แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการพูดกับผู้บวชใหม่วันนี้ ผมจะกล่าวในหัวข้อว่า ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเคร่งหรือไม่เคร่ง เรื่องเคร่ง ไม่เคร่ง นี่เป็นปัญหามากทั้งทางตัวหนังสือหรือตัวปฏิบัติ ทั้งในวัดและนอกวัดมีความเข้าใจผิดแล้วก็ซัดกันไปซัดกันมาระหว่างคนที่บวชกับคนที่ไม่บวช หรือแม้ที่สุดระหว่างคนที่บวชด้วยกันแล้ว ขอให้คิดดูให้ดีๆ ว่าการทะเลาะวิวาทกัน การอิจฉาริษยากัน ก็มีส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งมาจากความเคร่งหรือไม่เคร่ง ผู้ที่ไม่เคร่งก็หาเรื่องที่จะขัดแข้งขัดขาพวกที่เคร่ง พวกที่เคร่งก็ดูหมิ่นดูถูกคนที่ไม่เคร่ง มันก็เลวๆ กันทั้งสองพวก พอจะมองเห็นได้ไม่ยาก มันมาจากความเลวด้วยกันทั้งสองพวก ทั้งพวกที่เคร่งและพวกที่ไม่เคร่ง มันทำไม่ถูกเกี่ยวกับเรื่องเคร่งหรือไม่เคร่งนั่นเอง คำนี้ที่มันเป็นปัญหาทางคำพูดก็หมายความว่า คำว่าเคร่งนี่มันดีหรือไม่ดี นี่ก็คงจะตอบยาก คำว่าเคร่งนี่มันถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง นี่ก็ยิ่งต้องตอบยากขึ้นไปอีก ยังมีคำถามอื่นที่ทำให้ตอบยากมากยิ่งขึ้นไปอีก นั่นก็เพราะเหตุภาษามันสับปลับ ภาษาของคนมันสับปลับ มันดิ้นได้ มันกำกวม เดี๋ยวก็ด่าคนเคร่ง เดี๋ยวก็ด่าคนไม่เคร่ง ในความหมายคือมันต่างกัน จึงขอให้เข้าใจกันไว้ให้ดีในเรื่องนี้อย่าให้เกิดปัญหาขึ้นมาเกี่ยวกับความเคร่งหรือความไม่เคร่ง ปัญหาเรื่องบวช ก็มีทีหนึ่ง แล้วก็ปัญหาเรื่องเรียนหรือไม่เรียน ก็มีทีหนึ่งแล้ว ปัญหาเรื่องการงานอดิเรกก็มี นี่ก็มาถึงเรื่องเคร่งหรือไม่เคร่งเกี่ยวกับการปฏิบัติ กำลังเป็นปัญหาที่ร้ายกาจอยู่ข้อหนึ่งด้วยเหมือนกัน อย่างที่ได้พูดไปแล้วว่ามันทำให้เกิดการกระทบกระทั่งเสียดสีกัน หรือว่าด้วยถ้อยคำที่เหมือนกับหอกแทงกันล้วนมาจากเรื่องเคร่งหรือไม่เคร่งนี่เป็นส่วนใหญ่ ทำให้มองเห็นว่ามันเข้าใจผิดกันทั้งคู่ นี่ก็เลยน่าเวทนาสงสาร ที่ควรจะได้พูดกันเสียที แม้ว่าเราจะมองออกไปนอกวัด ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติทางศาสนามันก็ยังมีการพูดถึงการเคร่ง เคร่งครัดหรือไม่เคร่งครัดก็มีทั่วๆ ไป ในโลกนี้นี่ก็เป็นปัญหาทั่วๆ ไปในโลกก็ได้
นี่ถ้าว่าเราจะทำความแจ่มแจ้งให้มันแน่นอนเด็ดขาดลงไปเกี่ยวกับปัญหา ซึ่งเป็นปัญหาทั้งหลายในโลกนี้แล้ว ก็ขอให้นึกถึงคำที่สำคัญที่สุดอยู่สองคำก็คือว่า “มิจฉาทิฏฐิ” กับคำว่า “สัมมาทิฏฐิ” ถ้าไม่เคยได้ยินหรือไม่เคยสนใจ ขอให้สนใจเป็นพิเศษด้วย เพราะความเสื่อมเสียทั้งหลายมาจากมิจฉาทิฏฐิ การเจริญด้วยประโยชน์นี่มันมาจากสัมมาทิฏฐิ ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิก็ไม่มีทางที่จะเอาตัวรอดได้ ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิก็เอาตัวรอดได้ทุกอย่างทุกประการ อย่างที่มีพุทธภาษิตหรือภาษิตทั่วไปว่า บุคคลล่วงพ้นจากความทุกข์เป็นส่วนได้เพราะสมาทานสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ สมาทานา สัพพัง ทุกขัง อุปัจจคุง นี่ก็ต้องดูกันที่นี่ว่าสิ่งที่กระทำนั้นกระทำไปด้วยมิจฉาทิฏฐิหรือว่าด้วยสัมมาทิฏฐิ ก็พบว่าสิ่งที่เรียกชื่ออย่างเดียวกันเกิดแตกแยกออกจากกันเป็นสองฝ่ายอย่างตรงกันข้ามได้ทันที
การบวช เรื่องงมงาย เป็นมิจฉาทิฏฐิ ก็ต่างตรงกันข้ามกับการบวชด้วยสัมมาทิฏฐิ การศึกษาเล่าเรียนโดยตรงจะมีได้ด้วยสัมมาทิฏฐิ ด้วยมิจฉาทิฏฐิ กระทั่งบัดนี้มาพูดกันถึงเรื่องความเคร่งหรือไม่เคร่ง นี่สำคัญอยู่ที่ว่ามันทำไปด้วยอะไร ทำไปด้วยสัมมาทิฏฐิหรือด้วยมิจฉาทิฏฐิ เคร่งคำเดียวกัน ถ้าเคร่งด้วยมิจฉาทิฏฐิมันเป็นอย่างไร ถ้าเคร่งด้วยสัมมาทิฏฐิแล้วมันเป็นอย่างไร หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็กล่าวได้เลยไปถึงกับว่า ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิแล้วมันจะเหนือเคร่ง ไม่เคร่ง ไปเสียทั้งหมดเลย มันอยู่เหนือไปหมดทุกปัญหาเลยอย่างนี้ก็มี
แล้วทีนี้เราจะวินิจฉัยกันดูทีละคำ ในระหว่างคำว่า เคร่ง กับคำว่า ไม่เคร่ง พูดถึงคำว่าเคร่งก่อน ถ้าเคร่งด้วยมิจฉาทิฏฐิ มันจะเป็นเคร่งขึ้นมาหลายอย่างหลายชนิดทีเดียว มิจฉาทิฏฐิ คือความเข้าใจผิด ความเห็นผิด ความรู้ผิด ความชั่วผิด ถ้าเคร่งขึ้นด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ มันก็ออกมาหลายแบบหลายรูปด้วยกัน เช่น มันอยากอวด มิจฉาทิฏฐินั่นทำให้อยากอวด มันก็มีการเคร่งขึ้นมาก็อยากอวดแล้วก็เลยไปถึงขนาดที่ว่าเคร่งครัดก็ได้ เคร่งยังไม่พอแล้วยังครัดอีก เคร่งครัดมันมีได้เพราะความอยากอวด จึงเห็นคนอยากอวดทำอะไรเคร่งครัด ก็แสดงออกมาทางกายทางวาจาหรือทางวัตถุสิ่งของต่างๆ นี่ก็ทางเคร่งและไปได้ไกลถึงคำว่าเคร่งครัด ด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิแล้วก็เป็นอันว่ามันเป็นเรื่องไม่สำเร็จประโยชน์ มันเคร่งอวดคน ซึ่งเป็นกันโดยมาก ในหมู่ผู้บวชแล้ว มันอาจจะเตลิดเปิดเลยไปถึงครูบาอาจารย์ที่ยังเคร่งเพราะว่าจะอวดอย่างนี้ก็มี
ถัดไปอีก มันก็เคร่งเพราะมันงมงาย มันมีความงมงาย มันเชื่ออย่างงมงาย หรือมันถือกันมาอย่างงมงาย มันแตกตื่นกันมาอย่างงมงาย อย่างนี้มันก็เคร่งครัดได้ เคร่งถึงขนาดเคร่งครัดได้เหมือนกัน มันมีความงมงาย คือถ้ามันเป็นเรื่องที่กว้างออกไป มันก็เล็งไปถึงการกระทำที่ทำเป็นให้ได้รับความทุกข์หรือความลำบาก ที่เรียกกันว่า “อัตตกิลมถานุโยค” อัตตกิลมถานุโยค ทำเป็น ประกอบการกระทำที่ทำตนให้ลำบาก มีเหตุมีการกระทำนะ ไม่ใช่อวดคน มันงมงาย เป็นการทรมานตนโดยไม่ได้รับประโยชน์อะไร อย่างที่พระพุทธองค์ดำรัสว่า อะนะริโย อะนัตถะสัญหิโต ไม่ใช่ของประเสริฐหรือได้ประโยชน์อะไร นี่มันเคร่งครัดด้วยความงมงาย ก็อยู่ในพวกมิจฉาทิฏฐิด้วยเหมือนกัน
มีต่อไปอีก มีเคร่งด้วยความเข้าใจผิดที่จริงๆ คนมีปัญญาฉลาดอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน แต่มันเกิดศึกษาผิดเกิดเข้าใจผิด นี่ก็เคร่งเป็นเคร่งครัดหรือเคร่งเครียด กระทั่งมันยอมฆ่าตัวตาย คิดดูเถอะ แม้แต่ชีวิตอันเป็นที่รักอย่างสูงสุด คนที่มันเคร่งแบบเข้าใจผิดมันจึงฆ่าตัวตายได้ มันเป็นคนโง่แบบหนึ่งทีเดียว ก็ต้องเรียกว่ามันเข้าใจผิด ทำอย่างเคร่งครัดไม่ใช่อวดใคร แล้วมันก็เศร้า มันก็รุนแรงยิ่งขึ้นไปๆ จนถึงกับฆ่าตัวตาย มันก็ยอม อย่างที่เห็นก็จะเป็นนักบวชนี่มีการฆ่าตัวตาย ตั้งแต่ฆ่าตัวตายเพื่อประท้วงอย่างนั้นอย่างนี้ก็มี กระทั่งฆ่าตัวตายเพราะคิดว่ามันจะได้ดับทุกข์ได้เพราะการฆ่าตัวตายนี่ก็มี นี่มันเคร่งชนิดไหนที่มันเลยเถิดไปถึงอย่างนี้
ทีนี้มาดูต่อไปอีกถึง การเคร่งของคนที่มันคุ้มดีคุ้มร้าย จะเรียกว่าบ้าๆ บอๆ ก็ได้ คือเดี๋ยวมันก็ดีเดี๋ยวมันก็ร้าย มันคุ้มดีคุ้มร้าย อันนี้มันก็เคร่ง เคร่งอีกแบบหนึ่งแต่มันจะไม่เรียบร้อยสม่ำเสมอหรือถาวรอะไร คือมันเคร่งเป็นพักๆ มันจะเคร่งเป็นแบบๆ หลายๆ แบบเดี๋ยวเปลี่ยนอย่างนั้นเดี๋ยวเปลี่ยนอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็เคร่งเป็นพักๆ นี่ดูคนที่มันเคร่งเดี๋ยวคุ้มดีเดี๋ยวคุ้มร้ายนี่ก็มีให้ดู ขอให้สังเกตดู มันจะเคร่งเป็นพักๆ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนบ่อยๆ อย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ได้เคร่งอยู่ตลอดไปในวิธีอย่างเดียว หรือปฏิบัติอย่างเดียว
ทีนี้ก็ดูต่อไปถึงความเคร่งชนิดหนึ่งที่มันจะเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่จริงๆ มากกว่าอย่างอื่น คือเคร่งเพราะมันโง่ในความหมายที่เข้าใจผิดหรือความหมายผิด มันโง่ในความหมาย มีชื่อเรียกหลายอย่างผมจะใช้คำรวมๆ ว่ามันโง่ในการถือเอาความหมายของเรื่องนั้นๆ หรือคำนั้นๆ คือวินัยเคร่ง แต่ว่ามันโง่ในความหมาย มันก็จะได้รับผลเมื่อควายขวิดตาย รถทับตายอย่างนั้น มันมีได้ไหม ถ้ามันเคร่งชนิดที่ว่าเดิมก้มดูแต่เท้าของตัว ทำเคร่งอย่างคนเคร่ง มันก็มีทางที่จะควายขวิดตายเมื่อไปบิณฑบาต รถทับตายเมื่อมันเดินไปบนถนน
นี่โง่ในความหมายนี่มันยังไปได้ไกล ที่มันทะเลาะวิวาทชกปากกันทั้งเป็นพระเป็นเณร นี่ก็เพราะว่ามันเคร่งด้วยความโง่ในการถือเอาความหมาย ก็แตกหมู่แตกคณะ จนกระทั่งเป็นสังฆเภท เป็นสิ่งที่เสียหายร้ายกาจมาก เรื่องในคัมภีร์ก็มีอยู่เรื่องสังฆเภท ที่ภิกษุแตกกันด้วยเรื่องนิดเดียว คือเรื่องเหลือน้ำไว้ในที่ชำระในวัจจกุฎี พวกหนึ่งก็เป็นอาบัติ บังคับให้แสดงอาบัติ พวกหนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ก็เลยทะเลาะกันจนกระทั่งว่าได้พวกมากด้วยกันแล้วก็แตกแยกกัน จนถึงกับว่าพระศาสดาทรงชี้แจงให้คืนดีกันเสีย ก็ไม่ยอม จนพระพุทธเจ้าต้องเสด็จไปอยู่ที่อื่น ทีนี้ชาวบ้านเขาก็โกรธพระที่บ้าๆ บอๆ เหล่านี้ ขาดๆ เกินๆ เหล่านี้ ก็เลยไม่ใส่บาตร ไม่ให้อาหาร ก็เลยต้องมีการเปลี่ยนแปลงกันเสียใหม่
นี่เคร่งในความโง่ในความหมายของสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ ยังมีคำด่ามาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ว่า เถรตรง มันยึดถือตัวหนังสือตรง มีเรื่องเล่าว่ามันก็ชนต้นตาลมันก็ไม่หลีก ขึ้นไปจนตกต้นตาลตาย เถรตรงจนตกต้นตาลตาย หรือว่าเถรส่องบาตร มันก็ส่องบาตรอยู่นั่นล่ะ ไม่รู้ว่าอะไรทำไปจนตาย ถือความหมายไม่ได้ถือความหมายไม่ถูก กลายเป็นเถรตรงบ้าง เถรส่องบาตรบ้าง เป็นอย่างน้อย ทีนี้ก็เลยเป็นเรื่องเสียหายทั้งนั้น นี่คือตัวอย่างของความเคร่งด้วยอำนาจของมิจฉาทิฏฐิ แล้วแต่เราจะนึก แต่เป็นนึกที่ใช้ไม่ได้ เคร่งมันใช้ไม่ได้ในลักษณะอย่างนี้
มาดูในเรื่องสัมมาทิฏฐิกันบ้าง มันถึงจะเคร่งด้วยสัมมาทิฏฐิ ลองดู นี่ก็ต้องแบ่งออกเป็นหลายๆ ชนิดเหมือนกัน มีความรู้ความเข้าใจถูกต้อง แต่มันจำเป็นเรื่องหนึ่ง ถ้าไม่ทดลองมันก็ไม่รู้จริง ไม่ได้เห็นจริง มันก็เคร่งครัดหรือเคร่งเครียดในขั้นทดลองนั้น จนจะเจียนตายได้เหมือนกัน เอาชีวิตเป็นเดิมพันที่จะทดลองค้นคว้าอะไร อย่างพระศาสดาทรงบำเพ็ญทุกรกริยาเจียนจะสิ้นพระชนม์อย่างนี้เป็นต้น นี่ก็เคร่งอยู่ในความหมายของคำว่าเคร่ง ถึงกับว่าเจียนตาย แต่ว่าด้วยสัมมาทิฏฐิ คือยากจะทดลองอยากจะรู้ ถ้าเคร่งอย่างนี้ก็ยังพอใช้ได้ หรือไม่ควรจะเรียกว่าเคร่ง ก็ไปเรียกว่าการทดลองอย่างจริงจังก็ได้ ไม่ใช่ว่ามันเป็นเรื่องที่แน่ใจแล้ว มีระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ถูกต้องแล้ว เห็นกระจ่างด้วยสติปัญญาแล้ว เคร่งด้วยสัมมาทิฏฐิอย่างนี้ก็ไม่ควรจะเรียกว่าเคร่ง เพราะสัมมาทิฏฐิแล้วมันจะนำไปสู่ความพอดี พอเหมาะพอดีก็ไม่ควรจะเรียกว่าเคร่งหรือไม่เคร่ง เรียก พอดี ถูกต้อง สมบูรณ์ ในสัมมาทิฏฐิจะทำให้เกิดการกระทำที่พอดีแล้วก็ถูกต้องด้วย แล้วก็เต็มเปี่ยมหรือสมบูรณ์ด้วย จึงไม่มีทางที่จะเสีย ถ้าแน่ใจแล้วเรียกว่าจริงหรือจริงจังขึ้นไปอีก หรือจะประพฤติปฏิบัติให้มันสุดความสามารถมันก็เรียกว่าการประพฤติอย่างอุกฤษฏ์ นี่ไม่ใช่เคร่ง เคร่งไม่ได้หมายความว่าประพฤติอย่างอุกฤษฏ์ ความเคร่งนี่มันอาศัยหลักความผลักดันของกำลังจิตที่มันไม่รู้จริง ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว มันจะกลายเป็นทำจริง ถ้าจริงที่สุดก็เรียกว่าทำอย่างอุกฤษฏ์ เช่นถือศีลอย่างอุกฤษฏ์ ถือธุดงค์อย่างอุกฤษฏ์ ทำสมาธิอย่างขั้นอุกฤษฏ์ วิปัสสนาอย่างขั้นอุกฤษฏ์ อย่างนี้ไม่เกี่ยวกับคำว่าเคร่ง เป็นอำนาจของสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบความรู้ ความเข้าใจ มันชอบมันถูกต้อง กระทั่งอุกฤษฏ์ก็ยังไม่อยากจะเรียกว่าเคร่ง ขอให้ฟังดูดีๆ เดี๋ยวจะสรุปความ
แต่ถึงอย่างไรก็ดี มันมีอีกขั้นอีกระดับหนึ่ง ถ้ามันอยู่ในลักษณะที่ยังสงสัย เป็นเรื่องของความเข้าใจยังไม่ถึง มันยังสงสัยอยู่แล้วก็ เคร่งเอาไว้ก่อนดีกว่า เป็นเรื่องที่สงสัยก็เคร่งเอาไว้ก่อนดีกว่า เพราะว่ามันจะรับประกันที่ไม่ผิดไม่เสียหาย ถึงมันจะเกินไปบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ยังไม่ถึงกับตาย ถ้าคุณมีความสงสัยเรื่องอะไรเกี่ยวกับการปฏิบัติ แล้วก็ยังไม่มีโอกาสที่จะถามใครจะศึกษาให้ชัดเจนได้ก็เคร่งๆ ไว้ก่อนดีกว่า ดีกว่าปล่อยไปอย่างหลวมๆ เรียกว่าถ้ามันสงสัยก็เคร่งไว้ก่อนเถอะ ดีกว่า ปลอดภัยกว่า นี่ก็เรียกว่าสัมมาทิฏฐิได้เหมือนกัน ถ้ามันฉลาดมันยังไม่แน่ใจในปัญหาก็เคร่งเอาไว้ก่อนดีกว่า นี่ก็ต้องจัดความเคร่งชนิดนี้ไว้ในพวกสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิเป็นได้หลายๆ อย่างในชั้นทดลองหรือเคร่งเครียดก็ได้ ถ้าแน่ใจแล้วถูกต้องแล้วก็ให้พอดีก็แล้วกัน ไม่หย่อนไม่ตึงก็แล้วกัน ถูกต้องและสมบูรณ์ ถ้าจะทำให้จริงจังอย่างไรก็ไม่ถูกตำหนิ ไม่มีการทำให้เสียหาย ถ้าสัมมาทิฏฐิมันยังไม่พอมันยังสงสัยก็ควรจะเคร่งเข้าไว้ก่อนดีกว่า นี่มันเกี่ยวกับคำว่าเคร่งมันมีอยู่อย่างนี้ เคร่งด้วยมิจฉาทิฏฐิก็มี เคร่งด้วยสัมมาทิฏฐิก็มีมันตีกันยุ่ง มันใช้ได้บ้าง ใช้ไม่ได้บ้าง ไม่อยากให้มันหลอกเรา อย่าให้ความโง่ของเรามันหลอกเรา และความเคร่งของเรามันก็จะกัดเราโดยไม่ได้รับประโยชน์อะไร
สัมมาทิฏฐินี้เป็นเรื่องที่จะต้องขวานขวายให้เกิดขึ้น ด้วยการศึกษาด้วยการพิสูจน์ทดลอง ด้วยการสังเกต ที่แล้วๆ มามันจะบอกให้เอง ความผิดมันจะเป็นครู ความถูกมันก็จะเป็นครู ไม่ใช่ผิดอยู่ตลอดกาลไม่ได้ มันก็เปลี่ยนเป็นความถูกได้ นี่ก็เลยเห็นได้ว่านี่ไม่ใช้สิ่งวินิจฉัยในการที่เราจะมีสัมมาทิฏฐิ เพราะถ้ามีเจตนาบริสุทธ์ ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง หรือต่อการประพฤติพรหมจรรย์ของเราก็แล้วกัน อย่าให้กิเลสมาขี่คอ ลากไปหามิจฉาทิฏฐิ ต้องการจะอวด ต้องการจะดีจะเด่นอย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องพลัดไปในฝ่ายของมิจฉาทิฏฐิได้โดยไม่รู้สึกตัว
นอกจากนี้ก็มาถึงคำว่าไม่เคร่งกันบ้าง ผมก็บอกแล้วว่าคำต่างๆ ในโลกนี้มันกำกวม มันดิ้นได้ ถ้าพูดให้ชัดก็คือสับปลับนั่นเอง ตัวอย่างของคำว่าเคร่งที่แล้วมา บางอย่างก็ใช้ไม่ได้เลย บางอย่างก็ใช้ได้ มันขึ้นอยู่กับสัมมาทิฏฐิ หรือ มิจฉาทิฏฐิ เรื่องของสัมมาทิฏฐินี่ ก็ยังมีความหมายที่แตกแยกออกไปหลายชั้น หลายระดับ หรือว่าหลายทิศทาง นี่มันก็ต้องดูกันให้ดีๆ อย่างนี้ ทีนี้ก็มาดูคำว่าไม่เคร่ง มันก็กำกวมอีก มันก็ดิ้นได้อีก ไม่เคร่งมันฟังยากในชั้นสูงสุดในชั้นที่เป็นชั้นปรมัตถ์ เดี๋ยวก็จะมองเห็น ในเมื่อจะถามกันขึ้นว่า พระอรหันต์นี่ท่านเคร่งหรือไม่เคร่งอย่างนี้เป็นต้น เรื่องไม่เคร่งเป็นคำกำกวมนี่ก็ดูกันตั้งแต่ชั้นเลวที่สุดก็แล้วกัน พระหรือเณรที่มันไม่เคร่งนี่คืออะไร ถ้าเป็นชั้นเลวที่สุด มันก็เหลวแหลก เป็นคนเหลวแหลก มันไม่จริงต่อการบวช ไม่รู้ประสีประสาต่อการบวช แม้ว่าจะบวชอย่างเสียผ้าเหลือง มันก็ไม่กลัว เอากับมันสิ มันก็เลยมีการเหลวแหลกในการประพฤติปฏิบัติ อย่างนี้เราก็เรียกว่าไม่เคร่ง มันเป็นคนประกอบอยู่ด้วยความประมาท อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่เคร่ง มีต้นเหตุมาจากการเห็นแก่ปากแก่ท้องเรื่องจะกินจะเล่น มันก็ไม่เคร่ง นี่เป็นความไม่เคร่งในความหมายธรรมดา แต่ว่าเป็นชั้นเลวที่สุดแล้ว ไม่เคร่งอย่างนี้ก็เป็นอันว่าเป็นความเสียหาย เป็นการล้มละลายในการประพฤติพรหมจรรย์
ทีนี้มันจะมีคำอีกคำหนึ่งที่อยู่ตรงกลางว่า ไม่เคร่งนั่นหมายความว่าพอดี เคร่งเกินไปมันก็ไม่ไหว หรือไม่เคร่งก็ไม่ไหว มันก็มีคำว่า ไม่เคร่ง ไม่หย่อน คือ ไม่ตึงไม่หย่อนคือพอดี ถ้าพอดีก็ไม่ควรจะเรียกว่าเคร่งหรือไม่เคร่ง เรียกว่าไม่เคร่งนี่ก็ถูก มันพอดี มันไม่เคร่ง มันจะพอดี นี่เรียกว่ามันถูกต้องก็แล้วกัน เรียกว่าพอดี นี่คือไม่เคร่ง คำว่าเคร่ง นี่มันหลอกลวงอย่างนี้ ในภาษาไทย มันพอดี มันมีปัญญาทำความพอดีให้เกิดขึ้นมาได้ มันต้องพึ่งปัญญา ไม่ต้องพึ่งความเคร่ง ให้พึ่งความรู้สติปัญญาอะไรที่มันถูกต้อง ให้พึ่งส่วนนี้ มันก็ไม่ต้องพึงความเคร่ง การที่จะพึงความเคร่งนั้นมันไม่มีทางที่จะต้องระวัง มันผิดได้ ถ้ามันเคร่งด้วยมิจฉาทิฏฐิก็มีอย่างที่กล่าวแล้ว เดี๋ยวนี้เราเปลี่ยนเป็น มีปัญญา แล้วก็พึ่งปัญญา ก็ไม่ต้องพึงความเคร่ง เมื่อพึ่งปัญญาก็จะพอดี หรือถูกต้องสมบูรณ์ ก็เรียกได้เหมือนกันว่านี่ไม่ใช่เคร่ง แต่มันถูกต้อง พอดี สมบูรณ์ มันเป็นความพอดีเพราะพอดีจึงเรียกว่าไม่เคร่ง
ต่อไปอีกชั้นหนึ่งระดับสูงสุด นี่คือว่าปฏิบัติได้ผลถึงที่สุด หรือหลุดพ้นแล้วเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์ก็อยู่เหนือที่จะพูดว่าเคร่งหรือไม่เคร่ง พระอรหันต์กระทำเคร่งก็เหมือนว่า ไม่เคร่ง เพราะท่านก็ไม่มีการหลอกลวง ท่านก็ไม่ต้องทำเคร่ง ถ้าท่านอยากจะเคร่งเพื่อคนอื่นไม่ประมาทจะได้ทำเป็นตัวอย่างท่านก็ทำได้ แต่ถึงจะทำไปอย่างไรก็ไม่เรียกว่าเคร่งสำหรับพระอรหันต์ แล้วก็ไม่เรียกว่าไม่เคร่งด้วย เพราะว่าสถานะเช่นนี้อยู่เหนือที่จะบัญญัติที่จะบัญญัติว่าเคร่งหรือไม่เคร่งเสียแล้ว ฉะนั้นความไม่เคร่งก็เป็นลักษณะของพระอรหันต์โดยแท้จริง ท่านจะแสดงออกมาอย่างไรนั้น มันมีเหตุผลอย่างอื่น ความเป็นพระอรหันต์จึงไม่เกี่ยวกันเลยกับว่า เคร่งหรือไม่เคร่ง ขอให้เข้าใจถูกในคำเหล่านี้จะได้ไม่มีการเข้าใจผิดอีกต่อไปเลย
รวมความว่าที่เกี่ยวกับคำว่า ไม่เคร่ง นี่ไม่ทำตัวเลว ถ้าเลวเกินมันก็ไม่เคร่งไป ถ้ามันทำถูกต้องพอดี ก็ไม่ต้องเคร่ง ก็ไม่เคร่งเหมือนกัน ถ้าหลุดพ้นเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ไม่อยู่ในขอบเขตที่จะพูดว่าเคร่งหรือไม่เคร่ง ก็ต้องเรียกว่าเหนือความเคร่ง พ้นจากความเคร่งไม่เกี่ยวกับคำว่าไม่เคร่ง มันมีอยู่อย่างนี้ ดูให้ดีทีหนึ่งก็จะเห็นว่าเกี่ยวกับคำว่าเคร่งนั้น จะต้องแยกออกเป็นการเคร่งด้วยอำนาจของมิจฉาทิฏฐิ หรือเคร่งด้วยสัมมาทิฏฐิ เป็นสองพวกเสียก่อน แล้วในพวกหนึ่งก็แยกได้เป็นหลายระดับๆ บางทีก็ต้องใช้การต่อรองยืดหยุ่นว่าถ้ายังสงสัยอยู่ว่าจะเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือสัมมาทิฏฐิดี นี่ก็ต้องเอาเคร่งไว้ก่อนแหละดี มันปลอดภัยกว่า นี่คือพวกเคร่งนี่ พวกไม่เคร่งมีความหมายสามประเภท ไม่เคร่งเพราะมันเลว ไม่เคร่งเพราะมันทำถูกต้องแล้วไม่ต้องเคร่ง ไม่เคร่งเพราะว่ามันหลุดพ้นเหนือโลกเหนือทุกข์เหนืออะไรทั้งปวงแล้ว ก็ต้องไม่เคร่งเหมือนกัน
ทีนี้ก็มาถามตัวเอง ทุกคนลองถามตัวเองถึงข้อที่ว่าถามตัวเองดูว่าตัวเองอยู่ในสภาพอะไร เคร่งหรือไม่เคร่ง ถ้าถามอย่างนี้มันขึ้นอยู่กับความรู้ในทางภาษาที่ถูกต้อง และทางภาษาพูดนี้ในการบัญญัติ แม้แต่ภาษาบาลีกับภาษาไทยมันยังไม่ตรงกัน และก็ให้รู้ไว้เสียว่าเคร่งนี้ มันมีอะไรเกินๆ อยู่ ไม่เคร่งนี้มันก็มีอะไรกำกวมอยู่ ให้ถูกต้องนั่นแหละเป็นดี ให้พอดีถูกต้องนั่นแหละเป็นดี จึงไม่มีทางที่จะอวด ใครไม่มีทางที่จะทำอวดใคร โง่งมงายอะไร ลงความแล้วก็ต้องรีบศึกษากันเสียทุกคน ว่าอะไรถูกต้อง อะไรพอดี อะไรเป็นมัชฌิมาปฏิปทา แม้แต่ในเรื่องของการปฏิบัติ ศีลขั้นต้นที่เกี่ยวกับกาย วาจา ก็ให้มีความถูกต้องและพอดี นี่ก็เรียกว่าไม่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำว่าเคร่งหรือ ไม่เคร่ง มีความเข้าใจถูกโดยประการทั้งปวง นี่ก็จะหวังว่าต่อไปนี้การทะเลาะวิวาทกันเกี่ยวกับเคร่งหรือไม่เคร่งนี้ก็คงจะทุเลาเบาบางลงไป สูญหายไปในที่สุดได้ วันนี้ก็เท่านี้