหญ่อันแท้จริง สมชื่อ เพราะกิเลสของประชาชนผู้มีความเห็นแก่ตัวมารวมกันเป็นก้อนใหญ่และก็บันดาลประเทศชาติหรือโลกให้มันเป็นไป
เอ้า , ทีนี้มองให้ซึ้งลงไปอีก ว่าประชาชนแต่ละคนเขาเห็นแก่อะไร เขาเห็นแก่ประเทศชาติ หรือเห็นแก่พระธรรม หรือว่าเห็นแก่ประโยชน์ของตน สมาชิกรัฐสภาของประเทศไหนก็ตามในหัวใจแท้จริงเขามันเห็นแก่ประโยชน์ของตน หรือเห็นแก่ประโยชน์ของชาติ หรือเห็นแก่ประโยชน์ของพระเจ้า ของพระธรรม ก็ไปดูเองก็แล้วกัน ที่มันปรากฏเห็นชัดๆ อยู่จนไม่ต้องสงสัย มันเอาประโยชน์ของตัวเป็นเบื้องหน้า เพราะฉะนั้นมันก็เป็นประโยชนาธิปไตย โดยเนื้อแท้ที่แท้จริงมันกำลังเป็นประโยชนาธิปไตย คือประโยชน์นั่นแหละเป็นใหญ่ คำว่าประโยชน์ ประชาชนเป็นใหญ่ก็คือประโยชน์ของประชาชนคนนั้นแหละมันเป็นใหญ่ เดี๋ยวนี้มันทำคนเดียวไม่ได้ มันก็เป็นพรรคกันขึ้นมา เช่นในรัฐสภามีหลายพรรค ประโยชน์ของแต่ละพรรคมันเป็นใหญ่ ช่วยกันรักษาประโยชน์ของพรรค เพื่อแจกกันเป็นประโยชน์ส่วนตัวกันต่อไปอีก ดังนั้นโดยเนื้อแท้ที่มันกำลังเป็นอยู่ในโลกจริงๆ เวลานี้ มันเป็นพรรคะประโยชนาธิปไตย พรรคะคือพรรค ประโยชน คือประโยชน์ อธิปไตยเป็นใหญ่ มันมีประโยชน์แห่งพรรคเป็นใหญ่ ในระบบประชาธิปไตยที่กำลังมีอยู่ในโลกเวลานี้ทั้งโลก จะยิ่งเห็นว่ามันไกลจากพุทธศาสนา ไกลจากประชาธิปไตยในแบบของพุทธศาสนา และก็ไกลจากสังฆาธิปไตย ถ้าเป็นสังฆาธิปไตยตามแบบพุทธศาสนามันเป็นอย่างนั้นไม่ได้ คือจะเห็นแก่ประโยชน์ตน หรือประโยชน์ของพรรคพวกไม่ได้ มันต้องสงฆ์เป็นใหญ่หรือธรรมะเป็นใหญ่อยู่เสมอ ดังนี้ควรจะจำไว้ให้ดี คำ ๆ นี้เป็นเรื่องที่ต้องดูกันต่อไปอีกมาก ว่าพรรคะประโยชนาธิปไตย มีประโยชน์แห่งพรรคนั่นแหละเป็นใหญ่ หาใช่ประชาชนเป็นใหญ่ไม่ มันพูดกันแต่ปาก เอ้า, ถ้าจะถือว่าแต่ละพรรค ละพรรคก็ล้วนแต่เป็นประชาชน แต่นี้ประโยชน์ของแต่ละพรรคมันไม่เหมือนกัน จะพูดว่าประชาชนเป็นใหญ่มันก็ไม่ถูกต้อง ประชาชนพรรคหนึ่งๆ เห็นประโยชน์ของตนเป็นใหญ่ ก็เลยลดลงไปในทางเห็นแก่ตัวหรือพวกของตัวอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นการที่เขาจะพูดว่ามนุษย์สมัยนี้เหมาะอย่างยิ่งแล้วที่จะเป็นประชาธิปไตยนี้ มันเข้าใจยาก มันมองไม่เห็นว่ามนุษย์สมัยนี้เหมาะแล้วที่จะเป็นประชาธิปไตย ผมเห็นว่ายิ่งจะต้องเป็นธรรมาธิปไตยอะไรยิ่งขึ้น จะเอาความต้องการของมนุษย์สมัยนี้แต่ละคนเป็นหลักไม่ได้ ไม่ได้แน่ เป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น มนุษย์สมัยนี้แต่ละคนต้องถือพระธรรมเป็นหลัก เอาพระธรรมเป็นหลักจนเป็นธรรมาธิปไตย ถ้าอย่างในวัด ในคณะสงฆ์ของเราก็เป็นสังฆาธิปไตย ไม่มีคำว่าอัตตาธิปไตยหรือพรรคาธิปไตยหรือพรรคะประโยชนาธิปไตย
เอ้า, ทีนี้ดูพระธรรมเป็นใหญ่ทั้งทีดีกว่า พระธรรมเป็นใหญ่ก็เรียกได้ง่ายๆ ว่า ธรรมาธิปไตย ไม่เอาความต้องการของคนใดคนหนึ่งเป็นหลัก แต่ว่าเอาความถูกต้องของธรรมะเป็นหลัก ดังนี้จะพบความแตกต่างอย่างยิ่ง จะจัดกันในรูปไหนก็ตาม ถ้ามีธรรมะเป็นใหญ่ มีธรรมะเป็นหลักและก็ได้ทั้งนั้น เพราะว่าไอ้คนมันไม่มีทางจะเห็นแก่ตัว ถ้าธรรมะเป็นใหญ่ ธรรมะเป็นหลักขึ้นจริงๆ แล้ว คนไม่มีทางจะเห็นแก่ตัว ก็ธรรมะมันไม่ยอมให้เห็นแก่ตัว ถ้าเกิดเห็นแก่ตัว มันก็ไม่ใช่ธรรมะเป็นใหญ่ มันก็หมด หมดหมดความเป็นธรรมาธิปไตย กลับไปหาประโยชนาธิปไตยของแต่ละคนไปอีก เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยที่บริสุทธิ์หรือตามหลักแห่งพุทธศาสนาต้องขึ้นอยู่กับธรรม ส่วนผู้ที่ดำเนินการให้เป็นไปนั้น จะเป็นบุคคลก็ได้ จะเป็นหมู่คณะก็ได้ หรือจะเป็นแบบคณะทั้งหมดอย่างแบบประชาชนเลือกผู้แทนเป็นรัฐสภานี้มันก็ได้ แต่ลองคิดดูอย่างไหนมันจะรวดเร็วกว่า นี่พูดลงไปตรงๆ เลยว่า ถ้ามันเป็นธรรมาธิปไตยคือเอาธรรมะเป็นใหญ่แล้ว วิธีดำเนินงานนี้ใช้ราชาธิปไตยก็ได้ ใช้เผด็จการก็ได้ แต่พวกเผด็จการมันเอาธรรมะเป็นใหญ่ พวกเผด็จการที่มีธรรมะเป็นใหญ่หมายความว่าเขาได้รับการมอบหมายจากทุกคนให้ถือธรรมะเป็นใหญ่สำหรับเผด็จการ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจถืออาวุธมาแล้วบังคับคนทั้งหลายให้อยู่ใต้อำนาจแล้วก็กอบโกยประโยชน์กันตามพอใจอย่างนั้น มันก็ไม่ใช่เผด็จการของธรรมะ คือไม่ใช่ธรรมาธิปไตย แต่ถ้าคนมันมีธรรมะเป็นใหญ่ ซื่อตรง บริสุทธิ์แล้วมันจะเผด็จการอย่างไรตามใจก็ยังเป็นธรรมาธิปไตยอยู่นั่นเอง ต้องรู้จักแยกกันให้ดีๆ คำพูดมันจะหลอกลวง จะทำให้สับสน จะระบบราชาธิปไตยก็ได้ สังคมนิยมก็ได้ เผด็จการอะไรก็ได้ ถ้ามันขึ้นอยู่กับธรรมะ ขอให้ไปศึกษาในส่วนนี้ให้มาก ว่าทำอย่างไรเรียกว่าธรรมะเป็นใหญ่ ที่จะถือธรรมะเป็นหลักถือกันเป็นอย่างไร ด้วยสิ่งนั้นจะได้ชื่อว่ามีธรรมะเป็นใหญ่ ถ้าบ้านเมืองปกครองด้วยลัทธิธรรมาธิปไตย มันก็หมายความว่าถือธรรมะเป็นใหญ่ ไม่ใช่ถือประชาชนเป็นใหญ่ ที่เมื่อถือธรรมะเป็นใหญ่แล้วจะจัดไปในรูปให้คน ๆ เดียวเผด็จการ หรือให้หลายคนเผด็จการ หรือว่าให้สภาเผด็จการมันได้ทั้งนั้น แต่ต้องมีธรรมะเป็นใหญ่ ธรรมะเป็นหลัก มีธรรมะเป็นใหญ่ก็มีคำที่ใช้กันอยู่แล้วว่าธรรมาธิปไตย แต่มันยาว ยืดยาว แล้วมันก็ไม่จำกัดลงไป เราใช้คำให้มันสั้นกว่านั้นก็ได้ คือใช้คำว่า ธรรมิก ธรรมิก เป็นคุณศัพท์สำหรับประกอบเข้าข้างหน้าอะไรก็ได้ เช่นธรรมิกประชาธิปไตย ก็เป็นประชาธิปไตยที่ประกอบไปด้วยธรรมะ หรือธรรมิกสังคมนิยม ก็สังคมนิยมที่ประกอบไปด้วยธรรมะ หรือว่าธรรมิกราชาธิปไตย ก็เป็นพระราชาที่ประกอบด้วยธรรมะเป็นใหญ่ นี้ก็ใช้ได้ มันเป็นเรื่องใช้ได้ไปหมด ถ้าหากว่ามีคำว่าธรรมิกเข้ามาอยู่ข้างหน้า ประกอบอยู่ข้างหน้า และจำคำว่าธรรมิกไว้ด้วย ถ้าผิดธรรมะแล้วก็ไม่ใช่ธรรมิก ถ้าถูกต้องตามธรรมะแล้วเรียกได้ว่า ธรรมิก ถ้าจะให้ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ใช้ได้ ไม่มีอันตรายต้องเติมคำว่าธรรมิกเข้าไปข้างหน้า กลายเป็นธรรมิกประชาธิปไตย ถ้าอย่างนี้แล้วไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่แล้ว ประชาชนหมดความเป็นใหญ่ เพราะไปมอบให้แก่ธรรมะเป็นใหญ่ จึงว่าประชาธิปไตยชนิดที่ธรรมะเป็นใหญ่ ลู่ทางที่จะรอดได้มันมีอยู่อย่างนี้ นี่มาดูคณะสงฆ์ในพุทธศาสนาก็ถือธรรมะเป็นใหญ่ แต่เมื่อเล็งถึงตัวผู้ดำเนินงานให้สงฆ์เป็นใหญ่ ก็เลยเรียกว่าสังฆาธิปไตยก็ได้ ทีนี่คนฝ่ายโน้นก็จะแย้งว่าหมายความว่าถ้าสงฆ์ทุกองค์ดีอย่างนั้นเหรอ ทีประชาชนทำไมจึงว่าประชาชนเห็นแก่ตัว ทีสังฆาธิปไตยพระสงฆ์แต่ละองค์เห็นแก่ตัวหรือเปล่า นี่ก็ขอให้นึกถึงคำว่าธรรมาธิปไตย แม้จะใช้คำว่าสังฆาธิปไตยก็ไม่ทิ้งความหมายของธรรมาธิปไตย เพราะกว่าจะไปบวชเป็นภิกษุสงฆ์ได้นั้นมันต้องถูกกลั่นกรองเข้าไปถูกต้องตามลำดับตามลำดับ ลำดับ ก็จะเป็นพระสงฆ์ที่จะประกอบด้วยธรรม แล้วประกอบขึ้นเป็นคณะสงฆ์ที่ประกอบไปด้วยธรรม แล้วคำว่าสังฆาธิปไตย สงฆ์เป็นใหญ่นี้มีพระธรรมเป็นหลัก มีธรรมวินัยเป็นหลัก สงฆ์มิได้เอาบุคคลหรือคณะบุคคลเป็นหลักแต่เอาธรรมวินัยเป็นหลัก สงฆ์ก็ต้องอยู่ด้วยธรรมวินัย จึงจะเรียกสงฆ์ในที่นี้คือสงฆ์ที่แท้จริง ถ้าไม่อย่างนั้นก็เป็นสงฆ์เก๊ สงฆ์ปลอม สงฆ์อะไรไปตามเรื่องของมัน ดังนั้นถ้าเราพูดว่าสังฆาธิปไตยก็คือสงฆ์ที่มีธรรมวินัยเป็นหลัก มันก็ปลอดภัย
ทีนี้เราเป็นพระกันทั้งทีก็ควรจะเข้าใจ ระบอบสังฆาธิปไตยกันเสียบ้าง ถ้าบวชหลายพรรษา ศึกษานักธรรมตรี โท เอกจบแล้วก็จะเข้าใจเรื่องนี้ดี เพราะเรื่องสงฆ์เป็นใหญ่นี้มันไปมีสอนกันในชั้น นักธรรมชั้นเอก วินัยมุขเล่ม ๓ บวชเพียง ๓ พรรษา นักธรรมตรีก็ไม่ได้เรียน ก็ไม่มีโอกาสผ่านเรื่องนี้ จึงเอามาเล่าให้ฟัง ที่ว่าสงฆ์เป็นใหญ่คือสงฆ์ที่มีธรรมวินัยเป็นหลัก ทีนี้มาพูดกถึงหลักของวินัยก็มีอยู่อย่างหนึ่ง พูดถึงหลักของธรรมะก็มีอยู่อย่างหนึ่ง และคำว่าธรรมะนี้ก็มีความหมายหลายระดับซึ่งจะได้ดูกันต่อไป เกี่ยวกับการใช้สิทธิและอำนาจในการปกครองที่เรียกว่าสงฆ์เป็นใหญ่นั้น คือสงฆ์ที่เป็นปกติแต่ละองค์ แต่ละองค์เป็นสมาชิกของการประชุม แล้วก็ต้องการเสียงที่เป็นเอกฉันท์คือร้อยทั้งร้อย ไม่ได้ลงมติว่าเกินครึ่งแล้วใช้ได้นั้นไม่เอา ในหมู่สงฆ์นี่การโหวตนั้นต้องเป็นร้อยทั้งร้อย เป็นเอกฉันท์ มันคงจะประหลาดมาก ในเมื่อนำไปเทียบกับในรัฐสภาของชาวบ้าน เขาเกินครึ่งแม้จะเพียงหนึ่งคนก็เอาแล้ว เป็นมติที่เอาแล้ว ใช้ได้แล้ว แต่ถ้าในหมู่สงฆ์นี้มันไม่ได้ มันต้องทุกองค์คือทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ลงมติด้วยคือโหวตด้วยจึงจะได้ ฟังดูแล้วมันคล้ายๆ กับว่าไม่สามารถจะปฏิบัติได้ ที่ให้ทุกคนทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ลงมติเหมือนกัน แต่มันเป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้อย่างแปลกประหลาดเรื่อยมาในหมู่คณะสงฆ์ตั้งแต่ ๒๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว ถ้าเป็นชาวบ้านเขาได้เพียงเกิน ๕๐ เปอร์เซนต์ ๑ เสียงก็พอแล้ว และบางอย่างเขาไห้คนเพียง ๑ ใน ๓ ของทั้งหมดมีสิทธิทำอะไรได้ คล้ายๆ กับเป็นสิทธิของที่ประชุมทั้งหมด ถ้าอย่างนี้ในคณะสงฆ์เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นในรัฐธรรมนูญของทุกๆ ประเทศ บัญญัติไว้ ๑ ใน ๓ บ้าง ๒ ใน ๓ บ้าง จนกระทั่งว่าเกิน ๕๐ เปอร์เซ็นต์เพียง ๑ เสียง มันก็ยังได้ ส่วนคณะสงฆ์จะต้องร้อยทั้งร้อยเสมอ ทำไมมันจึงเป็นไปได้ แล้วจะเอาระเบียบอันนี้ไปใช้ในรัฐสภาของชาวบ้านจะได้หรือไม่ มันก็คงตอบได้ง่ายๆ ว่ามันไม่ได้ เพราะว่าแต่ละคน ละคนที่เป็นสมาชิกของสงฆ์หรือของสภามันไม่เหมือนกัน เพราะฝ่ายชาวบ้านเขายอมให้ใครที่เป็นชาวบ้านตามสิทธิมาออกเสียงได้ เป็นผู้แทนมาออกเสียงได้ แต่ถ้าสงฆ์แล้วต้องมีกฎเกณฑ์ที่วางเป็นระเบียบไว้ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนั้นจึงจะได้ และมันมีอย่างอื่นประกอบอีก ไอ้การเชื่อฟังผู้เฒ่าผู้แก่นั้นก็เป็นหลักการอันหนึ่งที่นิยมในหมู่สงฆ์ พระเถระองค์ใดตั้งอยู่ในฐานะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่เป็นประธานทุกคนมันเชื่อฟัง ดังนี้ถ้าในรัฐสภาของชาวบ้านเดี๋ยวนี้ไม่มี ไม่มีผู้เฒ่าผู้แก่ ยิ่งเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ผู้หลักผู้ใหญ่ยิ่งถูกล้อ ยิ่งถูกสับ ถูกโขก ถูกเอามาเขียนการ์ตูนประจานเล่น มันก็ไม่มี ยังมีประเพณีสงฆ์เป็นมาอย่างไรก็ยังรักษาไว้ ดังนั้นจึงสามารถทำให้เสียงเป็นเอกฉันท์ได้ เอ้า , ทีนี้ถ้าสมมุติว่ามีภิกษุองค์หนึ่งเป็นคนไม่สมประกอบบ้าบออะไรขึ้นมา ใช้สิทธิเสียงนอกคอกออกไปสัก ๑ เสียง ๒ เสียงอย่างนี้ มันก็คอยแย้งไปเรื่อย มันก็จะมีการว่ากล่าวห้ามปรามขึ้น ถ้าถึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้งก็จะจัดตัวเป็นผู้ว่ายาก ก็จะสวดให้เป็นผู้ต้องอาบัติสังฆาฑิเสส เอาตัวไปเก็บไว้เสียที่ใดที่หนึ่ง ไม่มีสิทธิที่จะมาออกเสียงในสงฆ์ มันก็เหลือแต่สงฆ์ที่เป็นปกติหมด มันก็ออกเสียงเป็นเอกฉันท์ได้ ทีนี้ชาวบ้านเขาทำอย่างนั้นไม่ได้เพราะว่าเขาไม่ได้เขียนรัฐธรรมนูญไว้ในลักษณะเดียวกับวินัยของสงฆ์ ในวินัยของสงฆ์มีทั้งธรรมะ มีทั้งวินัยที่จะกลั่นกรองตัวอุปสรรคทั้งหลายออกไปเสียจากที่ประชุมสงฆ์หรือคณะสงฆ์ ถ้าพูดโดยธรรมะแล้วพระพุทธเจ้าตรัสเปรียบว่าเหมือนกับมหาสมุทรมันจะคัดสิ่งโสโครกสาดขึ้นฝั่งหมดไม่เหลืออยู่ในมหาสมุทร ฉันใดก็ดีธรรมะวินัยนี้ พรหมจรรย์นี้ก็บัญญัติไว้ในลักษณะอย่างนั้น ในลักษณะที่จะทำให้อลัชชีอยู่ไม่ได้ ถ้าจะปฏิบัติตามแล้วมันจึงมีผู้ที่เป็นปกติ ปกตัตต หรือพระภิกษุผู้ปกติเป็นสมาชิกหนึ่งๆ ของคณะสงฆ์ มันจึงมีการโหวตเสียงที่เป็นเอกฉันท์ได้ร้อยทั้งร้อย ดังนี้คือระบบสังฆาธิปไตย ที่มันต่างกันมากกับประชาธิปไตยชาวบ้านในโลกนี้ นี่คือเรื่องของธรรมะที่มันต่างกันกับเรื่องของชาวบ้าน หรือว่าเรื่องโลกของชาวบ้านกับเรื่องธรรมะของศาสนามันเป็นอย่างนี้ คือว่าเอาธรรมะเป็นหลัก ไม่ได้เอาความต้องการของคน ๆ หนึ่งเป็นหลัก ดังนั้นถ้าเราอยากจะรู้จักประชาธิปไตยตามแบบของพุทธศาสนาก็ขอให้ศึกษาเข้ามาในรูปนี้ จนรู้ว่าพระสงฆ์นั้นคืออย่างไร ที่ประกอบกันขึ้นเป็นสงฆ์ ถ้าเป็นคนบ้าคนบอ ถ้าเป็นคนหัวรั้น เป็นคนดื้อดึงก็มีทางที่จะขจัดออกไปเสียอย่างไร เมื่อยุคที่แล้วมาในรัฐสภาของประเทศไทยเรานี้มีผู้แทนบางคนเหมือนกับคนบ้า ก็ไม่มีอำนาจอะไรจะเอาออกไปได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ มันก็จะถือว่ามันเป็นความบกพร่องของรัฐธรรมนูญอะไรก็ตาม มันแสดงความเป็นไปไม่ได้ เพราะว่ารัฐธรรมนูญมันก็ไม่ได้เขียนโดยผู้ที่รอบรู้ไปหมด ถ้าเรารู้ไปหมดมันควรจะเอาพวกที่บ้าบอออกไปได้ทันที ดังนั้นในคณะสงฆ์จึงมีระเบียบที่เป็นความศักดิ์สิทธิ์ในตัวอันหนึ่งคือธรรมวินัยที่พระองค์ทรงวางไว้ ถ้ามีการปฏิบัติตามแล้วมันจะซัดสาดสิ่งที่เป็นตัวอุปสรรคอยู่ในคณะสงฆ์ออกไปได้เอง ดังนั้นไอ้ความเป็นประชาธิปไตยในหมู่คณะสงฆ์มันจึงเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือมันเป็นธรรมาธิปไตย ประกอบอยู่ด้วยธรรมวินัย เมื่อพูดถึงการปกครองอย่างนี้ก็ต้องพูดถึงวินัย เพราะเป็นเรื่องบังคับ เป็นกฎสำหรับบังคับ เป็นวินัยของสงฆ์เป็นกฎของคณะสงฆ์ อย่างปาติโมกข์ทั้งหลาย สิกขาบทในปาติโมกข์นั้นก็เพื่อจะเตรียมคน เตรียมภิกษุทุกองค์ให้เป็นสมาชิกที่ดีของคณะสงฆ์ และยังมีวิธีการที่ขจัดคนที่ไม่ดีให้ออกไปหรือไม่ให้มีสิทธิมีเสียงที่จะออกเสียงอย่างนี้เป็นต้น
ทีนี้มาดูที่เราเคยดูกันมาเรื่อยๆ ทุกวันๆ ว่าการเข้ามาบวชนี่เป็นการได้ชิมประชาธิปไตยตามแบบของพุทธศาสนา ถ้าท่านทั้งหลายสนใจศึกษารวมทั้งปฏิบัติด้วยก็เป็นที่แน่นอนเหลือเกินว่า ผู้ที่บวชแต่ละคนจะได้ชิมรสของประชาธิปไตยตามแบบแห่งพุทธศาสนา เราอาจจะพูดได้ว่าขอให้อยู่ไปตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่มันตั้งกันขึ้นไว้แต่โบรมโบราณ ในการเป็นอยู่ในวัดนี้จะเป็นประชาธิปไตยที่ถูกต้องหรือค่อนข้างถูกต้องเรื่อยๆ มา เพราะมันมีกลิ่นอายของธรรมะมาก หรือมันมีอิทธิพลของธรรมะมากอยู่ในวัฒนธรรมที่มีอยู่ในวัด ที่เป็นขนบธรรมเนียมของวัด ดังนั้นมันจึงมีประชาธิปไตยแม้แต่เด็กวัด ดังนั้นประชาธิปไตยอันแรกควรจะเรียกว่าประชาธิปไตยของเด็กวัด ดีกว่า เมื่อผมเป็นเด็กๆ ผมก็มองเคยเห็นหรือเป็นสมาชิกประชาธิปไตยพวกเด็กวัด รู้ว่าเป็นประชาธิปไตยที่ดีกว่าประชาธิปไตยของเด็กนักเรียนนักศึกษายุคนี้เสียอีก คือมันไม่มีแง่งอนมาก มันยอมรับขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดี เป็นวัฒนธรรมของเด็กวัดซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่มันถอดรูปออกมาจากธรรมวินัยในพุทธศาสนาของภิกษุสงฆ์นั่นเอง ดังนั้นเด็กวัดจะจัดการกันเองในลักษณะที่เป็นประชาธิปไตย โดยลงโทษไอ้คนที่มันไม่เป็นประชาธิปไตยกันเองในหมู่เด็กวัด ทีนี้สูงขึ้นมาถึงภิกษุสามเณร ก็ถือหลักธรรมวินัยอยู่แล้วในส่วนการเป็นอยู่ สิ่งที่บัญญัติไว้เป็นอาณาของสงฆ์ใช้อำนาจสงฆ์บังคับก็มี ถ้าต่ำมากว่านั้นก็คือว่าที่เราถือกันอยู่เองเป็นประเพณีและก็ถอดรูปออกมาจากอาณัติของสงฆ์นั่นแหละ ดังนั้นภิกษุสามเณรจึงทำอะไรในรูปแบบของประชาธิปไตยคือเสมอกัน เอ้า, พอมาถึงตรงนี้ก็อยากจะเตือนกันอีกที อย่าลืมว่าแม้ว่าวินัยจะเป็นสิ่งซึ่งบัญญัติขึ้นโดยพระพุทธเจ้าหรือโดยใครก็ตามที่มีหน้าที่จะบัญญัติเพิ่มเติมขึ้นมา วินัยทั้งหลายก็ไม่พ้นไปจากกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ คือของธรรมะของพระธรรม ดังนั้นวินัยจะแยกจากธรรมะโดยเด็ดขาด ธรรมะจะแยกจากวินัยโดยเด็ดขาดนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะวินัยบัญญัติ บัญญัติโดยอนุโลมแก่ธรรมะ เจตนารมณ์ของธรรมะจะไปอยู่ในวินัยทุกข้อ ดังนี้เมือถือวินัยมันก็ถือธรรมะส่วนหนึ่งอยู่ในตัว เพราะว่าไอ้หลักธรรมะนี่ มันลึก มันไปไกลลึกลงไปถึงกฎของธรรมชาติ ดังนั้นมันมีเรื่องของธรรมชาติเป็นหลักของธรรมะ และออกมาเป็นวินัยที่อนุโลมตาม นี้ จะบัญญัติให้ขัดกันมันก็เป็นไปไม่ได้ นั้นผู้ที่ถือวินัยก็ถือธรรมะอยู่ในตัว ถ้าผู้ถือธรรมะจริงมันก็จะเป็นวินัยอยู่ในตัวด้วยเหมือนกัน ทีนี้เมื่อดูถึงไอ้ความประชาธิปไตยของธรรมชาตินั่นแหละ จะพบความเป็นประชาธิปไตยที่ประเสริฐที่สุด แต่มันเข้าใจยาก พูดกันวันเดียวคงไม่รู้เรื่อง ว่าถ้าเข้าถึงธรรมชาติ เป็นเกลอกับธรรมชาติจริงๆ แล้วจะรู้อะไรหมดได้อย่างไร ในที่นี้เราจะพบ เราจะเล็งถึงความเป็นประชาธิปไตยในธรรมชาติ ความเสมอสม่ำเสมอกันของธรรมชาติหรือที่ธรรมชาติมันควบคุม เช่นกฎเกณฑ์ต่างๆ ของธรรมชาติควบคุมไว้เสมอกันทั้งสัตว์ มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน ต้นไม้ต้นไร่ นั่นเป็นส่วนลึกที่ไม่ค่อยมอง แล้วก็มองยากด้วย การบัญญัติจะบัญญัติเพื่อจะให้มันเข้ารูปกันกับธรรมชาติ ไม่มีทางที่จะบัญญัติให้ฝืนธรรมชาติได้ เช่นการบัญญัติเรื่องวรรณะ ถือชั้นวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทรนี้ มันบัญญัติโดยคนที่ฝืนธรรมชาติ พระพุทธเจ้าท่านก็บัญญัติเสียใหม่ เพื่อไม่ให้มันฝืนธรรมชาติ จึงให้สิทธิเสมอภาคกันแก่วรรณะทั้ง ๔ ในการที่จะมาบวชในพุทธศาสนา หรือว่าจะบรรลุมรรคผลนิพพาน แต่ชาวบ้านเขาก็จัดให้วรรณะมันต่างกันโดยเชื้อชาติ โดยกำเนิด วรรณะกษัตริย์ วรรณะพราหมณ์สูงสุด วรรณะไวศยะ วรรณะศูทร เป็นวรรณะต่ำ แม้จะเดินร่วมทางเขาก็ยังไม่ให้เดิน มันก็เป็นเรื่องของชาวบ้านที่บัญญัติขึ้นอย่างฝืนต่อกฎของธรรมชาติ พระพุทธเจ้าท่านก็บัญญัติใหม่ว่ามันเลิกการบัญญัติอย่านั้นเสีย ให้มีความเสมอภาคระหว่างวรรณะ ถ้าจะมีวรรณะกันบ้างไปเอาการงานที่กระทำนั้นเป็นหลัก ถ้าวรรณะศูทร วรรณะไพร่มาทำการงานหน้าที่ได้อย่างครูบาอาจารย์ ก็กลายเป็นครูบาอาจารย์ไป หรือไปเป็นนักรบก็กลายเป็นกษัตริย์ไป ก็เลยเอาหน้าที่การงานที่ทำอยู่จริงเป็นหลักสำหรับบัญญัติวรรณะ ไม่เอากำเนิด ไม่เอากำเนิดที่เกิดจากท้องแม่นี้มาเป็นหลักอย่างนี้เป็นต้น นี่ประชาธิปไตยในตัวธรรมชาติมันมีอยู่อย่างนั้น ที่มากไปกว่านั้นก็ขอให้ถือว่ากฎของธรรมชาติทั้งหลาย กฎธรรมดาทั้งหมดมันเป็นประชาธิปไตยมันใช้แก่ทุกชีวิต เช่น ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี้มันใช้แก่ทุกชีวิตหรือว่า อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท มาใช้แก่ทุกชีวิตอย่างเสมอหน้ากัน นี้ถือว่าเป็นประชาธิปไตยของธรรมะหรือของธรรมชาติ ไอ้การบัญญัติชั้นหลังๆ ก็ให้คล้อยตามนั้นเรื่อยมา มันจึงเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และใช้ให้เป็นประโยชน์ได้นั่นเอง ดังนั้นเราจะต้องถือหรือควรจะถือว่า ประชาธิปไตยตามกฎของธรรมชาติควรจะเป็นรากฐานของประชาธิปไตยทุกชนิดเลย แม้แต่ประชาธิปไตยของชาวบ้านที่กำลังตีกันยุ่งทั่วไปทั้งโลกเวลานี้ มันก็ควรจะมีประชาธิปไตยของธรรมชาติหรือของพระเจ้าสูงสุดของธรรมชาติมาเป็นหลัก มันก็กลายเป็นธรรมาธิปไตย คนก็ไม่มีโอกาสจะเห็นแก่ตัว ไม่มีทางที่ทำไปตามอำนาจแห่งกิเลสของตัวเพราะกฎของธรรมะมีอยู่บังคับไว้ ดังนั้นคำว่าประชาธิปไตยตามแบบของพุทธศาสนาไม่ใช่ตามแบบชาวบ้าน เพราะมันมีรากฐานไปยังธรรมาธิปไตย และธรรมาธิปไตยก็มีหลายระดับตั้งแต่ธรรมดาสามัญขึ้นไปถึงกฎของธรรมชาติอันลึกซึ้งอันสูงสุด เช่นกฎอิทัปปัจจยตาดังกล่าวแล้ว นั้นการจะบัญญัติอะไรขึ้นมาในโลกนี้จะเป็นรัฐธรรมนูญก็ดี อะไรก็ดี ต้องระวังอย่าให้มันเสียหลักของธรรมชาติซึ่งมันเฉียบขาด ถ้าเราไม่ยอมตามนั้น เราก็ทำไม่ได้ ขืนทำไปก็ยิ่งยุ่ง นั้นอุดมคติทางการเมืองในโลกนี้ที่มันทิ้งศาสนามากขึ้น ทิ้งพระเจ้ามากขึ้น มันก็ยิ่งยุ่งมากขึ้นแล้วก็ไม่มีจุดจบของความยุ่ง จะยุ่งกันทุกที่ พอดิบพอดีกันกับถึงยุคมิกสัญญี ไอ้ความยุ่งนี้มันจะพัฒนาการเพียงเพื่อมิกสัญญีในอนาคต เพราะมันไม่มีธรรมาธิปไตย ดังนั้นเมื่อมาบวชชั่วเวลาเล็กน้อยนี้ขอให้มองเห็นประชาธิปไตยของเด็กวัด ของชาววัดและประชาธิปไตยตามกฎเกณฑ์แห่งวินัยของคณะสงฆ์ของการปกครองสงฆ์ ฝ่ายสงฆ์แท้ๆ นะ ไม่ใช่สงฆ์ที่ฝากอยู่กับชาวบ้านหรือว่าฝากอยู่กับเรื่องของบ้านเมือง สงฆ์แท้ๆ ตามวินัยแท้ๆ ก็มีความเป็นประชาธิปไตยมากเหลือเกิน มากกว่าของชาวบ้าน จนกระทั่งถึงประชาธิปไตยตามแบบของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ
ทีนี้ที่มันจะกวนจิตไปสำหรับผู้ที่จะลาสิกขาออกไป มันควรจะเป็นประชาธิปไตยแบบของพุทธศาสนา ถ้าเผื่อไปมีอำนาจวาสนาหรืออะไรมันก็จะได้มีประโยชน์แก่คนอื่น ซึ่งสรุปความก็ได้ว่ามันต้องเป็นคนปกติ ถือธรรมะเป็นหลัก ถ้ามันมีคนเหลือขอติดอยู่ในกลุ่มนั้นก็ต้องมีวิธีการตามที่บัญญัติกันขึ้นนี่ขจัดคนชนิดนั้นออกไปเสียได้ ไม่เข้ามา ที่นี้ที่เหลืออยู่เท่าไรก็ต้องถือธรรมะเป็นใหญ่ไม่เอาประโยชน์ของตัวหรือประโยชน์ของพรรคเป็นใหญ่ และต้องเชื่อฟังผู้เฒ่า การเชื่อฟังพระเถระผู้เฒ่านั้นเป็นพุทธานุญาติให้สงฆ์กระทำ เพราะฉะนั้นมติของภิกษุแต่ละองค์มันจึงไปแนวเดียวกันหมด อย่างประชาธิปไตยชาวบ้านเขามีวุฒิสภา พอจะเทียบได้กับพระสงฆ์ผู้เฒ่าเป็นที่ปรึกษา มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์เพราะไม่มีอำนาจหรือว่าไม่มีใครเชื่อฟัง วุฒิสภาเอาไว้ล้อกันเล่น บางทีก็ไม่มี แม้จะมีวุฒิสภาก็เพื่อไว้ล้อกันเล่นเสียมากกว่า ก็ไม่เข้ารูปกับที่ว่าพระสงฆ์เรามีหลักที่ว่าเชื่อพระเถระ เชื่อฟังพระเถระ นี้ขนบธรรมเนียมประเพณี มันจะก็มีอยู่ส่วนหนึ่งซึ่งจะเป็นที่พึ่งได้ แต่ถ้าเขาเหยียบย่ำขนบธรรมเนียมประเพณีมันก็เลิกกัน ทุกวันนี้ในโลกนี้ ในปัจจุบันนี้ขนบธรรมเนียมประเพณีกำลังสลายไป ไม่ถูกหยิบขึ้นพิจารณารักษาหรือไว้ในฐานะเป็นอีกส่วนหนึ่งสำหรับมนุษย์ จำเป็นแก่มนุษย์ คำว่าขนบธรรมเนียมประเพณีนี้กินความกว้างไปถึงวัฒนธรรม หรือว่าศีลธรรมในชั้นต่ำๆ ทั่วๆ ไป แม้แต่ประเพณีที่ดูแล้วค่อนข้างจะงมงาย แต่มันมีประโยชน์ที่ทำให้คนกลัวบาปกลัวกรรม อย่างนี้ก็ยังควรจะรักษาไว้ เดี๋ยวนี้มันก็ถูกเลิกร้างไปหมด ดังนั้นประชาธิปไตยของชาวบ้านจึงเป็นประชาธิปไตยของกิเลส คือของคนที่มีความเห็นแก่ตัวรวมกันเป็นพรรคเป็นพวกรักษาประโยชน์ของตนหรือของพรรคของตน ซึ่งอย่างนี้มีไม่ได้ในประชาธิปไตยตามแบบแห่งพระพุทธศาสนา เมื่อพูดถึงประชาธิปไตยตามแบบแห่งพระพุทธศาสนา มันก็ต้องระบุชัดลงไป ไม่มีตัวกู ไม่มีของกูชนิดที่จะมายื้อแย่งสำหรับยึดถือ สำหรับยื้อแย่ง ก็เห็นความดี ความจริง ความถูกต้อง ความยุติธรรมอะไรเป็นหลักที่เรียกว่าธรรมาธิปไตย ล้มบุคคลเสียหมด เลิกล้มบุคคลให้หมดเหลือแต่ตัวธรรมะ ถ้ามีบุคคลก็คือธรรมะนั่นแหละเป็นตัวบุคคล ธรรมะนั่นแหละคือตัวตน อย่าเอาบุคคลที่มีกิเลสมาเป็นตัวตน สิ่งต่างๆ ก็จะเป็นไปในรูปแบบของประชาธิปไตยตามหลักแห่งพุทธศาสนาเอง และผมก็เห็นว่าไม่ควรจะเรียกว่าประชาธิปไตย ควรจะเรียกว่าธรรมาธิปไตย คืออย่างน้อยที่สุดก็จะเรียกว่า ธรรมิกประชาธิปไตย คือคนที่ประกอบไปด้วยธรรม ประกอบกันเข้าเป็นองค์การอันหนึ่งสำหรับใช้อำนาจอย่างนี้ก็ได้ ประชาธิปไตยเฉยๆ มันอันตรายที่สุด คืออาจจะเป็นประชาธิปไตยของคนบ้า คนบอ คนเห็นแก่ตัว คนอะไรที่มันเป็นอันตรายของมนุษย์นั่นเอง ประชาธิปไตยตามแบบแห่งพุทธศาสนาคืออย่างนี้ คือมีธรรมะเป็นหลัก เอาบุคคลหรือกิเลสของบุคคลหรือประโยชน์ของบุคคลออกไปทิ้งเสีย ดังนั้นเมื่อเราบวชและเราพยายามจะประพฤติตามระเบียบ ตามขนบธรรมเนียม ตามวินัย ตามธรรมะให้ถึงที่สุดแล้วก็จะพบ พบว่าทุกแขนง ทุกแง่ ทุกมุม มันจะทำลายความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น ขอให้ขยันประพฤติวัตรปฏิบัติทั้งหลายของภิกษุนี้ นับตั้งแต่ว่าบิณฑบาต กวาดวัด ปรงอาบัติ ทำวัตร สวดมนต์อะไรก็ตามไปเรื่อยๆ ให้มันครบถ้วน มันจะพบไอ้สิ่งนี้ สิ่งที่ขจัดความเห็นแก่ตัว แล้วก็เป็นบุคคลที่สะอาดพอหรือเหมาะสมพอที่จะเป็นหน่วยหนึ่งของสมาชิกของคณะสงฆ์ก็ได้ ของมนุษย์ทั้งโลกก็ได้ ที่จะสร้างสันติภาพ เอาหละผมก็พูดเพียงเท่านี้เพื่อให้เอาคำว่าประชาธิปไตยนี้ไปแยกแยะดู และไปเปรียบเทียบกันดูในระหว่างประชาธิปไตยตามแบบของพุทธศาสนากับประชาธิปไตยตามแบบของชาวบ้านทั่วทั้งโลกที่กำลังวุ่นวายโกลาหลหนักขึ้นในเวลานี้ ดูเองก็แล้วกัน ขอยุติการบรรยายในวันนี้ไว้เพียงเท่านี้ …
ยึดความประสงค์ว่าบวช ๓ เดือนนี่ได้ผ่านอะไรไปบ้างและกลับไปให้มันมีอะไรติด ติดกลับออกไปแก้ปัญหา ใช้ประโยชน์ในทางแก้ปัญหาต่างๆ หรือทำความเข้าใจ หรือนำแสงสว่างในปัญหาต่างๆ ของมนุษย์ ของโลกซึ่งรวมทั้งตัวเราเองด้วย ดังนั้นขอให้พยายามมิฉะนั้นจะไม่คุ้มค่า จะไม่คุ้มค่าที่บวช ที่อุตสาห์เสียสละมาบวช ดังนั้นมาบวชนี้มันต้องได้มาลองทำสิ่งถ้าไม่บวชแล้วก็ไม่ได้ลอง ไม่มีโอกาสจะลอง ทำไม่ได้ ถ้ามาบวชต้องได้ทำสิ่งที่เราได้ทำ ชนิดที่ว่าถ้าไม่มาบวชแล้วมันก็ไม่มีโอกาสจะทำ ไม่มีโอกาสจะศึกษา ไม่มีเวลาจะคิดจะนึก แล้วก็บวชเพราะคิดนึกมาก ชิมมาก รู้มาก ขจัดจิตใจมาก ไอ้ที่มากๆ นี้มันจะเหลืออยู่สำหรับไปใช้เป็นประโยชน์เมื่อกลับไปเป็นฆราวาสในแง่มุมที่แปลกออกไปจากที่เราเคยรู้กันอยู่ก่อน ดังนี้คือผลที่จะได้ ถ้าไม่ได้อันนี้ก็คือไม่ได้อะไร เพราะก่อนมันก็รู้อะไรอยู่ไม่น้อยแล้วเหมือนกัน หรือบางสิ่งบางอย่างอ่านเอาได้จากหนังสือไม่ต้องมาบวชก็ได้ ดังนั้นที่มาบวชเป็นโอกาสจะให้ได้ชิมลองอะไรบ้าง ผมก็เลยพูดมาเป็นบัญชีหางว่าว สิ่งที่ได้ชิมได้ลองจะเป็นเพื่อน ติดตัวไปเป็นเพื่อน ทำอะไรได้ดีขึ้นกว่าเดิม มุ่งหมายเท่านี้ไม่มีอะไรมากกว่านั้น จึงมีข้อต่อไปถึงที่ว่า มันชอบศาสนามากขึ้นหรือเปล่า ไหว้ตัวเองได้หรือยัง เป็นปัจจัยแก่นิพพานพอสมควรแล้วหรือยัง อีก อีกหลายอย่างที่จะต้องชำระสะสาง เดี๋ยวนี้เหลืออีกไม่กี่วันแล้วจะออกพรรษา ใครมีปัญหาพิเศษก็ได้ ถามได้ ไม่ถามผมก็พูดไปตามที่จะนึกได้ เท่าที่จะนึกได้ว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่จะไปเป็นประชาชนพลเมืองที่ดีเพิ่มขึ้นอีก ๑ คน
พระภิกษุ : กราบเรียนท่านอาจารย์ผมขอกรุณาเรียนถามเรื่องปฏิจจสมุปบาท ตามในการตีความหมายเดิม จากวิสุทธิมรรคคัมภีร์ซึ่งรู้สึกจะใช้หลักใหญ่เป็นกรรม จุติแล้วก็วิบาก กับที่ท่านอาจารย์ได้กรุณาตีความแล้วสอนใหม่นี้ หมายถึงว่าเกิดอยู่ในทุกช่วงๆ ของกระแสจิตที่เกิดทุกข์ขึ้นมา กับของเดิมที่หมายถึงว่าคร่อมทั้ง ๓ ชาติ อันนี้จะมีความหมายว่าของเดิมนั้นเป็นชั้นหินธรรม แต่ว่าไม่ได้เป็นชั้นปรมัตถธรรม หรือว่าซึ่ง ซึ่งถ้าพูดถึงว่าการตีความหมายในชั้นเดียวกัน จะต้องมีอันหนึ่งถูกและอันหนึ่งผิด หรือว่าจะมีทั้ง๒อย่าง คือในความหมายที่ว่าประเภทที่เกิดขึ้นและก็ดับไปทันทีในช่วงระยะอาจจะ บางอย่างอาจจะเพียง ๕ นาที ๑๐ นาที ๒ วัน ๓ วัน หรือกับอย่างเดิมที่มีทั้งข้ามภพข้ามชาติ
ท่านพุทธทาส : ลอง ลองตอบคำถามผมดูบ้าง ถ้าถามผมแล้ว การพูดว่ามีตัวตน กับการพูดว่าไม่มีตัวตน อันไหนถูกอันไหนผิด แล้วทำไม่นิ่งหละ พูดว่ามีตัวตนก็มีพูดอยู่ และพูดว่าไม่มีตัวตนนี่ก็พูดอยู่ อันไหนมันถูกอันไหนมันผิด
พระภิกษุ : ตัวตนอันนี้ผมยังไม่เข้าใจในความหมายอันไหน หมายถึงในความหมายแบบ ...
ท่านพุทธทาส : เรามีตน เราทำกรรมใดไว้ดีก็ตามชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น นี่มีตัวตนใช่ไหม
พระภิกษุ : อันนี้มีตัวตน
ท่านพุทธทาส : ทีนี้ก็ว่าไม่มีตัวตน มีแต่สังขารธรรม มีแต่ปฏิจจสมุปบาท ทำจิตใจให้ไม่มีตัวตน ไม่ให้ยึดถืออะไรเป็นของตน ก็ไม่มีความทุกข์เลย พูดอย่างนี้มันไม่มีตัวตนใช่ไหม
พระภิกษุ : ใช่
ท่านพุทธทาส : ทีนี้อันไหนมันถูก อันไหนมันผิด หรือมันถูกทั้ง ๒ อย่าง
พระภิกษุ : ถูกทั้ง ๒ อย่าง
ท่านพุทธทาส : ถ้าถูกทั้ง ๒ อย่างมันก็ต้องยอมรับว่า มันพูดสำหรับคนมีตัวตนต้องพูดไปอย่างหนึ่ง พูดสำหรับคนที่ยังมีตัวตนเป็นธรรมดาเกินไป ต้องพูดอย่างหนึ่ง นั่นคือสอนปฏิจจสมุปบาทแบบคร่อมภพคร่อมชาติ ศีลธรรม ทีนี้ถ้าเราพูดสำหรับไม่มีตัวตน ก็ต้องพูดอย่างขณะจิต มีแต่ขณะจิต มีแต่ความเป็นไปของขณะจิต เป็นปฏิจจสมุปบาทชนิดที่อธิบายให้ฟังใหม่ มันก็มีชาติเหมือนกัน คร่อมภพคร่อมชาติเหมือนกัน แต่มันชาติในอีกความหมายหนึ่ง ชาติในระยะสั้นเป็นขณะจิต ไม่ใช่ชาติออกจากท้องแม่แล้วเข้าโลง นั่นมันยาวเกินไป ไอ้ชาติอย่างนั้นมันสำหรับอย่างแบบมีตัวตนอย่างศีลธรรม ไอ้ชาติอย่างนี้มันไม่มีตัวตนอย่างแบบปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นอย่าได้คิดว่าผมอธิบายใหม่ เพื่อไอ้เลิกร้างอันโน้นไม่ใช่ จะต้องศึกษาให้รู้ไว้ทั้ง ๒ แบบ ถ้าจะเอากันอย่างมีตัวตน ประชาชนที่มีตัวตนเขาก็บอกแบบนั้น ถ้าศีลธรรมดีขึ้น กลัวบาปกลัวกรรม ทำแต่ความดีเพื่อจะไปเกิดดีข้างหน้าโน้นมันก็ถูก แต่ถ้าเกิดมาอีก เอ้า , มันรบกวนด้วยกิเลสอีก เกิดมาอีกมันรบกวนด้วยกิเลสอีก มันจะเล่นงานกิเลสนี้ได้อย่างไร เพราะมันจึงต้องทำไปในรูปที่ว่าไม่มีตัวตน คำว่าชาติก็เปลี่ยนความหมาย และให้จำไว้เถิดว่าใช้คำพูดเดียวกัน จะปฏิบัติแบบโน้นหรือปฏิบัติแบบนี้ใช้คำพูดร่วมกันหมดทุกคำเลย แต่ความหมายต่างกัน อันหนึ่งสำหรับไม่มีตัวตนสำหรับเป็นขณะๆๆ ไป อันหนึ่งมีตัวตน มีคน มีเวียนว่ายตายเกิดแบบธรรมดาสามัญ เป็นอันว่าไอ้เรื่องศีลธรรมก็เลิกไม่ได้ เรื่องปรมัตถธรรมต้องมี เรื่องศีลธรรมที่สอนกันอยู่เลิกไม่ได้ เพราะคนในระดับนั้นมีมาก ส่วนชั้นระบบปรมัตถธรรมนั้นก็ต้องมี ระบบปรมัตถธรรมนี้เราไม่ใช้คำว่าเลิกนะ มันเลิกไม่ได้เพราะมันไม่ค่อยมี มันไม่มีอะไรจะเลิกคือมันยังไม่มี มันต้องนำมา ต้องเอามา ต้องดึงเอามาให้มีระบบอย่างปรมัตถธรรมคือจริงแท้มาพูดกันอยู่เพื่อจะดับความทุกข์ในที่สุด
พระภิกษุ : คือถ้าเทียบอันนี้กับความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านฟิสิกส์ มันจะเป็นในรูปที่ว่าส่วนประกอบของปรมาณูหรืออณูหนึ่ง มันก็ประกอบด้วยนิวตรอน อิเล็กตรอนและก็โปรตอน จะมีอิเล็กตรอนวิ่งรอบโปรตอนอยู่ หรือนิวตรอนอยู่ก็ตาม แต่ว่าส่วนประกอบของจักรวาลในส่วนใหญ่ มันก็มีดวงอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลาง มีดาวนพเคราะห์เป็นส่วนที่แวดล้อมไป อันนี้มันจะ .. คือเท่าที่เคยพบ เคยคุยกันนี่นะ จะมีคำหนึ่งที่พระพุทธองค์ ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจ ตรัสไว้ว่า สิ่งที่เล็กที่สุดกับสิ่งที่ใหญ่ที่สุด มีส่วนประกอบเหมือนกันอยู่ ในการส่วนประกอบอันนี้เหมือนกันอยู่นี่นะ ก็คือว่าอิเล็กตรอนอณูหนึ่งนี้ ก็มีส่วนประกอบเหมือนกับจักรวาล ๆ หนึ่งเหมือนกัน ในลักษณะนี้
ท่านพุทธทาส : คำพูดนี้ยังไม่เคยพบในพุทธสุภาษิต แต่มีเหตุผลที่เชื่อได้ เพราะมันไม่ขัดกันกับพระพุทธสุภาษิตไหน คือลักษณะที่มีแกนกลางแล้วก็มีสิ่งที่หมุนเวียนอยู่รอบ ๆ อยู่ด้วยความดึงดูด แล้วก็มีเป็นธรรมดา ถ้าพูดกันในรูปฟิสิกส์แบบนี้ มันก็ต้องเป็นปฏิจจสมุปบาทอีกชั้นหนึ่ง เป็นปฏิจจสมุปบาททางวัตถุ ควรจะเรียกกฏอิทัปปัจจยตาทางวัตถุ นี้กฎอิทัปปัจจยตาทางศีลธรรมนั่นคือปฏิจจสมุปบาทอย่างที่เราพูดทีแรก แล้วปฏิจจสมุปบาทอย่างปรมัตถธรรมนั่นอีกสาม อีกอันหนึ่ง จะเป็น ๓ อัน ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายวัตถุล้วน ๆ ก็ไป
พระภิกษุ : เพราะว่านิพพานธาตุ แล้วนิพพานธาตุที่เมื่อดับขันธ์ไปแล้ว นิพพานธาตุในส่วนที่เป็นสัญญาขันธ์นี่ ไปเกิดขึ้นที่ไหน หรือไปร่วมกับธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ที่อื่นเกิดขึ้น แต่ว่านิพพานธาตุอันนี้อาจจะยังมีสัญญาอยู่
ท่านพุทธทาส : โอ้ , นิพพานธาตุก็หลายความหมายอีก นิพพานธาตุที่แท้จริงคือดับไม่มี ไม่มี ไม่มีการเรียกชื่ออีกต่อไป เพราะว่าถอนการยึดถือเสียได้ แม้แต่ชื่อก็ถอนหมดไป ไม่มีคำว่า xxx (นาที 1:19: 36 ฟังไม่ออก ) อะไรเหลืออยู่
พระภิกษุ : วิญญาณธาตุ ไม่ค่อยเข้าใจคำว่า วิญญาณธาตุ
ท่านพุทธทาส : ถ้าวิญญาณธาตุมีอยู่ มันก็ไม่ ไม่ ไม่ใช่นิพพานธาตุ
พระภิกษุ : ครับ วิญญาณธาตุ
ท่านพุทธทาส : วิญญาณธาตุคือธาตุจิต ธาตุที่ทำความรู้สึกได้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมนี้เป็นไอ้พวกตัววัตถุ วิญญาณธาตุเป็นส่วนนามธรรมที่มีคุณสมบัติรู้สึกได้ อากาศธาตุนั้นเป็นที่ว่างสำหรับสิ่งต่าง ๆเหล่านี้ตั้งอยู่ นิพพานธาตุนั่นหลายความหมาย หลายความหมายมาก นิพพานธาตุที่เป็นที่ดับของกิเลสนั้นก็ความหมายหนึ่ง นิพพานธาตุธรรมดา ๆ ก็คือการดับหรือความดับ กิริยาดับแห่งการปรุงขึ้นกันมาครั้งหนึ่ง ครั้งหนึ่ง ก็มีการดับไปครั้งหนึ่ง ครั้งหนึ่ง อย่างนี้คือทั่วไป อะไรเกิดขึ้นอันนั้นก็ต้องดับไป ดับไปด้วยอำนาจแห่งนิพพานธาตุส่วนนั้น ส่วนวัตถุส่วนนั้น ส่วนที่เพียงเท่านั้น ถ้าพูดถึงนิพพานธาตุเพียงเท่านั้น แล้วมันก็อาจจะมีอะไรเหลืออยู่ เช่นว่าสะสารไม่รู้จักสิ้นไปจากจักรวาลนี้ มันก็พูดได้เหมือนกันแหละ แต่ที่มันดับไป เปลี่ยนรูปไปนี้ มันก็ด้วยอำนาจของธาตุนี้เหมือนกัน ธาตุที่ทำให้ดับหรือให้เกิดใหม่ ให้เปลี่ยนรูปไป ไม่ใช่นิพพานธาตุที่สิ้นราคะ โทสะ โมหะของพระอรหันต์ จำไว้ก็แล้วกันว่า คำว่านิพพานหรือนิพพานธาตุนี้ก็หลายความหมาย คำพูดคำนี้ก็มีหลายความหมาย หลายชนิดของความหมาย หลายระดับของความหมาย เช่นว่าตายไปนี้ ก็เรียกว่ามันก็เป็นนิพพานส่วนของบางส่วน ของสังขารบางส่วน ไม่ใช่นิพพานสิ้นกิเลส สิ้นราคะ โทสะ โมหะ คนละคำ เมื่อวานนี้ก็พูดถึงนิพพานในทุกแง่ ทุกมุมแล้ว คือความเย็น ความอะไรที่มันร้อนในแง่มุมต่าง ๆ กัน นั่นแหละเป็นนิพพานที่ควรสนใจก่อน เพราะมันเกี่ยวกับความสุข ความทุกข์โดยตรง ถ้าเป็นนิพพานของธรรมชาติ ตามธรรมชาติซึ่งมันก็ยังไม่จำเป็น ก็ยังทิ้งไว้ก่อนก็ได้ ก็ยังไม่ต้องสนใจ อะไรร้อนเกิดขึ้นในจิต รีบนิพพานไปเสียเถอะ รีบทำให้มันนิพพาน คำ ๆ เดียวมีความหมายหลายชนิด หลายระดับ เช่นปฏิจจสมุปบาทนี้ ก็ขอเตือนอีกครั้ง อีกทีว่า ปฏิจจสมุปบาทเรื่องของวัตถุล้วน ๆ ก็มี เขาเรียกว่าอิทัปปัจจยตา ของวัตถุล้วนๆ ถ้าปฏิจจสมุปบาทอีกระบบหนึ่งสำหรับศีลธรรมของคนที่ยังมีตัวตน และก็อีกระบบหนึ่งก็ของผู้ที่จะไม่มีตัวตน คือจะเลิกตัว เลิกตนกันเสียที เป็นปฏิจจสมุปบาทอย่างที่ เรากำลังเปิดเผย ไม่ใช่คิดขึ้นใหม่ และก็ไม่ใช่เพื่อทำลายอันโน้น เพื่อจะให้อันนี้มันเป็นที่ปรากฏ เป็นที่แจ่มแจ้งแก่นักศึกษาบ้าง จึงพยายามค้นเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เองออกมา กำลังพิมพ์อยู่เลย เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ คือไปดึงเอามา ดึงเอามา ดึงเอามาจากในพระไตรปิฏกเท่าที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เองเรื่องเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาท ดังนี้ก็จะเป็นการถึงที่สุดของคำอธิบายเรื่องปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนี้ และไม่จำเป็นจะต้องไปยกเลิกปฏิบัติฝ่ายโน้น ฝ่ายศีลธรรม ฝ่ายที่มีพวก ...
ในบางกรณีเราต้องเป็นอย่างมีตัวตน เดี๋ยวนี้นะในบางกรณีเราทำอย่างไม่มีตัวตนบ้างก็ได้ เพื่ออย่าให้มันเป็นทุกข์มาก แต่ส่วนใหญ่ตามปกติมันยังมีตัวตนอยู่ ดังนั้นต้องทำอย่างมีตัวตน ระมัดระวังอย่างมีตัวตน อย่างผมนี่ต้องขอเอาโอกาสว่ามันมีหน้าที่สอน อาตมาก็ต้องสอนทุกคนหรือทุกพวก ดังนั้นในบางทีก็ต้องสอนอย่างมีตัวตนแหละ ทำดี ๆ ทำชั่ว ๆ คนนั้นฟัง คนนั้นชอบ คนนี้ก็สอนไปอย่างนั้น แต่พอถึงบางคราวก็สอน หัวใจของพุทธศาสนาแล้วมันก็ไม่มีตัวตน มีแต่เป็นความเป็นไปของที่ธรรมดา ของทำตามธรรมชาติ ดังนี้จะให้ไปอธิบายปฏิจจสมุปบาทอย่างแบบวัตถุ แบบฟิสิกส์ ผมก็ไม่ค่อยมีความรู้ พอรู้เงา ๆ คราว ๆ บางส่วนพอเปรียบเทียบฝ่ายธรรมะนี้เท่านั้น ดังนั้นโดยรายละเอียดอิทัปปัจจยตาฝ่ายฟิสิกส์มัน มโหฬารนั้น ไม่รู้ ไม่ทราบ รู้น้อย รู้แต่หัวข้อ แต่ในที่สุดหลักเกณฑ์ก็อย่างเดียวกัน เพราะมีอันนี้ก็มีอันนี้ เพราะมีอันนี้ก็มีอันนี้ มันเป็นหลักเกณฑ์ตายตัวของอิทัปปัจจยตา พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ตรัสว่าธาตุนี้จะสูญไป มันก็อยู่ในจักรวาลนี้ ต่อไปนี้อยากพูดว่าอยู่ในโลกนี้นะไม่ดัง เพราะว่ามันอาจจะเอาวัตถุที่นี่ไปทิ้งที่โลกพระจันทร์ก็ได้ ต้องใช้คำกว้าง ๆ ไปหน่อยว่าในจักรวาลนี้ สะสารจะไม่ออกไปจากจักรวาลนี้ จะวนเวียนอยู่ในนี้ แต่ถ้าใช้คำว่าแต่โลกนี้ไม่ได้ เดี๋ยวนี้เอาบางอย่างไปจากโลกพระจันทร์ เอาพระจันทร์มาที่นี่ จะลดจะเพิ่ม ใช้คำว่าในจักรวาลคือทั้งหมดทั้งสิ้น สากลจักรวาลคือทุก ๆ จักรวาล พระพุทธเจ้าไม่ได้ตั้งพระทัยจะสอนเรื่องนี้ ทรงมุ่งหมายจะสอนเรื่องความทุกข์ที่เกิดอยู่ในจิตใจของคนให้มันดับเย็นไปได้อย่างไร ท่านจะสอนแต่ทางนี้ พุทธภาษิตที่ตรัสยืนยันอย่างนี้ก็มี สอนแต่เรื่อง เราพูดหรือเราบัญญัติขึ้นมาพูดเฉพาะเรื่องทุกข์ ความดับทุกข์ในใจของมนุษย์ที่เป็น ๆ เรื่องอื่นก็มี ก็มีไว้ อยู่ในพวกที่ว่าไม่ได้นำมาสอน เท่ากับใบไม้ทั้งป่า นำมาสอนเท่ากับใบไม้กำมือเดียว จำเป็นที่สุด ที่ด่วนที่สุดคือดับความทุกข์ในจิตใจของมนุษย์ สนใจเรื่องนี้ให้พอ ให้พอที่จำเป็น ทีนี้นอกนั้นก็เป็นเรื่องสมัครเล่น งานอดิเรก คือเรื่องกิเลสเกิดอย่างไรนี่สำคัญที่สุด เกิดอย่างไร เกิดเมื่อไร เกิดอย่างไร ศึกษาให้เข้าใจที่สุด พอเกิดกิเลสก็เกิดทุกข์แล้ว ป้องกันกิเลสได้ก็ป้องกันทุกข์ได้ ตัดกิเลสสิ้นเชิงคือตัดความทุกข์สิ้นเชิง
ถ้าต้องการลองสอบไล่ดูเล่นกันทีไหม ราชภัฏทั้งหลายนี่ผมออกข้อสอบสัก ๑๐ ข้อ สอบความรู้ที่คุณฟังและเรียนมาแล้ว สอบไล่ตอนจะสึกหรือตอนจะกลับไป ว่าเข้าในหลักพระพุทธศาสนาที่เป็นหัวใจ ถูกต้องหรือไม่ เพียงพอหรือไม่ นี้ก็รอให้ผมพูดจบก่อน ถึงจะสอบไล่ ว่าเข้าใจที่ผมพูดถูกต้องหรือไม่ และเพียงพอที่จำใช้ให้เป็นประโยชน์ สอบไล่ราชภัฏ .