แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีความหมายได้หลายๆ อย่าง และคนที่พูดไม่ค่อยจะถือเอาอย่างเดียวหรือตรงกัน นี่เป็นเรื่องที่ทำให้เราพูดกันไม่รู้เรื่อง ไม่ว่าเรื่องอะไร ไม่ว่าเรื่องการเมือง เรื่องชาวบ้าน ก็ถือเอาความหมายของคำ คำเดียวไม่ค่อยตรงกัน เรื่องนี้ไปพูดกันกับคุณคึกฤทธิ์ ที่คุรุสภา “ทำงานด้วยจิตว่าง” คนทั่วไปเขาว่า จิตนั้นว่างไม่ได้โดยมากเป็นพวกอภิธรรม เมื่อจิตยังมีอารมณ์มีเจตสิกปรุงแต่งเป็นความคิดนึกอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เสมอว่างไม่ได้ ซึ่งก็จริงใครก็มองเห็นว่าจิตมันว่างไม่ได้มันปรุงเป็นความรู้สึกคิดนึกอะไรอันหนึ่ง อย่างหนึ่ง เรื่องหนึ่ง ทีนี้เรามันใช้คำว่าว่างนั้น คือว่างจากความสำคัญเป็นตัวตน มันจะคิดนึกด้วยเรื่องอะไรก็ได้ แต่เรื่องทั้งหมดนั้นต้องเป็นเรื่องที่ว่างจากตัวตน ว่างจากความหมายมั่นเป็นตัวเป็นตน จิตอย่างนี้ไม่มีความรู้สึกที่เป็นตัวเป็นตนก็ เรียกว่า จิตว่างจากความรู้สึกที่เป็นตัวเป็นตน เมื่อเราทำงานก็ทำด้วยจิตทั้งหมด ด้วยกำลังจิตทั้งหมด ด้วยความรู้สึก คิดนึก สติสัมปชัญญะ ด้วยสติปัญญาทั้งหมดเลย เพราะมันไม่มามัวพะวงอยู่ว่าตัวกูของกู อย่างนั้นอย่างนี้ จึงทำด้วยสมาธิที่ดีกว่า ด้วยปัญญาที่ดีกว่า จิตว่างจึงทำงานได้ดีกว่า ถ้าจิตมันไปติดอยู่ที่อะไร ก็หมายความว่าไม่เป็นอิสระ มันไปติดอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรียกว่ามันไม่เป็นอิสระ คือมันไม่ว่าง ไม่ว่างอย่างที่เรียกว่า เราพูดกันว่า “ไม่ว่าง” ติดธุระอยู่ไม่ว่าง จิตที่ติดธุระอยู่ คือจิตที่ติดตัวกูของกู ความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกูนี่มันรุนแรง ครอบงำจิตรุนแรง มันเป็นกิเลสทั้งนั้น เป็นเรื่องที่ต้องมองเห็น รู้จักสิ่งเหล่านี้อยู่จริง ๆ จึงจะได้ จึงจะเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องธรรมะ ที่เขาเอาไปพูด เอาไปหยั่ง เอาไปคิด ไปใช้เหตุผลกันมันเป็นเรื่องปรัชญาอย่างที่ว่า ต่างคนต่างคิดไปได้ไกล ไกลไปตามวิถีทางของตน เลยไม่รู้เรื่องกัน เลยพบกันไม่ได้ ก็ควรจะรู้จักจิตจริงๆ รู้จักจิตของตนจริงๆ จากจิตจริงๆ ไม่ใช่จากได้ยินได้ฟัง หรือจากคิดนึก จิตเป็นตัวกู คือยังไง จิตไม่เป็นตัวกู คือยังไง เกี่ยวกับภาษาทำให้เข้าใจยาก ว่าตัวกู หรือตัวตนใช่ไหม กิเลสที่ให้ มันพลุ่งขึ้นมาเป็นตัวตน เป็นความหมายของตัวกูเป็นของกู ในความหมายนั้น เรียกว่ายึดมั่นถือมั่นก็ได้ เรียกว่าไม่ว่างก็ได้ เรียกว่า กิเลส เราก็เคยทำงานมามากแล้ว วันไหนที่ทำงานด้วยใจคอมันที่เป็นอิสระก็ทำได้ดี ถ้าวันไหนมันทำงานด้วยใจคอไม่เป็นอิสระ มีเรื่องของกูเรื่องอะไรอยู่ เรื่องลูก เรื่องเมีย เรื่องข้าวเรื่องของ ที่เป็นตัวกูของกูรบกวนอยู่ในจิตใจ ก็หัวเสียอยู่ตลอดเวลา ก็ทำงานอย่างที่เรียกว่า ทนทุกข์ทรมาน หรือว่าใจลอย หรือไม่รู้ว่าไปทางไหนกัน อารมณ์ไม่ดีเลย นี่ตัวอย่างที่เป็นอยู่จริงๆ
ความรู้สึกทางกามารมณ์รบกวนนี่ก็เรียกว่าไม่ว่าง มันเป็นตัวตนอย่างกามารมณ์ก็ลองไปสังเกตเอาเอง ไม่เฉพาะเรื่องครอบครัว เรื่องคนโสดก็ได้ เรื่องกามารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตมันรบกวน คิดนึกอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องร้อยกรอง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนนี่ก็ยิ่งทำไม่ได้ บางทีเขาจะต้องกินเหล้าให้จิตมันว่างไปจากยึดถือนั่น นี่ ว่างอย่างนั้นก็จะพอแต่งกลอนได้ นี่บางทีจิตก็ถูกรบกวนด้วยเรื่องเกลียด เรื่องโกรธ เรื่องจองเวร เรื่องอาฆาต มาดร้าย กระทั่งความกลัว สะดุ้งกลัวอยู่ ระแวงภัยอยู่ ก็คิดอะไรไม่ได้
หรือบางทีมันก็เป็นประเภทโมหะ คือ ซึมเซา เฉื่อยชา อ่อนเพลีย ละเหี่ย ง่วงนอน นี่เป็นประเภทโมหะ ก็เรียกว่าจิตไม่ว่าง จิตไม่เป็นอิสระ ทำอะไรไม่ได้ จิตว่างจากกามารมณ์ประเภทราคะ จิตว่างจากความโกรธเคือง ความคับแค้น หงุดหงิด ประเภทโทสะ จิตก็ว่างจากมึนชาประเภทโมหะ ก็ทำอะไรได้ดี จิตว่าง นี่เป็นหลักเบื้องต้น ที่เป็นสูงขึ้นไปกว่านี้ยังมีอีก คือด้วยจิตที่ไม่เห็นอะไรเป็นของตนจริงๆ สูงขึ้นไปตามธรรมะชั้นสูง คือบุคคลใครบางคนไม่ใช่ทุกคน มันมองเห็นโลกทั้งโลก ทั้งหมดทั้งสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างโดยความไม่มีอะไรที่ควรจะยึดครองเป็นของเรา มันเป็นจิตของมหาบุรุษ ตามแบบของธรรมะ ไม่เห็นอะไรว่าจะยึดเอามาเป็นตัวเราเป็นของเรา แม้เราจะยึดได้ก็ไม่ควรจะยึด จิตของบุคคลประเภทนี้จะคิดอะไรก็คิด คิดกว้างขวาง คิดสูงสุด คิดลึกซึ้งหมด คิดได้หมด ทำอะไรก็ตามแต่ สิ่งที่ดีที่สุดไม่เพื่อตัวเอง อย่างพระพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ จิตไม่ได้ยึดอะไรเป็นตัวตนของตน โลกทั้งหมดทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ตัวตนของตนมองเห็น จิตของท่านจึงคิดอะไรได้ดี จะทำอะไรก็ทำได้ดี เป็นเรื่องสูงสุด
(นาทีที่ 10:34 – 11:44......สอบถามผู้ช่วยเหลืองาน เกี่ยวกับการบันทึกเสียงธรรมก่อนบรรยายตามหัวข้อ......)
คำบรรยายประจำคืนในวันนี้ ก็จะได้กล่าวอย่างที่เรียกว่าติดต่อกันไป จากคำบรรยาย จากครั้งที่แล้วๆ มา คือว่าด้วยเรื่อง “พรหมจรรย์” ขอให้เข้าใจคำว่าพรหมจรรย์นี้ยิ่งขึ้นไปทุกทีๆ ตั้งแต่ว่า เราบวชมาเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ และประพฤติอย่างไร พรหมจรรย์นี้มันเป็นอะไร ครั้งสุดท้ายนี้ก็พูดถึงว่าพรหมจรรย์นี้ไม่ใช่ปรัชญา พุทธบริษัทผู้ประพฤติพรหมจรรย์ไม่ต้องการใช้วิธีของปรัชญา แต่แล้วก็ได้บอกให้ทราบว่า ไม่มีสิ่งอะไรที่เราจะไม่เอาไปพูดอย่างปรัชญาไม่ได้ เราจะเอาพรหมจรรย์ไปพูดกันอย่างปรัชญาก็ได้ แต่มันก็ไม่เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ คงจะมีประโยชน์บ้างแต่อาจจะไม่คุ้มกันที่จะพูดถึง พรหมจรรย์ก็จะพูดเป็นรูปวิทยาศาสตร์ดีกว่าไปพูดในรูปปรัชญา นี้ก็พูดโดยความรู้สึกว่า คนสมัยนี้เขาสนใจในสิ่งที่เรียกว่า ปรัชญา ตามพวกฝรั่งโดยเฉพาะ เราก็เลยเป็นห่วงว่า จะเป็นเครื่องเนิ่นช้าแก่การประพฤติพรหมจรรย์ ก็ชี้ให้เห็นก็ได้ว่า ถ้าเป็นพรหมจรรย์แท้จริงนี้เป็นตัวพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา ไม่มีทางที่จะเป็นปรัชญา นี่เป็นตัวศาสนา เป็นตัวพรหมจรรย์ เป็นไปในรูปของวิทยาศาสตร์ จะทำอะไรก็ทำลงไปบนสิ่งที่มองเห็นอยู่ เข้าใจอยู่ แม้จะค้นคว้า หรือแม้จะใช้เหตุผลก็ใช้ลงไปใน สิ่งที่เห็นอยู่ ปรากฏอยู่ ส่วนปรัชญานั้นเป็นวิธีใช้กับสิ่งที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ ไม่ได้เห็นอยู่จึงใช้กับเรื่องพวก Metaphysics โดยมาก อย่างที่จะเห็นได้ง่ายๆ ว่านักปรัชญาคนหนึ่ง กับนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง มายืนอยู่ที่ทางรถไฟ นักวิทยาศาสตร์ก็เห็นอยู่ชัด ๆ เท่าที่ตัวเห็นอยู่ตรงนี้ เป็นรางรถไฟอย่างนี้ ถ้ามีปัญหาอย่างไร ก็ต้องทำกันอย่างนี้ ตรงนี้ นี่ก็เรียกว่าวิถีทางของวิทยาศาสตร์มันเป็นอย่างนี้ วิถีทางของนักปรัชญาเขาไม่ยอมรับว่ามันเป็นอย่างนี้ เพราะว่าเมื่อมองดูไกลไปตามทางรถไฟ มันชวนให้เกิดความสงสัยว่ารางรถไฟนี้อาจจะไปรวมเป็นเส้นเดียวกันเสีย ไม่เป็นคู่อย่างที่ว่านี้ ฉะนั้นจะขอไปดูก่อน จะขอวิ่งตามไปดูก่อน ทีนี้ก็วิ่งไปๆ ทางรถไฟมันก็แยกเป็นคู่อย่างนั้นเรื่อยไป วิ่งจนตายก็เห็นยังเป็นคู่อยู่อย่างนั้น แต่มันก็ไม่ยอม คิดว่าหลังจากนี้ไปอีกต่อไปนี้อาจจะเป็นอย่างอื่น เขาต้องการความจริงที่แน่นอนทั้งหมด นักปรัชญาก็ต้องวิ่งออกไปดูรางรถไฟว่ามันจะคู่กันอย่างนี้เสมอไปหรือไม่ นี่วิธีคำนวณมันเป็นอย่างนี้ ก็คงมีประโยชน์ทางอื่น อย่างอื่น ถ้าว่าดีก็ดีเกินไป ถ้าว่ารอบคอบก็รอบคอบเกินไป จนไม่สำเร็จประโยชน์
ถ้าเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์แล้วก็เห็นอยู่ที่นี่ โดยเหตุผลอย่างนี้ มันก็ไม่วิ่งไปดู ว่ารางรถไฟที่อื่นมันจะกลายเป็นอย่างอื่น เช่นรวมกันเป็นเส้นเดียวกัน เป็นต้น ถ้าเราดูตัวพรหมจรรย์อย่างปรัชญาแล้วก็ไม่ได้ปฏิบัติกันแน่ ไม่มีเวลา ไม่มีหนทางที่จะปฏิบัติได้ เพราะมันมีแต่สงสัยอย่างนั้นเรื่อยไป ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น พอเอ่ยเรื่องศีลขึ้นมาคำเดียวก็พูดไกลออกไปจนไม่ได้ปฏิบัติ พูดเรื่องสมาธิ เรื่องปัญญาก็เหมือนกัน ไว้สำหรับใช้เหตุผล มันจึงตั้งปัญหาไกลออกไปๆ จนกระทั่งว่าเรานี้เคยเกิดมาแล้วหรือไม่ หรือว่าเราตายแล้วนี้จะเกิดหรือไม่ จะเกิดอย่างไร ไม่มีที่สิ้นสุด จะตั้งคำถามก็ตอบไม่ไหว ก็ตาย หมดเวลา ตาย ทำพุทธศาสนาให้เป็นปรัชญาไปเสียอย่างนี้ เรียกซะว่านักวิทยาศาสตร์หรือวิถีทางวิทยาศาสตร์ คือตัวศาสนาหรือพรหมจรรย์นั่นไม่สนใจว่าเราเคยเกิดแล้วหรือไม่ เราจะเกิดอีกหรือไม่ มันมีปัญหาอยู่แต่ว่า ที่ตรงนี้ เดี๋ยวนี้ เวลานี้ เราจะต้องทำอย่างไร และเรามีปัญหาอย่างไร เราต้องแก้ปัญหานั้นโดยเฉพาะ มันจึงพบว่ากำลังเป็นอย่างไรอยู่ เช่นกำลังไม่สบายเพราะความอะไร เพราะความรู้สึกอย่างไร ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่ก็ว่ากันตรงนี้ที่นี่ ในที่สุดก็ได้รับประโยชน์ทันแก่เวลาในวันนั้น ไม่ต้องรอวันรุ่งขึ้น อย่างนี้ก็ปฏิบัติตามวิถีทางของพรหมจรรย์ มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ อย่ามัวตั้งปัญหาไปในรูปปรัชญา ต้องตั้งปัญหาเพื่อที่จะแก้ความทุกข์ หรือ ดับทุกข์ โดยเฉพาะหน้าที่ตรงนี้เรื่อยไป ในที่สุดนำไปสู่ความรู้แจ้งว่า ไม่มีเราๆ ไม่มีคน ที่ว่าไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ดูลึกลงไปๆ ก็พบที่นี่ตรงนี้ เมื่อไม่มีเรามันก็หมดปัญหาที่ว่าเราเคยเกิดหรือไม่ เราจะเกิดอีกหรือไม่ เราจะที่อะไรต่อไปก็หมด ปัญหาหมดเอง ความดับทุกข์สิ้นเชิงก็ปรากฏ นี่ให้ถือเป็นหลักที่จะใช้ตลอดกาลว่า พรหมจรรย์นั้นมิใช่ปรัชญา การประพฤติพรหมจรรย์ไม่ฝากไว้กับวิธีการของปรัชญา แต่พวกฝรั่งเขาไม่ชอบ เขาชอบศึกษาพุทธศาสนาอย่างวิธีของปรัชญา จะประพฤติพรหมจรรย์ก็ประพฤติอย่างปรัชญา วิธีทางปรัชญาก็ไม่พบกันเท่านั้น ก็พบแต่อาการที่ว่าจะต้องวิ่งไปดูว่าทางรถไฟที่ไกลออกไปโน้น จะเป็นคู่อย่างนี้หรือไม่ จะต้องวิ่งออกไปดูทางรถไฟเรื่อยออกไป มันก็เป็นอย่างนี้มากขึ้นในวงศาสนา และ ทุก ๆ ศาสนา ถ้าพูดไปเหมือนกับว่าดูถูกคนอื่น หรือเหมือนกับด่าเขา แต่แล้วมันก็เป็นเรื่องของเราที่ด่าตัวเราเองอยู่ หรือว่าด่าพุทธบริษัทพวกเรากันเองอยู่ นั้นก็ใช้เรื่องเดียวกันนี้ด่า ถ้าจะเรียกว่าด่านะ ก็ด่าพวกอื่นไปด้วย ที่ไปทำให้ศาสนากลายเป็นปรัชญา ยกตัวอย่าง ศาสนาคริสเตียนนี่ เพิ่งทำผิดๆ กันในตอนหลังๆ ที่ไปจัดเป็นรูปปรัชญาขึ้นมา สอนศาสนาคริสเตียนในรูปของปรัชญา ก็สอนกันใหญ่โต สอนจนให้ปริญญา ปรัชญาในศาสนาคริสเตียนอย่างนี้ อย่างนี้ถ้าให้ผมพูดตรง ๆ ผมพูดว่า ทำผิดหมดเลย ผิดความประสงค์ของพระเจ้าเองด้วยคือทำให้ไกลพระเจ้า ไกลจากความเข้าใจพระเจ้าออกไป ไกลออกไป แม้ว่าเขาจะรู้สึกว่าเราทำให้กิจการนี้เจริญ มีคนสนใจมาก สนใจกันในวิถีทางของปรัชญาด้วย มันน่าหัว ก็เลยไม่ต้องถึงพระเจ้ากัน เพราะเหตุนั้น ก็เหมือนกับศาสนาพุทธเรายกไปใส่ในวิถีทางของปรัชญา แม้ศาสนาอื่น ๆ เช่น ศาสนาอิสลามก็กำลังริเริ่มที่จะเสนอแก่โลกในรูปของปรัชญาขึ้นมาเหมือนกัน ซึ่งที่จริงก็ไม่จำเป็น และเขาก็ไม่เคยกระทำกันมาแต่ก่อน แม้ว่าศาสนาอย่างศาสนาอิสลาม หรือศาสนาคริสเตียน ศาสนาอื่นๆ ที่มีพระเจ้า มันเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์เรื่องความมีพระเจ้าแล้ว ต้องคำนวณตามปรัชญา อย่างนี้ผมเห็นว่ายังไม่จำเป็น มันยิ่งไกลออกไปอีก พุทธศาสนานี้ได้เปรียบเพราะไม่พูดว่ามีพระเจ้า หรือมีสิ่งที่มีอะไรผิดธรรมชาติอย่างพระเจ้า ก็เลยเป็นเรื่องที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งหมดอะไรๆ ก็อยู่ที่นั่น ก็เลยเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ได้โดยง่าย ถ้าพวกที่เขาพูดถึงพระเจ้าแล้วก็ลำบาก ลำบากทีแรกก็คือไม่รู้จักพระเจ้าโดยแท้จริง เตลิดออกไปเป็นพระเจ้าอย่างชนิดที่เป็นบุคคลกันอย่างในนิยายเสีย ก็เลยยิ่งลำบาก พูดเป็นปรัชญาก็ไม่ไหว จะพูดเป็นวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้ ยิ่งพูดยิ่งเป็นนิยายคนเขาก็หัวเราะเยาะ ยิ่งเป็น Mythology ซึ่งไม่มีใครยอมเชื่อ ปัญหามันมีอยู่อย่างนี้ แต่ถ้าว่าเราจะใช้วิธีอย่างพุทธศาสนา ด้วยวิธีอย่างเป็นพรหมจรรย์ เป็นวิทยาศาสตร์นี้ก็ได้ เอากันที่ความเชื่อที่มันมีเหตุผล ที่สังเกตได้ รู้สึกอยู่ด้วยจิตใจ เพราะถ้าเราเชื่ออย่างนี้ มันทำให้สบายใจ บรรเทาความทุกข์ได้ทันตา นี่เราก็เชื่ออย่างนี้ก็มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ได้เหมือนกัน เพราะปรากฏอยู่กับใจ ถ้าใจรู้สึกอย่างนั้นเป็นความทุกข์ ใจรู้สึกอย่างนี้เป็นความไม่ทุกข์ ความเชื่อก็เป็นความรู้สึกอันหนึ่ง มันเนื่องจากตีความหมายคำว่า พระเจ้านี่ผิดกันมาเรื่อยๆ ผิดมากขึ้น ผิดหลายซับหลายซ้อน ก็เลยลำบาก จึงหันไปหาความช่วยเหลือของปรัชญา ให้ช่วยอธิบายพระเจ้า มันก็ไม่สิ้นสุด อย่างเดียวกับที่ว่าวิ่งไปดูปลายทางรถไฟว่าจะเป็นคู่อย่างนี้เสมอไปหรือไม่ เอาเป็นว่า ศาสนาแท้ๆ นั้นอยู่ที่จะแก้ความทุกข์ตามวิถีทางของวิทยาศาสตร์เสมอ ถ้าทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์ เอาไปใช้ได้แม้ในศาสนาอื่น แต่ยังไม่มีใครเคยใช้ และไม่กล้าใช้ เพราะเขามันความกลัวหรือมีความคิดที่ผูกขาด แต่ผมยืนยันว่า ถ้าเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ได้ ก็เรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์ทั้งนั้น คือประพฤติที่ว่าดีที่สุดก็คือ มันดับทุกข์ได้ที่ตรงนั้น ทีนี้จะพูดถึงเรื่องพรหมจรรย์นี้ให้เป็นที่เข้าใจ แจ่มแจ้งออกไปทุกๆ แขนง หลังจากที่ได้ป้องกันไว้เต็มที่แล้วว่า อย่าเอาพรหมจรรย์ไปทำเป็นปรัชญา แล้วไปประพฤติปฏิบัติก็อย่าเพื่อลาภสักการะเป็นอานิสงส์เลย เพราะมีวิธีการอย่างอื่นอยู่แล้ว ที่จะหาเงินหาเกียรติ หาอะไร เอาพรหมจรรย์นี้ไว้เป็นระบบการปฏิบัติอันหนึ่งซึ่งจะดับทุกข์โดยตรงดีกว่า
วันนี้จะพูดโดยหัวข้อว่า “พรหมจรรย์นี้จะช่วยให้ไม่ต้องฝากชีวิตนี้ไว้กับความหวัง” พรหมจรรย์นี้จะช่วยให้ไม่ต้องฝากชีวิตนี้ไว้กับความหวัง เป็นชื่อของหัวข้อที่เราจะพูดกันในวันนี้ ทีนี้ก็พูดอย่างวิทยาศาสตร์อีกแล้ว ไม่มีเรื่องปรัชญา คือให้ดูที่คนเรามีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง ความหวังนั้นเป็นเรื่องของปรัชญา ถ้าโดยเนื้อแท้ โดยธรรมชาติแล้ว คือหวังในสิ่งที่ยังไม่ได้ ไม่ถึง และไม่รู้จัก ดังนั้นชีวิตนี้มันก็เลยลำบาก เพราะมันฝากไว้กับความหวัง ซึ่งเป็นเรื่องของปรัชญา ขอให้คุณทุกองค์นี่นึกถึงตัวเอง เดี๋ยวนี้มันอยู่ด้วยความหวังหรือเปล่า คือตั้งแต่เป็นเด็ก ๆ มา มันอยู่ด้วยความหวังหรือเปล่า โดยเฉพาะพวกที่มีการศึกษาน้อย ช่วยตัวเองไม่ได้ โดยเฉพาะเพศหญิงด้วย หรือเด็กหญิง เราจะสังเกตเห็นชัดเลย พร้อมกับจะได้ยินเขาพูดอยู่บ่อย ๆ ที่ว่า “ชีวิตนี้มันอยู่ด้วยความหวัง” ถ้าหมดที่หวังหรือไม่มีอะไรจะหวัง หรือไม่สามารถจะหวังละก็ ก็รู้สึกว่าจบกัน ล้มละลายอยากตายมากกว่า คือเชื่อแน่ว่ามันไปไม่ไหวแล้ว ฉะนั้นชีวิตที่อยู่ด้วยความหวังนี้จะมากขึ้นทุกที มันจะเป็นโรคที่เกิดขึ้นแผ่ไพศาลยิ่งขึ้นไปทุกที นี่เป็นเรื่องความอยาก ความต้องการที่ทรมาน ขอให้รู้จักเทียบเคียงให้ดีนะว่าความหวัง กับความเชื่อแน่ มันคนละอัน อย่างพุทธบริษัทเราแม้ว่าจะหวังว่าชาติหน้าจะได้ไปสวรรค์อย่างนี้ ถ้าเขามีความเชื่อว่ามันได้แน่ ฉะนั้นความหวังนั้นมันก็ไม่ทำอันตราย หรือมันหยุดหวังได้ เพราะมันเชื่อแน่ว่าได้แน่ มันก็หยุดหวัง และมันก็ไม่หวังอะไรมากไปกว่านี้ ทีนี้คนสมัยนี้วัยรุ่น หนุ่มสาว ก็ตาม มันมีแต่หวัง ซึ่งมองเห็นอยู่ว่ามันยังไม่ได้ หรือยังไม่แน่ว่าจะได้เสียมากกว่า จึงหวังลมๆ แล้งๆ เพราะฉะนั้นชีวิตนี้ก็อยู่ด้วยความหวังอย่างลมๆ แล้งๆ ก็เป็นชีวิตที่เลื่อนลอย ก็คือไม่มีความสงบเย็น หรือ เป็นสุข
ถ้าใครมีความรู้สึก หรือความคิดนึกก็ตาม ชนิดที่จัดให้ชีวิตนี้อยู่ด้วยความหวังละก็ ไปคิดดูเสียใหม่ มันยังไม่รู้อะไรกี่มากน้อยแล้วมันจะแก้ได้ด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติอย่างวิทยาศาสตร์ คือ ทำอะไรลงไปจริงๆ อย่านั่งหวังอยู่ และก็มองเห็นผลของการกระทำที่มันเกิดขึ้นจริงๆ แม้จะนิดหน่อยเล็กน้อยมันก็เกิดขึ้นเรื่อย ถ้าพูดให้ชัดลงไปอีก ก็พูดเลยว่า “พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้มีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง” การมีชีวิตอยู่ด้วยความหวังนั้นไม่ใช่พุทธบริษัท ไม่ใช่วิธีการของพุทธศาสนา พรหมจรรย์หรือพุทธศาสนาต้องการให้มีชีวิตอยู่ด้วยการกระทำที่ถูกต้อง คือพรหมจรรย์นั่นเอง อยู่ทุกๆ ระดับ ทุกๆ ระดับ นับตั้งแต่เกิดมา จากท้องบิดามารดา เติบโตขึ้นมา ให้มันอยู่ด้วยการเห็นอย่างแจ่มแจ้งในการกระทำ และมีผลเรื่อยๆ มา เป็นผู้สมหวังอยู่ทุกๆ เวลา จนไม่หวัง มีความคิดเฉลียวฉลาดแตกฉานออกไป ที่จะทำอะไรให้ก้าวหน้าต่อไป และสมหวังอยู่ทุกๆ เวลา เหมือนอย่างที่นี่ ที่ผมเคยพูดเสมอพูดไม่ทราบสักกี่สิบครั้งแล้วว่า พวกเราที่นี่ถือว่ามีการงานที่สำเร็จเสร็จลงทุกวัน ๆๆ เพราะว่า มันมีคนโดยมากที่มาที่นี่ มากที่สุดที่ถามว่า เมื่อไหร่จะเสร็จ วัดนี้เมื่อไหร่จะเสร็จ ตึกนั้นเมื่อไรจะเสร็จ ผมก็ตอบตามที่มีหลักจริงๆ ว่า เสร็จทุกวัน หรือว่าเสร็จทุกชั่วโมงด้วยซ้ำไป ถ้ามันมีการกระทำ บางคนก็หัวเราะ บางคนก็เข้าใจ บางคนก็รู้สึกว่าได้ความรู้ใหม่เอาไปใช้ ให้มีความรู้สึกว่าการงานของเราเสร็จทุกๆ นาที ทุกๆ ชั่วโมง หรือทุกๆ วัน เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องมีความหวังว่าเมื่อไรจะเสร็จ บางทีเราจะคิดว่าเสร็จอยู่ทุก ๆ การเคลื่อนไหวการกระทำ ทุกๆ ลมหายใจเข้า-ออกก็ยังได้ อย่าไปสนใจในเรื่องความหวัง สนใจแต่ในเรื่องการกระทำด้วยสติปัญญา สติปัญญาก็ไม่ใช่ความหวัง สำหรับความต้องการก็รู้แล้วว่าควรต้องการอะไร ต้องการเงินก็ทำงานซึ่งมันจะได้เงินมาไม่มากก็น้อย แล้วก็ฉลาดทำมากขึ้นมันก็ได้มากขึ้น ไม่ต้องไปหวังให้เกิดความหิวให้เกิดความทรมาน ในที่สุดก็คือความทุกข์ชนิดหนึ่ง แล้วจะพบความไม่สมหวังมากเท่ากับที่มีความหวัง ถ้ามีความหวังมากเท่าไร จะมีความไม่สมหวังมากขึ้นเท่านั้น เพราะเราหวังก็มีความไม่ได้ทันตามที่เราต้องการหรือหวัง ก็เรียกว่าผิดหวังอยู่ในทันทีแล้ว ไม่ได้ตามหวังอยู่ทันทีแล้ว มันก็ทรมาน นี่ก็ต้องเรียกว่ารวมอยู่ในพวกที่ไม่ได้ทำงานด้วยจิตว่างเหมือนกัน ที่ทำงานด้วยความหวังที่จะเห็นแก่ได้เป็นตัวกูของกู คือไม่ได้ทำงานด้วยจิตว่าง มันจะเป็นทุกข์ มันจะทรมาน แล้วมันทำได้ไม่ดีด้วยและงานก็ไม่ได้ผลดี ถ้าหวังมากไปควบคุมไม่อยู่มันก็เป็นกิเลสที่จะเป็นเหตุให้ทำผิดที่เอาเปรียบผู้อื่น ที่เรียกกันว่าคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นมาอย่างนี้ก็ยิ่งแล้วกัน ยิ่งเสียหายมากไป เพราะควบคุมความหวังไว้ไม่ได้ ก็ต้องถือว่าความหวังอย่างนี้เป็นเรื่องของกิเลสมาจากความอยากหรือตัณหา ซึ่งมาจากอวิชชา เพราะฉะนั้นต้องเผาลนจิตใจเป็นแน่นอน และเราก็เคยมาแล้ว ก็ควรจะรู้จักมันเสียที สิ่งเหล่านี้เราเคยมาแล้วแม้ว่าไม่มากมาย แต่เราต้องเคยมาแล้วกันทุกคน รู้จักมันเสียที อย่าให้มันมีอยู่สำหรับแผดเผาจิตใจอีกต่อไป เดี๋ยวนี้มันยังมีเหลืออยู่ หรือบางทีบางคนมีมาก ขยายมากออกไปก็เรียกว่ามี มันก็นำไปสู่ความอยากที่มาก แล้วมันก็จะเปิดโอกาสให้โกรธ ให้โทสะนี่มากเมื่อไม่ได้ตามที่หวัง เลยเป็นเรื่องของกิเลสหรือความทุกข์ไปเสียโดยไม่จำเป็น ฉะนั้นการประพฤติควบคุมความหวังไว้ได้ นี่ก็คือ พรหมจรรย์เหมือนกัน เพราะพรหมจรรย์มันไม่ต้องการให้อยู่ด้วยความหวัง เราทำลายความหวังเสีย ควบคุมความหวังเสีย มันก็เป็นการประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในตัว ใจคอมันก็เป็นอิสระ แจ่มใส สดใส มีกำลัง ไม่ถูกทรมานให้เสียไปด้วยความหวัง มันก็มีทางที่จะเกิดสติปัญญา เกิดกำลังใจ เกิดสมาธิ เกิดอะไรดีในการทำงานนั้น แล้วก็ถือว่าเคลื่อนไหวที ก็เสร็จไปที ก็จะมีความอิ่มใจ สบายใจหล่อเลี้ยงมากขึ้น ซึ่งผมก็เคยพูดมากเรื่องนี้ คือยกตัวอย่างให้เห็นว่า ถ้าชาวนาคนหนึ่งฟันจอบลงไปที่ดินทีหนึ่งก็พอใจทีหนึ่ง เพราะงานสำเร็จเท่ากับเหวี่ยงจอบลงไปทีหนึ่ง มันก็มีความสบายใจ อิ่มใจ ไม่แผดเผาหัวใจด้วยความอยาก หรือความหวัง ทีชาวนาอีกคนหนึ่งมันทำตรงกันข้าม พอฟันจอบลงไปทีหนึ่ง มันก็รำคาญใจทีหนึ่ง อุ้ย, ฟันทีเดียวนิดเดียวอย่างนี้ เมื่อไหร่จะเสร็จ เพราะมันยังกว้างขวางหลายวา หลายสิบวา หลายเส้น ถ้าว่ามันเหนื่อยไปทีหนึ่ง มันก็ยิ่งเหนื่อยมากขึ้นไปอีก มันไม่รู้จักทำให้เกิดความอิ่มใจว่าเสร็จไปทีหนึ่งแล้วก็สบายใจ แล้วก็พอใจว่าเสร็จลงไปชั่วที่ฟันจอบลงไปทีหนึ่ง ฉะนั้นจิตใจของชาวนาสองคนนี้ก็เดินไปตรงกันข้าม ไอ้คนทีแรกมันก็สบาย เป็นสุขอยู่กลางนาหรือกลางแดด ส่วนอีกคนหนึ่งมันกำลังจะเดินไปหาความบ้าหรือวิกลจริต เป็นโรคเส้นประสาท เป็นโรคจิตไปทางนั้น แล้วอันนี้เป็นอันหนึ่งซึ่งทำให้เกิดปัญหายุ่งยากมากขึ้น ที่ว่าไม่ชอบทำงานอย่างนี้มันเหนื่อย แล้วก็ไปขโมยดีกว่าฟันดินทำนาทำไร่อยู่ทำไม่ ความหวังมัน เดินก็เดินผิดทางก็ลากตัวไปหาทางอื่น นี่ก็จะเรียกว่าเป็นเคล็ด หรือเป็นศิลปะหรือเป็นอะไรก็ได้ในการ ที่จะทำให้เรามีชีวิตอยู่ด้วยความอิ่มไปเสียทุกครั้งที่หายใจเข้าออก ไม่หิวอยู่ด้วยความอยากหรือความหวัง ไอ้คำนี้นั้นอย่าเอาไปปนกับความหวังอีกชนิดหนึ่งคือว่า ความตั้งความปรารถนาไว้อย่างไร ต้องการอะไรนั้น นั่นไม่เรียกว่าความหวังในที่นี้ เช่น รู้ว่าเราจะต้องทำอะไร มีความปรารถนา หรือความต้องการ หรือจะเรียกว่าความหวังทีแรกก็ได้ ที่ถูกไม่ควรเรียกว่าความหวัง ควรจะเรียกว่า แผนการของสติปัญญาที่ถูกต้อง ซึ่งมันแน่นอนแล้ว ถ้ามันอยู่ในรูปของสติปัญญาที่มีความเชื่อแน่แล้ว ไม่ใช่ความสงสัยหรือความหวังที่มันยังแผดเผาหัวใจอยู่เสมอ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าไม่เข้าใจจะเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อยและไม่เอาใจใส่ที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ให้หมดไป ดังนั้น คนจึงหงุดหงิด ๆๆ อยู่ในการทำงาน เดี๋ยวรวนเร เดี๋ยวเปลี่ยน เดี๋ยวอะไรต่างๆ และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เดี๋ยวก็ไปเป็นคนคดโกงทำผิดทุจริต เพราะทนความหิวหรือความหวังชนิดที่เป็นกิเลสบีบคั้นไม่ไหว มันก็น่าสงสารที่คนวัยรุ่นยุคนี้ จะมีความคิดไปทำนองที่ว่า ชีวิตนี้ฝากไว้กับความหวัง ซึ่งมันเป็นเรื่องลมๆ แล้งๆ และเป็นกันมากขึ้น ถ้าเป็นวัฒนธรรมโบราณเขาไม่ทำให้หวังในรูปนี้ เขาจะทำให้มันแน่ใจลงไปซะอย่างหนึ่ง แล้วก็ทำ ๆๆ ทำการงานนั้น จะเป็นเรื่องทำการงานที่บ้านหาเงินหาทองที่บ้านก็ตาม หรือเป็นเรื่องทำบุญกุศลที่วัดก็ตาม ไม่ให้อยู่ด้วยความหวังที่เป็นตัณหา คือความอยากด้วยอวิชชา ที่แท้ก็คือความโลภที่เป็นกิเลส นั่นเอง
ถ้าใครมีชีวิตอยู่ด้วยความหวังก็ไปคิดเสียใหม่ ไปแก้ไขเสียใหม่ ให้เป็นเรื่องของการประพฤติพรหมจรรย์ ทำความดีเป็นที่พอใจตัวเองอยู่ทุกๆ นาทีที่หายใจเข้าออก ไม่ต้องมีความหวัง โดยถือว่ามันเสร็จอยู่ทุก ๆ ลมหายใจเข้าออก ไอ้งานที่เราทำนั้นแม้ว่าจะได้ประสบผลอันสุดท้ายต่ออีกหลายเดือน เช่น ทำนา ๔-๕ เดือน จึงจะเกี่ยวข้าวได้ แต่เราก็รู้สึกพอใจอิ่มใจตั้งแต่ว่าฟันจอบทีแรก ก็เรื่อยไปตามลำดับ ทำงานที่โต๊ะที่ Office ราชการ หรืออะไรก็สุดแท้มันก็เหมือนกัน ต้องทำงานด้วยจิตใจที่มันหยุด ปกติ สงบ แจ่มใส สดใส เป็นอิสระ ไม่ถูกทำให้สงสัยด้วยความหวัง บีบคั้นอยู่ด้วยความหวัง เร่าร้อนอยู่ด้วยความหวัง อย่างนั้นมันตกนรกทั้งเป็น แล้วก็ยากที่จะทำอะไรได้ดี และก็ไม่ก้าวหน้า เดี๋ยวจะเกิดระแวงสงสัยกันหรือจะคิดไปทางอื่น เมื่อไม่ได้อย่างใจหรืออย่างที่หวัง นี่ผมพูดตามหลักของพุทธศาสนา ตามหลักของธรรมะ ตามหลักของพรหมจรรย์ในพุทธศาสนา ซึ่งใครจะเห็นด้วยหรือไม่นั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง หรือใครจะเอาไปใช้หรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ในฐานะที่พวกคุณบวชเข้ามาในพุทธศาสนา ผมก็ต้องพูดไอ้หลักการหรือวิธีการที่เป็นเนื้อแท้ของพุทธศาสนา คือเรื่องพรหมจรรย์อย่างที่กล่าวแล้ว อย่างที่ได้พูดมาว่าเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์อย่างนี้ สามารถที่จะแก้ไขได้ที่ตรงนี้ เหมือนที่เราจะแก้นาฬิกา หรือแก้อะไร เกิดความเห็นแจ้งอยู่อย่างนี้ ชัดเจนอยู่อย่างนี้ ก็แก้ไขได้ทุกส่วนที่เราต้องการจะแก้ ชีวิตมันมีลักษณะอย่างนี้ เหมือนนาฬิกาที่เราเห็นอยู่ทุกๆ ส่วน ที่มันเคลื่อนไหว ขัดข้องตรงไหนก็จะแก้ตรงนั้นได้ ก็ลองไปเทียบกันดูเองว่า อย่างไหนจะสดใส เยือกเย็นเป็นสุข คืออยู่ด้วยความหวัง หรืออยู่ด้วยความพอใจ หรืออยู่ด้วยความอิ่มกับอยู่ด้วยความหิว อันไหนจะดีกว่ากัน หรือ อยู่ด้วยความสงสัยกับอยู่ด้วยความเชื่อแน่ อันไหนมันดีกว่ากัน
แล้วทีนี้จะพูดต่อไปถึงข้อที่ว่า ทำไมจึงพูดว่า “พรหมจรรย์นี้จะหยุดเสียซึ่งความหวัง ซึ่งเป็นเครื่องรบกวนชีวิต” ก็เพราะว่าพรหมจรรย์นี้มัน คือ ระบบของการประพฤติที่ถูกต้อง ความสำคัญก็ไปอยู่ตรงที่เป็นความถูกต้อง ไปๆ มาๆ ก็ไปอยู่ตรงที่ไม่มีกิเลส นั่นเองพอดี ความถูกต้องคำนี้อธิบายได้มากแง่มากมุม โดยที่เป็นหลักสำคัญทางพุทธศาสนานี้คือ ความพอดี ไอ้ความพอดีนี้ก็พอเข้าใจกันได้ คือ ไม่ขาด ไม่เกิน ไม่หย่อน ไม่สูง ไม่ต่ำ ไม่อะไร มันอยู่ที่พอดี ไม่มากไม่น้อย ไม่เปียกไม่แห้ง อย่างที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ที่เราสวดกันอยู่ ในบทสวดธรรมจักร ถ้าเรื่องนี้ไม่สำคัญพระพุทธเจ้าก็คงไม่เอามาตรัสเป็นเรื่องแรก บางคนก็ทราบดีแล้ว แต่ที่บวชใหม่นี้ก็ยังไม่แน่ว่าจะทราบหรือไม่ทราบ ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วทรงสั่งสอนบุคคลในโลกนี้ด้วยเรื่องอะไรเป็นเรื่องแรก ก็คือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร และธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น คำแรกของสูตรนั่นคืออะไร ก็คือมัชฌิมาปฏิปทา เรื่องอริยสัจ 4 นั้นพูดทีหลังเสียอีก ในสูตรเดียวกันนี้ พูดเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา ตถาคเตนะ อะภิสัมพุทธา จักขุกะระณี ญาณะกะระณี พูดเรื่องมัชฌิมาปฏิปทาว่าฉันได้รู้เองไม่ได้ฟังมาจากใคร มันเป็นไปเพื่อทำให้เกิดจักษุ เกิดญาณ เกิดความรู้ หรือเป็นไปเพื่อนิพพาน คือดับทุกข์สิ้นเชิง เรื่องแรกคำแรก ตอนต้นของสูตร สูตรแรกที่ตรัสนั้น คือเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา นี้เรียกว่าความถูกต้อง มีความหมายว่า มันพอดี จำคำว่าพอดีไว้ก่อน แล้วค่อยไปสังเกตเอาความหมายของคำว่าพอดีให้ถูกต้อง เดี๋ยวนี้พวกเราอยู่ในฐานะที่ไม่ค่อยจะพอดี มันมากไปบ้าง มันน้อยไปบ้าง มันสูงไปบ้าง ต่ำไปบ้าง มันแห้งเกินไปบ้าง หรือเปียกเกินไปบ้าง ไม่อยู่ในสภาพที่พอดี ผมก็เตือนอยู่เสมอว่าให้รู้จักสังเกตคำว่าพอดีตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส ว่ากินอยู่ที่พอดี เรามักจะไปยึดคำว่า กินดีอยู่ดี กินดีอยู่ดีฟังแล้วมันน่าสนุก แต่ว่าเผลอนิดเดียวมันก็เกินพอดี ไอ้กินดีอยู่ดีนี้ ก็กิเลสของคนมันเอามากไม่มีขอบเขตจำกัด กินดีอยู่ดีก็เลย เลยขอบเขตไป พูดเสียให้ชัดว่า กินอยู่แต่พอดี ไม่มีทางที่จะเกิน แล้วก็ไม่มีทางที่จะขาด คือไม่มากไม่น้อย มัชฌิมาปฏิปทานี้ หมายถึงความพอดี ไม่เอียงไปฝ่ายโน้น ไม่เอียงไปฝ่ายนี้ แล้วที่เอามาอธิบายมากที่สุดก็คือเรื่อง อริยมรรคมีองค์ ๘ ถึงก็สวดอยู่ทุกวันนี้ สัมมาทิฎฐิ ความเห็นชอบหรือถูกต้อง สัมมาสังกัปโป ความดำริหรือปรารถนา ใฝ่ฝันอย่างชอบคือถูกต้อง พูดจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ พากเพียรชอบ รำลึกชอบ มีความมั่นคงแห่งจิตใจชอบ ก็เป็นเรื่องพอดี ขอบอกไว้ตลอดกาลเลยว่า อย่าทำเล่นกับเรื่องนี้ เอาติดใจ ติดตัวไปตลอดกาลเลย แม้ว่าสำหรับไปคิดนึกศึกษาให้เข้าใจยิ่งๆ ขึ้นไป แล้วจึงปฏิบัติให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะมันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ที่จะถูกต้อง และกลมกลืน กลมกล่อมกันดี เป็นความถูกต้องที่แท้จริง เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ขึ้นมา จึงไม่มีผิด ไม่เกิดโทษ เกิดทุกข์ ในการเล่าเรียนก็ดี ในการทำการงานอาชีพก็ดี ในการคบหาสมาคมก็ดี ในการที่จะอะไรให้มันใหญ่โตก้าวหน้าไปก็ดี ตลอดถึงว่าจะไปบรรลุมรรค ผล นิพพานกันก็ดี ต้องอาศัยสิ่งนี้ เดี๋ยวนี้ยังไม่ต้องการบรรลุมรรค ผล นิพพาน ก็ยังต้องอาศัยสิ่งนี้ เพื่อการบรรลุมรรคผล ชนิดที่ชาวบ้านเขาต้องการ แม้จะไปเกี่ยวข้องด้วยกามารมณ์ ก็เกี่ยวข้องให้มันพอดี มัชฌิมาปฏิปทาก็ใช้ได้สำหรับผู้ที่แม้ยังต้องเกี่ยวข้องกับ เรื่องโลกๆ เรื่องครอบครัวเรื่องกามารมณ์ จนกว่าจะพ้นจากสิ่งเหล่านี้ ถ้าทำเกินไปมันก็ตายเพราะสิ่งเหล่านั้น แม้แต่เรื่องหากิน เรื่องกามารมณ์หรืออะไร ถ้ามันไม่พอดี มันก็ต้องตาย ไม่ตายทางร่างกายก็ตายทางจิต ทางวิญญาณ หรือตายพร้อมกันทั้งสองอย่าง คำว่าความเห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ เป็นต้นนี้ มีความหมายยืดหยุ่นได้ทุกชั้น ทุกชั้นของมนุษย์เรา ที่จะอยู่ในโลกนี้ด้วยลักษณะอย่างไร และไปสูงสุดที่จะไปนิพพาน นี่พูดในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัทถือพุทธศาสนา แล้วก็มีตัววิทยาศาสตร์อยู่ที่มัชฌิมาปฏิปทา หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ ไปคิดดู มันจะเป็นระบบวิทยาศาสตร์แท้ พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ก็หมายความอย่างนี้ มีข้อธรรมะหมวดอื่นๆ อีก ซึ่งมีลักษณะอย่างนี้ แต่ว่าหมวดนี้เป็นหมวดที่สำคัญที่สุด และบางทีมันก็พอแค่หมวดนี้ไม่ต้องไปยุ่งกับหมวดอื่นก็ได้ จะมีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ ทางวัตถุ หรือทางจิตใจพร้อมกันไป แล้วก็ได้รับผลชนิดที่ควรจะได้รับ คือมันถูกต้องที่ควรจะได้รับเป็นแน่นอน ถ้าสมมุติว่ามีใครจะเอาไปใช้ในทางผิด มันก็ยังสามารถที่จะสำเร็จประโยชน์ได้ เพราะว่าไอ้ผิดหรือถูกนี้เป็นเรื่องมนุษย์จัดแบ่งกันทีหลัง เราจะพูดแต่เพียงว่าให้มันสำเร็จตามที่เราต้องการ ไม่พูดถึงผิดหรือถูกก็ได้ ถ้าอย่างนี้แล้วหลักเกณฑ์ของความถูกต้อง หรือพอดี มันจะใช้ได้ทุกเรื่องไป แม้แต่เรื่องที่ว่าไปเป็นโจร ไปปล้นเขาไปฆ่าเขา แล้วไม่ให้ตำรวจจับได้นี่ มันก็ใช้ธรรมะในหลักเกณฑ์อันเดียวกันนี้ได้ คือความถูกต้องหรือพอดี แต่ว่าธรรมะไม่ได้ มุ่งหมายอย่างนั้น และมันไม่เปิดโอกาสให้ทำอย่างนั้นด้วย เมื่อทำอย่างนั้นในที่สุดก็ต้องถูกเขารวมระดมกัน คอยขัดขวางหรือคอยจับกุม มันก็ประมาทพลาดพลั้งสักวันหนึ่ง มันถูกต้องอยู่ไม่ได้เพราะมันไปฝืนความสงบสุข หรือความต้องการของเพื่อนมนุษย์ทั้งโลก เป็นไปไม่ได้ เพระธรรมะที่ถูกต้องตามหลักของธรรมะนี้บันดาลความสำเร็จได้หมดเลย ทีนี้ไม่ต้องพูดถึงความชั่ว เพราะเป็นที่แน่นอนว่า มันสู้ไม่ไหวที่จะไปพึ่งความชั่ว พึ่งพาอาศัยความชั่วนี้มันไม่ไหว ก็มาพึ่งในความดี ฝ่ายดี อาศัยหลักเกณฑ์ คือความถูกต้อง หรือพอดี ให้เป็นเครื่องมือหามา ก็เลยสงบสุขอยู่ได้ เพราะไม่ไปเบียดเบียนใครเข้า ที่จะทำให้เขาเบียดเบียนตอบ แล้วก็ไม่เบียดเบียนตนเองหรืออะไรหมด มัน เป็นเรื่องถูกต้องอย่างนี้ถึงที่สุด
ในระหว่างที่มาบวชนี้ก็พยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความถูกต้องให้ดีๆ ก็คือมัชฌิมาปฏิปทา ความสมดุลของสิ่งที่ต้องเนื่องกันทั้งหมด ก็สามารถที่จะทำให้เกิดผลตามที่ต้องการได้ เพราะว่าในโลกนี้มันไม่ใช่มีแต่เรา มันมีคนอื่นด้วย มันต้องมีความสมดุลกันระหว่างเราและระหว่างคนอื่นด้วยมันจึงจะไปกันได้ หรืออยู่กันได้ด้วยความสงบสุข แม้ในส่วนเราคนเดียวก็ยังมีอะไรที่ประกอบกันอยู่หลายๆ อย่างก็ต้องสมดุลกัน ระหว่างร่างกายกับจิตใจ ระหว่างความคิดนึก รู้สึก กับอารมณ์ ต้องเหมือนกันหมด ต้องสมดุลกันหมด ให้รู้จักใช้หลักเกณฑ์ของคำว่าสมดุล หรือพอดี หรือถูกต้องนี่ในทุกๆ กรณี ไม่ว่าอะไร แม้แต่กรณีสักนิดหนึ่งก็ต้องใช้ความถูกต้อง แต่นี่ใหญ่โตมโหฬาร มหาศาล เป็นเรื่องของโลกทั้งโลก ก็ต้องใช้ความถูกต้อง คือความพอดี หรือสมดุล เพราะฉะนั้นตัวพรหมจรรย์อยู่ที่นี่ ในรูปของวิทยาศาสตร์ เป็นไปตามวิธีการของวิทยาศาสตร์ มีตัวจริงเป็นปัญหาอยู่ที่นี่ แก้ไขไปตามที่ต้องการด้วยสติปัญญา โดยอาศัยหลักของความสมดุลพอดี หรือถูกต้อง นี่คือข้อที่ผมตั้งใจจะพูดให้เห็นว่าพรหมจรรย์นี่ ทำให้เราไม่ต้องมีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง ไม่ต้องฝากอะไรไว้กับความหวัง ซึ่งมันจะกัดกินจิตใจของเรา แทะกัดอยู่ตลอดเวลา แม้เราไม่ตายทันที มันก็เหมือนกับถูกกัดกินแทะให้กร่อนอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับถูกทรมานชนิดหนึ่ง ความหวังประเภทที่มาจากตัณหา หรืออวิชชา ละได้หมดก็เป็นพระอรหันต์ ละความหวังนี้ได้หมดก็เป็นพระอรหันต์ ทีนี้คนธรรมดาก็ยังเหลืออยู่ ที่เราประพฤติพรหมจรรย์ก็เพื่อเอาชนะสิ่งนี้ คือทำลายให้มันหมดไป ๆๆ จนกว่ามันจะหมดสิ้น ก็เป็นชีวิตที่เต็มเปี่ยม เรียกว่า สมบูรณ์ หรือ เบิกบาน หรือ สดชื่น เราอย่าพูดถึงคำว่า เป็นพระอรหันต์กันดีกว่า มันจะเสียเวลาหรือมันจะกลายเป็นอันตราย ให้ท่านรู้ เราจะต้องการแต่เพียงความบริสุทธิ์ สะอาด แจ่มใส สดชื่น เบิกบานของจิตใจให้มากขึ้นๆ ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี ก็แล้วกัน ระหว่างมาบวชเพื่อมาศึกษาเรื่องนี้ บวชอยู่ต่อไปก็ทำให้ได้ผลตามนี้ แม้แต่จะสึกออกไปก็ทำให้ได้ผลตามนี้ ในรูปลักษณะอย่างที่เรียกว่าครองเรือน หรือจะเป็นฆราวาส หรือคฤหัสถ์ ตามแบบของพุทธบริษัทจะมีความทุกข์น้อยกว่าแบบอื่น หรือบางทีอาจจะไม่ปรากฏความทุกข์ที่ขบกัดนี่ก็ได้ มีความทุกข์ที่ละเอียดไม่เป็นไรก็ค่อยๆ แก้ไขไปก็ได้ เดี๋ยวนี้เราไปดูแล้วมันน่าสังเวช ที่ดำรงชีวิตที่ผิดทาง มันมีไอ้สิ่งที่เรียกว่าบาป หรือกิเลสขบกัดอยู่ตลอดเวลา ขบกัดแรงๆ จนร้องครางโอดโอยอย่างนี้ก็มี หรือขบกัดชนิดที่พอจะเห็นได้ว่ามันเป็นนรกชนิดหนึ่งก็มี ทั้งๆ ที่ว่าเขามีเงิน มีทรัพย์สมบัติ มีเกียรติยศ ชื่อเสียง อำนาจวาสนา ก็ยังมีไฟไหม้อยู่ในจิตใจตลอดเวลา เป็นเรื่องที่ทำผิดกรณีในของบาป กิเลส หรือความหวัง เราไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ไม่ควรจะลองด้วยซ้ำไป แต่ถ้าอยากจะลองดูบ้างก็ได้ แต่อย่าให้ถลำลึก ถึงกับถอนกลับออกมาไม่ได้ ลองเพื่อเป็นการศึกษาไม่ถึงกับเสียผู้เสียคนได้เหมือนกัน ถึงกับเสียผู้เสียคนเขาก็เรียกว่า ตาย ตายในภาษาธรรมะในภาษาวิญญาณ คนประมาทแล้วก็เท่ากับคนตายแล้ว เรียกว่าตายในภาษาธรรมะ ภาษาศาสนา ไม่ต้องลองถ้าถึงกับเสียผู้เสียคน แต่อาจจะลองได้ ถ้ายังไม่เชื่อเรื่องเกี่ยวกับกิเลส เรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ พอเป็นนิทัศน์ อุทาหรณ์ แต่ผมบอกว่าไม่ต้องลอง สิ่งที่จำเป็นจะต้องลองหรือดูจะหายาก เพราะมันพอจะรู้จักกันได้ เรื่องบาป เรื่องกิเลส เรื่องความชั่วนี้ไม่ต้องลอง เอาเรี่ยวแรงไว้ลองในความดี ในฝ่ายที่เป็นบุญกุศลแห่งความดี คือละความชั่วอยู่ตลอดเวลานั่น
ในการละความชั่วก็ดี ในการทำให้เกิดความดีก็ดี มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ไม่เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงคำนวณโดยวิถีทางของปรัชญา นี่เรียกว่าเราพบวิธีที่มีชีวิตอยู่อย่างดีที่สุด เคยคิดกันหรือเปล่าว่าเราจะมีชีวิตอยู่อย่างดีที่สุด ว่าในโรงเรียนไม่ได้สอน ที่ไหนก็ไม่ค่อยได้สอน ไม่ค่อยพูดถึงเรื่องนี้ แต่นี่คือหัวใจของพุทธศาสนา ของธรรมะว่า มีชีวิตอยู่ชนิดที่ความทุกข์หรือกิเลสมาลูบคลำเราไม่ได้ เป็นศิลปะชั้นเลิศ เพราะมันอยู่ตรงกลาง ถ้ามันถูกต้องจริงตามหลักของธรรมะนี้แล้ว คุณอาจจะประหลาดใจก็ได้ ในเมื่อผมจะพูดว่ามัชฌิมาปฏิปทาชั้นสูงสุดในพุทธศาสนานี้ มันไม่ถูกจัดเป็นบวกหรือเป็นลบ แต่ว่าในภาษาชาวบ้าน หรือภาษาโลก เขาชอบบวกเท่านั้น เขาไม่ชอบลบ เพราะลบมันเสียหาย มันหายไป มันขาดทุน เขาไม่ชอบ เขาชอบบวก คือได้ แต่พรหมจรรย์ที่แท้นั้นไม่เป็นบวกหรือไม่เป็นลบ มันไม่ยึดถือแล้วจะเป็นบวกเป็นลบได้อย่างไร แล้วมันไม่น่ารัก ไม่น่าชัง ชีวิตนี้ต้องถูกจัดไว้เป็นลักษณะไม่น่ารักแล้วก็ไม่น่าชัง เดี๋ยวนี้จะจัดให้มันน่ารักเสียเรื่อยและเป็นความหวังด้วย ฝรั่งเขาเคยชินแต่ไอ้หลักอย่างนี้ คือบวกหรือลบ มาถึงก็ถามว่าบวกหรือลบ Positive หรือ Negative พอเราบอกว่าไม่ใช่ทั้งสองอย่าง เขาก็สั่นหัว งง ว่าเป็นไปไม่ได้ เข้าใจไม่ได้ หรือเป็น Optimism หรือ Pessimism ก็บอกไม่ใช่ทั้งสองอย่าง น้อยคนที่จะเข้าใจ นี่หมายถึงที่แล้วๆ มา ต่อไปนี้พวกฝรั่งคงเข้าใจดีขึ้นว่าไม่บวกหรือลบ ไม่ Pessimism ไม่ Optimism เพราะเราเห็นหนังสือที่พวกฝรั่งเขาไปเขียนอย่างน่าใจหาย บางคนถึงกับเขียนเป็นให้พุทธศาสนานี้เป็น Pessimism มองทุกอย่างในแง่ร้ายไปหมด ทั้งที่ว่าคนนั้นเป็นนักปราชญ์ขนาดระดับโลก นักปราชญ์ของโลกระดับโลก เห็นพุทธศาสนาแง่ Pessimism Schopenhauer ที่เป็นนักปราชญ์ระดับโลก เขียนถึงพุทธศาสนาแง่ Pessimism เป็นแง่ร้ายไปหมด ตั้งแต่ความทุกข์ หรือกิเลส หรือความคิดนึกของคน แล้วก็มีอีกหลายคนอาจเขียนเป็นแง่ดี เป็นความหวัง มันไม่ถูกทั้งนั้น มันไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทา มันอยู่ที่ว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย ทำไปอย่างนี้ก็มีผลอย่างนี้ ทำไปอย่างนี้ก็มีผลอย่างนี้ ส่วนที่ว่าดีหรือร้ายนี่มนุษย์บัญญัติตามความรู้สึกของตัวเอง และเรายังมีหลักอีกอันหนึ่งว่า ถ้ามันดีมันแก้เป็นดียิ่งขึ้นไปก็ได้ หรือถ้ามันร้ายก็แก้ให้ดีก็ได้ หรือให้ร้ายยิ่งขึ้นไปก็ได้ ไม่มีอะไรที่จะพูดตายตัวลงไปว่าดีหรือร้าย แล้วแต่เหตุปัจจัย อย่างนี้เราเรียกว่าหลักเกณฑ์เรื่องเหตุปัจจัย อิทัปปัจจยตา หรือปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น นี่มันไม่อาจจะบัญญัติว่า Pessimism หรือ Optimism และไม่อาจจะบัญญัติได้ว่าเป็นบวกหรือเป็นลบ เป็น Negative หรือ Positive ,yoเป็นเรื่องผิดทั้งนั้น Positive ก็เอียงไปทางหนึ่งสุดโต่งไปทาง Negative ก็เอียงไปทางหนึ่งสุดโต่งไปทาง ถ้าเป็นพุทธศาสนาจะระดับที่ตรงกลางที่สมดุล ไม่มีความเป็นบวก หรือความเป็นลบให้กลัวหรือให้หวัง พวกฝรั่งเขาเคยชินที่จะมองในแง่บวกบ้าง แง่ลบบ้าง แง่ดีบ้าง แง่ร้ายบ้าง จึงยากที่จะเข้าใจถึงสิ่งที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทาซึ่งเป็นตัวพรหมจรรย์ เขาเลยจึงเอาพุทธศาสนาไปพูดในแง่ปรัชญาหมดเพราะเหตุนี้
นี่ขอให้จับใจความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า พรหมจรรย์ หรือหัวใจของพุทธศาสนา ตามลำดับมาๆ อย่างที่ว่านี้ ก็พอจะเข้าใจได้ในเวลาอันสมควร วันนี้ผมก็พูดถึงเรื่องว่าพรหมจรรย์นี้ ต้องเป็นไปในรูปของวิทยาศาสตร์ แล้วก็มีการปฏิบัติชนิดที่จะต้องไม่มีความหวังที่แผดเผาหัวใจ ฉะนั้นจะมีแต่ความเห็นผลประโยชน์ที่เป็นการทำให้เกิดความพอใจ หรือความอิ่มใจอยู่ทุกๆ ระยะ ทุกๆ ตอนของการเคลื่อนไหว ที่ตรงตามหลักที่ว่า อกาลิโก สันทิฏฐิโก เอหิปัสสิโก ถ้าคุณเข้าใจที่ผมบรรยายนี้แล้ว คุณก็จะเข้าใจคำว่า เอหิปัสสิโก โอปนยิโก อกาลิโก ที่สวดอยู่ทุกวันได้ดี พระธรรมนี้กล่าวไว้ดีนี้ จะไม่มีทางที่เกิดทุกข์ หรือยังมีผลที่เป็นที่พอใจไม่ขึ้นอยู่กับเวลา มันขึ้นอยู่กับการกระทำ เพราะกระทำถูกอย่างนี้ แล้วก็มีปฏิกิริยาเกิดขึ้นเป็นผลที่น่าพอใจ คือให้เกิดความสุขดีถึงขนาดที่ควรจะกล่าวว่า เอหิปัสสิโก ว่ามาดู มาดูๆ เวลาของวันนี้หมดที ขอยุติไว้เพียงเท่านี้