แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ และวิริยะ ความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงาม ก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้ เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ปรารภเหตุเนื่องด้วยวิสาขบูชา ดังที่ท่านทั้งหลายได้ย่อมจะทราบได้เองแล้ว ธรรมเทศนาในโอกาสนี้ โดยเฉพาะในเวลานี้นั้น อยากจะแสดงในทางที่เป็นการแนะนำ เพราะเราจะกระทำพิธีวิสาขบูชากันให้สำเร็จประโยชน์ให้มากที่สุดมากได้อย่างไร เป็นการเตือนกันเป็นประจำปี เพื่อว่าจะเป็นการกระทำที่มีผลยิ่งขึ้นไปทุกปี สิ่งที่จะต้องนึกกัน ก็คือ เรื่องที่เกี่ยวกับจิตใจ เพราะว่าการกระทำใดๆ ที่เป็นการกระทำอย่างแท้จริงแล้วย่อมเนื่องอยู่กับจิตใจเป็นส่วนใหญ่ ถ้ามันมีการถูกต้องในส่วนจิตใจ ส่วนภายนอกโดยทางกายหรือทางวาจาย่อมจะถูกต้องเอง ดังนั้นเราจะต้องเพิ่มพูนความก้าวหน้าในทางจิตใจให้มีความรู้ ความเข้าใจในสิ่งที่ตนกระทำเป็นข้อแรก เดี๋ยวนี้ท่านทั้งหลายได้มาเพื่อประกอบพิธีวิสาขบูชากันที่นี่ ในลักษณะเช่นนี้ สถานที่นี้เป็นไปตามธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ อุตส่าห์มาหาความเป็นธรรมชาติที่นี่ และการมาในที่นี่ก็มันมีลักษณะเหมือนกับมาธุดงค์ อย่างท่านทั้งหลายก็ได้ทราบอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นการไปเที่ยวหาความสนุกสนาน เพราะว่ามันไม่มีอะไรที่จะสนุกสนาน จะไปเที่ยวหาความสะดวกสบาย มันก็หาไม่ได้ในสถานที่นี้ มันก็เลยกลายเป็นเรื่องของการธุดงค์
คำว่า “ธุดงค์” แปลว่า กำจัด กำจัดสิ่งที่ควรจะกำจัด สิ่งแรกที่สุดก็คือ ความละโมบโลภลาภ ในอีกทางหนึ่งที่ตรงกันข้ามก็คือ ความอ่อนแอ การมาในที่อย่างนี้ย่อมช่วยให้กำจัดความอ่อนแอได้เป็นอย่างน้อย แม้เพียงข้อเดียวเท่านั้นก็เรียกว่าเป็นธุดงค์ได้ซะแล้ว หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ท่านมาทดลองความขูดเกลา คือว่า ไม่ทำอะไรตามใจกิเลส แต่จะทำตามหลักเกณฑ์ของพระธรรม เมื่อไปทำเข้า มันก็เป็นการขูดเกลา อย่างที่นี่ไม่มีความสนุกสนาน สะดวกสบายอะไร ต้องมาหรือกระทำหรือเป็นอยู่ด้วยความอดกลั้น อดทน มันก็เป็นความขูดเกลา จะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มาชิมรสของศรัทธา ท่านทั้งหลายมีความศรัทธา ชิมรสของศรัทธาอยู่ที่บ้านนั้นดูจะเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งนั้น เมื่อศรัทธาจริง มาที่นี่จริง ก็ได้ชิมรสของศรัทธาจริงๆ ไม่หลอกลวง เช่นว่า จะต้องลำบาก จะต้องปวดเท้า พูดกันตรงๆ เดินประทักษิณบนก้อนกรวด บนรากไม้ บนธรรมชาติอย่างนี้ มันต้องทำด้วยศรัทธา ไหนๆ ก็ศรัทธาแล้วก็จะได้พยายามชิมรสของศรัทธา มันก็เป็นความรู้อีกส่วนหนึ่งซึ่งยังไม่เคยรู้ ท่านไม่ได้รับความสะดวกสบาย แม้แต่สุดแต่การพักพาอาศัยในสถานที่พัก เสื่อก็ไม่มีให้ หมอนก็ไม่มี ยิ่งกว่านั้นที่พักก็ไม่มี เขาพูดกันว่า ขายหน้าท่านสมภาร อาตมาก็บอกว่า สมภารที่นี่ไม่มีหน้าจะขายแล้ว แล้วก็ไม่มีหน้าจะเสียแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่มีขวนขวายอะไร ในการที่ท่านจะมีเสื่อ มีหมอนหรือไม่ หรือว่าจะมีที่พักกันตามบุญตามกรรม เพราะเห็นว่ายิ่งต้องเสียสละเท่าไร มันก็ยิ่งเป็นการขูดเกลาเท่านั้น มันก็เป็นการชิมรสของศรัทธาและศรัทธาก็จะมีอานิสงส์ยิ่งขึ้นไปอีก ดูอีกทีหนึ่ง เดี๋ยวนี้ก็นั่งอยู่กลางพื้นดินที่ขรุขระอยู่ตามธรรมชาติ ท่านก็ไม่ได้รับความสะดวกสบาย นี้ก็จะต้องยกให้เป็นเรื่องของการชิมรสของศรัทธา แต่ว่าอาตมาอยากจะแนะนำอย่างอื่น ซึ่งเคยแนะนำแล้วแนะนำเล่า ไม่รู้จักเบื่อ อย่างซ้ำๆ ซากๆ ว่า เมื่อไรมีโอกาสนั่งกลางดิน ขอให้มีจิตใจที่เปี่ยมยิ่งขึ้นไปด้วยศรัทธา ภาษาพระในพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์ ใครๆ ก็ทราบว่า ท่านประสูติกลางดินในสวนลุมพินีในวันเช่นวันนี้ ท่านตรัสรู้ก็กลางดินที่โคนต้นโพธิ์ริมตลิ่งของแม่น้ำแห่งหนึ่ง ท่านก็ตรัสรู้กลางดิน แม้ท่านจะปรินิพพานในป่าไม้สาละ ท่านก็ปรินิพพานกลางดิน นี้ คำว่า “ดิน หรือ กลางดิน” นี้ มันมีเกียรติมากอย่างนี้
ในอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องมองให้ตลอดไป ก็คือว่า พระพุทธโอวาททั้งหลายสำรวจดูแล้ว รู้สึกว่าเป็นการแสดงกลางดินทั้งนั้นหรือจะแทบทั้งนั้น เพราะท่านอยู่กันตามพื้นดิน กุฏิของพระพุทธเจ้าก็พื้นดิน ไม่ว่าที่ไหนไปดูเถอะในประเทศอินเดียเป็นกุฏิพื้นดินทั้งนั้น นั้น ท่านก็ต้องอยู่ตามพื้นดิน ฉะนั้นดินจึงมีความหมายศักดิ์สิทธิ์สำหรับพวกเราว่า พระพุทธเจ้าท่านประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน และอยู่โดยทั่วๆ ไปกลางพื้นดิน นี่จะต้องถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นเครื่องรองรับสัตว์ทั้งหลายซึ่งเปรียบเหมือนกับ ซึ่งเปรียบกันได้กับสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ ธรรมะเหมือนแผ่นดิน แผ่นดินเหมือนธรรมะ แผ่นดินเป็นเครื่องรองรับกาย ธรรมะเป็นเครื่องรองรับใจ นี่เรียกว่าเป็นไปตามธรรมชาติที่สุดแล้ว พระพุทธองค์ท่านประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน กลางดิน อยู่กลางดิน แต่พวกสาวกของท่านอยากจะอยู่วิมาร เพราะได้ยินว่าทำบุญสักหน่อยหนึ่งก็ปรารถนาวิมาร อยากจะอยู่วิมาร แม้อยู่ในโลกนี้ก็ยังอยากจะอยู่บนตึก ซึ่งคล้ายกับวิมาร พยายามหาเงินหาทองที่จะซื้อหาสิ่งเหล่านี้ ดูๆ แล้วมันก็เดินกันคนละทาง อย่างน้อยโดยจิตใจก็เดินกันคนละทาง จึงไม่ค่อยพบกัน จึงไม่ค่อยพบกันกับธรรมะนั่นเอง เดี๋ยวนี้นั่งอยู่บนพื้นดินแล้ว ก็ระลึกนึกถึงพระพุทธองค์เถิดว่า ท่านเกิด ท่านตรัสรู้ และตายกลางดินนี่ พูดอย่างธรรมดาสามัญมันเข้าใจได้ง่าย จงได้พอใจที่จะได้เกี่ยวข้องกับดิน เป็นเกลอกับธรรมชาติเช่นกับพระพุทธองค์บ้าง ท่านอยู่ในป่า ท่านเป็นเกลอกับธรรมชาติ นี่เราเดี๋ยวนี้ก็กำลังมานั่งที่นี่เพื่อเป็นเกลอกับธรรมชาติให้เหมือนกับพระองค์ ก็จะเข้าใจกันได้ง่ายขึ้น มันมีหลักอยู่อย่างหนึ่งซึ่งเชื่อถือได้ว่า ถ้าเรามีการเป็นอยู่คล้ายๆ กับผู้ใด ก็เป็นการง่ายที่เราจะเกิดความคิด ความนึก คล้ายๆ กับผู้นั้นได้โดยอัตโนมัติ ขอให้ท่านทั้งหลายจงได้มีการเป็นอยู่ที่เป็นเกลอกับธรรมชาติให้คล้ายกับพระพุทธเจ้าให้มากเท่าที่จะทำได้
นี้ดูต่อไปว่ามาเป็นเกลอกับธรรมชาติแล้วมันจะได้อะไร เอาธรรมชาติที่นี่เป็นตัวอย่างก็แล้วกัน เมื่อเราอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ อิทธิพลของธรรมชาติก็จะครอบงำ ไม่ให้เกิดความรู้สึกขึ้นในใจในทำนองที่เป็นกิเลส เพราะธรรมชาติอันบริสุทธิ์นั้น มันไม่ใช่กิเลส มันเป็นความสะอาด สว่าง สงบ อยู่ตามธรรมชาติ โดยเฉพาะก็เป็นความเยือกเย็น ธรรมชาติครอบงำจิตใจแล้ว เราก็รู้สึกเยือกเย็น เพราะว่าไม่เกิดกิเลสประเภทตัวกู ของกู อย่างนี้ก็เรียกว่า มีจิตใจเกลี้ยงเกลาจากสิ่งที่รบกวนจิต วัดนี้ เรียกว่า “สวนโมกข์” เพราะว่า “โมกข์” แปลว่า เกลี้ยง ที่เกลี้ยงจากสิ่งรบกวนจิต ถ้าจิตโมกข์ ก็คือ จิตเกลี้ยงจากกิเลสหรือสิ่งรบกวนจิต เกลี้ยงชั่วคราว ก็เรียกว่า โมกข์ชั่วคราว เกลี้ยงตลอดไป ก็เป็นอันว่า โมกข์ตลอดไป หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่ง ก็เรียกว่า จิตมันว่างจากกิเลส เมื่อว่างจากกิเลส ก็ว่างจากความทุกข์ คำว่า “ว่าง” นี่ ความหมายที่สำคัญ มันอยู่ตรงที่ว่า ว่างจากตัวกู ของกู ที่มันวุ่นหรือมันไม่ว่างนั้นก็มันเต็มอัดด้วยความรู้สึกประเภทตัวกู ของกู ถ้ามันไม่มีความรู้สึกที่เป็นตัวกู ของกูแล้ว มันก็ไม่มีอะไรที่จะเรียกว่า เป็นนั่น เป็นนี่ มีนั่น มีนี่ มันจึงเรียกว่า “ว่าง” แม้ว่าในขณะนั้นจะมีความคิดนึกอย่างนั้น อย่างนี้ หรือรู้แจ้งอย่างนั้น อย่างนี้ ก็ยังเรียกว่า “จิตว่าง” อยู่นั่นเอง เพราะในความรู้สึกคิดนึกอันถูกต้องนั้น มันไม่มีความหมายแห่งตัวกู ของกู งั้นจิตที่มันว่างนี้จึงประกอบอยู่ด้วย สิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ตัวกู ของกู เป็นอย่างยิ่ง ก็คือ “สติปัญญา” เมื่อใดมันว่างจากความรู้สึกประเภทตัวกู ของกู เมื่อนั้น เรียกว่า มีจิตว่าง เมื่อนั้นจะสบายที่สุด แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ในประเทศพุทธศาสนาเรา ก็ยังไม่รู้ความหมายของคำว่า “สุญญตาหรือความว่าง” ว่าจิตที่กำลังอยู่ด้วยความว่าง เข้าใจไปต่าง ๆ นานา ถ้าจิตว่างแล้ว ก็ไม่รับผิดชอบอะไร ไม่ทำอะไร ดีแต่จะเอาเปรียบคนอื่น นั้นคือ การตีความของคนอันธพาล ไม่ใช่การตีความของพุทธบริษัท การที่ใช้คำว่า “จิตว่าง” ก็เพื่อสะดวก ง่ายในการที่จะเข้าใจ แล้วก็ปฏิบัติได้ นี่ขอให้รู้ว่า จิตว่างนั้นหลายแบบ แต่แบบของพระพุทธศาสนาที่เนื่องด้วยสุญญตานั้น คือ ว่างจากตัวกู ของกู เดี๋ยวนี้ มันก็ว่าง อาตมากล้าทายเลยทีเดียวว่า ท่านกำลังมีจิตว่าง คือ ว่างจากความรู้สึกประเภทตัวกู ของกู มันเป็นอยู่ด้วยความรู้สึกอย่างอื่นซึ่งตรงกันข้าม เพราะฉะนั้นจึงสบาย จึงรู้สึกสบาย และสบายแบบที่ไม่เหมือนใคร ไม่ซ้ำกับความสุข ความสบายที่เคยกันมาแล้ว นี่เขาให้เรียนธรรมะจากภายในใจโดยตรงว่า ธรรมชาติมีอิทธิพลในการที่จะบังคับไม่ให้เกิดความรู้สึกประเภทตัวกู ของกู ได้เป็นอย่างมาก หรือพอที่จะเป็นเดิมพันสำหรับศึกษาให้ก้าวหน้าต่อไป ขอให้ต้อนรับสิ่งนี้ให้ดี คือ ให้เข้าใจ แล้วก็รู้ว่า เราจะเป็นสุขที่สุดโดยเฉพาะต่อเมื่อเราไม่มีความรู้สึกประเภทตัวกู ของกู เท่านั้น ส่วนมันจะมีอะไรบริบูรณ์หรือไม่ มันก็ไม่สำคัญ แม้ว่าเดี๋ยวนี้กำลังนั่งอยู่บนพื้นดินอันขรุขระ แต่มันก็รู้สึกสบาย เพราะว่าจิตมันว่างจากตัวกู ของกู ขอให้ถือเอาบทเรียนอันนี้ เขาว่าเป็นบทเรียนที่ดีที่สุด จะเรียนที่อื่นไม่ได้ นอกจากจะเรียนอยู่ใกล้ๆ ธรรมชาติ หรือเป็นเกลอกับธรรมชาติ พระศาสดาของทุกๆ ศาสนาล้วนแต่ตรัสรู้ในป่าทั้งนั้น ยังไม่เคยพบว่าพระศาสดาแห่งศาสนาใด ตรัสรู้ในวัดวาอารามหรือแม้แต่อยู่ในบ้าน ในเมือง ไม่ต้องพูดถึงเลย ถ้าผู้ใดสามารถศึกษาพระธรรมจากความรู้สึกภายในใจจริงๆ อย่างนี้แล้วก็จะเจริญด้วยธรรม จะก้าวหน้าไปในทางธรรมอย่างรวดเร็วที่สุด ดีกว่าอ่านหนังสือเป็นหอบๆ หรือว่าจะฟังเทศน์เป็นนับร้อยๆ ครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แต่ถ้าไม่รู้จักศึกษาธรรมะจากความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในใจแล้วจะไม่รู้ธรรมะชนิดที่เป็นธรรมะแท้จริง จะเพียงแต่จำได้ ท่องได้ หรือพูดได้ แต่ไม่มีธรรมะที่แท้จริง ดังนั้นขอให้หวนกลับเข้าไปข้างใน กำหนดพิจารณาความรู้สึกที่รู้สึกอยู่ในใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อขณะนี้ว่า เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าที่ประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน เป็นเกลอกับธรรมชาติ และมานั่งให้ธรรมชาติช่วยกระทำให้เกิดความรู้สึกอย่างเดียวกันนั้น บางคนก็เข้าถึงความรู้สึกอันนี้ สังเกตได้จากที่ไม่รู้จักเข็ดหลาบในการที่จะมาที่วัดนี้ บางคนมาตั้งสองหน สามหน ตั้งสิบหน ก็ยังมี ทั้งที่มันลำบากทุกๆ ประการ และที่จะมาเวียนเทียนที่นี่ก็ต้องทนปวดเท้า ไม่ได้เวียนบนลานซีเมนต์ที่เกลี้ยงและยังสวมรองเท้าเสียด้วยซ้ำ ถ้าเราจะทำการบูชาแท้จริงก็ต้องถอดรองเท้า และก็จะต้องเดินไปบนผิวดินที่มันเป็นตามธรรมชาติ โดยระลึกว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่มีรองเท้า เท่าที่อาตมาศึกษา ค้นคว้ามา ไม่ปรากฎที่ตรงไหนเลยว่า พระพุทธเจ้าท่านมีรองเท้า ก็แปลว่า ท่านเดินด้วยเท้าเปล่าทั้งบนพื้นแผ่นดินที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ในประเทศอินเดียก็ไม่แพ้ในประเทศไทย ขอให้ทำในใจอย่างนี้แล้วศรัทธามันก็จะเกิดขึ้น ว่าการปวดเท้าอะไรเป็นต้นนี่ ก็เพื่อบูชาคุณของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านไม่มีรองเท้า ท่านไม่ได้ขึ้นรถยนต์ เพราะไม่มีรถยนต์ และเกวียน ท่านก็ไม่ขึ้น เพราะว่ามันลากด้วยสัตว์ที่มีชีวิต ท่านไม่มีร่ม ท่านไม่มีอะไรอีกหลายอย่างอย่างที่คนเดี๋ยวนี้มี เราลำบากนิดหน่อย เพียงว่าปวดเท้าไม่กี่นาที นี่มันจะมากมายอะไรนักหนา ถ้าคิดถึงข้อที่ท่านเดินไปโปรดสัตว์เป็นโยชน์ๆ และตลอดชีวิตของท่าน นี่มันก็เทียบกันไม่ได้กับความลำบากของพวกเราที่จะมาเวียนเทียนสัก ๓ รอบตามธรรมชาติ
ทีนี้ก็ขอให้ดูกันต่อไปถึงวันวันนี้ที่เรียกกันว่า “วันวิสาขบูชา” เขาว่ากันว่า วันนี้เป็นวันที่ตรงกันทั้งการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ตามหนังสือคัมภีร์ที่มีไว้สรุปความได้ว่า ท่านประสูติตอนเที่ยงวันของวันเช่นวันนี้ ท่านตรัสรู้หัวรุ่งของวันเช่นวันนี้ ท่านนิพพานหัวค่ำของวันเช่นวันนี้ ตรงกับวันนี้ทั้งนั้น คือ วันเพ็ญ เดือนวิสาขะ ข้อความเหล่านี้ไม่มีในพระไตรปิฎก มีในอรรถกถาหรืออรรถกถาที่รองๆ ลงมาในชั้นฎีกาด้วยซ้ำไป แต่เอาเถอะเป็นอันยอมรับได้ เพราะว่า เขาได้ถือกันมาอย่างนี้จนเป็นสถาบันแห่งความเชื่ออย่างหนึ่งแล้ว แต่อาตมาจะบอกว่า มันยิ่งกว่านั้น มันยังดีกว่านั้น มันยังพิเศษกว่านั้น คือว่า ในวินาทีนั้น วินาทีเดียวกันนั้น ท่านเป็น ท่านมีการประสูติ มีการตรัสรู้ และมีการปรินิพพาน อย่าพูดถึงวันหนึ่งเลย พูดเพียงว่าวินาทีเดียวเท่านั้น ในวินาทีใดที่ท่านตรัสรู้ ในวินาทีนั้น เรียกว่า เป็นการเกิดขึ้นแล้วแห่งพระพุทธเจ้า นี้เป็นการประสูติ ในวินาทีแห่งการตรัสรู้ กิเลสทั้งหลายดับไป ตัวกู ของกู ดับไปสิ้นเชิง ไม่มีเหลือ เป็นการตายแห่งกิเลสทั้งหลาย นี่เรียกว่า “ปรินิพพาน” ฉะนั้นในวินาทีเดียวนั้น เป็นทั้งประสูติ ทั้งตรัสรู้ ทั้งปรินิพพาน นี่เราจะทำให้ตรงตามวินาทีนั้นย่อมจะทำไม่ได้ เพราะว่า เอาการประสูติไปไว้ตอนเที่ยง การตรัสรู้ไปไว้ตอนหัวรุ่ง การนิพพานไว้ตอนหัวค่ำนี้ มันทำไม่ได้ แต่ว่าเราอาจจะถือใจความสำคัญอีกอย่างหนึ่งว่า วินาทีใดเป็นการตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว วินาทีนั้นเป็นการเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าในโลกนี้ วินาทีนั้นเป็นการปรินิพพาน คือ ความสิ้นไปแห่งกิเลส ดับสิ้นแห่งกิเลสชนิดที่ถึงที่สุด วันที่มีวินาทีพิเศษอย่างนี้ได้เวียนมาถึงเข้าอีกแล้วในวันนี้ ดังนั้นเรามาประชุมกันที่นี่เพื่อเป็นที่ระลึกแก่วินาทีอันพิเศษนั้น พิเศษจนไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรดี อาตมาก็จนปัญญาที่จะเรียกว่า วินาทีทองหรือวินาทีอย่างนี้ มันยังโง่ไม่คุ้มกัน ก็เลยไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไร มันยิ่งกว่าเพชร ยิ่งกว่าทอง ยิ่งกว่าอะไรหมด มันเป็นวินาทีแห่งการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ขอให้เข้าใจคำนี้ให้ถูกต้อง เผื่อว่าพวกอื่น ศาสนาอื่น เขามาถามและจะอธิบายอย่างไม่น่าเชื่อ เขาก็จะไม่เชื่อ แล้วพวกชาวพุทธด้วยกันเองก็ยังจะต้องเถียงกัน เพราะว่า พุทธศาสนาอย่างมหายาน ไม่ได้ถือว่าอย่างนี้ และไม่ได้ถือว่าตรงเป็นวันเดียวกันด้วย ถ้าจะให้คงมติอันนี้ไว้ว่าเป็นวันเดียวกันแล้วก็ควรจะถือว่าเป็นวินาทีเดียวกันมากกว่า วินาทีใดมีการตรัสรู้ก็มีการเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า และมีการดับเย็นสนิทแห่งกิเลส มีการทำลายล้างพญามารสูญสิ้นไปในโลกนี้ ขอให้ตั้งอกตั้งใจเป็นอย่างยิ่งจะทำทุกอย่างให้สมกับว่ามันเป็นวันที่มีวินาทีอันวิเศษนี้และวินาทีอันวิเศษนี้ก็ได้มีกลางดิน อย่าลืมว่า กำลังนั่งกลางดิน ตรงกับว่าวินาทีอันวิเศษนี้ของพระพุทธเจ้าก็มีแถบพื้นดินเหมือนกับที่เรากำลังนั่งอยู่ที่นี่
ดังนั้นขอให้ทำกาย วาจา ใจ ให้ถูกต้องที่สุดเกี่ยวกับแผ่นดินนี้ทุกอย่างทุกประการตามที่ตนจะทำได้ ถ้าจะเรียกอย่างภาษาคน ภาษาสมมติ ก็ต้องว่า ให้ถูกพระหฤทัยของพระพุทธเจ้าให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หรือว่าให้เราได้รับประโยชน์ทางฝ่ายเราเองนี่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นอยากจะตั้งปัญหาขึ้นมาให้เป็นข้อสังเกตได้ง่ายๆ ว่า ใครควรจะเป็นอย่างไร บรรดาเราทั้งหลายที่นั่งอยู่ที่นี่ ใครควรจะเป็นอย่างไร ใครจะเป็นบุตรของพระพุทธเจ้าบ้าง หรือว่าใครจะเป็นลูกเขย ลูกสะใภ้ ของพระพุทธเจ้าบ้าง หรือว่าจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับท่านเสียเลย ส่วนอาตมานี้สมัครเป็นทาสของท่าน ซึ่งท่านทั้งหลายก็พอจะเข้าใจได้แล้วว่าหมายความว่าอย่างไร ข้อที่ว่าใครสมัครเป็นบุตร เป็นลูกของท่านบ้าง นี่ก็มีคำที่กล่าวที่เรียกกันอยู่ทั่วๆ ไปว่า ศากยบุตรพุทธชินโอรส หมายถึง ภิกษุ สามเณร ผู้ประพฤติปฏิบัติดี ถูกตรงตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้อย่างไร ก็เรียกว่า เป็นลูกของพระพุทธเจ้าได้ หรือว่าแม้อุบาสก อุบาสิกา เมื่อประพฤติปฏิบัติตรงตามหลักธรรมนั้นๆ แล้วก็เรียกว่า เป็นลูกของพระพุทธเจ้าได้ เพราะว่าธรรมะที่ประพฤตินั้น เราได้มาจากพระพุทธเจ้าหรือว่าธรรมะของพระองค์นั้นได้ทำให้เรามีอาการเหมือนกับท่าน เดินตามท่านไป นี่ ความเป็นอย่างนี้ของเราได้มาจากธรรมะของพระองค์ที่ว่า เกิดใหม่กันอีกทีหนึ่งจากธรรมะของพระองค์ ใครทำอย่างนี้ คนนั้นได้ชื่อว่า เป็นลูกของพระพุทธเจ้า นี้เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา เป็นที่ตั้งแห่งความพยายาม ถ้าผู้ใดต้องการที่จะเป็นบุตรของพระตถาคต ก็จงพยายามและตั้งใจเป็นอย่างยิ่งในโอกาสเช่นนี้ ส่วนข้อที่ว่าใครอยากจะเป็นลูกเขย เป็นลูกสะใภ้ของพระพุทธเจ้านั้น มันมีเรื่องที่จะต้องอธิบาย อาตมาเคยพูดโดยโวหารอย่างนี้ ก็มีคนเข้าใจอยู่ ฉะนั้นยังจะต้องพูดกันบ้างในบางคราว พระพุทธเจ้ามีลูกสาวหรือลูกชายก็ได้ แล้วแต่จะเรียก เรียกว่า “สุญญตา” แปลว่า ความว่าง เมื่อว่างแล้วก็ไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์ เป็นผู้หญิงก็เรียกว่า นางสาวสุญญตา มีค่าควรจะอยู่ในหีบที่ทำด้วยเพชร นี้เป็นภาพพจน์ที่ทำให้เกิดความเข้าใจได้โดยง่าย และถ้าลองนึกดูว่า ถ้าหีบมันทำด้วยเพชร แล้วท่านจะเอาอะไรใส่ ก็กลายเป็นคนโง่ นิ่ง อึ้งไปหมด ไม่รู้ว่าจะหาอะไรมาใส่ในหีบที่มันเป็นเพชร เพราะว่าเปลือกมันเป็นเพชรจะเอาอะไรที่แพงกว่านั้นมาใส่ในหีบนั้น จะเอากระดูกของพ่อแม่สักสองสามชิ้นใส่ในนั้นก็ยังจะน่าดูกว่าที่จะใส่เงินทอง แก้ว แหวน หนังสือสัญญากู้เงิน มันไม่เหมาะ มันไม่ถูก เพราะว่าหีบมันเป็นเพชร ในหีบที่มันเป็นเพชรนี้ไม่มีอะไรที่มีค่าที่ควรจะใส่ลงไป นอกจากนางสาวสุญญตา คือ ความที่อยู่เหนือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความว่างจากตัวตนของตน ไม่มีอุปาทาน ความหมายมั่นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ตัวตน เรา เขา อย่างนี้ก็เรียกว่า “สุญญตา” เรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ นิพพาน นั่นเอง ผู้ที่มีความรู้ถึงที่สุด ท่านก็บัญญัติว่า “นิพพานัง ปรมัง สุญญัง” นิพพานนั่นแหละเป็นสุญญะอย่างยิ่ง สุญญตา ความว่าง อย่างนั้น อย่างเดียวเท่านั้น มีค่าที่สมควรที่จะนำมาใส่ลงไปในหีบที่มันเป็นเพชร เปลือกมันเป็นเพชร เนื้อในมันต้องดีกว่าเพชร นั้นไม่มีอะไรนอกไปกว่าสุญญตา ผู้ใดได้แต่งงานกับลูกสาวของพระพุทธเจ้าก็ได้ชื่อว่า เป็นลูกเขยของพระพุทธเจ้า ผู้ใดได้แต่งงานกับสุญญตาผู้นั้นก็ได้ชื่อว่า เป็นลูกสะใภ้ของพระพุทธเจ้า ท่านคงจะงง เพราะไม่รู้ว่าสุญญตานั้น มันอยู่เหนือความเป็นผู้หญิงหรือความเป็นผู้ชาย ดังนั้นผู้หญิงก็บรรลุอรหันตผลได้ ผู้ชายก็บรรลุอรหันตผลได้ ไม่มีความผิดแปลกแตกต่างกันในข้อนี้ ดังนั้น จึงกล่าวโดยสมมติว่า จะเป็นลูกเขยของพระพุทธเจ้าก็ได้ จะเป็นลูกสะใภ้ของพระพุทธเจ้าก็ได้ ถ้าคนมันไม่โง่เกินไป นี่คือข้อที่จะต้องนึกในวันเช่นวันนี้ ว่าเราจะทำอย่างไรให้มันใกล้หรือเหมือนพระพุทธเจ้ามากยิ่งๆ ขึ้นไป ให้ตรงกับความประสงค์ของท่าน ถ้าพูดอย่างไม่สมมติ ไม่มีสำนวนโวหารให้เกิดอุปมา อุปไมยแล้ว ก็จะพูดว่า เราจะทำความเป็นอันเดียว เข้าถึงเป็นอันเดียวกันกับพระพุทธเจ้า โดยที่พระพุทธเจ้าท่านมีพระหฤทัยอย่างไร เราจะพยายามทำจิตใจของเราให้เป็นอย่างนั้น ให้มีความสะอาด สว่าง สงบ เป็นหลักสำคัญ เราก็จะมีจิตใจอย่างเดียวกัน ขึ้นชื่อว่า ถึงความเป็นอันเดียวกันกับพระพุทธเจ้า แต่แล้วมองดูไปทีหนึ่งก็น่าใจหาย เพราะว่า ลูกศิษย์สาวกของพระองค์ที่กำลังเป็นอยู่นี้ ดูมันจะแย่หน่อย ปากก็ว่าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า แต่มันก็ยังไม่มองเห็นความหมายอันนั้นเลย โดยมากทุกคนยังไม่รับผิดชอบ ยังไม่รู้จักรับผิดชอบ ยังซัดกันไป ยังซัดกันมาในการที่จะปฏิบัติธรรม ในการที่จะบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาในข้อที่ว่าจะปฏิบัติธรรมะให้ยิ่งขึ้นไป มันก็โยนให้คนอื่นว่าเรายังไม่เอา เรายังจะทำไร่ ทำนา ยังอย่างนั้น อย่างนี้ แกเอาก่อนเถิด มัวแต่ซัดกันไป ซัดกันมาอย่างนี้ แม้ในการปฏิบัติธรรม แม้ในการส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวร ก็ยังซัดกันไป ยังซัดกันมา ยัดเยียดให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายโน้น ยัดเยียดให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายนี้ นี้ เรียกว่า สาวกของท่านที่กำลังเป็นอยู่ในเวลานี้ ดูมันจะแย่หน่อย ไม่รู้ ไม่ทราบจะใช้คำว่าอะไรดี ใช้คำว่า ดูมันยังแย่อยู่มาก บางกรณี ถึงกับขายท่านกิน ข้อนี้ไม่อธิบาย เพราะว่าควรจะรู้กันได้อยู่แล้ว ส่วนมากเอ่ยชื่อท่านแต่ปาก เอ่ยชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กันแต่ปาก ปากก็ว่าได้ง่าย มันไม่ต้องลงทุนอะไรนัก ก็เลยชินแต่ที่จะเอ่ยชื่อของท่านแต่ปาก วันหนึ่งๆ ก็มีคนออกชื่อท่านนับได้แสนครั้ง ล้านครั้ง หลายล้านครั้ง ถ้าจะพูดไปกันทั้งโลกที่นับถือพุทธศาสนา แต่พร่ำเพรื่อกันแต่ปากเท่านั้นเอง ขอให้นึกดูให้ดี การที่ออกชื่อพระศาสดาแต่ปากนี้มันเป็นอย่างไร พระเยซูท่านเกลียดนัก คนที่ออกชื่อพระเจ้าแต่สักว่าปากเท่านั้น แต่แล้วมันก็มาได้แก่ พวกพุทธบริษัทอยู่เหมือนกัน ขอให้นึกดูดีๆ ว่า ออกชื่อพระศาสดากันแต่ปากมันเป็นอย่างนี้ มันน่าละอาย อาตมาละอาย นี้แขวนรูปของท่านไว้ที่คอ แต่ก็ยังสู้พวกที่แขวนกางเขนไว้ที่คอไม่ได้ พวกคริสตัง คริสเตียน พวกคริสตังเขาแขวนรูปกางเขนไว้ที่คอ เขายังทำอะไรจริงจังกว่าพวกพุทธบริษัทที่แขวนพระพุทธรูปของพระพุทธเจ้าไว้ที่คอ ส่วนมากไปทางเรื่องขลัง เรื่องสะกดจิต เรื่องงมงาย ทั้งที่ความมุ่งหมายนั้นต้องการให้เข้าถึงธรรมะ เอาพระพุทธรูปมาแขวนไว้ที่คอ นี่ก็เพื่อช่วยให้ไม่ลืม ให้นึกถึงธรรมะ ให้มีธรรมะอยู่กับเนื้อกับตัว อย่างนี้ก็จะงมงายไปเสียในทางอื่น ขอให้คิดดูให้ดีๆ ว่า ลูกศิษย์ของท่านอย่างที่กำลังจะเป็นอยู่นี้มันชักจะแย่หน่อย ส่วนอาตมานั้น อย่าถือว่าเอาเปรียบเลย อาตมาขอสมัครเป็นเพียงเป็นทาสของพระพุทธเจ้า ผู้รับใช้พระพุทธองค์ พึงปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์อย่างเคร่งครัด ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์ส่วนตัวและเกี่ยวกับประโยชน์ผู้อื่น ในทางส่วนตัว เมื่ออาตมาศึกษารู้ว่า พระพุทธเจ้าประสงค์ให้ทำอย่างไร อาตมาก็พยายามจะทำอย่างนั้นโดยเคร่งครัด อย่างว่าเป็นทาสผู้ซื่อสัตย์เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ของพระพุทธเจ้า ในทางประโยชน์ผู้อื่นนั้น ท่านหวังว่า สาวกทั้งหลายจะช่วยกันทำประโยชน์ผู้อื่นอย่างไร อาตมาก็จะพยายามที่จะทำให้เต็มตามนั้น สุดความสามารถที่จะเป็นได้ สรุปว่า พยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้ตรงตามคำสั่งของท่าน อาตมาจะถือว่าเป็นคำสั่ง ซึ่งเฉียบขาดยิ่งกว่าจะเป็นเพียงคำสอนหรือคำแนะนำ ชี้แจง ฉะนั้นก็เลยอุทิศชีวิตจิตใจเพื่อบูชาคำสั่ง และทำตามคำสั่งเหมือนกับว่าผู้ที่เป็นทาสก็จะต้องทำตามคำสั่งของผู้ที่เป็นนาย
เดี๋ยวนี้ สภาพการณ์ทั้งหลายนี้ มันอยู่ในลักษณะที่จะต้องปรับปรุงกันเป็นอันมาก จึงขอถือโอกาสฝากความหวังอันนี้ไว้แก่ท่านทั้งหลายทุกคน ว่าขอให้ไปช่วยกันปรับปรุง หน้าที่ของตนๆ ให้ตรงตามพระพุทธประสงค์ ให้สุดความสามารถด้วยกันจนทุกคนเถิด นี้ว่าเราควรจะเลือกเป็นอย่างไรตามที่เราจะชอบ จะเป็นบุตรของท่านก็ได้ จะเป็นลูกเขย ลูกสะใภ้ของท่านก็ได้ หรือว่าจะเป็นผู้เป็นอันเดียวกับพระองค์ก็ได้ หรือจะสมัครเป็นทาสของพระองค์ก็เป็นกันได้ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะแต่อาตมา
ทีนี้ไปดูกันต่อไปถึงการทำประทักษิณ ซึ่งเป็นพิธีของการกระทำการบูชาอย่างสูงสุด นี่เป็นเรื่องที่ตั้งใจจะแนะนำก่อนการกระทำลงไปจริงๆ เพื่อให้ทำครบถ้วนด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เรื่องกายนี้ เราดูอย่างกันแล้วก็ทำตามๆ กันได้ เช่น จะเดินเวียนกันเป็นวงนี้ บางทีคนป่าก็ทำเป็น เพียงทำด้วยวาจา ก็ว่านำกันได้ ท่องกล่าวกันได้ นี้ก็ยังไม่ยาก แต่ที่จะทำด้วยจิตใจ ที่มีจิตใจตั้งไว้ถูกต้องนั้นค่อนข้างจะยาก นั้นต้องทำจิตใจถูกต้องก่อน แล้วกาย วาจา ก็เป็นไปตามเอง มีความถูกต้องเอง คำว่า “ประทักษิณ” โดยตัวหนังสือ ก็แปลว่า เวียนไปข้างขวา แต่ความหมายนั้นมันมีหลายอย่าง ถ้าพูดกันตามทางขนบธรรมเนียมประเพณีด้วยการสมมติบัญญัติ คำว่า “เวียนขวา” มีความหมายว่า เป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงสุด วัตถุหรือบุคคลที่เป็นที่ตั้งแห่งความเคารพประดิษฐานอยู่อย่างไร เราก็เดินเวียนรอบวัตถุนั้นโดยเอามือข้างขวาของเราหันไปทางบุคคลนั้น อย่างนี้เรียกว่า “เวียนขวา” หรือ “ประทักษิณ” บัญญัติกันไว้ว่า เป็นการแสดงความเคารพบูชาอย่างสูงสุด อาตมาเคยสังเกตเห็นในรูปหินสลักของสมัยภารหุตและอื่นๆ ซึ่งทำไว้ตั้งสองพันกว่าปีมาแล้ว ก็เห็นรูปภาพที่มีการแสดงอาการอย่างนี้ทั้งนั้นต่อสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า นี่ทำให้เชื่อได้ว่ามีการกระทำอย่างนี้หรือยอมรับนับถือกันอย่างนี้ตั้งสองพันกว่าปีมาแล้ว มันก็แน่นแฟ้นมาก เราก็ยังคงรักษากันไว้โดยทั่วๆ ไปในหมู่พุทธบริษัท ซึ่งวันนี้เราก็จะทำ เรียกว่า กระทำตามสมมติบัญญัติให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้
นี้ ดูความหมายในทางธรรม ในภาษาธรรมอีกด้านหนึ่ง คำว่า “เวียนขวา” นั้นหมายความว่า มีความถูกต้อง มีการเวียนขวา คือ มีความถูกต้อง และก็ยังมีถูกต้องทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ เนี่ย ปะทักขิณัง กายะกัมมัง วาจากัมมัง ปะทักขิณัง มโนกัมมัง ปะทักขิณัง พระสวดอยู่บ่อยๆ ทั้งสามทวารนี่เป็นประทักษิณ คือ เวียนขวา หมายความว่า ทำไม่ผิดเลย ดังนั้นก็จะเวียนประทักษิณโดยภาษาธรรมกันแล้วก็ต้องกระทำด้วยการประพฤติกระทำไม่ให้มีอะไรผิดพลาด เป็นเครื่องบูชาแก่บุคคลนั้น ฉะนั้นโดยทางจิตใจเราจะต้องบูชาท่านด้วยการกระทำที่ไม่ผิดพลาด ดังนั้นจะต้องนึกถึงกายก็ไม่ผิดพลาด วาจาก็ไม่ผิดพลาด ใจก็ไม่ผิดพลาด และยิ่งกว่านั้นอีก ก็คือ ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่ว่า จะต้องเสียสละอย่างยิ่ง แม้เจ็บปวดก็ต้องทน ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว ก็เรียกว่า “ปฏิบัติบูชา” พระพุทธองค์ไม่ประสงค์จะให้ใครบูชาด้วยอามิสหรือวัตถุสวยงาม เอร็ดอร่อยอย่างนั้น แต่เมื่อจะทำกันได้มันเป็นส่วนอีกส่วนหนึ่ง พระพุทธองค์ประสงค์ปฏิบัติบูชา จึงได้ตรัสแก่พระอานนท์หรือพุทธบริษัททั้งหลายว่า ผู้ใดปฏิบัติบูชาตถาคตด้วยปฏิบัติบูชานั้น เรียกว่า “การบูชาอันสูงสุด” ดังนั้นในวันนี้ เราจะทำประทักษิณด้วยปฏิบัติบูชาให้มาก นับตั้งแต่ว่า ที่จะเดินเวียนประทักษิณ ๓ รอบนี้ เพราะว่าความเจ็บปวด เหน็ดเหนื่อย นั่นเป็นตัวเครื่องบูชาและมันปวดเท้า เพราะการเดินบนดิน บนกรวด อันขรุขระ การเจ็บปวดนั้นก็เป็นปฏิบัติบูชา ร่างกายที่ลำบากโดยประการต่างๆ ก็เป็นการบูชาทางกาย ทางวาจา ก็ได้เปล่งออกมาอย่างถูกต้องจากจิตใจและจิตใจก็ตั้งไว้ถูกต้อง รวมกันแล้วก็เรียกว่า “ปฏิบัติบูชา” จึงหวังว่าท่านทั้งหลายจะได้พยายามให้เป็นปฏิบัติบูชาในวันนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หมายถึง การที่จะเวียนเทียนหรือกระทำประทักษิณที่นี่ เราได้พิศกันดูแล้วรู้สึกว่า การเวียนประทักษิณนี่จะให้ฆราวาสทั้งหลายเป็นผู้เดินเวียน ภิกษุ สามเณร จะช่วยสวดให้อย่างตั้งอกตั้งใจ ถ้าว่าจะถามว่าทำไมไม่เวียน ก็ขอให้ถือว่าภิกษุ สามเณร ก็เวียนเหมือนกัน เวียนด้วยจิตใจ สำหรับทายก ทายิกา ทั้งหลาย ก็เวียนทั้งกายและทั้งใจ นี่มันก็เลยเหมือนกับเข้าหุ้นกัน เพื่อจะได้สมบูรณ์เต็มขนาดทั้งโดยทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฉะนั้นอย่าได้เห็นว่าเป็นของแปลกประหลาด น่าสงสัย แต่ประการใดเลย ที่ภิกษุสงฆ์เป็นผู้สวดพุทธคุณในขณะที่ท่านทั้งหลายกำลังเวียนประทักษิณ ท่านก็ไม่ต้องสวด แต่ว่าไม่ต้องสวดด้วยปาก แต่ว่าต้องสวดอยู่ในใจ คือ ฟังให้ดี ไม่อยากเดินให้เร็วนักจะได้มีโอกาสระลึกนึกถึงความหมายของพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เหล่านั้นได้โดยง่าย ความหมายของพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ นี้ ก็เคยศึกษากันแล้ว เคยท่องได้ก็มี แต่ว่าในที่นี้จะสรุปให้เหลือเป็นความบริสุทธิ์ เป็นความรู้ เป็นความสงบเย็น ที่จะเรียกสั้นๆ ว่า “ความสะอาด ความสว่าง ความสงบ” เราก็ทำจิตใจให้มีความสะอาด ความสว่าง ความสงบหรือมีพระคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในจิตใจ พระพุทธเจ้านั้นถือกันว่ามีบริสุทธิคุณ มีปัญญาคุณ มีกรุณาคุณ แต่พระสงฆ์ก็ต้องทำอย่างนั้นเหมือนกัน พระธรรมก็มีบริสุทธิคุณ แล้วก็มีแสงสว่างอยู่ในนั้นก็เรียกว่าเป็น “ปัญญาคุณ” พระธรรมก็มีอยู่เพื่อช่วยสัตว์โลกให้รอดพ้นจากความทุกข์ นี่ก็เรียกว่า “กรุณาคุณ” ได้ด้วย แม้ว่าจะไม่ใช่ของบุคคล แต่มันก็มีผลเท่ากับว่าเป็นของบุคคล คือ เป็นสิ่งที่จะช่วยสัตว์ทั้งหลายให้รอดได้ เราระลึกนึกถึงอยู่ในพระคุณทั้งหลายเหล่านี้อย่างซึมซาบ แล้วก็พร้อมกันนั้นก็จะระลึกพร้อมกันไปในตัวว่า เรากำลังกระทำตามพระอรหันต์ พระอรหันต์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นจอมโจก เป็นประมุข เป็นประธาน เรากำลังจะทำตามพระอรหันต์ทั้งหลายตั้งจิตอย่างแน่วแน่ในขณะที่เดินเวียนประทักษิณว่า นี่จะเป็นการกระทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย เราเวียนรอบอะไร เราเวียนรอบจุดประสงค์ มุ่งหมายของความเป็นพระอรหันต์ที่เรียกว่า “ธรรม” นั่นเอง ในที่สุดก็มีการอธิษฐานจิตที่ดี ขอให้ทุกคนตั้งจิตอธิษฐานอย่างแน่นแฟ้นว่า การกระทำในวันนี้จะทำให้ดีทุกอย่างให้สุดความสามารถ ให้ดีกว่าปีที่แล้วมา เพื่อจะถึงพระรัตนตรัยให้ยิ่งขึ้นไปกว่าปีที่แล้วมา แล้วก็จะได้รับจิตที่เยือกเย็น จิตที่ว่าง จิตที่เกลี้ยง ตามความหมายของคำว่า “สวนโมกข์” แล้วท่านทั้งหลายก็จะสามารถที่จะพาสวนโมกข์ติดตัวไปบ้านด้วยกันทุกคนเป็นแน่นอน อาตมาขอแนะนำอย่างนี้ ขอแสดงความหวังอย่างนี้ว่าท่านทั้งหลายจะต้องทำได้ จึงขอนำมากล่าวเป็นบุพภาค คือ เรื่องเบื้องต้นของการที่จะเวียนประทักษิณ และขอให้ทุกคนตั้งใจกระทำให้ดีที่สุดตามข้อแนะนำนี้ทุกประการเทอญ ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มี ด้วยประการฉะนี้