แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
อะนุตตะรัง ธัมมักจักกัง ปะวัตติกัง อับปะจิวัตจิยัง สะมะเนนะวา เทเวนะวา พรหมมะเนนะวา เกนะจิวา โลกัสมิงติ ธัมโม ตัสสัจจัง โสตัพโพติ(ไม่แน่ใจ)
ณ บัดนี้จะได้วิสัชชนาพระธรมเทศนา เรื่อง ธัมมจักกัปปวัตตนกถา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายที่เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายกว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาในวันนี้ ปรารภการกระทำอาสาฬหบูชาสืบต่อมาจากธรรมเทศนาที่แสดงแล้วในตอนบ่าย วันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา คือการบูชาเนื่องในวันเพ็ญอาสาฬหะ เมื่อพูดถึงวันเพ็ญอาสาฬหะก็ไม่มีความหมายอะไรเลย ก็เป็นปฏิทินสำหรับใช้นับวัน นับเดือน นับปี เรียกเดือนนี้ว่าเดือนอาสาฬหะ คือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ แต่ถ้าไปพิจารณาดูถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกับวันเช่นวันนี้ ความหมายก็เกิดขึ้นมา ที่ว่าเป็นวันที่สมมุติกันว่าเป็นวันที่ได้ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร การที่ทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตตนสูตร นั้นมีความหมายอย่างไร ข้อนี้ได้อธิบายกันมามากมายแล้ว เอาแต่ใจความก็คือว่าเป็นวันแสดงพระธรรมเป็นครั้งแรก เรื่องที่แสดงนั้นก็เป็นเรื่องอนุตตรธรรมจักร คือ ธรรมจักรที่ไม่มีจักรอื่นยิ่งกว่า และการที่ทรงแสดงนั้นเรียกว่าธัมมจักกัปปวัตน กล่าวคือ การยังธรรมจักรให้เป็นไป หมายถึงการประกาศธรรมาณาจักร เปรียบเทียบกันได้กับที่บุคคลเขาประกาศอาณาจักรในทางฝ่ายโลกๆ เมื่อพิจารณาถึงสิ่งทั้ง 3 นี้แล้ว ความหมายก็เกิดขึ้นมาอย่างเต็มที่ ซึ่งจะได้วิสัชชนาไปตามลำดับ ในชั้นแรกที่สุดนี้ก็อยากจะปรารภเกี่ยวกับพุทธบริษัทของเราทั้งหลาย ว่าได้เกี่ยวข้องกับพระสูตรอันชื่อว่าอนุตรธรรมจัก หรือธัมมจักกัปปวัตนสูตรนี้กันอย่างไร แม้มาทำ อาสาฬหะบูชากันอย่างนี้ นั้น ได้รับประโยชน์อะไรจากพระพุทธโอวาทนั้น ดูกันโดยทั่วๆไป มันก็ยังเป็นพิธีรีตองอยู่นั่นเอง ถ้าเป็นพิธีก็นับว่ายังมีส่วนดี คือ การกระทำที่ถูกต้องตามพิธี แต่ถ้าพูดถึงพิธีรีตอง มันก็เลยกลายเป็นว่างมงาย เหมือนอย่างที่ได้กล่าวแล้วในตอนบ่ายว่า เขาไปซื้อปืนเด็กเล่นหรือปืนฉีดน้ำมาสำหรับจะป้องกันขโมยหรือโจรที่มาปล้นบ้าน อย่างนี้มันเป็นสิ่งที่น่าสงสารหรือน่าหัวเราะอย่างไร ถ้าพุทธบริษัทเราได้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงไปที่มีความหมายกันในลักษณะนั้นก็นับว่าน่าเวทนาสงสาร หรือน่าหัวเราะเยาะ โดยทั่วไปเคยเตือนให้ระลึกนึกกันในข้อที่ว่า อย่าเลี้ยงไก่ไว้ไข่ให้สุนัขกิน คือการบำรุงพระศาสนาโดยที่ไม่ถือเอาประโยชน์อะไรจากพระพุทธศาสนา ได้แต่บำรุงศาสนาตามๆ กันไป เหมาๆ กันไป ว่าได้บุญได้กุศลหรือได้อะไรทุกอย่างที่ต้องการจะได้ แต่แล้วก็ไม่ได้คือไม่ได้ อะไรที่เป็นความมุ่งหมายของศาสนานั้นเลย อันนี้เป็นมูลเหตุอันใหญ่หลวงหรือมูลเหตุทั่วไปที่ทำให้เรื่องต่างๆ ก็พลอยเป็นเรื่องงมงายไปด้วยเพราะไม่สนใจพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นเหมือนไก่ แม้จะไข่ออกมาก็ไม่สนใจปล่อยให้สุนัขกิน ดังนั้นแหละจึงไม่รู้ว่าพระพุทธโอวาทข้อไหนมีใจความว่าอย่างไร จะต้องใช้กันอย่างไร ในที่สุดพระโอวาทที่เรียกว่าธรรมจักรนี้ก็มิได้ใช้กันอย่างที่เรียกว่าเป็นธรรมจักร คือไม่ได้ใช้สำหรับตัดสิ่งซึ่งเป็นเสนียดจัญไรของมนุษย์ ไม่ได้ตัดกิเลส ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายหรือทำลายมนุษย์ จึงอุปมาเหมือนกับว่าไม่รู้จักหาอาวุธมาป้องกันตัว นี้ก็นับว่าน่าสงสารที่สุด มีคนที่พยายามหาอาวุธมาใช้ป้องกันตัว แต่แล้วก็ไปเอาอาวุธอะไรมาเหมือนอย่างที่กล่าวแล้วว่าไปเอาปืนเด็กเล่นเอาไว้ป้องกันขโมย พุทธบริษัทที่ไม่สนใจจะศึกษาธรรมะให้เข้าใจ กระทำไปแต่ตามพิธีรีตองเพราะเชื่อว่าตนเองก็มีธรรมะ รู้ธรรมะ สำหรับจะกำจัดความทุกข์ ครั้นเกิดความทุกข์จริงก็นั่งร้องไห้อยู่ เพราะว่าไม่สามารถกำจัดความทุกข์ได้ เดี๋ยวนี้เราจะต้องกระทำให้มันสมกับความเป็นพุทธบริษัทที่จะมีธรรมะจริงๆ สำหรับกำจัดความทุกข์ได้จริงเหมือนคนที่เขามีปืนดีๆจริงๆ เพื่อป้องกันศัตรูได้ฉันใดก็ฉันนั้น เดี๋ยวนี้ก็ดูให้ดีเถิดว่าทุกคราวที่มีการแจกธรรมะเหมือนกับแจกปืนก็ไม่ค่อยมีใครจะสนใจศึกษาเข้าใจจนเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ นั่งฟังหลับไปเสียก็มี ยิ่งกว่านั้นก็มีมรรยาทเลวถึงกับขนาดนั่งคุยกันเสียก็มีทำให้ผู้อื่นลำบากฟังไม่ถนัด นี้เรียกว่าไม่รู้จักการแจกปืนและก็ไม่ต้องการโดยแท้จริง อาการอย่างนี้ก็มีอยู่อย่างมากแต่ก็ไม่รู้สึกกัน เช่นเดียวกับอาการอีกอย่างหนึ่งซึ่งได้เขียนภาพไว้ที่ฝาผนังด้านนอกของตึกนั้น เป็นภาพแจกลูกตาและก็ไม่มีใครกี่คนที่อยากได้ลูกตา ก็เห็นแจกลูกตาก็วิ่งหนีเสีย ดูๆ ก็คล้ายกับว่ามันกลัวลูกตา แต่ว่ามันอาจจะไม่ใช่กลัวลูกตาในลักษณะว่าเป็นของน่ากลัวอยู่ที่ลูกตา แต่มันจะกลัวว่าถ้ามีดวงตาเสียแล้วมันหายโง่ มันก็จะหมดสนุก คนเป็นอันมากไม่มาสนใจกับพระธรรม ด้วยความเขลา กลัวเอาเสียเลยว่าธรรมะนี้ไม่สนุก มาสนใจธรรมะก็หมดสนุก ยิ่งรู้แจ้งในธรรมะแล้วก็ยิ่งหมดสนุกไปกว่านั้นอีกก็เลยไม่อยาก ไม่อยากได้ ไม่อยากมี หรือไม่อยากแม้แต่จะสนใจกับสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ เปรียบเหมือนกับว่าแจกลูกตาแล้วก็ไม่มีใครเอา น้อยคนที่จะรับเอา ทั้งหมดนี้ ตามที่ปรารภมานี้ก็เพื่อแสดงว่า เรายังมีปัญหาที่เหลืออยู่สำหรับสะสางกันต่อไป ที่ได้เอามาพูดให้ฟังว่าปัญหายังได้มีอยู่อย่างนั้นจริงๆ ปฏิญาณตัวว่าเป็นพุทธบริษัทถึงกับบวชพระบวชเณร จากบ้านจากเรือนมาแล้วก็ยังมีอาการอย่างนี้ ขอร้องก็ได้ ขอวิงวอนก็ได้ว่าจงช่วยกันแก้ไขสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเหล่านี้ให้หมดไปเสียโดยเร็ว ดังนั้น ในวันนี้จึงอยากจะพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรมจักรกันให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปจนถึงกับมองเห็นว่าเป็นอาวุธสำหรับกำจัดความทุกข์ทั้งส่วนตัวบุคคลและของสังคมที่รวมๆกันไปได้อย่างไร ในชั้นแรกก็ขอให้ทุกคนนึกถึงพระพุทธเจ้า ก่อนที่ได้ทรงแสดงธรรมจักรนั้นเพื่อประโยชน์อะไร ในพระบาลีมากแห่งตรัสไว้ว่า ตถาคตเกิดขึ้นในโลกนี้เพื่อความสุข เพื่อการเกื้อกูล เพื่อเป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ทั้งเทวดาและมนุษย์ นี่หมายความว่า ถ้าไม่เพื่อประโยชน์อันนี้แล้วก็ไม่ต้องเกิดพระพุทธเจ้า เกิดเพียงพระอรหันต์ มาดับทุกข์ส่วนตนสิ้นเชิงไปก็หมดเรื่องกัน แต่นี่การที่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกก็เพื่อจะช่วยคนทั้งโลกนั่นเอง เมื่อพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วท่านได้ทรงแสดงธรรมจักรเป็นเรื่องแรก ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่า สิ่งที่เรียกว่าธรรมจักรนั้นมันมีความหมายมากมาย กว้างขวาง ลึกซึ้ง แต่สรุปความแล้วก็คือจะตัดปัญหาของมนุษย์ได้นั่นเอง พระองค์จึงได้ทรงนำมาแสดงหลังจากการตรัสรู้แล้วใหม่ๆ นี้เราจะได้พิจารณากันถึงสิ่งที่เรียกว่าธัมมจักกัปปวัตนสูตรโดยสมควรแก่เวลา ในชั้นแรกนี้จะพิจารณากันเกี่ยวกับสิ่งที่เกี่ยวกับชื่อ ชื่อที่เราใช้เรียกพระสูตร สูตรนี้ก็มีอยู่ ที่เป็นสำคัญๆ นั้น 3 ชื่อด้วยกัน คือ ชื่อว่า ปฐมเทศนา ชื่อหนึ่ง ชื่อว่าอนุตตรธรรมจักรนี้ก็อีกชื่อหนึ่ง ชื่อธัมมจักกัปปวัตนนี้ก็อีกชื่อหนึ่ง ชื่อแรกว่าปฐมเทศนาก็บอกอยู่ในตัวชัดเจนแล้ว เป็นพระธรรมเทศนาทีแรก เรื่องแรก คือพูดกันตามภาษาธรรมดาก็หมายความว่า เป็นเรื่องแรกที่พระองค์ทรงแสดงแก่สัตว์โลก สูตรนี้จึงได้ชื่อว่า ปฐมเทศนา แต่ถ้าดูให้ดีให้ลึกไปกว่านั้นอยากจะขอร้องให้มองให้เห็นว่าที่ว่าแรกนี่มันเป็นเรื่องแรกสำหรับทุกคนจะต้องรู้ทุกยุค ทุกสมัย จะต้องรู้เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกของทุกคนไม่ใช่เรื่องแรกครั้งเดียวของพระพุทธเจ้าแก่ปัญจวัคคีแล้วมันก็หมดความหมาย คำว่าเป็นเรื่องแรกอยากจะให้เป็นเรื่องแรกสำหรับทุกคนต้องสนใจและก็เป็นเรื่องแรกสำหรับทุกยุคทุกสมัยต่อไป ในอนาคตยืดยาวเท่าไรเรื่องนี้ก็จะเป็นเรื่องแรกอยู่เสมอ เรื่องแรกสำหรับทุกคนเป็นอย่างไรนั้นจะรู้ได้จากข้อความในพระบาลีนั่นเอง เดี๋ยวนี้เราไม่สนใจพระสูตรนี้ให้เข้าใจชัดแจ้ง เราไม่ค่อยรู้ความหมายคำว่าเรื่องแรก ในวันนี้ก็จะได้พิจารณากันดูตามลำดับไปจะได้พบว่ามันเป็นเรื่องแรกอย่างไร นี้ชื่อที่ 2 ที่เรียกว่าอนุตตรธรรมจักรก็แปลว่า ธรรมจักรที่ไม่มีจักรอื่นยิ่งกว่า หรือไม่มีจักรไหนดีกว่า ยิ่งกว่าจักรชนิดนี้จึงได้ชื่อว่าอนุตตรธรรมจักร ธรรมจักรเป็นเครื่องมือ เป็นอาวุธ สำหรับตัดปัญหา ตัดความทุกข์ที่ไม่มีเครื่องมือหรืออาวุธอะไรยิ่งไปกว่าอาวุธนี้ หรือจะเอาความหมายของคำว่าจักรในความหมายหนึ่งซึ่งเล็งถึงล้อ ล้อนี้เช่นล้อเกวียนเป็นต้น เป็นสัญญลักษณ์ของความก้าวหน้าหรือความเจริญ คงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แม้ในประเทศอินเดียในสมัยนั้นว่าล้อเป็นสัญญลักษณ์ของความเจริญ แม้จะกล่าวถึงความเจริญก็ไม่มีล้อไหนยิ่งไปกว่าล้อของพระธรรม พระธรรมทำหน้าที่เหมือนล้อที่นำไปสู่ความเจริญ คือมันนำไปได้โดยง่ายเหมือนล้อเกวียน ล้อรถ มันนำรถ นำเกวียนไปได้โดยง่าย คนได้รับประโยชน์ เป็นความเจริญก้าวหน้าเพราะว่ามีล้อ ธรรมะนี้ก็เหมือนกัน นอกจากจะเป็นอาวุธแล้วยังมองดูความหมายกันในลักษณะที่เป็นล้อสำหรับพาไปเร็วๆ ไปสู่ความเจริญอย่างนี้ก็ได้ ก็ไม่มีล้อไหนที่ดียิ่งไปกว่าธรรมจักร ถ้าเป็นอาวุธก็ไม่มีอาวุธไหนดีไปกว่าอาวุธคือ ธรรมจักร ดังนั้นจึงเรียกกันว่า อนุตตร แปลว่าไม่มีอันอื่นยิ่งไปกว่าหรือดีไปกว่า นี้เป็นความหมายของชื่อที่ 2 ที่เรียกว่า อนุตตรธรรมจักร นี้ชื่อที่ 3 ว่า ธัมมจักกัปปวัตน คำนี้แปลว่าการปล่อยออกไป ซึ่งธรรมจักร หรือตามตัวหนังสือแท้ๆ ก็การยังธรรมจักรให้เป็นไป ยังธรรมจักรให้เป็นไป คือปล่อยธรรมจักรออกไป พระพุทธองค์ได้ทรงปล่อยธรรมจักรออกไป เป็นการประกาศอาณาจักรของพระธรรม อย่างที่ได้กล่าวไว้อย่างท้าทายว่า อนุตตะรัง ธัมมจักกัง ปะวัตติกัง อนุตรธรรมจักรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงให้เป็นไปแล้วคือปล่อยไปแล้ว อัปปะจิวัตติยัง สะมะเนนะวา เทเวนะวา พรหมมะเนนะวา พรหมมะนาวา เกนะจิวา โลกัสสมิงติ (ไม่แน่ใจภาษาบาลี เวลา 24.55) เป็นธรรมจักรที่ใครต่อต้านไม่ได้ หรือให้หมุนกลับไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสมณะหรือเป็นพราหมณ์ หรือเป็นพรหม เป็นเทวดา เป็นอะไรก็สุดแท้ ไม่สามารถจะต่อต้านธรรมจักรนี้ให้หยุดได้หรือให้ตีกลับได้ นี้คือความหมายของคำว่า ธัมมจักกัปปวัตน คือการยังธรรมจักรให้เป็นไปอย่างที่ไม่มีใครจะต่อต้านได้ ดังนั้นธรรมจักรจึงทำหน้าที่ได้ตามความมุ่งหมาย อาจจะมีคนสงสัยว่า เดี๋ยวนี้ก็มีคนต่อต้านธรรมะไม่สนใจธรรมะ เหยียบย่ำธรรมะ ละเลยธรรมะ นี้จะอธิบายว่าอย่างไรกัน นั่นก็เป็นเพราะว่ามองดูอย่างผิวเปลือกมากเกินไป การต่อต้านธรรมะของบุคคลนั้นสำเร็จหรือไม่ ทำไมไม่ลองพิจารณาดูให้ดี มีการต่อต้านธรรมะที่ไหนก็มีความวินาศที่นั่นแก่บุคคลนั้นผู้ต่อต้านธรรมะนั่นเอง ลองไปพิจารณาดูจะพบความจริงข้อนี้ ทั้งหมดนี้เราพิจารณากันเกี่ยวกับชื่อว่า ปฐมเทศนา เรื่องที่แสดงครั้งแรกบ้าง อนุตตรธรรมจักร เป็นธรรมจักรที่ไม่มีจักรอื่นยิ่งกว่าบ้าง เป็นธัมมจักกัปปวัตนะ การทรงแสดงพระพุทธโอวาทนี้เป็นเหมือนการปล่อยธรรมจักรให้เป็นไปในโลก ลองพิจารณาดูความหมายทั้ง 3 ความหมายนี้ให้ดีๆ ก็คงจะพอใจหรือชอบใจในธัมมจักกัปปวัตนสูตรขึ้นไม่มากก็น้อย และก็จะได้สนใจกันต่อไปให้มีความเข้าใจยิ่งๆ ขึ้นไปจนสำเร็จประโยชน์ได้ตามต้องการ ทีนี้ก็จะพิจารณาดูต่อไปตามลำดับ คือจะพิจารณาในฐานะที่ว่าเป็นสิ่งแรกที่ต้องรู้จักก่อนนั้นอย่างไร สิ่งแรกที่จะต้องรู้จักก่อนในพระบาลีนี้ที่ทรงนำมาแสดงก็ได้แก่สิ่งที่เรียกว่าอันตะ หรือที่สุดสองอย่าง กับสิ่งที่อยู่ตรงกลาง คือไม่เบี่ยงไปสุดข้างโน้นหรือข้างนี้ ที่สุด 2 อย่าง คือสุดไปทางซ้ายหรือสุดไปทางขวา สุดไปทางซ้ายก็เรื่องตามใจกิเลส ประเภท กามรมณ์ ที่เรียกว่ากามสุขนิกานุโยค การมัวเมาอยู่ในความรู้สึกทางกามรมณ์ นี้ก็เรียกว่าเหวี่ยงไปสุดข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งก็เป็นการทรมานร่างกายให้ลำบากของคนโง่ที่คิดว่าถ้าย่ำยีร่างกายให้มันแสบเผ็ด เจ็บปวดจนมันถึงกระดูกหรือจะตายไปแล้วอย่างนี้ก็จะละกิเลสได้ ก็เป็นการกระทำที่เหวี่ยงสุดไปในทางที่ตรงกันข้ามอีกทางหนึ่ง เรียกว่าสุดซ้ายหรือสุดขวาก็ได้ทั้งนั้นแล้วแต่จะเรียก ขอให้มันได้ความว่ามันเหวี่ยงไปสุดกันคนละทาง ที่สุด 2 อย่างนี้ สัตว์โลกกำลังแยกกันทำผิดๆ ไปคนละทางอยู่ในโลกนี้ แต่พิจารณาดูให้ดีหรือไม่ต้องพิจารณาดูให้ดีก็จะเห็นได้ชัดว่าสัตว์โลกส่วนมากนั้นมันเหวี่ยงไปหาสุดโต่งฝ่ายกามรมณ์ จะมีน้อยนักน้อยหนา คือไม่กี่คนที่จะเหวี่ยงไปสุดโต่งในทางทรมานกายให้ลำบาก ข้อนี้เป็นเพราะเหตุไรก็คงทายกันได้หรืออธิบายกันได้ แต่ขอให้เข้าใจในข้อที่ว่า มันมีการเหวี่ยงสุดโต่งข้างโน้น หรือข้างนี้ กันอยู่อย่างนี้ ไม่มีใครทำให้มันพอดี เรียกว่ามันเป็นสิ่งแรกที่จะต้องรู้จักสังเกตกันให้ดีๆ ว่า ในโลกนี้สัตว์โลกทั้งหลายกำลังแยกทำผิดกันอยู่คนละทางคือไปสุดโต่งกันอยู่ 2 อย่างนี้ ส่วนมากก็ไปสุดอยู่ข้างฝ่ายกามคุณ นี้เรื่องตรงกลางไม่สุดโต่งข้างโน้น ข้างนี้ นับเป็นเรื่องของอริยสาวก สาวกของพระอริยเจ้า คือสาวกที่เป็นพระอริยเจ้า เป็นผู้ที่ได้ฟังคำสั่งสอนของพระอริยเจ้าหรือของพระพุทธเจ้าก็รู้จักดำรงตนให้อยู่ตรงกลาง นี้ก็ยิ่งมีน้อยไปเสียอีก เพราะไปมัวไปสุดโต่งข้างฝ่ายกามสุขนิกานุโยค กันเกือบหมดทั้งโลกแล้ว ที่ไปหยุดข้างฝ่ายโง่เง่าทำตนให้ลำบากนี้ก็มีเสียส่วนหนึ่ง นี้ส่วนที่เหลือมาถูกต้องอยู่ที่ตรงกลางนี้มันก็ยิ่งน้อยลงไป ถ้าทำได้ก็จัดเป็นพวกอริยสาวก สำหรับที่อยู่ตรงกลางก็เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา การปฏิบัติที่เป็นกลางมีคำอธิบายมากหลายอย่าง หลายระบบ และระบบที่รู้จักกันดีก็คือที่ทรงแสดงไว้ในพระสูตรนี้ เรียกว่า อัฎฐังคิกมรรค หนทางประกอบไปด้วยองค์ 8 คือ สัมมาทิฐิ ความเห็นถูกต้อง สัมมาสังกัปปะ มีความปรารถนาถูกต้อง สัมมาวาจา มีการพูดจาถูกต้อง สัมมากัมมันโต มีการกระทำทางกายถูกต้อง สัมมาอาชีโว มีการดำรงชีวิตหรือเลี้ยงชีวิตถูกต้อง สัมมาวายาโม มีความพากเพียรถูกต้อง สัมมาสติ ความระลึกถูกต้อง สัมมสมาธิ มีความตั้งใจมั่นอย่างถูกต้อง แม้ธรรมะ 8 ประการนี้ที่เรียกรวมกันว่ามรรค ก็ยังเป็นสิ่งที่พระองค์ตรัสว่าไม่เคยฟังมาแต่ก่อนเพราะไม่มีใครสอนให้พระองค์ เป็นการตรัสรู้ของพระองค์โดยตรง แม้ทรงแสดงประโยชน์ไว้อย่างที่น่าสนใจที่สุดว่า จักษุกรณี ญาณกรณี การปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 นี่จะเป็นเครื่องทำให้เกิดดวงตา จะเป็นเครื่องทำให้เกิดญาณขึ้นมาและเป็นไปให้เพื่อความรู้ยิ่งขึ้นไปจนทำให้ถึงนิพพานเป็นที่สุด ทุกคนควรจะรู้จักใช้ อัฎฐังคิกมรรค ให้เป็นประโยชน์ตั้งแต่ต้นที่สุดคือทำให้เริ่มเกิดดวงตา หรือความรู้สึกที่ถูกต้องขึ้นมาตามลำดับกระทั่งเป็นความรู้ ยิ่งรู้พร้อม กระทั่งทำพระนิพพานให้แจ้งในที่สุด นี่คือประโยชน์ของสิ่งที่เรียกว่าอยู่ตรงกลาง ไม่เหวี่ยงไปสุดโต่งข้างโน้นหรือข้างนี้ นี้คือสิ่งแรกที่ต้องรู้จักก่อน เมื่อหลีกสุดโต่ง 2 ข้าง มาอยู่ตรงกลางแล้ว ประโยชน์อะไรจะเกิดขึ้น ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นตามที่ได้ตรัสไปแล้วว่า สิ่งนี้จะทำให้เกิดจักษุ ให้เกิดดวงตา ให้เกิดญาณ ก็เกิดความรู้ขึ้นในเรื่องสัจจะที่ประเสริฐ ที่เรียกว่าอริยสัจ 4 ประการ นี้เรียกว่าเป็นความจริงที่ควรรู้จัก คือถ้าพูดให้ชัดกว่านั้นก็ต้องว่าเป็นความจริงที่ต้องรู้จัก ถ้าไม่รู้จักก็ต้องมีความทุกข์แน่นอน ความจริงที่ต้องรู้จักนี่ คือสิ่งที่เรียกว่าอริยสัจ 4 ประการ พิจารณากันถึงคำว่า สัจจ์ หรือสัจจะนี่ คำนี้ก็แปลว่าความจริง ถ้าจริงก็คือไม่หลอก แม้พระบาลีจะกล่าวไว้อย่างตรงๆ อย่างน่าหัวเราะกันว่า ยังสัจจัง ตัง อมุสา สิ่งใดจริง สิ่งนั้นก็ไม่โกหก เขาเรียกว่าสัจจะ สัจจะนี้จริงเหมือนกันหมด แต่ว่าประเสริฐก็มี ไม่ประเสริฐก็มี ถ้าสัจจะที่มีประโยชน์ดับทุกข์ได้จึงจะเรียกว่าสัจจะที่มีประโยชน์หรือเรียกว่าอริยสัจ ถ้ามันจริงไปตามเรื่องของธรรมชาติ เป็นธรรมชาติ ไม่เกี่ยวกับมนุษย์ ไม่มีประโยชน์แก่มนุษย์ก็ไม่เรียกว่าอริยสัจ งั้นขอให้รู้ความหมายของคำว่าอริยสัจหรือประเสริฐนั้นให้ตรงดับทุกข์ได้และมีประโยชน์ ที่อริยสัจนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่เคยฟังมาก่อน คือตรัสรู้เอง และทรงยืนยันเช่นเดียวกับมัชฌิมาปฏิปทา ก็ไม่เคยฟังมาก่อน ก็แปลว่าเป็นผลแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าโดยแท้ นี้อริยสัจมีอยู่ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เรียกกันสั้นๆ 4 คำ เป็นคำที่รวมเอาสิ่งที่มนุษย์ควรรู้จักหรือต้องรู้จักไว้อย่างหมดสิ้น คำแรกคือคำว่า ทุกข์ หมายถึงความทุกข์ที่เป็นปัญหาอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ เป็นสิ่งที่เข้าใจยาก มันก็เลยเกิดเป็นความลำบาก ระส่ำระสายขึ้นมา จะมีกี่อย่าง กี่ชนิด มันก็ล้วนมีความหมายเหมือนกัน คือทำความทุกข์ยากลำบาก ทรมาน ให้แก่มนุษย์นี้เป็นเรื่องที่ 1 เรื่องที่ 2 สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ซึ่งเห็นยากเข้าใจยาก ไม่เป็นที่ปรากฏแก่คนธรรมดา ต้องอาศัยผู้ที่มีสติปัญญาขั้นสูงสุด คือพระพุทธเจ้าเป็นผู้แสดง ได้แก่กิเลสทั้งหลายที่ออกมาจากความไม่รู้ ทำให้ยึดถือนั่น นี่ เป็นตัวตน เป็นของตน เมื่อเกิดตัณหา คือความอยากอย่างโง่เขลาไปตามความยึดมั่นถือมั่น นี้เรียกว่าสมุทัยเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด เป็นเรื่องที่ 2 เรื่องที่ 3 เรียกว่า นิโรธ เอาความดับไม่เหลือแห่งความทุกข์ นี้ก็อย่าเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่จะเห็นได้ง่ายๆ หรือเข้าใจได้ง่ายๆ คนได้สำคัญผิดเอาสิ่งที่ไม่อาจจะดับทุกข์ หรือไม่ใช่ความดับทุกข์ นั่นแหละมาเป็นความดับทุกข์ มาหลอกตัวเองอยู่เสมอ จึงไม่มีทางจะพบกันกับความดับทุกข์โดยแท้จริง นี้ก็เรียกว่าไม่รู้จักนิโรธ เพราะเขาไม่รู้จักสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์แล้วก็ไม่สามารถจะรู้จักนิโรธคือความดับแห่งทุกข์ จะต้องมาพร้อมๆ กัน คือรู้ว่ากิเลสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์แล้วจึงจะรู้ว่าการดับกิเลสเสียนั่นแหละเป็นความดับทุกข์ เดี๋ยวนี้จะให้เงินเพื่อดับทุกข์ก็หลงหาเงินกันเป็นการใหญ่ จะให้เกียรติดับทุกข์ก็หาเกียรติกันเป็นการใหญ่ หาอำนาจวาสนามาหรือบางทีก็ไปบนบานผีสางเทวดาของขลังศักดิ์สิทธิ์ว่าให้ช่วยดับทุกข์ นี่คือคนโง่ ไม่รู้ว่าความทุกข์นั้นมันเกิดมาจากกิเลสจะดับทุกข์ก็ต้องดับที่กิเลส ดับตัณหาอุปทานเสียก็จะดับทุกข์ พระองค์ทรงสอนอย่างนี้เรียกว่าเป็นเรื่องนิโรธ เป็นเรื่องที่ 3 เรื่องที่ 4 เรียกว่ามรรค ก็เป็นเรื่องที่อธิบายว่าทำอย่างไรจึงจะดับกิเลสนั้นได้ นี้ก็ต้องย้อนกลับไปหาอริยมรรคมีองค์ 8 มัชฌิมาปฏิปทา อีกครั้งหนึ่ง เพราะถ้าปฏิบัติอยู่ในอริยมรรคมีองค์ 8 ก็จะเกิดการดับแห่งกิเลส ความทุกข์ก็จะดับ คนเราก็จะหมดปัญหา ทั้ง 4 อย่างนี้มันเนื่องกันอย่างที่เห็นได้ชัด พอมันมีความทุกข์ มันมีเหตุให้เกิดทุกข์ มันเป็นสิ่งที่ต้องดับและต้องปฏิบัติให้ถูกต้องจึงจะดับได้ อริยสัจจึงต้องแจกออกเป็น 4 ดังนี้ เป็นเรื่องทุกข์ สมุทัย นิโรธ และเรื่องมรรค ขอให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นฆราวาส หรือเป็นบรรพชิตจะต้องสนใจเรื่องนี้ให้ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไรในการที่จะเป็นพุทธบริษัท และก็ปรากฏว่าเราก็ไม่สนใจเรื่องนี้กันอย่างให้สุดความสามารถก็เพราะไปหลงหรือเข้าใจผิดอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น มันยุ่งไปหมด ความจริงต้องรู้จักคืออริยสัจ 4 ประการ เฉพาะที่ได้ตรัสไว้ในลักษณะอย่างนี้ ถ้าจะดูกันโดยหลักที่นิยมใช้กันในบุคคลผู้มีสติปัญญา จะเห็นว่ามันเป็นหลักเกณฑ์ที่วางไว้อย่างมีความสมบูรณ์ในทางศัพท์เพราะว่า สัจจ์ คือวิธีของการใช้เหตุผล เพราะอริยสัจ 4 ก็จะพบว่ามีความสมบูรณ์ในทางศัพท์ ก็คือการบอกให้ว่าสิ่งนั้นคืออะไรเป็นเรื่องของทุกข์ สิ่งนั้นมาจากอะไร นี้ก็เป็นเรื่องของสมุทัย และสิ่งนั้นเพื่อประโยชน์อะไร ก็เพื่อดับทุกข์ นี้เป็นเรื่องของนิโรธ เรื่องนั้นจะสำเร็จได้โดยวิธีใด โดย อัฎฐังคิกมรรค หรือ มัชฌิมาปฏิปทา แม้ว่าที่เป็นพุทธสุภาษิตก็มีคำตรัสยืนยันว่า เรื่องอริยสัจทั้ง 4 ประการนี้ตายตัว เพิ่มอีกก็ไม่ได้ จะถอนออกไปเสียบ้างก็ไม่ได้ จะต้องเป็น 4 เรื่องอยู่ดังนี้เสมอไป นี่คือสิ่งที่จะต้องรู้ จะต้องเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องอริยสัจ หรือความจริงที่ทุกคนต้องรู้จัก นี้ดูกันต่อไปอีก คือพบหลักเกณฑ์ที่ต้องรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติในเรื่องของอริยสัจ นั้น ข้อนี้ก็มีแสดงไว้ในพระบาลี ถัดต่อไปอีก ดุจเดียวกัน ถัดต่อไปจากการแสดงอริยสัจ 4 คือ แสดงเรื่องญาณ 3 ประการ ที่เรียกว่าสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ พูดอย่างนี้ก็ฟังไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าให้รู้เรื่องก็ต้องพูดเป็นภาษาธรรมดา หลักที่ต้องรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติอริยสัจ 4 นั้นอันมีอยู่ว่า หนึ่ง มันมีอยู่ตามธรรมชาติอย่างไร ความทุกข์มีอยู่ตามธรรมชาติอย่างไร สมุทัยมีอยู่ตามธรรมชาติอย่างไร นิโรธมีอยู่ตามธรรมชาติอย่างไร มรรคมีอยู่ตามธรรมชาติอย่างไร ก็ไม่รู้ว่ามันมีอยู่ตามธรรมชาติ เช่นว่า ความทุกข์นี้หมายถึงเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือความทุกข์อย่างอื่นๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และคนโง่ไปยึดถือเข้าว่าของตน มันก็เกิดความทุกข์ขึ้นแก่จิตใจของบุคคลนั้น หรือว่าสมุทัยคือกิเลส (เสียงขาดเวลา 49.47) ก็มีปัจจัยอยู่ตามธรรมชาติ พอคนโง่ไม่มีความรู้เข้าไป การกระทำให้เป็นโอกาสการปรุงขึ้นมาตามเหตุตามปัจจัยขึ้นมาเป็นกิเลส มันก็เกิดทุกข์ได้ ไม่ว่าใครที่ไหน ไม่ว่าเด็กผู้ใหญ่ หญิงชายอะไรก็ตาม ถ้าเป็นคนไม่รู้เรื่องนี้มันก็มีโอกาสที่ปรุงเป็นกิเลสขึ้นมาในจิตใจแล้วก็มีความทุกข์ นิโรธก็เหมือนกัน คือแสดงอยู่ว่ากิเลสเป็นสิ่งที่ดับได้ ไม่มีสิ่งใดที่จะไม่เกิดและไม่ดับ มันมาตามเหตุและปัจจัย เพราะมีการเกิดและการดับเป็นไปตามกฏของธรรมชาติ แล้วก็รู้ว่าเหตุปัจจัยของความดับเป็นอย่างไรที่มีอยู่ตามธรรมชาติ นี้เริ่องมรรคมีองค์ 8 นี่ก็เหมือนกันอีก มาธรรมชาติของการประพฤติ กระทำ ที่เป็นเหตุอย่างนี้ อย่างนี้ ทำไปแล้วมันก็มีผลเกิดขึ้นมาอย่างนี้ อย่างนี้ เช่นดำรงตนอยู่ในอริยมรรคมีองค์ 8 มันก็ดับกิเลสหรือมันก็ป้องกันไม่ให้เกิดกิเลสอยู่โดยธรรมชาติ นี้รวมเรียกว่ามันมีอยู่ตามธรรมชาติอย่างไร เรียกว่าสัจจญาณ นั่นรู้ตามความเป็นจริงว่าทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ดับทุกข์เป็นอย่างไร ทางให้ถึงความดับทุกข์เป็นอย่างไร นี้อันที่ 2 เป็นญาณหรือความรู้ที่ทำให้รู้ว่าหน้าที่ของมนุษย์เกี่ยวกับสิ่งนั้น สิ่งเหล่านั้น นั่นคืออะไร หน้าที่ของมนุษย์ที่ทำให้รู้ ที่มนุษย์ต้องทำให้รู้จักว่า หน้าที่ของมนุษย์นั้นมีอยู่ว่าเกี่ยวกับความทุกข์นั้น มนุษย์ต้องรู้จักเกี่ยวกับเหตุให้เกิดทุกข์นั่น มนุษย์จะต้องละมันเสีย เกี่ยวกับความดับสนิทของความทุกข์นั้นมนุษย์จะต้องทำให้แจ่มแจ้งให้ปรากฏ เกี่ยวกับหนทางที่จะให้ถึงความดับทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์จะต้องพอกพูนให้มันมีขึ้นมาให้สมบูรณ์ นี่เรียกว่ารู้หน้าที่ของมนุษย์ต้องมีต่อสิ่งเหล่านั้น สรุปสั้นๆ ว่าทุกข์เรามีหน้าที่ต้องรู้จักมันเสีย สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์เรามีหน้าที่ต้องละมันเสีย นิโรธ ความดับสนิทแห่งทุกข์ มีหน้าที่ที่ต้องรู้จักมันหรือทำให้เกิดปรากฏออกมา มรรค เรามีหน้าที่ต้องทำให้สมบูรณ์ นี่เราไม่ทำหน้าที่อันนี้หรือไม่รู้ประสีประสาเลยจนไม่รู้ว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องละเสีย จะต้องรู้จักมันก็ไม่รู้ ความทุกข์นี้เป็นที่ต้องรู้จักมันเราจึงจะได้รู้จักความทุกข์ ถ้ามานั่งร้องไห้โฮๆ อยู่ก็ไม่รู้ว่านี้คือความทุกข์ ไม่รู้จักความทุกข์ทั้งที่จมอยู่ในความทุกข์ เขาประกาศความรู้ข้อนี้และก็เลยยิ่งไม่รู้เหตุของความทุกข์ เลยเว้นจากสิ่งที่ลึกไปกว่านั้นคือความดับทุกข์จึงมานั่งร้องไห้โฮๆ อยู่ หรือเป็นโรคเส้นประสาทหรือเป็นบ้าหรือตายไปเพราะไม่รู้จักสิ่งเพียงสิ่งเดียว ความทุกข์นั้นคืออะไร ขอให้สังเกตให้เห็นว่ามันนื่องกัน ถ้ารู้จักความทุกข์จริงๆแล้ว รู้จักเหตุของความทุกข์ จะมองเห็นความทุกข์และทางแห่งความดับทุกข์ด้วยเพราะมันเนื่องกันอยู่ เมื่อไม่รู้ซะอย่างเดียวก็เป็นอันว่าไม่รู้หมด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่รู้จักไอ้ตัวความทุกข์นั่นเอง ถ้ารู้จักความทุกข์ก็หมายความรู้จักสังเกตว่าอย่างนี้ก็เรียกว่าทุกข์ และค่อยๆ มองเห็นรากของมันว่าออกมาจากสิ่งนั้น ถ้าตรงกันข้ามมันก็จะดับความทุกข์ คือต้องมีวิธีที่อยู่ในลักษณะที่ว่าความทุกข์ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ รู้อย่างนี้เรียกว่ารู้หน้าที่ของมนุษย์เกี่ยวกับอริยสัจทั้ง 4 นั้นเรียกสั้นๆ ว่า กิจจญาณ พวกที่ 1 เรียกว่า สัจจญาณ พวกที่ 2 พวกนี้เรียกว่า กิจจญาณ พวกที่ 3 ซึ่งเรียกว่า กตญาณ นั่นหมายรู้กันที่ได้ทำให้เกิดขึ้นแล้วโดยสมบูรณ์ เช่นรู้ความทุกข์นี้เรารู้จักดีแล้ว เหตุให้เกิดทุกข์เราละได้เสร็จแล้ว นิโรธนี้เราทำให้แจ้งไปตามกฏแล้ว และมรรคได้ทำให้เกิดมาโดยสมบูรณ์แล้ว ถ้ารู้ได้อย่างนี้ก็เรียกว่า รู้ว่าเราทำได้สมบูรณ์แล้วหรือยัง กระทั่งรู้ว่าถ้าไม่สมบูรณ์มันยังติดขัดอะไรอยู่ มันยังมีอุปสรรคอะไรอยู่ รู้อย่างนี้รียกว่า รู้กตญาณ อันนี้เรียกว่า กตญาณ ยิ่งเกิดมีญาณ 3 ชนิดขึ้นมาเป็นหลักที่ต้องรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติในอริยสัจทั้ง 4 คือ สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ โดยนัยที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง นี้ข้อความต่อไปในบาลีนั้นก็กล่าวถึงองค์พระพุทธเจ้าเองว่าพระพุทธเจ้าเป็นสัมมาสัมพุทธะขึ้นมาได้ก็เพราะรู้สัจจ์ รู้อริยสัจ นี้ครบถ้วนตามหลัก 3 ประการนั้น อริยสัจมีอยู่ 4 อย่าง ใน 1 อย่างต้องรู้ 3 คือ รู้ว่ามันเป็นอย่างไร เรามีหน้าที่อย่างไร เราทำเสร็จแล้วหรือยัง เรียกว่า สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ นั่นเอง เราไปรู้ทั้ง 4 อริยสัจ มันก็เลยมีอาการ 12 รู้ญาณทั้ง 3 โดยญาณ 12 ในอริยสัจทั้ง 4 การรู้ครบอย่างนี้มันคือการรู้สิ่งทั้งปวงหรือโลกทั้งปวงหรืออะไรก็ตามที่เราจะต้องรู้ รู้กันจริงๆ แม้ว่าจะไม่ใช่การรู้เรื่องอริยสัจแต่จะเป็นการรู้อะไรก็ตาม ถ้ารู้จริงต้องรู้ในหลักเกณฑ์อย่างนี้ รู้จักตัวมันเอง รู้จักตัวสิ่งนั้นเอง และก็รู้จักหน้าที่ของเราจะต้องทำต่อสิ่งนั้น แล้วก็รู้ว่าเราทำเสร็จแล้ว ชาวนาจะทำนา ก็ต้องรู้ว่า นามันคืออะไร เรามีหน้าที่อย่างไร เราทำเสร็จแล้วอย่างไร ก็เป็นการรู้เรื่องนา เรื่องอื่นก็เหมือนกัน จึงเอาเรื่อง จึงเอาหลักอันนี้มาใช้สำหรับรู้อริยสัจ 4 ถ้ารู้อย่างนี้มันจะหมดสงสัย จะหมดความหวัง ความอาลัยอาวรณ์กับความยึดมั่นในสิ่งนั้น คือรู้โลกทั้งปวงว่าเป็นทุกข์หรือรู้ทุกข์ที่มีอยู่ในโลกทั้งปวงซึ่งประกอบอยู่ด้วยกิเลส รู้อย่างนี้ก็หมดสงสัยว่ามันมีอะไรเหลืออยู่ที่น่ารัก น่าอาลัย ในความทุกข์นั่น ก็เลยไม่มีความหวัง ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เป็นทุกข์หรือในโลกทั้งปวง พูดกันให้สั้นที่สุดว่า รู้อริยสัจ 4 ก็คือรู้จักโลกทั้งปวงในทุกแง่ทุกมุมจนหมดความสงสัย และมันไม่หวังอะไรจากโลกนั้นไม่ยินดี เยื่อใยอาลัยกับโลกนั้น ไม่ยึดมั่นถือมั่น ทีนี้ก็ดูไปถึงสิ่งที่เรียกว่ารู้ด้วยอะไร ก็เรียกว่ารู้ด้วยอภิญญา คือปัญญาอันยิ่งจะเรียกโดยหลักทั่วไปก็ต้องเรียกว่า ยถา ภูตะ สะมะ ปัญญา ปัญญาโดยชอบตามที่เป็นจริง คือไม่ได้รู้อย่างที่เขาห้ามไว้ ที่ตรัสห้ามไว้ในเรื่องกาลามสูตร 10 ประการ ไปตรึกเอาเองก็ได้ ไปพูดมาแล้วคือไม่ใช่ไปฟังตามๆ กันมา ไม่ใช่คาดคะเน ไม่ใช่เหตุผลตามศัพท์ ตามคำนึงคำนวณ แม้จะไม่ใช่ถือตามตัวหนังสือในพระไตรปิฎก หรือไม่ใช่ว่าเชื่อเพราะว่าครู เพราะว่าอาจารย์ของเราพูด ไม่ต้องการทั้งนั้น ต้องการรู้จาก ยถา ภูตะ สะมะ ปัญญา ได้ชิมรสของความทุกข์ และเห็นว่ามันเกิดมาจากกิเลสอย่างนั้น ถ้าดับกิเลสแล้วมันจะดับลงไปอย่างนั้น เมื่อกิเลสมันเกิดขึ้นมาด้วยเหตุปัจจัยอย่างนี้ เราก็ต้องตัดเหตุปัจจัยเหล่านั้นเสีย นี่รู้อย่างนี้เรียกว่ารู้ด้วยอภิญญา ปัญญาอันยิ่งเองตามที่เป็นจริง นี่พระพุทธเจ้าท่านได้รู้อริยสัจ 4 นี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ความเป็นสัมมาสัมพุทธะนั้น รู้อริยสัจ 4 ก็คือรู้โลกทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง เพราะโลกนั้นเป็นที่สร้างความจริงและเป็นทุกข์ และสิ่งที่เรียกว่าโลกนี้ตรัสไว้ในคำพูดที่น่าสนใจ ใช้คำว่า สะเท วะเก สะมาละเก สะพรัมมะเก แปลว่าในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ไอ้เทวโลก มารโลก พรหมโลก นี่หมายถึง โลกที่เอาระดับของความสุขเป็นเครื่องวัดเป็นเครื่องจัดแบ่งกัน เทวดาก็มีความสุขไปตามแบบเทวดา มารคือเทวดาสูงสุดก็มีความสุขไปตามแบบมาร ตอนนี้บางคนจะยังไม่เข้าใจว่าทำไมมารจึงหมายถึงเทวดาสูงสุด เทวดาธรรมดา เขาก็เรียกว่าเทวดาเฉยๆ เทวดาชั้นสุดยอดเรียกว่ามาร ก็หมายถึง ปรนิม มินตะ สะวัตตี (เวลา 1.03 ไม่แน่ใจ) ซึ่งมีความสุขสูงสุดในพวกสัตว์ที่บริโภคกาม จึงเป็นมาร เพราะมันผูกพันจิตใจกว่าระดับใดหมด มันก็มารที่มาผจญพระพุทธเจ้าในวันตรัสรู้ เรียกกันว่า พญาวสะวัตตีมาร มาจากเทวโลกสูงสุดนี้ สำหรับพรหมก็มีความสุขไปตามแบบพรหม ฉะนั้นโลกจึงถูกแบ่งว่าเป็นโลก เทวโลก มารโลก พรหมโลก โดยเอาระดับความสุขเป็นหลักแบ่งกัน นี้ยังมีคำว่า (1.04ไม่แน่ใจ) อัสสะ พราหมณียา ปะชายะ สะเทวะมนุษายะ นี้อีก แบ่งโลกเป็นสมณะ และพราหมณ์ อย่างนี้เอาระดับจิตเป็นหลัก รวมความแล้วก็เป็นโลกที่แบ่งออกไปต่างๆ กัน ไม่ว่าจะแบ่งนัยอันไหน ก็ล้วนแต่เป็นโลกที่ยังเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ การดับทุกข์ก็อยู่ที่ตัดต้นเหตุของความทุกข์ เมื่อตัดต้นเหตุอันนี้ได้แล้วไม่เป็นคนโง่ คนหลง ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ก็จะไม่ถูกจัดว่าเป็นโลกหรือเป็นสัตว์โลก ไม่จัดว่าเป็นเทวดา เป็นมาร เป็นพรหม หรือเป็นอะไร ไม่มีกิเลสเหลืออยู่เป็นความยึดมั่นถือมั่น เพราะรู้อริยสัจทั้ง 4 นี้ จึงได้ประกาศพระองค์ว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ อย่างนี้ก็เรียกว่าจบพรหมจรรย์ อย่างที่พระองค์ตรัสว่า…… (1.05ไม่แน่ใจ) ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย การเกิดใหม่มิได้มีอีก คำว่าจบพรหมจรรย์หมายถึงว่ารู้อริยสัจ ชนิดที่รู้แจ้งแทงตลอดโดยไม่อาจเกิดความทุกข์ได้อีกต่อไป จะใช้คำว่าเป็นชาติสุดท้ายไม่มีชาติถัดไปอีก เพราะว่าชาติอันนี้ก็หมายถึงความทุกข์ พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาก็เพราะตรัสรู้อริยสัจทั้ง 4 ครบถ้วนโดยนัยอย่างที่กล่าวมานี้ คือรู้โดย ปริวัติ 3 อาการ 12 รู้โลกทั้งปวงจนหมดความสงสัยว่ามีอะไรที่ควรจะไปอาลัย อาวรณ์ยึดมั่น ถือมั่น รู้ปัญญาที่คมฉียบ ที่ตัดความหลงใหลทั้งหมดได้ เพิกถอนความหมายของคำว่า เทวดา มาร พรหม อะไรได้หมด เป็นเรื่องบ้าๆ บอๆ ทั้งนั้น จึงเรียกว่าจบพรหมจรรย์ ได้ทรงแสดง แห่งเรื่องเป็นลำดับมา ในพระบาลี ตามที่ปรากฏในพระบาลี ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร นี้ และก็มีผลทำให้ผู้ฟังคนหนึ่งใน 5 คน นั้น คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ เกิดดวงตาเห็นธรรมเรียกว่า ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรม เห็นออกมาเป็นความหมายว่า ยัง กัญจิ สมุทจย ธัมมัง สัพพังตัง นิโรธธัมมัง สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีการดับเป็นธรรมดา ในความเนื่องท่านได้ฟังเรื่องอริยสัจทั้ง 4 ที่ทรงแสดงมาตามลำดับอย่างที่ได้อธิบายมาแล้วนั้น ก็เกิดดวงตาเห็นธรรม เห็นธรรมนี้ก็หมายความว่า เห็นแนวของพระนิพพาน เห็นแนวของพระนิพพานก็คือแนวหนึ่งที่จะเดินจากความทุกข์ ไปหาความสิ้นสุดแห่งความทุกข์คือพระนิพพาน ยังไม่ถึงพระนิพพานโดยสมบูรณ์ แต่เห็นแนวของพระนิพพานจากความทุกข์ไปสู่ความดับทุกข์สิ้นเชิง ถ้าเห็นแนวอันนี้ก็ได้เห็นแนวของพระนิพพาน การเห็นอย่างนี้ชื่อว่ามีธรรมจักษุ คือมีดวงตาเห็นธรรม มีหลักประกันขึ้นมาทันทีว่า เพราะได้มีดวงตาเห็นธรรมนี้จะไม่เดินผิดทางอีกต่อไป จะไม่มีการเดินที่ผิดทางอีกต่อไป จะไม่ถอยกลับหลัง จะมีแต่รุดหน้าไปพระนิพพานเท่านั้น สำหรับดวงตาเห็นธรรมนี้ เคยเห็น เห็นกฎเกณฑ์ เห็นกฎแห่งเหตุผล และเห็นกฎของการเกิดดับ ดวงตาเห็นธรรมที่เป็นกฎแห่งเหตุผลก็หมายความว่า เห็นความที่มีเหตุและผลปรุงแต่งกันขึ้นมาจนทำให้เกิดความทุกข์ นี่เรียกว่ากฎแห่งเหตุผล ที่มองอีกอย่างหนึ่งก็เห็นเป็นกฎของการเกิดดับ มันจะเกิดขึ้นมาเพราะอะไร มันจะดับลงไปเพราะอะไร นี่ก็เป็นเรื่องของการเห็นปฏิจจสมุปบาท ซึ่งมีรายละเอียดที่จะได้พูดกันในตอนหลัง ในการบรรยายครั้งหลังจะดีกว่า แต่ทีนี้บอกให้รู้ว่าดวงตาเห็นธรรมนั้นคือเห็นกฎแห่งเหตุผลไม่อาจจะงมงายอีกต่อไปและก็จะเห็นกฎแห่งการเกิดดับ ซึ่งทำให้สามารถหยุดการเกิดและการดับเสียได้ นี่เป็นเรื่องของดวงตาที่เห็นธรรม ในคราวที่ทรงแสดงพระธรรมจักรนั้นมีผู้เกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาคนหนึ่งอย่างนี้ นี้ต่อไปอีกก็คือกระฉ่อนตามกระฉ่อนไปทั่วๆโลกธาตุ นี่ไม่ใช่คำตรัสของพระพุทธเจ้าแต่มีกล่าวอยู่ในตอนท้ายของสูตรนี้ ก็เป็นคำของพระสังคีติกาจารย์ ผู้ร้อยกรองของสูตรนั้นมาเป็นตัวอักษร เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสพระธรรมจักรคืออริยสัจ 4 ประการ จบลงแล้ว ทั้งหมื่นโลกธาตุได้หวั่นไหว พูดสั้นๆ ก็ว่ามีการกระฉ่อนไปทุกโลกธาตุ หวั่นไหวไปทุกโลกธาตุ โลกธาตุนี้เขาถือว่ามีอยู่หมื่นหนึ่ง ซึ่งจะหมายถึงอะไรก็สุดแท้ มันอยู่นอกเรื่องที่ต้องไปรู้โดยละเอียด รู้แต่ว่าโลกนี้ไม่ใช่มีโลกเดียว ก็มีตั้งหมื่นโลก ความแตกต่างกันในระหว่างความเป็นอยู่ของสัตว์ก็ได้ หรือแม้แต่คนๆ เดียว ก็มีความทุกข์ตั้งหมื่นแบบก็ได้ ก็เรียกว่าหมื่นโลกธาตุอยู่ในคนๆ เดียวก็ได้ หรือพูดอย่างคนธรรดาสามัญเขาพูดกันก็หมายถึงยังมีโลกอื่นๆ อีกมากมายนอกไปจากโลกนี้อีกตั้งหมื่นโลกก็ได้ตามใจเขา พูดอย่างไหนหรือถือเอาความหมายอย่างไหน มันมีประโยชน์แก่การดับทุกข์และมีประโยชน์แก่ตนเองได้ก็ควรจะถือเอาความหมายอย่างนั้น อาตมาอยากจะถือความหมายว่าสัจจะหรืออริยสัจ 4 ประการนี้มันครอบงำหมื่นโลกธาตุทีเดียว โลกธาตุหมื่นโลกธาตุนั้นอยู่ใต้ความครอบงำของกฎเกณฑ์อันสูงสุดคือ อริยสัจ เมื่ออริยสัจถูกแสดงออกมา หมื่นโลกธาตุก็ต้องหวั่นไหวเพราะมันอยู่ใต้ความครอบงำของสัจจะนี้ หรือจะพูดเอาเปรียบหน่อยก็ว่าไอ้โลกธาตุทั้งหมื่นนั้นมันไม่เคยฟังเรื่องของพระพุทธเจ้า เรื่องอริยสัจนี้ มันไม่มีใครนอกจากพระพุทธเจ้าที่จะทรงแสดงได้ เพราะฉะนั้นโลกธาตุมันหวั่นไหวเมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเรื่องอริยสัจ 4 นี้เป็นเรื่องปลีกย่อยเอามาพูดเพราะมันมีข้อความอยู่ในท้ายพระสูตรนั้น หรือจะตัดบทกันง่ายๆ สั้นๆ ว่า ไอ้คำว่าหมื่นโลกธาตุหวาดหวั่นไหวนี้ มันเป็นสำนวนพูดสำนวนหนึ่งก็แล้วกัน ว่ามันกระฉ่อนไปทั้งบ้านทั้งเมือง ทุกทิศ ทุกทาง เพราะว่าเป็นเรื่องสูงสุดในแง่ต่างๆ เช่นในแง่ของความน่าอัศจรรย์ มันน่าอัศจรรย์ที่สุดในแง่ของความมีประโยชน์ มันก็มีประโยชน์มากที่สุด ในแง่ของความเป็นของประเสริฐ มันก็ประเสริฐที่สุด ไม่มีอะไรประเสริฐไปกว่าสิ่งนี้หรือเรื่องนี้ แต่ที่น่าสนใจที่สุดก็คือความที่มันเป็นของตรงกันข้ามจากโลกนั่นเอง ไอ้เรื่องโลก เรื่องโลกธาตุนั้นเป็นเรื่องของอวิชชา มันอยู่ด้วยอวิชชา มาจากอวิชชา มันก็โง่เขลา พอเรื่องนี้ออกมามันก็ตรงกันข้ามมันก็กระทบกัน เหมือนกับสิ่งที่ตรงกันข้ามมาใส่กัน มันก็เกิดการกระทบกัน อย่างเอากรดใส่ลงไปในด่าง มันก็ต้องมีการกระทบกันอย่างรุนแรงกว่ามันจะสูญอำนาจลงไปทั้ง 2 ฝ่าย นี้เรียกว่าตรงกันข้ามจากโลกที่สุดจนทำให้หมื่นโลกธาตุหวาดหวั่นไหวไป ได้เอามากล่าวไว้ตอนในท้ายของพระสูตร ก็นับว่าน่าอัศจรรย์ และยังรับได้ด้วยความรู้สึกตามธรรมดาสามัญ นี่เรื่องของธัมมจักกัปปวัตนสูตรก็มีอยู่อย่างนี้ เริ่มขึ้นมาว่าให้รู้จักไอ้ความสุดโต่งสุดเหวี่ยงข้างโน้น ข้างนี้ มันเป็นเรื่องผิด อยู่ตรงกลางจึงเป็นเรื่องดับทุกข์ ถ้าอยู่ตรงกลางอย่างนี้แล้วจะมองเห็อริยสัจ 4 ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จะมองเห็นเรื่องที่ต้องรู้ ว่ามันอยู่ตามธรรมชาติอย่างไร หน้าที่ของมนุษย์เกี่ยวกับเรื่องนี้มีอย่างไร และทำได้สมบูรณ์หรือยัง พอทำได้สมบูรณ์อย่างนี้ก็เรียกว่ารู้อริยสัจโดยสมบูรณ์ อย่างพระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้า รู้อย่างสาวกก็เป็นอย่างสาวก เมื่อทรงแสดงสูตรนี้ออกไปแล้วก็มีผู้เกิดดวงตาเห็นธรรมคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยคือพระอัญญาโกณฑัญญะ ในขณะที่แสดงจบลงนั้นหมื่นโลกธาตุได้หวั่นไหวโดยนัยที่จะวิจารณ์กันอย่างไรก็สุดแท้ แต่อาตมาจะยึดเอาใจความสั้นๆ ว่า มันกระทบโลกธาตุเข้าอย่างจังในทางหน้าที่ มันเป็นเรื่องตรงกันข้าม ใจความของพระบาลีธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็จบ นี้ในตอนสุดท้ายก็มาดูเรื่องที่เกี่ยวกับพวกเราอีกต่อไปขอร้องให้สนใจในพระโอวาทนี้ ว่าพระสูตรนี้เป็นหัวใจของธรรมะทั้งหมด เป็นหัวใจที่สุดของหัวใจของธรรมะทั้งหมด จะเห็นได้ว่ามีการแสดงให้เห็นตัวปัญหาคือความที่เป็นอยู่ตามธรรมดาของสัตว์โลกเต็มไปด้วยความทุกข์ คนจะรู้เรื่องนี้ในลักษณะอย่างไร โดยวิธีใดก็ทรงแสดงไว้โดยสมบูรณ์ นี้เรียกว่าเป็นหัวใจที่สุดของเรื่องธรรมะทั้งหมด ถ้าจะมองกันอีกทีหนึ่งก็เป็นเบื้องต้นที่สุด จะหยิบขึ้นมาเป็นหลักสำหรับศึกษาปฏิบัติไปตามลำดับและเป็นเรื่องสำหรับทุกคนจะต้องเกี่ยวข้อง เพราะธรรมะนี้มีคุณสมบัติแตกต่างออกไปได้หลายแง่ หลายมุม อย่างที่ได้กล่าวมาตั้งแต่กลางวันแล้วว่า ธรรมจักรนี้เหมือนกับอาวุธเช่นปืน เป็นต้น ต้องมี ต้องใช้ให้เป็น ถ้าเป็นปืนที่จะปราบโจรผู้ร้าย ถ้ามองดูอย่างอื่นต่อปอีกก็ยังมีอีก จะมองดูในฐานะเป็นดวงตาก็ได้ จะแก้ความโง่ เหมือนกับที่พระอัญญาโกณฑัญญะได้รับเป็นคนแรก จะมองดูเหมือนกับเป็นหยูกยาสำหรับแก้โรคก็ได้ เพราะไม่มีโรคอะไรยิ่งไปกว่าโรคกิเลส พระธรรมนี้ก็เป็นเหมือนกับหยูกยา หรือจะเป็นเครื่องมุง เครื่องบัง เครื่องกั้น เครื่องคุ้มครอง เช่น หลังคา ฝา ประตู หน้าต่าง มันก็เป็นได้ เป็นเครื่องคุ้มครองไม่ให้เกิดที่เป็นศัตรูขึ้นมา แต่ว่าที่ดีที่สุดนั้น มองในแง่ที่ว่าเป็นหนทาง สมกับที่ว่าความสำคัญที่สุดของพุทธโอวาทนี้ก็เป็นเรื่องการแสดงหนทางที่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ 8 นั่นเอง เป็นความหมายหรือเป็นวัตถุประสงค์อันแท้จริงของพระโอวาทนี้ ขอให้ถือเอาพระบาลีนี้ พระสูตรนี้ว่าเป็นเครื่องแสดงหนทางของชีวิตจิตใจที่จะเดินไป เป็นอันว่าเราได้รู้เรื่องนี้เป็นเค้าเงื่อน หรือว่าเป็นใจความของพระสูตรนี้ คือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร อันเป็นสูตรที่ทรงแสดงในวันที่คล้ายกับวันนี้คือวันเพ็ญอาสาฬหะ เราก็มาประกอบพิธี ที่เรียกว่า อาสาฬหบูชา เป็นที่ระลึกแก่การที่ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร คือ โปรดปราณให้โลกได้รับกระทำหรือแสงสว่าง ถามว่าทุกคนก็จะได้มีความสนใจยิ่งขึ้นไปตามลำดับ จนสำเร็จประโยชน์ได้จริงตามพุทธประสงค์ที่ว่า ตถาคตเกิดขึ้นมาในโลกนี้เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เพื่อความเกื้อกูลแก่สัตว์โลกทั้งหลาย ทั้งเทวดาและมนุษย์ คำอธิบายเรื่องธัมมจักกัปปวัตนสูตร ก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน การเทศนาสมควรแก่เวลา เอวัง (ฟังไม่ชัด)….ด้วยประการฉะนี้