แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งที่เจ็ดนี้ จะได้กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า ปฏิปัตติธรรมในพุทธศาสนา ขอให้ทบทวนดู ถึงการบรรยายครั้งที่แล้วๆ มาที่ได้บรรยายมาแล้วในชุดที่เรียกว่าธรรมศาสตรานี้ ว่าเราต้องการจะทราบให้ชัดถึงสิ่งที่จะแก้ปัญหาหรือตัดปัญหาของมนุษย์ได้ มนุษย์มีปัญหาพยายามหาเครื่องตัดปัญหา จึงศึกษาอบรมธรรมศาสตร์จากสิ่งที่เรียกว่า ธรรม สำหรับสิ่งที่เรียกว่า ธรรม ได้ขอร้องให้มองให้ลึกไปถึงธรรม ที่เป็นธรรมชาติ มีความหมายถึงธรรมชาติ และก็ในสี่ความหมายด้วยกัน คือตัวธรรมชาตินั่นเอง และก็ตัวกฎของธรรมชาติที่มีอยู่ในธรรมชาตินั้นๆ และหน้าที่ๆ มนุษย์จะต้องปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ และก็ผลที่จะพึงได้รับจากการปฏิบัติ โดยสมควรแก่การปฏิบัติก็ตามกฎธรรมชาตินั้น ทั้งสี่ความหมายนี้ก็เรียกว่า ธรรมเสมอกัน เมื่อเพ่งเล็งไปในฐานะที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติก็เป็นอย่างนั้น คือไม่เฉพาะเจาะจงเอาพุทธศาสนา แต่หมายถึงธรรมชาติทั่วไป ครั้นมาถึงเรื่องทางพุทธศาสนา แล้วก็ให้ชื่อแก่สิ่งทั้งสี่นั้นตามคำบัญญัติที่มีใช้อยู่ในพุทธศาสนา ว่าธรรมชาติทั่วๆไปนี่เรียกว่า สภาวธรรมคือสิ่งที่เป็นอยู่เอง กฎธรรมชาตินั่นเราให้ชื่อว่า สัจจธรรม คือสัจจะหรือความจริงที่เป็นกฎ หน้าที่ของมนุษย์ตามธรรมชาติ นั้นเราเรียกว่า ปฏิปัตติธรรมคือธรรมให้ฐานะเป็นตัวการปฏิบัติ แล้วผลที่ได้รับจากการปฏิบัติ ลงไปตามกฎของธรรมชาตินั้น ก็เรียกว่า วิปากธรรม หรือบางทีก็จะเรียกว่า ปฏิเวธธรรม ที่เอามาเทียบกันอย่างนี้ ก็เพื่อให้เป็นหลักประกันความฝั่นเฝือว่า ถ้าเราเรียกกันในวงพุทธศาสนา มันเรียกอย่างนี้ ถ้าเราจะเรียกอย่างว่าเป็นเรื่องทั่วไปเป็นของธรรมชาติทั่วไป แม้ตามวิธีของวิทยาศาสตร์ก็คงเรียกว่า เรื่องของธรรมชาติที่เกี่ยวกับธรรมชาติ ตรงนี้อยากจะขอบอกเป็นการแถมให้เป็นพิเศษว่า ไอ้คำว่าธรรมชาตินี่มันทำความยุ่งยากอยู่มากเหมือนกัน ในภาษาบาลีมีใช้เรียกว่าธรรมชาติ และก็แปลหรือใช้กันเป็นธรรมดาไป แต่พอจะแปลเป็นภาษาอังกฤษ เราก็ไปแปลเป็นคำว่า Nature แต่พอถามพวกฝรั่งเองว่า Nature หมายถึงอะไร มันก็ไม่มีความหมายตรงตามที่เรามี สำหรับคำว่า ธรรมชาติในภาษาบาลี หรือในภาษาพุทธศาสนาโดยตรงนัก มันมีอะไรที่เหลื่อมล้ำกันอยู่ ก็ขอให้ทำความเข้าใจเอาเอง ถ้าจะต้องไปพูดกับชาวต่างประเทศ ไม่รู้ว่าจะใช้คำอะไรดีไปกว่าคำๆ นี้ แต่แล้วมันก็ยังไม่ค่อยจะสำเร็จประโยชน์ คือไม่ค่อยเข้าใจตรงกันนัก สำหรับคำว่า Nature กับคำว่า ธรรมชาติ แต่โดยมากเราก็ถือว่าคำนี้ตรงกัน ทีนี้ที่ขอให้เข้าใจไว้ด้วยก็คือว่า เราจะต้องมีคำจำกัด ชัดลงไปว่า ในพุทธศาสนา คือว่าธรรมชาติให้พุทธศาสนา หรือกฎธรรมชาติเมื่อกล่าวตามหลักของพุทธศาสนา ดังนั้นผมจึงต้องมีคำว่า ในพุทธศาสนากำกับไว้เสมอไป สภาวธรรมในพุทธศาสนา สัจจธรรมในพุทธศาสนา ปฏิปัตติธรรมในพุทธศาสนา และวิปากธรรมในพุทธศาสนา คนที่ไม่รู้เรื่องก็จะหัวเราะว่าทำไมต้องเอาคำว่าพุทธศาสตร์ ในพุทธศาสนามากำกับไว้ นี่เราต้องทำอย่างนี้ ก็เพราะว่าเราเปิดไม่กว้าง เช่น คำว่าสภาวธรรม สิ่งที่เป็นอยู่เองตามธรรมชาตินี้ จะในพุทธศาสนาก็ได้ นอกพุทธศาสนาก็ได้ นี้มันจะกว้างแคบกว่ากัน เพราะฉะนั้นจึงต้องมีคำว่าในพุทธศาสนา สำหรับพูดในกรณีที่เราจะพูดเฉพาะที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา เดี๋ยวนี้เราพูดถึงธรรมศาสตร์ หรือธรรมศาสตรา ตามหลักวิธีของพุทธศาสนาจึงได้ใช้คำนี้กำกับไว้ ในการบรรยายครั้งที่สามเรื่องสภาวธรรมในพุทธศาสนาส่วนสังขตะ ในการบรรยายครั้งที่สี่ สภาวธรรมในพุทธศาสนาส่วนอสังขตะต่อ เพราะยังไม่จบ ในการบรรยายครั้งที่ห้า สภาวธรรมในพุทธศาสนาส่วนที่เป็นอสังขตะ ในครั้งที่หกบรรยายถึงเรื่องสัจจธรรมในพุทธศาสนา วันนี้ก็พูดถึงปฏิปัตติธรรมและก็ในพุทธศาสนา คำนี้มันกว้างใช้กันศาสนาไหนก็ได้ และเราก็ใช้เป็นหลักของธรรมชาติด้วย เพราะจะให้ใจความมันแคบหรือว่ารัดกุมเข้ามา ก็ต้องพูดกันเฉพาะในหลักพุทธศาสนา ขอให้เข้าใจไว้อย่างนี้ ทีนี้สำหรับธรรมะที่จะเป็นธรรมศาสตราคืออาวุธได้นั่น ก็พอจะเข้าใจกันได้เรื่อยๆ จะมาทุกคราวที่บรรยาย ศาสตราก็แปลว่าเครื่องตัด ในฐานะที่เป็นความรู้ก็เป็นเครื่องตัดได้ ก็หมายถึงสัจจธรรม คือวิชาความรู้ที่เกี่ยวกับกฎ กฎเกณฑ์ต่างๆ เมื่อรู้แล้วก็สามารถจะตัดปัญหา เช่น ความสงสัย เป็นต้นไปได้ หรือใช้เป็นการเปิดทางออกไปสู่การปฏิบัติ หรือตัดปัญหาส่วนที่เป็นเรื่องทฤษฎีไปได้ ครั้นไปถึงส่วนที่จะเป็นศาสตราได้จริงๆหรือเป็นตัวการตัดจริงๆ มันก็ได้แก่ ไอ้สิ่งที่เรียกว่าปฏิปัตติธรรม คือการกระทำลงไปจริงๆ และให้ถูกต้องตามกฎ นี่เราจะต้องดูกันให้ละเอียดออกไป ลึกลงไปให้ถึงความสัมพันธ์ที่มันสัมพันธ์กันอยู่ในระหว่างสิ่งทั้งสี่นี้ ซึ่งบัดนี้ก็พอจะบอกให้พวกคุณได้ทราบเป็นคล้าวไว้ได้เลย และคุณก็มองเห็นได้ด้วย ถ้ายังจำถ้อยคำที่ได้พูดไปแล้วไว้ได้ในเวลานี้ และสิ่งที่เรียกว่า สภาวธรรม มันเป็นตัวคน หรือสมมติเรียกว่าเป็นคน หรือเป็นตัวปัญหาที่เกิดขึ้นแก่คน นี้สัจจธรรมนั้นมันเป็นกฎเกณฑ์ที่ว่าปัญหามันเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือคนมันตั้งอยู่ได้อย่างไร ที่ได้ใช้เป็นเครื่องตัดปัญหา ที่ตัดปัญหาลำพังไอ้ความรู้มันยังไม่ถึงที่สุดก็ต้องตัดด้วยการปฏิบัติ จึงมาถึงเรื่องปฏิปัตติธรรม ส่วนอันสุดท้ายคือวิปากธรรมหรือปฏิเวธธรรมนั้น ก็เห็นได้ชัดว่า มันเป็นผลที่จะได้รับเมื่อมันตัดปัญหาหรือแก้ปัญหาต่างๆไปได้แล้ว ความสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งทั้งสี่นี้ต้องเป็นที่แจ่มแจ้งอยู่ในใจของผู้ฟังเสมอไป จึงจะฟังเรื่องนี้เข้าใจได้อย่างชัดเจนถึงที่สุด คุณจะรู้ได้เองยิ่งขึ้นทุกที ทุกที ว่าอันไหนจะเป็นตัวธรรมศาสตรากันแน่ เพราะว่าการบรรยายเพื่อการศึกษาชุดนี้ มุ่งจะชี้เฉพาะสิ่งที่เรียกว่าธรรมศาสตรา มีความมุ่งหมายกว้างถึงกับว่าจะใช้แก้ปัญหาของมนุษย์ทั้งมวลหรือของโลกทั้งโลกได้ ทีนี้ก็จะได้พูดเป็นข้อๆ ไปตามลำดับ ข้อแรกก็อยากจะพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าปัญหากันอีกทีหนึ่ง ปัญหานี่ไม่ใช่คำถาม แต่หมายถึงสิ่งที่มันทำความยุ่งยากลำบากให้แก่เรา เราเรียกว่าปัญหา ถ้าจะเรียกว่าคำถามก็หมายความว่า ไอ้ความทุกข์ยากลำบากนี่แหละ มันถาม มันรบกวนเราให้เราอยู่เป็นผาสุขไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวตามทัศนะของพุทธบริษัท สิ่งที่เรียกว่าปัญหานั้นก็คือสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ที่นักศึกษาสมัยนี้ที่ยิ่งมีการศึกษามากก็ยิ่งไม่สนใจ ก็เพราะที่ว่าไอ้ความทุกข์นั้นมันเป็นปัญหา เพราะเขาไปมัวมีปัญหาเรื่องที่จะศึกษาเล่าเรียน จะประกอบอาชีพ จะหาเงินอย่างไร จะได้เงินมาใช้มากๆ อย่างไร ไปมีปัญหาอยู่ที่โน่น ไม่มีปัญหาอยู่ที่ว่าไอ้ตัวความทุกข์ที่ขบกัดเราอยู่นี่เป็นปัญหา ผมก็จะพูดว่านักศึกษาสมัยนี้มองข้าม ไอ้สิ่งที่เรียกว่าปัญหาโดยแท้จริงของคนเรา หรืออาจจะเป็นมองได้เพียงส่วนหนึ่งหรือเบื้องต้น หรือเปลือกนอกของสิ่งที่เรียกว่าปัญหาเท่านั้น เราพูดว่าความทุกข์นั้นเป็นปัญหา นี่ก็ไม่สนใจ มองดูเป็นว่าไม่มีความหมายอะไร ก็เลยไม่รู้สิ่งที่เรียกว่าปัญหา ไม่รู้จักตัวปัญหา การศึกษาธรรมะจึงลำบาก เพราะมายกเอาตัวความทุกข์ขึ้นมาเป็นตัวปัญหานั่นเอง ปัญหานั้นคือตัวความทุกข์ ที่ขยายออกไปถึงข้อที่ว่ามันไม่มีเงินจะใช้ หรือว่าความยากจน หรือความอยากจะได้อะไรที่ยังขาดแคลนอยู่จะเป็นตัวปัญหาก็ได้เหมือนกันแหละ เพราะมันรวมอยู่ในคำว่าความทุกข์ คือกระวนกระวายใจ ตัวความทุกข์ที่พุทธบริษัทเพ่งเล็งกันอยู่ก็คือปัญหาที่มันเกิดขึ้น เพราะอำนาจ หรือความหมาย หรืออิทธิพล ของความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความที่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่มนุษย์ต้องการได้ เพราะมันเป็นอนัตตา อย่างนี้เป็นต้น เมื่อทุกสิ่งมันเป็นอนัตตา เราจะต้องทำกับมันอย่างไร มันจึงจะไม่มีความทุกข์แก่เรา นั่นแหละคือปัญหา มันลึกกว่ากันอย่างนี้ วันนี้เราจะพูดถึงการปฏิบัติธรรม ก็คือว่าการที่จะตัดปัญหา การกระทำที่เป็นการตัดปัญหา ไอ้ปัญหาคือความทุกข์ และต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ว่ามันเป็นตัวปัญหา แล้วก็รู้ต่อไปว่า ความทุกข์นั้นก็ดี ตัวผู้ที่สมมติว่าเป็นบุคคลที่เป็นผู้ทุกข์ก็ดี นี้มันเป็นตัวธรรมชาติที่เรียกว่า สภาวธรรม และกำลังเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่เรียกว่าสัจจธรรม ตัวความทุกข์ที่เกิดจากความรู้สึกขึ้นในใจนี่ ก็คือสังขตธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งปรุงแต่งกันขึ้น แล้วเกิดขึ้นในใจของคน ที่ตัวสิ่งสมมติที่เรียกว่าคนนี่ คำว่าคนอย่างนี้ต้องอยู่ในอัญประกาศเสมอ อยู่ใน In word the comma เพราะว่าคนนั้น ตามหลักพุทธศาสนาไม่ได้ถือว่ามีอยู่จริง ถ้าผมพูดว่า คน อย่างนี้ ก็หมายความว่าพูดตามภาษาชาวบ้านพูด ที่เป็นตัวคน โดยเข้าใจว่าเป็นคน ในเมื่อหลักพุทธศาสนาไม่ได้ถือว่ามีตัวมีตนของคนโดยแท้จริง มีแต่สภาวธรรมที่ปรุงแต่งกันขึ้นเป็นคนโดยสมมติเรียกกันเท่านั้น นี่ตัวคนนั้นก็ดี ความทุกข์ของตัวคนก็ดีนั้นมันเป็นเพียงสภาวธรรม และก็เป็นไปตามกฎ นี่เราพูดกันแล้ว ไม่ต้องพูดกันอีกแต่ว่าบางทีก็ยังเอามาพูดอีก ว่าสภาวธรรมหรือธรรมชาตินั้นต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ หรือว่าในตัวธรรมชาตินั้นเอง ทุกๆ อนุภาคของมันก็มีสิ่งที่เรียกว่ากฎของธรรมชาตินั้นสิงอยู่ นั้นมันจึงเป็นไปตามกฎได้ คือตามการเปลี่ยนแปลงในทุกอณู หรือปรมาณูก็ตาม ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมันก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะว่ามันมีกฎของธรรมชาติอยู่ในทุกๆ อณูทุกๆ ปรมาณูของธรรมชาตินั้น ถ้าเป็นว่า สภาวธรรมที่จะเป็นตัวคนก็ดี เป็นปัญหาของตัวคนก็ดี มันก็เป็นไปตามกฎ เพราะฉะนั้นการดับทุกข์ก็ต้องเป็นไปตามกฎ ไม่อย่างนั้นมันดับไม่ได้ นี่หมายความว่าไอ้ปฏิปัตติธรรมนี่ต้องเป็นไปตามกฎ มีกฎเช่นเดียวกัน ทุกชนิด ทุกระดับ ทุกระยะกาลของเวลา หรือที่เรียกว่า วัย พูดอย่างนี้ก็พอจะนึกได้เสมอว่าเรากำลังพูดตามวิธี พูดในพุทธศาสนา ก็เพื่อจะดับทุกข์ตามหลักของพุทธศาสนา จึงใช้คำว่า วัย เวลา อย่างนี้เป็นต้น การดับทุกข์จะต้องให้เป็นไปตามกฎ คือถูกต้องตามกฎ จะเป็นความทุกข์ชนิดไหน หรือว่าความทุกข์ชนิดนั้น และในระดับไหน หรือว่ามันในวัยไหนของบุคคล มันต้องถูกต้องตามกฎในทุกๆ วัยของบุคคล เพราะสิ่งที่เรียกความทุกข์นี่ มันเกิดแก่สิ่งที่มีความรู้สึก ไม่ได้เกิดแก่ก้อนหิน ก้อนดินซึ่งไม่มีความรู้สึก มันต้องเกิดแก่สิ่งที่มีความรู้สึก หมายถึงสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกสัตว์มนุษย์ ที่มีความรู้สึกสูง ละเอียดอ่อน การดับทุกข์เป็นตัวการปฏิบัติธรรมที่เรียกว่า หน้าที่ตามธรรมชาติของคนเรา ก็คือการปฏิบัติธรรม ถ้าไม่พูดเป็นเรื่องศาสนา ไม่พูดเป็นเรื่องธรรมชาติ มันก็หน้าที่ทุกชนิดแหละ ต้องไปหาอาหารกิน ต้องไปถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ต้องบริหารร่างกาย จนกลายเป็นเรื่องที่รู้ได้เองตามธรรมชาติที่สัตว์ทั้งหลายมันต้องทำ เช่น นกตัวหนึ่ง มันก็จะต้องออกไปหากิน ต้องบริหารร่างกาย ต้องบริหารชีวิต ต้องอาบ ต้องถ่าย จนกระทั่งออกกำลังบิน เล่น แล้วบางทีจะต้องเลยไปถึงว่ามีการสืบพันธ์ ซึ่งเป็นหน้าที่ตามธรรมชาติด้วยเหมือนกัน นี่เรียกว่าหน้าที่ตามธรรมชาติ แม้ของสัตว์ต่ำต้อย เช่นนกตัวเล็กๆ แม้แต่มดแมลงมันก็มีหน้าที่ เรียกว่าอยู่ใต้กฎเกณฑ์อันนี้ เดี๋ยวนี้เรากำลังพูดถึงคนหรือสัตว์ที่มีความรู้สึกสูง แล้วก็พูดถึงคนที่มีการศึกษาดี อย่างคนในสมัยปัจจุบันนี้ก็เรียกว่ามีการศึกษาดี เพราะมันดีกว่าที่แล้วๆ มา ทีนี้ปัญหามันก็ต้องแปลกไปบ้างสำหรับคนที่มีการศึกษาดี เราจึงมีเรื่องที่จะต้องเรียนรู้นี้เพิ่มขึ้น เมื่อพูดถึงการปฏิบัติธรรมเพื่อดับทุกข์ก็ต้องนึกถึงข้อที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ต้องทำเองด้วยกันทุกคน พระตถาคตทั้งหลาย คือพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นเป็นแต่ผู้ชี้ทาง มีบาลีว่า ตุมเหหิกิจจัง อาตัปปัง ตะถาตาโร ตะถาคะตา การปฏิบัติหน้าที่นั้นพวกท่านทั้งหลายต้องทำเอง ตถาคตทั้งหลายเป็นแต่ผู้ชี้ทาง นี้ก็เป็นความสำคัญอันหนึ่งที่จะต้องทราบไว้ เดี๋ยวนี้คนจะเกิดเขลาอย่างไรกันขึ้นมาก็ไม่รู้ จะให้คนอื่นช่วยทำให้ ให้พระเจ้าช่วยทำให้ ให้ผีสางเทวดา เป็นต้นช่วยทำให้ ให้หายทุกข์ ให้แก้ปัญหาให้ เมื่อพูดตามหลักพุทธศาสนา ก็ต้องเป็นเรื่องที่ทำเองให้ถูกต้องตามคำแนะนำของผู้รู้ และผู้รู้นั้นก็ไม่ใช่ว่าบัญญัติกฎเกณฑ์เหล่านั้นได้เอง ต้องรู้ตามที่ธรรมชาติมีอยู่อย่างเด็ดขาดอย่างไร ท่านเป็นผู้รู้เรื่องของธรรมชาติหรือกฎของธรรมชาติ จึงได้รู้หน้าที่ที่มนุษย์ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ นี่คือพระตถาคตทั้งหลาย คือพระศาสดาทั้งหลาย จะเป็นในศาสนาไหนก็เหมือนกันทั้งนั้นแหละ จะมีคนพูดผิดๆไป อยากให้มาช่วย อย่างทีเรียก มาอุ้มพาไป ยกพาไป จากปัญหาจากความทุกข์นี้ มันไม่ถูกเรื่อง หรืออย่างน้อยมันก็ไม่ใช่วิธีการของพุทธศาสนา ท่านผู้นั้นต้องทำเอง พระพุทธเจ้าเป็นแต่ผู้ชี้ทาง แต่ถึงอย่างนั้น พระเจ้าก็ยังคงเป็นผู้ควบคุม ผมพูดอย่างนี้ พวกคุณต้องรู้ได้ทันทีว่าพระเจ้านั้นต้องอยู่ในอัญประกาศ ใน In word the comma เพราะเราพูดกันมาหลายสิบหนแล้วว่าพระเจ้านั้นคือกฎ กฎนั้นคือพระเจ้า ออกเสียงกฎให้ยาวเป็นกอด มันก็คือพระเจ้าอย่างที่พวกคริสเตียนเขาเรียก พระเจ้าควบคุมอยู่ตลอดเวลา คือกฎนี่จะควบคุมอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าเราปฏิบัติเองตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จะมีสิ่งๆ หนึ่งซึ่งควบคุมอยู่ตลอดเวลาคือพระเจ้า หรือสัจธรรม หรือที่เรียกว่ากฎ นั้นต้องเป็นไปตามกฎ การที่มันต้องเป็นไปตามกฎนั้น มันควบคุมอยู่ตลอดเวลา การปฏิบัติธรรมนั้นมันจึงถูกต้อง คือเป็นไปตามกฎ และถูกต้องในข้อที่ว่า ผู้นั้นต้องทำเองภายใต้การแนะนำของบุคคลผู้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า กฎ มาแล้วเป็นอย่างดี พูดอย่างสมมติที่เขาชอบพูดกันก็ว่า มีผู้แทนของพระเจ้า หรือผู้ที่รู้จักพระเจ้าดี หรือเข้าถึงพระเจ้าแล้วมาบอกให้ นั่นแหละ ให้คนทั้งหลายประพฤติตาม นี่ พระเยซูหรือพระมูฮัมหมัด ก็ดี ก็ถือว่าเป็นผู้ที่เป็นสื่อของพระเจ้า ก็มาบอกให้ ว่าพระเจ้าต้องการให้ทำอย่างนั้นอย่างนั้น นี่ก็เป็นการกล่าวอย่างบุคคลาธิษฐาน ให้มันง่ายสำหรับคนทั่วไป ถ้าเราถือไม่ ถือเอาใจความไม่ได้ เราก็ไม่เชื่อ แล้วเราก็ค้าน อย่างที่พวกฝรั่งเองก็ค้าน ศาสนาคริสเตียน เรื่องพระเจ้า เรื่องผู้แทนพระเจ้า อย่างนี้ เพราะมันไม่เข้าใจคำเหล่านี้ว่าพระเจ้าคืออะไร ผู้แทนพระเจ้าคืออะไร นี้การที่มันดับทุกข์ได้ หรือดับทุกข์ไม่ได้มันก็ล้วนแต่เป็นไปตามกฎทั้งนั้นแหละ ถ้าไปทำอย่างนี้ผิดไป มันก็ดับทุกข์ไม่ได้ อันนี้ก็เป็นไปตามกฎ คือกฎที่จะทำให้ดับทุกข์ไม่ได้ ถ้าทำถูกมันก็ดับทุกข์ได้ นี่มันก็เป็นไปตามกฎ คือมันก็ถูกต้องตามกฎที่จะทำให้ดับทุกข์ได้ ฉะนั้นขอให้รู้ไว้ว่า ดับทุกข์ก็ดี ไม่ดับทุกข์ก็ดี มันเป็นไปตามกฎด้วยกันทั้งนั้น คุณไปคิดดูเองก็จะเข้าใจ เมื่อตัวปัญหาเนื่องกันอยู่กับการปฏิบัติ ปัญหามันเนื่องมาถึงการปฎิบัติ คือเราต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎ มันก็ยังเป็นปัญหาที่ว่า เราไม่รู้กฎ รู้ธรรมไม่ถูกต้องทุกชนิด ทุกระดับ หรือทุกวัย เป็นต้น มันต้องทำเอง เฉพาะคน นี่คือเรียกว่า การปฏิบัติเพื่อจะตัดหรือดับปัญหานั้นเสีย ทีนี้จะดูที่การปฎิบัติโดยตรงต่อไปให้มันชัดขึ้น ก็นึกถึงไอ้คำว่าธรรมชาติ และกฎของธรรมชาติ และหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎของธรรมชาตินี่ ไว้ในใจเสมอไป หน้าที่นั่นแหละเรียกว่าการปฏิบัติ เพราะปฏิบัติหมายถึงปฏิบัติหน้าที่ เรียกว่าไม่ปฏิบัติไม่ได้ การปฏิบัติหรือหน้าที่ก็ตามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มิฉะนั้นแล้วจะต้องตาย นี่ ใช้คำว่า ตาย อย่างนี้เลย คำว่า ตาย ในที่นี้จะใช้อัญประกาศด้วยก็ได้ หรือไม่ใช้ก็ได้ มันแล้วแต่ว่ามีความรู้สูงหรือต่ำอย่างไร จะต้องตายในความหมายใดความหมายหนึ่งในสองความหมาย คือตายทางวัตถุ ทางฟิสิกส์ คือตายเอาไปใส่โลงเผา ฝัง เรียกว่าตาย หรือตายอย่างเมตาฟิสิกส์ คือไม่เกี่ยวกับร่างกาย ไม่เกี่ยวกับวัตถุ มันเกี่ยวกับจิตใจ มีค่าเท่ากับคนตาย นี่ ยังเดินได้ พูดได้ กินได้ แต่มีค่าเท่ากับคนตาย คือไม่มีค่าอะไรนั่นเอง อย่างนี้ก็มีหลักว่า คนที่ประมาทนั่นแหละคือคนตาย จึงมีคำว่าตายขึ้นสองความหมาย ตายทางร่างกายอย่างหนึ่ง ตายทางวิญญาณ คือทาง Spiritual นั่นอีกทางหนึ่ง ใครหลีกเลี่ยงหน้าที่ที่ต้องปฏิบัตินั่น คนนั้นจะต้องตาย ทางร่างกาย เช่น ลองไม่หากิน ไม่รักษาโรค ไม่ต่างๆ มันก็ต้องตายทางร่างกาย ทีนี้ทาง Spiritual ลองไม่ปฎิบัติให้ถูกต้องตามหลักธรรมะ มันก็เป็นคนเลว กระทั่งเป็นคนมีความทุกข์ทรมาน จนมีจิตใจไม่สมประกอบ นี้ก็เรียกว่าตายด้วยเหมือนกัน ทีนี้คนสมัยนี้โดยเฉพาะนักศึกษานี่ มันเป็นมากเกินไปในความหมายที่หนึ่ง นั้นมันจึงต้องเป็นตายอยู่ในความหมายที่สอง ก็มันเป็นมากเกินไป มันมีเงินใช้มากเกินไป มีการกินดีอยู่ดีมากเกินไป นี่ มัน เป็น มากเกินไปในความหมายที่หนึ่ง คือไม่ตายในความหมายที่หนึ่ง แต่แล้วมันก็ไปตายในความหมายที่สอง ยิ่งกินดีอยู่ดี มันก็ยิ่งเห็นแก่ตัวมาก มีกิเลสมากขึ้น ก็คือ ตาย ลงไปในความหมายที่สอง ขอให้มองโลกในปัจจุบันนี้ แล้วก็มองผู้ที่เจริญอยู่ในโลกในปัจจุบันนี้ว่ามันเป็น มากเกินไปในความหมายที่หนึ่ง แล้วมันก็ไป ตาย ในความหมายที่สอง ไม่มีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง มีแต่การก่อสร้างความทุกข์เบียดเบียนกัน ไม่มีมนุษยธรรมอยู่ในใจ ประเทศชาติที่เคยได้รับการยกย่องว่ามีธรรมะสูง มีความเป็นสุภาพบุรุษสูง เดี๋ยวนี้แหลกไปหมดแล้ว เป็นโจรเป็นอันธพาลกันไปหมดแล้ว นี่มันตายในความหมายที่สอง เพราะมันเป็นในความหมายที่หนึ่ง คือไม่ตายในความหมายที่หนึ่ง มันมากเกินไป มันมีวิทยาศาสตร์อะไรแก้ไข จนจะเปลี่ยนตับไตไส้พุงหรือได้อะไรได้ มันเป็นมากในความหมายนี้ แล้วไปตายหมดในความหมายนั้น ถ้าไม่เข้าใจข้อนี้ก็ไม่เข้าใจธรรมะเป็นแน่นอน เพราะว่าธรรมะมันจะมุ่งจะแก้ปัญหาความตายอย่างที่สอง มันไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของไอ้ความตายในความหมายอย่างที่หนึ่ง นี่เป็นเรื่องชาวบ้าน เป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องของวิชา อย่างชาวบ้านจะหากินอย่างไร บำบัดโรคภัยไข้เจ็บอย่างไร มันก็ว่าไปตามเรื่องชาวบ้าน แต่ว่ามีเงินมาก มีอำนาจมาก มีอะไรมากแล้วยังตายอยู่ คือยังมีความทุกข์อยู่ นี่เป็นเรื่องของศาสนาที่จะช่วยแก้ไขให้ คือขจัดความตายในความหมายที่สองออกไป นั้นเราจะต้องทำให้พอดี อย่าให้เป็นในความหมายที่นี้ ในความหมายที่หนึ่ง คืออย่าไม่ตายในความหมายที่หนึ่งมันมากเกินไป แล้วมันก็จะได้ไม่ตายในความหมายที่สองบ้าง ในคัมภีร์ของพวกคริสเตียนพูดไว้อย่างน่าฟัง และก็ไม่ขัดกับหลักของพวกพุทธ ที่ให้สละชีวิตแล้วก็จะได้ชีวิต ถ้าไม่เคยศึกษาอย่างนี้มาก่อนก็ฟังถูกว่าให้สละชีวิตเสียแล้วก็จะได้ชีวิต คนที่ไม่รู้เรื่องมันก็ว่าบ้า สละชีวิตจะได้ชีวิตอย่างไร ก็หมายความว่าสละชีวิตชนิดที่ ความหมายที่หนึ่ง ชีวิตทางเนื้อหนัง ให้สละในความหลงใหลในชีวิตอย่างเนื้อหนังนี้เสีย และก็จะได้ชีวิตอย่างที่สองคือ ชีวิตทางฝ่ายวิญญาณ ไอ้ Material life นี่ สละเสีย อย่าไปเห็นแก่ความสุข สนุกสนาน หรืออร่อยกับมัน แล้วก็จะได้ Spiritual life คือชีวิตที่แท้จริง ก็หมายความอย่างนี้ แต่เขาพูดไว้สั้นเกินไป สละชีวิตเสียแล้วก็จะได้ชีวิต ถ้าพูดอย่างพุทธบริษัทก็ว่า สละชีวิตบ้าๆ บอๆ เห็นแก่เนื้อแก่หนัง กามารมณ์นั้นเสีย แล้วจะได้ชีวิตที่เย็นที่เป็นอมตะที่เรียกว่า นิพพาน ที่ผมพูดอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ว่าเพื่อจะสนับสนุนศาสนาอื่น หรือว่าไปเข้าเป็นศาสนาอื่น หรือว่าจะพูดไปทางอวดดี รู้นั่นรู้นี่ ที่พูดนี้ก็เพื่อว่า พวกคุณนั่นแหละจะโดนเข้าสักวันหนึ่ง พบมันเข้าสักวันหนึ่ง ซึ่งการพูดจาโต้เถียงกัน ถกเถียงกัน เรื่องเกี่ยวกับธรรมะ เกี่ยวกับศาสนากับชาวต่างประเทศโดยเฉพาะนี่ เดี๋ยวจะพูดผิดไปหมดจนให้ มันเป็นตรงกันข้ามไปหมด แล้วก็ทะเลาะวิวาทกัน เกลียดชังกันนี่ มันไม่เป็นที่ต้องการอย่างยิ่งในโลกในสมัยปัจจุบัน มันควรจะมีศาสนาที่ว่า เหมือนกันว่าศาสนาเดียวกันหมด ทำลายตัวกูของกูเสีย แล้วก็อยู่ในชีวิตที่สงบเย็น มันก็เป็นศาสนาเดียวกันหมดได้ นี้ลองคิดดูว่าให้สละชีวิตเสีย แล้วก็จะได้ชีวิต ถ้าคนนั้นมันรู้จักแต่ชีวิตเดียว แล้วมันจะได้อะไร แล้วมันจะทำได้อย่างไร มันต้องรู้จักทั้งสองชีวิต ชีวิตชนิดไหนที่เรียกว่าชีวิตหลอกลวง เป็นมายา เป็นเรื่องเนื้อหนัง แล้วก็ไม่จริงที่สุดเลย ชีวิตแบบไหนมันจริง มันสูงสุดควรจะเรียกได้ว่าชีวิตจริง นี่มันจึงจะปฏิบัติได้โดยหลักอันนี้ นี่เรากำลังพูดถึงว่า วิธีปฏิบัติมันย่อมมีหลักที่จะสละอันหนึ่งออกไปแล้วได้อันที่สองเข้ามาแทนซึ่งถูกต้อง หรือว่าดี หรือว่าหมดปัญหา ในเมื่อชีวิตชนิดนี้มันเต็มไปด้วยปัญหาก็สลัดทิ้งไป ก็ได้มาซึ่งชีวิตใหม่ ซึ่งไม่มีปัญหาเลย ผลจะเป็นอย่างไรไว้พูดกันในการบรรยายในครั้งต่อไปที่เรียกว่าวิปากธรรม
เดี๋ยวนี้จะพูดแต่คำว่า ปฏิปัตติธรรม คือต้องกระทำหน้าที่ที่ต้องกระทำ คำว่า ปฏิบัติ มันแปลว่าเดินไป คำว่า จริยา นี่ก็แปลว่าเดินไป เมื่อเราพูดกันถึงรากศัพท์ คำว่า ปฏิบัติ มันมาจากคำว่าเดินไป เดินไป คำว่า จริยา จริตะ จริยะ มันก็แปลว่าเดินไป เดินไป ถ้าไม่เรียนบาลีบ้าง ก็ไม่รู้ และอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ตามข้อเท็จจริงที่เป็นมาแต่ต้นจนบัด จนบัดนี้ ภาษาธรรมะภาษาศาสนานี่ต้องยืมภาษาชาวบ้าน ภาษาชาวโลกนั่นหละมาใช้ เรื่องนี้ผมเคยพูดหลายหนหลายสิบหนแล้ว แต่ว่าคุณบางคนไม่เคยได้ยินนี่จึงต้องพูดอีก หรือเตือนกันอยู่อีกว่า มันเป็นความจริง หรือเป็นข้อเท็จจริงอันหนึ่ง ซึ่งเป็นความลับอยู่ไม่ค่อยรู้ว่าภาษาธรรมะที่มันยุ่งยากลำบากนั่นน่ะ ที่แท้มันก็ไปยืมภาษาชาวบ้านกลางถนนมาใช้ เช่น ยืมคำว่า ถนน มาใช้เป็นชื่อการปฏิบัติ เขาจะไปนิพพาน คำว่ามรรค แปลว่าหนทาง ชาวบ้านเขารู้จักดี เรียกกันมาก่อนว่า มรรค มรรคา อะไรก็ตามแปลว่าถนนสำหรับเท้าเดิน ควายเดิน วัวเดิน อะไรก็เดิน เรียกว่าทาง แต่พอค้นพบวิธีปฏิบัติ ให้จิตใจมันเดินไปสู่นิพพานได้ ก็ไม่มีคำจะใช้ ต้องเอาคำชาวบ้านกลางดินมาใช้ เลยไอ้คำว่าทางนี่มันก็เปลี่ยนมาเป็นคำบัญญัติเฉพาะในทางศาสนา หรือทางที่ใจจะเดินไปสู่นิพพาน นั้นคำว่า ปฏิบัติ นี้ก็แปลว่า เดิน คือเดินไปตามถนนนั่นแหละ แต่นี้ใจมันเดินก็เรียกว่าปฏิบัติธรรม จะละ ก็แปลว่าไปหรือเดิน ภาษาไทยที่เรียนมาแล้วว่า บทจร นี่ มันก็เดินไปด้วยเท้านั่นแหละมันแปลว่าเดิน คำนั้นจะมาใช้เป็นชื่อการปฏิบัติ เพราะใจมันก็เดิน เดินจากจุดนี้ไปยังจุดนั้น คำว่า ปฏิบัติ ก็ดี คำว่าจริยาก็ดี มันแปลว่าเดิน พอเรารู้อย่างนี้ เราก็เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า เราต้องปฏิบัติจนมีการเดิน ไม่ใช่หยุดอยู่กับที่ ไม่ใช่ซ้ำที่ ไม่ใช่เหมือน เหมือนที่อยู่อย่างนี้ มันต้องไปไปไป ก้าวหน้าไป นั่นหละคือตัวกริยาอาการของการปฏิบัติ คำว่า เดินไปด้วยเท้ามันก็เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่มนุษย์รู้จักแล้วมาตั้งแต่สมัยแรกเป็นมนุษย์ ตั้งแต่ละสภาพจากของความเป็นลิงมาเป็นมนุษย์ก็รู้แล้ว แต่พอว่าเดิน หรือปฏิบัติไปนิพพานนี่ไม่รู้ มันเป็นเรื่องทางวิญญาณ ที่เกิดคำว่าฝ่ายวิญญาณขึ้นมา ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร ผมก็เรียกว่าวิญญาณไปตามความรู้สึกของผม ไอ้คำว่า Spiritual นั้นมันไม่รู้ว่าจะแปลว่าอะไรกัน เดี๋ยวนี้ขอเรียกว่าวิญญาณ ทางวิญญาณ ไอ้เดินด้วยเท้า หรือเดินทางเนื้อหนัง ทางวัตถุ ไอ้เดินด้วยจิตมันเป็นเรื่อง Spiritual เดินทางวิญญาณ คนสมัยนี้ไม่อยาก ไม่รู้จัก ไม่อยากจะรู้จัก มีอะไรมาชักชวนให้ไม่อยากจะรู้จัก มันก็เห็นแก่ปากแก่ท้อง เห็นแต่เรื่องเนื้อหนัง เห็นแต่ความเพลิดเพลินทางเนื้อทางหนัง มันก็เลยไม่รู้ไม่อยากจะรู้จักเรื่องทางวิญญาณ ขอให้นึกถึงไอ้การเดินทางจิตทางวิญญาณ ที่เรียกว่าตัวการปฏิบัติ ถ้าเป็นจริงเป็นจังก็เรียกว่าปฏิบัติธรรม คือหน้าที่ที่จะต้องประพฤติ กระทำตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นเรื่องทางจิตใจมันสูงขึ้นมา ก็เพื่อจะดับความทุกข์ทั้งหลาย จะบรรลุมรรคผลนิพพาน แต่การเดินหรือการปฏิบัติในที่นี้ ถ้าเดินถูกต้อง เรียกว่าการปฎิบัติถูกต้องจะต้องไม่ออกริมทาง เหมือนกับควาย วัวมันเดินไปตามทาง ถ้ามันเดินถูกต้องมันไม่ต้องออกริมทาง จะทางซ้ายก็ได้ ทางขวาก็ได้ ไม่ต้องออกไปริมทาง นี้จึงจะเรียกว่าเดินถูกต้อง ทีนี้เดินทางจิตใจนี้ก็เหมือนกัน ต้องไม่ออกไปริมทาง ทางซ้ายก็ไปบ้าเรื่องกามารมณ์ ทางขวาก็ไปบ้าเรื่องขลัง เรื่องศักดิ์สิทธิ์ เรื่องทรมานตนให้ลำบาก นี้มีชื่อเรียกแล้วในพระบาลี กามสุขัลลิกานุโยค ไปพัวพันอยู่กับเรื่องกามารมณ์ ไปทางซ้าย ทางนี้บางทีก็เรียกว่าทางเปียก เปียกชุ่ม เรียกว่า อาภาลหะปฎิปทา (นาทีที่ 46:59) การปฏิบัติที่เปียกชุ่ม จมอยู่ในกามารณ์ นี้มันไปซ้ายแล้ว นี่ทางที่มันไปทางตรงกันข้าม ทางขวา ไปขลัง ไปศักดิ์สิทธิ์ ไปทำตนให้ลำบาก เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค ทำตนให้ลำบาก บางทีก็เรียกว่า นิชชามะปฏิปทา (นาทีที่ 47:23) หรือข้อปฏิบัติที่ทำให้ไหม้เกรียม เหมือนเอามาย่างให้เกรียมให้ไหม้ไปเลย นี่ก็ไปทางขวาแล้ว อะไรแล้วแต่มันจะสมมติ มันออกริมทางแล้ว ออกนอกทางแล้ว ก็เรียกว่าไม่ถูกทาง นี้ถ้ามันอยู่ตรงกลาง ที่มันถูกทาง อย่าไปข้างนั้น อย่าไปข้างนี้ บางทีเขาก็เรียกว่าไม่ตึงหรือไม่หย่อน ถ้าหย่อนไปทางกามารมณ์ ถ้าตึงไปในทางทำตนให้ลำบากโดยไม่รู้เหตุผล ไม่มีเหตุผล งมงาย ทีนี้ไม่ไปทางซ้าย ไม่ไปทางขวา ไม่ออกไปริมทาง ก็เดินอยู่ตรงกลางก็เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา การปฏิบัติที่ดำเนินอยู่ในทางสายกลาง ทีนี้เราก็ได้หลักว่ามันต้องอยู่ตรงกลาง อย่าไปออกริมทางนั่นแหละเรียกว่าความถูกต้อง คือเป็นมัชฌิมาปฏิปทาขึ้นมา ขอให้จำคำนี้ไว้ให้ดีๆ ด้วย เพราะว่าคำๆ นี้มันรวมถึงคำว่าธรรมศาสตรา ธรรมศาสตร์ หรือว่าธรรมศาสตรา อาวุธคือธรรมะ การปฏิบัติที่ถูก ถูกต้องไปตามทางมัชฌิมาปฏิปทาอันนี้จะเป็นธรรมศาสตรา ที่จะตัดปัญหาทุกชนิดได้ ต้องฟังให้ดีเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา อยู่ตรงกลาง บางทีก็เรียกว่าอริยมรรคอันประเสริฐ อริยมรรคมีองค์แปด คือหนทางที่ประเสริฐที่สุด ประกอบอยู่ด้วยองค์ประกอบแปดประการ มันจึงหมายถึงไอ้การทำถูกต้อง ในลักษณะแปดอย่างแปดประการ รวมกันเข้าแล้วก็เป็นตัวการปฏิบัติที่ถูกต้อง หรือเป็นหนทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา คำบาลีก็ใช้คำว่าถูกต้อง ผมก็ใช้คำว่าถูกต้องไปตามคำบาลี คือคำว่าสัมมา แปลว่าถูกต้อง สัมมันตะแปลว่าความถูกต้อง สัมมันตะ ความถูกต้องแปดประการนี้ เอามารวมเข้าเป็นอันเดียวกัน ก็จะเกิดไอ้สิ่งที่เรียกว่า หนทางอันประเสริฐนี้ขึ้น อย่าพูดผิดๆไปตามเขาว่า มรรคแปด มรรคแปด มรรค มรรคมันผิด มรรคมันหนึ่ง หรือเดียว แต่ประกอบอยู่ด้วยองค์แปด เราเป็นนักศึกษาชั้นตรี อย่าพูดอะไรผิดๆ อย่างคนที่ไม่มีการศึกษาไปพูดว่า มรรคแปด ได้ยินที่กรุงเทพนั่น หนวกหู พูดว่ามรรคแปดมันก็ผิด มันต้องมรรคมีองค์แปดเสมอ ความถูกต้องแปดประการรวมกันเข้าเป็นมรรคสายหนึ่ง แล้วเราก็มาพูดถึงความถูกต้องกันต่อไป มีอยู่แปดอย่าง เพียงความถูกต้องในทางความคิดเห็น ถ้าจะเขียนเป็นไทยๆ เขียนเป็นความคิดเห็นดีกว่า มันรวมเอาความเชื่อหรือความรู้ หรืออะไรเอาไว้หมด ในข้อนี้ เรียกว่าความถูกต้องในทางความคิดเห็น ถ้าเรียกเป็นบาลีว่าสัมมาทิฐิ แปลว่าทิฐิที่ถูกต้อง นี้คุณก็ทายเอาได้เองว่า ถ้าถูกต้องมันต้องถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เพราะเรามีหลักธรรมชาติ กฎของธรรมชาติเป็นหลักใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้อยู่แล้ว พอพูดถึงความถูกต้อง มันต้องถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ถ้าอย่างนั้นมันถูกต้องไปไม่ได้ หรือเรียกอย่างภาษาวัดก็เรียกว่า ถูกต้องตามธรรม ถูกต้องตามธรรม ตามหลักธรรม ทีนี้เราว่าถูกต้องตามกฎของธรรมชาติก็คืออันเดียวกัน นี้ความถูกต้องนี้ก็ต้องมีมาก นี่เราก็จะจำกัดเอาแต่ความถูกต้องชนิดที่ปฎิบัติได้ สัจจะมีมาก สัจจะที่ปฎิบัติไม่ได้ก็ทิ้งไปที่ประยุกต์ได้ ที่ปฏิบัติได้นี่จะเป็นความถูกต้องที่มีประโยชน์ ก็ต้องมีความรู้ถูกต้อง มีความเชื่อถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง มีความคิดเห็นถูกต้อง หรือจะพูดว่ามีทฤษฎีถูกต้องข้อแรก ที่บาลีเรียกว่าสัมมาทิฐิ ที่นี้ข้อที่สอง ก็ว่ามีความต้องการถูกต้อง จะเรียกว่าความปรารถนา ความใฝ่ฝัน ความตริตรึก หรือแล้วแต่จะเรียกเถอะ ก็คือความต้องการถูกต้อง ถ้าเป็นบาลีเขาเรียกว่า สัมมาสังกัปโป สังกัปโปนี่คือการที่จิตมันตริไป หรือเร่ไป แส่ไป เพื่อจะเอาอะไรของมัน มันก็เรียกว่าสังกัปปะ ไอ้สังกัปปะนี่ต้องถูกต้อง นี่ผมเรียกเป็นไทยสั้นๆ ตรงๆ ว่าความต้องการมันถูกต้อง ก็ต้องถูกต้องตามกฎหรือว่าถูกต้องตามเหตุผลที่แวดล้อมอยู่ ถ้ามิฉะนั้นจะเกิดเรื่อง เราไม่ต้องการผิดทาง ผิดวิถีทาง มันต้องกระทบกระทั่ง เช่น กระทบกับบุคคลด้วยกัน มันก็เกิดเรื่อง หรือว่าถ้าไปกระทบกันกับกฎของธรรมชาติ นั้นมันเท่ากับว่าไปกระทบกับพระเจ้า พระเจ้าจะตบหน้าเอา ความทุกข์มันจะเกิดขึ้นในจิตใจ ถ้ามันเดิน มันทำไปไม่ถูกต้อง ในหลักพุทธศาสนาทั่วไปที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาว่ามัน ความต้องการที่ถูกต้องนี้ คือต้องไม่เป็นการเบียดเบียน ความต้องการของเรา ที่เป็นความต้องการที่ถูกต้อง คือต้องไม่เป็นการเบียดเบียน เบียดเบียนตนเองให้ลำบาก นี้ก็เรียกว่าผิดแล้ว เบียดเบียนคนอื่นให้ลำบาก นี้ก็เรียกว่าผิดแล้ว เช่น เราไปหลงใหลในกามารมณ์นี่ก็เรียกว่า เบียดเบียนตนเองให้ลำบาก ถ้าเราไปเบียดเบียนผู้อื่นด้วยความพยาบาทโดยเจตนา หรือเบียดเบียนโดยไม่เจตนาก็เรียกว่า วิหิงสา ก็ผิดแล้ว ทำคนอื่นให้ลำบากโดยเจตนาก็ตามไม่เจตนาก็ตาม ดังนั้นจะนิยามคำๆ นี้ให้ดี ก็จะพูดว่าต้อง ไอ้ความต้องการที่ถูกต้อง ถูกต้องไม่เป็นการเบียดเบียนทั้งตนเองและทั้งผู้อื่น และทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา เรียกว่าองค์ที่สอง เรียกว่าสัมมาสังกัปโป มักจะแปลกันว่าความดำริชอบ นี้มันแคบไป เลยใช้กันใหม่ว่าความต้องการ ความต้องการคือความดำริไปตามกระแสของความคิดนึกปรุงแต่ง ทีนี้ความต้องการนี้มันต้องไปตามความคิดเห็นคือทิฐิ ทิฐิที่ถูกต้องมีแล้ว ความต้องการมันก็เดินไปถูกต้องเอง ทีนี้มาถึงความถูกต้องที่สามเรียกว่า การพูดจาที่ถูกต้อง ถ้าเรียกอย่างภาษาบาลีเรียกว่า สัมมาวาจา นี้ก็จำคำ จำกัดไว้ว่า จริงนี่อย่างหนึ่ง แล้วก็น่าฟังนี่อย่างหนึ่ง แล้วก็มีประโยชน์ แล้วก็ถูกต้องแก่กาละเทศะ หรือว่าจริง แล้วก็เรื่องนั้นมันจริง วาจานั้นก็ต้องจริง จะไพเราะหรือไม่ไพเราะ น่าฟังหรือไม่น่าฟังนี่ก็อีกเรื่องนึง ต้องให้มันเป็นฝ่ายที่น่าฟังแล้วจึงจะเรียกว่ามันถูกต้องกว่า ก็ต้องมีประโยชน์ ทั้งจริงทั้งน่าฟังแต่ถ้าไม่มีประโยชน์ก็ไร้ความหมาย หรือแม้มันจริงและมีประโยชน์แล้ว และน่าฟังแล้ว ก็ต้องดูให้มันควรแก่กาละเทศะ เวลาที่จะพูดออกไป หรือสถานที่หรือชุมนุมชนที่จะพูดออกไป ทีนี้คุณก็ไปคิดดูเองว่าที่มันทะเลาะกันเพราะมันไม่ถือหลักอย่างนี้ ที่มันยืนยันเอาว่าจริงๆๆ นั้น ก็พูดตะพรึด ไม่ดูกาละเทศะนี่ หรือมันมีประโยชน์แก่ผู้ฟัง แล้วมันก็พูดตะพรึดไม่ดูกาละเทศะ คนฟังไม่ถูกก็ตบหน้าเอา ก็ป่วยการพูด มันก็เลยทะเลาะวิวาทกันเพราะมันไม่มีวาจาที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ถูกต้องแก่กาละเทศะ นี้ความถูกต้องต่อไปคือ ความถูกต้องในการทำการงาน เรียกว่า สัมมากัมมันโต ถ้าเรียกเป็นภาษาที่เป็นไทยหน่อยเขาเรียกว่า สัมมากัมมันตะ มีการงานอันถูกต้อง การงานในที่นี้หมายถึงการกระทำ คือ Conduct ทั่วไปที่เรียกว่าการงานในที่นี้ อย่างนี้ถือเอาเป็นหลัก ว่าเป็นหลักคือหลักศีลห้าได้เลย ในโลกนี้เรื่องศีลห้าถือว่าสำคัญอย่างไร ก็เอามาเป็นคำอธิบายของคำว่า สัมมากัมมันโต มีความถูกต้องในการทำการงาน ศีลห้านี่ คุณอาจจะเรียนกันมาอย่างอื่น มีความหมายแคบกว้างอย่างอื่น ผมอยากจะให้คำจำกัดความเสียใหม่ ที่มันจะเป็นสากลที่สุด มันจะต่อสู้ได้ในที่ทุกหนทุกแห่ง ศีลห้าข้อที่หนึ่ง ปาณา คือไม่ประทุษร้ายร่างกาย ชีวิตผู้อื่นโดยวิธีใดๆ ก็ตาม กฎนิยามเป็นอย่างนี้ก็พอแล้ว ไม่ทำการประทุษร้ายร่างกาย หรือชีวิตผู้อื่นหรือสัตว์อื่นโดยวิธีใดก็ตาม ไม่ต้องพูดกันถึงฆ่าเฆ่อ มันโดยหลายวิธีนักที่ทำให้ตาย คือว่าไม่ตายมันก็ต้องขาดศีลข้อนี้อยู่ดี ไม่ขาดก็ฉีกทอด จึงใช้คำรวมว่าไม่ประทุษร้ายร่างกาย หรือชีวิตสัตว์อื่นโดยวิธีใดก็ตาม ทีนี้ อทินนาข้อสอง คือไม่ประทุษร้าย ผมชอบคำๆ นี้มันกว้างดี ไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นโดยวิธีใดก็ตาม ทีนี้ข้อสาม กาเมสุ นี่คือไม่ประทุษร้ายของรักของบุคคลอื่นโดยวิธีใดก็ตาม ไอ้ประทุษร้ายชีวิตนั้นมันทำให้ตาย ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติมันเอาไปในทางสิทธิ ครอบครอง ประทุษร้ายของรักนี้ไม่ใช่อย่างนั้น มันมุ่งที่จะหาความเพลิดเพลินส่วนตัว หรือมุ่งจะทำให้ผู้อื่นเขาเจ็บช้ำน้ำใจ ทีนี้ข้อที่สี่ มุสา นี่ไม่ใช้วาจาเป็นเครื่องทำลายความเป็นธรรม ความยุติธรรมของคนอื่น นี้ข้อที่ห้า สุรานั้นมันเป็นตัวอย่าง คำว่า สุรามัชชะ เขายกมาเป็นตัวอย่างสองคำ ไอ้ตัวนามจริงๆ มันอยู่ที่คำว่า ปะมาทัฎฐานะ สิ่งที่เป็นที่ตั้งของความประมาท บัญญัติคำของข้อนี้คือไม่ประทุษร้ายสติ ปัญญา สมปฤดีของตนเอง สติ ปัญญา สมปฤดี ที่จริงสมปฤดีก็คือสติ แต่เดี๋ยวนี้ในภาษาไทยมันแยกกันเสียแล้ว ความมีสมปฤดีอย่างที่เราไม่ ไม่ลืมตัวไม่นี่ รู้สึกผิดชั่วดีอยู่นี่ เรียกว่าสมปฤดี ทีนี้ สติ ปัญญา หมายถึงความรู้ที่รู้สึกตัวที่ลึกไปกว่านั้น ปัญญาความรอบรู้ที่รู้อยู่ด้วยการศึกษาเล่าเรียน พอเสพสิ่งอะไรเข้าไปด้วยการดื่มทางปาก หรือด้วยการสูดทางจมูก หรือด้วยลมที่เนื้อที่ตัว ลูบไล้ทาที่ตัว หรือฉีดเข้าไป โดยวิธีใดก็ตาม ไอ้สิ่งนั้นมันเข้าไปประทุษร้ายต่อสติ ปัญญา หรือสมปฤดีแล้วก็เรียกว่าผิดศีลข้อนี้ นั้นถือเป็นศีลห้าที่สากล มันจะไปใช้ที่ไหนก็ได้ เป็น By one (นาทีที่ 1.02.35 ) เพื่อสากล อย่าประทุษร้ายชีวิตร่างกายของเขาโดยวิธีใดก็ตาม อย่าประทุษร้ายทรัพย์สมบัติเขาโดยวิธีใดก็ตาม อย่าประทุษร้ายของรักของเขาโดยวิธีใดก็ตาม เด็กๆ ก็ถือได้ เพราะเด็กๆ ก็มีของรักอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่าประทุษร้ายความเป็นธรรมของเขาด้วยวาจาของเรา อย่าไปประทุษร้ายสติปัญญา สมปฤดีของตัวเอง ก็เลยกินความหมดไม่มีข้อแก้ตัว อย่ามัวเถียงกันว่าขาดศีลไม่ขาดศีลข้อนั้นข้อนี้ มันเป็นเรื่องหาทางแก้ตัวของคนที่ไม่จริง ก็เลยบัญญัติไว้ไม่มีทางแก้ตัว ก็คืออย่างนี้ เมื่อถือได้อย่างนี้ก็เรียกว่าการกระทำของบุคคลนั้นถูกต้อง คือไม่ผิดศีลทั้งห้าข้อนี้ก็เรียกว่าถูกต้อง ทีนี้ความถูกต้องข้อที่ห้า เรื่องการดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง นี้ก็เรียกว่า สัมมาอาชีโว สัมมาอาชีพ ความมีอาชีพ คือการดำรงชีพถูกต้อง อาชีพนี้ตามตัวในภาษาบาลี แล้วก็แปลว่าดำรงชีพอย่างถูกต้อง ไม่มุ่งความแคบแค่ว่าหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องอย่างถูกต้อง นั้นมันแคบไปหน่อย ตัวการเป็นอยู่ ตรงชีวิตอยู่ ดำรงชีวิตอยู่ นี้เรียกว่าอาชีพ นี้ก็ต้องถูกต้อง เรียกว่าสัมมาอาชีพ ให้มันมีความถูกต้องในการหามา ในการได้มา ในการมีไว้ ในการบริโภคที่มันถูกต้องแล้วกัน หาก็หาอย่างถูกต้อง ได้มาก็ได้มาถูกต้อง มีไว้ เก็บรักษาไว้ ยึดครองไว้ก็ถูกต้อง กิน บริโภค ใช้จ่ายก็ถูกต้อง อย่าให้ผิดคืออย่าให้เกิน ตรงนี้อยากจะขอแทรกว่า ปัญหาใหญ่ ในโลกนี้ เวลานี้มีมูลมาจากข้อนี้ คือคนในโลกไม่มีสัมมาอาชีพ มันผิดไปหมด ในการแสวงหา ในการได้มา ในการมีไว้ ในการบริโภคมันผิดไปหมด คือมันมีแต่เกิน เกิน เกินมากไปหมด ไม่พอดี ไม่ถูกต้อง ยิ่งมีการศึกษามากก็ยิ่งทำให้เกินมาก ถ้าหากว่าไม่เกินก็ไม่ถูกต้อง ถ้าถือตามหลักของศาสนา ศาสนาพุทธก็ดี ศาสนาคริสต์ก็ดี การกระทำของมนุษย์ในเวลานี้เป็นบาปหมดเลย เป็นบาปอย่างร้ายหมด เพราะมันมีแต่ส่วนเกิน ไอ้อยู่ดีกินดีนี่ก็ส่วนเกิน การแสวงหาเกิน มีความคิดกว้างขวางที่จะกอบโกยเอามาเป็นของของตัว ไม่มีขอบเขตจำกัด ยิ่งมีมากก็ยิ่งมีมือยาวกอบโกยกันได้ตั้งครึ่งโลก นี่มันเป็นส่วนเกิน นี่ก็เรียกว่าผิด ถ้าไม่มีส่วนเกินแล้วก็จะอยู่กันเป็นสุข คือไม่มีใครเอาส่วนเกิน มันป้องกันได้ในการที่จะไม่มีส่วนเกิน เพราะพอรู้สึกว่าเกินความต้องการแล้วก็ให้คนอื่นเสียสิ มันก็ไม่มีส่วนเกินเหลืออยู่ที่ตัว เดี๋ยวนี้มันไม่มีใครทำอย่างนี้ เอากันมาเท่าไหร่ก็ไม่เกิน ไม่รู้สึกว่าเกิน มีอำนาจ มีเงิน มีเท่าไหร่มันก็ยังไม่รู้สึกว่าเกิน ถ้ายังไม่รู้สึกว่าพอด้วยซ้ำ ดังนั้นประเทศทั้งหลายในโลกนี้มันต้องรบกันไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมีพวกหนึ่งมันมาเอาส่วนเกินไม่มีที่สิ้นสุด นี้ดำรงอาชีพอย่างมีส่วนเกินอย่างนี้แล้วก็จะมีความเดือดร้อน แม้ในส่วนบุคคลคนๆ หนึ่งๆ นั้นไปคิดดูให้ดี ก็พอที่จะเจียดออกไปเสียได้ อย่าให้มันเป็นส่วนเกิน แล้วก็เจียดไปให้ผู้อื่นเสีย ก็เป็นบุญเป็นกุศล คือไม่ต้องเป็นทุกข์ นี้เรียกว่า สัมมาอาชีโว ดำรงชีวิตอย่างถูกต้อง ใช้ภาษาการเมืองหน่อยก็ว่า ไม่มี Surplus มันก็ไม่ต้องทำให้ใครลำบาก คือต่อไปก็เรียกว่าความถูกต้องในความพากเพียร พยายาม เรียกว่าสัมมาอาชีโว ทุกคนต้องมีความพยายาม มันหยุดไม่ได้ เมื่อยังไม่บรรลุจุดหมายปลายทางไม่ทางใดก็ตาม ต้องพยายามอยู่เรื่อย อย่างเรามีปัญหาก็ต้องแก้ปัญหาให้หมดไป เมื่อปัญหามันยังไม่หมดไอ้สิ่งที่เรียกว่าความพยายามจะต้องมี นั่นคือคำว่า วายามะในภาษาบาลี ภาษาไทยเรียกว่า วยามะ เรียกตามสันสกฤตว่า วยามะ ตัวพยายาม พยายามนั่น ความพากเพียรนี่ต้องถูกต้อง คือตามหลักธรรมะในพุทธศาสนาว่าต้องมีความถูกต้องในการป้องกัน มีความถูกต้องในการละเว้น มีความถูกต้องในการสร้างขึ้นมา มีความถูกต้องในการรักษาไว้ ประเด็นของความชั่วก็เรียกว่ามีความพากเพียรในการป้องกัน แล้วก็ละเว้น ป้องกันอย่าให้ความชั่วเกิดขึ้น ความชั่วที่เกิดอยู่แล้วให้ละเสีย ความดีให้พยายามที่จะสร้างขึ้นมาแล้วก็รักษาไว้ มันจึงเกิดคำขึ้นมาสี่คำว่า ป้องกัน ละเว้น สร้างขึ้น แล้วก็รักษา ต้องพยายามไอ้สี่สถานนี้ให้มันถูกต้องอยู่ตลอดเวลา ป้องกันอย่างถูกต้อง ละเว้นอย่างถูกต้อง สร้างขึ้นอย่างถูกต้อง รักษาไว้อย่างถูกต้อง ถ้าเป็นเรื่องโลกๆ เอาไปใช้ในเรื่องโลกๆ ธรรมะข้อนี้ก็หมายความว่า อย่าทำผิด แล้วก็ละไอ้ความผิดที่มีอยู่เสีย ก็สร้างความดีขึ้นมา รักษาความดีไว้ อย่าคิดไปในทางที่จะทำให้เป็นทุกข์ ป้องกันไว้ทุกวิถีทางที่จะให้ความเสียหาย หรือความผิดพลาดมันเข้ามา ที่มีอยู่หรือทำอยู่ก็ละเสีย ไอ้การหาเงินก็ดี หาเกียรติยศชื่อเสียงก็ดี ก็ต้องทำในอาการอย่างนี้ กระทั่งจะไปนิพพานก็ต้องทำในหลักอย่างนี้ ทีนี้ความถูกต้องประการที่เจ็ด ก็เรียกว่ามีสติถูกต้อง คือความระลึกที่ประจำอยู่ในใจ มันต้องเป็นความถูกต้อง ก็เรียกว่าสัมมาสติ นี้หมายความว่ารักษาปัญญา ความรู้ ความรอบรู้ ที่มาอยู่ในรูปของสติสัมปชัญญะนี้ไว้อย่างถูกต้อง แน่วแน่ สม่ำเสมอ อย่าไปปนกันเสีย สติปัญญากับสติสัมปชัญญะ มันไม่ใช่อย่างเดียว หรือว่าจะสามคำก็ได้ ปัญญานี่คือวิชาที่ถูกต้องที่จะแก้ปัญหาได้ นี่เรียกว่าปัญญา ความรู้ที่ถูกต้องเรียกว่าปัญญา ทีนี้พอมีปัญหาเกิดขึ้นมันนึกไม่ออก ปัญญามันไม่มาเพราะว่ามันขาดสติ อย่างนี้ก็เรียกว่ามันขาดสติ นี่ถ้าสมมติว่าระลึกได้มาแล้ว แต่ว่ารักษาไว้ไม่ได้ เดี๋ยวมันก็หายไปซะอีก นี้มันขาดสัมปชัญญะ ก็ต้องมีสติสัมปชัญญะในการที่จะมีปัญญาอย่างถูกต้องไว้อย่างแน่วแน่สม่ำเสมอ อย่างนี้เรียกว่ามี สัมมาสติ เรามีความระลึกที่ประจำใจอยู่อย่างถูกต้องด้วยความรู้ และด้วยกริยาอาการที่มันเพียงพอที่จะแก้ปัญหาต่างๆได้ แล้วก็อย่างแน่วแน่ แล้วก็อย่างสม่ำเสมอ เพียงพอแก่การแก้ปัญหา ใครทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่ามีสติ มีสัมมาสติ ถ้าเป็นเรื่องชาวบ้าน ก็เป็นเรื่องเอาชนะไอ้อันตรายทั้งหลาย ถ้าเป็นเรื่องธรรมะชั้นสูงก็เพื่อชนะกิเลสทั้งหลาย ไปนิพพาน ก็เรื่องละกิเลส ทีนี้อันสุดท้ายก็เรียกว่าสัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นอย่างถูกต้อง มีสมาธินี่คือ มีจิตที่มีกำลังมีประสิทธิภาพสูงสุดไว้อย่างถูกต้อง คือใช้สมาธิถูกต้อง มีสมาธิที่ถูกต้อง แล้วก็ใช้สมาธิอย่างถูกต้อง ความเป็นสมาธินั้นจำไว้เป็นหลักทั่วไปว่ามีจิตบริสุทธิ์ มีจิตมั่นคง มีจิตว่องไว จิตบริสุทธิ์คือว่าไม่มีกิเลสใดรบกวน ไม่มีความผิด ความชั่วรบกวนใจ แล้วจิตมั่นคง คือแน่วแน่คุมไว้ได้ แล้วก็จิตว่องไวในหน้าที่การงานของจิต ปริสุทโธ บริสุทธิ์ สมาหิโต มั่นคง กัมมนีโย ว่องไวในหน้าที่ของตน องค์ประกอบสามองค์นี้คือลักษณะของความเป็นสมาธิ เมื่อเป็นสมาธิอย่างนี้แล้วก็มีกำลังสูงสุด มีประสิทธิภาพสูงสุด ประสิทธิภาพ คือความสามารถที่จะทำให้สำเร็จ และกำลังนี่หมายความว่า กำลังงานที่จะใช้ นี่ก็คือความเป็นสมาธิ ถ้าเรื่องธรรมะในทางศาสนาก็ว่า สมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ จิตตั้งมั่นแล้วย่อมเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามความเป็นจริง รู้สิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง คือบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ถ้าในเรื่องโลกๆ แล้วจิตมันเป็นสมาธิแล้วมันก็ทำงานในหน้าที่ของตนได้ดี คือมันจำเก่ง คิดเก่ง ตัดสินใจเก่ง อะไรมันเก่งไปหมด นี่ก็เป็นแปดประการ แปดองค์ มีความถูกต้องแปดประการนี้ เอามาฝั้นเป็นเกลียวกันเข้า เหมือนเชือกแปดเกลียว นี่ก็เรียกว่าหนทางทั้งแปดมารวมเป็นหนึ่ง มันจะเรียกว่าแปดได้อย่างไร ก็ต้องเรียกว่ามีองค์แปด ทางสายเดียวประกอบอยู่ด้วยองค์แปด แล้วก็ประเสริฐเพราะว่าแก้ปัญหาได้หมด นี่คือธรรมศาสตรา ทีแรกเราพูดตรงๆ ว่าปฏิบัติธรรมเป็นธรรมศาสตรา เดี๋ยวนี้เราระบุลงไปว่าปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติอย่างถูกต้องด้วยองค์แปดประการนี้ เกิดเป็นอริยมรรคมีองค์แปดขึ้นมา นี้เรียกว่าธรรมศาสตราในพุทธศาสนา จะตัดอะไรออกไปได้หมดที่จะต้องตัด ที่ผมใช้คำว่าในพุทธศาสนา ก็เพื่อว่า พูดตามที่มันควรจะถือกันว่าเป็นของพุทธศาสนา เป็นหลักของพุทธศาสนา แต่เนื่องจากพุทธศาสนาไม่มีความใจแคบ เห็นแก่ตัว แล้วก็มันก็เป็นของที่ธรรมชาติมันมีให้ เราก็จะไม่เรียกว่าเป็นของพุทธศาสนาก็ได้ เรียกว่ามันเป็นของสากลไปเลยอย่างนี้ อย่างธรรมชาตินี่ต้องเป็นของสากล กฎของธรรมชาติก็เป็นของสากล หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติก็เลยเป็นของสากลไปด้วย นั้นอริยมรรคมีองค์แปดนี่ถือว่าเป็นของสากล ใช้ได้แก่คนทุกคนที่มีความรู้สึกพอที่จะปฏิบัติได้ แล้วก็เป็นสากลทั้งพื้นที่ ทั้งเวลา เดี๋ยวนี้ก็ใช้ได้ทั่วสากล จักรวาล ทั่วพื้นที่ แล้วก็ใช้ได้ทุกเวลา ทุกยุค ทุกสมัย จะกี่อสงไขย แสนกัลป์ อะไรนี่ก็ใช้ได้ นี่สากลทั้งโดยพื้นที่ และโดยเวลา นี่จึงจะเป็นสากลจริงๆ ไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดเนื้อที่ ถ้าจะพูดกันให้ละเอียดมากไปอีก ไอ้ความถูกต้องนี้มันต้องถูกต้องตามกฎอย่างที่เราพูดกันมาแล้วในวันก่อนสามัญญตา ไอ้สามัญ สามัญญตา ความเป็นของสามัญแก่ทั่วไป คือเป็นกฎอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าเอากฎนี้มาใช้กับการปฏิบัติ ก็หมายความว่า การปฏิบัตินี้ แม้ไม่อาจจะยึดถือเป็นตัวเป็นตน แต่เราก็อาจจะทำให้เป็นความสำเร็จประโยชน์ขึ้นมาได้ ไอ้ธรรมชาตินี่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของใคร แต่ถึงอย่างนั้นแหละ สัตว์ก็ผู้รู้จักใช้กฎที่ไม่ใช่ตัวตนนี้ ก็ทำให้เป็นประโยชน์แก่สัตว์นั้นได้ แก่ตัวตนนั้นได้โดยสมมติ แล้วก็สามารถดับทุกข์ได้จริงด้วย กฎสามัญลักษณะนี่ มันช่วยให้ไม่เกิดยึดถือตัวตน กฎอิทัปปัจจยตาก็ช่วยให้สำเร็จได้ตามความประสงค์ ทั้งที่ไม่ใช่ตัวตน และกฎอริยสัจนี่สามารถดับทุกข์ได้จริง นี่คือความถูกต้องถึงที่สุด เด็ดขาดที่สุด นอกนั้นมันถูกต้องตามสมมติ ตามที่เขาว่าว่ากัน ชั่วคราว ถูกต้องชั่วคราว ถูกต้องแต่บางยุคบางสมัย ถูกต้องแต่ในบางประเทศใช้ได้ไม่เหมือนกัน นั้นเราเห็นว่าอริยมรรคมีองค์แปดเป็นธรรมศาสตราที่ดี แล้วก็ด้วยความคมของมัน มันอยู่ที่ตรงไหน มันอยู่ที่ความถูกต้องนั่น ความถูกต้องคือศาสตรา คือตัวที่มีคม ความที่มันมีคมคือความถูกต้อง ถ้าเป็นความจริง มันเป็นศาสตราที่ฆ่าความเท็จ นี้มันเป็นความจริง เป็นสัจธรรม ถ้ามันเป็นความเป็นธรรม ถูกต้องตามธรรม มันก็เป็นศาสตรที่ทำลายความไม่เป็นธรรม มันเป็นศาสตราที่ถูกต้อง มันก็ทำลายเป็นศาสตราทำลาย งมงาย ไร้เหตุผล ไม่ถูกต้อง มันจะถูกทำลายไปด้วยความถูกต้อง ไอ้ความถูกต้องนี้มันต้องทนต่อความพิสูจน์ ถ้ามันไม่ทนต่อความพิสูจน์เรียกว่าไม่ถูกต้อง มันเป็นศาสตราที่ทำลายความที่ไม่มีรากฐานอันมั่นคง ไม่มีเหตุผลอันมั่นคง ไม่มีการทนต่อความพิสูจน์ นี้เราเรียกว่ามันเป็นศาสตรา หรือใช้ได้ในทุกแง่ทุกมุม เรามีมีดเล่มหนึ่ง ไม่ใช่เราใช้ตัดอย่างเดียว ใช้ริดรอนตรงนั้น ตรงนี้ ตรงโน้น หลายๆ ประการ และเวลาก็จะหมดลงแล้ว
ขอสรุปความว่าคนเราคนหนึ่งๆที่แท้ก็ไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง แต่นี่เราก็ต้องพูดตามภาษาชาวบ้าน ว่าเรา หรือฉัน หรือตัวตน คนหนึ่งๆ นี่ ก็มีสิ่งที่เรียกว่า ธรรมชาติหรือสภาวธรรม นั่นเอง เป็นตัวเรา เป็นความทุกข์ หรือเป็นปัญหาของเรา มนุษย์มีสิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรมหรือธรรมชาติ ส่วนหนึ่งเป็นตัวฉัน เป็นตัวตน เป็นปัญหาของตน เป็นความทุกข์ร้อนของตน มันก็มีสัจธรรมหรือกฎธรรมชาติ ที่ทำให้ต้องเป็นอย่างนั้นด้วย แล้วก็เป็นกฎเกณฑ์ที่จะต้องแก้ปัญหานั้นเสียด้วย นี่มันเรื่องตลก ไอ้กฎธรรมชาตินั้นแหละมันทำให้เกิดมีปัญหาอย่างนั้น และไอ้กฎธรรมชาตินั่นแหละมันจะช่วยแก้ปัญหาอันนั้นให้อีกทีหนึ่ง แล้วแต่เราจะใช้กันในเหลี่ยมไหน ความที่มันมีความทุกข์เกิดขึ้นมันก็เป็นสัจธรรมอันหนึ่ง และความที่จะแก้มันให้หายไปได้มันก็เป็นสัจธรรมอันหนึ่งด้วย ในที่สุดก็มีไอ้ปฏิปัตติธรรม คือการปฏิบัติที่ถูกต้องอย่างที่ว่ามาแล้วแปดประการนั้นเป็นหนทางออก เป็นการแก้ปัญหาอันนั้นออกไปได้ แต่มันก็ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติอยู่ดี เหมือนกับพระเจ้าคุมอยู่ กฎเกณฑ์ของธรรมชาติก็คือพระเจ้าคุมอยู่ ให้มีการปฏิบัติถูกต้องเป็นทางออกของการแก้ปัญหานั้นๆ แล้วเราก็มีวิปากธรรม คือผลที่จะได้รับในขั้นสุดท้าย เรื่องนี้จะได้กล่าวในวันหลัง ในฐานะที่จะเป็นผลที่จะได้รับในที่สุด แต่แล้วก็ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติคือสัจธรรมอยู่ดี ไม่มีอะไรที่ไม่เรียกว่าธรรม เรียกว่าธรรม คำเดียวเสมอกันหมด ตัวธรรมชาติก็เรียกว่าธรรม กฎของธรรมชาติก็เรียกว่าธรรม หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎธรรมชาติก็เรียกว่า ธรรม ผลที่ได้รับออกมาจากการปฏิบัติหน้าที่ก็เรียกว่า ธรรม ก็ขอให้รู้ไว้ว่า คำว่า ธรรม นี่เป็นคำที่แปลกประหลาดที่สุดในโลก แปลเป็นภาษาอะไรก็ไม่ได้ แต่ได้มันไม่หมด มันมีประหลาดตรงที่ว่า เป็นคำพูดคำเดียวที่จะตอบคำถามทั้งหมดได้ เหมือนที่ผมก็ยกตัวอย่างให้ฟังทั้งหมดแล้ว ใครจะตั้งคำถาม หรือว่ามีปัญหาเกิดขึ้นอย่างไร กี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่น กี่แสน กี่ล้าน กี่โกฎิ ปัญหา คำตอบมีได้ด้วยคำคำเดียวว่า ธรรม มันก็ถูกหมด ธรรมะนี่ ความทุกข์เกิดจากอะไร ก็เกิดจากธรรม จะดับทุกข์ด้วยอะไร ก็ด้วยธรรม ความสุขก็เป็นธรรม ความตายก็เป็นธรรม ความไม่ตายก็เป็นธรรม ไปตั้งปัญหาเอาเองเถอะ ก็จะตอบได้ด้วยคำว่า ธรรม ถ้าเห็นจริงในข้อนี้ จะเป็นการพิสูจน์ได้เลยว่า คุณเป็นผู้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ธรรม ถ้ามันยังงงอยู่ ไม่รู้จะตอบอย่างไร ก็คือไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรม กินอะไรเข้าไป กินธรรม ถ่ายอะไรออกมา ก็ถ่ายธรรม อุจจาระก็เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง อาหารที่กินเข้าไปก็เป็นธรรม เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง เหงื่อออกมาก็เป็นธรรม มันไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม ทั้งในรูปธรรม ทั้งในนามธรรม ทั้งในสิ่งที่ไม่ใช่ทั้งรูปธรรมและนามธรรม คือ ทั้งสังขตะและอสังขตะ นี่ขอให้รู้จักคำว่าธรรมไว้ในลักษณะอย่างนี้ แล้วเราก็แยกเอาส่วนที่ตรงเรื่องตรงราวที่สุด เอาออกมาเป็นธรรมศาสตรา เป็นอาวุธที่มีคม แล้วก็ตัดปัญหาเฉพาะหน้าที่จะเกิดขึ้น แล้วแต่ว่ามันจะเกิดขึ้นมาอย่างไร ขอจบคำบรรยายในวันนี้ เพราะหมดเวลาแล้ว เพียงเท่านี้