แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เนื่องจากได้ทราบว่าจะกลับกัน ก็เลยจะมีการพูดทำนองลาส่งผู้ที่จะกลับไป ก็เลยถือโอกาสทำเสียเวลานี้สะดวกดี พรุ่งนี้อาจจะไม่สะดวก ก็อยากจะให้หนังสือไว้เป็นที่ระลึกด้วย สำหรับภิกษุนั้นยังอยู่ก่อนก็ยังพูดกันต่อไปได้ ที่เป็นฆราวาสนี้จะกลับก่อนจึงอยากจะพูดอะไรบ้าง แล้วเกี่ยวกับหนังสือ ๒ เล่มนี้อยู่เหมือนกัน หนังสือ ๒ เล่มนี้พอจะเป็นเครื่องบอกให้ทราบได้ถึงความประสงค์ที่กำลังมุ่งหมายกระทำอยู่ในเวลานี้ หนังสือเล่มนี้พุทธกับคริสต์มันมีใจความเป็นไปในทำนองทำความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างศาสนา แล้วศาสนาพุทธและคริสต์เป็นต้นเงาของปาฐกถา ๓ ครั้งที่ไปแสดงที่มูลนิธิซินแคลร์ที่เชียงใหม่ แล้วก็พวก คริสเตียน หนังสือเล่มนี้ก็เรียกว่าหนังสือลักษณะทำความเข้าใจระหว่างศาสนา ทีนี้หนังสือเล่มนี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท คืออะไร นี้เป็นเรื่องที่ทำให้พุทธบริษัทเข้าใจธรรมะในพระพุทธศาสนาในส่วนลึก พออ่านดูก็จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องพิเศษ ไม่เหมือนใคร ไม่มีใครเคยพูดอย่างนี้ เมื่อเข้าใจความมุ่งหมายอย่างนี้ก็จะเข้าใจได้ ถ้าหากอาตมาจะพูดว่า ตอนหลังๆนี้ที่ไม่ค่อยจะมีกำลังเรี่ยวแรงทำงานอะไรนี้ ยังคงทำอยู่ ๒ อย่างนี้ แล้วก็ต่อไปข้างหน้าถ้าชีวิตยังอยู่ ทำงาน ๒ อย่าง คือทำความเข้าใจระหว่างศาสนานี้คือส่วนสำคัญ กับทำให้พุทธบริษัทเข้าใจพระศาสนาส่วนที่ยังไม่เคยเข้าใจ ไม่เคยสนใจ ส่วนเรื่องอื่นๆนั้นทำมามากแล้ว แล้วคนอื่นเขาก็ทำกันมากแล้ว เราก็ไม่เห็นว่ามันจำเป็นอะไร ที่จำเป็นที่เหลืออยู่ก็คือว่าส่วนที่เขาไม่ทำ เพราะว่าเขาไม่สนใจหรือเพราะเขาไม่เข้าใจ หรือเขาเข้าใจผิดเอาไปอธิบายกันผิดๆก็มี ส่วนนี้จึงอยากจะทำ ยังตั้งใจจะทำ ทำไปจนสิ้นชีวิต พุทธบริษัทเข้าใจศาสนาของตนเองลึกซึ้งถึงที่สุด นับว่าเป็นส่วนที่ยังขาดอยู่ ลองอ่านหนังสือเล่มสีม่วงนี้ดูดีๆ ส่วนอีกเรื่องนี่ ให้เข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างศาสนา นี้เป็นเรื่องกว้างออกไป โลกกำลังเดือดร้อนเพราะเข้าใจกันไม่ได้ แม้แต่ทางศาสนาแท้ๆก็ยังทำความเข้าใจกันไม่ได้ ศาสนายังมองดูกันในลักษณะเป็นศัตรูกัน คิดจะทำลายร้างกัน หรืออย่างน้อยก็เป็นปรปักษ์กันอยู่คนละฝ่ายคนละพวก นี่คือข้อที่มนุษย์ยังหาความสงบสุขหรือสันติภาพอันถาวรไม่ได้ ฉะนั้นเราอย่าไปเข้าใจผิดว่าศาสนาต่างๆนั้นมันมีอยู่ในฐานะเป็นปรปักษ์เป็นศัตรูต่อกัน
ทุกศาสนาต้องการให้สละความเห็นแก่ตัว เข้าใจไว้ให้ดีๆ ถ้าหากศาสนาไหนมีลักษณะไปในทางเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวข้างเดียวละก็ ไม่ใช่ศาสนาหรอก ทีนี้ สาวกของศาสนานั้นๆในชั้นหลังๆมันเกิดทำผิดจากที่พระศาสดาได้สอนไว้จริงๆ ถึงพุทธศาสนา กับพุทธบริษัทนี้ก็เหมือนกัน เพราะหลังๆนี้ทำอะไรผิดไปมาก เขวไปก็มี งมงายก็มี แล้วก็เห็นแก่ตัวคือ ยกตัวข่มท่าน ข่มศาสนาอื่น แล้วในภายในก็เห็นแก่ตัวจนไม่เห็นแก่เพื่อนพุทธบริษัทด้วยกัน ทีนี้เราสังเกตเห็นได้ว่าการฆ่ากันอะไรกัน มันมีมากขึ้น นี้ล้วนแต่มาจากความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น ทีนี้ระวังความเห็นแก่ตัวให้ดีๆ ในมหาวิทยาลัยเดียวกันแท้ๆยังแบ่งแยกเป็นพวก แล้วก็เห็นแก่พวก จนมีเรื่องมีราวระหว่างคณะในมหาวิทยาลัยเดียวกัน ในชั้นเรียนเดียวกัน ห้องเรียนเดียวกัน ก็ยังแบ่งเป็นคน มีคนเห็นแก่ตัวแล้วทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่น มันก็เลยมีสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ความเห็นแก่ตัวนี้เป็นไปได้หลายทางด้วยความโง่ ไม่รู้สึก ก็จะทำไปนั้นมันก็เห็นแก่ตัวนี้ก็มี ด้วยความรู้สึกหรือเจตนาอย่างเจาะจงนี้ก็มี สังเกตดูให้ดี พยามกำจัดออกไป กำจัดออกไป ที่เขาพูดว่าเห็นแก่ตัวนั้นคือเห็นแก่กิเลส เห็นแก่ตัวด้วยอำนาจของกิเลส แล้วเห็นแก่กิเลสที่เห็นว่าเป็นตัว ถ้าเพียงแต่รักตัวสงวนตัวด้วยสติปัญญาที่ถูกต้อง นี่ไม่เรียกว่าเห็นแก่ตัว แล้วก็ต้องมีความตั้งใจที่จะช่วยตัวเองให้รอด นี่เขาไม่เรียกว่าเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวนั้นเป็นการเอาเปรียบผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นต้องขาดไปแล้วตัวก็ได้มามากขึ้น ก็เห็นแก่ตัว นี้เราก็ไม่ได้เห็นแก่ตัว ต้องการจะช่วยให้ตัวเรารอด แล้วก็ไม่มีใครขาดมีแต่คนพลอยได้ คนที่อยู่ข้างๆก็พลอยได้ พลอยได้ประโยชน์ อย่างนี้เรียกว่าช่วยตัว ไม่ใช่เห็นแก่ตัว ในประวัติศาสตร์แต่หนหลัง ก็ลองอ่านดู ก็มีความเข้าใจกันผิดเกี่ยวกับศาสนา ทำลายกันระหว่างศาสนา ยกกองทัพไปเข่นฆ่ากันก็มี อย่างนั้นเรียกว่าเห็นแก่ตัวแล้ว มันไม่ต้องฆ่ากัน ถึงอย่างไรๆก็อย่าไปฆ่าคนอื่น อย่าไปทำลายคนอื่น
ทว่าจะพูดให้มันเป็นที่สรุปอย่างครบถ้วนก็ว่า ความเห็นแก่ตัวทำให้เกิดกิเลส ทุกชนิดที่เรียกว่ากิเลส กิเลสนั้นมีมากชื่อหลายสิบชื่อ ถ้าจัดเป็นหมู่ๆแล้ว มันมีเพียง ๓ หมู่ คือหมู่ราคะหรือโลภะ โทสะหรือโกรธะ แล้วก็โมหะ อวิชชาโง่หลง มันมี ๓ หมู่ ทุกๆหมู่มาจากความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวก็จึงโลภ จึงกำหนัด เห็นแก่ตัวจึงโกรธหรือประทุษร้าย เห็นแก่ตัวจึงทำไปด้วยความโง่ เพราะเห็นแก่ตัวเหมือนกัน มักจะโง่มันก็โง่เพื่อตัวเพื่อเห็นแก่ตัว กำจัดความเห็นแก่ตัวได้ กิเลสทั้ง ๓ หมู่นี้ก็จะหมดไป ให้เบาบางได้มันก็เบาบางไป กิเลสหมู่แรกเขาเรียกว่าราคะ กำหนัด ยินดี หรือโลภะ อยากจะได้ด้วยความเห็นแก่ตัว กิเลสหมู่นี้มันเห็นแก่ตัวในทางดึงเข้ามาหาตัว กวาดล้อมเข้ามาหาตัว เข้ามายึดถือ ยึดครองไว้ กิเลสหมู่ที่สอง เห็นแก่ตัวชนิดที่จะทำลายผู้อื่น ตีกลับออกไป ฆ่าเสียให้ตาย หรือว่าออกไปเสียให้พ้น นี้ก็เพราะความเห็นแก่ตัวเหมือนกัน กลัวเขาจะมาทำลายประโยชน์ของตัว เป็นที่เกลียดชังแก่ตัว แล้วทำร้ายผู้อื่น ผลักออกไป มันก็มีความหมายในการที่ผลักออกไป ไม่ใช่ดึงเข้ามา จนหมู่ที่สาม มันเป็นโมหะ นี่มันโง่ ไม่รู้ มันก็สงสัย ลังเล ก็มีความสนใจ มีความอาลัยอาวรณ์ ไม่มีลักษณะที่ดึงเข้ามาหรือผลักออกไปอย่างชัดแจ้ง แต่ด้วยความสงสัยมันก็วนเวียนอยู่รอบๆ นี่คือลักษณะของกิเลสที่จำง่ายมาจากความเห็นแก่ตัว ขอให้ถือว่าพุทธศาสนาจะเย็นไปเท่าไรๆ มันไปรวมจุดอยู่ที่ไปทำลายความเห็นแก่ตัว กระทั่งสูงสุดไม่มีตัวกูของกูที่ยึดถือเป็นพระอรหันต์นั้นสูงสุด ในชั้นต่ำๆต้นๆในสังคม อย่าเห็นแก่ตัว คืออย่าเบียดเบียนกัน แล้วอย่าเห็นแก่ตัวจนนอนไม่หลับ จะให้พูดกันอีกกี่ร้อยครั้งก็พูดแต่เรื่องไม่เห็นแก่ตัว ฉะนั้น ถ้าต้องให้กลับไปก่อนก็เอาความรู้ข้อนี้กลับไป มันก็เท่ากับได้ไปหมดทั้งพระพุทธศาสนา จำให้แม่นๆอยู่เสมอ เห็นแก่ตัวแล้วก็มันผิดแล้ว ถ้าไม่เห็นแก่ตัวมันก็ถูกแล้ว แล้วเราจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเราก็ทำได้โดยที่ไม่ต้องเห็นแก่ตัว ทำด้วยความรู้สึกที่ถูกต้อง ไม่เรียกว่าเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวมันก็โง่ มีอวิชชา มีความโง่ เห็นแก่ตัวด้วยกิเลสนั้นก็ทำไป ผู้อื่นก็พลอยเดือดร้อน ตัวเองก็เดือดร้อน เพียงเท่านี้ มันมีหลักเกณฑ์เท่านี้ เอาไปแยกแยะดูให้เข้าใจ ให้เห็นจริง ให้รู้จักจริงๆ ที่มันมีอยู่จริง ในส่วนที่มันมีอยู่จริงก็ให้รู้จักว่ามีอยู่จริงในชีวิตประจำวัน ทำความเดือดร้อนยุ่งยากกันไปหมด เกิดขึ้นมาทีไรเป็นทุกข์ทุกที นี่เวลาไหนเราว่างจากความเห็นแก่ตัวนั้นเราสบายที่สุด เช่นเวลาที่เราไม่ได้ปรารภถึงความตาย ความกลัว ความอะไรต่างๆ ไม่ได้รู้สึกเห็นแก่ตัวนั้นสบายที่สุด พอจิตมันน้อมไปทางเห็นแก่ตัวแล้วมันก็มีความหนักอกหนักใจขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็ความวิตกกังวล กังวลในเรื่องของตัวก็ไม่มีความสุข ฉะนั้นเราก็ไม่ต้องมีความเห็นแก่ตัว มีใจคอที่โปร่งว่าง สะอาดบริสุทธิ์ เรียนไปทำงานไป ทำงานในการเรียน ทำงานในการงานการอาชีพอะไรก็ได้ ทำไปโดยไม่ต้องวิตกกังวลด้วยความเห็นแก่ตัว อย่างนี้สบาย แต่อย่าให้มันเลยเถิดไปถึงลืมหมดไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เอาแต่เล่น มันก็เลยเถิดไปเห็นแก่ตัวในรูปอื่น คนขี้เกียจ คนเอาแต่เล่น คนโลเล คนเหลาะแหละนั้นก็เป็นคนเห็นแก่ตัวในรูปอื่นอีกชนิดหนึ่ง คือไปเห็นแก่ความสนุก เล่นหัวนั่นก็เป็นเห็นแก่ตัวชนิดหนึ่งเหมือนกัน มันต้องอยู่ในระเบียบในขอบเขตที่ถูกต้อง มีสติปัญญารู้สึกผิดชอบชั่วดี ก็ทำไปทุกอย่างด้วยความรู้สึกอันนี้ เขาเรียกว่าปราศจากความเห็นแก่ตัว ยึดถือเป็นหลัก แม้แต่เด็กเล็กๆเราก็อยากจะให้เขาไม่เห็นแก่ตัว เด็กเพิ่งเกิด เดินได้ นั่งได้ ก็เริ่มจะเห็นแก่ตัว แล้วก็เห็นแก่ตัวจริงๆด้วย มากขึ้นๆๆ เพราะสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติตามปกติมันส่งเสริมให้เห็นแก่ตัว จึงต้องลำบากสักหน่อยในการที่จะขูดจะล้างออกไป ถึงขนาดที่เขาเรียกว่าล้างสมองหรือยิ่งกว่าล้างสมองในการที่จะล้างกิเลส ล้างความเห็นแก่ตัวนี้ มันเป็นการล้างสมองชนิดรุนแรง นี่เรียกว่าหลักหัวใจของพระพุทธศาสนาคือความไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวกูของกู นี่คือความยึดถือที่เรียกว่าเห็นแก่ตัว
หนังสือเรื่องนี้มันละเอียด หรือมันยากมาก มันคงจะอ่านไม่ค่อยเข้าใจในทีแรกๆ แต่ถ้าอ่านสัก ๒๐ ครั้ง พักใหญ่ได้แน่ อ่านซ้ำกัน ๒๐ ครั้ง นี่เคยพูดให้พระฟัง นี่ถ้าคอยฟังอยู่ก็จะได้ยินว่า ความรู้สึกว่าตัว ว่าของตัวมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่อธิบายเรื่องนี้โดยละเอียด ตัวชนิดนั้นถ้าเราป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นมาได้ก็สบายอยู่ตลอดเวลา พอเกิดขึ้นทีไรก็เป็นทุกข์ที่นั่นแน่ เช่นนั่งอยู่ตรงนี้ไม่มีความรู้สึกประเภทที่เห็นแก่ตัว มันก็สบาย พอจิตมันน้อมไปเท่านั้นแหละ ถ้ามันน้อมไปในทางให้เกิดความเห็นแก่ตัว มันก็เป็นทุกข์ทันที นี้มันดีแต่ว่าธรรมชาติเหล่านี้มันคอยดึงไว้ มันดึงไว้ไม่ให้จิตปรุง ปรุงไปในทางมีตัวหรือเห็นแก่ตัว เรานั่งอยู่ที่นี่เราจึงมีความทุกข์ได้โดยยาก มีจิตที่รู้สึกว่าเป็นทุกข์ได้โดยยาก ในเมื่อเรานั่งอยู่ในที่อย่างนี้ ก็ธรรมชาติทั้งหลายที่แวดล้อมมันคอยดึงไว้ในทางที่หยุดการเกิดแห่งตัวกู ถ้าเราไปในที่ที่มันมีอะไรชวนให้เกิดง่ายก็เกิด หรือไปมีอะไรที่เห็นแล้วรู้สึกกลัว รู้สึกหนักอกหนักใจวิตกกังวล มันก็เกิด นั้นคือตัวแล้ว เกิดแล้ว มันต้องมีความฉลาดให้พอที่อย่าให้มันเกิด คำว่าฉลาดคำเดียวนี่อย่าให้มันเกิดได้นี้มันก็มีใจความหลายอย่าง ต้องรู้ด้วย ต้องไหวพริบด้วย ต้องมีสติสัมปชัญญะด้วย ต้องละอายด้วย รวมๆกันแล้วมันก็เรียกว่าความฉลาด ป้องกันไว้ได้ ไม่ให้เกิดความคิดนึกประเภทตัวกูของกู แล้วก็ไม่เป็นทุกข์ มีเท่านี้เอง นี่เวลาที่เหลือเรี่ยวแรงที่เหลือก็ทำประโยชน์ ทำประโยชน์ตนเท่าที่จำเป็น ถ้าเรี่ยวแรงเหลืออะไรเหลือก็นึกถึงผู้อื่น อย่างนี้มันเป็นเรื่องที่ทำโลกให้สงบ เดี๋ยวนี้คนโดยมากเขาไม่คิดอย่างนั้น มีเรี่ยวแรง มีกำลัง มีเวลา มีสติปัญญา เอามากวาดมาหาตัว เอามาหาตัวทั้งหมดเลย ได้กี่ร้อยล้านพันล้านแสนล้าน มันยังเอามาเพื่อตัวอีกนะ ก็เลยแข่งขันกัน ทะเลาะวิวาทกัน แย่งชิงกัน แล้วถ้าถือตามหลักโบราณหรือโดยเฉพาะในทางศาสนาแล้วเขาไม่สอนอย่างนั้น เขาสอนให้เอาให้ตัว เพื่อประโยชน์แก่ตัวนี้ตามสมควรเท่าที่จำเป็น ถ้าเหลือก็เอาให้ผู้อื่นดีกว่า อย่างวินัยของพระนี้ บัญญัติไว้ตายตัวให้มีอะไรเท่าที่จำเป็นเท่านั้น พอได้มาเหลือจากนั้นก็ต้องสละเป็นของกลาง เขาเรียกว่า “วิกัป” อย่างจีวรนี้อนุญาตไว้ ๓ ผืน ถ้าเกิดมาได้ผืนที่ ๔ ก็มาต้องทำให้เป็นของกลางเรียกว่าวิกัป บาตรก็ให้ใบเดียว ถ้าให้ใบที่สองก็เอามาไม่ได้ ถ้าเอาได้ก็พิจารณาที่ว่าเราจะเอาใบใหม่ไว้ ใบเก่าต้องสละออกไปให้เป็นของกลางให้เป็นของผู้อื่น กุฏิก็ทำเล็กนิดเดียวที่อนุญาตไว้ ถ้าจะทำใหญ่ๆก็ต้องเป็นของสงฆ์ของกลาง ถ้าเป็นส่วนตัวต้องเล็กนิดเดียว กว้าง ๗ ฟุต ยาว ๑๒ ฟุต เป็นอย่างมากคิดดู พอนอนจุ
ตามหลักของพระพุทธศาสนาวางวางไว้ทั้งวินัยและทั้งธรรมะ ล้วนแต่กำจัดความเห็นแก่ตัว ทีนี้ผู้ที่ถือศาสนาเขาก็พากันปฏิบัติอย่างนั้น พวกฆราวาสก็ปฏิบัติอย่างนั้น บ้านเมืองมันก็เป็นสุข เพราะมันต้องเหลือกินเหลือใช้ให้แจกจ่ายแบ่งปันกันเสมอ นี่ถ้าเผอิญใครมันโชคดีมีสติปัญญา มันเป็นเศรษฐี เขาก็เลี้ยงคน ลำบากยากจนเลี้ยงคน ได้ผลประโยชน์มาเขาเอาไปสร้างวัดแข่งกัน ตั้งโรงทานแข่งกัน โรงให้ทานคนอนาถา ให้ข้าวปลาอาหาร เครื่องนุ่งห่ม หรือหยูกยาก็สุดแท้โรงทาน ก็ตั้งโรงทานแข่งกัน บ้านเมืองมันก็สงบสุข เดี๋ยวนี้โลกปัจจุบันนี้ไม่ถือหลักอย่างนั้น ใครมีอำนาจมีกำลังมีมือยาวก็สาวเอาๆ แล้วเอามาเป็นของตัวแล้วก็มากขึ้นๆ มันก็ใช้ความมากขึ้นเป็นกำลังบีบบังคับไปส่วนอื่นๆของคนอื่น ดึงเอามาเป็นของตัวอีก ยิ่งมากขึ้นเท่าไหร่ก็ใช้เป็นเครื่องมือบีบบังคับเอาของคนอื่นมาเป็นของตัวอีก ก็มีทรัพย์สมบัติจนนับไม่หวาดไหว แล้วก็นอนไม่ค่อยหลับเพราะความหิว เหมือนกับเปรตอย่างนี้ นี่คือข้อที่มันต่างกันระหว่างลัทธิความเห็นแก่ตัวกับความไม่เห็นแก่ตัว ขอให้มองเห็นข้อนี้ และเข้าใจข้อนี้ว่าหลักศาสนานั้นเป็นที่พึ่งแก่โลกได้ ทำโลกให้เยือกเย็นได้จริง เป็นสุขได้จริง พอเห็นแก่ตัวก็เป็นโลกของผู้เบียดเบียนกัน ถ้าอยากจะมีพุทธศาสนาแล้วก็ไม่ต้องเป็นห่วงแล้วว่าไม่ได้อ่านหนังสือมาก ไม่ได้บวช ไม่ต้องเป็นห่วงอย่างนั้น เป็นห่วงแต่จะระวังความเห็นแก่ตัวว่าอย่าให้เกิด เป็นอยู่ด้วยความไม่เห็นแก่ตัว ไม่เกิดโลภะ โทสะ โมหะ คือตัวพุทธศาสนาอยู่ที่นั่น ผู้หญิงก็ปฏิบัติได้ผู้ชายก็ปฏิบัติได้ ที่บ้านก็ปฏิบัติได้ ในป่าก็ปฏิบัติได้ ในวัดก็ปฏิบัติได้ นอกวัดก็ปฏิบัติได้ ฉะนั้นให้จำคำว่าไม่เห็นแก่ตัวนี้ไว้ดีๆ ที่เป็นบาลีมันไพเราะเกินไปก็จำยากก็ได้ “สัพเพ ธัมมานาลัง อภินิเวสายะ” สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันเป็นไปไม่ควรไปสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวกูของกู พุทธภาษิตที่เป็นบาลีว่าอย่างนั้น สิ่งทั้งปวง ใครๆไม่ควรสำคัญมั่นหมายคือยึดถือว่าตัวกูว่าของกู คือยึดด้วยความโง่คืออวิชชา มันมีแต่ความเข้าใจถูกต้องทำหน้าที่ถูกต้อง ไม่ต้องมั่นหมายเป็นตัวกูของกู
จะสรุปความให้ฟังง่ายๆสักนิดหนึ่งว่า ชีวิตมันต้องกิน มันต้องมีอะไรหล่อเลี้ยงทางร่างกาย เราจึงต้องทำงานเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตให้มันหมดปัญหาไปสักทีหนึ่ง ทีนี้มันมีกินมีใช้ชีวิตเป็นอยู่ได้ไม่ตายแล้ว จิตใจมันยังไม่สงบก็ต้องค่อยหาทางให้มันสงบ ให้ได้ความสุขทางจิตใจอีกทีหนึ่ง ก็มีเท่านี้ ไม่มีความทุกข์จนตายก็ใช้ได้ อย่าไปหาเรื่องให้มันเกิดเรื่องมากขึ้นๆจนแก้ไม่ไหว จนสางไม่ไหว รู้จักประหยัด ใช้คำว่าประหยัด เท่าที่พอเหมาะพอดี จำเป็นพอดีแล้วมันก็ไม่ลำบาก พอไม่ประหยัดลำบากทันที เงินไม่พอใช้เรื่อย พอประหยัดก็เงินก็จะเหลือ ลดลงมาได้เรื่อยจนเงินเหลือเงิน จนพอใช้ จนเจียดออกไปให้ผู้อื่นได้ ไม่เชื่อก็ลองไปทดสอบดูให้ดี ใครคนไหนที่พูดว่าเงินไม่พอใช้ พ่อแม่ส่งมาให้ไม่พอ คนนั้นคิดดูใหม่ทดสอบดูใหม่ ก็ลองลดส่วนที่ไม่จำเป็นออก เดี๋ยวเงินก็จะเหลือ ๙ บาท ๑๐ บาท ไปให้คนขอทานหรือให้เพื่อนฝูงก็ได้ ทีนี้ก็เรียกว่ารู้จักประหยัด อย่าทำให้มันเกิดความลำบากขึ้นมาเพราะการที่มันต้องใช้จ่ายมาก เงินเหลือจะฝากออมสินไว้ก่อนก็ได้ หรือถือว่าเป็นส่วนเกินให้ผู้อื่นก็ได้ มันจะแก้นิสัยความเห็นแก่ตัว เด็กรุ่นเล็กรุ่นน้อง ถ้ามีพยามอธิบายให้เขาฟังว่าเราจะพยามให้มีส่วนเกิน ให้เกินออกมาให้หมากินบ้าง ให้แมวกินบ้าง ให้เพื่อนบ้าง ทุกวันเลย แล้วโตกว่านั้นก็ได้เงินวันละบาท วันละ ๕๐ สตางค์นี่นะ เราจะทำให้มันเหลือสัก ๕ สตางค์ เอาไปให้ทาน ให้เพื่อนให้จงได้ อย่างนี้ดี จะแก้นิสัยที่เห็นแก่ตัวไปเรื่อยๆจนกว่าจะเป็นผู้ใหญ่ จะง่ายในการที่จะทำลายความเห็นแก่ตัว ลองนึกถึงผู้อื่นบ้างเสมอไป เมื่อมีอะไรจะกินจะใช้ให้นึกถึงผู้อื่นบ้าง พยามทำให้มันออกมานิดเหลือเป็นส่วนเกิน ที่ว่าเกินสำหรับเราเอาไปให้ผู้อื่นได้ มีเงินใช้วันละบาท บริจาค ๑๐ สตางค์ต้องได้แน่ โดยลดอะไรลงมาเสีย หรือถ้ายังนั่นอยู่ก็ลองไปฝากออมสินไว้ มันอยู่ได้หรือไม่เพียงเท่านั้นที่ประหยัด อยู่ได้ ในที่สุดอาจจะพบถึงกับว่า ในบางกรณีไม่ต้องจ่ายเลยก็ได้ หรือบางวันเราอาจจะอยู่โดยไม่จ่ายเงินเลยก็ได้ นี่อย่าเข้าใจผิดว่ามีเงินใช้มากๆนั้นมันหรูหราดี มันไม่ถึงกับทำให้พ่อแม่ชิบหาย มันไม่ใช่อย่างนั้น มันจะเสียนิสัยต่างหากเล่า มันจะเสียนิสัยเป็นผู้ที่เห็นแก่ตัวแล้วไปลำบากตัวเองที่หลัง เดี๋ยวนี้แม่มีเงินให้ใช้ พ่อมีเงินให้ใช้ พอแน่ แล้วเราก็เสียนิสัย ทีหลังเราจะลำบาก สุดท้ายจะเจ็บตัว เห็นแก่กิเลสมันจะยุ่งยากมันจะลำบาก จะไม่พอใช้ จะต้องคอรัปชั่น อย่างนั้นจึงขอให้มีหลักไปในทำนองที่ว่า ในระหว่างที่เล่าเรียนอยู่นี้ เป็นนักศึกษาเป็นนักเรียนอยู่นี้ ก็เรียนไปในหลักสูตรนะ แต่ว่าพร้อมกันนั้นขอให้เรียนอีกอย่างหนึ่งไปพร้อมกันด้วยคือเรียนธรรมะ วิชาธรรมะสำคัญกว่าวิชาชีพ ให้มันไปด้วยกัน คู่กันไป วิชาธรรมะจะรับประกันไม่ให้มีความทุกข์ในทุกกรณี วิชาชีพล้วนๆมันรับประกันไม่ได้ เพราะมันเกิดกิเลสแล้วมันก็ต้องเป็นทุกข์ นี่วิชาธรรมะมันช่วยป้องกันไม่ให้เกิดกิเลส ไม่ให้เป็นทุกข์ ให้ฉลาด แล้วก็เรียนได้ดี ทำได้ดี ทำการงานได้ดี แล้วก็ฉลาดถึงกับว่าแม้ความเป็นไปตามธรรมชาติเกิดขึ้น เช่น ความแก่ ความเจ็บ ความตายเกิดขึ้น ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ จะได้จะเสียอะไรก็ไม่ต้องดีใจเสียใจจนจิตใจมันปั่นป่วนกระวนกระวายขึ้นๆลงๆ มันไม่ถูก ให้มันอยู่อย่างปกติดีกว่า นี่เรียกว่าเรียนอีกอย่างหนึ่งพร้อมกันไป ให้เรียนในโรงเรียนในหลักสูตรเพื่อสอบไล่ได้นั้นก็เพื่ออาชีพ เรียนวิชาชีพ เดี๋ยวนี้อยู่ในโลกที่มันเจริญมาก มันต้องเรียนมาก แข่งขันกันมาก มันก็ต้องเรียนมาก เรียนเป็นเทอมตลอดเทอม ส่วนวิชาธรรมะนี้ไม่ต้องเรียนมากถึงอย่างนั้น เพราะว่าศึกษาเพียงไม่กี่วัน แต่ว่าปฏิบัติจนตายก็ไม่หมด สำหรับฟังไป ๒-๓ วัน นี่ปฏิบัติทั้งปีก็ยังไม่หมด มันคุ้มไปได้ทั้งปี แต่ว่าชั่วเวลาที่มาที่นี่ไม่กี่วัน ได้ยินได้ฟังเท่านั้นก็พอแล้ว สำหรับทั้งปีหรือหลายปี หรือทั้งตลอดชีวิต นี่มันมีประโยชน์กว่า สำคัญกว่า แต่มันกลับไม่ต้องการลงทุนอะไรมากมายในทางเวลา ในทางทรัพย์สมบัติ แต่เราเรียนวิชาชีพในทางมหาวิทยาลัยต้องใช้อย่างมาก ใช้ความเหน็ดเหนื่อยมาก ใช้เวลามาก อดทนมาก คู่กันไป เรียนคู่กันไปทั้งทางวิชาชีพและวิชาธรรมะ เมื่อประสบความสำเร็จในข้อนี้ รับรองได้ต่อไปจะไม่มีความทุกข์ จะไม่ต้องร้องไห้อยู่คนบางคน แล้วก็ไม่ลิงโลดมากเหล่านั้นก็เรียกว่าคนบ้า มันเป็นคนปกติ สงบ มีความสงบสุข มีธรรมะมันมีความหมายอย่างนี้ แล้วธรรมะหมายความว่าปกติ ทรงตัวอยู่ได้อย่างปกติ เขาเรียกว่าธรรมะ ไม่ขึ้นไม่ลง ไม่เอียงไม่เอน ธรรมะแปลว่าการทรงตัวอยู่ได้เป็นปกติ รากศัพท์ของคำๆนี้มันแปลอย่างนั้น ไม่ใช่จะแกล้งว่าเอาเดี๋ยวนี้ ธรรมะมาจากรากศัพท์ว่า ธระ ตัวนั้นแปลว่าทรงตัวอยู่ได้ ไม่ล้ม ไม่ทรุด ไม่เอียง สำคัญมีธรรมะ ก็หมายความว่าจิตของคนนั้นมันทรงตัวอยู่ได้ ปกติอยู่เรื่อย มาให้รักก็ไม่รัก มาให้เกลียดก็ไม่เกลียด มาให้โกรธก็ไม่โกรธ มาให้กลัวก็ไม่กลัว มาให้โศกเศร้าก็ไม่โศกเศร้า ไม่มีอะไรมาหลอกให้เป็นไปอย่างไรได้ อย่างนี้เขาเรียกว่ามีธรรมะ มีความทรงตัวอยู่ได้ นี่มันมีอย่างนี้ มันพอจะเข้าใจเองได้ อธิบายเองได้ อธิบายเอาเองได้ ตอบปัญหาเองได้ ถ้ามันเป็นปัญหาธรรมะแล้วมันก็ไม่ยึดมากไปจนถึงกับว่าตอบปัญหาบางอย่างไม่ได้ คือมันมีหลักไว้ว่าถ้าผิดปกติแล้วก็เรียกว่าผิดธรรมะแล้ว คือมันสูญเสียความปกติ คือความถูกต้อง ความเป็นไปตามปกติ แล้วก็สังเกตดูว่าจิตใจมันเป็นอย่างไร เรียกว่าผิดปกติแล้ว มันผิดแล้ว ก็จัดกันใหม่ ให้ปกติ ให้ใจคอปกติ สิ่งที่จะมาทำให้วุ่นวายไม่ปกตินั้น ย่อมต่อสู้บังคับ อย่าไปตามใจมันมาก ไปตามใจก็คือตามใจกิเลส กิเลสก็พาไปลงคลอง คือลงนรกไปในที่สุด ร้อนก็ไฟเผา ไปทำเล่นกับกิเลส จะตายเปล่าเกิดมาชาติหนึ่งไม่ทันจะได้อะไรที่ดีที่มนุษย์ควรจะได้ แล้วก็ต้องตายเสียก็มี หรือว่าหมดโอกาสต้องทำให้ดี ให้ไปจนถึงที่สุด ถ้าได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ นี่เรียนวิชาชีพ เรียนหลักสูตร นี่ก็เรียนไปให้ได้ แล้วก็ต้องลงทุนให้ดี ให้มีแต่เลื่อนชั้นเรื่อยๆขึ้นไปในทางที่ถูกที่ควร ถ้าไม่ทันจะตายต้องได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ จะได้จิตใจชนิดหนึ่งซึ่งไม่มีความทุกข์เลย ทุกข์กับเขาไม่เป็น คนอื่นมันจะทุกข์ไปยังไงเราทุกข์ไม่เป็น แล้วก็รับความพอใจในทุกสิ่งที่มีได้ นี่พุทธศาสนาในส่วนลึกที่ไม่ค่อยสนใจ ไม่ค่อยเข้าใจ ขอให้พยามด้วย อีกทีหนึ่งก็ทำความเข้าใจระหว่างศาสนา แต่เรื่องนี้มันเป็นภาษาอังกฤษ แต่เรื่องนี้มันเป็นภาษาไทยไม่มีเสียแล้ว แต่คงจะอ่านได้ไม่ยากนัก ที่จะดีเสียอีกที่จะได้รู้คำภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับศาสนา นี่เพื่อทำความเข้าใจระหว่างศาสนา โดยเห็นว่าคนทุกคนมันเป็นเพื่อนกัน เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ก็จะต้องมีเขามีเราสำหรับเป็นศัตรูกันทำไม เดี๋ยวนี้โลกมันใหญ่กว้างนัก มันมีคนในโลกมันหลายพันล้าน สามพันล้าน สี่พันล้าน แล้วก็รู้จักกันไม่หมด แต่จะรู้จักกันได้เท่าไหร่ก็ต้องรู้จักกันในฐานะที่เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน เขาเรียกว่าสิ่งที่มีความรู้สึก จะพูดว่าสิ่งที่มีชีวิตมันก็ยังไม่ชัด เพราะสิ่งที่มีความรู้สึกได้เสมอกัน เป็นเพื่อนกัน ต้นไม้มีความรู้สึกไม่ถึงขนาด สัตว์เดรัจฉานก็ไม่มีความรู้สึกถึงขนาด แต่ในบรรดามนุษย์ทั้งหลายมีความรู้สึกถึงขนาดเสมือนกันหมด เรียกว่า Sensation being คำนี้เป็นคำกลางที่สุดที่จะไม่ถือว่ามนุษย์ชาติไหน ภาษาไหน ทุกคนทุกชาติเป็น Sensation being เหมือนกันหมด คือสิ่งที่มีความรู้สึก สัตว์ที่มีความรู้สึก นี่มันทำให้เห็นอกเห็นใจกัน มีความรู้สึกได้ด้วยกัน เป็นความทุกข์ก็เป็น เป็นความสุขก็เป็น แล้วโดยกฎเกณฑ์อันเดียวกัน ศาสนาทุกศาสนามันก็มุ่งหมายอย่างเดียวกัน มันมีถ้อยคำแตกต่างกันบ้างนั้นเป็นเรื่องปลีกย่อย หรือเป็นถ้อยคำเฉพาะกาลเฉพาะถิ่น เพราะมันไม่ได้เกิดพร้อมกันนี่ และไม่ได้เกิดในถิ่นเดียวกัน พุทธศาสนาเกิดในประเทศอินเดีย ศาสนาคริสเตียนก็เกิดทางปาเลสไตน์ ศาสนาอิสลามทางดินแดนอาหรับ นี่พูดถึงเวลา ศาสนาตั้ง ๒,๕๐๐ ปี คริสเตียนเพิ่งได้ ๒,๐๐๐ ปี จวนจะได้ ๒,๐๐๐ ปี อิสลามก็จวนจะได้ ๑,๔๐๐ ปี เวลาก็ต่างกัน สถานที่ก็ต่างกัน จะใช้คำพูดคำเดียวกันก็ได้ เพราะว่าคนก็มีวัฒนธรรมต่างกัน จิตใจต่างกัน จะใช้คำพูดประโยคเดียวกันไม่ได้ ก็ต้องใช้คำพูดต่างกัน ประโยคต่างกัน แต่มุ่งหมายอย่างเดียวกัน เพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว ทำลายความผิด ยึดถือเอาความถูก เรียกว่าทำความเข้าใจระหว่างศาสนา กระทั่งระหว่างมนุษย์ เดี๋ยวนี้ลัทธิการเมืองทำยุ่ง ยึดมั่นในลัทธิการเมืองเพื่อหาประโยชน์ให้แก่พวกตัว ก็ไม่ถือศาสนา ก็ฆ่าผู้อื่นเพื่อเอาประโยชน์มาให้แก่ตัว มันเป็นศาสนาของยักษ์มารภูตผีปิศาจ ฆ่าผู้อื่นได้เพื่อประโยชน์แก่ตัว ศาสนาแท้จริงเขาไม่ทำอย่างนั้น เรียกว่าตายเสียดีกว่าฆ่าผู้อื่น ตายเสียเองดีกว่าฆ่าผู้อื่น ที่ฆ่าผู้อื่นแม้เพื่อเอาชีวิตเรารอดนี้ก็เรียกว่าต่อสู้กันคนละครึ่ง ถ้าฆ่าผู้อื่นโดยที่เอาเปรียบกัน มันไม่ถูก ป้องกันตัวไม่ใช่ฆ่าผู้อื่น มีสิทธิป้องกันตัว ทีนี้ในทางศาสนามันยังไม่ใช่อย่างนั้น มันจะทำลายผู้อื่นเพื่อเกิดประโยชน์แก่ตัว นี่ต่างฝ่ายต่างทำเหมือนกันก็ฆ่ากันจนวินาศไปหมด ใบโพธิ์ในพระพุทธศาสนามีความรู้ กางเขนนี่คริสเตียน ถ้าจะให้เข้ากันได้ กางเขนนี้คือทำลายตัวกู ทำลายความเห็นแก่ตัวกู เช่น ตั้งใหญ่นี้คือ “กู” “I” ตัวใหญ่ “I” คือฉัน คือกู ที่ไม้อันขวางนี้คือตัดมันเสีย ตัดคอมันเสีย คือทำลายตัวกูเสีย ก็เป็นพุทธศาสนาไป ส่วนใบโพธิ์นั้นหมายถึงความรู้ ถ้ารู้ถูกต้องจริง ก็ไม่รู้ไปในทางเห็นแก่ตัว หรือยึดพันตัว รู้จริงไอ้ตัวมันก็สลายไป ถ้ารู้จริงตัวกูมันก็กระจายไป หายไป นี่เรามาทำเป็นสัญลักษณ์อย่างนี้ พุทธๆ กับคริสต์ ให้มีหัวใจเหมือนกันได้ พวกที่เรียนบางคนก็อธิบายกางเขนคือบันไดสำหรับไต่ขึ้นไปหาพระเจ้า ไปหาสวรรค์ แล้วก็โหวตถูกแล้วนั่นแหละ คุณจะต้องตัดตัวคุณ ตัวกู ออกไปเสียก่อน มันจึงจะเป็นบันไดไปหาพระเจ้า ได้ขึ้นสวรรค์
ในหนังสือเล่มนี้มีคำพูดเป็นประโยคที่เป็นหลักตรงกับพระพุทธศาสนาอยู่ตอนหนึ่ง ตอนท้ายๆเล่ม มีภรรยาก็จงเหมือนกับไม่มีภรรยา มีทรัพย์สมบัติก็จงเหมือนกับไม่มีทรัพย์สมบัติ มีความสุขก็จงเหมือนกับไม่มีความสุข มีความทุกข์ก็จงเหมือนกับไม่มีความทุกข์ ซื้อของที่ตลาดแล้วไม่เอามา นี่คือความไม่ยึดถือเป็นตัวกูเป็นของกู ประโยคท้ายฟังยากแต่ดี เอาเงินของเราไปซื้อของที่ตลาดแล้วของนั้นไม่เอา ก็หมายความว่าเมื่อกำใบนี้ก็ไม่ใช่เงินของเรา แต่ตามหลักคริสเตียน มันของพระเจ้าของธรรมชาติ ซื้อเอามาก็ไม่ได้เอามา กินเข้าไปก็ไม่ใช่เรากินเข้าไป นี่ก็ซื้อของแล้วก็ไม่ได้เอาอะไรมา ที่มีนั่นมีนี่ก็ไม่ได้ยึดมั่นหมายมั่นว่าเป็นของเรา นี่อาจจะใช้ประโยชน์ศึกษาธรรมะควบคู่กันไประหว่างศาสนาสองศาสนา หรือมีเพื่อนเป็นฝรั่งก็พอจะคุยกับเขาได้บ้าง ยินดีที่ให้หนังสือคู่นี้ไปเป็นของฝากที่ระลึกกลับไป เล่มหนึ่งเป็นเรื่องทำความเข้าใจระหว่างศาสนา เล่มหนึ่งเป็นเรื่องพุทธบริษัทเราเองเข้าใจถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด นี่คือเรื่องที่จะพูดสำหรับพวกคุณที่จะไป ที่จะกลับไป ถ้าถือเอาความหมายเหล่านี้ได้คงจะคุ้มในการที่ว่าทนลำบากอยู่ที่นี่หลายวัน ให้ถือว่ามันเป็นบทเรียนไปหมด ความสะดวกสบายมันก็ไม่ค่อยได้สอนให้อะไรมากนัก ความลำบากบ้างมันสอน ความเจ็บปวดยิ่งสอนมาก การเจ็บไข้ยิ่งสอนมาก และการเสียอะไรไปแรงๆนั้นก็จะยิ่งสอนมาก แต่ทีนี้เราเป็นคนไม่เรียนเสียเอง ไม่รักไม่เรียนเสียเอง มันสอนเราไม่เรียนก็ไม่รู้ พออะไรเกิดขึ้นโดยเฉพาะเป็นความยากลำบาก เป็นความเสีย ก็รีบเรียนขึ้นมา เพื่อต่อไปมันจะได้ไม่มีอย่างนั้นอีก จะเป็นถูกเป็นดียิ่งขึ้นไป แล้วก็มาอยู่อย่างพักแรมที่นี่ ประโยชน์สูงสุดที่ว่าเราอยู่ด้วยวันคืนที่ล่วงไปๆโดยไม่มีอะไรเป็นของเรา ถ้าอยู่ที่บ้าน บ้านของเรา พ่อแม่ของเรา อะไรของเรา เราอยู่ด้วยความมีอะไรเป็นของเรา แต่พอมาอยู่ที่นี่ ถ้าปล่อยไปตามความรู้สึกตามธรรมชาติ จะไม่รู้สึกว่ามีอะไรเป็นของเรา วัดไม่ใช่ของเรา อะไรก็ไม่ใช่ของเรา เราอยู่ได้ด้วยความสบายอย่างยิ่ง ไม่หนักอกหนักใจ ไม่แบกตัวกูของกู ถ้าเข้าใจความจริงข้อนี้ได้ก็นับว่าคุ้มกันทีเดียวที่มาลำบากเสียเวลา เสียค่าเดินทาง เสียค่าอะไรบ้าง มันจับใจความได้ว่าความทุกข์เกิดขึ้นเพราะมันเกิดตัวกูของกูขึ้นในจิต ความไม่ทุกข์เลย มันมีอยู่เมื่อไม่มีตัวกูของกูอยู่ในจิต ในจิตใจ นี่เรียนได้จากของจริง เรียนจากหนังสือไม่ได้ เรียนจากของจริงอย่างนี้แหละ
ฉะนั้นขอให้ได้สิ่งนี้กลับไปคุ้มค่าการมา เสียเวลา เสียเงิน เสียเรี่ยวแรง แล้วเป็นอันว่าขอแสดงความหวังว่าทุกคนจะได้สิ่งนี้ไป แล้วเอาไปใช้ให้มันเจริญงอกงาม แล้วขอให้พรโดยอาศัยสิ่งนี้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ เพราะสิ่งนี้มันรวบรวมพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไว้เสร็จ ขอให้มีความเจริญก้าวหน้าในทุกวิถีทางตลอดทุกทิพาราตรีกาลเทอญ