แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งที่ ๖ ของการบรรยายเรื่อง “ธรรมศาสตรา” นี้ จักได้กล่าวโดยหัวข้อที่ว่า สิ่งที่เรียกว่า “สัจจธรรม” และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ในพุทธศาสนา เรื่องนี้ขอให้นักศึกษาทั้งหลายทบทวนข้อความที่ได้กล่าวมาแล้วในครั้งก่อนๆ ให้เป็นที่เข้าใจชัดเจนอยู่ในใจ จึงจะฟังได้สะดวกและเข้าใจได้ง่าย คือให้ทบทวนในข้อที่ว่า คำว่า “ธรรม” เพียงคำเดียว ย่อมหมายถึงทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นสิ่งไรเลย จะเป็นสิ่งที่มนุษย์รู้จัก หรือไม่รู้จัก มันย่อมจะมีอยู่ตามธรรมดา ธรรมชาติ ทั้งหมดนั้นเรียก รวมเรียกว่า “ธรรม” เพียงคำเดียว และอยากจะให้ผู้ที่เป็นนักศึกษาทั้งหลายได้ทราบไว้ด้วยว่า คำนี้แปลก จนถึงกับไม่อาจจะแปลเป็นภาษาอื่นได้ ต้องใช้คำเดิมว่า “ธรรม” อยู่นั่นเอง แปลกก็คือว่า จะมีปัญหาหรือคำถาม ตั้งขึ้นมาอย่างไร ไอ้คำตอบมันตอบได้ด้วยคำว่า “ธรรม” เพียงคำเดียว แล้วเป็นถูกหมด ลองตั้งปัญหามาว่าอย่างไร อาจจะตอบด้วยคำว่า “ธรรม” ทำไมเราจึงเป็นทุกข์ ก็เพราะสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” ในความหมายหนึ่งที่เป็นกิเลส ทำไมเราจึงเป็นสุข ก็ตอบได้ว่า “ธรรม” ในควาหมายหนึ่ง ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติที่ถูกต้อง โลกเกิดมาจากอะไร ก็ตอบได้ว่า “ธรรม” โลกนี้มันตั้งอยู่ได้ด้วยอะไร ก็ตอบว่า “ธรรม” โลกนี้มันจะแตกสลายไปด้วยสิ่ง ด้วยอะไร ก็ตอบว่า “ธรรม” นี่ผู้มีปัญญาไปคิดดูเอง แล้วจะเข้าใจคำว่า “ธรรม” นี้ยิ่งขึ้น ดังนั้นเมื่อจะแบ่งสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” ให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษา เราจึงแบ่งเป็น ๔ ประเภท หรือ ๔ ความหมาย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่การบรรยายครั้งต้นๆ โน้น จะแบ่งได้เป็นคำว่า “สภาวธรรม” หมายถึงสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แล้วก็สัจจธรรม คือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ แล้วปฏิปัติธรรม หน้าที่ที่คนเราจะต้องปฏิบัติให้ถูกตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ แล้วปฏิเวธธรรมหรือวิปากธรรม คือผลที่เกิดมาจากหน้าที่ที่มนุษย์ปฏิบัติถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ก็ลองคิดดูว่ามันมีอะไรที่แปลกไปจากนี้ ในบรรดาสิ่งทั้งหลายที่มนุษย์เกี่ยวข้องอยู่ จะรู้จักก็ตาม ไม่รู้จักก็ตาม นี่ ผู้มีปัญญาเป็นนักศึกษาลองไปใคร่ครวญดู ถ้าเราจะพูดเป็นภาษาธรรมดาสามัญ ก็พูดได้ว่า ประเภทที่ ๑ คือตัวธรรมชาตินั่นเอง ประเภทที่ ๒ คือกฎของธรรมชาติ ประเภทที่ ๓ หน้าที่ตามธรรมชาติ ประเภทที่ ๔ ผลจากหน้าที่ตามธรรมชาติ รู้จักสภาวธรรมได้ก็ดูที่ตัวธรรมชาติ จะรู้จักสัจจธรรมได้ก็ดูที่ตัวกฎของธรรมชาติ จะรู้จักปฏิปัติธรรมได้ก็ดูที่ตัวหน้าที่ ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติ จะรู้จักปฏิเวธธรรมได้ก็ดูที่ผล ที่ได้รู้สึก หรือรู้อย่างประจักษ์อยู่ในจิตใจของตนเองว่าเรากำลังได้รับผลอย่างไร นี่สี่คำหรือสี่ความหมายอย่างนี้ ย่อมรวมสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” เข้าไว้หมดสิ้น ทีนี้สำหรับสภาวธรรม หรือตัวธรรมชาตินั้น เราได้แบ่งแยกเป็นพวกสังขตะและอสังขตะ คือมีปัจจัยปรุง และไม่มีปัจจัยปรุง ก็พูดกันไปจนจบเรื่องแล้วในการบรรยายครั้งที่แล้วมา ขอให้พิจารณาดูให้ดีว่า เพียงรู้จักสิ่งที่เรียกว่า “สภาวธรรม” พวกเดียวเท่านั้น มันมีประโยชน์หรือมีอานิสงส์อย่างไรบ้าง หรือจะดูกันในแง่หนึ่งว่า นักศึกษาทั้งหลายรู้จักสิ่งที่เรียกว่า “สภาวธรรม” หรือแม้จะใช้คำว่า “ธรรมชาติ” กันก็ได้ นั้นอย่างไร เคยแยกออกไปเป็นสังขตะหรืออสังขตะหรือเปล่า บางทีอาจจะไม่เคยได้ยินคำเหล่านี้ก็ได้ ต่อเมื่อพูด ก็พอจะเข้าใจได้ว่า ธรรมดาสิ่งทั้งปวงที่เป็นอยู่ตามธรรมชาตินั้น เรารู้จักกันแต่พวกที่มีปัจจัยปรุงแต่ง ส่วนที่ตรงกันข้าม เราไม่เคยได้ยิน ไม่รู้จัก ต้องศึกษาจากพุทธศาสนาโดยเฉพาะ เมื่อรู้จักทั้งสองฝ่ายแล้ว ก็จะรู้สึกว่า หูตามันสว่างขึ้นอย่างมากมาย ทีนี้ก็จะต้องรู้กันต่อไปถึงประเภทที่สอง ที่สาม ที่สี่ ประเภทที่สองคือสัจจธรรม หรือที่จะเรียกว่า “กฎ” ของธรรมชาตินั้นแหละ เป็นเรื่องที่จะได้พูดกันในวันนี้ ขอให้ตั้งใจฟังต่อไป คำว่า “สัจจธรรม” ก็แปลว่าธรรมที่เป็นสัจจะ คำว่า “สัจจะ” เราก็พอจะทราบกันได้ว่ามันแปลว่า “จริง” แต่ในที่นี้มันหมายถึงสิ่งที่เรียกว่า “กฎ” เพราะสิ่งที่เรียกว่า “กฎ” นั่นแหละเป็นของจริงยิ่งกว่าสิ่งใด แต่ไม่ใช่กฎอย่างที่มนุษย์ตั้งขึ้นเอง นั้นมันเป็นกฎปลอม ว่าไปตามไอ้ความรู้สึกของมนุษย์ หรือคนที่มีอำนาจ ตั้งขึ้นมา กฎหมายหรือกฎบ้านเมือง กฎอะไรต่างๆ นี้ ไม่ใช่สัจจธรรมในที่นี้ สัจจธรรมในที่นี้หมายถึงกฎที่เป็นอยู่เองตามธรรมชาติ เช่น กฎที่เป็นสามัญลักษณะ ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ดี หรือกฎที่ว่า เมื่อมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จะเกิดขึ้น ที่เรียกว่า “กฎแห่งอิทัปปัจจยตา” ก็ดี กระทั่งถึงกฎแห่งจตุราอริยสัจ เกี่ยวกับความทุกข์และความดับทุกข์ก็ดี นี้เป็นอยู่โดยธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติ เรียกว่า “กฎ” และเป็นของจริงถึงที่สุด เราจึงเรียกว่า “สัจจธรรม” ทีนี้เพื่อการศึกษาที่กว้างขวางออกไปอีก เราควรจะได้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า “สัจจธรรม” นี้โดยละเอียดลออ หรือทั่วถึง ดังนั้นเราจะต้องศึกษาสิ่งที่เรียกว่า “สัจจธรรม” นี้กันโดยสามแง่ สามมุม สาม ความหมาย ข้อนี้นักศึกษาทั้งหลายอาจจะไม่เคยรู้ เพราะว่าในสำนักศึกษาของพวกคุณ เขาไม่ใช้วิธีกันอย่างนี้ก็ได้ แต่วิธีศึกษาในทางพุทธศาสนา ตามวัดตามวา หรือที่มีอยู่ในพระคัมภีร์ทั้งหลายนั้น เมื่อจะศึกษาคำ คำใดคำหนึ่ง ซึ่งเป็นชื่อของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เขาจะแยกออกเป็นสามส่วนก่อนเสมอไป ขอให้จำไว้ให้ดี เขาจะต้องตั้งปัญหาขึ้นว่า โดยพยัญชนะ คือตัวหนังสือ มันหมายถึงอะไร และโดยอรรถ คือโดยความหมายของตัวหนังสือนั่น ซึ่งมันมีอยู่เป็นหลายๆ ชั้นนั้นน่ะ มันจะหมายถึงอะไร นี่เรียกว่าโดยอรรถ และชั้นที่สาม จะเรียกตามภาษาสมัยใหม่ว่า โดยประยุกต์ คือโดยการปฏิบัติ เท่าที่จะเอามาปฏิบัติให้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ได้อย่างไร อันที่หนึ่งเรียกว่าโดยพยัญชนะ คือโดยตัวหนังสือ หรือคำที่ใช้เรียกสิ่งนั้น ที่เป็นภาษาบาลีนี้มันแปลกอยู่อย่างหนึ่งว่า มันเป็นตัวหนังสือที่ถอดรูป เป็นความหมายออกมาจากไอ้รากของศัพท์ ที่เรียกกันว่า root หรือรากของคำ ภาษาที่เป็นตันติภาษาทั้งหลาย จะมีสิ่งๆนี้ แสดงชัดอยู่ในการศึกษาภาษานั้นๆ เช่น ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาละติน ภาษาอินโดอารยัน ทั้งหลายเหล่านี้ มันก็จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า root คือรากของศัพท์ บัญญัติไว้ให้เห็น เพราะฉะนั้นเราจึงรู้จักคำนั้นโดยพยัญชนะ คือโดยตัวหนังสือได้โดยง่าย และอาศัยสิ่งที่เรียกว่า “รากศัพท์” นั้นเป็นหลัก ทีนี้โดยความหมายก็คือว่า คำๆ นั้นมันมีรากศัพท์ได้หลายอย่าง มีความหมายต่างๆ กันออกไป และขยายความเป็นความหมายชั้นที่สอง ชั้นที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ก็ได้ อย่างนี้เรียกว่าโดยความหมายที่มันกว้างออกไป ในที่สุด มาถึงสิ่งที่สามก็ว่า ในความหมายทั้งหมดนั้น ความหมายอันไหน จะมาเป็นหลักของการปฏิบัติที่มนุษย์จะพึงปฏิบัติได้ นี่เมื่อจะศึกษาคำสักคำหนึ่ง เราก็ได้ เป็นสามหัวข้อ คือโดยพยัญชนะของมัน โดยอรรถ อรรถของมัน และก็โดยการประยุกต์ คือการเอามาปฏิบัติ เท่าที่จำเป็นจะต้องปฏิบัติ ทีนี้ก็จะได้อธิบายให้เห็นละเอียดออกไป อธิบายถึงคำว่า “สัจจะ” นี่ โดยพยัญชนะก่อน อาจจะมากหรือเกินไปสำหรับคนธรรมดาก็ได้ แต่ถ้ารู้ไว้ ก็ไม่เห็นลำบากอะไร และก็มีประโยชน์ คำว่า “สัจจะ” นี่มันมีความหมายมาจากรากศัพท์ว่า “สะจะ” สะจะ เขาเรียกกันในไวยากรณ์ว่า “ธาตุ” คือธาตุของศัพท์ แต่ถ้าในการศึกษาทั่วๆ ไปอย่างในโรงเรียนนี้ เขาเรียกว่า “ราก” ของศัพท์ ซึ่งฝรั่งเรียกว่า “root” ของศัพท์ ทีนี้ไอ้ธาตุ หรือรากของศัพท์นี่ ที่ว่าสัจจะนี้ มันแปลได้ ๒-๓ อย่าง หรือเรียกว่ามันมีราก ๒-๓ ราก สะจะคำที่ ๑ แปลว่า พูด สะจะคำที่ ๒ แปลว่าประชุมรวมๆ กันอยู่ สะจะคำที่ ๓ แปลว่า ภาวะที่มันเป็นซ้ำๆ ซ้ำๆ กันอยู่ คุณลองทายดูก็อาจจะเข้าใจได้แล้วว่า คำไหนมันจะมาเป็นไอ้ความหมายของคำว่า “สัจจะ” สัจจะที่แปลว่าพูดนี่ มันก็ไม่ ไม่ได้เล็งถึงว่าจริง เพราะพูดไม่จริงก็ได้ แต่มันก็มีรากศัพท์อยู่ตัวหนึ่งซึ่งแปลอย่างนั้น ไอ้สัจจะที่แปลว่าประชุม รวมกันอยู่มากๆ นี่มันใกล้กับความหมายคำว่าจริงเข้ามาแล้ว พอมันรวมกันอยู่มากๆ มันย่อมมีความหมายมาก หรือมันมีความมั่นคง แต่สะจะตัวที่ ๓ ซึ่งแปลว่า ความเป็นซ้ำๆ ซ้ำๆ กันนี้ เห็นได้ชัดว่า มันเป็นความหมายของสัจจะ คือจริง เพราะมันเป็นซ้ำๆ มันเป็นอย่างซ้ำกัน ซ้ำซ้ำซ้ำ ไม่เป็นอย่างอื่น มันก็รวมไอ้น้ำหนักเป็นไอ้ความจริงขึ้นมา สะจะที่แปลว่า ความเป็นซ้ำๆ ซ้ำๆ ก็เรียกว่าเป็นความหมายของคำว่า “สัจจะ” ที่แปลว่าจริงนี้ได้ มันเป็นการตายตัวลงไป มันไม่แปลี่ยนเป็นอย่างอื่น มันซ้ำ ซ้ำแต่อย่างเดียวอยู่นั่น ความเป็นอยู่อย่างซ้ำๆ กัน ฉะนั้นเราจึงถือเอาว่า คำว่า “สัจจะ” นี่ มาจากไอ้รากศัพท์ที่ว่า “สะจะ” ที่มีความหมายว่าการเป็นอย่างซ้ำๆ ซ้ำๆ กัน จนตายตัว นี้เรียกว่าโดยพยัญชนะ คือตัวหนังสือ คำว่า “สัจจะ” นี่ มีใจความว่ามันเป็น ซ้ำซ้ำซ้ำ กันอยู่อย่างตายตัว นี่ก็มีประโยชน์แล้ว พอจะเข้าใจความหมายคำว่า “สะจะ” หรือ “สัตยะ” นี้ได้ดี ทีนี้ข้อต่อไปที่เรียกว่าโดยอรรถ คือโดยเนื้อความ เมื่อมันเป็นของที่เป็นซ้ำซ้ำซ้ำกันอย่างตายตัวนั้น อรรถ หรือเนื้อ เนื้อความของสัจจะนี้ เราก็หาพบได้ในพระบาลีนั้นเอง ไม่ต้องเดา โดยเฉพาะบาลีพระพุทธภาษิตที่กล่าวถึงสิ่งที่เป็นสัจจะ ก็จะพบคำว่า “ตถา” หรือ “ตถตา” ซึ่งแปลว่าความเป็นอย่างนั้น “อวิตถา หรืออวิตถตา” คือความที่ไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น “อนัญญถาหรืออนัญญถตา” ซึ่งแปลว่า ความไม่เป็นไปโดยประการอื่น หรือว่า “ธัมมัฏฐิตตา” ความตั้งอยู่แห่งธรรมดา “ธัมมนิยามตา” ความเป็นกฎตายตัวแห่งธรรมดา นี่ล้วนแต่เป็นอรรถ หรือความหมายของคำว่า “สัจจะ” คือสิ่งที่จริง แน่นอนลงไป ขอให้ถือเอาใจความรวมๆ ใจความที่รวมมาจากคำทั้งหมดนี้ว่ามันเป็นอย่างนั้น อย่างตายตัว ทีนี้อรรถที่ขยายออกไปอีก อย่างในสุตตนิบาต ซึ่งมีพุทธภาษิตตรัสไว้ประโยคหนึ่งว่า เอกัง หิ สัจจัง น ทุตียมัตถิ ซึ่งแปลว่า โดยแท้จริงสัจจะย่อมมีหนึ่ง สิ่งที่สองย่อมไม่มีสำหรับสิ่งนั้น นี้แปลว่า ถ้ามันจริง เป็นสัจจะ มันก็ต้องเป็นเดียว ไม่ต้องมีสิ่งที่สอง หรืออันที่สองคู่กันอยู่กับสิ่งนั้น ยังมีขยายความออกไปว่า ตัง สัจจัง ยัง อะโม สะธัมมัง (20.30)สิ่งใดไม่ ไม่มุสาเป็นธรรมดา สิ่งนั้นเรียกว่า “สัจจะ” และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหมายถึงนิพพาน อะโม สะธัมมะ แปลว่า ไม่มุสา เป็นธรรมดา นี่ ไอ้คำนี้เราได้ยินได้ฟังกันแต่เรื่องหรือคำที่คนเขาพูด ส่วนในบาลีนี้เห็นได้ชัดว่า คำว่า “มุสา” นี้ ใช้ได้แม้แก่ไอ้สิ่งที่ไม่ใช่คน คือว่าถ้ามันเท็จ มันไม่จริง ไม่คงที่ แล้วก็เรียกว่า “มุสา” ได้ทั้งนั้น อย่างความไม่เที่ยงของสังขาร หรือของ แม้แต่วัตถุนี้ ก็เรียกว่า “มุสา” สิ่งใดมีความไม่มุสาเป็นธรรมดา สิ่งนั้นเป็นสัจจะ อย่างสูงสุดก็คือนิพพาน ทีนี้ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย ยังมีคำว่า เอตัง ปรมัง อะริยะสัจจัง ยะทิทัง อะโม สะธัมมัง นิพพานัง (21.50) ว่าสิ่งนั้นเป็นอริยสัจอันยิ่ง กล่าวคือสิ่งที่เป็นอโมตะธรรม คือไม่มุสาเป็นธรรมดา ซึ่งได้แก่นิพพาน ในที่นี้มีคำว่า “อริยะ” เข้ามาด้วย แปลว่าสัจจะอันประเสริฐ และมีคำว่า “ปรมะ” เข้ามาด้วย หมายความว่าอย่างยิ่ง หรืออย่างสูงสุด และเล็งถึงนิพพานโดยเฉพาะ และมีคำประกอบว่า “อะโมสะธัมมัง” อยู่ที่นิพพานนั้น ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่า “นิพพาน” นั้นเท่านั้น ที่จะเป็นสิ่งที่ไม่มุสา ที่ประเสริฐและสูงสุด นี้ขอให้เข้าใจคำว่า “มุสา” ไว้อย่างนี้ คือไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้จะเป็นซ้ำๆ ซ้ำๆ กันอยู่อย่างไร ทีนี้ข้อความต่อไปที่มีอยู่ในคัมภีร์กถาวัตถุ นี้คือคัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม มีคำที่ควรสนใจอยู่ ประโยคหนึ่งว่า จัตตาริ อะริยะสัจจานิ อะสังคะตานิ อะตามันตา (23.20) เมื่อตั้งคำถามขึ้นมาว่า สัจ อริยสัจทั้งสี่ สัจจะทั้งสี่ เป็นอสังขตะหรือ ก็ยืนยันว่าเป็นอย่างนั้น ในที่อื่นก็มีอีก ที่ยืนยันว่าบรรดาสิ่งที่เป็นสัจจะแล้วต้องเป็นอสังขตะ คำว่า “อสังขตะ” เราก็พูดกันมาแล้วในการบรรยายครั้งที่แล้วมานั่นเอง ว่าสิ่งที่ไม่มีอะไร คือ ไม่มีอะไรจะปรุงแต่งได้ ไม่ใช่ถูกปรุงแต่งมาโดยสิ่งใด เพราะถ้ามีอะไรปรุงแต่งได้ หรือถูกปรุงแต่งมาโดยสิ่งใดแล้ว มันสัจจะอยู่ไม่ได้ ฉะนั้นสัจจะหรือกฎทั้งหลายนี้ ต้องเป็นสิ่งที่เรียกว่าเป็นอิสระแก่ตัว ไม่ต้องมีสิ่งอะไรมาช่วยปรุงแต่ง ช่วยสร้าง ช่วยบัญญัติ อะไรเลย จึงจะเรียกว่า “สัจจะ” ในความหมายนี้ ทีนี้ต่อไปอีก ที่เป็นความหมายทางธรรมะ ซึ่งจะเล็ง จะ จะเพ่งเล็งไปยังนิพพานเป็นที่สุด ก็มีข้อความในสังยุตนิกายว่า ยัง สัจจัง ตัง นิรูปะทิง (24.40) สิ่งใดเป็นสัจจะ สิ่งนั้นจะไม่มีอุปะทิ คำว่า “อุปะทิ” ผมก็ได้อธิบายแล้ว ถ้าคุณไม่เอาเปรียบมากเกินไป ก็ควรจะรู้เองบ้างนี่ อุปะทิ ก็แปลว่า เข้าไปแบกไว้ หรือทรงไว้ คือแบกของหนัก นี่ใจความย่อๆ มันมีอย่างนี้ สิ่งใดเป็นสัจจะ สิ่งนั้นไม่ต้องมีใครไปแบก ไปทูน ไปหาม ไปยกมันไว้ คือมันตกไม่ได้ มันล้มไม่ได้ ไม่ต้องมีใครประคับประคอง ช่วยป้องกันรักษา ยังว่า ยัง สัจจัง ตัง นิรูปะทิง (25.38) สิ่งใดเป็นสัจจะ สิ่งนั้นไม่ต้องมีสิ่งที่เข้าไปช่วย ช่วยดุน ช่วยดัน ไว้ข้างใต้ แต่ถ้าว่าจะเป็นความหมายทางธรรมที่ลึกกว่านี้ คำว่า “อุปะทิ” นี้ก็แปลว่ากิเลสประเภทอุปาทาน ฉะนั้นก็เลยหมายถึงพระนิพพาน เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ต้องมีกิเลส ไม่ต้องมีอุปาทาน ไม่มีอุปะทิ นี่ขอให้ถือไว้เป็น ๒ ความหมายอย่างนี้ ในความหมายทั่วไปว่า สิ่งใดเป็นความจริง สิ่งนั้นไม่ต้องมีสิ่งใดมาช่วยหนุน ช่วยรักษา ช่วยประคองไว้ เพื่อไม่ให้ล้ม ทีนี้ดูต่อไป ในคัมภีร์อภิธานศัพท์ เช่น อภิธานัปปทีปิกาเป็นต้น คำว่า “สัจจะ” นั้นคือ อะสะตะ อะสะตะ แปลว่า สิ่งที่ไม่มีสิ่งใดกระทำขึ้น คือไม่ถูกกระทำขึ้น ทีนี้ความหมายก็อย่างเดียวกันอีก แล้วก็ระบุไปถึงอสังขตะ ถึงนิพพาน ถึงอมตะ เป็นต้น ถ้าเป็นอสังขตะ ก็ไม่ต้องมีสิ่งใดกระทำขึ้น หรือช่วยประคับประคองไว้ ไอ้สภาวะที่เรียกว่า “นิพพาน” ก็เหมือนกัน เป็นที่ดับแห่งสังขารทั้งหลาย เป็นกฎเกณฑ์ที่มั่นคงอยู่ได้ในตัวเอง ไม่ต้องมีใครมาช่วยสนับสนุน แล้วสิ่งที่เรียกว่า “อมตะ” คือไม่รู้จักตาย ไม่รู้จักดับ อีกก็เหมือนกัน ต้องเป็นสัจจะในความหมายพื้นฐานที่ว่า อะสะตะ ไม่ถูกสิ่งใดกระทำ หรือ ไม่มีสิ่งใดสร้างขึ้น ทีนี้คำที่อาตมากล่าวให้ฟัง เช่นคำว่า อมิตายุ อมิตาภะ มีแสงสว่างอันคำนวณไม่ได้ มีอายุอันคำนวณไม่ได้ เป็นต้น นี้คือความหมายของคำว่า “อมตะ” ไม่รู้จักตาย เพราะมันเป็น อะสะตะ ไม่มีสิ่งใดกระทำ ทีนี้ความหมายอันที่สำคัญที่สุดอันสุดท้ายก็คือว่า สิ่งที่เรียกว่า “สัจจะ” นั้น จะเป็นวิเศษวิโสอย่างไร มันก็เป็นสักว่าธาตุ ธาตุ ธาตุตามธรรม ตามธรรมชาติ เพียงแต่เป็นเป็นอสังขตธาตุ หรือว่าจะเรียกว่า สัจจะธาตุ เสียเลยก็ได้ เป็นธรรมธาตุก็ได้ เป็นอสังขตธาตุก็ได้ เป็นอมตธาตุก็ได้ เรียกว่า ธาตุที่เป็นอิสระที่สุด เราจะเรียกว่า “อิสระธาตุ” เสียเลยก็ได้ ตัวธาตุอื่นๆ ซึ่งมันเป็นฝ่ายสังขตะทั้งนั้น มันไม่อิสระ ไม่มีความเป็นอิสระ มีธาตุอื่นๆ มากวน มาปรุง มาแต่ง มาผสมผสานเป็นอย่างอื่นไปไม่มีที่สิ้นสุด แต่ถ้ามันเป็นอสังขตธาตุหรือธรรมธาตุ ในกรณีอย่างนี้ มันเป็นอิสระ ไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งใด นี่ขอให้จำไว้ให้ดีๆ หรือช่วยสังเกตไว้ให้ดีดีว่า แม้แต่สิ่งที่เรียกว่า “สัจจะ” นั้น ก็เป็นเพียงธาตุ แต่เป็นธาตุประเภทอสังขตะ ฉะนั้นในบางกรณีพระพุทธเจ้าท่านเรียกสิ่งนี้ว่า “ธาตุ” เฉยๆ ก็มี คือคำสวดที่สวดอยู่บ่อยๆ ทุกคราวที่มีวัน เอ่อ บรรยายวันเสาร์ หรือจะไปเปิดดูได้ในหนังสือเล่มก็ได้ ที่มีกล่าวถึงพระบาลีนี้ ที่มีข้อความว่า อุปปาทา วา ภิกขะเว ตะถาคะตานัง อะนุปปาทา วา ตะถาคะตานัง ฐิตา วะ สา ธาตุ นั้น ฐิตา วะ สา ธาตุ ธาตุนั้นตั้งอยู่แล้วนั่นเทียว พระตถาคตจะเกิดขึ้นก็ตาม พระตถาคตจะไม่เกิดขึ้นก็ตาม นี่ ธาตุนั้นตั้งอยู่แล้วนั่นเทียว นี่หมายถึงสัจจะ ที่เป็นอสังขตธาตุ หรือเป็นธรรมธาตุ เรียกให้สั้นที่สุด เรียกว่า “ธาตุ” เฉยๆ เรียกขยายไปหน่อยเรียกว่า “ธรรมธาตุ” ซึ่งจะขยายความไปยังอสังขตธาตุ อมตธาตุ อิสระธาตุ อะไรก็ได้ นี้เรียกว่าโดยความหมายที่จะแสดงให้เห็นชัดได้ในแง่มุมต่างๆ ทีนี้ที่ผมคิดว่าพวกคุณยังไม่ทราบแน่ ถึงแม้พวกพระเณรทั่วไปก็ไม่ค่อยทราบ ว่าคำว่า “สัจจะ” นี้ มันถูกเอาไปใช้ในความหมายต่างๆ ต่างกันอีกมาก ความหมายแท้ๆความหมายเดียวของคำๆ นี้ก็คืออย่างที่ว่ามาแล้ว แต่ทีนี้ก็เอาไปใช้ในความหมายอย่างอื่นได้ ตาม ตามภาษาของคนธรรมดา ที่มันนึกอย่างไร แล้วก็เอาไปใช้ได้ตามความนึกอันนั้น ฉะนั้นคำว่า “สัจจะ” เท่าที่มีประวัติอยู่ในพระคัมภีร์ มันมีการใช้แปลกๆ กัน เช่น คำว่า “สัจจาภินิเวส” การเข้าไปโดยไม่เหลือแห่งสัจจะนี่ นี้เป็นมิจฉาทิฎฐิเลย การที่เราฝังตัว ฝังความคิดจิตใจ ความรู้สึกเข้าไปในสัจจะอันหนึ่งอันใด ตามที่ตัวรู้สึก นี้เรียกว่า “สัจจาภินิเวส” อย่างนี้ทั้งหมดเป็นมิจฉาทิฎฐิ นี้มันเป็นไปตามธรรมชาติ พูดอย่างเอาเปรียบก็พูดว่า เป็นไปตามธรรมชาติ ว่าไอ้คนๆหนึ่ง มันจะรู้สึกว่า ไอ้สิ่งที่เรารู้สึกว่าจริง นั้นน่ะเป็นของจริง ที่คนอื่นว่าจริง มันไม่จริง ในเมื่อเราไม่รู้สึกว่าจริง เพราะฉะนั้นความจริงที่เป็น ปุคคลิกสัจจะอย่างนี้ มันเป็นมิจฉาทิฎฐิหมดเลยก็ได้ เรื่องนี้สำคัญมาก ผมขอร้องให้ ให้ ให้พวกคุณสังเกตดูให้ดีๆ ว่าทุกคนจะมีความจริงของเขา เฉพาะตัวเขา ซึ่งไม่เหมือนใคร ประจำอยู่ในใจเสมอ จนกว่าเขาจะมีเหตุผลมาใหม่ เขาจึงค่อยๆ เปลี่ยนไอ้สิ่งที่เขาว่าจริงนั้นน่ะ เปลี่ยนไป เปลี่ยนไป เปลี่ยนไป ในขณะหนึ่ง หรือยุคหนึ่ง หรือสมัยหนึ่ง เขาคิดว่าอะไรจริงละก็ เขาจะถือว่าสิ่งนั้นเท่านั้นจริง สิ่งอื่นไม่จริง นี่ความรู้สึกอย่างนี้เป็นไปได้ในบุคคลเป็นคนๆ ไปเลย จะเห็นได้ง่ายๆ อย่างที่ว่าเราเถียงกันหน้าดำหน้าแดง จนชกต่อยกันก็มี เรื่องว่าอะไรจริงนั้นน่ะ คนหนึ่งมันรู้สึกว่าอะไรจริงอยู่อย่างไร มันก็จะยืนยันไปอย่างนั้น นี่จะขอเรียกชื่อไอ้ความจริงอย่างนี้ เรียกว่า ปุคคลิกสัจจะ คือจริงเฉพาะของบุคคล แล้วก็เป็นคนโง่ด้วย คือคนที่ยังไม่รู้สัจจะอันแท้จริง ไม่รู้ธรรมะอันแท้จริง แล้วส่วนทั้ง แทบทั้งหมดเป็นมิจฉาทิฎฐิ หรือว่ายังใช้ไม่ได้น่ะ จะทั้งหมด หรือจะโดยเอกเทศก็ตามใจ จะมีส่วนเป็นมิจฉาทิฎฐิ ฉะนั้นจึงมีคำกล่าวที่เป็นบาลี มีอยู่ในพระคัมภีร์ทั่วไป ทั่วๆ ไป ว่า อิทัง สัจจัง โมฆะ บันยัง นี้เท่านั้นจริง อื่นเป็นโมฆะ คือไม่จริง นี่คือคำที่เจ้าลัทธิหนึ่งๆ จะยืนยันอย่างนี้ ในเมื่อลัทธิมันมีอยู่มากมายหลายลัทธินี่ เจ้าลัทธิหนึ่งๆ น่ะะ จะชินที่สุดกับการที่จะพูดประโยคนี้ ว่าลัทธินื้เท่านั้นจริง อื่นเป็นโมฆะ คือไม่จริง พูดตรงๆ ก็ว่า เขาว่าลัทธิของเขา คำสอนของเขาเท่านั้นน่ะถูกหรือจริง ลัทธิคำสอนของคนอื่นๆ เป็นโมฆะ ไม่มีความจริง ไม่มีความหมาย ไม่มีค่า นี่มันก็ต้องเป็นอย่างนี้สิ เพราะว่าในถิ่นๆ หนึ่งๆ มันก็มีหลายลัทธิ หลายศาสนา แม้ในกระทั่งพุทธกาลในประเทศอินเดียก็มีหลายลัทธิ ที่เป็นคู่แข่งขันกันกับพระพุทธเจ้า พวกนั้นก็ต้องพูดไปตามความรู้สึกของตัวหรือว่ายืนยันของตัว พุทธศาสนาก็ถูกลัทธิอื่นยืนยันอย่างนี้ หรือแม้แต่ว่าพุทธศาสนาก็ควรจะยืนยันอย่างนี้ แต่โดยเหตุที่พุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้รู้ ท่านไม่ไปมัวยืนยันอย่างนี้ คือไม่ชอบการทะเลาะวิวาท หรือไม่ดูถูกคนอื่น ดังนั้นเราที่เป็นพุทธบริษัทจะไม่พูดอย่างนี้ จะไม่พูดว่านี้เท่านั้นจริง อื่นเท็จ นี่ไม่พูด ของคนอื่นไม่จริง ก็เราจะไม่พูดถึง เราจะไปพูดถึงคนอื่นทำไม เรามีอะไรก็ว่าไปตามเรื่องของเรา ตามเหตุผลของเรา ก็ยืนยันว่ามันจริงอย่างนี้ และถึงแม้ว่าจริง ก็ไม่บังคับให้เชื่อ แต่ขอให้ลองปฏิบัติดู เมื่อมันได้ผลตามที่ต้องการ คือดับความทุกข์ได้ ก็ต้องรู้สึกว่าจริงเองแหละ เราไม่ต้องบอกเขาว่าจริงอ่ะ เขาก็จะเชื่อว่าจริงเอง เพราะฉะนั้นคำว่า “สัจจะ” ที่แปลว่า “ความจริง” หรือ “ของจริง” นี่ มันเป็นเพียงชื่อของลัทธิหนึ่งๆ ซึ่งเป็นมิจฉาทิฎฐิทั้งนั้นก็ได้ น่าหัวไหม คิดดูสิ สัจจะ คือความจริง สัจจะ คำๆ นี้ ในฐานะที่เป็นนามศัพท์คำหนึ่งนั้น กลายเป็นชื่อของลัทธิต่างๆ ที่เป็นมิจฉาทิฎฐิก็ได้ นี้เท่านั้นจริง อื่นผิด คือเท็จหรือโมฆะ ทีนี้เอากันแต่ในลัทธิเดียว ในศาสนาเดียว ในพุทธศาสนานี่แหละ ถ้าใครยังไม่รู้ความจริง ไม่รู้ธรรมะอันแท้จริง คนนั้นจะมีสัจจาภินิเวส คือเขามีความเห็นอย่างไร ที่เขาเชื่อว่าจริง เขาก็ฝังความคิดเห็นทั้งหมดเข้าไปในนั้น เกิดเป็นทิฏฐิประจำตัวเขาขึ้นมา แล้วมันผิด มันเป็นมิจฉาทิฎฐิอยู่ ถ้ามันถึงขนาดหนักแล้วมันถอนยาก ที่ตายก็ถอนไม่ได้ ตายไปแล้ว ก็ถอน จนกระทั่งตายก็ถอนไม่ได้ก็มี เรียกว่าคนถือรั้น รั้นชนิดที่ไม่ไม่ ไม่อาจจะเปลี่ยนได้ จนตายไปเลย อย่างนี้เขาเรียกว่า “สัจจาภินิเวส” มีคำว่า “สัจจะ” น่ะเป็นหลัก มันฝังเข้าไปในสัจจะ ด้วยมิจฉาทิฎฐิ ด้วยอวิชชา มานะ ทิฎฐิ อะไรก็ได้ นี่คำว่า “สัจจะ” เป็นชื่อของลัทธิอะไรก็ได้ ที่เจ้าของลัทธิเขาถือว่าจริง ก็เลยว่า สัจจะนั้น สัจจะนี้ สัจจะโน้น สัจจะของคนนั้น สัจจะของคนนี้ สัจจะของอาจารย์คนนั้น สัจจะของอาจารย์คนนี้ มันเกิดเป็นอย่างนี้ขึ้นมา ทีนี้อีกทางหนึ่ง คำว่า “สัจจะ” นี่ ก็ใช้เป็นชื่อของการสบถสาบาน ใครจะสบถสาบาน ก็เขาก็ต้องทำไปในลักษณะที่จะให้คนอื่นยอมรับว่า นี้จริง ถ้าไม่อย่างนั้นจะสาบานทำไม ฉะนั้นอาการที่กระทำการสาบาน หรือคำสาบานอะไร ก็เลยถูกเรียกว่า “สัจจะ” ไปด้วย เขาจะกระทำสัตย์นี่ คือเขาจะสาบาน หรือที่เขาจะทำสัจจะกิริยา อย่างนี้ก็มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า “สาบาน” นี้เหมือนกัน เป็นคำสบถ คำสาบาน คำปณิธานอะไร ก็เรียกว่า “สัจจะ” เอ้า ทีนี้จะมาถึงคำว่า “สัจจะ” ที่ใช้ในขั้นสูงสุดในทางศาสนา สัจจะที่แปลว่าจริง นั้นน่ะ เล็งถึงการดับสนิทแห่งอุปาทน อุปาทานว่าตัวเรา ว่าของเรา ว่าตัวกู ว่าของกู ว่าอัตตา ว่าบรมอัตตา อะไรก็ตาม อย่างนี้เรียกว่า “อุปาทาน” ต่อเมื่อมีการดับสนิทแห่งสิ่งนี้ ของจริงจึงจะโผล่ คือเห็น หรือปรากฏ ถ้ายังมียึดมั่นด้วยอุปาทาน ว่าตัวตนอย่างนี้อ่ะ ของจริงมิได้มี มิได้ปรากฏ นี้พูดอย่างถูกต้องกันแล้ว และในศาสนาที่ถูกต้อง สัจจะคำนี้เลยเป็นชื่อของการดับสนิทไปแห่งอุปาทานน่ะ กิริยาที่ดับลงแห่งอุปาทาน นี้คือสัจจะแหละ ของจริงโผล่ ในทางพุทธศาสนาก็เล็งถึงนิพพาน เป็นสัจจะอย่างยิ่ง อย่างที่ว่ามาแล้วข้างต้น เอตัง ปรมัง อะริยะสัจจัง ยะทิฑัง อโมสุธัมมัง นิพพานัง (41.00) อริยสัจอย่างยิ่ง เป็นอโมตะธรรมนั้น คือนิพพาน นี่ได้แก่ นิพพาน ที่เรียกว่าเป็นสัจจะ หรือกิริยาอาการอันเดียวกันกับความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะ และความสิ้นไปแห่งอุปาทาน ของจริงจึงจะออกมา ในพุทธศาสนาอยู่ในรูปของนิพพาน ในศาสนาอื่นก็อยู่ในรูปของพระเจ้าก็ได้ ในศาสนาที่เขามีพระเป็นเจ้า เขาต้องถือว่านั้นน่ะคือสัจจะ จะพระเจ้าเป็นคนๆ ในศาสนาที่มีถือพระเจ้าอย่างคนๆ เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระอัลหล่าห์ พระยะโฮวา อะไรก็ตามใจ นั่นเป็นสัจจะของเขา หรือที่เขาจะไม่พูดเป็นบุคคล เช่น พูดว่าปรมาตมัน ในศาสนาเวดันตะยุคหลังๆ นี้ก็ได้ นั้นคือสัจจะของเขา เพราะเขาจะบัญญัติความดับไป หมดสิ้นแห่งความเท็จ แห่งความไม่จริง อะไรต่างๆ นั้น ฉะนั้น คำว่า “สัจจะ” เป็นชื่อแห่งการดับไปแห่งกิเลส หรือความโง่ ความหลง อวิชชาทั้งหลาย ปรากฏอยู่เป็นสิ่งที่จริง ทีนี้ประวัติอันสุดท้าย ก็อยากจะให้สังเกตเห็นไอ้ความหมายของคำๆ นี้ คือคำว่า “จริง” หรือไม่มุสา แล้วก็เอากันธรรมดาๆ หมายถึงการพูด การพูดที่ไม่มุสาก็เรียกว่า “สัจจะ” ได้เหมือนกัน คือคำสัจ ก็เรียกว่า “สัจจะ” เฉยๆ แต่เดี๋ยวนี้มันมีอยู่หลายชนิดน่ะ ไอ้คำพูดนี่ที่เรียกว่า “สัจจะ” ก็เป็นคำพูดของมนุษย์ ถ้าจริงก็เรียกว่าจริงอย่างคำพูดของมนุษย์ แต่ไม่จริงเท่าคำพูดของพระเจ้า คำพูดของพระเจ้านี้หมายถึงกฎของธรรมชาติ กฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั่นแหละ เราถือเหมือน เสมือนหนึ่งว่าธรรมชาติน่ะมันพูด เพราะฉะนั้นเมื่อมันเป็นกฎของธรรมชาติ มันมีค่า เท่ากับพระเจ้าพูด เป็นโองการของพระเจ้า พูดแล้วตายตัว ศาสนาไหนก็จะต้องถืออย่างนี้ ว่ามีอยู่ มีคำพูดที่เด็ดขาดอยู่น่ะ คือคำพูดของความจริง ที่เราก็เรียกว่า “กฎของธรรมชาติ” แล้วก็ในศาสนาที่เขาถือพระเจ้า เขาก็ต้องว่าคำพูดของพระเจ้า อย่างที่เคยบอกให้ทราบแล้วว่าในคัมภีร์ไบเบิ้ลของพวกคริสเตียนนี้ เขาก็ว่า The word คือคำพูด มีอยู่ก่อนสิ่งใด มันหมายถึงคำพูดของพระเจ้า ก็คือกฎของธรรมชาติ และมันมีอยู่ก่อนสิ่งใดจริง นี่คำพูดของมนุษย์ก็จริงได้เหมือนกัน ถ้าเขาพูดจริง แต่คำพูดของพระเจ้าหรือว่ากฎของธรรมชาตินั้น มันจริงกว่า จริงที่สุด โดยเฉพาะไอ้ความมีอยู่ของกฎนั้นเองน่ะ ยิ่งจริงที่สุด ทั้งหมดนี้เรียกว่า “ประวัติ” ที่เราจะสังเกตดูได้จากในเรื่องราว ในพระคัมภีร์ทั้งหลาย ให้เห็นว่าไอ้คำว่า “สัจจะ” หรือสิ่งที่เรียกว่า “สัจจะ” นี้ได้ถูกใช้มาแล้วอย่างไร เป็นชื่อของอะไร เป็นต้น ทีนี้ในวงจำกัดที่แคบๆ เข้ามานี่ ยังจะต้องรู้ไว้ให้ดีด้วย เดี๋ยวจะเถียงกันตาย ทะเลาะกันตาย เขาก็ให้ยอมรับว่า มันเป็นสัจจะที่มีอยู่หลายๆ ชั้น เช่น สมมติสัจจะ สัจจะโดยสมมติ รับรอง ป้องกัน สมมติว่าอย่างไร เป็นอะไร แล้วมันก็เรียกว่าสมมติสัจจะ ทีนี้ต่อมาผู้รู้ ผู้รู้ทั้งหลายบัญญัติสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไปเป็นสัจจะ ชั่วแก่ ชั่วแก่ ชั่วการบัญญัตินั้น ก็เรียกว่าสัจจะ แล้วที่ลึกขึ้นไป ก็คือเป็น ปรมัตถสัจจะของธรรมชาติ นี่ก็เรียกว่า สมมติสัจจะก็มี ปรมัตถะ เอ่อ บัญญัติสัจจะก็มี ปรมัตถสัจจะก็มี นี้เรียกว่า “จริง” พอจะเรียกว่า “จริง” ได้ แต่ว่าปุคคลิกสัจจะนั้นต้องขอยกเว้น เพราะมันเป็นความรู้สึกของคนๆ หนึ่ง กำลังรู้สึกอยู่จริงอย่างไร นี้มันผิดก็ได้ถูกก็ได้ แล้วส่วนมากมันถูกชั่วขณะ ชั่วเวลาหนึ่งที่มีเหตุผลอย่างหนึ่ง เมื่อเหตุผลอย่างอื่นเข้ามา มันก็เปลี่ยนไป ไอ้ปุคคลิกสัจอย่างนี้มีไว้สำหรับทะเลาะกัน เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ ไม่เอามารวม แยกออกไปเป็นพวกหนึ่ง แล้วจะบอกให้เห็นสมมติสัจจะ เช่น อย่างเราเกิดมาในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาจากในท้องแม่ ตั้งแต่อ้อนแต่ออก เราก็ยอมรับเอาไอ้การสมมติทั้งหลายใน ในบ้านเรือน หรือว่าในวงที่มันแวดล้อมเราอยู่ ก็ต้องเป็นไปตามสมมติที่เขาสมมติกันอยู่แล้ว ว่านี้พ่อ นี่แม่ นี่นาย ก นี่นาย ข นี่นาย ง อะไร อะไร แล้วแต่จะสมมติ เรียกกันว่าอย่างไร ไอ้ที่เป็นกันมากก็คือสมมติว่า ของคนนั้น ของคนนี้ ของตัวกู ของตัวสู เงินของกู ทองของกู จนลิงต้องล้างหูนี่ ถ้าจำนิทานเรื่องนี้ได้ มันก็เข้าใจทันที นี้เรียกว่า “สมมติสัจจะ” ไป ไปศึกษาจากเรื่อง “ลิงล้างหู” ในโรงหนัง ทีนี้ บัญญัติสัจจะ เป็นความรู้ที่ผู้รู้ค่อยๆ ค้นพบ แล้วบัญญัติ ไปตามความรู้ และตามเหตุผล มันมีการใช้เหตุผลในการบัญญัติ คือพวกไอ้ระบบ ระบอบ system ทั้งหลาย ที่มนุษย์ทำขึ้น ทำขึ้น จนมากมายในโลกนี้ เมื่อเรียนรู้ แล้วก็ไม่มีทางที่จะคัดง้างด้วยเหตุผลได้ ก็ยอมรับ ในทางศาส เอ่อ ทางพุทธศาสนาก็มี เช่น บัญญัติว่าชาติ ว่าอายตนะ ว่าธาตุ ว่าขันธ์ ว่าอะไรต่างๆ นี้ ถ้ามันไม่ขัดต่อเหตุผล มันใช้สำหรับปฏิบัติ เพื่อดับทุกข์ได้ก็ ไอ้บัญญัตินั้นก็ถือว่าถูกต้อง แม้จะบัญญัติบุคคล เป็นชั้นๆ เป็นประเภท ๆ มันก็ยอมรับ ว่าส่วนใหญ่ก็เพื่อการพูดจากันเท่านั้นแหละ จะยึดถือเอาความหมายเป็นตัวตนไม่ได้ นี้มันก็ตรงกัน ในระหว่างบุคคล ในระหว่างหมู่คณะ จนถือว่าเป็นสัจจะในระหว่างบุคคล ในระหว่างหมู่คณะ ทีนี้ก็มาถึงไอ้ปรมัตถสัจจะ นี้จริงอย่างสูงสุด จริงอย่างเด็ดขาด คือธรรมชาติเป็นผู้พูด ไม่ใช่คนพูด ไม่ใช่ศาสดาองค์ไหนแต่งตั้งขึ้น มันเป็นธรรมชาติพูด ธรรมชาติบัญญัติไว้ แต่งตั้งไว้ แล้วพระศาสดาไปรู้เข้า ไปพบเข้า ไปเอามาบอก มาพูดตามนั้น อย่างนี้ก็เรียกว่าธรรมชาติพูด ก็จึงเรียกว่า “ปรมัตถสัจจะ” ในภาษาปรัชญา ก็เรียกว่า ultimate truth มันเด็ดขาด ไอ้สองพวกแรก สมมติสัจจะ บัญญัติสัจจะ นี้ เรียกว่า relative truth คือที่มันยืดหยุ่นได้ มันยังเนื่องกันอยู่กับสิ่งอื่น ไม่เป็นอิสระแก่ตัว มันเป็นพวก relative truth สมมติหรือบัญญัติ ส่วน ultimate truth นี้ ไม่เข้าใคร ไม่มองหน้าใคร ตายตัวลงไปโดยเป็นกฎของธรรมชาติ พอถึงตรง ตรงนี้ก็ขอให้นึกถึงคำว่ากฎ กฎน่ะ ใน ใน ในธรรมะฝ่ายเราไม่มีพระเจ้าที่เป็นคน มีแต่กฎของธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็กฎอสังขตะทั้งหลายน่ะ เฉียบขาด นี่ความหมายอย่างพระเจ้า ทีนี้พวกที่เขาถือพระเจ้า เขาก็ว่ามีพระเจ้าที่พูดไม่เป็น ก็พูดเป็นบุคคล คนก็เลย คนก็เลยล้อให้ แล้วพาลจะไม่เชื่อเอา เราต่อรองกันว่าไอ้กฎนั่นแหละจริง พระเจ้าจริง คุณไปเรียกมันยาวไปเป็น “God” เป็นพระจ้านี้ เขาก็หัวเราะ ถ้ามันเป็นกฎสามัญลักษณะก็ดี กฎอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาทก็ดี กฎแห่งอริยสัจก็ดี นี่น่ะคือกฎที่แท้จริง เฉียบขาด ตายตัว มีลักษณะเป็นพระเจ้า ใน ในพุทธศาสนามีอย่างนี้เป็นพระเจ้า สรุปความว่า เรามีไอ้สิ่งที่เรียกว่า “สัจจะ” นั่นน่ะ อยู่เป็นชั้นๆ สมมติสัจจะนี่ มันมากไปหน่อย ใช้สำหรับพูดกัน แต่อย่ายึดถือใจความนั้น ว่ามีตัว มีตน อย่างนั้น และพระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสว่า แม้ตถาคตก็พูดด้วยโวหารอย่างนั้น พูดว่าของตถาคต หรือว่าตถาคตอย่างนั้น อย่างนี้ ที่เรียกว่าพูดเท่านั้นแหละ แต่ว่าใจไม่ได้ยึดถือโดยความเป็นตัวตนอย่างนั้นจริง เมื่อมีปัญญัติสัจจะตามที่ผู้รู้บัญญัติ ให้เป็นที่รู้กัน แล้วปรมัตถสัจจะที่ธรรมชาติบัญญัติของมันเอง มีอยุ่สามชนิดอย่างนี้ นี่โดยอรรถทั้งหมดเป็นอย่างนี้ สัจจะโดยพยัญชนะ โดยตัวหนังสือ ก็คือว่า สิ่งที่มันเกิดขึ้นซ้ำๆ ซ้ำกัน แล้วสัจจะโดยอรรถก็คือว่ามันตายตัว แล้วมันไม่มีสอง มันไม่มุสา มันไม่ต้องมีอะไรไปช่วยค้ำจุนมันไว้ กลัวว่ามันจะล้ม แล้วก็มีประวัติแห่งการใช้ จนใช้เป็นชื่อของลัทธิหนึ่งๆ หนึ่งๆ แม้มิจฉาทิฎฐิเขาก็เรียกว่า “สัจจะ” ของเขา เอ้าทีนี้ ชั่วเวลาที่เหลืออยู่นี้ก็จะพูดถึงเรื่องว่า โดยประยุกต์ ตะกี้ผมได้พูดไปแล้วนะ โดยพยัญชนะ แล้วก็โดยอรรถ แล้วก็โดยประยุกต์ อันที่ ๓ โดยประยุกต์คือว่า จะเอามาใช้ปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์ในวันหนึ่งวันหนึ่งได้อย่างไร นี่เรามองดูสัจจะกันในแง่นี้ พอพูดถึงประยุกต์ในทางพุทธศาสนา ก็ ก็เล็งไปถึงอริยสัจ หรือจตุราอริยสัจ อริยสัจ ๔ ประการทันที ในบรรดาสัจจะทั้งหลาย จตุราอริยสัจ เป็นสัจที่ประเสริฐที่สุด นี้พระบาลีว่าอย่างนั้น นี้ก็หมายความว่า ยอมรับว่าไอ้สัจจะ สัจจะ ของจริง ของจริงนี้ มีมากมาย แต่ในบรรดาสัจจะทั้งหลายนั้น อริยสัจ ๔ นั้นน่ะ เป็นสัจจะที่ประเสริฐที่สุด ก็คือเรื่อง ความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับสนิทแห่งทุกข์ ทางให้ถึงความดับสนิทแห่งทุกข์ ที่เราพูดกันมาแล้ว เกี่ยวกับจตุราอริยสัจ นี่กฎเกณฑ์อันนี้เอามาใช้ปฏิบัติเพื่อให้รู้จักความทุกข์ แล้วให้ละเหตุแห่งความทุกข์เสีย แล้วก็ทำไอ้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้นให้ปรากฏ แล้วก็ทำไอ้วิธีให้ วิธีทาง วิถีทางให้เข้าถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นี้ ให้เจริญจนเต็มที่ แม้ว่าจะเล็งถึงกฎสามัญลักษณะ หรือปฏิจจสมุปบาท มันก็ยังเนื่องอยู่ด้วยจตุราอริยสัจนั่นเอง กฎสามัญลักษณะ เช่น ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานี้ มันก็รวมอยู่ในคำว่า “ทุกข์” ของอริยสัจที่ ๑ ส่วนคำว่า “อิทัปปัจจยตา” หรือ “ปฏิจจสมุปบาท” นั้นน่ะ คืออาการที่มันเกี่ยวเนื่องกัน เนื่องกัน เพราะมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เกิดขึ้น เกิดขึ้นจนเป็นไปในฝ่ายทุกข์ นั้นประการหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งว่ามาในฝ่ายดับทุกข์ เป็น เป็นอิทัปปัจจยตาฝ่ายที่มาสู่การดับทุกข์ เพราะสิ่งนี้ดับลง เอ่อ เพราะปัจจัยนี้ ไม่มี หรือดับลง สิ่งนี้ย่อมดับลง สิ่งนี้ย่อมดับลง นี่ก็คือสัจจะโดยประยุกต์ ฉะนั้นเหมือนกับกฎทั้งหลาย แม้แต่กฎทางวิทยาศาสตร์ ทางวัตถุธรรมนี่ เขาต้องรู้ว่ามันจริงก่อน จึงเอามาปฏิบัติ สร้างวัตถุนั่นนี่ขึ้นได้ สร้างรถไฟ สร้างเรือบิน สร้างอะไรไปโลกพระจันทร์ได้นี่ มันเนื่องจากรู้จักกฎอันนั้นอย่างถูกต้อง แล้วจึงเอามาประยุกต์ให้ถูกตามกฎ และกฎทั้งหลายที่มันเนื่องกันอยู่มากมาย นี้เรียกว่าโดยประยุกต์ ก็คือจตุราอริยสัจ เพื่อจะดับทุกข์ กฎอื่นๆ มันไม่จำเป็น มนุษย์เราไม่ได้มีปัญหาอย่างอื่นเลย ปัญหามีอยู่ว่ามันมีความทุกข์ และจะขจัดความทุกข์ออกไป นี่เลยเป็นเรื่องสำคัญเพียงเรื่องเดียว ทีนี้การที่จะใช้สัจจะให้เป็นประโยชน์นี่ มันก็ขึ้นอยู่กับสัจจะนี่อีกแหละ คือเมื่อสัจจะแปลว่าจริง แล้วมันก็หนีคำนี้ไปไม่พ้น มันก็ต้องจริง อย่างพวกคุณอย่างนี้ ก็ต้องบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง รู้จริง สอนเขาจริง นี่ มันอยู่ที่จริง ก็ขึ้นอยู่ที่คำว่า “จริง”ฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงไอ้ จตุราอริยสัจ เพื่อเป็นความดับทุกข์จริง มันก็ต้องอย่างเดียวกันอีก มันต้องรู้จริงอย่างถูกต้อง พูดจริง ทำจริง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง เป็นสุขจริง อะไรทำนองนี้ ขึ้นอยู่กับคำว่า “จริง” ตามความหมายของคำว่า “สัจ” แล้วก็มีพิสูจน์ได้จริงด้วย พิสูจน์กันอย่างไร อย่างไร ก็ไม่เป็นเท็จไปได้ นี่เป็นลักษณะของสิ่งที่เรียกว่า สัจจะ หรือธรรมะ สิ่งที่เรียกว่า “ธรรมะ” นั้นย่อมทนต่อความพิสูจน์ ถ้าไม่ทนต่อความพิสูจน์ ก็เรียก ไม่เรียกว่าธรรมะในพระพุทธศาสนา ขอให้นึกถึงข้อที่ว่า ในพระพุทธศาสนานี้ เรามีคุณบทสำหรับพระธรรมว่า สวากขาโตภควตาธัมโม ธรรมะนี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว คำว่า “ตรัสไว้ดีแล้ว” นี้คืออาการที่ทนต่อการพิสูจน์ ฉะนั้นจึงกล้าท้าให้ใครพิสูจน์ เอาสิ พิสูจน์ให้มันผิดออกมาได้อย่างไร ที่ว่าความทุกข์ต้องเป็นอย่างนี้อย่างนี้ เหตุให้เกิดทุกข์ ต้องเป็นอย่างนี้อย่างนี้ ทางให้ถึงความดับสนิทแห่งทุกข์ ต้องเป็นอย่างนี้อย่างนี้ หนทางให้ถึงทางดับสนิทแห่งทุกข์ ต้องเป็นอย่างนี้อย่างนี้ ที่เรียกว่า ตถตา ตถา ตถาตา และคำอื่นๆ อีก นี่เรียกว่าจริง และก็ทนต่อการพิสูจน์ว่าจริง ทีนี้เราก็จะดูกันต่อไปถึงอำนาจของสิ่งที่เรียกว่า “กฎ” จะเรียกในพุทธศาสนาว่า “กฎ” หรือเรียกในศาสนาคริสเตียน เป็นต้น ว่า “God” ก็สุดแท้เถอะ คือว่ามันจริง แล้วมันมีอำนาจเด็ดขาด เฉียบขาด ไม่มีอะไรต้านทานได้ อำนาจนี้มันเป็นไปใน ๒ วิถีทาง เช่นว่ามันเป็นไปตามธรรมชาติ ธรรมดาล้วนๆ ของไอ้สิ่งเหล่านั้นเอง มันก็มีอยู่ตายตัวอย่างนั้น ทีนี้มันมามีอำนาจบนมนุษย์ผู้ต้องการหรือประสงค์ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ที่ตัวต้องการนี้ มันก็มามีอำนาจให้ได้ตามต้องการ แปลว่าตามธรรมชาติ เป็นกฎธรรมชาติ บังคับธรรมชาติ เป็นไปอยู่ตามธรรมชาติ เช่นว่า ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวทั้งหลาย ดิน น้ำ ลม ไฟ ย่อมเป็นไปอย่างนั้น ตามกฎธรรมชาติ ก็เป็นไปอย่างนั้น ทีนี้ที่มามีกฎที่เป็นไปตามความประสงค์ของมนุษย์ ที่จะเลือกเอามา แล้วก็ปฏิบัติ ว่าตนต้องการอะไร มันจะต้องได้อย่างนั้น เช่น ทางวัตถุ ก็สร้างวัตถุขึ้นมาได้ หรือทางนามธรรม ก็มีธรรมะ สำหรับดับความทุกข์ ดับกิเลสได้ ทีนี้เรียกว่า สัจจะคงเป็นสัจจะ หรือคงเป็นกฎอยู่เสมอ จะอยู่ตามธรรมชาติของมันเอง หรือเอามาเกี่ยวข้องกับมนุษย์ ก็ยังคงมีความเป็นสัจจะ หรือกฎอยู่ตลอดเวลา จึงจะเรียกว่า “สัจจะ” หรือ “กฎ” และอำนาจสูงสุดของสิ่งที่เรียกว่า “กฎ” หรือ “พระเป็นเจ้า” นี้ มีการยอมรับ หรือบัญญัติก็ตามไว้ในศาสนาทั้งหลาย พูดกันรู้เรื่อง ว่ามีอยู่สาม คือกฎหรืออำนาจที่จะให้มีการเกิดขึ้น และกฎที่จะมีอำนาจให้มีการตั้งอยู่ชั่วขณะนะ และให้มีการดับไปสามคำว่า “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป” อย่างนี้ก็เป็นไปตามกฎ กฎที่ทำให้เกิดขึ้น กฎที่ทำให้ตั้งอยู่ กฎที่ทำให้ดับไป เมื่อคำว่า “กฎ” หมายถึงพระเจ้า แล้วก็พูดกันได้กับพวกที่ถือพระเจ้า ว่ามีพระเจ้าผู้สร้างขึ้นมา พระเจ้าผู้ควบคุมอยู่ รักษาอยู่ และพระเจ้าผู้ทำลาย ให้สิ้นไปเป็นคราวๆ เมื่อกล่าวโดยสมมติ หรือโดยปุคลาธิษฐาน ที่เรียกว่าอย่างสมมติ เพื่อสอนศีลธรรม แก่คนที่เขายัง ยัง ยัง ฉลาดน้อย ก็มีพระเจ้าผู้สร้าง มีพระเจ้าผู้ควบคุม มีพระเจ้าผู้ทำลาย ที่เขาได้ยินได้ฟังกันอยู่ทั่วไปว่า พระพรหมอ่ะ เป็นพระเป็นเจ้าผู้สร้างขึ้นมา พระนารายณ์อ่ะ เป็นพระเป็นเจ้าผู้ควบคุมไว้ในความเป็นระเบียบ และพระอิศวรนี่ เป็นผู้ทำลาย ยุบเลิกเป็นคราวๆ เพื่อพระพรหมจะสร้างใหม่ และพระนารายณ์ จะควบคุมต่อไป พระอิศวรจะได้ยุบเลิกเสียเป็นคราวๆอีกนี่พูดอย่างปุคลาธิษฐาน ถ้าพูดอย่างธรรมาธิษฐาน หรือตามสัจจะนี้ก็เรียกว่า มันมีกฎที่ทำให้เกิดขึ้น กฎที่ทำให้ตั้งอยู่ กฎที่ทำให้ดับไป ทำให้เกิดขึ้น ก็เป็นกฎสามัญลักษณะก็ได้ ก็ไม่เที่ยง มันจึงมีอันอื่นเกิดขึ้นมาแทน หรือว่าโดยกฎเห่งอิทัปปัจจยตา เพราะเมื่อสิ่งนี้มีอยู่ สิ่งนี้ย่อมเกิดขึ้นก็ได้ หรือกฎแห่งอริยสัจ หมายถึงกิเลสมีอยู่ ความทุกข์ก็เกิดขึ้น แล้วที่ว่าควบคุมไว้ โดยกฎแห่งกรรม ต้องเป็นไปตามกฎแห่งกรรม นี่มันเป็นไอ้อิทัปปัจจยตาโดยตรง ว่าสิ่งนี้ สี่งนี้ มีอยู่ สิ่งนี้ จึงเกิดขึ้น เมื่อทุบลงไป มันก็ดังปังขึ้นมา อย่างนี้เป็นต้น ตามกฎของ ของกรรม นี่มันจะควบคุมไอ้สิ่งต่างๆ อยู่ ทีนี้การดับไปของพระเจ้าผู้ทำลายล้างนี้ ก็คือกฎอิทัปปัจจยา หรือสามัญลักษณะ เช่น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือว่ากฎอริยสัจ ก็หมายความว่า ถ้าทำลายกิเลสเสีย ความทุกข์ก็จะดับลงไป อย่างนี้ นี่เราจึงมีกฎสามัญลักษณะ จำไว้ให้ดี กฎอิทัปปัจจยตา และกฎจตุราอริยสัจ ที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา มีอยู่ในใจคน ว่าจิตใจของคนต้องเป็นไปตามกฎ มีอยู่ในชีวิตทั่วไป แม้ต้นไม้ต้นไร่ที่มีชีวิต กระทั่งธรรมชาติที่ไม่มีชีวิต ก็มีกฎเหล่านี้อยู่ทุกอนุภาค ทุกอณู ทุกปรมาณู เพราะไปสิงอยู่ มันมี จึงมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกฎ แม้ทุกๆ ปรมาณู นี้ก็คือสัจจะในความหมายนี้ ทีนี้ สิ่งที่เป็นสัจจะอย่างนี้ ก็เป็นไกลวัลยะ คือไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดสถานที่ ไม่มี time or space หรือไม่มีแม้แต่ไอ้ relativity คือความสัมพันธ์กันระหว่างเวลา กับพื้นที่ ที่จะมามีอำนาจเหนือไกวัลยธรรม คือกฎเหล่านี้ เหนือเวลา เหนือพื้นที่ เหนือสัมพัทธ์ของไอ้เวลาและพื้นที่ เพราะอันนั้นมันเป็นสังขตะ เดี๋ยวนี้มันเป็นอสังขตะ จึงถือว่าเป็นสิ่งสูงสุด เป็นอยู่ได้ในตัวเอง ตามความหมายของคำว่า “สัจจะ” พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ ก็รู้สิ่งนี้ แล้วเอามาสอนเฉพาะที่จะดับทุกข์ได้ เหมือนที่ท่านว่า “ความรู้ที่รู้นั้น รู้เท่ากับใบไม้หมดทั้งป่า แต่เอามาสอนพวกเธอนี้ เท่ากับใบไม้กำมือเดียว” คือกฎที่จะดับความทุกข์ได้เท่านั้น แล้วก็เป็นอกาลิโก ธรรมะเป็นอกาลิโก ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของเวลา ซึ่งรวมทั้งพื้นที่ด้วย แล้วประเสริฐที่สุด ควรแก่การเรียกกันมาดู ว่ามาดู มาดู นี่ เอหิปสิโก โอปนยิโก ควรจะเอามาใช้ให้ถูกต้อง ในกรณีของบุคคล คนหนึ่งๆ ปัจจัตตัง เวทิตัปโป วิญญูหิ คนฉลาดเท่านั้นจะรู้ได้ และก็รู้ได้เฉพาะตน ขออภัยต้องพูดว่า คนโง่ไม่อาจจะรู้ได้ เพราะพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้อย่างนั้น นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “สัจจธรรม” เราก็เลิกเป็นคนโง่เสีย เป็นคนฉลาดขึ้น ก็รู้จักไอ้สัจจธรรมมากขึ้น มากขึ้น จนรู้ถึงที่สุด คือปฏิบัติได้ถึงที่สุด รู้ผลของการปฏิบัติแล้ว นี้เรียกว่ารู้จริง ถึงที่สุดก็เป็นพระอรหันต์ นี่ล่ะคือสิ่งที่เรียกว่า “สัจจะ” หรือเติมให้เต็มรูปว่า “สัจจธรรม” คือธรรมที่เป็นสัจจะ หรือสิ่งที่ทรงตัวเองอยู่ได้โดยความเป็นสัจจะ และเมื่อกล่าวโดยเฉพาะในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็คือกฎแห่งสามัญลักษณะ กฎแห่งอิทัปปัจจยตา และกฎจตุราอริยสัจ ในสามอย่างนี้ กฎจตุราอริยสัจ สำคัญกว่ากฎทั้งหลายใด เพราะสามารถจะแก้ปัญหาความทุกข์ทั้งปวงได้ เรื่องก็มีเท่านี้ ขอให้สรุปความ แล้วจำไว้ให้ดีๆ ว่า คำว่า “สัจจะ” นั้น โดยพยัญชนะเป็นอย่างไร โดยอรรถเป็นอย่างไร โดยประยุกต์ ที่จะเอามาปฏิบัติกันได้อย่างไร ก็พอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติการบรรยายวันนี้ไว้เพียงเท่านี้