แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในบรรดาสิ่งที่ควรรู้จักกันแล้ว ไม่มีสิ่งใดยิ่งไปกว่าตัวเอง เมื่อพูดอย่างนี้คนที่เขาอวดเก่งถึงกับว่าธรรมะไม่จำเป็น เป็นต้นนั้น ก็คงจะเข้าใจไม่ได้อีกตามเคย เขาก็จะคิดว่าการพูดอย่างนี้เป็นคำพูดที่บ้าๆ บอๆ ที่จริงมันก็ ก็น่า จะรู้สึกอย่างนั้น
การที่พูดว่าตัวเองซึ่งทุกคนควรรู้จักนี่ ทุกคนก็จะคิดว่าเราก็รู้จักตัวเองกันอยู่ทุกคน แล้วทำไมจะต้องมาเกณฑ์ให้รู้จักตัวเองอีก ขอให้ทราบเถิดว่านั่นแหละคือเรื่องของธรรมะโดยตรง คนที่ยังไม่รู้จักตัวเองก็ยังไม่เรียกว่ารู้จักธรรมะ ไม่รู้จักตัวเองอย่างที่สุนัขหรือแมวมันก็อาจจะรู้ นั่นมันไม่ใช่รู้จักตัวเองในที่นี้ คนที่เขาพูดว่าเขารู้จักตัว เองก็รู้จักไม่มากไปกว่าสุนัขและแมวมันจะรู้ ที่เขาจะรู้จักตัวเองแต่ในความหมายที่สามัญสำนึกรู้สึก ที่รู้จักแต่ตามสัญชาตญาณ รู้จักกินอาหาร รู้จักขี้ขลาดวิ่งหนีอันตราย รู้จักสืบพันธุ์ เพียงเท่านี้มันก็ไม่ ไม่เรียกว่ารู้จักตัวเอง เมื่อพูดว่าให้รู้จักตัวเอง มันก็รู้สึกว่าเป็นคำพูดที่ไม่น่าสนใจ รู้จักตัวเองก็คือต้องรู้จักในธรรมะชนิดที่ควรรู้จัก อย่างที่กล่าวมาแล้วเมื่อวานนี้ ธรรมะที่ควรทราบ ถ้าทราบธรรมะที่ควรทราบ จึงจะเรียกว่ารู้จักตัวเอง
ไอ้ธรรมะที่ควรทราบเขาก็ไม่ทราบ นั่นคือไม่รู้จักตัวเอง หรือจะมองกลับอีกทีหนึ่งว่า ไอ้การที่เขาไม่รู้จักตัวเองนี่ (หัวเราะ) ก็คือไม่รู้จักธรรมะ การที่ไม่รู้จักตัวเองมันก็เป็นการปิดบังธรรมะ เหมือนกับภูเขาเลากาสูงใหญ่ขวางหน้ามองไม่เห็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง การไม่รู้จักตัวเองก็คือการไม่รู้จักธรรมะ ขอให้ทบทวนดูให้ดีว่าเรารู้จักตัว เองหรือยัง หรือว่าคนเป็นอันมากรู้จักตัวเองกันหรือยัง ถ้าเขาพูดว่ารู้จัก ก็ดูให้ดีว่าเขารู้จักกันในแง่ไหน ในเหลี่ยมไหน เขาจะยอมผ่อนปรนกันลงมา จนถึงกับพูดได้ว่า ต่างคนต่างรู้จักตัวเองด้วยกันทั้งนั้น แต่การรู้จักตัวเองในลักษณะอย่างนั้นมันเป็นอย่างไรก็ลองพิจารณาดู คนโง่คนบ้าคนอะไรมันก็ต้องพูดว่ารู้จักตัวเอง แล้วมันก็รู้สึกว่ามันรู้จักตัวมันเอง แต่ทำไมมันยังเป็นบ้าอยู่ได้ ยังโง่อยู่ได้ ยังเป็นคนประมาทอยู่ได้
นั่นก็เป็นข้อพิสูจน์ว่า มันยังมีตัวเองอีกชนิดหนึ่งซึ่งมันไม่รู้จัก ซึ่งเป็นตัวเองที่แท้จริง มันรู้จักแต่ตัวเองที่เป็นของมายาลมๆ แล้งๆ มันจึงเป็นคนโง่ คนบ้า คนหลง คนอวดดี คนสะเพร่า คนอะไรอยู่ได้ ก็เรียกตามประสาธรรมะว่า มันยังเป็นคนประมาทอยู่ จึงเป็นคนตายอยู่นั่นแหละ
รู้จักตัวเองมันก็ต้องหยุดประมาท (หัวเราะ) หรือหยุดตายกันเสียที เพราะฉะนั้นจะเอาที่ จะเอาความรู้จักตัว เอง ที่คนทั่วไปรู้กันอยู่ทุกๆ คนนั้นมันเป็นหลักไม่ได้ ต้องมีอีกแง่หนึ่งต่างหาก ที่ควรจะรู้จักกันจริงๆ หรือมันจะตรงกันหมดจนไม่ต้องเถียงกัน การที่ต่างคนต่างก็รู้จักตัวเองด้วยกันทั้งนั้น มันเป็นเรื่องที่ยอมให้ได้ว่าเขาก็รู้จักอยู่ แล้ว ก็ต่างคนต่างก็รู้ว่านั่นมันก็เป็นเรื่องส่วนตัวบุคคลนั้นทั้งนั้น เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลนั้นทั้งนั้น มันยังไม่ไกลออกไปถึงกับว่ามันจะใช้เป็นหลักส่วนรวมด้วยกันทุกคนได้ จึงอย่าไปยึดถือไอ้ความรู้ชนิดนั้น มันจะทำให้เกิดทิฐิมานะ (หัวเราะ) ต่างคนต่างจองหองอวดดี ทะเลาะวิวาทกัน ที่เราทะเลาะวิวาทกันก็เพราะเชื่อความรู้สึกของตัวเอง ไม่ฟังหรือไม่ฟังผู้อื่น คิดว่าตัวถูกโดยส่วนเดียว มันก็เลยดูหมิ่นดูถูกผู้อื่นไปเลย มันมีได้ทุกระดับของบุคคล แม้เด็กๆ มันก็ทำอย่างนี้เป็น พอเป็นโตๆ ขึ้นมา เป็นหนุ่มเป็นสาวมันก็ยิ่งทำอย่างนี้เก่งมากขึ้น มันก็ยิ่งอายุมาก เป็นคนแก่ยิ่งเหนียวแน่นที่จะยึดถือความคิดความเห็นของตัวเอง ต่างมีความคิดความเห็นแตกต่างแยกแตกกันไปเรียกว่ามันยังไม่รู้จักตัวเองอีกตัวหนึ่ง ซึ่งมันจะเห็นหรือรู้ตรงกันหมด สิ่งที่มันจะเป็นประโยชน์ มันจะเป็นความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่คนทุกคนนั้น มันต้องตรงกัน นี่จะเป็นเหตุให้เราค่อยมองเห็นไอ้ธรรมะ ที่จะทำให้เกิดความเป็นอย่างนี้ เลยทุกคนมีความเห็นร่วมกันมันก็ทำให้เกิดประโยชน์อันนี้ จึงขอให้วางหลักสมมุติฐานล่วงหน้าไว้ก่อนก็ได้ว่า ถ้ามันเป็นความรู้ที่ถูกต้องตรงตามธรรม ตามธรรมะแล้ว มันก็จะยิ่งตรงกันยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก
หลักธรรมะความถูกต้องของธรรมชาตินั้นมันมีเพียงอย่างเดียว สิ่งที่ควรรู้ ควรทราบ ควรปฏิบัติ ควรให้มันมีเพียงอย่างเดียว ในชั้นสูงสุดคือดับความทุกข์ตามหลักการของธรรมชาติ ตามหน้าที่ตามธรรมชาติ มันจะมีเพียงอย่างเดียว ยิ่งรู้ถูกเท่าไรมันจะยิ่งเป็นอย่างเดียวมากขึ้นเท่านั้น นั่นน่ะคือเป็นรากฐานอันสำคัญที่จะไม่เถียงกัน ที่จะไม่แก่งแย่งกัน ที่จะไม่เบียดเบียนกัน หรือแม้ที่สุดแต่จะไม่นึกไปในทางยกตนข่มท่าน ดูถูกดูหมิ่นความรู้ ความคิดของผู้อื่น คนที่ยังโง่ในเรื่องนี้อยู่มากๆ มันจะมีเสียง ฮิ ชิ อะไรอย่างนี้บ่อยที่สุด กำลังดูถูกผู้อื่นเมื่อตัวมันเองก็ไม่รู้อะไร ในบาลีมีอยู่คำหนึ่งเรียกว่า ผู้พูดใส่หน้าผู้อื่นว่า ฮิ ฮิ เชิงดูถูกดูหมิ่นคนอื่น ยกตัวอยู่ในภายใน เป็นกิเลสโดยตรง ขอให้ถ่อมตัว ให้ระมัดระวังให้มากที่สุด อย่าปล่อยให้กิเลสชนิดนี้มันลุกลาม จะได้รู้จักตัวเองอย่างดี อย่างถูกต้อง อย่าให้มันเป็นเหมือนอย่างอันธพาลมันรู้จักตัวเอง อย่าให้อันธพาลรู้จักอันธพาล (หัวเราะ) คนอันธพาลที่สุดมันก็ว่ามันรู้จักตัวเอง ถ้าเราถามคนอันธพาลนั้นว่า ไอ้ความเป็นอันธพาลนั้นเป็นอย่างไร มันก็จะเลื่ยงไปยังที่อื่นไม่ใช่ที่ตัวเองว่าเป็นอันธพาล คนอันธพาลก็จะบอกว่าตัวเองไม่ใช่อันธพาล มันก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ ใช่อันธพาล มันจะเอาไปซัดไปที่อื่นที่มันตรงกันข้ามกับเขา หรือมันจะอาจจะเหวี่ยงอันธพาลมาที่ตำรวจหรือมาที่คนที่ประพฤติดี ประพฤติชอบ ถูกต้องก็ได้
นี้จึงขอร้องว่าระวังให้ดีไอ้การรู้จักตัวเองนี้ อย่าให้เป็นเหมือนอันธพาลรู้จักอันธพาล อันธพาลมันจะรู้จักอันธพาลผิดเสมอ แล้วมันก็ มันจึงเป็นอันธพาลอยู่ได้ ที่อันธพาลเกเรตามถนนหนทางที่ถูกตำรวจจับนั้นน่ะ ดูให้ดีมันก็ยังไม่น่าหวาดเสียวมากเท่ากับที่ว่า มันเป็นอันธพาลในทางธรรม ทางจิตใจ เป็นคนโง่ เป็นคนหลง ไม่รู้จักกิเลส ไม่รู้จักความทุกข์ ดังนั้นอันธพาลอาจจะมาอยู่ในรูปร่างของพระเณร ที่ไม่เคยไปตบตีใคร วิ่งราวใครก็ได้ ระวังให้ดีๆ อันธพาลทางวิญญาณ อันธพาลทางธรรมจึงลึกซึ้ง (หัวเราะ) อยู่ในร่างของพระของเณร สงบเสงี่ยมอยู่อย่างนี้ก็ได้ มันไม่รู้ไอ้สิ่งที่ควรจะรู้ ไม่รู้จักตัวเองที่ควรรู้จัก ไม่รู้จักตัวเองชนิดที่จะเป็นที่พึ่งแก่ตนเองได้ จึงทำอะไรผิดๆ ทำลายตัวเองอยู่โดยไม่รู้สึกตัว
ดังนั้นเราก็จะต้องแยกแยะดูตัวเองให้ดี เอาละ เป็นอันว่าเราจะแยกตนเองออกเป็น ๒ ชนิด ชนิดที่ ๑ คือตนเองของกิเลส ชนิดที่ ๒ มันตนเองของธรรมะ ตนเอง ๒ ชนิดนี้ที่ทุกคนควรจะรู้จัก แล้วจะต้องสังเกตได้ทันทีว่ามันตรงกันข้ามอยู่ ตนเองของกิเลสกับตนเองของธรรมะ ถ้อยคำมันก็บอกอยู่แล้วว่ามันตรงกันข้าม ตนเองของกิเลสก็ต้องเห็นแก่ตัว ตนเองของธรรมะมันก็ต้องเห็นแก่ธรรมะ พอเห็นแก่ตัวเมื่อไรมันก็เป็นตัวเองของกิเลสเมื่อนั้น เห็นแก่ธรรมะเมื่อไรมันก็เป็นตัวเองของธรรมะเมื่อนั้น ตัวเองของธรรมก็ย่อมเห็นแก่ธรรมและไม่เห็นแก่ตัว ตัวเองของตัวก็ย่อมเห็นแก่ตัวและก็ไม่เห็นแก่ธรรม ใน ๒ ตัวนี้ไอ้ตัวไหนมันจะดีกว่า (หัวเราะ) ควรจะได้พิจารณากันอย่างละเอียด และก็อย่างบริสุทธิ์ใจ อย่างจริงใจ อย่าให้มันเข้าข้างนั้นลำเอียงข้างนี้ หรือจะดูว่าไอ้ตนชนิดไหนเป็นมายาลมๆ แล้งๆ หลอกลวงเสียเรื่อย ตนชนิดไหนมันเป็นตนที่แท้จริงที่คงทนถึงกับว่าไม่ตายก็ได้ (หัวเราะ) ถือว่าตนไหนมันพึ่งได้ ตนของกิเลสกับตนของธรรมะนี่ ตนไหนมันพึ่งได้
ตรงนี้จะต้องทราบไว้ด้วยว่า ธรรมะนี้มันลำบากตรงที่คำพูด มันสับสน เพราะว่าคำพูดมันไม่พอใช้บ้าง แต่ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือว่า ไอ้คำธรรมะนั้นก็ยืมเอาคำชาวบ้านไปใช้ทั้งนั้น ผมเคยพูดข้อนี้ซ้ำๆ ซากๆ จนคนบางคนเบื่อ ไม่อยากจะฟังแล้ว แต่ผมก็ยังจะพูดอยู่เรื่อย มันอยากจะฟัง ไม่อยากฟังก็ตามใจ ว่าไอ้คำธรรมะนั้นให้ระวังให้ดี ให้สังเกตให้ดี มันยืมคำชาวบ้านไปใช้ทั้งนั้น คือเมื่อโยคี มุนี นักปราชญ์อย่างพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เขาคิดธรรมะได้ รู้จักธรรมะข้อใดข้อหนึ่งขึ้นมาใหม่ในใจ แล้วจะเรียกชื่อมันว่าอะไร ลองคิดดู ถ้าไปตั้งคำใหม่ขึ้นมาใคร จะฟังถูก ผลก็ไปเอาคำเก่าที่ใช้อยู่แล้วในประชาชนนั่นละมาใช้เรียกชื่อสิ่งที่คิดขึ้นได้ใหม่ แต่มันในความหมายอื่น เช่น พอรู้จักกิเลส โลภะ โทสะ โมหะขึ้นมาจริงๆ นี้ ก็มาบอกมาสอนประชาชนว่าเราพบของสกปรก ก็กิเลสใน ทางภาษาธรรมดาคือของสกปรก ที่ชาวบ้านเขาเกลียดชังกันอยู่แล้ว คือเป็นของสกปรกที่ทำให้แปดเปื้อน ก็บอกว่าของสกปรกไม่ใช่อย่างที่แก (หัวเราะ) รู้จักกัน ในของสกปรกนี้ก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ
เดี๋ยวนี้เรามันเป็นคนไทย เราก็ไม่รู้จักคำว่ากิเลสซึ่งเป็นภาษาบาลี ก็คิดว่าเป็นคำใหม่ เป็นคำบัญญัติเฉพาะ ถ้าเป็นคำบัญญัติเฉพาะก็หมายความว่า ไปเอาคำของชาวบ้านมาตั้งเป็นคำบัญญัติเฉพาะ ก็กิเลสของสกปรก ก็คือสกปรกแก่จิตใจ สกปรกในส่วนลึกส่วนสันดาน ทีนี้พอไปรู้จักกิเลสในแง่ที่มันเผาให้ร้อน ให้เป็นทุกข์ ก็บอกว่าไฟ ไฟ ไฟ ก็ไฟที่บ้านที่อื่นมันก็เผาไหม้ให้ร้อนและเดือดร้อน ตรงนี้ไฟคือโลภะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ มันเผาให้ร้อน ทุกคำเป็นอย่างนี้ คำธรรมะ แม้แต่กับคำว่านิพพาน พูดอยู่ที่บ้าน ธรรมดาสามัญก็คือเย็น เย็น เย็น พอนิพพานนี้ฟังแล้วเย็น เย็น เย็น มันเย็นในความหมายเฉพาะ คือเย็นเพราะไฟกิเลสมันดับไป นี้พอท่านคิดได้หรือเห็นจริงในเรื่องสิ่งๆ หนึ่ง ซึ่งมันจะเป็นของแท้ถาวรและเป็นที่พึ่งได้ ก็ไม่รู้จะเอาคำอะไรมาใช้ ก็เลยเอาคำว่าตัวหรือตน ตัวตนที่ชาวบ้านเขาพูดอยู่ที่บ้านเป็นประจำมาเกิดตัวตน แต่มันมีความหมายเฉพาะในเรื่องนี้เป็นอันใหม่ ก็เลยมีตัวตนอีกอันหนึ่ง ตัวตนที่จริง ตัวตนที่พึ่งได้ คือธรรม นั้นแหละเป็นตัวตน
ในพุทธศาสนานี้ก็มีพระพุทธภาษิตที่ว่า “พี่งตนนั้นคือพึ่งธรรม พึ่งธรรมนั้นคือพึ่งตน” (หัวเราะ) หรือ “ตนนั่นแหละคือธรรม ธรรมนั่นแหละคือตน” ถ้าจะมีตนนะ ถ้าจะเรียกว่าตน หรือไม่งั้นก็อย่าเรียกเสียดีกว่า อย่าเรียกว่าตัวตนอย่างที่เคยเรียกกันมาแต่ก่อน เอาตัวกูของกูเป็นตัวตนอย่างนี้มันเป็นอันตราย ถ้ายังอยากจะมีตนอยู่ก็เอาธรรมะเป็นตัวตน ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา อตฺตทีปา อตฺตสรณา ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา พูดวนเวียนกันอยู่ในที่นี้ มีตนเป็นสรณะ มีตนเป็นที่พึ่ง นั่นคือมีธรรมะเป็นสรณะ มีธรรมะเป็นที่พึ่ง ถ้ามีธรรมะเป็นสรณะเป็นที่พึ่ง นั่นแหละ คือมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ มันเกิดเป็น ๒ ตนขึ้นมาอย่างนี้
เอ้า, ทีนี้ก็ดูกันทีละตนให้มันชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก ได้เป็น ๒ ตนคือ ตนกิเลสกับตนธรรมะขึ้นมาแล้ว
ตนที่ ๑ คือตนกิเลส หรือตนของกิเลส เอาเป็นตัวตนเป็นตัวเองก็ได้ แต่มันเป็นตัวตนชนิดดำ มันก็จะประกอบแต่กรรมดำและการกระทำที่ดำ อันนี้ก็จะได้เกิดความหมายเป็นธรรมดำอะไรขึ้นมา และเรียกโดยภาษาชาวบ้านก็ว่า อธรรม เป็นอธรรมขึ้นมา คือมันเป็นธรรมดำ ธรรมที่ดำ มันก็เลยเรียกให้มันสมน้ำหน้าว่า ไม่ใช่ธรรม เป็นอธรรม ถ้าเรียกภาษาลึกซึ้ง ในภาษาธรรมแล้วมันเป็นธรรมทั้งนั้น ธรรมดำ ธรรมขาว ธรรมไม่ดำไม่ขาว เรียกว่าธรรมทั้งนั้นแหละ กรรมดำ กรรมขาว กรรมไม่ดำไม่ขาว ก็เรียกว่ากรรมทั้งนั้น
เดี๋ยวนี้มันเป็นตัวเองชนิดดำ มีการประกอบมีการกระทำแต่กรรมดำ เป็นตัวดำ เรียกอีกทีหนึ่งก็เรียกว่า อธรรม ไปเลย ไอ้ตนชนิดดำนั้นก็คือเห็นแก่ตัว ทำไปตามอำนาจของกิเลสก็เรียกว่าเห็นแก่ตัว มันก็มีตน มีตัว เพื่อจะเชือดคอตัวมันเองอยู่ตลอดเวลา มันก็เลยไม่รู้สึกตัวด้วยว่าตัวได้ทำชนิดที่เชือดคอตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะมันเป็นตนมายา เป็นตนของความโง่ ของความหลง มันคิด มันพูด มันกระทำแต่สิ่งที่ทำลายตนเองอยู่ตลอดเวลา มันก็ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต มันผิดอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ เรียกว่ามันเชือดคอตัวเองอยู่ตลอดเวลา หรือมันขุดรากตัวเองอยู่ตลอดเวลา หรือว่ามันเผาผลาญตัวเองอยู่ตลอดเวลา นี่ตัวดำมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นตนชนิดตัวกูที่ควรจะเรียกว่าตัวกูหรือของกู ความรู้สึกชนิดนั้นแหละที่มันหยาบมาก มันรุนแรง พลุ่งพล่านมากด้วยอำนาจของกิเลส มันเป็นตัวกูหรือตัวตนส่วนมากที่สุดที่เกิดแก่คนธรรมดาสามัญ หมายความว่าปุถุชนคนธรรมดาสามัญนะ จะมีแต่ตัวตนชนิดนี้ มีมากที่สุดแก่คนธรรมดาสามัญ แล้วมันแรงขึ้นๆ ตามการศึกษา ตามสติปัญญาที่มันเดินมาผิดๆ ในทางนี้ จึงเห็นได้ว่าบางคนยิ่งรู้มากมันยิ่งจองหองมาก หรือแม้แต่เพียงอายุมากแล้วมันยิ่งจองหองมาก เด็กๆ มันจองหองน้อย พอมันโตขึ้นมันก็จองหองมากขึ้น หรือคนแก่คนสูงอายุบางทีก็ยิ่งถือตัวยิ่งจองหอง ยิ่งถือรั้นอะไรมากขึ้น นี่ตัวกูชนิดนี้มันเป็นอย่างนี้ นี่หมายความว่ายิ่งเผาตัวเองมากขึ้น ทำอันตรายตัวเองมากขึ้นถ้ามีตัวกูชนิดนี้ จึงว่ามันเกิดแก่คนธรรมดาสามัญที่ยังไม่รู้อะไรมากขึ้น หนักขึ้นๆ แล้วมันก็เป็นอะไร จะเรียกว่าเป็นคน หรือเป็นมนุษย์ หรือเป็นผีละ จึงมีสิ่งที่แก้กันคือธรรมะ มันเป็นของตรงกันข้าม มันจะเข้ามาช่วยแก้ให้ได้ ถ้ามันไม่สนใจกับธรรมะ มันมัวนอนอวดดีอยู่ที่บ้านว่า ธรรมะไม่จำเป็นเก็บไว้ที่วัด คนชนิดนี้มันจะเป็นตัวตนชนิดอย่างที่ว่า เป็นภูตผีปีศาจไปเลย เป็นตัวกู เป็นของกู ที่เต็มอัดอยู่ด้วยกิเลสนานาชนิด
เอ้า, ทีนี้อยากจะเปรียบเทียบให้อีกแง่หนึ่ง โดยเปรียบเทียบกับสัตว์เดรัจฉาน ถ้าสัตว์เดรัจฉานมันยังเกิดตัวกูอย่างนี้น้อยกว่าคน ผมพูดอย่างนี้เขาก็หาว่าผมด่าทุกที (หัวเราะ) มันก็เป็นเรื่องด่าก็ได้ แต่ก็ไม่ได้เจตนาจะด่า เจตนาจะให้กลัว จะให้ถอยหลัง ให้จัดการเสียใหม่ สัตว์น่ะมันเกิดตัวตนชนิดนี้น้อยกว่าคน คนมันยิ่งเกิดตัวตนชนิดนี้มากขึ้นๆ ตามอำนาจของไอ้มันสมองที่มันวิวัฒนาการไปผิดๆ แล้วควบคุมไม่อยู่ ความเห็นแก่ตัวของคนมันยิ่งกว่าความเห็นแก่ตัวของสัตว์ ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ของคนนี้ มันยิ่งกว่าความเห็นแก่ตัวของสัตว์ ถ้าสัตว์มันจะมีบ้าง มันก็มีตามธรรมชาติมันเล็กน้อย ไอ้คนนี่มันมีมันสมองที่พัฒนา พัฒนาอย่างควบคุมไม่ได้มันก็ผิด ก็แปล ว่าสัตว์นี่มันยังเป็นธรรมชาติเดิมๆ มากกว่าคน ไอ้คนที่มันวิวัฒนาไปไกลจนเป็นคนขึ้นมา ถ้ามันควบคุมไม่ได้เพราะมันไม่รู้สึก ไอ้ตัวตนชนิดนี้มันก็ยิ่งรุนแรง เราจึงเห็นคนเห็นแก่ตัวอย่างไม่น่าจะเป็นได้ อย่างไม่น่าเชื่อ แล้วมันก็กระเทือนกันไปหมดทั้งโลก ความเห็นแก่ตัว ตัวกูของกูในทำนองนี้ เป็นตัวตนตามตัวตนของกิเลสนี้ มันเคยชินกับคน มันเคยชินกับคนมากขึ้นๆ ชินกับคน จนคนไม่รู้จัก จนเป็นธรรมดาไปเสียมันจนไม่รู้จัก ถ้าเราชินกับอะไรมากไปแล้วเราจะไม่รู้จักสิ่งนั้นมากขึ้น คือมันเป็นของ (หัวเราะ) ธรรมดาไปเสีย (หัวเราะ) ไม่อาจจะแยกออกมาให้เห็น นี่ไอ้ตัวกูชนิดดำนี่มันชินกับคนจนคนไม่รู้จัก พูดแล้วก็ไม่น่าเชื่อ ชินกันจนไม่รู้จัก ทุกทีเขาก็เอากิเลสเป็นตนเสมอ (หัวเราะ) เอาความเห็นแก่ตน เอากิเลสเป็นตนเสมอ จนชินเป็นตัวเองเสียแล้วก็เลยไม่รู้จักตัวเอง พูดให้ตรงลงไปก็คือว่ากิเลสมันก็ไม่รู้จักตัวมันเองว่าเป็นกิเลส
ทำนองเดียวกับคนบ้าก็ไม่รู้จักตัวเองว่าเป็นคนบ้า ไปเถียงเขา เขาก็ไม่ยอมรับว่าเขาเป็นคนบ้า เขากลับหาว่าเราเป็นคนบ้า ก็พูดกันไม่ได้ กิเลสก็เอาตัวตนเป็นกิเลส กิเลสเอาตัวกิเลสนั้นแหละเป็นตัวตน มันชินกันอย่างนี้จนมันไม่รู้จักตัวตนของกิเลส มันมีตัวตนของกิเลสอยู่เรื่อยไป นี่คือลักษณะอาการหรือว่าข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกี่ยว กับตนกิเลส ตนดำ ตนที่ประกอบอยู่ด้วยอวิชชาดำมืดอยู่ แล้วก็กระทำแต่กรรมดำ คือผิด
ตนที่ ๒ คือ ตนของธรรม ดูกันให้ดีอีกที ตนของกิเลสเป็นตัวดำตนดำ ตนของธรรมก็เป็นตนขาวหรือตัวขาว อย่างน้อยก็เรื่อยไปๆ จนกระทั่งเหนือดำเหนือขาว ตนของธรรมนี้ต้องแยกเป็น ๒ ตอน คือมันขาวหรือมันดีถูกต้องอยู่เป็นตนขาว ประพฤติกระทำแต่กรรมที่ขาว ถ้ามันประพฤติกระทำอย่างนี้อยู่เรื่อยไป มันสูงขึ้นไปๆ จนพ้นดำพ้นขาวได้ แต่ในสมัยที่เป็นตนดำนี้ มันไม่มีทางที่จะพ้นดำพ้นขาวได้ เพราะมันโง่อยู่ในความมืด เป็นตนดำก็ไม่รู้จัก มันไม่มีความขาว คือสว่างไสวขึ้นมา เดี๋ยวนี้มันเป็นตนขาว มันทำดี ทำถูกเรื่อยๆ ไป จนในที่สุดมันรู้ไอ้สิ่งสุดท้ายคือพ้นดำพ้นขาว เหนือดำเหนือขาว คือจะไม่เป็นตนนั่นแหละ คือจะพ้นจากความเป็นตน อย่างนั้นก็มากไปเราไม่พูดถึง เพราะว่าเราจะจัดให้เป็นความอยู่เหนือตน พ้นตนไปแล้ว ดูตนเองชนิดขาว ประกอบกระทำแต่กรรมขาว โดยเปรียบเทียบกับตนดำ ตนดำมันเห็นแก่ตัว เชือดคอตัวเองอยู่เสมอ ตนขาวนี้มันเห็นแก่ธรรม (หัวเราะ) มันก็สงวนตัว มันประกอบเจริญอยู่แต่ด้วยธรรม มันตรงกันข้ามอย่างนี้แหละ อันหนึ่งมันก็เชือดคอตัวเองอยู่เสมอโดยไม่รู้สึกตัว แต่อันนี้มันรู้สึกตัว รู้จักตัว รักตัว สงวนตัว ถนอมไปแต่ในทางที่มันดียิ่งขึ้นไปๆ
คำว่ารักตัว สงวนตัว มันมีความหมายสูงไปกว่าภาษาชาวบ้าน คำพูดที่เขาใช้แก่ผู้หญิงที่ว่ารักตัว สงวนตัว นี้มันเด็กอมมือ สงวนตัวนอกๆ สงวนตัวเนื้อหนัง เดี๋ยวนี้เราสงวนตัวในทางด้านจิต ด้านวิญญาณ รักตัว สงวนตัว กระทำให้มันเจริญในด้านจิตด้านวิญญาณ คือเจริญอยู่ด้วยธรรม นี่ตัวขาว ตัวขาวๆ มันเป็นอย่างนี้ ไอ้ตัวดำๆ ก็เป็นอย่างอื่น ตัวดำเป็นตัวกูที่เกิดได้ส่วนมาก หรือเกิดอยู่มากที่สุดแก่คนธรรมดาสามัญ ตัวขาวหรือตัวตนของธรรมะนี้มันเกิดยาก เกิดยากแก่คนธรรมดาสามัญ หมายความว่าคนธรรมดาสามัญ ปุถุชนธรรมดาสามัญนะ มันเกิดได้ด้วยตัวกูชนิดกิเลส เกิดง่ายเกิดเป็นธรรมดาไปเลย แต่พอมาถึงตัวตนของธรรมนี่ กลับเกิดยากแก่คนธรรมดาสามัญ มันจะค่อยๆ เกิดได้ง่ายหรือเกิดมากแก่คนที่ดีกว่าธรรมดา ก็จะเป็นคนดี เป็นพระอริยเจ้าขึ้นมา เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์ สำหรับตนดำๆ เกิดได้แก่คน แม้สัตว์ยังเกิดได้น้อยกว่า คือคน (หัวเราะ) คนเห็นแก่ตัวมากกว่าสัตว์ เดี๋ยวนี้พอมาถึงไอ้คนตัวขาวเข้า เป็นธรรมขาวเป็นตัวตนขาวนี้ คนอาจจะทำให้ดีได้มากกว่าสัตว์ แต่แล้วมันก็ไม่ทำ
มันสมองของคนนี่มันวิวัฒนาการมา ขนาดที่ว่าจะทำให้มีธรรมะได้มากกว่าสัตว์ แต่แล้วคนมันก็ไม่ค่อยทำ มันอยากเป็นสัตว์อยู่เรื่อย มันเอาตามกิเลส ตามความเห็นแก่ตัว ตามใจตัว ตามความรู้สึกของกิเลสอยู่เรื่อยไป ไม่พยายามที่จะทำให้เป็นมนุษย์ที่ประกอบด้วยธรรมขึ้นมา มันไม่ค่อยดีกว่าสัตว์ทั้งที่ทำได้แล้วมันก็ไม่ทำ สมรรถภาพ ของมนุษย์นี่อาจจะทำให้เกิดความดี เกิดตัวขาวอะไรได้มากทีเดียว แต่แล้วก็ไม่ค่อยทำ มันปล่อยให้เป็นตัวดำอยู่เสมอ หมายความว่ามันอาจจะอาบล้างให้สะอาดได้ แต่มันก็ขี้เกียจที่จะอาบจะล้าง มันปล่อยไปตามสะดวก การที่คนธรรมดาสามัญสมัยนี้ไม่ค่อยสนใจธรรมะบ้าง หรือไม่อยากจะควบคุมบีบบังคับกิเลสบ้าง ปล่อยไปตามอารมณ์ของกิเลสเสียเรื่อย คนธรรมดาสามัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยนี้ไม่กลัวบาป ไม่กลัวกรรม อยากจะคลุกหรือจะระคนอยู่ด้วยบาปกรรมคือกิเลส ทั้งที่ทำได้มันก็ไม่ค่อยจะทำ เปรียบเทียบกันในข้อที่ว่ากรรมดำ หรือไอ้ตัวดำ ตนของกิเลสมันชินอยู่กับคน จนคนไม่รู้จัก ทีไอ้ตัวขาว ธรรมะที่เป็นตนนี้มันก็อยู่ไกล อยู่ลึก หรืออยู่อะไรจนคนไม่ค่อยจะรู้จัก มันเหินห่างจากคน เพราะว่าไอ้คนมันมีกันแต่ตัวตนของกิเลส มันก็เลยคนก็ไม่ค่อยรู้จัก คือมีการไม่รู้ จักเสียเป็นธรรมดา จนกว่าจะเลื่อนชั้นเป็นอริยชนจึงจะค่อยรู้จักไอ้ตัวธรรมะมากขึ้น มีตัวตนเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นตัวตนมากขึ้น อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นอริยชนไปแล้ว จะเป็นปุถุชนคนพาลตามสามัญธรรมดาแล้วมันก็ มันก็ตาบอด (หัวเราะ) ตาฝ้า ไม่เห็นไอ้ตนที่เป็นธรรม หรือตนที่แท้จริง ก็ยังคงเหินห่างอยู่ดี จนกว่าจะเป็นอริยชน
ทีนี้เมื่อเรารู้จักทั้งสองตนมันก็รู้จักเลือก จึงขอย้ำว่าตัวเองที่ทุกคนควรจะรู้จักนั้นน่ะ มันก็ควรจะรู้จักทั้ง ๒ ตัว ควรจะรู้จักตัวเองทั้ง ๒ ตัว บางทีเป็นตัวดำ บางทีเป็นตัวขาว วันหนึ่งสลับกันอยู่อย่างนี้ แล้วที่เป็นตัวดำนั้นมันมากกว่า เกิดมากกว่า สำหรับคนปุถุชนธรรมดาสามัญแล้ว วันหนึ่งๆ น่ะมันเกิดตัวดำๆ มากกว่าที่เกิดตัวขาวๆ ที่ขอให้รู้จักทั้ง ๒ ตัว จะได้มีการควบคุมให้มันถูกต้อง ควบคุมการเกิดของตัวดำ แล้วก็ส่งเสริมการเกิดของตัวขาว ให้มันชินเป็นนิสัย ก็จะมีแต่ตัวขาวนี้ที่มาเกิดมากที่สุด ทีแรกก็ตั้งต้นถามตัวเองก่อนก็ได้ว่าควรจะเลือกเอาตัวไหน อ้าว, มันก็เกิดปัญหาอีกแหละ ถ้าให้ตัวกิเลสมันเลือก มันก็เอาตัวดำ ถ้าตัวดำมันเลือก มันก็เลือกเอาตัวดำ มันพอ ใจตัวดำ อันธพาลมันก็ชอบตัวดำ อันธพาลทางธรรมดาสามัญก็ดี อันธพาลทางจิตทางวิญญาณก็ดี มันก็เลือกเอาแต่ตัวดำหรือตัวกิเลส มันพอใจในตัวดำ นี่ถ้าว่ามันเป็นสัตตบุรุษ มันดีขึ้นมา มันก็เกลียดกลัวตัวดำ มันก็เลือกเอาตัวขาว ตัวขาวมันก็เลือกเอาตัวขาว ตัวดำมันก็เลือกเอาตัวดำ
ทีนี้มีปัญหาก็มีความยากลำบากอยู่ที่ตรงนี้ก็คือว่า จิตนี้มันดวงเดียว ภาษาอภิธรรมเขาก็พูดอย่างนี้ว่าจิตนี้มันดวงเดียว มันจะเปลี่ยนเป็นดำหรือเป็นขาวมันก็แล้วแต่เหตุการณ์ มันก็เลยไม่มีโอกาสที่ว่าจะเกิดขึ้น ๒ ตัวพร้อมๆ กัน แล้วมาเปรียบเทียบกันได้ง่ายๆ พวกที่มันชินแต่ฝ่ายดำมันก็เกิดดำอยู่เรื่อย ตัวขาวมันก็เกิดยาก จนกว่าจะรู้จักตัวขาว มันก็รักษาตัวขาวไว้ให้ได้อย่าให้ตัวดำมันมาเกิด แล้วจะเอาใครมาเป็นผู้ช่วยเลือกหรือเป็นที่พึ่ง หลักที่มันมีอยู่ว่า ตนพึ่งตน ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน มันเป็นหลักที่คนเขาเข้าใจยาก คนธรรมดาเข้าใจยาก เพราะจิตมันมีดวงเดียวมันเป็นตนได้แต่ละอย่างๆ ทีละอย่างๆ จะเป็นที่พึ่งแก่ตนได้อย่างไร ความหมายลึกซึ้งมันมีอยู่ที่ว่ามันมีความเข็ดหลาบ ถ้าตนดำๆ มันถูกทำหนักๆ เจ็บปวดมันรู้จักเข็ดหลาบ ไอ้ตนดำมันก็จะเป็นที่พึ่งแก่ตนดำได้เหมือนกัน มันรู้จักเจ็บปวดและรู้จักเข็ดหลาบ ไอ้ตนดำมันก็ชักจะรา รามือ ราข้อไป ส่วนตนขาวนั้นมันก็ดีอยู่แล้ว ถ้ามันเกิด ขึ้นมันก็ทำที่พึ่งให้แก่ตนอยู่แล้ว มันมีแต่ส่งเสริมให้ยิ่งขึ้นไป ตนดำจะรู้สึกเป็นที่พึ่งแก่ตนได้มันก็มีแต่เมื่อมันเข็ดหลาบ มันเจ็บปวดมากๆ แล้วมันนึกได้ มาถึงตอนนี้ก็ต้องนึกถึงคำที่เขาพูดไว้ว่า ความผิดก็เป็นครู ความถูกก็เป็นครู เขาพูดไว้แต่เดิม ผมก็มาเสริมให้ว่าไอ้ความผิดนั่นล่ะเป็นครูมากกว่า ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ไปคิดเอาเอง
ไอ้ความผิดนั่นล่ะมันเป็นครูมากกว่า คือมันเจ็บปวด มันกัดเอา มันเผาเอา นี่มันสอนมากว่า ไอ้ความถูกนี้มันก็สบายไปเลย มันมีแต่จะให้สบาย สนุกสนาน ลิงโลด พอใจไปเลย มันสอนน้อย ถ้าความผิดมันก็ต้องมีผลเป็นความเจ็บปวด บางทีก็มานั่งร้องไห้อยู่ มันสอนมากกว่า แต่ว่าคนจะรับเอาหรือไม่ จะรับคำสอนอันนี้หรือไม่ ดังนั้นการที่ไอ้ตัวดำๆ นี้มันจะเป็นที่พึ่งแก่ตัวเองได้ มันก็ต้องไอ้ความเจ็บปวดเพราะความเข็ดหลาบ แล้วต่อมามันก็ค่อยขาวขึ้นคือมันรู้จักละอาย ตลอดเวลาที่คนไม่รู้จักละอาย มันเป็นตัวดำอยู่เรื่อย อันธพาลถูกตำรวจจับมามันละอายเมื่อไหร่ ทำไมมันไม่ละอาย เพราะมันมีความกระด้างแห่งตัวดำสูงขึ้นมาปิดบังอยู่เรื่อย ถูกเอามาประจานกลางถนนมันก็ไม่ละอาย มันมีความกระด้างของตัวดำขึ้นมาปิดเสีย มันไม่ละอาย มันไม่เข็ดหลาบ มันไม่เจ็บปวด ไอ้ตัวดำๆ ชนิดนั้นมันก็เป็นที่พึ่งแก่ตนไม่ได้ ต่อเมื่อไรมันรู้สึกมีความเจ็บปวด รู้สึกในความละอาย เสียใจ รู้สึกเสียเกียรติยศ ชื่อเสียง แล้วมันละอาย ไอ้ตัวดำๆ มันก็จะเริ่มขาว เริ่มจางออก แล้วมันจะเริ่มขาว กิริยาอย่างนี้เรียก ว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตน มีตนเป็นที่พึ่งแก่ตน นับตั้งต้นมาตั้งแต่ตนดำๆ แล้วมาขาวขึ้นๆๆ
เหมือนภาพจับวัวที่เขียนตามฝาผนังในตึกนี้ หรือจับลิง จับช้าง อย่างแบบทิเบตนั้นน่ะ ทีแรกมันดำปี๋ มันค่อยๆ จางออกๆ ใครมันช่วยทำให้มัน นอกจากธรรมชาติหรือธรรมะที่เข้ามาเกี่ยวข้อง มันก็ได้รับการลงโทษ ได้ รับการปรับปรุงแก้ไขเรื่อยมันก็ค่อยๆ ขาวออกมาๆ ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ตั้งต้นตั้งแต่ตนดำๆ นี่มันรู้จักเจ็บปวด ถ้าสังเกตดูไอ้เด็กเล็กๆ นี่ทำไมต้องถูกตี ก็เพราะไอ้ตนดำๆ นี่มันจะเข้ามาแทนที่ ฉะนั้นพ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ที่ดี ก็ต้องตีมันบ้าง ขับไล่ตนดำๆ ออกไปจากจิตใจของเด็กเล็กๆ ทารกตัวเล็กๆ นี่ก็ต้องถูกตีบ้าง แต่ว่ามันไม่จำเป็นจะ ต้องตีเสมอไป มันใช้วิธีอื่นคือใช้การพูดจาสั่งสอนประเล้าประโลม อย่างที่เขาทำดีๆ ไม่ต้องตีก็ได้ แต่เข้าใจว่ายากที่สุดที่จะไม่ต้องตีเสียเลย เหมือนบางทีมันก็ต้องตีบ้าง เดี๋ยวนี้ไอ้พวกจัดการศึกษาของโลกมันโง่ ถึงขนาดที่เรียกว่ายกเอาระบบตีนักเรียนนี้ออกไปเสียจากโรงเรียน เด็กๆ นักเรียนไม่ถูกตีเลยเป็นลิงเป็นค่างไปหมด ลูกศิษย์ผีสิง เป็นครูผีเสื้อกันไปหมด นี่ความเห็นของผมเห็นว่าไม่ถูก ให้ถอยหลังเข้าคลองไปหาระบบเดิมของธรรมชาติ มันก็ต้องมีตีกันบ้าง แล้วก็มีปลอบ มีโยน มีส่งเสริมสั่งสอนกันบ้าง เป็นคู่ๆ กันไป เพราะธรรมชาติมันก็มีหลักอย่างนั้น ถ้าทำผิดมันก็ต้องเฆี่ยนให้ได้รับผลกรรมที่เป็นความทุกข์ ความลำบาก นี่ก็เหมือนกับว่าธรรมชาตินี่มันเป็นครู มันเฆี่ยน มันตี มันดีขึ้น
เหมือนเช่นโรงเรียนที่ทำกับเด็กเล็กๆ ก็ควรจะทำทั้งสองอย่าง คือเมื่อต้องตีก็ตี จะต้องปลอบก็ปลอบ เมื่อสอนก็สอน เป็นการแก้ไขป้องกันไอ้ตัวดำๆ ที่มันจะก่อขึ้นมาในนิสัยของลูกเด็กๆ อย่าให้มันก่อได้ ให้เด็กๆ มันขาว มาในทางขาวเรื่อย เจริญขึ้นมาในทางขาว เป็นสัตว์ตัวขาวมากขึ้นๆ นี่จะเป็นที่พึ่งได้ บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ มันมีพระคุณอยู่ที่ตรงนี้แหละ อย่าไปโกรธ บิดา มารดา จะบ่น จะว่า จะด่าบ้าง แม้โตๆ อย่างนี้แล้ว พ่อแม่ก็ยังควรจะบ่น จะด่า จะว่าบ้าง ครูบาอาจารย์ก็จะต้องบ่น ต้องว่า ต้องด่า ต้องอะไรไปตามเรื่องเพื่อทำให้มันขาว ในเมื่อมันไม่มีทางอย่างอื่นแล้ว มันก็ต้องใช้อุบายหยาบที่จะกวดบ้าง คำด่า คำอะไร มันก็ยังต้องมีอยู่ แต่มันเป็นการทำเพื่อให้มันดีขึ้น การด่าอย่างนี้ก็เขาเรียก เขาถือกันว่าเป็นการชี้ขุมทรัพย์ การขนาบ ดุดัน ด่าว่าของครูบาอาจารย์นั้นมันเป็นการชี้ขุมทรัพย์ หรือว่ายิ่งกว่านั้นมันเป็นการมอบขุมทรัพย์ให้เลย ควรจะพิจารณาดูให้ดีๆ อย่าเพิ่งโกรธ ถ้าเราสมัครใจที่จะเลือกเอาตัวขาวแล้วก็ต้องยินดีรับไอ้ระบบการขัดเกลาอย่างนี้
เกี่ยวกับข้อนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า พรหมจรรย์นี้เป็นการขูดเกลา พรหมจรรย์นี้มิใช่การประเล้าประโลมให้มารำวงกัน (หัวเราะ) อยู่ตลอดเวลา แต่พรหมจรรย์นี้เป็นการขูดเกลา ใช้สำนวน สัลเลขะ ที่แปลว่าขูดด้วยมีด ขูดด้วยของมีคม สัลเลขะธรรม ธรรมที่เป็นการขูดเกลา เอาคำธรรมดาที่บ้านคือขูดด้วยมีด เหมือนกับเอามีดขูดปลาขูดให้มันสะอาด นี่พรหมจรรย์นี้คือระบบปฏิบัติเป็นอยู่ในธรรมวินัยนี้ ในศาสนานี้เป็นการขูดเกลา คนที่มันยังเห็นแก่ตัวมันก็ดิ้นออก แล้วมันเป็นอิสระที่จะดิ้นออก มันไม่รับ มันไม่ปฏิบัติตามธรรมวินัย อย่างในพระปาฏิโมกข์นี้ทุกข้อมันต้องการขูดเกลา พระที่เป็นตัวดำๆ ไม่ยอมรับคือไม่ถือวินัยในพระปาฏิโมกข์เป็นต้น นี่คือไม่ยอม รับว่าพรหมจรรย์นี้เป็นของขูดเกลา ขูดทำไม ก็ขูดให้มันขาวไง ที่เขาขูดสัตว์ขูดอะไรที่จะเอามาแกงกินนี้ ก็ขูดจนขาวจึงจะเอามาแกงกินได้ หรือว่าจะทำให้น่าดู เอามาประดับบ้านประดับเรือน มันก็ต้องขูดต้องแต่งจนให้สะอาดให้ขาว ต้องขอให้ยอมรับไอ้ระบบพรหมจรรย์ที่เป็นการขูดเกลา พรหมจรรย์สำหรับคฤหัสถ์ อุบาสก อุบาสิกาที่บ้านมันก็เป็นการขูดเกลา มันเป็นพรหมจรรย์ทั้งนั้น มันก็ยังเป็นการขูดเกลา แล้วทำไมพรหมจรรย์ชั้นนี้ที่มาอยู่ที่วัด ปลงผม เครื่องนุ่งห่มผ้ากาสายะนี้ มันก็ยิ่งเป็นการขูดเกลามากขึ้นไปอีก ขอให้ยินดีพอใจ มันจะได้ถึงตัวพระพุทธศาสนาซึ่งจะต้องผ่านทางการขูดเกลา ต้องเจ็บปวดเป็นธรรมดา
ผมเคยบอกให้ทราบกันเสมอ เคยเตือนให้สังเกตกันเสมอว่า ที่พวกฝรั่งไม่เข้าถึงตัวพระพุทธศาสนาก็เพราะเขาไม่ชอบการเจ็บปวด เพราะเขาชอบแต่การตามใจตัวเอง ใช้แต่สติปัญญาลมๆ แล้งๆ สนุกสนานแต่ในการศึกษาปรัชญา ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ เช่น มาบวชแล้วยอมขูดเกลา ยอมอดอาหาร ยอมทำอะไรต่างๆ ที่มัน เขาเห็นว่ามัน (หัวเราะ) มันไม่จำเป็น หรือมันไม่มันยังเป็นป่าเถื่อนจนจะต้องมาขูดเกลามัน ดังนั้นมันจึงเป็นการเหมาะสมแล้วที่คนพวกนี้ มันจึงเป็นยกเลิกระบบการเฆี่ยนตีนักเรียนในโรงเรียน คือมันมีความคิดไปแต่ในทางนั้น หารู้ไม่ว่ามันต้องมีกันทั้งสองฝ่าย แล้วมันต้องตั้งต้นด้วยความขูดเกลาอย่างเจ็บปวดไปก่อน เช่น การกินอาหารที่เกินไป หรือที่เฟ้อ ที่สนุกสนาน สำเริงสำราญต้องงด ทีนี้ก็เคยชินแต่การไม่กินเล่น กินสำเริงสำราญ มานี่เขาก็ไม่อยากจะงด แล้วกินตามใจตัว นี่เรื่องนอนอีกเหมือนกัน เรื่องอะไรต่างๆ มันก็จะเอาแต่ตามใจตัวมันก็ทำกันไม่ได้ แม้แต่ให้มานั่งขัดสมาธิ นั่งสมาธินี่มันก็ร้อง โอ๊ก, เสียแล้ว มันยอมแพ้เสียแล้ว ขามันเจ็บ มันไม่ยอมให้มันขูดเกลาอย่างนี้ก็ทำไม่ได้ มันแก้ไขไม่ได้ ฉะนั้นเราที่เกิดเป็นคนตะวันออก ชนชาติตะวันออกนี้ เคยชินกับการขูดเกลามาเป็นอย่างดีแล้ว วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมจีน วัฒนธรรมอินเดีย อะไรก็ตาม มันตั้งอยู่บนรากฐานการขูดเกลาทั้งนั้น ดังนั้นเด็กๆ ได้รับการฝึกฝนอบรมมา เป็นการขูดเกลาฉะนั้นมันจึงเข้มแข็ง แล้วก็เข้ารูปเข้ารอย เราชินกับการที่จะอดมื้อกินมื้อเราก็ทำได้ หรือว่าชินกับการบังคับเนื้อหนังร่างกายอย่างไรเราก็ทำได้ แต่เดี๋ยวนี้ชักจะตามก้นฝรั่งเสียแล้ว แต่งเนื้อแต่งตัวกินอยู่นี้แหละ มันจะชักจะไปตามหลังไอ้คนที่ไม่ชอบการบังคับตนเสียแล้ว ที่พูดว่าฝรั่งนี้ก็หมายถึงฝรั่งส่วนมาก แล้วก็ฝรั่งสมัยนี้ที่มันเตลิดเปิดเปิงไปในทางวัตถุนิยม ฝรั่งในยุคอื่นมันก็เคยดีเหมือนกัน ฉะนั้น ถึงแม้เดี๋ยวนี้ก็มันมีบางคนบางพวกที่มันเริ่มรู้จักพระเจ้ารู้จักศาสนามากขึ้น ถ้ามันรับระบบศาสนาแล้วมันต้องยอมรับความขูดเกลากันบ้างแหละ ไม่ว่าศาสนาคริสเตียน หรือศาสนายิว ศาสนาอะไรก็ตาม
ดังนั้นไอ้ฝรั่งชนิดที่มันยังยอมระบบการขูดเกลามันจึงเข้มแข็ง เช่น พวกยิวนี่มันเข้มแข็งที่สุดเลย บังคับทั้งทางเนื้อหนังและบังคับทั้งทางจิตใจ มันก็เลยเป็นคนที่เจริญได้ ทีนี้ฝรั่งสำรวย ฝรั่งส่วนมากไม่เป็นอย่างนั้นมันก็เลยอ่อนแอ มันก็เลยหาอุบายพาลพาโลหาอุบายเอาเปรียบผู้อื่นโดยอย่างอื่น เพราะมันมีแต่ตนดำๆ มีตัวดำๆ ทั้งที่ผิวมันขาวนะ นี่เรียกว่าเรารู้จักตนกันเสียทั้ง ๒ ตน คือตนดำและตนขาว อย่างนี้เรียกว่าตนเองที่ทุกคนควรรู้จัก
เป็นการบรรยายครั้งที่ ๒ ต่อจากการบรรยายครั้งที่ ๑ ที่เรียกว่าหลักธรรมะที่ทุกคนควรทราบ แล้วผมจะพูดแต่สิ่งที่ควรรู้จักต่อไปอีก ๓ ครั้งเรื่อยๆ ไป วันนี้หมดเวลาแล้ว ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน