แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายประจำวันนี้ ก็จะพูดถึงเรื่องสิ่งที่เรียกว่า พรหมจรรย์ ต่อไปตามเคย เพราะว่ายังมีแง่ที่จะพูดได้ หรือควรจะทำความเข้าใจกันอีกหลายแง่หลายมุม ดังที่ได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้น ก็ล้วนแต่เป็นการชี้ให้เห็นสิ่งที่เรียกว่า พรหมจรรย์ นั้นชัดเจนขึ้น เพราะว่าการมาบวชนี้ ก็เรียกว่า การประพฤติพรหมจรรย์
ดังนั้น การบรรยายเรื่องนี้ก็คือ การบรรยายที่ชี้ให้เห็น สิ่งที่เราจะต้องประพฤติปฏิบัติในขณะที่บวชนี้ ให้ดี ให้สมบูรณ์ ที่พูดกันมามากแล้ว ก็คือว่า พรหมจรรย์ คือ ศาสนา ย่อมเป็นไปในลักษณะ หรือวิถีทางของสิ่งที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์ ไม่เกี่ยวกันกับเรื่องปรัชญา แต่ว่าเราอาจจะเอาวิธีการของปรัชญามาใช้พูดเรื่องเกี่ยวกับศาสนา หรือพรหมจรรย์ก็ได้ ไม่จำเป็น เว้นแต่ว่า เขาต้องการจะพูดกันในแนวนั้น หรือต้องการจะวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางของวิชาความรู้ ไม่ใช่เรื่องของการปฏิบัติ แต่เนื่องจากสมัยนี้เขานิยมสิ่งที่เรียกว่า ปรัชญา กันอย่างหลับหูหลับตา หรือจะเรียกว่า อย่างเป็นบ้าเป็นหลัง ก็ได้ แต่มันจะเป็นการดูถูกผู้อื่นมากเกินไป ก็ไม่อยากจะพูด นี่จะพูดกันแต่ในส่วนที่มันจำเป็น เพื่อให้รู้ไว้ว่าสิ่งที่เรียกว่า พรหมจรรย์ หรือศาสนานั้น ไม่เกี่ยวกับปรัชญา เท่านี้ก็พอแล้ว
ในครั้งที่แล้วมานี้ ก็ยังพูดถึงข้อที่ว่า พรหมจรรย์นี่จะช่วยป้องกันมิให้ชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องฝากไว้กับความหวัง คนทั่วไปก็ชอบใช้สิ่งที่เรียกว่า ความหวัง เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต บำรุงชีวิต ค้ำจุนชีวิต ให้มันมีความหมาย นั้นก็เป็นเรื่องของคนที่เขาไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี ก็ปล่อยไปตามความรู้สึกของตนเอง ก็มักจะไปอย่างนั้น ไม่ว่าในอดีตกาลโน้น หรือว่าในปัจจุบันนี้ และอาจจะต่อไปในอนาคตด้วยก็ได้ เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่า ความหวังนั้น มันทำให้เกิดกำลังใจอย่างหนึ่งขึ้นมา ถ้าหมดหวัง คนก็ท้อแท้เหมือนกับตาย เหมือนกับจะตาย นี้ก็ชี้ให้เห็นว่า ความหวังนี้มันก็เป็นเรื่องของความทุกข์ เพราะมันเป็นความหิว อยู่ด้วยความหวังจะเป็นโรคเส้นประสาทไปไม่ทันรู้ตัวก็ได้ คือ จะไม่รู้จักอิ่มเอาเสียเลย ไม่รู้จักพักผ่อนเอาเสียเลย
คนสมัยนี้ก็เป็นที่รับรองกันว่า เป็นโรคประสาทมากขึ้น และโรคจิตก็เพิ่มขึ้น ก็เพราะทำผิดในเรื่องนี้ คือ ชีวิตมันอยู่ด้วยความหวัง ความเร่าร้อน ความกระวนกระวาย ความหิว ไม่มีความรู้สึกอิ่ม ดังนั้น คนเหล่านั้นควรจะหันมาหาสิ่งที่เรียกว่า พรหมจรรย์ สำหรับจะแก้ปัญหานี้ และก็โดยวิถีทางของศาสนาซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ปรัชญาซึ่งเต็มไปด้วยความสงสัย และค้นไปตามความสงสัย มันก็พาไปด้วยความสงสัย มันออกไปเรื่อย เป็นเรื่องของการที่ไม่จับไม่ต้อง มันก็คือตัวปัญหานี้ หรือพลิกขึ้นดู มันก็ไปคิดคำนึงคำนวณไปเรื่อย
อยากจะยกตัวอย่างอีกสักข้อหนึ่งก็ได้ เช่นว่า ใครๆ ก็เห็นว่า ไอ้ดอกไม้นั่นมันสวย เช่น ดอกกุหลาบ หรือดอกบัว มันเป็นระเบียบในทรวดทรง มันสวยในเรื่องสีสันวรรณะ กลิ่นก็หอม คล้ายๆ กับว่า มันมีใครเจตนาทำขึ้น ไม่ใช่เป็นไปเองตามบุญตามกรรมของธรรมชาติ ถ้าเป็นนักปรัชญา มันก็มองไปอีกแง่หนึ่ง ถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็มองไปแง่หนึ่ง ถ้าเรามองกันในแง่วิทยาศาสตร์ มันก็พลิกดู ค้นดู มันก็ศึกษา มันสังเกตดูไปตามวิถีทางของวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งพบข้อเท็จจริง ทำไมมันจึงต้องมีสี ทำไมจึงต้องมีทรวดทรง มันศึกษาทางวัตถุโดยตรง ส่วนนักปรัชญามันก็คาดคะเนโดยตรง มันก็คาดคะเนไปด้วยความสงสัย หรือตั้งปัญหาไกลออกไป ไกลออกไป มันอาจจะตั้งปัญหาถึงกับว่า ดอกไม้นี้ มันจะสวยแน่หรือ มันตั้งปัญหาชนิดที่จะไม่นำไปสู่ความรู้เรื่องที่อยู่เฉพาะหน้า จนกระทั่งปัญหาว่า ดอกไม้นี้มีอยู่จริงหรือ อย่างนี้เป็นต้น นี่ก็คิดไปได้ตามแนวนั้นเรื่อย ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีทางจะพบกัน แทนที่จะตอบปัญหาว่า ทำไม หรือจะต้องทำอย่างไร นี่มันกลายเป็นเรื่อง อย่างนั้นหรือ อย่างนั้นหรือ หรืออะไรไม่มีที่สิ้นสุด
การประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เป็นอย่างนั้น มันจะเอาตรงที่นี่ เดี๋ยวนี้ ก็ที่เฉพาะหน้า ก็จะเอาประโยชน์ให้ได้จากการที่ว่า ดอกไม้มันสวยหรือมันหอม หรือจะเอาประโยชน์อย่างไรให้ได้โดยตรง ไม่มัวถามว่า เพราะเหตุไร เพราะเหตุไรอยู่อย่างนั้น แม้แต่ตอบคำตอบว่า เพราะเหตุไร มันก็ตอบในทางที่จะเป็นประโยชน์ เดี๋ยวนี้หรือที่นี่ ไม่ตอบไปในทางที่มีปัญหาไกลออกไป ไกลออกไป นี่สำหรับพรหมจรรย์ ถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็จะสังเกตดูว่า เขาทำอย่างไร เขาปฏิบัติอย่างไร ถ้านักปรัชญาก็ถามว่าทำไมต้องปฏิบัติ มันแน่ มีประโยชน์แน่หรือ อย่างนี้ มันเป็นเสียอย่างนี้
ในวันนี้จะได้กล่าวถึง พรหมจรรย์ โดยหัวข้อว่า พรหมจรรย์ ขึ้นอยู่กับการควบคุมกาย วาจา ใจ ให้อยู่ในสภาวะที่ถูกต้อง พรหมจรรย์ ขึ้นอยู่กับการควบคุมกาย วาจา ใจ ให้อยู่ในภาวะที่ถูกต้อง ก็หมายความว่า ที่นี่และเดี๋ยวนี้ และก็หมายถึง การปฏิบัติลงไปตรงๆ ที่กาย วาจา ใจ และควบคุมกาย วาจา ใจ ให้อยู่ในภาวะที่ถูกต้อง ทีนี้ เรื่องถูกต้องเป็นอย่างไร นี่ คือเรื่องเข้าใจกันต่อไปอีก เรื่องกาย วาจา ใจ นี้เกือบจะไม่ต้องอธิบาย ทุกคนก็พอจะรู้ว่า มันหมายถึงอะไร แต่ว่าความถูกต้อง อยู่ในภาวะที่ถูกต้องนี่ มันก็มีแง่หรือมุมที่จะต้องดูกันให้สำเร็จประโยชน์
ถ้าเราจะเอาตัวการประพฤติกระทำเป็นหลัก มันก็มีหลักอยู่ว่า เป็นสายกลางนี้ อย่างที่ได้พูดมาแล้วโดยละเอียดในการบรรยายครั้งก่อน แต่นี้ก็ดูจะเป็นไปในทางที่ยังเข้าใจยาก หรือจะกระเดียดไปในทางของปรัชญาไปไม่ทันรู้ตัวก็ได้ กลางหรือไม่กลาง อะไรทำนองนี้ หรือจะให้ชัดกว่านั้นก็พูดว่า ถูกต้อง ก็คือ ความทุกข์เกิดขึ้นไม่ได้ นั่นคือ ถูกต้อง เดี๋ยวนี้ก็เถียงกันมากนั่น ยิ่งเอา เอาหลักปรัชญามาใช้ แล้วก็จะเถียงกันไม่มีที่สิ้นสุดว่า ถูกต้องนั้นคืออย่างไร มันอ้างเหตุผลอย่างโน้นอย่างนี้ บัญญัติอย่างนั้นอย่างนี้ หรือคาดคะเนอย่างนั้นอย่างนี้ไม่สิ้นสุด ในความหมายของคำว่า ถูกต้อง
ถ้าเป็นเรื่องทางศาสนานี้แล้ว ก็ชัดลงไปทีเดียวว่า ในลักษณะที่ความทุกข์เกิดไม่ได้ นี่ก็อาศัยข้อเท็จจริงเฉพาะหน้า แล้วก็อาศัยความรู้ชนิดสามัญสำนึก ไม่ต้องใช้คำนึงคำนวณอะไรมากมาย ความรู้สามัญสำนึกของบุคคลผู้มีสติปัญญาตามธรรมดานี้ ไม่ใช่คนบ้าคนบอหรือว่าคนวิกลจริต คนไม่เต็มบาท หรือว่าแม้แต่คนไม่เต็มบาท คนบ้าคนบอเอง ก็มีทางที่จะใช้สามัญสำนึกได้ถูกต้อง มีผลดีกว่าการคำนึงคำนวณตามวิถีทางปรัชญาด้วยซ้ำไป เพราะว่าคำว่า ไม่เป็นทุกข์นั้น มันคือ ไม่เจ็บปวด ไม่ทนทรมาน ซึ่งแม้แต่คนบ้าๆ บอๆ ไม่เต็มเต็งนี้ มันก็รู้จักความเจ็บปวด ความทุกข์ ความทรมาน แล้วมันก็ถอยออกมาเสีย หลีกไปเสีย ด้วยความรู้สึกสามัญสำนึกนี้ นี่ มันก็มีส่วนที่จะถูกต้องกับเรื่องราว ดีกว่าที่จะไปใช้สติปัญญาคำนึงคำนวณอย่างนักปราชญ์ จนไม่ ไม่เข้ารูป เข้าเรื่อง ไกลออกไปทุกที ไกลออกไปทุกที ฉะนั้น ความถูกต้องโดยหลักวิชามัชฌิมาปฏิปทานี้ คือ ไม่ ไม่เอียงทางโน้น ไม่เอียงทางนี้ อยู่ตรงกลาง หรือว่าไปตามเหตุตามปัจจัย เป็นตามกฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตา ไม่มีความเห็นผิด แล้วก็มีความประพฤติถูกตามความเห็นที่ไม่ผิด
เดี๋ยวนี้ เราจะพูดกันอย่างที่เรียกว่า เด็ก ๆ ก็ฟังถูก หรือว่าจะเรียกว่า กำปั้นทุบดิน ก็ได้ ถูกต้อง นั้นคือ ไม่เป็นทุกข์ ไม่รู้สึกเป็นทุกข์ มีรากฐานอยู่ที่สามัญสำนึก แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน มันก็รู้จักความทุกข์ และหลีกถอยออกมาเสียจากความทุกข์ ในระดับที่มันจำเป็นนั่น หรือที่มันเกี่ยวกับสัตว์เดรัจฉาน แล้วมันจึงรอดตายมาได้ ทีนี้ ลดให้ต่ำลงไปกว่าสัตว์เดรัจฉาน ลงไปถึงพืชพรรณไม้ทั้งหลาย มันก็รู้จักความถูกต้องโดยสัญชาตญาณ มันจึงรอดมาได้จนถึงบัดนี้ ไม่อย่างนั้นมันตายหมดแล้ว คุณคิดดูเถิดว่า ใครไปคุ้มครองมันล่ะ ต้นไม้นี่ มันอยู่ด้วยความถูกต้องตามธรรมชาติ มันเกิดเป็นชีวิตขึ้นมาแล้ว มันก็รู้จักความถูกต้องได้โดยอัตโนมัติ หรือเป็นความถูกต้องอยู่ในธรรมชาติของมัน แต่ปัญหามันก็เกิดขึ้นบ่อยๆ เช่นว่า มันไม่มีแสงแดดด้านนี้ เดี๋ยวมันก็ออกหาแสงแดดด้านโน้น หรือทางนี้ไม่มีน้ำ มันก็ส่งรากไปทางโน้นซึ่งมีน้ำ เพื่อไม่ทุกข์ เมื่อไม่เป็นทุกข์ก็ไม่ทนทรมาน นี่เป็นความถูกต้องตามธรรมชาติโดยอัตโนมัติของสิ่งที่มีชีวิต ดังนั้น ขอให้ถือเป็นหลักว่า ไอ้ความถูกต้องนี้มีรากฐานอยู่บนความรู้สึกตามสามัญสำนึกของสิ่งที่มีชีวิตทั่วไป ถ้ามองดูให้ดี ก็จะพบสิ่งที่ลึกลับหรือสำคัญอันหนึ่งว่า ความถูกต้องนั่นแหละคือความรอด ซึ่งเป็นกฎของวิทยาศาสตร์ด้วย ก็ได้ยินที่เขาพูดกันไว้ the fittest the survival fittest คือ เหมาะสมที่สุด survival คือ รอดอยู่ได้ มันก็พูดในทางวัตถุ ทางชีววิทยา ทางวัตถุ ไม่ได้เกี่ยวกับธรรมะ
เดี๋ยวนี้ หลักเกณฑ์อันนี้ มันมาใช้ได้กับเรื่องจิตใจ เรื่องทางศาสนา ทางธรรมะ มัชฌิมาปฏิปทานั่น คือ the fittest คือ เหมาะสมที่สุด ทีนี้รอดอยู่ได้ คือ ไม่เป็นทุกข์ ไม่ตาย ทั้งในแง่ของวิญญาณ ในแง่ของจิตใจ ในแง่ของร่างกาย ดังนั้น ความถูกต้องเราเอาความหมายคือความรอดอันนี้ นับตั้งแต่รอดจากความยากจน รอดจากความเจ็บปวด ความลำบากอะไรต่าง ๆ จนกระทั่งรอดชีวิต กระทั่งรอดในทางวิญญาณ หรือวิมุตติหลุดพ้นจากวัฏสงสารไปสู่นิพพาน มันก็อาศัยความถูกต้อง มันก็จึงใช้คำว่าถูกต้องนี้เป็นหลักใหญ่ในทุกๆ กรณี หรือในทุกๆ ระดับ
เดี๋ยวนี้ก็ได้ให้หัวข้อลงไปแล้วว่า พรหมจรรย์ ขึ้นอยู่กับความ ขึ้นอยู่กับการควบคุมกาย วาจา ใจ ให้มันอยู่ในลักษณะที่ถูกต้อง แล้วหันมาพูดกันในทางศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนาที่เราบวช เราเรียนกัน ควบคุมกาย วาจา ใจ ให้ถูกต้องนั่นมันพอแล้ว มันเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ครบบริบูรณ์อยู่ในตัว มันเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดกระแสแห่งความทุกข์ขึ้นมา เมื่อเรา เราควบคุมกาย วาจา ใจ ไว้อย่างถูกต้อง ก็ไม่มีทางที่จะเกิดอวิชชา คือ การกระทำผิด เพราะมันรู้ผิด รู้ผิดแล้วก็กระทำผิด ในเมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น และทั้งหก หก หกอายตนะ สิกขาบททั้งหลาย คุณไปพิจารณาดู ในปาฏิโมกข์ที่สวดอยู่ทุกกึ่งเดือนนั้น ก็เรื่องควบคุมกายหรือวาจาให้ถูกต้อง นับ นับตั้งแต่อย่างหยาบ อย่างเลวที่สุด ขึ้นไปถึงอย่างกลาง และอย่างประณีต อย่างสุขุมที่สุด ให้มันมีความถูกต้องทางกาย ทางวาจา ซึ่งเมื่อมีการควบคุมทางกาย ทางวาจา มันก็ย่อมมีการควบคุมไปถึงใจด้วยเหมือนกันนั่น แต่ว่าทางวินัยนี้ ท่านยังไม่พูดถึงเรื่องใจ เป็นแต่เรื่องกายกับวาจาก่อน ต่อไปถึงเรื่องสมาธิ เรื่องปัญญาโน่น มันจึงไปถึงใจ ถึงปัญญาวิชาความรู้ ในเรื่องศีล เรื่องวินัยทั้งหลายนี้ ควบคุมข้างนอกให้ถูกต้อง คือ กาย วาจา ใจ นั่นคือ กายและวาจา มันก็ มันก็เต็มความประสงค์ของสิ่งที่เรียกว่า ศีลหรือวินัย
ทีนี้ ผมพูดเผื่อไปให้ทราบล่วงหน้าว่า เมื่อเราควบคุมที่กาย ที่วาจานั้น มันก็กระเทือนเข้าไปถึงใจด้วย มันเป็นการควบคุมไปถึงใจอยู่โดยอ้อม หรือโดยอัตโนมัติ แต่นั่น มันไม่ใช่ความมุ่งหมายของศีลหรือวินัย เพราะวินัยมันแสดง มันมุ่งหมายจะควบคุมภายนอก หรือที่เกี่ยวกันกับผู้อื่น เมื่อเรามีศีลก็คือ ควบคุมกายวาจาถูกต้อง เมื่อเรามีสมาธิ คือ ควบคุมจิตถูกต้อง เมื่อเรามีปัญญา คือ ควบคุมทิฏฐิถูกต้อง ถ้ายัง ยังไม่เคยฟัง ก็พยายามทำความเข้าใจเสีย เรื่องกายกับวาจานี้เอาไว้ฝ่ายกาย กายรวมเป็นเรื่องเป็นกาย ก็คอปากนี้ มันก็อยู่ในส่วนกาย คือมันเนื่องกันอยู่กับกาย กายกับวาจานี้เอาไว้เรื่องกาย ที่จิตน่ะก็เป็นเรื่องจิต ความคิดนึกของจิตที่จะเกิดขึ้นมา เนื่องจากการสัมผัสทางตา หู เป็นต้น ก็ควบคุมไว้ให้ถูกต้อง นี่ก็เป็นเรื่องจิตหรือเรื่องใจ ก็แล้วแต่จะเรียก ทีนี้ มันยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งท่านมักจะเรียกกันว่า เรื่องทิฏฐิ คือ ความคิด ความเห็น สติปัญญาในของจิต อันนี้มันอีกส่วนหนึ่ง มันจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง มันมีอีกส่วนหนึ่ง เพียงแต่เราคุมใจไว้ไม่ให้เกิดความเร่าร้อนขึ้นมา นี่มันก็สำเร็จเพียงแค่ควบคุมใจหรือจิต ในส่วนจิตซึ่งควบคุมได้ด้วยสมาธิ
ทีนี้ ความคิดเห็นมันไม่ ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้น่ะ มันไม่ถูกต้อง มันเห็นผิดในเรื่องกรรม เรื่องอนัตตา เห็นผิดในทางของทิฏฐิ นี่จึงต้องควบคุมอีกทีหนึ่ง คือ ศึกษาหรือว่าปฏิบัติให้มันทิฏฐินี้ถูกต้องอีกทีหนึ่ง แต่ก็ยังเรียกว่า ใจ อยู่เหมือนกันแหละ นี่ใจมันเกิดเป็น เป็นสองแขนง ใจที่เป็นจิตนี่อย่างหนึ่ง และใจที่เป็นทิฏฐิ ความคิดเห็นนั่นอีกทางหนึ่ง เมื่อควบคุมจิตถูกต้อง ควบคุมทิฏฐิถูกต้อง ก็เรียกว่า เรื่องใจถูกต้อง ทีนี้เรื่องกายกับเรื่องวาจา มันถูกต้องอยู่โดยศีลโดยวินัยแล้ว มันก็เลยถูกต้องทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
การควบคุมอยู่ในลักษณะที่ถูกต้องอย่างนี้นั่นแหละ คือ ตัวของมัน คือ ตัวของพรหมจรรย์ ไม่ใช่เปลือก ไม่ใช่กระพี้ ไม่ใช่ชื่อ ไม่ใช่สักว่าชื่อหรือคำพูดน่ะ มันเป็นตัวแท้ ๆ ของตัวพรหมจรรย์ การประพฤติกระทำจิต เป็นการควบคุมกาย วาจา ใจ ให้ถูกต้อง เนี่ย คือ บทนิยามของคำว่า พรหมจรรย์ โดยแท้จริง
พรหมจรรย์ คือ การควบคุมกาย วาจา ใจ ไว้ในสภาพที่ถูกต้อง นี่บางคนอาจจะคิดหรือแย้งใน ใน ในวิถีทางปรัชญาว่า จะควบคุมกันไปถึงไหนกัน แล้วมันจะไปบรรลุมรรคผลนิพพานได้อย่างไร กิเลสจะหมดไปอย่างไร คำถามอย่างนี้เป็นวิธีทางปรัชญาก็ได้ แต่ว่าเราไม่เอาล่ะ เราจะเอาในทางเรื่องของศาสนาของพรหมจรรย์ หรือเรื่องวิทยาศาสตร์
ก็ดูสิว่าเมื่อเราไม่เผลอสติทางกาย ทางวาจา ทางใจ สติก็ควบคุมให้มันถูกต้องอยู่เสมอ อย่างที่เรียกว่า ให้สามัญสำนึกมันสอน ทีแรกเราอาจจะโง่ อวิชชาเกิดขึ้น ควบคุมไว้ไม่ถูกต้อง ไปกระทำอย่างนั้น หรือไปพูดอย่างนั้น หรือไปคิดอย่างนั้นเข้า แล้วมันเกิดความทุกข์ขึ้นมา
แล้วทีนี้ มันก็จำไว้ สติสัมปชัญญะ มันก็ต้องรู้สึกทันทีที่ว่า พอจะคิดอย่างนี้ หรือจะพูดอย่างนี้ หรือจะทำอย่างนี้อีก เอ้า สติมันก็มี มาทันว่า นี่ไม่ได้ นี่มันเป็นทุกข์ เหมือนกับเราไปเหยียบไฟ หรือเหยียบตะปูนั่นน่ะ มันก็เจ็บปวด พอถูกเข้าทีหนึ่ง แล้วทีหลังมันก็มีสติสัมปชัญญะเกิดขึ้น ที่จะไม่ให้เหยียบอีก ก็ระวังดีขึ้น จนไม่เหยียบอีก
เรื่องกิเลสนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะระวังทางกาย วาจา ใจ ไม่ให้พลั้งพลาด ไม่ให้เกิดกิเลสขึ้นได้ ก็หมายความว่า ไม่เปิดช่องให้อวิชชาเกิดขึ้นมาได้ อวิชชาจะอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ล่ะ แต่จะมาเกิดในจิตของเราไม่ได้ก็แล้วกัน อวิชชานี้ก็ประหลาด ที่ทำให้เกิดปัญหา แล้วก็ปัญหาทางปรัชญาเหมือนกันว่า มันเกิดอยู่ตลอดเวลา หรือมันเพิ่งเกิด
ทีนี้ พวกที่นักแย้ง ก็มันก็ มันก็จะคิด คิดว่ามันมีอยู่ในใจตลอดเวลา พอเผลอเท่าไรมันโง่ทันที คล้ายๆ ว่ามันรออยู่ในใจ คนธรรมดาอาจจะคิดอย่างนี้ เช่นว่า ความโง่ของเรามีอยู่ตลอดเวลา ถ้าอย่างนี้เป็นสามัญสำนึกของคนที่ยังไม่ค่อยรู้อะไร
ถ้าได้ศึกษาหลักพุทธศาสนามาพอสมควรแล้ว จะเข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า แม้อวิชชามันก็เพิ่งเกิด แล้วมันเกิดเฉพาะกรณีนั้นๆ เมื่อเผลอสติแล้ว มันก็อวิชชามันก็เกิด มีโอกาสที่จะเกิด เป็นของเกิดเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นของมีอยู่ตลอดเวลา เป็นของเกิด เสร็จเรื่องแล้วก็ดับไปเหมือนกัน ดังนั้น ความโง่ ก็ต้องถือว่าเกิดขึ้นเฉพาะกรณี สิ้นเรื่องแล้วก็ดับไป และอาจจะไม่โง่ โง่ซ้ำอีกก็ได้ ชนิดนั้นเกิดอีกไม่ได้ทีนี้เอาเป็นว่า เรามีสติสัมปชัญญะ ที่จะควบคุมไม่ให้เกิดทำผิดขึ้นทางกาย วาจา ใจ มันก็เกิดนิสัยอันใหม่ เกิดอุปนิสัยอันใหม่ เกิดความเคยชินอย่างใหม่เรื่อย เรื่อย เรื่อยมาในทางที่อวิชชาจะเกิดไม่ได้ หรือจะเกิดยากขึ้นทุกที คือ ไม่ให้ความเคยชินแก่การเกิดอวิชชา ให้ความเคยชินแก่การที่จะเกิดสติสัมปชัญญะไปเรื่อย อย่างนี้ก็เรียกว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่มีโอกาสจะเกิด อวิชชาที่จะส่งให้เกิดความโลภ ที่จะส่งให้เกิดความโกรธ ที่จะส่งให้เกิดความหลง มันก็ไม่มีโอกาสจะทำ ทำงานอย่างนั้น ที่เราก็ไม่มีความเคยชินที่จะเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงยิ่งขึ้นทุกที ดังนั้น ถ้าจะกล่าวสรุปเสียเป็นอันเดียวก็ว่า มันมีความเคยชินที่จะไม่เกิดอวิชชาขึ้นทุกที พูดกลับอีกทางหนึ่งก็มีความเคยชินในการที่จะเกิดสติสัมปชัญญะเสียทุกที ที่ตาเห็นรูปแว่บหนึ่ง หูได้ฟังเสียงแว่บหนึ่ง จมูกได้กลิ่นแว่บหนึ่ง มันเคยชินแต่ที่จะเกิดสติสัมปชัญญะเสียทุกที ก็นำไปหาความถูกต้อง
ความถูกต้องนี้ก็เกิดอยู่โดยสามัญสำนึกหรือตามสัญชาตญาณอยู่แล้ว เมื่อให้ตาเห็นรูปแล้วไปคิดอย่างนั้นอย่างนี้จนเกิดยึดมั่น อย่างนี้มันก็มีความทุกข์เกิดขึ้นเพราะตา ก็เลยไม่กล้าปล่อยให้เกิดความคิดไปตามที่ตามันเห็นอย่างนั้น ทางหูก็เหมือนกัน ทางจมูกก็เหมือนกัน ทางเสียง ทางหูก็เหมือนกัน ทางจมูกก็เหมือนกัน คล้ายๆ กับว่า พอเราทำผิด มันก็กัดเอา ทำผิดทางตาก็กัดเอาตา ทำผิดทางหูก็กัดเอาหู ผิดทางจมูกก็กัดเอาทางจมูก นี่พูดโดยเปรียบเทียบเป็นภาพพจน์ให้จำง่ายๆ แล้วมันก็เกิดกลัว มันก็ระวังดีขึ้น ข้อนี้มันเข้าใจได้ง่าย โดยนึกย้อนไปถึงว่า เมื่อหลายพันปีหรือหมื่นปีก็ตามใจ ใครมันสอนใคร พระพุทธเจ้าก็ยังไม่เกิด แล้วครูบาอาจารย์ก็ยังไม่เกิด แล้วความรู้นี้มาแต่ไหนล่ะ ก็มาแต่ความสังเกตรู้สึกด้วยใจ ที่เรามันกระทำผิด แล้วก็เกิดความเจ็บปวดขึ้น ก็ค่อยๆ มีความรู้กันทีละนิดๆ ที่จะไม่ให้เกิดความผิดทางตา ทางหู เหมือนกับเราเผลอไปเหยียบตะปู เหยียบไฟนี้ มันก็มีความรู้ขึ้นมาทันที ที่มันจะไม่เหยียบอีก
ดังนั้น มันจึงเกิดมีผู้ที่สังเกตดีกว่าคนอื่นก็ได้ความรู้ที่แน่นอน พอที่จะพูดให้คนอื่นเชื่อได้ว่า แค่อย่าปล่อยให้เกิดความประมาททางตา มันจะเป็นอย่างนั้นๆ ขึ้นมันจะกัดเอาทางจิตใจ ทางหู ทางจมูกก็เหมือนกัน ไม่ได้ตรัสรู้ทีเดียวตลอด มันค่อยๆ รู้กันมาทีละขั้น ทีละขั้น ทีละขั้น ขั้นสุดท้ายเมื่อเกิดพระพุทธเจ้าแล้วนี่ จึงจะรู้จักจัดให้มัน ให้มันชัดเจนขึ้นมาว่า การสัมผัสทางตานี้ทำให้เกิดเวทนาที่อาศัยตา แล้วก็เกิดตัณหาอุปาทานชนิดที่เรียกว่า เบญจขันธ์ที่มีอุปาทานยึดครอง แล้วจึงเป็นทุกข์ นี่มันพูด นี่อย่างละเอียดสูงสุด ชัดเจนที่สุด นี่มันตอนหลังเมื่อพระพุทธเจ้าเกิดแล้ว นี่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ไม่ใช่ว่าเขาจะไม่รู้เรื่องนี้กันเลย ก็รู้มาตามลำดับ
พระพุทธเจ้าก็ได้เล่าเรียนสิ่งที่มนุษย์ มนุษย์ก่อนๆ โน้นเขาได้ค้นพบแล้วสอนไว้อย่างไร ดังนั้น ท่านก็มีโอกาสที่จะเสริมให้มันสูงขึ้น ชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้น จนถึงขนาดที่สมบูรณ์ที่สุด สูงกว่านั้นอีกไม่ได้ ก็ถือว่าการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านี้เป็นความรู้ที่สูงสุด ก็มาในรูปของวิทยาศาสตร์ ไม่ ไม่อิงการคำนึงคำนวณ อิงความจริงที่ปรากฏอยู่ที่ความรู้สึกนั้นจริงๆ ทีนี้ เรามาเกิด เกิดใช้คำว่า พรหมจรรย์ ก็อย่าลืมว่า ก็ได้บอกแล้ว พรหม แปลว่า ประเสริฐที่สุด จรรย์ คือ จริยะ ก็แปลว่า ประพฤติกระทำ ประพฤติกระทำที่ประเสริฐที่สุด มันก็คือไม่มีทุกข์ มีเท่านั้นเอง ความทุกข์เกิดไม่ได้นั่น คือ ประเสริฐที่สุด คำว่า พรหม นี้มันเป็นคำอะไรมาแต่ไหน ทีแรกก็สุดแท้แล้ว อย่าไปนั่น แต่ความหมายอันแท้จริง ก็คือ ประเสริฐ หรือ สูงสุด ไม่มีอะไรสูงกว่า
วิชาที่ประเสริฐที่สุด ก็วิชาที่ดับทุกข์สิ้นเชิง การปฏิบัติที่สูงสุด ก็คือ การปฏิบัติที่ดับทุกข์สิ้นเชิง นี้ก็คือ พรหมจรรย์ การประพฤติกระทำที่สูงสุด คือ ดับทุกข์สิ้นเชิง อาศัยความรู้ที่ถูกต้องเป็นรากฐาน เป็นความรู้ที่มาจากสิ่งที่มีปรากฏอยู่จริง เป็นความจริง ไม่ ไม่เกี่ยวกับคำนึงคำนวณ ถือว่า เข้าใจชัดไว้เสมอไป ความรู้ที่มาจากการคำนึงคำนวณนั้นเป็นปรัชญา ความรู้ที่มาจากการเห็นแจ้งอยู่เฉพาะหน้า พิสูจน์ทดลองได้เฉพาะหน้านี้ เรียกว่า เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ พรหมจรรย์ มาจาก พรหมจรรย์นี้มันเป็นการประพฤติกระทำลงไปที่สิ่งนั้น แล้วก็ได้ความรู้แจ้งขึ้นมาจากสิ่งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รู้แจ้งในความทุกข์ที่มันดับไป หรือที่กิเลสมันเกิดไม่ได้ ที่มันมีความรู้สึกไม่มีความทุกข์อยู่ในจิตใจโดย โดยเฉพาะ มีจิตใจที่สงบ เย็น สะอาด สว่าง ชัดเจนอย่างนี้ ไม่ต้องเป็นรูปธรรมเสมอไป สิ่งที่เรียกวิทยาศาสตร์นั้นอาศัยสิ่งที่เป็นนามธรรมก็ได้ ถ้ามันเป็นสิ่งที่รู้สึกอยู่ได้กับใจจริงแล้ว ก็เป็นวิทยาศาสตร์ไปหมด ไม่ต้องคำนึงคำนวณ
เดี๋ยวนี้ วิทยาศาสตร์ หรือคำว่าวิทยาศาสตร์ที่เขาใช้พูดกันอยู่ในโลกนี้ มันใช้ในเรื่องวัตถุ วัตถุที่เป็นรูปร่างอย่างเดียว ที่สัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กายทั้งนั้น ที่จริงมันไม่ใช่อย่างนั้น หลักเกณฑ์มันก็เปิดไว้ให้กว้างว่า ถ้ามันรู้สึกประจักษ์อยู่ในใจ นั้นก็เรียกว่า ไม่ต้องคำนึงคำนวณ การคำนึงคำนวณใช้กับสิ่งที่ไม่ได้มาปรากฏอยู่ในความรู้สึกแก่ใจ ใช้เหตุผลการคำนึงคำนวณเรื่อยไป เมื่อแย้งกันไม่ได้ก็ยุติไว้ว่าถูกวิธีหนึ่ง เกิดแย้งขึ้นมาได้เมื่อไร ทฤษฎีอันนั้นก็ผิดไปอีก แล้วไม่ ไม่จำเป็นที่ต้องเอามาใช้กับเรื่องควบคุมกาย วาจา ใจ ที่เป็นตัวพรหมจรรย์
ถ้าพูดอย่างนี้แล้ว คุณก็ควรจะเห็นเค้าเงื่อนที่ว่า เราหรือสัตว์มีชีวิตทั้งหลายนี่ มันจะสามารถระวังไม่ผิดซ้ำ เพราะมันไม่ชอบความเจ็บปวดหรือความทุกข์ มันก็ระวังไม่ให้ผิดซ้ำ มันก็จึงฝึกสุนัขหรือแมวอะไรของเราได้ มันก็ไม่อยากผิดซ้ำ ก็ถูกตี หรือว่าถ้าไม่ผิด มันก็ได้รับรางวัล จึงฝึกกันได้ด้วยมีความรู้สึกอันนี้เป็นต้นทุน นี่เราก็ไม่ได้รับจ้างใคร เรามุ่งหมายความดับทุกข์ของเรา เราก็ศึกษาเอาจากความผิดพลาดแล้วมันก็เกิดทุกข์ มันเกิดความทุกข์ พูดผิด ทำผิด คิดผิด แล้วเห็นผิดอะไรก็ตาม เป็นเรื่องเกิดความทุกข์ นี้ก็กลับในทางที่ตรงกันข้าม มันก็ค่อยๆ พบแต่ความถูกต้อง นี่ก็รักษาไว้แต่ในทางอย่างนี้ เพราะว่าถ้าไม่อย่างนั้น มันก็ตาย มันก็ตายไปแล้ว มันเลิกกัน ถ้ามันรอดอยู่ หมายความว่า มันมีความถูกต้อง ช่วยคุ้มครองอยู่ ก็ทำให้มันมากขึ้น มากขึ้น จนให้ถูกหมด ถูกหมดมันก็ไม่มีผิด คือ ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้น ไม่เวียนซ้ำมาสู่ความทุกข์อีก อย่างนี้ก็เรียกว่า หลุดพ้นไปจากวัฏสงสาร วัฏ แปลว่า วงกลม สงสาร แปลว่า เวียน วัฏสงสาร ก็คือ เวียนอยู่ในวงกลมที่มีความทุกข์ซ้ำๆ ซ้ำๆ สัตว์ทั้งหลายมันติดอยู่ในวงกลมนี้ มันมองเห็นความน่ารังเกียจหรือน่าอันตราย จึงได้มาประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อจะออกไปเสียจากวัฏสงสารนี้ นี่เรียกว่า พรหมจรรย์ ตัวแท้ๆ มันอยู่ที่ตรงนี้ นิดเดียว ถ้าจะเรียกว่า ก็เรียกว่า นิดเดียว อยู่ที่ตรงนี้ เรื่องอื่นๆ นั่น ช่างมัน มันมากมาย เรื่องที่จะควบคุมให้กาย วาจา ใจ มันดำเนินไป หรือว่าจะตั้งอยู่ในลักษณะที่ถูกต้อง คือ ความทุกข์เกิดไม่ได้ โดยอาศัยสามัญสำนึกที่รู้สึกได้เอง สำหรับสิ่งที่มีชีวิต เรียนมาจากความผิดพลาด แล้วก็มารู้ความถูกต้อง ดังนั้น เราก็ขอบใจความทุกข์ เป็นครูสอนให้เรารู้จักความถูกต้อง
ในพระบาลีก็มีอยู่สูตรๆ หนึ่งที่ตรัสไว้ในลักษณะอย่างนี้ หมายความว่า มีความทุกข์เกิด แล้วก็ชิมรสของความทุกข์เสียโชกโชน ช่ำชอง จึงหันไปหาฝ่ายตรงข้าม คือ เกิดศรัทธา เขาเรียกว่า ศรัทธา ความเชื่อในฝ่ายธรรมะ คือ ฝ่าย ฝ่าย ฝ่ายความทุกข์ ฝ่ายวัฏสงสารนี้ มันสั่นหัวแล้ว ไม่ไหว ก็หันไปหาทางฝ่ายธรรมะมันก็มีศรัทธาเกิดขึ้นใหม่ ตั้งขึ้นมาใหม่ว่า ความดับทุกข์ หรือความที่จะออกไปเสียจากพวกนี้ ต้องมีแน่ ก็เลยตั้งต้นไปทางโน้น ไปค้น ไปหา ไปทางโน้น กระทั่งไปปรึกษาหารือกับท่านผู้รู้ สัตบุรุษทั้งหลาย ไปพบเรื่องของพระพุทธเจ้า เรื่องของผู้ที่อาจจะบอกธรรมะ ก็เลยศึกษาธรรมะได้ง่าย เพราะตัวมันมีความทุกข์ที่ผ่านมาแล้วอย่างโชกโชน
ดังนั้น พระพุทธเจ้าก็เพียงแต่บอกว่า ความทุกข์ในชั้นแรก ดูสิ เกิดมาจากตัณหา คือ ความอยากด้วยความโง่ คนนั้นก็เข้าใจทันที เพราะมันผ่านความทุกข์มาแล้ว ไม่เหมือนกับคนที่ยังไม่รู้เรื่องนี้ ไม่ผ่านความทุกข์เลยนี้ จะบอกเด็ก ลูกเด็กๆ เล็กๆ ว่าความทุกข์เกิดจากตัณหา ความอยากด้วยความโง่ นี้มันฟังไม่ถูก แต่ถ้าคนที่มันช่ำชองมาแล้วกับความทุกข์ อายุมันก็มากพอสมควรแล้ว ก็ฟังถูกทันที อันความทุกข์ใน ใน ในชั้นที่เราจะมองเห็นง่ายๆ ก่อนนี้ มันมาจากตัณหา คือ ความอยากด้วยความโง่ และต่อไปจะพูดว่ามาจากความโง่ มันก็ถูกอีกเหมือนกัน เพราะมันโง่ทำให้อยากอย่างโง่ ๆ มันจึงมีความทุกข์ มันจะดูละเอียดว่า ความทุกข์เกิดมาจากตัณหานี่ เพราะตัณหามันทำให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวกู ผู้ต้องการ ผู้อยาก ผู้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ที่เรียกว่า อุปาทาน นั้น ที่ใกล้ชิดที่สุด ก็คือ อุปาทาน
พอเกิดอุปาทานก็เกิดทุกข์ ตัณหาให้เกิดอุปาทาน อุปาทานให้เกิดความทุกข์ ถ้าจะแยกให้ตรงนั้น ให้มีอะไรอีกสองสามขั้น ก็ได้เหมือนกัน แต่ไม่จำเป็น มีอุปาทานก็เป็นทุกข์ สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ที่สวดอยู่ทุกวันนี้ เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั้นเป็นตัวทุกข์ คือ ตัวอุปาทานนั้นเป็นเหตุให้ทุกข์ ในคำพูดที่ง่าย ๆ เพราะอุปาทาน คือ หิ้ว จับ ยึด ถือ หิ้วไว้ แล้วมันก็หนัก พอปล่อยทิ้งไปเสีย มันก็ไม่หนัก คือ ไม่ทุกข์ อย่างนี้ไม่ใช่ ไม่ใช่ปรัชญา ไม่ใช่คำนึงคำนวณตามวิถีทางของปรัชญา เป็นเรื่องเห็นแจ้งอยู่ทุกชั้นทุกตอนตามวิธีของวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเรื่องทางจิตใจ นี่เราก็เลยรู้ขึ้นมา เห็นแจ้งขึ้นมาตามลำดับ ตามลำดับ ตามวิถีทางอันนี้ จึงรู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้สภาพที่ตรงกันข้าม คือ ความดับทุกข์ และก็รู้ทางให้ถึงความดับทุกข์นั้น คือ มัชฌิมาปฏิปทา นี่
ดังนั้น ตัวความถูกต้อง ก็คือ มัชฌิมาปฏิปทา จึงมีคำว่า สัมมา สัมมาสัมมา ตั้ง ๘ ครั้ง ความถูกต้อง ๘ ชนิด รวมกันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ก็มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต มีคำอธิบายอันละเอียดซึ่งไว้พูดกันคราวอื่น หรือก็รู้อยู่แล้วกันส่วนมาก เดี๋ยวนี้ มุ่งหมายจะชี้ให้เห็นว่า ความถูกต้องนี้ไม่ใช่เหลือวิสัย ถ้าไปคิดตามวิธีปรัชญานั้น จะไกลออกไปและเหลือวิสัย หรือว่านักปรัชญาจะเห็นว่า ความถูกต้องนี้เป็นสิ่งที่ยากหรืออาจจะเหลือวิสัย เพราะเขาคิดตามแง่ปรัชญาเสียเรื่อย ไม่รู้มันถูกต้องกันลงที่ตรงไหน ก็ต้องไปสงสัยว่าความถูกต้องนี้มันมีอยู่จริงนะหรือ นี่ มันเป็นเสียอย่างนี้ ความจริงคืออย่างไร หนักเข้าก็ไปสงสัยว่า ความจริงนั้นมันมีอยู่นะหรือ นี่ วิธีของปรัชญามันเป็นเสียอย่างนี้ เราคิดไปสิว่า มันมีอยู่นะหรือ นี่ก็ตายเปล่า เดี๋ยวนี้ เรามันไม่รู้จริงหรือไม่จริง ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง อย่างไร ตามวิธีของพวกเขา เราไม่รู้ แต่เรามันจริงอยู่ที่เดี๋ยวนี้ ถ้ามันเป็นทุกข์ มันเป็นทุกข์จริง เรียกว่า ทุกขอริยสัจ มันเป็นทุกข์จริง มันจะมีหรืออย่างไหนได้ แล้วก็พอดูมันก็เห็นจริงว่ามีตัณหา มีอุปาทานซ้อนกันอยู่ในนั้น มีอวิชชาอยู่ข้างล่าง นี่ ไม่ต้องเชื่อ ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องเชื่อคนอื่น ไม่ต้องสงสัย และไม่ต้องตั้งปัญหา มันเห็นจริงเสียแล้ว ถ้าเชื่อมันก็เชื่อการเห็นจริงของตัวเอง ไม่ต้องเชื่อคำผู้อื่นบอกเล่า
พรหมจรรย์นี้ต้องเป็นเรื่องที่ผู้นั้นเชื่อตนเอง โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา คือ หมายความว่าไม่เชื่อแม้พระศาสดานั่นล่ะ พระศาสดาพูดก็ฟัง ฟังแล้วก็เอามาดู ที่เรื่องจริง ที่ตัวจริง ก็เห็นจริง แล้วก็เป็นเรื่องเชื่อของจริง คือ เชื่อตัวเองมากกว่า ว่าอย่างนี้เป็นทุกข์ มันก็มองเห็นทันทีว่า ตรงกันข้ามสิ ทุกข์เพราะยึดถือ พอไม่ยึดถือมันจะทุกข์ได้อย่างไรล่ะ เอ้า มันก็เห็นชัดอยู่ แล้วมันมีความรู้สึกในใจเป็นหลักรับรองอยู่ เมื่อเวลาที่เราไม่มีความยึดถือมันไม่ทุกข์นี่ ดังนั้น เราอย่ามีความยึดถือ พอไม่ยึดถือ มันก็เป็นอิสระ มันก็มีสติปัญญา มีความแจ่มใส สดชื่น ร่าเริง แล้วมีสติปัญญาที่จะทำอะไรให้ถูกต่อไปอีก
นี่ก็เรียกว่า จริง เป็นทุกขนิโรธสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ อริยสัจ คือ ความดับแห่งทุกข์ มันก็มีอยู่จริงอย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ค่อยปรากฏ ไม่ค่อยทันท่วงที เราก็ทำนี่ก็ทัน ดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา มันก็จริงขึ้นมาอีกอันหนึ่ง ก็เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ก็จริงอยู่ทีนี่ มันไม่เป็นปรัชญาไปได้ เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นอะไร
พรหมจรรย์ จะพูดโดยหลักว่าปฏิบัติอยู่อย่างถูกต้องก็ได้ คือ มัชฌิมาปฏิปทา ทีนี้พูดอีกแง่หนึ่งก็พูดว่า พรหมจรรย์ คือ ควบคุมความถูกต้องให้มีอยู่ที่กาย วาจา ใจ มันค่อยง่ายเข้ามา เพราะว่าคนมันรู้จักกาย วาจา ใจ ดีอยู่ มันเกี่ยวข้องกันอยู่ตลอดเวลาทางกาย ทางวาจา ทางใจ เกี่ยวกับผู้อื่นก็มี เกี่ยวข้องกับตัวเองล้วนๆ ก็มี เรื่องกาย วาจา ใจจึงเป็นเรื่องสำหรับศึกษาในเบื้องต้นที่สุดแล้ว กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนี่เป็นคำพูดที่เขามักจะหัวเราะกันนะ คนที่ไม่รู้เรื่องก็จะหัวเราะคำพูดชนิดนี้ของพวกที่อยู่วัด อยู่วา หรือเรื่องทางศาสนา แต่แล้วเขาไม่มองให้ดีว่า นี่มันเป็นตัวเหตุ ตัวการ หรือว่าเป็นรากฐานที่ตั้ง ที่จะทำให้เกิดสุข เกิดทุกข์
ดังนั้น ในวันนี้ก็พูดถึงแต่ข้อที่ว่า พรหมจรรย์ ก็คือ การควบคุมกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง ทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับทั้งตื่น คำว่าทั้งหลับทั้งตื่นนี่ อาจจะเป็นที่สงสัยของคนที่ยังไม่เคยฟัง มันเป็นภาษาที่ใช้กันในทางศาสนา ชาวบ้านอาจจะสงสัยว่า เวลาเราหลับ เราจะทำอะไรได้ แต่ทางศาสนานี่ เขามีคำตอบว่า เขามีวิธีประพฤติปฏิบัติที่มันจะสามารถควบคุมได้ แม้ในเวลาหลับโดยอัตโนมัติ
แม้ว่าเวลาหลับเราไม่มีความรู้สึก ไม่มีเจตนาจะทำผิด แต่ถ้ามันเกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา มันก็ไม่ไหวเหมือนกัน ดังนั้น ในเวลาหลับก็ไม่ควรจะฝันร้าย หรือเป็นทุกข์ หรือถึงกับละเมอไปทำอะไรเข้า นี่เรามีสติสัมปชัญญะดี ถูกต้องดี แม้เวลาหลับ มันก็ไม่ฝันร้าย ไม่ทำให้เกิดทุกข์ขึ้นแม้ในเวลาหลับ จะโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตามใจ แล้วอีกทางหนึ่ง เราจะสามารถควบคุมร่างกายเกี่ยวกับการหลับ เกี่ยวกับการตื่นนี้ ให้มันเป็นไปอย่างถูกต้อง ไม่อย่างนั้น เดี๋ยวมันก็หลับมากเกินไป หลับอย่างขี้เกียจ หรือว่าหลับอย่างมึนเมาไปเลย นี้มันก็ไม่ถูกเหมือนกัน มันต้องมีสติสัมปชัญญะควบคุมไม่ให้ทำผิด แม้ที่สุดแต่ว่าให้มันตื่นตามเวลานี่ ซึ่งกำหนดไว้ว่า ถ้านอนเท่านี้มันพอแล้ว อย่าให้มันมากไปกว่านั้นเลย
นี่คำว่า ทั้งหลับทั้งตื่น ก็หมายความอย่างนี้ เป็นคำที่พูดในทางฝ่ายศาสนา ก็ถอดออกมาจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ที่เราสามารถควบคุมได้ทั้งหลับและตื่น ในความหมายเฉพาะของเรื่องนี้ ถ้าเราควบคุมกาย วาจา ใจ ได้ทั้งหลับทั้งตื่น ก็เป็นพรหมจรรย์อย่างยิ่ง จะควบคุมในเวลาหลับโดยเฉพาะอย่างไร ก็ค่อยศึกษากันต่อไป มันมีเรื่องปลีกย่อยออกไป แต่เวลาที่ตื่นๆ อยู่นี้ มีความรู้สึกเต็มที่นี้ ควบคุมให้ได้ ก็จะเป็นการถูกต้องเต็มที่อยู่ส่วนหนึ่ง ส่วนที่ตื่น ที่มีเจตนา ที่ตื่นอยู่ ถึงยังไปศึกษาตั้งแต่เรื่องเบื้องต้นที่สุด ที่เรียกกันว่า กุศลกรรมบถ อกุศลกรรมบถ อย่าไปดูถูกว่าเป็นเรื่องชาวบ้านชั้นต่ำๆ หรือว่าชั้น ก ข ก กา อะไรเสียอย่างเดียว ถ้าโดยที่จริงแล้ว หลักอันนี้ก็เป็นหลักที่เก่าแก่ คงจะมีมาก่อนพุทธกาล เช่น กุศลกรรมบถ อกุศลกรรมบถนี้ ครั้นมาถึงพุทธกาลก็เป็นหลักที่ถือกันอย่างเครียด อย่างเคร่งครัด สูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสเอง กล่าวถึงกุศลกรรมบถ อกุศลกรรมบถนี้มากเหมือนกัน ก็เป็นอันว่า เป็นหลักกลางๆ ใช้ได้ทั่วไปในหมู่มนุษย์ทุกศาสนาจะดีกว่า
การกระทำทางกาย ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ประพฤติผิดในกาม อย่างนี้ การกระทำทางวาจา ก็ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ่อ อย่างนี้ มันก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ทั่วไปมันจะมองเห็นได้อยู่แล้วล่ะ ถ้าทางใจ ก็คือว่า จะไม่คิดไปในทางกาม ไม่คิดไปทางพยาบาท ไม่คิดไปในทางโง่เขลา ทุกคน แล้วก็พอดีแก่ว่า ควบคุมกาย วาจา ใจ ถูกต้องตามแนวแห่งกุศลกรรมบถเป็นพื้นฐาน นี่คือตัวพรหมจรรย์ พอดีฝนก็บังคับให้เราปิดประชุม พอๆ กับเวลาที่หมดลงพอดี ยุติการบรรยายวันนี้ไว้เพียงเท่านี้