แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายสำหรับผู้บวชใหม่ในครั้งที่ ๗ นี้ จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่าความเข้าใจถูกเกี่ยวกับพระสัทธรรม
ในครั้งที่แล้วมาได้พูดกันถึงความเข้าใจถูกเกี่ยวกับพระรัตนตรัย หลังจากที่ได้พูดถึงความเข้าใจผิดหลายๆ อย่างซึ่งล้วนแต่มีช่องให้เข้าใจผิดอย่างมากมาย แล้วก็ได้เข้าใจผิดกันอยู่จริง ทีนี้ก็ควรจะเข้าใจถูกกันเสียบ้าง เรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เกี่ยวเนื่องมาถึงสิ่งที่เรียกว่าพระสัทธรรม พระสัทธรรมในที่นี้ก็ได้แก่พระธรรมนั่นเอง แต่มีคำว่า สะ เติมเข้ามาข้างหน้า เมื่อสนธิกันเกิดเป็นคำว่า สัทธรรมะ เราก็เรียกกันว่าพระสัทธรรม หนังสือโบราณก็จะเรียกกันสั้นๆ ว่า พระสธรรม
คำว่าพระสัทธรรมโดยพยัญชนะมีความหมายตามตัวหนังสือว่าธรรมของสัตบุรุษ โดยใจความโดยอรรถก็เหมายถึงธรรมที่เป็นที่พอใจของสัตบุรุษหรือว่าธรรมที่ทำความเป็นสัตตบุรุษ สำหรับคำว่าสัตตบุรุษนี้ก็ยังมีความหมายกว้างหรือหลายแขนง เดี๋ยวนี้ใช้กันเก่งว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมเท่านั้นเอง คือคำที่มาเป็นสัตตบุรุษหรือสัตบุรุษเป็นต้นในภาษาไทยจะพูดกัน จนถึงกับว่าถ้าเป็นคนเข้าวัดเข้าวาเสียหน่อยแม้เป็นคนธรรมดาก็เรียกว่าสัตตบุรุษหรือสัตบุรุษ และที่พบเก่าแก่โบราณเป็นจารึกอยู่ที่ ผอบศิลา ที่พระสถูปสัญจิ แถวนั้น คำว่าสัตตบุรุษนั้นหมายถึงพระอรหันต์ เช่นพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ กระทั่งพระโมคคัลลีผุสสะ เป็นต้น มันต่างกันมาก ถ้าถือเอาตามตัวหนังสือจริงๆ แล้วก็ควรจะหมายถึงพระอรหันต์เพราะเป็นผู้สงบระงับแล้ว แม้แต่ท่านพระโสดาบัน สกิทาคามี เราก็ยังไม่ถือว่าสงบระงับแล้วถึงที่สุด ก็ไม่ต้องพูดถึงชาวบ้านเพียงสักว่าเข้าวัดแล้วก็เรียกว่าสัตตบุรุษ ดังนั้นขอให้เข้าใจคำนี้ไว้อย่างนี้ เพื่อจะเข้าใจคำว่าสัทธรรมหรือพระสัทธรรม
สัทธรรมของสัตบุรุษมันก็ดูจะใช้ได้คือกินความกว้างไปสำหรับสัตบุรุษพวกไหนก็ได้ แต่ตัวสัตบุรุษเองไม่เคยเล็งถึงพระอรหันต์โดยตรง ธรรมนี้สัตบุรุษพอใจและธรรมนี้จะทำความเป็นสัตบุรุษให้เกิดขึ้นเรียกว่าพระสัทธรรม นี่ถ้ากล่าวโดยประเภทก็มีคำกล่าวรุ่นอรรถกถาแยกพระสัทธรรมออกเป็น ๓ อย่างด้วยกัน คือปริยัติสัทธรรม ปฏิบัติสัทธรรม แล้วก็ปฏิเวธสัทธรรม ซึ่งเราเรียกกันสั้นๆ ว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
แม้ว่าจะเป็นคำในรุ่นอรรถกถาก็ได้ถือเป็นหลักมาอย่างแน่นแฟ้นจนบัดนี้ ปริยัติก็การเล่าเรียน ปริยัติตามตัวหนังสือแปลว่ารู้รอบ ทำให้รู้รอบ แล้วปฏิบัติก็คือตัวการปฏิบัติ คำเดียวกับคำว่าปฏิปทา หรือการใส่ไฟ อะไรทำนองนั้น ดังนั้นปฏิเวธแปลว่าแทงตลอด คือได้รับผลของการปฏิบัติจึงเกิดเป็นคำ ๓ คำพูดกันใช้กันเป็นหลักเป็นเกณฑ์ว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
ทีนี้ก็เลยยิ่งเห็นได้ว่ามันยิ่งไกลออกไปอีก ปริยัติเป็นสัทธรรมก็ต้องเป็นปริยัติที่ถูกต้อง ปฏิบัติเป็นสัทธรรมก็ต้องเป็นปฏิบัติที่ถูกต้อง ปฏิเวธสัทธรรมก็คือผลที่ถูกต้องจริงๆ ต่อเมื่อเป็นความถูกต้องจึงจะเรียกว่าสัทธรรมหรือของสัตบุรุษ ถ้าเป็นปริยัติปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องมันก็เป็นสัทธรรมไปไม่ได้ ส่วนปฏิเวธนั้นไม่ต้องพูดถึง มันผิดไปเสียตั้งแต่ปริยัติแล้วการบรรลุผลมันก็ไม่ถูกต้อง
ทีนี้ถ้าจะดูกันถึง ๓ คำนี้ในฐานะเป็นคำที่อาจจะประยุกต์ใช้ได้ทั่วไปแล้ว ก็เป็นคำที่ประหลาดอยู่เหมือนกัน คือเอามาใช้เป็นกริยาหรือการกระทำได้ทั่วไปหมดในฐานะเป็นหลักทั่วไปแม้ไม่ใช่เรื่องของศาสนาหรือของพระธรรมก็ยังได้ คือจะประยุกต์ใช้กับวิชาอะไรทั่วไปก็ได้
ปริยัติก็คือศึกษาให้แตกฉาน ปฏิบัติก็คือทำให้ได้ตามนั้นจริงๆ ปฏิเวธก็คือให้ได้ผลตรงลงไปตามที่ประสงค์ จึงเห็นได้ว่ามันเป็นหลักการที่ใช้ได้ในการกระทำทั่วไปแม้แต่เรื่องจะทำไร่ทำนาหรือว่าการศึกษาอย่างไหนก็สุดแท้ ศึกษาให้มันแตกฉานและทำให้ได้ตามนั้นก็ได้ผลตรงตามความประสงค์ ไอ้ ๓ อย่างนี้ถ้ามันเกี่ยวกับสัตบุรุษ เกี่ยวกับความเป็นสัตบุรุษ หรือเป็นการกระทำของสัตบุรุษแล้ว ก็เรียกว่าสัทธรรมได้เต็มที่ แล้วถ้าเกี่ยวกับปัญหาของมนุษย์ทั่วๆ ไปไม่ว่าอะไร ก็ยังเรียกได้อยู่นั่นเอง หรือถ้าจะกล่าวให้ชัดลงไปทีหนึ่งก็ยังกล่าวได้ว่ามันต้องเป็นปัญหาของมนุษย์เท่านั้น และเป็นปัญหาที่จำเป็นที่สุดที่มนุษย์จะต้องสะสางต้องแก้ไขให้ลุล่วงไปด้วยดี นี่ปัญหาของมนุษย์นี้ไม่มีอะไรที่ยิ่งไปกว่าการดับความทุกข์
เรามีปัญหาที่ใหญ่หลวงที่สุดก็คือความทุกข์ การดับความทุกข์นี่เป็นหน้าที่หรือจะเรียกว่าเป็นปัญหาที่ยังไม่เสร็จ เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ต่อไป ดังนั้นเราจึงใช้วิธีการ ๓ อย่างนี้ที่เรียกว่าสัทธรรม คือศึกษาให้แตกฉานแล้วปฏิบัติให้ได้ตามที่ศึกษา แล้วก็ให้ได้ผลตรงตามที่มุ่งหมาย ก็แก้ปัญหาของมนุษย์ได้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการดับทุกข์ คือทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้
ถ้าใครเข้าใจอย่างนี้ คนนั้นก็จะเห็นได้เองว่าไอ้เรื่องพระสัทธรรมสามประการนี้มันเกี่ยวกันอยู่ชีวิตประจำวันของทุกคนก็ว่าได้ คือเรามีเรื่องที่จะต้องเรียน สิ่งที่ต้องเรียน แล้วก็ทำสิ่งที่ต้องทำ แล้วก็ได้รับผลตรงตามความประสงค์อย่างนี้ก็ทำกันอยู่ในทุกเรื่องของมนุษย์เรา ฉะนั้นเราควรจะมีความรู้สึกเคารพในสิ่งนี้แล้วก็ทำกันให้ดีๆ อย่างแม้แต่พระบวชใหม่อย่างนี้ก็ต้องเรียนให้ดี ปฏิบัติให้ดีให้ได้ผลตามที่ประสงค์ ก็พระบวชใหม่องค์นั้นก็เป็นผู้ทีมีสัทธรรม ตั้งอยู่ในสัทธรรมอย่างถูกต้อง ถ้าเหลวไหลเสียมันก็เป็นอันว่าไม่มีสัทธรรม ก็ไม่เป็นสัตบุรุษเสียเลยด้วยซ้ำไป อย่าว่าแต่จะเป็นพระหรือเป็นภิกษุเลย
ฉะนั้นสัทธรรมทั้ง ๓ ประการนี้จึงเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ คุณไปนึกดูให้ดีว่าเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ ก็ต้องมีอยู่ที่เนื้อที่ตัวขึ้นไปตามลำดับ เรียนให้ดีปฏิบัติให้ดีให้ได้ผลตรงตามความประสงค์ในทุกกรณี
ทีนี้เราจะดูกันต่อไปถึงความเสื่อมหรือความเจริญของพระสัทธรรม ความเสื่อมตรงกันข้ามกับความเจริญของสัทธรรม ๓ ประการ คือการเรียนการปฏิบัติและการได้ผลของการปฏิบัติ ข้อนี้โดยส่วนใหญ่แล้วมันก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจผิดหรือความเข้าใจถูกของพุทธบริษัทเอง ถ้าเราจะมองดูกันให้กว้างขวางในฐานะเป็นตัวพระศาสนา เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าพระสัทธรรม ๓ นั่นแหละรวมกันแล้วคือตัวศาสนาที่แท้จริง ไม่ใช่วัดวาอารามหรือสัญลักษณ์อื่นๆ ที่จะเป็นตัวศาสนา ไอ้ตัวปริยัติ ตัวปฏิบัติ ตัวปฏิเวธที่ถูกต้องนั่นแหละคือตัวศาสนา ฉะนั้นความเสื่อมหรือความเจริญของสัทธรรมนี้ก็คือความเสื่อมหรือความเจริญของศาสนา ถ้ามีความเข้าใจในเรื่องนี้ถูก ก็ปฏิบัติกันได้ดี ก็เรียกว่าสัทธรรมเจริญ ศาสนาเจริญไม่มีเสื่อม และความเจริญนั้นก็จะเพิ่มขึ้นตามลำดับจนกระทั่งถึงความสมบูรณ์
ในเมื่อสมบูรณ์ด้วยสัทธรรมมันก็ว่าถึงที่สุดแห่งความเจริญของพระศาสนา ที่เป็นส่วนของบุคคลก็เป็นอย่างหนึ่งไม่จำเป็นจะต้องมากมายหรือว่าเต็มมาตรฐาน เพราะบางคนอาจจะเรียนลัด ปฏิบัติลัด บรรลุมรรคผลนิพพานไปได้เลยโดยไม่ต้องมีอะไรมาก อย่างที่เรียกกันว่าพระอรหันต์สุกขวิปัสสก นี่ก็เรียกว่าเป็นความเจริญเต็มที่ของบุคคลนั้นโดยเฉพาะได้เหมือนกัน แต่ถ้าสำหรับพระศาสนาแล้วเรายังต้องการมากกว่านั้น ดังนั้นจึงถือว่ายังไม่พอ ยังต้องมีการศึกษาและการประพฤติปฏิบัติกันอย่างสมบูรณ์เต็มตามมาตรฐานสำหรับที่จะเป็นตัวพระศาสนาตั้งอยู่ในโลกนี้ สำหรับเป็นที่พึ่งแก่โลกต่อไป
ในความเสื่อมหรือความเจริญของบุคคลที่เกี่ยวกับบุคคลเขาก็แคบ ไม่เท่าความเสื่อมหรือความเจริญของศาสนาเป็นส่วนรวม สำหรับความเข้าใจผิดก็เป็นอันว่าไม่ต้องพูดถึงมันจะเป็นศาสนาเป็นอะไรขึ้นมาไม่ได้ แม้ว่ามันจะกระทำกันอย่างมากมายถ้ามันทำผิดแล้วมันก็ผิด ฉะนั้นจึงต้องเอาที่ถูกแล้วก็เอาที่ความบริสุทธิ์โดยแท้จริงด้วย
ที่ต้องพูดถึงความบริสุทธิ์เพราะว่าบางทีก็เรียนจริงปฏิบัติจริง แต่ด้วยเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ก็มีเหมือนกัน ยิ่งต้องพูดถึงความบริสุทธิ์
ปริยัติบริสุทธิ์ ก็หมายความว่าปริยัตินั้นถูกต้องตรงตามพระพุทธประสงค์หรือตามหลักที่เป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นปฏิบัติบริสุทธิ์ก็หมายความว่ามันเป็นไปตามหลักปริยัติที่ถูกต้องนั่นเอง ถ้าปฏิบัติบริสุทธิ์แล้ว ปฏิเวธก็บริสุทธิ์แน่ ได้ผลแน่ เพราะมันเกิดมาจากปฏิบัติ มันก็ถูกต้องตามหลักของปริยัติอีกเหมือนกัน สำหรับคนทั่วไปก็อาศัยหลักปริยัตินั้นเป็นเครื่องมือ เพราะฉะนั้นจึงควรจะถือว่าปริยัตินั้นมันเป็นเหมือนกับว่ารากแก้วของศาสนา เป็นสัทธรรมชนิดรากแก้วหรือหัวเหง้าอยู่ใต้ดิน ปฏิบัติก็เป็นงอกเป็นต้นขึ้นมาคือการงอกขึ้นมาจากดิน ปฏิเวธมันก็เป็นดอกเป็นผล ในที่สุดถ้ารากเหง้าหัวเหง้าใต้ดินมันอยู่แล้ว แม้ข้างบนมันจะ ถูกทำลายไป มันก็งอกขึ้นมาใหม่ได้ จึงถือว่าเป็นรากแก้วที่ควรระมัดระวังรักษาไว้ให้ยังคงอยู่ให้ถูกต้อง
ที่ปรากฏอยู่ก็นับว่าเป็นที่น่าพอใจที่ท่านได้รักษาพระปริยัติธรรม พระคัมภีร์หรือพระไตรปิฎกนี่ไว้อย่างดี ยังเหลืออยู่จนบัดนี้ จนถึงสมัยที่ว่ามันมีเครื่องมือสำหรับเก็บรักษาไว้อย่างดีที่สุด คือเครื่องมือสมัยใหม่ที่เขาสามารถจะพิมพ์ข้อความเหล่านี้ไว้เป็นหมื่นเป็นแสนฉบับ มันก็ยากที่จะหมดไปจากโลก สมัยก่อนนี้มันท่องจำด้วยปาก มันหวุดหวิดจะสูญไป กระทั่งมาเขียนด้วยใบลานมันก็เขียนได้ทีละฉบับ มันมีกันฉบับ สองฉบับ สามฉบับเท่านั้นเอง มันก็ง่ายที่จะหายไป เดี๋ยวนี้มีการพิมพ์เป็นพันเป็นหมื่น แล้วก็พิมพ์กันทั่วทุกประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาด้วยอักษรแห่งประเทศนั้นๆ รวมกันแล้วก็เป็นหมื่นหมื่นชุด จะว่าถึงแสนก็ไม่แน่เพราะพิมพ์มานานแล้ว นี่ก็เป็นที่อุ่นใจได้อย่างหนึ่งว่าไอ้ตัวปริยัตินั้นยังอยู่ให้เรียน ทีนี้ก็มีการเรียนให้ดีที่จะเป็นปริยัติที่บริสุทธิ์ สำหรับในที่นี้เราจะถือเอาหลักที่ถูกต้องของข้อความนั้นๆ ว่าเป็นปริยัติ เป็นตัวปริยัติที่ต้องเรียน
ถ้าบริสุทธิ์มันก็ต้องเป็นไปตามความมุ่งหมายที่แท้จริงของพระธรรมที่จะดับทุกข์ มันมุ่งหมายจะดับทุกข์มันต้องแท้จริงตรงตามที่มุ่งหมายจะดับทุกข์ หรือว่าตรงตามพระพุทธประสงค์ก็ได้เหมือนกัน คือจะให้ช่วยกันดับทุกข์ให้ได้ ทีนี้ก็มีปัญหาเกิดขึ้นว่าท่านได้ตรัสไว้อย่างไร เพราะเราได้ยินได้ฟังว่ามันตั้ง 84000 พระธรรมขันธ์สำหรับพระไตรปิฎก
ทีนี้จะเอาแต่หัวใจปริยัติที่บริสุทธิ์นี้ต้องเป็นเรื่องที่เนื่องด้วยสุญญตา นี่ว่ากันแต่หัวใจล้วนๆ แล้วก็ชิ้นเดียวเท่านั้นที่ต้องเป็นเรื่องที่เนื่องด้วยสุญญตา หรือความรู้เรื่องสุญญตานั่นเองเป็นปริยัติอันบริสุทธิ์ พูดคำเดียวเท่านี้ได้ละพอ และถูกอย่างยิ่งสักทีหนึ่งก่อน
สุญญตาก็แปลว่าความว่าง เรื่องความว่าง ว่างจากอะไร ว่างจากกิเลสและความทุกข์ก็พอแล้ว ถ้าเราไม่มีกิเลสแล้วไม่มีความทุกข์มันก็พอแก่ความต้องการแล้ว เรื่องความว่างนั้นมันต้องรวมทั้งเรื่องการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความว่างขึ้นมาด้วย นับว่าเป็นเรื่องที่สมบูรณ์
มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ชัดที่ว่า สุตตันตะทั้งหลายเหล่าใด ที่ตถาคตได้ภาษิตแล้ว ก็ต้องเป็นเรื่องที่เนื่องเฉพาะด้วยสุญญตา ถ้าไม่เนื่องด้วยสุญญตาแล้วไม่ใช่ภาษิตหรือคำกล่าวของตถาคต มันเป็นคำกล่าวของคนชั้นหลังเรื่องอื่นออกไปเป็นภายนอก ฉะนั้นขอให้สนใจคำว่าสุญญตา เพราะจะถือเป็นหลักว่าจะศึกษากันอย่างไร ศึกษาไปศึกษามากันอย่างไรก็ให้ไปพบจุดสำคัญ คือเข้าใจเรื่องความว่าง ความไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวตนหรือเป็นของตน มีแต่ธรรมชาติเหตุปัจจัยปรุงแต่งกันไป นี่เป็นหัวใจชั้นปรมัตถ์ที่สุดแล้ว
ไม่มีอะไรจะยึดถือเป็นตัวตนก็ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นมา การปฏิบัติก็อยู่ตรงที่ไม่ยึดถืออะไรว่าเป็นตัวตน มองเห็นสิ่งทั้งปวงด้วยความเป็นของว่างอยู่เสมอ นี่คือหัวใจของปริยัติที่บริสุทธิ์และเป็นคำพูดที่รัดกุมดี
บางคนอาจจะพูดว่าทำไมไม่เอ่ยถึง มัจฉิมาปฏิปทา ว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ถ้าใครพูดอย่างนั้น คนนั้นมันยังไม่รู้อะไรกี่มากน้อย เพราะคำว่าสุญญตานั่นเอง คือมัจฉิมาปฏิปทา นี่ต้องเรียนให้สูงขึ้นไป รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท รู้เรื่องอะไรต่างๆ จึงจะรู้ว่าอ้าวนั่นน่ะคือมัจฉิมาปฏิปทา มัจฉิมาปฏิปทาที่เราพูดเราสอนกันอยู่ตรงมรรคมีองค์แปดนั้นก็ด้วย ก็รวมอยู่ด้วย เพราะมันนำไปสู่ความไม่ยึดถือตัวตนเป็นสุญญตาได้เหมือนกัน แต่ที่พูดว่ามัจฉิมาปฏิปทาอยู่ที่ตรงกลางแล้วก็คือ ความว่างชนิดที่ไม่อาจจะพูดได้ว่าฝ่ายนั้นฝ่ายนี้อย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าว่างแล้วก็ไม่พูดว่ามี ไม่พูดว่าไม่มี ไม่พูดว่าคนนี้ แล้วไม่พูดว่าคนอื่น ไม่พูดว่าอะไรหมด ไม่พูดว่าตายแล้วเกิดตายแล้วไม่เกิด ไม่พูดอะไรหมด ความว่างเป็นยอดสุดของมัจฉิมาปฏิปทา ดังนั้นก็ไม่ต้องเถียงกัน ในเมื่อคนหนึ่งก็จะถือเอาสุญญตาเป็นหัวใจของพุทธศาสนา แล้วอีกคนหนึ่งจะถือเอามัจฉิมาปฏิปทาเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา แต่เขาต้องเข้าใจคำนั้นให้ถูกต้อง มันสูงสุดจนถึงกับว่ามันไม่มีอะไรจะพูดว่าข้างนั้นหรือข้างนี้ คือไม่เป็นข้างตึงหรือไม่เป็นข้างหย่อนนั่นเอง ความว่างนั้นมันตึงไม่ได้ หย่อนไม่ได้
ทีนี้มันก็มีหลักหรือคำพูดที่ใช้แทนกันได้อีก เป็นประโยคว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ซึ่งผมเคยขอร้องให้ทุกคนยึดถือเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ขอร้องแล้วขอร้องอีกว่ามันง่ายดี แต่พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสอย่างนั้นไว้เหมือนกันว่าสรุปคำกล่าวทั้งหมดให้เหลือสั้นเพียงข้อเดียวก็คือ สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งปวงไม่ควรมั่นหมาย สิ่งทั้งปวงใครๆ ไม่ควรมั่นหมายโดยความเป็นตัวตนหรือเป็นของตน ฟังดูสิมันก็เป็นสุญญตาเต็มที่อยู่แล้ว สิ่งทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรหมายมั่นคือยึดถือว่าเป็นตัวตนหรือว่าเป็นของตน ใครจะถือหลักประโยคนี้ว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ เป็นหัวใจอันบริสุทธิ์ของปริยัติก็ได้เหมือนกัน ทั้งหมดก็คือเรื่องสุญญตานั่นเอง
ทีนี้จะดูเพื่อเหตุผลอย่างอื่นต่อไปอีกเพื่อจะช่วยให้ง่ายเข้าในการที่จะกำหนดใจความ นึกถึงพระพุทธภาษิตที่พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เราบัญญัติเฉพาะเรื่องทุกข์กับเรื่องความดับทุกข์เท่านั้น นอกนั้นไม่พูด เรื่องทุกข์เรื่องหนึ่ง ความดับทุกข์อีกเรื่องหนึ่ง มี ๒ เรื่องเท่านั้น แต่ว่าจะพูดให้เหลือเรื่องเดียวคือเรื่องความดับทุกข์ เพราะทุกข์มันมีอยู่แล้วเป็นตัวปัญหาอยู่แล้วก็ดับทุกข์เสีย ท่านตรัสเปรียบเทียบไว้ว่าเหมือนกับใบไม้กำมือเดียวจากใบไม้หมดทั้งป่า แต่ว่ามาสอนเท่ากับใบไม้กำมือเดียว นอกนั้นจะไม่สอน เพราะมันไม่จำเป็น มันจะมาสอนมันก็กลายเป็นเรื่องทำลายความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวว่าตนอย่างเดียวกันอีก ให้มันเป็นไปเพื่อการดับตัวตนก็แล้วกัน แต่ถ้าเราจะไปมองไปฟังคำพูด พิจารณาแง่มุมต่างๆ ที่เอาขึ้นมาพูดมันก็มากสิ แม้ว่าเราจะเอาแต่เรื่องนี้เป็นหลักว่าใบไม้ทั้งป่าเว้นไว้แต่กำมือเดียวทำไมไม่เอามาสอน ก็เพราะว่ามันไม่มีประโยชน์ เป็น อะนัตถะสัญหิตา แต่มันไม่มีประโยชน์ ไม่ต้องเอามาสอนหรอกมันไม่จำเป็น หรือว่ามันไม่เป็น อาทิพรหมจริยกา อาทิพรหมจริยกา แปลว่าเป็นจุดตั้งต้นของการประพฤติอันประเสริฐ คือการประพฤติที่จะดับทุกข์ได้
ถ้าเอาใบไม้ทั้งป่าที่เว้นเสียกำมือเดียวมาพูด มันเป็นเรื่องที่ไม่มีจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์เลย ที่ว่าเอาแต่กำมือเดียวที่เป็นจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ มันจะทำให้รู้ว่าความที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นมันเป็นไปเพื่อนิพพาน
รวมความว่าที่มันมีประโยชน์หรือมันเป็นจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์นั้น ท่านขยายความออกไปว่า นิพพิทา มันเป็นไปเพื่อนิพพิทา คือเบื่อหน่ายต่อสิ่งที่เป็นทุกข์ วิราคะ เป็นไปเพื่อคลายแห่งความกำหนัดคือคลายความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง นิโรธายะ เป็นไปเพื่อความดับ คือดับเหตุแห่งทุกข์ ดับกิเลสตัณหา แล้วมันก็ดับทุกข์ด้วย อุปสมายะ เป็นไปเพื่อความเข้าไปสงบรำงับ ไอ้นอกนั้นมันไม่เป็นไปเพื่อความสงบรำงับ มันเป็นความฟุ้งซ่านเสียเวลา อะภิญญายะ เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่งเพื่อความรู้อันสูงสุด รู้เฉพาะเจาะจงลงไปในสิ่งที่ควรจะรู้นี่เรียกว่า อะภิญญายะ พระสัมโพธายะ เป็นไปด้วยความรู้พร้อมครบถ้วนบริบูรณ์ แม้สองสามคำพูดก็ครบถ้วนบริบูรณ์พอแล้วสำหรับการที่จะดับทุกข์ คำสุดท้ายว่า นิพพานายะ สังวัตตะติ เป็นไปเพื่อนิพพาน นิพพานเป็นที่จบสงบทุกข์ดับแล้วก็เย็น นี่เป็นคำสุดท้ายเป็นไปเพื่อนิพพาน
ฉะนั้นจำคำเหล่านี้ไว้ก็จะดี ถ้าปริยัติที่บริสุทธิ์นั้นจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ เป็นจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ แล้วก็เป็นไปเพื่อหน่าย เบื่อหน่ายจากสิ่งที่เราเคยโง่เคยหลงไปรักมัน วิราคะ คลายกำหนัดแล้วก็ดับเข้าไปสงบรำงับ รู้ยิ่งรู้พร้อม แล้วก็นิพพาน
คำเหล่านี้มันแยกความหมายย่อยๆ ความหมายประกอบให้เห็นชัดขึ้นในทุกๆ แง่ทุกๆ มุมเท่านั้นเอง ความสำคัญมันอยู่ที่คำว่านิพพานคำเดียว ที่เป็นไปเพื่อนิพพานก็แล้วกัน ถ้ามันเป็นไปเพื่อนิพพาน มันก็เป็นไปเพื่อทุกอย่างที่กล่าวมาแล้วนั้นหมดครบถ้วน คือมีประโยชน์เป็นจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์เพื่อเบื่อหน่ายคลายกำหนัดดับสงบระงับรู้ยิ่งรู้พร้อมอย่างนี้ นี่เป็นหลักที่เราจะใช้วินิจฉัยว่าปริยัตินี้บริสุทธิ์หรือไม่ พระปริยัติมี 84000 ธรรมขันธ์ ใครจะเติมเข้าไปบ้างหรือยังไงก็ไม่แน่ พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้สอนให้เชื่อว่าถ้ามีอยู่ในพระไตรปิฎกแล้วเป็นอันยึดถือได้ ยิ่งได้ตรัสวางหลักเกณฑ์ต่างๆ ไว้ว่าต้องทดสอบดูด้วยหลักเหล่านี้ ถ้ามันเข้ากันกับหลักเหล่านี้ก็ถือว่าข้อความนั้นถูกต้องหรือใช้ได้ เป็นคำที่ตถาคตกล่าวหรือแม้นไม่เป็นคำที่ตถาคตกล่าวก็ยังถูกต้องอยู่นั่นแหละ ยังใช้ได้เหมือนกัน เพราะว่าถ้าตถาคตกล่าวก็จะกล่าวอย่างนั้น อย่างนี้เป็นต้น นี่ว่าหลักปริยัติควรจะมีอยู่อย่างนี้จึงจะบริสุทธิ์
ทีนี้ก็มาถึงปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติบริสุทธิ์จะเป็นอย่างไร ก็ต้องตอบอย่างกำปั้นทุบดินไว้ทีก่อนว่า ก็เป็นไปตามปริยัติที่บริสุทธิ์ เมื่อเรามีปริยัติที่บริสุทธิ์และปฏิบัติไปตามนั้น ปฏิบัตินั้นมันก็บริสุทธิ์เป็นแน่นอน แต่ทีนี้เราจะแยกดูให้มากออกไปกว่าหลักที่กล่าวแล้วในส่วนปริยัติ
จะจัดเป็นระดับ สักสองระดับ คือระดับทั่วๆ ไปที่กล่าวไว้เป็นหลักทั่วๆ ไป เป็นพื้นฐานแล้วก็ใช้แต่อย่างอื่นไม่เจาะจงยังพระนิพพานก็ยังได้ ยึดเป็นหลักที่เรียกว่าเป็นตัวพรหมจรรย์พื้นฐานทั่วไปก็แล้วกัน เช่นในโคตมีสูตร คำที่ตรัสแก่พระโคตมีเถรี ในระดับทั่วไปก็ถือเอา ๘ ประการ ถือเอาหลัก ๘ ประการ ข้อที่หนึ่งก็วิราคายะ เป็นไปเพื่อคลายความยึดมั่นถือมั่น แต่เรามักจะเรียกกันสั้นกว่านั้นว่าเป็นไปเพื่อคลายกำหนัด พูดให้เต็มให้ชัดก็ว่าคลายความยึดมั่นถือมั่น ถ้ากำหนัดมันจะหมายถึงแต่กามคุณเสียในภาษาไทย ใช้คำว่ายึดมั่นถือมั่นแล้วมันใช้ได้ทุกอย่าง จะเป็นกามหรือเป็นรูปหรือเป็นอรูปก็ตาม ถ้าเป็นไปเพื่อคลายยึดมั่นในสิ่งเหล่านั้นก็เรียกว่าวิราคายะ แล้ว วิสังโยคายะ ไม่เป็นไปเพื่อประกอบหรือผูกพัน สังโยคายะ นี่แปลว่าผูกพันเข้ามารอบด้าน วิสังโยคายะ มันแก้ออก มันแก้ผูกออกไป มันคลายผูกออกไป มันก็เป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นการผูกพันเข้ามา แต่ต้องเป็นการปฏิบัติที่แก้ออกคือทำให้มันหลุดออก ผูกพันกับกองทุกข์ ผูกพันกับสิ่งที่เป็นทุกข์ ก็คือผูกพันกับกิเลสอวิชชาต่างๆ ด้วย มันต้องเป็นไปเพื่อแก้ออกหรือทำลายออก
อปจยายะ อปจยายะ เป็นไปเพื่อความไม่สะสม ไม่ก่อขึ้น จายะ นี่ก็แปลว่าสะสมให้มากขึ้น เช่นปลวกมันสะสมดินทีละนิดเป็นจอมปลวกขึ้นมา อาการนั้นเรียกว่า จายะ หรือจิ ทีนี้ อปจยายะ ก็คือไม่ ไม่ทำอย่างนั้น ทีนี้ อปจยายะ แปลว่าไม่ทำอย่างนั้น ไม่สะสมไม่ก่อขึ้น มันสองความหมายอยู่ก็ได้ ดังนั้นความไม่ก่อเรื่องขึ้นมานี่ก็ได้ ไม่สะสมให้มันมากขึ้นก็ได้ ดังนั้นถ้าเราไปสะสมวัตถุก่อนเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นหรือความยุ่งยากลำบากมันก็ใช้ไม่ได้แล้ว แม้แต่สะสมปัจจัย จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช อย่างนี้ นี่ก็ไม่ต้องพูดถึงสะสมอย่างอื่น ถ้าเกี่ยวกับนามธรรมเกี่ยวกับจิตใจก็อย่าไปสะสมความเคยชินที่เลวๆ อะไรที่มันไม่ควรกระทำก็อย่าไปกระทำมันเข้า มันก็จะชินขึ้นเป็นนิสัยแล้วมันก็แก้ยาก แม้แต่เรื่องสูบบุหรี่ เรื่องขี้เกียจเรื่องอะไรต่างๆ นี่ อย่าไปสะสมมันเข้า เพื่อว่ายินดีที่จะขว้างทิ้งไป เช่นถ้าไปเรียกว่า อัปปิจฉตายะ เพื่อความปรารถนาน้อย เพื่อความปรารถนาน้อย บางคนเขาฟังไม่ดีเขาเข้าใจผิดเขาเลยไม่ชอบ เกลียดพุทธศาสนาเสียอีกเพราะสอนให้ปรารถนาน้อย เพราะเข้าใจคำว่าน้อยไม่ถูกก็ได้ มันเป็นคนที่กิเลสมากเกินไปมันก็ปรารถนาใหญ่จนลำบากจนตายไปกับความปรารถนามากนั่นเอง
ถึงแม้เรื่องบ้านเรื่องเมืองเรื่องโลกนี่ก็เหมือนกัน ความทุกข์ยากลำบากของโลกปัจจุบันนี่ก็มาจากความอยากใหญ่ ความปรารถนาใหญ่ ทุกคนไม่เอาแต่พอดีหรือพอสมควรที่ควรจะเอา มันก็เลยเกิดการต่อสู้แย่งชิงกันวุ่นวาย จนเกิดความแตกต่างอย่างสูงสุดขึ้นคือมั่งมีที่สุด ยากจนที่สุด มันมีคนเอาส่วนเกินยิ่งกว่าเกินๆ ก็เป็นคนมั่งมีเกิน มั่งมีกว่าเทวดาเสียอีก อีกพวกหนึ่งมันก็จน จน จน เพราะว่ามันสู้ไม่ได้ ก็เลยเป็นปัญหาอยู่ในโลกเวลานี้ ถ้าทุกคนปรารถนาน้อยก็หมายความว่า แต่พอสมควรที่ควรจะมีแก่อัตภาพอย่างไร ไม่จำเป็นจะต้องเท่ากันทุกคนเพราะมันแล้วแต่หน้าที่การงาน การที่จะมีประโยชน์มีทรัพย์สมบัติมีอะไรก็สมควรแก่การงาน อย่าให้มันมากเกินกว่าที่จำเป็น อย่างนี้ก็เรียกว่าปรารถนาน้อย คำว่า อัปปะ นี้ชอบแปลกันว่าน้อย ที่จริงมันแปลว่าตามที่สมควรก็ได้ ดังนั้น อัปปิจฉตายะ ปรารถนาตามที่สมควรอย่าให้เกิน นี่ก็เป็นหลักปฏิบัติที่บริสุทธิ์
แล้ว สันตุฏฐิยา เป็นไปเพื่อสันโดษ นี่ก็อีกคำหนึ่งซึ่งคนเข้าใจผิดแล้วพากันเกลียดพุทธศาสนา ผมก็ไปพูดเรื่องนี้ก็มีคนเอาไปวิจารณ์เอาไปบอกกล่าวแก่ผู้มีอำนาจสมัยนั้นว่าได้สอนสิ่งที่ขัดขวางแก่ความเจริญของประเทศชาติเสียแล้ว เขาไปวินิจฉัยกันว่าอย่างไรก็ไม่ทราบ หลายวันเข้ามันก็เงียบหายไป ก็คนนั้นมันฟังไม่ถูกที่ว่าสอนให้สันโดษ ให้ยินดีด้วยสิ่งที่มีอยู่ สันโดษมัน สะ ตัวหนึ่ง แล้วก็ ตุฏฐะ ตัวหนึ่ง สะแปลว่ามีอยู่ แปลว่าครบถ้วนก็ได้ กระทั่งแปลว่าสงบระงับก็ได้ สะ นี่แปลได้หลายความหมายมันจึงทำยุ่ง ตุฏฐะ แปลว่ายินดี ยินดีแล้ว เป็นคนผู้ยินดีแล้ว แล้ว สะ นี่แปลว่ามีอยู่ ก็ต้องยินดีด้วยของมีอยู่ ถ้า สะ แปลว่าครบถ้วน ยินดี ยินดีอย่างครบถ้วน ถ้า สะ มาจาก สันตะ แปลว่าสงบรำงับ ก็ยินดีในนิพพานยินดีในความสงบ ตามธรรมดาสันโดษแปลว่ายินดีด้วยของที่มีอยู่ เป็นหลักที่ใช้ทั่วไป
ที่ต้องสอนเรื่องนี้ก็เพราะว่าธรรมดาคนมันมองข้ามไป มันไม่ยินดีเท่ายินดีในส่วนที่มีอยู่หรือได้แล้วกันเสียเลย มันจึงอยากอีกอยากอีก พอสักว่าได้มาเท่านั้นและก็ไม่ยินดีที่ได้มา ไปอยากให้มากกว่านั้นต่อไปอีก ขวนขวายๆ กว่าจะได้มา ได้มาเยอะแยะทีหลังอีกก็ไม่ยินดีที่ได้มาเท่านั้นอีก อยากให้มากกว่านั้นอีก นี่มันคือไม่มีเวลาไม่มีโอกาสอะไรสักระยะหนึ่งที่จะยินดีด้วยสิ่งที่มีอยู่ มันก็เป็นคนที่ไม่มีความสุข ไม่มีความพอใจเสียเลย มันก็เป็นคนหิวกระหายอยู่เรื่อย จนมันเป็นโรคเส้นประสาททางจิตทางวิญญาณนี่ ที่เราเรียกกันว่าเป็นเปรตเพราะว่ามันหิวเรื่อย ไม่มีเวลาสักนิดหนึ่งที่มันจะยินดีด้วยสิ่งที่มีอยู่แล้ว เพราะต้องการแต่อยากยิ่งขึ้นไปอยากยิ่งขึ้นไป ก็ไม่มีความสุขสงบ ไม่มีความเยือกเย็น ถ้ามีความยินดีเท่าที่มีอยู่หรือในสิ่งที่มีอยู่มันก็มีเวลาที่จะมีความสุขมีความพอใจ ถ้าเห็นว่ายังควรหามาเพิ่มเติมอีกก็หาได้ ไม่ได้ห้ามว่าอย่าหาอีก แต่ว่าที่ได้อยู่เท่าไรอย่างไรนั้นควรจะยินดี มันก็เลยสบายเป็นคนอิ่มอยู่เสมอไม่เป็นคนหิวเหมือนกับเปรต
ดังนั้นหัดยินดีด้วยสิ่งที่มีอยู่ก็เป็นการปฏิบัติที่บริสุทธิ์ มีจีวรอย่างนี้ มีบิณฑบาตอย่างนี้ เสนาสนะอย่างนี้ ยาแก้โรคอย่างนี้ที่จำเป็นนี่ก็ยินดี ที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องไปยุ่งกับมันให้มันเหนื่อย ให้มันเรื่องมีมากขึ้น หมายถึงส่วนตัวบุคคลนั้นยินดีด้วยสิ่งที่มีอยู่นั่นแหละคือความรู้สึกที่มันพอหรือมันอิ่มหรือมันสบาย พูดกันตรงๆ ถ้าไม่รู้จักยินดีในสิ่งที่มีอยู่มันก็ร้อนเป็นไฟ หิวอยู่เรื่อย จึงมีหลักปฏิบัติขึ้นมาอีกระดับหนึ่งว่า สันตุฏฐิยา เป็นไปเพื่อความยินดีด้วยสิ่งที่มีอยู่
ข้อต่อไป ปวิเวก ปวิเวกายะ ปวิเวกายะ เป็นไปเพื่อปวิเวก ปวิเวกก็แปลว่าสงัดทั่ว คือสงัดจริงๆ วิเวกแปลว่าหนึ่งอย่างเอก หนึ่งอย่างเอกคือหนึ่งจริงๆ หนึ่งแท้ๆ หนึ่งไม่มีอะไรรบกวน แล้วก็บริบูรณ์ ถ้าวิเวกก็ไม่มีอะไรรบกวน ถ้ากายวิเวกก็ไม่มีอะไรรบกวนกาย จิตวิเวกก็ไม่มีอะไรรบกวนจิต อุปธิวิเวก ก็คือไม่มีอะไรรบกวนวิญญาณ ต้องใช้คำอย่างนี้ ไม่มีอะไรรบกวนดวงวิญญาณ ไม่ได้รบกวนความรู้สึกคิดนึกตามต้องการให้เป็นต้น เราต้องการให้ร่างกายไม่มีอะไรกวน ก็เข้าใจได้อย่างนั้น ต้องการให้มันมีอะไรมายุ่งกวนใจ ก็เข้าใจกันได้เอง ถ้าไม่ต้องการให้อะไรมารบกวนความคิดนึกหรือสติปัญญา เช่นความสงสัยเป็นต้น ถ้าสงสัยว่านี่ยังไม่ถูก นี่ยังไม่พอ นี่ยังไม่ใช่ความดับทุกข์อย่างนี้ เป็นต้น ก็เรียกว่า อุปธิวิเวก เพราะว่าไม่มีอะไรยึดมั่นถือมั่นอยู่นั่นเอง ใช้คำๆ เดียวก็ว่ากันไปเพื่อความสงัด พอใจในความสงัด แล้วก็ปฏิบัติให้มันเป็นไปเพื่อความสงัดทั้งกายวาจา ทั้งกาย ทั้งใจ ทั้งทิฐิ สติปัญญา
ข้อต่อไป วิริยารัมภายะ เป็นไปเพื่อการปรารภความเพียร คำนี้มีทางเข้าใจผิดได้เหมือนกัน ก็เคยเข้าใจผิดกันมาแล้วด้วย คนที่ชอบทำอะไรมากเกินกว่าเหตุชอบอ้างคำนี้ ว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนให้ปรารภความเพียร มันก็เลยทำจนมากกว่าเหตุ ปรารภความเพียรก็คืออย่าขี้เกียจในส่วนที่ต้องทำ ในส่วนที่ต้องทำอย่าให้มันขาดไปอย่าขี้เกียจอย่างนี้เรียกว่าปรารภความเพียร เมื่อมันพอเหมาะพอดีมันไม่ต้องทำอะไรมันเกินไปเป็นบ้าเป็นหลัง ซึ่งมันเป็นโอกาสของกิเลส สำหรับจะแก้ตัวให้คนมันทำอะไรตามกิเลสให้มันมากขึ้น มันต้องมีความเพียรที่บริสุทธิ์ก็ปรารภความเพียรชนิดนั้น โดยเฉพาะเจาะจงคือความเพียรที่จะดับทุกข์เพื่อจะไปนิพพาน ต้องปรารภความเพียรอย่าเป็นคนเกียจคร้าน แต่ถ้าเขาใช้เป็นเรื่องโลกๆ ก็ได้ ก็ต้องมุ่งไปยังสิ่งที่เขาควรจะได้อย่างโลกๆ
แล้วข้อสุดท้ายก็ สุพะระตายะ สุพพะระตายะ (นาทีที่ 51:57) ก็ได้ เป็นไปเพื่อความเรียบง่าย เรียบง่ายตามแบบหรือตามระดับตามมาตรฐานของตนๆ ถ้าเป็นบรรพชิตก็เป็นเรียบง่ายที่สุด หลักธรรมนี้ก็ตรัสไว้สำหรับบรรพชิต เอามาใช้สำหรับฆราวาสก็ได้ก็ไปรู้จักประมาณที่พอดีสำหรับฆราวาสเอาก็แล้วกัน เรียบง่ายก็คือว่าอะไรที่มันจะช่วยให้มันมีชีวิตอยู่ได้อย่างเหมาะสมเท่านั้นก็พอ เดี๋ยวมันเกินไปกว่านั้น
เดี๋ยวนี้คนเขากลับไปนิยมกินหรืออะไรกันนี่มันมากที่สุดให้ดีที่สุด รวมไปถึงการเล่นการหัวอะไรต่างๆด้วยไม่ใช่เพียงแต่การกินทางปากอย่างเดียว มันกินทางตาทางหูทางจมูกทางอะไรด้วย ก็เลยแข่งขันกันหาทรัพย์จนได้เบียดเบียนกันเพราะเหตุนั้น หรือว่าอันธพาลที่ต้องอันธพาลนี้เพราะต้องการที่จะกินเกินกว่าที่จำเป็นด้วยเหมือนกัน หรือข้าราชการคอรัปชั่นก็เหมือนกัน มันต้องการจะกินเกินกว่าที่ควรจะกิน มันต้องการจะมีอะไรอย่างที่เขามี จะมีรถยนต์มีตึกมีเรือ ทุกอย่างที่มันเป็นของที่เกินฐานะของตนอย่างนี้ มันเป็นคนที่เลี้ยงยาก มันก็มีความทุกข์ตลอดเวลาด้วย แล้วก็ทำให้เกิดความเสียหายอย่างอื่นด้วย ไม่เป็นไปเพื่อความสงบสุข
นี่ระดับทั่วไปก็อย่างนี้ ต้องปฏิบัติเพื่อคลายความยึดมั่นถือมั่น ปฏิบัติเพื่อแก้ออกไม่ให้มันผูกมัดเข้าไป ปฏิบัติเพื่อไม่สะสม ปฏิบัติเพื่อปรารถนาน้อย ปฏิบัติเพื่อยินดีในของมีอยู่ ปฏิบัติเพื่ออยู่อย่างสงัด ปฏิบัติเพื่อความพากเพียร ปฏิบัติเพื่อเรียบง่าย ไปดูรายละเอียดเอาเองจากหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องนี้ โคตมีสูตร นี่ผมเรียกว่าระดับทั่วไป
ทีนี้ถ้าเป็นระดับสูงสุดการปฏิบัตินั้นก็มุ่งยังจะนิพพาน ก็อยากจะยกบาลีที่เราเอามาใช้บอกอนุศาสตร์ แก่ผู้บวชใหม่ เขาตัดมาจากพระบาลีว่าให้ศึกษา ศีล สมาธิ ปัญญา นี่ ในฐานะที่มันมีไว้เพื่อสิ่งเหล่านี้ ต่อไปนี้ มัททนิม มัททนสะ จิปาสะ วินัยสะ อารยสมุปาทสะ พตูปเฉทสะ .วิราคะสะ. นิโรธสะ นิพพานสะ ปฉิกิริยายะ (นาทีที่ 55:09) นี่เป็นใจความสำคัญที่สุดของคำที่เอามาบอกอนุศาสตร์แก่พระที่บวชใหม่ในวันนั้น ให้เธอบวชนี้ให้เพื่ออย่างนี้ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งเหล่านี้ ร่ายไปตั้งแต่ต้น มัททะนิม มัททะนะสะ เป็นไปเพื่อสร่างเมา พูดภาษาหยาบคายของชาวบ้านว่าคนหนุ่มมันกลัดมัน มันเมามัน พอมันมาบวชเข้า มันก็ควรจะสร่างเมา เรียก มัททะนิม(นาทีที่ 56:01) สร่างเมา จิปาสะ วินัยสะ (นาทีที่ 56:05) เพื่อทำลายเสียซึ่งความหิวกระหาย จิปาสะ หิวกระหายในกิเลส เราบวชนี่เพื่อจะหยุดความหิวความกระหายนั่นเสีย ถ้าฆราวาสมันก็หิวกามารมณ์หิวอะไรต่างๆ บวชนี่ก็หยุดหิวเสีย อารยะสมุ...ตะสะ (นาทีที่ 56:29) ให้ถอนเสียซึ่งอาลัย อาลัยโดยทั่วไปหมายถึงกิเลสหรือความยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละ มันมีจิตใจตกไปสู่สิ่งใดอยู่เป็นปกติสิ่งนั้นก็เรียกว่าอาลัย นี่ถอนมันเสียอย่าให้มันมี ที่ๆมันจะตกไปอยู่ ไปจมไปนอนหมักดองอยู่เรียกว่าอาลัยนี้ถอนเสียอย่าให้มีที่เรียกว่าอาลัย คนทั่วไปมันมีอาลัยก็ในสิ่งที่มันรักมันพอใจอยู่เป็นปกติหรือเป็นประจำ ที่มาบวชนี่ถอนมันเสีย ถอนอาลัยเสีย
วัตตูปัจเฉทสะ (นาทีที่ 57:17) ให้ตัดเสียซึ่งวัฎฏะ วัฎฏะนี่เคยได้ยินกันมามากแล้ว อธิบายมากแล้ว หมุนเป็นวงกลมด้วยอำนาจของสิ่งสามอย่างคือกิเลส แล้วก็กรรม แล้วก็วิบากคือผลกรรม มีกิเลสก็ทำกรรม ทำกรรมแล้วก็มีวิบาก มีวิบากแล้วก็สร้างกิเลสแบบใหม่อีก มันก็วนกันอยู่อย่างนี้เรียกว่าวัฏฏะ เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะ ฆราวาสก็เวียนอยู่ในวัฏฏะ บรรพชิตก็เวียนอยู่ในวัฏฏะ ถ้าทำไม่ถูกต้อง เดี๋ยวนี้มาบวชหยกๆ เป็นพระขึ้นมาหยกๆ ก็สอนเรื่องนี้ เป็นไปเพื่อตัดเสียซึ่งวัฏฏะคือวน อย่าไปวนอยู่ในนั้นเลย ให้ปฏิบัติเพื่อออกมาเสียจากวน หรือว่าทำลายวนเสียอย่าให้มันวนได้ ก็ถ้าว่าไม่มีกิเลสแล้วมันก็ไม่มีวัฏฏะแน่ ไม่มีกรรมไม่มีผลกรรม
ทีนี้คำต่อไป ตันหทยสะ (นาทีที่ 58:32) เพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา ตัณหานี้คืออยากด้วยความโง่ด้วยความไม่รู้ด้วยมิจฉาทิฐิ ถ้าอยากอย่างนี้เขาเรียกว่าตัณหา ถ้าต้องการตามที่ควรจะต้องการนั้นก็ไม่ได้เรียกว่าตัณหา เรียกว่า สัมมาสังกัปโป ความต้องการที่ถูกต้อง ภาษาไทยเรามันทำยุ่ง อยากเราก็ใช้เหมือนกันหมด อยากดี อยากในทางดีก็เรียกว่าอยาก อยากในทางชั่วก็เรียกว่าอยาก บาลีแยกจากกันเสีย ถ้าอยากในทางผิดๆ ก็เรียกว่าตัณหา หยุดเสีย ทำให้หมดเสีย ถ้าเป็นสังกัปปะที่ดี เป็นความอยากความปรารถนาที่ดีก็ทำต่อไปจนให้บรรลุความสำเร็จ เดี๋ยวนี้ ตัณหะทะยะสะ (นาทีที่ 59:29) เพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา หยุดอยากอย่างโง่ๆ กันเสียที นี่ต้องปฏิบัติอย่างนี้
ที่ว่า วิราคะสะ เพื่อวิราคะ อย่างที่อธิบายแล้วข้างบน นิโรธสะ ก็เพื่อ นิโรธ คือความดับอย่างที่อธิบายแล้วข้างบน นิพพานสะ ก็อย่างที่อธิบายแล้วข้างบนไปจบถึงนิพพาน การปฏิบัติระดับสูงสุดก็คือไปถึงนิพพาน บรรเทาความเมา ทำลายความหิว ถอนอาลัยเสีย ตัดวัฏฏะเสีย ทำตัณหาให้สิ้น คลายความยึดมั่นถือมั่นเสียให้หมด แล้วก็ดับสนิท แล้วก็นิพพานคือเย็น
นี่ปฏิบัติบริสุทธิ์ต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่อย่างนั้นไม่บริสุทธิ์ ต้องมาตามแนวอย่างนี้จึงเรียกว่าปฏิบัตินั้นบริสุทธิ์ ทีนี้การปฏิบัติบริสุทธิ์ถ้าสรุปให้เหลือคำเดียวมันก็อย่างที่ว่ามา ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร หรือเป็นสุญญตา แต่คำที่ใช้มากที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอง ที่ว่าเพื่อทำที่สุดแห่งความทุกข์ อย่างตรัสเอหิภิกขุปะสัมปทา แก่ผู้ใดให้ผู้นั้นเป็นภิกษุ มาประพฤติพรหมจรรย์เพื่อกระทำที่สุดแห่งความทุกข์ ภันโตทุกขสะกริยายะ กระทำเพื่อที่สุดแห่งทุกข์
การบวชในสมัยที่ยี่สิบกว่าปีมานี้ ทางฝ่ายมหานิกายก็มีบทขอบรรพชาอุปสมบถที่น่าสนใจอย่างยิ่งอยู่บทหนึ่ง คือบทว่า สัพพะทุกขะนิสรณนิพพานะสัตถิกริยายะเอตังกังสาวัง เหตุวา (นาทีที่ 1:01:41) ว่าไปอย่างที่ว่า ที่ว่าๆ กัน จงรับผ้ากาสายะนี้ เพื่อให้ผ้ากาสายะนี้ทำการบรรพชาให้แก่กระผม ก็เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน เป็นเครื่องออกไปจากทุกข์ทั้งปวง เดี๋ยวนี้ไม่ได้ว่ากันแล้ว ที่ว่าอย่างแบบใหม่หรือแบบธรรมยุตกันหมด ก็ที่บางแห่งที่ยังไม่เปลี่ยนก็น้อยมากไม่ทราบว่าที่ไหนยังเหลืออยู่ แต่ก่อนก็ว่ากันอย่างนี้ สัพพะทุกขะนิสรณะนิพพานะสัตถิกริยายะ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานเป็นเครื่องออกไปจากทุกข์ทั้งปวง นี่บทสรุปของการการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติบริสุทธิ์ก็ต้องเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ที่เป็นเครื่องออกไปจากทุกข์ทั้งปวงนี่โดยสรุปคำเดียวก็พอว่าเพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์
ทีนี้ดูปฏิเวธที่บริสุทธิ์ ปฏิเวธที่บริสุทธิ์ก็เกือบจะไม่ต้องพูดอะไรอีก เมื่อปริยัติบริสุทธิ์ ปฏิบัติก็บริสุทธิ์ เมื่อปฏิบัติบริสุทธิ์ ผลมันก็เกิดขึ้นมาตามสมควรแห่งการปฏิบัติแล้วมันก็บริสุทธิ์ เมื่อปฏิเวธบริสุทธิ์ก็หมายความว่ามีการหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเรียกว่าวิมุตติ โดยทั่วไปเรียกว่าวิมุตติ แปลว่าหลุดพ้นอย่างสูงสุด คือหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ถ้าเราเรียกให้มากออกไปก็เป็นเรื่อง มรรค ผล นิพพาน มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ก็เดี๋ยว ๙ เรื่อง ๙ คำขึ้นมาอีก เรื่องนี้ก็ได้อธิบายแล้วในการบรรยายครั้งแรกๆ เรื่อง มรรค ผล นิพพาน ไปทบทวนดู
แต่ทั้งมรรคผลนิพพานนี้มาสรุปได้เป็นคำเดียวว่าเป็นวิมุตติหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง เป็นผลของการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือเป็นปฏิเวธที่บริสุทธิ์ นี่เราได้พูดกันถึงความบริสุทธิ์แห่งพระสัทธรรม ปริยัติก็บริสุทธิ์ ปฏิบัติก็บริสุทธิ์ ปฏิเวธก็บริสุทธิ์ ก็เรียกว่ามีสัทธรรมบริสุทธิ์ส่วนปัจเจกชน ในส่วนพระศาสนาทั้งหลายทั้งปวงก็ให้มันมีหลักอยู่อย่างนี้ในเรื่องปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ก็เรียกว่ามีสัทธรรมทั้งสามบริสุทธิ์ รวมคำเดียวก็เรียกว่าพระศาสนาบริสุทธิ์อยู่เป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งปวงได้
เอ้า, ทีนี้ดูกันเป็นครั้งสุดท้ายว่าตามที่เป็นอยู่จริงมันเป็นอย่างไร มันก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลตามสมัยจะโทษใครนักก็ไม่ได้ แต่เมื่อทำผิดแล้วมันก็ใช้ไม่ได้ ไม่ต้องแก้ตัว เดี๋ยวนี้ปริยัติไม่บริสุทธิ์จนถึงกับว่ามีปริยัติแบบงูพิษ ก็เคยกล่าวไว้ในพระบาลีด้วยเหมือนกันจะเป็นคำที่พระองค์ทรงพยากรณ์ล่วงหน้าหรือว่าเป็นหลักทั่วไปในข้อที่ว่า สิ่งเดียวกันนั้นมันใช้ได้หลายอย่าง เช่น มีดจะมาใช้เป็นเครื่องมือทำการงานก็ได้ ใช้เป็นอาวุธฆ่าคนก็ได้ กระทั่งฆ่าตัวเอง ฆ่าตัวเองตายก็ได้ ปริยัตินี้โดยที่แท้ก็เพื่อปฏิบัติเพื่อนิพพาน ถ้าใช้ผิดมันก็ใช้ฝ่ายเป็นงูพิษ เรียกว่า อลัขขทูปมสูตร (นาทีที่ 1:06:37) พูดถึงปริยัติที่ได้เกิดเป็นพิษขึ้นมาทำอันตรายแก่บุคคลนั้น นี่เรียกว่าปริยัติงูพิษ เรียนหรือสอนเพื่อประโยชน์แก่ลาภสักการะ แล้วมันก็เจริญด้วยกิเลสและตัณหา ในที่สุดมันก็ถึงความวินาศจากพระสัทธรรม ดังนั้นการปฏิบัติก็เหมือนกันอีก ถ้าปฏิบัติเพื่อลาภสักการะไม่ปฏิบัติเพื่อวิมุตติ มันก็เป็นผิด มันเป็นปฏิบัติที่ไม่บริสุทธิ์ มันก็ต้องเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารอยู่ตามเดิมหาพระนิพพานไม่พบ มันต้องมีแต่การเวียนว่ายไปในในวัฏสงสารอยู่เรื่อยไปนี่ อย่างนี้ก็เรียกว่าปริยัติไม่บริสุทธิ์ ปฏิบัติไม่บริสุทธิ์ ปฏิเวธก็ไม่บริสุทธิ์ คือไม่มีหรือถ้ามีก็อย่างหลอกที่คนมีกิเลสเขาว่าเอาเอง นี่มันออกนอกลู่นอกทางไปเป็นเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์แสวงหาประโยชน์ให้แก่กิเลสไปเสียอีก ไม่เป็นปฏิเวธที่ถูกต้อง
ทางที่เป็นอยู่จริงมันก็ไม่ได้มีอยู่จริงเหมือนกัน ทีนี้เราก็ไม่สมัครที่จะเป็นอย่างนั้น จงปลีกตัวออกมาเสียเพราะว่ามีความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับพระสัทธรรมอย่างที่กล่าวมาแล้ว พระสัทธรรมมีสามคือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เดี๋ยวนี้เรามีความเข้าใจถูกต้องอย่างนี้แล้วมันก็เป็นการรับประกันได้
ดังนั้นขอให้สนใจกันอย่างยิ่งด้วยในสิ่งที่เรียกว่าพระสัทธรรม ปู่ย่าตายายของเราคุ้นเคยกับคำนี้มาก แต่ท่านเรียกสั้นๆ ว่าพระสะธรรม
เวลาก็หมดแล้วขอยุติการบรรยายนี้ไว้เพียงเท่านี้