แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาเป็นปุบพาปรลำดับสืบต่อจากธรรมเทศนาที่ได้วิสัชนาแล้วในตอนกลางวันอันเป็นธรรมเทศนาเนื่องด้วยอาสาฬหบูชา กระทำกันเพื่อเป็นที่ระลึกแก่การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไปในป่าอิสิปตนมฤคทายวันใกล้เมืองพาราณสี ซึ่งถือกันว่าเป็นการแสดงธรรมเทศนาครั้งแรกจึงได้เรียกว่า “ปฐมเทศนา” และเป็นการแสดงราวกับว่าประกาศอาณาจักรแห่งธรรมขึ้นแล้วเป็นครั้งแรกในโลกนี้ พระธรรมนี้จึงได้ชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ในที่สุดก็เป็นการแสดงซึ่งธรรมอันเป็นเครื่องขจัดเสียซึ่งความมืดของชาวโลกให้รู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง ถ้าจะเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นการปฏิวัติ ก็เป็นการปฏิวัติอย่างยิ่งอย่างสูงสุดในทางจิตในทางวิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีการปฏิวัติครั้งใดจะใหญ่เท่าหรือมีประโยชน์มากเท่า ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ควรจะเข้าใจกันอย่างแจ่มแจ้งในหมู่พุทธบริษัทเรา การนำธรรมเทศนานี้มาบรรยายในโอกาสเช่นนี้ นับว่าเป็นการเหมาะสมเป็นการถูกต้องแก่โอกาสและยิ่งกว่านั้นก็ยังเป็นการสนองพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยการบูชาในลักษณะที่เป็นการปฏิบัติของการนี้
โอกาสนี้จะได้แสดงโดยหัวข้อว่า “อะนุตตรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตติตัง” อนุตตรธรรมจักรอันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงให้เป็นไปแล้ว
อัปปะฏิวัตติยัง อันใครๆจะตีโต้ให้ถอยกลับไม่ได้
สะมะเณนะ วา จะเป็นโดยสมณะก็ดี
พราหมะเณนะ วา จะเป็นโดยพราหมณ์ก็ดี
เทเวนะวา จะเป็นโดยเทวดาก็ดี
มาเรนะ วา จะเป็นโดยมารก็ดี
พรัหมุนา วา จะเป็นด้วยพวกพรหมก็ดี
เกนะจิ วา หรือว่าจะเป็นด้วยคน สัตว์ พวกไหนๆก็ดี
โลกัสมินติ ในโลกนี้
ข้อนี้มีใจความสำคัญว่า พระธรรมจักรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงให้เป็นไปแล้วนั้นไม่มีใครค้านได้ ไม่มีใครตีโต้ให้ถอยกลับได้ ไม่มีใครทำให้ล้มละลายไปได้ ในบรรดาบุคคลทั้งหลาย หรือเทพทั้งหลาย หรือพรหมทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ สรุปความอีกครั้งหนึ่งว่าเรื่องที่ทรงแสดงนี้ไม่มีใครมาพิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องที่เหลวแหลกหรือไร้สาระ หรือแม้แต่ว่ายังไม่สมบูรณ์ ในพระบาลีได้อ้างถึงบุคคลถึง ๕ จำพวก คือพวกสมณะก็ดี พวกพราหมณ์ก็ดี พวกเทวดาก็ดี พวกมารก็ดี พวกคนก็ดี เป็นลำดับกันไป ไม่มีพวกไหนที่จะมาโต้ทานพระพุทธวจนะนี้ได้ ท่านทั้งหลายจะต้องสังเกตดูให้ดี ว่าข้อความที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้มันหมายความว่าอะไร การที่พวกสมณะทั้งหลายในโลกนี้ไม่อาจจะคัดค้านข้อธรรมนี้ พวกพราหมณ์ทั้งหลายก็ไม่อาจจะคัดค้านข้อธรรมนี้ พวกเทวดาทั้งหลายก็ไม่อาจจะคัดค้านข้อธรรมนี้ พวกมารก็ไม่อาจจะคัดค้านข้อธรรมนี้ สูงสุดขึ้นไปถึงพวกพวกพรหมเป็นพวกสุดท้ายก็ไม่อาจจะคัดค้านข้อธรรมนี้ หรือว่าถ้าหากจะยังมีพวกใดนอกออกไปจากนี้อีกก็ไม่สามารถจะคัดค้านข้อธรรมนี้ การที่จะคัดค้านนั้นมีได้หลายอย่าง อย่างที่เราจะเห็นได้ง่ายๆก็คือว่า จะยกเหตุผลหรือการแสดงใดๆก็ดีมาหักล้างพระธรรมที่ทรงแสดงนี้ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลหรือแม้จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลก็ยังไม่สมบูรณ์
ถ้าจะให้เข้าใจเรื่องนี้ดีก็ต้องรู้ว่าบุคคลทั้ง ๕ จำพวกนี้มันเป็นอย่างไรกัน ทำไมต้องยกพวกสมณะขึ้นมาก่อนพวกอื่น นี้หมายความว่าพวกนักบวชทั้งหลายในโลกนี้ แม้จะเรียกตัวเองว่าสมณะก็เป็นเพียงการเรียกที่เรียกกันมาแต่กาลก่อนสืบๆกันมาเท่านั้น หาได้เป็นสมณะโดยแท้จริงไม่ ดังนั้น สมณะพวกนั้นจึงไม่สามารถจะรู้เห็นคุณค่าธรรมอันจะเป็นเครื่องดับทุกข์ได้จริง สมณะทั้งหมดนั้นจะมาคัดค้านข้อธรรมนี้คือ กล่าวคือ จตุราเวรยสัตว์ ๔ ประการนั้นได้ เพราะว่าสมณะทั้งหลายเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมไปตามลัทธิของตนเป็นอย่างอื่นไม่ตรงกันกับเรื่องอริยสัจทั้ง ๔ และยังเป็นเรื่องที่ไม่สำเร็จประโยชน์คือไม่ดับทุกข์ได้ สมณะทั้งหลายเหล่านั้นจึงไม่สามารถจะต้านทานหรือจะตีกลับซึ่งพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้แหลกลานไปได้
ทีนี้ก็มาถึงพวกที่สองคือพวกพราหมณ์ พวกพราหมณ์นี้ก็เป็นพวกคฤหัสถ์ครองเรือน แต่ว่าเป็นพวกนักศึกษา เป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมในทางศาสนาตามลัทธิแห่งตนแห่งตน มีอยู่เป็นอันมากในโลกนี้ โดยเฉพาะในเวลานั้นในประเทศอินเดียนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องประกอบพิธีเพื่อจะให้ได้มาซึ่งอิฐารมณ์ คือสิ่งที่เป็นที่รักที่พอใจตามปกติวิสัยของคนธรรมดาสามัญ เพราะความรู้เพียงเท่านั้นทำได้เพียงเท่านั้น ก็ไม่สามารถที่จะมาหักล้างบทพระธรรม คืออริยสัจทั้ง ๔ นี้ให้เห็นเป็นของเหลวไหลหรือไม่น่าอัศจรรย์ไปได้
ที่นี่ก็มาถึงพวกเทวดา พวกเทวดาในที่นี้หมายถึงเทวดาสามัญทั่วๆไป บางพวกก็แทบจะเลี้ยงตัวเองไม่ได้ และมีลักษณะเหมือนๆกันในข้อที่ว่าไม่ค่อยลำบากยากเข็ญอะไร เป็นอยู่อย่างสบายไปตามแบบของเทวดานานาแบบ ทุกๆตัวทุกๆตนของเทวดาเหล่านั้นยังเป็นผู้หลงใหลในกามารมณ์หรือจะเรียกว่าเป็นภาพของกามารมณ์อยู่อย่างไม่ลืมหูลืมตาก็ได้ ต่างจากพวกสมณะ ต่างจากพวกพราหมณ์ แม้ว่าพวกเทวดาทั้งหลายจะได้มีอะไรในลักษณะอย่างนี้ ก็ไม่มีความรู้ไม่มีสติปัญญาที่จะมาหักล้างเรื่องอริยสัจทั้ง ๔ได้ และถ้าพูดถึงเรื่องอริยสัจทั้ง ๔แล้ว พวกเทวดาทั้งหลายก็จะสะดุ้งสะเทือนเพราะว่าเป็นเรื่องที่สอนให้ละเสียซึ่งตัณหา ถ้าหากว่าละเสียซึ่งตัณหาแล้ว สวรรค์วิมานอะไรเหล่านั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไร สวรรค์วิมานมันมีค่าราคาอยู่ได้ก็เพราะว่ามันมีกิเลสตัณหาของคนที่บริโภคอยู่ นี้เทวดาก็ไม่มีปัญญาที่จะมาหักล้างบทพระธรรมคืออริยสัจทั้ง ๔ แม้จะมาพิสูจน์ว่าเป็นเรื่องที่ผิดก็ไม่มีหนทาง เป็นเรื่องที่ยังไม่เหมาะสมก็ไม่มีเหตุผลอะไรนอกจากจะเป็นการทำลายตัวเองหรือพิสูจน์ความเหลวไหลของตัวเอง จึงไม่มีเทวดาหน้าไหนที่จะกล้าออกมาคัดค้านบทพระธรรม คืออริยสัจทั้ง ๔
ทีนี้ก็มาถึงพวกมาร บางคนอาจจะไม่เข้าใจ เพราะคำว่า “มาร” นี้มันต่างจากพวกเทวดาอย่างไร และยังสงสัยอยู่ว่าทำไมจึงเอามารมาจัดไว้ในฐานะเป็นพวกที่ดีกว่าหรือยิ่งไปกว่าหรือสูงไปกว่าพวกเทวดา นี้ก็เป็นด้วยเหตุหลายประการ เช่นว่าเราได้รับคำอธิบายมาอย่างผิดๆจนเข้าใจไปว่า พวกมารนั้นคือพวกยักษ์ป่าดุร้ายกินเลือดกินคนอย่างที่ในหนังตะลุงหรือในยี่เก มันพูดกัน เล่นกัน คำว่า มาร ในที่นี้หมายถึงพวกเทวดาชั้นพิเศษ เทวดาชั้นที่สมบูรณ์ไปด้วยกามารมณ์ยิ่งกว่าพวกใด ข้อนี้ต้องระลึกนึกถึงคำว่า “ปรนิมมิตวสวัสตี” ซึ่งเป็นชื่อของสวรรค์ที่เป็นที่อยู่ของพญามาร สวรรค์ที่ต่ำลงไปกว่านั้นไม่มีความหมายมากเท่ากับสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัสตี คือเป็นจอมยอดแห่งเทวดาพวกกามาวจรทั้งหลายนั้นเอง คำพูดนั้นแสดงอยู่แล้วในตัว คือคำว่า ปรนิมมิตวสวัสตี มีอำนาจเป็นไปในสิ่งที่ผู้อื่นเนรมิตให้ หมายความว่ามีคนคอยช่วยทำให้ ช่วยบำรุงบำเรอให้ ราวกับว่าจะไม่ต้องเหยียดมือของตัวเอง เป็นกามารมณ์ชั้นสูงสุด จึงให้ชื่อมันว่ามาร คือมีอำนาจร้ายกาจในการที่จะผูกพันสัตว์หรือทำลายสัตว์ อย่างที่เราจะได้ยินจากหนังสือพระคัมภีร์ต่างๆว่า มารหรือพญามารที่มาผจญพระพุทธเจ้าในวันจะตรัสรู้นั้นเป็นพญามารที่มาจากปรนิมมิตวสวัสตี ไม่ได้มาจากสวรรค์ชั้นอื่น แต่มาจากสวรรค์ชั้นสูงสุดในพวกกามารมณ์ ถ้าจะให้แปลข้อความนี้เป็นธรรมาธิษฐาน ก็จะต้องแปลว่าความรู้สึกทางกามารมณ์อันสูงสุดนั้นได้เกิดมารบกวนพระหฤทัยอีกครั้งหนึ่งแล้วพระองค์ก็ทรงชนะได้ นี้คือความหมายของคำว่า มาร หมายถึงยอดของเทวดาและยอดสุดของสัตว์ประเภทกามาวจรทั้งหลาย
นี้ถัดไปจากนี้ สูงไปจากนี้ ก็คือพวกพรหม พวกพรหมนี้ไม่เกี่ยวกับกามคุณ จึงไม่จัดเป็นกามาวจร แต่จัดเป็นรูปวจรหรืออรูปวจร เป็นพวกเสวยสุขอยู่ด้วยความสงบเงียบ มีลักษณะเป็นฌาน เป็นสมาบัติ คือไม่รบกวนด้วยกามารมณ์แต่ประการใด แต่ก็ผูกพันจิตใจอยู่กับด้วยความสุขที่เกิดจากความสงบนั้นในฐานะเป็นความสุขของกู และมีตัวตนที่ยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูยิ่งกว่าพวกใดหมด นี่แหละเป็นแห่งใจความสำคัญของคำว่า “พรหม” ไม่บริโภคกาม ไม่มีกาม แต่ว่าหลงใหลอยู่ด้วยตัวกู พอได้รับได้รับความสุขสูงสุด ไม่มีความสุขอันใดจะยิ่งไปกว่าแล้วก็อยากจะอยู่เพื่อเสวยสุขอันนี้ตลอดกัปตลอดกัลป์ พอได้ยินคำว่า จะต้องดับเสียซึ่งศากยะ พวกพรหมทั้งหลายก็สะดุ้งกลัวจะหมดตัวหมดตนไปเสีย
ทีนี้ก็มาเปรียบเทียบกันดูทั้ง ๕ พวก พวกสมณะตามพื้นแผ่นดินนี้ก็หลงใหลแต่ในธรรมะของพวกสมณะ พวกพราหมณ์ในโลกนี้ก็หลงใหลไปตามแบบของชาวบ้านที่มีความรู้ดี พวกเทวดาก็หลงใหลในความสุขทางกามคุณ พวกมารก็หลงใหลในความสุขที่เป็นยอดสุดของกามคุณด้วยความรับใช้ ด้วยการรับใช้บำรุงบำเรอของคนอื่นตามที่จะทำได้อย่างไร ทั้งหมดนี้นับว่ายังเนื่องอยู่ด้วยกามคุณ ส่วนพวกพรหมนั้นสูงขึ้นไปจนถึงกับไม่เนื่องด้วยกามคุณ แต่เป็นเนื่องด้วยตัวตน คน ๕ พวกนี้ไม่อาจจะคัดค้านหรือโต้กลับต่อบทพระธรรมเรื่องอริยสัจของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้
ถ้าจะให้เข้าใจง่ายขึ้นไปอีกก็ลองนึกดู อย่างว่าเดี๋ยวนี้ พวกนักบวช พวกพระ พวกเณรสมัยนี้ มันก็ยังลุ่มหลงด้วยเรื่องของกิน ของเล่น ยศถาบรรดาศักดิ์ ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสหลายๆชนิดด้วยกัน จะมีปัญญาที่ไหนมาคัดค้านเรื่องอริยสัจทั้ง ๔ ประการนั้น มีแต่จะไม่เข้าใจแล้วก็พูดเพ้อๆไป เห็นว่าชวนชาวบ้านให้เข้าใจไปว่าเรื่องอริยสัจนี้มันเกินไปเสียแล้ว ไม่ได้อยู่ในระดับของคนธรรมดาสามัญควรจะไปสนใจหรือเอามาประพฤติปฏิบัติ ทว่าจะมีสมณะพวกไหนคัดค้านขึ้นมาอย่างนี้ มันก็จะพ่ายแพ้ภัยของตัวเอง มันเป็นคนโง่ คัดค้านสิ่งที่ตัวไม่รู้จักว่าเป็นอะไร ก็ไม่มีใครฟัง ไม่มีใครเชื่อ หรือถ้ายอมเชื่อก็กลายเป็นพวกที่โง่ไปด้วยกัน คนโง่เหล่านี้จะเอากำลังที่ไหนมาตีกลับต่อบทพระธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า นี้พวกพราหมณ์ก็คือพวกที่เขายกย่องนับถือเป็นครูบาอาจารย์อยู่ตามบ้านตามเมือง มันก็เป็นพวกรับจ้างชนิดหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ทำหน้าที่ยกจิตยกวิญญาณของตนให้สูงขึ้นมาได้เลย มีแต่จะทำให้หลงงมงายยิ่งขึ้นไปทุกที กลายเป็นวิธีของการอาชีพไป เมื่อเป็นดังนี้แล้ว พวกพราหมณ์ชนิดนี้จะเอาสติปัญญาไหนมาคัดค้านบทพระธรรมเรื่องจตุราริยสัจ พูดไปก็ไม่มีใครเชื่อ และก็ไม่มีปัญญาจะพูด ทีนี้ก็มาถึงพวกเทวดาหมายถึงคนบางคนในโลกนี้มันบังเอิญเกิดมามีโชคดี มีมรดกมากเป็นโอกาสที่จะได้กินได้เล่นไปตามภาษาของผู้มั่วเมาในกามารมณ์จนกว่าทรัพย์สมบัติจะพินาศหมดไป เมื่อยังไม่หมดมันก็เป็นเทวดาไปพลาง ลุ่มหลงอยู่ในกามารมณ์อย่างนี้ มันจะเอาสติปัญญาไหนมาคัดค้านบทพระธรรมเรื่องอริยสัจ แต่ความโง่ของมันนั่นเอง เมื่อพูดไป เมื่อคิดไป หาช่องนั้นช่องนี้มาคัดค้านบทพระธรรมว่าไม่มีสาระอะไร ยังไม่ควรสนใจ มากินมาเล่นมาหัว มากินมาดื่มมาร่าเริงเต็มที่ เพราะว่าพรุ่งนี้เราอาจจะตายเสียก็ได้ แล้วคำพูดชนิดนี้หรืออย่างไรที่มันจะมาคัดค้านหรือประท้วงบทพระธรรมคืออริยสัจทั้ง ๔ ได้ ถ้าพวกถัดไปที่ว่าเป็นพวกมาร ก็คือพวกที่โชคดีไปกว่านั้นอีก มีบุญภาคย์วาสนายิ่งไปกว่านั้นอีก ลุ่มหลงในกามารมณ์อย่างสุดเหวี่ยง ยิ่งกว่าของมึนเมาเสพติดใดๆ ก็ยิ่งไม่มีปัญญาอะไรที่จะมาคัดค้าน นอกจากจะอิจฉาริษยาต่อพระพุทธเจ้า เพราะถ้าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว เปิดเผยธรรมะข้อนี้แล้ว คนทั้งหลายก็จะหันไปหาพระพุทธเจ้า ไปนับถือไปบูชาพระพุทธเจ้า ไม่มีใครมาบูชาอยู่แทบเท้าของพญามาร พญามารขี้ริษยาเหล่านี้ก็เลยทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธเจ้า แต่แล้วมันก็ไม่มีสติปัญญา ไม่มีคุณธรรมอันใดที่แสดงให้เห็นได้ว่าเป็นคุณธรรมที่ดีกว่าความดับทุกข์ ตามบทพระธรรมในเรื่องอริยสัจทั้ง ๔ ประการ ทีนี้ก็มาถึงพวกพรหม ทว่าจะมาดูกันในโลกนี้ในแผ่นดินนี้ ก็หมายถึงพวกที่มีความสุขอยู่ด้วยฌานสมาบัติ ในบทที่กล่าวกันอยู่ ได้ยินกันอยู่ ว่าจำศีลกินวาตาเป็นผาสุกทุกคืนวัน หรือเข้าฌานนานนับเดือน ไม่ไปเยื้องเคลื่อนกายา จำศีลกินวาตาเป็นผาสุกทุกคืนวัน นี้ก็นับว่ามีคุณสมบัติสูงอยู่ในทางจิตใจ แต่ก็ไม่สติปัญญาอะไรที่จะมาเอาชนะความเกิด แก่ เจ็บ ตายได้ อย่าเข้าใจว่าจำศีลกินวาตาเป็นผาสุกทุกคืนวันแล้วมันจะเอาชนะความเกิด แก่ เจ็บ ตายได้ ถ้ามันยังมีความรู้สึกตัวกูของกูอยู่เพียงใด ความเกิด แก่ เจ็บ ตายก็จะมีความหมายอันร้ายกาจอยู่เพียงนั้น ทีนี้พวกที่ลุ่มหลงแม้ในความสุขที่เกิดจากฌาน จากสมาธิ ขนาดที่เรียกว่าจำศีลกินวาตาเป็นผาสุกทุกคืนวันนี่ อย่าได้เข้าใจไปว่ามันจะไม่มีตัวกูหรือของกู มันมีตัวกูที่เป็นสุข มันมีความสุขของกู สุขอย่างละเอียดประณีตดีกว่าคนอื่น พวกนี้ก็ยิ่งมีตัวกูมาก มันเป็นความเข้าใจที่ตรงกันข้ามกับหลักของพระพุทธศาสนาที่บอกว่าไม่มีตัวกู อย่างบทพระธรรมที่ถือว่าเป็นดวงตาแห่งธรรมก็แสดงอยู่แล้วชัดๆว่า ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา ความสุขที่เกิดจากฌานสมาบัตินี้ก็มีการเกิดเป็นธรรมดาแล้วมันก็ต้องดับไปเป็นธรรมดา ความรู้สึกว่าตัวกูผู้จำศีลกินวาตาเป็นผาสุกทุกคืนวัน ไอ้ตัวกูนี้มันมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดาตามความรู้สึกคิดนึกที่มาจากผัสสะ เสวยอารมณ์เป็นเวทนานั้น เมื่อมีการเกิดอย่างนี้มันก็ต้องมีความดับเป็นธรรมดา ฉะนั้นความสุขของพวกพรหมก็ดี ก็มีความเกิดเป็นธรรมดามีความดับเป็นธรรมดา ไอ้ตัวพวกพรหมเองนั้นก็ดี มันก็มีความเกิดเป็นธรรมดามีความดับเป็นธรรมดา มันก็เลยไม่มีอะไรที่จะเอาชนะความเกิด แก่ เจ็บ ตายได้ ต่อเมื่อได้เห็นธรรมะที่แท้จริงที่พระพุทธองค์ทรงแสดงอันเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าไม่มีตัวตนหรือของตน มีแต่การปรุงแต่งไปตามธรรมชาติของสิ่งซึ่งเป็นสังขตธรรมหรือสังขารธรรมคือมีเหตุมีปัจจัยเป็นเครื่องปรุงแต่ง ดังนั้นเป็นอันว่าทั้ง ๕ พวกนี้ คือพวกสมณะก็ดี พวกพราหมณ์ก็ดี พวกเทวดาก็ดี พวกมารก็ดี พวกพรหมก็ดี ไม่มีสติปัญญาหรือความสามารถอะไรจะมาทำการโต้ทานหรือตีกลับต่ออนุตตรธรรมจักรที่พระองค์ได้ทรงแสดงไปแล้ว
ขอให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณาดูให้ดีในข้อนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันนี้ คือวันที่ถือว่าเป็นวันเดียว เป็นวันเช่นเดียวกันกับวันที่ทรงแสดงพระธรรมจักร เพราะพวกเรามีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างไร เรากำลังหลงอยู่หรือว่าเรากำลังลืมตาอยู่ หรือจะถามอีกอย่างหนึ่งก็จะถามว่า เรากำลังเป็นคนพวกใดพวกหนึ่งในคนทั้ง ๕ พวกนั้นหรือเปล่า พวกบรรพชิต ภิกษุสามเณรในศาสนานี้หรือในศาสนาไหนก็ดี อย่าได้อวดดีไป จงชำระสะสางสอบสวนตัวเองดูว่าเรากำลังหลงอะไร หลงอย่างที่เรียกว่ามันตรงกันข้ามกับเรื่องของอริยสัจทั้ง ๔ นี้พวกครูบาอาจารย์ทั้งหลายในโลกนี้ก็ดูให้ดีว่ากำลังหลงอยู่ในความทุกข์ ในลักษณะที่กล่าวได้ว่าเห็นกงจักรเป็นดอกบัวอยู่หรือเปล่า วิชาความรู้ในโลกนี้ ในปัจจุบันนี้ ยิ่งวันก็ยิ่งไกลไปจากความดับทุกข์ ยิ่งฉลาดเพียงไรมันก็ยิ่งโง่ เพราะว่ามันฉลาดไปแต่ในทางที่จะโง่ คือฉลาดที่สุดแต่ในทางที่จะเป็นทาสของกิเลส คือทาสของตัณหา เป็นทาสของอวิชชา ครูบาอาจารย์ทั้งหลายในโลกนี้กำลังเป็นอยู่อย่างนี้ เราไปเป็นรวมกับเขาด้วยคนหนึ่งหรือเปล่า พวกเทวดาก็เหมือนกันหลงใหลในกามารมณ์โดยเฉพาะเรื่องระหว่างเพศ บางถิ่นบางแห่งเรียกว่าหลงกันจนเฟ้อ เป็นกามารมณ์เฟ้อ เรากำลังรวมอยู่ในพวกนั้นกับเขาด้วยคนหนึ่งหรือเปล่า หรือว่าเดี๋ยวนี้เรายังไม่มีโชคดี เรายังยากจนไปรวมกับเขาไม่ได้ แต่ก็กำลังชะเง้อหาหนทางที่จะไปรวมกับพวกเขาด้วยเหมือนกัน หรือจะเรียกว่าแม้ว่ามันยังไม่ได้เป็นเทวดา แต่มันก็อยากจะเป็นเทวดาอย่างเต็มกลั้น ถ้าพูดถึงพวกมารที่สมบูรณ์ด้วยกามคุณยิ่งไปกว่านั้นจนเป็นเจ้าแห่งกามารมณ์ คนก็ยิ่งหวังกันมากในโลกนี้ ก็แปลว่าพวกที่มีโอกาสได้บริโภคกามารมณ์ชั้นสูงนั้นก็คือพวกมารในความหมายนี้ หรือกำลังอยากจะเป็นพวกมารแต่ไม่รู้สึกตัวหรือไม่รู้จัก เพราะมันไม่รู้จักความหมายแห่งคำๆนี้ สิ่งที่เรียกว่ามารหรือซาตานหรืออะไรในศาสนาใดๆก็ตามมีความหมายเหมือนกันหมด คือสิ่งที่จะมาดึงจิตใจคนให้ไปลุ่มหลงอยู่แล้วก็เกลียดพระเป็นเจ้า นั่นแหละดูฤทธิ์เดชของมาร ถ้าผู้ใดกำลังหลงในลักษณะอย่างนี้ หลงเนื้อหนังจนเกลียดพระเจ้า เกลียดพระธรรม นั่นแหละคือพวกมารตัวเล็กตัวน้อย แล้วแต่โอกาสที่มันจะหลงไปมากเพียงไร นี้สำหรับพวกพรหมในสมัยนี้ก็ดูจะหายากเพราะว่าคนสนใจในเรื่องสมาธิหรือสมาบัติมีน้อยมาก ทำๆกันแต่พอเป็นพิธี มากไปกว่านั้นก็กลายเป็นอาชีพ ฟังแล้วก็น่าหัวว่าทำสมาธิหรือสอนสมาธิเพื่อเป็นอาชีพ มันก็เลยเป็นพวกพรหมที่ปลอม ไม่มีทางที่จะจำศีลกินวาตาเป็นผาสุกทุกคืนวันได้ ก็เลยไม่ต้องพูดกัน
ในปัจจุบันมันมีลักษณะอย่างนี้เสียแทบทั้งหมดก็ว่าได้ จึงเป็นอันว่าแม้ในปัจจุบันนี้ก็ไม่มีคนพวกไหนที่จะสามารถหักล้างบทพระธรรมเรื่องอริยสัจทั้ง ๔ ได้ แต่ก็พยายามหักล้างไปตามวิสัยแห่งคนโง่ เพราะมีความเห็นแก่ตนไม่อยากให้พระธรรมที่แท้จริงเกิดขึ้นหรือปรากฏออกมาในโลกนี้ โดยกลัวว่าโลกนี้จะหมุนไปเสียจากเรื่องของกิเลส ตัวบูชากิเลสถ้าเขาไม่นิยมกิเลสตัวก็หมดค่า ขอให้ทุกคนดูให้ดีอย่าเห็นว่าเป็นเรื่องประชดประชันอะไร ดูให้ดีว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า ก็ควรจะสลดสังเวชมากทีเดียวถ้าหากว่ามันกำลังเป็นจริงอยู่อย่างนี้ แต่บทพระบาลีธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น ท่านได้กล่าวไว้เป็นหลักกลางๆทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะสมัยนี้ สมัยนั้น หรือสมัยไหน จะกล่าวเป็นหลักกลางๆทั่วไปว่า อนุตตรธรรมจักรนั้นเป็นธรรมจักร เป็นธรรมาณาจักรของพระพุทธเจ้าอันสูงสุดที่ประกาศไปแล้ว ไม่มีคนพวกไหนจะโต้ทานได้ จะตีโต้ให้ถอยกลับได้ นี้คือข้อที่ควรจะสนใจ ถ้าพุทธบริษัททั้งหลายไม่เป็นพุทธบริษัทกันแต่ปาก แต่เป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง สนใจและเข้าใจเรื่องนี้แล้วก็จะมีปีติปราโมทย์เป็นอันมากเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันนี้ คือวันเช่นกับวันนี้ คือเป็นวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงยังอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไปในป่าอิสิปตนมฤคทายวันใกล้กรุงพาราณสี เราเอามากระทำอยู่ในใจ ระลึกนึกถึงอยู่ในใจ ก็เกิดปีติปราโมทย์ในข้อที่พระธรรมนั้นเป็นสิ่งที่สูงสุดสามารถดับทุกข์ได้จริง ไม่มีลัทธิของคนพวกใดชนิดใดจะยิ่งไปกว่า หรือแม้แต่จะเสมอกัน มีแต่จะต่ำกว่าหรือเลวกว่าอย่างที่เรียกว่าเอามาเปรียบกันไม่ได้ ยิ่งมองเห็นความจริงข้อนี้ก็จะยิ่งพอใจในการประกาศอนุตตรธรรมจักรของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็จะสมกับการที่เรามาตั้งพิธีอาสาฬหบูชาเป็นประจำทุกปีๆ ใครจะทำกันอย่างนี้หรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่ถ้าจะทำกันให้ถูกต้องมันควรจะทำกันถึงขนาดนี้ จึงได้เตือนแล้วเตือนอีกว่าอย่าทำสักว่าพอเป็นพิธีรีตองเลย ทำให้เกิดความหมายขึ้นมาอย่างแจ้มแจ่งในจิตใจของตนของตน มันก็จะเพิ่มในสิ่งที่ควรจะเพิ่ม คือศรัทธา เป็นต้น ในพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นให้มากยิ่งขึ้นไป แล้วก็จะได้ขวนขวายที่จะศึกษาและปฏิบัติตามให้ยิ่งขึ้นไป ก็จะเกิดสติปัญญาที่แก่กล้าสามารถจะได้รับผลจากบทพระธรรมคืออริยสัจทั้ง ๔ นั้นได้ ดังนั้นควรจะพิจารณาบทพระธรรมทั้ง ๔ นั้นกันอีกบ้างตามสมควรในปริยายใดปริยายหนึ่งตามที่โอกาสจะอำนวยในเวลานี้
บทพระธรรมทั้ง ๔ เป็นการแสดงเรื่องความทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับสนิทแห่งความทุกข์ หรือเรื่องหนทางที่จะให้ถึงความดับสนิทแห่งความทุกข์ สำหรับเรื่องความทุกข์นั้นทรงแสดงไว้ในลักษณะที่เป็นความรู้สึกที่ประกอบอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่นอันเป็นไปในสังขารธรรมทั้งปวง ซึ่งแบ่งออกได้เป็นสองฝ่าย ที่เป็นภายในก็เช่น ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ถ้าไปยึดมั่นมาเป็นของตน ความเกิด แก่ เจ็บ ตายนั้นก็เป็นความทุกข์ขึ้นมาทันที แล้วตามธรรมดาคนทั้งปวงก็ยึดมั่นถือมั่นอยู่แล้วโดยไม่รู้สึกตัว คือยึดมั่นถือมั่นว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นต้นนี้ แต่ละอย่างนี้มันเป็นของเรา มันเกิดแต่เรา มันทำอันตรายเรา ดังนั้น เราจึงกลัวและเป็นทุกข์ แต่ถ้าอย่ายึดมั่นถือมั่นเสียอย่างเดียวเท่านั้น มันก็เป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติล้วนๆเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีความหมายเป็นความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ทำให้เกิดความทุกข์หรือความกลัว เช่น พระอรหันต์ทั้งหลายก็มีอัตภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงเป็นความแก่ชรา ความเจ็บไข้ และความตาย แต่ก็ไม่มีความหมายเป็นความทุกข์ เพราะท่านไม่ได้ยึดมั่นเอาความเกิด แก่ เจ็บ ตายมาเป็นของตัว นี้เรียกว่าที่เป็นภายในก็ยึดถือความเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นของตัวแล้วก็ได้เป็นทุกข์ กระทั่งยึดถือความรู้สึกคิดนึก เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่าเป็นของตัว มันก็เป็นทุกข์ ยึดถือร่างกายนี้ว่าร่างกายของตนมันก็เป็นทุกข์ ที่เป็นภายในอย่างนี้เป็นทุกข์ก็เพราะความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของตัว
ที่เป็นภายนอก เช่น ทรัพย์สมบัติ แก้วแหวนเงินทอง บุตรภรรยาสามี หรืออะไรก็ตาม เมื่อยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของตัวมันก็ต้องเป็นทุกข์ มันบีบคั้น กดทับอยู่ที่จิตใจมันก็เป็นทุกข์ ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นแม้มีเงินสักบาทเดียว มันก็ต้องเป็นทุกข์ ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่น แม้จะมีเงินตั้งหมื่นตั้งแสนตั้งล้านมาอยู่ในอาณัติของตนหรือการปกครองของตนก็ไม่เป็นทุกข์ นี้มุ่งหมายที่ชี้ให้เห็นว่าถ้าไปยึดถือกันแล้วมันก็เป็นทุกข์ แล้วก็เป็นทุกข์ชั่วเวลาที่ยึดถือเท่านั้น เงินเป็นอันมากที่มีอยู่ มันก็มีอยู่สักแต่เป็นไปตามเรื่องตามราวของมนุษย์ที่จะต้องหาต้องมีมาต้องใช้สอย เวลาใดไปเกิดนึกเป็นของตน มันก็เกิดความกลัวความระแวงว่าจะสูญหายไป หนักอกหนักใจมันก็เป็นทุกข์ เมื่อใดไม่ได้นึกถึงมันเลย มันก็ไม่เป็นทุกข์ เดี๋ยวมันก็กลับมาเป็นทุกข์อีกเพราะหวนกลับไปยึดถืออีก กลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ ด้วยอำนาจของการที่บางเวลาก็ยึดถือ บางเวลาก็ไม่ยึดถือ ถ้าเกิดยึดถือขึ้นมาเมื่อใดก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น พอสลัดออกไปเสียจากจิตใจได้เมื่อใด มันก็ไม่มีความทุกข์เมื่อนั้น ไอ้เงินมันก็ยังวางอยู่ที่นั้นหรือฝากไว้ในธนาคารมันก็ยังมีอยู่ที่นั่น เดี๋ยวก็เป็นทุกข์แก่จิตใจ เดี๋ยวก็ไม่ทุกข์แก่จิตใจ มันแล้วแต่ว่าเจ้าของมันจะโง่มากโง่น้อยเท่าไรสำหรับจะไปยึดถือหรือจะไม่ยึดถือ
เพราะฉะนั้นพระองค์จึงทรงแสดงเป็นบทสรุปท้ายไว้ว่า สังขิเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ขันธ์ทั้งหลาย ๕ ที่กำลังมีความยึดถือนั้นเป็นตัวทุกข์ ทีนี้ทำไม่ยังพูดถึงขันธ์ทั้ง ๕ ก็เพราะว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ที่เนื่องกันอยู่กับมนุษย์นี้ มันไปสรุปลงไปได้ที่ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างว่าเป็นเงิน เป็นทรัพย์สมบัติ มันไม่มีค่า ไม่มีความหมายอะไร ถ้าหากว่ามันไม่มีความรู้สึกอยู่ในจิตใจว่าเงินนี้ของกู พอยึดถือว่าเงินนี้ของกูเท่านั้น นั่นก็คือสัญญาขันธ์ที่ได้เกิดขึ้นแล้วด้วยความสำคัญมั่นหมายว่าเงินนี้ของกู ความสำคัญว่าเงินนี้ของกูได้ถูกยึดมั่นแล้ว สัญญาขันธ์นั้นก็เป็นตัวความทุกข์อย่างนี้เป็นตัวอย่าง สำหรับเรื่องร่างกายนี้ก็อย่างเดียวกัน เป็นรูปขันธ์ ยึดถือเข้ามันก็เป็นทุกข์ ของภายนอกทรัพย์สมบัติที่เป็นวัตถุสิ่งของพอยึดถือเข้ามันก็เป็นทุกข์ เรียกว่ารูปขันธ์ ข้างนอกรูปขันธ์ ข้างในยึดถือเมื่อไรเป็นความทุกข์เมื่อนั้น นี้เวทนานี้เป็นที่รวมของค่า ของสิ่งที่คนรักหรือพอใจ ถ้าเรามีอะไรเป็นที่รักที่พอใจมันก็ให้เกิดความสุขเวทนา เกิดสุขเวทนา ยึดถือความสุขเวทนานี้เป็นของกูแล้วมันก็มีความทุกข์ สังขารขันธ์เป็นความคิด มันยึดถือเป็นความคิดของกู มันก็มีความทุกข์ เช่น ที่คนหวาดระแวงอยู่เสมอว่าสิ่งที่เราคิดไว้นั้นมันจะไม่เป็นไปตามความปรารถนาของเรา สำหรับวิญญาณขันธ์นั้น ถ้าหมายถึงจิตใจก็เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือว่าตัวตน มันก็ยิ่งเป็นทุกข์หนัก ถ้าหมายถึงเพียงสักว่าวิญญาณที่รู้แจ้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ยังมีทางที่จะยึดถือเป็นตัวตนของตน เพื่อจะรู้แจ้งในลักษณะที่เป็นที่พอใจของตน เมื่อไม่พอใจของตนมันก็ต้องเป็นทุกข์ ไม่ได้อย่างใจมันก็ต้องเป็นทุกข์ อย่างที่ว่าตาของเราไม่ค่อยจะเห็น หูของเราไม่ค่อยจะได้ยิน ก็เพราะว่าสิ่งที่เนื่องด้วยวิญญาณขันธ์นี้มันกำลังเรรวนปรวนแปร มันก็ต้องเป็นทุกข์ แต่ถ้าอย่าไปยึดถือว่ากูว่าของกู ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติของธรรมชาติ มันก็ไม่เป็นทุกข์เหมือนกัน มันจะหัวเราะเยาะได้
นี้ขอให้จับใจความสำคัญของบทพระธรรมบทแรกคือเรื่อง “ความทุกข์” นั้น ว่าพระองค์ทรงสรุปไว้ในคำว่าขันธ์ทั้ง ๕ ที่กำลังประกอบด้วยความยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละเป็นตัวทุกข์ จะจำแนกออกมาเป็นอะไรก็ได้ คือเป็นความรู้สึก เป็นความเกิด แก่ เจ็บ ตายอะไรก็ได้ ที่เป็นวัตถุ ทรัพย์สมบัติ สิ่งของ เงินทอง อะไรก็ได้ ยึดมั่นแล้วก็ย่อมเป็นทุกข์ เดี๋ยวนี้ความสำคัญมันอยู่ที่ความทุกข์ ถ้าไม่มีความทุกข์ก็ไม่มีปัญหา นี้เป็นสิ่งที่ต้องคิดดูให้ดีๆ บางทีมันอาจจะพรางตาให้เข้าใจผิดไปได้ คือข้อที่ถือว่าถ้ามันไม่มีความทุกข์ คือมันไม่เป็นความทุกข์ แล้วมันก็ไม่ควรจะถือว่าเป็นปัญหา เดี๋ยวนี้มันเป็นปัญหาถึงขนาดที่เราทนอยู่ไม่ได้ มันก็ทนอยู่ไม่ได้ควรเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดทุกข์ เรื่องของความทุกข์มันมีความสำคัญอย่างนี้
นี้เรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องอริยสัจที่ ๒ ก็คือ “เหตุให้เกิดทุกข์” ได้ทรงแสดงเหตุให้เกิดทุกข์ก็ได้แก่ ตัณหาทั้ง ๓ ประการ คือ กามตัณหา ความอยากในกาม ภวตัณหา ความอยากในภพคือความมีความเป็น วิภวตัณหา ความอยากในวิภพคือความไม่มีไม่เป็น ๓ อยากนี้เป็นที่เกิดของความทุกข์ สำหรับคำว่า “อยาก” อยากในที่นี่เป็นคำพิเศษ เป็นคำในพระศาสนาหมายความว่า มันอยากด้วยอวิชชา มันอยากด้วยความโง่ ซึ่งอยากแล้วก็ต้องยึดมั่นถือมั่น ส่วนในภาษาไทยเรานี้เมื่อพูดว่าอยาก อยากแล้วก็มันยังกำกวม อยากด้วยความโง่ก็ได้ อยากด้วยความฉลาดก็ได้ อยากด้วยความรู้อันแท้จริงก็ได้ ส่วนความอยากที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้น มันเป็นความอยากเพราะความโง่ ถ้ามันไม่ได้อยากด้วยความโง่แล้วก็ไม่ได้เรียกว่าตัณหา เมื่อไม่เป็นตัณหา มันก็ไม่เป็นเหตุแห่งความทุกข์ เข้าใจกันเสียดีๆว่าถ้าความอยาก ความต้องการนั้นมันไม่ได้เป็นทุกข์ไปเสียหมด มันเป็นทุกข์ต่อเมื่อเฉพาะมันอยากด้วยความโง่ ถ้ามันอยากด้วยสติปัญญาแล้ว มันอยากจะดับทุกข์ มันอยากจะแก้ไขความทุกข์ให้หมดสิ้นไป เช่น รู้จักความทุกข์แล้วก็อยากจะดับทุกข์ ความอยากอย่างนี้ไม่ใช่ตัณหา แต่ความอยากต้องการนั้นต้องการนี้ไปตามความหลงใหลในทางของอวิชชา นั่นแหละเป็นตัณหา บางคนก็สอนคนอื่นว่า ถ้ามีอยากขึ้นมาแล้วก็เป็นความโลภไปหมดนั้น มันไม่จริง ตามหลักของธรรมะนั้นต้องอยากด้วยความโง่จึงจะเป็นความโลภ ถ้ามันอยากหรือต้องการด้วยความรู้แจ้งเห็นจริงแล้วมันไม่เป็นความโลภ แต่มันเป็นความอยากที่จะกำจัดความโลภเสีย ฉะนั้นการที่เราอยากจะทำหน้าที่ของเราตามสมควรแก่หน้าที่ของเรานั้น มันไม่ใช่ตัณหา แต่ถ้ามันโง่ว่าเราจะหานั้นหานี้มาบำรุงบำเรอกิเลสของเราด้วยการงานนั้นๆ ความอยากนั้นมันก็เป็นความโลภหรือเป็นตัณหาไปได้ แต่ละวันๆคนเราก็อยากนั่นอยากนี่ อยากจะทำงานในหน้าที่ เป็นต้น มันก็ต้องดูให้ดีว่า มันอยากด้วยความโง่หรือว่ามันอยากด้วยความฉลาดรู้แจ้งเห็นจริง ในการที่จะถือว่ามนุษย์เรานี้มันอยู่นิ่งไม่ได้ มันมีหน้าที่ที่จะต้องทำ ทำหน้าที่ให้สมบูรณ์นั่นแหละ มันจะแก้ปัญหาทั้งหมดได้รวมทั้งการดับทุกข์โดยสิ้นเชิงด้วย หน้าที่ตามวิสัยบ้านเรือนก็จะต้องทำไปเพื่อให้ร่างกายนี้มันอยู่ได้ หน้าที่ตามทางของธรรม ธรรมะหรือศาสนาก็ต้องทำ เพื่อให้จิตใจมันอยู่ได้อย่างเป็นปกติสุข เพราะร่างกายก็เป็นปกติสุขจิตใจก็เป็นปกติสุขแล้วก็ควรจะถือว่ามันถูกต้องแล้ว ทุกคนมีหน้าที่อย่างนั้นก็ทำหน้าที่ของตน แม้จะรู้สึกอยากหรือต้องการจะทำบ้าง ความอยากอันนี้ไม่ใช่ตัณหา ไม่ใช้ความโลภ เมื่อสอนกันผิดๆแล้วก็เข้าใจผิดว่าถ้าอยากแล้วเป็นความโลภไปหมด ก็เลยไม่อยากทำอะไร ไม่กล้าทำอะไรก็พาลหาเรื่องเอากับพระพุทธศาสนาว่าสอนผิดๆ สอนให้คนไม่ทำอะไร เป็นเรื่องถ่วงความเจริญของโลกอย่างนี้ไปเสียอีก นั่นมันเป็นคนโง่ที่กล่าวตู่พระพุทธศาสนา ซึ่งไม่ได้สอนอย่างนั้นเลย นี่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงความอยากที่เรียกว่าตัณหา เป็นความอยากที่มาจากอวิชชาว่า นั่นแหละเป็นต้นเหตุให้เกิดความทุกข์ จงรู้จักควบคุมความอยาก อย่าให้มันเป็นความอยากของความโง่ให้มันเป็นความอยากของสติปัญญาอยู่ตลอดเวลาเทอญ ความทุกข์ก็จะไม่มี
ทีนี้ก็ทรงแสดงอริยสัจที่ ๓ เรียกว่า “ทุกขนิโรธ” คือความดับสนิทแห่งตัณหานั้นแห่งความทุกข์นั้น ความดับสนิทแห่งความทุกข์นั้นก็คือ ความดับสนิทแห่งตัณหานั่นเอง อย่าให้ตัณหาเกิดขึ้นมาได้จะเรียกว่า ความดับสนิทแห่งตัณหาก็เป็นการดับแห่งความทุกข์ ดับได้เท่าไรก็ดับทุกข์ได้เท่านั้น ดับได้เวลาไหนก็ดับทุกข์เวลานั้น ถ้าดับได้เด็ดขาดไม่กลับมาอีก มันก็ดับทุกข์ได้สิ้นเชิงเป็นการบรรลุมรรคผลนิพพาน
ทีนี้อริยสัจที่ ๔ ก็ทำอย่างไรจึงจะดับมันได้ในลักษณะเช่นนั้น ก็ได้ตรัสไว้โดยหลักที่เรียกว่า “อัตถังคิกมัค” คือหนทางอันประกอบด้วยองค์ ๘ สรุปแล้วก็คือ ความถูกต้องทั้ง ๘ เป็นอยู่ด้วยความถูกต้องทั้ง ๘ นั่นแหละตัณหาจะไม่เกิดได้ ข้อแรก “สัมมาทิฐิ” มีความคิดเห็น ความเข้าใจ ความเชื่ออะไรก็ตามถูกต้อง ว่าอะไรเป็นอย่างไรตามที่เป็นจริงกระทั่งรู้เรื่องอริยสัจนั่นแหละ คือการคิดเห็นที่ถูกต้องหรือความเชื่อที่ถูกต้อง ถัดไปก็คือความถูกต้องของความปรารถนาเรียกว่า “สัมมาสังกัปโป” อะไรควรปรารถนา อะไรไม่ควรปรารถนา เมื่อปรารถนาแต่ที่ควรปรารถนา ก็คือปรารถนาที่จะดับตัณหานั้นเสีย หรือคิดไปในทางที่จะดับตัณหานั้นเสีย แจกลูกออกไป ก็คือความปรารถนาในการที่จะดับความรู้สึกที่เป็นไปในทางกาม ในทางพยาบาทหรือในทางเบียดเบียนตามที่ความคิดความเห็นหรือความเชื่ออันถูกต้องมันแสดงอยู่แล้ว ว่ามีอย่างไร จะต้องทำอย่างไร รู้จักปรารถนาใฝ่ฝันไปแต่ในทางที่ถูกต้อง ความถูกต้องที่ ๓ เรียกว่า “สัมมาวาจา”นี้ มีการพูดจาอยู่อย่างถูกต้อง มีรายละเอียดซึ่งทราบกันดีอยู่แล้ว ความถูกต้องที่ ๔ “สัมมาสัมมันโต” คือมีการประพฤติกระทำในทางร่างกายอย่างถูกต้อง มีรายละเอียดเท่าที่ทราบกันอยู่แล้ว “สัมมาอาชีโว” เลี้ยงชีวิตหรือดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง นี้ก็มีรายละเอียดอย่างที่ทราบกันอยู่แล้ว มันเป็นศีลธรรมขั้นต้นๆที่ควรจะทราบได้ ที่องค์ที่ ๖ ก็คือ “สัมมาวายาโม” เป็นเรื่องทางจิตใจเป็นความรู้สึกของจิตใจที่จะบากบั่นหรือจะพากเพียรอย่างถูกต้อง โดยหลักใหญ่ๆที่ว่าละไอ้ที่ควรละ แล้วก็เจริญในที่ควรเจริญ ก็ระวังไม่ให้ความชั่วมันเกิดขึ้นมา ทำให้ความดีมันเกิดขึ้นแล้วก็รักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้ว นี้เรียกว่าเป็นความพากเพียรอยู่อย่างถูกต้อง ความถูกต้องที่ ๗ เรียกว่า “สัมมาสติ” ระลึกอยู่อย่างถูกต้อง นี้หมายความว่ามีความรู้ ความเข้าใจในสิ่งที่ควรจะรู้ควรจะเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว เอามาระลึกอยู่เป็นประจำเพื่อให้จิตสงบบ้าง เพื่อให้จิตแจ่มแจ้งบ้าง เรียกว่า สัมมาสติ ความถูกต้องสุดท้ายเรียกว่า “สัมมาสมาธิ” คือดำรงจิตมั่นอยู่ในสภาพที่ถูกต้อง คือในสภาพที่กิเลสรบกวนไม่ได้ และเป็นความสุขสบายอยู่ในตัวมันเอง และมีความแคล่วคล่องว่องไวในการจะทำหน้าที่การงานทางจิตทางใจ อย่างนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ เป็นความถูกต้องสุดท้าย
ความถูกต้องทั้ง ๘ ประการนี้มีอยู่อย่างสมบูรณ์ และเนื่องเป็นสายเดียวกันในการทำหน้าที่ของมัน ที่เรียกว่า อัตถังคิกมัค คือหนทางอันประกอบไปด้วยองค์ ๘ ถ้าเป็นอยู่ในลักษณะนี้ เรียกว่าเดินอยู่ในทางนี้กิเลสตัณหาเกิดไม่ได้ ตัณหาเกิดไม่ได้ความทุกข์ก็เกิดไม่ได้ เป็นความดับสนิทแห่งความทุกข์อยู่ตลอดเวลา ในที่สุดก็จะมองเห็นได้ว่า เรื่องทั้ง ๔ นี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เป็นเรื่องที่ควรจะรู้หรือต้องรู้ เรียกว่า “อริยสัจ” เป็นความจริงอันประเสริฐ ถ้ารู้แล้วจะดับทุกข์ได้ มีอยู่กัน ๔ หัวข้อคือ เรื่องความทุกข์หนึ่ง เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์หนึ่ง เรื่องความดับสนิทแห่งความทุกข์หนึ่ง เรื่องทางถึงความดับสนิทแห่งความทุกข์หนึ่ง แล้วก็ลองคิดดูสักแวบหนึ่งเถิดว่า มันจะเป็นเรื่องที่ประเสริฐวิเศษสักเท่าไร มันจะเป็นเรื่องที่อยู่เหนือลัทธิคำสอนอื่นๆใดๆมากสักเท่าไร มันจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าเรื่องของสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหมเหล่าอื่นหรือไม่ พวกสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหมเหล่าอื่นจะเอาเหตุผลอันไหนมาคัดค้านไอ้เรื่องทั้ง ๔ นี้ นี่แหละท่านจึงกล่าวไว้โดยบทพระบาลีที่ได้ยกขึ้นมาแสดงเป็นหัวข้อในที่นี้ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงยังอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไปถึงพวกสมณะ พวกพราหมณ์ พวกเทวดา พวกมาร พวกพรหม ไม่สามารถจะโต้ทานได้ คือเป็นผู้พ่ายแพ้ไปหมด ยอมสละลัทธิเดิมๆของตนหันมานับถือพระพุทธศาสนาในที่สุด ที่เป็นมิจฉาทิฐิ ไม่ยอมกลับตัว ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ก็คงเป็นมิจฉาทิฐิไป แต่พวกที่มีบุญอยู่บ้าง มีโชคดีอยู่บ้าง ก็พอจะเกิดความเข้าใจว่านี้เป็นเรื่องที่ประเสริฐที่สุด สมกับที่เรียกว่า อริยสัจหรือจตุราริยสัจ คือความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ
ขอให้ท่านทั้งหลายประมวลความรู้สึกต่างๆที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มาพิจารณาดูให้ดีอีกครั้งหนึ่ง เพราะในวันเช่นวันนี้ พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงกระทำอย่างที่ว่านี้แล้วจะไม่ให้ถือว่าวันเช่นวันนี้เป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนาได้อย่างไร ควรจะพอใจในการที่ได้กระทำอาสาหฬบูชา แล้วก็ไม่ทำเปล่าสักว่าเป็นพิธีรีตอง แต่กระทำโดยการหยิบยกขึ้นมาพินิจพิจารณา เป็นการซักซ้อม เป็นการฝึกฝน หรือเป็นการลับให้ใหม่ ให้สะอาดของความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งเราจะต้องทำกันทุกๆปี นี้ก็เป็นปริยายอันหนึ่งคือแง่หนึ่งมุมหนึ่งที่จะเอามาวิสัชนาให้ฟังได้ในหลายๆแง่หลายๆมุม ซึ่งไม่สามารถเอามาวิสัชนาในโอกาสเดียวกันได้เพราะมันมากเกินไป ฉะนั้นปีหนึ่งเราก็พิจารณากันในแง่หนึ่งมุมหนึ่ง ปีหนึ่งก็พิจารณากันในแง่หนึ่งมุมหนึ่ง เป็นปีๆไป คงจะยิ่งเข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นทุกที ขอให้ตั้งหน้าตั้งตาทำในลักษณะเช่นนี้ หรือแม้แต่จะพูดด้วยคำว่าจงอยากในการที่จะทำเช่นนี้เถิด มันไม่เป็นกิเลสตัณหาอะไร แต่มันการอยากที่จะดับเสียซึ่งความทุกข์ หรือดับเสียซึ่งตัณหานั่นเอง ให้การกระทำอาสาฬหบูชาก็ดี มาฆบูชาก็ดี วิสาขบูชาก็ดี ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วมันจะเป็นไปเพื่อโอกาสอันดีสำหรับจะเข้าใจเรื่องจตุราริยสัจทั้ง ๔ นี้เป็นแน่นอน หมายความว่าท่านทั้งหลายคงจะมีความรู้สึกเป็นปีติปราโมทย์ในเหตุการณ์ของวันนี้ คือวันอาสาฬหบูชานี้ แล้วก็มีกำลังของปีติปราโมทย์นั้นมากพอที่จะข่มขี่เสียได้ซึ่งความง่วงเหงาหาวนอน ซึ่งแม้ว่าถ้าหากว่าเราจะต้องอยู่กันจนตลอดรุ่งก็ไม่รู้สึกง่วงเหงาหาวนอน เพราะว่าพระพุทธคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ดี ของพระธรรมคืออนุตตรธรรมจักรนี้ก็ดี หรือของพระสงฆ์คือผู้ที่ช่วยกันสืบต่ออายุของอนุตตรธรรมจักรนี้ก็ดี ก็ต้องมีกำลังมากที่จะครอบงำจิตใจของเราให้แจ่มใสสดชื่นรื่นเริงอยู่เสมอไม่ต้องง่วงเหงาหาวนอนเหมือนกับที่เราเคยทำกันมาแล้วในปีก่อนๆ ในการทำการบูชาเป็นพิเศษเช่นนี้แล้วก็ทำได้ด้วยความรู้สึกที่ตื่นอยู่เสมอไม่เกี่ยวกับความหลับ แต่ถ้าไม่เข้าถึงพระคุณดังที่กล่าวมาแล้ว มันก็จะต้องง่วง มันก็จะต้องหลับ มันต้องทนไม่ได้ เพราะว่ารู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์น้อยเกินไป ไม่ทำให้มีจิตใจสว่างไสวสดชื่นอยู่ได้ด้วยพระคุณอันนั้น
นี้จึงเอามากล่าวให้เป็นหนทางสำหรับจะเกิดความคิดนึกรู้สึกทำจิตใจให้แจ่มใส ต่อสู้กับความง่วงเหงาได้ แม้ว่าจะต้องอยู่ตลอดเวลาราตรี ก็พระธรรมจักรนี้ประเสริฐเมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงให้เป็นไปแล้ว ไม่มีสมณะ หรือพราหมณ์ หรือเทวดา หรือมาร หรือพรหมผู้ใดที่ไหนจะมาตีโต้ให้หมุนกลับได้ มีนัยดังที่วิสัชนามาพอสมควรแก่เวลา ขอยุติธรรมเทศนาไว้แต่เพียงนี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้