แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๖ วันนี้เป็นวันที่ ๖ ของการบรรยาย ซึ่งผมจะได้กล่าวโดยหัวข้อว่าประโยชน์ของ อนัตตา หรือ สุญญตา ในภาษาธรรม ข้อนี้จะต้องทบทวนให้ข้อความติดต่อกันมาจากเรื่องที่บรรยายในครั้งก่อน เรากำลังพูดกันถึงเรื่องวิชาธรรมสำคัญกว่าวิชาชีพ ข้อนี้ต้องไม่ลืมเสียและได้พูดกันมาจนถึงว่า สิ่งที่เรียกว่า คน ในวิชาธรรมนั้นคืออะไร จนกระทั่งบอกให้ทราบว่า สิ่งที่เรียกว่าคนในวิชาธรรมะหรือภาษาพูดอย่างธรรมะนั้นเป็นเพียงความรู้สึกสมมุติ หรือพูดไปตามที่เขาพูดๆ กัน เพราะว่าโดยแท้จริงแล้วสิ่งที่เรียกว่าคนนั้นเป็นมายา คือเป็นเพียงธาตุทั้งหลายประชุมกัน แล้วก็ปรุงแต่งกันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เกิดมีความรู้สึกคิดนึกได้ในสิ่งที่มีความรู้สึกคิดนึกได้ นี่จะเรียกว่าคนก็ต้องเรียกแต่โดยสมมุติ ปุถุชนคนธรรมดาก็ใช้ความรู้สึกที่สมมุติโดยไม่รู้สึกตัวก็เรียกกันมาว่าคน จนกระทั่งบัดนี้ ทีนี้พุทธศาสนามาสอนเรื่องนี้ให้เห็นว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่าคนนั้นเป็นเพียงความรู้สึก รู้สึกว่าคน เรียกว่าคน พูดว่าคน ไปตามสมมุติ แต่ว่าเมื่อยังเป็นคนธรรมดาอยู่ก็ไม่รู้สึกได้ว่ามันเป็นเรื่องสมมุติให้แก่สิ่งที่เป็นเพียงมายาอันหนึ่ง พวกเขาจะไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า อะไรเป็นมายา อะไรไม่ใช่มายา เราเกิดมาเราได้รับคำสั่งสอนอย่างนี้ ให้พูดจาอย่างนี้โดยไม่รู้สึกตัว แล้วก็พูดกันอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ เวลานี้ก็ยังพูด ในความหมายที่ว่ามันมีคน เป็นคนอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเราก็ต้องการอะไรเพื่อคนหรือเพื่อตัวเรา อุตส่าห์เรียน อุตส่าห์ทำทุกอย่าง มันมีคนเป็นที่ตั้งของเรื่องทุกเรื่องอยู่อย่างนี้ แล้วทำไมจะต้องมาพูดกันอีกเรื่องหนึ่งว่า คนนั้นไม่มี ความที่คนไม่มี คือเรื่องอนัตตา เรื่องสุญญตา สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มิได้มีอยู่จริง มีอยู่แต่ความปรุงแต่ง เปลี่ยนแปลงของสิ่งที่เรียกว่า ธาตุ ธาตุที่เป็นกายก็มี ธาตุที่เป็นจิตก็มี มันก็ปรุงแต่งคิดนึกไปได้ มีแต่ มีแต่ความปรุงแต่ง เปลี่ยนแปลงของสิ่งที่เรียกว่าจิตและกายนี้ กำลังคิดนึกอยู่เวลานี้ กำลังฟังอยู่เวลานี้ กำลังคิดสงสัยอยู่ว่าคนมีหรือไม่มีเวลานี้ มันเป็นเรื่องกรรมวิธีตามธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่า ร่างกาย จิตใจ ก็ต้องคิดไปอย่างนี้ ทำไมพระพุทธเจ้าจะต้องตรัสรู้ข้อเท็จจริงอันนี้ แล้วมาสอนเรื่องว่าโดยที่แท้แล้วมิได้มีสิ่งที่เรียกว่าคน ที่เราเรียกกันว่าเรื่องสุญญตา เรื่องอนัตตา เพราะนั้นเราจะพูดกันถึงข้อนี้โดยเฉพาะว่ามันมีประโยชน์อะไร ความรู้เรื่องอนัตตา เรื่องสุญญตา มันจะมีประโยชน์อะไรแก่คน สุดแต่เราว่าเราจะใช้ข้อเท็จจริงอันนี้ ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง
บางคนเกิดความเข้าใจผิดไปแยกให้เป็น ๒ พวกไปเสียเลย พวกหนึ่งไม่ต้องสนใจเรื่อง อนัตตา เรื่องสุญญตา ทำมาหากินเพื่อตน เพื่อตัวตน เพื่ออะไรไปตามเรื่อง แล้วยกให้พวกหนึ่งเป็นพวกที่จะต้องเข้าถึง สุญญตา อนัตตา เพื่อจะเป็นพระอรหันต์ไปเลย เพราะเกิดแยกเป็น ๒ พวกกันอย่างนี้ ซึ่งเขาถือว่า พวกแรก พวกธรรมดาสามัญไม่ต้องรู้เรื่อง สุญญตา อนัตตา อะไรเลย ก้มหน้าทำมาหากินไปก็แล้วกัน แล้วบางทีก็แนะให้ถือตรงกันข้ามหรือให้เห็นแก่ตน ให้เห็นแก่ตัวตนเอาไว้ด้วย ถ้าว่าโดยที่ถูกแล้ว จากพระบาลีทั้งหลายย่อมแสดงว่า ไม่ต้องแบ่งอย่างนั้น ไม่ว่าคนชนิดไหน ต้องมีความรู้ มีความเข้าใจเรื่องสุญญตา เรื่องอนัตตา แม้แต่ฆราวาส ถ้าไม่อย่างนั้นเขาจะต้องนั่งร้องไห้บ่อยๆ อัดอั้น ตันใจ เหมือนกับตกนรกอยู่บ่อยๆ บ่อยมากเกินไปก็จะได้ฆ่าตัวตาย มีผู้ไปทูลถามพระพุทธเจ้า ว่าอะไร ว่าเรื่องอะไรเป็นประโยชน์แก่ฆราวาสที่ครองเรือน พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสตอบไปตรงๆ ชัดๆ เพื่อให้เห็นว่า ไอ้เรื่องที่มันเกี่ยวกับสุญญตานั้นแหละ กี่เรื่องก็ตามใจ ทุกเรื่องที่มันเกี่ยวกับสุญญามันมีประโยชน์แก่ฆราวาส ฆราวาสชุดนี้ก็ไม่เข้าใจ บอกมันยังไกล ยัง มันเกินกว่าที่จะเข้าใจหรือปฏิบัติได้ พระองค์ก็ตรัสให้ถือเอาไอ้เรื่องความมั่นคงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีการประพฤติไม่ด่างพร้อยนี่ไปก่อน ทีนี้ฆราวาสกลุ่มนั้นเขากลับสวนขึ้นไปอีกว่า อ้างว่าปฏิบัติอยู่แล้ว ปฏิบัติอย่างนั้น ปฏิบัติอยู่แล้ว นี่มันก็เลยบอกอยู่ในตัวว่าฆราวาสนี่กำลังงง เมื่อปฏิบัติอยู่แล้วถึงขนาดที่ว่า เชื่อ เลื่อมใส ยึดมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เต็มที่แล้ว แล้วก็ปฏิบัติไม่ด่างพร้อยอยู่แล้ว ก็ไม่รู้จะปฏิบัติอะไรอีก เพราะมันยังมีความทุกข์อยู่ ก็ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอะไรอีก จึงไปทูลถามพระพุทธเจ้าถึงเรื่องที่จะเป็นประโยชน์แก่ฆราวาสตลอดกาลนาน ก็มีแต่เรื่องนี้ เพราะนั้นขอให้มองให้เห็นชัดว่าแม้แต่ฆราวาสก็ต้องสนใจเรื่องนี้ ยังมีในที่อื่นที่ตรัสไว้ว่า ฆราวาสนั้นไม่ควรจะเพียงแต่ทำบุญ ทำกุศล แต่ให้รู้จักทำจิตให้วิเวก ให้เป็นอิสระ จากการรบกวนของความรู้สึกต่างๆ ด้วย นี่คือเรื่องสุญญตา ถ้าไม่ ไม่เป็นสุญญตา มันก็ไม่ว่างจากความรบกวนของสิ่งต่างๆ มันมีตัวกู มีของกู คอยรบกวนอยู่เรื่อย ข้อความที่ยืนยันอยู่อย่างนี้มีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน
เอาแล้ว เป็นอันว่าในวันนี้เราจะพูดถึงประโยชน์ของสิ่งที่เรียกว่า สุญญตา อนัตตา กันไปเสียเลย ถ้ามองเห็นแล้วก็จะรู้ได้เองว่าพระพุทธเจ้าจะได้ตรัสเรื่องนี้ จริงหรือไม่ ได้ตรัสเพราะเหตุอะไร ที่นี้ก็ขอให้ทบทวนถึงสิ่งที่เรียกว่า คน ในวิชาธรรมะ ในการบรรยายครั้งที่แล้วมาอีกครั้งหนึ่ง ว่าความรู้สึกว่าตัวกู ว่าของกู หรือว่า เรา มันเกิดขึ้นมาได้ในใจ เป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาในใจ เมื่อมันเข้าใจ มันยึดถือมั่นหมายเอาว่าไอ้นี่คือ ร่างกายและจิตใจ ทั้งหมดทั้งสิ้นนี่ คือตัวกู คือของกู มันก็เกิดไอ้สิ่งที่เรียกว่า ตัวกู ขึ้นมาเต็มความรู้สึก ว่ามีตัวกูขึ้นมาอย่างนี้ ลมๆ แล้งๆ เป็นมายาทั้งนั้น เพราะเป็นเพียงความรู้สึก นี่จะต้องพูดกันในข้อนี้ให้เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงมันมีอยู่อย่างนี้ แล้วความรู้สึกที่ถูกต้องในเรื่องนี้จะมีประโยชน์อะไรและจำเป็นอย่างไร เรื่องที่เราจะต้องพูดกันให้ละเอียดก็คือเรื่องที่เกิดความรู้สึกขึ้นมาเต็ม เต็มความรู้สึกของเราว่า ว่าเรา ว่าตัวกู ว่าตัวตน ความรู้สึกอันนี้จะเรียกว่า ทิฐิก็ได้ สัญญาก็ได้ ช่วยเข้าใจไอ้คำ ๒ คำนี้ไว้ให้ดี เป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาพุทธศาสนาต่อไป พูดว่า ทิฐิ ก็เพื่อดูเป็นเรื่องที่ มีอยู่อย่างตายตัวเป็นระยะยาว พูดว่า สัญญา มันก็เป็นความสำคัญมั่นหมาย ชั่วขณะนั้น ขณะนั้น คือว่าในระยะสั้นกว่าสิ่งที่เรียกว่า ทิฐิ ที่แท้มันก็เป็นความรู้สึกด้วยกัน
จะพูดถึงคำว่า สัญญา ก่อนดีกว่าคือความสำคัญมั่นหมายลงไปว่า นี่เป็นอะไร นี่เรียกว่าสัญญา บางทีก็ผิด บางทีก็ถูก ถ้ามันเหลือวิสัยที่จะรู้มันก็สำคัญผิดเรียกว่า สัญญาวิปลาส คือสัญญามันผิด มันแล่นไปผิด ไปใช้คำกันลืมอยู่ไว้คำหนึ่งว่า เห็นเชือกเป็นงู ไอ้คนมันเดินไปในที่มืด ขมุกขมัวหรือในที่มืด มันมีเชือกคดๆ เส้นเชือกที่คดๆ ซ้อนวางอยู่มันคิดว่างู มันเหยียบแล้วมันตกใจหรือเพียงแต่เห็นมันก็ตกใจ นั่นคือสัญญาว่างูได้เกิดขึ้น ทำให้กลัวตัวสั่นก็ได้ ทั้งที่มันเป็นเพียงเชือกท่อนหนึ่ง ซึ่งมันกัดใครไม่ได้ ทุกคนก็กลัวอย่างงู ตัวสั่นอยู่ มีความลำบากยุ่งยากอยู่ ถ้าตลอดเวลาที่เขายังไม่รู้ว่าเชือก เขาก็ต้องกลัวหรือตัวสั่นอยู่ จนกว่าจะเห็นว่าเป็นงู เอ่อ, จนกว่าจะเห็นว่าที่เรียกว่างูนั้นคือเชือก มันก็เลยหายกลัวแล้วก็หัวเราะได้ มันจึงจะสงสารตัวเอง นี่เรื่องสัญญาก็ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ไปสัญญาผิดเข้ามันก็เกิดเรื่องตรงกันข้าม นี่ถ้าจะกลับกันเสีย มันเป็นงูแท้ๆ ไปสัญญาว่าเชือก มันก็ไปจับ ไปลูบ ไปคลำ ไปกอดรัดเข้า มันก็จะได้ ได้ผลตรงกันข้ามกว่า ก็จะเป็นอันตรายโดยแท้จริงไม่ใช่เพียงแต่กลัวอย่างลมๆ แล้งๆ นี่สัญญาในสิ่งต่างๆ มีอยู่มากมายถ้าเป็นไปในลักษณะทำนองนี้ ที่สำคัญที่สุดก็คือสัญญาว่าคน สัญญาว่าตัวกู ทำความมั่นหมายรู้สึกเป็นตัวกู บุตร ภรรยา สามีของกู ทรัพย์สมบัติของกู ที่เป็นไปตามธรรมชาติแท้ๆ อย่างนี้ก็มาสัญญามั่นหมายเป็นตัวกู ของกูได้ เห็นอะไรก็เป็นเรื่องของกู แม้แต่ว่าจะเป็นศัตรูของกู เป็นอันตรายของกู มันสำคัญมั่นหมายทั้งนั้น จะเห็นว่าเชือกแต่เห็นเป็น เช่น เห็นเชือกเป็นงูนี่ ก็ต้องเห็นเชือกนั้นว่าเป็นอันตรายแก่กู เป็นอันตรายของกู ต้องฆ่ามันเสีย ไอ้ที่งูจริงๆ เราเห็นเป็นเชือกแล้วก็ไม่ได้คิดว่าจะฆ่ามันเสีย เรื่องสัญญานี่ก็ละเอียดลงไปถึงว่า สุขะสัญญา ทุกขะสัญญา สุขะสัญญา สำคัญว่าเป็นสุข มีได้แม้ในสิ่งที่ไม่ใช่สุข มันเพียงเป็นเพียงความสนุกสนานหลอกเล่นก็สำคัญว่าเป็นสุขได้ ไอ้สิ่งที่เป็นสุขจริงๆ อาจจะสำคัญเป็นทุกข์ไปเสียก็ได้คือความที่ไม่ไปหลงใหล เอร็ดอร่อย ในเรื่องเนื้อหนัง จะเป็นความสงบสุขจริง แต่กลับเห็นเป็นเรื่องไร้สาระหรือน่ารำคาญ น่าเกลียดหรือน่าเบื่อหน่ายไปเสียก็ได้ ไปสัญญาในลาภยศชื่อเสียงว่าเป็นของประเสริฐ ทั้งที่เป็นสิ่งที่ทำให้ลำบากหรือรบกวน ไปยึดมั่นถือมั่นมันก็ลำบากมากกว่าที่ควรจะเป็น ไม่สามารถที่จะเอาสิ่งเหล่านี้มาไว้ใต้ฝ่าเท้าได้ เอาไปไว้บนหัว ไปสุมไว้บนหัวบนศรีษะ เพราะนั้นสิ่งที่เรียกว่า สัญญา จึงเป็นสิ่งที่มีปัญหายุ่งยาก ลำบากสำหรับมนุษย์ เดี๋ยวนี้ก็มีคำว่า อิตถีสัญญา ปุริสสัญญา สำคัญว่าเป็นผู้หญิง สำคัญว่าเป็นผู้ชาย ความรู้สึกทางเพศก็เกิดขึ้น ในเมื่อมันมีสัญญาอย่างนั้น ก็เลยเป็นปัญหาเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศที่ไม่รู้สิ้นสุดทั้งในทางที่ทำให้ผู้อื่นพลอยเดือดร้อนด้วยเป็นการเบียดเบียนกัน การฆ่าฟันกัน แล้วมันก็เป็นเรื่องมาจากความรู้สึกทางเพศที่รุนแรง ความรู้สึกทางเพศที่รุนแรงเพราะมีสัญญาเป็นหญิง สัญญาเป็นชายอย่างมั่นหมายมากเกินธรรมดาไป ไม่ถือเป็นเพียงธรรมชาติหรือเป็นไปตามธรรมชาติ หรือเป็นเพียงการกระทำเพื่อการสืบพืชพันธุ์ไว้ไม่ให้สูญหายไปเท่านั้นเอง ไปลุ่มไปหลงใหล ขนาดลุ่มหลงเป็นกามารมณ์ เป็นของวิเศษ เป็นพระเจ้า เป็นอะไร แยกกามารมณ์ออกไปเป็น กามสัญญา ก็เลยมีเรื่องมาก ไม่ใช่เรื่องสืบพันธุ์โดยบริสุทธิ์ นี่คือปัญหาของคนเรา ปุถุชน มันขึ้นกับสิ่งที่เรียกว่าสัญญาอยู่มากทีเดียว ถ้าใช้ไปในทางผิดก็ผิด ใช้ไปในทางถูกก็ถูก ถ้าใช้ไปทางถูกเสียเช่นว่า สัญญาลงไปถูกในสิ่งนั้น ว่าเชือกเป็นเชือก งูเป็นงู เป็นต้น หรือว่าสัญญาว่าเราเป็นสมณะแล้วก็ต้องมีสมณะสัญญาว่าเราเป็นสมณะ แม้ว่าโดยแรกบวชเข้ามาก็ต้องพยายามเพื่อเป็นสมณะ แล้วก็ปฏิบัติต่อไปจนเป็นสมณะจริงๆ ให้สม ให้สมณะสัญญามีความหมายขึ้นมานี่ก็มีประโยชน์ หรือสัญญาในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่าเป็นธรรมชาติ เป็นของชั่วคราว อย่าไปมั่นหมายให้ปวดหัวตัวร้อน เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ อย่างนี้ มันแผดเผาคนอยู่ เพราะว่าเขาไม่มีสัญญาที่ถูกต้องในสิ่งเหล่านั้น ว่ามันเป็นเพียงอะไร สัญญาผิด มั่นหมายไปในทางโง่ ทางหลงก็ให้ผลอย่างหนึ่ง สัญญาสำคัญถูกต้องมันก็ให้ความถูกต้อง ความพอดี ไม่มีปัญหา นี่ความหมายของคำว่า สัญญา เพียงคำเดียว ในทางวิชาธรรมะ ทางภาษาธรรมะ มีความหมายอย่างนี้ ในภาษาไทยอาจจะมีความหมายเป็นอย่างอื่นได้ด้วย เช่น ทำสัญญากันว่า จะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ คนหนึ่งขบคิด คนหนึ่งสัญญากันว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นี้อีกความหมายหนึ่งต่างหาก สัญญาในภาษาธรรมะในพุทธศาสนา คือความสำคัญมั่นหมายลงไปว่าอะไรเป็นอะไร ด้วยความโง่ก็ได้ ด้วยความฉลาดก็ได้ คือผิดก็ได้ ถูกก็ได้ มีอยู่กัน ๒ ชนิด อันนี้คือถ้าผิด มันก็ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า คน สำคัญมั่นหมายกลุ่มแห่งธาตุทั้งหลายที่กำลังประพฤติเป็นไปตามกฎของธรรมชาตินี่ว่านี้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลุ่มของธาตุทั้งหลายเหล่านั้นมันกำลังทำอะไรอยู่ คิดนึกอย่างไรอยู่ก็เลยเรียกว่า คน นี้คำแรกที่จะขอให้สนใจ คือคำว่า สัญญา
นี้คำถัดไปคือคำว่า ทิฐิ คำๆ นี้แปลว่า ความเห็น เมื่อสัญญาได้เป็นไปอย่างไร แล้วก็มั่นหมายสัญญานั้นเป็นความถูกต้องยึดถือไว้เป็นประจำก็เรียกว่า ทิฐิ เกิดขึ้นมาแก่บุคคลนั้น อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เขาจะสัญญาอย่างไร แล้วเอามายึดถือไว้เป็นประจำ ถ้ามันสุดเหวี่ยงจนเปลี่ยนไม่ได้ ใครแกะไม่ออกแล้วก็ ก็เรียกว่า ทิฐิที่มันถึงที่สุด ระวังให้ดี คนๆ หนึ่งนี่มีสัญญาอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่แล้วมันก็มีทิฐิที่ถึงที่สุด ใครแกะไม่ได้ แกะไม่ออกอยู่ที่ทิฐิหนึ่งหรือจะหลายแง่หลายมุม เป็นเรื่องๆ ไปก็ได้ ไปหลายทิฐิก็ได้ นี่เป็นตัวการที่ทำให้ยึดมั่นถือมั่น แน่นแฟ้นขึ้นมาว่าตัวกู ว่าของกู ว่าคน ว่าสัตว์ ว่าเรา ว่าเขา อะไรขึ้นมา จนเกิดเรื่อง จนตัวเองก็เป็นทุกข์ จนผู้อื่นก็เป็นทุกข์ นี่มองเห็นความจริงของสิ่งที่เป็นอยู่อย่างนี้จริงเรียกว่า สภาวธรรม ที่เป็นอยู่อย่างนี้จริง มองให้เห็นเสียก่อนว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่า คน คน กันอยู่ทุกวัน พูดกันอยู่ติดปากนี่ มันเป็นเพียงอะไรนี่ อย่างที่ได้แจกแจงกันละเอียดแล้วในการบรรยายครั้งที่แล้วมาว่าถ้าพูดกันในแง่นั้นคนก็คืออันนั้น พูดกันในแง่นี้คนก็คืออันนี้ ถ้าพูดกันในแง่ธรรมะหรือศาสนาแล้วไอ้สิ่งที่เรียกว่าคนนี้ก็เป็นมายาอย่างยิ่ง เป็นเพียงสัญญา เป็นเพียงทิฐิ เกิดขึ้นในจิต เดี๋ยวนี้เรารู้จักคำว่าสัญญาแล้ว คำว่าทิฐิแล้ว ก็ดูดีต่อไปอีกหน่อยในแง่ที่ว่ามันเป็นของจริง มีตัวตนอันแท้จริงหรือเปล่า ตัวสัญญา ตัวทิฐิ มันก็ไม่ได้เป็นของจริงอะไร เป็นเพียงปฏิกิริยาที่มันเกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่งในจิตในใจ คือมันไหลไปผิดๆ มันออกมาเป็นความรู้สึกอย่างนั้น อย่างนี้ เป็นสัญญา เป็นทิฐิ ซึ่งตามพระพุทธภาษิต ก็ได้ตรัสไว้ชัดว่า สิ่งเหล่านี้มันออกมาจาก ผัสสะ ทีนี่หมายถึงคำว่าผัสสะอีกทีหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่ายังไม่เข้าใจถูกต้องหรือทั้งหมด ผัสสะ แปลว่า การกระทบ กระทบข้างนอก ตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น นี้ก็เรียกว่ากระทบ นี่ถ้าว่า จิตหรือใจ ข้างในมันกระทบกับไอ้สิ่งที่เกิดรู้สึกขึ้นมา นี้ก็เรียกว่าการกระทบ จะรู้สึกสบายใจขึ้นมา เป็นเวทนา เป็นสุขขึ้นมา ไอ้วิญญาณหรือมโนวิญญาณนี่ก็มีการสัมผัสกับเวทนานั้น นี้ก็เรียกว่า การกระทบ หรือว่าเราสัญญาเชือกว่างู เป็นสัญญาขึ้นมา จิตหรือมโนวิญญาณมันก็สัมผัสกระทบลงไปบนสัญญานั้น มันจึงรู้สึกต่อไปอีก เป็นความคิดนึก รู้สึก กลัว เกิดอะไรขึ้นมา กระทั่งมันรู้สึกกลัวขึ้นมา คิดนึกอะไรขึ้นมาแล้ว จิตมันก็ยังมีส่วนที่จะสัมผัสลงไปบนความกลัวนั้นอีก จึงเกิดผลเป็นความทุกข์ขึ้นมาอย่างนี้ก็เรียกว่ากระทบทั้งนั้น ผัสสะ แปลว่า กระทบ แต่มันก็เต็มไปหมดด้วยการกระทบนี่ทุกหนทุกแห่งเลย เดี๋ยวนี้ตาของเราก็เหลือบ ก็ลืมอยู่ ตาของเราก็ไม่บอดเราก็เห็น สิ่งที่เรากำลังเห็นอยู่ เห็นดวงไฟ เห็นต้นไม้ เห็นก้อนหิน นี่ก็เรียกว่า การกระทบ แต่มันเป็นการกระทบข้างนอก ด้วยอาศัยวัตถุข้างนอก หูก็ได้ยินเสียง จมูกก็จะได้กลิ่น เมื่อกินอะไรเข้าไปลิ้นก็จะได้รส เมื่อผิวหนังไปถูกอะไรเข้ามันก็มีการสัมผัสทางผิวหนังหรือไปสัมผัสผิวหนังต่อผิวหนังด้วยกัน นี่ก็เป็นพวกหนึ่งก็เรียกว่า การกระทบที่เป็นเรื่องข้างนอก ก็ทำให้เกิดเป็นผลเป็นเรื่องข้างในขึ้นมาอีกที นี่เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่จะต้องเข้าใจ ถ้า ถ้าไม่เข้าใจเรื่องนี้ก็ไม่มีทางจะเข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนาได้ คือไม่อาจจะเข้าใจหัวใจของพุทธศาสนาได้ ถ้าไม่เข้าใจเรื่องที่เรียกสั้นๆ ว่า ผัสสะ เพราะว่าความคิด ความนึก ความรู้สึก สัญญา มั่นหมาย ทิฐิ อะไรต่างๆ มันออกมาจากการกระทบ เป็นผลของการกระทบ สะกิดเรารู้สึกอย่างนี้ก็คือกระทบต่อความรู้สึกอย่างนี้บ่อยๆ มันก็เกิดเป็นสัญญาขึ้นมา จนกระทั่งบ่อยเข้า ก็เป็นทิฐิไป แล้วก็มัน มันมาได้ทุกๆ ทาง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็มาได้ทุกเวลา นี้อะไร เสพภพกันมาก อันนั้นก็จะกลายเป็นทิฐิ ขึ้นมา หรือว่าเราโง่ชนิดไหนมาก ไอ้ความโง่ชนิดนั้นก็จะกลายเป็นทิฐิอันนั้นขึ้นมาสำหรับเราก็จะโง่ ในทางที่ฉลาดก็เหมือนกัน เราเสพภพกับความฉลาดชนิดไหนอยู่เสมอ ก็เกิดเป็นทิฐิที่ถูกต้องขึ้นมา เราก็มีทิฐิที่ถูกต้อง อยู่กับทิฐิที่ถูกต้อง นี่เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าไอ้ทิฐิหรือสัญญานี้มันออกมาจาก ผัสสะ ซึ่งมันมีอยู่ตลอดเวลา เมื่อเช่นในอดีตมันมีมากจนรวมตัวเป็นสัญญา เป็นทิฐิประจำตัวบุคคลคนนั้นไป ที่นี้บุคคลอื่นมันมีอย่างอื่น มันก็ได้ทะเลาะวิวาทกัน ได้เถียงกัน ในภายในก็เหมือนกัน ถ้ามีสัญญาผิด มีทิฐิผิด มันก็แผดเผาตัวเองให้เร่าร้อน เมื่อไปพูดกับอีกคนหนึ่งมันก็เถียงกัน ทะเลาะกัน มันก็มีความเร่าร้อนเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก คนในโลกมันกำลังเป็นอยู่อย่างนี้ นี่คือข้อที่ต้องไม่ประมาท คำว่า ผัสสะ นี่เป็นบ่อเกิดของสิ่งที่เรียกว่า สัญญา หรือ ทิฐิ นี่ว่ากันโดยที่ โดยทั่วไป โดยที่เป็นอยู่มาก มันเป็นไปในทางผิดมากกว่าทางถูกหรือบางทีมันเป็นไปไม่ได้ในทางที่ถูก เป็นไปในทางผิดเรื่อย เพราะเหตุที่กล่าวมาแล้วบ่อยๆ ว่าพอเราคลอดออกมาจากท้องแม่ ไอ้สิ่งแวดล้อมทั้งหลายที่มันมาผัสสะแก่เรา มากระทำผัสสะแก่เรา ล้วนแต่ให้เป็นไปในทางผิดทั้งนั้น โดยธรรมชาติก็ให้เป็นไปในทางผิดเสียแล้วและโดยการแวดล้อมของคนที่แวดล้อมเราอยู่ นับตั้งแต่บิดามารดาเป็นต้นไปก็แวดล้อมให้ผิดเข้าไปอีกทีหนึ่ง ตรงนี้อย่าเข้าใจว่าจะพูดให้เกลียดบิดา มารดาหรือให้เนรคุณบิดามารดา พูดไปตามข้อเท็จจริง พอเราคลอดออกมาก็ถูกแวดล้อมอยู่ด้วยบิดามารดา คนเลี้ยง พี่น้องทั้งหลาย โดยล้อมด้านทุกคนเลยจะแวดล้อมเราไปในทางให้เกิดสัญญาผิด หรือทิฐิผิด ว่าอะไรๆ ก็เป็นของกูนี่ พ่อของหนู แม่ของหนู บ้านของหนู อะไรของหนูๆ ไปกระทั่งเป็นตัวหนู อันนี้เรียกว่าตน ของหนูก็เป็นของตน แล้วก็สร้างความรัก ความผูกพันขึ้น เพิ่มขึ้นๆ จนยึดมั่นถือมั่น อย่างลึกซึ้ง อย่างแน่นแฟ้น นี้เป็นธรรมดาสามัญที่เราเกิดมาในท่ามกลางบุคคลชนิดนี้ ที่มีวัฒนธรรมอย่างนี้ จะโทษใครก็ไม่ได้ เราเกิดมาในท่ามกลางหมู่ชนที่เขามีวัฒนธรรมอย่างนี้ เรียกลูก เรียกพ่อ เรียกแม่ แล้วก็แวดล้อมให้เกิดความรู้สึกของตัวฉัน ของฉัน นี่เรียกว่า ผัสสะ ได้รับมาจากคนเหล่านั้น ความทนุถนอม คลอเคล้า เอาอกเอาใจ สอนพูด สอนกิน สอนอะไรทุกอย่าง เป็นผัสสะที่ทำให้เกิดสัญญาหรือทิฐิในทำนองที่เป็นตัวตนทั้งนั้น เรียกว่าแวดล้อมจากสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือบิดามารดา ที่นี้ที่ลึกไปกว่านั้นที่มันผัสสะเองโดยธรรมชาติมันก็มาจากสิ่งเหล่านี้นั่นแหละ แต่มันลึกลงไปถึงกับว่าพอมีผัสสะที่ทำให้เกิดความเอร็ดอร่อย มันก็ยึดถือเป็นผัสสะที่เอร็ดอร่อย ถ้าเกิดผัสสะที่แสบเผ็ด เจ็บปวด มันก็โกรธ ทำอะไรไม่ได้ มันก็ร้องไห้ นี่มันก็ชินกันมาแต่ละเรื่อง ๒ เรื่อง คือดีใจหรือเสียใจ คือรักหรือโกรธ รักหรือโกรธ รักหรือโกรธ นี่เรื่อยมาๆ ผัสสะชนิดนี้มันก็เพิ่มพูนสัญญาหรือทิฐิที่เป็นตัวกู ของกู แรงขึ้นๆ ๆ จนกระทั่งบัดนี้มันเหนี่ยวแน่นเท่าไร มันพร้อมที่จะพุ่งออกมาเป็นตัวกู ของกู ดุร้ายอย่างสัตว์ป่า แล้วก็ไปกัดเอาพ่อแม่ ครูบาอาจารย์เท่านั้นเอง มันก็วนเวียนกันอยู่ที่ตรงนี้ ผัสสะที่ผิดๆ คือถือเอาผิดมันก็เกิดสัญญาผิด ทิฐิผิด ผัสสะที่ไม่ถือเอาผิด คือถือเอาถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มันก็เกิดทิฐิหรือสัญญาที่ถูกต้อง ทีนี้เรามันช่วยตัวเองไม่ได้คล้ายๆ กับโผล่ขึ้นมาในท่ามกลางความมืด ความไม่รู้ มันก็มีแต่ผิดมากกว่าถูก
ผมรู้สึกอย่างนี้จากความรู้สึก จึงพูดอย่างนี้ จึงขอให้ไปคิดดู เราโผล่ขึ้นมาในโลก ลืมตาขึ้นมาในโลกตั้งแต่อ้อนแต่ออดนี่ สิ่งที่แวดล้อมทุกอย่าง สิ่งที่เป็นภายในเกิดขึ้นทุกอย่าง มันก็ดึงแต่ไปในทางให้เกิดสัญญาผิด ให้เกิดทิฐิผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นตัวกู ของกู ให้เป็นข้อเท็จจริงที่แน่นอนเสียทีหนึ่งก่อน แล้วจะมาคิดกันดูใหม่อีกนิดหนึ่งว่า นี่เป็นบุญหรือเป็นบาป ความที่ได้เกิดความรู้สึกขึ้นเป็นตัวกู ของกู ยึดมั่นดีชั่วนี่ เรียกว่าเป็นบุญหรือเป็นบาป แล้วก็มองกันในส่วนลึก ในแง่ของธรรมะชั้นลึกเขามองเห็นเป็นบาป คือความทุกข์ ซึ่งจะต้องละเสีย ไปยึดมั่นแม้แต่ไปยึดมั่นในความดีมันก็เป็นทุกข์ตามแบบของยึดมั่นในความดี ยึดมั่นในความชั่วก็ทุกข์ไปตามแบบของยึดมั่นในความชั่ว ถ้ายึดมั่นได้มันต้องมีความรู้สึกเป็นตัวคนหรือเป็นตัวกูเสียก่อน สำหรับจะได้เอามาเป็นของกูเพราะความยึดมั่นมันก็เพื่อประโยชน์แก่ตัวกู ถ้าไม่มองเห็นสิ่งนี้ที่มีอยู่ในใจจริงๆ แล้วไม่อาจจะเข้าใจธรรมะ ดูดีๆ ใครก็ตามไม่มองเห็นสิ่งนี้ที่กำลังมีอยู่ในใจจริงๆ คนนั้นไม่สามารถจะเข้าใจธรรมะได้ จะอ่าน จะท่อง จะจำ ไว้สักกี่กระบุงก็ตามใจ มันเป็น ไม่ใช่ธรรมะจริง มันเป็นธรรมะตัวหนังสือ ธรรมะพูด ธรรมะอะไรไปหมด ยังไม่มีประโยชน์ที่จะดับทุกข์โดยตรงได้ ต้องมองเห็นสิ่งนี้ที่มีอยู่ในใจจริงๆ อย่าทำเล่นกับสิ่งนี้ มีอยู่จริงๆ ในจิตในใจ ควบคุมให้ถูกทาง ความรู้สึกที่เป็นสัญญา เป็นทิฐิ เป็นอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกู เป็นของกูเกิดขึ้น ขึ้นมาเรื่อยๆ เรื่อยๆๆ มองในแง่ดีเขามองกันว่า มันจะเป็นเหตุให้มีกำลังเข้มแข็ง บากบั่น ต่อสู้ ทำความดี นี่มันถูกนิดเดียว ทำดีเพื่อตัวกูมันก็เห็นแก่ตัวกู เดี๋ยวมันก็คอร์รัปชั่น แล้วความสำคัญมั่นหมายตึงเครียดในชั้นเป็นความทุกข์อยู่ในตัวเองแล้ว มันตึงเครียดเพราะมันมีความมั่นหมายเป็นเรื่องตัวกู ของกูมากเกินไป นี้อย่า อย่าให้มันถึงขนาดนั้น มีความรู้สึก ผิด ชอบ ชั่ว ดี มีสติปัญญาที่ถูกต้องว่ามันเป็นอย่างนี้ๆ ถ้าทำอย่างนี้ผลจะเกิดขึ้นอย่างนี้ ทำอย่างนี้ผลจะเกิดขึ้นอย่างนี้ ผลชนิดนี้ทนไม่ไหว ผลชนิดนี้พอทนได้ แล้วผลชนิดนี้จะทำให้อยู่ไปได้พอสบาย อย่างนี้เรียกว่าสติปัญญา มีสติปัญญาอย่างนี้ก็ไม่ยึดมั่น ไม่ตึงเครียด ไม่เป็นทิฐิหรือสัญญาที่วิปลาส เราก็ตั้งใจทำทุกอย่างที่ควรจะทำไปด้วยสติปัญญา ไม่ต้องทำด้วยความสำคัญมั่นหมายที่ตึงเครียดที่เป็นตัวกู ของกู ถ้าจะเรียกเสียใหม่ให้มันเป็นตัวกู ของกู ก็ให้เรียกว่า อย่าทำไปด้วยตัวกู ของกู ที่เป็นกิเลสบ้า แต่ทำไปด้วย ตัวกู ของกู ที่เป็นสติปัญญา ความรู้สึกที่ถูกต้องในการรู้สึก ผิด ชอบ ชั่ว ดี แล้วก็เพื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด อย่างนี่มีกำลังพอเหมือนกันที่จะให้ทุกคนลุกขึ้นทำหน้าที่ของตนๆ พอดีๆ ไม่มีความทุกข์ แต่เป็นประโยชน์ตน เป็นประโยชน์ผู้อื่นได้มากมาย
นี้สรุปไว้ในคำพูดสั้นๆ ว่าพระอรหันต์ทั้งหลายท่านก็ทำประโยชน์มากกว่าพวกปุถุชนเสียอีก ท่านไม่เป็นทุกข์ ท่านไม่มั่นหมาย ท่านทำไปด้วยความรู้สึก ที่อยู่เหนือความยึดมั่นถือมั่นนี่ แล้วรับประกันได้แน่นอนว่าไม่ใช่เพื่อตัวกู ของกู ของท่านหรอก เพื่อสัตว์ทั้งหลาย คืออย่างน้อยก็ตามหน้า เอ่อ, อย่างมากที่สุดก็ตามหน้าที่ ตามธรรมชาติที่จะต้องทำ เพราะนั้นความทุกข์จึงไม่ได้เกิดขึ้นแก่พระอรหันต์ ไม่เกิดขึ้นในความรู้สึกของพระอรหันต์ ไม่ใช่เป็นความเจ็บ ความไข้ ความตาย ก็ไม่รับเอามาเป็นความเจ็บไข้เป็นตายของกู ก็เป็นของธรรมชาติไป มันจึงไม่มีปัญหา แม้ที่เป็นปัญหาจากธรรมชาติคือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น เรียกว่าอยู่เหนือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่ถ้าคุณฟังข้อนี้ดีๆ ก็จะเริ่มเข้าใจรางๆ ขึ้นมาแล้วว่าประโยชน์อะไรจากความรู้เรื่องสุญญตา เรื่องอนัตตา คือประโยชน์อย่างนี้ เดี๋ยวนี้กำลังพูดให้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ผัสสะ ทำให้เกิดทิฐิ เกิด เอ่อ, เกิดสัญญาแล้วเกิดทิฐิ เกิดอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น มั่นหมายเป็นตัวกู ของกู นี่คือเรื่องสำคัญที่สุดในพุทธศาสนา แต่มันก็ลึกที่สุดหรือเข้าใจยากที่สุด แต่แล้วมันก็เป็นประโยชน์ที่สุดพอกัน คุ้มกันกับที่มันเป็นเรื่องลึกที่สุดหรือเข้าใจยากที่สุด
ที่นี้จะพูดให้ละเอียดลงไปชั้นหนึ่งเพื่อจะอธิบายสิ่งที่เรียกว่า ตัวกู ของกู ที่พูดมาแล้ว ก็พูดให้เห็นชัด แต่โดยใจความว่า ตัวกู ของกู นี้มันเกิดมาจากผัสสะ มาจากทิฐิ มาจากผัสสะที่ทำให้เกิดสัญญา ให้เกิดทิฐิ กระทั่งเกิดอุปาทาน ก็จะย้ำอีกทีว่าความรู้สึกว่าตัวกู ว่าของกู มันเป็นเพียงความรู้สึก แต่เราไม่รู้ว่าเป็นความรู้สึก รู้สึกเป็นตัวกู ของกูจริงๆ เสียเลย ตัวกู ของกูอันนี้มาจากสิ่งที่เรียกว่า ผัสสะ ซึ่งให้เกิดสัญญา ให้เกิดทิฐิ ให้เกิดอุปาทานมาตามลำดับ ถ้าพูดถอยกลับไปจากทางนี้ แล้วก็ ไอ้ ตัวกู นี่ก็มาจากอุปาทาน ซึ่งมาจากทิฐิ ซึ่งมาจากสัญญา ซึ่งมาจากผัสสะ เอาผัสสะเป็นจุดตั้งต้น ผัสสะนี้ตั้งต้นในเมื่อมีการกระทบระหว่างของทั้ง ๒ ฝ่าย คือ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก อายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัผผะ ธรรมารมย์ นี่เข้าใจว่าคงจะทราบกันอยู่แล้วตลอดถึงชื่อของมัน ถ้าไม่ทราบก็ทราบเสีย เพราะนั้นไม่มีทางจะเข้าใจธรรมะได้ ที่เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าคนเรานะ มันมีของอยู่ ๒ พวก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ข้างใน ปรุงขึ้นมาจากธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ เป็นอายตนะ คือทำหน้าที่ได้ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ฝ่ายหนึ่ง ทีนี้อายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัผผะ ธรรมารมย์ ที่จะมาเป็นคู่ๆ กันกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้มันอยู่ข้างนอก ก็ปรุงขึ้นมาจาก ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ อะไรข้างนอก แต่แล้วก็มาพบกันข้างในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายใน ฝ่ายนอก เรียกว่า อายตนะ อายตนะ นี้มันก็แปลว่า ที่ หรือ สิ่งที่มันจะมาจดกัน มาต่อกัน มันต้องมีของ ๒ ฝ่าย มีการจดกัน หรือต่อกัน หรือกระทบกัน ฝ่ายเดียวมันจะกระทบยังไงได้ นี่สำหรับบุคคลคนๆ หนึ่ง เราก็เอาฝ่ายที่มีอยู่ข้างใน ใน ใน ในร่างกายนั้นเป็นฝ่ายใน เอาข้างนอกเป็นฝ่ายนอก กระทบกันระหว่างของ ๒ อย่างนี้เรียกว่า ผัสสะ ที่พูดถึงมาแล้วหลายๆ คำแล้วว่าผัสสะนี้จะเป็นตัวการ ให้เกิดสัญญา ให้เกิดทิฐิ ให้เกิดอุปาทาน มันเกิดความรู้สึกเป็นตัวกูเต็มที่ แล้วไม่รู้สึกว่าเป็นความรู้สึกเท่านั้น มันเป็นตัวกูขึ้นมา มันลุกขึ้นมาด่าเขา มาตีเขา ไม่ทันรู้ตัวหรือว่านอนระทมทุกข์อยู่
เมื่อตา ยกตัวอย่างในเรื่องของตา เมื่อตาเห็นรูป หรือรูปมากระทบตา แล้วก็เลยลืมตาอยู่ มันก็เกิดการเห็นทางตาขึ้นมา นี่คุณช่วยจำให้แม่นๆ เป็น Formula ที่ตายตัวที่ปรากฏชัดอยู่ในพุทธภาษิต เมื่อตาเห็นรูป คือตากับรูปได้อาศัยกัน ก็ได้เกิดสิ่งที่ ๓ คือการเห็นทางตา เรียกว่า จักษุวิญญาณ สิ่งที่ ๑ คือ ประสาทตาข้างใน สิ่งที่ ๒ คือ รูปข้างนอกที่มากระทบตา สิ่งที่ ๓ เกิดขึ้นมาคือ จักษุวิญญาณ เรียกว่าการเห็นทางตา นี่ ๓ ประการนี้ รวมกันเข้าแล้วเรียก เรียกเป็นสิ่งที่ ๔ ว่า ผัสสะ ผัสสะทางตา ที่นี้ผัสสะได้เกิดสิ่งที่ ๕ คือ เวทนา เป็นความรู้สึกที่ออกมาจากผัสสะนั้น เวทนา บางอย่างสบายแก่ความรู้สึกก็เรียกว่า สุขเวทนา บางอย่างไม่สบายแก่ความรู้สึกก็เรียกว่า ทุกขเวทนา บางอย่างเป็นอะไรก็ยังไม่รู้ ก็เรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา คือ ไม่สุข ไม่ทุกข์ เวทนาก็มีเท่านี้ สุข แล้วก็ ทุกข์ แล้วก็ อทุกขมสุข นี่เป็นสิ่งที่ ที่ ๕ เรียกว่า เวทนา นี้จากเวทนานี่ก็เกิดสิ่งที่ ๖ ที่เรียกว่า ตัณหา คือความอยาก ถ้าเวทนาถูกใจมันก็อยากได้ อยากยึดครอง อยากบริโภค อยากดื่ม อยากเสพ ถ้าเป็นทุกขเวทนา มันก็อยากจะทำลายเสีย อยากจะไปให้พ้น อยากจะตีให้ตาย ตรงกันข้าม ถ้าเป็นอทุกขมสุขเวทนา มันก็ฝากไว้ในความสงสัย เป็นความอยากที่ฝากไว้ในความสงสัย มันเลยโง่เข้าไปอีกทีหนึ่ง นี้เรียกว่า ตัณหา คือความอยาก ที่เห็นง่าย เห็นชัด ก็อยากในสิ่งที่เราถูกใจ เรารัก เราพอใจ เห็นรูปของเพศตรงกันข้าม ในที่สุดโดยมาก ถ้าไม่พอใจ ก็ไอ้ศัตรู คนที่เราเกลียดชังที่สุด มันมาให้เห็นในสายตา มันก็อยากจะฆ่ามันเสีย นี่จิตยังไม่มีตัวตนอะไรที่ไหน เป็นแต่เพียงความปรุงแต่งกันมาตามกฎเกณฑ์ของสิ่งที่มีความรู้สึกได้ตามธรรมชาติ จนกระทั่งปรุงเป็นความอยากอย่างที่ว่านี่ขึ้นมาในจิตใจแล้วเรียกว่า ตัณหา
ทบทวนมาอีกทีสิ ว่าสิ่งที่ ๑ คือ ตา สิ่งที่ ๒ คือ รูป สมมุติว่ารูปเพศตรงกันข้าม ก็เกิดสิ่งที่ ๓ คือการเห็นทางตา นี่พูดแต่หลักใหญ่ๆ เกิดสิ่งที่ ๔ คือ ผัสสะ เกิดสิ่งที่ ๕ คือ เวทนา เกิดสิ่งที่ ๖ คือ ตัณหาหรือความอยาก พอความอยากเกิดขึ้นแล้วมันจะเกิดความรู้สึกที่ ๗ ที่เรียกว่า อุปาทาน นี่คือความยึดมั่นถือมั่นไปในรูปที่ว่า กูอยาก หรือกูรัก หรือกูเกลียด อะไรขึ้นมา ไอ้กูเพิ่งโผล่ตรงนี้เอง เมื่อความอยากเป็นไปรุนแรงแล้ว ความรู้สึกจะเปลี่ยนรูปเป็นอุปาทาน ว่ากูอยาก หรือกูเกลียด กูจะเอาให้ได้ กูจะยึดครองเป็นตัวกูขึ้นมา เพื่อจะเอาอะไรมาเป็นของกู นี่ตัวกูเพิ่งเกิดเดี๋ยวนี้เอง เพิ่งเกิดหลังจากที่มันเกิดความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งเสียก่อน ถ้าคุณไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องนี้ คุณก็จำไว้อย่างที่ว่าขัดกับความรู้สึกของคุณ ว่าทำไมหนอ ไอ้ผู้อยากนี่มันเพิ่งเกิดที่หลังความอยาก มันจะเป็นได้อย่างไร ผู้ทำเกิดทีหลังการกระทำนี่ มันจะเป็นได้อย่างไร ถ้าเป็นเรื่องวัตถุ เรื่องธรรมดาสามัญอย่างที่คุณรู้เป็นอยู่ดีๆ แล้วมันก็ต้องเกิดผู้ทำก่อนที่มันจะเกิดการกระทำขึ้นมาเช่นว่า มันจะต้องเกิดผู้ที่จะกิน มันจึงจะเกิดการกินขึ้นมา แต่ในภาษาธรรมะอันละเอียดนี้มันประหลาด ที่ว่ามันจะต้องเกิดการกินเสียก่อน แล้วมันจะอยู่ในความรู้สึกว่ากูกิน ตัวกูผู้กินเกิดที่หลังการกิน นี่ก็เรียกว่า อุปาทาน มีตัณหาอยากรุนแรงลงไปแล้ว จะปรุงความรู้สึกเป็นตัวกูผู้อยาก หรือผู้จะกิน หรือผู้จะเอา หรือผู้จะพยายามอะไรขึ้นมา เพราะนั้นความอยากเกิดขึ้นมาได้ตามวิธีของธรรมชาติ เกิดขึ้นในใจเต็มที่เรียกว่า ตัณหา มันมาจากความโง่จึงได้เรียกว่า ตัณหา ถ้ามาจากสติปัญญาเขาไม่เรียกว่า ตัณหา ความอยากนี่ เดี๋ยวนี้มันเป็นความอยากที่มาจากความโง่ก็เรียกว่า ตัณหา พอมันเต็มขีดของมันก็เกิดความรู้สึกอันใหม่ว่า กู นี่อยาก พยายาม เป็นผู้พยายามที่จะได้ตามความอยากนั้น ที่นี้มันเปลี่ยนรูปเป็นตัวผู้หรือตัวบุคคลแล้ว ไม่ใช่ความ หรือภาวะตามธรรมชาติ มันเปลี่ยนความรู้สึก เป็นตัวกู เป็นผู้ เป็นบุคคลผู้พยายามที่จะเอาให้ได้ จะกิน จะฆ่า จะแกง อะไรแล้วแต่ความอยากนั้นมันจะเป็นอย่างไร ความรู้สึกปรุงเป็นความรู้สึกต่อๆ กันมาเป็นตัวกูแล้ว เกิดตัวกูแล้ว รู้จักหน้าตาของตัวกูให้ดีๆ มันเป็นผีอีกชนิดหนึ่งเพิ่งคลอดออกมาจาก ตัณหา คือความอยาก ความรู้สึกที่เป็นตัวกูนั้นก็เรียกว่า อุปาทาน ตาเป็นสิ่งที่ ๑ รูปเป็นสิ่งที่ ๒ วิญญาณเป็นสิ่งที่ ๓ ผัสสะเป็นสิ่งที่ ๔ เวทนาเป็นสิ่งที่ ๕ ตัณหาเป็นสิ่งที่ ๖ ตัวกูเป็นสิ่งที่ ๗ นี่ก็ลัดทีเดียวรวดเดียวไปถึงตัวกู
พอเป็นเรื่องตัวกูแล้วก็ ก็เป็นเรื่องมีความทุกข์แน่ เพราะมันเป็นความเดือดพล่านของกิเลส ของตัณหา พอใส่ละเอียดลงไปว่า จากตัวกูก็เป็นภพ จากอุปาทานก็เป็นภพ คือความมีอยู่พร้อมเต็มที่แห่งตัวกู จากภพก็เป็นชาติ คือคลอดตัวกูออกมาในความปรากฏนี้ ชาติคือความเกิด เกิดตัวกู แล้วก็เอาอะไรมาเป็นของกู ก็เป็นทุกข์ไปหมด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความทุกข์ทั้งหลาย ความได้ ความเสียอะไรมาเป็นตัวกูของกูไปหมดมันก็เป็นความทุกข์ไปหมด ปัญหาไปอยู่ที่ตัวความทุกข์ มันตั้งต้นที่ตัวกู เกิดตัวกูเมื่อไหร่เป็นมีความทุกข์เมื่อนั้น ที่เรียกว่าความอยากเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ก็เพราะว่าความอยากเป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวกู สำหรับที่จะยึด จะครอง จะแบก จะหาม จะต่อสู้ จะ จะพยายามทุกอย่าง กิเลส ตัณหาคือความอยาก ทำให้เกิดตัวกูเป็นผู้พยายามตามความอยากนั้น มีสังขารปรุงแต่งเป็นกรรม เป็นอะไรกันที่ตรงนี้ ก็เรียกว่า ลมๆ แล้งๆ ทั้งนั้น แต่ในความรู้สึกของสิ่ง ของสัตว์ที่มีความรู้สึกอย่างปุถุชนนี้มันไม่รู้สึกว่าลมๆ แล้งๆ มันรู้สึกเป็นจริง เป็นจัง ยิ่งกว่าสิ่งใด แล้วมันจึงเป็นตัวกูขึ้นมาอย่างน่ากลัวที่สุด รักก็รักอย่างบ้า โกรธก็โกรธอย่างบ้า เกลียดกลัวอะไรก็เป็นอย่างบ้าหลังไปหมด มันไม่ได้ทำด้วยสติปัญญา แม้แต่เป็นความรักมันก็ใช้ไม่ได้ แม้แต่เป็นความโกรธ ความเกลียด มันก็ใช้ไม่ได้ นี่เป็นเรื่อง เรื่องที่เป็น อัตตา เป็นตัวกู เป็นของกู มันให้ผลเป็นบ้าทั้งนั้นเลย แม้จะรัก จะถูกอกถูกใจมันก็บ้าอย่างหลับหูหลับตา เหมือนกับนอนอยู่ในกองไฟแล้วก็ไม่รู้สึก นี้คือโทษ นี่ อันตราย โทษ ความเลวทราม ของสิ่งที่เรียกว่าตัวกู ว่าของกู คือตัวตนความเลวทรามของความรู้สึกที่ว่ามีตัวตน ที่นี้คุณก็กลับตรงกันข้ามเสีย นิดเดียว ถ้าไม่มีความรู้สึกเป็นตัวตน เป็นอนัตตาแล้ว มันก็กลับตรงกันข้าม มันก็ไม่มีความบ้าชนิดนั้น มันมีความสะอาด สว่าง สงบ อยู่ตามปกติได้ จะพูด จะทำ จะคิด มันก็เป็นไปด้วยสติปัญญาหมด นี้เราจะเห็นได้ว่า ไอ้ความผิดมันตั้งต้นมาที่ สัญญามันผิด เกิดผัสสะ เกิดเวทนา แล้วมันสัญญาในเวทนานั้นผิด ก็เป็นสัญญาผิด ก็เกิดทิฐิผิด เกิดอุปาทาน คือมันเป็นผิดแล้วอุปาทานก็ต้องผิด ก็เกิดความทุกข์ อยู่เหมือนกับคน คนบ้า ทุกข์โดยไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์เสียก็มี ถ้ามันเจ็บปวดนักมันก็ร้องครางไปก็มี แล้วแต่มันเป็นความทุกข์ชนิดไหน มันมีมูลมาจาก มีตัวตน มีตัวกูเป็นอัตตา คือ ไม่ว่าง ไม่ว่างจากตัวตน มันมีตัวตนก็เรียกว่าไม่ว่าง ถ้าว่างจากความรู้สึกอันนี้อยู่ก็เรียกว่า สุญญตา คือ ว่าง ว่างจากตัวตนก็เรียกว่า อนัตตา คือไม่ใช่ตน มันมีอะไรก็มีไปเถอะ มีกี่อย่าง กี่ร้อยอย่างพันอย่างก็มีไปก็แล้วกัน ไม่ใช่ตน เป็นเพียงรูปธรรม นามธรรม เป็นวัตถุสิ่งของ เป็นดิน น้ำ ลม ไฟ นี่ก็อย่างหนึ่ง แล้วเป็นนามธรรม เป็นวิญญาณธาตุ เป็นธาตุจิตธาตุใจ รู้สึกคิดนึกได้ ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานคือ อากาศ ทุกที่ว่างหรือความว่าง ก็เรียกธาตุ ๖ อย่าง มีแต่ธาตุ ๖ อย่างเป็นไป ปรุงแต่งไป เกิดผัสสะ เกิดเวทนา แล้วก็แยกทางกันเดิน ตรงที่ว่าถ้าเกิดเวทนาแล้วมีสัญญาผิดมันก็บ้าไปเลย ไปหาความทุกข์ มีสัญญาถูกมันก็มาทางเป็นสติปัญญาแล้วก็ไม่ทุกข์ ถ้ามาทางสติปัญญาจะไม่เกิดความรู้สึกเป็นตัวตน นี่คือผลหรือประโยชน์ของความรู้ที่ถูกต้อง ว่าอนัตตา ว่าสุญญตา เมื่อใดมีความรู้ถูกต้อง มีสัญญาถูกต้อง มีทิฐิถูกต้อง ก็ไม่เกิดอุปาทาน ก็ไม่เกิดทุกข์ ก็อยู่สบาย ทำประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านไปได้ โดยไม่ต้องยึดถือว่า มีตน มีท่าน เหมือนพระอรหันต์ท่านทำ ก็แปลว่าร่างกาย สังขารกลุ่มนี้มันก็ไม่มีความทุกข์ เอากันเพียงเท่านั้น มันไม่ ไม่เอาอะไรใดมากกว่านั้น สังขารร่างกายกลุ่มนี้ที่เราสมมุติเรียกว่า คน คนหนึ่งนี้ ไม่มีความทุกข์ก็แล้วกัน จะเป็นอยู่อย่างฆราวาสครองเรือนก็ได้ โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ แต่มันต้องทนรำคาญ ลำบากกันหลายๆ อย่างหรือไม่ก็ต้องเป็นพระอรหันต์ไปเสีย เพราะนั้นฆราวาสที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับอารมณ์ที่เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ มันก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีความรู้เรื่องนี้เพื่อให้มันทุกข์แต่น้อย ให้มันเป็นทุกข์แต่น้อยที่สุดที่พอทนได้ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี อนาคามี ก็มีความทุกข์น้อยลงๆ แม้เป็นฆราวาสก็เป็น เป็นฆราวาสได้แล้วก็มีความทุกข์น้อยลงๆ จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์ พอเป็นพระอรหันต์มันก็อยู่เหนือความเป็นฆราวาส หรือเหนือความเป็นบรรพชิต มันอยู่เหนือสมมุติโดยประการทั้งปวง แต่โลกก็ยังสมมุติว่าถ้าพระอรหันต์แล้วก็ต้องบวชอยู่เป็นพระ บรรพชิต พระอรหันต์นี่มันอยู่เหนือความเป็นฆราวาสหรือเป็นบรรพชิต สมมุติว่าเกิดเป็นพระอรหันต์ในบ้านเรือนขึ้นมา ไม่ได้มานุ่งห่มผ้าเหลือง เหมือนกับเป็นผู้ที่ยิ่งกว่าบวชเสียอีก พ้นไปเสียอีก ก็เป็นไปตามเรื่อง จะนุ่งผ้าเขียว ผ้าแดง อะไร จิตใจก็เป็นพระอรหันต์อยู่ ผ้าแดง ผ้าเขียว ผ้าแดงก็เป็น ก็กลายเป็นจีวรไปได้เหมือนกัน แต่นี่มันไม่ใช่เรื่องที่เป็นตัวปัญหา ตัวปัญหาที่ว่า แม้แต่เป็นฆราวาส ประกอบการงานอย่างเป็นฆราวาสนี่ ถ้ามีความรู้ความเข้าใจถูกต้องในเรื่อง สุญญตา เรื่องอนัตตา ก็จะมีความทุกข์น้อย อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า มันจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลตลอดกาลนาน ที่อุบาสกกลุ่มหนึ่งเขาไปทูลถาม ก็หมายความว่ามันจะเข้าไปในร่องรอยของการที่จะเป็นพระอรหันต์ในที่สุด นี่ประโยชน์ของสิ่งที่เรียกว่า อนัตตา สุญญตา มันมีอยู่อย่างนี้
ทีนี้จะพูดถึงคำว่า ว่าง หรือ สุญญตา นี้อีกนิดหนึ่งที่ว่าทุกอย่าง เป็นอนัตตา เป็นสุญญตา ก็คือว่ามี ยังตรัสว่าธาตุเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ ธาตุ ๖ อย่างนี้ เมื่อเข้ามาเกี่ยวข้องกัน แล้วมีการปรุงแต่งกัน ตามเหตุตามปัจจัย ที่ทำการเกี่ยวข้องกัน ปรุงแต่งเป็นความรู้สึกคิดนึกได้ในจิตในใจ ถ้าผิดหรือว่าถ้าไปในทางนี้จะเรียกว่าผิดหรือไม่ถูก หรือถูกก็ได้ ไม่เรียกว่าผิดหรือถูกดีกว่า ถ้าไปในทางนี้ก็ต้องเป็นทุกข์แล้วก็เลยเรียกว่าผิด ถ้าไปในทางนี้ก็เรียกว่าไม่มีทุกข์ก็สมมุติเรียกว่าถูก มันผิดหรือถูกนี้มนุษย์สมมุติเอาตามความรู้สึกของตัว ไม่มีทุกข์ก็เรียกว่าถูก มีทุกข์ก็เรียกว่าผิด ไอ้ธรรมชาติแท้ๆ มันเป็นเพียงกฏเกณฑ์ว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ต้องมีอย่างนี้เกิดขึ้น ถ้าเป็นอย่างนี้ก็อย่างนี้ต้องเกิดขึ้น นี่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา มีแต่ว่าเมื่อเป็นอย่าง เมื่อ เมื่อมีสิ่งนี้เป็นปัจจัยสิ่งนี้ก็เกิดขึ้น ไม่รู้ไม่ชี้เรื่องสุขเรื่องทุกข์ ไม่รู้ไม่ชี้ มันเป็นเพียงกฏที่ว่าเมื่อสิ่งนี้มีอยู่สิ่งนี้ก็เกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้มีอยู่สิ่งนี้ก็เกิดขึ้น แล้วก็เรามาเป็นสุข เป็นทุกข์ แล้วก็มาเป็นตัว สุข ทุกข์ของเรา มันจึงเกิดเรื่องสำหรับจะเป็นทุกข์ เพราะคนไม่รู้ ที่นี้ก็มารู้ว่ามันต้องเป็นไปตามกฏที่ตายตัวอยู่อย่างหนึ่งแล้ว กฏนั้นก็เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท มีอาการคือ อิทัปปัจจยาตา ก็เป็นกฏอยู่เหมือนกันว่า สิ่งนี้อย่างนี้ต้องเกิดเป็นผลอย่างนี้ ถ้าความที่มันเป็นไปเรื่อยก็เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท มันมีแต่กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท จึงเกิดความรู้สึกขึ้นต่างๆ กันในขณะแห่ง ปฏิจจสมุปบาท หรือกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท เป็นเพียงความรู้สึก ตลอดถึงความทุกข์ และไม่มีตัวคน ยิ่งเห็นว่าทุกอย่างมันไร้ ไร้ความหมาย ไร้ความจริง แห่งความเป็นตัวตน เป็นสักว่าธาตุ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยตามกฎของธรรมชาติ มันจึงพูดได้เลยว่าทุกสิ่งนี้ว่างจากตัวตนหรือของตน คือไม่มีความหมายที่จะเป็นตัวตนหรือของตน ไปทบทวนบท ยะถาปัจจะยัง ที่สวดอยู่ประจำวันอีกครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ไอ้โลกนี้มันว่าง คือสิ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้มันว่าง ว่างจากอะไร ว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตนหรือของตน อันนี้เรียกว่าว่างจาก อัตตา คือตัวตน ว่างจาก อัตตนียา คือของตน โลกมันเป็นอย่างนี้ ทีนี้พอจิตไปถึงความจริงข้อนี้ จิตเห็นความจริงข้อนี้ เข้าถึงความจริงข้อนี้ จิตก็เลย ก็พลอยไม่รู้จะไปจับฉวยอะไร คือไม่เกิดอุปาทานขึ้นมาได้เพราะการเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส จิตมันเลยว่างจากการ จากความรู้สึกที่ว่าเป็นตัวตน จิตอย่างนี้มันก็ไม่มีความยึดมั่น มันก็ไม่มีความทุกข์ เพราะนั้นจิตที่เห็นความว่างอย่างนี้นั้นมันเป็นจิตประเสริฐสูงสุด มันไม่อาจจะเกิดทุกข์ มันไม่สูญเสียสภาพเดิมแท้ของจิต คือความเป็นอิสระ ความที่ทรงตัวอยู่ได้ ความถูกต้อง ความเป็นอิสระ พอไปโง่มีตัวตน จิตก็สูญเสียความเป็นอิสระของจิต สูญเสียความถูกต้องของจิต เรียกสรุปสั้นๆ ว่า สูญเสียความทรงตัวอยู่ได้ของจิต มันเหมือนกับถูกเหยียบ ถูกขยำ ถูกบิด ถูกดึง ถูกกระชาก มันสูญเสียความเป็นปกติของจิต หรือความทรงตัวของจิต นั่นแหละคือมันโง่ไป ถ้าอย่ามีอะไรมาทำให้เป็นอย่างนั้นมันก็เป็นจิตที่รู้อะไรได้ถูกต้องตามธรรมชาติของจิต เดี๋ยวนี้มันมีการปรุงแต่งมาเป็น ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ทำให้จิตเสียรูปไปหมด ไม่ ไม่มีความเป็นจิตที่ถูกต้องตามสภาพเดิมแท้ของจิต ก็เกิดความทุกข์ขึ้น ทีนี้เรามีความรู้เรื่องนี้เพื่อจะคุ้มครองจิตไว้ให้อยู่ในสภาพที่ถูกต้องของจิต เราก็มีจิตที่ดี ที่จะเรียนหนังสือก็ได้ ที่ทำงานก็ได้ ที่หาเงินก็ได้ ที่จะบริโภควัตถุปัจจัยที่ได้มา จากทรัพย์สมบัติ เงินทอง ข้าวของก็ได้ มันก็เลยไม่มีความทุกข์ เพราะเรามีความรู้ที่ถูกต้องเรื่องสุญญตา เรื่องอนัตตานี่ คอยกำกับควบคุมอยู่ ความทุกข์เกิดขึ้นไม่ได้ นี้เรียกว่าประโยชน์อันแท้จริงของสิ่งที่เรียกว่า สุญญตา หรือ อนัตตา ในวิชาธรรมะ คือในพุทธศาสนา ถ้าใครมองเห็นความจริงข้อนี้ คนนั้นจะรับ จะนับถือ จะเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างสุดชีวิตจิตใจขึ้นมาทันทีเพราะว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือสิ่งนี้ เนื่องกันอยู่กับสิ่งนี้ มีความเป็นอย่างนี้ คือไม่มีความยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยความเป็นของตน พระพุทธเจ้าคือผู้รู้ พระธรรมคือการปฏิบัติได้ผลมา พระสงฆ์ก็คือหมู่คณะที่รักษาวิชาความรู้อันนี้ไว้ให้ยังคงอยู่ตลอดไป เป็นปึกแผ่นมั่นคง คนเราก็มีศรัทธา มีความเลื่อมใส ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์สุดชีวิตจิตใจ เพราะมีความรู้ในข้อนี้ นี่ผมเรียกว่า ประโยชน์ของความรู้เรื่องสุญญตา เรื่องอนัตตา ในวิชาธรรมะ ขอให้เอาไปคิด ไปนึก ไปพิจารณา ให้เข้าใจให้มันลงรากที่ถูกต้องเสียก่อน แล้วเรื่องต่างๆ ก็จะเข้าใจได้ง่ายต่อไปตามลำดับ นาฬิกานกตีแล้ว ร้องบอกว่าหมดเวลาแล้ว พอกันที