แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลาย ในการบรรยายเพื่อเป็นการถวายความรู้เบ็ดเตล็ดในครั้งที่ ๘ นี้ ผมยังอยากจะกล่าวถึงประโยชน์ของสิ่งที่เรียกว่าอุปมา เมื่อวานนี้เราไปนั่งดูต้นมะพร้าวนาฬิเกร์กลางทะเลขี้ผึ้ง ซึ่งเป็นเรื่องอุปมาของนิพพานกับวัฏสงสาร แต่เป็นอุปมาของชาวบ้านที่แต่งบทกล่อมลูกให้นอนขึ้นมาอย่างนั้น โดยอาศัยใจความของธรรมะเป็นหลักและก็ทำเป็นอุปมาขึ้น ข้อนี้ทำให้เชื่อได้ว่าเรื่องอุปมานี้ก็เป็นวิธีการอันหนึ่งซึ่งนิยมใช้ในศาสนาทั้งหลายแต่โบราณ ในคัมภีร์ไบเบิ้ลของพวกคริสเตียนก็มีมากที่สุดเรื่อยไปเป็นเกี่ยวกับคำพูดที่เป็นอุปมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นคำของพระเยซู ในศาสนาอื่นในอินเดียเก่าแก่ก็มี ในพุทธศาสนาก็มี เรามองเห็นได้ไม่ยากเลยว่าทำไมจึงชอบใช้อุปมา คือมันช่วยให้เข้าใจง่ายนี้อย่างหนึ่ง แล้วช่วยให้จำไว้ลืมยากนี้อีกอย่างหนึ่ง เรื่องของอุปมาก็ต้องเอาเรื่องธรรมดาที่คนเขารู้กันอยู่นั่นแหละมาเป็นตัวอุปมา ไอ้เนื้อเรื่องคืออุปไมยแท้ๆนั้นมันยาก มันเข้าใจยาก บางทีพูดออกไปแล้วฟังไม่รู้ว่าอะไรก็มี แต่พอกล่าวอุปมาให้ฟังก็ร้องอ้อ, ขึ้นมาได้ว่าอย่างนั้น เข้าใจได้โดยอุปมานั้น เพราะฉะนั้นจึงมีใช้มาก เพื่อให้เข้าใจง่ายหรือทันที ทีนี้ที่ว่ามันจำได้ง่ายจำไม่ลืมนี่ก็เพราะว่าเรื่องอุปมามันเป็นเรื่องที่คุ้นเคยนี่แล้วแต่จะอุปมาด้วยอะไร ดังนั้นขอให้นึกถึงในฐานะที่ว่าเป็นสิ่งที่เราจะต้องใช้เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าท่านใช้ ถ้าพูดสอนเป็นอุปมานี้ก็เหมาะอย่างยิ่งแหละสำหรับคนทั่วๆไป แล้วในที่นี้ก็อยากจะพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าพรหมจรรย์ แล้วก็มีอุปมาอย่างไรบ้าง เพื่อให้รู้ว่าประโยชน์ของอุปมาเป็นอย่างไร มีคำตรัสว่า มัณฑะ เปยยะมิทัง ภิกขะเว พรัหมะจะริยัง พรหมจรรย์นี้น่าดื่มเหมือนมัณฑะ มัณฑะ นี้ก็หมายถึง สัปปิมัณฑะ ส่วนที่ดีที่สุดของนมที่มาจากวัว ที่ผมเคยสอบถามชาวอินเดียดูก็คือว่ารีดนมมาสดๆเรียกว่า ขีระ เอามาแปรให้เป็นนมที่เปรี้ยวในวันรุ่งขึ้นนี่เรียกว่า ทธิ แล้วเอาไอ้ส่วนที่มันลอยฝานั้นไปทำเป็นเนยเรียกว่า นวนีตะ นวนีตะข้นๆนี้เอาไปทำโดยกรรมวิธีเคี่ยวเจียวอะไรก็ไม่ทราบมันกลายเป็นเนยใสที่เรียกว่า สัปปิ แล้วหัวของสัปปิส่วนที่มันเป็นแข็งคงจะเป็นของที่ข้นกว่าเรียกว่า มัณฑะ มัณฑะก็แปลว่าฟองหรือก้อน ส่วนที่เรียกว่ามัณฑะนี้เป็นสิ่งที่แพงที่สุด เพราะว่าชอบดื่มกันมากที่สุดสำหรับคนเหล่านั้น ไอ้เราอาจจะสู้ไม่ได้ก็ได้ เรียกว่า มัณฑะ เปยยะมิทัง ภิกขะเว พรัหมะจะริยัง พรหมจรรย์นี้น่าดื่มเหมือนมัณฑะ ก็กล่าวในประเทศอินเดียซึ่งเขารู้จักมัณฑะกันดี พอพูดถึงมัณฑะทุกคนมันก็รู้แล้วว่าคืออะไร ไอ้เราที่นี่ไม่รู้ว่ามัณฑะคืออะไร พอตรัสออกไปว่ามันน่าดื่มเหมือนมัณฑะ คนก็เข้าใจวูบวาบไปได้เลยว่าไอ้พรหมจรรย์นี้ไม่ใช่น่าเบื่อหน่าย ก็เลยจำไม่ลืมว่าพรหมจรรย์นี้น่าดื่มเหมือนมัณฑะ คือส่วนที่ดีที่สุดของโครส รสที่เกิดมาจากโค มีกี่ชนิดก็ตาม มัณฑะนี้มันวิเศษกว่าเพื่อน พระพุทธเจ้าท่านทรง จะเรียกว่าอะไรก็ยากนะ เรียกมันก็หยาบคาย จะเรียกว่าโฆษณาชวนเชื่อนี้มันก็หยาบคายที่จะไปใช้เรียก แต่มันก็มีลักษณะอย่างนั้นแหละ ทำให้สนใจมาก ทำให้อยากลอง หรือว่าเป็นการยกจิตใจ ประคองจิตใจ หรือเป็นการต่อรองก็ได้ เมื่อมันน่าดื่มเหมือนมัณฑะแล้วทำไมเธอจะมามัวเหลวไหลอยู่ หรือไม่สนใจ นี้ก็กลายเป็นคำด่าเลยก็ได้ ของที่ดีก็ยังไม่เอา นี่เราเดี๋ยวนี้เรารู้สึกว่าพรหมจรรย์นี้น่าดื่มเหมือนมัณฑะหรือเปล่า มันจะสำคัญอยู่ที่นี่ ถ้าเราจะมัวแต่เรียนๆ พูดๆ สอนๆ หาลาภสักการะสรรเสริญเพราะการทำอย่างนี้ก็เรียกว่าไม่ใช่พรหมจรรย์ที่น่าดื่มเหมือนมัณฑะ แล้วยังมีที่พระองค์ตรัสว่าพรหมจรรย์นี้มิได้เป็นไปเพื่อลาภสักการะสรรเสริญเลย แต่พรหมจรรย์นี้เป็นไปเพื่อความสิ้นแห่งอาสวะ มันต้องเป็นเรื่องของการสิ้นไปแห่งอาสวะไม่ใช่เรื่องไปมีชื่อเสียงเด่นดี เป็นนั่นเป็นนี่ เป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงจึงจะ จึงจะเรียกว่าเป็นพรหมจรรย์ แล้วเป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะในที่สุด เพราะฉะนั้นก็เป็นอันว่าเรื่องความสิ้นอาสวะนั่นแหละเป็นสิ่งที่น่าดื่มเหมือนมัณฑะ ทำให้มองเห็นชัดว่าความสิ้นอาสวะที่ยังไม่รู้จัก ที่ยังไม่ได้ เป็นสิ่งที่ควรขวนขวายอย่างยิ่งเพื่อให้ได้และมันน่าดื่มเหมือนมัณฑะ เพราะฉะนั้นก็ควรจะขวนขวาย อย่าเห็นว่าไอ้ความสิ้นอาสวะนี้เป็นสิ่งที่จืดชืด ไม่มีรสไม่มีชาดอย่างที่คนทั่วไปมักจะถือว่าพระนิพพานเป็นอย่างนี้ จืดชืด ผมเคยลองถามชาวบ้านที่ตั้งตัวเป็นอุบาสิกานี้แหละคนหนึ่งว่าต้องการนิพพานหรือไม่ ก็ว่าต้องการอย่างยิ่ง ต้องการนิพพานอย่างยิ่ง แล้วก็ว่าอยู่ในโลกที่มีอะไรสมบูรณ์ได้อย่างใจทุกอย่างกับโลกอีกแห่งหนึ่งซึ่งไม่มีอะไรที่จะให้เป็นที่หลงใหลพอใจเลย เงียบๆง่ายๆอย่างนี้คุณจะเอาอย่างไหน เขาก็เอาอย่างแรกอย่างที่มีอะไรได้อย่างใจทุกอย่าง นี้คือคนพวกที่เกลียดหรือกลัวนิพพาน ไม่รู้สึกว่าไอ้ความสิ้นกิเลสอาสวะนี้จะน่าดื่มเหมือนมัณฑะได้ ก็ต้องรอไปก่อน แต่สำหรับพวกเราบรรพชิตในฐานะเป็นครูบาอาจารย์ด้วยนี่มันก็ผิดกันมาก ต้องถึงขนาดที่มองเห็นว่าพรหมจรรย์นี้น่าดื่มเหมือนมัณฑะจริงๆ ความสิ้นไปแห่งอาสวะนั้นแหละน่า น่าได้น่าถึงน่ามี ยิ่งกว่าที่จะมีลาภสักการะเสียงสรรเสริญซึ่งมันเป็นของตรงกันข้าม เป็นที่ตั้งแห่งบาปอกุศลเสียด้วยไอ้ลาภสักการะสรรเสริญ จนถึงพระบาลีรวบรวมไว้เป็นหมวดหนึ่งเรียกว่า ลาภะสักการะสังยุตต์ ไปอ่านแล้วจะรู้สึกวูบวาบไปเหมือนกันเกี่ยวกับไอ้ฤทธิ์เดชของลาภสักการะนี้เป็นไปเพื่อวัฏฏะ เพื่อติดอยู่ในวัฏฏะ ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวกันเลยกับพรหมจรรย์ พรหมจรรย์นี้มิใช่เป็นไปเพื่อลาภสักการะสรรเสริญ ลาภะ สักการะ สิโลโก บาลีมี ๓ คำ ลาภะ ลาภ สักการะ สักการะ สิโลโก เสียงสรรเสริญ ทีนี้เรามันก็มักจะแตะต้องอยู่กับไอ้เรื่องลาภะ สักการะ สิโลโก นี่อยู่ อยู่มาก ก็มีคำสอนไว้ในนั้นเสร็จว่าให้ระวัง มีคำเปรียบเหมือนกับว่ามันเป็นอันตราย อย่างไม้ที่ว่า ๒ ข้างมันติดไฟ ตรงกลางก็เปื้อนอุจจาระ แล้วจะหลิบ จะหยิบได้อย่างไร อุปมาให้น่ากลัวหรือให้เข้าใจมากถึงขนาดนี้ ลาภะ สักการะ สิโลโก ดังนั้นพรหมจรรย์นี้จึงมิใช่เป็นไปเพื่อลาภสักการะเสียงสรรเสริญแต่เป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ เพราะความสิ้นอาสวะนี้ก็จะต้องน่าดื่มเหมือนมัณฑะเป็นแน่นอน โดยความรู้สึกอนุมานสำหรับผู้ที่ยังไม่ถึง หรือว่าจะอนุมานในลักษณะที่ว่าเมื่อใดกิเลสอาสวะไม่รบกวนเมื่อนั้นแหละเราก็เรียกว่าชิมตัวอย่างของมัณฑะของพระพุทธเจ้า คือพรหมจรรย์ที่ถึงที่สุดแล้วนะ แต่นี้เรามันไม่ถึงที่สุดมันก็ไม่มาชิมลองด้วย การพยายามทำความเข้าใจให้ดีในเวลาที่กิเลสและอาสวะมิได้เกิดขึ้นรบกวนจิต คือไม่มีการปรุงแต่งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไปด้วยอำนาจของอวิชชา ในเวลานั้นก็เรียกว่ากำลังว่างจากการรบกวนของกิเลสและอาสวะ ทีนี้ยังมีอุปมาที่ว่าพรหมจรรย์นี้เหมือนฝั่งทะเลที่ลาดลงไปตามลำดับ ไม่โกรกชัน ทีเดียวถึง นี่ถ้าทะเลตามธรรมดาสามัญมันเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่ามีภูเขาหยั่งลงไปในทะเลแล้วก็มันตรงนั้นมันชันดิ่งลงไป แค่ว่าตามธรรมดานี้สมุทรนี้มันก็มีการลาดลุ่มไปตามลำดับ พรหมจรรย์นี้ก็เปรียบเหมือนอย่างนั้น มันไม่ได้ชันทีเดียวถึง ฉะนั้นจึงมีการปฏิบัติไปๆ ปฏิบัติไป ลึกเข้าๆ ในที่สุดก็ถึงที่ลึกที่สุดได้เหมือนกัน อย่างนี้เกือบไม่ต้องอธิบายแล้วเพราะทราบกันดีแล้วว่าศีล สมาธิ ปัญญา หรือว่าลำดับอะไรต่างๆ เช่น ลำดับวิสุทธิ ๗ เป็นต้น แล้วก็มีอีกมากที่แสดงลำดับลงไปเรื่อยๆอย่างนี้ เป็นหลักพระพุทธภาษิตก็มี ไม่ใช่ก็มี แต่ว่าลงกันได้หมด นี้ก็เป็นเรื่องทำให้เกิดความกล้าหาญ พอใจหรือว่าแน่ใจ มีหวังนะเรียกว่ามีหวัง ถ้ามันจะโกรกชันทีเดียวถึงมันก็ทำให้ขี้ขลาดหรือหมดหวัง เรามองเห็นข้อนี้แล้วก็มีหวัง ก็จะค่อยๆไต่ลงไปได้ นี้เป็นตัวอย่างที่ให้เห็นว่าพระพุทธองค์ก็ตรัสเปรียบพรหมจรรย์นี้ด้วยอุปมาหลายๆอย่าง นี้เรียกว่าอุปมาอย่างธรรมดาสามัญทั้งนั้น
ทีนี้อุปมาอีกประเภทหนึ่ง อีกชนิดหนึ่ง ก็คืออุปมาที่ความมันกลับตรงกันข้ามอยู่กับหลักเกณฑ์ที่ ต่างๆที่เราถือกันอยู่ ซึ่งผมตั้งใจจะพูดในวันนี้ คือในคัมภีร์สฬายตนวรรค สังยุตตนิกายนี่มีอุปมาอยู่สูตรหนึ่งว่า อนันเตวาสิกมิทัง ภิกขะเว พรัหมะจริยัง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้อยู่ประพฤติกันโดยไม่มีอันเตวาสิก อันนาจริยะกัง (นาทีที่ 17.40-17.56) และก็ไม่มีอาจารย์ ฟังดูให้ดีว่าพรหมจรรย์นี้ตั้งอยู่ประพฤติกันโดยที่ไม่ต้องมีอันเตวาสิกและไม่มีอาจารย์ คืออยู่ประพฤติพรหมจรรย์อย่างไม่มีลูกศิษย์ไม่มีอาจารย์ ความรู้สึกทีแรกก็จะขัดกันทันทีว่าทำไมจึงให้มีอุปัชฌายะ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก อาจารย์อย่างในวินัย นี่มันเป็นระเบียบวินัยที่ต้องมีต้องทำนะ คนบวชมาต้องมีอุปัชฌายะ ต้องถืออุปัชฌายะ และก็ต้องมีอาจารย์ผู้ฝึกสอน นั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจกันดีอยู่แล้ว พอทีถึงจะตรัสให้เป็นอุปมากลับตรัสเป็นทำนองว่า อนันเตวาสิกมิทัง ภิกขะเว พรัหมจริยัง พรหมจรรย์นี้ต้องประพฤติกันอย่างไม่มีอันเตวาสิก อันนาจริยกัง แล้วก็ไม่มีอาจารย์ด้วย ไม่มีลูกศิษย์ไม่มีอาจารย์ ครั้งแรก ครั้งแรกก็งง ต่อเมื่อศึกษาเข้าใจแล้วก็จะเข้าใจได้ ยังมีตรัสต่อไปว่าภิกษุทั้งหลาย การประพฤติพรหมจรรย์มีอันเตวาสิก มีอาจารย์นี้จะอยู่เป็นทุกข์ไม่ผาสุกเลย ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ไม่มีอันเตวาสิกไม่มีอาจารย์นั่นจะอยู่ไม่เป็นทุกข์และผาสุก ข้อความเหล่านี้ถ้าฟังตรงๆ ดู ฟังดูตรงๆมันก็เป็นไปได้เหมือนกันตามตัวหนังสือนี้ การที่เรามีลูกศิษย์มากนี่มันก็ไม่ใช่สนุกเลย หรือว่ามีอาจารย์ที่เป็นภาระอยู่มันก็ไม่สนุกเลย ถ้าไม่มีอาจารย์ไม่มีลูกศิษย์ ไม่มีการผูกพันทั้งข้างบนทั้งข้างล่างเหมือนพระอรหันต์ผู้เที่ยวไปโดดเดี่ยวเหมือนนอแรดนี่มันก็สบายเท่านั้นเอง แต่ว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ทรงมุ่งหมายอย่างนั้นนะในสูตรนี้ เดี๋ยวก็ฟังดูต่อไป เมื่อจะทรงแสดงว่าอะไรเป็นอาจารย์อะไรเป็นลูกศิษย์นี่แสดงว่า ปาปกา อกุสลา ธัมมา สรสังกัปปา สัญโญชนิยา (นาทีที่ 20.34) นั่นแหละคือสิ่งที่มีอยู่ในจิต เพราะมีอยู่ในจิตจึงชื่อว่าผู้อยู่ในภายในคืออันเตวาสิก อันเตวาสิกแปลว่าผู้อยู่ในภายใน ในสำนักในอะไรนี้ อะไรอยู่ในภายในอันนั้นชื่อว่าอันเตวาสิก ทีนี้ในจิตของภิกษุนั้นมีบาปอกุศลธรรม มีสังกัปปะที่ส่ายไปส่ายมา และก็มีการผูกพันในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ แล้วสิ่งนั้นมีอยู่ในจิตของภิก ภิกษุนั้น ดังนั้นภิกษุนั้นชื่อว่ามีอันเตวาสิก คือมีสิ่งที่มีอยู่ในภายใน พรหมจรรย์ที่ประพฤติอย่างนี้เป็นทุกข์ ไม่ผาสุกเลย นี่เป็นพระพุทธภาษิตนัยยะอันแรก เพราะว่าได้เห็นรูปด้วยตา เป็นต้น แล้วก็เกิดบาปอกุศลธรรม เป็นความหวังที่แล่นไปนี่ สรสังกัปปะ สังกัปปะ ความดำริหรือความหวังที่มันแล่นไปส่ายไปอยู่เรื่อย แล้ว สัญโญชนิยา เป็นที่ผูกพันของจิตในภายในภิกษุนั้นชื่อว่ามีอันเตวาสิก มีๆ มีคนที่อยู่ด้วยเป็นศิษย์อยู่ในภายใน แล้วก็เป็นทุกข์ แล้วก็ทรงแสดงด้วยเรื่องของหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้ง ๖ อย่าง ครบทั้ง ๖ อย่าง เพราะว่าได้เห็นรูปด้วยตา หรือว่าฟังเสียงด้วยหู หรือได้กลิ่นด้วยจมูกอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๖ อย่างนั้นนะ แล้วมันก็เกิดมีอกุศลธรรมที่เป็นสรสังกัปปา สัญโญชนิยา เพราะอยู่ในภายในของภิกษุนั้น ภายในจิตของภิกษุนั้น ดังนั้นจึงชื่อว่า ภิกษุนั้นจึงชื่อว่ามีอันเตวาสิกคือผู้อยู่ในภายใน และเพราะว่าอกุศลธรรมทั้งหลายเหล่านั้นย่อม สมุทาจรนฺติ ซึ่งภิกษุนั้น ดังนั้นภิกษุนั้นชื่อว่า สาจริยโก คือมีอาจารย์ สำหรับคำว่า สมุทาจรนฺติ นี้เคยแปลกันมาว่าร้องเรียกก็มี ร้องเรียกในลักษณะรบกวน มันเรียกไปเรื่อยไม่หยุด สังอุทธะ อาจะระ (นาทีที่ 23:43) นี่ประพฤติขึ้นทั่วพร้อม ใกล้ชิดกับคำนี้ควรจะแปลว่ากลุ้มรุม ห้อมล้อม แต่ก็มารบกวนมาร้องเรียกในลักษณะที่ร้องเรียกรบกวนอยู่เรื่อย อกุศลธรรมทั้งหลายเหล่านั้นย่อมสมุทาจรนฺติ ซึ่งไปคิดดูเอาเองว่าจะแปลว่าอะไรดี จะแปลว่าร้องเรียกหรือกลุ้มรุม รบกวน ซึ่งภิกษุนั้น ดังนั้นภิกษุนั้นชื่อว่า สาจริยโก คือมีผู้ร้องเรียก สาจริยโก นี่แปลว่ามีอาจารย์ สะอาจริยะ สาจริยะ สาจริยโก แปลว่ามีอาจารย์ ถ้าเราจะทำมโนภาพไปถึงอาจารย์ ถึงหน้าที่ของอาจารย์นะ อาจารย์ในความหมายหนึ่งก็คือว่ารบกวนเราอยู่เสมอไม่ให้เราทำผิดได้ คอยพูดคอยว่าคอยพร่ำ คอย บางทีก็คอยตีเราด้วย นี่แปลว่าคอยทำอยู่ทุกๆอย่าง มีลักษณะเหมือนอย่างนั้น แต่ด้วย ด้วยความหวังตรงกันข้ามนะถ้าอาจารย์นะด้วยความหวังดี แม้แต่บิดามารดานี่ก็คอยจู้จี้เด็กๆไม่ให้มันไปทำผิดที่ไหนได้ เดี๋ยวนี้กิเลสอกุศลธรรมนี้ก็เหมือนกันคอยรบกวนรอบด้าน แต่ว่าไม่ใช่เพื่อให้ดีขึ้น รบกวนตามแบบของไอ้บาปอกุศลกรรมที่อาศัยกิริยาอาการที่รบกวนจู้จี้ พิถีพิถัน ไม่รู้แล้วไม่รู้รอดนี่เลยเรียกว่าอาจารย์เสียเลย พรหมจรรย์ของศิษย์ผู้นั้นชื่อว่าประพฤติอย่างมีอาจารย์ รวมกันเป็น ๒ อย่างว่าพรหมจรรย์ที่ประพฤติอย่างมีอันเตวาสิกคือศิษย์ พรหมจรรย์ที่ประพฤติอย่างมีอาจารย์นี้ไม่ นี้เป็นไปเพื่อความทุกข์แล้วก็ไม่มีสุข ไม่ผาสุก ส่วนที่ตรงกันข้ามนั้นก็ไม่ ไม่ต้องเอามาจาระไนก็ได้คือกลับตรงกันข้าม ไม่มีอกุศลธรรมเรียกร้อง ไม่มีอกุศลธรรมอยู่ในภายในนั้นก็เรียกว่าพรหมจรรย์ของภิกษุนั้นไม่มีลูกศิษย์ ไม่มีอาจารย์ ไม่มีทั้งลูกศิษย์ไม่มีทั้งอาจารย์ ทีนี้ก็มาดูไอ้พรหมจรรย์ของเราเองที่เรียกกำลังประพฤติพรหมจรรย์นี้ มันจะน่าหัว เพราะมันคิดว่ามีศิษย์มีอาจารย์ กลุ้มไปหมด เรียกคนนั้นอาจารย์เรียกคนนี้ลูกศิษย์ เป็นพรหมจรรย์ที่มีลูกศิษย์มีอาจารย์ แล้วเผลอนิดเดียวแหละมันไปเป็นไอ้ศิษย์หรืออาจารย์อย่างในสูตรนี้เข้าไม่ทันรู้ ไอ้ความสัมพันธ์ระหว่างลูกศิษย์อาจารย์นี้แหละเดี๋ยวมันทำให้เกิดบาปอกุศลธรรมขึ้นมา อาจารย์ก็ลืมตัวเพราะลูกศิษย์นั่นแหละพูดกันตรงๆอย่างนี้ แล้วอาจารย์ก็รบกวนลูกศิษย์ไม่ค่อยจะหยุด เดี๋ยวเอานั้นมากินที เดี๋ยวเอานี้มาสูบที เดี๋ยวเอานั้นมาทาที เดี๋ยวมานวดขาทีนี่ก็เลยคล้ายกันมากทีเดียว เป็นพรหมจรรย์ที่มีลูกศิษย์มีอาจารย์ขึ้นมาไม่ทันรู้แล้ว นี่คืออุปมาที่น่าขันน่าหัวมันกลับกันอยู่สองซ้อน กลับกันอยู่สองที เป็นอุปมาที่เข้าใจยาก แต่ก็ยังเป็นอุปมาอยู่นั่นแหละคือเผลอนิดเดียวมันก็เข้ารูปนี้เป็นพรหมจรรย์ที่มีลูกศิษย์มีอาจารย์ขึ้นมา ในทางธรรมะนี้ใช้ไม่ได้ แต่ในทางวินัยกลับจำเป็นที่จะต้องมีอย่างนั้น ถ้าไม่อย่างนั้นไม่ถือว่าเป็นหมู่คณะที่มีวินัย นี่ผมจึงว่ามันกลับตาลปัตรกันอยู่สองทีสามทีให้ดูให้ดี นี้เป็น เป็นเค้าโครงของเรื่องที่จะอุปมา สรุปใจความว่าจงประ ประพฤติพรหมจรรย์อย่างที่พระพุทธองค์ตรัสว่าพรหมจรรย์นี้ไม่ได้ประพฤติ เป็นไปอย่างที่เรียกว่ามีอันเตวาสิกหรือมีอาจารย์ พูดให้สั้นที่สุดก็ว่าอย่ามีลูกศิษย์อย่ามีอาจารย์ ลูกศิษย์เป็นภาระ อาจารย์คือผู้รบกวนจู้จี้ ทีนี้ก็กล่าวชัดอยู่แล้วว่าเพราะได้เห็นรูปทางตานี่ เพราะได้ฟังเสียงทางหู เพราะได้ดมกลิ่นทางจมูก หรือได้ลิ้มรสทางลิ้น ได้สัมผัสโผฏฐัพพะทางผิวกายนี้ ได้รู้ธรรมารมณ์ทางจิต จึงได้เกิดอกุศลธรรมอันลามกที่ว่านี้ เรื่องนี้เราก็เคยพูดกันมาแล้วว่าเพราะเผลอสติเมื่อตาเห็นรูป เป็นต้น คำว่าเผลอสตินี่ก็หมายความว่าเปิดช่องให้อวิชชาซึ่งคอยจ้องอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่งที่จะมาเกิด มาถือโอกาสเข้าผสมเข้าไปในสัมผัสนั้นคือตากับรูปสัมผัสกัน หูกับเสียงสัมผัสกัน จมูกกับกลิ่นสัมผัสกัน เป็นต้น เพราะว่าเผลอสติในขณะนั้น อวิชชา สัพ สัพเพสุ ธัมเมสุ อนุปะจิตา (นาทีที่ 30:08) ซึ่งคอยจ้องอยู่ในที่ทั้งปวง ในธรรมทั้งปวงนั้น พอเข้ามาประกอบกับการสัมผัสนั้นเมื่อภิกษุนั้นเผลอสติ นี่มันจะสร้างอันเตวาสิก สร้างอาจารย์ขึ้นมา คือจะสร้างลูกศิษย์สร้างอาจารย์ขึ้นมาตอนนี้ เมื่อสัมผัสไปด้วยอวิชชาคือไม่ได้รู้ตัวแล้ว เผลอสติแล้วก็เป็นอวิชชาสัมผัส ทีนี้เวทนาเกิดขึ้นก็เป็นเวทนาที่มาจากอวิชชาสัมผัส เป็นเวทนาที่ร้ายกาจก็ต้องเกิดตัณหาหรือความอยากความประสงค์ที่มีมูลมาจากอวิชชา นี่ได้ในคำว่า ตะสัญโยชะนิกา สรสังกัปปา (นาทีที่ 31:11) อย่างในสูตรนี้ มันก็ส่ายไปในอารมณ์ทั้งหลาย ผูกพันอยู่ในอารมณ์นั้นๆ อยู่ในจิตใจของภิกษุนั้น จึงได้ชื่อว่ามีอะไรอยู่ข้างใน แปลว่ามีอะไรอยู่ข้างใน อันนั้นชื่อว่าอันเตวาสิก เพราะคำว่าอันเตวาสิกมันแปลว่าอยู่ข้างในอยู่เป็นประจำเป็นปรกติ เดี๋ยวนี้เขาเรียกกันว่าศิษย์ต้นกระฏิ (31:51) คำๆนี้แปลเป็นไทยง่ายๆว่า ศิษย์ต้นกระฏิ คืออันเตวาสิก ประพฤติพรหมจรรย์อย่างมีศิษย์ต้น ต้นกระฏินี่มันเป็นไปเพื่อทุกข์ ไม่ผาสุกเลย ศิษย์ต้นกระฏิจะเกิดเมื่อเผลอในการทำหน้าที่ของอายตนะทั้ง ๖ ก็เลย เลยเป็นว่า มัน มันเลยมีหลักขึ้นมาว่าให้ระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อมีการสัมผัส อย่าให้โอกาสอวิชชาสัมผัส มันก็ไม่เกิด ไม่เกิดอันเตวาสิก ไม่เกิดการเรียกร้องอยู่ข้างในก็ไม่เกิดอาจารย์ นี่ดีหรือไม่ดี สะดวกหรือไม่สะดวกขอให้ไปคิดดูเอง เพราะว่าเรามันเคยชินแต่เรื่องวินัยที่ให้มีศิษย์มีอาจารย์ แล้วก็มักจะเกินขอบเขต หาความสะดวกสบายเกี่ยวกับสิ่งนี้จนชินเสีย ในความชินนั้นมันจะลามมาถึงไอ้เรื่องปฏิบัติธรรมะที่เป็นตัวพรหมจรรย์ฝ่ายธรรมะนี้ด้วย เรื่องวินัยมันจะลามมาหาฝ่ายเรื่องของธรรมะแล้วเข้าใจความหมายผิด ก็ถือเอาความหมายทื่อๆไปอย่างนี้ ไอ้ส่วนที่เป็นธรรมะก็จะเสียไป อย่างนี้ก็เรียกว่าอุปมามันเป็นปฏิปักขนัยกับเรื่องที่จะต้องประพฤติ ในเมื่อถือเอาตามความหมายที่ชาวบ้านตามธรรมดาสามัญเขาถือกันอยู่ พูดกันง่ายๆก็อย่ามีศิษย์อย่ามีอาจารย์ ในทางวินัยแรกบวชเข้ามาเป็นไปไม่ได้ แต่ถึงเมื่อปฏิบัติธรรมแล้วต้องเป็นอย่างนั้น กลาย กลายเป็นว่าต้องไม่มีศิษย์ไม่มีอาจารย์ แล้วเมื่อปฏิบัน บัติธรรมถึงที่สุดสิ้นอาสวะเป็นพระอรหันต์แล้วในจิตใจของท่านก็ไม่มีศิษย์ไม่มีอาจารย์ แม้ว่าจะเกี่ยวข้องกันอยู่กับบุคคลที่สมมติเรียกกันว่าศิษย์ว่าอาจารย์ แล้วก็มีพระอรหันต์เป็นอันมาก เที่ยวไปอย่างนอแรด ขัคควิสาโณ ผู้เที่ยวไปอย่างนอแรด คือไปคนเดียวไม่ต้องมีใครปฏิบัติรับใช้หรืออะไรยุ่งยากนี้ก็มี แล้วก็กล่าวกันว่ามันสบายกว่า สบายกว่าที่จะมายุ่งกับสังคมหรือประชาชน แต่มันก็เป็นสบายส่วนตัว แล้วก็ไม่ ไม่ได้มีหลักว่าอย่างนั้น จึงจะเรียกว่าไม่มีศิษย์ไม่มีอาจารย์โดยสิ้นเชิง หลักของมันอยู่ตรงที่ว่าอย่าไปหลงในบุคคลที่สมมติว่าเป็นอาจารย์หรือว่าเป็นศิษย์นั่นเอง นี่นึกถึงว่าให้ถอนความยึดมั่นถือมั่นในความหมายในโวหารที่ใช้พูดกันอยู่ของชาวบ้านเสีย ก็เป็นอันว่าไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นตามนั้น แม้ปากพูดราวกับว่ายึดมั่นถือมั่นอยู่ตามนั้น คือว่าเราจะถูกเรียกว่าอาจารย์บ้างอะไรบ้างนี้วันหนึ่งหลายๆสิบครั้ง หลายๆร้อยครั้งก็ได้ในบางกรณี เราก็จะคิดว่าคนนั้นเป็นศิษย์คนนี้เป็นศิษย์วันหนึ่งหลายๆร้อยครั้งก็ได้ เป็นสิ่งที่จะต้องระวัง ถ้าคิดอย่างนี้มันจะเป็นเรื่องของความยึดมั่น แต่ถ้าพูดแล้วมีสติสัมปชัญญะมายึดมั่นอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าแม้ตถาคตก็พูดโดยโล โลกียะโวหารนะแต่ไม่ได้ยึดถือความหมายนั้นอย่างที่คนทั้งหลายเขายึดกันนี้ก็รอดตัวไปได้เพราะ เพราะความไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ถูกกลุ้มรุม แล้วก็ไม่ถูกอะไรรบกวนอยู่ข้างใน แล้วตามธรรมดาอาจารย์ชั้นหลังโดยเฉพาะในรุ่นแต่งคัมภีร์วิสุทธิมรรคนี่ สังเกตเห็นได้ว่าท่านต้องการจะให้ทำในใจซึ่งกันและกันว่าเป็นสัตว์ เป็นกัลยาณมิตรมากกว่าที่จะเป็นอันเตวาสิกหรือเป็นอาจารย์ นี้มันก็แสดงอยู่อย่างหนึ่งแล้วว่าไอ้เรื่องวินัยก็วินัยไปสิ เป็นสัทธิวิหาริก อันเตวาสิก อาจารย์ อุปัชฌาย์ จะต้องมีวัตรต่อศิษย์ ท่านเหล่านั้นต่อบุคคลนั้น แต่พอออกมาสู่ป่าสู่ที่สงัดของการบำเพ็ญสมณะธรรมนี่มันกลายเป็นเพื่อนกันไป เป็นกัลยาณมิตร เพราะเดี๋ยวนี้เรากำลังจะเดินทางไปจากวัฏสงสารนี่คือจากความทุกข์ไปสู่ความดับทุกข์ มีลักษณะเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น เมื่ออยู่ที่วัดหรือในสังคมตามวินัยนั้นก็เป็นศิษย์เป็นอาจารย์ อุปัชฌาย์ แต่พอออกมามันเป็นสมณะธรรมนี่กลายเป็นกัลยาณมิตรเท่ากัน อาจารย์ก็เป็นกัลยาณมิตรของศิษย์ ศิษย์ก็เป็นกัลยาณมิตรของอาจารย์ แต่อย่าถึงกับไปเรียกว่าเพื่อนๆ เดี๋ยวมันจะน่าหัว เดี๋ยวจะกลายเป็นคอมมูนิสต์ คอมมูนิสต์เขาเรียกบุคคลอื่นว่าเพื่อนๆ ไม่มีเรียกกันมากกว่านั้น ผู้ใหญ่เรียกผู้น้อยก็เรียกเพื่อน ผู้น้อยเรียกผู้ใหญ่ก็เรียกเพื่อน นี่ทำให้นึกถึงคอมมูนิสต์ ว่าผู้ที่ออกบำเพ็ญสมณะธรรมทำในใจเหมือนกับว่าเราเป็นเพื่อนกันทุกๆคนและทุกฝ่าย อาจารย์ อาจารย์กับศิษย์หรือศิษย์กับอาจารย์ก็เป็นเพื่อน ในข้อที่ว่าถ้ายังไม่ถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์มันก็ยังต้องเดินทางกันทั้งนั้น คือต้องปฏิบัติเพื่อความสิ้นอาสวะด้วยกันเสมอกันทั้งศิษย์และอาจารย์ ดังนั้นอย่างนี้ถือว่าเป็นเพื่อน กัลยาณมิตรแก่กันและกันได้ดี ทั้งอาจารย์ผู้บอกกรรมฐานก็เรียกกัลยาณมิตร แล้วปฏิบัติไปพร้อมๆกันก็ยิ่งเป็นกัล กัลยาณมิตร ทีนี้ถ้าว่าพระอาจารย์เป็นพระอรหันต์แล้ว เป็นผู้จบกิจแล้ว เป็นพระอรหันต์แล้วก็มาสอน สั่งสอนผู้ที่ยังไม่เป็นนี่คือยังไม่บรรลุ ก็เรียกว่าเพื่อนอีกเหมือนกัน เป็นกัลยาณมิตรอีกเหมือนกัน จะไม่มาในฐานะผู้ปกครอง ผู้บังคับบัญชา ผู้ อาจารย์อะไรนี่ หน้าที่อาจารย์หน้าที่อุปัชฌายะนั้นตรงนี้เอามาใส่กันไม่ได้เพราะมันไม่มีเวลา ก็มุ่งๆหน้าแต่ว่าจะรีบเดินๆ รีบเดิน จะพาเขาเดินไปโดยเร็ว อย่างพระอรหันต์เป็นหัวหน้าคณะ แล้วก็มีลูกศิษย์ที่ปฏิบัติธรรมะอยู่ก็เรียกว่าท่านเป็นผู้นำ ผู้เป็นเพื่อนเป็นกัลยาณมิตร แม้แต่พระพุทธองค์เองก็ยังมีเคยพบว่าในที่บางแห่งจะทรงจัดพระองค์ไว้ในฐานะเป็นเพียงกัลยาณมิตรของสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ทำไมจึงนึกไปในทางนี้ เพราะว่าการนึกไปในทางนี้มันป้องกันได้มาก มันปลอดภัยมากที่จะป้องกันการเกิดขึ้นแห่งตัวกูของกู แห่งอหังการมมังการ โอกาสมันมีมากและง่ายเหลือเกินที่จะเกิดตัวกูของกูขึ้นมา ในเมื่อถือหลักอย่างนี้อยู่มันก็เป็นการป้องกันไว้ได้มาก เพราะมันมีหลายเรื่องหลายแขนงหลายทิศทางที่จะต้องป้องกัน แล้วอันนี้มันก็เป็นอันหนึ่งที่สำคัญมากที่จะต้องป้องกันไม่ให้เกิดความรู้สึกที่ไต่ไปจากคำว่าลูกศิษย์ว่าอาจารย์ แล้วกระทั่งไปกลายเป็นไอ้ชนิดภายในคืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเพราะตาเห็นรูป เป็นต้น
ทีนี้ถ้าเราจะพิจารณาดูว่าทำไมพระพุทธองค์จึงตรัสสูตรนี้และทรงทำอุปมาอย่างนี้ คำตอบก็อย่างเดียวกันอีกแหละเพราะว่าเรามันเคยชินต่อคำว่าศิษย์ว่าอาจารย์นี่มากนัก ที่เอามาทำไว้กันลืมว่าเมื่อได้สัมผัสอารมณ์ ไอ้ตาเห็นรูป เป็นต้น ก็อย่าให้เกิดไอ้สิ่งที่จะผูกพัน ทำการผูกพันให้เกิดความเป็นศิษย์เป็นอาจารย์เหมือนกับการถือนิสสัยนี้ขึ้นมา เราผูกพันในความเป็นศิษย์เป็นอาจารย์มาตั้งแต่วันแรกบวชที่ว่าถือนิสสัย ต้องประพฤตินิสสัยนี่ผูกพัน อัชชะตัคเคทานิ เถโร มัยหัง ภาโร อะหัมปิ เถรัสสะ ภารา นี้ก็มันก็เป็นเรื่องผูกพันแน่นแฟ้นมาก อันนี้ก็จะค่อยๆเอามาใช้เป็นหลักสำหรับป้องกันไม่ให้เกิดความผูกพันอย่างนั้น จนกระทั่งไม่มีการผูกพันเลย ดังนั้นพระองค์จึงทรงเอามากระทำให้เป็นอุปมาอย่างน่าหัวก็น่าหัว น่าสะดุ้งหวาดเสียวก็น่าสะดุ้งหวาดเสียว ว่าจงประพฤติพรหมจรรย์อย่างไม่มีความเป็นศิษย์หรือเป็นอาจารย์เถิด มีบาลีว่า อนันเตวาสิกมิทังภิกขะเว พรัหมะจริยัง วุสสติ อนาจริยกัง (นาทีที่ 43.15) พรหมจรรย์นี้อันภิกษุอยู่ประพฤติอย่างไม่มีอันเตวาสิกไม่มีอาจารย์ ดังนั้นขอให้จับใจความนี้ให้ได้ แล้วขอให้จับหลักการหรือวิธีการอันนี้ให้ได้เพื่อจะไปใช้กับเรื่องอย่างอื่นที่ให้มันมาเข้ารูปกันกับหลักการชนิดนี้ แล้วมันก็จะป้องกันได้รอบด้าน ยกตัวอย่างง่ายๆว่าพรหมจรรย์นี้เขาไม่ได้ประพฤติกันอย่างเป็นเศรษฐีหรืออย่างเป็นขอทาน มันก็เหมือนกันแหละ มันอธิบายได้โดยหลักการเดียวกันกับอุปมาแห่งสูตรนี้ แต่ว่าเรายังไม่เคยพบว่ามีพระพุทธภาษิตในสูตรไหนที่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่าพรหมจรรย์นี้เขาประพฤติกันอย่างไม่ใช่เป็นเศรษฐีอย่างไม่ใช่เป็นขอทาน แต่ทีนี้มาดูให้ดีอีกทีหนึ่ง พิจารณาดูอีกทีหนึ่งมันกลับเป็นอย่างนั้นเสีย เสียอีกเช่นเดียวกับสูตรนี้ ประพฤติอย่างกับเป็นเศรษฐี พระเป็นอย่างเศรษฐีก็ไม่ได้เป็นอย่างขอทานก็ไม่ได้ ไม่เป็นเศรษฐีเพราะเศรษฐีเขาก็บริโภคกามารมณ์ ไอ้ขอทานมันก็ไม่มีคุณความดีอะไรที่จะไปเอาอาหารของผู้อื่นมารับประทานนอกจากว่าช่วยตัวเองไม่ได้แล้วเขาก็สงสาร ทีนี้ภิกษุนี้ไม่ใช่อย่างนั้น มีอะไรที่จะช่วยตัวเองก็ได้ แต่ว่าต้องการจะทำประโยชน์อันสูงสุด ไม่มีเวลาที่จะไปทำนาหรือทำมาหากิน ฉะนั้นจึงได้เป็นอาชีพที่อยู่ด้วยสิ่งที่ผู้อื่นให้เพื่อให้ได้ทำหน้าที่ของตนคือการปฏิบัติตนออกจากกองทุกข์ แล้วพาผู้อื่นออกตามไปด้วย นี่ก็เป็นหน้าที่อย่างนี้เลยไม่ใช่ขอทาน นี่คือว่าหลักการอันหนึ่งมันมีอยู่เป็นหลักอย่างนี้ ซึ่งเราจะไปทำเป็นอุปมาอย่างโน้นอย่างนี้อะไรขึ้นมาก็ได้ แล้วแต่ว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้นกับเรา แล้วมันจะไปตรงกันกับอุปมาข้อไหน ในที่สุดมันก็จะเข้าใจไอ้ตัวธรรมะจริงยิ่งขึ้นๆ เพราะว่าเราไม่ได้เพียงแต่ท่องจำ แล้วก็ว่าไปตามที่จำได้เหมือนที่เป็นอยู่โดยมาก ตัวเราได้พยายามทำความเข้าใจ เข้าใจเรื่อยลึกขึ้นไปๆ มองเห็นไอ้ข้อเท็จจริงอันนี้และอุปมาแจ่มแจ้งขึ้นมาเอง การมองเห็นข้อเท็จจริงอันใดถ้าไม่ถึงขนาดที่ว่าอุปมาแจ่มแจ้งขึ้นมาแล้วอันนั้นไม่ชื่อว่าเห็นความจริงในส่วนนั้นถึงขนาดหรือถึงที่สุด ในพระบาลีเราจะพบเสมอที่พระพุทธองค์ตรัสถึงพระองค์เองว่าอุปมาได้แจ่มแจ้งแก่เรา ว่าอย่างนั้นๆก็มี หรือว่าเมื่อทรงประทานโอวาทแก่หมู่ภิกษุอยู่ ทีนี้ภิกษุองค์หนึ่งลุกขึ้นขอโอกาสว่าอุปมาแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ อุปมาแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ พระพุทธองค์ก็ยังทรงให้โอกาสว่าไหนลองว่ามาที ภิกษุนั้นก็บอกขึ้นว่าอย่างนั้นๆความเข้าใจของเขาเกี่ยวกับธรรมะที่กำลังสอนเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าว่าถูกๆๆ นี่คือเข้าใจถึงที่สุดซึ่งถึงกับอุปมาแจ่มแจ้ง นี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจไว้แล้วปฏิบัติให้มันเป็นไปตามนั้นนั่นเอง ถ้าเราเข้าใจเรื่องอะไรที่เป็นสัจธรรมอันลึกซึ้งจริงๆแล้วอุปมานั้นจะแจ่มแจ้งขึ้นมาพร้อมกันคู่กัน มันอยู่ในส่วนลึกของสันดานของจิตใจมันพลุ่งออกมาพร้อมกันได้เลย เหมือนเราเรียนภาษาต่างประเทศ ถ้าว่าเรารู้ภาษาต่างประเทศนั้นจริงมันจะฝันเลย เป็น ฝันพูดเป็นภาษาต่างประเทศนั่นแหละ นี่เรียกว่ามันรู้ภาษาต่างประเทศนั้นจริง ถ้ายังต้องนึกอึกอักๆ กว่าจะพูดได้สักคำนี้มันก็ยังไม่รู้นะ เพราะถ้าสิ่งใดรู้จริงมันหยั่งลึกลงไปถึงไอ้ส่วนลึกที่เรียกว่าสันดานหรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียก ก็ไม่ทราบว่าจะเรียกอะไรกันแน่ แล้วมันค่อยกลับออกมาเป็นไอ้ความรู้สึกความคิดนึก การรู้ธรรมะนี้ก็เหมือนกันแหละมันต้องเหมือนกับฝันออกมาได้คืออุปมาออกมาได้อย่างถูกต้องตามเรื่อง เดี๋ยวนี้มันไม่ได้เพราะมันรู้อย่างจำ มันไปรู้เพราะความจำมามากๆเลยไม่แจ่มแจ้ง อุปมาไม่แจ่มแจ้งกับคนชนิดนี้ที่เรียกว่าปฏิภาติ เป็นแจ้ง แจ่มแจ้ง ปฏิภาติ คำนี้เรียกว่าเป็นแจ้งหรือแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ ฉะนั้นถ้ารู้ธรรมะข้อไหนหรือว่าแง่ไหนก็สุดแท้ ถ้ารู้จริงอุปมาก็จะปรากฏแจ่มแจ้งออกมาด้วย ถึงขนาดตัวอย่างอย่างที่ว่านี้ นับตั้งแต่ว่าพรหมจรรย์นี้น่าดื่มเหมือนมัณฑะ มันก็ไม่ ไม่อยากจะกินไอ้ ไอ้เนย เนยใส มันจริงๆสิ เดี๋ยวนี้มันยังไม่จริงนี่ว่าแต่ปากมาสวดก็ได้ มัณฑะ เปยยะมิทัง ภิกขะเว พรัหมะจะริยัง มันก็ว่าได้ แต่ในจิตมันไม่ได้กระหายมันไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น หรือแม้ที่สุดแต่ว่าพรหมจรรย์นี้ลุ่มลาดเอียงไปเหมือนไอ้ฝั่ง ฝั่งสมุทรนี่ก็เถอะอย่าไปอวดดีเข้าง่ายๆว่าเรามองเห็น มันก็เห็นสักส่วนหนึ่งแหละแต่มันไม่ได้เห็นไอ้ส่วนที่มันเดินลงไปตามลำดับ คือไม่ได้เห็นขาของเราก้าวย่างลงไปตามลำดับเหมือนกับก้าวบันได อย่างนี้มันก็ไม่ได้ ยัง ยังไม่จริง ต้องเห็นว่าไอ้ขามันก้าวย่างลงไปตามลำดับเหมือนก้าวบันไดลงไปนี่จึงจะเรียกว่าเห็นข้อนี้จริง เห็นพรหมจรรย์นี้จริง นี่เรียกว่ามันอย่างง่ายๆ นี่อย่างที่มันยากนี้ก็ลองคิดดู อย่าให้พรหมจรรย์นี้มีการประพฤติชนิดที่มีลูกศิษย์มีอาจารย์
เป็นอันว่าวันนี้ผมไม่ได้พูดเรื่องอะไรมากมาย พูดเรื่องเกี่ยวกับวิธีการของการอุปมาซึ่งมันมีการสัมพันธ์กันมาก ที่เราจะเข้าใจพระพุทธภาษิตก็เข้าใจทางอุปมา หรือที่เราจะปฏิบัติตนก็ปฏิบัติได้โดยอาศัยหลักอุปมา และทีนี้ที่เราจะไปชวนคนอื่น สอนคนอื่น หรือว่าทรมานคนอื่นก็สำเร็จได้โดยวิธีการที่ใช้อุปมา อย่างนี้ก็เรียกว่าอุบายอันละเอียด ถ้าใช้อุบายอันหยาบก็หมายความว่าดุด่าว่ากล่าวเฆี่ยนตี อุบายนั้นมันหยาบ จะใช้อุบายอุปมาหรือว่าแม้แต่ปริศนา ไปคิดเอาเองก็เป็นอุบายอันละเอียดประณีตและสำหรับบุคคลผู้มีปัญญาโดยแท้จริง นี่คือประโยชน์หรืออานิสงส์ของสิ่งที่เรียกว่าอุปมาที่พระพุทธองค์ทรงใช้มากที่สุด แล้วก็ไม่ ไม่ทรงละโอกาสที่จะใช้อุปมาเมื่อไรก็ได้ อย่างที่กล่าวแล้ววันก่อนว่าเรื่องอธิขันทูพรหมสูตร (นาทีที่52:41) นั้นทรงตรัสเมื่อกำลังเดินทางไปถึงป่าแห่งหนึ่ง ไฟกำลังไหม้ป่าไหม้ขอนไม้ลุกโชติช่วงอยู่ ก็ถือโอกาสนั้นทำอุปมาสอนธรรมะว่าด้วยความเป็นผู้ซื่อตรงที่เรียกว่าอธิขันทูพรหมสูตร ภิกษุส่วนหนึ่งเป็นพระอรหันต์ ภิกษุส่วนหนึ่งเป็นอริยบุคคลขั้นต้นๆ ไอ้ภิกษุส่วนหนึ่งก็อาเจียนโลหิตตาย ภิกษุส่วนหนึ่งก็ลาสิกขาไป หนีไป อย่างนี้เป็นต้น เพราะตรงนั้นมันมีสิ่งที่มีฤทธิ์เดชมาก เข้าถึงจิตใจของบุคคล นี่คือประโยชน์ของการใช้อุปมาโดยตรงในการสั่งสอน เดี๋ยวนี้พระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลายก็มีหน้าที่สั่งสอนอย่างที่เห็นๆกันอยู่แล้ว เมื่อเรียกว่าอาจารย์ก็มีหน้าที่ฝึกมีหน้าที่สอน ก็จะต้องรู้จักใช้วิธีการให้สำเร็จประโยชน์ในสิ่งที่เรียกว่าอุปมา ทีแรกอุปมาอย่างที่เรียกว่าตามเรื่องคือโดยอนุโลมไปเรื่อย พอถึงตอนสุดท้ายอุปมาอย่างปฏิโลมอย่างที่ว่านี้เป็นต้น พรหมจรรย์นี้ไม่มีอาจารย์ไม่มีลูกศิษย์ นี้อุปมาชนิดที่เรียกว่าปฏิโลม ทีแรกก็ไปตามๆ ไปตามลำดับ ไปตามกระแส ในที่สุดก็สามารถที่จะทวนกระแส ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้แตกฉานคือมีปฎิสัมภิทา เป็นผู้แตกฉานในการที่จะถือเอาความหมายแห่งธรรมะอันลึก แล้วก็ในการที่จะใช้การพูดจาการสั่งสอนการไอ้นิรุตติปฏิสัมภิทาอะไรต่างๆได้ ดีกว่าที่ไม่มีไอ้ความแตกฉานชนิดนี้ เอาเป็นว่าวันนี้เราพูดกันแต่เรื่องอุปมา วิธีการของอุปมา ประโยชน์ของสิ่งที่เรียกว่าอุปมา ในฐานะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านทรงใช้มากที่สุด และเราก็จะต้องใช้กันต่อไป ขอยุติคำบรรยายเท่านี้ ไว้เพียงเท่านี้ พอสมควรแก่เวลา