แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งที่ 9 นี้ ที่ผมจะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า ศีลธรรมและปรมัตถธรรม เพื่อจะแสดงให้เห็นความแตกต่าง ระหว่างสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมและปรมัตถธรรมในการที่จะเป็นธรรมศาสตรา เพราะนี่หมายความว่า ทั้งสองอย่างใช้เป็น ธรรมศาสตราได้ด้วยกันทั้งนั้น โดยอาศัยหลักที่ว่าจะต้องปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม คำว่าธรรมในที่นี้ก็มีความหมาย[ซ้อน ได้ (ได้ยินไม่ถนัด นาทีที่ 02:19)]แก่เวลา แก่สถานะ แก่บุคคล แก่สถานที่ สุดแท้ เมื่อมาใช้แก้ปัญหาได้ ก็เรียกว่าเป็นธรรมศาสตราด้วยกันทั้งนั้น ศีลธรรมก็ได้ ปรมัตถธรรมก็ได้ ที่ว่าโดยที่ถูกแล้ว ก็ต้องมีกันทั้งสองอย่างให้ถูกกับเหตุการณ์นั่นเอง เดี๋ยวนี้เราเข้าใจกันไม่ได้ ไม่รู้เรื่องนี้ก็ไม่สนใจ หรือว่า ยึดมั่นถือมั่นอย่างใดอย่างหนึ่งเสีย มานานแล้ว จนเกิดปัญหาขึ้นมา หรือว่าเกิดไอ้เรื่องราวที่มันน่าสงสาร หรือน่าเกลียด เช่นว่า ชาวบ้านธรรมดาสามัญไม่จำเป็นจะต้องสนใจเรื่องปรมัตถธรรม หรือไม่ต้องปฏิบัติในส่วนปรมัตถธรรม อย่างนี้เป็นต้น นี่มันจึงทำอะไรไม่ได้ ในการที่จะแก้ไข ไอ้สิ่งที่ไม่พึงปรารถนา แม้ที่เป็นส่วนตัว หรือที่เป็นส่วนสังคม โดยเฉพาะไอ้ปัญหาใหม่ๆ ที่กำลังทำความยุ่งยากลำบากให้ในเวลานี้ แต่โดยทั่วไปโดยธรรมชาติ เรายังต้องการ มีสิ่งที่เรียกว่า ปรมัตถธรรม เป็นเครื่องช่วยแก้ปัญหาทั้งนั้น ระบุตรงๆ เช่นว่า ไอ้การที่ชายคนหนึ่งจะต้องร้องไห้นี่เพราะว่า เขาขาดปรมัตถธรรม เพราะเรื่องทางศีลธรรม ปัญหาทางศีลธรรม มันทำให้เขาต้องร้องไห้ ทั้งที่เขาต้องร้องไห้ เพราะยึดมั่นในหลักของศีลธรรมก็มี ให้เอามาช่วยแก้ มันก็เรื่องของปรมัตถธรรม นี่แสดงว่ามันมีอยู่กันคนละอย่าง แม้ว่าจะเป็นธรรมศาตราได้ด้วยกัน ก็ต้องเป็นคนละอย่างในหน้าที่คนละอย่าง นี่ขอทบทวนในสูตรของการบรรยายในชุดนี้ไว้เสมอๆว่า มนุษย์มีปัญหา ที่ต้องหาเครื่องตัด จึงศึกษาและอบรมธรรมศาสตราจากสิ่งที่เรียกว่าธรรม ไอ้สิ่งที่เรียกว่าธรรมมันมีมากมายหลายแผนก จะแบ่งเป็นสี่แผนกอย่างที่พูดอยู่ทุกวันก็ได้ สำหรับในวันนี้เราจะพูดถึงธรรม ในฐานะที่อาจจะแยกออกไปเป็นศีลธรรมและปรมัตถธรรม การแยกออกเป็นสองอย่าง อย่างนี้เป็นไปได้ในสิ่งที่เรียกว่าธรรมทั้งสี่ความหมาย ความหมายที่หนึ่งคือ สภาวธรรม ที่เป็นส่วนศีลธรรมง่ายๆ ก็เป็นวัตถุง่ายๆ ถ้าเป็นเรื่องปรมัตถธรรม ก็เป็นเรื่องจิตใจหรือความรู้สึกทางจิตใจล้วนๆ สิ่งที่เรียกว่า ความทุกข์นั้นเป็นสภาวธรรม ความทุกข์เล็กๆน้อยๆ ตื้นๆ ลงมาจากศีลธรรมเป็นปัญหาทางศีลธรรม แต่ความทุกข์ที่ลึกซึ้งก็เป็นเรื่องทางปรมัตถธรรม อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรม ก็ยังแยกออกไปได้เป็นสองระดับ สองหน้า สองชนิด คือเป็นวัตถุแห่งศีลธรรมก็มี เป็นวัตถุแห่งปรมัตถธรรมก็มี ธรรมในความหมายที่สองคือสัจธรรม ที่เรียกว่ากฎ มันก็ยังมีกฎที่มนุษย์ตั้งขึ้นเป็นส่วนศีลธรรม และกฎโดยธรรมชาติแท้จริงที่เรียกว่าปรมัตถธรรม แม้ว่ากฎทางศีลธรรมจะเป็นสิ่งที่มนุษย์ตั้งขึ้น มันก็ต้องตั้งขึ้นโดยอนุโลม หรือคล้อยตามกฎของธรรมชาติที่เรียกว่าปรมัตถธรรม ฉะนั้น กฎแห่งความดับทุกข์ มันก็มีทั้งที่เป็นฝ่ายศีลธรรม และฝ่ายปรมัตถธรรม ถ้าไม่รู้จัก หรือใช้ไม่ถูก หรือปนกันยุ่ง จะไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเลย นี้พอมาถึงธรรมะประเภทที่สาม คือ ปฏิปัตติธรรม หรือวิธีปฏิบัติ นี่ก็ยิ่งเห็นได้ชัด ก็มีอยู่ทั้งฝ่ายศีลธรรมและปรมัตถธรรม ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ภายใต้ในโลกนี้ทันตาเห็น เพื่ออยู่กันเป็นผาสุกทางสังคมก็เรียกว่าศีลธรรม ถ้าปฏิบัติเพื่อไปนิพพานก็ต้องเรียกว่าปรมัตถธรรม ทีนี้อันสุดท้ายที่เราเรียกว่า วิปากธรรม หรือปฏิเวธธรรมก็สุดแท้ นี่ก็อนุโลมไปตามการปฏิบัติ เมื่อเป็นขั้นศีลธรรมก็ได้ผลอย่างทางศีลธรรม ถ้าเรียกขั้นปรมัตถธรรมก็ได้ผลอย่างปรมัตถธรรม คอยมองดูให้เห็นว่าทั้งสี่ความหมายของธรรมนั้นแยกออกไปได้ เป็นทั้งฝ่ายศีลธรรมและฝ่ายปรมัตถธรรม เมื่อเราอาจจะใช้ส่วนไหนเป็นศาสตรา คือ ของมีคมที่ตัดปัญหาได้ ก็ล้วนแต่เรียกว่าธรรมศาสตราไปได้ทั้งนั้น ทีนี้จะได้พูดกันถึงไอ้ความแตกต่างระหว่างสิ่งทั้งสองนี้ให้ชัดเจนลงไป มนุษย์เรามันมีปัญหาก็อย่างที่กล่าวมาแล้ว ก็มีการแสวงหาไอ้สิ่งที่จะตัดปัญหา เมื่อกล่าวโดยส่วนรวมแล้ว ทุกคนในสภาพปัจจุบันของปุถุชนคนธรรมดาสามัญ มันก็มีปัญหาทั้งฝ่ายศีลธรรมและฝ่ายปรมัตถธรรม แม้ว่าเขาจะไม่รู้สึกตัว เพื่อจะมีความทุกข์ทั้งในแง่ของศีลธรรมและปรมัตถธรรม ทางเขาก็ต้องใช้วิธีแก้ทั้งในส่วนศีลธรรมและปรมัตถธรรมเช่นเดียวกันอีก ในสภาพปุถุชนธรรมดาสามัญ ก็ดูที่คนที่เป็นฆราวาส มีบ้านมีเรือน คิดๆนึกหรือว่ากระทำอยู่ในขอบเขตที่เรียกกันว่า โลกียวิสัย ที่เป็นไปในวิสัยแห่งโลก วิสัยที่ยังเกี่ยวข้องกันอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าโลกๆ นี่ภาษาไทยโดยเฉพาะ คำว่าโลก นั้นหมายถึงว่าธรรมดาสามัญ ชาวบ้าน ในภาษาอื่นก็อาจจะไม่เรียกอย่างนี้ก็ได้ แต่ความหมายก็อย่างเดียวกัน คนธรรมดาสามัญทั่วไป เรื่องทางศีลธรรม ก็บัญญัติความหมายไว้แปลกๆ โดยทั่วไปโดยเฉพาะในประเทศไทยเรา คำว่า ศีลธรรม หมายถึง เรื่องต่ำๆ ธรรมดาสามัญ แต่ถ้าเกิดไปใช้คำต่างประเทศ เช่น Moral หรือ Morality มันเปลี่ยนไปถึง การครอบคลุมไปถึงธรรมะชั้นสูง ปัญหาชั้นสูงก็ได้ เพราะว่าในพวกศีลธรรม นักศีลธรรม Moralist ของโลกนี่ เขาไม่มีคำว่าปรมัตถธรรมใช้เหมือนในพุทธศาสนา เขาก็จัดให้มันเป็นโมรอล Moral กันไปหมด จนกระทั่งในชั้นสูงสุด กระเดียดเป็นปรมัตถธรรมหรือว่าเป็นปรมัตถธรรมในบางส่วนก็มี มันก็เรียกกันว่าโมรอล Moral ไปหมด ทีนี้เรากำลังพูดกันในภาษาไทย ศีลธรรมก็เอาเป็นเรื่องของคนธรรมดาสามัญ ปรมัตถธรรมเป็นเรื่องของคนที่มีจิตใจสูงเป็นพิเศษต่อการจะชนะกิเลส ชนะความทุกข์ด้วยประการทั้งปวง นี่ขอชี้ให้เห็นความแตกต่างว่า ในสภาพปุถุชนหรือโลกียวิสัย มีปัญหาครบอยู่ทั้งทางศีลธรรมและทั้งทางปรมัตถธรรม ทีนี้ถ้าออกไปเป็นอนาคาริก เป็นบรรพชิต เป็นมุนี เป็นโยคี เป็นปริพาชกกันด้วยซ้ำ นี่ปํญหาทางศีลธรรมมันจะลดไปหรือมันจะหมดไปโดยเหลือแต่ปัญหาทางปรมัตถธรรม เพราะพวกนี้ออกไปแสวงหาการแก้ปัญหาในส่วนปรมัตถธรรม เช่นคนที่ออกบวชเป็นฤาษีก่อนพุทธกาล มันก็ค้นเรื่องที่ลึกไปกว่าเรื่องที่ชาวบ้านรู้อยู่แล้ว แม้พระพุทธเจ้าท่านออกผนวชก็เหมือนกัน ไปค้นส่วนที่เป็นปรมัตถธรรม สำหรับบรรพชิตนี่ก็เลยเหลือแต่ปัญหาทางปรมัตถธรรมเป็นส่วนใหญ่ แต่ว่าพระเณรสมัยนี้บวชกันแต่หนุ่มแต่เด็ก มันก็ต้องมีปัญหาคาบเกี่ยวไปถึงศีลธรรม เพราะว่ายังไม่ได้ผ่านโลก แต่ว่าถ้าเป็นคนที่เขาบวชกันตามที่ธรรมชาติผลักดันนี่ ทางโลกเขาเสร็จแล้วจึงจะไปบวช นี่เขาเรียกว่าบรรพชิต ปัญหาที่มีแต่ปรมัตถธรรมนี่ก็อาจจะกล่าวได้อย่างนี้ แต่ถ้ายีดหยุ่นให้มากหน่อย คำว่าบรรพชิต แปลว่า ผู้บวช จากที่เราบวชพระบวชเณร อนาคาริก ก็แปลว่า ไม่ได้อยู่บ้านเรือน ไม่เกี่ยวข้องกับบ้านเรือน หรือกิจกรรมอย่างบ้านเรือน หรือความคิดนึกอย่างชาวบ้าน นี่ก็เรียกว่า อนาคาริก เขาเรียกว่า มุนี ก็แปลว่า รู้แล้ว ถ้าฤาษีก็แปลว่า กำลังแสวง ถ้าเป็นโยคีก็กำลังปฏิบัติ ก็มีคำอื่นๆ เช่นคำว่า ปริพาชก ก็แปลว่า ผู้ไม่อยู่เป็นที่ จะศึกษาหรือปฏิบัติอะไรก็ตามเป็นผู้ที่เร่ร่อนเรื่อยไม่มีบ้านอยู่ ไม่อยู่เป็นที่ ถ้าเป็นพระใช้แต่คำว่าอนาคาริก ทีนี้เขาก็มีการถือชาตินิยมลัทธิ เรียกผู้อื่นเป็นปริพาชก ไม่เรียกตนเองเป็นปริพาชก ทั้งที่ตนเองก็เป็นพวกเร่ร่อนอย่างนี้ก็มี เกี่ยวกับคำ หรือความหมายของคำ มันก็เป็นอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับการใช้คำมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งบางทีก็ไม่ตรงกันกับตัวหนังสือเสมอไป นี่คือพวกที่ออกแสวงหาเรื่องปรมัตถธรรม เพราะอย่างน้อยที่สุดก็เป็นเรื่องที่ลึกกว่าที่คนธรรมดาเขารู้หรือกระทำกันอยู่ นี่โดยสภาพบัณฑิต บรรพชิตทั่วๆ ไปเป็นอย่างนี้ ทีนี้จะดูกันในสภาพที่เป็นพระอริยเจ้า ถ้าคุณยังไม่ทราบไม่รู้จักคำว่า อริยะ หรือ พระอริยเจ้า ก็อาจจะทราบได้โดยหลักเกณฑ์ที่ว่าตรงกันข้ามกับปุถุชนคนธรรมดา คนธรรมดายังเป็นไปในกิเลส ถ้าพระอริยเจ้าท่านก็ล่วงออกมาจากกิเลส จากอิทธิพลของกิเลส จึงเป็นผู้ประเสริฐขึ้นมา ถ้ายังไม่ถึงที่สุดเป็นพระอริยเจ้ายังไม่ถึงที่สุด ก็เรียกว่าพระเสขะ สอเสือ ขอไข่ เสขะแปลว่ายังต้องทำต่อไป ยังต้องปฏิบัติต่อไป นี้ถ้าว่าทำเสร็จถึงที่สุดแล้ว เช่นเป็นพระอรหันต์อย่างนี้ ก็เรียกว่าอเสขะ คือไม่ต้องทำอะไรต่อไปในการปฏิบัติ ทีนี้ถ้าที่ยังต้องทำต่อไป ก็พวกที่ยังไปเริ่มต้นเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อย่างนี้เป็นต้น ทีนี้พระอริยเจ้าที่เป็นชั้นเสขะ คือยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็เรียกว่ามีปัญหาแต่ในขั้นปรมัตถ์ หรือที่สูงยิ่งขึ้นไป จึงต้องค้นคว้าศึกษาและปฏิบัติ คือปัญหาในขั้นปรมัตถธรรมที่สูงยิ่งขึ้นไปๆ เพื่อพระอริยเจ้าในประเภทพระอรหันต์ ก็เรียกว่าหมดปัญหา อยู่เหนือปัญหาโดยประการทั้งปวง ไม่มีปัญหาหรือความทุกข์เหลือไว้ให้แก่พระอรหันต์ นี่มันต่างกันอยู่เป็นชั้นๆ อย่างนี้ ในระหว่างศีลธรรมกับปรมัตถธรรม ก็โดยการศึกษา หรือ โดยการปฏิบัติ หรือโดยหน้าที่ของธรรมเหล่านี้ก็ต่างกันอย่างนี้ เมื่อปฏิบัติถูกต้องแล้วก็เกิดเป็นธรรมศาสตราขึ้นได้ทุกระยะ ทุกระดับ ที่กล่าวโดยหลักทั่วไปโดยเอาสถานะหรือมาตรฐานของบุคคลที่เป็นสังคมๆ อยู่ในโลก อยู่กันมากๆ และทำอะไรเหมือนๆ กัน เขาเรียกว่า อาศรม เช่น ฆราวาสอยู่ที่บ้านนั้นก็เรียกว่า อาศรมฆราวาส ทั้งโลกนี่ ฆราวาสเรียกกันว่าอาศรมหนึ่ง คืออาศรมฆราวาส ทีนี้พอออกมาเป็นบรรพชิต ก็เรียกว่า อาศรมบรรพชิต ฆราวาสที่เป็นเด็กๆ หมายถึงวัยรุ่น อาศรมต่างหาก เรียกว่า พรหมจารีย์ทำนองนี้ นั้นปัญหาต่างๆ เราจะมองกันในครั้งแรก ก็มองเป็นในแง่ของคนที่อยู่ในสังคม หรืออาศรมที่ต่างกัน ก็แก้ปัญหาให้ได้ แม้ว่าจะต้องใช้ศีลธรรมหรือต้องใช้ปฏิปัตติธรรม ไม่ใช่ ต้องใช้ศีลธรรมหรือต้องใช้ปรมัตถธรรม ทีนี้เรามาพูดกันโดยการเปรียบเทียบเป็นคู่ๆ ดีกว่า จะสะดวกกว่า จะฟังง่ายกว่า เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างศีลธรรมกับปรมัตถธรรม ก็อย่างที่พูดมาแล้วนี่ก็สรุปความได้ว่า ถ้าเป็นปุถุชนคนธรรมดาสามัญก็มีสิ่งที่เรี่ยกว่าศีลธรรม เป็นที่พึ่ง เป็นกำลังหรือเป็นเบื้องหน้า นี่ปุถุชน คือถ้าเป็นพระอริยเจ้า ท่านก็มีปรมัตถธรรมนี่เป็นที่พึ่ง เป็นเบื้องหน้า ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็เลิกกัน คือพ้นปัญหาด้วยประการทั้งปวง ก็ดูอยู่ว่ามันต่างกันอย่างไร ที่ในรายละเอียดจะเปรียบเทียบให้เห็นชัดยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งคุณควรจะจำไว้เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งอันนี้คือตัวปัญหาที่ทำความยุ่งยากที่กรุงเทพหรือแม้แต่มหาวิทยาลัย ก็ถ้าเป็นเรื่องศีลธรรม บัญญัติไว้ในลักษณะที่เหมาะสำหรับคนที่ยังมีความรู้สึกว่ามีตัวตน คนธรรมดาสามัญย่อมต้องมีความรู้สึกว่ามีตัวตน หรือแม้คนชั้นดี ในชั้นบุคคลปุถุชนที่ดี หรือแม้กระทั่งเป็นพระอริยเจ้าขั้นต้นๆ ก็ยังไม่พ้นจากความรู้สึกของตัวตน แต่ว่าท่านกำลังจะหมดตัวตน ท่านจึงจัดไว้ฝ่ายโน้น ที่ปุถุชนสามัญธรรมดาทั่วไปก็คือ ผู้ที่มีความรู้สึกไปในทางที่มีตัวตน มันก็ต้องมีอะไรเฉพาะคนพวกนี้ ก็คือศีลธรรม ให้เว้นชั่วทำดี ให้ได้ผลดี เอาคนดีมาไว้เป็นของตน ส่วนปรมัตถธรรมนั้น บัญญัติไว้ในลักษณะสำหรับบุคคลที่จะไม่มีตัวตน ไม่มีตัวตนคือยังไง คือมองเห็นในอิทัปปัจจยตา คือกฎของธรรมชาติ หรือ ความจริงของธรรมชาติที่ว่า ที่แท้บุคคลตัวตนแท้จริงไม่มี มีแต่อิทัปปัจจยตา คือ สิ่งที่กำลังเป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งเหตุและปัจจัย นี่คือไม่มีตัวตน ฉะนั้นศีลธรรม มันก็พูดไว้ในโวหารชาวบ้านชาวโลก หรือเรียกว่า โลกโวหาร โลกสมัญญา มันเป็นสำนวนที่ฟังง่ายสำหรับชาวบ้านธรรมดาที่ยึดถือกันอยู่แล้ว แต่ว่าถ้าเป็นปรมัตถธรรม พูดไว้ในโลกุตรโวหาร ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ที่เราไม่มีตัวไม่มีตน หรือว่าว่าง อย่างนี้เป็นต้นดังนั้นเป็นอันสรุปความได้ว่า ศีลธรรมนั้น คือระเบียบสำหรับคนที่ยังมีตัวตน ปรมัตถธรรมคือระเบียบสำหรับคนที่จะไม่มีตัวตน หรือไม่มีตัวตนแล้ว นี่ถ้าความเข้าใจอันนี้ ยังชัดเจนอยู่ พวกคุณจะไม่ทะเลาะกัน ในเรื่องการปฏิบัติ ที่จะทำไมต้องทำอย่างนี้ ทำไมต้องทำอย่างนั้น ปรมัตถธรรมเช่นเรื่องความว่าง หรือจิตที่ว่างนี้จะอยู่ที่ตรงไหน จะมีเนื้อที่อยู่ที่ตรงไหนในการเป็นอยู่ประจำวันในชีวิตของเรา และก็ไม่ต้องเถียงกัน คนที่เถียงกันโดยมากว่า นี่มันจำเป็นไหม ใอ้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือจำเป็นสำหรับพวกเรา เป็นนักเรียนนักศึกษาหรือชาวบ้านไหม อย่างนี้มันจะหมดไป เพราะว่าหน้าที่มันมี จะต้องแก้ปัญหาเรื่องความทุกข์ ความทุกข์บางอย่างมันเป็นในเรื่องของศีลธรรมของคนธรรมดาต้องแก้ไปในเรื่องของศีลธรรม แต่ความทุกข์บางอย่างมันเป็นเรื่องปรมัตถธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไอ้เรื่องที่จะต้องนั่งร้องไห้ อกหักอะไรทำนองนี้ มันจะต้องแก้ด้วยระบบของปรมัตถธรรม เอ้า เทียบกันต่อไปเป็นคู่ๆ เท่าที่เวลาจะอำนวย จะชี้ให้เห็น ระบบศีลธรรมกับปรมัตถธรรมที่มันเกี่ยวข้องกันอยู่กับคนธรรมดาสามัญ จะยกเอาการพูดจามาเป็นตัวบทสำหรับศึกษา ผู้ไม่รู้ ปุถุชนคนโง่พูดกันอยู่อย่างไร แล้วก็ผู้รู้ คือพระอริยเจ้า ท่านพูดกันอย่างไร พวกปุถุชนผู้ไม่รู้ก็พูดกันแต่ไอ้เรื่องแต่คำพูดที่เป็นโวหารโลกๆ ก็ตามความรู้สึกแห่งใจด้วย คือเขายังโง่ ยังไม่รู้ ยังยึดถือตัวตน เขาบอกคำพูดมันหลุดออกมาเป็นคำพูดประเภทที่มีตัวตน ซึ่งถูกอบรมมาให้ตั้งแต่อ้อนแต่ออก คือตั้งแต่นอนในเบาะ ไอ้คนที่แวดล้อมเด็กๆ อยู่ด้วยก็สอนแต่คำพูดประเภทตัวตนทั้งนั้น ว่าของลูก ของแก ของพ่อแม่บิดามารดา ตัวแกเองก็ไม่เว้น ล้วนมีตัวตนทั้งนั้น เราจึงมีความรู้สึกอย่างนั้น และพูดออกมาตรงกับความรู้สึกอย่างนั้น นี่ผู้ไม่รู้พูด ก็พูดเป็นแต่เรื่องมีตัวตน เขาเรียกว่า โลกโวหาร อโลกียโวหาร โลกสมัญญา แล้วก็ปากกับใจก็ตรงกันด้วย นี้ถ้าเป็นผู้รู้ ผู้รู้ก็มีหลายระดับและเป็นผู้รู้จริง ในบางกรณีท่านก็พูดอย่างโลกียโวหารเหมือนชาวบ้านพูด แต่ในใจของท่านไม่รู้สึกอย่างนั้น ถึงแม้ว่าถ้าท่านต้องพูดกับชาวบ้าน หรือปุถุชน ท่านก็ต้องพูดภาษาคนยึดถืออย่างปุถุชน แต่ถ้าท่านพูดกันในระหว่างพระอริยเจ้า ผู้รู้ชั้นสูงด้วยกัน ท่านก็พูดกันด้วยโวหารของปรมัตถโวหาร คือท่านอาจจะพูดกันทั้งสองโวหารก็ได้ ก็แล้วแต่กรณี ถ้าพูดกันเรื่องธรรมดาสามัญ ว่าฉันหิวข้าว ฉันอยากจะกินข้าว อย่างนี้ก็พูดได้ ก็ใช้โวหารคำพูดอย่างชาวบ้านนี้ได้ แต่ใจของท่านไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เหมือนชาวบ้าน เกิดบางเวลาที่ต้องพูดกันด้วยธรรมะล้วน ท่านก็พูดด้วยปรมัตถโวหาร ไม่มีอัตตา ไม่มีตัวตน พูดเป็นไปตามแบบของอิทัปปัจจยตา แต่ว่าท่านจะพูดโวหารไหนก็ตาม ใจก็ไม่ยืดถือทั้งนั้น ไม่เหมือนปุถุชน พูดโวหารก็ยึดถือ จิตในจิตใจก็ยึดถือ ที่นี้ก็มาถึงผู้ฝึกหัด ในผู้ที่จะฝึกหัดให้มันดียิ่งๆขึ้นไป เช่นจากปุถุชนไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า นี่ก็จะเรียกว่าผู้ฝึกหัด เดี๋ยวนี้ทุกคนเป็นผู้ฝึกหัด เช่นบวชเข้ามาศึกษานี่ก็เป็นผู้ฝึกหัด จะพูดภาษาอะไร ถ้าอยากจะรู้เรื่องธรรมะ หรือจะใช้ภาษาธรรมะในชั้นสูง ท่านก็ต้องพูดภาษาปรมัตถ์ คืออย่างน้อยก็หัดพูดภาษาปรมัตถ์ ใช้คำพูดเหมือนกับคนยึดถือแต่จิตใจไม่ยึดถือ นั้นต้องระวัง คำพูดกับจิตใจที่รู้สึกอยู่ข้างในเสมอไป ผมเลยพูดให้มีระบบใหม่ขึ้นมาอย่างหนึ่งว่า ให้หัดพูดปากอย่างใจอย่าง นี่เขาฟังกันไม่ค่อยถูก เพราะว่าสอนให้โกหก แต่เราก็ไม่ได้ตั้งใจจะให้โกหก ตั้งใจจะเปลื้องไอ้ความยึดถือ เมื่อปากก็ต้องพูดว่าตัวฉัน ของฉันอย่างนี้ ใจก็อยากหมายมั่นเป็นตัวฉัน เป็นของฉัน ปากก็พูดว่าของอาตมาภาพ อย่างนี้ก็อย่าให้มันมีตัวตนที่เป็นอาตมา ให้มันรู้สึกถึงอิทัปปัจจยตาอยู่เสมอ อย่างนี้ เรียกว่า พูดปากอย่างใจอย่าง ส่วนตัวกู คือ ของกู แต่ใจไม่มีความหมายมั่นเป็นตัวกูของกู อย่างนี้ถึงเรียกว่า พูดปากอย่างใจอย่าง แล้วก็ทำให้มันพ้นทุกข์ได้ ผมนึกได้ถึงโวหารที่ใช้พูดกันในสมัยโบราณในประเทศไทยเรา เพราะสมัยผมเด็กๆ ก็ยังเหลืออยู่ให้ได้ยิน เช่นเป็นพระบวชเข้ามาแล้วอย่างนี้ ไม่ได้ใช้คำพูด บุรุษที่หนึ่งที่หมายถึงตัวเองว่า อาตมา เดี๋ยวนี้เราใช้คำว่า อาตมา เพื่อหมายถึงตัวเราเอง คืออาตมาภาพ แต่ในสมัยโน้นเขาใช้กันว่ารูป เช่นว่าถ้าอาตมาต้องการนี้หน่อย ก็เรียกรูปต้องการอย่างนี้ คือไม่ใช่ฉันต้องการ ไม่ใช่กูต้องการ ไม่ใช่อาตมาต้องการ ไอ้รูปขันธุ์ รูปกาย รูปธรรมนี่ต้องการ เดี๋ยวนี้จะเหลืออยู่บ้างก็แต่ในโวหารเทศน์มหาชาติที่เป็นของสนุกตลกขบขัน ที่เรียกว่า แหล่ แหล่ เทศน์แหล่ที่เขาเรียกกันว่า รูปจะกล่าวถึงเรื่องราวอย่างนั้นอย่างนี้อยู่เลย กระนั้นก็เหลืออยู่ให้เห็นว่า ครั้งหนึ่งเขาพูดกันอย่างนั้นใช้คำว่ารูป คือใช้คำอย่างอื่นๆอีกมากคำที่ผิดจากที่ชาวบ้านเขาพูดกัน เหมือนอย่างคุณบวชเข้ามาแล้ว ก็ต้องใช้คำที่มันมีไว้สำหรับพระเณรพูด เช่นจะไม่เรียกบิดามารดาว่าคุณพ่อคุณแม่อีกต่อไป จะเรียกว่าโยมอุปถากอย่างนี้เป็นต้น ไม่เป็นพ่อเป็นแม่กันแล้ว เป็นแต่ผู้ช่วยเหลือ เป็นผู้อุปถัมภ์อย่างนั้นไป นี่ก็เพื่อจะขจัดตัดในความยึดมั่นถือมั่นว่าพ่อของกู แม่ของกู นี้ออกไป เขามีระเบียบกันถึงขนาดนี้ แต่เดี๋ยวนี้มันเลือนๆไป แล้วพระเณรรุ่นคุณนี้กำลังจะทำให้ฉิบหายหมด ได้ยินพูด ขอรับกระผม กับชาวบ้านก็มี นี่คุณกำลังทำลายระเบียบที่ดีเสียแล้ว ขอให้ช่วยกันระวังสังวรณ์ในข้อนี้ ศึกษาให้รู้ถึงระเบียบแห่งการพูดจาในข้อนี้ ต้องฝึกหัดอยู่เสมอ มันดีที่ว่าเราจะฝึกหัดการพูดเนี่ยด้วยการเรียนปรมัตถธรรมไปในตัว มันจะได้ไม่มีความทุกข์ไปในตัว จะมีสติสัมปชัญญะไปในตัว ซึ่งเป็นการฝึกที่ดี แต่อย่าทำเล่นนะของอย่างนี้ นี่ก็เป็นคู่หนึ่งที่ควรจะสังเกตว่าผู้ไม่รู้ก็พูดโดยโลกียโวหาร หรือศีลธรรม ผู้รู้ก็พูดโดยโลกุตตระโวหาร หรือปรมัตถธรรม ก็เรียก..การพูด เอ้าทีนี้ต่อไปก็เป็นเรื่องการทำหรือการคิด ถ้าเป็นเรื่องของปุถุชนคนธรรมดาสามัญ ชาวบ้านธรรมดา การกระทำ หรือการคิดเพื่อกระทำก็เป็นไปอย่างระดับศีลธรรม เพื่อเว้นชั่วทำดี เว้นชั่วทำดี ฝึกคิดและทำแต่ที่เรียกว่าดี ที่สมมุติว่าดี เว้นสิ่งที่ชั่วเสีย แต่ถ้าในฝ่ายปรมัตถธรรมนั้นเขาต้องการจะไปให้เหนือชั่วเหนือดี พ้นชั่วพ้นดี เป็นอย่างนั้น คนละระดับ ศีลธรรมเว้นชั่วและก็ทำดี อยู่ในผลของความดีพอไม่ได้ดีก็ร้องไห้ อย่างนี้เป็นต้น แต่ถ้าเป็นเรื่องของปรมัตถธรรมก็จะไม่ให้สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาขึ้นมาได้ ความชั่วก็ไม่มาทำอันตราย ความดีก็ไม่รบกวน หรือทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา ก็ฝึกหัดไปในการที่จะไม่ยึดมั่น ที่พวกชาวบ้านเขายึดมั่น ยึดในความดี ยึดอะไรต่างๆ นี่การทำและการคิด ทางศีลธรรมก็ไปในทางยึดมั่นตามเดิม ถ้าเป็นปรมัตถธรรมก็ต้องการสลัดไอ้ความยึดมั่นออกไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้มันเหลือ ที่จะเปรียบเทียบต่อไปอีก โดยยกเอาสิ่งที่จะเป็นเครื่องผลักดันให้มีการกระทำ ภาษาบาลีก็เคยเรียกกันว่า พลวัตปัจจัย ปัจจัยที่มีกำลัง พลวัตแปลว่ามีกำลัง ปัจจัยก็คือว่าเหตุหรือสิ่งที่จะส่งเสริม นึกถึงคำว่าโมทีฟ motive ก็แล้วกัน ในทางศีลธรรมก็ใช้คำนี้คำว่าmotive ความรู้ ความคิด ความเข้าใจที่มันจะเป็นกำลังให้เกิดการกระทำ ก็เรียกว่า motive ได้ทั้งนั้น แม้แต่การดลใจอะไรของเพื่อนๆ พลวัตปัจจัยทางศีลธรรม มันก็มีเรื่องตัวตน เพราะว่าเรื่องศีลธรรมมันเรื่องสำหรับพวกที่มีตัวตน ถ้าของผู้ที่ไม่ใช่ปุถุชน คือพวกที่ถือปรมัตถธรรมเป็นหลักมันก็ต้องเรื่องไม่มีตัวตน เพราะงั้นไอ้motiveทางความคิดเห็นที่เรียกว่า ทิฏฐิ นี้มันก็ต่างกัน เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ คือ ทิฏฐิที่ถูกต้องด้วยกัน แต่ว่าถ้าเป็นเรื่องศีลธรรม มันก็ถูกไปอย่าง เรื่องปรมัตถธรรมมันก็ถูกไปอีกอย่างเสียจนเรียกตรงกันข้าม ยกตัวอย่างเช่น สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ถ้าเป็นเรื่องศีลธรรม สัมมาทิฏฐินั้นจะมีหลักว่า เรามีกรรมเป็นของเรา คิดดูสิ เรามีกรรมเป็นของเรา มีผลกรรมเป็นของเรา อย่างนี้เป็นเรื่องปรมัตถธรรมก็หัวเราะตาย มีเราที่ไหน แล้วมีกรรมกันมาที่ไหน มันเป็นอิทัปปัจจยตาทั้งนั้น แต่ว่าเมื่อยังเป็นปุถุชนอยู่ มีหลักศีลธรรมอยู่ ก็ต้องเรียกว่าเรามีกรรมเป็นของเรา เราต้องเป็นไปตามกรรม หรือว่าอีกบทหนึ่งก็มีระบุว่า จะต้องถือว่ามีบิดามารดา มีครูบาอาจารย์ มีโลกหน้า นรก สวรรค์ อะไรเป็นต้น มีโอปปาติกา คือสัตว์ที่เกิดในนรกสวรรค์ แล้วก็มีบุคคลที่ปฏิบัติได้ดี เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้หลุดพ้น สำเร็จในโลกนี้ นี่เป็นต้น นี่แหละมีทั้งนั้นแหละเป็นเรื่องมี มีนั่นมีนี่ มีอะไรที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ เขาเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ เพราะมันมีประโยชน์ที่จะทำให้เขาทำความดียิ่งๆ ขึ้นไป ฝ่ายศีลธรรมเป็นอย่างนี้ นี้พอมาถึงสัมมาทิฏฐิฝ่ายปรมัตถธรรม มันกลายเป็นพูดอย่างอื่น ไม่มีเรา ไม่มีของเรา ไม่มีอัตตา ไม่มีอภิญญา สิ่งที่เกิดขึ้นมีแต่ความทุกข์ทั้งนั้น เพราะงั้นอย่าทำให้มีอะไรเกิดขึ้น ให้มันปรกติอยู่ ให้มันสงบอยู่เป็นนิพพาน เรื่องอิทัปปัจจยตา เรื่องสรรพตา มันก็ปรากฏออกมา เป็นสัมมาทิฏฐิฝ่ายปรมัตถธรรม หรือ โลกุตตระ ก็จะขอให้คุณสังเกตว่า มันใช้คำพูดคำเดียวกัน สัมมาทิฏฐิ ความเห็นความเข้าใจถูกต้องเหมือนกัน ต่างส่วนก็มีระดับที่ต่างกันอยู่คนละระดับ อย่าเอาไปปนกัน แล้วก็จะเข้าใจไม่ได้ แล้วก็จะทะเลาะกันอีก ไอ้ความทะเลาะวิวาทนี้มันอยู่ตรงที่เข้าใจคำพูดคำเดียวกันหรือเรื่องเดียวกันไม่ตรงตามที่เป็นจริง จะยกตัวอย่างที่ให้ชัดให้ง่ายยิ่งเข้าไปอีกว่า พวกศีลธรรม เขาถือว่าตายแล้วเกิดอีก ก็ระลึกชาติหนหลังได้เป็นชาติๆ เข้าโลงไปแล้วเกิดเป็นอะไรอีก เข้าโลงไปแล้วเกิดเป็นอะไรอีก มีตายแล้วเกิดอีกเป็นชาติๆ ไปอย่างนี้ มันเป็นผลดีแก่พวกศีลธรรม แล้วเป็นศีลธรรมที่มีมาแต่ก่อนพุทธกาลนานไป มันมีประโยชน์แก่คนธรรมดาสามัญในสังคมปุถุชน เขาไม่เลิก ก็มีไว้จนบัดนี้ จนพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วก็ไม่เลิก ปล่อยไว้เป็นระบบศีลธรรมไป มีคำว่าชาติ เกิดมาจากพ่อแม่เข้าโลงที่หนึ่งเรียกว่าชาติหนึ่ง ถ้าถามว่าตายแล้วเกิดอีกหรือไม่ พวกศีลธรรมก็จะตะโกนเป็นเสียงเดียวกันว่าตายแล้วเกิดอีก หรืออย่างน้อยที่สุดก็่ว่าถ้าคุณลังเล คือคุณถือฝ่ายที่ว่าตายแล้วเกิดอีกก็ให้ดีกว่าที่จะไปถือว่าตายแล้วไม่เกิด เพราะมันชวนให้ทำอะไรได้ดีได้มากกว่า ถ้าไม่ลังเลก็ยิ่งดี ให้มันแน่ไปเลยว่าตายแล้วเกิด ให้รีบทำความดีให้มันเกิดดี แต่ถ้าถามว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด พวกปรมัตถธรรม เขาก็จะย้อนเอาว่า อ้าว มีฉันที่ไหนล่ะ ฉันอยู่ตรงไหนล่ะ เดี๋ยวนี้ที่นี้มันก็ไม่มีฉัน แล้วใครจะตายล่ะ เขาก็จะถามเสียอย่างนี้ ไอ้คนถามนี่เลยไม่รู้จะถามยังไง เอาฉันมาดูสิมันไม่มีฉัน ก็เลยไม่มีคำว่าฉันตายแล้วเกิดหรือฉันตายแล้วไม่เกิด คำว่าชาติ เกิดนี้ว่ามันเกิดสำหรับพวกนี้นะ คำว่าชาติ หรือการเกิด ก็เกิดถึงความรู้สึกในใจว่าตัวฉัน ว่าของฉัน ว่าตัวกู ก็เกิดการปรุงแต่งทางความคิดนึก เกิดความทุกข์อะไรขึ้นมาเรื่องหนึ่งก็เรียกว่าชาติหนึ่งสำหรับคนพวกนี้ ไม่ได้เล็งถึงการเกิดจากท้องแม่ ฉะนั้นถ้าจะมีการระลึกชาติสำหรับพวกปรมัตถธรรม ก็จะระลึกถึงว่าเมื่อตะกี้ที่แล้วมาเราคิดอะไรผิดๆ เกิดตัวกูขึ้นมาจนมีความทุกข์ ก็ผลัดออกไปจนเมื่อตอนหัวค่ำ ตอนเช้า ตอนวาน เมื่อวาน วานซืน อย่างนี้ว่ามันมีความคิดอะไรผิดๆ เกิดเป็นตัวกูขึ้นมาแล้วก็มีความทุกข์ การระลึกชาติเลยระลึกไปในรูปนี้ ไม่เกี่ยวกับการเข้าโลงแล้วเกิดอีก มันมีชาติเหมือนกัน ทีนี้พอพูดถึงที่พึ่ง พวกศีลธรรมเขาก็ต้องพึ่งพระรัตนตรัย หรือพึ่งตนเองบ้าง ทางพุทธว่าตนพึ่งตน หรือว่ามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งเป็นสรณะ นี่ก็เพื่อศีลธรรม แต่ถ้าปรมัตถธรรมมันต้องการจะทำลายตน ไม่มีตนที่เป็นเจ้าของปัญหา มันก็เลยไม่ต้องพึ่งอะไร ถ้ามีความทุกข์มันก็แก้ไขไปด้วยเหตุของความทุกข์โดยตรง ไม่ได้แสวงหาที่พึ่งอะไรที่เป็นตัวเป็นตนที่ไหน นั่นเป็นพูดกันเอาว่าตนของตนก็มิได้มี ส่วนพวกหนึ่งมันมีตน กลัวขึ้นมาก็หาที่พึ่ง พึ่งเจ้า พึ่งนาย พึ่งเงิน พึ่งอำนาจวาสนา พึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กับที่ทั้งรวมเรียกว่าพึ่งตนเองแล้ว นึ่มันต้องมีที่พึ่ง เพราะมันมีตน ตนเพิ่งตนจนได้ในที่สุด แต่พวกที่ถือหลักปรมัตถธรรมถ้ามันไม่มีตน ตนของตนก็มิได้มี ถ้าเกิดความทุกข์ขึ้นมาก็หาวิธีดับเสีย ตามหลักเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายที่ดับทุกข์ได้ นี้เรียกว่าที่พึ่ง มันก็ยังต่างกันอยู่อย่างนี้ นั้นคำสอนที่เขากล่าวไว้สำหรับศีลธรรมนั้นอย่าไปคัดค้าน เพราะยังมีคนที่เป็นอย่างนั้น ต้องการอย่างนั้นอยู่อีกมาก บางคนที่จะหลุดออกไปก็ทำอย่างนี้ก็แล้วกัน นี่ถ้าคุณจะจำคำสำคัญอีกคำหนึ่ง คือคำว่าเกิด หรือ คำว่าชาติ เอาให้ดีก็จะง่ายขึ้น ศีลธรรมก็เอาการเกิด หรือชาติเกิดจากท้องแม่อยู่จนเข้าโลงนี้เรียกว่าชาติ ถ้าปรมัตถธรรมเขาจะเอา ถ้ายังมีการเกิดนะ เขาจะเอาการเกิดขึ้นแห่งอุปาทาน ว่าตัวฉันว่าของฉัน ครั้งหนึ่งเรียกว่าเกิดครั้งหนึ่ง เกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวฉันของฉัน หรือมีความหมายไปในทางเป็นตัวฉันของฉัน เกิดเนื่องกันอยู่กับความรู้สึกว่าฉันของฉันก็ได้ ก็เรียกว่าชาติหนึ่งแล้ว มันเป็น egoism ที่เกิดขึ้นในจิตใจ หรือว่า concept ต่างๆที่มันเนื่องอยู่ด้วย egoism เป็น egoistic conceptual ของทุกๆชนิด ก็จัดว่าเกิดขึ้น ก็เรียกว่ามีการเกิดแห่งตัวฉัน นี่เรียกว่าเกิดในฝ่ายปรมัตถธรรม ถ้าเรารู้จักแยกอันนี้ได้แล้วอันอื่นจะรู้จักแยกหมด ระบบที่จะเทียบต่อไปอีกคู่หนึ่งว่า ระบบเกี่ยวกับที่จะเป็นไปข้างหน้า ถ้าว่าระบบศีลธรรมมันก็เป็นไปเพื่อวัฏฏะ คือไปเกิดดีได้ดี หรือจะไปเกิดชั่ว หรือทำชั่ว มันชอบชั่วก็ตามใจเถิด นี่เขาเรียกว่า วัฏฏคามินี หรือ วัฏฏคามี ก็ได้แล้วแต่จะเรียก เพราะมันเป็นไปเพื่อวัฏฏะ วัฏฏะคือวงเวียนเป็นวงกลม ถ้าศีลธรรมมันก็ไม่ออกไปจากวงกลมนี้ได้ เขาจึงเรียกว่า วัฏฏคามี เป็นไปในวัฏฏะ วัฏฏะสงสารนี่แหละ เกิดอย่างนั้น เกิดอย่างนี้ เกิดอย่างโน้น เกิดดี เกิดชั่ว เกิดเลว วนเวียนอยู่อย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นไปเพื่อวัฏฏะ ที่เราทำบุญไปเกิดในสวรรค์ มันก็เป็นวัฏฏะอย่างสวรรรค์ แล้วก็เดี๋ยวกลับมานรกอีก เดี๋ยวมามนุษย์อีก เดี๋ยวไปสวรรค์อีก แล้วแต่การกระทำที่เป็นไปตามความยึดถือ เผลอนิดเดียวกิเลสมันก็เกิด มันก็ปรุงแต่งให้เกิดอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะว่าเอาเกิดอย่างวัฏฏะ จะเป็นวัฏฏะชนิดข้ามภพข้ามชาติ หรือว่าวัฏฏะที่นี่ก็ได้ เป็นเรื่องศีลธรรม นี้ถ้าเป็นพวกปรมัตถธรรม นี่เขาเรียกว่า วิวัฏฏะ วิวัฏฏคามี อันตะกี้เรียกว่า วัฏฏคามี อันนี้เรียกว่า วิวัฏฏคามี เติม "วิ" แปลว่าไปข้างหน้า คือ "อะ" นั่นเอง คือ ไม่นั่นเอง คือ ปราศจาก พวกปรมัตถธรรมนั้นเป็น วิวัฏฏคามี มันต้องการจะหยุดวัฏฏะเสีย ไม่ให้เวียนเป็นวงกลมอีกต่อไป เพื่อไม่ต้องเป็นไปในวงกลมนั้น ส่วนพวกศีลธรรมก็ต้องเป็นไปในวงกลมนั้น เรียกว่า วัฏฏะ นี่มันต่างกันอยู่อย่างนี้ ทีนี้คำสอนชั้นลึก เช่นเรื่องปฏิจจสมุปบาท ก็เป็นการเปรียบเทียบ พวกศีลธรรมเขาเอาปฏิจจสมุปบาทครอบภพครอบชาติ เขากินเวลาตั้งสามชาติ ชาติที่แล้วมาด้วย ชาติปัจจุบันด้วย ชาติที่จะไปข้างหน้าด้วย สามชาติ จึงจะเรียกว่าปฏิจจสมุปบาทหนึ่งรอบ หรือ หนึ่งวง แต่ถ้าเป็นพวกปรมัตถธรรมนั้นแวบเดียวเท่านั้นก็เป็นปฏิจจสมุปบาทครบหนึ่งรอบ หรือ หนึ่งวง ถ้าภายในชั่วโมงเดียว เรามีปฏิจจสมุปบาทหลายรอบหลายวงก็ได้ ถ้ามันมีเรื่องมาก ซึ่งไม่ต้องรอเกิดแล้วเกิดอีกตั้งสามชาติ เพราะมันหมายถึงการเกิดแห่งจิตใจของอุปาทานอย่างที่ว่า ดังนั้นเรื่องปฏิจจสมุปบาทวงหนึ่งแห่งความทุกข์ หรือรอบหนึ่งแห่งความทุกข์นั้น มันมีได้ชั่วแวบเดียว ในนาทีเดียว ในครึ่งนาทีก็ได้ จึงที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทของฝ่ายปรมัตถธรรมนี้มันจึงละเอียด ลึกซึ้ง คือมีได้วันหนึ่งไม่รู้กี่วง นี่ก็เป็นความแตกต่าง เอ้าทีนี้จะเอาวัตถุที่เห็นง่ายๆ เช่น คำว่า นรกสวรรค์ เป็นต้น พวกศีลธรรมเขามีนรก มีสวรรค์ ตอนตายแล้วตายเข้าโลงแล้วจึงไปนรก ไปสวรรค์ ส่วนพวกปรมัตถธรรมนี่มีนรกสวรรค์ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า นรกอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ สวรรค์ก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอทำผิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดอุปาทานใดขึ้นมามันเป็นนรก ที่ตาก็ได้ ที่หูก็ได้ ไม่ใช่พร้อมเข้าด้วยกันทั้งหก มันแล้วแต่ว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นั่นนรกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่กำลังทำผิด ทีนี้สวรรค์อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่ทำถูก มันเป็นเรื่องที่นี่และเดี่ยวนี้และทันควันด้วย ถ้านรกสวรรค์ของพวกศีลธรรม ต้องตายแล้วถึงจะไปคิดบัญชีเสีย มันไกลกันมาก มันต่างกันมาก ทีนี้ที่เรียกโวหารที่น่าอัศจรรย์หรือน่ากลัว หรือคุณอาจจะถึงกับว่าตะลึง เช่น ถ้าถามว่าสิ่งทั้งปวงอยู่ที่ไหน คืออะไรนี่ จิตใจของพวกคุณที่เล่าเรียนมาอย่างนี้ คุณก็ไปนึกถึงไอ้สิ่งทั้งหมดในสากลจักรวาล ในสุริยะจักรวาล แล้วยังสุริยะจักรวาลอื่นทั่วไปหมดนั้นเอาว่าสิ่งทั้งปวง นั่นแหละภาษาศีลธรรมของชาวบ้านปุถุชน แล้วภาษาปรมัตถธรรม พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ามันอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งทั้งปวงอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ความหมายกันละอย่างแบบนี้ สิ่งที่พวกศีลธรรมเอาไปไว้ที่วัตถุนั้นๆ ที่เรื่องนั้นๆ ที่อะไรนั้นๆ อย่างที่เขาเล่าเรียนมา เป็นภาษาศีลธรรม ก็พูดว่าอยู่ที่นั่น ที่ภพนั้น ที่โลกนั้น แล้วก็โดยมากตอนตายแล้ว แต่ว่าปรมัตถธรรม อยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ และอยู่นิดเดียวในร่างกาย ที่ยาวราววาหนึ่งนี้ จะยกตัวอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่เห็นให้ชัดขึ้นไปอีกหน่อยหนึ่ง ซึ่งคุณอาจจะไม่ชอบฟังก็ได้ แต่ว่ามันมีความจำเป็น หรือมันมีประโยชน์ แต่เนื่องจากชื่อมันจำยาก เป็นภาษาบาลี ถ้าคุณเดินผ่านไปตามศาลาวัดที่เขาเรียนอภิธรรมกัน จะได้ยินคำว่า กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ โลกุตรภูมิ นี่คุณต้องไม่ดูใช่ไหม นั่นนะมันก็ควรจะสนใจกันบ้างล่ะ เพราะถ้าจิตมันทรามอย่างธรรมดา หมกมุ่นแต่ในกาม เขาเรียกว่า กามาวจร หรือ ภูมิกามาวจร ถ้ามันไม่เกี่ยวกับกาม ไปหาของที่มีรูปร่าง เป็นรูปธรรมที่บริสุทธิ์ สะอาด จิตใจนั้นก็เรียกว่ารูปาวจรภูมิ นี่ถ้าสูงไปอีก เอาสิ่งที่ไม่มีรูปร่างเป็นวัตถุมาเป็นที่สนใจ ที่พอใจยินดี หาความสุข นี่เขาเรียกว่า อรูปาวจรภูมิ แต่ถ้าเอาการพ้นจากไอ้สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดมาเป็นวัตถุสำหรับหาความสุข เขาเรียกว่าโลกุตรภูมิ นี่พวกศีลธรรมนี่เขาบัญญิติไอ้สิ่งเหล่านี้ไว้ตอนตายแล้วทั้งนั้นแหละ กามาวจรภูมิก็ไปสวรรค์ รูปาวจรภูมิไปในรูปพรหมที่เป็นพรหมโลกรูปพรหม อรูปาวจรภูมิ พรหมโลกที่ไม่มีรูป เขาเพ่งเล็งกันตอนตายแล้วทั้งนั้น โลกุตรภูมิก็เป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอรหันต์ ยิ่งนานไปอีกกว่าจะได้เป็นพระอรหันต์ ทีนี้เราอยากจะพูดในแง่ของปรมัตถธรรมว่า จิตใจที่มันกลับกลอกไปมาอยู่เดี๋ยวนี้น่ะมันไปอยู่ในกาม หรือไปอยู่ในรูป หรือไปอยู่ในอรูป หรือบางทีมันก็พ้นจากสิ่งเหล่านี้ บางคราวจิตของเราสงบอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ก็เรียกว่าเป็นโลกุตรภูมิ แม้ว่าชั่วขณะ เราไม่เอาวัตถุ ไม่เอาสถานที่ หรือไม่เอาอย่างที่เขาพูดเขียนๆ กันไว้ สอนกันมา ถ้าคนที่เรียนผ่านมหาวิทยาลัยมาแล้ว เรียนอักษรศาสตร์ เรื่องไตรภูมิพระร่วง ก็ให้รู้ไอ้ตัวนั้นเขาพูดไว้ในภาษาศีลธรรม (ภาษากุสลาทิสถาน ไม่แน่ใจนาทีที่ 56:27) แต่ถ้าภาษาปรมัตถธรรมมันอยู่ที่จิตใจที่กลับไปกลับมาอยู่กับคนๆหนึ่ง หรือว่าให้มากกว่านั้นหน่อยก็คือว่า วัยนี่ทำให้เปลี่ยน เช่นเป็นเด็ก เป็นหนุ่มสาว อันนี้ก็ มันก็มีเรื่องกามารมณ์นี่เป็นใหญ่ เป็นเบื้องหน้า เรียกว่าหนุ่มสาวนี่อยู่ในวัยชั้นกามาวจรภูมิ อันนี้พอเลื่อนขึ้นไปเป็นคนผู้ใหญ่ เป็นคนแก่ มันจางไป มันก็ไปหาไอ้วัตถุล้วนๆที่ไม่เกี่ยวกับกามเป็นเครื่องพอใจ จนกระทั่งหาทรัพย์สมบัติล้วนๆไว้ให้ลูกให้หลาน กระทั่งไปยินดีในบุญในกุศล ซึ่งเป็นอรูป จนกระทั่งว่าเขาเบื่อ เขาออกไปทำจิตใจให้พ้นจากสิ่งเหล่านี้ ก็เป็นโลกุตระ มันจะต่างกันอยู่ก็แต่ว่ามันจะเด็ดขาดลงไปหรือ ไม่ยังไม่เด็ดขาดลงไป เนี่ยคำว่าภูมิแห่งจิตใจมันเป็นอย่างนี้ ธรรมดาก็เปลี่ยนกลับไปกลับมาอยู่แล้วในวันหนึ่งๆ สำหรับผู้ใหญ่ที่โตแล้ว เดี๋ยวก็แส่ไปยังกามบ้าง เดี๋ยวต้องการการพักผ่อนบ้าง เดี๋ยวยินดีมานั่งตากลมเล่นไม่อยากไปสุงสิงกับเรื่องเพศบ้าง นี่มันเปลี่ยนอยู่อย่างนี้ ซึ่งรอกระทั่งมันอยากจะพ้นไปจากความเป็นบ้าๆบอๆนี้ทั้งหมด ก็จึงจะเป็นโลกุตรภูมิ ก็อันจะเข้าใจอย่างนี้มันเป็นวิธีลัดที่จะให้ก้าวหน้าในทางธรรมมาก ถ้าไปถือเสียว่าต้องตายแล้วจึงจะได้ แล้วมันตายอยู่ร้อยหนพันหนนี่จึงจะได้ขึ้นมาเลยเป็นคนหมดหวัง และก็ไม่สนใจอะไร และนั่นแหละจะเวียนไปหาไอ้ความเลวได้ไม่ทันรู้ตัว เพราะไม่มีหวังที่จะก้าวไปๆได้อย่างแน่นอน การศึกษาเรื่องนี้ให้ถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก ทีนี้อีกคำหนึ่งซึ่งชาวบ้านสมัยโบราณเขาจะพูด ว่าเราจะมีอุปนิสัยปัจจัยเพื่อนิพพาน ทำอะไรก็อุทิศอธิษฐาน หรืออุทิศ หรือว่าให้มันเป็นปัจจัยเพื่อนิพพานอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเทอญ ไอ้ปัจจัยแห่งนิพพานนี่ก็เหมือนกันอีก ในทางศีลธรรมเมื่อหวังนิพพานไว้ไกลนัก ตายแล้วเกิดอีก ตายแล้วเกิดอีก ไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนกี่ล้านชาติก็ได้ มันก็เลยหวังเพ้อๆไปงั้นแหละ ละเมอๆ เพ้อๆ ไปอย่างงั้นเพื่อเป็นปัจจัยแห่งนิพพาน แลฝ่ายปรมัตถธรรมเขารู้จักอยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ให้มันดีขึ้น ดีขึ้น ดีขึ้น นั้นทำอะไรลงไปนี้มันต้องลดไอ้ความโลภ ความโกรธ ความหลง เห็นได้ชัด ลดตัวกูของกูเห็นได้ชัด มันเป็นปัจจัยแห่งนิพพานที่อยู่ในระยะที่ใกล้ป้าย แล้วก็เร็ว ก็ยิ่งขึ้นทุกที เอ้าจวนจะหมดนี้ ก็จะคุยอีกคู่หนึ่ง คือ เรื่องทำบุญ บุญญกิริยา เขาเรียกว่า การจะทำบุญ วัฒนธรรมทุกแขนง ทุกสาขา ทุกชาติ ทุกประเทศ ทุกศาสนา จะมีการบัญญัติไอ้สิ่งที่เรียกว่า การทำบุญ ระบบของการทำบุญนี่ก็มีกันทุกชาติทุกศาสนา แต่ว่ามันมีต่างกันอยู่อย่าง จะตรงกันข้ามก็ได้ คือถ้าในระบบศีลธรรม เขาทำบุญเพื่อเอากำไรมากมายหลายสิบเท่า หลายร้อยเท่า เป็นของตอบแทนกลับมาในรูปร่างอย่างเดียวกันนั่นแหละ เช่น ถ้าให้เงินไปทำบุญ นี่ก็ขอให้มันรวย หลายสิบเท่า หลายร้อยเท่า หรือว่าให้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์อะไรออกไปเป็นการบริจาคทำบุญ ก็ด้วยหวังว่าจะให้มันได้กลับมาให้มากมาย เป็นกำไรมากมายหลายร้อยเท่า หลายสิบเท่า นี่เรียกว่าการทำบุญอย่างนี้มันเป็นเรื่องศีลธรรมเอากำไรมหาศาล เอามหากุศล เขาเรียกกันอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นเรื่องของปรมัตถธรรม มันทำบุญเพื่อสลัดออกไปให้หมด ให้หมดออกไป หมดออกไป หมดไปๆ จนกว่าจะหมด ให้สิ่งที่ยึดถือว่าเป็นของเรา พวกปรมัตถธรรมเขาจะทำลายไอ้ที่เรียกว่าของเรา ของเราให้หมดไป แต่พวกศีลธรรมเขาต้องการจะเพิ่ม เพิ่มไอ้ตัวเราของเราที่ดีกว่า ที่มากกว่ายิ่งขึ้นไป มันเดินคนละทางอย่างนี้ แม้สิ่งที่เรียกว่ากุศล เขาต้องการกุศล ต้องการมหากุศล แต่ถ้าเป็นปรมัตถธรรมนั้นต้องการจะอยู่เหนือทั้งกุศล ทั้งอกุศล ไม่ต้องการแม้แต่กุศล คือต้องการโลกุตตระที่อยู่เหนือกุศล เป็นเรื่องสลัดหมด หรือถ้าจะเอาก็เอาความว่าง ความมุ่งหมายต่างกันอยู่อย่างนี้ ทีนี้จะจบแล้ว ก็จะสรุปความว่า แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร เช่น เราทำบุญ เอาบุญเป็นกำไรมากๆนี่แล้วเมื่อไรมันจะพบปรมัตถธรรม ข้อนี้ก็ทำให้นึกถึงไอ้ความที่มันรู้จักสิ่งต่างๆถูกต้องตามที่เป็นจริงโดยหลักของปรมัตถธรรมนั่นแหละ โดยไม่เท่าไร มันจะมองเห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของบุญ ของกุศล ของกามารมณ์ ของความมั่งมี ของความสุข ซึ่งล้วนแต่เปลี่ยนแปลง ไปยึดถือเข้าทีไรมันก็กัดเอาที่นั้น นี่ผมพูดคำหยาบหน่อยเพราะว่ามันจะง่าย ไปยึดถือสิ่งใดในความเป็นตัวตนของตนเข้า มันก็กัดเอาทันที คือทำให้เกิดความทุกข์ นี่พวกที่ไปในทางศีลธรรมอยู่เรื่อยๆนี่ มันจะถูกกัดเรื่อยๆ เดี๋ยวหัวเราะ เดี่ยวร้องไห้ เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ สลับกันไปเรื่อยๆ พอถึงจุดๆหนึ่งมันเอือมระอาที่ไม่อยากจะถูกกัดอีกต่อไป มันจึงเร่ออกไปหาปรมัตถธรรม จนกว่ามันจะรอดออกไปได้ไม่มีความทุกข์อีกต่อไป นี่มันหนีไม่พ้น เรื่องปรมัตถธรรมเป็นเรื่องที่หนีไม่พ้น มันจะรออยู่ข้างหน้า ทีนี้ยิ่งกว่านั้น เพราะว่าบางอย่างบางส่วนน่ะมันต้องเอามาใช้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ จะต้องมีความรู้ทางปรมัตถธรรมกันบ้างพอสมควร ถ้าผิดหวังอะไรก็อย่าได้ไปกินยาตาย ไปกระโดดน้ำตาย หรืออย่านั่งร้องไห้อยู่ คือต้องสลัดจากความรู้สึกเหล่านี้ออกไปเสียได้ด้วยความรู้ทางปรมัตถธรรม ทั้งฆราวาสอยู่ที่บ้านที่เรือนก็ต้องมีความรู้เรื่องปรมัตถธรรม ซึ่งมันก็ศึกษาได้ทุกแห่งทุกหน มีความทุกข์ที่ไหนศึกษาปรมัตถธรรมได้ที่นั่น เดี๋ยวนี้คนมันไม่เอาอย่างนั้น พอไปมีความทุกข์มามันก็ร้องไห้เสีย มันก็ไปไหว้ศาลพระภูมิเสีย ไปบนบานศาลกล่าวอะไรเสีย มันก็ไม่ต้องศึกษาเรื่องความทุกข์ละ นั้นถ้ามันมีความทุกข์ที่ไหนก็ศึกษาความดับทุกข์ที่นั่น ก็เป็นปรมัตถธรรมที่นั่น เพราะว่าความทุกข์ทั้งหลายมันเกิดจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งนั้น เพราะนั้นจำไว้ให้ดี ทำใจคอให้ดี มีสติสัมปชัญญะ มีอารมณ์ให้ดี คอยศึกษาสิ่งต่างๆ ที่มันผ่านวูบวาบเข้ามาในจิตใจของเรา ก็สิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่งนั้นคือ ความทุกข์ คือความทุกข์สอนจะดีใจดีกว่าความสุขหรือความเพลิดเพลิน ที่เราไปชอบความเพลิดเพลิน ไม่สนใจความทุกข์เลยไม่ต้องศึกษากัน ความเพลิดเพลินมันจะมีให้ลืมให้หลงให้ลิงโลดไป แต่ถ้าความทุกข์แล้วมันจะสอน มันตั้งใจจะสอนแต่เราก็ไม่รับ เพราะงั้นเปลี่ยนเป็นว่าถ้าความทุกข์เกิดขึ้นแล้วจะยินดีรับเอาไอ้สิ่งที่ความทุกข์มันมาสอนให้ คนโบราณไทยเราก็พูดเป็น ซึ่งพวกฝรั่งอาจจะพูดไม่เป็นก็ได้ ว่าความผิดก็เป็นครู ทั้งความถูกก็เป็นครู ความผิดก็เป็นครู นี่เรามีอะไรพอที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพราะเรื่องศีลธรรมมันก็ยังมีเรื่องผิดเรื่องถูกสลับกันไป ส่วนเรื่องปรมัตถธรรมนั้นจะอยู่เหนือความผิดและความถูกด้วยประการทั้งปวง นี่คือความแตกต่างระหว่างศีลธรรมกับปรมัตถธรรม ก็ทั้งสองทั้งคู่นี้ มันก็จะแตกกันไปเรื่อยๆ แล้วก็มีทั้งในสภาวะธรรม ในสัจจธรรม ในปฏิปัตติธรรม ในวิปากธรรม ในทั้งสี่กลุ่มอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว คอยควบคุมรู้จักสิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรมและปรมัตถธรรมคู่นี้ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เวลาสำหรับการบรรยายในวันนี้ก็ได้หมดเพียงเท่านี้.