แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เวทนาไม่ใช่อย่างเดียวกันกับวิญญาณ ไม่ใช่อย่างเดียวกัน อ้ายนั่นมันรู้แจ้ง แต่อ้ายนี่รู้สึก ถ้าเป็นภาษาอังกฤษอ้ายที่เป็นวิญญาณเขาเรียก Consciousness ที่เป็นเวทนานี่เขาเรียกว่า Feeling เฉยๆ นี่เวทนารู้สึกอยู่ในจิตนี่ เป็นเวทนาขันธ์ พอมีเวทนาขันธ์อย่างนี้แล้ว มันมีความรู้ชนิดหนึ่ง รู้สึกต่อเวทนาขันธ์ ว่าเป็นสุขอย่างนี้ก็เรียกสุขสัญญา ว่าเป็นทุกข์ก็เรียกทุกข์สัญญา ว่าสุขของเรา รู้ตัวเราก็อัตตสัญญา อัสนียสัญญา อย่างนี้เรียกว่าสัญญาขันธ์ อ้ายสัญญานี่ก็แปลว่า รู้ พร้อม สัญแปลว่าพร้อม ญาแปลว่ารู้ ก็ไม่ใช่รู้อย่างวิญญาณรู้ ไม่ได้รู้สึกอย่างเวทนารู้ สัญญาที่เป็นสัญญาขันธ์นี้ ภาษาอังกฤษเดี๋ยวนี้เขาใช้กันอยู่ว่า Perception ถูกผิดอยู่ที่เขาผู้นิยมบัญญัติขึ้นใช้ พวกครูบาอาจารย์ภาษาอังกฤษเขาใช้กันอย่างนั้น ในปทานุกรม perception มีสัญญามั่นหมายลงในเวทนานั้นอย่างไรแล้ว เสร็จแล้ว มันก็เกิดสังขารขันธ์ มีความคิดเป็นภพโดยตรง มันมีVolition เจตนา อย่างนั้นอย่างนี้ เป็นความคิดที่จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างนี้เรียกสังขารขันธ์ แต่สังขารขันธ์นี้ก็เรียกว่า Formation formation คือคำข้างหน้าที่ประกอบให้รู้ว่าเป็นเรื่องทางจิตอีกทางหนึ่ง แต่ตัวแท้ๆเรียกว่า Formation การทำให้เป็นรูป ของความคิดขึ้นมาเรียกว่าสังขารขันธ์
ส่วนรูปขันธ์นั้นหมายถึงวัตถุ ใช้กันอยู่ว่า Corporeality Corporeality จะถูกหรือผิดก็ไม่ทราบ อาตมาไม่ตรงใจว่ามันถูกหมด แต่เขาไม่มีคำอื่นดีกว่านี้ ก็ใช้คำนี้ Corporeality แปลว่ารูป คู่กับ Mentality ที่แปลว่านาม รูปขันธ์ เราไม่ได้มีรูปขันธ์อยู่จนกว่าว่าร่างกายมันจะไปทำงานทางตา ทางหู ทางจมูก ทางผิวหนัง อะไรเสียก่อน ร่างกายนี้จึงจะกลายเป็นรูปขันธ์ขึ้นมา ฉะนั้นเราจะมีรูปขันธ์ได้ก็เมื่อร่างกายนี้ทำหน้าที่ของร่างกาย ของรูป แล้วก็มีเวทนาขันธ์ขึ้นมา รู้สึกต่อสิ่งที่เข้ามา อ้อมีวิญญาณก่อน แต่ว่าเรียงลำดับสับสนอยู่ ไปแตะต้องเข้ากับอะไรก็มีวิญญาณรู้แจ้งก่อน หลังจากนั้นก็มี Perception มีเวทนา เวทนาขันธ์ เวทนาขันธ์ก็มีความสำคัญมั่นหมายทับลงไปบนนั้นเรียกว่า สัญญาขันธ์ รวมทั้งความจำได้หมายรู้ด้วยว่านี้มันคืออะไร แต่นั่นมันก็ไม่ร้ายกาจ มันจำได้ว่านี่รูป นี่รูป สมมติว่าดอกไม้ เป็นดอกกุหลาบ อ้ายวิญญาณขันธ์มันรู้แจ้งแต่เพียงรูปร่างและสีสันเท่านั้น อ้ายส่วนเวทนาขันธ์มันรู้ถึงความสวย ความงาม ความหอม ความอะไรต่างๆ ถ้าสัญญาขันธ์มันหมายมั่นในดอกกุหลาบ หมายมั่นในดอกกุหลาบนี่ว่ามันสวย ว่าควรจะเอา อะไรอย่างนี้ ต่อจากนั้นมันก็มีสังขารขันธ์ คือความคิด คิด แล้วแต่เรื่อง คิดจะเอาหรือว่าคิดจะทำลายหรืออะไรก็แล้วแต่เหตุผลแล้วแต่เรื่องในเวลานั้น ถ้าท่านคิดจะปลูกมันหรือว่าจะไปซื้อมันมาอีกก็สุดแท้แต่เรื่องความคิด เรื่องทางหูคือเสียงก็เหมือนกัน เรื่องทางลิ้นก็เหมือนกัน เรื่องทางจมูกก็เหมือนกัน เรื่องทางลิ้นก็เหมือนกัน หลักเกณท์เดียวกัน ให้เกิดขันธ์ทั้ง ๕
ควรจะไปศึกษาข้อนี้จนให้มันรู้จักให้ชัด และก็อย่าให้มันฝั้นเฝือ เรื่อง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รู้เบื้องต้นอย่างนี้ก่อน เรียก ก ข ก กา ของปรมัตถธรรม
ผู้ถาม ตายแล้วก็ไม่เรียกรูปขันธ์
ท่านอาจารย์ ไม่เรียก รูปขันธ์มีได้เฉพาะคนเป็นๆ ถ้าว่ามันไม่ทำหน้าที่ก็เรียกว่ารูปธาตุเฉยๆ เมื่อตายแล้วนี่ เมื่อตายลงทันทีนี่ จะเหลือรูปธาตุอยู่ คือร่างกายเป็นธาตุตามธรรมชาติ เรียกว่ารูปธาตุ เมื่อถูกเผาไหม้ไปหรือฝังดินเสีย อ้ายรูปธาตุนั้นก็เปลี่ยนแปลงไป อ้ายขันธ์ทั้ง ๕ นี่มันต้องคนเป็นๆ ขันธ์ทั้ง ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
นี่ถ้าว่ามีความมั่นหมายที่รูป ร่างกาย หรือสัญญา เวทนา ต่างๆว่าตัวกู ว่าของกู อีกทีหนึ่งอย่างนี้ก็เป็นอีกชั้นหนึ่ง ก็เรียกว่าอุปาทานขันธ์ เมื่อตะกี้เรียกว่าขันธ์เฉยๆ สัญญาขันธ์ เวทนาขันธ์ สังขารขันธ์ ขันธ์เฉยๆ แต่ถ้าว่ามีอวิชชามากไปจับยึดเอา เป็นฉัน เป็นของฉัน กลายเป็นอุปาทานขันธ์ ถ้าว่ารูปก็เป็นรูปาทานขันธ์ ถ้าเวทนาก็เป็นเวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์ ตัวนี้เป็นทุกข์ อ้ายเรียงกันเป็นขันธ์เฉยๆ ยังไม่ทันจะเป็นทุกข์ ถ้าในกรณีที่มันมั่นหมายเป็นตัวเราเป็นของเราแล้ว มันเปลี่ยนรูปเป็นอุปาทานขันธ์ เป็นของหนัก ที่จิตมันเข้าไปจับ ไปฉวย ไปถือ มันก็เลยเป็นทุกข์ ฉะนั้นขันธ์ก็ดี อุปาทานขันธ์ก็ดี เป็นสิ่งที่มี สำหรับคนที่มีชีวิต คนที่มีความรู้สึกอะไรดีด้วย ไม่ใช่หลับ หรือไม่ใช่สลบ หรือไม่ใช่อะไรอย่างนั้น
ทีนี้ ถ้าว่าตาของเราไม่ทำหน้าที่อะไร มองก็มองเฉยๆ เหม่อๆไป อย่างนี้เรียกว่าไม่มี ไม่มีเบ็ญจขันธ์ ไม่มีการเห็นทางตาเป็นเรื่องเป็นราวอะไร ไม่มีทางหูเป็นเรื่องเป็นราว ทางจมูกเป็นเรื่องเป็นราวจนครบชุดอย่างที่ว่าแล้ว จึงจะเรียกว่ามีเบ็ญจขันธ์ จะตั้งต้นทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ เป็นแต่ขันธ์ ๕ เฉยๆอย่างนี้ก็ยังไม่เป็นไร ยังไม่ทรมานใจ ยังไม่จับยึดเข้ามาเป็นของหนัก แต่ถ้ามันมีอวิชชาเข้ามา เกิดตัณหา เกิดอุปาทานยึดเอาเป็นของตน มันจึงหนักและเป็นทุกข์ ฉะนั้นจึงมีหลักว่า ปัญจุปาทานักขันธาทุกขา ขันธ์ทั้งหลายที่ประกอบอยู่ในอุปาทานทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์
ผู้ถาม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นหน้าที่ของจิต
ท่านอาจารย์ เป็นความรู้สึกทางจิต เป็นความรู้สึกของจิต เขาจัดเป็นความรู้สึกของจิต หรือว่าถ้าพูดอย่างภาษาอภิธรรมก็ว่า สิ่งที่ปรุงจิต ประกอบจิต ให้จิตมันรู้สึกอย่างนั้นขึ้นมา แต่ตัวมันแท้ๆไม่เรียกว่าจิต เขาเรียกว่าเจตสิก แต่มันเกิดขึ้นมาพร้อมกับจิต เป็นจิตที่รู้สึกอย่างนั้น รู้สึกอย่างนี้ ไปยืมชื่อของเจตสิก คือเวทนา สัญญา สังขาร มาเป็นชื่อของจิต เวทนา สัญญา สังขาร มันเป็นชื่อของเจตสิก เอามาใช้เป็นชื่อของจิต อ้ายวิญญาณนั้นคือจิตเป็นจิตอยู่แล้ว จัดเป็นพวกจิตอยู่แล้ว
ผู้ถาม สังขารนี่จะปรุงแต่งให้ชั่วก็ได้ เป็นปัญญาก็ได้
ท่านอาจารย์ ความคิดนี่เป็นความคิดที่ดีก็ได้ ชั่วก็ได้ มีปัญญาก็ได้ ไม่มีปัญญาก็ได้ แต่ว่าเขาจะมีหลักสำหรับแบ่งสังขารนี้ว่า เป็นกุศล เป็นอกุศล หรือ เป็นอัพยากฤต คือไม่ใช่กุศลและไม่ใช่อกุศล ความคิดของคนเราจัดเป็นว่าเป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ หรือว่าไม่เป็นทั้งสองอย่างก็ได้ เป็นความคิดความรู้สึก บางทีคิดไปชนิดที่ไม่ไปทำอันตรายใคร หรือว่าไม่ไปทำความดีอะไร อย่างนี้ก็จัดว่าเป็นอัพยากฤต
ผู้ถาม ข้อหนึ่งโอปปาติกะคืออะไรครับ ข้อสองการให้ทานแก่ขอทานจะไม่เป็นการส่งเสริมให้ขอทานเพิ่มขึ้นหรือครับ ฉะนั้นควรให้ทานแก่เขาไหม
ท่านอาจารย์ เรื่องโอปปาติกะนี่ ถ้าให้ดีก็ต้องไปถามมหาพร มหาพรที่กรุงเทพฯ นั่นเขามีพูด มีอธิบายเต็มที่ แล้ว อาตมาไม่ค่อยสนใจโอปปาติกะ ตามที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์โอปปาติกะนั้น ก็แปลว่าอุบัติขึ้นมาทันควัน ทันที เป็นภพใหม่ ภพอื่น ภพอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นว่าเป็นเทวดาก็เป็นทันที เป็นพรหมก็เป็นทันที เป็นผี เป็นปีศาจ เป็นเปรต เป็นอะไรต่างๆก็เป็นขึ้นมาทันที อย่างนี้เรียกว่าโอปปาติกะ ทีนี้พวกที่เขาถือตามแบบโบราณ ที่เขาเรียกว่านรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เขาก็เอาไปตามนั้น มีโลกสวรรค์ มีโลกนรก มีโลกเปรต มีโลกอสุรกาย มีโลกอะไรก็ตามที่เป็นอมนุษย์ การที่ไปเกิดผุดขึ้นมาในโลกนั้นๆทันควัน ทันที นี่เป็นโอปปาติกะ
อาตมาไม่เอาอย่างนั้น ใครจะพูดก็พูดไปเถอะไม่ไปค้านเขา เท่าที่ความคิดอย่างสังขารขันธ์นี่ ที่มันคิดดี หรือคิดชั่ว คิดเลว คิดมีความหมายอย่างไร พอคิดอย่างไรลงไปแล้ว แล้วก็เปลี่ยนเป็นอย่างนั้นทันที ถ้าคิดอย่างโจรก็เป็นโจรทันที ถ้าคิดอย่างบัณฑิตก็เป็นบัณฑิตทันที ถ้าเราไปเกิดคิดอย่างสัตว์เข้าก็เป็นสัตว์ทันที คิดอย่างเทวดาก็เป็นเทวดาทันที ที่นั่งอยู่ตรงนี้ แล้วแต่ความคิด มันเปลี่ยนไปคิดในรูปไหน
ฉะนั้นเราจึงมีอะไรอยู่ที่ในนี้ได้หมด เช่นว่าความคิดมันติดปาก มันหิวกระหายอย่างยิ่ง มันก็เป็นเปรต ถ้าร้อนเป็นไฟ ก็เป็นนรก เป็นสัตว์นรก ถ้ามันโง่ก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าขี้ขลาดก็เป็นอสุรกาย คนที่ขี้ขลาด ไม่มีเหตุผล ขี้ขลาดรุนแรง คนนั้นเกิดเป็นอสุรกายก็ได้ อาการอย่างนี้เราเรียกว่าโอปปาติกะเหมือนกัน ทีนี้เขาสอนกันอยู่ก่อนอีกแบบหนึ่งว่าต้องตายไปแล้ว ต้องตายลงแล้วไปเกิดพรึบเป็นอะไรขึ้นมา นี่โอปปาติกะ ก็อย่าไปเลิกของเขาเพราะว่ามันมีประโยชน์ทางศีลธรรมแก่พวกนั้น เสร็จแล้วมันก็น่าหัวที่ว่าไปเกิดนั่นนะไม่ต้องเป็นเด็ก ไปเกิดเป็นโตเต็มที่ทันที และก็มักไม่มีหญิงมีชายด้วย ไม่มีเพศด้วย
นี่เป็นเรื่องของธรรมะแท้ๆ เช่นว่าเราหิวเป็นเปรต มันก็ไม่ต้องเป็นเด็กเปรต เป็นผู้ใหญ่เปรตทันที และไม่ต้องมีหญิงมีชายด้วย นี่ตรงกับความหมายของโอปปาติกะแท้ๆ แต่มหาพรเขาไม่ยอมอธิบายอย่างนี้ เมื่อไม่กี่วันนี้เขาได้มาที่นี่ อาตมาก็พูดว่าเราก็แบ่งกันคนละอย่าง ไม่ต้องทะเลาะกัน ถ้าอยากจะเข้าใจเรื่องโอปปาติกะแบบโน้นละก็ ไปสนทนากับมหาพร อาตมาคิดว่าแบบนี้จำเป็นกว่า ถ้าเราจะได้ป้องกัน อย่าให้เราปล่อยให้ความคิดไปเป็นเปรต เป็นนรก เดรัจฉานเป็นต้น แต่ในอีกทางหนึ่งก็ดีเหมือนกัน เราจะได้ไปเกิดเป็นเทวดาเป็นบัณฑิตเป็นอะไรได้ คือเราคิดให้ดี คิดให้ดีเป็นบัณฑิตมันก็เกิดเป็นบัณฑิตทันที หรือว่าจะเป็นเทวดาก็ได้ ถ้าต้องการเป็นพรหม ทำจิตตามหลักการของสมาธิสมาบัติ มันก็เกิดเป็นพรหมทันที มันเป็นทันที ไม่ต้องเป็นเด็กๆ เล็กๆ ฉะนั้นเขาจึงพูดไว้เลยว่าในโลกเทวดาหรือพรหมโลกไม่มีเด็ก เกิดโตขึ้นมา ก็โตเต็มที่ทันที
ผู้ถาม ข้อสอง การให้ทานกับคนขอทานจะสมควรไหม ดูเหมือนจะส่งเสริมให้ขอทานมากขึ้น
ท่านอาจารย์ นี่มันมีหลายชนิด มันแล้วแต่การให้ การให้คนขอทาน มันก็เรียกว่ายังต้องแบ่งเป็นว่าให้ในลักษณะอย่างไร ไปส่งเสริมให้เขาขี้เกียจมากขึ้นก็ได้เหมือนกัน หรือว่าให้ ให้เขารอดชีวิตอยู่ได้เพราะว่าเขาเป็นคนทุพลภาพอย่างนี้ก็ได้ ไม่ได้ส่งเสริม เพราะว่าเขาเป็นคนทุพลภาพ แต่ว่าความสำคัญมันอยู่ที่ฝ่ายเรา ว่าเรามันให้ไปด้วยอะไร ให้ไปเอาสวรรค์วิมาน หรือให้ไปด้วยอะไร แล้วมันจะเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง ถ้าเราให้ไปโดยอยากจะกำจัดความเห็นแก่ตัวของเรา ได้ทั้งนั้นแหละ เราจะเป็นฝ่ายได้ ไม่มีเสียแหละ แม้เราจะเผลอไปให้ชนิดที่ส่งเสริมคนขอทานให้ขี้เกียจมากขึ้นไปอีก อ้ายเราก็ยังได้ส่วนที่เราควรจะได้นี่ ถ้าเราได้เพื่อกำจัดความเห็นแก่ตัวของเรา ฉะนั้นเอาส่วนของเราเป็นเกณท์ให้มากเข้าไว้ เพื่อให้มันถูกต้องในส่วนของเรา คือให้เพื่อชะล้างออกไปที่ละนิด ทีละนิด ชะล้างความเห็นแก่ตัว
ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านเลยสอนไว้ว่าการให้ทานต้องเลือก คือต้องพิจารณา ต้องเลือก ต้องระมัดระวังเหมือนกัน มันเลยเป็นความถูกต้องอีกทีหนึ่ง ว่าควรจะให้หรือไม่ให้ ควรจะให้แก่คนนี้หรือไม่ มันก็ไม่มีทางจะผิดได้ถ้าปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ว่าให้เลือกดูก่อน ที่จะให้ จะให้อะไร จะให้แก่ใคร จะให้อย่างไร ให้เลือกดูก่อน แม้เราจะให้เพื่อจะขจัดความเห็นแก่ตัวของเรา มันก็กำจัดกิเลสของเราทุกทีที่เราให้ เป็นอย่างนี้ ไม่เสียหายในส่วนของเรา
ผู้ถาม ขอถามว่า ได้เคยอ่านหนังสือกล่าวว่า ขณะนั่งกรรมฐานได้ไปเห็นนรกขุมต่างๆ อยากจะเรียนนมัสการถามว่า ที่กล่าวมานั้นเป็นความจริงเท็จเพียงใด ควรเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน
ท่านอาจารย์ อ้ายคนนั้นคงจะเห็นจริงๆ แต่มันเป็นเรื่องหลอนก็ได้ ถ้าเขาน้อมจิตเพื่อจะเห็นอยู่ตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว บางคนไปทำสมาธินี่ไม่ใช่เพื่ออะไร เพื่อจะเห็นอ้ายอย่างนั้น มันจะเห็นเป็นก้อนทีแรก มันเตรียมพร้อมที่จะเห็นตั้งแต่ก่อนจะทำ พอไปทำเข้า จิตมันก็ยอมไปตาม ก็เห็นเป็นจริงเป็นจัง เห็นพระพุทธเจ้าบ้าง เห็นสวรรค์ เห็นนรกบ้าง เห็นพ่อแม่ที่ตายไปแล้วบ้าง มีปัญหาอะไรอีกบ้าง
ผู้ถาม ท่านบอกว่าเวลาประสบเหตุร้าย เช่นสิ้นเนื้อประดาตัวไม่ควรเป็นทุกข์ ในสภาพของมนุษย์ปุถุชน จะมีอุบายอย่างไรที่จะทำจิต ทำใจไม่ให้เป็นทุกข์ได้
ท่านอาจารย์ อ้ายปัญหาว่าจะทำได้หรือไม่ได้มันเป็นอีกปัญหาหนึ่งนะ ทีนี้เรากำลังแนะนำว่าควรจะทำชนิดที่มันไม่เป็ทุกข์ จะมีอะไรมาคิด มานึก มาปลอบใจ อย่าให้เป็นทุกข์ได้ดีกว่า มันไม่มีประโยชน์อะไร หาใหม่ดีกว่า ฉะนั้นผู้ที่เป็นสัตบุรุษ คือเป็นพุทธบริษัทที่ดี เขาจะไม่ต้องเป็นทุกข์ เขาจะเอาแต่หัวเราะก็ได้ แล้วก็หาใหม่ ที่ว่าได้มา ร่ำรวย มีลาภร่ำรวยใหญ่หลวง ก็ไม่ดีใจ ไม่ลิงโลด เสียไปก็ไม่เสียใจหรือเป็นทุกข์ เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไร ให้พยายามทำโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง
พอพูดถึงเรื่องนี้ก็นึกได้ถึงคนๆหนึ่งขึ้นมาทันที เป็นทนายความอยู่ที่บ้านดอน เขาชอบชนไก่ เขาไปชนไก่ที่เกาะสมุย พอกลับมาบ้านเป็นขี้เถ้าหมดแล้ว ไฟไหม้ตลาดบ้านดอนครั้งใหญ่ เขาตบมือโห่เลย โห่บ้านเป็นที่ขี้เถ้าแล้ว เขาก็ไม่เป็นบ้าอะไร เขาก็หาต่อไป ไม่เท่าไรเขาก็หาได้ รู้สึกจะเป็นทนายความ นี่มันแสดงว่าคนที่มันไม่เป็นทุกข์มันก็มี มันก็มีได้ ไม่ได้ประกันไฟ ไม่ได้ทำอะไร กลับจะตบมือโห่ว่ามันเข็ดหน้า หาใหม่ ถ้ามานั่งเป็นทุกข์อยู่จะมีประโยชน์อะไร หรือว่าที่มันร้ายกว่านั้น เช่นว่าคนที่รักตายลงไป ลูกตาย อะไรตาย มันจะมีประโยชน์อะไรที่มานั่งเป็นทุกข์ มันควรจะมีวิธีคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็ทำไปให้มันถูกเรื่องถูกราวไม่ต้องเป็นทุกข์ อย่างนี้คือเป็นผู้รู้หรือเป็นสัตบุรุษกว่า ถ้าไม่งั้นเป็นคนธรรมดา เป็นปุถุชนธรรมดาทุกข์ก็ทุกข์ ทุกข์ก็ทุกข์ หรือได้มาดีใจหน่อยก็ลิงโลด ร่าเริง ลิงโลด ก็เรียกว่าขึ้นบ้าง ลงบ้าง ไม่ถูก ให้อยู่ตรงกลางๆปกติไว้ดีกว่า
ผู้ถาม ข้อแรก ขอถามว่ากาเมสุมิฉาจารเวรมณี หมายถึงกามารมณ์ของหญิงชาย หรือหมายถึงของรักของเขาจริงๆ แม้สิ่งไม่มีชีวิตด้วย ข้อสอง คนสมัยนี้ความเหมาะสมทางจิตใจน้อยไปกว่าทางร่างกาย เรื่องนี้เข้าใจว่าต้องแก้ไขด่วน ท่านคิดว่าจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไรเพราะพระเดี๋ยวนี้แปดสิบเปอร์เซ็นต์ไม่รู้ธรรมะที่แท้จริง
ท่านอาจารย์ รู้ด้วยว่าพระแปดสิบเปอร์เซ็นต์ รู้ธรรมมะหรือไม่รู้ธรรมะก็มีได้ทั้งพระทั้งฆราวาส ถ้ารู้ ก็รู้เหมือนกัน ถ้าไม่รู้ ก็ไม่รู้เหมือนกัน เรื่องจิตใจนี่กำลังพูดกันอยู่วันนี้ เป็นปัญหาหนักที่จะแก้ไขสภาพจิตใจของคนสมัยนี้ ให้นิยมความถูกต้อง ความดี ความจริง นี้ยาก มองเห็นยาก เห็นว่ายาก เพราะมันต้องแก้ระยะยาวแล้วใครจะไปทนอยู่ได้ รัฐบาลก็เปลี่ยนเรื่อย สภาผู้แทนก็เปลี่ยนเรื่อย ไม่มีใครจะรักษาอ้ายความตั้งใจนี้ไว้ได้ เป็นของประเทศชาติ เพราะไม่มีอำนาจอะไรที่จะมาแก้ไขจิตใจของประชาชนหรือของเด็กๆ เลยตันอยู่เพียงเท่านี้
มองเห็นอยู่ช่องหนึ่งก็คือว่า ทุกคนนี่ อย่าไปนึกอะไรมาก ทุกคนช่วยทำความเข้าใจให้ถูกต้อง แล้วก็บอกกล่าวต่อๆๆ กันไปให้ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง มีสมาชิกสภาผู้แทนที่เข้าใจถูกต้อง มีรัฐบาลที่เข้าใจถูกต้อง รับช่วงๆๆๆกันไป อ้ายการแก้ไขจิตใจของประชาชนในระยะยาวอาจจะมีได้ ตั้งแต่ในโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถม มัธยม เรื่อยๆขึ้นไป ก็คล้ายๆตั้งต้น generation ใหม่ แก้ไขได้ นี่มันยาก ยากที่จะทำได้ ต้องเป็นหน้าที่ทั้งของพระทั้งของฆราวาส พระก็กำลังจะเป็นอย่างว่านี้ แปดสิบเปอร์เซ็นต์
ฉะนั้นพวกเราที่เรียนธรรมะนี่อุตส่าห์เรียนให้เข้าใจ แล้วไปบอกเพื่อนให้เข้าใจ ให้เห็นความจำเป็นของศีลธรรม และเดี๋ยวนี้ในโลกมันมีความทุกข์เพราะรากฐานทางศีลธรรมมันเสียหายหมด ไม่มีความรัก ไม่มีความเมตตากรุณา ไม่มีความช่วยเหลือ แม้ว่าในประเทศชาติเดียวกัน มันก็ยังไม่สามัคคีกัน ไม่รักกัน ต่างคนต่างเห็นแก่ตัว เอาประโยชน์ตัวโดยการทำให้ผู้อื่นเสียประโยชน์หรือเดือดร้อน
สำหรับเรื่องกาเมสุมิจฉาจารนั้น เพียงแต่บอกให้ถือให้ถูกตรงตามตัวบท สิกขาบทนั้น กาเมสุมิจฉาจาราเวรมณี กาเมสุ วิฉาจารา แล้วก็ เวรมณี เว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย กามแปลว่าของรักของใคร่ ถ้าของที่เขารักเขาใคร่ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามแต่ เรื่องเพศหรือไม่เพศ หรือเรื่องของไม่มีชีวิตอะไรก็ตาม ถ้าเขารักก็อย่าไปประพฤติผิด มันเป็นการทำให้เขาเดือดร้อน เสียใจ
ฉะนั้นจึงไม่ต้องพูดถึงเรื่องชู้สาวหญิงชาย เด็กเล็กๆก็ต้องถือศีลข้อนี้ เด็กเล็กๆก็อย่าไปทำอ้ายสิ่งที่เด็กอีกคนหนึ่งมันรักให้เด็กที่เป็นเจ้าของมันเสียใจเดือดร้อน เขาชอบสิ่งของนี้ หรือว่าตุ๊กตาตัวนี้ หรือแม้แต่สมุดหนังสือเล่มนี้เขารัก อย่าไปแตะต้องเขาดีกว่า จึงจะเรียกว่าถือศีลข้อนี้ถูกต้อง อาตมาเชื่อว่าพระพุทธเจ้าหรือว่าผู้ที่วางหลักเกณท์อันนี้มาแต่ทีแรก เขามุ่งหมายอย่างนี้ ทีนี้ต่อมาเขาสอนแคบเข้ามา เหลือแต่เรื่องชู้สาว เลยเด็กๆไม่ต้องถือศีลข้อนี้สบายไปเลย
อ้ายของเดิมแท้ๆมันทุกคนจะต้องถือศีลข้อนี้ คือไม่ไปแตะต้องของรักของผู้อื่น ใช้คำว่าไม่ประทุษร้ายดีกว่า ไม่ประทุษร้ายของรักของผู้อื่น เป็นเรื่องอะไรก็ได้ วัตถุสิ่งของไม่มีชีวิตอะไรก็ได้ เพราะมันทำให้ผู้อื่นเป็นทุกข์เดือดร้อน มันเป็นการเบียดเบียนเขาชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน
ศีลข้อที่หนึ่ง จำไว้เป็นหลักสำคัญตลอดชีวิต ศีลข้อที่หนึ่งไปประทุษร้ายชีวิต ร่างกายเขา มันในแง่ที่ทำอันตรายแก่ชีวิตร่างกาย
ศีลข้อที่สอง ไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของเขา อทินนาทาน อย่าไปประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของเขา
ข้อที่สามนี่ อย่าไปประทุษร้ายของรักของเขา จะเป็นอะไรก็ได้ มันไม่มีความหมายเป็นชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สมบัติ เพราะของรักมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง แม้ว่าของรักนั้นจะมีลักษณะเป็นทรัพย์สมบัติก็ได้ แต่ความหมายในสิกขาบทที่สามนี่ ของเขารักไปแตะต้องเขา เขารู้สึกไม่สบายเป็นทุกข์ เช่นเดียวกับไปทำอันตรายเขาอีกทางหนึ่งด้วย
ทีนี้ข้อที่สี่ มุสาวาทา อย่าไปประทุษร้ายความถูกต้องหรือสิทธิอันชอบธรรมของเขา แต่มันแคบโดยใช้วาจาหรือว่าสิ่งที่แทนวาจาเป็นเครื่องมือ จะเป็นการพูด การเขียน การป้าย การต่างๆ ก็ตาม อย่าไปใช้สิ่งนี้ประทุษร้ายความถูกต้องชอบธรรมของเขา คือโกหก
ศีลข้อที่ห้า อย่าประทุษร้ายสติ สัมปชัญญะ หรือสมประฤดีของตัวเอง พอไปนั่นของเมาเข้า มันก็เสียสมประฤดี เสียความรู้สึกผิดชอบชั่วดี กระทั่งสูงทางจิตทางวิญญาณนะ มันทำให้เสียหมด สติปัญญาเสียหมด เรียกว่าประทุษร้ายสติปัญญาของตัวเอง กินเหล้าเข้าไป
มันเป็นหลักใหญ่ประธานห้าข้อ ทุกๆอันมันจะออกไปจากห้าข้อนี้ อ้ายศีลธรรมทั้งหลาย
ผู้ถาม การฆ่าสัตว์เป็นการกระทำที่ผิดศีล แต่คนที่ฆ่าสัตว์เพื่อเอามาเป็นอาหาร ทำอย่างไรจึงจะไม่ผิดศีล
ท่านอาจารย์ นี่เป็นปัญหามาตั้งแต่แรกโน้น มันมีขอบเขตที่ต้องอภิปรายมาก ขอบเขตทีแรกนั้นมันก็ต้องไปนึกถึงว่าศาสนาหนึ่งมันบัญญัติอย่างหนึ่ง ศาสนาอื่นไม่บัญญัติอย่างนี้ก็มี เช่นว่าศาสนาคริสเตียนอย่างนี้นะ ฆ่าสัตว์ไม่มีบาปไม่ว่ากรณีใดก็ตาม นอกจากฆ่ามนุษย์ ส่วนพุทธศาสนานี้ฆ่าไม่ได้เลย หรือว่าพูดไว้ในลักษณะที่เราฟังดูแล้ว คล้ายกับว่าฆ่าไม่ได้เลย ศาสนาบางศาสนาในอินเดียคู่แข่งขันกับพุทธศาสนา ที่เรียกว่าศาสนาไชนะ ที่ไปอ่านกันว่าเชน เชน ที่จริงต้องอ่านว่าไชนะ ศาสนานี้เขาบัญญัติเหมือนกัน แต่บัญญัติไว้รัดกุมกว่า ว่าการฆ่านี้ จะไม่ถือว่าเป็นการฆ่าสำหรับบุคคลบางประเภท นี่มันจึงยกเว้นอ้ายคนที่ต้องประกอบอาชีพด้วยการทำสัตว์ให้ตาย เขาบอกว่าไม่เป็นการฆ่าสัตว์ ยกเว้น ชาวนาที่ไถนาแล้วสัตว์ตาย หรือยกเว้น เพชรชฆาตที่ต้องทำหน้าที่ตัดคอคนเพื่อรักษากฏหมาย อย่างนี้ก็ยกเว้น ทหารที่ต้องป้องกันประเทศก็ยกเว้น นี้บางศาสนาก็บัญญัติไว้เป็นเกรดๆอย่างนี้ก็มี บางศาสนาก็ไม่ได้บัญญัติอย่างนี้ก็มี
ที่คำถามอย่างนี้มันจะคงหมายเฉพาะแต่พุทธศาสนาเท่านั้น หมายแต่พุทธศาสนาเท่านั้น ก็เลยให้ถือว่ามันเป็นเรื่องที่ว่าเราสมัครจะรับถือศาสนานี้ที่บัญญัติไว้อย่างนี้ เราก็ต้องถือ เพราะถ้าเราจะถือความหมายที่ละเอียดลงไปอีกก็ยังมีทางที่จะปรับปรุงกันอีก ว่าศีลข้อนี้มันหมายถึงเจตนาจะฆ่า ด้วยความคิดที่ประทุษร้าย เพชรชฆาตฆ่าคนเขานะ เขาไม่ได้ทำไปด้วยความโกรธที่คิดจะประทุษร้ายคนนั้น เขาทำหน้าที่ตามกฏหมายก็ไม่ควรจะผิด หรือว่าผู้พิพากษาจะสั่งลงโทษประหารชีวิตใคร เขาไม่ได้โกรธ เขาไม่ได้คิดฆ่าประทุษร้าย ไม่มีเจตนาจะฆ่า หรือประทุษร้าย ฉะนั้นการกระทำนั้นก็ไม่ใช่การฆ่าหรือการประทุษร้าย
ซึ่งถ้าว่าผู้ที่ต้องประกอบอาชีพจับปลา หรืออะไรทำนองนี้ ถ้าเขารู้จักทำจิตใจเสียใหม่ มันก็ไม่ถึงกับว่าเป็นการฆ่าโดยสิกขาบทนี้ มันจะมีโทษโดยหลักธรรมะข้ออื่นหรือสิกขาบทอื่น เพราะเขามีเจตนาจะเลี้ยงชีวิตเท่านั้น ถ้าทำในใจให้ถูกต้องก็จะรอดไปจากสิกขาบทข้อนี้ แต่มันมีความไม่เหมาะสม ไม่สมควร อยู่ในหลักธรรมะข้ออื่น กับมันมีอยู่ที่ข้อเท็จจริงที่ว่าเขาสามารถทำจิตใจอย่างนั้นได้หรือไม่ เช่นความจำเป็นจะต้องบังคับให้เขาจับปลา ก็แปลว่าเขาฆ่าปลาด้วยความรู้สึกที่จำเป็นจะต้องฆ่า ไม่ใช่เจตนาเหมือนจะฆ่าคนหรือเจตนาจะฆ่าอย่างที่เรียกว่าประทุษร้าย จะเอาความไม่เจตนาฆ่าเป็นหลัก ก็พอจะผ่อนผันไปได้ บรรเทาไปได้
แต่อาตมาก็ไม่กล้าพูด ไม่อยากจะพูด เดี๋ยวจะหาว่าส่งเสริมให้คน ส่งเสริมชาวประมง แต่โดยหลักธรรมะแท้จริงแล้วมันอยู่ที่เจตนา ว่าเขามีเจตนาอย่างไร เจตนาฆ่า หรือว่าเจตนาจะเลี้ยงชีวิตด้วยความจำเป็น นี่ก็เลยแนะไปทางหนึ่งว่า ถ้าว่ามันมีความเชื่อว่าบาปก็เลิก เลิกอาชีพนั้นเสีย เปลี่ยนเป็นอาชีพอื่น แนะในรูปนั้น คนทำอาชีพนั้นอยู่ด้วยความจำเป็นอย่างอื่น มันก็ทำจิตใจเสียใหม่ พอจะบรรเทาไปได้บ้าง ถ้าว่าทำด้วยเจตนาประทุษร้าย เหมือนกับที่ว่าเราโกรธแล้วเขาฆ่ากัน เราไม่มีเรื่องที่จะไปโกรธกุ้ง โกรธปลา โกรธอะไรต่างๆ ทำไปด้วยความจำเป็นบังคับต่างๆ หาเลี้ยงชีพ อย่างนี้ทางฝ่ายคริสเตียนก็สบายไปเลย ไม่ได้ห้ามไว้ ไม่ได้บัญญัติไว้ ทางฝ่ายนี้ไปเกิดบัญญัติไว้ เรียกว่าตีความของบทบัญญัติอันนี้ถูกต้องหรือไม่ นี่ก็เกิดเป็นปัญหาแล้ว
ผู้ถาม ข้อแรก ถ้าคนมีธรรมะต้องตกไปในหมู่คนชั่ว จะปฏิบัติตามธรรมชาติอย่างไร หมายความว่าเข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม ข้อสอง คล้ายๆกับที่ท่านอาจารย์พูดเมื่อกี้นี้ เราอาจจะฆ่าคนโดยที่ไม่มีความผิดได้หรือไม่ เช่นทำเพื่อชาติ เพื่อให้ตนดำรงอยู่
ท่านอาจารย์ ฆ่าเพื่อป้องกันตัว ฆ่าเพื่อป้องกันประเทศชาติ แต่ถ้าดีกว่านั้น ฆ่าเพื่อป้องกันธรรมะ หรือป้องกันความยุติธรรม อย่างนี้ก็ไม่เรียกว่าการแกล้งฆ่าตามสิกขาบทนี้ กฏหมายมันยกโทษให้ ถึงวินัย ก็วินัยของพระแท้ๆก็ยังยกโทษให้ คือทำอะไรใครตายลงไปโดยไม่เจตนาจะทำ มันก็ไม่ถือว่าเป็นการฆ่า ข้อแรกว่าอย่างไรนะ
ผู้ถาม ถ้าคนมีธรรมะต้องตกไปในหมู่คนชั่ว จะปฏิบัติตามธรรมชาติอย่างไร
ท่านอาจารย์ มันเป็นปัญหาที่มีอย่างอื่นเข้ามาแทรกแซง กลัวตาย แล้วก็ยอมให้ไปทำชั่วกับเขา เราก็ต้องรักษาความถูกต้องไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะรักษาได้ ควรจะเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ไปสมัครเอากับเขาด้วย ถ้าว่าพวกโจรเหล่านั้นนะมันจะฆ่าเรา เพราะเราไม่ทำ ร่วมมือกับเขา ต้องคิดถ่ายเทอย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็จะต้องไม่ มันจะไม่เป็นการทำชั่วที่สมบูรณ์ หรือว่าต้องไปพลอยฆ่าคนร่วมกับโจร ถ้าว่าไม่ทำอย่างนั้นโจรจะฆ่าเรา อย่างนี้มันก็เป็นเรื่องป้องกันตัว ความหมายเดียวกับว่า เป็นการฆ่า หรือทำคนอื่นให้ตายไปเพื่อป้องกันตัวเอง
ถ้ามันอีกความหมายหนึ่ง เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม อย่างนี้ใช้ไม่ได้ เป็นหลักใช้ไม่ได้ เป็นเรื่องที่ต้องถ่ายเท ผ่อนผัน ที่จะรักษาความถูกต้องไว้เสมอ ถ้าเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ เป็นกรณีเล็กน้อยๆก็ได้เหมือนกัน ไม่เป็นเรื่องเสียหายมาก เพื่อจะไม่ให้เกิดเรื่องขึ้น ก็รีบออกมาเสีย ให้รีบออกมาเสียจากเมืองคนตาหลิ่ว
ผู้ถาม ผู้ที่พ้นจากอุปาทานขันธ์แล้ว ถ้ามีความเจ็บปวดทางร่างกายจากโรคร้าย ผู้นั้นยังคงรู้สึกเจ็บปวดหรือไม่ เข้าใจว่ายังรู้สึกเจ็บปวด แต่ไม่ยึด จึงไม่เป็นทุกข์ การให้ยาระงับปวดในผู้ที่กล่าวนี้ เพื่อช่วยให้หายปวด จะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้นั้นหรือไม่ ถ้าเขาไม่เป็นทุกข์ ควรจะให้ยาหรือไม่ ขอถามเพื่อให้ท่านอาจารย์ช่วยกรุณาตอบ
ท่านอาจารย์ อ้ายรู้สึกคงรู้สึกอยู่ตามเดิม รู้สึก เจ็บหรือไม่เจ็บ เป็นพระอรหันต์แล้ว เห็นได้ชัดตามข้อความนั้น ยังรู้สึกเจ็บ ถ้ามันเป็นโรคที่เจ็บมันก็เจ็บ แต่มันเจ็บแต่เพียงรู้สึกเจ็บ มันไม่เจ็บทางวิญญาณ คือไม่เจ็บทางยึดมั่นถือมั่นอีกทีหนึ่ง การเจ็บมันมีอยู่สองชั้น ฉะนั้นท่านก็เจ็บชั้นเดียว เจ็บชั้นธรรมดาสามัญที่สุด ไม่เจ็บชั้นที่ลึกซึ้ง มีสูตรอยู่สูตรหนึ่งซึ่งอุปมาไว้ให้เข้าใจได้ง่ายๆ เช่นว่าผู้ที่มีธรรมะนั้นนะ จะถูกลูกศรดอกเดียวของความเจ็บก็ดอกที่ไม่ได้อาบยาพิษ ถ้าไม่มีธรรมะ จะถูกลูกศรอีกดอกหนึ่งดอกที่สองซึ่งอาบยาพิษ เช่นเราป่วยเจ็บ ก็รู้สึกเจ็บ ก็เจ็บไปตามธรรมชาติอ้ายความเจ็บนี้ นี่แหละถูกลูกศรดอกแรกซึ่งไม่ได้อาบยาพิษ แต่ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นในอุปาทาน อุปาทานขันธ์ มันมีลูกศรอีกดอกหนึ่งซึ่งอาบยาพิษมาแทงซ้ำไปอีกทีหนึ่ง ฉะนั้นคนนั้นจะมีความทุกข์มาก ไม่ใช่เพียงแต่รู้สึกเจ็บทางกาย มันกลายเป็นเจ็บทางจิตทางวิญญาณเข้ามาด้วย คำนวณแล้วอีกหลายเท่า เจ็บทางดอกศรเล็กๆที่ไม่มียาพิษนี่เจ็บเท่าหนึ่ง ถ้าถูกลูกศรดอกที่สองอาบยาพิษนี่เจ็บอีกสิบเท่าร้อยเท่า ความหมายของอุปาทาน อุปาทานขันธ์ ฉะนั้นควรระวัง ทุกคนควรระวังให้ถูกลูกศรแต่ดอกเดียว ถ้าความแก่ ความเจ็บ ความตาย เข้ามา ให้ถูกลูกศรแต่ดอกเดียว อย่าถูกดอกที่สองซึ่งอาบยาพิษ ซึ่งจะตามมา ถ้าเราไม่รู้จักทำให้มันถูกแต่ดอกเดียว
ผู้ถาม อเสวนาจะทาลานัง บัณฑิตตานังอเสาวนา เป็นการเห็นแก่ตัวหรือไม่ที่จะทอดทิ้งคนพาล สอนแต่บัณฑิต พระพุทธเจ้ายังโปรดสัตว์แก่พญามาร ข้อสอง อานิสงส์ มีความหมายแท้จริงอย่างไร ข้อสาม ญาณหรือฌาน กับวิปัสสนาต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ ข้อหนึ่งว่าอย่างไรนะ
ผู้ถาม อเสวนาจะทาลานัง บัณฑิตตานังอเสวนา
ท่านอาจารย์ ข้อหนึ่งมันไม่ได้หมายถึงว่าสอน หมายถึงว่าคบ คบหาสมาคม กระทั่งว่าเข้าไปเกี่ยวข้องเพื่อจะสอน ไม่ได้อยู่ในข้อนี้ ไปคบหาสมาคมเพื่อจะไปด้วยกัน อะไรด้วยกัน นั่นเรียกว่าคบ ไม่ให้คบคนพาล ให้คบแต่บัณฑิต แต่ถ้าเป็นเรื่องไปสอน มันผิดความหมาย ถ้าเห็นว่าคนพาลนั้นอาจจะสอนได้ ก็เข้าไปสอน ควรจะเข้าไปสอนได้ พระพุทธเจ้าก็เข้าไปสอน ถ้าเห็นว่าคนพาลนั้นควรจะสอนได้ คือเป็นผู้ที่สอนได้ นั้นนะไม่มีปัญหาอย่างนี้
ข้อสอง ถามว่าอย่างไร
ผู้ถาม อานิสงส์ มีความหมายแท้จริงว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ อานิสงส์ แปลว่าผล ผลที่ออกมาจากการกระทำ อานิสงส์จะใช้กับการกระทำดีเท่านั้น ไม่ใช้กับการกระทำชั่ว อานิสงส์นี้มันแปลว่าไหลออกมา เช่นว่าทำอย่างนี้แล้วมีอะไรไหลออกมา ใช้สำหรับทำความดี เราโม่แป้งแล้วมีแป้งไหลออกมา หรือว่าเรารีดนมวัว นมวัวไหลออกมา คำนี้มันมาจากการไหลออกมา เช่นทำดีก็มีอานิสงส์ ถ้าทำบาปก็ควรที่จะเรียกว่าอานิสงส์ แต่เป็นอานิสงส์ชั่ว ถ้าไม่มีคำใช้ก็อานิสงส์ชั่ว อานิสงส์จะใช้แต่ฝ่ายดี
ข้อที่สามว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ ญ ผู้หญิง สระ อา ณ เณร หรือว่า ฌ กะเฌอ สระ อา น หนู ฌ กะเฌอ สระ อา น หนู ฌาน อย่าไปปนกัน มันคนละคำ ถ้า ญาณ ญ ผู้หญิง สระ อา ณ เณร ฌานกับวิปัสสนา คำสองคำ ฌาน ก็แปลว่าเพ่ง เพ่งให้จิตสงบอยู่ที่อารมณ์นี้ เพ่งให้มันแป็นสมาธิ ถ้าว่าเพ่งให้รู้ความจริงของสิ่งนี้ก็ได้ผลเป็นวิปัสสนา ถ้าเพ่งให้จิตสงบอยู่ที่สิ่งนี้ได้ผลเป็นสมาธิ ถ้าเพ่งให้รู้ความจริงอันแท้จริงของสิ่งนี้ ก็ได้ผลเป็นวิปัสสนา คือเห็นแจ้ง ต้องไปเที่ยวดู ว่าทำอย่างไร คำว่าเพ่งนี้มันเป็นคำกำกวม มันอยู่กลางๆ ว่าเพ่งนี่ หรือเพ่งอย่างนี้ เพ่งให้หยุดอยู่ที่นี่อย่างหนึ่ง เพ่งให้รู้ความจริงสิ่งนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง สองเพ่ง อ้ายเพ่งอย่างหลัง มีผลเป็นวิปัสสนา เพ่งอย่างแรกมีผลเป็นสมาธิ