แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในการทำบุญล้ออายุทั้งหลาย ในการบรรยายภาคบ่าย อันเป็นภาคที่ ๒ นี้ อาตมาจะได้กล่าวโดยหัวข้อ คือการทำความเข้าใจระหว่างศาสนา ซึ่งจัดว่าเป็นปณิธานข้อที่ ๒ ในบรรดาปณิธาน ๓ ประการของอาตมาดังที่ได้กล่าวแล้วในตอนเช้า การที่ต้องเอาการทำความเข้าใจระหว่างศาสนามาพูดในวันนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นความบกพร่องอย่างหนึ่งของมนุษย์เรา ควรที่จะเอามาวิพากวิจารณ์ และถ้ามันเป็นเรื่องที่กำลังเกิดอยู่กับพวกเราที่นี่ในเวลานี้ด้วยแล้ว มันก็ต้องเอามาล้อ ในชั้นแรกเราจะต้องดูกันที่ปัญหาอันได้มีอยู่จริง เวลานี้มนุษย์ยึดมั่นถือมั่นในศาสนาของตน และก็เป็นมูลเหตุอันหนึ่งในบรรดามูลเหตุทั้งหลายที่ทำให้โลกนี้ไม่มีสันติภาพ ท่านทั้งหลายก็พอจะมองเห็นได้เองว่า โลกกำลังอยู่ในลักษณะที่ไม่มีสันติภาพอย่างไรบ้าง มูลเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนี้มีอยู่หลายอย่าง แต่อาตมาเห็นว่าการทำความเข้าใจกันไม่ได้ในระหว่างศาสนาก็เป็นมูลเหตุอันสำคัญ และถ้าแก้ไขมูลเหตุอันนี้ได้ เรื่องก็จะเลยไปถึงการแก้ไขปัญหาอื่นๆได้ ซึ่งจะนำโลกไปสู่สันติภาพได้ในที่สุด ปัญหาที่มีอยู่ในเวลานี้ก็คือการพูดกันไม่รู้เรื่อง อยู่กันอย่างมีเขามีเรา แม้ในหมู่คนที่ถือศาสนาเดียวกัน และแม้อยู่ในลัทธินิกายเดียวกัน กระทั่งอยู่ในวัดเดียวกันก็ยังพูดกันไม่รู้เรื่อง ไม่สามัคคีกัน แม้ในหมู่ชนที่เป็นกลุ่มน้อยที่สุดแล้ว ก็มีความริษยาทำลายกันอย่างที่เรียกว่าเป็นวิกฤตการณ์อันถาวร สิ่งเหล่านี้จะเนื่องกันหมด คือเมื่อพูดกันไม่รู้เรื่องก็ไม่สามัคคีกัน ไม่สามัคคีกันแตกแยกเป็นหน่วยเล็กหน่วยน้อยแล้ว ก็ริษยากัน เพราะกิเลสที่เป็นเหตุให้พูดกันไม่รู้เรื่องนั่นเอง ก็ทำลายกันแม้โดยทางความคิด นี้เป็นปัญหาอันมีอยู่จริง ในระหว่างสิ่งต่างๆที่เกี่ยวกันอยู่กับบุคคล หรือครอบครัวของบุคคล คณะบุคคล ทั้งในทางศาสนา ในทางการเมือง คนเรามีความพอใจไม่ตรงกัน ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ที่คนเราจะมีความพอใจตรงกัน แม้จะกล่าวว่ามีความพอใจในความสุขด้วยกัน มันก็ยังแยกกันไปเป็นความสุขชนิดนั้นความสุขชนิดนี้ กระทั่งความสุขของคนพวกหนึ่งนั้นอีกพวกหนึ่งมันกลืนไม่ลง นี่เรียกว่าความพอใจระหว่างบุคคลก็ต่างกันอย่างนี้ ความพอใจระหว่างครอบครัว มันก็ยังต่างกันอย่างนี้ และในครอบครัวนั้นเองมันก็มีบุคคลที่มีความพอใจไม่ตรงกัน ที่ทำให้เกิดปัญหาภายในครอบครัวขึ้นมา ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงปัญหาระหว่างคณะบุคคลที่มันใหญ่ไปกระทั่งเป็นประเทศชาติ และมีได้ทั้งฝ่ายเรื่องโลกๆและฝ่ายทางศาสนาหรือทางฝ่ายธรรมะ
จะดูต่อไปถึงสิ่งๆหนึ่งซึ่งเรียกว่าความเชื่อ สิ่งนี้ยิ่งเป็นปัญหามาก อยู่ในครอบครัวเดียวกันในวัดเดียวกันก็ยังเชื่อไม่เหมือนกัน เพราะมันอยู่ในระดับที่ต่างกัน ได้ยินได้ฟังมาต่างกัน บางทีก็มีโลกจิต โลกวิญญาณที่ทำให้เชื่ออย่างถือรั้นและก็ไม่เหมือนกัน เป็นเหตุให้มีการถือศาสนาต่างกัน เช่น สามีถือศาสนาหนึ่ง ภรรยาถือศาสนาหนึ่ง ลูกหลานถืออีกศาสนาหนึ่ง คนหนึ่งอาจจะถือศาสนาเงิน คนหนึ่งอาจจะถือศาสนาเกียรติ คนหนึ่งอาจจะถือศาสนาของพระเจ้าไปตามเดิม ดังนั้นความเชื่อที่มีมูลมาจากการศึกษาอบรมหรือปรากฏการณ์อันหลอกลวงต่างๆนี้ ทำให้คนเราต่างกัน พูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง ถ้าจะดูต่อไปถึงประโยชน์ที่ต้องการ ก็ยิ่งมีความแตกต่างกัน มีความเป็นอยู่ต่างกัน มีร่างกายต่างกัน มีการศึกษาต่างกันอะไรต่างๆเหล่านี้แล้ว ประโยชน์ที่ต้องการก็ไม่เหมือนกัน จึงมีการทะเลาะวิวาทกันได้ แม้ในระหว่างบิดามารดากับบุตร บุตรต้องการจะศึกษาเล่าเรียนก้าวหน้าไปทางหนึ่ง แต่บิดามารดาก็ต้องการอีกทางหนึ่ง นี้เป็นต้นเหตุภายในที่ทำให้เกิดความผิดแปลกแตกต่างกันกว้างออกไปถึงเรื่องศาสนาเป็นต้น ถ้าจะดูกันอีกทีหนึ่งคือดูกันที่สถานะทางวิญญาณ คำว่าวิญญาณ ในที่นี้หมายถึง ความรู้ความคิด สติปัญญา ทิฐิ ต่างๆ ที่คนเราก็มีเป็นของประจำตัวอยู่ด้วยกันทั้งนั้น โดยเหตุที่ได้รับการศึกษาอบรมมาต่างกัน บัดนี้จึงมีสถานะทางวิญญาณที่ต่างกัน สูงต่ำกว่ากันนั้นไม่ต้องพูดถึง แต่ที่แม้ว่าจะสูงด้วยกัน หรือต่ำด้วยกันมันก็ยังแตกแยกกันออกไปเป็นหลายแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรียกว่า สิ่งที่เรียกว่า ทิฐิ คือ ความคิดเห็นนั่นเอง แตกแยกไปได้เป็นหลายแขนง เป็นผิดก็ผิดได้หลายๆแขนง แม้จะถูกก็ถูกได้หลายระดับ คนมันก็ยิ่งพูดกันไม่รู้เรื่อง ที่นี้ยังมีอีกสิ่งหนึ่งก็คือลัทธิ นิกาย ที่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ แม้ภายในศาสนาเดียวกัน เช่น พุทธศาสนาก็มีแยกเป็นนิกายนั้น นิกายนี้ อยู่ด้วยกันทุกประเทศที่นับถือพุทธศาสนา และมีการทะเลาะวิวาทโดยเปิดเผยก็มี มีการมุ่งร้ายอยู่เงียบๆ อยู่ใต้ดินอย่างนี้ก็มี เกิดความยึดมั่นด้วยอำนาจทิฐิทั้งนั้น พุทธศาสนามีแต่อย่างเดียวเท่านั้น และก็ถูกผ่าแล่งให้ออกเป็นหลายลัทธิหรือหลายนิกาย เหตุผลอันแรกก็คือ ทิฐิหรือความยึดมั่นถือมั่น ที่มีมูลมาจากอวิชชา เป็นเหตุให้ไม่ศึกษาไปตามบทของพระธรรม แต่เอาประโยชน์ที่จะได้แก่ตนเป็นหลัก ประโยชน์ทางวัตถุก็มี แม้ประโยชน์ที่เป็นเกียรติยศชื่อเสียงก็มี ถ้ามีทางที่จะได้ชื่อเสียงเพราะการตั้งนิกายใหม่แล้วก็เกิดตั้งนิกายขึ้นมา ทั้งตั้งขึ้นแล้วก็รักษาประโยชน์นั้นยิ่งกว่ารักษาความถูกต้องของศาสนา ดังนั้นมันจึงพูดกันไม่รู้เรื่อง ไม่มีความสามัคคีกันและริษยาทำลายกันอย่างเป็นวิกฤตการณ์ถาวรภายในกลุ่มชนผู้ถือศาสนาเดียวกันนั่นเอง ดูอีกทีหนึ่งดูไปที่ศาสนาของบรรพบุรุษที่ตกทอดมา โดยสายโลหิต เช่นว่าบิดา มารดาถือศาสนาอะไรลูกหลานก็ถือศาสนานั้น อย่างนี้เรียกว่าศาสนาของบรรพบุรุษ นี้ก็มีกันอยู่ด้วยกันทุกคน แม้จะเปลี่ยนแปลงโดยรายละเอียดปลีกย่อย โดยส่วนใหญ่มันก็ไม่ค่อยจะเปลี่ยนแปลงอะไรนัก ในประเทศเดียวกันก็มีคนถือศาสนาตามที่บรรพบุรุษเคยถือมา เป็นพุทธ เป็นคริสต์ เป็นอิสลาม เป็นอะไรต่างๆ ในโลกเดียวกัน ก็ยิ่งมีความแตกต่างอย่างนี้มากขึ้น นับตั้งแต่ถือศาสนาเงินได้และเป็นดี ถือศาสนาอำนาจครอบงำบุคคลอื่น นี้ก็เป็นไปฝ่ายหนึ่งและมักจะเป็นการถือที่แท้จริงยิ่งกว่าถือศาสนาใด ส่วนศาสนาธรรมะ ของพระเจ้านั้นถือเล่นๆ แม้ว่าพ่อแม่ถือศาสนาแท้จริง แต่ลูกหลานก็มักจะกระเด็นออกไปถือศาสนาเงิน ถืออำ ถือศาสนาอำนาจ ไม่มีใครในโลกนี้ที่ไม่ถือศาสนาอะไร คนหลายคนชอบพูดว่าเขาไม่ได้ถือศาสนาอะไร นั่นเพราะว่าเขาไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าศาสนาและไม่รู้จักตัวเองด้วยซ้ำไป ที่เขาพูดว่าไม่ถือศาสนาอะไรนั้น มันเพียงแต่เขาไม่ได้ถือศาสนาใหญ่ๆที่มีชื่อเสียงอยู่ในโลกที่ชาวโลกเขาถือกัน แต่แล้วเขาก็ถือการประพฤติปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งตรงกับหลักเกณฑ์ ข้อใดข้อหนึ่งในศาสนานั้นนั่นเอง คือเขาถือศาสนาตามใจชอบ แต่ในที่สุดก็ไม่พ้นไปจากศาสนาเงิน ศาสนาอำนาจ วาสนา ไม่มีใครที่จะว่างจากศาสนา เพราะว่าจิตใจที่อยู่โดยไม่มีการยึดอะไรเป็นหลักเป็นที่พึ่งนั้นมันเป็นไปไม่ได้ ถ้าจิตใจของเขายึดสิ่งใดเป็นหลักเป็นที่พึ่ง ก็หมายความว่าเขาถือศาสนานั้นแหละ จะนับถือผีเป็นที่พึ่งก็ถือศาสนาผี นับถือเทวดาเป็นที่พึ่ง ก็นับ ก็เรียกว่านับถือศาสนาเทวดา แต่แล้วมันก็ไม่พ้นไปจากการที่ต้องอาศัยวัตถุปัจจัยก็เลยถือศาสนาเงิน เพราะอยากได้เงินก็อยากจะให้มีเหตุปัจจัยที่ทำให้ได้เงิน นับถือผี นับถือเทวดาอยู่ทางหนึ่ง แล้วขยันทำการทำงานด้วยความจำเป็นไปอีกทางหนึ่ง คนจึงถือคราวเดียวกันหลายศาสนา ศาสนาของบรรพบุรุษที่เคยถูกต้องมาด้วยดีก็ค่อยเปลี่ยนแปลงไป จนถึงสมัยนี้จะเห็นได้ว่ามันยุ่งเหยิงเป็นที่สุด แม้นับถือพุทธศาสนาก็เปลี่ยนแปลงไปจนจำไม่ได้ว่าเป็นพุทธศาสนา มีคนพูดไว้อย่างน่าสนใจที่สุดคือพูดว่าถ้าพระพุทธเจ้าท่านเสด็จมาในโลกนี้ ในเวลานี้ท่านก็จะงงไปหมด หรือจำศาสนาของท่านไม่ได้ ศาสนาของพระพุทธองค์นั้นก็มีแต่เรื่อง อิทัปปัจจยตา อย่างที่สวดกันอยู่ทุกวันว่า เพราะมีสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะไม่สิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ก็ไม่อาจจะเกิด ถ้ามีสิ่งใดเป็นปัจจัยมันก็เกิดสิ่งนั้นตามเหตุตามปัจจัย ลักษณะเช่นนั้นเรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นกฎเกณฑ์อันตายตัวของธรรมชาติ ถ้าหากว่ามนุษย์ทุกคนเข้าถึงความจริงข้อนี้มันก็จะถือศาสนาเดียวกันหมด ตรงเป็นอันเดียวกันหมด ไม่มีปัญหายุ่งยากเหมือนที่กำลังเป็นอยู่เวลานี้ เดี๋ยวนี้แม้แต่ในวัดๆหนึ่งก็มีการถือไม่ตรงกันและไม่ชอบใจถือศาสนาทัปปัจจยตาของพระพุทธเจ้าเสียด้วยซ้ำ แม้จะยอมรับคำพูดว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็มีคำอธิบายที่มีความหมายต่างกันใน ๓ คำนั้น โดยเฉพาะคำว่า อนัตตานั่นเอง อธิบายตามใจชอบให้มันเข้าข้างตัวหรือเข้ากับทิฐิความคิดความเห็นของตัว สิ่งที่เคยถูกต้องมาแต่บุพชาอาจารย์หรือบรรพบุรุษไกลออกไปทางอดีต เดี๋ยวนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงไป อย่าว่าแต่เวลาเป็น ๒๐๐๐ กว่าปีเลย แม้แต่เพียง ๑๐๐ หรือ ๒๐๐ ปีนี้ ก็จะแตกต่างกันจนแทบจะจำไม่ได้เสียแล้ว ความต้องการของพุทธบริษัทก็เปลี่ยนไป จนแทบจะหมดลักษณะของความเป็นพุทธบริษัท นั่นคือกริยาอาการที่เราหลอกตัวเองหลอกศาสนา หลอกศาสนาก็คือหลอกตัวเอง เพราะหลอกตัวเองจึงได้หลอกหรือเล่นตลกกับพระศาสนา เมื่อมีศาสนาของพระศาสดา หรือว่ามีศาสนาของพระเจ้าแต่แล้วก็มีศาสนาของตัวเอง ที่ว่ามีศาสนานั้นไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากว่ามีเครื่องมือแสวงหาประโยชน์อย่างหนึ่งๆของตนไปเสีย แล้วก็เข้าใจว่าตนมีศาสนาชนิดที่เป็นที่พึ่งแก่ตนได้ ตามที่ตนจะเห็นหรือจะเลือกเอาอย่างไร เห็นหลักพระศาสนาโดยแท้จริง เป็นเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือว่าเรื่องเมตตา กรุณา รักผู้อื่นเหมือนกับรักตัวหรือยิ่งกว่าตัวนั้น เป็นของครึคระ เป็นของไม่มีประโยชน์ในที่สุด มาถึงเดี๋ยวนี้ ใครๆจนถึงกับว่าใช้ศาสนาเพื่อประโยชน์แก่การเมือง อย่างนี้มันเป็นการกบฏต่อพระเจ้า กบฏต่อพระธรรมหรือกบฏต่อพระศาสดาแห่งศาสนานั้นๆ ไม่มีศาสดาแห่งศาสนาไหนจะวางหลักศาสนาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเมือง ทีนี้สาวกในศาสนานั้นก็เอามาใช้บังหน้าแสวงหาประโยชน์ทางการเมือง ความเปลี่ยนแปลงมันจึงมากออกไป ไกลออกไปจนแทบจะจำไม่ได้ การแก้ไขศาสนาเอาตามชอบใจของตนก็เกิดขึ้นและก็เกิดมากขึ้น อย่างนี้มันยิ่งกว่าหลอกตัวเองหรือหลอกพระเจ้า คือมันเป็นผู้ทุจริตต่อสิ่งที่เรียกว่าศาสนาโดยตรง ที่ก็น่าสงสารลูกเด็กๆที่เกิดมาภายหลัง มันก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอย่างไรแต่ก่อนเป็นอย่างไรก็ทำตามๆกันไปโดยศาสนาใหม่ๆซึ่งเป็นศาสนาแสวงหาประโยชน์โลกก็หมดศาสนากันในตอนนี้ คือหมดศาสนาที่แท้จริงเหลือแต่ศาสนาเพื่อแสวงหาประโยชน์ จนถึงกับเรียกได้ว่าขบถต่อพระเจ้า ต่อศาสนานั้นๆ แต่แม้ว่าคนที่ยังเคร่งครัดอยู่ในศาสนาก็ยังมีสิ่งที่น่าสงสารอยู่อีกประการ ๑ คือหลงตัวเอง หลงศาสนาของตัวเองถึงกับดูถูกศาสนาของผู้อื่น แล้วก็หลงตัวเองถึงกับดูถูกผู้อื่นแม้ในวงแห่งศาสนาเดียวกันกับตน พูดว่าคนอื่นล้วนแต่ไม่รู้ หรือรู้ผิดๆเกี่ยวกับศาสนาของตน ตนเท่านั้นที่จะรู้ รู้ถูกต้อง อย่างนี้มันก็เป็นเหตุปัจจัยหรือที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นมาในวงการศาสนานั้น จนถึงกับระส่ำระสายกระจัดกระจายไป ไม่ตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ทีนี้ถ้าเราดูกันตอนนี้ก็จะเห็นว่าความเข้าใจกันอย่างถูกต้องในระหว่างศาสนานั้นเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง แม้ความเข้าใจอันถูกต้องในระหว่างบุคคลผู้ถือศาสนาเดียวกันก็ยังมีความสำคัญยิ่งไปกว่านั้นอีก เราจะแก้ปัญหาข้อนี้ได้อย่างไร อาตมาเห็นว่าไม่มีทางอื่นใด นอกไปจากว่าทุกคนรีบพยายามเข้าถึงหัวใจแห่งศาสนาของตนๆให้ได้ก่อน แล้วก็จะเข้าถึงหัวใจแห่งศาสนาอื่นได้ เพราะว่าถ้าขึ้นชื่อว่าศาสนาแล้ว ก็จะมีหัวใจที่ตรงเป็นอันเดียวกัน พูดออกมาครั้งแรกอย่างนี้ก็คงมีคนนึกคัดค้านอยู่ในใจ ว่ามันจะมีหัวใจตรงกันอย่างไรได้ ถ้าอย่างนั้นแล้วก็จะต้องศึกษากันมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีว่าทำไมศาสนานี้ ศาสนาต่างๆนี้มันจึงเกิดขึ้นมาในโลก เราจะต้องระลึกนึกไปถึงยุคสมัยหรือสภาพก่อนแต่ที่จะมีศาสนา แล้วก็มองให้เห็นว่ามันจะอยู่กันอย่างไรเมื่อมนุษย์ยังไม่มีศาสนา อยู่ตามธรรมชาติ มีปัญหาเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่นเมื่อมนุษย์มีจำนวนมากขึ้นในโลกนี้ แม้จะเป็นมนุษย์สมัยคนป่า สมัยหิน สมัยอะไรก็ตามที ปัญหาก็เกิดขึ้นใหม่ๆตามที่มันเกิดมนุษย์มีจำนวนมากขึ้น จนเป็นสังคมมนุษย์ นั่นก็คือเมื่อมีคนมากขึ้น มันก็มีความต้องการมากขึ้น มันเกิดความขาดแคลนในสิ่งที่ต้องการ ปัญหาแรก ปัญหาแรกที่สุดก็คือความเห็นแก่ตัว เมื่อมีอะไรกินมีอะไรใช้อยู่ตามธรรมชาติเพียงพอก็ไม่เกิดความเห็นแก่ตัว ขอให้ดูนก หนู มด แมลงต่างๆ มันกินอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ไม่มีปัญหาเรื่องนี้ก็ไม่ต้องเห็นแก่ตัว จะไปเก็บกินเมื่อไรก็ได้ หรือว่ามันสมองมันยังไม่เจริญไม่ฉลาดในการที่จะกัก จะตุน มันทำไม่ได้มันก็ไม่เห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้มนุษย์มีมันสมองก้าวหน้าเหมือนกับวิ่ง คนป่าก็รู้จักการเห็นแก่ตัวเพิ่มขึ้นมาตามลำดับ มีเห็นแก่ตัวยิ่งขึ้นๆ มันก็ต้องแยกทางกันเดินเพราะว่าความเห็นแก่ตัวนั้นบังคับให้แสวงหาเพื่อตัว เพื่อพวกของตัว ประโยชน์มันขัดกัน มันก็ต้องแยกทางกันเดิน ในที่สุดมันก็มีปัญหาลวงคือการแย่งชิงแข่งขันเบียดเบียนกัน อยู่ไม่เป็นผาสุก คนที่มีปัญญาในยุคนั้นจึงได้บท มีการบัญญัติ บทบัญญัติทางศาสนาเพื่อแก้ปัญหานั้น นี้เราจะเห็นได้ว่ามูลเหตุที่เกิดศาสนานั้น มันมาจากความเห็นแก่ตัว หรือก่อนที่จะเป็นศาสนาสมบูรณ์คือยังเป็นเพียงศีลธรรม มันก็มีมูลมาจากปัญหาที่มนุษย์เห็นแก่ตัว มูลเหตุอันเดียวแท้ๆ และศาสนาหรือศีลธรรมก็เกิดขึ้นแก้ปัญหาอันเดียวแท้ๆ เพราะฉะนั้นหัวใจของแต่ละศาสนาก็ต้องตรงกัน คือหมายมั่นที่จะทำลายความเห็นแก่ตัวของคนในโลก และจะได้อยู่กันด้วยความรักใคร่เป็นผาสุก นี้สรุปความว่าแม้ในขั้นเริ่มแรกยังเป็นคนป่า เพิ่งจะเจริญขึ้นมาเป็นคนบ้านคนเมืองนี่ก็มีปัญหาอย่างเดียวกัน ศาสนาจึงมีหลักเกณฑ์อันเดียวกัน มีหัวใจอย่างเดียวกัน นี้ต่อมาความเจริญของมนุษย์สูงขึ้นมา จนเรียกว่ามันหมดปัญหาทางศีลธรรมขั้นต้นๆอย่างนั้นแล้ว มันจึงมีปัญหาลึกขึ้นไปถึงเรื่องของกิเลส กิเลสของคนเราไม่มีทางจะแตกต่างกันเลย เมื่อกล่าวโดยหลักคือว่าจะต้องมีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นแม่บทของกิเลส ไอ้โรคทางวิญญาณ มันก็เกิดขึ้นจากกิเลสนั้นเหมือนตรงกันไปหมด ศาสนาเกิดขึ้นเพื่อจะ เกิดขึ้นในระดับที่สูง เพื่อจะรักษาโลกทางวิญญาณ มีสมมติฐานเดียวกันนั้นจึงมุ่งหมายอย่างเดียวกัน แต่มันเนื่องจากว่ายุคสมัยต่างกัน ภูมิประเทศต่างกัน ซึ่งทำให้คนแตกต่างกันบ้าง ก็ต้องมีข้อปลีกย่อยต่างกัน แต่ใจความสำคัญนั้นก็เพื่อจะขจัดความโลภ ความโกรธ ความหลงที่เป็นปัญหาในทางวิญญาณ หลักศาสนาจึงตรงกันทุกศาสนา เพื่อจะแก้ไขความเห็นแก่ตัวในชั้นละเอียดลึกซึ้ง อาตมาดูกันถึงศาสนายุคปัจจุบันที่เรียกว่าวิวัฒนาการมามากแล้ว หรือจะเรียกได้ว่าถึงจุดสูงสุดที่จะไม่วิวัฒนาการอะไรได้อีกแล้ว ศาสนาทุกศาสนาก็ยังมุ่งจะทำลายความเห็นแก่ตัวอยู่นั่นเอง หากแต่ว่าได้มีวิธีแยกแยะกำจัดมูลเหตุแห่งความเห็นแก่ตัว ให้ละเอียดลึกซึ้งหรือให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงมีบทบัญญัติปลีกย่อยออกมา ให้ตรงกับมูลเหตุอันลึกซึ้งหรือปลีกย่อยอันนั้น แต่แล้วก็จะเห็นได้ว่ามันยังมีความตรงเป็นอันเดียวกันอยู่ในข้อที่ว่าทุกศาสนาเล็งเห็นวัตถุนิยมว่าเป็นอันตรายแก่มนุษย์ ต้องการให้ประชาชนถอยหลังออกมาเสียจากวัตถุนิยม คือเห็นแก่เนื้อหนังของตัว เห็นแก่ความสุข สนุกสนานส่วนตัวจนเป็นเหตุให้เห็นแก่ตัว เขาจึงเอาสิ่งอื่นเข้ามาแทนความเห็นแก่ตัว จึงเกิดมีเรื่องบุญ เรื่องกุศล เรื่องพระเจ้า เรื่องธรรมะนานาระดับขึ้นมา เพื่อจะมาแทนที่ของวัตถุนิยมที่มนุษย์กำลังหันเหไปหายิ่งขึ้นทุกที ศาสนาทุกศาสนามุ่งจะขจัดอันตรายที่จะเกิดมาจากวัตถุนิยม ถ้าไม่เชื่อก็ต้องขอร้องให้ไปศึกษาดูด้วยตนเอง ต้องยอมเสียสละเวลาบ้าง จึงจะพบความจริงที่ว่าทุกศาสนาตั้งหน้าที่จะกำจัดความหลงใหลในวัตถุนิยม คือมองเห็นวัตถุนิยมแม้จะเรียกชื่อต่างๆกันอย่างนั้น อย่างนี้ หลายชนิดหลาย ๑๐ชนิดก็ล้วนแต่เป็นวัตถุนิยม ก็มองเห็นวัตถุนิยมนั้นในฐานะเป็นตัวอุปัทวะของมนุษย์ อุปัทวะเป็นภาษาไทยก็เรียกว่าเป็นตัวอุบาทว์ของมนุษย์ อุปัทวะของมนุษย์ออกมาจากความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัว ออกมาจากความหลงใหลในวัตถุนิยม ถ้าชนะวัตถุนิยมได้ ก็ไม่มีความเห็นแก่ตัว ไอ้โลกนี้ก็ไม่มีอุปัทวะ นั่นแหละเป็นจุดหมายปลายทางของทุกศาสนาที่เรียกว่า ความหลุดรอด ความเป็นอิสระของมนุษย์ ในฝ่ายจิตใจเรียกว่าเป็นจุดหมายปลายทางของทุกศาสนา อย่างที่เราเรียกว่า วิมุตวิโมกข์ หรือ นิพพาน ก็ล้วนแต่เป็นคำที่ใช้กันอยู่ในศาสนาอื่นและก่อนพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป แม้ข้อปลีกย่อยจะต่างกัน แต่ความมุ่งหมายก็เหมือนกันตรงที่ว่าจะหลุดออกมาเสียได้จากกิเลส จากความทุกข์ซึ่งเป็นผลของกิเลส เมื่อเป็นดังนี้หลักปฏิบัติของศาสนาจึงเหมือนกันตรงกันหมดโดยเจตนารมณ์ จะต่างกันก็เพียงข้อปลีกย่อยเท่านั้น ถ้าระบบใดมันไม่เข้ากันได้กับหลักการอันนี้แล้ว ก็ไม่ควรจะเรียกว่าศาสนา แม้ใครจะเรียกว่าศาสนาก็ตามใจ เมื่อมันไม่มีความมุ่งหมายที่จะดึงมนุษย์ออกมาเสียจากความทุกข์แล้ว มันก็ไม่ควรจะเรียกว่าศาสนา อย่างดีที่จะเป็นได้ก็เป็นเพียงระบบศีลธรรมอย่างหนึ่งๆ เฉพาะตน เฉพาะพวกไปเท่านั้นเอง ไม่ควรจะเรียกว่าเป็นระบบของศาสนา ถ้าเป็นศาสนา ก็ต้องเป็นไปในเจตนารมณ์อันเดียวกันหมด ที่จะดึงมนุษย์ออกมาเสียจากความทุกข์มาสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ ดูให้ลึกแล้วก็จะพบว่ามีความหมายที่บริสุทธิ์ที่ถูกต้องตรงตามที่ธรรมชาติมันต้องการ วิวัฒนาการของธรรมชาตินั้นต้องการให้ไปจนถึงจุดสูงสุด ที่ดีที่สุดที่ว่าธรรมชาติมันจะจัดไห้ได้ คือจัดให้เป็นมนุษย์ และเป็นมนุษย์ที่ยิ่งขึ้นไป คือเป็นมนุษย์มากขึ้นจนถึงกับสูงสุด อย่างนี้ก็พอจะมองเห็นได้ว่าทุกศาสนามันมีหัวใจเป็นอันเดียวกัน คำว่าความบริสุทธิ์นั้น ดูจะใช้กันทุกศาสนาไม่ว่าศาสนาไหนเอ่ยถึงความบริสุทธิ์ นี้ดูไปอีกทีหนึ่งก็จะพบข้อเท็จจริงที่เด็ดขาดตายตัวลงไปว่า ถ้าเป็นความบริสุทธิ์แล้วมันมีได้เพียงอย่างเดียว นั้นความบริสุทธิ์มันจึงตรงกันหมด ไม่ว่าจะหามาโดยศาสนาไหน บริสุทธิ์ก็ต้องปราศจากกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้เห็นแก่ตัว ไม่ตกไปเป็นทาสของวัตถุนิยม ถ้ามองกันในแง่นี้แล้วก็จะพบว่าความมุ่งหมายในทางศาสนาตรงกันหมด โดยไม่รู้ตัว โดยไม่เจตนา ศาสนาหนึ่งกับศาสนาหนึ่งจะไกลกันคนละมุมโลกหรือจะว่าไกลกันเป็น ๑๐๐ปี ๑๐๐๐ปี มันก็ยังไม่แตกต่างกันไปได้โดยเจตนารมณ์ มันขยายไปตามความหมายของคำว่าความไม่เห็นแก่ตัวทั้งนั้นที่จะเป็นความบริสุทธิ์ ถ้าเขาเห็นลึกเท่าไรก็ทำความบริสุทธิ์ได้มากเท่านั้น และความคิดนึกนี้ก็ค่อยๆ ขยายตัวออกไป ตามยุคตามสมัยก็จะเอียงไปหาจุดที่บริสุทธิ์ที่สูงสุดยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น จนกว่าจะพบว่าไม่มีความบริสุทธิ์อันไหนจะยิ่งไปกว่านี้คือจิตใจที่สะอาดปราศจากความเห็นแก่ตัว ในทางสังคมก็ไม่มีทางจะเบียดเบียนใคร ในส่วนตัวมันก็ไม่เบียดเบียนตัวเองเพราะว่ามันไม่มีตัว มันไม่เห็นแก่ตัว กิเลสก็ไม่เกิดขึ้นในจิตใจ จิตใจก็ไม่เร่าร้อนและเป็นทุกข์ ขอให้ทุกคนมองข้อนี้ให้มากก็จะพบว่า ทุกศาสนามุ่งหมายความบริสุทธิ์ และมีความบริสุทธิ์เป็นหัวใจของศาสนานั้นๆ อาตมาเคยเปรียบให้ฟังว่า เหมือนกับว่าน้ำทุกชนิดจะเป็นน้ำอะไรก็ต้องมีความเป็นน้ำที่บริสุทธิ์อยู่นั่นเป็นพื้นฐาน ในน้ำนม น้ำตาล น้ำส้ม น้ำปัสสาวะ น้ำโคลน น้ำทุกๆน้ำต้องมีน้ำที่บริสุทธิ์อย่างยิ่ง บริสุทธิ์ยิ่งกว่าน้ำกลั่นไปเสียอีก อยู่เป็นพื้นฐาน รากฐานของสิ่งที่เรียกว่าน้ำ จะมีอะไรเจือลงไป นั่นไม่ใช่น้ำ มันเป็นแต่เจือลงไปในน้ำ เราไม่รู้ข้อนี้ก็คิดว่ามันเป็นน้ำและต่างๆกัน ถ้าขึ้นชื่อว่าน้ำ แล้วมันก็ต้องบริสุทธิ์ตามความหมายคำว่าน้ำ ที่เอาเกลือ เอาน้ำตาล เอาอะไรใส่ลงไปนี่นั้นมันไม่ใช่น้ำ มันต้องเอาออกไปเสียก่อน ออกแล้วก็จะพบความบริสุทธิ์แท้จริง แล้วมันก็จะเหมือนกันทุกน้ำ น้ำตาล น้ำเกลือ น้ำส้ม น้ำอะไรกระทั่งน้ำฝน ซึ่งมันมีฝุ่นละอองเจืออยู่ ต้องเอาออกไปให้หมด จะได้น้ำที่บริสุทธิ์ที่แท้จริงมา ศาสนาควรจะเปรียบกับน้ำ เช่นเดียวกับที่พุทธศาสนาถือว่าธรรมะเป็นน้ำสำหรับชำระล้างสิ่งสกปรกคือ กิเลส ในทุกศาสนามันก็มีน้ำที่แท้จริง อย่างน้อยก็ด้วยเจตนารมณ์อันแท้จริงที่จะมีความเป็นอย่างนั้น เมื่อมันมียังไม่ถึงที่สุดก็ยังต้องยอมรับว่ามันเจตนาที่จะมีอย่างนั้น เมื่อมีเพียงเท่านั้นมันก็เป็นประโยชน์เป็นอานิสงส์อย่างยิ่งแก่มนุษย์แล้ว เดี๋ยวนี้ก็เหลืออยู่ว่าเราจะสามารถแยกของที่แปลกปลอมเข้ามาคือความไม่บริสุทธิ์ทั้งหลายนั้นออกไปเสียได้อย่างไร วิธีมันก็ต้องต่างกันบ้าง แล้วแต่ว่าศาสนาที่เกิดขึ้นในถิ่นไหน ในยุคไหน ในสมัยไหนเพื่อคนที่มีสถานะทางกาย ทางจิต เป็นอย่างไร ถ้าระบุคนบางพวกเพียงเท่านี้ก็พอแล้วแต่ไม่พอสำหรับพวกอื่น ก็ต้องหาวิธีอื่นที่สูงขึ้นไป เราควรจะพอใจศาสนาทุกศาสนาว่ามีหัวใจตรงกันอย่างนั้นตรงกันทั้งนั้น ถ้าไปมองเห็นความแตกต่างกันแล้ว ก็มองเห็นความสกปรกที่เพิ่งเจือเพิงปนลงไปในน้ำนั้นแล้ว ก็ไปเห็นแต่ส่วนที่สกปรก ไปยึดถือส่วนที่สกปรก เพราะว่าในจิตใจของบุคคลนั้นมันมีส่วนที่สกปรก มันจึงไปมองเห็นแต่ส่วนที่สกปรก ไม่มีจิตใจที่บริสุทธิ์สะอาด มันก็ไม่มองเห็นส่วนที่เป็นของแท้หรือบริสุทธิ์สะอาด นี่แหละเป็นเหตุที่ได้ถือเอาเปลือกของศาสนามายืนยันไว้ว่าเป็นศาสนาที่แตกต่างกัน แล้วก็ขัดแย้งกัน แล้วก็เบียดเบียนกันในระหว่างศาสนา มันก็เป็นการเอาของสกปรกมาเพิ่มให้สกปรกยิ่งขึ้นจนมีศาสนาของมึง ศาสนาของกูด้วยทำนองนี้ ขอให้ลองพิจารณาดูให้ดี อย่าได้ลำเอียงโดยประการใดประการหนึ่ง ก็จะพบว่าทุกศาสนามีหัวใจตรงกันที่มุ่งหมายความบริสุทธิ์เป็นอย่างน้อย สิ่งสกปรกนั้นเรียกว่ากิเลส มันก็เหมือนกันทุกศาสนา เพราะว่าทุกศาสนามองเห็นไอ้ความเห็นแก่ตัวนั่นนะเป็นกิเลส เป็นต้นตอของกิเลส ออกมาเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือแล้วแต่จะเรียกชื่อว่าอะไร เมื่อคนมีกิเลสแล้วก็ยิ่งไปจับเอากิเลสของคนอื่นมาเป็นข้อเปรียบเทียบ มันก็เท่ากับข้าศึกเผชิญหน้ากันเท่ากับข้าศึก มันก็ต้องได้รบกันคือมีข้อขัดแย้งกัน ถ้าสิ่งสกปรกเหล่านี้มาหุ้มห่อจิตใจมากแล้ว มันก็เกิดมีหลายศาสนาจริงเหมือนกัน อย่างที่เราจะคิดว่ามันมีน้ำหลายชนิด น้ำผึ้ง น้ำตาล น้ำนม น้ำโคลน หลายน้ำ จนนับไม่ไหว แต่ถ้ามองเอาตัวน้ำจริงๆแล้วก็ควรจะเป็นอย่างเดียวกันตามเดิม เมื่อมองข้อนี้ได้ก็จะพบความที่สัตว์ทั้งหลายมีปัญหาอย่างเดียวกัน ตรงตามที่ศาสนาทุกศาสนามุ่งหมายจะแก้ ความรู้สึกมันก็จะเกิดขึ้นเองว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น กระทั่งลงไปถึงสัตว์เดรัจฉาน หรือจะมองกลับอีกทีหนึ่งว่า เพราะมีรากฐานอันนี้เป็นรากฐานที่แน่นอนอยู่ ศาสนาก็เกิดขึ้นเพื่อจะทำให้คนทุกคนรู้จักความจริงอันนี้ว่าเราเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ในศาสนาคริสเตียนก็ย้ำมากถึงเรื่องนี้ไม่แพ้พุทธศาสนา ถ้าศาสนาที่ถือว่าเป็นที่พึ่งได้ในโลกควรแก่นามว่าศาสนาแล้วจะต้องเล็งในแง่นี้ทั้งนั้น ถึงแม้ว่าจะฆ่าสัตว์บูชายัญ ฆ่าคนบูชายัญ มันก็ด้วยเจตนาอีกอย่างหนึ่ง คือเพื่อความรอดของคนอีกจำนวนหนึ่ง คล้ายๆกับว่ายอมเสียส่วนหนึ่งน้อยๆเพื่อจะแลกเอาส่วนใหญ่ไว้ได้ เรียกว่ายังมีความมุ่งหมายเดิมอยู่นั่นเอง เว้นไว้แต่ใครจะฆ่าสัตว์บูชายัญเพื่อประโยชน์แก่ตนนี้ก็เรียกว่ามันเห็นแก่ตัวไปแล้ว แต่เขาอาจจะโต้ว่า ไอ้การฆ่าสัตว์ตัวหนึ่งเพื่อประโยชน์ของมนุษย์คนหนึ่งนี่ มันก็คงจะเป็นกำไรมากอยู่ แต่ถ้าเราศึกษาถึงไอ้ประวัติเรื่องนี้แล้วมันกลายเป็นคนละเรื่องไป เรื่องฆ่าสัตว์บูชายัญนี้เป็นเรื่องของการหลอกลวงก็มี เจตนาอย่างอื่นก็มี คือว่าในหมู่คนที่กินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร อาหารไม่พอแก่บุคคลบางพวกบางเวลา เขาก็ต้องสอนกันว่าฆ่าสัตว์บูชายัญนั้นมันได้บุญ แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้บูชายัญด้วยการฆ่าสัตว์ ท่านสอนให้บูชายัญด้วยข้าว ด้วยน้ำ ด้วยผลไม้ด้วยสิ่งต่างๆอย่างที่เรากระทำกันอยู่โดยไม่ต้องฆ่าสัตว์ แต่เจตนาอย่างหนึ่งนั้นมันตรงกันที่ว่าจะช่วยคนด้วยกันให้ได้รับประโยชน์ ถ้าทุกคนเข้าใจกันดี ในเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเป็นต้นแล้ว ความคิดว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นก็จะเกิดขึ้นมาเอง นี้เป็นความบริสุทธิ์ขั้นพื้นฐาน ขอให้รักษาหลักการอันนี้ไว้ ความคิดที่ว่าศาสนาทุกศาสนามีหัวใจตรงกันนั่นก็จะเด่นชัดขึ้นมาทุกที ความเห็นแก่ผู้อื่นมันมาจากความไม่เห็นแก่ตัว ศาสนาก็มุ่งทำลายความเห็นแก่ตัว และความเห็นแก่ผู้อื่นก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ สำหรับสมัยนี้ถ้าจะทำความเข้าใจให้ตรงกันระหว่างศาสนาแล้ว ก็ควรจะมองกันให้ถึงความจริงหรือข้อเท็จจริงอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ว่า สังคมนิยมนั่นแหละเป็นหัวใจของทุกศาสนา ขอให้ฟังให้ดีว่าได้กล่าวมาแล้วว่าความเห็นแก่ตัวนั้นไม่ได้ ไม่ใช่ความมุ่งหมายของศาสนา แต่ความเห็นแก่ผู้อื่นนั้นเป็นความมุ่งหมายของศาสนา อย่าเห็นแต่แก่ตัวต้องเห็นแก่ผู้อื่นด้วยเท่าๆกับตัวหรือยิ่งกว่าตัว ความรู้สึกอย่างนี้มันเป็นการเห็นแก่ผู้อื่นคือเห็นแก่สังคม เห็นแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ถ้าเกิดเห็นจริงขึ้นมา เราอาจจะยอมสละชีวิตของเราเพื่อให้คนทั้งหมดอยู่รอดได้ ลัทธิสังคมนิยมอย่างนี้เป็นหัวใจของทุกศาสนา แล้วก็มีมาแต่เดิม เพราะมันเกิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติคือตามธรรมชาติที่จะทำลายความเห็นแก่ตัวอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น นับตั้งแต่ศีลธรรมขั้นต้นๆของคนป่าสมัยโน้น มันก็มุ่งหมายเพื่อจะให้ทุกคนเห็นแก่ส่วนรวม นี้ศาสนาเจริญขึ้นมาเพื่อก็มุ่งหมายทำลายความเห็นแก่ตัว ให้ถือหลักที่ว่าเมตตา กรุณา คนเดี๋ยวนี้ไม่มองในข้อนี้ เพราะอวดดีหรือหลับตาพูดว่าสังคมนิยมนี้มันเป็นของใหม่ มันอาจจะมีสังคมนิยมแขนงหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นด้วยความจำเป็นจำใจ หมดหนทางเข้าแล้ว รู้สึกต่อการที่ถูกเอาเปรียบโดยปัจเจกชนแล้วมันก็ต่อต้าน จึงเกิดเป็นสังคมนิยมขึ้นมาเป็นของเด็กอมมือ เป็นของเด็กเล่น ถ้าจะนำไปเปรียบกันกับอุดมคติสังคมนิยมที่มีอยู่ในศาสนาทุกศาสนามานับเป็นพันๆ ปีหรือจะหมื่นปี กว่าหมื่นปีแล้วก็ได้ ถ้าอยากให้ทุกศาสนาเข้าใจกันได้ ก็ต้องชวนกันทำความเข้าใจให้ลึกลงไปถึงหัวใจของทุกศาสนานั้นเอง คืออุดมคติสังคมนิยม จะลองทบทวนกันอีกทีหนึ่งว่า เมื่อมนุษย์เป็นมนุษย์ขึ้นมาคือสักว่าเป็นคนขึ้นมาจากสัตว์ที่ยังไม่ถึงกับเป็นมนุษย์นั่น มันยังไม่เห็นแก่ตัว เพราะมันไม่เกิดปัญหาเกี่ยวกับสังคม ต่างคนต่างไปเก็บกินมาจากป่าได้ แล้วก็นอนหลับสบาย รุ่งขึ้นก็ไปหามากินอีก คนก็ไม่มากปัญหาสังคมก็ไม่มี ต่อเมื่อคนมันมากขึ้นเป็นสังคมใหญ่ขึ้นใหญ่ขึ้น ปัญหามันจึงมีและศาสนาหรือศีลธรรมมันเกิดขึ้นเพื่อจะแก้ปัญหาเหล่านี้ แม้ในระยะเริ่มแรกที่มนุษย์ยังไม่ค่อยจะรู้อะไรมากนัก วิวัฒนาการของมนุษย์นั่นเองทำให้เกิดปัญหาทางสังคมขึ้นมา ทิ้งไกลจากปัญหาของสัตว์ซึ่งมันยังอยู่ในรูปเดิมไม่มีปัญหาทางสังคม เพราะมันยังกินอะไรหรือว่ามีอะไรอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ตั้งเป็นสังคมเพื่อเห็นแก่ตนหรือแก่พวกของตนขึ้นมาอย่างมนุษย์ ทีมนุษย์เริ่มมีบาปเมื่อมีความเห็นแก่ตัวแล้วก็เริ่มมีบาปหนักขึ้นเมื่อความเห็นแก่ตัวนั้นมันนำไปสู่ลัทธิบูชาการกินดีอยู่ดีของตัว ถ้ากินอยู่แต่พอดีมันเป็นหลักเกณฑ์ของธรรมชาติตามเดิม พอเปลี่ยนมาเป็นกินดีอยู่ดีมันก็ผิดธรรมชาติ ทีแรกมันก็กินเหมือนกับสัตว์ ทีแรกแท้ๆมันก็ไม่มีไฟที่จะหุงต้มมันก็กินอย่างสัตว์ก็กินพออยู่ได้ ต่อมามันฉลาดที่จะปรุงแต่งรสนั้น อย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ มีการปรุงแต่งมากพวกเครื่องปรุงที่ไม่จำเป็นก็มีมาก มันเพียงให้อร่อยเท่านั้น ที่จริงมันก็ไม่จำเป็น พวกน้ำจิ้ม พวกเครื่องแต่งรส ชูรสอะไรทั้งหลายนี่ มันเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นแต่แล้วก็กลับเห็นเป็นสิ่งที่จำเป็น นี่เรียกว่าเป็นการขยายการกินดีอยู่ดีออกมาโดยอำนาจของอวิชามันก็เรียกว่าบาป ปัญหาที่น่าสงสารที่สุดก็เช่นว่าไอ้สิ่งชูรส แต่งรสนั้นมันแพงหรือมันหาไม่ได้ หรือกระทั่งว่าหมูไม่มีอย่างนี้มันก็โง่ ถึงขนาดที่ไม่รู้ว่าจะไปกินอะไรแทน ก็มันยึดมั่นถือมั่นในเรื่องการกินดีอยู่ดี ยิ่งกินดีอยู่ดีก็ยิ่งทำให้เกิดความเห็นแก่ตัว จริงหรือไม่จริงไปลองคิดดูด้วยกันทุกคนีนี้มนุษย์เริ่มมีบาป ยิ่งมุ่งหมายการกินดีอยู่ดีก็จะยิ่งเกิดความเห็นแก่ตัว เพราะการกินดีอยู่ดีนั้นมันมีขอบเขตที่ขยายไม่มีที่สิ้นสุด นี่บาปมันตั้งต้นเมื่อคนมันรู้จักกินดีอยู่ดีด้วยอำนาจของอวิชชา คือกินด้วยกิเลสตัณหา ถ้ากินดีอยู่ดีตามแบบของพระพุทธเจ้าก็ไม่เป็นไร เพราะท่านสอนให้กินน้อยเท่าที่จำเป็น และก็ไม่ต้องตบแต่งไม่ต้องประดับประดาอะไร คือไม่ได้กินด้วยความเห็นแก่ตัวนั่นแหละ กินดีอยู่ดีก็นำก็เพิ่มความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวมันก็นำไปสู่การแย่งชิงหรือการเอาเปรียบ นี้การฉ้อการโกงการทะเลาะวิวาทมันก็เกิดขึ้นในโลกนี้ ซึ่งแต่ก่อนนี้มันไม่เคยเกิด ปัญหาของมนุษย์มันมีขึ้นมาถึงขนาดที่ว่ามนุษย์นั่นแหละมันทนอยู่ไม่ได้ มันก็ดิ้นรนหาไอ้สิ่งที่จะแก้ไข นี่เป็นต้นตอที่จะให้เกิดศีลธรรมหรือศาสนา ตามเรื่องที่กล่าวไว้ในพระบาลีก็มีอยู่ชัดว่า มนุษย์ที่มาถึงขั้นนี้มีปัญหานอนตาไม่หลับอย่างนี้ มันก็ปรึกษากันไป ปรึกษากันมา ในที่สุดตกลงว่าจะให้สมมติบุคคลคนหนึ่งให้มีอำนาจ ซึ่งต่อมาก็เรียกว่าพระเจ้าสมมติราชนี่ ให้มีอำนาจในการปกครอง ทุกคนยอมรับเชื่อฟังทำตาม ให้มีอำนาจในการที่จะบังคับอย่างนั้น บังคับอย่างนี้ สั่งอย่างนั้นสั่งอย่างนี้ ให้รางวัล ให้ลงโทษตามสมควรแก่กรณี นี้เรียกว่าผู้ควบคุมภายนอก มันก็ได้เกิดขึ้น คือควบคุมทางกายนี่มันก็ได้เกิดขึ้นในโลก มันเป็นการตั้งต้นหรือเรียกว่าก่อหวอดของสิ่งที่เรียกว่าศาสนา มีปัญหามาจากสังคม ปัญหาของสังคม ที่ทำให้เห็นแก่ตัวจนเกิดการระส่ำระสาย มันก็ต้องการการควบคุม ซึ่งการควบคุมนี้มันมีทั้งภายนอกและภายใน ในชั้นนั้นยังไม่รู้จักข้าศึกในภายใน ก็ต้องแก้ปัญหากันแต่ภายนอก มันจึงเป็นเพียงเรื่องของศีลธรรม ว่าต้องทำอย่างนั้นต้องทำอย่างนี้ มีบทบัญญัติทางศีลธรรม ซึ่งต่อมามันก็กลายเป็นกฎหมาย ตำรากฎหมายของอินเดียสมัยโบราณก็จะต้องอ้างถึงพระเจ้าสมมติราชนี้ ตำรากฎหมายของไทยก็ได้รับต่อมาจากอินเดีย มันก็ต้องอ้างถึงพระเจ้าสมมติราชนี้เป็นธรรมดาจนกว่าจะไปตามก้นฝรั่ง ก็จะเลิกเรื่องพระเจ้าสมมติราช แล้วเรื่องมันจะไปอย่างไรก็คอยดูกันต่อไป แต่ถ้านึกถึงพระเจ้าสมมติราชอยู่มันก็มีความศักดิ์สิทธ์มาก เพราะมันศักดิ์สิทธ์จริงๆ มันเป็นจุดเริ่มแรก ที่มันเกิดขึ้นเพราะปัญหาจริงๆมันบังคับให้เกิดขึ้นมา มีการควบคุมภายนอกใช้อำนาจบังคับ ก็ต้องบังคับตามอย่างเฉียบขาดมันจึงอยู่กันมาได้ นี่คือศีลหรือศีลธรรมหรือกฎหมายมันก็ได้เกิดขึ้นแล้ว ด้วยเจตนาเพื่อจะรักษาประโยชน์ของสังคมมนุษย์เป็นส่วนรวม อย่าให้ใครคนใดคนหนึ่งเห็นแก่ตัวแล้วกอบโกยเอาคนเดียว นี้ต่อมามันก็เริ่มมองเห็นลึกเข้าไปว่ามันไม่ใช่มีปัญหาแต่เพียงด้านนอก ด้านในมันก็มีคือกิเลสที่เป็นต้นเหตุนั้นแหละก็ต้องถูกกำจัดเสียก่อน ความเห็นแก่ตัวนั้นจะต้องถูกจำกัดเสียก่อน และปัญหาด้านนอกที่ทำความยุ่งยากทางศีลธรรมนี้ก็จะหมดไปเอง นี้มนุษย์เริ่มฉลาดที่จะตัดต้นตอในภายใน ก็ต้องการผู้ช่วยควบคุมในภายใน มีผู้รับหน้าที่อันนี้ไปค้นคว้าไปศึกษาเป็นฤาษีมุนีโยคีอะไรกันไปก่อนในระดับต่ำๆ จนพบเรื่องของกิเลส พบวิธีที่จะกำจัดกิเลส ก็เกิดเป็นพระศาสดาในลักษณะที่แสดงธรรมในรูปของศาสนา ทีนี้แทนจะใช้อำนาจบังคับ ก็ใช้เหตุผลของพระธรรมนั้น เป็นเครื่องจูงใจเกลี้ยกล่อมไม่ต้องบังคับ สิ่งที่เรียกว่าธรรมมันก็แตกต่างจากสิ่งที่เรียกว่าศีลในลักษณะอย่างนี้ ถ้าเป็นเรื่องของศีล ของกฎหมายมันก็ต้องบังคับ ถ้าเป็นเรื่องของธรรมมันก็ใช้อานิสงส์นั้นเป็นเครื่องจูงใจ เพราะมันเป็นเรื่องละเอียด จะทำได้ก็เฉพาะผู้ที่มีความรู้สึกลึกซึ้ง มองเห็นสิ่งที่มันลึกซึ้ง นี้ก็ยังกล่าวได้ว่ามันเป็นการตัดรากเหง้าหรือต้นตอของปัญหาของสังคมมนุษย์ในส่วนลึก สังคมมนุษย์จะมีอยู่อย่างไรมันก็ล้วนแต่มีจิตมีใจ เรื่องในจิตใจมันเป็นส่วนลึกหรือต้นตอของเรื่องทางกาย ทางวาจาและทางภายนอก นั้นควรจะถือว่าเรื่องธรรมะที่เป็นส่วนลึกเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน มันก็ยังมีเจตนาเพื่อประโยชน์แก่สังคมของมนุษย์อยู่นั่นเอง
อุดมคติของสังคมนิยมมันก็ยังคงอยู่จนเกิดสังคมใหม่คือสังคมของพระอริยเจ้า ซึ่งแตกต่างไปจากสังคมของปุถุชน ที่เป็นปุถุชนก็มีปัญหาเรื่องการเห็นแก่ตัว เป็นปุถุชนสมัยนี้อาจจะเลวกว่าปุถุชนสมัยคนป่าก็ได้ ปุถุชนสมัยคนป่าหรือคนป่าเหล่านั้นรู้จักเรื่องวัตถุนิยมน้อย ไม่หลงไหลในวัตถุนิยมมากเหมือนคนสมัยนี้ นั้นความเป็นปุถุชนของคนสมัยนี้จะเลวร้ายยิ่งไปกว่าความเป็นปุถุชนของคนสมัยคนป่า เพราะปุถุชนสมัยนี้มันมีการกอบโกยเป็นเจตนารมย์ ถ้าศาสนาไม่เข้ามามันก็มีการกอบโกยเหลือประมาณ แม้ว่าศาสนาเข้ามาอยู่อย่างนี้มันก็ยังดื้อกอบโกยอยู่นั่นเอง เพราะความเห็นแก่ตัวมันยังไม่ถูกกำจัดลงไป เจตนารมย์ของปุถุชนก็คือการกอบโกยประโยชน์ส่วนตนเพราะความเห็นแก่ตน ทีนี้บาปอันร้ายกาจยิ่งไปกว่านั้นก็คือว่ามันไปหลงในส่วนที่ไม่จำเป็นที่เรียกว่าส่วนเกิน ถ้าเอากันแต่เท่าที่จำเป็นสำหรับมนุษย์คนหนึ่งไม่เอาส่วนเกิน ไม่กอบโกยส่วนเกิน ปัญหามันก็ไม่มาก ความทุกข์ยากมันจะไม่เกิดขึ้น คือมันพอจะเป็นอยู่กันได้ ทีนี้มีการกอบโกยส่วนเกินเอาไว้เป็นของตนมากไม่มีขอบเขต ไอ้พวกที่ขาดแคลนมันก็มีมากขึ้น ที่เรียกกันว่ามันเกิดช่องว่างขึ้นระหว่างคนกอบโกยกับคนที่ถูกเขาเอาเปรียบ โลกมันก็ระส่ำระสายเพราะว่าอุดมคติสังคมนิยมมันได้หายไปเสียแล้ว ที่มันเคยมีตั้งแต่สมัยคนป่าโน้น มันได้หายไปหมดแล้วเวลานี้ เทียบกันแล้วสมัยคนป่ายังจะดีกว่าคนสมัยนี้ในแง่ของสังคมนิยมหรือความเห็นแก่ผู้อื่นบ้าง เดี๋ยวนี้เราก็กำลังบูชาการพัฒนาและก็ดูเถอะว่าไอ้พัฒนานะมันพัฒนาอะไร มันพัฒนาส่วนเกินทั้งนั้น ส่วนที่จำเป็นแท้ๆมันไม่มากมายหรือมันไม่สนุกสนานเอร็ดอร่อย ที่นี้คนก็ต้องการเอร็ดอร่อยก็ไปพัฒนาส่วนที่เอร็ดอร่อยซึ่งล้วนแต่เป็นส่วนเกิน นี่คล้ายกับว่ามันมอมตัวเองให้มึนเมาในส่วนเกินไม่มีขอบเขต มันมีอำนาจ มันมีพลังอะไรมันก็พัฒนาในส่วนเกิน ทำให้คนพวกหนึ่งเกินยิ่งกว่าเกิน พวกหนึ่งมันก็ขาดยิ่งกว่าขาด เรื่องพัฒนานี้ดูให้ดีเถอะมันจะเป็นเรื่องเพิ่มปัญหา การพัฒนานี้เป็นการเพิ่มปัญหายุ่งยาก แต่ทั้งโลกมันก็บูชาประเทศที่นำหน้า มันก็เรียกว่าประเทศที่ยิ่งไปพัฒนา ประเทศที่ด้อยพัฒนาก็ถูกหัวเราะเยาะ ไปเดินตามก้นเขาด้วย แต่อย่าลืมว่ายิ่งพัฒนายิ่งเพิ่มปัญหาสลับซับซ้อนมากขึ้นหลายชั้น ในด้านความต้องการก็ดี ในด้านการสนองความต้องการก็ดี เพิ่มปัญหาขึ้นพร้อมๆกันทั้งสองด้านนี่ ปฏิกิริยาหรือว่าผลหรือว่าอานิสงส์ที่เกิดมาจากการพัฒนาคือยิ่งเห็นแก่ตัว ยิ่งมีระบบเสรีในการที่จะเห็นแก่ตัวอย่างสมัยนี้ด้วยแล้ว มันก็ยิ่งเป็นปัญหามากขึ้น ก็คือมนุษย์มีบาปมากขึ้นนั่นเอง ยิ่งพัฒนาเท่าไรในส่วนนี้กิเลสมันก็ยิ่งพัฒนานำหน้าต่อไปอีก มนุษย์พัฒนาวัตถุ พัฒนาปัจจัยขึ้นมาเท่าไร กิเลสมันก็พัฒนาตัวมันเองนำหน้ายิ่งขึ้นไปอีก ก็ต้องพัฒนาตามกันขึ้นไปอีก เดี๋ยวนี้เราจะเห็นได้ว่าไอ้ความสะดวกความสบายนั้นมันก็เกินความจำเป็น แต่เราก็หาเรื่องที่จะทำให้มันจำเป็นอยู่นั่นแหละ ไม่ต้องไปมันก็มีเหตุผลว่ามันต้องไป ไม่ต้องทำมันก็มีเหตุผลว่าต้องทำ ไม่ต้องกินต้องใช้มันก็มีเหตุผลว่าต้องกินต้องใช้ อย่างจะขึ้นเรือบินเป็นฝูงๆไปเที่ยวให้มันว่อนไปทั้งโลกนี้มันไม่จำเป็น ปัญหามันพึ่งเกิดเมื่อมนุษย์มันโง่ มันหลง มันสร้างปัญหาขึ้นมาจากไอ้การพัฒนา มันก็เลยสูญเสียความสงบ สู้สมัยคนป่าก็ไม่ได้ หรือว่าอุดมคติที่เห็นแก่ผู้อื่นนั้นมันก็หายไปหมด ความเดือดร้อนมันก็มากขึ้นๆ แต่ถ้ามันเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยมันก็น่าจะชื่นใจ หมายความว่าสมัยคนป่านั้นพอความเดือดร้อนเกิดขึ้นเขาก็ค้นพบอุดมคติสังคมนิยมมาช่วยแก้ไขกันได้ ที่มนุษย์สมัยนี้เดือดร้อนแสนสาหัสยิ่งกว่าครั้งกระโน้น ก็ไม่สามารถที่จะพบอุดมคติสังคมนิยมคือการเห็นแก่ผู้อื่น นั้นจึงมีลักษณะเหมือนกับว่าตกนรกทั้งเป็นโดยไม่รู้สึกตัวกันอยู่ทั้งโลก ร้องตะโกนโวยวายกันไปหมดว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ความเห็นแก่ตัวมันก็ยังทำให้เอาเปรียบผู้อื่น บางทีจะเป็นตัวผู้สร้างสถานการณ์ให้มันยุ่งยากลำบากด้วยซ้ำไป จะได้กอบโกยเอาประโยชน์จากการที่คนอื่นเขายุ่งยากลำบาก นี่สังคมนิยมคืออะไร คือหัวใจของศาสนาทุกศาสนา มันเป็นต้นเหตุมาจากการที่คนไม่เห็นแก่ผู้อื่น เดี๋ยวนี้เราจะย้อนกลับไปหาความคิดนึกที่ว่าเห็นแก่ผู้อื่นเหมือนสมัยแรกมีศาสนากันได้หรือไม่ อาตมาคิดว่ามันก็ยากเหลือแสน แต่แล้วมันก็ไม่มีทางที่จะทำอย่างอื่นได้ มันก็ต้องพยายามทำไอ้สิ่งที่เรียกว่ายากเหลือแสนที่จะดึงความรู้สึกเห็นแก่ผู้อื่น ให้เกิดความเข้าใจดีระหว่างกันระหว่างศาสนาซึ่งล้วนแต่มีหัวใจเป็นสังคมนิยม ถ้ามันซ้ำรอยมันก็จะเกิดความคิดเห็นแก่ผู้อื่น แล้วอุดมคติของพระโพธิสัตว์มันก็จะกลับมาอีก นี้มันพึ่งจะหายไปเมื่อมนุษย์พัฒนาเรื่องทางวัตถุ ทางเนื้อหนังมากเกินไป อุดมคติของโพธิสัตว์คืออุดมคติสังคมนิยมแต่สมัยโบราณนั้นมันหายไป หายไป หายไป จนเดี๋ยวนี้ก็คงจะมีคนเกลียดคำว่าพระโพธิสัตว์ ที่เสียสละเผื่อผู้อื่น กลับจะประณามพระโพธิสัตว์ว่าเป็นคนโง่ก็ได้เพราะไปมัวเห็นแก่ผู้อื่น ทำไมไม่เห็นแก่ตัว ไม่หาอะไรให้แก่ตัว ความสุขสนุกสนานให้แก่ตัว อุดมคติของโพธิสัตว์ที่เคยบูชากันเป็นสิ่งสูงสุดในยุคกระโน้น มันก็หายไปหมดในยุคนี้ มันจะกลับมาหรือไม่นี่อาตมาก็ตอบไม่ได้ มันแล้วแต่เหตุแต่ปัจจัยตามกฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตา แต่ก็มีหวังอยู่ว่าประวัติศาสตร์มันอาจจะซ้ำรอย เพราะคนเดี๋ยวนี้มันก็ฉลาดมากกว่าคนป่าสมัยโน้น คนป่าสมัยโน้นยังค้นพบอุดมคติสังคมนิยม คนเดี๋ยวนี้มันกำลังเหมือนกับเมาเหล้าพอมันสร่างเมามันคงจะพบอุดมคติสังคมนิยมที่ดีกว่าก็ได้ ขอร้องให้ทุกๆคนช่วยกันอธิษฐานจิตว่า ขอให้โลกนี้มันกลับไปสู่อุดมคติของพระโพธิสัตว์กันอีกซักคราวหนึ่งเถิด เพราะว่าอุดมคตินั้นก็คือหัวใจของศาสนาทุกศาสนานั่นเอง แต่ว่าสังคมนิยมอย่างนี้จะต้องขอเติมคำนำประกอบเข้าไปซักหน่อยว่า ธัมมิกสังคมนิยม คือสังคมนิยมตามแบบของธรรมชาติ คือที่ประกอบไปด้วยธรรม คำว่าธรรมก็คือธรรมชาติหรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ธัมมิกสังคมนิยมนี้มันเป็นสังคมนิยมตามกฎเกณฑ์ของธรรมะ เดี๋ยวนี้ถ้าพูดกันถึงสังคมนิยมมันก็เป็นสังคมนิยมของกิเลส ของการแก้แค้น ของความเจ็บใจ ของความยื้อแย่ง มันก็มีปัญหาอย่างอื่น หรือเพิ่มความทุกข์อย่างอื่น ทำความวุ่นวายมากขึ้นไปอีก เพราะมันไม่ใช่ธัมมิกสังคมนิยม พุทธศาสนามีอุดมคติเป็นสังคมนิยม ศาสนาไหนก็มีอุดมคติเป็นสังคมนิยม พุทธบริษัทก็เคยมีอุดมคติสังคมนิยมเห็นแก่คนทั้งหมด ว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เดี๋ยวนี้เราเหวี่ยงไปไว้เสียที่ไหนก็ไม่รู้อุดมคติอันนั้น มันก็มีเรา มีเขา มีตัวกู มีของกู เด่น เด่น เด่นกันขึ้นมาทั้งนั้น มันก็เกิดความขัดแย้ง ก็เป็นปัจจัยของเบียดเบียนกัน เป็นอยู่กันอย่างนอนตาไม่หลับ ทีนี้ถ้าว่าขจัดความขัดแย้งนี้ออกไปได้ มันก็เรียกว่าเป็นยุค ยุคใหม่ เปลี่ยนยุคมาใหม่ จะเป็นยุคอุดมคติของพระโพธิสัตว์ ที่จะทำอย่างไรในชั้นแรกนี้ ก็มามองเห็นว่า ไอ้ความเข้าใจผิดกันระหว่างศาสนานี่แหละ เป็นมูลเหตุอันสำคัญ ทุกคนก็ยังยึดคำว่าศาสนาอยู่แต่แล้วเข้าใจกันไม่ได้ จนมีศาสนาที่ขัดกัน ใช้ศาสนานั้นๆเป็นเครื่องมือเบียดเบียนกันซะเลย มาตั้งต้นกำจัดไอ้ความขัดแย้งอันนี้กันเสียก่อน และก็ต้องตั้งต้นไปตั้งแต่ระหว่างบุคคล และก็ตั้งต้นในส่วนที่แคบออกไปหาส่วนที่กว้าง ที่ว่าตั้งต้นที่บุคคล เพราะบุคคลนี่อย่างพุทธบริษัทเรานี่ มันมีความขัดแย้งกันอย่างไรบ้าง พวกหนึ่งว่าตายแล้วเกิด พวกหนึ่งว่าตายแล้วไม่เกิด นี้มันขัดแย้งกันขึ้นมาเพราะไม่เชื่อพระพุทธเจ้า ไม่เชื่อพระพุทธเจ้าในข้อที่ว่ามันไม่มีคน โดยที่แท้จริงแล้วมันมีแต่กระแสอิทัปปัจจยตา นี้คนมันไม่ ไม่ ไม่เข้าใจและก็ไม่เชื่อพระพุทธเจ้าในข้อที่ว่าอนัตตาหรือว่าไม่มีคน มันก็มีคนตามความรู้สึกของตน หรือรู้สึกมาแล้วตั้งแต่ก่อนที่จะมีความเจริญในทางธรรมะที่ถูกต้อง ที่มองดูแล้วก็เห็นว่าไม่มีทางที่จะขจัดความรู้สึกขัดแย้งอันนี้ได้ ยิ่งเดี๋ยวนี้ละก็ยิ่งยากเพราะมันมีเสรีประชาธิปไตยในการที่จะตีความหมายในพระพุทธวัจนะนั้นๆ ถ้าสมมติว่าเราจะไปทูลถามพระพุทธเจ้า ก็ขอให้บัญญัติ บทบัญญัติอะไรออกมาใหม่ๆ ที่มันจะรับถือกันได้ พร้อมกันทั้ง ๒ ฝ่าย คือทั้งฝ่ายคนที่ถือว่าตายแล้วเกิดและคนที่ถือว่าตายแล้วไม่เกิด ถ้าเป็นอย่างนี้อาตมาสังเกตดูแล้วรู้สึกว่าพระพุทธเจ้าท่านต้องทำได้ และก็มีวี่แววที่ว่าท่านทำอยู่ ถ้าในเรื่องนี้มันตกลงกันไม่ได้ ท่านก็จะเสนอว่าทั้ง ๒ ฝ่ายต้องปฏิบัติอย่างนี้ ก็เมื่อความโลภ ความโกรธ ความหลงมันเป็นข้าศึกแก่มนุษย์ และมนุษย์ชนิดไหนก็ต้องปฏิบัติเพื่อกำจัดไอ้ความโลภ ความโกรธ ความหลง คนที่ถือว่าตายแล้วเกิดก็อย่าไปเสียเวลาด้วยปัญหาอื่น มาขจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง คนที่ถือว่าตายแล้วไม่เกิด ก็อย่าไปเสียเวลาเถียงกันหน้าดำหน้าแดง ก็มาพยายามที่จะปฏิบัติเพื่อกำจัดเสียซึ่งความโลภ ความโกรธ ความหลง เดี๋ยวนี้คนมันโง่ มันจะให้แตกหักกันที่ว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด ซึ่งมันไม่ได้มีอยู่จริง มันไม่ได้เป็นสิ่งที่เป็นความจริงที่จะพูดได้อย่างไร มันก็ต้องพูดเดาไป คะเนไป ยึดมั่นถือมั่นแล้วก็เถียงกัน มันทำได้เพียงเท่านี้ เราต้องปฏิบัติอย่างเดียวกันได้ ทั้งคนที่ถือว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด แม้ว่าเป็นพุทธบริษัทด้วยกัน พวกหนึ่งยังถือว่าตายแล้วเกิด พวกหนึ่งก็ยังกล้าคิดกล้าพูดว่าตายแล้วไม่เกิด ที่ถูกนั้นมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น มันแล้วแต่เหตุปัจจัย ที่หมุนไปตามกฏอิทัปปัจจยตาไม่มีคน ไม่มีสัตว์ นี่มันจะไปสิ้นสุดลงเมื่อละ โลภะ โทสะ โมหะ ได้แล้ว มันก็รู้เองว่าอ้าวไม่มีคน เราเสียเวลาโง่เง่ามาเถียงกันเปล่าๆว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิดอย่างนี้ ทำไมจะต้องขัดแย้งกัน เรื่องขัดแย้งกันก็ขัดแย้งเพื่อกิเลส โดยกิเลส เพื่อประโยชน์แก่กิเลส คนมันก็สงสารตัวเอง ก็ทำความเข้าใจกันได้ ในระหว่างคน ๒ ฝ่ายที่ฝ่ายหนึ่งถือว่าตายแล้วเกิด ฝ่ายหนึ่งถือว่าตายแล้วไม่เกิด แม้ว่าจะปฏิญญาว่าเป็นพุทธบริษัทผู้นับถือศาสนาด้วยกัน นั้นขอให้ท่านทั้งหลายได้นำไปคิดไปนึกพิจารณาดูว่าจุดตั้งต้นมันอยู่ที่ตรงนี้ ที่จะทำความสุขสวัสดีร่มเย็นเป็นสุขแก่มนุษย์เรานั้น มันต้องทำความขัดแย้งระหว่างบุคคลแม้ในหมู่คณะเดียวกัน หรือลูกมันก็ถืออย่างหนึ่ง พ่อแม่ก็ถืออย่างหนึ่ง มันก็เป็นภาวะที่น่าสงสาร นี้ดูความขัดแย้งอย่างอื่นต่อไปอีก ว่าคนหนึ่งมันต้องการลาภ คนหนึ่งมันต้องการบุญ คนหนึ่งมันต้องการนิพพาน แล้วก็ร้องตะโกนว่าฉันเป็นพุทธบริษัทด้วยกันทั้งนั้น คนที่ต้องการลาภมันก็ดูหมิ่นไอ้คนต้องการบุญ ไอ้คนต้องการบุญดูหมิ่นไอ้คนที่ต้องการลาภ ว่ามันช่างต่ำเสียจริงๆ อีกคนหนึ่งมันทะเยอทะยานต้องการนิพพาน มันก็ดูหมิ่นไอ้คนที่ต้องการลาภหรือต้องการบุญ เว้นไว้ว่ามันจะถึงนิพพานจริงๆเสียก่อนเท่านั้นจึงจะเลิกดูหมิ่นคนอื่นได้ แต่ที่ว่าโดยที่แท้แล้วมาปรองดองกันได้ ออมชอมกันได้ ไอ้ลาภหรือทรัพย์สมบัติก็เป็นปัจจัยให้เกิดบุญ เมื่อมีบุญถึงที่สุดแล้วมันก็เป็นปัจจัยให้อยากจะนิพพาน เพราะว่านิพพานนั้นถึงได้แต่บุคคลผู้ที่พ้นบุญ เหนือบุญ อย่างนี้มันก็กลายเป็นพี่น้องกัน ไม่ต้องเป็นปรปักษ์หักล้างกัน ข้อขัดแย้งมันก็ไม่มี นี้ก็เป็นจุดตั้งต้นของพุทธบริษัท ว่าเมื่อยังอยู่ในวิสัยที่จะต้องสร้างสมไอ้ลาภก็สะสมลาภ แล้วก็สะสมบุญมันก็เอือมระอาในที่สุด มันก็ต้องการหยุด ต้องการเย็น ต้องการดับไม่มีเหลือ มันก็เป็นนิพพาน ทำไมจะต้องดูหมิ่นกัน ถ้าดูหมิ่นกันมันก็เป็นเรื่องของกิเลส ก็ทำไปเพื่อกิเลส ความต้องการอยู่กันคนละชั้นก็เพราะอำนาจของกิเลสที่คนนั้นๆมันมีอยู่ มันเป็นเรื่องแบ่งแยก ทำลายความขัดแย้งระหว่างบุคคลจนนี้ได้ ก็เข้าใจกันดีขึ้นแม้ระหว่างศาสนา นั้นถ้าศาสนาไหนเขาสอนหนักในเรื่องบุญ ก็อย่าไปดูหมิ่นดูถูกเขาเลย เอาเป็นขนาดนี้ก็แล้วกันว่า แม้แต่พวกวัตถุนิยมสมัยนี้มันต้องการกันแต่ลาภ ก็สงสารเขาเถอะ ว่าเขามันยังต้องการเพียงเท่านั้น ต่อไปเขาก็คงจะรู้จักแสวงบุญ ควรจะแผ่เมตตาให้คนที่เห็นแต่วัตถุเหล่านี้ เปลี่ยนความคิดความนึกได้เร็วๆ
เอ้า ,ทีนี้ดูต่อไปในข้อขัดแย้งอย่างอื่นซึ่งมันเป็นหลักสำคัญมากอยู่อย่างหนึ่ง คนพวกหนึ่งเขาอยากจะถือว่าเราจะรอดตัวได้เพราะศรัทธา แต่คนพวกหนึ่งเขาว่าเขาจะรอดตัวได้ด้วยการกระทำหรือวิริยะ แต่คนพวกหนึ่งเขาจะถือว่าเขาจะรอดตัวได้ด้วยปัญญา ถ้าไม่รู้เรื่องเหล่านี้ก็จะเห็นว่าทำไมมันตีกันยุ่งอย่างนี้ แต่ถ้ารู้ว่าไอ้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงมันมีนิสัย หรือไอ้สันดานนี่มันสะสมมาต่างกัน ถ้าจะรอกันให้มีปัญญาถึงที่สุดด้วยกันแล้ว มันอาจจะตายเสียก่อนก็ได้ ท่านผู้รู้จึงวางระบบว่าพวกหนึ่งมันควรจะไปได้ด้วยอำนาจของศรัทธา ถ้ามันมีศรัทธาจริงๆแล้วมันจะไม่มีความทุกข์ แม้จะเอามีดมาเชือดมาเฉือนให้เลือดแดงฉานไปหมด ถ้ามันเชื่อไอ้การกระทำนั้นว่าเป็นการถูกต้อง จะบรรลุจุดหมายปลายทางได้มันก็ไม่รู้สึกเจ็บ นี้คนโดยมากมันจะอยู่ในลักษณะเช่นนี้มากกว่า เพราะถ้าทั้งหมดในโลกนี้จะต้องพึ่งศรัทธา แต่มาถึงสมันนี้มันก็เปลี่ยนแปลงไปมาก จนไม่รู้จะเอาอะไรกันก็ได้ นิกายที่ใหญ่ๆ ที่จะหลุดลอดด้วยศรัทธานี้ก็มีมาก อย่างนิกายสุขาวดีของอาซิ้มก็สร้างศรัทธาในพระอมิตาพระ รู้จักลักษณะของอมิตตาพระ ก็บ่นออกชื่ออมิตตาพระวันหนึ่งหลายร้อยหลายพันครั้ง ถึงขนาดที่เขาจะมีศรัทธาเต็มที่ ก็เชื่อว่าอมิตตาพระคุ้มครอง พอดับจิตก็มีรถมารับไปขึ้นสวรรค์ไปสุขาวดี มีคนเล่าเรื่องจริงๆให้ฟังว่าอาซิ้มแกเชื่ออย่างนั้นจริงๆ แกบอกลูกบอกหลานว่าเดี๋ยวนี้รถมารออยู่ที่ใกล้ๆหลังคานั้นแล้ว ฉันจะไปขึ้นรถแล้ว และแกก็ตายไปและก็ไปขึ้นรถ ถ้าเขาทำได้อย่างนี้ก็แปลว่ามันไม่มีปัญหาเหมือนกัน คือไม่ทุกข์ อมิตตาพระก็สอนไม่ให้โลภ ไม่ให้โกรธ ไม่ให้หลง แล้วก็เชื่ออมิตตาพระ เขาพยายามที่จะทำตามกันนั้น ไม่ได้ปฏิบัติอะไรมากไปกว่าความเชื่อ คำคล้ายๆกันนี้ก็มีในพระบาลีเถรวาทของเราที่ว่า ศรัทธานุสารีหรือศรัทธาวิมุตโต มันรอดกลัวออกไปได้โดยมีศรัทธาเป็นจุดตั้งต้น ก็ไม่ควรจะไปดูถูกดูหมิ่นเขา เมื่อเราไม่เข้าใจเรื่องนี้เราจะต้องดูถูกดูหมิ่นเขา อาตมาก็เคยมาแล้วก็ขอสารภาพแสดงบาปไว้ในที่นี้ ทีนี้พวกหนึ่งมันมีศรัทธาไม่ได้เพราะว่าธรรมชาติมันสร้างมาสำหรับจะมีศรัทธาอย่างนั้นไม่ได้ มันก็หวังไปในทางแห่งความพากเพียรคือกำลังจิตที่เข้มแข็ง มันจะบังคับจิตให้รู้สึกแต่อย่างนี้ ไม่ให้รู้สึกอย่างนั้น เช่นการเจริญสมาธิ อำนาจของสมาธิจะครอบงำไม่ให้เกิดกิเลส และก็เป็นอยู่อย่างนั้นเรื่อยไปจนถึงวาระสุดท้ายดับจิตไปด้วยอำนาจของสมาธิชนิดนั้น มันก็เรียกว่าพวกที่รอดไปได้ด้วยวิริยะคือกำลังจิตอันเข้มแข็ง แต่มันก็ยังมีคนที่ทำอย่างนั้นไม่ได้ มันมีนิสัยสันดานหรือว่าเชื้ออะไรผิดจากเขา มันต้อง มันจะทำได้แต่ใช้ความรู้อย่างเดียว พวกนี้ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณา น้ำหนักมันมาอยู่ที่ปัญญาสำหรับพิจารณามันไม่อยู่ที่ความเชื่อ ไม่อยู่ที่ความเพียร มันก็พิจารณาไป พิจารณาไป พอเห็นรู้แจ้งในเรื่องไม่น่ารักไม่น่ายึดถือ มันก็เฉยไปได้ มันก็ไม่มีความทุกข์ได้ นี่มันพ้นด้วยอำนาจของปัญญา แต่ที่ดีกว่านั้น ที่อยากจะพูดว่าเป็นหลักการของพระพุทธเจ้าของเรานี้เอามารวมกันซะดีกว่า ศรัทธา วิริยะ ปัญญานี้เอามารวมกันใช้เป็นบันไดแก่กันและกัน ส่งเสริมแก่กันและกัน หรือจะขยายออกไปว่า ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็น ๕ อย่างที่เรียกว่าอินทรีย์ ๕ นี้ก็ยิ่งดี มันกลมกลืนกันไปหมด มันก็คงจะเร็วเข้า และมันก็คงจะใช้ได้แก่ทุกพวกที่มันไม่เป็นปทปรมะเกินไป พุทธบริษัทควรจะมองกันในแง่นี้ แล้วก็จะได้โชคดีที่จะไม่ต้องเถียงกันว่า จะพ้นด้วยศรัทธาหรือว่าพ้นด้วยวิริยะหรือจะพ้นด้วยปัญญา และก็ดูถูกดูหมิ่นกันควรจะเลิกได้แล้ว มันไม่ต้องขัดกันมันไม่ต้องฝืนธรรมชาติ นี่มันจะทำความเข้าใจกันได้ระหว่างบุคคลที่มีอุปนิสัยต่างกัน มีความเชื่อต่างกัน มีอะไรต่างกัน แม้ปฏิญญาตัวว่าเป็นพุทธบริษัทด้วยกัน ทีนี้จะดูในข้อเบ็ดเตล็ดบ้าง ซึ่งเรามักจะสูญเสียไอ้ความสงบหรือโอกาสอันดี เพราะมาขัดแย้งกันในข้อเล็กๆน้อยๆน่าสงสารเช่นนี้ เช่นว่าจะกินผักหรือจะกินเนื้อนี้มันก็เป็นเรื่องของเหตุผลโดยประจักษ์ก็มี เป็นเรื่องของทิฏฐิ ความยึดมั่นถือมั่นงมงายก็มี แต่มันจะมาจากอะไรก็สุดแท้ มันก็เป็นการขัดแย้งกันทั้งนั้น แล้วก็มันยากที่จะให้สนิทสนมรักใคร่กัน เหมือนกับว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันได้ นี่จะแก้ปัญหานี้อย่างไร ถ้าตามหลักของพุทธศาสนามันก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องที่ว่ากินเนื้อหรือกินผัก แต่มันต้องกินอาหารชนิดที่ถูกต้อง เพราะว่าถูกต้องนี้มันก็หมายถึงถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ถูกต้องตามสถานะของตนเอง หรือว่าสถานการณ์ของสิ่งแวดล้อม แต่จะกินเนื้อหรือจะกินผักก็ตาม มันก็ต้องกินอย่างที่เรียกว่ากินเนื้อลูกของตัวเอง มันจะกินให้อร่อยอย่างไรได้ เมื่อพ่อแม่ต้องกินเนื้อลูกของตัวเองเพราะมันจะตาย มันไม่มีอะไรกินนี้มันก็กินด้วยความรู้สึกอย่างที่พออยู่ได้ จะกินเนื้อก็ต้องกินอย่างนั้น จะกินผักก็ต้องกินอย่างนั้น คือไม่ใช่กินเพื่อลิ้น ไม่ใช่กินเพื่อกิเลส แต่ว่ากินเพียงว่าเพื่อชีวิตมันอยู่ได้ ถ้ามีผักมันก็กินผัก ถ้ามีเนื้อมันก็กินเนื้อ แต่ก็ต้องดูอีกว่ามันประกอบไปด้วยโทษหรือไม่ ถ้ามันประกอบไปด้วยโทษแล้ว ไม่ต้องเนื้อหรอกแม้ผักก็ไม่ควรกิน มันจึงอยู่ที่ว่าจะใช้ความใคร่ครวญอย่างไร อย่าให้เกิดโทษเกิดขึ้นมาเพราะข้อนี้ และที่แน่นอนอย่างอื่นก็คือว่า มันจะต้องกินชนิดที่มันไม่ขัดกับหน้าที่การงานของตน อยู่ในโลกมันก็มีหน้าที่การงาน กินอาหารอย่าให้มันขัดกับหน้าที่การงานโดยถูกต้อง หรือถ้าจะมีหน้าที่สำหรับปฏิบัติบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็ต้องกินอาหารอย่าให้มันขัดกันกับหน้าที่การงานนั้นๆ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงไม่ได้บัญญัติว่าต้องกินผักหรือต้องกินเนื้อ แต่ว่าต้องกินอาหารอย่ากินเหยื่อ ถ้ากินเหยื่อมันกินเพื่ออร่อย แม้กินผักมันก็เป็นกินเหยื่อไม่เฉพาะแต่กินเนื้อ ถ้ามันกินเพื่ออร่อยแล้วกลายเป็นเหยื่อไปหมดไม่ใช่กินอาหาร ถ้าจะกินเพื่อให้เกิดความถูกต้องเหมาะสมร่างกายจะปฏิบัติหน้าที่ของตน และก็เรียกว่ากินอาหารอย่างนี้มันก็ปลอดภัย มีบทปฏิเวกอยู่เฉพาะแล้วว่ากินอาหารนั้นกินอย่างไร แต่ถ้ากินให้อร่อยมันก็เป็นกินเหยื่อ คือว่าจะต้องติดเบ็ดของมารของกิเลสเพราะมันต้องการความอร่อย เรียกว่ากินเหยื่อ เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้วไอ้ข้อขัดแย้งเรื่องว่ากินเหยื่อหรือว่ากินผักมันก็หายไป พุทธบริษัทก็ไม่ต้องรังเกียจกันว่าคนนั้นกินเนื้อมันไม่ใช่พุทธบริษัทแล้วอย่างนี้ บางทีข้อปลีกย่อยอย่างอื่นยังจะมีอีกว่า เราจะอยูป่าหรือจะอยู่บ้าน จะบวชหรือว่าจะเป็นฆราวาสนี้มันก็เหมือนกันอีก มันต้องเป็นไปในลักษณะที่ไม่ขัดแย้ง อยู่ป่าหรืออยู่บ้านมันไม่ใช่สิ่งที่แน่นอน มันแน่นอนอยู่ที่เหตุ ที่ปัจจัย ที่นิสัย ที่สถานการณ์ เพราะว่าถ้าสามารถควบคุมจิตได้แล้วที่ไหนก็เป็นป่าทั้งนั้น ท่ามกลางโรงละครก็เป็นป่าได้ แต่นี้คนมันควบคุมจิตไม่ได้ มันก็ต้องอาศัยธรรมชาติช่วยบ้าง ว่าไปป่าค่อยสะดวก ค่อยง่ายหน่อย แต่ถ้าเกิดไปยึดมั่นถือมั่น ว่ากูได้ดีหรือว่าดีกว่าคนอื่น กูเป็นคนอยู่ป่า เป็นคนวิเศษอย่างนี้ขึ้นมา มันก็จะเลวไปกว่าคนอยู่บ้านก็ได้ ซึ่งอยู่ป่าหรืออยู่บ้านมันควรจะเป็นเรื่องของจิตใจ ทำความสงบสงัดได้หรือไม่ ไม่ต้องเถรตรงว่าจะอยู่ป่าหรืออยู่บ้าน เถรตรงนั้นมันก็คือคนที่จะต้องตกต้นตาลตาย นิทานเรื่องเถรตรงมีอยู่แล้วอาตมาก็ไม่ต้องเล่า หรือคนกระต่ายขาเดียวนี่มันเป็นคนบ้าชนิดหนึ่ง ดังนั้นอย่าเป็นเถรตรง อย่าเป็นกระต่ายขาเดียว ปัญหาเรื่องอยู่ป่าอยู่บ้าน กินเนื้อกินผักนี้มันก็ไม่เกิดขึ้นเป็นข้อขัดแย้ง แม้ในพวกพุทธบริษัทเรากันเอง เดี๋ยวนี้มันมีแต่จะตั้งข้อขัดแย้ง มองกันแต่ในแง่ที่มันจะขัดแย้ง ไม่มองกันในแง่ที่จะกลมกลืนกันไปได้ด้วยความเข้าใจถูกต้องเกิดความเมตตากรุณาว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น บางคนอาจจะเป็นเอามากถึงกับว่าเห็นคนนี้กินผัก เห็นคนนี้กินเนื้อแล้วมันก็สั่นหัวต่อกัน นี้มันมากเกินไปแล้ว มันเป็นข้อขัดแย้งระหว่างบุคคล ระหว่างลัทธิน้อยๆ ระหว่างลัทธิที่มันใหญ่ขึ้นไป ทำให้พุทธบริษัทรวนเรไม่มีความเป็นปึกแผ่น ทีนี้ก็จะระบุไปถึงไอ้วิธีการหรือหนทางที่จะขจัดความขัดแย้งนี้ เป็นทางมาแห่งการเข้าใจกันระหว่างบุคคลระหว่างคณะบุคคล กระทั่งระหว่างศาสนาในที่สุด ความขัดแย้งระหว่างศาสนามันก็เพราะว่าลืมอุดมคติที่ว่าศาสนามันเกิดขึ้นมาทำไม เกิดขึ้นมาเพื่ออะไรโดยวิธีใด ความขัดแย้งระหว่างนิกายย่อยๆของศาสนาทุกชั้นทุกขั้น มันก็คือความงมงายที่เป็นเศษเล็กเศษน้อยกระจายหรือขยายออกไป บุคคลในนิกายเดียวกัน ในศาสนาเดียวกันและยังแยกเป็นนิกายเดียวกัน และยังอยู่ในคณะเดียวกันมันยังมีความขัดแย้ง นี้ก็ต้องดูว่าอะไรที่จะเป็นรากฐานสำหรับทำลายความขัดแย้ง ถ้าว่าทุกคนมันมองไปที่ความมุ่งหมายที่จะดับทุกข์อย่างแท้จริง ก็ทำความเข้าใจกันได้ ว่าไม่ว่าศาสนาไหน แขนงไหน นิกายไหนมันมุ่งหมายที่ความดับทุกข์ นี้เราอย่ามองกันในแง่อื่น มองกันแต่ในแง่ที่ว่าทุกคนขยันขันแข็งที่จะทำความดับทุกข์เพราะกลัวความทุกข์ ทีนี้เราก็เป็นเพื่อนทุกข์แก่กันและกัน เราก็ต้องช่วยกันเพื่องานดับทุกข์นั้น โดยเห็นแก่ศาสนาหรือจะเรียกว่าเห็นแก่พระเจ้าก็ได้ ที่เราพยายามจะทำความเข้าใจกันนี้ พุทธบริษัทเราก็เพื่อเห็นแก่ความประสงค์ของพระศาสดา คือพระพุทธประสงค์ว่าท่านประสงค์อะไร การทำความเข้าใจกัน ไม่เบียดเบียนกันสามัคคีกันนั่นหละเป็นหลักเกณฑ์อันหนึ่ง ซึ่งรวมอยู่ในหลักธรรมะ สำหรับใช้ตัดสินธรรมวินัยว่าเป็นพุทธศาสนาหรือไม่ ถ้าเป็นพุทธศาสนาก็ต้องเพื่อความกลมเกลียวกัน ความรักใคร่กัน นี้ขอให้เอาความตั้งใจหรือเจตนาที่แท้จริงเป็นหลัก เห็นแก่สิ่งนี้โดยเห็นแก่พระศาสดาหรือเห็นแก่พระเจ้าซึ่งเป็นต้นตอของศาสนาที่มีพระเจ้า และมันก็ทำความเข้าใจกันได้ ขอให้ทุกคนอธิษฐานจิตในการที่จะตั้งใจให้มันบริสุทธิ์ จะไม่เกลียดใครไม่ขัดแย้งกับใคร
ทีนี้มองไปยังอุปกรณ์อันอื่นอีก ถ้าเอาเหตุการณ์หรือสถานการณ์ในเวลานี้เป็นหลัก เราก็พบว่าจะต้องตีความหมายของคำแต่ละคำ ละคำ ในทางศาสนานั้นกันเสียใหม่ให้ถูกต้อง พระคัมภีร์มีคำที่ยาก ที่เข้าใจยากตีความหมายยากก็เลยตีกันไปต่างๆ แม้ในศาสนาเดียวกัน แม้ในคณาจารย์หมู่เดียวกันเป็นพระอรรถคาถาจารย์ทำงานร่วมกันด้วยซ้ำไป ยังตีความหมายของคำแต่ละคำผิดกัน ถ้าว่าการตีความคำบางคำที่มันคาบเกี่ยวกันระหว่างศาสนาแล้วยังจะต้องระวังให้มาก เช่นแต่คำว่าความรอด ที่เป็นคำสำคัญที่สุดระหว่างศาสนาทุกศาสนาต้องการความรอด ก็ต้องตีความคำว่าความรอดนี้ให้มันถูกต้องและต้องตรงกันเป็นแน่นอน จะตีกันด้วยอะไร ก็ต้องตีกันด้วยความรู้ที่ถูกต้อง นี้เป็นข้อแรก และก็ต้องตีกันด้วยความมีใจกว้าง ใจอย่าแคบ ใจกว้างเห็นแก่ผู้อื่นบ้าง ก็มีทางที่จะตีความหมายให้ตรงกันได้ หรือว่าจะต้องตีความของคำที่มันเป็นปัญหา เป็นปริศนายุ่งยากนั้นด้วยเจตนาดีต่อคนทั้งโลก เดี๋ยวนี้เจ้าหน้าที่ทางศาสนามันไม่ซื่อ มันเป็นคนคดโกง มันเห็นแก่ตัว เห็นแก่พวกของตัว หรือศาสนาของตัว จะเอาเปรียบผู้อื่น มันไม่ยอมตีความหมาของคำนั้นๆในลักษณะอย่างนี้ คือไม่ยอมตีในลักษณะที่เจตนาดีต่อโลก มันมีแต่เจตนาที่จะรักษาประโยชน์ของตัวเอง การตีความของคำมันจึงไปในทางที่จะรักษาประโยชน์ของตน ของตน มันก็ต้องขัดแย้งกันเป็นธรรมดา อาตมาได้ประสบมามากและก็มากอยู่เรื่อยๆ เมื่อสนทนากันกับคนที่เขาถือศาสนาอื่น เขามาหยั่งเสียงดู เขามาหาความรู้ ก็รู้สึกว่านี่มันแกล้งบิดพลิ้ว แกล้งบ่ายเบี่ยง ที่จะไม่ยอมรับเจตนารมย์ของคำๆนั้นซึ่งพระศาสดาได้บัญญัติไว้ เพื่อความสวัสดีของมนุษย์ในโลก พระเยซูก็ตาม พระมูฮัมหมัดก็ตาม บัญญัติคำอะไรออกมา บัญญัติด้วยจิตใจที่เจตนาหรือประสงค์ดีต่อโลก พระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน แต่แล้วสาวกแห่งศาสนานั้นๆจะด้วยเหตุอะไรก็ตามมันเกิดอคติ ไม่รู้ตัว ในการตีความของคำนั้นๆจนเข้ากันไม่ได้ แล้วก็จะปฏิเสธเอาดื้อๆว่าตีความอย่างนี้พวกเราไม่ยอมรับ ก็ต่างฝ่ายต่างพูดกันอย่างนี้มันก็ไม่มีทางที่จะมองหน้ากันได้ แต่ก็มีเหมือนกันบางคนที่มาที่นี่ พยายามที่จะทำความเข้าใจกันจะตีความหมายให้ตรงกันนี่กลับไปก็มี นี้ว่าตีความของคำบัญญัติในทางศาสนาแต่ละคำกันเสียใหม่ ให้มันถูกต้องเท่านั้น ไม่ขออะไรมากไปกว่าความถูกต้อง เพราะมันผิดมาแล้วเพราะความเห็นแก่ตัวหรือความไม่รู้เท่าถึงการณ์คือด้วยอคตินั่นแหละ เดี๋ยวนี้รู้จริงเห็นจริงและก็มีใจกว้างไม่เห็นแก่ตัวและก็หวังดีต่อคนทั้งโลก มีใจอย่างนี้แล้วลองมาตีความบทบัญญัติใดๆเถอะ จะมีประโยชน์ในทางที่ไม่ขัดแย้งกันและก็เป็นโชคดีของมนุษย์ในโลกที่จะได้รับผลจากศาสนา สิ่งสุดท้ายที่จะพูดก็คือว่า การไม่ถือเอาประโยชน์ทางวัตถุเป็นใหญ่นี้ก็เพื่อจะป้องกันไว้ว่าทุกคนมันก็ต้องการประโยชน์ ทุกศาสนามันก็ต้องการประโยชน์ แต่ประโยชน์นั้นคืออะไร ถ้าเป็นประโยชน์ที่แท้จริงมันต้องประโยชน์แก่จิตใจ ที่เป็นความถูกต้องที่สำคัญกว่า อย่าเอาประโยชน์ทางวัตถุ เอาประโยชน์ชนิดที่ตรงตามความประสงค์ของศาสดานั้นๆ ไม่มีพระศาสดาไหนจะบัญญัติประโยชน์ทางวัตถุ บัญญัติความรอดของสัตว์เป็นประโยชน์ทางจิตใจหรือทางวิญญาณทั้งนั้น นั้นลืมเสียก็ได้ ตีความคำในทางศาสนาแล้ว ลืมประโยชน์ทางวัตถุเสียก็ได้ คือจะเล็งถึงเรื่องทางจิตทางวิญญาณเป็นหลัก ให้ได้ประโยชน์อย่างนั้นเป็นหลัก นี้เรียกว่าเอาตามความประสงค์ของพระศาสดาทั้งหลาย ท่านบัญญัติหลักพระศาสนาไว้เพื่อประโยชน์ทางจิตใจ แต่แล้วเราก็ควรอุ่นใจได้ว่าถ้าเรื่องทางจิตใจถูกต้อง เรื่องทางวัตถุมันก็ผิดไม่ได้มันมีแต่จะพอดี เอาประโยชน์ตามพระประสงค์ของพระศาสดา หรือว่าเอาประโยชน์ตรงตามหน้าที่ของศาสนา ถ้าอย่างนี้จะต้องตั้งคำถามขึ้นมาว่าทุกศาสนามีหน้าที่อย่างไร มีหน้าที่ขจัดปัดเป่าอะไรหรือมีหน้าที่สร้างสรรอะไร มันก็สร้างสรรประโยชน์ในทางฝ่ายจิตใจอยู่นั่นเอง หน้าที่ของศาสนามันจะขจัดอุปัทวทั้งหลายออกไปจากจิตใจของมนุษย์ ทีนี้พูดอย่างเป็นธรรมชาติก็พูดได้ คือพูดต่อไปอีกว่าเอาประโยชน์ตามที่สัตว์มีชีวิตมันต้องการอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ทั้งหลายมันมีชีวิต มันมีความรู้สึก มันมีความต้องการ มันต้องการความสงบสุข สงบสุขก็แล้วกัน จะไม่พูดเรื่องวัตถุหรือเรื่องจิตใจกันก็ได้ ถ้ามันเป็นความสงบสุขมันก็พอแล้ว สำหรับสัตว์เดรัจฉานมันก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องจิตใจ ต้องการความสงบสุขอย่าเบียดเบียนกันก็พอแล้ว มันไม่มีปัญหาทางกิเลส เพราะมันอยู่ในระดับที่ยังไม่มีปัญหาทางกิเลส ที่มนุษย์เราสูงขึ้นมาถึงระดับที่มีปัญหาทางกิเลส มันจึงรู้จักต้องการความพ้นไปจากข้าศึกคือกิเลส มีความสงบที่สูงขึ้นไปก็เรียกว่าโดยสัญชาติญาณ เหมือนกันมันมีความรู้สึกสูงขึ้นมา มันก็ต้องมีความประสงค์สูงขึ้นมา ต้องการความสงบทั้งส่วนร่างกายและส่วนจิตใจ เพราะรู้ว่าส่วนจิตใจ มัน มันสำคัญกว่า มันเป็นต้นตอของทั้งหมด ทุกสิ่งมันขึ้นกับสิ่งที่เรียกว่าจิตเพียงอย่างเดียว ก็ต้องถือเอาประโยชน์ให้ตรงตามที่สัตว์ประสงค์ ตามความรู้สึกตามธรรมชาติที่มันสูงขึ้นมา นี่ถือเอาประโยชน์ที่ไม่ใช่วัตถุอย่างนี้ ก็ไม่มีทางที่จะผิด มันจะตรงตามความมุ่งหมายแห่งพระศาสนาไปได้โดยอัตโนมัติ นี่การที่จะแสวงหาลู่ทางที่ทำความเข้าใจกันในระหว่างศาสนามันจะต้องเป็นอย่างนี้ ข้อขัดแย้งระหว่างคน ระหว่างนิกาย ระหว่างศาสนามันจะหมดไป มีความตั้งใจที่จะมองกันแต่ในแง่ของความดับทุกข์ อย่ามองในแง่อื่น ตีความหมายบทบัญญัตินั้นๆให้ถูกต้อง และถ้าดีที่สุดแล้วอย่าไปใช้บทบัญญัตินั้นๆเลย ไอ้เรื่องคำทั้งหลายนั้นอย่าไปสนใจกันนัก มันจะมีปัญหามากขึ้นโดยไม่มีประโยชน์อะไร คือไม่จำเป็น เพราะว่าที่จริงแล้วหุบปากเสียดีกว่า เดี๋ยวนี้ไปสนใจไอ้คำนั้น คำนี้ คำโน้นมันก็มีปัญหา มีทางที่จะผิดพลาดมากยิ่งขึ้นไปอีก แต่ถ้าหลีกไม่ได้ จะต้องตีความบทบัญญัตินั้นแล้ว ต้องตีด้วยความรู้ที่แท้จริง ความมีใจกว้างเจตนาดีต่อโลกเป็นส่วนรวม เชื่อว่ามันต้องถูกแน่ และเมื่อเล็งถึงประโยชน์แล้ว ก็ให้เป็นประโยชน์ที่มันแท้จริงไม่ใช่เพียงเพื่อได้มาซึ่งวัตถุ นี้คือทางมาของการทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา ถ้าทำได้มันก็เป็นการช่วยโลก โลกมันกำลังมีวิกฤตการณ์เพราะว่าเรามีข้อขัดแย้งกันไปทุกอย่างทุกทาง แต่ความขัดแย้งที่สำคัญนั้นมันเป็นเรื่องทางทิฏฐิความคิดความเห็น คือเรื่องทางจิตใจนั้นเอง ก็ขึ้นอยู่กับศาสนาเป็นส่วนสำคัญ ปรับปรุงเรื่องของศาสนาให้กลมกลืนกันไปแล้ว ข้อขัดแย้งเหล่านี้มันก็จะไม่มี มันมีวัตถุประสงค์ตรงกันหมด มันก็พูดกันรู้เรื่องมันสามัคคีกันได้ และจะต้องไปริษยากันทำไม โลกก็จะมีสันติภาพ เดี๋ยวนี้เรามาดูแล้วมันเต็มไปด้วยข้อขัดแย้ง จึงเอามาพูด ถ้าเป็นกันเองก็จะต้องล้อ ถ้ากันเองกว่านั้นอีกก็ต้องใช้คำว่าด่า ไปเลิกความขัดแย้งเหล่านี้กันเสียเถิด นับตั้งแต่ระหว่างบุคคล ในครอบครัว ในวัดวาอาราม ในคณะในลัทธินิกาย กระทั่งในศาสนาทุกๆศาสนาในโลก นี้อาตมากล่าวถึงการทำความเข้าใจระหว่างศาสนาในการบรรยายภาคบ่ายนี้ ก็รู้สึกว่าพอสมควรแก่เวลาแล้ว ก็ขอยุติการบรรยายไว้เท่านี้ ต่อไปนี้ก็จะทำอะไรตามสมควรแก่โอกาสเวลาที่ยังเหลืออยู่ สำหรับการบรรยายนั้นขอยุติไว้เพียงเท่านี้ก่อน.