แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ยังไม่ได้สอบถามเลยจะพูดเรื่องอะไรกัน จะให้พูดเรื่องอะไรกัน ไม่จำกัด ใครมีความคิดว่าจะพูดเรื่องอะไร ไม่มีหัวข้อ ว่ายังไงนะ การทำสมาธิ ไอ้นั่นมันต้องสอน มันอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่บรรยาย เอาละ วันแรกนี่ก็จะพูดในหัวข้อว่า “ธรรมะสำหรับผู้แรกศึกษา” ก็แล้วกัน ในฐานะที่เป็นวันแรก พูดธรรมะสำหรับผู้แรกศึกษา
สมมติว่าไม่เคยรู้เรื่องธรรมะมาก่อนเลย เราก็จะพูดกันถึงสิ่งที่ควรทราบในชั้นแรก มันเนื่องจากโดยมากคนเขาไม่ทราบว่าไอ้ธรรมะนี้มันคือ ทุกสิ่ง หรือว่าที่มันเป็นอยู่แล้วโดยไม่รู้สึกตัว คือไม่ทราบว่าไอ้ที่มันเป็นอยู่แล้ว ทำอยู่แล้ว พูดอยู่แล้ว คิดอยู่แล้ว อยู่มาตั้งแต่แรกกำเนิดนั้นมันก็คือ ธรรมะอยู่แล้วเหมือนกัน นี่เข้าใจว่าคงยังไม่เคยทราบอย่างนั้น ฉะนั้นจึงเรียกหาธรรมะกันอีก คล้ายกับว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งยังไม่เคยมี ที่แท้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกสิ่ง ในคน ในการกระทำของคน คำว่า “ธรรมะ”นี่มันแปลว่า “ธรรมดา” ก็ได้ “ธรรมชาติ” ก็ได้ มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ แต่ทีนี้มันมีมาก มากอย่าง มากชั้น มากระดับ อย่างเนื้อตัวร่างกายของเรานี้ก็คือธรรมชาติเขาก็เรียกว่า“รูปธรรม” มันก็คือธรรมะชนิดรูปธรรม นี่ความรู้สึกคิดนึก จิตใจของเราเขาเรียกว่า “นามธรรม” มันก็เป็นธรรมะอย่างนามธรรม ทั้งที่เป็นรูปธรรมเป็นนามธรรมมันก็คือธรรมะ มันก็คือ ธรรมชาติ ก็เราตั้งต้นที่จุดตั้งต้นว่าเนื้อตัว ร่างกาย จิตใจ ชีวิตของเราก็คือธรรมชาติ คือธรรมะในฐานะที่เป็นธรรมชาติ ทีนี้ในธรรมะธรรมชาตินั้นมันก็มีอีกส่วนหนึ่งที่เป็นธรรมะที่เป็นกฎของธรรมชาติ ที่ทำให้มันเกิดมา ให้มันโตขึ้น ให้มันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาตินั้นก็คือธรรมะอีกเหมือนกัน นั่นแหละมันเลยชักจะเฝือขึ้นมาแล้ว ตัวธรรมชาติก็เป็นธรรมะ ตัวกฎของธรรมชาติก็เป็นธรรมะ ทีนี้กฎของธรรมชาตินี่มันก็ทำให้เรามีหน้าที่ที่จะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ฉะนั้นเราทำอะไรลงไป ปฏิบัติอะไรลงไปไอ้นั่นมันก็เป็นธรรมเหมือนกัน เป็นธรรมะในฐานะที่เป็นหน้าที่ตามธรรมชาติที่เราจะต้องทำ เสร็จแล้วเราจะต้องกินอาหาร ต้องหาอาหารกิน ต้องอาบ ต้องถ่าย ต้องทุกอย่างให้ชีวิตมันอยู่ได้ นี่ก็เรียกว่า “หน้าที่” ถ้ายังมีนอกไปจากนั้นอีกก็คือการทำให้มันฉลาดให้สามารถให้ทำอะไรได้อีกมาก ให้มันแก้ปัญหาต่างๆให้ได้มากขึ้นไปอีก จนกระทั่งเราต้องเล่าเรียน ต้องประพฤติ กระทำทั้งอาชีพกับทั้งไม่ใช่อาชีพ ทั้งอะไรอีกหลายๆอย่าง เช่นการสังคมถูกต้องอะไรเหล่านี้ล้วนแต่เป็นหน้าที่ นี่ก็เรียกว่า ธรรมะเหมือนกัน ธรรมะในฐานะที่เป็นหน้าที่ แล้วจะได้ผลอะไรขึ้นมาแก่จิตใจของเรา เป็นความสุขก็ดี เป็นความทุกข์ก็ดี หรือเป็นผลทางวัตถุ เช่น เงินทองก็ดี อย่างนี้ก็เรียกว่าผลที่ได้รับจากหน้าที่ อย่างนี้เขาก็เรียกว่าธรรมะอีกเหมือนกัน ธรรมะในฐานะที่เป็นผลที่ได้รับมา นี่มันชักจะเฝือ ถ้าไม่เข้าใจก็จะเฝือ ก็ธรรมะมันทุกอย่างแหละนี่พูดอย่างภาษาบาลีมันเป็นอย่างนั้นทบทวนให้มันสั้นๆได้ว่าไอ้ที่มันมีอยู่ตามธรรมชาติรูปธรรมนามธรรม ร่างกาย จิตใจนี่ก็เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมะในฐานะธรรมชาติ แล้วมีกฎที่บังคับธรรมชาตินั้นอยู่นั่นก็คือธรรมะ นี่เฉียบขาดมาก เหมือนกับพระเจ้าบังคับให้เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ฉะนั้นธรรมะคือหน้าที่ที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องดิ้นรนจะต้องกระทำ นี่สำคัญมาก ธรรมะที่สำคัญมากก็คืออันนี้ที่จะต้องรู้ จะต้องปฏิบัติ จำเป็นสำหรับมนุษย์มากก็คือธรรมะที่เป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ ถ้าไม่รู้ก็ไม่ได้ เมื่อถ้าไม่รู้ ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ มันก็เดือดร้อนเหลือประมาณ เราต้องรู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้างทุกขั้นทุกตอนเป็นระดับสูงขึ้นไป สูงขึ้นไป ขอให้ตั้งข้อสังเกตธรรมะในความหมายที่ ๓ นี่ให้ดีๆ ธรรมะคือหน้าที่
ภาษาตามธรรมดา พูดกันตามธรรมดาในภาษาชาวอินเดีย ธรรมะก็แปลว่า “หน้าที่” ธรรมะคือDutyเพราะมันจำเป็นกว่าไอ้ธรรมะในความหมายอื่น ส่วนธรรมะที่เป็นผลของการทำหน้าที่นั้นจะไม่ต้องพูดถึงก็ได้ เพราะว่าถ้าเราทำหน้าที่แล้วผลมันก็มีขึ้นมาเอง ทำหน้าที่ผิดผลมันก็ผิด ทำหน้าที่ถูกผลมันก็ถูก ทำด้วยความเข้าใจผิด ก็ทำผิดมันก็ได้รับผลที่เป็นความผิด มันแก้ตัวไม่ได้ นี่เราต้องรู้ให้ถูกต้องว่าอะไรมันเป็นอย่างไร ทำอย่างไร อะไรมันจะเกิดขึ้น ต้องรู้ถูกต้อง ฉะนั้นมันจึงมาอยู่ที่ตรงนี้ ธรรมะในความหมายที่ ๓ คือหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต จะต้องรู้แล้วปฏิบัติ หน้าที่บางอย่างมันรู้ได้โดยธรรมชาติอย่างนี้ตามสัญชาตญาณ เช่น สัตว์มันก็รู้จักหากิน รู้จักต่อสู้ รู้จักสืบพันธุ์ รู้จักอะไรอย่างนี้ตามธรรมชาติ ที่มันสูงไปกว่าตามธรรมชาตินี่เราต้องรู้อีก แล้วทำให้มันดี แม้ที่ต้องทำไปตามธรรมชาติ ตามสัญชาตญาณนั้นมันก็ยังต้องแก้ไข ปรับปรุงให้ทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เพียงแต่ให้รอดชีวิตอยู่ได้นั้นมันไม่พอ ทำเพียงให้รอดชีวิตอยู่ได้นี้ก็เรียกว่าไม่น้อยนะ เป็นธรรมะในขั้นหนึ่งเพื่อให้มันรอดชีวิตอยู่ได้ ทีนี้ยังเหลือไปจากนั้นก็ให้มันได้สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะได้นี่สำคัญ เรื่องให้มีชีวิตอยู่ได้คือมีกินมีใช้นี่ไม่ใช่สำคัญอะไรนัก เพราะว่าถึงอย่างไรเสียก็คงจะรู้แน่ คงจะทำได้แน่ จนถึงว่าเขาพูดไว้น่าฟังว่าแม้แต่นกกระจิบนกกระจอกมันก็ยังไม่อดตาย มันรู้จักหากิน แต่เมื่อไม่ตาย รอดตายอยู่ได้แล้ว จะทำอะไรอีกล่ะ นี่มันมีปัญหาตอนนี้ เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยจะสนใจในความหมายอันหลังนี่ ที่ว่าเมื่อรอดชีวิตอยู่แล้วจะทำอะไรต่อไปอีก เราไม่ค่อยสนใจ เราสนใจแต่เพียงจะให้มันมีชีวิตอยู่อย่างเอร็ดอร่อย อย่างสนุกสนาน จนคล้ายกับว่ามีชีวิตอยู่ก็เพื่อเอร็ดอร่อย เพื่อสนุกสนาน มันก็ถูกในระดับเด็กๆ แต่พอโตขึ้นมาแล้วมันก็ใช้ไม่ได้ ก็ต้องรู้ให้แน่ลงไปว่ามีชีวิตอยู่เพื่ออะไรกันแน่ ถ้าพูดว่าเพื่อนิพพาน มันก็ไกลลิบ ยังฟังไม่ถูก เดี๋ยวนี้ยังฟังไม่ถูก เว้นไว้แต่จะศึกษาเรื่องนิพพานให้เข้าใจเสีย ว่านิพพานนี้คือ ไม่มีปัญหา ไม่มีความทุกข์ร้อน มีแต่ความสงบเย็น อยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องตายแล้วจึงจะได้ ที่นี่จะมีทางที่จะได้นิพพาน คือ ชีวิตที่มันเยือกเย็น ไม่มีความร้อนในความหมายใดๆ คือร่างกายก็ไม่ร้อน จิตใจก็ไม่ร้อน ความรู้ ความคิด ความเห็นมันก็ไม่ผิด ต้องการชีวิตแบบนั้น จึงเห็นได้ว่าเพียงแต่รู้จักประกอบอาชีพนี่มันยังไม่พอ ฉะนั้นบางทีเพราะประกอบอาชีพนั่นเองทำให้ร้อน ให้เป็นทุกข์ไปเสียอีก มันก็คือขาดธรรมะในส่วนนั้น ไม่รู้จักประกอบอาชีพนี่มันก็โง่มากนะ คือ มันขาดธรรมะอย่างเลวที่สุดเลย รู้จักประกอบอาชีพแล้ว แต่ไม่รู้จักป้องกันอย่าให้ความทุกข์เกิดขึ้นมาเพราะประกอบอาชีพนั้น นี่ก็สูงขึ้นไป เป็นความรู้ที่สูงขึ้นไป ฉะนั้นขอให้สนใจในข้อนี้เป็นพิเศษ ว่าเราเป็นนักเรียน เป็นนักศึกษา วิชาที่ศึกษาอย่างยิ่งนี่ก็เป็นเพียงอาชีพเท่านั้น อาชีพวิศวะ หรืออาชีพอะไรก็ตามมันเป็นอาชีพ ต้องศึกษาให้สามารถทำได้ตามอาชีพนั้น แต่ในโรงเรียนหรือในวิทยาลัยก็ไม่ได้สอน เรื่องที่ว่าจะป้องกันไอ้ความทุกข์ร้อนได้อย่างไร ในเมื่อประกอบอาชีพ เราจะสรวลเสเฮฮาไปในขณะประกอบอาชีพนั้นมันก็ได้ แต่มันยังมีอันอื่นที่มันป้องกันไม่ได้ ความคิดที่มันเดินไปผิด มันก็ทะเยอทะยาน มันกระวนกระวาย มันกระหายเกินกว่าความจำเป็น หรือบังคับความกระหายนี้ไว้ไม่ได้ มันก็ไปทำทุจริต ทำคอรัปชั่น ทำอะไรต่างๆ ซึ่งอาชีพก็ช่วยไม่ได้ ทั้งที่มีอาชีพอยู่ก็ยังพลัดตกลงไปสู่ความเดือดร้อน กระทั่งสู่ความพินาศในชาตินั้นเลย ธรรมะส่วนนี้มันจำเป็น ธรรมะในส่วนที่ทำให้เราประกอบอาชีพได้นั้นมันก็ส่วนหนึ่ง เราก็เรียนอยู่ แต่มันยังต้องการอีกส่วนหนึ่งที่มันจำเป็นมาก ทำอย่างไรเราจึงจะควบคุมตัวเราให้เรียบร้อยไปตลอดเวลา เรียนเสร็จแล้วประกอบอาชีพ แล้วจะควบคุมตัวเองอย่างไรให้มันปลอดภัยเรื่อยไป มีแต่ความสุขความเจริญโดยส่วนเดียว นี่คือธรรมะที่จำเป็น ธรรมะในความหมายที่จำเป็น ในแง่ที่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องทราบ ขอให้สังเกตดูสักหน่อย คนบางคนมันก็ประสบความสำเร็จในการงาน ในอาชีพ แต่หาความสุขไม่ได้ก็มี กลับมีความทุกข์ กลับฆ่าตัวตายก็ยังมี เสียชื่อเสียเสียง เป็นคนเลวไปก็มี ถ้าเป็นสมัยก่อนแล้วก็จะลำบากมาก เพราะว่าเขายึดถือธรรมะเป็นหลักกันมาก แต่ว่าเดี๋ยวนี้ชักจะโลเล มักจะเอาเงินเข้าว่ากัน ถ้ามีเงินแล้วก็ดี แต่ขอให้สังเกตดูเถอะว่ามันไปไม่รอดหรอก จะเอาความร่ำรวยมาข่มขี่ไอ้ความทุกข์นี้มันก็เป็นไปไม่ได้ แม้แต่อำนาจวาสนามันก็ป้องกันความทุกข์ไม่ได้ จึงลงใจ มีความเชื่อลงไปเลยว่ามันยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีธรรมะอีกส่วนหนึ่งที่จะคอยประคับประคองคนไว้ อย่าให้พลัดตกลงไปสู่ความเดือดร้อน เพราะฉะนั้นคำว่า ธรรมะ ในความหมายที่ใช้กันอยู่ทั่วๆไปตามธรรมดาสามัญนั้น ก็ให้ความหมายแก่คำว่าธรรมะนี้ว่า สิ่งที่จะทรงผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกลงไปในที่ต่ำที่ชั่วคือ ความทุกข์ ควรจะจำไว้อย่างแน่นแฟ้นตลอดกาลว่า สิ่งที่จะทรงบุคคลผู้ปฏิบัติไว้ไม่ให้พลัดตกลงไปสู่ที่ต่ำคือ ความชั่วหรือความทุกข์ ถ้าขาดธรรมะแล้วมันก็คือไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องประกันว่าจะไม่ให้ตกลงไปสู่ความชั่วหรือความทุกข์ แม้จะมีความรู้ความสามารถอย่างอื่นดี ทางอาชีพอื่นดี อย่าเข้าใจว่าความฉลาดนั่นมันจะช่วยได้หมด ความฉลาดตามธรรมดาสามัญที่เราเล่าเรียนกันมานี้ไม่ช่วยแก้ปัญหาทั้งหมดได้ เรียนมาเท่าไหร่มันก็ช่วยได้เท่านั้น คือไม่ได้เรียนธรรมะ มันก็ไม่ฉลาดในทางธรรมะ มันก็ขาดความฉลาดในการที่จะช่วยให้รอดอยู่ได้ นี่ก็เพื่อจะให้เห็นว่าเราจะเรียนแต่วิชาชีพอย่างเดียวนั้นไม่พอแน่สำหรับมนุษย์ จึงต้องเรียนธรรมะไว้ส่วนหนึ่งสำหรับไม่ให้พลัดตกลงไปสู่ความชั่วหรือความทุกข์ แต่ที่ดีกว่านั้นไปอีก ละเอียดกว่านั้นไปอีกคือมันจะป้องกันไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้นไม่ว่าในกรณีใดๆ อย่างเมื่อเรามีความรู้ในทางอาชีพ แต่ถ้าไม่มีธรรมะมันก็จะทำได้แต่อาชีพ ทีนี้มันก็จะเกิดไอ้กิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลงอะไรขึ้นมา ทำให้เดือดร้อน เราก็ป้องกันไม่ได้ เราต่อสู้มันไม่ได้ คือถ้าเราบังคับกิเลสไว้ไม่ได้ กิเลสมันก็พาให้เราไปทำไอ้ความชั่ว แล้วมันก็เป็นเรื่องตกต่ำไปตามความชั่ว ยากที่จะถอนขึ้นมาได้ ฉะนั้นขอให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีธรรมะเคียงคู่กันอยู่กับความรู้ในทาง ซึ่งจะเรียกว่าทางโลกก็ได้คือ อาชีพนั่นเอง ความรู้ทางโลกก็คือ อาชีพ ความรู้ทางธรรมะก็คือ สิ่งที่จะป้องกันไม่ให้จิตใจมันทำผิด หรือใช้ความรู้ในทางโลกอย่างผิดๆ
เรื่องนี้ก็เลยมีอุปมาเปรียบให้จำง่ายคือว่า ชีวิตนี้มันเป็นเหมือนกับยานพาหนะแล้วก็จะต้องเทียมด้วยสัตว์ ๒ ตัว เป็นวัว ๒ ตัว ม้า ๒ ตัวอะไรก็ตามให้มันสมบูรณ์ ตัวหนึ่งเป็นเรื่องของร่างกาย ตัวหนึ่งเป็นเรื่องของจิตใจ ๒ ตัวแล้วก็ถูกต้องและพอดี ข้อนี้ก็ย่อมแสดงให้เห็นได้ทันทีแล้วว่าไอ้เรื่องธรรมะนั้นไม่ใช่เรื่องวัตถุล้วนๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องจิตใจล้วนๆ เพราะฉะนั้นธรรมะที่ถูกต้องจึงไม่เป็นวัตถุนิยมหรือไม่เป็นจิตนิยมอย่างใดอย่างหนึ่งโดยส่วนเดียว มันเป็นความถูกต้องของทั้ง ๒ ส่วน แล้วก็สัมพันธ์กันอย่างถูกต้องด้วย อย่างที่เรียกว่าสมดุล ฉะนั้นความสมดุลของความถูกต้องระหว่างวัตถุกับจิตนี่คือ ธรรมะ ก็จึงแยกเหมือนกับว่ามีสัตว์ ๒ ตัวลากยานพาหนะนั้นไป ตัวหนึ่งมีสติปัญญา ตัวหนึ่งมีเรี่ยวมีแรง ร่างกายนี่เหมือนกับเรี่ยวแรง จิตใจมีสติปัญญา ก็ควบคุมกันไปได้ดี ฉะนั้นการที่ทุกคนมีความสนใจในธรรมะขึ้นมานี้ คาดว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ที่น่าอนุโมทนา แล้วก็ขออนุโมทนา เพราะนี่เป็นจุดตั้งต้นที่ดีแล้ว ที่ถูกต้องแน่ ขอให้ทำให้มันมากยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ตั้งต้นมาดีแล้ว ก็ก่อหรือสานให้มันต่อไปให้ถึงที่สุด ให้ชีวิตนี้เปรียบเหมือนกับเทียมด้วยวัว ๒ ตัว ตัวหนึ่งเรื่องจิต ตัวหนึ่งเรื่องวัตถุ ฉะนั้นธรรมะนี้จะช่วยไม่ให้พลัดตกไปในทางต่ำ ทางกายก็ไม่ให้เกิดความขาดแคลนทางกาย เช่น ไม่มีเงินใช้ หรือโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งเป็นเรื่องปัญหาทางฝ่ายกาย เราก็มีธรรมะในฝ่ายกาย ทีนี้เรื่องจิตที่จะคิดให้ถูกต้อง มีความเห็นให้ถูกต้อง ให้ทุกสิ่งเดินไปถูกทางอย่างนี้เรียกว่ามีธรรมะในส่วนจิต ก็ไม่ตกต่ำในส่วนจิต แล้วไม่ตกต่ำในส่วนกาย เรียกว่าธรรมะทรงบุคคลผู้ปฏิบัติธรรมะไว้ได้ไม่ให้ตกต่ำอย่างนี้ นี่เป็นความหมายรวมทั้งหมด จำไว้สำหรับเป็นหัวข้อ หัวข้อรวม หัวข้อใหญ่สำหรับจะแยกออกไปให้เป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่อง เรื่อง เรื่อง เรื่องไป หมายความว่าจะทรงกันในข้อไหน ทรงกันในส่วนไหน ทรงกันอย่างไร นั่นเป็นรายละเอียด หัวข้อใหญ่ธรรมะจะช่วยทรงผู้ปฏิบัติไว้ไม่ให้ตกไปในทางต่ำคือความทุกข์ ทั้งฝ่ายกายก็ดี ทั้งฝ่ายจิตก็ดี
นี้โดยมากในโลกนี้ โดยเฉพาะเวลานี้ โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ เขาสนใจแล้วก็รู้เรื่องกันแต่เรื่องฝ่ายกาย ฝ่ายวัตถุ ปัญหามันจึงเกิด คือหลงใหลในเรื่องทางวัตถุ ไม่สนใจในทางธรรมะ มันก็เห็นแก่ตัว เพื่อจะให้ได้ประโยชน์ในทางวัตถุมา ก็ทำให้ไม่มองผู้อื่น ไม่รักผู้อื่น ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น นี่เป็นปัญหาในโลกเวลานี้ มันมีคนพวกหนึ่งซึ่งไม่เห็นแก่ผู้อื่น เห็นแก่ตัว เอาเปรียบผู้อื่น มีแผนการที่จะสูบดูดเอาประโยชน์ของผู้อื่นมาเป็นของตัวท่าเดียว นั่นเพราะว่ามันขาดธรรมะในส่วนจิตใจ มันเห็นแต่ร่างกาย เห็นแต่ความสุขส่วนร่างกาย ถ้ามีธรรมะในส่วนจิตใจมันจะมีความคิดที่ถูกต้อง ไม่รู้ว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ ไม่ถูกไม่ควร แล้วก็เป็นไปไม่ได้ด้วย การที่เราจะเอาเปรียบผู้อื่น เป็นชนะผู้อื่น ในทางอย่างนี้มันเป็นไปไม่ได้ แล้วมันก็ไม่มีใครยอม การที่จะเอาเปรียบผู้อื่นในโลกนี้มันเป็นการผิดธรรมะแล้ว คือผิดกฎธรรมชาติแล้ว มันก็จะไม่มีใครยอม ฉะนั้นความเห็นแก่ผู้อื่นมันเป็นรากฐานของการมีความสงบสุขในโลกนี้ เป็นธรรมะที่ขยายวงกว้างออกไปถึงส่วนสังคม เมื่อเราเอาตัวรอดแล้ว เราก็ยังเห็นแก่ผู้อื่น คิดช่วยผู้อื่นให้เอาตัวรอดได้ด้วย เป็นธรรมะส่วนสังคม คู่กันกับธรรมะส่วนบุคคล ในส่วนบุคคลนี่มีความถูกต้องทั้งทางกายทางจิต คนที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้แล้วก็นึกถึงผู้อื่น และช่วยผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นบ้าง ก็เป็นธรรมะที่สมบูรณ์ทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น เรียกว่าในขั้นที่สมบูรณ์ต้องเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นเราก็ต้องรับรู้ไว้ ถ้าไม่อย่างนั้นมันไปไม่รอดหรอก ที่เราจะไปคนเดียว หรืออยู่คนเดียวในโลกนี้มันเป็นไปไม่ได้ เราจะชนะคนอื่นเพื่อตัวเรานี่มันเป็นไปไม่ได้ ไปคิดดูเถอะจะพบ มันเป็นไปไม่ได้ มันต้องไปด้วยกัน แล้วก็พอ พออยู่กันไปได้ด้วยกันทุกคนมันจึงจะมีความปกติอยู่ได้ ถ้าคนนี้มันสบายและคนหนึ่งมันเป็นทุกข์ทรมานอยู่มันก็ทนอยู่ไม่ได้ มันก็ต้องมีการกระทบกระทั่งกัน ธรรมะนี้จะทรงผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในทางต่ำหรือความทุกข์ ทั้งที่เป็นส่วนบุคคลและทั้งที่เป็นส่วนรวมคือทั้งโลกด้วย ฉะนั้นจึงพูดว่าธรรมะนี่มันคุ้มครองโลก ช่วยโลกทั้งโลกไว้ได้ นี่ธรรมะเบื้องต้น ธรรมะในฐานะที่จะต้องรู้กันในเบื้องต้นว่ามันเป็นอย่างนี้ ทีนี้รายละเอียดมันก็มีอีกมาก
นักศึกษา : ท่านครับ อยากจะเรียนถามว่าเรื่องที่ว่าผู้ที่ไม่ประกอบอาชีพนี่เป็นคนที่เลวมากไหมครับ อย่างคนพิการหรือขอทานนี่ครับ
ท่านพุทธทาสภิกขุ : อ๋อ ต้องใช้คำพูดให้ถูกต้อง เขาก็มีอาชีพอย่างคนพิการ คำว่าอาชีพนี่คือการดิ้นรนขวนขวายเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ในรูปไหนก็ได้ ในรูปปกติแล้วก็เหมือนกับสัตว์ทั่วไป เขาก็ดิ้นรนประกอบอาชีพหรือหาอาหารตามธรรมชาติ ทีนี้พอมาเป็นมนุษย์ก็มีอาชีพที่ละเอียดประณีตสูงขึ้นไป ถ้าเป็นคนพิการทุพพลภาพก็มีอาชีพอีกอย่างหนึ่ง คืออาชีพดำรงตนให้ดีๆ แล้วก็มีคนเลี้ยง มีคนให้กิน ยังมีอาชีพที่พิเศษที่เขาเรียกว่าอาชีพของปูชนียบุคคล โดยทำงานเพื่อหาอาหารโดยตรง เช่น อาชีพของครูบาอาจารย์ หรืออาชีพของผู้ที่มีหน้าที่สั่งสอน เป็นนักบวช เป็นภิกษุ เป็นพระพุทธเจ้า นี่ก็เรียกว่ามีอาชีพเหมือนกัน เป็นอาชีพอย่างปูชนียบุคคล คือผู้นั้นทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา แล้วผู้อื่นหรือคนทั้งโลกก็ช่วยเลี้ยงดูผู้นั้นไว้ เพื่อให้ทำประโยชน์อันสูงสุด ก็เลยเป็นอาชีพของปูชนียบุคคลหรือว่าเขาทำประโยชน์ให้แก่สังคมหรือโลกมาก มาก มากเกินที่จะพรรณนา แล้วอาชีพนั้นที่ได้รับเอาไปนั้นเพียงแต่ว่าข้าวปลาอาหารพอมีชีวิตอยู่ได้มันเล็กน้อย เพราะฉะนั้นเขาจึงเรียกว่าอาชีพของปูชนียบุคคล อาชีพตามธรรมดาเราก็ลงทุนลงแรงไปเพื่อให้ได้ของกลับมา นี่ก็เป็นอาชีพตามธรรมดา เรียกว่าสัตว์ทั้งหลายมันก็ออกหากิน เลี้ยงชีวิตตามธรรมชาติ นั่นมันเป็นอาชีพอย่างง่ายอย่างต่ำที่สุด การแสวงหาอาหารนี่ก็เป็นธรรมะด้วยเหมือนกัน คือ ธรรมะในฐานะตามธรรมชาติที่ให้ชีวิตมันรอดอยู่ได้ ทีนี้จะให้มันสูงขึ้นไปก็ต้องหาเลี้ยงชีพให้ถูกต้อง การหาเลี้ยงชีพให้ถูกต้องก็เป็นการปฏิบัติธรรมะที่สูงขึ้นไป กระทั่งว่าเป็นอาชีพที่กว้างขวาง มีประโยชน์มาก จุนเจือผู้อื่นได้ กว้างขวางก็เป็นอาชีพที่สูงขึ้นไปอีก มันก็ไปสูงสุดอยู่ที่อาชีพที่เป็นผู้นำในทางวิญญาณ เช่น ครูบาอาจารย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้นำในทางวิญญาณ ไม่ต้องทำนา ไม่ต้องอะไรเอง ก็ให้คนที่เขาได้รับประโยชน์เขาช่วยเลี้ยงดู อย่างภิกษุสงฆ์นี้ถ้าทำหน้าที่ของตนถูกต้องก็อยู่ในอาชีพนี้คือทำประโยชน์อย่างเป็นผู้นำในทางวิญญาณ แล้วก็รับอาหารบิณฑบาตมา ที่เขาใส่บาตรให้อะไรให้นี่มันก็เป็นเรื่องเล็กน้อย มีค่าน้อยกว่าประโยชน์ที่คนเหล่านั้นจะทำให้แก่ประชาชน แต่ถ้าเป็นภิกษุที่ไม่ถูกต้องมันก็อีกความหมายหนึ่งนะ ความหมายหนึ่งนี่เขาพูดกันในทางที่ถูกต้อง การประกอบอาชีพให้ถูกต้องก็คือการปฏิบัติธรรมะในความหมายหนึ่ง แล้วคนทุกคนจะมีอาชีพ สัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลายจะต้องมีอาชีพ คือขวนขวายดิ้นรนเพื่อให้ชีวิตทรงอยู่ได้นี่เขาเรียกว่าอาชีพ มีความหมายกว้างกว่าภาษาไทยธรรมดาที่ทำอาชีพ มีปัญหาอะไรอีกถามได้ ตอนท้ายนี้ถามปัญหากันดีกว่า เดี๋ยวจะหลับกันเสียหมด
นักศึกษา : พระภิกษุที่ถูกต้องเป็นอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาสภิกขุ : ก็ผู้ที่ปฏิบัติตามระเบียบวินัยนี่แหละของภิกษุ คือภิกษุที่ถูกต้อง ยังไม่รู้ว่าข้อวินัยยังไง
นักศึกษา : แล้วทำประโยชน์ให้แก่ผู้สนใจอย่างไร
ท่านพุทธทาสภิกขุ : เมื่อภิกษุบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง แล้วสอนคนอื่นจริงๆอย่างนี้ เป็นยังไงบ้าง สิ่งที่สอนนั้นก็คือ สอนธรรมะหรือสอนความรู้ในชั้นที่สูงกว่าธรรมดา คือเรื่องจิต เรื่องวิญญาณ เป็นหน้าที่ของภิกษุ หรือเจ้าหน้าที่ทางศาสนาจะสอนให้ แต่ถ้าหากว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ เรื่องปากเรื่องท้อง เรื่องวัตถุนี่ก็สอนได้เหมือนกันในบางกรณี คือภิกษุจะต้องรู้จักดับความทุกข์ของตัวให้สิ้นสุดไปก่อน มันก็เลยมีความรู้สมบูรณ์ในเรื่องนี้ ทีนี้ไปสอนให้ผู้อื่นให้ดับความทุกข์ก็ได้ นั่นก็คือหน้าที่ของภิกษุที่สมบูรณ์ ทำประโยชน์ตนแล้วก็ทำประโยชน์ผู้อื่นด้วย ถึงแม้ว่าจะไม่ทำประโยชน์ผู้อื่น ทำเพียงประโยชน์ตนอยู่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่าควรจะมีอยู่ในโลก ควรจะช่วยกันรักษาบำรุงไว้ให้มีอยู่ในโลก ก็เป็นตัวอย่างที่ดี เป็นตัวอย่างของบุคคลที่ไม่มีความทุกข์ ฉะนั้นพวกสมณะทั้งหลายคือ พวกที่ทำความสงบสุขให้แก่ตนได้ ก็เรียกว่าสมณะทั้งหลาย ในพุทธศาสนาก็ได้ ในศาสนาอื่นก็ได้ ถ้าเขาดับทุกข์ของเขาได้โดยสมควร สัดส่วนถูกต้องแล้วก็เรียกว่าเป็นสมณะ มีอยู่ในโลกนี้ก็มีประโยชน์ สำหรับเป็นตัวอย่างที่ดี ว่าต้องอยู่กันอย่างนี้จึงจะมีความผาสุก สงสัยอีกยังไงก็ถามได้ไม่ต้องเกรงใจ คำถามต่อไปอีก
นักศึกษา : อยากจะรู้ว่าความดีกับความยุติธรรมมีส่วนดีอย่างไรบ้างครับ
ท่านพุทธทาสภิกขุ : ความดีกับความยุติธรรม ถ้าในแง่ของภาษาเป็นสิ่งเดียวกันหรือเปล่า ความดี ความงาม ความถูกต้อง ความยุติธรรม โดยความหมายก็จะเป็นสิ่งเดียวกันได้ แต่ตัวหนังสือมันไม่เหมือนกัน แต่โดยความหมายแล้วมันก็เรียกว่าเนื่องถึงกัน เป็นอันเดียวกัน ถ้ามีความดีคือ ไม่มีโทษ ไม่มีความชั่ว ไม่มีความทรามอะไรทั้งหมด แบบนี้แล้วมันก็เรียกว่า งาม งามในภาษาของธรรมะ ไม่ใช่งามทางวัตถุประดับประดาตกแต่ง ภาษานี้มี ๒ ภาษา ภาษาชาวบ้านธรรมดานี่อย่างหนึ่ง ภาษาวัตถุ ส่วนภาษาธรรมะนั้นเรียกว่าภาษานามธรรม ภาษาลึกซึ้งทางจิตใจ ถ้าว่ามีความดีมัน ก็มีความงาม เพราะความดีมันงาม มันก็เป็นความถูกต้องอยู่ในความดีและความงาม เป็นความยุติธรรม คือประกอบอยู่ด้วยธรรม เป็นไปตามธรรมอยู่ในตัวมันเอง ในทางธรรมะมันจึงเป็นของที่เนื่องอยู่ในอันเดียวกันโดยความหมาย ตัวหนังสือมันต่างกัน แต่ถ้าอย่างโลกๆนี่มันอีกแนวหนึ่ง เอาไปนั่นกันไม่ได้ ที่เรียกความยุติธรรมอย่างโลกๆนี่มันก็อีกอย่างหนึ่ง ความยุติธรรมอย่างธรรมะนี่มันก็อีกอย่างหนึ่ง ยุติธรรมอย่างธรรมะมันไปตามกฎธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นผู้ตัดสิน มันยุติธรรมแท้ ยุติธรรมอย่างโลกๆ อย่างกฎหมาย อย่างอะไรอย่างนี้มันก็มันยุติธรรมชนิดที่อิงอาศัยอยู่กับเรื่องอื่นๆ มันไม่แท้ จนมันแล้วแต่วัตถุพยานหรือว่าอะไรต่างๆ หรือว่ากฎหมายบางประเทศมันก็เป็นอย่าง อีกบางประเทศก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นการยุติธรรมตามกฎหมายของประเทศนั้นๆมันก็ไม่แท้ นี่พูดได้ตรงๆเลย แต่ก็ต้องยอมรับในส่วนนั้น ในส่วนที่มันเป็นเรื่องกฎหมายของโลกๆ ยุติธรรมอย่างโลกๆ ถ้ายุติธรรมตามแบบของธรรมชาติแล้วมันแท้ แน่นอน ไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่า ก็จะพอมองเห็นได้ว่าความดี ความงาม ความจริง ความยุติธรรมอะไรเหล่านี้ ถ้าเอาตามกฎของธรรมะแล้วมันก็เป็นสิ่งเดียวๆกัน นั่นมันเป็นภาษาพูดไปตามภาษาชาวบ้านชาวโลกมันก็ยังแยกกันได้ นั้นเราจะพูดกันในภาษาไหนก็ต้องให้มันแน่เสียก่อน พูดภาษาธรรมะ หรือว่าพูดภาษาชาวบ้าน มันก็จะไม่ต้องเถียงกัน เอ้า มีปัญหาอะไรอีก
นักศึกษา : ผมเคยได้ยินได้ฟังชาวบ้านเขาพูดถึงเกี่ยวกับเรื่องพระศรีอาริย์ เรื่องนี้ผมยังไม่เข้าใจ จึงขอเรียนถามพระอาจารย์ครับ
ท่านพุทธทาสภิกขุ : อยากจะทราบเรื่องพระศรีอาริย์ ก็ต้องพูดอย่าง ๒ ภาษาอีกแหละ ถ้าภาษาชาวบ้าน ภาษาธรรมดาเขาก็มีเรื่องที่สอนกันว่า ในอนาคตกาลข้างหน้านานเป็นพันๆปี หลังจากที่มนุษย์มันวินาศไปด้วยความชั่วแล้ว มันก็ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติแต่ความดี ความงาม ความถูกต้อง แล้วก็เกิดศาสนาของพระศรีอาริย์ขึ้นมา อยู่กันเป็นผาสุกจนที่ไม่รู้ว่าจะทุกข์อย่างไร นี่ว่าไปตามตัวหนังสือที่เขาเขียนไว้ เขาเล่าไว้นะ ไม่มีการเบียดเบียนไม่มีอะไรหมด มีความสะดวกสบาย ถึงกับพูดไว้ว่ามันมีต้นกัลปพฤกษ์อยู่ทั้ง ๔ มุมเมือง ใครต้องการอะไรไปขอเอาได้ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ คนดีเหมือนกันหมด จนจำกันไม่ได้ว่าใครเป็นใคร แม้แต่ว่าน้ำในแม่น้ำนี้ก็ยังให้ความสะดวกไหลขึ้นข้างหนึ่ง ไหลลงข้างหนึ่ง อีกมากมาย อย่าพูดถึงโดยรายละเอียดเลย นี่เขาเรียกว่าพระศาสนาพระศรีอาริย์ ในความหมายของภาษาโลก ภาษาธรรมดา ถ้าอยากจะเกิดในศาสนานั้นก็ทำความดีตามที่เขาระบุไว้ คือทำดีทั่วๆไปนี่ให้ทำให้มากพอแล้วก็ตาย แล้วก็ไปเกิดในยุคนั้นในศาสนานั้นทีนี้อีกความหมายหนึ่งเรียกว่าเป็นภาษาธรรมะเราจะต้องประพฤติดีอีกเหมือนกันแหละ แต่ว่าเอากันเลวๆนี่ถ้าทุกคนประพฤติดี ไม่เบียดเบียนกัน มันก็อาจจะเกิดขึ้นมาในไม่กี่วัน ถ้าทำได้นะ ถ้ามนุษย์ทุกคนประพฤติดี ตั้งอยู่ในธรรมะแท้จริง โลกพระศรีอาริย์ก็เกิดปุบปับขึ้นมาได้ ฉะนั้นควรจะสนใจธรรมะ ประพฤติธรรมะ ชวนกันให้ประพฤติธรรมะพร้อมๆกันทั้งโลก ทีนี้ถ้ามันทำไม่ได้ ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ เราก็ยังมีทางที่จะทำของเราเอง ศึกษา ฝึกฝน อบรมจิตใจให้มันอยู่ในร่องในรอย ให้บังคับจิตใจได้ ไม่ไปตามอำนาจของกิเลส ไม่ไปตามอำนาจแวดล้อมใดๆหมด เราทำความดี แล้วก็พอใจในความดีของเราได้อยู่เสมอ เราก็สบายใจ อิ่มอกอิ่มใจ แม้จะมีความวิบัติอะไรมา จิตใจชนิดนี้มันทุกข์ไม่เป็น มีความเจ็บไข้มา จิตใจชนิดนี้มันก็ทุกข์ไม่เป็น แม้ความตายมามันก็มีความทุกข์ไม่เป็น ตายก็ตาย อยู่ก็ไม่เป็นทุกข์ จะตายก็ไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นคนที่อยู่ในศาสนาของพระศรีอาริย์ได้เหมือนกัน หรือมันเป็นความหมายเดียวกันกับธรรมะหรือพุทธศาสนา ถ้าปฏิบัติธรรมะได้จริง หมดกิเลส หมดอาสวะอะไรก็ไม่มีความทุกข์ ทุกข์ไม่เป็น ไม่มีความทุกข์อะไรอีกได้ อย่างที่เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ ทุกข์ไม่เป็นอีกต่อไป แต่ทีนี้คนก็ไม่ค่อยเข้าใจเพราะว่าเรื่องทางวัตถุไม่ค่อยสมบูรณ์ เขาจึงพูดไว้สำหรับศีลธรรมในอนาคต พูดอย่างที่เขาพูด อย่างที่เล่าให้ฟังทีแรก อย่างนั้นๆ สมบูรณ์เป็นสุข สนุกสนาน ไม่มีความทุกข์ ความหมายเหมือนกัน คือผลของความดีที่ได้กระทำไว้เรียกว่าศาสนาของพระศรีอาริย์ ถ้าเป็นกันได้ทั้งโลกก็ดี ถ้ามันเป็นกันไม่ได้ทั้งโลก เราเป็นของเราสิ อบรมจิตใจชนิดที่ให้ทุกข์ไม่เป็น ก็เป็นเรื่องของการทำกรรมฐานภาวนาอย่างที่ว่าเมื่อตะกี้นี้ให้มันถูกต้อง ถ้าทำได้จริง สำเร็จแล้ว มันก็จะมีความทุกข์ไม่เป็น จิตใจชนิดนั้นจะมีความทุกข์ไม่เป็น แต่ก็ไม่ใช่ง่ายอย่างที่เรียกว่าพูดกันง่ายๆ หรือทำกันได้ง่ายๆ เอ้า ใครมีปัญหาอะไรอีก
นักศึกษา : คนเรานี่ตายแล้วจะไปไหน แล้วชาติหน้ามีจริงหรือเปล่าครับ
ท่านพุทธทาสภิกขุ : ชาติหน้ามีจริงหรือเปล่า ตายแล้วไปไหน มีคนชอบถามปัญหานี้ มันก็มีความสงสัยอยู่แต่เรื่องนี้ แล้วก็มองข้ามไปเสียว่าที่เรายังไม่ตายนี่เราควรจะทำอย่างไรบ้าง เราควรจะทำอย่างไรเมื่อยังไม่ตาย ซึ่งเรามองเห็นอยู่ เราทำได้ หลังจากตายแล้วนี่เราไม่มองเห็น เราจะควบคุมมันไปไม่ถึง ฉะนั้นเราจึงสอนให้เข้าใจว่าเมื่อยังไม่ตายนี่เราควรจะทำอะไรก่อน ทำให้เสร็จหน้าที่หรือให้หมดปัญหาเมื่อยังไม่ตายนี่ก่อน ให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ก่อนจะตาย คือถ้าทำได้อย่างนี้แล้วไม่ต้องกลัว ตายแล้วก็เป็นอันว่าต้องดีแน่ ถ้าหลังจากการตายแล้วไปเกิดอีกเป็นดีแน่ ถ้าไม่เกิดก็ไม่ขาดทุนอะไร แล้วปัญหามันมีอยู่ที่ว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิดก่อน เราจะต้องทำให้ปลอดภัยไว้ทั้ง ๒ อย่าง ตายแล้วเกิดก็ปลอดภัย หรือว่าตายแล้วไม่เกิดก็ปลอดภัย คือทำให้มันดีที่สุดไว้ตามที่เราจะทำได้ ทีนี้ส่วนที่เราจะไปเกิดอีกนี้ ถ้าทำไว้ดีที่นี่ แล้วก็เกิดใหม่มันก็ดีอีก ทำไว้ไม่ดีที่นี่ เกิดใหม่มันก็ไม่ดีอีก ไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่พอจะถือได้ว่าเป็นอย่างนั้น เมื่อมีผู้ไปทูลถามพระพุทธเจ้าเรื่องนี้ เกิดตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด ท่านก็บอกว่าไม่จำเป็นจะต้องพูดถึง ที่มันอยู่เดี๋ยวนี้ทำให้เสร็จเสียก่อน ทำให้ถูกต้อง ให้สมบูรณ์ให้เสร็จเสียก่อน แล้วก็จะรู้เองว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด นี่หมายความว่าถ้าเราศึกษา ประพฤติ ปฏิบัติที่นี่และเดี๋ยวนี้ตามหลักธรรมะให้ถูกต้องแล้ว มันแก้ปัญหาได้เอง คือมันรู้จนถึงกับว่ามิได้มีเรา มิได้มีตัวเราอย่างที่เราสำคัญผิด มันมีแต่สิ่งที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย รูปธรรม นามธรรมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีตัวเรา ก็เหลืออยู่แต่สิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ ตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีตัวเรา เราก็เลยไม่พูดว่าเราเกิดหรือเราตาย กลายเป็นไม่มีเราสำหรับเกิดหรือตาย มีแต่จิตใจที่หลุดพ้นจากความเกิดหรือความตาย บรรลุนิพพานไปเสีย ไม่ต้องเกิดไม่ต้องตายอีกต่อไป นี่แบบของพระพุทธเจ้าท่านมีไว้อย่างนี้ ทบทวนอีกทีก็ได้ ถ้าใครไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิดหรือจะไปไหน ท่านจะบอกว่าไม่ต้องคิด อย่าเพิ่งคิด อย่าเพิ่งคิด เดี๋ยวนี้ที่นี่ทำอย่างไรดีกว่า ทำให้เสร็จเสียก่อน ถ้าทำเสร็จจะรู้ว่าไม่มีเราสำหรับเกิดและตาย มีแต่กระแสแห่งธรรมชาติที่ปรุงแต่ง เปลี่ยนแปลง เป็นไป เป็นไป พอรู้อย่างนี้แล้วก็ไม่มีความทุกข์ ไม่มีอะไรที่จะยึดเอาเป็นเรา เป็นของเรา มันก็ไม่มีกิเลส ไม่มีกิเลสก็ไม่มีความทุกข์ เรื่องมันก็จบที่นี่ ไม่มีสำหรับที่จะเป็นปัญหาต่อไปว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด เกิดอย่างไรนี่ไม่มีปัญหา แต่เขายังมีไว้อีกแขนงหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่อาจจะเข้าใจอย่างที่ว่านี้ได้ ก็สอนให้ทำความดี ก็เพื่อเราจะเกิดอีกเราก็จะได้เกิดดี ถ้าเราไม่เกิดแล้วก็ไม่ขาดทุนอะไรอย่างที่ว่า นี่เป็นเรื่องทางศีลธรรมทั่วๆไป กว้างขวาง ไม่ต้องรู้อะไรมากก็ได้ ให้ทำไปอย่างกับว่าเราจะต้องเกิดอีก แล้วเราจะต้องเกิดดี แล้วทำความดี ทำความดีเพื่อจะได้เกิดอีกและเกิดดี อย่างนี้ก็ปลอดภัยเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ถึงที่สุด ถ้าถึงที่สุดมันประพฤติปฏิบัติ ศึกษาไปจนรู้ว่าไม่ใช่เขา ไม่มีเรา เป็นธรรมชาติ รูปธรรม นามธรรมล้วนๆ อันนี้ก็หมดปัญหาที่นี่และเดี๋ยวนี้เลย ไม่มีความทุกข์ นี่ก็เรียกว่าบรรลุนิพพาน ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ถ้าไม่อาจจะบรรลุนิพพานก็ทำอย่างเวียนว่ายและตายเกิดอีกต่อไป ก็ทำให้ดีเข้าไว้ ประพฤติธรรมะที่เรียกว่าดีให้เต็มที่เข้าไว้ เรายึดมั่นในความดี กระทำความดี ให้รู้จักความดี ให้ทำในฐานะที่เป็นความดีนี่ ดีกว่าที่จะทำเป็นฐานะที่จะได้เงินได้ของได้อะไรไปเสียอีก ถ้าทำความดีแล้วมันก็จะต้องได้ดี แล้วเงินก็ได้ ก็ได้ตามสมควรแก่เหตุการณ์นั้น แต่ที่มันได้แน่คือว่าทำดีมันก็ดีทันที ทำชั่วมันก็ชั่วทันที แต่จะได้เงินหรือไม่นั้นมันแล้วแต่เหตุการณ์ นั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง เขาเรียกว่าพลอยได้ ส่วนไอ้ดีหรือชั่วนี่มันเป็นส่วนหนึ่ง มันจริงแท้ พอทำในสิ่งที่ดีมันก็ดี ทำสิ่งที่ชั่วมันก็ชั่ว จะได้เงินไม่ได้เงินมันอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าทำดีได้เงินก็เงินดี ทำชั่วได้เงินมันก็เงินชั่ว เอามาทำให้ชั่วมากขึ้นอีก นี่ปัญหาเรื่องตายแล้วเกิดหรือไม่ขอให้เข้าใจไว้อย่างนี้ ให้ทำไว้ ให้ประพฤติมีหลักไว้อย่างว่าเราจะเกิดอีก แล้วจะเกิดดี ก็ประพฤติทำความดี ดี ดี ดีเข้าไว้เรื่อยไป หมดปัญหาไปเรื่องหนึ่ง ถ้าว่าทำดีนี้มันมากจนถึงกับว่ารู้ธรรมะลึกซึ้ง ลึกซึ้งจนรู้ว่าไม่มีตัวเรา มีแต่ธรรมชาติ มันก็หมดตัวเรา หมดปัญหาที่นี่ ไม่มีปัญหาเรื่องเกิดอีก นี่คือตัวพุทธศาสนาที่สูงสุด ถ้าใครสนใจก็ศึกษาต่อไป ศึกษาไปเรื่อยๆจนจิตใจมันฉลาด สว่างไสวแจ่มแจ้ง รู้ความที่ไม่มีตัวมีตนนั่นแหละ มันละเอียดมาก ถ้าถึงนั่นแล้วมันก็หมดปัญหาเรื่องตายเกิด เดี๋ยวนี้มันยังไม่หมดปัญหา ยังมีปัญหาก็ทำไว้ในทางดี ให้เกิดดี ให้พืชดี ให้มีพืชพันธุ์ที่ดีไว้ เอ้า ใครมีปัญหาอะไรอีก
นักศึกษา : แล้วสวรรค์นรกนี่มีจริงไหมครับ
ท่านพุทธทาสภิกขุ : ไม่มีแล้วเอามาจากไหนมาพูดล่ะ จะถามอย่างนี้ก่อน เขาพูดเรื่องนรกสวรรค์กันมาแล้วตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านี่สองพันสามพันปีเลยนะ สวรรค์นั่นเขาพูดกันมาก่อนนั้นนาน คำพูดนั้นมีอยู่แล้ว แต่ว่าคำพูดนี้มีหลายความหมาย หลายความหมาย นี่รู้กันไว้เสียด้วยทุกคนว่า คำพูดคำหนึ่งนะมีหลายความหมายหลายระดับ โดยเฉพาะในทางศาสนาแล้วก็มีหลายระดับ อย่างเดียวกับเรื่องพระศรีอาริย์เมื่อตะกี้ ภาษาชาวบ้านตามธรรมดานรกมีสวรรค์มี แล้วก็เป็นเรื่องต่อตายแล้วทั้งนั้น นรกสวรรค์อย่างต่อตายแล้วมันสำหรับไอ้ความหมายอย่างนี้ ก็อย่างเดียวกับเรื่องพระศรีอาริย์ เรายังไม่ถึงก็ยังไม่มีปัญหา มันมีนรกสวรรค์ที่จริงกว่านั้น เมื่อใดร้อนใจเมื่อนั้นเป็นนรก เมื่อใดสบายใจเมื่อนั้นเป็นสวรรค์ นี่มันจริงกว่า แล้วก็รู้สึกได้ เมื่อใดเราร้อนใจเหมือนกับไฟเผาเรียกว่ามีนรก เมื่อใดเย็นอกเย็นใจ สบายดี เป็นที่พอใจตัวเอง ก็เรียกว่าสวรรค์ นี่จริงกว่า จริงกว่าต่อตายแล้ว เพราะมันรู้สึกได้ด้วยจิตใจนี้ ฉะนั้นอย่าทำสิ่งที่ให้ร้อนใจ ก็เป็นนรก ทำแต่สิ่งที่สบายใจจะได้เป็นสวรรค์ ที่เขาพูดไว้ให้มันหลายๆอย่างนี้ ก็เพราะว่ามันมีคนหลายชนิดหลายระดับ คนที่ไม่เข้าใจอย่างนี้ก็ไปเข้าใจอย่างนั้นได้ เขาจะได้ทำดี ขยันทำดี ไม่ตกนรก แล้วก็ไปสวรรค์ แล้วคนฉลาดกว่านั้น อย่าหลีกนรกกันที่นี่ มีสวรรค์กันเดี๋ยวนี้มันก็ทำได้ ทำแต่สิ่งที่ดีที่ทำให้ยกมือไหว้ตัวเองได้ นั่นแหละคือ สวรรค์ ถ้าจะพูดให้อย่างพระพุทธเจ้าตรัส มันยังชัดกว่านี้ ตัวที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่มันทำไปในทางผิดแล้วมันร้อน ร้อนทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้นเรียกว่า นรกแท้จริง นี่ถ้ามันทำถูกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีความสบาย เป็นที่พอใจ สุขใจนั้นคือ สวรรค์ที่แท้จริง ฉะนั้นระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าให้มันนำเอาความร้อนเข้ามา ก็ไม่ตกนรก จัดแจงให้มันมีแต่นำความพอใจ สบายใจเข้ามาก็เป็นสวรรค์ แต่อย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ต้องการให้หยุดอยู่เพียงสวรรค์ เพราะสวรรค์มันก็เปลี่ยนแปลง ต้องการให้ขึ้นไปให้พ้นสวรรค์ไปเสียอีก ให้ถึงความไม่เปลี่ยนแปลงคือ นิพพาน ให้จิตปกติอยู่เหนือนรกเหนือสวรรค์ อย่างนี้เขาเรียกหลุดพ้นเป็นนิพพาน นี่พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้ ก่อนนี้เขาสอนเพียงว่าอย่าตกนรกแล้วก็อยู่ในสวรรค์ นี่พระพุทธเจ้าท่านมาชี้ว่ายังต้องการมากกว่านั้น ดีกว่านั้นก็คือว่ามันพ้นสวรรค์ขึ้นไปอีก ไม่ตกทั้งนรกไม่มีทั้งสวรรค์ จิตใจมันก็ไม่ถูกทำให้ติดพันอยู่ในสิ่งใด ไม่ติดพันอยู่ในสิ่งใดก็เรียกว่า “วิมุติ” หลุดพ้น อย่างนี้เป็นนิพพาน คือเย็นจริงๆ สวรรค์ไม่ใช่มันเย็นจริงๆ นรกมันร้อน ฟังง่ายแล้ว แต่สวรรค์มันก็มีไฟอีกชนิดหนึ่ง ไฟเปียกๆอยู่ในนั้นมันเป็นความร้อนอีกชนิดหนึ่ง คือไม่เย็นสนิท ไม่ดับทุกข์แท้ เพราะว่ามันต้องไปเอร็ดอร่อยกับเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของร้อนแบบนั้น ฉะนั้นเรื่องนรกสวรรค์จึงไม่เป็นปัญหาสำหรับพุทธบริษัท เพราะพุทธบริษัทเขาต้องการจะขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ให้ไปถึงความหยุด ความหลุดพ้น ความเย็นแท้จริง ไม่ต้องไปหลงในรสอร่อย แม้ชนิดที่เป็นสวรรค์ มันก็เป็นกามารมณ์ทั้งนั้น เดี๋ยวนี้คนเราในโลกนี้เวลานี้ก็ติดอยู่ที่ส่วนนี้ แล้วไปๆมาๆมันก็กลายเป็นไอ้นรกอยู่ในสวรรค์ เสวยสวรรค์ เสพสวรรค์จนเป็นนรกไม่ทันรู้ตัวอยู่ในนั้น เรื่องของกามารมณ์มันเป็นอย่างนั้น ส่วนศีลธรรมนั้นเขามีไว้ เขาไม่เลิก นรกสวรรค์มันมีให้คนกลัวบาป แล้วก็ทำบุญ แล้วก็อยู่กันเป็นผาสุกในโลกนี้ ทีนี้ส่วนบุคคลก็อย่าให้มีความร้อนใจอะไรเลย ในเรื่องของโลกๆนี้ แต่ถ้าต้องการให้ดีกว่านั้นให้หลุดพ้นไปเสีย ก็ไม่ต้องเกาะเกี่ยวในสิ่งใด ไม่เกาะเกี่ยวในสวรรค์ คำว่าสวรรค์นั้นแปลว่าอะไร ใครทราบ “สวรรค์” แปลว่าที่เกาะเกี่ยว สวรรค์ไอ้คำนี้ในภาษาไทย “สวรรค์” หรือ “สรคะ” ในภาษาสันสกฤต หรือว่า “สัคคะ” ในภาษาบาลีนี่คำเดียวกัน แปลว่า “ที่เกาะเกี่ยว” คำนี้แปลว่าเกี่ยว เกาะเกี่ยว มันสนุก เกาะเกี่ยว มันสู้ไม่เกาะเกี่ยวไม่ได้ เหมือนกับว่าเรากินของขมอยู่เรื่อยมันก็ไม่ไหว กินของหวานอยู่เรื่อยมันก็ไม่ไหว เวลาที่ไม่ขมไม่หวานมันสบายกว่า จำคำเปรียบนี้ แม้เรื่องกามารมณ์จะเป็นเรื่องมีรสอร่อย มีอะไรก็ตามเหลือให้เกาะเกี่ยวอยู่ที่นั่นตลอดเวลามันก็ทนไม่ไหว เดี๋ยวมันก็ปลีกตัวออกมานั่งพักผ่อน ฉะนั้นธรรมะที่แท้มันจึงไม่ได้สอนให้ไปเกาะเกี่ยวอยู่ที่สวรรค์ แต่ในชั้นต้นก็ให้หลีกนรกมาสู่สวรรค์ พอเป็นที่รู้จักพอสมควรแล้วก็ขึ้นไปให้พ้นที่สวรรค์ก็ไปสู่ที่ว่าง ที่ไม่เกาะเกี่ยว ที่เป็นอิสระ ที่จิตมันก็เยือกเย็นโดยแท้จริง นี่ก็เรียกว่านิพพาน นรกสวรรค์เป็นนิพพาน รูปนั้นนะ ที่รูปที่เป็นการ์ตูนล้อนั้นมันพ้นแล้วโว้ย พ้นแล้วโว้ย แล้วก็ขึ้นพ้นโบสถ์ พ้นเจดีย์ พ้นสวรรค์ พ้นวิมานอะไรหมด รูปนั้นก็เขียนล้อ เดี๋ยวนี้พ้นแล้วโว้ย มันก็เป็นเพียงเมฆแค่นั้นไม่ใช่คนจริง นั้นมันเมฆไม่ใช่คนจริง ถ้าเรารู้ว่าไอ้เรานี้ก็ไม่ใช่คนจริง มันส่วนประกอบของรูปธรรม นามธรรมตามธรรมชาติ ไร้ตัวตน ก็เหมือนกับเมฆ แต่มันก็ลอยขึ้นไปได้ ลอยขึ้นไปได้ ลอยขึ้นไปได้ จนพ้นสิ่งที่จะบีบคั้น นี่มนุษย์ก็ควรจะเป็นอย่างนั้นถ้าฉลาด ฉลาด ฉลาดเรื่อยๆไป เรื่อยไป มันจะพ้น พ้นสิ่งรบกวนบีบคั้นอะไรต่างๆ เรียกว่าหลุดพ้น เรื่องอาชีพกับทำมาหากินนี่มันเป็นเรื่องของร่างกาย หรือให้ชีวิต ให้ชีวิตอยู่ได้ ถ้าชีวิตอยู่ได้แล้วก็อย่าให้มีความทุกข์ทรมาน ต้องการมีธรรมะสำหรับไม่ให้ชีวิตนี้เป็นทุกข์ทรมาน ให้จิตใจมันไม่ถูกผูกพันด้วยสิ่งใด ก็เรียกว่าจิตใจมันหลุดพ้นนั่นแหละดีที่สุดสำหรับมนุษย์ เมื่อตะกี้ทางนี้ถาม ถามทีแรกไม่ได้ตอบว่าอะไรดีที่สุด สิ่งนี้คือสิ่งที่ดีที่สุด คือการหลุดพ้นจากปัญหา จากสิ่งรบกวน จากการเกาะเกี่ยวทั้งหลาย คือสิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์ตามหลักของพระศาสนา ถ้าดีนี่ต้องเกาะเกี่ยวผูกพัน เต็มไปด้วยสิ่งรบกวนปัญหาต่างๆ ก็ยังไม่ดีที่สุด เป็นดีธรรมดา ถ้าดีที่สุดก็คือว่าเหนือดีขึ้นไปอีก เขาไม่เรียกว่าดี แต่เราก็ต้องเรียกว่าดีที่สุด เพราะไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไร พูดว่าเหนือดี พ้นดี ไม่มีใครต้องการหรอก ต้องโฆษณาชวนเชื่อไว้หน่อยว่าดีที่สุด ว่านิพพานดีที่สุด แต่ที่จริงมันไม่ใช่ดีหรอก มันพ้นไปจากดี เอ้า ใครมีปัญหาอะไรอีก
นักศึกษา : พระอาจารย์ครับ ตามประวัติของพระโมคคัลลานะ เขากล่าวว่าพระโมคคัลลานะสามารถล่องหนหายตัวได้ เพราะฉะนั้นคนเราทำงาน ถ้าสมมติว่าพอตามประวัติมีความแก่กล้านั้น โดยการที่เอาหลักทางชีววิทยาองค์รวมมาทำให้มีอิทธิฤทธิ์ ผมคิดว่าคนเราจะหายตัวได้เช่นกัน อาจารย์คิดว่าเป็นอย่างนั้นได้ไหมครับ
ท่านพุทธทาสภิกขุ : ทำไมต้องอ้างพระโมคคัลลานะ ทำไมต้องอ้างพระโมคคัลลานะ มันก็ต้องควรจะเป็นหลักทั่วไป พระอรหันต์องค์ไหนที่มีฤทธิ์นะ เอาว่าที่มีฤทธิ์ก็แล้วกัน ต้องล่องหนหายตัวได้ มันเป็นวิชาสูงสุดอันหนึ่งก็เรียกว่า”อิทธิวิธิ” นะ ล่องหนหายตัวได้ เอ่อเดี๋ยวก่อน ถามว่ายังไง ถามว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ใช่ไหม ถามอย่างนั้นก็ ยังไม่ได้ถามว่าสิ่งนี้ดีที่สุดใช่ไหม มันควรจะเป็นไปได้ นี่ถ้ากล่าวตามพระคัมภีร์ ที่มีอยู่ในพระคัมภีร์พระไตรปิฎกมันก็มี วิธีฝึกจนให้หายตัวได้ ล่องหนหายตัวได้ ทะลุฝากำแพงไปได้หรืออะไรพวกนี้ก็มี แต่ก็ต้องมีการฝึกพิเศษเฉพาะอย่างนั้น แล้วก็เป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้คนเห็นว่าเรามันหายตัวไปได้ อย่างน้อยที่สุด มันมีจิตสูง บังคับให้คนอื่นเห็นว่าเราทะลุกำแพงไปได้ มันเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ท่านไม่ได้สอนให้ทำ เพราะว่าแม้ว่าจะล่องหนหายตัวได้อย่างนั้นแล้วท่านก็ยังต้องตายใช่ไหม ท่านยังต้องกินข้าว ท่านยังต้องทำอะไรทุกอย่างเหมือนคนอื่นอยู่ ท่านจะใช้ประโยชน์จากไอ้การล่องหนหายตัวได้นี้เอาเปรียบผู้อื่นนะ มันก็เป็นไปในรูปนั้น ท่านจึงไม่สอนให้ยึดไอ้สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรจะกระทำ นี่เขาเรียกว่าล่องหนหายตัวได้ตามความหมายธรรมดา ภาษาธรรมดา ไม่มีใครเห็น ไปที่ไหนก็ได้ มันก็ได้นี่ แล้วจะได้ประโยชน์อะไร นอกจากว่าจะเอาเปรียบผู้อื่น รู้ว่าจะหลบหนีศัตรูได้ แต่ถ้าไปเอาเปรียบผู้อื่นมันก็ทำบาป กลายเป็นว่าการล่องหนหายตัวเป็นเครื่องมือสำหรับทำบาป อย่างนี้มันก็ไม่ไหว ก็จะว่าสำหรับพ้นทุกข์มันก็พ้นไม่ได้ คนที่ล่องหนหายตัวได้มันก็ยังมีกิเลส มันก็เลยมีความทุกข์ต่อกิเลส นี่เรียกว่าล่องหนหายตัวตามภาษาพูดตามธรรมดา มีอย่างนี้ เป็นไปได้ แล้วก็รู้กันก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็มี
เอ้า ทีนี้อยากจะพูดว่ามันมีความหมายที่ดีกว่านั้น สูงกว่านั้น ล่องหนหายตัวได้นี่ ก็คือพระอรหันต์ประเภทที่เรียกว่าหมดตัวตน มีความหมายในทางที่พระอรหันต์นี่ท่านหมดความรู้สึกว่ามีตัวมีตน มีตัวมีตนนั่นแหละคือ หายไปหมด คือตัวตนมันหายไปหมด มันไม่มีตัวตน มันเป็นล่องหนหายไปหมดโดยไม่มีตัวตนสำหรับจะเกิด จะแก่ จะเจ็บ จะตาย จะเป็นทุกข์ ฉะนั้นสลัดความยึดถือว่าตัวกูว่าของกู ว่าตัวตนว่าของตนนี่ออกไปหมด มันเลยไม่มีตัวตน มันหายไปหมด ตัวตนมันหายไปหมด นี่อย่างนี้เป็นพระอรหันต์แท้ ในความหมายของพระอรหันต์แท้ ส่วนข้อที่ว่าพระอรหันต์บางองค์จะมีฤทธิ์หายตัวได้อย่างแบบทีแรกที่เขาว่านั้นก็มีเหมือนกัน นั่นไม่ใช่เรื่องของพระอรหันต์ ถ้าพระอรหันต์จะหายตัวหายตน หมดตัวหมดตนนั่นนะ ไม่มีทุกข์ ไม่มีตัวตนสำหรับจะเป็นทุกข์ นี่เรียกหายตัวหายตน ล่องหนหายตนได้ ก็เป็นสิ่งที่เป็นธรรมะในพุทธศาสนาถ้าหมดตัวหมดตนอย่างนี้ ทีนี้เรื่องทางวัตถุแท้ๆก็ยังมีคนพูด ยังเคยอ่านหนังสือพบ ได้ยินคนพูดก็มี ที่เขาว่าจะทำให้ตัวหายไปอย่างวิชาวัตถุล้วนๆ วิชาทางฟิสิกส์ล้วนๆนี้ ก็จะแยกส่วนประกอบคนเรานี่ที่เป็นสสารให้กลายเป็นพลังงานไป แล้วก็ส่งไปที่โลกไหนแล้วก็ไปคุมกันใหม่ที่โน่น ก็จะสร้างเครื่องมือวิทยาศาสตร์กันใหม่ ที่แยกไอ้สสารทั้งหลายนี่ให้เป็นพลังงานส่งไปที่อเมริกา คุมกันใหม่แป๊บเดียวเป็นตัวเราขึ้นมาอีก พริบตาเดียวเราก็ไปโผล่ที่อเมริกาได้ เขาก็คิดนะ คิดแล้วเขาอาจจะทำได้ก็ได้ แต่มันอีกนานก็ได้ นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง เรื่องวัตถุล้วนๆ แต่ถ้าเรื่องในคัมภีร์มันเรื่องจิตใจ อบรมจิตใจสูงจนแสดงให้คนอื่นเห็นว่าเราหายตัวได้ล่องหนได้นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ดี ต้องเป็นเรื่องของพระอรหันต์ที่สมบูรณ์ คือไม่มีตัวไปเลย ไม่มีตัวมันเลย หมดตัวไปเลย หมดตัวตน ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายนี่มันชั้นยอดเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นก็ยอมรับว่ามีได้ แล้วก็มีอยู่เป็นทั้ง ๓ ชั้นอย่างนี้ก็ได้ ในอนาคตก็อาจจะหายตนหายตัวกันทางวัตถุอย่างนี้ก็ได้ เอ้า ใครมีปัญหาอะไรอีก
นักศึกษา : กราบเรียนท่านอาจารย์ ที่ว่าจิตประภัสสรนั้นกับจิตของพระอรหันต์นั้นแตกต่างกันอย่างไร
ท่านพุทธทาสภิกขุ : นี่ถามปัญหาสูงขนาดนี้เชียวเหรอ ไปเรียนมาแต่ไหน ไปอ่านมาแต่ไหนนะ ก็เรียกว่าสนใจกันสูงมาก นี่มันเป็นเรื่องที่ระดับสูง ความรู้ทางพุทธศาสนา จิตเดิมแท้เป็นประภัสสร ถ้าจิตประภัสสรนั่นยังกลับเศร้าหมองได้เมื่อมีกิเลสมา เหมือนอย่างเรานี่ บางเวลาจิตประภัสสรไม่มีกิเลส บางเวลามีกิเลส สูญความประภัสสร อย่างนี้จิตประภัสสรเป็นจิตเดิมๆ เดิมๆ ถ้ามันเดิมแท้ก็คือ ยังไม่มีกิเลส ฉะนั้นประภัสสรก็ไม่มีกิเลส ก็ถือว่าจิตประภัสสรเป็นจิตเดิม ไม่มีกิเลส แล้วก็สบายเหมือนกัน ทีนี้จิตพระอรหันต์นั้นท่านเป็นจิตที่อบรมจิตนี้จิตประภัสสรจิตเดิมนี้ให้ดีไปกว่านั้น ให้ดีไปกว่านั้น ให้ดีไปกว่านั้นจนไม่มีโอกาสที่จะกลับเศร้าหมองได้คือกิเลสไม่สามารถจะเข้าไปทำลายความประภัสสรได้ มันก็เป็นประภัสสรอีกชนิดหนึ่ง เป็นประภัสสรชนิดที่กิเลสจะครอบงำให้เศร้าหมองไม่ได้ นี่เป็นประภัสสรอย่างพระอรหันต์ ไม่ใช่อย่างเดียวกันกับประภัสสรตามธรรมดา ยังมีเวลาที่กิเลสเข้าไปสวมได้ เป็นไม่ประภัสสรไป ถ้าอบรมจิตจนถึงกับขนาดหลุดพ้นเป็นพระอรหันต์แล้วก็มีลักษณะที่ไม่เศร้าหมองอีกต่อไป ถือว่าเป็นประภัสสรตายตัวก็ได้ แต่คำว่าประภัสสรนี่ตามความหมายของเขาโดยแท้นั้นคือ มันยังกลับเศร้าหมองได้ นี่เราจะอบรมนี้จนกลับเศร้าหมองไม่ได้ ก็มันก็เลยกลายเป็นจิตหลุดพ้นไป เขาไม่ได้เรียกว่าจิตประภัสสร จิตของชั้นพระอรหันต์ไม่เรียกว่าจิตประภัสสร แต่เดี๋ยวนี้เราจะพูดโดยลัดอีกก็เราก็พูดได้ว่าประภัสสรที่ตายตัวก็ได้เหมือนกัน
นักศึกษา : เรื่องนิกายเซนกับประภัสสรตายตัว เสียงไม่ชัด (นาทีที่ 1:08:55-1:09:01)
ท่านพุทธทาสภิกขุ : นี่มันเป็นเรื่องของนิกายเซน จะเกณฑ์ให้ตอบแทนพวกเซนอย่างนั้นเหรอ มันก็เป็นการถูกเกณฑ์ให้ตอบแทนคนอื่น ก็ได้เหมือนกัน ก็เข้าใจว่าเขาหมายถึงจิตประภัสสร แล้วก็อบรมตามวิธีของเซนจนเป็นประภัสสรตายตัว กลับไปเศร้าหมองอีกไม่ได้ ก็มันจะเรียกว่าวิมุติ แต่เขาไม่เรียกว่าวิมุตินี่ เขาเรียกให้มันง่ายเข้าว่า ให้มันเดิมอย่างตายตัวก็แล้วกัน เมื่อก่อนนี้มันเดี๋ยวเดิม เดี๋ยวไม่เดิม เดี๋ยวเดิม เดี๋ยวไม่เดิม วิธีอย่างเซนก็ทำ ทำ ทำ ทำไปจนมันเดิม ตายตัวก็แล้วกัน ก็เป็นความหมายเดียวกันกับประภัสสรที่ตายตัว เดี๋ยวนี้เราจะพูดว่าว่าง จิตที่ว่างตายตัวไปเลย ไม่ใช่ว่างๆวุ่นๆ ว่างๆวุ่นๆอย่างคนธรรมดา เอ้า มีอะไรอีก
นักศึกษา : เรื่องอนาคตังสญาณ เสียงไม่ชัด(นาทีที่ 1:10:08-1:10:37)
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คำว่า “อนาคตังสญาณ” คือว่ารู้อนาคต ญาณ รู้อนาคต อะ-นา-คะ-ตะ-อัง-สะ-ญาณ รู้ส่วนซึ่งเป็นอนาคต ถ้าพูดอย่างภาษาธรรมะแท้มันก็อย่างหนึ่ง ภาษาชาวบ้านก็อย่างหนึ่ง พูดภาษาชาวบ้านรู้อนาคตและทำนายทายทักสิ่งที่มันจะเกิดขึ้น อย่างนั้นอย่างนี้คล้ายๆกับตาทิพย์ เป็นเรื่องโลกๆไปนั้นนะ ทำนายเหตุการณ์ในโลกได้ แต่ถ้าเป็นความหมายทางธรรมะแท้ๆเขาไม่ได้มุ่งหมายอย่างนั้น มุ่งหมายว่าแม้อนาคตมันก็อย่างเดียวกัน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอย่างเดียวกัน ขึ้นชื่อว่าสังขารแม้ในอนาคตมันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอย่างเดียวกับที่นี่ เวลานี้หรือที่แล้วมา มันจึงแน่ใจลงไปว่าไม่มีอะไรที่ควรยึดถือ ไม่ต้องเป็นห่วงว่าในอนาคตมันจะเป็นของดี ของเที่ยงขึ้นมาได้ อย่างนี้เป็นอนาคตังสญาณแท้ตามแบบธรรมะ ส่วนแบบเห็นอนาคตก็ทำนายเหตุการณ์อะไรนั้นมันก็เป็นเรื่องนอกธรรมะ
นักศึกษา : เสียงไม่ชัดนาทีที่ 1:12:00-1:12:16
ท่านพุทธทาสภิกขุ : มันไม่มีความหมายอย่างนั้น อนาคตังสญาณที่เป็นธรรมะแท้ อนาคตังสญาณอย่างความหมายไม่ใช่ธรรมะ ไม่ใช่ธรรมะแท้ เป็นเรื่องโลกๆ อย่างเดียวกับว่าเราเรียนประวัติศาสตร์ให้มากเข้า เราพอจะคาดคะเนเหตุการณ์ในอนาคตอย่างนี้ก็เรียกอนาคตังสญาณเหมือนกัน ทำนายได้มาก มีส่วนถูกมาก ทีนี้ถ้าว่าทีหนึ่งสูงขึ้นไปมันก็อบรมจิต อบรมจิตให้พอที่จะคาดคะเน หรือมองอะไรได้มากไปกว่านั้นอีก ก็ดีไปกว่านั้นอีก แต่ก็ไม่ดับทุกข์หรอก อนาคตังสญาณแบบนั้นไม่ดับทุกข์ อนาคตังสญาณที่จะดับทุกข์มันก็ต้องเห็นนี่ว่าสังขารเป็นอย่างนี้ ปรุงแต่งเท่านั้น ไม่มีตัวตน อดีตก็ดี ปัจจุบันก็ดี อนาคตก็ดี ก็เลยหมดห่วง ไม่หวังว่าที่ส่วนไหนมันจะเป็นตัวตนที่จะยึดถือได้ อย่างนี้เป็นธรรมะแท้ ก็มีตั้งหลายระดับนะ อนาคตังสญาณนี่หลายระดับ อย่างที่เราจะทำกันง่ายๆ เรียนประวัติศาสตร์นี่ก็เพื่อรู้อนาคต ก็อนาคตังสญาณแบบหนึ่งแล้ว แบบที่เขาจะใช้อำนาจจิตมองเหตุการณ์อนาคตมันก็อีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าธรรมะแท้ก็จะแน่ มองเห็นแน่ลงไปว่ามันจะต้องเป็นอย่างนี้เอง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาในกาลอันยืดยาวออกไปในอนาคต ก็เลยไม่หวังว่าจะไปรอเอาอะไรที่จะเที่ยงแท้ หรือเป็นอัตตา ก็ปัดทิ้งไปหมดสำหรับที่จะไม่ยึดถือ อนาคตังสญาณแบบนี้เป็นแบบธรรมะที่มีประโยชน์อย่างธรรมะ
นักศึกษา : อนุโมทนาส่วนบุญของผู้อื่น เสียงไม่ชัด (นาทีที่ 1:14:30-1:14:49)
ท่านพุทธทาสภิกขุ : อนุโมทนาส่วนบุญของผู้อื่น ใช่ไหม อนุโมทนาส่วนบุญของผู้อื่น นั่นมันก็เนื่องกันแหละ เนื่องไปด้วยเมตตา มันเป็นรูปมุทิตา เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ๔ คำนั้น ถ้าอนุโมทนาส่วนบุญแล้วมันก็มีลักษณะเป็นมุทิตา แต่ก็ไม่พ้นจากที่จะต้องมีเมตตารวมอยู่ด้วย ถ้าไม่มีความเมตตาคือความเป็นมิตรแล้วมันก็ไม่อยากจะมุทิตาคือ ยินดีด้วย ความหมายของการอนุโมทนานี่มันเป็นมุทิตา ก็เป็นเรื่องของการไม่เห็นแก่ตัวเองเหมือนกันแหละ ถ้าเราเห็นแก่ตัวเองแล้วเราก็ไม่อยากจะยินดีด้วยผู้อื่น ไม่มีมุทิตา ถ้าจะเอาอย่างศีลธรรมมันก็มีเมตตา ยินดีด้วยผู้อื่น ให้มันมีแต่ความเป็นมิตรในโลกนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องศีลธรรมคือพูดกันอย่างมีตัวตน เรามีตัวตนเป็นเพื่อน เป็นเรา เป็นอะไรต่างๆ เป็นเพื่อนสัตว์มีชีวิตด้วยกัน ก็ตั้งจิตชนิดที่เรียกว่าหวังดีต่อกัน หวังดีต่อกันเรื่อยไป มันมีเมตตาเจืออยู่บ้าง มันจึงจะมุทิตาไปได้ ฉะนั้นถ้ามีเมตตาเป็นพื้นฐานแล้วก็จะพอ ดูจะพอให้คิดไป ให้รู้สึกไปในทำนองว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น นั่นบทสรุปอยู่ที่นั่น ช่วยจำกันไว้ทุกคน ถ้าอยากจะมีธรรมะให้ง่าย ก็ถือหลักว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น สร้างรากฐานอันนี้ลงในใจแล้วจะมีธรรมะขึ้นมาพรั่งพรูทีเดียว จะรักผู้อื่น จะยินดีผู้อื่น จะไม่เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง จะไม่อะไรหลายๆอย่างแหละ ซึ่งเป็นธรรมะทั้งนั้น ฉะนั้นทุกๆวัน ทุกๆคืนนึกถึงข้อนี้ไว้สักครั้งหนึ่งเป็นอย่างน้อย สัตว์ทั้งหลายคือที่มีชีวิตทั้งหลาย สัตว์เดรัจฉานด้วยก็ได้ ต้นไม้ด้วยก็ได้ บรรดาที่มันมีชีวิตมันก็เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น แล้วมันจะค่อยๆมีธรรมะงอกงามขึ้นบนนั้น จะไม่เห็นแก่ตัว จะค่อยๆมีจิตใจกว้างขวาง จะเมตตากรุณาจนกระทั่งว่าเราก็จะต้องหลุดพ้นไปด้วยกัน หลุดพ้นจากความทุกข์ไปด้วยกัน เอ้า มีปัญหาอะไรอีก
นักศึกษา : อาจารย์ครับ ตอนที่ภาวนาอยู่ เสียงไม่ชัด (นาทีที่ 1:18:10-1:18:49)
ท่านพุทธทาสภิกขุ : นี่เป็นปัญหาเรื่องทำสมาธิแล้ว เป็นปัญหาเรื่องการทำสมาธิ ทำไม่สำเร็จ มีอะไรแทรกแซง มันก็ต้องให้มันแน่ลงไปว่าเรากำลังทำอย่างไหน ทำอยู่ในขั้นไหน ถ้ากำหนดลมหายใจก็กำหนดให้มันแรงเข้า แรงเข้า แรงเข้าจนให้มันกลบอันอื่นหมด ถ้าเราจะภาวนา ภาวนาด้วยเสียง ภาวนาก็ภาวนาให้มันแรงขึ้น แรงขึ้นให้มันกลบสิ่งอื่นหมด อย่าเอาไปรวมกันมันยุ่ง ถ้ากำหนดลมหายใจก็กำหนดเสียงซู่ซ่า ซู่ซ่านั้นก็แล้วกัน มันจะกันเสียงอื่น กันอันอื่นได้ พอชินเข้า แม้จะหายใจไม่มีเสียง มันก็ยังกำหนดได้เรื่องเข้าเรื่องออก เรื่องเข้าเรื่องออกที่ประณีต ประณีต ประณีต ประณีต ไปทำแบบนั้น ไปแยกกัน อย่าให้มันมาปนกัน นี่จะกำหนดลมหายใจก็จะกำหนด จะภาวนาปากก็จะว่านั่นมันยุ่ง มันยุ่ง ให้แยกกันเสีย เธอกำหนดแต่การทำภาวนาก็ได้ เช่นว่าพุทโธ พุทโธ เข้าออก เข้าออก พุทโธ ถ้าจะไม่พุทโธก็เข้าออก เข้าออก เข้าออก อย่างนี้ง่ายกว่า ไอ้พุทโธ พุทโธ เดี๋ยวก็ต้องทิ้ง ทิ้งเหลือแต่เข้าออก เข้าออก เข้าออก แล้วก็ประณีตเข้า ประณีตเข้า ประณีตเข้า นี่เป็นเรื่องทำสมาธิล้วน มันต้องมีปัญหากันเมื่อทำแล้วก็แก้กันเมื่อทำ ปัญหาทางวิชาทางทฤษฎีมีอะไรอีก มีปัญหายังไงอีก อีก ๓ นาทีหมดเวลา
นักศึกษา : เสียงไม่ชัด นาทีที่ 1.20:54-1:21:11
ท่านพุทธทาสภิกขุ : แล้วเราสบายหรือเปล่า เราสบายหรือเปล่า ถ้าเราสบายก็พอแล้ว รักษาความรู้สึกที่สบายไว้ก็แล้วกัน เรื่องเห็นอย่างไร รู้สึกอย่างไรนั้นมันไม่แน่ มันเปลี่ยนได้ มันเกิดขึ้นได้ เห็นต่างๆกันได้ เห็นภาพเห็นเพิบอะไรได้ แต่ถ้าเราสบายอยู่ด้วยการเห็นอะไร รู้สึกอะไร เราก็รักษานั้นไว้ เราก็สบายก็แล้วกัน มันก็ค่อยเป็นไปเอง ดีขึ้น ดีขึ้น แล้วค่อยรู้มันเองว่าให้มันประณีตเข้า ระงับเข้า ระงับเข้า การเห็นก็ไม่รบกวน ก็เหลือแต่จิตใจที่สบายก็ได้ เอาละพอดีเวลา ๙ แล้ว พรุ่งนี้มาอีกนะ วันนี้เป็นการเริ่มต้น