แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายเรื่อง สิ่งที่ควรรู้จักเป็นครั้งที่ ๖ นี่ ผมจะได้กล่าวโดยหัวข้อย่อยว่า ทรัพย์สมบัติที่ทุกคนควรสะสม สิ่งที่เรียกว่าทรัพย์สมบัติ เป็นสิ่งที่คนควรจะรู้จักอย่างยิ่งอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน และโดยเฉพาะในการสะสม และก็ไปถึงการบริโภคใช้สอย ตามตัวหนังสือกันจริงๆ นั่น คำว่าทรัพย์นี่มันหมายถึงสิ่งที่มีเพื่อการสะสมมากกว่า นี่หมายถึงทรัพย์ภายนอก ผมจะพูดด้วยภาษาคนมันเป็นวัตถุสิ่งของเป็นทรัพย์สมบัติ ถ้าทรัพย์ในภาษาธรรมมันหมายถึงคุณธรรม แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องสะสมอยู่นั่นเอง ความหมายมันอยู่ที่คำว่าสะสม เมื่อเกิดเป็นปัญหาขึ้น เมื่อมนุษย์รู้จักการสะสม เมื่อยังเป็นสัตว์มันก็ไม่รู้จะสะสมอย่างไร
โดยทั่วไปนี่ นอกจากสัตว์บางชนิดถึงเรียกว่ารู้จักสะสม เป็นมดรู้จักสะสมเมล็ดหญ้า แต่ว่ามันเป็นส่วนน้อยจนไม่เรียกว่าเป็น เป็นสิ่งที่ถือเป็นหลัก แม้จะเป็นคนป่าระยะแรกๆ มันก็ไม่สะสม เช่นเดียวกับลิงค่าง มันก็ไม่รู้จักสะสม ก็เลยเรียกว่ายังไม่มีทรัพย์ ต่อมามนุษย์เริ่มรู้จักสะสมทรัพย์ อย่างเรื่องที่เล่าไว้ พอคนหนึ่งรู้จักสะสมทรัพย์มันก็เกิดปัญหาขึ้นมาทันที เช่นการเกิดเป็นคนมั่งมีและคนยากจนเป็นต้น ต่อมามีบุคคลบางประ เภทเห็นเรื่องความเหลวแหลกของการสะสมทรัพย์ ก็เลยสละทรัพย์ทั้งหลายทั้งปวงออกไปบวช เป็นผู้ไม่มีทรัพย์รวมทั้งไม่มีญาติ ไม่มีอะไรคือสละทรัพย์และญาติออกไปบวช เป็นคนไม่มีทรัพย์อีกต่อนึง เหมือนกับภิกษุนี่ ท่านก็ไม่ควรจะมีทรัพย์อะไรเลยเป็นของตน เรื่องจีวรนี่ บาตรนี่ ไม่ใช่เรื่องทรัพย์ที่สะสม มันเป็นเพียงเครื่องมือนิดๆ หน่อยๆ อุปกรณ์นิดๆ หน่อยๆ ที่จำเป็นไม่เรียกว่าสะสม แล้วก็กลับไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน ในความหมายหนึ่ง ในอีกทีหนึ่งคือไม่มีทรัพย์สมบัติ มันบาลีว่าเหมือนกับนกมีภาระแต่ปีกสำหรับจะบินไป นกมันมีปีกสำหรับจะพาตัวมันไปที่ไหนก็ได้ มันมีทรัพย์สมบัติเท่านั้น ก็ไม่เรียกว่ามีการสะสมทรัพย์อะไร ภิกษุก็มีทรัพย์สมบัติทำนองเดียวกับตัวนกมันมีปีก ในความหมายคำว่าทรัพย์มันมีอะไรประหลาดๆ อยู่ เพราะมันสิ่งสำหรับสะสม ถ้าดูตามตัวพยัญชนะ ตัวหนังสือมันแปลว่าเครื่องปลื้มใจ อย่างเดียวกับคำว่ารัตนะซึ่งแปลว่าเครื่องยินดี ทรัพย์นี่แปลว่าเครื่องปลื้มใจ เราจะสังเกตที่ว่าเราจะคำนวณหรือเทียบเคียงดูก็ได้ว่า คนป่าคนแรกยุคแรกๆ ไม่รู้จักสะสมทรัพย์ ที่บังเอิญต่อมามันเกิดคนที่รู้จักสะสมทรัพย์ขึ้น เอาทรัพย์นั้นมาเก็บไว้เห็นอยู่แล้วก็เลยปลื้มใจ อาการอันนี้เป็นที่มาของคำว่าทรัพย์ ที่มันปลื้มใจพอใจแก่เจ้าของ เหมือนคนสมัยนี้แหละ พอมีทรัพย์สมบัติมากนั่งดูแล้วมันก็ปลื้มใจ แม้แต่ตัวกังสุรกะที่มีชื่อในบาลี เป็นสัตว์กินอุจจาระ พอมันเห็นกองอุจจาระก็มีอยู่มาก แล้วก็ขึ้นกินอยู่นั่งกินอยู่บนกองอุจจาระ มันก็พูดไปทำนองอวดดีว่ามีบุญมีลาภกว่ากังสุระตัวอื่นๆ เหมือนกับภิกษุบางรูปเกิดมีทรัพย์ สะสมทรัพย์จีวรบิณทบาตเสนาสนะต่างๆ นี่ แล้วก็พูดว่าตัวเองเป็นผู้มีบุญมีลาภสักการะ ภิกษุอื่นๆ ไม่มีบุญไม่มีลาภไม่มีสักการะอย่างนี้เป็นต้น เพราะมันปลื้มใจของมัน แต่แล้วคอยดูกันต่อไปว่าความปลื้มใจนี่มันมีความหมายอย่างไร หรือว่ามันตรงกับคำว่ารัตนะแปลว่าเครื่องให้ยินดี แก้วแหวนเงินทองเพชรพลอยนี่เขาเรียกว่ารัตนะ แปลว่าเครื่องทำให้ยินดี นี่ก็เป็นทรัพย์ที่มีค่ามากขึ้นไปนั่นเอง
ไอ้วัวควายไร่นาแผ่นดินนี่ก็เรียกว่าทรัพย์เหมือนกัน แต่โดยลักษณะในนั้นมันมีค่าน้อยกว่าเพชรพลอยเงินทอง แต่โดยเนื้อแท้มันก็หมายถึงยินดีปลื้มใจเรียกว่าทรัพย์ นี่ถ้าดูตามอัตถะบ้าง มันก็เป็นสิ่งที่คนต้องการ แสวงหาได้แล้วสะสมอะไรอย่างนี้ รวมความแล้วคือสิ่งที่คนกำลังสะสมอยู่เรียกว่าทรัพย์ โดยเหตุอะไรก็ตามคนก็สะสมทรัพย์ เช่นเพื่อจะมีกินมีใช้สะดวก แล้วเวลาเกิดเรื่องทุกข์ยากลำบากขึ้นมามันก็ต้องสะสม หรือมันจะไปบีบคั้นข่มเหงผู้อื่นปล้นเอาทรัพย์ของเขามา มันก็สะสมทรัพย์ที่เป็นต้นทุนนี่เหมือนกัน โดยมากที่สุดแล้วมันจะต้องการการฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยด้วยกามารมณ์ อย่างนี้มันก็ต้องสะสมทรัพย์ เรารู้จักทรัพย์ด้วยตัวหนังสือว่ามันเป็นเครื่องปลื้มใจ โดยความหมายมันเป็นสิ่งที่คนกำลังสะสม ทำเป็นก็แต่คน สัตว์เดรัจฉานก็ทำไม่เป็น พระอริยเจ้าที่เป็นนักบวชเป็นผู้ไม่มีเหย้าเรือนนี่ก็ไม่ทำ นี่ถ้าจะดูกันโดยภาษาสองภาษา คือภาษาคนกับภาษาธรรม มันก็จะเกิดการแตกต่างกันขึ้นทันที ถ้ามีการสะสมในภาษาคน มันก็สะสมวัตถุสิ่งของซึ่งเป็นของไม่เที่ยง มีการแตกมีการสลายมีการสูญหาย และก็สะสมได้กันด้วยความยากลำบาก ต้องเอาเหงื่อแลกมา นี่ที่ทำให้มันเป็นมนุษย์ที่มีความหมายต่างไปจากเทวดา ก็คือว่ามนุษย์ต้องเอาเหงื่อแลกกับทรัพย์มาจึงจะได้กามารมณ์ ไม่เหมือนพวกเทวดาที่เขามีอะไรก็ตามใจเถอะ เขาเรียกมีบุญ มันได้กามารมณ์มาโดยไม่ต้องมีเหงื่อ เมื่อพูดกันถึงโลกนี้ ทรัพย์คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์ต้องออกเหงื่อ เป็นวัตถุ (นาทีที่ 13:11) ที่มองดูในภาษาธรรมมันกลายเป็นนามธรรมเป็นคุณธรรม มันไม่ได้ทำให้เร่าร้อนหรือไม่ต้องเสียเหงื่อก็ได้ มีบางคนบุคคลนั่นให้เป็นพระอริยเจ้าขึ้นไปในที่สุด ไอ้ทรัพย์อย่างวัตถุนี่มันไม่ได้ทำให้ใครเป็นพระอริยเจ้า แต่ว่าทรัพย์อย่างภาษาธรรมะภาษาธรรม ยิ่งสะสมก็ยิ่งใกล้ความเป็นพระอริยเจ้า ทรัพย์ชนิดนั้นเขาจึงเรียกว่า อริยทรัพย์ อริยทรัพย์จะแปลได้ว่าทรัพย์อันประเสิรฐของพระอริยเจ้านั่นก็ได้ แต่สำหรับเราๆ อย่างนี้ควรจะแปลว่า ทรัพย์ที่จะทำให้เกิดความเป็นพระอริยเจ้า ทรัพย์ที่จะนำไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า ถ้าได้แล้วได้เสร็จแล้วจึงจะเรียกว่าทรัพย์ของพระอริยเจ้า ทำได้กัน มั้ย นี่สำหรับอริยทรัพย์นี้ท่านระบุไว้ในพระบาลีเป็น ๗ อย่างด้วยกันคือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ ราคะ ปัญญา
ศรัทธา ทรัพย์ที่ ๑ ในความเชื่อที่ถูกต้อง ไม่ถูกต้องก็ไม่เรียกว่าศรัทธาในพุทธศาสนา ความโง่ความงมงายแล้วก็เชื่อจนเอาเป็นเอาตายนั่นไม่ใช่ศรัทธา มันต้องศรัทธาที่มาจากปัญญาให้มันรู้ด้วยว่าอะไรเป็นอะไรแน่ใจแล้วมันถึงเชื่อ เป็นจุดตั้งต้นที่จะทำหน้าที่ของมนุษย์อย่างถูกต้อง นี่เขาเรียกว่าศรัทธา ก็ตามธรรมดาที่เป็นอยู่จริงๆ นั้นมันมักจะเป็นเรื่องงมงาย มีอะไรแวดล้อมทำให้เชื่อแม้ในบุคคลหรือว่าในเรื่องราวที่ไม่ควรเชื่อกันโดยมาก เพราะมันมีความโง่ เพราะมันมีความกลัว หรือเพราะมันมีความต้องการอย่างตะกละละโมภโลภลาภนี้ มันทำให้มีความเชื่อที่งมงาย ไม่ใช่ศรัทธา ถ้าใครจะมีศรัทธาก็ต้องไปดูกันเสียดีๆ
ทรัพย์สมบัติที่ ๒ เรียกว่าศีล คือความเป็นระเบียบเรียบร้อย หรือความถูกต้องในส่วนภายนอกคือกายกับวาจา โดยมุ่งหมายเกี่ยวกับผู้อื่นโดยมาก ศีลนี่มันแปลว่าปกติ คือไม่โกลาหลวุ่นวาย ไม่ทำให้เกิดความยุ่งยากระส่ำระสายหรือลำบาก ที่เรียกว่าศีล ศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็ล้วนแต่มีความหมายอย่างเดียวกันหมด คือทำให้มันปกติสุขอยู่ได้ไม่โกลาหลวุ่นวายนี่เขาเรียกว่าศีล น่าที่จะเอามาจากคำว่าก้อนหิน ศิลา มันปกติมากไม่กระดุกกระดิก เอาความหมายนี้มาเรียกกับสิ่งที่ทำให้คนปกติไม่วุ่นวายไม่ระส่ำระสาย ใครก็ตามลองถือศีลตามหน้าที่ตามฐานะของตน ของตน ดูมันจะเกิดความปกติขึ้นมา
ทรัพย์ที่ ๓ ก็เรียกว่า หิริ คือความละอาย รังเกียจบาปความชั่ว ละอายต่อความชั่วเกลียดความชั่ว ถ้าปล่อยไปตามปกติแล้วคนก็ไม่ได้นึกถึงว่าดีว่าชั่ว เอาแต่ได้ก็เลยเกิดสิ่งที่เสียหายขึ้นมา จะทำผิดหรือว่าเบียด เบียนกัน ทรัพย์ที่ ๓ นี่มันขึ้นกันเสมอคู่มากับ ทรัพย์ที่ ๔ ที่เรียกว่า โอตตัปปะ ซี่งแปลว่าความกลัว นี่ก็หมาย ถึงกลัวบาปกลัวความชั่ว คนมันรู้จักอายแต่เพียงอายมนุษย์ด้วยกันหรือว่ากลัวสิ่งที่เป็นอันตราย เดี๋ยวนี้ธรรมะประเภทนี้ก็ต้องการให้ไม่ต้อง (ฟังไม่ชัด 19:36) กับคนอื่นก็ได้ ซึ่งตัวเองก็รู้จักละอายความชั่วกลัวความชั่วอยู่ตามลำพังตัวเอง นี่มันดีกว่าที่จะละอายต่อเมื่อคนอื่นเห็น หรือว่ากลัวต่อเมื่อคนอื่นรู้ว่าเขาจะโกรธจะเกลียดจะลงโทษเอา อย่างนี้มันเป็นหิริและโอตตัปปะที่น้อยมาก ถ้าเป็นหิริ โอตตัปปะแท้จริงมันก็ต้องละอายก็ต้องกลัวโดยไม่มีใครอื่น ไม่มีผู้อื่นเห็น เป็นที่ว่าบาปกับความชั่วแล้ว ก็ละอายแก่ใจตนเองแล้วก็กลัวอย่างยิ่ง ว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าสิ่งใดๆ เพราะมันทำอันตรายมากกว่าสิ่งใดๆ
ทรัพย์ที่ ๕ เรียกว่า พาหุสัจจะ ตัวหนังสือแปลว่าความได้ยินได้ฟังมาก คือการศึกษามากนี่ คำว่ามากในที่นี้ก็ไม่ต้องหมายถึงเฟ้อ คือมากอยู่แต่ในส่วนที่ควรจะรู้จะศึกษา จะมีที่เป็นประโยชน์ก็จะต้องรู้ให้มันมากๆเข้าไว้ นี่เขาเรียกพาหุสัจจะ ความรู้ที่มากเข้าไว้นี่มันดีกว่าที่รู้แต่เพียงสิ่งเดียวหรือว่ามันจำกัดอยู่ เพราะว่าเราไม่รู้ว่าปัญหาอะไรมันจะเกิดขึ้นมาในรูปไหน ยิ่งอยู่นานไปปัญหามันยิ่งมีมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราจึงมีความรู้ให้มันมากเข้าไว้ เพราะมันจะแก้ปัญหาต่างๆ ปัญหาอย่างยิ่งก็คือ อยู่ที่การตัดสินใจเมื่อมีอะไรเกิดขึ้น ทีนี้คนมันไม่รู้ก็มีการตัดสินใจผิดมันก็ทำผิด ถ้ามันมีความรู้พอมันก็เอามาเทียบเคียงนั่นนี่โน่นแล้วมันก็ตัดสินใจถูก ท่าน (นาทีที่ 22:11) จึงถือว่าพาหุสัจจะนี่มันก็สำคัญสำหรับคนที่จะทำอะไรให้ลุล่วงไปในโลกนี้
ทรัพย์ที่ ๖ เขาเรียกว่า จาคะ คำนี้แปลว่าสละ คำว่าการสละนี่จะเป็นทรัพย์ได้อย่างไร ฟังไม่ดีก็ไม่รู้เรื่อง เพราะว่าคำว่าทรัพย์หมายถึงว่าการสะสมมีแต่การสะสม เดี๋ยวนี้มันมีคำว่าสละออกไป ก็ควรจะนึกเอาได้เองบ้างมั้งว่า มันต้องสละในสิ่งที่ควรสละ คือสละสิ่งที่มันเป็นข้าศึกแก่สิ่งที่ควรสะสม สิ่งที่ขืนเอาไว้แล้วมันจะทำอันตรายแก่ผู้นั้น หรือแก่ทรัพย์สมบัติที่ผู้นั้นสะสมไว้ สิ่งนี้ต้องสละ ที่เป็นนามธรรม ก็คือความรู้สึกที่เป็นกิเลสต่างๆ ต้องสละ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเช่น มัจฉริยะ ความตระหนี่ซึ่งมันเป็นโทษ แล้วคนก็ไม่รู้สึกว่าเป็นโทษก็ไม่ค่อยยอมสละ แม้แต่วัตถุสิ่งของที่ว่าเราถือเป็นอุปกรณ์ของความสุขความสะดวกสบาย มันก็เป็นอันตรายขึ้นมาได้เมื่อเราไปหลงใหลมันเข้า เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือหลงใหลมันก็ควรสละออกไป มันจะได้พาความหลงใหล พาความยึดถือ พาความตระหนี่ติดไปด้วย ถ้าไม่สละมันก็เพิ่มไอ้ความตระหนี่ความหลงใหลมากขึ้น การสละทรัพย์ที่เป็นวัตถุบางอย่างออกไปนั่น ก็เพื่อว่ามันจะได้พากิเลสติดไปด้วยเพื่อความอิสระ แต่ถ้าสละเพื่อลงทุนเอาผลมามากกว่า อย่างนี้ก็ไม่เรียกว่าสละในที่นี้ เว้นไว้แต่ว่าผลนั้นมันจะเนื่องทางนามธรรม เช่นว่าสละทรัพย์ออกไป มันก็ได้จิตใจที่สะอาดกลับมาอย่างนี้ ไม่เป็นไร แล้วถ้าสละทรัพย์ออกไปเพื่อมีกำไรมากๆ เช่นทำบุญแล้วก็ได้สวรรค์วิมานมากๆ นี่ มันก็เป็นเรื่องที่น่าหัว เป็นเรื่องที่เขามีไว้สำหรับดึงคนให้สละเท่านั้นเอง ถ้าไม่อย่างนั้นคนมันก็ไม่สละซะเลย เอาอะไรมาเป็นเครื่องล่อให้สละ แล้วค่อยๆ รู้จักการเสียสละกันทีหลัง ได้ ผลเป็นนามธรรม เป็นความเผื่อแผ่ให้ใจกว้างขึ้นมาทีหลัง ถ้าจะสละสิ่งของแล้วก็ต้องดูให้ดีเหมือนกันแหละ อย่าสละชนิดที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่ใครเลย ไหนๆ เราก็ไม่เอาแล้วก็สละเสีย แต่ควรดูให้ดีว่ามันควรสละไปไหน ลักษณะที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น แล้วก็ควรจะสละไปกับบุคคลที่ควรได้รับ เป็นปฏิพากย์ที่ควรได้รับ หรือสละให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม แก่บ้านแก่เมือง แก่ประเทศชาติศาสนาอย่างนี้ไปทางโน้นเลย แม้ว่าเราจะไม่ต้องการอะไรก็ดูให้ดีว่า ควรจะสละไปในลักษณะอย่างไร แต่ถ้าเป็นเรื่องของกิเลส สละให้ใครก็ไม่ได้ ถึงแม้จะสละได้ก็ไม่มีใครเอาไม่มีใครรับ มันของสกปรก ก็เป็นการสละออกไปอย่างนั้นแหละให้มันหมดไปก็แล้วกัน
ทรัพย์สุดท้ายก็เรียกว่าปัญญา มีคำกล่าวเป็นบาลีว่า ปัญญา นรานัง รัตนัง ปัญญาเป็นรัตนะของคน มองดูกันในความหมายแรก เป็นรัตนะคือว่าเหมือนกับทรัพย์อันประเสริฐ เป็นนิสัยแห่งความยินดี หรือว่าจะเป็นของมีค่า และก็ควรจะมีไว้สำหรับจับจ่ายใช้สอยกันก็ได้ ปัญญาก็แปลว่าความรู้ทั่วถึงในสิ่งที่ควรจะรู้ นี่เป็นทรัพย์ที่เขาเรียงลำดับไว้สุดท้าย มีความหมายในที่นี่ว่ามันเป็นทรัพย์สำคัญและสูงสุด ที่จะดึงเอามาเป็นทรัพย์อื่นๆ ให้มันถูกต้อง จะมีศรัทธา มีศีล มีหิริโอตตัปปะ พาหุสัจจะอะไรก็ตาม มันอยู่ที่มันมีปัญญาแล้วก็ดึงมารวบรวมมันถูกต้อง ตัวปัญญาเองมันก็เป็นทรัพย์อย่างยิ่งจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ อริยทรัพย์ทั้งหลายมันก็เป็นไปในอำนาจของปัญญา ถ้ามีปัญญาได้ก็เป็นอันว่ามันก็หมดเรื่องกัน ถ้ายังมีไม่ได้ก็สะสมต่อไป มีศรัทธามีศีล มีหิริโอตตัปปะเรื่อยไปจนกระทั่งมีปัญญา จึงจะเรียกว่าสมบูรณ์ แม้แต่เรื่องโลกๆ มันก็มีการศึกษาไว้ได้ปัญญาได้ความรู้นี่ไปเรียนหนังสือหนังหา เรียนวิชาชีพก็เพื่อมีปัญญาในการดำรงชีวิตอยู่ ยิ่งเรื่องที่ (นาทีที่ 29:19) บรรลุมากกว่านิพพาน ก็ยิ่งต้องการปัญญาเป็นอาวุธสำหรับตัดกิเลส
รวมความแล้วแม้อริยทรัพย์ ๗ ประการนี่ก็ยังเป็นสิ่งที่ควรสะสม และก็ต้องสะสม เขาเรียกว่าทรัพย์ จึงได้เรียกว่าทรัพย์ที่ควรแก่การที่จะเรียกว่าทรัพย์ แต่เขาเรียกเป็นอริยทรัพย์ไป ไอ้ทรัพย์ธรรมดาสามัญนี่ เขาก็จะเรียกกันว่าโลกียทรัพย์ เป็นไปเพื่อหมกอยู่ในโลกด้วยความผาสุกหน่อย ถ้าทรัพย์อันประเสริฐแท้จริงก็เรียกว่าโลกุตรทรัพย์ เพื่อจะพาไปเหนือโลกเหนือทุกข์หรือเป็นนิพพาน ส่วนอริยทรัพย์ ๗ ประการนี่อาจจะใช้เป็นของกลางๆ เพื่อแสวงทรัพย์อย่างโลกียะก็ได้ เพื่อควบคุมทรัพย์อันนั้นให้มันปลอดภัยก็ได้ หรือจะใช้เป็นทางแสวง หาโลกุตรทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่นิพพานก็ได้ ทีนี้เราจะดูประโยชน์อันใหญ่หลวงของอริยทรัพย์กัน ผมอยากจะระบุข้อแรกว่า ประโยชน์ใหญ่หลวงสูงสุดประเสริฐที่สุดของอริยทรัพย์มันมีอยู่ตรงที่ มันป้องกันไม่ให้ทรัพย์ใดๆเกิดเป็นพิษเป็นโทษอันตรายขึ้นแก่เจ้าของ พูดภาษาโศกกะโดกหน่อยก็ว่า ป้องกันไม่ให้ทรัพย์สมบัตินั่นมันเล่นงานเจ้าของ ถ้าไม่มีทรัพย์ที่เป็นอริยทรัพย์นี่แล้ว ไอ้ทรัพย์สมบัติทั้งหลายอย่างโลกๆ ที่มีไว้นั่นมันจะกัดเอาเจ้า ของ ยังมีคำตรัสไว้ว่าคนมีโคก็เป็นทุกข์เพราะโค คนมีนาก็เป็นทุกข์เพราะนา คนมีบุตรก็เป็นทุกข์เพราะบุตร อย่างนี้เป็นต้น นี่หมายความว่าชาวบ้านตามธรรมดาสามัญ โดยเฉพาะในสมัยพุทธกาลอินเดียนั่น ก็ยกเอาไอ้นาไอ้ทรัพย์สมบัติขึ้นมา ที่จะนำมาซึ่งข้าวเปลือกเป็นใหญ่ ไอ้โคอะไรต่างๆ นี่มันก็เพื่อใช้ในการทำนา ถ้ามีโคก็เป็นทุกข์เพราะโค ถ้ามีนาก็เป็นทุกข์เพราะนา มีข้าวเปลือกก็เป็นทุกข์เพราะข้าวเปลือก ทรัพย์สมบัติอย่างนั้นที่เป็นของใกล้ชิดเข้ามา เช่นมีบุตรก็เป็นทุกข์เพราะบุตร มีภรรยาก็เป็นทุกข์เพราะภรรยา มีสามีก็เป็นทุกข์เพราะสามี นี่ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นมันกัดเอาเจ้าของเข้าแล้ว แต่ถ้าว่ามีอริยทรัพย์มันจะป้องกันได้ ไม่ให้ทรัพย์ชนิดนั้นมันกัดเอาเจ้าของเข้า ในความรู้ที่ถูกต้องในทางธรรมะที่เป็นอริยทรัพย์ทั้งหลาย ถ้ามีแล้วมันก็ป้องกันความทุกข์ได้ ถึงแม้จะมีทรัพย์ภายนอกสักเท่าไหร่มันก็ไม่เป็นทุกข์ แต่ถ้ามีทรัพย์ภายในแล้ว คนก็รู้จักมีทรัพย์ภายนอกแต่พอสมควรแต่พอเหมาะสม มันไม่บ้าเอามาทำให้มีความยุ่งยากลำบาก คิดดูสิว่าถ้าเรามีอะไรมากเกินไปเราจะเป็นอย่างไร เราก็ลำบากเรื่องการรักษาดูแล แล้วประโยชน์ที่ได้รับมันก็ไม่มากไปกว่าที่ชีวิตมันต้องการอย่างจำ เป็น ขอให้มองดูกันในแง่นี้จึงจะรู้จักค่า หรือประโยชน์ หรืออานิสงฆ์ของสิ่งที่เรียกว่า อริยทรัพย์ ถ้าเราดูกันต่อไปอีกก็จะเห็นต่อไปว่า คนธรรมดาสามัญปุถุชนนี่ก็ต้องการทรัพย์ อย่างโลกียทรัพย์ ถ้าเป็นสัตตบุรุษเป็นอริยสาวก ก็ต้องการแต่อริยทรัพย์ มีเรื่องในพุทธประวัติเล่าไว้ว่า พระนางพิมพาหรือยโสธารา เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็ได้ส่งพระราหุลบุตรชายน้อยๆ นั้น ไปทูลขอมรดกจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านก็ให้ทรัพย์อย่างที่พระพุทธเจ้ามีให้คืออริยทรัพย์ และในที่สุดพระราหุลก็ได้กลายเป็นพระอรหันต์ไป ไม่มีเรื่องแก้วแหวนเงินทองทรัพย์สมบัติราชสมบัตินี่เลย แต่พระนางพิมพาเป็นคนธรรมดาเหมือนกับชาวบ้านธรรมดา ก็ส่งโอรสนี่ให้ไปขอทรัพย์สมบัติอย่างธรรมดา แต่พระพุทธเจ้าท่านประทานให้อย่างอื่น คิดดูก็แล้วกัน นี่คือความที่มันเล่นตลกกันอยู่ในระหว่างทรัพย์อย่างโลกๆ กับทรัพย์อย่างอริยทรัพย์
คราวนี้สรุปความว่าคนธรรมดา มันก็รู้จักแต่ทรัพย์ธรรมดาว่าประเสริฐสูงสุดอย่างยิ่ง แต่เมื่อเป็นผู้รู้ เป็นผู้รู้สึกอะไรบ้างแล้ว มันจึงจะเห็นว่ามันมีทรัพย์อย่างอื่นอีก ซึ่งมันดีกว่าที่มนุษย์ควรจะได้และเป็นทรัพย์จริงๆ ส่วนทรัพย์สมบัติแก้วแหวนเงินทอง วัวควายไร่นานี่มันเป็นเพียงอุปกรณ์เล็กๆ น้อยๆ ถ้าเทียบกันกับทรัพย์สูงสุดคืออริยทรัพย์แล้ว ทรัพย์สมบัติเรือกสวนไร่นานี่ มันจะเป็นขยะมูลฝอยไปก็ได้ในที่สุด อย่างมากมันก็เป็นเพียงอุปกรณ์มีชีวิตอยู่ได้ไม่ตาย แต่ที่จะให้ชีวิตมันประเสริฐมีค่า มันเป็นเรื่องของอริยทรัพย์ นั่นคือคุณธรรมคุณสมบัติ แต่คนก็ไปหลงกันอย่างหลับหูหลับตา คือไปหลงในทรัพย์สมบัติข้างนอกๆ จนรบราฆ่าฟันกันไม่หยุดไม่หย่อน เพราะว่า (นาทีที่ 38:15) ทรัพย์ไปหลอกลวงนี่ ทรัพย์เหล่านี้เป็นเพียงเครื่องอุปกรณ์ให้สะดวกแก่การเป็นอยู่หรือการมีชีวิต แต่คำพูดของพระเยซูมีไว้อย่างน่าฟังว่า แม้แต่นกกระจิบนกกระจอกมันก็ยังไม่อดตาย แล้วทำไมคนจะต้องไปเป็นห่วงเรื่องทรัพย์สมบัติกันนัก หรือว่าดูแต่คนบางคนที่เป็นฆราวาสนี่ ยังไม่พูดถึงพระนะ ที่เป็นฆราวาสนี่เขาไม่มีทรัพย์สมบัติอะไร บางทียังเป็นสุขเสียยิ่งกว่าคนที่มีทรัพย์สมบัติมาก เขาเป็นลูกจ้างหรือเป็นคนขอทาน มีชีวิตไปวันๆ หนึ่งโดยไม่มีการสะสมทรัพย์ ก็ยังมีความสุขกว่าเศรษฐีมหาเศรษฐีที่มีภาระท่วมหัวท่วมหู เหมือนกับว่านอนอยู่ในความทุกข์ เพราะฉะนั้นอย่าไปหลงไอ้เรื่องทรัพย์ให้มันเกินความเป็นจริง ทีนี้ผู้ที่สละทรัพย์สมบัติแล้วอย่างบรรพชิตทั้งหลาย ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรเลยนอกจากบาตรใบเดียวนี่สำหรับใส่อาหารกิน กลับจะมีความสุขยิ่งกว่าราชามหาจักรพรรดินั่นเสียอีก มันมีคำกล่าวไว้อย่างนี้ อภิ ปัทมาทายะ อันนารารังปริปเช อย่างนี้หมายความว่า มีแต่บาตรไม่มีทรัพย์สมบัติไม่มีบ้านเรือน (อันยังสหิง อปิรเช รัตตังวรัง นาทีที่ 40:24) ไม่เบียดเบียนใครอยู่ อหิงสยัง ไม่เบียดเบียนใครอยู่ นั่นประเสริฐกว่าราชสมบัติ ก็หมายถึงนักบวชมีแต่บาตร มีชีวิตอย่างอนาคาริก (นาทีที่ 41:01) กลับดีกว่าราชสมบัติของจักรพรรดิ มันก็เป็นสิ่งที่ทำได้จริงและมีอยู่จริง แต่คนไม่ค่อยชอบหรือว่าทำไม่ได้ มันทำไม่ถึงมันก็ไม่ชอบ นี่หมายถึงทรัพย์สมบัติประเภทที่เป็นอริยทรัพย์ทั้งนั้น ถ้าดูกันในแง่เบ็ดเตร็ดต่อไปอีก มีกล่าวไว้ในบาลีในคัมภีร์มากมายเหลือ เกิน เพราะอริยทรัพย์นี่มันเป็นทรัพย์ที่ใครมาแย่งเอาไปไม่ได้ ไอ้ทรัพย์ธรรมดานี่มันพร้อมที่จะมีใครแย่งเอาไปหรือแย่งเอาไปได้ ก็ทำให้เจ้าของนอนไม่หลับ เป็นห่วงวิตกกังวลที่ว่าจะมีใครมาแย่งเอาไป เป็นเจ้าของวัวเจ้าของควายนอนไม่หลับ เพราะกลัวขโมยมันจะมาแย่งเอาไป หรือแม้แต่ที่มันเก็บไว้ในหีบหรือว่าในธนาคารนี้ มันก็ยังนอนเป็นห่วงอยู่ว่ามันจะมีใครมาแย่งเอาไปได้ ปล้นเอาไปได้ หรือฉ้อโกงเอาไปได้ด้วยวิธีที่แยบคาย ฝากไว้กับธนาคารก็ยังมีคนมาหลอกลวง ให้มันเกิดการกระทำที่ให้สูญหายไปได้ นี่ก็เรียกว่าไอ้ทรัพย์
วัตถุเหล่านี้มันพร้อมเสมอที่ว่าจะมีอะไรมาแย่งเอาไปได้ หรือทำลายเสีย เดี๋ยวน้ำท่วมเดี๋ยวไฟไหม้เดี๋ยวอะไรต่างๆ กระทั่งว่าที่มันร้ายกาจที่สุดก็คือ บางทีไอ้ญาตินั่นเองเขาก็มาแย่งเอาไปโดยวิธีอุบาย ฆ่าคนนั้นให้ตายเสียแล้วก็แย่งเอาไป หรือที่เป็นเอามากมายกว่านั้นก็คือว่า ไอ้ลูกนั่นเองมันมาฆ่าพ่อแม่เสีย เพื่อจะเอาราชสมบัติหรือเอาสมบัติต่างๆ ทรัพย์ตามธรรมดามันเป็นอย่างนี้ ส่วนอริยทรัพย์นั้นมันไม่มีทางที่ใครจะแย่งเอาไปได้ แม้จะท้าทายว่า เอ้า, มึงแย่งเอาไปซิ มันก็แย่งไปไม่ได้ นี่เรียกว่าอริยทรัพย์ไม่มีใครแย่งเอาไปได้ จะดูอีกแง่หนึ่ง อริยทรัพย์เป็นทรัพย์ที่ติดอยู่กับตัวตลอดเวลา ไม่ต้องเก็บไว้ในหีบไม่ต้องฝากไว้ที่ธนาคาร มันติดอยู่กับตัวตลอดเวลาที่กายที่วาจาที่ใจนี่ แล้วก็ไม่ต้องมีอาการเหมือนกับแบกหามให้มันหนัก เหมือนกับว่าเราแบกเงินแบกทองแบกของให้มันหนัก ไม่ต้องแบกแล้วมันก็ประหลาดที่ว่ามันติดอยู่กับตัวตลอดเวลา มันอยู่ในใจมันจึงคุ้มครองได้ในที่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าที่ไหนไม่ว่าเมื่อไร เพราะมันติดอยู่กับใจ มันคุ้มครองใจไม่ให้เกิดเป็นทุกข์ขึ้นมาได้ นี่เรียกว่าติดตัวอยู่ตลอดเวลา ที่เขามองกันอีกแง่หนึ่งเขาพูดว่า มันเป็นทรัพย์ที่พาไปได้ทุกหนทุกแห่ง นี่เป็นคำพูดคำสอนในทางศีลธรรม ที่ทำให้คนเราพยายามสร้างทรัพย์อันนี้ โดยบอกให้ทราบว่ามันติดตัวไปได้ ไม่ว่าจะไปไหนแม้แต่จะตายไปแล้ว ไปเกิดในภพไหนอย่างไรทรัพย์นี้มันก็ติดตามไปได้ อย่างที่เขาเรียกว่าบุญนี่ บุญมันก็ติดตามไปได้ ไม่ว่าจะไปเกิดในภพไหนชาติไหน ในภาษาศีลธรรมมันก็หมายความว่า เข้าลงโลงไปแล้ว (นาทีที่ 45:40) มันก็ไปเกิดที่นั่นที่นี่ จะไปเกิดเป็นทุกข์คติสุขคติอะไรก็ได้ ไอ้ทรัพย์ที่สร้างไว้นี่มันติดไปได้ มันจึงน่าปรารถนารวมจิตไปได้ทุกหนทุกแห่ง พูดอย่างสมมุติหน่อยมันก็เป็นของเราอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าผู้มีปัญญาเขาไม่มองกันอย่างนั้นนะ เขามองไกลกว่านั้นสูงกว่านั้นคือ อริยทรัพย์นี่ทำให้ชีวิตนี้เป็นชีวิตที่แท้จริง ชีวิตมันแปลว่า เป็นอยู่ ถ้าเป็นอยู่จริงมันต้องสดชื่นต้องสดใสไม่ใช่เหี่ยวแห้ง ถ้าอยู่อย่างซูบซีดเหี่ยวแห้งเหมือนที่อยู่กันโดยมากนี่ อย่างน้อยก็ร้อนใจอยู่นี่ อย่างนี้ไม่ใช่ชีวิต ควรจะเรียกว่าตายแล้วมากกว่า ใครอยู่ด้วยความเหี่ยวแห้งเร่าร้อนเรียกว่ามันไม่มีชีวิตแล้ว ในภาษาศาสนาเขาเรียกว่ามันตายแล้ว มันต้องเกิดใหม่ มันต้องสลัดความเหี่ยวแห้งเร่าร้อนวู่วามด้วยกิเลสมันออกไปซะก่อน มันจึงจะเรียกว่ามีชีวิตที่แท้จริง ไอ้อริยทรัพย์มันทำให้เกิดชีวิตอย่างนี้ หรือแม้แต่จะเล็งกันถึงในชีวิตเนื้อหนังร่างกายไม่ ไม่ตายโดยทางกายนี่อริยทรัพย์ก็จะช่วย เพราะว่าถ้าเรามีธรรมะจริง มันก็เจ็บไข้ได้ป่วยน้อยหรือมันก็ไม่เจ็บเอาซะเลย หรือว่าเจ็บขึ้นมามันก็หายไปได้ มันป้องกันแม้แต่ชีวิตทางเนื้อหนัง มันสงวนไว้ได้แม้ชีวิตทางเนื้อหนัง ชีวิตทางธรรมทางวิญญานนั้นมันก็ยิ่งมีประโยชน์ ยิ่งป้องกันไว้ได้ยิ่งรักษาไว้ได้ ให้มันเป็นชีวิตที่แท้จริงเป็นชีวิตอมตะไปในที่สุด อมตะแปลว่าไม่ตาย ไม่ตายนั่นแหละคือชีวิตจริง อริยทรัพย์มันต้องให้รู้จักชีวิตอมตะ คือชีวิตที่ไม่ตายจริงๆ คือทำให้พ้นจากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกู ว่าสัตว์ว่าบุคคลตัวตนเราเขา มันก็เลยไม่ต้องมีอะไรตาย มีแต่ธรรมชาติล้วนๆ เปลี่ยนแปลงไป ใครจะเรียกว่าความเกิดความแก่ความเจ็บความตายก็ได้ แต่มันเป็นของธรรมชาติมันไม่ใช่ของกู เพราะฉะนั้นกูจึงไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายเพราะมันไม่มีกู
ฉะนั้นจะสรุปความกันให้ดีกว่านี้ก็ว่า อริยทรัพย์น่ะมันทำให้เราไม่เสียทีที่เกิดมา ทรัพย์ที่ทำให้คนคนนั้นไม่เสียทีที่ได้เกิดมานั้นเรียกว่า อริยทรัพย์ ถ้าเกิดมาไม่ได้ทรัพย์นี้ก็เรียกว่าเสียทีที่เกิดมา เสียชาติเกิด ถ้าใครรู้สึกอย่างนี้บ้าง ถ้าเขารู้สึกอย่างนี้เขาก็คงแสวงหาอริยทรัพย์กันทั้งนั้นแหละ ขยันขันแข็งกันในการหาอริยทรัพย์ นี่มันกำลังแสวงหาไอ้ทรัพย์ที่เศร้าหมอง ที่ทำความเศร้าหมองให้บุคคลผู้แสวงนี่เป็นอยู่เป็นควัน ที่เขาเรียกว่ากลางคืนอัดควันกลางวันเป็นไฟ ล้วนแต่แสวงหาไอ้ทรัพย์ที่แผดเผาเจ้าของ ได้แล้วก็ไม่ทำให้ดีวิเศษอะไรไปกว่า ว่ามันเกิดมาเพื่อยุ่งเพื่อวุ่นวายเพื่อเศร้าหมอง แต่เมื่อไม่รู้สึกมันก็ไม่นึกว่าเสียหายอะไร ไม่นึกว่าเสียชาติเกิดเลย กลับเห็นว่านี่นะดีที่สุดแล้ว เราขยันขันแข็งตัวเป็นเกลียวอาบเหงื่อต่างน้ำ ได้ทรัพย์สมบัติมาเก็บไว้มากๆ ให้ลูกให้หลานต่อไป นี่เขาว่าดีที่สุดแล้ว ไม่เสียชาติเกิดแล้ว ก็ถูกเหมือนกัน แต่มันถูกอย่างภาษาคน ภาษาชาวบ้าน ภาษาโลกๆ ไม่ถูกอย่างภาษาพระอริยเจ้า ถ้าให้ถูกอย่างภาษาพระอริยเจ้า เกิดมาทีหนึ่งมันต้องได้สิ่งสูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้ คือได้อริยทรัพย์ ก็ได้มากขึ้นไปมากขึ้นไปจนถึงอมตะ คือความไม่ตาย อริยทรัพย์จึงมุ่งหมายให้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์พึงจะได้ ก็ให้ไปคิดไปนึกดู แล้วพร้อมทั้งเหลือบดูตัวเองเหลือบดูคนอื่นด้วยกันทั้งโลกว่า กำลังแสวงหาทรัพย์ชนิดไหนกันอยู่ กำลังสะสมทรัพย์ชนิดไหนกันอยู่ ดูดีๆ เรากำลังสะสมทรัพย์ที่จะกัดเจ้าของเท่านั้นใช่ไหม เพราะว่าเราไม่มีเครื่องคุ้มครองป้องกันคืออริยทรัพย์ เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้วก็จะได้เปลี่ยนวิถีทางซะบ้าง ให้เกิดมาทีหนึ่งให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ นี่ก็เลยอยากจะพูดในเรื่องเฉพาะหน้าเดี๋ยวนี้กันซะบ้าง ว่าคุณบวชระหว่างปิดภาคอย่างนี้ แล้วก็มาขอรับการศึกษาอบรมที่นี่ นี่มันเป็นการแสวงหาอะไร บางองค์อาจจะเป็นผู้ที่มีความคิดว่า เอ้า, เรามาหาความรู้ที่พิเศษออกไปจะได้ไปเรียนดี จะได้คะแนนดี จะได้สึกออกไปจะได้รับเงิน อ่า, จะได้รับประโยชน์รายได้ดีอย่างนี้ก็ได้ อย่างนี้ล่ะก็ไม่ใช่แสวงหาอริยทรัพย์ ถ้าบวชแล้วมาที่นี่ มานั่งศึกษาแสวงหากันอยู่อย่างนี้ เพื่อให้เข้าใจให้รู้จักสิ่งที่พิเศษคือธรรมะที่ทุกคนควรรู้จัก อย่างนั้นก็ได้อริยทรัพย์ เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่าแม้บวชวิ่งมาที่นี่ก็เพื่อแสวงหาอริยทรัพย์ แต่กลับไปที่ไหนก็จะแสวงหาอริยทรัพย์ เป็นผู้รู้จักอริยทรัพย์และแสวงหาอริยทรัพย์อยู่ ที่ถูกมันควรจะเป็นอย่างนี้ แต่ว่าตามความข้อเท็จจริงมันไม่เป็นอย่างนี้เลยก็ได้ เพราะว่าพระเณรที่อยู่ที่นี่มันไม่ได้แสวงหาอริยทรัพย์เลยก็มี เพราะมันไม่รู้จัก แต่ว่าเราก็ได้พยายามที่จะทำให้รู้จัก พยายามพูดจาชี้แจงชักจูงพร่ำสอนไว้อยู่เสมอ เพื่อให้มันได้รู้จักอริยทรัพย์ และก็ให้มันใกล้ๆ อริยทรัพย์เข้าไปเรื่อยๆ นึกดูถึงคำว่า โมกขพลาราม น่าจะเข้าใจความมุ่งหมายอันนี้ โมกขแปลว่าหลุดพ้น พละแปลว่ากำลัง อารามแปลว่าป่า ป่าไม้ คือสภาพของวัดนี้เขาเรียกว่าอาราม อารามเป็นกำลังแก่การหลุดพ้น เพราะฉะนั้นความมุ่งหมายความหลุดพ้นเบื้องหน้านี่คือ ที่อยู่ที่อาศัยของบุคคล ผู้มุ่งหมายต่อความหลุดพ้นในเบื้องหน้าเรียกว่า สวนโมกข เป็นที่จัดขึ้นไว้สำหรับสะดวกแก่การสะสมอริยทรัพย์ มุ่งหมายให้เกิดความสะดวกในส่วนนี้ นี่เป็นเรื่องฝ่ายธรรมะฝ่ายวิญญานฝ่ายจิตใจ ไม่ใช่เรื่องฝ่ายวัตถุขอให้เข้าใจให้ดีๆ ให้ถือ (นาทีที่ 55:12) เอาประโยชน์อันนี้ได้ ถ้าหากว่าในโลกนี้หรือว่าในบ้านเมืองนี้ของเราก็ตาม มีการกระทำอย่างนี้กันให้มากๆ มีสำนักหลักแหล่งที่ช่วยให้เกิดการกระทำอย่างนี้กันมากๆ บ้านเมืองของเราก็จะร่ำรวยไปด้วยอริยทรัพย์ แล้วก็จะไม่มีอุปัทวสิ่งเลวทรามทั้งหลาย โดยเฉพาะเช่นการเบียด เบียนซึ่งกันและกัน ดังที่ปรากฎข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างน่าขยะแขยง มันก็มีไม่ได้เพราะมันมีอริยทรัพย์คุ้ม ครอง บุคคลก็อยู่กันผาสุก สังคมทั้งหลายก็อยู่กันผาสุก เพราะมันมีทรัพย์ชนิดนั้นคุ้มครอง ทีนี้เมื่อถามว่าเขากำลังแสวงหาทรัพย์ชนิดไหนกันอยู่ เราก็เห็นชัดๆ อยู่แล้ว จากหลักฐานพยานเหล่านั้นว่าเขากำลังก้มหน้าก้มตาแสวงหา และกอบโกยทรัพย์สมบัติชนิดที่จะทำให้เกิดความเศร้าหมอง คือกิเลส แล้วก็เบียดเบียนกันด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสิ่งที่น่าสังเวช ดังนั้นถ้าว่าใครผู้ใดเขาอยากจะทำให้ชีวิตนี้มันมีประโยชน์ถึงที่สุดสูงสุด มันก็ต้องสนใจอริยทรัพย์ ไม่มีทางอื่น นี่ผมพูดเรื่องทรัพย์ในวันนี้ ก็ทรัพย์ที่ควรสะสม ก็หมายถึงทรัพย์อันนี้ ให้สรุปความให้ถูกต้องว่า ทรัพย์นั่นมันเป็นเครื่องปลื้มใจ แต่มันไม่ใช่เครื่องปลื้มใจของคนโง่ คนโง่มันก็ปลื้มใจด้วยของโง่ ด้วยความโง่ ด้วยสิ่งเศร้าหมอง เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ถ้าเป็นสัตตบุรุษ หรือเป็นบัณทิต มันก็สะสมแต่เครื่องปลื้มใจอย่างแท้จริง ที่ควรปลื้มใจในชีวิตนี้มันสดชื่นแจ่มใสกระทั่งไม่รู้จักตาย ไม่รู้จักทุกข์ เป็นทรัพย์ที่ควรสะสม ขอยุติการบรรยายเพราะว่าสมควรแก่เวลาไว้เพียงเท่านี้