แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งแรกของคำบรรยายชุดนี้ ผมจะกล่าวโดยหัวข้อว่า หลักธรรมที่ทุกคนควรทราบ และขอให้ผู้ฟังทำความเข้าใจในฐานะที่ว่า มันเป็นหลักพื้นฐานทั่วๆ ไปที่เกี่ยวกับการศึกษาธรรมะ
ธรรมะเป็นสิ่งที่จำเป็นแก่ทุกคน มันดูเหมือนว่ามีอยู่หลายชั้นที่ว่าเป็นสิ่งที่ต้องรู้ ต้องทำ ทำได้กระทั่งว่ากลายเป็นธรรมะเสียเอง เดี๋ยวนี้ที่เห็นๆ กันอยู่นั้น คนโดยมากไม่มีความรู้สึกเช่นนี้ และที่มันน่าเศร้าหรือน่าเป็นห่วงก็สุดแท้ก็คือข้อที่ว่า คนที่มันมีหน้าที่ มีความรับผิดชอบมาก มีความสามารถมาก ที่จะบันดาลให้สังคมเป็นไปได้อย่างไรนั้น คนพวกนั้นกลับไม่รู้จักธรรมะ เพียงแต่ไม่รู้จักธรรมะก็ยังไม่ค่อยจะเสียหายสักเท่าไร ที่เสียหายมากคือเข้าใจไปว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั้นใช้ไม่ได้ คือเป็นอุปสรรคแห่งความเจริญของตัว หรือจะทำให้ชีวิตนี้ไม่มีรสไม่มีชาดกลายเป็นของจืดชืดไป พอพูดถึงธรรมะ เขาก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่วัด อยู่ที่วัด ก็ต้องอยู่ตามป่าตามดง หรือของคนที่ไม่ต้องการจะอยู่ในโลก คือหนีโลกไป มันไม่เกี่ยวข้องกับเราเสียเลย คิดว่าอย่างนี้แล้วเขาก็รังเกียจธรรมะอยู่ในใจ ถ้าอย่างนี้แล้วก็ไม่มีวันที่จะรู้ธรรมะได้ จึงขอให้นึกไปถึงว่าถ้าเราบางคนที่นั่งอยู่ที่นี้ ต่อไปในวันข้างหน้า กลายไปเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ หรือรับผิดชอบอะไรกว้างขวางในการจัดการ ทำเพื่อประโยชน์แก่สังคม แก่ประเทศชาติ แล้วเราก็ไปเกิดมีความรู้สึกอย่างนั้นเสียแล้ว อย่างนี้มันจะเป็นอย่างไร ขอให้ลองคิดดู
เดี๋ยวนี้ก็มีผู้ที่มีอำนาจวาสนา หรือมีอะไรที่จะบันดาลอะไรได้ มีความรู้สึกอย่างนี้ว่า ธรรมะนี้ไม่ใช่ของจำเป็น เป็นข้าศึกแก่ความสนุกสนาน สะดวกสบาย ไม่สนใจธรรมะ และไม่อยากจะให้ครอบครัวของตนรู้เรื่องธรรมะด้วยซ้ำไป
ทีนี้เรามาพิจารณากันดูให้ดี เราจะเห็นว่านั้นเป็นความเข้าใจผิดอยู่มาก เป็นความไม่ยุติธรรมอย่างยิ่งต่อสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ เราควรจะดูกันเสียใหม่ ทีนี้ผมก็จะเสนอความรู้อันนี้ ความคิดอันนี้ โดยหัวข้อที่จะพูดจะกล่าวนี้ว่า หลักธรรมะที่ทุกคนควรทราบ หรือเท่าที่ทุกคนควรทราบ ให้คนที่เคยเกลียดธรรมะคงจะสนใจขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย ถ้าเราจะพูดว่าที่ทุกคนจำเป็นจะต้องทราบ เขาก็คงจะสงสัยมากขึ้นไปอีก ทีนี้เราจะพูดกันกลางๆ กว้างๆ ว่าเท่าที่ทุกคนควรทราบ ที่ต้องแยกออกไปเป็นว่า เท่าที่ทุกคนควรทราบ เพราะมีส่วนที่ไม่จำเป็นจะต้องทราบ หรือไม่ควรจะทราบก็ได้มากมายหรือมาก กว่า เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ธรรมะที่ตถาคตรู้ ตรัสรู้เปรียบแล้วเท่ากับใบไม้ทั้งป่า แต่ที่เอามาสอนนี้เปรียบแล้วเท่ากับใบไม้กำมือเดียว ทำภาพพจน์ให้ปรากฏอย่างนี้ก็จะเข้าใจได้
ทีนี้ผมก็จะอธิบายความข้อนี้ให้ฟัง คำว่าธรรมะนั้นเป็นคำที่ประหลาดมหัศจรรย์ที่สุดคำหนึ่งในภาษาของมนุษย์ที่ใช้พูดคำนี้ คือมันหมายถึงทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นอะไรเลย เลยพูดแล้วไม่น่าเชื่อว่าไม่ยกเว้นอะไรเลย สิ่งทุกสิ่งเหล่านั้น เรียกได้โดยสามัญนามว่า ธรรม หรือธรรมะ ออกเสียงอย่างภาษาบาลีก็ต้องออกเสียงว่าธรรมะ ถ้าเป็นไทยๆ เราก็ธรรมเฉยๆ เพราะคำว่าธรรมในความหมายอย่างนี้แปลว่า สิ่ง เท่านั้น แปลว่า สิ่ง ไม่ยกเว้นอะไร สิ่งดี สิ่งชั่ว สิ่งมองเห็นตัว สิ่งมองไม่เห็นตัว สิ่งที่เป็นเหตุ สิ่งที่เป็นผล สิ่งที่เป็นวิชาความรู้ เป็นการกระทำ เป็นผลของการกระทำหมดเลย ทั้งหมดเป็นธรรม ถ้าจะให้เป็นคำบัญญัติเป็นหลักเป็นฐานกันสักหน่อย ก็ขอให้ถือคำว่าธรรมมี ๔ ความ หมาย
ธรรมความหมายที่หนึ่ง หมายถึง ธรรมชาติ ปรากฏการณ์ทั้งหลายเท่าที่มนุษย์สัมผัสได้ แต่เราเรียกว่าธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ ทางรูปธรรมนับตั้งแต่ขี้ฝุ่นสักเม็ดหนึ่งขึ้นไปจนถึงสิ่งสวยงาม สิ่งใหญ่โตมโหฬาร ทางนามธรรมแปลว่า จิต ความคิด ความรู้สึกที่รู้สึกด้วยจิตทั้งหมดนี้ การปฏิบัติจนกระทั่งเกิดมรรค ผล นิพพาน เป็นที่สุด นิพพานนั้นก็สักว่าธรรมชาติ เป็นธรรมเหมือน กัน ธรรมะคือธรรมชาติทุกสิ่ง
ความหมายที่สอง ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ทุกสิ่งในตัวธรรมชาติ ทุกสิ่งมีกฎ มองเห็นกฏในตัวธรรมชาตินั้นๆ แยกออกมาเป็นส่วนที่เป็นกฎ คือ สัจจะเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ ก็เรียกว่าธรมมะ
ในความหมายที่สาม หมายถึงหน้าที่ที่ต้องประพฤติกระทำตามกฎของธรรมชาตินั้นๆ มีหน้าที่มากมาย นับตั้งแต่หน้าที่ทำให้รอดชีวิตอยู่ได้ ทำให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปแก่ตนเอง แก่ผู้อื่นนี้ก็เรียกว่าหน้า ที่ หน้าที่ทั้งหลายก็เรียกด้วยคำๆ เดียวกันว่า ธรรม
ในความหมายที่สี่ ธรรมะคือผลที่เกิดมาจากหน้าที่ เกิดมาจากการทำหน้าที่ จะเป็นผลดีหรือร้ายก็ได้ทั้งนั้น ทำหน้าที่ผิดก็เกิดผลร้าย ทำหน้าที่ถูกก็เกิดผลดี นับตั้งแต่ต่ำที่สุด ได้อะไรมากินมาใช้ จนกระทั่งถึงสูงขึ้นไป ละเอียด สูงขึ้นไปจนกระทั่งได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน นี้ก็เรียกว่า ผลของการทำหน้าที่ นี้เรียกว่าธรมคำเดียว ธรรมคำเดียว กินความหมดถึงทุกสิ่งทุกอย่างและทุกกิริยาอาการ ทุกลักษณะ มันถึงว่ามากเกินไปที่เราจะรู้ให้หมดได้
เอาละ ทีนี้ใน ๔ อย่างนั้น ก็ยังมีปัญหาว่าอย่างไหนที่ควรรู้จักเป็นพิเศษ ให้ดีให้เป็นพิเศษ คือความหมายที่สาม ความหมายที่หนึ่ง ธรรมะในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งปวง ความหมายที่สอง ธรรมะในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาตินั้นๆ ความหมายที่สาม หน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินั้นๆ หน้าที่ที่เป็นธรรมะ คือธรรมะที่เป็นหน้าที่นี้ มีความสำคัญยิ่งกว่าความหมายใดหมด แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังจะต้องรู้ให้มันพอดีๆ หมายความว่าจะไม่ทำตัวเป็นคนรับหน้าที่จนไม่หวาดไหว หน้าที่เท่า ที่ควรจะทำหรือจำเป็นจะต้องรู้ คำว่าธรรมะในปทานุกรม ในประเทศอินเดียที่เป็นเจ้าของคำๆ นี้มาแต่เดิมก็แปลว่าหน้าที่ เรียกว่าถ้าจะแปลคำว่า ธรรม ตามประสาชาวบ้านสามัญทั่วไป แปลว่า หน้าที่ หรือพูดกันง่ายๆ ว่า ใน dictionary สำหรับเด็กๆ คำว่าธรรมแปลว่า หน้าที่ มันมีความสำคัญอยู่ตรง หน้าที่ ถ้าทำหน้าที่ได้ก็เป็นอันว่าหมดปัญหา สิ่งเหล่านั้นมีเพื่อ ให้ทำหน้าที่ ทำหน้าที่ได้ก็หมดปัญหา นี้ถ้ามีความรู้ธรรม ประพฤติธรรม รู้เรื่องหน้าที่ ทำหน้าที่แล้วก็ได้ผลตามหน้าที่นั้นๆ ฉะนั้นเราจะต้องรู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมในฐานะที่เป็นหน้าที่ คราวนี้ก็แยกหน้าที่ตามที่ควรจะมี มันก็แยกได้เป็น ๒ อย่างก่อน มีหน้าที่ต่อตนเอง กับหน้าที่ต่อผู้อื่น หรือสิ่งอื่นที่นอกไปจากตนเอง
ทีนี้เราพูดกันถึงหน้าที่ต่อตนเองก่อน เมื่อเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องและสมบูรณ์ มันก็มีหน้าที่ต่อตน เองในสามความหมาย นี้เมื่อกล่าวตามที่ผมได้พยายามศึกษาค้นคว้าสังเกตอะไรมาจากพระคัมภีร์ จากเรื่องราวต่างๆ ที่เข้ากันได้กับพระพุทธศาสนามันพบอย่างนี้ คือจะไปหาให้พบในพระคัมภีร์อาจจะพบอย่างอื่น แต่ในที่สุดก็ได้อย่างนี้ หน้าที่ต่อตนเองนี้ แบ่งเป็น ๓ ความหมาย คือหน้าที่ที่ทำให้เกิดความ สุขในทางกายอย่างหนึ่ง และหน้าที่ที่ทำให้เกิดความสุขในทางจิตใจอย่างหนึ่ง และหน้าที่ที่จะทำให้อยู่เหนือความรู้สึกที่เป็นสุขนั้นเสียบางครั้งบางคราว ฟังดูก็แปลกนะ แต่เดี๋ยวก็จะเข้าใจได้ จะพูดไปตาม ลำดับ
หน้าที่ที่จะทำให้ตนเองมีความสุขทางกายหรือทางวัตถุนี้มันก็มีมาก แต่ก็ไม่ใช่ต้องทำทั้งหมด ให้เลือกเอาที่จะทำให้เราเฉพาะเรา เฉพาะสถานการณ์ของเรา ที่จะทำให้มีความสุขทางกายเรียกว่าความผาสุกจะถูกกว่า เรื่องทางกายอย่างนี้ มีวัตถุเครื่องใช้อุปกรณ์อะไรต่างๆ พอดี มีการบริหารร่าง กายนี้ดี และมีการกินอยู่พอดี มีความสุขทางกาย หรือทางวัตถุก็ได้แล้วแต่จะเรียก แต่เดี๋ยวนี้อยากจะเรียกว่าทางกาย เพราะมันจะได้เป็นคู่กับทางใจ ทีนี้ความสุขทางกายนี้ไม่จำเป็นจะต้องหมายความถึงสนุกสนานอะไรตลอดจนเลยเถิด เป็นเรื่องกามารมณ์สุดเหวี่ยงสุดขีดกระทั่งเป็นบ้าไปเลย มันไม่ใช่ความสุขที่ถูกต้องในทางกาย มันเป็นเรื่องของคนโง่ที่เห็นว่า ยอดสุดของมนุษย์ที่สัมผัสได้ด้วยกายคือกามารมณ์สุดเหวี่ยง มีคนบางคนเข้าใจว่าการที่เราไม่ถือเอากามารมณ์ให้สุดเหวี่ยงนั้น เป็นความโง่เสียก็มี บางคนถือว่าการติเตียนกามารมณ์ Hold sex นั้นผิด ทว่ายิ่ง Over sex นั้นยิ่งดี นั้นมันคนบ้าพูด จนกระทั่งว่านักศึกษาบรมโง่สมัยปัจจุบันนี้ หาว่าพระพุทธเจ้าโง่ มีความเห็นวิปริตเกี่ยวกับเรื่องกามารมณ์ เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านติเตียนกามารมณ์ว่ากามารมณ์นั้นมีโทษ และก็เปรียบไว้อย่างน่ากลัว เปรียบกับหลุมถ่านไฟ เปรียบกับหัวงูพิษ เปรียบกับอาวุธอันร้ายกาจ เปรียบกับหลุมถ่านเพลิง สุดแท้มากมาย คนเหล่านี้ไม่เข้าใจ หาว่าพระพุทธเจ้ามีจิตวิปริตทางเรื่องที่เกี่ยวกับกามารมณ์ พอไปสังเกตดูใหม่ ไปคิดศึกษาดูใหม่ ในที่สุดจะพบว่าเรื่องกามารมณ์นี้กำกวม ถ้าเราใช้หรือมีแต่พอสมควรมันเป็นเรื่องการกินอาหารชนิดหนึ่งเท่านั้น ถ้าใช้เต็มที่ตามอำนาจของกิเลสแล้วมันก็เป็นกามารมณ์ เป็นเหยื่อล่ออย่างร้ายกาจ ทำให้ติดเบ็ดของกิเลส ของพญามาร เป็นทุกข์ไม่รู้สึกตัว เรียกว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว
ที่ว่ากามารมณ์หรืออารมณ์แห่งกามนี้เป็นอาหาร หมายความว่า ตามธรรมดาของชีวิตนี้ธรรมชาติมันสร้างมาให้ต้องการอาหาร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มันต้องมีอะไรกระตุ้นให้สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้สึกพอดีๆ คือมันหิว มันหิวทางตา มันหิวทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เช่นเราต้องกินข้าวเพราะเราหิว กินข้าวแล้วอิ่มแล้วมันก็หยุด แล้วก็หมดปัญหา ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่ากินอาหาร แต่ถ้าไปกินให้เอร็ดอร่อยเหมือนคนบ้าในรสอาหาร เที่ยวแสวงหาเครื่อง ปรุงกันเป็นการใหญ่นั้น มันเรียกว่ากินเหยื่อ อย่างนั้นมีลักษณะเป็นกาม แม้กินอาหารมีลักษณะเป็นกามหรือเป็นกามารมณ์ทางลิ้น กามารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันหมายความถึงมันทำไปโดยอำนาจของกิเลส แต่ถ้าทำไปตามที่ธรรมชาติเรียกร้องพอดีๆ ก็เรียกว่าเป็นการกินอาหารชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะกิจกรรมระหว่างเพศนี้มันก็เป็นเรื่องการสืบพันธุ์ ที่ธรรมชาติมันฉลาด มันใส่มาให้ ให้มนุษย์นี้ต้องทำการสืบพันธุ์ ถ้าไม่มีอะไรล่อกันไว้บ้าง มนุษย์มันก็ขี้เกียจจะสืบพันธุ์ มันก็จึงซึ่งทางเพศนี้ให้มีความรู้สึกสูงสุดอย่างรุนแรงไว้ อย่างที่สัตว์มันจะต้องการ แต่ว่ามันไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องตัวตนที่ทำให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้นได้ มันเป็นเรื่องของต่อมหรือ gland อะไรต่างๆ ในร่างกายคน ที่อยู่เหนือการบังคับ มันรู้สึกของมันได้เอง แม้แต่ต่อม gland ที่ไร้ท่อ ไร้อะไร มันรู้สึกได้เอง ฉะนั้นพอถึงวัยที่ต่อม gland นี้เจริญ มันก็ต้องรู้สึกจะสืบพันธุ์ ความรู้สึกอย่างนี้ก็จัดเป็นความหิวชนิดหนึ่ง มันต้องได้กินจึงจะอิ่ม จึงทำแต่เพียงว่าเพื่อการสืบพันธุ์โดยบริสุทธิ์อย่างนี้ก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวนี้มนุษย์มันทำเตลิดเปิดเปิง กลายเป็นเรื่องอารมณ์สุดเหวี่ยง เรียกว่า over sex มันก็เลวกว่าสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งมันจะทำแต่ตามที่จำเป็นจะต้องทำ บางทีปีหนึ่ง ครั้งหนึ่ง ฤดูหนึ่ง หรือสองฤดู นั่นสัตว์เดรัจฉาน ส่วนคนนั้น ทุกวัน ทั้งวัน ทั้งคืน สามารถที่จะเมาในกามารมณ์ได้ทั้งวัน ทั้งคืน ตลอดทั้งปี เพราะมนุษย์มีมัน สมองเจริญ มันขยายตัวอย่างนี้ มันก็เลยขนาดของการที่จะเรียกว่ากินอาหาร เป็นเรื่องบ้ากามารมณ์ และยิ่งเป็นหนักขึ้นทุกที รุ่นบรรพบุรุษปู่ ย่า ตา ยาย ก็ไม่มากเหมือนสมัยนี้ คนสมัยนี้เป็นทาสของกามารมณ์มากขึ้น อย่างนี้ก็เรียกว่าอยู่ในกองไฟมากกว่าที่จะเรียกว่าความผาสุกทางกาย ทางเนื้อ ทางหนัง ฉะนั้นไปศึกษากันเสียใหม่ ให้รู้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่ามันต้องการอาหาร ให้มันกินแต่พอดี ให้มันเป็นความผาสุก อย่าให้กลายเป็นของร้อนขึ้นมา
ทีนี้การที่ได้ความผาสุกทางร่างกายอย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องอย่างนี้ เป็นเรื่องธรรมดาสามัญเรียก ว่าโลกนี้ ผมถึงเรียกมันว่าความสุขอย่างโลกนี้ ความสุขอย่างวิสัยโลกชาวโลกอย่างโลกนี้ จะได้ว่าความสุขทางกาย จะเรียกให้เป็นภาษาธรรมะให้วิเศษวิโสสักหน่อยก็เรียกว่า ความวิเวกทางกายก็ยังได้ คือว่ามีความผาสุกอย่างนี้แล้วกายไม่ถูกรบกวน ความรู้สึกทางกายสัมผัสทั้งหลายไม่ถูกรบกวน ก็เรียก ว่าสบาย หรือ ผาสุก เราเป็นอยู่ให้ถูกต้อง ให้มีความผาสุกทางกายก็เรียกว่าวิเวกทางกายได้เหมือนกัน ในความหมายกว้างๆ ทั่วๆ ไป ไม่มีอะไรรบกวนร่างกายให้เดือดร้อน ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีอะไรต่างๆ หน้าที่อันแรกคือ ทำให้มีความสุขทางกายอย่างถูกต้อง ไม่หย่อนไปหรือไม่เกินไปจนเป็นกามารมณ์
ทีนี้ หน้าที่ที่สองของตนเอง คือ ทำความสุขใจ ทำความสุขทางใจ ทางกายมันก็รู้สึกด้วยจิตเหมือนกัน แต่มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับกาย ทีนี้เราเอาเรื่องที่เกี่ยวกับทางจิตทางใจล้วน ในบางคราวเราสามารถทำให้จิตสงบ เยือกเย็น เป็นสุขพิเศษยิ่งไปกว่าความสุขทางกาย เช่น รู้จักทำสมาธิง่ายๆ หรือว่าโดยบังเอิญมันเป็นสมาธิเอง หรือไปหาสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสงบจิตสงบใจ ก็เลยเป็นความสุขที่แปลกออกไป มีความอิ่มใจ มีความสงบใจ มีความเยือกเย็นเป็นพิเศษอยู่ในใจ นี้เรียกว่าความสุขใจ เพราะมันไม่ต้องอาศัยเรื่องวัตถุโดยตรง ถ้าเรารู้จักปรับปรุงจิตใจตามวิธีของสมาธิภาวนาจนจิตใจเยือกเย็นเป็นสุข นี้มันก็เป็นหน้าที่เหมือนกัน มันเป็นการพักผ่อนทางจิตใจ ถ้าเรามีแต่พักผ่อนทางร่างกายมันได้ผลน้อย หรือบางทีมันไม่พอ มันต้องมีการพักผ่อนหรือความสุขในทางจิตใจด้วย ก็จะคุมโรคทางจิต เช่น โรคประสาทโรคอะไรได้ไม่มารบกวน ให้รู้จักให้เกิดความผาสุกทางกายเป็นหน้าที่ที่หนึ่ง รู้จักทำให้เกิดความผาสุกทางจิตเป็นหน้าที่ที่สอง นี้แปลกไปจากธรรมดาสามัญก็อยากจะเรียกว่าโลกอื่น นี่ผมบัญญัติเอาเองเพื่อจะพูดเรื่องนี้โดยเฉพาะในที่นี้ ในการบรรยายนี้
ถ้าเรามีความสุขอย่างเนื้อหนังทางร่างกายก็เหมือนได้อยู่ในโลกนี้ ปัจจุบันธรรมดาสามัญ แต่พอจิตเป็นสมาธิ มีความสงบลึกซึ้งไปตามแบบของจิตนี้ มันเหมือนกับอยู่ในโลกอื่น หรือจะพูดกันอย่างที่เรียกว่าซึ่งหน้า หาทางออกซึ่งหน้า มันก็เป็นโลกของกายกับโลกของจิต ถ้ามีความสุขอย่างชาวบ้านธรรมดาสามัญนั้น มีความสุขในโลกของกาย แต่ถ้าเรามีความสุขตามแบบของสมาธิ ก็มันเป็นโลกอยู่ในโลกของจิต มันโลกอื่นแล้ว มันโลกอื่นออกไปจากโลกของกายแล้ว แต่เดี๋ยวนี้เขาอธิบายคำว่าโลกอื่นกันในลักษณะอย่างอื่น เช่นว่าต้องตายแล้วเข้าโลงไปแล้วจึงจะไปโลกอื่น เขาพูดกันอย่างนั้น อย่างนี้ก็ตามใจเขาสิ เขาอยากจะพูดอย่างนั้นก็ตามใจ แต่โลกอื่นในที่นี้ผมหมายถึงว่า ที่มันผิดไปจากที่ธรรมดาสามัญชาวโลกเขาจะรู้จักกัน พอเรามานั่งสมาธิ สงบอยู่ในสมาธิเป็นพิเศษ อย่างนี้เรียกว่าเราแยกโลกกันอยู่กับคนพวกนั้นแล้ว คนละโลก แม้แต่ทางสถานที่ที่สงบเยือกเย็นอย่างนี้ อย่างที่กรุงเทพฯ มีสิ่งแวดล้อมอย่างนั้น แล้วที่สวนโมกข์ มีสิ่งแวดล้อมอย่างนี้ คนบางคนมาจากกรุงเทพฯ พอโผล่เข้ามาในสวนโมกข์มันว่าคนละโลกๆ มันก็ยังรู้สึกได้เอง พูดได้เองด้วยภาษาธรรมดาสามัญว่าคนละโลกกับที่กรุงเทพฯ แขกฮินดูคนหนึ่งที่ว่าอยู่กรุงเทพฯ นานแล้ว พอเข้ามาที่สวนโมกข์ คำแรกที่เขาพูดออกมา พูดออกมาอย่างนี้ มันว่าคนละโลกกับที่เขาอยู่ ฉะนั้นก็ขอให้ถือว่าเมื่อจิตมันอยู่ในลักษณะอย่างอื่น อย่างที่ผิดไปจากธรรมดาสามัญ ก็เรียกว่าอยู่คนละโลกแล้ว โลกอื่นมันผิดกันไกลยิ่งกว่าความผิดกันระหว่างกรุงเทพฯ กับ สวนโมกข์เสียอีก ความสุขอย่างโลกๆ นี้ ต้องกิน ต้องใช้ ต้องอะไรอยู่ด้วยวัตถุ ทีนี้จิตมันไม่ต้องการวัตถุเลย มันหยุดสงบตามวิธีของสมาธิ ก็ได้ความสุขอันอื่นขึ้นมา จึงเรียกว่าอยู่ในโลกอื่น ฉะนั้นขณะที่เรานั่งอยู่ด้วยจิตที่เป็นสมาธิ ก็ขอให้ถือว่าเราอยู่ในโลกอื่น นี่ความหมายที่สอง เราทำให้เกิดความสุขใจชนิดที่เรียกว่าอยู่ในโลกอื่น ถ้าเรียกว่าวิเวกก็หมายความว่าวิเวกทางจิต อย่างที่หนึ่งมันวิเวกทางกายนั้น คือ กายมันหมดการรบกวน เดี๋ยวนี้จิตมันหมดความรบกวนเลยเรียกว่าจิตตวิเวก
ทีนี้อันที่สาม มีหน้าที่ต่อตนเองที่จะทำให้อยู่เหนือความสุข แปลกดีมั้ย ทีแรกก็มีความสุขทางกาย แล้วก็มีความสุขทางจิต แล้วจะบ้าอะไรขึ้นมาอีก ถึงจะอยู่เหนือความสุข ไม่บ้า ไม่ใช่เรื่องบ้าไม่ใช่เรื่องบอ เพราะว่าความรู้สึกที่เป็นสุขนั้น มันก็มีความรู้สึกอยู่ มันก็หนัก มันก็รบกวน ถ้าจะไม่ให้รบ กวนเลย มันต้องมีจิตอีกชนิดหนึ่งที่อยู่เหนือความรู้สึกว่าเป็นสุข ไม่ว่าชนิดไหนหมด และทุกคนก็ไม่มีด้วย มันอยู่เหนือความสุข ไม่ถูกความรบกวนโดยรู้สึกใดๆ แม้ความรู้สึกที่เป็นสุข คือ จิตมันว่างจากความรบกวนใดๆ อย่างนี้จะต้องเรียกว่า เหนือโลก เหนือโลกกาย เหนือโลกจิต และก็ไปอยู่ที่เหนือโลก จะเรียกว่าจิตว่างก็ได้ อยู่เหนือโลก แต่คำว่าจิตว่างนี้ ฟังยาก นักปราชญ์หัวหงอกฟังแล้วบางคนก็ยังไม่เข้าใจ คำว่าจิตว่าง คือต้องใช้คำธรรมดาสามัญหน่อย อยู่เหนือโลก สบายมากลองดูเถอะ ลองพยายาม แม้แต่บางครั้งบางคราว ถ้าจิตไม่ไปหลงในความสุขทางวัตถุ หรือแม้แต่ความสุขทางจิตเอง มันกลับเป็นจิตที่ว่างจนเหนือความหมายของคำว่าสุข แต่ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร ก็เลยเรียกว่าสุขอย่างนี้ สุขก็อยู่เหนือโลก มันสุขในโลกคือโลกกาย โลกจิต นี้คือสุขเหนือจากนั้นขึ้นมาอีก คือเหนือสุข หรือเหนือโลก ถ้าจะใช้คำว่าวิเวกก็คือวิเวกจากของหนัก เรียกว่า อุปธิวิเวก กายวิเวก วิเวกทางกาย จิตตวิเวก วิเวกทางจิต อุปธิวิเวก วิเวกจากกิเลส วิเวกจากของหนัก อุปธิ แปลว่า ของหนัก ถ้าถือก็รู้สึกว่าหนัก ถ้าแบกก็รู้สึกว่าหนัก จะรู้สึกว่าหนัก แม้ความรู้สึกว่าสุขอย่างนี้ก็หนัก แต่มันหนักอย่างรู้สึกยาก อย่างที่คนโง่จะไม่สังเกตเห็น ฉะนั้นจึงให้มีความวิเวกหรือสงัดจากของหนักทั้งปวง ทีนี้มันก็ไม่รู้สึกว่าเราเป็นอะไร สุขหรือทุกข์ หรือว่าตัวเราก็ไม่ต้องมีรู้สึกว่าตัวเรา ไม่มีความรู้สึกว่าตัวกู ของกู ชนิดไหนหมด มันก็เลยไม่มีความรู้สึกว่ากูมีสุข หรือมีสุขอะไรอย่างนี้ก็ไม่มี อย่างนี้ก็เรียกว่ามันวิเวกเป็นอิสระ สงัดออกไปเสียจากของหนักทั้งหลาย ข้อนี้ก็เข้าใจยากเหมือนกัน ว่าตัวตนเป็นของหนัก มันหนักยิ่งกว่าภูเขาทั้งโลก หรือว่าโลกทั้งโลกจะมาทับเสียอีก แต่เราก็ไม่รู้สึก เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ละเอียดเกินไป
ความยึดถืออะไรก็ตามว่าเป็นตัวตน ว่าเป็นของตนนั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเป็นของหนัก ถ้าเราสามารถหรือทำหน้าที่ที่สามได้นี้ ก็เรียกว่าทำหน้าที่ที่เกี่ยวกับตัวเองนี้หมดเลย ครบถ้วน บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง คือทางกายก็อยู่กันผาสุกอนามัยดี ทางจิตก็มีความสุขมีอนามัยทางจิตดี หรือทางวิญญาณหรือทางไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไร ก็เรียกว่าถูกต้อง มีความว่าง ที่เป็นความพักผ่อนสูงสุดในบางครั้งบางคราว ถ้าจะเข้าใจข้อนี้ ก็คงนึกถึงคำว่าไม่ถูกรบกวน เป็นการพักผ่อนโดยแท้จริง ในบางคราจิตมันอยาก จะเฉย ไม่อยากจะมีความสุขทางกาย หรือความสุขทางจิต มันอยากจะอยู่ว่าง อย่างนั้นเป็นตัวอย่างของการมีความสุขอย่างเหนือโลก นั่งอยู่ที่นี่ มีความรู้สึกที่อยู่เหนือความรู้สึกทั้งปวง ที่มันใช้คำว่า ว่าง
นี่หลักธรรมะสำหรับต่อตนเอง คือหน้าที่สามอย่างนี้ ถ้าอย่างที่สามคงจะเฟ้อ คงจะเหลือเกินความต้องการความจำเป็น คนโดยมากก็อาจจะไม่อยากจะสนใจ ถ้าใครมีโชคดีมีสติปัญญาพอก็สนใจก็ได้ แต่ว่าสองอย่างแรกนั้นสนใจแน่ ให้มีความผาสุกทางกาย ความผาสุกทางจิต ส่วนที่จะอยู่เหนือสุขทั้งปวงบางครั้งก็เป็น โลกุตตระ เป็นนิพพาน เป็นอะไรก็มีเผื่อๆ ไว้ละกัน เผื่อเลือกหน้าที่ต่อตนเองมีอย่างนี้ ให้ได้รับความสุขทางกาย ให้ได้รับความสุขทางจิต ให้อยู่ได้รับความสุขหรือว่าอยู่เหนือความ สุข อย่าใช้คำว่าความสุขเลย อยู่เหนือความสุข เป็นนิพพาน
ทีนี้ก็มาถึงหน้าที่ที่เรียกว่าต่อผู้อื่น ผมจะขอพูดอย่างแหวกแนวหน่อย หน้าที่ต่อผู้อื่นนะ คือจะพูดจากรอบนอกเข้ามาหาจุดเล็กๆ พูดจากส่วนใหญ่ที่สุดเข้ามาหาจุดที่เล็กที่สุด ฉะนั้นจึงพูดว่าหน้าที่ต่อสากลโลก เพราะว่านี้มันเป็นเรื่องสำคัญ ในฐานะที่มันเป็นรากฐาน เราควรจะมีความรู้สึก หรือมีความเข้าใจอย่างถูกต้องต่อสากลโลก ไม่ยกเว้นอะไรเสียก่อน คือเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เรียงความเอาเอง สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ คือเป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ไปศึกษาเสียหน่อยว่า สัตว์ทั้งหลาย สัตว์มนุษย์ก็ดี สัตว์เดรัจฉานก็ดี มันเป็นสัตว์ด้วยกันทั้งนั้น แล้วมันมีความทุกข์ มีปัญหา มีความทุกข์ เพราะอำนาจแห่งความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เสมอหน้ากันหมด ให้มีใจกว้างพอที่จะรับรู้ข้อเท็จจริงอันนี้ และก็มีความรู้สึกไปทำนองนั้นว่า สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นเพื่อนทุกข์ เพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ถ้ามันมีรากฐานอันกว้างขวางเพียงพออย่างนี้แล้ว มันง่ายที่จะทำอย่างอื่นที่แคบเข้ามา ถ้าใครไม่เคยรู้สึกอย่างนี้ หรือไม่เข้าใจเรื่องนี้ ก็ไปเข้าใจกันเสีย และพยายามทำความรู้สึกอย่างนี้อยู่เสมอๆ ทุกวัน วันละสอง สามครั้ง จะได้ไม่ลืมตัว จะได้เพาะนิสัยเมตตากรุณาขึ้นมาก่อน มีใจกว้างถึงขนาดทั้งโลกเลยมาเป็นเพื่อนของเรา
ทีนี้เขยิบเล็กลงมา มันก็ว่ามีหน้าที่ต่อสังคมที่มันอยู่ใกล้ชิดเรา ถ้าพูดว่าทั้งโลกมันก็ทั้งโลกไปทีเดียว ทีนี้เฉพาะประเทศในประเทศไทยเรา สังคมที่อยู่ใกล้ชิดเรา เรามีหน้าที่ต่อสังคมใกล้ชิดเรา ทีนี้เราจะถือว่า ถือคติว่าเราอยู่ในประเทศไทยนี้คนเดียวไม่ได้ ใครอยู่ได้ลองดู เราอยู่ในประเทศคนเดียวไม่ ได้ และเรารับรู้ต่อหน้าที่ที่จะต้องทำแก่ประเทศชาติ
ทีนี้หน้าที่ที่แคบเข้ามาคือ เป็นหน้าที่ทำต้องทำต่อครอบครัว เราอยู่ในบ้านคนเดียวไม่ได้ ครอบครัวก็รู้จักกันดีอยู่แล้วเท่าไหร่ เรียกว่าบ้านหนึ่ง เราอยู่คนเดียวในบ้านไม่ได้ เราต้องมีพ่อ มีแม่ มีอะไรต่างๆ ที่รวมกันเป็นครอบครัว และก็มีหน้าที่อะไรต่างๆ ต่อครอบครัว แล้วแต่ว่าเราจะเป็นอะไรในครอบครัว ที่อยากจะระบุไปอีกอย่างว่า เรามีหน้าที่ต่อเพื่อนที่ร่วมกิจกรรมด้วยกันกับเรา อย่างในครอบ ครัวมีพี่น้อง ๒ - ๓ คนอย่างนี้ หน้าที่ที่เป็นพี่น้องกันนี้ เราก็มีหน้าที่ที่ต้องทำต่อพี่น้องของเรา หรือว่าในโรงเรียนนี้ ก็ต้องมีเพื่อนนักเรียน เราต้องทำหน้าที่ต่อเพื่อนนักเรียนของเรา นักเรียนคนไหนจะอยู่ไปได้โดยที่ไม่มีเพื่อน ก็เกิดหน้าที่ที่ต้องทำต่อบุคคลที่ใกล้ชิดที่สุดอีกทีหนึ่ง นี้เป็นจุดเล็กน้อย เป็นจุดเล็กที่สุดของคำว่าสังคม ต่อเพื่อนข้างเคียงและต่อครอบครัว ต่อประเทศชาติและต่อสากลโลก ถ้าพูดภาษาอย่างภาษาธรรมะ ภาษาศาสนาในวัดแล้วก็ทุกโลก ทีนี้ภาษาชาวบ้านธรรมดามันไม่ยอมรับ หรือว่าภาษาวิทยาศาสตร์ เอ็น.อาร์ (นาทีที่ 43:02) จะไม่ยอมรับก็ตามใจ แต่จิตใจของเรา เราทำความรู้สึกได้ เราอาจจะทำความรู้สึกตามหลักของธรรมะในศาสนาได้ว่า มันมีอีกหลายโลกที่มีชีวิตด้วยกัน โลกเดรัจฉาน โลกเทวดา มาร พรหม ที่ไหนทุกโลกเลย จึงจะเต็มตามความหมายของคำว่าสากลโลก สากลโลก เพระว่าเรื่องนี้มันเพียงแต่ตั้งเมตตาปรารถนาว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพรหมในพรหมโลก มันก็มีปัญหาเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกัน แต่ถ้าเราไม่อยากจะนึกไกลไปถึงนั้น ก็เอาแต่โลกนี้ก็แล้วกัน โลกนี้ยุคนี้ที่มันมีหลาย ๆ ประเทศรวมกันอยู่ทั้งสากลโลกนี้ ให้รู้จักเมตตากรุณาต่อกัน ในฐานะตัวเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน
เดี๋ยวนี้มันไม่มีใครคิดอะไรอย่างนี้ มันจึงมีการรบราฆ่าฟันกันในโลกนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่เคยว่างเว้นจากการรบราฆ่าฟันกันในระหว่างประเทศใดประเทศหนึ่ง ถ้าไม่รบอย่างที่เอาปืนยิงกัน ฆ่ากันโดยตรง ก็รบอย่างที่เรียกว่าใต้ดิน สงครามเย็น ใช้อุบายที่จะทำลายกันอย่าให้รู้สึกตัว ให้มันพินาศลงไปโดยไม่รู้สึกตัว นี้ก็เรียกว่าการรบหรือการทำลาย เพราะเขาไม่เคยคิดเลยว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น มันจึงเป็นสงครามวิกฤติการณ์ถาวร และเดือดร้อนกันไปทั่วทุกหัวระแหง แต่ก่อนนี้การติดต่อกันมันมียาก มันมีน้อย และมันไม่ค่อยระบาดถึงกันทั้งโลก แต่เดี๋ยวนี้การติดต่อมันง่าย มันไว มันสะดวก มันเร็ว เกิดอะไรขึ้นที่ไหนมันก็เดือดร้อนกันทั้งโลก เช่นหลังจากสงครามเกิดปัญหาเศรษฐกิจ เดือดร้อนกันทั้งโลก มันติดต่อกันได้ทั้งโลก ไม่ได้แยกกันอยู่เหมือนยุคดึกดำบรรพ์โน้น ข่าวคราวอะไรก็รู้กันได้ในคราวเดียว เดี๋ยวเดียวก็รู้ทั่วโลก รู้ว่าโรคระบาดเกิดขึ้นที่ประเทศหนึ่ง เดี๋ยวเดียวก็มายังประเทศนี้ประเทศโน้น ระบาดไปได้ทั่วโลก ตามรายงานครั้งหนึ่งว่า ไข้หวัดใหญ่ชนิดไหนก็ไม่รู้ มันระบาดไปทั้งโลก เป็นไข้หวัดใหญ่ที่ตั้งต้นขึ้นที่จุดเล็กๆ แห่งใดแห่งหนึ่ง เดี๋ยวนี้โลกมันเล็กเต็มที โลกมันแคบเต็มที เพราะมันมีการบินไปมาหาสู่กันพาไปถึงกันได้ คนมีเชื้อโรคที่อเมริกามาถึงประเทศไทยในไม่กี่ชั่วโมงนี้ เอาเชื้อโรคมาใส่ที่นี่ก็ได้ โลกมันแคบอย่างนี้ ฉะนั้นหน้าที่ที่เราจะต้องช่วยกันระมัดระวังให้โลกมีความสงบสุข มันก็สำคัญนะ จำเป็นมากยิ่งขึ้น คือถ้าเรามีของป้องกัน เช่นมีธรรมะที่เป็นหลักว่าเราเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งโลก มันก็จะไปในทางตกลงกันได้ คุยกันได้ แม้จะขัดเคืองกันด้วยเรื่องบางอย่างมันก็ยอมอดทนได้ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ยอมอดทน และยิ่งจะหาเรื่องขยายให้มันกว้างออกไป ทำลายกันให้พินาศไปเลย หรือว่าอย่างน้อยก็เอาเปรียบกันอย่างลึกซึ้ง เพื่อว่าจะให้ผู้อื่นเสียเปรียบ
หน้าที่ต่อผู้อื่นให้เล็งไปถึงทั่วทั้งโลกก่อน และหน้าที่ต่อผู้อื่นในขนาดที่ว่าประเทศหนึ่งๆ มันก็จะง่ายขึ้น ถ้าเรารักคนทั้งโลกได้ เราก็รักคนในประเทศเฉพาะประเทศของเราได้ ถ้าเรารักคนทั้งประเทศได้ เราก็รักคนในครอบครัวได้โดยง่าย เพราะความรักมันมากเกินไปแล้ว มันรักคนทั้งประเทศได้ ทำไมมันจะรักคนในครอบครัวไม่ได้ เรียกว่ารักกันทั้งครอบครัวได้ มันก็รักบุคคลที่สองข้างเคียงอะไรได้ง่ายขึ้น นี้เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องทำต่อผู้อื่น
หน้าที่ต่อตนเองก็ทำให้ได้รับสุขกาย สุขใจ และเหนือสุข หน้าที่ต่อผู้อื่นก็ทำต่อสากลโลก ต่อประเทศ ต่อครอบครัว ต่อบุคคลที่สองข้างเคียงเรา เพื่อนคือเพื่อน รู้หน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ รู้หน้าที่คือรู้ธรรมะ เมื่อทำหน้าที่ก็ชื่อว่าประพฤติธรรมะ การปฏิบัติหน้าที่นั้นแหละคือการปฏิบัติธรรมะ เพราะฉะนั้นการงานทั้งหลายคือการปฏิบัติธรรม ผมเคยพูดอย่างนี้ให้จำกันไว้ง่ายๆ
ทีนี้สรุปความว่าเป็นอะไร ก็หมายความว่าเมื่อทำหน้าที่ครบทั้งสองฝ่ายอย่างนี้แล้ว ก็เรียกว่าเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง เรียกว่าเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องต่อตนเอง เป็นมนุษย์ให้ถูกต้องต่อตนเอง และก็รู้จักหน้าที่เอง มนุษย์นี้อย่าเอาไปปนกับคำว่าคน มนุษย์แปลว่าคนนี้มันไม่ถูก ถ้าพูดอย่างรุ่นเด็กๆ นักเรียนพูด ก็ได้มนุษย์แปลว่าคน แต่มนุษย์นี้เขาหมายถึงคนที่มีใจสูง พิเศษกว่าคนที่ไม่รู้อะไร ธรรมดาสามัญ คนป่า คนเถื่อน เรียกว่ามันเป็นคน แต่ถ้ามนุษย์นี้ได้รับการอบรมทางจิตใจสูง เป็นคนชั้นดี เป็นพระอริยะเจ้าต่อไปอีก ก็เรียกว่ามนุษย์ได้คือใจมันสูง ที่เราทำหน้าที่สองประเภทที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็เพื่อให้เป็นมนุษย์ ให้มันเลื่อนขึ้นมาจากคนมาเป็นมนุษย์ มีความถูกต้องต่อตนเอง ปฏิบัติหน้าที่ที่ควรปฏิบัติต่อตน เองครบถ้วนแล้ว ก็เป็นมนุษย์ที่มีความถูกต้องต่อตนเอง ทีนี้ก็มีความเป็นมนุษย์ที่มีความถูกต้องต่อผู้อื่น
ก็อยากจะพูดจากันเสียใหม่ สรุปกันเสียใหม่ว่าให้มันง่าย ให้พูดจากันง่ายและก็เข้าใจกันง่ายและได้ทุกระดับ มีความถูกต้องต่อผู้อื่นก็คือว่า ให้เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา ให้เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ ให้เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน ให้เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติหรือของโลก ให้เป็นสาวกที่ดีของศาสนาหรือของพระศาสดา ของพระพุทธเจ้า ผมพูดกับลูกเด็กๆ ก็พูดอย่างนี้ ขออภัยที่จะพูดกับท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ที่นี่ซึ่งไม่ใช่ลูกเด็กๆ ก็ยังพูดอย่างนี้ หรือแม้แต่ไปพูดกับคนแก่หัวหงอกคราวผมก็จะพูดอย่างนี้ เพราะแม้ผมเดี๋ยวนี้ก็ยังต้องทำหน้าที่อันนี้ ผมก็ยังทำหน้าที่เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดาที่ตายไปหมดแล้ว ล่วงลับไปหมดแล้ว แต่ก็ยังมีหน้าที่ที่ต้องทำตาม ที่ควรจะทำในฐานะที่เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา นึกถึงอยู่เสมอ ทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ความหวังของท่าน แม้ที่ตายไปแล้ว คือเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา นับตั้งแต่เป็นเด็กตัวเล็กๆ ก็สอนให้เค้าเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา โตขึ้นมาวัย รุ่นหนุ่มสาว ก็ให้นึกถึงบิดามารดาอยู่เสมอ เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดาอยู่เสมอ แม้เป็นพระเป็นเณรก็ยังต้องเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดาเสมอ
ทีนี้อันที่สองก็คือ เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ นี้ไปดูเอาเองเถอะว่า ตัวเองเป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์หรือเปล่า เป็นศิษย์ที่ดีคือเชื่อฟังอย่างดี เพราะคำว่าศิษย์แปลว่าผู้ฟังหรือผู้เชื่อฟัง ต้องเชื่อฟัง ต้องเคารพ ต้องกตัญญู ต้องอะไรทุกอย่าง ละตามที่ครูบาอาจารย์เขาต้องการ เพื่อจะปฏิบัติหน้าที่ของครูบาอาจารย์ เดี๋ยวนี้เรามีแต่ศิษย์กระด้างที่ไม่เคารพครู แต่จะไปโทษศิษย์ข้างเดียวก็ไม่ได้ เพราะครูมันก็ชักจะเหลวไหลมากขึ้น อย่างที่ผมพูดเมื่อคืนก่อนแล้วว่า มันมีแต่ครูผีเสื้อ ก็เลยมีแต่ลูกศิษย์ผีสิง เมื่อครูเอาแต่ความสะดวกสบายของตัว หลงใหลแต่ความสวยงามเอร็ดอร่อย ลอยไปลอยมาเป็นครูผีเสื้อมากขึ้นในโลกนี้เวลานี้ ทีนี้ลูกศิษย์ก็มีความรู้ที่เลว อะไรที่เลวมาเป็นศิษย์ผีสิงกันมากขึ้น เอาแต่กิเลสตัณหาของตัว ดื้อกระด้าง ไปดูเอาเองเถอะ ครูผีเสื้อ ศิษย์ผีสิงจะมากขึ้นในโลก อย่างนี้ไม่เรียกว่าศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ ศิษย์ที่ดีจะต้องเชื่อฟัง จะต้องกตัญญู จะต้องเคารพทำตามคำสั่งสอน ครูที่ดีก็เหมือนกันต้องไม่ใช่ครูผีเสื้อ ต้องเป็นครูที่เป็นปูชนียบุคคล น่าเคารพ น่ารัก น่าเกรงขาม เอาละ เราอย่าไปโทษใคร อย่าไปโทษอีกฝ่ายหนึ่งเลย จัดเราให้เรานี้เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ให้สุดเหวี่ยงอยู่เสมอ ถึงแม้จะอายุมากแล้ว จะตายเองอยู่แล้ว ก็ยังเป็นศิษย์ของใครคนใดคนหนึ่งอยู่ ก็ต้องนึกถึงอยู่เสมอ ผมก็ยังนึกถึงครูบาอาจารย์ที่เคยสอน ก ข กอ กา ให้ผมอยู่เสมอ แม้ว่าผมจะไปช่วยอะไรไม่ได้อีก เพราะตายไปเสียแล้วมากแล้ว แม้กระทั่งที่เหลืออยู่ก็ยังนึกถึง แม้จะช่วยไม่ได้ก็ยังนึกถึงอยู่เสมอ ยังพยายามที่จะเป็นศิษย์ที่ดีอยู่ คือกตัญญู เป็นลูกเป็นบุตรที่ดีแล้ว เป็นศิษย์ที่ดีแล้ว ทีนี้ก็มาถึงเป็นเพื่อนที่ดี เราต้องมีเพื่อน อยู่ในโรงเรียนก็มีเพื่อนเรียน บวชอยู่ในวัดก็มีเพื่อนพรหมจรรย์ สหธรรมิก ภิกษุสามเณร อันนี้เขาเรียกว่าสหธรรมิก เพื่อนประพฤติธรรมะร่วมกัน เพื่อนสหพรหมจรรย์ ที่ประพฤติพรหมจรรย์ร่วม กัน เราก็ต้องมีเพื่อน เราก็ต้องเป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน ทีนี้เรามักจะเล่นไม่ซื่อ ปากของเราเป็นเพื่อนที่ดี แต่ว่าใจมันไม่เป็นอย่างนั้น มันก็ใช้ไม่ได้ มันไม่ได้ทำหน้าที่ที่ดี ที่ถูกต้องหรือโดยสุจริต ฉะนั้นไปปรับปรุงกันเสียใหม่ ให้ได้ชื่อว่าเป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อนแล้วอย่างบริสุทธิ์ใจ
ทีนี้สูงขึ้นไปหรือในแง่อื่นอีกก็คือ เป็นพลเมืองที่ดีของบ้านนี้ ตำบลนี้ จังหวัดนี้ เมืองนี้ ประเทศนี้ไปเลยประเทศไทย จะเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศไทย ก็เชื่อได้ว่าต้องเป็นพลเมืองที่ดีได้ของโลก ถ้าเป็นพลโลกที่ดีได้ ก็ต้องเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศไทยได้เหมือนกัน เรียกกันสั้นๆ ว่าเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศก็ได้ ของโลกก็ได้ เดี๋ยวนี้เรามันจะเอาเปรียบ เดี๋ยวนี้เรามีแต่คิดเอาเปรียบ ต่อ เมื่อได้เปรียบ ได้ประโยชน์ก็จึงคิดทำหน้าที่พลเมืองอะไรขึ้นมา ไม่เคยเสียสละก่อนเพื่อทำประโยชน์แก่ประเทศชาติหรือว่าแก่โลก เพราะว่ากิเลสมันมาบังคับเสีย มันเป็นใหญ่เสีย คนก็ไม่ไปซื่อตรงต่อหน้าที่ หน้าที่ของเพื่อน เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน
หน้าที่ห้า ก็ให้เป็นสาวกที่ดีของพระศาสดา แล้วแต่ว่าจะถือศาสนาไหนมันมีศาสดาทั้งนั้นละ และผู้นับถือก็เป็นสาวก อย่างที่เราเป็นพุทธบริษัท เราก็เป็นสาวกของสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ขอให้เป็นสาวกที่ดี อย่าทำอย่างที่เรียกว่ามันขบถ หรือว่ามันอะไรทำนองนั้น จงพยายามที่จะเข้าใจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และก็เป็นสาวกที่ดีเป็นได้ ทีนี้มันก็จะมีผลย้อนหลังกลับมา กลายเป็นพลเมืองที่ดี เพื่อนที่ดี ศิษย์ที่ดี บุตรที่ดีได้นะ เป็นสาวกที่ดีของพระพุทธเจ้าให้ได้ก่อนเถอะ แล้วมันจะย้อนกลับมาเป็นอะไรได้ดีกว่าเก่า คือทำหน้าที่เพื่อตนเอง ทำหน้าที่เพื่อผู้อื่นได้ดี ถ้าเป็นสาวกที่ดีของพระพุทธเจ้าที่ดีเป็นอย่างเดียวเท่านั้นจะทำหน้าที่ต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วนหมด ฉะนั้นขอร้อง ขอวิงวอนก็ได้ว่าให้สนใจคำห้าคำนี้ให้มากๆ บุตรที่ดี ศิษย์ที่ดี เพื่อนที่ดี พลเมืองที่ดี สาวกที่ดี ขอให้พยายามเป็นให้จงได้ จนตลอดชีวิต จะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีธรรมะที่ถูกต้อง ตามหน้าที่ของมนุษย์ที่มีธรรมะ ที่มีหน้าที่ที่ถูกต้อง
นี้คือหลักธรรมะที่ทุกคนควรทราบ สรุปแล้วคือว่าทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง ทำหน้าที่เพื่อผู้ อื่นให้ถูกต้อง แล้วในที่สุดเราก็ได้ชื่อว่าเป็นบุตรที่ดี เป็นศิษย์ที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี เป็นพลเมืองที่ดี เป็นสาวกของศาสนาที่ดี เรียกว่าเป็นหลักธรรมะที่ต้องรู้ และต้องปฏิบัติ และก็ให้ได้ผลของการปฏิบัติครบ ถ้วนอย่างนี้ นี้คือหลักธรรมะที่ทุกคนควรทราบ
ขอเป็นพิเศษส่วนหนึ่งว่า ช่วยนำไปชี้แจงเปิดเผยแก่บุคคลอื่นที่เขาเกลียดธรรมะกันนักนั่น ถ้าคุณมีเพื่อน มีครูบาอาจารย์ หรือกระทั่งมีบิดา มารดาก็ตามใจ ที่เขาเป็นคนเกลียดธรรมะกันนัก ช่วยเอาเรื่องนี้ไปเปิดเผย ไปพูดไปจา เขาจะกลายเป็นคนชอบธรรมะขึ้นมาได้ เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ฉะนั้นผมจึงเรียกว่าเป็นหลักธรรมะที่ทุกคนควรทราบ วันนี้ก็หมดเวลาสำหรับการบรรยายแล้ว ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
หัวรุ่งจะเอาไหม ทนได้ไหม ทนได้ผมทนได้นะ แล้วแต่คุณ รู้สึกว่าเวลามันมีน้อย.