แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย ในครั้งที่แล้วมาเราได้พูดกันถึงปัญหาที่ทำให้เราไม่สามารถจะใช้ธรรมะให้เป็นประโยชน์ได้ ในวันนี้ก็จะได้พูดเรื่องที่เนื่องกันไป ว่าเราจะใช้ธรรมะให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร เดี๋ยวนี้เราส่วนมากไม่ค่อยจะรู้ว่าธรรมะนั้นมันคืออะไร หรือว่ามันจำเป็นสำหรับมนุษย์อย่างไร เราอาจจะคิดว่าไม่ต้องมีธรรมะก็ได้ คือใช้ธรรมะแต่น้อยๆตามที่เราจะชอบใจ เพราะว่าตามปกติแล้วคนก็ไม่ค่อยชอบธรรมะ โดยเฉพาะสมัยนี้ก็คือไม่รู้จักธรรมะ ถึงควรจะทำความเข้าใจกันเกี่ยวกับคำว่าธรรมะนี้อีก
ธรรมะตัวนี้ ธรรมะคำนี้เป็นคำที่ประหลาดที่ค้นหาประวัติยาก แต่เท่าที่จะสังเกตดูเองจากภาษาบาลีที่ใช้กันอยู่เป็นพระคัมภีร์นั้นได้ความหมายเป็นสองอย่าง คือตัวธรรมชาติ คือความจริงของธรรมชาติอย่างหนึ่ง เรียกว่าหน้าที่ ที่มนุษย์จะต้องประพฤติให้ถูกต้อง ตามความต้องการของธรรมชาติ ทีนี้อาตมาก็เลยเอามาขยายความให้มันเต็มที่ออกไปเป็น ๔อย่าง
(03:55) ว่าธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เรียกว่าธรรมะคือผลที่เราได้รับจากการที่ปฏิบัติหน้าที่ของเราถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ผลที่เราได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามกฎธรรมชาตินั่นก็คือประโยชน์ที่เราจะได้รับจากธรรมะ มันกลายเป็นประโยชน์ที่เราจะได้รับจากธรรมะ แต่ว่าบาลี ภาษาบาลีก็เรียกว่าธรรมะเฉยๆอีกเหมือนกันแม้จะเป็นผล ส่วนใหญ่มันเล็งถึงธรรมชาติซึ่งจะต้องรวมกันทั้งตัวธรรมชาติที่เป็นปรากฏการณ์ทั้งหลาย กับรวมทั้งกฎของธรรมชาติที่สิงสถิตอยู่ในตัวธรรมชาติทั้งหลายนั้นแหล่ะ มันเป็นสิ่งที่สำคัญหรือจำเป็นหรือมันเฉียบขาด มันไม่ยกเว้นอะไรให้ใคร ดังนั้นให้สนใจคำว่ากฎของธรรมชาตินั้นแหล่ะให้มากที่สุด จึงจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ในฐานะที่เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติ
(05:50) เราต้องรู้ว่าธรรมชาติมันมีกฎเกณฑ์อย่างไรเสียก่อน เราจึงจะรู้ว่าเรามีหน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์นั้นอย่างไรและเป็นประโยชน์เป็นผลดีอย่างไร จากทั้งหมดนี้เราจะพอมองเห็นได้ทันทีว่า คำว่าธรรมะนี้มันควรจะแปลว่าธรรมชาติ แต่ทีนี้ที่มนุษย์ใช้กันอยู่มากในปทานุกรมภาษาบาลี สันสกฤตนี่ เขาก็เล็งถึงหน้าที่ ธรรมะแปลว่าหน้าที่ หรือสิ่งที่ต้องทำ นี่ก็ถูกอย่างยิ่งอีกเหมือนกัน แต่ว่ามันก็ไม่พ้นไปจากการทำให้ถูกตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ดังนั้นไอ้สิ่งสูงสุดที่น่ากลัว น่าเกรงขาม น่าเคารพ น่าเชื่อฟัง นั่นก็คือกฎของธรรมชาติ และก็เรียกชื่อว่าธรรมะเฉยๆด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นจึงอยากจะถือเอาธรรมะในความหมายนี้ว่านั่นแหล่ะคือพระเจ้า หรือพระเป็นเจ้าที่เราต้องรู้จักและเชื่อฟังและเอาอกเอาใจ ภาษาทางศาสนาก็มีคำว่าเอาอกเอาใจ บำรุงบำเรอ บำรุงบำเรอพระเจ้า ทำให้พระเจ้าชอบใจ นี่เป็นไปในศาสนาที่เขามีพระเจ้าอย่างกับว่าเป็นบุคคล ที่ว่ามีพระเจ้าในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาติ บำรุงบำเรอกันอย่างไร ก็เป็นเพียงตัวกฎ ก็คือปฏิบัติให้ถูกตามกฎนั่นแหล่ะเรียกว่า บำรุงบำเรอ
(08:03) ทำไมถึงใช้คำว่าบำรุงบำเรอ ก็เพราะให้มันน่าตกใจ น่าสนใจหรือให้ทำกันจริงๆ เมื่อเราบำรุงบำเรอด้วยการทำกันจริงๆตามกฎของธรรมชาติ เพื่อให้ถูกใจธรรมชาติราวกับว่าธรรมชาตินั้นเป็นคนๆเหมือนอย่างเรา ปัญหาต่างๆอาจจะหมดไปได้ เพราะคำว่าธรรมชาตินี้มันกว้าง คำว่าถูกตามกฎของธรรมชาตินี่มันก็กว้าง ทีนี้ก็มาดูส่วนที่มันเกี่ยวกับตัวเรา ตัวเราคนหนึ่งๆนี้พูดภาษาธรรมดาก็พูดเรียกว่าตัวเรา ก็มีตัวเรา ร่างกายของคนหนึ่งๆนี้คือตัวธรรมชาติเป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติที่วิวัฒนาการมาดีแล้วอย่างนี้ ตัวเนื้อหนัง อะไรทั้งหมดรวมทั้งจิตใจของเราด้วยนี่ก็เป็นตัวธรรมชาติ ธรรมชาตินี้มันก็เป็นธรรมชาติอย่างเดียวกันหมดกับธรรมชาติอื่นๆนอกตัวเรา ในส่วนที่แยกออกมาเป็นตัวเราคนหนึ่งนี้ก็มีหลักเกณฑ์เหมือนๆกันกับที่เป็นในคนอื่นที่ไปเป็นคนอื่น กฎเกณฑ์หรือว่ากฎของธรรมชาติมันก็มีอยู่ในตัวธรรมชาติ ดังนั้นถ้าเราจะหาให้พบ สังเกตให้เห็นว่าเนื้อหนังร่างกายอะไรของเราทั้งหมดนี้ มันมีกฎของธรรมชาติสิงอยู่ด้วยเหมือนกัน บังคับให้เนื้อหนังร่างกายนี้เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ทีนี้เราก็ต้องมีหน้าที่ ที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติที่มันสิงอยู่ในเนื้อหนังร่างกายของเรา มิฉะนั้นเราจะต้องลำบาก เราจะต้องเจ็บไข้ หรือว่าต้องเป็นบ้า เราจะต้องตาย
(10:23) ดูให้เห็นอย่างนี้เราจะพบว่าในตัวคนๆหนึ่งนั้นมีตัวธรรมชาติ ตัวกฎของธรรมชาติ ตัวหน้าที่ ที่จะปฏิบัติอยู่อย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ แล้วก็จะได้รับผลแห่งการปฏิบัติถูกต้องอยู่เป็นที่ประจักษ์ คือเราไม่ตาย เราไม่เป็นบ้า เราไม่เจ็บไข้ได้ป่วยในทางที่มันไม่ควรจะเจ็บไข้ ที่พูดอย่างนี้ก็เพื่อประสงค์จะดูให้รู้จักตัวธรรมะที่มันเป็นเนื้อหนังร่างกายชีวิตจิตใจของเราทั้งหมด นี้คนที่ไม่รู้เขาก็เอาธรรมะไว้ที่วัด ไอ้ตัวเองมาอยู่ที่บ้าน แล้วจะว่าของนี้มันคนละอัน ไม่ได้พบกันง่ายๆ
(11:24) อย่างนี้เรียกว่าไม่รู้จัก มันรู้จักน้อยเกินไป ถ้าเรารู้จักธรรมะจริงจะพบว่าทั้งเนื้อทั้งตัวของเรานั้นเป็นธรรมะแล้วในทุกความหมาย จะสรุปให้สั้นๆก็ได้ว่ามันก็คือตัวชีวิตนั่นเอง ถ้าปราศจากธรรมะแล้ว ชีวิตอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นไม่ได้ ถึงอย่างนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ว่าจะมีชีวิตรอดอยู่ไม่ได้ มันจะถึงกับเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะชีวิตนี้มันจะต้องเกิดขึ้นมาตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เอาธรรมชาติทั้งหลายมาปรับปรุงกันเข้าเป็นส่วนประกอบของชีวิต เป็นร่างกายก็ดี เป็นจิตใจก็ดี ถ้าใครรู้จักธรรมะในลักษณะอย่างนี้ก็เรียกว่า หวังได้ว่า คงจะปลอดภัย คือเห็นได้ทันทีว่ามันยิ่งกว่าอาหารที่จะกินเข้าไป หรือเสื้อผ้าที่จะนุ่งห่มหรือว่ายาแก้โรคอะไรที่จะต้องใช้อยู่ร่ำไป นั่นมันเป็นเรื่องภายนอกเกี่ยวกับเรื่องกายล้วนๆส่วนธรรมะนั้นจำเป็นมากกว่านั้น จำเป็นมากกว่าอาหารเครื่องนุ่งห่มที่อยู่อาศัย หยูกยาแก้ไข้เพราะธรรมะมันเป็นตัวชีวิต
(12:58) ต้องจัดการกับไอ้สิ่งที่เรียกว่าชีวิตให้ถูกต้อง จะเปรียบเทียบกันเหมือนอย่างว่าถ้าเราเป็นมนุษย์เป็นคนป่าสมัยที่ไม่ต้องอยู่บ้านเรือนไม่ต้องนุ่งห่ม ไม่รู้จักอายเหมือนอย่างเดี๋ยวนี้ อาหารการกินก็แทบว่าจะไปตามธรรมชาติ กินรากไม้กินอะไรอย่างนี้มันก็อยู่ได้ แต่ถ้าว่าขาดธรรมะแล้วจะวิปริต คือการขาดความถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติแล้วจะวิปริต จะเจ็บป่วยทางกาย จะเจ็บป่วยทางใจ แล้วก็วิปริตทางใจจนกระทั่งเป็นบ้าและตาย ทีนี้ดูให้ดีว่าธรรมชาตินี่มันเป็นมาอย่างถูกต้องมันจึงรอดอยู่ได้ ถ้าผิดไปจากความถูกต้องมันตายแล้ว มันไม่ได้อยู่ยืนยาวมาเป็นหมื่นปีแสนปีล้านปีเหมือนอย่างที่เค้าคำนวณกัน หรือพูดอย่างกำปั้นทุบดินก็พูดว่าถ้าถูกต้องมันจึงรอดอยู่ ถ้าผิดแล้วมันก็ตาย กฎทางชีววิทยาที่ว่า
The fittest’s the survival (นาทีที่ 14:40) ให้เหมาะสมที่สุดนั่นแหล่ะมันจะรอดอยู่ได้ แล้วใครเป็นคนทำให้เหมาะสมที่สุดก็ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมมันทำให้ขยับขยายปรับปรุงไปเหมาะสมที่สุด ถ้าส่วนที่ไม่เหมาะสมที่สุดมันตายไปแล้ว มันไม่เหลืออยู่ให้เราเห็น ที่มันเหลืออยู่ให้เราเห็น จนมาเป็นเรา มาเป็นพวกเราในปัจจุบันนี้ก็หมายความว่ามันมาโดยกระแสแห่งความเหมาะสมที่สุดหรือถูกต้องที่สุด ดังนั้นควรจะถือเอาความเป็นมาอย่างถูกต้องที่สุดนั่นแหล่ะว่าเป็นตัวธรรมะ ถ้ารู้ธรรมะอย่างนี้ก็จะเรียกว่ารู้หัวใจของธรรมะ รู้อย่างกว้างขวาง ทีนี้ก็ดูกันถึงข้อที่ว่า ไอ้ความถูกต้องที่สุดนั่นมันไม่ใช่มีแต่เฉพาะทางร่างกายหรือเนื้อหนัง มันยังมีทางฝ่ายจิตใจด้วย มันต้องถูกต้องเหมาะสมที่สุดพร้อมกันมาทั้งคู่ คือทั้งกายและจิตใจ จึงมาเป็นมนุษย์เราอยู่อย่างทุกวันนี้ มันมีวัฒนาการมาเร็ว มาอย่างที่ว่าทิ้งกันไกล มนุษย์สมัยนี้กับมนุษย์สมัยแรกที่เป็นคนป่ามันทิ้งกันไกล นี่ก็เพราะว่าไอ้วันเวลานี้มันก็เป็นผู้สอน คือมนุษย์จะต้องได้สัมผัสได้เกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆเรื่อยมาก็ฉลาดขึ้นทุกที จนกระทั่งทำอะไรได้ก็ดูบ้าง เดี๋ยวนี้ทำอะไรได้ ทำเครื่องจักรกลไกไปโลกพระจันทร์ก็ได้ไปอะไรก็ได้ ทีแรกมันก็ไม่มีความรู้อย่างนี้ ดังนั้นชีวิตมันก็มาของมันได้เองจนถึงอย่างนี้
(17:05) แต่ไอ้เรื่องที่เป็นทางวัตถุมากเกินไป ก็มันไม่ได้ช่วยในเรื่องจิตใจ ดังนั้นจิตใจของมนุษย์จึงยังร้อนหรือเป็นทุกข์หรือกระวนกระวายอยู่ ความเหมาะสมในทางส่วนจิตใจไม่ค่อยจะมี ส่วนทางฝ่ายเนื้อหนังร่างกายนั้นมันมากไปจนเกินความเหมาะสมอย่างนี้เป็นต้น ถ้าเขาจะถือเอาความเจริญอย่างเดี๋ยวนี้เป็นความเหมาะสมก็ได้เหมือนกัน แต่มันต้องเพิ่มไอ้ความเหมาะสมให้แก่ฝ่ายจิตใจให้มันพอๆกัน ถ้าเก่งมากถึงกับไปโลกพระจันทร์ได้ มนุษย์ก็ควรจะมีความสุขยิ่งกว่าสมัยที่ไปโลกพระจันทร์ไม่ได้ เดี๋ยวนี้มันกลับถอยหลังมา ในทางฝ่ายจิตใจนี้มันกระหืดกระหอบ มันกระหาย มันเห็นแก่ตัวจัด มันอิจฉาริษยา มันพร้อมที่จะเอาเปรียบผู้อื่นหรือฆ่าฟันกัน เลยก็ผิดธรรมะในส่วนจิตใจหรือส่วนวิญญาณ แล้วก็ไม่ต้องไปโทษใคร มันเป็นความผิดของมนุษย์เอง นี่เรามามองดูที่ธรรมะที่ถูกบัญญัติหรือแต่งตั้งขึ้นเป็นศาสนาต่างๆอยู่ในรูปของศาสนาต่างๆเราจะเห็นได้ว่า นี่เขาเพ่งเล็งหรือมุ่งหมายไอ้ส่วนจิตใจเป็นส่วนสำคัญ เพราะว่าสามารถฝึกปรับปรุงจิตใจให้ไม่มีความทุกข์ได้ ทั้งที่ว่าความเจริญทางวัตถุทางร่างกายนั้นไม่ต้องมากมายอะไร ถ้าเป็นอย่างครั้งพุทธกาลนี้ ความเป็นอยู่ในบ้านเรือนในทางวัตถุมันก็ไม่ได้มีอะไร เขาก็สามารถที่จะก้าวหน้าทางจิตใจให้มีความสุขถึงที่สุดอย่างที่มนุษย์จะเป็นสุขได้
(19:36) ถ้าดูในศาสนาบางศาสนาเช่น ศาสนา คริสเตียนก็รู้ได้ว่าไม่ได้ก้าวหน้าอย่างอะไรๆนักในทางวัตถุ ยิ่งศาสนาอิสลามแล้วก็เกิดในถิ่นที่กันดารแห้งแล้งขาดแคลน ดังนั้นเขาจึงต้องมีธรรมะเพื่อจะแก้ปัญหาส่วนนี้ให้มนุษย์อยู่เป็นสุขได้แม้ในถิ่นที่มันกันดารหรือขาดแคลน ดังนั้นธรรมะก็เลยทำหน้าที่พร้อมกันมาทั้งสองฝ่ายสองแขนง เพื่อวัตถุด้วยเพื่อจิตใจด้วย แต่แล้วก็ไม่ได้ยกเอาเรื่องของวัตถุเป็นเรื่องสำคัญหรือว่าจิตใจเป็นเรื่องสำคัญ เพราะความรู้สึกมันอยู่ที่จิตใจแม้ว่าจะอาศัยร่างกายเป็นที่สร้างความรู้สึกมันอยู่ที่จิตใจ ถ้าไม่อยากจะแยกกันก็รวมกันเสียทั้งกายทั้งใจที่มีความรู้สึก ถ้าอย่างนี้ก็ต้องเอาความรู้สึกนั่นแหล่ะเป็นสำคัญ เมื่อไม่รู้สึกเป็นทุกข์ได้ก็เรียกว่าดีเป็นใช้ได้ ธรรมะช่วยแก้ปัญหาอย่างนี้ เลยเห็นว่ามันควรจะมีความสำคัญ หรือว่าเราให้ความสำคัญยิ่งกว่าเรื่องทางวัตถุ ทีนี้ก็จะได้ดูกันให้ดีว่ามนุษย์สมัยนี้จะใช้ธรรมะให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร ปัญหามันเกิดแทรกขึ้นมาว่า ไอ้ที่เราเรียกกันว่าธรรมะๆเวลานี้นั้น มันเป็นธรรมะจริงๆแล้วหรือ มันอาจจะโง่เขลาไปเอาสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมะมาเรียกว่าธรรมะเข้าก็ได้ แล้วมันเปลี่ยนรูปได้ ถ้าสิ่งที่เรียกว่าธรรมะเดี๋ยวนี้มาอยู่ในรูปของศาสนา นี่ก็ชักจะมีความหมายที่เปลี่ยนไปแล้ว ที่มาอยู่ในรูปของศาสนาก็คือบัญญัติแต่งตั้งอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งมันก็ต้องมีผิดพลาดบ้างหรือไม่ตรงตามเดิมบ้าง หรือใช้ไม่ได้สำหรับเวลาทุกยุคทุกสมัยบ้าง ถ้ามนุษย์ไปแตะต้องมันเข้า เขียนไปตามใจของมนุษย์ ทีนี้มันเดินไกลไปอีกขั้นหนึ่งว่า การบันทึกเรื่องราวข้อความตามศาสนานั้นน่ะ จะเอามาเรียกว่าศาสนาเอามาเรียกว่าธรรมะอีก จนกระทั่งจะเรียกเล่มหนังสือเป็นเล่มๆนั้นว่าธรรมะ
(23:08) ก็ลองเทียบดูว่ามันไกลกันมาเท่าไหร่กับที่เราได้ตั้งหลักไว้ว่าธรรมะคือตัวธรรมชาติ คือกฎของธรรมชาติ คือหน้าที่ตามธรรมชาติ ผลได้รับตามหน้าที่ที่ปฏิบัติแล้ว นั้นมันเป็นตัวธรรมะแท้ เดี๋ยวนี้มันมาอยู่ในรูปเรื่องราวหรือบันทึกเหตุการณ์ต่างๆที่ได้เคยเกี่ยวข้องกันระหว่างมนุษย์กับธรรมะมันจึงยืดยาวพระคัมภีร์ก็ยืดยาว ตัวพระคัมภีร์นั้นก็ไปดูเองว่าเป็นตัวธรรมะหรือเป็นเพียงประวัติบันทึกเรื่องราวที่เกี่ยวกับคนหรือธรรมะ แม้คำว่าศาสนามันก็ทำความยุ่งยากอย่างนี้เหมือนกัน ศาสนาแปลว่าคำสอน แต่ตัวธรรมะนั้นมันไม่ใช่คำสอนเป็นตัวความจริง มันเป็นตัวการปฏิบัติ ตัวศาสนาแท้จริงคือตัวการปฏิบัติ ทีนี้ตัวการปฏิบัติที่มันมากเข้าทับถม หมักหมม มากเข้านี้มันก็ยุ่ง ก็บันทึกไว้เป็นเรื่องเป็นราว เป็นตัวหนังสือมันก็มาก มันก็ยุ่งจนเกินความจำเป็น เมื่อเราเรียกศาสนาแต่หมายถึงไอ้ความรู้หรือบันทึกหรืออะไรต่างๆที่เกินความจำเป็นอย่างนี้มันก็ไม่ตรงตามความเป็นจริง มันก็น่าสงสาร นี่เป็นต้นเหตุสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ใช้ธรรมะผิด หรือใช้ศาสนาผิด หรือว่าเอาสิ่งที่ไม่ใช่ศาสนาไม่ใช่ธรรมะมาเป็นธรรมะมาเป็นศาสนา ถึงจะดูกันว่ามันจะเป็น ทำให้มีผลเกิดขึ้นอย่างไร เพราะเดี๋ยวนี้เรากำลังตั้งใจจะพูดกันถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากศาสนาหรือจากธรรมะก็ตาม ที่เป็นอยู่มากๆเวลานี้มันจะกลายไปเป็นคำว่าธรรมะหรือศาสนานี้เป็นวัตถุแห่งการค้าแห่งการค้าขายหรือเครื่องมือหากินไปเสียด้วยซ้ำไป เค้าเรียนธรรมะหรือเรียนศาสนากันเพียงเพื่อจะหา ลาภยศชื่อเสียง ไม่ต้องอ้อมค้อมอะไรก็พูดว่าพระเราก็ศึกษาธรรมะเพียงสักว่าให้เทศน์เอาเงินเครื่องกัณฑ์ได้ ก็เป็นธรรมะการค้า เป็นวัตถุแห่งการค้า
(26:36) ที่นี้มันก็มีทางที่เตลิดเปิดเปิงออกไปว่าบิดผันไอ้คำเทศน์นี้ให้มันน่าสนุกสนานยิ่งขึ้น โดยไม่คำนึงถึงไอ้ข้อเท็จจริง ถ้าเทศน์สนุกคนก็ชอบนิมนต์ไปเทศน์ก็ได้เครื่องกัณฑ์มาก ถ้าอย่างนี้เราจะเรียกว่าประโยชน์ของธรรมะไหม ไอ้เครื่องกัณฑ์หรืออะไรต่างๆนั้น จะเรียกว่าประโยชน์ของธรรมะหรือของศาสนาไหม จะเรียกก็ได้ แต่ต้องเรียกว่ามันแหวกแนวไปเสีย มันออกนอกลู่นอกทางแล้ว เรื่องของพระเป็นอย่างไร เรื่องของฆราวาสมันก็อย่างนั้นแหล่ะ เรียนธรรมะเรียนพุทธศาสนาเพื่อไปเป็นอาจารย์สอนก็เพื่อเอาเงินเดือน เพื่อเอาประโยชน์เงินเป็นชื่อเสียงอย่างนี้ก็ได้ ตอนนี้ก็ทำกันอยู่มากยิ่งขึ้นทุกที กำลังระบาดไปทั่วโลก ในมหาวิทยาลัยชั้นดีก็มีแผนกที่จะสอนศาสนานั่นศาสนานี่ให้มันมีทุกศาสนาไป แต่แล้วก็สอนธรรมะแบบนี้ทั้งนั้น แบบเป็นวิชาเพ้อเจ้อ ปรัชญาเพ้อเจ้อ ไม่มาสู่การดับทุกข์โดยตรง เราจึงเห็นว่าประโยชน์ของธรรมะในลักษณะนี้มันเป็นวัตถุแห่งการค้า ลงทุนหาประโยชน์อย่างการค้า ธรรมะประโยชน์ของธรรมะนี่ก็กลายเป็นเรื่องวัตถุไป แล้วที่นี้จะมองกันให้ดีกว่านั้น ว่าประโยชน์ของธรรมะนี้ อย่างที่ว่าท่านทั้งหลายกำลังสนใจนี้ เท่าที่สังเกตเห็นก็ยังเป็นโดยอ้อม เป็นความประสงค์โดยอ้อม เป็นการกระทำหาประโยชน์โดยอ้อม นี่ต้องขออภัยที่ต้องพูดตามที่เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏแก่ตัวเอง
(29:26) โดยมีนักศึกษาทั้งนักเรียนเค้ามาขอศึกษาธรรมะ เพื่อให้ได้ธรรมะที่จะเอาไปช่วยให้เรียนดี ให้เป็นคนเรียนเก่ง หรือทำสมาธิก็เพื่อให้ความจำดีหรือเรียนเก่ง แล้วเขาก็จะได้เรียนสอบไล่ได้ดี ก็จะได้ประโยชน์จากการเรียนนั้นเต็มที่ นี้ก็คือเอาธรรมะไปเป็นบริวารของการเรียน อาชีพ นี่พูดตรงๆเลยว่าไอ้การศึกษาเล่าเรียนที่เห็นกันอยู่ในโลกนี้เวลานี้ต้องถือว่าเป็นอาชีพทั้งนั้น ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม นั่นเขาต้องการที่อยากจะเรียนดี ก็มาสนใจเรียนธรรมะหรือศาสนาจะได้หลักธรรมะไปใช้เพื่อประกอบการเรียนดี นี้ก็จริงเหมือนกันเป็นเรื่องจริงเหมือนกันและทำได้จริงเหมือนกัน ก็เป็นประโยชน์ก็เป็นประโยชน์แท้จริง แต่ควรจะถือว่ามันเป็นประโยชน์โดยอ้อม ยังอ้อมอยู่ คือถอยเข้ามาอีก ถอยมาใกล้ความจริงยิ่งขึ้นอีก ประโยชน์ของธรรมะแท้ๆคือ ถ้ารู้แล้วก็จะปฏิบัติให้มันถูกตามกฎของธรรมชาติ แล้วคนเราก็จะไม่มีความทุกข์ในทางใจ โดยเฉพาะ เมื่อใจไม่ทุกข์นี้มันก็ใช้ได้แหล่ะ นี้โดยคนๆหนึ่งก็มีก็ดับทุกข์ทางใจได้ หรือว่าดับทุกข์ในชีวิตนี้ได้ และก็ยังมีธรรมะที่ทำให้เมตตากรุณาช่วยเหลือแก่กัน ทำให้สังคมหรือคนทั้งโลกอยู่กันเป็นสันติสุขได้ นี่เป็นประโยชน์อันแท้จริงและสูงสุดของธรรมะ คือธรรมะเพื่อดับทุกข์ ทั้งส่วนของเอกชนและของส่วนสังคมใหญ่สังคมโลก ดังนั้นก็ควรจะคิดดูสักหน่อยว่าถ้าเราจะแสวงหาธรรมะเพื่อประโยชน์อะไรกันแน่
(32:19) ไม่มีใครว่าไม่มีใครตำหนิอะไร แม้ว่าจะศึกษาธรรมะเพื่อประโยชน์แก่การค้า เอาไปแสวงหาวัตถุมันก็ถูกเหมือนกันแต่มันไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของธรรมะ ธรรมะมันเกิดขึ้นมาโดยผู้ค้นคว้าเพื่อจะดับทุกข์ในด้านลึกคือเรื่องทางจิตใจทั้งนั้น คนที่มีกินมีใช้มีอะไรหมดแล้วยังมีความทุกข์อยู่นั่นแหล่ะจึงจะเป็นหน้าที่ของธรรมะ ธรรมะไม่ต้องมีหน้าที่ว่าไปสอนให้รู้ว่าไถนาอย่างไร ปลูกต้นไม้อย่างไร ค้าขายอย่างไร เพราะนั่นเป็นธรรมชาติหรือธรรมะอีกส่วนหนึ่งซึ่งเค้ารู้กันดีอยู่แล้ว พระศาสดาทั้งหลายในโลกในศาสนาสำคัญๆในโลกนี้ มารับหน้าที่หรือว่าภาระสอนส่วนที่มันเป็นปัญหาทางจิตใจทั้งนั้น แต่เดี๋ยวนี้เราก็ยอมรับว่าการทำถูกต้อง แม้ในเรื่องการทำมาหากินนั้นก็เป็นธรรมะเหมือนกัน เป็นธรรมะโลกียธรรมะอะไรไป มันคงจะเป็นเพราะว่ามันทำให้ดีกว่านั้นไม่ได้ ก็ต้องเป็นข้อแก้ตัว ว่าประพฤติธรรมะเพียงเท่านั้น หรืออีกทีหนึ่งก็จะต้องยอมให้ว่าเป็นธรรมะชั้นมูลชั้นต้นชั้น primitive(นาทีที่ 34:25) เพราะว่าคนป่ามันก็รู้จักหากิน รู้จักทำนำ รู้จักอะไรต่างๆ รู้จักความถูกต้องในเรื่องนี้โดยแน่นอน ถ้าไม่อย่างนั้นมันตายหมดแล้ว มันไม่เหลือพืชพันธุ์มาเป็นมนุษย์มาจนถึงพวกเรา ธรรมะชั้นprimitive ชั้นprimaryนั้นต้องยกไว้พวกหนึ่งเถอะ ให้รู้จักทำมาหากิน ให้รู้จักสังคมกันอย่างไรอะไรต่างๆนี้ กระทั่งเขารู้จักทำมาหากินมีอะไรเสร็จแล้ว เช่นทำความประสงค์ในส่วนนั้นแล้ว จิตใจมันก็ยังเดือดร้อนกระวนกระวายระส่ำระส่ายเพราะปัญหาทางจิตใจ
(35:15) ซึ่งเนื่องมาจากไอ้ธรรมชาติอันรุนแรงอีกประเภทหนึ่ง คือความที่จะต้องเกิดต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายต้องอะไรต่างๆนี้ นี่ถึงตอนนี้มันจะต้องอาศัยธรรมะชั้นที่เรียกว่าเป็นศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนา พระศาสดาจะตรัสว่าเราจะพูดหรือบัญญัติขึ้นมาพูดแต่เรื่องทุกข์กับความดับทุกข์เท่านั้น นั่นก็หมายถึงเรื่องของกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วก็ดับกิเลสนั้นเสียแล้วก็จะเป็นความดับทุกข์ การที่ในพระคัมภีร์ในพระไตรปิฎกได้พูดถึงเรื่องหน้าที่ทางสังคม หรือความขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพบ้างนี้ ก็เพราะมันมีคนไปทูลถามก็เพราะว่ามันเป็นเรื่องง่ายเกินไป ท่านจะไม่ตอบก็ไม่ได้ท่านก็ต้องตอบเหมือนกับเป็นเรื่องที่ว่าคุยกันเล่น เรื่องจริงๆหรือเรื่องที่เป็นหน้าที่โดยตรงของพระพุทธเจ้าคือเรื่องดับกิเลสกับดับทุกข์ ถ้ามันจะใช้มาได้เรื่องทำไร่ทำนาค้าขายได้ก็ได้ก็เป็นส่วนประกอบ ก็ถ้าเราอย่ามีกิเลสกันมากนักเราก็จะอยู่กันได้ดี หรือเราจะไม่ต้องทำให้มันมากให้มันเกินไปให้มันเฟ้ออย่างนี้
(37:12) ขอให้ถือว่าเป็นเรื่องโดยอ้อม ยังเหลือเรื่องจริงหรือประโยชน์อันแท้จริงของธรรมะนี่มันอยู่ตรงที่มันดับทุกข์ให้ได้ คือดับทุกข์ที่ที่วัตถุมันช่วยดับให้ไม่ได้ ในส่วนที่วัตถุมันช่วยดับให้ได้ ก็ดับได้โดยการใช้วัตถุให้ถูกต้อง เช่นไปทำมาหากินหรือจะรักษาโรคหรือจะอะไรต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่จะทำได้ตามหลักเกณฑ์ทางวัตถุ ทีนี้เมื่อคนมันมีความสำเร็จในชั้นนี้แล้ว ไอ้เรื่องทางจิตใจมันยังเหลืออยู่สำหรับเป็นปัญหา ฉะนั้นเราจะต้องใช้ธรรมะสำหรับแก้ปัญหาในเรื่องทางจิตใจ ถ้าเป็นความทุกข์ก็เป็นความทุกข์เรื่องทางจิตใจที่เค้าเรียกว่า เจตสิกทุกข์ความทุกข์ส่วนจิตใจ แต่แล้วมันก็อาจจะเขยิบลงไปเกี่ยวข้องกันกับความทุกข์ที่เกิดจากหน้าที่การงานหรือวัตถุอะไรก็ได้ ก็เอาเป็นว่าถ้ามันเป็นความทุกข์แล้วก็จะใช้ไอ้ความรู้ธรรมะนี้กวาดล้างออกไปเสียให้หมด ถ้าว่าชาวนาคนหนึ่งทำนา ถ้ามีจิตใจเป็นทุกข์ก็ใช้ธรรมะแก้ไขส่วนนั้น ตั้งแต่ว่าแรกทำนา หรือว่าได้ข้าวเปลือกมามากมายแล้ว จิตใจก็ยังเป็นทุกข์ มันก็ต้องใช้ธรรมะแก้ความทุกข์นั้น จนกระทั่งเป็นเศรษฐีเป็นพระราชาเป็นเทวดาในสวรรค์ แล้วมันก็ยังมีความทุกข์ก็ต้องใช้ธรรมะแก้ความทุกข์เหล่านั้น นี่เรียกว่าหน้าที่โดยตรงของธรรมะมีอยู่อย่างนี้
(39:42) ที่พูดอย่างนี้ ทั้งหมดนี้เพื่อจะให้มองเห็นไอ้ความสำคัญของธรรมะและความจำเป็นที่มนุษย์เราจะต้องมีธรรมะแล้วก็จะได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มนุษย์ถ้ามีใจสูงถ้ามีธรรมะใจมันก็สูง สูงทุกอย่างทุกประการและจะยิ่งๆสูง สูงอย่างมีความหมายที่สุดก็คือว่าใจสูงจนมีความทุกข์ไม่ได้ สูงจนความทุกข์ครอบงำไม่ได้นี่แหล่ะใจสูง ดังนั้นถ้าใครมีความทุกข์ก็ควรจะละอาย จะพูดว่าควรเสียใจก็ได้เหมือนกัน แต่ไม่มีประโยชน์ ไม่อยากแนะ เพราะเสียใจมันก็เป็นทุกข์เพิ่มเข้าไปอีก แต่ถ้ารู้สึกว่าไม่มีธรรมะแล้วควรจะละอาย ละอายเพื่อว่าจะได้แก้ไขเสียให้มันมีธรรมะ ทุกคนไปสำรวจดูตัวเอง ว่ายังขาดธรรมะในส่วนไหนพบแล้วก็ละอาย ละอายให้มากๆทั้งที่ไม่มีใครรู้ของเราว่าเราขาดธรรมะในส่วนไหน
(41:13) หิริแปลว่า ความละอาย โอตตัปปะแปลว่า ความกลัว อายและกลัวเมื่อไม่มีธรรมะอย่างนี้สูงสุด แต่คนก็ไม่ละอายไม่กลัวเพราะไม่รู้เรื่องของธรรมะ ไปละอายหรือไปกลัวที่จะต้องติดคุกติดตะรางหรือจะต้องถูกสังคมลงโทษอย่างนั้น กลัวกันหรือละอายกัน มันก็เกี่ยวกับเรื่องข้างนอกเกี่ยวกับอื่น เกี่ยวกับคนอื่นเข้ามารู้ด้วย อย่างนี้ไม่ใช่หิริโอตตัปปะที่แท้จริง หิริโอตตัปปะที่แท้จริง คือเราละอายเมื่อเราเป็นมนุษย์ไม่ถูกต้อง เมื่อความเป็นมนุษย์ของเราไม่ถูกต้อง มันบกพร่องมันขาดธรรมะแล้วเราก็ละอาย ขอให้คิดจนมองเห็นว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนธรรมะก็ไม่ใช่เพื่อจะแลกเอานั่นเอานี่ และก็ไม่บีบบังคับอะไร ใครจะอยากเอาก็ได้ไม่อยากเอาก็ได้ และไม่มีการลงโทษอย่างที่เขาลงโทษกัน แต่ต้องการให้รู้จักละอายรู้จักกลัว คือเป็นผู้ดีไม่ต้องถูกเฆี่ยนตี ไม่ต้องกลัวที่จะถูกเฆี่ยนตี แต่มันก็ละอายหรือกลัวว่ามันจะไม่เป็นมนุษย์ที่ถูกต้องหรือสมบูรณ์คือไม่มีธรรมะนั่นเอง
(42:57) นี่ก็ขยับขยายแก้ไขปรับปรุงกันเสียใหม่ ให้มันมีธรรมะที่ว่าเรามีการทำหน้าที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติให้สมกับที่เป็นมนุษย์ มนุษย์มีธรรมะอย่างมนุษย์ ก็เป็นมนุษย์ที่สมชื่อ ให้มีจิตใจสูงเหนือความทุกข์ เดี๋ยวนี้เรายังเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ ควรจะเรียกว่าเป็นคนมากกว่าเป็นมนุษย์ ถ้าเป็นมนุษย์ต้องมีใจสูงชนะความทุกข์ได้ ถ้าเป็นคนมันมีคำเรียกว่า “นร(นะ-ระ)” แปลว่าคน หรือว่า “ชน(ชะ-นะ)”แปลว่าชน หรือ “ ปชา(ปะ-ชา)” แปลว่า สัตว์ อย่างนี้ก็มี นี้ปล่อยไปตามเรื่องได้คือใจจะสูงไม่สูงตามใจมันมันเป็นคนเป็นอะไรนี้ปล่อยไปตามเรื่องได้ ใจไม่สูงก็ยังเป็นคน แต่ถ้าเป็นมนุษย์มันต้องใจสูง เดี๋ยวนี้คนมันตั้งตัวเองเป็นมนุษย์ทั้งที่ใจไม่สูงมันก็เป็นคนหลอก หลอกตัวเองด้วย หลอกคนอื่นด้วย ไม่ได้เป็นมนุษย์ก็ว่าเป็นมนุษย์ นี้คนมันอยากดีอยากมีเกียรติมันก็เรียกมนุษย์กันไปหมด นี่ลองไปคิดดู
(44:27) บางทีมันจะช่วยได้บ้าง ช่วยให้เราปรับปรุงไอ้สิ่งต่างๆที่เราบกพร่องกันอยู่นี่ ให้มันดีขึ้นโดยเร็ว ดังนั้นการที่นักศึกษาทั้งหลายจะเปิดกลุ่มศึกษาธรรมะ ศึกษาพุทธศาสนานี่ ก็เป็นการทำสิ่งที่ดีที่ถูกต้องที่น่าอนุโมทนา แต่ว่าต้องเข้าใจธรรมะให้ถูกต้อง อย่าใช้ธรรมะเพื่อการค้า หรืออย่าใช้ธรรมะเพื่อผลโดยอ้อมอย่างเดียว ให้ใช้ธรรมะเพื่อผลโดยตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้สอนธรรมะเป็นต้น เป็นบุคคลที่ตั้งต้นสอนธรรมะค้นคว้าธรรมะมาได้แล้วก็นำมาสอนคือพระพุทธ เจ้าหรือพระศาสดาทั้งหลาย ทีนี้เราก็จะพูดกันถึงประโยชน์ของธรรมะโดยตรงอีกสักหน่อย ถ้าจะพูดเรื่องนี้ก็จะต้องนึกไปถึงไอ้คำพูดตอนต้นๆว่าธรรมะคือการทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ นั่นแหล่ะประโยชน์อยู่ที่นี่ คือมันก็ไม่มีอะไรผิดธรรมชาติ มันถูกต้องตามกฎของธรรมชาติในทางที่จะไม่เป็นทุกข์ ประโยชน์โดยตรงอยู่ที่นี่ ต้องศึกษาให้รู้ธรรมะในฐานะที่เป็นธรรมชาติ ในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาติ แล้วปฏิบัติให้ถูกตามนั้น ก็เป็นผู้ชนะเท่านั้นเอง คำนี้ศักดิ์สิทธิ์หรือสูงสุด หรือได้ใช้กันแล้วแต่โบราณ
(46:45) โดยเฉพาะในประเทศอินเดียแล้วพระศาสดาของศาสนาไหนก็ตามจะถูกเรียกว่า ชินะ ทั้งนั้น ชินะๆนี่แปลว่าผู้ชนะ พระพุทธเจ้าของเราก็มีนามว่าชินะ ของศาสนาอื่นก็มีนามว่าชินะ แปลว่าผู้ชนะถ้าว่ารู้น้อยก็ชนะน้อย ชนะตามที่เขาถือว่าชนะแล้วเพียงเท่านั้น ในทางพุทธศาสนาต้องถือว่าชนะหมด ชนะถึงที่สุด คือชนะกิเลสชนะความทุกข์โดยประการทั้งปวง ขอให้เราถือความหมายอันนี้หรืออุดมคติของคำๆนี้คือคำว่าชนะ ไม่อยู่อย่างผู้แพ้ แพ้ถึงกับขนาดนั่งร้องให้นี่มันใช้ไม่ได้ หรือที่แพ้อย่างเลวอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าแพ้จนยอมทำชั่ว คือมอบตนให้แก่ความชั่ว ยอมทำความชั่วไปตามความชั่ว มันแพ้แก่ความชั่ว อันนี้เค้าเรียกว่าผู้แพ้ แพ้อย่างหมดเนื้อประดาตัว แม้ไม่นั่งร้องให้อยู่ก็เป็นความแพ้ที่เลวมาก แพ้ที่นั่งร้องให้อยู่นั้นบางทีมันยังหมายถึงว่าไม่ได้ทำชั่วทำผิดอะไรมากมาย แต่เพียงมันทนไม่ได้มันร้องให้อย่างนี้
(48:24) ธรรมะนี้จะมีอานิสงส์สูงสุดตรงที่ไม่เป็นผู้แพ้ เพื่อไม่ให้แพ้แก่ความชั่ว เมื่อไม่แพ้แก่ความชั่วก็ไม่แพ้แก่ความทุกข์ เพราะความทุกข์นี้มันมาจากทำผิดหรือทำชั่ว กระทั่งถึงว่าความโง่ความไม่รู้ความไม่รู้เท่าถึงการณ์ เพราะว่าเราไม่ได้เล่าไม่ได้เรียนนี้ก็ ก็ต้องนับเป็นความผิดหรือความชั่ว ทำไมไม่ขวนขวายที่จะเรียน เพราะมันเป็นตัวธรรมชาติเป็นตัวกฎของธรรมชาติอยู่ในเนื้อในหนังของเรา ทำไมไม่สนใจมัน เพราะว่าเคยพบกันมามากมายแล้ว เขาก็สอนกันไว้ตามลำดับ ไอ้เรื่องโลกๆแท้ๆเขาก็ยังไม่ให้แก้ตัว เช่นว่าใครจะปฏิเสธว่าไม่รู้กฎหมายอย่างนี้ก็ไม่ได้ เค้าไม่ยอมแต่เรื่องของธรรมชาตินั้นมันเฉียบขาดไปยิ่งกว่านั้นเสียอีกคือไม่ยอมเสียเลยทีเดียว ถ้าทำผิดก็มีความทุกข์ทันที ลงโทษทันทีด้วยและก็ยุติธรรมที่สุดด้วย ไม่ต้องอาศัย พยงพยานที่ไหนอีกแล้ว ดังนั้นเราต้องกลัวให้มากเพื่อจะปฏิบัติให้ถูกต้องต่อพระเจ้า คือกฎของธรรมชาติ แล้วพระเจ้านั้นก็จะให้รางวัลแก่เรา แทนที่จะลงโทษก็กลายเป็นให้รางวัลแก่เรา
(49:55) เราก็ได้รับประโยชน์ จะมีความถูกต้องและจะได้รับความพอใจ อิ่มอกอิ่มใจเป็นความสุขเป็นความพอใจ ล้วนแต่มีความพอใจในความสุข เพราะมันถูกต้องมันก็ได้แต่ความพอใจ นี่เรียกว่าเป็นสุขจากธรรมะโดยตรง เห็นได้ง่ายๆว่าเราพอใจในการกระทำของเราว่าเรามีความเคารพตัวเองได้ จนอยากจะไหว้ตัวเราแทนที่จะไปไหว้พระไหว้เจ้าอะไรที่ไหนนี่ มันกลายเป็นอยากจะไหว้ตัวเรา เพราะว่าเรามองเห็นในความถูกต้องของเราที่ประพฤติธรรมะได้ดี นี้ก็ไปเทียบเคียงดูเอาเองว่ามันเป็นประโยชน์สักเท่าไหร่ เป็นอานิสงส์สักเท่าไหร่ แล้วใครเคยได้รับอานิสงส์อันนี้บ้าง ผู้ที่รู้ธรรมะหรือตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับธรรมะ เขาจะถือว่าความสุขอย่างนี้วิเศษกว่าสวรรค์วิมาน ในสวรรค์ที่เขาปรารถนากันนัก ความสุขในสวรรค์นั้นยังเป็นเรื่องหลอกๆสำหรับคนโง่ที่หลงใหลในกามารมณ์ ความสุขที่เป็นความถูกต้องของธรรมะขนาดที่ยกมือไหว้ตัวเองได้นี่เป็นความสุขที่แท้จริง สูงกว่าอย่างไหนหมด นี่ประโยชน์ของธรรมะมันมีอย่างนี้ ทำให้ได้รับความสุขยิ่งกว่าในสวรรค์ในชั้นพรหมชั้นอะไรต่างๆซึ่งล้วนแต่เป็นความหลงใหล
(51:47) แต่นี้ไม่ต้องอาศัยอะไรเป็นเหยื่อไม่ต้องถูกหลอกไม่ต้องถูกลวงไม่มีอะไรมาหลอกลวง มันเป็นเรื่องของความจริงตามธรรมชาติตามกฎของธรรมชาติ ทำลงไปแล้วมันก็มีผลทำให้จิตใจเป็นอย่างนี้ พุทธศาสนาสอนอย่างนี้ ก็เรียกว่าสอนสูงไปกว่าสวรรค์ชั้นกามาวาจร ชั้นรูปาวจรหรือชั้นพรหมโลกนี้ เขาเคยพบความรู้หรือผลของความรู้ ชั้นสวรรค์ชั้นกามาวาจร รูปาวจร อรูปาวจรเสร็จแล้วก่อนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ท่านก็ได้ศึกษาสิ่งเหล่านี้แล้วบอกไม่ไหวมันยังไม่ถึงที่สุด ท่านมาพบวิธีใหม่ของท่านคือถอนความยึดมั่นถือมั่นเสียได้ ดับกิเลสเสียได้เรียกว่าเป็นความสุข และเป็นธรรมะที่เหมือนกับวิทยาศาสตร์ คือมันมองเห็นชัดอยู่ เห็นได้โดยประจักษ์อยู่ว่าตัวธรรมชาติอย่างนี้ ตัวกฎตามธรรมชาติอย่างนี้ หน้าที่ตามธรรมชาติอย่างนี้ ทำเสร็จแล้วมันก็ได้ผลอย่างนี้ มันปรากฏอยู่จริงๆมันเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์
(53:23) แต่ถ้ายังไม่รู้มันก็เป็นเรื่องงมงาย เป็นปรัชญาที่งมงาย พอทำได้ทำเสร็จก็กลายเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ ดังนั้นอย่าไปหลงใหลในเรื่องของปรัชญามันสำหรับความสงสัยความไม่รู้ สำหรับการค้นหากว่าจะพบ พอพบแล้วว่าเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องมีใครมาบอก รู้ประจักษ์ด้วยใจของตนเองว่ามันไม่มีความทุกข์ มันชนะมันอยู่เหนือความทุกข์จริงๆถึงแม้ว่าไอ้ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายจะมาถึงเข้า มันก็ยังหัวเราะอยู่นั่นแหล่ะ มันชนะได้อยู่ นี่ประโยชน์โดยตรงและก็สูงสุดของธรรมะมันมีอย่างนี้ เราก็ควรถือเอาอันนี้เป็นหลักเป็นจุดมุ่งหมาย นอกนั้นมันเป็นเรื่องแถมพก เป็นเรื่องเผื่อให้ เผื่อให้มีไว้แล้วก็เป็นเรื่องที่เค้าเคยพบกันมาแล้วก่อน กระทั่งถึงว่าเคยทำกันมาแต่กาลก่อน จะสรุปให้สั้นอีกทีหนึ่งก็ว่า ไอ้ความเป็นทุกข์กับเขาไม่ได้ เป็นทุกข์กับเขาไม่เป็น คือไม่รู้จักเป็นทุกข์ ทุกข์กับเขาไม่ได้ เป็นทุกข์กับเขาไม่เป็นนั่นแหล่ะคืออานิสงส์ของธรรมะ
(55:04) ดังนั้นเราจะไม่ต้องมีความทุกข์ใดๆ ไม่ต้องร้องให้ไม่ต้องหัวเราะ หัวเราะมันก็เหนื่อย ร้องให้มันก็ทนไม่ค่อยไหว มันอยู่ปกติเรียกว่าอยู่ปกติ ก็คือชนะถ้าปกติอยู่ไม่ได้ก็คือแพ้ นี้คำว่าปกตินี่ก็เป็นความหมายเดียวกันกับคำว่าธรรมะเหมือนกัน ถ้าเป็นธรรมะแล้วต้องปกติต้องถูกต้องและปกติ ถ้ายังถูกกระทบกระแทกถูกปรุงแต่งให้นั่นนี่อยู่แล้วก็ยังเรียกว่าไม่ปกติ ยังไม่ใช่ธรรมะที่แท้จริง ดังนั้นจะเล็งผลของการมีธรรมะนี้ว่าคือปกติอยู่ได้ อะไรจะเข้ามาก็ปกติอยู่ได้ ความเจ็บไข้เข้ามามันก็ปกติอยู่ได้ ไม่ใช่ว่าไม่รักษาไม่เยียวยาไม่แก้ไข มันก็ทำไปตามที่ควรจะทำ เท่าที่ควรจะทำ ก็ไม่มากไปกว่าที่ควรจะทำ นี่เรียกว่าปกติ ดังนั้นเราเลยเป็นทุกข์กับเขาไม่เป็น ใครมีธรรมะ เดี๋ยวนี้มันยากจนอยู่ ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ก็ทำการแก้ไขไปจนกว่าจะพ้นจากความยากจน นี่เรียกว่าเป็นปัญหาทั่วไปของมนุษย์ ถ้ามันเกิดอุบัติเหตุหรือวิบัติเหตุ เกิดภัยสงครามเกิดภัยธรรมชาติอะไรมา สูญเสียทรัพย์สมบัติสูญเสียอะไรหมด มันก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ มันก็มีไปตามปกติ มันก็แสวงหาต่อไป อย่างนี้คืออานิสงส์ของธรรมะที่แท้จริง
(57:13) เป็นทุกข์กับเขาไม่ได้เป็นทุกข์กับเขาไม่เป็น ไม่รู้จักกับความทุกข์แล้ว หย่าขาดจากความทุกข์ การพูดอย่างนี้บางคนอาจจะคิดว่ามันสูงเกินไป ไม่ใช่เรื่องของคนธรรมดา แต่อาตมาคิดว่าไม่ใช่อย่างนั้น คนธรรมดาก็ต้องมีเป้าหมายอย่างนั้นก็ทำให้ได้ ให้มากที่สุดเท่าที่ตัวจะทำได้ เมื่อไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นทุกข์นี่ ไม่ได้เกิดมาสำหรับเป็นทุกข์ ก็ไม่ยอมทุกข์ ไม่ยอมเป็นทุกข์ อะไรที่เกิดขึ้นก็ไม่ยอมเป็นทุกข์ ก็ต่อสู้แก้ไขไปโดยปกติ มันก็ชนะได้ ในที่สุดก็ชนะได้ การที่ไม่ยอมเป็นทุกข์แต่ทีแรกนี้มันก็เป็นการชนะขั้นหนึ่งแล้ว ชนะจริงๆขั้นหนึ่งแล้ว กูไม่ยอมเป็นทุกข์ ต่อสู้แก้ไขไปจนไอ้ปัญหาเหล่านี้หมดไป มันก็ชนะอีกขั้นหนึ่งหรือสมบูรณ์ เดี๋ยวนี้คนเราไม่รู้จักเรื่องของธรรมชาติ ไม่รู้จักตัวธรรมชาติ ไม่รู้จักความลับของธรรมชาติ มันจึงได้โง่ เขาเรียกว่ามีอวิชชา
(58:46) มีอวิชชาก็คือมีสภาพที่ปราศจากความรู้ ไม่รู้สิ่งที่ควรจะรู้ สภาพนั้นปราศจากความรู้ที่ควรจะรู้นี้เรียกว่าอวิชชา คนธรรมดามีอวิชชา ไม่รู้สิ่งที่ควรจะรู้ แก้ไขโดยศึกษาโดยปฏิบัติให้รู้สิ่งที่ควรจะรู้ มีวิชชาขึ้นมาแทนอวิชชา นี่คือความลับของธรรมชาติเราจะต้องเข้าให้ถึง ให้รู้ว่าไอ้ตัวธรรมชาติในทุกแง่ทุกมุม แต่ว่าโดยเฉพาะที่สำคัญก็คือว่าธรรมชาติที่เป็นทุกข์ หรือว่าธรรมชาติที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี่พวกหนึ่งคู่หนึ่ง และธรรมชาติที่ปราศจากความทุกข์ ความว่าง ความบริสุทธิ์สะอาด ความดับความปราศจากความทุกข์ นี้เป็นอย่างไรแล้ว รู้จักหน้าที่ ธรรมชาติที่เป็นหน้าที่ จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะได้มา เรียกว่าเราปฏิบัติธรรมะในข้อไหนก็ตาม มันเป็นการทำหน้าที่ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เรามีศีล สมาธิ ปัญญา ก็ได้ หรือจะเรียกว่ามี อริยมรรคมีองค์๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้นก็ได้ ล้วนแต่การเดินไปตามกฎของธรรมชาติอย่างถูกต้องทั้งนั้น เราก็มาทำการศึกษากันในส่วนนี้ให้มากเป็นพิเศษ ส่วนอื่นมันยังไม่จำเป็น
(1:00:42) ต้องหยิบเอาความทุกข์ที่เป็นปัญหาอยู่เวลานั้น ที่มีอยู่จริงในเวลานั้นขึ้นมาศึกษา มาพิจารณา มาค้นหาต้นเหตุและก็ดับให้ได้ ไม่ต้องไปนึกถึงไอ้ความทุกข์ที่ยังไม่มีอยู่ หรือไอ้ความทุกข์ที่ไหนไม่รู้ มันไม่จำเป็น เพราะความทุกข์ที่มีอยู่เดี๋ยวนี้มันเยอะแยะไป มาดูให้ดีๆก็จะรู้จักไอ้ธรรมชาติที่เร้นลับอย่างยิ่ง ก็เลยเกิดเป็นวิชชาขึ้นมา อันนี้ก็ต้องถือเป็นประโยชน์เป็นอานิสงส์ด้วยเหมือนกัน คือความรู้หรือแสงสว่างที่ได้รับ ก็เป็นอานิสงส์ของธรรมะ เป็นประโยชน์ที่เกิดมาจากการมีธรรมะ เราไม่ต้องเป็นมนุษย์ที่มืดหรือหลับตา เราเป็นมนุษย์ที่รุ่งเรืองด้วยสติปัญญา ก็ต้องถือว่าเป็นประโยชน์หรือเป็นอานิสงส์ของธรรมะด้วย หรือจะถือว่าเป็นประโยชน์อานิสงส์ของการเข้าถึงธรรมะก็ได้ มันก็ความหมายอย่างเดียวกัน อานิสงส์ของธรรมะหรือว่าอานิสงส์ของการเข้าถึงธรรมะ นี่มันเป็นความหมาย หมายถึงสิ่งเดียวกัน ดังนั้นขอให้ทุกคนเขยิบความสนใจ หรือการศึกษาธรรมะให้สูงขึ้นมาถึงขั้นนี้ ถ้ามันยังไม่เคยสูงขึ้นมาถึงขั้นนี้ ก็ขอให้ช่วยกันเขยิบขึ้นมาให้สูงถึงขั้นนี้
(1:02:31) แม้ว่าเราจะเพิ่งลงมือตั้งต้นศึกษาธรรมะกัน เพิ่งจะตั้งกลุ่มพุทธศาสน์กันขึ้นมาแล้ว เรียกว่าเพิ่งตั้งต้น แต่ก็ขอให้มุ่งหมายไกลถึงอย่างนี้ แล้วก็จะไม่เสียทีจะเข้าถึงธรรมะ ส่วนเรื่องเหล่านั้นก็เป็นเรื่อง บริวาร เอาแล้วเป็นอันว่าอาตมาได้บอกให้ทราบถึงประโยชน์ของธรรมะ ที่เป็นใจกลาง ที่เป็นนิวเคลียสของประโยชน์ทั้งหลายที่จะพึงได้จากธรรมะ แล้วก็ไปหารายละเอียดเอาเอง นี่ก็พอแล้วสำหรับจะระบุประโยชน์ของธรรมะที่เป็นใจความสำคัญ ขอยุติการบรรยายไว้ เหลือเป็นโอกาสสำหรับการคุยหรือสนทนา หรือซักถามกันบ้าง ฟังได้เรื่องว่าอย่างไรที่อาตมาพูดนี้ คุณฟังได้เรื่องว่าอย่างไร ลองสรุปความมาสักสองสามคำว่า ได้เรื่องได้ราวว่าอย่างไร
(1:04:05) เอ้าลองเปลี่ยน (นาทีที่1: 04:13) “พระอาจารย์ครับคือคนส่วนมากมักจะติดอยู่ในแค่ขั้นศีลธรรมฮะ คือผมก็ชวนหมอๆที่แผนกหลายคนว่ามาฟังธรรมหรือมาปฏิบัติธรรมกับท่านมั่ง เขาบอกว่าผมก็เป็นแพทย์ ทำงานก็ไม่ได้ธุจริตคดโกงอะไร ได้รักษาคนไข้ ก็เป็นบุญเป็นกุศลก็ดีพออยู่แล้ว การประกอบอาชีพก็มีความสุขพอสมควร ก็รู้สึกปกติ (นาทีที่1: 04:49) เขาบอกเพียงแค่นี้ก็เพียงพออยู่แล้ว” มันก็ถูกถ้าเขาไม่มีความทุกข์ ไม่มีปัญหาเรื่องความทุกข์ก็ถูก ก็พอแล้ว ไปดูให้ดีว่ามีความทุกข์ทางจิตใจเหลืออยู่ที่ไหนบ้าง “ความทุกข์อย่าง...” (นาทีที่1: 05:11) ความทุกข์นี้ก็มีความหมายกว้าง “ครับ” แม้แต่ความกลัวความวิตกกังวลความไม่แน่ใจอะไรต่างๆนี้ก็เรียกว่าความทุกข์ ถ้าเรากังวลขึ้นมาเรานอนหลับเมื่อไร หรือถ้าเรากลัวเราหาที่อยู่ไม่ได้ในโลกนี้ “ความทุกข์ในระดับนี้เขานึกว่าเป็นธรรมดาคือเขาไม่เห็นไอ้ความสุขที่มัน หรือความทุกข์ที่มันน้อยลงไปกว่านี้อีก”
(1:05:43) ไม่เห็นๆ ไม่เห็นๆ สมมติว่าเค้าพูดตามจริง เขารู้สึกอย่างนั้นจริงๆก็แปลว่าเขายังไม่รู้อะไรอีกบางอย่างที่ควรจะรู้ หรือว่ารู้จักไอ้ตัวชีวิตไม่ลึกทุกแง่ทุกมุม ความที่จะต้องสูญเสียอะไรไป หรืออะไรทำนองนี้มันยังมีรออยู่ ถ้าไม่มีธรรมะมันก็จะเป็นทุกข์ ถ้าไม่เป็นทุกข์ได้ก็ถูกแล้ว ก็พอแล้วก็ดีแล้ว ก็ใช้ได้แล้ว ถ้าไม่เป็นทุกข์ก็ใช้ได้ “ผมนึกว่าคำที่ละเอียดลึกลงไป ทุกข์น้อยลงๆจนจะดับทุกข์ลงไปได้นี่ ยิ่งทำมากเข้า(นาทีที่1: 07:07) มันจะต้องละไอ้สิ่งที่ทางโลกเขาต้องการไอ้ลาภยศสรรเสริญ” มันยังไม่ต้องละ มันจะต้องตั้งรูปปัญหาขึ้นว่าเราจะมีสิ่งที่เราควรจะมีได้โดยที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ เช่นทรัพย์สมบัติหรือเกียรติยศชื่อเสียงอะไรที่มันควรจะมี และเรายังชอบอยู่ก็ควรจะมีได้และก็โดยที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ แต่ถ้าเราเห็นว่ามันเป็นไร้สาระหรือเป็นขยะมูลฝอย แล้วมันก็สลัดออกไปเอง มันก็ทิ้งมันออกไปเอง ก็พบไอ้ความเป็นอิสระความไม่ถูกรบกวนมันมากขึ้น หรือสิ่งเหล่านี้มันยังรบกวนเราอยู่ เราไม่รู้สึก เกียรติยศชื่อเสียงหรืออะไรก็ตาม มันรบกวนอยู่เราไม่รู้สึก แต่ถ้าเราไม่มีสิ่งเหล่านี้รบกวน เราก็จะสบายกว่านี้ ทีนี้เราอาจจะทำได้โดยที่ไม่ให้มันรบกวนทั้งที่ยังมีอยู่ ทั้งที่ยังเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้อยู่
(1:08:35) เพราะว่าอยู่ในโลกนี้มันจะเว้นจากทรัพย์ไอ้สมบัติ หรือแม้แต่เกียรติยศชื่อเสียงนี่มันเว้นไม่ได้ แม้เราไม่ต้องการมันก็มา มันก็มาตามเรื่องตามราวของมัน ถ้าใครทำดีก็มีชื่อเสียงมีเกียรติยศ มีคนนับหน้าถือตา แต่ก็อย่าให้มันเป็นต้นเหตุหรือเป็นปัจจัยแห่งความยุ่งยากลำบากหรือเป็นทุกข์ เมื่อไม่อยากจะมี ไม่มีก็ได้ ไม่ต้องการก็ได้ ในชั้นแรกนี้ยังไม่ได้แนะให้ถึงกับว่าหนีจากสิ่งเหล่านี้ หรือว่าขว้างทิ้งสิ่งเหล่านี้หรือทำลายสิ่งเหล่านี้ ควรจะลองทำกับสิ่งเหล่านี้โดยที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ไปก่อนจะดีกว่า เป็นบทเรียนที่ดี “พระอาจารย์คะ เกียรติยศชื่อเสียงนี่ก็จัดว่า...ถ้าหากว่าไม่ใช่เพราะเกียรติยศชื่อเสียงนี่ก็จะเป็นคนที่...หรือว่าอย่างไรคะ”(นาทีที่ 1:09:36) ชื่อเสียงนี่ก็พูดถึง motive (นาทีที่ 34:25) นี้มันมากนะ มันไม่ใช่เพียงอยากได้ชื่อเสียงไอ้สิ่งที่เป็น motive(นาทีที่ 34:25) นั้นมีมากมายเหมือนกัน ไม่ได้มีเฉพาะอยากจะได้ชื่อเสียงแล้วจึงจะทำความดี ถ้าว่ามีความรู้สึกผิดชอบถูกต้องแล้วมันมีทางอื่นอีกมาก ที่จะเป็นเหตุจูงใจที่จะทำความดี
(1:10:27) หรือบางทีจะเอากันให้มันจริงก็คือว่าไอ้กลัว กลัวความชั่วนั่นแหล่ะเป็นเหตุให้ทำความดี แล้วพอทำความดีแล้วชื่อเสียงมันมาเอง อย่าเพิ่งไปกระหายเดี๋ยวเกิดความเดือดร้อนในใจ ดังนั้นตั้งต้นไปจากข้างล่างดีกว่า คือกลัวความชั่วหรือกลัวความทุกข์ก็ได้แล้วก็ทำความดี ทำความดีแล้วมันก็ดับทุกข์ไปก่อน แล้วชื่อเสียงมันก็ค่อยๆมีมา ถ้าว่าจะไปตั้งหลักเพื่อได้ชื่อเสียงแล้วก็จะทำความดีนี้ มันก็ถูกเหมือนกันแต่มันมีช่องโหว่ที่จะให้ ทำความดีที่ไม่จริงก็ได้ ทำความดีแบบตบตาก็ได้อะไรก็ได้ แต่นั้นก็ยังไม่สำคัญ สำคัญคือมันจะกระหายเหมือนกับคนกระหาย ไม่มีความสุขเลยไปตั้งแต่ทีแรก มันมีความหิวกระหายต่อชื่อเสียง มันทรมาน ในทางหนึ่งมันอาจเป็นเครื่องกระตุ้นให้ทำจริงๆจังๆก็ได้ แต่ก็ไม่พ้นจากการที่มันจะเป็นความกระหาย หรือเป็นความทรมาน นี้เราจะเลือกเอาขั้นที่ว่าทำไปได้ไม่ต้องมีความกระหายหรือทรมานใจเรา
(1:12:12) แต่ก็ไม่ถือว่าผิด ถ้าใครอยากจะหาชื่อเสียงแล้วจึงทำดีนี่ก็ไม่ผิด โดยเฉพาะคนแรกตั้งต้นจะต้องเป็นอย่างนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ว่าเด็กๆ จะต้องยกยอให้เค้าทำความดีเพราะเค้ายังไม่รู้จักอะไร ยังไม่รู้จักกลัวอะไร แต่ผู้ใหญ่ควรจะรู้จักกลัวความทุกข์หรือปัญหาที่มันยิ่งขึ้นไปกว่า ก็ทำความดี ที่ทำความดีนี้ก็ต้องให้มันอยู่ในกรอบที่จะแก้ความทุกข์ที่ดับความทุกข์ ถึงเรียกว่าทำดี “...นรกสวรรค์และเป็นไปในทาง...ความเชื่อ เพราะว่าคนเราส่วนมากไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์..จะว่าเป็นคำสอนที่อาจจะไม่ถูกหลักนัก แต่ว่าก็มีคนจำนวนมากที่ดีขึ้นเพราะเชื่อในนรกสวรรค์ ...ไม่ทราบว่า...”(นาทีที่ 1:13:01) มันถูกทั้งสอง ทั้งสองนี้หมายถึงว่าจะสอนกันมาเหมือนแต่ก่อน นรกอยู่ใต้ดินสวรรค์อยู่บนฟ้าให้ทำให้พ้นจากนรกไปสวรรค์นี้ก็ถูก ถ้าผู้ฟังอยู่ในฐานะที่จะรับฟังเช่นนั้น ก็หมายความว่าคนทั่วๆไปที่ยังไม่รู้อะไรมาก
(1:14:05) แล้วก็สอนกันมาอย่างนี้อยู่ในสายเลือด ในวัฒนธรรม มันก็ยังใช้ได้ยังมีประโยชน์ พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ยกเลิกไอ้การสอนเรื่องนรกใต้ดินสวรรค์บนฟ้า เพราะมันเหมาะสำหรับคนชุดหนึ่งชั้นหนึ่ง แต่ท่านบอกว่ามันยังมีนรกสวรรค์ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น นรกสวรรค์ที่เกิดขึ้นในใจเดี๋ยวนี้เวลานี้ เรียกว่านรกสวรรค์ทางอายตนะ สวรรค์ทางอายตนะ คือสิ่งที่มากระทบตาหู จมูก ลิ้น กาย เวลานี้ ในบางกรณีมันเป็นนรกบางกรณีมันเป็นสวรรค์ ถ้าไม่มีความทุกข์ก็เป็นสวรรค์ ถ้ามันเป็นความทุกข์เดือดร้อนก็เป็นนรก นี้มันอยู่ที่นี่แล้ว มันมากระทบเราอยู่เป็นปกติที่นี่แล้วเราควรจะจัดการก่อน ไอ้นรกหรือสวรรค์ก็ตายแล้วมันยังอีกนานมันยังไม่ต้องนึกถึงก่อนก็ได้ ไอ้ที่มันร้อนเป็นไฟอยู่ในใจเรานี้ แก้ออกไป จัดการให้ออกไป ก็คือความสบายใจที่มันจะเอาได้เดี๋ยวนี้ก็ควรจะเอาให้ได้เสียก่อน
(1:15:35) ถ้าว่าเขาแก้นรก จัดการกับนรกชนิดนี้ให้ออกไปได้ หรือว่าได้สวรรค์ชนิดนี้เข้ามาแล้ว หมดปัญหาเลย ไอ้นรกก็ตายแล้ว สวรรค์ก็ตายแล้วเป็นอันว่าได้แน่ ถ้ามันมีเป็นอันว่าได้แน่ ดังนั้นอย่างเพิ่งไปสนใจเรื่องโน้น และฉันก็ไม่ได้ยกเลิกนะ ไม่ได้บอกเลิก แต่ฉันบอกว่าสนใจกับนรกหรือสวรรค์ที่กำลังถึงเข้าเฉพาะหน้า พระพุทธเจ้าตรัสว่านรกทางอายตนะนี่ฉันเห็นแล้ว สวรรค์ทางอายตนะนี่ฉันเห็นแล้ว ไม่ต้องมาบอกอย่างนี้ ในปัจจุบันนี้เราไม่ควรจะไปแตะต้องไอ้นรกสวรรค์ในแบบเก่าที่สอนกันอยู่ บอกว่ามันมีอยู่อย่างนั้นดีแล้ว เขาควรกลัวควรหวัง แต่ที่จริงกว่านั้นหรือว่าน่าสนใจกว่านั้นก็คือสวรรค์ในอก นรกในใจ จัดการอันนี้ได้แล้วอันโน้นก็พลอยถูกจัดการไปด้วยแน่นอน เมื่อเราทำให้เดี๋ยวนี้มันไม่มีนรกแล้วก็ไม่ทำชั่วทำผิดกันที่ไหน อีกต่อไปจะตาย มันก็ได้... “คำสอนที่...”(นาทีที่ 1:16:59) ก็ไม่ผิด เพราะสอนเพื่อคนจำนวนหนึ่ง ประเภทหนึ่งที่ควรจะฟังอย่างนั้นไม่ผิด มันเป็นการสอนที่ไม่ผิด “ความ...”(นาทีที่ 1:17:09) เข้าใจผิดว่ายังไง“...”(นาทีที่ 1:17:14) เค้าก็ไม่เชื่อสิ เค้าไม่เชื่อแล้วกันก็แล้วไป ไม่เชื่อนรกใต้ดินไม่เชื่อสวรรค์บนฟ้า ก็ไม่เชื่อก็ได้ แต่ถ้าว่าเขายังมีความทุกข์อยู่ เขาต้องแก้ไขความทุกข์นั้นให้หมดไป นั่นแหล่ะจะแก้ปัญหาเรื่องนรกแล้วก็ได้รับสวรรค์
(1:17:36) มันต้องนึกถึงไอ้คนบางยุคบางสมัยบางถิ่นนั่น แม้ในประเทศอินเดียไม่ใช่มันฉลาดไปทั้งหมด บางถิ่นมันก็เหมาะสมที่จะฟังอย่างนั้น แล้วเกิดความกลัวนรกหรืออยากได้สวรรค์ขึ้นมาก็ทำความดี แม้กระทั่งเดี๋ยวนี้มันก็ยังมีคนเช่นนั้นเหลืออยู่ ยังเหมาะสมแก่คำสอนชนิดนั้น แม้ว่าบุคคลมันเปลี่ยนมาจนเหมาะแก่คำสอนชนิดที่เป็นวิทยาศาสตร์เป็นไอทีมามากแล้วก็ตาม แต่คนที่ยังเหมาะแก่คำสอนชนิดนั้นก็ยังเหลืออยู่ มีเหลืออยู่ในโลกนี้ ในบางถิ่นบางแห่ง เป็นอันว่าไม่ต้องยกเลิกสวรรค์นรกอย่างแบบนู้นและก็สวรรค์นรกอย่างแบบนี้ แต่ว่าพระผู้สอน สอนด้วยเจตนาที่สุจริตก็แล้วกันอย่าสอนด้วยเจตนาทุจริตที่จะไปลักล้วงประโยชน์เอาของเขามา นั่นแหล่ะมันจะผิดอยู่ที่พระผู้สอนนั่นผิด
(1:19:01) “มีคำถามส่งมา ทำไมท่านอาจารย์จึงสอนว่าธรรมะคือธรรมชาติ ในเมื่อพระสงฆ์ผู้ประพฤติธรรมนั้น ปฏิบัติตนฝืนธรรมชาติ เช่นการทานอาหารเพียง ๒มื้อ ห้ามประพฤติในกาม” นี่เห็นได้ชัดว่ายังไม่เข้าใจคำว่าธรรมชาติ กิน ๓ มื้อแหล่ะผิดธรรมชาติ หรือไอ้กินบ้างไม่กินบ้างนั่นแหล่ะถูกธรรมชาติ ที่ต้องกินกันทุกวันนี่แหล่ะผิดธรรมชาติ ถ้าถูกตามธรรมชาตินั้นกินบ้างก็ได้ ไม่กินบ้างก็ได้ มันก็แล้วแต่เหตุปัจจัยที่มันมีอยู่ในวันนั้นว่าควรกินหรือไม่ควรกิน ควรกินมากกินน้อยนั่นแหล่ะถูกธรรมชาติ ไอ้การเว้นจากเรื่องทางเพศนั้นไม่ได้ผิดธรรมชาติ ไอ้ที่ว่าต้องมีการเกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์นั้นเป็นธรรมชาติชั้นธรรมดาสามัญ ที่สูงขึ้นไปหรือว่าไม่เกี่ยวข้องนั้นก็ยังเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติชั้นที่ลึกชั้นที่สูงขึ้นไป สติปัญญาของมนุษย์ที่ไม่รู้จักเรื่องนี้มันก็ธรรมชาติเป็นตัวธรรมชาติ สติปัญญาตามธรรมชาติก็ไม่อยากจะไปทำสิ่งที่ไม่ต้องทำก็ได้มันก็ไม่ต้องยุ่งมาก ไปคิดดูใหม่ ถ้าเข้าใจถูกก็จะเห็นว่าไม่ได้ผิดธรรมชาติที่แท้จริง
(1:20:55) มันเป็นเพียงผิดธรรมดาเล็กๆน้อยๆที่เขาเห็นกันอยู่โดยมาก เข้าใจกันอยู่โดยมาก นี่คนธรรมดาจะต้องมีครอบครัวมีอะไรต่างๆ ธรรมชาติแท้จริงยังมีส่วนที่ลึกที่ว่าแม้ไม่ได้เกี่ยวข้องสิ่งเหล่านี้ เหนืออยู่สิ่งเหล่านี้ก็คือธรรมชาติ ธรรมชาติอีกระดับหนึ่ง คำว่าธรรมชาตินี้กว้าง กว้างจนไม่มีอะไรเหลือแล้ว ครอบคลุมหมดแล้ว “คำถามของ..พระอาจารย์บอกว่า(นาทีที่ 1:21:41) พระอรหันต์คืออะไร ท่านอาจารย์เป็นพระอรหันต์หรือยัง จะรู้ได้อย่างไรว่าผู้นั้นได้ดวงตาเห็นธรรม” ผู้ได้ดวงตาเห็นธรรมนั้นยังไม่เป็นพระอรหันต์ ได้ดวงตาเห็นธรรมก็คือว่าเห็นในระยะแรกเพื่อความเป็นพระอรหันต์ข้างหน้า คือพระอรหันต์คืออะไรนี่ ก็ควรจะรู้ด้วยคำอธิบายที่พูดมาแล้วคือชนะ พูดว่าชนะ อรหันตะชินะ อรหันตะชิโนนี่ก็มีคำเรียก พระอรหันต์คือผู้ชนะ ชนะความทุกข์ทั้งปวง ไม่มีความทุกข์อะไรเหลืออยู่ได้ ส่วนที่ถามมาเป็นส่วนตัวอาตมาเป็นพระอรหันต์หรือไม่นี้เป็นปัญหาส่วนตัว ไม่ตอบ
(1:22:52) แล้วก็เป็นเรื่องที่มีระเบียบมีวินัยอะไรนิยมไว้ มันต้อง คือไม่ตอบคำถามชนิดนี้ “ทำไมพระสงฆ์จึงทานเนื้อสัตว์ได้ ในเมื่อเนื้อที่ทานมาจากสัตว์ที่ต้องตายด้วยความทุกข์ทรมาน เพราะฉะนั้นเวลาพระสงฆ์ทานเนื้อสัตว์จึงไม่นึกเวทนาบ้างหรือ ทำไมไม่ทานแต่พืชผัก” ปัญหานี้ก็มีถาม โต้กันอยู่เรื่อยตลอดเวลาเรื่องมังสวิรัติ มันมีปัญหาอยู่ตรงที่ว่าไม่เข้าใจคำว่าเนื้อสัตว์หรือพืชผัก ถ้าเป็นพระสงฆ์ที่แท้จริงจะไม่ฉันทั้งเนื้อสัตว์และพืชผัก ฟังถูกไหม ถ้าเป็นพระสงฆ์ที่แท้จริงหรือเป็นพระอรหันต์เลยดีกว่า จะไม่ฉันทั้งเนื้อสัตว์และพืชผัก จะต้องฉันอาหารที่มีความรู้สึกไม่เป็นเนื้อสัตว์หรือเป็นพืชผัก จะฉันอาหารเพื่อประทังชีวิตอยู่ได้ และอาหารนั้นก็เป็นมาในลักษณะที่ชอบธรรมหรือถูกต้องหรือไม่ได้น่ารังเกียจ ผู้ที่เข้าใจดีแล้วจะไม่รู้สึกว่าพืชผักหรือเนื้อสัตว์ วินัยของพระก็ไม่ยอมให้ฆ่าต้นไม้ การฆ่าต้นไม้ทำลายชีวิตต้นไม้นี้มีโทษเท่ากับฆ่าสัตว์ คือเป็นอาบัติปาจิตตีย์เท่ากัน ทำสัตว์มีชีวิตตายไปตัวหนึ่งก็เป็นปาจิตตีย์
(1:25:17) ทำต้นไม้ตายไปต้นหนึ่งก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าว่าฉันเนื้อสัตว์เป็นบาป ฉันผักก็ควรจะเป็นบาปด้วยเหมือนกันเพราะมันมีชีวิตเหมือนกัน มันจะต้องมีความรู้สึกไม่ใช่เนื้อสัตว์ไม่ใช่พืชผัก เป็นอาหารตามธรรมชาติที่เหมาะสมแล้ว สำหรับจะมาหล่อเลี้ยงร่างกายนี้ไว้ให้มันยังคงอยู่ได้สำหรับทำหน้าที่หรือประพฤติประโยชน์ต่อไป ก็เลยอยากจะแนะไว้เลยว่าแม้เป็นคฤหัสถ์เป็นฆราวาสนี้ก็อย่าฉันเนื้อสัตว์ก็ดีพืชผักก็ดี อย่าไปคิดให้มันเป็นเนื้อสัตว์หรือเป็นพืชผัก มันจะเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ถ้าเป็นอาหารที่บริสุทธิ์ที่ถูกต้อง แล้วก็รับประทานเถอะ นี่มันทำให้เกิดปัญหาหมูไม่มีก็ร้องโวยวายกันหมด นั่นเพราะมันไปติดเนื้อสัตว์ พระนั้นจะต้องทำจิตใจว่าไม่ใช่เนื้อสัตว์หรือไม่ใช่พืชผัก ถึงชาวบ้านก็ควรจะทำได้อย่างนั้นเหมือนกัน
(1:26:39) อย่างนั้นมันเป็นอาหาร และมันเป็นมาโดยที่ว่าถูกต้องเป็นธรรม ไม่มีผิดไม่มีบาป ถ้าท่านเจตนาจะฉันเพียงว่ารักษาชีวิตเอาไว้ได้ เหมือนพ่อแม่ที่จำใจต้องกินเนื้อลูกกลางทะเลทราย คำสอนข้อนี้เขามีหลักไว้ว่าอย่างนี้ อย่าไปกินเข้าไปด้วยความติดในรสในความเอร็ดอร่อย กินพออยู่ได้ กินเพื่ออยู่ได้ ให้ทำหน้าที่ได้ เดี๋ยวนี้อยากให้เอร็ดอร่อยให้พิถีพิถันกระทั่งความสวยงาม อาหารที่จะรับประทานนี่จะต้องทำให้สวยด้วยโดยไม่จำเป็นจะต้องทำให้สวย อันนี้ก็ต้องการความเอร็ดอร่อยมากเกินไป ก็เลยเป็นกินเหยื่อสำหรับทำให้ตัวเองลำบาก มันทำเพียงว่าเป็นอาหารที่ถูกต้องก็แล้วไป ถ้าคิดว่าเป็นเนื้อสัตว์แล้วกินเข้าไปตัวเองมันก็เป็นยักษ์มันกินเนื้อสัตว์ ถ้าคิดว่าเป็นพืชผักแล้วกินเข้าไปตัวเองก็เป็นควาย เพราะว่าควายมันกินผักกินหญ้า อย่าเป็นยักษ์อย่าเป็นควาย ทำใจให้มันถูกต้องว่าจะกินสิ่งที่เรียกว่าอาหารโดยบริสุทธิ์โดยถูกต้อง
(1:28:36) “ทำไมพระสงฆ์จึงเป็นโรคประสาทกันมาก ควรให้การรักษาอย่างไรจึงจะได้ผล” พระสงฆ์ยุคไหนล่ะ ต้องตอบว่าพระสงฆ์ยุคไหนก่อน แล้วก็พระสงฆ์ที่ไหนด้วย “คงจะยุคนี้...(นาทีที่ 1:29:00)พระสงฆ์ยุคนี้ แล้วก็ที่ไหนล่ะ“...แถวๆกรุงเทพฯ(นาทีที่ 1:29:12) ก็ต้องที่ ที่เขาเรียนกันอย่างมุทะลุ อย่างจะเอาดิบเอาดี คือใช้ธรรมะเพื่อประโยชน์การค้า หวังประโยชน์อานิสงส์ของธรรมะเพื่อวัตถุ และก็เรียนจนลืมไอ้ความพอดี จึงเป็นโรคประสาทกันมาก แต่ว่าทำไมไปเป็นที่พระสงฆ์มากเห็นกันอยู่ ถ้าไม่บวชก็ไม่มีโอกาสเรียนเพราะไม่มีเงินจะไปเข้ามหาวิทยาลัย ก็มาเรียนทางเป็นพระแล้วก็เรียนมุ มุทะลุมากเกินไปจนเป็นโรคประสาทนี้ก็มีมาก แต่ครั้งพุทธกาลคงไม่มี ไม่มีแน่ไม่มีเลย “ก็ถามว่าในเรื่องขันธ์ ๕ เวทนาและวิญญาณต่างก็เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้น ขอกราบเรียนถามถึงความแตกต่าง” นี่ดี ดังนั้นเวลาที่เหลือนี้ ทำความเข้าใจเรื่องขันธ์ ๕ ดีกว่า ก.ข. ก.กา ของทั้งหมดเลย เรื่องขันธ์นี้ ไอ้ขันธ์ ขันธ์นี่แปลว่าส่วนดีกว่า แปลว่าส่วน อย่าแปลว่ากองหรืออย่าแปลว่ากลุ่ม มันไม่ค่อยตรงกับความจริง แปลว่าส่วนหนึ่งหรือเรื่องหนึ่ง มันเป็นส่วนที่มันจะถูกกระทำขึ้นในคนเรานี่ ส่วนที่เป็นรูปหมายถึงส่วนร่างกายส่วนวัตถุ
(1:31:40) เรามีรูปขันธ์ต่อเมื่อร่างกายนี้มันทำหน้าที่ ของร่างกายหรือของรูปร่างกายพร้อมกันกับรูปของนอกเช่น รูปที่เห็นด้วยตานี่ เข้ามาถูกตาแล้วก็ไอ้ตานี้เป็นวัตถุเป็นกายอยู่แล้ว มันทำหน้าที่ของมัน เวลานั้นก็เรียกว่ารูปขันธ์ คือตานี่เกิดขึ้น รูปขันธ์ในความหมายเป็นตามันเกิดขึ้น มันควรจะย้อนลงไปถึงที่ลึกกว่านั้นคือว่า มันมีรูปธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ที่เป็นรูปธาตุนี้อยู่สำหรับเป็นพื้นฐานอยู่เรื่อย แต่เมื่อใดมันลุกขึ้นมาทำหน้าที่เป็นดวงตาหรือเป็นหู สำหรับทำหน้าที่ในกรณีนั้นๆ อย่างนั้นเราเรียกว่า มันเป็นอายตนะขึ้นมาแล้วก็เป็นขันธ์ขึ้นมา ธาตุตามาเป็นอายตนะตาเมื่ออายตนะตาทำหน้าที่ด้วยรูปข้างนอกแล้ว มันก็กลายเป็นรูปขันธ์ ทางหูก็เหมือนกัน ทางจมูกทางลิ้นทางผิวหนังก็เหมือนกัน มันเกิดรูปขันธ์ขึ้นมาเมื่อร่างกายมันทำหน้าที่ของรูป โดยทางตาทางหูทางจมูกอะไรก็ได้ นี่เรียกว่ารูปขันธ์
(1:33:23) มีตาและข้างนอกรูป พอมาถูกกันเข้าเกิดจักษุวิญญาณคือการเห็นทางตา นี้เรียกว่าวิญญาณ วิญญาณแปลว่ารู้แจ้งทางตา จำความหมายคำว่าวิญญาณไว้อย่างนี้ก่อน รูปข้างนอกกับรูปข้างในถึงกันเข้าจะเกิดวิญญาณคือการเห็นทางตา วิญญาณก็แปลว่ารู้แจ้ง นี้พอ ๓อย่างนี้มีก็เรียกว่าผัสสะ คือตาด้วยรูปนั่นด้วย การเห็นทางตาด้วยรวมเป็น ๓อย่าง ๓อย่างทำหน้าที่โดยการมาถึงกันนี้ก็เรียกว่าผัสสะหรือสัมผัส เพราะผัสสะอย่างนี้มีจึงเกิดความรู้สึกอีกชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่าเวทนา จนรู้สึกว่าถูกใจไม่ถูกใจเรียกว่าเวทนา เวทนาแปลว่าความรู้หรือเครื่องมือให้รู้ ถ้าเข้าใจคำพูดนี้ก็จะเห็นได้ชัดทันทีว่ามันไม่ใช่อย่างเดียวกับวิญญาณ วิญญาณคือรูปข้างนอกกับรูปข้างในเข้าถึงกันเกิดจักษุวิญญาณ นั่นคือวิญญาณ มันรู้อยู่แต่เพียงว่ารูปอะไร รู้ถ้าเป็นเรื่องทางตาก็รู้ภาพ รู้สึกต่อภาพ วรรณนิภา (นาทีที่ 1:35:01)รัศมีแห่งสี คำนี้มันเหมือนกับคำไอ้วิทยาศาสตร์ สเปกตรัม วรรณนิภา (นาทีที่ 1:35:11)ไอ้ที่มากระทบตามองเห็นนั่นคือระดับคลื่นแสง ตานั้นรับคลื่นแสง ภาษาบาลีเรียกว่าวรรณนิภา (นาทีที่ 1:35:23) มันรู้แจ้งวรรณนิภานั้นเรียกว่าวิญญาณทางตา วิญญาณ ที่มีผัสสะแล้วมีเวทนาแล้ว รู้ว่าไอ้รูปที่มากระทบตานั้น รูปทำให้รู้สึกพอใจหรือไม่พอใจ ตอนนี้เรียกว่าเวทนา