แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ตามที่ตกลงกันไว้ วันนี้ก็ว่าจะพูดเรื่อง สมาธิสำหรับคนทั่วไป ก็ตามๆที่เวลาจะอำนวยให้ ก็ลองแนะวิธีทำบ้างตามสมควร ในชั้นแรกก็พูดถึงหลักทั่วๆไปที่ควรทราบบ้างก่อน อาศัยพระพุทธภาษิตที่ๆเป็นหลักว่า ท่านจงเจริญสมาธิ ผู้มีจิตเป็นสมาธิย่อมเห็น เอ่อ, ร่อ ย่อมรู้ตามที่เป็นจริง นี่เป็นหลักทั่วๆไปกว้างๆนะ ทีนี้ผู้ที่จะเข้าใจเรื่องนี้ต้องๆสังเกตเห็นหรือว่าต้องทราบก็ได้ แล้วก็สังเกตให้เห็นว่า ความเพ่งมีอยู่ ๒ อย่าง เพ่งจิตจะมีอยู่ ๒ อย่าง เพ่งให้จิตสงบนี้อย่างหนึ่ง แล้วเพ่งให้รู้นั้นอีกอย่างหนึ่ง จะเรียกว่ามี ๒ ตอนก็ได้ จะเรียกว่ามี ๒ อย่างก็ได้ มันแล้วแต่ความมุ่งหมาย
พวกที่เขาไม่ย่ะ อ่า, ไม่ต้องการความรู้ ไม่เกี่ยวกับความรู้ ก็เพ่งให้สงบ คือเพ่งให้เป็นสมาธิอย่างเดียว เช่นพวกที่มีอยู่ก่อนพุทธกาล ต้องการจิตเป็นสมาธิ ต้องการสงบ ต้องการไปพรหมโลก ใช้คำว่าอย่างนี้ในที่สุด ไม่ต้องเกี่ยวกับความรู้ เรื่องทางปัญญา
ทีนี้อีกพวกหนึ่งต้องการความรู้ ถ้าเพ่งความรู้เฉยๆมันก็มีสมาธิน้อย มันมีโดยอัตโนมัติ โดยธรรมชาติไม่พอ เขาก็ต้องเพ่งอย่างที่ให้มันเป็นสมาธิก่อน คือเพ่งให้มันสงบรำงับก่อน แล้วจึงเพ่งให้รู้เป็นสติ อ่า, เป็นปัญญาต่อไป
แต่ว่าโดยแท้จริงแล้วมันๆเจือกันอยู่อย่างไม่แยกกันออกหรอก เพราะแม้เราจะเพ่งอย่างเป็นสมาธิล้วนๆ มันก็มีรู้อะไรบ้างเหมือนกันแต่ไม่ใช่ความประสงค์ อย่างน้อยก็รู้ว่าทำสมาธิอย่างไร อะไรเกิดขึ้น รู้สึกในจิตอย่างไรนี่ก็รู้ รู้อย่างนี้ ไม่รู้ถึงขนาดว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ว่าอาจจะไม่ใช่ไม่รู้เสียเลย
ทีนี้ถ้าคนจะเพ่งให้รู้ เพ่งปัญญาให้รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็เป็นสมาธิอยู่บ้างในตัวพอสมควร อย่างเราเพ่งพิจารณา เพ่งคิดอย่างนี้ จิตก็ต้องเป็นสมาธิพอสมควรมันจึงเพ่งไปได้ ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็เพ่งไม่ได้เหมือนกัน ฉะนั้นก็เลยเป็นสิ่งที่เนื่องกัน เดี๋ยวนี้มาแยกกันให้เห็นว่ามันมีลักษณะต่างกันอย่างชัดเจนว่า อันหนึ่งเพ่งให้หยุด ให้สงบ ให้รำงับ กระทั่งหยุดคิดหยุดพิจารณาอะไรเลย หยุดพิจ หยุดพิ คิด หยุดนึก หยุดใคร่ครวญ หยุดอะไรหมดเลย แล้วอันหนึ่งมัน ไอ้อีกอันหนึ่งมันตรงกันข้าม มันเพ่งที่จะให้รู้อย่างลึกซึ้งละเอียดลออ แจ่มกระจ่างยิ่งขึ้น
ทีนี้ต้องการที่จะให้รู้มากขึ้นอย่างนี้ ต้องเตรียมจิตที่ดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นก็จึงทำสมาธิก่อน แม้ว่าอย่างน้อยที่สุดที่เราจะคิดเลขหรือคิดอะไรเป็นของธรรมดาสามัญนี้ เราก็จะต้องมีกิริยาอาการเช่นว่า หายใจ สูดหายใจยาวๆสักครั้งสองครั้งให้มันมีความคิดที่เกลี้ยงเกลาขึ้นมาได้ง่ายนี่ มันก็เตรียมอยู่โดยธรรมชาติ โดยไม่รู้สึกตัว ยิ่งพิจารณามาก ความเป็นสมาธิก็ต้องมาก แล้วก็ต้องเหมาะสมกันด้วย ไม่ใช่ไปกันคนละทิศละทาง ทีนี้บางทีเราก็ไม่มีสมาธิมาก คิดไม่ได้ดี หรือบางทีมันมีสมาธิชนิดที่สงบมากเกินไป มันก็คิดอะไรไม่ได้ดีเหมือนกัน มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ในลักษณะวิทยาศาสตร์ตามธรรมชาติลึกซึ้งชนิดหนึ่ง
ทีนี้ผู้ที่มีปัญญาเขาได้สังเกตขวนขวายกันมานานแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาลนู้น บอกไม่ได้หรอก ว่ากี่พันปี รู้แต่เพียงว่าก่อนพระพุทธเจ้า ๒,๕๐๐ ปีนี่เขาก็ทำเป็นกันแล้ว ทำจิตให้เป็นสมาธิ แล้วคำเหล่านี้ก็มีเรียกมีใช้กันมาก่อนแล้ว ทีนี้มาถึงสมัยพระพุทธเจ้าท่านก็ใช้ไอ้วิธีสมาธิที่เขาๆมี เขารู้ เขาทำได้กันอยู่ก่อนนั้นน่ะมาปรับปรุงบ้าง ก็สำหรับใช้ตามเรื่องของท่าน คือพิจารณาในทางปัญญาให้รู้ตามที่เป็นจริงว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอย่างไร แล้วก็คลายความยึดมั่นถือมั่นเสียได้ มันก็บรรลุมรรคผลนิพพาน นี่การเพ่งจึงเกิดมีเป็น ๒ อย่าง เพ่งให้หยุด เพ่งให้สงบ เพ่งให้เป็นสมาธินี้อย่างหนึ่งหรือตอนหนึ่ง แล้วก็เพ่งให้รู้ ให้เห็นแจ้ง ให้สว่างไสว จนกระทั่งให้มีฤทธิปาฏิหาริย์อะไรไปทางนู้น ไว้อีกตอนหนึ่ง
เดี๋ยวนี้เราก็ไม่ใช่เป็นโยคีมากถึงขนาดนั้น ก็ทำอย่างที่ว่าชาวบ้านทั่วไปจะพึงทำได้เท่าไร แม้ที่สุดแต่เป็นนักเรียน ลูกเด็กๆเล็กๆ ถ้าเขาทำได้เขาก็มีประโยชน์ อย่างน้อยก็ทำให้จิตใจมันเป็นระเบียบ มันก็จำเก่งหรือมันก็คิดเร็วอย่างนี้ เป็นต้น แล้วเป็นที่น่าเสียดายที่ว่าไอ้วิชานี้ไม่มาอยู่ในหลักสูตรของการศึกษาในโลก
ทีนี้ก็จะพูดให้ใกล้ชิดเข้าไปอีกว่า หลักสำคัญหรือความจริงของเรื่องนี้มันมีอยู่อย่างไร สิ่งที่เรียกว่าจิตนี้จะไม่พูดถึงกันแล้วเพราะพอจะเข้าใจแล้ว ทีนี้เมื่อจะทำสมาธิด้วยจิตนะ เพราะมันเป็นการอบรมจิต ก็ต้องมีอีกสิ่งหนึ่งที่ๆจะเรียกว่าอยู่ข้างนอกจิต เป็นที่ยึดหน่วงของจิต นี้เขาเรียกว่าอารมณ์ อารมณ์แปลว่าที่ยึดหน่วง ที่เกาะเกี่ยว ที่ยึดหน่วง ถ้าเพ่งให้เป็นสมาธิก็มีอารมณ์อย่างของสมาธิ ถ้าเพ่งอย่างปัญญาก็มีอารมณ์อย่างของปัญญา เดี๋ยวนี้พูดอย่างสมาธิกันก่อน อะไรที่จิตจะไปเกาะเกี่ยวเข้าที่นั่นได้ก็เรียกว่าอารมณ์ทั้งนั้น นี้คนแต่โบราณเขาเคยนั่น อ่า, เคยค้นคว้าทดลองพิสูจน์มามาก เขาก็พบ แล้วเขาก็กล่าวไว้ว่าอะไรดีกว่าอะไร อะไรง่ายกว่าอะไร มีอยู่ในพระคัมภีร์มากมาย ฉะนั้นระบบเพ่งสมาธิจึงมีมากมายหลายสิบแบบ แล้วก็อย่างที่บอกแล้วว่าเราชอบแบบที่เรียกว่า อานาปานสติ คือเอาการหายใจเป็นอารมณ์ เอาลมหายใจเป็นอารมณ์ เอาสิ่ง เอาไอ้ที่ๆลมหายใจกระทบบ้างเป็นอารมณ์ แต่ว่าเกี่ยวกับลมหายใจทั้งนั้น ทั้งหายใจทั้งเข้าและออก
เพื่อความรู้ที่ชัดแจ้งก็ว่าวัตถุภายนอกก็ได้ ที่ เอ่อ, ที่เห็นทางตานี้มันยิ่งง่าย เขาเอาก้อนดินหรือก้อนอะไรก็ตาม หรือว่ารูปภาพหรืออะไรที่มันเป็นลักษณะเป็นวงเป็นดวงเห็นง่าย สีเขียว สีแดง สีเหลือง หรือบางทีก็ไปเพ่งที่ซากศพก็มี อย่างนี้ก็เรียกว่าอาศัยทางตา อารมณ์ทางตามาเพ่งให้เป็นสมาธิ มันก็ยิ่งง่าย โดยเฉพาะสำหรับไอ้พวกดวงเป็นสีต่างๆนั้น แต่ถ้าไปเพ่งซากศพนี้มันก็มียากอย่างอื่น เพราะว่ามันสู้ไม่ไหว ด้วยเรื่องกลัวบ้าง ด้วยเรื่องเหม็นบ้างอะไรบ้างนั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าทำได้มันก็เก่งกว่า
ทีนี้เรามาพิจารณาดูแล้วชอบแบบที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า อานาปานสติ เอาลมหายใจของเราเป็นอารมณ์ เหตุผลอันใหญ่ที่สุดก็ว่ามันเป็นสมาธิประเภทที่ละเอียด สุขุม ไม่กระ ไม่วุ่นวาย ไม่ลำบาก ไม่น่ากลัว เป็นต้น แล้วมีผลไปไกลมากถึงนิพพานได้ๆเลย ไม่ต้องเปลี่ยนกระแสของเรื่อง ถ้าจะไปฝึกอย่างที่เรียกว่า กสิณ คือดวงเป็นสีต่างๆตามแบบเก่านั้นจะต้องเปลี่ยนเป็นระยะๆๆ แบบฉบับเขาไม่ได้ทำไว้สำหรับไปนิพพาน แต่ถ้าเรื่องลมหายใจนี้เขาทำ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ลักษณะที่ไปตามลำดับๆจนบรรลุมรรคผลนิพพาน แต่ว่าแม้จะใช้ในเรื่องของชาวบ้านก็ได้ คือทำจิตให้เป็นสมาธิ แล้วจะใช้ในเรื่องทางวัตถุออกมาอีกก็ยังได้ คือสบายใจ กระทั่งมีสุขภาพอนามัยดี ถ้าคนทำอานาปานสติอย่างถูกต้องจะมีร่างกายอนามัยนี่ดี รู้จักบังคับร่างกายให้รำงับลงไปมากๆ ระงับความร้อนก็ยังได้ ทำให้โลหิตออกน้อยก็ยังได้ อย่างนี้เป็นต้น มันเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกันไป เดี๋ยวนี้เราจะเอาเพียงว่าให้จิ จิตเป็นสมาธิแหละ
สิ่งที่ ๑ คือจิต
สิ่งที่ ๒ คืออารมณ์สำหรับจิต
แล้วสิ่งที่ ๓ ก็คือสิ่งที่จะเป็นเครื่องโยงให้ถึงกัน คือเครื่องกำหนด อย่างนี้เขาเรียกว่า สติ สตินั้นเป็นคุณสมบัติอันหนึ่งประจำอยู่กับจิต ประจำอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าจิต เมื่อใดจิตมีสติก็หมายความว่า จิตมีการระลึก กำหนด
ไอ้เรื่องจิตนี้มันยืดยาว นี้เอาแต่เพียงว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าจิตนั้นมีลักษณะมันเป็นกลาง จะทำหน้าที่อะไรอย่างใดอย่างหนึ่งต้องมีสิ่งที่เรียกว่า เจตสิก คือคุณสมบัติ คุณ อ่า, ความสามารถหรืออะไรที่มันของๆจิตนั้นเอง เกิดขึ้นมาอีกครั้ง อีกๆสิ่งหนึ่ง แต่มันเกิดพร้อมกันมากับจิตในขณะนั้น เช่นเราพอนึกอะไรนี้ก็เป็นจิตที่มีสติ หรือเมื่อเราต้องการอะไรนี้ก็เป็นจิตที่มีความอยาก อย่างนี้เป็นต้น
ทีนี้ในขณะที่ทำสมาธิต้องเป็นจิตที่ประกอบอยู่ด้วยสิ่งอีกสิ่งหนึ่งเรียกว่า สติ มันเป็นคุณสมบัติประ อ่า, ประจำตัวของจิต แล้วก็มีสิ่งหนึ่งข้างนอกคืออารมณ์ให้สะ อ่า, เป็นที่ตั้งของการกำหนด คือจิตไปกำหนดที่สิ่งนั้นด้วยอำนาจ ด้วยความสามารถ หรือด้วยเครื่องมือคือสติ ถ้าใครฝึกฝนอยู่บ่อยๆมันก็เป็นคนที่มีสติดี
ทีนี้เรามีสติกำหนดอยู่ที่ลมหายใจก็เรียกว่า อานาปานสติ ทีนี้เรื่องยืดยาวไปถึงนิพพานนั้นมันมากไปสำหรับการพูดกันในครั้งแรก ผู้ที่สนใจก็ไปหาคำบรรยายเรื่องนี้อ่านดูด้วยตนเอง มันกล่าวไว้แต่ต้นจนตลอด เขาเรียกคำบรรยายเรื่องอานาปานสติสำหรับนิสิต คราวนั้นจะเป็นมหาวิทยาลัยไหนถ้ามาที่นี่แล้วก็พูดกันเรื่องนั้นโดยตลอด เป็นหนังสือเล่มหนึ่ง ไปหาซื้อที่ร้านขายหนังสือเสีย แต่เดี๋ยวนี้ก็ยังมีประโยชน์ มีความสำคัญที่จะต้องรู้ชัดเจนยิ่งกว่าในหนังสือ คือจะต้องพูดเฉพาะส่วนนี้ แล้วก็ต้องลองทำดูบ้าง มันจึงจะเข้าใจมากขึ้นไปกว่าในหนังสือ
ผู้ที่จะทำสมาธิชนิดไหนก็ตามใจ ก็ต้องมีการตระเตรียมพอสมควร เช่นว่ามีร่างกายสะ อ่า, เหมาะสม ไม่ใช่เจ็บไข้อยู่หรืออะไรอยู่ คือทำให้มันเหมาะสมเท่าที่จะทำได้ แต่ว่าเมื่อเจ็บไข้อยู่มันก็ต้องทำไปตามแบบของคนเจ็บไข้ ถ้ามันจำเป็นจะต้องทำเมื่อเจ็บไข้ แต่เดี๋ยวนี้เรามันต้องการจะทำอย่างคนสบาย ก็ต้องทำร่างกายให้พร้อม โดยเฉพาะอานาปานสตินี้จะต้องเป็นคนที่มีการหายใจดี ถ้าการหายใจยังไม่ดีก็แก้ไขเสียบ้าง โดยมากก็การหายใจจะไม่ค่อย ไม่ค่อยดี ฉะนั้นจึงต้องปรับปรุงช่องจมูกบ้าง จำพวกนักเลงนี้ อย่างนี้เขาก็สูดน้ำเข้าไปแล้วสั่งออกมา ให้มันโล่ง ให้มันคล่องเท่ากันทั้ง ๒ ฝ่าย อย่างนี้เป็นต้น ทดลองเอานิ้วอุดรูจมูกทีละข้างแล้วลองหายใจดูเถอะ ถ้าไม่เคยปรับปรุงอะไรมาก่อนแล้วไม่เท่ากันหรอก ฝ่ายหนึ่งจะขัดหรือว่าหนักกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ลองดูเดี๋ยวนี้ก็ได้ อุดข้างหนึ่งแล้วลองหายใจดู แล้วอุดเสียอีกข้างหนึ่งแล้วลองหายใจดู ถ้ารู้สึกว่ามันเท่ากันแล้วก็เรียกว่าดีอยู่แล้ว ถ้าไม่เท่ากันก็ไปแก้ไขเสีย แต่ว่าไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้แม้ว่ามันจะไม่เท่ากัน แต่ถ้าเท่ากันมันดีกว่า สูดน้ำจากฝ่ามือ ใจกลางมือน้อยๆเข้าไปแล้วก็สั่งออกมา ครั้งแรกๆก็สำลักบ้างอะไรบ้างไม่เป็นไร นี้เป็นตัวอย่างว่าการตระเตรียมร่างกาย
มันก็มีการกินอาหาร การอะไรต่างๆให้มันๆเข้ารูปเข้าเรื่องกัน ถ้าจะรับประทานอาหารมากก็ง่วงนอนบ้างอะไรบ้าง หรืออาหารบางอย่างรบกวนความรู้สึกบ้างนี่ ก็ปรับปรุงเท่าที่จะทำได้ นี้ก็สถานที่ ถ้าเราไม่รู้ไม่ชี้ ปิดหูปิดตาเสียให้หมดก็ดูจะได้ทั้งนั้นแหละ ทีนี้จิตของคนมันไวแล้วมันชินต่อการที่จะไปยินไปฟังอะไร มันก็เลยทำให้ลำบาก
ฉะนั้นในครั้งแรกก็ไปๆหาที่ๆมันเป็นสะดวกนิดหน่อยในเรื่องส่วนตัว ไม่มีใครกวน ถ้าหาไม่ได้ ก็ไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ได้ดู ไม่ได้ฟัง ไม่ได้อะไรทั้งหมด เพ่งเฉพาะอยู่แต่ข้างในมันก็ไม่ได้ยินเอง เห็นเขาทำกันได้ตามที่ๆคน คนที่ไม่จริงน่ะคิดว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าเราหาได้เราหลีกไปได้เราก็หลีกไปตามสมควร เมื่อไม่ได้ก็ทำ จนถึงกับว่านั่งอยู่ในรถไฟก็ทำ ก็ทำได้ เราฟังไอ้เสียงรถไฟครืดคราดไปเป็นระเบียบ กึงกังๆอย่างนี้ก็ยังทำได้ กลับไปคราวนี้ลองดู ให้เขาหาว่าไอ้นี่นั่งหลับก็ได้ตามใจ แล้วเราฟังไอ้เสียงไอ้ล้อที่กระทบรางเป็นระเบียบดี เดี๋ยวเราก็จะไม่ได้ยินไอ้คนข้างๆเราพูดกันอะไรกันแล้วก็ เราก็พยายามฟังแต่เสียงล้อกระทบราง แล้วมันมีหลายเสียงเหมือนกันน่ะในนั้น ก็ฟังเสียงที่มันเล็กเข้าๆๆ ไอ้เสียงหยาบดังมากก็ไม่สนใจเสีย ค้นหาไอ้เสียงที่เล็กกว่าๆๆ อย่างนี้มันเป็นการบังคับจิตให้ไปสนใจอยู่แต่ที่นั่น ไม่ได้ยินไอ้เสียงที่ดังหรือเสียงคนพูด เป็นอันว่าไม่มีอุปสรรคหรอก ถ้าเมื่อในรถไฟยังทำได้ ที่ไหนก็ทำได้ เมื่อทำอย่างนั้นได้ก็เปลี่ยนเป็นเรื่องลมหายใจได้ แทนที่จะไปกำหนดไอ้เสียงอย่างนั้น เอาให้เสียงนั้นแหละมาไว้ในการหายใจของเรา ที่หายใจซูดซาดๆๆอยู่
ทีนี้ก็กำหนดลมหายใจ คนหายใจอยู่ตามปกติ ไม่มีการควบคุมนี่มันไม่ค่อยสม่ำเสมอ มันก็ไปตามอารมณ์ เรียกว่าอารมณ์ดีพื้นดีนี้หายใจยาว พอโกรธขึ้นมาหรืออารมณ์เสียนี่ก็หายใจสั้น หรือกลัวขึ้นมาก็หายใจให้มันสั้นแล้วไม่ค่อยเป็นระเบียบ นี่เราก็ลองหายใจดู อย่างไรที่เรียกว่าค่อนข้างจะปรกติหรือเป็นระเบียบ แล้วจึงค่อยกำหนดการหายใจว่าแบ่งออกเป็นตอนๆ เป็นเรื่องสมมติก็ได้ เช่นหายใจเข้า ตั้งต้นที่ปลายจมูก ลมหายใจลงไปลึกสุด สมมติตรงที่ตรงกับสะดือ เพราะการหายใจของคนเราทำให้ท้องพองหรือยุบ แล้วศูนย์กลางการพองการยุบมันก็อยู่ที่สะดือ เลยสมมติเอาว่าสุดข้างในที่สะดือ หายใจเข้าตั้งต้นที่จมูก สุดที่สะดือ หายใจออกตั้งต้นที่สะดือมาสุดที่จมูก ตรงนั้นเป็นระยะยาวอยู่ตรงกลาง ทำสมมติเหมือนกับว่าไอ้ลมหายใจนั้นเป็นอะไรชนิดหนึ่งซึ่งวิ่งไปวิ่งมา วิ่งเข้าวิ่งออก วิ่งเข้าวิ่งออก วิ่งเข้าวิ่งออก ในชั้นแรกหายใจให้ดังมีเสียงดังซูดซาดๆด้วยก็ได้ ง่ายขึ้นอีก ก็ช่วยทางหูเข้ามาอีกทางหนึ่ง ช่วยทางสัมผัสรู้สึกด้วยผิวพื้นของหลอดหายใจนี้ก็ทางหนึ่ง มันก็พร้อมกัน ก็กำหนดได้ถนัดขึ้นอีก
ขั้นที่ ๑ หรือบทที่ ๑ ก็เรียกหายใจยาว รู้เรื่องการหายใจยาว ธรรมดาเราก็หายใจสั้นๆยาวๆ อย่างนั้นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เราก็พยายามกำหนดรู้ไอ้ส่วนที่มันยาว ลักษณะที่มันยาว รู้กิริยาอาการที่มันยาว และผลที่เกิดขึ้นจากการที่มีการหายใจยาวนี้ เรียกว่ารู้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับลมหายใจยาว ฉะนั้นจึงนั่งหายใจให้ยาวตามที่จะยาวได้อยู่ระยะหนึ่ง บทหนึ่งน่ะ เป็นบทเรียนบทหนึ่ง ให้รู้เรื่องการหายใจยาว หรือถ้ากล่าวให้ดีก็เป็นเรื่องรู้การหายใจตามปกติของอารมณ์ที่ปกติ ทีนี้พอเรามากำหนดเข้ามันก็ปรกติ ปกติมันก็ยาว พอปกติมากขึ้นมันก็จะยาวยิ่งขึ้นไปอีก ยาวยิ่งขึ้นไปอีก ทีนี้ก็ดูว่ายาวอย่างหยาบนั้นเป็นอย่างไร เมื่อยังหยาบอยู่ยาวเท่าไร ทีนี้เมื่อละเอียดเข้าประณีตเข้ามันยาวอย่างไร หรือมันยาวเท่าไร มันจะยาวมากออกไป ทีนี้ก็รู้ว่าเมื่อหายใจยาวนั้นมันสบายอย่างไร แล้วสิ่งที่เรียกว่าใจคอหรืออารมณ์ข้างใน ความรู้สึกของใจ จิตใจเป็นอย่างไร นี่ศึกษาเรื่องลมหายใจยาวกันให้เต็มที่
ทีนี้บทที่ ๒ ก็หายใจสั้น มันต่างกันอย่างไร รู้เรื่องยาวดีแล้วก็ง่ายที่จะรู้เรื่องหายใจสั้น นี้ก็เกิดการเปรียบเทียบกันได้ดีระหว่างยาวกับสั้น ความแตกต่างระหว่างยาวกับสั้น และอิทธิพลของลมหายใจที่มันเกิดแก่ร่างกายมันก็ต่างกัน หายใจยาวทำให้ประณีตละเอียดได้ง่ายกว่า หายใจสั้นก็ทำให้ประณีตหรือละเอียดได้ยากกว่า แล้วมันเป็นเรื่องของอารมณ์ไม่ปรกติมากกว่า มันก็เหมือนกับเรียนวิทยาศาสตร์ธรรมชาติชนิดหนึ่งน่ะ อย่าเห็นเป็นเรื่องแปลกประหลาดขลังศักดิ์สิทธิ์อะไร การหายใจของคนมันก็เป็นธรรมชาติอย่างยิ่ง นี้รู้ๆเรื่องของลมหายใจยาวดี รู้เรื่องลมหายใจสั้นดีก่อนแล้ว
บทที่ ๓ ก็รู้ข้อเท็จจริงทั้งหลายเกี่ยวกับลมหายใจที่มันเนื่องกันอยู่กับร่างกาย จนถึงกับพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เราบัญญัติลมหายใจว่าเป็นกายชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน ดังนั้นในกรณีนี้เราก็ได้เป็น ๒ กายขึ้นมา คือกายเนื้อหนังร่างกายนี้กายหนึ่ง แล้วกายคือลมหายใจนั้นอีกกายหนึ่ง ซึ่งเป็นกายที่ละเอียดลงไป ไม่เป็นก้อนแข็งอะไร เป็นลมหายใจก็เรียกว่ากายด้วยเหมือนกัน
ทำไมจึงเอาลมหายใจมาเรียกว่ากาย ถ้าตามภาษาตัวหนังสือมันก็เรียกได้ทั้งนั้นแหละ สิ่งที่เป็นหมู่ๆๆๆเราเรียกว่ากายได้ทั้งนั้น เป็นกลุ่ม เป็นกลุ่มๆกันก็เรียกว่ากายทั้งนั้น เช่น พลกายนี้หมู่แห่งทหาร คำว่ากายนี้แปลว่าหมู่ เดี๋ยวนี้ลมหายใจก็เป็นกายเพราะว่ามันเนื่องอยู่กับร่างกายนี้ ไปสังเกตข้อนี้ ว่ามันๆเนื่องกันอยู่กับลมหายใจ ลมหายใจหยาบร่างกายหยาบ ร่างกายหยาบลมหายใจหยาบ ร่างกายกำเริบลมหายใจก็กำเริบ ฉะนั้นเราสามารถที่จะบังคับร่างกายเนื้อหนังได้โดยผ่านทางร่างกายคือลมหายใจ ไปบังคับเข้าที่ร่างกายคือลมหายใจ มันจะเป็นการบังคับไอ้ร่างกายเนื้อหนังนี้ด้วย มันเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นจึงเป็นอุบายอันหนึ่ง บังคับร่างกายให้สงบระงับได้โดยการบังคับทางลมหายใจ
นี่เป็นๆๆความรู้ที่ๆลึกซึ้งหรือสูงสุดเกี่ยวกับลมหายใจและร่างกาย ก็เลยตอนนี้เรียกว่ารู้เรื่องกายทั้งปวง คือกายลมหายใจหรือกายเนื้อหนังนี้มันสัมพันธ์กันอย่างไร ข้อเท็จจริงต่างๆมันมีอยู่อย่างไร ไม่ๆๆใช่จำได้จากหนังสือ แต่รู้ทีเดียวว่า เมื่อลมหายใจละเอียดร่างกายรำงับ เมื่อลมหายใจหยาบร่างกายก็กำเริบขึ้นมา แล้วพิจารณาอย่างนี้จนจับได้ว่า ร่างกายนี้เป็นเครื่องปรุง อ่า, เป็นๆๆสิ่งที่หล่อเลี้ยงอยู่หรือปรุงแต่งอยู่ด้วยลมหายใจ นี่ลมหายใจเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งร่างกายอยู่ นี้พูดในแง่นี้นะ ไม่ใช่ว่าในแง่ทั่วไปว่าพอไม่หายใจก็ตายอย่างนั้นไม่ใช่ นั้นก็รู้อยู่แล้ว รู้อยู่ก่อนแล้ว เดี๋ยวนี้เราให้รู้ละเอียดถึงว่าไอ้ลมหายใจนี่เป็นสิ่งหรือเป็นตัวการที่ปรุงร่างกายให้ฟุ้งซ่านและให้ๆวุ่นวาย ให้เร่าร้อน หรือให้เยือกเย็น ให้สงบได้ พอรู้อย่างนี้มันก็ ก็มีความรู้ต่อไปโดยการคุม ควบคุมลมหายใจให้เหมาะสม
ก็เลยถึงบทที่ ๔ นี่เรียกว่า ทำกายสังขารคือเครื่องปรุงแต่งกายนั่นน่ะให้มันรำงับ เขาเรียกว่ากายสังขาร เครื่องปรุงแต่งกายนั่นคือลมหายใจ เป็นหัวข้อ ๔ หัวข้อ
นี่หลักทั่วๆไปในเบื้องต้นเกี่ยวกับการทำจิตให้เป็นสมาธิมันเป็นอย่างนี้ จะพูดแต่โดยรายละเอียดตอนนี้มันก็ไม่ไหว มันมาก เดี๋ยวก็หมดเวลา
นั่ง ในที่นี้พูดถึงการตั้งต้นปฏิบัติ ก็คืออิริยาบถนั่งนี้มันเป็นอิริยาบถที่เหมาะสม จะไปยืนทำ ไปนอนทำอะไรก็มันก็ได้ ไม่ใช่ไม่ได้ แต่ว่าไม่เหมาะสม ถ้าไปนอนเดี๋ยวก็หลับ นอนทำไม่ได้ เดี๋ยวก็หลับเสีย ถ้าไปยืนทำเดี๋ยวก็เมื่อยขานี้ ไปเดินทำมันก็ยิ่งลำบาก มันก็ทำได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเขาจึงตั้งต้นด้วยการนั่ง ไปหาที่เหมาะสม ในเวลาที่เหมาะสมและก็นั่ง
วิธีนั่งเขาเรียกว่า นั่งขัดสมาธิ มันก็บอกอยู่แล้วว่านั่งนี้นั่งเพื่อการเจริญสมาธินี่ มีความหมายว่าแม้แต่การนั่งนี้ก็ต้องๆแน่วแน่ ต้องๆแน่นแฟ้น คือต้อง คือต้องมั่นเหมือนกัน เป็นๆ เอ่อ, กิ เอ่อ, เป็นอาการนั่งที่ตั้งมั่นเหมือนกัน เขาจะทำจิตให้ตั้งมั่น ก็ทำ อ่า, ไอ้เครื่องรองรับจิตคือร่างกายให้ตั้งมั่น เพื่อจะทำจิตให้เป็นสมาธิก็ต้องนั่ง ทำกายอย่างนั่งสมาธิ เมื่อเวลาตั้งมั่น นั่งอย่างตั้งมั่น ร่างกายตั้งมั่นก็คือว่ามันล้มยากนะ ฉะนั้นจึงไม่มีอิริยาบถไหนดีเท่าที่เขานั่งกันมาแต่เดิมเรียกว่านั่งสมาธิ
มันเกิดในอินเดีย ก็เลยเรียกท่านั่งอย่างชาวอินเดีย เมื่อเขาไปสอนกันที่เมืองจีนนี่เขาใช้คำที่น่าหัวนะ คือให้นั่งอย่างท่านั่งของชาวอินเดีย Indian Posture คือนั่งสมาธินั่นแหละ เพราะที่ประเทศจีนเขาไม่รู้การนั่งอย่างนี้ แล้วมันก็ไม่ใช่สมาธิอย่างที่ว่าจะนั่งกันเองได้ตามธรรมชาติ มันต้องมีหลักเกณฑ์อะไรบ้างนี้ นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบให้ขามันเป็นฐานที่มั่นคง ถ้านั่งหลวมๆก็คือนั่งอย่างนี้ มันวางอยู่ที่พื้นทั้งสองๆขา ตาตุ่มทั้งสองข้างแตะดินแตะพื้นนะ นี่อย่างเลวที่สุดแล้ว ตาตุ่มทั้งสองข้างแตะดิน ลองนั่งดูเถอะ
ที่ดีกว่านั้นก็ยกไอ้ขาข้างขวานี่ขึ้นมาทับเข่าข้างซ้ายเสีย ก็เหลือตาตุ่มอันเดียวที่จะแตะดิน นี้ยังดีกว่าที่เขายกไอ้ขาข้างซ้ายมาทับเข่าข้างขวาอีกทีหนึ่งมันเป็นอย่างนี้ ก็เลยไม่มีตาตุ่มที่แตะดิน ก็เรียกว่าอย่างที่สุด อย่างดีที่สุด ก็เลยกล้ามเนื้อทั้งนั้นน่ะที่รองอยู่ข้างล่าง ฉะนั้นนั่ง นั่งอย่างมีเบาะรองอยู่โดยธรรมชาติ ก็มีกล้ามเนื้อรอง ไม่มีกระดูกถูกดิน นี่มันก็เป็นเทคนิคได้แล้ว แล้วมันล้มยากน่ะสิ มันงัดกันอยู่มันล้มยาก จะเอียงไปทางซ้ายทางขวาทางหน้าหลัง มันเอียงยากล้มยาก มันก็เป็นมั่น Compact อยู่ในตัว เหมือนกับปีระมิดที่ล้มยากนั้น นี่ก็เป็นเทคนิคของการนั่ง
ทีแรกคงทำไม่ได้ที่จะนั่งขะ อ่า, ขัดสมาธิเพชร แบบนี้เขาเรียกขัดสมาธิเพชร ก็รองลงไปอย่างข้างเดียวเหมือนพระพุทธรูปโดยมากแหละ เขาเรียกขัดสมาธิบัว ดอกบัว นั่งอย่างดอกบัวนั่นน่ะค่อยง่ายหน่อย แม้อย่างนี้ก็ฝรั่งเขาก็ยังว่าทำไม่ได้ ขาคู้ไม่เข้า ต้องปลุกปล้ำกันอยู่หลายวันกว่าจะนั่งอย่างนี้ได้ แต่สำหรับชาวอินเดียแล้วมันนั่งเป็นมาแต่เด็กเล็กๆนั่น การนั่งขัดสมาธิเพชร วชิรอาสนะนั่นเด็กๆก็นั่งได้ที่อินเดีย เพราะมันสืบมาแต่โบราณ ขัดสมาธิเพชร วชิราสนะนี่ ขัดสมาธิบัว ปัทมาสนะ ถ้ายะ ถ้าไม่อย่างนั้นก็มันไม่รู้จะเรียกอะไร คือว่ามันดึงขาเข้ามาพอเป็นวงพอนั่งอยู่ได้ ถ้ามันเกินไปมันก็รู้สึกปวดขาก็ทำสมาธิไม่ได้เหมือนกัน เอาแต่ที่สะดวกสบายก่อน
นั่งตัวตรง ก็หมายความว่ากระดูกสันหลังตรง แล้วการหายใจมันก็ดีสิ ฉะนั้นอย่าๆนั่งก้มหรือคู้หรือเอ เอียงอย่างนี้ นั่งให้มันตรงดิกเลย เหยียดให้กระดูกสันหลังมันตรง เขาเรียกว่านั่งตัวตรง คู้ขาเข้ามาโดยรอบ นั่งสมาธิ ขัดสมาธิ แล้วกำหนดการหายใจอย่างที่ว่ามาแล้วเมื่อตะกี้นี้ ยาวคืออย่างไร ศึกษาเรื่องยาว แล้วศึกษาเรื่องสั้น ทีนี้กำหนดทุกครั้งที่หายใจออก-เข้าหรือเข้า-ออก แล้วแต่ใช้คำไหน มาเถียงกันเสียเวลาหรือเปล่า หายใจออกก่อนหรือเข้าก่อน แล้วแต่เราจะสะดวก หายใจออกก็ตั้งต้นที่สะดือออกมาสุดที่จมูก หายใจเข้าตั้งต้นที่จมูก สุดที่สะดือ ทำมีอาการเหมือนกับวิ่งไปวิ่งมา ก็รู้ความยาว รู้ความนานของการหายใจเข้าหรือออกครั้งหนึ่ง
ในการทำครั้งแรก เมื่อจิตยังไม่ฟุ้งซ่านอย่างอื่นมันไม่ยากหรอก คล้ายๆกับว่าเล่นสนุก นั่งเฝ้าติดตามลมหายใจดูเหมือนกับว่าสัตว์ชนิดหนึ่งวิ่งเข้าวิ่งออก วิ่งเข้าวิ่งออกอยู่ในท่อการหายใจนี้ แล้วเรามีจิตที่วิ่งตามไปดู ฉะนั้นตอนนี้เราจะเรียกว่า วิ่งตาม การลงมือทำอันแรกที่สุดก็คือวิ่งตาม
๑. วิ่งตาม หัดทำให้ได้สิ วิ่งตาม หายใจเข้าไปแล้วหายใจออกมา ถ้ากำหนดไม่ค่อยได้ หายใจให้มันหยาบให้มันแรงเข้า ให้ดังซูดซาดก็ได้ แกล้งทำก็ได้ แล้วมันค่อยๆดังน้อยลงๆ ก็ง่ายขึ้น จนว่าไม่มีเสียงก็กำหนดแต่ความรู้สึกข้างในก็ได้ มีเสียงก็ช่วยมากในตอนแรก ใช้คำว่าวิ่งตาม เข้าก็เข้าไปด้วยกัน ออกก็ออกมาด้วยกัน หรือหยุดอยู่ที่ตรงไหนนิดหนึ่งก็หยุดอยู่ด้วยกัน ตามธรรมดามันหายใจเข้าไปแล้วสุดแล้วมันจะหยุดอยู่นิดหนึ่งกว่าจะกลับออกมาอีก เราก็ต้อง จิตก็ต้อง สติก็ตาม จิต ที่เรียกว่าจิตหรือสติก็ตามนี้ก็ต้องหยุดอยู่นิดหนึ่งน่ะ แล้วจึงตาม คลานตามออกมา แล้วพอสุดแล้วก็ไม่ๆต้องไปข้างนอก หยุดอยู่แค่จมูก ปลายจมูก เอ่อ, ปลายสุดของจมูกก็หยุดอยู่นิดหนึ่งก่อน กว่ามันจะกลับเข้ามาอีก นี่เรียกว่าวิ่งตามอย่างแท้จริง ไม่ให้ขาดระยะเลย ไม่ให้ขาดระยะเลย เข้าใจไหม
คือว่าเข้าไปก็เข้าไป ออกมาก็ออกมา หยุดอยู่นิดหนึ่งก็หยุดอยู่นิดหนึ่ง ก็แปลว่าไม่มีระยะที่ว่าง ที่ปราศจากการกำหนด ระยะที่ไม่มีการกำหนดน่ะมันไม่มี นี่ชั้นๆแรกต้องทำถึงขนาดนี้นะ ต้องทำให้ได้ด้วย ทำถึงขนาดนี้ หายใจเข้าไป หายใจออกมา ไม่ๆๆนึกอย่างอื่นหมด ไม่พิจารณาอะไรหมด อย่าทำทีเดียวหลายเรื่องพร้อมกันไม่ได้ ก็เปรียบเหมือนกับวิ่งๆ เอ่อ, วิ่งตาม เปรียบคำว่าวิ่งตามนี่ ไม่มีในบาลีหรอก ก็คิดขึ้นมาให้อธิบายให้ง่ายๆ ฟังง่ายๆ แล้วก็ตรงตามบาลี คือการวิ่งตาม ทำกี่วันหรือกี่อะไรก็ตามใจจนมันได้จริงๆก่อน ทั้งลมหายใจยาว ทั้งลมหายใจสั้นน่ะ วิ่งตามจนรู้แหละ เพราะหายใจสั้นมันก็รู้สิ หายใจยาวมันก็รู้สิ เพราะเรามันวิ่งตามอยู่นั่น ตามมันแล้วก็เคยสังเกตมาแล้วก็รู้ว่าอย่างนี้สั้นอย่างนี้ยาว อย่างนี้เข้าอย่างนี้ออก แล้วก็วิ่งตามอย่างนั้น บางคนอาจจะทำได้เร็วมาก ในไม่กี่วัน
ทีนี้ขั้นที่ ๒. เขาเรียกว่า เฝ้าดูอยู่ที่จุดหนึ่ง ก็เฝ้าอยู่ที่จุดหนึ่ง จุดที่เหมาะสมที่จะเฝ้าดูก็อยู่ที่จะงอยจมูกตรงที่ลมกระทบ เมื่อเข้าก็ตั้งต้นที่ตรงนั้น เมื่อออกก็มาสุดที่ตรงนั้น สมมติก็ได้ ไม่ๆต้องเป็นเรื่องจริง แต่เอาๆความรู้สึกเป็นหลัก หายใจแรงพ่นออกไปมันถูกที่ตรงไหนก็กำหนดไว้ที่ตรงนั้นแหละ อาจจะเป็นจุดหนึ่งที่เราจะคอยเฝ้าดูที่ตรงนี้ เมื่อลมหายใจเข้าก็ผ่านไปจนหยุดหมด หายใจออกก็ออกมาจนหยุดหมด จุดเฝ้าดูนั้นจะค่อยๆกระจ่างขึ้นๆ ชัดขึ้นๆๆ เพราะจุดตรงนี้จะเป็นจุดที่สำคัญต่อไปข้างหน้า
นี้ถ้าเราทำไอ้ขั้นที่ ๑ ที่เรียกว่าวิ่งตามไม่ๆได้ดี จุดอันนี้จะทำไม่ได้ มันจะคอยหนีไปเสียในระหว่างที่ก่อนที่จะออกมาถึงปลายสุดของจมูก มันมีไอ้จิตมากำหนดอยู่แต่ที่ตรงที่ปลายจมูก ฉะนั้นเมื่อมันเข้าไปข้างในหรือไม่ปรากฏที่จมูกนี้ก็มีเรียก ช่องว่างที่จะหนีไปได้ สติจะหนีไปได้ ถ้าเราจะทำให้แยบคายหน่อยก็ยังขาดระยะ ผ่านจมูกเรื่อยกว่าจะสุด แล้วออก พอผ่านจมูกเรื่อยกว่าจะสุด คอยเฝ้าดูแต่ที่จมูก ที่ช่องจมูกตรงสุดนั้นเรียกเหมือนประตู เฝ้าแต่ที่ประตู ไม่ต้องเที่ยวไปรอบเมืองรอบอะไร ถ้าทำได้ตอนนี้ก็หมายความว่ามันเก่งขึ้นมาถึงขนาดที่เรียกว่าบังคับจิตอยู่ที่ตรงนั้นได้โดยไม่หนีไป ในเมื่อลมหายใจผ่านเข้าไปแล้วหรือยังไม่ทันจะออกมาเป็นต้น นี่มันดี มันดีขึ้น มันดีขึ้นทีละนิดๆ
เมื่อทำบทนี้ได้ก็บท อ่า, ขั้นๆนี้ได้ ขั้นที่ ๓. ก็คือว่า ทำมโนภาพขึ้นที่จุดนั้น ทำมโนภาพขึ้นที่จุดที่เฝ้าดู เมื่อก่อนนี้ไม่ใช่มโนภาพ คือลมจริงๆกระทบที่ตรงนั้นแล้วรู้สึกอยู่ นี้ทำจิตให้ประณีตขึ้นไปอีก สร้างมโนภาพที่เหมาะสม หรือว่ามันเกิดมโนภาพที่เหมาะสมขึ้นมาเองที่ตรงนั้นก็ได้เหมือนกัน เพราะอันนั้นเป็นอารมณ์สำหรับจิตกำหนด นี่คำว่าอารมณ์มันเปลี่ยนมาเรื่อย สังเกตดู ทีแรกก็ลมหายใจเข้า-ออก เข้า-ออกเป็นอารมณ์ ต่อมาก็จุดที่ลมหายใจกระทบนั่นเป็นอารมณ์ นี่พอมาถึงขั้นนี้ มโนภาพที่เราสร้างขึ้นที่จุดนั้นเป็นอารมณ์ แต่มันเหมือนกันอยู่ตรงที่ว่า จะต้องรู้สึกต่ออารมณ์นี้อยู่ทุกตลอดเวลาที่หายใจออกเข้า คำว่าหายใจออกเข้านี้ทิ้งไม่ได้ มันเป็นเหมือนกับจังหวะอันหนึ่งที่สม่ำเสมอ
ถ้าเราสังเกตดูเขาเล่นดนตรี จะมีไอ้ Intermit Instrument เช่น ฉิ่ง เป็นต้น ที่มันตีอยู่เป็นจังหวะ ไอ้พวกนอกนั้นมันเป็นเรื่องมันเปลี่ยนไปตามที่ต้องการ ไอ้พวก Musical Instrument เช่น ไอ้ซอหรืออะไรแบบนั้นมันไปตามเรื่องของมัน แต่อันหนึ่งจะคงที่อยู่เช่น ฉิ่ง เป็นต้น เดี๋ยวนี้เราก็มีไอ้การหายใจที่ออก-เข้า ออก-เข้า ออก-เข้า อย่างสม่ำเสมอนั่นเหมือนกับเครื่องรักษาจังหวะ จะต้องรู้สึกต่อการออก-เข้าอยู่ส่วนหนึ่งอย่างละเอียด อย่างอัตโนมัติ แต่ส่วนที่รู้สึกชัดเจนอยู่ในนี้ที่เป็นอารมณ์แท้ๆนี้ก็เปลี่ยนไปตามขั้นที่เราปฏิบัติไปอย่างไรจนถึง ๑๖ ขั้น เดี๋ยวนี้เราจะพูดกันแต่เพียง ๔ ขั้นในเบื้องต้น
มโนภาพนั้นเราจะน้อมนึกจิตไปสักนิดหนึ่งก็ได้ เราจะเห็นดวงขาว หรือว่าไอ้ดวงขาวมันเกิดขึ้นมาเองโดยไม่ทันจะน้อมนึกก็ได้ ก็เรียกว่ามโนภาพที่สร้างขึ้นมาได้ เปลี่ยนความรู้สึกของการกำหนดทั้งหมดไปอยู่ที่ภาพ มโนภาพนี้หมดเลย มันก็เป็นเรื่องลืมหมด ลืมเนื้อลืมตัว ลืมไอ้ลมหายใจของการกระทบอะไรหมด มันก็มาเพ่งอยู่ที่มโนภาพ สมมติว่าเป็นดวงขาวจุดขาวอยู่ที่นั้น แต่การหายใจเข้า-ออก เข้า-ออกอันนี้จะอยู่ในความรู้สึกพร้อมกันอยู่ด้วย เพราะว่าเราทำมาจนชำนาญในการรู้สึกข้อที่เข้า-ออก เข้า-ออก เข้า-ออกนั้น มันเหลือแผ่วอยู่เป็นอย่างนั้นเสมอไป แต่นี่เห็นชัดแจ้งร่าอยู่ก็คือไอ้ดวงมโนภาพที่สร้างขึ้นมาได้ เป็นดวงขาว ดวงเขียว ดวงแดง หรือเป็นเหมือนกับเพชรเม็ดหนึ่ง หรือเหมือนกับทับทิมเม็ดหนึ่ง เหมือนกับดวงไฟเล็กๆอันหนึ่ง เห็นเท่า อ่า, พระจันทร์ดวงเล็กๆดวงหนึ่ง หรือว่าน้ำค้างที่อยู่กลางแสงแดด หรือว่าน้ำค้างที่ติดอยู่ที่ใยแมงมุมตอนที่มีแสงแดดอ่อนๆ อย่างนี้เป็นต้น เขาเขียนไว้เป็นรายการยืดยาว มโนภาพนี้แล้วแต่จะมีได้อย่างไร
พอมาถึงตอนนี้มันก็เป็นเรื่องครึ่งสำนึกมากขึ้นน่ะ เริ่มเป็นเรื่องครึ่งสำนึกมากขึ้น คือเห็นมโนภาพที่สร้างขึ้นด้วยจิต มันก็ละเอียดไปหมด ลมหายใจก็ละเอียด ร่างกายก็รำงับ ไอ้มโนภาพนั้นช่วยให้กำหนดได้ แล้วก็เตือน ขอเตือนไว้ทุกชั้นว่าทุกๆขั้นทุกๆตอนเป็นเรื่องที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่วิเศษวิโส อย่ามีศักดิ์สิทธิ์ กายสิทธิ์อะไรขึ้นมาแล้ว เดี๋ยวจะหลงไปเสีย เป็นเรื่องที่เป็นไปตามธรรมชาติที่เมื่อทำอย่างนั้นแล้วจะเกิดขึ้นอย่างนั้นจะเกิดขึ้นอย่างนี้ นี่เรียกว่าขั้นที่ เอ่อ, ขั้นที่ ๓ หรือบทเรียนที่ ๓ ให้สร้างมโนภาพขึ้นที่จุดนั้นได้สำเร็จตามต้องการ
แล้วมีอีกคำหนึ่งซึ่งสำคัญมาก ก็ให้เรียกว่า วสี ความชำนาญหรือทักษะอะไรที่เขาเรียกกันเดี๋ยวนี้ก็เรียกไม่ค่อยถูกหรอก แต่ว่าทำย้ำซ้ำจนชำนาญจนเหมือนว่าเล่นทุกๆขั้นมาตามลำดับ นี้การรักษามโนภาพนี้ให้อยู่ตลอดเวลานี้ต้องทำได้เหมือนว่าเล่น เขาเรียกว่า วสี วสีแปลว่าผู้มีอำนาจ มีอำนาจเหนืออะไร มีอำนาจเหนือสิ่งที่เราทำ ในที่นี้ก็มีอำนาจเหนือจิต เหนือสติ ที่บังคับให้มันทำอย่างนั้นได้ตามที่ต้องการเมื่อไรก็ได้ เท่าไรก็ได้ เพราะฉะนั้นเราจะทำในตอนนี้เท่าไรก็ได้ กี่นาทีกี่ชั่วโมงอะไรก็ได้ตามที่สมควร แล้ว อ่า, ขั้นนี้อยู่ในอำ กำมือเราดีแล้วเราจึงเลื่อนไปขั้นใหม่
ทีนี้ขั้นที่ ๔. เขาเรียกว่า เปลี่ยนมโนภาพนั้นได้ตามชอบใจ ข้อนี้อาจจะๆจัดไว้เป็นข้ออีกข้อน้อยขะ แขนงหนึ่งแฝงอยู่กับข้อที่ ๓ ก็ได้ แต่จะแยกมาเลยก็ได้ เรียกว่าเปลี่ยนมโนภาพตามชอบใจเลยเป็นข้อที่ ๔ ขั้นที่ ๔ หรือบทที่ ๔ โน มโนภาพที่เห็นแน่วแน่นิ่งอยู่นั่นเดี๋ยวนี้จะเปลี่ยนแล้ว จะเปลี่ยนเรื่องแล้ว บังคับหรือน้อมจิตไปให้มันเปลี่ยนตามที่น้อมจิตไป เปลี่ยนสี เปลี่ยนรูปร่าง เปลี่ยนขนาด เปลี่ยนอิริยาบถ ให้เข้าไป ให้ๆๆออกไปไกลก็ได้ ให้เข้ามาก็ได้ ให้เล็กก็ได้ ให้ใหญ่ก็ได้ น้อมจิตไปอย่างไรมันจะเปลี่ยนได้ตามที่น้อมจิตไป
นี่ถ้าว่าไปเกิดเข้าใจว่ามีฤทธิ์มีเดชแล้วเดี๋ยวบ้าเลย แล้วคนเป็นบ้าก็เพราะว่าเขาอยากจะบ้ามาตั้งแต่ทีแรก ตั้งแต่ก่อนมาทำนี่ มันอยากจะมีฤทธิ์มีเดช มีปาฏิหาริย์ มีอะไรตั้งแต่ก่อนมาทำ มันเป็นคนเจตนาไม่บริสุทธิ์ มันจะเอาประโยชน์เป็นเรื่องส่วนตัวนั่น คนชนิดนี้ก็หลงเป็น อ่า, เป็นบ้าไปได้ง่าย ว่าเรามีฤทธิ์มีเดช เริ่มมีนั่นมีนี่แล้วมันก็ไปอีกทางหนึ่ง คุมไม่อยู่ แต่ถ้าเรามารู้ว่าเราทำมันอย่างวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับร่างกายกับจิตมันเป็นไปอย่างนี้ เพื่อผลคือความสงบสุข ไม่ใช่ฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ก็ไม่เป็นไร
นี้ลองคิดดูเถอะว่าจิตน้อมไปอย่างไรภาพนั้นเปลี่ยนไปอย่างนั้นนะ นี้ไวมาก คล่องแคล่วมาก ละเอียดประณีตมาก เรียกว่าจิตนี้ถูกฝึกดีถึงขนาดที่จะเป็นสมาธิแท้จริงได้ ที่แล้วๆมามันเป็นสมาธิอย่างไอ้อย่างขั้นต้นๆ สมาธิอะไรดี สมาธิเด็กเล่น สมาธิแบบเด็กสอนเดินนั้นน่ะเรื่อยๆมา ล้มลุกคลุกคลานมาบ้างอะไรมาบ้าง แต่ต่อไปนี้ถ้าว่าถึงขนาดที่บังคับมโนภาพได้ตามต้องการแล้ว จะบังคับจิตให้เป็นสมาธิอย่างแท้จริงสูงสุดได้ ที่เรียกว่า อัปปนาสมาธิ สมาธิแน่วแน่ ไม่ใช่สมาธิเฉียดๆ ไอ้ความที่สามารถบังคับจิตได้เดี๋ยวนี้ก็บังคับไว้ให้มันแน่วแน่ เรียกว่าทำองค์ประกอบของความเป็นสมาธิแท้จริงให้เกิดขึ้นนี่
ขั้นที่ ๕. เรียกว่าทำ ทำความรู้สึกในองค์ฌานทั้ง ๕ ให้เกิดขึ้น ขั้นที่ ๕ นะ ตอนที่ ๕ ทำความรู้สึก (นาทีที่ 55.06 ย้อนกลับไปเล่นซ้ำช่วงนาทีที่ 53:29-55:05)
แต่ถ้าเรามารู้ว่าเราทำมันอย่างวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับร่างกายกับจิตมันเป็นไปอย่างนี้ เพื่อผลคือความสงบสุข ไม่ใช่ฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ก็ไม่เป็นไร
นี้ลองคิดดูเถอะว่าจิตน้อมไปอย่างไรภาพนั้นเปลี่ยนไปอย่างนั้นนะ นี้ไวมาก คล่องแคล่วมาก ละเอียดประณีตมาก เรียกว่าจิตนี้ถูกฝึกดีถึงขนาดที่จะเป็นสมาธิแท้จริงได้ ที่แล้วๆมามันเป็นสมาธิอย่างไอ้อย่างขั้นต้นๆ สมาธิอะไรดี สมาธิเด็กเล่น สมาธิแบบเด็กสอนเดินนั้นน่ะเรื่อยๆมา ล้มลุกคลุกคลานมาบ้างอะไรมาบ้าง แต่ต่อไปนี้ถ้าว่าถึงขนาดที่บังคับมโนภาพได้ตามต้องการแล้ว จะบังคับจิตให้เป็นสมาธิอย่างแท้จริงสูงสุดได้ ที่เรียกว่า อัปปนาสมาธิ สมาธิแน่วแน่ ไม่ใช่สมาธิเฉียดๆ ไอ้ความที่สามารถบังคับจิตได้เดี๋ยวนี้ก็บังคับไว้ให้มันแน่วแน่ เรียกว่าทำองค์ประกอบของความเป็นสมาธิแท้จริงให้เกิดขึ้นนี่
ขั้นที่ ๕. เรียกว่าทำ ทำความรู้สึกในองค์ฌานทั้ง ๕ ให้เกิดขึ้น ขั้นที่ ๕ นะ ตอนที่ ๕ ทำความรู้สึก ที่เป็นองค์ประกอบของสมาธิ ๕ องค์ วงเล็บ ๕ องค์ ให้เกิด ให้ปรากฏขึ้นในความรู้สึก คือว่าจิตแน่วแน่อยู่ด้วยความรู้สึกที่เป็นองค์ฌานองค์สมาธิ ๕ องค์ เรียกว่า วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
วิตก คือความรู้สึกว่าจิตกำหนดอยู่ที่อารมณ์
วิจาร คือจิตรู้สึกซึมซาบแจ่มแจ้งในอารมณ์นั้น วิตกสักว่ากำหนดน่ะ ถ้าวิจารแล้วก็รู้แจ้งอย่างมี Experience ในขณะนั้น ในสิ่งนี้ เอ้อ, ในๆๆๆอารมณ์นั้น ในจิต ในอารมณ์ที่จิตกำหนดนั้น หรือในจิตเองนี้ สักว่าไปกำหนดเข้านี้เรียกว่าวิจาร แต่ว่าถ้าซึมซาบในความรู้สึกนี้ เอ๊ย, เรียกว่าวิตกนะ ไปกำหนดเข้าเรียกว่าวิตก คำนี้ตรงกับคำว่าคิดนะ แต่นี่ไม่ใช่คิด ไม่ใช่เพ่งคิด มันเป็นการกำหนดของจิตอยู่ที่นั่น และรู้สึกอย่างละเอียดทั่วถึงในสิ่งนั้นก็เรียกว่าวิจาร ซึ่งคำนี้แปลว่าพิจารณา แต่ในกรณีนี้ไม่ใช่พิจารณา แต่มีความหมายอย่างกับพิจารณาคือ รู้ซึมซาบทั่วถึงอยู่ นิ่ง อ่า, แนบนิ่งอยู่นี้
แล้ว ปีติ ในเวลานั้นก็มีความรู้สึกพอใจ
แล้ว สุข ก็คือสบาย รู้สึกสบาย รู้สึกเป็นสุข
แล้ว อุเบกขา ก็คือความที่หรือภาวะที่จิตมีอารมณ์เดียวอันนี้อยู่อย่างนี้ไม่ไปไหน เขาเรียกว่า วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
จิตกำหนดต่ออารมณ์ จิตซึมซาบอยู่ต่ออารมณ์ เกิดความพอใจคือปีติ แล้วก็รู้สึกเป็นสุขด้วย แล้วมีภาวะที่จิตเป็นของมีอารมณ์ อ่า, จิตเป็นสิ่งที่มีอารมณ์อันเดียว มียอดอันเดียว มียอดสุดอันเดียว คำว่า Concentrate คือความหมายของคำว่าเอกัคคตา เขาชอบเรียกกันว่า Concentration คือทำให้มารวมอยู่ที่จุดเล็กๆจุดเดียว ภาษาธรรมดาก็แปลว่าทำให้ๆข้นเข้าจนเหลือแต่น้อยนี้ เอาน้ำตาลสดมาเคี่ยวให้เป็นน้ำตาลก้อนแข็ง นี้ลักษณะของ Concentrate ในภาษาธรรมดา แต่เดี๋ยวนี้เราเอากำลังจิต กระแสของจิต อะไรที่เกี่ยวกับจิตทั้งหมดมาทำให้มันเข้มข้นเข้าเป็นจุดเดียวที่เรียกว่าเอกัคคตานั้น ความเป็นเอกัคคตาก็มีมากเป็นลำดับๆๆต่อไป
ถ้าว่าจะมีฤทธิ์มีปาฏิหาริย์ ก็เรื่องเอกัคคตานี่จะสำคัญมาก จะเข้มข้นมากขึ้น เหมือนที่เราเคยอ่านในเรื่องราวอำนาจจิต อำนาจสมาธิ อำนาจนี้มันคืออำนาจของเอกัคคตานี้ พวกยักษ์พวกอสูรพวกอะไรเขาก็มีสมาธิมีฤทธิ์ มีฤทธิ์แล้วเขามีสมาธิก็มีไอ้อย่างนี้เหมือนกัน เช่นว่าฤาษีคนหนึ่งมีสมาธิขนาดที่เพ่งไปที่ใครหรือสัตว์ใดมันตายเลยนี้ มีตาชนิดที่เป็นไฟหรือเป็นอะไรก็เรียกไม่ค่อยถูกน่ะ แต่ว่าคืออำ โดยแท้จริงก็คืออำนาจของสมาธิจิต ของเอกัคคตานี้ ก็เพ่งไปที่คนหรือสัตว์ทำให้สัตว์นั้นสลบหรือตายไปเลย นี้ก็มีฤทธิ์มาก เป็นตัวอย่าง
หรือแม้ที่สุดแต่เราจะขจัดปัดเป่าความรู้สึกที่ไม่ต้องการ ก็ต้องด้วยอำนาจเอกัคคตานี้ จิตสงบเป็นสมาธิ หรือว่าเขารบกัน ถูกตีถูกแทงร่างกายยุบยับไปหมดแล้ว ก็อาศัยเอากำลังจิตลูบเป่าลุกขึ้นไปรบได้อีก อย่างนี้เป็นต้น แต่นี้ไม่ใช่ความมุ่งหมายของอานาปานสติ แต่บอกให้เข้าใจคำว่า เอกัคคตา หรือความที่มันเป็นสมาธิ มันรวมกำลังทั้งหมดมาอยู่เป็นจุดเดียวอย่างนี้ ที่ไฟฉายของเราก็มีลักษณะไอ้ Concentrate อยู่ที่ไอ้จานรวมแสงนี้ ไม่เช่นนั้นแสงมันพร่าไปรอบตัว มันเป็น Radiation รอบตัว มันมีนิดเดียวดูจะส่องอะไรไม่ได้ พอรวมไอ้ทั้งหมดนั้นมาเป็นจุดเดียวด้วยไอ้ๆๆๆจานที่บังคับแสง มันก็เป็นลำพุ่งไปเห็นชัดดีอย่างนี้ นั้นไม่ใช่มันสร้างขึ้นใหม่ แต่มันรวมไอ้ทั้งหมดที่มัน ไอ้หลอดนั้นมันให้ออกมา มันก็เลยเป็นแสงเล็กขาว ไม่ใช่ ไม่ใช่สร้างขึ้นใหม่ คือมันรวมไอ้ทั้งหมดที่มันพร่าอยู่ มันต่างกันลิบลับนะ
จิตก็เหมือนกัน ปล่อยไปตามเรื่องมันก็เหมือนกับไอ้หลอดไฟฉายที่มันไม่มีจานบังคับแสง ถ้าทำสมาธิสำเร็จมันก็เหมือนกับไอ้จานบังคับแสง มันก็แรงก็พุ่งไปที่นั่น เพราะฉะนั้นคนนั้นจึงคิดเก่ง จำเก่ง ตัดสินใจเก่ง อะไรดีไปหมดถ้าเป็นเรื่องทางจิต
เดี๋ยวนี้ทำองค์ฌาน ๕ ประการให้เกิดขึ้นได้แล้วอย่างนี้ แล้วไอ้แกนกลางที่สำคัญที่สุดคือที่เรียกว่า เอกัคคตา คนนี้เป็นผู้มีสมาธิแท้จริงในอันดับแรกเรียกว่า ปฐมฌาน คือฌานที่ ๑ ต่อไปนี้ก็ไม่มีอะไรแล้ว มันก็เป็นเรื่องให้เข้มข้นขึ้นไปๆ เป็นฌานที่ ๒ เป็นฌานที่ ๓ เป็นฌานที่ ๔ แล้วก็ฌานที่ ๔ ก็ละเอียดประณีต ลึกซึ้ง ระงับถึงขนาดที่เรียกว่าไม่ได้หายใจ ไม่ได้รู้สึกอะไร ถ้าฟ้าผ่าลงมาข้างๆก็ยังไม่รู้สึก อย่างนี้เป็นต้น มันๆไปเป็นเรื่องละเอียดออกไป ไม่ๆต้องพูดก็ได้
นี้เราจะพูดแต่ความเป็นสมาธิตามธรรมดาสามัญที่เราจะใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันมากกว่า มานั่งตัวตรง หายใจยาวๆหลายๆครั้ง เท่านี้ก็เป็นการปรับปรุงในเบื้องต้นแล้วที่จะลงมือคิดอะไร แม้แต่คิดเลขคิดอะไรก็ตาม แต่ถ้ายังอยากจะฟังวิทยุพลางทำการบ้านพลางอยู่ เราก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร นั้นมันต้องการคนละอย่าง ถ้าอยากจะมีจิตที่อบรมดีพิเศษ ลักษณะน่าอัศจรรย์แล้วก็ต้องทำอย่างนี้ เรียกว่าทำอานาปานสติ เพราะว่ามันทำการบังคับจิตทุกลมหายใจที่เข้าและออก หรือออกและเข้าแล้วแต่จะเรียก เป็นการบังคับร่างกายโดยผ่านทางลมหายใจให้ร่างกายรำงับลงๆๆ นั่นน่ะคือความเป็นสมาธิ พอจิตรำงับลง ร่างกายรำงับลง ลมหายใจรำงับลง พร้อมกันทั้ง ๓ อย่าง แต่เราจะไปทำที่จิตมันก็ไม่ได้ ทำที่กายก็ลำบาก ฉะนั้นทำที่ลมหายใจง่ายกว่า ไปจัดลงไปบนลมหายใจ แล้วผลมันลงไปถึงร่างกายและถึงจิตเองด้วย นี่หลักทั่วๆไปโดยย่อมันก็มีอย่างนี้ ร่างกายเนื่องอยู่กับลมหายใจ เราจึงสามารถบังคับร่างกายโดยผ่านทางลมหายใจ
แล้วการที่จะไปบังคับร่างกายหรือลมหายใจก็ตาม คือการทำสิ่งที่มันมีผลแก่จิตที่จิตจะต้องละเอียดลงเองโดยอัตโนมัติ ละเอียดประณีต สงบระงับลงเองโดยอัตโนมัติตามธรรมชาติ มันจึงมีผลไปถึงจิตด้วย ทีนี้ความสงบรำงับของทั้งหมดนี้เราเรียกว่าสมาธิ ตั้งมั่นของจิต แล้วจิตก็สะอาดปราศจากสิ่งรบกวน มีความสุข ไอ้จิตที่ฝึกได้ว่องไวอย่างนี้ มี อ่า, มี อ่า, มีอำนาจในจิตอย่างนี้ก็เป็นจิตที่ไวในการงาน สม อ่า, คือถือว่าครบตามที่ๆวางไว้ว่า จิตบริสุทธิ์ และก็จิตตั้งมั่น และก็จิตว่องไว ๓ ชนิดนี้เป็นองค์ประกอบของจิตที่เรียกว่ามันเป็นสมาธิ
เรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมอันหนึ่งของมนุษย์ที่เขาค่อยพบๆๆๆๆมาตามลำดับ หากแต่ว่ามันเป็นเรื่องทางจิตใจ ไม่ใช่เรื่องทางวัตถุ ที่แท้ก็เป็นวัฒนธรรมตามธรรมดาที่มนุษย์จะต้องพบและจะต้องเจริญมากขึ้นๆจนถึงระดับสูงสุด เป็นรูปฌาน เป็นอรูปฌาน เป็นสมาบัติ เป็นสมาธิคือว่าทำให้เป็นสมาธิ เป็นสมาบัติคือว่าหยุดอยู่ในความเป็นสมาธินาน นี่เรียกว่าเข้าสมาบัติ ทำสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่พอใจแล้วหยุดอยู่ในสมาธิชนิดนั้นนานอย่างนี้เขาเรียกว่า เข้าสมาบัติ มนุษย์ค้นพบ มนุษย์ทำได้ในฐานะเป็นวัฒนธรรมอันหนึ่ง เป็นเรื่องทางจิตใจ ทีนี้ต่อมาพระพุทธเจ้าก็ใช้ไอ้วิธีการอันนี้มาเสริมต่อไปให้เป็นเรื่องของปัญญา เมื่อจิตที่เป็นสมาธิดีแล้วนี้ก็บอกแล้วว่าคิดเก่ง จำเก่ง พูดอะไรเก่งๆ ตัดสินใจเก่ง สอดส่องเก่ง ก็เลยเอามาใช้สำหรับเพ่งในการเพ่งที่ ๒
เพ่งที่ ๑ คือเพ่งสมาธิ
เพ่งที่ ๒ คือเพ่งปัญญา
เพ่งที่ ๑ คือเพ่งให้สงบรำงับ เพ่งที่ ๒ คือเพ่งให้รู้แจ้ง ทีนี้จิตที่ทำการเพ่งสมาธิดีแล้ว คล่องแคล่วเป็นจิตที่ดีแล้ว อบรมดีแล้วนี้ก็เอามาใช้เพ่งปัญญา ดูอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดูความไม่เที่ยง ความน่าเกลียดน่าชังหรือความทนทรมานของสิ่งนั้นที่ไปยึดถือเข้า แล้วดูความเป็นอนัตตา คือว่า แหม, นี้มันเป็นธรรมชาติล้วนๆ ไม่ใช่มีตัวกูของกูที่ไหนเลยอย่างนี้ เรียกว่าปัญญา เป็นอนัตตาคือไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวกูของกู อย่างนี้ทำให้หมดกิเลส บรรลุมรรคผลนิพพาน นี่เพ่งปัญญา
ทีนี้เราสนใจไอ้คำว่าสมาธิกัน ในวันนี้ก็ตั้งใจจะพูดแต่เรื่องสมาธิ เพราะเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ๆสมบูรณ์แล้วโดยหัวข้อ โดยหลักการว่าทำสมาธิคือทำอย่างนี้ นี้ประโยชน์ที่คนทั่วไปจะพึงได้ก็คือว่า จะบังคับจิตได้ เมื่อมันจะไปบ้าอย่างใดอย่างหนึ่งก็บังคับได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่บ้า ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เป็นบ้า ไม่ลืมตัว ไม่อะไรต่างๆที่เขาเรียกกันว่าเป็นบ้า คือมันฟุ้งซ่าน ถ้าบังคับได้จริงมันก็บังคับได้ทุกอย่าง ไม่ให้ไปรักเข้า ไม่ให้ไปเกลียดเข้า ไม่ให้ไปโกรธเข้า ไม่ให้ไปกลัวเข้า ไม่ให้มานั่งเศร้าสร้อยอยู่ ไม่ให้มานั่งร้องไห้อยู่ มันบังคับได้อย่างนี้ ส่วนที่จะแก้ปัญหาที่เป็นความทุกข์ในระดับที่สมาธิจะช่วยได้
ทีนี้ส่วนที่จะแก้ปัญหาสูงขึ้นไปสำหรับคิดนึกพิจารณาอะไรให้ดี หรือให้การศึกษาดี มันก็ใช้จิตที่เป็นสมาธิแล้วนี้ หรือว่าทำจิตให้เป็นสมาธิเท่าที่ทำได้ก่อนแล้วจึงลงมือคิด อย่างพอนั่งลงก็ปรับปรุงจิตแว่บเดียวเพื่อเป็นสมาธิ แล้วก็คิดพิจารณาหน้าที่การงาน ถึงพวกนักวิทยาศาสตร์ชั้นเลิศของโลกที่จะคิดอะไรออกมันก็เป็นอย่างนี้ ทำอย่างนี้ แต่ว่ามันคล่องแคล่วอยู่โดยตัวเป็นคล้ายๆเป็นอัตโนมัติ เราจะเพ่งอะไรให้ลึก กำลังจิตเราต้องรวม โดยเฉพาะอย่างที่ว่าเราจะยิงปืนให้ดีนี่ มันเป็นอัตโนมัติ พอประทับปืนเล็ง ไอ้ความเป็นสมาธิมันก็เกิดขึ้น แล้วคนที่มีสมาธิมากมันก็ยิงได้ดีกว่า สมาธิสูงสุดมันก็ยิงได้ดีที่สุด แม้ที่สุดแต่เราจะเล่นกีฬาจะแข่งขันกีฬา ถ้าจิตปรกติเป็นสมาธิก็จะทำได้ดีที่สุด แล้วแต่จะเป็นกีฬาชนิดไหน เพราะมันลืมเรื่องอื่นหมด มันเหลืออยู่แต่เรื่องที่จะทำเฉพาะหน้านั้น
มันก็จึงใช้ในทุกกรณี แม้แต่จะจัดดอกไม้ในแจกันแบบญี่ปุ่นนั้นน่ะ พวกที่เคยหัดสมาธิมาแล้วก็ทำได้ดีกว่า เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์พวกนี้เขาไปเรียนเซน เรียนทำสมาธิอะไรมา จึงเป็นผู้จัดดอกไม้ได้พิเศษ ฉะนั้นขอให้ถือว่าจิตที่อบรมดีแล้วก็ทำอะไรได้มากเหลือเกิน ทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ไม่มีอะไรที่จะควรฝึกฝนนอกไปจากจิต ฝึกม้า ฝึกแมว ฝึกสัตว์ ฝึกคน ก็ยังไม่ดีเท่าฝึกจิต.