แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้า ในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ปรารภเหตุเนื่องด้วยมาฆบูชาดังที่ท่านทั้งหลายอาจจะทราบกันอยู่เป็นอย่างดีแล้ว และยิ่งกว่านั้นก็ควรจะทราบว่าธรรมเทศนาในวันมาฆบูชาเช่นนี้เป็นธรรมเทศนา ธรรมเทศนาเนื่องในวันมาฆบูชานี้ เป็นธรรมเทศนาปรารภเรื่องที่เกี่ยวกับพระอรหันต์ และเป็นการกล่าวที่เนื่องกันมาตามลำดับ เรื่องอันเกี่ยวกับพระอรหันต์นี้มีมากจนอาจจะกล่าวได้ต่าง ๆ กันไม่รู้จักสิ้นสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระคัมภีร์ที่เรียกว่าเถรคาถาหรือเถรีคาถา ล้วนแต่กล่าวถึงเรื่องราวของพระอรหันต์ในลักษณะที่ต่าง ๆ กันแปลก ๆ ล้วนแต่เป็นตัวอย่างที่ดี มีคำสอนที่ดีตามที่พระอรหันต์แต่ละองค์ ๆ ได้กล่าวไว้ในพระคัมภีร์นั้น และในวันนี้ก็จะได้นำมากล่าวให้ฟังเป็นตัวอย่างสักกลุ่มหนึ่ง และขอแนะนำไว้ด้วยว่าถ้าผู้ใดสนใจก็ควรจะหาพระคัมภีร์ที่เรียกว่าเถรคาถานั้นมาอ่านเอาเองได้ เพราะว่าเดี๋ยวนี้พระไตรปิฎกก็ได้แปลเป็นไทยครบถ้วนแล้วและพิมพ์กันอย่างแพร่หลาย จึงเป็นการง่ายดายที่จะศึกษาเอาเองได้จากพระไตรปิฎก เรื่องของพระอรหันต์ที่น่าสนใจน่าตื่นเต้นหรือแม้จะเรียกว่าน่าสนุกก็ยังได้ ก็มีอยู่ในคัมภีร์นี้มากเป็นพิเศษและสะดวกที่สุดที่จะอ่าน ถ้าในคัมภีร์อื่นเขากล่าวไว้อย่างที่เรียกว่าเราลำบากในการอ่าน ในการรวบรวม ในการสังเกต แต่ถ้าในพระคัมภีร์เถรคาถาแล้วก็ง่ายมากเพราะกล่าวไว้เป็นหมวดหมู่เป็นองค์ ๆ ไปทีเดียว นี่ขอแนะไว้ให้เป็นพิเศษอย่างนี้สำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องของพระอรหันต์
ทีนี้ก็อยากจะขอให้ทำความเข้าใจกันต่อไป ว่าเราจะรู้เรื่องของพระอรหันต์นั้นมันยังไม่พอ ต้องมีความพยายามที่จะกระทำตามถ้อยคำหรือตามตัวอย่างของพระอรหันต์ด้วยจึงจะมีประโยชน์ คนเขามักจะคิดกันว่าเราไม่กล้าอาจเอื้อมเพื่อจะเป็นพระอรหันต์ แล้วก็เลยไม่สนใจ ไม่ค่อยจะสนใจ แล้วก็เลยเป็นเรื่องที่หยุดชะงักอยู่ ไม่มีความเจริญหรือก้าวหน้า บัดนี้เป็นวันมาฆบูชาซึ่งควรจะถือว่าเป็นวันพระอรหันต์ ล้วนเป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์ เราจึงควรจะพูดกันหรือจะเรียกว่าปรึกษาหารือกัน เพื่อจะเกิดแสงสว่างหรือหนทางในการที่จะทำตามพระอรหันต์
เมื่อตอนบ่ายก็ได้ปรารภเรื่องของพระอรหันต์ว่าท่านเป็นบุคคลที่มีความหมายเป็นพิเศษ คือเป็นคนเต็ม เต็มไปด้วยคุณความดีชนิดที่เป็นความบริสุทธิ์หลุดพ้น ไม่มีบุคคลชนิดอื่นที่จะสูงสุดไปกว่าบุคคลชนิดนี้ เพราะว่าเป็นผู้ไกลจากกิเลสจากความทุกข์ เป็นผู้เอาชนะความทุกข์ได้เรียกว่า เป็นผู้หักวงล้อของสังสารวัฏได้ดังนี้เป็นต้น สัตว์โลกทั้งหลายมีปัญหามาก น่าสงสารที่สุด ก็คือได้หอบหิ้วสังขารเพื่อจะหนีความตาย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันดูให้ดี ๆ อาการอย่างนี้ก็มีอยู่ทั่วไป แต่ถ้าไม่มองก็ไม่เห็น ก็หอบหิ้วสิ่งที่มันตายหรือมันต้องตายหรือมันกำลังตายอยู่ เพื่อจะหนีความตาย เมื่อเราไม่รู้ว่าในสิ่งนี้มีความตายก็หอบหิ้วเอาไปแล้วก็หอบหิ้วเพื่อจะหนีความตาย มันจะเปรียบตัวอย่างง่าย ๆ ว่ามันหอบหัวหนีเหาทั้งที่บนหัวมันก็มีเหา แล้วก็หอบหัวเพื่อจะหนีเหา มันไม่ใช่เป็นเรื่องน่าขันอย่างเดียว มันเป็นเรื่องที่น่าสงสารน่าสังเวชด้วย นี่สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ก็คิดว่าจะหนีความทุกข์แต่แล้วก็ยึดถือเอาตัวความทุกข์นั่นแหละพาไปสำหรับจะหนีความทุกข์ หรือว่าอย่างน้อยที่สุดก็หอบหิ้วสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์เอาไปเพื่อจะหนีความทุกข์ มันก็น่าหัวสักเท่าไร ก็ลองคิดกันดู เพราะไม่รู้จักทั้งความทุกข์ ไม่รู้จักทั้งเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วก็ไม่รู้จักว่าไอ้ความไม่มีทุกข์นั้นเป็นอย่างไร จึงไม่รู้จักหนทางที่จะให้ลุถึงความดับแห่งทุกข์ ตามปกติก็เป็นอยู่อย่างนี้จึงได้มีอาการดังที่กล่าวมาแล้วว่าหอบหิ้วความทุกข์ไปแล้วปากก็ตะโกนว่าเราจะหนีความทุกข์ มันก็ต้องถือว่าเป็นคนบอด ใจบอด ซึ่งยิ่งไปกว่าคนตาบอด หรือเหมือนกับว่ามาบวชพระบวชเณรเพื่อจะหนีความทุกข์ แต่แล้วก็มาสร้างมูลเหตุแห่งความทุกข์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นหรือว่ายังรักษาความทุกข์เดิม ๆ เอาไว้ รักษาต้นเหตุแห่งความทุกข์เดิม ๆ เอาไว้ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เคยยึดมั่นถือมั่นอย่างไรก็ยังคงยึดมั่นถือมั่นอย่างนั้น เคยพูดหยาบคายอย่างไรก็ยังพูดหยาบคายอย่างนั้น เคยเย่อหยิ่งจองหองอย่างไร บวชแล้วก็ยังเย่อหยิ่งจองหองอย่างนั้น คิดดูเถอะว่าหอบหิ้วอะไรเพื่อวิ่งหนีอะไรแล้วปากมันก็ตะโกนว่าอย่างไร นี่ไม่เป็นการทำตามรอยหรือทำตามอย่างพระอรหันต์ซะเลย
อุบาสก อุบาสิกา ก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน แม้ว่าจะเหนื่อย ๆ ไปกว่า ก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน ปากพูดว่าจะหนีความทุกข์หรือจะดับทุกข์ แต่แล้วก็ยึดมั่นขันธ์ หรือตัด (นาทีที่ 13:11) สังขารทั้งหลาย อันเป็นตัวความทุกข์หรือเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์นั้นไว้เสมอไป ไม่ยอมปล่อย ซึ่งเคยเรียกอาการอย่างนี้ว่า เป็นคนที่ไม่รู้ ก. ข. ก.กา ของพระธรรมในพระพุทธศาสนา ถึงขนาดที่เรียกว่าไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรไปเสียหมดทุกอย่างทุกวิถีทาง ที่ทำไปนี่ก็ทำไปตามธรรมเนียมหรือตามประเพณีเท่านั้น ไม่มองเห็นชัดโดยแท้จริงว่ามันเป็นเรื่องอะไรกันทำไมถึงต้องทำอย่างนั้น ไม่รู้จักแม้แต่สิ่งที่เรียกว่าสังขารที่ตนอุตส่าห์หอบหิ้วพาไปเพื่อจะหนีความตาย หอบความตาย หนีความตาย หรือว่าหอบไอ้สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความตาย ไม่ยอมทิ้งเพื่อที่จะหนีความตาย นี่แหละคือผลของการที่เรียกว่าไม่รู้ ก. ข. ก. กา ในพระพุทธศาสนาว่าจะตั้งต้นกันที่ตรงไหน แล้วจะวิ่งตามพระอรหันต์ไปได้อย่างไร เพราะว่าไม่รู้จักไปเสียทุกทิศทุกทาง อาตมาได้สังเกตเห็นลักษณะอาการเช่นนี้อยู่เรื่อย ๆ มา จึงได้มีความพยายามเพิ่มขึ้นในการที่จะให้พุทธบริษัทเรารู้เรื่องของพระอรหันต์หรือของพระพุทธเจ้าให้มากขึ้น ให้สมกับที่ว่าเวลามันก็ล่วงมา ๆ จนถึงป่านนี้แล้ว เราก็ยังไม่นั่งใกล้พระอรหันต์ หรือนั่งใกล้พระรัตนตรัยให้เพียงพอกัน เพราะว่าเรามีแต่ความกลัว กลัวความตาย ก็หอบหิ้วสังขารหนีความตายโดยที่ไม่รู้ว่าความตายนั้นมันมีอยู่ในสังขารนั้นเอง
วันนี้เป็นวันพระอรหันต์เราควรจะได้พูดกันถึงเรื่องนี้ต่อไปอีก เรื่องที่จะนำมากล่าวนี้ก็เป็นเรื่องที่มีอยู่ในพระคัมภีร์ที่เรียกว่าเถรคาถาดังที่ได้บอกแล้วข้างต้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระอรหันต์องค์หนึ่งมีชื่อว่าพระเรวตะ แต่พระอรหันต์องค์นี้หรือองค์ไหนจะชื่ออะไรก็ไม่สำคัญ มันไม่ได้สำคัญอยู่ที่ชื่อ มันสำคัญอยู่ที่ว่าท่านสอนอย่างไร ท่านได้แสดงอะไรไว้ให้ ท่านได้ทิ้งอะไรไว้เป็นตัวอย่าง เราเรียนรู้แล้วจะทำตามท่านได้อย่างไร เรื่องของพระอรหันต์เรวตะนี้มีอยู่ในคัมภีร์เถรคาถาตอนที่เรียกว่า จุททสกนิบาต คือหมวดที่ ๑๔ ซึ่งเป็นเรื่องแรกของหมวดนี้ มีถ้อยคำของพระอรหันต์องค์นี้กล่าวไว้เป็น ๓ ตอนด้วยกัน ตอนที่ ๑ ท่านแสดงตัวของท่านว่าท่านมีความเป็นมาอย่างไร ตอนที่ ๒ ก็แสดงคำแนะนำสั่งสอนทิ้งไว้ให้พวกเราตามที่ท่านเห็นว่ามันจะประเสริฐอย่างไร แล้วก็ตอนที่ ๓ ก็ปรารภตัวท่านเองอีกครั้งหนึ่งในการที่จะละโลกนี้ไปตามธรรมดาของสังขารที่ถึงความชราแล้วก็จะต้องแตกดับไปตามธรรมชาติ
ในตอนที่ ๑ ท่านแสดงไว้ด้วยถ้อยคำตามที่กล่าวไว้ในพระบาลีนี้ว่า ยทา อหํ ปพฺพชิโต, อคารสฺมาอนาคาริยํ; นาภิชานามิ สงฺกปฺปํ, อนริยํ โทสสํหิตํฯ (ยะทา อะหัง ปัพพะชิโต อะคารัสมานะคาริยัง นาภิชานามิ สังกัปปัง อะนะริยัง โทสะสังหิตัง) ซึ่งมีใจความว่า ตั้งแต่เราบวชแล้วออกจากบ้านเรือนสู่ความไม่มีเรือน ไม่เคยมีสังกัปปะหรือความดำริหรือความคิดหรือความปรารถนา ที่ไม่เป็นของประเสริฐคือประกอบอยู่ด้วยโทษ อธิบายความข้อนี้ว่าท่านยืนยันว่าตั้งแต่บวชมาทีเดียว ไม่เคยมีความดำริที่เลวทรามที่ประกอบอยู่ด้วยโทษ พวกที่เป็นบรรพชิตทั้งหลายก็ควรจะนึกว่าเรานี้เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ตั้งแต่บวชเข้ามานี้เคยมีความดำริหรือความคิดที่เลวทรามไม่เป็นอริยะหรือเปล่า ถ้าคิดถ้าพิจารณากันจริง ๆ หรือรู้จักตัวเองอยู่แล้วด้วย บางคนก็จะถึงกับสะดุ้งเพราะว่าวันหนึ่งคืนหนึ่งมันช่างเต็มไปด้วยความคิดที่ไม่ประเสริฐหรือประกอบไปด้วยโทษ ของใครก็ไปคิดดูเอาเองก็แล้วกันว่าโทษอย่างไร หรือความคิดล้วนแต่ไม่ประเสริฐอย่างไร คำว่าไม่ประเสริฐนี้แม้แต่เพียงเป็นความงมงาย โง่อยู่คนเดียวก็เรียกว่าไม่ประเสริฐ ถ้ายิ่งไปทำให้มันผิดธรรมะ ผิดวินัยอะไรต่อไปอีกมันก็ยิ่งไม่ประเสริฐยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าจะตามรอยพระอรหันต์กันในข้อนี้แล้วก็ตั้งต้น ต้องตั้งต้นกันใหม่ ที่แล้วก็แล้วกันไป แต่ว่าต่อไปนี้ก็จะตั้งต้นในการที่จะระวังรักษาไม่ให้ความดำริ คือสังกัปปะนั้นประกอบไปด้วยโทษหรือไม่ประเสริฐ เช่น คิดไปในทางกาม ในทางความพยาบาท ในทางเบียดเบียน เป็นต้น
คาถาถัดไปก็มีข้อความว่า อิเม หญฺญนฺตุ วชฺฌนฺตุ, ทุกฺขํ ปโปฺปนฺตุ ปาณิโน; สงฺกปฺปํ นาภิชานามิ, อิมสฺมิ ทีฆมนฺตเรฯ (อิเม หัญญันตุ วัชฌันตุ ทุกขัง ปัปโปนตุ ปาณิโน สังกัปปัง นาภิชานามิ อิมัสมิ ทีฆะมันตะเร) (นาทีที่ 22:01) ซึ่งมีใจความว่า เราไม่เคยมีความดำริว่าสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า สัตว์เหล่านี้จงลำบาก สัตว์เหล่านี้จงมีความทุกข์ ตลอดเวลาที่ยาวนานถึงขนาดนี้ก็ไม่เคยมีความดำริอย่างนี้ ข้อนี้เป็นลักษณะทั่วไปของพระอรหันต์ทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีความคิดในทางที่จะเบียดเบียน พระอรหันต์ย่อมจะยอมตายมากกว่าที่จะทำร้ายหรือจะเบียดเบียนสัตว์อื่น ถ้าคนเราคิดก็จะคิดว่าเราต้องไม่ตาย ถ้าใครจะมาทำอะไรเราตาย เราต้องต่อสู้ หรือคิดว่าเราจะต้องฆ่าเขาเสียก่อนแต่ที่เขาจะมาฆ่าเรา นี่ก็เรียกว่าความคิดของคนธรรมดาสามัญทั่วไป แต่พระอรหันต์ท่านไม่มีสังกัปปะหรือความคิดเช่นนั้น มันมีความสำคัญอยู่ตรงที่ว่าพระอรหันต์ย่อมไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตนหรือของตน จนถึงกับว่าไม่มีความตายสำหรับท่าน แล้วท่านก็ไม่กลัวอะไร เพราะว่าไม่มีตัวตนสำหรับจะกลัว ไม่มีตัวตนสำหรับจะตาย เพราะเหตุนี้เองสังกัปปะคือความดำริทั้งหลายจึงไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ในการที่จะเบียดเบียนผู้อื่นตลอดเวลาทั้งหมดในชีวิตของท่าน ถ้าจะถามว่าทำไมพระอรหันต์คิดเบียดเบียนคนอื่นไม่ได้ ก็แปลว่าต้องตอบว่ามันพ้นวิสัย มันหมดวิสัย มันอยู่นอกวิสัยที่จะทำเช่นนั้นได้ เพราะว่าท่านได้มองเห็นความจริงถึงขนาดที่เรียกว่าไม่มีตัวตน มีความสำคัญมั่นหมายในความเป็นตัวเป็นตนนั่นหมดแล้ว คือทำลายเสียหมดแล้ว ดังนั้นจึงกล่าวอย่างนี้ได้
พระคาถาต่อไปก็มีว่า เมตฺตญฺจ อภิชานามิ, อปฺปมาณํ สุภาวิตํ; อนุปุพฺพํ ปริจิตํ, ยถา พุเทฺธน เทสิตํฯ (เมตตัญจะ อภิชานามิ อัปปะมาณัง สุภาวิตัง อนุปุพพัง ปริจิตัง ยะถา พุทเธนะ เทสิตัง) (นาทีที่ 25:39) ครึ่งแรกของพระคาถานี้มีใจความว่า เรารู้จักแต่เมตตาอันหาประมาณมิได้ และเป็นเมตตาที่เราเจริญให้เป็นอย่างดีแล้ว หมายความว่าเมื่อไม่รู้จักการเบียดเบียนผู้อื่นนั้น พร้อมกันนั้นมันก็รู้จักเมตตา ไม่ใช่ว่าจะเฉยไปหมด เพราะเหตุว่าท่านเจริญเมตตา ไม่ใช่ว่าเป็นพระอรหันต์แล้วจะเจริญเมตตาไม่ได้ ไม่ใช่ว่าหมดความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนแล้ว จะเจริญเมตตาไม่ได้ ก็ยังคงเจริญเมตตาได้ เพราะอย่างน้อยก็ได้พยายามเจริญมาตั้งแต่ก่อนเป็นพระอรหันต์ แม้เป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังไม่ละสังกัปปะอันนี้ คือมีความคิดที่เป็นไปในทางเมตตา และเป็นเมตตาที่ไม่มีประมาณ เมตตาที่ไม่มีประมาณนั้นหมายความว่าไม่มีการกำหนดว่าอย่างนั้นอย่างนี้ เท่านั้นเท่านี้ มันเป็นเมตตาที่เสมอกันไปหมดสำหรับผู้ที่มีความหลุดพ้นแล้วจากความยึดมั่นถือมั่น
ถ้าเป็นคนธรรมดามันก็มีเมตตาที่มีกำหนดที่มีประมาณ เมตตาแก่บางคนมาก หรือเมตตาแก่บางคนน้อย ยิ่งถ้าเป็นศัตรูกันก็ยิ่งเมตตาไม่ได้ เมตตาไม่ไหว ถ้าเป็นคนรักใคร่กันมันก็เป็นเมตตาด้วยอำนาจของอุปาทาน คือรักในอำนาจของกิเลสนั้นเอง เมตตาอย่างนี้เรียกว่ามีขอบเขต มีประมาณ มีกาลจำกัดอยู่ในตัวมันเอง สำหรับเมตตาที่ไม่มีประมาณนั้น มีได้แก่ จิตใจของบุคคลที่ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวเรา ว่ามีของเรา เป็นธรรมดา ถ้ายึดว่ามีของเรา ก็ต้องยึดว่ามีเพื่อนของเรา มีพวกของเรา มีศัตรูของเรา มีอะไรที่เป็นของเรา เมตตามันก็เลยต้องแบ่งแยกกันไปตามส่วน ยิ่งเป็นคนธรรมดาสามัญก็จะยิ่งนึกถึงลูกถึงหลานถึงอะไรอย่างนี้ก่อน เมตตาของความรักด้วยความยึดถือนั่นเอง ว่าก็คงยังเรียกว่าเมตตาเหมือนกัน มันเป็นความยึดถือ แม้แต่ในสัตว์ เช่น สุนัขและแมว เป็นต้น มันก็ยังรักลูกของมัน บางทีมันก็ต่อสู้จนตัวมันตายเองเพราะมันมีความรักลูกของมัน อย่างนี้ไม่ได้เรียกว่าเมตตาในความหมายนี้ ไม่ได้เรียกว่าเมตตาที่หาประมาณมิได้ นั่นเป็นเมตตาที่จำกัดอยู่ในประมาณตามที่มันมีความยึดมั่นถือมั่นเท่าไร มันก็มีความรักเท่านั้น ถึงแม้จะเป็นมนุษย์แล้วก็ยังอยู่ในลักษณะเช่นนี้ ถ้าจะพูดว่าไม่ดีกว่าสุนัขและแมว เดี๋ยวก็จะหาว่าอาตมานี้ด่าซะเรื่อย ที่จริงก็ไม่ตั้งใจจะว่าจะด่าจะกระทบกระเทียบอะไร แต่ที่พูดตรง ๆ อย่างนี้เพื่อมันจำง่าย เพื่อมันลืมยากนั่นเอง เมื่อลืมยากแล้วก็จะได้ติดอยู่ในใจเอาไปคิดไปนึกกันเสียใหม่ ไปปรับปรุงกันเสียใหม่ ว่าถ้าเจริญเมตตาแล้วก็ให้เป็นเมตตาที่เจริญดีแล้ว คือไม่มีประมาณ ให้มันกว้างออกไปจนไม่มีประมาณ เหมือนกับที่เราชอบพูดกันว่า พระพุทธเจ้านั้นท่านมีเมตตาในพระราหุลอย่างไร ท่านก็เมตตาในพระเทวทัตซึ่งเป็นผู้จองล้างจองผลาญท่านเท่านั้น หรือจะขยายออกไปถึงผู้ที่เป็นศัตรู ผู้มุ่งร้ายท่านคนอื่น ๆ หรือรายอื่น ๆ ซึ่งชอบอ้างช้างนาฬาคีรีที่มีผู้ปล่อยมาเพื่อจะทำร้ายพระองค์ดังนี้กันเป็นส่วนมาก เอาเป็นว่าเขาต้องการให้มีความเข้าใจในเมตตาของพระพุทธองค์ว่าไม่มีประมาณ เสมอกันไปหมดทั้งในคนที่เป็นศัตรูและคนที่เป็นที่รักที่พอใจ
สำหรับครึ่งหลังของพระคาถานี้มีว่า เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตรงตามคำสอนที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ หมายความว่าท่านได้ประพฤติอย่างดีที่สุดถึงที่สุดตามลำดับมา ตรงตามที่พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงไว้ ก็อย่างที่เราได้ยินได้ฟังกันอยู่เสมอว่า พระองค์ทรงสั่งสอนให้มีเมตตาที่ไม่มีประมาณ เดี๋ยวนี้พระอรหันต์ชื่อว่า เรวตะ ท่านก็ได้ประพฤติอย่างนั้นจริง ท่านจึงปฏิญาณว่า เราได้ประพฤติเต็มมาตามลำดับตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนไว้อย่างไร ใคร ๆ ไม่ควรจะฟังไปในแง่ที่ว่าท่านโอ้อวด ควรจะฟังไปในแง่ที่ว่าท่านยืนยันให้เราได้ยินได้ฟังแล้ว จะได้ถือเอาเป็นตัวอย่างว่าให้พยายามให้สุดความสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติมาโดยลำดับ ๆ ซึ่งก็แสดงอยู่แล้วว่าจะประพฤติทีเดียวมันก็ทำไม่ไหวแน่ ที่จะเป็นผู้มีเมตตาแท้จริงและกว้างขวางไม่มีประมาณเห็นปานนั้นมันทำไม่ได้ในคราวเดียว จึงต้องอบรมมาเรื่อย ๆ บ่มนิสัยมาเรื่อย ๆ แม้พระพุทธองค์ก็ทรงสอนอย่างนี้โดยทำไปตามลำดับเพราะว่าพรหมจรรย์นี้มีความลุ่มลึกไปตามลำดับ ๆ ไม่ใช่โกรกชันทีเดียวเหมือนฝั่งทะเลที่โกรกชัน แต่ว่าลุ่มลึกไปตามลำดับเหมือนฝั่งทะเลที่มันค่อยลึกไปตามลำดับ ฉันใดก็ฉันนั้น
พระคาถาต่อไปมีข้อความว่า สพฺพมิโตฺต สพฺพสโข, สพฺพภูตานุกมฺปโก; เมตฺตจิตฺตญฺจ [เมตฺตํ จิตฺตํ] ภาเวมิ, อพฺยาปชฺชรโต [อพฺยาปชฺฌรโต] สทาฯ” (สัพพะมิตโต สัพพะสะโข สัพพะภูตานุกัมปะโก เมตตะจิตตัญจะภาเวมิ อัพยาปัชชะระโต สะทา) (นาทีที่ 34:48) เราเจริญเมตตาจิตโดยเป็นผู้ยินดีในความไม่เบียดเบียนอยู่ทุกเมื่อ “สพฺพมิโตฺต” (สัพพะมิตโต) (นาทีที่ 35:16) หมายความว่าเป็นมิตรแก่สรรพสัตว์ “สพฺพสโข” (สัพพะสะโข) (นาทีที่ 35:21) เป็นเพื่อนแก่สรรพสัตว์ “สพฺพภูตานุกมฺปโก” (สัพพะภูตานุกัมปะโก) (นาทีที่ 35:27) เป็นผู้มีความเอ็นดูต่อสัตว์ สรรพสัตว์ จะกล่าวกันสักกี่คำมันก็ได้ใจความซ้ำ ๆ กันอยู่นั่นเองว่า เป็นเพื่อนกับสรรพสัตว์ อย่างที่เราได้เคยได้ยินได้ฟังกันมาแต่ต้นจนบัดนี้ว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น แต่มักจะได้ยินกันเฉย ๆ หรือจะว่าด้วยปากก็ว่าแต่ปาก ในจิตใจไม่มีความรู้สึกอย่างนั้น ครั้นต่อแต่นี้มันก็ต้องทำให้มันมากขึ้นตามลำดับ ช่วยให้จิตใจมันเป็นอย่างนั้น ให้รู้สึกว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ก็จะไม่มีการเบียดเบียน ก็มีแต่ความเมตตากรุณา อย่างนี้เรียกว่ามีเมตตาจิตที่บริสุทธิ์และบริบูรณ์
คาถาต่อไปมีข้อความว่า อสํหีรํ อสํกุปฺปํ, จิตฺตํ อาโมทยามหํ; พฺรหฺมวิหารํ ภาเวมิ, อกาปุริสเสวิตํฯ (อะสังหีรัง อะสังกุปปัง จิตตัง อาโมทะยามะหัง พรัหมะวิหารัง ภาเวมิ อะกาปุริสะเสวิตัง) (นาทีที่ 37.03) เราเป็นผู้มีจิตใจ มีจิตปราโมทย์ ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน ถ้าว่ามีจิตยินดีปรีดาปราโมทย์ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนนี่ ก็เป็นลักษณะอันหนึ่งที่ควรจะสังเกตศึกษาให้ดี ๆ เพื่อจะให้รู้ความจริงอันหนึ่งว่า ความรักความเมตตาของคนธรรมดานั้นมันง่อนแง่นคลอนแคลน มีอะไรมาหน่วงเข้านิดเดียวมันก็ง่อนแง่นคลอนแคลน เมตตาที่เคยมีอยู่มันก็ง่อนแง่นคลอนแคลนหรือหายไปในที่สุด เพราะว่ามันไม่มั่นคง เดี๋ยวนี้ท่านยืนยันว่าเมตตาของท่านมันมั่นคง ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน เป็นการเจริญพรหมวิหารอย่างถูกต้อง และเป็นวิหารธรรมที่คนชั่วจะไม่ยอมรับ อกาปุริสเสวิตํ (อะกาปุริสะเสวิตัง) (นาทีที่ 38.45) หมายความว่า คนชั่วไม่ต้องเสกพรหมวิหารชนิดนี้ เพราะว่าคนชั่วก็ย่อมแสดงชัดอยู่ในตัวแล้วว่า เป็นคนกิเลสหยาบบาปหนา จึงไม่ยินดีในเมตตา ไม่เคยพบกับพรหมวิหารดังที่กล่าวแล้ว
รวมความว่าพระคาถาทั้ง ๕ คาถานี้ แสดงลักษณะของพระอรหันต์องค์นี้ในทางแห่งเมตตาจนพอที่จะทำให้รู้ว่าพระอรหันต์นั้นท่านมีเมตตาถึงขนาดไหน ถ้าเราจะทำตามท่าน เราจะต้องมีเมตตาถึงขนาดไหน
ทีนี้ข้อความต่อไปที่ท่านแสดงนั้นมีลักษณะเป็นคำสั่งสอนแนะนำตักเตือนหรือขอร้องวิงวอน คาถาทีแรกก็มีว่า อวิตกฺกํ สมาปโนฺน, สมฺมาสมฺพุทฺธสาวโก; อริเยน ตุณฺหีภาเวน, อุเปโต โหติ ตาวเทฯ (อะวิตักกัง สะมาปันโน สัมมาสัมพุทธะสาวะโก อะริเยนะ ตุณหีภาเวนะ อุเปโต โหติ ตาวะเท) (นาทีที่ 40:14) พระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันไม่มีวิตก เป็นผู้เข้าถึงซึ่งความนิ่งอันเป็นอริยะ ท่านแสดงว่าผู้ที่จะเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นต้องทำตนให้อยู่โดยไม่มีวิตก อยู่ด้วยความนิ่งอันเป็นอริยะ คนธรรมดาอยู่ด้วยจิตที่กระสับกระส่ายเต็มไปด้วยวิตกมากจนถึงกับเป็นกังวล จนกล่าวได้ว่าเรามีชีวิตอยู่ด้วยความกังวล กังวลอะไรมากนัก ก็เหมือนกับที่กังวล ๆ กันอยู่นั่นแหละ กังวลชีวิต และกังวลแม้แต่ความตาย เพราะว่ากลัวตายทั้งที่หอบหิ้วเอาความตายไปด้วยกันมันก็ยังกลัวตาย เรามีความวิตกในเรื่องที่จะต้องตายยิ่งกว่าสิ่งใด เช่น วิตกว่าจะไม่มีอาหารกินก็เพราะว่ากลัวตาย วิตกเรื่องเจ็บเรื่องไข้ก็เพราะว่ากลัวตาย ความวิตกทั้งหลายมันจึงมักจะไปรวมอยู่ที่ความกลัวตาย แต่พระอรหันต์มีคุณธรรมสูงถึงกับว่าไม่มีตัวตน ไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวตนสำหรับจะตาย ดังนั้นจึงไม่มีวิตกทุกชนิด เพราะว่าวิตกทุกชนิดมันปรารภความตายในที่สุด
ทีนี้พิจารณาดูให้ดีจะพบว่าสิ่งที่เรียกว่าวิตกนั้น มันเป็นความกระสับกระส่ายสั่นคลอนโยกโคลง มันตรงกันข้ามกับความหยุดนิ่ง ดังนั้นพระอรหันต์เรวตะท่านจึงกล่าวไว้เสียเลยว่า ให้อยู่ด้วยความนิ่งอันเป็นอริยะ สิ่งที่เรียกว่าความนิ่งนี่มันมีมากนั่นแหละ มันนิ่งของคนไม่รู้อะไรก็มี นิ่งของก้อนหินก็มี ดังนั้น จึงต้องกล่าวให้ชัดลงไปว่า นิ่งด้วยความนิ่งที่เป็นอริยะ คือความนิ่งของพระอริยเจ้า พระอริยเจ้าท่านนิ่งเพราะไม่มีกิเลสที่เป็นเหตุให้หวั่นไหว ในที่สุดก็ไปรวมอยู่ที่ความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ๆ ที่เป็นเหตุให้หวั่นไหว เมื่อหมดเหตุให้หวั่นไหวมันก็นิ่งอย่างที่พระอริยเจ้าท่านนิ่ง ฉะนั้นถ้าใครอยากจะนิ่งอย่างพระอริยเจ้า ก็ต้องนึกถึงเหตุที่ทำให้หวั่นไหว หรือธรรมะที่ทำให้เกิดความหวั่นไหว หวั่นไหวไปกับอำนาจของตัณหา มานะ ทิฐิ หรืออะไรก็ตาม ก็ต้องรู้จักทุกอย่างที่มันเป็นเหตุให้หวั่นไหว หวั่นไหวด้วยความรัก หวั่นไหวด้วยความโกรธ หวั่นไหวด้วยความเกลียด หวั่นไหวด้วยความกลัว หวั่นไหวอะไรอีกมากอย่างนี้มันมีอะไรเป็นเหตุ มันก็คงจะมีเหตุมาก แปลว่าเหตุทั้งหลายมันไปรวมอยู่ที่เหตุ ๆ เดียวคือความยึดมั่นถือมั่น ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นมันก็ต้องหวั่นไหวแน่ เพราะว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงนั้นมันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงเป็นนิจ เมื่อไปยึดมั่นกับสิ่งที่ไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงเป็นนิจ มันก็ต้องพลอยเปลี่ยนแปลงด้วย ดังนั้นจึงหวั่นไหว เช่น ยึดมั่นในรูป มันก็กลัวรูปจะตาย ยึดมั่นในทรัพย์สมบัติ มันก็ต้องหวั่นไหว เพราะว่าทรัพย์สมบัติมันเปลี่ยนแปลง จะได้มาหรือจะเสียไป มันก็มีแต่ความหวั่นไหวอยู่เป็นปกติของสังขารที่ไม่เที่ยง เราไปยึดสิ่งที่ไม่เที่ยงมันก็ต้องหวั่นไหว แม้ที่สุดแต่ว่าจะยึดร่างกายนี้ ยึดชีวิตนี้มันก็ต้องหวั่นไหว เพราะว่าร่างกายนี้หรือชีวิตนี้มันไม่เที่ยง จะหอบสังขารเพื่อหนีความตายกันไปถึงไหนโดยที่ไม่ต้องหวั่นไหว ก็ลองคิดดู
เมื่อหมดความหวั่นไหว อำนาจความยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้แล้ว ท่านเรียกว่าอยู่ด้วยความนิ่งซึ่งเป็นอริยะ ตามที่ท่านพระเรวตะกล่าวว่า อริเยน ตุณฺหีภาเวน, อุเปโต โหติ ตาวเทฯ (อะริเยนะ ตุณหีภาเวนะ อุเปโต โหติ ตาวะเท) (นาทีที่ 46:07) ทุกวัน อย่างยิ่งโดยแท้จริง อยู่ด้วยความนิ่งที่เป็นอริยะ เมื่อผู้ใดหลับตามองเห็นภาพอันนี้แล้ว ก็จะเกิดความเชื่อ ความเลื่อมใส ความกระหยิ่มในพระอรหันต์เป็นแน่นอน
พระคาถาต่อไปมีว่า ยถาปิ ปพฺพโต เสโล, อจโล สุปฺปติฎฺฐิโต;เอวํ โมหกฺขยา ภิกฺขุ, ปพฺพโตว น เวธติฯ (ยะถาปิ ปัพพะโต เสโล อะจะโล สุปปะติฎฐิโต เอวัง โมหักขะยา ภิกขุ ปัพพะโตวะ นะ เวธะติ) (นาทีที่ 46:46) จงเป็นภิกษุที่มั่นคงชั้นเดียวกับภูเขาแท่งทึบ ตั้งอยู่นิ่งไม่หวั่นไหว เพราะว่าสิ้นไปแห่งโมหะ ในที่นี้ท่านยกเอาโมหะ ขึ้นมาเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายหวั่นไหว โมหะคือความมืด ความไม่มีแสงสว่าง ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร นี่แหละเป็นเหตุให้ไปยึดมั่นสำคัญ สัญญามั่นหมายในสิ่งใด สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น ล้วนแล้วแต่ใจของตนจะชอบ จะไปรักไปชอบสิ่งใดมันก็ทำไปด้วยอำนาจของโมหะ จะไปเกลียดไปกลัวสิ่งใดก็ล้วนแต่ทำไปด้วยอำนาจของโมหะ ถ้าสิ้นโมหะเสียได้มันก็ไม่ทำอย่างนั้น เมื่อไม่ทำอย่างนั้นมันก็ไม่หวั่นไหว มันก็จึงนิ่งอยู่ได้เหมือนกับภูเขาโดยอุปมา ภูเขานั้นมันเป็นวัตถุมันก็อยู่นิ่ง ๆ เหมือนก้อนหินเหล่านี้ที่วางอยู่ตรงหน้า พวกเราเหล่านี้มันก็อยู่นิ่ง ๆ มันเป็นวัตถุ มันไม่เกี่ยวกับโมหะ หรือมันไม่เกี่ยวกับไม่โมหะ แต่ว่าจิตใจของมนุษย์ที่จะนิ่งได้อย่างก้อนหินนี้ มันเกี่ยวกับโมหะหรือไม่โมหะ ถ้าโมหะมันก็ไม่นิ่ง ถ้าไม่โมหะมันก็นิ่ง เพราะมันไม่กระสับกระส่ายไปตามอำนาจของความยึดถือที่มีมูลมาจากตัณหา ที่มีมูลมาจากเวทนา และมีมูลมาจากผัสสะ ที่เกิดขึ้นทางอายตนะที่ตา เป็นต้น และเห็นรูปเป็นต้น แล้วก็เกิดการปรุงแต่งชนิดที่ทำให้เกิดตัณหาอุปาทาน
พระคาถาต่อไปมีว่า อนงฺคณสฺส โปสสฺส, นิจฺจํ สุจิคเวสิโน; วาลคฺคมตฺตํ ปาปสฺส, อพฺภมตฺตํว ขายติฯ (อะนังคะณัสสะโปสัสสะ นิจจัง สุจิคะเวสิโน วาลัคคะมัตตัง ปาปัสสะ อัพภะมัตตังวะ ขายะติ) (นาทีที่ 49:39) ผู้ที่ไม่มีกิเลส แสวงหาแต่สิ่งที่บริสุทธิ์อยู่เป็นนิจ ก็เป็นผู้ที่มองเห็นบาปแม้เล็กน้อยเท่าปลายขนทรายว่าเป็นบาปที่ใหญ่หลวงมีประมาณอันยิ่ง พระคาถานี้แสดงไปถึงจิตที่เกี่ยวกับบาป หมายความว่าถ้าเป็นพระอรหันต์หรือผู้บริสุทธิ์แสวงหาอยู่แต่ความบริสุทธิ์แม้ยังไม่เป็นพระอรหันต์ก็ตาม เริ่มเห็นบาปแม้เล็กน้อยเท่าปลายขนทรายว่าเป็นบาปที่มีประมาณอันใหญ่หลวง อันใหญ่ยิ่ง อพฺภมตฺตํ (อัพภะมัตตัง) (นาทีที่ 51:15) มันก็แปลว่า มีมาตราอันใหญ่ยิ่ง ทั้งที่มันขนาดเท่าปลายขนทราย คือขนสัตว์ เช่น กวาง หรือเนื้อทราย เป็นต้น มีขนแหลมเล็ก ๆ เท่านั้น แต่กลับเห็นว่าบาปที่มีขนาดเท่านั้นมีโทษอันใหญ่หลวง เป็นบาปอันใหญ่หลวง นี่ก็ย่อมแสดงถึงความรู้สึกของพระอรหันต์ว่า ท่านเป็นผู้ที่ไม่ประมาท เป็นผู้ละเอียดถี่ถ้วน ไม่ดูหมิ่นอะไร ๆ ว่าเป็นของเล็กน้อย โดยเฉพาะบาปหรือเรื่องบาปแล้วไม่มีเรื่องเล็กน้อย คนธรรมดามักจะเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย อย่าพูดถึงบาปขนาดเท่าปลายขนทรายเลย แม้บาปขนาดใหญ่ ๆ เท่าก้อนหินเท่าภูเขามันก็เห็นเป็นบาปเล็กน้อย เป็นบาปที่เล็กเท่าปลายขนทรายไปเสียจนกลับกัน ในที่สุดก็ไม่เห็นว่าเป็นบาป ส่วนผู้ที่ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ก็ย่อมเห็นตรงกันข้าม แม้บาปเท่าขนทรายก็เห็นเป็นว่าเท่ากับภูเขาอย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นการเตือนว่าผู้ที่จะปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์ตามรอยพระอรหันต์นั้น อย่าได้เห็นบาปว่าเป็นของเล็กน้อยเลย เห็นว่าเป็นของเล็กน้อยแล้วมันก็จะดูหมิ่นบาป ก็กลับไปกลายเป็นว่าไม่มีบาปอะไรที่ใหญ่โตหรือน่ากลัว ในที่สุดก็มองข้ามบาปไปเสียหมด จึงเป็นคนที่เต็มไปด้วยบาปโดยไม่รู้สึกตัวอย่างนี้
พระคาถาต่อไปมีว่า “นครํ ยถา ปจฺจนฺตํ, คุตฺตํ สนฺตรพาหิรํ; เอวํ โคเปถ อตฺตานํ, ขโณ โว มา อุปจฺจคาฯ” (นะคะรัง ยะถา ปัจจันตัง คุตตัง สันตะระพาหิรัง เอวัง โคเปถะ อัตตานัง ขะโณ โว มา อุปัจจะคา) (นาทีที่ 53:31) ท่านทั้งหลายจงคุ้มครองตนให้ดีทั้งข้างนอกและข้างใน ให้เหมือนภูเขารักษานครที่อยู่ไกลออกไป ให้ดีที่สุดที่จะรักษาได้ ขณะคือเวลาที่สำคัญที่สุดนั่น อย่าได้ผ่านพ้นท่านทั้งหลายไปเสียเลย ที่ว่ารักษานครในที่นี้ควรแก่มุ่งหมายถึงนครคือชีวิตนี้ หรือคือร่างกายนี้ ซึ่งเป็นนครข้างในให้เหมือนกับนครข้างนอกที่เราเห็น ๆ กันอยู่ ว่าผู้รักษานครที่ดีที่แท้นั้นเขาไม่ประมาท เขารักษาให้มันดีทั้งข้างนอกและข้างใน ให้มันปลอดจากอันตรายจากโจรจากภัยทั้งหลายอย่างไร ผู้ปฏิบัติก็รักษานครข้างในคือใจนี่ให้ปลอดภัยฉันนั้น
ข้อที่ว่า ขโณ โว มา อุปจฺจคาฯ (ขะโณ โว มา อุปัจจะคา) (นาทีที่ 55:17) นี้เป็นคำเตือนที่เกี่ยวเนื่องกัน คือบอกให้รู้ว่าขณะหรือเวลาที่สำคัญนั้น มันมีขณะเดียว หรือมันมีเป็นขณะ ๆ และมีความสำคัญ ถ้ามันผ่านไปแล้ว มันยากที่จะกลับมาอีก งั้นจึงต้องระวังให้ดี เหมือนที่เขาชอบพูดกันว่ามันเป็นนาทีที่สำคัญ ถ้าพลาดนาทีนั้นไปแล้ว มันไม่มีทางที่จะกลับมาได้อีก คนเราคนหนึ่ง ๆ นี้ก็มีความจริงอย่างนี้ คือเวลาที่จะประจวบเหมาะที่สุดที่จะเป็นผลดีที่สุดนั้น มันมีชั่วขณะ ๆ มันเป็นขณะ ถ้าพลาดไปแล้วมันก็ไม่กลับมาอีก งั้นก็ต้องไปตั้งขณะกันใหม่ที่เป็นขณะอื่น แล้วมันก็พลาดไปอีก อย่างนี้เรื่อยไปมันก็ตายเปล่า เรานึกดูถึงลูกเด็ก ๆ ที่มันมีขณะเป็นขณะที่ว่ามันจะต้องเรียนให้ดี มันจะต้องประพฤติให้ดี ให้ลุล่วงมาด้วยดีทุก ๆ ขณะที่มันผ่านมา ถ้าเด็กคนไหนมันทำพลาดไปสักขณะหนึ่งมันก็เสียไปแล้ว แล้วมันก็ทำให้ขณะต่อมานั้นรวนเรไปหมด นี่คือข้อที่ท่านสอนว่าให้ระวังให้ดี ขโณ โว มา อุปจฺจคาฯ (ขะโณ โว มา อุปัจจะคา) (นาทีที่ 56:56) เวลาที่สำคัญ ๆ เป็นขณะ ๆ นั้น อย่าได้พลาดไปเสียเลย อันตรายที่ร้ายกาจมันมีอยู่ที่ว่า ถ้าลองพลาดไปครั้งหนึ่งแล้ว ความประมาทมันเกิดขึ้นมาแทน พอพลาดอีกครั้งหนึ่งความประมาทก็เกิดขึ้นมาแทนอีกครั้งหนึ่ง เดี๋ยวมันก็เต็มไปด้วยความประมาท โอกาสที่จะบรรลุความดีนั้นมันก็หมดไป เหลืออยู่แต่ความประมาทอย่างนี้ ขอให้จำไว้ว่าอย่าทำเล่นกับสิ่งที่เรียกว่าขณะ หรือโอกาสอันสำคัญที่ว่าอย่าผ่านพ้นท่านทั้งหลายไปดังนี้
พระคาถาทั้ง ๔ คาถานี้เป็นคาถาที่พระอรหันต์เรวตะท่านเตือนพวกเรา แม้ว่าเราจะไม่เคยเห็นหน้าท่าน ธรรมของท่านก็ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์เถรคาถา อาตมาก็เอามาแสดงแก่ท่านทั้งหลาย ก็เป็นอันว่าท่านทั้งหลายก็ได้ยินได้ฟังธรรมของพระอรหันต์อย่างที่เอามาแสดงนี้ ว่าท่านสอนว่าอย่างไร เราก็ควรจะได้ประพฤติปฏิบัติกันเป็นการตามรอยพระอรหันต์อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น
ทีนี้คาถาหมวดที่ ๓ ซึ่งเป็นหมวดสุดท้ายนั้น ท่านปรารภตัวเองอีกครั้งหนึ่ง และปรารภความตาย อย่างที่คนกลัวกันนัก แต่คำปรารภของท่านนั้นมันแปลก คือมีข้อความว่า นาภินนฺทามิ มรณํ, นาภินนฺทามิ ชีวิตํ (นาภินันทามิมะระณัง นาภินันทามิชีวิตัง) (นาทีที่ 58:51) เรามิได้ชอบความตาย เรามิได้ชอบชีวิต ฟังดูคล้ายกับว่าพูดไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร เพราะเราไม่ชอบความตายและเราก็ไม่ชอบชีวิต กาลญฺจ ปฎิกงฺขามิ, นิพฺพิสํ ภตโก ยถาฯ (กาลัญจะ ปะฏิกังขามิ นิพพิสัง ภะตะโก ยะถา) (นาทีที่ 59:14) เรารอเวลาเหมือนกับลูกจ้างรอค่าจ้าง ท่านไม่ยินดีในชีวิตและไม่ยินดีในความตาย แล้วมันยินดีในอะไร กลายเป็นว่ารอเวลาว่ามันจะไปอย่างไร ในที่สุดนั้นก็ดับไม่มีเหลือ อันนั้นเป็นสิ่งที่ท่านรออยู่เหมือนพวกลูกจ้างรอค่าจ้าง
นี่มันเป็นอุปมาต้องฟังให้ดี เดี๋ยวมันจะกลายเป็นว่าพระอรหันต์รอความตาย เอาความตายเป็นค่าจ้าง มันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะว่าถ้อยคำในตอนแรกก็กล่าวชัดอยู่แล้วว่า เรามิได้ชอบใจในความตาย มิได้ชอบใจในชีวิต คืออยู่ก็ไม่ชอบ ตายก็ไม่ชอบ แล้วก็รอเวลาตามที่เวลามันจะล่วงไป ๆ จนถึงเวลาสุดท้าย แต่พวกลูกจ้างรอค่าจ้างนั้นมันรอด้วยความรัก มันรอด้วยความหวัง มันรอด้วยความยึดถือ เพราะว่าจะได้เงินค่าจ้าง เมื่อไรจะถึงเวลาเลิกงานแล้วก็จะได้รับค่าจ้าง นี่เอามาเปรียบเทียบเท่านั้นเอง ก็แปลว่าท่านไม่มีความรู้สึกกลัวที่ว่าสังขารมันจะแตกดับ แต่ก็ไม่ได้รักการที่สังขารมันจะแตกดับ แต่เวลาสุดท้ายมันต้องมี เวลานี้มาถึงสักทีมันก็ดีเหมือนกัน ไม่ต้องหอบหิ้วสังขารหนีความตายอีกต่อไป มันก็ได้ผลเหมือนกับว่าลูกจ้างถ้าได้รับค่าจ้างแล้วเขาก็สบายใจ ก็แปลว่าถ้าถึงเวลาวาระสุดท้ายมันก็ยังสบายใจ ถึงวินาทีสุดท้ายมันก็ยังไม่มีความทุกข์อยู่นั่นเอง มันมีใจความสำคัญอยู่ที่ว่าทำอย่างไร ๆ เสียก็ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความทุกข์ กูไม่ได้เกิดมาสำหรับมีความทุกข์ ถ้าคนโง่จะพูดกันอย่างนี้บ้างก็จะดี ปุถุชนธรรมดาสามัญจะพูดกันอย่างนี้เสียบ้างก็จะยังดี ว่ากูไม่ได้เกิดมาเพื่อความทุกข์ กูจะไม่เอาความทุกข์ จะไม่ยุ่งกับความทุกข์ ถือเป็นหลักให้มั่นอย่างนี้ไว้ก่อนมันจะได้ง่ายเข้า
เดี๋ยวนี้มันชอบรับเอาความทุกข์เข้ามา นิดหนึ่งเอามาขยายเป็นความทุกข์มากมาย ความทุกข์ไม่มีมันก็นึกให้มีจนได้ นี่มันเก่งแต่ในทางอย่างนี้ ความทุกข์ยังไม่มาก็เอามาให้มันมี ให้มาถึงจนได้ ก็เอามานึกให้มันเป็นความทุกข์นั่นเอง นี่มันจึงเก่งแต่ที่จะเป็นทุกข์ มันไม่เก่งทางที่จะหยุดความทุกข์หรือระงับดับความทุกข์เสีย ลองถือเอาคติอันนี้ของพระอรหันต์เรวตะดูบ้างก็คงจะดี เราก็ไม่ได้ยินดีความตาย เราก็ไม่ได้ยินดีชีวิต เรารออยู่ตามที่เวลามันล่วงไปเท่านั้นเอง ถ้ามันมาถึงเร็วเข้ามันก็จะดีเสียอีก คือมันไม่ต้องรอนาน ไม่ต้องทนทุกข์อยู่นาน จึงเปรียบเทียบว่ามันเหมือนกับว่าลูกจ้างมันรอเงินเดือน หรือมันรอค่าจ้างอย่างนี้เป็นต้น
ทีนี้คาถาต่อไปก็มี เป็นการขยายความต่อไปส่วนหนึ่งว่า นาภินนฺทามิ มรณํ, นาภินนฺทามิ ชีวิตํ (นาภินันทามิมะระณัง นาภินันทามิชีวิตัง) (ชั่วโมงที่ 1:03:54) ที่แปลเหมือนกันว่า เราไม่ยินดีความตาย เราไม่ยินดีชีวิต กาลญฺจ ปฎิกงฺขามิ (กาลัญจะปะฏิกังขามิ) (ชั่วโมงที่ 1:04:03) เรารอหรือหวังอยู่แต่เวลา สมฺปชาโน ปติสฺสโตฯ (สัมปะชาโน ปะติสสะโต) (ชั่วโมงที่ 1:04:09) เป็นผู้มีสัมปชัญญะ เป็นผู้มีสติตั้งไว้ดี ที่ว่ารอเวลานั้นมันรออยู่ด้วยสติและสัมปชัญญะที่ตั้งไว้ดี คงจะฟังยากสำหรับคนที่ไม่เคยฟัง เพราะคนที่จะอยู่เพื่อปะทะเผชิญกันกับความตายนั่น คือคนที่อยู่ด้วยสติหรือสัมปชัญญะที่ให้รู้สึกตัวอยู่เสมอว่าไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา สติสัมปชัญญะในที่นี้ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าสติปัฏฐานทั้ง ๔ สติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็แสดงถึงความที่ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา ถ้าความรู้สึกอย่างนี้มีอยู่ ก็คือความจริงมันมีอยู่ในความรู้สึก ก็เรียกว่ามีสติสัมปชัญญะในความจริง ถ้าอย่างนี้แล้วก็ไม่มีความทุกข์แน่ แล้วเวลามันก็ล่วงไปด้วยสติสัมปชัญญะเช่นนั้น
ดังนั้น ท่านจึงไม่ยินดีในความตายและไม่ยินดีในความอยู่ หรือไม่ยินดีทั้งในความตาย ไม่ยินดีทั้งในชีวิต ก็รอเวลาอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะดังนี้ เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ความทุกข์ชนิดไหนมันจะเข้ามาในจิตใจของท่านได้ ค่อยลองคิดดูว่าพระอรหันต์นี้ท่านเป็นตัวอย่างที่ดีได้อย่างไร เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดได้อย่างไรในการที่จะไม่มีความทุกข์เลย แต่ในการรอเวลานี้ก็มิได้หมายความว่าไม่ทำอะไร ถ้ามีเรี่ยวมีแรงมีโอกาสมีอะไรก็ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นไปตามที่จะทำได้ ไม่เป็นการให้ ไม่ใช่เป็นการแสวงหาอะไร สิ่งที่เรียกว่าเมตตานั้นมันเป็นการให้ไม่มีการรับกลับเข้ามา เรียกว่าตัวเองก็ไม่มีความทุกข์และก็ยังจะช่วยให้คนอื่นไม่มีความทุกข์ หรืออย่างน้อยก็เป็นตัวอย่างที่ดีว่าผู้ที่ไม่มีความทุกข์นี้จะต้องเป็นอย่างนี้ ดังนั้นท่านจึงว่าท่านรอเวลาอยู่ด้วยสติและสัมปชัญญะ จึงรู้สึกอยู่ในความที่ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา
พระคาถาต่อไปมีว่า ปริจิโณฺณ มยา สตฺถา, กตํ พุทฺธสฺส สาสนํ; โอหิโต ครุโก ภาโร, ภวเนตฺติ สมูหตาฯ (ปะริจิณโณ มะยา สัตถา กะตังพุทธัสสะ สาสะนัง โอหิโต คะรุโก ภาโร ภะวะเนตติ สะมูหะตา) (ชั่วโมงที่ 1:07:27) ครึ่งแรกมีว่า พระศาสดาเป็นผู้ที่เราบำรุงบำเรอแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้าเราประพฤติ เราประพฤติหมดแล้ว ถึงที่สุดแล้ว ปริจิโณฺณ มยา สตฺถา (ปะริจิณโณ มะยา สัตถา) (ชั่วโมงที่ 1:07:55) พระศาสดาเป็นผู้อันเราบำรุงบำเรอแล้ว ตามตัวหนังสือก็ต้องว่าอย่างนี้ก็ต้องแปลอย่างนี้ ที่ว่าพระศาสดาเป็นผู้ที่เราบำเรอแล้วนั้นมันขยายความด้วยคำหลังที่ว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าเรากระทำแล้วเป็นบริบูรณ์ พระศาสดาหรือพระพุทธเจ้าไม่ได้ประสงค์จะให้ใครมาบำรุงบำเรอด้วยข้าวปลาอาหาร ด้วยการปฏิบัติวัตรา (ชั่วโมงที่ 1:08:32) อย่างนั้นอย่างนี้ แต่สิ่งที่พระองค์ทรงพระประสงค์ต้องการที่สุดก็คือ ให้ทุกคนปฏิบัติตามคำสั่งสอนให้สำเร็จประโยชน์แก่ตน การที่ใครก็ตามทำความดับทุกข์ให้แก่ตนให้ถึงที่สุด นั่นแหละเป็นการบำเรอพระศาสดา เพราะว่าพระศาสดาท่านพอพระทัยในความเป็นอย่างนั้น ถ้าพูดกันอย่างธรรมดาสามัญอย่างคนเราธรรมดาพูดกัน ก็ต้องพูดว่าสิ่งที่ท่านชอบใจที่สุดนั่นคืออย่างนั้น เมื่อเราทำสิ่งที่ท่านชอบใจที่สุดก็เรียกว่าเราบำเรอท่านด้วยการทำสิ่งที่ท่านชอบใจที่สุด พระอรหันต์เรวตะท่านจึงกล่าวว่า กตํ พุทฺธสฺส สาสนํ (กะตัง พุทธัสสะ สาสะนัง) (ชั่วโมงที่ 1:09:37) คำสอนของพระพุทธเจ้าเราประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดเสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้นจึงชื่อว่าพระศาสดาเป็นผู้ที่เราบำเรอแล้ว ฟังดูให้ดี เดี๋ยวนี้เราจะคิดว่า เอาข้าวปลาอาหารมาบูชาพระพุทธรูปองค์นี้ก็จะเป็นการบำเรอพระพุทธเจ้า เพราะเห็นคนทำกันอย่างนั้นอยู่บ่อย ๆ แต่ว่าในเรื่องนี้ไม่เป็นอย่างนี้ ก็การปฏิบัติตามพระพุทธวจนะให้บริสุทธิ์บริบูรณ์นั่นเป็นการบำเรอพระศาสดา
คาถาครึ่งหลังต่อไปอีกเป็นการอธิบายความข้อนี้ คือคาถาที่ว่า โอหิโต ครุโก ภาโร, ภวเนตฺติ สมูหตาฯ (โอหิโต คะรุโก ภาโร ภะวะเนตติ สะมูหะตา) (ชั่วโมงที่ 1:10:34) โอหิโต ครุโก ภาโร (โอหิโต คะรุโก ภาโร) (ชั่วโมงที่ 1:10:41) ภาระหนักเราโยนทิ้งแล้ว ภวเนตฺติ สมูหตาฯ (ภะวะเนตติ สะมูหะตา) (ชั่วโมงที่ 1:10:47) ตัณหาที่เป็นเครื่องจูงจมูกสัตว์ไปในภพต่าง ๆ นั้น เราถอนขึ้นหมดแล้ว นั่นก็คือการบำเรอพระศาสดา คือการกระทำตามคำสอนของพระศาสดา ภาระหนักก็คือเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน เราโยนทิ้งหมดแล้ว ภวเนตฺติ (ภะวะเนตติ) แปลว่า ตัณหาที่นำสัตว์ไปสู่ภพนั้นภพนี้ เป็นกามภพ รูปภพ อรูปภพนั้น เราถอนรากมันขาดแล้ว การกระทำอย่างนี้คือการบำเรอพระศาสดา เพราะว่าได้ทำตามพระพุทธประสงค์ในการปฏิบัติพระพุทธศาสนาให้สมบูรณ์ มันคงจะเป็นสิ่งที่คนบางคนฟังไม่รู้เรื่องว่าทำประโยชน์แก่ตนแท้ ๆ ทำไมกลายเป็นบำเรอผู้อื่น ทำประโยชน์แก่ตนให้พ้นจากทุกข์กลายเป็นบำเรอพระพุทธเจ้า คนที่ฉลาดน้อยคงฟังไม่รู้เรื่อง ขอให้ฉลาดอย่าให้น้อย ฉลาดมากสักหน่อยก็คงจะฟังรู้เรื่อง พอทำความสิ้นสุดแห่งความทุกข์ให้แก่ตนได้นั้นเป็นการบำเรอพระศาสดา
พระคาถาต่อไปมีว่า ยสฺส จตฺถาย ปพฺพชิโต, อคารสฺมานคาริยํ; โส เม อโตฺถ อนุปฺปโตฺต, สพฺพสํโยชนกฺขโยฯ (ยัสสะ จัตถายะ ปัพพะชิโต อะคารัสมานะคาริยัง โส เม อัตโถ อะนุปปัตโต สัพพะสังโยชะนักขะโย) (ชั่วโมงที่ 1:12:28) ประโยชน์ใดที่คนเขาออกบวชกันด้วยหวังจะได้ ประโยชน์นั้นเราได้แล้ว เราเป็นผู้ถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวง มันแสดงอยู่ในพระคาถานั้นแล้วว่าความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวงนั่นแหละ คือประโยชน์ที่คนผู้ออกบวชแล้วหวังจะได้ บางทีก็มีถ้อยคำอย่างอื่นเช่นว่า บวชเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งอย่างที่เราจะได้ยินคำนี้ในการกล่าวขอบรรพชาอุปสมบทตามแบบเก่าว่า สพฺพทุกฺขนิสฺสรณนิพฺพานสจฺฉิกรณตฺถาย (สัพพะทุกขะนิสสะระณะนิพพานะสัจฉิกะระณัตถายะ) (ชั่วโมงที่ 1:13:28) ข้าพเจ้าบวชนี้เพื่อจะกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน มันเป็นเครื่องออกไปเสียจากความทุกข์ทั้งปวง นี่เรียกว่าประโยชน์ที่บุคคลผู้บวช ผู้ออกบวชนั้นหวังกันอยู่ นี้ประโยชน์ใดที่ผู้ออกบวชหวังกันอยู่ ประโยชน์นั้นเราได้รับแล้ว ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ ๆ จนกระทั่งถึงความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวงแล้ว
พระคาถาสุดท้ายท่านได้กล่าวต่อไปว่า สมฺปาเทถปฺปมาเทน เอสา เม อนุสาสนี (สัมปาทถัปปะมาเทนะ เอสาเม อะนุสาสะนี) (ชั่วโมงที่ 1:14:21) ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นี้เป็นคำแนะนำของเรา หนฺทาหํ ปรินิพฺพิสฺสํ, วิปฺปมุโตฺตมฺหิ สพฺพธี (หันทาหัง ปะรินิพพิสสัง วิปปะมุตโตมหิ สัพพะธี) (ชั่วโมงที่ 1:14:38) เอาล่ะ เราจักปรินิพพานเป็นผู้หลุดพ้นพิเศษแล้วในทุกกรณี ก็เป็นคำแนะนำและเป็นคำขอครั้งสุดท้ายของท่าน เมื่อท่านจะปรินิพพานไป ควรจะดูตัวอย่างพระอรหันต์ในข้อนี้กันอีกทีหนึ่งว่า จะปรินิพพานทั้งทีก็ยังฝากอะไรไว้ให้ คนที่จะอยู่ข้างหลังวันนี้เป็นอนุสาสนีของเราว่า ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ความหมายอย่างเดียวกันกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเมื่อท่านจะปรินิพพาน ที่เรามาสวดกันว่า อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ (อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ) (ชั่วโมงที่ 1:15:39) แต่นี้อยู่ในรูปประโยคที่ว่า สมฺปาเทถปฺปมาเทน (สัมปาทถัปปะมาเทนะ) สมฺปาเทถ อปฺปมาเทน (สัมปาทถะ อัปปะมาเทนะ) (ชั่วโมงที่ 1:15:47) จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ภาษาบาลีนี้ก็พูดกลับกันก็ได้ มันเป็นอย่างนี้เอง นี้เป็นอนุสาสนีของเรา เอาละเราจะปรินิพพาน เป็นผู้หลุดพ้นแล้วในทุกกรณีแล้วท่านก็ปรินิพพาน
นี้เป็นตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับพระอรหันต์องค์หนึ่งซึ่งมีนามว่า เรวตะ ที่อาตมานำมาวิสัชนาในโอกาสเช่นนี้คือในวันนี้ซึ่งเป็นวันของพระอรหันต์ หวังว่าท่านทั้งหลายจะมีความเข้าใจในเรื่องของพระอรหันต์เพิ่มขึ้นบ้างจากที่แล้ว ๆ มาให้สมกับที่ว่าอาตมาก็พยายามอยู่ทุกวันทุกเดือนทุกปี ที่ให้พวกเรารู้เรื่องของพระอรหันต์ คือบุคคลผู้ดับความทุกข์ได้นั้นเพิ่มขึ้นไปอย่างที่กำลังพยายามอยู่นี้ จึงหวังว่าความปรารถนานี้คงจะมีผลบ้าง อย่างน้อยก็มีผู้เอาไปคิดนึกศึกษาแล้วปฏิบัติตามนี้ในข้อที่ว่า อยู่ด้วยลมหายใจที่บริสุทธิ์ เต็มไปด้วยความเมตตากรุณาในสรรพสัตว์เถิด แล้วก็พยายามที่จะให้ถึงความสิ้นไปแห่งกิเลสคืออาสวะให้ได้ แล้วก็อยู่ด้วยความรู้สึกที่ว่าไม่ต้องการทั้งความอยู่และไม่ต้องการทั้งความตาย ไม่ยินดีทั้งความอยู่ ไม่ต้องการทั้งความตาย แต่ให้เวลามันล่วงไป ๆ เหมือนกับมีความพอใจ เหมือนกับว่าลูกจ้างมันรอเวลาที่จะรับค่าจ้าง แล้วก็เป็นอันว่าจะได้รับประโยชน์อันสุดท้ายที่สัตว์ทั้งหลายควรจะได้หรือหวังกันอยู่แล้วออกมาบวช คือความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวง จงมีความไม่ประมาทอย่างนี้อยู่เถิด แล้วก็ขอลาท่านทั้งหลายไป หมายความว่าใครยังอยู่ก็อุตส่าห์ปฏิบัติให้สุดความสามารถ ส่วนผู้ที่จะดับไปนั้นก็มีความพอใจเหมือนกับลูกจ้างได้รับเงินเดือน
นี้คือเรื่องของพระอรหันต์ชื่อว่า เรวตะ ในพระคัมภีร์เถรคาถาดังที่นำมาวิสัชนาเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของท่านทั้งหลายพอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้ถือเอาประโยชน์อันนี้ให้ได้ให้มากที่สุดตามที่จะทำได้เถิด ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้