แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาเนื่องด้วยอาสาฬหบูชาสืบต่อจากธรรมเทศนาในตอนหัวค่ำเป็นลำดับไป เพื่อส่งเสริมสติปัญญาวิริยะและความพากเพียรของท่านทั้งหลายให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนานี้เนื่องด้วยการแสดงธัมจักกัปปวัตนสูตร ตรงกับเรื่องของอาสาฬหบูชาที่เราทั้งหลายได้เสียสละทำให้มีขึ้นในวันเช่นวันนี้ตลอดวันหนึ่งและคืนหนึ่ง เพราะว่ามีการเสียสละมากออกไปเป็นพิเศษอย่างไร ก็ถือว่าเป็นการบูชาในส่วนปฏิบัติบูชาให้ยิ่งขึ้นไปเนื่องในโอกาสนี้
ท่านทั้งหลายคงจะได้รู้สึกได้โดยไม่ต้องเชื่อตามคนอื่นว่าการที่จะต้องทำอะไรเกินเวลา โดยเฉพาะอย่างเวลากลางคืนอย่างนี้ มันก็ต้องฝืนหรือต้องทน ถ้าเรื่องนี้ไม่สนุกก็ยิ่งต้องทนมากกว่าธรรมดา หรือถ้าเรื่องนี้ไม่ครอบงำความรู้สึกอย่างรุนแรง มันก็ง่วงและก็ต้องทนยิ่งกว่าธรรมดา อย่างว่าเล่นไพ่กันตลอดทั้งคืนมันสนุก มันก็ไม่ต้องทน ก็อยู่ได้ หรือว่าถ้ามันมีเรื่องสำคัญ เช่น มารดาบิดาจะตายลงไปเดี๋ยวนี้แล้ว ท่านก็ไม่ง่วง ก็อยู่ปรนนิบัติพยาบาลตลอดคืนได้ เพราะว่ามันมีสิ่งที่เร้าใจหรือเร้าความรู้สึกเหมือนเมื่อสักครู่นี้ สุนัขได้ยินเสียงระฆังก็ทนอยู่ไม่ได้ก็ต้องหอน ก็ต้องครางกันเป็นการใหญ่ เพราะว่ามันครอบงำความรู้สึกด้วยเสียงระฆังนั้น นี้ขอให้สังเกตดูว่าความรู้สึกนี้มันก็มีมากหรือน้อยยืดหยุ่นได้ตามอารมณ์ที่มากระทบ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันอยู่แล้วว่ามันเป็นความรู้สึกที่ลึกซึ้งแก่จิต หรือต้องมีผลทางจิตบ้างเป็นธรรมดา ถ้าผู้ใดทนได้มันก็ต้องมีผลผิดไปจากคนที่ทนไม่ได้ แม้การทนอยู่อย่างดึกๆดื่นๆกระทั่งสว่าง ถ้าทนได้ด้วยใจคอที่ปกติ มันก็ย่อมแสดงว่าจิตของบุคคลนั้นผิดจากจิตของบุคคลที่ทนไม่ได้
สิ่งที่มากระทำแก่จิตนี่มันไม่ใช่เรื่องของปัญญาก็จริง แต่ก็มีผลที่จะบีบคั้นกิเลสได้ไม่แพ้แก่กำลังของปัญญาเลย ดังนั้น จึงมีคำเกิดขึ้นใช้ในทางธรรมเป็น ๒ คำอยู่ คือคำว่า “เจโตวิมุตติ” กับคำว่า “ปัญญาวิมุตติ” ซึ่งถ้าไม่สนใจกันให้เป็นพิเศษแล้วก็ไม่อาจจะเข้าใจได้ว่ามันต่างกันอย่างไร คงได้แต่บอกๆกันมา ทั้งที่ไม่เข้าใจก็เอามาพูดได้ ในตัวอย่างอันนี้อาจจะเข้าใจได้ง่าย การครอบงำกิเลสด้วยอำนาจของจิต ถ้าใครครอบงำความง่วงได้ตลอดคืนก็แปลว่าผู้นั้นมีกำลังจิตมากอยู่ ก็จะย่อมครอบงำอำนาจของกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ ได้มากกว่าคนที่ทนไม่ได้ ซึ่งจะเห็นได้ง่ายๆว่า คนที่ครอบงำความง่วงได้เหมือนว่าเล่น คนนั้นก็เป็นคนมีนิสัยโกรธได้ยากโดยเฉพาะ นี่ไม่เกี่ยวกับปัญญา แต่เกี่ยวกับกำลังของจิต เพื่อให้ได้สำเร็จประโยชน์ทั้ง ๒ อย่างก็ควรจะฝึกฝนกันทั้ง ๒ อย่าง บางคนมีร่างกายจิตใจ นิสัย สันดาน ที่ต้องอาศัยความหลุดพ้นด้วยอำนาจของจิตมากกว่าการหลุดพ้นด้วยอำนาจของปัญญา แต่บางคนก็มีกำลังของปัญญาสำหรับอาศัยในการละกิเลสนี้ยิ่งกว่ากำลังของจิต ในพระบาลีได้กล่าวควบคู่กันไปหมายถึงคนที่มีกำลังทั้ง ๒ อย่าง แต่ถึงอย่างไรก็ดีแต่ละคนๆจะต้องมีกำลังของจิตหรือกำลังของปัญญาล้ำหน้าซึ่งกันและกันอยู่ไม่มากก็น้อย จึงได้มีการกล่าวว่าหลุดพ้นด้วยกำลังของจิตที่ล้ำหน้ากำลังของปัญญาก็เรียกว่า “พวกเจโตวิมุตติ” พวกที่กำลังของปัญญาล้ำหน้ากำลังของจิตก็เรียกว่า “ปัญญาวิมุตติ” แต่ทั้ง ๒ พวกนั้นก็ยังมีกำลังของปัญญาอยู่นั่นเอง เพราะสิ่งที่เรียกว่าญาณหรือทัศนะนั้นเป็นเรื่องของปัญญา เพียงแต่ว่าอันหนึ่งมีกำลังของจิตสนับสนุนมาก อีกพวกหนึ่งมีกำลังของจิตสนับสนุนจิตน้อย ด้วยเหตุดังนี้ถ้ามีอุบายวิธีใดๆที่จะช่วยสร้างกำลังของจิตแล้วก็ควรจะถือเอาโอกาสนั้นทันที อย่างในวันเช่นวันนี้ หรือวันวิสาขบูชา มาฆบูชา อะไรก็ตาม ก็ถือเอาเป็นโอกาสสำหรับอยู่ทั้งวันทั้งคืนไม่ต้องนอน ก็เป็นเรื่องของการเสริมกำลังทางจิต ขอได้พิจารณาดู แล้วก็จะเกิดความรู้สึกพอใจ กำจัดนิสัยที่เห็นแก่นอนได้มากขึ้น เพราะอำนาจของความพอใจนั้น ซึ่งคนโง่ๆขี้นอนไม่มีทางที่จะรู้ความจริงข้อนี้ได้ ขอให้ปลูกความสนใจ พอใจ ฉันทะ เป็นต้น ในการที่จะอยู่ได้ตลอดคืนโดยไม่ต้องนอน
ดังนั้น การที่จัดให้มีการบูชาอาสาฬหะนี้ด้วยการแสดงเทศนาตลอดรุ่งดังที่เขาทำกันอยู่นั้นเป็นสิ่งที่มีเหตุผลเช่นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไปนั่นเอง อย่าให้ความรู้สึกที่อ่อนแอเหลวไหลมาหลอกลวงได้ด้วยตัวอย่างที่ว่ามาแล้ว พระเณรที่โง่ๆขี้นอนนั่นแหละยังเป็นคนหนุ่มอยู่แท้ๆ ถ้าไปจับปูจับปลาในทะเลจนสว่างมันก็ทำได้ หรือให้เล่นไพ่ เล่นการพนัน เล่นหมากรุกจนสว่าง มันก็ทำได้ หรือที่มีอารมณ์รุนแรง มีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดาที่ป่วยหนักมันก็พยาบาลจนได้ตลอดรุ่ง นี้ก็เป็นเครื่องวัดที่ชัดเจนว่ากำลังของจิตในเรื่องเกี่ยวกับการง่วงนอนนี้มันยืดหยุ่นได้ถึงขนาดนี้ เราก็ควรจะพยายามต่อสู้ศึกษากันสืบไป โดยเฉพาะเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าด้วยแล้ว ในพระพุทธประวัตินั้นเองย่อมแสดงถึงการที่พระองค์ได้ทรงขวนขวายเพื่อการตรัสรู้ เป็นต้น ถึงกับไม่มีความรู้สึกเป็นปัญหาเกี่ยวกับการหลับนอน แม้ในวันที่เป็นวันตรัสรู้นั้นก็เป็นพยานหลักฐานได้ดีในเรื่องนี้ว่าการพิจารณาปฏิจจสมุปบาทโดยเฉพาะนั้นเป็นไปตลอดยามทั้งสาม และแม้ในวันรุ่งขึ้นจากวันตรัสรู้ก็ยังเป็นอย่างนั้น นี่ย่อมเป็นการแสดงว่าไม่มีการนอน หนึ่งคืน สองคืน สามคืนติดๆกันไป นี่ถือเอาตามหนังสืออธิบายในชั้นหลังแล้ว มีข้อความแสดงไปในทางที่ว่าไม่ได้ฉัน ไม่ได้นอน เป็นเวลาติดๆกันตั้ง ๗ วันอย่างนี้ก็มี แล้วก็หลายหนด้วย ขอให้ท่านทั้งหลายถือเอาเรื่องนี้เป็นเครื่องเตือนตนแล้วทำความรู้สึกว่าเรื่องไม่ได้นอนสักคืนหนึ่งนี้เป็นเล็กๆเหมือนที่เด็กๆเขาจะเรียกกันว่าเป็นเรื่องขี้ผง เมื่อทำได้อย่างนั้นกำลังทางจิตก็จะดีขึ้น กำลังทางปัญญาก็ไม่ได้ลดลง เป็นเครื่องเกื้อกูลให้แก่การหลุดพ้นด้วยอำนาจทางจิตนี้มากขึ้นเป็นพิเศษ นี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งเราจะต้องรู้กันไว้สำหรับพุทธบริษัท จะได้ใช้สิ่งนี้เป็นการบูชาคุณแก่พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นด้วย และพร้อมกันนั้นก็เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่การหลุดพ้นของตนด้วย เป็นผู้มีกำลังใจเข้มแข็งพร้อมกับที่มีกำลังปัญญาอันละเอียดอ่อน รู้จักคิดนึก รู้จักสังเกต รู้จักทำอะไรด้วยจิตใจที่เข้มแข็งและด้วยปัญญาที่ละเอียดอ่อน ก็จะมีความเจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางของพระศาสนาได้เป็นแน่นอน ถ้ากำลังใจอ่อน มันก็มัวง่วงนอนเสียบ้าง หรือขี้ขลาดเสียบ้าง หรือความรู้สึกอย่างอื่นที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่การกำจัดกิเลสนั้นๆ ฉะนั้นขอให้ถือว่าเป็นอานิสงส์อันหนึ่งของการทำการบูชากันในลักษณะเช่นนี้ อย่าได้คิดว่ามันเป็นพิธีรีตอง จริงอยู่ที่สำหรับคนที่ทำไปโดยไม่รู้ความมุ่งหมายมันก็อาจจะเป็นพิธีหรือสักว่าพอเป็นพิธี หรือถ้างมงายมากขึ้นไปกว่านั้นก็จะกลายเป็นรีตอง พิธีรีตอง มัวมานั่งทนความง่วงกันสักวันหนึ่งคืนหนึ่งเถิด อย่างนี้เป็นต้น แต่ถ้าทำจริงทำดีมันก็ไม่เป็นพิธีรีตอง แต่เป็นพิธีที่มีประโยชน์สำหรับจะช่วยกันแก้ไขนิสัยสันดานที่เอื้อเฟื้อแก่กิเลสมากเกินไป ขอให้สังเกตดูว่าคนที่ไม่มีปัญหาเรื่องการอดนอนนี้จะเป็นคนที่มีกิเลสเบาบางกว่าคนที่มีปัญหา แม้แต่จะอดนอนสักหน่อยหนึ่งก็ยังไม่ได้ เป็นอันว่าการทำพิธีอาสาฬหบูชามีเรื่องที่จะกระทำให้แปลกออกไปหรือยักย้ายให้มีผลลึกซึ้งยิ่งกว่าธรรมดาได้ด้วยเหตุนี้ และเราก็ได้ทำแล้วสุดความสามารถ ควรจะมีปีติและปราโมทย์ในการกระทำนี้ด้วย
ต่อไปนี้ก็จะได้แสดงข้อความที่เกี่ยวกับพระบาลีธัมมจักรกัปปวัตตนสูตรสืบต่อไปตามลำดับ นี่ตอนดึกหรือกัณฑ์สุดท้ายของการแสดงธรรมเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็ได้เคยยกเอาตอนที่มีใจความลึกซึ้งเข้าใจยากมาแสดงในตอนดึก มีผลทำให้ผู้แสดงก็ยาก รู้สึกว่าแสดงยากหรือว่าลำบาก ผู้ฟังก็รู้สึกว่าฟังยากหรือลำบาก เพราะปัญหาคือความง่วงนอนเข้ามาครอบงำนั่นเอง ถ้าสามารถบังคับจิตได้ มันก็พ้นไปได้ทั้งผู้แสดงและผู้ฟัง แม้ในวันนี้ก็เป็นอย่างเดียวกันที่จะกล่าวถึงอานิสงส์ของธัมมจักรกัปปวัตตนสูตรสืบต่อไปในโอกาสนี้ นับเป็นข้อความที่เนื่องกันกับพระธรรมเทศนาในตอนหัวค่ำ เมื่อพูดถึงพระอานิสงส์ของพระธรรมจักร คือเรื่องพระธรรมจักร เราควรจะแยกสิ่งที่เรียกว่า “อานิสงส์” นั้นออกเป็น ๒ ระดับ จากพระบาลีนั้นเองมีข้อความกล่าวไว้ชัดแล้วว่าพระองค์ทรงยืนยันว่า ตลอดเวลาที่การรู้เรื่องอริยสัจไม่สมบูรณ์ด้วยปริวัตร ๓ และอาการ ๑๒ อยู่เพียงใด ก็ยังไม่ทรงปฏิญญาพระองค์ว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะอยู่เพียงนั้น ต่อเมื่อญาณทัศนะอันเป็นไปในอริยสัจ ๔ บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยดีจึงจะประกาศว่า จะปฏิญาณพระองค์ว่าเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในหมู่สัตว์โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะและพราหมณ์ ทั้งเทวดาและมนุษย์ดังนี้ นี้เป็นเรื่องของพระองค์เอง ได้รับอานิสงส์ของการรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งอริยสัจ ๔ ถึงขนาดทำให้เป็นสัมมาสัมพุทธะ ส่วนอานิสงส์อีกประเภทหนึ่งหรืออีกระดับหนึ่งอย่างที่พระอัญญาโกณฑัญญะได้รับเพราะการได้สดับซึ่งพระสูตรนี้ก็เพียงแต่ได้ดวงตาเห็นธรรม นี้มันมีความแตกกันอย่างไร ก็สังเกตได้โดยไม่ยาก คือว่าพระองค์ทรงค้นคว้า ทรงเจริญภาวนาจนได้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งอริยสัจนั้นจึงมีผลถึงกับเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ส่วนพระอัญญาโกณฑัญญะนั้นเพียงแต่ได้ฟัง เหมือนที่เราได้ฟังด้วยหู มีสติปัญญาก็เข้าใจได้บ้าง ไปตามเรื่องที่ได้ฟัง นั้นจึงได้แต่เพียงดวงตาเห็นธรรม สรุปความว่าถ้าเป็นเรื่องของการแทงตลอดก็ได้บรรลุความสิ้นกิเลสเป็นพระอรหันต์ ถ้าเพียงแต่ได้ฟังก็ได้แต่ดวงตาเห็นธรรม มีอานิสงส์เป็น ๒ ชั้นตื้นลึกกว่ากันดังนี้
สำหรับการได้ฟังนั้นมันก็ไม่ยาก มีผู้แสดงก็ย่อมมีการได้ฟัง แต่สำหรับการรู้แจ้งแทงตลอดนั้นเป็นเรื่องที่ยาก เป็นเรื่องที่อบรมให้มากเป็นพิเศษ จึงต้องพิจารณากันในส่วนนี้ คือคำว่า “รู้แจ้งแทงตลอด” นั้นเอง พระบาลีคำนี้มีใช้คำว่า “ยถาภูตญาณทัสสนะ” คือญาณทัศนะตามที่เป็นจริง ญาณคือความรู้ ทัศนะคือการเห็น เมื่อคำว่า “ทัสสนะ” มารวมกับคำว่า “ญาณ” ก็กลายเป็นคำที่แน่นอนแน่นแฟ้นขึ้น คือเป็นทัศนะที่ถูกต้อง แต่ถ้าคำว่า “ทัสสนะ” แยกกันอยู่ต่างหากก็ไม่เป็นเครื่องรับประกันว่าทัศนะนั้นถูกต้อง เป็นเพียงการคาดคะเนก็ได้ หรือเป็นทัศนะที่ผิด เป็นมิจฉาทิฐิก็ได้ ขอให้จำไว้เป็นหลักว่าถ้าคำว่า “ทัสสนะ” มารวมกับคำว่า “ญาณ” ก็จะหมายถึงทัศนะที่ถูกต้อง และแก่กล้าสูงสุด และมักจะมีคำว่า “ยถาภูตัง” นำอยู่ข้างหน้าเสมอไป เรียกว่า “ยถาภูตญาณทัสสนะ” ไม่มีทางที่จะผิดได้ แล้วก็ตรงตามที่เป็นจริงอย่างยิ่ง ลึกซึ้งถึงขนาดที่จะกระทบกระเทือนถึงต่อกิเลส ดังนี้เรียกว่าเป็นการแทงตลอด ในเรื่องของอริยสัจ ๔ นี้ที่เกี่ยวกับพระองค์เองมีคำว่า “สุวิสุทธัง” เติมเข้ามาด้วย บริสุทธิ์หมดจดด้วยดี เติมเข้าแก่ความหมายของคำว่าการเห็นด้วยญาณตามที่เป็นจริง เป็นไปอย่างวิสุทธิ์หมดจดด้วยดี นี้คืออาการของการรู้แจ้งแทงตลอด
แทงตลอดอะไร อะไรเป็นอารมณ์ของญาณทัสสนะนี้ มีระบุชัดไว้ในที่ทั่วไปมากมายหลายสิบหลายร้อยแห่ง ให้รู้แจ้งซึ่งโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ ทั้งเทวดาและมนุษย์ คนที่ไม่เคยศึกษาย่อมไม่เข้าใจว่าทำไมสิ่งนี้มากลายเป็นอารมณ์ของญาณทัศนะ นี้ก็เป็นสำนวนของพระบาลีอย่างนี้เอง การรู้แจ้งโลกนั่นแหละคือรู้แจ้งหมดทุกอย่าง เราจะต้องพิจารณาดูกันต่อไปว่ารู้แจ้งโลกนั้นเป็นอย่างไร พระบาลีที่ชินหูมากที่สุดก็คือพระบาลีที่ว่า กระทำให้แจ้งแล้วประกาศซึ่งโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา พร้อมทั้งมนุษย์ สัจฉิกัตวา ปะเวเทสิ กระทำให้แจ้งแล้วทำให้ผู้อื่นรู้หรือประกาศ นี้ก็แสดงว่าเป็นอาการของพระพุทธเจ้า คือไม่ทรงกระทำให้แจ้งเพื่อพระองค์โดยเฉพาะ แต่เพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลกทั้งหลายด้วย พระองค์กระทำให้แจ้งซึ่งโลกแล้วประกาศความแจ้งนั้นแก่คนอื่นด้วย คำว่า “กระทำให้แจ้งซึ่งโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก” นี้ จึงเป็นคำที่มีความหมายซ่อนอยู่อย่างซับซ้อนซึ่งควรจะพิจารณากันต่อไป
คำว่า “รู้แจ้งซึ่งโลก” นี่ไม่ใช่รู้จักแผ่นดินโลกเหมือนที่คนมักจะเข้าใจเอาเอง รู้แจ้งซึ่งโลกไม่ได้หมายถึงแผ่นดินโลก แต่หมายถึงสัตว์โลก ถึงแม้การรู้แจ้งซึ่งสัตว์โลกนี่ก็เหมือนกัน ไม่ได้รู้แจ้งเรื่องราวที่เป็นเนื้อตัวของสัตว์โลก แต่รู้เรื่องเกี่ยวกับจิตใจของสัตว์โลก ถึงแม้จะรู้เรื่องจิตใจของสัตว์โลก ก็ไม่ได้รู้แต่เพียงว่ามันมีจิตใจต่างกันอย่างนั้นอย่างนี้ คนนั้นมีจิตใจอย่างนั้น คนนี้มีจิตใจอย่างนี้ แต่ต้องหมายถึงการรู้ถึงภูมิแห่งจิตใจ คุณค่าหรือคุณสมบัติแห่งจิตใจที่ประกอบอยู่ด้วยสิ่งที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตามกฎแห่งเหตุผล ตามกฎแห่งการเกิดดับ เป็นต้น ไม่มีอะไรที่ควรจะยึดมั่นถือมั่น ดังนั้นจึงได้ความหมายซ้อนขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นเรื่องที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เป็นไปในสิ่งที่เรียกว่าโลก ถ้ารู้แจ้งโลกก็คือรู้แจ้งว่าโลกทั้งปวงเป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น หรือจะพูดกลับมาอีกทางหนึ่งก็ให้รู้ได้ถึงขนาดที่ว่าสัตว์โลกทั้งปวงนั้นไม่รู้แจ้งซึ่งอริยสัจเลย จมอยู่ในกองทุกข์ เพราะว่าไม่รู้แจ้งซึ่งอริยสัจ โดยความจริงอันนั้นย่อมรู้ต่อไปว่าสัตว์ก็ออกจากทุกข์ได้เพราะรู้แจ้งซึ่งอริยสัจนั้นเอง ในเมื่อสัตว์จมอยู่ในกองทุกข์เพราะไม่รู้จักอริยสัจนั้นก็มีความชัดอยู่แล้วว่าเพราะรู้แจ้งซึ่งอริยสัจ สัตว์โลกก็ออกจากกองทุกข์ได้ เมื่อเป็นดังนี้การรู้แจ้งซึ่งสัตว์โลกทั้งหลายก็คือรู้แจ้งเรื่องอริยสัจ แม้จะพูดไว้เป็นตัวหนังสือว่ารู้แจ้งซึ่งโลก ซึ่งสัตว์โลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก มันก็ไม่ได้รู้ที่ตัวแผ่นดิน ไม่ได้รู้ที่ตัวสัตว์ แต่รู้ความจริงทั้งหลายที่เนื่องกันอยู่กับสัตว์เหล่านั้น ก็จะนึกถึงคำธรรมดาสามัญ เช่นว่าเรารู้จักใครสักคนหนึ่งนั้นไม่ใช่เพียงแต่รู้จักหน้าตาเนื้อตัว แต่รู้จักจิตใจของเขาโดยสมบูรณ์ด้วย จึงจะเรียกว่ารู้จักบุคคลนั้น แม้คำกล่าวที่ว่ารู้จักโลกนี้ก็เหมือนกัน หมายถึงรู้จักอะไรบางอย่างที่ลึกซึ้งซ่อนอยู่ในแผ่นดินโลกหรือในสัตว์โลกนั้นเอง ถ้าพูดว่ารู้จักโลกก็ต้องหมายถึงรู้จักอะไรที่ลึกซึ้งไปกว่าผืนแผ่นดินหรือว่าสิ่งต่างๆที่ระเกะระกะอยู่ในโลก นี้ก็ได้แก่ความจริง คือมันมีอยู่ในโลกชนิดที่ควรจะรู้ คือถ้ารู้แล้วมันดับทุกข์ได้นั่นแหละจึงจะเรียกว่ารู้จักโลก เพียงแต่รู้จักแผ่นดินนี้มันยังไม่ดับทุกข์เลย คำว่า “ทำให้แจ้งซึ่งโลก” นี่ก็คือรู้จักอริยสัจ อันเป็นความจริงที่มีอยู่ในสัตว์โลกทั้งหลายเหล่านั้น จึงเป็นความรู้ที่ควรนำมาประกาศ และพระองค์ก็ได้ทรงนำมาประกาศ
ทีนี้ก็จะได้พิจารณากันต่อไปถึงคำว่า “รู้อริยสัจ” คือจะดูได้ที่ตัวโลกทั้งปวง คำว่ารู้อริยสัจชนิดที่เกิดดวงตาเห็นธรรมเป็นอย่างน้อยนี้ก็ควรจะจำกัดความลงไปได้ว่ารู้จักเหตุผล รู้จักกฎเกณฑ์ของเหตุผล และรู้จักกฎเกณฑ์ของการเกิดดับ กฎเกณฑ์ของเหตุผลกับกฎเกณฑ์ของการเกิดดับนี้มันเนื่องอยู่ด้วยกัน แยกกันไม่ได้ หรือถ้ามีปัญญาสอดส่องแล้วก็จะพบว่ามันเป็นสิ่งเดียวกัน เรื่องของเหตุผลกับเรื่องของการเกิดดับนั้นเป็นสิ่งเดียวกันได้ พิจารณาไปตั้งแต่ข้อที่ว่าเหตุย่อมให้เกิดผล ไม่มีเหตุไหนที่ไม่ให้เกิดผล เพราะว่าถ้าไม่ให้เกิดผลได้แล้วก็ไม่เรียกว่าเหตุ ถึงแม้สิ่งที่เรียกว่าผลนี้ก็เหมือนกันมันต้องมาจากเหตุ ถ้ามันเป็นสิ่งที่มิได้มาแต่เหตุแล้วก็ไม่อาจจะเรียกว่าผล เช่น พระนิพพานที่เป็นอสังขตธรรม ในส่วนที่เป็นความหมายของอสังขตธรรม เราก็ไม่เรียกว่าผล เพราะมันมิได้มาแต่เหตุ ดังนั้นจึงกล่าวได้เลยว่าเหตุต้องให้เกิดผล หรือว่าผลต้องมาแต่เหตุ นี้ก็เป็นกฎเกณฑ์แห่งส่วนที่เรียกว่าเหตุผล ทีนี้เหตุนั้นให้เกิดผลอย่างไรก็เป็นสิ่งที่พอจะเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะความเป็นเหตุมันต้องดับไปเสียก่อนแล้วความเป็นผลจึงจะปรากฏออกมา เช่นว่ากิเลสเป็นเหตุให้ทุกข์ เมื่อกิเลสทำหน้าที่ของกิเลสแล้วก็ดับไป ผลที่ปรากฏอยู่ก็คือความทุกข์ อย่างนี้เป็นต้น หรือแม้ในเรื่องทางวัตถุธรรมดาสามัญที่มันเป็นเหตุผลแก่กัน มันก็ต้องทำหน้ากันคนละทีอย่างนี้ ฉะนั้นสิ่งที่เป็นเหตุดับไปก็กลายเป็นผลเกิดขึ้นมา แล้วผลนั้นก็จะดับไปเพื่อกลายเป็นเหตุต่อไปอีก เหตุนั้นก็จะดับไปเพื่อให้ส่วนที่เป็นผลหรือลักษณะที่เป็นผลปรากฏออกมาอีก เห็นได้ง่ายๆในเรื่องทางวัตถุ เช่นว่ามารดาบิดาก็เป็นเหตุให้เกิดบุตร บุตรนี้ก็เป็นผล แต่แล้วในระยะต่อมาบุตรนี้ก็เติบโตขึ้นสำหรับจะเป็นเหตุที่จะเป็นบิดามารดาสำหรับให้เกิดบุตรต่อไปข้างหน้า ความเป็นเหตุแต่เป็นผลจะสืบเนื่องกันอย่างนี้เป็นสายยืดยาวคำนวณไม่ไหว
แต่ในสายยืดยาวนั้นจะมีลักษณะแห่งการเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปตามหน้าที่นั้น ในลักษณะที่เรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” จะมองดูกันในลักษณะของเหตุผลมันก็อยู่ในรูปของปฏิจจสมุปบาท จะมองดูกันในลักษณะของการเกิดดับมันก็มีลักษณะแห่งปฏิจจสมุปบาท ก็ควรจะไปทบทวนเรื่องราวอันเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาทที่ได้เคยบรรยายไว้แล้วอย่างละเอียดลออนั้นดูได้อีกด้วยกันทุกคน อย่างว่าอวิชชาให้เกิดสังขาร ในชั้นนี้อวิชชาก็เป็นเหตุ สังขารก็เป็นผล พอสังขารให้เกิดวิญญาณ สังขารที่เป็นผลก็กลายเป็นเหตุเพื่อให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยเกิดนามรูป วิญญาณที่เป็นผลก็มาเป็นเหตุสำหรับให้เกิดนามรูป นามรูปที่เป็นผลนั้นก็มาเป็นเหตุสำหรับให้เกิดอายาตนะ อายาตนะที่เป็นผลนั้นก็มาเป็นเหตุให้เกิดเวทนาอย่างนี้เรื่อยไปจนตลอดสายของปฏิจจสมุปบาท ความเป็นเหตุดับไปความเป็นผลเกิดขึ้น แล้วความเป็นผลนี้ก็ดับไปเพื่อกลายเป็นเหตุ เพื่อความเป็นเหตุแล้วก็เกิดผลต่อไป ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ก็เห็นได้ทันทีว่ากฎแห่งเหตุและผลนั้นก็คือกฎเกณฑ์อันเดียวกันกับกฎแห่งการเกิดและการดับ มีลักษณะเป็นปฏิจจสมุปบาทด้วยกันอย่างนี้
นี้การรู้อริยสัจที่อารมณ์ คือโลกก็ดี หรือความทุกข์ก็ดี ก็คือรู้เหตุผลหรือรู้การเกิดดับนั่นเอง แต่ย่อมมีความแตกต่างกันอยู่บ้างเป็นธรรมดา คือถ้ารู้โดยนัยแห่งเหตุและผลก็ย่อมมีปฏิกิริยาเกิดขึ้นในการที่จะถอนอัตตาหรือถอนอัตตนียาได้ คือถอนความรู้สึกหรือความคิดความเห็นที่ผิดๆว่าเป็นตัวตนว่าเป็นของตนเสียได้ แต่ถ้าพิจารณาเห็นกฎแห่งความเกิดและความดับโดยนัยปฏิจจสมุปบาทเดียวกันก็อาจจะมีผลที่กระทบกระเทือนหรือไถ่ถอน นันทิ ความเพลิดเพลิน ราคะ ความกำหนัด ในภพทั้ง ๓ คือ กามราคะ รูปราคะ อรูปราคะ เป็นต้น เสียได้อย่างนี้ นี้คือความละเอียดลออของสังขารธรรมทั้งหลาย ตลอดถึงญาณทัศนะที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสังขารธรรมเหล่านั้น ซึ่งในตัวอย่างที่ยกมานี้ทำให้เห็นได้ว่ารู้อริยสัจโดยกฎแห่งเหตุผลย่อมถอนอัตตาหรืออัตตนียา ความรู้สึกความเป็นตัวเป็นตนหรือของของตนได้ เมื่อรู้ในลักษณะที่เป็นกฎแห่งการเกิดและดับ คือในแง่ของความทุกข์ ก็ย่อมถอนความเพลิดเพลินหลงใหลในสังขารทั้งหลายเหล่านั้นได้โดยเฉพาะเจาะจงก็คือถอนหรือทำลายราคะได้ ดังนี้เป็นต้น
การรู้อริยสัจก็มีลักษณะอย่างนี้จึงจะเรียกว่าเป็นการรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งอริยสัจนั้น ถ้าไม่อย่างนั้นก็เป็นการรู้เหมือนอย่างได้ยินได้ฟังหรือคิดค้นคำนวณไปตามสิ่งที่ตนได้ฟัง การรู้อริยสัจนี่ยังมีแง่ที่จะต้องพิจารณาศึกษากันต่อไป เพราะการที่จะรู้ถึงขนาดที่เกิดญาณทัศนะอย่างนี้ต้องรู้แจ้งแทงตลอดด้วยความรู้สึกหรือจากความรู้สึกที่ได้ผ่านไปแล้วในจิตใจจริงๆ นั้นจึงมีเรื่องเกี่ยวกับญาณทั้ง ๓ ขึ้นมา คือ “สัจจญาณ” รู้ว่าอริยสัจหนึ่งๆนั้นมันเป็นอย่างไรคืออะไรอยู่โดยธรรมชาติ หรือโดย “จิตญาณ” ว่ามนุษย์มีหน้าที่อย่างไร ที่จะต้องกระทำแต่สิ่งนั้นนั้น ซึ่งสรุปแล้วก็ย่อมกล่าวได้ว่าสำหรับทุกขอริยสัจนั้นมนุษย์มีหน้าที่ต้องรู้แจ้งแทงตลอด สำหรับสมุทยอริยสัจนั้น มนุษย์มีหน้าที่ที่จะต้องละเสีย สำหรับนิโรธอริยสัจนั้น มนุษย์มีหน้าที่ที่จะต้องทำให้แจ่มแจ้งออกมา สำหรับมรรคอริยสัจนั้น มนุษย์มีหน้าที่ที่จะต้องพอกพูนให้สมบูรณ์ อย่างนี้เรียกว่ารู้โดยญาณทั้ง ๓ แต่เมื่อครบทั้ง ๔ อริยสัจแล้วมันก็กลายเป็น ๑๒ อาการ ญาณทัศนะที่เกิดขึ้นจากการรู้อริยสัจ ๑๒ อาการนี้เรียกว่ารู้แจ้งแทงตลอด ไม่มีความรู้แจ้งแทงตลอดอันไหนจะยิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว มีผลทำให้หมดกิเลสหรือจบพรหมจรรย์ได้อย่างที่พระองค์ทรงแสดงไว้ในพระบาลีแห่งสูตรนั้น คือเมื่อทรงแสดงอาการ ๑๒ ครบถ้วนแล้วก็มีญาณทัศนะในสิ่งนี้บริสุทธิ์ด้วยดีแล้ว ก็มีผลคือ
ญาณัญ จะ ปะนะ เม ทัสสะนัง ปุทะปาทิ ญาณทัศนะได้เกิดขึ้น
ญาณและทัศนะได้เกิดขึ้นแก่เราแล้วว่า
อะกุปปา เม วิมุตติ ความหลุดพ้นของเรานี้ไม่กลับกำเริบอีก
อะยะมันติมา ชาติ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย
นัตถิทานิปุ นัพภะโวติ ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว
คำกล่าวอย่างนี้ก็หมายถึงการหมดกิเลส หมดอนุสัย หมดอาสวะ คือความเป็นพระอรหันต์ ขีณาสพ ผลอย่างนี้เนื่องอยู่กับการรู้อริยสัจทั้ง ๔ โดยปริวัตร ๓ หรือโดยอาการ ๑๒ นั้นเอง ถ้าไม่ถึงขนาดนี้ก็ไม่เรียกว่ารู้อริยสัจชนิดที่เป็นการรู้แจ้งแทงตลอดโดยยถาภูตญาณทัศนะ
เดี๋ยวนี้เราก็ไม่ได้เข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องนี้ มันก็เป็นเรื่องฟังไปตามธรรมเนียม จะคิดนึกศึกษาก็ศึกษาไปตามธรรมเนียม ไม่ได้รู้ข้อเท็จจริงให้ลึกซึ้งถึงว่าทำไปทำไม มันก็เป็นเรื่องวนเวียนอยู่มากเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของคนเรา เหมือนอย่างตัวอย่างที่จะมองเห็นกันอยู่ง่ายๆ เช่นว่าเรื่องทรัพย์สมบัติที่ขวนขวายแสวงหาสะสมกันเป็นการใหญ่ พอกพูนให้มากไม่มีประมาณนี่ ถ้าเกิดจะถามกันว่าหาทรัพย์ไปทำไม มันก็ตอบกันทุกคนว่าหาเพื่อจะใช้ให้เป็นประโยชน์ สังเกตดูให้ดีคำว่า เป็นประโยชน์นี่จะเป็นคำที่ทำพิษ คือว่าเมื่อได้ประโยชน์แล้วจะต้องหาทรัพย์ไปอีกทำไมกัน หรือว่าเมื่อจะได้ประโยชน์โดยไม่ต้องเกี่ยวกับการใช้ทรัพย์ คนก็ยังมุ่งไปแสวงหาทรัพย์อยู่นั่นเอง เพราะเขาไม่รู้ว่าประโยชน์นั้นคืออะไร แม้คนบางคนจะออกปากออกมาว่าต้องการพระนิพพาน จะทำทุกอย่างเพื่อได้พระนิพพาน แต่ก็กลับไปทำในสิ่งที่ขัดขวางแก่การบรรลุพระนิพพาน นี่ก็เพราะไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าประโยชน์นั่นแหละจึงต้องหาทรัพย์อยู่ร่ำไป หาจนตายก็ไม่รู้จักว่ามันจะมีผลอะไรเกิดขึ้นมาหรือว่าไม่มีความเพียงพอเพราะไม่รู้จักประโยชน์ แม้ประโยชน์ที่จะได้รับจากทรัพย์สมบัตินั้น เรื่องตื้นๆเรื่องโลกๆเรื่องเล็กๆอย่างนี้ก็ยังทำไม่ถูกกันเสียแล้ว แล้วจะไปทำให้ถูกในเรื่องที่มันลึกซึ้งได้อย่างไรกัน ขอได้พิจารณาดูให้ดี ถามว่าหาทรัพย์ทำไม ก็หาเพื่อจะให้เป็นประโยชน์ ฉันได้ประโยชน์แล้วก็ยังเอาประโยชน์นั้นไปลงทุนเพื่อหาทรัพย์เสียอีก ก็ไม่ได้เสวยประโยชน์หรือรับประโยชน์อะไรจากประโยชน์นั้น จึงมีแต่การหาทรัพย์อยู่อย่างหลับหูหลับตาอย่างไม่สิ้นไม่สุดไม่หยุดไม่หย่อน นี่แหละคือความลับอย่างยิ่งของสิ่งที่เรียกว่า “ตัณหา” อันเป็นอริยสัจที่ ๒ คือสมุทยอริยสัจ ความลับของตัณหามันก็เหมือนกับเรื่องหาทรัพย์ มันก็มีแต่อยากตะพึดไป เอาแต่จะทำหน้าที่ของมัน คืออยากๆๆไปอย่างเดียว ตัณหามันไม่ต้องการอะไร มันต้องการแต่จะให้ได้อยากๆๆเท่านั้น มันไม่ต้องการผลอะไรนอกจากมันต้องการจะทำหน้าที่แค่อยากให้ตะพึด ตัณหาไม่ต้องการเสวยประโยชน์ที่แท้จริง มันต้องการแต่จะอยาก เพราะฉะนั้นมันจึงอิ่มไม่เป็น มันจึงไม่รู้จักอิ่ม เพราะว่ามันอิ่มไม่เป็น เพราะมันต้องการจะทำหน้าที่คืออยากๆๆไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ต้องการเสวยประโยชน์อันแท้จริงของสิ่งที่มันอยากเลย
พระองค์จึงได้ตรัสไว้โดยบาลีว่า โปโนพภะวิกา มันเป็นไปเพื่อเกิดภพใหม่ คือมันอยากเรื่อย อยากเรื่อย มันเป็น นันทิราคะสะหะคะตา เพราะมันประกอบอยู่ด้วยราคะและนันทิ หรือราคะที่เกิดมาแต่นันทิ มันเพลินไปในการเกิด มันยินดีไปในการเกิด คืออยาก อยากนั่นแหละคือเกิด มันทำหน้าที่แต่เรื่องอยาก หรือตรัสว่า ตัตระ ตัตราภิ นันทินี มีความเพลิดเพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้นๆ มันก็เป็นแต่อารมณ์ของความอยาก มันเป็นพระนิพพานไปไม่ได้ สิ่งที่ตัณหาเพลิดเพลินก็คืออารมณ์ของความอยาก เพราะมันต้องการแต่จะทำหน้าที่ที่จะอยาก พอได้อยากแล้วมันก็พอใจแล้ว นี่เป็นความลับของตัณหาซึ่งมีลักษณะอย่างเดียวกันกับความลับของอุปาทานซึ่งเกิดมาจากตัณหา ที่ไปเรียกว่า “อุปาทาน” ก็เพราะว่ามันจะยึดอย่างเดียว มันจะก้มหน้าก้มตายึดเท่านั้นเอง ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่ายึดๆๆๆ ไม่ต้องการอะไรที่เป็นผลของความยึด นี่มันจึงถูกเรียกว่าอุปาทาน เอาความเพลิดที่การยึด ไม่ต้องความหยุด ไม่ต้องการความสงบสุขกันที่ไหน ตัณหาก็ให้เกิดอุปาทาน อุปาทานก็ยึด มันก็หนักมากขึ้นไปตามอำนาจของความยึด มันจึงเป็นทุกข์ แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะได้ตรัสว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ก็ให้ทุกคนเข้าใจไว้เถอะว่ามันต้องผ่านไปทางอุปาทานคือความยึด เพราะว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดอุปาทาน ถ้ามีอุปาทานแล้วมันก็ยึด คุณก็แบกไว้ ความเพลินนั้นจึงเป็นความเพลินในการเป็นทุกข์โดยที่ไม่รู้ว่านี่เป็นความทุกข์ เพราะมันไม่คิดอะไรมากไปกว่าจะอยากและจะยึดแล้วมันก็เพลินอย่างยิ่งในความทุกข์ในการเป็นทุกข์โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นการทุกข์ ฉะนั้นการหยุดหรือการเย็นหรือการเบื่อหน่ายนี้ การปรับตัวเสียนี้มันก็ไม่มี มันก็ไม่มีอยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะเกิดมีอริยสัจที่ ๔ คือมรรคสัจ ซึ่งมีสัมมาทิฐิเป็นตัวนำ หรือว่าจนกว่าสัมมาทิฐินั้นจะทอแสงขึ้นมาสำหรับให้เกิดอริยมรรค เมื่อนั้นแหละตัณหาหรืออุปาทานมันจึงจะเริ่มเปลี่ยนแปลงในการเกิด คือมันจะรู้จักความผิด ความถูก ความโง่ ความฉลาด ว่าอยากนี้ก็ช่วยยึด ยึดแล้วก็ช่วยทุกข์ ถ้าไม่สังเกตข้อนี้ก็ไม่มีทางจะเข้าใจ ไม่เข้าใจก็ไม่มีทางที่จะพิจารณาไปจนให้เกิดความเห็นแจ้งแทงตลอด การได้ฟังก็มีแต่เพียงดวงตาเห็นธรรม แต่ว่ามันเป็นจุดตั้งต้นที่แน่นอน มันไม่มีถอยกลับ มันมีแต่จะรุดไปข้างหน้า ฉะนั้นมันจึงไปถึงขั้นที่จะเกิดญาณทัศนะต่อไปอีกชนิดที่จะเกิดสัมมาทิฐิเต็มรูป สร้างอริยมรรคมีองค์ ๘ ขึ้นมาได้โดยสมบูรณ์ นี้เราศึกษากันในข้อที่ว่าความลับของตัณหามันคือทำหน้าที่อยากอย่างเดียว ไม่รู้ไม่ชี้กับเรื่องอื่น เหมือนกับคนที่หาเงินหาทรัพย์หาตะพึดไปอย่างนั้น ถ้าถามก็บอกว่าหาเพื่อประโยชน์ แต่มันก็ไม่เคยได้ประโยชน์ เพราะมันต้องการแต่จะหาเท่านั้นเอง ความลับของอุปาทานก็เป็นอย่างเดียวกันเพราะมันเนื่องกันอยู่กับตัณหา มันอยากจะยึดอย่างเดียว คือมันเหลือที่จะโง่ เพราะมันไม่รู้ว่าจะยึดไปทำไม ยึดเป็นความทุกข์อยู่ก็ไม่รู้ว่ามันเป็นความทุกข์ มันจึงได้ยึดเรื่อยไปอย่างนี้ ไม่รู้จักเข็ดหลาบ
ทีนี้ก็มาพิจารณากันถึงสิ่งที่เรียกว่า “ความดับตัณหา” หรือ “นิโรธ” อันเป็นเรื่องของอริยสัจที่ ๓ จะดูกันกว้างๆก่อนว่า ความดับแห่งตัณหานั้นมันมีได้อย่างไรบ้าง จะต้องนึกถึงข้อที่ว่าตัณหาก็เป็นสังขารที่เป็นสังขารธรรม เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่เป็นของแน่นอนตายตัว มันต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย ฉะนั้นตัณหาตามธรรมชาติมันก็ดับได้โดยตัวมันเองในเมื่อมันหมดเหตุหมดปัจจัยแห่งความอยาก เพราะอย่างนี้นั้นมันเป็นไปเพียงชั่วขณะ คือขณะแห่งการเปลี่ยนแปลงตามกฎของเหตุปัจจัย หรือไปตามกฎของการเกิดและการดับ พอตัณหามันเกิดขึ้นในอารมณ์นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัย แล้วอารมณ์นี้มันก็เปลี่ยนแปลงไปสักครู่หนึ่งตัณหามันก็หมดเหตุหมดปัจจัย ในกรณีนั้นมันก็ดับไปได้ตามธรรมชาติ การดับตัณหาอย่างนี้ไม่ใช่อริยสัจ ไม่ใช่เรื่องนิโรธอริยสัจ มันเป็นไปของมันเองตามธรรมชาติเมื่อเหตุปัจจัยของมันหมด นี้การดับของสังขารธรรมทุกอย่างที่จะต้องดับหมดเมื่อเหตุปัจจัยของมันหมด แต่ถ้าเป็นเรื่องของดับตัณหาเพื่อดับทุกข์โดยตรงแล้วมันก็เป็นเรื่องของสติปัญญาเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงต่างกัน การดับของตัณหาตามธรรมดาธรรมชาติแล้วมันก็ดับเพราะเหตุปัจจัยของมันหมด ดับได้เอง แต่ถ้าเป็นเรื่องของคนที่ต้องการดับทุกข์แล้วมันต้องเป็นเรื่องของสติปัญญาเข้ามาแทรกแซงด้วย เพื่อจัดการให้ตัณหานี้ดับไปด้วยอำนาจของสติปัญญานั้น ไม่ใช่ดับไปเพราะเหตุปัจจัยมันสิ้นฤทธิ์ไปในตัวของมันเอง นี้การดับของตัณหานี้จึงเป็นคนละอย่างต่างกันจากการไม่เกิดของตัณหา อย่าเอาไปปนกัน การไม่เกิดของตัณหานั่น นี่แหละใกล้ความมุ่งหมายของนิโรธอริยสัจมากขึ้นไปอีก เพราะว่าการไม่เกิดของตัณหานั้น มันจะมีได้ในเมื่อมีสติ แล้วก็มีสติมาตั้งแต่ต้น คือเมื่อสัมผัสกันกับอารมณ์อันเป็นที่เกิดแห่งตัณหา ถ้ามีสติมาตั้งแต่จุดตั้งต้นของการสัมผัสอารมณ์แล้วมันก็ป้องกันไม่ให้เกิดตัณหาได้ การไม่เกิดของตัณหามันมาจากสติสัมปชัญญะหรือวิชชาที่มีมาทันแก่เวลาเมื่อสัมผัสกับอารมณ์นั้น ถ้าเข้าใจข้อนี้ก็จะเห็นได้ทันทีว่าการไม่เกิดของตัณหานั้นไม่ใช่เป็นอันเดียวกันกับการดับของตัณหา จะได้เห็นได้ต่อไปว่าความยากลำบากนี่มันอยู่ที่ความกำกวม สับปลับ กลับไปกลับมาของภาษาที่ใช้พูดกัน คือคำๆเดียวกันในกรณีหนึ่งหรือบางเวลานั้น มันใช้ในความหมายอย่างหนึ่งในบางเวลา บางกรณีมันใช้ในความหมายอย่างอื่น
ทีนี้เราจะพิจารณาดูว่าอันไหนจะเป็นประโยชน์โดยตรง การไม่เกิดแห่งตัณหาเพราะการจัดการกระทำของมนุษย์เรานี่แหละ ถ้ามีประโยชน์โดยตรงจะเป็นประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยตรงที่เป็นไปเพื่อนิพพานโดยตรง เราจะทำอย่างไร แล้วก็มีการกระทำหรือการจัดการตระเตรียมที่มันดี คือมีการเป็นอยู่หรือมีชีวิตอยู่อย่างที่ไม่เกิดตัณหา คือตัณหาไม่อาจจะเกิดได้ ฉะนั้นก็เนื่องไปถึงอริยสัจที่ ๔ คือ “มรรคสัจ” ว่าเราจะต้องอยู่หรือเป็นอยู่ มีชีวิตอยู่ มีลมหายใจอยู่ด้วยการปฏิบัติในมรรคสัจ คือมีการเป็นอยู่อย่างนี้แล้วตัณหาก็ไม่มีการเกิด เรียกว่าการมีชีวิตอยู่อย่างที่จะไม่เกิดตัณหา เมื่อกล่าวขึ้นมาอย่างนี้ก็พอจะทำให้ระลึกนึกถึงพระพุทธภาษิตว่า ถ้าภิกษุเหล่านี้จักเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์ เมื่อภิกษุหรือพุทธบริษัทก็ตามถ้าเป็นอยู่โดยชอบได้จริงแล้ว โลกนี้ไม่ว่างจากพระอรหันต์ นี่หมายความว่าถ้าเป็นอยู่ด้วยมรรคสัจ หรืออริยสัจที่ ๔ ก็เรียกว่าการเป็นอยู่โดยชอบอย่างยิ่ง ประกอบไปด้วยองค์ ๘ ประการ เป็นความชอบที่ประกอบอยู่ด้วยองค์ ๘ ประการ อยู่อย่างนี้ไม่มีทางที่จะเกิดตัณหาเป็นแน่นอน กิเลสก็ไม่ได้อาหาร ความเคยชินแห่งกิเลสก็ร่อยหรอไป นี่เรียกว่ามีอนุสัยเบาบางไป อาสวะเบาบางไป วันหนึ่งมันก็สิ้นกิเลส หมดกิเลส ก็เป็นพระอรหันต์
นี้การที่เป็นอยู่ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำให้ไม่เกิดตัณหาได้ เพื่อให้สิ่งนี้เป็นไปง่ายหรือไปเร็วเข้าก็ต้องมีการเจริญภาวนา คือการพอกพูนให้อริยมรรคนั้นเจริญงอกงามเป็นไปอย่างแก่กล้า ถึงจะเป็นการตัดรากเหง้าของตัณหาไม่ให้มีเชื้อเหลือสำหรับจะเกิด การที่ตัณหาดับไปตามธรรมดาเพราะหมดเหตุหมดปัจจัยนั้น มันไม่เป็นการตัดรากเหง้าของตัณหา มันไม่กระทบกระเทือนถึงรากเหง้าของตัณหา เกิดบ่อยๆมันจึงจะมีรากเหง้าแน่นแฟ้นขึ้น เหมือนกับเผือกมัน เป็นต้น ที่มันอยู่หลายปี มันก็ยิ่งโตขึ้นๆๆทุกปี นี่ไม่ได้ตัดรากเหง้า ไม่ได้บั่นทอนไอ้รากเหง้า มันก็ใหญ่ขึ้น นี่การดับของตัณหา ตามปกติธรรมดาที่มันหมดเหตุหมดปัจจัยนั่น มันก็ยังไม่ช่วยให้มีตัณหาเบาบางหรือว่ามีรากเหง้าเบาบาง ฉะนั้นเราต้องมีการอยู่อย่างถูกต้องที่เรียกว่า อยู่ด้วยอริยมรรค เพื่อให้เร็วเข้าก็ต้องเจริญภาวนา ที่เนื่องโดยอริยมรรคนั้น มันจึงจะเป็นการตัดรากเหง้าหรือขูดเกลารากเหง้าของตัณหาอยู่ตลอดเวลา ไม่พอก ไม่บำรุง หรือไม่เลี้ยงให้มันเจริญใหญ่โต นี่แหละคือเรื่องที่เกี่ยวกับการดับตัณหา ว่าต้องประพฤติหรือเป็นอยู่อย่างไม่ให้โอกาสแก่ตัณหาที่จะเกิด คืออยู่ด้วยอริยมรรค เพื่อให้เร็วเข้าหรือให้แก่กล้าขึ้นก็ต้องเจริญภาวนา ก็จะมีการดับตัณหาโดยนัยที่เรียกว่านิโรธอริยสัจ
คำว่า “นิโรธะ” นี้ ตามปกติก็ใช้สำหรับการดับที่เป็นความพยายามของคนเรา ไม่ได้หมายถึงการดับตามธรรมชาติธรรมดาโดยไม่ต้องมีการพยายามของใคร ภาษาที่ใช้สำหรับการดับตามธรรมดาไม่เกี่ยวกับการปฏิบัตินั้น ก็ยังมีอยู่อีกพวกหนึ่ง เช่นคำว่า “อัฏฐังคิกมรรค” นี้ก็ใช้เป็นภาษาธรรมดาที่มันดับไปตามธรรมดา เช่น คนต้องตายไปตามธรรมดาอย่างนี้ หรือบางทีก็ใช้คำว่า “ภังคะ” อุปาทะ ฐีติ ภังคะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อย่างนี้ ไม่ใช่เป็นฝีไม้ลายมือของผู้ใด มันเป็นไปตามธรรมชาติ อย่างนี้ไม่ใช่คำว่านิโรธะเลย หรือว่าการเกิดดับตามธรรมชาติของสังขารก็ไม่ใช้คำว่านิโรธะ แต่ใช้คำว่าอัฏฐังคิกมรรค เป็นต้น อย่างในเรื่องที่ว่าจะศึกษาให้รู้เรื่องสิ่งใด รู้เรื่องของสิ่งใด ก็ต้องรู้ถึง อัสสาทะ อาทีนวะ อัฏฐังคิกมรรค สมุทยะ นิสรณะ เป็นต้น สิ่งนั้น มันมีคำว่าอัฏฐังคิกมรรคใช้ในกรณีอย่างนี้ อัฏฐังคิกมรรคในภาษาบาลีก็ตรงกับคำว่า “อัสดง” ในภาษาไทย อย่างว่าพระอาทิตย์อัสดงคต อัฏฐังคะคืออัสดงคต ในตอนเย็นลับไป พรุ่งนี้มันก็โผล่มาอีก อัสดงหรืออัฏฐังคิกมรรคนี้มันไม่ใช่ดับด้วยอำนาจของการถูกตัดรากเหง้าเหมือนกับตัดกิเลส ต้องระวังคำพูดให้ดี ในภาษๆาไทยมันมีว่าดับๆๆเหมือนกันหมด นี่มันปนกันยุ่ง ถ้าภาษาบาลีมันไม่ปนกัน เช่นคำว่า “ภังคะ” ก็ไม่ใช่ “อัฏฐังคิกมรรค” และ “อัฏฐังคิกมรรค” ก็ไม่ใช่ “นิโรธะ” อย่างนี้เป็นต้น มันจึงรัดกุมและง่าย มันจะใช้ภาษาไทยก็ลำบาก จึงต้องระวังให้ดี
เดี๋ยวนี้การดับของตัณหาด้วยอำนาจของอริยมรรคก็เป็นไปในลักษณะของนิโรธ แต่ถ้าจะกล่าวด้วยคำธรรมดาสามัญมันก็ยังมีอีกมาก เช่น คำที่พระองค์ได้ตรัสเกี่ยวกับตัณหาว่า จาโค ปะฏินิสุสัคโค มุตติ อะนาละโย โย ตัสสาเยวะ ตัณหายะ จาโค
ตัณหายะ จาโค ความละไปแห่งตัณหาหรือมันแยกจากกันกับอารมณ์
นี่เพราะการกระทำของบุคคลผู้ปฏิบัติ
ตัณหายะ ปะฏินิสสัคโค มันซับคืนหรือมันสลัดคืนซึ่งตัณหานั้น
ตัณหายะ มุตติ พ้นจากตัณหานั้น
ตัณหายะ อะนาละโย ไม่มีอะไรเหลืออยู่สำหรับตัณหานั้น
มีแต่ละคำๆเป็นอาการของการดับแห่งตัณหา ถ้าเข้าใจความหมายของคำว่า “จาคะ” คือละ “ปฏินิสสัคคะ” คือสละคืน “มุตติ “ความพ้น “อนาลยะ” ทำให้ไม่มีที่อาศัย อย่างนี้แล้วก็จะเข้าใจความดับตัณหาในลักษณะของนิโรธอริยสัจได้ดี ขอให้ไปสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับคำเหล่านี้เพื่อจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่า “นิโรธ” ที่เป็นตัวอริยสัจได้ง่ายขึ้น
ทีนี้ก็จะได้ดูต่อไปถึงมรรคสัจโดยตรง เพราะอำนาจของมรรคสัจนี่แหละจึงจะเกิด จาโค ปฏินิสสัคโค มุตติ อะนาละโย อะไรขึ้นแก่ตัณหานั้น “มรรคสัจ” ตัวหนังสือก็แปลว่า หนทาง แต่ไม่ใช่ทางเดินอย่างถนนหนทางที่เดินด้วยเท้า มันเป็นระเบียบหรือแนวปฏิบัติที่จิตใจจะเดิน มันมีลักษณะเฉพาะคือไม่เหวี่ยงไปข้างโน้นไม่เหวี่ยงไปข้างนี้ มันอยู่ตรงกลาง มันจึงได้เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” ตั้งอยู่ตรงกลาง มัชฌิมาปฏิปทาเป็นชื่อเรียกอัฏฐังคิกมรรคหรือมรรคประกอบไปด้วยองค์ ๘ มัชฌิมาปฏิปทานี้ถ้าสำรวจดูในพระบาลีแล้วก็พบว่ามีอยู่หลายความหมายด้วยกัน มีอาการต่างๆกันด้วย เช่น ที่เกี่ยวกับอริยมรรคโดยตรงนี่ เกี่ยวกับอัฏฐังคิกมรรคโดยตรงนี่ก็หมายถึง ความถูกต้อง หรือความชอบคือความถูกต้อง เรียกว่า “สัมมัตตะ” ได้กับความเป็นแห่งความถูกต้อง หรือความเป็นชอบแห่งความชอบ ชอบนี้ไม่ใช่รักใคร่หรือชอบใจ ชอบหมายถึงโดยชอบคือถูกต้อง
ความถูกต้องที่มีขึ้นมาด้วยความถูกต้องอันแรก คือ “สัมมาทิฐิ” ทั้งหมดนั้นจะมีอยู่ ๘ หรือจะมีอยู่ ๑๐ ก็สุดแท้ ก็เรียกว่าความถูกต้อง สัมมาทิฐิ มีความเห็นชอบหรือถูกต้อง คือรู้ด้วยวิชาการเป็นจริงในสิ่งทั้งปวง ไม่มีอะไรหลอกได้ ความถูกต้องอันนี้ก็ทำให้เกิดสัมมากัมมันโต สัมมาสังกัปโป ความถูกต้องความของความใฝ่ฝันปรารถนา ดำริ ตริตรึก จะดำริชอบนั้นมันดำริด้วยความปรารถนา สัมมาทิฐิไม่มี มันก็ปรารถนาผิด ดำริผิด เดี่ยวนี้สัมมาทิฐิมี ก็ดำริถูก ปรารถนาถูก ก็เลยเกิดการปรารถนาที่ถูกต้อง ซึ่งก็พูดจาถูกต้อง ทำการงานถูกต้อง เลี้ยงชีวิตถูกต้อง พากเพียรถูกต้อง กระทั่งสติถูกต้อง สมาธิถูกต้องกันไปหมด ที่จะเลยไปถึงว่าญาณทัศนะ ญาณถูกต้องเรียกว่าญาณทัศนะ แล้วก็วิมุตติ คือหลุดพ้นถูกต้อง เป็น ๑๐ ประการไปก็มี แต่สำคัญอยู่ที่ความถูกต้อง หรือสัมมัตตะต่างๆ นั่นแหละคือความหมายของสิ่งที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา คือมันอยู่ตรงกลาง ไม่ซ้ายสุดขวาสุด นี้ก็เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทาในความหมายหนึ่ง ในพระบาลีแห่งอื่นได้ระบุโพธิปักขิยธรรมทั้งหลายทุกประการว่าเป็นส่วนแห่งมัชฌิมาปฏิปทา เพราะว่าโพธิปักขิยธรรมนั้นย่อมไม่เอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่เอียงไปฝ่ายอาคาฬหปฏิปทา คือเปียกชุ่มไปในทางกาม ไม่เอียงไปในทางนิชฌามปฏิปทา คือไม่ไหม้เกรียมไปด้วยอำนาจของทิฐิ แต่สิ่งทั้งสองนี้บางทีก็เรียกว่า “กามสุขัลลิกานุโยค” หรือ “อัตตกิลมถานุโยค” กามสุขัลลิกานุโยคก็ตรงกับอาคาฬหปฏิปทา คือปฏิบัติที่เปียกชุ่มอยู่ในกาม อัตตกิลมถานุโยคก็ตรงกับนิชฌามปฏิปทา ซึ่งแปลว่าไหม้เกรียมเป็นถ่านเถ้าไปเลย โพธิปักขิยธรรมทุกข้อไม่มีลักษณะทั้งสองนี้ เพราะฉะนั้นพระองค์จึงตรัสเรียกโพธิปักขิยธรรมนั้นว่ามัชฌิมาปฏิปทาอย่างนี้ก็มี
ที่ในพระบาลีแห่งอื่นอีกก็ตรัสเรียกปฏิจจสมุปบาท กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท หรือให้ถูกกว่านั้นก็เรียกว่า ญาณทัศนะที่เป็นไปตามกระแสของปฏิจจสมุปบาท ว่านั้นเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เพราะว่าถ้ารู้จักกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทแล้วก็จะพบแต่กระแสแห่งความเป็นเหตุและผลของกันและกันตามธรรมชาติ หรือกระแสของการเกิดดับตามธรรมชาติ ฉะนั้นจึงพ้นจากความเหวี่ยงสุดข้างโน้นข้างนี้ คือไม่เหวี่ยงสุดแปลว่ามีหรือว่าไม่มี สัตว์ที่ยังโง่เขลาก็จะมีความคิดเห็นเหวี่ยงสุดไปในสองทาง พวก “สัพพัง อัตถิ” ว่าสิ่งทั้งปวงมี หรือ “สัพพัง นัตถิ” สิ่งทั้งปวงไม่มี นี้ก็คือความเห็นผิดๆที่เราชอบพูดกันนัก เช่นว่าตัวตนมี ตัวตนไม่มี ดังนี้ถ้าเป็นเรื่องของปฏิจจสมุปบาทแล้วก็จะไม่พูดกันเสียทั้งสองอย่างเลย มันมีแต่กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท จะพูดว่ามีก็ไม่ถูก จะพูดว่าไม่มีก็ไม่ถูก ผู้ที่เห็นปฏิจจสมุปบาทโดยแท้จริงแล้วจะพ้นจากความคิดเห็นว่าอะไรมีหรืออะไรไม่มี มันมีแต่ความไหลไปแห่งกระแสของปฏิจจสมุปบาท ซึ่งไม่ควรจะเรียกว่ามีหรือไม่มี แต่ถ้าจะคะยั้นคะยอให้อธิบายให้มากไปกว่านี้ก็กลายเป็นว่า จะพูดว่ามีก็ได้ พูดว่าไม่มีก็ได้ เพราะมันมีกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท เพราะถ้าไม่มีก็ไม่มีตัวตนอันเป็นสาระที่แท้จริงที่ตรงไหน นั้นปฏิจจสมุปบาทนั้นจึงเป็นมัชฌิมาปฏิปทาในความหมายอย่างหนึ่งว่ามันพ้นจากการที่จะไปโง่ไปหลงว่ามีหรือว่าไม่มี นี่อย่างหนึ่ง แล้วมันก็ยังมีคาบเกี่ยวกันต่อไปอีกว่าปฏิจจสมุปบาทนี้จะไม่ทำให้เกิดความคิดว่าเราทำเองหรือผู้อื่นทำให้ เพราะว่ามันไม่มีตัวมีตนกันเสียทั้งสองฝ่ายแล้ว การที่จะไปหวังกับตนเองหรือหวังผู้อื่นทำให้นี้ มันก็ไม่มี มันเป็นไปตามกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ดังนั้นจึงชื่อว่ามัชฌิมปฏิปทา หรือว่าความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ จะทำให้ไม่เกิดความคิดว่าอันนี้หรืออันอื่น คนโง่ในอวิชชาก็จะคิดว่าอันนี้หรือไม่อย่างนั้นก็จะคิดว่าอันอื่น จนถึงกับว่าพูดว่าไอ้ตายไปเกิดใหม่นี้ มันคนนี้หรือคนอื่น อย่างนี้เป็นต้น ถ้าเขาเชื่อว่ามีการเกิดใหม่ และการที่ไปเกิดใหม่ขึ้นมานั้นมันเป็นคนเดียวกับคนก่อนหรือว่าเป็นคนอื่นอีก ถ้าเป็นความรู้ของปฏิจจสมุปบาทแล้วจะไม่มีความคิดว่าเป็นคนนี้หรือเป็นคนอื่น เพราะมันไม่มีคนนั่นเอง ดังนั้นจึงไม่พูดว่าคนนี้หรือคนอื่น ถ้าจะให้พูดก็จะพูดว่า นะจะ โส นะจะ อัญโญ ไม่พูดว่าคนนี้และไม่พูดว่าคนอื่น เดี๋ยวนี้เรามันมีคนนี้และมีคนอื่นกันเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ตั้งแต่เป็นคนอยู่อย่างนี้ มันเป็นอวิชชา ความโง่ ความหลงที่ว่ามีคนนี้หรือคนอื่น เป็นซ้ายสุดขวาสุดอยู่อย่างนี้ มันก็ไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทา ถ้ารู้ข้อนี้แล้ว หมดความคิดว่าคนนี้หรือคนอื่นแล้ว มันก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทาขึ้นมาทันที มัชฌิมาปฏิปทามีความหมายมาก แต่ว่าจะมากสักเท่าไร มันก็สรุปความมุ่งหมายเป็นเพียงข้อเดียว คือไม่ให้เกิดตัณหามาได้ เพราะมันเห็นแต่เป็นกระแสเดียวไหลไปของปฏิจจสมุปบาท มันก็ไม่อาจจะเกิดตัณหาชนิดไหนขึ้นมาได้ จะเป็นกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ก็เกิดไม่ได้ทั้งนั้น ฉะนั้นมัชฌิมาปฏิปทาจึงเป็นวิถีทางแห่งการดับเสียสิ้นตัณหาอย่างนี้ อานิสงส์ของมัชฌิมาปฏิปทาสูงสุดอยู่ที่การไม่ให้เกิดตัณหา หรือว่าดับตัณหาเสียได้โดยอำนาจของมัชฌิมาปฏิปทานี้
นี่คือเรื่องอริยสัจทั้ง ๔ เรื่องทุกข์ เรื่องสมุทัย เรื่องนิโรธ เรื่องมรรค มันเกี่ยวข้องกันอย่างที่มิอาจจะแยกกันได้อย่างนี้ จนถึงกับมีหลักตายตัวว่า เมื่อรู้อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะรู้ทั้ง ๔ เสมอไป จะแยกรู้อริยสัจเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องเล่าเรียนด้วยตัวหนังสือก็ได้ แยกเรียนทีละอย่าง แยกรู้ทีละอย่างก็ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องรู้แจ้งแทงตลอดตามหลักเกณฑ์ของอริยสัจแล้วย่อมเป็นไปไม่ได้ ถ้ารู้ทุกขสัจก็ต้องรู้สมุทัย นิโรธ มรรคด้วย รู้สมุทัยก็ต้องรู้ทุกข์ นิโรธ มรรคด้วย ถ้ารู้นิโรธก็ต้องรู้ทุกข์ รู้สมุทัย รู้มรรคด้วย มันไม่มีทางจะแยกกันได้ ว่าเกี่ยวเนื่องกันนั่นเอง นี้มีวิธีใดเหมาะสำหรับบุคคลใด จะตั้งต้นที่ตรงไหนก็ได้ทั้งนั้น ทำให้แจ่มแจ้งแทงตลอดอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็จะต้องรู้แจ่มแจ้งแทงตลอดด้วยกันทั้งหมด
คำอธิบายนี้เป็นการอธิบายให้เห็นความหมายที่ซ่อนอยู่เกี่ยวกับอริยสัจทั้ง ๔ ประการนั้น อันเป็นเรื่องที่ทรงแสดงในวันเพ็ญอาสาฬหบูชา ในฐานะเป็นปฐมเทศนา เป็นการแสดงทีแรก แรกๆแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ แล้วก็ยังได้ชื่อว่า “อนุตรธรรมจักร” คือเป็นธรรมจักรที่คมเฉียบที่ตัดตัณหาต่างๆได้ แล้วก็ยังได้ชื่อว่าเป็นการประกาศอาณาจักรของพระธรรมให้ชัดเจนขึ้นมา เรื่องอริยสัจทั้ง ๔ แสดงออกไปอย่างไร ที่ไหน เมื่อไร ก็ย่อมเป็นการประกาศธรรมาณาจักรอย่างที่พระพุทธองค์ได้ทรงทำเป็นคราวแรก ทีนี้ก็เหลืออยู่แต่ที่พุทธบริษัทสาวกทั้งหลายจะช่วยกันประกาศหรือว่าหมุนธรรมจักรนั้นให้ยังคงหมุนอยู่ต่อไป ว่าจะช่วยกันอย่างไรที่จะให้ธรรมจักรนี้ยังคงหมุนอยู่ต่อไปในโลกนี้ เพื่อช่วยเหลือหมู่สัตว์ที่จะกำจัดทุกข์ภัยทั้งหลาย นี้ก็มาประชุมกันทำอาสาฬหบูชานี้ ความหมายมันก็อยู่ที่นี่ คือจะช่วยกันทำให้ธรรมจักรนี้ยังคงอยู่และยังหมุนอยู่เพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายต่อไป ขอให้สนใจในการที่จะรับผิดชอบในส่วนนี้ด้วย อย่าได้งมงายเป็นเพียงพิธีรีตอง แต่ให้เป็นเรื่องจริงจังขึ้นมาและก็ยิ่งขึ้นไปทุกปี
นี่อาตมาได้อธิบายถึงความแห่งอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นหัวใจของพระบาลีที่เรียกว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” มาสองครั้ง พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาสังเกตต่อไป ก็นับว่าพอสมควรแก่เวลาแล้ว หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆตามที่ได้พยามชี้แจงหรืออธิบายเพิ่มขึ้น ฉะนั้นก็ช่วยกันทำให้สำเร็จประโยชน์ ให้ธรรมจักรยังคงหมุนต่อไปในโลกนี้เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงตามพระพุทธประสงค์ เพื่อให้ตถาคตเกิดขึ้นในโลกนี้เพื่อประโยชน์เพื่อความสุข เพื่อความเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย ทั้งเทวดาและมนุษย์ เมื่อเราทำได้จริงในการทำอาสาฬหบูชาแล้วก็ย่อมเป็นการทำได้จริงในส่วนที่จะยังธรรมจักรนั้นให้สืบไปตลอดกาลนาน ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้