แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ถาม: มีคำถามเกี่ยวกับโครงการเผยแพร่ธรรมะ ท่านอาจารย์มีโครงการจะแปลหนังสือธรรมะต่างๆ ที่ท่านเขียนเป็นภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาจีนหรือไม่
ตอบ: นึกได้ อาจจะนึก เพราะการนึก นึกได้ แต่ไม่เชื่อว่าจะทำได้ เพราะเหตุอย่างเดียว สาเหตุคือทำเองไม่ได้ ก็เลยได้แต่นึก เพราะว่าความสำคัญคือทำเองไม่ได้ ถ้าให้คนอื่นทำจะง่ายขึ้น ก็คิดอยู่ ก็มีคนช่วยแปลบ้าง นี่ก็มี เล่มเล็ก ๆ หลาย ๆ เล่มที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ อาตมาก็คิดว่าไม่เป็นไร ก็คิดว่าที่เราทำไว้เป็นภาษาไทยมันได้พิสูจน์ว่าเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ อาตมาตายแล้วค่อยมีคนแปล ต้องมีคนแปล ให้เวลานานหน่อย ให้มันได้พิสูจน์ว่ามันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ให้เราตายแล้วค่อยมีคนแปล ตอนนี้เรายังไม่ได้ขวนขวาย (นาทีที่ 1.39)
ถาม: อยากจะขอประทานกราบเรียนอธิบายเรื่องขันธ์ ๕ และมรรค ๘ ต่อ
ตอบ: เป็น ๒ เรื่องใหญ่ๆ ไม่ต่อล่ะ (นาทีที่ 2.10) ไอ้ที่พูดแล้วยังไม่เข้าใจก็ไม่ต้องต่อ พูดซ้ำ ถ้าให้พูดก็พูดซ้ำ
เราได้รับคำอธิบายสั่งสอนมาว่าคนเรานี้ประกอบอยู่ด้วยขันธ์ ๕ เป็นการเริ่มเข้าใจผิดที่ว่าคน ๆ หนึ่งแบ่งออกได้เป็น ๕ ส่วน เรียกว่าขันธ์ ๕ นี่ก็ผิดแล้ว จากการศึกษาเรื่องขันธ์ ๕ ในขณะหนึ่งขณะเดียวนั้นเราไม่อาจจะมีขันธ์ครบทั้ง ๕ จะแบ่งคนออกเป็นขันธ์ ๕ มันทำไม่ได้ แปลว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าขันธ์ ๕ น่ะมันมีอยู่ในคนๆ เดียว แต่มันมีอยู่ในลักษณะอย่างไรนี่มันอีกเรื่องหนึ่ง
ก็อย่างที่กล่าวมาแล้ว ต้องรู้ว่าธาตุ มีสิ่งที่เรียกว่าธาตุอยู่เป็นพื้นฐาน ไอ้ธาตุนี้มีทั้งที่เป็นวัตถุและทั้งที่เป็นจิตใจ หรือที่เรียกว่าวิญญาณธาตุ จิตธาตุ นามธาตุ อะไรก็มี (นาทีที่ 3.50-4.11 เสียงเงียบ) คำว่าธาตุในภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศนั้นมันหมายความเป็นอย่างอื่น ในภาษาบาลีนั้นหมายถึงมูลฐานอันแรกที่เราจะแยกให้ย่อยลงไปกว่านั้นไม่ได้อีกแล้ว หรือไม่จำเป็นต้องไปแยกมัน เรียกว่าธาตุ เช่น ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ต้องรู้จักกันเสียก่อน ก็มักจะรู้จักหรือเข้าใจกันผิดๆ เช่น ธาตุดิน ในคนคือ เนื้อ หนัง กระดูก เป็นต้น อย่างนั้นไม่ถูกแล้ว เพราะในเนื้อมันก็มีทั้งธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ในเนื้อของคนเราที่ได้เคยอธิบายไว้มากมายแล้วในหนังสือบางเล่มและได้พิมพ์ไว้แล้วด้วย ให้ไปหาอ่านดู คือจะบอกให้รู้ว่าเรากำลังเข้าใจผิดว่าธาตุดินก็หมายถึงดิน เพราะในดินนี่ก็มีน้ำ ดินที่ไหนไม่มีน้ำ และดินที่ไหนไม่มีอุณหภูมิซึ่งมันก็มีธาตุไฟ และดินที่ไหนไม่มีการระเหยซึ่งมันก็มีธาตุลม
“ธาตุดิน” คือคุณสมบัติที่กินเนื้อที่ คือของแข็ง ที่กินเนื้อที่ ธาตุดินคือคุณสมบัติที่มันกินเนื้อที่ และมันมีอยู่ในอะไรก็ได้ อยู่ในน้ำก็ได้ คุณสมบัติที่กินเนื้อที่มันอยู่ในน้ำก็ได้ อย่างคนเรานี่ส่วนที่มันกินเนื้อที่ก็เรียกว่าธาตุดิน เห็นกันง่ายๆ ก็ ผม ขน เนื้อ เล็บ ฟัน หนัง “ธาตุน้ำ” นี้ก็ทำให้เหลว มีการเกาะกลุ่มยึดตัวกัน คุณสมบัติที่ทำหน้าที่ให้มันเกาะกลุ่มและยึดตัวกันไว้ได้นี่เรียกว่าธาตุน้ำ เห็นได้เช่น น้ำตา น้ำมูก น้ำเลือด น้ำที่มันต้องเกาะกลุ่มตัวกันจึงจะเป็นน้ำ คุณสมบัติที่เกาะกุมตัวกันอยู่นี่เรียกว่าธาตุน้ำ ถ้าไม่มีคุณสมบัติอันนี้มันก็จะแยกออกเป็นอณูย่อย ๆ ไม่มีอะไรเหลือ “ธาตุไฟ” เป็นอุณหภูมิ “ธาตุลม” ที่ว่ามีคุณสมบัติที่ทำให้ระเหยเคลื่อนไหว เคลื่อนไหวได้ก็สิ่งที่เรียกว่าธาตุลม คุณสมบัติที่ทำให้เกิดการระเหยและเคลื่อนไหวได้นี่เรียกว่าธาตุลม นี่ก็รู้จักกันมานานแล้ว คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลม แต่ในความหมายอย่างอื่นก็ได้ ในทางพระพุทธศาสนาหมายอย่างนี้
ยังมีอีกธาตุหนึ่งเรียกว่า “อากาศธาตุ” คือที่ว่าง คือธาตุที่เราเอาไปบรรจุได้ในเนื้อที่อันนี้ สุดท้ายเราเรียกว่า “วิญญาณธาตุ” ก็คือ ธาตุจิต ธาตุใจ ธาตุวิญญาณ สำหรับทำความรู้สึก เรียกว่าธาตุทั้ง ๖ ยังไม่ใช่ขันธ์ ยังไม่ใช่ขันธ์แต่มันมีอยู่ ทีนี้ยังมีคุณสมบัติอันอื่นอีกมาก เช่นคุณสมบัติทำให้เห็นได้ทางตา นี่เราเรียกว่าธาตุตาหรือ ”จักขุธาตุ” ซึ่งมีอยู่ในคน คุณสมบัติที่ให้ได้ยินได้ทางหูก็เรียกว่าธาตุหูหรือเรียกว่า “โสตธาตุ” ส่วนที่รู้กลิ่นได้ทางจมูกอันนี้เรียกว่าธาตุจมูกหรือ “ฆานธาตุ” คุณสมบัติที่ทำให้รู้รสทางลิ้นเรียกว่าธาตุลิ้นหรือ “ชิวหาธาตุ” คุณสมบัติที่ทางผิวหนังรู้สัมผัสได้ก็เรียกว่าธาตุกายหรือ “กายธาตุ” ไอ้ที่คิดรู้สึกทางจิตใจที่รู้สึกนึกคิดได้ก็เรียกว่าธาตุใจหรือ “มโนธาตุ” นี่ก็อีกกลุ่มหนึ่ง ๖ อันนี้
แล้วก็ยังมีธาตุข้างนอกที่ว่าจะเข้ามาทำหน้าที่คู่กับธาตุข้างใน ๖ ธาตุนี้อีกชุดหนึ่ง คือ “ธาตุรูป ธาตุเสียง ธาตุกลิ่น ธาตุรส ธาตุโผฏฐัพพะ และ ธาตุธรรมารมณ์” เรียกว่า “รูปธาตุ สัททาตุ คันธธาตุ รสธาตุ โผฏฐัพพธาตุ และธัมมธาตุ” อย่างน้อยเราต้องรู้จักไอ้ธาตุทั้ง ๓ พวกนี้ก่อน ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ ธาตุตา ธาตุหู ธาตุจมูก ธาตุลิ้น ธาตุกาย ธาตุใจ ธาตุรูป ธาตุเสียง ธาตุกลิ่น ธาตุรส ธาตุโผฏฐัพพะ ธาตุอารมณ์ ที่มีอยู่คู่กัน ๖ อย่างนี้
อย่างน้อยให้รู้จักไอ้ ๑๘ ธาตุนี้ก่อน ต้องมีอยู่เป็นพื้นฐาน ในสิ่งที่เรียกว่าคนนี่มันมีธาตุเหล่านี้อยู่ หรือจะถือว่ามีอยู่ทั่วไปก็ได้ แต่ไอ้เฉพาะที่มีอยู่ในคนนี่ต้องมีครบ ต้องมีธาตุเหล่านี้อยู่เป็นพื้นฐาน ในโอกาสหนึ่งมันก็เกิดความสัมพันธ์กัน เข้ามาเกี่ยวข้องกัน เช่น ธาตุตาจริง ๆ แล้วคือส่วนหนึ่งของร่างกาย แล้วก็มีธาตุตาอยู่ที่ดวงตา ทำให้ดวงตาเห็นได้ มีธาตุรูปข้างนอกเข้ามาในลักษณะที่ทำให้ตาเห็นได้ ตากับรูปมาถึงกันเข้าก็เกิด “จักขุวิญญาณ” หรือวิญญาณธาตุทางตา ให้ปรากฎให้เห็นได้นี่ก็ ๓ ธาตุแล้ว ธาตุตา ธาตุรูป และจักขุวิญญาณธาตุ วิญญาณธาตุที่ให้เห็นทางตา ถ้ามันได้ทำกันจนถึงอย่างนี้แล้วนี่ก็เรียกว่ารูปขันธ์ทำหน้าที่แล้ว มีรูปขันธ์ปรากฎเป็นรูปขันธ์ คือตาในร่างกายเห็นรูปส่วนหนึ่ง รูปข้างนอกด้วย ทำการเห็นทางตา เห็นทางตาขี้นมาได้แล้ว เรียกว่ารูปขันธ์ รูปธาตุได้เปลี่ยนเป็นรูปขันธ์แล้ว มันเปลี่ยนเป็น “อายตนะ” ก่อนแล้วมาเปลี่ยนเป็นขันธ์ รูปธาตุเปลี่ยนเป็นรูปายตนะ แล้วก็มาเปลี่ยนเป็นรูปขันธ์ เมื่อมาสัมผัสกันอย่างนี้ก็แล้วก็จะเกิดความรู้สึกที่เรียกว่า “เวทนา”
ถาม: รูปขันธ์จะหมายถึง Image ที่ตาเห็นหรือเปล่า
ตอบ: หมายถึงร่างกาย ถึงรูปกายล้วนๆ ในขณะที่ทำหน้าที่ ถ้าไม่ได้ทำหน้าที่เรียกว่ามันเป็นธาตุรูปเท่านั้น คือมันเป็นอายตนะที่มันสัมผัสได้ เรียกว่า “รูปายตนะ” คือเมื่อสัมผัสเสร็จแล้ว เมื่อทำหน้าที่แล้วเรียกว่ารูปขันธ์เกิด รูปขันธ์มีให้เห็นแล้วในกรณีนี้ ก็มีเวทนา อันนี้ก็เกิดง่าย เมื่อวิญญาณขันต์เกิดแล้วก็จะเกิดวิญญาณทางตา มีเวทนา เรียกว่ารู้สึกชอบไม่ชอบ ดีไม่ดี สุขหรือทุกข์ นี่เรียกว่าเวทนาขันธ์โผล่มาแล้ว ไอ้เวทนาขันธ์นี้เคยเป็นเวทนาธาตุ เป็นธาตุชนิดหนึ่งแต่ยังไม่เป็นเวทนาขันธ์ จนกว่ามันจะปรากฏแก่จิตจึงจะเรียกว่าเวทนาขันธ์ เวทนาขันธ์เกิดแล้ว รูปขันธ์เกิดแล้ว วิญญาณขันธ์เกิดแล้ว เวทนาขันธ์เกิดแล้ว เมื่อเวทนาปรากฎแก่จิตแล้ว จิตมันต้องมั่นหมาย สำคัญมั่นหมาย แล้วมันก็จะจำได้ หมายมั่นเป็นอย่างไร เรียกว่าเวทนานั้น ก็เลยเรียกว่าสัญญาขันธ์ สัญญาขันธ์ก็เกิดขึ้นมาอีก มันผลัดกันเกิด มันจะเกิดพร้อมกันไม่ได้ มันต้องอาศัยสิ่งนั้นให้เกิด ถ้าเราจะเรียกคราวเดียวทั้งกลุ่มนี้ก็ได้เหมือนกันซึ่งก็มีอยู่ ๕ สัญญาขันธ์เกิดแล้ว มั่นหมายอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เกิดความคิดที่จะพูดจะทำจะจัดการอะไรต่างๆ นี่เรียกว่าสังขารขันธ์ สังขารขันธ์ก็เกิดอีก ก็เลยครบ ๕ ขันธ์ เกิดขึ้นมาคราวเดียวทั้ง ๕ ไม่ได้ เกิดอย่างนั้นค่อยเกิดอย่างนี้ ด้วยวิธีของมันจนกว่าจะครบ ๕ ขันธ์ นี่เรียกว่าขันธ์ ๕
ถาม: ขั้นตอนที่บอกว่าเห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ก็ละตรงก่อนจะถึงเวทนาขันธ์ใช่ไหมครับ
ตอบ: เรียกว่าวิธีปฏิบัติที่จะเอาชนะสิ่งเหล่านี้เพื่อจะหลุดพ้น ให้มันเกิดการปฏิบัติในลักษณะที่เรียกได้ว่า เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ไม่เกิดเวทนา อย่ายึดมั่นถือมั่น เพราะมันไม่ได้มีอะไรเป็นปัญหาเกิดขึ้น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน รู้เหมือนกันว่าอะไรเป็นอะไร รู้ว่าดมอะไร กลิ่นอะไร แต่ว่ามันไม่เกิดอุปาทาน ไม่เกิดปัญหา มันคือวิธีปฏิบัติที่จะไม่ให้เกิดทุกข์ขึ้นมา นี่ขันธ์ ๕ มีแค่นี้เอง ตอนนี้ก็เป็นเรื่อง “อุปาทานขันธ์ ๕” ถ้ามีอวิชชามีอะไรเข้ามาผสมโรงมันก็ยึดถือรูปของเรา เวทนาของเรา สัญญาของเรา หรือบางทีเอาสัญญาเป็นตัวเราคือเข้าใจว่าเป็นตัวเรา ความคิดของเรา หรือว่าเอาสังขารเป็นตัวเราก็มี ซึ่งมันเป็นไปได้ มันแล้วแต่คน แล้วแต่เรื่อง แล้วก็วิญญาณ มักจะถูกถือว่าเป็นตัวเรา เรียกว่าเราเห็น อย่าไปยึดถือมาก มีความหนักความทุกข์ ความทุกข์ เรียกว่าความทุกข์ อย่างนี้เรียกว่าอุปาทานขันธ์ เมื่อตะกี้เรียกว่าขันธ์เฉย ๆ ขันธ์ ๕ ก็อย่างหนึ่ง อุปาทานขันธ์ ๕ ก็อีกอย่างหนึ่งนี่เป็นตัวทุกข์ ขันธ์ ๕ ถ้ามันเกิดขึ้นมา ถ้าไม่ยึดถือก็ไม่เป็นทุกข์ ถ้าไม่มีการยึดถือก็เป็นขันธ์ ๕ เฉยๆ ถ้ามี “อวิชชา” ทำให้เกิดการยึดถือก็เป็นอุปาทานขันธ์ ๕ อันนี้เป็นตัวทุกข์
ซึ่งเราจะรู้จักขันธ์ ๕ ดีนี่เราต้องรู้ตั้งแต่ธาตุ เป็นธาตุ แล้วก็เป็นอายตนะ แล้วก็เป็นขันธ์ แล้วก็มาเป็นอุปาทานขันธ์ที่เป็นตัวทุกข์ นี่แหล่ะถึงจะเรียกว่ารู้ขันธ์ ๕ ดี ไอ้สิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลาที่จะพอกล่าวได้ว่าตลอดเวลา ก็คือธาตุทั้งหลาย ธาตุตา ธาตุหู ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ก็ถือได้ว่ามีอยู่ตลอดเวลา คือพร้อมที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง อันนี้จะเรียกว่าอายตนะทางตา หรือทางหูขึ้นมาก็ต่อเมื่อมันทำงานเห็นอายตนะ ซึ่งอายตนะนี่ก็เพิ่งเกิด ไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา เป็นขันธ์ เป็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ ถึงขณะหนึ่ง ทำงานทำหน้าที่ให้เต็มที่ เรียกว่าขันธ์ ถ้าเราโง่ทำให้เกิดการยึดมั่นถือมั่นเรียกว่าเกิด “อุปาทานขันธ์” แล้วก็เป็นทุกข์ ก็ต้องปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ เพื่อให้บรรลุมรรคผล นิพพาน ต้องตั้งต้นที่ธาตุอย่างนี้ อายตนะจนเป็นขันธ์ เป็นทุกข์ ปฏิบัติดับทุกข์ จนไปถึงบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นสายเดียวตลอด เรื่องพระพุทธศาสนา
เรื่องที่ต้องศึกษาคือความทุกข์ และความทุกข์มันอยู่ที่อุปาทานขันธ์ ๕ ดังนั้นเราต้องรู้ขันธ์ ๕ รู้จักอุปาทานขันธ์ ๕ ถ้าเราจะรู้จักขันธ์ ๕ เราต้องรู้จักอายตนะ รู้จักธาตุ นั่นก็คือว่าลึกซึ้ง เป็นธรรมะลึกซึ้ง เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ เรื่องขันธ์ เรียกว่าอภิธรรมก็ได้ ศึกษาไปเอง เห็นไปเองว่าเราไม่สามารถจะมีขันธ์ ๕ พร้อมในขณะเดียวได้ ที่ว่าคน ๆ หนึ่งแบ่งเป็น 5 ส่วนพร้อม ๆ กันนี่เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าว่าดินน้ำลมไฟ นี่ก็พอจะพูดได้คือ ธาตุทั้งหมดนี่พอจะแยกออกไปได้ ธาตุดินส่วนหนึ่ง ธาตุน้ำส่วนหนึ่ง ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ นี่พอจะแบ่งแยกได้ในคราวเดียว แต่ถ้ามันเป็นอายตนะ เป็นขันธ์ อย่างนี่ก็เป็นเพียงชั่วขณะ ชั่วเวลา ชั่วกรณี เดี๋ยวทางตา เดี๋ยวทางหู อันนั้นต้องเกิดก่อนอันนี้จึงจะเกิดได้ อันนี้หมดหน้าที่ดับไปอันนั้นจึงจะเกิดขึ้นมาอีก ต้องเกิดรูปขันธ์จึงจะเกิดเวทนาขันธ์ เป็นต้น
ฟังดูมันคล้าย ๆ กับน่ารำคาญหรือน่าเบื่อหน่ายหรือศึกษายาก แต่ถ้าศึกษาไปก็คุ้นเคย เรียกว่าเป็นของง่าย เหมือนกับเรื่องวิทยาศาสตร์ตอนที่ยาก ๆ ในครั้งแรก แต่พอทำมันจนคุ้นเคยกันมันก็ง่าย อย่างเรื่องธรรมะก็เหมือนกัน รู้สึกยุ่งยากลำบากไม่อยากจะเรียน แต่พอเข้าใจแล้วมันก็ไม่ยาก เข้าใจได้ คือเข้าใจแล้วมันต้องปฏิบัติให้ได้อีก นี่มันคือปัญหาต่อเนื่อง ต้องระวังไม่ให้เกิดอุปาทานขันธ์ ถ้ามีแต่ขันธ์ล้วน ๆ นี่มันก็ไม่ทุกข์ มันจะยากตอนนี้ สติสัมปชัญญะไม่พอ พอตาเห็นรูป (นาทีที่ 19.50) ยึดมั่นถือมั่นไปหมด ยึดมั่นในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณหมด
เราเพิ่งพิมพ์ออกได้ไม่กี่เดือนมานี้ที่เรียกว่า “ปรมัตถปฏิปทา” หนังสือเล่มนี้ออกมาก็จะอธิบายแต่เรื่องอย่างนี้ทั้งนั้น เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง มีการบรรยาย ๑๒-๑๓ ครั้ง เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ เรื่องขันธ์ อุปทานขันธ์ เรื่องทุกข์ คำบรรยายทุกวันเสาร์ ยังไม่ได้พิมพ์อีกหลายเรื่อง อีกหลายชุด ชุดหนึ่งก็จะแก้ปัญหาได้เรื่องหนึ่งแน่นอน ชุดที่พิมพ์ไปแล้วมีทั้ง(นาทีที่ 21.05) แต่ชุดที่พูดถึงเรื่องขันธ์ เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ มันน่าสนใจ แม้ว่าชาวต่างประเทศจะศึกษามันในฐานะเป็นจิตวิทยา หรือเป็นวิทยาศาสตร์ในพุทธศาสนาก็ยังได้ เรามีความตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะให้คำบรรยายเป็นแบบค้น เป็น reference เป็นแบบค้น เป็นเรื่อง ๆ นี่กำลังพูดเรื่อง ก ข ก กา ของพุทธบริษัท เป็นการบรรยาย 13 ครั้ง เรียก ก ข ก กา ของพุทธบริษัทซึ่งละเลยกันจนฟั่นเฝือ ต้องตั้งต้นเรียน ก ข ก กา ใหม่ (นาทีที่ 22.22)
เวลามันไม่ค่อยจะเป็นเนื้อ เพราะมันไม่ค่อยแข็งแรง เราก็พูดไปได้วันเสาร์ครั้งหนึ่ง ขอบใจคุณหมอทั้งหลายด้วยที่ทำให้อาตมาไม่ตายยังพูดได้อยู่ทุกวันเสาร์ ยังพูดเรื่อยๆ ทุกวันเสาร์ จนกว่าจะพูดไม่ได้ แต่เชื่อเหลือเกินว่ากว่าอาตมาจะพูดไม่ได้นี่ต้องหอบ อย่างนี้ก็ยังพิมพ์ไม่ทัน พิมพ์ไม่ไหว อยู่ในเทปตั้งเยอะแยะ จนเกือบจะพูดว่าไม่ต้องพูดอีกแล้วต่อไปนี้ แค่พิมพ์ที่อยู่ในเทปออกมาให้หมดก็พอ ถ้าจะพูดก็พูดเป็นบ้าเป็นหลัง เรื่องขันธ์ ๕ ก็เป็นอย่างนี้
ส่วนเรื่อง “มรรคมีองค์ ๘” จะพูดได้ในเวลาที่เหลืออยู่นี้ จะพูดใจความของมันว่าเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับการปฏิบัติ อยู่ในรูปของการปฏิบัติ นอกนั้นเป็นเรื่องความรู้ เรื่องมรรคมีองค์ ๘ นี่เป็นเรื่องของการปฏิบัติ คือทำให้เกิดความถูกต้องในสิ่งทั้ง ๘ ที่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ เดี๋ยวนี้ท่องกันได้หรือยัง สมาชิกกลุ่มพุทธศาสน์ทั้งหลายท่องมรรคมีองค์ ๘ ได้หรือยัง ก็ง่ายๆ น่ะ “สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ” ๘ คำ
“สัมมาทิฏฐิ” คือความคิดเห็นถูกต้อง สัมมานี่แปลว่าชอบหรือถูกต้อง “สัมมาสังกัปโป” ความปรารถนาถูกต้อง สัมมาทิฏฐิคือมองเห็นทุกข์ มองเห็นอะไรที่มันเกี่ยวกับทุกข์จนดับทุกข์ได้ เข้าใจเรื่องนี้ถูกต้อง มีความเห็นคือทิฏฐิถูกต้อง ในบรรดาสิ่งที่ต้องเห็นต้องเข้าใจ เห็นแล้วก็ถูกต้อง แล้วก็มา “สัมมากัมมันโต” ปรารถนาถูกต้อง นี่มันเนื่องกัน ถ้าเราเห็นสิ่งต่างๆ ถูกต้องปรารถนามันก็ถูกต้อง ถ้าปรารถนาผิดก็แปลว่าไม่ได้เห็นอย่างถูกต้อง จึงมีคำว่าสัมมาสังกัปโปมีความปรารถนาอย่างถูกต้องตามมา แล้วก็มี “สัมมาวาจา” การพูดจาถูกต้อง คำพูดถูกต้อง วิธีพูดมันถูกต้อง อะไรมันถูกต้องในการพูดจา ก็เรียกว่าสัมมาวาจา ทีนี้ก็มีการกระทำถูกต้องเรียกว่าสัมมากัมมันโต การกระทำทางกายก็พลอยถูกต้องไปด้วย มี “สัมมาอาชีโว” คือดำรงชีวิตหรือเลี้ยงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง มันมาจากสัมมาทิฏฐิมันถูกต้อง อันนี้มันก็ถูกต้องเอง และ “สัมมาวายาโม” พยายามพากเพียรอย่างถูกต้อง เพราะสิ่งต่าง ๆ มันไม่สำเร็จลงได้ในพริบตา มันต้องการเวลา ต้องการ ทำไปเรื่อยๆ ต้องมีความเพียรที่ถูกต้องเป็นระยะยาว “สัมมาสติ” ต้องระลึก คือควบคุมไว้ให้ถูกต้อง ควบคุมความถูกต้องไว้อย่างถูกต้องเรียกว่าสัมมาสติ อันสุดท้ายก็ “สัมมาสมาธิ” กำลังใจทั้งหมดทุ่มเทลงไปอย่างถูกต้อง
มันถูกต้องทั้งหมดเรียกว่าความถูกต้อง ๘ ประการ ความถูกต้อง ๘ ประการนี้เอามาฟั่นเกลียวกันให้เป็นเส้นเดียวนี่เรียกว่ามรรคเส้นหนึ่ง หนทางเส้นหนึ่งประกอบอยู่ด้วยองค์ ๘ นี่เรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ แต่อย่าไปเรียกกันว่ามรรค ๘ ให้เรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ แล้วกัน เพราะมรรคมันมีหนึ่งเท่านั้นแต่มันประกอบด้วยองค์ประกอบ ๘ ถ้าเรียกว่ามรรค ๘ มันกลายเป็นตั้ง ๘ มรรคก็ยุ่งหมด เดินไม่ได้ เพราะมันตั้ง ๘ หนทาง เดินไม่ได้ มันมีหนทางเดียวประกอบอยู่ด้วยองค์ประกอบ ๘ องค์ ฟั่นเหมือนกับเชือกเกลียว ต้องถูกต้องกลมกลืนกันไปทีเดียว มากก็ไม่ได้ น้อยก็ไม่ได้ แต่ละองค์ต้องพอดีตามสัดส่วนของมันที่ควรจะมีในเรื่องของมรรค ไม่มีอะไรล้น ไม่มีอะไรขาด ก็เรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ ทีนี้ถ้าเรามีไม่ครบทั้ง ๘ หรือบางองค์มันมากไปน้อยไปจนเข้ากันไม่ได้ มันก็ไม่กลมกลืน
ถาม: แล้วปัญญาเกิดขึ้นเมื่อสมาธิทำ
ตอบ: สมาธินี่ถ้าเป็นไปเต็มที่ก็ส่งเสริมให้ปัญญาเบิกบาน งอกงาม คือส่งเสริมสัมมาทิฏฐิ สัมมาสมาธินี่มันจะเป็นกำลังหล่อเลี้ยงอะไรทั้งหมดให้มันแรงขึ้นไปได้ สัมมาทิฏฐินั่นก็คือปัญญานั้นมาก่อนในฐานะเป็นผู้นำ นำหน้า ปัญญาหรือแสงสว่างนี่นำหน้า ถ้ามีสัมมาทิฏฐิมีเท่าไรมันก็จะนำเท่านั้น ถูกเท่านั้น ทีนี้สัมมาทิฏฐิก็ควรจะได้รับการเพิ่มเติมกำลัง คือ สัมมาสมาธิ เป็นต้น เพิ่มเติมให้สัมมาทิฏฐิยิ่งขึ้นไปอีก เรียกว่านำยิ่งขึ้นไปอีก ก็เกื้อหนุนยิ่งขึ้นไปอีก นั่นก็นำยิ่งขึ้นไปอีก คล้าย ๆ กับว่าทำงานวนกันอยู่อย่างนี้ ไอ้มรรคมีองค์แปดมันก็เข้มข้นขึ้น ๆ จนถึงขนาดที่เรียกว่าเป็นพระโสดาบัน ถ้าแรงขึ้นไปอีกก็ถึงขนาดที่เรียกว่า พระสกิทาคามี พระอนาคามี จนกระทั่งพระอรหันต์
ถ้าทำสมาธิก็ต้องทำด้วยสติ ถ้ามีสติก็เท่ากับกำหนดอะไรอย่างหนึ่งจึงจะเป็นสมาธิ ทำสมาธิทำให้จิตเป็นสมาธิ (นาทีที่ 30.09) กำหนดอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เกิดความเป็นสมาธิที่แน่วแน่ มีเรื่องอานาปานสติสำหรับนักศึกษา ไปอ่านหนังสือเล่มนั้นจะเข้าใจ
ถาม: มีคำถามเกี่ยวกับการปฏิบัติหลายคนด้วยกัน จะถามรวมกันได้เพราะว่าเกี่ยวกับการปฏิบัติเหมือนกัน
ตอบ: ข้อแรกจะปฏิบัติธรรมะในขั้น “โลกียธรรม” อย่างไรนั้น นี่ก็เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งทีเดียว เพื่อปฏิบัติอย่างถูกต้อง เพื่อให้อยู่ในโลกนี้อย่างถูกต้อง ก็หมายความว่ายังไม่พูดถึงนิพพาน ยังไม่พูดถึงโลกุตตระ คือถ้าจะเป็นเรื่องโลกนี้ โลกนี้แท้ๆ ยกตัวอย่างโลกียะด้วยนิยม ตั้งเป้าหมายไว้ที่ “ทรัพย์สมบัติ” พอตัว “เกียรติยศชื่อเสียง” พอมีพอตัว แล้วก็ “ไมตรี ความรัก ความเคารพนับถือ” เราของสังคมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นมันพอตัว สามอย่างก่อน ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศชื่อเสียง และความรักใคร่เคารพนับถือของบุคคลรอบด้าน นี่เรียกว่าจุดมุ่งหมายปลายทาง ผลที่หมายของโลกียธรรม หรือใครอยากจะมีอะไรมากกว่านี้ ในโลกียธรรม หรือในโลกนี้ ทรัพย์สมบัติพอตัว เกียรติยศชื่อเสียงพอ มีความรักใคร่ มีไมตรี มีเมตตาต่อตัว ความเคารพของผู้อื่น สิ่งแวดล้อม คนทั้งหลายรักใคร่เคารพนับถือ แม้แต่สุนัขก็ยังรัก 3 อย่างนี่พอไหมสำหรับอยู่ในโลกนี้ หรือยังขาดอะไรอีก
ถาม: อยากได้ครอบครัวเป็นปึกแผ่น
ตอบ: ก็อยู่ในทรัพย์สมบัติชนิดหนึ่ง แล้วมันยังเกี่ยวโยงไปถึงว่าในสังคมนี้ ถ้าหลักธรรมะก็จะแยกแม้แต่ภรรยาสามีบิดามารดาออกมาเป็นสังคม เอาตัวเองเป็นหลัก มีครอบครัว คำว่าครอบครัวนี้จะรวมอยู่ในคำว่าทรัพย์ก็ได้ และก็รวมอยู่ในคำว่าไมตรีเมตตาความรักความเคารพนับถือ ถ้ามันถูกต้อง นี่ก็เป็นครอบครัวที่ดี
ไอ้ทรัพย์นี่มันมี 2 ชนิด ไอ้ทรัพย์นี่มันมีเงินทองข้าวของก็อย่างหนึ่ง และทรัพย์ที่สูงไปกว่านั้น ทรัพย์สูงสุด แต่ไม่ใช่ทรัพย์ที่เราซื้อขาย ภรรยา สามี นี่ก็เรียกว่าทรัพย์ชนิดหนึ่งได้เหมือนกัน เพราะคำว่าทรัพย์นี่มันแปลว่าสิ่งที่ทำให้เกิดความปลื้มใจ ไอ้ตัวนั้นมันแปลว่าความปลื้มใจ ดังนั้นสิ่งใดทำความปลื้มใจแก่ใครได้ก็เรียกมันว่าทรัพย์ ธรรมะก็ทำความปลื้มใจได้ เราก็เรียกว่า “อริยทรัพย์” มันไม่เกี่ยวกับทางโลก เงินๆ ทองๆ ข้าวของ ไร่นา บุตร ภรรยา สามี ก็ถือว่า ๓ อย่างนี้เป็นเป้าหมายของคนในโลก จะทำอย่างไรให้ได้สิ่งทั้ง ๓ นี้มาให้ครบถ้วนนั่นก็เป็นข้อปฏิบัติสำหรับโลกียธรรม พระพุทธเจ้าก็ไม่ค่อยได้ตรัสเรื่องนี้โดยเฉพาะเจาะจงสมบูรณ์อยู่ในหมวดใดหมวดหนึ่ง มันเลยไปอยู่ในหมวดนั้นบ้างหมวดนี้บ้าง เช่น หมวดห้ามไปเที่ยวอบายมุข ๖ ประการ สมาชิกกลุ่มพุทธศาสน์ที่นั่งอยู่ในที่นี้ใครท่องอบายมุข ๖ ประการได้ จำได้ไหม อะไรบ้าง
อบายมุข คือ สิ่งควรเว้นทั้งหลายเอามารวมไว้ที่นี่หมด ต้องเว้นก่อน ต้องปิดรูรั่วก่อนถึงจะตักน้ำใส่ให้เต็มได้ อบายมุขมันคือรูรั่ว ทางแห่งการฉิบหาย “ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านทำการงาน” อบายแปลว่านรก มุขแปลว่าปากทาง ปากทางแห่งความฉิบหาย เรียกอบายมุข จึงต้องปิดก่อน ต้องทำให้เคร่งครัดในการปิด เข้าใจความหมายให้ดีๆ นะ ดื่มน้ำเมานี่เอาแต่เหล้าอย่างเดียวแล้วทำอย่างอื่นที่ยิ่งร้ายกว่าเหล้าก็ไม่ดี เพราะว่าคำบัญญัติมักจะบัญญัติอย่างนั้นน่ะ แต่ความหมายของมันมากไปกว่านั้น อะไรที่เป็นที่ตั้งความเมาก็ต้องเอาหมด อย่าไปทำมัน เว้นการดื่มน้ำเมา เว้นของเมามากกว่า มัชชะแปลว่าของเมา ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นน้ำ เว้นมัชชะคือของเมา แล้วก็เที่ยวกลางคืน นี่มันเป็นความหมายในตัวเองว่าเที่ยวกลางคืนทำอะไรบ้างก็รวมอยู่ในนั้นหมด ดูการเล่น นี่ก็ความหมายกว้าง อะไรที่มันเป็นการเล่นที่ทำให้เกิดความโลเลต่าง ๆ เรียกว่าการเล่นหมด แม้แต่ดนตรีและเพลง ไอ้เพลงหรือดนตรีนี่แยกออกเป็นได้สองชนิด ไอ้ที่มันทำให้เกิดการโลเล อ่อนแอ หรือทำให้ตกเป็นทาสกามารมณ์นี่ต้องเว้นนะ ส่วนดนตรีอีกชนิดหนึ่งมีประโยชน์ ช่วยให้เกิดสมาธิ พวกดนตรีในโบสถ์ของฝรั่งนั่นต้องแยกออกไป ไม่นับรวมอยู่ในนี้ ดนตรีเค้าใช้สำหรับให้คนมีจิตใจไปเกาะที่ดนตรีให้แน่วแน่ลงไป มีอยู่พวกหนึ่ง และมีมานานแล้ว เป็นพันๆ ปี ที่ประเทศอินเดีย ในโบสถ์ของพวกพราหมณ์ พวก (นาทีที่ 40.19) เค้าจะมีการสวดไพเราะ ในคำสวดเรียกว่าคำฉันท์ ก็จะมีดนตรีต๊องแต๊งๆ อะไร ๒-๓ อย่างพร้อมกับคำสวด คนสวดก็นั่งหลับสวด คนฟังทั้งหลายก็นั่งหลับตาฟัง มันง่ายขึ้น อย่างนี้ไม่ควรรวมอยู่ในดนตรีที่ส่งเสริมให้เกิดความโลเล ที่เรียกว่าดูการเล่น ทุกอย่างเลย อย่างดูหนังดูอะไร เล่นการพนันไม่ต้องพูดนะ โดยอ้อมนี่ล็อตเตอรี่ก็เหมือนกันนี่ก็เป็นการพนัน แล้วก็คบคนชั่วเป็นมิตรนี่มันกว้าง เราคบคนใดก็จะเป็นอย่างคนนั้น คบคนชั่วมันก็ชั่ว ให้เกียจคร้านทำการงาน คือบังคับตัวเองให้เข้มแข็งไม่ได้ โลเลในการทำการงาน ต้องปิดหมด ไอ้รูรั่วที่ทำความฉิบหายให้แก่ความสำเร็จในทางฝ่ายโลกียะนี่ ปิดหมด
ทีนี้ฝ่ายที่จะสร้างขึ้น หมวดที่สำคัญอาตมาก็ลืมชื่อแล้ว แต่ธรรมะก็ที่เรียกว่า “อุฏฐานสัมปทา” มีความเพียรถึงพร้อม “อารักขสัมปทา” มีการรักษาดี “กัลยาณมิตตตา” มีเพื่อนดี “สมชีวิตา” ใช้จ่ายพอดี แล้วยังมีหมวดอื่น ๆ อีกเอามารวมเข้าก็ได้ความ ให้แสวงหา ให้ทำหน้าที่ที่ควรจะทำ ได้ประโยชน์มาแล้วให้รักษาไว้ อย่าไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ให้ใช้จ่ายแต่พอดี คือกินอยู่พอดี กัลยาณมิตตตานี่แยกออกมาได้ ขยันหามา ขยันรักษาไว้ และขยันใช้จ่ายพอดี นี่มันรวมเป็นเรื่องเดียวกันได้ แต่กัลยาณมิตตตานี่แยกออกมาได้ การมีเพื่อนที่ดี ถ้าใครทำอยู่อย่างนี้มันเป็นการสร้างขึ้นๆ ให้มันเต็มของสิ่งที่เราต้องการ ๓ ประการ คือทรัพย์สมบัติ เกียรติยศชื่อเสียง แล้วก็ความรักใคร่เคารพนับถือของคนรอบด้าน มีชื่อเสียงแล้วคนเกลียดก็มีนะ มีทรัพย์แล้วไม่มีชื่อเสียงก็มี มีชื่อเสียงแล้วไม่มีใครรักก็มี ถ้ามีชื่อเสียงแล้วจะสำเร็จเมื่อมีคนรัก คนรอบข้างก็รัก คนเลวกว่าเราก็ยังรักเรา คนดีสูงกว่าเราก็ยังรักเรา คนเสมอกับเราก็ยังรักเรา แม้แต่สุนัขกับแมวก็ยังรักนี่ก็ใช้ได้ เรียกว่ามีมิตรภาพจะฟังง่ายกว่า มีทรัพย์สมบัติ มีเกียรติยศชื่อเสียง แล้วก็มีมิตรภาพที่สมบูรณ์ ปิดรูรั่ว เช่น อบายมุข เป็นต้นเสีย แล้วก็สร้างสรรค์ในสิ่งที่ควรจะสร้างสรรค์ เช่น 4 อย่างนี้เป็นต้น แล้วในสิ่งทั้งสามนี้เรียกว่าการปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อโลกียธรรม มนุษย์บัญญัติไว้เท่านี้ ก็ต้องเอาตามที่บัญญัติ นี่เรื่องโลกียธรรมสำหรับคนอยู่ในโลก จนกล่าวได้ว่าชนะโลกนี้ ถ้าจะชนะโลกหน้า เช่น สวรรค์อะไร หรือโลกอื่น ก็ทำให้มันเป็นที่นอนใจได้ว่าเราไม่ตกนรกแน่ ไปสวรรค์ได้เพราะเราทำดีอยู่ตลอดเวลา หรือถ้าเชื่อแบบสวรรค์ในอกนรกในใจนั้น เราก็ไม่ตกเหมือนกัน ไม่ต้องตก นี่เรื่องโลก ๆ จะสมบูรณ์เพียงเท่านี้ โลกนี้ถ้าชนะได้ โลกหน้า โลกอื่นก็เอาชนะได้ ก็หมดเรื่องโลก
นอกจากนี้ก็เป็นเรื่อง “โลกุตตระ” ที่เหนือโลก ชนะโลกนี้ ชนะทั้งโลกก็มีที่เห็นๆ อยู่รู้สึกอยู่ (นาทีที่ 45.45) แต่ด้วยเหตุที่ว่ามันยังเป็นเรื่องโลกอยู่ โดยรวมเรียกกันว่าโลกหมด เรียกโลกหมด ชนะโลกเพียงแต่ว่าอยู่ในโลกได้โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ แต่มันก็ยากนะที่จะไม่ให้เป็นทุกข์ เพราะว่าตัวโลกมันก็คือทุกข์ ทั้งในความสนุกสนานต่าง ๆ มันก็มีตัวทุกข์อยู่ ดังนั้นการที่มีทรัพย์สมบัติโดยไม่มีทุกข์เลย เดี๋ยวมันก็ต้องอาศัยโลกุตตระ คือมีอย่างไม่มี ถ้าไปมีไปรักไปอะไรในเงินทองในทรัพย์สมบัติเดี๋ยวมันก็ต้องเป็นทุกข์ในทรัพย์สมบัติ เราเพียงแต่ชนะ เราเอามาได้มีสมบัติพอตัว ถ้าไปยึดถือเข้าเราก็ต้องเป็นทุกข์ ซึ่งต้องแก้ปัญหานี้ด้วยเรื่องที่สูงไปกว่า มันพ้นเรื่องโลกียะแล้ว เรื่องโลกุตตระจะมาช่วยแก้ปัญหาของเรื่องโลกียะอีกที ชื่อเสียงเหมือนกันถ้าทำไม่ดีมันก็เป็นที่วิตกกังวล มันเป็นสัง(นาทีที่ 47.15)มากเกินไป คือเป็นสังขารมากเกินไป มันเปลี่ยนแปลงง่าย โลกกลมมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์ เรื่องยศ เรื่องไมตรีอะไรต่าง ๆ แต่ว่าถ้าทำได้ก็เรียกว่าประสบความสำเร็จอย่างดีเหมือนกัน เพราะมันไม่ใช่ว่าทำง่ายนะ เดี๋ยวนี้เค้าบอกว่าจะต้องอดบุหรี่ อดเหล้า ยังจะยอมแพ้เลย แม้แต่เรื่องโลกียะก็ยังไม่สำเร็จ ถ้าไม่ยอมละอบายมุขทั้งหลาย อบายมุข ๖ ไม่ยอมละ มันก็มีรูรั่วที่มันไม่รู้จักเต็ม เค้าว่าคนที่ยังอดบุหรี่ไม่ได้ก็หมายความว่ายังอ่อนแอ บังคับอะไรไม่ได้ ยิ่งอดเหล้าไม่ได้ก็ยิ่งแสดงว่าไม่มีเหตุผลมากขึ้นไปอีก งั้นสมาคมกลุ่มพุทธศาสน์ตั้งต้นกันด้วยอย่างนี้ ละอบายมุข ทำให้จริงจัง “อบายมุขทั้ง ๖” ละให้จริงจังก่อน “ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านทำการงาน” ต้องเริ่มต้นสร้างรากฐานให้ดี แล้วปัญหาที่สองว่ายังไงนะ
ถาม: เมื่อมีจิตขุ่นหมองหรือมีทุกข์เวทนาแล้วยังหาสาเหตุไม่พบนั้น เพื่อจะให้จิตสะอาดนั้นควรจะทำอย่างไร เพื่อจะแก้ เพื่อกัน และเพื่อจะสำรวมต่อไป
ตอบ: นี่กำลังแยกเป็นความทุกข์ที่หาสาเหตุพบ และความทุกข์ที่หาสาเหตุไม่พบ นั่นก็กำลังยอมรับว่าที่หาสาเหตุพบก็มี เดี๋ยวนี้มันมีข้อเท็จจริงอยู่ว่ามันมีสาเหตุ จะหาพบหรือหาไม่พบเค้าก็ต้องศึกษาสาเหตุ ถ้าหาสาเหตุไม่พบก็ไม่มีทางที่จะแก้ไขได้ มันอยู่ที่ว่าหาสาเหตุพบเพื่อจะปฏิบัติต่อไป จะให้แก้ไขสิ่งที่ไม่รู้ว่าอะไรอย่าไปทำ หาพบก็แก้ไขที่สาเหตุตามหลักทั่วไป ถ้าสาเหตุของความทุกข์คือกิเลส กิเลสจะเกิดที่ไหนอย่างไรเมื่อไร ก็จัดการตรงนั้นในลักษณะที่ป้องกันก็มี เพิกถอนก็มี ทำให้มันถูกตามวิธี คือต้องการละกิเลสซึ่งมันเป็นเรื่อง ๆ หนึ่งของมันเองโดยสมบูรณ์ คือเรียกว่าระวัง เป็นพื้นฐานโดยทั่วไปที่ใช้การสำรวมระวัง อย่าเผลอ ถ้าเผลอก็ต้องรู้ ต้องมีสติทันที ละเสีย แล้วก็สร้างสิ่งที่เป็นตรงข้ามไว้ให้มาก ๆ รักษาไว้ให้ดี นี่หลักใหญ่ ๆ เป็นอย่างนี้ ถ้ารายละเอียดก็ว่ากันไปเฉพาะเรื่อง
เราควรจะแน่ใจซะว่ามันเป็นเรื่องความทุกข์ เป็นเรื่องสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา มันคงจะทำสมาธิไม่ได้ในขณะที่จิตเป็นอย่างนั้น มีวิธีด่าไล่มันไปดีกว่า ว่ากูไม่เอากะมึง อย่างนี้จะดีกว่า ว่ากูไม่ได้เกิดมาเพื่อความทุกข์ ออกไป ๆ มีอีกวิธีหนึ่งเรียกว่าสวดมันตรยา(นาทีที่ 52.05) เค้าเรียกว่าธารณี(นาทีที่52.09)บท สำหรับไล่สวาทกิเลสหรือความทุกข์ให้กระเด็นออกไป ลุกขึ้นมาทำท่าทะลึ่งตึงตังแล้วว่ากูไม่ได้เกิดมาเพื่อทุกข์ ออกไป ๆ แล้วก็ตั้งต้นใหม่ ตั้งต้นทำสมาธิได้ ไล่ออกไปก่อน พอมีโอกาสตั้งตัวทำสมาธิ อันนี้เป็นสิ่งที่อาตมาว่าดีที่สุด แต่คนก็มองข้ามไปหมด ร้องไห้บ้าง เป็นทุกข์กลัดกลุ้มอยู่ทั้งวันทั้งคืนบ้าง ทำไมไม่ใช้คำว่ากูไม่เอากับมึง ออกไปๆ ไปนั่งกลุ้มอกกลุ้มใจเสียเวลาเปล่าๆ ฉันไม่ได้เกิดมาเพื่อมีความทุกข์ ฉันก็ไม่เอากับความทุกข์ ให้ระบบประสาทหรือจิตใจมันตั้งตัวของมันได้ แล้วก็ตั้งต้นทำสมาธิใหม่ จะทำสมาธิทั้งอย่างนั้นมันคงทำไม่ได้ ความทุกข์ที่ไม่มีสาเหตุนั้นต้องหาสาเหตุให้พบ ถ้าเราค้นไม่พบก็ให้ทำอย่างนี้ก่อนแล้วค่อยไปหาสาเหตุให้พบอีกทีหนึ่งแล้วแก้ไขที่สาเหตุ
การที่จะเป็นคนเชื่อแน่นแฟ้นลงไปว่าธรรมทั้งปวงมีเหตุ เป็นไปตามเหตุ ต้องแก้ที่เหตุ ต้องสร้างที่เหตุ นี่ก็เรียกว่าเป็นความรู้ ไม่ใช่ชั้นต่ำ เป็นความรู้ชั้นสูง น้องๆ พระโสดาบัน หรือว่าเป็นพระโสดาบันเข้าไปแล้ว ให้มันเห็นแจ้งหรือให้เชื่อเด็ดขาดเลยว่าสิ่งทั้งปวงมันมีเหตุ มันเป็นไปตามเหตุ แก้ไขได้ด้วยการแก้ไขที่เหตุ และหนทางที่จะแก้ไขได้ก็มีอยู่ ก็ทำไป อันนี้ก็ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องอะไรให้มันเสียเวลา เรียกว่าดีกว่าปุถุชนธรรมดามากแล้ว มันขึ้นมามากแล้ว มันอยู่ในอำนาจของเหตุผลขึ้นมามากแล้ว แต่ว่าคนส่วนหนึ่งก็ไปเอาเหตุที่อื่น ไปเอาเหตุที่โชคหรือว่าที่ผีสางเทวดา อย่างนั้นไม่ใช่พระพุทธศาสนา มันจะมีประโยชน์น้อย มีผลน้อย มันทำให้หายกลัวหายอะไรไปได้พักหนึ่ง หน่อยหนึ่ง มันไม่เด็ดขาด ต้องมาเอาเหตุที่แท้จริง คือมิจฉาทิฏฐิหรืออวิชชาที่เป็นกิเลสอะไรต่างๆ แก้ไขดับต้นเหตุที่แท้จริง ถ้าไปบนบานศาลกล่าว ทำพิธีอะไรต่างๆ ก็เป็นเหตุผิวๆ แก้ได้ผิวๆ คือหายกลัวไปได้บ้าง เดี๋ยวก็กลัวอีก พุทธบริษัทต้องมีปัญญา ต้องมาเหนือนั้น มาหาปัญญานี้ มีเหตุมีผล จัดการที่เหตุที่ผล
มันมีทางเป็นได้จริง อาตมาก็ยอมรับว่าที่เราไม่รู้จักต้นเหตุ แต่ถ้าจะใช้วิธีวิทยาศาสตร์ก็จัดเป็นไอ้พวก subconscious ก็แล้วกัน ตื่นนอนขึ้นมาก็เพลียละเหี่ยแล้ว มันยังไม่รู้สาเหตุ ทั้งที่มันมีสาเหตุ บางวันที่มันเศร้า มันละเหี่ย มันไม่รู้ว่าเรื่องอะไร มันไม่เป็นที่พอใจเสียแล้ว อย่างนี้เราก็ยังไม่ทราบสาเหตุ แต่ค้นไปมันก็จะพบสาเหตุ มันก็เป็นอะไรที่ค้างอยู่ใน subconscious ทำอะไรอยู่ตลอดเวลาตอนที่เราหลับ ตื่นมาก็แย่ก็เพลีย ดังนั้นก่อนที่จะนอนลงไปก็ต้องมีธรรมะแล้วก็ปฏิบัติ คือไล่สิ่งเหล่านี้ออกไป เช่นว่าการไหว้พระสวดมนต์ของคนโบราณก็มีประโยชน์ที่จะช่วยไล่สิ่งเหล่านี้ออกไป การสวดมนต์ การทบทวนธรรมะด้วยเหตุผลดี ๆ ก่อนที่จะนอนหลับลงไป ก็จะนอนหลับสนิท ตื่นขึ้นก็จะได้ไม่มีอาการอย่างนั้น
ถาม: ท่านอาจารย์ Subconscious ตรงกับภาษาธรรมะว่าอะไร
ตอบ: ต้องถือว่าเป็นสัญญาในอดีต เป็นอารมณ์ของใจ ของมโน เป็นคู่สุดท้ายที่ทำงานอยู่ส่วนลึก ไม่ขึ้นมาเต็มถึงสวนะกิจ(นาทีที่ 58.21) แปลว่าไม่เป็น conscious ถ้าเป็น conscious เรียกว่าจิตเป็นสวนะ(นาทีที่ 58.26) หรืออายตนะ(นาทีที่ 58.39) แต่มันก็เป็นอายตนะคู่หนึ่ง คือมโนกับธรรมารมณ์หรือสัญญาในอดีต เข้ามาปรุงกันอยู่ subconscious หรือ semi-conscious ก็แปลว่ามันไม่ทำให้เรารู้ได้ ไม่รู้สึกได้ มันอยู่ไม่ถึงระดับ มันขึ้นมาไม่ถึงระดับ
ถาม:แล้วจิตดั้งเดิมมันลึกบริสุทธิ์ลงไปอีกทีหรือ
ตอบ: จิตที่ไม่ทำอะไร ที่ไม่มีอารมณ์ไม่ทำอะไร จะหลับสนิท ไม่มีอย่างนี้ อย่างนี้ก็คือไม่ได้หลับสนิท ซึ่งตื่นขึ้นจึงมักจะเพลียเพราะมันไม่ได้หลับสนิท มันเป็นการทำงานของจิตอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ขึ้นจนถึงขนาดเป็นทุกข์ ในความฝันก็เป็น Conscious สมบูรณ์ ไม่งั้นมันไม่ถึงกับฝัน แต่เราควบคุมมันยาก เพราะเราไม่สามารถ คือเราไม่เก่งในการที่จะควบคุม พอเลิกก็เลิกกันไป ไม่สามารถจะหยุดความคิดให้รู้สึกสมบูรณ์โดยเด็ดขาดว่าจะนอนแล้วจะหลับแล้ว มันทำไม่ได้ เพราะเรามันจะมีโรคภัยไข้เจ็บหรือจะมีความไม่สมบูรณ์อย่างอื่นก็ได้ หรือว่าเรื่องนั้นมันเป็นอารมณ์ที่ระงับยาก ข่มยาก มันก็เหลืออยู่ ต้องต่อสู้ ทำให้วิตกกังวล
ไอ้เรื่อง subconscious นี่ถ้าใช้เป็นมีประโยชน์ เช่น เราจะตื่นตรงตามที่เราตั้งใจ ไม่ผิดแม้แต่นาทีเดียว ก็เรียกว่าเป็นงานของ subconscious ก็เท่ากับว่าใช้เป็น เพราะเวลานี่มีประโยชน์ ถ้าปล่อยไปตามเรื่องตามราวมักจะรบกวน มีคำคุ้นๆ แต่อธิบายไม่ได้ว่า พระอรหันต์ไม่รู้จักหลับ นี่เป็นหลักเขาถือกันทั่วไปในประเทศอินเดีย แต่ในพระบาลีนี่พระสุทโธทนะนี่ไม่มีล่ะ แต่เป็นคำยึดถือกันทั่วไปในหมู่โยคีและนักศึกษาทางอังกฤษ เป็นพระอรหันต์จะไม่รู้จักหลับ แม้จะอยู่ในฌานก็มี subconscious ถ้าหลับโดยสนิทก็ถือว่ามันเป็นธรรมดาไป เรียกว่าจิตตกภวังค์ ผู้ตกอยู่ในภวังค์ เรียกว่าเป็น subconscious แบบที่มีสติปัญญาเราอยู่ พวกพราหมณ์เค้าอธิบายกันอย่างนี้ นี่ก็เป็นงานของ subconscious เราค้างปัญหาไว้แล้วไปนอนเสีย พอตื่นขึ้นมาก็พบกับคำตอบ มันทำอยู่ตลอดเวลา มันหลายอย่างนะ ข้อเท็จจริงเนี่ย พอหลับพักผ่อนก็เข้าสภาพเดิมอาจจะคิดออกก็ได้ คือว่าไอ้ subconscious มันทำงานค้นหาคำตอบอยู่ตลอดเวลา แต่อาตมาคิดว่าส่วนใหญ่เป็นเพราะว่ามันมีความปกติ พอนอนหลับมันสู่สภาพปกติ เลยคิดได้ ความจำอะไรกลับมา นี่กำลังยุ่ง ๆ อยู่นี่ เหนื่อย ๆ อยู่นี่คิดไม่ออกหรอก แต่ถ้ามันหยุดเหนื่อยหยุดวุ่นวาย มันจะใสแจ๋ว ความรู้หรือความคิดในความฝันนั้นเอาไปประมาณไม่ได้ ผิดก็ได้ ถูกก็ได้ เมื่อกำลังจะหลับก็ดี เคลิ้ม ๆ จะหลับก็ดี หรือในฝันก็ดี เอาไปประมาณไม่ได้ ถูกก็ได้ ผิดก็ได้ และส่วนมากจะผิด
ที่พูดไปทั้งหมดนี้อย่าลืมเสีย ให้เอาไปด้วย ต้องกำชับกำชาว่าให้เอามันไปด้วยบ้าง จะได้เป็นประโยชน์ ต่อไปข้างหน้า มันจะได้ก้าวหน้าต่อไปอีก ถ้าไม่มีการกำชับกำชาหรือการลานี่มันก็ลืม มันจะหายไปหมด จะตกหายไปหมด พยายามทำให้ดีที่สุด อย่าลืมแม้แต่คำพูดที่พูด หรือที่เข้าใจแล้ว ถ้าไม่เอาไปซักซ้อม มันลืม ไอ้สิ่งที่มันเข้าใจแล้วนี่ต้องเอาไปซักซ้อมทุกวันๆ ประมาณ ๗-๘ วัน แล้วเอาไปซักซ้อมทุกเดือนๆ เป็นวิธีที่จะทำให้จำอะไรไม่ลืมของพวกนักปราชญ์เค้าก็วางกันไว้อย่างนี้ อย่าลืมคำที่พูดความรู้ที่ให้ ไอ้ที่ยิ่งกว่านั้นก็อย่าลืมที่จะให้มันเลือนในบรรดา(นาทีที่ 65.05)ทั้งหลายที่ได้เกิดขึ้น ในการที่มาที่นี่ นั่งที่นี่ อย่าลืมความรู้สึกพอใจสบายใจอะไรต่าง ๆ ที่ได้เกิดขึ้นในใจ อันนี้ให้มันติดไปด้วย เหมือนกับนั่งตรงนี้มันไม่มีความทุกข์ ไปถึงบ้านก็อย่าให้มีความทุกข์ อย่างนี้ ให้เหมือนที่นั่งอยู่ตรงนี้ ก็อยากจะให้เอาไปอย่างนี้ อย่าลืมความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจที่เกิดขึ้นในสถานที่นี้ อย่าลืมคำพูดความรู้อะไรต่าง ๆ ที่ได้พูดกันที่นี่ ก็ขอให้คุ้มค่ามา พูดเป็นนั่นหน่อยก็คือให้พาสวนโมกข์ไปด้วย พาบรรยากาศของสวนโมกข์ติดใจไปบ้านด้วย แล้วก็ให้ใจสบายอย่างนี้อยู่ที่บ้าน ทำอะไรก็ทำไปเถอะ ทำงานอย่างที่เคยทำ แต่ใจคอให้ปกติอย่างนี้ นี่เป็นการกำชับ เป็นการลาเป็นครั้งสุดท้าย