แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
๒๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗ การพูดกับผู้บวชใหม่ในวันนี้ ผมจะพูดโดยหัวข้อว่า ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเรียน ในครั้งที่แล้วมาได้พูดถึงการเข้าใจผิดเกี่ยวกับการบวช เดี๋ยวนี้ก็มาถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเรียนซึ่งมันเนื่องกันอยู่ เมื่อมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการบวช ก็ไม่ต้องสงสัย ย่อมมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเรียน เราต้องดูให้ดีมาตั้งแต่การบวช ว่ามันผิด และมันเข้าใจผิดหรือเข้าใจถูก แม้ในปัจจุบันนี้ก็มีอยู่ไม่น้อยถึงมากที่สุดเหมือนกันที่บวชกันอย่างไม่รู้ว่าวัตถุประสงค์แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร เหมือนฟ้าสลัวๆ คล้ายๆกับว่าเชื่อแน่ว่าดีแน่ คนเราเมื่อเชื่อว่าดีแน่เสียแล้วมันก็ไม่สนใจจะดูรายละเอียดอะไรกันต่อไปอีก ก็เอาเลย บวชนี้มันดีแน่มันก็เอาเลย แม้จะเป็นนักศึกษา เป็นปัญญาชน เป็นอะไรก็มักจะเป็นเสียอย่างนี้ และยังแถมเจืออยู่ด้วยประเพณีนักศึกษาหรือปัญญาชนก็มีส่วนที่บวชตามประเพณีบวกกับเชื่อว่ามันดีแน่ ก็ไม่ได้ดูกันให้ละเอียดลออนัก ไอ้ส่วนที่มันสลัวหรือที่มันไม่ชัดเจนนั่นมันมีทางที่จะทำให้เข้าใจผิดได้ หรือมันเฉนิดหน่อยได้ เราจะต้องชำระกันให้สะอาดไปตั้งแต่วัตถุประสงค์ของการบวช วัตถุประสงค์ของการเรียนนี้มันก็อนุโลมตามกันไปได้โดยถูกต้อง ผู้ที่ไม่เคยบวชก็ยิ่งเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเรียน เพราะว่าเขาเข้าใจผิดต่อการบวชเสียเต็มประดาแล้ว เมื่อเข้าใจผิดต่อการเรียนของผู้บวช แม้ว่าการเรียนนั้นมันมีอยู่อย่างถูกต้อง เขาก็มองไม่เห็นยิ่งเป็นผู้ที่ไม่เคยบวชชนิดอวดดีหรือประมาทเสียแล้วยิ่งมองไม่เห็น เดี๋ยวนี้ก็มีอย่างนี้อยู่จริงๆ ผู้ที่ไม่เคยบวชก็อวดดี ดูหมิ่นดูถูกการเรียนของพระ แต่มันก็ไม่ใช่ว่าพระไม่มีข้อบกพร่องที่จะให้ดูถูกดูหมิ่น มันก็มีเหมือนกัน มันก็มีเจือกันอยู่ ความเข้าใจผิดต่อการเล่าเรียนของพระนี่มันก็มีมานานแล้ว ได้ยินได้ฟังมาในทางที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง หรือประชาชนพวกหนึ่งเขาก็บวชตามธรรมเนียมตามประเพณี บวชแล้วให้เรียนอะไรก็เป็นประเพณีไป อย่างนี้คนที่มีปัญญาสมัยนี้ก็ยอมรับไม่ได้ ก็ดูหมิ่นหรือดูถูกได้ นี่เป็นเรื่อง งมงายโดยไม่รู้ตัว คือคนที่มีปัญญาสมัยนี้กลับดูถูกการเรียนทางศาสนา เพราะได้รับบอกเล่าแต่เรื่องการเรียนที่มันไม่ถูกต้อง ก็เลยพลอยดูหมิ่นพระศาสนาทั้งหมดเลย ทั้งกลุ่ม ทั้งกระบิไปด้วยเลย กระทั่งนักศึกษาปัจจุบันนี้จะประณามด้วยว่าพระไตรปิฎกทั้งหมดนั่นมันไร้สาระ อย่างนั้นก็ไร้สาระสำหรับเขาหรือคนที่คล้ายๆกับเขา หรือโลกนี้ก็มีคนคล้ายๆกับเขามาก ก็เลยพระไตรปิฎกนี้ก็เลยไร้สาระสำหรับคนทั้งโลก ทีนี้เมื่อพระไตรปิฎกซึ่งเป็นหลักเป็นต้นตอของการศึกษามันถูกดูหมิ่นเสียอย่างนี้แล้วก็ เป็นอันว่าการเรียนทางศาสนานี้มันก็ถูกดูหมิ่น คือถูกเข้าใจผิด และผู้เข้าใจผิดอย่างนี้อาจจะมีอยู่แม้ในหมู่พวกที่บวชแล้วนั่นเอง พระหรือเณรโง่ๆบางคนมันก็เข้าใจอย่างนี้ บางทีเป็นปมด้อยของคนนั้นมันไม่อาจจะศึกษาพระบาลีหรือพระไตรปิฎกโดยทั่วถึง มันก็ยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวว่าไร้สาระ ไม่จำเป็น ก็ทำอะไรไปวันหนึ่งๆ ตามชอบใจของตัวเองเสีย ดังนั้นส่วนใหญ่จึงไม่ได้เรียนหลักพระพุทธศาสนา แม้จะเป็นหลักทางปริยัติ ส่วนหลักทางปฏิบัติมันก็ยังโง่อยู่นั้นแหละ มันยิ่งไม่รู้มากไปกว่าหลักทางปริยัติเสียอีก เดี๋ยวก็จะพูดกันถึงเรื่องนี้โดยเฉพาะ นี่เท่ากับผู้ที่ไม่เคยบวชมันก็เข้าใจผิดเกี่ยวกับการเรียนของนักบวช ทีนี้คนที่บวชเข้ามาอย่างงมงายก็เหมือนกันอีก เข้าใจผิดต่อการเรียนของบรรพชิตหรือของตัวเอง เข้ามาบวช เข้ามาอย่างงมงายอันนี้มันมีหลายแบบ มันงมงายมีหลายแบบ อย่างตามประเพณีก็ต้องถือว่างมงายเหมือนกัน แต่มันงมงายบริสุทธิ์หน่อย มันยึดประเพณีเป็นหลักโดยเชื่อแน่ว่าดีจริง ก็ต้องจัดไว้ในพวกงมงายแล้วก็บริสุทธิ์ใจ งมงายโดยบริสุทธิ์ใจ ถ้างมงายด้วยความเห็นผิด ความเข้าใจผิดอย่างอื่นแล้วก็เรียกว่ามันเลวร้ายลงไปอีก บวชเข้ามาอย่างงมงายโดยวิธีใดวิธีหนึ่งในหลายๆวิธีของความงมงาย ก็เลยเข้าใจผิดต่อการเรียน ไม่รู้จักโดยแท้จริงต่อสิ่งที่เรียกว่าพรหมจรรย์ หรือบรรพชา หรืออะไรทำนองนั้นอย่างที่ได้กล่าวกันบ่อยๆ ไม่รู้จักตัวพรหมจรรย์ คำนี้เป็นชื่อของการประพฤติปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา รวมถึงการเล่าเรียนด้วย ที่เรียกว่าปริยัติพรหมจรรย์ ปฏิบัติพรหมจรรย์ ปฏิเวธพรหมจรรย์ ปริยัติพรหมจรรย์ก็ประพฤติอย่างเคร่งครัดในการศึกษาเล่าเรียนหลักธรรม ปฏิบัติพรหมจรรย์ก็ปฏิบัติสูงสุดฝีไม้ลายมือของตน ปฏิเวธพรหมจรรย์ ก็มันถึงขั้นตอนที่ได้เสวยผลอยู่ เสวยผลอยู่เป็นประจำ จะปฏิบัติต่อไปอีกก็ได้ ถ้ายังไม่ถึงที่สุด คำว่าพรหมจรรย์นี้ยังต้องยอมรับนับถือกันว่าเป็นคำแรกที่สุดในบรรดาคำสำคัญชนิดนี้ในพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับการดำรงอยู่แห่งศาสนาหรือการบวชเข้ามาของกุลบุตร พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสเป็นคำแรกแก่ผู้ที่สมควรบวชหรือยอมให้บวชว่า เอหิภิกขุ มาเถิดภิกษุ พรหม จริยัง จร หิ (นาทีที่ 10.10) จงประพฤติพรหมจรรย์ แต่ภาษาบาลีนี้แปลรวมกันว่าจงมาประพฤติพรหมจรรย์ ก็เพราะว่าพรหมจรรย์เป็นคำแรกที่พระพุทธเจ้าท่านได้ใช้เกี่ยวกับการดำรงศาสนาหรือการเข้าบวชเข้ามาของกุลบุตร ท่านไม่ได้ใช้คำอื่น ซึ่งเราใช้กันอยู่ในเวลานี้ ท่านใช้จงมาประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อทำ พรหมจรรย์ก็คือทำทุกอย่างที่มันจะทำให้ความทุกข์สิ้นสุดลงไป การกระทำให้สิ้น ให้สิ้นสุดแห่งความทุกข์ นี่เรียกว่าพรหมจรรย์ ความหมายของพรหมจรรย์จึงว่า จงมาประพฤติพรหมจรรย์ ทุกข อันตกิริยายะ (นาทีที่ 11.02) เพื่อความ เพื่อการกระทำถึงที่สุดแห่งความทุกข์ ถ้าว่าจะเอาความหมายกันตรงๆ พรหมจรรย์นี้ก็คือการกระทำที่สุดแก่ความทุกข์ จะโดยวิธีใด โดยส่วนไหน ตอนไหนก็รวมอยู่ในระบบเดียวกันหมด จนมันเกิดการทำที่สุดทุกข์ขึ้นมาจนได้ ได้ฟังคำสอนก็เป็นส่วนปริยัติ แล้วไปปฏิบัติก็เป็นส่วนปฏิบัติ ผลเกิดขึ้นรู้สึกอยู่แก่ใจก็เป็นส่วนปฏิเวธ พรหมจรรย์จึงมีทั้ง ปริยัติ ทั้งปฏิบัติ ทั้งปฏิเวธ แต่หมายถึงลักษณะที่พอเหมาะพอดี แล้วกลมกลืนกันไป ไม่เป็นปริยัติที่เฟ้อเหมือนอย่างเดียวนี้ คือปริยัติมากเกินไปจนไม่มีปฏิบัติหรือมีน้อย เพราะมันไปยุ่งกับปริยัติจนเกินไป มันก็ทำให้ปฏิบัตินั้นหมดโอกาส หมดเวลาไปได้ ไอ้เรื่องปฏิเวธก็ยิ่งไม่มี ขอให้เล่าเรียนให้ถูกต้อง ปริยัติพรหมจรรย์นั้นให้มันตรงจุด และพอดีพอเหมาะที่จะปฏิบัติ เว้นไว้แต่ว่าเราต้องการเอาเป็นอาชีพสอนปริยัติ ก็ไปทางหนึ่งใช่ไหมก็เรียนกันไปให้เท่าไรก็ได้ มันไม่ถือว่าเฟ้อสำหรับคนนั้น หรือเขาจะอธิษฐานจิตเป็นทำนองว่า เขาจะรับหน้าที่ฝ่ายปริยัติซึ่งเป็นรากแก้วของศาสนา พวกนี้ก็สนใจแต่เรื่องปริยัติก็มี แต่ว่าที่ดีที่สุดนั้นเขาเรียนให้พอ พอดี หรือถ้าจะคิดจะทำหน้าที่ให้มันมากสักหน่อยเพื่อประโยชน์แก่พระศาสนาแล้วเขาก็เรียนให้มากเหมือนกัน คือมากเกินกว่าที่จะปฏิบัติ เราจึงพบในพระคัมภีร์กล่าวถึงบุคคลบางคนที่คนทั้งหมดเขาตั้งใจไว้ว่า พระหนุ่มองค์นี้มันจะทำหน้าที่กอบกู้หรือสืบอายุพระศาสนาโดยแทัจริงแล้วเขาก็ให้เรียนมากเกินกว่าจำเป็นสำหรับผู้ปฏิบัติ คือเรียนกระทั่งอภิธรรมอย่างนี้เป็นต้น เพราะคนนั้นมันจะทำหน้าที่อันใหญ่หลวง ถ้าไม่ให้เรียนปริยัติ มันเกิดไปปฏิบัติ มันเกิดเป็นพระอรหันต์อะไรขึ้นแล้ว มันก็ไม่เรียนปริยัติอีก ความสามารถมันก็จะแคบไป ส่วนนี้ให้เรียนเสีย เป็นพระอรหันต์แล้วก็สามารถจะใช้วิชาความรู้เหล่านี้อย่างคล่องตัว เรื่องเขาเขียนไว้อย่างนี้ก็มีเหตุผลอยู่ ใครจะเรียนปริยัติพรหมจรรย์เท่าไรก็เป็นเรื่องของบุคคลนั้นโดยเฉพาะต่างๆ กันไป แต่ว่าโดยหลักใหญ่โดยทั่วไปแล้ว คนเราก็เรียนปริยัติพอสมควรแก่การปฏิบัติ โดยหวังผลของการปฏิบัติเป็นปฏิเวธ ให้ทันแก่เวลาที่ความตายจะมาถึง ความตายนี้ก็ไม่ต้องกลัว จะต้องมาถึงโดยเร็วนัก ชีวิตนี้มันก็รู้อะไรน้อย ได้ชิม ได้ลิ้มรสของพระธรรมน้อยไป ก็รีบกันหน่อย มันเพียงพอเสียทั้งปริยัติ ทั้งปฏิบัติ เพื่อมีผลทันแก่เวลาก่อนที่ความตายมันจะมาลากตัวไปเสีย เพราะฉะนั้นคำว่าพรหมจรรย์นี้มันเป็นคำกว้าง ฆราวาสก็ต้องประพฤติพรหมจรรย์ตามแบบฆราวาส บรรพชิตก็ประพฤติพรหมจรรย์ตามแบบบรรพชิต แต่พระพุทธเจ้าท่านใช้สำหรับบรรพชิต ท่านจึงพูดกับผู้ที่จะเป็นบรรพชิตว่า มาประพฤติพรหมจรรย์ นับตั้งแต่เรียนให้รู้แล้วปฏิบัติไปจนบรรลุ ก่อนนี้ปริยัติอยู่ที่ปากของอาจารย์ ไม่ได้อยู่ในพระไตรปิฎกอย่างสมัยนี้ มันก็มากไม่ได้อยู่เอง คล้ายๆกับว่า เรียนวันปฏิบัติวัน เรียนวันปฏิบัติวันไปอย่างนั้น ที่จริงคำที่เนื่องกันอีกคือคำว่าบรรพชา ก็พูดเมื่อวานนี้แล้ว บรรพชา เมื่อต้องการจะหลีกออกจากบ้านเรือน จะต้องเรียนอะไรบ้าง หรือมาเรียนอะไรบ้างต่อไปอีก ก็เรียนแต่ในส่วนของผู้ที่จะไม่เกี่ยวกับบ้านเรือน แต่ทีนี้การบรรพชาของคนสมัยนี้มันมีพิเศษ ยกเว้นอยู่ว่าเขาจะบรรพชาเป็นชั่วคราวแล้วก็ออกไปเป็นฆราวาส มันก็บรรพชาชั่วคราวอย่างนี้ก็เรียนชั่วคราวหรือว่าเรียนบางส่วน เป็นเรื่องเฉพาะคน และบรรพชาแท้จริงมันก็เรียนไปได้อย่างเดียวกับว่าเป็นพรหมจรรย์อันหนึ่ง การดำเนินชีวิตอยู่อย่างผู้ไม่มีบ้านเรือนมันเป็นการเรียนอยู่ในตัวมันเอง ไปพบของใหม่ ของแปลก สูงขึ้นไป ลึกขึ้นไป ก็เข้าใจยิ่งขึ้นไปๆ เกี่ยวกับการเรียนในชีวิตบรรพชิต อยู่ในตัวการบรรพชา ถ้าออกไปอยู่รวมๆกันเกิดเป็นอาศรม เป็นวัด เป็นอารามอะไรขึ้น มันก็มีเรียนอย่างเป็นปึกแผ่นได้ ก็เป็นระเบียบที่เคยมีมาแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาล เป็นอาศรมของชฎิล เป็นอาศรมของปริพาชก เป็นอาศรม แล้วแต่เขาจะประสงค์อะไร แต่อย่างไรก็ดี อย่าลืมคำ คำสำคัญคำหนึ่งว่า สัลเลขธรรม ไอ้พรหมจรรย์ก็ดี บรรพชาก็ดีหรืออยากเรียกอะไรอย่างอื่นอีกก็ดี มันมีความหมายสำคัญอยู่ในข้อที่ว่าเป็น สัลเลขธรรม สัลเลข แปลว่า ขูด เกลา ตบ แต่ง สัลเลข ฉะนั้นเราต้องเรียนให้ตรงจุดนี้ ให้มันเป็นการขูดเกลาหรือตบแต่ง กาย วาจา ใจ กระทั่งนิสัยสันดาน ให้ขูดเอาสิ่งที่ควรขูดออกไปเสีย แล้วก็ตบแต่งอบรมให้งดงาม ฉะนั้นจึงมีการศึกษาเล่าเรียนชนิดที่เป็นการบังคับตัวเอง ฝึกฝนตัวเอง ที่สรุปได้เป็นคำสั้นๆว่า ไอ้เรื่องหยาบคายร้ายกาจนี้มีไม่ได้ เป็นพระเป็นเณรพูดหยาบคายมันก็ไม่เป็นพระเป็นเณร ก็มันต้องการจะขูดเกลาจะตบแต่งอนูปวาโท อนูปฆาโตมันอยู่เหนือปาฎิโมกเข จ สวโร (นาทีที่ 18.45) มันพูดร้ายหรือว่ากล่าวร้ายไม่ได้ ไม่สำรวมในปาติโมกข์ก็ไม่ได้ นั่นนะมันคือการขูดเกลา ถ้าเราโกรธขึ้นมา พูดร้ายและทำร้าย มันก็ไม่มีการขูดเกลาอะไร ก็การปล่อยไปตามกิเลสตามอารมณ์ ถ้าให้เป็นการขูดเกลาขึ้นมา มันก็ต้องบังคับ ไม่พูด แล้วความหิว ความอยากเกิดขึ้น ก็ต้องดูสิว่ามันควรหรือไม่ควรจะทำอย่างไร ควรจะอดกลั้นหรือควรจะแก้ไข ควรจะบรรเทาอย่างไร อย่าตามใจปากตามใจท้อง หาของมากิน มาส่งเสริมความอยากหรือความตะกละ ฉะนั้นภิกษุจึงไม่มีการกักตุนอาหาร ไม่รับประเคนค้างคืนอย่างนี้เป็นต้น เป็นการบังคับ มันเป็นการขูดเกลา นี่เรื่องอื่นๆก็เหมือนกัน เรื่องโลภะ เรื่องโทสะ เรื่องโมหะ สาม สาม สามประการนี้ต้องขูดเกลา โลภะ ราคะ นี่เอร็ดอร่อย เสาะแสวงหากักตุน อะไรต่างๆ โทสะ นี่ก็คือโกรธ ว่าร้าย ทำร้าย ประทุษร้าย โมหะ นี่ก็คือโง่ สะสมความโง่ ไม่ขูดเกลาความโง่ด้วยการศึกษา เขาเรียกว่าสะสมความโง่ พอก พอก พอกให้หนาขึ้น หนาขึ้น ไม่ได้ขูดเกลาไป ขอให้จำคำว่า สัลเลขธรรม ไว้ดีๆ ปรับปรุงตัวเองให้มี สัลเลขธรรม อยู่ทุกเวลาตลอด ทุกอิริยาบถ หรือใช้คำว่าทุกลมหายใจเข้าออกก็ยิ่งดี คือมีสติสัมปชัญญะอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก รู้สึกตัวอยู่อย่างนั้นก็เป็นการขูดเกลาเต็มที่อย่างยิ่งอยู่แล้วโดยพื้นฐาน ยิ่งขูดไป ให้มันแรง มันพิเศษบางอย่างบางประการที่มันเป็นปัญหาเฉพาะหน้าของบุคคลคนนั้นเป็นคนๆไป เพราะว่ามันไม่ค่อยจะเหมือนกัน สิ่งนี้ต้องขูด ต้องขูดออกเรื่อย เหมือนกับถูขี้ไคลทางร่างกาย มันก็ต้องถูกันอยู่ทุกวัน เพราะมันเกิดใหม่ได้ทุกวัน ทางกาย วาจา ใจ ในภายในนั้นมันก็ต้องทำทุกวัน ต้องมีสติ ระมัดระวังอยู่ทุกวัน แม้กระทั่งเรียน เรื่องพรหมจรรย์ เรื่องบรรพชา เรื่องสัลเลขธรรม อย่าให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ นี่คำอื่นๆ เช่น คำว่า ไตรสิกขา นี่เล็งถึงการเรียนโดยตรง สิกขา ๓ สิกขา แปลว่า ศึกษา ซึ่งสมัยนี้ก็เท่ากับคำว่าเรียนนั่นแหละ แต่มันหมายความกว้าง มันเรียนโดยวิธี ปริยัติก็มี เรียนโดยวิธีปฏิบัติก็มี อย่าเข้าใจว่าเรียน ก็ต้องเอาหนังสือมากาง หรือว่าเรียนแล้วก็ต้องฟังทางหูเขาพูดเขาจา ให้นึกถึงคำว่าเราเรียนจากธรรมชาติ เรียนจากเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น นั่นนะคือการเรียนจริง อย่างเด็กๆเกิดมามันก็เรียนจากเหตุการณ์ จากสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เรียนหนังสือ เด็กไม่ทันจะรู้หนังสือสักที แต่มันก็เรียนอะไรมากมายแล้ว มันก็เรียนตามสัญชาตญาณมีมา เรียนกินนม เรียนอะไรต่างๆ ได้ เรียนถ่ายอุจจาระ แล้วก็เรียนถ่ายอุจจาระให้มันเรียบร้อยขึ้นอะไรอย่างนี้ อย่างนี้มันไม่ใช่เรียนกับหนังสือหรือว่าเรียนจากคำพูดอะไร ต่อมามันก็เรียนจากความรู้สึก เช่น ถ้าเขาไปจับไอ้สิ่งนี้เข้า มันร้อนหรือว่ามันเจ็บมือ เขาก็ไม่จับ เด็กๆ ตัวเล็กๆ มันก็รู้ มันก็ไม่จับ นี้ใครสอนมันล่ะ ไอ้สิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาตินะมันสอน หรือว่าพูดให้ถูกแล้ว ความรู้สึกที่ได้รับครั้งหนึ่งๆ มันสอน ทำผิดก็สอน ทำถูกต้องก็สอน มันก็รู้จักเว้นไอ้ที่ควรเว้น ทำที่ควรทำ อย่างนี้ก็เรียกว่าการศึกษาด้วยเหมือนกัน แล้วก็เป็นการศึกษาที่แท้จริงและมีประโยชน์ที่สุดยิ่งกว่าการศึกษาจากหนังสือ แม้ว่าเราเรียนจากหนังสือแล้วเราก็ต้องไปเรียนอย่างนั้นอีกทีหนึ่ง สมมุติว่าเราเรียนเป็น engineer ก็เรียนวิชาในห้องเรียน เราก็ไปเรียนกับตัวเครื่องจักรเครื่องยนต์ จึงจะเรียกว่ารู้จริงในตอนนี้ ถ้าว่าเรียนปริยัติเหมือนกับเรียนในห้องเรียนอย่างเดี๋ยวนี้ เราก็ไปลงมือปฏิบัตินี่ก็ไปเรียนกับตัวจริง ไปเรียนกับกิเลส แต่ว่าที่เรียนจริงกว่านั้น ก็คือว่าพอกิเลสเกิดขึ้นมันร้อนอย่างไร จะขวนขวายจะทำให้มันสิ้นไปอย่างไร และได้รับผลเกิดขึ้นอย่างไร นี่คือการเรียนจริง คำว่าสิกขาจึงหมายถึงการปฏิบัติ ปฏิบัติให้รู้ ปฏิบัติให้ละได้สำเร็จ ปฏิบัติจนได้รับผลรู้จักผลที่ได้รับว่ามีรสชาติอย่างไร คือชิมรสของพระนิพพานกันทีเดียว เรียนไปถึงโน่นเลย อย่างนี้เรียกว่า ไตรสิกขา ส่วนศีลเรียนให้มันมีการสำรวมดี เป็นระเบียบดี ส่วนกาย วาจา ส่วนสมาธิก็เรียนให้ใจมันมีสมรรถภาพถึงที่สุด ส่วนปัญญาก็ให้มันรอบรู้ในส่วนที่ควรจะรู้ให้เพียงพอ คนเรามันอยู่ด้วยศีล สมาธิ ปัญญากันทั้งนั้น อย่าเข้าใจว่าพวกบรรพชิตเท่านั้นที่จะมีศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าว่าโดยความหมายแล้วทุกคนนะจะต้องมี ศีล สมาธิ ปัญญา แม้ชาวบ้านนั่นนะ จะต้องมีความหมาย เจตนารมณ์ของศีล คือเขาต้องสำรวม ระวังไว้ทุกอย่าง และก็มีศีลอย่างชาวบ้าน มีสมาธิอย่างชาวบ้าน มีปัญญาอย่างชาวบ้าน แต่เดี๋ยวนี้ เราจะไม่เอาอย่างนั้นกันแล้ว ไม่เอาเพียงเท่านั้น ให้ลึกกว่านั้น เพราะว่าจะต้องอยู่ด้วยความหมายของศีล ของสมาธิ ปัญญา คือการสังวรณ์ ระวังอยู่นี้เป็นศีล นี่การปักใจมั่นเมื่อทำอะไร นั้นมันปักใจมั่น นี่ก็เรียกว่ามีสมาธิ มันก็ฉลาดพอตัวในเรื่องนั้น ก็มีปัญญา เพราะฉะนั้นแม้แต่สุนัข มันก็ต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา ก็ลองมอง สุนัขมันต้องมีระวังระไว สังวรณ์ นี้เป็นส่วนศีลตามแบบของสุนัข ถ้ามันลงทำอะไรแล้วก็มันทำด้วยจิตที่รุนแรงเหมือนกัน แล้วมันมีสมาธิตามแบบของสุนัข เช่นมันจะกัดหรือมันจะขุดหรือมันจะทำ มันต้องทำด้วยกำลังจิตทั้งหมด แล้วมันก็ฉลาดพอตัวที่ให้มันมีชีวิตรอดอยู่ได้ ความหมายของ ศีล สมาธิ ปัญญา ชั้นรากฐานตามกฎของธรรมชาติ มันมีได้ในสิ่งที่มีชีวิต นั่นเราจึงบูชาให้ศีล สมาธิ ปัญญามาตั้งแต่รกราก จนมาอยู่ในรูปของศีล สมาธิ ปัญญาตามแบบที่ปรับปรุงดีที่สุดแล้ว คือพระพุทธศาสนาหรือคำสอนของพระพุทธเจ้า ไตรสิกขาหรือศีล สมาธิ ปัญญาก็ขยายออกมาเป็นมรรคมีองค์ ๘ ประการ มีครู อาจารย์ ในโรงเรียนนักธรรมก็สอนให้ชัดเจนดีอยู่แล้วว่ามันแยกออกมาอย่างไร จึงเป็น ๘ จาก ๓ มาเป็น ๘ หรือ จาก ๘ ให้เหลือ ๓ นั้นมันทำกันอย่างไร นี่มันเป็น ๘ ออกไปเขาก็ให้มันง่ายขึ้น และให้มันถูกกะจังหวะ ให้ถูกกับวิธีปฏิบัติ นั้นเรื่องมรรคมีองค์ ๘ นี้จึงเอาปัญญามาก่อน เป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป ให้ปัญญามันนำหน้า แล้วก็มาถึงศีล มันก็ไม่เข้ารกเข้าพง เพราะปัญญามันนำหน้า มีความปรารถนาถูกต้อง มีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตา สัมมาอาชีโว(นาทีที่ 27.50) มันก็ถูกต้อง ไม่เข้ารกเข้าพง จึงเป็นสัมมา สัมมา สัมมาขึ้นมา สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สามนี้มันก็เป็นกำลังหนุน หนุนหนักขึ้นๆๆ ก็เลยไปกันมากขึ้น ไกลขึ้น หล่อเลี้ยงตัวเองไปให้ทั่ว นี่ต้องเรียนอย่างนี้ ทั้งในแง่ของปริยัติ ทั้งในแง่ของปฏิบัติ นึกชิมรสของปฏิเวธพร้อมๆกันไป ถ้าว่าบวชมาไม่งมงาย เข้ามาสู่พรหมจรรย์นี้โดยถูกต้องคือไม่งมงายแล้วมันจะเป็นอย่างนี้ มีการเรียนถูกต้องในเรื่องของพรหมจรรย์ บรรพชา สัลเลขธรรม ไตรสิกขา มรรคมีองค์ ๘ เนื้อเรื่องเดียวกันทั้งนั้น จะแยกออกไปเป็นกี่อย่าง กี่ชื่อ ก็มันก็เรื่องเดียวกันทั้งนั้น เป็นการกระทำเพื่อให้ความทุกข์มันสิ้นสุดลง เดี๋ยวนี้เขาไม่เข้าใจนี่ว่าบวชนี่มันเรียนอย่างนี้ มันก็ดูถูกกันเสีย ไปได้รับการศึกษาใหม่ๆ มาอย่างเพ้อเจ้อ อย่างเหลิงหลง ก็ดูถูกศาสนานี้ก็มีอยู่มาก แล้วคนชนิดนี่จะเลวต่อไปอีก ถึงกับว่าถ้าบวชแล้วก็เอาเปรียบศาสนา เอาเปรียบสังคม ในกรุงเทพนั่นเอง ยืนยันอย่างนี้ เห็นมากับตาเอง ไอ้คนที่มีการศึกษาดี มาจากเมืองนอกเมืองนาเป็นข้าราชการชั้นสูง มันบวชแบบคดโกง เอาเปรียบศาสนาทั้งนั้น เขาเรียกว่าบวชเพื่อพักผ่อนโน่น หน้าที่การงานเขาสูง เงินเดือนแพง แล้วเขาก็มาพักผ่อนในการบวช แล้วเงินเดือนก็ได้ พวกนี้สรวลเสเฮฮากันทั้งวัน มีของกิน ของเยี่ยม ของ สรวลเสเฮฮากันทั้งวัน เป็นการพักผ่อนจริงเหมือนกัน เป็นผู้มีชื่อ มีเกียรติ เป็นข้าราชการ แล้วก็ในวัดที่มีชื่อเสียงเสียด้วย นี่คือมันไม่รู้ว่าการเรียนของพระนั้นเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้ก็คงยังมีอยู่นี่ เมื่อสมัยที่ผมอยู่ที่กรุงเทพนี่ผมเห็นเรื่อย ชอบไป บางทีก็ไปพบปะพูดจา รู้จักกันด้วยกะไอ้พวกบวชเอาเปรียบศาสนาและสังคมอย่างนี้ แล้วไม่ได้เรียนอะไรเลย สึกออกไป เขาบวช ๓ เดือน นี่คือการเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเรียน ในทางศาสนา ไม่ได้เรียนอะไร สมภารก็ใจดี ก็เกรงใจ ไม่ต้องเรียนก็ได้ ครบ ๓ เดือนก็สึกไป ก็สนุกกันทั้งตัวเองและทั้งเพื่อนฝูงที่มาเยี่ยมเยียน นี่เรียกว่าบวชเข้ามาอย่างงมงายแล้ว มันก็เข้าใจผิดเกี่ยวกับการเรียน ดูถูกดูหมิ่นการเรียน ในพระพุทธศาสนา เราจะดูคำว่าเรียนกันบ้าง ให้มันชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก คำว่า เรียน ที่มาในคำว่าบวชเรียน คนโบราณเขาใช้คำคู่ พ่วงกันไปเลยว่า บวชเรียน มึงบวชเรียนเสียบ้าง มึงบวช มึงเรียนเสียบ้าง อย่างนี้ คนแก่ๆ เขาจะว่าอย่างนี้ บวชเรียน ผนวกเป็นคำเดียวกันเลยเรียกว่าบวชเรียน แต่ความหมายมันแยกกันก็มี รวมกันเสียก็มี แต่ความหมายทั่วไปมันรวมกัน เพราะว่าบวชแล้วมันต้องเรียน มันต้องเรียนอยู่ในตัว มันบวชแล้วไม่เรียนนั้นมันไม่ได้ อย่ามาแยกกันว่า บวชเมื่อทำพิธีบวชออกมาแล้ว และหลังจากนั้นก็เรียน แต่อย่าลืมว่า เมื่อเรียนอยู่นั้นก็คือบวชอยู่ คือเป็นนักบวชอยู่ มันรวมกันเสียดีกว่า ว่าบวชเรียน ถ้าบวชแล้วไม่เรียน ก็ไม่เป็นบวช จะเรียนศีล สมาธิ ปัญญา เรียนอะไร ก็ต้องเรียนจึงจะเป็นบวช ถ้าจะเรียนปริยัติล้วนๆ ก็ยังดีกว่าไม่เรียน สมัยก่อนนี้ ถ้าไปบ้านนอกก็เรียนสวดมนต์กันโดยมาก ถึงในกรุงเทพก็เถอะ เมื่อสมัยที่ยังไม่เจริญมันก็บวชมันก็เรียนสวดมนต์กันโดยมาก ฉะนั้นจึงมีหนังสือสวดมนต์เกิดขึ้นอย่างเป็นหลักฐาน เขาจัดเขาเตรียมไว้ดี อาจจะต้องเลือกเรียนตั้งแต่๗ ตำนาน ๑๒ ตำนาน แล้วก็ พานาวาน (นาทีที่ 32.51) จะไปถึงไอ้บทสูงสุดเรื่องธรรมจักร มหาสมัย เรื่อยๆไป จนกระทั่งปาติโมกข์ ก็เป็นเรียนปริยัติท่องจำด้วย ไม่รู้ว่าอะไร แต่ก็ยังดี ก็เรียนจำได้ มันต้องเป็นคนพยายาม เสียสละ อดทน อยู่มากเหมือนกัน มีการปฏิบัติธรรมะหลายข้อ จึงจะเรียนจบ สวดมนต์ และปาติโมกข์ แล้วขยันสวดก็ดีกว่าเหลวไหล ต่อมาก็ค่อยๆ เรียนความหมาย คำแปลเอาเองก็แล้วกัน นี่ก็ปริยัติในสมัยโบราณบางสมัยนี้มันก็มีแต่เพียงเรียนอย่างนี้ หนังสือสวดมนต์ก็ปรากฎอยู่จนเดี๋ยวนี้ ไปเปิดดูมันเรียนอะไรบ้าง มันก็เกิดแตกแขนงออกไปเป็นสวดมนต์สำหรับเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคม มันต้องไปสวดมนต์ที่บ้าน ไปสวดศพ ไปทำอะไรที่ต่างๆ เกี่ยวกับสวดมนต์ในภาษาบาลี มันเป็นเรื่องรูปโครงของศาสนาอันหนึ่งซึ่งต้องทรงไว้ก่อน มิฉะนั้นมันจะหมดเลย ก็ยังดีนี่ ทรงเอาไว้ก่อน เป็นรูปโครงไว้อย่าให้มันหมดไปเสีย หรือว่าเอามาท่องจำไว้แล้วเราใช้เป็นหลักสำหรับปฏิบัติ ในบทสวดมนต์นั้นก็มีหลักธรรมะ ในบทปาติโมกข์ก็มีบทวินัยก็ต้องเรียน ก็ต้องศึกษาปฏิบัติ นี่เรียกว่าปริยัติสมัยก่อนเรียนสวดมนต์ ปฏิบัติเขาก็มีเหมือนกัน ก็เรียกว่าวิปัสสนา เรียกภาษาบ้านนอก ปักษ์ใต้นี้ก็เรียกว่าเข้ากุฏิ คือเข้ากุฏิ แล้วก็ทำกุฏิเล็กๆเป็นกระท่อมเฉพาะการนี้ แล้วก็ไปนั่งในนั้น แล้วก็ทำวิปัสสนา สมัยผมเล็กๆ ผมเห็นมันมีมากตามวัด ที่เรียกว่าไม่เหลวไหล มีกุฏิประทุนเรือสำหรับวิปัสสนา นี่ก็ส่วนปฏิบัติแล้วก็วิปัสสนา จะมีอาจารย์สอนวิปัสสนาตามแบบนั้นๆ นี้เขาเรียกว่าเรียนวิปัสสนา แต่ก็อย่าไปเอาอะไรกันนัก เพราะเรากำลังไม่ได้ชำระสะสาง หรือมันเพียงแต่รักษาประเพณีไว้ก็ยังดี ก็ทำกันไป อย่างน้อยก็มีความเป็นสมาธิบ้าง แต่แล้วก็มีความเปลี่ยนรูป วัตถุประสงค์แตกแขนง เช่นเดียวกับปริยัติ เรื่องสวดมนต์นี่ เสร็จแล้วก็ไปสวดเอาสตางค์เอาเงิน สวดศพ สวดบ้าน วิปัสสนาก็เหมือนกันนะ เพื่อจะชำระกิเลส เสร็จแล้วมันแตกแขนงไปเป็นเพื่ออิทธิฤทธิ์ คงกระพันชาตรีทำนองนั้น นี่มันส่วนแตกแขนง ก็อย่าไปว่าเขา แต่เจตนาแท้จริงก็อยากเรียนวิปัสสนา ทำวิปัสสนา หวังจะได้วิปัสสนา เขาก็ทำไปตามสติปัญญาของสมัยนั้น ได้ปิติบ้างก็พอใจนี้ก็เรียกว่าได้วิปัสสนาเหมือนกัน ได้ผลของวิปัสสนาเหมือนกัน ทำกันจริงๆจังๆก็มี อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญทางนี้ ผมยังเคยเห็น ทันเห็น เป็นอาจารย์ของโยมของผม ผมก็ยังไปเยี่ยมเยียนอยู่ มาถึงเดี๋ยวนี้ คนรุ่นนี้ก็ดับไปหมด อาจารย์สอนวิปัสนาแบบ เขาก็เรียนวิปัสสนา แม้สมัยนั้น เขาอยู่กันอย่างเคร่งครัดในกิจวัตร ยึดถือการออกปริวาส สมัยก่อนนั้นก็พระบวชเข้ามาคราวหนึ่งนี้ แม้บวช ๓ เดือนนี่ ตอนจบตอนจะสึกนี่ก็ต้องอยู่ปริวาส เป็นกิจกรรมของการออกสังฆาทิเสสอย่างหนึ่ง ก็ต้องอยู่ปริวาส เพราะทำให้ตัวมันสะอาด สึกไปมันก็ไม่มีอะไรติดไป ก็เป็นอุบายอันหนึ่ง เพราะคนที่มันต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิด ก็จะได้เปิดกันเสียในเวลาอันสั้น ก็มีประโยชน์อยู่ แต่แล้วมันก็ไม่พ้นจากความงมงายที่จะเติมเข้ามาว่าทำเพื่อล้างตัว ล้างบาป ล้างเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ไปเสียก็มีส่วนหนึ่ง ที่จริงก็อยู่ปริวาสนี้เป็นการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส คือออกจากอาบัติที่ร้ายกาจที่สุดในบรรดาอาบัติที่แก้ไขได้ เรียกว่าสังฆาทิเสส นอกจากนั้นก็เคร่งครัด วัตรปฏิบัติทั้งหลายตามแบบของโบราณ แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วก็นับว่าน่าเลื่อมใส ที่เขาตั้งใจทำกันจริงๆ ให้มันสืบอยู่มาถึงบัดนี้ได้ ไอ้ส่วนที่มันงมงายนั้นเป็นของแปลกปลอมเข้ามาเป็นธรรมดา แต่ว่ามีการเรียนที่ยึดพระศาสนาไว้ได้มาจนถึงบัดนี้ จึงมีโอกาสปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น แล้วเขามีการเรียนปริยัติ เรียนปฏิบัติ แล้วก็มีปฏิเวธตามสมควร อย่าไปเข้าใจผิด อย่าไปดูถูกกัน เกี่ยวกับการเรียน ในวัดในวาในศาสนานี้ ทีนี้ก็จะพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าเรียนปริยัติ ในฐานะที่ว่ามันเป็นรากแก้วของศาสนา ครูบาอาจารย์แต่ก่อน อุปัจฌาย์อาจารย์แต่ก่อน จนกระทั่งทายก ทายิกา ที่มีความรู้คงแก่เรียน เขาจะพูดเป็นเสียงเดียวกันตามๆกันมา ว่าปริยัตินี่คือรากแก้วของพระศาสนา เห็นถูกที่สุดนะ นั้นเมื่อมีการเทศน์สังคายนา แล้วถ้าว่าเทศน์ไปตามตัวหนังสือ มันก็จะมีประโยคๆนี้ออกมา คือพระไตรปิฎกทั้งสาม มันเป็นปริยัติ เป็นรากแก้วของพระศาสนา ซึ่งจะต้องรักษาไว้ให้ได้ ถ้าพระไตรปิฎกยังอยู่ อย่างน้อยมันก็มีไอ้รากๆนี่อยู่ แม้ต้นมันจะไม่อยู่ มันมีรากเหง้าอยู่มันก็ขึ้นมาใหม่ได้ ให้รักษาส่วนรากแก้วไว้ให้ได้ แม้ว่าส่วนต้นมันจะต้องตายไปตามคราวตามยุคตามสมัยตามกาล ไอ้รากแก้วมันก็ขึ้นมาอีก ถ้าไม่มีปริยัติ ก็ไม่มีทางที่จะทำอย่างนี้ได้ ไม่มีทางที่จะฟื้นฟูสิ่งที่มันผิดให้มันถูกได้ เมื่อสมัยพุทธกาลไม่มีปริยัติ ที่เรียกว่าพระสูตร พระวินัย พระไตรปิฎก เขาไม่สอนกันด้วยปาก ไม่กี่คำ ก็ไม่ได้เรียกชื่อว่า พระสูตร พระวินัย พระไตรปิฎกอะไร พอมาถึงสมัยนี้มันมีพระสูตร พระวินัย พระไตร พระอภิธรรมเต็มที่มากมาย ๘๔๐๐๐ ธรรมขันธ์ ที่คนโง่แม้เป็นพระเป็นเณรแต่มันยังโง่ เพราะเมื่อครั้งพุทธกาลไม่เห็นมีพระไตรปิฎก ทำไมเขาบรรลุมรรคผล เดี๋ยวนี้มีพระไตรปิฏกกลับไม่บรรลุมรรคผล ก็เลยเกลียดพระไตรปิฎก ติเตียนความมีพระไตรปิฎก ติเตียนคนเรียนพระไตรปิฎก นั่นคือมันโง่ มันไม่รู้ว่าอันนี้มันเป็นรากแก้วที่เหลืออยู่ ไอ้ตัวปฏิบัตินะมันหายไปได้ยาก มันเขียนยากนะ เมื่อพระพุทธเจ้าท่านอยู่ ท่านก็สอน เมื่อพระอรหันต์ท่านอยู่ท่านก็สอน มันก็เป็นปริยัติ แล้วก็สอนเท่าที่จำเป็น ก็มีการปฏิบัติได้ผลไปตามนั้น แต่มันมีเหตุการณ์เป็นธรรมดาในโลกที่ให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลง บ้านแตกสาแหรกขาด สอนก็ไม่ได้ สอนก็ไม่สะดวก และอะไรจะเหลืออยู่ มันก็ปริยัติเหลืออยู่ในรูปของพระไตรปิฎกนี้ ระยะหนึ่งมันก็มีเหลืออยู่แต่พระไตรปิฎกเพราะบ้านแตกสาแหรกขาด การปฏิบัติไม่มี พระสงฆ์ไม่มี อย่างประเทศลังกานี้เคยเหลือแต่เณรองค์เดียวก็มี ถึงประเทศไทยเราก็เถอะ สมัยหนึ่งมันเกือบจะไม่มีอะไรเหลือให้น่าดูเลย แต่พระไตรปิฎกมันยังอยู่ มันก็เหมือนรากเหง้ามันยังอยู่ ก็ไปแตะต้องกันใหม่อีก รดน้ำพรวนดินขึ้นมา เดี๋ยวมันก็งอกขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นการที่พุทธศาสนาสมัยนี้มันมีความแตกฉาน แพร่หลายสะพรั่งมานี้ เพราะไอ้รากแก้วนี้มันอยู่ แตกมาเป็นปริยัติ ที่เข้าใจกันดี และก็ปฏิบัติกันให้มันถูกต้อง มันก็ได้ผลอีก มันจะเห็นได้ชัดว่า ปริยัติธรรมหรือพระไตรปิฎกนั้นมันเป็นรากแก้วหรือหัวเหง้าใต้ดิน ถ้ามันยังอยู่แล้วมันจะไม่สูญพันธุ์ ส่วนต้นข้างบนหรือดอกผลนี้มันหายไปได้ในบางยุคบางสมัย เป็นต้นมันถูกตัดตายไป ผลดอกมันก็ไม่มี แต่หัวเหง้ามันอยู่ข้างใต้ เดี๋ยวมันก็โผล่ขึ้นมาอีก เป็นต้นเป็นตอกเป็นผลขึ้นมาอีก ให้รักษารากแก้วนี้ไว้ให้ได้ คือการศึกษาปริยัติที่ถูกต้อง ถ้าไม่รู้ว่าถูกต้องอย่างไร เราก็เอาไว้ทั้งหมดนั้นแหละ เท่าที่มันมีอยู่อย่างไร ผมก็อยู่ในพวกที่ขอร้องและแนะนำว่าอย่าไปชักอะไรออกจากพระไตรปิฎก อย่าไปเติมอะไรเข้าในพระไตรปิฎก มันจะยุ่งกันใหญ่ มันมีอยู่อย่างไร ก็เอามาศึกษาพิจารณาดู ก็เราก็เลือกเอาเท่าที่เราจำเป็นที่จะต้องเรียนและต้องปฏิบัติ ทั้งหมดนั้นก็มอบหมายต่อๆกันไป ต่อๆ กันไป คนข้างหน้าก็อาจจะใช้ประโยชน์ได้ดีกว่านี้ แต่อย่าลืมว่าไอ้การที่เราได้เรียนพระพุทธศาสนาถูกต้องหรือมีประโยชน์ได้กระทั่งพวกคุณมาบวชมานั่งอยู่ที่นี่เพราะว่ามันมีรากแก้ว คือพระไตรปิฎกไม่สูญพันธุ์ ต้นมันหายไป รากมันยังอยู่ เดี๋ยวมันก็โผล่ขึ้นมาอีก มาจัดปรับปรุงแก้ไขเล่าเรียนกันใหม่ เป็นยุคเป็นสมัย ต่อไปนี้มันก็สูญพันธุ์ยาก เพราะพระไตรปิฎกนี้มันก็ถูกกระทำขึ้นหลายภาษา หลายประเทศด้วยตัวอักษรเขาพิมพ์ขึ้นไว้ มันเหมือนกับเก็บพืชพันธุ์ ใครมีโอกาสก็เพาะหว่านไป ไม่มีโอกาสก็เก็บพืชพันธุ์นี้ไว้เรื่อยไป นี่ถือว่าปริยัตินี่เป็นรากแก้วของพระศาสนา อย่าไปโง่ไปตามคนที่มันไม่สามารถจะเรียนปริยัติแล้วมันก็ดูถูก แต่ก็อย่าเหลิงว่ามันรู้ปริยัติแล้วมันก็วิเศษกว่าใคร มันจะบ้าเหมือนกันทั้งสองพวก มันอยู่ที่ว่าต้องทำให้ครบ มีความรู้ถูกต้องเพียงพอ และปฏิบัติถูกต้องเพียงพอและมันได้ผล ส่วนปริยัตินั้นมันเป็นสำรองไว้อย่างนั้น เป็นคลังสำรองไว้สำหรับพระศาสนา เดี๋ยวนี้ถ้าว่าประเทศไทยถูกเผาหมด มีที่ลังกา ที่พม่า ที่กระทั่งไปมีที่ประเทศฝรั่งนะเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องกลัว เว้นไว้แต่มันจะเผาหมดกันทั้งโลก ผู้มีปัญญามันก็ไปเอามาอีก เอามาเรียนอีก มาทำบวชเรียนกันใหม่อีก มันก็มีขึ้นมาอีก ฉะนั้น ถ้าผู้ใดสามารถจะเรียนปริยัติ ที่มีความเหมาะสมได้เพียงไรก็อุตส่าห์เรียน โดยเฉพาะหนุ่มๆ อย่างนี้อุตส่าห์เรียนนักธรรมกัน นักธรรมตรี โท เอก อุตส่าห์เรียนให้ได้ มันจะเป็นไอ้การเตรียมชั้นแรก ที่จะเข้าไปให้ลึกต่อไป ผู้เรียนบาลี ๔ ๕ ประโยค ๙ ประโยค ก็ยังดี มันก็เป็นการเตรียมทั้งนั้นแหละ การเตรียมเพื่อว่าจะไปแตะต้องกับพระไตรปิฎกให้ละเอียดละออและทั่วถึง ไม่ใช่ว่าเรียนประโยค ๙ แล้วมันจะจบพระไตรปิฎก ไม่ใช่ มันยังไม่ได้เรียนเหมือนกัน แต่มันเรียนภาษาพอ ที่จะไปแตะต้องพระไตรปิฎกให้แตกฉานและทั่วถึง มันเสียแต่ว่าโดยมากเป็นประโยค ๙ แล้วมันก็ไม่ได้ไปแตะต้องพระไตรปิฎก มันมีอย่างอื่นมายั่วมาดึงไปหมดเลย แต่เรียนประโยค ๙ และเรียนพระไตรปิฎกกันทุกคน มันก็จะดีกว่านี้มาก หรือว่าเรียนนักธรรมเอกแล้ว ก็พยายามปฏิบัติต่อๆไปอีก มันก็จะดีกว่านี้ นี่ผมเรียกว่าการเรียน ซึ่งมันเป็นระบบดีจัดไว้ดีขึ้นทุกที ดีขึ้นทุกที แต่ไม่มีใครใช้มัน และก็อาศัยความโง่ ด่ากัน คนละทีสองที พวกปริยัติก็ด่าพวกปฏิบัติ พวกปฏิบัติก็ด่าพวกปริยัติ มันเลยไม่มีการเรียนที่แท้จริง คือมันโง่มันเอง ถ้าเรียนจริงก็เรียนเพื่อปฏิบัติ ถ้าเขาจะเรียนเพื่อประโยชน์อย่างอื่นเรียนเพื่ออาชีพเป็นต้น ก็อย่าว่าเขาเลย เพราะมันยังช่วยทำให้ปริยัตินี้มีอยู่ในโลก ให้รากแก้วมัน ช่วยกันรักษารากแก้วไว้ในโลก ผมเคยเข้าใจผิดเรื่องอย่างนี้มานานเหมือนกัน แต่ก็เข้าใจถูกมานานนะ แล้วก็รู้ได้ว่ามันเป็นเนื้อเป็นตัวก็จากการเรียนปริยัติที่ถูกต้อง แล้วก็เลยขอบพระคุณ มหากรุณาคุณของผู้ที่ช่วยกันสืบศาสนาปริยัติมาไว้ไม่ให้สูญหายไปเสีย เพราะเรื่องปฏิบัตินี่มันคนตายไปบางทีพาไปหมด บางยุคบางสมัยไม่มีอาจารย์สอนปฏิบัติเลย อย่างนี้ไม่ใช่ว่าจะพูดอวดดี และไม่ใช่อย่างสมัยผม เกิดสนใจขึ้นมานี้ไม่รู้จะไปหาอาจารย์ผู้สอนปฏิบัติที่ไหน งง มึนไปหมด มันก็ไปหาอาจารย์ปฏิบัติออกมาจากพระไตรปิฎกนั่นเอง มันมีหลักที่มีอยู่อย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น สำหรับจะตามรอยพระอรหันต์ ก็หาอาจารย์ได้ขึ้นมา นั่นคุณค่ามหาศาลของปริยัติก็คืออย่างนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของพระไตรปิฎกที่เขาทำไว้เต็มกำลัง และเขาจะใส่ไว้ให้จนครบจนเกินมีอยู่เป็นระบบหนึ่ง ถ้าเรียนเพื่อเป็นนักปราชญ์ ก็ได้เป็นนักปราชญ์ ถ้าเรียนเพื่อปฏิบัติ มันก็ได้มรรคผล ก็เลือกเอาเองจะเรียนอย่างไร ขออย่างเดียวแต่ว่าอย่าเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเรียนหรือต่อการเรียน เดี๋ยวจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับการบวชแล้วมันก้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการเรียน ขอให้เรียนชนิดที่มันถูกต้องตามวัตถุประสงค์แห่งตนแห่งตน ถ้าบวชสามเดือนก็เรียนให้เหมาะกับผู้ที่บวชสามเดือน ถ้าบวชตลอดไปก็เรียนให้มันเหมาะสำหรับผู้ที่บวชตลอดไป ซึ่งจะต้องทำให้ดีกว่ามากทีเดียว ทำให้ดีกว่า สูงกว่า บวชสามเดือนนี้อย่างน้อยก็ขอพูดย้ำแล้วย้ำเล่าว่าจงชอบการบังคับตัวเองให้มาก อย่าตามใจปาก อย่าตามใจท้อง อย่าตามใจอะไรเรื่องกิน เรื่องเล่น เรื่องเหลาะแหละ เรื่อง อย่าไปเอา อย่าไปตามใจ อย่าบังคับตัวเองให้มากเรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องอยู่ เรื่อง แม้แต่เรื่องนอนสายขอให้บังคับกันบ้าง นั่นคือเป็นตัวปฏิบัติในพระศาสนา อย่าไปเห็นแก่ปากแล้วก็สะสมของกิน มันเป็นตะกละและผิดวินัยด้วย ไม่เป็น ไม่เป็นการบังคับเลย ขอรัองว่าถ้าบวชสามเดือนก็ขอให้สนใจควบคุมอันนี้ให้มาก จนเรามีมาตรฐานวางกันไว้มาหลายปีแล้วว่า ถ้าน้ำหนักมันลดไปได้ ๖ กิโลถึงจะถูกต้อง บวชสามเดือนนี้กว่าจะสึกน้ำหนักลดไป ๖ กิโลนั้นถูกต้อง หลายคนแล้วนะได้ผลตรงๆกันหมด คือมันไม่เห็นแก่เรื่องกิน เรื่องเล่น เรื่องอะไรต่างๆ น้ำหนักลดไป ๖ กิโล บางคนก็มากกว่านั้น บางคนก็น้อยกว่านั้น ขยันตื่นแต่ดึกๆไหว้พระสวดมนต์ แล้วก็ขยันที่จะฟังคำอธิบายศึกษาเล่าเรียนจดบันทึกจนสุดท้าย และขยันปฏิบัติทางจิตที่เรียกว่า กรรมฐาน นี่เท่าที่ทำได้ นั่นก็คือเรียน เรียนกรรมฐานคือปฏิบัติ ไม่ได้เรียนตัวหนังสือ วิธีหนึ่งถ้าสึกออกไปก็ได้วิธีบังคับตัวเองอย่างเฉียบขาดนี้ไปด้วย และยังได้ความรู้เกี่ยวกับหลักพระพุทธศาสนาไปอย่างถูกต้องและพอสมควรด้วย นี่เรียกว่าไม่เข้าใจผิดเกี่ยวกับการบวช ไม่เข้าใจผิดเกี่ยวกับการเรียน แม้ว่าบวชสามเดือน ส่วนที่ผู้บวชต่อไปก็ยังมีเรื่องอีกมาก มโน(นาทีที่ 51.59) พูดไม่ไหว ยิ่งพูดว่าแม้แต่บวชเพียงสามเดือนก็ให้ได้ผลดีที่สุดของการบรรพชา เพราะว่าความไม่เข้าใจผิดนั่นเอง นี่ก็เรียกว่าสัมมาทิฏฐิแล้วไม่มีเสีย มิจฉาทิฏฐิแล้วเป็นมีฉิบหาย ร่อยหรอลงไป ร่อยหรอลงไป สัมมาทิฏฐิแล้วก็จะมีความเจริญงอกงาม งดงาม ผ่องใสขึ้นมา ความเข้าใจผิดนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิเกี่ยวกับการบวชก็ตาม การเรียนก็ตาม อะไรก็ตาม ขอให้ทุกคนมีสัมมาทิฏฐิในการบวชเข้ามา และในการเรียนอยู่ตลอดเวลา ผมเป็นห่วงอย่างนี้ในฐานะว่าทุกคนนี้เป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน จึงได้พูดอย่างนี้ หรือจะพูดอย่างอื่นอีกก็ด้วยความมุ่งหมายอย่างนี้ และสำหรับวันนี้เวลาพอสมควรแล้ว ก็ยุติไว้เพียงเท่านี้ก่อนเรื่องการเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเรียน ตัวเราเอาให้พอดี อย่าต้องกลับไปกลับมากับสติ พอเสร็จแล้วก็