แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนา พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้า ยิ่งๆ ขึ้นไป ในทางแห่งพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาในวันนี้ อ้า, เป็นธรรมเทศนาพิเศษปรารภเหตุวันขึ้นปีใหม่ ดังที่ท่านทั้งหลายก็ย่อมจะทราบได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว เพราะในโอกาสเช่นวันนี้มีพิธีบางอย่างบางประการที่ทำ ตามขนบธรรมเนียมประเพณีของพุทธบริษัทก็มี ของชนทั้งหลายเหล่าอื่นก็มี จะเรียกได้ว่าเป็นพิธีเกี่ยวกับวันขึ้นปีใหม่ด้วยกันทั้งนั้น สำหรับพุทธบริษัทนั้น ก็จะต้องทำให้ถูกต้องตามวิธีของพุทธบริษัท จึงจำเป็นจะต้องย้อนระลึกนึกถึงความหมายของคำว่าพุทธบริษัทอยู่เป็นประจำ พุทธะ แปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นจอมโจกของบุคคล ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้ใดมีการรู้ การตื่น และความเบิกบาน ก็เรียกได้ว่าเป็น พุทธะได้ด้วยกันทั้งนั้น ตามมาก ตามน้อย สำหรับคำว่าบริษัทนั้นก็แปลว่านั่งกันเป็นวงล้อมรอบวัตถุประสงค์อันใดอันหนึ่ง พุทธบริษัทในที่นี้ ก็คือผู้นั่งล้อมรอบๆ พระพุทธเจ้า เรียกว่า เป็นกลุ่มของบุคคลผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน บุคคลผู้เป็นพุทธบริษัทเห็นปานนี้ จะประกอบพิธีเกี่ยวกับวันที่สมมติว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่กันอย่างไร ก็ย่อม ย่อมจะมี ไปตามแบบของตน ของตน อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นการกระทำให้ปีนี้ทวี อ้า, ความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน ให้มากกว่าปีที่แล้วมา การทำอย่างนี้เป็นการประพฤติธรรม หรือกระทำความดีอยู่ในตัวแล้ว ความดีนั้นมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วร หรือ พร คำว่า พร หรือ วร ก็ดี แปลว่า ความดี ดังนั้น การทำความดี ย่อมเป็นพรอยู่ในตัวความดีนั้นเอง ไม่ต้องไปแสวงหาความดีที่ไหนอีก ไม่ต้องขอจากใครก็ได้ เพราะว่าเมื่อมีการทำความดีแล้ว ก็ย่อมจะเป็นพรอยู่ที่ตัวความดีนั้น เมื่อทำดีก็ดี ไม่ต้องพูดว่าได้ดี ผู้ที่พูดว่าทำดีย่อมได้ดีนั้น ยังพูดอย่างละเมอ ละเมอ เพ้อฝันไปตามเขามากกว่า ก็ทำดีมันก็ดีเสร็จ มันไม่ต้องได้อะไรอีกแล้ว ทำดีด้วยกาย ก็เป็นดีอยู่ที่กายแล้ว ทำดีทางวาจา ก็ดีอยู่ที่วาจาแล้ว ทำดี เอ่อ, ที่ใจ ก็ดีอยู่ที่ใจแล้ว แล้วมันเป็นพรเสร็จแล้วในตัวการกระทำนั้น ไม่ต้องรอ แม้แต่สักว่าวินาทีเดียว อึดใจเดียว ก็ไม่ต้องรอ มันดีเสร็จแล้ว ถ้าจะเรียกว่าพร ก็เป็นพรเสร็จแล้ว ถ้าจะเรียกว่าดี ก็ดีเสร็จแล้ว ทำไมจะต้องพูดว่าทำดีได้ดี แล้วก็จะได้ต่อนั่น ต่อนี่กันอีก นั้นมันเป็นคำพูดของคนที่ไม่ดูให้ดีต่างหาก ทำความดีบางอย่างจะได้ในวันหลัง หรือปีหน้า หรือหลังจากตายแล้วก็มี อย่างนี้มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นสิ่งที่สมมติกันอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องจริงโดยสมบูรณ์ ที่จริงโดยสมบูรณ์ก็เป็นอย่างที่ว่ามาแล้ว คือทำดีก็ดี อยู่ที่ตัวการกระทำนั้นแล้ว พอลงมือทำมันก็ดีทันทีไม่ต้องรอให้ได้ผลอะไรอีก ได้ อ้า, สำหรับความดี ที่นี้คนมันต้องการมากกว่านั้น ต้องการได้ลาภ ได้ชื่อเสียง ได้ อ้า, วาสนา ได้อะไรต่างๆ นี่ อย่างนี้มันต้องรอ บางทีรอนาน จนรอไม่ไหวก็มี ต้องแยกกันให้ต่างกันออกไป ว่า ทำดีก็ดีทันที ส่วนที่จะมีปฏิกิริยาอย่างอื่นให้ได้ผลอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมาอีกนั้น นั่นมันอีกเรื่องหนึ่ง นั้นมันไม่แน่ มันอาจจะเร็วก็ได้ จะช้าก็ได้ อาจจะไม่ได้ก็ได้ เพราะมันเกี่ยวพันกันหลายเหตุ หลายปัจจัยนัก เอาที่แน่นอนดีกว่า คือทำดีก็ดี เท่านั้น จะเรียกว่าความดีก็ได้ จะเรียกว่าเป็นพรก็ได้ อาตมาขออวยพรให้ท่านทั้งหลายในฐานะวันปีใหม่นี้ ด้วยพรอันนี้ ที่ว่าทำดีก็ดี ทำชั่วก็ชั่ว ไม่ต้องรอว่าจะได้หรือไม่ได้ ทีนี้จะต้องดูกันต่อไปว่าทำอย่างไร จึงจะสมกับคำว่าปีใหม่ ดีสำหรับปีใหม่ หรือพรสำหรับปีใหม่ ข้อนี้ก็ตอบได้อย่างง่ายๆ อีกอย่างเดียวกัน ก็คือทำดีให้มันดีกว่าปีที่แล้วมา ทำดีให้มันยิ่งกว่าปีที่แล้วมา มันก็ได้ดี ได้พร ได้อะไร ยิ่งกว่าปีที่แล้วมา ควรที่จะเรียกว่าปีใหม่ ถ้าเรียกว่าปีใหม่ ก็ควรจะดีกว่าปีเก่า หรือผิดจากปีเก่า ปีใหม่เลวกว่าปีเก่า ก็ไม่ควรจะเรียกว่าปีใหม่ เพราะของใหม่ต้องของที่ดีกว่า มีมาในลักษณะที่น่าปรารถนายิ่งกว่า ดังนั้น เราต้องทำให้มันดีกว่าปีเก่า ทีนี้ทำอย่างไรจึงจะดีกว่าปีเก่า มันมีทางที่จะทำได้หลายทาง ในส่วนของความรู้ก็มี ส่วนของการปฏิบัติก็มี ส่วนของผลของการปฏิบัติก็มี ในส่วนความรู้นั้น ก็อุตส่าห์เรียนอะไรเพิ่มเติมให้มันดี ให้มันรู้มากกว่าปีเก่า ในส่วนการปฏิบัตินั้น ก็ปฏิบัติให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นกว่าปีเก่า ส่วนผลที่จะพึงได้รับมันก็ต้องดี หรือมากกว่าปีเก่า ในลักษณะที่ควรจะ อ้า, พิจารณาดูเป็นชนิดๆ ไปทีเดียว ถ้าพูดถึง เอ่อ, ความสุข ก็ควรจะมีความสุขยิ่งกว่าปีเก่า แต่พูดถึงความสุขนี่มันรวบรัดมากเกินไป มันต้องพูดถึงเหตุแห่งความสุขกันเสียก่อน จะถูกกว่า เหตุแห่งความสุขนี้ ก็คือ ความรู้แจ้ง ความเข้าใจถูกต้องที่มาจากความรู้แจ้ง นี่เป็นเหตุให้ได้ความสุข ดังนั้น เราจะต้องมีความรู้แจ้งให้ยิ่งไปกว่าปีเก่า โดยการที่ประมวลเอาเรื่องราวทั้งหมดทั้งสิ้นแต่หนหลัง มาพินิจพิจารณาให้เข้าใจแจ่มแจ้ง แจ่มแจ้งในที่นี้อยากจะระบุไปยัง อากัปกิริยาอันหนึ่งคือ ยิ้มออก ถ้ายังยิ้มไม่ออก ก็ยังไม่แจ่มแจ้ง ถ้าแจ่มแจ้งก็คงจะยิ้มออก เอาเรื่องราวทั้งหลายมาพินิจพิจารณาดู แล้วในที่สุดยิ้มออกมาได้ นี้ก็ย่อมแสดงว่าได้มีการรู้อย่างถูกต้อง และครบถ้วนเป็นแน่นอน ตามควรแก่อัตภาพของตน ของตน จึงขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนทบทวนเรื่องราว ที่เป็นมาแล้วแต่หนหลัง ไม่ต้องไปทบทวนสิ่งที่ทำให้เกิดความรำคาญ เกลียดชังตัวเอง เช่นความผิดพลาด เป็นต้น ถ้าปรากฏว่าได้เคยทำความผิดพลาดอะไรลงไป ก็ต้องไม่เอามาสำหรับเป็นเครื่องวิตกกังวลให้เป็นทุกข์ ให้เร่าร้อน เพียงแต่นึกเอามาสำหรับเป็นไอ้ความรู้ สำหรับสอนให้รู้ต่อไป เพื่ออย่าได้ทำอีก ส่วนที่เป็นความถูกต้องนั้น ก็เอามาพิจารณาในลักษณะที่ว่ามันเป็นของมันอย่างนั้น ก็ไม่ควรจะดีใจอะไรให้มากเกินไป อย่างนี้เรียกว่าเป็นคนสม่ำเสมอ อ้า, หรือคงที่ ความผิดพลาดก็กลายเป็นการศึกษาไป ความถูกต้องก็กลายเป็นการศึกษาไปอีกอย่างเดียวกัน ความผิดพลาดไม่มาสำหรับเป็นความทุกข์ ความถูกต้องก็ไม่มาสำหรับที่ให้หลงระเริงลิงโลด เราพิจารณาว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง มีเหตุมีปัจจัยของมันเอง แล้วก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันเอง เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ หรือจะเรียกว่าเป็นไปตามคำสั่งของพระเป็นเจ้า หรือจะเรียกว่าเป็นไปตามธรรมดาก็ได้ทั้งนั้น คือมันเป็นกฎธรรมดา ที่ตายตัว ที่เด็ดขาดอยู่ในตัวมันเอง มันต้องเป็นอย่างนั้น ดังนั้น เราอย่าอวดตัวข้าไปในการที่จะจัด จะแก้ไข จะทำอะไรกับกฎเกณฑ์เหล่านี้ มีแต่ว่าจะต้องปรับปรุงตัวเองให้มันเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์เหล่านี้ เพื่อความทุกข์มันจะไม่ได้เกิดขึ้น พอเข้าใจเรื่องนี้ มันก็ยิ้มออกมาได้ พอปฏิบัติเรื่องนี้ถูกต้องเสร็จสิ้นไป ก็ยิ้มออกมาได้ เพียงแต่ยิ้ม นี้มันก็มากอยู่แล้ว อาจจะเกินไปแล้ว แต่เอาเถิด สมมติว่าเป็นพอดี ถ้าหัวเราะร่วนออกมา ก็เป็นเรื่องบ้าหลัง เพียงแต่ยิ้มนี้มันก็แสดงอะไรมากอยู่แล้ว ขอให้ฟังให้ดีๆ เพราะมันกระทบกระเทือนความรู้สึกมากอยู่เหมือนกัน มันจึงยิ้มออกมาได้ อย่าให้มากไปกว่านี้ พระอรหันต์ก็มีการยิ้มเหมือนกัน แต่คงไม่ยิ้มมากเหมือนชาวบ้าน ในเมื่อรู้สึกว่ามันเป็นไปอย่างถูกต้อง หรือน่าชมเชย น่าสรรเสริญ ก็คงจะยิ้มได้ แต่ไม่ถึงกับว่า จิตใจมันหวั่นไหว หรือไม่เห็นว่าเป็นของประหลาดอัศจรรย์อะไร เพียงแต่รู้ว่ามันเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมดาที่น่าดูสักหน่อย เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคน ยิ้มไปบ้าง เพิ่มขึ้นทุกแบบออกไปจากที่แล้วมาคือ ปีเก่า ถ้าปีเก่ามันยิ้มไม่ค่อยออก ปีนี้มันก็ควรจะยิ้มออกบ้าง ถ้าปีเก่ามันยิ้มแห้งๆ ปีนี้มันก็จะยิ้มอย่างสดชื่นได้ เพราะมันมีเหตุผลมากขึ้นนั่นเอง มองเห็นว่าเป็นความถูกต้อง ควรจะเป็นที่พอใจ หรือเป็นที่สรรเสริญของวิญญูชนผู้มีความรู้ทั้งหลาย ก็พอจะยิ้มได้ดังนี้ นี่เป็นไอ้ หลักสั้นๆ สำหรับเอาไปพิจารณา สอดส่องดู ว่าเราจะทำให้มันเกิดปีใหม่ขึ้นมาได้อย่างไร อาตมาก็ขอแนะนำว่า มันจะทำได้โดยลักษณะอย่างนี้เอง เป็นต้น หรืออย่างน้อยก็อย่างหนึ่งแล้ว ทีนี้ก็อยากจะพูดถึงความหมายของคำว่า ยิ้ม คำว่ายิ้มนี้ เกือบจะไม่ต้องพูดอะไรมาก เพราะว่าพอจะเข้าใจกันได้อยู่ทุกคนว่า ยิ้มนั่นคือพอใจ และที่ อ้า, ที่ถูกต้องแท้จริงนั้น ก็คือพอใจตัวเองได้ ไม่ต้องให้มีใครมายกย่องสรรเสริญ เราพอใจตัวเองได้ นี่มันแน่นอนกว่า เพราะมันเห็นอยู่ทั้งหมดว่าอะไรเป็นอย่างไร ไม่มีอะไรที่ซ่อนเร้น ส่วนที่คนอื่นเขาพอใจ มายกย่องสรรเสริญนั้นมันไม่แน่ เป็นเรื่องเล่นละคร เป็นเรื่องตบตาได้ด้วยกันทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ ดังนั้นอย่าเอาเป็นประมาณเลย เอาตัวเองเป็นประมาณ ว่าตัวเองมีอะไรที่ควรจะพอใจ ว่าตัวเองมีอะไรที่จะทำให้ยกมือไหว้ตัวเองได้ เรื่องตัวเองไหว้ตัวเองนี่ คงจะไม่ค่อยมีใครคิดกันนัก เพราะไปคอยแต่จะไปให้คนอื่นเขาไหว้ นั่นมันเป็นเรื่องของกิเลส ของคนธรรมดาทั่วๆไป ถ้าเป็นคนมีปัญญา จะถือว่า นั่นเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน เป็นเรื่องที่เล่นตลกก็ได้ ดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้ามันแน่นอน ต้องตัวเองยกมือไหว้ตัวเองได้ ก็ตัวเองมันรู้ดีถึงที่สุดว่า ตัวเองกำลังเป็นอย่างไร ดังนั้น ควรจะทำอะไรให้มากเข้าไว้ เพื่อว่าตัวเองมันจะยกมือไหว้ตัวเองได้ดังนี้ แล้วก็จะมีการยิ้ม อ้า, ที่แน่นอน ที่ถูกต้อง ที่บริสุทธิ์ สำหรับจะยิ้มกันในปีใหม่ ให้มันใหม่ออกไป สรุปความในข้อนี้ก็ว่า ทุกคนต้องตั้งอกตั้งใจที่จะบำเพ็ญความดี ที่เป็นพร หรือเป็น วร ก็ตามสำหรับปีใหม่ สำหรับจะได้พอใจ สำหรับจะได้ยิ้มอย่างใหม่ที่แปลกออกไปจากยิ้มอย่างเก่าๆ เพียงเท่านี้ ก็ดูจะพอ สำหรับที่จะปรารภกันในวันขึ้นปีใหม่ นี่โดยหัวข้อมันเป็นอย่างนี้ ทีนี้โดยรายละเอียดจะต้องไปทำอะไรบ้างนั้น ก็แล้วแต่ความสามารถของตน ของตน คนเราไม่เหมือนกัน โดยหน้าที่การงาน ก็ไม่เหมือนกัน โดยสมรรถภาพส่วนบุคคลก็ไม่เหมือนกัน สิ่งแวดล้อมอีกเป็นอันมากก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ผู้มีปัญญาก็พิจารณาดูเอาเองเถิดว่า เราควรจะทำ อะไร ทำอย่างไร ทำที่ไหน ทำเมื่อไร ให้มันถูกกับเรื่องกับราว มันก็จะประสบความสำเร็จเป็นแน่นอน ที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้น เพราะมันทำด้วยความประมาท โง่เขลา หลงใหล เอ่อ, เลินเล่อ ทุกอย่างที่มันเป็นกิเลส ก็ไม่ประสบความสำเร็จ นี่ถ้าว่าทำด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยความไม่ประมาท ก็ย่อมจะประสบความสำเร็จ เรื่องมันก็เลยพาดพิงไปถึง อ้า, ความไม่ประมาท ความประมาท หรือความไม่ประมาทนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของมนุษย์ เรื่องประมาทนั้นเป็นเรื่องของความตาย เรื่องความไม่ประมาทนั้นเป็นเรื่องของความไม่รู้จักตาย จึงรู้จักหลีกเลี่ยงความประมาทเสีย แล้วมันเป็นความไม่ประมาท ให้ถึงพร้อม ให้ตรงตามที่พระพุทธองค์ทรงประสงค์และได้ตรัสไว้ เป็นคำตรัสสุดท้าย เมื่อจะปรินิพพาน ว่าท่านทั้งหลายจงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด ดังนี้ ความไม่ประมาทนั้น คืออะไร ความไม่ประมาทนั่น มันคือ ทุกสิ่งที่พึงประสงค์ ไม่ใช่เพียงแต่ว่า ไม่อวดดี ไม่เลินเล่อ ไม่สะเพร่า นั้นมันก็ยังไม่หมดความหมายของคำว่าไม่ประมาท เมื่อพูดถึงไม่ประมาทแล้ว มันมีครบถ้วนของทุกสิ่งที่พึงประสงค์ ความรู้ก็มี ความพากเพียรขยันขันแข็งก็มี ความเฉลียวฉลาดในการแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ก็มี เมื่อมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ทั้งในทางที่จะป้องกัน ในทางที่จะแก้ไข ในทางที่จะรักษา เป็นต้น มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ แล้วก็ดำเนินหน้าที่การงานนั้นไปด้วยสติสัมปชัญญะ เหล่านี้ จนประสบความสำเร็จ อันนั้นแหละเรียกว่าความไม่ประมาท สำหรับในภาษาไทยนั้น มันมีความหมายแคบเกินไป ภาษาไทยก็ไม่ได้ตรงกับภาษาบาลีไปเสียทั้งหมด แม้ว่าจะได้ใช้คำบาลีนั้นเป็นคำๆ เดียวกัน เมื่อพูดว่าประมาทก็หมายถึง โง่เขลา ไม่รู้ อวดดี ขี้เกียจ ไม่มีสติสัมปชัญญะ พอพูดว่า ไม่ประมาท อย่างนี้ก็ตรงกันข้ามด้วยประการทั้งปวง เป็นคุณธรรมสูงสุด ตั้งต้นมาจากความรู้ หมายถึงการประพฤติ การกระทำ อย่างถูกต้อง และสมบูรณ์แล้ว ก็เรียกว่าความไม่ประมาทได้ เป็นเรื่องที่จะต้องทำให้มี ให้ถึงพร้อม ตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่าอย่างนั้น ทีนี้คำว่าถึงพร้อมนี้ มันอะไรกันบ้าง ขอให้ขยายความหมายของคำว่า ถึงพร้อม ออกไปให้กว้างขวาง ให้ทั้งหมด ให้เป็นเรื่องของทั้งหมดทั้งสิ้น ใช้ได้แม้กระทั่งเด็กๆ ตัวเล็กๆ ก็ต้องไม่ประมาท คนหนุ่ม คนสาว ผู้ใหญ่ แก่เฒ่า มันก็ต้องเต็มไปด้วยความไม่ประมาท ทีนี้ทุกขั้นตอนของการกระทำ นับตั้งแต่ จะกิน จะอาบ จะถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ก็ยังต้องทำด้วยความไม่ประมาท ในส่วนการบริหารร่างกายให้รอดชีวิตอยู่ได้ นี่ก็สำเร็จด้วยความไม่ประมาท ครั้นรอดชีวิตอยู่ได้แล้วจะต้องทำอย่างไรต่อไป ก็ยังคงทำด้วยความไม่ประมาท ตามขั้นตอนของเรื่องนั้น ๆ สามารถทำ อ้า, ความมีชีวิตอยู่นี้ ให้มีค่า จนกระทั่งถึงอันดับที่มันสูงสุดได้ เลยพูดได้ว่าเรื่องโลกๆ ก็ต้องไม่ประมาท เรื่องธรรมะล้วนๆ ก็ต้องไม่ประมาท จนไม่มีช่อง ไม่มีโอกาสอันใดเหลือไว้ให้สำหรับความประมาท ให้เต็มไปด้วยความไม่ประมาทอยู่ในทุกเวลา ทุกสถานที่ ทุกเหตุการณ์ นี่แหละคือความถึงพร้อมแห่งความไม่ประมาท ทีนี้ก็ไม่ ไม่เป็นการยากที่จะพิจารณาดูต่อไปว่า เมื่อถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเช่นนี้แล้ว มันจะไม่ประสบความสำเร็จนั้น มันเป็นไปไม่ได้ เพราะในตัวความไม่ประมาทนั้น มันเป็นการกระทำที่ดี เป็นกรรมที่ดี เป็นกรรมที่มีกำลัง มีเหตุ มีปัจจัยมากมาย มันจึงสามารถเอาชนะไอ้สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาได้ ก็เลยจบเรื่องกัน ว่ามนุษย์คนนั้นต้องการจะประพฤติประโยชน์อย่างไร ก็ย่อมทำสำเร็จได้ ตามที่ควรจะประสงค์ ก็เลยเป็นมนุษย์ที่ยิ้มออก สำหรับคำว่ายิ้มออก คือพอใจนี่ มันก็มีสิ่งที่ต้องพิจารณาอยู่บ้างเหมือนกัน ยิ้มออกอย่างแห้งๆ อย่างแก้เก้อนั้น มันก็ ไม่ ไม่นับรวมไว้ในที่นี้ มันต้องยิ้มชนิดที่มีเหตุปัจจัยอันถูกต้องสำหรับจะให้ยิ้ม คำว่ายิ้มออกนี้ มันจะยิ้มชั่วขณะก็ได้ จะยิ้มตลอดไปก็ได้ ที่จะยิ้มตลอดไปได้ อ้า, ไม่มีหยุดนั้น เป็นเรื่องทางจิตทางวิญญาณเสียมากกว่า เมื่อ คือว่า เมื่อได้ประพฤติกระทำถูกต้องถึงที่สุดแล้ว ไม่มีความทุกข์มาเบียดเบียดอีกต่อไปแล้ว กิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ก็สิ้นไปแล้ว มันก็กลายเป็นความยิ้มที่แท้จริง อยู่ในตัวมันเอง แล้วก็ตลอดกาล ตลอดกาลนิรันดร นั้นเป็น ความ อ้า, หมายของพระธรรม ที่กำจัดกิเลสแห่งความทุกข์ได้สิ้นเชิง เรียกว่ามันมีการยิ้มตลอดนิรันดร มันเป็นสิ่งที่ทำยากอยู่บ้าง ทุกคนยังทำไม่ได้ เว้นไว้แต่ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ จึงทำได้ และสามารถจะมียิ้มตลอดกาล หรือยิ้มตลอดนิรันดร ส่วนเรา เอ่อ, ธรรมดาสามัญนี้ ยิ้มเป็นพักๆ ก็ยังดี ขอแต่ให้เป็นการยิ้มที่ถูกต้อง ที่บริสุทธิ์ คือ มีเหตุปัจจัยอันถูกต้องจริงๆ ได้แก่การประสบความสำเร็จในการทำสิ่งที่เรียกว่าดี การจะทำสิ่งที่เรียกว่าดีนี้ไม่ใช่ของง่ายนัก ไม่มีโอกาส ไม่มี อะไรก็มี มีโอกาสแล้วทำไม่ได้ก็มี เพราะมันเป็นการฝืนกระแส หรือฝืนความเคยชิน จะเรียกว่ากระแสแห่งความเคยชินก็ได้ ทุกคนเกิดมาในโลกแล้ว ย่อมมีกระแสแห่งความเคยชินอย่างใดอย่างหนึ่งไปตามแบบของตัว แล้วแต่ว่าพอเกิดมาจากท้องของมารดาแล้ว มันทำอะไรอยู่ เป็นส่วนมาก ความเคยชินก็จะเกิดขึ้นในรูปนั้น แล้วก็เคยชินยิ่งขึ้น แต่ที่ว่ามันเหมือนๆ กันหมดแทบทุกคนนั้น มันเคยชินแต่ในทางที่จะให้ยึดมั่น ถือมั่น ด้วยตัณหา อุปาทาน ว่าตัวกู ว่าของกู อย่างนี้ เสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ความเคยชินมันก็เลยกลายเป็นความเคยชินแต่จะยึดมั่นว่าตัวกู ของกู มันจึงได้ผลแต่ในทางที่จะเป็นความทุกข์เสียหมด จึงต้อง อ้า, จัดการแก้ไขความเคยชินนี้เสียใหม่ ให้มันหันมาทำความดี หรือความถูกต้อง หรือความไม่หลง ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกู ของกู ให้รู้สึกว่ามันเป็นของธรรมชาติ เป็นของธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตามหลักเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตา เราพอใจเราก็ว่าดี ก็ยึดมั่นว่ามันดี เราไม่พอใจ ก็ว่ามันชั่ว ก็ยึดมั่นว่ามันชั่ว เรื่องมันก็ยุ่งมากขึ้นทุกที ยิ้มไม่ออก ที่ถูกต้องหรือดี มันก็มาทำให้ฟุ้งซ่าน เร่าร้อนไปตามความหมายว่าดี ดี ดี ที่มันชั่วก็ให้ฟุ้งซ่านเร่าร้อนไปตามความหมายของคำว่าชั่ว คือ มันเศร้า มันกลัว เลยไม่มีความสงบสุข ไม่มีความพอใจ ไม่มีความหยุด ไม่มีความเยือกเย็น อย่างนี้เรียกว่ายิ้มไม่ออก เพราะมันเคยชินไปแต่ในทางที่จะยึดมั่น เมื่อแก้ไขสิ่งเหล่านี้ให้เบาบางลงไป มันก็จะหันกลับเป็นการทวนกระแสได้ ดังนั้น การทำความดีชนิดที่จะดับทุกข์ได้นั้น จะเป็นเรื่องของการทวนกระแสที่มีมาแล้วแต่หนหลังทั้งนั้น คือ กระแสแห่งความเห็นแก่ตัว การยึดมั่นถือมั่น อย่าไปโทษบิดา มารดา หรืออย่าไปโทษผู้ใดเลย มันเป็นเรื่องในโลกนี้ อย่างนี้เอง พอเด็กๆ คลอดมาจากท้องแม่ ก็ถูกสอนให้ยึดมั่นถือมั่น จนกระทั่งมีความเห็นแก่ตัว แล้วก็เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น จนมีความเห็นแก่ตัวอย่างสมบูรณ์ นี้เป็นธรรมดา เมื่อความเห็นแก่ตัวมันออกมาในรูปของกิเลส เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ มากเข้า มากเข้า คนก็สู้ไม่ไหว จะต้องเปลี่ยนกระแสกันเสียที จึงต้องหันมาหาพระธรรม หาความรู้ทางศาสนา เพื่อจะกำจัดความเห็นแก่ตัว หรือกำจัดกิเลสนั่นเอง กำจัดออกไปได้เท่าไร ก็จะยิ้มได้เท่านั้น กำจัดได้มาก ก็ยิ้มได้มาก กำจัดได้ตลอดกาล ก็มียิ้มนิรันดร การทำความดี ในความหมายอย่างนี้ มันเป็นการทวนกระแส คือมันเป็นความดี ในความหมายที่ว่าดับทุกข์ได้ ความดีอีกอย่างหนึ่งนั้น มันไม่ดับทุกข์ เพราะมันเป็นที่ตั้งแห่งความหลงใหล จนกระทั่งเห็นได้ว่า คนทำชั่ว เพราะความดีก็มี คนฆ่าตัวตายเพราะความดีก็มี คนเป็นบ้าเพราะหลงในความดีก็มี ความดีอย่างนั้น มันไม่ใช่ความดี มันเป็นไอ้สิ่งที่หลอกลวงชนิดหนึ่ง ความดีที่แท้จริง ก็คือความรู้สึกที่หมดจาก ความดีชนิดนั้นนั่นเอง ความดีชนิดที่โง่หลง มันติดมันเบาบางไป หมดสิ้นไปแล้ว ความดีที่แท้จริงมันก็จะปรากฏออกมานี่คือความไม่เห็นแก่ตัว เป็นความดีของบุคคลผู้ไม่เห็นแก่ตัว ผิดจากความดีของบุคคลผู้เห็นแก่ตัว เขามีความเห็นแก่ตัวเป็นความดี เห็นแก่ได้ ตามความต้องการของตัวเป็นความดี มันเป็นความดีแบบนั้น อย่าเอามาปนกับความดีแบบนี้ คือ ความดีที่มากขึ้นเพราะความไม่เห็นแก่ตัว ถ้าปีที่แล้วมามันเห็นแก่ตัว ก็รีบจัดการเถิด เพื่อว่าไอ้ปีนี้ ปีใหม่นี้มันจะแปลกออกไป มันจะเป็นของใหม่ เหมือนกับว่า รุ่งอรุณอีกแบบหนึ่ง ไม่ซ้ำกับที่แล้วมา แล้วเราจะยิ้มได้ด้วยรุ่งอรุณแบบนี้ นี่ในความหมายอย่างนี้เรียกว่าเป็นของดี สำหรับปีใหม่ หรือเป็นพรสำหรับปีใหม่ ที่ท่านทั้งหลายควรจะสนใจ แล้วก็ทำให้มากขึ้น ทุกปี ๆ นั่นเอง ที่แล้วมามันก็เป็นธรรมดาที่จะต้องผิดพลาด หรือบกพร่อง เพราะเรายังไม่รู้ เมื่อเป็นอย่างนี้ก็อภัยให้ได้ ในทุกๆ ศาสนา ย่อมมีการให้อภัย ยอมให้สิ่งที่ล่วงแล้ว เป็นอันแล้วไป ให้บาปหรือความชั่วที่ทำแล้วนั้นหมดไป ด้วยอำนาจการทำความดีชดเชย ด้วยความตั้งใจว่า จะไม่ทำความชั่วอย่างนั้นอีกต่อไปโดยเด็ดขาด ระเบียบอย่างนี้ อ้า, เรียกว่า ความสำนึกบาป ความตั้งต้นที่จะละเสียซึ่งบาป จะไม่ทำบาปอีกต่อไป จะทำความดีโดยส่วนเดียว เรียกว่าการแก้บาปบ้าง ปลงอาบัติบ้าง แล้วแต่จะเรียกชื่อต่างๆ กัน แต่ความหมายนั้นมันเหมือนกันหมด คือเปลี่ยนกระแสแห่งจิตใจ ว่าจะไม่เดินไปในร่องรอยนั้นอีก แต่จะมาเดินอยู่ในร่องรอยอันใหม่นี้ นี้จะให้มันใหม่มากไปได้ถึงไหน ก็อยู่ที่ ความตั้งใจ จริงหรือไม่จริง มันจะมากหรือจะน้อย จะเข้มแข็งหรือว่ามันจะอ่อนแอ ถ้าท่านทั้งหลายไม่เป็นคนอ่อนแอแล้ว ปีใหม่นี้จะต้องดีกว่าปีเก่าเป็นแน่นอน ขอให้กระทำสิ่งนี้ให้เป็นความดี ให้เป็นศรี ให้เป็นพร แก่ตนโดยแท้จริงจงทุกคน การขอพรนั้น มักจะเข้าใจกันไม่ค่อยจะถูกต้อง เขารู้สึกคล้ายๆ กับว่ามันเป็นของที่หยิบยื่นให้แก่กันและกันได้เหมือนวัตถุสิ่งของ ถ้าเข้าใจอย่างนั้นแล้วก็ควรจะเลื่อนชั้นแห่งความเข้าใจ ให้สูงขึ้นไปเสียบ้าง ความดี เอาไปศึกษาและไปปฏิบัติ แล้วได้รับผลของการปฏิบัตินั่นแหละ จะเป็นเรื่องของการขอพรอย่างถูกต้อง ที่ว่าขอพร เอ่อ, เหมือนกับว่าให้พรแล้วก็สบายใจ นี้ก็เป็นเรื่องเบื้องต้น แล้วให้คนสนใจ มีกำลังใจ ในการที่จะประพฤติปฏิบัติ โดยแท้จริงต่อสิ่งที่ต้องประพฤติปฏิบัติ ขออย่าได้ลืมว่า คำว่าพรนั้น แปลว่าดี หรือความดี มันต้องทำความดีนี้ถึงจะเป็นพรที่แท้จริง ถ้าขอก็ขอได้แต่เพียงวิธีปฏิบัติ เอาไปปฏิบัติ หรือเป็นเพียงกำลังใจ ที่ให้ไปสำหรับจะไปประพฤติปฏิบัติ มันก็มีมากเพียงเท่านี้ ยังไม่สมบูรณ์ จะทำให้สมบูรณ์ก็ต้องจัดการสะสางกันเสียใหม่ สิ่งใดที่ควรละก็ละเสีย สิ่งใดที่ควรประพฤติกระทำ ก็กระทำให้มากขึ้นจนกว่าจะสมบูรณ์ ดังนั้น การขอพรนั้นยังคงมีอยู่เฉพาะต่อเมื่อไม่รู้ว่าพรนั้นคืออะไร พอรู้ว่าพรนั้นคืออะไรแล้ว ก็คงจะหยุดขอเป็นแน่ คือ ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติให้สุดความสามารถ ให้สุดกำลังสติปัญญาของตน มันก็เป็นพรท่วมท้นขึ้นมา สำหรับจะไหลแผ่ซ่าน อ้า, ปกคลุมไปยังบุคคลอื่นรอบด้านก็ยังได้ ดังนั้น ขอให้ช่วยกันสร้างพรขึ้นมาทุกคนเถิด ลูกเด็กๆ ก็ตาม ผู้ใหญ่ก็ตาม ช่วยกันสร้างพรขึ้นมาในโลกนี้ให้เต็มไปหมดเถิด คือตั้งอกตั้งใจประพฤติกระทำสิ่งที่เป็นพร คือเป็นความดี และพรนี้ก็จะเอิบอาบไป ในที่ทุกหนทุกแห่ง สมกับที่เป็นพรปีใหม่ ดังนั้น เรามาตั้งใจกันว่า ปีใหม่นี้ ตั้งตาตั้งตาสร้างพร คือประพฤติความดี ให้มันแผ่ซ่านกว้างขวางออกไปยิ่งกว่าปีก่อน ให้มันไปทั่วบ้านทั่วเมือง ให้มันไปทั่วประเทศ ทั่วโลก ทั่วสากลจักรวาล กล้าคิด ถึงอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องของคนอวดดี แต่เป็นเรื่องของคนที่รู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ควรกระทำ ดังนั้น อย่าไปท้อถอย อย่าไปละอาย หรืออย่าไปกลัวว่า เขาจะหัวเราะเยาะ เราจะตั้งความปรารถนาในการที่จะทำความดี ให้ไม่มีขอบเขตจำกัดอย่างนี้ ด้วยกันทุกคนเถิด โลกนี้ก็จะเต็มไปด้วยพร อิ่มเอิบอยู่ด้วยพร มีผลเป็นความสุข คือ ยิ้มได้จนกระทั่งเป็นยิ้มนิรันดร ดังที่กล่าวมา ทีนี้ก็จะขอพูดถึงเรื่องปีใหม่นิดหนึ่ง ว่าเป็นเพียงกาล เพียงเวลา ที่มันเลื่อนไปเลื่อนไป เวลานั้นไม่มีใหม่ไม่มีเก่า มันเป็นกระแสอันหนึ่งจึงล่วงไปล่วงไป ทีนี้มนุษย์จะไปสังเกตเห็น แล้วจัดแบ่งมันเข้าโดยอาศัยปรากฏการณ์ของธรรมชาติ บัญญัติเวลานั้นให้เป็นตอนๆ เป็นปีหนึ่งก็มี เป็นฤดูหนึ่งก็มี เป็นเดือนหนึ่งก็มี เป็นวันหนึ่ง คืนหนึ่ง อ้า, กระทั่งเป็นชั่วโมง นาที นี้ มนุษย์ว่าเองทั้งนั้น ไอ้ตัวเวลานั้นมันไม่รู้ไม่ชี้ มันไปของมันเรื่อยไป แต่ที่มันไปของมันเรื่อยไปนั้น มันไม่ได้ มันไม่ได้ไปของมันตามลำพัง อ้า, ล้วนๆ มันมาเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายทั้งปวง คือ ทำให้สิ่งทั้งปวงแก่ชราลงไป ร่อยหรอ สึกกร่อนลงไป ท่านจึงได้กล่าวว่า กาโล ฆสติ ภูตานิ เวลาย่อมกินสรรพสัตว์ สพฺพาเนว สหตฺตนา ทั้งหมดทั้งสิ้น พร้อมทั้งตัวมันเองด้วย เวลามันกินตัวมันเองด้วย และพร้อมกันนั้นมันกินสรรพสัตว์ ด้วย ถ้าไม่พิจารณาก็ไม่เห็น ไม่เห็นก็ไม่กลัว ก็คือประมาทและโง่ ถ้าเกิดเห็นขึ้นมา อ้า, ก็จะสะดุ้งกลัวเป็นอย่างน้อย ก็เกิดความไม่ประมาท จัดการแก้ไข ให้สิ่งเหล่านี้เป็นไปในลักษณะที่พึงปรารถนา คือ อย่าให้เวลามันล่วงไป โดยไร้ประโยชน์ นี่เป็นข้อแรก จนกระทั่งมีความรู้สูงสุดอยู่เหนือเวลา ไม่ต้องมีความทุกข์ความร้อนอันเกี่ยวกับเวลา นี้มันสูงลึกขึ้นไปจนถึงกับว่าไม่ยึดมั่น ถือมั่นสิ่งใดด้วยกิเลสและตัณหา เวลาก็ทำอะไรคนชนิดนี้ไม่ได้ พูดกันง่ายๆ หน่อยก็พูดว่า เมื่อเราไม่ต้องการอะไรแล้ว เวลาก็ทำอะไรเราไม่ได้ ทุกคนก็จะมองเห็นไปเอง ถ้าเราเกิดไม่ต้องการอะไรขึ้นมา เวลาก็ทำอะไรเราไม่ได้ เพราะเราอยากได้นั่นได้นี่ เรากลัวนั่นกลัวนี่ เรากลัวตาย เราไม่อยากตาย อย่างนี้เวลาก็มีความหมายขึ้นมา ข่มขู่บุคคลนั้นให้มีความทุกข์ พระอรหันต์ท่านไม่มีตัวตน จึงไม่ได้กลัวตาย จึงไม่ได้อยากอยู่ เวลาก็เซ่อไปเอง หมายความเวลานั้น ทำอะไรพระอรหันต์ไม่ได้ นี่ผู้ที่ชนะเวลา มีแต่ผู้ที่ฆ่าตัณหาได้แล้วเท่านั้น ส่วนผู้ที่ตกอยู่ใต้อำนาจของตัณหาแล้ว ต้องเป็นเหยื่อของเวลา ให้เวลามันเคี้ยวกินเล่นไปตามเรื่องตามราว กว่าจะรู้สึกได้ถูกต้อง จะมาจัดการแก้ไขให้ชนะเวลาได้มากขึ้น มากขึ้นจนชนะโดยสมบูรณ์ เมื่อเรามานึกถึงเวลา แล้วก็สมมติว่าปีหนึ่งผ่านไปอีก ปีใหม่จะเข้ามา จะทำอย่างไรดี ให้สมกับการที่เวลามันเป็นอย่างนี้ ก็ตอบว่า จงทำให้ชีวิตนี้ เป็นพรอยู่ในตัวมันเองเถิด ให้ชีวิตนี้เป็นพรอยู่ในตัวมันเอง ก็คือมันดี ดีในการที่จะรู้ แล้วก็ปฏิบัติให้ได้ผลของการปฏิบัติ ฆ่ากิเลสตัณหาเสียให้ได้ แล้วเวลาก็ไม่มีความหมาย มีจิตใจที่บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง สงบ จนกว่าร่างกายนี้มันจะดับไป เมื่อร่างกายดับไปแล้ว เรื่องจิตใจก็เลิกกัน ไม่ต้องไปมัวตามหาว่ามันไปอยู่ที่ไหน เพราะมันไม่มีอะไรสำหรับให้เกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์โดยประการทั้งปวง ก็ควรจะพอกันที ทำจิตใจอย่าให้มีความทุกข์ได้ จนถึงวาระสุดท้าย นี่เรียกว่าเป็นพร อยู่ในตัวของมันเอง อย่างสูงสุด และประเสริฐที่สุด ที่มนุษย์ควรจะปรารถนา นี้เป็นเรื่องของเวลา สำหรับคนที่ไม่รู้นั้น เวลามันกัดเอากินเอา แต่สำหรับคนที่รู้จริงๆ แล้ว กลับกัดกินเวลา ทำลายเวลาให้ตายไปเสียอีก ให้หมดความหมายไปเสียอีก เรื่องมันตรงกันข้ามอยู่อย่างนี้ ในระหว่างคนที่รู้กับคนที่ไม่รู้ ทีนี้ เราทั้งหลายเป็นพุทธบริษัท เหมือนกับที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ว่าพุทธบริษัทนี้ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น และเบิกบาน พุทธบริษัทแปลว่ารู้ คือ รู้สิ่งที่ควรจะรู้ มันก็เหมือนกับคนไม่หลับ คนไม่รู้เหมือนกับคนหลับ ดังนั้น คนรู้ จึงเหมือนกับคนที่ตื่นอยู่ ลืมตาอยู่ มิใช่คนหลับ เมื่อรู้ และตื่นอยู่ ปฏิบัติอยู่ มันก็เบิกบาน ไม่ซบเซา ไม่หดเหี่ยว พุทธบริษัท แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ มีแต่ว่าเราจะต้องทำตนให้สมกับที่เป็นพุทธบริษัทเท่านั้น ดังนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายจงสำนึกถึงความเป็นพุทธบริษัทแห่งตน แล้วบำเพ็ญบุญกุศล ในโอกาสแห่งวันขึ้นปีใหม่นี้ ให้เหมาะสมเถิด ทุกอย่างก็จะเป็นไปด้วยดี สมแก่การที่เราเป็นพุทธบริษัท บำเพ็ญบุญกุศลเนื่องในวันขึ้นปีใหม่กันนี้ ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มี ด้วยประการฉะนี้