แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในการทำบุญล้ออายุทั้งหลาย อาตมาจะได้แสดงธรรมในตอนเช้านี้โดยหัวข้อว่า ยํ สจฺจํ ตํ อมุสา ซึ่งมีใจความว่าสิ่งใดจริง สิ่งนั้นก็ไม่มุสา คือไม่เท็จ กว่าจะสมควรแก่เวลาในตอนเช้านี้
ก่อนแต่จะแสดงข้อความแห่งบาลีนั้น จะขอปรารภเรื่องส่วนตัว เนื่องในการกระทำในวันนี้กันบ้างก่อน เรื่องล้ออายุนี้ จะเรียกว่าเป็นการทำบุญก็ได้ ที่จริงมันก็จะเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นจะต้องทำบุญสำหรับการล้ออายุ แต่เนื่องจากจะให้มันเป็นคู่กันกับการทำบุญชนิดหนึ่งซึ่งเขาเรียกว่าทำบุญต่ออายุ นั้นก็เป็นการทำบุญ เดี๋ยวนี้เป็นการล้ออายุ จะเรียกอะไรก็ยาก ก็เลยต้องเรียกว่าทำบุญอีกชนิดหนึ่ง แล้วก็เป็นเรื่องส่วนตัวของอาตมา ข้อที่ท่านทั้งหลายพลอยมีความสนใจด้วยนี้ ก็ขออนุโมทนาหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าก็ขอขอบคุณที่อุตส่าห์มาด้วยความลำบากและความเสียสละเป็นพิเศษบางประการ เกี่ยวกับการล้ออายุนี้โดยส่วนตัวแล้วก็คือดูเรื่องต่างๆ ที่ได้เกิดขึ้นแก่ตนตลอดเวลาที่ผ่านมา ๑ ปีเต็มนี้ว่ามันมีอะไรบ้าง ดูแล้วมันก็ไม่เห็นน่าสนุกหรือน่าพอใจอะไร ในส่วนที่เกี่ยวกับสังขารร่างกาย ยิ่งดูไปก็ยิ่งเห็นว่ามันเป็นเรื่องน่าล้อน่าหัวเราะเยาะมากกว่า ถึงแม้ท่านทั้งหลายก็เหมือนกัน ที่เป็นผู้สูงอายุแล้วยิ่งเห็นได้ชัด ขอได้พิจารณาดูสิ่งต่างๆ ที่ได้เกิดขึ้นแก่ตนตลอดเวลา ๑ ปีที่ผ่านมานี้ มันมีอะไรที่น่าสนุก ดูแล้วมันน่าหัวเราะที่ว่าเรื่องความทุกข์มันก็น่าหัวเราะ แต่คนเขาก็ไม่ค่อยจะหัวเราะ เขาไปร้องไห้กันเสีย เรื่องความสุขนี้มันก็เป็นเรื่องเล่นๆ เรื่องหลอกๆ คนแก่ๆ ย่อมจะเข้าใจได้ดีว่าเรื่องความสุขนี้เป็นเรื่องหลอกๆ อย่างไร เด็กๆ รู้ได้ยาก โดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาวก็ยังไม่รู้ว่าเรื่องความสุขนี้มันเป็นเรื่องหลอกๆ เพราะฉะนั้นเรื่องความสุขนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าล้ออย่างเดียวกันอีก หรือจะดูกันในแง่อื่น เช่นความเจ็บไข้ มันก็น่าล้อ ถ้าล้อแล้วบางทีมันจะหายไป แต่คนโดยมากก็ล้อไม่ได้ ก็เป็นทุกข์ก็เสียใจ ขออภัยที่จะต้องใช้คำว่าเพราะความโง่ มันจึงล้อความเจ็บไข้ไม่ได้ ทีนี้ความสบาย ไม่เจ็บ ไม่ไข้ มันก็เป็นเรื่องหลอกๆ หรือน่าล้อ แต่ก็เห็นเป็นอย่างอื่น น่าสนุกสนานกันไปเสีย การได้การเสีย การแพ้การชนะอะไรต่างๆ ที่ผ่านไปปีหนึ่งนี้มันก็เหมือนกัน ฉะนั้นคนโง่ทั้งหลายก็มัวแต่ฟูๆ แฟบๆ เดี๋ยวกระโดดขึ้นไปบ้าง นั่งทรุดลงไปบ้าง ขึ้นๆ ลงๆ อย่างนี้ ที่มากหน่อยก็ยกหูชูหาง ด้วยการพูดจาที่นั่นที่นี่ การกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ก็มี ที่ทำไม่เป็นหรือว่ามันตรงกันข้าม ก็ไปสยบซบเซาอยู่ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งหรือว่าในครอบครัวของตนหาความสุขไม่ได้ นี่เป็นตัวอย่างที่ขอให้สังเกต จะได้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าอายุๆ นี้ได้ดียิ่งขึ้น พอที่จะรู้ว่าเป็นอะไร แล้วก็จะรู้ได้ต่อไปว่าควรล้อเล่นหรือควรหลงใหลบูชา พวกที่อยากต่ออายุนี่ ก็คงจะคิดมากเกินธรรมดาไปก็ได้ คือไม่อยากตาย เพราะว่าเขาคงจะพอใจอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งมากจนถึงกับไม่อยากตาย ซึ่งมันก็เป็นไปไม่ได้ การตายมันเป็นเรื่องของสังขารล้วนๆ มันก็ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของสังขาร ทีนี้ส่วนเรื่องจิตใจของคนบางคนนั้น เขายังหวังอะไรอยู่มากและยังพอใจอะไรอยู่มาก มันก็เลยไม่อยากตาย ก็อยากจะต่ออายุไว้ นี้ก็เรียกว่ามันไปทางหนึ่ง อีกทางหนึ่งนั้นถ้ามันตรงกันข้าม มันก็คงจะอยากตาย คือว่ามีความโง่ความหลงอีกชนิดหนึ่งทำให้คนอยากตาย ไม่อยากต่ออายุ ไม่อยากอะไร จนถึงกับกินยาพิษฆ่าตัวตายอะไรเสียก็มี นี้ก็เรียกว่ามันสุดโต่งไปอีกฝ่ายหนึ่ง ตรงกันข้ามกับคนไม่อยากตาย เขาคงจะทำลายอายุ ทีนี้อีกพวกหนึ่งที่ว่าอยู่ตรงกลางมากกว่า นี่ก็อยากจะดูอายุไปพลาง แล้วก็ออกความคิดความเห็นไปพลาง นี่มันจะมาในรูปของการที่เรียกว่าล้ออายุ ถ้าทำได้จริงก็น่าจะสนุกไม่มีความทุกข์นั้นแน่นอน เพราะว่าความทุกข์เกิดขึ้นก็ล้อได้ ความสุขเกิดขึ้นก็ล้อได้ คือไม่เอามันทั้ง ๒ อย่าง นี่ดูจะเข้าทีอยู่ ฉะนั้นขอให้ทุกคนเข้าใจความหมายของคำว่าล้ออายุที่อาตมากำลังกล่าวอยู่ในเวลานี้ และขอให้ระลึกนึกถึงคราวก่อนๆ ที่เคยได้ยินได้ฟังตั้งแต่ปีก่อนๆ หรือที่ไม่ได้ยินได้ฟังก็อาจจะอ่านเอาจากหนังสือได้ ว่าเราได้ล้ออายุกันอย่างไรในแง่ไหน มันก็มีต่างๆ กัน ชี้ให้เห็นในแง่นั้นแง่นี้ เพราะว่ามันมีมากแง่ในการที่จะเอาอายุมาพิจารณาดู แล้วก็กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้มันเหมาะสมกัน
วันนี้ก็มีการล้ออายุโดยทำนองนั้น แต่จะพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ ในส่วนตัวก็มี จะต้องหยิบขึ้นมาดูแล้วก็นึกสนุกไปเลย ในที่สุดมันก็สังเวชความที่เป็นมาตั้งหลายสิบปีนี้ ทีนี้ส่วนรวมหรือของสังคมหรือของคนทั้งโลกก็เอามาดูเล่นในวันนี้ด้วยเหมือนกัน เพราะว่าที่แท้มันก็คล้ายๆ กันหรือที่จริงกว่านั้นก็คือมันเนื่องกันอยู่ นั้นก็ควรจะดูด้วย อย่างว่าเราอยู่ในโลกคนเดียวไม่ได้ มันก็ต้องดูให้มันกว้างออกไปถึงเพื่อนที่อยู่ร่วมโลกกันด้วย ถ้ามีอะไรก็เอามาพิจารณาดู ก็จะพบแต่เรื่องที่น่าหัวเราะ จะไปล้อก็ดูว่ามันจะมากไป แต่มันก็ไม่มีอย่างอื่นอีกนั่นแหละ มันก็ความหมายเดียวกัน ไปล้อเขาไม่ได้ก็เอามาล้อตัวเองเล่นรวมกันอยู่ในพวกที่เรียกว่าเป็นการล้อตัวเอง อย่างน้อยมันก็มีอยู่แง่หนึ่งมุมหนึ่งที่จะล้อได้ คือดูตัวเองว่ามัน แหม, มันเกิดมานี่มันโชคดีหรืออะไรก็ตามใจ ที่มันได้เห็นอย่างนี้ ได้มาประสบอย่างนี้ในบรรดาสิ่งที่มีอยู่ในโลก มันก็กลายเป็นล้ออายุได้ในความหมายหนึ่ง ฉะนั้นคำว่าล้ออายุนี้มันก็เลยขยายขอบเขตออกไปถึงดูกันทั้งโลก แล้วก็ล้อกันทั้งโลกก็ยังได้ แคบเข้ามาหน่อยก็ในสังคมพวกพุทธบริษัทเรา มันก็มีอะไรที่น่าดูน่าล้อ โดยเฉพาะพวกที่กำลังยกหูชูหางหรือว่าเต้นแร้งเต้นกาหรือว่าพูดพล่ามทำเพลงไปตามแบบของคนที่ยังไม่เห็นความจริง
ความจริงนี้เป็นของแปลก ถ้าเห็นแล้วจะพูดไม่ออก ทำไมพูดไม่ออก เพราะว่ามันมีลักษณะอาการเกินกว่าที่จะระบายได้ด้วยคำพูด ถ้ามันยังเป็นความจริงที่พูดได้แล้วก็ยังไม่ใช่จริงแท้หรือว่าจริงที่สุดหรือจริงตลอดไป มันเป็นเพียงจริงส่วนหนึ่งที่จะเอามาพูดได้ ส่วนที่เอามาพูดไม่ได้มันมีอีกมาก เช่น คำสอนของพระพุทธองค์ก็เป็นความจริง ส่วนที่เอามาพูดได้มันก็เป็นเรื่องที่พูดได้ ส่วนความจริงที่เป็นการบรรลุมรรคผลโดยตรง ปรากฏอยู่แก่จิตใจของบุคคลคนนั้นโดยเฉพาะนี้ มันเอามาพูดไม่ได้ ฉะนั้นมันจึงจริงกว่าหรือจริงที่สุด แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าพระธรรม หรือธรรมะ ที่เอามาพูดพล่ามอย่างเต้นแร้งเต้นกาอยู่ที่นั่นที่นี่นั้นน่ะ ความจริงแค่หางอึ่ง มันเป็นความจริงที่เอามาพูดได้ ยังไม่จริงแท้ ยังไม่จริงตลอดอนันตกาล คนโง่มันมีน้ำลายอัดไว้มากมันทนไม่ได้มันก็ต้องพูด อาตมาก็เคยเป็น นึกเมื่อไหร่ก็ละอาย แล้วก็เอามาล้อ มันก็ซาไปๆ ก็ต้องเอามาล้อกันต่อไป ธรรมะ ที่เอามาพูดได้นั้นน่ะมันยังไม่ใช่ธรรมะสูงสุดหรอก ไม่ใช่ธรรมะที่แท้จริงถึงที่สุด คนมีปัญญาพูดกันอย่างนี้ทั้งนั้น แม้ที่สุดแต่ เล่าจื้อ ก็พูดประโยคแรกของคัมภีร์เต๋าเต๊กเก็ง ในข้อนี้ว่าเต๋าที่เอามาบรรยายด้วยคำพูดได้นั้นไม่ใช่เต๋าที่แท้จริงหรือตลอดกาล ธรรมะก็อย่างเดียวกัน หรือจะดูไปอีกทีหนึ่งในรูปของบุคคลาธิษฐานคือพระเจ้า พระเจ้าที่แท้จริงนั้นอยู่นอกวิสัยที่ปากหรือลิ้นจะพูดบรรยายได้ พระเจ้าที่เอามาพูดบรรยายได้นี้ เป็นพระเจ้าของคนโง่ที่เห็นพระเจ้าเพียงเท่านั้นแล้วก็เอามาพูด ถ้าใครมีปัญญาเห็นพระเจ้าจริงแล้วคงจะหุบปากเงียบ มันไม่รู้จะพูดว่าอย่างไร นี่เราดูธรรมะที่แท้จริงกันให้ถึงขนาดนี้ แล้วจะรู้สึกว่าพูดไม่ได้ ถ้ามาพูดได้อยู่มันก็น่าสงสาร ฉะนั้นควรจะเอามาล้อกันในโอกาสนี้ด้วยเหมือนกัน ตามหัวข้อที่ได้ยกไว้ข้างต้นว่า ยํ สจฺจํ สิ่งใดจริง ตํ อมุสา สิ่งนั้นไม่เท็จ หมายถึงสัจจะชนิดที่มันเปลี่ยนไม่ได้ ถูกต้องถึงที่สุด เช่น กฎของธรรมชาติ ของธรรมชาติเองที่ไม่ใช่มนุษย์สร้างขึ้น หรือไม่ใช่ที่มนุษย์พูดได้ บังคับได้ ที่มนุษย์เอามาพูดได้ก็ไม่หมด ไม่จริงถึงกับว่าไม่เป็นมุสา มันยังมีผิดมีพลาด เป็นเท็จโดยไม่รู้สึกตัวอยู่ในการพูดจาของมนุษย์ผู้อ้างตัวเองว่าเขารู้ความจริง ที่พูดมาทั้งหมดนี้ไม่ได้ระบุบุคคลหรือระบุอะไรที่ไหน แต่ระบุความจริงที่เป็นของจริงตลอดอนันตกาลหรือว่าสากลทั่วไปหมดในที่ทุกสิ่งทุกแห่ง เป็นความจริง ผู้ใดรู้ความจริงย่อมกระเทือนตลอดสากลจักรวาล ดังข้อความบุคคลาธิษฐานว่าเมื่อพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ แล้วก็มีการหวั่นไหวตลอดหมื่นโลกธาตุ หมื่นจักรวาลมันก็หวั่นไหวไปหมด เพราะมันมีความจริงอยู่เพียงอย่างเดียวอันเดียวข้อหนึ่งเท่านั้น ถ้าไปตรัสรู้ความจริงข้อนั้นเข้า มันกระทบไปหมดทั่วสากลจักรวาลหมื่นโลกธาตุ มันก็ควรจะพูดได้ทันทีว่าพอตรัสรู้ก็มีแผ่นดินไหวทั่วหมื่นโลกธาตุ ยังมีอะไรอีกมากที่ไม่จำเป็นจะต้องเอามาพูด พูดนี้ก็เพียงแต่บอกให้รู้ว่าสัจจะที่จริงน่ะ มันจริงแท้ มันจริงอย่างตลอดอนันตกาลด้วย ตลอดพื้นที่ทั้งหมด อนันตเทศหรือออกไปนอกเทศะ นอกกาละไปเสียอีก ฉะนั้นเราอย่าเพิ่งประมาทเลย ดูตัวเองในข้อนี้แล้วก็คงจะมีส่วนที่จะล้อตัวเองกันได้ทุกคน เพราะว่ายังหลงอยู่ หรือว่าอย่างน้อยที่สุดก็ได้เคยหลงมาแล้ว ที่เคยหลงมาแล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ไม่ใช่เรื่องเบา เอามาล้อได้ไม่มีที่สิ้นสุด
สรุปความว่าเอาความโง่ ความหลง หลงอย่างไม่รู้เท่าถึงการณ์นั้นน่ะมาล้อกันในวันเช่นวันนี้ ที่จะมาทำบุญล้ออายุร่วมกันกับอาตมาก็คือทำอย่างนี้ ทีนี้ข้อที่ว่าจะล้ออย่างไรนั้น แสดงอาการออกมาอย่างไรนั้น มันก็มีหลายอย่าง เช่น วันนี้ให้ของขวัญกันโดยไม่ต้องรับประทานอาหารตลอด ๒๔ ชั่วโมง นี้ก็เป็นอาการอันหนึ่งแห่งการล้อ เรื่องอดอาหารนี้มีเรื่องที่จะต้องพูดอีก แม้จะเคยพูดแล้วก็ยังต้องพูดอีก เพราะว่ายังเข้าใจไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ บางคนอาจจะมองไปในแง่ของการประชดประชัน บางแง่ บางคนก็จะมองไปในแง่ของการแกล้งทำอะไรให้มันขบขัน แปลกๆ อุตริวิตถารไปก็มี ที่จริงก็ไม่ได้ต้องการอย่างนั้น การที่จะอดอาหารเสียสักวันหนึ่ง โดยส่วนใหญ่ก็เพื่อให้เป็นการศึกษา คนตะกละ คนขี้กิน คนเห็นแก่กิน มันก็ร้องตะโกนว่าอัตตกิลมถานุโยค เว้ย นี่คนบ้า อดอาหารวันเดียวจัดเป็นอัตตกิลมถานุโยค มันเป็นคนบ้า มันเป็นการศึกษา เป็นชนวนให้คิดให้นึกได้ต่างๆ นานา มองกันได้หลายแง่หลายมุม ปีก่อนเคยพูดให้มองในแง่เศรษฐกิจว่า ถ้าทุกคนทั่วประเทศไทย ๔๐ กว่าล้านคนนี้หยุดกินอาหารกันเสียวันหนึ่ง ก็ประหยัดเงินได้ไม่รู้กี่ร้อยล้านหรือกี่พันล้านบาททั่วทั้งประเทศ เงินนี้ก็พอที่จะพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองได้มากมายกว่างบประมาณที่รัฐบาลเขาตั้งไว้ประจำปีเสียอีก ก็เอาไปกินเอาไปถ่ายเป็นอุจจาระ เพราะว่ามันกลัวตายไม่กล้าอดหรือมันไม่รู้ ไม่อาจจะทำให้รู้กันได้พร้อมๆ กันทั้งบ้านทั้งเมืองได้ นั้นมันมองในแง่เศรษฐกิจ นี้ยังน่าหัวเราะ เดี๋ยวนี้จะมองกันในแง่ของการศึกษา ในด้านร่างกายก็ดี ในด้านจิตใจก็ดี มันเป็นการศึกษา ในด้านร่างกายไม่กินอาหารวันหนึ่งนี่ ทำให้สบายในบางอย่าง ทำให้เข้มแข็งในบางอย่าง ทำให้ไม่โง่หรือไม่หลงไม่เลวกว่าสัตว์เดียรัจฉาน สัตว์เดียรัจฉานบางชนิดมันไม่กินอาหาร ๑ วัน ๒ วัน ๓ วันก็มี เมื่อมันมีเหตุผลที่มันจะไม่กิน มันกลับสบายกว่า มันรักษาด้วยการกระทำให้ถูกต้องในการกินอาหารคือควรกินก็กิน ไม่ควรกินก็ไม่กิน เพราะฉะนั้นมันจึงเจ็บไข้ได้ป่วยน้อย ไม่ต้องตั้งโรงพยาบาลมากมายเหมือนในหมู่มนุษย์ มีโรงพยาบาลกันมากมายแล้วก็ยังเจ็บ ก็ยังไม่แก้ปัญหาเจ็บไข้ได้ ก็มันทำผิดในเรื่องปากเรื่องท้องเรื่องกินเป็นต้นนี่เอง สัตว์ เช่นสุนัขและแมวเป็นต้น มันไม่ต้องมีโรงพยาบาล อยู่ได้ตลอดอายุขัย มันทำของมันถูกต้อง บางเวลาให้กินมันก็ไม่กินนะ อาตมารู้ดีเรื่องนี้นะเพราะเลี้ยงสุนัขอยู่ทุกวันนะ บางวันให้กินมันก็ไม่กินเพราะมันรู้สึกว่ามันไม่ควรจะกิน บางเวลามันก็กิน ฉะนั้นเรานี่มีความยึดมั่นว่าต้องกินทุกวัน ไม่กินไม่ได้ ถึงเวลาต้องกิน ไม่กินจะเจ็บจะไข้ มันกลับกันเสียอย่างนั้น ฉะนั้นเราจึงต้องตั้งโรงพยาบาลมากไปทั่วทุกหัวระแหง ซึ่งสัตว์มันไม่ต้องมี นี่นกมันร้องอยู่บนต้นไม้ ก็คิดดูเถิด มันคงจะหัวเราะเยาะพวกเราในเรื่องนี้ก็ได้ มันไม่เคยเจ็บไข้จนกระทั่งตาย น้อยนักน้อยหนาที่สัตว์เหล่านี้จะเจ็บไข้จะยุ่งยากลำบาก เพราะมันมีสัจจะหรือมันเข้าถึงสัจจะที่ไม่เท็จ ไม่เทียม ไม่หลอก ไม่อะไร กินมันก็กิน ไม่กินก็ไม่กิน ไม่ควรจะกินก็ไม่กิน แล้วก็ไม่สร้างอะไรทางจิตใจให้มันหลอกหลอนตัวเองมากเหมือนมนุษย์ ฉะนั้นขอให้ไปสังเกตกันใหม่ว่าการที่ไม่กินอาหารสักวันหนึ่งนั้น ทางร่างกายมันรู้สึกอย่างไรบ้าง แต่ต้องมีจิตใจที่ปกติด้วย อย่าให้อุปาทานมันจูงจมูกจูงอะไรไปให้เข้าใจอย่างนั้นๆ มันต้องกินๆ
ทีนี้ดูกันทางจิตบ้าง ถ้าความรู้สึกทางจิตเปลี่ยนไปมากหรือรุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว มันพอที่จะระงับความหิวหรือความอยากอาหารได้ โกรธใครจัดๆ มันก็กินไม่ลง รักใครจัดๆ มันก็กินไม่ลง ได้ลาภมากๆ มันก็กินไม่ลง พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ วันนั้นก็ไม่ได้พูดถึงอาหาร มันไม่รู้ไม่ชี้ขึ้นมาในเรื่องอาหาร แล้วก็ไม่มีใครไปถวายด้วยก็ได้ แต่ข้อความในพระบาลียังกล่าวมากไปถึงกับว่า ๗ วันหลังจากตรัสรู้ก็ไม่ได้กินอาหาร ในอรรถกถายังกล่าวว่า ๗ วัน ๗ ครั้ง ถึงกับ ๔๙ วันน่ะก็ไม่ได้ฉันอาหาร เนื่องจากอิทธิพลแห่งความซาบซ่านของการตรัสรู้ นี่เรื่องทางจิตใจมีพูดไว้อย่างนี้ ๗ วัน ๗ ครั้ง อาจจะมากไป ๗ วัน ๑ ครั้ง ไม่ได้ฉันอาหารนี่ก็พอเหมาะพอสม เดี๋ยวนี้เราพูดเพียงวันเดียวเท่านั้น ทำไมมันจึงมากมายใหญ่โตนัก ถ้ามีปีติปราโมทย์ในทางธรรมะของตนเองมากพอ มันก็จะไม่ต้องลุกไปกินอาหารให้เสียเวลา เพราะว่านั่งกินปีติปราโมทย์นี้สบายกว่า อร่อยกว่า ซึมซาบสูงสุดกว่า เดี๋ยวนี้ทำไมจึงทำไม่ได้ เพราะมันมีอุปาทานที่มาจากความโง่ความหลงมากจัดเกินไป มันต้องกินๆ จนกระทั่งว่ามันไม่หิวมันก็ต้องกิน สิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องกินมันก็กิน คือพวกคนโง่ทั้งหลายที่กินเหล้าหรือกินอะไรต่างๆ อีกหลายอย่างซึ่งมันไม่ต้องกิน มันก็จะกินให้จนได้ เมื่อถึงเวลามันก็จะกินไปยิ่งกว่าอาหารเสียอีก
ทั้งหมดนี้สรุปความแล้วก็คือว่าเขาไม่สามารถบังคับตัวเอง ไม่สามารถบังคับตัวเองในที่นี้ก็คือไม่สามารถบังคับจิตใจ เขาไม่สามารถบังคับจิตใจก็เพราะว่าเขาไม่รู้เรื่องของจิตใจเอาเสียเลย ฉะนั้นมารู้เรื่องจิตใจกันเสียบ้าง เช่นว่า เกี่ยวกับอาหารนี่มันเป็นอย่างไร เราทำผิดด้วยความโง่หลงจนชินเป็นนิสัยไปแล้วอย่างไร ฉะนั้นถ้าท่านผู้ใดให้ของขวัญแก่อาตมาด้วยการงดเว้นอาหารวันหนึ่งวันนี้ ก็ขอให้ได้รับความรู้ความเข้าใจอันแจ่มกระจ่างในเรื่องนี้ให้เต็มที่และสมบูรณ์ เพราะจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเหลือที่จะกล่าวได้ เพราะว่ามันเป็นจุดตั้งต้นของการที่คนเราจะทำอะไรให้ถูกต้องตามสัจจะของธรรมชาติ ซึ่งจะเรียกว่าธรรมสัจจะ เป็นสัจจะ เป็นตัวจริงแท้จริงของธรรมะคือธรรมชาติ เพราะฉะนั้นขอให้เข้าใจไว้ทุกครั้งที่ได้ยินคำว่าธรรมสัจจะ จากปากของอาตมา ก็ให้เข้าใจว่ามันเป็นตัวสัจจะที่แท้จริงของธรรมชาติ ประเดี๋ยวก็จะได้พูดกันโดยละเอียดถึงเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตั้งใจว่าจะพูดสำหรับวันนี้ เดี๋ยวนี้เราไม่รู้ถึงธรรมสัจจะของธรรมชาติในทุกๆ ประการ แม้แต่เรื่องกินอาหารก็ยังโง่ยังหลงว่าจะต้องกินทุกวัน บางคนจะเป็นเอามากไปถึงกับว่าจะกินวันละกี่กรัม เขาก็จะบังคับให้มันกินเท่านั้นกรัมอยู่ทุกวัน ทั้งที่บางวันมันก็ไม่ต้องกินก็ได้ หรือกินน้อยหน่อยก็ได้ กินมากก็ได้ แล้วแต่ความปรวนแปรแห่งร่างกาย การทำอะไรเป็นระเบียบสม่ำเสมอน่ะ มันดี แต่อย่าลืมว่าสังขารนี้มันเป็นอนิจจัง มันเปลี่ยนได้ตามเหตุตามปัจจัย แม้ในวันหนึ่งๆ หรือในหลายๆ วัน ฉะนั้นจะไปบังคับให้มันกินอาหารเท่ากันทุกวัน นี้มันคงจะประหลาดอยู่เหมือนกัน นี่เราจะต้องรู้สิ่งเหล่านี้ เป็นรากฐานของความจริงที่ว่าทุกอย่างมันมีความเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างจึงมีความเหมาะสมคือถูกต้องเฉพาะเรื่อง เฉพาะเวลา เฉพาะสถานการณ์อะไรต่างๆ เราจะได้เพิกถอนความยึดมั่นถือมั่นว่าต้องอย่างนั้น แล้วก็ต้องเท่านั้นโดยเสมอไปกับสิ่งที่เรียกว่าสังขารอันไม่เที่ยง มันจะเป็นเครื่องปิดบังความรู้เรื่องความไม่เที่ยงมากยิ่งขึ้นไปอีก ก็จะไม่รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างถูกต้องได้ ฉะนั้นขอให้สนใจค่าของการทดลองอดอาหารดูสักวันหนึ่งนี้ก็มีมากเหลือที่จะกล่าวได้ ถ้าไม่เป็นการทดลองแล้วคือพ้นจากการที่จะต้องทดลองแล้ว ก็ยิ่งพบว่าค่านั้นมันจะสูงยิ่งขึ้นไปอีก และยังจะต้องรู้ว่ามันเป็นปฏิกิริยาของอะไรในการที่เราลืมกินอาหาร ก็เป็นปฏิกิริยาของอารมณ์ที่รุนแรงทั้งฝ่ายผิดและฝ่ายถูก ทั้งฝ่ายร้ายและฝ่ายดี อารมณ์ร้ายมากก็กินอาหารไม่ลง อารมณ์ดีสบายเกินไปก็ลืมกินอาหาร อย่างพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วก็ไม่ออกไปบิณฑบาตที่ไหนได้ เพราะมีอะไรมากเหลือเกินที่ทรงเสวยอยู่ทางจิตใจในเวลานั้น เรียกว่าวิมุตติรส หรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียก แต่มันต้องมีค่า มีอิทธิพลมีอะไรมากกว่าอาหารเป็นแน่นอน ฉะนั้นจึงลืมลุกขึ้นไปบิณฑบาตแสวงหาอาหารเป็นต้น นี่มันเป็นปฏิกิริยาที่ออกมาจากความรู้สึกทางจิตใจที่รุนแรงที่ทำให้มีการเว้นอาหารหรืออดอาหาร แต่คนที่ไม่มีอะไรดีขนาดนี้ มันคงทำไม่ได้ แล้วมันตะกละที่จะกินอยู่เรื่อยๆ มันก็ยิ่งไม่มีทางที่จะพบกันเข้ากับความจริงข้อนี้ นี่พูดเรื่องการอดอาหารสักวันหนึ่ง ก็มีความจริงหรือข้อเท็จจริงอะไรหลายอย่างคาบเกี่ยวกันอยู่อย่างนี้ ขอให้สนใจ อาตมาก็ยังขอบใจท่านที่ให้ของขวัญด้วยการอดอาหารวันหนึ่ง ทั้งที่ว่าท่านได้รับประโยชน์อะไร ท่านได้รับประโยชน์อะไรมากมายเหลือที่จะกล่าวได้ แต่ว่าก็ทำเพื่อเห็นแก่อาตมา ก็ยังขอบพระคุณขอบใจขอบอะไรต่างๆ
ทีนี้เรื่องที่จะพูด เป็นเรื่องปรารภอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือว่าเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองที่เอามาเป็นจุดสำหรับล้ออายุในวันนี้ มันก็มีอยู่บ้าง ที่จริงก็ไม่ควรเอามาแฉให้ผู้อื่นทราบแต่มันเป็นเรื่องล้ออายุ ฉะนั้นถ้าจะเอามาเล่าให้ฟังกันบ้างก็คงจะไม่เป็นเรื่องโอ้อวดอะไร คือโอ้อวดว่า ๒ ปีมานี้มันมีความถอยหลังด้วยอำนาจของความชรามากขึ้น ฉะนั้นสิ่งที่จะเอามาอวดก็คือความชรา ทำไมจะต้องอวด เพราะว่ามันปรากฏออกมามากขึ้น ก่อนนี้อาตมาก็โง่ ไม่ค่อยรู้จักความชรา อ่านแต่ตัวหนังสือ พูดถึงความชราไปอย่างเขลาๆ เพิ่งมองเห็นหรือรู้จักความชราตัวจริงเมื่อปีที่แล้วมานี่ เมื่ออายุย่างเข้า ๖๙ ปี ปีนี้ก็คือปีกลายนี้ ก็พอรู้รสของความชราว่าเป็นอย่างไร เดือนธันวาคมต้องไปโรงพยาบาล ปีนี้เดือนธันวาคมก็ต้องไปโรงพยาบาลอีก ไม่ใช่เรื่องอะไร อย่าตกอกตกใจไปนักเลย หรือไม่ต้องกลัวแทนอาตมา มันเป็นเรื่องของความชราของส่วนใดส่วนหนึ่งที่มันจะต้องชราไปก่อนส่วนอื่น แต่ข้อนี้มันไม่เหมือนกันทุกคน เพราะเราทำงานต่างกัน ฉะนั้นการมาแห่งความชรามันจึงต่างกัน แต่มันจะเหมือนกันอยู่สักอย่างหนึ่ง ก็อย่างที่พระพุทธภาษิตได้ตรัสไว้เป็นคำตอบแก่พระอานนท์ที่ว่า ความชราหรือความตายมันนี้มันซ่อนอยู่แล้วในความเกิด เป็นของตรงกันข้ามแต่มันซ่อนอยู่แล้วในนั้น เราไม่เข้าใจ ความหนุ่มมันมีอยู่ แต่ว่าในความหนุ่มนั้นมีความชราซ่อนอยู่ เมื่อยังหนุ่มอยู่ก็ไม่รู้จักความชรา เหมือนที่อาตมาโง่หรือเป็นบ้ามาตั้ง ๖๐ กว่าปีไม่รู้จักความชรา รู้จักแต่ตัวหนังสือก็สอนคนอื่นเรื่องความชรา ก็รู้แต่ตัวหนังสือ สอนแต่ตัวหนังสือ ไม่ได้รู้สึกด้วยใจจริง พอรู้สึกความชราด้วยใจจริง พูดไม่ออก มันบรรยายความชราให้ฟังไม่ได้ มันรู้เฉพาะตนเองมากเกินไป นี่ความชรามันซ่อนอยู่แล้วในความหนุ่ม พอมาถึงเข้า รู้จริงเข้า ก็ เอ้า,พูดไม่ออก ไม่รู้จะบรรยายอย่างไร เหลือวิสัยที่จะบรรยายได้ ความตายก็ซ่อนอยู่แล้วในความเกิด นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอย่างนั้น และความมีโรคก็ซ่อนอยู่แล้วในความไม่มีโรค เมื่อใดปรากฏว่าไม่มีโรคภัยในความรู้สึกของเรา ให้รู้เถิดว่าในนั้นน่ะมีโรคซ่อนอยู่แล้ว ซ่อนมาเสร็จ มันจะออกมาเมื่อไหร่เมื่อใดก็ได้ ๓ ข้อนี้ควรจะสังเกตศึกษาไว้เรื่อยๆ จนจะพบความจริงของมันว่า ความตายซ่อนอยู่แล้วในความเกิด, ความชราซ่อนอยู่แล้วในความหนุ่ม, ความมีโรคหรือเจ็บไข้นั้นมันซ่อนอยู่แล้วในความรู้สึกที่ว่าไม่เจ็บไม่ไข้หรือไม่มีโรค ฉะนั้นอย่าได้อวดดี
แต่โดยส่วนตัว และก็แก่บุคคลบางคนที่มีความเป็นห่วงอาตมา ก็อยากจะบอกเป็นพิเศษว่าไม่ได้มีเรื่องอะไรรุนแรงนัก นอกจากว่าตามที่หมอเขาบอกนี่ ไม่มีอะไรที่ผิดปกติ ตรวจน้ำตาลก็ว่าปกติ ตรวจไขมันในเลือดก็ว่าปกติ ตรวจส่วนใดๆ ต่างๆ ตั้งยี่สิบสามสิบรายการก็ล้วนแต่แสดงออกมาว่าปกติ แม้แต่ความดันโลหิตนี้ก็เรียกว่าปกติ มันสูงขึ้นมาเป็นครั้งคราวโดยไม่ทราบสาเหตุ เขาบันทึกลงไปว่าอย่างนั้น ความดันอาจจะสูงได้เป็นครั้งคราวโดยไม่ทราบสาเหตุ คือยังค้นไม่พบก็ได้ แล้วมันสมองกะโหลกศรีษะซีกซ้ายนั้นน่ะเป็นที่ๆ โลหิตมาเลี้ยงไม่ค่อยจะพอหรือไม่ค่อยจะทัน อาการที่พูดแล้วนิ่งเงียบไปเหมือนกับหลับ เมื่อปี เมื่อเดือนพฤศจิกานั่น คงจะเป็นผลของการที่โลหิตขึ้นมาเลี้ยงส่วนนั้นมันไม่ทัน มันก็หมายความว่ามันได้ชำรุดไปแล้ว และมันยังชำรุดน้อยเกินไปกระมัง มันจึงยังไม่ตาย มันควรจะดีใจว่ามันชำรุดน้อย มันชำรุดน้อยเกินไปจนไม่ต้องตาย ถ้าระมัดระวังกันไว้สักหน่อยมันคงจะไปได้อีกหลายวัน หลายเดือนหลายปีก็ได้เพื่อจะทำประโยชน์ต่อไป ฉะนั้นเขาจึงสอน เขาจึงกำชับน่ะ ไม่ใช่สอนไม่ใช่แนะนำอย่างเดียว หมอกำชับว่าให้พักให้มาก ให้พักให้มาก ดูเอาจริงเอาจังในการกำชับข้อนี้ ให้พักให้มากทั้งทางกายทั้งทางจิต ซึ่งอาตมาก็รับปาก แต่แล้วก็ต้องเหลวไหลแน่ เพราะมันพักไม่ค่อยได้ มันพักไม่ค่อยเป็น มันอดอยู่นิ่งๆ ไม่ค่อยจะได้ ขอให้รับทราบไว้ด้วยว่า ถ้ามันจะต้องแตกดับมันก็เป็นธรรมดาของสังขาร เราก็พยายามอย่างยิ่งที่ว่าจะทำให้ดีที่สุด ให้มีประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นให้มากที่สุด นี่ความชราที่เกิดขึ้นมาที่ปรากฏออกมาเมื่อ ๒ ปีนี้ มันเป็นอย่างนี้ นี่สุขภาพส่วนตนเองมันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นเดี๋ยวนี้ก็คิดอะไรหนักๆ ไม่ได้ มันชวนจะหยุดหรือจะนิ่งไป จะทำอะไรทางกายมากนักก็ไม่ค่อยจะได้ มันเหนื่อยเร็ว มันเหนื่อยง่ายกว่าแต่ก่อน ฉะนั้นจะต้องขอโอกาสขอประทานโทษหรือขออภัยอะไรล่วงหน้าไว้ด้วยว่า ถ้าอาตมาไม่ค่อยจะพูดจาด้วยแล้ว ก็ขอให้เข้าใจว่ามันเป็นเพราะเหตุนี้ อย่าได้โกรธอย่าได้หาว่าเล่นตัว ต่อไปนี้จะพูดด้วยมากๆ อย่างแต่ก่อนนั้นไม่ได้ บางทีก็หลบไปนอนเสีย บางทีลุกขึ้นมาพูดด้วยไม่ได้เพราะความจำเป็นอย่างนี้ ที่เคยขอแรงอะไรกันมากๆ บ่อยๆ นั้น มันก็จะต้องน้อยลง ขอแรงให้ช่วยทำนั่นช่วยทำนี่ แม้ทางความคิดความนึกสติปัญญานี่มันก็น้อยลง จดหมายไม่ได้ตอบนี่ประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ คงถูกด่าแยะ จดหมายไม่ได้ตอบประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ มันควรจะตอบมันก็ไม่ได้ตอบ มันเหนื่อยมันก็เก็บไว้ๆ ว่าจะตอบแล้วมันก็ไม่ได้ตอบ ที่ตอบก็เพราะว่าถูกทวงถูกต่อว่าหรือด่ามาก็มี ว่าควรจะตอบแล้วก็ไม่ตอบ มันเป็นเรื่องที่เขาควรจะได้รับคำตอบโดยยุติธรรม นี้เป็นตัวอย่างที่ว่าต่อไปนี้ก็ขออภัย และก็ช่วยให้อภัยด้วย สังขารร่างกายมันเป็นอย่างนี้ อายุย่างเข้าปีที่ ๗๐ มันก็เป็นมากกว่าปีกลาย นี่จะเอามาล้อให้ฟัง ไม่ใช่ว่ามาแสดงความหวาดกลัว แต่มาบอกให้ทราบว่ามันน่าสนุกอยู่ ถ้ามันเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่แปลกที่เราไม่เคยคิดเคยนึก (นี่ถ้าเอาไปทำที่อื่นได้ก็จะดี ขลุกขลักตรงนี้ทำให้พูดยาก) สรุปความว่าจะต้องขออภัยในการที่ไม่ได้ปฏิบัติอะไรให้ครบถ้วนเต็มที่เหมือนอย่างที่แล้วๆ มาหลายปีก่อนโน้น น่าล้อก็เพราะว่ามันก็ว่ามันไม่น่าจะเป็น เราไม่เคยคิดว่ามันจะเป็น แล้วมันก็เป็น เพราะมันซ่อนอยู่แล้ว ความชราซ่อนอยู่แล้วในความหนุ่ม นี่ปรารภเรื่องส่วนตัวเกี่ยวกับการล้ออายุในวันนี้ก็พอสมควรแล้ว
ทีนี้จะพูดถึงหัวข้อธรรมะที่ต้องการจะพูดในวันนี้ คือสิ่งที่เรียกว่าธรรมสัจจะ การบรรยายหรือการแสดงธรรมตอนเช้าของวันนี้มีหัวข้อเรื่องว่าธรรมสัจจะ สิ่งที่เรียกว่าธรรมสัจจะนี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วไปในทุกหนทุกแห่งตลอดกาลนิรันดร แล้วก็มีซึมแทรกอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง กระทั่งในร่างกายในชีวิตจิตใจของเราทุกคน มันเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งยากที่จะตั้งชื่อให้มัน อาตมาขอบังอาจอวดสามารถหรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียก ที่จะตั้งชื่อให้แก่สิ่งๆ นี้ว่าธรรมสัจจะ แล้วก็จะได้พูดถึงเรื่องธรรมสัจจะกันต่อไป ตัวหนังสือ คำๆ นี้เขาแปลว่าสัจจะแห่งธรรม ฟังแล้วก็น่าหัวเราะที่ว่าเป็นธรรมทั้งทีก็ต้องมีสัจจะอีก เพราะว่าคำว่าธรรมนี้ มันมีความหมายกว้างมากจนครอบคลุมไปทุกสิ่ง แต่แล้วคงจะน่าประหลาดที่ว่าทุกสิ่งมันมีสัจจะคือมีตัวจริงหรือสิ่งความเป็นจริงของมันด้วยกันทั้งนั้น สิ่งที่มันจะมีอยู่ เป็นอยู่ในโลกนี้ในสากลจักรวาลนี้ มันมีสัจจะของมันทั้งนั้น เฉพาะตัวของมันทั้งนั้นไม่ว่าอะไร นับตั้งแต่เม็ดทรายสักเม็ดหนึ่ง ก้อนกรวดสักเม็ดหนึ่งจนถึงใบไม้ ต้นไม้ สัตว์ทั้งหลายกระทั่งคน มันมีสัจจะอย่างหนึ่งในตัวมันทั้งนั้น แล้วถ้ามองกันในหลายแง่หลายมุม มันก็มีหลายสัจจะ คือความเป็นตัวมันเอง มันเป็นสัจจะประจำตัวมันเอง จะเรียกว่ากฎธรรมชาติที่มีอยู่ในสิ่งนั้นก็ถูก เรียกให้น่าสนใจกว่านั้นก็จะเรียกว่าพระเจ้า ในทุกสิ่งนั้นมีพระเจ้าสิงอยู่ คือกฎแห่งสัจจะหรือกฎแห่งธรรมชาติที่มันจะต้องสิงอยู่ทั่วไปหมด แม้ในทรายสักเม็ดหนึ่งในกรวดสักเม็ดหนึ่งมันก็มีสัจจะส่วนหนึ่งๆ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างแล้วแต่มันจะเกี่ยวเนื่องกันในเมื่อมันสัมพันธ์กัน อย่างนี้เรียกว่าสัจจะหรือความจริงหรือตัวแท้แห่งความจริง ทีนี้ธรรมสัจจะหรือสัจจะในธรรม ธรรมในที่นี้หมายถึงธรรมชาติก่อนอื่น ธรรมชาติทั้งหลายมีตัวสัจจะมีตัวความจริงอยู่ในมัน แล้วแต่ว่ามันจะเป็นธรรมชาติชนิดไหนระดับไหน ธรรมชาติประเภทที่เป็นสังขตะ ทั้งหลายก็มีสัจจะไปตามแบบของสังขตะ คือมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย และธรรมชาติที่เป็นอสังขตะ คือรู้ได้ยากเข้าใจได้ยากบรรยายได้ยาก นี้มันก็สัจจะหรือความจริงไปตามแบบของอสังขตะ รวมความแล้วก็ว่าธรรมทั้งหลายที่เป็นสังขตะก็ดี เป็นอสังขตะก็ดี ก็มีสัจจะคือตัวจริงหรือความจริงของมันโดยเด็ดขาด มันไม่เห็นแก่หน้าใคร ถ้าเราจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหรือว่าจะถึงกับจะเอาประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้น มันก็ต้องไปทำให้ถูกต้องกับสัจจะของมัน จึงจะได้รับประโยชน์จากสิ่งนั้นๆ มันจะยิ่งไปกว่าการไปงอนง้อขอลูกสาวเขาหรือว่าขออะไรเขา มันต้องทำให้ถูกใจเขายิ่งไปกว่านั้น คือถูกใจสัจจะที่มันมีอยู่ในธรรมชาติทั้งหลาย แม้ที่สุดแต่เรื่องทางวัตถุ วิทยาศาสตร์ทางวัตถุจะค้นอะไรได้ จะผลิตอะไรขึ้นมาได้ มันก็ต้องถูกต้องตามสัจจะของวัตถุ เดี๋ยวนี้คนสนใจเรื่องนี้มาก เราพบสัจจะทางวัตถุมาก เป็นธรรมสัจจ์ทางวัตถุ ฉะนั้นนักวิทยาศาสตร์ฝ่ายรูปพระธรรมจึงประดิษฐ์อะไรขึ้นมาได้มากมายมหาศาล กระทั่งไปดวงจันทร์ก็ได้ กระทั่งมีคอมพิวเตอร์มันสมองที่คิดแทนมันสมองของคนก็ได้เหล่านี้เป็นต้น นี่ก็เพราะว่าเขาได้เข้าถึงตัวสัจจะของธรรมชาติฝ่ายวัตถุธรรมนั้นๆ แต่ส่วนสัจจะของธรรมชาติฝ่ายนามธรรมนั้นเรียกว่าเข้าถึงได้น้อยเหลือเกิน แม้ว่าจะมีผู้เข้าถึง ถึงที่สุดอย่างพระพุทธเจ้า เราก็ไม่สนใจที่จะติดตามหรือจะศึกษา ทีนี้ถ้าจะพูดรวมอีกทีหนึ่งก็พูดว่า ธรรมสัจจะทั้งอย่างฝ่ายวัตถุและฝ่ายจิตใจนี้ มันยังมีเหลืออยู่อีกมากๆ เหลือที่จะมาก มากกว่าที่ค้นพบมาแล้ว ในฝ่ายจิตใจนั้นก็อยากจะพูดว่าเราไม่ได้กล่าวจ้วงจาบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านพบหรือท่านนำมาสอนนี้มันก็เท่าที่จำเป็น ถ้าที่ไม่จำเป็นท่านก็ไม่สนใจหรือไม่นำมาสอนเพราะมันเกินจำเป็น เพราะปัญหาของเรามีอยู่แต่เรื่องความทุกข์ ถ้ามันดับทุกข์ได้มันก็ควรจะพอกันที รู้ธรรมสัจจะเพียงดับทุกข์ได้มันก็บอกกันทีในส่วนจิตใจ
ทีนี้ส่วนวัตถุส่วนรูปธรรม ที่คนสมัยนี้เขาสนใจกันนัก บูชาเป็นพระเจ้านี้ ก็ต้องให้ทราบกันว่ามันยังมีอีกมากที่ยังไม่ได้ค้น ยังค้นไม่พบ ที่จะค้นพบแล้วมันจะผลิตอะไรได้มากกว่านี้ นี่ก็อย่าได้ไปหลงมันเลย เท่าที่พบ พบแล้วไปโลกพระจันทร์ได้ ทำอะไรได้เหลือประมาณนี้ มันสักหยิบมือเดียวก็ไม่ได้ มันยังมีเหลืออีกมากที่ยังไม่ได้ค้นไม่ได้พบ ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าธรรมสัจจะนี้มีขอบเขตอย่างนี้ ให้รู้จักตัวมันไว้แต่เพียงอย่างนี้ก็พอ จะไปรู้โดยรายละเอียดเข้าถึงหมดน่ะมันทำไม่ได้ แต่เราต้องรู้มันมีสิ่งนี้อยู่ มีสิ่งนี้อยู่อย่างเด็ดขาดอย่างที่ใครไปแตะต้องไม่ได้ ไปคัดง้างมันไม่ได้ ถ้าจะเอาผลกัน จะเอาผลจากสิ่งนั้นๆ กันแล้ว ต้องทำให้ถูกต้องกับธรรมสัจจะของสิ่งนั้นเสมอไป เดี๋ยวนี้เราไม่รู้จักแม้แต่ตัวเอง ก็เพราะไม่รู้จักธรรมสัจจะของสิ่งที่เรียกว่าตัวเอง บางคนไม่ทราบเรื่องนี้ก็คงจะค้านจะแย้งว่าผมรู้จักตัวเอง ข้าพเจ้ารู้จักตัวเอง บอกว่านั้นน่ะยังจะไม่รู้จักด้วยซ้ำไป ถ้าพูดอย่างนั้น ถ้ารู้จักตัวเองแล้วจะไม่พูดอย่างนั้น จะรู้ว่ายังมีอีกมากที่ยังไม่รู้ คนเหล่านี้ยังแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ยังมีความทุกข์เต็มที่ ความทุกข์มีประมาณมาก เพราะไม่รู้ธรรมสัจจะแห่งตัวเองที่จะแก้ปัญหาของตัวเองได้
ทีนี้เกี่ยวกับผู้อื่นมันก็ยังอีกมากและก็ยิ่งลำบากมากขึ้นไปอีก จะต้องรู้ของตัวเอง แก้ไขของตัวเองได้เสียก่อนจึงจะไปจัดการกับผู้อื่นได้ ฉะนั้นคนทุกคนมีธรรมสัจจะเป็นของตนๆ แม้ว่าจะมีหลักการใหญ่ๆ อย่างเดียวกันรายละเอียดปลีกย่อยมันก็ไม่เหมือนกัน เช่นว่า มีความทุกข์เพราะเหตุนี้จะดับทุกข์ได้เพราะเหตุนี้ หลักใหญ่ๆ มันคล้ายกัน แต่รายละเอียดมันไม่เหมือนกัน พูดอย่างสมัยนี้ก็เรียกว่ามันยืนอยู่ในจุดยืนที่ต่างกัน แล้วมันจะไปเข้า เข้าไปหาจุดสุดท้ายปลายทางนั้น มันก็ต้องทำไม่เหมือนกันโดยรายละเอียดนี่ นี่เพราะมีธรรมสัจจะที่ยังอยู่ในลักษณะที่ต่างกันในข้อปลีกย่อย เราจะพูดจะสอนกันได้โดยง่ายก็ในส่วนใหญ่ ธรรมสัจจะแปลว่าสัจจะหรือตัวแท้แห่งธรรมคือธรรมชาติ เราก็เป็นธรรมชาติ ร่างกายของเราก็เป็นธรรมชาติ จิตใจของเราจะเป็นอะไรก็ตามที่เรายังไม่รู้จักนี้มันก็ยังเป็นธรรมชาติ ความเป็นไปของร่างกายและจิตใจก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ฉะนั้นทั้งเนื้อทั้งตัวในฝ่ายรูปธรรมก็ดี นามธรรมก็ดี มันเป็นธรรมชาติ มันมีธรรมสัจจะส่วนหนึ่งๆ ของมันเอง เช่นว่า ธาตุดิน มันก็มีธรรมสัจจะไปตามประสาธาตุดิน ธาตุน้ำก็มีธรรมสัจจะไปตามประสาธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม นี่ก็ไปตามนั้น กระทั่งธาตุตา ธาตุหู ธาตุจมูก ธาตุลิ้น ธาตุกาย ธาตุใจ ธาตุรูป ธาตุเสียง ธาตุกลิ่น ธาตุรส ธาตุโผฏฐัพพะ ธาตุธรรมารมณ์ กระทั่งกามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุที่มันมีอยู่ในตัวคนแต่ละคนนี้ มันก็เป็นอย่างนี้ คือมีสัจจะเป็นตัวแท้แห่งธรรมชาติของมัน ถ้าไม่รู้จริงมันก็แก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ ไม่สามารถจะบังคับ ดิน น้ำ ลม ไฟ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอย่าให้แสดงความทุกข์ออกมาได้ หรือว่าจะบังคับในฝ่ายตัวเองคือจิตใจของตัวเองอย่าให้ไปรับเอาความทุกข์นั้นมา ความจริงนั้นมันประหลาดจนถึงกับว่าต้องบัญญัติความหมายอย่างกำปั้นทุบดิน ยํ สจฺจํ สิ่งใดจริง ตํ อมุสา สิ่งนั้นไม่เท็จ นี้มันยังเฝือเต็มที ยังรางเลือนเต็มที ที่ว่าไม่เท็จน่ะมันคืออย่างไร คือไม่รู้ว่าไม่เท็จคืออย่างไรแล้วมันก็จะรู้จักว่าจริงคืออย่างไรไม่ได้ ความโง่ความหลงนี้ก็เป็นความเท็จอันหนึ่ง เมื่อทุกคนยังมีความโง่ความหลงอยู่ มันก็รู้ความจริงไม่ได้ ฉะนั้นจะต้องเอาความโง่ความหลงนี่ออกไป จึงจะเห็นความจริงซึ่งไม่เท็จได้ สัจจะก็แปลว่าจริงถึงที่สุดจนถึงกับกล่าวได้ว่าไม่เท็จ นี่ สัจจะในความหมายนี้ที่อาตมาเอามาพูดในที่นี่ว่ามันเป็นสัจจะของธรรมชาติเรียกว่า ธรรมสัจจ์
ทีนี้มันก็ยังมี สัจจะเทียมหรือสัจจะหลอก ซึ่งเป็นของคู่กัน ซึ่งเรามีกันเสียแต่สัจจะประเภทนั้นคือสัจจะหลอก สัจจะหลอกนี้ รู้จักมันไม่ได้แล้วหรือรู้จัก เมื่อรู้จักมันอยู่เพียงใดแล้วก็จะเข้าใจว่ามันเป็นสัจจะจริงอยู่เสมอ ทุกคนมีสัจจะหลอกอยู่ในนามของสัจจะจริงเป็นของตนๆ ทุกๆ คน นี่มันเป็นเบื้องต้น มันเป็นธรรมดาอย่างนี้ เขาเข้าใจว่าอะไรจริง เขาจะถือเอาสิ่งนั้นเป็นความจริง เมื่อเขายังโง่อยู่ เขาก็เข้าใจถูกต้องไม่ได้ พอไปเข้าใจอะไรเป็นความจริงเข้ามันก็ไม่ถูกต้อง แต่เขาก็ต้องเอาสิ่งนั้นเป็นความจริงแล้วก็ต้องยืนยัน สัจจะชนิดนี้ไม่ใช่สัจจะ แต่ก็ต้องใช้คำว่าสัจจะ จึงต้องพูดว่าเป็นสัจจะปลอม สัจจะเทียม สัจจะเท็จ เพราะยังมีมุสา ซ่อนอยู่ในนั้น เพราะว่าคนนั้นมันไม่รู้ มันยังเห็นเป็นความจริง มันยืนยันความจริงข้อนั้น นี่ระวังให้ดี มีบทบาลีกล่าวไว้ว่าให้เรียกชื่อสิ่งนี้ว่า สัจจาภินิเวส ไขความออกไปว่า อิทํ สจฺจํ โมฆมญฺญํ สิ่งนี้เท่านั้นจริงสิ่งอื่นไม่จริง เป็นโมฆะ นี้มันคนนั้นมันพูดตามที่มันรู้สึกอย่างนั้น เขามีความจริงของเขาจริงๆ ไม่ใช่เขาจะแกล้งว่า เขารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ เขาเชื่ออย่างนั้นจริงๆ เขาเอาชีวิตเป็นประกันได้จริงๆ ว่าเขาเห็นว่ามันมีความจริงอย่างนั้น ฉะนั้นเขาจึงพูดออกมาว่า นี้จริง อื่นไม่จริง แต่ก็พูดอย่างนี้กันทุกคนหรือหลายคน แล้วมันไม่ตรงกันเลย แล้วใครจะจริง อันไหนเป็นความจริงแท้ของธรรมชาติ มันยังไม่มีในหมู่ความจริงชนิดนั้น ชื่อมันยาวหน่อย ก็ควรจะจำไว้ เขาเรียกว่าสัจจาภินิเวส คือความคิดที่มันฝังเข้าไปในทิฏฐิอันใดอันหนึ่งว่านี้จริง ทุกคนก็มี ฉะนั้นการที่พูดเถียงกันก็ดี พูดข่มขู่ผู้อื่นก็ดี มันทำไปด้วยสัจจาภินิเวสนี้ทั้งนั้น แม้ว่าคนนั้นจะทำไปด้วยความรู้สึกว่าจริง จริง จริง อุตส่าห์ลงทุนลงรอน เผยแผ่ลัทธินั้นลัทธินี้ อุตส่าห์เหน็ดเหนื่อยโฆษณาความจริงอันนั้นอันนี้ มันทำไปด้วยสัจจาภินิเวสทั้งนั้นเลย ไม่ใช่ธรรมสัจจะอย่างที่เรียก มันเป็นธรรมสัจจะที่ปลอมก็ไม่ควรเรียกว่าธรรมสัจจะ อย่างนี้อย่างมากก็เรียกว่าสัจจะเทียม สัจจะปลอม เรียกชื่อให้ถูกต้องเสียก่อนว่าสัจจาภินิเวส จึงขอร้องวิงวอนท่านทั้งหลายว่าช่วยจำคำเพิ่มใหม่ขึ้นมาอีกสัก ๒ คำ คือคำว่า ธรรมสัจจะ หมายถึงตัวจริงตัวแท้แห่งธรรมของธรรมชาติ และ สัจจาภินิเวส คือสัจจะตามที่บุคคลนั้นๆ แต่ละคนเขาคิดว่าเป็นความจริง สัจจะแห่งเอกชนตามความสำคัญว่าเป็นความจริงหมายมั่นในสัจจะอันนั้น นี้เรียกว่าสัจจาภินิเวส ความจริงเฉพาะของคนนั้นหรือเฉพาะในกรณีนั้น และอย่าลืมว่าทุกคนจะมี มีสัจจาภินิเวสอยู่ในตนทั้งนั้น ที่เป็นเหตุให้เชื่อให้ปักดิ่งอะไรลงไป มันก็จะต้องผิดๆ ไปก่อนเป็นธรรมดา จนกว่ามันจะรู้อย่างถูกต้อง แม้ว่าเราจะเชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าด้วยอำนาจความรัก ความพอใจ ความเลื่อมใสในเบื้องต้น มันเป็นสัจจาภินิเวสทั้งนั้น คือยังไม่ได้เข้าถึงความจริง จนกว่าจะได้ไปประพฤติธรรมะ บรรลุธรรมะด้วยใจจริง มันจึงค่อยๆ กลายรูปเป็นธรรมสัจจะที่แท้จริง ฉะนั้นแม้ว่าจะรักจะเลื่อมใสพอใจในพระพุทธเจ้าสักเท่าไหร่ ในระยะแรกนี่ มันก็รับมาอย่างสัจจาภินิเวส ต่อเมื่อเข้าถึงความจริงอันนั้นด้วยตนเอง มันจึงจะกลายเป็นธรรมสัจจะสำหรับบุคคลนั้นไป เช่นเดียวกับที่ได้มีได้ปรากฏแก่พระพุทธเจ้า ฉะนั้นเพื่อความสะดวกก็ดี เพื่อความเจริญในการกระทำต่อไปข้างหน้าก็ดี ขอให้สนใจคำ ๒ คำนี้หรือว่าจำคำ ๒ คำนี้ไว้ เพื่อจะได้ใช้พูดจากันเป็นการประหยัดเวลาและเข้าใจกันได้เร็วเข้าใจกันได้ลึก ย้ำอีกทีหนึ่งว่าคำแรกคือธรรมสัจจะ นี้เป็นสัจจะจริงแท้ของธรรมชาติ ผิดไม่ได้ โดยบทบาลีที่ว่า ยํ สจฺจํ ตํ อมุสา สิ่งใดจริง สิ่งนั้นเท็จไม่ได้ ส่วนอีกคำหนึ่งก็คือ สัจจาภินิเวส ฝังตัวเข้าไปในทิฏฐิอันใดอันหนึ่งโดยสำคัญว่าเป็นสัจจะ นี้เป็นสัจจะปลอม สัจจาภินิเวสคือสัจจะเทียม เป็นเพียงความหมายมั่นตามความรู้สึกของเอกชนคนหนึ่งๆ
นี่ได้คำเกี่ยวกับสัจจะขึ้นมา ๒ คำ คือสัจจะจริงกับสัจจะปลอม ฟังแล้วก็น่าหัวเราะน่าเอามาล้อกันเล่นในวันนี้ แม้แต่สัจจะของมนุษย์นี้ก็ยังมีถึงอย่างจริงและอย่างปลอม น่าหัวเราะหรือไม่น่าหัวเราะลองคิดดู ทีนี้เรามีสัจจะชนิดไหนกันเป็นส่วนมาก เดี๋ยวนี้เรากำลังเต็มปรี่อยู่ด้วยสัจจะปลอมหรือสัจจาภินิเวส นี้จะยิ่งน่าหัวเราะยิ่งขึ้นไปอีก ยิ่งน่าหัวเราะขึ้นไปอีก น่าล้อยิ่งขึ้นไปอีกว่า เรากำลังมีกันแต่สัจจะปลอมหรือสัจจาภินิเวส มีความยึดมั่นถือมั่นอย่างไรก็ปักใจเอาแต่อย่างนั้น นี่เป็นเหตุให้เถียงกัน เป็นเหตุให้มีวาทะต่างกัน ทะเลาะวิวาทกันก็ด้วยอำนาจสัจจะปลอมนี้ทั้งนั้น ทำไมเด็กๆ ที่เป็นลูกเป็นหลาน เราคลอดมันออกมาแท้ๆ มันยังไม่เชื่อเรา ก็เพราะว่ามันมีสัจจะปลอมนี่ของมันเอง เป็น สัจจาภินิเวสของมันเองว่าต้องอย่างนี้ ต้องอย่างนี้ มันไม่เอาตามที่แม่ว่าหรือพ่อว่า มันก็มีปัญหาอย่างที่กำลังมีปัญหาอยู่อย่างเดี๋ยวนี้ มันก็น่าล้อ เพราะว่ามนุษย์นี้มันเก่งกันอย่างไรหนอ มันถึงเอาตัวฝังเข้าไปในสัจจะปลอมมากยิ่งขึ้นทุกที เดี๋ยวนี้ก็มีเหตุปัจจัยเป็นอันมากในโลกนี้ ซึ่งมีแต่จะดึงจะจูงคนเข้าไปในสัจจะปลอมหรือสัจจาภินิเวส แล้วก็คนที่มันมีอิทธิพลมาก มันก็มีอะไรที่แสดงออกมาทำให้คนอื่นตามก้นเขาได้โดยง่าย อย่างที่ประเทศไทยเรากำลังไปตามก้นพวกฝรั่ง เพื่อจะได้สิ่งซึ่งมีอัสสาทะ มีเสน่ห์อะไรน่ายั่วยวนนี่ มันก็สูญเสียสัจจะที่แท้จริง ไปเป็นทาสของสัจจะปลอมที่มันดับทุกข์ไม่ได้ ความเจริญก้าวหน้าหรือการศึกษาหรืออะไรก็ดีที่มันดับทุกข์ไม่ได้ เรากลับไปยินดีปรีดาฝังตัวเข้าไป สภาพอันนี้ก็มีอยู่จริงและกำลังมีมากขึ้น น่าสังเวชหรือว่าน่าหัวเราะ แต่ที่ดูแล้วมันไม่รู้สึกตัวมันก็หัวเราะไม่ออก ถ้ามองเห็นแล้วก็น่าเศร้าน่าสังเวช ในที่สุดก็น่าจะเอามาล้อว่า มนุษย์นี้จะไปไหนกันโว้ย จะไปลงนรกหรือว่าจะไปขึ้นสวรรค์หรือว่าจะไปนิพพาน ดูให้ดีๆ มันเกี่ยวข้องกันอยู่กับสิ่งนี้ที่เรียกว่าธรรมสัจจะ เกี่ยวกับธรรมสัจจะ คือตัวจริงแห่งธรรมชาตินี่ มันมีอยู่ในเนื้อในตัวของคนทุกคน แต่คนก็ไม่รู้จัก นี่เรียกว่าไม่รู้จักตัวเอง น่าเศร้า ในที่สุดก็น่าล้อ ที่ว่ามนุษย์นี้ไม่รู้จักตัวเอง แล้วมันทำผิดๆ ไปตามความไม่รู้นั้น ทีนี้มันก็เสียเปรียบสัตว์เดรัจฉานซึ่งมันไม่ต้องการอะไรมาก มันไม่ต้องการก้าวหน้ามาก มันจึงคงอยู่ในสัจจะตามธรรมชาติของมัน มันก็ไม่เกิดความทุกข์ด้วยอุปาทานความยึดมั่นเหมือนมนุษย์ อย่าเข้าใจว่าสัตว์เดรัจฉานก็เกิดแก่เจ็บตายแล้วก็จะมีความทุกข์เหมือนกับมนุษย์ ในข้อนี้ไม่เป็นอย่างนั้น มนุษย์มีความทุกข์มากด้วยความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะมันมีอวิชชา มีโลภะ โทสะ โมหะ มีอุปาทาน มีตัณหา มีอะไรต่างๆ ที่สำคัญที่สุดก็คือมีอุปาทาน ยึดมั่นความเกิดของกู ความแก่ของกู ความเจ็บของกู ความตายของกู มันเป็นทุกข์เพิ่มขึ้นอีกหลายร้อยเท่าหลายพันเท่าจากความทุกข์ที่มีอยู่จริง ส่วนสัตว์เดรัจฉาน เช่นสุนัข นี่ อาตมาดูมันทุกวัน ศึกษามันทุกวัน สังเกตมันทุกวัน มันจะมีความทุกข์เพราะเกิด แก่ เจ็บ ตายนิดเดียวตามที่ธรรมชาติมันเป็น ส่วนความทุกข์ที่มันเพิ่มขึ้นว่าเพราะความเกิดของกู ความแก่ของกู ความเจ็บของกูนี่ มันไม่มี มันมีไม่ได้ มันยังเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะฉะนั้นจึงมีความทุกข์นิดเดียวที่เกี่ยวกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่มันยังอยู่ในรูปของธรรมสัจจะง่ายๆ ตามธรรมชาติล้วนๆ มันจึงมีความทุกข์น้อย เรียกว่ามันไม่ทิ้งธรรมสัจจะที่แท้จริงไปไกลเหมือนมนุษย์ มนุษย์ไปมีความโง่ความหลงที่ก้าวหน้า มีอวิชชาที่ก้าวหน้า มีธรรมสัจจะที่ปลอมที่เทียมนี่มากขึ้นทุกที เรียกว่ามีสัจจาภินิเวสมากขึ้นทุกที มาถึงระดับมนุษย์นี้ จึงเต็มปรี่ด้วยตัวกู ของกู แล้วก็มีความทุกข์เต็มปรี่ไปตามความผิดพลาดอันนี้
เอ้า,ทีนี้เราจะมองกันแง่อื่นว่า สัตว์เดรัจฉานก็ดี มนุษย์ก็ดี มันก็มีธรรมสัจจะที่เสมอกันอยู่ส่วนหนึ่ง คือว่ามีสังขารร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปตามแบบของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ธรรมสัจจะนี้เป็นสากล มีร่วมกันทั้งมนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน ขอให้มองเห็นธรรมสัจจะอันนี้ก่อน ซึ่งมันเป็นพื้นฐาน มันเป็นหลักทั่วไป เราต้องเข้าใจก่อนต้องถึงก่อนจึงจะรู้ถึงสัจจะอันอื่นที่ตั้งอยู่บนรากฐานอันนี้ เกี่ยวกับข้อนี้ขอโอกาสขอเวลาพูดในระดับนักศึกษาทางพระพุทธศาสนากันสักคำหนึ่งหรือข้อหนึ่ง คือคำว่า ตถาคต หรือ ตถาคโต ก็ตาม บาลีเต็มรูปก็ว่า ตถาคโต ตัวศัพท์แท้ๆ ก็ว่า ตถาคตะ พอมาเป็นไทยเราเรียกว่าตถาคต ตถาคตคืออะไร นี้ยังเป็นปัญหาสำหรับคนโดยมาก แม้แต่ในพระบาลีในตำราที่เรียนกันก็ยุ่งเวียนหัวกันไปหมดเพราะไม่รู้ว่าอะไร คำว่าตถาคต นี่ มันแปลได้หลายอย่างนั่นเองโดยมากเขาจะแปลกันว่า ตถาคโต บ้าง ตถา อาคโต บ้าง แต่เอาความหมายว่ามันมาหรือมันไปตามลักษณะเช่นนั้นๆ เช่น ตถา อาคโต มาสู่ในโลกนี้อย่างเช่นนั้น หรือว่า ตถาคโต จะไปจากโลกนี้ในลักษณะเช่นนั้น หรือการเป็นอยู่ในลักษณะเช่นนั้น ถ้าอย่างนี้มันก็เหมือนกันหมด ทุกคนหรือแม้แต่สัตว์เดรัจฉานมันก็เป็น ตถาคต ไปหมด เรียกว่าสัตว์ก็แล้วกัน ตถาคโต นี่ แปลว่าสัตว์ทั่วไปไม่ยกเว้นอะไร นี้เรียกว่าตถาคต ทีนี้มันมีอีกความหมายหนึ่ง ตถา แปลว่า อย่างนั้นหรือความเป็นเช่นนั้น คโต แปลว่า ถึงแล้ว ถึงแล้วซึ่งความเป็นอย่างนั้น นี้คือถึงซึ่งธรรมสัจจ์ ตถา นั่นคือ ธรรมสัจจ์ ตถา แปลว่าเช่นนั้น อย่างนั้น เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เป็นแต่อย่างนี้ นี้เรียกว่าตถา หรือตถาตา ตถาคโต ถึงแล้วซึ่งความเป็นอย่างนั้นก็คือถึงธรรมสัจจ์ นี้เป็นผู้ถึงธรรมสัจจ์อันลึกซึ้งและสมบูรณ์ซึ่งมีได้แต่พระอรหันต์เท่านั้น ฉะนั้นคำว่า ตถาคโต ในความหมายนี้ เล็งถึงเฉพาะแต่พระอรหันต์หรือผู้ที่ถึงที่สุดของธรรมะแล้ว เรียกว่าตถาคต พระพุทธเจ้าก็รวมอยู่ในหมู่นี้คือผู้ถึงแล้งซึ่งตถา ตถา นั้นคือความเป็นอย่างนั้น เป็นธรรมสัจจ์ของธรรมชาติ เช่นกฎแห่งปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายเกิดฝ่ายดับจนดับทุกข์ไปได้ก็ถึงหมดเลย ถึงอริยสัจ ถึงอะไรทุกๆ อย่างที่เป็นตถา ถ้าเอากันอย่างนี้แล้วจะหมายถึงแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่จะเรียกได้ว่าตถาคต แต่ถ้าจะลดความหมายของคำว่าตถา คือความเป็นอย่างนั้นลงมาถึงธรรมสัจจะทั่วๆ ไป เช่นว่าจะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยปรุงแต่ง จะต้องไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอย่างนี้แล้ว คำว่าตถาคตนี้หมายถึงสัตว์ทุกชนิดไม่ยกเว้นสัตว์อะไร สัตว์เดรัจฉานก็ได้ สัตว์มนุษย์ก็ได้ รู้ธรรมะก็ได้ ไม่รู้ธรรมะก็ได้ ปุถุชนก็ได้ พระอรหันต์ก็ได้นั่นเอง นี่คำว่าธรรมสัจจ์ ตัวแท้ของธรรมชาตินี่ มันก็เกี่ยวข้องกันอยู่กับสัตว์ทุกตัว แต่ถ้าใครถึงที่สุดแห่งธรรมสัจจ์ คนนั้นก็เป็นสัตว์พิเศษคือพระอรหันต์หรือพระตถาคต เราใส่คำว่าพระเข้าไปข้างหน้าเป็นพระตถาคต ก็จะหมายถึงแต่พระอรหันต์พวกเดียว แต่ถ้าจะใช้คำหยาบอย่างว่า ไอ้ตถาคต อันนี้มันก็เหมือนกันหมดเลย สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ทั่วไปอะไรก็ตามที่มีชีวิตมันเป็นตถาคตหมด คือไปอย่างนั้น มาอย่างนั้น ตามกฎของสัจจธรรม
ทีนี้ความลำบากยุ่งยากที่พูดว่า อยากจะพูดสำหรับนักศึกษาธรรมะนั้น ก็คือคำว่าตถาคต ที่มีที่มาในอันตคาหิกทิฏฐิ หรือ อัพยากตวัตถุ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านไม่ทรงพยากรณ์ คือคำถามที่ถามขึ้นว่าตถาคตนี่หลังจากตายแล้วจะมีอีกไหม หรือว่าตถาคตนี่หลังจากตายแล้วจะไม่มี เป็นคำถาม ๒ ข้อที่รวมอยู่ในทิฏฐิทั้ง ๑๐ ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านไม่ทรงตอบ ไม่ยอมพยากรณ์ จึงต้องเรียกว่าอัพยากตวัตถุ หรือถ้ามันเป็นทิฏฐิที่คนเขาฝังแน่นกันไปทางหนึ่งว่าเกิดอีก นี่พวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งว่าไม่เกิดอีก ทิฏฐิสุดเหวี่ยงสุดโต่งไปตามแนวนั้นแล้ว อย่างนี้ก็แล้วเรียกว่าอันตคาหิกทิฏฐิ มันเป็นทิฏฐิที่แล่นไปถึงสุดโต่งแล้วไปฝังตัวอยู่ที่นั่นเป็นสัจจาภินิเวส นี่คือสัจจะของกูเท่านั้นจริง สัจจะของคนอื่นไม่จริง นี่เรียกว่าสัจจาภินิเวส ฉะนั้นขอให้ตั้งข้อสังเกตตัวเองดูให้ดี ถ้าว่าใครคนใดคนหนึ่งก็ยึดมั่นในข้อกูตายแล้วเกิดนี่ เขาก็มีสัจจาภินิเวสอย่างว่าอย่างนี้ ทีนี้คนหนึ่งมันว่ากูตายแล้วไม่เกิด นี้ก็มีสัจจาภินิเวสของเขาเองว่าอย่างนั้น มันเป็นสัจจาภินิเวสทั้งนั้น ไม่ใช่สัจจะอันแท้จริง ถ้าสัจจะอันแท้จริงก็กล่าวไว้ในรูปอื่นในลักษณะอย่างอื่น ไม่มีกูตาย ไม่มีกูเกิดหรือไม่มีอะไรทำนองนี้ มีแต่สังขตธรรม ปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงไปตามแบบของสังขตธรรม แล้วก็มีอสังขตธรรม ตั้งอยู่ในลักษณะที่ไม่เปลี่ยนแปลง นั้นเป็นตถา อย่างยิ่ง อสังขตธรรม เป็นตถา คือความเป็นเช่นนั้นอย่างยิ่ง ผู้ใดเข้าถึงความเป็นอย่างนั้นได้ ผู้นั้นจะเข้าถึงตถา ในลักษณะที่เป็นตถาคตคือพระอรหันต์ ส่วนที่เข้าถึงแต่ความจริงที่ว่าเวียนว่ายตายเกิดไป เวียนว่ายตายเกิดไป นี่เป็นสัตว์ทั้งหลายทั่วไป เป็นตถาคตในความหมายว่าสัตว์ทั้งหลายทั่วไป นี่ ตถาคต มีความหมาย ๒ อย่างๆ นี้ ฉะนั้นขอให้เอาไปคิดดู ไม่ได้บังคับให้เชื่อไม่ได้ขอร้องให้เชื่อแต่ให้เอาไปคิดดู เพื่อจะได้เข้าใจคำว่าตถาคต ดียิ่งขึ้น หรือมันไม่เกิดเป็นอุปสรรคขึ้นในการศึกษา แต่ที่ดีกว่านั้นอีกก็คือจะได้เข้าถึงตถา นี้แหละ ไม่เสียชาติเกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนาเลย ผู้ใดเข้าถึงตถา คือความเป็นเช่นนั้น เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ คนนั้นจะไม่เสียชาติเกิดที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนาเลย นี้ความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าธรรมสัจจ์ มันมีอยู่อย่างนี้
ทีนี้ก็อยากจะพูดสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันต่อไปอีกสิ่งหนึ่งว่า ความยุ่งยากลำบากนี่มันอยู่ที่โวหารพูด หรือว่าการพูดจา เราโผล่มาจากท้องแม่ไม่เท่าไหร่ก็ได้ยินเสียงพูดจา มีความหมายอย่างนั้นอย่างนี้ก็รับเอาความหมายนั้นสำหรับคำๆ นั้นเข้าไว้ในตัวมากขึ้นๆ มันจึงมีคำพูดสำหรับพูดและมีความหมายสำหรับคำพูดนั้นๆ อยู่อีก อยู่แบบหนึ่งเป็นพื้นฐานทั่วไปสำหรับมนุษย์ที่พูดจากันในโลก ก็เรียกว่าเป็นความรู้ระดับทั่วไปของชาวโลก และคำพูดนั้นก็เป็นคำพูดที่มีความหมายเพียงเท่านั้นตามความรู้ของคนในโลก ทีนี้ว่าคนในโลกก็พูดกันอยู่ทุกวัน ฉะนั้นจึงพูดได้และพูดเป็นและพูดแล้วเข้าใจกันทันที นี้เรียกว่าเป็นคำพูดตามแบบชาวโลก เป็นโวหารโลก มีความหมายจำกัดอยู่แต่เพียงแบบโลกๆ ทีนี้เกิดพบของใหม่ตรงกันข้าม ก็ไม่มีคำจะพูด ก็ต้องใช้ยืมเอาคำเหล่านี้ไปพูด ฉะนั้นคำพูดจึงเกิดขึ้นเป็น ๒ ชั้น มีความหมายลึกไม่เหมือนกับที่พูดจากันอยู่ตามธรรมดา รู้ได้หรือพูดเป็นเฉพาะคนบางคนที่เข้าถึงธรรมสัจจะอันแท้จริงแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ว่าสัตว์ ว่าคน ว่าตัวกู เราก็สอนให้มีคำว่าตัวกูหรือตัวฉันใช้มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก มันก็มีคำพูดนี้ใช้มีความหมายว่าอย่างนี้ จนยึดมั่นถือมั่นอยู่อย่างเต็มที่ ทีนี้ต่อมามีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น รู้เรื่องตัวกูนี้ดีว่าเป็นอย่างไรคืออะไรเพียงเท่าไหร่และรู้ว่าตัวกูนี่เป็นมายา จะต้องรู้กันให้มากไปถึงกับว่าที่แท้ไม่ควรจะเรียกว่าตัวกู แต่ถ้าไม่เรียกว่าตัวกูจะเรียกว่าอะไร และจะพูดกับคนอื่นได้อย่างไร เมื่อเขาพูดกันว่ามีตัวกูมีตัวฉัน ชื่อนั้นชื่อนี้ นายนั้นนางนี้อยู่ มันจึงเกิดความรู้สึกขึ้นมาอีกระดับหนึ่งว่า นี้เราก็จะพูดตามที่เขาพูดกันอยู่อย่างไร แต่ความหมายนั้นไม่ใช่อย่างเดียวกัน อย่างพระพุทธเจ้าท่านจะตรัสว่า ตถาคตหรือตัวฉัน เมื่อตรัสถึงพระองค์เองก็ว่า อหํ หรือตถาคต ว่าฉันเหมือนกัน แต่คำว่า ตถาคต หรือ อหํ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสออกไปนั้น ไม่มีความหมายเหมือนกับที่คนธรรมดาสามัญเขาพูดกัน นี่มันเกิดแตกแยกกันอย่างนี้ ฉะนั้นตัวกูหรือตัวฉันหรืออาตมาอะไรก็ตาม ที่ออกมาจากปากคนธรรมดามีความหมายอย่างหนึ่ง ตัวกูตัวฉัน อาตมา ตถาคต ที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้านั้นมันมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง หรือแทบว่ามันจะไม่มีความหมายเลยสำหรับคำพูดธรรมดานี้ แต่ท่านต้องใช้คำนี้เพราะว่าท่านต้องการจะพูดกับคนที่มันมีความหมายอย่างนี้ มันก็เป็นอันว่าท่านก็ต้องพูดคำพูดอย่างเดียวกับที่มนุษย์ในบ้านในเมืองเขาพูดกัน ที่ชาวเมืองเขาพูดกัน แต่ท่านไม่ถือเอาความหมายอย่างนั้น นี่คำพูดคำเดียวมี ๒ ความหมาย ความหมายแรกก็เป็นไปตามนั้น ก็คือของคนโง่ ความหมายอันหนึ่งของผู้ตรัสรู้ผู้หลุดพ้นแล้ว มันเป็นความหมายอีกอันหนึ่ง มันเกิดเป็นโวหารพูดกัน ๒ โวหารขึ้นมา ที่คนชาวบ้านทั้งหลายใช้พูดกันอยู่ รู้ความกันอยู่ เขาเรียกว่าทิฎฐธัมมิกโวหาร ที่ผู้รู้เท่านั้นรู้และพูดได้นั้นเรียกว่า สัมปรายิกโวหาร นี้ก็อีกเรื่องหนึ่งซึ่งอยากจะขอร้องในวันนี้ด้วยเหมือนกันว่า บางท่านยังไม่เคยฟัง ก็ขอให้ฟังและช่วยจำไว้เป็นคำคู่ ๒ คำว่า ทิฎฐธัมมิกะ นี่คือสิ่งที่ทุกคนรู้แล้วเข้าใจแล้วพูดอยู่แล้วใช้อยู่แล้วเป็นธรรมดาสามัญไม่ต้องอธิบายอะไรกันอีก นี้เรียกว่าทิฏฐธัมมิกะ ส่วนอีกคำหนึ่งว่าสัมปรายิกะ นี้แปลว่าอื่นหมดจากที่รู้จักกันอยู่ก่อนแล้ว ผิดแปลกอย่างอื่นตรงกันข้ามไปหมดจากที่รู้กันอยู่แล้ว เรียกว่าสัมปรายิกะ ถ้าพูดถึงโลกหรือแผ่นดิน ทิฏฐธัมมิกะก็คือโลกแผ่นดินที่คนรู้จักกันอยู่ ถ้าพูดถึงสัมปรายิกะ ก็เป็นโลกที่คนยังไม่รู้จัก ไม่รู้จักเลย รู้จักแต่คนที่ถึงแล้วเท่านั้น ทีนี้คนเขาเอามาบัญญัติว่าหลังจากตายแล้วเข้าถึงสัมปรายิกะ นี่ก็คือโลกที่ยังไม่รู้จักนั่นเอง แต่คนบางพวกเขาคาดฝันเอาเองว่ามันก็เป็นอย่างนี้แหละ เป็นอย่างโลกนี้ แต่มันหลังจากตายแล้วจึงจะเข้าไปถึง นั้นมันถูกนิดเดียว นี่ สัมปรายิกะ มันอื่นจากที่รู้อยู่ เข้าใจอยู่หรือพูดกันอยู่อย่างปัจจุบันนี้ อย่าใช้คำว่าสัมปรายิกะ แต่เพียงว่าโลกอื่นโลกหน้าโลกที่จะไปถึงข้างหน้า นรก สวรรค์นั้นน่ะ เท่านั้นมันไม่พอ มันแคบไป มันถูกน้อยไป สัมปรายิกะ ต้องเป็นอื่นนอกไปจากที่พูดกันอยู่ ใช้กันอยู่ รู้จักกันอยู่
จะเล่าตัวอย่างเรื่องนี้เสียเลยไหนๆ ก็พูดแล้ว จะช้าไปบ้างก็ขอให้อดทน เช่น มีคนไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า วรรณะ ๔ อย่าง ๔ วรรณะนี่ ต่างกันไหม พระพุทธเจ้าท่านก็ถามกลับว่า เอ้า,ไม่เห็นเหรอ เขาเคารพกันแต่วรรณะกษัตริย์และวรรณะพราหมณ์ ไม่มีใครเคารพวรรณะแพศย์และวรรณะศูทร เห็นแล้วใช่ไหม มันต่างกันเห็นอยู่แล้วทำไมจะต้องถามอีก ผู้นั้นก็ทูลขึ้นว่าข้าพระองค์ไม่ได้ทูลถามอย่างทิฏฐธัมมิกะ คือไม่ได้ทูลถามอย่างภาษาชาวบ้านธรรมดาพูดกัน ข้าพระองค์ทูลถามอย่างสัมปรายิกะ คือที่เห็นยาก ลึกซึ้ง เห็นยาก พระพุทธเจ้าท่านก็เลย เอ้า, ถ้าอย่างนั้นฉันจะว่า คือว่าวรรณะทั้ง ๔ นี้ ถ้าทำบาปก็บาปด้วยกัน ทำบุญก็บุญด้วยกัน ประพฤติธรรมะสูงสุดแล้วก็เป็นพระอรหันต์ด้วยกัน ไม่มีอะไรต่างกันเลย นี่แสดงว่าโดยโวหารสัมปรายิกะแล้ว วรรณะ ๔ นี้ไม่ต่างกันเลย เหมือนกันดิก แต่ถ้าโดยโวหารทิฏฐธัมมิกะแล้ว วรรณะ ๔ ก็ต่างกัน เป็นวรรณะๆ อย่างนั้น จนรังเกียจกันด้วยวรรณะ จึงมีปัญหาเรื่องวรรณะ ทำความยุ่งยากเกี่ยวกับปัญหาเรื่องวรรณะ นี่คำว่าวรรณะ ๔ เท่านั้นแหละมันยังเกิดเป็น ๒ ประเภทขึ้นมา ความหมายที่หนึ่งเป็นทิฏฐธัมมิกะ คนเห็นว่า เอ้า,นี้มันต่างกันเว้ย ความหมายหนึ่งมันเป็นสัมปรายิกะ ไม่เห็นต่างอะไรกัน เป็นตถาคตเหมือนกัน เกิดมาอย่างไรไปอย่างนั้น เกิดมาอย่างไรไปอย่างนั้นเหมือนกัน นี่ขอให้ช่วยจำคำ ๒ คำนี้ไว้ในฐานะเป็นคำที่มีความหมายอันสมบูรณ์ ที่เราพูดกันอยู่ก่อน รู้กันอยู่ก่อน ๒ คำนี้ไม่สมบูรณ์ ว่าทิฏฐธัมมิกะ คือชาตินี้เห็นอยู่ สัมปรายิกะหลังจากเข้าโลงแล้วจึงจะไปถึง อย่างนั้นไม่ถูก ทิฏฐธัมมิกะนี้ ที่รู้อยู่เห็นอยู่เข้าใจกันอยู่ตามในหมู่มนุษย์นี้ก็ถูกแล้ว แต่สัมปรายิกะนั้น ก็คือที่ยังลับอยู่ ยังลึกลับอยู่ ยังเข้าใจไม่ได้ ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว แม้ที่นี่เดี๋ยวนี้มันก็มีซ้อนอยู่ในนั้น เช่น สัมปรายิกโวหารของวรรณะ ๔ มันก็ซ้อนอยู่ที่นั่นที่นี่ ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว ฉะนั้นสิ่งใดที่เราต้องพูดด้วยภาษาสัมปรายิกโวหารนั้นน่ะ เพราะว่ามันลึก เพราะว่ามันยาก แต่ก่อนนี้อาตมาก็เคยใช้คำว่า ภาษาคนและภาษาธรรม ก็ปรากฏว่าเป็นที่เข้าใจและใช้กันเป็นมากขึ้นแล้ว น่ายินดี ไม่ควรจะถูกล้อในข้อนั้นแล้ว แต่เดี๋ยวนี้มีความเห็นว่าเป็นภาษาที่ยังไม่มีในพระคัมภีร์หรือในพระบาลี เอาภาษาในพระบาลีมาใช้ก็ได้คำว่าทิฏฐธัมมิกโวหาร นี้คือภาษาคน และคำว่าสัมปรายิกโวหาร นี้คือภาษาธรรม ไม่ใช่แกล้งอวดหรือไม่ใช่ว่าจะอยากอวดด้วย คืออยากจะพูดว่าการอธิบายธรรมะ สอนธรรมะต่อไปในอนาคตในโลกนี้ จะต้องสอนให้รู้เรื่อง ๒ เรื่องนี้ มิฉะนั้นจะไม่มีทางสอนกันได้ง่ายๆ จะมีความขัดแย้งกันอยู่เรื่อยไป ยิ่งจะไปสอนพวกฝรั่งที่มีการศึกษาดีแล้วระวังเถิด ถ้าไม่รู้จักแยกโวหารหรือภาษา ๒ อย่างนี้ออกจากกันแล้ว ไม่มีทางจะพูดกันรู้เรื่อง หรือมองอีกทางหนึ่งก็คือว่ามนุษย์ในโลกนี้เข้าใจศาสนาของตนไม่ได้ ก็เพราะไม่รู้ข้อเท็จจริงของ ๒ อย่างนี้ พวกคริสเตียน ก็รู้จักพระเจ้าของตัวเองไม่ได้ เพราะไม่รู้ความลึกลับซ่อนเร้นของความหมายของคำ ๒ ประเภทนี้ พวกพุทธเราก็รู้จักพระพุทธเจ้าที่แท้จริงหรือรู้จักนิพพานที่แท้จริงไม่ได้ ก็เพราะไม่รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความหมายของภาษาที่ใช้พูดกันอยู่เป็น ๒ ประเภทอย่างนี้ นี่มันมีความสำคัญถึงอย่างนี้ คือความสำคัญถึงกับว่าจะทำให้คนไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากศาสนาของตนๆ เลย ไม่ว่าเขาจะถือศาสนาอะไรอยู่ ถ้าเขาไม่รู้จักแยกคำพูดที่มีอยู่ในพระคัมภีร์นั้นออกเป็น ๒ ภาษา คือภาษาคนหรือภาษาธรรมแล้วจะไม่เข้าใจข้อความในพระคัมภีร์นั้นได้ เพราะว่าข้อความในพระคัมภีร์แม้พระไตรปิฎกเองนี่ ก็มีพูดอยู่ทั้ง ๒ ภาษา บางทีพูดภาษาคน บางทีพูดภาษาธรรม ถ้าพูดกับคนทั่วไปธรรมดาสามัญต้องพูดภาษาคน พูดไปในทำนองว่ามีสัตว์ มีบุคคล มีตัว มีตน ด้วยซ้ำไป เช่นเรื่องกรรม ถ้าพูดอย่างภาษาคนก็ว่า ใครทำดีได้ดี ใครทำชั่วได้ชั่ว คนนั้นจะต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้นตามที่ตนได้ทำไว้แล้วอย่างไร นี่พูดภาษาคน มันกลายเป็นมีคนขึ้นมา มีกรรม ผลกรรมเป็นของคนนั้นคนนี้ขึ้นมา นี่เป็นภาษาคน ก็มีเรื่องอย่างนี้มากในพระบาลี แต่ไม่มากหรือไม่ชัดเจนเหมือนกับที่มาพูดในคัมภีร์ชั้นหลัง เช่น เรื่องกรรมสิบสอง ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นต้น นั่นมันชัดมากเกินไป เป็นคนที่มากเกินไป ถ้าพูดเรื่องกรรมเป็นภาษาธรรมแล้วมันก็จะพูดไปในทำนองว่าให้หมดกรรมๆ คือทำลายคนเสีย ไม่มีคนไม่มีความรู้สึกที่เป็นกิเลสที่เป็นเจตนาให้ทำกรรม มันก็เลยเป็นเรื่องหมดกรรมไปเลย ถ้าพูดเรื่องกรรมก็กลายเป็นเรื่องหมดกรรมไปเลย
นี่ภาษามีอยู่ ๒ ภาษาในทุกเรื่องที่มีสอนอยู่ในพระพุทธศาสนา จะหยิบคำอะไรขึ้นมาสักคำหนึ่งก็เถอะ ถ้าสังเกตดีฉลาดพอ ศึกษาพอ จะรู้ว่ามีความหมายอยู่เป็น ๒ อย่างทั้งนั้น คือเป็นทิฏฐธัมมิกโวหารอย่างหนึ่ง เป็นสัมปรายิกโวหารอย่างหนึ่ง เช่นว่านิพพาน ทิฏฐธัมมิกโวหารก็ว่าเย็น หรือไฟมันดับลงไป เย็น นี่เด็กๆ มันก็รู้ นิพพานคำนี้ในความหมายนี้ เด็กๆ ในครั้งพุทธกาลในประเทศอินเดียมันรู้ เพราะว่าคำว่านิพพานอยู่ในรูปของทิฏฐธัมมิกโวหาร ไฟร้อน อาหารร้อน อะไรร้อน ต้องรอให้เย็นลงเสียก่อน ให้มันนิพพานก่อนจึงจะหยิบได้ จับได้ กินได้
ทีนี้ส่วนนิพพานในสัมปรายิกโวหารนั้น มันเป็นเย็นของการดับลงแห่งกิเลส มันคนละเรื่องกัน นี่ขอยืนยันไว้อย่างนี้ เพราะว่าไม่มีเวลาพอที่จะเอามาพูดหมดทุกเรื่องได้ แต่ให้ไปสังเกตว่าทุกเรื่องหรือว่าทุกคำจะมีโวหารสำหรับพูดอยู่ ๒ โวหารเสมอไป เดี๋ยวนี้เราพูดว่าคนอย่างนี้ ถ้าโวหารธรรมดาก็นี่คนๆ ทั้งนั้น แต่ถ้าพูดโดยสัมปรายิกโวหาร แล้วยังไม่ได้เป็นคนเลย ยังไม่มีธรรมะมากพอที่จะเป็นคนเลย จึงมีการด่ากันว่าไม่เป็นคน ยังไม่เป็นคนนี่ เพราะเขายังไม่มีอะไรพร้อมที่จะเรียกว่าคน
คำว่า สัจจะ มันอยู่ที่ไหน คำว่าสัจจะมันต้องอยู่ที่ภาษาธรรม หรือสัมปรายิกโวหาร คือคำพูดที่มีความหมายตาม สัมปรายิกโวหารที่แท้จริงนั้นน่ะ มันเป็นสัจจะกว่า ส่วนคำพูดทิฏฐธัมมิกโวหารนี้ ยังไม่จริงคือว่าเป็นจริงเทียมหรือจริงปลอม เป็นสัจจาภินิเวส อย่างเช่นคนแต่ละคนนี้จะยืนยันว่า ฉันเป็นคนๆ มาว่าฉันไม่ใช่คนฉันก็โกรธ ก็ฉันมีสัจจาภินิเวสว่าฉันเป็นคน แต่ถ้าไปศึกษาเข้าๆ เอ้า,ฉันยังไม่เป็นคน ฉันยังไม่มีอะไรที่ควรจะเรียกว่าคน ทีนี้ไปศึกษาหนักเข้าอีกๆ ถึงชั้นปรมัตถธรรมหรือปรมัตถโวหาร โอ้,คนไม่มี ไม่มีใครไม่มีคนที่ไหนในสากลจักรวาลนี้ ไม่มีคนที่ไหนหรอก มันมีแต่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณอะไรเปลี่ยนแปลงกันไป นี่ไม่ใช่คน นี่คือสัจจะที่แท้ ที่เข้าถึงธรรมสัจจะที่แท้ เอามาพูดเสียเป็นวรรคเป็นเวรก็เพื่อที่จะให้เข้าใจวิถีทางที่จะเข้าถึงธรรมสัจจะ เดี๋ยวนี้พูดถึงธรรมสัจจะเพื่อประโยชน์อย่างนี้ ทบทวนอีกทีก็ได้ว่า สัจจะนั้น ต้องจริงและแท้ ที่ว่า ยํ สจฺจํ ตํ อมุสา แล้วคู่กับสัจจะปลอมสัจจะเทียมคือสัจจาภินิเวส ที่ไม่จริง เพราะแต่ละคนก็มีแต่สัจจาภินิเวสกันอยู่เป็นส่วนมาก ให้เป็นพระเป็นเณรมันก็มีแต่อย่างนี้ ให้เป็นพระชั้นครูบาอาจารย์มันก็มีแต่อย่างนี้ แม้ที่สุดแต่การสอนเรื่องสัจจะ สอนนักธรรม สอนบาลีอะไรก็ตาม มันก็มีสัจจาภินิเวสของตน อธิบายคำธรรมะคำเดียวกันแตกต่างกันจนอาจารย์ชกปากกันก็มี เพราะอธิบายคำธรรมะคำเดียวกันมันแตกต่างกัน คำว่าสัจจะคือจริง แล้วก็ต้องจริงแท้ นอกนั้นเป็นสัจจาภินิเวส
ทีนี้จะให้ชัดลงไปอีกก็ใช้คำว่าธรรมสัจจะ สัจจะหรือตัวสัจจะหรือตัวแท้ของธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือธรรมชาติ ความผิดความปลอมความเทียมนี้ ก็เป็นธรรมชาติ มันก็มีสัจจะของมันเอง ฉะนั้นความโกหกมันก็มีสัจจะของความโกหก ความจริงก็มีสัจจะของความจริง ถ้าเราเข้าถึงความจริงของสิ่งที่โกหกของสิ่งที่มุสา เราก็จะรู้ว่านั้นมันเป็นธรรมสัจจะอย่างมุสา ทีนี้เราจะเอาแต่ธรรมสัจจะฝ่ายที่ว่าไม่มุสาคือเป็นสัจจะจริง เพื่อจะมาใช้เป็นประโยชน์เป็นที่พึ่งได้ ฉะนั้นถ้าพูดถึงธรรมสัจจะแล้วก็คือของจริงของธรรมชาติที่เปลี่ยนไม่ได้ นี่เป็นโวหารสัมปรายิกธรรม สัมปรายิกโวหาร ถ้าจะพูดให้เป็นบุคคลาธิษฐานในภาษาทิฏฐธัมมิกโวหารแล้ว จะเรียกว่าพระเจ้าก็ได้ พระเจ้านั้น พูดอย่างทิฏฐธัมมิกโวหารแล้ว มันก็เหมือนกับอะไรก็ไม่รู้ เข้าใจยาก จนคนเขาไม่เชื่อ แต่ถ้าพูดอย่างสัมปรายิกโวหาร แล้ว พระเจ้านั้นคือจริงที่สุด มีอยู่จริงที่สุด แล้วก็จริงที่สุด คือกฎแห่งธรรมสัจจะที่เป็นอย่างนั้นๆ มีใครแตะต้องไม่ได้ มีแต่กฎอันนี้เท่านั้นแหละที่จะไปทำให้สิ่งอื่นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เปลี่ยนไปนั้นน่ะ ฉะนั้นตัวธรรมสัจจ์ที่แท้จริงมันคือพระเจ้า ถ้าเรามีพระเจ้ากันอย่างนี้แล้วจะไม่ทะเลาะกันด้วยเรื่องพระเจ้า ไม่ด่ากันเรื่องว่าพวกโน้นมีพระเจ้า พวกนี้ไม่มีพระเจ้า หรือพระเจ้าจริงพระเจ้าไม่จริง เพราะว่าถ้าเป็นพระเจ้าอย่างถูกต้องตามความหมายของพระเจ้าแล้ว มันจริง มันจริงยิ่งกว่าจริง คือมันเป็นชื่อของธรรมสัจจะ ฉะนั้นเราก็มีพระธรรมในส่วนนี้แหละเป็นพระเจ้า ซึ่งอาตมาขอร้องให้ใช้คำให้มันชัดลงไปว่าธรรมสัจจะ ตัวแท้แห่งธรรมะ นี่เป็นพระเจ้า เดี๋ยวนี้เรื่องนี้ก็กำลังเป็นปัญหาเฉพาะหน้าจ่อจมูกอยู่ในหมู่คนไทยเรา ก็คือว่าคำว่าสัจจะของคำว่าสังคมนิยม ในโลกนี้มีสังคมนิยมแตกต่างกันเป็นพวกๆ หลายความหมาย แล้วกำลังฮือ กำลังเห่อ กำลังบ้าถึงขนาดเป็นบ้าต่อสิ่งที่เรียกว่าสังคมนิยม ถ้ามันไปถูกสังคมนิยมที่เป็นตัวแท้ของธรรมสัจจะแล้วนี้ มันเป็นที่พึ่งได้ แต่ถ้ามันเป็นสังคมนิยมเทียมหรือไม่ใช่ตัวแท้ของธรรมสัจจะแล้ว มันก็เป็นสังคมนิยมชนิดที่ต้องหลั่งเลือด คนเราจะต้องหลั่งเลือดในโลกนี้เพราะสังคมนิยมปลอม สังคมนิยมที่ไม่แท้และก็ไม่รู้สึกตัวและเป็นสัจจาภินิเวส ไปฝังมันเข้าไปๆ ขอให้ระวังว่าเหตุการณ์อันนี้จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ คือไปรู้จักสังคมนิยมอย่างผิดๆ ไม่ตรงตามธรรมสัจจะของคำๆ นั้น มีรายละเอียดที่จะต้องพูดจากันในการบรรยายครั้งต่อไป เรื่องมันยาว เดี๋ยวนี้ยกมาเป็นตัวอย่างพอให้รู้ว่ามันเกี่ยวกับธรรมสัจจะอย่างไร อย่าได้ไปหลงใหลในสังคมนิยมที่ไม่มีธรรมสัจจะ มันจะได้หลั่งเลือดกันทั้งโลก แต่ถ้ามันไปเข้าถึงตัวแท้ของสังคมนิยมตามหลักของธรรมสัจจะแล้ว มันจะสงบเย็น เป็นสันติภาพกันทั้งโลก เพราะว่าโลกนี้มันเป็นเรื่องของสังคม มันไม่ใช่คนเดียวตัวเดียว มันเป็นสังคม มันมีธรรมสัจจะของมันเองว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ มันจึงจะเย็น พอผิด ผิดแล้วมันก็ไปถือสัจจาภินิเวส มันก็ผิด สังคมนิยมนั้นมันก็ผิด มันก็เป็นสังคมนิยมที่ให้ผลเป็นการหลั่งเลือด เหตุการณ์อันนี้กำลังมาๆ และใกล้เข้ามาทุกที เราจะต้องถึงจุดๆ นี้ ที่ว่าจะหลั่งเลือดหรือว่าจะอยู่ด้วยความสงบเย็น มันก็ขึ้นอยู่กับข้อที่ว่าเราจะถือเอาสังคมนิยมที่ถูกต้องตามธรรมสัจจ์ได้หรือไม่นั่นเอง เรื่องมันยาว เอาไว้พูดในการบรรยายครั้งต่อไป นี้เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าอย่าทำเล่นกับคำๆ นี้ ขอวิงวอนให้ทุกคนเข้าใจคำนี้ รู้จักพูดด้วยคำนี้ รู้จักใช้คำนี้ เข้าถึงความหมายของคำๆ นี้ คือคำว่าธรรมสัจจะ ดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง
ทีนี้เราอาจจะเรียกชื่อธรรมสัจจะ ด้วยคำพูดอย่างอื่นก็ได้ แต่ถ้าไปพิจารณาดู ก็จะเห็นได้ว่ามันเล็งถึงตัวจริงตัวแท้ที่ผิดไม่ได้ ก็อย่างเช่นคำว่า สีลสัจจะ + สีลสัตว์ ชื่อมัน เอ้อ,เสียงมันคล้ายๆ กันเสียด้วยนะ คำว่าสัด สัจจะกับสัต ตะ วะ(สัตว์) มันคล้ายกันด้วย ถ้าว่าพูดเป็นไทยแล้วมันกำกวมกันได้ สัด เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้ สัด เป็นสัจจะความจริงก็ได้ ระวังให้ดี นั่นเป็นเรื่องของเสียงที่พูดในภาษาไทย สีลสัจจะ ใส่ จะ ไว้เรื่อยๆ มันจะได้ผิดจากสัตตะวะ (สัตว์) สีลสัจจะ ก็แปลว่าความจริงของสีละ สีละนี้ คือปกติ ความจริงของสิ่งปกติ มันก็คือธรรมสัจจะ แต่เราไปเรียกชื่อว่าสีลสัจจะ เพราะว่าสัจจะที่มีประโยชน์นั้น มันก็ต้องมีผลเป็นสีละ คำว่าสีละนี้ คือปกติ แล้วมีความหมายทั้งเหตุและผลและทั้งปรากฏการณ์ทั่วไป ที่เราถือศีลอย่างสมาทานศีล ๘ ศีล ๕ เมื่อตะกี้นี้ มันก็เป็นศีล แต่ว่ามันอยู่ในฐานะเป็นเหตุที่ต้องกระทำเพื่อให้เกิดความปกติ มันยังไม่เป็นความปกติ แต่บทบัญญัติ ๕ ประการ ๘ ประการนี้ไปปฏิบัติเข้ามันจะนำมาซึ่งความปกติคือคำว่าสีละ สีละแปลว่าปกติ ตัวศีลจริงๆ จะมาต่อเมื่อเราปฏิบัติสิกขาบทเหล่านี้เสร็จแล้ว ฉะนั้น สีละในความหมายนี้ ก็เป็นเหตุคือต้องปฏิบัติ ทีนี้ครั้นปฏิบัติแล้ว สีละก็มาในรูปของผลคือสีละ เป็นความปกติขึ้นมา เราได้อยู่ด้วยความปกติสุข ไม่มีกิเลสรบกวน ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันนี่ สีละนี้เป็นผลแล้ว ทีนี้ก็ดูทั่วไปว่า ถ้าอย่ามีอะไรทำให้ผิด ปล่อยไปตามธรรมชาติอันบริสุทธิ์แล้ว มันปกติอย่างยิ่ง สีละในความหมายนี้ ก็หมายถึงปกติอย่างยิ่ง อยู่ตามธรรมชาติ จะเห็นได้แล้วว่า สีละนี่ อย่างน้อยก็ ๓ ความหมาย ในฐานะเป็นเหตุคือสำหรับประพฤติปฏิบัติเรียกว่าถือศีล สีละในผลก็คือความสงบปกติที่เกิดขึ้นเพราะว่ามนุษย์มีการประพฤติหรือกระทำอย่างถูกต้อง ทีนี้ยกเลิกเหตุและผลคู่นี้ออกไป ก็เหลืออยู่แต่ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ อย่าไปแหย่มัน อย่าไปอะไรมัน มันก็อยู่ในสภาพที่บริสุทธิ์ตามปกติของธรรมชาตินั่นเอง สีละ จึงหมายถึงพระนิพพานก็ได้ หมายถึงอสังขตะก็ได้ ไม่มีอะไรจะปกติมากเท่ากับอสังขตธรรม ไม่มีอะไรจะปกติมากเท่ากับพระนิพพานในลักษณะที่เป็นอสังขตธรรม ขอให้เข้าใจอย่างนี้ ฉะนั้นนี้คือตัวธรรมสัจจะ สีละคือปกติ นี่เป็นธรรมสัจจะ ในเหตุในความเป็นเหตุก็ดี เป็นผลก็ดีตามสมควรแก่กรณี เราจะเรียกธรรมสัจจะว่าสีลสัจจะก็ได้
ทีนี้ถ้าเราจะให้แคบเข้ามา ให้มันง่ายขึ้นอีก ให้มันเหลือน้อยเข้า ไม่ต้องพูดกันมากนัก หรือจะเรียกว่าเป็นโฆษณาชวนเชื่อก็ได้ เรามีคำอื่น เช่นคำว่าอริยสัจจะ เข้ามาอีก คือสัจจะที่เป็นอริยะ ที่ประเสริฐ ออกไปเสียจากข้าศึกกล่าวคือกิเลสนี้ก็ได้ หรือว่าสัจจะของพระอริยเจ้าอย่างนี้ก็ได้ นี้มันก็คือธรรมสัจจะอันหนึ่งซึ่งแบ่งส่วนหนึ่ง ซึ่งแยกออกมา เพื่อประหยัด ประหยัดเวลาประหยัดการพูดจาประหยัดการสั่งสอน เอามาสอนกันแต่เพียงเท่านี้มันก็พอ ถ้าในแบบที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าที่เอามาสอนนี้เท่ากับใบไม้กำมือเดียว ที่มีอยู่หรือที่รู้อยู่นั้นมันตั้งใบไม้ทั้งป่า ทีนี้อริยสัจจะนี่ มันก็ยังต้องดูว่าเราพูดกันในรูปของอุดมคติ หรือว่าพูดกันในรูปของปฏิปทา อริยสัจที่พูดกันอยู่ในอุดมคติ ในรูปของอุดมคติหรือในรูปของปรัชญานั้น มันเป็นเรื่องพูด พูดให้รู้ว่าทุกข์เป็นอย่างนี้ เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างนี้ ความดับทุกข์หมดต้องเป็นอย่างนี้ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ต้องเป็นอย่างนี้ นี่เป็นเรื่องพูด เป็นเรื่องแสดงอุดมคติด้วยเหตุผลทางปรัชญาทางตรรกวิทยาอะไรก็ได้ นี้เรียกว่าธรรมสัจจ์ ในส่วนที่อยู่ในรูปของอุดมคติที่ใช้สำหรับการพูดจาเท่านั้นเอง แม้พระพุทธองค์ก็ต้องทรงใช้ข้อนี้ คือบอกกันก่อน พูดกันก่อน ให้มันเข้าใจกันก่อน แล้วต่อมาจึงมาถึงอริยสัจที่อยู่ในรูปของปฏิปทา คือประพฤติกระทำลงไปจริงๆ ใน ๔ ข้อนั้นน่ะข้อสุดท้ายคือมรรคสัจจ์ เท่านั้นแหละ ที่จะเป็นตัวการปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติในมรรคสัจจ์อย่างถูกต้องสมบูรณ์ ทุกข์มันก็ดับไป มันก็แสดงความจริงได้ว่าทุกข์เป็นอย่างนี้ เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างนี้ ความดับสนิทแห่งความทุกข์เป็นอย่างนี้ ชัดเจนอยู่ในตัวของการปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ แต่มันอยู่ในรูปของสิ่งที่บรรยายด้วยคำพูดหรือตัวหนังสือไม่ได้ ส่วนที่บรรยายด้วยคำพูดหรือตัวหนังสือได้นี้มันเป็นอริยสัจส่วนอุดมคติส่วนปรัชญาเท่านั้น พอเป็นเรื่องผลของการปฏิบัติแล้ว มันรู้สึกเฉพาะตนที่เรียกว่าสันทิฏฐิโก หรือว่า ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ที่ว่า ต่อให้เป็นผู้รู้แล้ว มันก็ยังรู้เฉพาะตน มันพูดให้คนอื่นฟังไม่ได้ในส่วนนั้น ที่พูดให้คนอื่นฟังได้นั้นเป็นส่วนนอก ธรรมสัจจะส่วนนอก ที่มันอยู่ในรูปของคำพูดได้ นี้เราเรียกว่าอริยสัจ ก็ยังมีอยู่ ๒ ระดับคือที่พูดได้กับที่พูดไม่ได้ และมีพระพุทธภาษิตแสดงไว้ชัดทีเดียวว่า อริยสัจ ๔ นี้คือสิ่งที่เรียกว่าตถา ตถา มีอยู่ ๔ คือทุกฺขตถา สมุทยตถา ทุกฺขนิโรธตถา ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทาตถา นี่มีอยู่ในพระบาลีอย่างนี้ เป็นพุทธภาษิต อริยสัจที่อยู่ในรูปของตถาอย่างนี้นั้นน่ะคือตัวธรรมสัจจ์ที่แท้จริง ที่เต็มเปี่ยมด้วยความหมายของคำว่าธรรมสัจจะ
ทีนี้ดูถึงสัจจะในแง่มุมที่ลึกยิ่งขึ้นไปอีกว่า สัจจะเป็นความจริง จริงแท้ไม่ผิดได้น่ะ แต่ที่มันมากเกินไปนั้นมันเป็นเรื่องสำหรับสัจจะเอง มนุษย์เราไม่ต้องการมากอย่างนั้น ฉะนั้นธรรมสัจจะเพื่อธรรมสัจจะนั้นมันมาก มันไม่มีสิทธิ์ที่จะสิ้นสุด ที่ลึกซึ้ง ไม่รู้จักสิ้นจักสุด เราจะเอาแต่ธรรมสัจจะที่จำเป็นแก่เรา เพื่อสัตว์ ธรรมสัจจ์เพื่อสัตว์ทั้งหลาย เอาแต่พอจำเป็นแก่การดับทุกข์สำหรับสัตว์ทั้งหลาย สัจจะเพื่อสัจจะนั้นอย่างหนึ่ง แล้วสัจจะเพื่อสัต-ต-วะ (สัตว์) ก็คือสัตว์มีชีวิต นี่อย่างหนึ่ง บอกแล้วว่าเสียงมันกำกวม ให้ระวังให้ดี สัจจะเพื่อสัจจะนั้นก็อย่างหนึ่ง สัจจะเพื่อสัตว์ แปลว่า สัต ตะ วะ นี่ก็อีกอย่างหนึ่ง ต้องออกเสียงเป็นภาษาบาลี จึงจะประกันความปนเป สัจจะเพื่อสัจจะ ก็คือธรรมสัจจะทั้งหมดทั้งสิ้น ทั้งหมดของธรรมสัจจะนั้นมากเกินไปมันพูดไม่ไหว ไม่ยอมเสียเวลาด้วย มันไม่จำเป็น สัจจะเพื่อสัต-ตะ- วะ (สัตว์) เพื่อสัต- ตะ- วะในสมมุตินี่คือคนนะ สัจจะเพื่อมนุษย์นี่ นี่จำกัดไว้ชัดพอว่าต้องอย่างนี้ เท่านี้ เพียงพอสำหรับการดับทุกข์แล้ว นี่คือใบไม้กำมือเดียวที่เอามาพูดสำหรับการดับทุกข์เท่านั้นเอง อย่างสัจจะเพื่อโปรดสัตว์
ทีนี้พูดถึงธรรมสัจจะอย่างอื่น ก็เรียกชื่อกันว่าสภาวธรรม สภาวะ แปลว่า เป็นเอง สภาวธรรม แปลว่าสิ่งที่เป็นเอง นี้คือเป็นธรรมสัจจะอย่างยิ่ง ถ้าไม่เป็นได้เองแล้วไม่ใช่ธรรมสัจจะ มันต้องเป็นอะไรอยู่ในตัวมันเอง เด็ดขาดอยู่ได้ในตัวมันเอง ไม่ต้องขึ้นกับใคร จึงจะเรียกว่าสภาวธรรม คือธรรมที่เป็นเอง แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังแยกออกเป็น ๒ พวกอีกแหละ คือเป็นสังขตะ มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง กับอสังขตะ ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง สังขตธรรมเป็น สภาวธรรมด้วยเหมือนกัน คือความที่มันต้องมีปัจจัยปรุงแต่งหรือความที่ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยปรุงแต่ง นี้มันเป็นไปเอง มันมีอยู่เอง มันเป็นไปได้เอง ในการที่จะมีปัจจัยปรุงแต่ง ฉะนั้นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ลักษณะของความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาที่มีอยู่ในทุกสิ่งนี้ ก็ต้องเรียกว่าสภาวธรรม คือมันเป็นไปเองตามแบบของสิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ทีนี้สภาวธรรมที่เป็นไปเองที่ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็คือพวกอสังขตธรรม ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เช่น พระนิพพาน เป็นต้น นี่ก็เป็นยอดสุดของสภาวธรรม ถึงจะเป็นสภาวธรรมชนิดไหนก็ตามเป็นธรรมสัจจะทั้งนั้น คือเป็นตัวแท้ตัวจริงแห่งสิ่งที่เรียกว่าธรรมหรือธรรมชาติด้วยกันทั้งนั้น นี่คำอธิบายเพื่อจะให้รู้จักความหมายของคำว่าธรรมสัจจะ นี่มันมากมายอย่างนี้ ก็รู้สึกว่ามันพอสำหรับที่จะเข้าใจได้แล้ว
ทีนี้ก็ดูต่อไปอีก ส่วนที่มันเป็น กำลังเป็นปัญหาอยู่ว่า พวกเราทั้งหมดนี้มันกำลังไม่มีธรรมสัจจะ เพราะไม่รู้จักเพราะไม่รู้จักจึงไม่ได้ทำ เพราะไม่ได้ทำจึงมิได้ไม่มีอยู่ นี่เรากำลังไม่มีธรรมสัจจะ เพราะว่าเราไม่รู้จักก็มี หรือว่าเรามีแต่ทำผิด ทำแต่อย่างตรงกันข้ามกับธรรมสัจจะ นี้ก็เป็นเหตุให้ไม่มีธรรมสัจจะเหมือนกัน ฉะนั้นเดี๋ยวนี้เราไม่มีความรู้ธรรมสัจจะ เราจึงทำผิดอย่างตรงกันข้ามกับธรรมสัจจะ เพราะฉะนั้นเราได้รับผลสนองคือความทุกข์ เดี๋ยวนี้โลกทั้งโลกกำลังจะเป็นทุกข์ กำลังจะต้องเป็นทุกข์มากยิ่งๆ ขึ้นไป กำลังจะเป็นทุกข์มากยิ่งๆ ขึ้นไป เข้าใจชัดพอหรือยังอาตมาพูดว่า โลกนี้มันกำลังจะเป็นทุกข์มากยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะมันไม่รู้ หรือมันห่างไกลห่างเหินออกไปจากธรรมสัจจะของความทุกข์ เราไม่รู้เรื่องของความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์อะไรทำนองนี้ เราก็ยิ่งห่างไปจากธรรมสัจจะของความทุกข์นั้น ฉะนั้นเราจึงดับทุกข์ไม่ได้ เดี๋ยวนี้เราไม่มีความรู้นี้เพราะว่าเราไม่รู้จักเสียก็มี และเรากำลังทำผิดอยู่ๆ อย่างตรงกันข้าม ก็คือยิ่งสะสมความไม่รู้จัก สะสมการทำผิดให้เป็นนิสัยไปเสียเลย นี่ปุถุชนมีไฝฝ้าในดวงตามาก ก็เพราะว่าสะสมส่วนนี้มากเกินไป สะสมการกระทำผิดที่เกี่ยวธรรมสัจจะนี้มากเกินไป ก็เลยไม่รู้ๆ ไม่รู้ๆ มากขึ้น นี่ปุถุชนมีไฝฝ้าในดวงตาเหมือนกับต้อกระจกน่ะ มันหนาๆ หนาๆ มากขึ้น ไกลต่อธรรมสัจจะมากขึ้น นี้เป็นสิ่งที่ควรนำมาล้อ ฉะนั้นมาช่วยอาตมาล้อ มาช่วยกันล้อความไม่มีธรรมสัจจะในหมู่พวกเรา เรามีน้อยเกินไปบ้างหรือว่าเรากำลังทำผิดอย่างตรงกันข้ามอยู่บ้าง มาช่วยกันล้อ ล้อให้มันหายไป ให้มันละลายไป มันเกิดมีความละอายขึ้นมาว่า เป็นมนุษย์ทั้งทีไม่มีธรรมสัจจะของมนุษย์ มันละอาย เราจะได้ขยับเขยื้อนกันใหม่ แก้ไขกันใหม่ให้มันเข้าถึงตัวธรรมสัจจะสำหรับความเป็นมนุษย์
นี่คือข้อที่เราจะล้ออายุกันในตอนเช้าตอนแรกที่สุดนี้ ก็คือข้อที่ว่าเราไม่มีธรรมสัจจะอย่างเพียงพอที่จะให้ความเป็นมนุษย์ของเรามีความหมายสมแก่ความเป็นมนุษย์นั่นเอง นี่คือข้อที่ว่าสำหรับล้อกันในตอนเช้า ซึ่งจะขอร้องให้เอาไปให้คิดดู ไปนั่งนิ่งๆ เงียบๆ ตรงไหนแล้วไปคิดดู ไปพิจารณาดู ให้ปลงสังเวชแก่ตัวเอง หรือว่าเราจะอภิปรายข้อเท็จจริงอื่นๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้กันบ้างก็ได้ เพราะว่าได้กำหนดไว้ว่าหลังจากแสดงธรรมแล้ว ก็จะมีการอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องที่แสดงนั้น ท่านจะกระทำอย่างนั้นก็ได้ หรือว่าจะไปนั่งโคนไม้ไหน หลับตาคนเดียวมองดูข้างในว่าธรรมสัจจะมีหรือไม่มี มันจะมีอย่างสีเขียว สีแดง สีอะไรไปเสียก็มี เอาล่ะ,ก็เป็นอันว่าการบรรยายธรรมะในตอนเช้านี้สมควรแก่เวลาแล้ว อาตมาขอยุติการบรรยายในตอนเช้าไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน