แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๑๖ วันนี้เป็นการบรรยายครั้งที่ ๕ ผมจะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า สิ่งที่เรียกกันว่า คน ในวิชาธรรม วิชาธรรมะ เรื่องนี้มีความสำคัญมาก แต่ก็ไม่ค่อยมีใครจะสนใจ ผู้ที่จะมีความเข้าใจธรรมะโดยตรง โดยเร็ว อย่างลึกซึ้งนี้ ผมเห็นว่าเข้าใจเรื่องสิ่งที่เรียกว่าคน เท่านั้นแหละมันพอแล้ว มันนับตั้งแต่ว่าไปรู้จักปฏิบัติเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าคนให้เรียบร้อยไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไปรู้ความจริงในที่สุดว่า คนมิได้มีอยู่เลย เรียนเรื่อง คน นี่มันหลายแง่หลายมุมอย่างนี้
ในวิชาอื่นมีความมุ่งหมายอย่างอื่น ก็รู้จักสิ่งที่เรียกว่าคนกันไปในความหมายอย่างอื่นหรือต่างๆ กันไป แต่ในทางธรรมะนั้นมันไปเรื่อยจนกระทั่งว่า รู้จริง แล้วก็ไม่มีคน ทีนี้บางคนก็จะกลัวเสียล่วงหน้าหรือเข้าใจผิดเสียล่วงหน้า ว่าถ้ามันเป็นเรื่องที่ไม่มีคนแล้วก็ไม่เกี่ยวกันกับเรา เราต้องการจะมีคน แล้วยังมีคนที่ดีหรือมีมาก มีความเป็นคนมากขึ้นไปอีก อย่างนี้ก็เป็นเรื่องจะเรียกว่าเข้าใจผิดก็ได้ หรือเข้าใจยังไม่ทันจะถึงจุดของเรื่องก็ได้ พุทธศาสนามุ่งหมายจะต้องการให้ไม่มีความทุกข์ ไม่ได้มุ่งหมายอย่างอื่น เพราะว่าเรื่องอื่นๆ นี่คนเขาก็ทำกันไปได้ ไอ้เรื่องที่จะไม่ให้มีความทุกข์ทำไม่ได้ จนต้องอาศัยศาสนามาสำหรับจะทำให้ไม่เป็นทุกข์ นับตั้งแต่ว่าอดกลั้นได้หรือว่ากำจัดความรู้สึกว่าเป็นทุกข์ออกไปเสียได้โดยสิ้นเชิง เพราะนั้นขอให้สนใจคำๆ นี้เป็นพิเศษ เพราะว่าถ้าฟังไม่ทันจะเข้าใจแล้วก็จะเห็นว่ามันเป็นเรื่องเล่นตลก ถึงกับขนาดที่จะพูดว่า เป็นคนกันโดยไม่ต้องมีความเป็นคน ถ้าเข้าใจข้อนี้ได้ก็เข้าใจพุทธศาสนาหมด ลึกๆ ถึงที่สุด เป็นคนได้โดยไม่ต้องมีความรู้สึกยึดถือมั่นหมายว่า กูเป็นคน อย่างนี้ คล้ายๆ กับเล่นตลก แต่จริงๆ ก็เป็นอย่างนั้น เดี๋ยวนี้เรามีความเป็นคน ด้วยความสำคัญเอาว่าเป็นคน มั่นหมายยึดถือเป็นคน แล้วก็ไม่รู้ว่าไม่ตรงกับความเป็นจริงในชั้นลึกของธรรมชาติ มันเป็นเพียงธรรมชาติก็มารู้สึกว่าเป็นคน มันก็นึกอะไรมาก หวังอะไรมาก มั่นหมายอะไรมาก อันนั้นมันเป็นส่วนเกิน ก็เลยต้องเป็นทุกข์ จะฟังเข้าใจเดี๋ยวนี้หรือยังไม่เข้าใจก็สุดแท้ ก็ขอให้ฟังให้ดีที่สุดที่จะฟังได้ เรื่อง คน เพราะฉะนั้นผมจึงตั้งหัวข้อว่า จะพูดถึงเรื่องของ สิ่งที่เรียกกันว่าคนตามความหมายในทางธรรมะหรือวิชาธรรมะ ขอให้นึกทบทวนอยู่เสมอว่าเรากำลังพูดกันโดยหัวข้อใหญ่ว่า วิชาธรรมสำคัญกว่าวิชาชีพ เพื่อจะให้ได้ผลอันใหญ่หลวง ข้อที่ว่าจะได้ไม่เป็นทุกข์ในความเป็นคนนั้นเหมือนกัน วิชาชีพอย่างเดียวไม่พอสำหรับความเป็นคน หมายถึง เป็นคนอย่างมนุษย์ เป็นคนที่สมบูรณ์แก่ สมบูรณ์แล้วก็สมแก่คำว่ามนุษย์
ตามธรรมดาความเป็นคนนี้รู้สึกกันแต่เพียง มีกิน มีใช้ อิ่มปาก อิ่มท้อง ได้เล่นได้หัว มีเกียรติยศชื่อเสียง ก็พอแล้ว นี่ขอให้สอบสวน ทดสอบตัวเองดูให้ดีว่าเรากำลังรู้สึกอย่างนั้นอยู่หรือเปล่า โดยเฉพาะพวกคุณทั้งหลายที่กำลังศึกษาเล่าเรียนบวชระหว่างปิดภาคนี่ ผมอยากจะพูดว่า มันอยู่ในวัยแรกหรือในระยะแรก ที่เข้ามาพบ มาปะทะกันเข้ากับความเป็นคน จึงขอร้องว่าอย่าเพ่อประมาทหรือพูดตรงๆ ก็ว่าอย่าเพ่ออวดดี ไม่รู้จักความเป็นคนถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุด แล้วก็ทำอะไรไปด้วยความมุทะลุดุดัน เพราะว่าถ้ารู้จักความเป็นคนถูกต้องและสูงสุด จะไม่ทำอะไรอย่างมุทะลุดุดัน นี่มันแน่นอน ตายตัวอยู่อย่างนี้ ถ้ายังมีการทำอะไรด้วยความฮึดฮัด มุทะลุดุดัน มั่นหมายในความรู้สึก เชื่อมั่นตามแบบของตัวเองซึ่งมีแต่ความเป็นคนชนิดมุทะลุดุดัน ชนิดแรกปะทะ มันก็จะกลายเป็นสิ่งที่น่าสงสารแล้วจะเป็นความทุกข์ด้วย ถ้ามีแต่วิชาชีพคือรู้แต่เรื่องวิชาชีพ ความเป็นคนจะมีปัญหามาก เต็มไปด้วยปัญหา เพราะว่าอย่างน้อยก็ไม่รู้จักป้องกันไม่ให้เกิดความรู้สึกที่เป็นความทุกข์ เรื่องวิชาชีพนี้มันก็จะต้องยั่วยุไปในทางที่จะเอาให้มาก เอาให้ไม่มีขอบเขตและต้องแข่งขันกันด้วย นี่สิ่งทั้งปวงตามธรรมชาตินั่นมันไม่ได้อย่างใจหรือจะไม่ได้ด้วยเหตุสักว่ามั่นหมายเอา ต้องพบกันกับความไม่ได้อย่างใจหรืออีกทีได้ตรงกันข้าม ก็มีความทุกข์ เพราะนั้นมั่นหมายเอานี่มันง่ายเกินไปนัก มันต้องทำให้ถูกวิธีที่สุดจึงจะเกิดเป็นผลขึ้นมา ปัญหาเหล่านี้มันแก้ไปได้ด้วยความรู้ที่เรียกว่า ธรรมะ เป็นวิชาธรรมะคู่กันไปกับวิชาชีพ มันจึงจะไม่มีปัญหาเหลืออยู่ ความเป็นคนก็ไม่เกิดเป็นพิษขึ้นมาได้ ถ้าไม่รู้เรื่องนี้ก็มีความทุกข์ คือความเป็นคนนั่นมันเกิดเป็นศัตรูขึ้นมา เกิดเป็นพิษขึ้นมา เพราะบุคคลคนนั้นเขาไม่รู้ธรรมะ ในชั้นสูงสุดก็หมายความว่า ไปมั่นหมายในความเป็นคนหรือมีสัตว์ มีบุคคล มีตัว มีตน มีเรา มีเขา นี่มันมากไป นี่ในชั้นลึกเอาออกไปไม่ได้ แล้วก็จะต้องมีความทุกข์อย่างลึก คนที่เพียงแต่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพ มีเงิน มีของ มีกิน มีกาม มีเกียรติ แล้วมันก็ยังไม่พ้นไปจากความทุกข์ นี่เรียกว่าแก้ปัญหาของคนยังไม่ได้ เว้นไว้แต่ว่าเขาจะไปคิดแต่ว่าแค่นั้นก็เป็นคนแล้ว ถึงความเป็นคนที่สมบูรณ์แล้วคือเพียง มีกิน มีกาม มีเกียรติ สามอย่างนี้เป็นคนที่สมบูรณ์แล้ว ในทางธรรมะเขาไม่เอาเพียงเท่านั้นก็เลยไปถึงความไม่มีทุกข์ เพราะเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ นั้นอีกทีหนึ่ง จึงจะยึดติดกันว่าคนนั้นก็ได้ไปถึงที่สุดของปัญหาของความเป็นคน เพราะฉะนั้นเรามาพูดกันเรื่องคำว่า คน หรือ สิ่งที่เขาเรียกกันว่าคน ให้เป็นที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง
ทีนี้ก็เรื่องมันก็มีอย่างที่ได้กล่าวกันมาแล้วหลายๆ ครั้ง ว่าคำพูดแต่ละคำหรือเรื่องแต่ละเรื่องนั้นมันมีความหมายแตกต่างกันไปตามแขนงของมัน เราต้องศึกษากันอย่างน้อยก็ให้ทุกแขนงที่มันเกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้ถึงแขนงที่สำคัญที่สุดที่จะแก้ปัญหาได้ นี่ขอให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าคนในหลายๆ ความหมายสักหน่อย คำว่า คน ในภาษาพูด ที่พูดกันอยู่เป็นประจำวันในโลกนี้ ก็พูดตามความหมายที่เกิดมาแต่ความรู้สึกที่พูดกันอยู่โดยสมมุตินั้น เรื่องนี้เกือบไม่ต้องอธิบาย คุณสังเกตเอาเองว่าที่เรียกกันว่าคน คน นี่เราพูดกันทุกวันนี่หมายถึงอะไร คือสมมุติกันโดยโวหารเรียกว่า คน ในภาษาของคนในโลกก็เลยเรียกว่า คน คน พอหรือสักว่าสำหรับพูดให้รู้เรื่องกันหรือติดต่อกัน พูดถึงคนคนนี้ นาย ก นาย ข นาย ค นาย ง ก็เพื่อ ก็เพื่อธุระ การงาน ไม่ได้ต้องการจะรู้สึกอะไรมากไปกว่านั้น นี้ก็รวมอยู่ในพวกที่ไม่รู้จักคนลึกถึงขนาดที่จะแก้ปัญหาทางจิตใจได้ ก็เพียงแต่ว่าทำการเกี่ยวข้องติดต่อกันไปตามความจำเป็นที่จะต้องทำเกี่ยวกับคน แล้วก็มีคนดี คนชั่ว คนพาล คนบัณฑิต แล้วแต่เราจะต้องการอย่างไร นี่ก็อย่างหนึ่ง ก็เป็นชั้นแรกเป็นชั้นรากฐานที่สุด สำหรับจะหยิบขึ้นมาพิจารณาดูว่ามันอย่างไรกันแน่ แล้วก็มันเกิดปัญหาขึ้นเพราะเรารู้จักสิ่งที่เรียกว่าคนแต่เพียงเท่านั้น แล้วยึดถือมั่นหมายว่าเป็นคน ฝ่ายเรา ฝ่ายเขา ฝ่ายนั้น ฝ่ายนี้ ขึ้นมาจริงๆ ก็มีปัญหาหลายอย่างหลายประการ เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กัน แล้วส่วนใหญ่ก็นำไปสู่ความคิดนึกชนิดที่จะแข่งขันกัน แย่งชิงกัน เบียดเบียนกัน แล้วสิ่งใดที่ได้มาก็เอามาเป็นของของตน นี้มันจะเป็นจุดตั้งต้นของปัญหา ขอให้รู้จักมันให้ดีๆ อย่าประมาทเหมือนที่กำลังประมาทอยู่ว่าเรื่องนี้เรารู้แล้ว เรื่องนี้เราเข้าใจแล้ว ใช้ความคิดนึกหวัดๆ เอาก็รู้เรื่องสิ่งที่เป็นคนหรือรู้จักคน อย่างนี้ยังผิดมาก ถ้าพูดกันตามภาษาธรรมะ หรือ วิชาธรรม กันแล้วก็ ยัง ยังไม่รู้จักคนหรอก คนทั่วไปยังไม่รู้จักคน สนใจเรื่องนี้ให้มากพอก็จะเข้าใจธรรม หรือ ธรรมะ แล้วแต่จะเรียกนะ ได้ดียิ่งขึ้นไปตามลำดับ เพราะว่าในโรงเรียนในมหาวิทยาลัยก็สอนเรื่องคนกันสักว่าปล่อยไปตามเรื่อง ไปสอนวิชาชีพสำหรับคนจะไปหาเลี้ยงชีพโดยไม่ต้องรู้ว่าคนนั้นมันคืออะไร นี่เป็นเรื่องน่าหัว เขาเอาตามความรู้สึกที่คนทั่วๆ ไปรู้สึกกันอยู่ ว่าฉันเป็นอะไร และฉันต้องการอะไร คนส่วนมากต้องการอะไรก็มีระเบียบระบบจัดขึ้น สำหรับคนส่วนมากนั้นก็เป็นวิชาที่คนทั้งหมดจะรู้จักทำมาหากิน ก็อยู่กันอย่างที่เราไม่ตาย เท่านั้นมันไม่พอ เพราะว่าคนยังเบียดเบียนกันอยู่ เบียดเบียนกันลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งโลกนี้ยังกำลังเป็นไปด้วยความเบียดเบียน ส่วนที่ไม่เบียดเบียนคนที่กำลังไม่เบียดเบียนใคร เขากำลังลำบากอยู่ด้วยปัญหาที่คนเขาเบียดเบียนกันหรือว่ากำลังคิดที่จะเอาเปรียบเบียดเบียนผู้อื่นด้วยการเอาเปรียบอย่างยิ่ง ในที่ประชุม ของที่ประชุมที่เรียกว่าสูงสุดหรือมีเกียรติของโลกคุณไปสังเกตดู เขากำลังทำอะไรกันอยู่ กำลังปรึกษากันด้วยเรื่องอะไร ปัญหาไปอยู่ที่ว่าจะแก้ไขปัญหาความเบียดเบียนทั้งนั้น ถ้าเป็นเรื่องที่กำลังต่อสู้กันแล้วก็เป็นเรื่องต่อสู้กันอย่างลึกซึ้งเพื่อรักษาประโยชน์ของตน เพื่อจะเอาเปรียบกัน ในการลงคะแนนเสียงของที่ประชุมใหญ่นั้นมันลงคะแนนเพื่อต่างฝ่ายต่างจะได้เปรียบ ได้ประโยชน์ ก็พูดกันไม่รู้เรื่องจนบัดนี้ ไอ้เรื่องบุญกุศลจริงๆ กลายเป็นเรื่องเครื่องมือตลบตะแลงไปหรือบางทีก็ทำไปด้วยความเขลาไม่รู้ว่ามันจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ ก็มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อ้างว่าเป็นการช่วยเหลือกันและกันราวกับว่าเป็นเรื่องบุญกุศล นี่ก็กลายเป็นเรื่องหาพรรคพวก หา Credit หาอะไรที่จะไปทำเรื่องสำคัญของๆ ตน คือเรื่องได้เปรียบผู้อื่น นี่เขาเรียกมันรบกันเรื่อย โดยทางตรง โดยทางอ้อม ปัญหาของคนมันก็ไม่รู้จักจบแล้วมีแต่มากขึ้นไปอีก นี่ผมขอยกตัวอย่างการที่มนุษย์หรือคนในโลกรู้จักสิ่งที่เรียกว่าคนแต่เพียงเท่านี้ คือรู้จักแต่ในฐานะที่จะเป็นคนๆ หนึ่งที่จะแสวงหาประโยชน์ ป้องกันประโยชน์ ต่อสู้เพื่อการป้องกันประโยชน์ของตนๆ เมื่อทำไม่ไหวก็อยากจะทำให้ยิ่งขึ้นไปก็หาพวกที่มีปัญหาอย่างเดียวกัน มีประโยชน์อย่างเดียวกันมารวมกันเข้าเป็นกลุ่มๆ กลุ่มใหญ่ๆ แล้วต่อสู้กันระหว่างกลุ่มแทนที่จะเป็นระหว่างบุคคลต่อบุคคล นี่ปัญหาทั่วไปของโลก กลุ่ม ส่วนรวม แล้วก็ดูเถอะว่าแต่ละคน คนหนึ่ง ส่วนบุคคล มันก็ไม่ไหวเหมือนกัน มันเต็มไปด้วยความยุ่งยากลำบากในจิตใจ แล้วก็วิ่งไปวิ่งมาให้ว่อนกันไปทั้งโลก ล้วนแต่มันเป็นความยุ่ง ไม่ใช่เรื่องแก้ไขความยุ่ง เพราะว่าเขาเหล่านั้นไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ธรรม นี่ผมพูดอย่างนี้หรือกล้าพูดอย่างนี้ โดยไม่กลัวคนสมัยนี้เขาจะหาว่านี่มันเข้าข้างตัว เห็นแก่ธรรมมากเกินไป โฆษณาให้ธรรมะมากเกินไป เป็นโฆษณาชวนเชื่อไปแล้ว เขาจะคิดอย่างนี้ จะหาเอาอย่างนี้ก็ตามใจของเขา นี่สำหรับพวกคุณก็ลองตัดสินเอาเองว่าจะเอายังไง จะศึกษาสิ่งที่เรียกว่าคนกันไปในแง่ไหนต่อไปหรือไม่ ในเมื่อ สิ่งที่เรียกว่าคน มันมีความหมายที่เป็นหลักพื้นฐานแต่เพียงเท่านั้น
อ้าว, ทีนี้เราก็จะดู สิ่งที่เรียกว่าคน นี่กันไปเป็นลำดับๆ ไป ถ้าเราจะดู สิ่งที่เรียกกันว่าคน กันในภาษาวัตถุหรือภาษารูปธรรม ไม่มองกันในส่วนที่เป็นจิตใจ เราก็จะเห็นว่าไอ้สิ่งที่เรียกกันว่าคนนี่ มันประกอบอยู่ด้วยวัตถุธาตุหรือธาตุต่างๆ ที่มาประสมปนกันเข้า ประกอบขึ้นเป็นสิ่งที่เรียกกันว่าคนๆ หนึ่งแล้วมีชีวิต พวกวัตถุนิยมเขามองแต่ทางวัตถุลึกซึ้ง จนถึงกับว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าจิตนั่น จิต หรือใจ หรือวิญญาณ หรือมะโน อะไรแล้วแต่จะเรียกนั้น สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ใช่เป็นจิต เป็นมะโน เป็นวิญญาณ เป็นเพียงปฏิกิริยาของวัตถุ ร่างกายนี่มันประกอบด้วยวัตถุที่ประณีต ละเอียด ลึกซึ้ง เข้าใจยาก เพราะนั้นเราจึงไม่คิดว่ามันเป็น ว่าจิตใจเป็นเพียงปฏิกิริยาที่ออกมาจากวัตถุ เหมือนกับว่าเอาขดลวดไดนาโมมาหมุนเข้าแล้วก็มีปฏิกิริยาออกมาเป็นกระแสไฟฟ้า อย่างนี้ พวกนี้ไม่ยอมรับเรื่องจิต เรื่องวิญญาณ จิตหรือวิญญาณเป็นเพียงปฏิกิริยาจากวัตถุ ที่มีการกระทบ มีการเกี่ยวข้อง มีการประสมประสานปรุงแต่งกันขึ้นมา ถ้าเรียนกันแต่ในด้านนี้ก็จะรู้สึกอย่างนี้จริงเหมือนกัน ลองไปเรียนดู นับตั้งแต่เซลล์ที่มีชีวิต ไม่รู้จำนวนเท่าไหร่ จำนวนเซลล์ในร่างกายนี่ มันเกิดการเกี่ยวข้องกัน กระทบกระทั่งกัน อะไรกันก็เกิดเป็นปฏิกิริยาออกมาเป็นความรู้สึกที่คนจะเรียกว่าจิตใจนี่ พวกนั้นเขาไม่ถือว่าเป็นอะไรออกไปอีกมากไปกว่าปฏิกิริยาที่มาจากวัตถุ มันสมองก็วัตถุ ส่งออกมาเป็นความรู้สึก ระบบประสาทต่างๆ ก็เป็นเพียงปฏิกิริยาของวัตถุ เพราะนั้นคนก็เป็นเพียงไอ้ส่วนประกอบของวัตถุที่เรียกว่าธาตุ หลายๆ ธาตุ รวมกันอยู่เป็นชีวิตหนึ่ง เขาพิสูจน์ในทางที่จะดูสัตว์เดรัจฉาน ดูสัตว์เล็กสัตว์น้อย มดแมลง กระทั่งลงไปถึงสิ่งที่เป็นหญ้า บอน มีความรู้สึกได้บางชนิด เช่น ต้นหญ้าบางชนิดไปถูกเข้าก็แสดงปฏิกิริยา หุบบ้าง หนีบ้าง อะไรก็ตาม เอาความรู้สึกอันนั้นเป็นเพียงปฏิกิริยาตามธรรมชาติธรรมดาจากวัตถุ คนก็ทำนองนั้น แต่มันไกลออกไปอีก ประณีตลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก กระทั่งรู้สึกคิดนึกได้ ต้องการ ก็มี เข้าใจว่าเป็นเรื่องจิต เรื่องวิญญาณ เรื่องผีสาง พวกนี้เขาไม่เชื่ออีกแล้ว แม้แต่ความต้องการจะสืบพันธุ์นี่เขาก็รู้สึกว่ามันเป็นปฏิกิริยาอย่างเดียวกับที่ต้นไม้ต้นหญ้าทั้งหลายมันก็ต้องการจะสืบพันธุ์ ตามวิชาชีววิทยา ลองไปอ่านดู คน ในฐานะที่เป็นวัตถุนี่ไม่มีอะไร ก็มีปฏิกิริยาจากวัตถุรวมอยู่ด้วย เกิดรวมกันอยู่เรื่อยๆ ทำอะไรได้ รู้สึกได้ เคลื่อนไหวได้ เป็นไปได้ ไอ้อย่างนี้พุทธศาสนาก็จะไม่ ไม่ค้าน ในข้อที่ว่ามันเป็นอย่างนั้น แต่ไม่ถือว่ามันสมบูรณ์ เพราะว่ายังไม่สามารถจะควบคุมความรู้สึกเหล่านั้นได้ หรือยังไม่กำจัดความทุกข์เกิดจากปฏิกิริยาเหล่านี้ได้ก็เรียกว่ายังไม่สมบูรณ์ เราจะแยกส่วนปฏิกิริยาออกมาเป็นจิตใจก็ได้ หรือจะไม่แยกก็ได้ แต่ขอให้รู้จักจัดกับ จัดการกับปฏิกิริยาเหล่านี้ให้มัน มันเรียบร้อยไป อย่าให้เกิดความทุกข์แล้วก็ได้เหมือนกัน แต่ตามหลักของพุทธศาสนาจะมีว่าอย่างไร นี่เราก็จะพูดกันทีหลัง
ทีนี้ลองมองกันไปอีกทางหนึ่ง เป็นวิชาภาษาหนังสือ เกี่ยวกับหนังสือ เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ทางหนังสือ ทางภาษา ทางวรรณคดี จะรู้สึกว่าคนนี่มันเป็นเพียงสัตว์ชนิดหนึ่งที่สูง สูงกว่าสัตว์เดรัจฉานเท่านั้น จะไม่ ไม่มองอะไรมากไปกว่าว่ามันสัตว์ชนิดหนึ่งที่มันสูงกว่าสัตว์เดรัจฉาน ก็เป็นคน ก็ต้องการจะวางระดับให้คนมันสูงกว่าสัตว์เดรัจฉาน มีความหมายที่เข้าใจกันหรือว่าอย่างดีที่สุดก็ให้คนมันทำอะไรผิดจากสัตว์เดรัจฉาน การที่อธิบายอย่างนี้ไม่ ไม่ไปมัวชี้แจงในข้อที่ว่ามันมีวัตถุ มีจิตใจ มีร่างกาย มีวิญญาณ แตกต่างกันชนิดไหน ก็ไม่ใช่หน้าที่ที่จะต้องอธิบาย ต้องการจะพูดแต่เพียงว่า คนไม่ใช่สัตว์ สัตว์ไม่ใช่คน ซึ่งหมายถึงสัตว์เดรัจฉาน อันนี้มันก็น้อยเกินไป บางทีในโรงเรียนก็ให้เด็กๆ เขาเรียน เด็กๆ ลูกเล็กเด็กๆ เรียนกันเพียงเท่านี้ ก็คือแก้ปัญหาได้นิดหน่อย เป็นเพียงเท่านั้น
ทีนี้พวกที่เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์จริงจัง พูดกันในภาษาวิทยาศาสตร์ ก็ไปแยกไอ้สิ่งที่เรียกว่าคนออกไป โดยหลักทางเคมีเป็นส่วนใหญ่ คนนี่ประกอบอยู่ด้วยอะไรก็ดูเอาเอง บางทีพวกคุณจะเรียนมารู้ดีกว่าผมอีก ว่ามันเป็นอะไรกันแน่ คนนี่ประกอบขึ้นด้วยส่วนย่อยละเอียดที่สุดมาเป็นส่วนใหญ่ที่สุด บางทีจะไปหยุดอยู่แค่ ปรมาณู หลายๆ ปรมาณูเป็นอณู เป็นอะไรขึ้นมากระทั่งเป็นธาตุนั้น ธาตุนี้ กระทั่งประกอบกันขึ้นเป็นกลุ่ม ทิชชิวหนึ่งๆๆๆ หลายๆ ทิชชิว (นาทีที่ 30.42น.) เป็นอวัยวะ เป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นเลือด เป็นอะไรขึ้นมาในร่างกายเรานี่ แล้วก็ไม่ คงจะไม่พ้นไปจากพวกวัตถุนิยม ที่ประกอบกันขึ้นเป็นมันสมอง เป็นอะไรแล้วรู้สึกได้ อย่างนี้มันก็เป็นเรื่องมุ่งไปอีกทางหนึ่ง ไม่รู้เรื่องจิตใจ ไม่แก้ปัญหาเกี่ยวกับจิตใจ เป็นวิทยาศาสตร์ทางฝ่ายวัตถุมากเกินไป จนกว่าจะเมื่อไหร่จะมามองเห็นว่าไอ้เรื่องทางจิตใจก็เป็นวิทยาศาสตร์อีกแขนงหนึ่งมาค้นคว้ากัน เดี๋ยวนี้ในทางวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าในทางจิตใจนั้นน้อยมาก อย่างดีก็มาหยุด หยุดอยู่แค่ระบบที่เรียกกันว่า ระบบจิต หรือ Mentality รู้เรื่องโรคจิต แก้ไขเรื่องโรคจิต โรงพยาบาลโรคจิตก็เกิดขึ้น มันก็เพียงแต่แก้โรคที่เกี่ยวกับจิต ที่เรียกกันว่าโรคจิตเท่านั้น เป็นคนออกมาแล้ว หายแล้ว หายโรคจิตแล้วก็เป็นคนที่ไม่รู้อะไรอย่างเดิม นี่รู้เรื่องจิตเพียงเท่านั้นมันไม่พอ ไม่รู้เรื่องจิต หรือเรื่องวิญญาณ หรือเรื่องที่มันลึกไปกว่านั้น สูงไปกว่านั้น นี่วิทยาศาสตร์ก็ยังไม่ไปได้ถึงไหน จะรู้มากเกินไปในส่วนที่เกี่ยวกับวัตถุก็ได้ แต่ถ้าเราไม่รู้ข้อเท็จจริงข้อนี้ เราก็จะคิดว่ายังรู้ไม่พอก็ได้ มันก็เลยวนเวียนกันอยู่ที่นี่ ที่จริงจะเป็นเรื่องที่รู้มากเกินไปในส่วนหนึ่งหรือสาขาหนึ่ง แล้วรู้น้อยเกินไปหรือไม่รู้เลยในอีกสาขาหนึ่งหรือหลายๆ สาขา ก็ดูมันก็น่าหัวอยู่ว่ารู้จักสิ่งที่เรียกว่าคนในฝ่ายหนึ่งในแขนงหนึ่งมากเกินไป แล้วก็ไม่รู้ในอีกบางแขนง ก็แก้ปัญหาที่เกี่ยวกับคนไม่ได้ อย่างดีก็แก้ได้เรื่องร่างกาย เรื่องระบบประสาท นี่คือความไม่รู้จักคนในแง่ของวิชาธรรมะ
ทีนี้ดูกันในแง่เบ็ดเตล็ดบางอย่างเช่นว่า ในแง่ของกฎหมาย กฎหมายบัญญัติคำว่าคนไว้อย่างไรนี่ก็จะเป็นเรื่องแคบ อยู่ในขอบเขตของกฎหมายที่จะสันนิษฐานคำว่าคนเพียงเท่าไร ก็จะต้องตีความเกี่ยวกับปัญหาทางสิทธิ ทางหน้าที่ ทางอะไรต่างๆ ของคนแต่ละคน เพราะกฎหมายมีหน้าที่ที่จะตีความในทางนั้น ทางสิทธิ ทางหน้าที่ ทางความรับผิดชอบระหว่างคนหรือที่เกี่ยวข้องกัน มันก็เท่านั้นเอง รู้จักคนเพียงเท่านั้นก็เพื่อจะแก้ปัญหาเพียงเท่านั้น ก็ไม่พอ จะพูดกันภาษาการเมือง ไอ้คนก็คือหน่วยหนึ่งๆ ของสังคมเท่านั้นมันไม่มุ่งหมายอะไรจะ ไม่ ไม่มุ่งหมายจะรู้อะไรมากไปกว่าว่าไอ้คนนี้คือหน่วยหนึ่งๆ ของสังคม ปัญหาสังคมเกิดขึ้นอย่างไร แก้ไขกันไปตามเรื่อง แล้วส่วนมากก็ไม่สำเร็จเพราะรู้จักคนเพียงเท่านั้น ทุกคนไม่รู้จักตัวเอง คนที่เป็นหัวหน้าก็ไม่รู้จักตัวเองแล้วจะแก้ไขปัญหาของสังคม ก็เป็นเรื่องน่าหัวเหมือนกัน นี่รู้จักคนกันแต่เพียงเท่านี้ แต่ว่าจะดูกว้างเป็นสายยาวๆ ในแง่ของวิวัฒนาการนับตั้งแต่ชีววิทยาเป็นต้นมา ก็จะมองเห็นว่าคนนี่เป็นสุดยอดของวิวัฒนาการในปัจจุบันนี้ อย่างเราเรียนมาว่า ไม่มีดวงอาทิตย์ เกิดดวงอาทิตย์ แตกออกมาเป็นโลก เป็นไฟ เย็นลง เป็นนั่น เป็นนี่ มีธาตุนั่นนี่เกิดขึ้น มีความชื้นพอที่จะเกิดพวกอินทรียวัตถุขึ้นมาเป็นสัตว์เซลล์เดียว ประกอบกันขึ้นเป็นสิ่งที่มีชีวิตเรื่อยๆ มา นี่เป็นพืชพร้อมกันมา คู่กันมา จนกระทั่งมาเป็นคนนั่งอยู่ที่นี่ สูงสุดของวิวัฒนาการ คน คืออะไรอันหนึ่งที่มันเป็นจุดสูงสุดของวิวัฒนาการเท่าที่เรารู้จักในเวลานี้ อย่างนี้ก็ยังเป็นเรื่องวัตถุ ไม่สามารถจะแก้ปัญหาของคนได้ ใช่ไหม มันเป็นเรื่องวัตถุข้างเดียวอยู่เรื่อยไป แต่ก็ยังพอน่าดูอยู่หน่อยตรงที่ว่ามันเป็นจุดสูงสุดของวิวัฒนาการ แม้ว่าจะเป็นเพียงฝ่ายวัตถุ ก็ถือว่าคำว่าวิวัฒนาการนี่มาเป็นเพียงพิจารณากันก็จะรู้สูงขึ้นไปถึงเรื่องจิตใจ เพราะนั้นถ้ามองกันแต่ภาษาอาชีพ วิชาชีพแล้ว สิ่งที่เรียกว่าคน ก็คือสิ่งที่ต้องหากิน สิ่งที่เรียกว่าคน คือสิ่งที่ต้องหากิน เลี้ยงปากเลี้ยงท้องแล้วก็เลี้ยงครอบครัว ไม่ไหวแล้ว มันรู้น้อยเกินไป มันวิชาชีพมันก็ช่วยกันได้เพียงเท่านั้น มาสนใจวิชาธรรมกันบ้าง วิชาธรรมสำคัญกว่าวิชาชีพ นี่ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การที่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าคนกันในความหมายนั้นๆ เพียงเท่านั้น มันไม่พอจะแก้ปัญหาของคน จะไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำไป
ดูกันในส่วนที่เหลือ คือคำว่า คน สิ่งที่เรียกว่าคน ตามความหมายในทางภาษาธรรมหรือธรรมะ ที่ทางฝ่ายศาสนาได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาเรื่อยๆ มา ตั้งแต่บรมโบราณด้วยเหมือนกัน แล้วก็แสดงไว้ในลักษณะที่เห็นว่าจำเป็นสำหรับคนทุกคนจะต้องรู้และแก้ปัญหาในส่วนลึกของจิตใจ เพราะนั้นเราจะพูดกันถึงสิ่งที่เรียกกันว่าคน ในภาษาธรรมหรือวิชาธรรม ตามความมุ่งหมาย การที่จะรู้จักสิ่งที่เรียกว่าคนในทางภาษาธรรมหรือวิชา วิชาธรรมะ วิชาศาสนา นี่ ในระยะแรกที่สุดจะต้องรู้จักว่าในทางศาสนานี่เขาแยกออกเป็น ๒ แขนงคือ เมื่อรู้และพูดกันไปตามภาษาสมมุติ ตามความรู้สึกของคนทั่วไปที่ยังไม่รู้ธรรมะ นี่ก็ต้องพูดกันไปอย่างหนึ่งก็เรียก ภาษาสมมุติหรือโวหารสมมุติ นี่คุณๆ จำคำนี้ไว้ด้วย อีกส่วนหนึ่งก็คือ ปรมัตถ์ โดยปรมัตถ์ โวหารปรมัตถ์ ภาษาปรมัตถ์ อรรถอันลึกซึ้ง ความหมายอันลึกซึ้ง เรื่องอันลึกซึ้ง นี้อีกส่วนหนึ่ง เกิดเป็น ๒ ส่วนขึ้นมา ผมเชื่อว่าพวกคุณคงต้องเคยได้ยินไอ้คำ ๒ คำนี้มาแล้ว ว่าสมมุติอย่างไร ปรมัตถ์อย่างไร ถ้าว่าพูดอย่างสมมุติเป็นโวหารที่ใช้พูดกันในภาษาคนธรรมดานั้นอย่างไร และพูดอย่างปรมัตถ์หรือภาษาผู้รู้ธรรมะอันลึกซึ้งนั้นเขาพูดกันอย่างไร เรียกว่า ความจริงเป็น ๒ ชนิดอยู่ จริงอย่างที่ชาวบ้านรู้สึกกับจริงอย่างที่ผู้รู้เขารู้สึก ก็เกิดสับสนกันขึ้นได้เพราะเรียกกันว่าจริงเหมือนกัน แต่มันจริงคนละอย่าง จริงอย่างสมมุติเท่าที่ชาวบ้านรู้สึกมันก็ยืดหยุ่นได้ เพราะว่าคน ชาวบ้านนั้นรู้สึกไม่เท่ากันหรือน้อมไปหาประโยชน์ที่ตัวต้องการ แล้วบัญญัติความจริงให้เป็นอย่างนั้น นี่เขาเรียกว่าจริงสมมุติ เอาตามประโยชน์ ตามประสงค์ชาวบ้าน ก็เหมือนคำ คำภาษาอังกฤษเรียกสิ่งนี้ว่า Relative truth, Relative ที่แปลว่าเนื่องกัน ผูกพันกัน หรือที่แปลว่า ญาติ ก็มี คำนั้นแหละ ไปหาความหมายเอาเอง ไปรู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่า สมมุติสัจจะได้ คือมันเกี่ยวข้องอยู่ นุงนังไปหมดทุกอย่างทุกทาง แล้วสรุปเอาความจริงมาในลักษณะที่ยังต้องเกี่ยวข้องกันอยู่ ผูกพันกันอยู่ เอาประโยชน์ที่ผูกพันกันอยู่เป็นหลัก นี้ความรู้สึกของคนธรรมดามันเป็นอย่างนี้ ไอ้สัจจะนั้นเป็นเพียงสัจจะที่ยืดหยุ่น อนุโลม ไปตามความต้องการของคนชาวบ้านทั้งหลาย ส่วนปรมัตถ์ นั้นมันเด็ดขาด มันเฉียบขาดไปตามกฎของธรรมชาติก็เรียกว่า Absolute truth หรือ Ultimate truth นี่คล้ายๆ อย่างนี้
นี่เมื่อเราจะดูสิ่งที่เรียกว่าคน ในทางวิชาธรรมะก็ต้องแบ่งแยกออกเป็น ๒ ฝ่ายเสียก่อน ไม่อย่างนั้นมันเถียงกันไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าพูดอย่างสมมุติ คนมันมีอยู่ แต่พูดอย่างปรมัตถ์คนนั้นไม่ได้มีอยู่เลย เพราะนั้นอย่าไปเถียงกันว่าคนมีอยู่หรือว่าคนไม่ได้มีอยู่เลย เพราะถ้าพูดในแง่หนึ่งคนมันมีอยู่จริง แต่พูดในอีกแง่หนึ่งคนมิได้มีอยู่เลย นี่เราจะพูดกันอย่างสมมุติพอเป็นที่เข้าใจว่า ที่เรียกว่าคนๆ ตามที่สมมุติเรียกกัน ฉันก็เป็นคน ใครก็เป็นคน แล้วก็พูดกันมาตั้งแต่เก่าแก่ก่อนพุทธศาสนา ตามความรู้สึกที่ว่าเป็นคน ฉันเป็นคน มีคนอยู่ แล้วก็มีความเข้าใจลึกขึ้นมาตามลำดับเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าจะผิว ผิวเผินอยู่ เขาก็รู้ว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าคนนั่นประกอบอยู่ด้วยธาตุหลายๆ ธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม นี่เป็นหลัก เป็นประธาน ตามที่เขารู้กันมาแต่ก่อนพุทธกาลเสียอีก ประชุมกันเข้าเป็นร่างกาย แล้วก็มีอะไรก็ไม่รู้อีกอย่างหนึ่งซึ่งเรียกว่าจิตก็ได้ ว่าวิญญาณก็ได้ เรียกเจตภูตก็ได้ เรียกอัตตาก็ได้ เป็นสิ่งที่ประหลาดคือไม่รู้จักตาย แล้วก็มาสิงอยู่ในร่างกายคนหรือสัตว์ ร่างกายตายไอ้ตัวนี้ก็ไม่ตาย ไปหาร่างใหม่ อย่างนี้เรื่อยไป จะไปจบลงที่ไหนก็บัญญัติไม่ค่อยเหมือนกัน จนต้องไปจบลงกับ ไปจบลงที่มันเข้าไปหาต้นตอเดิมของมัน นี่ขออย่าได้เข้าใจว่าความคิดนี้เป็นความคิดในพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อนพุทธศาสนาหรือนอกวง นอกวงของพุทธศาสนา เขาก็สอนกันอย่างนี้ มีคนที่เที่ยงแท้ถาวรเป็นอัตตา ไม่รู้จักตาย อาศัยอยู่ในร่างกายนี้ ร่างกายแตกดับมันก็ไปหาร่างกายใหม่ เหมือนกับว่าเรือนผุพังแล้วก็ออกไปหาเรือนใหม่ หรือแม้ที่สุดแต่ว่าเสื้อผ้านี่มันเก่าแล้วขาดแล้วก็ไปหาเสื้อผ้าใหม่ เขามุ่งหมายที่จะมีคนกันที่สิ่งนั้นแหละ ไอ้สิ่งที่ไม่รู้จักตาย ความคิดอันนี้หรือจะเรียกว่าสติปัญญาอันนี้แพร่หลายมากในโลกนี้ ไอ้พวกที่จะไปคิดเสียว่าไม่มีอัตตา ไม่มีอะไรนั่นนะ ดูจะเป็นพวกที่หลังๆ เมื่อวิทยาศาสตร์เจริญ ทางวัตถุเจริญ นี่ถ้าเป็นสมัยยุคโบราณดึกดำบรรพ์ก็จะต้องเรียกว่าเป็นคนโง่เต็มทีที่จะไปคิดว่าไม่มีจิต ไม่มีวิญญาณอะไรที่จะเป็นตัวคนที่สิ่งอยู่ในร่างกายนี่ เพราะนั้นจึงสอนกันมาแต่ดึกดำบรรพก่อนพุทธกาลว่ามีจิต มีวิญญาณ ที่เรียกกันว่า ผี อยู่ในร่างกายนี้ ร่างกายนี้แตกสลายก็ไปหาใหม่ เกิดใหม่เรื่อยไป เขาจึงมีเซ่นผี เซ่นวิญญาณ การขุดค้นทางโบราณคดี พบความรู้อันนี้ที่กระทำกันอยู่ตั้งแต่สมัยหิน ในหลุมฝังศพของคนสมัยหินก็มีการแสดงให้รู้ว่ามนุษย์เข้าใจอย่างนี้ คือมีวิญญาณที่เป็นคนนี่ แล้วก็ตายลงที่นี่ แล้วก็ไปไหนอีก ก็ทำอะไรให้ไปตาม ทำอะไรให้เขาตามที่ควรจะทำ ทีนี้วัฒนธรรมทางความรู้เรื่องอย่างนี้มันแพร่หลายมาก ครอบคลุมโลก แม้บาง บางหมู่จะคิดว่าไม่ได้เวียนว่ายตายเกิด ก็ยังคิดอยู่ว่าชาตินี้ ที่นี่ เวลานี้ มันก็ยังมีร่างกายกับมีไอ้ตัวนั้นนะ ตัวจิต ตัววิญญาณ ตัวอัตตา นั้นนะ นี่ถ้าว่าพอตายลง ไม่ไปเกิดใหม่ด้วยร่างกายอื่น แต่ว่าไอ้วิญญาณหรืออัตตานั้นก็ไม่ได้สูญหายไปไหน ไปรวมกัน ไปรอกัน ไปออกันอยู่ที่แห่งใดแห่งหนึ่งเพื่อจะรับคำพิพากษาโทษจากพระเจ้าจากอะไรก็แล้วแต่จะเรียก ถ้ารวมความแล้วก็เขาถือว่ามันมีวิญญาณ มีอัตตาอะไรอยู่ เป็นตัวคน เป็นตนอยู่ อาศัยร่างกายนี้อยู่ จะเวียนว่ายตายเกิดก็ได้ แต่พวกหนึ่งว่าไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดมันก็ไปออกันอยู่เพื่อจะรับผลกรรมดีชั่วที่ทำไว้
สรุปความว่ามันเป็นกลุ่มของธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วก็สุดแท้ แล้วก็มีวิญญาณ มีตัวตน มีคน นั่นนะสิงอยู่ในนั้น ยึดครองสิ่งนั้น ทีนี้คนไทยเราก็ได้รับความรู้อันนี้ หรือจะคิดขึ้นมาได้เองตั้งแต่แรกๆ นั้นก็สุดแท้ แต่ว่าคนไทยเรานี้ก็มีความเชื่ออย่างนี้ในฐานะเป็น สมมุติสัจจะ คือความจริงอย่างสมมุติ และโดยเหตุที่เราใช้คำที่เป็นภาษาอินเดีย เรื่องจิต เรื่องวิญญาณ เรื่องเจตภูต เรื่องอัตตานี่ เรียกสิ่งนี้ เพราะนั้นเราพูดได้เลย สันนิษฐานได้เลยไม่ต้องกลัวผิด ว่าเราได้รับความรู้ข้อนี้มาจากชาวอินเดีย แล้วก็เมื่อดูตามเรื่องของประวัติศาสตร์ก็จริงอย่างนั้น ชาวอินเดียได้มาเป็นครูบาอาจารย์ของคนแหลมอินโดจีน แหลมทองนี่ ตั้งสองสามพันปีมาแล้ว ความคิดอันนี้ก็ถ่ายทอดให้มา เป็นมีคน ชนิดที่เป็นจิต เป็นวิญญาณ เป็นเจตภูต อาศัยอยู่ในร่างกายนี้ ปฏิบัติกันไปตามเรื่อง ก็ถือว่าเขาไม่ ไม่ตาย เขาเกิดอีก ก็ทำบุญอุทิศส่งไปให้เขา อย่างนี้เป็นต้น นี่ก็เรียกว่า สัจจะ อันหนึ่งแล้วเป็นเรื่องสมมุติ ถ้าทำแล้วมันมีประโยชน์แก่สังคมก็นับว่าใช้ได้ แล้วก็เป็นเรื่องสำคัญในฐานะเป็นรากฐานอันสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรม ศีลธรรมต้องการให้กตัญญู ต้องการให้สัตย์ซื่อ ซื่อสัตย์ ต้องการให้ไม่เบียดเบียน ในความคิดอย่างนี้มันมีประโยชน์แก่ศีลธรรม ถ้ารู้ว่าเราเคยเวียนว่ายตายเกิด เคยเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นอะไรกันมาแล้วเราก็ไม่เบียดเบียนกัน หรือเมตตากันแล้วกตัญญูกัน อะไรกันมันก็มีศีลธรรมดี ส่วนจะจริงเท่าไหร่นั้นจะไม่นึกถึงก็ได้ นึกถึงถ้ามันมีประโยชน์แก่มนุษย์ แก่สังคมของมนุษย์ ให้อยู่โดยสันติได้ก็พอแล้ว แล้วเป็นเรื่องศีลธรรม ไม่ใช่ ปรมัตถธรรม ทีนี้คำว่า คน นี่ยุติกันโดยสมมุติสัจจะว่ามันเป็นจิต เป็นวิญญาณ เป็นอะไรอันหนึ่ง เป็นตัวตนอันหนึ่งสิงอยู่ในร่างกายนี้ที่ประกอบขึ้นด้วยธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นต้น นี่ความหมายหนึ่งในวิชาธรรมะ แม้ในพุทธศาสนาหรือนอกพุทธศาสนาก็สอนตรงๆ กัน เพราะนั้นมันเก่ากว่าพุทธศาสนา ความคิดอันนี้
ทีนี้มาถึง ถึงไอ้ ปรมัตถสัจจะ นี่จะเป็นตัวพุทธศาสนาแท้ ที่จะสอนให้รู้ว่ามันไม่มีคนอะไรมากมายเกินไปกว่าธรรมชาติ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังจะประนีประนอมต่อรองกันได้อีกเหมือนกัน คือในชั้นปรมัตถ์นั่นนะ พูดจริงแต่ยังต่อรองให้ว่า ไอ้ที่พูดอย่างสมมุตินั้นก็ยอมให้เป็นจริงได้ คือจริงอย่างสมมุติ เมื่อเรารู้อยู่ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ ไม่ ไม่เรียกว่าคน แต่เมื่อคนทั้งหลายเขายังจะต้องเรียกกันว่าคน หรือมีความจำเป็นจะต้องเรียกว่าคน เราก็ยอมรับว่าเรียกว่าคน นี่มันเป็นปรมัตถ์ส่วนที่ยอมรับสมมุติ เพื่อเป็นการปฏิเสธสิ่งที่เรียกว่าคนส่วนที่พวกแรกเขาสมมุติว่าคน เรียกว่าคน คือในส่วนปรมัตถ์นี้จะยอมรับว่ามันมี ดิน น้ำ ลม ไฟ อยู่ในร่างกายนี่ อันนั้นก็มีธาตุอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า วิญญาณธาตุหรือจิต ก็ทำหน้าที่กันกับส่วนที่เป็นร่างกาย เกิดความรู้สึกคิดนึกได้ ทุกส่วน ไม่มีส่วนไหนที่ควรจะเรียกว่าเป็นคน แม้ส่วนที่ ๕ ที่เรียกว่า วิญญาณ นั้นก็มิใช่คน แต่เมื่อคนทั้งหลายจะเรียกว่าคนก็เอาสิ เราก็ยอมเรียกว่าไอ้กลุ่มนี้เรียกว่าคน เพื่อติดต่อกับมนุษย์ส่วนที่เขายังมีความรู้สึกเป็นคน ผู้ที่รู้ปรมัตถ์แท้จริงย่อมไม่ทะเลาะวิวาทกับผู้ใด รู้อยู่ว่ามิใช่คน แต่เมื่อเขายังเรียก จะให้เรียกกันว่าคนก็เรียกได้ ก็คือเรียกสิ่งนั้นนะว่าคน อย่างนี้ก็มีอยู่ จนกว่าจะพูดกันจริงๆ พูดกันตรงๆ ก็เรียกว่าไม่ใช่คน ไม่มีคน เพื่อไม่ให้ยึดถือสิ่ง เอ่อ, ส่วนใดส่วนหนึ่งว่าเป็นคนแล้วก็หนักอกหนักใจ
ทีนี้จะพูดพอเป็นเค้าเงื่อนว่าไอ้ตามหลักพุทธศาสนานั้นถือว่ามีธาตุ คำว่า ธาตุ ก็กว้างขวางมาก อะไรก็ไม่พ้นไปจากความเป็นธาตุ เรียกว่าธาตุทั้งนั้น วัตถุธาตุนี่ก็ธาตุ ไอ้จิต ไอ้วิญญาณนั้นก็เรียกกันว่าธาตุ กระทั่งความว่างไม่มีอะไรเลยก็เรียกว่าธาตุ ถ้าคุณไม่เคยเข้าใจอย่างนี้ก็เข้าใจเสียเดี๋ยวนี้ ว่าตามหลักของพุทธศาสนาจะเรียกทุกอย่างว่าธาตุ วัตถุธาตุแจกๆ ไปได้มาก แล้วนามธาตุ อรูปธาตุ นี่ก็แจกไปได้มาก คือจิตใจ ความรู้สึกคิดนึกของจิตใจและกริยาอาการที่มันเปลี่ยนแปลงไปก็เรียกว่า อาการของธาตุหรือความเป็นธาตุชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน กระทั่งนิพพานก็เรียกว่าธาตุ ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธาตุ เดี๋ยวนี้ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ ๖ ธาตุนี่ ประกอบกันเข้าเป็นคนๆ หนึ่ง ที่สมมุติเรียกว่าคนๆ หนึ่ง ตามปรกติก็เป็นธาตุ ๖ ธาตุนี่ จับกลุ่มกันอยู่มันจึงไม่ตาย เวลาปรกติที่เรานอนหลับนี่เราก็ไม่ตาย เพราะมันยังประกอบอยู่ด้วยธาตุ ๖ ธาตุนั้น คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ และวิญญาณ อากาศคือ ที่ว่าง ความว่าง จึงเป็นพื้นฐานสำหรับ ดิน น้ำ ลม ไฟ ตั้งอยู่ แล้วมีวิญญาณธาตุ คือธาตุจิตใจเข้ารวมอยู่ด้วย มันเป็นคน คนหนึ่งๆ นี้เพราะนั้นนอนหลับมันก็อยู่ได้ด้วยธาตุนั้น เมื่อตื่นอยู่นี้ก็อยู่ด้วยธาตุทั้ง ๖ นั้น หรือมันสลบไปแต่ไม่ถึงกับตายนี้มันก็อยู่ด้วยธาตุอันนั้น ๖ อย่างนั้น เว้นไว้แต่มันจะตายลง มันจะขาดบางธาตุไป นี่ก็เรียกว่า คน ในยามปรกติประกอบอยู่ด้วยธาตุ ๖ นี้ในยามที่ไม่ปรกติ คือเกิดทำงานทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ นี้ไอ้ธาตุเหล่านั้นนะ ทำหน้าที่เป็นตาบ้าง เป็นหูบ้าง เป็นจมูกบ้างในภายใน แล้วรับเอาภายนอกคือรูป เสียง กลิ่น รสนี่เข้ามาก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า อายตนะ ขึ้นชั่วคราวสำหรับเห็นรูปบ้าง ฟังเสียงบ้าง ดมกลิ่นบ้างชั่วกรณีนั้นๆ ก็เกิดความรู้สึกเป็น เวทนา เจ็บปวดหรือไม่เจ็บปวด เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ แล้วก็สำคัญมั่นหมายในความรู้สึกนั้นว่าอย่างนั้นอย่างนี้ก็เรียกว่า สัญญา ถ้าเกิดความคิดนึกขึ้นโดยสมควรแก่ความมั่นหมายนั้น กระทั่งเกิดเป็นความอยากนั่น อยากนี่ขึ้นมาก็เกิดแบ่งแยกไอ้ความรู้สึกส่วนหนึ่งเป็นตัวกูผู้อยากขึ้นมา นี่เรียกว่าคน เกิดขึ้นมาโดยสมบูรณ์ เพราะการปรุงแต่งของสิ่งที่เรียกว่าธาตุทั้ง ๖ นั้น เฉพาะกรณีหนึ่งๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อการเห็นทางตา เพื่อการได้ยินทางหู ได้กลิ่นทางจมูก ได้ลิ้มรสทางลิ้น สัมผัสทางผิวหนัง อย่างนี้ ก็คิดนึกในใจเอง นี่เป็นคนสมบูรณ์ เมื่อไอ้ธาตุทั้งหลายเหล่านั้นลุกขึ้นทำหน้าที่เป็นอายตนะรู้สึกต่ออารมณ์ ทำให้เกิดความคิดนึกปรุงแต่งขึ้นตามลำดับที่เรียกว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่ นี่เป็นส่วนจิตใจ นี่คือความเป็นคนมันปรุงขึ้นมาในความรู้สึก เพราะนั้นคนจึงเป็นเพียงความรู้สึก เป็นคนสมบูรณ์เมื่อมีความรู้สึกครบถ้วนอย่างนี้ ประกอบอยู่ในร่างกายที่กำลังมีความรู้สึกอย่างนี้ เขาเรียกว่าขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เราค่อยศึกษากันโดยละเอียดสักคราวหนึ่งก็ได้ ในทีนี้ต้องการจะชี้เพียงว่า ไอ้สิ่งที่เรียกกันว่าคนนั้นมันไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ ที่ทำหน้าที่สำคัญเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่างๆ นี้ ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เรา เขา นี่อย่างพูดภาษาวัด ภาษาในวัดเขาก็ต้องพูดอย่างนี้ เป็นคำพูดรับรองกันทั่วไป ไม่ใช่สัตว์ บุคคลตัวตน เรา เขา เป็นเพียงธาตุที่เป็นไปตามธรรมชาติ
เพราะนั้นบท ปัจจะเวก ยะถาปัจจะยัง ที่สวดกันอยู่นั้นนะดีที่สุด ขอให้สนใจ เพราะมันมีแต่เพียงเท่านั้น ผู้ไม่รู้คือ ปุถุชนก็สำคัญเป็นคนตามความรู้สึกของเขาเพราะเขาไม่รู้เรื่องนี้ ที่พระอริยเจ้ารู้เรื่องนี้ รู้ว่ามันเป็นแต่ เพียง ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อย่างนี้ แต่เมื่อชาวบ้านเขาจะเรียกว่าคน เราก็เรียกว่าคนกับเขาด้วยก็ได้ ยอมรับสมมุติของพวกชาวบ้าน พระพุทธเจ้าท่านก็ว่า ตรัส ตรัสถ้อยคำอย่างภาษาชาวบ้านเรียกว่า คน ว่าฉัน ว่าเรา ว่าเขา ก็แต่สมมุติ ยอมรับสมมุติ ในจิตใจของท่านไม่เป็นอย่างนั้น รู้ว่าไม่ใช่คนอย่างที่ชาวบ้านเขามั่นหมายกัน เป็นเพียงธาตุปรุงกันทำหน้าที่อย่างประหลาดมหัศจรรย์ คือรู้สึกคิดนึกอะไรได้จนสำคัญว่าคน พระพุทธเจ้าท่านก็มองเห็นข้อนี้ ว่ามันมีความรู้สึกคิดนึกได้มันก็ต้องรู้สึกว่าคน เราอย่าไปเถียง แต่เรารู้ว่านั่นคน คน ปุถุชนเขาคิดอย่างนั้น เขารู้สึกอย่างนั้น เราก็พูดกับเขาพอรู้เรื่อง ในจิตของเราไม่ได้คิดอย่างนั้น ไม่ได้ยึดถืออย่างนั้น เพราะคิดนึกได้ ยังคิดนึกไปว่าเป็นตัวเราหรือเป็นคน เมื่อสักสองสามร้อยปีมานี้นักปรัชญาฝรั่งเศสที่ชื่อ Descartes เกิดรู้อย่างนี้ สอนอย่างนี้ขึ้นมาก็แตกตื่นกันใหญ่ ยกขึ้นเป็นปรัชญาสาขาหนึ่งของ Descartes สูตรของเขาเป็นภาษาลาติน Cogito ergo sum ออกเสียงคล้ายๆ อย่างนี้ ผมออกเสียงภาษาลาตินไม่ค่อยถูก แต่แปลเป็นภาษาธรรมดาว่า ฉันคิดได้ เพราะฉะนั้น ฉันมีอยู่ ทำให้คนจำนวนมากเชื่อว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าคน หรือ soul หรือ อัตตา นั้นมีอยู่ เพราะมันคิดนึกได้นี่ นี่ก็น่าหัวที่สุด คนสมัยพระพุทธเจ้าเขาก็รู้อย่างนี้กันแล้ว พูดกันอยู่แล้ว คนนี้เพิ่งพูดเมื่อสองสามร้อยปีมานี่เอง ก็อยู่ในหลักสูตรในเรื่องปรัชญาที่อุตส่าห์ไปเรียนกันนัก ใช้คำว่าตามก้นฝรั่ง เดี๋ยวจะว่าด่าอีก ไม่ต้องด่าแล้ว ที่รู้ว่าเขาเพิ่งจะรู้อะไรที่คนบางพวกเขารู้กันมาตั้งสองสามพันปีแล้ว แล้วจะเอาไปยืนยันให้มีตัว มีตน เป็นสัตว์ เป็นคน ขึ้นมานี่ก็น่าหัว นี่พุทธศาสนาเราไม่ทะเลาะวิวาท ไม่นิยมการทะเลาะวิวาท จึงต้องแบ่งแยกว่ามันเป็นสมมุติก็พูดไปอย่างสมมุติ ถ้าพูดความจริงก็พูดกันอย่างความจริง นี่ขอให้รู้เรื่อง สมมุติปรมัตถ์ กันให้ถูกต้องอย่างนี้แล้วอย่าได้ทะเลาะกัน ในกลุ่มนี้คือคนๆ หนึ่งนี่ประกอบด้วยธาตุอะไรบ้างก็ให้รู้ มันปรุงแต่งกันอย่างไร เป็นอะไรออกมาแปลกๆ ก็ให้รู้ ก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ธาตุมัตตะเมเวตัง สักว่าธาตุเท่านั้น เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ (นาทีที่ 01.2.42น.) ๓ คำนี่หัวใจของพุทธศาสนา อย่าหลับตาท่องกันแต่ปาก เอาไปศึกษากันให้เข้าใจถึงที่สุดให้จงได้ จะรู้ว่าคนนั้นคืออะไร
สรุปความว่ามันเป็นเพียงคำสมมุติเรียกว่าคน แต่มันไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ชีวะ ไม่ใช่อัตตา เป็นเพียงธาตุ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะนั้นจึงสมมุติเอากลุ่มธาตุกลุ่มหนึ่งซึ่งกำลังเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยว่าคน นี่คนในภาษาธรรมในวิชาธรรมเป็นอย่างนี้ แบ่งออกเป็น ๒ พวกคือ สมมุติกับปรมัตถ์ ที่เป็นปรมัตถ์คือรู้จริงแล้วก็ยังต่อรองกันลงมา หย่อนลงมาให้ว่าเมื่อพูดอย่างสมมุติก็ได้ ก็ยอมรับว่า คน มีอยู่อย่างสมมุติ แต่เมื่อจะให้พูดจริงตามแบบของผู้รู้แล้วก็ไม่มีคน มีแต่ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ และอาการที่ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ปรุงแต่งกันไปเรื่อยเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท แล้วมันก็มีแต่อาการของ ปฏิจจสมุปบาท นี่เต็มรูปบ้าง ไม่เต็มรูปบ้าง ในวันหนึ่งๆ ในเรื่องหนึ่งๆ ที่ไม่เกี่ยวกับคนเรา นี่คุณเข้าใจเรื่องนี้ก็จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าคนดีจนว่างไปไม่มีคนเรียกว่า สุญญตา เรียกว่า อนัตตา จนเป็นหัวใจของพุทธศาสนา เป็นผู้รู้ความจริงถึงที่สุดแล้วก็ทำอะไรได้ในโลกนี้ ในโลกของคนที่ไม่รู้จักอะไร เพราะคนที่เขารู้อะไรดีแล้วไม่มามัวทะเลาะวิวาทกับใคร มาเถียงกันเรื่องคนมีหรือไม่มี ตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด เพราะรู้ว่าในบางอย่างต้องพูดไปในรูปของ Positive เพื่อให้มีคนไว้ เพื่อจะได้พูดกันเป็นเรื่องเป็นราว บางทีก็ต้องพูดจริงในเรื่อง Negative คือมิได้มีคนอยู่เลย มีแต่สักว่าธาตุเป็นไปตามปัจจัยคือมิใช่คน ปฏิเสธในส่วนคนนี่ เพื่อจิตใจจะได้ไม่เป็นทุกข์ในส่วนบุคคลคนหนึ่งๆ แต่ถ้าเกี่ยวกับสังคมแล้วมันก็ยังต้องเป็นคนกันไป จิตติดสัมพันธ์กันเป็นพวงเป็นพวกไป แต่ขอให้ทำดีก็แล้วกัน ถ้าจะให้คนในแง่ที่ถูกต้องเพื่อศีลธรรมก็ดีมีประโยชน์ ทำโลกนี้ให้เป็นสุขได้ เดี๋ยวนี้ไม่เอาซะเลยนี่ การศึกษาอย่างใหม่ก็ไม่เอาซะเลยว่ามันมีคนที่ต้องเวียนว่ายไปตามบุญตามกรรม มันก็ไม่เอาซะเลย ไม่ยอมรับกันเลย ทิ้งพระเจ้าทิ้งศาสนาไปหมด มาถือพระเจ้าที่เรื่องเนื้อหนัง เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ ทำสงครามรบราฆ่าฟันกันเพื่อสิ่งนี้ รู้จักแต่สิ่งนี้ รู้จักคนแต่ในลักษณะอย่างนี้ โลกนี้ก็เป็นโลกของการต่อสู้ แย่งชิง เบียดเบียน หาความสงบสุขไม่ได้ นี่ก็โทษของการที่ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าคนอย่างถูกต้อง โลกนี้จึงต้องเป็นนรก เป็นความต่อสู้ เบียดเบียน ทำลาย ล้างผลาญกัน การศึกษาก้าวหน้าไปตามแบบวัตถุ ไม่รู้จักคน มันก็แก้ปัญหาของโลกไม่ได้ ขืนจัดการศึกษากันไปแต่ในลักษณะอย่างนี้นะ โลกนี้ก็ต้องล่มจมวันหนึ่งเป็นแน่ คือไม่มีความเมตตาอารีย์ ไม่มีจิตใจที่ปรกติ มีจิตใจที่เดือดพล่านอยู่ด้วยตัวกู ของกู เป็นความยึดมั่นถือมั่นในคนด้วยอำนาจ กิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน นี้เรียกว่าไม่ได้เก่งอย่างไร แต่สร้างวัตถุขึ้นมาได้อย่างไรก็เรื่อง ก็เป็นเรื่องวิชาชีพทั้งนั้น ไม่ทำโลกนี้ให้มีสันติได้ เพราะรู้จักคนในลักษณะที่ถูกตบตา ถูกธรรมชาติตบตาหลอกลวงให้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าคนไปในลักษณะนั้น นี้ก็มีวิชาธรรมะอีกแขนงหนึ่งมาสอนเสียใหม่ว่ารู้จักกันในลักษณะอย่างนี้บ้าง ตามที่เป็นจริงของธรรมชาติ จะได้ไม่หลงใหลยึดมั่นถือมั่นในเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ นี่คือ วิชาธรรมะ ช่วยให้คนเป็นคนที่ถูกต้อง สว่างไสว แจ่มใส ที่ร่างกายก็สบาย ส่วนจิตใจก็สบาย มีความเป็นคนก็ได้ ไม่มีความเป็นคนก็ได้ แล้วแต่ว่าเรากำลังจะพูดกันกับใคร พูดกันในลักษณะไหน พูดอย่างชาวบ้านกลางตลาด พูดกับชาวบ้านเหล่านั้นก็ต้องพูดอย่างมีคน เกี่ยวข้องกันตามประสาคนที่ยังไม่รู้เรื่องสูงสุด แต่พอเกี่ยวกับตัวเองเกี่ยวกับจิตใจของตัวเองแล้วก็รู้สูงสุด รู้ถึงที่สุด จนไม่เกิดความยึดมั่นถือมั่นแล้วก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะนั้นเมื่อท่านพูดกันระหว่างพระอรหันต์ต่อพระอรหันต์ ท่านก็พูดภาษาที่ไม่มีคน ไม่ใช่คน ถ้าพูดคำว่า คน ออกไปก็เป็นมายา เป็นคำสมมุติ เป็นคำพูดมายา เป็นคำพูดสมมุติ ตามที่ชาวบ้านเขาพูดกันว่าคนๆ ชาวบ้านก็มีคน เป็นคนจริงๆ พระอรหันต์ทั้งหลายก็มีคน สักว่าเป็นมายาสำหรับคำพูดที่ต้องพูดกับคนที่ไม่รู้ อย่างนี้เรียกว่าท่านอยู่ด้วยความเห็นแจ้งในสุญญตา ในอนัตตา อยู่ตลอดเวลาไม่มีความทุกข์เลย เพราะเข้าใจสิ่งที่เรียกกันว่าคนอย่างถูกต้องจริงๆ อย่างนี้
นี่คือใจความย่อๆ ที่ผมอยากจะให้พวกคุณได้ฟังไว้ เพื่อเป็นรากฐานที่ดีของการศึกษาพุทธศาสนาต่อไป ดูๆ ก็น่าหัวนะที่ว่าเรามาขอร้องให้ทุกคนตั้งต้นศึกษาสิ่งที่เรียกว่าคนเสียใหม่ ไปตามแนวทางของวิชาธรรมะด้วย เข้าใจคำว่าคนถึงที่สุดเมื่อไหร่ ปัญหาก็หมดเมื่อนั้น เวลาสำหรับบรรยายวันนี้ก็หมดลงพอดี ขอยุติไว้เพียงเท่านี้