แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านทั้งหลายผู้เป็นนักศึกษาที่มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย ในการบรรยายชุดประทีปพุทธศาสตร์เป็นครั้งที่สองนี้ จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า พุทธศาสนาในฐานะแห่งพุทธศาสตรา ท่านทั้งหลายต้องทบทวนข้อความของการบรรยายในครั้งที่แล้วมา ก็จะได้นำมาเชื่อมกันด้วย เราจะต้องระวังให้ดีว่าคำว่าพุทธศาสน์นั่นมันสะกดตัวอย่างไรก็พอจะเดาได้เอง ใจความสำคัญของครั้งที่แล้วมา เราดูกันถึงความแตกต่างของความหมาย เหตุของคำว่าพุทธศานส์ พุทธศาสน์ และพุทธศาสตร์ พุทธศานส์ การันต์ ส อ่านว่า พุด-ทะ-สาน พุทธศาสน์ การันต์ น อ่านว่า พุด-ทะ-สาด และพุทธศาสตร์อีกคำหนึ่ง คือ ศาตร คือศาสตรา สรุปเอาแต่ใจความก็ว่าพุทธศาสนานี้ในฐานะที่เป็นพุทธศานส์ ก็คือ สัจธรรมหรือตัวพุทธศาสนาก็ได้ เป็นสิ่งที่ส่งมาจากอะไรก็ตามใจเราไม่ต้องเรียกชื่อ ในเมื่อศาสนาอื่นเขาถือว่าบทบัญญัติทางศาสนาของเขาส่งมาจากพระเจ้า พุทธบริษัทก็มีพระเจ้า คือกฏของธรรมชาติ กฏของธรรมชาติ มันแสดงตัวออกมาหรือมันบีบคั้นให้มันเกิดความรู้สึกคิดนึกสังเกตเห็นได้ ก็มีผลเท่ากัน เพียงแต่ให้มนุษย์เรานี้มันมีการได้รับสิ่งที่เรียกว่าพุทธศานส์ ทีนี้สำหรับพุทธศาสน์นั้นหมายถึงระบบคำสั่งสอน ซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติก็มีผลของการปฏิบัติ คำสอนเหมือนกันทุกองค์ พระพุทธเจ้าองค์ไหนก็สอนอย่างนั้น มันมีลักษณะเป็นคำสั่งสอน นี้สำหรับคำว่าพุทธศาสตร์ ศาสตราที่จะตัดปัญหาทั้งหลายโดยเฉพาะ ก็คือความทุกข์ของมนุษย์ ในความหมายที่เป็นศาสตรา ถ้าเราพูดให้มันเกี่ยวเนื่องกัน ก็มันมีอะไรที่ธรรมชาติส่งมาอยู่ในรูปของระบบคำสั่งสอนและการปฏิบัติ งั้นเมื่อปฏิบัติแล้ว ก็เกิดเป็นการตัดเสียซึ่งตัณหาทุกอย่างของมนุษย์โดยเฉพาะก็คือ ความทุกข์ ตัดความทุกข์ออกไปเสีย ทีนี้เรามาติดใจในคำว่าพุทธศาสตร์ ศาสตร เพราะมันเป็นคำที่มีความหมาย และยิ่งกว่าความหมายก็คือว่ามันเป็นข้อเท็จจริง ที่เดี๋ยวนี้พุทธบริษัทมิได้ใช้พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสตรา มีไว้ท่อง มีไว้ไหว้ มีไว้ทำพิธีรีตรองอะไรต่างๆ ไม่ได้มีไว้เพื่อจะเป็นอาวุธสำหรับตัดปัญหา ดังนั้นจึงเห็นว่าเป็นการสมควรแล้วที่จะเน้นความหมายนี้เป็นพิเศษและพูดกันให้เป็นที่แจ่มแจ้ง เพราะเหตุฉะนี้แหละจึงได้กำหนดหัวข้อถึงการบรรยายในวันนี้ ว่าพุทธศาสนาในฐานะแห่งพุทธศาสตรา มันแปลว่าศาสตราของพระพุทธเจ้าเป็นต้น
เพื่อจะรู้ว่าพุทธศาสนาเป็นพุทธศาสตราได้อย่างไร มันก็ควรจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนานั้นให้เพียงพอซะก่อน แล้วค่อยดูกันในแง่ที่ว่าจะเป็นศาสตราได้อย่างไร นี้ปัญหาข้อแรกเราก็จะตั้งขึ้นมาว่า พุทธศาสนานั้นคืออะไร ทุกคนก็ลองคิดดูก็แล้วกันตามความรู้สึกของตนที่มีอยู่ในบัดนี้ มีอยู่ว่าพุทธศาสนานั้นคืออะไร แต่เดี๋ยวนี้เพื่อจะให้มันครบถ้วน อยากจะแบ่งพุทธศาสนาออกเป็นสักสามส่วน คือ
พุทธศาสนาโดยเปลือก
พุทธศาสนาเป็น เนื้อ
และพุทธศาสนาโดยแก่น
นี้ก็พูดในลักษณะเปรียบเทียบเหมือนกับเป็นต้นไม้สักต้นหนึ่ง ต้นไม้ที่สมบูรณ์นั้นมันก็มีเปลือกมีเนื้อต้นไม้แล้วก็มีแก่นข้างใน ถัดเปลือกเข้าไปก็เรียกว่ากระพี้ เราเรียกว่าเนื้อในที่นี้
พุทธศาสนาโดยเปลือก โดยชั้นนอก ก็อยากจะระบุลงไปในสิ่งสองสิ่งคือ วัตถุธรรมทั้งหลายที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา กระทั่งถึงปริยัติธรรมที่มีการศึกษากันอยู่ในรูปของวิชาความรู้ เรื่องของพุทธศาสนาที่เป็นวัตถุธรรมนี้ พวกเด็กๆจะยึดถือเอา วัดวาอารามโบสถ์วิหาร กระทั่งพระพุทธรูปหรือวัตถุอะไรต่างๆนี้ เป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนาบ้าง เป็นอุปกรณ์เพื่อการศึกษาเล่าเรียนบ้าง ที่อยู่อาศัยบ้างของเจ้าหน้าที่ทางศาสนา และมีการศึกษาเล่าเรียนทางปริยัติมี พระคัมภีร์ที่เขียนหรือพิมพ์หรือจารแล้วแต่เรื่อง ว่าจะทำกันอย่างไรในยุคไหน นี่โดยชั้นนอกสุดมันมีอยู่อย่างนี้ โดยชั้นที่ถัดเข้าไปเป็นชั้นเนื้อใน ถัดเปลือกเข้าไปก็เป็นเนื้อ พุทธศาสนาในส่วนเนื้อนี้จะต้องระบุไปยังสิ่งที่เรียกว่าสิกขา สามอย่าง คือ ศีลสิกขา สมาธิสิกขา และปัญญาสิกขา
ศีลสิกขา คือ ปฏิบัติอยู่ในศีล
สมาธิสิกขา คือ ปฏิบัติอยู่ในสมาธิ
ปัญญาสิกขา คือ ปฏิบัติอยู่ในปัญญา วิญญาน
รายละเอียดไปหาอ่านดูจากเรื่องนั้นๆ และทีนี้ขอให้ถือเป็นความสำคัญว่านี่มันเป็นพุทธศาสนาที่เป็นตัวเนื้อหาของเรื่อง ปฏิบัติศีล คือ ชำระไอ้สิ่งชั่วร้ายทางกาย วาจา ใจ ทางกาย ทางวาจาให้หมดไป ปฏิบัติสมาธิ สิ่งชั่วร้ายทางจิตให้หมดไป ปฏิบัติปัญญา เพื่อสิ่งชั่วร้ายทางความคิด ความเห็นความรู้สึก ความเชื่อถืออะไรต่างๆให้หมดไป เรียนรู้ความจริง แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ยังไม่ตรัส หรือถือว่านี่เป็นแก่นของพุทธศาสนา ท่านตรัสว่าวิมุติ คือ ความหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งหลายนั้นเป็นแก่น หรือเป็นแก่นสารของพุทธศาสนา ครั้นเมื่อถามว่าพุทธศาสนาคืออะไร เรามีทางที่จะดูได้และตอบออกมาในลักษณะอย่างนี้ เป็นหัวข้อสำหรับการศึกษาโดยละเอียดต่อไปข้างหน้า นี้จะตั้งคำถามให้มันชัดๆหรือใกล้ชิดลงไปอีกก็ว่า หลักพุทธศาสนาเป็นอย่างไร หลักของพุทธศาสนาซึ่งหมายถึง ตัวการปฏิบัตินั่น มันก็ได้แก่สิ่งที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือการปฏิบัติที่ดำเนินไปโดยสายกลาง พระพุทธเจ้าท่านตรัส หรือทำนองสารภาพว่าไม่เคยรู้ไม่เคยฟังในเรื่องนี้มาก่อน เดี๋ยวนี้ก็รู้ขึ้นมา รู้แจ้งขึ้นมาคือ มัชฌิมาปฏิปทา ที่ปฏิบัติแล้วเป็นไปเพื่อนิพพาน มัชฌิมา แปลว่า ตรงกลาง ปฏิปทาแปลว่า การปฏิบัติ ให้จำไว้เป็นหลักในฐานะเป็นคำสำคัญ ที่มันอยู่ตรงกลางนั้น คือมันไม่สุดเหวี่ยงไปทางใดทางหนึ่ง เหวี่ยงไปทางซ้ายก็ตามทางขวาก็ตามหรือทางไหนก็ตามที่มันตรงกันข้าม อย่างนั้นไม่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา มันมากไปบ้าง มันน้อยไปบ้าง มันขาดไปบ้าง มันเกินไปบ้างมันร้อนไปบ้าง มันเปียกไปบ้าง ระบุไปยังการปฏิบัติก็เป็นองค์แปดประการ ซึ่งหลายคนก็ท่องได้อยู่แล้ว ที่ระบุไว้ในพระบาลีนั้นคือว่า ไม่ตกต่ำไปในทางกาม และก็ไม่แห้งแล้งจนถึงกับว่าทรมานตนให้ลำบาก กามสุขัลลิกานุโยค นั้น เปียกแฉะไปในทางกาม บางทีก็เรียกว่า อาคาฬหปฏิปทา อัตตกิลมถานุโยค คือทำตัวให้ลำบาก โดยไม่มีประโยชน์อะไร บางทีก็เรียกว่านิชฌามปฏิปทา ปฏิปทาไหม้เกรียม นี้เรียกว่าไม่อยู่ตรงกลางคือไม่มีความสมดุล ทุกอย่างต้องถูกต้องหรือสมดุลอยู่ในลักษณะที่จะกล่าวได้ว่าเป็นกลาง หลักพุทธศาสนาวางไว้อย่างนี้ เรียกว่าไม่สุดเหวี่ยงทางโน้นทางนี้ ไม่ซ้ายไม่ขวาทำนองนั้นแหละ
ทีนี้อีกปริยายหนึ่งก็คือว่า ไม่เป็นไปโดยส่วนเดียว นี้คนเรามักจะรู้สึกหรือพูดไปในลักษณะใดลักษณะหนึ่งโดยส่วนเดียว พุทธศาสนาไม่มีหลักอย่างนั้นในทุกเรื่องในทุกกรณี คือไม่ให้พูดอะไรยืนกระต่ายขาเดียว เพราะว่าสิ่งทั้งหลายมันมิได้เที่ยงแท้จนพูดอย่างกระต่ายขาเดียวได้ ไม่กล่าวโดยส่วนเดียวเช่นจะไม่กล่าวว่ามี หรือจะไม่กล่าวว่าไม่มี ถ้าอย่างนั้นจะให้กล่าวว่าอย่างไร กล่าวว่ามันเป็นมีแต่กระแสแห่งเหตุ ปัจจัยปรุงแต่งกันไป จะว่ามีตัวตนก็ไม่ใช่ จะว่าไม่มีอะไรซะเลยก็ไม่ใช่ มันมีแต่สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายที่ปรุงแต่งกันและก็เปลี่ยนไปๆ เปลี่ยนไป สิ่งที่เป็นเหตุทำหน้าที่ให้เกิดผล แล้วผลก็กลายเป็นเหตุทำหน้าที่ให้เกิดผล แล้วผลก็กลายเป็นเหตุทำหน้าที่ให้เกิดผล มันเป็นอย่างนี้เรื่อยไป เช่นเดียวกับแม่ไก่ ลูกไก่ แม่ไก่ออกมาเป็นลูกไก่ ออกมาเป็นลูกไก่ ลูกไก่ก็กลายเป็นแม่ไก่ แม่ไก่ออกมาเป็นลูกไก่ จงจำลักษณะอย่างนี้ไว้เป็นอุปมาให้เข้าใจง่ายว่าสิ่งทั้งหลายมันมีลักษณะอย่างนี้ มันมีเหตุปัจจัยของมันเองและ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย นี้ก็เลยพูดไม่ได้ว่าเพราะอะไร พูดว่าแม่ไก่ก็ไม่ถูก พูดว่าลูกไก่ก็ไม่ถูก จะพูดแม่ไก่ว่าเป็นเหตุ มันก็ถูกชั่วขณะหนึ่ง เกิดลูกไก่เป็นผลขึ้นมาเดี๋ยวมันก็เป็นเหตุอีก ถ้าออกผลมาก็กลายเป็นเหตุอีก ถ้าเราดูโลกทั้งหลายในลักษณะอย่างนี้ ละก็เรียกว่าเข้าใจในส่วนลึกในด้านลึกก็จะไม่หลงอยู่ในโลก
ทีนี้ปัญหาของคนปัจจุบัน ก็อย่างกับว่า มั่งมียากจนสวยหรือไม่สวย เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ก็ไม่ควรจะพูดโดยส่วนเดียวอย่างนี้ มันเป็นไปตามเหตุ เป็นไปตามปัจจัย บัญญัติว่าสวย บัญญัติว่าไม่สวยมันก็เป็นเรื่องบัญญัติได้ เฉพาะชั่วขณะๆ หรือว่าแล้วแต่ความนิยมของคนบัญญัติด้วยซ้ำไป เถียงกันก็ได้ คนนี้ว่าสวย แต่คนอื่นดูว่ามันไม่สวยอย่างนี้เป็นต้น และที่สำคัญนั้นมันมีการบัญญัติเกี่ยวกับว่า ตายแล้วเกิดหรือ ตายแล้วไม่เกิด ท่านไม่แนะนำให้พูดลงไปโดยส่วนเดียว ไม่ให้พูดว่าตาย ไม่ให้พูดว่าเกิดด้วยซ้ำไปที่จริง แต่เดี๋ยวนี้พูดอย่างคนธรรมดาสามัญว่าตาย ตายแล้วก็เกิด เกิดแล้วก็ตาย ถ้าพูดว่าเกิดหรือตาย ตายแล้วเกิด แน่ลงไปอย่างใดอย่างหนึ่งนี่เรียกว่าพูดโดยส่วนเดียว มันไม่แน่มันแล้วแต่เหตุแล้วแต่ปัจจัย มันจะเกิดก็ได้ไม่เกิดก็ได้ มันจะตายก็ได้ไม่ตายก็ได้ แล้วก็ไม่ถือว่ามันเป็นคนๆหนึ่งโดยแน่นอนโดยเด็ดขาด มันเป็นเพียงกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ที่ประกอบกันเข้าเป็นสิ่งๆหนึ่งที่เราเรียกกันว่า คน อย่างนี้เป็นต้น นี้เป็นตัวอย่างทั้งนั้น แต่เราก็ไม่เข้าใจ ก็ยึดถือกลัวตาย รักเกิดเป็นต้น ชอบได้ไม่ชอบเสีย ชอบได้กำไรไม่ชอบขาดทุน ชอบสอบไล่ได้ไม่ชอบสอบไล่ตก เพราะมันเป็นบัญญัติโดยส่วนเดียว ไม่มองเห็นว่ามันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน และไม่จัดในส่วนที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ถูกต้อง นี่ถ้าดูอีกทีหนึ่งอีกมุมหนึ่งก็ จะดูในข้อที่ว่าหลักพุทธศาสนาที่พระศาสดาได้ตรัสไว้นั้น มันมีทั้งอย่างที่เป็นอัตตาที่มีตัวตน และอย่างที่เป็นอนัตตาคือ ไม่มีตัวตน และก็อย่างที่เรียกว่าเป็นสุญญตาคือว่างไปเลย ไม่ควรจะพูดว่าอัตตาหรืออนัตตาด้วยซ้ำไป
คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นหลักพระธรรมนี่ พวกหนึ่งก็มีสอนไว้อย่างมีตัวตนว่า จงรักตน จงสงวนตน จงทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตน ใครอื่นที่ไหนจะมาเป็นที่พึ่งแห่งตน นี่ก็หลักพุทธศาสนาสำหรับพวกที่ยังมีตัวตน หรือยังต้องถือตัวตนไปก่อน โดยเฉพาะลูกเด็กๆหรือผู้ที่ยังไม่รู้เรื่องอะไรลึกซึ้งเกี่ยวกับธรรมชาติ นี้พอสูงขึ้นไปมีหลักคำสอนเรื่องอนัตตาว่ามันไม่ได้มีตัวตน มันเป็นเพียงเราเข้าใจเอาเองว่ามีตัวตน เป็นเพียงส่วนประกอบต่างๆที่ประกอบกันขึ้นเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า คน และในคนมันรู้สึกคิดนึกได้ มันก็นึกไปอย่างผิดๆว่าตัวกูของกู เลยเป็นมีตัวตน โดยที่แท้นั้นมันมิได้เป็นตัวตน มันเป็นชั้นสูงเห็นได้ยาก มันจะเป็นเพียงภาพทั้งหลายประกอบกันเข้าเป็นสิ่งที่เราเรียกกันว่าสัตว์ว่าคนคิดนึกได้ทำอะไรได้หลายๆอย่างนี่คำสอนอย่างนี้ตัวตนก็มิได้มีตัวตน มีแต่สิ่งที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ทีนี้ที่สูงสุดก็ตัดบทซะว่ามันว่าง เรียกว่าสุญญตา มันว่างไม่ควรจะบัญญัติว่าอะไรหมด เพราะพูดว่า อัตตาตัวตนก็เหวี่ยงไปทางหนึ่ง อนัตตาไม่มีตัวตนก็เหวี่ยงไปทางหนึ่ง มันจะกลายเป็นสุดเหวี่ยงสองฝ่ายไปเสีย พูดให้ถูกกว่านั้นก็เรียกว่าว่างก็แล้วกัน ไม่มีอะไรที่จะมาเป็นอัตตาเป็น อนัตตา ไปลึกกว่า ครั้นเราจะเอาหลักพระพุทธศาสนาข้อไหนชั้นไหนมาศึกษามาปฏิบัติจะต้องดูให้ดี ให้ตรงกับเรื่อง พูดกันอย่างมีตัวตนก็ใช้หลักการมีตัวตน ถ้าจะพูดกันอย่างไม่มีตัวตนก็คือไม่มีตัวตน
ทีนี้อาจจะดูอาจจะตั้งปัญหาข้ออื่นขึ้นมาอีก คือว่าหัวใจของพุทธศาสนานั้นคืออะไร เมื่อตะกี้เรียกว่าแก่นคือ แกน เดี๋ยวนี้จะพูดว่าหัวใจ คือคำสอนชั้นที่เป็นหัวใจ เป็นจุดศูนย์กลางเหมือนกับหัวใจของคนนี่ พุทธศาสนาก็มีหัวใจ ถ้าเป็นหัวใจก็คือ สรุปสั้นที่สุดละไม่พูดกันมาก หัวใจพุทธศาสนาคือประโยคที่ว่า ไม่มีอะไรที่ควรจะยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน เป็นพระบาลีก็มีว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภิเวสายะ ไม่ต้องจดก็ได้เอาแต่ใจความให้ถูกต้องว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆต้องไม่มั่นหมายว่าเป็นตัวเป็นตนหรือเป็นของตน ถ้าเราเรียนพุทธศาสนาก็เรียนให้รู้อย่างนี้ เรียนให้รู้ว่ามันไม่มีอะไร ที่จะถือเป็นตัวเป็นตน ถ้าจะปฏิบัติพุทธศาสนาก็ปฏิบัติให้มันถูกตรงกับความจริงที่ว่ามันไม่มีอะไรเป็นตัวตน ปฏิบัติเพื่อละไอ้ตัวตนเสีย หรือถ้ามันเป็นปฏิเวธ คือได้ผลขึ้นมาก็ได้ผลเป็นจิตที่ไม่ยึดถืออะไรว่าเป็นตัวตน ก็เลยไม่มีความทุกข์ หัวใจพุทธศาสนาแท้ๆจริงเป็นประโยคเดียวสั้นๆว่าอย่างนี้ อาจจะไม่เคยได้ยิน ได้ยินไปทางอื่นเช่นได้ยินว่าเรื่องอริยสัจทั้งสี่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา นั้นก็ถูกต้อง แต่หัวใจอริยสัจหลักคืออะไร หัวใจของอริยสัจคือปฏิบัติไม่ให้เกิดยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้งห้า ไม่ให้เกิดอุปาทานขันธ์ทั้งห้าก็ไม่เป็นทุกข์ตามแบบของอริยสัจ หรือคาถาของพระอัสสชิที่เขาถือกันว่าหัวใจของพุทธศาสนานั้นคือ ไม่มีตัวตนเหมือนกัน มันมีแต่มีเหตุปัจจัยและเกิดดับไปตามเหตุตามปัจจัย เรียกว่าคาถาพระอัสสชิ หัวใจพุทธศาสนา และโอวาทปาติโมกข์ที่เราท่องกันอยู่ว่าไม่ทำความชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ หัวใจก็คือ ไม่ยึดถือว่าตัวตนอีกเหมือนกัน ในที่สุดก็เห็นได้ทันทีว่าไอ้ประโยคที่ว่าไม่มีอะไรที่ควรยึดถือว่าตัวตนนั่นแหละคือหัวใจของพุทธศาสนาอย่างแท้จริง นี่ก็เป็นอันว่าเราได้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนามาพอสมควรแล้ว โดยหัวข้อว่าพุทธศาสนาคืออะไร หลักของพุทธศาสนาคืออะไร หัวใจของพุทธศาสนาคืออะไร
นี้ก็จะดูกันต่อไป ว่าพุทธศาสนานี้มันตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นพุทธศาสตราอย่างไร พุทธศาสตราแปลว่าศาสตราของพระพุทธเจ้า นี้คำว่าศาสตรานี้มีความหมายว่าเป็นสิ่งที่มีคม แล้วก็ตัดสิ่งต่างๆได้ เช่นศาสตราวุธ ศาสตรานั้นมันมีคมมันตัดได้ นี้คำว่าศาสตราใช้ถึงมีดมีคมอะไรทำนองนี้ก็ยืมมาใช้ในภาษาธรรมะ หรือภาษานามธรรม ก็เลยกลายเป็นวิชาความรู้ วิชาความรู้ทั้งหลายนั่นแหละคือศาสตรา เรียกสั้นๆว่าศาสตร ศาสตรเฉยๆ เพราะมันตัดได้ ตัดอะไรตัดความไม่รู้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องตัดยิ่งกว่าสิ่งใด ศาสตราทางวัตถุก็เช่นมีดเช่นดาบเป็นต้น ศาสตราทางนามธรรมก็คือวิชาความรู้ที่จะตัดความไม่รู้เสียได้ นี้เรียกว่าศาสตรา ทีนี้พุทธศาสตรา เป็นศาสตราของพระพุทธเจ้า ก็มีไว้สำหรับตัดไอ้สิ่งที่ ศาสตราชนิดอื่นมันตัดไม่ได้ นี่ก็พูดอย่างผิดไม่ได้ เหมือนกัน
พุทธศาสตราคือ ศาสตราของพระพุทธเจ้า ใช้ตัดสิ่งที่ศาสตราชนิดอื่นตัดไม่ได้ คือศาสตราของคนอื่นมันตัดไม่ได้ คำว่าตัดในที่นี้ก็คือทำให้มันหมดอำนาจ หมดกำลัง หมดปัญหาไป กริยาตัดนั่นอาจจะอยู่ในรูปของการเผาก็ได้ เผาให้ไหม้ไม่ให้มีเหลือ หรือขุดรากทิ้งไปเสียให้หมด อย่าให้มีปัญหาอีกต่อไปก็ได้ อะไรอีกหลายๆอย่างที่จะรวมเรียกว่ามันตัดปัญหาออกไปได้ก็แล้วกัน นี่พุทธศาสนานั้นจะต้องเป็นพุทธศาตรา หรือพุทธศาสตร์ โดยตรงอย่างนี้ อย่าให้พุทธศาสนาเป็นเพียงศาสตร์ ศาสตราอย่างที่เขาใช้กันอยู่ในบัดนี้ ซึ่งมันเป็นศาสตร์หรือศาสตรา ขนาดของลูกเด็กๆหรือเด็กอมมือ เดี๋ยวนี้เรามีคำว่าศาสตร์ใช้มากขึ้นในภาษาไทย. เช่นคำว่าจิตศาสตร์ ไสยศาสตร์ มายาศาสตร์ กลศาสตร์เป็นต้น นี่ก็พวกหนึ่ง กระทั่งว่าเทวศาสตร์ ศาสนศาสตร์ ธรรมศาสตร์ อย่างนี้ก็พวกหนึ่ง ว่าจริยศาสตร์ ปรัชญาศาสตร์ ตรรกศาสตร์นี้ก็พวกหนึ่ง อักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ คณิตศาสตร์ เหล่านี้ก็เป็นพวกหนึ่ง ในที่สุดก็ถึงคำสำคัญคือคำว่า วิทยาศาสตร์ ซึ่งจะต้องดูกันให้ดี พุทธศาสนาจะเป็นศาสตร์อย่างไหน ก็เป็นศาสตร์อย่างพุทธศาสน์และมีความหมายเป็นของตัวเอง นั่นแหละเป็นส่วนแท้จริงหรือถูกต้อง แต่โดยเหตุที่พุทธศาสนาโดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ มันถูกกระทำให้เป็นไปในหลายแง่หลายมุม วิชาความรู้มันเจริญก้าวหน้าและเขาก็มองพุทธศาสนา ในแง่มุมต่างๆกัน จนทำให้พุทธศาสนามีความหมายเป็นศาสตร์ขึ้นมาได้หลายๆศาสตร์ ก็จะยกมาให้ฟังเป็นตัวอย่าง ถ้าเขาจะถือว่าพุทธศาสนาเป็นจิตศาสตร์ มันก็ถูกนิดหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมดเพราะว่า คำสอนในพุทธศาสนามันพูดถึงจิตพูดถึงอะไรของจิต แต่ไม่ได้พูดอย่างที่พวกนักจิตศาสตร์ หรือจิตวิทยาก็ตามพูดกันอยู่ในบัดนี้ จิตศาสตร์อย่างที่พูดกันอยู่ในบัดนี้จะเป็นจิตศาสตร์อย่างพุทธศาสนาไม่ได้ แต่พุทธศาสนาก็มีแง่ที่จะถูกมองเห็นเป็นวิชาจิตศาสตร์ จิตเป็นอย่างนั้น จิตมีกี่ชนิด จิตไม่มีกิเลส จิตไม่มีกิเลส กระทั่งชำระจิต
นี้คำถัดไปก็เช่นคำว่าไสยศาสตร์ บางคนเข้าใจผิดเอาพุทธศาสนาเป็นไสยศาสตร์ไปก็มี หรือถือพุทธศาสนาอย่างถือไสยศาสตร์ก็มีอยู่ทั่วไปโดยมาก และเรียกตัวเองว่าเป็นอุบาสกอุบาสิกาก็มี ภิกษุสามเณร ก็ยังมีแต่ถือพุทธศาสนาอย่างไสยศาสตร์ พุทธศาสนาที่แท้จริงจะเป็นไสยศาสตร์ไม่ได้ เว้นไว้ เสียแต่ว่าจะเอาความหมายกว้างๆอย่างกำกวม เช่นว่าไสยศาสตร์นี้เป็นศาสตร์ที่ปลอบใจได้ให้หายทุกข์ พุทธศาสนาก็พอจะคล้ายอย่างนั้นได้บ้าง มายาศาสตร์ คือ ศาสตร์เรื่องมายาใช้ของพรางตา พุทธศาสนาโดยเนื้อแท้จะเป็นมายาศาสตร์ไม่ได้ แต่ว่าพวกข้าศึกของพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาลนี้ก็กล่าวหาพุทธศาสนาว่าเป็นมายาศาสตร์ก็มี พระพุทธเจ้าเองถูกหาว่าเป็นมายาวี คือคนที่ใช้มายาหรือว่ามายาศาสตร์ พวกนั้นไม่เข้าใจ มันเห็นพระพุทธเจ้าโปรดบุคคลที่เป็นมิจฉาทิฐิ เป็นอันธพาลให้กลายเป็นพระอริยเจ้าไปก็มี และพระพุทธเจ้าทำให้คนที่นับถือลัทธิอื่นศาสนาอื่นอยู่อย่างเคร่งครัดกลายมาเป็นสาวกของพระองค์ไปเสียก็มี แต่คนพวกนี้ก็เข้าใจพระพุทธเจ้าว่าเป็นมายาวี ใช้มายาศาสตร์ปราบ ปรับใจคนเป็นต้น แต่ข้อเท็จจริงมิได้มีอย่างนั้นเลย จะมีอย่างไรก็ต้องเป็นพุทธศาสตร์เดี๋ยวจะว่ากันให้ฟัง บางคนหาว่าพระพุทธเจ้าเป็นนักเล่นกลคือมีกลศาสตร์ ความหมายก็อย่างเดียวกันอีก ถ้ามันเป็นกลก็เป็นกลตามแบบของพระพุทธเจ้าที่กลับใจคนให้จากผิดมาหาถูก
นี่ก็มาถึงหมวดที่สองเราจะดูที่คำว่าเทวศาสตร์ เดี๋ยวนี้ก็ใช้กันมากเป็นวิชาในทางศาสนา พวกนั้นมันตีขลุมเอาพุทธศาสนามาเป็นอยู่ในชุดนี้ด้วย พุทธศาสนาไม่มีเทวะ ไม่มีพระเจ้าที่เป็นบุคคล พุทธศาสนาก็ต้องไม่เป็นเทวศาสตร์เหมือนกับศาสนาอื่นๆที่เขามีพระเจ้าชนิดที่เป็นบุคคล แต่ถ้าตีความคำว่าพระเจ้าเป็นอย่างอื่น พุทธศาสนาก็พอจะมีพระเจ้าได้เหมือนกัน คือมีกฏแห่งธรรมเป็นพระเจ้า หรือว่ากฎแห่งธรรมชาติเป็นพระเจ้ากฎนี้สามารถจะสร้างอะไรขึ้นมาก็ได้ สามารถจะควบคุมอะไรก็ได้ สามารถทำลายอะไรก็ได้มีฤทธิมีเดช เหมือนพระเจ้าที่เขากล่าว แต่ว่าจะจริงกว่าหรือยิ่งกว่าไปซะอีก แต่เราจะไม่เรียกว่าเทวศาสตร์ ทีนี้แม้จะใช้คำว่าศาสนศาสตร์ จะต้องอย่างที่ปัจจุบันนี้ใช้อยู่ในประเทศไทยนะ เพราะว่าศาสนศาสตร์ ศาสตร์เกี่ยวกับศาสนาในประเทศไทยนั้น หมายถึงรู้ปริยัติเท่านั้นแหละ รู้ปริยัติไม่เกี่ยวกับปฏิบัติเลย และก็รู้ไม่ถูกไม่ครบด้วย รู้แกมโลกๆ
เข้าไปทุกที พวกศาสนบัณฑิต รู้พุทธศาสนาในแง่ของปริยัติก็ยังไม่สมบูรณ์แล้ว ก็ไปรู้ที่เกี่ยวกับศาสนาอื่นปรัชญาอื่น อะไรอื่นที่เขาว่ามันจำเป็นจะต้องรู้มามากๆเกินจำเป็นซะอีก ฉะนั้นพุทธศาสนานี้ไม่ใช่ศาสนาศาสตร์อย่างที่ใช้กันอยู่เดี๋ยวนี้ แม้จะเรียกว่าธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์อย่างบัดนี้ก็ไม่ได้ ธรรมศาสตร์เดี๋ยวนี้มันเรื่องกฏหมายการเมืองเศรษฐกิจอะไรไปเสีย ที่จริงพุทธศาสนาก็จะถูกเรียกว่าธรรมศาสตร์ ศาสตราคือธรรม หรือว่า ธรรมศาสตรา แต่ว่าธรรมศาสตร์ก็ไม่ได้ใช้ในความหมายนี้ซะแล้วใช้ในความหมายอื่นซะแล้ว งั้นก็กล่าวได้ว่าพุทธศาสนาไม่ใช่ธรรมศาสตร์ อย่างที่มีความหมายเหมือนที่ใช้กันอยู่ในบัดนี้
จะดูหมวดถัดไปอีก เช่นคำว่าจริยศาสตร์ พุทธศาสนาไม่ได้เป็นเพียงจริยศาสตร์ในความหมายที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จริยศาสตร์ในปัจจุบันหมายถึงไอ้สิ่งที่เรียกว่าทิฐิ ทิฐินี้เป็นเพียงปรัชญาของศีลธรรมเท่านั้น พุทธศาสนานี้ไม่ได้เป็นเพียงปรัชญาของศีลธรรม เป็นตัวศีลธรรมในชั้นสูงสุด พุทธศาสนาจึงมิใช่เป็นจริยศาสตร์อย่างที่เขาพูดกันอยู่ในเวลานี้ อาจจะถูกเอาไปปนเปเรียกกันผิดๆก็ได้ จึงบอกไว้ให้ทราบ พุทธศาสนาก็ไม่ใช่ปรัชญาศาสตร์หรือปรัชญา ไม่ใช่เรื่องสำหรับพูดไปตามการคำนึงคำนวณด้วยเหตุผล ไม่ใช่วิชาการใช้เหตุผลเพื่อการหาข้อเท็จจริงโดยการอนุมาน การอุปมานอะไรก็ตาม ถ้าอย่างนั้นไม่ใช่ตัวพุทธศาสนา พุทธศาสนาจะต้องตั้งรากฐานอยู่บนความรู้สึก ที่กำลังรู้สึกอยู่ในจิตใจในเวลานั้นโดยไม่ต้องใช้การคำนวณแม้ด้วยเหตุผล ปรัชญาศาสตร์นั้นเป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งถ้าจะเอามาให้เป็นเรื่องพุทธศาสนาก็จะเป็นได้บ้างสักนิดหนึ่งในบางส่วนบางกรณี
นี่คำว่าตรรกศาสตร์ ศาสตร์แห่งการคิดนึกก็เป็นเรื่องเหตุผลด้วยเหมือนกัน พุทธศาสนามิได้ตั้งอยู่บนเหตุผล เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่ตรรกศาสตร์ แต่มีรูปร่างเป็นตรรกศาสตร์ก็ได้
บางแง่บางมุม ฉะนั้นเป็นสิ่งที่ห้ามไว้ไม่ให้ใช้ตรรกศาสตร์เป็นเครื่องตัดสินความเชื่ออย่างในบาลีกาลามสูตร มา ตกฺกเหตุ อย่าเชื่อโดยเหตุที่มันต้อง ด้วยเหตุผลตาม มา นยเหตุ อย่าเชื่อถือเอาเพราะมันจะถูกต้องตามเหตุผลทางปรัชญาเป็นต้น นี่ดูๆอีกหมวดหนึ่ง อักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ คณิตศาสตร์ พุทธศาสนาไม่ใช่อักษรศาสตร์ เว้นเสียแต่ว่าจะเอาพระไตรปิฎกที่พิมพ์เป็นตัวหนังสือเป็นเล่มๆนี่มาเป็นหลักและนี่ก็จะเป็นอักษรศาสตร์ได้ มีวรรณคดีที่ไพเราะในแง่มุมที่สำคัญของอักษรศาสตร์ รวมทั้งเป็นสรรพศาสตร์ เป็นไวยากรณศาสตร์ อย่างใหญ่หลวงไม่มีใครสู้ได้เพราะคัมภีร์ทางพุทธศาสนามันมากกว่าคัมภีร์ทางศาสนาไหนหมด หรือวิชาแขนงไหนก็ตาม คัมภีร์ทางพุทธศาสนามันมีมากมันจึงเป็นอักษรศาสตร์มหึมาแต่ตัวพุทธศาสนาไม่ใช่อักษรศาสตร์ มันยิ่งๆไปกว่านั้นคือ มันต้องเป็นเรื่องของการปฏิบัติลงไปที่ตัวกิเลสหรือความทุกข์ต่างหาก ไม่ใช่ศิลปศาสตร์ เดี๋ยวนี้เขาเอาศิลปวัตถุทั้งหลายที่สวยงามมาเป็นศิลปะศาสตร์ หรือศิลปะในความหมายทั่วๆไปก็ตามเถอะ มันก็ไม่ใช่พุทธศาสนา เว้นเสียแต่ว่าเราจะถือเอาว่าการปฏิบัติในพุทธศาสนานี้เป็นศิลปะแห่งการครองชีวิตอย่างนี้ก็จะพอไปได้ เพราะมันมีความงามในเบื้องต้นท่ามกลางเบื้องปลายด้วย แต่ศิลปศาสตร์ในภาษาธรรมดาเขาไม่ได้หมายความอย่างนั้น นี้คณิตศาสตร์มีอย่างไรก็รู้กันดีแล้ว พุทธศาสนามีแง่มุมที่ถูกจัดเป็นคณิตศาสตร์ ก็พอจะมองออกคือมันใช้หลักคณิตศาสตร์ ซึ่งที่แท้ก็เป็นวิชาการใช้หลักเหตุผลชนิดหนึ่ง สำหรับจะใช้คำนวณหาข้อเท็จจริง ตามหลักทางคณิตศาสตร์ก็จะพบข้อเท็จจริงในทางธรรมะได้บ้าง และก็ปนเปกันไปกับหลักการทางตรรกศาสตร์ ทีนี้ก็มาถึง สิ่งหรือคำที่สำคัญคือวิทยาศาสตร์ อยากจะพูดว่าพุทธศาสนาไม่ใช่วิทยาศาสตร์ที่เป็นฝ่ายวัตถุธรรมหรือแม้นามธรรมที่ยังเนื่องอยู่ด้วยวัตถุธรรม เช่นฟิสิกส์ เช่นเคมีที่เป็นตัววิทยาศาสตร์ที่เขาเรียนกัน แม้แต่สัมพัทธ์ทฤษฎีทั้งหลายที่ชักโยงนั่นนี่ให้มันเกี่ยวข้องกัน ระหว่างสสารพลังงานอะไรก็ตาม วิทยาศาสตร์นั้นมันก็เป็นวิทยาศาสตร์อย่างนั้น พุทธศาสนาไม่ใช่อยู่ในรูปของวิทยาศาสตร์อย่างนี้ แต่อาจจะกล่าวได้ว่าเราขอแต่เพียงหลักการหรือรูปการอย่างวิทยาศาสตร์มาใช้กับพุทธศาสนาได้ เพราะว่าถ้าจะแบ่งแยกกันไปให้เด็ดขาดลงไปว่าพุทธศาสนานี้เป็นวิทยาศาสตร์ หรือว่าเป็นปรัชญาแล้ว ในคำตอบมันจะเอียงมาทางว่าพุทธศาสนานี้เป็นวิทยาศาสตร์ คือใช้วิธีการอย่างเดียวกับวิทยาศาสตร์ มีรูปหลักการอย่างเดียวกับวิทยาศาสตร์คือต้องมีสิ่งที่มีวัตถุอยู่จริง เฉพาะเป็นตัววัตถุสำหรับศึกษาค้นคว้าทดลองอยู่จริงในที่เฉพาะหน้า และมีการศึกษาค้นคว้าทดลองจริงอย่างวิถีทางวิทยาศาสตร์ คือมิใช่วิถีทางปรัชญาหรือรูปของปรัชญา หากแต่ว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ทางฝ่ายจิต ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ทางฝ่ายวัตถุ ถือว่าทางฝ่ายจิตเป็นส่วนสำคัญ ส่วนวัตถุคือเนื้อหนังร่างกาย ผม ขนและฟันหนังนี้ไม่ใช่ส่วนสำคัญ ตัวความรู้สึกที่เป็นกิเลสและเป็นความทุกข์นั่นเป็นส่วนสำคัญ เป็นตัววัตถุสำหรับมาศึกษาพิจารณาค้นคว้าเพื่อจะดับกิเลสเสียได้ เพื่อจะดับทุกข์เสียได้ โดยวิธีการอย่างเดียวกับวิทยาศาสตร์ ทางวัตถุ นี่เขาจึงพูดกันได้ว่าพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ แต่แล้วคนก็ไม่ค่อยชอบใจในแง่นี้ กลับไปชอบใจพุทธศาสนาในแง่ที่เป็นปรัชญา เพราะฟังดูมันโก้ดีหรือมันอะไรดีทำนองนั้น หรือกำลังหลงในแง่ของปรัชญา แต่ในที่สุดแล้วมันก็ไม่ถูก ไม่เป็นปรัชญาก็เป็นเอียงมาในหลักการหรือรูปร่างของวิทยาศาสตร์มากกว่า
นี้คำว่าศาสตร์ ศาสตร์ในที่นี้เราจึงต้องบัญญัติให้แก่พุทธศาสนาโดยเฉพาะจะเรียกว่าพุทธศาสตร์ดีกว่า มันไม่มีทางจะดิ้นได้ พุทธศาสตร์ คือ ศาสตร์ของพระพุทธเจ้ากันเสียเลย ศาสตร์ของบุคคลผู้รู้ไปเสียเลย จะจำกัดความหมายว่าอย่างไรดีสำหรับคำว่าพุทธศาสตร์ อาตมาอยากจะแนะขึ้นพอเป็นตัวอย่างว่าพุทธศาสตร์หรือพุทธศาสตรานี่ ก็จะถือว่าเป็นศาสตราของพระพุทธเจ้า เป็นศาสตราที่พระพุทธเจ้าท่านใช้เพื่อจะตัดกิเลส หรือตัดสิ่งที่เป็นข้าศึกทั้งหลายทั้งปวงหรือตัดความทุกข์ ถ้าใครจะถามขึ้นมาว่าได้แก่อะไร ได้แก่มีดเล่มไหน มันก็ต้องตอบในทำนองที่ว่าได้แก่มรรคญาน คือญานที่เป็นไปถึงขีดที่สมบูรณ์ ถูกต้องเพียงพอแก่การที่จะเรียกว่า มรรคหรืออริยมรรค อริยมรรคญานนั่นแหละคือศาสตร์อันแท้จริงของพระพุทธเจ้า มันก็ตัดไอ้สิ่งที่ต้องตัดตามหน้าที่ของศาสตร์อันนี้ ซึ่งศาสตร์อันอื่นมันตัดไม่ได้ นอกจากศาสตร์อันนี้เท่านั้นที่จะตัดได้ ถ้าเรามีการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาเรื่อยไปจนเกิดไอ้สิ่งที่เรียกว่ามรรคญาน และแน่นอนว่าจะบรรลุมรรคผล นิพพาน หรือจะดูกันอีกเหลี่ยมหนึ่งว่า พุทธศาสตรานี้คือ ศาสตราของผู้รู้ทั้งหลายก็ได้ เพราะคำว่าพุทธะนี่ ไม่ได้มุ่งหมายแต่เฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเดียว หรือพูดให้มันลืมยากก็คือว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่สงวนลิขสิทธ์ ใช้คำนี้แก่ผู้รู้ทั่วไปได้ ไม่ว่าผู้รู้ระดับไหน ถ้ามีความรู้ที่มีประโยชน์อยู่บ้าง ก็เรียกว่าผู้รู้ ผู้รู้ทั้งหลาย ตัดปัญหาทุกชนิด ตัดปัญหาทุกระดับนั่นเอง พุทธศาสตรา คือ ศาสตราของผู้รู้ทั้งหลายทั้งอดีต ทั้งปัจจุบัน ทั้งอนาคต ทีนี้จะดูต่อไป ว่าพุทธศาสตราคือ ศาสตราที่จะทำให้เกิดพระพุทธเจ้าขึ้นมา พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้ด้วยอะไร ก็ด้วยพุทธศาสตร์นั่นเองคือธรรมะคือ ธรรมความเป็นพระพุทธเจ้า ก็เลยกลายไปถึงว่าพุทธศาสตร์นี่คือศาสตราที่จะทำให้เกิดผู้ที่ช่วยโลก หรือเป็นที่พึ่งแก่โลกขึ้นมาได้ ผู้ที่เป็นนาถะของโลก
จะต้องมีธรรมศาสตราเสมอ ถ้าเขาไม่มีธรรมศาสตราใดๆก็ไม่สามารถจะเป็นนาถะของโลกได้ เช่นว่าไม่เป็นพระพุทธเจ้าได้ พุทธศาสตร์ก็คือ ศาสตร์ที่มันจะสร้าง ผู้ที่ช่วยโลกหรือเป็นที่พึ่งแก่โลกได้ เพราะอาศัยศาสตราอันนี้จึงเป็นผู้ช่วยโลกขึ้นมาได้ คุ้มครองโลกได้
สรุปความในขั้นสุดท้ายว่า พุทธศาสตรานั้นคือ ศาสตราที่จะตัดปัญหาได้ทุกชนิด. พูดที่เดียวหมดไม่ยกเว้นอะไร ปัญหาทุกชนิดทุกระดับ แต่ที่มันเกี่ยวกับมนุษย์นี่มันเป็นปัญหาที่อยู่ใกล้ตัวนี่เอง ปัญหาในระดับกามาวจร คนมันหลงในกามคุณ ปัญหาในระดับรูปาวจร คนมันหลงในรูปอันบริสุทธิ์ แม้ไม่เกี่ยวกับกามคุณ ปัญหาในระดับอรูปาวจร คนมันหลงในนามธรรมแม้ที่ไม่เกี่ยวกับกามคุณ หลงในเกียรติยศชื่อเสียง หลงในนามธรรม หลงในของเล่นของอะไร ที่ไม่เกี่ยวกับกามก็เรียกว่า หลงในรูปธรรม นอกจากนั้นก็คือ หลงกันมากที่สุดในสิ่งที่เรียกว่ากามคุณนี่เป็นปัญหา ซึ่งจะตัดได้ด้วยพุทธศาตรา ตัดแล้วก็ขึ้นอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ เรียกว่าเหนือโลก ความหมายของพุทธศาสน์เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นมันจึงมิใช่ศาสตร์ทั้งหลายอย่างที่เขาเรียกกันอยู่ จิตศาสตร์ ไสยศาสตร์ เทวศาสตร์ จริยศาสตร์ กี่สิบศาสตร์ร้อยศาสตร์ก็ตามใจ ไม่มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่าพุทธศาสตร์เลย แล้วก็เห็นได้ทันทีว่าพุทธศาสนานี้เป็นพุทธศาสตร์อย่างนี้ ขอให้มองเห็นพุทธศาสนาตรงตัวเสียก่อน แล้วก็มองดูในหน้าที่ ที่พุทธศาสนากระทำ คือ การตัดปัญหาของมนุษย์ให้มนุษย์หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ มีกับความเกษมจากโยคะใช้คำว่าอย่างนี้
ในตอนนี้ก็สรุปใจความได้ว่าพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่จะตัดปัญหาได้อย่างถูกต้อง อย่างสมบูรณ์ พุทธศาสนาตั้งอยู่ในฐานะอย่างนั้น นี้จะเข้าใจให้ละเอียดกันยิ่งขึ้นไปอีก ต้องมาพิจารณากันถึงการตัดปัญหาให้ละเอียดลงไปอีก ว่าพุทธศาสนาจะตัดได้อย่างไรไม่ใช่จะพูดอย่างคลุมเคลืออย่างโมเมแล้วเหมาๆเอาให้คนอื่นเชื่อ อย่างนี้ไม่ใช่วิสัยของพุทธศาสตร์ การตัดปัญหาที่งดงามที่สุดของพุทธศาสนา ทำไมจะต้องพูดว่างดงาม เป็นโฆษณาชวนเชื่อหรืออย่างไร ไม่ต้องโฆษณาชวนเชื่อ มันเป็นของจริงมันอย่างนั้นเอง งดงามอย่างไรก็ดูต่อไปก็แล้วกัน มันไม่น่าเกลียด และมันยังงดงามด้วย พุทธศาสนาจะตัดปัญหาอย่างงดงามนี่ ต้องแยกออกไปสักสองระดับจะดีกว่า จะง่ายกว่า คือ ระดับพื้นฐานทั่วไปของศาสนาไหนก็ได้ หรือของศีลธรรมจริยธรรมในแง่ไหนก็ได้ นี้อีกชั้นหนึ่ง คือ โดยเจาะจงของพุทธศาสนาเอง
จะพูดโดยหลักทั่วไป ถึงระดับทั่วๆไปโดยพื้นฐานทั่วไปก่อน ได้บอกไว้แล้วในการบรรยายครั้งที่แล้วมา ว่าพุทธศาสนานั้นจะแบ่งออกได้เป็นสามระดับ คือปริยัติ ได้แก่ การศึกษาเล่าเรียน ปฏิบัติ คือการปฏิบัติเข้าไปจริงๆ ปฏิเวธก็ได้ผลของการปฏิบัติกันจริงๆ คำนี้มันเป็นคำที่ใช้เป็นกลาง ใช้ได้แก่ระบบศาสนาอื่น หรือแม้ที่ไม่ใช่ศาสนา วิชาการทั้งหลายมันก็อาศัยหลักสามอย่างนี้ทั้งนั้น การทำมาหากินทำไร่ทำนาอะไรก็ตาม มันก็ต้องอาศัยหลักการสามประการนี้ทั้งนั้นคือมันต้องมีความรู้กันก่อนในเรื่องนั้นๆ และทำลงไปให้ถูกต้อง ตามความรู้แล้วผลมันก็จะเกิดขึ้นมา นี่เห็นได้ชัดว่า คำว่าปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธนี้มันใช้แก่หลักการทั่วไปเกี่ยวกับสิ่งที่มนุษย์จะต้องทำ เป็นเรื่องศาสนาก็ได้ เป็นเรื่องศาสนาทุกศาสนาก็ได้ เป็นเรื่องวิทยาการทั้งหลายที่มนุษย์จะต้องรู้และต้องทำก็ได้ จะเป็นวิชาการแขนงไหนก็ล้วนแต่จะต้องอาศัยหลักเหล่านี้ งั้นเราก็ดูคราวเดียวพร้อมกันไปหมดโดยไม่ต้องแยกว่าศาสนาไหนหรือวิทยาการอะไร เราจะพบว่าในส่วนที่เป็นปริยัติ คือ ความรู้ มันตัดความไม่รู้ ตัดความสงสัย ตัดความไม่แน่ใจแก่ตัวเอง และตัดอะไรต่างๆอีกมากมายตามหน้าที่ ของความรู้ นักเรียน นักศึกษาก็มองเห็นอยู่แล้วว่า ไอ้การศึกษา หรือความรู้มันตัดความไม่รู้ กระทั่งตัดความสงสัยที่มันสงสัยลังเลอยู่ ตัดความไม่เชื่อ ไม่แน่ใจในความสามารถของตัวเอง หรือในวิชาการที่เราจะใช้ หรือกระทั่งในสิ่งอื่นที่มาเกี่ยวข้องเป็นเครื่องมือเป็นอุปกรณ์อะไรก็ตาม ฉะนั้นปริยัติ คือ ความรู้ มันก็ตัดความไม่รู้เป็นต้น นี้ปฏิบัติ คือ การปฏิบัติ คือการปฏิบัติงานลงไป มันตัด ตัดความเป็นหมันของวิทยาการนั้นๆ วิทยาการใดก็ดีหลักธรรมะใดก็ดี ถ้ามันไม่มาอยู่ในรูปการปฏิบัติมันก็เป็นหมันหมด วิชาการที่เป็นหมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร มันก็ตัดปัญหาที่ว่าไม่ให้มันเป็นหมัน ตัดแต่ความไม่ได้รับผลแห่งความรู้ ถ้าเราไม่มีการปฏิบัติ เราไม่ได้รับผลแห่งความรู้เป็นแน่นอน เราต้องปฏิบัติเราจะได้รับ ผลแห่งความรู้ ทีนี้พอมาถึงปฏิเวธ คือ ผลที่ได้รับขึ้นมาแล้วนี่มันตัดอะไร ตอบอย่างกำปั้นทุบดิน มันก็ตัดความทุกข์ในชั้นสุดท้าย มันตัดความทุกข์ หรือมันตัดการขาดความสุขนั่นเอง การขาดความสุขมันก็หมดไป มันก็ได้ความสุขเข้ามา นี่ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ความหมายที่กว้างครอบคลุมไปทั้งโลก มันก็มีหน้าที่ตัดอย่างนี้ นี่เรียกว่าทั่วไปไม่ได้เกี่ยวกับพุทธศาสนาโดยเฉพาะ
นี่ถ้าเกี่ยวกับพุทธศาสนาโดยเฉพาะเรามีทางที่ดูแคบเข้ามาอีกว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธนี่มันตัดอะไร ดูที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาโดยตรง โดยเฉพาะ นี่จะต้องดูไปในรูปที่เป็นเนื้อหาหรือเป็นหัวใจยิ่งขึ้นไปอีกคือดูพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศีล สมาธิ ปัญญา คือ เป็นพุทธศาสนาในส่วนปฏิบัตินั่นเอง พุทธศาสนาในส่วนที่เป็นการปฏิบัตินั้นจะจำแนกออกไปได้เป็น ศีล สมาธิ และปัญญา
การปฏิบัติในส่วนศีล มันตัดความผิด ความร้ายอะไรต่างๆในภายนอก คือ ทางกาย ทางวาจานี่ ทั้งที่เป็นของส่วนตัว และเป็นของที่มันเนื่องออกไปถึงสังคมด้วย คำว่าศีลควรจะได้เข้าใจกันถึงใจความสำคัญของคำนี้ มันแปลว่าปกติ คือ ไม่วุ่นวาย ไม่โกลาหล ไม่วิปริต ไม่พิรุธ อย่างนี้ก็เรียกว่าศีล ถ้าไม่ผิดปกติมันก็สบาย หรือไม่มีปัญหาอะไร ถ้าผิดปกติมันก็ทนไม่ได้ มันก็ต้องมีการแก้ไข เครื่องมือแก้ไขในส่วนนี้เราก็เรียกกันว่า ศีล ที่เป็นหลัก เป็นประธานเช่น ศีลห้า ขอให้นักเรียนนักศึกษาสนใจเป็นพิเศษในความหมายที่ถูกต้อง หรือเพียงพอ จะว่าศีลห้านี้
ข้อที่หนึ่ง มันไม่ให้ประทุษร้าย ร่างกายชีวิตผู้อื่นโดยอาการอย่างใดวิธีใดๆโดยตรงโดยอ้อม ใต้ดินบนดินอะไรก็ตามไม่ได้ทั้งนั้น อย่าประทุษร้ายชีวิตร่างกายของผู้อื่นนี้
ข้อที่สอง อทินนานี่ อย่าประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของผู้อื่นโดยวิธีการอย่างไรก็ตาม
โดยตรงโดยอ้อมใต้ดิน บนดินมันจำแนกกันไม่ไหว ขอแต่อย่าไปกระทบกระทั่งทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ใช้คำว่าประทุษร้ายนะ
นี่ข้อกาเม อย่าไปประทุษร้ายของรักใคร่พอใจของผู้อื่น มันต่างกับประทุษร้ายทรัพย์สมบัติมันจะมุ่งหมายเอามาเป็นประโยชน์แก่ตัว ในแง่ที่เป็นทรัพย์สมบัติ แต่ของรักของพอใจนี้มันมีความหมายกว้างกว่านั้นมันจะทำให้เจ็บช้ำน้ำใจเฉยๆก็ได้ อย่าไปประทุษร้ายของรักของใคร่ของผู้อื่น ไม่ได้มุ่งหมายแต่เพียงว่าทำชู้ ถ้ามุ่งหมายแต่ทำชู้แล้วเด็กๆก็ไม่ต้องถือศีลข้อนี้ แต่ถ้าใช้จำกัดความลงไปว่าไม่ประทุษร้ายของรักของผู้อื่นแล้วเด็กๆก็ต้องถือศีลข้อนี้ เด็กคนหนึ่งก็มีของรักของเขา จะเป็นตุ๊กตาอะไรก็ตาม เด็กคนหนึ่งอย่าไปทำอะไรให้เขาช้ำใจไปด้วยเหตุนั้น นั่นแหละคือการถือศีลข้อนี้สำหรับเด็กๆ จนกระทั่งหนุ่มสาวคนแก่ผู้ใหญ่ก็ตามไม่ประทุษร้ายของรักของผู้อื่นก็แล้วกัน
ข้อมุสานี่อย่าไปประทุษร้ายสิทธิหรือความเป็นธรรมหรืออะไรก็ตามของผู้อื่น โดยใช้วาจานี้เป็นสื่อเป็นเครื่องมือ
นี้ข้อห้า สุรานี่ อย่าประทุษร้ายสติปัญญาหรือสมปฤดีของตัวเอง ถ้าเรากินถ้าเราเสพของเมาอะไรก็ตามแล้วมันประทุษร้ายสติปัญญาสมปฤดีมันก็เรียกว่าผิดศีลข้อนี้ มันทำให้ทำผิดทำชั่วอย่างอื่นข้ออื่นได้ต่อไปอีก ไม่เฉพาะแต่สุราอะไรก็ตามใจ ถ้าเสพเข้าไปแล้วมึนเมาทำให้เกิดเสื่อมเสียแก่สติสัมปชัญญะสมปฤดีผิดศีลข้อนี้ทั้งนั้น คิดดูเถอะศีลเท่านี้มันจะคุ้มได้อะไร คุ้มได้หมด มันคุ้มการกระทบกระทั่ง หรือไอ้ความชั่วร้ายความเดือดร้อนได้หมดในส่วนที่เกี่ยวกับกาย วาจา
ทีนี้สมาธิคล้ายๆกับศีล ศีลมันตัดโทษความชั่วร้ายทางภายนอกทางกาย ทางวาจา สมาธิก็ตัดโทษความชั่วร้ายทางจิต สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาทางจิตนี่ สมาธิจะช่วยขจัดออกไป เมื่อจิตมันไร้สมรรถภาพมันไม่เป็นสมาธิ ไม่มีสมรรถภาพทางจิตที่สมบูรณ์ สมาธิก็จะช่วยแก้ไขให้ ไม่มีความสุขในระบบของจิต สมาธิก็จะช่วยแก้ไขให้มีความสุข โดยเฉพาะพูดเป็นคำรวมๆแล้วจะพูดได้ว่า กิเลสที่ขึ้นมาถึงมโนทวารนี่ กิเลสที่ปรากฏขึ้นมาในมโนทวาร คือ ในความรู้สึกของจิตใจนี่ โลภะโทสะโมหะที่มันปรากฏในมโนทวาร แล้วแต่จะเรียกว่าเป็นนิวรณ์ หรือเป็นอุปกิเลสก็ตามใจคือกิเลสที่ปรากฏอยู่ที่มโนทวารนี้ สมาธิจะช่วยกำจัดให้ ให้สนใจเรื่องสมาธิกันบ้าง เมื่อทำสมาธิแล้วจิตมันจะเกลี้ยงเกลาไปจากสิ่งเหล่านี้ ความที่เกลี้ยงเกลานั้นมันเป็นความสุขด้วย
สำหรับปัญญาในทางพุทธศาสนามันมุ่งจะตัดลึกลงไปกว่านั้นอีก คือเกี่ยวกับความเคยชินของกิเลส ความรู้สึกที่เป็นกิเลสตัดไปได้ด้วยสมาธิ ข่มขี่ไปได้ด้วยสมาธิ ระงับไปได้ด้วยอำนาจของสมาธิ แต่ความเคยชินของกิเลสที่จะเกิดอย่างนั้นอีกยังมีอยู่ มันอยู่ลึกลงไปอีก ความเคยชินของกิเลสนี่มันสร้างขึ้นมาเรื่อย มันเพิ่มขึ้นมาเรื่อยเช่นว่าเราไปรักอะไรสักทีหนึ่ง มันก็สร้างความเคยชินที่จะรักเพิ่มขึ้นทุกทีไป ความเคยชินนี้ก็เรียกว่า อนุสัย ราคานุสัย เคยชินที่จะรักมากขึ้นๆ แล้วเราโกรธทีหนึ่งก็เพิ่มความเคยชินที่จะโกรธทีหนึ่ง มีความเคยชินที่จะโกรธเรียกว่าปฏิฆานุสัย ปฏิฆานุสัย นี่เราเคยชินที่จะโง่ โง่ทีหนึ่งก็ชินที่จะโง่มากขึ้น คิดโง่ทีหนึ่งก็ชินที่จะโง่มากขึ้น เรียกว่าโมหานุสัยหรืออวิชชานุสัย อย่างน้อยเรามีสามอนุสัย
มีราคานุสัย ชินหรือไวที่จะรัก
ปฏิฆานุสัย ชินหรือไวที่จะโกรธ
อวิชชานุสัย ชินหรือไวที่จะโง่
อย่างนี้เรียกอนุสัย ถ้าเปรียบก็เสมือนคลังเก็บแต่มันก็ไม่ถูก เพราะมันไม่ใช่ตัวตนที่ถาวรเก็บไว้ในคลังนั้น มันเป็นเพียงความเคยชินที่จะเกิดอย่างฉับไว มันมีมากนี่เรียกว่า อนุสัย เหมือนกับคลังเก็บ ทีนี้อีกความหมายหนึ่งเรียกว่า อาสวะ คือมันจะไหลออกมาจากคลังเก็บ เราเก็บอะไรไว้มาก มันก็จะไหลออกมาทำหน้าที่ของมันเมื่อมันได้ช่องได้โอกาส ทีนี้เมื่อมันไหลออกมาแล้วมันก็ทำการผูกพันให้ติดอยู่กับความทุกข์ อย่างนี้เรียกว่า สังโยชน์ อนุสัยก็ดี อาสวะก็ดี สังโยชน์ ก็ดี
มันเป็นส่วนลึก ไม่ใช่ตัวกิเลสธรรมดาสามัญ สมาธิจะกำจัดให้ได้ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า ปัญญา เป็นพุทธศาสนาในชั้นที่เป็นปัญญา ก็จะตัดปัญหาที่เกี่ยวกับอนุสัย หรืออาสวะ หรือสังโยชน์ได้ต้องไปศึกษากันเป็นพิเศษในเรื่องของวิปัสสนา หรือปัญญา
นี้เอามาพูดกันแต่หัวข้อเพื่อให้รู้ว่าพุทธศาสตร์หรือพุทธศาตราในพุทธศาสนานี่ ที่เป็นชั้นศีล มันก็ตัดตามหน้าที่ของศีล ที่เป็นสมาธิมันก็ตัดตามหน้าที่สมาธิ ที่เป็นปัญญามันก็ตัดตามหน้าที่ของปัญญา พุทธศาตรามันต้องเป็นอย่างนี้ ทีนี้เรามีใจกว้างคือว่าจะไม่สงวนไว้ แต่เฉพาะพุทธศาสนาเพราะว่า ศาสนาอื่นหรือว่าระบบศีลธรรมอื่นมันก็พอจะพูดได้อย่างนี้อยู่เหมือนกัน หรือว่าจะพูดให้เป็นความหมายกว้างรวมกันไปหมดเลยก็ยังได้ คือเป็นของสากลไป ระบบศีลที่เป็นสากล เราอย่าพูดว่าของศาสนาไหน มันก็มีด้วยกันทุกศาสนา ระบบศีลที่เป็นสากลมันก็ตัดความเลวร้ายทางกาย ทางวาจาที่เป็นปัญหา การเป็นอยู่ส่วนตนเองก็ดี ส่วนที่เนื่องไปถึงผู้อื่นก็ดี เลยใช้เป็นประมวลหลักการที่ใช้กัน ใช้กันได้ทั้งโลก คือ โลกทั้งโลกมันต้องการศีล มันจึงจะอยู่กันอย่างผาสุกมันจะรู้จัก หรือไม่รู้จักชื่อนี้ก็ตามใจ อาจจะเรียกชิ่อเป็นอย่างอื่นก็ได้ แต่ตัวระบบนั้นมันคือ ตัวระบบศีลในพุทธศาสนา ที่เป็นสากลมันก็ตัดปัญหาสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาทางกาย ทางวาจาอย่างสากลได้ ที่เป็นสมาธิสากลก็คือว่า เรื่องจิตของคนเรานี้มันอบรมได้ พออบรมแล้วมันก็จะมีผลเหมือนกันหมด คือว่าเมื่อจิตมันขาดภาวะที่น่าปรารถนา ขาดภาวะที่บริสุทธิ์ผ่องใส ขาดภาวะที่หนักแน่นมั่นคง ขาดภาวะที่จะว่องไวในหน้าที่การงานของมัน อย่างนี้แล้วมันแก้ได้ด้วยสมาธิ ในฐานะเป็นธรรมสากล หรือของธรรมชาติไปเลย เขาจะพูดว่าเขาถือศาสนาไหน ชอบอะไรไม่สำคัญหรอก ถ้าเขาปฏิบัติสมาธิ และก็ต้องเพื่อขจัดปัญหานี้ทั้งนั้น มันเป็นปัญหาที่เกิดแก่คนทุกคนนั่นเอง คือมองอีกทางหนึ่งก็พูดได้เลยว่าสมรรถภาพในทางจิตมันผ่านไปแล้วมันเรียกกลับมาได้ด้วยการทำสมาธิ เพราะสมาธิมันทำให้จิตผ่องใสอย่างหนึ่ง ให้จิตมันมั่นคงอย่างหนึ่ง ให้จิตมันว่องไวในหน้าที่ของจิตอย่างหนึ่ง รวมกันแล้วมันเป็นสมรรถนะสูงสุดของสิ่งที่เรียกว่า จิต ใช้ได้แก่ทุกคน ทุกหน้าที่การงาน ทุกกาลทุกสมัยทุกยุค สมาธิมันเป็นอย่างนั้นที่เป็นสากล
ทีนี้ปัญญาถ้าเป็นสากลเป็นระบบปัญญาสากล ก็ทำให้มีความรู้มันจึงตัดปัญหา คือ การขาดความรู้ในหน้าที่การงาน มันทำให้ไม่ขาดความรู้ที่ถูกต้องหรือเพียงพอ คนเราอาจจะมีความรู้แต่ไม่ถูกต้อง หรือเพียงพอ แต่ระบบปัญญาทั่วไปนี้มันจะช่วยเราให้มีความรู้ที่ถูกต้อง และเพียงพอในทุกแขนงหรือหน้าที่การงาน นับตั้งแต่ทำมาหากินจนไปถึงปฏิบัติทางจิตใจ นี้เรามองกันอย่างกว้างๆหรือมองอย่างใจกว้าง แม้นอกพุทธศาสนาก็ต้องอาศัยหลักอันนี้ ต้องมีหลักอันนี้ มันเป็นของธรรมชาติ ถือเสียว่า พระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆก็เคยสอนก็ละกัน พระพุทธเจ้าองค์นี้ก็สอนอย่างนี้ หรือถ้ามนุษย์คิดได้เองก็ต้องมาในรูปนี้ คือ มีศีล สมาธิ ปัญญา แม้ว่าจะไม่เข้มข้นหรือสูงสุดถึงระดับที่เรียกว่า พุทธศาสนา มันก็แก้ปัญหาของโลกได้มหาศาล นี่เห็นได้ว่าพุทธศาสนาที่อยู่ในรูปของปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ มันก็อยู่ในรูปพุทธศาสตรา ตัดปัญหาตามหน้าที่ของปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ นี้พุทธศาสนาที่เจาะจงลงไปในตัวแท้ของการปฏิบัติ อยู่ในรูปของศีล สมาธิ และปัญญา มันก็ตัดปัญหาไปตามหน้าที่ของสิ่งที่เรียกว่า ศีล สมาธิ และปัญญา เป็นอันเห็นได้ว่ามันเป็นพุทธศาสตรา หรือธรรมศาสตราก็ตามที่ตัดปัญหาได้จริง จึงถือว่าพุทธศาสนานี้เป็นพุทธศาสตรา ที่พระพุทธเจ้าใช้ตัดปัญหา
เอ้า ทีนี้จะพูดกันถึงปัญหาในปัจจุบัน คือ เรื่องที่ประยุกต์กับปัจจุบันว่ามันควรจะที่จะพิจารณากันอย่างไร ก็ต้องดูปัญหาในปัจจุบันกันเสียก่อน ปัญหาแห่งยุคปัจจุบันนี่ ท่านทั้งหลายก็ได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่านว่าปัจจุบันมีอะไรกันบ้างนั้นเกือบจะไม่ต้องพูดแล้ว แต่ถ้าไม่พูดซะเลยไอ้เรื่องก็ไม่รู้ว่าจะเป็นเดินไปได้อย่างไร จะพูดกันต่อไป ปัญหาปัจจุบันที่เขากลัวกันนักกันหนา กลัวยิ่งกว่ากลัวผีกลัวเสือ ก็มีอยู่หลายแขนงหลายหมวด ปัญหาทางเศรษฐกิจ นี่ก็กลัวกันวุ่นไปหมด ปัญหาคนล้นโลก ต้องคุมกำเนิดบ้างอะไรบ้าง ปัญหาไม่มีอาหารกินที่เพียงพอ ก็ระส่ำระสายกันอยู่ทุกวันโดยที่ไม่พบต้นเหตุอันแท้จริงด้วยความโง่เขลา แก้ไปก็แก้ไม่ได้ ปัญหายากจนก็ทำผิดศีลธรรมมันไม่รู้ และปัญหาไข้เจ็บ เพราะการแพทย์ไม่เจริญพอ น่าหัวเราะให้ฟันหัก หรือปัญหาขาดทรัพยากรในโลกนี่ในธรณียิ่งขึ้นทุกที นี่มันก็น่าหัวเราะให้ฟันหัก คือคนมันโง่มันทำลายเสียเอง นี้ปัญหาการไม่รู้หนังสือนี่ มันก็หลับตาโง่ให้มีปัญหา คือไม่ดูว่าสมัยที่คนเขาไม่รู้หนังสือเขามีความสงบสุขกันมากกว่าสมัยนี้ที่มันรู้หนังสือมากเกินไป ปัญหาที่จัดการศึกษาให้ได้อย่างใจมันก็อย่างเดียวกัน คือไม่รู้ว่าจะจัดอย่างไรจึงจะเกิดสันติภาพ ยิ่งจัดการศึกษารูปที่จัดในปัจจุบันนี่ มันยิ่งเกิดวิกฤตการณ์นักเรียนนักศึกษาเป็นอันธพาล หรือว่าเป็นอันตรายหรือเป็นอะไรกันมากขึ้น เพราะการศึกษามันจัดไม่ถูกต้องนั่นเอง การไม่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็ถือเป็นปัญหาใหญ่หลวง นี้ก็เป็นความโง่หลายซับหลายซ้อน มันเป็นเทคโนโลยีที่จะเพิ่มปัญหาให้แก่โลก ให้แก่มนุษย์ในสิ่งที่ไม่จำเป็นทั้งนั้น เมื่อเขาไม่มีเทคโนโลยีขนาดไปโลกพระจันทร์ได้ เขาสบายกันป่านนี้ เรามีปัญหาเรื่องไม่พอไม่เพียงพอในเรื่อง เทคโนโลยี แต่เขาก็ถือว่าเป็นปัญหาที่เขาจะต้องแก้ไขมัน ปัญหาที่ไม่รู้สิ้นสุดก็ปัญหาทางการเมือง ปัญหาทางการทหาร การทูต ปัญหาเหล่านี้สิ้นสุดไม่ได้ เพราะมันมีรากฐานอยู่บนการหลอกลวง หรือความเท็จมันจะสิ้นสุดได้อย่างไร ต้องเอาความหลอกลวง ความเท็จ ความเอาเปรียบผู้อื่นมาเป็นรากฐานมันก็สิ้นสุดไม่ได้ แต่มันก็เป็นปัญหาอยู่จริงๆ ในเวลานี้ปัญหาที่ในยุคปัจจุบันที่เขากลัวกันอย่างยิ่ง วิตกกันอย่างยิ่งกับปัญหาชนิดนี้ ส่วนปัญหาที่ควรจะสนใจแต่เขากลับไม่สนใจคือปัญหาอะไร
อาตมามองเห็นว่าปัญหาที่ควรแก่การสนใจนั้นคือปัญหาแห่งการไร้ศีลธรรม ศีลธรรมหายไปๆๆจนไม่มีศีลธรรม หรือไม่เพียงพอ นี้เป็นต้นเหตุแห่งปัญหาทั้งปวง
ปัญหาที่ผ่านมาแล้วข้างต้นนั้น มันมีมูลมาจากปัญหาแห่งการไร้ศีลธรรมทั้งนั้น พอมีศีลธรรมแล้วจะไม่มีปัญหาทางเศรษฐกิจหรืออะไรๆ ถ้าเรามีศีลธรรมมันก็จะไม่ทำเศรษฐกิจให้เป็นเครื่องมือสำหรับเอาเปรียบกันอย่างเดี๋ยวนี้ ถ้ามีศีลธรรมไม่ต้องกลัวคนมันจะมีขึ้นในโลก มันก็ยังช่วยกันได้ เหตุผลที่น่าหัวว่าถ้ามีลูกมากแล้วก็จะเลี้ยงไม่ได้แล้วคนก็จะไม่ดี ปู่ย่าตายายของเราก็เลี้ยงลูกมากๆได้ และอยู่กันอย่างผาสุกได้ แล้วคนปัจจุบันนี้พ่อแม่มีเงินเดือน ๓๕ บาท ลูกไปนอกทุกคน ตั้ง๖-๗คนเขาก็ยังทำได้ ทำไมไม่มองกันอย่างนี้บ้างมันอยู่ที่คนดีมีศีลธรรม ทั้งพ่อทั้งแม่ทั้งลูกมากกว่า นี้ถ้าแม่มันมัวแต่จะแต่งตัวไปเล่นไพ่อย่างนี้ มันก็ไม่พอจริงเหมือนกัน เพราะมันไม่มีศีลธรรมไม่มีเวลาไม่มีกำลัง ที่จะเลี้ยงลูกให้ดีได้ ถ้ามีศีลธรรมแล้วมันก็จะมีอาหารกินมันจะไม่ยากจน ไม่มีการเจ็บไข้ที่เกิดจากการไร้ศีลธรรม ไม่ทำลายทรัพยากรใต้ดิน ถึงไม่รู้หนังสือก็ไม่เป็นไรถ้ามีศีลธรรมก็อยู่เป็นผาสุข ภาพปริศนาธรรมเหล่านี้เขาทำขึ้นสำหรับคนไม่รู้หนังสือทั้งนั้น ฉะนั้นจะพูดได้ว่าสมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา คนก็ไม่ค่อยรู้หนังสือ ต้องสอนธรรมะกันด้วยรูปภาพอย่างที่เขียนอยู่ที่ผนัง
เขาก็สบายกว่าคนสมัยนี้ เพราะมันมีศีลธรรม ปัญหาเรื่องการไม่รู้หนังสือก็ไม่เกิดขึ้น จัดการศึกษาก็จัดชนิดที่จะอยู่กันอย่างสงบได้ ไม่ทำให้ทะเยอทะยานไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ต้องการเทคโนโลยีซึ่งไปบำรุงบำเรอกิเลส การเงินการทหาร การทูตนั้นจะหมดปัญหาไปเพราะ มนุษย์มีศีลธรรม
เดี๋ยวนี้ไม่มีทางจะสิ้นสุดได้เพราะมันยิ่งไร้ศีลธรรมมากขึ้นทุกที ปัญหาที่ควรสนใจที่สุด คือ ปัญหาที่กำลังไร้ศีลธรรมอยู่ในโลก
จะพูดกันในมุมหนึ่ง ก็พูดว่า ปัญหาคือมีการศึกษาไม่ถูกต้องเพียงพอสำหรับจะเป็นคน เดี๋ยวนี้ในประเทศไหนก็ตาม รวมทั้งประเทศไทยเราด้วยมันมีการศึกษาชนิดที่ไม่ถูกต้องหรือถูกต้องแล้วมันไม่เพียงพอ ไม่ถูกต้องเพียงพอสำหรับจะเป็นคน ก็เลยอยากจะพูดว่าสำหรับเป็นเทวดา ถ้าพูดเป็นสัตว์เดรัจฉานเขาจะมาตีอาตมาตาย สมมติว่ามันจะเป็นเทวดามากกว่า มันไม่เหมาะสำหรับเป็นคน จัดการศึกษานี่ไม่ถูกต้องไม่เพียงพอ ที่จะเป็นคน มันมีศาสนาไม่ถูกต้องไม่เพียงพอสำหรับจะเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์มันจะต้องมีใจสูง เดี๋ยวนี้เราไม่ได้มีศาสนาที่เพียงพอและถูกต้องสำหรับความเป็นมนุษย์ และเขาก็ไม่สนใจกับปัญหานี้เลย สรุปความแล้วว่าปัญหาที่จะสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาแล้วข้างต้นทั้งหมดนั่นแหละ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเมือง กี่สิบอย่างก็ตาม มันเป็นปัญหาที่มนุษย์หลับตาสร้างขึ้นมา ปัญหาที่เราจะมีการป้องกันแก้ไขปัญหานั้นๆอย่างไรนี่กลับไม่สนใจ ฉะนั้นขอให้สนใจในสิ่งที่มันจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ คือการมีธรรมศาสตรา มีพุทธศาสตรา มีศีลธรรมที่ถูกต้องมันจะแก้ปัญหาทั้งหมดได้ เดี๋ยวนี้ถ้าจะเปรียบก็ต้องเปรียบว่า เขากลัวมดกัดมากกว่าเสือกัด ไอ้คนที่จัดการศึกษา จัดการเศรษฐกิจ การบ้านการเมืองมันตาฝ้าฟางอย่างไร ก็ไม่รู้ มันไปกลัวสิ่งที่ไม่น่ากลัว ในสิ่งที่น่ากลัวมันก็ไม่กลัว กลัวมดกัดนี่ยิ่งกว่าเสือกัด ปัญหาที่เขากลัวกันนั้น มันทำอันตรายได้เหมือนกับมดกัด แต่ปัญหาขาดศีลธรรม ขาดศาสนานี่มันเหมือนกับเสือกัด คือมันจะสูญเสียความเป็นมนุษย์หมดสิ้นทั้งทางกายและทางจิต แล้วมันจะนำปัญหายุ่งยากทั้งหลายมาให้ เป็นวิกฤตการณ์ที่ถาวร อย่างที่เราเห็นๆกันอยู่ในประเทศเราหรือประเทศอื่นก็ดี ทั่วโลกก็ดี เพราะมันจัดผิดในเรื่องนี้ มันก็ถูก เสือกัดมันก็ยังไม่กลัว มันกลัวมดกัด ในที่สุดเขาถือกันว่า เขาจะอิ่มปากอิ่มท้อง จะร่ำรวยกันเสียก่อนนู่นถึงจะมาสนใจธรรมะหรือศาสนา เลยไม่ต้องพูดกัน เขาต้องมองในมุมที่ถูกต้องว่า ที่เขาไม่อิ่มปากอิ่มท้อง เพราะมันขาดศีลธรรม และขาดศาสนา หรือที่เขาไม่ร่ำรวยก็ตาม เพราะเขาขาดศีลธรรมที่จะบังคับตัวเองให้ตั้งอยู่ในความถูกต้อง เช่นทำอบายมุข ทำสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งกิเลส คนเหล่านี้ก็รวยขึ้นไม่ได้ หรือที่เขาไม่อิ่มปากอิ่มท้องได้ เพราะว่าเขาต้องทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างแน่นอน ไปดูให้ดีให้นึกถึงคำสอนโบรงโบราณที่เขาพูดไว้ว่าไอ้นกกระจิบ นกกระจอกนี้มันยังไม่อดอาหารตาย แล้วทำไมคนเราจะต้องอดอาหารตาย นี่เราก็ไปกลัวในส่วนนี้มากเกินไปไม่มาสนใจในธรรมะหรือศาสนา กลัวว่าจะไม่มีอะไรกิน นี่ปัญหามันมีอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวนี้ก็ยังพูดกันอยู่แม้ที่กรุงเทพ ต้องอิ่มท้องเสียก่อนจึงจะมาวัด มาสนใจธรรมะหรือศาสนา ก็ลองดูก็แล้วกัน ลองดูก็แล้วกันว่าเมื่อไรมันจะได้เข้าวัด
ในที่สุดเราก็สรุปความกันได้ว่า พุทธศาสตราหรือพุทธศาสนาที่ถูกต้อง และเพียงพอนี้จะตัดปัญหาทั้งหมดได้ สมกับที่จะเรียกว่า พุทธศาสตรา ตัดปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร ก็ชี้ให้เห็นเป็นคู่ๆ ข้อๆมาหลายคู่แล้ว แต่ถ้าสรุปความแล้วก็ได้เป็นเพียงคำพูดคำเดียวที่จะแก้ปัญหาแห่งยุคปัจจุบันนี้ก็คือ การกลับมาแห่งศีลธรรม อาตมาขอฝากไว้กับคนทุกคนด้วยคำพูดนี้ว่าการกลับมาแห่งศีลธรรม ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา ปัญหาเหล่านี้ไม่หมด พุทธศาตราก็จะไม่มีมาช่วยเรา ธรรมศาสตราก็จะไม่ถูกใช้ พุทธศาสนาก็เป็นหมันจนกว่าจะมีการกลับมาแห่งศีลธรรม ฉะนั้นขอให้ช่วยตั้งความหวัง ความปรารถนาให้มีการกลับมาของศีลธรรม การกลับมาแห่งศีลธรรมจะมีได้อย่างไรคือ เรื่องที่จะได้บรรยายในตอนต่อไป วันนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติการบรรยายไว้เพียงเท่านี้ก่อน