แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๑๖ วันนี้เป็นวันที่ ๗ ของการบรรยายในชุด วิชาธรรมสำคัญกว่าวิชาชีพ ซึ่งในวันนี้จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า ภาษาวิชาธรรมล้ำลึกกว่าภาษาวิชาชีพ วันนี้ตั้งใจจะพูดเรื่องเบ็ดเตล็ดมากกว่าที่จะพูดถึงหลักธรรมะที่สำคัญเป็นหมวดเป็นหมู่เหมือนกับครั้งที่แล้วๆ มา ข้อนี้เนื่องจากผมได้สังเกตเห็นว่า การที่พวกคุณไม่ค่อยจะเข้าใจธรรมะนั่น เนื่องมาจากภาษาคือปัญหาทางภาษา แล้วก็ไม่ได้สนใจที่จะเข้าใจภาษาซึ่งแปลกออกไปจากที่ตัวเคยเกี่ยวข้องอยู่ บางคนคิดว่าภาษาวัดภาษาศาสนานี่มันไม่น่าจะเชื่อ ไม่น่าจะสนใจ หรือไม่น่าจะเป็นไปได้ กระผมคิดว่า นิสิตหรือนักศึกษาจำนวนมากกว่ามากที่ไม่สนใจกับธรรมะหรือศาสนานี้ ก็เป็นเพราะพอสักว่าได้ยินภาษาแปลกๆ นี่แล้วก็คงจะดูหมิ่นหรือดู นึกดูถูก ไม่เข้าใจ แล้วฟังมันก็ประหลาดๆ นี้จะเป็นส่วนใหญ่หรือส่วนหนึ่งที่เข้ามาสนใจธรรมะหรือเรื่องศาสนาด้วยความอยากจะรู้นี่ เสร็จแล้วก็ไปไม่ค่อยจะได้หรือบางทีถึงกับถอยหลังเสีย เลิกเสียก็มี ก็รู้สึกว่ามันเกี่ยวกับไอ้ภาษาที่ใช้พูดกันอยู่นั่นแหละมากเหมือนกัน
ที่นี้ที่มันเป็นอยู่จริงที่ตรงนี้เองก็อาจจะเป็นได้ว่าผมก็ใช้ภาษาตามสะดวก บางทีก็เผลอไปด้วย ไม่ ไม่ได้นึกถึงว่าคนอื่นจะเข้าใจหรือไม่ เพราะมันมาก มันยาว เรื่องมันยาว บางทีก็เผลอไปหรือปล่อยตามสบาย นี้ก็เป็นเหตุให้ไม่เข้าใจในภาษาหรือคำที่พูดนั้นๆ แล้วก็เบื่อได้ เมื่อเขาไม่เข้าใจก็ไม่ได้รับประโยชน์ ทีนี้ก็ไม่รู้จะโทษใครดี นี่เป็นเหตุให้คิดว่าควรจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำพูดหรือภาษานี้กันบ่อยๆ ด้วยกันเสียบ้างก็ยังดี ความจริงเป็นอันว่าวันนี้ก็จะพูดถึงไอ้ข้อขัดข้องที่เกี่ยวกับภาษานี่กันสักครั้งหนึ่ง ขอร้องให้พยายามทำความเข้าใจคำที่ว่า ภาษาวิชาธรรมนี่มันล้ำลึกกว่าภาษาวิชาโลก วิชาชีพ ภาษาที่ใช้กันอยู่ใน ในชาวโลกเป็นภาษาชาวโลกนี่ก็ไม่ยาก ไม่ลำบากอะไรที่จะเข้าใจเพราะพูดกันอยู่ทุกวัน พอมาถึงภาษาในทางวิชาธรรมะขอให้สังเกตดูให้ดี เพราะมันเริ่มเปลี่ยนหรือเปลี่ยนมากไปในทางที่ตรงกันข้าม ข้อนี้มีหลักที่กล่าวไว้โดยตรงในพระบาลีที่เป็นพุทธภาษิตก็มี คือใช้คำว่ามันตรงข้ามหรือเป็นอื่นไปเลยจากภาษาที่พูดกันอยู่หรือความรู้ที่รู้กันอยู่ ใช้คำว่า อันยะโต (นาทีที่ 06.35น ) แปลว่าเป็นอย่างอื่นหรือโดยความเป็นอย่างอื่นเสียจากภาษาที่พูดกันอยู่ จากความรู้สึกที่เขารู้สึกกันอยู่ อันยะโต (นาทีที่ 06.48น) โดยความเป็นอื่นนี่ เป็นความหมายของความเป็นพระอรหันต์ไปเลย นับตั้งแต่ว่าพระอรหันต์จะมองเห็นไอ้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี่เป็นอย่างอื่น โดยพร่ำเป็นอย่างอื่นจากที่คนทั้งหลายคนทั่วไปเขามอง หรือเขาเห็น หรือเขารู้สึก หรือเขาเข้าใจก็ตามใจ บาลี อันยะโต (นาทีที่ 07.21น) ชนิดนี้ก็แปลว่า โดยความเป็นอย่างอื่นจากที่ปุถุชนเขาเห็น เขารู้ เขาเข้าใจ เขารู้สึก ทีนี้จากความรู้สึกที่มันตรงกันข้ามหรือโดยความเป็นอย่างอื่นนี่ มันออกมาเป็นภาษาอีกภาษาหนึ่ง ซึ่งเป็นภาษาของพระพุทธเจ้าผู้เห็นโลกโดยความเป็นอย่างอื่นจากที่เคยเห็นมาแต่ก่อนในครั้งที่ยังเป็นคนธรรมดา ฉะนั้นจึงเกิดไอ้คำพูดที่ตรงกันข้ามจากธรรมดา เช่น อนิจจัง นี่ชีวิตเราไม่เที่ยง ชาวบ้านเขาต้องเห็นว่าเที่ยง เห็นอยู่อย่างนั้นแล้วก็หวังที่จะให้มันเป็นอยู่อย่างนั้น มีแต่ความรู้สึกหรือเห็น ไอ้ความเห็นที่เป็นไปในทางเที่ยง ที่นี้พอจะเข้าไปในเขตของพระพุทธเจ้ามันกลายเป็นไม่เที่ยง มันค่อยเห็นความไม่เที่ยง รู้สึกต่อความไม่เที่ยงมากขึ้นๆ จนไม่เที่ยงเต็มที่ ทีนี้ที่เป็นทุกข์ก็เหมือนกัน มันมีความหมายที่สับกันอยู่ ที่เรารู้สึกพอใจ รู้สึกว่าเป็นสุข น่ารักน่าพอใจ อันนี้ จริงๆ มันน่าเกลียดน่าชัง มันหลอกหลวง ดูแล้วน่าเกลียดนั่นแหละคือเป็นทุกข์ ตรงนี้ขอแทรกกันลืม คำว่า ทุกข์ นี่ไม่ได้แปลแต่เพียงว่ามันเจ็บปวด ทนยาก มันแปลว่า ดูแล้วน่าเกลียดด้วย คำๆ นี้ ถ้าพูดว่าสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ มันรวมถึงสังขารที่ไม่มีชีวิตชีวาด้วย เป็นทุกข์ยังไง มันมีอาการเปลี่ยนแปลงจึงดูแล้วน่าเกลียด น่าระอายใจ ลักษณะแห่งความไม่เที่ยง น่าเกลียด เป็นทุกข์ก็น่าเกลียด และความทุกข์อีกความหมายหนึ่งคือว่าต้องเจ็บปวด ลำบาก ทนยาก ดิ้นรน กระวนกระวาย อย่างนี้ ถึงแม้อันนั้นมันก็น่าเกลียด มันน่ารักอยู่เมื่อไหร่ ที่เจ็บปวด ดิ้นรน กระวนกระวาย ไอ้คำว่าทุกข์ในแบบนั้นมันแปลว่า ทนได้ยาก ความหมายทั่วไปแปลว่า ดูแล้วมันน่าเกลียด จะทนยากหรือทนง่ายหรืออะไรก็ตามมันเป็นทุกข์ตรงที่ว่ามันดูแล้วมันน่าเกลียด แต่ต้องดูด้วยสติปัญญาเห็นชัดลงไป อันยะโต (นาทีที่ 10.18น) ด้วยความเป็นประการอื่นจากที่คนปุถุชนเขาเห็นกัน
ที่นี้ก็มาถึงคำว่า อัตตา อนัตตา คนเราโดยเฉพาะตั้งแต่เกิดมาวันแรกๆ มันก็เริ่มเข้าใจผิดไปในทำนองเป็น อัตตา เป็นตัวเรา เป็นตัวฉัน กระทั่งเป็นตัวกู ทุกๆ อย่างที่แวดล้อมอยู่มัน มันแวดล้อมให้เกิดความรู้สึก ความคิดเห็น ความเชื่อถือ ความหมายมั่นไปในทางเป็นตัวกู ของกู ทั้งนั้น เรื่องนี้เคยพูดกันละเอียดแล้วที่วันธรรมปาติโมกข์ แล้วก็เริ่มมีความรู้สึกอย่างปุถุชนธรรมดา สามัญชาวโลก ตามธรรมดาว่า มีตัว หรือมีตัวตน หรือมีของตน รู้สึกอย่างนั้นเรื่อยมาจนบัดนี้ จน เป็นคน ผู้ใหญ่แล้วมีตัวตน หรือต่อๆ มามันจะยังรู้ต่อไปอีก นี่มันจะเริ่มรู้โดย อันยะโต (นาทีที่ 11.46น) คือโดยความเป็นประการอื่นจากที่เคยรู้มาแต่ก่อน ไอ้ที่จะรู้ก็ขอได้รู้ว่าไม่ใช่ตน เป็นสักว่าธรรมชาติปรุงแต่งให้เกิดร่างกาย ธรรมชาติจะเป็นนามธรรมปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกคิดนึก และมันมีอวิชชา มันไม่รู้มันก็คิดนึกไปในทางผิด เป็นตัวตน ยึดถือนั่นนี้เป็นตัวตน พอเข้าใจถูกต้องอย่างนี้ไอ้ความคิดที่เคยหลงว่าเป็นตัวเป็นตนมันก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป จนเห็นโดยความไม่ ไม่ใช่ตัวตน เห็นเป็นเพียงสักว่าธรรมชาติ เป็นธาตุที่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ สักว่าเป็นธรรมชาติ เท่านั้น มันก็เลยโดยประการอื่น ตรงกันข้ามจากที่เราเป็นตัวตนมาเป็นไม่ใช่ตน
ทีนี่คำสุดท้ายอีกคำหนึ่งที่มันรวมหมด รวม อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไว้หมดนี่มันคือคำว่า สุญญตา คำว่า สุญญตา แปลว่า ว่างหรือความว่าง ยิ่งไปกันใหญ่ คนธรรมดาเขาไม่ ไม่รู้สึก มันว่างได้อย่างไร แล้วยิ่งมาชี้ที่ว่าตัวตนนี่ว่าง ร่างกายว่าง จิตใจว่าง ทรัพย์สมบัติว่าง โลกว่าง แล้วยิ่งไม่รู้ใหญ่ เพราะเขารู้สึกตัวมันไม่ว่าง เพราะเขาได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ได้ดม ได้ลิ้ม อะไรต่างๆ อยู่ตลอดเวลา แล้วก็ไม่ว่าง ทีนี่คำว่า ว่าง นี่มันก็เกิดเป็น ๒ ความหมาย ถ้าชาวบ้านว่าว่างแล้วก็หมายความว่าไม่มีอะไรเลย การที่จะให้ว่างโดยที่มีโลก มีสัตว์ มีคน มีอะไรอยู่ กระทั่งมีความคิดนึกอยู่นี่เขาเข้าใจไม่ได้ จนกว่าจะได้ศึกษาว่าทั้งหมดนั่นแหละมันเป็นไปตามธรรมชาติ ตามกฎธรรมชาติคือเป็น อนัตตา ไม่เที่ยง เปลี่ยนอยู่เรื่อย ดูแล้วก็น่าเกลียด มันมีแต่กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง คือ อนิจจัง มันก็เรียกว่า ว่าง ว่างจากความคงที่ ว่างจากสาระที่คงที่ ทุกขัง ดูแล้วน่าเกลียด เมื่อว่างจากความจริง อนัตตา นี่เห็นแล้วมันเป็นธรรมชาติ เป็นภาพตามธรรมชาติปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงไปตามกฎของธรรมชาติ แล้วแต่ความคิดนึกว่าตัวฉัน ว่าของฉัน ทุกอย่างมันอยู่ที่ความคิดนึก ความรู้สึก ความสำคัญมั่นหมาย จะสำคัญมั่นหมายเป็นอะไรมันก็มีแต่เท่านั้นแหละ มันไม่มีมากกว่านั้น นี่เริ่มเห็นว่า ว่าง จากตัวตนที่แท้จริง ที่ ที่ควรจะเรียกว่าตัวตนมันมีอยู่เต็มไปหมด แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ควรเรียกว่าตัวตน เพราะนั้นคำว่า อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่ตน มีแต่สิ่งที่ไม่ใช่ตนหรือสิ่งที่ว่างจากตน นี่คือความสำคัญ ใจความสำคัญของคำว่า สูญญตา หรือ ว่าง ยกตัวอย่างให้ดูว่า ในความรู้ ความเข้าใจ ความคิดเห็นอะไรก็ตามที่มันเดินมาตามลำดับ ตามลำดับ ถ้ามันไม่หยุดยังคงเดินต่อไปมันจะไปสู่ที่ตรงกันข้ามยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ถ้าเขาไม่หยุดเสีย ถ้าเขาไม่ไปทำประมาทอะไรเสีย พยายามสังเกตศึกษาไปเรื่อยๆ ชีวิตก็ล่วงไปมากเข้า มากเข้า ผ่านสิ่งต่างๆ มากเข้า เขาก็ค่อยๆ รู้เองว่ามันไม่ ไม่ ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราเคยเข้าใจ เคยคิด เคยหวัง มันจึงเกิดภาษาอะไรขึ้นมาแปลกๆ เช่นคำว่า ไม่เที่ยง ก็เพิ่งเกิดคำนี้ ไอ้ที่เข้าใจกันว่าสุขก็กลายเป็นทุกข์ ทุกข์ชนิดนี้ก็เพิ่งเกิด ที่ว่าเป็นตัวตน ตัวเรา มันก็กลายเป็น อนัตตา คำเหล่านี้มันเพิ่งเกิดทั้งนั้น มันไม่ได้รู้มาแต่ทีแรก ทีแรกมันตั้งต้นด้วยความมั่นหมายเป็นเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตา นี่ถ้าพูดถึงว่า สูญญตา อนัตตา เดี๋ยวนี้เวลานี้ เราว่าง เราไม่ใช่ตน เขาก็ไม่เชื่อ มันไม่มีพูดอยู่ในภาษาที่เขาพูดกันอยู่ก่อนตามปกติ ถ้ามีมัน มันมีไปอีกทางหนึ่งเช่นว่า สูญญตา ว่าง คือ ไม่มีอะไรเลย อนัตตา ไม่ใช่ตน ขอให้เล็งไปถึงสิ่งอื่นนอกเสียจากสิ่งที่เขาจะคิดว่ามันเป็นตน ที่เป็นตัวกู เป็นตัวตน คราวนี้ขออภัยที่จะพูดว่า พวกคุณกำลังอยู่ในสภาพอย่างนี้ เมื่อได้ยินคำพูดอย่างนี้จะรู้สึกอย่างไร เท่าที่ผมสังเกตดู ได้ยิน ได้ฟัง ก็รู้สึกว่าจับฉวยความหมายผิดกันอยู่มากๆ ทีเดียว คือยังไม่เข้าใจคำว่า สูญญตา อนัตตา นี่ หรือว่าเข้าใจแต่ตัวหนังสือและก็ไม่เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริง คือเข้าใจด้วยการใช้เหตุผล ไม่ได้เข้าใจถึงความรู้สึกอันแท้จริง อย่างนี้ก็มี เป็นเหตุให้กลัวส่วนที่ยังไม่เข้าใจหรือยังเข้าใจผิดอยู่ ถ้าอย่างนี้แล้วมันจะกลัวแล้วชวนเศร้า จนจะรู้สึกหว้าเหว่ ไม่อยากจะเอาด้วย ไม่อยากจะแตะต้องกับไอ้เรื่องชนิดนี้ ถ้าประกอบกับที่ว่าเรายังไม่รู้สึกว่ามีปัญหาอย่างนี้ ไม่รู้สึกว่าเราจะต้องใช้สิ่งนี้แก้ปัญหาเกี่ยวกับความทุกข์ของเรา บางทีเราก็ไม่รู้สึกว่าเรานี่เป็นทุกข์ ว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ หรือความเป็นไปในชีวิตทั้งหลายนี้มัน มันเป็นความทุกข์ชนิดที่ซ้อนเร้นอยู่อย่างหนึ่ง มันเหมือนกับว่าแบกของที่เรารักไว้ นี่ถึงมันจะหนักแต่เราก็ไม่ค่อยจะรู้สึกว่าหนัก ยินดีที่จะแบก จึงไปพอใจที่ ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ที่ทุกข์ว่าสุขหรืออนัตตาว่าอัตตา อีกอย่างหนึ่งปัญหาสูงสุดยังไม่เกิดและเราก็ยังพอใจที่จะเอากับไอ้สิ่งที่เรียกว่าต้องแลกเอาด้วยความทุกข์ เพราะเราเข้าใจว่าเป็นความสุขก็ต้องแลกเอาด้วยความทุกข์ ก็ต้องลงทุน นี่จึงพูดว่ามีความรู้สึกอยู่อย่างหนึ่ง ความเข้าใจ ความคิดเห็น ความหมายมั่นอยู่อย่างหนึ่งเป็นปกติธรรมดาสามัญของคนทั่วไป ยังไม่ทันจะค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นรู้ตามที่เป็นจริงและก็ลงตรงกันข้ามจากที่รู้สึกอยู่เดี๋ยวนี้ นี่เมื่อผมจะพูดให้คุณเกิดความรู้สึกตรงตามที่เป็นจริงเดี๋ยวนี้ มันก็คล้ายๆ กับคนพูดบ้าๆ บอๆ อะไรอย่าง หรือมันไม่ถูกฝาถูกตัวกันก็ได้ มันจึงเกิดเป็นการติดตันหรือไปไม่ได้ ที่จะชักชวนให้เข้าใจเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นยังไม่ได้ เพราะว่าเข้าใจคำพูดนั้นไม่ได้เพราะว่าจิตใจมันยังต้องการจะมี จะได้ ในสิ่งที่มันได้อย่างอก ได้อย่างใจ คือ เที่ยง ว่าน่ารักน่าพอใจเอามาเป็นตัวกู เอามาเป็นของกูได้ มันมั่นหมายที่จะได้อย่างนี้ นี่คืออาการที่มันลำบากอยู่บ้างที่ต้องขอร้องล่วงหน้าว่าลองดูไปก่อน ถ้ายังไง ถ้ายังไม่เชื่อก็ได้ให้ลองดูไปก่อน ว่าที่เขาพูดไว้ในภาษาธรรมว่าจริงไหม อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อะไรต่างๆ ว่าจริงไหม แล้วเราจะเอามาใช้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร
เท่าที่ผมได้สังเกต ได้ศึกษา ได้สังเกต ได้รวบรวมมาสังเกตดูตั้งแต่แรกๆ แรกเริ่มเดิมทีจนบัดนี้รู้สึกว่ามันมีทางที่จะมาใช้เป็นประโยชน์ ถ้าเราเข้าใจสิ่งเหล่านี้พอสมควร แม้แต่เด็กๆ นี่ ถ้าเข้าใจเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พอสมควร เด็กคนนั้นก็ยังจะได้รับประโยชน์จากธรรมะประเภทนี้ เดี๋ยวนี้ไม่มีเวลาสอนกันเลย ไม่มีเวลาอบรมให้มองดูสิ่งต่างๆ ในลักษณะที่ตามธรรมชาติแท้ๆ ของมันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยเหตุที่มี ความรัก ความยึดมั่น อะไรเสียแน่นแฟ้น มันจะไม่มองในแง่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันจะมองหาแต่ที่เป็น (นาทีที่23:13) เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา อยู่เรื่อยไป โดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาวเดี๋ยวนี้ความรู้สึกในจิตใจมันก็มีอยู่ แสดงอยู่ชัดว่าเรามองหาอะไร เรามั่นหมายในสิ่งใด เรามั่นหมายให้มัน ให้ได้สิ่งที่เป็น นิจจังคือเที่ยง สุขขังคือสุข อัตตาคืออัตตา แล้วธรรมชาติแท้ๆ มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ก็แปลว่าเราบ้าหรือดี คือว่าเรามันปรารถนาอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงหรือเปล่า ถ้ามันไม่ตรงตามความเป็นจริงมันจะเกิดอะไรขึ้น ขอให้ลองคิดดู มันก็ต้องมีไอ้ความผิดหวังมากเท่าที่เราหวัง เพราะมันผิดกันอยู่ ไขว้กันอยู่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ต้องผิดหวังเท่าที่เราหวัง หวังไอ้ที่มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มากลายเป็นเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตา นี่มัน มันหวังผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ต้องขอให้ไปสังเกตดูบ้างว่าไอ้ความรู้ทางธรรมะนี้มันจะช่วยได้อย่างไร หรือมันจะเป็นโทษ เป็นอันตราย เป็นเครื่องทำความไม่พอใจไปเสียทั้งหมด ถ้ามันเกิดอะไรผิดหวังขึ้นก็ขอให้แยกดู ๓ อย่างนี่ เราต้องไปหวังผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้มันเที่ยงมันผิดหวังก็เกิดทุกข์ขึ้นมา ให้มันสุขมันก็ผิดหวัง ให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการคือเป็นอัตตาของเรามันก็ผิดหวัง จะต่อรองกันอย่างไรที่เอาอยู่ตรงกลาง มันก็คงจะเปลี่ยน ต้องเปลี่ยน มันเปลี่ยนโดยประการอื่น เพราะว่าท่านสอนไว้โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยประการอื่น คำว่าโดยประการอื่นนั่นแหละเข้าใจดีๆ เพราะว่ามันต้องการโดยประการที่จะเป็นของเรา อยู่ในอำนาจเรา ได้อย่างอกอย่างใจของเราแล้วมันต้องการอย่างนี้ แต่ธรรมชาติมันไม่เป็นอย่างนั้นมันเป็นโดยประการอื่น เขาสอนไว้ถูกต้องตามที่เป็นจริงเป็นอนัตตา ว่ามัน มันจะไม่เป็นอย่างนั้นได้ มันจะไม่เป็นตามชอบใจของคนนั้นได้ ที่นี้ถ้าเรารู้เรื่องนี้เราก็เตรียมตัวสำหรับที่จะแตะต้อง ไปจัดการกับสิ่งที่มันจะไม่เป็นไปตามความต้องการของเราได้คือเป็นอนัตตา มันจะไม่คงที่ ไม่เที่ยงแท้ คือไม่คงที่ มันเปลี่ยน แล้วจะ จะให้มันสุข คือสุขอย่างที่เรียกว่าพออกพอใจอยู่ตลอดไปนี่มันก็ไม่ได้ ขืนพูดไปพวกคนเหล่านั้นเขาก็ยังจะเอาให้ได้ ก็ไปลองนึกดูในจิตใจของตัวเอง มันไม่ต้องการกัน ไม่ต้องการจะประนีประนอมหรือว่าจะต่อรองกันกับสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ต้องการจะให้ได้อย่างใจ ให้สุขและให้เที่ยงถาวรอยู่อย่างนี้ นี่มันต้องขออภัยที่ต้องเรียกว่า มันเป็นความโง่เหลือประมาณ เป็นอวิชชาเหลือประมาณ ถ้ารู้แล้วมันก็ต้อง ต้องวางรูปเรื่องกันใหม่ ที่จะเกี่ยวข้องกันกับสิ่งที่โดยแท้จริงแล้วไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ไม่ได้หมายความว่าหมดหวังที่ว่าเราจะทำอะไรให้ได้ประโยชน์ ให้เป็นประโยชน์ ถ้าจะพูดเลยไปถึงแม้แต่ตัวประโยชน์นั้นมันก็ไม่เที่ยงหรือเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ไปคิดดูให้ดี แล้วมันจะเป็นประโยชน์อะไรแก่เรา มันอยู่ที่เราต่างหาก สิ่งเหล่านั้นมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่มันมีประโยชน์ ถ้าเป็นเรื่องทางวัตถุ เป็นข้าวปลาอาหารมันก็กินได้บำรุงร่างกายอยู่ได้ ความคิดนึกรู้สึกก็เหมือนมันเปลี่ยนได้ มันก็คือฉลาดขึ้นได้ เพียงแต่เราไม่ไปมั่นหมายให้มันตรงกันข้าม มันก็ไม่ทำอันตรายอะไรแก่เรา หากแปลว่าเข้ารูปเข้ารอยกันเสียกับไอ้ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์หรือความเป็นอนัตตานั่นนะ มันจะไม่ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา เชื่อไหมนี่ยิ่งพูดไปยิ่งเป็นปัญหา ก็แล้วใครจะรับผิดชอบ ก็เราเกิดมาเพื่อจะเป็นเจ้าของปัญหานี้หรืออย่างไร จริงๆ เราก็เกิดมาโดยที่ไม่รู้ว่าเราเกิดมาทำไมนะ พอมาพบกันเข้ากับสิ่งเหล่านี้ก็เกิดเป็นปัญหาขึ้น คือถ้าเข้าไปจัดการกับมันถูกต้องก็ไม่มีความทุกข์ พอเข้าไปจัดการหรือเกี่ยวข้องมันไม่ถูกต้องมันก็เกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมา ทีนี้คนก็เข้าใจว่าทุกข์ก็เอา เป็นทุกข์ก็เอา นี่มันคงจะเตลิดเปิดเปิงไปอีกทางหนึ่งอีก ยอมร้องไห้ ยอมฆ่าตัวตาย ยอมอะไรก็ว่ากันไป ขอให้ได้สนุกสนาน ให้ได้พอใจเอร็ดอร่อยกัน เรื่อยๆ ไปก่อนก็แล้วกัน
นี่คือข้อที่ผมพูดว่า ภาษาธรรมนี่ ภาษาในวิชาธรรมนี่มันก็ล้ำลึกกว่าภาษาในวิชาโลกหรือวิชาชาวบ้านภาษาอาชีพ เราเรียนหนังสือก็สอบไล่ให้ได้แล้วหางานทำ แล้วก็หาเงิน หาเกียรติยศชื่อเสียง อำนาจวาสนา มันก็ถูก เรียกว่าถูก เพราะว่ามันไม่มีอะไรทำดีกว่านั้น แต่ถ้าไปหมายมั่นให้มันเที่ยง ให้มันสุข ให้มันเป็นอัตตา แล้วมันก็ผิดนะ มันโง่มันกัดเอาทันทีนะ คือเรามันโง่แล้วมันก็กัดเอาทันที ทั้งยอมให้ไอ้สิ่งที่เรากำลังทำหรือหวังอยู่หรือจะได้มาในอนาคตก็ตามให้เป็นไปตามเรื่องของมัน ตามความจริงของมันคือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือ สูญญตา คำเดียวก็ได้ แล้วก็ทำไปพร้อมๆ กันในลักษณะที่จะไม่เกิดเป็นความเจ็บปวดขึ้นมา คือยอมรับมันเสียว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วมันก็ไม่ทำอะไรเราได้ เมื่อมันเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ หรือไม่ได้อย่างใจอย่างนี้ หรือแม้แต่มันต้องเจ็บปวดขึ้นในบางคราวมันก็ไม่ได้รู้สึกอะไร ไม่ได้หวั่นไหว มันเป็นสิ่งที่เป็นอยู่อย่างนั้น ที่มันไม่เที่ยงมันก็แก้ไขได้ แก้ไขเป็นอย่างนั้นอย่างโน้นไปได้ ก็แก้ไขไปก็แล้วกัน อย่าไปทุกข์ อย่าไปร้อน อย่าไปวิตกกังวลล่วงหน้า และเมื่อมันเกิดขึ้นจริงๆ ก็อย่าไปทุกข์กับมัน ก็มองเห็นอยู่ว่าต้องเป็นอย่างนั้น นี่จะช่วยได้ว่าในวันหนึ่งๆ จะมีความทุกข์น้อยลง ถ้าเราไปลืม เรา เราไม่รู้เลยในข้อนี้ แล้วก็ทำผิด พูดผิด คิดผิด อะไรผิด มันก็ปฏิกิริยาออกมาเป็นความทุกข์มากมาย เพียงแต่หวังแล้วผิดหวังก็เป็นทุกข์มากมาย แล้วทำผิดลงไปด้วยแล้วก็ยิ่ง ยิ่งเสียหายมากขึ้นไปอีก เพราะนั้นขอให้ทราบกันในแง่ของภาษาที่พูด ภาษาพระอริยเจ้าท่านพูดกันเป็นแบบนี้ เมื่อชาวบ้านพูดว่า นิจจัง ท่านก็พูดว่า อนิจจัง เมื่อชาวบ้านพูดว่า สุขขัง ท่านก็พูดว่า ทุกขัง เมื่อชาวบ้านพูดว่า อัตตา ท่านก็พูดว่า อนัตตา เพราะความรู้สึกมันเกิดต่างกันแล้ว ชาวบ้านยังไม่รู้ ก็ทนรับความลำบากยุ่งยากเกี่ยวกับความไม่รู้นั้นไปพลางก่อน ทีนี้มัน มันสอนให้ทุกทีที่ทำผิดพลาด แล้วก็ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ รู้ วันหนึ่งมันก็รู้ ก็ทำเสียให้ถูก คือไม่ไปยึดมั่นถือมั่นให้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ตามที่เราต้องการด้วยอวิชชา อย่างจะเรียนหนังสือนี้ ก่อนนี้เราเรียนด้วยความหมายมั่นยึดมั่นร้อยเปอร์เซ็นต์ ใจมันก็กลัดกลุ้ม บางคนเขา เขาก็เถียง ว่าถ้าไม่หมายมั่นมันก็เรียน มันเรียนไม่จริง อย่างนี้ไปดูกันเสียใหม่ ถ้ามันหมายมั่นด้วยความยึดแบบนี้แล้วก็มันจริงไปไม่ได้ มันต้องมีความรู้อะไรที่ถูกต้องเจืออยู่บ้าง จะเรียกว่าหมายมั่นแต่เพียงว่าจะทำให้สำเร็จนี่แต่ไม่ได้ยึดเป็น ตัวกู ของกู อะไรมาก เด็กคนนี้จะเรียนได้ดีเพราะมีสมาธิดี แล้วถ้าหวังในเรื่อง ตัวกู ของกู อยู่ในเวลานั้นด้วย มันเรียนไม่ได้ จิตใจมันวุ่นวาย มันเรียนไม่ได้ ความรู้สึกมันเป็นไปตามความเข้าใจหรือความคิด ความตกลงใจ ถ้าเรามันมีความคิดเห็นผิด เชื่อผิด อะไรอยู่มันก็ยุ่ง เดี๋ยวนี้ก็ยอมรับว่าถ้ามันเกิดขึ้นในลักษณะที่ไม่ตรงกับความประสงค์ของเราไม่ตรงกับความหวังของเรา เราก็จะต้องยอมรับ และทำว่ามันเป็นของธรรมดาและก็ไม่ต้องเสียใจ ก็หาทางแก้ไข ทำต่อไป แก้ไข ทำต่อไป แก้ไข ทำต่อไป ต้องการอย่างไรก็ให้มันได้อย่างนั้น เมื่อมันเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนตัวเราเอง มันก็เป็นสิ่งที่สมควรที่จะกระทำ เรื่องมันก็ไม่หนัก คือไม่ได้หมายมั่นในสิ่งที่หนักๆ หรือแบกสิ่งที่หนักๆ เข้าไว้ ไปตามสบายแล้วก็เป็นเรื่องที่ถ้าผิดก็เป็นครู ถ้าถูกก็เป็นครู ใจคอมันเป็นนักเลงเสียอย่างนี้ ไอ้สิ่งที่ทำผิดก็ให้มันกลายเป็นสอนให้ทำให้ถูก คือพ่ายแพ้ สอบไล่ตก อย่างนี้ ก็กลายเป็นให้มันสอนให้สอบไล่ได้ในคราวหลัง ไม่ต้องมามัวเป็นทุกข์ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร นี่เรียกว่าตัวอย่าง คำแรก ที่เอามาแสดงให้เห็นว่าภาษาวิชาธรรมนี่มันล้ำลึกกว่าภาษาวิชาโลก
ที่นี้ก็ดูกันด้วยตัวอย่าง ชี้ให้เข้าใจข้อเท็จจริงอันนี้ยิ่งๆ ขึ้นไป ผมก็ได้เคยบอกแล้วถ้า ถ้าไม่ลืมคงจะยังนึกได้ว่าภาษาธรรม ภาษาธรรมะ เรื่องทางธรรมะ นี้มันเป็นเรื่องมุ่งหมายในทางจิตใจ ในภาษาคน ภาษาโลก นี้มันมุ่งหมายทางวัตถุ ทางเนื้อหนัง ทางร่างกาย ถ้าเข้าใจความต่างกันระหว่างจิตใจกับร่างกายแล้วมันก็เข้าใจคำพูดเหล่านี้ได้ เราเกิดมาในโลก รู้สึกแต่โลก ถูกสอนให้พูดจาภาษาโลก มั่นหมายอย่างโลกๆ คือเรื่องทางวัตถุ ทางร่างกายทั้งนั้น มันไม่มีใคร บิดามารดาคนไหนสอนให้ศาสนานิพพานหรือความสงบ ความเยือกเย็นแห่งจิต ความสงบแห่งจิต เพราะนั้นเราจึงอยู่ฝ่ายโลก รู้ภาษาโลก ภาษาธรรมะก็เป็น เป็นของประหลาดแก่เรา เป็นภาษาประหลาดยิ่งกว่าภาษาต่างประเทศเสียอีก คือเราจะไปเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศสได้ไม่ยากเลยทั้งที่ไม่ใช่ภาษาของเรา เพราะมันเป็นภาษาโลกๆ ด้วยกัน แต่พอเราจะไปเรียนภาษาธรรมะ ภาษาจิต ภาษาวิญญาณนี่มันยาก แล้วมันก็มีความแตกต่างกันอยู่กันเป็นชั้นๆ ชั้นๆ
จะยกตัวอย่างเรื่องคำว่า กิน ที่เนื่องกันมาในคำว่า กิน หรือ กาม หรือ เกียรติ นี่ไอ้คำที่มันเกี่ยวข้องกับมนุษย์มากที่สุดคือ เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ ยกตัวอย่างคำว่า กิน มาดูสักคำ ถ้ากินเพื่อความเอร็ดอร่อย แก่เนื้อแก่หนัง แก่ปากแก่ลิ้น นี้ก็อย่างหนึ่ง ถ้ากินเพราะมันอยู่ได้สะดวกสบายตามปกติ ไม่บูชาความเอร็ดอร่อยแก่ลิ้นนี้ มันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ทีนี้ถ้ามันกินผิดวิธีผิด เรื่องผิดราว แม้แต่ที่สุดมันมาก มากเกินกว่าที่ควรจะกิน นี้มันก็อย่างหนึ่ง อย่าเข้าใจว่ากิน กิน กิน เหมือนกันไปหมด ถ้าเรากินตามธรรมดาด้วยสติสัมปัชชัญะเหมือนที่พระเณรเราได้รับคำแนะนำอธิบายให้ ปัจจเวก ยะถาปัจจะยัง หรือ ปฏิสังขาโย นี่ กินให้สักว่าอัตภาพตั้งอยู่ได้สำหรับปฏิบัติหน้าที่ อย่างนี้ก็จะเรียกว่ากินอาหาร บริโภคปัจจัย ๔ กินอาหารก็ได้ แต่ถ้ากินเพื่อเอร็ดอร่อยนี่ต้องขับรถยนต์ไปกินอาหารกลางวันต่างอำเภอ ต่างจังหวัด อย่างนี้กินเพื่อเอร็ดอร่อย อย่างนี้ไม่ใช้กินอาหาร จะเรียกว่ากินเหยื่อ กินเหยื่อที่อะไรหรือไปอันหนึ่งเขาล่อไว้ ทำเบ็ด ไปกินเหยื่อ แล้วให้มันติดบ่วง เพื่อให้มันตายนี่ ตายทางไหนก็ตามใจ อย่างนี้ไม่ได้เรียก มันกินเหยื่อแล้ว กินเหยื่อที่เขาหุ้มเบ็ดนะ ความทุกข์ยากของพญามารมันซ้อนไว้ในนั้น เอาเหยื่ออร่อยๆ หุ้มไว้ข้างนอก คนเขาก็กินเหยื่อ
ที่นี้อีกทาง ตรงกันข้าม มันกินผิดวิธีเช่นว่า กินมากเกินไปมันก็ต้องเจ็บป่วยขึ้นมาหรือตายเลย ก็เลยกินยาพิษ กินยาพิษตามธรรมดา คือมันตายเพราะการกิน นี่อาหารที่เรากิน เอามากิน มันก็กลายเป็นกินเหยื่อเข้าไป กินอาหารก็ได้ กินยาพิษก็ได้ กินจนเกิดโทษนี้ก็กินยาพิษเข้าไป ที่กินเพื่อเป็นภาพของความเอร็ดอร่อยทางลิ้น มันก็กินเหยื่อเข้าไป ต่อเมื่อกินอาหารอย่างถูกต้อง ทั้งโดยปริมาณ โดยอาการ โดยต่างๆ นี่ถึงจึงจะเรียก เรียกว่าบริโภคอาหาร กินอาหาร ตามความถูกต้อง แต่ภาษาพูดของเราเรียกว่า กิน เสมอกันหมด นั่นแหละทำให้เข้าใจไม่ได้แม้แต่คำว่า กิน และถึงอย่างไรทั้ง ๓ คำนี้ กิน กิน กิน กินเหยื่อก็ดี กินอาหารก็ดี กินยาพิษก็ดี มันกินทั้งนั้น เป็นภาษาวัตถุ ภาษาเนื้อหนัง กินทางปาก คล้ายๆ ว่ามันเป็นเรื่องภาษาจิตใจ ภาษาธรรมะ ภาษาวิญญาณ ชั้นสูงสุดมันเป็นกินอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่ต้องกินทางปาก มันรู้สึกทางจิตใจ จะใช้คำว่า กิน ก็ได้ ใช้คำว่า ดื่ม ก็ได้ เช่น ดื่มรสของพระธรรม ใครเคยดื่มบ้าง ดื่มรสของนิพพาน ดื่มรสของอมตะ ดื่มรสของ อมฤต อมฤตรส อมตรส อย่างนี้ก็เรียกว่ากินได้ แต่ไม่ค่อยใช้ ใช้คำว่า ดื่ม พอพูดอย่างนั้นมันกลายเป็นภาษาจิตใจไปเสีย ไม่ใช่ภาษาร่างกาย คือเป็นภาษาธรรม ภาษา ภาษาธรรม ภาษาวิชาธรรม ไม่ต้องกินตามปาก ไม่ต้องมีวัตถุสิ่งของ มีแต่การทำจิตใจให้มันถูกต้อง ก็ได้รสอะไรอันหนึ่งเกิดขึ้นมาในใจแล้วก็ได้ดื่มกินในรสนั้น อยู่ด้วยความเป็นสุข กระทั่งสูงสุดเรียกว่า ดื่ม ดื่มน้ำอมฤตนั่นแหละ นี่มันเป็นภาษาอีกภาษาหนึ่ง ซึ่งเราอาจจะยังไม่รู้จักว่าดื่มน้ำอมฤตนี่ดื่มอย่างไร เดี๋ยวไปแปลเป็นเหล้าแล้วไปกินเหล้าเข้าไปอีก มันก็มากินทางปากอีก มันเป็นอมฤตไปไม่ได้ ตั้งแต่เราเกิดมาจนบัดนี้ เราได้เคยดื่มรสแห่งอมฤตหรือเปล่า มัน.(นาทีที่ 44:20.). มันก็ปรากฏชัด แต่เราเคยกิน กิน กิน นี่หลายๆ ที บางทีกินเหยื่อ บางทีกินอาหาร บางทีกินยาพิษ บางวันก็กินจนท้องขึ้นท้องเสีย ในทางตรรกะเหมือนการกินยาพิษ มากินตามปกติก็ได้กินอาหาร บางวันกินอย่างเป็นเหยื่อ ซื้อของแพงๆ มากินเหมือนกับอย่างบำรุงกิเลสทั้งนั้นเรียกว่า กินเหยื่อ อย่างนี้เราคุ้นเคย เรารู้จักดี ขอให้สังเกตเปรียบเทียบอย่างนี้ นี่ไม่ได้แกล้งว่าใคร คนใดคนหนึ่ง แต่ว่าเอามาให้เปรียบเทียบดูเพื่อให้เข้าใจไอ้ภาษา ๒ ภาษา
ภาษาจิตใจ
ภาษาธรรมะ
วิชาธรรมะก็มีอยู่ภาษาหนึ่ง ภาษาชาวบ้าน ภาษาวัตถุ ร่างกาย เนื้อหนัง มันก็มีอีกภาษาหนึ่ง นี้ก็พูดเป็นภาษาแห่งจิตใจกับว่าภาษาวัตถุหรือร่างกายเป็นคู่ๆ คู่ๆ กันไป เกี่ยวกับคำว่า ได้ ถ้าได้ในภาษาร่างกาย ภาษาวัตถุ มันก็ได้วัตถุมา ถ้าเป็น ได้ ในภาษาจิตใจ ภาษาธรรมะ มันก็ได้ธรรมะมา ไอ้ของ ๒ อย่างนี้มันเหมือนกันไม่ได้ มันตรงกันข้ามตามเคย มันจึงเกิดเป็นคำพูดขึ้นมาแปลกๆ เพื่อแสดงแห่งความจริงข้อนี้ คือว่าถ้าเป็นภาษาธรรมะแท้ๆ ก็กลายเป็นพูดว่า ต่อเมื่อไม่เอามันจึงจะได้ คือไม่เอา ไม่มั่นหมายจะเอา ไม่ยึดมั่นถือมั่นในการเอาหรือเอาเป็นการเอานี่ เมื่อไม่ ไม่เอา ไม่เอากันเลยนี่จึงจะได้ คือได้ความสงบเย็น ได้ความชนะกิเลสหรือได้รสของพระนิพพานนั่นมา ได้สิ่งที่ดีเลิศในทางจิตใจมาเพราะไม่เอา ไม่เอาสิ่งต่างๆ ที่ชาวบ้านเขาเอากันอยู่
ทีนี้พูดภาษาโลก ภาษาชาวบ้าน เขาก็ต้องเอาจึงจะได้ ต้องการเงิน ต้องการของ เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ เรื่องอำนาจวาสนา ต้องเอา ต้องหา ต้องสะสม ต้องทั้งนั้นแหละ มันก็เลยตรงกันข้ามอยู่อย่างนี้ ภาษาชาวบ้าน ภาษาโลก โลกก็เอาจึงจะได้ หาจึงจะได้ เอามาก็สะสมไว้แล้วจึงจะมี ตรงกันข้ามกับภาษาธรรม ภาษาจิตใจ ภาษาวิญญาณ ซึ่งไม่ต้องการสิ่งเหล่านั้น ต้องขว้างสิ่งเหล่านั้นออกไป สลัดสิ่งเหล่านั้นออกไป นี่ถ้า ถ้ามันมีอยู่ แล้วก็ไม่เอามาอีก แล้วไม่เอาอะไรในทำนองนั้นมันจึงจะได้ไอ้สิ่งที่เราได้ดื่มรสแห่งอมฤต เป็นต้น
ที่นี้คำว่า ได้ ในภาษาธรรมะเขาต้องไม่เอาจึงจะได้ ภาษาโลกก็เอาให้มากเข้าไว้จึงจะได้ ที่นี้เราจะเอาอย่างไรดี ไปคิดเอาเองก็ได้อย่างเป็นอิสระ ถ้าเราต้องการได้อย่างโลกๆ เราก็เอาแบบนั้น ถ้าเราอยากได้อย่างธรรมะเราก็เอาแบบนี้ ถ้าเราจะต่อรองกันบ้าง คือว่าชีวิตนี้ยังเป็นปุถุชนมากเกินไป เราก็รู้จักทำให้มันเป็น ๒ อย่าง บางเวลาเราก็ได้เงิน ได้ของ ได้วัตถุ นั้นมาก็เอาไว้ หรือบางเวลาเราก็มาได้อย่างนี้บ้าง คืออย่าไปยึดมั่นถือมั่น อย่าไปวิตกกังวล อย่าไปหวงแหน อย่าไปอะไรกับวัตถุเหล่านั้น ก็เหมือนกับไม่เอาหรือมันก็ไม่รู้ไม่ชี้ ตอนนี้จิตใจมันก็สงบลงไป คือมีอาการแห่งผู้ไม่เอา ผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่น ผู้ไม่แบก ไม่ทูน ไม่อะไร เอาไว้ในบางคราว มันเป็นอย่างนี้ เหมือนกับที่มันก็เป็นอยู่แล้ว สังเกตดูให้ดี ถ้าเอาอย่างนั้นตลอดเวลามันก็ตายแล้ว มันเป็นโรคจิต เป็นโรคประสาทตายแล้ว ที่นี้เวลาที่เราไม่เอา ไม่ได้เอา ไม่ได้เจตนาจะไม่เอาแต่มันก็เหมือนกับไม่เอา เช่นเวลาเรานอนหลับ เป็นต้น มันก็เท่ากับไม่เอาอยู่แล้ว มันก็ได้รับการพักผ่อน แต่ถ้าเรารู้จักทำจิตให้ปล่อยวางมากกว่านั้น มันก็เป็นการพักผ่อนมากกว่านั้น คือมันได้ความสงบ ได้ความเยือกเย็นมากกว่านั้น ได้อยู่กับรสของความสงบมากกว่านั้น แล้วก็ไม่เป็นโรคเส้นประสาท ไม่เป็นบ้าตาย ไม่ เป็นโรคร้ายกาจอะไรต่างๆ ตาย โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายผมสังเกตเห็นว่ามันมาจากความผิดทางจิตใจ ความผิดทางจิตใจ หมายถึง วิตกกังวล เรื่องยึดมั่นถือมั่นนี้มันข้อใหญ่ มันค่อยๆ เปลี่ยนแปลง เสื่อมทราม ออกไปจนเกิดโรคนั้นโรคนี้ขึ้นได้ทุกอย่างทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคกระเพาะอาหารจะเกิดมาจากความวิตกกังวลไม่รู้สิ้นสุดของจิตใจ มันก็มากไปก็เป็นเรื่องความดันสูงบ้าง เรื่องหัวใจบ้าง อะไรบ้าง ในที่สุดแต่ที่มันเกิดโรคพุพองขึ้นมาที่ผิวหนังก็เพราะโลหิตมันเสียไป มันไม่ต่อสู้เชื้อโรคต่างๆ ได้ มันถึงเกิดโรคพุพองผิวหนังขึ้นมา ทำไมโลหิตมันถอยกำลังอย่างนั้น ก็เพราะมันมีเรื่องทางจิตใจทำให้โลหิตมันถอยกำลังอย่างนั้น เพราะนั้นการที่มีความถูกต้องในทางจิตใจนั้นมันทำให้มีความถูกต้องในทางร่างกายนี่มากขึ้น เพราะนั้นลองจำไว้แล้วเอาไปคิดดูด้วยว่าไอ้ไม่ได้ และไม่เอาจะได้ ได้และจะได้ที่ดีที่สุดนี่ ที่นี้ถ้าเอาแล้วมันไม่ได้ ไม่ได้สิ่งนั้นแล้วไปได้สิ่งที่เลวๆ ที่เอามาทำตัวให้ลำบาก มีความหมายมั่นว่ากูได้นั่น ได้นี่ ระวังให้ดีได้อะไรมา ประสบเอาแต่ความฉิบหายมากกว่า คือเอามาให้เป็นทุกข์ นี่ไม่ ไม่เอาจึงจะได้ ยิ่งไม่เอาก็ยิ่งได้ ยิ่งไม่เอาเลยก็ยิ่งได้หมด ถ้าว่าภาษาทางธรรมะ
ที่นี้จะพูด แล้วจะยกตัวอย่างไอ้เรื่องขำๆ ถึงอาจจะเป็นของแปลกหรือขันก็ได้ สำหรับพวกที่ไม่เคยคิดเคยนึก มันเกิดเป็นภาษาที่ต้องแยกกันอีกแหละ เป็นภาษาฝ่ายจิตใจ ฝ่ายร่างกาย หรือภาษาฝ่ายสูง ภาษาฝ่ายต่ำ อย่างนี้เขาเรียกกันว่า ภาษาฝ่ายศีลธรรม กับ ภาษาฝ่ายปรมัตถธรรม
ศีลธรรม นี้พื้นฐานธรรมดาสามัญ
ปรมัตถธรรม ลึกซึ้ง สูงสุด เข้าใจยาก
มันคนละภาษากันมาอีก ภาษาศีลธรรม นี่ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นว่า ให้มีปากกับใจตรงกัน ให้เป็นคนซื่อสัตย์ ให้ไว้ใจได้ ปากกับใจตรงกัน ที่นี้คุณก็เข้าใจได้แล้วไม่มีใครค้าน แต่พอภาษาปรมัตถธรรม นี่สำหรับพูดไปทางตรงกันข้าม เราต้องปากกับใจไม่ตรงกัน จงเป็นคนที่มีปากกับใจไม่ตรงกัน จึงจะถูกต้องและจะไม่มีความทุกข์ เมื่อปากพูดไปตามภาษาที่ชาวบ้านเขาพูดเราก็พลอยผสมโรงพูดกับเขา พูดไปแต่ในใจของเราไม่รู้สึกอย่างนั้น เช่นว่า เมื่อเราพูดว่าตัวฉัน อย่างนี่ ถ้ามีความรู้ทางปรมัตถธรรมแล้วจะรู้สึกว่า เรามิได้มีตัวเราหรือมีตัวฉัน แต่เราต้องพูดอย่างชาวบ้านพูด เพราะนั้นเราต้องพูดว่ามีตัวฉันหรือของฉัน พระพุทธเจ้าท่านก็พูด ที่ต้องพูดด้วยโวหารที่ชาวบ้านพูด เขาเรียกว่า โลกโวหาร พูดเป็นตัวฉัน ของฉัน เป็นตุเป็นตะ ไปตามชาวบ้านพูด แต่ในใจของท่านไม่เป็นอย่างนั้นเลย ถึงแม้เรานี่ที่กำลังประพฤติปฏิบัติอยู่ ยังไม่เป็นพระอรหันต์ แต่กำลังพยายามที่จะให้ดับทุกข์ได้เป็นพระอรหันต์นี่ เราศึกษาจนรู้เรื่องโดยแท้จริงเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีตัวเรา มีธรรมชาติที่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ แต่เรายังพูดว่าของ ของอาตมา ของข้าพเจ้า ของฉัน อยู่ตลอดเวลานี่ แล้วถ้าใครเกิดไปมีความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ตรงเหมือนปากพูดเข้าแล้ว คนนั้นก็ไม่มีธรรมะเลย แล้วมันจะเกิดการโกหกขึ้นในทางที่ว่า มีรูปร่างเป็นพระเป็นเณร อย่างนี้ แล้วยังมีจิตใจอย่างนั้น ด้วยพูด ด้วยปากอย่างนั้นด้วย มันก็หมดเลย มันก็หมดความเป็นพระเป็นเณร คือผู้ที่รู้ธรรมะอันแท้จริงว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเป็นพระเป็นเณร ปัจจเวก ยะถาปัจจะยัง ไม่ใช่ตนอยู่เรื่อยนี่ หมายใจว่าต้องรู้อย่างนั้น ไม่ใช่ตน นิสสัต โต นิชชีโว สุญโญ ธาตุมัตตะเมเวตัง แต่ปากก็ยังต้องพูดว่าฉัน ว่าข้าพเจ้า ว่าของข้าพเจ้า ว่าของเราหรือเรากิน เราอะไรอยู่ มันต้องมีสติระวังอย่าให้ปากกับใจตรงกัน นี่พูดปากอย่างใจอย่าง กลายเป็นหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง ก็ต้องปฏิบัติสำหรับในแง่ของปรมัตถธรรม แต่ถ้าในแง่ของชาวบ้าน แง่ของศีลธรรม ก็ต้องพูดปากกับตรง ใจตรงกัน ไปเรื่อง คือต่ำลงไปเรื่อย คือว่าพูดจริง พูดคำสัตย์ นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ไอ้คำพูดมัน อะไร สับปลับ ไอ้คำที่เราใช้พูดกันอยู่มันเกิดการกำกวม มันหนักขึ้น หนักขึ้น ไอ้ความกำกวมมันกลายเป็น ความสับปลับ พูดอย่างนั้นกลายเป็นใช้ไม่ได้ หรือว่าคำพูดนี้ ถ้าพูดอย่างนี้ใช้ได้ พูดอย่างนี้ใช้ไม่ได้ ประโยคอย่างนี้ใช้กับชาวบ้านได้ใช้กับพระอรหันต์ไม่ได้ ประโยคอย่างนี้ใช้กับพระอรหันต์ถูกต้องแต่ใช้กับชาวบ้านไม่ได้ ใช้ไม่ได้ ไม่มีทางจะใช้ เพราะนั้นก็จำตัวอย่างที่ผมเอามาพูดให้ฟัง แล้วก็พูด ภาษาชาวโลก ภาษาอาชีพ ภาษาศีลธรรม เขาพูดปากกับใจตรงกัน อย่างเดียวกัน จะเป็นเรื่องธรรมะชั้นลึกแล้วผู้นั้นจะกลายเป็นบุคคลที่ปากอย่างใจอย่าง ใจมองเห็น อนิจจัง ทุกขังอนัตตา สูญญตา อยู่ แต่เวลาพูดต้องไปพูดภาษาของชาวบ้านที่เห็นแต่ นิจจัง สุขขัง อัตตา ซึ่งต้องไปพูด ว่ามี ว่าได้ ว่าเสีย ว่าจริง ว่าอย่างนั้น ว่าอย่างนี้ ตามประสาชาวบ้านพูด นี่ภาษาที่มันกำกวมแล้วมันเกิดลำบากขึ้นมา หากแต่ผู้ที่จะศึกษาธรรมะโดยใช้ภาษานั้นๆ ทั้งรู้จักแยกออกไปเสียให้มันเป็น ๒ ส่วนอยู่ ภาษาธรรมะอย่างหนึ่ง ภาษาคนธรรมดา ภาษาชาวโลกนี้อย่างหนึ่ง นี้เรากำลังพูดแยกกันมาตลอดเวลาในการบรรยายนี้ว่า วิชาธรรมสำคัญกว่าวิชาชีพ วิชาชีพเป็นเรื่องโลกไปทางโลก มันก็เล่นตลกไปตามประสาโลกหาความจริงอะไรไม่ได้ มันต้องเป็นจริงสมมติอยู่เรื่อยไป ส่วนภาษาธรรม วิชาธรรมนั้นเป็นเรื่องจริง จริงอย่างปรมัตถ์ไม่สมมติกันนะ
ทีนี่พูดตัวอย่างต่อไปอีกบ้างเล็กน้อยว่า ตาย ตามธรรมดา ตายเมื่อตายนี่ มันก็ตายอย่างธรรมดาที่คนรู้จักกันดี ตายแล้วก็เป็นผี นี่ภาษาโลก ภาษาชาวโลก ถ้าตายอย่างภาษาธรรมชั้นสูงสุด ชั้นปรมัตถธรรมนี่ เขาไม่ได้ตายที่ร่างกาย มันเป็นเรื่องตายของความรู้สึกด้วยอุปปาทานว่า ตัวกู ว่า ของกู อุปปาทานว่า ตัวกู ของกู มันตาย แล้วมันจึงตายได้ก่อนแต่ที่ร่างกายนี้จะตาย แล้วต้องเรียกว่าตายก่อนตาย ถ้าตายก่อนตายแล้วมันก็ นิพพาน ไม่ตาย ไม่เป็นผี เมื่อคุณเรียนหนังสือ เด็กๆ เรียนเรื่องภาษา เรื่องราชาศัพท์ อะไรต่างๆ นี่ มักจะถูกสอนว่า นิพพาน แปลว่า ตาย ใช้สำหรับพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ใช่ไหม นี่มันสอนผิดอย่างจังเลยที่แปล นิพพาน ว่าตายใช้กับพระอรหันต์ ที่จริงคำว่า ตาย หรือ นิพพาน มันไม่ใช่อันเดียวกัน ถ้าจะให้ว่าพระอรหันต์ตายนี่ต้องตายเสร็จตั้งแต่ก่อนตาย แล้วตายเมื่อหมดกิเลส คนมันตายไปหมดไม่เรียกว่า นิพพาน เพราะว่าดับแห่งกิเลส ดับไปหมดนี่ ร่างกายไม่ได้ตายหรอก เพราะนั้น นิพพาน ที่แท้จริงนั้น มันเป็นเรื่องตายก่อนตาย ก็แปลว่า ตายสำหรับกิเลส สำหรับความทุกข์ สำหรับอะไรหมด เหลืออยู่ก็เป็นไม่ตาย ต่อไปนี้ไม่มีตาย เพราะว่าไม่มีตัวฉันอีกแล้ว ไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวฉันอีกแล้ว ความโง่ ความหลง ว่าตัวฉันตาย เมื่อ เมื่อเป็น เมื่อ เมื่อหมดความกิเลส เมื่อสิ้นกิเลส เมื่อเป็นพระอรหันต์นั้นตาย แล้วก็ตายก่อนร่างกายตาย มันจึงไม่มีการตายอีก มันไม่มีตัวฉันเสียแล้วอะไรมันจะตายอีก ที่นี้เมื่อเขา เมื่อร่างกายตายลงไปจะเผาจะฝังอันนี้มันก็ไม่ใช่ตายแล้ว มันไม่มีตัวฉันที่จะตายอย่างนั้นอีกทีหนึ่งแล้ว สำหรับพระอรหันต์ ที่นี้เมื่อเป็นเรื่องชาวบ้านพูด ก็พูดผิดๆ ไม่ก็ว่า นิพพาน อันแท้จริงไม่ได้แปลว่า ตาย แม้แต่สำหรับพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ก็ตาม ถ้าจะให้แปลว่าตาย ก็ต้องแปลว่า ตายอีกชนิดหนึ่ง คือตายทางภาษาธรรมะ คือตายเสียก่อนร่างกายตาย ภาษาธรรมดาตาย ก็คือร่างกายตาย เอาใส่โลง ไปเผา ไปฝัง อย่างนี้ ก็เรียกว่า ตายในภาษาธรรมดา ตายก็ไปเป็นผี ถ้ามันตายอย่างคนธรรมดาตายก็ไปเป็นผี มีตัวฉันที่ไม่อยากตาย ตายแล้วได้เป็นผีเพราะความหวัง มันยังอยู่ มันไม่อยากตาย มันอยากจะมีตัวฉันอยู่ นั่นแหละมันเหลืออยู่เป็นผี เพราะนั้นตายไปเป็นผี ที่นี้พระอรหันต์ท่านรู้เรื่อง ไม่มีตัวตนดี ไม่มีความหวังอะไรเกี่ยวกับตัวตนก็หมดกิเลส ก็ตายไปแห่งกิเลสแล้วมันก็ไม่มีอะไรจะตายอีก อย่างนี้ก็เรียกว่าตายเสียก่อนร่างกายตาย แล้วก็ไม่เป็นผี ไม่เป็นอะไร นอกจากเป็นสิ่งที่ไม่รู้จักตาย ทำอีกต่อไป
นี่ ผมยกตัวอย่างมาให้ฟังอย่างนี้ ให้มันเพียงพอสำหรับวันนี้เสียเลย จะพูดกันแต่ตัวอย่างของคำพูดที่ทำให้เรางงไปหมด ที่นี้จะพูดไว้ เผื่อไว้กันประมาท ว่าอย่า ว่าไม่ต้องพูดถึงพุทธศาสนาอันประเสริฐสุดของเราหรอก แม้แต่ศาสนาคริสเตียนเขาก็พูดเป็น ว่าถ้าแกไปกินผลไม้ต้นนั้นทำให้เกิดความรู้สึกยึดมั่นว่าดี ว่าชั่ว แล้วแกก็ต้องตาย คือมีความทุกข์ ต่อเมื่อไม่มีความ ไปกินผลไม้ต้นที่ทำให้มีความยึดมั่นถือมั่น เรื่องดี เรื่องชั่ว โน้น จึงจะมีชีวิตนิรันดรคือ ไม่ตาย เขาก็พูดเป็นเหมือนกัน ตายในความหมายหนึ่งว่าเป็นทุกข์ หมายถึง เป็นทุกข์ มีชีวิตอยู่ก็เท่ากับว่าตายแล้ว อย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านก็พูด คือคนโง่มีชีวิตอยู่ก็เหมือนกับตายแล้ว คนประมาทถึงอยู่ก็เหมือนกับตายแล้ว พอหมดความ พอหมดความประมาทก็เลยไม่ตาย รู้จักเปรียบเทียบภาษาที่ทำให้ ให้งง ให้ฉงน อย่างนี้ไว้บ้าง ที่ว่ารู้ดี รู้ชั่ว มันมีอยู่ ๒ ความหมาย รู้จักว่านี้ดี รู้จักว่านี้ชั่ว สำหรับจะยึดถือ ดีก็รักก็เอากันใหญ่ ที่ชั่วก็จะฆ่ากันเสีย จะอะไรมันเสีย ก็เกิดความรู้สึกที่มันตรงกันข้ามขึ้นมา นี่ก็รู้จักดี รู้จักชั่ว สำหรับจะยึดถือย่างนี้เรียกว่า โง่ ก็คือ ตาย ถ้ารู้จักดี รู้จักชั่ว ในลักษณะที่ว่ามัน มันไม่ใช่สิ่งที่ยึดถือได้ทั้งดีและทั้งชั่ว รู้จักทั้ง ๒ อย่างเสมอกันว่า ไม่ใช่สิ่งที่จะยึดถือเป็นตัวเรา ของเรา ได้ จิตมันก็วางเฉย ไม่เกิดเป็น ตัวกู ของกู ขึ้นมาก็ไม่มีใครตาย เพราะมันไม่มี ตัวกู ของกู ก็เป็นอันว่าไม่มีใครตาย ก็ไปยึดมั่นดีชั่ว มันมีอยากดี อยากชั่ว มีตัวผู้อยาก มีตัวกูผู้อยาก ผู้ได้ ผู้ยึดครอง นี้มันก็มีตัวกูแล้วมันก็ต้องตาย นี่เรารู้ดี รู้ชั่ว กันหรือยัง พวกเรานี่รู้ดี รู้ชั่ว กันหรือยัง รู้จักสิ่งดี สิ่งชั่ว กันหรือยัง แต่ถ้ารู้จัก รู้จักในแง่ไหน รู้จักในแง่ที่ทำให้เราเป็นทุกข์ คือ ตาย หรือว่าจะรู้จักในแง่ที่ให้เราไม่มีความทุกข์อีกต่อไป จึงเรียกว่าไม่มีตัวเราขึ้นมา แล้วก็ไม่มีอะไรจะตาย นี่เรียกว่า ความตลบแตลงหรือความสับปลับอะไรของคำพูด พูดเหมือนกัน รู้ดี รู้ชั่ว รู้จักดี รู้จักชั่ว แต่อันหนึ่งมันรู้จักสำหรับจะยึดถือเอา ยึดถืออย่างดี ยึดถืออย่างชั่ว คือรัก คือโกรธนั่นแหละ คือยินดี ยินร้าย นั่นแหละ สำหรับจะยินดี ยินร้าย จะยินดีกับฝ่ายหนึ่ง จะยินร้ายกับฝ่ายหนึ่ง เพราะมันไปรู้จักว่าดี ว่าชั่วเข้า ถ้าไม่รู้จักว่าดี ว่าชั่ว มันก็ไม่ไปยึดถือว่ายินดี ยินร้าย เหมือนกัน เพราะมันยังไม่รู้ แต่นี่มันรู้ เกิดรู้ขึ้นมาในแต่เพียงเท่านี้ มันก็เลยเกิดยึดมั่นถือมั่น เรื่องดี เรื่องชั่ว แล้วก็เลยเป็นทุกข์ ที่นี้ต่อมาอีกก็รู้ว่า อ้าว, ทั้งดี ทั้งชั่ว ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ก็เลยไม่เกิดความทุกข์ นี่จึงเรียกว่า รู้ดี รู้ชั่ว รู้จักดี รู้จักชั่ว ที่ถูกต้อง ทีแรกมันไม่ มันรู้ผิด หรือก่อนหน้านั้นมันอาจจะไม่รู้เลย ไม่ได้ ไม่ได้ คำนึงถึงว่าเขามีดี มีชั่ว อะไรกันที่ไหน นั่นเป็นคนป่ามากเกินไปนี่ก็ไม่รู้ดีชั่วอะไรที่ไหน แต่ว่าไปรู้ อ้าว, นี่เขาเรียกว่าดี นี่เขาเรียกว่าชั่ว แล้วก็ไปยึดถือดีอย่างยิ่ง ชั่วก็อย่างยิ่ง ไปเป็นทุกข์เพราะยึดมั่นดีชั่ว ต่อมาอีกเจริญทางจิตใจขึ้น อ้าว, ไม่ไหว ทั้งดี ทั้งชั่ว ไม่ต้องยึดถือ อย่างนี้ ก็เลยไม่มีทุกข์ เพราะสิ่งที่มันมีอยู่ในโลกนี้ที่แบ่งเป็นดี เป็นชั่ว ตามความรู้สึกของคน ได้เป็นที่พอใจอะไรก็เรียกว่าดี ไม่เป็นที่ปรารถนา ไม่เป็นที่พอใจก็เรียกว่าชั่ว นี่คำว่ารู้ดี รู้ชั่ว ทั้งนั้นแหละ แยกเป็น ๒ ภาษา ภาษาธรรมะ กับ ภาษาคน ภาษาชาวบ้าน
นี้ตัวอย่างที่ให้มานี่ก็รู้สึกว่ามันจะพอสำหรับตัวอย่าง จะพูดต่อไปถึงข้อที่ว่า คำพูดที่เราใช้อยู่เวลานี้บางคำมันเป็นภาษาชาวโลกเกินไป ไม่ใช่ภาษาเดิมของพระพุทธเจ้า หรือของภาษาบาลี หรือภาษาของประเทศอินเดีย ที่พระพุทธเจ้าท่านใช้อยู่ในสมัยโน้น ไม่ได้ยก ก็ต้องยกตัวอย่างอีกเหมือนกันเช่นว่า ศึกษา คำว่าศึกษานี่คุณเข้าใจคำว่า คำนี้ ให้ดีหน่อย เพราะว่าคุณเป็นนักศึกษา คำว่า ศึกษา เราหมายถึง เรียน แต่พระพุทธเจ้าท่านหมายถึง การกระทำ การปฏิบัติ การกระทำลงไป จึงจะเป็นการศึกษา ที่นี้เราก็ศึกษามาถึงการเรียน อย่างความหมายในภาษาไทย เราก็เรียนในกระดาษเรียน ในหนังสือ มาขีดเขียนด้วยปากกา ดินสอ ส่งครู สอบไล่ นี่จัดว่ามันเป็นการศึกษา แบบภาษานี้ ก็ศึกษาอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านใช้นั้น มันเขียนว่า สิกขา สมาธิสิกขา ปัญญาสิกขา ไม่ ไม่มีการใช้กระดาษ ไม่มีการพูดด้วยปาก มันเป็นการควบคุมบังคับกาย วาจา ใจ กระทั่งสติปัญญา มันไม่ได้ศึกษาที่กระดาษ ไม่ได้ศึกษาหนังสือวิชาเหล่านั้น คือว่า คือไม่ต้องเอาหนังสือธรรมะมาอ่าน หรือแม้เอาหนังสือธรรมะมาอ่านมันก็ไม่ใช้การศึกษาวิธีนี้ เดี๋ยวนี้ อ้าว, สมมติว่า พวกเราจะเอาหนังสือธรรมะมาอ่านกันแล้วจะเรียกว่าศึกษาธรรมะนี่ ก็เป็นการศึกษาธรรมะอย่างชาวบ้าน อย่างชาวโลก ไม่ใช่ภาษาธรรมะของพระอริยเจ้า ถ้าภาษาธรรมะของพระอริยเจ้าหมายความว่า จะศึกษาอะไรต้องเอาสิ่งนั้นมาจริงๆ เช่น จะศึกษาเรื่องความทุกข์นี่ ต้องเอาความทุกข์มาจริงๆ ไม่ใช่เอาหนังสือมา หรือไม่จะมาบอกใส่หูว่า ทุกข์ ทุกข์อย่างนั้น ทุกข์อย่างนี้ เหมือนกับที่ทำกันอยู่เดี๋ยวนี้ หรือเทศน์ให้ฟังนี่ มันไม่ได้ อย่างนั้นมันเป็นศึกษาชาวบ้านไปหมด นั่งเทศน์บนธรรมาสน์สักกี่วัน กี่วัน มันก็เป็นศึกษาแบบชาวบ้านกันไปหมด ถ้าศึกษาแบบธรรมะของพระอริยเจ้า ถ้าจะศึกษาความทุกข์ต้องมีความทุกข์มา ต้องมีความทุกข์อยู่ในใจจริงๆ ก็ถือโอกาสนั้นศึกษาลงไปบนตัวความทุกข์ ถ้าเรายังไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นเราไม่อาจจะศึกษาความทุกข์หรอก มันโชคดีหน่อยที่ว่าเดี๋ยวนี้ความทุกข์มันหาง่าย เดี๋ยวก็มีความทุกข์อย่างนั้น อย่างนี้ ขึ้นมา เกิดขึ้นในใจให้ศึกษาจนได้ พอความทุกข์เกิดขึ้นก็ถือเอาความทุกข์นั้นเป็นวัตถุสำหรับทำการศึกษา ทีนี้ถ้าจะศึกษาเหตุให้เกิดทุกข์คือ กิเลส ตัณหา นี้ต้องเมื่อมี กิเลสตัณหานั่นมันจึงจะศึกษารู้จักตัว กิเลสตัณหา หรือสมุทัย ที่ให้เกิดทุกข์ ถ้าเราจะศึกษานิโรธ ความดับสนิทแห่งทุกข์ ก็ต้องศึกษาเมื่อจิตมันไม่มีกิเลสทำให้เกิดทุกข์ ซึ่งผมชอบพูดว่า กี่คนก็ตามพอมานั่งตรงนี้มันสบายใจบอกไม่ถูก เวลานั้นกิเลสมันไม่รบกวน ไม่ได้เกิดขึ้นรบกวน ไม่ใช่ว่าคนนั้นจะเป็นคนหมดกิเลสไปเลยก็ไม่ใช่ แต่เวลานั้นกิเลสไม่รบกวน ทุกข์ไม่เกิด หรือทุกข์ดับ ก็ต้องศึกษาไอ้ภาวะชนิดนั้นในจิตชนิดนั้นให้เข้าใจสิ่งนั้น จะศึกษานิโรธตัวอย่าง หรือนิพพานตัวอย่าง นิพพานชั่วขณะ มันต้องศึกษาจากอย่างนั้นจริงๆ นี่ศึกษา มรรคมีองค์ ๘ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้ก็ต้องปฏิบัติจริงๆ ทำศีลให้มีขึ้นก็รู้จักศีล ทำสมาธิให้เกิดขึ้นแล้วก็รู้จักสมาธิ ทำปัญญาให้เกิดขึ้นแล้วรู้จักปัญญา ถึงจะเรียกว่าศึกษาทางแห่งความดับทุกข์ จากตัวทางนั่นเอง อย่างนี้เรียกว่าศึกษาในความหมายของภาษาธรรม ตามวิธีของธรรม วิธีของพระอริยเจ้า แต่ถ้าจะศึกษาอย่างอื่น ศึกษาแบบชาวบ้าน แม้เอาเรื่องพระพุทธศาสนามาศึกษาก็เป็นเรื่องชาวบ้าน คืออ่านให้ฟัง พูดให้ฟัง อธิบายให้ฟัง ใช้เหตุผลให้ฟัง ให้รู้จักใช้แยกแยะด้วยเหตุผล อะไรต่างๆ มันก็เป็นเรื่องศึกษาอย่างชาวบ้านไปหมด
ทีนี้ เดี๋ยวนี้เราทุกคนแม้ เป็นพระ เป็นเณร นี่ จะไปศึกษาอย่างชาวบ้านเข้าใจไหม คืออ่านจากหนังสือ หรือฟังผมพูด แล้วไปสอบไล่ให้ได้ชั้นนั้น ชั้นนี้ เป็นเรื่องศึกษาแบบชาวบ้านไปหมด ไม่ได้ศึกษาตามแบบหรือวิธีของพระพุทธเจ้าเลย เพราะนั้นขอให้ไปปรับปรุงเสียใหม่ ให้มันมีวิธีอย่างภาษาธรรม หรือของวิธีพระอริยเจ้า นี่ขึ้นมาบ้าง มันจะได้ช่วย ช่วยขนานกันไป อย่าศึกษาแต่แบบชาวบ้านอย่างเดียว นี่คำว่า ศึกษา คำเดียวนี่ คำพูดคำเดียวกันนี่ แต่แบบชาวโลก แบบชาวบ้าน แบบวิชาชีพ ก็เรียนจากหนังสือหนังหา วิชาความรู้ โรงร่ำโรงเรียน สอบไล่กันไปตามเรื่อง ถ้าศึกษาทางธรรม ทางจิตใจ ทางวิญญาณ แล้วก็ต้องมีความรู้สึกของจิตจริงๆ อยู่ในใจเวลานั้นแล้วก็ศึกษาลงไปที่สิ่งนั้น มันเพื่อมีผลคือ มีจิตที่เปลี่ยนแปลง นี่ จิตนั้นเปลี่ยนแปลงเป็นจิตชนิดที่ไม่มีความทุกข์ เพราะนั้นเราจะเรียกว่า ศึกษาธรรมะ ก็ได้แต่มันหมายถึง การปฏิบัติ จะศึกษาธรรมะที่ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติก็เป็นการศึกษาแบบชาวบ้าน การศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนานี้ก็คือการปฏิบัติธรรมนั่นเอง และยิ่งกว่านั้นที่มันจะทำให้งงมากขึ้นคือเรียก ไปเรียก บางทีก็เรียก ภาวนา เจริญภาวนา คนไม่เข้าใจก็คิดว่าบ่น ท่องบ่นด้วยปาก งุบงิบ งึมงำ นี่ ภาวนา ที่จริงการปฏิบัติทำให้ศีลเกิด ให้สมาธิเกิด ให้ปัญญาเกิด นี่ก็เรียกว่า ภาวนา นี่พูดว่ารู้ธรรมะ อ้าว, ศึกษาแล้วก็รู้ธรรมะ ภาษาโลก ภาษาชาวบ้าน ก็เหมือนกับเราสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรแสดงว่าเรารู้ธรรมะ นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก รู้ธรรมะ รู้จากทดสอบด้วยการที่พูดเก่ง เทศน์เก่ง แสดงปาฐกถาเก่ง อย่างนี้เรียกว่ารู้ธรรมะ อย่างนี้มันเป็นภาษาชาวบ้านทังนั้น ไม่รู้ ไม่รู้ ก็ได้ ไม่รู้ธรรมะทางความหมายของพระพุทธเจ้าก็ได้ ถ้ารู้ธรรมะตามแบบของพระพุทธเจ้าหมายความว่ารู้สึกเสวยผลของธรรมะคือ ความไม่มีกิเลสอยู่ในใจ จิตกำลังเสวยผลของความที่ไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์ ว่าธรรมะข้อไหน ธรรมะอะไร อยู่ที่ตรงในใจนั้นแหละคือรู้ธรรมะ รู้รสของธรรมะจึงจะเรียกว่า รู้ธรรมะ จะรู้รสของธรรมะก็ต่อเมื่อมันมีธรรมะจริงๆ ไม่ใช่ธรรมะในกระดาษ ต้องมีธรรมะจริงๆ อยู่ในใจ แล้วมาแสดงรส และจิตมันก็รู้รส มาเสวยรสของธรรมะ อย่างนี้เขาเรียกว่ารู้ธรรมะ การรู้แจ้งแทงตลอดธรรมะก็หมายถึงอย่างนี้ ปฏิเวธ เป็นมรรคผลนิพพาน ก็หมายถึงข้อนี้ คือรู้ รู้รสของธรรมะ เรียกว่ารู้ธรรมะ จะเรียกว่าบรรลุนิพพานก็ได้ รู้รสของธรรมะ เสวยรสของธรรมะอยู่ ไม่มีกิเลส ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มี ตัวกู ของกู นี่เรียกว่ารู้ธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ แล้วก็รู้ธรรมะ มันจบแล้ว เพียงแค่รู้ธรรมะก็จบ
แล้วเป็นอันว่า แสดงความแตกต่างอย่างตรงกันข้ามในระหว่างภาษา ๒ ภาษา คือ ภาษาวิชาธรรมกับภาษาวิชาโลก มันเป็นภาษาที่ใช้คำๆ เดียวกัน แต่ความหมายต่างตรง ต่างกันอย่างตรงกันข้าม ก็มีมากมายหลายๆ หลายสิบหลายร้อยคำ แต่ถ้าคุณเข้าใจตัวอย่างที่ผมยกมาให้ฟังนี้แล้วคุณจะเข้าใจมันได้ นี่วันนี้ก็พูดเรื่องความยุ่งยากลำบากเกี่ยวกับภาษาและยกตัวอย่างมาให้ดูว่าภาษานี่มันเล่นตลกยังไง สับปลับยังไง สำหรับของบุคคลที่ไม่รู้จักตัวเองว่าตนเป็นอะไร ก็พูดเพ้อๆ ไป ภาษาจะทำเอาบุคคลนั้นเจียนตายไปเลย คือว่า ลำบาก เป็นทุกข์ เสียหาย เจียนตาย ไปเลย ใช้คำหยาบๆ ก็ว่าแย่ไปเลย พอกันทีสำหรับวันนี้