แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ 30 มีนาคม 2516 ท่านพระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลาย ในการบรรยายถวายความรู้รอบตัวครั้งที่ 9 นี้ ผมจะได้กล่าวถึง สิ่งอื่นต่อไปอีก ที่ควรจะได้มองกันให้ดีๆ และเกี่ยวข้องกันอยู่กับหน้าที่การงานของพระวิปัสนาจารย์ทั้งหลาย ดังนั้น ในวันนี้จะได้กล่าวโดยหัวข้อที่ว่า ทะลุสิ่งที่เรียกว่าศาสนาไปยังสิ่งที่เรียกว่า ธรรม ทะลุสิ่งที่เรียกว่าศาสนาไป แล้วจึงจะถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรม คือการขอร้องให้มอง ให้เห็นด้วย แล้วก็ให้พยายามกระทำอย่างนั้นด้วย เดี๋ยวนี้เราก็ไม่ค่อยจะเข้าใจ คำว่าศาสนา นี้บางที่ก็ติด อยู่ที่คำว่าศาสนา ก็ทะลุออกไปไม่ได้ คือไม่ทะลุไปถึงสิ่งที่เรียกว่า ธรรม ธรรมะตัวแท้หรือนิพพาน นิพพานนั้น จะต้องเรียก โดยนาม ธรรมดาว่าธรรม จะเรียกว่าศาสนาไม่ได้ นี้มันต่างกันอยู่มาก สิ่งที่เรียกว่าธรรม ในกรณีอย่างนี้ กับสิ่งที่เรียกว่าศาสนา ถ้าฟังให้ดี ก็จะค่อยมองเห็นต่อๆ ไป ว่ามันเป็นคนละอย่าง อย่างไร สิ่งที่เรียกว่าศาสนานั้น เป็นการบัญญัติ แต่งตั้งขึ้น อย่างพระพุทธองค์ท่านตรัสว่าเรา บัญญัติเฉพาะเรื่องทุกข์ กับเรื่องความดับทุกข์ ที่นี้หมายความว่า ท่านรวมมาบัญญัติ แต่งตั้งขึ้น ที่นี้เราจะต้องทะลุ ไอ้สิ่งที่เป็นการบัญญัตินั้นออกไปยังสิ่งที่เป็นตัวจริง ที่เป็นที่ตั้งของการบัญญัติ หรือเป็นเหตุให้บัญญัติ ถ้าอุปมาก็เหมือนกับว่าเรา ได้ฟังนิทานเขาเล่า เราทะลุนิทานที่เขาเล่านั้นไป ออกไป ต่อไป จนกระทั่ง ถึงไอ้สิ่งที่เป็นตัวจริง หรือเป็นเรื่องจริง ที่เขาเอามาเล่า แม้แต่เขาจะเล่าเป็นการบรรยาย สถานที่นั้น ที่นี่ เราก็ยังไม่ได้รับประโยชน์อะไรนัก นอกจากจะทะลุไปให้ถึงไอ้ตัวสถานที่นั้นจริง จึงจะได้สำเร็จประโยชน์เต็มที่ การฟังเขาเล่านั้น ไม่ใช่มันถูกตรงตามความจริงเสมอไป เพราะคนที่เล่านั้น ไม่ใช่ว่ามันจะรอบรู้ มันเล่าไม่หมด มันเว้นไอ้สิ่งที่ควรเล่า ไว้ในส่วนที่สำคัญ ก็เล่า สิ่งไม่สำคัญก็เล่า อย่างบูดๆ เบี้ยวๆ ไปทางนั้น ทางนี้ แต่ก็เป็นการดี ที่เขามาเล่าให้ฟัง แล้วเราจะต้องทะลุ ไอ้คำเล่าหรือนิทานก็ตามที่เขาเล่าให้ฟัง ออกไปให้ถึงไอ้ตัวจริง เรื่องจริง ของจริง สถานที่จริงๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งการเล่า ถ้าว่าไม่มี สิ่งนั้นอยู่จริง เขาก็เล่าไม่ได้ นี่ก็เล่าไปตามนั้น แต่โดยเหตุที่ว่าเขาเล่านั้นมันก็ยังไม่ครบ ไม่บริบูรณ์ หรือไม่ถูกต้องก็มี เพราะว่าเขามีปัญญาอย่างอื่น อย่างหนึ่ง อย่างใด และก็เขาไม่อาจจะเล่า ให้มันครบถ้วนถูกต้องตามที่เป็นจริงทุกกระเบียดนิ้วได้ นี่ขอให้คิดดูเอย่างผมจะขอให้ท่านพระวิปัสสนาจารย์องค์หนึ่งเล่าเรื่องวัดที่ท่านอยู่ ที่จังหวัดของท่าน มันก็ไม่ใช่วิสัยที่จะเล่าไปได้ละเอียดละออทุกแง่ทุกมุมทุกกระเบียดนิ้ว เดี๋ยวนี้เราก็จะต้องสังเกตดูว่า แม้การบัญญัติ สิ่งต่างๆ บัญญัติทางศาสนา ก็เป็นเพียงการบัญญัติ เป็นตัวการบัญญัติ แม้ในชั้นอภิธรรมจะบัญญัติเรื่องขันธ์ เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ เรื่องสัจจะ เรื่องบุคคล เรื่อง ทุกๆ เรื่อง มาเป็นการบัญญัติ นี้มันก็มีสิ่ง ตัวเดิมอันเป็นที่ตั้งของการบัญญัติ ที่ทำให้บัญญัติได้ งั้นเราจะต้องเจาะให้ทะลุไอ้การบัญญัติ หรือคำพูดที่บัญญัติหรือระบบระเบียบที่เค้าบัญญัติแต่งตั้งขึ้นมา ให้ทะลุออกไปยังตัวจริงที่เป็นที่ตั้งของการบัญญัติทีแรก การบัญญัติแต่งตั้งนี้คือตัวสิ่งที่เรียกว่าศาสนาจะเป็นศาสนาไหนก็ตาม
พระศาสดาย่อมบัญญัติเรื่องนั้นๆ ขึ้นเป็นระบบ ระบบ หลายๆ ระบบรวมกัน เรียกว่าเป็นศาสนาหนึ่ง ไอ้ตัวศาสนาจึงเป็นตัวการบัญญัติแต่งตั้ง ทีนี้ตัวธรรมะเดิม ตัวของจริงเดิมซึ่งพระศาสดาท่านรู้ นั้นคือตัวธรรมะมันไม่เท่ากันก็มี คือว่าไอ้ที่ท่านรู้มันมากเกินกว่าที่จะเอามาบัญญัติแต่งตั้งทั้งหมดได้ อย่างพระพุทธองค์ท่านก็ตรัสว่าท่านบัญญัติแต่เรื่องทุกข์และเรื่องดับทุกข์ ท่านเลยเปรียบว่าเหมือนกับใบไม้ทั้งป่า ทั่วไปหมด ทั้งบ้าน ทั้งเมือง ทั้งป่า ทั่วโลก ท่านสอน ท่านรู้ ท่านตรัสรู้ แต่ที่เอามาสอนเท่ากับใบไม้กำมือหนึ่ง หรือกำมือเดียว คือเรื่องที่จะดับทุกข์ นี่ก็เห็นได้ว่า การบัญญัติ ท่านก็บัญญัติเฉพาะส่วน เฉพาะเรื่อง การบัญญัติเป็นการแต่งตั้งให้เป็นตัวศาสนาขึ้นมา ธรรมะเดิมที่ท่านตรัสรู้นั้น ก็เรียกว่าธรรม ธรรมไปตามเดิม ที่กล่าวอย่างนี้ก็หมายถึงระเบียบ ถ้อยคำ วิธีพูดจา ที่มีอยู่ในโลกเวลานี้ ในโลกปัจจุบันนี้ ถ้าพูดถึงครั้งพุทธกาลแล้ว ท่านไม่ได้เรียกว่าศาสนานี้ก็ได้ เรียกคำว่า ธรรม ก็มี แต่ก็ไม่ใช่ธรรมเดียว กับที่ เป็นของธรรมชาติดั้งเดิม ที่พระศาสดาตรัสรู้ ธรรมในที่นั้นคือ ธรรมที่เฉพาะท่านคัดเลือกเอามาส่วนหนึ่ง แล้วก็สอนตามกัน เห็นว่ามันจะดับทุกข์ได้อย่างไร ถ้าในกรณีอย่างนั้น แม้จะใช้คำว่าธรรม มันก็ยังมีความหมายแคบคือคำที่บัญญัติแต่งตั้งขึ้นมา สำหรับสอนเป็นคำสอน เป็นลัทธิศาสนา เราก็ยังจะต้องฝ่าให้ทะลุ หรือเจาะให้ทะลุ ว่าธรรมคำนี้ออกไปให้ถึง ไอ้ธรรมะตัวเดิมๆ ตัวเดิมตัวเดียวที่มีอยู่แท้จริงนี้ เป็นที่ตั้งแห่งการบัญญัติ การค้นคว้าแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแล้ว ทรงนำมาสอน การที่เอามาบัญญัติว่าเป็น ปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรมนี่ จะเห็นว่าได้ว่าอยู่ในขอบเขตจำกัด คือ ความทุกข์และความดับทุกข์ คือจำเป็น และก็เป็นการบัญญัติคำขึ้นใช้เฉพาะตามกรณีนั้นๆ นั้นจึงขอร้องให้สังเกตดูให้ดีว่า อย่างสมัยนี้นะ มีศาสนามากในโลก คือหลายๆ ศาสนา แล้วก็สนใจกันบ้าง ไม่สนใจกันบ้าง หรือว่าสนใจในลักษณะที่ขัดแย้งกันไม่มีทางที่จะเข้ากันได้ ไม่มีความสงบสุข นี่เพราะไปติดอยู่ที่การบัญญัติตัวสิ่งที่เรียกว่าศาสนา ถ้าทะลุออกไปได้ถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรม แล้วก็จะไม่มีการขัดแย้ง ถ้าทะลุออกไปได้จริง กลัวจะไม่จริง กลัวจะครึ่งๆ กลางๆ หรือเขวไปข้างนั้นข้างนี้ไม่ถึงตัวจริง เดี๋ยวก็จะได้พิจารณากันให้ละเอียด โดยจะพิจารณากันทีละอย่างดีกว่า ทีแรกที่สุด พิจารณากันถึงสิ่งที่เรียกว่า ธรรม นั่นแหล่ะ ธรรมในความหมายที่พูดถึงทีแรกนั้นว่า ให้ทะลุแห่งการบัญญัติแต่งตั้งต่างๆ ออกไปถึงตัวธรรมที่แท้จริงนั้น สิ่งที่เรียกว่าธรรม ที่จะพูดโดยปริมาณ มันก็มากเกิน กว้างเกิน มากเกินกว่าที่เราเรียกกันเดี๋ยวนี้ กว่าสิ่งที่เราเรียกกันในเวลานี้ว่า พระธรรม ขอให้นึกถึงคำว่าพระธรรม ที่มากับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไอ้คำว่าพระธรรมอย่างนี้ ก็ยังแคบอยู่ อยู่ในพวกการบัญญัติแต่งตั้ง ส่วนคำว่าธรรมเฉยๆ ที่กว้างไม่มีขอบเขตนี่มันมากกว่าไอ้สิ่งที่เราเรียกกันเดี๋ยวนี้ว่า พระธรรม และยังจะหมายถึงสิ่งที่ทำให้เกิด สิ่งที่เราเรียกกันว่าพระธรรมนั้นเสียอีก ก็มีธรรมอะไรที่เป็นไปอยู่ตามธรรมชาตินั่นน่ะ เป็นที่ตั้ง เป็นที่อาศัย ให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้และทรงนำมาสั่งสอนจนได้เกิดสิ่งที่เรียกว่า พระธรรม หรือว่าธรรมรัตนะ อะไรขึ้นมา และในครั้งแรกนี้จึงพูดว่า สิ่งที่เรียกว่าธรรมนั้นมากเกินกว่าสิ่งที่เรากำลังเรียกกันในบัดนี้ว่าพระธรรม และยังเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดพระธรรมที่กำลังเรียกนี้ไปเสียอีก นี้เพราะหมายถึงสิ่ง เป็นสิ่งเดียวที่มีอยู่ก่อนสิ่งใด ลองคิดดูทีว่ามีอยู่สิ่งเดียว สิ่งหนึ่งซึ่งมีอยู่ก่อนสิ่งใดๆ ทั้งหมด ก่อนแต่ที่จะมีมนุษย์ เอ้า ก่อนแต่ที่จะมีโลกนี้ ก่อนแต่ที่จะมีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ก่อนแต่ที่จะมีโลกในนี้ ในสากลจักรวาลนั้นมีอะไร ลองคิดดู และก่อนแต่จะมีสิ่งใด ถ้ามีสิ่งใด สิ่งนั้นน่ะ คือสิ่งที่เรียกว่าธรรม ในกรณีอย่างนี้ คือมันมีอะไรอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งยากที่เราจะรู้จักหรือเข้าใจ ซึ่งเมื่อสิ่งนี้มันมีอยู่ และก็มีอยู่อย่างที่เรียกว่าเป็นอนันตกาล หรือว่าเป็นอนันตเทสะ คือมันอยู่ในเวลาที่ไม่สิ้นสุด อยู่ในเนื้อที่ พื้นที่ที่ไม่สิ้นสุด เวลาไม่สิ้นสุดพอจะฟังออก ตั้งต้นมาแต่เมื่อไหร่ก็ตาม แล้วจะไปอีกเท่าไหร่ก็ตาม เวลาไม่มีที่สิ้นสุด ไอ้สิ่งนี้มันก็อยู่ตลอดเวลา อนันตกาลอย่างนี้ และก็อนันตเทสะ หมายความว่าพื้นที่มันจะแผ่ไปยังที่ไหน กี่โลก กี่โลกไป หมื่นโลกธาตุ แสนล้านโกศโลกธาตุ ไอ้สิ่งๆ เดียวนี้มันก็แผ่ครอบคลุมไปหมด สิ่งนี้คืออะไร วินิจฉัยกันต่อไป นี่คือสิ่งที่กำลังเรียกว่าธรรมเฉยๆ มันมีอยู่อันหนึ่งก่อนสิ่งใดในที่ทั่วไป ในตลอดทุกระยะกาลเวลา ทีนี้เราไม่ได้มองถึงสิ่งนั้น ถ้ามองจากสิ่งที่บัญญัติแต่งตั้ง ให้รู้ ให้เรียน ให้ปฏิบัติ ไอ้สิ่งที่แต่งตั้งบัญญัติให้เราเรียนนี้ แล้วแต่เป็นกฏเกณฑ์ของไอ้สิ่งที่เรียกว่าธรรมโน้นทั้งนั้นแหละ นี่เราจะพูดกันให้ เสร็จไปเสียทีก่อนถึงลักษณะของสิ่งที่เรียกว่าธรรม มันมีอยู่ก่อนสิ่งใด มีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง แล้วก็เป็นสิ่งที่ไม่ต้องมีอะไรปรุงแต่ง อย่างที่เรียกว่าอสังขตะ ไม่ถูกอะไรปรุงแต่ง นี่ขอให้จำคำนี้ไว้ด้วย เป็นคำธรรมดา หญ้าปากคอก คำว่าอสังขตะ แปลว่าไม่ถูกอะไรกระทำ ไม่ถูกอะไรปรุงแต่ง เพราะว่าถ้าถูกอะไรปรุงแต่งได้ มันก็อยู่นานอย่างนั้นไม่ได้ จะอยู่คงที่อย่างนั้นไม่ได้ มันต้องเปลี่ยนแปลง มันต้องมีเกิด มันต้องมีดับ เดี๋ยวนี้เราพูดกันว่ามีอยู่สิ่งหนึ่ง ซึ่งไม่รู้จักเกิด ไม่รู้จักดับ มีอยู่ตลอดทุกเวลา ทุกแห่ง สิ่งนั้นจะต้องเป็นประเภท อสังขตะ ไม่ถูกกระทำพร้อม คือไม่ถูกปรุงแต่ง นี่ก็เป็นที่ยึดที่เกาะ ที่งอกที่อะไรของสิ่งที่เรียกว่า สังขตะ หรือปรุงแต่ง แต่ไม่ได้หมายความว่า ในฐานะที่เป็นเหตุปัจจัยโดยตรง ไม่เป็นเหตุโดยตรง แต่อาจจะเป็นปัจจัยโดยอ้อมก็ได้ จะยกตัวอย่างเหมือนว่าที่ว่าง ที่ว่างนี้เป็นที่ตั้ง ที่อาศัยให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมาตั้งอยู่ได้ ถ้าไม่มีที่ว่าง แล้วเราจะมานั่งอยู่อย่างนี้ได้อย่างไร มันต้องมีที่ให้ว่าง แล้วจึงมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาอาศัยนั่งอยู่ในที่ว่างนั้นได้ ถ้าไม่มีที่ว่าง มันก็ไม่มีอะไรที่จะเข้ามาได้ อย่างนี้เราเรียกว่าวัตถุหนึ่งนั้นมันได้ปัจจัยคือที่ว่าง มันจึงเกิดขึ้นมาได้ งอกขึ้นมาได้ ตั้งอยู่ได้ แม้ไม่ได้เป็นเหตุโดยตรง ก็ยังเป็นปัจจัยในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ที่ว่างเป็นปัจจัย ที่อาศัยเพื่อการตั้งอยู่เป็นต้น ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มันตั้งอยู่ในที่ว่างนั้น ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าอสังขตะ มันก็เป็นเหมือนกับที่ว่างที่สิ่งที่เป็นสังขตะอาศัยอยู่ หรือเกี่ยวข้องกันอยู่ เนื่องถึงกันอยู่ แต่ไม่ใช่ในฐานะที่ว่าเป็นเหตุปัจจัยโดยตรงของกันและกัน สำหรับคำว่าอสังขตะนี้ มีความหมายได้มากมาย แต่ต้องเป็นไปในทางที่เรียกว่าอสังขตะอยู่นั่นแหละ ถ้ามันเป็นอนันตะ ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าเป็นสังขตะมันก็มีที่สิ้นสุด ถ้ามีที่สิ้นสุดมันก็เป็นเพียงสังขตะ ต่อเมื่อไม่สิ้นสุด ไม่รู้จักสิ้นสุด ไม่รู้จักจบ คือไม่มีเวลา ไม่มีเนื้อที่ที่จะจำกัดได้ จึงจะเรียกว่าเป็นอนันตะในทางเวลาบ้าง ในทางเนื้อที่บ้าง ฉะนั้นอสังขตะ มันก็เป็นอนันตะ นี้ว่าเป็นอนันตะ มันก็ต้องเป็นอมตะคือไม่ตาย ถ้ามันมีสิ้นสุด มันก็มีตาย มันไม่มีที่สิ้นสุด มันก็คือไม่ตาย มันจึงเป็นอมตะ ลักษณะของอสังขตะจะต้องเป็นอย่างนี้ ยิ่งกว่านั้นจะต้องเป็นสัจจะ คือของจริง ของอื่นไม่จริง เพราะเปลี่ยนได้ เพราะเกิดได้ ดับได้ เปลี่ยนไปได้ ถูกกระทำให้เปลี่ยนไปได้ ก็มีอยู่แต่อสังขตะเท่านั้นที่จะเป็นของจริงคือเป็นสัจจะ จริงอย่างอื่นไม่จริง หรือเรียกว่าจริงชั่วคราว จริงโดยจำกัด ความหมายหรือว่าสมมติว่าจริง มันไม่จริง ถ้าจริงคือ ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เกิดไม่ดับ ก็มีแต่พวกสิ่งที่เป็นอสังขตะ ซึ่งจะเรียกว่าสัจจะ นี่ก็มีเรียกด้วยคำแปลกๆ เช่นคำว่า อมุสา คือไม่มุสา ไม่หลอกลวง ไม่โกหก ไม่หลอกลวง ยกเว้นอสังขตะเสียแล้ว โกหกหลอกลวงทั้งนั้น คือมีแล้วไม่มี มีแล้วเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวก็เป็นอาการที่เรียกว่าหลอกลวง เรียกว่ามุสา พวกสังขตะพวกเดียวเท่านั้น ที่เป็นอมุสา เป็นอมุสาจึงเป็นสัจจะ เป็นสัจจะนี่ถึงจะเป็นอนันตะ เป็นอมตะ เป็นพวกเดียวกัน คำว่าอมุสานี่ก็เป็นพระพุทธภาษิต ที่เรียกสิ่งนี้ นี่สรุปความ ก็เรียกว่า มันเป็นกฏ เหนือสิ่งใดๆ สิ่งที่เรียกว่าอสังขตะนี้ ตั้งอยู่ในฐานะเป็นกฏเหนือสิ่งใดๆ ถ้าเป็นสังขตะ ก็เป็นกฏไม่ได้ ถ้ามันเปลี่ยนแปลงเสียเอง มันจะเป็นกฏสำหรับควบคุมสิ่งใดๆ เช่น กฏของธรรมชาติอย่างนี้ มันก็ต้องเป็นอสังขตะ ดังนั้นคำว่ากฏหรือสัจจะนั้น ต้องเป็นอสังขตะ ถ้าเป็นสังขตะ คือมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง แล้วเดี๋ยวกฏก็เปลี่ยนแปลง ดังนั้นคำว่ากฏในที่นี้คือกฏที่เป็นตัวอสังขตะ ไม่เปลี่ยนแปลง คือเป็นตัวธรรมะแท้ ไม่ใช่กฏที่มนุษย์ตั้งขึ้น อย่างกฏที่เราตั้งขึ้นสำหรับวัดนี้ สำหรับหมู่คณะ พระวิปัสสนาจารย์นี้ กฏเหล่านี้ มีคนตั้งขึ้น แล้วก็เปลี่ยนแปลงอย่างนี้ ไม่ใช่กฏในกรณีอย่างนี้ ในกรณีที่อสังขตะ เป็นกฏนั้น ก็หมายถึงกฏที่เหนือสิ่งใด แล้วก็ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นตัวกฏที่มีอยู่อย่างไร และสิ่งทั้งปวงต้องเป็นไปตามกฏนั้น โดยที่สิ่งทั้งปวงเปลี่ยนแปลง แต่ว่ากฏนั้นไม่เปลี่ยนแปลง นี่คือธรรมะในฐานะที่เป็นกฏ ที่จะต้องมองให้ทะลุ สิ่งที่เป็นบัญญัติทั้งหลายออกไปให้ถึงธรรมะ ให้ถึงธรรม ถึงตัวธรรม ซึ่งในที่นี้ก็เป็นตัวกฏด้วย ดังที่ได้พูดให้เห็นแล้วว่า ไอ้กฏเหนือสิ่งใด ชนิดนี้เรียกว่า ธรรม ก็เป็นอสังขตะ เป็นอนันตะ เป็นอมตะ เป็นสัจจะ เป็นอะไรอีกหลายๆ อย่าง นี่ควร ควรแก่นาม ที่จะเรียกกันว่าพระเป็นเจ้า ไอ้กฏนี้ กฏคือธรรม ธรรมคือกฏ ที่เป็นอสังขตะนี้ ควรแก่นามที่จะเรียกว่าพระเป็นเจ้า ในเมื่อพระเป็นเจ้านั้นเรามีความหมายถึงคำว่าสูงสุด เหนือสิ่งใด เป็นที่ออกมาแห่งสิ่งทั้งหลาย และก็มีพระเป็นเจ้านั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีที่สิ้นสุดทั้งโดยเวลาและโดยเนื้อที่ ก็มีอยู่ได้ในที่ทั้งปวง และก็ไม่ต้องมีความหมายว่าเกิดขึ้นหรือตั้งอยู่หรือดับไป นั่นแหล่ะควรจะเรียกว่าพระเป็นเจ้า ซึ่งไม่ทราบว่าจะเรียกโดยความหมายใดดี นอกจากคำว่าพระเป็นเจ้า ก็มีความหมายว่าสูงสุด หรืออะไรหมด ทั้งหมดเลยมันไปรวมอยู่ที่พระเป็นเจ้า จนไม่มีคำจะพูด ก็แปลว่าทุกสิ่งทุกอย่างทุกความหมายมันไปรวมอยู่ที่คำนั้น ทีนี้คำว่าพระเป็นเจ้านี่ เดี๋ยวนี้ก็ใช้กันไปตามแบบของตน ตามพวกของตน ตามการบัญญัติของตน ไม่ได้เล็งถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรม ในฐานะที่เป็นกฏ ในฐานะที่มีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวง ในฐานะเป็นสิ่งที่อิงอาศัยของสิ่งทั้งปวง เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงไป เป็นไอ้สังขารทั้งหลาย สำหรับภาษาไทยเรามีแต่คำว่าพระเป็นเจ้า สำหรับจะใช้เรียกสิ่งสูงสุด ต้องไปเปิดดูในหนังสือ ที่เขียนไว้รุ่นเก่าๆ รุ่นโบราณไปถึงยุคอยุธยา ซึ่งมีเหลืออยู่ให้เห็น คือกฏหมายต่างๆ นั้น พระเป็นเจ้าหมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน คำว่าพระเป็นเจ้านี้ หมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ได้หมายถึงพระเจ้าโน้น ที่อยู่บน อย่างที่เค้าเรียกกันว่าอยู่ในโลกอื่น แต่เล็งความถึงพระเจ้าแผ่นดิน เช่นจดหมายที่มีระบุว่า ใครทำชู้กับภรรยาของบุคคลที่พระเจ้าใช้ไปปราบเมือง ก็ให้ปรับไหม ๔ เท่า ๔ เท่ากับคนธรรมดา นี่คำว่าพระเป็นเจ้า หมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน บางทีพระเป็นเจ้าหมายถึงพระพุทธเจ้าก็มี อย่างกฏหมายบางบทที่ว่า เขาเป็นบุตรพระเจ้าแล้ว ไม่ต้องรับมรดก คือเข้ามาบวชในศาสนานี้ เป็นลูกของพระพุทธเจ้า เสียแล้วไม่มีการรับมรดก อย่างคำว่าพระเป็นเจ้าในที่นี้ ก็หมายถึงพระพุทธเจ้า ซึ่งมันไม่ค่อยตรงกับเรื่อง เพราะคำมันไม่มี เดี๋ยวนี้ผมอยากจะให้คำว่าพระเป็นเจ้านี่ มันเล็งถึงสิ่งที่สูงสุดจริงๆ มีอยู่ก่อนสิ่งใดจริงๆ ในที่สุดมันก็ไปจนอยู่ตรงคำที่เรียกว่าธรรม ธรรม ธรรมเฉยๆ เพราะว่ามีอยู่ก่อนสิ่งใด ในทางพระพุทธศาสนาเรา ถือว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรม มีอยู่ก่อนสิ่งใด ปรากฏออกมา ก็ปรากฏแก่มนุษย์นี่ ก่อนสิ่งใด มีอยู่ก่อนสิ่งใด ธัมโม หะเว ปาตุระโหสิ ปุพเพ ธรรมะนี้ ปรากฏอยู่ก่อนทีแรก นี่เหมือนกับคำของพวกคริสเตียนที่ว่าเดอะเวิร์ด (The word) คือพระคำ มีอยู่ก่อนสิ่งใด เดอะเวิร์ด นี้แปลว่าคำ คำคือคำบัญญัติ โองการของพระเจ้า ก็คือกฏ เพราะพระคำนั้นคือแสงสว่าง ทั้งพระคำ ทั้งแสงสว่าง นั้นอยู่กับพระเจ้า เป็นอันเดียวกับพระเจ้าเสมอ กับก็อด ก็อดคือพระเจ้า นี่บังเอิญมันฟลุ๊ค ดีมาก ตรงกันกับที่เขาเรียกว่าก็อด คือพระเจ้า แล้วก็มีคำที่เรียกว่ากฏคือพระเจ้า แล้วกฏคือธรรม ที่เป็นกฏ ที่เป็นอนันตกาลอย่างที่ว่านี้ และอธิบายได้กันทุกอย่าง ได้แต่คำๆ เดียวกันทุกอย่าง เขาอธิบายด้วยคำว่าก็อดอย่างไร เราอธิบายด้วยคำว่ากฏได้อย่างนั้นทุกคำไปเลย พระเจ้ามีอยู่ก่อนสิ่งใด แล้วก็อสังขตะธรรมที่เป็นกฏ ที่มีอยู่ก่อนสิ่งใด พระเจ้าบันดาลสิ่งทั้งหลายเป็นไปในลักษณะต่างๆ กัน นี่อสังขตะคือกฏนี่บันดาลให้สิ่งทั้งหลายเป็นไป มันมีอำนาจเหนือสิ่งใด เมื่อพระเจ้า ก็อด มีอยู่ในที่ทุกแห่ง ธรรมก็มีอยู่ในทุกแห่ง ทุกเวลา ทุกสถานที่และไม่รู้จักดับ ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง จะมีคำไหนสักกี่คำ ที่เป็นลักษณะเฉพาะของพระเจ้า ต่อให้ในทุกศาสนาด้วยเอ้า ในทุกศาสนาที่มีพระเจ้า จะมามีคุณลักษณะตรงกับคำว่า อสังขตะธรรม ที่ตั้งอยู่ในฐานะเป็นกฏ ดีทั้งนั้น หรือที่เรียกว่าพระธรรม นี่มันได้แต่ค่อยๆ พูด พูดออกไป ค่อยๆ พูดออกไป พูดออกไป ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรม ที่อยู่ไกลลิบโน่น จึงต้องทะลุไอ้สิ่งที่บัญญัติต่างๆ นานานี้ออกไป ออกไป ออกไป จึงจะถึงสิ่งนั้น ตรงนี้ก็น่าจะรู้ไว้ว่า ภาษาคริสเตียนนี้ ก็เกิดทีหลังพุทธศาสนาตั้ง 500 ปี และก็ไม่ไกลกันนัก ประเทสอินเดียกับดินแดนปาเลสไตน์ มันไม่ไกลกันนัก เนื่องๆ กัน ดันนั้นการที่มีอะไรไปเหมือนๆ กัน มันก็ไม่แปลกอะไร ที่เหมือนกันอย่างยิ่งก็คือ ก่อนนี้มันมีสิ่งหนึ่งที่มีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวง เขาเรียกว่าเวิร์ด (Word) คำ คำบัญญัติ และสิ่งนั้นเป็นไลท์ (Light) คือแสงสว่าง ไม่ได้หมายถึงแสงสว่างอย่างนี้ หมายถึง อำนาจที่ทำให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น วิวัฒนาการไปนั้นน่ะ คือไลท์ แสงสว่าง ก็ตรงกับความหมายที่ว่า อสังขตะ ที่เป็นกฏ ที่ทำให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น แล้วก็เปลี่ยนไป เช่นเดียวกับแสงแดด ทำให้วัตถุธาตุทั้งหลายเจริญ งอกงาม เปลี่ยนแปลงไป แต่นี่ไม่ใช่แสงแดด แสงอะไร บอกไม่ถูก ก็คือตัวธรรมหรือตัวกฏ เพราะคำสอนที่เป็นทั้งหัวใจแท้ๆ ของคริสเตียนก็ไม่ให้ยึดมั่นในเรื่องดีเรื่องชั่วเหมือนกัน ไปรู้ยึดมั่นถือมั่นเรื่องดีเรื่องชั่วก็ตาย จนกว่าจะไม่ยึดมั่นเรื่องตัวจึงจะรอด เขาก็สอนอย่างนี้ กินผลไม้ต้นที่ ๑ เข้าไป แล้วก็ยึดมั่นถือมั่น ดี ชั่ว แล้วก็ตาย กินผลไม้ต้นที่ ๒ เข้าไปก็จะได้ชีวิตจริง นิรันดร คือสละตัวกู ตัวตนนี้ออกไปเสีย แล้วก็ได้ตัวตนใหม่ คือชีวิตนิรันดร อย่างนี้เป็นต้น นี้พูดตรงนี้ก็พูดเพื่อว่า อย่าได้ไปดูถูกศาสนาอื่น ถ้าเราไปดูถูกศาสนาอื่นนั่นน่ะ เราจะหลับตาไปดูถูกเปลือกของศาสนาของเขา มันก็น่าอาย แล้วเราก็ไม่เข้าถึงหัวใจแท้ของศาสนาของเรา เข้าถึงแต่เปลือกๆ อยู่เหมือนกัน แล้วก็ไปดูถูกศาสนาอื่นเข้า มันก็ไปถูกเปลือกของเขา เท่าที่เรารู้จักเปลือกของเรา มันก็เลยเป็นกรรมโง่เขลาน่าละอาย ดังนั้นอย่าไปดูถูกศาสนาอื่น หุบปากนิ่งเสียดีกว่า นี้เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า มันมีสิ่งอะไรอยู่สิ่งหนึ่ง ซึ่งแล้วแต่ใครจะเรียก เขาจะเรียกว่าก็อด คือพระเป็นเจ้าก็ตามใจเขา จะเรียก พรหม ซึ่งสูงสุดกว่าสิ่งใดก็ตามใจเขา แต่เราจะเรียกว่าอสังขตะ ธรรม ที่เป็นกฏ เรียกสั้นๆ ว่ากฏ นี้มีอยู่ก่อนสิ่งใด แต่สังขตะทั้งหลายจึงเกิดขึ้นเป็นไปตามกฏนี้ แต่ถ้าเรียกอย่างที่เรียกว่าเป็นกลาง เป็นภาษาธรรมดาที่สุด เรียกว่าธรรมเฉยๆ ก็ยังไม่จัดเป็นกุศล หรือ อกุศลด้วย เพราะมันยิ่งกว่าที่จะเป็นอัพยากฤต คือไม่เกี่ยวกับดี ชั่ว บุญ บาป สุข ทุกข์ กุศล อกุศล มันเป็นธรรมแท้ ไอ้เรื่องบัญญัติเป็นบุญ เป็นกุศล อกุศลนี้มนุษย์เพิ่งว่า มนุษย์เพิ่งบัญญัติ เอาตามที่เห็นว่าอะไรมันทำอันตรายมนุษย์ แล้วก็เรียกว่าส่วนนี้เป็นบาป เป็นอกุศล ส่วนใดได้อย่างอกอย่างใจของมนุษย์ เรียกว่ากุศล นี้มนุษย์ว่าเอาเอง ก็เป็นการบัญญัติทีหลัง เป็นการบัญญัติแต่งตั้งในส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าศาสนา แต่ธรรมเท้ๆ แล้วมันอยู่เหนือที่จะบัญญัติว่าดี ว่าชั่ว ว่าบุญ ว่าบาป อันนั้นน่ะตัวการ ที่จะแยกสิ่งทั้งหลายออกมา แล้วมาบัญญัติว่าเป็นบุญ เป็นบาป เป็นเหตุ เป็นผล เป็นอะไรต่างๆ นาๆ แล้วไปพิจารณาถึงไอ้ตัวสิ่งที่เรียกว่าธรรม ธรรมเฉยๆ นั่นมัน ให้ละเอียด ให้ จะได้เข้าใจหัวข้อ ที่ผมได้กำหนดไว้ข้างต้นว่า ให้ทะลุศาสนา ทะลุสิ่งที่เรียกว่าศาสนานี้ออกไป ออกไปจนถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรม ทีนี้ก็มาถึงไอ้เรื่องที่เราควรจะเอามาพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ข้อที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ ฐิตาว สา ธาตุ นั้น คำนี้สำคัญมาก ว่าพระตถาคตทั้งหลายจะเกิดขึ้นก็ตาม จะไม่เกิดขึ้นก็ตาม สิ่งนั้นมีอยู่แล้ว สิ่งนั้นคือ ธมฺมธาตุ หรือเรียกสั้นๆ ว่าธาตุ ฐิตาว สา ธาตุ ธาตุนั้นมีอยู่แล้ว ตั้งอยู่แล้ว เรียกเต็มที่ก็ว่า ธมฺมธาตุ ขยายความออกไปเป็น ธมฺมฏฺฐิตตา ธมฺมนิยามตา ความที่ตั้งอยู่แห่งธรรม ความที่เป็นกฏตายตัวแห่งธรรม ใช้คำว่าภาวะ ที่มีอยู่ของสิ่งที่เป็นธรรมดา บางทีก็เรียกว่า ตถตา หรือภาวะความเป็นอย่างนั้น อย่างเดียว อวิตถตา ภาวะของความที่ไม่เป็นอย่างอื่นได้ ฉะนั้น ยถตา ภาวะที่ อวิตถตา ภาวะที่ไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น และอนันยถตา ภาวะที่ไม่เป็นอย่างอื่นไปได้อย่างนั้น จะพูดสักกี่คำกี่ชนิด ก็หมายความว่า ให้เล็งถึงสิ่งๆ หนึ่งซึ่งมันเป็นมันเองอยู่อย่างนั้น เป็นตัวมันเองอยู่อย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่นได้ ฉะนั้นมันจึงได้เรียกว่าเป็นอนันตะ หรือเป็นนิรันดร เป็นสิ่งๆ หนึ่งซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง และก็เป็นนิรันดร ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ถ้าพูด ก็เป็นปัจจุบันเรื่อย เป็นปัจจุบันไม่รู้กี่กัปป์ กี่กัลป์ เป็นระยะกาลปัจจุบันอยู่เรื่อย คือมีอยู่อย่างนั้น อย่างสม่ำเสมอ ไม่มีส่วนที่จะคัดออกไปเป็นอดีตได้ และก็ไม่มีส่วนที่จะคัดออกไปเป็นอนาคตได้ คือมันไม่เป็นอย่างอื่น มันเป็นอย่างนั้นไปเรื่อย คือความไม่มีอดีต อนาคต ปัจจุบัน ตามความหมายคนธรรมดาแก่สิ่งนั้น แต่ก็จะต้องพูดไว้ทีว่าเป็นปัจจุบัน เพราะมันมีอยู่เรื่อย คือเป็นปัจจุบันที่แท้จริงกว่า ปัจจุบันของมนุษย์ เพราะปัจจุบันของมนุษย์นี้มันเปลี่ยนเป็นอนาคต เป็นอดีตอะไร เป็นอันว่าไอ้ ธมฺมธาตุ นี้ ธรรมะ-ธา-ตุ นี้ คือสิ่งที่เรียกว่าธรรมเมื่อตะกี้นี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเกิด หรือจะไม่เกิด สิ่งนี้ยังคงอยู่เป็นอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง อวิตถตา คือไม่เป็นอย่างอื่นได้ ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น หรือผิดไปจากนี้ได้ นี้คืออะไร นี้มันมีอยู่เบื้องหลัง หรือว่าเบื้องใต้ หรือว่าเบื้องอะไรก็แล้วแต่จะพูด ของสิ่งทั้งปวง มันเหมือนกับว่าเป็นที่รองรับสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงเกิดดับ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ในสิ่งนี้ จะเรียกเป็นภาษานักประพันธ์ว่าในอ้อมแขนของสิ่งนี้ ที่แท้ก็คือว่าไอ้สิ่งนี้มันมีเสียในทุกที่ทั่วไปในเวลาทั่วไป ทั้งหมดทั้งสิ้น อะไรมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป วนอยู่แต่ในขอบเขตของสิ่งนี้ นี่ขอให้เข้าใจสิ่งนี้ว่าอยู่ที่ไหน ถ้าถามอย่างนี้ มันกลายเป็นตอบว่า มิได้อยู่ที่ไหนก็ได้ หรือตอบว่าอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง ทุกเวลาก็ได้ แล้วแต่จะพูด ที่ว่าอยู่ในทุกที่ ทุกแห่ง ทุกเวลานี้พอจะฟังถูกแล้ว แต่ว่าพูดว่ามิได้อยู่ที่ไหนนี้มันฟังยาก ที่จริงมันก็มิได้อยู่ที่ไหน เพราะมันไม่ได้มีตัวมีตนที่จะอยู่ อย่างที่เราอยู่ อย่างที่สังขตะทั้งหลายมีอยู่นี่ นี่เรียกว่าอยู่ แต่อสังขตะนี้มิได้มีการอยู่อย่างนั้น จึงเรียกว่ามิได้อยู่เสียยังจะดีกว่า ถ้าพูดว่าอยู่ เดี๋ยวก็มีความเป็น ความอยู่ ความตาย อะไรขึ้นมาอีก มันมิได้มีความอยู่ นี้เรียกว่าธรรม คือสิ่งที่เรียกว่าธรรม สรุปความว่ามีอยู่ก่อนสิ่งใด เป็นที่ออกมาแห่งสิ่งทั้งหลายทั้งปวง แม้แต่เป็นที่ออกมาแห่งสิ่งที่เรียกว่าศาสนา บทบัญญัติธรรมะทั้งหลาย ออกมาจากสิ่งนี้ อาศัยสิ่งนี้เป็นแดนสำหรับบัญญัติขึ้นมา แต่ตัวมันเองนั้นเป็นอะไรก็ยากที่จะรู้ จนต้องเรียกว่าเป็น พระเป็นเจ้า สำหรับคำว่าพระเป็นเจ้านั้น ถึงพวกฝ่ายโน้น ฝ่ายพวกที่มีพระเป็นเจ้า เขาก็ยอมรับว่าไม่รู้ว่าเป็นอะไร ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ที่เขาไปพูดกันว่า พระเป็นเจ้า เป็นคนแก่ถือไม้เท้า นั่งอยู่บนบัลลังก์นั้น เขาว่ามันสำหรับเด็กๆ ไอ้ตัวแท้ของพระเป็นเจ้านี้ ไม่รู้ว่าเป็นอะไรเหมือนกัน เช่นเดียวกับคำว่าธรรมในกรณีอย่างนี้ ไม่รู้ว่าอะไร ก็ต้องเรียกว่าธรรมเฉยๆ ตามภาษาเรียก ไอ้ที่เรียกกันทีแรกว่า ธรรม คือสิ่งที่มีอยู่จริง ในฝ่ายที่มีอยู่ได้เอง ไม่ต้องอะไร ไม่ต้องอาศัยอะไร เป็นอมตะ เป็นอนันตะ จนไม่คำนึงถึงว่า พระพุทธเจ้า หรือพระศาสดาไหนจะเกิดหรือจะไม่เกิด สิ่งนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลง สิ่งนี้ไม่ได้เป็นไปจากที่เคยเป็นอยู่ มิได้ผิดไปจากที่เคยเป็นอยู่ ให้พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นสักกี่ร้อยองค์ พันองค์ หมื่นองค์ แสนองค์ กี่มหากัปป์ก็ตาม สิ่งนี้คงเป็นอย่างนั้น นี้คือสิ่งที่เรียกว่าธรรม ผมพูดว่ามองดูให้ดี ให้ทะลุ ไอ้สิ่งที่เรียกว่าศาสนานี้ ออกไปถึงสิ่งนั้น ทีนี้สิ่งที่ ๒ ก็คือสิ่งที่เรียกว่าศาสนา ที่เราจะได้มองดูกันอีกต่อไป สิ่งที่เรียกว่าศาสนานี้ ตามตัวหนังสือก็แปลว่าคำสอน ศา-สะ แปลว่าคำสอน คือสอนให้ปฏิบัติ ปฏิบัตแล้วได้ผลของการปฏิบัติ รวมทั้งหมดนี้เรียกว่าศาสนา นี้เป็นสิ่งที่แต่งตั้งขึ้น บัญญัติขึ้น ตามกฏเกณฑ์ของสิ่งที่เรียกว่าธรรมทีแรก ธรรมที่มหาศาล ที่พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด ก็เป็นอยู่อย่างนั้น แม้แต่พระพุทธเจ้าก็เคารพพระธรรม เคารพธรรมชนิดนั้น เคารพกฏแห่งความจริงนั้น ซึ่งเอาออกมาจากธรรมนั้น ดังนั้นคำว่าศาสนา เราก็จะเห็นได้ว่า เป็นสิ่งที่พระศาสดาแห่งศาสนาหนึ่งๆ บัญญัติขึ้นมา ให้เป็นตัวศาสนา อย่างนี้จึงเรียกว่าคำสอน ที่มีการบัญญัติขึ้น บัญญัติขึ้นก็เพื่ออธิบาย ไอ้สิ่งนั้น สิ่งที่เรียกว่ากฏหรือว่าธรรมเฉยๆ นั้น นี้ก็ส่วนหนึ่ง ก็บัญญัติขึ้นเพื่อให้สามารถใช้กฏ หรือใช้ธรรมนั้นให้เป็นประโยชน์แก่เรา หรือว่าแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันทั้งโลก ให้ปฏิบัติตามกฏนั้น เพื่อเอาประโยชน์ตามที่ตนจะประสงค์ หรือว่าทุกคนจะประสงค์ และก็มีหลายๆ ระดับ แล้วแต่ว่าคนพวกหนึ่ง พวกหนึ่ง เขาจะสามารถรับเอาไปปฏิบัติได้อย่างไร เพียงไร นี่คือตัวศาสนานี้ อยู่ที่นี่ ศาสนาที่เวลาคำสอนนี้ ให้เล็งไปถึงคำสอนด้วย การปฏิบัติตามคำสอนด้วย และก็ได้รับผลจากการปฏิบัติ โดยสมควรแก่การปฏิบัติด้วย อย่างนี้เรียกว่าศาสนา ศาสนาในแง่ปริยัติ ก็คือบรรยายถึงสิ่งนั้นแหล่ะ สิ่งที่เรียกว่าธรรมะธาตุ ที่ว่าตั้งอยู่อย่างนั้น ไม่ว่าพระพุทธเจ้าเกิดหรือไม่เกิดนั่นแหล่ะ เพื่อบรรยายถึงสิ่งนั้นด้วย แล้วก็ให้รู้จักเอาส่วนที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้แล้ว สอนไว้ว่าเอามาใช้ปฏิบัติ ประจำวัน ทุกวัน ทุกวัน เพื่อจะดับทุกข์ด้วย นี้ก็เรียกว่าศาสนา เพียงแต่รู้เฉยๆ ก็ไม่สำเร็จประโยชน์ ดังนั้นจึงต้องมีการปฏิบัติ ทีนี้ปฏิบัติก็แล้วแต่ใครจะต้องการเท่าไหร่ บางคนก็มีปัญหามากก็เอามาก บางคนก็มีปัญหาน้อย ก็เอาน้อย บางคนต้องการต่ำๆ ก็เอาต่ำๆ บางคนต้องการสูงสุด ก็เอาสูงสุด ก็ต้องนึกถึงว่า เอาคนเดียวนี้มันไม่พอ ถ้าคนอื่นๆ ไม่เอาด้วย มันก็อยู่กันลำบากในโลกนี้ ดังนั้นจึงคิดถึงการให้คนอื่นได้พลอยรับเอาไปด้วย ซึ่งก็เป็นความมุ่งหมายในหน้าที่ ของพระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลาย ดังที่ได้พูดกันมาแล้วว่า นอกจากเราจะปฏิบัติเองแล้ว เรายังจะต้องช่วยคนอื่นด้วย ถ้าไม่อย่างนั้นจะเรียกว่าพระวิปัสสนาจารย์ไปทำไม หน้าที่โดยตรงของพระวิปัสสนาจารย์ก็หมายความว่าช่วยทำความแจ่มแจ้งให้แก่ผู้อื่นด้วย นี้คำว่าแจ่มแจ้งมันมีความหมายพิเศษมาก ขอให้เป็นเรื่องแจ่มแจ้งจริงๆ อย่างนี้ อย่างที่กล่าวนี้ ก็หมายความว่า ผมได้ยกตัวอย่างมาให้ดู อย่างหนึ่งแล้ว ในหลายๆ อย่าง ให้ดูอย่างหนึ่งแล้วว่า เราจะต้องทะลุสิ่งที่เรียกว่าศาสนาออกไปให้ถึงตัวสิ่งที่เรียกว่าธรรม เราก็จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าศาสนาดีขึ้น เพราะตัวสิ่งที่เรียกว่าธรรม นั้นน่ะมันเป็น ตัวที่ยืนโรงอยู่ตลอดเวลา เป็นที่ตั้งแห่งการบัญญัติ เมื่อเห็นสิ่งนั้นเท่าไหร่ ก็พูดบรรยายออกไปได้เท่านั้น ตามนั้น บัญญัติ ในส่วนที่จะเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ มากที่สุด นี่เป็นหน้าที่ของพระพุทธเจ้าทีแรก แล้วเราก็ทำตามท่าน ทำทำนองเดียวกับท่านให้บรรลุธรรม ให้เห็นธรรม ก็จะสามารถทำให้มนุษย์ เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ได้รับประโยชน์ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ไอ้สิ่งที่เรียกว่าธรรมในความหมายนั้น ก็ยังเงียบอยู่ ยังเป็นหมันอยู่ พอพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ก็คือมีการรู้แจ้งประจักษ์ซึ่งธรรมนั้น หรือว่าเพราะรู้แจ้งประจักษ์ซึ่งธรรมนั้นน่ะ จึงจะเรียกว่าพระพุทธเจ้า มันก็พร้อมกันแหล่ะที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ก็เพราะรู้แจ้งธรรมนั้น การรู้แจ้งธรรมนั้นก็เพราะเป็นพระพุทธเจ้า เปิดเผย เป็นผู้เปิดเผยออก นี่เราก็น่าจะคิดเลยไปถึงข้อที่ว่า การที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรม การที่พระพุทธองค์ตรัสว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม ในที่นี้ ก็หมายความว่า พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้เราเห็นธรรม มากหรือว่าเท่ากันกับที่พระพุทธองค์เห็นธรรมคือธรรมอย่างที่ว่า ที่ได้ตรัสรู้แล้ว เห็นแล้ว แล้วก็เอามาสอนให้ดับทุกข์ได้ ถ้าเราเห็นธรรมส่วนนั้นจะเรียกว่าเราเห็นพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ว่าเห็นรูปร่างของท่าน หรือเห็นร่างกายของท่าน ถึงขนาดที่เรียกว่าไปลูบไปคลำ แล้วก็จะได้เห็นพระพุทธเจ้า จะต้องเห็นธรรมอย่างที่ว่านี้ที่มีอยู่อย่างไร และจะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร จนดับทุกข์ได้ จนใช้ได้ เพราะฉะนั้นจึงจะเรียกว่าเห็นพระพุทธเจ้า ก็เลยเป็นว่าพระพุทธเจ้าก็อยู่ตลอดกาลมา คู่กันกับธรรมที่พระองค์ทรงสอนนี้ เราก็มีโอกาสที่จะเห็นพระพุทธเจ้าหรือเห็นพระธรรมในความหมายนั้นได้ แม้ในเวลาที่ล่วงมากี่ร้อยปี พันปี อาจจะเป็นถึงหมื่นปี แสนปีก็ได้ ไม่แน่ ถ้าโลกนี้ไม่ถูกทำลายหมดไปเสียโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง การศึกษาวิชาความรู้นี้จะยังคงอยู่เรื่อยๆ ไป กลัวว่าไอ้โลกนี้มันจะถูกทำลายโดยมนุษย์เอง หรือว่าโดยอะไรจากธรรมชาติเองก็สุดแท้ หายไปเป็นคราวๆ กว่าจะเกิดโลกขึ้นมาใหม่ มีมนุษย์ใหม่มาตั้งต้นรู้อย่างนี้กันใหม่ เหมือนกับเทพที่ว่ามีพระพุทธเจ้าหลายๆ องค์เกิดขึ้นในหลายๆ กัปป์ จะเป็นอันว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าธรรมนั้นไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง ให้โลกนี้มันเปลี่ยนไปเพราะอำนาจอะไรก็ตามใจ เหลือแต่ที่ว่าง ไอ้ธรรมนี้ก็ไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงมีตัวอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะมีมนุษย์เกิดมาอีก มารู้มันอีก สิ่งนี้จะมีอยู่อย่างนี้ ว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม หรืออีกทีหนึ่งซึ่งพระองค์ตรัสว่ามีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ นั่นคือมีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ก็หมายความว่าทุกๆ ทุกยุค ทุกๆ กัปป์ ทุกๆ ยุคสมัย คนยังมีธรรมเป็นที่พึ่ง โดยตนเองปฏิบัติธรรม เมื่อตนเองปฏิบัติธรรม มันก็มีตนเองเป็นที่พึ่ง นี้ส่วนที่แยกออกมาเป็นส่วนบัญญัติให้เป็นรูป เป็นกรอบ เป็นหลัก เป็นเกณฑ์ เป็นระบบหนึ่ง ระบบหนึ่ง ที่เรียกว่าศาสนา โดยถือเอาธรรม ส่วนใดส่วนหนึ่งมาสำหรับมนุษย์จะใช้ เป็นเครื่องดับทุกข์แห่งตัวแห่งตน นี้เรียกว่าศาสนา สิ่งที่เรียกว่าศาสนาคืออย่างนี้ คือคำบรรยายที่กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรมนั้นด้วย การชี้ให้เห็นส่วนใดส่วนหนึ่ง ที่เอามาปฏิบัติและดับทุกข์ได้ด้วย และก็ปฏิบัติอยู่จนได้ผลจริง อย่างนี้เรียกว่าระบบของศาสนา แยกตัวออกมาจากไอ้สิ่งๆ หนึ่งซึ่งมีอยู่ตลอดอนันตกาลว่าธรรม ทีนี้ข้อต่อไปเรื่องที่ ๓ นี้ก็อยากจะเรียนให้ทราบว่า ในทุกระบบของศาสนา ก็มีสิ่งที่เรียกว่าธรรม อย่าเข้าใจว่าจะมีแต่ในพุทธศาสนา ขอให้ถือว่าในทุกศาสนา ก็ต้องมีสิ่งที่เรียกว่าธรรมด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าจะมากเท่ากันหรือสูงเท่ากันหรืออะไรเท่ากันนี้ มันก็ไม่แน่ แต่ก็ต้องมี แต่การที่มันมีสิ่งที่เรียกว่าธรรมอยู่เป็นแกนกลางนี้แหล่ะ มันควรจะเรียกว่า ไม่ควรจะเป็นข้าศึกต่อกันและกัน ถ้าใครมีความคิดเห็นไปในทางที่ว่าแต่ละศาสนาไม่ตรงกัน เป็นข้าศึกแก่กันละก็ คนนั้นก็ยังไม่เห็นธรรม ไปเห็นเปลือกของสิ่งที่เรียกว่าธรรม ระบบศาสนาหนึ่งๆ มันเกิดขึ้นในโลก เพราะความที่มันทนอยู่ไม่ได้ในการที่จะมีความทุกข์ นี้ขอให้มองเห็นด้วยวิปัสสนามีความเห็นอย่างแจ่มแจ้ง ลึกถอยหลังเข้าไปว่า ไอ้ระบบศาสนาทุกศาสนาที่มันโตขึ้นมาในโลก โดยมนุษย์บัญญัติแต่งตั้งนี้ เพราะมันทนอยู่ไม่ได้ คือมันมีความทุกข์ มันก็ทนอยู่ไม่ได้ ก็เพื่อจะแก้ปัญหาอันนั้น มันจึงค้น ค้น ค้น ค้นพบ ไอ้ธรรมนี่ แง่ใดแง่หนึ่ง ส่วนใดส่วนหนึ่งนิดๆ หน่อยๆ ก็ได้ แต่มันต้องเอาออกมาจากไอ้ตัวสิ่งที่เรียกว่าธรรม เพื่อจะแก้ปัญหา นับตั้งแต่ปัญหาเบื้องต้นที่ว่า เบียดเบียนกัน ปัญหาทางศีลธรรม เบียดเบียนกัน ขโมยกัน ล่วงเกินของรักกัน หรือกระทำสิ่งที่ไม่ควรทำต่างๆ ผู้ที่ฉลาด หรือว่าเป็นเพียงพระศาสดาน้อยๆ ค้นพบ แต่ถ้าว่าเป็นสมัยนั้น ก็ต้องเรียกเป็นศาสดาที่ใหญ่โขทีเดียว เพราะแก้ปัญหาสังคมที่เป็นความทุกข์ร้อน ยุ่งยากลำบากได้ คนเริ่มเห็นแก่ตัว เริ่มฆ่ากัน เริ่มขโมยกัน เริ่มประพฤติผิดในของรักกันหรือทำอย่างอื่นอีก ถ้าเกิดมีคนที่แก้ปัญหานี้ได้โดยอาศัยความร่วมมือของทุกคนก็ตาม ส่วนน้อยของสิ่งที่เรียกว่าศาสนามันก็ถูกบัญญัติขึ้นแล้ว มีขึ้นมาแล้ว ก็ต้องมีส่วนที่เรียกว่าธรรม งั้นศาสนาทุกศาสนามันก็มีหัวใจของศาสนานั้นแหละเป็นธรรม นอกจากจะมีหัวใจเป็นธรรม ก็ควรมีทั้งเนื้อทั้งตัว ทั้งหมดนั่นแหละเป็นธรรมด้วย เพราะคำว่าธรรมมันได้ทุกความหมาย อย่างพุทธศาสนาเรานี้จะเห็นได้ว่ามีสิ่งที่เรียกว่าธรรมนี้เป็นหัวใจ คือความรู้จริงของ ในสิ่งทั้งปวง เป็นหัวใจของศาสนา แล้วก็มีเนื้อมีตัวทั้งหมด ระบบนั้น ระบบนี้ ที่จะปฏิบัติอย่างไร ก็เป็นตัวธรรม ในฐานะที่เป็นเหตุ จะต้องปฏิบัติก็มี ในฐานะที่เป็นผลได้รับจากการปฏิบัตินั้นก็มี มันก็เป็นธรรมอยู่นั่นแหละ ยังไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม จะเป็นปริยัติ มันก็เป็นการพูดถึงธรรม เป็นปฏิบัติ ก็ปฏิบัติไปตามกฏแห่งธรรม เป็นปฏิเวธก็ได้ผลมาตามการปฏิบัติที่เป็นไปตามกฏแห่งธรรม ไม่แยกออกไปจากสิ่งที่เรียกว่าธรรมได้ นี้เรามาดูกันว่าในทุกศาสนามีสิ่งที่เรียกว่าธรรม เพราะมันเกิดมาเพราะความจำเป็นที่ไม่รู้ธรรม แล้วมันเดือดร้อน ถ้ามันเกิดขึ้นมาได้มันก็ต้องมีธรรมเจืออยู่ในศาสนานั้นๆ ต่อมาไอ้คนชั้นหลัง ที่ว่าผู้ถือศาสนานั้นๆ แหละทำยุ่งเอง ทำให้เกิดไอ้ฝอย เกิดอะไรนี้ขึ้นมามาก ไม่มุ่งอยู่แต่ที่ว่าจะกำจัดความเห็นแก่ตัว กำจัดความยึดมั่นถือมันว่าตัว ว่าของตัวเท่านั้น ไปมุ่งหมายอย่างอื่น ตะเลิดเปิดเปิงไป นี่ก็เป็นส่วนเปลือกที่ทำให้แตกต่างกัน ถ้ามองกันแต่เพียงเปลือก ก็เห็นว่าไม่ตรงกัน และกิเลสนี้มันก็มีอยู่แล้ว เพราะว่ายึดมั่นถือมั่นนี้ ก็ทำให้เห็นว่าเราดีกว่าเขา เขาเลวกว่าเรา หรือว่าเขาเป็นคู่แข่งกันกับเรา นี้กิเลสนี้ก็ชวนให้ทำลายซึ่งกันและกัน กิเลสนี้ไม่เคยทำให้รักใคร่ เมตตาปราณีกัน มีแต่ทำให้ทำลายกัน ที่ผมพูดนี้ ท่านพระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลายคงจะทายถูกว่าผมไม่ต้องการให้เกิดการปะทะกันขึ้นระหว่างศาสนา เพราะว่าเดี๋ยวนี้ มนุษย์ทั้งโลกนี้มันขาดความเมตตาอารี มาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ต้องการหลายศาสนา แล้วทะเลาะวิวาทกัน หรือมันถึงกับไม่ต้องการให้เป็นหลายพรรคหลายพวก หลายฝ่ายหลายค่ายแล้วรบกัน ต้องการเป็นพวกเดียวกัน อยู่กันผาสุข แต่มันทำไม่ได้ แล้วส่วนที่จะทำได้ก่อน ก็คือ ส่วนที่เกี่ยวกับศาสนา ถ้าทำความเข้าใจกันได้ในข้อที่ว่าศาสนามีหัวใจเป็นธรรม มีเนื้อตัวเป็นธรรม แล้วมุ่งหมายแห่งความเป็นของธรรม ของธรรมชาติ ไม่ใช่ของตัวกู ไม่ใช่ของกู แล้วก็จะเข้ากันได้ จะเกิดความกลมกลืนกลมเกลียวกันได้ ไม่ทะเลาะวิวาทกัน ไม่เห็นแก่ตัวจนทำลายผู้อื่น เราพยายามจะมองในส่วนที่เป็นความจริงถ้าเรียกว่าศาสนา ต้องมีสิ่งที่เรียกว่าธรรมอยู่ในนั้น โดยเฉพาะศาสนาคริสเตียน มีสิ่งที่เรียกว่าธรรมนั่นน่ะ เหมือนกับพุทธศาสนาอยู่หลายๆ อย่าง จนกระทั่งผมเข้าใจว่า ในครั้งแรกๆ อาจจะเหมือนกันมากกว่านี้อีก หรือว่ามันจะมีแปลกออกไปเท่าไร เป็นส่วนเปลือกทั้งนั้น ส่วนเนื้อในก็ต้องการให้สละความหมายมั่นที่เป็นตัวกู เป็นของกู อย่างพระเยซูนี้ก็พยายามสอนให้รักผู้อื่นยิ่งกว่าตัว ให้สละไอ้เรื่องโลกๆ ที่เป็นอย่างโลกๆ นี้เสีย แล้วก็จะได้ชีวิตใหม่ ซึ่งเป็นชีวิตนิรันดร ไม่มีความทุกข์ คำอธิบายนี้ อธิบายเป็นพุทธศาสนาก็ได้ คือว่าอย่ามีตัวกู ของกู ก็ไม่มีความทุกข์ มีกันเท่านี้ ผมบอกพวกคริสเตียนที่เขาเคร่งๆ ว่ากางเขนนั่นคือสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา อันที่เป็นตัวเสายืนนั้นเป็นตัวกู อันที่ขวางนั้นคือตัดตัวกูเสีย นี่คือสัญลักษณ์ของพุทธศาสนาที่อยู่ที่กางเขนของคุณ เขาก็หัวเราะ แต่ไม่มีทางที่จะหัวเราะเยาะผม เขาหัวเราะด้วยความขบขันประหลาดใจ ว่ายิ่งดูมันก็ยิ่งเห็น พระเยซูก็มุ่งหมายอย่างนั้น ทีนี้ลูกศิษย์ของพระเยซูต่างหากที่ไม่ทำตามคำสั่งสอนของพระเยซูจนเกิดแตกแยกเป็นนิกาย นิกาย นิกาย ทะเลาะกันในระหว่างนิกาย เหมือนกับที่พวกพุทธบริษัทนี้ แตกแยกเป็นนิกาย แล้วก็ทะเลาะกันระหว่างนิกาย นี้ไม่ใช่หัวใจของพุทธศาสนา ฉะนั้นถ้าว่า มีการทำลายความเห็นแก่ตัว ว่ามีตัวกู ของกู แล้วก็เป็นกฏเกณฑ์อันเดียวของธรรมแต่ดั้งเดิม แต่อนันตกาล คือธรรมธาตุ ธรรมนิยามตา ธรรมนิถตา ตถตา คือเป็นธรรม เป็นของธรรม เป็นของธรรมชาติ ไม่ใช่ของใคร ฉะนั้นใครอย่ามาโกงซึ่งหน้า อย่ามาปล้น อย่ามายื้อแย่ง เป็นของกู เป็นตัวกู และเป็นบ้านเมืองของกู เป็นศาสนาของกู เป็นพระศาสดาของกู กระทั่งว่าเป็นอาจารย์ของกู เป็นลูกศิษย์ของกู นี่จะบ้าใหญ่แล้ว นี้ดูความที่ว่าเราจะต้องรู้กันเท่าไร ในเรื่องที่เป็นธรรมแท้ เป็นธรรมะแท้ ให้ถือว่าในหัวใจของศาสนาทุกศาสนานี้ ย่อมมีสิ่งที่เรียกว่าธรรม ในความหมายโน้น ความหมายแรก ไม่ใช่ธรรมที่เป็นบัญญัติ แต่เป็นธรรมแท้ตามธรรมชาติที่เรียกว่าธรรมธาตุ ธรรมติถตา ธรรมนิยามตา โดยระลึกนึกถึงว่า สิ่งที่เรียกว่าน้ำ ก็ต้องมีน้ำแท้บริสุทธิ์อยู่ในนั้น น้ำปัสสาวะเอ้า สกปรก ไม่มีใครชอบ แต่ในน้ำปัสสาวะ ก็มีน้ำบริสุทธิ์อยู่ในนั้น ก็เพราะมันมีธาตุอื่นไปเจือลงไป มีไนโตรเยน มีแอมโมเนีย มียูเรีย มันเจือลงไปในน้ำอันบริสุทธิ์ มันเกิดเป็นน้ำปัสสาวะขึ้นมา ถ้าตาเป็นวิปัสสนาจริง จะต้องเห็นว่ามีน้ำบริสุทธิ์อยู่ ในน้ำปัสสาวะ ก็แยกเอาน้ำส่วนนั้นออก เอาสกปรกส่วนนั้นออก ก็เหลือแต่น้ำบริสุทธิ์เหมือนกัน ลองเอาไปกลั่นดูสิ มันก็มีน้ำบริสุทธิ์ เหมือนกับน้ำกลั่นนี่ออกมา น้ำสกปรก น้ำคลำ น้ำที่เหม็นเน่านี้ ในนั้นก็มีน้ำบริสุทธิ์ เพราะมันมีอะไรที่เน่าที่เหม็นเติมลงไปทีหลัง ไปกลั่นเข้าก็ได้น้ำบริสุทธิ์ น้ำส้ม น้ำปลา น้ำซีอิ๊ว น้ำอะไร ก็ทุกอย่าง ที่เรียกว่าน้ำ ในนั้นมันมีน้ำบริสุทธิ์ ถ้าแยกออกมาได้ ฉะนั้นเราอย่าไปคิดรังเกียจไอ้เปลือกนอกของลัทธิ คำสอน ศาสนา นัยแล้วตั้งตัวเป็นศัตรูแก่กันและกัน โดยถือว่าเมื่อเป็นของเหลวแล้วก็ไม่มีน้ำบริสุทธิ์อยู่ในนั้น นี้นักวิทยาศาสตร์หัวแหลมอาจจะค้านว่าสารในปรอทมันก็มีน้ำบริสุทธิ์อยู่ในนั้นน่ะ ผมว่ามี ยิ่งมีน้ำบริสุทธิ์น่ะ คือคุณสมบัติแห่งการเกาะกุม ที่เรียกในอภิธรรม ภาษาฝรั่งก็เรียกโคเฮชั่น คือคุณสมบัติหรืออำนาจที่มันจะเกาะตัวกันอยู่เรื่อย นั่นคือตัวน้ำอันแท้จริง ต่อให้ในปรอทที่เป็นของเหลว มันก็มีน้ำ มีน้ำแท้กว่า นี่คือคุณสมบัติอันแท้จริงของน้ำ คือการพยายามที่จะเกาะตัวกันไว้เรื่อย นี้เรากล้าพูดว่า แม้ในของเหลวทุกอย่างมันก็มีน้ำ แล้วยิ่งเป็นคุณสมบัติแห่งน้ำ ยิ่งขึ้นไปอีก น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำอะไรต่างๆ นี่ ก็เป็นน้ำธรรมดา ที่น้ำของเหลว ที่เป็นของเหลว อย่างปรอทหรืออะไรก็ดี มันก็มีคุณสมบัติแท้ของน้ำอยู่ในนั้น เอาเป็นว่าขึ้นชื่อว่าของเหลวแล้ว ก็มีน้ำแท้จริงอยู่ก็แล้วกัน ก็เป็นอันว่าเราไม่ต้องไปเกลียด รังเกียจลัทธิ ศาสนาอื่น ถ้าเราไปเกลียดเข้า คือเราก็ไปจับเอาไอ้ส่วนที่สกปรกเข้าแล้ว ดีไหม ไปแตะต้องไอ้ส่วนที่สกปรกของเขาแล้ว ส่วนที่บริสุทธิ์เราไม่ไปแตะต้อง ก็ต้องโทษเราเองเท่านั้นแหล่ะ ฉะนั้นอย่ามีผู้อื่นผิด กูถูก กูเท่านั้นถูก ผู้อื่นผิด นั่นน่ะคือกิเลส ไปจับเอาเปลือกนอก ของน้ำสกปรกเข้าแล้ว เมื่อเขาประพฤติธรรมะอยู่ มันก็มีส่วนที่เป็นธรรมะ ส่วนข้างนอกมันก็ช่วยกันไม่ได้ มันแล้วแต่เหตุปัจจัย มานึกถึงว่าความเปลี่ยนแปลง มันก็มีอยู่ มันก็เป็นความผิดบ้าง เป็นความถูกบ้าง นี่ส่วนผิวนอก เพราะมันเผลอไปเพราะกิเลสต่างหาก มันทำให้เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่บุคคลนั้น เพราะฉะนั้นพระวิปัสสนาจารย์อย่าไปโง่ ถึงขนาดที่ไปดูที่ตัวกิเลสแล้วเอาไปเป็นบุคคลนั้น นั่นมันกิเลสของบุคคลนั้น ไม่ใช่ตัวบุคคลนั้น ไอ้ตัวบุคคลที่แท้จริงมันก็ไม่มี เนื้อแท้มันก็มีแต่สิ่งที่เรียกว่าธรรม ธรรมเท่านั้น แล้วมันจะผิดกันอย่างไร ไอ้ส่วนที่เป็นกิเลสมันก็ต่างกัน กิเลสไหนเข้ามา มันก็ไปอย่างนั้น นั่นก็ไม่ใช่ตัวตน และก็ไม่ใช่ตัวตนของบุคคลนั้น แล้วเราก็ทำตัวเป็นผู้ด่าว่า ปรามาส เยาะเย้ย ถากถาง ไอ้บุคคลนั้น ที่แท้มันก็คือผีอะไรชนิดหนึ่ง ป่วยการเปล่าๆ ความกลับไปกลับมา ความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง สังขาร เดี๋ยวผิด เดี๋ยวถูก เดี๋ยวมีกิเลส เดี๋ยวว่างจากกิเลส นี่ก็ต้องเป็นอย่างนี้ อันนี้ก็คือการที่มันเป็นไปตามกฏเกณฑ์ของสิ่งที่เรียกว่าธรรม ธรรมตัวแรกโน้น ที่มีอำนาจเหนือสิ่งใด ขอให้นั่งวิปัสสนาบางเวลามองเห็น ไอ้สิ่งที่เรียกว่าธรรม อย่างที่ผมว่านั้น กันเสียบ้าง