แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ให้โอวาทกับพระสังฆาธิการ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มาประชุมกันที่สวนโมกข์พุมเรียง วันที่ ๑๔ เอ่อ, บันทึกวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ ๒๕๒๔ เพื่อเปิดในวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ ๒๕๒๔ ที่สวนโมกข์พุมเรียง
เพื่อนสหธรรมิก สพรหมจารี ที่มาประชุมกันอยู่ที่นี่ทุกท่าน ผมขอแสดงความยินดีในความคิด และความพยายามในการจะกอบกู้ฟื้นฟู สถานะของภิกษุหนุ่ม สามเณร และยุวชนของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาไม่ใช่ (นาทีที่ 01.10น) หมายถึงสถานการณ์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ของหมู่พุทธบริษัท ซึ่งแสดงนิมิตแห่งความผันแปรไปในทางที่พอจะเรียกได้ว่า ทรุดลงหรือเสื่อมลงอย่างน่าวิตก หมายความว่า เราไม่ได้รับผลเป็นความสงบสุข หรือเป็นความเจริญก้าวหน้าตามที่ควรจะได้จากพระพุทธศาสนาของเรา ถ้าพูดก็จะไม่ผิดคือว่า การศึกษา การประพฤติปฏิบัติ และการสั่งสอนยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนตั้งอยู่ในศีลธรรม อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขส่วนบุคคล หรือสันติภาพในส่วนสังคมทั่วๆ ไป มีผลร้ายเกิดจากการที่ประชาชนไม่มีศีลธรรมมากขึ้นๆ ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมด แต่ก็มีเพิ่มขึ้นๆ เป็นที่น่าวิตก เราไม่ได้คิดแต่เพียงว่าเราเองจะลำบาก แต่คิดถึงก็ที่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันทั้งบ้าน ทั้งเมือง ทั้งประเทศจะประสบความยุ่งยากความลำบากเพราะความที่ประชาชนเหินห่างจากศีลธรรม เขาจะไม่ยึดถือว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด เขาจะยึดถือกันแต่เพียงว่า ประโยชน์ ประโยชน์ของเรา เราได้ประโยชน์ตามที่เราต้องการก็พอแล้ว ไม่ต้องคำนึงว่า ผิดถูก ดีชั่ว บุญบาป อะไรกัน นี่แหละมันเป็นลักษณะเป็นนิมิตที่แสดงให้เห็นว่าธรรม ธรรมะจะเป็นหมัน แล้วก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไร จากการที่จะมีพระศาสนา ผมรู้สึกอย่างนี้ จึงมีความยินดีในความคิด และความพยายามที่จะกอบกู้สถานะของพระศาสนา ที่เนื่องอยู่กับประชาชน หรือเนื่องอยู่กับพวกเราเหล่าบรรพชิต คุณปล่อยผมก็พูดนะ
การกระทำที่เรากำลังจะกระทำกันอยู่นี้ไม่เพียงแต่เป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ หรือกอบกู้บ้านเมืองที่กำลังทรุดโทรมทางศีลธรรม หากแต่ว่าจะเป็นการสนองพระพุทธประสงค์ของพระพุทธองค์ ดังที่ได้ทรงประสงค์ไว้เกี่ยวกับพระธรรมวินัย พระองค์ได้ตรัสไว้ให้เป็นหน้าที่ของพุทธบริษัท ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสิกา ที่จะสืบอายุของพระศาสนา โดยตรัสว่า ตถาคต เกิดขึ้นในโลกนี้ก็เพื่อประโยชน์แก่มหาชน ทั้งเทวดา และมนุษย์ การแสดงธรรมวินัยของตถาคตในโลกนี้ ก็เพื่อประโยชน์แก่มหาชน ทั้งเทวดา และมนุษย์ การมีธรรมวินัยของตถาคตอยู่ในโลกนี้ก็เพื่อประโยชน์แก่มหาชน ทั้งเทวดา และมนุษย์ และการที่พุทธบริษัทจะพยายามสืบต่อความมีอยู่แห่งธรรมวินัยไว้ในโลกนี้ก็เพื่อประโยชน์แก่มหาชน ทั้งเทวดาและมนุษย์ ข้อความเหล่านี้มีมากมายทั่วไปในพระคัมภีร์ พระบาลี ได้ยินได้ฟังแล้วก็รู้สึกว่า ท่านทรงมีพระประสงค์อย่างยิ่ง อย่างมาก หรืออย่างรุนแรง ถึงว่าเราจะรู้สึกกันอย่างไรในเรื่องนี้ ถ้าธรรมวินัยไม่มีอยู่ในโลกนี้ หรือไม่เหลืออยู่ในโลกนี้ หรือไม่มีใครปฏิบัติตามมันก็เท่ากับว่าพระพุทธประสงค์นั้น ไม่ได้รับการสนองตอบแม้แต่ประการใดๆ แม้แต่เล็กน้อย
ขอให้เราซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งบุตรของพระองค์ เป็นพุทธบุตร เป็นธรรมบุตร เป็นสังฆบุตร เป็นอะไรก็สุดแท้ ควรจะนึกถึงกันในข้อนี้ โดยเฉพาะภิกษุได้นามว่า สมณะศากยปุตติยะ คือผู้นับเนื่องอยู่ในพระสมณศากยบุตร พระพุทธองค์เป็นพระสมณศากยบุตร เราเป็นผู้นับเนื่องอยู่ในพระสมณศากยบุตร จึงได้นามว่า สมณะศากยปุตติยะ เหมือนกับว่าเป็นทายาทของพระสมณศากยบุตร นั้นเอง เมื่อมาระลึกนึกถึงความจริงข้อนี้ ซึ่งถือได้ว่า เป็นเกียรติยศอย่างยิ่งและอย่างสูง ก็คงจะทำให้ไม่สามารถจะทนอยู่นิ่งๆ ได้ จะต้องขวนขวายกระทำทุกอย่างให้สมกัน เรื่องมันจึงจะเรียกว่า ไม่มีข้อบกพร่อง ไม่มีช่องที่จะตำหนิแก่พวกเรา อ้าว, ลองพิจารณาดูต่อไปว่า เดี๋ยวนี้เรากำลังขาดผู้ที่จะเป็นศาสนทายาท ในอนาคตยิ่งขึ้น คือศาสนาทายาทที่สามารถสืบอายุพระพุทธศาสนาให้ทันกันกับความเปลี่ยนแปลง หรือความก้าวหน้า หรือความแปรผันของโลกแห่งยุคปัจจุบัน ซึ่งก้าวหน้าไปอย่างกับวิ่ง หรือว่ามันไม่ทัน ไม่พอแม้เพียงแต่จะรักษาสถานะเดิมของบรรพบุรุษเอาไว้ได้ หรือมองให้แคบเข้ามา ไม่สามารถแม้แต่จะรักษาความสงบสุขที่มีอยู่เป็นพื้นฐาน เป็นพื้นบ้าน ในบ้านเกิดเมืองนอนของเรา ก่อนนี้บรรพบุรุษมีธรรมะอยู่ที่เนื้อที่ตัวมากกว่าเดี๋ยวนี้ เมื่อคนมีธรรมะ ก็คือบ้านเมืองมีธรรมะ อยู่กันอย่างสงบสุขอย่างที่กล่าวไว้ในพระบาลีว่า นอนไม่ต้องปิดประตูเรือน อย่างนี้ผมก็ทันเห็น และเคยเห็นว่า เมื่อศีลธรรมยังดีอยู่นั่น บ้านเรือนของประชาชนธรรมดาสามัญนั้นไม่มีกุญแจ มีประตูก็งับประตูไว้แล้วก็ไปไหนได้ อย่างมากก็เพียงแต่ร้องตะโกนสั่งบ้านที่อยู่ใกล้ๆ ว่า ฝากบ้านด้วยนะ แล้วก็ไปธุระได้ อย่างนี้ก็มีอยู่ ยังเคยเห็นอยู่ เดี๋ยวนี้จะเหลืออยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ แต่ว่าแถวนี้มันไม่ค่อยมี แม้แต่จะใส่กุญแจมันก็ยังไม่ปลอดภัย คือมีคนเขางัดกุญแจ ดูเอาเองก็แล้วกันว่า อาชญากรรมเกิดขึ้นอย่างไร การตีรันฟันแทงมีมากมายอย่างไร ยิ่งที่ไหนเจริญมาก เจริญอย่างสมัยใหม่มาก ก็ยิ่งมีอาชญากรรมมาก นี่ไม่ต้องบอกว่าจะลุกลามเข้าไปถึงในวัดวาอาราม
บรรพบุรุษของเราเคยมีศีลธรรม จนกลายเป็นวัฒนธรรม คือกลายเป็นขนบธรรมเนียม ประเพณีที่มีอยู่ทั่วๆ ไป กระทำกันได้เองเป็นประเพณีประจำเดือน ประจำปี แล้วก็ชอบทำ ชอบกระทำกันอยู่เป็นปกติ นี่แหละขอให้สังเกตดูว่าเดี๋ยวนี้มันไม่ค่อยมีอะไรในทำนองนั้นเหลืออยู่ ก่อนนี้คนมาวัดก็กำทรายมาจากคลองหรือนอกวัดมาโรยในวัด มาชดเชยว่าเมื่อเรามาวัดกลับออกไป ดินทรายในวัดติดเท้าออกไปมันบาป จึงชดเชยให้เสีย ให้มากกว่าตัวทรายตั้งกำเอามาโรยในวัด เนื้อทรายที่ติดเท้านั้นมันเป็นเล็กๆไม่กี่เม็ด ก็เป็นการชดเชยที่มากกว่า แล้วก็สบายใจ และเมื่อจะเดินออกไปจากวัดกลับไปบ้าน ก็จะกำขยะมูลฝอยไปกำมือหนึ่งไปทิ้งนอกวัด แม้แต่เป็นใบไม้แห้งๆ ก็คิดว่าได้บุญหรือว่าจะไม่ทำอะไรให้เป็นที่น่าเกลียดน่าชังในวัดในวา เข้ามาในวัดแล้วไม่รู้สึกว่าเหมือนกับอยู่กลางทุ่งนา เขาไม่มาทำอะไรที่ว่าเหมือนกับอยู่กลางทุ่งนา เป็นลิงเป็นค่างกระโดดโลดเต้น อย่างนี้เป็นต้น เพื่อว่าจะระวังรักษาจิตใจไว้ให้อยู่ในลักษณะที่มีศรัทธา มีคารวะ มีความถูกต้องอยู่เสมอ ให้มันอบรมนิสัยจิตใจให้ไปในทางที่จะกลัวบาปและต้องการบุญ เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ไม่มีจิตใจที่ไหนจะมาเบียดเบียนใคร มีแต่ความรักใคร่ เมตตา ปราณี สามัคคี ในการทำประโยชน์ของส่วนรวม เขารู้จักรักผู้อื่นไม่เห็นแก่ตัว เขาถือว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เมื่อรู้สึกอยู่อย่างนี้ มันก็ทำอันตรายผู้อื่นไม่ได้ จะประทุษร้ายชีวิตร่างกายใครก็ไม่ได้ จะประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของใครก็ไม่ได้ จะประทุษร้ายของรักใคร่ ของพอใจของใครให้กระทบกระเทือนใจเจ้าของก็ทำไม่ได้ นี่การเบียดเบียนมันจึงไม่อาจจะเกิดขึ้นมา ถ้าเราสามารถเรียกร้องคุณธรรมเหล่านี้กลับมาได้ ก็จะเป็นการดีที่สุดแก่หมู่มนุษย์ พระพุทธศาสนาก็ไม่เป็นหมัน คือได้แสดงประโยชน์อานิสงค์อย่างเต็มที่
ดังนั้นเพียงแต่ว่าเราช่วยกันรื้อฟื้น อบรม ปรับปรุง เพียงแต่ให้ทุกคนมีความรู้สึกว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครจะคิดว่า ทุกคนเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย มีแต่คิดว่ามึงก็มึง กูก็กู ประโยชน์ของกูก็ของกู ประโยชน์ของมึงก็ของมึง ไม่เคยมีความรู้สึกว่า เราเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน อะไรๆ มันก็ร่วมกันดังนี้ นี่จะทำอย่างไรดี ให้มนุษย์มีความรู้สึกเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน แล้วก็รักผู้อื่น แล้วก็บังคับจิตใจของตนอย่าให้ไปกระทบกระทั่งประโยชน์ของผู้อื่น แล้วพอใจเป็นสุขในเมื่อได้ช่วยเหลือผู้อื่น เมื่อได้ช่วยเหลือผู้อื่นแล้วก็ดีใจ เต้นแร้งเต้นกา ดีใจว่าได้มีสิ่งที่ดีที่สุด ได้ทำสิ่งที่ดีที่สุด มีความรู้สึกที่พอจะกล่าวได้ว่า ให้ผู้อื่นกิน ดีกว่าเรากินเอง ไม่ใช่หมายความว่าเราจะต้องอดจนตาย แต่หมายความว่า เมื่อมีอะไรมาที่น่ากิน ก็ให้ผู้อื่นกิน เรารู้สึกเป็นสุขเอร็ดอร่อยยิ่งกว่ากินเอง เพื่อนกินของ เรากินความปีติยินดี นี่เราจะเห็นว่ามีผู้หยิบยื่นสิ่งของที่เขาควรจะกินให้แก่เพื่อน เพื่อนมนุษย์ก็มี แม้แต่เพื่อนสัตว์เดรัจฉานก็ยังมี ธรรมเนียมเก่าๆ เขามีเป็นหลักง่ายๆ ว่า ถ้ายังไม่ได้ให้ผู้อื่นกินเราจะยังไม่กิน ได้เคยเห็นชีแก่ๆ เป็นอันมาก ถือหลักอย่างนี้กันอยู่ เขาได้อาหารมา บางที่ก็ไปบิณฑบาตมา จะต้องหยิบเอามานิดหนึ่งโยนให้นก ให้กากิน หรือว่าวางไว้ให้มดกิน เมื่อได้ทำอย่างนี้เรียกว่าได้ทำบุญแล้ว ตัวเองจึงจะกิน
สรุปเป็นใจความสั้นๆ ว่า ถ้ายังไม่ได้ให้ผู้อื่นกินเราจะยังไม่กิน แต่คนที่มีจิตใจอย่างนี้ มีจิตใจอยู่อย่างนี้ก็ลองคำนวณดูเถอะว่า อย่างอื่นๆ นั้นมันจะกว้างออกไปถึงไหน สรุปแล้วก็ว่า เขาเบียดเบียนใครไม่ได้ เขาจะต้องช่วยเหลือผู้อื่น เขาจะต้องรักผู้อื่น ในฐานะที่เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของเรา แม้แต่นก แต่กา ก็เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของเรา แม้แต่มด มดคัน มดที่ทำความรำคาญให้แก่เราเสมอ เขาก็ยังถือว่าเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของเรา นี่มันขัดกับหลักที่เขาถือกันอยู่สมัยนี้ ซึ่งเขามีความเกลียดชัง เขาสร้างยากำจัดมด แมลง เหล่านี้ ให้หมดไปเสียจากโลก พวกเราก็ไม่ได้ต้องการจะให้มีมด แมลง อยู่ในโลก แต่ว่าถ้าเมื่อมันมีอยู่แล้วก็อดที่จะยอมรับว่าเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย กันไม่ได้ โดยถือว่าถ้ามันมีชีวิตแล้วก็จะต้องช่วยเหลือส่งเสริมกันให้มีความสุข จึงถือเป็นหลักว่า สัตว์ทั้งหลายเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย จงมีความเป็นอยู่ที่เป็นสุขๆ ต่างคนต่างรู้จักบริหารตนให้เป็นสุข ไม่มีการกระทบกระทั่งเบียดเบียดแก่กันและกันเลย นี่มันยากง่ายเท่าไรก็ลองคิดดูว่า การที่เราจะทำให้คนมีความรู้สึกอย่างนี้ เหมือนแต่สมัยนู้นนั่นมันจะยากง่ายสักเท่าไร ถ้าว่าเป็นคนที่อ่อนแอเห็นว่ายากสักหน่อยก็ไม่ทำ ท่านที่จะปฏิเสธเอาเสียว่า ทำไม่ได้ ทำไม่ไหว พ้นสมัยแล้ว สิ่งอย่างนี้ ทำไม่ได้สำหรับสมัยนี้ ถ้าอย่างนี้มันก็เลิกกัน แม้ที่กำลังมาประชุมกันอยู่ที่นี่จะแก้ไขอะไรนี่ ก็ควรจะเลิกถ้าไม่มีความเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยวพอจะทำสิ่งที่มันยาก
แม้ว่ามันจะยากสักเท่าไรก็ต้องทำให้จงได้ ถ้ามีความแน่ใจอย่างนี้ มีอิทธิบาทมากพอถึงขนาดนี้แล้วนั้นแหละจะทำได้ จึงขอร้องให้ระลึกนึกถึงอิทธิบาท ๔ ประการนี้ไว้เป็นการล่วงหน้า ที่ว่าไว้ล่วงหน้าก็หมายความว่า ต่อไปเราจะต้องมีมัน จะต้องใช้มัน ถ้าไม่มี ไม่ใช้ ก็ไม่มีทางจะสำเร็จ ศึกษาเรื่องอิทธิบาทกันมาแล้วทั้งนั้น ก็จะรู้ว่ามีอะไรอย่างไร ก็เตรียมที่จะใช้ในเรื่องที่เราจะต้องทำ ที่เราถือว่าเป็นเรื่องสูงสุดของมนุษย์ ทำไปแล้วเป็นการบูชาพระพุทธองค์ เป็นการสืบอายุพระศาสนาไว้ได้ด้วยชีวิต เราเอาชีวิตของเราไปตีค่า แล้วเปรียบเทียบกันดูกับพระพุทธศาสนา หรือพระพุทธประสงค์ของพระองค์ เราคงจะมองเห็นว่าชีวิตของเรานั้นมีค่านิดเดียว เมื่อเอาไปเปรียบกันเข้ากับค่าของพระพุทธศาสนา นั่นแหละเราจึงจะยอมยินดีที่จะเสียสละชีวิต แม้เพื่อการอยู่ได้แห่งพระพุทธศาสนาซึ่งมีค่ามากกกว่าชีวิตของเรา จะพูดว่ามีค่ามากกว่าล้านเท่า ล้านๆ เท่า อย่างนี้ มันยังไม่พอ มันไม่มีตัวเลขพอที่จะใช้เขียนความแตกต่างระหว่างชีวิตของเรากับชีวิตของพระพุทธศาสนา ที่จะอยู่เป็นเครื่องคุ้มครองโลก ถ้าเราคิดกันอย่างนี้ การเสียสละก็ทำได้ ทีนี้เราไม่ต้องถึงกับต้องเสียสละชีวิตหรอก ถ้าตายแล้วมันก็ทำอะไรไม่ได้ มันไม่มีประโยชน์ แต่ว่าเราจะเสียสละพลังของชีวิตนี่เพื่อประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาดังกล่าวนั้น ไม่ใช่เป็นการค้า ไม่ได้ลงทุนค้า แต่มันก็คล้ายๆ กัน คือว่าเราทำชีวิตที่มีค่าน้อยอย่างที่ว่านี่ให้กลายเป็นชีวิตที่มีค่ามากๆ มากเท่าๆ กับค่าของพระพุทธศาสนาทีเดียว นี่แหละถ้าว่ามองเห็นกันอยู่อย่างนี้บ้าง ก็เชื่อว่าไอ้การที่จะทำต่อไปนี้คงจะสำเร็จ ถ้าไม่มองกันในลักษณะอย่างนี้แล้วก็คงจะลำบาก จะลำบากเหมือนกลิ้งครกขึ้นภูเขา มันไม่ง่ายเหมือนการจะกลิ้งครกลงจากภูเขา
ขอให้พวกเราทุกคนรู้จักทำให้ถูกวิธี เพื่อจะขจัดเสียซึ่งความยากลำบากแล้วก็นำมาซึ่งความสะดวกในมาตรฐานที่เราพอจะกระทำกันได้ไม่เหลือวิสัย ขอให้ขวนขวาย เสาะหา ค้นหา วิธีการเช่นนั้นมาให้เพียงพอ หมายความว่า เราทำด้วยสติปัญญา ไม่ใช่ว่าเราจะหลับตาทำ ถ้าทำด้วยสติปัญญาแล้วก็ดีมากหรือมันจะไม่ลำบากมากเกินจำเป็น แล้วมันจะสำเร็จ แล้วต้องทำด้วยกำลังจิตที่เรียกว่า สมาธิ ไอ้ปัญญานี่มันก็เป็นเรื่องหนึ่ง คือเป็นตัวที่จะแก้ปัญหา เปรียบเสมือนอาวุธที่จะตัด จะฟัน แต่มันก็ต้องการกำลัง ต้องการสิ่งที่เรียกว่า กำลัง คือน้ำหนัก ถ้าไม่มีน้ำหนัก เบาหวิวแล้วไอ้มีดนั้นก็ตัดอะไรไม่ขาด ไอ้มีดนั้นจะตัดอะไรลงไปได้หรือขาด มันต้องมีน้ำหนักหรือกำลัง นี่คือ สมาธิ ที่ต้องมาอยู่กับปัญญา เราต้องมีปัญญาและก็มีกำลังสมาธิเพื่อให้ปัญญานั้นทำหน้าที่
สมาธิ คืออะไร เท่าที่พบในพระบาลีเป็นประโยคสั้นๆว่า สมาธิ คือ เอกัคคตาจิต ที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ จิตที่แน่วแน่ในสิ่งๆ เดียว ที่เรียกว่า เอกัคคตาจิต เอกัคคตาจิต นั้นมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ คือมีสิ่งสูงสุดเป็นอารมณ์ ถ้าเรามีสิ่งสูงสุดตามที่เราเห็นว่าเป็นสิ่งสูงสุดนั้นเป็นอารมณ์แล้ว จิตไปรวมกำลังอยู่ที่นั่นแล้ว นี้เรียกว่ามี สมาธิ คือ มีเอกัคคตาจิต มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ พระนิพพานของใครในที่นี้ คือความดับทุกข์สิ้นเชิงของทุกคนรวมถึงตัวเราเองด้วย เราหวังความดับทุกข์สิ้นเชิงนี้เป็นอารมณ์ จิตมีสิ่งนั้นสิ่งเดียวเป็นอารมณ์เรียกว่า เอกัคคตาจิต นี้คือสมาธิในการที่จะใช้ที่วัดวาอาราม เพื่อปฏิบัติมรรคผลนิพพานก็ดี หรือเพื่อจะบำเพ็ญกุศล สาธารณะประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงก็ดี มันใช้ได้อย่างนี้ ขอให้มีกำลังสมาธิชนิดนี้ แล้วก็ใช้กันกับปัญญา รู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร รู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล ถ้าไม่ถูกต้องตามลักษณะแห่ง สัปปุริสธรรม ๗ ประการ รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้บริษัท รู้บุคคล อย่างนี้เป็นต้น ไอ้เรื่องที่ทำก็คงจะสำเร็จ ถ้าไม่นึกไม่คิดให้ถูกทางมันจะตันไปหมด
นี่ขอย้ำ ว่าพวกเราทุกคนที่นี่ว่า ถ้าไม่มองเห็นลู่ทางมันก็ตันไปหมด มันก็เกิดความขี้เกียจ ท้อแท้ แต่ถ้าเราพยายามคิดค้นด้วยความเชื่อในธรรมะ ในพระพุทธคุณ ในสิ่งสูงสุดเหล่านี้มีความพากเพียร ค้นคว้าหาไปมันก็จะพบช่องทางที่แสดงว่าพอจะทำได้ เราก็จะกระฉับกระเฉงขึ้นมา ไม่ท้อแท้ อ่อนแอ ขี้เกียจ เพราะนั้นช่วยกันทำให้ดีในข้อนี้ ให้มองเห็นลู่ทางที่เป็นไปได้ แล้วก็จะมีความหวัง ไม่ใช่หวังด้วยกิเลส แต่หวังด้วยสติปัญญา คือความเชื่อนั้นเอง ความเชื่อว่าจะเป็นไปได้ ความเชื่อว่าทำได้แน่ แล้วมันก็ทำได้ แล้วจะสนุกด้วย ที่พูดว่าสนุกนี่ไม่ใช่ว่าสนุกอย่างที่เด็กๆ เขาสนุก หนุ่มสาวเขาสนุก แต่สนุกตามแบบของพระอริยะเจ้าที่ท่านเคยสนุก คือการประพฤติประโยชน์ตน ประพฤติประโยชน์ท่าน นั้นก็เป็นความสนุกของท่าน เราเป็นสาวกของท่านเราก็ควรจะแสวงหาความสนุกแบบนี้ เช่นพวกฤๅษีก็สนุกด้วยการเข้าฌาน เข้าฌานนานนับเดือน ไม่เขยื้อนเคลื่อนกายา จำศีลกินวาตา เป็นผาสุกทุกคืนวัน นี่คือความสนุกแบบนั้น แต่เราไม่จำเป็นจะต้องอาศัยหรือใช้ความสนุกแบบนั้น เราใช้เรี่ยวแรงให้เป็นประโยชน์ กำลังกายก็เป็นประโยชน์ กำลังจิตก็เป็นประโยชน์ กำลังสติ ปัญญา ทิฐิ ความคิด ความเห็นก็เป็นประโยชน์ หมายความว่า กาย วาจา ใจ ทิฐิ ความคิด ความเห็นต่างๆ ก็เป็นประโยชน์ที่ควรจะกระทำ ประโยชน์ตนยังไม่สูงสุด ประโยชน์ผู้อื่นก็ดี ยังมากกว่า ดีกว่า แต่ถ้าประโยชน์สำหรับทุกคนนั้นแหละจะสูงสุด ประโยชน์ทุกคนหมายความว่า ประโยชน์ของโลก ของสัตว์โลก ของเทวดา ทั้งมนุษย์ ทั้งพรหม ทั้งทุกอย่าง ประโยชน์ของทั้งหมดนี้สูงสุด จะมีได้อย่างไร จะมีได้ก็เพราะว่า มีการตั้งอยู่แห่งพระธรรมหรือพระศาสนา ถ้ามีพระธรรมตั้งอยู่ในโลก โลกนี้ก็มีความสงบสุขเอง เหมือนกับว่าแสงสว่างมีแล้วเราก็ใช้เป็นประโยชน์ได้ อากาศมีแล้วเราก็หายใจได้ เรามีหน้าที่เพียงแต่ทำให้มันมี ทุกคนเขาก็ใช้เป็นประโยชน์เอง เราจงทำให้ธรรมะมี ให้ศาสนามี แม้ในส่วนความรู้ แม้ในส่วนการปฏิบัติ กระทั่งถึงผลแห่งการปฏิบัติ ทุกคนก็จะถือเอาโอกาสนั้นใช้เป็นประโยชน์ได้
รายละเอียดมันก็มีอยู่เป็นชั้นๆ ว่าเราจะต้องรู้ ศึกษาให้รู้ มีสัมมาทิฏฐิกันเสียก่อน สัมมาทิฏฐินั้นมีทางมา ๒ อย่างคือว่า ได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน ได้อะไรก็ตามช่วยเกิดสัมมาทิฏฐิในขั้นต้น ขั้น ๑ ก่อน อาตมาลองคิดใคร่ครวญอย่างแยบคายสัมมาทิฏฐินั้นก็สมบูรณ์ มีพุทธภาษิตหรือพระบาลีว่า สัมมาทิฏฐินั้นมาจากแหล่ง ๒ แห่งคือ ปะระโฆโส จะ โยนิโสมนสิกาโร จะ ปะระโฆโส (นาทีที่ 36.25น) แปลว่า การโฆษณาของผู้อื่น ปะระ แปลว่า อื่น โฆโส นี่แปลว่าโฆษณา ปะระโฆโส การโฆษณาของผู้อื่นที่เขาโฆษณาแล้วเราได้ยิน เราได้ความรู้ มันก็เกิดสัมมาทิฏฐิ รู้ถูกต้อง ตามที่มันจะมีได้เพราะการโฆษณาของผู้อื่นที่ถูกต้อง เรามีสติปัญญารับเอาแต่ที่ถูกต้อง อย่าไปโง่หลงโฆษณาชวนเชื่อให้ตกเป็นทาสของเขา ปะระโฆโส นี้ต้องอาศัยกาลามสูตร ๑๐ ประการเป็นเครื่องกลั่นกรอง ว่าเราจะเชื่อได้อย่างไร เท่าไร แต่ที่เราเห็นๆ กันอยู่ ที่กระทำกันอยู่มันก็ไม่มีอันตรายอะไรเหมือนกับเราเรียนนักธรรม เราอ่านหนังสือธรรมะทั่วไป ฟังเทศน์ ฟังปาฐกถา และก็นี่ก็เป็น ปะระโฆโสทั้งนั้น เราก็เคยได้รับประโยชน์เป็น สัมมาทิฏฐิ มาแล้วทั้งนั้น
ทีนี้ครั้นรับมาแล้วก็มาทำให้เป็น โยนิโสมนสิกาโร เอามาใคร่ครวญอย่างละเอียดที่สุด นี้แตกฉานด้วยปัญญา การแตกฉานด้วยปัญญานี้มันไม่มีแต่เพียงเท่านี้นะ มันยังไม่ถึงที่สุดนะ มันยังมีอีกขั้นหนึ่งคือถูกต้องด้วย นามกาย ตั้งแต่ (นาทีที่ 38.05น) ว่าถูกต้องตามนามกาย คือจิตเสวยรสแห่งความเยือกเย็นเป็นสุขในสิ่งนั้น จึงจะรู้จักสิ่งนั้นดี รู้แต่เพียงแทงตลอดด้วยปัญญา แต่ยังไม่ได้เสวยรสแห่งสิ่งนั้น นั้นยังไม่ถึงที่สุด แทงตลอดด้วยปัญญา รู้อย่างปัญญารู้ แล้วก็ปฏิบัติธรรมะนั้น ได้เสวยรสแห่งธรรมะนั้นด้วยนามกาย คือด้วยจิตใจแล้ว ตอนนี้จะรู้กันถึงที่สุด เราก็ช่วยกันทำให้เพื่อนมนุษย์ของเรามี สัมมาทิฏฐิ อย่าลืมว่าไอ้ผลงาน หรือการงานนี้มันสรุปอยู่ที่ว่า ทำให้เพื่อนมนุษย์ได้มีสัมมาทิฏฐิ เหมือนกับที่เรามีสัมมาทิฏฐิ มีการงานที่เรากำลังจะกระทำในการฝึกฝน อบรม ภิกษุหนุ่ม สามเณรเด็กๆ ยุวชนนี้ มันอยู่ที่ทำให้เขามีสัมมาทิฏฐิ ดังนั้นเราก็ต้องช่วยเขาได้รับทุกขั้นตอน ขั้นปะระโฆโส เราเรียนเขา เอ่อ, เราสอนเขา ให้เขาได้เล่าได้เรียน จากหนังสือหนังหา ตำรับตำรา วิชา วิธีการต่างๆ นี้เป็นปะระโฆโสให้แก่เด็กๆ ของเรา แล้วแนะให้เขาเอาไปคิดนึกให้แยบคาย ให้แทงตลอดมันด้วยปัญญาของเขาเอง และให้เขาปฏิบัติ เมื่อเขาเกิดปัญญาแล้วความโง่หายไปเท่าไร ความทุกข์หายไปเท่าไร ให้เขาได้ชิมรสแห่งความสงบสุขนั้น นี่เรียกว่าถูกต้องสิ่งนั้นด้วยนามกาย คือสัมผัสมันด้วยจิตของเราเองลงไปบนสิ่งนั้น ไม่เป็นเพียงความรู้อยู่ในสมุด หรือไม่เป็นเพียงความรู้ที่เดือดพล่านอยู่ในสมองของการคิดนึก แต่ต้องเข้าไปถึงจิตใจที่ได้เสวยรสแห่งธรรมะนี้ รู้ว่าธรรมะนี้มีรสอย่างไร ดับกิเลส ดับทุกข์ได้ มีรสอย่างไร นี่เรียกว่าให้มีสัมมาทิฏฐิสำเร็จสูงสุดตามที่ควรจะมี เมื่อทุกคนเป็นสัมมาทิฏฐิโลกนี้ก็สว่างไสวไม่มืดบอด ดำเนินกันไปได้ในทางที่ถูกต้อง ขอให้กิจการของเราดำเนินไปในลักษณะอย่างนี้ตั้งแต่ต้นจนปลาย
ทีนี้ก็อยากจะพูดเป็นข้อสุดท้ายว่า งานนี้ต้องตั้งอยู่บนฐานของการเสียสละ ยิ่งงานชนิดนี้ ยิ่งต้องตั้งรากฐานอยู่บนความเสียสละที่สูงสุด ถ้าว่าโดยที่จริงแล้วการงานทุกอย่างจะสำเร็จได้ก็เพราะการเสียสละทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าการงานชนิดไหน ถ้าเป็นการงานสูงสุด มันก็ต้องสละสูงสุด การทำให้ธรรมะกลับมานี่มันเป็นการงานสูงสุด เพราะนั้นเราจะต้องมีการเสียสละสูงสุด ยกตัวอย่างนะไม่ใช่ขู่ให้กลัว ว่าเราจะต้องอดหรือต้องทน เพราะเราไม่ได้ขวนขวายแต่เรื่องปากเรื่องท้อง แต่เราเอาเวลามาทำแต่อย่างนี้เสียหมด เราอาจจะกินอยู่ที่เลวกว่าที่ไม่ทำอย่างนี้ ที่ไม่ทำอย่างนี้ก็มีโอกาสไปแสวงหาลาภ ได้รับลาภมากิน มาใช้ มาบริโภค อย่างเป็นสุข แต่ถ้าเรามาก้มหน้าก้มตาทำงานนี้อยู่ทุกวันทุกคืน จะเอาเวลาไหนไปสวดมนต์ บังสุกุลกันนักเล่า นี่โอกาสที่จะไปแสวงหาลาภหรือรับลาภมาบริโภคนี้มันก็น้อยลง แม้ว่าจะถึงขนาดอดอยากบ้างก็ยังยินดี บางทีมันก็ทำลืมไปเอง ไม่ได้เจตนา มันทำงานสนุกมันก็ลืมไปเอง จนลืมกินอาหาร ไม่อยากจะไปกินอาหาร ถึงเวลาอาบน้ำก็ยังไม่อยากจะไปอาบน้ำ เพราะว่ามันสนุกอยู่ด้วยการทำงาน เราจะต้องเสียสละความสุขสบาย การที่จะนอนวันละ ๑๘ ชั่วโมง เรามาทำงานวันละ ๑๘ ชั่วโมง ทำงานวันละ ๑๘ ชั่วโมงแทนที่จะนอนวันละ ๑๘ ชั่วโมง น่าหัวบ้างแต่ก็เป็นคำพูดที่ทำให้เกิดความเข้าใจได้ดี เราต้องเหน็ดเหนื่อยแทนที่จะนอนให้สบาย นี่แม้แต่ชื่อเสียงก็อาจจะไม่ได้รับก็ได้ พอเริ่มทำก็จะถูกนินทา เขาหาแง่นินทาต่างๆ นาๆ เพราะอิจฉาริษยาก็มี จะได้ชื่อเสียงอย่างไรในเมื่อมีแต่คนอิจฉาริษยา
เมื่อผมมาอยู่ที่นี่ แรกมาอยู่เขาก็ว่าพระบ้าๆ ว่าพระบ้ากันทั้งนั้นแหละ ว่าพระบ้าเขาเอามารักษา มาเก็บตัวไว้ที่นี่ กว่าจะคน กว่าคนเขาจะถือว่าไม่บ้านี่ก็กินเวลานาน เดี๋ยวนี้เขาไม่ว่าผมบ้าแล้ว เขาว่าเมื่อแรกมาอยู่สวนโมกข์ใหม่ๆ มาอยู่คนเดียว มีทำอะไรประหลาดๆ นั่งเขียนหนังสือวันละ ๑๘ ชั่วโมง ก็ทำได้ ไม่ว่าฉันอาหารอย่างที่เรียกว่าเขาไม่ค่อยจะเห็นด้วย เขาจึงจัดให้เป็นพระบ้า บางพวกอิจฉาริษยาก็ยิ่งว่าบ้าใหญ่ ช่วยๆ เสริมกันว่ามันบ้าใหญ่ นี่คุณก็คิดดูเถอะว่า ถ้าประสงค์จะทำอย่างนี้มันก็คงจะโดนปัญหาอย่างนี้ด้วยเหมือนกัน ทำงานอย่างเหมือนกับว่ากินอุดมคติเป็นอาหาร ไม่ได้กินข้าว กินแกง กินกับอันเอร็ดอร่อยอะไรเป็นอาหาร แต่ว่ากินอุดมคติเป็นอาหาร คนเขาก็ไม่เชื่อว่าอุดมคตินี้เป็นสิ่งที่กินได้ ผมผ่านมาแล้วผมเห็นว่ากินได้ คือจิตใจมันกินอุดมคติ ร่างกายมันกินอาหาร ข้าวปลา เป็นต้น จิตใจกินอุดมคติ กินปีติ คือกินปีติ กินปราโมทย์ กินความเคารพนับถือตัวเอง สบายอกสบายใจ นี้เรียกว่ากินอุดมคติ กลับอร่อยกว่าอาหาร บำรุงจิตใจยิ่งกว่าอาหาร กระทั่งบำรุงร่างกายด้วย พวกฤๅษีเข้าฌานนานนับเดือน ไม่เขยื้อนเคลื่อนกายา มันกินปีติในสมาธิจากสมาธิเป็นอาหาร แต่คนพูดเขาไม่รู้ก็ได้ เขาพูดว่ากินลมเป็นอาหาร จำศีลกินวาตา เป็นผาสุกทุกคืนวัน มันอยู่ในพวกที่ว่ากินอุดมคติ เราต้องเสียสละกินอาหาร แล้วกินอุดมคติแทนอยู่มากเหมือนกัน จึงจะทำลายความเห็นแก่ตัวได้ ไม่เช่นนั้นก็จะเห็นแก่ตัวไปนอนพักผ่อน ไปกินอาหารเอร็ดอร่อย ไปเที่ยวฟุ้งหาเกียรติ หาชื่อเสียงอะไรกันเสียหมด เราจะต้องสละความเห็นแก่ตน ถ้าสละความเห็นแก่ตนได้ก็มีทางสำเร็จ นั่นแหละหนทางลัด หนทางลัดไปสู่นิพพาน มันรวมอยู่ที่ความเสียสละความเห็นแก่ตน สละความเห็นแก่ตนนี้เป็นหนทางลัดลงไปยังนิพพาน นิพพานของเรา นิพพานของแต่ละคนคือ นิพพานของทุกคนรวมกัน ก็สำเร็จได้อยู่ที่การเสียสละ
ในที่สุดนี้ก็ขอความกรุณา อย่าหาว่าผมอวดดี ตั้งตนเป็นครูบาอาจรย์สั่งสอนท่านทั้งหลายเลย ผมเพียงแต่เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่ได้เคยผ่านมาแล้ว ได้เคยใช้ให้สำเร็จประโยชน์มาแล้วว่าเราจะทำอย่างไร เราจึงจะขนเอาจิตใจของมหาชนทั้งโลกนี่ไปสู่จุดหมายปลายทางที่สูงสุดตามหลักแห่งพระพุทธศาสนาได้ ขอให้ท่านทั้งหลายจงคิดดูให้ดีว่าเราจะต้องอาศัยความเสียสละ สละความเห็นแก่ตนเป็นเดิมพัน เป็นการลงทุน เพื่อดำเนินกิจการอันนี้ ถ้าไม่มี ไม่มีความเสียสละแล้วก็ชื่อว่าไม่มีทุน ไม่มีเดิมพัน มันยากที่จะทำอะไรได้ เราไม่ต้องการเงินทองมากนัก ก็อย่าไปหวังพึ่งว่าจะต้องมีเงินมีทองซื้อหาวัตถุ อุปกรณ์อะไรต่างๆ มันมากมายนัก มันไม่มากมายเท่าไร ส่วนนั้น ไอ้ส่วนที่ต้องการมากคือ ความเสียสละ มีสติปัญญา เฉลียวฉลาดในการที่จะเสียสละ อย่าให้เสียสละด้วยความโง่เท่านั้นเอง
สรุปความว่า ขอแสดงความยินดีในการที่มาประชุมกันที่นี่ สระใหญ่นั้น สระปันกิก (นาทีที่49:13) นั่น เป็นพยานหลักฐานแห่งความเสียสละของบูรพาจารย์แต่กาลก่อน ดูสระนั้นนะเขาขุดด้วยแรงคน มันต้องเสียสละกันเท่าไร พร้อมเพรียงกันเท่าไร สระใหญ่นี้ขุดด้วยแรงคน ความเสียสละ ความสามัคคีมีกำลัง สถานที่นี้เป็นสถานที่เคยอยู่ของบุคคลอย่างนี้ เรามาประชุมกันที่นี่นับว่าเป็นนิมิตที่ดี ขอให้สิ่งนี้ส่งเสริมกำลังใจของท่านทั้งหลายให้เป็นไปในทางเสียสละ ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน สนองพระคุณของพระพุทธเจ้า สำเร็จอยู่ด้วยความสงบสุขในการกระทำ ตลอดเวลาที่กระทำ ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ