แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งที่เก้า เอ่อ ครั้งที่แปดนี้ ผมจะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า สิ่งที่เรียกว่าวิปากธรรมในพุทธศาสนา ซึ่งเป็นคำที่พวกคุณไม่ค่อยจะคุ้นเคย เมื่อได้ยินคำว่าวิบาก ก็จะนึกไปถึงความลำบากหรือนึกไปถึงนรก นึกถึงไอ้อบายทำนองนั้น คำว่าวิบากไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น หมายความแต่ว่าผลที่มันเกิดขึ้นเต็มที่ พูดกันธรรมดาๆ ก็คือคำว่าผล หรือคำว่า Effect ซึ่งคู่กับคำว่า Cause ซึ่งเดี๋ยวนี้เนื่องจากเราไม่ค่อยจะได้ยิน และก็ได้ยินในทำนองที่กลายมาเป็นภาษาไทย ในความหมายที่แคบ ตัวอย่างเช่น คัมภีร์หรือหนังสือเล่มหนึ่งเรียกว่า มหาวิบาก นี้กลายเป็นเรื่องนรกทั้งนั้นเลย แล้วก็น่าหัวเราะ เราจะต้องนึกถึงความมุ่งหมายของการบรรยายที่เตือนให้นึกอยู่ตลอดเวลาว่า มนุษย์มีปัญหา และก็อยากจะตัดปัญหา จึงได้ศึกษาและอบรมธรรมศาสตร์จากธรรมะ มนุษย์มีปัญหาก็คือมีความทุกข์ มันทนอยู่ไม่ได้ และสิ่งใดที่เราทนได้และมันสบายอะไรอย่างนี้ เราจะเรียกว่าไม่ใช่ปัญหา เดี๋ยวนี้มันเป็นสิ่งที่ทนไม่ได้ อย่างน้อยก็เป็นการรบกวน ทีนี้เรียกว่าปัญหา จะเป็นปัญหาเรื่องการกินการอยู่ การเจ็บการตาย การอยากจะได้มาสนองความต้องการ แม้แต่ความสนุกสนานมันก็เป็นปัญหาไปหมด ตามความโง่มากหรือความโง่น้อยของคนเรา และก็ต้องการจะตัดปัญหาเหล่านั้น จึงต้องหาเครื่องมือ จึงได้มาศึกษาและอบรมเพื่อให้ได้สิ่งที่จะตัดปัญหา ซึ่งในทีนี้เราเรียกว่าธรรมศาสตรา หรือธรรมศาสตร์ มาตลอดเวลา จะแสวงหาจากส่วนใหญ่ที่สุดคือสิ่งที่เรียกว่าธรรม และเอาส่วนที่ต้องการออกมาเป็นธรรมศาสตราเพื่อจะตัดปัญหาเหล่านั้น การศึกษาในภาษาไทยหมายถึงการเรียนให้รู้ ได้ความรู้ และก็มีการอบรมคือการกระทำ ตามที่เราเรียนรู้และแยกเป็นการศึกษาและก็อบรม แต่ถ้าในภาษาบาลีแล้วทั้งสองอย่างนั้นมันรวมกันเข้า แล้วก็เรียกว่าการศึกษา เช่น ไตรสิกขา ศีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขา อย่างนี้เป็นต้น นี่หมายถึงการปฏิบัติทั้งนั้น ไม่ได้หมายถึงการเรียนรู้หรือเป็นความรู้เฉยๆ และนี่เรากำลังศึกษาหาความรู้ ตลอดถึงการอบรมเท่าที่จะทำได้ ด้วยการปฏิบัติด้วยเท่าที่จะปฏิบัติได้ อย่างมาอยู่ที่นี่ มีความมุ่งหมายจะเป็นการอบรม คือลงมือทำลงไปเท่าที่จะทำได้ เพราะว่าการศึกษานั้นอาจจะอ่านเอาจากหนังสือนั้นก็ได้ ที่กรุงเทพฯก็ได้ ไม่ต้องมาที่นี่ ยิ่งเดี๋ยวนี้ก็มีมาก ฉะนั้นจึงมุ่งให้เป็นการอบรม เพื่อให้เป็นอยู่อย่างเป็นการอบรม หรือการปฏิบัติไปในตัว นับตั้งแต่การบังคับตัวไม่ให้นอนสาย ทีนี้ก็การกระทำอย่างอื่นซึ่งพวกคุณจะต้องทำด้วยความอดทนนั้นน่ะ คือการศึกษาอบรม บางคนทนไม่ได้ก็ไปแล้ว อาจจะมี ที่ว่าอ้างว่าจะต้องกลับก่อนนั้น ก็มีธุระ นี่ผมคิดว่าคงจะมี อย่างน้อยก็คนหนึ่งคน ไม่ชอบการทนซึ่งเป็นการอบรม ถ้าทนได้ก็ทนต่อไปเพื่อจบการอบรม เพื่อสำเร็จการศึกษา แล้วรวมกันแล้วเรียกว่าสิกขาในภาษาบาลี ทีนี้กว่าจะได้ไอ้สิ่งที่เรียกว่าธรรมศาสตรา คือความรู้ด้วยและความเข้มแข็งและความอดทนในการปฏิบัตินั้นด้วย มันจึงจะเป็นธรรมศาสตรา ถ้ารู้อย่างเดียวก็เป็นศาสตราส่วนหนึ่ง และเป็นศาสตราที่ยังไม่ได้ใช้ ได้ของที่มีคมมีอะไรมา มีสมรรถภาพมาแต่ยังไม่ทันจะใช้ ถ้าใช้มันกลายเป็นการอบรม เป็นการฝึกปฏิบัติ จะเป็นการได้ศาสตราที่แท้จริง คือศาสตราที่ได้ใช้ได้ฟันลงไปจริงๆ ไปตัดสิ่งที่ควรจะตัด นี่เรียกว่าเรามีธรรมศาสตราโดยแท้จริง เรียกว่าได้ใช้ด้วย และจากสิ่งที่เรียกว่าธรรม ซึ่งเป็นกองใหญ่ เหมือนกับทรัพย์สมบัติอะไรที่มันมีมากกองอยู่เป็นภูเขาอย่างนี้ เราก็ไปเลือกเอามาเฉพาะส่วนที่เป็นอาวุธและก็ที่มีคม นำมาใช้ทำหน้าที่ที่เราต้องการจะทำ นี่เป็นการอุปมาของการกระทำอย่างที่เรากำลังกระทำอยู่ที่นี่ เวลานี้ ทีนี้สำหรับสิ่งที่เรียกว่าธรรม มันแยกออกเป็นสี่ประเภทสี่ความหมาย หรือสี่พวก สภาวธรรม ธรรมชาติที่เป็นอยู่เอง นี่คือตัวเรา ที่สมมติว่าตัวเรา หรือปัญหาของเรา ความทุกข์ของเรา มันรวมอยู่ที่คำๆ นี้ ที่คำว่าสภาวธรรม มันก็เป็นความทุกข์ เป็นตัวปัญหา ทนไม่ได้ พวกที่สองเรียกว่า สัจธรรม คือกฎของธรรมชาติที่ทำให้มีความเป็นอย่างนั้นขึ้นมา เราต้องรู้ และก็ยังต้องใช้กฎนั้นเพื่อจะแก้ปัญหาด้วย ใช้กฎธรรมชาติที่จะแก้ปัญหาตามธรรมชาติ ลงไปที่ไอ้ตัวธรรมชาติคือสภาวธรรม ทีนี้ลำพังสัจธรรม มันเป็นความรู้ มันต้องทำให้เป็นการปฏิบัติ ที่เรียกว่าปฏิปัติธรรม หมายถึงธรรมในความหมายที่สาม ที่เราจะต้องลงมือใช้ศาสตรานั้น นี้ธรรมประเภทที่สี่เรียกว่า วิปากธรรม ธรรมที่เป็นผลอันเกิดมาจาการใช้ศาสตรานั้น นี้ขอให้ทบทวนจนเข้าใจอย่างนี้ อย่าให้เป็นคำพูดที่ต้องท่อง หรือต้องคิดนึกหรือต้องทบทวนด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งกันอีก ให้มันเป็นไอ้สิ่งที่แจ่มแจ้งชัดเจนอยู่แล้วในใจว่า เรามีปัญหา กำลังเป็นความทุกข์ ทีนี้ก็แสวงหาไอ้สัจธรรมและมาปฏิบัติและเกิดผลเป็นการดับทุกข์ได้ ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าธรรมทั้งสี่ความหมายนี้ย่อมมีอยู่ในตัวเรา ถ้าเข้าใจก็มองเห็นทันที เมื่อพูดอย่างนี้ ถ้าไม่เข้าใจก็ต้องนึกต้องคิดอยู่อีก ตัวธรรมชาติมันก็เป็นตัวเราอยู่แล้ว ที่สมมติเรียกกันว่าเป็นนั้นเป็นนี้ มีความทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้เรียกว่าตัวธรรมชาติ อยู่ในเรา เป็นเรา และกฎของธรรมชาติมันก็อยู่ในทุกๆ อนุภาคของสิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวเรา มันจึงมีความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง หรือว่ามันมีความทุกข์ นี้เรียกว่า มันคือกฎธรรมชาติทุกชนิด มีอยู่ในทุกๆ ส่วน ทุกๆ ขนาดของธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวเรา หรือเป็นตัวเราขึ้นมา ที่เราต้องปฏิบัติตามกฎของธรรมชาตินั้น อยู่ทุกๆ ขณะจิตก็ได้ หรืออย่างน้อยก็ทุกครั้งที่มีการหายใจ เพราะว่าการหายใจนั้นก็เป็นตัวการปฏิบัติ ไปตามกฎของธรรมชาติ คุณลองไม่หายใจดูสิ มันก็สอนให้รู้ทันทีว่ามันเป็นอย่างไรบ้าง จึงต้องใช้คำว่าต้อง ไม่ได้ใช้คำว่าควร หรือ ว่าอะไรทำนองนั้น มันต้องเลยอ่ะ มันต้องทำหน้าที่ตามธรรมชาติโดยรู้สึกตัวก็มี โดยไม่รู้สึกตัวก็มี ฉะนั้นหน้าที่เหล่านี้เป็นเรื่องไร้สำนึกก็มี เป็นเรื่องเป็นสำนึกก็มี เดี๋ยวนี้เราพูดถึงเป็นสำนึก คือเรารู้เรื่องนี้และเราเจตนากระทำ ให้มันเกิดผลตามที่เราต้องการ เราทำหน้าที่โดยเจตนา ผลก็เกิดขึ้นตรงตามเจตนาถ้าทำถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ นี่ธรรมชาติมันทำของมันเองก็ได้ เช่นต้องหายใจ ต้องกินต้องอาบ ต้องถ่าย ต้องอะไรนี้ ทำไปได้โดยไร้สำนึกก็ยังได้ หรือว่าข้างในที่ธรรมชาติมันทำเองโดยไร้สำนึกแท้ๆ ที่เราไม่ต้องรู้สึก เช่น การสูบฉีดของโลหิต การไหลเวียนของโลหิต การหายใจอะไรก็ตาม มันเป็นไปได้ เป็นการทำหน้าที่โดยธรรมชาตินั้นเองและก็ไร้สำนึก เดี๋ยวนี้เรามาพูดกันถึงหน้าที่ที่เป็นสำนึก คือรู้สึกคิดนึก หรือเจตนากระทำ มันก็มีการทำเพราะมันต้องทำ ไม่ทำมันทนอยู่ไม่ได้ ทีนี้มาถึงอันที่สี่ ที่เรียกว่าวิปากธรรม ก็มาเกิดผลขึ้นมานั้น นี่ผลตามธรรมชาติ เมื่อถูกต้องตามธรรมชาติ มันก็มีรอบชีวิตอยู่ได้โดยไร้สำนึก ทีนี้โดยการต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งที่มากออกไปกว่านั้น เราก็ต้องมีสำนึก หรือเจตนาที่จะทำ แล้วก็ได้รับผลตามเจตนานั้น เช่นเราอยากจะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้นั้น ถ้าปล่อยให้มันเป็นไปโดยไร้สำนึก ทำไม่ได้ ต้องทำ หรือต้องอุตส่าห์มาเรียน อุตส่าห์มาทนลำบาก เพื่อให้เข้าถึงสิ่งนี้ นี่คือสิ่งที่ผมจะต้องขอทบทวนอยู่เสมอ ก่อนที่จะบรรยายหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งติดต่อกันไป ทีนี้วันนี้เราจะพูดกันถึงสิ่งที่เรียกว่า วิปากธรรม ที่มาถึงเรื่องของผลที่จะได้รับตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ จากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ หลังจากที่เราได้รู้จักกฎของธรรมชาติอันเฉียบขาดนั้นแล้ว ซึ่งมันมีอำนาจครอบงำธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือไอ้สิ่งที่เรียกว่าคนที่มีปัญหา สำหรับวิปากธรรมหรือผลที่ได้รับ จะพูดแต่ตามหลักของพุทธศาสนา คือการมีเจตนากระทำและก็ได้รับผลของการกระทำ ก็เลยแยกออกเป็นว่า ทำผิดหรือทำถูก มันก็จะได้รับผล ที่ไม่พึงปรารถนาหรือว่าได้รับผลที่พึงปรารถนา มันอยู่ที่ว่าทำผิดหรือทำถูก ปฏิบัติผิดหรือปฏิบัติถูกตามกฎเกณฑ์นั้นๆ ถ้าเราทำถูก มันก็ได้ผลถูกตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ไม่ใช่เราจะบังคับให้มันนอกเหนือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติไปได้ แต่ว่ามันตรงตามที่เราประสงค์และอาจจะทำให้ตรงตามที่เราประสงค์ได้ โดยเราใช้กฎของธรรมชาติที่เราแก้ไขมันไม่ได้น่ะ ให้มันถูกวิธี นี่คือคำที่ผมเคยบอกเล่ามาหลายหนแล้วว่าไอ้คำว่าธรรมชาติ ธรรมชาตินี่มันทำยุ่ง พอพูดกับพวกฝรั่งนี่ไปอีกอย่างหนึ่ง เช่นเขาคุยโวว่าเขาบังคับธรรมชาติได้ เป็นต้น นี่มันน่าหัวเราะ ไอ้คำว่าธรรมชาติในความหมายในพุทธศาสนานี้ มันเป็นสิ่งที่จะไปบังคับมันไม่ได้ มันเป็นกฎที่ตายตัวของมันเองที่เราก็ต้องทำให้มันเข้ารูปกันกับกฎนั้นๆ แล้วเราก็ได้ผลตามที่เราต้องการได้ แต่เราจะเปลี่ยนกฎธรรมชาตินั้นไม่ได้ หรือว่าเราจะบังคับมันให้มันเป็นไปตามความต้องการของเรา ไม่เป็นไปตามกฎของมันนั้นไม่ได้ แต่เรามีทางชนะมันได้ โดยทำให้มันถูกเรื่องของมัน และก็ได้ผลตามที่เราต้องการ นี้เรียกว่าทำถูกตามกฎของธรรมชาติ ได้ผลจากธรรมชาติตามที่เราประสงค์ เราจะต้องการอะไร ต้องการวัตถุ สิ่งของ หรือว่าแม้ที่สุดแต่ว่า ต้องการเกียรติยศชื่อเสียง หรือว่าจะต้องการไอ้สังคม ที่จะรุมกันรักเรา นี่เราก็ทำได้ถ้าเราทำถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ นี้เรียกว่าได้ผลไปตามธรรมดาสามัญ เพราะว่าทำถูก ทีนี้ผลอีกชนิดหนึ่ง อันที่สองที่มันสูงขึ้นไปในแง่ของปรมัตถธรรม นี่เราอาจจะถึงกับชนะธรรมชาติได้ หรือว่าเราอาจจะอยู่เหนืออิทธิพลของธรรมชาติก็ได้ เราต้องมีการอบรมจิตใจชนิดหนึ่ง ตามหลักของศาสนา เช่นมีจิตใจที่พ้นหรืออยู่เหนือกฎเกณฑ์นั้น หรือว่าเหนืออิทธิพลที่กฎเกณฑ์นั้นมันจะทำอะไรเราได้ ที่ไม่เห็นเป็นความทุกข์ไม่รู้สึกว่าเป็นความทุกข์ของเรานี้เป็นต้น นี้มันเหนือความบีบคั้นของธรรมชาติ แม้แต่ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็มิได้เป็นปัญหาแก่เรานี่ ถ้าเราเป็นคนธรรมดา สิ่งเหล่านี้มันเป็นปัญหาหมด และครอบงำเราบีบคั้นเรา ฉะนั้นเราจะสรุปผลของการทำถูก ว่าเราได้สิ่งที่เราอยากจะได้หรือต้องการจะได้ ที่มันถูก ที่ถูกที่ควรจะได้ด้วย หรือว่าเราอาจจะไปไกลกว่านั้น เรียกว่าทำให้อยู่เหนือความต้องการสิ่งใดๆ สักทีเดียวก็ได้ นี้เขาเรียกว่าโลกุตรธรรม ไว้พูดกันวันอื่น เอ้า ทีนี้ถ้าทำผิด จะเกิดอะไรขึ้น ก็พอจะทายเองได้ ทายถูกเองได้ แต่ผมกลัวว่ามันจะรู้จักแต่รายละเอียดปลีกย่อย ก็อยากจะบอกให้มันเป็นไอ้คำที่มันเป็นหัวข้อสำคัญหรือว่าจำง่ายๆ ว่าถ้าเราทำผิด เราจะมีความเดือดร้อน ยุ่งยาก ลำบาก ไม่ได้สิ่งที่เราต้องการนั้นอย่างหนึ่งแล้ว หรือว่าเราจะต้องตาย เป็นการแต่ว่าตาย ตายบางคำก็ไม่ต้องไปอึกทึกกันมาก และตายบางคำต้องไปอึกทึกกันมาก คือมันยังตายทั้งที่เดินได้ พูดได้ กินได้ นอนได้ แต่มันมีสภาพอย่างที่เรียกว่าตาย คือมันมีตายทางกาย และตายทางวิญญาณ ทาง physical และทาง spiritual แล้วตายทางกายเอาใส่โลงไปฝัง ถ้าทำผิดถูกฆ่าตาย ถูกยิงตาย เจ็บป่วยตายนี้ มันตายทางร่างกาย แต่ตายทางวิญญาณทาง spiritual นั้น มัน มันไม่ได้ตายอย่างนั้น คือมันตายเพราะมันไม่มีอะไรดี ไม่มีค่าของมนุษย์เหลืออยู่ อย่างนี้ก็เรียกว่ามนุษย์นั้นตายแล้วเหมือนกัน เป็นคนประมาท แล้วก็เป็นคนทำผิด ทำอะไรจนไม่มีอะไรที่จะเรียกได้ว่ามีค่าของความเป็นมนุษย์เหลืออยู่ในบุคคลนั้น ทีนี้แม้ไม่ถึงขนาดนั้น ถ้าเรามีมาตรการที่วางไว้ว่ามันต้องมีสิ่งที่มนุษย์ควรจะมี หรือที่ดีที่สุดที่ควรมนุษย์จะมี ถ้าใครไม่มีก็เรียกว่าตาย เพราะฉะนั้นหนุ่มสาวที่มัวหัวเราะร่าเริง อวดดี ทนงอยู่ เป็นคนตายอยู่แล้วก็ได้ ในมหาวิทยาลัยก็ได้ มันไม่มีไอ้ความรู้ถึงเรื่องนี้ แล้วก็มีแต่ความประมาทอยู่อย่างเต็มที่ พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า เย ปะมัตตา ยะถา มะตา คนเหล่าใดเป็นผู้ประมาทแล้ว คนเหล่านั้นตายแล้ว ทีนี้ถ้าทำผิดตามกฎ ผิดจากกฎของธรรมชาติ มันก็มีผลเป็นแบบนี้ คือไม่ได้สิ่งที่เป็นประสงค์จะได้ตามธรรมดาสามัญนี้ด้วยก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือตาย อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง จะตายทั้งทางกาย ตายทั้งทางจิต ทางวิญญาณ โดยมากมันก็ตายอยู่ในทางจิต ทางวิญญาณ อย่างพวกดีหน่อย คือพวกตายชนิดนี้ มันเกิดได้อีก มันกลับเป็นได้อีก ในวันหนึ่งวันหนึ่ง มันตายหลายๆครั้ง เกิดหลายๆครั้งก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงมีทางแก้ตัว นี่เรื่องของการตายทางฝ่ายจิต ฝ่ายวิญญาณ ทีนี้เราก็ทำให้ถูกเสียใหม่ ทั้งเรื่องวิบาก และฝ่ายความผิด นี้ไม่ต้องพูดก็ได้ อยากจะเรียกว่านรกก็เรียกไป อยากจะเรียกว่าอะไรก็เรียกได้ มันเป็นความทุกข์แล้วก็ทำให้เสียใหม่ให้ถูกได้ ฉะนั้นเราก็พูดกันถึงความถูกต่อไปดีกว่า หรือมันก็บอกความผิดซ้อนเข้าไปในตัวนั่นแหละ แล้วจะพูดเรื่องวิบากที่จะได้รับ เช่นไปทางฝ่ายที่พึงปรารถนา เมื่อพูดถึงผลที่จะได้รับ โดยหลักใหญ่ๆ ตามที่นิยมพูดกันอยู่ แม้จะไม่มีในพระพุทธสุภาษิตโดยตรง ก็ใช้เป็นหลักสำหรับศึกษาเล่าเรียนเป็นที่ยอมรับกันแล้ว ว่าผลในทิฏฐธรรมนี้อย่างหนึ่ง ผลในสัมปรายะนั้นอย่างหนึ่ง และผลเป็นปรมัตถะนั้นอีกอย่างหนึ่ง คำเหล่านี้แปลกหูไม่ควรจำ แต่ว่ามีประโยชน์ ซึ่งหนึ่งเรียกว่าทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือประโยชน์ที่ได้รับในทิฏฐธรรม ทิฏฐธรรมแปลว่าธรรม หรือสิ่ง หรือว่าธาตุ อันสัตว์นั้นเห็นแล้ว อันสัตว์นั้นๆ เห็นแล้ว แล้วก็สมมติว่าในชาตินี้ ในชาติปัจจุบันนี้ที่เราเห็นๆกันอยู่นี้ เรียกว่าทิฏฐธรรม อย่างนี้ก็ได้ แต่ความหมายอันยิ่งไปกว่านั้น ซึ่งผมได้สังเกตดูให้ดีแล้วก็คือว่า ผลที่มันทันควัน ทันแก่การกระทำนั้น นี่ถ้าเรามีการเกิดตายอย่างในภาษาวิญญาณวันละหลายครั้งหลายหนนี้ ผลมันเกิดใหม่ ครั้งที่ทำการเกิด การเกิดในครั้งนั้นๆ ทันควันไปนี่เรียกว่าทิฏฐธรรม ถ้าไปเกิดในระยะหลังกาลหลัง ในการเกิดครั้งหลังก็เรียกว่าสัมปรายะได้ แต่นั่นเป็นภาษาปรมัตถ์มากเกินไปไม่ค่อยมีใครสนใจ เขาสนใจภาษาชาวบ้านภาษาโลกๆ ถ้าก่อนแต่จะเข้าโลงเขาก็เรียกว่าทิฏฐธรรมในชาตินี้ แต่หลังจากเข้าโลงไปแล้วก็เรียก สัมปรายะ เมื่อไหร่ที่ไหนก็ไม่มีใครรู้ได้แต่พูดกัน แต่ก็ควรถือว่ามันมีอยู่เพื่อที่ว่าจะได้ทำความดี สำหรับคนที่ยังอยู่ในโลก คำว่า ทิฏฐธรรมหมายถึง ในธรรมอันสัตว์เห็นแล้ว เราจะขยายออกไปถึงว่า ที่คนทั่วไปก็เห็นได้ด้วย คือ สัตว์เห็นแล้ว สิ่งหรือสภาวะหรืออะไรก็ตามอันสัตว์เห็นแล้ว อันบุคคลนั้นก็เห็นด้วย อันคนทั้งหลายรอบๆ เราก็เห็นได้ด้วย ถ้าไปเทียบกับไอ้ที่สัตว์นั้นก็ไม่ได้เห็นเดี๋ยวนี้ เพราะมันต่อเข้าโลงแล้วจึงจะเห็นก็ไม่ได้เห็น สัตว์นั้นก็ไม่ได้เห็นด้วย และคนทั้งหลาย เพื่อนบ้านของเราก็ไม่ได้เห็นด้วย ว่าเราจะไปที่ไหนนั้น เอาที่ว่าสัตว์ทั้งหลายเห็นได้ สัตว์ทั้งหลายเห็นไม่ได้ ที่มันรู้สึกอยู่แต่จิตของคนนั้น คนนั้นเห็นได้ ที่มันแสดงออกมา คนข้างนอกก็เห็นได้ แล้วมันก็มีไอ้ส่วนที่มันเห็นได้แต่บุคคลนั้น รู้สึกได้แต่บุคคลนั้นก็ยังมี คนอื่นพลอยเห็นด้วยไม่ได้ ที่สัตว์นั้นเห็นได้และคนอื่นเห็นได้หรือเรียกว่าในทิฏฐธรรมนี้นั่นน่ะ เขาเรียกว่าประโยชน์ชนิดหนึ่ง หรือวิบากอันหนึ่ง พวกหนึ่งประเภทหนึ่ง ข้อนี้จริงๆ ในโลกนี้ ในชาตินี้ มันก็คือผลทางวัตถุ ที่จะเกิดความรู้สึกแก่เนื้อแก่หนังแก่ร่างกาย นี่เรียกว่าผลในทิฏฐธรรมนี้ หรืออย่างทิฏฐธรรมนี้ ระบุเป็นเรื่องสามเรื่อง คือเรื่องทรัพย์สมบัติ ลาภสักการะอะไรเรื่องหนึ่ง หรือเป็นเกียรติยศชื่อเสียง ที่เป็นนามธรรมอันนี้พวกหนึ่ง แล้วก็ความรักที่ได้มาจากคนรอบด้านหรือสังคม ไอ้ความเมตตาอารี อะไรก็ตามที่สังคมรัก นับถือ บุคคลนั้น นี่แหละอย่างหนึ่ง นี่คุณอย่าเข้าใจว่ามันจะเป็นอันเดียวกันเสีย มีเกียรติ มีอำนาจ วาสนา แต่ไม่มีใครรักก็มี มีแต่คนเกลียดน้ำหน้าก็มี หรือว่ามีทรัพย์สมบัติมากแต่ไม่มีชื่อเสียงก็มี มีชื่อเสียง มีอำนาจ แล้วไม่มีใครรัก นับถือ บูชาก็มี ฉะนั้นเราต้องแยกกัน เป็นทรัพย์สมบัตินี้อย่างหนึ่ง เป็นเกียรติยศชื่อเสียงนี้อย่างหนึ่ง แล้วเป็นความรักนับถือของสังคมนี้อีกอย่างหนึ่ง ถ้าได้มาหมดนี้ มันก็เรียกว่าเต็มที่สำหรับวิบาก คือผลของการกระทำที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เดี๋ยวนี้เต็มทีมาก ที่ทำให้พ่อแม่รักก็ยังทำไม่ได้ มันเป็นลูกที่เลวเกินไป ยิ่งเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วก็ยิ่งไม่ ไม่สนใจในเรื่องนี้ จะไปหวังแต่ในเรื่องของกิเลส ให้คนที่เขารัก รักนั้น เรื่องมันวนอยู่กันอย่างนั้น ให้ระวังให้ดี มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง คือไม่ประกอบไปด้วยธรรมหรือตามกฎของธรรมชาตินัก มันเป็นเรื่องธรรมชาตินั้นแหละถูกแล้ว แต่ว่ามันเป็นเรื่องฝ่ายกิเลส ฝ่ายที่ไม่น่าปรารถนามันจะกลายเป็นทำผิด ทีนี้ต้องรู้จักบังคับมันเป็นไปในทางที่ถูกต้อง ในชาตินี้ ในชีวิตนี้ ในทิฏฐธรรมนี้ ให้ได้ทรัพย์สมบัติ ให้ได้เกียรติยศชื่อเสียง ให้ชนะน้ำใจของสังคม มีความรัก มีความนับถือ ก็ไม่ต้องพูดอะไรมากก็ได้ เพราะเข้าใจกันได้เองได้ ทีนี้วิบากที่สองที่เรียกว่า สัมปรายิปัฐถะ สัมปรายะ มันก็อื่นไปจากนี้เลยหมดเลย อย่างที่จะพูดธรรมดาสามัญก็ว่าเราเองก็ไม่เห็น ถ้าแต่ว่าต่อตายแล้วเข้าโลงไปแล้วไปไหน อยู่อย่างไรก็เราก็ไม่ได้เห็น ที่จะพูดบัญญัติเอาอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็ว่าไปตามไอ้ภาพเขียนฝาผนังโบสถ์มากกว่า มันเป็นเรื่องของศีลธรรม มีประโยชน์ ที่จะส่งเสริมให้คนทำความดี แต่ตัวก็ไม่ได้มองเห็น เพื่อนบ้านสังคมก็ไม่ได้มองเห็น ว่าคนนั้นมันตายแล้ว มันไปไหน ฉะนั้นจึงใช้คำว่า สัมปรายะ คืออื่นจากนี้ไปหมดเลย นี่มันความหมายหนึ่งมันเป็นอย่างนี้ ทีนี้ผมอยากจะสรุปความขึ้นใหม่ว่า ในเวลาที่มันถัดไปจากที่เรียกว่าทันควัน ถ้าเรามีการเกิดตัวกูของกูในครั้งนี้ ทำอะไรลงไป แล้วผลมันได้ทันในการเกิดหรือในกรณีแห่งตัวกูของกูกรณีนั้น นี้เรียกว่าได้ทันควัน เป็นทิฏฐธรรม หรือถ้ามันไม่ได้ มันจะไปมีปฏิกิริยาปรากฏออกมา เป็นผลดันในการเกิดตัวกูครั้งที่สองที่สาม คือกรณีหลังๆไปนั่น นี่ก็ศึกษาเรื่องตัวกูของกูว่ามันเกิดอย่างไร อย่างนี้ต้องจัดเป็นพวกสัมปรายะแล้ว โดยที่ไม่ต้องตายเข้าโลงไป การกระทำในกรณีนี้จะแสดงผลในการกระทำกรณีอื่นซึ่งเป็นเรื่องหลังๆออกไป นี่มันต่างกันว่า ถ้าทำในกรณีนี้ได้ผลทันควันในกรณีนี้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นว่า ถ้าคุณเรียนศึกษาในมหาวิทยาลัยได้ความรู้ แล้วก็พอใจทันทีที่ได้ความรู้ อย่างนี้ก็เรียกว่าทิฏฐธรรมได้ แต่ว่าผลการเรียนการศึกษาการปฏิบัตินั้นมันจะได้ต่อเมื่อเรียนจบและออกไปประกอบอาชีพ นั่นแหละมันคือสัมปรายะ มันในโอกาสหรือในกรณีที่ถัดไป ถัดไป ถัดไป ถัดไป พูดอย่างนี้เขาไม่เชื่อว่าถูกต้อง แล้วโดยเฉพาะพวกที่เขาเรียนอภิธรรมกันเขาไม่สอนกันอย่างนี้ ผมก็เลยเป็นคนแหวกแนว แต่เนื่องจากสังเกตเห็นจากพระบาลี จากพุทธสุภาษิตทั้งหลาย ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างนี้ ว่าคำว่าสัมปรายะนั่น จะหมายอย่างที่ว่าตายไปแล้วเข้าโลงไปแล้วนั่นก็ได้ ก็ถูกเหมือนกัน เป็นเรื่องทางศีลธรรม แต่ถ้าทางไอ้ปรมัตถ์ที่ละเอียดแล้ว มันคือในกรณีหลัง ในการเกิดของอายตนะ หรือว่าปฏิจจสมุปบาทรอบหลังๆ มานี้ ก็เอากันแต่ว่าในลักษณะที่เราเห็นไม่ได้ เราจะรู้สึกทันทีไม่ได้ เราเห็นทันทีไม่ได้ ต้องรอต่อภายหลัง แล้วคนอื่นทั้งหลายก็เห็นอย่างเราไม่ได้ ถ้าอย่างนี้จะเรียกว่าสัมปรายะดีกว่า เป็นความหมายที่ครอบงำได้หมด ถ้าพูดอย่าง ถ้าพูดตามนั้นมันก็ต้องนรกบ้าง สวรรค์บ้าง ยมโลกบ้างต่อตายแล้ว ถึงจะได้รับมัน แต่เดี๋ยวนี้เรายังมีอยู่ว่านรกที่นี่ พอร้อนใจทันทีก็เป็นนรก ถ้าพอใจ ไหว้ตัวเองได้ นับถือตัวเองได้ก็เป็นสวรรค์ ทีนี้ฝ่ายผิด ฝ่ายนั้นมันก็มีนรก ร้อนใจ เดรัจฉานคือโง่ ลำบากด้วยความโง่ เปรตคือหิว ทะเยอทะยาน มีความหวังมากเกิน คนโดยมากก็เป็นเปรตอยู่แต่ตรงนั้นแหละ คือหวังไว้มากเกิน ไม่ต้องหวัง มีความเข้าใจถูกต้องและทำไปโดยความเข้าใจถูกต้อง อย่าไปหวัง จะเป็นความหิวทางวิญญาณ มันจะเป็นเปรต คู่รักมักจะหวังโดยอะไรในคู่รักนัก ในลักษณะที่เป็นเปรตกันอยู่ทั้งสองฝ่าย คือมันหิวมันหวังมากเกินไป หรืออสูรกาย มีความขลาด มีความกลัว มีความระแวง อยู่ตลอดเวลา นี่ อย่างนี้ ที่นี่เดี๋ยวนี้ นรกเดรัจฉาน เปรต อสูรกาย หรือสวรรค์ก็ตาม จะเป็นสัมปรายะ ที่คนอื่นเขาเรียกว่าต่อตายแล้ว ก็ถูกแล้วก็ต่อตายในทางวิญญาณ แล้วมันก็มีอันนี้อยู่ สำหรับผลในทางสัมปรายะมันจึงไม่ต้องลงต่อเข้าโลงแล้ว เช่นในกรณีหลังๆ ความคิดรอบหลังๆ ก็เป็นสัมปรายะแล้ว แล้วที่มันยิ่งไปกว่า ดีไปกว่า สูงไปกว่าเรื่องโลกๆ นั่นก็จัดเป็นสัมปรายะ คือมันอื่นไปจากโลกธรรมดา โลกธรรมดานี่หวังทรัพย์สมบัติ หวังเกียรติยศ ชื่อเสียง หวังความรักของสังคม ได้แล้ว ทุกอย่างจากโลกนี้ และมันมีอย่างอื่นที่ดีกว่านั้น ไกลกว่านั้นหรือตรงกันข้ามจากนั้น คือความสงบในทางจิต ในทางจิตใจ คนที่ร่ำรวยอยู่ด้วยลาภเสียงสรรเสริญหรือความรักนับถือของสังคมนั้น มันยังไม่มีจิตใจอันสงบ มันต้องการผลอันอื่นอีกจากนั้น ผิดไปจากนั้นนั่นคือ ไอ้ความสงบแห่งจิตใจแหละคือสัมปรายะ ประโยชน์ ประโยชน์ที่เป็นสัมปรายะ คืออื่นไปจากที่ชาวบ้านเขาปรารถนากันทั่วไป อย่างพระพุทธเจ้าท่านสอนหรือเตือนอนาถบิณฑิกเศรษฐี ว่าเป็นฆราวาสนี้อย่าหวังแต่ว่าจะทำบุญให้ทานในวงภิกษุสงฆ์เลย จงหวังที่จะมีปวิเวกะ ปวิเวก ปวิเวกะ กันบ้าง ทีนี้ก็ทำจิตใจให้สงบให้ได้รับผลอันอื่น ที่ไกลไปกว่าที่จะมัวทำบุญให้ทานนี้อยู่ ปวิเวกะแปลว่าสงบ สงัดอย่างเต็ม เต็มที่นี้ ถ้าทางกาย ก็เรามีร่างกายที่ไม่มีใครรบกวน ไม่มีลูกหลานรบกวน ไม่มีอะไรรบกวน ก็เป็นวิเวกทางกาย ทีนี้วิเวกทางจิต ก็ทำจิตให้มันไม่รู้สึกต่อการรบกวนทางจิต เช่นนิวรณ์เป็นต้น หรือแม้ออกไปอยู่ในที่สงบ สงัด ได้วิเวกทางกาย แล้วก็ทำสมาธิ ให้จิตมันหยุด นิ่ง สงบ เป็นการพักผ่อนที่สุด นี่ก็เรียกว่า ปวิเวกทางกายและทางจิต อันนี้ผมถือว่าเป็นความหมายของคำว่า สัมปรายะ คืออื่นไปจากทิฏฐธรรม ที่มนุษย์ ชาวบ้าน ปุถุชนทั่วไปเขารู้จักกันดี เพราะว่าสิ่งนี้ไม่เป็นที่รู้จักคุ้นเคยแต่ปุถุชนชาวบ้านธรรมดา ไอ้สิ่งที่เรียกปวิเวกนี้ เอาอันนี้เป็นสัมปรายะนี่ เรื่องมันจะดีกว่า ถูกกว่าและเร็วเข้าในการที่จะได้รับวิบาก ผลที่สูงๆ ขึ้นไปตามลำดับ โดยเร็วที่สุด ทีนี้วิบากที่สาม เขาเรียกว่าปรมัตถะ ผลเป็นปรมัตถะ ประโยชน์สูงสุดอย่างยิ่ง เพื่อประโยชน์เป็นนิพพาน นี่มันเห็นว่าไอ้สองอย่างข้างต้นนั้นเป็นเรื่องเวียนว่าย เวียนว่าย เกิด เกิด ดับ ดับ กันอยู่ ไม่ต้องการเป็นปรมัตถะ คือไม่แยแสกับไอ้ผลให้เป็นทรัพย์สมบัติ ยศ ชื่อเสียง สังคม และก็ไม่ต้องการเพียงว่าจิตมันสงบ วิเวกอย่างนี้เป็นครั้งคราว ต้องการจะอยู่เหนือหมด เหนือเกิด เหนือแก่ เหนือเจ็บ เหนือตาย เหนืออะไรไปหมด อย่างนี้เรียกว่าปรมัตถะ เหนือเวลา เหนืออะไรไป เป็นอสังขตะ ถ้าจะเรียกวิเวกเขาก็เรียกว่าอุปธิวิเวก คำเหล่านี้อย่าให้ปนกันนะ ถ้ากายวิเวก จิตวิเวก นี้มันยังกลับไปกลับมาอยู่ สงบ สงัดก็จริง แต่ว่ามันยังกลับไปกลับมาอยู่ ต่อให้เป็นอุปธิวิเวก มันหมดกิเลสสิ้นเชิงแล้ว มันก็ไม่กลับไปกลับมา นั่นเป็นปรมัตถประโยชน์ เหนือการเกิด เหนือการตาย เหนือเวลา เหนือกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติในที่สุดน่ะ เรียกว่ามันเหนือตน เหนือคนอื่น ถ้ามีตัวตนคือมีตัวกูของกูอยู่มันถึงสิ่งนี้ไม่ได้ นี่มันต้องเหนือตน และก็เหนือคนอื่น คนอื่นรู้ไม่ได้ เหนือความเป็นตนเอง เหนือความเป็นคนอื่น นี่เป็นปรมัตถประโยชน์ และบรรดาวิบากหรือผลที่จะได้รับจากการประพฤติที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมะ หรือธรรมชาติก็ตามนี้ นิยมแบ่งกันไว้เป็นสามชนิด สามชั้นอย่างนี้ คุณควรจะเข้าใจไว้ แม้ว่ายังทำไม่ได้ ก็รู้ว่ามันไม่มีอื่น ไม่มีแนวอื่นไปจากแนวนี้ เมื่อเราทำดีตามธรรมดาสามัญได้ เรียกว่าในทิฏฐธรรม มันก็ยังเหลืออยู่สำหรับในสัมปรายะ คือดีไปจากธรรมดา เกินไปกว่าธรรมดา ทีนี้ถ้าว่าดีขนาดนั้นก็มีแล้ว มันก็ยังเบื่ออีกล่ะก็ มันก็เตลิดไปเป็นเหนือดี เหนือดี เหนือชั่ว เหนือบุญ เหนือบาป เหนือสุข เหนือทุกข์ เขาก็มีหลากหลายอย่างนี้ นั้นเป็นนิพพาน ถ้าเดี๋ยวนี้เรายังต้องการดีหวังดีติดอยู่ในความดีในความเอร็ดอร่อย ทางกายหรือทางใจนี้ก็ทำไป ไม่มีใครว่า เพราะว่าเดี๋ยวนี้มันมีเสรีภาพ แต่อย่าเข้าใจว่าได้เท่านั้นแล้วมันจะพอใจ อยู่ได้จนตลอดชีวิต มันจะเกิดการเอือมระอาขึ้นมา ต้องการจะเลื่อนไปอีก ถ้าว่าไม่มีความรู้มันก็เลื่อนไปไม่ถูก ฉะนั้นรู้ในเรื่องอย่างนี้ มันย่อมดีกว่าไม่รู้ สำหรับผลอันสุดท้ายที่เรียกว่าปรมัตถะ คือโลกุตตระนั่น ไม่ค่อยสนใจกัน บางทีจะเกลียดที่จะฟังด้วยซ้ำไป มันเป็นเรื่องในวัดในวาเกินไป ไม่ใช่เรื่องของเราคนหนุ่มคนสาวที่ยังจะสนุกสนาน เดี๋ยวก็ต้องไปนั่งน้ำตาเช็ดหัวเข่าบ้าง อกหักบ้าง กลัดกลุ้ม เป็นบ้าเป็นโรคเป็นประสาทเสียบ้าง เพราะไม่สนใจสิ่งที่มันจะหยุดไอ้กิเลส หรือว่าไฟเหล่านี้เสียได้ ฉะนั้นผมว่าสนใจไว้ดีกว่า แม้ยังเป็นหนุ่มๆนี่ มันมีทางออกที่หยุดหรือว่าระงับไอ้ความกลัดกลุ้มอย่างรุนแรงที่อย่างอื่นมันช่วยไม่ได้ จะมีเงินก็ช่วยไม่ได้ เพื่อนก็ช่วยไม่ได้ หมอก็ช่วยไม่ได้นี่ แต่ธรรมะนี่ช่วยได้ ฉะนั้นจะรู้ไว้ก่อนก็เป็นการดี มีคำพูดที่อาจจะฟังแล้วตกใจ วิมุติ หลุดพ้นนี่ คุณก็ไม่ ไม่ต้องการอย่างนั้น วิมุติ หลุดพ้น มันอยากจะอยู่กับสิ่งที่ตัวรัก หรือว่าไอ้ตัวผูกพันอะไรกันอยู่นี่ มันไม่ต้องการจะวิมุติ หลุดพ้น พอฟังแล้วมันก็กลัว นี่มันเข้าใจผิด หรือว่าพูดว่ามันหลุดพ้นไปจากสิ่งที่มันย่ำยีเรา แล้วทำไม ทำไมจะไม่ดี วิมุติมันหมายความว่าอย่างนั้น อะไรที่ผูกพัน รัดรึง หุ้มห่อ ครอบงำ เสียดแทง อะไรอยู่นั่นแหละ ถ้าวิมุติคือหลุดออกมาเสียได้จากสิ่งเหล่านั้น มันไม่ดีเหรอ อย่าฟังกันในแง่ที่ว่ามันเป็นเรื่องผิดธรรมชาติธรรมดาเท่านั้น ในชีวิตประจำวันเราก็ต้องการจะหลุดพ้น วิมุติ หลุดพ้น คือเกลี้ยงเกลาไปเสียจากสิ่งที่มันรบกวน ย่ำยี ทำอันตราย จนกว่าจะถึงที่สุด ถึงที่สุดมันหลุดพ้นไปจากตัวกูของกู ตัวกูของกูไม่เกิดในจิตใจต่อไป นี้เรียกว่าวิมุติที่แท้จริง ถ้าเดี๋ยวเกิดตัวกูเรื่องนั้น เดี๋ยวเกิดตัวกูเรื่องนี้ เกิดของกูเรื่องโน้นวันหนึ่งไม่รู้กี่ร้อยครั้ง ก็เรียกว่ามันจมอยู่ในความผูกพัน ในวัฏฐสงสาร ไม่สนุกเลย บาลีว่า ขีณา ชาติ ชาติสิ้นแล้ว คือการเกิดแห่งตัวกู มันสิ้นแล้ว จะโดยเนื้อหนังร่างกายโดยจิตใจมันก็สิ้นแล้ว วุสิตัง พรัหมจริยัง การประพฤติที่ดีที่สุดเราประพฤติแล้ว พรัหมจริยัง คือประพฤติ ที่ประเสริฐที่สุดที่ในผืนป่านี้ วุสิตัง เราประพฤติแล้วเสร็จแล้ว กะตัง กะระณียัง สิ่งที่จะต้องทำนี้ทำเสร็จแล้ว บรรดาสิ่งทั้งหลายที่มนุษย์จะพึงกระทำหรือต้องกระทำก็ตาม ทำเสร็จหมดแล้ว ปะอิตถัตตัง นาปะรายะ (นาทีที่ 43:01) อะไร อะไรที่จะต้องทำเพื่อให้ดีที่สุดนั้น ไม่มีอีกต่อไป น่าพอใจนะลองคิดดูสิ มันน่าชื่นใจมันน่าพอใจไหม และคนที่ไปได้จนถึงนั่นมันอยู่เหนือความตาย เหนือปัญหา เหนืออะไรทุกอย่าง แต่เมื่อฟังไม่เข้าใจแล้วมันก็ไม่รู้เรื่อง และฟังผิดไปทั้งสองที น่าเกลียด น่ากลัว น่าสงสัย อะไรไปหมดเป็นเรื่องจิ๊จ๊ะไปหมด เมื่อไปถึงจุดสูงสุดของไอ้สิ่งที่เรียกว่าผลที่พึงได้รับ มันก็มีบาลีว่าอย่างนี้ ถ้าหลุดพ้นออกไปแล้ว ชาติแห่งความเกิดสิ้นแล้ว หน้าที่หรือพรมจรรย์อะไรที่ต้องประพฤติหรือต้องกระทำทำเสร็จหมดแล้ว ไม่มีอะไรเหลือที่จะต้องทำเพื่อความสูงสุดอย่างนั้นอีก มันทำเสร็จแล้ว ได้อยู่เหนือ เหนือวิตกกังวล เหนือปัญหาทั้งหลาย คนอย่างนี้มันตาย อย่างผู้มีความชนะธรรมชาติ ชนะ ชนะอะไรหมด ขีณา ชาติ ชาติสิ้นแล้ว หรือบางทีก็พูดว่า อะยะมันติมา ชาติ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ไม่ใช่ว่าเข้าโลงครั้งสุดท้าย ไอ้ตัวกูเกิดตัวกูนี่ครั้งสุดท้าย ต่อไปนี้ตัวกูไม่เกิดอีก และนี่ก็เรียกชาติสุดท้ายที่ดีกว่า อย่าไปคิดว่าตายเข้าโลงเสร็จแล้วทีนี้ไม่มาเกิดอีก นั่นมันว่าเอาเอง มันเป็นคาดคะเน ถ้าชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายจริง ก็หมายความว่ากิเลสที่จะให้เกิดความคิดว่าตัวเราๆ นี้ไม่มีอีกแล้ว หมดไปแล้ว แม้ว่าร่างกายนี้ยังไม่ตาย แต่ว่าชาตินั้นจะไม่มีอีกแล้ว ตัวกูไม่มีอีกแล้ว ใช้คำว่า นัตถิทานิ ปุนัพภะโว การเกิดใหม่ไม่ได้มีอีกแล้วในเวลานี้ นี้ก็ประโยชน์ หรือเรียกว่าผลประโยชน์ หรือเรียกว่าอานิสงฆ์ หรือจะเรียกว่าวิบาก คือผลที่ดีมันมีอยู่อย่างนี้ มีอยู่เป็นสามอย่าง ทีนี้มันมีเรื่องที่ควรจะทราบ โดยวิธีเปรียบเทียบให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้นไปก็ได้ จะเรียกว่าเป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดก็ได้ แต่มันก็มีประโยชน์ เพื่อให้รู้เรื่องที่สำคัญ เราจะต้องรู้ว่ามันต่างกันอย่างไรบ้าง ในระหว่างวิบากหรือผลน่ะ มันสองชนิดอยู่ คือการกระทำที่เรียกว่ากิริยานั้น ถ้ามันเป็นของสิ่งที่ไร้ชีวิต ไร้ความรู้สึก ไร้เจตนา อย่างนี้เขาเรียกว่ากิริยา แม้ว่ามนุษย์เราคนเรานี่บางทีก็ทำสิ่งใดลงไปโดยไม่มีเจตนา อย่างนี้ก็เป็นกิริยา นี่ผลมันก็ไปอีกอย่างหนึ่ง ถ้าทำไปโดยมีความรู้สึกโดยมีเจตนานี้เขาก็เรียกว่าการกระทำกรรม ไม่เรียกว่ากิริยา ถ้ากระทำไปชนิดที่มีเจตนา เรียกว่ากรรม มันก็มีผลกรรมเกิดขึ้น ถ้าไร้เจตนาจะเป็นไอ้ต้นไม้ทำ หรือสัตว์เดรัจฉานทำหรือว่าคนทำก็ตาม ถ้ามันไร้เจตนาที่จะทำ ก็เรียกว่า กิริยา ผลก็เป็นปฏิกิริยาเท่านั้น แต่คนมักจะโง่ ไปเอาปฏิกิริยามาเป็นผลกรรมบ่อยๆ พูดกันยุ่งปนกันยุ่งไปหมด หน้าที่ที่จะต้องทำตามธรรมชาตินั้น มันก็มีอยู่สองฝ่ายนะ หน้าที่ตามธรรมชาติที่ธรรมชาติมันทำของมันเองก็มี แต่ที่มนุษย์ที่มีเจตนารู้สึกกระทำเข้านี้ก็มี เช่นว่า ความคิดนึกรู้สึกที่ต้องเป็นไปโดยไม่ต้องมีใครเจตนานี้ก็มีอยู่ใน ในชีวิตเรา เช่นว่า ตาเห็นรูป เกิดจักษุวิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา โดยไม่มีเจตนาอย่างนี้ก็มี แต่ว่าในกรณีที่เราต้องการ มีความรู้สึก มีเจตนา เช่นอยากจะได้อะไร เราก็ลงมือทำเพื่อจะได้สิ่งนั้น เช่นการศึกษาเล่าเรียน นี้อย่างนี้ทำไปโดยเจตนา มันก็มีผลเป็นอีกแบบหนึ่ง เรื่องนี้ลึกมากไว้พูดกันวันหลังดีกว่า เอาแต่ว่า ถ้าว่ามันมีเจตนาก็เรียกว่ากรรมและก็ได้รับวิบากคือผลกรรม ถ้ามันไร้เจตนามันก็เป็นกิริยา วิบากของมันก็ไม่เรียกว่าผลกรรม ก็เรียกว่าปฏิกิริยา อย่าเอาไปปนกัน ความแตกต่างระหว่างไอ้ของสองสิ่งนี้ แล้วมันก็จะเข้าใจไอ้การกระทำที่มันต่างกันระหว่างสัตว์กับมนุษย์ ไอ้สัตว์น่ะมันมีความรู้สึกน้อยมากต่ำมาก คือใจมันยังไม่สูงเหมือนมนุษย์ มนุษย์มีใจสูง จึงได้เรียกว่ามนุษย์ ฉะนั้นมนุษย์มันรู้สึกผิดชอบชั่วดี ฉะนั้นเจตนามันก็มีต่างกัน หรือว่าถึงกับมีหรือไม่มี เช่นว่าแมวมันจับหนูกินอย่างนี้ มันไม่มีเจตนาจะทำบาป แล้วมันไม่ใช่กรรมที่ว่าแมวจะต้องได้รับผลกรรม ในรูปของผลกรรม เพราะแมวไม่ได้มีเจตนาจะทำบาป เจตนาจะกินอาหารเท่านั้น แต่ถ้ามนุษย์มันมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอยู่กับตน ของศีลธรรมหรืออะไรต่างๆ แล้วมันไปฆ่าสัตว์เข้าอย่างนี้ มันบาป มันได้รับผลอย่างบาป เพราะมันมีเจตนา มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ฉะนั้นเราจะไปฆ่าหนูให้ตายสักตัวหนึ่งมันก็ผิดกว่าที่แมวมันกัดหนูกิน ถ้าไม่เข้าใจเรื่องนี้ก็ปนกันยุ่ง แล้วจะให้แมวได้รับวิบากกรรมอย่างเดียวกับคนนี้มันเป็นเรื่องบ้าบอที่สุด แล้วเราก็กำลังสอนกันอยู่อย่างนั้นด้วย พวกคุณจะต้องศึกษาต่อไปว่ามันมีความต่างกันอยู่ระหว่างกิริยากับกรรม ถ้าแมวจับหนูกินเป็นกิริยา ถ้าคนไปฆ่าหนูเป็นเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เรียกว่าเป็นการกระทำกรรม นี่หน้าที่หรือผลที่ได้รับจากการทำหน้าที่มันย่อมต่างกันอยู่เป็นอย่างนี้ ทีนี้ว่าถ้าจะแก้ปัญหาต่างๆในโลกนี้เขาก็ยังบัญญัติเจตนาที่มันต่างกัน ต่างกัน เป็นหลายๆชั้น หลายๆเจตนา ยกเว้นให้ก็มี เช่น เมื่อชาวนาจะทำนามันก็รู้อยู่ว่าทำเขียดตาย กบตาย ปูตายอย่างนี้ มันก็ไม่ต้องเป็นบาป เพราะการฆ่าสัตว์นั้น เพราะมันเจตนาจะทำนา ไม่ได้เจตนาจะฆ่าสัตว์ หรือว่าทหารที่ดีกระทำไปเพื่อพิทักษ์รักษาความยุติธรรมในโลกนี้ ไม่ได้มีเจตนาจะฆ่าคน หรือว่าผู้พิพากษา จะพิพากษาโทษประหารชีวิต หรือว่าเพชฌฆาตที่ทำตามหน้าที่อย่างนี้ ไม่มีเจตนาจะฆ่าคน อย่าดูว่ามันเหมือนกันไปหมดเพราะว่าผู้ลงโทษประหารชีวิตผู้อื่น ยิงเขาตาย กับโจรที่ไปปล้นยิงเขาตาย นี้มันไม่เหมือนกัน มันต่างกันมากด้วย ให้รู้จักเปรียบเทียบอย่างนี้ก่อน เพราะว่ามันไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี หรือว่ามันมีการศึกษามันไม่มีการศึกษา หรือว่ามันมีหน้าที่การงานต่างกัน ถ้าเป็นพระไปทำอย่างนั้นเป็นไม่ได้ มันผิดไปหมดแล้ว แต่ว่าถ้าเป็นชาวนา เป็นทหาร เป็นผู้พิพากษา เป็นเพชฌฆาตอะไรไป ก็ทำไปตามหน้าที่ และก็ด้วยเจตนาอย่างอื่น ไม่ใช่เจตนาจะทำบาป ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็จะไม่มีข้อต้องเถียงกันให้มันยุ่งในเรื่องที่เถียงๆกันอยู่ ทีนี้ความแตกต่างกันระหว่างผลกรรมอันแท้จริง กับสิ่งที่เป็นเพียงผลพลอยได้ เช่นว่าทำดี มันก็ดีจริง มันก็ดีเสร็จแล้วตั้งแต่เมื่อทำ ทำชั่วมันก็ชั่วจริง ชั่วเสร็จแล้วตั้งแต่เมื่อทำ ทีนี้ผลพลอยได้นั้นมันหลอกลวง เช่นจะได้เงินหรือไม่ได้เงิน จะได้ชื่อเสียงหรือไม่ได้ชื่อเสียงนี้ มันไม่แน่ ส่วนนี้มันคือผลพลอยได้ แต่ผลกรรมอันแท้จริงจะได้เสร็จแล้วตั้งแต่ในการกระทำหรือ ขณะจิตต่อจากการกระทำ หรือขณะจิตอย่างมากก็ต่อให้สองสามขณะจิต หรือแม้ว่าจะได้ในการเกิดแห่งตัวกูครั้งต่อมามันก็ได้แล้วได้แน่นอนแล้ว ยุติธรรมแล้ว ทีนี้ต่อมาจะได้เงินหรือไม่ จะได้ชื่อเสียงหรือไม่ รวยหรือไม่ นี้มันต่างหาก อันนี้ไม่ใช่ผลกรรมโดยตรง มันเป็นเรื่องผลพลอยได้ อย่าเอาไปปนกันให้มันยุ่ง เดี๋ยวก็ไปสงสัย ว่าไอ้คนนี้มันทำแต่ความดี ทำไมมันยากจน ไอ้คนนั้นมันโกงมหาศาลแล้วทำไมมันรวย มันดี มันมีชื่อเสียง นี่อย่าไปปนกันอย่างนั้น ผลกรรมอันแท้จริงกับผลที่พลอยได้ปรากฎทางสังคมนั้นคนละอย่าง เมื่อรู้ความแตกต่างกันระหว่างสองสิ่งนี้ก็ไม่หลง ทีนี้วิบากกรรมนี้มันก็มีอยู่เป็นหลายชั้น มันแล้วแต่การกระทำกรรม ปุถุชนกระทำกรรมนี้มันก็อย่างหนึ่ง มีผลอย่างหนึ่ง ทีนี้พระอริยเจ้ายัง ที่ยังเป็นเสขบุคคลกระทำกรรมนั้นเป็นอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นพระอรหันต์ เป็นอเถขะแล้วมันก็ไม่มีกรรม ไม่มีการกระทำกรรมมันเป็นกิริยา เป็นการกระทำที่เป็นกิริยานี้มันก็อีกอย่างหนึ่ง เดี๋ยวจะเห็นว่าทำเหมือนๆ กันแล้วทำไมไม่ได้รับผลอย่างเดียวกัน ปุถุชนทำมันก็อย่างหนึ่ง ปุถุชนดี ปุถุชนเลวทำ มันก็ยังต่างกัน แม้แต่ทำ ทำเหมือนกัน ทำรูปร่างเดียวกัน พระอริยเจ้าก็ไปอย่างหนึ่ง พระอริยเจ้าชั้นสูงสุด ก็ไม่เป็นกรรมอยู่เหนือกรรม นี่ก็ต้องรู้ไว้ ทีนี้ถ้าพูดถึงกรรม คำสอนเรื่องกรรม กฎของกรรม มันก็ยังแบ่งเป็นว่า ถ้าอย่างศีลธรรมมันก็สอนไปอย่างหนึ่ง อย่างปรมัตถธรรมมันก็จะสอนไปอย่างหนึ่ง อย่างศีลธรรมก็คือว่าสอนปุถุชนคนธรรมดา ให้หลีกความชั่วให้ทำความดี ให้เป็นไปตามความชั่วความดี รับผลของกรรมชั่วกรรมดี อย่างที่สอนกันอย่างโลกๆ ในเวลานี้ก็ทั่วไป แต่ถ้าสอนอย่างปรมัตถธรรมนั้นเขาจะสอนให้อยู่เหนือกรรม เรื่องกรรมจริงแต่สอนให้อยู่เหนือกรรม มีการกระทำกรรมที่เป็นอริยมรรคเพื่อที่จะอยู่เหนือกรรมเสีย ถ้าทำกรรมดีกรรมชั่วก็ต้องล่องลอยไปตามกรรมดีกรรมชั่ว เรื่องศีลธรรม กรรมในชั้นศีลธรรม ถ้าปรมัตถธรรม มันก็จะสอนกรรมอีกชนิดหนึ่ง ประพฤติ ปฏิบัติเข้าแล้ว มันจะอยู่เหนือกรรมทุกชนิดนี่ แต่ถ้าว่ากรรมๆๆ เหมือนกันแล้วมันก็เข้าใจไม่ได้ แล้วก็เวียนหัวตาย นี่มนุษย์อาจจะอยู่เหนืออำนาจของธรรมชาติได้ เพราะการกระทำกรรมที่ทำให้อยู่เหนือ เหนือกรรมทั้งหลาย นี่มนุษย์เราไปได้ไกลถึงขนาดนั้น อย่าตีราคามันให้น้อยนักสิ มันก็จะได้นิดเดียว ให้มันเป็นสิ่งที่มีค่ามาก ไปได้ไกล นี่ธรรมศาสตราอันแท้จริงที่เราจะได้รับจากพระพุทธเจ้า จะเอามาตัดเสียซึ่งอำนาจครอบงำไม่ให้มาครอบงำเรา เป็นผู้อยู่เหนือกรรม นี่คิดดูสิ ธรรมศาสตราหรือธรรมศาสตร์นี้มันเท่าไหร่ กับธรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของพวกคุณน่ะมันเท่าไหร่ เอาไปเปรียบกันดู แม้แต่เรียนบัญชีก็เรียกว่าธรรมศาสตร์ นี่ก็แก้ปัญหาได้นิดหน่อย เพราะว่าทำบัญชีไม่เป็น มันเป็นธรรมศาสตราได้นิดหน่อย หรือจะเรียนแขนงอื่นก็เหมือนกัน มันก็เป็นธรรมศาสตรานิดหน่อย นิดหน่อย แต่ว่าธรรมศาสตราของพระพุทธเจ้าหรือของธรรมชาติอันลึกซึ้งแล้วมันจะชนะธรรมชาตินั้นได้เอง หรือว่าตัดอำนาจ ตัดความครอบงำของธรรมชาติได้ด้วย ไม่ต้องเป็นไปตามกรรม นี้ธรรมศาสตราที่เราจะได้รับมาจากพระพุทธเจ้า โดยชี้ทางให้แล้วก็ปฏิบัติตาม นี่คือวิปากธรรมอันสูงสุด นับตั้งแต่วิปากธรรมเล็กๆ น้อยๆ มาทำให้ได้ลาภ ได้ชื่อเสียง ได้อำนาจวาสนาอะไรมา เรื่อยมาจนได้รับความสุขในสวรรค์ เป็นวิเวกอย่างพรหมโลกอะไรก็ตาม มันก็ไม่ผิดมาผิดที่ว่าจะอยู่เหนือกรรม เหนือความที่จะถูกครอบงำย่ำยีโดยธรรมชาติหรือโดยอะไรก็ตาม นี่เขาเรียกว่าดับทุกข์สิ้นเชิง ความดับไปไม่เหลือแห่งทุกข์มีอยู่อย่างนี้ ด้วยอำนาจธรรมศาสตราในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ศาสนาอื่นก็ได้เขาอาจจะสอนโดยวิธีอ้อม แล้วมุ่งหมายอย่างเดียวกัน และมาได้ถึงนี่ก็ยังได้ อย่าไปดูถูก ข้อร้องว่าอย่าไปดูหมิ่นดูถูกศาสนาใดๆ เพราะว่าเขากำลังมุ่งหมายที่จะทำให้ได้รับผลประโยชน์ในระดับใดระดับหนึ่ง ซึ่งจะสูงขึ้นไปตามลำดับได้ทั้งนั้น เพราะอย่างน้อยที่สุดก็สอนให้ทำลายตัวกูของกูเสียทั้งนั้นแหละ เพราะว่าสอนไม่ให้เห็นแก่ตัว ศาสนาไหนที่สอนให้เห็นแก่ตัวแล้วไม่ใช่ศาสนาหรอก นอกจากเราไปฟังเขาผิด ก็เลยเห็นเป็นว่าสอนให้เห็นแก่ตัว ถ้าศาสนาที่เป็นศาสนาแท้จริงทุกศาสนาจะสอนให้ทำลายความเห็นแก่ตัว มุ่งหมายอย่างนั้น แต่จะถึงที่สุดหรือไม่นั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง ให้ถือว่าศาสนาก็เป็นสิ่งที่สงวนไว้ซึ่งธรรมศาสตราด้วย เยอะแยะ เราก็ต้องเลือกใช้ให้ถูกต้อง นี่เวลาของเราหมด นาฬิกานกนั้นตีแล้ว ขอยุติการบรรยายวันนี้ไว้เพียงเท่านี้ที