แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำถาม : เป้าหมายของคนเราที่จะดำเนินชีวิตนี่โดยมาก อันที่ ๑ ก็มุ่งจะทำงานอาชีพ ทำงานเสียก่อน อันที่ ๒ ก็เพื่อจะหาเงินมาเลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัวให้เป็นปึกเป็นแผ่น อันที่ ๓ ก็เลย เมื่อมีเงินมาก ก็เลยเฉยหรือดำเนินไปทางกิน กาม เกียรติให้มากขึ้น ผมว่าสิ่งเหล่านี้เมื่อเป็นเป้าหมายของคนเรา ก็เลยทำให้คนเรานี่ห่างเหินจากพุทธศาสนาไป
พุทธทาสภิกขุ : นี่เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนั้น ฉะนั้นควรจะสนใจที่ว่าเกิดมาทำไมให้มากขึ้นไปอีก เรื่องประกอบอาชีพนี้ มันแน่นอน เพราะว่าสัตว์ที่มีชีวิต อยู่ได้ด้วยอาหาร เพราะฉะนั้นก็ต้องประกอบอาชีพ แต่ต้องทราบว่าเราไม่ได้เกิดมาเพื่อประกอบอาชีพไม่มีที่สิ้นสุดอย่างเดียว เป็นมนุษย์ควรจะได้อะไรบ้าง ทำงานแล้วก็สะสมทรัพย์สมบัติ เกียรติยศชื่อเสียงนี่เรื่องธรรมดาสามัญ ต้องการเพียงเท่านั้นก็ได้ แต่ว่าในระหว่างนั้นอย่าให้มีความทุกข์ เมื่อเรียน เมื่อประกอบอาชีพ กระทั่งได้รับผลแล้วก็อย่าให้มันทุกข์ ทีนี้ถ้าว่ามันยังรู้สึกว่ามันยังขาดอะไรอยู่นี่ ก็จะถึงธรรมะแน่ ธรรมะในชั้นสูง ธรรมะในชั้นต่ำๆ มันก็ใช้แก้ปัญหาเบ็ดเตล็ด
เดี๋ยวนี้มันปรากฏว่า แม้จะสบายแล้ว มี มี มีเงินมีอะไรครบหมดแล้ว สบายแล้ว เขาคิดถึงอะไรกันมาก ครั้งหนึ่งเคยเห็นหนังสือ ข่าวที่เขาว่าเขาได้ทดสอบ ทำการทดสอบ ดูเหมือนคนอเมริกัน ว่าคนสนใจอะไรกันมาก กลายเป็นว่าสนใจในอนามัย คือความสบาย ความไม่มีโรคของตนนั้น มากมาเบอร์ ๑ นอกนั้นคิดเรื่อง เรื่องอื่นๆ นี่ก็แสดงว่าคนเราเมื่อไม่มีอะไรแล้วก็คิด คิดถึงอนามัย ตามสบาย มีอนามัยดีก่อน แล้วก็ไปเรื่องเล่นหัว ไอ้ที่ว่าสนใจในธรรมะหรือสนใจในพระเจ้า ดูเหมือนไม่มี หรือมีก็อยู่สุดท้ายโน่น อันดับที่ ๒๐-๓๐ อันดับที่ ๑ คืออนามัย แสดงว่าการเป็นอยู่หรือการศึกษาอย่างสมัยใหม่นี้ทำให้คนกลัวตายมากขึ้น ก่อนนี้คนก็ไม่ได้กลัวตายมาก เดี๋ยวนี้คนกลัวตายมากขึ้น ฉะนั้นไอ้สิ่งที่เขาสนใจหรือกระวนกระวายใจอยู่ก็คืออนามัย อย่าให้เจ็บไข้หรือตาย เมื่อคนมีธรรมะในใจมากหรือว่ามีศาสนาอยู่ในใจ ก็ไม่ค่อยกลัวตาย ทีนี้เมื่อเจริญทางวัตถุมากขึ้น คนก็กลัวตายมากขึ้น ก็เลยออกมาเป็นปัญหาที่ ๑ นี่ก็เชื่อว่าคงจะจริง คงจะเป็นจริงตามที่หนังสือข่าวนั้นเขาประกาศ
ที่นี้สำหรับพวกไทยเราเป็นพุทธบริษัท มีวัฒนธรรมอย่างพุทธบริษัทมาแต่เดิมนี่ มันคงจะไม่เหมือนกับเขานัก พอมีขึ้นมาบ้าง ก็คิดจะทำบุญทำกุศลเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ตามแบบของคนไทย ถ้าแบบสมัยใหม่ของพวกฝรั่ง ดูจะไม่ได้คิดอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าพอเหลือกินเหลือใช้แล้วจะทำบุญทำทานเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สังเกตดูหรือจะคอยสอดส่องว่า นำเที่ยวที่ไหนวิเศษประเสริฐหรือว่าหัวหกก้นขวิดที่สุดนั้น ก็ติดต่อกับบริษัทนำเที่ยว นำเที่ยวสุดสัปดาห์ นำเที่ยวสุดปี ปลายเดือน แล้วก็ใช้เงินมากๆ ในการไปเที่ยวจนหมด จนไม่เหลือจะได้ทำบุญ ฉะนั้นการนำเที่ยวที่อาตมาเห็นในสมุดนำเที่ยวนี่ สมุดพัฒนานำเที่ยวนี่ ทางยุโรป ดูเหมือนเป็นเรื่องยั่ว ยั่วทางความรู้สึก ทางกามารมณ์ ทางอะไรมากขึ้น ในขณะที่ไปเที่ยว นำเที่ยวนั้น ก็หลงใหลเพลิดเพลินกันไป จนเงินมีเท่าไรก็ต้องใช้กันหมด อุตส่าห์เก็บเงินไว้ตลอดปีตลอดเดือนนี่ เอาไปใช้แต่อย่างนี้ นี่มันจะเกิน จะเกิน หรือว่ามันออกนอกลู่นอกทาง ไม่ใช่ว่ามนุษย์เราจะสนใจอาชีพ แล้วทำให้มีเงินพอใช้ มีเพื่อนที่ดี มีชื่อเสียงดี แล้วก็อยู่ด้วยความสงบสุข นี่มันไม่ค่อยมีใครชอบ ถ้ามีเงินมากก็จะไปหาเรื่องเที่ยวเล่นหัวหกก้นขวิด แบบใหม่นี้มันต่างกันกับวัฒนธรรมไทย พุทธบริษัทของเรา คนโบราณถ้าเงินเหลือใช้ คิดสร้างวัด พวกเศรษฐีพวกเจ้าสัวดูจะเอาเรื่องสร้างวัดนี่ เป็นเครดิตสำหรับประกาศความเป็นเศรษฐีเป็นอะไรของตัว นี่อ่านดูประวัติวัดเก่าๆ ในกรุงเทพฯ ในรุ่นกรุงเทพฯ ยุคกรุงเทพฯ นี้เศรษฐีเจ้าสัวสร้างมาก นอกจากเจ้านายกับพระราชวงศ์แล้ว ยังมีเศรษฐีเจ้าสัว จนเกิดคำพูด สร้างวัดให้ลูกวิ่งเล่น แม้บ้านนอกนี่ก็มี ไม่ถึงขั้นเศรษฐี เจ้าสัว ถ้ามีเงินเหลือใช้เข้าก็มักจะชอบหาที่ดินทำขึ้นเป็นวัด ที่พุมเรียงนี่ถ้าทราบเรื่องแล้วก็จะประหลาดใจเหมือนกันแหละ มีวัดติดๆ กัน ซากวัดร้าง ซากวัดที่ร้างทั้งนั้น เดี๋ยวนี้เหลืออยู่ ๔ วัด ตำบลนิดเดียวเท่านั้นแหละ เหลืออยู่ ๔ วัด แล้วก็ไปนับซากวัดที่มันเป็นซาก ซากๆ นี่จะถึง ๒๐ วัด อาตมางงไปหมดเลย ต่อติดกันตั้ง ๔-๕ วัดไปเลย ที่รั้ววัดติดกัน แต่เป็นวัดร้างไปแล้ว นี่มันผลของความยึดถือที่ว่าสร้างวัดให้ลูกวิ่งเล่น มันเป็นการอวดของผู้มีเงิน ผู้มีอันจะกิน ผู้มีเงินสมัยก่อน คิดดูเถอะ เดี๋ยวนี้ถ้าใครมี อย่าคิดว่าจะสร้างวัดให้ลูกวิ่งเล่นเลย จะไปทำอะไรชนิดที่ถือว่าอย่างนั้นก็เป็นนายทุน สะสมเงิน ค้าเงิน ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ได้สร้างวัดให้ลูกวิ่งเล่นหรือว่าเพื่อจะเชิดชูเกียรติของวงศ์สกุล ก็ถูกเสียอย่างนี้ (นาทีที่ 9.25)
ทีนี้มาหาคำตอบว่า เกิดมาทำไม นั้นก็คือ ดูยาก ยากมาก ลำบากมาก อาตมาอยากจะแนะนำว่าควรจะแบ่งเป็นตอนๆ เกิดมาทำไมนี่ควรจะแบ่งเป็นตอนๆ ตอนเด็กทำอะไร ตอนวัยรุ่นทำอะไร หนุ่มสาวทำอะไร ต่อมาเป็นพ่อบ้านแม่เรือนทำอะไร เป็นคนแก่ทำอะไร กระทั่งเป็นคนแก่หง่อมทำอะไร ขอให้ได้ทำอย่างดี อย่างถูกต้อง อย่างน่าชื่นใจ มันเป็นธรรมะอยู่ในตัวมันเอง เป็นเด็กที่ดีของบิดามารดา เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ เป็นสาวกที่ดีของพระศาสนา พระพุทธเจ้า พอแล้ว เกิดมาทีหนึ่งก็ได้เป็นครบอย่างนี้ เป็นบุตรที่ดี เป็นศิษย์ที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี เป็นพลเมืองที่ดี เป็นพุทธบริษัทที่ดี ส่วนว่าความสามารถจะรวยหรือไม่รวยนั้น มันเป็น ถือเป็นพิเศษ ถ้ามันเกินไป ถ้ามันเหลือใช้ก็ควรจะคิดถึงผู้อื่น แล้วควรจะมีหลักว่า พอ ๗๐ ปีควรจะหยุด หยุดเรื่องยุ่งๆ สักที อายุ ๗๐ ปี ควรจะหยุดเรื่องยุ่งๆ เสียที อาตมายังอีกปีเดียว ก็จะหยุดเรื่องยุ่งๆ ถึงแม้ว่าเป็นฆราวาสก็เหมือนกัน อายุ ๗๐ ปีแล้ว ควรจะหยุดเรื่องยุ่งๆ เช่นว่า หยุดหาเงิน หยุดอะไรก็ตาม ถ้าทำอะไรไม่ได้มากก็หาความสงบ ฝึกจิตแบบหนึ่งเลย คือว่าแบบเหนือโลกเลย จะมีจะจนอะไรก็ตามใจ หยุด นี่ถ้าว่ามีเงินเหลือใช้ก็ช่วยเหลือผู้อื่น ทีนี้ถ้าไม่มีเงินจะไปช่วยเหลือผู้อื่น ก็แจกแสงสว่าง เรียกว่า แจกของส่องตะเกียง เหมือนกับภาพที่เขียนในตึกนี้ ภาพสุดท้ายของชีวิต คือเขาเขียนเป็นภาพเที่ยวแจกของส่องตะเกียง ขอให้ทุกคน ทุกคนนี่อธิฐานจิตว่าในวาระสุดท้ายของชีวิต ก็ขอให้ได้เป็นผู้แจกของส่องตะเกียง แจกของของเราที่เหลือกินเหลือใช้ แจก อะไรที่มันควรจะแจก ในลักษณะที่ควรแจก แล้ว ส่องตะเกียง นี่คือว่า เป็นผู้นั่งพูด เดินพูด หรือเที่ยวไปก็ได้ ให้ผู้อื่นได้รับแสงสว่าง ถ้าทำกับใครไม่ได้ก็ควรจะทำกับลูกหลาน อย่างน้อยทำกับลูกหลานให้ทั่วถึง ฉะนั้นถ้าวางแผนการไว้อย่างนี้ เดี๋ยวนี้เรียนก็เรียน เสร็จแล้วก็ประกอบอาชีพ ทำไปสะสมทรัพย์อะไรไป โดยมีแผนการอย่างนี้ จนกระทั่งไปจบลงด้วยแจกของส่องตะเกียง เชื่อว่าถูกที่สุด มันก็คงหมดปัญหาที่ว่าเราจะต้องทำอะไร เดี๋ยวนี้อาชีพ ทำแล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปจบลงที่ไหน จะไปทำอะไร ทำอย่างไร กระทั่งตายลงไปก็เหลือแยะ พอให้ลูกหลานที่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไปอีกเหมือนกัน มันควรจะทำให้ครบที่ตนกระทำได้ในการเกิดมาทีหนึ่ง นี่เป็นชีวิตที่ดี ก็นับว่าได้บุญมากนะ ฉะนั้นขอให้หนุ่มสาวทั้งหลายนี่เป็นบุตรที่ดี จะได้บุญมาก เพราะได้บูชาบิดามารดาซึ่งเป็นพระอรหันต์ของบุตร เมื่อบุตรเป็นบุตรที่ดีให้บิดามารดาชื่นใจ เหมือนกับได้ขึ้นสวรรค์นั่นแหละคือได้บุญ ทีนี้ลูกเด็กๆ ก็ควรจะได้บุญไปตั้งแต่เล็กๆ พวกเด็กๆ ชั้นอนุบาลนี่ ถ้าเขาเป็นบุตรที่ดีทำให้บิดามารดาได้สบายใจนั่นน่ะเขาได้ทำบุญ ทีนี้เป็นเด็กโตขึ้นมา เข้าโรงเรียนเข้ามหาวิทยาลัย ก็ขอให้ทำในลักษณะที่บิดามารดาชื่นอกชื่นใจ มันก็ได้บุญ โดยแท้จริงไม่ใช่ว่าแกล้งพูด นี้มันก็ มันก็ได้มากแล้ว เพียงแต่เป็นเด็กนักเรียนหรือว่านิสิตนักศึกษาที่ดีเท่านั้นแหละ มันก็ได้บุญมากเหลือหลายแล้ว เกิดมาทีหนึ่งไม่เสีย ไม่เสียหลายแล้ว แต่ถ้าไปทำความร้อนใจให้บิดามารดา ต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดีนี่ เรียกว่ามันเสียหายหมดแล้ว มันตกนรกกันแล้ว ทั้งบิดามารดาทั้งลูกทั้งหลานนั้น ฉะนั้นขอให้ยุวชนทั้งหลาย กระทั่งเป็นนักศึกษา เป็นอะไรแล้ว ให้ถือหลักอย่างนี้ ให้เป็นชีวิต เป็นชีวิตที่ประกอบอยู่ด้วยบุญ
ที่นี้พอมาถึงขั้นที่ว่าเป็นพ่อบ้านแม่เรือน ก็จะได้บุญอีกถ้าเป็นพ่อบ้านแม่เรือนที่ดี จะได้สร้างประเทศชาติที่ดี สร้างลูกหลานที่ดี มีสติปัญญาสั่งสอนอบรมลูกหลานดี มันก็ได้บุญอีก มันร่ำรวยด้วยบุญ นี่เป็นที่แน่นอน จะร่ำรวยด้วยทรัพย์สมบัติหรือไม่นั้น มันไม่สำคัญนัก ถ้าทำได้ก็ทำไป แต่ควรจะร่ำรวยด้วยบุญหรือร่ำรวยด้วยความดีนี่กันเสียก่อน คนรวยก็ทำได้ คนไม่มี คนไม่รวยก็ทำได้ ทำดี อย่าไปถือเหมือนกับคนบางคนเขาถือว่า ถ้าไม่รวยแล้วยังไม่ทำบุญ หรือถ้ายังไม่รวยแล้วทำบุญไม่ได้ ถ้ายังไม่รวยแล้วเข้าวัดไม่ได้ บางคนพูดเสียอย่างนี้ อย่าถืออย่างนั้น เพราะว่าไอ้ทำบุญหรือทำดีนี่ต้องทำไปพลางหรือทำไปก่อน แล้วก็ประกอบอาชีพ หาไอ้ หาเงิน หาอะไรก็หาไป อย่างนี้จะดีกว่า แน่นอนกว่า แล้วยังจะรวยได้ด้วยเพราะว่าเป็นคนดี ไม่ทำอะไรเสียหาย ก็เลยเป็นพ่อแม่ที่ดี ลูกก็ได้บุญ พ่อแม่ก็ได้บุญ ลูกดีลูกก็ได้บุญ พ่อแม่ดีพ่อแม่ก็ได้บุญ ได้บุญกว้างไปจนถึงกับว่าเป็นพลเมืองที่ดี และเป็นพุทธบริษัทที่ดี สืบอายุพระศาสนาของพระพุทธเจ้าไว้ให้คนรุ่นหลังอีก ทีนี้พ่อบ้านแม่เรือนนี่ ถ้าไม่ไปหลงใหลกับเรื่องเหลวไหลละก็ ชีวิตย่อมเป็นการศึกษา ย่อมสอนอยู่ในตัว ให้พ่อบ้านแม่เรือนนั้นมีความเฉลียวฉลาดในเรื่องของชีวิตมากขึ้น สำหรับลูก หลาน เหลน ต่อไปจะได้พึ่งพาอาศัย พอถึงระยะเป็นคุณตาคุณยายคุณทวด แล้วก็จะเป็นผู้ให้แสงสว่างได้ ก็เลยได้บุญสูงสุด เพราะว่าธรรมทานคือการให้ธรรมะนี่ ชนะเลิศเหนือกว่าการให้ทานอย่างอื่นหมด
ถ้าได้อย่างนี้ ก็เรียกว่าได้เต็มที่ แล้วก็ดับ นี่เรียกว่าธรรมดาสามัญ ที่ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ แล้วก็ยังอาจจะมีหวังว่า พอวาระสุดท้ายของการดับจิตนี่ ตกกระไดพลอยกระโจนให้ดีๆ เป็นพระอรหันต์แล้วดับไปเลยก็ได้ มันง่ายขึ้นมาก พวกคนแก่ๆ เหล่านี้ ถ้าดำเนินชีวิตมาในรูปนี้ ไม่ไปหลงใหลในอะไรเหมือนกับโดยมากแล้วก็ เขาจะรู้ว่ามันไม่มี ไม่มีอะไรวิเศษวิโส ไม่ต้องมาเป็นอย่างนี้อีกต่อไปจะดีกว่า แล้วก็เลยสมัครดับไม่เหลือ ดับแล้วไม่เหลือพร้อมกับดับจิต เป็นพระอรหันต์เลยมันก็ได้ ทีนี้คนที่นั่งดูอยู่รอบๆ ก็ไม่รู้ว่าคนนี้เป็นพระอรหันต์เมื่อตายไป
วิธีนี้อธิบายไว้ในหนังสือเล่มเล็กๆ ที่สุดที่เรียกว่า ดับไม่เหลือ ไปหาอ่านดู เดี๋ยวนี้ที่นี่ไม่มีแล้ว พิมพ์นานแล้ว แจกกันไปมากแล้ว เรื่องดับไม่เหลือนี่ หรือว่าแม้เดี๋ยวนี้ยังหนุ่มๆ อยู่ ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ ก็ยังจะมุ่งหมายข้างหน้าเลยก็ได้ ว่าเราสมัครดับไม่เหลือ เมื่อตายแล้วไม่ต้องมาเกิดอีก ก็มันมีเท่านี้เอง มันยุ่งทั้งนั้น แล้วก็ระวังให้ดี พอที่จะดับจิตจริงๆ อยู่ไปได้จนถึงแก่หง่อมก็ตาม พอจะดับจริงๆ สมัครดับไม่เหลือตามโครงการอันเดิม แผนการเดิม หรือว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุ เช่นรถยนต์ชนถึงตายอย่างนี้ หนึ่งวินาทีก่อนตายนั้นกลับมาในความรู้สึกสมัครดับไม่เหลือ ก็ดับเป็นพระอรหันต์อยู่ใต้รถยนต์ หนังสือเล่มเล็กๆ ไม่กี่ใบ สอนเรื่องความดับไม่เหลือ นี่ก็ประหลาดดี มีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ และมีผู้แปลเป็นภาษาญี่ปุ่น ภาษาอินโดนีเซีย หลายภาษา หนังสือเล่มเล็กๆ นี่ เรื่องดับไม่เหลือ ใช้คำว่าเมื่อถึงวาระสุดท้ายแล้วเหมือนกับตกกระไดพลอยกระโจนให้ดีๆ ที่เรียกว่า ตกกระได นั้นหมายความว่า ยังไงเสียร่างกายนี้มันต้องแตกดับแน่ แม้เดี๋ยวนี้อายุตั้ง ๙๐ ถึง ๑๐๐ ร่างกายนี้ต้องแตกดับแน่ นี่เรียกว่าตกกระได ทีนี้ พลอยกระโจน ให้ถึงที่สุด สมัครดับไม่เหลือ เดี๋ยวนี้ยังเป็นเด็ก ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ก็ตั้งปณิธานไว้ได้ ว่าชีวิตนี้มันก็อย่างนี้เองแหละ แสดงบทบาทกันไปเรื่อย พอถึงวาระสุดท้ายสมัครดับไม่เหลืออย่างนี้ มีหวังจะเป็นพระอรหันต์ในนาทีสุดท้าย และถ้าดีกว่านั้นถ้าไปสักครึ่งอายุหนึ่ง เกิดสมัครขึ้นมานี่ ก็ละทิ้งไอ้เรื่องยุ่งๆ แล้วหาความสงบเสียบ้าง เป็นอันว่าเราไม่ต้องหวังจะรวยเป็นมหาเศรษฐี ให้มันพอกินพอใช้ พอมีเหลือสำหรับสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่นได้ เพราะว่าไอ้ที่ดีที่ประเสริฐมันอยู่ตรงที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีความทุกข์
ฉะนั้นสนใจเรื่องความไม่มีความทุกข์นี่ไว้ให้มากกว่าสิ่งอื่น ในเมื่อตั้ง ตั้งไว้ดีแล้ว ชีวิตนี้ดำรงไว้ดีแล้ว ก็ทำงานไป มันอาจจะมีผลงานทำให้ร่ำรวยเป็นของพิเศษต่างหาก แต่เราไม่ได้หลง หลงใหลเหมือนกับพวกนายทุนทั้งหลาย พวกนายทุนทั้งหลายมุ่งหน้าแต่จะหาเงิน หาอย่างเดียวไม่มีที่สิ้นสุด จนได้ชื่อว่านายเงินหรือนายทุน โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าชีวิตนี้จะเป็นอย่างไร จะน่าดูหรือไม่น่าดู อย่างเราพุทธบริษัท ก็ต้องเอาข้างน่าดูไว้ก่อน เอาชีวิตแบบที่น่าดู เอาข้างน่าดูไว้ก่อน แล้วก็ทำไปดำเนินไป มันก็ได้ ไม่ร้อน คือให้มันเย็นอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ไปถึงจุดสูงสุดที่มนุษย์จะไปถึงได้ด้วย ถึงธรรมะสูงสุดหรือถึงพระเจ้าก็แล้วแต่จะเรียก
ฉะนั้นอย่าได้กลัวนักเลย อย่าได้เป็นห่วงนักเลยว่าจะไม่มีอะไรกิน ไม่มีอะไรใช้ ไม่มีวิชาชีพประกอบอาชีพได้ มันก็ต้องมีกินมีใช้ ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีอะไรกินไม่มีอะไรใช้ ไอ้ที่มันจะไม่พอ เพราะเราไปตั้งเค้า ตั้ง มีแผนการที่จะใช้จ่ายให้มาก หาความสำราญแบบคนหลงใหลซึ่งต้องใช้เงินมาก บางทีมันก็คงเป็นแต่คิดว่าเงินไม่พออยู่เรื่อย เพราะถ้าเอาตามระดับธรรมดา ที่ไม่เอาความทุกข์กันแล้วก็ มันจะพอ มันจะพอแน่ๆ ธรรมชาติมันสร้างมาให้พอแน่ๆ คนเรามีสมรรถภาพสำหรับจะดำรงชีวิตอยู่ได้ตลอดมา ตลอดไปข้างหน้า แม้ว่าระดับการครองชีวิตมันจะสูงขึ้นๆ คนก็ยังสามารถทำให้พออยู่เรื่อย ถ้าเผอิญมากเหลือใช้ ก็คิดถึงคนอื่น หรือว่าถ้าคิดถึงคนอื่นชนิดที่กว้างขวางที่สุดก็คือ คิดถึงศาสนา เพราะถ้าศาสนาอยู่ในโลก คนทุกคนในโลกได้รับประโยชน์ เราคิดถึงคนอื่นทั้งโลกโดยผ่านทางศาสนา นี่ก็มีคนเคยทำอย่างนี้มาแล้วแต่โบราณ ที่พูดมานี้ คงจะพอทำให้เห็นเค้าเงื่อน เป็นเค้าโครงได้ลางๆ ว่าเราเกิดมาทำไม ขอให้ทำให้ถูกกับความหมายว่าเราเกิดมาทำไม
คำถาม : ผมจะสนทนาไปในหัวข้อ คือตอน ๑ ก็เป้าหมายของชีวิต แล้วตอนที่ ๒ ก็อุปสรรคหรือสาเหตุอะไรที่จะกั้นไม่ให้เราเข้าถึงธรรมหรือพบแก่นของความจริง และท่านอาจารย์ก็คงจะตอบวิธีแก้ไขหรือปฏิบัติให้ อันที่ ๓ ก็จะดำเนินไปในเรื่องธรรมะที่ท่านอาจารย์สอนเราเมื่อ ๒ วันก่อนนี้ มีอะไรสงสัย ในแง่ปฏิบัติอะไรบ้าง วิธีปฏิบัติอย่างไร รายละเอียด ถ้าใครสงสัยก็ถามในตอนที่ ๓ คำถามที่ส่งมา ผมก็จะถามท่านอาจารย์ตามลำดับอย่างนี้ มันจะได้ไม่ไขว้เขวกัน ทีนี้อันที่ ๑ เกี่ยวกับเป้าหมายของชีวิตหรือเกิดมาทำไมนี่ มีใครจะส่งคำถามมาอีกไหม
พุทธทาสภิกขุ : อย่างที่ตอบไปแล้วนั่นแหละ คือว่าเกิดมาทำไม
คำถาม : ขออันที่ ๒
พุทธทาสภิกขุ : อะไรเป็นอุปสรรค
คำถาม : อะไรเป็นอุปสรรค ผมจะนำไปก่อน คือที่ผมเข้าใจว่า ข้อใหญ่ใจความก็ ความไม่รู้ว่าพระพุทธศาสนานี่มีของประเสริฐหรือของดีที่สูงอยู่ในนั้น ส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นการสอนเพียงศีลธรรมจรรยาดีเป็นประการที่ ๑ ประการที่ ๒ ที่ขวางกั้นอยู่ ก็อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวว่าอาจจะเป็นเพราะไม่เข้าใจพุทธศาสนาเอง เข้าใจผิด หรือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่ว่าเราเข้าใจผิด หรือพระภิกษุสงฆ์ที่ปฏิบัติไม่ถูกตามแนวทาง ซึ่งทำให้ผู้ที่พบเห็นเสื่อมความนับถือหรือเสื่อมศรัทธา หรือเสื่อมความนิยมเป็นประการที่ ๒ ประการที่ ๓ ผมเข้าใจว่าการศึกษาของประเทศมุ่งไปสู่แนวอาชีพเกินไป สอนคนเพื่อไปประกอบอาชีพ ส่วนศีลธรรมจรรยานั้นไม่ได้เน้นสอนเท่าใดนัก เพราะฉะนั้นคนเราทุกคนก็มุ่งหน้ามุ่งตาเรียนให้สำเร็จประกอบอาชีพเท่านั้น ประการที่ ๔ ผมคิดว่า คงมีเหตุจูงใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หรือพวกวัตถุนิยม หรือความสังคมนิยมของโลก ค่านิยมของโลกเบ็ดเสร็จอย่างมุ่งไปทางวัตถุนิยมมาก พวกนี้ก็เลยขวางกั้นเราที่จะให้เกิดความเจริญทางใจ ทีนี้มีคำถามอะไรจะส่งมาทางนี้ ท่านอาจารย์จะวิสัชนา
พุทธทาสภิกขุ : เรียกว่าอุปสรรคของการที่เราไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ เมื่อพูดถึงอุปสรรค แล้วจะแจกเป็นรายการโดยรายละเอียด ก็เหมือนอย่างที่คุณหมอว่า แต่มันจะมากกว่านั้น มันจะมากกว่านั้นอีกเป็นสิบๆ เป็นร้อยก็ได้อุปสรรค ถ้าจะแจกรายการโดยรายละเอียด อาตมาอยากจะสรุปว่ามันอยู่ที่ข้อเดียว คือข้อที่ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม ข้อที่ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไมนั่นแหละคืออุปสรรค หรืออุปสรรคทั้งหลายก็มารวมอยู่ที่นี่ เช่น ไปหลงเรื่องวัตถุนิยมก็เพราะมันไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม มันจึงไปหลงเรื่องวัตถุนิยม หรือว่าที่เราตกเป็นเหยื่อของความสอนผิด ถ้าเกิดมีการสอนผิดขึ้นมา แต่ถ้าเราไม่รู้เลือก ไม่รู้จักเลือกว่าเราจะเอาอะไร เพราะเราไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม หรืออะไรก็ตามเถอะ อุปสรรคทั้งหลายเหล่านี้มันจะทำอะไรเราไม่ได้ ถ้าเรารู้ว่าเราเกิดมาทำไม แล้วเรายืนหลักปักแน่อยู่ในความถูกต้องอันนั้น ฉะนั้นถ้าจะพูดให้ดีกว่านี้หน่อย ก็ต้องเรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ อุปสรรคทั้งหลายมันไปรวมอยู่ที่มิจฉาทิฏฐิ รู้ผิด เห็นผิด เข้าใจผิด แม้การที่ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไมนี่ก็รวมอยู่ในคำว่า มิจฉาทิฏฐิ คือรู้ผิดหรือไม่รู้ เพราะฉะนั้นขอให้ระมัดระวังหรือกลัวให้มาก กลัวมิจฉาทิฏฐิ มันจะพูดผิด ทำผิด สอนผิด อะไรผิดไปหมด ผิดทุกๆ แง่ ทุกๆ มุม จัดการศึกษาในโลกนี้กำลังจัดผิดอยู่ทั้งโลก ก็เพราะว่าโลกประกอบอยู่ด้วยมิจฉาทิฏฐิ แล้วก็ไม่รู้ตัว กลับเข้าใจว่าถูกต้อง คิดว่าดี ก็เลยเฮกันไปในแนวนั้นหมด กลายเป็นทาสของวัตถุนิยมหมด ศีลธรรมก็ไม่มี การที่ไม่มีศีลธรรมก็เพราะเขาไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม ก็เลยไปเอาตามเนื้อหนัง เอาตามกิเลสตัณหา ก็ไม่มีศีลธรรม ถ้ารู้ว่าเกิดมาทำไมมันก็ไม่เอาตามกิเลสตัณหา มันก็มีศีลธรรม ก็ชอบศีลธรรม รักศีลธรรม ฉะนั้นถ้าถามว่าอะไรเป็นอุปสรรค ศัตรู ไพรีอันร้ายกาจที่สุดของมนุษย์เรา แล้วก็ตอบมันว่ามิจฉาทิฏฐิเลย จะกินความกว้างหมดทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวม กระทั่งส่วนต่ำๆ ส่วนกลางๆ ส่วนสูงๆ กระทั่งที่ไปนิพพานไม่ได้ก็เพราะมิจฉาทิฏฐิ นับตั้งแต่ไม่สนใจนิพพานก็เพราะมิจฉาทิฏฐิ เวลาปฏิบัติ ถึงนิพพานไม่ได้ก็เพราะมันมีมิจฉาทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งเหลืออยู่ตามส่วน ถ้ามันเป็นสัมมาทิฏฐิเมื่อไรแล้ว มันหมดเลย หมดอุปสรรคเลย จะก้าวหน้าพรวดๆ ไปเลยถึงปลายทาง จุดหมายปลายทาง เพื่อให้มันจำง่ายๆ ก็จำไว้ ๒ คำ มิจฉาทิฏฐิ กับ สัมมาทิฏฐิ เพราะว่าสองคำนี้มันแตกแยก แตกลูก ออกไปได้มากมายครบถ้วนทุกกระแสความของเรื่องที่เกี่ยวกับมนุษย์เรา มิจฉาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ มันเป็นคำวัด ภาษาวัด คนสมัยนี้เขาแทบจะไม่ชอบภาษาวัด หาว่าครึบ้างอะไรบ้าง แต่คำสองคำนี้ไม่ ไม่ควรจะถูกเห็นเป็นของครึ
มิจฉาทิฏฐิ รู้จักเอาไว้ให้ดี อย่าให้มันทำอันตรายเรา อย่าให้มันเป็นอุปสรรคแก่เรา สัมมาทิฏฐินี่รู้จักให้ดีๆ ก็จะช่วยให้ออกไปได้ แก้ปัญหาต่างๆ ได้ ฉะนั้นลูกเด็กๆ ยังไม่รู้อะไร มันก็ไม่เท่าไรละ พอโตขึ้นมา สิ่งแวดล้อมทำให้เขาเป็นมิจฉาทิฏฐิ เขาหลงกิน หลงกาม หลงเกียรติอะไรต่างๆ มันก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ มันก็เหมือนกับไอ้โรคที่มันตั้งรากฐานลงไปแน่นแฟ้น เป็นโรคที่แน่นแฟ้นเรื้อรังแก้ยาก ควรจะมีการป้องกันเสียแต่แรกๆ อย่าให้ลูกเด็กๆ ของเรา เพราะว่าต่อไปข้างหน้านี้ ต้องมีครอบครัวต้องมีลูกมีหลาน ก็ควรจะรู้ไว้เดี๋ยวนี้ ผู้ที่จะเป็นบิดามารดา รู้ว่าทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ มันตั้งหวอดลงไปในจิตใจของลูกเด็กๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นมาหรือกำลังเจริญ เกิดขึ้นมาแล้วเจริญอยู่ นี่จะได้บุญที่สุด จะช่วยมนุษย์ได้มากที่สุด ถ้าว่าไอ้ที่แล้วมามันช่วยไม่ได้ ต่อไปข้างหน้ามันจะช่วยได้ ถ้าบิดามารดาเป็นสัมมาทิฏฐิ แล้วก็ใช้ความรู้อันนี้ป้องกันไม่ให้มิจฉาทิฏฐิก่อขึ้นมาในจิตใจของลูกเด็กๆ ที่กำลังเกิดขึ้นมาในโลกนี้ ด้วยจิตใจที่กำลังว่าง กำลังสะอาด จะเรียกว่าสัมมาทิฏฐิก็ยังไม่ได้ จะเรียกว่ามิจฉาทิฏฐิก็ยังไม่ค่อยจะถูก เพราะว่าเขายังไม่รู้อะไร ที่นี้บิดามารดาเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว ก็ช่วยป้องกันอย่าให้มิจฉาทิฏฐิฝังรากลงไปในจิตใจของลูกเด็กๆ ให้โตขึ้นมาด้วยแสงสว่างของศาสนา ของพระธรรม นี้เรียกว่าเราผู้ใหญ่ช่วยป้องกันอุปสรรคทุกชนิด หรือฉีดวัคซีนทุกชนิดลงไปในลูกเด็กๆ ที่เขาจะเป็นโรคอะไรขึ้นมาได้ ซึ่งโดยเฉพาะก็คือโรคมิจฉาทิฏฐินี่แหละ บิดามารดาจะทำให้มีสัมมาทิฏฐิเสียเรื่อยไป ให้มิจฉาทิฏฐิตั้งขึ้นไม่ได้
นี้ถือว่าเป็นนโยบาย เป็นแผนการ เป็นอุดมการณ์ที่จะป้องกันอุปสรรคอันตรายอะไรของมนุษย์เราในกาลข้างหน้า ถ้าอย่างนี้มันจะรอดแน่ เพราะผู้ใหญ่ก็มีสัมมาทิฏฐิ ลูกเด็กๆ ต่อไปข้างหน้าก็จะเป็นสัมมาทิฏฐิ ไม่ถูกความเจริญอย่างวัตถุนิยมลากตัวเอาไปเป็นทาสของความรู้สึกแต่เรื่องทางเนื้อหนัง พูดเรื่องเนื้อหนังคำเดียวพอแล้ว พอเข้าใจในความหมายถึงวัตถุนิยมทั้งหลายที่กำลังครอบงำจิตใจของคนในโลกนี่ ก็พวกคนอื่นเขาใช้กันมา ยืมเขามาใช้ เขาใช้คำว่า เนื้อหนัง คำเดียว flesh คำเดียวเท่านั้นแหละ เนื้อหนัง นั่นแหละอุปสรรคหรือศัตรูที่สำเร็จขึ้นมาแล้ว มาจากมิจฉาทิฏฐิ มาอยู่ในรูปของความหลงใหลในเนื้อหนัง อุปสรรคอย่างยิ่งอยู่ที่นี่ การเรียน ที่เรียนไม่สำเร็จก็ดี มันอยู่ที่อันนี้ อยู่ที่เนื้อหนังนี้ ฉะนั้นลูกเล็กๆ จะดื้อดึงพ่อแม่ ไม่เชื่อฟัง ไปเสพเฮโรอีนนี่มันก็เป็นเรื่องเนื้อหนัง ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นเลย ในครอบครัวที่ดีทำไมเด็กๆ ไป ไปเป็นพวกชอบเฮโรอีนได้ หรือไปทำอะไรอย่างนั้นได้ มันเป็นเรื่องของมิจฉาทิฏฐิ ก็เลยเป็นอุปสรรคเพิ่มขึ้นทุกๆ ครั้ง ทุกๆ แง่ ทุกๆ มุม ฉะนั้นถ้าเราทำให้เป็นสัมมาทิฏฐิเสียได้แล้ว ก็ไม่เป็นอย่างนั้น เด็กๆ จะไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อนึกถึงอุปสรรคกันแล้วก็ขอให้นึกให้ลึกถึงขนาดนี้ ให้กว้างถึงขนาดนี้ แล้วก็ให้เผื่อไว้ด้วย เพื่อว่าในโลกนี้จะได้มีอุปสรรคน้อยลง มันน่าประหลาดที่ว่าสอนกันยังไง อย่างในประเทศที่เจริญมาก ประเทศอังกฤษ ประเทศอเมริกา เป็นประเทศผู้นำในเรื่องการศึกษาอะไรต่างๆ ทำไมเด็กๆ พอเรียนจบแล้ว ชนิดที่ต้องเฮโรอีนบ้าง อะไรบ้าง ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น จบมหาวิทยาลัยแล้วก็ยังสมัครที่จะเป็นอย่างนั้น นั่นแหละคือไอ้สิ่งที่เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ พวกคริสเตียนเขาคงจะเรียกว่าซาตานจับเอาตัวไปได้ ไปเป็นสมุนให้ซาตาน ในพุทธบริษัทเรา ก็เรียกว่ามันเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถูกมิจฉาทิฏฐิครอบงำ ฉะนั้นขอให้เพ่งเล็งไปยังสิ่งที่เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ นี้คืออุปสรรคทั้งหลาย นับตั้งแต่ลูกเด็กๆ เล็กๆ ขึ้นมาจนถึงหนุ่มสาว ถึงพ่อบ้านแม่เรือน กระทั่งคนแก่หง่อมเฒ่าลงไปด้วยมิจฉาทิฏฐิก็มี เรียกว่าชีวิตนี้ไม่ได้เกิดอะไรที่น่าชื่นใจ นี่อุปสรรคทั้งหลายในชีวิตนี้สรุปอยู่ที่คำๆ เดียวว่ามิจฉาทิฏฐิ แล้วก็ไปแจกลูกเอาเอง จะเห็น จะเห็น เห็นได้ด้วยตนเองไม่ต้องมีใครบอก ว่ามิจฉาทิฏฐิเป็นจุดรวม แล้วก็ไปตั้งคำถาม หรือตั้งคำซักค้านดูก็ได้ ว่าอุปสรรคอะไร ความเสื่อมเสียอะไรที่ไม่มาจากมิจฉาทิฏฐิ
คำถาม : ผมอยากถามท่านอาจารย์ ให้ขยายความเกี่ยวกับพ่อแม่ที่จะนำอย่างไร ลูกหลานถึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ คือว่า ผมว่าอันนี้มีความสำคัญมาก เพราะว่าพ่อแม่นี่ต้องเป็นตัวอย่างหรือเป็นครู และจะสอนลูกได้ดีที่สุด ทีนี้บางทีพ่อแม่ก็ไม่มีสัมมาทิฏฐิเสียเอง ลูกก็เลยเขวไปมาก
พุทธทาสภิกขุ : ทำไมพ่อแม่จะเป็นสัมมาทิฏฐิ แล้วก็อบรมลูกหลานให้เป็นสัมมาทิฏฐิ
คำถาม : ทำไมพ่อแม่จะเป็นสัมมาทิฏฐิ แล้วก็อบรมลูกหลานให้เป็นสัมมาทิฏฐิได้อย่างไร สมมติทำบุญตักบาตร พาไปวัดอย่างนั้นหรือครับ
พุทธทาสภิกขุ : ขั้นรายละเอียดนั้นมันมาก แล้วมันไม่ค่อย ไม่ ไม่ใช่ใจความสำคัญ ใจความสำคัญมันต้องมี รู้ว่าเกิดมาทำไมอีกนั่นแหละ เข้าใจถูกต้องเรื่องเกิดมาทำไม ที่เรียกว่าหรือแปลว่าสัมมาทิฏฐิเต็มที่ คือรู้ถูกต้องในเรื่องของมนุษย์ทุกเรื่อง เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ เรื่องใหญ่ที่สุดคือเรื่องดับทุกข์ ให้รู้จักความทุกข์ที่แท้จริง และก็ให้รู้จักสิ่งที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์คือกิเลส ถ้าพ่อแม่เองก็ไม่รู้จักคำว่า กิเลส แล้วลูกๆ ก็คงไม่รู้แน่ ว่ากิเลสนี้คืออะไร
ถ้าตั้งคำถามกว้างๆ ว่า จะมีสัมมาทิฏฐิขึ้นมาได้อย่างไร ในผู้ใหญ่ ในลูกเด็กๆ นั้น อาตมาอยากจะขอให้นึกให้มันกว้างไปถึงเรื่องที่สำคัญและเคยมีประโยชน์มาแล้ว กระทั่งถึงเรื่องปัจจุบัน เรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งจนมองข้ามกันไปเสียก็คือวัฒนธรรมแห่งคนไทยที่เป็นพุทธบริษัท นี่ไปศึกษากันใหม่ ผู้ที่มีอายุมากแล้วก็ยัง ยังทันมองเห็นอยู่ มองย้อนหลังเห็นวัฒนธรรมไทยของพุทธบริษัทที่ดี ในบ้านเรือนเขาอบรมลูกหลานกันอย่างไร ตั้งต้นมาแต่ให้เชื่อฟังและกตัญญูนั่นน่ะ มันเป็นจุดตั้งต้น ถ้าเกิดไม่เชื่อฟังแล้วไม่มีทางทำได้ วัฒนธรรมโบราณเขาต้องให้ลูกเชื่อฟัง ให้รัก ให้เคารพ ให้กตัญญู ให้กลัวบาป อย่างง่ายๆ อย่างเรียกว่าชั้นง่ายๆ มาก่อนเพราะเด็กยังเล็กมาก ฉะนั้นมีอะไรในบ้านเรือนที่ส่อแสดงว่ามีความเป็นระเบียบเรียบร้อย กลัวบาป รักความดี บูชาความดีอยู่เป็นประจำ ที่เรียกว่าวัฒนธรรมนี้ก็คือว่าไม่ต้องสอนด้วยหนังสือ ไม่ต้องมีตำราก็ได้ ทำอยู่ในบ้านเรือน ในบ้านเรือนแหละ แม้แต่ในครัว จะกินอาหาร จะทำอะไรต่างๆ ก็ให้มันถูกต้องตามวัฒนธรรมที่เรียกว่าเราเป็นสัตตบุรุษ เป็นพุทธบริษัท อันนี้ช่วยได้มากกว่าอย่างอื่น คือมันตั้งรกรากที่ดี พื้นฐานที่ดี เดี๋ยวนี้เราละทิ้ง ละทิ้งวัฒนธรรมไทย ตั้งต้นแต่ว่าจะแต่งงานก็ละทิ้งวัฒนธรรมไทย แม้แต่มีครรภ์ มีบุตร มีอะไรต่างๆ ก็ละทิ้งวัฒนธรรมไทยมากขึ้นโดยรู้สึกตัว ที่นี่ก็มีพูด ซึ่งคิดว่าที่อื่นก็มีพูด ในเมื่อถามขึ้นว่า ทำไมไอ้ลูกเด็กๆ สมัยนี้มันไม่ค่อยรักพ่อแม่ ไม่เชื่อพ่อแม่ ไม่เคารพพ่อแม่ ไม่กตัญญูพ่อแม่ ทีนี้นักเลงตอบขึ้นมาง่ายๆ เพราะว่าเดี๋ยวนี้เด็กๆ มันกินนมสัตว์ เด็กๆ กินนมวัว กินนมกระป๋อง นี่มันถูกอย่างยิ่ง เพราะถ้ากินนมวัว กินนมสัตว์ แล้วก็ไปอยู่กับคนเลี้ยงที่โรงพยาบาล ที่สถานเลี้ยงเด็กนี่ มันก็เลยไม่รู้จักพ่อแม่ ไม่มี ไม่เติบโตขึ้นมาในอ้อมแขนของพ่อแม่ ไอ้ความรู้สึกที่เป็นพ่อแม่อย่างแท้จริงมันไม่มี ความรักอย่างใจจะขาดนี่ มันก็ไม่มี ถ้ามันเคยดูดนมแม่ ซึ่งภาษาพุทธศาสนาเขาถือว่าเลือดในอกของแม่ ภาษาพระอริยเจ้าว่านมแม่นั้นคือเลือดของ เลี้ยงเด็กๆ ให้กินนมแม่ ก็อยู่ในความอบอุ่น ในแขนในอกของแม่ มันโตขึ้นมาด้วยจิตใจชนิดหนึ่ง ผิดกับที่ว่ามันไม่รู้ มันไปเกิดที่ไหนก็ไม่รู้ แล้วเพิ่งมาสอนให้เรียกคนโน้นคนนั้นว่าเป็นแม่ แล้วมันโตขึ้นมาด้วยนมสัตว์ คนสมัยนี้เขาคิดกันอย่างนี้ อาตมาอยากจะพูดว่าการละทิ้งวัฒนธรรมไทยของชาวพุทธที่เขาทำไว้ดีแล้ว เด็กจึงไม่มีความรู้สึกในพ่อแม่เต็มที่ นี่ก็เป็นต้นเหตุอันหนึ่งที่ไม่แยแสพ่อแม่ นอกจากว่าพ่อแม่ตามใจ ให้สตางค์ ให้ของกินนี่จึงจะมีความเป็นพ่อแม่อยู่ที่ตรงนี้ ส่วนพ่อแม่ที่เป็นโดยสายเลือด เป็นโดยจิตใจทั้งหมดทั้งสิ้นแต่อ้อนแต่ออกนั้นมันไม่มี เพราะฉะนั้นพ่อแม่ก็คือผู้ที่จะให้สตางค์เขาเท่านั้นเอง เขาอยากจะได้อะไรก็ต้องให้เขา แล้วเขาจะรักบ้าง เคารพบ้าง ก็อยู่ตรงนี้ เพราะไม่เช่นนั้นไม่ได้สตางค์ และพ่อแม่จะต้องเป็นผู้ทำอะไรให้เขา มีบ้านมีเรือนกระทั่งลืมตาขึ้นมาในโลกนี้ ก็ได้ดูโทรทัศน์แล้ว มันคิดกันอย่างนี้ นั่นคือวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมซึ่งเด็กๆ เขาไม่ต้องเสียสละอะไร ในการที่จะพะเน้าพะนอ เอาอกเอาใจหรือจะพ่อแม่ ฉะนั้นมิจฉาทิฏฐิมันก็ได้ช่อง ได้ช่องมาตั้งแต่กินนมสัตว์แล้ว ไม่รู้พ่อแม่แล้ว ไม่รู้ความหมายของพ่อแม่โดยธรรมชาติโดยอัตโนมัติ ควรจะไปนึกถึงข้อนี้กันให้มาก ว่ายังไงผู้ที่เป็นมารดานั้น จงทำหน้าที่นี้ให้มาก อย่าไปหวังว่าจะหารายได้อื่นเพิ่มๆ เพิ่มขึ้นให้กับครอบครัวมากนัก มันจะเสียในส่วนนี้ ถ้าทำได้ก็ดีแหละ แต่ต้องให้นึกถึงว่าวิญญาณของความเป็นมารดา ของความเป็นบุตรนี่สำคัญมาก ถ้ามันไม่เป็นมาอย่างถูกต้องแล้วมันจะมีปัญหาอื่นตามมาเป็นภูเขาเลากาทีเดียว
ยกตัวอย่างเพียงอย่างหนึ่งในบรรดาวัฒนธรรมไทยของชาวพุทธทั้งหลายที่ดีที่งาม ที่ทำให้มันเป็นมนุษย์ชาวพุทธตั้งแต่อ้อนแต่ออก ระเบียบการเป็นอยู่ในบ้านเรือนหรือกิจกรรมต่างๆ ที่ประพฤติกระทำแก่สังคม เช่น เด็กๆ จะเห็นว่าเราให้ทานกันอยู่ตลอดเวลา เด็กๆ เกิดขึ้นมาเห็นพ่อแม่นี่ตักบาตร ให้ทาน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่สงเคราะห์คนอื่น ดูดายไม่ได้ มันฝังเข้าไปในเด็ก เดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนแปลงจนไม่มีการกระทำอย่างนั้น เราก็แสดงตัวอย่างทางเห็นแก่ตัวและเด็กก็รับเอาไอ้ความรู้สึกเห็นแก่ตัวออกมา ทำให้มันมากขึ้นๆ เห็นแก่ตัวมากขึ้น จนกระทั่งคุยกับพ่อแม่ไม่รู้เรื่อง อย่าว่าแต่จะคุยกับคนอื่นให้รู้เรื่องเลย นี่ละรากฐานดีที่สุด คือธรรมะที่มันเข้าไปอยู่ในสายเลือดของมนุษย์ เป็นวัฒนธรรมประจำชาติหรือประจำวรรณะ ประจำชนิดของคน อันนี้ก็ต้องมา ต้องหยิบขึ้นมาดูและแก้ไขให้มันเข้ารูปเข้ารอย แล้วมันจึงจะง่าย แล้วก็จะศึกษาธรรมะวินัย ตัวพุทธศาสนาต่อไปอีก ถ้ารากฐานอันนี้ไม่มีแล้วมันใส่ไม่ลง เด็กๆ จะมีจิตใจชนิดที่จะใส่ธรรมะลง ไม่ลง มันยิ่งกว่าน้ำชาล้นถ้วย คือมันมีความสกปรกไปอยู่แทน เต็มอัดจนใส่ไม่ลง ถ้าจะแก้ปัญหานี้ก็ต้องบิดามารดาเป็นสัมมาทิฏฐิก่อน แก้ปัญหาชั้นนี้เสียทีหนึ่งก่อน แล้วก็ดูแลลูกเด็กๆ ให้อยู่ในร่องรอยของวัฒนธรรมไทยที่เขาเคยทำไว้ดีแล้ว ซึ่งมันจะให้โอกาสเฉพาะแก่สัมมาทิฏฐิ ไม่ให้โอกาสแก่มิจฉาทิฏฐิ เด็กๆ รู้จักกลัวบาปโดยไม่มีเหตุผลมาตั้งแต่เล็ก นี่มันง่าย โตขึ้นค่อยรู้เหตุผลก็ได้ว่าทำไมต้องกลัวบาป ซึ่งอาตมายังรุ่นเด็กๆ ก็ยังมองเห็นว่า เด็กๆ รุ่นอาตมาเป็นเด็กๆ กลัวบาปมากกว่าเด็กๆรุ่นปัจจุบันนี้ หมายถึงถิ่นนี้แถวนี้นะ เดี๋ยวนี้ไม่มี ไม่มีกลัวบาป ไม่มีคำว่า วัด อย่างเด็กๆ นี่มันไม่กล้าเอาของวัด ไม่กล้าขโมยของวัด ไม่กล้าขโมยไก่ของวัด มันพูดกันเองในหมู่เด็กๆ โดยไม่ได้มีเหตุผลหรอก คือมันคล้ายกับเป็น taboo อะไรอย่างหนึ่ง ไม่ต้องอธิบายด้วยเหตุผล เด็กๆ ไม่กล้าทำ ไม่กล้ายิงนกในวัด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนกกางเขน ยิ่งใหญ่เลย มันศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครกล้าแตะต้อง แล้วพ่อแม่เขาก็ทำอะไรตำตาอยู่เสมอ จะออกจากวัด นี่พอถึงประตูวัดนี่ต้องเช็ดเท้า เอามือลูบ ลูบทรายที่ติดที่เท้าให้หลุดไปหมด อย่าได้เอาทรายในวัดแม้แต่เม็ดเดียวออกไปบ้าง ติดไปบ้าง อาตมายังเห็นกับตาว่า คนแก่บางคนพอจะเข้าประตูวัดต้องหยิบทรายนอกวัดเข้ามาใส่ในวัด ช่วยกันหยิบได้กำมือครึ่งกำ เพื่อว่าจะเพิ่มให้ในวัด แล้วตัวก็ไม่เอาทรายแม้แต่เม็ดเดียวในวัดออกไปนอกวัด อย่างนี้มันฝังจิตใจไปเอง ให้รู้สึกว่าวัดนี่เป็นสถาบันศักดิ์สิทธิ์ พอเข้ามาในวัดก็สำรวมระวังอย่างดี อะไรตามแบบวัฒนธรรมไทย ที่พม่าก็เหมือนกัน อาตมาไปพม่าสังเกตเห็นร่องรอยอันนี้ ที่เคารพพระเจ้าพระสงฆ์โดยไม่ต้องมีเหตุผล แม้พระเจ้าพระสงฆ์จะดีไม่ดีอย่างไรก็สุดแท้เถอะ แต่ผลดีมันได้แก่ฝ่ายเด็ก คือเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย เด็กนั้นจะเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย คือกลัวบาปแหละ สรุปแล้วมันก็อยู่ที่กลัวบาปอย่างยิ่งกว่ากลัวผีกลัวเสือ
เมื่ออาตมาไปที่พม่าเมื่อไม่นานมานี่ โดยความตั้งใจอาตมาไปครั้งที่หก สังเกตดูอะไรต่างๆ แล้ววันนั้นก็มี เดินสวนทางกับผู้หญิงหมู่หนึ่ง พวกผู้หญิงรุ่นๆ สาวทั้งนั้น แล้วได้ยินเสียงวี้ดว้าดขึ้นข้างหลัง พอเหลียวไปดูว่าเรื่องอะไรกัน ผู้หญิงคนนั้นเขาไปเหยียบเอาเงาพระเข้า สะดุ้งโหยงเหมือนงูกัด นี่เหยียบเงาพระที่พื้นดินนะ เดี๋ยวนี้เมืองไทยจะมีไหมอย่างนี้ ไม่มี ที่พม่ายังมีเมื่อไม่กี่ปีนี่ยังมี คือมันมีจิตใจที่เรียกว่า มุทุปสันนา มันยิ่งกว่าสัมมาทิฏฐิเสียอีก สัมมาทิฏฐิยังงมงาย แต่มันก็มีผลดี คือมันกลัวบาปอย่างยิ่ง ไม่กล้าทำบาปทุกประการ เดี๋ยวนี้สิ่งนี้มันกำลังหายไปนี่ หายไป ยุวชนสมัยใหม่นี่ ไอ้แบบนี้หายหมด ก็ไปดูสิเขาทำอะไรกันบ้าง แต่งเนื้อแต่งตัวอย่างไร กิริยาท่าทางอย่างไร มันผิดกันริบ ฉะนั้นไอ้ที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิมันก็หาโอกาสยากที่จะมาแน่นแฟ้นในจิตใจของคนที่ไม่นึกถึงบุญ ไม่นึกถึงบาป หรือไม่กลัวบาป เป็นปัญหามากแล้ว คิดไปแล้วบางทีก็ท้อใจ แต่ก็ยังตั้งปณิธานว่าก็ทำกันไป เท่าที่จะทำได้ ให้ดึงวัฒนธรรมที่ดีของคนไทยกลับมาให้มากเท่าที่จะมากได้ ทีนี้มันมีกระทรวงวัฒนธรรมบ้าที่ไหนก็ไม่รู้ รับวัฒนธรรมฝรั่งเข้ามา แล้วไล่วัฒนธรรมไทยออกไปหมด ก็กระทรวงวัฒนธรรมนั่นเองเป็นผู้ทำลายวัฒนธรรมไทย แล้วบาปมันตกอยู่ที่ใคร เดี๋ยวนี้ไปตามก้นฝรั่ง เป็นวัฒนธรรมฝรั่ง มันก็เข้ากันไม่ได้ มันสัมมาทิฏฐิของพระพุทธบริษัท แล้วเขากำลังจะเลิกศีลธรรมกันอยู่แล้วพวกนี้ เราก็ต้องต่อสู้หนักขึ้นไปอีก ก็ควรต่อสู้และต้องต่อสู้ในทางที่จะไม่ตามก้นวัฒนธรรมตะวันตกนี่ข้อแรก อยู่ในเหตุผลตามแบบตามหลักของพุทธบริษัท ของพุทธศาสนาเรื่อยไป ก็ถือว่าบาปนี่เป็นสิ่งที่ต้องกลัว จะยังไม่รู้จักหรือว่าจะยังไม่เข้าใจก็กลัวไว้ก่อนเถอะ กลัวบาปนี่กลัวไว้ก่อนเถอะ ได้ขึ้นชื่อว่าบาปแล้วให้สะดุ้งโหยงไว้อย่างที่เล่านั้น มันจึงจะค่อยง่ายขึ้น ถ้าเราไปให้เขา ไปตามวัฒนธรรมใหม่ๆ มันก็เรียนดี มันก็อะไรดีไปแต่ในทางที่จะมีเงิน มีชื่อเสียง มีอะไรไปตามแบบนั้น นั่นเป็นอย่างดีแล้ว เมื่อพลาด เผลอไป มันก็ไปเป็นอย่างเฮโรอีน ฮิปปี้ นี่พูดกันไม่รู้เรื่องแล้ว ถ้าไปเข้าใจว่าเฮโรอีนมันดี แล้วจะไปพูดกันรู้เรื่องได้อย่างไร หรือว่าแต่งเนื้อแต่งตัวที่รู้สึก…. (นาทีที่ 55.29) ว่าเป็นของดีนั้น ก็แปลว่ามันหมดเหตุผลแล้ว ไม่อยู่ในอำนาจแห่งเหตุผลแล้ว สัมมาทิฏฐิก็มีความเห็นชอบ เข้าใจ หรือรวมถึงความเชื่อด้วย ถูก ถูกต้องตั้งแต่ความเชื่อ ความคิดความเห็น ความรู้ความเข้าใจ ถูกต้อง และถูกต้องในเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ในทุกแง่ทุกมุม ถ้าไปตามใจกิเลส ตามใจเนื้อหนังนั้นมันเป็นทุกข์ นี่มันเห็นชัดออกมาอย่างนี้ นี่เป็นสัมมาทิฏฐิ มันก็ตั้งต้นไปตั้งแต่ว่าอยู่ในร่องในรอยในระเบียบ ตั้งต้นที่เคารพบิดามารดา เชื่อฟังบิดามารดาเป็นจุดแรก ถ้าความต้องการไม่ตรงกัน เราจะเป็นฝ่ายยอมให้บิดามารดาชนะไปก่อน ในที่สุดมันก็จะเข้าใจกันได้เพราะบิดามารดาก็รักบุตรเหลือประมาณอย่างนี้ มีความซื่อตรง มีความกตัญญู รากฐานอันนี้เคยช่วยประชาชนในเอเชีย ในตะวันออกนี่มาแล้ว ชนชาติจีน ชนชาติไทย และอินเดียอะไรต่างๆ ก็พูดถึงในเรื่องซื่อสัตย์กตัญญู เคารพอ่อนน้อมนี่ ฉะนั้นมันจึงไม่เก้งก้างเหมือนกับพวกตะวันตกซึ่งไม่ค่อยพูดถึงเรื่องนี้ เรื่องนี้ทางตะวันออกเราชักจะเลือนรางไปตามก้นตะวันตก ทั้งโลกมันก็จะหมดสัมมาทิฏฐิ หมดศีลธรรม หมดจริยธรรม ถ้ามองอย่างนี้แล้วมันท้อใจ ทีนี้มองใหม่ มองในวงแคบ เท่าที่มันจะเป็นผลดีแก่เรา ก็เอา ต่อสู้ไปเท่าที่เราจะต่อสู้ได้ หนึ่งครอบครัว สองครอบครัว สามครอบครัว ให้มันเป็น ชนะเรื่อยไป ให้เป็นพุทธบริษัทมากขึ้นๆ สร้างแฟชั่นเก่า ไม่ใช่แฟชั่นใหม่ เพราะมันจะกลับไปหาแฟชั่นเก่าขึ้นมาอีก ถอยหลังเข้าคลอง ให้ไปมันหาจุดที่ถูกต้อง เลยสรุปความว่าให้ถอยหลังเข้าคลอง แล้วก็มีความถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิกันอีก มันออกมานอกคลองของสัมมาทิฏฐิไปเป็นมิจฉาทิฏฐิ ออกนอกแนว ก็กลับถอยหลัง กลับมาหาความถูกต้อง เรียกว่าหาคนเห็นด้วยยากเพราะเขากลัว เกลียด คำว่า ถอยหลังเข้าคลอง แต่เดี๋ยวนี้ตามข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนั้นแน่ ต้องถอยหลังเข้าคลอง ถอยจากผิดมาหาถูก มันไปในทางผิดนี่ ก็ถอยมาหาถูก แล้วจึงค่อยเดินกันใหม่ ให้สนใจหลักธรรมะที่จริงๆ ที่ถูกต้องแท้จริงให้มากเข้าไว้ พยายามจะปฏิบัติให้มันได้ ให้มันเดินไปตามคลองนั้น เดี๋ยวนี้ก็นับว่ามีผล มีผลดีน่าพอใจตรงที่ว่าสนใจธรรมะกันมากขึ้น ทีนี้ก็เหลือแต่ว่าให้มันปฏิบัติกันได้มากขึ้น บังคับตัวเองเป็นข้อแรก อธิษฐานจิตให้ดีในการที่จะบังคับตัวเองให้อยู่ในร่องในรอย คนมีความรู้ ก็ยังรู้ผิดรู้ถูก แต่แล้วบังคับตัวเองไม่ได้ บังคับตัวเองให้อยู่ในความถูกไม่ได้ มันบังคับให้ไปทำผิดเรื่อย ลองคิดดูเถอะ จะมีปัญหาอย่างนี้ก่อนในเวลานี้ เพราะว่าไอ้ข้างผิดหรือข้างชั่วนั้นมันเจริญเร็ว มันหนา มันเจริญเร็ว มันดึงดูดใจมาก ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าผิด ก็บังคับไว้ไม่ได้ อยู่ในความถูกไม่ได้ จึงเหไปหาความผิด มันก็เลยเป็นแฟชั่นใหม่ สมมติกันว่าถูกเสียอีก
เมื่อเร็วๆ นี้ เห็นหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่อเมริกา พวกนิสิตผู้หญิงที่มีครรภ์ในมหาวิทยาลัย คือไม่มีบิดา ก็ตั้งกลุ่มกันขึ้น จะขอร้องให้รัฐบาล ให้ประเทศชาติ หรือให้สภานี่ยอมรับว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ไปเห็นหนังสือพิมพ์นี้ หนังสือพิมพ์ไทยเล่มบางๆ ก็ยังลงรูปภาพนิสิตหญิงที่มีท้องนั้น เขาตั้งกลุ่มกันขึ้นเพื่อจะเรียกร้องให้รัฐบาลหรือให้สภา คือให้คนทั้งชาติยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง นี่เขาก็เรียนกันมาแล้วเกิดความคิดอย่างนี้ แล้วมันก็ออกไปนอกกล่องเรื่อย ฉะนั้นจะมีอะไรเหลือละ ฉะนั้นอย่าปล่อยอย่าสะเพร่า ไปเอาอย่างเขา ให้มันยังมีผิดและมีถูก มีดีมีชั่ว เน้นเป็นหลักไว้ เพื่อจะได้บังคับจิตใจ อดกลั้นอดทนบังคับจิตใจให้อยู่ในร่องในรอยของความถูกต้อง ก็เรียกว่าบังคับจิตใจนี่สำคัญ ในการที่จะมี จะรักษาความเป็นสัมมาทิฏฐิไว้ได้ การจะเรียนรู้ว่าสัมมาทิฏฐิคืออะไร มันก็ไม่ค่อยยากนัก แต่พอรู้แล้วจะบังคับให้ทำได้นี่ยากเหลือเกิน แม้เป็นพระเป็นเณรก็ยังรู้สึกว่ายากในการที่จะปฏิบัติให้ถูกต้องให้เรียบร้อย ฉะนั้นชาวบ้านก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก
ทีนี้ให้นิยม นิยมธรรมะ นิยมศาสนา นิยมวัฒนธรรมไทยให้มากๆ เข้า เพราะว่าวัฒนธรรมไทยนี้เคยดีถึงที่สุด ที่มีรากฐานเป็นพุทธศาสนา อนุวัตไปตามหลักธรรมะในพุทธศาสนาจนเป็นรูปวัฒนธรรมประจำบ้านเรือนขึ้นมา เข้ากันได้กับธรรมะในพุทธศาสนา ฉะนั้นวัฒนธรรมไทยแท้ๆ จะเป็นเลือดเนื้อของธรรมะในพุทธศาสนา ดังนั้นคนโบราณเขาจึงรอดตัวกันมาได้เพราะข้อนี้ เขาไม่ได้เรียนพุทธศาสนา อย่าว่าแต่เรียนพระไตรปิฎกเลย หนังสือก็ไม่รู้ แต่วัฒนธรรมนี่ทำไว้ดี โดยเป็นคนผู้รู้ทีแรก นั่นคือวัฒนธรรมในบ้านเรียนนี่ดี ถึงได้รอดตัวไปได้ คนเดี๋ยวนี้รู้มาก รู้หนังสือมาก แปลพระไตรปิฎกกันได้ แต่กลับไม่มีอะไร เพราะไม่มีหลักปฏิบัติที่เป็นรูปวัฒนธรรมแบบนี้ กำลังจะหันเหไปตามวัฒนธรรมเนื้อหนังของตะวันตก พวกพระพวกเณรก็กำลังเป็นอย่างนี้กันมากขึ้น ขอให้มองเห็นข้อนี้เถอะ เห็นใจ เอาละเป็นว่าใครไม่เอาก็ตามใจ เราเอาก็แล้วกัน ที่จะต่อสู้กันใหม่ กลับมาใหม่ ไปหาความถูกต้องที่น่าชื่นใจ คือธรรมะอันแท้จริงของพระพุทธเจ้าหรือของพระศาสดาองค์ไหนก็ได้ ที่ท่านได้พบความจริงความถูกต้องมาก่อนแล้วสอนไว้ คนเคยเชื่อถือเชื่อฟังกันยุคหนึ่ง แต่ตอนนี้กำลังหันหลังให้ ก็เรียกว่าหันหน้าให้ศาสนากันอีก หรือเรียกว่าถอยหลังเข้าคลองก็ตามใจ นี่อาตมาว่าอย่างนี้
คำถาม : มีคำถามมา ท่านอาจารย์อธิบายว่าเกิดมาแล้วจะทำอะไร แต่ยังไม่ได้อธิบายว่า ทำไมจึงต้องเกิดด้วย
พุทธทาสภิกขุ : นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะเดี๋ยวนี้ก็เกิดแล้ว มัน มันจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างผู้ที่เกิดมาแล้ว ถ้าถามอย่างนี้มันเป็นปรัชญา อาตมาไม่ชอบปรัชญา ชอบวิทยาศาสตร์ เดี๋ยวนี้เกิดแล้ว จะต้องทำยังไง ใครมีปัญหาอะไรอีก
คำถาม : อันนี้มีหลายข้อ ข้อหนึ่งมีพระที่มีผู้นับถือมากองค์หนึ่งซึ่งเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์เหมือนกัน เริ่มหนุ่มก็สนใจพุทธศาสนา ออกศึกษาตามที่ต่างๆ ทิ้งพ่อแม่ซึ่งยากจนเหลือเข็ญ บิดาก็เป็นวัณโรคกระเสาะกระแสะ ตัวท่านเองออกศึกษาโปรดสัตว์ จนต่อมาก็มีผู้นิยมนับถือมาก แต่พ่อแม่ก็ยากจน จนบิดาตายลงอย่างยากเข็ญ อย่างนี้จะเป็นการสมควรหรือไม่
พุทธทาสภิกขุ : นี่ตอบง่าย อาตมาไม่มีศิษย์ ไม่มีศิษย์ เลยไม่ต้องตอบ
คำถาม : ข้อสอง ถ้าในโลกนี้ ถ้าไม่มีโลกนี้โลกหน้าและกรรมเก่า ทำไมคนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน บางคนเกิดมาร่างกายดี สมองดี เป็นอุคฆฏิตัญญูได้ง่าย บางคนเกิดมารูปกายพิกลพิการ สมองก็โง่ทึบ เกิดปทปรมะ
พุทธทาสภิกขุ : นี่เขาพูดว่าเพราะกรรมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มันเกิดต่างกัน ถ้าพูดให้ชัดกว่าก็เรียกว่า เหตุปัจจัยที่ต่างกัน แม้กรรมก็เป็นเหตุปัจจัยเหมือนกัน มีเหตุปัจจัยที่ต่างกัน มันก็ต่างกัน ทุกสิ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งนั้น แม้แต่ที่ไม่ใช่คน ที่เป็นต้นไม้ เป็นก้อนหิน มันมีเหตุมีปัจจัยทำให้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยนั้น ต้นไม้ก็เลยต่างๆ กัน สัตว์เดรัจฉานก็เหมือนกัน คนก็เหมือนกัน ต้องยอมรับในข้อนี้กันก่อนว่าเป็นไปตามอำนาจแห่งเหตุปัจจัย อิทัปปัจจยตาต่างๆ แต่ท่านสอนนี่ท่านไม่ได้สอนว่า มันเด็ดขาดที่จะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยเบื้องหลัง ที่แล้วมาแต่หนหลัง ท่านสอนว่าเหตุปัจจัยใหม่ก็สร้างได้ ทำได้ ซึ่งการที่เราเรียนและเราตั้งใจปฏิบัติ นี่ก็คือกรรมใหม่หรือเหตุปัจจัยใหม่ จะช่วยกลบเกลื่อนหรือถ่ายถอนเหตุปัจจัยเก่า ถ้ามันไม่ดีนะ ให้มันคลายความไม่ดีหรือว่าไม่มีโอกาสจะมามีอิทธิพล เหตุปัจจัยใหม่ กรรมใหม่มีอิทธิพลแทน ซึ่งเราก็อาจจะดีขึ้นๆ ดีขึ้นๆ ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องท้อแท้ ทำเหตุปัจจัยใหม่หรือว่าสร้างกรรมใหม่เรื่อยไป
คือเรื่องอิทัปปัจจยตา เป็นเรื่องที่เป็นตัวพุทธศาสนาที่พูดถึงสิ่งที่กำลังหมุนอยู่ในตัวคนนี่ อิทัปปัจจยตา เหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งที่กำลังเป็นไปตามเหตุปัจจัย ทั้งทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณ อะไรก็ตาม ให้จัดการเหล่านั้น จะแก้ปัญหาชนิดนี้ เดี๋ยวนี้ยังไม่เห็น ยังมองไม่เห็น ยังไม่มีดวงตาที่จะมองเห็นเหตุปัจจัย ความเป็นไปแห่งเหตุปัจจัย กฎแห่งเหตุปัจจัย พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา บางทีที่อื่นตรัสว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ธรรมที่จะเห็นก็คือเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่เป็นอยู่ในคนนี่ เรื่องกาย เรื่องใจ อะไรต่างๆ นี่ ฉะนั้นก็ขอให้เห็นข้อนี้ แล้วจัดการกับข้อนี้ให้ได้ จะทำเหตุปัจจัยใหม่ที่จะแก้ปัญหาได้ หรือว่าทำกรรมใหม่ที่จะดับกรรมเก่าที่ไม่ดีๆ ได้ พูดไปทีมันคล้ายๆ กับวัตถุนั่นแหละ จะแก้ไขได้ เหมือนกับแก้นาฬิกา ในร่างกายนี้ในจิตใจนี้ ไม่สายหรอก มีอะไรอีก
คำถาม : ข้อสาม โลกียะคืออะไร
พุทธทาสภิกขุ : เท่านั้นหรือ
คำถาม : เท่านั้นครับ
พุทธทาสภิกขุ : โลกียะ แปลว่า เนื่องอยู่กับโลก เป็นไปตามโลก เนื่องอยู่กับโลก นี่เขาเรียกว่าโลกียะ โลกะ แปลว่าโลก ยะ นี่เป็นปัจจัยประกอบท้ายศัพท์ มีความหมายว่า เนื่องกันอยู่หรือว่าไปด้วยกัน หรือว่ามาจากสิ่งนั้นอย่างนี้ ก็คือธรรมดาสามัญที่เป็นไปตามชาวโลก ที่ชาวโลกเขาจะรู้สึกคิดนึก จะมีจะเป็น นี่เรียกว่าโลกียะหมด แต่ถ้าพูดอย่างกว้างขวางก็หมายความว่า แนวหนึ่งที่มันจะลงไปหาความทุกข์ เพราะว่าโลกนี้มันเป็นทุกข์ ต้องพูดเป็นรวมๆ ว่าไอ้โลกนี้ถ้าปล่อยไปตามเรื่องโลกแล้วมันจะเป็นความทุกข์อีกแบบหนึ่ง ก็มีสิ่งตรงกันข้ามคือ โลกุตตระ แปลว่า เหนือโลก ออกไปจากโลกทั้งโลก นี่คือว่าพ้นวิสัย พ้นอำนาจ พ้นอิทธิพลของโลก คือโลกุตตระ ถ้ายังต้องเป็นไปตามอำนาจ ตามวิสัย ตามอิทธิพลของโลก ก็เรียกว่าโลกียะเท่านี้เอง มีแค่นี้เอง
ธรรมะก็แบ่งเป็น ๒ แผนก ว่าเป็นไปตามโลก แต่ว่าอย่างดี อย่างถูกต้อง นี้คือแผนกที่เรียกว่า โลกียะ ธรรมะประเภทโลกียะ ทีนี้โลกุตตระก็คือเรื่องนิพพาน ถ้าเราอยู่ในโลก เราอยากจะให้โลกไม่มีอิทธิพลเหนือเรานัก เราก็ต้องสนใจเรื่องโลกุตตระ มันก็ช่วยให้อยู่ในโลกนี้โดยมีชัยชนะ ไม่ต้องหนีโลก ไม่ต้องทิ้งโลก แต่มันเหมือนกับว่าชนะโลก อยู่เหนือโลก เพราะโดยร่างกายนี่เราก็ต้องอยู่ในโลก ต้องเกี่ยวข้องกับโลก เพราะฉะนั้นอิทธิพลของโลกมันจะครอบงำเรา เราก็ทำเสียอย่าให้มันครอบงำได้ อย่างนี้เรียกว่าอยู่เหนือโลก ใครที่ต้องร้องไห้นั่นก็คืออยู่ใต้โลก ไอ้ที่หัวเราะ สนุกสนานเรื่อยนั้นก็อยู่ใต้โลก อย่าเข้าใจว่าอยู่เหนือโลก เพราะว่าไอ้โลกนี่มันยังครอบงำคนนั้นให้หัวเราะบ้าง ให้ร้องไห้บ้างได้ ถ้าเหนือโลกจริงๆ ก็ไม่ต้องเป็นอย่างนี้ โลกียะ เป็นไปตามวิสัยของโลก คืออยู่ใต้อิทธิพลของโลก มีเท่านั้นเอง
คำถาม : ทั้งโลกียะและโลกุตตระก็เป็นธรรมชาติ
พุทธทาสภิกขุ : เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมะเหมือนกัน เป็นธรรมะด้วยกัน ธรรมะอย่างโลกียะ ธรรมะอย่างโลกุตตระ แล้วไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ
คำถาม : แต่อันหนึ่งหมุน หมุนตามโลก
พุทธทาสภิกขุ : ถ้ายังต้องหมุนไปตามโลกอยู่ ก็เรียกว่าโลกียะอยู่ คือมันติดอยู่ในกระแสของโลก ต้องเป็นไปตามโลกอย่างนี้เรียกว่าโลกียะ ถ้าถอนออกมาได้ เป็นอิสระ ก็เรียกว่า โลกุตตระ แต่ร่างกายนี้ก็ไม่ได้ไปไหน อย่างพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลายก็อยู่ในโลก ยังกินอาหารอย่างชาวโลก ยังเจ็บไข้อย่างชาวโลก แต่ว่าอิทธิพลของสิ่งเหล่านั้นมันไม่ครอบงำจิตใจท่าน นี่ก็คือโลกุตตระ ภาษาไทยมักจะเรียกว่า โลกอุดร ฟังดูคล้ายกับโลกอีกโลกหนึ่ง โลกอุดร โลกียะและโลกอุดร มาจากคำว่า โลกุตตระ
คำถาม : ข้อสี่ การเผยแพร่ธรรมะเวลานี้ยังช้ามาก ไม่ทันสังคมที่กำลังฟอนเฟะ นิยมวัตถุ ที่ท่านอาจารย์ได้กรุณาโปรดสัตว์อบรมนี้ ก็ยังไม่ทันการณ์ ภิกษุสงฆ์ก็มีจำนวนแสน แต่ก็ยังมีอวิชชาอยู่มาก ท่านอาจารย์จะมองเห็นทางเร่งหรือทางลัดทางใดบ้างหรือไม่ ที่จะแพร่ให้ไปไกลยิ่งกว่านี้โดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯ ถ้าท่านอาจารย์ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นี่ เปอร์เซ็นต์ของคนที่มาก็มีโอกาสน้อยนัก
พุทธทาสภิกขุ : เดี๋ยวนี้มันมีข้อที่ต้องคิดก่อนว่า ใครจะรับผิดชอบข้อนี้ ใครเป็นคนรับผิดชอบข้อนี้ ไม่ใช่อาตมานี่ เดี๋ยวนี้มันสมัครเล่น สมัครเล่นหรือว่าทำพอเป็นตัวอย่าง ฉะนั้นใครที่รับผิดชอบ คนนั้นทำสิ ใครเป็นคนรับผิดชอบ เราจะถือว่าใครเป็นคนรับผิดชอบ รัฐบาลก็เปลี่ยนเรื่อยหรือว่าสภาก็เปลี่ยนเรื่อย จะเป็นผู้รับผิดชอบได้อย่างไร มันเปลี่ยนเรื่อย เดี๋ยวก็เปลี่ยนชุดนั้นชุดนี้ ไม่รู้จักความรับผิดชอบ ไม่มีความรับผิดชอบที่ตั้งต้นขึ้นมาที่ตรงไหน
คำถาม : อย่างนี้คณะเถรสมาคมหรือกรมการศาสนา จะเป็นคนจัดการได้ไหม
พุทธทาสภิกขุ : มันก็คล้ายๆ กับว่า จะต้องอุปโลกน์ให้เถรสมาคมรับผิดชอบ แต่แล้วมันก็ไม่ได้อีก ที่เห็นอยู่นี่ คือเขาไม่มีอำนาจที่จะไปจัดอะไรได้ แสดงความคิดเห็นได้ แต่ไม่มีอำนาจที่จะจัดอะไรได้ เดี๋ยวนี้พูดไปก็ไม่ดี ทำอะไรกันก็ดูเอาเองก็แล้วกัน นึกถึงเรื่องนี้กี่มากน้อย ลองคิดดูเถอะ ฉะนั้นเอาอย่างนี้กันดีกว่าว่า ทุกคนนั่นแหละรับผิดชอบ ทุกคนรวมทั้งที่มาและไม่ได้มานี่ต้องรับผิดชอบ ก็ขวนขวายไปตามกำลัง ตามสติปัญญา ถ้าใครรู้สึกอย่างที่ว่านี้แล้ว ก็ควรจะถือว่าความรู้สึกรับผิดชอบเกิดแก่คนนั้นทันที คนที่ถามอยู่นี่คนแรก รับผิดชอบ ก็เลยทุกคนรับผิดชอบ ก็ช่วยกันสิ มันก็ช่วยกันได้นะ ช่วยแบบนกกระจาบตัวนิดๆ แล้วก็ทั้งหมดรวมกัน แล้วก็ชวนกันบินลอดข่ายของนายพรานผืนใหญ่ไปได้ มันก็ต้องเป็นรูปนี้เสียมากกว่า
ขอให้สนใจ ให้ความรู้ การกระทำของเราถูกต้องจริงๆ ก่อน แล้วก็มีเพื่อน คนที่สอง ที่สาม ที่สี่ เพิ่มมากขึ้นๆ เดี๋ยวมันก็จะมีอำนาจ มีอิทธิพล มีเสียง มีอะไรขึ้นมาเอง ทำประชาชนให้มีความเข้าใจถูกต้องมาก แล้วเราก็จะได้รัฐสภาที่มีสมาชิกเป็นสัมมาทิฏฐิมาก หรือเลือกรัฐบาล ก็ได้รัฐบาลที่มีสัมมาทิฏฐิ นั่นละจะเป็นไปได้ตอนนั้น จำเป็นต้องสร้างพื้นฐานให้คนทุกคนรู้จักความผิด-ถูกได้ก่อน แล้วรับผิดชอบโดยช่วยกันขยายบุคคล จำนวนบุคคล ประชาชนที่เป็นสัมมาทิฏฐินี่มากออกไป มากออกไป อย่างนี้ทำได้แน่ แต่เราก็ต้องเกลี้ยกล่อม ชักจูง กันมากเหมือนกันเพราะมันไม่สนุก นี่ก็ตั้งพุทธสมาคมหรือตั้งอะไรขึ้นมา ก็ขอให้มันถูกตามเรื่องตามราว คือให้เข้าถึงสัมมาทิฏฐิแท้จริงยิ่งๆ ทีนี้มักจะตั้งสมาคมทอดกฐิน สมาคม อะไรก็ตามทีเถอะ มันยังไม่ ไม่ มากไปกว่าเดิม ต้องตั้งสมาคมสัมมาทิฏฐิ มีการศึกษาถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง พยายามอยู่อย่างถูกต้อง อย่าคิดว่าเป็นนั้นเป็นนี้จะทำได้ ลำพังเถระสมาคมก็ทำไม่ได้ ลำพังรัฐบาลอย่างปัจจุบันนี้ก็ทำไม่ได้ รัฐสภาก็ทำไม่ได้ ก็ยังหลับหูหลับตาทั้งนั้น รู้แต่เรื่องการเมือง เรื่องเศรษฐกิจทั้งนั้น ไม่รู้เรื่องศีลธรรมเลย นี่ประชาชนทั้งหลายก็ยังจับกลุ่มกันไม่ได้ แล้วยังมีปัญหาไอ้ทางวัตถุนี่มากเกินไป ไม่สนใจเรื่องทางจิตใจ ก็ต้องฟื้น ฟื้น ฟื้นกันใหม่ ในส่วนรากฐานคือประชาชนทุกคนนี่ควรได้รับการฟื้นฟูใหม่ ต่อไปมันจะขึ้นไปถึงจุดที่สูงขึ้นไป ก็จะเป็นไปอย่างรัดกุม อย่างเป็นล่ำเป็นสันได้
อาตมาขอร้องอย่างนี้กับทุกคนที่มาที่นี่ ว่าช่วยกันทำ ออกไปทีละคนสองคน ทีละคนสองคน ถ้าจะทำพรึบพร้อมทั้งประเทศนี่ทำไม่ได้ แล้วหาตัวผู้รับผิดชอบก็ไม่มี จะหาตัวเจ้าของประเทศก็ยังหายากเลย ไม่รู้อยู่ที่ไหน แต่ว่าจะพบตัวเจ้าของประเทศ ก็เห็นว่าไม่สามารถจะทำอะไรให้มันเฉียบขาดเด็ดขาดลงไปอย่างนี้ได้ทันที เดี่ยวนี้ก็กำลังบ้าประชาธิปไตย ก็ยิ่งทำไม่ได้ เขาจะดึงไปทางไหนก็ไป
คำถาม : สมมติว่าถ้าชมรมนิสิตนักศึกษาจับมือกันหลายๆ มหาวิทยาลัย ช่วยกันเผยแพร่
พุทธทาสภิกขุ : อันนั้นดีแน่ ถ้าทำให้ถูกต้องมากจุด มากหน่วยขึ้น แล้วก็ประสานงานกันทั่วถึง นี่ดีแน่ ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ทำอะไรได้มากกว่านี้ จะทำได้ก็เพียงเท่านี้ก่อน เท่าที่อาตมาสังเกตดู
คำถาม : ยอมรับดำเนินการไปอีกขั้นหนึ่ง จับมือระหว่างมหาวิทยาลัยทั้งสาม ช่วยกันให้แข็งแรงกว่านี้
พุทธทาสภิกขุ : นี่เรียกว่า แม้จะทำเป็นกิจกรรมของมหาวิทยาลัยหรือของนิสิตนักศึกษาโดยตรง ต้องถือว่าเป็นกิจกรรมของมนุษย์ ของมนุษย์แท้ๆ แต่ว่าทำในมหาวิทยาลัย แล้วมันสะดวก เพราะมันเป็นคนที่มีปัญญา มันพูดกันเข้าใจได้ง่าย ฉะนั้นเห็นว่าดีแล้ว ที่ว่าจะตั้งหน่วยอย่างนี้ขึ้นในมหาวิทยาลัย คือในหมู่คนที่มีสติปัญญา คงจะนำหน้าได้หรือว่าทำได้ดี แต่ถึงอย่างนั้นในชุมนุมน้อยๆ ตามวัดวาอาราม บ้านนอกคอกนาก็ต้องทำ ต้องทำไปเรื่อยๆ อาตมานั่งอยู่ที่นี่ ไม่ได้ไปไหน แต่ก็มีคนมาเรื่อย มารายงานว่าเขาได้อ่านหนังสือเรื่องนั้นเรื่องนี้ มีความคิดอย่างไร เปลี่ยนแปลงอย่างไร เขาก็มารายงาน ไม่ได้ตั้งใจจะมารายงาน แต่เขามาแล้วก็เล่าให้ฟัง ก็เป็นที่เชื่อได้ว่ามันมากขึ้น มันกำลังขยายตัวมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น คือบุคคลที่เริ่มเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้านี่มากขึ้น มีมากขึ้น ช้าๆ แต่ในมหาวิทยาลัยนี่ถ้าทำดี จะเร็ว แล้วก็มีคุณภาพดี ทีนี้กลัวว่าจะทำไม่ดี ทำไม่ดี คือว่ามันไปเปะปะ เปะปะกันเข้ากับระเบียบการหรืออะไรต่างๆ หรือว่าทำเพื่อจะอวด ทำเพื่อจะเชิดชูตัวเอง ดูเหมือนก็มีลักษณะอย่างนี้อยู่นะ ที่อาตมาสังเกตเห็น ก็มีลักษณะอย่างนี้อยู่ ในกลุ่มพุทธศาสตร์ของบางมหาวิทยาลัยมันก็มีลักษณะอย่างนี้อยู่ นี่ต้องไปช่วยกันระวัง ชำระสะสาง อย่าให้มันมีลักษณะที่ว่าเพียงเพื่อจะอวดเท่านั้น แล้วก็เพื่อจะแข่งขันกันด้วยความอวดระหว่างมหาวิทยาลัยเท่านั้น ผู้มีปัญญาควรจะทำมากกว่านั้น ทำได้ดีกว่านั้น มองเห็นธรรมะแท้จริง เห็นประโยชน์แท้จริงของธรรมะเพื่อช่วยมนุษย์ กระทั่งช่วยได้แม้กระทั่งช่วยโลก แม้แต่เรื่องการเมือง ลัทธิการเมือง ถ้าไม่มีธรรมะหรือศีลธรรมเข้าไปเป็นรากฐานแล้ว ก็ใช้ไม่ได้สักระบบเดียว จะระบบอะไรก็ใช้ไม่ได้ ยิ่งประชาธิปไตยยิ่งเหลวไหล ถ้าไม่มีธรรมะหรือความถูกต้องเป็นรากฐาน โอ้เอ้ ความหมายมันกำกวมไปหมด มันต้องทำให้ชัด แคบ เข้ามาว่าประชาธิปไตยก็ได้ ที่มันมีรากฐานเป็นธรรมะ หรือจะใช้คำว่า สังคมนิยม ก็ได้ ที่มันมีรากฐานเป็นธรรมะ ถ้ามันไม่มีรากฐานเป็นธรรมะแล้ว มันใช้ไม่ได้ ฉะนั้นถ้ามีรากฐานเป็นธรรมะแล้ว เผด็จการนั่นแหละยิ่งดี ยิ่งดีกว่า จะเร็วกว่า ไวกว่าเสียอีก ถ้ามันเป็นไปได้นะ ไอ้นายทุนที่เป็นธรรมะก็ยิ่งดี แต่มันจะเป็นไปไม่ได้ มันขัดกันอยู่ในตัว เพราะความเป็นนายทุนมันไม่ได้สร้างขึ้นมาด้วยธรรมะ มันสร้างขึ้นมาด้วยความผิดธรรมะทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทีนี้ประชาธิปไตยมันเป็นกลางๆ อยู่ ถ้ามีธรรมะก็ดี มันโอ้เอ้หน่อย ถ้าเป็นเผด็จการก็ยิ่งดี มันเร็วหน่อย แต่มันต้องมีหลักเป็นธรรมะ นี่ฟังคำว่าสังคมนิยมนี่ดีแล้ว เพราะว่าการเห็นแก่สังคม ไม่เห็นแก่คนหนึ่ง แก่คน บุคคลหนึ่ง มันถูกตามหลักธรรมะอยู่แล้ว เพราะธรรมะก็ต้องการจะให้ถือว่าทุกคนเป็นคนคนเดียวกัน เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น นี่อย่างพุทธบริษัทจะต้องถือ หรือว่าศาสนาคริสเตียนเขาจะให้ถือว่าทุกคนมาจากพระเจ้า ทุกคนเป็นคนของพระเจ้าเสมอกัน นี่เป็นลักษณะสังคมนิยม ไม่ใช่เสรีนิยม ทีนี้สังคมนิยมมันก็ถูกธรรมะกว่า กว่าประชาธิปไตยซึ่งมันยังกำกวมเกินไป ถ้าประโยชน์ของสังคมเป็นหลักใหญ่ อย่าทำให้สังคมเดือดร้อนนี่คือธรรมะแท้ เอาแต่บุคคลคนเดียว ปัจเจกชนนี่ยังไม่ใช่ธรรมะที่มุ่งหมาย ที่ปรารถนา ที่มุ่งหมาย แล้วถ้าประโยชน์ของคนคนเดียว มันมักจะเอียงไปในทางเห็นแก่ตัว ในทางเลย เลยความพอดี เมื่อไรเกิดความคิดย้อนกลับมาหาศีลธรรม เมื่อนั้นโลกนี้มันก็มีหวังจะสงบสุข
ฉะนั้นการที่กลุ่มนักศึกษา เกิดกลุ่มพุทธศาสตร์ นี่ก็ให้ถือว่าเป็นความต่อสู้เพื่อการกลับมาแห่งศีลธรรมดีกว่า อย่าเอาไว้เป็นเพียงเครื่องเชิดชูระหว่างพวก เดี๋ยวก็จะได้ตีกันอีกระหว่างพวกพุทธศาสตร์นี่ จะได้ตีกันเพราะพุทธธรรมที่ถือเอาผิดๆ ที่ประกวดความเป็นกลุ่มพุทธศาสตร์ที่หรูหรากว่า เดี๋ยวก็จะได้ตีกันเพราะธรรมะ น่าหัวนะ ธรรมะมีไว้เพื่อไม่ต้องตีกัน แต่ทีนี้มันกลายเป็นตีกันเพื่อธรรมะ เพราะธรรมะ ในสูตรมันก็มีพูดถึงเรื่อง (นาทีที่ 01:28:57) อลลุมภิงคสูตร ว่าธรรมะนี่มันเหมือนกับแพสำหรับข้ามฟาก ข้ามห้วงน้ำใหญ่ๆ ที่นี้คนไม่ได้ใช้แพสำหรับข้ามฟาก ก็ไปเกิดเถียงกันเรื่องนั้นเรื่องนี้ เรื่องจะข้ามฟาก ถึงกับต้อง ก็เลยรื้อแพออกมาตีกัน ตีกันหมด จนแพหมดไม่มีเหลือ คือรื้อแพออกมาตีกัน แพนั้นเลยไม่ได้ใช้เป็นแพเพื่อข้ามฟาก เดี๋ยวนี้ไอ้เรื่องทางศาสนาก็จะเป็นเสียอย่างนี้ เถรสมาคมจะทราบหรือไม่ทราบเรื่องนี้ ก็ไม่ทราบ ท่านจะไปคิดหรือไม่ก็ไม่ทราบ ว่าธรรมะที่เป็นแพข้ามฟากนี่ ถูกคิดทึ้งดึงมาทีละอันสองอันมาตีกันอยู่อย่างนี้ ตีกันจนหมด ไม่ว่าพวกเราหรือพวกไหน เลิก คือนิกายต่างๆ ที่ทะเลาะวิวาทกัน
คำถาม : ข้อห้านี่คนที่ถามทีแรกบอกว่า ถ้าอยากจะพูดช่วยเผยแผ่ธรรมะให้ชาวโลกบ้าง ท่านอาจารย์จะมีข้อแนะนำอย่างไรบ้าง คงถามว่าเขาอยากจะเป็นผู้ช่วยเผยแพร่ธรรมะ
พุทธทาสภิกขุ : นี้ก็เคยพูดแล้วเรื่องนี้ ก็ยาวเหมือนกัน เรื่องเผยแผ่ธรรมะนี้ทำได้หลายชั้น ทำง่ายๆ ก็อย่างโฆษณานี่ ไปพิมพ์โฆษณา ทำการโฆษณาให้ได้ยินได้ฟัง แต่มันก็ไม่ค่อยดีนัก ที่ดีกว่านั้นก็คือปฏิบัติเป็นตัวอย่าง ถ้าอยากจะเผยแผ่ธรรมะให้ได้ผลดีจริง ปฏิบัติธรรมะให้ดีนั่นน่ะเป็นตัวอย่างที่ดีกว่าที่จะเพียงแต่โฆษณาอย่างที่ทำกันอยู่เดี๋ยวนี้ ฉะนั้นผู้ใดอยากจะเผยแผ่ธรรมะที่ดีกว่า ก็ปฏิบัติตัวให้ดีให้เป็นตัวอย่าง ให้เห็นแล้วน่าเลื่อมใส ส่วนที่จะทำโฆษณา พิมพ์หนังสือหนังหา ก็ทำไปเถอะ ไม่มีใครว่า แต่ยังไม่ดีพอ ปฏิบัติให้ดีให้เป็นตัวอย่าง หรืออีกชั้นหนึ่งที่ดีกว่านั้นอีกที่อาตมาพูดเอาเอง ก็มีความสุขให้ดู เราเป็นผู้รับผลสำเร็จ มีความสุขจากธรรมะให้ดู นั้นน่ะเป็นวิธีเผยแผ่ที่ดีที่สุดเลย ดีกว่าอันไหนหมด แต่ถ้าคนเผยแผ่มันยังเอาตัวไม่รอด กระทั่งยังสูบบุหรี่ ยังไปดูหนังอยู่นี่ก็ป่วยการ คือให้ปฏิบัติดีให้เป็นตัวอย่างบ้าง ทำตัวเป็นผู้มีความสุขให้ดู ให้ได้ผล ได้แต่พูดๆ เขาก็ยิ่งไม่เชื่อ เพราะว่าเราไม่ได้ปฏิบัติเหมือนกับที่เราพูด และเราก็ไม่ได้พิสูจน์ความที่มีความสุขจากธรรมะให้เขาดู ถึงภิกษุสามเณรผู้เผยแผ่ธรรมะนี่ก็เหมือนกันแหละ ที่อยู่ที่วัดนี่ ก็เผยแผ่โดยวิธีที่ดีที่สุดคือมีความสุขให้ดู ถ้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบให้ดูก็ยังไม่เท่ากับมีความสุขให้ดู แปลว่าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบให้ดูนี้มันก็ยังดีกว่าพูดปาวๆ ทั้งวันทั้งคืน หรือแม้แต่พิมพ์มากมาย พูดมากมาย มันก็ดีเหมือนกันแหละ แต่มันยังไม่ดีเท่ากับปฏิบัติดีให้ดู เลยได้เป็น ๓ อย่าง ทำให้ได้ยินได้ฟังนี่อย่างแรก แล้วก็ปฏิบัติให้เป็นตัวอย่างให้ดูนี่อย่างที่ ๒ หรืออย่างที่ ๓ ก็มีความสุขในฐานะเป็นผู้ประสบความสำเร็จแล้วให้ดู นี่ดีที่สุด วิธีการเผยแผ่มีอยู่ ๓ ชั้นอย่างนี้ จะทำได้ชั้นไหนให้ลอง เดี๋ยวนี้มักจะทำอย่างพูดหรือแสดงสิ่งของ น่าหัวเราะ จัดงานแสดงเผยแผ่ศาสนา จะได้ผลยังไงอันนี้
วันก่อนนี้กลุ่มพุทธศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ มันหอบไอ้กรอบรูปนี้ตั้งหอบสองหอบ กรอบรูป รูปภาพที่เขาจะไปแสดงเป็นการเผยแผ่พุทธศาสนา จะได้ผลอย่างไรก็ไม่ทราบ นี่มันเป็นการแสดงทางวัตถุทางอะไรมากขึ้นไปอีก เหมือนกับพูด ไม่ดีกว่าพูด แต่มันยังลดน้อยไปกว่าอีก แสดงรูปภาพสังเวชนียสถานที่อินเดีย และรูปภาพอะไรบางอย่างที่มีอยู่ที่นี่ ที่ไปแสดง เขาก็เรียกว่าเผยแผ่เหมือนกัน เผยแผ่พระพุทธศาสนา แต่การจัดแสดงอะไรให้ดูนี้มันก็มีประโยชน์มากอยู่เหมือนกันถ้าทำเป็น ถ้าจัดถูก ถ้าทำไม่เป็นหรือทำไม่ถูกมันก็อาจจะเหนื่อยเปล่าหรือว่าวุ่นวาย วุ่นวาย ไม่คุ้มค่า ฉะนั้นให้ช่วยจำไว้ด้วยว่า ทำให้เขาได้ยินได้ฟัง แล้วทำให้ได้เห็นตัวอย่างที่ดี แล้วทำให้ได้เห็นผู้มีความสุขเพราะว่าปฏิบัติธรรมะสำเร็จให้ดู ถ้าพูดถึงครั้งพุทธกาล การเผยแผ่สำเร็จ ข้อหลังนี่มาก คือสำเร็จประโยชน์จริงๆ ฉะนั้นในครั้งพุทธกาลก็สำเร็จด้วยข้อหลังนี่ เพราะได้เห็นพระอรหันต์ที่มีความสุข ได้เดินให้เห็นอยู่ในโลก ก็สนใจเข้าไปไต่ถาม เข้าไปศึกษา จะไปพูดอย่างเจ๊กขายยานี่ เท่าไรมันก็เฉย ไร้ความหมายทั้งนั้น