แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๑๖ วันนี้ เป็นวันที่ ๘ ของการบรรยาย เรื่องวิชาธรรมสำคัญกว่าวิชาชีพ ในวันนี้ผมจะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า ธรรมคือคำพูดที่ประหลาดที่สุดในโลก ผมได้สังเกตเห็นว่า พวกคุณไม่รู้ความหมายของคำว่าธรรมอยู่มากทีเดียว แต่คุณก็อาจจะคิดว่ารู้มาก คือรู้หมดของความหมายของคำว่า ธรรม นี่เพราะว่าการศึกษามันต่างกัน เมื่อศึกษาไอ้สิ่งที่เรียกว่า ธรรม อย่างนักศึกษาภาษาบาลี แล้วก็ศึกษาธรรมะในพุทธศาสนาถึงที่สุด หรือมากที่จะมากได้นี่ มันจะพบความหมายของคำว่า ธรรม แปลกออกไปมาก จนรู้สึกว่าไม่สามารถจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่า ธรรม ได้ ในการศึกษาเพียงครั้งแรกๆ นี่ไม่ใช่จะพูดดูหมิ่นดูแคลนอะไรกัน พวกคุณอยู่ในประเภทที่เพิ่งจะศึกษาสิ่งที่เรียกว่า ธรรม เป็นครั้งแรกหรือเป็นครั้งแรกๆ นี่สิ่งที่เรียกว่า ธรรม คำเดียวเท่านั้นแหละ มันเป็นสิ่งที่เข้าใจไม่ได้ด้วยการศึกษาเพียงครั้งแรกๆ ดังนั้นจึงถือว่ามันเป็นคำที่ประหลาดที่สุดหรืออย่างน้อยก็ถือว่าฉลาดที่สุดไว้ทีก่อน และขอร้องให้สนใจเป็นพิเศษ เกี่ยวกับคำพูดเพียงคำเดียวนี้เท่านั้น อย่าเพ่อเข้าใจ หรือว่าอวดดี นี่ว่ารู้คำๆ นี้ หรือรู้ความหมายของคำๆ นี้ครบถ้วน คือผมอาจจะพูดได้เลยว่า ถ้าคุณรู้ความหมายของคำๆ นี้ครบถ้วน ก็คือรู้ธรรมะหมดนั่นแหละ ไม่ต้องมานั่งพูดกันถึงเรื่อง ธรรมะ หรือ ธรรม อะไรอีก แต่ถ้าคุณยังรู้สึกว่า แหม, มันยังมีอีกมาก มันยังมีอีกนาน หรือไกลกว่าจะรู้เรื่อง ธรรม ก็เป็นอันว่ารู้อยู่ในตัว รู้สึกอยู่ในตัวว่ามันเป็นสิ่งที่ประหลาด ที่เข้าใจมันไม่ได้ทันที ในการศึกษาครั้งแรกๆ ในสังคมอย่างพวกคุณแม้เป็นนิสิตมหาวิทยาลัย ก็ได้ยินได้ฟังแต่คำว่า พระธรรม หรือว่าการกระทำนี้เป็นธรรม การกระทำนี้ไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรม ประพฤติธรรม อานิสงส์ธรรม ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม อะไรก็ อย่างนี้มันเป็นความหมายที่น้อย น้อยนิดเดียว ในความหมายของคำว่า ธรรม ทั้งหมด
ทีนี้คุณอาจจะได้ยินแต่ว่า ธรรมะคือคุณากร ส่วนชอบสาธร นี่ เมื่อเป็นเด็กๆ ก็สวด แม้เดี๋ยวนี้ก็อาจจะยังสวดอยู่กระมั่ง ถ้ามีการสวดมนตร์ในคราวสำคัญ สำคัญ ก็สวดบทนี้ น่าสมเพชเวทนาที่สุด ที่ว่าประเทศไทยที่เป็นเมืองพุทธ เจริญด้วยพุทธศาสนา การสวดมนตร์ของนักศึกษา หรือว่านิสิตนักศึกษาชั้นสูง สวดได้เพียงองค์ใดพระสัมมาพุทธ ธรรมะคือคุณากร นี่เป็นสิ่งที่น่าหัวก็น่าหัว น่าเศร้าก็น่าเศร้า น่าอายก็น่าอาย และบางทีไม่รู้ว่าธรรมะคือคุณากรนะหมายความว่าอะไร ก็ได้ เพราะไม่เรียนกันจริงๆ ไม่สนใจกันจริงๆ ธรรมะคือคุณากร ส่วนชอบสาธร ธรรมะคือคุณากร มันก็ว่า ธรรมะ นี่เป็นบ่อเกิดของสิ่งที่เป็นประโยชน์ คุณากร บ่อเกิดของสิ่งที่เป็นประโยชน์ มันก็ได้เท่านั้น มันก็รู้แต่ธรรมะฝ่ายดี ธรรมะคือสิ่งที่ดี ที่ถูกต้อง ที่ยุติธรรม ที่สวย ที่งาม มันก็รู้แต่เท่านั้น ก็เลยคิดว่าไอ้ที่มันตรงกันข้ามนั้นก็ไม่ใช่ธรรม ก็เลยกลายเป็นอธรรม เป็นภาษาชาวบ้าน เป็นภาษาส่วนศีลธรรม ที่บัญญัติขึ้นสำหรับคนธรรมดาสามัญ ถ้าไปเกิดรู้ถึงที่สุดเข้ามันก็รู้ว่า แม้แต่อธรรมมันก็คือธรรม คือธรรมที่ไม่ ไม่เป็นธรรม ไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรม พอพูดว่าพระธรรมก็หมายถึง สิ่งที่ดีเลิศ ที่สิ่งที่ตรงกันข้ามก็ไม่ใช่ธรรมเสียอีก ก็ยุติธรรม ก็เข้าใจว่า อยุติธรรมนั้นก็ไม่ใช่ธรรมเสียอีก ก็ต้องพูดกันใหม่ ต้องศึกษากันใหม่ เมื่อได้ยินอยู่แต่เพียงเท่านั้น มันก็ไม่ ไม่อาจจะเข้าใจว่าทุกสิ่ง เรียกว่า ธรรม ด้วยกันทั้งนั้น นี่ขออภัยผมจะพูดคำหยาบคายว่า ขี้มูก ขี้หมา ผีสาง เทวดา อะไร มันก็คือ ธรรม เหมือนกัน แล้วก็ไม่เคยฟัง ไม่เคยเข้าใจ ก็ ก็คิดว่าพูดเล่นหรือพูดหยาบคาย นี่เพื่อให้รู้ไว้ทีก่อนว่ามันไม่มีอะไรที่นอกเหนือไปจากไอ้สิ่งที่เรียกว่า ธรรม จนกว่าเมื่อไรพวกคุณจะได้ศึกษา ได้ยิน ได้ฟัง แล้วก็ได้เข้าใจความหมายของคำบางคำ เช่นคำว่า รูปธรรม นามธรรม นี่คู่หนึ่ง อัพยากตธรรม ซึ่งเป็นคำที่สำคัญมาก ตลอดไปถึงคำว่า สังขตธรรม อสังขตธรรม นี่เป็นต้น ถ้ารู้ความหมายของคำเหล่านี้ เข้าใจคำเหล่านี้ดี ก็จะรู้ได้เองทันทีว่า อ้าว, ไม่มีอะไรยกเว้นที่จะไม่เรียกว่า ธรรม ไม่ว่าเป็นตรงกันข้ามจากที่เราเคยรู้มา ว่าคำว่า ธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาษาพระพุทธศาสนานั้นมันหมายถึง ทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นอะไร เดี๋ยวก็จะได้ทำความเข้าใจกันในข้อนี้ ผมพูดนี้ก็เพราะว่าเห็นว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับที่จะศึกษาธรรมะนั่นเอง ถ้าปล่อยให้ความรู้เรื่องธรรมะมันมาค้างอยู่ที่ตรงนี้ มาติดตันอยู่ที่ตรงนี้ ก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจไอ้สิ่งที่เรียกว่า ธรรม ในพุทธศาสนาได้โดยสิ้นเชิง
เมื่อตะกี้ผมพูดว่า ถ้าคุณรู้จักคำว่า รูปธรรม นามธรรม อัพยากตธรรม ๓ คำนี้เท่านั้นแหละ ก็จะเป็นหนทางให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ธรรม ครบถ้วน คำอื่นๆ มันก็ช่วยได้ใน ในแขนงอื่นต่อไปอีก เช่นคำว่า สังขตธรรม อสังขตธรรม เป็นต้น เพราะนั้นเรามาศึกษาคำๆ นี้กันเป็นพิเศษในวันนี้ เมื่อพูดว่า รูปธรรม ก็หมายถึง ทุกอย่างที่มันมีรูป ที่แสดงให้เห็นได้ หรือรู้สึกได้ ในวิถีทางของสิ่งที่เรียกว่า รูปหรือรูปธรรม แม้ตอนนี้ก็ขอให้เข้าใจ ทราบไว้เสียด้วยว่า ในกรณีอย่างนี้คำว่า รูปธรรม ในกรณีอย่างคำว่า รูปธรรม นี่ไม่ได้หมายแต่เพียงสิ่งที่เห็นได้ด้วยตา แม้แต่สิ่งที่ได้ยินด้วยหู ได้รู้ด้วยจมูก ได้ดมได้ด้วยจมูก ได้สัมผัสด้วยลิ้น แล้วก็รู้สึกทางผิวหนังทั่วๆ ไป อย่างนี้ก็เรียกว่า รูปธรรม ไปทั้งนั้น ธรรมที่เป็นรูป หรือสิ่งที่เป็นรูป ไอ้ตานี่ ไอ้สิ่งที่เห็นได้ด้วยตานี่ เรียกว่ารูปนี้มันชัดอยู่แล้ว ใครๆ ก็เข้าใจได้เป็นรูปธรรม แต่ไอ้สิ่งที่ได้ยินด้วย หู ก็เรียกว่า รูป นี่ต้องศึกษาต่อไป คือมันเป็นเพียงวัตถุธรรม แม้เสียงนั้นมันไม่มีตัวให้เราเห็นได้ด้วยตา แต่รู้สึกได้ด้วยการสัมผัสทางหู เพราะว่ามันเป็นวัตถุธรรม มันเป็นสิ่งที่มากระทบกับหูได้ ก็เลยเป็นวัตถุชนิดหนึ่งก็เลยเรียกว่า รูปธรรม กลิ่นก็เป็นสิ่งที่มองด้วยตาไม่ได้ แต่มันมีอะไรอันหนึ่งซึ่งมากระทบเข้าได้ที่จมูก ซึ่งเต็มไปด้วยเส้นประสาท มันจึงรู้ขึ้นมาได้ วัตถุอันนี้ก็ถูกเรียกว่า รูปธรรม ลิ้นก็เหมือนกัน มันมีอะไรอันหนึ่งที่มาทำให้ระบบประสาทที่ลิ้นรู้สึกเป็นรสเผ็ด ขม เค็ม หวาน อะไรขึ้นมา มันต้องมีอัน วัตถุอันหนึ่งมากระทบลิ้นแล้วลิ้นจึงรับความรู้สึกอันนี้ขึ้นมาเป็นรสขม รสหวาน รสเปรี้ยว รสเค็ม เป็นต้น แต่ไม่ได้เล็งถึงแข็งหรืออ่อนนี่ ถ้าเป็นเรื่องแข็งหรืออ่อน นิ่มหรือนวล ร้อนหรือเย็น อย่างนี้ ก็เรียกว่ามันเป็นเรื่องของผิวหนัง สัมผัสที่ผิวหนัง เมื่อมีอะไรมาสัมผัสที่ผิวหนังทำให้เรารู้สึกว่ามันร้อน หรือมันเย็น หรือมันแข็ง หรือมันอ่อน มันนิ่มนวล หรือมันกระด้าง วัตถุนั้นก็เรียกว่า รูปธรรม เหมือนกันที่มากระทบที่ผิวกาย รู้จักแยกกันให้ต่างไป อย่างถ้าลมมันมากระทบที่ผิว ผิวกายเราเย็นวูบ นี่เรียกว่า สัมผัสทางกาย แล้วน้ำร้อนราดเข้าที่ลิ้น ลิ้นพองนี่ก็เรียกว่า สัมผัสทางผิวกาย แต่ผิวกายที่ตรงลิ้น ไอ้ลิ้นมันมีหน้าที่จะรู้เรื่องเค็ม หวาน เปรี้ยว อย่างนี้เป็นต้น แม้ไอ้สิ่งที่เรียกว่า รสเค็ม หวาน เปรี้ยว นั้นก็เป็น รูปธรรม เพราะนั้นคำว่า รูปหรือรูปธรรม มันหมายถึง ไอ้รูปที่เห็นด้วยตาก็ได้ เสียงที่ได้ฟังด้วยหูก็ได้ กลิ่นที่รู้สึกได้ด้วยจมูกก็ได้ รสที่รู้สึกได้ด้วยลิ้นก็ได้ สัมผัสทางผิวหนังที่เรารู้ได้ด้วยผิวกายนี้ก็ได้ อย่างนี้เรียกว่า รูปธรรม หมดแต่เรื่องทางฟิสิกส์ ความหมายของคำว่า Physical นี่ตรงกับคำว่า รูปธรรม นี้มากทีเดียว ทีนี้ไอ้สิ่งที่เรียกว่า รูปธรรม นี้มีอยู่พวกหนึ่งมากมายแล้ว มันออกมาอยู่ในรูปของ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อย่างนี้ อย่างที่เราได้กลิ่นหอม กลิ่นเหม็นนี่ มันก็เป็นแก๊สชนิดหนึ่ง ซึ่งเขาจัดไว้ในพวกธาตุลม ถ้ามันเป็นของแข็งกินเนื้อที่ก็เรียกว่าธาตุดิน ถ้ามันเหลวแต่มีการเกาะกุมยึดกัน ยึดตัวเองกันไว้เรื่อยอย่างนี้ก็เรียกว่าธาตุน้ำ ธาตุไฟมันก็คือเผาได้ เผาไหม้ได้คือร้อน ธาตุลมก็ระเหยไปได้ ลอยไปได้ นี่คือพวก วัตถุธาตุ ทั้งหลาย ก็เรียกว่ารูปธรรม หมด คือธรรมชนิดที่มีรูปคือ เป็นรูป เพียงเท่านี้คุณก็ฟังออกแล้ว เมื่อตะกี้ที่ผมพูดหยาบคาย ขี้มูก ขี้หมา อะไรก็เรียกว่า ธรรม ทั้งนั้น มันหมายถึงเป็นรูปธรรม เพราะนั้นเราก็ต้องแจกเป็นดิน แจกธาตุดินว่ามันเป็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กระดุก เอ็น เนื้อ กระทั่งเป็นอาการทุกอย่าง แล้วก็แจกธาตุน้ำเป็น โลหิต น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำตา น้ำมูก อะไรที่เป็นของเหลว อย่างนี้เรียกว่ารูปธรรมหมด ที่เรียกว่า รูปธรรมก็เรียกก็คือธรรม นั่นเอง มันเป็นธรรมชนิดที่มันมีรูป อาศัยรูป สืบเนื่องด้วยรูป ปรากฏเป็นรูป มีความหมายเป็นรูป คือเป็นวัตถุชนิดหนึ่งซึ่งรู้สึกได้ด้วยการสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย
ทีนี้มันก็มีคู่ของมันก็เรียกว่า นามธรรม นามธรรมนี้คู่กันกับรูปธรรม ไอ้ส่วนไม่ที่สัมผัสได้ด้วยตาหู จมูก ลิ้น กาย นี่ ส่วนนั้นก็รียกว่านามธรรม เพราะสัมผัสได้ด้วยใจอย่างเดียว ไม่ต้องอาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไอ้สิ่งที่เรียกว่านามธรรมก็รู้สึกได้ ที่เราเกิดได้ ร่างกายหรือวัตถุ กับนาม คือจิตใจมา นี้ก็แจกออกไปเถอะไม่หวาดไม่ไหวแล้ว เป็นรายละเอียดอะไรบ้าง ความรู้สึกคิดนึกเป็นนามธรรม กิริยาอาการที่มีรูปร่างแสดงให้เห็น ก็เรียกว่ารูปธรรม ถ้าไม่แสดงให้เห็นก็เรียกว่านามธรรม เช่นภาวะต่างๆ ถ้าอาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นเครื่องรู้สึกก็เรียกรูปธรรม ถ้าอาศัยจิตใจล้วนก็เรียกว่านามธรรม กิริยาอาการก็เรียกว่าธรรม ภาวะคือความเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็เรียกว่าธรรม ที่เห็นไม่ได้ด้วยตาเป็นความดีความชั่ว เป็นภาวะแห่งความดีความชั่ว นี่ภาวะเหล่านี้ก็เรียกว่าธรรม เลยไม่มีอะไรที่ไม่เรียกว่าธรรม เท่าที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับมนุษย์นี้ มันจะเป็นอาการหรือเป็นกิริยาอาการ เห็นได้ด้วยตาหรือว่าเป็นเพียงภาวะ เพราะภาวะที่เห็นได้ด้วยตาก็มี เช่นภาวะแห่งความเป็นหญิง ภาวะแห่งความเป็นชาย อย่างนี้มันก็เห็นได้ด้วยตา แต่ภาวะดีภาวะชั่วก็เห็นไม่ได้ด้วยตา ไอ้สิ่งที่เรียกว่าภาวะนี้ก็มีจำนวนนับไม่ไหว หลายสิบ หลายร้อย หลายพัน อันหนึ่งๆ ก็เรียกว่าธรรมทั้งนั้น บางทีมันก็อยู่ในสภาพที่เรียกว่าเป็นเหตุ บางทีก็อยู่ในสภาพที่เป็นผล คือสิ่งที่เป็นเหตุมันปรุงสิ่งที่เป็นผลขึ้นมา ไอ้ตัวเหตุนั้นก็เรียกว่าธรรม ธรรมในฐานะที่เป็นเหตุ ไอ้ผลที่เกิดขึ้นก็เรียกว่าธรรม ในฐานะที่เป็นผล แล้วกิริยาอาการที่มันปรุง มันสร้าง มันทำกันขึ้นมา ก็เรียกว่าธรรม คือกิริยาอาการนั้นก็เรียกว่าธรรม การปรุงแต่งนั้นก็เรียกว่าธรรม กิริยาแห่งการปรุงแต่ง
แต่ที่ทางธรรมะหรือทางศาสนาต้องการให้สนใจมากที่สุด ให้เป็นที่รวมของไอ้ทั้งหมดนั้นก็ขอให้สนใจสิ่ง ๒ พวกที่เรียกว่า อายตนะภายใน อายตนะภายนอก อายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มี ๖ อายตนะภายนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี่ก็มี ๖ มันจับคู่กันพอดี ๖ คู่ เป็น ๑๒ ชนิด ถ้าศึกษาที่อายตนะทั้ง ๒ กลุ่มนี้แล้วก็จะดึงทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามาหาได้หมด แล้วจะรู้แปลกออกไปจากที่เคยรู้ เมื่อพูดว่าตานี่ ในบางทีก็หมายแต่เพียงไอ้ก้อนลูกตา ซึ่งเป็นเนื้อ เป็นเนื้อ เป็นหนัง เป็นกล้ามเนื้อ เป็นน้ำ เป็นอะไรอยู่ในนั้น ไอ้ก้อนลูกตานี้ก็เป็นรูปธรรม แม้แต่เส้นประสาทตาก็เป็นรูปธรรม แต่คุณสมบัติของเส้นประสาทนั้นก็เรียกว่าประสาท มีความหมายค่อนไปข้างนามธรรม แต่มันเป็นความรู้สึกทางตา เรียกว่าวิญญาณทางตา นี่ก็เรียกว่าเป็นนามธรรมไปเลย แม้แต่คำว่าตาคำเดียว ก็แยกออกเป็นหลาย หลายชั้น หลายระดับ เป็นรูปธรรมก็มี เป็นนามธรรมก็มี ถ้ามันเป็นการเห็นทางตานี่ก็เรียกว่าเป็นนามธรรมไป ทีนี้ไอ้รูปข้างนอกที่มันจะมากระทบตานี่ มันก็เป็นรูป เป็นรูปธรรมล้วน แล้วก็มักจะเพ่งเล็งถึงสี แล้วก็เพ่งเล็งถึงขนาดคือมิติ มันมีรูปร่างอย่างไรได้ก็เพราะว่ามันมีมิติ กว้าง ยาว สูง คือขนาด แล้วมันก็มีสี เขียว เหลือง แดง แล้วแต่ว่ามันเป็นวัตถุที่สะท้อนแสงอะไรออกมา ให้เราได้เห็นเป็นสี ไอ้สีนั้นก็เป็นรูป ประกอบอยู่ด้วยขนาด ประกอบอยู่ด้วยกิริยาอาการ ประกอบอยู่ด้วยภาวะอย่างใดอย่างหนึ่ง นี่ก็เป็นรูปธรรม มากระทบเข้ากับตา ทีนี้การที่มันมากระทบเข้ากับตา การพบนั้นก็เรียกว่าธรรม มันเป็นกิริยาอาการ เพราะมันปรุงแต่งให้เกิดจักษุวิญญาณ ไอ้การปรุงแต่งนั้นก็เรียกว่าธรรม คือกิริยาอาการในการปรุงแต่ง เกิดผัสสะขึ้นมา สัมผัสทางตาขึ้นมา ไอ้ผัสสะนั้นก็ยังเรียกว่าธรรม ธรรมที่เป็นผัสสะเป็นสังขารธรรม เป็นเจตสิกธรรม แล้วแต่มันจะเล็งถึงอาการตอนไหน ผัสสะมันปรุงแต่งให้เกิดเวทนา ไอ้เวทนานั้นก็คือธรรม เป็นสุขก็ธรรม เป็นทุกข์ก็ธรรม เป็นอทุกขมสุขก็ธรรม เป็นธรรมทั้งนั้นแหละ เวทนาให้เกิดตัณหาคือความอยาก ความต้องการ แล้วก็เป็นธรรม เป็นนามธรรมอันหนึ่ง แม้จะเป็น กามะตัณหาก็เป็นธรรม ภะวะตัณหาก็เป็นธรรม วิภะวะตัณหาก็เป็นธรรม ทีนี้ตัณหาให้เกิดอุปาทานยึดมั่น ความยึดมั่นนั้นก็เป็นธรรม ธรรมคือความยึดมั่น ยึดมั่นทางกาม ยึดมั่นทางทิฐิ ยึดมั่นทางศีลพรต ยึดมั่นทางอัตตวาทะ ก็เป็นธรรมทั้งนั้น ถ้ามันเป็นภพก็เป็นธรรมอย่างภพ เป็นชาติเกิดออกมาก็เป็นธรรมอย่างชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ก็เป็นธรรมไปหมด ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม
นี่สรุปแล้วมันก็เป็นอายตนะ ข้างนอก ข้างใน คือการอาศัยกัน การอาศัยนั้นก็เป็นธรรม ปรุงแต่งกันนั้นก็เป็นธรรม เป็นเหตุก็เป็นธรรม เป็นผลก็เป็นธรรม กิริยาอาการก็เป็นธรรม ภาวะก็เป็นธรรม มันอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ทุกแง่ทุกมุมก็ไม่ยกเว้น เรียกว่า ธรรม คำเดียวกันหมด เดี๋ยวนี้เข้าใจได้ ว่าแม้แต่ฝุ่นอันละเอียดไม่มีค่าอะไรเลยนี่ก็เรียกว่าธรรม ประกอบกันขึ้นมาเป็นดิน เป็นก้อนหิน เป็นอะไร มีประโยชน์ มีค่า แล้วก็เรียกว่าธรรม รูปธรรม เรียกว่า รูปธรรม นี่ถ้ามันไม่ ถ้ามันรู้จักได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วเรียกว่า รูปธรรม ถ้าได้รู้จักได้ด้วยใจอย่างเดียวก็เรียกว่า นามธรรม ได้ ๒ คู่ ได้ ๒ คำเป็น ๑ คู่ รูปธรรม นามธรรม แต่นี่ยังเป็นพวก สังขตธรรม สังขต อาจจะแปลกหูสำหรับพวกคุณ ก็แปลตามตัวหนังสือไปว่า เป็นธรรมประเภทที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง มีการปรุงแต่ง มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง คือมีอะไรทำขึ้นมา มีอะไรปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมานี่เขาเรียกว่า สังขตธรรม จะมีเป็นรูปธรรมเป็นนามธรรมไป ทีนี้มันมีอีกพวกหนึ่ง ซึ่งไม่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม อย่างนี้ เพราะมันไม่มีอะไรปรุงแต่ง ก็ต้องเรียกว่า อสังขตธรรม คือไม่มีอะไรปรุงแต่ง จะเรียกว่ารูปก็ไม่ได้ จะเรียกว่านามก็ไม่ได้ ก็เลยเรียกว่า อัพยากตธรรม ดีกว่า คำนี้ก็แปลก จำไว้ด้วยว่าคำว่า อัพยากตธรรม หรือ อัพยากฤต ได้ยินบ่อยๆ ก็คงได้ยินคำว่า อัพยากฤต ถ้าเป็นบาลีก็ อัพยากต แปลว่าสิ่งที่พูดให้ชัดลงไปไม่ได้ว่ามันเป็นอะไร คือเหนือ เหนือวิสัยของการพูด เขาไปยกให้พวกอสังขตธรรม เช่น นิพพาน เป็นต้น อย่าไปเรียกนิพพานว่ารูปธรรม อย่าไปเรียกนิพพานว่านามธรรม เหมือนที่เขาเรียกกันบางคน เรียกนิพพานว่านาม นี่มันผิดหลัก มันจะกลายมาเป็นสังขตธรรม พระนิพพานเป็นสิ่งที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เรียกว่ารูป ไม่เรียกว่านาม แม้แต่เป็นเพียงว่าชื่อก็ไม่ควรจะเรียกว่านาม นามธรรม เพราะนามธรรมมันเป็นสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นชื่อ ว่านาม ว่ารูป แล้วก็หมายถึงสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง คือเป็นสังขตธรรม นี่คุณคงจะฟังยากขึ้นทุกที ถ้าไม่รู้จับฉวยว่า ไอ้หมวดใหญ่ๆ ก็แยกเป็นพวกที่พูดลงไปได้ว่าเป็นอะไรแน่ที่พูดว่าดี ว่าชั่ว ว่ารูป ว่านาม อย่างนี้ อย่างนี้ก็พูดลงไปได้ แต่ถ้ามันพูดไม่ได้ก็ยกไว้เป็นพวกอัพยากตธรรม ที่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ทรงบัญญัติได้ หรือบัญญัติไว้ว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ว่าเป็นรูปหรือเป็นนามนี่ มันพ้น พ้นวิสัยที่จะพูด ว่าเป็นรูปหรือเป็นนาม เช่น สูญญตา ที่หมายถึง นิพพาน อย่างนี้ ไม่พูดได้ว่าเป็นรูป ไม่พูดได้ว่าเป็นนาม ต้องพูดว่ามันเป็นอัพยากฤต อัพยากตธรรมชนิดหนึ่ง ไม่พูดว่าเป็นกุศล ไม่พูดว่าเป็นอกุศล ทีนี้ก็พูดว่าเป็นอัพยากฤตชนิดหนึ่ง คือคำที่ไม่ได้พูด หรือไม่ได้พูดไว้ หรือไม่อาจจะพูดได้ ว่ามันเป็นอะไรในฝ่ายไหน คำพูดนี้เอาไว้พูดกับพวกที่เป็น อสังขต ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ลึกก็เป็น Subjective ลึกเกินไปอีกจนไม่ ไม่พูดได้ เหมือนกับเราพบคำว่า Subjective หรือ Subjectivity นี่ หมายความว่ามันไม่เกี่ยวกับวัตถุ มันไม่เกี่ยวกับสิ่งที่จะไปแตะต้องได้ด้วยความรู้สึกของจิตใจนี้ ก็เลยเป็นอะไรก็ไม่รู้นะ ใช้คำว่าอย่างนั้นดีกว่า เว้นไว้แต่ว่าเมื่อไรใจของบุคคลผู้นั้น ถึงเข้ากับสิ่งนั้นก็จะรู้ว่ามันมีอะไร มีรสอย่างไร มีอะไรเกิดขึ้น แล้วก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไร ใช้เป็นคำพูดที่ประหลาดๆ ไว้ทีก่อนว่าไม่บัญญัติว่าเป็นอะไร แม้อย่างนั้นแล้วก็ยังเรียกว่าธรรมอยู่นั่นแหละ มันจะเป็นสังขตธรรมก็ดี อสังขตธรรมก็ดี หรือสิ่งที่บัญญัติได้ว่า เป็นรูป เป็นนาม เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นอกุศล อะไรก็ตาม กับสิ่งที่บัญญัติไม่ได้ก็ตาม ก็ยังเรียกว่าธรรมอยู่นั่นแหละ คำเดียวกันเลย ทอ รอ หัน มอ หรือว่า ทอ มอ ไม้หันอากาศ มอ มอ แล้วแต่จะใช้ภาษาไหนเรียกว่า ธรรม เสมอกันหมด ธรรมในความหมายนี้ขยายความออกไปได้อีกหน่อยว่า ธรรมธาตุ ธรรมชาติ เพราะมันเป็นธรรมชาติ หรือว่าเพราะมันเป็นธรรมธาตุ รูปธรรม นามธรรม อสังขตธรรม สังขตธรรม อัพยากตธรรม เป็นสักว่าธรรมชาติ หรือเป็นธรรมธาตุ คือมันเป็นตัวธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ต้องถึงกับงง คืออย่าไปมัวงงอยู่ ทำความเข้าใจเสียว่าอะไรก็ตามที่มนุษย์อาจจะรู้สึกได้ รู้จักได้ด้วยวัตถุหรือรู้สึกตามธรรมดาเช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือจะยิ่งไปกว่านั้นอีก หรือนอกเหนือไปจากความรู้สึกที่มันจะรู้สึกได้ ถ้ามันจะมี ถ้ามันมี กวาดมาหมดเลย มันเรียกว่าธรรมชาติก็ได้ เรียกว่าธรรมธาตุก็ได้ หรือเรียกสั้นๆ ก็ว่า ธรรม เฉยๆ ในภาษาบาลี
เมื่อพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา นี่ก็หมายความ ว่าทุกอย่างไม่ยกเว้นอะไร หรือจะตรัสว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเราว่าของเรา เป็นต้นนี้ คำว่าธรรมทั้งปวงนี่ คือธรรมในความหมายที่ว่านี้ไม่ยกเว้นอะไร ถ้าจำประโยค ๒ ประโยคนี้ไว้ได้ก็จะดีนะ สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตน เป็นธรรมเท่านั้นแล้ว สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น มันไม่ใช่ตน ไม่ใช่ตัวตน มันเป็นสักว่าธรรมเท่านั้น ธรรมในลักษณะอย่างนี้ ความหมายกว้างไม่มีขอบเขตอย่างนี้ ถ้าจะพูดเป็นไทยให้ฟังกันง่ายๆ สักหน่อย ก็คือธรรมชาติ มันเป็นสักว่าธรรมชาติเท่านั้น ในภาษาบาลี ในภาษาพุทธศาสนาก็ตาม ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ ทีนี้ในภาษาโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย อะไรของคุณนี่ ไม่แบ่งแยกว่าบางอย่างเป็นธรรมชาติ บางอย่างไม่ใช่ธรรมชาติ อย่างนี้ก็ต้องถือว่ามันเป็น เป็นเรื่องของการศึกษาของชาวบ้านที่ไม่รู้จักธรรมชาติถึงที่สุด จึงไปเข้าใจบางอย่างเป็นธรรมชาติ บางอย่างไม่ใช่ธรรมชาติ หรือว่าเขาไปบัญญัติความหมายของคำว่าธรรมชาติให้มันแคบเข้าไปตามความรู้ของเขาซึ่งมันยังแคบอยู่ เขาจึงบัญญัติได้ว่านี้เป็นธรรมชาติ นี้เป็นไปตามธรรมชาติ นี้ไม่ใช่ธรรมชาติ อย่างนี้เป็นต้น แต่ในทางธรรมะไม่ ไม่ ไม่ถือหลักอย่างนั้น ถือเป็นธรรมชาติเหมือนกันหมด ก็เพื่อไม่ใช่ ไม่ใช่ เพื่อจะไม่ให้มันพิเศษหรือวิเศษกว่ากัน เป็นธรรมชาติที่ไม่ใช่ตัวตนเสมอกันหมด จึงพูดได้ว่าเป็น อนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นบ้าง ถ้าพูดว่าธรรมชาติในภาษาชาวบ้านก็พูดว่า ธรรมชาติในภาษาธรรมะหรือชาววัดแล้วมันต่าง ต่างกันเสียแล้ว ในภาษาธรรมะนี่ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ ส่วนภาษาชาวบ้านนั้นเขาว่า ไอ้ที่มันเป็นอยู่ตามธรรมชาตินั้นเรียกว่าธรรมชาติ ถ้ามันผิดธรรมชาติก็ไม่เรียกว่าธรรมชาติ เพราะเขายังรู้ไม่พอ ต่อมาก็รู้ๆ เพิ่มขึ้น เขาก็จะว่า อ้าว, มันก็ธรรมชาติอีกนั่นแหละ ธรรมชาติมันจนหมดจนไม่มีอะไรเหลือ สำหรับที่จะไม่ใช่ธรรมชาติหรือไม่ใช่เป็นไปตามธรรมชาติ เอาละเดี๋ยวนี้จะบัญญัติอะไรว่าไม่ใช่ธรรมชาติก็ตามใจ ชาวบ้านบัญญัติเอาเอง ที่ว่ารถยนต์ไม่ใช่ธรรมชาติ เรือบินไม่ใช่ธรรมชาติ แต่เมื่อเรียนไปๆ ในวันข้างหน้า จะเรียนธรรมะมากพอเข้าก็จะเห็นเป็นธรรมชาติไปหมด คือธรรมชาติที่ถูกปรุงแต่ง ธรรมชาติที่ยังไม่ถูกปรุงแต่ง ธรรมชาติที่กำลังถูกปรุงแต่ง กำลังเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย นี่ก็คือ เช่นรถยนต์มันวิ่งอยู่ได้ ก็คือธรรมชาติอันหนึ่ง ชาวบ้านเขาไม่เรียกว่าธรรมชาติ เพราะเขารู้แค่นั้น แต่ทางธรรมทางศาสนานี่ถือเป็นธรรมชาติเสมอกันหมด จะเป็นสิ่งที่เห็นได้ด้วยตา ไม่เห็นได้ด้วยตา รู้สึกได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือไม่อาจจะรู้สึกได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือยังเหนือไปกว่านั้นอีก จนไม่รู้จะเรียกว่าอะไร นี่ก็ถือเป็นธรรมชาติหมด แต่เรียกด้วยคำพยางค์เดียวสั้นๆ ว่า ธรรม ถ้าเป็นภาษาไทย ก็จะดูเป็นพยางค์เดียวว่าธรรม ถ้าเป็นภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ก็มีสระ อะ หยอดข้างท้าย ว่า ธรรมะ หรือ ธัมมะ อะไรนี่ ก็ถือว่าเป็นพยางค์เดียวเท่านั้นแหละ บทเดียว พยางค์เดียว
นี่เท่าที่พูดมาแล้วนี้ก็เพื่อจะให้เกิดหลักเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ สำหรับพวกคุณที่ไม่เคยเรียนพุทธศาสนาใน ในส่วนนี้หรือในเรื่องชนิดนี้ เพื่อจะได้เข้าใจคำว่า ธรรม อย่างถูกต้องและเต็มที่ คือสมบูรณ์ ถ้าเราไปรู้แต่เพียงว่า พระธรรม ยุติธรรม อยุติธรรม เป็นธรรม เรียนธรรม สอนธรรม ปฏิบัติธรรม นั้นมันเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด หรือจะเป็นส่วนน้อยส่วนหนึ่งของทั้งหมด เดี๋ยวจะว่าให้ฟัง ยิ่งธรรมะคือคุณากรแล้วก็หมายถึงส่วนดีทั้งนั้นแหละ ธรรมะส่วนดี นี้ขอให้ตั้งต้นกันต่อไปเพื่อจะเข้าใจในขั้นต่อไป พระธรรม คือ ธรรมชาติ ทีนี้ธรรมชาตินี้ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกัน คือธรรมชาติที่เป็นเหตุก็มี เป็นผลก็มี มีปัจจัยปรุงแต่งก็มี ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งก็มี รู้สึกได้ด้วยความรู้สึกตามธรรมดาก็มี ไม่อาจจะรู้สึกได้ด้วยความรู้สึกธรรมดานี้ก็มี แต่เรียกว่าธรรมชาติ เป็นอันว่าทุกอย่างเรียกว่าธรรมชาติหมด ถึงอย่างนั้นแหละก็ยังต้องแบ่งออกให้เห็นชัดว่า ไอ้ธรรมชาติทั้งหลายนี้ แบ่งเป็น ๔ กลุ่ม จำไว้ดีๆ ด้วย แบ่งเป็น ๔ กลุ่ม
กลุ่มที่ ๑ คือ ปรากฏการณ์ทั้งหลาย ความปรากฏ การปรากฏ ของสิ่งที่แสดงตัวได้ ปรากฏออกมาแก่ความรู้สึกของคนเรา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อย่างนี้ ก็เรียกว่าปรากฏการณ์ ศึกษาคำว่าปรากฏการณ์ให้ดีๆ อย่าเอาแต่ปรากฏทางตา ปรากฏทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวกาย ก็ได้ ปรากฏทางใจ ก็ได้ มันมีอะไรกระทบความรู้สึกเกิดขึ้นในทางจิตใจเป็นอย่างไร เป็นความสุข ความทุกข์ อย่างนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ มันก็เป็นสิ่งที่มีเหตุมีปัจจัย มันปรุงแต่งปรากฏคือ เกิดความรู้สึกในใจ เป็นรู้สึกสบาย เป็นสุข หรือว่าเป็นทุกข์เดือดร้อนอยู่ ก็เรียกว่าปรากฏการณ์หมด คำว่าปรากฏการณ์ในภาษาธรรมะกว้างถึงอย่างนี้ ในภาษาวิทยาศาสตร์อาจจะแคบกว่านี้มาก แต่ก็เรียกว่าปรากฏการณ์ คือคำว่า Phenomenon ,Phenomenon เป็นรูปพหูพจน์ เป็นที่ปรากฏได้แก่ความรู้สึก หรือการทดลอง นี่ก็เรียกว่าปรากฏการณ์ แต่เขาคงไม่หมายถึงไอ้ปรากฏทางจิตใจ เป็นความสุข ความทุกข์ เป็นต้น คือ ผมก็ไม่แน่นะ คำว่า Phenomenon จะหมายถึงไอ้ความรู้สึกที่รู้สึกแก่จิตใจด้วยหรือไม่ เพราะภาษาวิทยาศาสตร์เขามุ่งจะค้นจะพิสูจน์กันแต่เรื่องทางวัตถุ ที่รู้สึกด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่างนั้น แต่ถ้าเอาคำนี้มาใช้ในทางธรรม ทางศาสนา ทางธรรมะ ทางศาสนา ก็ปรากฏแก่จิตใจด้วย เพราะนั้นจึงเรียกว่าปรากฏการณ์ เป็นปรากฏการณ์ทั้งหลายที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ แล้วก็ปรากฏแก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของคน ก็เรียกว่าปรากฏการณ์ ธรรมชาติส่วนที่เป็นปรากฏการณ์อยู่ตามธรรมชาติ เป็นไปได้เอง ในธรรมชาติส่วนที่เป็นปรากฏการณ์ออกมา อันนี้ควรจะตรงกับภาษาบาลีว่า สภาวธรรม คือธรรมที่มันเป็นอยู่เอง
ทีนี้ธรรมชาติหมวดที่ ๒ ก็คือธรรมชาติที่เป็นกฎ กฎธรรมชาตินั้นแหละคือธรรมชาติที่เป็นกฎ ธรรมชาติในฐานะที่เป็นกฎ ซึ่งเราเรียกกันชินปากว่ากฎธรรมชาติ หรือกฎของธรรมชาติ กฎทางฟิสิกส์ กฎทางเคมี กฎทางแมคคานิกส์ อะไรก็ตามใจ ถ้ามันเป็นกฎของธรรมชาติก็เรียกว่ากฎ กฎนี้คือกฎของธรรมชาติ แล้วมันก็เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน ไอ้ตัวกฎนั้นก็เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน เพราะนั้นเราจึงเรียกว่าธรรมชาติในฐานะที่เป็นกฎ ถ้าเราจะเรียกธรรมชาติที่ปรากกฎว่า Phenomenon หรือเรียกว่า Nature ทั่วไปก็ได้ อันที่ ๒ นี้ต้องเรียกว่ากฎของธรรมชาติ คือ Law หรืออะไรแล้วแต่จะเรียก ที่แปลว่า กฎ ก็แล้วกัน Law Nature อันที่ ๑ ก็เรียกว่า Nature อันที่ ๒ ก็เรียกว่า Law Nature ธรรมชาติในฐานะที่เป็นกฎ ที่เฉียบขาดและตายตัวและน่ากลัวมาก คือฝืนไม่ได้ แก้ไขไม่ได้ ถ้าเป็นกฎธรรมชาติจริงๆ ไม่มีใครฝืนได้หรือแก้ไขได้ นอกจากตัวธรรมชาติเอง ทีนี้ธรรมชาติเองมันก็ไม่เคยแก้ไข มันปล่อยไปตามกฎของธรรมชาติ เป็นเรื่องของธรรมชาติ
ทีนี้กลุ่มที่ ๓ เราเรียกว่า หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ หน้าที่ที่สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ มิฉะนั้นจะต้องตาย จะต้องสูญหายไป ไอ้ตัวหน้าที่นี้ก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แล้วก็เรียกว่าธรรมเหมือนกัน ธรรมในฐานะที่มันเป็นหน้าที่ เป็นการปฏิบัติที่ต้องปฏิบัติ เรียกโดยภาษาบาลีก็เรียกว่าธรรมเฉยๆ หรือธรรมชาติที่เป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติไปตามกฎของธรรมชาติ ให้มันเกิดขึ้นมา ให้มันเป็นการปฏิบัติขึ้นมา เรียกว่าหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ
ทีนี้กลุ่ม กลุ่มสุดท้ายกลุ่มที่ ๔ ก็เรียกว่า ผลที่จะได้รับตามสมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ อันนี้ก็เป็น Reaction ของการปฏิบัติเท่านั้นแหละ ไอ้การปฏิบัติมันเป็นการกระทำทีแรก แล้วมีอะไรเกิดขึ้นจากอันนั้นก็เรียกว่าผล เป็นปฏิกิริยาที่มาจากการทำหน้าที่ อย่างนี้เรียกว่าผลของการปฏิบัติ จะเรียกตามภาษาบาลี ภาษาธรรมะ ก็เรียกว่า ธรรม คำเดียวอีกเหมือนกัน คุณจะได้คำว่าธรรมที่เล็งถึงธรรมชาติ เป็น ๔ ความหมาย คือ
ธรรมหรือธรรมชาติ ในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ทั้งหลาย
ธรรมหรือธรรมชาติ ในฐานะที่เป็นกฎ เป็นกฎไม่ใช่เป็นปรากฏการณ์
แล้วก็ธรรมหรือธรรมชาติ ในฐานะที่เป็นตัวการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎ
แล้วก็ธรรมหรือธรรมชาติ ในฐานะที่เป็นผล ที่ออกมาอย่างยุติธรรม อย่างตายตัว อย่างถูกต้องตามกฎนั่นเลยนี่ ๔ ความหมายนี้มันกว้างเท่าไรก็ลองพิจารณาดู เรียกว่าธรรมเสมอกันหมด เรียกว่าธรรมชาติเสมอกันหมด ถ้ารู้จักทั้ง ๔ นี้ดีก็เป็นอันว่ารู้จักหมด ที่เกี่ยวกับคำว่า ธรรม อันแรกเรียกว่าปรากฏการณ์ ก็อย่างที่พูดมาแล้ว รูปธรรม นามธรรม อะไรก็สุดแท้ ที่มันจะปรากฏแก่ความรู้สึกของเรา ก็หมดอีกในส่วนที่เป็นปรากฏการณ์ทั้งหมด
ทีนี้ส่วนที่ ๒ ที่ว่าเป็นกฎนี่ เป็นสัจจะ เป็นความจริง เป็นสัจจะของธรรมชาติ เรียกว่ากฎของธรรมชาติ นี่กฎของธรรมชาติสำหรับให้ทุก ทุกๆ สิ่งของธรรมชาติ ทุกสิ่ง พวกหนึ่งหยุดอยู่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงไป ต้องเกิดของใหม่ๆ ขึ้นมา เปลี่ยนแปลงไปเกิดของใหม่ๆ ขึ้นมา ทีนี้ธรรมชาติอีกพวกหนึ่งมันมีกฎในทางที่ตรงกันข้ามคือไม่เกิดอะไรขึ้นมา เป็นของที่เป็นตัวกฎนั้นเอง อยู่เหนือสิ่งใด ไม่มีอะไรมาปรุงแต่งให้มันเกิดอะไรขึ้นมาได้ แต่มันมีความประหลาดอีกอย่าง ไอ้กฎนี่มันบังคับให้สิ่งอื่นๆ มันเป็นไปตามกฎได้ ไปดูเอาเองวันหลัง ไปพิจารณา ไปทำ ไปหาความสงบสงัดแล้วพิจารณาดูอย่างละเอียด ว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่ากฎนี่มันอยู่ที่ไหน แล้วกฎฝ่าย สังขตะ ให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นี่มันอยู่ที่ไหน ไอ้กฎอีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่าย อสังขตะ ไม่ได้ทำให้อะไรเกิดขึ้น ไม่มีอะไรมาทำให้เกิดขึ้นได้ นี่ มันอยู่ที่ไหน ถ้าจะพูดอย่างกำปั้นทุบดินมันก็อยู่ที่ตัวธรรมชาติ มันมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ที่ไหน ในนั้นมันมีกฎอยู่ในนั้นเสร็จ เมื่อเราต้อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างนี้ ไอ้กฎมันก็อยู่ที่ในตัวสิ่งที่ต้อง เกิด แก่ เจ็บ ตายทั้งนั้น แต่ว่าต้นเหง้า ไอ้ ไอ้ตัวใหญ่ของมันอยู่ที่ไหนเราก็ไม่รู้ นี่ยกไว้เป็นฝ่ายที่ ส่วนที่เรายังไม่รู้ หรือไม่ต้องรู้ก็ได้ แต่จัดไว้เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องรู้ หรือไม่อาจจะรู้ก็ได้ คือฝากไว้ในส่วนที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เรารู้ แต่ที่เรามาบอกมาสอนนี่เท่ากับส่วนน้อยๆ ส่วนหนึ่ง เหมือนเท่ากับใบไม้กำมือเดียว อย่างนี้ ส่วนที่รู้แล้วเอามาสอนไม่ได้ เอามาพูดไม่ได้นี้มันก็จะต้องมีอยู่ คือสิ่งใดที่มัน มันเกินไปสำหรับที่จะเอามาพูดได้ หรือไม่ต้องเอามาพูด ก็เก็บไว้ เป็นของที่พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้เอามาสอน เรียกว่าสิ่งที่ยังไม่อาจจะรู้ หรือไม่จำเป็นจะต้องเอามารู้ รู้แต่เท่าที่จำเป็น นี่สิ่งที่เอามาสอน ก็คือระเบียบของการปฏิบัติให้ดับทุกข์ได้เรียกว่า ธรรมะประเภทที่เป็นหน้าที่หรือเป็นการปฏิบัติ ปฏิบัติอย่างนั้น ปฏิบัติอย่างนี้ ให้ถูกต้องแล้วร่างกายนั้นจะรอดอยู่ได้ คือชีวิตนี้ก็จะรอดอยู่ได้ แล้วความทุกข์ในจิตในใจก็จะไม่ต้องมี นี่ถ้าปฏิบัติถูกต้อง ไม่เกิดความทุกข์แก่ร่างกาย แก่จิตใจ ระเบียบปฏิบัติอันนี้ต้องเป็นไปตามกฎ หรือว่ากฎเป็นผู้ควบคุมให้การ การปฏิบัตินี่มันเป็นไปอย่างนั้น เป็นไปอย่างนี้ เป็นไปอย่างโน้น ถ้าผิดก็ผิด ถ้าถูกก็ถูก ถ้าถูกก็ดับทุกข์ได้
ทีนี้การปฏิบัติทุกชนิดที่เป็นไปเพื่อดับทุกข์ ก็เรียกว่าการปฏิบัติ แล้วถ้าต้องการความทุกข์ ก็ปฏิบัติให้เกิดทุกข์ก็ได้ ก็เรียกว่าการปฏิบัติเหมือนกันคือปฏิบัติให้มันเกิดทุกข์ แล้วก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติด้วยกันทั้งนั้น นี่รู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ Duty นี่ Duty หรือหน้าที่นี่ สำคัญที่สุดที่ต้องทำ ไม่ทำก็ไม่ได้ เช่นสิ่งที่มีชีวิตอย่างนี้ ไม่ทำ Duty หรือ การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสิ่งที่มีชีวิตมันก็อยู่ไม่ได้หรือมันต้องตาย เช่นไม่กินอาหารหรือไม่ทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่มันจะต้องทำ มันก็ต้องตายเท่านั้นแหละ แล้วมันก็อยู่ได้ด้วยการปฏิบัติ มันถูกต้องตามกฎ
ทีนี้อันที่ ๔ ที่แยกออกมาอีกทีหนึ่ง เรียกว่าผลของการปฏิบัตินั่นนะ เพื่อจะให้มันเห็นว่ามันไม่ใช่ตัวเดียวกันกับตัวการปฏิบัติ ตัวการปฏิบัติ กับตัวผลของการปฏิบัติ นี้ไม่ใช่ตัวเดียวกัน เราแยกออกมาให้มันชัด นับตั้งแต่ได้ผล เช่นอย่างว่า รอดชีวิตอยู่ได้ อย่างนี้ก็เรียกว่าผลเหมือนกัน ถ้าปฏิบัติสูงขึ้นไปก็ได้รับสิ่งที่สูงขึ้นไป เช่นความสุข ตั้งเป็นความดับทุกข์ เป็นสุขทางจิตใจที่เรียกว่า มรรค ผล นิพพาน แล้วแต่จะเรียก เรียกมรรคผล นิพพาน ก็ได้ เรียกอย่างอื่นก็ได้ เรียกไม่มีทุกข์ ความไม่มีทุกข์ ความดับทุกข์ อะไรก็ได้ นี่คือผลที่เกิดมาจากการปฏิบัติที่เป็นไปตามกฎ ซึ่งสิ่งที่มีปรากฏการณ์ทั้งหลาย จะต้องกระทำ เรามี มี มีร่างกาย มีจิตใจ มีดิน น้ำ ลม ไฟ ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อะไรนี่ เป็นปรากฏการณ์ทั้งหลายปรากฏอยู่ แล้วกำลังเป็นไปตามกฎของธรรมชาติอยู่ และต้องรู้กฎนั้น และปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎนั้นอีกทีหนึ่ง มันจึงจะอยู่ได้ มีผลคืออยู่ได้ไม่ตาย แล้วก็ศึกษาต่อไป ศึกษากฎต่อไป ปฏิบัติต่อไปจนได้ผลเป็นชั้นสูงสุด ที่เรียกว่ามรรค ผล นิพพาน มันเป็น ๔ ความหมาย เป็นธรรมชาติใน ๔ ความหมาย เป็นธรรมหรือธรรมะใน ๔ ความหมาย ก็เป็นตัวธรรมชาติอันหนึ่ง เป็นกฎของธรรมชาติอันหนึ่ง เป็นหน้าที่ตามธรรมชาติอันหนึ่ง เป็นผลที่จะเกิดมาจากหน้าที่ตามธรรมชาติอีกอันหนึ่ง เป็น ๔ อย่าง ก็ล้วนแต่เรียกว่าธรรมเพียงคำเดียว ไปแจกลูกเข้ามันก็เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน เป็นนับไม่ไหว ในรายการนับไม่ไหว แต่ถ้าจัดหมวดจัดหมู่ก็ได้ ๔ หมวด ๔ หมู่ เป็นตัวธรรมชาติอันหนึ่ง เป็นตัวกฎของธรรมชาติอันหนึ่ง หน้าที่ตามกฎธรรมชาติอันหนึ่ง ผลที่เกิดจากหน้าที่ตามธรรมชาตินั้นอันหนึ่ง
เมื่อผมลองใคร่ครวญดูแล้ว ผมก็จัดเอาเองไม่เคยพบที่มาที่ไหนใน ใน ๔ อย่าง อย่างนี้ แต่มันก็เป็นสิ่งที่มีเหตุผล ที่แสดงว่ามันถูกต้องหรือมันมีประโยชน์ มันก็ไม่มีใครที่จะค้านว่ามันไม่มีประโยชน์หรือมันผิด เราจะอาศัยหลักกาลามสูตร หรือหลักอะไรก็ตามมาเป็นเครื่องวัด เป็นเครื่องจับ มันก็ ก็ไม่อาจจะพิสูจน์ว่า ไอ้หลักเกณฑ์ ๔ ประการนี้มันเป็นของผิด หรือเป็นของใช้ไม่ได้ หรือไม่จริง เพราะนั้นผมก็ถือโอกาสท้าทายพวกคุณเสียเลยว่า คุณจะเอาไปคิดไปนึกจนตลอดชีวิตก็ได้ ว่ามันมีผิด มีบกพร่องอยู่ที่ตรงไหน ถ้าจะพูดว่าไอ้ธรรมหรือธรรมชาติ นี่มันแบ่งได้เป็น ๔ กลุ่มอย่างนี้ คือตัวธรรมชาติ ตัวกฎของธรรมชาติ ตัวหน้าที่ตามธรรมชาติ ตัวผลที่เกิดมาจากหน้าที่ตามธรรมชาติทั้งหมดนี้เรียกว่า ธรรม ตัวธรรมชาติเรียกว่าสภาวธรรม ตัวกฎของธรรมชาติเรียกว่าสัจจะธรรมคือความจริง ตัวหน้าที่นั้นเรียกว่าปฏิบัติ คือการปฏิบัติ หรือกิจ หรือปฏิบัติ ตัวผลของการปฏิบัติก็เรียกว่าปฏิเวธ ในภาษาวัดหน่อยไม่เคยชิน พอปฏิเวธแปลว่า ผลที่เรารู้สึกอยู่แก่ใจ เป็นผลอย่างไรเรียกว่าปฏิเวธ ได้เสวยผลนั้น เรียกว่าสภาวธรรม เรียกว่าสัจจะธรรม เรียกว่าปฏิบัติธรรม เรียกว่าปฏิเวธธรรม ภาษาในวัดจะเรียกอย่างนี้ ถ้าภาษาวิทยาศาสตร์ ก็จะเรียกว่าธรรมชาติ เรียกว่ากฎธรรมชาติ เรียกว่าหน้าที่ตามธรรมชาติ เรียกว่าปฏิกิริยาที่ออกมาจากหน้าที่ตามธรรมชาติ คือผล ถ้าคุณเข้าใจ ๔ อย่างนี้ เข้าใจโดยความหมายครบบริบูรณ์ แล้วรู้จักทุกสิ่งที่มันรวมอยู่ใน ๔ อย่างนี้ คือแจกลูกออกไปได้ทั้งหมด ก็เรียกว่ารู้จักธรรมโดยสมบูรณ์ แล้วก็หยิบขึ้นมาทดสอบตัวเอง ทดสอบความรู้ของตัวเองอยู่บ่อยๆ เช่น ขี้ฝุ่นอย่างนี้ มันก็เป็นธรรมพวกไหน หรือว่าต้นไม้ ก้อนดิน ก้อนหิน ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ อะไรต่างๆ กระทั่งเนื้อ หนัง ร่างกายเรา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรา นี่เป็นธรรมพวกไหน แล้วอะไรที่ทำให้มัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หรือว่าเปลี่ยนแปลง ไหลไปเรื่อย มีการไหลเรื่อยไม่มีหยุด ก็เรียกว่า อนิจจัง นี่มันเป็นกฎ อันที่นำหน้า คืออยู่ ให้เที่ยง อยู่ไม่ได้ เมื่อไม่เที่ยงก็ต้องเปลี่ยน เมื่อเปลี่ยนก็มีกฎสำหรับเปลี่ยน ต้องเปลี่ยนไปตามกฎ มันจึงเกิดนั่น เกิดนี่ เกิดอะไรต่างๆ ขึ้นมาเรื่อย ในทุกสิ่งที่กำลังเปลี่ยนนี่ต้องมีกฎ แม้ต้นไม้ต้นนี้มันก็เปลี่ยนไหลไปเรื่อย จากความไม่มีมาสู่มีอย่างนี้ มีอย่างนั้น มีอย่างนั้น มันไม่เที่ยงเรื่อย ในนี่มันมีกฎที่ทำให้เป็นอย่างนั้น แม้ว่าหัวหน้ากฎมันจะอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ แต่ว่าในทุกๆ สิ่งที่กำลังเป็นไป กำลังเปลี่ยนแปลง ก็ต้องมีกฎ เอากฎส่วนใดส่วนหนึ่งมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเฉพาะตัว เฉพาะสิ่ง แบ่งเป็นรูปธรรม นามธรรม หรืออะไรก็ตามมันก็มีกฎเฉพาะที่ทำให้สิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามระเบียบหรือตามกฎของสิ่งนั้น เอาในร่างกายเราดีกว่ามี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มีเลือด มีหนอง มีอุณหภูมิ มีอะไรต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นคนๆ หนึ่งนี่ อันไหนมันเรียกว่าปรากฏการณ์ อันไหนเรียกว่ากฎ กฎแห่งธรรมชาติ อันไหนเรียกว่าธรรมชาติ อันไหนเรียกว่ากฎแห่งธรรมชาติ และอันไหนเรียกว่าหน้าที่ตามธรรมชาติ ที่มันต้องกิน ต้องอาบ ต้องถ่าย ต้องลุกขึ้น ทำอิริยาบถต่างๆ นี่ เรียกว่าหน้าที่ที่มันต้องทำโดยอาศัยกฎ อันไหนมันเป็นผลที่ได้รับบ้าง เป็นความที่มันไม่ตาย นี่ข้อแรก แล้วมันก็ทำนั่นทำนี่ได้ เป็นที่พอใจ แล้วก็ดูไกลออกไป ไกลออกไปจนถึงเรื่องปฏิบัติ จนได้ไอ้สิ่งที่มันสูง สูงขึ้นไปจนถึง มรรค ผล นิพพาน สำหรับธรรมชาติแท้ๆ เขาไม่มีผิด ไม่มีถูกหรอก มันมีแต่เพียงว่า ตายตัวว่า ถ้าทำอย่างนี้ อย่างนี้จะเกิดขึ้น ถ้าทำอย่างนี้ อย่างนี้จะเกิดขึ้น ไอ้คน ความรู้สึกของคนนี้จะมาแบ่งแยกว่าอย่างนี้เรียกว่าผิด อย่างนี้เรียกว่าถูก อย่างนี้เรียกว่าดี อย่างนี้เรียกว่าชั่ว อย่างนี้เรียกว่าน่าปารถนา อย่างนี้เรียกว่าไม่น่าปารถนา นี้มันความรู้สึกของคน ตัวธรรมชาติแท้ๆ มันเป็นแต่เพียงกฎ ด้วยการเป็นไปตามกฎ
ทีนี้ไอ้สิ่งที่มีความรู้สึกคิดนึก มันรู้สึกเจ็บปวดได้ รู้สึกพอใจและเป็นสุขได้ เพราะนั้นความรู้สึกนั้นแหละมันทำให้เข็ดขยาดในการที่จะเจ็บปวด มันก็ไม่ทำไปในทางที่จะให้เจ็บปวด หรือถึงกับตาย มันก็ทำมาแต่ในทางที่ไม่ต้องเจ็บปวด สบายดี แล้วก็ต่อสู้เพื่อไม่ให้ตาย ให้ตายช้าที่สุดเพราะมันไม่อยากตาย ความรู้สึกของไอ้สิ่งที่มีชีวิตมันไม่อยากตาย แต่แล้วมันเอาชนะกฎไม่ได้ ทีนี้มันจะต้องเปลี่ยนไปถึงระยะหนึ่ง ซึ่งมันก็เรียกว่าความตาย ในวัดนี่ก็เรียกกันว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จำ จำไว้ด้วย มันเป็นคำที่มีประโยชน์มาก อย่าไปดูถูกว่าคำภาษาวัด เคอะๆ คะๆ นี่ไอ้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป คือทั้งหมดของในสิ่งที่เป็นสังขตธรรม คือธรรมชาติที่ไม่อยู่นิ่ง ไม่หยุดนิ่ง
ทั้งหมดนี้ต้องการให้สังเกตให้เห็นว่าไม่มีอะไรที่นอกไปจากธรรมชาติ หรือจะเรียกว่าธรรมคำเดียวก็ได้ เรียกว่าธรรมชาติก็ได้ นี่ทุกสิ่งคือธรรมหรือธรรมชาติ ให้รู้จักไว้ทีก่อน ผมจึงให้หัวข้อว่า ไอ้คำพูดที่ประหลาดที่สุดในโลกคือคำว่า ธรรม ผมก็ยังไม่อาจจะอธิบายได้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือว่าทีแรกเขาก็ไม่ได้เจตนาอะไรมาก ให้เรียกกันตามภาษามนุษย์ ที่ยังไม่รู้อะไรก็ได้ แต่แล้วคำๆ นี้เผอิญมันมากลายเป็นคำที่มีความหมายที่ใช้ได้แก่ทุกสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติ หรือธรรมธาตุเฉยๆ แล้วมาเรียกว่าธรรมเฉยๆ คำประหลาดนี้จะเพิ่งเกิดขึ้นทีหลังก็ได้ เผอิญมนุษย์คนแรกที่พูดคำๆ นี้ขึ้นคงไม่ได้ฉลาดมากอย่างนี้ และพูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด เพราะนั้นจึงตรงกับคำธรรมดาสามัญที่สุดก็คือคำว่าสิ่ง หรือ Things ในภาษาอังกฤษ หรือ สิ่ง ในภาษาไทยเรา คำว่า สิ่ง สิ่ง นี่ผมสันนิษฐานเอามันตรงกับคำว่า ธรรม จึงพูดได้ว่าทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร ทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไรเลย เป็นธรรมชาติ เป็นไปตามกฎเกณฑ์ ๔ อย่างนี้ เพราะนั้นทุกสิ่งไม่ควรจะถือเอาเป็นตัว เป็นตน ทุกสิ่งไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่น ส่วนที่เราตอบไม่ได้ก็ไม่ต้องตอบ เราเอาแต่ส่วนที่ตอบได้ พูดได้ ยืนยันได้ ว่าในปัจจุบันนี้ เวลานี้ ในพุทธศาสนานี้ ในการศึกษา ในทางพุทธศาสนานี้ คำว่าธรรมมีความหมายอย่างนี้ ความหมายอย่าง ๔ อย่างที่ว่านี่ คือหมายถึงทุกสิ่งหมด ถ้าจะไปพูดว่าธรรมคือคำสอน ธรรมคือพระธรรม อย่างนี้มันเป็นส่วนน้อยส่วนหนึ่งเท่านั้น คำสอนก็รวมอยู่ในคำนี้ พระธรรมก็รวมอยู่ในคำนี้ ยุติธรรมก็รวมอยู่ในคำนี้ เรียนธรรม สอบธรรม ได้นักธรรม อะไรมันก็รวมอยู่ในคำว่าธรรมเหล่านี้ ในฐานะที่เป็นความรู้บ้าง คือรู้กฎ ในฐานะที่เป็นการปฏิบัติ ในฐานะที่เป็นการบัญญัติขึ้นตามกฎนั้นๆ อย่างที่บัญญัติว่านี่เป็นพระธรรมต้องปฏิบัติ จะต้องเรียนหรือต้องปฏิบัติ หรือกฎธรรมชาติส่วนหนึ่ง ส่วนน้อยส่วนหนึ่งที่จำเป็นจะต้องรู้ และต้องเอามาปฏิบัติ แล้วผลก็จะได้เกิดขึ้น ทีนี้มันยังเหลืออีกมากมาย ที่ไม่ต้องปฏิบัติ ที่ไม่ต้องรู้ก็ยังมีอีกแยะ ก็เป็นอันว่าถ้าเราจะพูดกันแต่ในเรื่องศีลธรรมคำว่า ธรรม หรือ พระธรรม ก็มุ่งหมายแต่ว่าหลักปฏิบัติ ที่จะต้องปฏิบัติเท่าที่จำเป็น ที่จะอยู่กันเป็นผาสุกไม่มีความทุกข์ ก็มีเท่านั้นคือพระธรรม หรือโอวาทหรือคำสั่งสอน หรือตัวศาสนา มันมีเท่านั้น แต่คำว่า ธรรม มันไกลไปกว่านั้น เป็นถึงตัวธรรมชาติ ตัวกฎของธรรมชาติ ตัวหน้าที่ตามธรรมชาติ ตัวผลที่เกิดจากหน้าที่ตามธรรมชาติ นี้ไม่มียกเว้นอะไรเลย จึงย้ำอีกทีหนึ่งว่าไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม ถ้าจะเกิดมีใครมาบอกว่า ขี้มูก ขี้หมา ขี้หมู ขี้แมว อะไรก็เป็นธรรม อย่างนี้อย่าไปหาว่าเขาพูดผิด อย่าไปทะเลาะกับเขาให้เสียเวลา เพราะเขาก็หมายถึงรูปธรรมที่กำลังเป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติฝ่ายรูปธรรม มีปรากฏการณ์อยู่ที่ตรงนี้ในลักษณะอย่างนี้ ก็เรียกว่ารูปธรรม ที่กำลังเป็นไปตามธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติ ก็เลยไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม ตัวคนก็เป็นธรรม ความคิดของคนก็เป็นธรรม การกระทำของคนก็เป็นธรรม ภาวะของคนก็เป็นธรรม นี้จะเป็นคนชั้นไหนก็ตามใจ คนชั้นดี ชั้นเลว ชั้นอะไรก็เป็นธรรมไปหมด เพราะธรรมมันจำแนกแจกแจงไปได้มาก กระทั่งตัวกฎทั้งหลายทั้งหมดก็เป็นธรรม สังขตธรรม ก็เป็นธรรม อสังขตธรรมก็เป็นธรรม ถ้าพูดอย่างนี้แล้วก็ต้องพูดได้เลยว่าไอ้พระเจ้าที่สร้างโลกนั้นก็เป็นธรรม ไอ้โลกที่พระเจ้าสร้างขึ้นมา หรือสิ่งทั้งปวงนี้ก็คือธรรม ธรรมะ หรือธรรม หรือธรรมชาติ แล้วแต่จะเรียก ในฐานะที่เป็นสิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ถูกสร้างขึ้นมา ในฐานะที่เป็นต้นเหตุที่ให้สิ่งอื่นเกิดขึ้น ก็เรียกว่าเป็นผู้สร้างขึ้นมา เรียกว่าพระเจ้าหรือเรียกอะไรก็แล้วแต่จะเรียก ว่าเป็นผู้สร้าง ผู้เป็นต้นเหตุให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น นี่ก็เรียกว่าธรรม สิ่งทีถูกสร้างขึ้นมาเกลื่อนไปหมดนี้ก็เรียกว่าธรรม ธรรมที่เป็นเหตุ ธรรมที่เป็นผล ธรรมที่เป็นต้นตอ ธรรมที่เป็นกฎ ธรรมที่มีอำนาจ ที่มี ที่เป็นสัจจะ
เอาแล้วพอกันทีสำหรับคำว่า ธรรม ที่จะให้รู้ว่าเป็นคำที่ประหลาดที่สุดในโลกในปัจจุบันนี้ แล้วที่น่าหัวอีกทีหนึ่งก็คือว่า ทีแรกพวกฝรั่งเมื่อมาเรียนเรื่องพุทธศาสนา เข้าใหม่ๆ เขาพยายามจะแปลคำว่าธรรมนี่ไปเป็นภาษาอังกฤษ แล้วยุ่งไปหมด แปลได้ตั้งหลายสิบคำ แล้วไม่มีคำไหนใช้ได้ ที่ตรงตามความหมายอันนี้ เดี๋ยวนี้เขาไม่แปลแล้ว เขาใช้คำว่า ธรรม ไปตามเดิม ในภาษาอังกฤษนี่ ในเมื่อเล็งถึงธรรมในความหมายอย่างที่ผมพูดนี้ เขาใช้คำว่าธรรมไปตามเดิม ตามภาษาบาลี ตามภาษาสันสกฤต เป็นนามใช้คำว่า ธรรม ธรรมะ ถ้าเป็นคุณก็ ธรรมิก ธัมมิก กลายเป็นภาษาอังกฤษอยู่ในปทานุกรมภาษาอังกฤษไปแล้ว เพราะมันแปลไม่ได้ เว้นไว้จะแยกออกมาเป็นส่วนๆๆ แปลว่า Law คือเฉพาะกฎ แปลว่า (นาทีที่ 01.05.26) คือกฎเฉพาะที่เป็นการปฏิบัติทางศาสนา หรือจะแปล ความถูกต้อง ความยุติธรรม อะไรมันมีความจำกัดน้อยๆๆ ไปหมด หรือจะพูดว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา นี่ ก็แปลไม่ได้แล้ว คำว่า ธัมมา คำนั้นแปลไม่ได้ ใช้คำเดิม ธรรม ทั้งหมดไม่ใช่อัตตา หรือว่าธรรมทั้งหมด ใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น จึงเห็นได้ว่าเป็นคำ เป็นคำที่ประหลาดที่สุดคำหนึ่งในโลก หรือเพียงคำเดียวก็ได้ รวมทั้งพระเจ้า รวมทั้งอะไรหมด อยู่ในคำว่า ธรรม เพียงคำเดียว เอาละพอกันที สำหรับวันนี้