แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในวันนี้ได้ตั้งใจไว้ว่าจะแนะวิธีทำสมาธิให้แก่ชุดที่เพิ่งมาเพื่อว่าจะได้ลองทำดู ถ้าผู้ใดสนใจจะได้มีเวลาพอที่จะสอบถามให้ได้เรื่องได้ราวว่าจะกลับก็พอจะมีความรู้ ทีนี้ก่อนแต่จะแนะวิธีทำสมาธิ อยากจะปรารภเรื่องสมาธินี่เสียบ้างก่อนตามสมควร เพื่อให้ทราบว่าทำไมจึงต้องมีการทำสมาธิ แล้วจึงค่อยพูดถึงข้อที่ว่าจะทำอย่างไร ทำไมต้องทำสมาธินี่มีปัญหามากมาย ก็จะเอาเท่าที่สรุปไว้เป็นประเภทใหญ่ๆ ตามนัยยะที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้อย่างน้อยก็สัก ๔ นัยยะ
นัยยะที่ ๑ เราต้องการความสุขที่เป็นความสุขทางใจกันเร็วๆ ไม่ได้หมายความว่าจะบรรลุถึงนิพพาน แต่เราอาจจะหาความสุขทางใจนั้นในขั้นต้นๆ แรกๆ นี่ได้ไปพลางตามสมควร ทีนี้ถ้าใจมันขุ่นมัวเศร้าหมองกลัดกลุ้มขึ้นมาแล้วจะทำอย่างไร จะไปดูหนังหรือจะไปกลบเกลื่อนอย่างนั้น มันก็ไม่ใช่วิธีที่ฉลาด เพราะฉะนั้นจึงมีวิธีทำสมาธิ เพื่อจะแก้ไอ้ความกระวนกระวายใจเหล่านั้นให้มีความสุขบ้าง หรือแม้จะไม่มีไอ้เรื่องกระวนกระวายเช่นนั้น แต่ถ้าเราอยากจะมีความสุขทางใจชนิดที่แปลกประหลาดออกไปที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อนนี่ เราก็ทำสมาธิก็ได้รับความสุขเหมือนกัน ดังนั้น จึงสรุปว่าเพื่อจะได้รู้จักไอ้ความสุขชนิดหนึ่ง
ทีนี้นัยยะที่ ๒ นั้นนะ เพื่อฝึกจิตใจให้มันมีสมรรถภาพชนิดที่ตามธรรมดาไม่มี จิตใจของคนเรานั้นก็มีสมรรถภาพทำนั่นทำนี่ได้ แต่(ถ้าให้)มันมีส่วนที่มันจะมีสมรรถภาพได้มากกว่านั้นมาก มันต้องมีการฝึก มันจะมีการฝึกจิตให้สามารถมีกำลัง มีอานุภาพ มีสมรรถภาพ แล้วก็มีฤทธิ์ มีปาฏิหาริย์ ที่เรียกกันว่าเป็นของทิพย์ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ มีกำลัง เหมือนปาฏิหาริย์อย่างนี้ นี่ก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือว่ามีประโยชน์ แม้เวลานี้ไม่ต้องเอาถึงปาฏิหาริย์เหาะได้ หรือว่าหูทิพย์ ตาทิพย์ชนิดที่เราได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่านในเรื่องราว เอาแต่เพียงว่ามีความเข้มแข็งในทางจิตเกินกว่าที่ตามธรรมดาเขามีกันก็แล้วกัน เช่น คิดเร็ว หรือจำเก่ง หรือตัดสินใจเก่ง บึกบึน อดทนไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ นี่ก็เรียกว่ามันมีประโยชน์ในทางที่จะ(ทำให้)มีจิตใจที่มีสมรรถภาพยิ่งไปกว่าธรรมดาของสามัญมนุษย์ เพราะฉะนั้น ท่านจึงจัดในความมีสมาธินี้ไว้ว่ามันเป็น อุตตริมนุสสธรรม คือธรรมะที่ยิ่งไปกว่าที่มนุษย์ตามธรรมดาเขามีกัน ถือเป็นคุณวิเศษอันหนึ่งด้วยเหมือนกัน
จำไว้ให้ดีว่านัยยะที่ ๑ ก็จะชินความสุขไปเรื่อยๆ นัยยะที่ ๒ จะมีสมรรถภาพทางจิตที่สูงกว่าระดับธรรมดา
ทีนี้นัยยะที่ ๓ นั้นท่านตรัสไว้ว่าจะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ คนเราตามธรรมดานี้อยากจะมีได้ก็เพียงสติตามธรรมดาที่เรียกว่า สมปฤดี ไม่เป็นคนบ้า ไม่เป็นคนตลบ(5.57)หรือคนตาย แต่สติสัมปชัญญะมันไม่พอที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์เต็มที่ได้ ทีนี้ถ้าเราต้องการจะใช้สติในการที่จะระลึก หรือจะจำ หรือจะป้องกันความผลุนผลัน หรือมีความบึกบึน คือว่าไม่เสียสติโดยง่าย เรียกว่าไม่เสียสติโดยง่าย ไม่ใช่ไม่รู้จักกลัว ไม่รู้จักตกตะลึง หรือไม่รู้จักอะไรทำนองนี้ ถ้าต้องการจะมีสติสมบูรณ์อย่างนี้ ก็ต้องฝึกทางสมาธิเหมือนกัน ถ้าฝึกสมาธิแล้วก็จะมีทางที่จะมีสติดีกว่าธรรมดามาก
ทีนี้นัยยะสุดท้ายที่ ๔ คือว่าจะทำความสิ้นไปแห่งอาสวะ คือกิเลส อันนี้ต้องฝึกสมาธิตามแบบที่เดินไปจนถึงทำลายกิเลส คือ เมื่อจิตเป็นสมาธิดีแล้วจึงใช้ทำเป็นการพิจารณาสิ่งทั้งปวงด้วยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และก็อยู่ด้วยความเห็นอย่างถูกต้องอย่างนั้นเรื่อยๆ ไป มันก็ทำให้กิเลสถอยกำลัง ให้อาสวะมันถูกชะล้างเรื่อยๆ ไปจนหมดสิ้น ถ้าจะพูดเอาอย่างธรรมดาสามัญหน่อย ก็คือจะแก้นิสัยสันดาน ไอ้คนที่มันมีนิสัยสันดานเลวๆ จะแก้กันอย่างไร มันก็ยากอยู่มาก ดังนั้น ต้องฝึกทำสมาธินี่เพื่อจะมีกำลังหรือว่ามีความสามารถในการที่จะแก้ แก้นิสัยส่วนลึกที่เป็นที่สะสมแห่งกิเลส
ขอให้มองเห็นข้อเท็จจริงเหล่านี้ ก็จะรู้ได้ทันทีว่าจะทำสมาธิทำไมกัน แล้วก็จะเกิดความพอใจในการที่จะมีสมาธิขึ้นมา ถ้าไม่พอใจแล้วมันก็ง่ายล่ะคนเราน่ะ (8.49)ไม่ว่าจะทำอะไร ถ้าพอใจ มันทำง่าย ถ้าไม่พอใจ แล้วมันก็แสนที่จะยาก ทีนี้ถ้าเกิดมันจะไม่ทำมันเสียเลย ขอให้เข้าใจว่าทำสมาธินี้ก็เพื่อว่าอย่างที อย่างทีแรกก็จะได้มีความสุขเรื่อยๆ ไปก่อน ซึ่งเป็นความสุขที่แปลกกว่าธรรมดา และอีกอย่างหนึ่งก็จะฝึกจิตให้มีกำลัง มีอานุภาพพิเศษกว่าธรรมดา อีกอย่างหนึ่งก็จะเป็นคนมีสติสมบูรณ์ ไม่ลอกแลก ไม่ผลุนผลัน ไม่(เป็น)อย่างที่เป็นกันโดยมากนั่นแหละ ไปดูกันเองแล้วกัน เพราะมันไม่มีสติสมบูรณ์ อย่างสุดท้ายก็จะสิ้นกิเลส เพราะมันอยู่ด้วยความถูกต้อง ไม่อาจจะเกิดกิเลสขึ้นอีก ก็แก้นิสัยสันดาน คือ อาสวะ ให้มันหมดไปได้
นี่คือทำไมจึงต้องทำสมาธิ ในอานิสงส์ทั้ง ๔ อย่างนั้น มันก็ต่างกันอยู่ ดังนั้น การทำสมาธิมันก็จะมี(ความ)แตกต่างกันบ้างตามสมควร แต่ถ้าเมื่อรวมเรียกพร้อมๆ กันแล้ว ก็จะเรียกว่าเจริญสมาธินั้น ที่เจริญสมาธิแบบไหนที่มีหวังที่จะได้ประโยชน์ทั้ง ๔ อย่างอย่างนี้พร้อมๆ กัน โดยมีการแก้ไขปรับปรุงแต่เล็กน้อย เพื่อวัตถุประสงค์นั้นๆ ถ้าอย่างนี้ละก็ตอบว่า สมาธิแบบที่เรียกว่าอานาปานสติตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสสอนไว้ ก็มีปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ พระไตรปิฎกตอนที่เรียกว่ามัชฌิมนิกาย เป็นหัวข้อครบถ้วนบริบูรณ์ และมีการอธิบายเพิ่มเติมในชั้นต่อมาอีกให้ละเอียดจนเข้าใจได้ดีมีอยู่ในคัมภีร์คุตกะนิกาย (11.22) ตอนที่เขาเรียกว่า ปฏิสัมภิธามรรค (11.25) ดังนั้น คำอธิบายเหล่านี้ก็เอามาจากพระคัมภีร์นั้น เพื่อทำความเข้าใจกันต่อๆ ไป
เมื่อได้พยายามทดลองดูจนรู้เรื่องนี้และเข้าใจเรื่องนี้ดี ก็สามารถจะบอกกล่าวแก่บุคคลอื่นได้ และมีการสอนให้ทำสมาธิสืบต่อๆ กันไปอย่างนี้ นี่คือคำปรารภเรื่องเกี่ยวกับสมาธิ ว่าทำสมาธิทำไม ถ้าผู้ใดไม่เคยทราบ ก็ทราบเสีย หรือว่าเคยเข้าใจผิดๆ หรือว่าทำละเมอๆ เห่อๆ ตามๆ กันมา ก็รีบทำความเข้าใจให้ถูกต้องเสียจะได้เป็นประโยชน์ว่าเราทำสมาธิทำไม
ทีนี้ก็มาถึงเรื่อง ถึงความหมายเกี่ยวกับคำว่าสมาธิ ทำใจให้ว่างก่อน (12.43) ที่เรียกว่าสมาธินั้น มันแปลว่าความตั้งมั่น ตั้งมั่นแห่งอะไร ตั้งมั่นแห่งจิต แต่คำว่าตั้งมั่นอย่างนี้มันเป็นตัวหนังสือ ที่เรียกว่าสมาธิแปลว่าตั้งมั่น แต่ขณะที่ตั้งมั่นมันมีคุณสมบัติอะไร มันยังมีว่าจิตนั้นบริสุทธิ์ เพราะว่างจากการรบกวนของกิเลสตลอดเวลาที่เป็นสมาธิ มันเป็นจิตที่บริสุทธิ์จากกิเลสชั่วคราว และก็มั่นคง แล้วก็ว่องไวต่อหน้าที่ของจิตนั้นมีความเป็นสมาธิ เมื่อกล่าวโดยลักษณะที่สมบูรณ์แบบแล้วก็(คือ)จิตบริสุทธิ์จากกิเลสโดย(ไม่มี)นิวรณ์รบกวน(13.52) เขา(เรียก)ว่าจิตตั้งมั่น มั่นอย่างเข้มแข็ง บึกบึน อดทน เรียกว่าจิตว่องไว รวดเร็ว ในการทำหน้าที่ที่จิตจะต้องทำ มันเป็นถึง ๓ อย่างอย่างนี้ บริสุทธิ์ มั่นคง ว่องไว ถ้าจิตมีลักษณะอย่างนี้ ก็หมายความว่าคนนั้นก็ทำสมาธิสำเร็จ ถึงขณะสมบูรณ์ใน ใน ในแง่ของสมาธิ
ทีนี้การที่จะทำให้เป็นสมาธินั้น มันจะต้องไปตามหลักที่ว่าการฝึกจิตให้เป็นสมาธินั้นต้องมีอะไรอย่างหนึ่งมาสำหรับให้จิต หรือจะเรียกว่าสติหรือจะเรียกว่าเรา ก็แล้วแต่ว่าจะเรียก(มา)กำหนดที่อารมณ์นั้น ใช้คำว่าจิตดีกว่า ถ้าพูดภาษาเทคนิคเขาใช้คำว่าสติกำหนด หรือจะใช้คำว่าจิตตาม (15.09) ภาษาธรรมดาสามัญจิตจะต้องกำหนดที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยตามที่ต้องการ จึงจะเป็นการทำสมาธิ ธรรมดาจิตของเราไม่เคย แล้วก็ไม่ชอบที่จะไปกำหนดอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวตลอดเวลานานๆ ยาวๆ มันไม่ชอบ ชอบลอกแลกๆ ไปตามเรื่องตามอารมณ์ ตามสบาย เรียกว่าตามสบาย แล้วก็มักจะไปในทางต่ำ มีความสนุกสนาน เอร็ดอร่อย ซึ่งเป็นทางต่ำ เพราะมันไม่รู้ว่าต่ำ เพราะฉะนั้น การทำจิตเป็นสมาธิมันก็มีลักษณะเป็น(การ)ยกขึ้นมาไว้ฝ่ายสูงให้แน่วแน่มั่นคงอยู่ในฝ่ายสูง มันจึงฝืน ฝืนไอ้ธรรมดา หรือฝืนธรรมชาติของจิต มันก็เลยลำบากบ้าง เพราะมันฝืนธรรมดาจิตที่เคยอยู่ตามธรรมดา ในเมื่อเราต้องการให้ไปกำหนดที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอย่างแน่วแน่สม่ำเสมอตลอดเวลานานๆ นี้มันไม่ชอบ มันดิ้นรน เพราะธรรมดามันก็ไม่ ไม่เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว มันก็พลัดตกกลับไปหาธรรมดา เปรียบเหมือนปลา(ถูก)จับโยนขึ้นมาบนตลิ่ง มันจะดิ้นลงในน้ำเรื่อย จิตนี่ก็เหมือนกัน เราจะยกขึ้นมาสู่การกำหนดอารมณ์หรือนิมิตของสมาธินี่ มันจะพลัดตกไปที่เดิมของมันเรื่อย ที่เขาเรียกกันว่าไม่สำเร็จสักที มันคอยจะหนีไปเรื่อย ให้เข้าใจไว้(ว่า)นั้นเป็นธรรมดาไม่แปลกประหลาดอะไร แล้วก็อย่าไปท้อแท้หมดกำลังใจว่าเรานี่ทำไม่ได้แล้ว
ตอนนี้ก็ได้ความว่าจิตจะต้องมีอะไรอย่างหนึ่งมาเป็นอารมณ์ก็ได้ เป็นนิมิตก็ได้แล้วแต่จะเรียก อารมณ์ก็แปลว่าที่เกาะหรือที่หน่วง นิมิตก็เป็นที่กำหนดหมาย เรียกแทนกันได้ มีอะไรมาเป็นนิมิตเป็นอารมณ์ให้จิตมันกำหนด มันเกือบจะตอบได้ว่าอะไรก็ได้ ตอบได้อย่างนี้เลยว่าอะไรก็ได้ ใช้ได้ทั้งนั้น แต่มันมีอยู่ว่าอะไรมันจะดีกว่าหรือดีที่สุด หรือสะดวกที่สุด หรือได้ผลดีที่สุด ตอนนี้มันก็จะ จะแล้ว(แต่)จะเป็นไปในทาง(ไหน) แล้วแต่ว่าเราต้องการสมาธิชนิดไหน อย่างที่กล่าวมาแล้วเมื่อตะกี้นี้ ต้องการความสุขง่ายๆ หรือต้องการมีฤทธิ์ปาฏิหาริย์ หรือว่ามีสติสัมปชัญญะเต็มที่ หรือว่าจะสิ้นกิเลสกันเร็วๆ นี่มีความมุ่งหมายต่างกันอย่างนี้แล้ว เพราะฉะนั้นอารมณ์ที่จะมาให้จิตยึดเหนี่ยว(18.36)ให้เป็นสมาธิ มันก็ควรจะต่างกันบ้าง
แต่เดี๋ยวนี้อยากจะบอกว่าในวิธีของอานาปานสตินั่นนะ มันมีให้ครบ เพราะว่ามันมีการกำหนดลมหายใจได้หลายแบบเอามาใช้เป็นแบบสำหรับทำให้มีความสุขก็ได้ หรือให้มีสมรรถภาพทางจิตสูงก็ได้ กระทั่งมีสติสัมปชัญญะก็ได้ กระทั่งสิ้นกิเลสอาสวะในที่สุด เพราะเหตุว่าการกำหนดลมหายใจนั้นทำได้หลายแบบเป็นลำดับๆๆ ติดต่อกันไป ถ้าว่าที่จริงแล้วไม่ถูกที่พูดว่ากำหนดลมหายใจนั้นมันไม่ถูก แต่เพราะว่าพูดอย่างนั้นกันมาเสียจนชินแล้วเป็นภาษาทั่วไปแล้ว ถ้าพูดให้ถูก มันต้องพูดว่ากำหนดอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง คือธรรมะหรือความจริงอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ทุกครั้งที่มีการหายใจออกหายใจเข้า ไม่ใช่กำหนดอะไรก็ตามใจ แต่กำหนดอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า (เมื่อเป็น)อย่างนั้นไอ้การทำสมาธิชนิดนี้จึงเรียกว่าอานาปานสติหมดเลย กี่ขั้นกี่ตอน กระทั่งบรรลุผลสำเร็จ ก็ยังเรียกว่าอานาปานสติอยู่นั่นแหละ เพราะว่ามีการกำหนดอยู่ทุกครั้งที่มีการหายใจออกเข้า
ทีนี้มันมีสมาธิแบบอื่นอีกมาก กายคตสติ (20.17) หรือกสิณ หรืออื่นๆ อีกอย่างน้อยก็ตั้ง ๔๐ ๕๐ อย่างนั่นแหละ มันเป็นเรื่องเฉพาะกรณี เฉพาะวัตถุประสงค์ แล้วก็คล้ายๆ ว่าเป็นเรื่องเดี่ยวๆๆๆ ไม่ค่อยจะติดต่อกันไปตามลำดับ จึงเห็นว่าสู้แบบที่เรียกว่าอานาปานสตินี้ไม่ได้ ซึ่งก็ล้วนเป็นแบบที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เองนั้น แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วแบบอานาปานสตินี้สะดวก ง่ายแก่การปฏิบัติ คือมีผลดี หมายความว่าเราทำแต่อานาปานสติอย่างเดียว แล้วก็เลื่อนไปได้ เลื่อนไปได้ จนสุดท้ายก็คือการบรรลุมรรคผลไปเลย ไม่ต้องเปลี่ยนเรื่อง ถ้าจะไปกำหนดสมาธิอย่างอื่น (มัน)จะต้องเปลี่ยนเรื่อง เช่น กำหนดกสิณอย่างนี้ มันก็จะไปในเรื่องสมาธิธรรมดาสามัญ ไปทางมีฤทธิ์ มีปาฏิหาริย์อย่างนั้นเสียมากกว่า แทนที่จะมีสติสัมปชัญญะ หรือสิ้นกิเลส อย่างนี้เป็นต้น แล้วสมาธิบางชนิดมันลำบาก อย่างทำกสิณนี้ต้องมีเครื่องมือซึ่งก็คือวงกสิณ ดวงกสิณ ไปนั่งตรงไหนต้องหอบหิ้วไป มันลำบาก ถึงแม้ว่าจะทำการกำหนดซากศพ มันก็ต้องไปที่ป่าช้า ออกมาจากป่าช้ามันก็ไม่สะดวกที่จะทำ แต่ถ้าหากกำหนดอานาปานสตินี่มันสะดวก เพราะเราหายใจอยู่เรื่อย แล้วมันติดอยู่กับตัว ไปที่ไหนมันก็อยู่ที่นั่น มันก็มีอยู่ที่นั่นสำหรับจะกำหนด มันสะดวกอย่างนี้ และอีกอย่างหนึ่ง(พระพุทธเจ้า)ก็ได้ตรัสสรรเสริญว่ามันสงบ มันระงับ มันไม่ตึงตัง มันไม่น่ากลัว มันไม่โลดโผน จึงเลือกเอาวิธีที่เรียกว่าอานาปานสตินี้มาแนะกันมาสอนกันตามที่จะทำได้ โดยเอาการกำหนดลมหายใจเป็นหลัก
นี่จะเล่าเรื่องให้ฟังคร่าวๆ เสียก่อน ตามหลักของอานาปานสติที่ว่ามีอยู่ ๑๖ ขั้น ขั้นแรกเรากำหนดลมหายใจที่ยาวให้รู้เรื่องลมหายใจยาวให้ดีอยู่ทุกครั้งที่มีการหายใจออกเข้า ทีนี้ขั้นที่ ๒ กำหนดลมหายใจสั้น เพื่อให้รู้เรื่องลมหายใจสั้นให้ดีที่สุดทุกครั้งที่หายใจออกเข้า ขั้นที่ ๓ ก็รู้เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับลมหายใจที่มันสัมพันธ์กันมาถึงร่างกายของเราด้วย นี่ก็เรียกว่ากำหนดกายทั้งปวง คือกายลมและกายร่างกายนี้ให้รู้อย่างดีที่สุดอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า แล้วก็มาถึงขั้นที่ ๔ ก็ทำให้กำหนดให้ลมหายใจระงับลง ละเอียดลง เพื่อเนื้อตัวหรือความร้อนในร่างกายมันจะระงับลงๆ จนกระทั่งเป็นสมาธิ นี่ก็เรียกว่า เรียกว่าทำกายสังขารให้ระงับอยู่ๆ ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า ให้สังเกตดูให้ดีเถอะ มันจะมีคำว่าทุกครั้งที่หายใจออกเข้า ไม่ว่าครั้งไหน ๔ ครั้งแล้วนะ กำหนดลมหายใจยาว กำหนดลมหายใจสั้น กำหนด กำหนดความสัมพันธ์กันระหว่างกายคือลมหายใจ กับกายคือเนื้อหนังนี้ แล้วก็กำหนดลมหายใจให้มันละเอียดระงับ ให้กายมันระงับลงไป ทำอย่างนี้อยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า นี่มันหมวดทีแรก มีอยู่ ๔ ขั้น เรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฎฐาน สติกำหนดพิจารณาลงไปที่กาย คือลมหายใจกับเนื้อตัว ผลสุดท้ายของหมวดนี้ มันมีการระงับแห่งลมหายใจ ระงับแห่งร่างกาย นั่นแหละคือความเป็นสมาธิ ถ้าทำได้ดีก็ไปได้ถึงอัปปนาสมาธิ เป็นฌาน เป็นรูปฌาน นั่นเป็นความสุขที่สุดเลย ที่จะได้รับทันทีทันอกทันใจโดยไม่ต้องรอหมดกิเลส แต่จะได้รับความสุขอย่างเดียวกับมันหมดกิเลสและมันชั่วคราว
ทีนี้ก็ไปขึ้นหมวดที่ ๒ เขาเรียกว่าหมวดเวทนา ขั้นที่ ๑ ของหมวดที่ ๒ ก็เอาไอ้ปีติ ความรู้สึกปีติที่เราประสบความสำเร็จในการปฏิบัติที่แล้วๆ มา จนทำให้เกิดฌาน เกิดสมาธิได้สำเร็จนี้ มันก็มีปีติเป็นองค์ฌานอยู่แล้ว มีความสุขเป็นองค์ฌานอยู่แล้ว ยืมมา ยืมปีตินั้นมากำหนดในหมวดที่ ๒ ที่เรียกว่า เวทนา กำหนดเวทนา หรือกำหนดความรู้สึกที่เป็นปีติอิ่มอกอิ่มใจที่ประสบความสำเร็จอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า แล้วขั้นที่ ๒ ของหมวดนี้ก็เลื่อนมากำหนดอยู่ที่ความสุข รู้สึกเป็นสุขอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า ทีนี้ขั้นที่ ๓ ก็กำหนดอยู่ที่ว่าไอ้ทั้งปีติไอ้ทั้งสุข ๒ อย่างนี้ นี่คือตัวการที่ปรุงแต่งความคิดนึกอยู่ กำหนดอย่างนี้อยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า รู้สึกอยู่ว่ามันเป็นอย่างนี้ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า ทีนี้ขั้นที่ ๔ ของหมวดนี้ก็คือว่าทอนกำลังของไอ้ปีติและสุขที่ปรุงแต่งจิตนี้ ให้มันถอยกำลังลง ให้มันถอยกำลังลง เพื่ออย่าให้มันปรุงแต่งจิตอย่างแข็งกล้า เพื่อ(ให้)จิตมันอ่อนลงมา เป็นจิตที่อยู่ในการควบคุม ไม่ฟุ้งหรือว่าไม่อะไรทุกอย่างที่มัน มันมีกำลังกล้า เขาเรียกว่าทำจิตกับสังขารให้ระงับอยู่ ทำอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า หมวดนี้เขาเรียกว่า เวทนานุปัสสนาปฎิปัฐาน เพราะมันจัดการกับสิ่งที่เรียกว่าเวทนาอยู่ตลอดเวลา กำหนดปีติที่เป็นเวทนาชนิดหนึ่งอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า กำหนดความสุขที่เป็นเวทนาชนิดหนึ่งอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า แล้วกำหนัด (27.58) กำหนดเวทนาทั้ง ๒ ชนิดนี้ ให้เห็น(ให้)รู้สึกชัดว่านี่คือตัวการที่ปรุงแต่งจิต กำหนดอย่างนี้อยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า แล้วกำหนดด้วยวิธีที่จะทอนกำลังของมัน(ที่)ยังปรุงแต่งจิต ให้มันระงับอยู่ จิตมันก็สงบ(จะ)ระงับยิ่งขึ้นไปอีก ก็เลยเป็นหมวดที่ ๒ เกี่ยวกับเวทนา เรียกว่าเวทนานุปัสสนาปฏิปัฐาน อย่าลืม อย่าลืมสังเกตตรงที่มันจะมีคำว่าทุกครั้งที่หายใจออกเข้า
ทีนี้มาถึงหมวดที่ ๓ เขาเรียกว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือกำหนดจิต เกี่ยวกับจิตล้วนๆ ขั้นที่ ๑ ของหมวดที่ ๓ นี้กำหนดที่ตัวจิตนั่นเองว่ากำลังเป็นอย่างไร อยู่ในสภาพอย่างไร มันกำลังเป็นอยู่อย่างไร เอาตามที่มันเป็นจริงสิ ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า จิตเป็นอยู่อย่างไร รู้สึกมันอยู่ดีทุกครั้งที่หายใจออกเข้านี้ ขั้นที่ ๒ ของหมวดนี้ก็ทำจิตให้บันเทิง รื่นเริง โดยเฉพาะในทางธรรม คล้ายกับทดสอบดูเท่านั้นแหละ ให้จิตรู้สึกอภิโมทยะ (29.16) คือบันเทิงอย่างยิ่ง พอใจ รู้ว่ามันพูดยากที่จะแปลเป็นไทย แต่เป็นจิตที่บันเทิงร่าเริงได้ตามต้องการอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า ทีนี้ขั้นที่ ๓ ของหมวด หมวดนี้ก็เลยทำให้จิตตั้งมั่นโดยที่เราจัดมันให้ตั้งมั่นอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า แล้วขั้นที่ ๔ ของหมวดนี้ก็ทำจิตให้ว่างให้ปล่อยจากสิ่งที่มารบกวนจิตอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า รู้สึกอยู่ว่าจิตปล่อย หรือไม่มีอะไรมารบกวนจิตอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า นี่จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐาน อย่าลืมว่ามีคำว่าทุกครั้งที่หายใจออกเข้า
ทีนี้หมวดสุดท้าย หมวดที่ ๔ ธรรมานุปัสสนาสติปัฎฐาน จะกำหนดความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวงเป็นข้อแรก ความไม่เที่ยงนี้มันก็คือตัวธรรมะ เพราะฉะนั้นเมื่อกำหนดตัวธรรมะอย่างนี้ ก็เลยเรียก หมวดนี้เลยมีชื่อว่า ธรรมานุปัสสนาปฏิปัฐาน พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของสังขารอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า ไม่ต้องไป(พิจารณา)สังขารที่ไหน สังขารที่ที่กำลังมีอยู่ เป็นอยู่ เกี่ยวข้องอยู่นี่ ไม่ต้องย้อนไปดูลมหายใจยาวก็ไม่เที่ยง ลมหายใจสั้นก็ไม่เที่ยง ลมหายใจปรุงแต่ง กายนี้ก็ไม่เที่ยง แม้แต่ว่าลมหายใจสงบระงับอยู่จนมีความสุข นี้มันก็ไม่เที่ยง อย่าไปว่าไม่เที่ยงเอาที่ข้างนอกที่ไหนก็ไม่รู้ ต้องเอาสิ่งที่รู้สึกอยู่จริงที่เรียกว่าไม่เที่ยง แล้วก็ดูปีติก็ไม่เที่ยง ความสุขก็ไม่เที่ยง ทั้ง ๒ อย่างนี้ปรุงแต่งจิตนี้ก็ไม่เที่ยง แม้จิตที่ถูกทำให้ปรุงแต่งน้อยแล้ว มันก็ยังไม่เที่ยง มาหมวด ๓ ทำซ้ำกันอีก ว่าจิตธรรมดาก็ไม่เที่ยง จิตที่บันเทิงปราโมทย์ก็ไม่เที่ยง จิตที่ตั้งมั่นก็ไม่เที่ยง จิตที่ปล่อยแล้วก็ไม่เที่ยง นี่เขาเป็นเทคนิคที่ ที่จิตที่ดีที่สำคัญที่สุด คือต้องมีสิ่งจริงๆ มากำหนด ไม่ใช่ไปว่า ไปนึก ไปผลัดกัน ไปใช้เหตุผล มันไม่ต้อง มันอยู่เหนือการใช้เหตุผล ลมหายใจยาวไม่เที่ยง นี่ไม่ ไม่ต้องใช้เหตุผล กำหนดลมหายใจยาวอยู่ก็เห็นว่าไม่เที่ยง ลมหายใจสั้นก็เหมือนกัน สภาวะอื่นๆ ก็เหมือนกัน ที่กำหนดเห็นความไม่เที่ยงของสิ่งเหล่านี้อยู่ รวมกันแล้วก็เรียกว่าสังขาร เห็นความไม่เที่ยงสังขารอยู่เรื่อยทุกครั้งที่หายใจออกเข้า ถ้าการกำหนดอย่างนี้เป็นไปดี ถูกต้องดี เดี๋ยวก็จะเกิดไอ้ความรู้สึกอันอื่นขึ้นมาคือ เบื่อหน่าย คลายความรักหรือความหลงใหลในสิ่งเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสุขเวทนาที่หลงใหลกันนัก แล้วกำหนดไอ้ความที่มันคลายจากความยึดมั่นถือมั่นหรือคลายจากความหลงใหลนี้ไว้เป็นอารมณ์ เป็นธรรมะสำคัญที่สุดเลย คือมีราคะ(32.46) กำหนดอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า เมื่อมันคลายความยึดมั่นเรื่อยไปๆ เดี๋ยวมันถึงความหยุดหรือความดับแห่งความยึดมั่น ถือมั่นนั่นเอง นี่ก็เรียก(ว่า)นิโรธะ กำหนดความที่มันหยุดหรือดับแห่งความยึดมั่น ถือมั่น หรือความทุกข์ก็ได้อยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า เมื่อเห็นความดับแห่งความยึดมั่นอย่างนี้แล้วก็ในขั้นสุดท้ายก็เรียกว่าเห็นความสลัดคืน ก่อนนี้เราไปเที่ยวรวบรัดนั่นนี่เอามาเป็นตัวกู มาเป็นของกู เขาเรียกว่ายึดมั่น ถือมั่น เดี๋ยวนี้ไม่เอาแล้วโว้ย โยนคืนกลับไปให้ธรรมชาติ ไม่มีอะไรรู้สึกเป็นตัวกู ของกู รู้สึกอยู่แต่ว่าไม่เอาๆ โยนคืนออกไปได้แล้ว ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า นี่มี ๔ ข้อในหมวดสุดท้าย มันมี ๔ หมวด หมวดละ ๔ ข้อ มันจึงเป็น ๑๖ ข้อหรือ ๑๖ ขั้น แล้วมันเนื่องกันเป็นลำดับ ตั้งแต่เริ่มลงมือทำแล้วก้าวหน้าไปเรื่อย จนกระทั่งบรรลุมรรคผลในขั้นสุดท้าย ที่เรียกว่านิโรธะนั้นนะ มันเป็นการบรรลุมรรคผล มันก็รู้ว่าบรรลุแล้ว คือ ปฏินิสสะธะ(34.11) นี่แนวมันมีอยู่อย่างนี้สำหรับ สำหรับ อานาปานสติ จำได้ก็ได้จำไม่ได้ก็ได้
เพราะวันนี้ต้องการจะพูดแต่วิธีทำในขั้นแรกอันดับแรกเท่านั้น เพื่อให้กำหนดลมหายใจยาว ให้รู้จัก กำหนดลมหายใจสั้น ให้รู้จักกำหนดรู้ความที่ลมนี้มันสัมพันธ์กันอยู่กับร่างกาย ก็เป็นเครื่องปรุงแต่งร่างกาย แล้วก็กำหนดการที่เราสามารถทำให้มันระงับลง ประณีตลง สงบลง คือปรุงแต่งแต่น้อย มันก็สงบระงับลงจนมีความสุขปรากฏทางใจ หรือถ้าเพ่งอีกทางหนึ่งมันกำลังเป็นสมาธิ เป็นฌานดี ที่เขาเรียกว่าฌาน เป็นฌานที่ ๑ บ้าง เป็นฌานที่ ๒ บ้าง ที่ ๓ บ้าง ที่ ๔ บ้าง เท่านี้พอแล้วสำหรับหมวดที่ ๑
นี่เราก็ตั้งต้นปฏิบัติหรือกระทำหมวดที่ ๑ นี้ ที่เล่าเรื่องหมวดที่ ๒ ที่ ๓ ให้ ที่ ๔ ให้ฟังก็เพื่อให้รู้ตลอดแนวคร่าวๆ เป็นปริทรรศน์ เป็น outline ไว้ทีก่อนเท่านั้นแหละ แล้วไปไม่ถึงนั้นแหละ ในขั้นแรกนี้ ก็ในชั้นที่หนึ่ง ชั้นแรกในหมวดที่ ๑ นี้ก็ให้ได้เสียก่อน มันกินเวลา มีเวลาไม่กี่วัน ก็เข้าใจการกระทำขั้นต้นให้ดีจนพอทำถูก มันจะได้เอาไปทำเมื่อกลับไปแล้ว
นี่ทบทวนอีกทีหนึ่งว่ามันมีอยู่ ๔ ขั้น ลมหายใจยาวลมหายใจสั้น รู้ลมหายใจยาวรู้ลมหายใจสั้น รู้ลมหายใจเนื่องกันอยู่กับร่างกาย แล้วก็ทำลมหายใจให้ระงับ เพื่อให้ร่างกายระงับด้วย ถ้าระงับลงก็เป็นสมาธิหรือเป็นฌาน ทีนี้วิธีทำ เราไม่ทำตามตัวหนังสืออย่างนั้นหรอก หรือไม่ทำตามลำดับในตัวหนังสืออย่างนั้น เรามีวิธีมีอุบาย หรือมีเทคนิคเฉพาะ เพื่อประหยัดให้มันสั้นเข้า ให้มันน้อยเข้า ให้มันง่ายเข้า ให้มันสะดวกเข้า แล้วทีนี้จะบอกถึงบทเรียน หัวข้อของบทเรียนที่จะกระทำ นี่ตอน ถึงตอนที่ต้องจำให้แม่นละ
บทที่ ๑ บทเรียนที่ ๑ คือวิ่งตาม ไล่ตาม วิ่งตามลมหายใจ แล้วบทเรียนที่ ๒ เฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง ไม่วิ่งตาม แล้วบทที่ ๓ ทำมโนภาพให้เกิดขึ้น(ที่)จุดนั้น จุดที่เฝ้าดูไว้ แล้วบทที่ ๔ ฝึกการบังคับมโนภาพที่เกิดขึ้นได้ตามความประสงค์ เพื่อแสดงว่าเรามีอำนาจหรือเป็นนายเหนือจิตใจพอสมควรแล้ว ทีนี้บทที่ ๕ ก็ทำให้เป็นสมาธิ ให้ประกอบไปด้วยองค์ฌาน ๕ องค์ เป็นสมาธิ ชั้นแรกที่เรียกว่าฌานที่ ๑ มีเท่านี้ บทเรียน ๕ บท ทีนี้พูดไว้ก่อน พูดๆๆ จะต้องเล่าเรื่องอีกทีหนึ่ง
บทเรียนที่ ๑ วิ่งตาม ก็หมายความว่าธรรมดาเราก็หายใจออกหายใจเข้า หายใจออกหายใจเข้าอยู่แล้ว พอลงมือทำ ก็แบบว่า กำหนดการที่มันออกแล้วการที่มันเข้า การที่มันออกแล้วการที่มันเข้า เหมือนกับว่าเอาจิตนี่ไปที่ติด ฝากไว้ที่นั่นด้วย ให้มันออกเข้า ออกเข้า ก็รู้อยู่ รู้สึกอยู่ว่าออก รู้สึกแล้วเข้า รู้สึกแล้วออก รู้สึกแล้วเข้า รู้สึกแล้วนี้ มันก็หนีไปไหนไม่ได้ นี่เรียกว่าวิ่งตาม ติดกันอยู่อย่างนั้นแหละ ทำบทเรียนที่ ๑ นี้ให้ได้เสียก่อน ไอ้เรื่องยาวเรื่องสั้น อย่าเพิ่งไปรู้ ยาวก็ยาว สั้นก็สั้น ตามใจไว้ กำหนดแต่ว่าให้มันวิ่งตาม ให้มันติดก้นไปเรื่อย อย่าให้มันหลุดละจากกันได้ นี่คือความหมายคำว่าวิ่งตาม ลมหายใจมันออกมาทางจมูก แล้วก็มันกลับเข้าไปทางจมูก เราทำเหมือนอย่างว่ามันออกมาสุดแล้วก็กลับเข้าไป เหมือนกับว่าเป็นวง เป็นวงยาวๆ เมื่อออกมาตั้งต้น เมื่อออกละโดยสมมติ โดยสมมติว่ามันตั้งต้นที่สะดือ ข้างในที่สุด แล้วก็ออกมาจนหมดจากจมูก ทีนี้มันจะกลับ จะกลับเข้าไป ตั้งต้นที่จมูก(แล้ว)ไปสุดที่สะดือ ทีนี้เราจะทำให้มันง่ายกว่านั้น ก็เราทำเหมือนกับว่าเป็นวงนี้ออกมาจนหมดแล้วมาตั้งต้นที่สะดือที่เป็นวงอย่างนี้ แล้วก็วิ่งตามอย่างนี้ ทีนี้ถ้าใครไม่ชอบแบบนี้ ก็จะเข้าออก เข้าออก เข้าออกก็ได้ ออกก็ออกมาด้วยกัน เข้าก็เข้ากลับไปด้วยกัน อย่างนี้ระวัง มันมีจุดที่จะหนีอยู่จุดหนึ่งคือ พอออกมาแล้ว ตอนที่มันจะกลับเข้า มันจะหนีว่างอยู่นิดหนึ่ง มันจะหนีกันตอนนี้ แต่ถ้าเราสมมติเหมือนกับวงกลมอย่างนี้ วิ่งตามวงกลมอย่างนี้ ก็หาโอกาสหนียาก มันเป็นเคล็ดที่ดีกว่า ทีนี้วิ่งตามให้ได้ก่อน แล้วจึงค่อยมาทำไอ้ที่ว่ามันยาวไหม มันสั้นไหม ถ้าเราควบคุมดี ทำได้ดี เป็นระเบียบดี มันก็จะยาว จะรู้ว่าไอ้ยาวเป็นอย่างนี้เอง แล้วบางครั้งมันสั้นไป เพราะว่ามันมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงบ้าง อารมณ์ อารมณ์เสียนิดเดียว ลมหายใจก็สั้น อารมณ์ปกติลมหายใจก็ยาวตามปกติ ทีนี้ก็เริ่มสังเกตว่าสมมติว่าวิ่งตามอยู่ ชนิดไหนมันยาว ชนิดไหนมันสั้น แต่จะฝึกทีเดียวพร้อมกัน ๒ อย่างมันยากกว่า ดังนั้น ฝึกทีละอย่าง ฝึกให้รู้ว่ามันเข้าออก เข้าออก เข้าออก ตามเรื่อยไปไม่มีละกันนี้ ให้มันได้เสีย(ที)หนึ่งก่อน ให้มัน มัน มันเสร็จไปตอนหนึ่งก่อน ไม่อย่างนั้นชิน เคยชิน ทำได้ทีละอย่าง รู้ยาว อย่างนี้ยาวนะ อย่างนี้สั้นนะ ทีนี้เมื่อรู้สั้นยาวดีแล้ว ก็รู้ว่าเมื่อลม มีลมหายใจยาว เนื้อตัวเราเป็นอย่างไรนี่ จะทำให้รู้ว่ากาย รู้ว่ากายสังขารเป็นอย่างไร คือรู้ว่าลมหายใจปรุงแต่งร่างกายอย่างไง โดยเราสังเกตดูเมื่อลมหายใจยาว ร่างกายเนื้อหนังอารมณ์เรารู้สึกอย่างไร เมื่อหายใจมันสั้นๆ ร่างกายเนื้อหนังอารมณ์ของเราเป็นอย่างไร เดี๋ยวเราจะรู้ว่าอ้อมันเนื่องกัน ลมหายใจกับร่างกายมันเนื่องกัน เขาเรียกว่ากายลมกับกายเนื้อมันเนื่องกัน ๒ กายนี้ ก็เกิดความรู้สึกจริงๆ คือรู้อย่างจริงๆ ไม่ใช่รู้คำนวณ ว่าไอ้ลมหายใจนี่มันเนื่องกันอยู่กับกายจริงๆ ลองอีกก็ไปกำหนดอีกว่าไอ้ เมื่อลมยาวร่างกายเป็นอย่างนี้ เมื่อลมสั้นร่างกายเป็นอย่างนี้ หรือมันสั้นมากสั้นน้อย ยาวมากยาวน้อยเป็นอย่างนี้ เนื้อหนังร่างกายเป็นอย่างนี้ เราจะสังเกตดูอีกทีว่า ถ้าลมหายใจละเอียดล่ะ ลมหายใจมันก็หยาบ และมันละเอียดหรือมันแผ่ว หรือมันช้าลงระงับลง(42.43-42.50) ร่างกายเป็นอย่างไร เมื่อร่างกาย เมื่อลมหายใจหยาบ ร่างกายเป็นอย่างไร เมื่อลมหายใจละเอียด ร่างกายเป็นอย่างไร แล้วก็ลองทำลมหายใจหยาบๆ ดูบ้าง ลมหายใจละเอียดๆ ดูบ้าง ก็(จะ)รู้จักดีขึ้นกว่าเดิมด้วย จนกระทั่งรู้ในที่สุดว่าไอ้ลมหายใจนี่มันเนื่องกันกับร่างกาย แล้วมันเป็นผู้ปรุงแต่งกาย ถ้าลมหายใจหยาบ มันก็หยาบไปด้วยกัน ถ้าลมหายใจละเอียด มันก็ละเอียดไปด้วยกัน นี่มันเกิดเค้าเงื่อนที่ว่าเราจะบังคับร่างกายนี้ให้สงบระงับได้โดยการบังคับลมหายใจ บังคับร่างกายแต่บังคับทางลมหายใจ ถ้าบังคับลมหายใจได้อย่างไร ร่างกายก็จะพลอยเป็นอย่างนั้น
ทีนี้เราก็เลยรู้อานาปานสติขั้นที่ ๓ นี่ว่ากายทั้งปวงคือ ๒ กายนี้เนื่องกันอย่างไร รู้สึกอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า ในขั้นที่วิ่งตามเพียงขั้นเดียว เรารู้จักความยาวของลมยาว รู้จักความสั้นของลมสั้น รู้จักอิทธิพลของความยาว ความสั้น ความหยาบ ความประณีตของลมหายใจนั้นว่ามันปรุงแต่งร่างกายอย่างไร
ทีนี้เหลือขั้นที่ ๔ จะทำให้มันสงบระงับ ก็ตั้งต้นจากที่ว่าวิ่งตาม วิ่งตามให้แน่วแน่ และก็เลื่อนมาเฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งที่เหมาะสมที่สุด ก็คือที่จงอยจมูกด้านในที่สุดที่ลมหายใจมันมาสุดเมื่อหายใจออก หรือเมื่อมันมาตั้งต้นเมื่อหายใจเข้า กำหนดแต่ที่ตรงนั้นไม่ต้องวิ่งตามเป็นวงกลม หรือไม่ต้องวิ่งตามเข้าออก กำหนดอยู่แต่ที่ตรงนั้น มาถึงขั้นนี้แล้วมันจะพอกำหนดได้ แต่ถ้าไม่ ไม่ทำมาแต่ทีแรกคือไม่วิ่งตามกันมาก่อนแล้ว มันก็ยากที่จะทำได้ เพราะว่าจิตมันไม่ถูกฝึกเสียเลย ทีนี้เมื่อมันถูกฝึกมาครึ่งหนึ่งแล้วคือฝึกในการวิ่งตามมาดีแล้ว มันก็จะฝึกต่อไปถึงเพียงแต่เฝ้าดูอยู่แต่ที่ตรงนี้เถอะ อย่าวิ่งตามเลย มันก็พอจะทำได้ ดังนั้น การที่ใครจะกระโดดไปฝึกชนิดที่เฝ้าดูตรงนี้เถอะ มันก็ทำยาก มันก็จะหนีไป เดี๋ยวมันก็จะท้อแท้ แล้วก็เลิกเสีย เดี๋ยวนี้มันกำหนด เหมือนกับว่าที่ตรงปลายจมูกนี่มันมีอะไรที่ไวต่อความรู้สึกเมื่อลมกระทบแล้วรู้สึก ทำอย่างกับมีเนื้ออ่อนอยู่ที่นั่น ลมกระทบแล้วรู้สึกแรง แรงขึ้นๆๆๆ เฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง เป็นบทเรียนที่ ๒ จะกินเวลาเท่าไหร่ ก็สุดแท้ มันแล้วแต่คน มันเก่งหรือไม่เก่ง คนที่มันปกติหรือไม่ปกติ ทำอย่างนี้ได้แล้ว มัน ความรู้สึกนี่มันจะค่อยๆ ละเอียด ระงับลง จิตก็ระงับลง ร่างกายก็ระงับลง ความรู้สึกต่างๆ ที่มันเคยเต็มที่ เข้มแข็งเต็มที่ มันก็ระงับลง จนสามารถจะเหลือเพียงครึ่งสำนึกพอที่ให้เรากำหนดว่ามันมีภาพ มโนภาพที่ไม่ใช่ภาพจริงเกิดขึ้นที่ตรงนี้ ที่ตรงจงอยจมูก ที่ว่าเฝ้าดูนะ มันเป็นเครื่องรับรองกันอยู่ในตัว ถ้าจิตไม่ระงับลงพอ คือจิตเป็นคนชัด (46.42) เต็มที่ มันไม่สามารถจะสร้างมโนภาพนั้นขึ้นได้ ดังนั้น จิตนั้นต้องครึ่งสำนึกจึงจะสร้างมโนภาพนั้นขึ้นมาได้ ทีนี้คำว่าจิตสำนึกนั้นนะ คือมันระงับลงไปตั้งครึ่งหนึ่งแล้ว จิตมีความสงบระงับลงไปตั้งครึ่งหนึ่งแล้ว มันเป็นจิตครึ่งสำนึกแล้ว มันจึงสร้างมโนภาพได้ เพราะมันบอกเหตุผลอยู่ในตัว รับประกันอยู่ในตัวว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ จึงจะสร้างมโนภาพขึ้นมาได้ เพราะอย่างนั้นจิตก็เลยกำหนดมโนภาพนั้นขึ้นมาเสีย แทนที่จะกำหนดเนื้อหนังตรงจุดนั้นเหมือนๆๆๆ ทีแรก
เพื่อซักซ้อมความเข้าใจนิดหนึ่งว่า ทีแรกขั้นๆ บทที่ ๑ กำหนดตัวลมที่วิ่งเข้าวิ่งออก ขั้นที่ ๒ กำหนดจุดที่มันผ่านเท่านั้น จุดหนึ่งเท่านั้น ทีนี้ขั้นที่ ๔ (47.30-47.40)เมื่อประณีตละเอียดพอสมควรแล้ว ทำมโนภาพให้เกิดขึ้นแทนที่ตรงนั้น แล้วกำหนดมโนภาพนั้นเอง(ให้)เป็นอารมณ์หรือเป็นนิมิต สิ่งที่ถูกกำหนดเขาเรียกว่าอารมณ์หรือนิมิต ซึ่งก็เรียกว่าขั้นที่สร้างมโนภาพขึ้นมาที่จุดนั้น บทเรียนที่ ๓
ทีนี้บทเรียนที่ ๔ จะให้ดีขึ้นไปอีก จะให้เก่งมากขึ้นไปอีก ก็ฝึกในลักษณะที่ว่าบังคับมโนภาพนั้นได้ตามต้องการเลย น้อมจิตไปอย่างไร มโนภาพจะเปลี่ยนรูปไปอย่างนั้น เพียงแต่น้อมจิตไปว่าจะเห็นอย่างนั้น แล้วค่อยๆ เขยิบไปทีละนิด ละนิด สมมติว่ามโนภาพนั้นเป็นจุดขาวๆ ก็น้อมให้จุดขาวๆ นั้นนะมันใหญ่ขึ้น หรือว่ามันชัดขึ้น หรือว่ามันแจ่มแจ้งขึ้น หรือสว่างไสวขึ้น หรือให้มันกลับเล็กลง หรือให้มันเคลื่อนที่ ให้มันลอยไป ให้มันลอยมา ให้มันกลับมาอีก แล้วแต่จะบังคับ คือน้อมจิตไป ทีนี้มโนภาพนี้ไม่เหมือนกันทุกคน บางคนเห็นอย่างนั้น บางคนเห็นอย่างนี้ ใครสะดวกยังไงก็เอาอย่างนั้น ตามในคัมภีร์เขาเขียนไว้ แล้วมันก็มีเช่นว่าบางคนเห็นดวงพระจันทร์เล็กๆ อยู่ตรงนั้น บางคนเห็นดวงอาทิตย์ บางคนเห็นว่าเหมือนแก้วมณีหรือเพชรอยู่ที่ตรงนั้น บางทีเห็นหยดน้ำค้างอยู่ที่ตรงนั้น กระทั่งว่าบางคนเห็นภาพ(พล่า)คล้ายๆ (49.10) ใยแมงมุงกลางแสงแดดเวลาเช้าน่ะอยู่ที่ตรงนั้น หมายความว่าเวลานี้มันเหมือนกับว่าเป็นมืดหมดไม่มีอะไรเหลือ ตัวเราก็ไม่ ไม่สนใจมัน เนื้อตัวไม่สนใจ มันมืดไปหมด มันรู้สึกอยู่แต่มีการหายใจออกเข้า แล้วภาพนั้นเห็นชัดอยู่ที่ตรงนั้น ไม่ไม่ไม่ได้ ไม่ได้ ไม่ได้ทำการกำหนดว่าอยู่ที่ปลายจมูกเราแล้ว มันเป็นภาพที่เห็นและเปลี่ยนได้ เปลี่ยนสีก็ได้ เปลี่ยนรูปร่างก็ได้ เปลี่ยนขนาดก็ได้ เปลี่ยนอิริยาบถวิ่งไปวิ่งมานี่ก็ได้ นี้เป็นเพียงเครื่องทดสอบว่าจิตนี้ถูกฝึกดีที่สุดแล้ว มันมีความสำเร็จในการฝึกแล้ว แล้วก็ไม่ใช่ของจริง สิ่งที่เห็นนั้นไม่ใช่ของจริง แต่จำเป็นที่ต้องมีอย่างนั้น เพื่อให้เกิดการฝึกฝนจิต และเมื่อฝึกได้แล้ว มันก็มีลักษณะที่ทดสอบได้อย่างนี้ นี่ขั้นที่ ๔ ของเราเรียกว่าบังคับมโนภาพได้ตามต้องการ
ทีนี้เหลือขั้นที่ ๕ ขั้นสุดท้ายก็จะทำความรู้สึกในองค์ฌานทั้ง ๕ ให้ปรากฏชัดออกมา พอถึงตอนนี้จะต้องไม่มีการบังคับมโนภาพนั่นนี่แล้ว เลือกเอาอันใดอันหนึ่งที่เป็นมโนภาพที่ชัดดี ใสดี กระจ่างดี มั่นคงดี มาเป็นเครื่องกำหนดเห็นอยู่ และก็มีการหายใจที่รู้สึกอยู่ด้วย ทีนี้ก็กำหนดความรู้สึกอีกแผนกหนึ่งที่ได้รู้สึกว่าปีติหรือปราโมทย์นี่จะเด่นกว่า จะเด่นกว่าอะไรหมด แต่องค์ฌานนี่ก็ต้อง ต้องวางหลักไว้ว่าจะต้องมีไอ้วิตกกับวิจารณ์ด้วย คือความแน่วแน่ในการกำหนดอารมณ์นั้นก็มีอยู่ด้วย ความรู้สึกซึมซาบต่อนิมิตหรืออารมณ์นั้นก็มีอยู่ด้วย ความรู้สึกพอใจ พอใจอิ่มใจก็มีอยู่ด้วย และก็รู้สึกเป็นสุขด้วย และก็รู้ว่าความที่ว่าจิตนี้มิได้ไปไหนนะโว้ย อยู่ที่ตรงนี้เป็นจุดเดียว เป็นจุดสุดยอดด้วย นี่ก็เรียกว่าเอกัตคัดตา(51.39)ฉะนั้นจึงประกอบด้วย วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัตคัดตา ซึ่งเป็นภาษาบาลี ก็เรื่อง(คำนี้)ที่เป็นเรื่องของชาวอินเดียที่ใช้ภาษาอินเดีย เพราะเราจะสังเกตได้ว่าความรู้สึกต่อการที่จิตกำหนดอารมณ์นั้นก็ ก็เห็นอยู่ รู้สึกอยู่ จิตซึมซาบอย่างทั่วถึงต่ออารมณ์นั้น ก็รู้สึกอยู่ จิตมีปีติอิ่มใจก็ได้รู้สึกอยู่ แล้วก็เป็นสุขนี่ก็รู้สึกอยู่ อิ่ม อิ่มใจกับเป็นสุขนี่ไม่ใช่อย่างเดียว(กัน) อิ่มใจมันเกิดมาจาก(ที่)รู้สึกว่าสำเร็จ แล้วก็เพราะมีอิ่มใจจึงรู้สึกเป็นสุข เพราะฉะนั้นไอ้ความอิ่มใจมันหล่อเลี้ยงความรู้สึกที่เป็นสุข มันก็จึงมีทั้ง ๒ อย่างได้ และเอกัตคัดตา นี่รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ไม่มี หนีไปไหนแล้ว อยู่แต่ที่นี่ มีจุดเดียว แน่วแน่อยู่ที่ที่ตรงนี้เอง ครบทั้ง ๕ นี่เขาเรียกว่าองค์แห่งความเป็นสมาธิอันดับ ๑ อันดับแรกนะไม่ใช่อันดับดีที่สุด อันดับ ๑ นี่คืออันดับแรก ทีนี้มันก็จะมีดียิ่งขึ้นไป อันดับ ๒ อันดับ ๓ อันดับ ๔ ไม่ต้องพูดถึงก็ได้ มันมากไป ถ้าจะพูดคร่าวๆ ก็ว่าอันดับ ๒ ก็คือ ใน ๕ องค์นั้นละทิ้งเสีย ๒ องค์ อันดับ ๓ ก็เปลี่ยนบางองค์ อันดับ ๔ ก็เหลือแต่ที่อุเบกขากับเอกัตคัดตา มันเกินความจำเป็นแล้ว เอาแต่เพียงว่ามี ๕ องค์คัดดีก็พอแล้ว
ทีนี้ทบทวนอีกทีหนึ่งว่าบทเรียนของเรามีอยู่ ๕ บท บทที่ ๑ วิ่งตาม วิ่งตามลม บทที่ ๒ ก็ไม่วิ่งตาม เฝ้าอยู่ที่จุดหนึ่ง บทที่ ๓ ก็สร้างมโนภาพ คือภาพสักว่าเห็น เป็นไอ้ ไม่ใช่ของจริง แต่ว่าเห็นได้ เรียกว่ามโนภาพ ขึ้นที่จุดนั้น แล้วขั้นที่ ๔ จัดการกับมโนภาพนั้นได้ จนเป็นนายมันเลย แล้วขั้นที่ ๕ ก็ทดสอบไอ้ความสมบูรณ์แห่งความเป็นสมาธิด้วยองค์ฌานทั้ง ๕ นี่มีเท่านี้
เอาละทีนี้ก็มาถึงตอนที่ว่าเราจะแนะหรือจะลองทำดู มันก็จะแนะกันก็ได้พียงไอ้วิ่งตาม หรือเฝ้าดูอย่างนี้ มีเท่านี้ นอกนั้นมันก็เป็นเรื่องที่สอนหรือแนะอย่างนี้ไม่ได้ ก็ไปแนะตัวเองสอนตัวเอง มีได้ก็เพียงการซักซ้อมความเข้าใจ การแนะที่มีได้ก็เป็นเรื่องหยาบ หยาบในตอนตั้งต้นตัววิ่งตาม ทีนี้เมื่อจะทำสมาธิ ก็ต้องมีการตระเตรียมบ้าง เช่นว่ามันควรจะได้ที่ที่ดีที่สุดแหละสำหรับการทำสมาธิเท่าที่เราจะเลือกได้ ทีนี้ร่างกายของเราก็ต้องมีการปรับปรุงบ้าง ตระเตรียมบ้าง เรียกว่าต้องสบายดีพอสมควร กระทั่งว่าถ้าจะทำอานาปานสติแล้ว จมูกก็ต้องได้รับการทดสอบว่ามันดี เรียกว่าหายใจสะดวกดีทั้ง ๒ ข้าง แก้ไขให้จมูกมันสะดวกดีทั้ง ๒ ข้าง โดยหายใจดูทีละข้าง ข้างไหนมันฝืดหรือมันอัด (55.51)นี่ก็สูดน้ำเข้าไปแล้วสั่งออกมาแรงๆ ให้มันโล่งเหมือนกันทั้ง ๒ ข้าง การตระเตรียมอย่างนี้จะไม่พูดแล้ว เพราะไปนั่นได้เอง
ทีนี้ก็นั่งลง เพราะว่าอิริยาบถนั่งนี่มันดีกว่าอิริยาบถอื่น คือมันจะทรงตัวอยู่ได้ แม้ว่าจิตมันจะเป็นครึ่งสำนึกแล้ว ไอ้การนั่งนี่มันยังนั่งอยู่ได้ ถ้าเรายืนหรือเดินทำไม่ได้ ถ้าเรานอนบางทีมักหลับเสีย เพราะฉะนั้นจึงมีแต่นั่งที่จะเป็นอิริยาบถสำหรับฝึกสมาธิ ทีนี้คำว่านั่งนี้ นั่งให้แน่นหนา ล้มไม่ได้ แล้วก็จะมีระเบียบวิธีนั่งเป็นแบบเป็นฉบับมาเลย ตั้งแต่ไม่สู้แน่นแฟ้น กับนั่งแน่นแฟ้นล้มไม่ได้ ที่แน่นแฟ้นล้มไม่ได้จริง เขาเรียกว่า วัชรอาสน์ วัชร แปลว่า เพชร อาสนะ แปลว่า นั่ง วัชรอาสน์ แปลว่า นั่งเพชร ที่นั่งเพชรด้วยการนั่งอย่างเพชรคล้ายๆ จะแข็งโก๊กนั่น(แหละ) คือจะเห็นพระพุทธรูป บางองค์ก็ทำขัดสมาธิเพชร มีฝ่าเท้ามาหงายอยู่บนขาทั้ง ๒ ข้าง ลองนั่งดู นี่ลองนั่งดู นั่งขัดสมาธิเพชร ผอมๆ ทำง่าย อ้วนๆ ทำยาก ถ้าทำไปก็ได้เหมือนกัน คือว่าเราควรจะยืดเอาไปก่อน เหยียดออกไปตรงๆ ๒ ข้าง แล้วก็ดึงทางซ้ายนี้มาไว้ที่นี่ แล้วก็เอาข้างขวาขึ้นมาไว้บนนี้ แล้วก็ทำอย่างนี้ มัน มันแน่นแฟ้น คือมัน compact เพื่อให้มันแน่นแฟ้น มันล้มไม่ได้ ล้มหน้าก็ไม่ได้ ล้มหลังก็ไม่ได้ ล้มข้างก็ไม่ได้ นี่มันก็เหมือนกับสายระยางนี่ มันก็เลยล้มไม่ได้ อย่างนี้เขาเรียกว่า วัชรอาสน์ ที่โคนต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าท่านประทับนั่ง จนกระทั่งเดี๋ยวนี้เขาก็ยังเรียกวัชรอาสน์อยู่นั่นแหละ แต่ไปหมายถึงหิน แท่นหิน แท่น เรียกวัชรอาสน์ ถ้าพอดีพอร้ายก็คืออันนี้ลงอยู่ข้างล่างสำหรับคนที่เขาทำไม่ได้ หรือว่าเมื่อไม่ต้องการจะให้มันเต็มที่ ก็เอาอันนี้ลงมา (อย่าง)นี้ก็เรียกว่าดอกบัว ปัทมาศ ปัทมอาสน์ เพียงเท่านี้ก็ควรจะเข้าใจได้มากแล้วนะว่า นั่งแน่นแฟ้นแล้วก็นั่งตัวตรง ไม่ตรงมันนั่งไม่ได้ล่ะ มันต้องตรงอยู่ดี ถ้านั่งแบบนี้ต้องตรงอยู่ดี ถ้า(ให้)ตรงเต็มที่ก็ยืด ยืดเข้าไป ให้กระดูกสันหลังตรง เพราะต้องการการหายใจที่ดี ถ้าเราต้องนั่งให้กระดูกสันหลังตรง นี่ก็เหมือนกัน ให้มัน มันจะช่วยได้นะ เหยียดแขนให้ซื่อ อย่างอแขน มันก็จะช่วยยืดกระดูกสันหลังให้ยาวออกไปอีก ทำจนกว่าจะเคยชิน ครั้งแรกก็ฝืน ต่อไปก็เคยชิน กระดูกสันหลังก็ตรง มันมีผลดีทั้งทางอนามัย มีผลดีทั้งแก่การหายใจ มีผลดีทั้งแก่การที่จิตเป็นสมาธิ ท่านพระพุทธเจ้าจึงตรัสระบุว่า อุชุง กายัง ดำรง ตั้งกายตรง คำต่อไปมีว่า ดำรงสติมั่น หมายความว่ารวบรวมสติทั้งหลายมาใช้ในการคราวนี้แหละ จะกำหนดลงไปที่อะไรก็ เขาก็มีอันนั้น ทีนี้เราใช้คำว่ากำหนดลมหายใจ ใน ในลักษณะที่เรียกว่า วิ่งตามลมหายใจ ก็ใช้จิตหรือสตินั้นกำหนดลมหายใจ ถ้าในชั้นแรกกำหนดยาก เพราะมันละเอียดเกินไป ก็หายใจให้หยาบ หายใจให้มีเสียง หายใจให้หยาบจนมีเสียง ให้ยาวๆ ด้วย หายใจอย่างนี้มันง่ายขึ้นสำหรับการตั้งต้นเรียน ตั้งต้นฝึก หายใจให้หยาบจนมีเสียง ไม่ใช่ให้เสียงมันขาดตอน หายใจยาวหยาบมีเสียงออกมาสุด แล้วก็หายใจกลับเข้าอีกมีเสียงจนสุดแล้วกลับออกมาอีก อย่าให้เสียงนี่ขาดตอนแล้วกัน แล้วจะกำหนดง่าย จิตหรือสติไม่มีการจะขาดตอนหรือหนีไปไหนเสีย เพราะว่าอุบายของเรา หายใจให้ยาวให้มีเสียง ตอนแรกๆ ก็จะคล้ายจะทำเล่น มันจำเป็นจะทำอย่างนี้ หายใจให้มีเสียงนี่จะช่วยได้มาก ทีนี้คนเขามักจะถามว่าไอ้ตานี่ไว้ที่ไหน ถ้านักเลงจริงๆ เขาเอาตาเพ่งไปที่ปลายจมูกนั่นเอง เขาไม่หลับตา ในตำราทั้งโยคีก็ว่าอย่างนั้น แล้วก็เห็นพวกโยคีจริงๆ มันก็ทำอย่างนั้น มันแนะอย่างนั้น แต่พวกเรานี่มักจะเข้าใจว่าควรจะหลับตา มันก็ได้เหมือนกันนะ แต่ไม่เก่งหรอก คนหลับตาทำสมาธินี่ไม่เก่ง ง่วงนอนเก่ง ก็จะรู้สึกว่ามีอะไรร้อนที่ตา (1.02.33)ดังนั้นต้องเพ่งที่ปลายจมูก ราวกับว่าตามันจะถลนออกมา เห็นๆ ทำเหมือนจะเพ่งดูที่ปลายจมูกของเราจนไม่เห็นไอ้สิ่งทั้งหลาย ลืมครึ่งเดียวก็ได้ จนกว่ามันจะค่อยๆ หลับปิดลงมาเอง เมื่อมันเป็นสมาธิลึก ลึกๆ แล้ว อย่างนี้มันตั้งต้น ตั้งต้นด้วยการลืมตาให้เขม็ง อย่าให้มันหลับได้ อย่าให้มันง่วงนอนได้ ทีนี้ก็หายใจออกเข้าๆ แกล้ง เหมือนทำอย่างนี้เหมือนกัน เราก็คล้ายจะควง มีภาพควงอยู่อย่างนี้ ให้มันแรงออกมา แล้วก็เข้าออก เข้าออก ทำภาพ ภาพประกอบ
ทีนี้ควรจะเป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ แขนก็จะซื่ออย่างนี้อยู่เรื่อยๆ กระดูกสันหลังมันจะค่อยๆ ตรงมากขึ้น ถ้าทำตรงนี้***มักร้อน*** (01.03.33) ก็ไว้คราวอื่นเถอะ ตอนแรกๆ อย่าเพิ่ง มันบังคับ ***จะมักร้อน *** (01.03.36) สู้อย่างนี้ไม่ได้ compact เหมือนกับปิรามิด ล้มไม่ได้ ในบางชนิดจะทำอย่างนี้ก็ได้ เมื่อมันเป็นแล้ว เมื่อเป็นนักเลงแล้ว พระพุทธรูปมหายานก็จะทำอย่างนี้ ไม่ตอนอย่างนี้ *** (01.04.00) พระพุทธรูปไทยจะตอนอย่างนี้ *** (01.04.03) พระพุทธรูปมหายานจะตอนอย่างนี้ คือทำอย่างนี้ **** (01.04.12) แต่ในขั้นแรกก็อยากจะให้เป็นอย่างนี้ เพราะว่าหลังโก่งกันแทบทั้งนั้น หลังยังโก่งอยู่ทั้งนั้น ดัดหลังให้ตรงเสียก่อนด้วยวิธีอย่างนี้ เพื่อการหายใจที่ดีที่สุด ทีนี้หายใจให้แรง ดังซู้ดซ้าด ซู้ดซ้าด ซู้ดซ้าด เข้าออก จนเห็นว่าไม่หนีแล้วโว้ย (จึง)ค่อยๆ ผ่อนเบาเข้าๆ จนเงียบเสียง จนกระทั่งละเอียดที่สุด มันก็ไม่หนีไป ทำอย่างนี้ให้ได้ก่อน ในวันแรกคืนแรก ทำเพียงเท่านี้ ไม่ต้องมากกว่านี้ ทำไม่ได้แน่ มันต้องใช้(วิธี)วิ่งตามๆ ให้ได้ดี แล้วจึงไปกำหนดยาวอย่างไร สั้นอย่างไร กำหนดเมื่อยาวมีอิทธิพลแก่เนื้อหนังอย่างไร เมื่อสั้นมีอิทธิพลแก่เนื้อหนังอย่างไร เดี๋ยวก็ค่อยๆ รู้ขึ้นมาเองว่าลมหายใจนี้สัมพันธ์กันอยู่ใกล้ชิดกับร่างกายหรือชีวิต คำว่าปราณคือลมหายใจ ลมหายใจเขาเรียกว่า ปราณ ถ้าไม่มีลมหายใจก็คือไม่มีปราณ ไม่มีปราณก็คือ ตาย ถ้าลมหายใจดี ร่างกายก็ดี ถ้าลมหายใจไม่ดี ร่างกายก็ไม่ดี ชีวิตก็ไม่ดี
เพราะฉะนั้นในวันนี้ ก็แนะแต่เพียงว่าวิ่งตาม ต่อไปก็ทำได้เอง ตามดู สร้างมโนภาพขึ้นมา เป็นนายเหนือมโนภาพ ก็ตรวจสอบว่าจิตเป็นสมาธิถึงขนาดที่จะมีวิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัตคัดตา หรือเปล่า นี่การแนะนำครั้งแรกมีเพียงเท่านี้ ใครสงสัยจะถามบ้างก็ได้ แต่ถามอยู่ในวงนี้นะ วงที่กำลังพูดอยู่นี้ ถ้าใครไม่เข้าใจตรงไหน ถามก็ได้ ถามเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับ(ขั้น)แรกทำ คือวิ่งตาม
(1.06.13-1.06.25 มีคนถาม)
มันเจ็บ ถ้าว่ามันมีกระดูกถูกพื้น มันต้องมีส่วนที่ไม่ถูก แล้วมันก็ควรจะลงไปเสมอกันทั้ง ๒ ข้าง ไม่ใช่สูงอยู่ข้างหนึ่ง เพราะบางคนมันสูงอยู่ข้างหนึ่ง ฝรั่งมันก็ร้องโอ๊ก มันทำไม่ได้ ฝรั่งทุกคนทำอย่างนี้ไม่ได้ นั่งอย่างนี้ไม่ได้ ร้องโอ๊ก น้ำตาไหล หัดแล้วหัดเล่า หลายๆ วันถึงจะนั่งได้ เพราะไม่เคยนั่งขัดสมาธิ เพราะไม่เคย ทีนี้คนไทยโชคดี มันมารับวัฒนธรรมอินเดียมาตั้งไม่รู้กี่ร้อยกี่พันปีมา เด็กตัวเล็กๆ มันก็นั่งขัดสมาธิได้ เห็นไหม
อ้าวมีปัญหาอะไรอีกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ลองนั่งทำดู สอน สอนในตัวมันเอง formula สั้นๆ วิ่งตาม เฝ้าดู สร้างมโนภาพที่จุดนั้น บังคับมโนภาพตามชอบใจ ก็มีองค์ฌานครบ ๕ จำให้แม่น นั่นคือการฝึกอานาปานสติหมวดที่ ๑ ซึ่งมีอยู่ ๔ ขั้นเหมือนที่พระสวด มี *** (.1.08.08) ๔, ๔ คำ ลมหายใจยาว ลมหายใจสั้น กายทั้งปวง ทำกายและสังขารให้ระงับอยู่ พระก็สวดเป็นบทสวด
(มีคนถาม)
ไม่ได้ยิน อ๋อนี่มันตอนแรก หายใจเข้าก็แล้วกัน จะให้ตั้งต้นออกก่อน นี่มันคือว่า มันจะได้ออกไปมั่ง มัน ๆๆ มันไอ้นั่นดี คือว่ามันล่ำสัน เรียกว่ามันเข้มแข็งดี ที่เขาให้ทำภาพอย่างนี้(ก็)เพื่อช่วยในชั้นแรกนี้นะ (มีเสียงหายใจดังๆ) คล้ายกับมีภาพควงเป็นรีๆ เป็นวงรีๆ อยู่เรื่อยๆ ยังไม่เข้าใจหรือ มันทำหลอกตัวเองเท่านั้นเอง (ทำให้)มันง่ายขึ้น
(มีคนถาม)
อย่างนี้ฟังไม่ถูกแล้ว ฟังตั้งชั่วโมงไม่ถูกแล้ว ก็บอกว่าวิ่งตามๆ แล้วไม่วิ่งนี่ ก็หยุดทีนี่ แล้วสร้างมโนภาพที่จุดนั้นนะ วิ่งตาม เฝ้าดูที่จุดหนึ่ง แล้วสร้างมโนภาพที่จุดนั้น แล้วจะมีมโนภาพวิ่งตามได้ยังไง บังคับมโนภาพดัดแปลง(1.09.52)ที่จุดนั้นนะ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่ จุดที่ไหนก็ได้จะมารวมที่จุดนี้ ถ้าทำได้อย่างนี้ เราเป็นนายตัวเอง เราเป็นนายจิตพอ ที่จะเรียกว่ามีความเป็นสมาธิ ไปลองทำ ไม่ต้องละอาย หายใจให้แรง พร้อมกับทำมืออย่างนี้บ้างก็ได้ เหมือนคน(เรา)แรกๆ หัดเต้นรำก็ต้องทำจังหวะนี้ เล่นตาม(1.10.28)มันจะไม่ต้องทำ ครั้งแรกจะให้ตัวโยกไปโยกมาก็ยังได้ ครั้งแรกนะหมายถึงครั้งแรกเริ่มต้น ต่อไปหยุดไป เงียบไป สงบไป ระงับไปเอง เดี๋ยวมันดีเอง ทำไม่ได้ มันมีที่ทำไม่ได้ มันมีระยะที่มันขาดตอนมันมี ทีนี้เพื่อไม่ให้มันหนี ภาษาธรรมะนี่เขาจะเรียกว่าอุบาย มัน(เป็น)เคล็ด มันเป็นเรื่องของเคล็ดที่จะมีอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งให้ได้ตามที่เราต้องการ เราใช้อุบายทำกับจิต ซึ่งเป็นสิ่งที่มันไวเหลือเกิน ตลบตะแลงเหลือเกิน
เอ้า ถ้าไม่มีใครถามปัญหาแล้ว ก็ปิดประชุม ปิดประชุม ควรแก่เวลาแล้ว