แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายเรื่องสิ่งที่ควรรู้จักเป็นครั้งที่ ๓ นี้ ผมจะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า อาหารที่ทุกคนต้องรู้จักเลือก รู้จักกิน ในครั้งที่แล้วมาเราพูดถึงหลักธรรมที่ทุกคนควรทราบเป็นพื้นฐานทั่วๆ ไปโดยเฉพาะ คือ หน้าที่ ในครั้งถัดมาอีกก็ได้กล่าวถึงตัวเองที่ทุกคนควรรู้จัก เหล่านี้ย่อมแสดงว่า เราไม่ค่อยจะรู้จักในสิ่งที่มันอยู่เหมือนกับว่าใกล้ชิดเกินไป หรือว่าเป็นตัว เป็นตัวเป็นเราเสียเอง อย่างกับว่าเราไม่มองเห็นจมูก หรือไม่มองเห็นหน้าผาก หรืออะไรทำนองนี้ ขอให้สังเกตเห็นข้อเท็จจริงอันนี้ให้ได้ เพราะสิ่งที่เราไม่ค่อยรู้จักก็คือสิ่งที่มันอยู่ใกล้เกินไป บางทียิ่งอยู่ใกล้ก็ยิ่งไม่รู้จัก ยิ่งทำอยู่ทุกวันก็ยิ่งไม่รู้จัก
วันนี้จึงจะพูดเรื่องอาหารที่ทุกคนต้องรู้จักเลือก รู้จักกิน ก็หมายความว่ามันมีกินอยู่ทุกวัน ก็ไม่รู้จักเลือก หรือมันไม่รู้จักด้วยซ้ำไปว่านี่มันคืออะไร เพราะเกิดมาก็กินอาหาร และก็กินเป็นเรื่อยๆ มา แต่แล้วก็กินตามความรู้สึกพอใจในรสอร่อย และก็ประดิษฐ์ ประดิดประดอยไอ้รสอร่อยนี่จนกลายเป็นเรื่องอื่นไป ไม่ใช่อาหาร คือกลายเป็นเหยื่อสำหรับหลอกตัวเองไป เพราะว่าอาหารกับคำว่าเหยื่อนี่มันต่างกันอย่างที่เรียกว่ามากก็ได้ หรือตรงกันข้ามก็ได้
อาหารนั่นน่ะมันมีความหมายแต่เพียงนำผลมาให้ ไอ้เหยื่อนั่นน่ะหมายความว่ามันหลอกลวง จะทำความพินาศ นั่นมันจะเป็นสิ่งเดียวกัน กินอย่างเป็นอาหารก็ได้ กินอย่างเป็นเหยื่อก็ได้ ถ้ากินเอาความเอร็ดอร่อยมันก็เป็นเหยื่อ กินเพียงเพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย หรือการเป็นอยู่ผาสุก ก็เรียกว่าอาหาร ฉะนั้น เราจึงต้องรู้จักสิ่งที่เรียกว่าอาหารนั้นให้ดี แม้กินเป็นอาหารวิธีมันก็มีโทษไม่น้อยเหมือนกันถ้ามันเป็นการกินอาหารผิดหรือมีวิธีกินที่มันผิด ทีนี้สิ่งที่เรียกว่าอาหารเราก็ไม่ค่อยรู้จักกัน ยิ่งกว่านั้นในภาษาธรรมะมันมีสิ่งอื่นอีกที่ภาษาธรรมดาเขาไม่เรียกกันว่าอาหาร
ในบาลีมีพูดถึงอาหาร ๔ อาหารคือคำข้าวที่กินๆ อยู่เรียกว่า กวฬิงการาหาร แล้วก็ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ และก็มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือความคิดนึก วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ อาหารทั้งสี่นี้เป็นเรื่องที่เขามองกันลึก ฉะนั้น จึงไม่ค่อยเข้าใจกัน และก็เลยไม่ได้เอามาพูดกัน รู้จักอาหารแต่เพียงคำข้าวที่รับประทานไปวันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น ขอให้รู้ไว้ว่าไอ้คำว่าอาหารนั้นมันกว้าง โดยความหมายใหญ่ๆ หมายถึงนำมาซึ่งผล ประมวลมาซึ่งผลมาให้ แต่ตามความหมายก็คือว่าเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ที่จะทำให้เกิดผล อย่างข้าวที่เรากินอยู่นี่ไม่ได้มองในแง่วัตถุกินเข้าไปอร่อยๆ มองในแง่ที่ว่าวัดเป็นปัจจัยที่จะนำให้เกิดผลเพื่อให้มีเนื้อมีหนัง หรือมีชีวิตรอดอยู่ได้ ถ้าจะพูดกันสั้นๆ ก็ว่าไอ้กวฬิงการาหาร คือ คำข้าวนี้มันเป็นปัจจัยแก่ชีวิต ผัสสาหารก็เป็นปัจจัยแก่เวทนา มโนสัญเจตนาหารก็เป็นปัจจัยแก่กรรม วิญญาณาหารก็เป็นปัจจัยแก่ นามรูป
คำอธิบายย่อๆ ก็พอเข้าใจในเบื้องต้น หรือพอสมควรแก่เวลานี้ ก็จะมีว่าเมื่อเรายังกินอาหารวัตถุ คือ คำข้าวนี้อยู่ ชีวิตก็ตั้งอยู่ได้ ชีวิตที่เกิดเต็มรูปแล้ว อย่างว่ามันเป็นความรู้สึกเต็มที่แล้ว ก็เรียกว่าอาศัยตั้งอยู่บนอาหาร ถ้ามันยังไม่เต็มรูป อาหารนี้ก็ช่วยให้เต็ม ฉะนั้น จึงมีคำกล่าวไว้ว่า อาหารทุกชนิดนี่มันเป็นที่ตั้งอาศัยของภูตสัตว์ คือ สัตว์ที่เกิดมาเต็มแล้ว เป็นเครื่องอนุเคราะห์แก่สัมภเวสี คือ สัตว์ที่กำลังจะเต็มหรือกำลังจะเกิดให้เต็ม นี่มีความหมายที่ว่าอาหารนี่มันจำเป็นที่อย่างนี้ จะมองดูกันในแง่วัตถุก็ได้ สัตว์ที่เกิดมาเต็มที่แล้วมันก็เป็นที่ตั้งที่อาศัยให้ สำหรับสัตว์ที่ยังเกิดมาไม่เต็มมันก็ช่วยให้เกิดให้เต็ม เมื่อเรามีอาหารทางวัตถุกินชีวิตนี้ก็ตั้งอยู่ได้ นี้เรียกว่าอาหารคือคำข้าว
ทีนี้ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ ผัสสะแปลว่าการกระทบ ถ้าเป็นเรื่องวัตถุก็มันก็มีปฏิกิริยาขึ้นมาต่างๆ เกี่ยวกับการกระทบนั้น เดี๋ยวนี้เป็นเรื่องจิตใจ เป็นเรื่องนามธรรม ซึ่งมีหลักอยู่ว่า
จะเห็นว่ามีชุดเป็นชุดๆ ของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้พวกหนึ่ง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี้พวกหนึ่ง ได้..... (นาทีที่ 12.35) ถึงกันแล้วก็เกิดพวกวิญญาณทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้ง ๓ ประการนี้มันยังมาถึงกันอยู่ก็เรียกว่า ผัสสะ เป็นเรื่องนามธรรม ตามธรรมดาที่เราพูดกัน ผัสสะหมายถึงเอาไปแตะต้อง ไปถูกกันเข้าด้วยวัตถุ นั่นเป็นเรื่องกายสัมผัสอย่างเดียวเท่านั้น
เมื่อมีผัสสะแล้วมันก็เป็นอาหารนำมาซึ่งผล คือ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ตามเรื่องของปฏิจจสมุปบาท ฉะนั้น ถ้ามีสติปัญญา มีความรู้ รู้จักป้องกัน มันก็ไม่เกิด หรือถ้าเกิดมันก็เกิดไปในทางดี คือ เกิดการศึกษา เกิดความรู้แจ้ง อย่างนั้นก็เรียกได้ว่า ผัสสะนั้นก็เป็นอาหารให้เกิดเวทนาสำหรับรู้แจ้ง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ได้ หรือเกิดเวทนา ซึ่ง (นาทีที่ 13.50) เราโง่ หรือเราหลง เป็นกิเลสตัณหาก็ได้
ทีนี้อาหารถัดไปที่เรียกว่า มโนสัญเจตนาหาร ความคิด เจตนา นี่มันเป็นอาหารของกรรม คือ การกระทำ มันแยกสายกันตรงที่ว่า พอมันเกิดเวทนาแล้ว มันก็เกิดสัญญา สำคัญมั่นหมายในเวทนานั้น ต้องเกิดสัญเจตนา จะกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเวทนา ฉะนั้น มโนสัญเจตนาเป็นเจตนาที่จะทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งตามสมควรแก่สัญญาที่มีอยู่ในเวทนานั้น จึงทำมโนกรรมบ้างอยู่ข้างใน หรือทำกายกรรมบ้างวจีกรรมบ้างข้างนอก ถ้าพูดให้ลึกก็เป็นการปรุงแต่งให้เกิดกรรมคือ การกระทำ ซึ่งส่วนใหญ่มันก็ต้องเป็น เออ, ซึ่งโดยหลักมันก็ต้องเป็นข้างในคือใจก่อน ข้างนอกนี้มันก็ไม่สำคัญ มันขึ้นอยู่กับข้างใน ฉะนั้น สัญเจตนาคือความคิดนึกที่เป็นรูปเป็นร่าง เป็นเจตนา นี่ก็เรียกว่าเป็นอาหาร เพราะมันทำให้เกิดกรรมหรือการกระทำ
ทีนี้อาหารที่ ๔ วิญญาณาหาร อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า วิญญาณนั้นมันเกิดขึ้นเมื่อตาอาศัยรูป เป็นต้น วิญญาณาหารนี้ทำให้เกิดนามรูป คือ ร่างกายกับใจ ทีนี้คนธรรมดาหากไม่เข้าใจ หรือไม่รู้เรื่อง ไม่สนใจก็ได้ หรือถ้าสนใจ ก็สนใจไปตามที่เขาพูดเขากล่าวกันอยู่ตามภาษาคนว่า วิญญาณชนิดที่เป็นปฏิสนธิวิญญาณ มันจะเกิดขึ้นเมื่อคนเราตาย เมื่อมีการจุติ คือ ตาย ตายลงไป เข้าโลงแล้ว ช่วยเข้าโลงแล้ว การตายมีการจุติ มีอย่างนี้แล้ว มันก็มีปฏิสนธิวิญญาณไปลิ่วไปหาที่เกิดภพอื่นอย่างอื่น ไปเกิดเป็นสัมภเวสีเที่ยวหาที่เกิดอยู่ ไปเกิดผลุงขึ้นมาเป็นตัวเป็นตนเต็มที่เลย เรียกว่า อุปปาติกะ หรือ โอปปาติกะ เขาสอนกันอยู่อย่างนั้น และวิญญาณมี เป็นปฏิสนธิวิญญาณ ทำให้เกิดภพใหม่
แต่เดี๋ยวนี้ถ้าเราดูกันทางภาษาคน เอ้ย, ภาษาธรรมะ ภาษาปรมัตินี่ ไอ้ที่กล่าวไปแล้วนั่นเป็นภาษาคน ภาษาศีลธรรม ให้หนักในศีลธรรม ทีนี้ภาษาธรรมหรือภาษาปรมัตินี่จะพูดความจริงละเอียดที่เห็นยาก ก็พูดไปในรูปว่า เมื่อมีวิญญาณที่เห็นทางตา รู้สึกได้ยินทางหูอะไร เป็นต้น นี่มันจะเกิดนามรูป คือ กายกับใจ ใจกับกาย กายกับใจ ตามแล้วแต่จะเรียก นี่หมายความว่าเมื่อไม่มีการเห็นทางตาเป็นต้นนั้นน่ะ นามรูปเหมือนกับนอนหลับอยู่ คือ กายกับใจนี่เหมือนกับนอนหลับอยู่ ไม่มีหน้าที่ ไม่อยู่ในหน้าที่ ต่อเมื่อมีการเห็นทางตา ได้ยินทางหู เป็นต้น ที่เรียกว่าจักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ อะไรเหล่านี้ ใจกับกายจึงจะผลุงขึ้นมาอยู่ในหน้าที่ มันเกิดผลุงขึ้นมาอยู่ในหน้าที่ที่จะต้องทำไปตามหน้าที่ตามสมควร เมื่อนามรูปเพิ่งเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมันทำหน้าที่ของมัน ในกรณีที่เกี่ยวกับการเห็นรูปก็ได้ ฟังเสียงก็ได้ ดมกลิ่นก็ได้ ลิ้มรสก็ได้ ถ้าไม่อย่างนั้นมันเหมือนกับว่ามันหลับอยู่ เหมือนกับเรานอนหลับอยู่ มันทำอะไรไม่ได้ ต่อเมื่อเราลุกขึ้น ตื่นขึ้นมา จึงจะทำอะไรได้ นามรูปนี้ก็เหมือนกับหลับอยู่จนกว่าจะมีรูปมากระทบตา หรืออาศัยซึ่งกันและกัน มันจึงจะเกิดวิญญาณ และก็วิญญาณนี้ก็ทำให้นามรูปอยู่ในหน้าที่เต็มที่ขึ้นมา แล้วแต่หน้าที่ที่จะเป็นไปอย่างไรนะ ส่วนใหญ่ก็เป็นหน้าที่ที่ทำให้เกิดเรื่องเกิดราวทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นนามรูปที่อยู่ในหน้าที่ที่เคลื่อนไหวอยู่
จริงๆ ถือว่าวิญญาณนี่ก็เป็นอาหาร คือ ทำให้เกิดนามรูป แม้ในวันหนึ่งๆ ก็ให้นามรูปลุกขึ้นมาทำหน้าที่ได้มากครั้ง อย่างนี้ก็เรียกว่า แสดงกันในแง่ของปรมัตถธรรม ที่เขาแสดงในแง่ของศีลธรรมนั้นก็ได้แต่วางหลักเกณฑ์ไว้ เราไปดูไม่ได้ เราเห็นไม่ได้ เรารู้สึกไม่ได้ ก็ได้แต่เชื่อตามที่เขาพูดไว้ ก็มีประโยชน์เหมือนกันถ้าเชื่ออย่างนั้น พอตายลง วิญญาณก็เป็นเคลื่อนไปหาการปฏิสนธิเกิดกันใหม่ ก็อยู่ในลักษณะที่เรียกอาหารได้เหมือนกัน มันนำภพใหม่หรือการเกิดใหม่มา
นี่สิ่งที่เรียกว่าอาหาร มีอยู่ตั้ง ๔ อย่างๆ นี้ ที่แล้วๆ มาเรารู้จักกันอย่างไร โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยเรียนนักธรรม ถึงแม้ผู้ที่เคยเรียนนักธรรม มันก็ท่องๆ จำๆ ไว้เท่านั้นล่ะ มันต้องมาศึกษามาใคร่ครวญทบทวนกันอยู่อีกนาน จึงจะค่อยรู้เรื่องอาหาร ๔ อย่างนี้
เดี๋ยวนี้ผมกำลังพูดโดยหัวข้อว่า อาหารที่เราจะต้องรู้จักเลือก และรู้จักกิน โดยความมุ่งหมายส่วนใหญ่ก็จะพูดถึงอาหารคำข้าวที่ฉันอยู่ทุกวัน แต่เมื่อมันเนื่องกัน ก็เลยพูดให้หมดทั้ง ๔ อย่าง จะได้รู้จักระวังให้ยิ่งขึ้นไป ในชั้นแรกก็ให้รู้จักระวังไอ้เรื่องที่มันหยาบๆ เห็นได้ง่าย เมื่อระวังอย่างนี้ได้ก็เลื่อนไปยังเรื่องที่ละเอียดเห็นได้ยาก ปฏิบัติได้ยาก และโดยเฉพาะความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าอาหารก็ถือเป็นหลักทั่วไปที่พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงรับรองว่า สัพเพ สัตตา อาหารัฏฐิติกา ซึ่งแปลว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงตั้งอยู่ได้เพราะอาหาร ตั้งอยู่ได้เพราะอาหารนี่มันลองคิดดูเถิด ถ้ามีแต่ข้าวกิน แล้วมันก็เนื้อหนังมันรอดอยู่ ถ้ามันไม่มีชีวิตจิตใจมันก็ไม่ได้ มันต้องมีการเป็นไปทางชีวิตทางจิตใจที่ลึกขึ้นไปอีก คือ มีเวทนา มีกรรม การกระทำ มีนามรูปที่เจริญขึ้นไป นั่นจึงจะเรียกว่าตั้งอยู่ได้ อย่าได้เข้าใจว่ามีอาหารกินแล้วอะไรมันก็จะตั้งอยู่ได้ มันต้องมีอะไรที่ก้าวหน้า ที่ขยายตัวออกไปในทางนามธรรม ทางจิต ทางวิญญาณ
เดี๋ยวนี้มันสำคัญอยู่ที่ว่า เราจะต้องมีร่างกาย คือ ชีวิตทางร่างกายนี้อยู่ก่อน เป็นที่ตั้งของชีวิตที่ละเอียดเป็นนามธรรม ก็ต้องมาสนใจกับเรื่องอาหารนี้ที่กินอยู่ทุกวันให้ดีๆ แม้แต่เรื่องทางฝ่ายวิชาการ เรื่องวิชาการทางฝ่ายวัตถุนี้ หมอก็ยังให้กินอาหารอย่างนั้น กินอาหารอย่างนี้ เท่านั้นเท่านี้ ถ้ากินอาหารผิดมันก็ให้โทษ คือ ขาดอาหารนั่น ขาดอาหารนี่ เส้นประสาทวิปริตไป หรือมันมีไขมันในเลือดมากเกินไปอย่างนี้ ก็มันกินอาหารทางวัตถุนี้ผิด แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ประสงค์อย่างนั้น เพราะมันเป็นหน้าที่ของไอ้เรื่องทางวัตถุ ไม่ได้กินอาหารทางธรรมที่เป็นวัตถุนี้ก็ยังมีเรื่องทางจิตใจอยู่นั่นเอง คือให้กินอาหารนั้นๆ อย่างถูกต้อง อย่าให้เกิดกิเลส ถ้าเรากินไม่ถูกต้องมันก็เกิดกิเลส
มันต้องกินตามบทสวด ที่เราสวดกันอยู่ทุกวันในบท ปะฏิสังขา โยนิโส ปิณฑะปาตัง ปะฏิเสวามิ เราจะกินโดย ปะฏิสังขา คือการพิจารณารู้สึกตัวอย่างยิ่งอยู่ และกินอาหารนั้น เนวะ ทะวายะ มันไม่ใช่เพื่อเล่นสนุก นะ มะทายะ ไม่ใช่เพื่อมัวเมา นะ วิภูสะนายะ ไม่ใช่เพื่อ เอ้ย, นะ มัณฑะนายะ นะ วิภูสะนายะ ไม่ใช่เพื่อประดับประดาตบแต่ง หรือให้มันเกิดกำลังพลังชนิดที่คนเมากำลัง แต่ว่ากินเพื่อให้ร่างกายนี้อยู่อย่างสะดวกอยู่ อย่างเหมาะสม ที่จะประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อระงับความหิวเสีย ถ้าหิวมันก็ไม่สะดวกที่จะไปประพฤติพรหมจรรย์ แล้วก็รู้จักกินไม่ให้มันอึดอัด อิ่ม เพราะมันอึดอัดมันก็เกิดถีนมิทธะนิวรณ์ ก็ไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์
แม้แต่เพียงเท่านี้ มันก็เป็นบทเรียนที่ไม่ใช่เล็กน้อยนะ ถ้าคนมันหลงในรสอาหาร มันก็ทำอย่างนี้ไม่ได้ ฉะนั้น จึงมีคำเปรียบเรื่องกวฬิงการาหารนี่เหมือนกับการกินเนื้อบุตรกลางทะเลทราย พ่อแม่ต้องข้ามทะเลทราย แล้วมันหลงทาง หรือว่ามันไกลเกินไป มันออกไม่ได้ มันต้องกินเนื้อลูกน้อยๆ คนหนึ่งที่มันพาไปด้วยเพื่อให้ตัวเองไม่ต้องตาย แล้วก็ร่ำไห้อยู่ ถ้าเรากินอาหารเหมือนอย่างนั้น คือหมายความว่ากินเท่าที่จำเป็นจะต้องกิน เพื่อให้ชีวิตนี้มันรอดไปได้ พ่อแม่นี่ก็เปรียบเหมือนกับนามรูป เป็นคนคู่หนึ่งกลางทะเลทราย และต้องกินอาหารชนิดหนึ่ง คือว่าของที่เอร็ดอร่อยนั่นมันก็รักเหมือนกับว่ามันลูก เป็นลูก พ่อแม่ก็รักลูกมาก แต่บางกรณีก็ต้องเสียสละ มันเหมือนกับเราต้องยอมสละความอร่อย อาหารทุกชนิดมันมีความอร่อย และส่วนที่เป็นของอร่อยเป็นความอร่อยในอาหารนั้น สละเสีย อย่าเห็นแก่การอร่อย อย่ากินเพื่อให้อร่อยเลย ให้กินในส่วนที่มันจะบำรุงร่างกายให้ตั้งอยู่ได้ มันก็เลยปลอดภัย ก็ออกไปจากปัญหาหรือความทุกข์ได้
ทีนี้ให้ปฏิบัติต่อกวฬิงการาหารนี่เหมือนกับว่ากินเนื้อลูกที่แสนรัก กินแล้วมาร่ำไห้อาลัยอาวรณ์อยู่ เหมือนกับเมื่อเราปฏิบัติไอ้ปูชะนีมัตตัญญุตา (นาทีที่ 29.10) อะไรก็ตามเกี่ยวกับการกินอาหาร มันก็อดอาลัยอาวรณ์ถึงความอร่อยไม่ได้ เราต้องยอมเสียสละความอร่อยถึงจะเป็นการกินอาหารที่ถูกต้อง มิฉะนั้นแล้ว มันก็เกิดกิเลส เกิดโมโหโทโส กระทั่งเกิดกรรม เกิดการกระทำ มีพระเณรฆ่ากันตายเพราะเรื่องอาหาร ไม่รวม รวมชั้นนั้นเอง (นาทีที่ 29.40) ก็มี ถึงแม้ว่าอยู่ที่บ้านก็อย่างเดียวกันแหละ คุณก็จะสึกออกไปเป็นฆราวาสนี่ ก็รู้จักเรื่องอาหารให้เหมือนกับที่พระท่านรู้จัก กินอาหารเพียงเพื่อให้สภาพนี้อยู่อย่างสะดวกสบายสำหรับปฏิบัติหน้าที่การงาน นี่ผมจึงให้หัวข้อว่าอาหารที่ทุกคนจะต้องรู้จักเลือก และก็รู้จักกิน มันควรจะกินอะไรให้รู้จักเลือก และควรจะกินอย่างไร เท่าไร นี่ก็เรียกว่ารู้จักกิน แล้วกินอย่างอุปมาว่าเหมือนกับกินเนื้อลูกกลางทะเลทราย อย่างนั้นก็จะปลอดภัย ส่วนกวฬิงการาหาร
ทีนี้ผัสสาหาร จะเลือกอย่างไร จะกินอย่างไร โดยหลักการใหญ่ มันก็คล้ายๆ กัน ผัสสะเป็นอาหาร คนชาวบ้านฟังไม่รู้เรื่อง เอาเถอะ (นาทีที่ 31.00) มีการศึกษาแล้ว เป็นนักศึกษา พิจารณาอยู่จริงๆ ก็รู้เรื่อง อย่าว่าแต่ชาวบ้านเลย แม้พระเณรเลวไหลโลเลอยู่ ไม่ศึกษามันก็ไม่รู้ความหมายของพระพุทธภาษิตเหล่านี้ว่า ผัสสาหารหมายถึงอะไร ทำไมจึงเรียกว่าอาหาร และมันมีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ขอให้ระวังให้ดี มันจะเกิดเรื่อง ไอ้เรื่องที่จะเป็นกิเลสน่ะ มันจะเกิดเพราะอาหารคือผัสสะเสมอ ฉะนั้น ดูที่กิเลสกันเสียก่อนว่ากิเลสไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ถ้าคนไม่รู้จักกิเลส ก็เห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่สนใจ แล้วกิเลสก็มีอยู่และเกิดมากขึ้น แล้วคนนั้นมันวินาศไป ฉิบหายไป ด้วยอำนาจของกิเลส มันก็ไม่รู้สึก นี่คืออันธพาลแท้ ไม่ควรประมาทอย่างยิ่ง
แล้วบางทีมันน่าหัวก็คงจะอยู่ในข้อที่ว่ามันรักกิเลส มันเอากิเลสเป็นตัว เป็นตัวมันน่ะ แล้วมันก็รักกิเลส มันไม่อยากพรากความโกรธ มันไม่อย่างละความโง่ ความหลง ความสะเพร่า อะไรต่างๆ มันเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อยไปหมด กิเลสมันก็มากขึ้น แล้วก็มาฝังแน่นในสันดาน ก็เรียกว่าอนุสัยบ้าง อาสวะบ้าง แล้วแต่จะเรียก ก็เลยปรนเปรอ (นาทีที่ 32.50) กันเสียบ้าง หรือว่าไอ้กิเลสนั่นมันมาเข้ามาเป็นตัวเป็นตนเสียเองบ้าง ไม่ได้แยกกันออกไปว่ามันเป็นศัตรู นี่เป็นเรื่องของกิเลส มันแยกออกไปให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องศัตรู เป็นเรื่องทำลายล้าง ไม่ใช่ว่ากินอาหารไม่เป็น มันก็เกิดกิเลส แม้แต่ว่ากวฬิงการาหาร ถ้ากินไม่เป็นมันก็เกิดกิเลส
ทีนี้ก็มาให้ชี้ชัดลงที่ตรงที่ผัสสะ มีผัสสะแล้วก็จะนำมาซึ่งกิเลส สำหรับคนธรรมดาสามัญ เมื่อมันมี ผัสสะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ระวังให้ดี มันเป็นช่องของกิเลส แล้วมันเร็วอย่างกับสายฟ้าแลบ อย่างที่เคยบรรยายมาแล้ว ฉะนั้น คนจึงวินาศฉิบหายได้ในชั่วระยะเวลาเหมือนสายฟ้าแลบ คือในเวลาอันสั้น ไปทำอะไรเข้าตามอำนาจของกิเลส
ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับผัสสาหารนี้มีอุปมาที่ได้ตรัสไว้ว่าเหมือนกับวัวที่ถลกหนังออกหมด แล้วมันก็จะเดือดร้อนเท่าไร คุณลองทำภาพพจน์ดู หลับตาเห็นวัวที่ถูกถลกหนังออกหมดแล้วมันเดินไป ถูกแดดมันก็แย่ ถูกลมพัดมันก็แย่ ถูกเหลือบยุงอะไรมากัดตอมมันก็แย่ ทนไม่ได้ กระโดดไปเลย นั่นเพราะอำนาจของมันรู้สึกมาก รู้สึกเร็ว รู้สึกรุนแรง เพราะมันไม่มีหนังหุ้ม เราก็ต้องปฏิบัติทำนองอย่างนั้น คือว่ารู้สึกให้มาก รู้สึกให้แรง แล้วก็จะได้กลัว แล้วก็จะได้ป้องกัน และจะต้องหาที่ซ้อน ที่เร้น ที่ป้องกัน ที่รักษาเยียวยา ราวกับว่ามันถูกถลกหนังออกหมด มันไวต่อความรู้สึก
เดี๋ยวนี้เรามันเป็นคนด้าน เป็นคนหน้าด้าน ไม่ค่อยรู้สึกต่อไอ้เรื่องของกิเลส ต่อทางมาของกิเลส ทำตัวให้เหมือนกับว่ามันถูกถลกหนังออกหมด มันรู้สึกแรง มันไวต่อความรู้สึก จะได้ป้องกันให้มันพอกัน เหมือนอย่างวัวตัวนั้น ถ้ามันป้องกันได้ มันก็เรียกว่ามันก็เก่ง มันก็ฉลาด มันก็ไม่ฉิบหาย มันไม่ตาย ถ้ามันป้องกันไม่ได้ มันก็ต้องตายเหมือนวัวตัวนั้น มันได้รับสัมผัสอย่างร้ายกาจรุนแรง
ที่ทำอุปมาอย่างนี้ก็มีความมุ่งหมายจะให้ระวังมาก ให้ตั้งหน้าตั้งตาระมัดระวังมาก เอาใจใส่มาก ให้ทำกันอย่างรุนแรงเหมือนกินเนื้อลูกกลางทะเลทรายก็ดี เหมือนวัวที่ไม่มีหนังหุ้มก็ดี มันต้องตั้งใจทำมาก ฉะนั้น อย่าทำเล่นกับผัสสะ อย่าทำเล่นกับผัสสะนี่ผมยังคิดว่าไม่ต้องพูดถี่ มันยังน้อยไปเสียอีก แต่แล้วก็มาดูอีกทีก็เห็นว่าทุกคนทุกวันทำเล่นกับผัสสะ สะเพร่า เลินเล่อ ไม่ระมัดระวังผัสสะ มันจึงมีการเกิดแห่งกิเลสโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ โกธะ อะไรก็ตามอยู่เป็นประจำ แล้วก็ชิน แล้วก็ด้านไปเสียเหมือนกับวัวที่มันมีหนังหุ้ม มีหนังหนา มีขนหนา แต่มันก็ไม่ค่อยรู้สึกต่อแสงแดด ต่อไอ้เหลือบยุง นี่ไปทำเสียใหม่ให้ดี ให้มันไวต่อความรู้สึก แล้วก็เกิดหิริ เกิดโอตัปปะ ละอาย กลัว แม้ไม่มีใครมาเห็นก็ละอาย ด้วยทำผิดในเรื่องนี้ ผัสสะมีแทบจะว่าทุกเวลานาทีที่ตายังมีอยู่ หูยังได้ยินอยู่ ระวังให้ดี เป็นทางมาแห่งกิเลส เป็นปัจจัยแห่งกิเลส
ทีนี้มโนสัญเจตนาหาร เป็นอาหารทำให้เกิดกรรม เกิดการกระทำ นี่ก็ต้องยับยั้งด้วยสติสัมปชัญญะ มันเนื่องกันหมด ไอ้เรื่องนี้ เรื่องอาหารคำข้าวนี่ มันก็มีทางเกิดผัสสะ เรากินข้าวกินอาหารลงไปเกิดผัสสะ แล้วมีผัสสะแล้วก็มีเวทนา ก็มีสัญญา สัญเจตนา คือ คิดนึก จะทำไปตามอำนาจของเวทนา ทีนี้ก็แยกทางกันอธิบาย เป็นเวทนาเกิดกิเลสก็ไปทางหนึ่ง มุ่งไปเรื่องของกิเลสสกปรก มีความทุกข์ไป ทำโดยตรงตามเรื่องของกิเลส
เดี๋ยวนี้แยกออกมาพิจารณาอีกแนวหนึ่ง อีกแง่หนึ่ง ให้เห็นเกี่ยวกับเรื่องกรรม คือ การกระทำ เราต้องมีการกระทำทางกาย วาจา ใจ อยู่เสมอ แล้วการกระทำนั้นมันมาจากเจตนา ซึ่งก็มาจากเวทนา จากผัสสะ เดี๋ยวนี้มันมีการแยกตรงที่ว่าเราจะมาดูกันในแง่ของกรรม ก่อนจะทำอะไรลงไปให้ระมัดระวังให้ดี ให้ระมัดระวังเหมือนกับหลุมถ่านเพลิง หมายความว่ามันมีหลุม แล้วก็เต็มไปด้วยไฟ ถ่านพลัดลงไปเป็นอย่างไร ลองทำท่ากันดู (นาทีที่ 39.55) ฉะนั้น ก่อนที่จะพูด จะคิด จะทำน่ะ ให้ระวังเหมือนกับอยู่ที่ปากหลุมถ่านเพลิง มันจะพลัดลงไปในนั้น
แล้วใครเป็นคนระวังการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ ขนาดนั้นบ้าง มันขาดสติสัมปชัญญะ มันก็พูดพล่อยๆ ทำหวัดๆ ไป ก็คิดตามสบายใจ ไม่ได้ยับยั้ง พอมันเกิดเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา คือ อยากทั้งนั้นล่ะ พออยากอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาแล้วก็หยุดไว้ทีก่อน แบบที่เขาเรียกว่า นับสิบก่อน คือมีระยะหนึ่งหยุดยั้งไว้ให้ตั้งเนื้อตั้งตัวทีก่อน จะได้คิดรอบคอบ แล้วจึงกระทำกรรมนั้นลงไป หรือไม่กระทำกรรมนั้นเลย นี่เกี่ยวกับกรรมมันมีอย่างนี้ เมื่อเจตนามันจะกระทำอะไรลงไปทางกาย วาจา ใจ ก็มีการยับยั้งก่อนว่าจะควรทำหรือไม่ทำ ถ้าทำจะต้องทำอย่างไร เดี๋ยวนี้เรามันเคยชินแต่เรื่องผลุงไปเลย เหมือนกับสายฟ้าแลบ มันก็ด่าเขาแล้ว ก็ตีเขาแล้ว หรือไม่ก็โกรธเขาแล้ว รักเขาแล้วอย่างนี่ ก่อนแต่ที่จะรัก จะโกรธ จะเกลียด จะกลัวอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นกรรมหรือเป็นผลกรรมก็สุดแท้ ต้องมีการหยุดยั้งเพื่อให้โอกาสแก่การคิดนึกด้วยสติสัมปชัญญะเหมือนกับมันอยู่ใกล้ปากหลุมถ่านเพลิง พลาดนิดเดียวมันพลัดลงไปในหลุม ก็ไหม้เป็นขี้เถ้าไปจนกว่าจะได้เกิดใหม่มาทำเรื่องอื่นอีก ฉะนั้น คนเรามันก็มีการเดือดร้อนเหมือนกับไฟเผาอยู่บ่อยๆ เพราะการที่ไม่ระมัดระวังเรื่องกรรม ซึ่งมีมูลมาจากสัญเจตนา แล้วก็เป็นเรื่องทางจิตเสมอ เจตนาเป็นเรื่องทางจิตเสมอ เขาจึงใช้คำว่ามโนสัญเจตนาให้มันชัดไปเลย
ทีนี้อาหารที่สี่ วิญญาณอาหาร คำว่าวิญญาณนี่สับสน เพราะมันหลายความหมายนัก วิญญาณหมายถึง วิญญาณธาตุ เป็นธาตุชนิดหนึ่ง มีอยู่ตามธรรมดาทั่วไปในสากลจักรวาล หรือว่าเกินกว่านั้นไปอีกก็ได้ คือเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ ๖ ธาตุ ธาตุวิญญาณ หมายถึง วิญญาณธาตุทั่วๆ ไป จะถือว่ามันเป็นอาหารก็ได้เหมือนกัน เพราะว่ามันถูกนำมาปรุงขึ้นมาเป็น ส่วนหนึ่ง เป็นความรู้สึกคิดนึกของคนในจิตใจ เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ นี่ มันก็เอามาปรุงขึ้นมาเป็นผัก เป็นหญ้า เป็นข้าวสุก ข้าวสาร เมื่อกินเข้าไปก็เป็นอาหารได้ เป็นวิญญาณธาตุก็ได้เหมือนกัน คือว่ามีส่วนที่ยังไม่ปรุงขึ้น เป็นวิญญาณสำหรับทำความรู้สึกขณะหนึ่งๆ ในร่างกายนี้ ก็เรียกว่าเป็นอาหารได้ ถ้าใช้วิญญาณเป็นอารมณ์สำหรับพิจารณาเป็นอรูปฌาน มีความสุขตามแบบอรูปฌาน อย่างนี้ก็เป็นอาหารได้ เรียกว่า วิญญาณัญจายตนะ
แต่เดี๋ยวนี้เราไม่หมายถึงอย่างนั้น เราจะหมายถึงไอ้วิญญาณที่มันมาทำหน้าที่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้เรียกว่า กายะ เอ้ย, เรียกว่า จักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ภาษาอภิธรรมเขาเรียกว่า วิถีวิญญาณ หรือวิถิวิญญาณ (นาทีที่ 44.22) วิถีวิญญาณที่กำลังแล่นอยู่ตามตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอย่างนี้ วิญญาณนี้มันเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปชนิดที่เป็นคนิกะๆ เกิดอย่างปรมัติ (นาทีที่ 44.45) เกิดนามรูป แล้วก็ดับ เกิดดับๆ ๆ วันหนึ่งหลายๆ นามรูป
ทีนี้ทางอีกพวกหนึ่งเขาจะให้หมายถึงปฏิสนธิวิญญาณ หมายถึงว่าเข้าโลงหมดแล้ว มันก็ วิญญาณก็ไปหาเกิดภพใหม่ชาติอื่นที่ไหนก็ไม่รู้ตามใจ นั่นผมจะไม่อธิบาย เพราะเขาอธิบายกันอยู่แล้ว และมันเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นไม่ได้ มันเกณฑ์ให้เชื่อ ที่จะแสดงที่เห็นได้ก็คือว่า มีจักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ เกิดแล้ว มันก็ปรุง ก็หมายความว่าทำให้นามรูปเกิดขึ้นสมบูรณ์ตามหน้าที่ของมัน ไม่ทำหน้าที่สมบูรณ์ก็ไม่เรียกว่าสิ่งนั้น เช่น คน อย่างนี้ มันก็เป็นพื้นฐานอย่างนี้ เป็นคนเหมือนกับพวกเราอย่างนี้ แต่ถ้าเราทำหน้าที่ของพระเณร มันก็เป็นพระเณรอย่างนั้น มันก็เป็นพระเณรต่อเมื่อทำหน้าที่อย่างพระเณร ไม่อย่างนั้นก็เป็นคนทั้งนั้นแหละ เป็นแกนกลางที่เป็นคน ทำหน้าที่อย่างฆราวาสที่บ้าน มันก็เป็นฆราวาส หรือมันทำหน้าที่ชั่วคราว ไปเป็นทหารอย่างนี้ มันก็เป็นทหาร แต่มันจะเป็นทหารต่อเมื่อมันทำหน้าที่ทหาร ถ้าแม้มันจะสวมเครื่องแบบแต่มันไม่ได้ทำหน้าที่ทหาร มันก็ไม่เป็นทหารได้ มันก็เป็นทหารโกง ในเมื่อมันไม่ทำหน้าที่ทหาร
ทีนี้นามรูปก็ต้องทำหน้าที่ของนามรูป คือร่างกายทำหน้าที่ของกาย เป็นที่ตั้งที่อาศัยแห่งจิต ฉะนั้น จิตก็ทำหน้าที่ของจิตที่เป็นนาม เป็นไวต่อความรู้สึกนึกได้ รวมกันเข้า ไม่แยกกัน เรียกว่านามรูป วิญญาณลุกขึ้นเมื่อไร ก็นามรูปก็ลุกขึ้นเมื่อนั้น ก็เลยเรียกว่าวิญญาณนี้เป็นอาหารแห่งนามรูป ทีนี้ต้องระวังให้ดี มีอุปมาเหมือนกับว่าโจรหรือผู้ร้ายที่เขาจับได้ เขาจะลงโทษประหารชีวิต เขาจะเอาไปฆ่า ลองเดาดูสิว่ามันจะคิดอย่างไร มันคิดหนี คิดหาทางที่จะรอดเรื่อย ถ้ามันเป็นไอ้คนที่ปกติ มันคิดหาทางออกหาทางรอดจนวินาทีสุดท้ายแล้ว ไอ้วิญญาณนี้ก็เหมือกัน ควรจะทำความรู้สึกเหมือนกับว่าหาที่ปลอดภัยไว้เสมอ ถ้ามีวิญญาณเป็นอาหาร ทำหน้าที่อย่างอาหารอยู่ มันก็ควรจะได้การกระทำที่ทำให้มันเป็นผู้ปลอดภัย ให้เป็นวิญญาณที่จะปรุงนามรูปที่ปลอดภัย ที่ไม่เป็นทุกข์ นี่เป็นคำเปรียบทั้งนั้น เปรียบอย่างอื่นก็ได้ หรือจะอธิบายกลับกันก็ได้ อุปมาทั้งหลายเหล่านี้จะพูดกลับกันเสียก็ได้ มันแล้วแต่จะมองกันในแง่ไหน จะพูดกันไปในแง่ไหน อันนี้เพื่อจำง่าย อยากจะพูดว่า มันเหมือนกับว่าเขาจะนำไปเพื่อจะฆ่า แล้วต้องหาทางออก ฉะนั้น วิญญาณก็ตั้งต้นอย่างดี ปรุงให้เป็นนามรูปที่จะไม่ตายไปง่ายๆ คือให้มันถูกต้องก็แล้วกัน ถ้าจะพูดถึงปฏิสนธิวิญญาณที่ไปหาที่เกิดใหม่ภพใหม่ข้างหน้าแล้ว ก็ไปให้มันให้ถูกนะ ให้มันไปถูกภพที่ดี ที่จะปลอดภัย ที่จะเรียกว่าได้รับประโยชน์ หรือความรอด ให้วิญญาณนั้นมันรอด ทีนี้เดี๋ยวนี้เราอยู่ที่นี่ อย่างเดียวกันอีกแหละ ให้วิญญาณนี้มันรอดจากอันตราย หรือจากความตาย ทุกๆ กรณีไป พวกเราก็ต้องคิดมากเหมือนกับคนที่เขาจะนำไปฆ่า
สรุปแล้วในเรื่องอาหารทั้ง ๔ นี่ก็คือสอนให้ระวังให้เต็มที่ ถ้าเกี่ยวกับอาหารคือคำข้าว ก็ระวังเหมือนพ่อแม่ที่ต้องกินเนื้อลูกตัวเอง ระวังกินอยู่อย่างนั้น ถ้าเป็นผัสสาหาร ก็ระวังมากเหมือนกับไอ้โคตัวหนึ่งถูกถกหนังออกไปหมดแล้ว ต้องระวังเหลือเกิน จนกว่าหนังมันจะงอกออกมาใหม่ ขนมันจะงอกออกมาใหม่ รอดตัวไปได้ มันระวังเหลือเกิน ถ้าเป็นมโนสัญเจตนาหาร ก็ระวังเหมือนกับว่าเราอยู่ริมหลุมถ่านเพลิงอย่างหมิ่นเหม่ ถ้าเป็นเรื่องวิญญาณอาหาร ก็ว่าเหมือนกับว่าหาทางรอด เหมือนกับโจรที่เขานำไปฆ่า หาทางรอดจนวินาทีสุดท้าย มันก็มีหวัง เช่นว่าติดสินบนเพชฌฆาต ก็รอดไปได้ ติดสินบนผู้คุม
นี่คือใจความย่อๆ สังเขปของเรื่องอาหารที่ทุกคนจะต้องรู้จักเลือก รู้จักกิน สุนัขของผมตัวที่ชื่อจิ๊กกี๋รู้จักเลือก และรู้จักกิน ที่สุดกว่าสุนัขตัวไหน ผมลองดูไปเรื่อย ที่มันชอบกินที่สุด จะเป็นนมเป็นเนื้ออะไรก็ตาม วางให้กินนี่ ทำเหมือนกับไม่รู้ไม่ชี้ แต่มันดมอยู่เรื่อย มันสังเกตอยู่เรื่อย เดี๋ยวหนึ่งมันจะมากิน อาหารชนิดไหนมันก็อย่างนั้น แต่ถ้าตัวอื่น เช่น ไอ้ปุ๊กปิ๊กนี่ มันม่ำๆ ไปเลย มันไม่ได้ดูก่อนล่ะ ทีนี้ผลมันก็ต่างกัน ถ้ามันมีการเบื่อสุนัขแล้วก็ไอ้ตัวนั้นน่ะมันจะรอด ไอ้ตัวนี้มันต้องตายก่อนแน่ ถ้ามีอาหารที่ใส่ยาพิษเบื่อสุนัข ก็เห็นได้ว่าโดยธรรมชาติแท้ๆ มันก็ยังมีสัตว์ที่มันรู้จักสังเกต รู้จักเลือก และรู้จักกิน ไอ้ปุ๊กปิ๊กนี่จะกินหกเรี่ยราดหยดอยู่ข้างจาน เลอะเทอะไปหมด น่ารำคาญ น่าเบื่อหน่าย แต่ไอ้ตัวนั้นมันไม่ทำหก มันกินช้า มันกินตรงๆ ไปก็มี (นาทีที่ 52.30) ไม่มีอะไรกระเซนหกออกมานอกจานอย่างนี้ มันต่างกันมากนะ แล้วคนที่เลี้ยงมันก็จะต้องเป็นธรรมดาที่ว่าจะต้องเมตตา สงสาร รักใคร่ ไอ้ตัวที่มันไม่ทำรำคาญเสมอ มันรู้จักเลือก และรู้จักกิน มันก็รอดอันตราย แล้วก็ยังมีผลดีที่ทำให้เขารักใคร่สงสาร
ฉะนั้น ขอให้พระเณรทุกรูปรู้จักเลือก รู้จักกิน ในกรณีที่เกี่ยวกับอาหาร มันก็จะถูกพระทัยของพระศาสดา จะถูกน้ำพระทัยของพระศาสดา ซึ่ง....(นาทีที่ 53.20) อะไรคุณก็รู้อยู่แล้วว่าท่านเป็นอะไรกับพวกเรา เราควรจะทำให้มันถูกน้ำพระทัยของพระศาสดา คือ ทุกอย่าง ทุกประการ ซึ่งคงถือเป็นหลักว่า จะคิดนึก จะทำอะไรลงไป ก็ต้องถามพระพุทธเจ้าก่อน ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ๆ ก็ต้องไปถามกันนานว่า เรื่องนี้จะทำไหม ควรทำไหม ควรทำอย่างไร ก็จะมีโอกาสที่จะได้รับคำแนะนำว่าควรทำหรือไม่ควรทำ ถือว่าพระพุทธเจ้าจะมีอยู่กับเราในทุกเวลา ทุกหนทุกแห่ง คนใดเห็นธรรม คนนั้นเห็นเรา ธรรมะจะมีให้ในฐานะเป็นพระพุทธเจ้าทุกหนทุกแห่ง แล้วก็ถามได้ มีสติสัมปชัญญะยับยั้ง และก็คิดใคร่ครวญเหมือนอย่างจะถามพระพุทธเจ้า เดี๋ยวนี้พระเณรไม่ค่อยทำกันอย่างนั้น ผลุนผลัน ฉุนเฉียว โมโหโทโส อวดดี ทำอะไรสะเพร่า นั่นน่ะมันจะต้องตายด้วยฝีมือของพญามาร คือ กิเลส แล้วก็ไม่สบพระทัยของพระพุทธเจ้าด้วย มันเสียหายหมดอย่างนี้ ขอให้ระมัดระวังให้ดีเรื่องเกี่ยวกับอาหาร ให้รู้จักเลือก ให้รู้จักกิน อย่างที่ว่ามาแล้วย่อๆ
เวลาก็หมดแล้ว ขอยุติการบรรยายนี้ไว้เพียงเท่านี้