แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นโมตัสสะ.....
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของสัตว์ทั้งหลาย ของท่านพุทธบริษัททั้งหลาย เออ กว่าจะยุติลงแก่เวลา ธรรมเทศนาในวันนี้ เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ปรารภเหตุเนื่องด้วยการกระทำวิสาขบูชา ดังที่ท่าน ทั้งหลายก็ทราบอยู่ ได้เป็นอย่างดีแล้ว ธรรมเทศนาในกัณฑ์แรกนี้ เป็นธรรมเทศนา เพื่อปรับปรุงจิตใจของผู้มา ประชุมกัน ในสถานที่นี้ ให้เหมาะสมแก่การทำการบูชานั้นเป็นส่วนใหญ่ ขอให้ท่านทั้งหลาย ตั้งใจที่จะทำให้ สำเร็จประโยชน์มากที่สุดได้เพียงไร ด้วยกันจงทุกคนเถิด
ท่านทั้งหลายอุตส่าห์มาถึงที่นี่ ในลักษณะอย่างนี้ ก็รู้สึกได้เป็นอย่างดีแล้วว่าต้องลงทุนมาก ต้องเหนื่อยมาก ลำบากมาก เปลืองมาก เป็นต้นนั่นเอง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์อะไรกัน อย่างน้อย ก็เพื่อประโยชน์ว่า เราจะได้กระทำในสถานที่ ที่เป็นธรรมชาติให้มากที่สุด เช่นว่า ให้มัน กลางดินที่สุด หรือว่าแวดล้อมไปด้วยสิ่งที่เป็นอยู่เองตามธรรมชาติ ปราศจากการตบแต่งแก้ไขให้มากที่สุด ดังนี้เป็นต้น โดยที่เชื่อว่าจะได้ผลแปลกเป็นพิเศษออกไป จากการที่จะกระทำในบ้านในเมือง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว พระพุทธเจ้าท่านก็ ตรัสรู้ในป่า ท่านประสูติกลางดิน ตรัสรู้ก็กลางดิน ท่านนิพพานก็กลางดิน สั่งสอนสาวกโดยทั่ว ๆ ไปก็กลางดิน หรือว่ากุฏิที่ท่านประทับอาศัยก็เป็นพื้นดิน โรงประชุมสงฆ์ของท่าน ก็พื้นดิน นี่ขอให้คิดดูในข้อนี้ก่อนว่า พระพุทธเจ้าท่าน ๆ ใกล้ชิดกับแผ่นดินอย่างไร ทีนี้ พวกลูกศิษย์ลูกหา สาวกสาวิกาในครั้งหลังนี้ มันอยากจะอยู่บนวิมาน ทำบุญอะไรสักหน่อย ก็ปรารถนาวิมาน มันก็เหมือนกับ ว่า แยกทางกันเดิน คนหนึ่งอยู่บนวิมาน คนหนึ่งอยู่กลางดิน มันจะพบกันได้อย่างไร ตามปกติก็เป็นเช่นนั้น ก็แล้วไป แต่ว่าเดี๋ยวนี้ เราจะเอาอย่างนี้ คือ จะมานั่งกันกลางดิน ในท่ามกลางธรรมชาติ ปราศจากการตบแต่ง อย่างนี้ และก็จะกระทำการเดินประทักษิณเท้าเปล่า ทุกอย่างเป็นเครื่องเตือน ให้ระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า ไปเสียกันหมด นับตั้งแต่ว่า ท่านประสูติกลางดิน นิพพานกลางดิน เป็นต้น ไม่ปรากฏในบาลีว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงใช้รองเท้าแปลว่าท่านเสด็จโดยเท้าเปล่า ฉะนั้นเราก็ควรจะรู้รสของการเดินเท้าเปล่ากันบ้าง อย่างน้อยที่สุด ก็ที่นี่ ซึ่งจะเดินเวียนประทักษิณเท้าเปล่า ถ้าจะลำบากบ้าง เจ็บปวดบ้าง ก็ขอให้ทราบว่า มันเป็นรสอย่างเดียว กันกับที่พระพุทธเจ้าท่านได้รับ ควรจะยินดี อย่านั่งลงร้องไห้ ควรจะนั่งลงดีอกดีใจมากกว่า ถ้ามันปวดเท้า จนเดินไม่ไหวจริง ๆนี้ จึงขอแนะนำว่า ควรจะถอดรองเท้า เดินเวียนประทักษิณ นี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง ซึ่งเรา จะต้องระลึกนึกถึง และพยายามกระทำในวันนี้ มันยังมีเรื่องอื่นอีกมากที่ว่า ถ้าเราจะทำ ตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า แล้วเราจะต้องทำอย่างไร แต่เวลาไม่พอที่จะให้พูดกันทุกเรื่อง ก็พูดแต่เรื่องที่ว่าจะเดินเวียนประทักษิณ ด้วยเท้าเปล่าก็พอแล้ว ทีนี้ พอระลึกนึกถึงธรรมชาติ ป่า ในลักษณะตามปกติอย่างนี้ ก็เป็นที่โปรดปรานของพระพุทธเจ้า ท่านตรัสรู้ในป่า เช่นเดียวกับพระศาสดาแห่งศาสนาอื่น ๆ ทุกองค์ ทุกท่าน ก็ปรากฏว่า ตรัสรู้หรือสำเร็จ การรู้ถึงที่สุด ในลัทธิของท่านนั้น ล้วนแต่ในป่า ในที่สงัดทั้งนั้น ไม่ใช่ในบ้านในเมือง หรือบนปราสาท หรือบนมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นอาคารตบแต่งขึ้นมา มิใช่ธรรมชาติ เดี๋ยวนี้ เราก็มานั่งอยู่ในสถานที่อย่างนี้ ที่ตรงนี้ เราก็เรียกกันว่า โบสถ์ มีพื้นโบสถ์เป็นพื้นดิน มีผนังโบสถ์เป็นต้นไม้ มีหลังคาโบสถ์เป็นใบไม้ ทั้งหลาย ที่อยู่บนศีรษะเรา ข้อนี้ ไม่ใช่อาตมาว่าเอาเอง มีคนบางคน ซึ่งน่าแปลกอยู่เหมือนกัน เขาโผล่ขึ้นมาที่เชิงบันไดตรงนั้น ก็ร้องตะโกนขึ้นมาว่า โบสถ์ โบสถ์ ถามว่า ยังไงโบสถ์ เขาก็บอกว่า อย่างที่อาตมาว่านี้ มันมีความคิดตรงกันได้ ไม่ใช่เฉพาะอาตมาคนเดียว ที่รู้สึกว่านี่มันเป็นโบสถ์ มันเป็นโบสถ์ทางวิญญาณ ไม่ใช่โบสถ์ทางวัตถุ โบสถ์ ทางวิญญาณ คือ ทางอุดมคติ ทางสติปัญญา คือมันจะเป็นโบสถ์ที่ลึกซึ้ง ที่ประเสริฐตรงที่ว่า มันจะให้สำเร็จ ความรู้สึก แก่จิตใจยิ่งกว่าโบสถ์ทางวัตถุ ขอให้ทุกคนรู้สึกว่าเรากำลังนั่งอยู่ใน โบสถ์ทางวิญญาณ อย่างเดียว กับโบสถ์ ที่พระพุทธเจ้าท่านโปรดประทาน ไว้ให้ภิกษุสงฆ์กระทำสังฆกรรมทั้งหลาย เพียงแต่ กำหนดเขตสถานที่ทิศนั้นทิศนี้ ด้านนั้นด้านนี้ก็พอแล้ว ไม่ต้องสร้างอาคารสถานที่อะไร นี่ก็เรียกว่า สีมา เดี๋ยวนี้เราก็มีสีมาชนิดนั้น ทุกอย่างทำให้มัน คล้ายที่สุดกับที่ว่าเคยมีมาแล้ว เคยเป็น อยู่แล้ว ในครั้งพุทธกาลอย่างไร ควรจะถือว่าสถานที่นี้ ได้ต้อนรับท่านทั้งหลาย เป็นอย่างดีที่สุดแล้ว หมายความว่า ได้ให้ประโยชน์ทางจิตใจมากที่สุด ทั้งในการทดสอบ และการรู้ผลแห่งจิตใจของตัวเอง ว่าจะเป็นอย่างไร และเราก็ตั้งใจอีกอย่างหนึ่งว่า จะทำวิสาขบูชานี้ ให้ดียิ่งกว่าปีที่แล้วมา ยิ่งกว่าปีที่แล้วมา ยิ่งขึ้น ๆ ทุก ๆ ปี ไป
หมายความว่า เราจะเสียสละให้มากขึ้น นับตั้งแต่จะต้องอดทนให้มากขึ้น ทำจิตใจให้แนบเนียน ให้เป็นสมาธิ ให้ลึกซึ้ง ในการที่จะรู้สึกต่อรสของธรรมะ ตามธรรมชาติ หรือตามที่ธรรมชาติ จะช่วยให้ เกิดขึ้นในจิตใจอย่างไรนั่นเอง และอยากจะพูดเลย ต่อไปถึงว่า เราทำวิสาขบูชากันตลอดทั้งวัน ตลอดทั้งคืน เพื่อว่าจะเป็นที่ระลึกแก่พระพุทธเจ้า บางคนก็ทราบแล้ว บางคนก็ไม่ทราบ ว่าพระพุทธเจ้าท่าน ทรงบำเพ็ญ ความเพียรเพื่อการตรัสรู้นั้น ทั้งคืน ไม่ได้งีบ ไม่ได้งีบแม้แต่นิดเดียว และมีการตรัสรู้ เมื่อตอนรุ่งสางของคืน คืนนั้น แล้วเราจะไปนอนคุดคู้เสียที่ไหน ไม่คอยมาแอบดู ถ้าสมมติว่า เรามีโอกาส ถึงขนาดที่จะแอบดู เราก็คงนอนไม่หลับเหมือนกัน เราคงจะแอบเฝ้าดูอยู่จนตลอดรุ่ง ฉะนั้น ขอให้ทำความอดทนถึงขนาดนั้น กันบ้างเถิด ในคืนนี้ทำวิสาขบูชานี้ จะพยายามหาโอกาส ให้เกิดความรู้สึกในจิตใจ ในธรรมะที่ละเอียด ประณีต สุขุมมากขึ้น ๆ โดยไม่ต้องรู้สึกง่วงนอน ถ้าทำได้อย่างนี้ก็เป็นการดี เป็นการดีตรงที่ว่า เป็นการบูชา อย่างสูงสุด แก่พระพุทธเจ้านั่นเอง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า การบูชาด้วยการปฏิบัติ คือการกระทำนั้น ประเสริฐกว่า การบูชาด้วยวัตถุสิ่งของ แต่เมื่อกระทำพร้อมกันทั้งสองอย่าง ก็ยิ่งเป็นการดี เราบูชาด้วย ธูปเทียน เป็นต้น ก็เรียกว่า บูชาด้วยวัตถุ และเราบูชาด้วยการปฏิบัติ คือ นับตั้งแต่ให้ทานในตอนเช้า สมาทาน ศีล ตลอดวันตลอดคืน แล้วพยายามที่จะให้เกิด ความสว่างไสวในทางธรรม ด้วยการฟังธรรมเทศนา เป็นต้น จนตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่งเช่นนี้ ก็เรียกว่า เป็นปฏิบัติบูชาได้ทั้งนั้น
บางคนอาจจะขอโอกาสมากไป จนถึงกับจะกระทำสมาธิวิปัสสนา ในคืนเช่นคืนนี้ ก็เป็นการดีด้วย เหมือนกัน ผู้ที่ไม่สามารถ ก็ทำตามความสามารถของตน ๆ ขอแต่ว่าให้พยายามให้สุดความสามารถ ไม่เห็น แก่นอน ไม่เห็นแก่การพักผ่อน อะไรนัก เว้นแต่คนป่วย นี้ไม่ใช่แก้ตัวให้แก่ตัวเอง พูดเป็นกลาง ๆ ว่า ถ้าไม่ ป่วยละก็ขอให้อดทน สดชื่น แจ่มใสอยู่ตลอดวัน ตลอดคืนอย่างที่เคยทำมาแต่ปีก่อน ๆ แล้ว จะทำอะไรกัน บ้าง ก็ค่อยรู้กันต่อไปตามลำดับ ขอให้มีการเสียสละ เท่าที่จะเสียสละได้ หรือเท่าที่เรามีความรักพระพุทธเจ้า มีความเคารพพระพุทธเจ้า มีอะไร ๆ ต่อพระพุทธเจ้านั้นมากเท่าไร เราก็ควรจะมีการเสียสละมากเท่านั้น มันก็เป็นอันว่า สมกันดี การที่อุตส่าห์มาถึงนี่ มานั่งอยู่ในลักษณะเช่นนี้ ก็เรียกว่า เสียสละไม่น้อยอยู่แล้ว ก็ต้องเสียสละต่อไป นี่เรียกว่า เป็นการเตรียมจิตใจสำหรับทำวิสาขบูชา อย่างคร่าว ๆ
ทีนี้ก็มาตั้งใจให้ละเอียดไปกว่านั้น น้อมระลึกนึกถึงพระคุณของพระองค์ เท่าที่จะระลึกได้ พระคุณ ของพระพุทธเจ้านั้น จะพรรณนากันให้หมดจด ในเวลาอันสั้นนี้ ไม่ไหว ผู้รู้ท่านได้กล่าวไว้ แต่โบราณกาล นานมาแล้วว่า สมมติว่า จะมีใครสักคนหนึ่ง มันมีศีรษะตั้งพัน พันศีรษะ ในศีรษะหนึ่ง มันมีตั้งพันปาก ในพันปากนั้นมันมีตั้งพันลิ้น แต่ละปาก ๆ มีลิ้นเป็นพันลิ้น แล้วให้ทุก ๆ ลิ้นนั้น มันช่วยกันพรรณนา พระคุณของพระพุทธเจ้า ไปตลอดเวลา ตั้งกัปป์หนึ่งก็ ไม่ ไม่หมด ไม่หมดลักษณะ แห่งพระคุณของพระพุทธเจ้า นี่ เราไม่ต้องคิดอะไรมาก เราคิดแต่เพียงว่า มันมากจนพรรณนากันไม่ไหวก็แล้วกัน เพราะฉะนั้น จึงมีการ จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเอามาพิจารณา หรือวิสัชนากันในวันนี้ แต่เพียงบางข้อ พอเป็นตัวอย่าง พอเป็นที่ตั้ง แห่งความเลื่อมใส
พระพุทธเจ้านั้นท่านเป็นอะไรแก่เรา ท่านทั้งหลายเคยคิดบ้างหรือไม่ เคยแต่พูดว่า พระพุทธเจ้า มีพระคุณ เรียกว่า พระพุทธคุณอย่างนั้นอย่างนี้ บางคนก็ท่องได้มาก ยิ่งไปกว่านกแก้วนกขุนทอง แต่ในใจ อาจจะไม่รู้สึกเลยก็ได้ ฉะนั้น จึงต้องมาพูดกันให้เกิดความรู้สึกบ้าง พระพุทธเจ้านั้น ท่านมีพระทัยตามแบบ ของท่าน ซึ่งไกลหรือมากกว่าจิตใจอย่างคนเรา ๆ ถึงอย่างนั้นท่านก็ยังนับทรงนับพวกเราว่าเป็นพวกของท่าน
เมื่อท่านจะพูดกับใครในบางคราว ท่านใช้คำว่า พวกเราพุทธบริษัทเหมือนกัน ถึงพวกลัทธิอื่น ศาสนาอื่น ล่วงเกิน ขอโทษท่าน ท่านก็ใช้คำว่า พวกเราอดโทษให้แก่ท่าน หมายความว่า พุทธบริษัททุกคน อดโทษให้แก่คนที่มาล่วงเกิน คำว่า มะยัง(นาทีที่ 16:25) นี้มันแปลว่า พวกเรา ฟังดูก็ขำดี เดี๋ยวนี้เขาก็ใช้คำว่า เรา พระพุทธเจ้าท่านก็เคยใช้ แต่ท่านจริงกว่าเรา คือ เมื่อท่านตรัสว่า พวกเรา มันก็หมายถึง ทุกคนจริง ๆ ไอ้พวกเรานี่ เมื่อพูดว่าพวกเรานี่ บางทีมันก็ไม่จริง หรือพวกเราไม่กี่คน บางทีเราแต่ตัวเองคนเดียว คนอื่นไม่เอา เห็นแก่ตัวจนไม่มี ความรู้สึกแท้จริงว่า พวกเรา ปากก็พูดว่า พวกเราหลอก ๆ กันเล่น นี่ให้นึกถึง พระคุณข้อนี้ก่อน ว่าพระพุทธเจ้าท่าน ทรงจัดพวกเราทั้งหลาย ไว้เป็นพวกของท่าน จนเรียกว่า พวกเรา ข้อนี้ก็มีหลักฐานอยู่ในพระบาลีนั้น
ทีนี้ ท่านเป็นเพื่อนทุกข์เพื่อนยากแก่เรา ดังพระบาลีมีอยู่ว่า เมื่อยังไม่รู้อริยสัจ ๔ ทั้งพวกเธอ และฉัน ก็ต้องท่องเที่ยวไปในวัฏฏสงสารอันหาที่สิ้นสุดมิได้ พอได้มารู้ซึ่งอริยสัจ ๔ เราจึงพากันหยุดเวียนว่าย ไปในวัฏสงสาร สำนวนอย่างนี้ จะไม่เรียกว่า ท่านทรงจัดพระองค์ท่านไว้ว่า เป็นเพื่อนทุกข์เพื่อนยาก กับเรา แล้ว จะให้เรียกว่าอะไร ก็เหมือนกันหมดทั้งแกและฉัน เมื่อยังไม่รู้ข้อนี้ ก็ต้องทนทุกข์ไป จนกว่าจะรู้ข้อนี้ หลักฐานข้อนี้ก็มีอยู่ในพระบาลี อย่าคิดว่าอาตมาแกล้งเอามาหลอกท่านทั้งหลายเล่น เป็นการโฆษณา ชวนเชื่อ แทนพระพุทธเจ้า ที่ยิ่งไปกว่านั้นอีก ก็มีข้อความที่จะต้องพิจารณาเป็นพิเศษ ไม่มีคำพูดตรง ๆ เช่นนี้ในพระบาลี แต่มีเนื้อความเช่นนี้ คือมีเนื้อความว่า ท่านทำหน้าที่แก่พวกเรา อย่างที่เรียกว่า ทรงเสียสละมาก เหน็ดเหนื่อยมาก คือ ทำหน้าที่เหมือนกับว่า ไสช้างโง่ ๆ นี้ ให้มันลอดรูเข็มไปได้ ช้างโง่ ๆ นี้คือใคร ก็คือ พวกเราที่เป็นบุถุชน นี่มันเป็นช้างโง่ ๆ พระพุทธเจ้าท่าน ทรงอุตส่าห์พยายาม เหลือประมาณ ที่ว่าจะไสช้างโง่ ๆ นี้ ให้มันลอด รูเข็มไปได้ รูเข็มนี้มันก็คือ กองทุกข์ในวัฏสงสารซึ่งมันลอดไปได้ยาก ได้ยินได้ฟังอยู่ทุกวัน
พวกท่านทั้งหลาย มาที่นี่ ล้วนแต่มาร้องอุทธรณ์ว่า แหมปฏิบัติยาก ปฏิบัติยากไม่ไหว ขอ ขอลด ขอเลิก อย่างนี้ก็มี เห็นว่ามันเป็นการยาก ที่จะปฏิบัติธรรมะ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ ราวกับว่า มันเป็นรูเข็ม แล้วตัวมันโตเท่าช้าง มันจะลอดไปได้อย่างไร ช้างโง่ ๆ มันก็ลอดไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่าน ก็ไม่ท้อถอย ท่านทรงพยายามทุกอย่าง ทรงแสดงธรรมอย่างนั้น ทรงแสดงธรรมอย่างนี้ ทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย ล้วนแต่ไพเราะ ล้วนแต่ดึงดูด ให้คนประพฤติตาม จนมี ช้างลอดรูเข็มไปได้ไม่น้อย เป็นพระอรหันต์ก็ไม่น้อย เป็นพระอนาคามีก็ยิ่งมากกว่า เป็นพระสกิทาคามี เป็นพระโสดาบันก็ยิ่งมากกว่า นี่คือ ช้างที่มันลอดรูเข็มไปได้ ช้างที่นั่งอยู่ที่นี่ มันจะรอดได้หรือไม่ได้ ก็รู้เอาเอง แต่อย่าลืมพระคุณของพระพุทธเจ้าว่า ท่านทรง กระทำถึงอย่างนั้น ต้องการจะไสช้างเหล่านี้ ให้มันลอดรูเข็มออกไปให้ได้ พระเยซูก็เคยพูดคล้าย ๆ กัน ว่าจะจูงคนมั่งมีไปหาพระเจ้านั้น มันเหมือนจูงอูฐลอดรูเข็ม มันคงจะง่ายกว่าพระพุทธเจ้า เพราะว่าอูฐ ตัวมันเล็กกว่าช้าง เท่าที่อาตมาเห็น พระพุทธเจ้าท่าน จะพยายามให้ช้างลอดรูเข็มไปได้ ก็ต้องนับว่า น่าเลื่อมใส แล้วท่านก็เคยทำสำเร็จมาแล้ว ขอให้ช้างทั้งหลายเตรียมตัว ที่จะสนองพระคุณพระพุทธเจ้า ด้วยการลอดรูเข็มไปให้ได้ ขอให้ดูความพยายามหลายอย่าง หลายประการ ในพระบาลีกล่าวไว้ ว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ทรงกระทำอย่างไร อันเป็นในลักษณะเหมือน จะไสช้าง ลอดรูเข็มทั้งนั้น ถ้าว่าพระมหากรุณามีไม่มากพอแล้วก็จะท้อถอยแล้ว จะเลิกแล้ว ก็ไม่มีช้างจะลอดรูเข็ม ไปได้สักกี่ตัว นี่ท่านพยายามอย่างยิ่ง อย่างเหลือประมาณ จนคำสั่งสอนของท่านนั้น พระอรรถกถาจารย์ ทำปริมาณไว้ว่าประมาณ ๘๔,๐๐๐ ข้อ หรือ ๘๔,๐๐๐ เรื่อง ๘๔,๐๐๐ ประเด็นทีเดียว มันพอที่จะไว้ให้เลือก มีเผื่อเลือก หรือเพื่อประโยชน์ว่าช้างต่าง ๆ กันนั้น มันคงจะลอดรูเข็มไปได้นั่นเอง
ทีนี้ดูอีกทางหนึ่ง ข้อความในพระบาลีประเภทหนึ่ง ท่านทรงชี้ทาง ด้วยอาการที่เรียกว่า วิงวอน เหมือนหัวข้อบาลีในเขตะบท (นาทีที่ 22:04) ที่ยกมาแสดงข้างต้นว่า มณฺฑเปยฺยมิทํ ภิกฺขเว พฺรหฺมจริยํ พรหมจรรย์นี้ น่าดื่มเหมือน มณฺฑ ยอดโอชาแห่งโค-รส นี่มันเป็น การพูด ในประเทศอินเดีย ของที่เขาถือกันว่าอร่อยที่สุดนั้น คือ สิ่งที่เรียกว่า มณฺฑ ที่เขากรองสกัด ออกมาจากนมหลายชั้น หลายครั้ง หลายกรรมวิธี จนมาเป็นสิ่งที่ เรียกว่ามณฺฑ มณฺฑ อร่อยมาก แพงมาก ในบรรดารสที่เกิดจากวัว เกิดจากนมวัว ท่านบอกว่า พรหมจรรย์นี้น่าดื่ม เหมือนมณฺฑ แล้วทำไมเราจึงว่า น่ากลัว ยากลำบาก ไม่อยากจะเอา อยากจะวิ่งหนี ไปคิดดูให้ดี การที่ท่านเปรียบว่า พรหมจรรย์นี้ มีรสอร่อยเหมือนมณฺฑ นั้น เป็นการชี้ชวน เป็นการวิงวอน ว่าอย่าเพิ่งท้อถอย และทั้งพระศาสดาก็มีอยู่ ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ ที่ว่าคนจะ ประพฤติพรหมจรรย์ ให้รอดตัวไปได้ พรหมจรรย์นั้นมันก็อร่อย เหมือนมณฺฑ อยู่แล้ว พระศาสดาผู้คอยชี้ทาง แห่งการประพฤติก็มีอยู่ บางคนอาจจะคิดว่า หรือค้านว่า เดี๋ยวนี้พระพุทธเจ้าไม่อยู่ ข้อนี้ไม่ถูกต้อง เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่าน ก็ได้ตรัสไว้ เมื่อจวนจะปรินิพพานว่า ธรรมะ วินัยอันใด ที่แสดง แล้ว บัญญัติแล้ว นั้นจะอยู่เป็นศาสดาของพวกเธอ ภายหลังจากการล่วงลับไปแห่งเรา ท่านก็ทราบเหมือนกันว่า พวกช้างรุ่นหลัง ๆ นี้ มันจะบิดพลิ้วในข้อที่ว่า ไม่มีพระศาสดา แล้วทำไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านก็สอนไว้ว่าได้ ฉันยังอยู่กับพวกเธอตลอดกาล ในรูปของธรรมวินัย หรือว่า ผู้ใดเห็น ธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ฉะนั้นปฏิจจสมุปบาท มันก็อยู่ ในตัวคนทุกคน ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์ก็มีเมื่อปุถุชนทำความทุกข์ให้เกิดขึ้นมา และเมื่อทำความทุกข์ ให้ดับลงไป ก็มีปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับทุกข์มันอยู่ที่นั่น นั่นคือ ธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็น ตถาคต มันอยู่ข้างใน คนทุกคน ที่มีความ มีการเกิดทุกข์ และดับทุกข์อยู่แล้ว
ฉะนั้น ควรจะดูให้ดี ๆ ว่า พระพุทธเจ้าท่านยังอยู่ ที่จะคอยชี้ คอยสอน ให้ออกไปจากความทุกข์ได้ ความทุกข์นั่นแหละสอนดีที่สุด แต่เราเกลียดมัน นี่ช้างโง่ ๆ มันก็เกลียดผู้ที่จะช่วย คือ เกลียดความทุกข์ ไปเห่อทะเยอทะยานกับความสุข ทีนี้ความสุขมันก็ทำให้เพลิดเพลิน มันหลอกลวง ให้ลิงโลดเหลวไหล เพลิดเพลิน ไปตามแบบของความสุข ส่วนความทุกข์ไม่เป็นอย่างนั้น มันมาเพื่อจะสอน มาจะบอกความจริง แต่คนก็ไม่เอาเสียอีก ไปนั่งร้องไห้เสียอีก ก็เลยไม่มีอะไรที่จะสอนได้ ก็ไม่มีธรรมะที่เป็นองค์พระศาสดา ในตัวของตัวเองนั้น จะเกิดขึ้นมาและสอนให้ได้ เออ ขอให้คิดดูอย่างนี้
ทีนี้ ทางหนึ่งสำหรับบางคนนั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ฉันไม่ทำกับพวกเธออย่างทะนุถนอม เหมือนช่างปั้นหม้อทำแต่หม้อที่มันยังเปียก ยังอ่อนอยู่ นี่ฉันจะขนาบแล้ว ขนาบอีก ใครมีแก่นคนนั้นอยู่ ใครไม่มีแก่นคนนั้นไป นี่ อาตมาก็พูดแทนพระพุทธเจ้าตรัส ว่าใครมีแก่นก็อยู่ ใครไม่มีแก่นก็ไป ไปจาก พระศาสนานี้เลย มีแก่นหมายความว่า มีความอดทนอดกลั้นพอที่จะทนปฏิบัติประพฤติพรหมจรรย์ ไปตามแนวที่พระองค์ตรัสไว้ อย่างนี้เรียกว่า คนมีแก่น ก็อยู่ต่อไปในพรหมจรรย์นี้ ใครไม่มีแก่น ก็ไป ไปถือ ศาสนาเงิน ไปถือศาสนากิน ศาสนากาม ศาสนาเกียรติ ไปตามเรื่องตามราวของเขา ไม่ใช่พรหมจรรย์ ในศาสนานี้ ถ้าพรหมจรรย์ในศาสนานี้ มันก็ต้องมีการประพฤติปฏิบัติ ขัดเกลากาย วาจา ใจ สติปัญญา ความคิดเห็น ให้มันบริสุทธิ์ สะอาดถึงที่สุด นี่ถ้าใครทนทำไปได้ คนนั้นก็บรรลุมรรคผล นี่เรียกว่า อยู่ ถ้าไม่ทำอย่างนี้ก็ไป คือ ไปโดยไม่ต้องพบกันอีก คือ ไปจากพรหมจรรย์นี้ ไปจากศาสนานี้ นี่เรียกว่า ไม่ต้องนึกถึงข้อที่ว่า เราจะต้องอดทน ราวกับว่าพระพุทธองค์ทรงขนาบแล้วขนาบอีก ก็ให้สติปัญญา ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ที่มีอยู่ในตัวเรา แทนพระพุทธเจ้านั่นแหละ ขนาบแล้วขนาบเล่า ขนาบแล้วขนาบอีก เป็นการขูดเกลาให้มันบางลง ไฝฝ้าในดวงตามันมีหนานัก ก็ขูดเกลาให้มันบางลง ๆ จนมันหมดไปเลย มันก็เกิดธรรมจักษุ ดวงตาที่เห็นธรรม ประพฤติปฏิบัติ ให้ตรงตามแนวของการดับทุกข์ได้ นี่เรียกว่า อย่ากลัวการขนาบแล้วขนาบอีกของพระพุทธเจ้า ถ้าพูดอย่างภาษาคนก็ว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ท่านก็ขนาบแล้วขนาบอีก แก่บรรดา สาวก เมื่อท่านปรินิพพานไปแล้ว ท่านก็อยู่ในรูปของธรรมวินัย ในตัวเนื้อของคน นี่จะเป็นองค์พระศาสดา แทนท่าน พอที่จะขนาบแล้วขนาบอีก ขนาบแล้วขนาบอีก ด้วยความอดกลั้นอดทน ถ้าเรามีศรัทธาจริง มีความเลื่อมใสจริง ก็ไม่หนี ก็ไม่ทิ้ง และยอมทำแล้วทำอีก พยายามแล้วพยายามอีก นี่เรียกว่า พระพุทธเจ้ามา ช่วยขนาบแล้วขนาบอีก
ทีนี้ในบางที ท่านก็ถึงกับ ทำเหมือนกับมีการต่อรอง เพราะบรรดาหน้าที่ต่าง ๆ ที่ฉันพึงจะทำแก่ พวกเธอ ฉันทำหมดทุกอย่างแล้ว ทุกประการแล้ว ทีนี้ก็เหลือแต่ที่พวกเธอจะต้องทำ แล้วท่านก็ตรัส นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง จงประกอบความเพียร ทำที่สุดทุกข์ ชนิดที่เป็นที่ปรารถนาของกุลบุตรผู้ออกจาก เรือนบวชสู่ความไม่มีเรือน อย่างนี้ก็มี เราจะต้องรับรู้ความจริงในข้อนี้ว่า หน้าที่ที่พระพุทธเจ้า จะต้องทรง กระทำแก่หมู่สัตว์ทั้งหลายนั้น ท่านทำถึงที่สุดแล้ว ท่านยืนยันว่าท่านทำถึงที่สุดแล้ว ทีนี้มันก็เหลืออยู่ แต่หน้าที่ฝ่ายหมู่สัตว์นี้เอง ที่มันยังเหลวไหล มันยังไม่ทำให้จริง ให้ถึงที่สุดตามพระพุทธประสงค์นั้น จนพระพุทธเจ้าท่านต้องทรงแนะ ทรงชี้ว่า นั่นโคนไม้ ไปนั่งที่โคนไม้ แล้วก็ประพฤติสมาทานอย่างนั้นอย่างนี้ หรือไปนั่งที่เรือนว่าง เงียบสงัด เช่น ถ้ำ เช่น ซอกผา เป็นต้น แล้วก็ทำความเพียร ประกอบความเพียรเถิด อย่างนี้ก็มี นี้เรียกว่า พระพุทธองค์ได้ทรงกระทำ เป็นอย่างดีที่สุดแล้ว สำหรับสาวก ของท่าน นี่เราก็เป็นสาวกของท่าน เราก็รับรู้ เวลานี้เป็นเวลาพิเศษ ที่เราจะต้องรับรู้ เราจะต้องเอาความรับรู้ นี้แหละ เป็นเครื่องบูชาสักการะของพระองค์ในวันนี้ ไม่ใช่เพียงแต่เอาดอกไม้ธูปเทียนมา เป็นเครื่องสักการะ บูชาแต่อย่างเดียว จะต้องเอาการยอมรับรู้ พระมหากรุณาธิคุณนานาชนิด นานาแบบ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว พอเป็นตัวอย่าง ที่ว่าท่านมีพระคุณแก่เราอย่างไร ท่านได้พยายามอย่างที่จะพูดได้ว่า เหงื่อไหลไคลย้อย จนไม่รู้ จะย้อยอย่างไรกันแล้ว เพื่อจะช่วยเหลือพวกเรา ฉะนั้นเราก็ต้องรับรู้ เราก็ต้องสนอง พระพุทธประสงค์ อันนั้น การรับรู้และการตอบสนองนั้น เป็นเครื่องสักการะบูชาอย่างสูงสุด ฉะนั้นขอให้ทำอย่างนี้
ทีนี้ ถ้าจะนึกไกลออกไปถึงวงนอก ก็คือ ข้อที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้มีพระมหากรุณาธิคุณ แต่ในวงใน คือ แต่ในหมู่พุทธบริษัททั้งหลายเท่านั้น ทรงกรุณาแม้แต่พวกเดียรถีย์อื่น คือ ลัทธิอื่น ที่เราไป เรียกเขาว่า พวกเดียรถีย์ หมายถึงเดียรถีย์อื่น พุทธบริษัทพุทธศาสนานี้ ก็เป็นเดียรถีย์เหมือนกัน แต่เป็น เดียรถีย์นี้ เราก็เลยไม่ต้องเรียกว่าเดียรถีย์หรือเดียรถีย์นี้ ไปเพ่งจ้องกันแต่พวกอื่น เรียกว่า เดียรถีย์อื่น พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้มีจิตคิดประทุษร้าย เออ ต่อพวกอื่น ลัทธิอื่น เดียรถีย์อื่น พวกสาวกของพระพุทธองค์ บางคน ที่โง่เขลาในยุคต่อมานั้นเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าท่านมุ่งร้ายต่อพวกอื่น พวกลัทธิอื่น เหมือนตัวเอง ผู้พูดนั่น พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ทรงมุ่งร้ายต่อเดียรถีย์อื่น ท่านพยายามที่จะให้เขาเข้าใจถูก พยายามจะเปลี่ยน ความเห็นผิดของเขา ข้อนี้ท่านก็ทำสำเร็จมากมายเหมือนกัน พวกเดียรถีย์อื่น ได้กลายมาเป็นพุทธบริษัท บรรพชาอุปสมบทเป็นพระอรหันต์ก็มาก บางทีท่านก็ใช้วิธีชนิดที่เหมือนกับล้อ อย่างมากที่สุด แล้วก็เหมือนกับล้อ เรื่องโลกายตะ เรื่องหนทางไปสู่พรหมโลก มีพวกพราหมณ์มา คล้าย ๆกับมาหยั่งภูมิของท่าน ท่านก็ล้อไม่กี่คำ พวกนั้นก็นึกได้ แล้วก็เลิกคิดอย่างนั้น กลายเป็นสาวกของพระองค์ไป พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยด่าใคร เหมือนพวกเรา รวมทั้งอาตมาด้วย ท่านจะมีแต่เมตตากรุณา แม้แต่ พวกเดียรถีย์ เมื่อเขาจนแต้ม ท่านไม่รุก ระวังให้ดีเถอะ ไอ้พวกเรา พอเห็นว่าคนอื่นกำลังจะจนแต้ม ก็รุกใหญ่ ให้มันแพ้ไปเลย อย่างนี้ไม่ใช่ปฏิปทาของพระพุทธเจ้า คนที่เป็นพุทธบริษัท เป็นสาวกของพระองค์นี้ ควรจะสังวรไว้บ้าง เมื่อไปพูดกับใครที่ไหน พอเห็นท่าเขาจนแต้มละก็รุกใหญ่ หรือแฉให้เขา อ่า จนแต้ม หน้าแดง ไปเลย นี้เป็นสาวกอันธพาล พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยทำอย่างนั้น เมื่อพอเห็นว่าเขาจนแต้ม แล้วใคร ๆ ก็รู้ว่า จนแต้ม แล้วก็เปลี่ยนเรื่องไปเสียทางอื่นดีกว่า อย่าให้เขาต้องอาย บางทีก็กลับหาทางออกให้เขาอีก ให้เขาได้ แต้มกลับมาอีก พระพุทธเจ้าท่านเป็นเสียอย่างนี้ ท่านมีพระคุณ แม้แก่พวกศัตรู เราควรจะนึกถึงข้อนี้ แล้วทำตาม อย่างนั้นบ้าง ท่านกระทำไปด้วยเมตตาอย่างสูงสุดแก่ทุกคน ฉะนั้นจึงไม่มีมิตรหรือศัตรู ไอ้พวกเราสมัยนี้ มันมีแต่ มีทั้งมิตรและทั้งศัตรูอย่างตรงกันข้าม พระพุทธเจ้าท่าน ไม่มีใครเป็นมิตร และเป็นศัตรู ท่านเสมอ กันหมด นี้หมายถึง พระหฤทัยของท่านนะ ส่วนไอ้คนพวกโน้น รู้ไม่ได้ มันอาจจะเห็นเป็นศัตรูก็ได้ เห็นพระพุทธเจ้าเป็นศัตรูก็ได้ แต่พระพุทธเจ้าแล้ว ท่านก็มีพระหฤทัยเสมอกัน อย่างอรรถกถา หรือพระอาจารย์ชั้นหลัง ท่านกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าท่านมีพระหฤทัยเสมอกัน แม้ในระหว่างพระเทวทัต กับพระราหุล พระเทวทัตนั้นใคร ๆ ก็เห็นว่าเป็นศัตรู ทำลายล้างพระพุทธเจ้า พระราหุลนั้นเป็นพระโอรส ของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็น ถ้าพูดอย่างเราพูดก็ว่าเป็นพระโอรสสุดที่รักแหละ ได้ทรงพยายามให้พระราหุลเป็นพระอรหันต์ได้ในที่สุดแต่ท่านมีพระทัยเสมอกันในระหว่างพระราหุลกับพระเทวทัต นี่เรา เราเป็นได้อย่างนั้นไหม เราเต็มไปด้วยฝ่ายนี้เป็นมิตรฝ่ายโน้นเป็นศัตรูใช่ไหม ถ้าอย่างนี้แล้ว อย่าเพิ่งมาบูชาพระพุทธเจ้าอย่างออกหน้าออกตามากนัก เพราะว่าเราไม่ได้ทำตามรอยพระพุทธเจ้าเลย นี่จะมา เผยอหน้าอ้าปากบอกว่า เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง นี่ไม่จริง ถ้าจริง จะต้องทำอย่างพระพุทธเจ้า ไม่มีการมุ่งร้ายใคร เขาจะจนแต้มแล้วก็ไม่รุก จะหาทางออกให้เขาโดยไม่ต้องขายหน้า ไม่กระทบกระทั่ง กับผู้ใด ด้วยเวรด้วยภัยอย่างนี้เรามีอะไรอยู่ในตัวเรา พร้อมที่จะใช้เป็นเครื่องบูชาคุณของพระพุทธเจ้า
ทีนี้ดูรวม ๆ กันไปอีกสักข้อหนึ่งว่า เรากับพระพุทธเจ้านี้ มีอะไรตรงกันหรือแตกต่างกันอย่างไร อาตมาเคยบอกหลายครั้งหลายหนแล้วก็ไม่ค่อยจะฟังกัน ว่าพระพุทธเจ้านั้นท่านทรงมี ปากอย่างใจอย่าง นี่พูดภาษาธรรมดา ไม่ใช้ราชาศัพท์ ให้เข้าใจง่าย พระพุทธเจ้าท่านเป็นคนปากอย่างใจอย่าง คือ ท่านตรัส เหมือนคนอื่นพูด ว่าฉัน ว่าของฉันเหมือนกัน แต่ในพระหฤทัยของท่านไม่เป็นอย่างนั้น ข้อนี้ท่านทรง ยืนยันเอง ทีนี้พวกเรานี่ ถ้าว่าตัวกูของกู ปากว่าตัวกูของกู ใจมันก็เป็นตัวกูของกู นี้มันปากกับใจมันตรงกัน ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านปากอย่างใจอย่าง ท่านพูดกับคนทั่วไปก็ว่า ฉันตถาคต ของตถาคต แต่ใจไม่เป็น นี้เราก็ พูดว่า ตัวฉันของฉัน ใจก็ยิ่งเป็นด้วยความยึดมั่นถือมั่น นี่มันอยู่กันคนละแบบอย่างนี้ จะเป็นสาวกของ กันและกันได้อย่างไร จะเอาอะไรไปบูชาพระพุทธเจ้า แล้วเรายังแถมด่าคนปากอย่างใจอย่างด้วยนะ ถ้าใครเกิดปากอย่างใจอย่างกับเราแล้วเราก็ด่าเขาเลย นี่มันคนละความหมาย มันคนละความหมายกับ พระพุทธเจ้า ท่านปากอย่างใจอย่างชนิดที่มีประโยชน์ ไอ้เราปากอย่างใจอย่างชนิดที่ให้โทษ ฉะนั้นก็เลิก กันเสียบ้าง มีปากอย่างใจอย่างสำหรับตกนรก พระพุทธเจ้าท่าน มีปากอย่างใจอย่างสำหรับ ไม่มีความทุกข์ ไม่มีกิเลส นี่ จะพิจารณากันสักเท่าไร มันก็ไม่สิ้นสุด เดี๋ยวนี้อาตมา ก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว ว่าไอ้ศีรษะพันศีรษะ ศีรษะพันลิ้น แต่ละลิ้นมันพรรณนาคุณ ของพระพุทธเจ้ากัปป์หนึ่งไม่หมด นี่มาพูดเป็นตัวอย่างสัก ๖-๗ อย่าง เท่านั้นก็พอแล้ว ว่าท่านเป็นอย่างไร สำหรับเตรียมจิตใจของเรา ให้เหมาะสมที่จะใช้เป็น เครื่องบูชาคุณของ พระพุทธองค์ ในวันนี้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ คำว่า เตรียม นี่หมายถึงว่า ต้องเปลี่ยนนะ กำลังบอกว่าทุก ๆ คนต้อง เปลี่ยน คือ เตรียมจิตใจนี่ต้องเปลี่ยนจิตใจ อย่างน้อยก็ชั่วขณะหนึ่ง ชั่วขณะที่เราจะทำวิสาขบูชาที่นี่ คือ ต้องเปลี่ยนจิตใจกันเสียใหม่ ให้คล้ายพระหฤทัยของพระพุทธเจ้า ให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ด้วยความจงรักภักดี แล้วเราจะทำวิสาขบูชาเวียนประทักษิณ ฉะนั้นจิตใจเดิม ๆ ที่มีอยู่ที่บ้าน เพิ่งเอามานี้ วางทิ้งไว้ที่ไหนก่อน มามีจิตใจใหม่ ให้เหมือนกับจิตใจ ของพระพุทธเจ้า อย่างที่ได้ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ ให้มันคล้อยตามแนวธรรมะของพระพุทธองค์ แล้วเราก็จะ เวียนประทักษิณรอบ ๆ พระพุทธเจ้าได้ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วมันเป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่ว่ามีใครมาห้าม มันเป็นไป ไม่ได้ในตัวมันเอง มันเป็นเรื่องเล่นตลกเสียมากกว่า ฉะนั้นถึงอย่างไร ก็ขอให้ตั้งอกตั้งใจดีที่สุด เปลี่ยนเป็น คนละคน พร้อมที่จะทำวิสาขบูชา ด้วยการน้อมระลึกนึกถึงพระพุทธคุณบ้าง ด้วยการเวียนประทักษิณ แสดงอากัปกิริยาเคารพอย่างสูงสุดบ้าง
ทีนี้ก็วิธีบูชา พูดกันอีก เพราะบางคนก็เคยฟัง บางคนก็ไม่เคยฟัง บูชาด้วยการทำประทักษิณ นี่เรียกว่า ปฏิบัติบูชาได้ เพราะต้องเสียสละทางกาย และก็ดำรงไว้เป็นอย่างดีในทางจิต แล้วก็มีความรู้สึก หรือทิฏฐิที่ถูกต้องในขณะนั้น ทุกอย่างสะอาด เหมาะสมที่จะใช้เป็นเครื่องบูชาได้ ฉะนั้นเราจะต้องอดทน ในใจก็ระลึกนึกถึงพระคุณอย่างถูกต้อง นึกอะไรได้ไม่มาก ก็นึกอย่างที่อาตมาพูดเป็นตัวอย่างแล้วนี้ก็ได้ ว่าพระคุณของท่านมีอย่างไร นึกถึงพระคุณที่ท่านทรงมีแก่เรา และนึกถึงพระคุณที่ท่านมี ทรงมีของท่านเอง เป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส เครื่องเศร้าหมองทั้งหลายอย่างไร
สรุปสั้น ๆ ก็ว่า ท่านไม่มีไฟ ทั้งไฟกิเลสและไฟทุกข์ กิเลสที่เกิดขึ้นแล้วร้อนเป็นไฟ ความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้ เรียกว่า กิเลสเกิดขึ้นแล้วร้อนเป็นไฟ ท่านก็ไม่มี ความทุกข์ เช่น ความเจ็บปวด เกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะความยึดมั่นถือมั่นเหล่านี้ เรียกว่าไฟทุกข์ มีมาแล้วก็ร้อน ท่านก็ไม่มี ท่านไม่มีทั้งไฟกิเลส และไฟทุกข์ เรารู้พระคุณข้อนี้แล้ว มันก็จะซึมซาบอยู่ด้วยศรัทธาปสาทะในพระพุทธเจ้า มันก็เหมาะสมที่จะ ทำการบูชาแก่พระองค์ ในใจระลึกนึกถึงพระคุณข้อนี้อยู่ แสดงอาการการเดินเวียนประทักษิณ คือ เวียนไป ทางขวา คำว่า ขวา นี่หมายถึงความถูกต้อง คำว่า ซ้าย นี่สมมติว่าเป็นเรื่องผิด นี่ถ้าจะพูดกันอย่างสมมตินะ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าตรัสนะ เป็นสมมติมาแต่ไหนก่อนพระพุทธเจ้าอีกนะ การที่จะแสดงความเคารพด้วยการเวียนนี้ ถ้าเวียนขวาก็เรียกว่า แสดงความเคารพ มันมีความหมายอยู่ที่ว่า ขวา นี่คือ ถูกต้อง ฉะนั้นก็มีการปฏิบัติถูกต้องที่กาย วาจา ใจ มันจึงจะเป็นเวียนขวา เราอย่าเวียนสักแต่เดิน เวียนเดินขวา ในใจต้องถูกต้อง ความคิดนึกถูกต้อง พูดจาถูกต้อง การกระทำถูกต้อง แล้วก็เรียกว่า เวียนประทักษิณ แสดงออกมาทางอากัปกิริยาด้วย ทางปากก็ว่า แต่ว่าสวดพระพุทธคุณ ที่นี่จะให้พระช่วยว่า ท่านทั้งหลายไม่ต้องว่า พระว่าแทนในนามเป็นหุ้นส่วนกัน พระไม่ได้เดิน มันก็ไม่มีหุ้นส่วนท่าน ในการที่ ท่านเดิน ท่านไม่ได้ว่า พระว่า ว่าพระพุทธคุณฝ่ายวาจานี้ ก็มีหุ้นส่วนกัน ส่วนจิตใจนั้น ก็มีการตั้งไว้อย่าง ถูกต้อง ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ทำการเดินเวียนประทักษิณ ตรงนี้เป็นพระเจดีย์ ซึ่งจะบรรจุพระธาตุ หรือบรรจุอะไรก็ไม่ทราบ เมื่อ ๓๐ กว่าปี มาแล้วที่เรามา ถือเอาสถานที่นี้เป็นสวนโมกข์นี้ ตรงนี้เป็นหลุมลึก ขโมยก็ขุดเอาอะไรไปก็ไม่ทราบ ไม่ ไม่อาจจะรู้ได้ ต้องเอา อิฐถมกลับมัน จึงพอเสมอนั่งได้อย่างนี้ ท่านเชื่อว่าตรงนี้เป็นเจดีย์ อย่างน้อยก็เป็น อือ สัญลักษณ์แทน พระพุทธเจ้าได้ เราจะเดินเวียนพระเจดีย์องค์นี้ที่ถูกรื้อไปแล้ว และอีกอย่างหนึ่ง เออ ภาพปั้นที่พิงอยู่นี่ มันเป็นอุทเทสิกเจดีย์ได้ แสดงภาพแห่งการประสูติ การตรัสรู้ การแสดงธรรมจักร และการ ปรินิพพาน พิงอยู่ตามต้นไม้นี้ เออ ก็เป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธเจ้าได้ ถ้าดีกว่านั้นก็ต้องเอาในจิตใจของ คนทุกคนแหละ ประกอบไปด้วยคุณธรรมที่ถูกต้อง ในขณะนี้แล้ว ก็เดิน ก็ถือเอาเป็นสัญลักษณ์ของ พระพุทธเจ้าได้ ฉะนั้นจุดศูนย์กลางของความถูกต้อง ความบริสุทธิ์ สะอาด สว่าง สงบ นั่นแหละเป็น พระพุทธเจ้า ขอให้ตั้งมั่นนั้นไว้เป็นจุดศูนย์กลาง แล้วก็เดินเวียนรอบ ๆ แสดงความเคารพก็ได้ หรือหน่วงเอา มาเป็นอารมณ์ สำหรับจะเข้าถึงตลอดเวลาก็ได้ ฉะนั้นขอให้เข้าใจเสียว่า ทำไมเราจึงเดินเวียนประทักษิณที่นี่ได้ โดยที่ไม่ต้องมีโบสถ์ วิหาร ไม่มีพระพุทธรูป หรือไม่มีอะไร เหมือนที่วัดในเมืองเขามีกัน มันมีอยู่ว่าจะเวียนรอบพระพุทธรูปก็ได้ เวียนรอบ พระเจดีย์ คือเจดีย์ เออ ที่ คือเจดีย์นี้ คือสิ่งที่เขาสร้างขึ้น เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธเจ้าก็ได้ แม้พระพุทธรูปก็เป็นเจดีย์ ก็เป็นอันว่า เรามีวัตถุที่จะใช้เป็นสัญลักษณ์ แทนพระพุทธองค์ แล้วก็เดินเวียน ประทักษิณได้ แล้วก็มีพระสงฆ์นั่งอยู่ เป็นสักขีพยานที่นี่ และก็เวียนกันเฉพาะพวกฆราวาส พระเดินเวียน ด้วยมันไม่ถูก แล้วบางทีมันก็ไม่น่าดู จึงขอเป็นหุ้นส่วนกัน ท่านทั้งหลายเดิน พระก็นั่งสวด ให้ ท่านก็ไม่ต้องสวด ทำจิตใจเหมือน ๆ กัน นี่ทำวิสาขบูชา ที่นี่ก็มีลักษณะอย่างนี้ นี่ก็พูดมากไปแล้ว เวลาเสียไปพอสมควรแล้ว ก็จะต้องยุติ ไว้แต่เพียงเท่านี้ จะได้เวียนการทำ ประทักษิณต่อไป และการที่จะเวียนประทักษิณนั้น เรากล่าวคำบูชาด้วยวาจาก่อน พระสงฆ์ทั้งหลาย จะกล่าวเป็นภาษาบาลี ฆราวาสทั้งหลาย จะกล่าวเป็นภาษาไทย เพื่อให้มีความเข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนอยู่ ในความรู้สึกของทุกคน แล้วจึงจะทำการเวียนประทักษิณ เป็นอันว่าธรรมเทศนา ที่เป็นการเตรียมสำหรับวิสาขบูชานี้ ก็สิ้นสุดลง แล้วเราจะได้ทำการบูชา ด้วยวาจาต่อไป ในโอกาสนี้.