แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นักศึกษาผู้มีความสนใจแต่ในธรรมทั้งหลาย การบรรยายในครั้งที่แล้วมาได้พูดกันโดยหัวข้อว่าความเข้าใจถูกเกี่ยวกับพระสัทธรรมและความเข้าใจถูกเกี่ยวกับพระคัมภีร์ทางศาสนา ในวันนี้จะได้กล่าวต่อไปโดยหัวข้อว่า ความเข้าใจถูกเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าศาสนานั่นเอง
หัวข้อนี้ก็เป็นหัวข้อที่ควรจะนับ ที่ควรจะนับว่าเป็นหัวข้อใหญ่ครอบงำครอบคลุมทั่วไปหมด โดยคำว่าศาสนาเพียงคำเดียวมันก็ย่อมจะกินความถึงทุกสิ่งที่มันเนื่องกันอยู่กับพระศาสนานั้น ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงตัวศาสนามันก็ย่อมเกี่ยวกันกับสิ่งที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับศาสนาโดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง ซึ่งก็มีเรื่องมากอยู่เหมือนกัน ที่เราก็จะพูดกันเฉพาะที่มันควรจะถือว่าเป็นใจความสำคัญ
ขอให้คอยกำหนดไว้ให้ดีๆ การเข้ามาบวชนี้ก็โดยหวังว่าจะได้รับประโยชน์โดยเฉพาะคือการมีความรู้ทางศาสนาเพื่อจะไปใช้เป็นประโยชน์ตลอดไป คือจนตลอดชีวิต ในเรื่องเกี่ยวกับส่วนตัวแท้ๆ มันก็มีอยู่ส่วนหนึ่ง คือไม่ต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่น เกี่ยวข้องกับเราโดยตรง โดยเฉพาะแต่ผู้เดียว ถ้าเราทำผิดมันก็หาความสงบสุขไม่ได้ แล้วส่วนนี้ก็เป็นส่วนสำคัญอยู่ในข้อที่ว่ามันเกี่ยวกับธรรมชาติที่ปรุงกันขึ้นมาเป็นคนๆ หนึ่ง รวมทั้งชนิดที่เป็นวัตถุคือส่วนที่เป็นร่างกาย และส่วนที่เป็นนามธรรมคือเป็นเรื่องของจิตใจ ถ้าทำผิด ผิดหลักของธรรมชาติ มันก็มีความไม่ปกติก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา ไม่ได้เกี่ยวกับบุคคลอื่นเลย ดังนั้นส่วนที่มันเกี่ยวกับเราคนเดียวมันจึงหนักไปทางเรื่องของธรรมชาติ
ที่นี้ส่วนที่สองที่เกี่ยวกับบุคคลอื่นภายนอกจากตัวเราออกไป ซึ่งควรจะเรียกว่าเป็นเรื่องของสังคมนี้ก็มีขอบเขตกว้างขวาง นับตั้งแต่สังคมใกล้ๆ เช่น เราจะต้องอยู่ร่วมเรือนเดียวกันกับใครบ้าง นับตั้งแต่บิดามารดาเป็นต้นไป กระทั่งถ้ามีเหย้าเรือนก็มีสามีภรรยา รวมเรียกว่าเรื่องในครอบครัว นี่ก็เป็นพวกที่นอกจากตัวเรา เป็นเรื่องทางสังคม ตลอดไปจนถึงในหมู่บ้าน ในประเทศ หรือในโลก ที่เกี่ยวข้องกันกับเรา ก็เป็นสังคมที่กว้างออกไป เรื่องมันก็เพิ่มขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง คือนอกจากจะเป็นเรื่องตามธรรมชาติ หรือทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติแล้ว ยังต้องทำให้ถูกต้องกับจิตใจของบุคคลอื่นอีกด้วย ส่วนนี้มันส่วนที่เพิ่มเข้ามา ก็มีความยากลำบากเพิ่มขึ้นอีก
รวมความว่าส่วนตัวเรามันก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติแต่ภายในล้วน ถ้าเกี่ยวกับสังคมมันก็ต้องยังถูกต้องตามธรรมชาติด้วย ถูกต้องกับจิตใจของผู้อื่นด้วย สำหรับสิ่งที่เรียกว่าศาสนานั้นก็มุ่งหมายที่จะมีไว้สำหรับแก้ปัญหาเหล่านี้ นี่ก็เรียกว่าความเข้าใจถูกต้องต่อสิ่งที่เรียกว่าศาสนาเป็นประการแรก
คืออย่าเก็บเอาศาสนาไว้เพื่ออย่างอื่น เพื่อทำหน้าที่อย่างอื่น เพื่อประโยชน์อย่างอื่น มันต้องมีศาสนาไว้ในฐานะเป็นสิ่งที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ ถ้าแก้ปัญหาส่วนตัวได้ก็บรรลุมรรคผลนิพพานไปได้ แก้ปัญหาสังคมได้ก็อยู่กันด้วยความผาสุกเป็นวงกว้างออกไป ฉะนั้นความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับตัวสิ่งที่เรียกว่าศาสนานั้น ในชั้นแรกจะต้องดูกันที่นี่ก่อนว่าได้แก่สิ่งที่จะแก้ปัญหาทั้งโดยส่วนตัวและส่วนสังคมได้นั่นเอง ทีนี้เราก็ดูให้มันละเอียดออกไป ในศาสนาหนึ่งๆ ก็มีความมุ่งหมายอย่างนี้ทั้งนั้น มันก็เป็นอันว่าเหมือนกันทุกศาสนาก็แล้วกันโดยหลักใหญ่ๆ ที่อยากจะเอามาพูด ๓ เรื่องด้วยกัน ที่มันเกี่ยวข้องกัน
ตัวศาสนาแท้ๆ ก็แจกออกเป็นพวกปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เหมือนที่ได้เคยพูดมาแล้ว โดยภาษาธรรมดาๆ ก็คือว่าไอ้เรื่องเรียน ให้รู้แล้วก็ปฏิบัติให้ได้ ก็มีผลของการปฏิบัติขึ้นมาตามนั้นจริงๆ เรื่องเรียนเขาเรียกว่าปริยัติ เรื่องทำลงไปจริงๆ ก็เรียกว่าปฏิบัติ ได้ผลขึ้นมาก็เรียกว่าปฏิเวธ ถ้าคำบาลีเหล่านี้ถ้ามันยุ่งนักก็ไม่จำก็ได้ จำเอาแต่เพียงว่ามันต้องเรียนให้รู้ ต้องปฏิบัติให้ได้ แล้วก็ให้ได้ผลอย่างถูกต้องจริงๆ ถ้าจำไว้ได้ก็ดี ไอ้คำบาลีทั้งหลายก็มีประโยชน์อีกทางหนึ่ง
ทีนี้เกี่ยวกับการเรียนก็เรียนเพื่อปฏิบัติ ก็ได้ผลของการปฏิบัติ เรื่องการเรียนก็ต้องเรียนให้ครบชุดของเรื่องที่จะต้องเรียนหรือต้องปฏิบัติ ทีนี้เขาก็แจกเป็นเรื่องทางศีล สมาธิ ปัญญา เรื่องที่แรกก็เรื่องศีล ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เกี่ยวกับร่างกายและเกี่ยวกับสิ่งที่มันเนื่องกันอยู่กับร่างกายโดยตรง เช่นการพูดจา เรื่องศีลนี่ก็ต้องมีเรื่องการกระทำทางกายและทางวาจาให้มันถูกต้อง
ไอ้เรื่องสมาธิก็เป็นเรื่องทางจิต ให้มีการกระทำทางจิตโดยตรงที่มันถูกต้อง เรื่องที่ ๓ มันเป็นเรื่องปัญญา คนโดยมากก็เข้าใจกันว่าก็เป็นเรื่องทางจิต ก็ปัญญามันต้องรู้ ต้องเกิดกับจิต ที่จิต อย่างนี้มันไม่ตรง มันมีความหมายอย่างอื่น เรื่องของปัญญาก็เรื่องของความรู้ ความคิด ความเชื่อ ที่มันอาศัยจิตอยู่แต่ไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตโดยตรง ถ้าได้ยินคำว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ต้องรู้ว่าเรื่องที่หนึ่งเขาระบุไปยังกายวาจา เรื่องที่สองระบุไปที่จิตโดยตรง เรื่องที่สามระบุไปยังความรู้ ความคิด ความเห็น ความเชื่อ อะไรต่างๆ ที่มันเนื่องกันอยู่กับจิต แต่ไม่ใช่ตัวจิต
ดังนั้นจึงมีเรื่องปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ครบเป็นคู่กันอยู่ ปริยัติเรื่องศีลก็ต้องเรียนเรื่องศีลให้รู้อย่างถูกต้อง ถ้าปฏิบัติเรื่องศีลให้ถูกต้องให้มีผลเกิดจากศีลขึ้นมาอย่างถูกต้องจนรู้สึกรู้จักประจักษ์อยู่แก่ใจ ก็คือเรามีศีลครบถ้วนตามหลักของพระศาสนา เรามีความรู้เรื่องศีล มีการปฏิบัติเรื่องศีล และมีการได้ผลเต็มที่เกี่ยวกับเรื่องศีล รายละเอียดเรื่องศีลก็รู้กันอยู่แล้วก็ไปหาอ่านเองก็ได้
ทีนี้พอมาถึงเรื่องจิตหรือเรื่องสมาธินี่ ก็เรียนอย่างเดียวกันอีก เรียนให้รู้เรื่องของจิตแล้วก็ปฏิบัติเกี่ยวกับจิตให้ถูกต้อง ก็ได้รับผลทางจิตโดยตรงเกี่ยวกับจิตโดยตรงขึ้นมา ก็เรียกว่ามี ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธเกี่ยวกับจิตอย่างถูกต้อง มาเรียนให้รู้ว่าจิตเป็นอย่างไร มันมีการเกิดดับอย่างไร ปรุงแต่งอย่างไร เป็นไปตามอำนาจของอะไร แล้วก็ปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อให้จิตมันสงบ เป็นจิตที่สงบ ไม่เกี่ยวกับรู้แจ้งฉลาดเฉลียว อย่างจิตมันปรกติเสียอย่างหนึ่ง แล้วเพียงจิตมันมีสมรรถภาพมากที่สุดที่มันจะเป็นได้อย่างหนึ่ง ก็เรียกว่าอบรมจิต ปฏิบัติเกี่ยวกับจิตโดยตรง ทำให้มันเป็นจิตที่ดียิ่งไปกว่าจิตธรรมดา มีผลคือมีความสงบมีความสุขเป็นที่พอใจได้ แล้วก็มีสมรรถภาพ ความสามารถจะใช้กับอะไรได้ดีกว่าธรรมดา อย่างนี้ก็เรียกว่ามันหมดปัญหาเรื่องเกี่ยวกับจิต มีปริยัติเกี่ยวกับจิตคือรู้เรื่องจิตดี มีปฏิบัติเกี่ยวกับจิตก็ปฏิบัติกัน ควบคุมจิตได้ ใช้จิตให้เป็นประโยชน์ได้ แล้วก็มีผลนั้นเป็นปฏิเวธคือรู้สึกอยู่จริงๆ ว่ามันเป็นประโยชน์เป็นผลมีความสุขอะไรอย่างนี้ๆ เรียกว่าปฏิเวธ
นี่มาเรื่องที่สามที่ว่าเรื่องปัญญา ก็คือความรู้ทั่วถึงในส่วนที่ควรจะรู้ ไอ้คำนี้มันก็เกี่ยวตลอดไปถึงความเชื่อและความคิดเห็น ถ้าเรารู้อย่างไรเราก็เชื่ออย่างนี้ รู้อย่างไรเราก็จะมีความคิดเห็นไปตามแนวนั้น มันจึงเนื่องกัน ถ้าใช้คำว่าปัญญานี้จะมีคำว่า อย่างน้อยก็มีคำว่าความเชื่อหรือคำว่าศรัทธาไปตามปัญญา ก็มีทิฐิความคิดเห็นไปตามปัญญา
ถ้าปัญญามาก่อนความเชื่อหรือทิฐิจะดีจะปลอดภัย ถ้าเอาศรัทธามาก่อนปัญญามันไม่แน่ มันเชื่อผิด ถ้าปัญญามันผิดมันก็ไปกันไม่ได้ มันต้องมีปัญญาความรอบรู้อย่างถูกต้องในส่วนที่ควรจะรู้ เห็นชัดอย่างนี้แล้วไอ้ศรัทธาที่แท้จริงมันก็เกิดขึ้นตามนั้น ศรัทธาอย่างนี้ไม่มีทางที่จะงมงายได้เพราะว่ามันเป็นศรัทธาที่ออกมาจากปัญญาความเชื่ออย่างถูกต้อง ถ้ามีคนพูดถึงว่าศรัทธาความเชื่องมงายก็เป็นศรัทธาอย่างอื่นซึ่งไม่เกี่ยวอยู่กับปัญญา
ทิฐิ ความคิดเห็นนี้ก็หมายถึงความเห็นตามความรู้ที่มันรู้อยู่ เห็นอยู่เป็นปกติไม่เปลี่ยนแปลง สามารถที่จะสรุปลงไปได้ว่าเป็นหลักอย่างนั้นเป็นหลักอย่างนี้ เป็นทิฐิหนึ่งๆ ของบุคคลนั้น
สำหรับส่วนที่เป็นปัญญาอย่างนี้ก็ต้องเรียน ต้องศึกษาไว้ มีปริยัติเป็นส่วนให้เกิดปัญญา มีปฏิบัติในส่วนที่จะให้มันเกิดปัญญาขึ้นมาจริงๆ ก็มีปฏิเวธ มีความรู้อย่างถูกต้องว่าปัญญาได้เกิดขึ้นแล้วอย่างไร รู้สึกประจักษ์ชัดอยู่แก่ใจนั้น ก็จะเห็นได้ว่าในส่วนปัญญานั้นก็มีทั้ง ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ อุตส่าห์เรียนให้มันเจริญด้วยปัญญาในทางปริยัติ แล้วก็ปฏิบัติพิสูจน์ทดลองค้นคว้าไปให้มันเป็นเรื่องจริงขึ้นมาโดยการปฏิบัติ แล้วก็มีผลเป็นความรู้อย่างไร ปรากฏอยู่แก่ใจเป็นส่วนปฏิเวธ
ถ้าสังเกตดูให้ดีว่าเรามีศาสนากันในรูปไหนบ้าง ก็กล่าวได้ทั้งนั้นแหละว่ามีในรูป ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธอย่างนี้ก็ได้ หรือว่ามันมีอยู่ในรูปของ ศีล สมาธิ ปัญญา สามอย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน เพราะว่าถ้าเรามีศีล สมาธิ ปัญญา แล้วมันก็ต้องมีปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ของทั้งสามสิ่งนั้น หรือว่าถ้าเรามีปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธนี้ มันก็มีในอะไร ก็มีใน ศีล สมาธิ ปัญญา ฉะนั้นเมื่อมีการปฏิบัติอย่างถูกต้องที่ไหนมันก็มีครบอยู่ที่นั่น
อย่าเหลวไหลในเรื่องของปริยัติ เป็นจุดตั้งต้น ก็ทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีกด้วยการปฏิบัติ แล้วผลมันก็จะงอกออกมา ฉะนั้นจึงเปรียบได้อย่างนี้ว่า วิธีทางปริยัติก็เหมือนกับมีเมล็ดพืชที่ถูกที่ดี คือไม่เป็นเมล็ดพืชที่แห้งหรือที่เน่าหรือที่ไม่มีเชื้อของการงอก ซึ่งก็มีกันโดยมาก คือปริยัติกันผิดๆ ไม่ถูกเรื่อง อย่างนี้ก็เป็นเมล็ดพืชที่มันเน่าแล้ว มันแห้งแล้ว มันตายแล้ว ก็ต้องมีปริยัติที่ถูกต้อง ที่สดที่งอกได้ ปฏิบัติก็เปรียบเหมือนกับปลูกลงไปในดิน ก็เลี้ยงดูให้ดี นี่เรื่องของปฏิบัติ นานเข้าๆ มันก็ไปถึงที่เรียกว่าปฏิเวธ คือต้นไม้นั้นมันก็ออกผล ออกดอกออกผล ออกดอกมันก็มรรค ออกผลมันก็ผล ปลูกพริกปลูกมะเขือหรือปลูกอะไรก็ดู สังเกตดู มันต้องมีเมล็ดพืชแล้วก็มีการปลูกที่ดี ต้องรักษาเรื่อยไปจนมันออกดอกออกผลขึ้นมา มันสำเร็จประโยชน์อยู่ตอนนี้ มันได้ผล มีแต่เมล็ดก็ไม่มีประโยชน์อะไร จะขายก็ได้ไม่กี่สตางค์ การปฏิบัติมันก็ต้องยังไม่มีประโยชน์อะไรจนกว่ามันจะมีผลออกมา
ทีนี้การจะให้เป็นผลออกมานี่ มันมีได้ทั้งส่วนศีล ส่วนสมาธิ ส่วนปัญญา เราเรียนเรื่องศีลให้เข้าใจให้ดี ก็เหมือนกับมีเมล็ดพืช เกี่ยวกับศีลมันดีแล้ว ปฏิบัติศีลให้ดีก็คือปลูกพืชของศีลเข้าไปแล้ว ได้รับความสงบสุขอย่างยิ่งเกี่ยวกับศีล ตามอานิสงส์ที่กล่าวถึงศีล มันก็คือได้ผลของการปลูกต้นไม้ในระดับศีล
นี่เราแยกเรื่องศีลออกมาเป็นเพียงกายวาจา ทั้งที่คำว่าศีลนี่มันไปไกลได้ถึงกับหมดกิเลส เป็นนิพพานก็ได้ ถ้าถือเอาความหมายคำว่าศีลคือความปรกติ ไม่มีโกลาหลวุ่นวาย ระส่ำระสายทุกข์ร้อนอะไรเกิดขึ้น คำว่าศีลมีลักษณะอย่างนี้เป็นพิเศษอย่างนี้ก็หมายถึงนิพพาน ไม่มีกิเลสเกิดขึ้นมันก็ปรกติสงบเรียบร้อย ไม่มีกิเลสก็คือนิพพาน
ถ้าเราไม่เข้าใจว่าทั้งสองอย่าง อย่างนี้มันอาจจะมีกระทบกระทั่ง คือบางคนจะยึดมั่นแต่ว่าศีลก็แค่ศีล แค่กายวาจาไม่มีอะไรมากกว่านั้น มันก็ถูกเหมือนกันเพราะเขาได้จำกัดไว้เพียงเท่านั้นในการศึกษาเล่าเรียนระบอบหนึ่งเท่านั้นเอง แต่มันก็มีคำประหลาดๆ ที่เราได้ยินอยู่แทบทุกวันนี้ สีเลนะสุคติง ยันติ ถึงสุขคติของศีล สีเลนะ โภคะสัมปะทา ถึงพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติก็เพราะศีล สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ถึงนิพพุตะได้ก็ด้วยศีล นิพพุตะ นั้นมันคือเย็นหรือนิพพาน ก็ด้วยศีล
บางคนก็จะค้านว่าไอ้คำพูดนี้มันไม่ถูกแล้วมันผิดแล้ว ทำให้ศีลไปถึงนิพพาน เราเข้าใจว่าผู้กล่าวคำนี้ผู้บัญญัติคำนี้จะต้องเล็งถึงศีล คำว่าศีลที่มีความหมายกว้างขวางลึกซึ้ง คือสงบปรกติถึงที่สุดในส่วนกิเลสเลย นี่เรียกว่าอานิสงส์ของศีล อย่างน้อยมันก็ทำให้มีสุขคติ คืออยู่เป็นสุข มีโภคะ ทรัพย์สมบัติเจริญ แล้วก็อยู่ในความเย็นในแบบของนิพพานในระดับใดระดับหนึ่ง เรียกว่าได้รับปฏิเวธในส่วนศีล ใครมีศีลจริงอย่างนี้ก็มีปฏิเวธในส่วนศีล คือรู้แจ้งแทงตลอดด้วยอานิสงส์ของศีลอยู่ตลอดเวลา
ที่มาถึงเรื่องของสมาธิเรื่องที่สอง ก็มีปริยัติ เรียนเรื่องสมาธิให้เข้าใจพอสมควรให้เพียงพอแก่การปฏิบัติ เราจึงจะปฏิบัติ ก็เหมือนกับเอาเมล็ดพืชของสมาธิมาปลูกเข้า ก็ทำให้มันงอกงามเลี้ยงดูให้มันงอกงามไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็บรรลุผลของสมาธิ คือความสงบที่สูงขึ้นไปจากศีล ก็สามารถใช้จิตที่ฝึกดีแล้วอย่างนั้นทำประโยชน์ได้อีกมากมายหลายแขนง
ถ้าใครเรียนเรื่องสมาธินี่ก็ต้องเรียนเรื่องจิต ว่าจิตตามธรรมดาเป็นอย่างไร มันมีปัญหาอยู่กับอะไร เมื่อศีลมันมีปัญหาอยู่กับการทำผิด มันเดือดร้อนทางกายทางวาจา แล้วสมาธินี้มันมีปัญหาอยู่ที่จิตมันทำผิด มันก็เดือดร้อนอยู่ด้วยกับจิต คือจิตมันถูกกระทบกระทั่งเรื่อยด้วยกิเลสธรรมดาสามัญเป็นปรกติ แต่มักจะเรียกกันเสียว่านิวรณ์ นิวรณ์ ๕ อย่าง ความรู้สึกในทางกาม ความรู้สึกในทางพยาบาทโกรธแค้น ความรู้สึกในทาง เกี่ยว..........(นาทีที่ 26:55) ความรู้สึกทางฟุ้ง ความรู้สึกไปในทางไม่แน่นอน คือลังเล ไม่แน่ใจลงไปได้ ห้าอย่างนี้เรียกว่านิวรณ์ ไปหาอ่านรายละเอียดอ่านดูศึกษาดูในเรื่องราวนั้นๆ มีอยู่แล้ว แม้อยู่แต่ในแบบเรียนนักธรรม
อย่างนี้เรามาดูว่าที่มันเป็นปัญหาเกี่ยวกับทางจิตทั่วๆ ไปแก่สัตว์ทั้งปวงไม่ยกเว้นใคร แล้วก็ไม่เกี่ยวกับความรู้ด้วย มันเป็นเรื่องของคนไม่รู้หรือของคนรู้ก็ตาม ปัญหานี้ในชั้นแรกมันจะต้องมีตามธรรมชาติ คือธรรมชาติมันเป็นผู้ปรุงขึ้นมาตามปรกติของสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติ ไม่เกี่ยวกับใครก็ได้ ไม่เกี่ยวกับศาสนาไม่เกี่ยวกับอะไรก็ได้ คนเกิดมาแล้วมันก็ต้องมีความรู้สึกในใจที่ธรรมชาติมันปรุงแต่งให้ พอจะประมวลได้เป็นพวกๆ สำคัญๆ ๕ ชนิดนี้แหละ
ฉะนั้นต้องรู้จักมันด้วยตัวเอง ด้วยใจของตนเอง ไม่ใช่ไปเชื่อคนอื่นหรือเชื่อหนังสือ เชื่อคัมภีร์ คำที่กำลังพูดนี่ไม่สำเร็จประโยชน์หรอก ทุกคนต้องไปดูภายในที่จิตว่ามันมีอย่างนี้อยู่จริงๆ อย่างไร ทั้ง ๕ อย่างนี้มันมีอยู่จริงๆ อย่างไรในวันหนึ่งๆ มันจะพูดบ้างก็เพียงแต่ให้รู้จักดู รายละเอียดลงไปดูเอาเอง ต้องเห็นเองเห็นแทนกันไม่ได้
นิวรณ์ที่หนึ่ง กามฉันทะ คุณก็นึกถึงเวลาที่ความรู้สึกเป็นไปในทางเพศที่ตรงกันข้าม เพราะว่าธรรมชาติมันก็ได้ใส่ไอ้ต้นเหตุหรืออุปกรณ์หรือปัจจัยหรืออะไรที่เกี่ยวกับความรู้สึกทางเพศนี้มาในคนในสัตว์ มีชีวิตนี่เสร็จมาแล้วตามธรรมชาติตามหน้าที่ของธรรมชาติ ถ้าธรรมชาติไม่ได้ใส่สิ่งนี้มาให้ก็ไม่มีเรื่องเพศก็ไม่มีการสืบพันธุ์ มันก็ตายกันไปหมดแล้ว แม้แต่ต้นไม้ก็ตายหมดแล้ว สัตว์เดรัจฉานก็ตายหมดแล้ว คนก็ตายหมดแล้ว มันเป็นความลึกลับของธรรมชาติขนาดที่เรียกว่าพระเป็นเจ้าก็ตามใจ มันได้ปรุงแต่งกันมาจนในลักษณะที่เรียกว่ามีเรื่องของเพศรวมอยู่ในสิ่งที่มีชีวิตด้วย ถ้าไม่อย่างนั้นสิ่งที่มีชีวิตมันมีมาไม่ได้ มันจะสืบต่อกันมาไม่ได้
จะเรียกว่าโดยบังเอิญก็ได้ ธรรมชาติมันปรุงแต่งกันหลายๆแขนง หลายๆ สาขา ส่วนที่ไม่ถูกต้องมันก็ดับไปหมดแล้วไม่มีเหลืออยู่บัดนี้ ส่วนที่ถูกต้องมันเหลืออยู่บัดนี้คือส่วนที่มันเกิดมีความเป็นเพศตรงกันข้าม แล้วก็มีการสืบพันธุ์ ต้นไม้ก็สืบพันธุ์ สัตว์เดรัจฉานก็สืบพันธุ์ มนุษย์ก็สืบพันธุ์
การสืบพันธุ์นั้นมันมีความลึกลับอัศจรรย์อยู่จนคล้ายๆ กับว่าต้องจ้าง ต้องลำบาก ก็ต้องจ้างด้วยเหยื่อคือความเอร็ดอร่อยเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ให้สิ่งที่มีชีวิตมันทนรับหน้าที่ของการสืบพันธุ์ แม้แต่ดูที่สัตว์เดรัจฉานมันก็น่าสังเวชนะ ฤดูสืบพันธุ์ มันยอมทนความทุกข์ยากลำบาก ที่จริงมนุษย์ก็น่าสังเวชเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ มันจึงต้องมีความรู้สึกที่เป็นค่าจ้างคือความรู้สึกทางเพศใส่มาให้ คนก็ทนสืบพันธุ์กันมาได้กระทั่งเดี่ยวนี้ เมื่ออวัยวะเรื่องการสืบพันธุ์มันถึงเหตุของมันแล้วมันก็ทนอยู่ไม่ได้ ต้องดิ้นรนจนมีการสืบพันธุ์
อวัยวะต่อมนั้นมันมีอยู่ในสัตว์ในคนมันก็ทำให้เกิดความรู้สึกอย่างนี้ได้ เมื่อไรก็ได้สำหรับคนที่คิดๆเก่งกว่าสัตว์ ก็ต้องถือว่ามันเป็นบาปหรือเป็นอะไรของคนนั่นเอง ที่มันมันสมองเฉลียวฉลาดคิดนึกเก่งในทางเรื่องการสืบพันธุ์ สัตว์เดรัจฉานคิดไม่เป็น มันก็มีชั่วเป็นครั้งเป็นคราวตามที่นึกต่อมแกนมันสุข แต่ว่ามนุษย์นี่มันคิดได้ นอกฤดูมันก็คิดได้ ในฤดูมันก็คิดได้ จนคล้ายๆ ว่าเป็นปรกติวิสัยมันเป็นนิสัย มันทั้งผู้หญิงผู้ชายมีความรู้สึกเกี่ยวกับเพศรบกวนอยู่ตลอดเวลาไม่มากก็น้อย ก็เป็นปัญหาเกิดขึ้น แม้ว่าจะไม่ไปทำอะไรมากไปมันก็กระวนกระวายใจ ก็ต้องไปหาวิธีแก้ไข
ก็จึงมีเรื่องทางจิตใจที่จะเอาชนะสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าไม่มีเรื่องทางจิตใจก็ต้องไปเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น ต้องไปแก้ด้วยการเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น คือไปหาสิ่งเหล่านั้น ไปกระทำสิ่งเหล่านั้น ฉะนั้นเราจะมองกันในแง่ว่าทุกคนมันจะมีกามฉันทะเป็นนิวรณ์รบกวนจิตใจอยู่เสมอจนกว่าจะพ้นขีด กี่ปีกี่สิบปีก็ไม่รู้ละ แต่เมื่อมันอยู่ในขีดนี้ก็มีความรู้สึกประเภทกามฉันทะรบกวนอยู่เสมอ นี่ก็เรียกว่านิวรณ์มารบกวนจิตไม่ให้พบกับความสงบ
มนุษย์มันเดินไปผิดทาง มันไปบูชาสิ่งนั้นเข้ามันเตลิดเปิดเปิงไปทางวัตถุนิยม เหมือนกับที่โลกมันกำลังเป็นบ้าเป็นหลังกันอยู่เวลานี้เพราะมันจัดการเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง ฉะนั้นก็มีปัญหามากเหมือนว่าทำนรกมหาศาลขึ้นใส่มนุษย์เองไปทั้งโลก ถ้าใช้ธรรมะได้มันก็แก้ปัญหานี้ได้โดยไม่ต้องลำบากยุ่งยาก
ถ้าใครสนใจก็ดูให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า กามฉันทะ ความรู้สึกเกี่ยวกับเพศตรงกันข้ามที่รบกวนจิตอยู่เสมอจนต้องมีระเบียบวินัยจัดขึ้นเพื่อสิ่งนี้โดยเฉพาะ ถ้ายังจะต้องเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้อยู่เช่นเป็นฆราวาสอย่างนี้ก็ทำให้มันพอเหมาะพอสมตามบทบัญญัติที่ได้กล่าวไว้ อย่าทำให้มันผิดมันเลยไป ถ้าเป็นบรรพชิตก็เป็นเรื่องที่ต้องทำดีกว่านั้น จะต้องขจัดออกไปโดยวิธีพิเศษ ฉลาด จึงมีเรื่องเกี่ยวกับจิตใจโดยเฉพาะสำหรับบรรพชิตที่เรียกว่าทำสมถะกรรมฐานเพื่อจะกำจัดนิวรณ์ข้อนี้ออกไป
ถึงแม้ที่เป็นฆราวาสก็ควรจะพยายามใช้วิธีการกำจัดควบคุมสิ่งเหล่านี้ให้มันมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ก็ยังดีกว่าที่ไม่ควบคุมกันเสียเลย
นิวรณ์ที่สอง มันก็ตรงกันข้ามคือพยาบาท มีอึดอัดขัดใจโกรธแค้น เพราะมันถ้ามีความต้องการแล้วก็ต้องมีความผิดหวัง หรือไม่ได้ตามต้องการหรือว่ายังไม่ทันจะได้ตามที่ต้องการ มันเกิดความรู้สึกประเภทโทสะพยาบาทอะไรขึ้นมาเป็นนิวรณ์ตัวที่สอง ถ้าไม่มีความรักไม่มีความต้องการไม่มีพวกเหล่านั้น ไอ้ความโกรธ ความประทุษร้าย พยาบาท นี่ก็มีไม่ได้ นี่ก็เลยเป็นคู่ไป
คนเรามันต้องการอะไรอยู่เสมอแล้วมันก็ไม่ได้อย่างใจ หงุดหงิดอึดอัดขัดใจเหมือนกับคนบ้าอยู่ตลอดวันตลอดคืน ก็เป็นนิวรณ์ประเภทหนึ่ง ไม่เหมือนกับประเภทแรกนั่นเป็นเรื่องกามฉันทะ เรื่องกาม พยาบาทนี่มันเรื่องไม่ชอบ เทียบกันแล้วไอ้เรื่องกามฉันทะมันเข้าไปหา เรื่องพยาบาทนั้นเป็นเรื่องดีดออกไป ไม่ชอบ
คนก็ถูกสาปตามเคยนะ พูดกันให้ชัดลงไปได้เลยว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ถูกสาปบาปหนาอย่างยิ่ง เพราะมันมีสมองที่คิดได้มากเกินไป เรื่องความโกรธนี่มากกว่าสัตว์เดรัจฉาน มันโกรธกันน้อย มันพยาบาทกันน้อย เรื่องก็ไม่มาก ไอ้คนมันคิดเก่งมันก็โกรธเก่ง โกรธลึกซึ้ง อาฆาตเหยียดยาว ฉะนั้นโอกาสที่ถูกนิวรณ์ข้อนี้รบกวนมันก็มีมากกว่าสัตว์เดรัจฉาน จนเป็นประจำวัน เดี๋ยวก็โกรธแม้แต่โกรธวัตถุสิ่งของก็โกรธได้ แม้แต่ว่าคันขึ้นมานี้มันก็โกรธได้ เกาก็ไม่หายคัน แม้เกาหายคันมันก็โกรธได้ อะไรมันไม่ไปตามที่ต้องการมันก็โกรธ วันหนึ่งๆ มันจึงมีเรื่องของนิวรณ์ที่สองคือพยาบาทนี่อยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน จิตใจนั้นมันก็ไม่สงบไม่มีความสุข ก็ต้องเรียนให้รู้เรื่องนี้ พยาบาทปฏิบัติในข้อนี้ ให้มาเอาชนะได้ ได้ผลเป็นความปรกติปราศจากนิวรณ์ มาดูให้ดีว่าคุณจะอยู่เป็นภิกษุหรือจะว่าอยู่เป็นฆราวาสมันก็หลีกไม่พ้นสิ่งเหล่านี้ ถ้าไปทำเล่นๆ มันก็หนักขึ้นทุกทีแล้ว ในที่สุดก็วินาศโดยไม่ทันรู้
ทีนี้นิวรณ์ตัวที่ ๓ ถีนมิทธะ มันเป็นความรู้สึกประเภทแฟบหรือหดหรือเหี่ยวหรือเศร้า ไม่เบิกบาน เป็นความมึนชาความละเหี่ยละห้อยแม้แต่ความง่วงเหงาหาวนอนก็เป็นเรื่องเดียวกันหมด เราไม่มีจิตใจแจ่มใส ขี้ง่วง ขี้นอน ก็มีความรู้สึกอย่างนี้ซึ่งเป็นโดยมาก จิตใจไม่เบิกบานพอที่จะทำอะไรด้วยความสดชื่นแจ่มใส มันงัวเงีย มันมัวซัวเศร้าสร้อย
แม้แต่กินอะไรเข้าไปมาก มันก็เกิดนิวรณ์ข้อนี้คือง่วงนอน นี่มันชวนจะเกิดได้ง่าย ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมะโดยทั่วไปจึงพูดถึงข้อนี้มากที่สุด ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมะจะต้องเอาชนะนิวรณ์ข้อนี้มากที่สุด ก็พอไปนั่งทำสมาธิมันก็ง่วงก็หลับไป ทำไม่ได้ ที่จะทำปัญญาพิจารณามันก็มึนชาไป จงหาวิธีกระตุ้นก็ยังลดลงไปเป็นความง่วงเป็นความละเหี่ยละห้อยเป็นความถอยกำลัง นึกถึงไอ้ความสำเร็จที่ดีมีประโยชน์มันก็เกิดกำลังกระตุ้น นึกถึงบุคคลที่ดีที่สำเร็จประโยชน์ก็เกิดกำลังกระตุ้น หรือนึกถึงจุดหมายปลายทางของสิ่งที่ตัวจะได้มันก็กระตุ้นหายง่วงหายอะไรได้ จึงต้องรู้เรื่องนี้แล้วก็ปฏิบัติเรื่องนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับจิต
อันต่อไปมันมีเรียกว่า อุทธัจจะ กุกกุจจะ มันฟุ้งเกินไป เห็นได้ง่ายเมื่อนอนไม่หลับ ความคิดเดินเรื่อยเดินพล่านไปเรื่อย จนกระทั่งเป็นโรคประสาทจนกระทั่งเป็นบ้าไปเลย ถ้ามันเลยขอบเขตของนิวรณ์ไป ไอ้ที่อยู่ในขอบเขตของนิวรณ์ ก็คือวันหนึ่งๆ เราบังคับอารมณ์นี้ไมได้ มันพล่านไปในทางที่ไม่ควรจะไปคิด คิดเกินกว่าเหตุ พวกสร้างวิมานในอากาศ หยุดไม่ได้ กลางคืนนอนไม่หลับเลย มันสนุกขึ้นมา หรือมันฟุ้งซ่านประเภทไม่มีจุดหมาย อย่างคนที่มันไม่รู้จะเรียนอะไรมันก็เรียนฟุ้งไปหมดไม่ได้อะไรสักอย่างเดียว วันหนึ่ง ๆ ทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ ก็เป็นนิวรณ์เครื่องกั้นไม่ให้ได้รับผลดี ก็ต้องรู้จักและแก้ไข
อันสุดท้าย เรียกว่า วิจิกิจฉา แปลว่าลังเล อันที่สี่เรียกว่า อุทธัจจะ กุกกุจจะ อุทธัจ แปลว่าพุ่งขึ้น กุจจะแปลว่าส่ายไป ก็เรียกว่ารำคาญ คำที่ห้าเรียกว่า วิจิกิจฉา แปลว่าลังเล ไม่ใช่ไม่มีความรู้เสียเลย มันมีความรู้นะแต่มันไม่แน่ลงไปได้ มันลังเล บางทีมันเป็นเพราะมันรู้ มันบังคับไม่ได้ เป็นความรู้ที่บังคับไม่ได้ มันก็ส่ายไปเหมือนกัน ที่เคยคิดว่าแน่แล้วดีแล้วถูกแล้วจะต้องทำอย่างนี้แล้ว เดี๋ยวมันก็ลังเล รุ่งขึ้นลังเล หรือไม่กี่วันลังเล มันจะบวชอยู่ดี หรือจะสึกก็ดี ลังเล หรือว่าเป็นฆราวาสแล้วจะทำอะไรดี มันก็ลังเล นี่ทั่วๆไป นิวรณ์โดยทั่วๆ ไปเป็นอย่างนี้ เป็นพระจะเรียนอะไรดี แล้วก็ลังเล เดี๋ยวก็อยากจะเรียนวิปัสสนา เดี๋ยวก็อยากจะสอบไล่อย่างนี้เป็นต้น ไอ้ที่ส่วนใหญ่แท้จริงมันลังเล สิ่งที่สำคัญที่สุด คือลังเลในข้อปฏิบัติที่จะทำให้ดับทุกข์ได้ มันลังเลเสีย ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ดับทุกข์ได้สงบเย็นถูกต้องอย่างนี้ มันลังเลเรื่อยไป มันก็พาลลังเลความรู้ของพระพุทธเจ้า หรือพระธรรม หรือพระสงฆ์ คนที่ไม่แน่นแฟ้นในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ก็เพราะวิจิกิจฉานี่ ทีแรกก็ว่าเอาละมันก็เชื่อละ แต่เดี๋ยวก็ลังเลอีกล่ะ มีทางมากันหลายอย่างเรื่องลังเลนี่ บังคับวิชาความรู้ให้อยู่ในร่อยรอยไม่ได้หรือว่าบังคับจิตไม่ได้ มันก็ออกมาเป็นรูปที่เหลวไหล โลเล เหลาะแหละ อย่างที่เราประสบอยู่เป็นประจำวัน ตั้งใจว่าจะทำนี่แน่ แล้วก็ไม่ทันจะได้ทำ มันเปลี่ยนแล้ว
แม้แต่ที่สุด มันผัดวันประกันพรุ่งผลัดเพี้ยนอยู่มันก็เป็นเรื่องการลังเลจนไม่ได้ทำ ในระยะสั้นๆ เช่นว่าเราจะไปทำงานละจะไม่นอนแล้ว แต่ว่ารออีกเดี๋ยวมันก็นอนอยู่ เดี๋ยวมันก็นอนอยู่จนไม่ได้ไปทำ คือมันไม่เฉียบขาดลงไป มันไม่เด็ดขาด มันไม่เฉียบขาด เรียกว่าลังเล
ห้าอย่างนี้เป็นของธรรมดาที่มีอยู่จริง ไม่ได้มีแต่ตัวหนังสือ คนโง่มันไม่เห็น มันไม่สังเกต มันไม่ดูให้ดีว่ามีอยู่จริงอย่างไร จริงอย่าง เป็นอันตรายสุดในนิวรณ์ ๕ ประการ ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็จะไม่เอามาพูดกันมาก หรือพระพุทธเจ้าจะไม่ตรัสมากที่สุดเรื่องหนึ่งในพระพุทธวจนะทั้งหลายตรัสเรื่องนิวรณ์มากที่สุด เราก็ไม่เคยรู้จักกัน พุทธบริษัทก็ยังไม่ค่อยรู้จักนิวรณ์ มันเป็นเสียอย่างนี้
ฉะนั้นการปฏิบัติเรื่องจิตมันก็เป็นไปไม่ได้ ไม่สามารถจะทำจิตให้ดีกว่าจิตธรรมดา ก็เลยเป็นจิตที่มีนิวรณ์เป็นจิตตามธรรมดาอยู่เรื่อยไป ก็ต้องเรียนรู้เรื่องจิตมีนิวรณ์นี่เป็นข้าศึก เรียนปริยัติเรื่องจิต ให้รู้แล้วก็ปฏิบัติเกี่ยวกับจิตให้หมดนิวรณ์ กระทั่งรู้สึกด้วยใจจริงว่า เอ่อ, เวลาที่หมดนิวรณ์ไม่มีนิวรณ์นี้วิเศษจิรง ความสุขก็มี ความเฉลียวฉลาดสามารถกระปรี้กระเปร่ามันก็มี อย่างนี้ก็มีปฏิเวธเกี่ยวกับเรื่องจิต มีอีกมาก นี่พูดมาก็เป็นตัวอย่าง
นี่ก็เรื่องที่สามเรื่องปัญญา มีเมล็ดพืชวิชาความรู้มาแล้วก็ปฏิบัติลงไปก็ได้ผลเป็นการหมดกิเลส ประเภทเคยชิน หรือประเภทที่มันเป็นมิจฉาทิฐิ มันไกลไปกว่านิวรณ์ หรือว่าอีกทีหนึ่งก็เป็นไอ้ต้นเหตุต้นตอของพวกนิวรณ์ที่มารบกวนเป็นประจำวัน ถ้าไม่รู้ผิดดำรงจิตไว้ผิดจนเป็นนิสัย เป็นความเคยชินที่จะทำผิด เป็นความโลภ เป็นความโกรธ เป็นความหลง นี้เรียกว่า อาสวะ เรียกว่า กิเลส โดยแท้จริง หรืออนุสัยมันแก้ไม่ได้ด้วยการทำสมาธิ สมาธิมันเพียงแต่คุม คุมปรากฏการณ์ธรรมดา ๆ สามัญไม่อาจจะตัดต้นตอรากเหง้าได้ จึงมีหลักอันสุดท้ายคือเรื่องปัญญาขึ้นมาอีกอันหนึ่ง จะแก้ไขปัญหาข้อนี้ให้ถึงรากเหง้าถึงต้นเหตุ ฉะนั้นจึงต้องทำกันด้วยความรู้
คำว่ารู้นี้ก็คือให้มันถูกตรงตามจริงของธรรมชาติ ที่ว่ารู้จริงที่ตัวของมันด้วย ไอ้รู้อย่างเรียนที่เขาบัญญัติขึ้นก็ต้องเป็นอีกพวกหนึ่ง เป็นเรื่องอื่น ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือแม้ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่ทำเป็นตัวหนังสืออยู่ก็ยังใช้ไม่ได้ ไม่เข้าใจ
เช่นเราจะท่องบทท่องเรื่อง อนิจจังทุกขังอนัตตาอย่างไม่เข้าใจอยู่ทุกวันๆ นี้มันก็ไม่เป็นปัญญาอะไรได้ มันจะเป็นสมาธิด้วยซ้ำไป คือมันท่องได้ด้วยจิตที่มันยังปรกติเป็นสมาธิ พระสูตรทั้งหลายที่เกี่ยวกับปัญญาเอามาท่องๆ ก็เหมือนนกแก้วนกขุนทอง ได้เหมือนกัน ไม่สำเร็จประโยชน์ ต้องศึกษาเข้าใจต้องใช้เหตุผลให้เข้าใจ แล้วก็ปฏิบัติ
ถ้าได้ผลการปฏิบัติที่นี้ก็รู้จริงว่าเป็นอย่างนั้นจริง รู้ผลที่ได้รับแล้วจริง มันต้องมีเรื่องจริงเข้ามาสำหรับปฏิบัติ เรื่องนี้ที่มีหลักสำหรับปฏิบัติก็คือเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้ารู้แล้วมันก็กันไม่ให้เกิดกิเลสหรือทำลายกิเลสที่มันเกิดอยู่เป็นนิสัยได้ ฉะนั้นต้องมีของจริงเข้ามาสำหรับศึกษาก็จะเห็นอนิจจังจริงๆ แล้วก็ในสิ่งที่มันเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ของบุคคลนั้นโดยตรง ถ้าบุคคลนั้นมันเป็นผู้มีความทุกข์เพราะความรัก มันก็ต้องมีความรักมาสำหรับพิจารณาดูให้ดี มันเกลียดชังความรักนี้ก็ได้ เบื่อหน่าย เพราะมันเป็นคนโกรธมา ก็ต้องมีความโกรธมาก็ดูให้ดีๆ จนมันเบื่อหน่ายในความโกรธ ถ้ามันโง่อยู่เป็นนิสัยก็ต้องดูความโง่จนมันเบื่อหน่ายในความโง่
ก็ต้องเอาตัวกิเลสโดยตรงมาพิจารณา ทีนี่กิเลสมันก็ไม่ได้มีตัวมีตนอะไร ก็ต้องเอาตัวสิ่งที่กิเลสมันเกาะอยู่หรือยึดถืออยู่ สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความรักคืออะไร ก็นำมาดูก็จะพบกิเลสที่เป็นตัวความรัก เป็นราคะ เป็นโลภะ สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความโกรธเอามาดู จะพบกิเลสความโกรธความพยาบาทประทุษร้าย สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความหลงก็มาดู จะเห็นความหลงอย่างนี้เป็นต้น
ดังนั้นเราต้องมีวิธีการ หรือว่าระบบปฏิบัติวิธีถูกต้องเกี่ยวกับปัญญา มีอะไรที่มาให้เห็นจริงขึ้นมาตามลำดับ ยกตัวอย่างเช่นว่า ถ้าเป็นเรื่องอาณาปานสติ ต้องเตรียมใจกันใหม่เพื่อจะรู้จักไอ้ตัวลมหายใจว่าเป็นอย่างไร ยาวสั้นอย่างไร ปรุงแต่งกายอย่างไร เราระงับมันได้อย่างไร เกิดปิติเกิดสุขเกิดอะไรขึ้นมาอย่างไร ก็เป็นเรื่องจริงอย่างนี้ก่อน แล้วจึงค่อยดูลงไปที่ตัวลมหายใจที่รู้สึกอยู่จริงๆ ว่าไม่เที่ยงอย่างไร เป็นทุกข์อย่างไร อนัตตาอย่างไร รู้ทุกอย่างที่มันเกี่ยวกับลมหายใจ มันไม่เที่ยงอย่างไร เป็นทุกข์อย่างไร เป็นอนัตตาอย่างไร กระทั่งว่าบังคับได้ สงบรำงับแล้ว เกิดเป็นความสุขเป็นปิติเป็นอะไรขึ้นมา ก็ดูปิติสุขนั้นว่าไม่เที่ยงอย่างไร เป็นสุขอย่างไร เป็นอนัตตาอย่างไร อย่างนี้เป็นเรื่องจริงไม่ใช่เรื่องคำนวณ
ถ้าเป็นเรื่องคำนวณแล้วมันก็ยังไม่ได้ ยังไม่ใช่เรื่องของปัญญาอะไรแบบนี้ เป็นปัญญาอย่างอื่นเป็นปริยัติเป็นอะไรก็ได้ ถ้าเป็นปัญญาแท้ๆ มันก็ต้องเอาตัวจริงเข้ามาดู เอาสิ่งที่เป็นของจริงขึ้นมาดู มาพิจารณาดู มาเกี่ยวข้องด้วย ทำความรู้สึกด้วย มันจึงจะพบความจริงแท้ของสิ่งนั้นๆ มันจึงเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็เกิดความเบื่อหน่าย เกิดความคลายกำหนัด มีจิตหลุดพ้นออกไปจากสิ่งที่เคยยึดถือได้ มันต้องมีการกระทำถูกต้องเกี่ยวกับปัญญาอย่างนี้
นี่ละคือตัวศาสนา ฉะนั้นคุณอย่าเข้าใจอย่างที่เขาพูดกันโดยมากหรือในตำราที่คุณเรียนเป็นสำคัญ ว่าศาสนาคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี่ มันสำหรับลูกเด็กๆ หรือเด็กอมมือพูดหรือรู้ ตัวศาสนาของพระพุทธเจ้าต้องเป็นปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ อยู่ในเรื่องของศีล สมาธิ และปัญญา ทั้งหมดอยู่ที่กาย วาจา ใจ และทิฐิความคิดความเห็นของคน เพราะว่าคนเราประกอบด้วยอะไร ก็ด้วยกายวาจา แล้วก็ใจ แล้วก็ทิฐิ ความคิดความเห็นความรู้สึก สำหรับทิฐิความคิดความเห็นความรู้สึกนี้ผนวกเอาไว้ที่ใจก็ได้ เรื่องของใจเกี่ยวกับใจ ก็เลยเหลือเรื่องกาย วาจา ใจ สามอย่างสังเกตได้ง่าย
ถ้าดูต่อไปก็จะพบว่ามันใจเรื่องเดียวละสำคัญที่สุด อะไรก็ไปจากใจ ลงมาทางร่างเป็นกายเป็นวาจาทำอย่างนั้นอย่างนี้อยู่ ขึ้นไปทางบนก็เป็นทิฐิ ความคิด ความเห็น ความเชื่อไปกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ จิตมันเป็นศูนย์กลาง ทุกอย่างก็ต้องมุ่งไปยังตัวจิตหรือเรื่องของจิต
ฉะนั้นมันจะพูดได้เลยว่าจัดการกับจิตที่ถูกต้องคือตัวศาสนา จิตถูกต้องแล้วกาย วาจา ใจ ก็ถูกต้อง หรือจิตที่ถูกต้องแล้วมันจะเห็นความจริงของปัญญาทางปัญญาได้ จึงมีกล่าวเอาไว้เป็นหลักว่าอบรมจิตให้ดีถูกต้องก็จะมองเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงได้ นี่คือตัวศาสนา
ฉะนั้นคนจะเป็นบรรพชิตเป็นนักบวชก็ตาม จะเป็นฆราวาสอยู่ที่บ้านที่เรือนก็ตาม มันมีปัญหาอย่างเดียวกันในส่วนนี้แหละ ที่มันต่างกันเพียงแต่มันมากหรือน้อยกว่ากัน สูงหรือต่ำกว่ากัน แต่ตัวเนื้อแท้ของเรื่องมันเป็นอย่างเดียวกันคือเรื่องเดียวกัน เป็นฆราวาสก็ถูกรบกวนด้วยนิวรณ์ห้าประการ บรรพชิตก็ถูกรบกวนด้วยนิวรณ์ห้าประการนี้เป็นปัญหาเฉพาะหน้า ตลอดวันตลอดคืน ต้องชำระจิตให้หมดจดจากนิวรณ์
นี่ก็มีการทำผิดทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ด้วยกันทั้งนั้นแต่คนละระดับเท่านั้นเอง มันจึงต้องมีศาสนาอย่างเดียวกันคือมีศีลสมาธิปัญญา ที่รู้และปฏิบัติได้ แก้ปัญหาเหล่านี้ ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าศาสนามันก็อยู่กับปัญหาของมนุษย์นั่นแหละ มนุษย์มีความทุกข์ ลำบาก ยุ่งยากเป็นปัญหาอยู่ ศาสนาก็ต้องอยู่ที่นั่นจึงจะเป็นศาสนา คือกำลังแก้ปัญหานั้นๆ อยู่ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ป่วยการเอาไว้ทำไมรกรุกรังไม่มีประโยชน์ แล้วมันก็ไม่มีด้วย ก็เท่ากับไม่มี มันมีค่าเท่ากับไม่มี ต่อเมื่อมันมาอยู่กับปัญหาแล้วแก้ปัญหาอยู่ในคนเรานี่มันจึงจะเรียกว่ามันมีศาสนามันมีศาสนามันมีอยู่ มันมีชีวิตอยู่แก้ปัญหาอยู่ นี่ผมเรียกว่าความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าศาสนาซึ่งเป็นหัวข้อของการบรรยายในวันนี้
ที่นี้ก็อยากจะพูดต่อไปนิดหนึ่งว่า คนในโลกเวลานี้กำลังทำผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงอยู่อย่างหนึ่ง ทั้งที่เขาคุยโม้ว่าเป็นผู้เจริญรุ่งเรืองอะไรต่างๆ แต่เขาทำผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงอยู่อย่างหนึ่ง คือทำผิดพลาดเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าศาสนานั่นเอง แล้วก็ทุกศาสนาเสียด้วย ไม่เฉพาะพุทธศาสนาหรือคริสต์ศาสนา อะไรศาสนาก็ มันทำผิดเหมือนกัน คือมันไม่ทำศาสนาให้เป็นศาสนาอย่างที่กำลังว่า ไม่มาอยู่ที่ตัวปัญหาของมนุษย์แล้วแก้ไขปัญหาอยู่ มันเป็นตัวศาสนา ที่ว่าไปทำให้เป็นวิชาความรู้วิเศษวิโสอะไรของเขาที่เรียกว่าปรัชญา หรืออะไรก็ตาม ไม่มาอยู่ที่ตัวปัญหาจริงๆ คือความทุกข์ ไปทำเป็นรูปปรัชญาศึกษาเพ้อเจ้อไม่มีจุดจบ
เมื่อเอาไปทำเป็นปรัชญาเสียมันก็เป็นปรัชญาไป ไอ้ส่วนที่เป็นศาสนามันก็หมดเลย นี่เรียกว่าศาสนามันหมด หมดเพราะอะไร เพราะมนุษย์โง่ๆ บ้าๆ ในโลกสมัยนี้มันเอาไปทำเป็นปรัชญาเสียหมด ไม่คุมอยู่ในรูปของศาสนาเหมือนในครั้งที่แล้วๆ มา นี่คงต้องขออภัยใช้คำรุนแรงอย่างนี้เพื่อกันลืม
ให้รู้จักความผิดหรือการทำผิดของตัว เอาตัวศาสนาไปทำเป็นปรัชญาเสียจนในโลกนี้หาศาสนาทำยาหยอดตาก็ยาก จะไปอยู่ในรูปของปรัชญาสำหรับถกเถียงกันโดยเหตุผล แม้ในหมู่พวกคุณที่เป็นภิกษุสามเณรนี่ก็ยังกระทำเสียอย่างนี้โดยไม่รู้สึกตัว ไปศึกษามันในรูปของปรัชญา การใช้เหตุผลสำหรับหักล้างซึ่งกันและกัน แล้วก็เพิ่มกิเลสใหม่ๆ แปลกๆ ออกมาคือว่า กระทบกระทั่งเบียดเบียนกัน เรียกว่าทิ่มแทงกันด้วยหอกคือปาก เป็นพระเป็นเณรเป็นอาจารย์วิปัสสนาด้วยซ้ำไป ยังมีกิเลสที่ทิ่มแทงผู้อื่นด้วยหอกคือปาก เพราะมันไปโง่หลงผิดตัวศาสนาว่าอยู่ในรูปของปรัชญา แม้จะปฏิบัติกรรมฐานสมาธิภาวนามันก็ไปทำให้เป็นปรัชญาเสีย มันก็เลยไม่สำเร็จประโยชน์อะไร
ในส่วนปริยัติก็เอาไปทำเป็นปรัชญาเสีย ในส่วนปฏิบัติก็เอาไปทำเป็นปรัชญาเสีย เรามีปฏิเวธลมๆ แล้งๆ สำหรับการคำนึงคำนวณในรูปของปรัชญาไปหมด นี่ก็ทำให้ศาสนาหมดไปจากโลก ด้วยการไปทำให้เปลี่ยนเป็นปรัชญา คือสิ่งที่คำนึงคำนวณไปตามเหตุผลที่หาจุดจบไม่ได้ เพราะมันไม่หยิบตัวความจริงขึ้นมาพิจารณาแล้วแก้ไขลงไปที่ตรงนั้นในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์
ทั้งรู้ว่าพุทธศาสนาหรือศาสนาที่แท้จริงเป็นวิทยาศาสตร์ มันมีตัววัตถุคือความทุกข์ปรากฏอยู่ ก็จัดการลงไปที่นั่นเหมือนกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ก็สำเร็จประโยชน์คือดับทุกข์ได้ พอเอาไปทำเป็นปรัชญาก็กลายเป็นการคำนึงคำนวณไปหมดไม่มีตัวจริงมาเลยแม้แต่ตัวความทุกข์นั่นเอง
ขอให้เข้าใจว่า กำลังทำผิดต่อสิ่งที่เรียกว่าศาสนา ไม่ถูกตัวของสิ่งที่เรียกว่าศาสนา ฉะนั้นเราจึงพูดกันถึงเรื่องตัวศาสนา การเข้าใจถูกเกี่ยวกับตัวสิ่งที่เรียกว่าศาสนาอย่างที่พูดมานี้ ก็พอสมควรแก่เวลา สำหรับปัญหาข้อนี้ข้อเดียวคือตัวสิ่งที่เรียกว่าศาสนามีอยู่อย่างนี้ ขอให้เข้าใจถูกด้วยกันทุกคน