แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่สนใจในธรรมะทั้งหลาย ในการบรรยายครั้งแรกนี่ ก็คิดว่าจะต้องพูดกันถึงเรื่องปัญหาเฉพาะหน้าที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา และที่เกี่ยวกับพวกเราที่มีอยู่ในเวลานี้ หรือถ้าจะพูดอีกทีหนึ่งก็พูดว่าปัญหาเกี่ยวกับการที่เราประยุกต์หรือเอาพุทธศาสนามาใช้เป็นประโยชน์ไม่ได้ นี้ดูจะเป็นปัญหาทั่วไปเวลานี้ เอาพุทธศาสนามาใช้ให้เป็นประโยชน์ไม่ได้ ฉะนั้นจึงจะพูดโดยหัวข้อว่า วิธีที่จะเอาพุทธศาสนามาใช้เป็นประโยชน์ให้ได้ ไอ้สิ่งแรกที่สุดมันก็เกี่ยวกับถ้อยคำที่ใช้กันอยู่นี่มันกำกวม มันดิ้นได้ แล้วมันหลายระดับ คำเดียวมันกำกวมดิ้นได้หลายระดับ ก็เลยไม่รู้ว่าจะเอาตรงไหนกันแน่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือคำว่าพุทธศาสนานั่นเอง มันกำกวม มันดิ้นได้ มันหลายระดับ พูดไปแล้วมันก็จะน่าหัว พุทธศาสนาที่แท้จริงเป็นของพระพุทธเจ้านี่ก็พูดได้ แล้วพระพุทธศาสนาของพวกเราสมัยนี้ ก็พูดได้เหมือนกัน ซึ่งมันก็มีลักษณะอย่างหนึ่ง เป็นถึงกับว่าถ้าพระพุทธเจ้าท่านเกิดเสด็จมาเวลานี้ ท่านเกือบจะจำศาสนาของท่านไม่ได้ คือไม่รู้ว่านี่เป็นพุทธศาสนาไหม ของท่านก็ได้ นี่ก็คิดดู เราก็เรียกว่าพุทธศาสนากันทั้งนั้น ทีนี้ก็ยังมีพุทธศาสนาในอีกส่วนหนึ่ง คือพุทธศาสนาที่ชาวต่างประเทศเขาชอบเรียนกัน หรือกำลังเรียนกันอยู่เลย นั่นก็เป็นพุทธศาสนาอีกแบบหนึ่ง หลายคนอาจจะไม่ทราบข้อเท็จจริงข้อนี้ ก็ยังคิดหรือถึงกับละเมอไปว่ามันก็พุทธศาสนาอย่างเดียวกันนั้น ที่แท้มันก็ยังเรียกว่าพุทธศาสนาอย่างเดียวนั่นแหละ แต่ว่าไอ้ตัวจริงหรือความคล้ายมันเปลี่ยนไปมาก ถ้าอย่างของพระพุทธเจ้าท่านก็เรียกกันว่าพรหมจรรย์ ไอ้ตัวพรหมจรรย์นั่นแหละมันตัวศาสนา แล้วก็มาประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งความทุกข์ คือเพื่อดับทุกข์ไอ้ตัวพรหมจรรย์นั้นที่ต้องปฏิบัติ หรือว่าลงมือปฏิบัติไปเลยนั่นน่ะคือตัวศาสนา ทีนี้เดี๋ยวนี้เราก็ คือเรียกว่าคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนานั้นเป็นตัวศาสนา แล้วก็เรียนไปจนเฟ้อ ในเรื่องที่สนุกมันก็คือเรื่องที่แปลกๆ หรือเข้าใจได้ยาก มันเป็นพุทธศาสนามาในรูปของปริยัติ หรือเป็นวรรณคดี กระทั่งเป็นปรัชญา ไม่อาจจะใช้ปฏิบัติได้ แม้จะมีการศึกษากันอยู่มากมาย ก็ยังไม่อาจจะใช้ปฏิบัติได้ มันเป็นเพียงเรื่องของสำหรับศึกษา
นี่พวกฝรั่งก็ยิ่งไปไกลกว่านั้น ชอบให้มันแปลก ชอบให้มันประหลาด ทั้งในแง่ของการศึกษาในชั้นที่เรียกว่าปรัชญาสูงลิบ เพราะว่าเขาก็ใช้วิธีการอย่างปรัชญามาศึกษาพุทธศาสนา ฉะนั้นพวกฝรั่งที่ว่าเป็นนักศึกษาจะมาศึกษาที่สวนโมกข์นี่ จะไม่ได้รับประโยชน์อะไร เพราะที่แล้วๆมาก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไร คือมันจะพูดให้ชอบใจไม่ได้ จะพูดให้เขาชอบใจไม่ได้ ในบรรดาฝรั่งที่มาที่นี่ก็หลาย ๑๐ คนแล้ว จะมีสัก ๒-๓ คนเท่านั้นแหละที่พอใจพุทธศาสนาอย่างเดียวกันกับที่เราพอใจ โดยเฉพาะที่อาตมาพอใจ พูดให้เขาเข้าใจ มันจะมีแค่ ๒-๓ คน ในหลายๆ ๑๐ คน ฝรั่งเขาก็ชอบอย่างที่มันลึกลับ หรือมันอัศจรรย์ มันน่าอัศจรรย์ เพิ่มขึ้นไปอีก ฉะนั้นจึงไปสนใจเรื่องเซนเป็นส่วนใหญ่ เมื่อพูดว่าเซนนี่ ขอเตือนไว้อีกทีหนึ่งที่นี่อีกว่า อย่าได้ไปเข้าใจหรือหลงผิดว่าเซนนั้นเป็นมหายาน เพราะว่ากันโดยที่แท้แล้วเซนไม่ใช่พุทธศาสนามหายาน มันเห็นได้ชัดตรงที่ว่า เซนนี้มันเกิดขึ้นเพื่อล้อมหายาน ไอ้หลักสุญญตา อนัตตา นี่ก็เป็นหลักอย่างเดียวกับเถรวาท แต่พวกเซนเขามีวิธีพูดให้มันน่าอัศจรรย์ ให้มันเป็นเรื่องดึงดูดความสนใจได้มากกว่า และก็เป็นไปได้เปรียบตอนนี้ มันก็สอนหลักเรื่องสุญญตา อนัตตาด้วยกัน ฝรั่งเขาสนใจอย่างนี้มาก สำหรับเข้าๆถึงไม่ได้ เพราะว่าไอ้การสอนของพวกเซนนี่มันที่เอามาพูดได้นั่นมันก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่เรียกว่าธรรมะ หรือไม่ได้เรียก ไม่เรียกว่าเซนอยู่แล้ว ที่เอามาพูดได้หรือเอามาเขียนได้ เอามาแต่งหนังสือเป็นเล่มๆได้ มันก็ไม่ใช่ตัวธรรมะหรือตัวเซนนี้ มันใช้วิธีปฏิบัติเหมือนกันในความควบคุมของผู้ฝึกผู้สอน ให้มันเกิดความรู้สว่างขึ้นมาในใจ ก็เลยทำไม่ค่อยได้ แล้วมันก็ไม่สนุกเหมือนกัน มันไปสนุกอยู่ที่ไอ้เป็นคำพูด เป็นตัวหนังสือร่วมเรือง รวมเรื่องต่างๆมาอ่าน นี้ก็ฝรั่งมันจะสนใจแต่เรื่องเซนมันก็รู้อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง วิธีนั้นน่ะวิธีเซน ยากที่จะเข้าถึงตัวการปฏิบัติ
นี่ทบทวนดู ว่าๆ พระพุทธศาสนานี่มันๆกำลังมีปัญหาอย่างไร อย่างจะมาบอกแล้วว่ามีปัญหาตรงที่ว่าเราเข้าถึงตัวพุทธศาสนาไม่ได้ หรือว่าเราเอาพุทธศาสนามาใช้เป็นประโยชน์ไม่ได้ เดี๋ยวนี้กำลังเฟ้อๆมากขึ้นทุกที แม้คำพูดคำบรรยายของสวนโมกข์นี้ก็ต้องเรียกว่ามันเฟ้อมากขึ้นทุกที คือมันมากในส่วนที่พูดที่อธิบายที่ทำให้น่าสนใจก็ทำมากขึ้นทุกที แต่ก็มีส่วนน้อยที่สุดที่จะเข้าถึงไอ้ธรรมะนั้นได้ หรือว่าปฏิบัติกันลงไปจริงๆ นี้ทั่วทั้งประเทศเราก็กำลังเป็นอย่างนี้ ออกไปต่างประเทศมันก็เป็นอย่างนี้ เป็นมากขึ้น ฉะนั้นจึงขอให้ย้อนระลึกนึกไปถึงไอ้ครั้งพุทธกาลนู้นว่าพระพุทธเจ้าท่านมีศาสนาของท่านอย่างไร นั่นมันก็ยากอยู่บ้างตรงที่ว่า ท่านไม่เคยเรียกว่าศาสนา ท่านไม่ได้สอนศาสนาและไม่ได้เผยแผ่ศาสนาอย่างที่พวกเราพูดหรือทำกันอยู่เดี๋ยวนี้ ท่านประกาศพรหมจรรย์ คือทำให้เข้าใจในวิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ แม้คนมาบวช ก็ได้มาประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งความทุกข์ นั่นน่ะคือตัวศาสนาของท่าน ดังนั้นจึงอยากจะพูดว่าขอให้สนใจในสิ่งนั้นกันใหม่ มันคล้ายๆกับถอยหลังเข้าคลอง นี่เรามันไปไกลเฟ้อไปในเรื่องของปริยัติ ของวรรณคดี ของปรัชญา มันเฟ้อไปไกล มันต้องถอยหลังเข้าคลอง รูดเดียวไป ๒,๐๐๐ กว่าปี ไปหาพระพุทธเจ้ากันใหม่ว่าท่านมีพุทธศาสนาอย่างไร สอนให้ทำอะไร ถ้าเอาพุทธศาสนาอย่างนั้น อย่างของพระพุทธเจ้านั้นล่ะ มันเกือบจะไม่ต้องพูดกันกี่คำ ที่พระไตรปิฎกมันมากมายนั้นมันเป็นบันทึก บันทึกมากมาย บันทึกทุกเรื่องทุกกรณีที่มันได้เกิดขึ้น คือที่พระพุทธเจ้าท่านได้สอนคนต่างๆกัน มันแปลกกันแต่คำพูดหรือวิธีสอน แต่ใจความของเรื่องมันเหมือนกันหมด แต่คนก็ไม่เข้าใจ เป็นคำสอนที่สอนให้มองเห็นข้อที่ว่า ไอ้ความทุกข์นี่มันเกิดมาจากความคิดที่ผิด ที่มันปรุงขึ้นมาในจิตของคนๆนั้น ด้วยอำนาจของความไม่รู้ เพราะปราศจากความรู้ที่ถูกต้อง ในเรื่องสิ่งทั้งปวงนี้ ฉะนั้นพอมีอะไรมากระทบกระทั่งเขา ความคิดของเขาก็ปรุงขึ้นมาในทางผิด นี่เรียกว่าเกิดยึดมั่นถือมั่น แล้วมันก็เป็นทุกข์ ดังนั้นถ้าเราศึกษาให้เข้าใจข้อนี้ แล้วก็มีสติสัมปชัญญะระวัง เมื่อมีอะไรมากระทบเข้าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนังอะไรต่างๆนี่ อย่าให้โอกาสแก่การที่มันจะปรุงขึ้นมาด้วยความไม่รู้ แล้วเกิดความยึดมั่นถือมั่น แล้วเป็นทุกข์อยู่ เรื่องมันมีเท่านี้เอง ที่จริงจำเป็นที่จะต้องศึกษาเรื่องที่ความคิดมันเกิดปรุงแต่งขึ้นมาทุกครั้งที่มีการกระทบ ทางตาเป็นต้น มันปรุงผิดๆ จึงเกิดความรู้สึกเป็นตัวกูเป็นของกูขึ้นมา แล้วเป็นทุกข์อย่างไร มันมีเท่านี้ ใจความมันมีเท่านี้ จิตๆๆๆ อีกส่วนหนึ่งก็คือตรงกันข้าม คือมันไม่ปรุงขึ้นมาได้ แล้วก็ไม่มีความทุกข์ นั่นก็คือภาษาพระมันแปลว่า ถ้ามันเป็นทุกข์ มันเป็นได้อย่างไร ถ้าจะดับทุกข์ จะดับได้อย่างไร
ทีนี้จะยกตัวอย่างไอ้คำที่ว่ากำกวม ที่เมื่อตะกี้บอกว่าเพราะคำมันกำกวม คำเดียวมันกำกวม หลายความหมาย ทำให้เราลำบากแก่การที่จะศึกษาหรือการเข้าใจ ดังนั้นคำที่จะต้องเอามาพิจารณาดูกันก่อน มันก็คือคำว่าความทุกข์นั่นแหละ แต่ถ้าเอาคำบาลีมาเป็นหลักแล้ว มันก็มีทางกำกวมได้บ้าง คำว่าทุกขะ ที่เราจะได้ยินว่าทุกขังบ้าง ทุกโขบ้าง ทุกขาบ้างแล้วแต่จะเรียก แล้วแต่ว่าไอ้คำมันจะต้องใช้อย่างไร แต่ตัวคำมันแท้ๆ คือคำว่าทุกขะ คำว่าทุกขะนี่แปลว่าความทุกข์ที่ทำให้คนทรมาน ลำบากอยู่นี้ก็ได้ คำว่าทุกขะนี้แปลว่าดูแล้วน่าเกลียดก็ได้ ฉะนั้นคำว่าทุกขะแปลว่ามันว่าง เป็นธรรมชาติที่ว่างอย่างน่าเกลียดก็ได้ หรือคำว่าทุกขะแปลว่านำมาซึ่งความทุกข์ก็ได้ มันกำกวมอย่างนี้อย่างน้อยก็ ๔ ความหมายอย่างนี้ ความทุกข์ก็หมายถึงความลำบาก เจ็บปวด ดิ้นรน ทนทรมาน นี้เรียกความทุกข์ นี้ก็เป็นความหมายหนึ่งและเป็นความหมายที่สำคัญที่สุด เมื่อเราไปยึดถืออะไรเข้า แล้วเราก็มีความทุกข์ในใจ นี่ความทุกข์ในความหมายแรกเป็นอย่างนี้ ต้องรู้จักความทุกข์อันนี้กันให้ดีจริง เพราะมันเป็นความหมายที่สำคัญที่สุด ทีนี้ความหมายอื่นๆมันรองลงไปอีก มันกว้างออกไปจนกระทั่งมันพร่า เช่นพูดว่าสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ยะทะ นิจจัง ตัง ทุกขัง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ที่ว่าสิ่งใดไม่เที่ยง มันหมายถึงทุกสิ่งเลย แม้แต่สิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่นก้อนหินเหล่านี้มันก็ไม่เที่ยง เมื่อสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ก็หมายความว่าก้อนหินนี้ก็เป็นทุกข์ นั่นน่ะจะฟังไม่ถูกแล้วใช่ไหม ถ้าเอาความทุกข์ในความหมายทีแรกแล้ว มันๆทน มันๆๆ ทนทุกข์หรือทรมาน ก้อนหินมันไม่ได้ทนทุกข์ทรมาน ดังนั้นเราพูดว่าความทุกข์หรือทุกขังในลักษณะนี้ มันหมายความว่าดูแล้วน่าเกลียด เพราะมันเป็นของไม่เที่ยง มันเป็นมายาหลอกลวง มันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงไป มันไหลไป แล้วมันหลอกให้เราเห็นว่ามันหยุดนิ่ง อยู่เที่ยง นี่เราก็พูดว่าดูแล้วน่าเกลียดนี่มันก็ใช้ได้ แต่สิ่งที่มีชีวิตรู้สึกคิดนึกได้กันได้ กระทั่งสิ่งที่ไม่มีชีวิต ก้อนหิน ก้อนดิน เม็ดกรวด เม็ดทราย นี้ก็เรียกว่าเป็นทุกข์ได้เหมือนกัน เพราะหลักในพระบาลีมันก็มีอยู่ส่วนหนึ่งสำหรับหมายความอย่างนี้ เพราะถ้าสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นย่อมเป็นทุกข์ ทุกข์คำนี้ อย่างในกรณีอย่างนี้ มันแปลว่าดูแล้วน่าเกลียด น่าอิดหนาระอาใจ น่าเศร้า น่าสลด ก็แม้แต่ก้อนหินก็ยังไม่เที่ยง หลอกลวง ทีนี้มันมีคำว่าทุกข์อีกความหมายที่กว้างที่สุดว่า มันว่างจากสาระแห่งตัวตนอย่างน่าเกลียดที่สุด เพราะมันว่างจากสาระที่ควรเรียกว่าตัวตน ก็เลยใช้ได้หมดไม่ว่าอะไรเหมือนกัน กระทั่งว่าความสุขนั้นน่ะก็เป็นความทุกข์ เพราะความสุขมันก็ว่างจากสาระที่ควรจะยึดถือว่าเป็นตัวตน ดังนั้นไอ้ความสุขที่เราหลงไหลกันนักอย่างโง่เขลาที่สุด ไปหลงในความสุขนั้นน่ะ ในความหมายอย่างนี้ ความสุขนั้นก็เรียกว่าทุกข์ คือว่างจากสาระที่ควรเรียกว่าตัวตน เรียกว่าว่างอย่างน่าเกลียด ทีนี้คำว่า ทุกขะนี่มันยังมีมากออกไปถึงว่าต้องๆแปลว่านำมาซึ่งทุกข์ เช่นประโยคว่าการสะสมบาปนำมาซึ่งทุกข์ แต่ภาษาบาลีเขามีคำว่าทุกขังหรือทุกโขคำเดียวเท่านั้น เหมือนกันหมดเลยทุกกรณี ใช้คำว่าทุกขะเพียงคำเดียว ทุกโข ปาปัสสะ อุจจะโย การสะสมบาปทุกโขนำมาซึ่งทุกข์ คำนี้ไม่ได้แปลว่าเป็นทุกข์หรือว่าว่างนี่ หรือว่าดูแล้วน่าเกลียด หรือว่างอย่างน่าเกลียด แต่กลายมาเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งทุกข์ ดังนั้นทุกขะคำเดียวแปลว่าเป็นทุกข์ทรมานก็ได้ แล้วก็ดูแล้วน่าเกลียดก็ได้ แล้วก็ว่างอย่างน่าเกลียดก็ได้ แล้วนำมาซึ่งทุกข์ก็ได้ นี่คือความกำกวมของคำเพียงคำเดียวในภาษาบาลี ถ้ารู้อย่างนี้ก็เข้าใจได้มาก กว้าง แต่ก็เกินจำเป็น จะเรียนบาลีกันสักนิดนึงก็ได้ว่า คำว่าทุกขะนี่ ทุ พยางค์หน้านั้นแปลว่าชั่วหรือยากหรือน่าเกลียด ทีนี้ไอ้ ขะ ตัวหลังนั้นแปลว่าทน มาจากธรรมะแปลว่าทน ดังนั้นทุกขะแปลว่าทนยาก ทนยากคือเจ็บปวดที่ว่าเหลือที่จะทนนั่นน่ะ นี่ล่ะทุกข์ ทุกขะแปลว่าทนยาก นั่นแหละในความหมายว่าเจ็บปวด ทีนี้ไอ้คำว่าทุกข์ ทุกขะนี่มันมาจากคำว่าทุน่าเกลียด และอิกข (อ่านว่า อิกขะ) หรือ อักข (อ่านว่า อักขะ) แปลว่าเห็น หรือดู เห็น ทุกขะนี่แปลว่าดูแล้วน่าเกลียด เห็นแล้วรู้สึกน่าเกลียด ทีนี้ทุกขะอีกคำหนึ่งเขาถือว่ามาจากคำว่า ผัง ผังแปลว่าว่าง ทุก็น่าเกลียด เพราะฉะนั้นมันว่างอย่างน่าเกลียด ทีนี้ทุกขะที่เป็นคำคุณศัพท์พิเศษตามหลักของภาษาบาลี เขาให้แปลตามรูปๆของปัจจัยของคำประเภทนี้ แล้วมันแปลว่านำมาซึ่งความทุกข์ ทีนี้เอามาพูดปนกันหมด ในบางกรณีควรจะพูด และควรจะแปลอย่างนี้ ก็ไปแปลซะอย่างอื่น ก็สับสนเวียนหัว และบางคนก็เลยพาลไม่เชื่อ ทำไมถึงตรัสว่าสิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ แล้วก้อนหินมันก็ไม่เที่ยง แล้วก้อนหินก็เป็นทุกข์ด้วยอย่างนั้นหรือ นี่หมายความว่าเขาไปเล็งถึงไอ้ทุกข์ทรมาน ทุกข์เจ็บป่วย ทุกข์ทนยาก เพราะเขาไม่รู้ว่าคำว่าทุกข์นี่แปลว่าดูแล้วน่าเกลียดก็ได้ นี่หลายๆคำหรือแทบจะทุกคำน่ะมีความกำกวมได้อย่างนี้ทั้งนั้นในภาษาบาลี เมื่อถอดออกมาเป็นภาษาไทยมันก็มีความกำกวมนี้ติดมา ดังนั้นจึงทำให้เกิดความยากลำบากแก่ผู้ที่อ่านหนังสือธรรมะ นี่ก็เป็นเหตุให้เสียเวลา กระทั่งเวียนหัว กระทั่งท้อแท้ ท้อถอยเลิกกัน นี่บอกไว้ให้รู้เท่านั้นน่ะ ไม่ได้ให้ไปศึกษาไอ้ถ้อยคำเหล่านี้อย่างศึกษาภาษา บอกให้รู้ซะทีว่าความยากลำบากเกี่ยวกับการศึกษาธรรมะนั้น เพราะถ้อยคำมันกำกวม มันดิ้นได้หลายอย่าง หรือมันไม่พอใช้ มันต้องร่วมกันใช้หลายๆความหมายในคำๆเดียวกัน นี่เพราะว่าคำมันมีไม่พอใช้
ดังนั้นทีนี้เรามาพูดกันถึงไอ้คำว่าทุกข์ที่เป็นตัวปัญหา คือทุกข์ที่ทนยาก ทุกข์ที่เจ็บปวด ทุกข์ที่ทนทรมาน ดูกันแต่ความทุกข์นั้นก็ได้ในแง่นั้น จนกระทั่งให้รู้จักตัวจริงของมัน เดี๋ยวนี้มันตามคนอื่นว่า ว่าเป็นทุกข์น่ะ ตัวเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นทุกข์ คือไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ แล้วก็ว่าเป็นทุกข์ไปตามที่คนอื่นเขาว่า นี่ก็เลยมันไม่พบตัวความทุกข์ที่เป็นตัวปัญหา แล้วก็ดับทุกข์ไม่ได้ ถึงแม้คนๆนี้จะมาเรียนพุทธศาสนา มันก็ไม่เข้าถึงตัวพุทธศาสนา ซึ่งมุ่งหมายจะดับทุกข์โดยตรง เอ้าทีนี้ส่วนใหญ่ของพวกเราไม่เป็นอย่างนั้น อย่างนักศึกษาทั้งหลายนี้ไม่ได้เรียนพุทธศาสนาเพื่อจะดับทุกข์โดยตรง เพราะยังไม่รู้จักตัวทุกข์โดยตรงสักที แล้วจะมีปัญหาจะดับทุกข์ยังไง เราก็เรียนพุทธศาสนาเพื่อเป็นวิชาประกอบความรู้ ประดับความรู้ ประดับสติปัญญา หรือว่าเรียนเผื่อๆไว้บ้าง มันก็มีประโยชน์ ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ มันทำให้รู้อะไรมากเหมือนกัน แต่มันยังไม่ๆเจาะจงไปที่ตัวความทุกข์ หรือการดับทุกข์ ดังนั้นเราจึงเรียนแต่ตัวหนังสือไปหมด เรียนเรื่องทุกข์ เรื่องความทุกข์ ก็เรียนเรื่องตัวหนังสือ เรื่องความดับทุกข์ก็เรียนไปตามตัวหนังสือ อย่างว่าเรียนวิธีก่อน อย่างนี้เขาเรียกว่าเรียนข้างนอก สำหรับผู้ที่สมัครเรียน เรียนอย่างสมัครเล่น ถ้าเรียนข้างใน มันก็ต้องเรียนด้วยจิตใจอย่างที่พูดเมื่อตอนเช้านั่นน่ะ ต้องเรียนด้วยจิตใจ คือเรียนลงไปที่สิ่งที่กำลังรู้สึกอยู่ในจิตใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่จริงๆ คือ ความทุกข์ ถ้าเราไม่มีความทุกข์ ก็ไม่มีปัญหาอะไรที่จะต้องไปเรียนเรื่องดับทุกข์ เราเรียนเผื่อไว้มันก็มีประโยชน์ แต่ก็เผื่อไว้ เอาล่ะเป็นอันว่าขอให้มีความเข้าใจชัดว่าเรามันจะต้องเป็นทุกข์แน่ จะเรียนเรื่องความดับทุกข์เผื่อไว้ อย่างนี้ก็ยังดี แต่มันจะรู้จริงไม่ได้ เพราะมันไม่ได้เรียนจากตัวจริงหรือของจริง คือไม่ได้เรียนอย่างวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เรียนอย่างปรัชญา นี่ปัญหานี้ก็กำลังเป็นปัญหาอยู่ ดังนั้นขอกล่าวเสียด้วยเลยว่า นักศึกษาทั้งหลายนี้กำลังรู้ไว้เถิดว่า เรากำลังจะเรียนพุทธศาสนาตามวิถีทางปรัชญา แล้วมันก็เข้ารกเข้าพงเข้าดงของปรัชญาไปเลย เผลอๆเกินไปจนๆๆไม่พบ ไอ้ตัวพุทธศาสนาอย่างของพระพุทธเจ้า นี่ถ้าผู้ใดเรียนพุทธศาสนาเผื่อไว้ เพื่อว่าเราจะมีความทุกข์เราก็จะได้ดับทุกข์นี่ จะเรียนในรูปของปรัชญาทั้งนั้น เพราะปรัชญานั้นมีความหมายของคำว่า philosophy มันอยากรู้อยากเรียนด้วยความสงสัย แล้วก็มันตั้งรูปปัญหาออกมาในรูปของความสงสัย แล้วเผื่อว่า หรือเผื่อว่า หรือคาดคะเนว่าอะไรอย่างนั้น แม้แต่ความทุกข์เราก็ยังต้องคาดคะเนว่า ทำไมมันจึงเป็นทุกข์ เราไม่รู้จักไอ้ตัวความทุกข์ จนต้องถามว่าทำไมมันจึงเป็นทุกข์ เดี๋ยวนี้ทั้งโลกก็ว่าได้ บ้าปรัชญาจนเหมือนกับว่าเสพย์ติดเป็นเฮโรอีน ปรัชญากำลังเป็นเฮโรอีน ของนักศึกษาหรือ ผู้มีปัญญาในโลกนี้ จะเรียนอะไรก็เรียนในรูปปรัชญา จนไอ้ปรัชญานี้ติดปาก เรียนศาสนาก็เรียนอย่างปรัชญา เอาไปทำให้เป็นปรัชญา แล้วก็เรียน ศาสนาทั้งหลายก็เลยดับทุกข์ให้ใครไม่ได้ นี่เป็นๆอย่างนี้กันทุกศาสนา ปัญหากำลังมีอย่างนี้ทุกศาสนา แม้แต่ศาสนาคริสเตียน ที่เชื่อพระเจ้าง่ายๆนี้ ก็ถูกไปทำให้เป็นปรัชญา จนเรียนยาก จนเข้าใจยาก จนเชื่อยากนี่ พระพุทธศาสนาที่สอนเรื่องทุกข์ตรงๆนี่ ไม่วิธีทางอย่างวิทยาศาสตร์อย่างนั้น แต่คนเรียนเอาไปทำเป็นวิธีทางปรัชญาหมด ทีนี้ไอ้ข้อเท็จจริงก็เป็นอย่างนั้นเสียด้วย ว่าสิ่งธรรมดาสามัญนี่ถ้าเรายังไม่เข้าใจมัน มันจะอยู่ในลักษณะของปรัชญา พอเราไปเข้าใจมัน จึงจะอยู่ในรูปของวิทยาศาสตร์ ดังนั้นที่เราเคยเรียนวิทยาศาสตร์อะไรต่างๆมา จนๆรู้จักมันดีในวิถีทางของวิทยาศาสตร์นั่น ก็ลองไปคำนึงดูถึงเมื่อก่อนหน้านั้นนี่ มันจะฉงน จะสงสัย จะไม่เข้าใจ จะอยู่ในรูปของสิ่งที่ลึกลับ จนต้องคาดคะเนตามวิถีทางของปรัชญา แม้จะเรียนแพทย์นี่ จะเรียนเรื่องหมอ เรียนหมอ เรื่องไอ้ๆเรื่องร่างกาย ไอ้สรีระ เรื่องไอ้หน้าที่ของไอ้สิ่งต่างๆในร่างกายนี่เป็นต้น ในชั้นแรกมันๆจะงง มันจะเป็นเรื่อง เหมือนกับเป็นเรื่องลึกลับ เป็นเรื่องปรัชญา ต่อมาเมื่อเราเรียนเสร็จแล้ว รู้แล้ว กระทั่งผ่านไปแล้ว นั่นจึงจะกลายเป็นของง่ายๆตรงๆจริงๆ พิสูจน์ได้อย่างวิทยาศาสตร์ ธรรมะแต่ละเรื่องจะเป็นปรัชญาแก่ผู้ที่ยังไม่รู้ธรรมะนั้นจริงๆ ครั้นรู้เข้าจริงๆธรรมะนั้นจะกลายเป็นวิทยาศาสตร์ไป แม้แต่เรื่องอริยสัจทั้ง ๔ นี่ก็อยู่ในรูปของปรัชญา เราเรียนกัน พูดกัน สอนกันอยู่ในรูปของปรัชญา ว่าทุกข์อย่างนั้น เหตุให้เกิดทุกข์อย่างนั้น ดับทุกข์อย่างนั้น ทางเหล่านั้น มันเป็นเรื่องพูดทั้งนั้น แล้วก็มีเหตุผลให้ตามวิถีทาง logic ทางไอ้ปรัชญา แต่ครั้นมาปฏิบัติจริง รู้จักตัวความทุกข์จริง แล้วปฏิบัติได้จริง มันกลายเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ มองเห็นชัดเหมือนกับเรามองเห็นวัตถุทั้งหลาย แม้แต่เรื่องจิตใจ เราก็รู้สึกเข้าใจได้เหมือนกับเรื่องวัตถุไปเลย ถ้าเป็นเรื่อง ถ้าเป็นเรื่องอริยสัจทางปรัชญา ก็เหมือนที่ท่องจำกันไว้ได้ ความทุกข์เป็นอย่างนั้น ก็แจกลูกไป เหตุให้เกิดทุกข์ ก็คือกิเลสตัณหาอุปาทาน มาจากอนิจจาก็ว่ากันไป ซึ่งล้วนแต่ไม่รู้จักทั้งนั้น แล้วความดับทุกข์ ก็คือว่าดับไอ้กิเลสเหล่านี้ได้ แล้วทางให้ดับทุกข์นี่ค่อยๆแต่งได้ง่ายหน่อย มรรคมีองค์ ๘ มีความคิดเห็นถูกต้อง ปรารถนาถูกต้อง พูดจาถูกต้อง ใช้ชีวิตถูกต้อง พากเพียรถูกต้อง มีสมาธิถูก สติถูกต้อง สมาธิถูกต้อง ทีนี้มันเกือบจะเป็นรูปวิทยาศาสตร์ขึ้นมาแล้ว เพราะว่าเราพอจะเข้าใจได้ เราปฏิบัติออกไปแล้ว มันจึงค่อยๆเข้าใจในรูปของวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งมันดับทุกข์ได้ จึงจะรู้ว่าไอ้เรื่องไอ้อริยสัจทั้ง ๔ ข้อมันเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องปรัชญา แล้วเรื่องอริยสัจอันที่เขาได้ประโยชน์ มันก็อยู่ที่ข้อสุดท้าย มรรคมีองค์ ๘ ปฏิบัติให้ถูกต้อง ๘ ประการนั้นแล้วมันดับทุกข์ได้ นี้พอเป็นเรื่องปฏิบัติให้ยิ่งไปกว่านั้นอีก มันกลายเป็นว่าเราจะไม่พูดถึงไอ้ทุกข์ ไม่พูดถึงไอ้สัจจะทั้ง ๔ ข้อนั้นแล้ว จะพูดแต่เรื่องที่เรารู้สึกได้จริง คือเรามีตา มีหู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ต้องให้รู้จักกันเสียก่อนว่าเรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างไร ดังนั้นพอตาเห็นรูป หรือรูปมาทำให้ตามาเหมือนเนื่องกันกับตานี่ มันก็เกิดการเห็นทางตาขึ้นมา เรียกว่าจักษุวิญญาณนี้อย่างไร นี่มันเป็นการตั้งต้นถึงตัวพุทธศาสนาในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ปรัชญา แล้วเราก็จะไม่ถามว่าทำไมตามันจึงเห็นได้ ว่ารูปมันทำไมมันจึงมาถึงตา อย่างนี้เราจะไม่ถามคำถามอย่างนั้น ซึ่งมันเป็นเรื่องทางปรัชญา หรืออะไรก็ไม่รู้ ไปศึกษาเรื่องตานี่มันเห็นได้ แล้วมันก็มีรูปมาให้ตาเห็น พอมันมาถึงกันเข้า มันก็เกิดการเห็นทางตา การเห็นทางตานี้เรียกว่าจักษุวิญญาณ ให้รู้จักทั้ง ๓ อย่างนี้เสียก่อน แล้วตาก็ไอ้สิ่งที่มาให้ตาเห็น แล้วการเห็นทางตาเกิดขึ้น ๓ ประการนี้มีๆอยู่ด้วยกัน นี้ก็เรียกว่าผัสสะ นี่ๆพูดไปตามภาษบาลีตามตัวพระพุทธวัจนะ เราก็ต้องรู้จักผัสสะนี่ ไม่ใช่ว่าเอาเนื้อเอาหนังไปถูกอะไรที่ไหนก็เรียกว่าผัสสะ มันๆเฉพาะไอ้อย่างภาษาธรรมดาอย่างนั้น มันมีไว้เหมือนกันที่ว่าไอ้กาย ของที่มากระทบกาย แล้วก็เกิดความรู้สึกทางกายขึ้นมานี้เรียกว่าผัสสะ นี้ก็มี แต่มันต้องมีไปตั้งแต่ต้น ทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้กระทั่งทางใจด้วย ต้องรู้จักผัสสะให้มันจริงๆกันเสียก่อน
ทีนี้ก็มีต่อไปว่า เพราะผัสสะนี้เป็นปัจจัยจึงมีเวทนา คือความรู้สึก รู้สึกว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ทางตานั่นแหละ จะรู้สึกว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หรือว่ายังไม่เรียกว่าสุขว่าทุกข์ นี่เขาเรียกว่าเวทนา ต้องรู้จักไอ้ตัวเวทนานี้ เหมือนกับเรารู้จักเม็ดกรวดเม็ดทรายเหล่านี้แหละ แต่มันเป็นเรื่องทางจิต ต้องรู้ข้างในว่ามันมีเวทนาเกิดขึ้นมาแล้ว เพราะสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ ทีนี้เวทนานี้เป็นตัวเรื่องที่ร้ายกาจที่สุด ที่เป็นปัญหาที่ต้องศึกษาหรือจะต้องควบคุมให้ได้ ซึ่งก็มีหลักต่อไปว่าเพราะเวทนาเป็นปัจจัยนี่ จึงมีตัณหา นี่จะพูดไปตามแนวของปฏิจจสมุปบาท คือจะอยากอย่างใดอย่างหนึ่งไปตามไอ้การกระตุ้นของเวทนานั้น ถ้ามันสวยทางตา เป็นสุขทางตา มันก็เกิดความอยากที่จะได้ หรือว่าจะสุดแท้แต่มันก็จะเกิดความอยากเข้ารูปกันกับไอ้ความสวยของสิ่งที่เห็นทางตา ทีนี้แหละถ้าสิ่งที่มันเห็นนั้นมันไม่สวย มันให้ลำบากแก่ตา รำคาญแก่ตา เป็นทุกข์แก่ตา มันก็เกิดความอยากอีกอย่างหนึ่งซึ่งตรงกันข้าม แต่ก็เรียกความอยากเหมือนกัน เช่นอยากจะไปเสีย หรือว่าอยากจะขยี้เสีย หรือว่าอยากจะฆ่ามันเสียอะไรอย่างนี้ มันก็เป็นความอยากเหมือนกัน ก็เรียกว่าตัณหาได้เหมือนกัน หรือถ้าว่ามันไม่ให้ก่อความรู้สึกยินดีหรือยินร้าย แต่มันอยู่ตรงกลางๆนี่ ถ้าอย่างนี้มันก็มันก็เป็นความอยากชนิดหนึ่งเกิดขึ้น คืออยากเพราะความสงสัยว่ามันจะเป็นอะไรแน่ ดังนั้นท่านจึงกล่าวไว้เป็นหลักกลางๆ รวมกันแล้วก็เรียกว่าเพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหาคือความอยาก ทีนี้พอเกิดตัณหาคือความอยากแล้ว ตัณหานั้นจะเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน ทีนี้มันเกิดความอยากเฉยๆในใจตามธรรมชาติก่อน แล้วจึงเกิดอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น มีตัวกูนั่น ตัวกูซึ่งเป็นเจ้าๆการที่อยาก แล้วอยากได้อะไรมาเป็นของกู นี่เรียกว่าอุปาทาน ความรู้สึกตัวฉันเป็นผู้อยาก มีตัวฉันเกิดที่อุปาทานนี้ นี้ก็แปลกประหลาดที่จะพูด เมื่อความอยากเกิดก่อน แล้วจึงเกิดตัวผู้อยาก ถ้าไม่เข้าใจจะรู้สึกว่ามันเป็น illogical คือว่ามันขัด logic แต่ที่จริงไม่ใช่ขัด logic ไม่ขัด logic เป็นวิทยาศาสตร์ที่เห็นมาได้ชัดๆ มันๆๆ ตาเห็น รูป มันก็เกิดเวทนา แล้วเกิดความอยาก แล้วมันจึงเกิดความคิดว่าฉัน ฉันอยาก ฉันจะต้องได้ หรือฉันจะต้องทำอะไร ไอ้ฉันซึ่งเป็นผู้อยากนั้นมาทีหลังความอยาก มีความอยากเกิดก่อน แล้วจึงเกิดตัวผู้อยาก มันๆไม่เหมือนกับไอ้ๆคำพูดที่เราพูดกันอยู่ตามธรรมดา มันต้องมีตัวผู้ทำอะไรก่อน มันจึงจะมีการกระทำนั่น นั่นไอ้ logic อย่างนั้นเป็น logic ทางวัตถุไอ้ข้างนอกอีกทางหนึ่ง มันไม่เหมือนกับเรื่องทางจิตใจ ซึ่งมันไม่มีตัวตน มันไม่มีตัวผู้ทำแท้จริง เพียงแต่เกิดความรู้สึกว่ามีผู้ทำ ดังนั้นความอยากคือตัณหานี่มีก่อน ไม่มีอุปาทาน ความรู้สึกเป็นตัวฉันผู้อยาก หรือเป็นของๆฉัน คิดต้องได้ตามที่ฉันอยากนี่ ถ้าอุปาทานอย่างนี้เกิดขึ้นแล้วในเวทนาใดเวทนาหนึ่ง ก็เรียกว่ายึดมั่นถือมั่นแล้ว มีตัวกู มีของกูแล้ว มีตัวกูของกูสมบูรณ์แล้ว มันก็ดิ้นเร่าๆอยู่ในอำนาจของความอยากนั้น เป็นทุกข์แล้ว ดังนั้นพูดว่าความทุกข์มาจากตัณหาคือความอยาก มันชัดเจนอย่างนี้ อย่าใช้การคำนึงคำนวณด้วยเหตุผล ต้องมองให้เห็นชัดอย่างนี้ มันจึงเรียกว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าๆยังต้องใช้เหตุผล คือมันไม่เข้าใจน่ะ ต้องใช้เหตุผลว่ามันคงจะเป็นอย่างนั้นจริง ดังนั้นมันคือเป็นปรัชญา เรื่องปฏิจจสมุปบาทที่กำลังว่า กำลังพูดอยู่นี่ สำหรับคนที่ยังไม่รู้ มันจะเป็นเรื่องปรัชญา ดังนั้นฝรั่งเขาเรียนเรื่องปฏิจจสมุปบาทอย่างปรัชญา แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ต้องการอย่างนั้น ต้องการให้เรียนให้รู้ตั้งแต่ต้นเป็นๆวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งดับทุกข์ได้ ดังนั้นเราพูดได้เลยว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาท หรือเรื่องอริยสัจก็ดี มันเป็นเรื่องปรัชญาแก่ผู้ที่ยังไม่รู้ มันเป็นวิทยาศาสตร์อย่างชัดแจ้งเหลือเกิน แก่พระอรหันต์คือผู้ที่รู้แล้วและผ่านไปแล้ว เดี๋ยวนี้เราก็เลยต้องเรียนไอ้ธรรมะหรือพุทธศาสนาอย่างปรัชญากันอยู่มาก อย่างที่ช่วยไม่ได้และมันก็สนุกดีด้วย จึงเรียกว่าเรียนในแนวของปริยัติไปหมด คือศึกษาๆกันอยู่นั่น มันมีการศึกษาไปในรูปของปริยัติไปหมด ไม่ใช่ปฏิบัติ เขาเรียกว่าเรามีแต่เรียนปริยัติ จนกระทั่งเป็นปรัชญา ไม่มีการปฏิบัติ เดี๋ยวนี้มันต้องปรับปรุงกันใหม่ ดึงมาสู่การปฏิบัติ ถ้าเรื่องปฏิจจสมุปบาทก็ต้องรู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าตา แล้วก็รู้ แล้วก็การเห็นทางตา ๓ อย่างนี้มาถึงกันเรียกว่าผัสสะ ถ้ามีผัสสะแล้วต้องมีความรู้สึกที่เรียกว่าเวทนา ไม่ใช่เวทนาสงสาร ไม่ใช่เวทนาภาษาชาวบ้าน เวทนานี้หมายถึงความรู้สึก หรือเขาๆเรียกว่า feeling เวทนานี้ก็มีแล้วก็ต้องให้เกิดตัณหา แล้วต้องรู้จักเวทนา แล้วก็รู้จักเวทนาให้เกิดตัณหาอย่างคือความอยาก แล้วความอยากให้เกิด เพราะมันเกิดกูอยาก กูต้องการ กูเอาให้ได้ตัวนี้ อุปาทาน แล้วพร้อมกันนั้นก็ให้ความรู้สึกร้อนเป็นไฟที่มันมีอยู่ในจิตใจในเวลานั้น อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นผู้ปฏิบัติ คือถ้าจะใช้คำว่าเรียนหรือศึกษาพุทธศาสนา ก็เป็นการศึกษาพุทธศาสนาจริง ตัวจริง ลงไปที่ธรรมะตัวจริง แล้วก็จะรู้พุทธศาสนาจริง ไม่ใช่รู้อย่างปรัชญา นี่มันเป็นเครื่องเปรียบเทียบกันอย่างนี้ ว่าถ้าเราจะเรียนอย่างปรัชญา มันก็ไม่มีวันจะถึงตัวพุทธศาสนา ดังนั้นถ้าเราศึกษาอย่างวิทยาศาสตร์ และเป็นในรูปของการปฏิบัติ เราก็ถึงตัวพุทธศาสนา คือรู้จริง ด้วยความรู้สึก ต้องใช้คำว่ารู้สึกมากกว่า ไอ้รู้อย่างวิธีทางปรัชญานั้น จะไม่เป็นความรู้สึก จะไม่เป็นความจริงที่ตายตัวลงไปได้ มันฝากไว้กับเหตุผลในขณะนั้นเรื่อยไป แล้วมันก็เดินไกลไปๆ มันคำนวณด้วยเหตุผลไกลออกไป ดังนั้นความรู้นั้นก็เรียกว่ารู้อย่างวิถีทางปรัชญา จะเรียกว่าอะไรก็ๆๆได้ จะเรียกว่าความรู้ก็ได้ แต่มันไม่ใช่ความรู้อย่างเดียวกันกับที่รู้แจ้งด้วยความรู้สึก ถ้าเราจะใช้คำว่า experience มันต้องหมายถึงความรู้สึก คือรู้สึกกันจริงๆ ไม่ใช่รู้เพราะเป็นความรู้ที่มาจากเหตุผลทาง logic หรือว่าทาง philosophy อะไรก็เยอะแยะไปหมดแล้ว เดี๋ยวนี้เรามีความรู้อย่างนั้นแหละ แล้วก็รู้จนเฟ้อ รู้จนได้เถียงกันจนได้ชกต่อยกัน เพราะเรื่องไอ้ความรู้ที่จะดับทุกข์ นั่นมันเป็นเรื่องเรียนพุทธศาสนาในแง่ของปรัชญา ตามวิถีทางของปรัชญาซึ่งพระพุทธเจ้าท่านไม่ประสงค์ ท่านตรัสไว้อย่างนั้น มันเป็นหลักกลางๆ ที่คนมันจับเอาไปเรียนอย่างวิธีปรัชญา มันก็เลยเตลิดเปิดเปิงไป แต่ท่านต้องการให้มาเรียนอย่างวิทยาศาสตร์ ให้มารู้จักเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็ให้มารู้จักสิ่งที่จะมากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้ๆเรามันรู้จักจริงๆ รู้จักไอ้ความรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย รู้จักเวทนา รู้จักตัณหา รู้จักอุปาทาน จากข้างในทั้งนั้นแหละ ไม่มีเรื่องข้างนอก คือเรื่องที่รู้สึกอยู่ได้ด้วยใจทั้งนั้นน่ะ นับตั้งแต่รู้จักตา หู จมูก ลิ้น กาย กระทั่งรู้จักกิเลสตัณหาต่างๆ
ถ้านักศึกษาต้องการจะศึกษาพุทธศาสนาให้ถึงตัวพุทธศาสนา ก็ต้องไปปรับปรุงการศึกษากันเสียใหม่อย่างนี้ อย่างที่เขาเรียกว่าปฏิบัติ ปฏิบัติพุทธศาสนา ทำสมาธิ ทำวิปัสสนา ก็หมายถึงการจัดเตรียมเรื่องในจิตในใจให้มันรู้แจ้งสิ่งเหล่านี้ลงไปจริงๆ นี่ก็ทำวิปัสสนา ทำสมาธิ นี่เป็นตัวการปฏิบัติ และรู้ก็เรียกว่ารู้ด้วยความรู้สึก ไม่ใช่รู้อย่างท่องจำ ไม่ใช่รู้อย่างใช้เหตุผลคำนึงคำนวณ ดังนั้นเป็นเพียงความเข้าใจไปตามเหตุผล ไม่ใช่ความรู้สึก ไม่ควรจะเรียกว่า experience มันจะเป็นไอ้ความรู้ประเภทอื่น เป็นเรื่องความเข้าใจชั้นอื่น ความเข้าใจมันเนื่องอยู่กับเหตุผล ไอ้ความรู้นี้มันอยู่กับการศึกษาการท่องจำ การอะไรต่างๆ แต่การรู้แจ้งแทงตลอด หรือรู้สึกด้วยใจจริงนี้ มันต้องทำกันอย่างที่เรียกว่ารู้จักสิ่งนั้นจริงๆมาตลอดเวลา เหมือนอย่างที่ตอนกลางวันที่พูดให้ฟังว่า เราไม่อาจจะเข้าใจคำว่าจิตที่ว่าง หรือหยุด หรือเย็นได้ ถ้าเราจะเข้าใจ เราก็ใช้เหตุผลเพราะมันคงจะเท่านั้นล่ะ ถ้าเราทำอย่างนั้นมันคงจะหยุดหรือจะเย็น แต่เราจะรู้สึกอันนั้นไม่ได้ จนกว่าเราได้ไปถึงที่แห่งหนึ่ง หรือมีสิ่งแวดล้อม ถึงขนาดที่จิตมันๆๆว่างจากไอ้ความยึดถือ ไม่มีอะไรมาปรุงให้จิตยึดถือได้ จิตมันก็เลยว่างสบายบอกไม่ถูก นี่เรียกว่ามันรู้สึกด้วยจิต ด้วยความรู้สึกจริงๆ นี่เป็นการศึกษาธรรมะจริงๆ ศึกษาพุทธศาสนาตัวจริง ไม่ใช่เป็นเพียงคำสั่งสอน พุทธศาสนาเป็นเพียงคำสั่งสอน ก็ไปเรียนในโรงเรียน เรียนนักธรรมตรี โท เอก เรียนเป็นเปรียญ ๘ ประโยค ๙ ประโยค ก็ได้ แต่ก็รู้พุทธศาสนาแต่แบบนั้น แบบที่เรียกว่าการปริยัติ แล้วก็ทำให้เกิดความรู้ เพราะการฟัง เพราะการจำได้มาก กระทั่งความเข้าใจที่รู้จักใช้เหตุผล ว่ามันต้องสมตามไอ้ข้อความเหล่านั้นที่ๆได้เขียนไว้ มันก็รู้เท่านั้น แต่ทีนี้ถ้าเรียนต่อไปอีก ก็ต้องมาเรียนอย่างวิธีปฏิบัติ คือทำให้จิตใจมันเข้าถึงกับไอ้ความจริง ของจริง มันจึงมีการเป็นอยู่ชนิดหนึ่ง เช่นออกมาปฏิบัติ ก็มาตั้งหน้าตั้งตารู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ ที่มันจะตั้งขึ้นมาได้อย่างไรบนจิตใจ เข้ามาทางตาอย่างไร ทางหูอย่างไร นี่มาๆนั่งกำหนดพิจาณาสังเกตเฝ้าดูอยู่เป็นอย่างดี จนรู้สึกด้วยใจจริง ไม่ต้องสันนิษฐาน ไม่ต้องคาดคะเน ไม่ต้องใช้เหตุผล ไม่ต้องคำนวณ ไม่ต้องอะไรหมด ถ้าเข้าใจคำอธิบายที่กำลังพูดนี้ ก็พอจะเข้าใจได้ว่า เดี๋ยวนี้เรามีปัญหาว่าทำไมเราจึงเอาพุทธศาสนามาใช้เป็นประโยชน์จริงๆไม่ได้ เราใช้ได้แต่เป็นประโยชน์ทางอ้อม คือเราศึกษาให้พอรู้ ให้พอพูดได้ พอตอบคำถามได้ หรือว่าจะช่วยดับความทุกข์ได้ ก็ว่าเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ คือศึกษาเป็นนักธรรม เป็นเปรียญนั้นมันก็สำหรับที่จะได้เป็นเครดิต เป็นหลักฐานสำหรับไปเรียนไปสอนอะไรต่อไปอีก หรือไปพูดจา ไปอะไรให้มันเป็นทางมาแห่งชื่อเสียงแห่งลาภผล เป็นซะอย่างนั้น มันไม่ไปในทางที่จะดับกิเลสตัณหา หรือมรรคผลนิพพาน
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงย้ำ ทรงย้ำมากว่าให้เรียนจากข้างใน จะใช้คำว่าเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ให้เอาไอ้ตัวนี่ ร่างกายทั้งหมดนี่เป็นตัวโรงเรียน เป็นตัวมหาวิทยาลัย แล้วให้จิตมันเรียนในนั้น ดังนั้นมันจึงรู้จักหมดในนี้มีอะไรบ้าง จะพูดให้ฟังพอเป็นเค้าก็ได้ สมมติถ้าเราเรียนข้างใน มันจะพบอะไรไปในทางที่ผิดไปจากเรียนข้างนอก อย่างเช่นว่า จะต้องรู้จักสิ่งที่เรียกว่าธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ นี่มัน ๖ ธาตุ ทีนี้มันก็ไม่ๆเหมือนไอ้ธาตุทางฟิสิกส์ ทางไอ้วัตถุ ธาตุดินมันคือคุณสมบัติแข็ง ที่ทำให้เป็นโครงร่างขึ้นมาอย่างนี้ได้ ไอ้ธาตุน้ำนี่ก็ต้องยึดสำหรับเกาะกุม ยึดกันไว้ได้ ทีนี้ธาตุไฟมันอุณหภูมิหล่อเลี้ยงให้มีความเจริญอยู่ได้ ธาตุลมนั้นคือว่าการระเหย การอะไรต่างๆที่มันจำเป็นสำหรับสิ่งที่มีชีวิต อากาศธาตุนั้นคือที่ว่างสำหรับบรรจุสิ่งเหล่านี้ แล้ววิญญาณธาตุคือไอ้ธาตุประหลาดลึกลับมหัศจรรย์ชนิดหนึ่งซึ่งมันมีทำให้เกิดความรู้สึกได้ ไอ้ธาตุนั้นก็เรียกว่าวิญญาณธาตุ วิญญาณธาตุนี้ต้องอาศัยรูปธาตุ ร่างกายนี้มันจึงทำหน้าที่รู้สึกได้ ถ้าไม่มีร่างกายนี้ วิญญาณธาตุก็เหมือนกับไม่มี ดังนั้นต่อเมื่อมารวมกันเข้า ธาตุรูปและธาตุน้ำ ๒ กลุ่มนี้ มันจึงมีร่างกายรู้สึกคิดนึกอะไรได้ ดังนั้นรู้จักสิ่งที่เรียกว่าดิน น้ำ ลม ไฟ ๔ ธาตุนี้ให้ถูกต้องในร่างกายนี้จริงๆกันเสียก่อน เดี๋ยวรู้จักวิญญาณธาตุที่จะทำหน้าที่รู้สึกอะไรได้ตามธรรมชาติ เป็นธาตุตามธรรมชาติ แล้วก็ธาตุเนื้อ ที่ว่างที่สิ่งเหล่านี้บรรจุอยู่ได้ในทางวัตถุ แต่ไอ้ธาตุว่างนี้ถ้าสูงขึ้นไปทางจิตทางวิญญาณ มันเป็นไปว่าว่างจากไอ้ความทุกข์ไปเลย รู้จักธาตุ ๖ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ ๖ ธาตุนี้ก่อน นี่เรียนกันมหาวิทยาลัยร่างกายนี้ จะไปนั่งเรียนที่ตรงไหนก็ตามใจ แต่ต้องเรียนในร่างกายนี้ เพราะฉะนั้นจึงถือว่าร่างกายนี้เป็นโรงเรียนเป็นมหาวิทยาลัย เป็นบทเรียน เป็นห้องเรียน เป็นอะไรหมดเสร็จ เพราะเราหาพบไอ้ธาตุทั้ง ๖ อย่างในร่างกายนี้ ทีนี้ธาตุ ๖ ต่อไปอีกก็คือ ธาตุตา ธาตุหู ธาตุจมูก ธาตุลิ้น ธาตุกาย ธาตุใจนี่ เรียกว่าจักษุธาตุ โสตธาตุ กายธาตุ เป็นต้น นี้ไม่เคยได้ยินแน่ แต่ในพระบาลี ในพุทธภาษิตมันมีว่า มันมีธาตุตา ธาตุหู ธาตุจมูก ซึ่งมันจะทำหน้าที่ให้ไอ้กลุ่มร่างกายนี้มันเห็นได้ มันได้ยินได้ มันได้ดมรู้กลิ่นได้ หรือว่ารู้รสได้ แล้วทีนี้มันต้องมีธาตุรูป ธาตุเสียง ธาตุกลิ่น ธาตุรส ธาตุโผฏฐัพพะ และธาตุธรรมารมณ์ข้างนอก ดังนั้นมันต้องมีคุณสมบัติอันหนึ่งอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งสำหรับจะเป็นรูปมาให้เห็นทางตา หรือเป็นเสียงมาให้ยินทางหู เป็นกลิ่นมาให้รู้ทางจมูก ดังนั้นมันก็อีก ๖ ธาตุอย่างนั้นน่ะ ธาตุตา ธาตุหู ธาตุจมูก ธาตุลิ้น ธาตุกาย ธาตุใจอยู่ข้างใน ถ้าข้างนอกคือธาตุรูปเสียงกลิ่นรส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ๖ ธาตุข้างนอกนี่ ทีนี้พอตาไอ้ธาตุตานี่ กับธาตุรูปมา ถึงกันเข้า นี่ไอ้ๆที่เรียกว่าไอ้ธาตุตานั้นน่ะ ที่เคยเรียกว่าธาตุนั้นจะเปลี่ยนจากความเป็นธาตุ มาเป็นอายตนะ เมื่อตะกี้เราเรียกว่าธาตุตา เดี๋ยวนี้มันจะเปลี่ยนเป็นอายตนะตา หรือจักขุอายตนะ ถ้ามันนอนอยู่เฉยๆมันมีลักษณะเหมือนกับธาตุหรือเป็นธาตุ แต่พอมันได้รูปมา ไอ้ธาตุตาก็เปลี่ยนเป็นอายตนะทางตา และธาตุรูปก็เปลี่ยนเป็นอายตนะรูป เรียกว่าอายตนะข้างนอก เข้ามาสู่ตาคืออายตนะข้างใน ไอ้ธาตุมันลุกขึ้นมาทำหน้าที่เป็นอายตนะ มันก็เลยเกิดไอ้ธาตุวิญญาณธาตุโดยสมบูรณ์ขึ้นมา คือวิญญาณภาพทางตา เรียกว่าจักขุวิญญาณ ทำหน้าที่การเห็นรูปทางตา อย่างนี้เรียกว่าวิญญาณธาตุทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอีก ๖ เหมือนกัน เรียกวิญญาณ ๖ นี่เขาถึงเรียกว่าอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ ถึงกันเข้าก็ทำให้เกิดวิญญาณ ๖ ไม่ใช่เรื่องสมมติ ไม่ใช่เป็นเรื่องพูดอย่างที่เรียกว่าเป็นลมๆแล้งๆ เป็นเรื่องตัวจริงที่กำลังมีอยู่ในใจ พอมีวิญญาณ ๖ แล้วก็ มันก็ต้องมีผัสสะแล้ว อายตนะภายใน อายตนะภายนอก ก็วิญญาณนี้เข้าถึงกันเมื่อไร ก็เรียกว่าผัสสะ มันก็เลยเป็นผัสสะ๖ ผัสสะทางตา ผัสสะทางหู ทางลิ้น ทาง พอผัสสะ ๖ มันก็มีผลเป็นเวทนาขึ้นมา มันก็เป็นเวทนา ๖ เวทนาที่มาจากสัมผัสทางตา มาจากสัมผัสทางหู มาสัมผัสทางจมูก นี้เรียกเวทนา ๖ แต่ต้องให้รู้ตัวจริงของไอ้สิ่งเหล่านี้นะจึงจะเรียกว่าเรียนหรือศึกษาในมหาวิทยาลัยคือร่างกายนี้ แล้วก็จะรู้จักตัณหา แล้วก็จะรู้จักอุปาทาน และเป็นทุกข์ เหมือนอย่างที่ว่าเมื่อตะกี้นี้ แต่ถ้าเราจะยักว่าเป็นเรื่องของขันธ์ ๕ มันก็มีแนวพูดไปอย่างหนึ่ง คือว่ารูปขันธ์นี่ ร่างกายนี้ก็ดี รูปข้างนอกก็ดี ที่มันเป็นอายตนะมาถึงกันเข้า ก็ทำให้เกิดจักษุวิญญาณ แปลว่ารูปธาตุได้กลายเป็นรูปขันธ์ วิญญาณธาตุได้กลายเป็นวิญญาณขันธ์ เมื่อรู้สึกแล้วก็เลยๆเกิดให้เป็นเวทนาขันธ์ เวทนาธาตุที่นอนอยู่เฉยๆกลายเป็นเวทนาขันธ์ขึ้นมา เป็นความรู้สึกเวทนาขึ้นมา เวทนามีแล้วพอเกิดความรู้สึกสำคัญมั่นหมายในเวทนานั้นอีกทีหนึ่ง ก็เรียกว่าสัญญาขันธ์ก็เกิดขึ้นมา สำคัญมั่นหมายอย่างไรแล้วยังเกิดความคิด ความคิดที่จะทำ ที่จะพูดด้วยว่าตามไอ้ความสำคัญมั่นหมายนั้น ก็เรียกว่าสังขารขันธ์ขึ้นมา ดังนั้นจะเห็นได้ว่าขันธ์ทั้ง ๕ นี้ ไม่ได้เกิดคราวเดียวพร้อมกันทั้ง ๕ เหมือนที่เข้าใจกันอยู่โดยมาก เมื่อท่านทั้งหลายไม่ยอมเสียเวลาศึกษาสิ่งเหล่านี้มันก็รู้ไม่ได้ ฉะนั้นสิ่งนี้มันก็ไม่ได้ยากเกินไปสำหรับการศึกษา แต่ว่าไม่ยอมศึกษาเอง เพราะมันไม่สนุก และบางทีดูถูกว่าเป็นเรื่องครึคระซะด้วย ดังนั้นจึงอยู่ในฐานะที่ว่าทุกคนนี้ยังไม่รู้จักขันธ์ ๕ ไม่รู้เรื่องขันธ์ ๕ โดยแท้จริง รู้ไปตามที่เขาพูดเขาสอนผิดๆถูกๆ กระทั่งว่าเรามีขันธ์ ๕ พร้อมกันทั้ง ๕ อยู่ตลอดเวลา นึกถึงแต่ว่าถ้าเราผ่าร่างกายจิตใจนี้ออกไปแล้วมันจะได้ ๕ ส่วน คือขันธ์ ๕ นี้ นี่มันงมงายถึงขนาดนี้ นี่บางคนงมงายถึงขนาดว่า แม้เราหลับอยู่เราก็มีขันธ์ ๕ อย่างนี้ก็เป็นอันว่าหมดเลยไม่มีอะไรเหลือสำหรับความถูกต้อง ถ้ารู้จักขันธ์ ๕ จริง นั่นแหละจะรู้จักตัวพุทธศาสนาจริง คือรู้จักตัวสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ พอเป็นขันธ์ ๕ แล้ว ถ้ายังไม่มีความโง่หลงไปยึดเอาขันธ์ใดขันธ์หนึ่งว่าเป็นตัวกูหรือเป็นของกู ยังไม่มีความทุกข์ ดังนั้น ขันธ์ ๕ นั้นเมื่อถูกยึดถือแล้วก็ได้ชื่อใหม่ว่าอุปาทานขันธ์ มี ๕ อีกเหมือนกัน ยึดถือรูป ยึดถือเวทนา สัญญา สังขาร ต้องไปศึกษาจนเข้าใจสิ่งเหล่านี้ มองเห็นความรู้สึกเหล่านี้ว่าเป็นขันธ์คืออย่างไร พอถูกยึดถือแล้วเป็นเวทนาขันธ์อย่างไร มีทุกข์เร่าๆอยู่อย่างไร มันเป็นจิตวิทยาก็พอจะเรียกได้ เป็นวิทยาศาสตร์ในแขนงจิตวิทยาก็ได้ แต่มันมากกว่าจิตวิทยาธรรมดา เหมือนรู้เรื่องความทุกข์
ถ้าอยากจะศึกษาพุทธศาสนาให้ตามแบบของพระพุทธเจ้า ที่ว่าจะดับทุกข์ได้ก็ต้องศึกษานี่ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วเข้ามาถึงการให้เกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา หรือจะให้พูดมาอีกแง่หนึ่งก็คือเกิดเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เรียกว่าขันธ์ ๕ ที่เมื่อกี้ทางโน้นเขาเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ทีนี้เรามาหวังว่าเมื่อได้เรียนปรัชญาเพ้อเจ้อกันมาเพียงพอแล้ว ก็ควรจะเรียนพุทธศาสนาที่เป็นตัวจริงซะบ้าง ตามวิธีที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ฉะนั้นไม่ต้องไปที่ไหน มีเวลาก็นั่งลง ในที่ๆมันไม่มีอะไรรบกวน แล้วก็พยายามมองดูข้างในให้เข้าใจคำว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะแล้วก็วิญญาณธาตุทั้ง ๖ ผัสสะทั้ง ๖ เวทนาทั้ง ๖ และตัณหาทั้ง ๖ คือมัน ๖ นี่นับที่มันมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั้นเกิดเป็นอุปาทานเป็นตัวเรา เป็นของเรา เป็นมีความทุกข์อย่างไรนี้ อุตส่าห์ทนหน่อยแม้ว่ามันจะไม่สนุกหรือน่ารำคาญในตอนแรกๆ แต่พอเข้าใจได้แล้วมันจะสนุก เป็นเรียนธรรมะแท้จริง ไม่ใช่เรียนพุทธศาสนาเพ้อเจ้อ คือเรียนเป็นคำสั่งสอนที่พูดๆจำๆ คำนึงคำนวณอะไรกันไปก็ไม่รู้ปรัชญา นั่นก็พุทธศาสนาที่เพ้อเจ้อ คือเกินพุทธศาสนาที่จำเป็น ไม่ต้องเรียนเจาะจงลงไปที่ไอ้ตัวเรื่องตัวราวเหล่านี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้มันเป็นไอ้รากฐานของเรา ที่จะมีเรื่องต่างๆเป็นความทุกข์ขึ้นมาให้รู้และควบคุมให้ได้ อย่าให้เกิดความรู้สึกคิดนึกที่มันปรุงแต่งไปในทางยึดมั่นถือมั่นแล้วเป็นทุกข์ ถ้าพูดอย่างที่พูดอยู่ประจำ ก็พูดว่าอย่าให้มันปรุงแต่งไปในทางเป็นความรู้สึกว่าตัวกู ว่าของกู ให้มันสงบอยู่ตามเดิมตามธรรมชาติ คือถ้ารู้แจ้ง รู้แจ้งเป็นธาตุตามธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู อย่างนี้ล่ะไม่มีความทุกข์ เมื่อเป็นพุทธศาสนาที่แท้จริงได้ นี่มันไม่มีเวลาที่จะพูดให้ละเอียดได้ในคราวเดียว ดังนั้นจึงพูดได้แต่เรื่องหลักที่จะเอาไปสำหรับใช้เป็นหลักเพื่อศึกษาต่อไป
เอ้า, ทีนี้อยากจะพูดถึงคำว่าศึกษาบ้างอีกที เดี๋ยวจะเอาไปศึกษาอย่างวิธีการศึกษาอย่างธรรมดาเสียอีก ศึกษาอย่างความหมายในพุทธศาสนา หรือที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกว่าสิกขา หรือศึกษาในภาษาสันสกฤตก็ได้ มันหมายถึงการทำการปฏิบัติลงไปให้รู้แจ้ง อย่างที่เราศึกษาฟิสิกส์ เคมี อย่างหนึ่งๆในภาคทดลองนั่นน่ะ นั่นคือการศึกษาตามความหมายของพระพุทธเจ้าในพุทธศาสนานี้ เมื่อเราเรียนอยู่ในห้องเรียนนั้นมันเป็นปริยัต เพราะมันเป็นการศึกษาตัวหนังสือ ศึกษาอะไรต่างๆ เป็นเรื่องท่องจำ เป็น แต่พอลงไปมือ ลงไปทำ ลงมือทำการปฏิบัตินั้นจะเป็นการศึกษาที่ๆสมบูรณ์ขึ้นมา มันเป็นความรู้ที่ไม่ต้องอาศัยความจำ ไม่ต้องอาศัยเหตุผล ไม่ต้องคำนึงคำนวณ มันเป็นความรู้แจ้งโดยกระจ่าง นั่นคือผลของการศึกษาที่แท้จริง ในศาสนานี้เขาเรียกว่าศีลสิกขา สิกขะสิกขา ปัญญาสิกขา สิกขานี้ก็มันแปลว่าศึกษา แต่ไม่ใช่เรียนในโรงเรียนหรือท่องจำ หรืออะไรทำนองนั้น มันเป็นการปฏิบัติ จนกำจัดไอ้ความทุกข์ได้ ที่เป็นชั้นศีล มันกำจัดความทุกข์ได้ระดับหนึ่ง ที่เป็นชั้นสมาธิก็กำจัดความทุกข์ได้ระดับหนึ่ง ไอ้ที่เป็นชั้นปัญญาก็กำจัดความทุกข์ได้หมดเลย แล้วเดี๋ยวนี้เราเรียนเรื่องศีลสมาธิปัญญาอีกแบบหนึ่ง เรียนอย่างท่องจำ เรียนอย่างคำพูด เรียนอย่างประหยัด นี่มันก็ไม่ได้ผลไอ้นี่ เมื่อตากระทบรูปเป็นต้น ก็เกิดความรู้สึกเป็นกิเลสตัณหาขึ้นมา เราควบคุมมันไว้ให้ได้ อย่าให้มันเป็นไปอย่างนั้น อย่าๆให้มันเป็นไปด้วยความทุกข์ นั่นน่ะเรียกว่าศีลนะ เรามีกำลังจิต มีเจตนาควบคุมไม่ให้เกิดความผิดปกติเหล่านี้ เช่นออกมาเป็นการฆ่าเขา ตีเขา ด่าเขา นี่อย่าให้มันเกิดขึ้นได้ ถ้ามีสติสัมปชัญญะ มีความรู้ควบคุมไว้ได้นี่เรียกว่าศีลนะ ทีนี้ถ้าเราสามารถทำจิตให้มันปกติอยู่ได้น่ะไม่เดือดร้อนเพราะไอ้สิ่งเหล่านี้เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็เรียกว่าสมาธินะ แล้วถ้าเรารู้ถึงขนาดที่ว่าเราจะทำให้มันหมดปัญหา หมดความเคยชินในการที่จะเกิดกิเลส เป็นกิเลสเกิดไม่ได้ จนหมดความเคยชินที่จะเกิดกิเลสสิ้นเชิง นี่ก็เรียกว่าปัญญา นี่มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ชนิดที่แท้จริง ตามแบบของพระพุทธเจ้าจริงๆ มันมีอย่างนี้ นี่ถ้ามีอย่างปากพูด อย่างสอนกันในโรงเรียน มันก็จดๆๆใส่สมุดไว้ก็พอ พอปิดสมุดเสียแล้วก็เลิกกัน นี่มันโดยๆมากเป็นอย่างนั้น ทีนี้อย่างดีที่สุดก็มาร่ายเหมือนบทมนต์ เหมือนนกแก้วนกขุนทอง ศีลอย่างนั้น สมาธิอย่างนั้น ปัญญาอย่างนี้ ก็ว่าไปอย่างนกแก้วนกขุนทอง นี้มันก็ไม่เป็นศีล สมาธิ ปัญญาได้ นี่ขอให้สังเกตดูให้ดี ในวันนี้เราไม่อาจจะสามารถสอนเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา กันให้ละเอียดลออได้ แต่อาจจะบอกให้รู้จักไอ้ตัวจริงของสิ่งเหล่านี้ได้ ว่าอย่างนั้นมันจึงจะเป็นศีลจริง สมาธิจริง ปัญญาจริง ดังนั้นถ้าเราเคยเรียนศึกษากันมาแต่ศีลตัวหนังสือ สมาธิตัวหนังสือ ปัญญาตัวหนังสือ ก็มาเปลี่ยนมัน คือว่ามาทำต่อไปก็แล้วกัน เปลี่ยนๆไปๆเป็นไอ้เรื่องการกระทำจริงๆ ดังนั้นศีลจริง สมาธิจริง ปัญญาจริง เกิดขึ้นมาได้ ในชั้นแรกอาจจะทำไม่ได้ ถ้าไม่เรียนทางไอ้ๆหลักทฤษฎีกันเสียเลย ไม่ว่าเรื่องอะไรถ้าไม่มีการเรียนทางทฤษฎีกันเสียเลย มันก็ทำการปฏิบัติไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้มันทฤษฎีมากไม่รู้จักจบ มันเป็นทฤษฎีเตลิดเปิดเปิงไม่รู้จักจบ มันก็ไม่มีการปฏิบัติได้ ทีนี้ทางธรรมะนี้มันยิ่งๆเป็นอย่างนั้นได้ง่าย เพราะมันมีเรื่องชวนให้สนุกสนานในการเรียนในรูปของปริยัติหรือทฤษฎีเสียจนเฟ้อ เสียจนเกิน อย่างที่เรียกว่าอภิธรรมนี่ คือเรียนจนเฟ้อ เรียนจนเกิน ดังนั้นเรียนธรรมเฉยๆก็แล้วกัน ไม่เฟ้อ ไม่เกิน อภิธรรม ถ้าจะใช้คำว่าอภิธรรมนั้น แปลว่าธรรมะอย่างยิ่ง อย่างสูง แล้วก็ไม่เกิน นี่ถ้ารู้เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้เรื่องไม่มีตัวตน นี้คืออภิธรรมที่แท้จริงและไม่เกิน ถ้าไปแจกลูกแจกฝอยมากไปกว่านั้น มันก็เป็นอภิธรรมเฟ้อ อภิธรรมเกิน ไม่สำเร็จประโยชน์แก่การดับทุกข์ แต่อาจจะสำเร็จประโยชน์ในทางเป็นนักปราชญ์ หาชื่อเสียงหาลาภสักการะก็ได้ มันมีส่วนเกินสำหรับการศึกษาเสมอ ขอให้ไปคิดดูให้ดี นี่เรากำลังเรียนอะไรวิชาแพทย์หรือวิชาอะไรก็ตาม มันจะมีอยู่ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนเกิน ซึ่งไม่ต้องเรียนก็ได้ แต่ก็เผลอ อดเผลอไม่ได้เพราะมันสนุก มันก็เรียนกันไปเป็นเรื่องส่วนเกิน โดยเผื่อว่ามันจะมีอะไรดี คือใช้ประโยชน์อะไรได้ ส่วนที่ใช้จริงๆมันไม่ถึงเท่านั้น เอาแล้วนี่เป็นอันว่าที่เราพูดกันตั้งยืดยาวนี่ก็เพื่อจะให้รู้จักพุทธศาสนาที่เป็นตัวพุทธศาสนา แล้วก็เอามาใช้เป็นประโยชน์ให้ได้ อย่าให้เป็นเหมือนกับฝรั่งเรียนพุทธศาสนาในแง่ของปรัชญาแทบทั้งนั้น มีฝรั่งอุตริเพียง ๒-๓ คน เท่านั้นที่เคยมาศึกษาพุทธศาสนา ชนิดที่เป็นตัวพุทธศาสนา คือตัวการปฏิบัติ เราก็เลยทำกันไม่ค่อยได้ ทำกันไม่ค่อยจะได้ เพราะมันต้องการต่างกัน ทีนี้ไม่ใช่ฝรั่งแล้ว เป็นคนไทยในประเทศไทยนี้ ก็ยังกำลังหมุนไปในทางการศึกษาปริยัติ เขยิบขึ้นเป็นปรัชญามากเกินไป เพราะเรามันตามก้นพวกฝรั่ง เพราะฝรั่งเขานิยมปรัชญา เราก็ต้องนิยมปรัชญากับเขาด้วยสิ มันจึงจะเก่ง มันจึงจะทันฝรั่ง ดังนั้นสถาบันการศึกษาใหม่ๆนี่มันก็หลงปรัชญากันไปหมด แม้ในวัดในวาในการศึกษาพุทธศาสนา มันก็คงจะไม่มีทางที่จะเข้าถึงตัวพุทธศาสนาที่ดับทุกข์ได้ ดังนั้นต้องเปลี่ยนใหม่ หรือว่าเลื่อนขึ้นมาได้ มาถึงไอ้ตัวการศึกษาเหมือนกัน แต่มันอีกความหมายหนึ่ง ศีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขา โดยใช้ไอ้กายกับใจนี่เป็นห้องเรียน เป็นโรงเรียนเป็นอะไรนี่ กระทั่งเป็นตัวที่ถูกเรียนเป็นวัตถุที่เรียน เป็นบทเรียนเป็นอะไรอยู่ในนี้หมด นี่ก็รู้ความจริงที่แท้จริง ที่เป็นตัวจริง ที่รู้สึกได้จริง อย่างที่ว่ามาแล้ว รู้จักธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ นี่ยืนอยู่เป็นพื้นฐานเรียกว่าธาตุ แล้วก็มีธาตุที่จะมาผสมคือ ธาตุตา ธาตุหู ธาตุจมูก ธาตุลิ้น ธาตุกาย ธาตุใจ ที่มันจะมาผสมกับธาตุไอ้ ๖ ธาตุทีแรกนั้น แล้วมีธาตุข้างนอก ธาตุรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ จะเข้ามาผสมไอ้ธาตุเหล่านี้อีกทีหนึ่ง พอมาผสมกันมันจะเกิดการเปลี่ยนตัว เปลี่ยนรูป เปลี่ยนร่าง จากความเป็นธาตุนี่มาเป็นอายตนะ ที่เราเรียกว่าอายตนะข้างนอกข้างใน แล้วเกิดไอ้ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน เป็นกิเลสขึ้นมา ถ้าควบคุมไว้ได้มันก็ไม่เกิดกิเลส แล้วก็ไม่เป็นทุกข์ ถ้าควบคุมไว้ไม่ได้ ก็เกิดกิเลสและเป็นทุกข์ เรียนกันแต่เท่านี้พอ เรียกว่าเรียนวิปัสสนาก็ได้ แต่ฟังดูมันจะครึไปหน่อย ก็เรียนพุทธศาสนาที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าก็แล้วกัน เราจะต้องเรียนอย่างนี้ นี่จึงจะสำเร็จประโยชน์ในการเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา คือเอาพุทธศาสนามาใช้เป็นประโยชน์ได้ หรือที่เรียกว่าประยุกต์ ถ้าทำอย่างนี้คือถอยหลังเข้าคลองกรูดใหญ่ ๒,๐๐๐ กว่าปี ไปหาพระพุทธเจ้า มันก็ไปเรียนไปทำตามวิธีที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้า ดังนั้นถอยหลังเข้าคลองแบบนี้มันดี มันมีประโยชน์ แต่คนเขาเกลียดคำว่าถอยหลังเข้าคลอง
เดี๋ยวนี้โลกมันกำลังจะวินาศ เพราะมันเดินผิดทางมาก ดังนั้นโลกมันต้องถอยหลังเข้าคลอง มันจึงจะรอดได้ คือไปหาศีลธรรม ไปหาธรรมะ ไปหาพระเจ้า ไปหาอะไรกันใหม่ มันก็จะเปลี่ยนเป็นโลกที่รอดอยู่ได้ ถ้าไม่งั้นมันจะเป็นโลกที่วินาศ ยิ่งกว่าลุกเป็นไฟเสียอีก คือเต็มไปด้วยความทุกข์ แล้วก็เบียดเบียนกันจนถึงที่สุด วินาศกันทั้งโลกเรียกว่ามิคสัญญี แต่ธรรมะวิเศษมากในข้อที่มันจะป้องกันไว้ได้ เราเพียงคนเดียวไม่เอากับเขาก็ได้ เราสามารถทำจิตใจของเรานี่ไม่ให้ไปเอากับเขาก็ได้ ไม่ว่าร่างกายของเราจะถูกลูกระเบิดตาย แต่จิตใจของเราไม่มีความทุกข์เลย มันแยกออกมาได้อย่างนี้ ดังนั้นเราจึงไม่กลัว ไม่รัก ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่กลัว ไม่อะไรต่างๆ มันได้รับอานิสงส์ของธรรมะ ถ้าหวังอานิสงส์อย่างนี้จะถูกตัวพุทธศาสนา จะเข้าถึงตัวพุทธศาสนาได้ง่ายๆหรือเร็วๆ นี่ขอร้องให้นักศึกษาหรือว่าญาติโยมทั้งหลาย เริ่มสะสางปัญหาที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาแต่ที่เกี่ยวกับพวกเราในยุคปัจจุบันนี้ให้ได้ สะสางปัญหาเหล่านี้ออกให้ได้ เพื่อจะให้ใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องกำกับทุกด้าน นี่ปัญหานี้มันออกจะลึกลับนะ มันมองเห็นยาก เราจะไม่รู้สึกว่ามีปัญหา เราก็จะประมาทและอวดดีว่าเราไม่มีปัญหา เราสบายอยู่ ดังนั้นขอให้ตั้งต้นลงไปที่ไอ้ความที่เราหม่นหมองและเป็นทุกข์ในเมื่ออะไรมันเกิดขึ้น ไม่เป็นที่พอใจของเรา เรียกสั้นๆง่ายๆก็ว่าความทุกข์ก็แล้วกัน ความทุกข์ชนิดไหนในแง่ใดแง่หนึ่ง ในปริมาณใดปริมาณหนึ่ง มันเกิดขึ้นแก่เราแล้ว ก็รีบถือเอาสิ่งนั้นน่ะเป็นเรื่องสำหรับศึกษา ค้นให้พบต้นตอแล้วทำลายมันเสียให้ได้ นี่จะเป็นการศึกษาพุทธศาสนาที่ถูกต้องและแท้จริงทันทีเลย จะเป็นเด็กๆก็ได้ เป็นคนหนุ่มสาวอย่างวัยรุ่นก็ได้ ถ้าเขาได้รับการแนะนำดี เขาก็อาจจะใช้วิธีนี้ได้ แล้วปัญหาต่างๆจะไม่เกิดขึ้น ถ้าผิดจากนี้แล้ว เขาก็เอาๆไปตามกิเลส มันก็เลยเตลิดเปิดเปิงไปเข้ารกเข้าพง หรือวินาศไปด้วยอำนาจของกิเลสนั้น หรือมานั่งร้องไห้อยู่ นี้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร มันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น เมื่อไม่มีอะไรสมหวัง มัวนั่งร้องไห้อยู่ มันก็โง่ ทีนี้เมื่อได้อะไรอย่างใจก็ลิงโลดไปเลย มันก็โง่ มันไม่มีทางที่จะรู้ความจริงได้ ดังนั้นถ้าอะไรมันเกิดขึ้น และโดยเฉพาะความทุกข์นี่ ต้อนรับให้ดีๆ มันมาสอน ดังนั้นเราต้องต้อนรับอย่างครูบาอาจารย์ ถ้าเราโง่ ต้อนรับอย่างความทุกข์ เราก็นั่งร้องไห้อยู่ มันก็ไม่ได้อะไร จำไว้ว่าไอ้ความทุกข์ทุกชนิดมันมาเพื่อสอนให้เราฉลาดขึ้น ดังนั้นต้อนรับให้ดีๆ จะมีประโยชน์ มีกำไรมาก สำหรับความสุขนั้นมันไม่ค่อยสอนหรอก มันมาทำให้เราหลงไหล ลิงโลด เพลิดเพลิน มัวเมาไปเสีย ความสุขมันจะเป็นอย่างนี้ ดังนั้นเราก็โง่ไปเลยเมื่อความสุขมันเข้ามา ทีความทุกข์เข้ามา เราก็ต้อนรับไม่เป็น เราก็โง่อีก ความทุกข์เข้ามาก็โง่ ความสุขเข้ามาก็โง่ เราก็โง่มากขึ้นๆ เพราะมันพอกพูนความโง่มากขึ้น เราแก้ปัญหาต่างๆไม่ได้ เราก็มีความทุกข์ มันมีคำพูดที่ต้องระวังให้ดีว่าเราจะต้องขุดรากหรือถอนรากของความทุกข์ เราอย่ากลบเกลื่อน เดี๋ยวนี้มันๆมักจะกลบเกลื่อน เช่นเรามีความทุกข์ขึ้นมา ก็กินเหล้าเสีย ก็ไม่รู้สึกเป็นทุกข์ หรือว่าอยากจะทำอะไรตามอำนาจกิเลสก็ไปทำเสีย อยากไปดูหนังดูละครดูอะไรก็ไปๆเสีย อย่างนี้ไปดูหนังนั้นมันเพื่อกลบเกลื่อนความทุกข์เท่านั้นแหละ มันไม่ได้แก้ความทุกข์ ดังนั้นอย่าไปดูหนังดีกว่า ถ้าความทุกข์เกิดขึ้นแล้วก็ความกระวนกระวายใจ หม่นหมองใจเกิดขึ้นแล้ว ก็แก้มันลงไปตรงๆด้วยเรื่องทางจิตใจโดยตรง ตามที่เราได้ศึกษามาในพุทธศาสนา อย่างนี้เรียกว่าดับทุกข์ หรือแก้ความทุกข์ ไม่ใช่กลบเกลื่อนความทุกข์อย่างที่ทำกันโดยมาก เป็นวิธีการกลบเกลื่อน ทีนี้มันก็จะมากกว่าเดิมน่ะ เพราะมันไปช่วยกลบเกลื่อนมัน มันก็ไปช่วยส่งเสริมมันให้มันได้อย่างใจ แล้วมันจะเป็นโรคที่แรงกว่าเดิม แล้วเดี๋ยวก็จะกลบเกลื่อนกันไม่ไหว ดังนั้นถ้าขืนกลบเกลื่อนอย่างนี้แล้ว ไอ้โลกนี้มันก็เต็มไปด้วยไอ้คนที่เป็นทาสของกิเลสตัณหา หาเงินมากๆเป็นนายทุนที่ร่ำรวยไว้ ใช้เงินเพื่อจะกลบเกลื่อนไอ้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาจากกิเลสตัณหา ทำให้ตายก็ไม่ได้ เพราะมันไม่สามารถจะหมดไปได้ด้วยการกลบเกลื่อน มันจะหมดไปได้ด้วยการไอ้รื้อรากเหง้าถอนรากเหง้าขึ้นมา โดยๆวิธีทางศาสนา
ทีนี้สำหรับศาสนาพุทธเรานี่ เราใช้วิธีปัญญา ในเมื่อศาสนาอื่นเขาจะใช้วิธีศรัทธา ความเชื่อ หรือวิธีกำลังจิต บำเพ็ญจิตให้มีกำลังแล้วข่มขี่มันให้ความทุกข์หมดไปก็ตามใจเขา ทางพุทธศาสนาเรานี่ต้องการจะใช้กำลังของปัญญา ถ้ามีกำลังจิตก็เพื่อมาใช้แก่ปัญญา เพื่อๆเพิ่มอุปกรณ์ของปัญญา คือถ้าเรามีความเชื่อ เราก็เชื่อไปตามอำนาจของปัญญา ดังนั้นกำลังที่แท้จริงที่จะดับความทุกข์นั้น เป็นกำลังของปัญญา ซึ่งมันจะต้องลำบากกว้าง เพราะมันสูงกว่า ดีกว่า ละเอียดกว่า สุขุมกว่า ถ้าเราจะใช้แต่กำลังความเชื่อล้วนๆมันก็ง่ายดีเหมือนกัน แต่กลัวว่ามันจะไม่ๆสำเร็จประโยชน์ถึงที่สุด เพราะถ้าจะเพิ่มกำลังจิตให้มาก ให้ความเชื่อมันแน่นแฟ้นลงไป คือจะไม่ทุกข์ จะไม่ร้อน จะไม่อะไร จะยอมเชื่อความเชื่อพระเจ้า เชื่ออะไร ไม่ยอมทุกข์ร้อน นี้มันก็ได้เหมือนกัน แต่เรียกว่ามันไม่น่าดู และมันไม่ตรงตามแบบของพระพุทธเจ้า หรือที่เรียกกันว่าพุทธะ พุทธะ นี่ แปลว่าผู้มีปัญญา ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ล้วนแต่เป็นๆเรื่องของปัญญาหมด ไอ้เรื่องสมาธิ หรือเรื่องความเชื่อ เรื่องศรัทธา นี่เป็นบริวารของปัญญา ดังนั้นขอให้เลื่อนชั้นจากที่เอากันแต่เรื่องเชื่อเรื่องงมงายนี่ เลิกๆซะบ้าง เลื่อนมาหาปัญญา นับตั้งแต่มีปัญญา พอเห็นว่ามันเป็นแต่ว่าธาตุตามธรรมชาติทั้งนั้น ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู อันแท้จริงที่ไหน ก็ดูให้ดียิ่งๆขึ้นไป พอมันมีความรู้ที่แน่นอนลงไปว่าไม่มีตัวกูของกูแล้ว ก็เรียกว่าเข้าทาง เข้ากระแส เข้าหนทางของพุทธศาสนาแล้ว แม้ว่าเรายังไม่อาจละไอ้ตัวกูของกูได้ เรายังเผลออยู่บ่อยๆ แล้วทน เอ้อ เรายังควบคุมมันไม่ได้ มันมาเร็วหรือว่ามันอะไรก็ตาม แต่เรามีความเชื่อ ในเมื่อเราพิจารณาด้วยปัญญาแล้วเห็นว่าไม่มีตัวกูของกูแน่ เราไม่ลังเลสงสัยในความจริงของพุทธศาสนา เราละความงมงายต่างๆได้ ก็เลยเข้าทางของพุทธศาสนา นี่ก็เรียกว่า ผู้แรกถึงกระแส เรียกว่าพระโสดาบัน เรียกอะไรทำนองนั้น แต่ไม่อยากจะเอามาให้สนใจ เดี๋ยวก็จะไปเห่อไอ้ความเป็นอย่างนั้น เป็นกิเลสใหม่ก็ได้ ดังนั้นจึงแนะนำกันแต่เพียงว่าให้รู้จักความทุกข์ แล้วก็รู้จักกำจัดความทุกข์ ไถ่ถอนความทุกข์ บรรเทาความทุกข์ไปเรื่อยๆก็แล้วกัน อย่าไปเอาประกาศนียบัตรว่าเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อะไรให้มันยุ่ง นอกจากว่าความทุกข์ แล้วความทุกข์มันน้อยลง น้อยลง น้อยลง จนหมดทุกข์ ก็ถึงที่สุดของพุทธศาสนา นี่คือการศึกษาพุทธศาสนาโดยแท้จริง โดยตรงแก่ตัวพุทธศาสนา มีผลแห่งความดับทุกข์สิ้นเชิง ถ้าผิดจากนี้มันก็เป็นเรื่องพุทธศาสนาโดยอ้อม ก็มีประโยชน์ แม้พุทธศาสนาโดยอ้อมก็มีประโยชน์ ไปตามแบบของธรรมะโดยอ้อม อย่างน้อยก็ไว้เลี้ยงชีวิตได้ โดยการเป็นครูบาอาจารย์อย่างนี้ สอนพุทธศาสนาแก่ฝรั่งนี้ก็ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องของปรัชญาชนิดหนึ่ง ก็ยังมีประโยชน์ ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นโทษ แต่นี่เรามาพูดกันในแง่ที่จะดับทุกข์กันตรงๆและโดยเร็ว จึงต้องปรับปรุงกันใหม่อย่างนี้
นี่ขอให้ศึกษาไอ้พุทธศาสนาหรือพุทธธรรมนี้จากจิตใจ ถ้าได้ยินคำว่าพุทธศาสนาคู่กันมากับคำว่าพุทธธรรม แล้วก็ขอให้รู้เถิดว่าไอ้คำว่าพุทธธรรมนั้นมันปลอดภัย เพราะคำว่าพุทธธรรม มันแปลว่าธรรม หรือธรรมชาติหรือธรรมดานี่ของผู้รู้ มันๆปลอดภัยกว่าที่จะพูดว่าพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเพียงคำสอนของผู้รู้ ศาสนาแปลว่าคำสอน พุทธศาสนาแปลว่าคำสอนของผู้รู้ นี่มันยังกำกวม ดังนั้นคำว่าพุทธธรรมมันๆแน่นอนกว่า ถ้าเรารู้พุทธธรรม คือสิ่งที่จะต้องรู้สำหรับผู้รู้ ก็คือรู้เรื่องความจริงเหล่านี้ เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องเรียน เรื่องท่องจำ เรื่องจดไว้ในสมุด ซึ่งเป็นเรื่องคำสั่งสอนหรือการ สั่งสอน ดังนั้นพยายามให้เข้าถึงพุทธธรรม ซึ่งมันชัดดีกว่าคำว่าพุทธศาสนา แต่ถ้าให้จริงไปกว่านั้นอีก ก็ต้องใช้คำว่าพรหมจรรย์ พรหมจรรย์นี้แปลว่าการประพฤติที่ประเสริฐ จริยะแปลว่าประพฤติหรือกระทำ พรหมะนี่มันแปลว่าประเสริฐสูงสุด นี้พรหมจรรย์คือการประพฤติหรือการกระทำที่ประเสริฐที่สูงสุด เพราะมันดับทุกข์ได้ถึงที่สุด ดังนั้นสนใจคำว่าพรหมจรรย์กันไว้บ้าง ในภาษาไทยคำว่าพรหมจรรย์มีความหมายแคบๆตื้นๆ เป็นเรื่องอะไรตื้นๆ ในภาษาบาลีก็หมายถึงเรื่องทำให้บรรลุถึงนิพพานเรียกว่าพรหมจรรย์ ดังนั้นมาเรียนพุทธศาสนาโดยเนื้อแท้คือการประพฤติพรหมจรรย์ ใช้คำว่าเรียนนั้นมันไม่ถูก เรียนพุทธศาสนาคำสั่งสอนนั้นยิ่งไปกันใหญ่ แต่ถ้าๆท่านมาประพฤติพรหมจรรย์นั้นถูก ไม่มีทางที่จะผิดไปทางไหนได้ ดังนั้นขอให้สนใจคำนี้ เพราะว่าต้องเรียนด้วยจิตใจและก็เรียนจากข้างใน จะเรียนจากหนังสือไม่ได้ ไม่ได้ห้ามว่าอย่าอ่านหนังสือ อ่านหนังสือก็ได้ เพื่อเป็นหนทางที่จะไปเรียนข้างใน เรียนจากจิตใจข้างใน เพราะว่าคัมภีร์หรือคำสั่งสอนที่ถูกต้อง มันก็อธิบายวิธีการเรียนข้างใน ไปเรียนข้างใน ไปพิจารณาข้างใน เรียนจากข้างใน ดังนั้นเราจะพูดจะสนทนาจะศึกษาพุทธศาสนากันก็ได้ แต่ให้มันเป็นไปเพื่อประโยชน์ หรือว่าเป็นอุปกรณ์เป็นเครื่องช่วยให้เราเรียนข้างในได้ เมื่อเรานั่งอยู่คนเดียวเราเรียนได้ดี แต่เมื่อเรามาเข้ากลุ่มกัน เราก็เรียนอีกวิธีหนึ่ง คือแลกเปลี่ยนวิชาความรู้ เพื่อจะไปเรียนข้างในให้ได้ดี ให้ตั้งกลุ่มพุทธศาสน์ หรือกลุ่มอะไรก็ตาม มันก็ต้องจะต้องพูดต้องคุย ต้องเรียน ต้องมีตู้สมุดมีอะไรต่างๆนี้เป็นธรรมดา แต่ว่าเสร็จแล้วมันก็จะไปช่วยให้มีการเรียนข้างใน คือนั่งอยู่คนเดียวเรียนได้ดีกว่า ขอให้เตรียมตัวสำหรับความเป็นอย่างนี้ มันก็จะเป็นพุทธบริษัทได้ง่ายได้เร็วขึ้น เพราะเรียนจากความรู้สึกในใจจริงๆ เพราะความทุกข์มันคือสิ่งที่มีเป็นความรู้สึกอยู่ในใจจริงๆ มันจะดับทุกข์ ก็ต้องเป็นเรื่องที่ดับความรู้สึกที่มีอยู่ในใจจริงๆ จะดับข้างนอกมันดับไม่ได้ เมื่ออยากเรียนเรื่องจิต พูดกันแล้วเมื่อตอนเช้าว่า เข้าไปในที่ๆธรรมชาติมันจะมีอิทธิพลช่วยแวดล้อมให้ความยึดมั่นถือมั่นเกิดไม่ได้ ให้มีจิตใจโปร่งเย็นหยุดสบายบอกไม่ถูก เพราะนั้นเป็นเครื่องดึงดูดให้เรียนพุทธศาสนา เพราะว่าได้รับรสของไอ้พระนิพพานล่วงหน้า แม้จะเล็กน้อย มันจะดึงดูดไปหาไอ้ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดหรือที่ถาวร ถ้ายังไม่เข้าถึงจุดนี้ มันแน่นอนแล้ว มันยังรวนเร มันจะรวนเร มันจะกวัดแกว่ง หรือบางทีมันจะถอยหลัง ล้มเหลวไปก็ได้ แต่ถ้าได้ชิมรสของพระนิพพานเป็นการล่วงหน้าบ้างแล้ว รับรองได้ว่ามันจะไม่ถอยหลัง เพราะว่าจิตนี่มันก็เป็นของธรรมดาอย่างหนึ่ง ที่มันชอบจะดี ชอบจะสูง ชอบจะสบาย เพื่อให้พบความสบายอย่างดี อย่างแท้จริง อย่างถูกต้อง มันก็ชอบยิ่งๆขึ้นไป อย่างนี้เรียกว่าเรามันเข้าใกล้พระนิพพาน พยายามจะเข้าใกล้พระนิพพาน หรือเข้าใกล้ธรรมะ ถึงตัวธรรมะ ให้ธรรมะนี้ดึงไป ดึงไป ดึงไป นั่นน่ะคือพระพุทธเจ้าที่แท้จริง ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้ใดเห็น อ้า ผู้นั้นเห็นธรรมะ นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนั้น ไม่ได้ตรัสว่าเห็นตัวท่าน หรือว่าเห็นเนื้อหนังร่างกายท่าน หรือว่าเห็นพระธาตุกระดูกของท่าน หรือว่าเห็นไอ้พระเครื่องแขวนที่คอ นี้มันคนละเรื่องกัน มันต้องเห็นไอ้ตัวธรรมะข้างในจิตใจ นั่นเรียกว่าเห็นพระพุทธเจ้า เห็นธรรมะคือความจริงที่เป็นความดับทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเรียกว่าเห็นพระพุทธเจ้า มีพระบาลีอยู่ชัดนะ ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรมะ ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรมะ ทีนี้ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้ใดเห็นเราตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรมะ นี้เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี่เป็นเรื่องที่อยู่ในคนทุกคน ทุกเวลา แม้จะพูดว่ากระทั่งหลับ ถ้ามันฝันนะ ถ้าความคิดมันไม่หยุด อารมณ์ฝันไปได้ก็เป็นปฏิจจสมุปบาทชนิดหนึ่ง ทีนี้เอาเป็นๆเวลาที่ไม่นอนหลับนี่ ปกติประจำวันนี่ ก็ไปดูไปศึกษาเสีย มีเรื่องปฏิจจสมุปบาท ทุกคน ตลอดเวลา แต่มันจะไปถึงความทุกข์หรือไม่ก็อย่างหนึ่ง หรือทุกข์มากทุกข์น้อยก็อย่างหนึ่ง ไปเรียนเรื่องปฏิจจสมุปบาท คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ครบทั้งรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ แล้วเกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดตัวกูของกู แล้วก็เป็นทุกข์จนกว่ามันจะเปลี่ยนเรื่อง เห็นความจริงข้อนี้เรียกว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ทีนี้ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ก็พอ เมื่อรู้ว่าเราถึงธรรม มีธรรม ดับทุกข์ได้ นี่ถ้าเข้าใจคำพูดเหล่านี้ ก็จะเรียกว่าพอจะสะสางปัญหาที่กำลังมีอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ ว่าทำไมเราจึงใช้พุทธศาสนาให้เป็นประโยชน์ได้ นี่การบรรยายในครั้งแรกนี่ก็พอสมควรแก่เวลา ดังนั้นขอยุติไว้เท่านี้ก่อน.